[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 22:29:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ  (อ่าน 7223 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 มิถุนายน 2558 20:14:17 »

.
เรื่องผู้สละโลก เป็นนวนิยายอิงประวัติของพระสาวกบางท่าน
ได้แก่ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสป และ พระรัฐบาล เป็นต้น
ซึ่งได้สละละทิ้งความสุขทางโลกียารมณ์อันเจือด้วยความกระวนกระวาย และทุกข์ร้อน
ไปแสวงหาความสุขภายใต้ร่มธงแห่งธรรม เป็นโลกุตตรชน เพราะได้มองด้วยปัญญาอันชอบว่า
โลกนี้ไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น!



ผู้สละโลก
บทประพันธ์ของ วศิน  อินทรสระ
นักเขียนนวนิยายอิงธรรมะ คอลัมนิสต์ และนักปาฐกถาธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในวงการพระพุทธศาสนา

เรื่อง พระสารีบุตร


๑. หญ้าสดในทะเลทราย

ภราดา! เรื่องเป็นมาอย่างนี้
สมณะรูปหนึ่ง ผิวพรรณผ่องใสมีอินทรีย์สงบ ดำเนินอย่างเชื่องช้าออกจากโคจรคาม  ท่านมีจักษุทอดลงต่ำ จะเหลียวซ้ายแลขวาก็เต็มไปด้วยความสำรวมระวังมั่นคงและแจ่มใส
ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายแม้จะเป็นผ้าราคาถูก แต่ได้กลายเป็นของสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเชิดชูบูชา เพราะได้มาห่อหุ้มสรีระของผู้ทรงศีล มีใจอันประเสริฐ ใครเห็นก็น้อมกายลงเคารพ
กาสาวพัสตร์ – อา! กาสาวพัสตร์ – สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ สูงส่งที่พระมหาสมณโคดมบรมศาสดาแห่งพระบวรพุทธศาสนาเคยตรัสว่า
“ผู้ใด คายกิเลสที่เหนียวแน่นดุจน้ำฝาดได้แล้ว มั่นคงในศีลประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์ (ทมะ) และมีสัจจะ ผู้นั้นควรห่มผ้ากาสาวะ”
กาสาวพัสตร์ – ธงชัยแห่งผู้มีชัยคือชนะจิตของตนเองได้แล้ว ใครเล่าจะรังเกียจกาสาวพัสตร์ ถ้ากาสายะนั้นห่อหุ้มร่างของบุคคลผู้มีกายวาจาใจสะอาดสมควรแก่ภูมิชั้นของตน

หนุ่มใหญ่ สง่างาม เครื่องแต่งกายบอกว่า เป็นนักพรตประเภทปริพาชก ได้เดินตามสมณะรูปนั้นไปห่างๆ กิริยาอาการของสมณะ จับตาจับใจของเขายิ่งนัก เขาคิดว่า ภายในของสมณะรูปนี้ น่าจะมีรัศมีแห่งธรรมอันประเสริฐส่องแสงเจิดจ้าอยู่เป็นแน่แท้ จึงทำให้ท่านมีอินทรีย์สงบและผ่องใสเช่นนั้น

มาถึงบริเวณร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง สมณะแสดงอาการว่าจะนั่ง ผู้เฝ้าติดตามจึงจัดอาสนะถวาย รอคอยท่านฉัน ไม่กล้าถามอะไรเพราะเกรงใจ เห็นอาการที่ท่านฉันยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น ท่านฉันอย่างสำรวมเรียบร้อย มีอาการแห่งผู้กำหนดรู้ในอาหาร คุณและโทษของอาหาร ไม่ติดในรสอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อเมาหรือเพื่อสนุกสนานเอร็ดอร่อยในรสอาหาร แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อบำเพ็ญคุณงามความดี เหมือนนายช่างให้น้ำมันแก่เครื่องจักร เพื่อให้ทำหน้าที่ของมันต่อไปได้เท่านั้น

เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ปริพาชกได้รินน้ำในกุณโฑของตนเข้าไปถวายแล้วถามว่า
“อินทรีย์ของท่าน ผ่องใสยิ่งนัก มรรยาทของท่านงามยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผ่องใส ท่านบวชอุทิศใคร” ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร?”

สมณะรูปนั้น มองปริพาชกด้วยดวงเนตรที่เปี่ยมด้วยความปรานี ดวงตาของท่านแสดงแววแห่งเมตตาและความสงบลึกอยู่ภายใน บ่งบอกว่าดวงใจของท่านผ่องแผ้ว ไร้ราคี กระแสเสียงที่นุ่มนวลแจ่มใส ผ่านโอษฐ์ของท่านออกมาว่า
“ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท! พระศาสดาของข้าพเจ้าตรัสว่า “ผู้ใด ไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต มีชีวิตอยู่ด้วยปัจจุบันธรรม ผิวพรรณของผู้นั้นย่อมผ่องใส แม้จะบริโภคอาหารหนเดียวต่อวัน ประพฤติพรหมจรรย์สงบนิ่งอยู่ในป่า ส่วนผู้ที่มัวเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว กังวลหวังอย่างเร่าร้อนต่อสิ่งที่ยังไม่มาถึง ย่อมซูบซีดเศร้าหมอง เหมือนไม้สดที่ถูกตัดแล้ว”

กังวลหวังอย่างเร่าร้อน! มนุษย์ส่วนมากเป็นอย่างนั้น เขาไม่ค่อยรู้จักรอคอยอย่างสงบเยือกเย็น เขาไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจว่า เขาบันดาลผลไม่ได้, เหตุที่เขาทำนั่นแหละจะบันดาลผลให้เกิดขึ้นเอง เหมือนชาวสวนปลูกต้นไม้ คอยรดน้ำพรวนดิน ให้ปุ๋ยป้องกันศัตรูพืช นั่นคือเหตุ, ส่วนการออกดอก ออกผล ชาวสวนบันดาลไม่ได้ กระบวนการธรรมชาติของต้นไม้เองนั่นแหละ จะบันดาลให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติของตน มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดคุณค่าแห่งชีวิตของตนไว้ให้แน่นอน ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขไม่ได้ เขาจะไม่พบความพอใจในชีวิต

ศิษย์แห่งพระตถาคตกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เสด็จออกบวชจากศากยตระกูล โคตมโคตร พระองค์ทรงเป็นศากยมุนี ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระองค์ท่าน”
“ได้โปรดเถิดท่านผู้นิรทุกข์” ปริพาชกกล่าวอ้อนวอนอย่างนอบน้อม “ขอได้โปรดแสดงธรรมที่พระมหาสมณโคดม ทรงแสดงแล้วแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
“ท่านผู้แสวงสัจจะ” สมณะรูปนั้นกล่าว “ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่ (นวกะ) อยู่  ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้

อาการที่ท่านกล่าวอย่างถ่อมตนนั้นเพิ่มความศรัทธาเลื่อมใส แก่ปริพาชกมากขึ้นอีก จึงกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ! ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ บุตรแห่งนายบ้านอุปติสสคามใกล้ราชคฤห์นี่เอง ขอท่านผู้เจริญได้โปรดจำชื่อของข้าพเจ้าไว้ และขอได้โปรดกล่าวธรรมตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ การเข้าใจธรรมแทงตลอดธรรมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น

สาวกของพระพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า
“สิ่งใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสบอกเหตุแห่งสิ่งนั้นไว้ด้วย สิ่งนั้นดับไปได้โดยวิธีใดพระตถาคตตรัสบอกวิธีดับไว้ด้วย พระมหาสมณะมีพระวาจาอันประกอบด้วยเหตุผลอย่างนี้”
“ภราดา! สาวกของพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอันเป็นหัวใจแห่งอริยสัจ คือธรรมอันเป็นส่วนเหตุและธรรมอันเป็นส่วนผลโดยย่อ ดังกล่าวมานี้ สมุทัย และมรรคเป็นส่วนเหตุทุกข์และนิโรธเป็นส่วนผล  นอกจากนี้ยังดึงเอาหัวใจของปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น และอาศัยกันดับไปมาแสดง ณ ที่นี้ด้วย

อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมอันแสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตและโลกเพียงเท่านี้ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นโสดาบัน เป็นผู้เข้าสู่กระแสธรรม มีคติแน่นอน ไม่ตกต่ำอีก จะต้องได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดอย่างแน่นอนในภายหน้า หากจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกก็ไม่เกิน ๗ ชาติ ปิดอบาย ได้ คือไม่ต้องเกิดในนรก เป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน

เขากราบสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า
“ท่านผู้เจริญ! เท่านี้พอแล้ว, ไม่ต้องขยายธรรมเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป แต่ข้าพเจ้าอยากทราบว่า เวลานี้พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด อนึ่ง ถ้าพระคุณเจ้าจะโปรดบอกนามของท่านแก่ข้าพเจ้าบ้าง ก็จะเป็นมงคลแก่ข้าพเจ้าหาน้อยไม่”

ศิษย์พระศากยมุนี มหาสมณโคดม พิจารณาถึงประโยชน์แล้วจึงเอ่ยวาจาว่า
“ท่านผู้แสวงสัจจะ! เมื่อพระสิทธัตถะมหาบุรุษตัดสินพระทัยสละโลกียสุขอันไม่ยั่งยืนเจือด้วยทุกข์ออกแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่ามหาภิเนษกรมณ์เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ เป็นธรรมอันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์แห่งสารวัฏนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ตามเสด็จออกบวชเพื่อว่าพระองค์ท่านได้บรรลุธรรมใดแล้วจักแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพเจ้าบ้าง เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอันเข้มงวด ไม่มีผู้ใดทำได้ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่ง ที่เฝ้าปรนนิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิด แต่เมื่อพระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกกรกิริยาด้วยเห็นว่าไร้ประโยชน์ เป็นการทารุณต่อร่างกายเกินไปแล้ว หันมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตให้ได้ผล พวกเราทั้ง ๕ คน ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ชวนกันผละจากพระองค์ไป เพราะฝังใจเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ส่วนมากในเวลานั้นว่า การทรมานกายเป็นวิธีเดียวที่จะไปสู่การบรรลุสัจธรรม พวกเราพากันไปอยู่ ณ อิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี

“เมื่อพระองค์ ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงระลึกถึงพวกเราทั้ง ๕ จึงเสด็จจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตราชคฤห์นี้ไปยังอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี เพื่อแสดงธรรมที่ทรงบรรลุแล้ว เป็นปฏิการต่ออุปการะของพวกเรา ที่เคยเฝ้าปรนนิบัติพระองค์ พระอัธยาศัยอันงามนี้มีอยู่เพียบพร้อมในพระศาสดาของเรา
       “ทีแรก พวกเราไม่เชื่อว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้จริง เพราะเห็นท่านเลิกความเพียรทรมานกายเวียนมาเป็นคนมักมากในอาหาร และปล่อยตัวให้อยู่สุขสบาย ไฉนจะบรรลุโลกุตรธรรม หรืออนุตรธรรมได้ แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่าคำเช่นนี้ (คือคำว่า เราได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว) เราเคยกล่าวกับท่านบ้างหรือตลอดเวลาอันยาวนานที่อยู่ด้วยกัน นั่นแหละพวกเราจึงระลึกได้ว่า พระองค์มิได้เคยตรัสมาก่อนเลย จึงพร้อมกันตั้งใจฟังธรรม

“พระธรรมเทศนาของพระองค์ ไพเราะจับใจ งามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ประณีต น่า อัศจรรย์ ข้าพเจ้าจะขอนำมากล่าวเพียงใจความดังนี้

ตอนแรก พระองค์ตรัสบอกว่า บรรพชิต (ผู้บวชแล้ว) ควรเว้นทางสองสายคือ สายหนึ่ง ทางชีวิตที่ดำเนินไปเพื่อความหมกมุ่นในกาม พัวพันในอารมณ์ใคร่นานาประการ ทำให้หลง ให้คิดให้ยึดมั่นสยบอยู่ ทางนี้เป็นทางต่ำ เป็นไปเพื่อทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์  อีกสายหนึ่ง ทางชีวิตที่เป็นไปเพื่อเข้มงวดกวดขันกับร่างกายเกินไป เรียกอัตตกิลมถานุโยค เป็นไปเพื่อทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์ เมื่อทรงปฏิเสธทางสองสายว่าไม่ควรดำเนินแล้ว ทรงแสดงทางสายกลาง คือการปฏิบัติพอเหมาะพอควร ไม่ตึงเกินไม่หย่อนเกิน มีความเห็นชอบมีความดำริชอบเป็นต้นเป็นองค์ธรรม

ตอนที่สอง ทรงแสดงอริสัจ-สัจจะอันประเสริฐ เป็นต้นว่าชีวิตคลุกเคล้าไปด้วยทุกข์นานาประการ ความสุขที่แท้จริงของชีวิตจะมีได้ก็ต่อเมื่อความไข้แห่งราคะโทสะและโมหะ ถูกกำจัดหรือเยียวยาให้หายแล้วโดยสิ้นเชิง โลกระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรัง คือตัณหา ความร่านใจ ทะยานอยาก อันไม่มีขอบเขต สัตว์โลกถูกเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์แผดเผาให้เร่าร้อนไหม้เกรียม แต่ก็ยังโลดแล่นไปในทะเลแห่งความอยากอันเวิ้งว้าง ความทุกข์ทนหม่นไหม้ต่างๆ จึงมีมา ความทุกข์เป็นสิ่งที่ดับให้มอดได้แต่ต้องดำเนินตามมรรคปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์นั้น

ตอนที่สาม ทรงบันลือสีหนาทอย่างอาจหาญว่า ตราบใดที่ยังมิได้รู้อริยสัจ ๔ ซึ่งมี ๓ รอบ ๑๒ อาการแล้ว จะไม่ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทโธเลย แต่เพราะได้ทรงรู้จริงในอริยสัจ ๔ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการ จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทโธ – ตรัสูรู้เองโดยชอบ, และทรงเน้นว่าพระธรรมจักรที่พระองค์ทรงหมุนไปแล้วนี้ ใครจะหมุนกลับไม่ได้ (อปฺปฏิวตฺติยํ) ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ ทั้งสิ้น ใครหมุนกลับผู้นั้นเป็นผู้ผิด เป็นผู้ทวนกระแสแห่งความจริง ที่ครอบครองโลกอยู่”

“ดูก่อน ท่านผู้แสวงสัจจะ! พระธรรมเทศนาครั้งนั้นทำให้พระโกณฑัญญะ หัวหน้าของพวกเราบรรลุโสดาปัตติผล เป็นโสดาบัน หยั่งลงสู่กระแสพระนิพพาน ก้าวลงสู่กระแสธรรม และจะไม่มีวันถอยกลับจากทางสายนี้เป็นอันขาด ส่วนอีก ๔ คนคือท่าน ภัททิยะ วัปปะ มหานาม และ อิสสชิ ยังมิได้สำเร็จมรรรคผล ชื่อของข้าพเจ้าเป็นอันดับสุดท้ายใน ๕ คนดังกล่าวมา”

เมื่อพระอัสสชิ กล่าวจบลง อุปติสสปริพาชกได้ลุกขึ้นนั่งกระโหย่งประนมมือกล่าวขึ้นว่า
“ข้าแต่ท่านอัสสชิ! เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพเจ้าแล้ว สิ่งที่พบได้โดยยาก ข้าพเจ้าได้พบแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นปฐมาจารย์ (อาจารย์คนแรก) ของข้าพเจ้า   ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก เป็นสิ่งนำทางแห่งชีวิตของข้าพเจ้า  บัดนี้ พระผู้มีพระภาค-ศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด?”

“ประทับอยู่ที่เวฬุวันนี่เอง” พระอิสสชิตอบ มองดูปริพาชกศิษย์ของท่านอย่างเข้าใจ ใสความรู้สึกของเขา

ภราดา! อุปติสสปริพาชกได้กราบลาพระอัสสชิไปแล้วด้วยดวงใจที่ผ่องแผ้วชุ่มเย็น อย่างที่ไม่เคยเป็นมา สมแล้วที่พระจอมมุนี พุทธเจ้าตรัสว่า “โสดาปัตติผล ๖  ประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ประเสริฐกว่าการได้ไปสวรรค์ และกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง”

อันว่าบุคคล ที่เคยระหกระเหินมานาน วนเวียนหลงทางอยู่ในป่ารก อันน่าหวาดเสียวด้วยอันตรายนานาประการ มีอันตรายจากสัตว์ร้ายและไข้ป่าเป็นต้น ได้อาศัยบุรุษหนึ่งชี้ทางให้ขึ้นสู่มรรคาอันจะดำเนินไปสู่แดนเกษม แม้จะยังอยู่แค่ต้นทางก็ให้รู้สึกโปร่งใจ มั่นใจ ในความปลอดภัย ฉันใด

บุคคลผู้ระหกระเหิน อยู่ในป่าแห่งสารวัฎนี้ก็ฉันนั้น ถูกภัย คือความเจ็บ ความแก่ความตาย ความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะเหตุต่างๆ คุกคามให้หวาดหวั่นพรั่นพรึงอยู่เนืองนิตย์ ถูกความไม่ได้ดังใจปรารถนาบีบคั้นให้ต้องเสียใจ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาก็ยังหวังอยู่นั่นเอง หวังว่าจะได้อย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ พอถึงเวลาเข้าจริง ความหวังของเขากลับกลายเป็นเสมือนภาพอันซ้อนอยู่ในปุยเมฆ พอลมพัดมานิดเดียวภาพนั้นก็พลันเจือจางและเลือนหาย ด้วยเหตุนี้ เสียงที่ว่า “ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต” จึงระงมอยู่ในหมู่มนุษย์ตลอดมา

ความจริง มนุษย์ทุกคนได้เคยสมปรารถนา ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นระยะๆ อยู่เหมือนกัน แต่เพราะเมื่อความปรารถนา หรือความหวังอย่างหนึ่ง สำเร็จลงแล้ว ความต้องการอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นอีก บางทีก็อาศัยความสำเร็จเดิมนั้นเป็นมูลฐาน เขาจึงรู้สึกเหมือนหนึ่งว่า มิได้ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงดิ้นรนอยู่ในทะเลเพลิงแห่งความอยาก ความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด เร่าร้อนและว้าเหว่หาประมาณมิได้

ทุกครั้งที่ความปรารถนาเกิดขึ้นในห้วงหัวใจ ตราบใดที่ยังไม่สมปรารถนา ความเร่าร้อนในหัวใจก็หาดับลงไม่ นอกจากเขาจะเลิกปรารถนาสิ่งนั้นเสีย ความหวังเป็นสิ่งผูกพันชีวิตมนุษย์ไว้ อย่างยากที่จะแยกออกไปได้ ถึงกระนั้นก็ตาม มีมนุษย์เป็นอันมากที่ไม่รู้, ตอบตัวเองไม่ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ตนหรือมนุษย์ควรจะต้องการจริงๆ อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรเดินเข้าไปหาและขึ้นให้ถึง ตราบใดที่มนุษย์ยังตอบปัญหานี้ไม่ได้ ตราบนั้นเขาจะต้องดำเนินชีวิตอย่างลังเล ไร้หวังและวนเวียนเป็นสังสารจักร์ไม่รู้ว่าอะไรคือทิศทางของชีวิต เหมือนคนหลงป่า หรือนกหาฝั่ง บินวนเวียนอยู่ในสมุทร เพราะหาฝั่งไม่พบ

แต่พอได้บรรลุธรรม คือโสดาปัตติผลแล้ว เข้าสู่กระแสนิพพานแล้ว เขารู้สึกตนได้ทันทีว่า ได้ออกจากป่าใหญ่แล้ว ดำรงตนอยู่ต้นทางอันนำไปสู่แดนเกษมแล้ว ถ้าเปรียบด้วยผู้ดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทรก็เป็นผู้ลอยคอขึ้นได้แล้ว มองเห็นฝั่งอยู่ข้างหน้า กำลังเดินเข้าหาฝั่ง จะต้องขึ้นฝั่งได้แน่นอน ไม่จมลงไปอีก ลองคิดดูเถิด คนทั้งสองพวกนั้น จะปราบปลื้มปราโมชสักเพียงใด ชุ่มเย็นอยู่ด้วยธรรมท่ามกลางผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลส เหมือนหญ้าสด ในทะเลทราย เพราะได้แหล่งน้ำในทะเลทรายนั่นเองหล่อเลี้ยง โลกนี้เร่าร้อนอยู่ด้วยกิเลส ธรรมเท่านั้นที่จะช่วยดับความเร่าร้อนของโลกได้


บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๑
     ๑. พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑ หน้า ๑๖
     ๒. ปริพาชก นักบวชลัทธิหนึ่งในพุทธกาล ท่องเที่ยวไปโดยลำพังเพื่อแสวงหาความจริงบ้าง อยู่กันเป็นกลุ่มๆ เป็นสำนักบ้าง
     ๓. พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๒๑ หน้า ๖-๗
     ๔. ปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นมีหลักโดยย่อว่า เมื่อสิ่งนี้มี, สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้จึงดับไป (Dependent Origination)
         สิ่งต่างๆ ทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ปรากฏขึ้นในรูปของปฏิจจสมุปบาท หลักธรรมนี้ของพระพุทธเจ้า จึงได้รับยกย่องจากนักปราชญ์ ชาวต่างประเทศ
         ว่าเป็น Cosmic Law เป็น Central Philosophy of Buddhism
     ๕. อปปฺฏิวตฺติยํ อันใครๆ จะหมุนกลับมิได้ ปฏิวัติไม่ได้ เพราะเป็นความจริงสากลและจำเป็น (Universal and necessary truth)
         ผู้ใดหมุนกลับหรือแสดงทรรศนะตรงกันข้าม ผู้นั้นทวนกระแสแห่งความจริง จะต้องประสบกับความลำบากเป็นอันมาก
      ๖. พระไตรปิฎกเล่ม๒๕ ข้อ ๒๓ หน้า ๓๙

--------------------------------------------------

http://www.sookjaipic.com/images_upload/91150394330422__3612_3641_3657_3626_3621_3632.gif
'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๒ บัวเหนือน้ำ

ความจริงอุปติสสะต้องการเหลือเกินที่จะไปเฝ้าพระศาสดาทันทีที่ได้ทราบจากพระอัสสชิว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน กลันทกนิวาปะ แต่มิอาจทำเช่นนั้นได้ เพราะระลึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนรักผู้หนึ่งคือโกลิตะว่า ผู้ใดได้บรรลุธรรมก่อน ขอให้บอกกัน

ด้วยเหตุนี้ อุปติสสะจึงรีบกลับมาสู่ปริพพาชการาม (อารามหรือสำนักของปริพาชก) ที่ตนและมิตรรักอาศัยอยู่พร้อมด้วยบริวารอีกเป็นอันมาก

โกลิตะได้เห็นอุปติสสะเดินกลับมามีสีหน้าผ่องใสยิ่งนัก ไม่มีสีหน้าผู้หมกมุ่นครุ่นคิดอย่างวันก่อนๆ จึงอนุมานว่า สหายของเราคงได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเป็นแน่แท้

ภารดา! จิตมนุษย์นั้นมีลักษณะเป็นประภัสสร (มีรัศมีซ่านออก) จิตเป็นอย่างใด ย่อมซ่านออกทางสีหน้า ดวงตา และอาการกิริยาอื่นๆ เมื่อจิตโกรธ สีหน้าและแววตาเป็นอย่างหนึ่ง แววตาแข็งกร้าวหมองคล้ำหรือแดงจัด กิริยาอาการแข็งกระด้างตึงตัง เมื่อจิตเปี่ยมด้วยเมตตาปรานี สีหน้าก็ผ่องใส แววตาอ่อนโยน กิริยาอาการละเมียดละไม วาจาอ่อนหวานนุ่มนวล เมื่อจิตเศร้าโศก ดวงหน้าก็เศร้าหมองซูบซีด แววตาร่วงโรยไม่แจ่มใส กิริยาอาการเงื่องหงอยไม่กระปรี้กระเปร่า ดูเถิดภราดา! อาการซ่านออกแห่งดวงจิตดูรัศมีแห่งจิตหรือกระแสลำแสงแห่งจิต คนที่มีจิตเหลาะแหละโลเล คิดแต่จะเอาเปรียบผู้อื่น พอพบเห็นกันครั้งแรก ผู้พบเห็นก็มักรู้สึกว่า ‘คนนี้ไม่น่าไว้วางใจ’ ส่วนผู้มีใจสูงได้รับการอบรมดีแล้ว ย่อมแสดงออกทางดวงหน้าและแววตาเหมือนกัน ใครได้พบเห็นจึงมักรู้สึกว่า ช่างน่าเคารพเลื่อมใสเสียนี่กระไร! ดังนั้น ความรักใคร่หรือความเกลียดชัง แม้ไม่ต้องบอก ใครๆ ก็พอรู้ได้เพราะมันแสดงออกอยู่เสมอทั้งทางดวงหน้าและแววตา วาจาพออำพรางได้เสแสร้งแกล้งกล่าวได้ แต่แววตาจะฟ้องให้เห็นเสมอว่าความรู้สึกภายในเป็นอย่างไร

โกลิตะสังเกตกิริยาอาการสีหน้าและดวงตาของสหายรักแล้วจึงแน่ใจว่า อุปติสสะคงได้พบขุมทรัพย์อันประเสริฐที่เขาทั้งสองพากันแสวงหามาเป็นเวลานานแล้ว

อุปติสสะเล่าความทั้งปวงให้สหายรักฟัง ตั้งต้นแต่ได้เห็นพระอัสสชิขณะบิณฑบาตอยู่ในนครราชคฤห์ และเดินตามท่านไปจนได้ฟังธรรมจากท่าน เขาเล่าอย่างละเอียดลออ โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) เช่นเดียวกับเขา

ทั้งสองได้ปราโมชอันเกิดจากธรรม ได้ดื่มรสแห่งธรรมอันพระตถาคตทรงยกย่องว่าเลิศกว่ารสทั้งปวง เพราะไม่เจือด้วยทุกข์และโทษ ยิ่งดื่มยิ่งสงบ ประณีต ไร้ความกระวนกระวาย ยิ่งดื่มยิ่งหวานชื่น เหมือนบริโภคอ้อยจากปลายไปหาโคน ส่วนรสแห่งโลกนั้น เจืออยู่ด้วยทุกข์และโทษนานาประการ ต้องกังวลต้องหวาดระแวง ความสุขแห่งโลกมักจบลงด้วยทุกข์ โลกียรสยิ่งดื่มยิ่งจืดเหมือนกินอ้อยจากโคนไปหาปลาย ผู้ได้ดื่มรสแห่งธรรมแล้ว มีธรรมเอิบอาบอยู่ในใจแล้ว ความสุขอย่างโลกๆ ก็ไร้ความหมาย เมื่อจำเป็นต้องเสวยความสุขทางโลกไม่ว่าประณีตปานใดก็มีใจพิจารณาเห็นโทษอยู่เนืองๆ เหมือนผู้จำเป็นต้องดื่มน้ำที่แม้จะใสสะอาด แต่มองเห็นปลิงวนว่ายอยู่ก้นขัน ลองคิดดูเถิดว่าเขาจะดื่มน้ำด้วยความรู้สึกอย่างไร!

นับถอยหลังจากเวลาที่ท่านทั้งสองคืออุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุธรรมไปไม่นานนัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ ๒ หมู่ไม่ห่างจากนครราชคฤห์นัก ในหมู่บ้านหนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่ออุปติสสะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวังคันตะ มีภริยาชื่อนางสารี มีบุตรชายคนหนึ่งเรียกชื่อตามนามของบิดาว่า อุปติสสะ (ผู้บุตร) เรียกชื่อตามนามของมารดาว่า ‘สารีบุตร’ ในบ้านอีกหมู่หนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อโกลิตะ มีภรรยาชื่อนางโมคคัลลี มีลูกชายคนหนึ่ง เรียกชื่อตามนามของบิดาว่า โกลิตะ (ผู้บุตร) เรียกชื่อตามนามของมารดาว่าโมคคัลลานะ สองตระกูลนี้เป็นสหายเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ บุตรของสองตระกูลนั้นมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงได้เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เล็ก

เมื่อเติบโต ทั้งสองได้ศึกษาศิลปศาสตร์อันเป็นทางเลี้ยงชีพและทางนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงสำเร็จทุกประการ เขาชอบไปดูมหรสพทั้งในเมืองราชคฤห์และบนยอดเขา ย่อมหัวเราะในที่ควรหัวเราะ เศร้าสลดในที่ควรเศร้าสลด และให้รางวัลแก่ผู้แสดงที่ตนชอบ

ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองนั่งดูมหรสพอยู่บนยอดเขา เพราะความที่ญาณและบารมีธรรมที่ท่านทั้งสองบ่มมาแก่กล้าแล้วจึงเกิดความรู้สึกขึ้นว่า “มหรสพนี้ มีอะไรน่าดูบ้าง? มีอะไรเป็นสาระบ้าง? คนเหล่านี้ทั้งหมดทั้งคนแสดงและคนดูไม่ถึงร้อยปีก็จะต้องตายกันหมด เราน่าจะแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความแก่เจ็บและตาย ความทุกข์จากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ”

เมื่อคิดดังนี้ จึงไม่มีอาการร่าเริงสนุกสานอย่างวันก่อนๆ อุปติสสะนั่งเฉยเหมือนคิดอะไรอย่างหนึ่งอย่างลึกซึ้ง โกลิตะเห็นอาการของเพื่อนแปลกไปอย่างนั้นถึงถาม,  อุปติสสะเล่าความรู้สึกของตนให้ฟัง โกลิตะบอกว่าตัวเขาเองก็มีความรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน คือรู้สึกว่า ความเพลิดเพลินในมหรสพนี้มีอะไรเป็นสาระบ้าง เราน่าจะแสวงหาอะไรที่ดีกว่านี้ แสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง

ภราดา! อันว่าปทุมชาติแม้เกิดในโคลนตมหรือในน้ำ ย่อมชูดอกขึ้นพ้นจากโคลนตมและน้ำ ไม่ติดตมและน้ำ ส่งกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เกิดแล้วในโลก เจริญแล้วในโลก แต่ไม่ติดโลก ไม่ติดในโลกียสุขอันเปรียบเสมือนเหยื่อเล็กน้อยที่ติดอยู่กับเบ็ดถอนตนขึ้นจากโลก ปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระจากการย่ำยีเสียบแทงอารมณ์ของโลก ไม่ต้องอึดอัดคับแค้น เพราะโลกธรรมกระแทกกระทั้นบีบคั้นหัวใจ, ไม่หวั่นไหวต่อความขึ้นลงของชีวิต

ภราดา! ลองคิดดูด้วยปัญญาอันชอบเถิด เหมือนอย่างว่าบุรุษหนึ่งมี ๒ มือ มือข้างหนึ่งของเขาจับของร้อนจัดไว้ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจับของเย็น จัดไว้ ของทั้งสองนั้นแม้มีสภาพตรงกันข้ามก็จริง แต่ก็จะให้ความทุกข์ทรมานแก่บุรุษนั้นเกือบจะเท่าๆ กัน ฉันใด สุขและทุกข์ของโลกก็ฉันนั้น ลงท้ายก็จะให้ความทุกข์แก่ผู้หน่วงเหนี่ยวยึดถือเท่าๆ กัน เพราะความสุขของโลกเหมือนเหยื่อที่เบ็ดเกี่ยวไว้ พอปลากินเหยื่อก็ติดเบ็ด คราวนี้ก็สุดแล้วแต่พรานเบ็ดจะฉุดกระชากลากไป มัสยาที่ติดเบ็ด กับปุถุชนผู้ติดในโลกียสุขจะต่างอะไรกัน

ทั้งสอง คืออุปติสสะ และโกลิตะตกลงใจว่าจะสละโลกียสุขออกแสวงหาโมกขธรรม แต่การแสวงหาโมกขธรรมน่าจะได้บวชในสำนักใดสำนักหนึ่ง จึงพาบริวารออกบวชเป็นปริพาชกในสำนักของอาจารย์สัญชัย ซึ่งอยู่ใกล้เมืองราชคฤห์นั่นเอง

ตั้งแต่สองสหายและบริวารบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกก็เป็นผู้เลิศด้วยลาภและบริวาร ล่วงไปเพียง ๒-๓ วันอุปติสสะและโกลิตะก็สามารถเรียนจบคำสอนของอาจารย์ เมื่อทราบจากอาจารย์ว่าไม่มีคำสอนอื่นใดยิ่งกว่านี้แล้ว คือหมดสิ้นความรู้ของอาจารย์แล้ว เขาทั้งสองคิดกันว่า เท่านี้หาเพียงพอไม่ ความรู้เพียงเท่านี้ไม่พอกับปัญหาชีวิตและความทุกข์ของชีวิต เราออกแสวงหาความหลุดพ้น ความรู้ของอาจารย์ในสำนักนี้ไม่พอเพื่อความหลุดพ้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักอาจารย์สัญชัยจึงไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไปอีก แต่ชมพูทวีปนี้กว้างใหญ่นัก เราน่าจะท่องเที่ยวไปในตามนิคมชนบทราชธานี คงจักได้พบอาจารย์ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยตนเอง และแสดงโมกขธรรมนั้นแก่เราเป็นแน่แท้

ตั้งแต่นั้นมา ได้ยินใครพูดว่าที่ใดมีสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตทั้งสองก็ดั้นด้นไปหา ทำการสากัจฉากับสมณพราหมณ์นั้นๆ ปัญหาใดที่เขาถาม, อาจารย์ทั้งหลายไม่อาจแก้ปัญหานั้นได้ แต่เขาสามารถแก้ปัญหาที่อาจารย์เหล่านั้นถามแล้วได้ เขาเที่ยวสอบถามอาจารย์ทั่วชมพูทวีป แต่ไม่พบอาจารย์อันเป็นที่พอใจหรือให้เขาจุใจได้ จึงกลับมาสู่สำนักเดิม นัดหมายกันว่าใครได้บรรลุอมตธรรมก่อนขอจงบอกแก่กันโดยนัยที่กล่าวแล้วข้างต้น

ภราดา! บุคคลมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แสวงหาสิ่งใด เขาย่อมได้พบสิ่งนั้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทุรชนแสวงหาแต่ทางที่จะทำชั่วก็ได้พบความชั่ว สาธุชนแสวงหาทางที่จะทำความดีก็ได้พบความดี นักปราชญ์แสวงหาทางปัญญาก็ได้พบปัญญา มุนีผู้ใฝ่สงบมุ่งความสงบก็ได้พบความสงบเย็นใจ บุคคลแสวงหาสิ่งใดย่อมได้พบสิ่งนั้น ในโลกนี้มีสิ่งที่มนุษย์แสวงหามาก ใครจะแสวงหาอะไรก็สุดแล้วแต่อุปนิสัยของเขา

อันการแสวงหานั้นที่ประเสริฐก็มี ไม่ประเสริฐก็มี, โดยปริยายเบื้องต่ำ สัมมาชีวะเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ มิจฉาอาชีวะเป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ โดยปริยายเบื้องสูง การแสวงหาอามิส คือลาภยศ สรรเสริญและโลกียสุขไม่ประเสริฐ การแสวงหาธรรมประเสริฐ การแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด แก่เจ็บตายเป็นธรรมดาไม่ประเสริฐ การแสวงหาสิ่งที่ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ

ดูก่อนภราดา! มนุษย์และสัตว์โลกทั้งมวล ตนเองมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ยังเที่ยวแสวงหาสิ่งอันมีความเกิดแก่เจ็บตายเข้ามาทับถมอีก จึงต้องเพิ่มความเดือดร้อนขึ้นทับทวีคูณตรีคูณ เพราะเหตุที่บุคคลรู้สึกพร่องในตน จึงพยายามแสวงหาสิ่งอื่นที่เข้าใจว่าจะมาทำความพร่องของตนให้เต็มบริบูรณ์ แต่เนื่องจากสิ่งที่แสวงหามานั้น มีความพร่องอยู่ในตนเหมือนกันจึงหาทำให้ใครเต็มบริบูรณ์ได้ไม่ มีแต่จะเพิ่มความพร่องให้มากขึ้น เปรียบเหมือนคนตาบอดด้วยตนเองแล้วไปแสวงหาคนตาบอดมาอยู่ด้วย ก็หาได้ทำให้ตาของตนสว่างขึ้นไม่ ยังจะต้องเป็นภาระกับคนตาบอดอีกคนหนึ่ง แต่อนิจจา กว่าจะรู้อย่างนี้ก็มักสายเกินแก้เสียแล้ว สภาพของโลกจึงอยู่ในลักษณะของคนตาบอดจูงคนตาบอดและเตี้ยอุ้มค่อมเสมอมา

ความรักเป็นสิ่งหนึ่งที่บุคคลทุกเพศทุกวัยแสวงหาด้วยเข้าใจว่า ตนจะสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีความรักและคนที่รัก เข้าใจว่าตนจะมีความสุขเพราะมีความรัก แต่พอมีเข้าจริง ความกังวลห่วงใย ความกลัวจะเสียของรักหรือคนรัก ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการที่จะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความริษยาอาฆาตต่อบุคคลที่มีท่าทีว่าจะมาแย่งคนรักของตนไปเป็นอาทิ เมื่อรวมกันแล้วก่อความทุกข์ความกังวลให้มากกว่าความสุขเล็กน้อยเพราะความเพลินใจในอารมณ์รักหรือสิ่งที่รัก

ความไม่สมบูรณ์ในตนนั่นเอง ทำให้คนต้องการความรักและสิ่งที่รัก ส่วนบุคคลผู้มีความสมบูรณ์ในตนย่อมไม่ต้องการความรักหรือสิ่งที่รัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระศาสดาของเราตรัสว่า “การไม่ได้เห็นสิ่งอันเป็นที่รักเป็นความทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำอะไรๆ ให้เป็นที่รัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นความทรมาน

เมื่ออุปติสสะและโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วจึงชวนกันไปเฝ้าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ ณ เวฬุวัน แต่อุปติสสะ ซึ่งเป็นผู้หนักในกตัญญูกตเวที ระลึกถึงอาจารย์สัญชัย จึงเข้าไปหาอาจารย์ เล่าความทั้งปวงให้ฟัง ชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย แต่อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้นครูบาอาจารย์แล้ว ไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก เมื่อสองสหายอ้อนวอนหนักเข้า อาจารย์สัญชัยจึงถามว่า ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก สองสหายตอบว่า คนโง่มากกว่า, สัญชัยจึงสรุปว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้พวกที่ฉลาดๆ ไปหาพระสมณโคดมเถิด ส่วนพวกโง่ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา

แม้จะรู้ว่า ท่านอาจารย์สัญชัยพูดประชดประชัน แต่ทั้งสองสหายผู้มีอัธยาศัยงาม เพียบพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณก็หาถือเป็นเรื่องเคืองใจแต่ประการใดไม่ คงอ้อนวอนต่อไป พรรณนาให้เห็นว่าการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากเพียงใด การได้ฟังพระสัทธรรมของพระองค์ท่านก็เป็นของยาก บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้วและประทับอยู่ ณ ที่ใกล้นี่เอง ควรจะถือโอกาสอันดีนี้ไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา แต่สัญชัยก็คงยันยันอย่างเดิม


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2558 12:59:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2558 16:38:52 »


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๒ บัวเหนือน้ำ (ต่อ)

ดูก่อนภราดา! คนที่เป็นปทปรมะ (คนที่สั่งสอนไม่ได้) นั้นมีอยู่ ๒ จำพวกคือ พวกหนึ่งปัญญาน้อยเกินไป หรือพวกปัญญาอ่อน อีกพวกหนึ่งมีทิฐิมากเกินไปไม่ยอมฟังความคิดเห็นของใครๆ คนทั้งสองพวกนี้สอนได้ยาก หรืออาจสอนไม่ได้เลยที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำติดโคลนตมมีแต่จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่า

เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว ทั้งสองสหายก็จากไป ศิษย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัยติดตามไปเป็นจำนวนมาก ประหนึ่งว่าปริพาชการามจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้นเสียใจจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด ศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คนคงจะสงสารอาจารย์จึงกลับเสียในระหว่างทาง คงติดตามท่านทั้งสองไปเพียง ๒๕๐ คน

เมื่อทั้งสองถึงเวฬุวันนั้น เป็นเวลาที่พระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท ทอดพระเนตรเห็นสองสหายกำลังมา จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สองสหายคืออุปติสสะ และโกลิตะกำลังมา เขาทั้งสองจักเป็นอัครสาวก (สาวกผู้เลิศของเรา)”

ทั้งสองและบริวารถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคทรงประทานอุปสมบทแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา

พระศาสดาทรงขยายพระธรรมเทศนาให้พิสดารออกไปมุ่งเอาอุปนิสัยแห่งบริวารของสหายทั้งสองเป็นเกณฑ์เพื่อได้สำเร็จมรรคผลก่อน เมื่อจบพระธรรมเทศนาบริวารทั้ง ๒๕๐ ท่านได้สำเร็จอรหัตผล ส่วนสหายทั้งสองยังไม่ได้บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป คงได้เพียงโสดาปัตติผลเท่านั้น

เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนั้น? ท่านว่าสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ต้องมีคุณาลังการมากมายเหมือนการเสด็จของพระราชา ย่อมมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน  อนึ่ง คนมีปัญญามากย่อมต้องไตร่ตรองมากมิได้ปลงใจเชื่อสิ่งใดโดยง่าย ต้องการใคร่ครวญให้เห็นเหตุเห็นผลอย่างชัดแจ้งด้วยตนเองเสียก่อน แล้วจึงเชื่อและปฏิบัติตาม แต่พอสำเร็จแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทุกประการ อันเป็นบริวารธรรมแห่งสิ่งอันตนได้สำเร็จแล้วนั้น

ภราดา! เปรียบเหมือนการเดินทาง, คนพวกหนึ่งเดินก้มหน้าก้มตางุดๆ เพื่อรีบไปให้ถึงปลายทาง ไม่มองดูสิ่งใดในระหว่างทางเลย เมื่อถึงปลายทางแล้วก็เป็นอันถึงแล้ว แต่หาได้รู้อะไรในระหว่างทางอันเป็นเครื่องประกอบการเดินทางของตนไม่ ส่วนคนอีกพวกหนึ่งค่อยๆ เดินไป ตรวจ ๒ ข้างทางอย่างถ้วนถี่ มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษก็แวะชม จดจำและทำความเข้าใจ คนพวกนี้อาจถึงจุดหมายปลายทางช้า แต่เมื่อถึงแล้วย่อมมีความรู้พิเศษติดไปด้วยมากมาย ฉันใด

ผู้สำเร็จมรรคผลในพระพุทธศาสนาก็ฉันนั้น บางพวกเป็นสุกขวิปัสสโก คือสามารถทำลายกิเลสได้เกลี้ยงหัวใจแต่ไม่มีคุณสมบัติอย่างอื่นเช่นวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หรืออภิญญา ๖  บางพวกทำลายกิเลสได้เกลี้ยงหัวใจด้วยมีวิชชา ๓ ด้วย บางพวกมีอภิญญา ๖ ด้วย บางพวกมีปฏิสัมภิทา ๔ ด้วย

ภราดา! พระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นผู้พร้อมด้วยอัครสาวกบารมีญาณ แม้จะสำเร็จช้า แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทั้งปวง

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๒

   ๑ เวฬุวัน กลันทกนิวาปะ สวนไม้ไผ่เป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต อยู่เชิงเขาคิชกูฏ เวฬุวันเป็นอารามสงฆ์แห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารน้อมถวายพระพุทธเจ้าเพื่อเสด็จราชคฤห์หนแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว
   ๒ เช่นมือข้างหนึ่งจับไฟ อีกข้างหนึ่งจับน้ำแข็ง
   ๓ โมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากการบีบรัดของตัณหามานะทิฐิ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด The state of salvation
   ๔ การแสวงหาที่ประเสริฐ เรียก อริยปริเยสนา Noble search, การแสวงหาอันไม่ประเสริฐเรียก อนริยปริเยสนา Ignoble search, ดูพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ หน้า ๓๑๔
   ๕ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๖
   ๖ เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทที่พระศาสดาทรงประทานเอง เพียงแต่ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเท่านั้นก็ครองจีวรได้ ไม่ต้องมีพิธีอะไร วิธีนี้เป็น ๑ ใน ๓ แห่งวิธีอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

-------------------------------------------------



       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๓. ผ้าขี้ริ้วกับช่อดอกไม้

เมื่อท่านอุปติสสะและโกลิตะ ได้อุปสมบทแล้ว เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย นิยมเรียกท่านว่า ‘สารีบุตรและโมคคัลลานะ’ แม้พระตถาคตเจ้าเองก็ตรัสเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน นามอุปติสสะและโกลิตะได้หายไปพร้อมกับการอุปสมบทของท่านทั้งสอง

พระโมคคัลลานะเมื่ออุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ ณ ใกล้หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม ถูกความง่วง (ถีนมิทธะ) ครอบงำไม่อาจให้ความเพียรดำเนินไปตามปกติได้ พระศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงอุบายสำหรับแก้ง่วง เช่น “เมื่อความง่วงครอบงำให้เอาใจใส่ใคร่ครวญถึงธรรมที่ได้ฟังแล้วได้ศึกษามาแล้ว, ถ้ายังไม่หายง่วง ควรสาธยาย (คือท่องออกเสียง) ธรรมได้ฟังมาแล้ว ศึกษามาแล้ว, ถ้ายังไม่หายง่วงควรยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบตัวไปมาบ่อยๆ, ถ้ายังไม่หายง่วงควรลุกขึ้นยืนแล้วลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์, ถ้ายังไม่หายง่วง ควรทำในใจถึงแสงสว่าง (อาโลกสัญญา) ว่าบัดนี้สว่างแล้วๆ ทำจิตให้มีแสงสว่างเกิดขึ้น ให้รู้สึกว่าเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ, ถ้ายังไม่หายง่วงควรเดินจงกรม คือเดินกลับไปกลับมาพิจารณาข้อธรรม สำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปภายนอก. ถ้ายังไม่หายง่วงพึงนอนแบบสีหไสยา คือตะแคงขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันเล็กน้อย มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจจะลุกขึ้นทันทีเมื่อรู้สึกตัวครั้งแรกด้วยมนสิการว่า เราจักไม่แสวงหาความสุขจากการนอน จากการเอนหลัง จากการเคลิ้มหลับ”

“ดูก่อนโมคคัลลานะ” พระศาสดาตรัสต่อไป “อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ชูงวงคือถือตัวทะนงตนเข้าไปสู่ตระกูล’ เพราะถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล เธอจะร้อนใจเป็นอันมาก บางครั้งบางคราว คฤหัสถ์ทั้งหลายเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก อาจไม่ได้นึกถึงภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูล ภิกษุผู้ชูงวง อาจคิดมากว่า บัดนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกจากตระกูลนี้ มนุษย์พวกนี้จึงมีอาการห่างเหินเรา มีอาการอิดหนาระอาใจต่อเรา เมื่อไม่ได้อะไรๆ จากตระกูลนั้น เธอก็เก้อเขิน ครั้นเก้อเขินก็เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ

“โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกว่า ‘เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ถือผิดต่อกัน’ เพราะเมื่อมีถ้อยคำทำนองนี้ก็จะต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน ครั้นฟุ้งซ่านก็จะเกิดการไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตก็จะเหินห่างจากสมาธิ”

โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สรรเสริญการาคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย[sup][/sup]...”

ภราดา! พระบรมพุทโธวาทของพระศาสดาในเรื่องอุบายแก้ง่วงก็ดี เรื่องการยกงวงชูงาก็ดี เรื่องเว้นการพูดถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกันก็ดี และเรื่องการอยู่ในเสนาสนะสงัดก็ดี ควรเป็นเรื่องเตือนใจอันสำคัญของพุทธศาสนิกทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

ภราดาเอย! การ “ชูงวง” คือความทะนงตนนั้น เป็นกิเลสร้ายอย่างหนึ่ง ซึ่งครอบงำจิตของมนุษย์อยู่ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พระศาสดาทรงเรียกมันว่า “มานานุสัย” อนุสัยคือมานะ กิเลสที่นอนสยบอยู่ในขันธสันดานเมื่อถูกกวนก็จะฟูขึ้นทันที มานะ มีลักษณะให้ทะนงตนว่า “แกเลวกว่าข้า” บุคคลผู้มีมานะจัด ย่อมมีลักษณะเชิดชูตนจัด อวดตนจัด ยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญเท่าตน ซึ่งเป็นการมองที่ผิด ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลย่อมมีความสำคัญตามฐานะของตนๆ แม้บุคคลผู้หนึ่งจะเป็นเสมือนไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว ส่วนบุคคลอีกผู้หนึ่งเป็นเสมือนดอกไม้ในแจกันก็ตาม ไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วย่อมมีความหมายและมีความสำคัญอย่างไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว ส่วนดอกไม้ในแจกันก็มีความหมายและมีความสำคัญอย่างดอกไม้ ปราศจากไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วเสียแล้วบ้านเรือนจะสะอาดได้อย่างไร แต่บ้านเรือนอาศัยเครื่องประดับเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ข้อนี้ฉันใด ชุมชนก็ฉันนั้น ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ควรดูหมิ่นกัน และไม่ควรริษยากันอันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งสองฝ่าย

ภราดา! อันไม้พันธุ์ดีนั้น ถ้ายืนอยู่เดี่ยวโดด ไม่มีไม้พันธุ์อื่นต้านลมหรืออันตรายต่างๆ มันก็ดำรงอยู่ไม่ได้นาน คนดีหรือคนสูงก็เหมือนกัน ไม่ควรอวดดีหมิ่นคนต่ำ เพราะคนต่ำนั่นเองได้เป็นป้อมปราการป้องกันอันตรายให้และเป็นฐานรองรับให้สูงเด่นอยู่ได้ ควรมีเมตตากรุณาช่วยส่งเสริมเขา อย่างน้อยเขาต้องมีคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือด้านใดด้านหนึ่ง เหมือนไม้แม้พันธุ์ไม่ดีก็ช่วยต้านลมให้ได้ เมื่อล้มตายลงก็ช่วยเป็นปุ๋ยให้ได้

