[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 มีนาคม 2567 13:40:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รูปฌาน ๔ โดย พระครูภาวนาภิรมย์ (หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ)  (อ่าน 5702 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 41.0.2272.118 Chrome 41.0.2272.118


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 08 เมษายน 2558 15:20:33 »

.


รูปฌาน ๔
เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา
โดย
พระครูภาวนาภิรมย์ (หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ)
วัดถ้ำขวัญเมือง ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

รูปฌาน ๔ การปฏิบัติธรรมตามแบบสมถวิปัสสนานั้นขอให้ศิษย์ทุกๆ คนพึงมีความเห็นทำความเข้าใจให้ถูกต้อง คือทุกๆคนที่จะปฎิบัติกรรมฐานได้ก่อนอื่นก็จำต้องรู้จักรักษาศีลห้าให้ได้ เมื่อมีศีลแล้วก็เริ่มปฏิบัติได้การปฏิบัติเมื่อมีศีลห้าแล้ว ก็เริ่มฝึกหัดทำฌาน (ชาน) ซึ่งเป็นการทำสมาธิแบบหนึ่งและมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป

ฌาน นั้นมี ๘ องค์  แบ่งเป็น รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน๔  ในที่นี้เราจะ ทำแค่รูปฌาน ๔ ก็นับว่าเพียงพอแล้ว รูปฌาน ๔ นั้นมี ๔ องค์ คือ
ฌานที่ ๑ วิตก วิจาร
ฌานที่ ๒ ปิติ
ฌานที่ ๓ ฌานสุข
ฌานที่ ๔ เอกัคคตา อุเบกขา

ทำไมเราต้องทำฌาน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าการที่เรามุ่งหวังไปพระนิพพาน ให้เข้าถึงพระนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติตามมรรค มีองค์ ๘
องค์ที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
องค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ
องค์ที่ ๓ สัมมาวาจา คือ วจีกรรมชอบ
องค์ที่ ๔ สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ
องค์ที่ ๕ สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ
องค์ที่ ๖ สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ
องค์ที่ ๗ สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ
องค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่นชอบ

ตั้งแต่มรรคองค์ที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นจะต้องเห็นชอบในอริยสัจ ๔ อันมีทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ส่วนมรรคองค์ที่ ๘ เป็นบัญญัติสัมมาสมาธิท่านบอกไว้ว่าให้มีรูปฌาน ๔ ถ้าเราไม่รู้จักฌาน ๔ เราก็ทำวิปัสสนาไม่ได้ มีความจำเป็นมาก การจะทำ สมาธิเฉยๆ คือสมาธิแบบที่บัญญัติเหมือนกัน

สมาธิมี ๓ องค์ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปณาสมาธิ ในสมาธิทั้ง ๓ ขั้นนี้ ยากที่เราจะรู้ได้ เพราะก้าวแต่ละก้าวแต่ละขั้นตั้งแต่ขณิกสมาธิไปอุปจารสมาธิมันละเอียดมาก จิตละเอียดเป็นขั้นๆ จากอุปจารสมาธิเป็นอัปปณาสมาธิก็ยิ่งละเอียดที่สุด  แต่เมื่อมาทำเป็นฌานแล้วมันซอยถี่เข้าเป็น ๔ ขั้น ความจริงฌานนั้นมีอยู่ ๕ ตามบัญญัติตามแผน ๕ เรียกปัญจฌาน แต่ที่นิยมในตำราในพระสูตรกล่าวไว้มี ๕   ในพระอภิธรรมหรือบัญญัติไว้ในธรรมวิภาครูปฌาน ๔ เรียกฌาน ๔ ไม่ได้เรียกฌาน ๕ คือรูปฌานที่ ๑ นั้นแยกวิตกเป็นฌานหนึ่ง วิจารเป็นฌานหนึ่ง วิตกก็คือความนึกคิดนั่นเอง วิจารก็คือ ความหยุด ความนึกคิดได้ เมื่อเราหยุดความนึกคิดได้ ฌาน ๑ ก็เกิดแก่จิตเรา  

