ในปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชนได้หันมาให้ความนิยมทำบุญกับ " พระป่า " สายพระกรรมฐานหลวงปู่มั่น มากขึ้น และในบรรดาผู้ที่ปาวารณาตนเป็นลูกศิษย์พระป่าองค์ใดองค์หนึ่ง หรือหลายๆองค์ พร้อมกันนี้ยัง พอจำแนกได้เป็น 6 ประเภท กว้างๆดังนี้คือ
"รุ่มรวยอามิสบูชา ศรัทธาความดัง หวังผลกำไร ใฝ่หาแก่นธรรมจริงแท้ ดูแลไม่ลืมหูลืมตา อาจารย์ข้าใครอย่าแตะ "
1. ประเภท "รุ่มรวยอามิสบูชา" พวกนี้คือศิษย์ที่นิยมการทำบุญ เพื่อแสดงถึงฐานะ ความมั่งมีทรัพย์สินของตนเป็นหลัก เวลามาพบพระก็แต่งกายหรูหราด้วยอาภรณ์ภัณฑ์ชั้นดี ประดับแก้วแหวน เพชรนิลจินดา บริจาคเงินแต่ละทีแต่ละครั้ง เป็นแสนเป็นล้าน น้อยกว่านั้นไม่ได้ เดี๋ยวอานิสงค์จะขาดไป พร่องไป ไม่สมบูรณ์
2. ประเภท "ศรัทธาความดัง" พวกนี้คือศิษย์ที่ยึดความดังของพระอาจารย์เป็นสรณะ ไม่ได้ซาบซื้งเท่าใดนักกับหลักธรรมคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆดอก ขอเพียงให้รู้ว่ามีพระอาจารย์องค์ไหนบ้างที่สื่อมวลชนตีพิมพ์ประวัติเรื่องราว พระอาจารย์องค์ไหนบ้างมีผู้คนบอกเล่ากล่าวขวัญถึง ฉันต้องไปทำบุญ ไปกราบไหว้ ให้ได้สักครั้งหนึ่งก็ยังดี เพื่อเพิ่มเนื้อหาให้แก่การสนทนาโอ้อวดว่าองค์โน้นไปกราบมาแล้ว องค์นั้นเคยนิมนต์มาฉันที่นี่ องค์นี้...สนิทใกล้ชิดกันมากเป็นต้น
3. ประเภท "หวังผลกำไร" พวกนี้ถ้ามิใช่พวกหากินกับพระพุทธศาสนา ค้าเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ก็มักจะเป็นพวกทำงานธนาคาร ซึ่งอาศัยยอดเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ไปฝากในธนาคารที่ตนเองทำงานอยู่ เพื่อให้ตัวเลขพุ่งขึ้นในบัญชีเงินฝาก ช่วยหนุนทำให้หน้าที่การงานของตนก้าวหน้าตามไปด้วยนั่นเอง
4. ประเภท "ใฝ่หาแก่นธรรมจริงแท้" พวกนี้เป็นศิษย์ที่กระทำการบูชาครูบาอาจารย์ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอน โดยเคร่งครัด มีอันใดติดขัด ก็จะขอคำชี้แนะแก้ไข มีความพากเพียรในการค้นคว้าปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์แท้จริง มีกิเลสไว้สำหรับละเลิก มีความตื่น ความรู้ เบิกบานไว้เป็นเครื่องภาวนาน้อมรำลึก
5. ประเภท "ดูแลไม่ลืมหูลืมตา" ที่ซ้ำร้ายศิษย์พระป่าประเภทนี้ มักเป็น "สตรีเพศ " เรียกว่า แทบจะร้อยทั้งร้อยก็ว่าได้ ไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และศิษย์ประเภทนี้มักจะไม่ค่อย รู้ตัวว่า " การอันใดพึงงดเว้นเสียด้วย ขอเพียงให้ฉันได้ปรนนิบัติ ดูแล อาจารย์ที่ศรัทธา อย่างที่ฉันปรารถนาได้ เท่านั้น ก็พอแล้ว "
6. ประเภท "อาจารย์ข้าใครอย่าแตะ" ลูกศิษย์ประเภทนี้นับวัน ยิ่งมีมากขึ้นทุกที คือพวกที่ชอบกระทำตนเป็นเสมือนหนึ่งเจ้าของ หรือผู้จัดการครูบาอาจารย์ท่านแต่ผู้เดียว ผู้ใดก็ไม่รักและศรัทธาเสมอฉันได้ เพราะฉนั้นใครจะให้อาจารย์ทำอะไรต้องมาผ่านทางฉัน ผู้เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวเท่านัั้น
ดังนั้น...สถานการณ์ "พระป่า" ในทุกวันนี้ จึงนับว่าล่อแหลมต่อ "พรหมจรรย์" เป็นอย่างยิ่ง...ซึ่งพ่อแม่ครู อาจารย์แต่ละองค์ท่าน อุตส่าห์พยายามพากเพียร ฝึกฝน อบรมตน อดทน ต่อสู้กิเลส อยู่ในป่า เขา ถ้ำ เงื้อมผา อบรมภาวนาจิตใจ มาอย่างวิเวก เงียบสงัด สงบ จนได้รู้ธรรม เห็นธรรม บริสุทธิ์หมดจด หมดสิ้นซึ่งอาสวะกิเลส ทั้งปวง จึงได้ออกมาสั่งสอน และสงเคราะห์ เราปุถุชน ด้วยความเมตตา เป็นอย่างยิ่ง
บางองค ์ท่านจึงจำเป็นต้องปิดซ่อนเร้น "คุณธรรม...คุณวิเศษ" โดยไม่เปิดเผยให้ล่วงรู้มากจนเกินไป รู้เฉพาะแต่หมู่ลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ " ใฝ่หาแก่นธรรมจริงแท้" จากองค์ท่านเท่านั้น แต่ท่านก็ยังมีจิตเมตตา คิดสงเคราะห์โลกและสงเคราะห์พวกเราๆที่ยังมีกิเลส มืดบอด อวิชชาครอบงำจิตใจ ให้ได้รู้จักการปฏิบัติธรรม อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ตามแต่วาสนา บารมีธรรม ของแต่ละคนที่ได้เคยสั่งสมอบรมจนเป็นอุปนิสัยปัจจัยกันมามากน้อย...ดังนั้นพวกเราจึงควรปฎิบัติตัวต่อ พ่อแม่ครูอาจารย์ กันอย่างไรบ้าง? ...
ที่มา...หนังสือ " พระป่าของชาวพุทธ " พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก (บ้านปง) ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่