จริงอยู่ เราปลูกหญ้าให้เทียมตาลไม่ได้ แต่หญ้าก็มีประโยชน์อย่างหญ้าช่วยให้ดินเย็น เมื่อตัดให้เรียบร้อยก็ดูสวยงามและนั่งเล่นได้ เป็นต้น เจดีย์ที่สวยงามต้องมีทั้งยอดและฐาน ฉันใด ชุมนุมชนก็ฉันนั้น ต้องมีทั้งคนสูงและคนต่ำ คนที่เป็นยอดและเป็นฐานต่างทำหน้าที่ของตนไปให้ชุมนุมชนดำเนินไปได้โดยสงบเรียบร้อย

ในรายที่ความทะนงตนมิได้เปิดเผยโจ่งแจ้ง ก็อย่าได้นอนใจว่าไม่มี มันอาจแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ คอยโอกาสอยู่ ใจเผลอขาดสติสัมปชัญญะเมื่อใดมันจะแสดงตนทันที บางทีก็เป็นไปอย่างหยาบคาย บางทีเป็นไปอย่างละเอียดอ่อน

อหังการ หรือ อัสมิมานะ คือความทะนงตนนั้นให้ความลำบากยากเข็ญแก่มนุษย์มานักหนา แต่มนุษย์ก็ยังพอใจถนอมมันไว้เหมือนดอกไม้ประดับเศียร ซึ่งจะก้มลงมิได้กลัวดอกไม้หล่น มันเหมือนแผงค้ำคอทำให้คอแข็งหน้าเชิดแล้วเอาศีรษะกระทบกัน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าตามๆ กันไป

ลองตรองดูเถิด ความโกรธ ความเกลียดชังกัน ความแก่งแย่งแข่งดี การคิดทำลายกัน ล้วนแตกกิ่งก้านมาจากลำต้นคืออหังการหรือทะนงตนทั้งสิ้น ถ้าลำต้นคือความทะนงตน การถือตัวจัดถูกทำลายแล้วตัดให้ขาดแล้วการกระทบกระทั่งย่อมไม่มี จิตสงบราบเรียบและมั่นคงเป็นความสงบสุขสมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า “การถอนอัสมิมานะเสียได้เป็น “บรมสุข” ดังนี้

วิธีถอนอัสมิมานะนั้น ในเบื้องต้นให้พิจารณาเห็นโทษของความทะนงตนว่าเป็นเหตุให้ทำความเสียหายนานาประการแล้วพยายามบรรเทาด้วยความพยายามเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ให้อภัยผู้อื่น เห็นความสำคัญของผู้อื่น เรามีชีวิตอยู่ด้วยความสำคัญของผู้อื่น ทิฐิมานะจะได้ลดลง การถ่อมตัวจะเพิ่มขึ้น แทนที่จะเสียหาย กลายเป็นคนน่าเคารพกราบไหว้ ส่อให้เห็นคุณธรรมภายใน

ดูเถิดภราดา! ดูส้มที่มีผลดก กิ่งย่อมโน้มน้อมลง ข้าวรวงใดเม็ดเต็ม รวงนั้นย่อมน้อมลงเสมือนจะนอบน้อมโค้งให้แก่ผู้สัญจร แต่ส้มกิ่งใดตาย ไม่มีผลเลย ข้าวรวงใดลีบ ส้มกิ่งนั้นและข้าวรวงนั้นจะแข็งทื่อชี้โด่กระด้าง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น คนใดมีคุณภายใน คนนั้นย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากความกระด้าง อวดดี ถือตัวจัด มองคนไม่เป็นคน

ประการสำคัญ ในการถอนอัสมิมานะก็คือให้มนสิการเนืองๆ ว่าตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มี สิ่งทั้งปวงอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยมากมายดำเนินไป มันเป็นอนัตตาอยู่โดยแท้ เราพากันเข้าใจผิดไปเองว่ามีตัวตนที่แท้จริง คนที่ทะนงตนว่าสำคัญนั้นยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าตนอยู่มากมาย ข้าวน้ำ เสื้อผ้า อาหาร ลมหายใจ และยาแก้โรค ล้วนแต่สำคัญกว่าบุคคลนั้นทั้งสิ้นเพราะเขาต้องอาศัยมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขาดไม่ได้ แม้คนที่ได้ประสบความสำเร็จในการงานด้านใดด้านหนึ่งก็หาสำเร็จไปคนเดียวได้ไม่ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นมากมายจาระไนไม่หมดสิ้น อย่าทะนงตนไปเลย

ในประการต่อมา พระศาสดาทรงประทานพระพุทโธวาทมิให้ยินดีในถ้อยคำอันเป็นเหตุเถียงกัน เพราะถ้าเถียงกันก็มีเรื่องต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน--จิตจะห่างเหินจากสมาธิ

ภราดา! มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเชิดชูตนด้วยการปะทะคารมกับผู้อื่น ต้องการอวดฝีปากให้คนทั้งหลายชื่นชมว่าเป็นปราชญ์มีปัญญามากหาผู้เสมอเหมือนมิได้ เจตนาเช่นนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาท การทะเลาะวิวาทนำไปสู่การแตกสามัคคี การแตกสามัคคีนำไปสู่ความเสื่อมนานาประการ บางประเทศต้องเสียบ้านเมืองให้แก่ข้าศึกเพราะคนในบ้านเมืองแตกสามัคคีกัน ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย

วิธีหลีกเลี่ยงถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกันก็คือ อย่าพูดจาเมื่อเวลาโกรธ และอย่ายึดมั่นทิฐิของตนมากเกินไปจนกลายเป็นคนหลงตัวเอง การกระทำด้วยความหลงตัวเองมีแต่ความผิดพลาดเป็นเบื้องหน้า

ประการต่อมา ทรงโอวาทพระมหาโมคคัลลานะว่า ทรงสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะที่สงัด ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่คณะทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

บรรพชิตผู้บวชแล้ว มีเจตนาในการแสวงหาวิเวก เบื้องแรกต้องได้กายวิเวกก่อน จิตวิเวกคือความสงบทางจิตจึงจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบจิตเกิดขึ้น อุปธิวิเวก คือความสงบกิเลสจึงจะตามมา

ภราดา! มีอาสวะมากมายเกิดขึ้นเพราะการคลุกคลี ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทั้งนี้ท่านมิได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมเมื่อมีกิจจำเป็น แต่เมื่อสิ้นธุระแล้วก็ควรจะอยู่อย่างสงบเพื่อได้รู้จักตัวเองให้ดีขึ้น คนส่วนมากพยายามจะรู้จักคนอื่น วันหนึ่งๆ ให้เวลาล่วงไปด้วยการอยู่กับคนอื่น โอกาสที่จะอยู่กับตัวเองมีน้อย จึงรู้จักตัวเองน้อย ตราบใดที่บุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่เข้าใจตัวเอง ตราบนั้นเขาจะพบความสงบสุขภายในไม่ได้ และจะเข้าใจผู้อื่นไม่ได้ด้วย การอยู่อย่างสงบจึงเป็นพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียน เพราะผู้มีใจสงบย่อมไม่คิดเบียดเบียน

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระศาสดาตรัสตอบว่า “โมคคัลลานะ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญายิ่ง ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดอย่างนี้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนี้แล้ว เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อเป็นดังนี้ เธอย่อมมีปัญญาในทางเบื่อหน่ายในทางดับ ในทางสละคืนซึ่งเวทนา (ความรู้สึกในอารมณ์) ทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตน และทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้และ  ภิกษุชื่อว่า น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ถึงที่สุดอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ภราดา! พระพุทโอวาทที่ว่า ธรรมทั้งปวง คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นยอดแห่งธรรมอันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์โดยไม่มีเชื้อเหลือ คือดับทุกข์โดยสิ้นเชิง (อนุปาทาปรินิพพาน) สิ่งใดที่บุคคลเข้าไปยึดมั่นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นั้นหามีไม่ แต่โลกนี้มีเหยื่อล่อเพื่อให้ผู้ไม่รู้เท่าทันติดอยู่ สยบอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่ แล้วโลกก็นำทุกข์เจือลงไป แทรกซึมลงไว้ในสิ่งที่บุคคลติดอยู่หมกมุ่นพัวพันอยู่นั่นเอง โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ ใครขวนขวายให้เต็มปรารถนาในอารมณ์ของโลกก็เหมือนตักน้ำไปรดทะเลทราย หรือเหมือนขนน้ำไปเทลงในมหาสมุทร เหนื่อยแรงเปล่า ชาวโลกจึงมีความเร่าร้อนดิ้นรนเพื่อให้เต็มความปรารถนา แต่ก็หาสำเร็จไม่ ยิ่งดื่มอารมณ์โลก สุขเวทนาอย่างโลกๆ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้น เหมือนดื่มน้ำเค็ม ยิ่งดื่มยิ่งกระหาย หรือเหมือนคนเกาแผลคัน ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งคันยิ่งเกา วนเวียนอยู่อย่างนั้น สู้คนที่พยายามรักษาแผลให้หายแล้วไม่ต้องเกาไม่ได้ เป็นการดับที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

พระมหาโมคคัลลนานะ ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วปฏิบัติตามพระพุทโธวาท ได้สำเร็จพระอรหัตตผลในวันนั้น


บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๓

พรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์  พรหมจรรย์แปลว่าความประพฤติอันประเสริฐ พรหมจารีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหญิงที่ยังไม่เคยผ่านการสมรส
สีหไสยา  นอนตะแคงขวา มือข้างซ้ายวางพาดไปตามลำตัว มือข้างขวารับศีรษะด้านขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันนิดหน่อยในท่าพอสบาย ไม่ยึดจนตึงหรือเกร็ง
๓. เก็บความจากหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หน้า ๖๓-๖๔
อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ – พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๘๖ ข้อ ๕๑
๕ จากข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช
เกษมจากโยคธรรม คือปลอดจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ท่านแสดงไว้ ๔ ประการคือ กาม=ความใคร่, ภพ=เจตจำนงในการเกิดใหม่ (will to be born), ความกระหายในความเป็น (craving for existence), ทิฏฐิ=ความเห็นผิด,  อวิชชา=ความไม่รู้ตามความเป็นจริง
สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย  หมายความว่าสิ่งทั้งปวง ทั้งรูปธรรม นามธรรม ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม อันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใครเข้าไปยึดมั่นโดยความเป็นของเที่ยงเป็นสุข และเป็นอัตตาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2558 13:03:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 สิงหาคม 2558 15:18:21 »




       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๔. ปลดแอก

ฝ่ายพระสารีบุตร เมื่อบวชแล้วได้กึ่งเดือน พักอยู่กับพระศาสดา ณ ถ้ำสุกรขาตา บนภูเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์นั่นเอง ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อทีฆนขะอัคคิเวสสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระสารีบบุตร เที่ยวเดินตามหาลุงของตน มาพบพระสารีบุตรกำลังอยู่ถวายงานพัดพระศาสดาอยู่ เกิดความไม่พอใจ จึงกล่าวขึ้นว่า
“พระโคดม! ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่พอใจหมด”

ภราดา! คำกล่าวทำนองนี้ เป็นการกล่าวกระทบเป็นเชิงว่าเขาไม่พอใจพระศาสดาผู้ให้พระสารีบุตรลุงของเขาบวช เพราะพระศาสนาก็รวมอยู่ในคำว่า ‘สิ่งทั้งปวง’

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงแตกฉานในถ้อยคำภาษา และความหมาย ตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน ท่านควรจะไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นเสียด้วย”

พระดำรัสตอบของพระศาสดานั้นเรียกว่า ‘ถึงใจ’ เป็นอย่างยิ่ง ทีฆนขะไม่รู้จะตอบโต้ประการใด จึงก้มหน้านิ่งอยู่

พระตถาคตเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “อัคคิเวสสนะ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ

"อัคคิเวสสนะ! ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกแรก เอียงไปทางความเกลียดชังสิ่งทั้งปวง ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สองเอียงไปทางความกำหนัดรักใคร่สิ่งทั้งปวง ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สามเอียงไปในทางกำหนัดยินดีบางสิ่ง และเกลียดชังบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราถือมั่นทิฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด กล่าวว่าสิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นหาจริงไม่ก็ต้องถือผิดจากคนสองพวกที่มีทิฐิไม่เหมือนตน ครั้นถือผิดกันขึ้น การวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น ครั้นวิวาทกันมีขึ้น การพิฆาตมาดหมายก็มีขึ้น เมื่อความพิฆาตมีขึ้น การเบียดเบียนกันก็มีขึ้น ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้วย่อมละทิฐินั้นเสียด้วย ไม่ทำทิฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย”

ครั้นแล้วทรงแสดงอุบายแห่งการละความยึดมั่นถือมั่นว่า

“อัคคิเวสสนะ กายนี้เป็นของประชุมลงแห่งดิน น้ำ ลม ไฟ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมนมเนย ต้องอบต้องอาบเพื่อกันกลิ่นเหม็น ต้องขัดสีมลทินอยู่เป็นนิตย์ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ผู้มีจักษุควรพิจารณาเห็นกายนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนได้ยาก เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะความยากลำบาก ชำรุดทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ย่อมละความพอใจรักใคร่ความกระวนกระวายในกายเสียได้”

“ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ตลอดชีวิตของมนุษย์มีอะไรเล่าจะเป็นภาระหนักยิ่งไปกว่าการต้องประคับประคองกายให้อยู่รอดให้เป็นไปได้ มนุษย์ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องทนทุกข์ทรมานเหลือเกินเพื่อกายนี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของกายนี้ มันเหมือนแผลใหม่ที่ต้องประคบประหงมต้องใส่ยาทาพอกกันอยู่เนืองนิตย์-----พระศาสดาจึงตรัสว่า “ไม่มีความทุกข์ใดเสมอด้วยการบริหารขันธ์”  ทั้งๆ ที่เป็นดังนี้ มนุษย์ทั้งหลายก็ยังพอใจในกายนี้ เห็นกายนี้เป็นของสวยของงามน่าอภิรมย์ชมชื่น ยื้อแย่งฆ่าฟันกันเพราะเหตุแห่งกายนี้ ต้องร้องไห้คร่ำครวญถึงกายอันเป็นดังหัวฝีเป็นดังแผลใหม่นี้ เพราะติดใจในความสวยงาม เข้าใจว่าจะให้ความสุขแก่ตนได้ อันที่จริงกายนี้มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ทั่วไป มีกระดูกเป็นโครง มีเส้นเอ็นเป็นเครื่องรึดรัด มีเนื้อเป็นเครื่องพอกและมีหนังบางๆ ปกปิดห่อหุ้มสิ่งปฏิกูลทั้งหลายพรางตาไว้ จึงปรากฏแก่คนทั้งหลายผู้มองอย่างผิวเผินว่าเป็นของสวยงาม น่าลูบคลำสัมผัส แต่อันที่แท้แล้ว ความสวยงามสิ้นสุดแค่ผิวหนังเท่านั้นเอง ถ้าลอกเอาผิวหนังออกแล้ว คนที่รักกันเหมือนจะกลืนกินคงวิ่งหนีเป็นแน่  อนึ่ง ผิวหนังที่ว่าสวยนั่นเองก็เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นและเหงื่อไคล ต้องคอยชำระขัดสีอยู่เนืองนิตย์ เว้นการชำระล้างและขัดสีแม้เพียงวันเดียวก็มีกลิ่นสาบเหม็น เป็นที่รังเกียจแหนงหน่ายแม้แห่งเจ้าของกายนั่นเอง  ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนให้พวกเราพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายคตาสติภาวนา คือการคำนึงถึงกายนี้ว่า ไม่งาม โสโครก เป็นที่ตั้งลงและไหลออกแห่งสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย

“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ” พระศาสดาตรัสต่อไป “อนึ่ง เวทนา ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ อุเบกขา เมื่อใดบุคคลเสวยสุข เมื่อนั้น เขาไม่ได้เสวยทุกข์และอุเบกขา เมื่อใดเสวยทุกข์ เมื่อนั้นไม่ได้เสวยสุขและอุเบกขา สุขทุกข์ อุเบกขาทั้ง ๓ อย่างไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา สาวกของพระอริยะฟังดังนี้แล้ว เมื่อเห็นตามอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสุขทุกข์อุเบกขา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนด เมื่อคลายกำหนดจิตย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว  อริยสาวกนั้น รู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว---ผู้พ้นแล้วอย่างนี้ย่อมไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใดด้วยทิฐิของตน โวหารใดเขาพูดกันอยู่ในโลกก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฐิ”

ท่านผู้แสวงสัจจะ! คนส่วนมาก เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นหรือได้ประสบทุกข์ก็สำคัญมั่นหมายว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้เป็นของเที่ยงยั่งยืน จึงมีความทุกข์มากขึ้น เพราะกลัวว่าความทุกข์อย่างนั้นๆ จะสถิตอยู่ในใจของตนตลอดไป จึงตีโพยตีพาย พร่ำเพ้อรำพัน ส่วนคนที่สบสุขเล่าก็เพลินในความสุขด้วยสำคัญมั่นหมายว่า สุขที่เกิดแก่เรานี้เป็นของเที่ยง ยั่งยืน จึงติดสุข พอสุขแปรปรวนก็เกิดทุกข์ขึ้น เหมือนคนเห็นเงาดวงจันทร์ในขันน้ำ จึงคว้าเอา ก็คว้าถูกขันน้ำนั่นเอง หาถูกดวงจันทร์ไม่

ภราดาเอย! อันที่จริงแล้ว ทั้งสุขและทุกข์เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย และแปรปรวนไปเพราะการแปรแห่งเหตุ ดับไปเพราะการดับแห่งเหตุ

ขณะนั้น พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา ได้ฟังพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก พลางดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้ละความยึดมั่นถือมั่น ธรรมทั้งหลายมีทิฐิและเวทนาเป็นต้น เมื่อท่านพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาด้วยโยนิโสมนสิการ จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ส่วนทีฆนขปริพาชิกนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาของพระศาสดาว่าเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีจักษุได้เห็นรูป แลแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

บัดนี้ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้สำเร็จอรหัตตผลเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งปวงออกแล้ว ถอนอาลัยทั้งปวงออกได้แล้ว ตัดวัฏฏะได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้ว สำรอกราคะได้แล้ว ดับกิเลสทั้งปวงได้สนิทแล้ว

อันว่า ภาวะแห่งอรหัตตผลนั้น ทำให้จิตลบเสียได้ซึ่งสมมติบัญญัติทั้งปวงที่เคยติดใจมานาน เพราะจิตได้หลุดพ้นจากความยึดมั่นในสมมติบัญญัติใดๆ แล้ว คงเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามสมมติโวหารของโลก แต่ไม่ติดไม่มีอาลัยในสิ่งนั้นๆ

ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานนั้น เนื่องจากดับเหตุแห่งทุกข์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ความทุกข์จึงไม่เกิดขึ้น มีแต่ความสุขล้วนๆ เป็นสุขที่ไม่เจือด้วยอามิสคือเหยื่อของโลก แต่เป็นสุขและปราโมชซึ่งเกิดจากธรรมมีความเย็นฉ่ำในดวงจิตเพราะไม่ถูกกิเลสเผาลนให้เร่าร้อน กระแสดวงจิตของท่านไม่มีความเศร้าหมองหรือความชั่วหลงเหลือเจือปนอยู่เลย ความกระเสือกกระสนกระวนกระวายแห่งดวงจิตได้ดับลงสิ้นสุดลงตรงนิพพานนี้ และตรงนี้เองที่ความไข้ทางจิตได้ถูกเยียวยาให้หายขาด ไม่กำเริบขึ้นอีก ความระหกระเหินแห่งชีวิตในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลงตรงนี้ และตรงนี้เองที่ให้ความมั่นใจ ความสงบราบเรียบ ความชื่นสุขอันละเอียดอ่อนละมุนละไม ความบริสุทธิ์และความสดชื่นที่แท้จริงแก่ชีวิต

โลกียสุข เหมือนสุขของคนไข้ที่ได้กินของแสลงมันให้สุขนิดหน่อยขณะกินเพื่อจะได้ทุกข์มากขึ้นและยืดเยื้อออกไป เมื่อมองดูด้วยปัญญาจักษุแล้ว โลกียสุขจึงเป็นของน่ากลัว น่าหวาดหวั่นระแวงไม่น่าไว้ใจ เต็มไปด้วยภัย เจือไปด้วยโทษทุกข์นานาประการ แต่ที่คนทั้งหลายชอบก็เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่ายและเพราะความไข้หรือความกระหายทางจิตผลักดันให้แสวงหา

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ! ท่านเห็นเรื่องต่อไปนี้เป็นอย่างไร-ควรชื่นชม หรือควรเศร้าสลด?