การนั่งกัมมัฏฐาน ก่อนที่จะนั่งต้องกราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นของมีจริง เป็นของที่เราเคยเคารพศรัทธาอย่างสูง ไม่มีสิ่งใดที่เราจะเคารพยิ่งกว่าพระรัตนตรัยนี้ แล้วก็กราบคุณบิดามารดาอีกครั้งหนึ่ง กราบครูบาอาจารย์อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า ปัญจเคารพ และเมื่อเราออกจากการนั่งสมาธิก็เช่นเดียวกัน กราบอีก ๕ ครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อว่าให้เรามีศรัทธา มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดาครูอาจารย์  บิดามารดาของเราก็เป็นพระอรหันต์ของลูก พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้นและก็เป็นความจริงเช่นนั้น

เราจึงจำเป็นที่จะต้องกราบไหว้บูชาเป็นการระลึกถึงพระคุณของท่าน ครูบาอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน การที่เรามีความรู้ในปัจจุบันได้ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้สั่งสอนเรา เราจึงได้ความรู้ ไม่มีใครรู้ขึ้นมาเองต้องอาศัยครูบาอาจารย์ทั้งสิ้นแม้จะทางโลกก็ตามยิ่งทางธรรมด้วยแล้วยิ่งสำคัญมาก เพราะการไม่รู้หรือรู้ผิดๆ แล้วมาสอนเรา ผู้เป็นศิษย์ก็ต้องรู้ผิดไปด้วย ต้องหลงไปด้วยเมื่อครูบาอาจารย์เรายังเป็นผู้หลงอยู่ เหตุไฉนจะสอนศิษย์ให้เป็นผู้หลงไม่ได้ ก็ต้องสอนศิษย์ให้เป็นผู้หลง เมื่อครูอาจารย์ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงจะไปสอนศิษย์ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร ก็รู้ไม่ได้นี่ให้ทำความเห็นอย่างนี้ให้ถูกต้อง

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่เราต้องระลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ด้วย เหมือนกับตัวอาจารย์นี้ไม่เคยคิดว่า ให้พวกศิษย์หรือใครๆ กราบไหว้ครูอาจารย์หนักหนา เพราะในความคิดความนึกในใจของอาจารย์ไม่มีสิ่งเหล่านี้เพราะไม่ได้ยึดถือโลกธรรม ๘ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เช่นเดียวกันนี่เป็นโลกธรรม ๘ ฝ่ายดี ๔ ฝ่ายไม่ดี หรือฝ่ายชั่ว ๔ ก็ไม่เดือดร้อนอะไรทั้งสิ้น ในการสั่งสอนศิษย์ก็เพื่อเป็นแบบแผนให้ศิษย์มีปัญญา ถ้าศิษย์ไม่เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา และครูอาจารย์แล้ว จะไปเคารพอะไรเมื่อไม่ศรัทธาในการกราบไหว้บูชา   การกราบไหว้บูชานี้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที รู้คุณด้วยและการตอบแทนบุญคุณคือการกราบไหว้นั้น  การกราบไหว้นั้นเป็นการทำจิตใจเราให้ผ่องใสเป็นสิริมงคล เราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติ การนั่งก็เช่นเดียวกัน เวลานั่งกัมมัฏฐานถ้าเป็นฝ่ายอุบาสิกาจะนั่งพับเพียบก็ได้ จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ ฝ่ายอุบาสก หรือผู้ชายนิยมนั่งขัดสมาธิคือนั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางบนมือซ้ายบนตักของเรา และตั้งตัวให้ตรงอย่าให้ตัวงอ หน้าตรงอย่าก้ม ถ้านั่งหลังงอแล้วนั่งได้ไม่ทน มันจะปวดเอว ปวดหลังทำให้เรานั่งนานเป็นชั่วโมงหรือ ๔๐, ๕๐ นาทีไม่ได้ฉะนั้นกายให้ตั้งตรงเมื่อเสร็จแล้วก็เริ่มบริกรรมภาวนาคือใช้เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ   ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศาว่าเป็นอนุโลม คือว่าไปข้างหน้า ปฏิโลม คือถอยหลัง ว่าซ้ำอยู่อย่างนั้น เมื่อมีความคิดใดๆ ขึ้นมาที่จิตไม่ว่าเรื่องอะไรโดยมากจิตเรานั้นชอบนึกชอบคิดเสมอเวลานั่งกัมมัฏฐาน จึงหาอุบายให้ว่ากัมมัฏฐาน  พระพุทธองค์จึงมีอุบายให้จิตไปยึดกัมมัฏฐาน ๕ เสีย นอกจาก กัมมัฏฐาน นั้นมีกัมมัฏฐานอื่นๆ อีกทั้งหมดตั้ง ๔๐ อย่าง แต่จะไม่สอนเพราะถือว่ากัมมัฏฐาน ๕ เป็นสิ่งสำคัญ เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก็เพราะว่าตามบัญญัติเรียกว่าเป็นโกฏฐาต คือเป็นสิ่งของที่หยาบ มีอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เมื่อว่าไปๆ แล้วจิตมันก็ยึดกัมมัฏฐานได้ การที่จิตยึดกัมมัฏฐานได้ไม่หลง ถ้าหลงอย่าไปเที่ยวค้นหา เช่นว่า เกศา โลมา แล้วมันลืมเสียไม่รู้อะไรจำไม่ได้ อย่าเที่ยวนึก ถ้านึกแล้วเดี๋ยวสังขารขันธ์ของเรานั่นมันเอาตัวอื่นมาใส่ให้เอาเรื่องอื่นมาใส่ให้ อ้าว…เราไปกับเรื่องอื่นเสียพักหนึ่งแล้ว   ฉะนั้นอย่าไปนึกขึ้น ให้ตั้งต้นว่า เกศา โลมา ใหม่ ไม่นึกอะไร ถ้ามันเกิดนึกคิดอะไรก็ละเสีย เพราะธรรมชาติของจิตมันชอบนึกคิดอยู่นิ่งไม่ได้ เราว่าอย่างนี้ เมื่อจิตตั้งมั่นไว้ได้ดีแล้วฌาน ๑ จับได้ดี ไม่มีความนึกคิดอื่นยึดกัมมัฏฐานได้มั่นคงแล้ว จะเกิดความรู้สึกขึ้นมา  รู้สึกว่าขนลุกขนพอง หรือซาบซ่านที่ผิวกายลุกซู่ๆ ซ่าๆ อะไรอย่างนี้  บางทีก็รู้สึกตัวพองออกไปตัวมันยาวขึ้นบางที ตัวมันเตี้ยลง แล้วมาตัวเล็กตัวเบา ทีนี้มันก็มีการกระตุกที่มือหรือที่เท้า นี่ฌาน ๒ เริ่มจับแล้วรูปฌานที่ ๒ ที่เริ่มกระตุก เมื่อกระตุกแล้วอย่ากักไว้กดไว้ คือเราอย่าเกร็งข้อ เกร็งมือไว้ ปล่อยให้มันสั่นการที่กายโยก กายสั่นโยกคลอน ดังสนั่นหวั่นไหว นั่นแหละเป็นปิติ ฌาน ๒ ชื่อของปิติอันนี้ชื่อว่า "อุพเพงคาปิตติ"  ส่วนที่รู้สึกซาบซ่านตามผิวกายเรียกว่า "ผรณาปิติ"  นี้ผู้ปฏิบัติจะต้องให้มีอุปเพงคาปิติจึงจะสมบูรณ์ เพราะเหตุว่าฌาน ๒ นี้ อุปเพงคาปิตินี้เป็นฤทธิเป็นกำลังที่เราต้องทำฌาน ก็เนื่องจากว่า ฌานนี้เมื่อได้ฌาน ๔ มันก็สู้กับทุกขเวทนาได้ คือเจ็บปวดต่างๆ หรือง่วงเหงาหาวนอนมันสู้ได้ถ้าไม่มีฌานแล้วสู้ไม่ได้นอกจากนั้นเมื่อปฏิบัติสูงแล้ว

การเหาะเหินเดินอากาศด้วยกายในกายของเราหรือที่เรียกว่า กายทิพย์ ก็อาศัยฌานนี่เหละเหาะเหินเดินอากาศ การรู้การเห็นต่างๆ การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การได้รส การมีโผฏฐัพพะการทบกายต่างๆ  รู้ได้ด้วยฌานทั้งสิ้น หูทิพย์ ตาทิพย์ หยั่งรู้ใจคน มีอิทธิฤทธิ์ระลึกชาติได้ แล้วก็มีฤทธิ์ทางใจเรียกว่า มโนมยิทธิ แล้วทำกิเลสให้หมดไปจากจิตใจได้ ก็อาศัยการฟอกจิตใจให้สะอาดด้วยฌานนี่เหละ จึงจำเป็นถ้าขาดฌานเสียมรรคตัวที่ ๘ ก็ไม่มี

ฉะนั้น ใครจะไปพระนิพพานกับมรรค ๗ ตัว ๖ ตัว ๕ ตัว หรือมรรคตัวเดียวไม่ได้ทั้งสิ้นมรรคต้องครบทั้ง ๘ ตัว ๘ องค์รูปฌานที่ ๓

เมื่ออุเพงคาปิติขึ้นโครมๆ ดีแล้ว การสั่นมาท่าต่าง ๆ มันโยกหน้า โยกหลัง มีสติอยู่ไม่ให้ล้ม หงายไปเมื่อมีสติอยู่รักษาจิตมันก็มีสัมปชัญญะสำหรับคุมกายไว้เอง เพราะสัมปชัญญะอยู่คู่กับสติ สตินี่เป็นสิ่งสำคัญคุมจิต สัมปชัญญะคุมกายธรรม ๒ ประการนี้เป็นธรรมที่มีอุปการมาก คือส่งเราให้ไปถึงพระนิพพานได้ทีเดียว ธรรมที่มีอุปการมาก คือ สติสัมปชัญญะ คนขาดสติ คนบ้าใบ้ คนสติฟั่นเฟือน ปฏิบัติไม่ได้นี่เป็นหลักสำคัญ เมื่อเราเข้าได้ฌาน ๒ ดีแล้ว เราก็กระตุกขึ้นไป จิตคิดว่าฌาน ๓ อย่านึกถึงฌาน ๒ อีก ถ้านึกมันก็ขึ้นอีก ขึ้นโครมๆ คือจิตถอยลงมาเสีย เมื่อไปถึงฌาน ๓ แล้ว ฌาน ๓ เราจะมีความรู้สึกแต่ไม่ทุกครั้ง บางครั้งแต่เป็นส่วนมากเรียกว่าฌานสุข กายก็มีความสุขฌานที่ ๓ จึงได้ชื่อว่า ฌานสุข เมื่อเราไปอยู่ในฌาน ๓ พอสมควรแล้วเราก็มีสติกำหนดที่จิต ว่า ๔ กระตุกตัวขึ้นไปอีกแล้วก็อย่าลดตัวลงมา เมื่อกระตุกตัวขึ้นไปแล้วอย่าลดลงมาให้อยู่เฉย แล้วก็ผ่อนลมหายใจให้อ่อน ว่ากัมมัฏฐานเรื่อยไป จิตมันจะแนบขึ้นๆ แนบเข้าๆ มือจะเริ่มชาขึ้นมา เท้าก็จะเริ่มชา คือชาทั้งปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ที่ก้นของเราก็เริ่มชาขึ้นมา ไม่ใช่เหน็บชา ชานั้นไม่เจ็บไม่ปวด ริมฝีปากนี้ก็ชา แล้วลิ้นนี้ก็ชา ถ้าจับดีจะมาถึงข้อมือ แล้วถึง กลางแขน ถึงข้อศอก ถึงหัวไหล่ ตัวนี้มันจะเหยียดตรงเลยมันเกร็งเหมือนกับเกร็งอย่างนั้นเอง นั่นคือเป็นเรื่องของ ฌาน ?๔ รูปฌานที่ ๔ ที่เรียกว่า เอกัคตาอุเบกขา เอกัคตาอุเบกขาคือ ฌาน ๔ นี้ เสียงอะไรที่มากระทบเรา กระทบหู เราได้ยินไม่ใช่ไม่ได้ยิน แต่ทุกอย่างมันจะไม่รับเข้าไปเพราะใจมันวางเฉย ที่เรียกว่าอุเบกขาก็คือ ความวางเฉย นั่นเอง  ตรงนี้ฝ่ายคณะที่เขาปฏิบัติทางวิปัสสนาเขาตำหนิติเตียนว่า ทำทางสมถะ คือทำฌานนั้นอ้า…ไป พระนิพพานไม่ได้เพราะว่าไปติดฌานเสีย นั่นเป็นความหลง เป็นโมหะของผู้ที่คิดเช่นนั้น ไม่รู้วิธีของการทำฌานแล้วทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ติดฌานโดยมาก ส่วนใหญ่ที่เห็นพวกปฏิบัติทางวิปัสสนาแล้วก็นั่ง เวลานั่งแล้วถึงเวลาออกก็ลืมตาออกมาเฉยๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นถ้ามีฌานจะต้องถอยฌานออกเป็นขั้นๆ จนถึงฌาน ๑ แล้วสลัดกายพร้อมกับสติคิดที่ใจนึกว่าออก   พระพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้ดี สอนไว้สมบูรณ์ทุกอย่าง โดยให้เข้าฌานออกฌานเป็นให้ชำนิชำนาญเป็นวสี  

การเข้าฌานนั้น เราเข้าไปตั้งแต่ฌาน ๑ ขึ้นฌาน ๒ จากฌาน ๒ ขึ้นฌาน ๓ จากฌาน ๓ ขึ้นฌาน ๔ เรียก ว่า "เข้าฌาน"

และที่จะต้องรู้จักออกฌานด้วย การออกฌาน กำหนดที่จิตว่าถอย ๓ คือถอยจากฌาน ๔ ลงมาฌาน ๓ พอถอยลงมา ๓ คือลดตัวลงมาหน่อย ฌานก็ถอยแล้ว เมื่อจิตคิดถอย ฌานมันก็ถอยลงมา อุเบกขาก็ค่อยหมดไปมาอยู่ที่ฌาน ๓ ฌานสุข แล้วก็ถอยจากฌาน ๓ อีกแหละมาฌาน ๒ พอถอยมาถึงฌาน ๒ ปิติ อุปเพงคาปิติก็ขึ้นโครมๆ กายโยกกายสั่นอีก ตรงนี้มีพวกที่ได้ฌานใหม่ๆ ติดมาก มันติดเพราะมันสนุกมันเพลินมากรู้สึกเพลินมาก รู้สึกมีกำลังวังชาด้วย แล้วก็รู้สึกกายมันเบา อยากกระโดดโลดเต้นไปด้วยซ้ำ มันกระโดดโลดเต้น แต่ว่ามันออกจะอึกทึกไปเอาเพียงให้มันสั่น กายโยกกายสั่นกายคลอนบางทีหมุนติ้วบางทีก็เอาแขน ๒ ข้างตีปีกดังเหมือนไก่ตีปีก บางคนก็ตบมือ ๒ มือเลยมีลักษณะต่างๆ ปีติทั้งหมดมี ๕ ชนิดแต่ละชนิดมี ๘, ๙ อย่างเรื่องของอาการของปีติทั้งหมด ๓๘, ๓๙ ปีตินี่ให้พึงเข้าใจ เมื่อออกมาฌาน ๒ แล้ว เราก็ถอยออกฌาน ๑ อีกถอยมาที่ ๑ ถอยฌาน ๑ แล้วเวลาออกฌานก็สลัดหัวคิดว่าออกคือออกจากฌาน ๑ หรือออกจากฌานนั่นเอง การเข้าฌานตามขั้นเหมือนกับเราขึ้นบันไดเรือนขั้น ๑ ขั้น ๒ และ ๑ และก็ลงอีกเป็นแบบนี้ ถ้าใครอวดดีไม่ลงตามฌาน คือไม่ถอยลงมาจะเจอดีไปติดฌาน ๔ มันถอยไม่ออก มันเที่ยวเดินซึมอยู่นั่นแหละ ถ้าฌาน ๔ ไม่ออกจะเป็นคนไม่พูด และบางครั้งเขาถามอะไรก็ไม่ได้ยิน บางทีพูดอะไรคำหนึ่งและไม่พูดต่อ มันเฉยเสียให้รู้ว่าใครถึงฌาน ๔ แม้ฟ้าผ่าลงมาเปรี้ยงไม่สะดุ้งเลย แล้วในฌานนี้ทั้งหมด ผู้ได้ฌานแล้วตั้งแต่ฌาน ๒, ๓, ๔ ไปแล้วมีฤทธิ์มีอำนาจวาจาสิทธิ์ วาจามีสัจจะเราจะว่าใครให้ฉิบหายป่นปี้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าว่าไปแล้วเป็นจริงๆ เป็นไปได้เพราะตอนที่เรามีฌานทำฌานอยู่ทุกวันนั้น จิตเราเป็นพรหม กายเราเป็นมนุษย์จริงแต่จิตเป็นพรหม มีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์อย่าได้พูดปรักปรำใคร อย่าได้กล่าวตำหนิใครในทางที่เสีย เสียไปจริงๆ เช่นสมมุติว่าเห็นคนขึ้นต้นไม้ เราพูดขึ้นเชิงเล่นว่า "เออ...ระวังนะ...มันจะตกลงมา" อย่าพูดเข้า ถ้าพูดมันตกลงมาจริงๆ นี่สำคัญมาก ฉะนั้นเราต้องระวังการทำฌานมีอานิสงส์สำหรับตัวฌานอยู่นอนก็หลับสบายไม่ฝันเลอะเทอะ ตื่นขึ้นมาก็สบายจิตใจผ่องใส ไม่เศร้าหมองหน้าตามีสง่าราศีอิ่มเอิมด้วยเลือดฝาด  ศาสตราวุธก็ไม่กินกาย ไฟก็ไม่ไหม้บ้าน แม้ยาพิษก็ทำอันตรายตนไม่ได้ และเป็นที่เอ็นดูรักใคร่ของมนุษย์ และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาคุ้มครองรักษา และเป็นผู้ที่มีโชคลาภ โรคภัยไม่ค่อยเบียดเบียน

ถ้าใครเกิดตายลงขณะที่มีฌานไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ต้องไปเกิดในพรหมโลกพรหมโลก รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น แล้วแต่กำลังที่เรามีฌานอยู่ ถ้าเราอยู่ในฌานที่ ๔ เต็มที่เวลาเราตาย ไปเกิดในชั้นที่ไม่เกินชั้นที่ ๑๑ คือวิสัญญีภพ อายุยืน ๕๐๐ กัลป์ (๑ กัลป์ เท่ากับ ๖,๔๒๐ ล้านปี ) ทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์แสดงธรรมในเรื่องการปฏิบัติฌานที่ว่า ตาทิพย์ หูทิพย์ อาจารย์ได้รู้ได้พบได้เห็นมาแล้วทั้งสิ้นเป็นของมีจริง จึงยืนยันให้ศิษย์ทุกๆ คน จงเชื่อมั่นในคำสั่งสอนที่ให้ไว้ที่นี้ คือตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราได้ฌานแล้ว เราจะรู้ทันทีว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของมีจริง ทำให้เรามีศรัทธาอันแรงกล้าขึ้นทีเดียว แล้วที่เมื่อก่อนเคยดูหมิ่นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางคนคิดเลอะเทอะไปว่าไม่มีอะไรจริงเหล่านี้ เมื่อเราทำฌานได้ เราจะรู้คุณค่าของพระธรรม ว่าพระธรรมเป็นของมีจริง เมื่อมีพระธรรมก็ต้องมีพระพุทธเจ้าจริง เมื่อมีพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็ต้องมีจริง พระสงฆ์ก็อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่แหละประพฤติปฏิบัติตามจนหมดอาสวะ ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า

ผู้ปฏิบัติมั่นคงอยู่ในศีลในธรรมทำฌานให้ได้ เมื่อทำฌาน ๔ ได้ดีแล้วจึงจะเริ่มวิปัสสนา คือการขึ้นไปหาธรรมปัญญา  ปัญญารู้จักกิเลส ในขณะที่ทำฌานนี้ยังไม่ต้องละกิเลสอะไร และขอเตือนสติไว้อย่างหนึ่งว่าในขณะที่เรานั่งฌาน อย่าได้คิดอยากได้ อยากเป็นฌาน อยากเห็น อยากรู้อะไร ตัวอยากนี้เป็นตัวปัญหา เป็นภวตัญหา คือความอยาก มีอยากเป็นอยากรู้ อยากเห็น ถ้ามีตัญหามันก็มีกิเลส เมื่อมีกิเลสมันก็ไม่ได้ มีตัณหามันก็ไม่ได้ เราทำใจของเราเฉยๆ เป็นกลาง อย่าได้คิดอยากได้นั่นได้นี่ถึงจะนานแสนนานที่นั่งอยู่ก็ต้องอดทน ขั้นต้น ก็ต้องมีความอดทน มันจะเจ็บปวดอะไรก็ตามอย่าคิดอย่าเกา เช่นสมมุติมันคันขณะนั่งอย่าไปเกาถึงแม้ยุงกัดหรืออะไรก็ตามก็ต้องมีความอดทน ถ้าจิตให้มือไปเกาหรือเคลื่อนไหว จิตก็เริ่มถอยไม่ยึดฌานเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งสำคัญฉะนั้นทุกๆ คนเมื่อมีความมุ่งหมายที่จะไปพระนิพพาน หรือรู้จักพระนิพพาน เราก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้แหละอย่างเคร่งครัด  พระเครื่องรางต่างๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์นั้น อาศัยฌานทั้งสิ้น ไม่ใช่อาศัยอื่น ตัวคาถาที่เขียนเป็นอักษรขอมไว้นั้น มันไม่ได้มีอะไรขึ้นมาหรอก มันตัวหนังสือ ถ้าขลังจริงที่ตัวหนังสือ ก็ไม่จำเป็นต้องเอามานั่ง ที่เรียกว่านั่งเสก นั่งปรกอะไรนั่น ที่เขาทำๆ กันนั้นแต่อาจารย์นี้ไม่สอนตามนั้น พระพุทธเจ้าได้ห้ามไว้  

การเล่นเครื่องรางของขลัง เล่นไสยศาสตร์ต่างๆ ผิดศีลผิดวินัยพระ เป็นอาบัติทีเดียวแหละ งั้นผู้ที่มีความมุ่งหมายที่จะไปพระนิพพาน หรือพบพระนิพพานจงเลิกสิ่งเหล่านี้เสียอย่าไปเล่น อย่าริเล่น เราตั้งใจให้มันเป็นแล้วจะได้ละกิเลส รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ มันเกิดขณะที่เรานั่งฌานนี่แหละ ทุกอย่างไม่ใช่ไปหาของข้างนอก มันเกิดขึ้นมาให้เราพบให้เราเห็นให้เรารู้ เราได้ยินเสียง เราก็ทำการละมันเรื่อยไป จึงเรียกว่าทำวิปัสสนา ส่วนวิปัสสนานั้นได้สอนไว้ ได้แสดงธรรมไว้เรื่องอิทธิบาท ๔ กับพละ ๕ ซึ่งต่อจากรูปฌาน ๔ นี้ไว้แล้ว

ที่แสดงธรรมมานี้เราทุกคนจงปลูกศรัทธาให้มั่นคง มีความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ มีสัจจะคือ มีความจริงใจในการที่จะกระทำที่จะปฏิบัติ อย่าเป็นคนเหลวไหล หละหลวม ผัดวันประกันพรุ่ง อย่าเป็นคนเกียจคร้าน และรักษาศีลให้ดีให้เรียบร้อย ศีลขัดเกลากิเลสหยาบ ธรรมะหรือสมาธิคือขัดเกลากิเลสอย่างกลางที่จิต  เมื่อเรารักษาศีลดี เรานั่งสมาธิก็ได้เร็วเป็นหลักอยู่ในตัวคือศีลวิสุทธิ  ทิฏฐิก็คือปัญหานั่นเอง  

กล่าวโดยสรุปคือศีล สมาธิ กับ ปัญญา เป็นองค์ของมรรค ๘ ย่อลง ถ้าเราปฏิบัติตรงแล้วทุกอย่าง รักษาศีลดีแล้ว ทำสมาธิ คือฌานเพื่อให้เกิดปัญญาจะได้รู้จักกิเลส จึงมีความจำเป็นอย่างนี้ ขอเน้นว่าจงทำตามที่สั่งสอนนี้ขึ้นไปตามขั้นตอนสูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่อาจารย์ปฏิบัตินี้ รู้แน่ชัด ขอยืนยันไว้กับศิษย์ทุกคน ว่าไม่มีคำสั่งสอนใดที่อาจารย์คิดขึ้นเอง ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ครบถ้วนทั้งสิ้น จึงสามารถสอนพวกเราได้ ถ้าไม่รู้จริงอาจารย์ไม่กล้าสอนพวกเรา เพราะนรกเป็นของมีจริง  การสอนให้ศิษย์ทำผิด ครูบาอาจารย์เป็นผู้ลงนรกศิษย์ไม่เท่าไหร่หรอก นี่เป็นหลักสำคัญ จะอวดดี อวดเก่งไม่ได้ ในการที่ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว และพระอรหันต์ต่างๆ เช่น พระสารีบุตร เอกอัครสาวก พระโมคคัลลานะ อัครสาวก พระกัสสปะเถระเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วย มีอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ การเขียนตำราใดๆ ขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติเพื่อสั่งสอน ผู้อื่น ที่คิดว่าวิเศษยิ่งกว่าคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ในพระธรรมนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ รู้ที่ใจไม่ใช่รู้จากการพูด



* วัดถ้ำขวัญเมือง  
- เป็นวัดสังกัดคณะธรรมยุต ภาค ๑๖ ตามทะเบียนเลขที่ ๑,๑๗๓  
- วัดแห่งนี้ที่มีถ้ำอยู่มากมาย ในสมัยโบราณนั้นก็ใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของพระเณร  
- เป็นวัดปฎิบัติกรรมฐานมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๐ โดยมีพระครูภาวนาภิรมย์ (หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ) ศิษย์ของพระอาจารย์ทองเชื้อ ฐิตสิริ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ขาวอนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
  โดยใช้การบริกรรมภาวนากรรมฐาน ๕ เป็นหลัก และสอนการปฏิบัติกรรมฐานตราบจนปัจจุบัน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 เมษายน 2558 15:24:03 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.636 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 17 กุมภาพันธ์ 2567 23:23:24