คนผู้หนึ่งถูกผลักดันให้ดั้นด้นเข้าไปในป่ารก มันระดะไปด้วยเรียวหนามและทางอันขรุขระ ขณะที่กำลังเหนื่อยจวนจะหมดกำลังอยู่นั้น เขาเผชิญหน้ากับช้างป่าที่ดุร้าย เขาออกวิ่งหนีด้วยความตกใจกลัวมาเจอสระใหญ่ซึ่งมีลักษณะคล้ายทะเลสาบน้อยๆ ในป่าลึก เขากระโดดลงไปในทะเลสาบน้อยๆ นั้น เขาคิดว่าคงพ้นอันตราย แต่ทันใดนั้นจระเข้ก็ปรากฏขึ้น เขากระโดดขึ้นจากน้ำรีบหนีขึ้นต้นไม้ใหญ่ได้พบรวงผึ้งซึ่งมีน้ำผึ้งหยดลงมาเป็นครั้งคราว เขากำลังจะอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้งก็บังเอิญเหลียวไปเห็นงูใหญ่สองตัวชูคอแผ่พังพานมองมายังเขาอย่างปองร้าย เขาตกใจจะวิ่งหนี แต่ด้วยความกระหายอยากในรสน้ำผึ้งจึงยอมเสี่ยงชีวิตอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้งท่ามกลางอสรพิษทั้งสอง เขาดื่มน้ำผึ้งด้วยกายและใจที่ประหวั่นพรั่นพรึง

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ! น้ำผึ้งท่ามกลางปากอสรพิษทั้งสองฉันใด โลกียสุขก็ฉันนั้น มันอยู่ระหว่างอันตรายนานาประการ ความตายเหมือนช้างใหญ่ที่ดักหน้าคนทุกคนอยู่ ทะเลสาบหรือป่าใหญ่อันชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายคือสังสารวัฏ ภพอันเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสยังไม่สิ้น อสรพิษคืออันตรายรอบด้านแห่งผู้ซึ่งติดพันอยู่ในโลกียสุข น้ำผึ้งระหว่างปากงูคือโลกียสุขนั่นเอง โลกียสุข! น้ำผึ้งระหว่างปากงู!

บางคราวพระศาสดาตรัสเปรียบโลกียสุขเหมือนน้ำผึ้งซึ่งฉาบไล้อยู่ปลายศัตราอันแหลมคม ผู้ลิ้มเลียโดยไม่ระวังย่อมถูกคมศัสตราบาดปากบาดลิ้นอย่างแน่นอน มันเป็นภาวะที่น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัวมิใช่หรือ?

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งและบุคคลอันไม่เป็นที่รัก ความไม่ได้อย่างใจหวัง เหล่านี้มีประจำอยู่ในมวลมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย มันมิใช่โทษแห่งความติดพันในโลกียสุขดอกหรือ? มันมิใช่ภัยในสังสารวัฏดอกหรือ?

แต่ในนิพพานไม่มีโทษเหล่านี้ ไม่มีภัยเหล่านี้ นิพพานเป็นโลกุตรสุข=สุขที่อยู่เหนือโลก ไม่เกี่ยวกับโลก เป็นความสุขที่เกษมปลอดภัย สงบเยือกเย็น ชื่นฉ่ำเกินเปรียบ

บัดนี้ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ถึงแล้วซึ่งสุขนี้ ท่านรู้สึกเสมือนได้ถอนตนขึ้นจากหล่มเลน เหมือนได้ก้าวขึ้นจากกองถ่านเพลิงเหมือนเคยหลงป่าอันเต็มไปด้วยอันตรายแล้วออกจากป่าได้ดำรงอยู่ในแดนที่ปลอดภัย เชื่อแล้วที่พระบรมศาสดาตรัสว่า “พระนิพพานคือการกำจัดกิเลสเสียได้นั้นเป็นบรมสุข

แอกคู่อันทารุณของวัฏฏะซึ่งครอบใจของส่ำสัตว์และครูดสีให้ชอกช้ำระบมเสมือนแอกคู่บนคอโค ตัวที่เดินเวียนอยู่ในทุ่งกว้าง บัดนี้ได้ถูกปลดออกแล้ว

อะไรเล่าคือแอกคู่นั้น? มันคือความเป็นคู่แห่งโลกียธรรมซึ่งครอบงำจิตใจของโลกิยชนอยู่ เช่น ลาภ เสื่อมลาภ,  ยศ เสื่อมยศ,  นินทา สรรเสริญ,  สุขและทุกข์ ความสมหวัง ผิดหวัง เป็นต้น   ตราบใดที่บุคคลยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของความเป็นคู่แห่งโลกียธรรมนี้ ตราบนั้น ดวงจิตของเขาจะพบกับความสงบสุขที่แท้จริงไม่ได้ ดวงจิตของเขาจะไม่ได้รับอิสรเสรี เขาจะต้องมีดวงใจที่ชอกช้ำระบมเดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏภายใต้การครูดสีของโลกียธรรม เฉกเช่นโคคู่เดินวนเวียนอยู่ในทุ่งกว้างพร้อมกับการครูดสีของแอกบนคอ  โคที่ได้รับการปลดแอกแล้วย่อมมีเสรีภาพ, เบาสบาย ท่องเที่ยวไปในที่โคจรได้ตามใจปรารถนา   ทันใด บุคคลผู้ปลดแอกคือโลกียธรรมนี้ออกจากใจของตนได้ก็แล้วฉันนั้น ย่อมได้พบกับเสรีภาพทางจิตอันหาขอบเขตมิได้ มีความสุขสงบอย่างลึกล้ำ แจ่มใสเบิกบานสุดประมาณ แม้ร่างกายจะยังอยู่ในโลกแต่ใจของเขาอยู่เหนือโลกเป็น โลกุตตรจิต  คือจิตที่ถอนออกจากอารมณ์ของโลกได้แล้ว สงบนิ่ง ไม่ขึ้นลง อันโลกียารมณ์จะทำให้หวั่นไหวมิได้ เสมือนสิงโต ราชาแห่งสัตว์มิได้สะดุ้งหวั่นไหวด้วยเสียงแห่งสัตว์ไพร ท่านไม่ติดในลาภ ยศ นินทาและสรรเสริญ เสมือนลมไม่ติดตาข่าย ใบและดอกของปทุมชาติไม่ติดน้ำ ดำรงตนอยู่ในโลกอย่างอิสรเสรีอย่างแท้จริง อันอะไรๆ ครอบงำมิได้ ช่างน่าปรารถนาอะไรเช่นนั้น!  อา! อรหัตผล ยอดแห่งคุณธรรมของเทวดาและมนุษย์

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๔

๑.สุกรขาตา ถ้ำซึ่งมีลักษณะเหมือนสุกรขุด อยู่ทางด้านพระคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ประทับ
๒.ภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูกที่แวดล้อมนครราชคฤห์อยู่ ราชคฤห์จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร คำ ‘คิชฌกูฏ’ แปลว่ามียอดคล้ายนกแร้ง คิชฌกูฏห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองเก่าประมาณ ๓ ไมล์ บางแห่งเรียก คิชฌกูฏ ว่า คิชฌปัพพตะหรือคิชฌบรรพต ปัจจุบันเรียกไศลคีรี
๓.อนาวรณญาณ แปลว่ามีพระญาณไม่ติดขัด, ไม่มีอะไรขวางกั้น, ทะลุปรุโปร่ง
๔.นิรุตติปฏิสัมภิทา เป็น ๑ ในปฏิสัมภิทา ๔
๕.ทิฐิ หรือทฤษฎีของสมณพราหมณ์พวกแรก เทียบลัทธิปรัชญาปัจจุบันคือ ทุนนิยม (Pessimism) พวกที่สองเทียบลัทธิจารวาก (Carvaka) ในอินเดีย หรือกลุ่มลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) ทั่วไป ส่วนพวกที่สามเทียบลัทธิปรัชญาไซเรเนอิก (Cyrenaics) ของกรีกสมัยหลังโสกระตีสเล็กน้อย พวกนี้เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดดี ไม่มีสิ่งใดเลว, ทุกอย่างมีไว้เพื่อสนองความพึงพอใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน
๖.นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕
๗.โยนิโสมนสิการ = ตรึกตรองด้วยปัญญาอันสุขุมลุ่มลึก
๘.นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕
๙.มุนิสูตร สุตตนิบาต  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๖๔ ข้อ ๓๑๓
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2558 13:05:30 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2558 13:15:32 »




       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๕ มอบตนให้แก่ธรรม

ตอนบ่ายวันที่พระสารีบุตรบรรลุอรหัตผลนั่นเอง พระศาสดารับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ท่านทั้งสอง คือให้พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย แล้วทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ คือพระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญมีนัยดังนี้

“๑.ความอดทนอันเป็นตบะอย่างยิ่งนั้น คือความอดกลั้นต่ออารมณ์อันยั่วยวนให้ โลภ โกรธ หลง ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม ผู้ที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่สมควรเป็นบรรพชิตหรือสมณะ
๒.การไม่ทำบาปทั้งปวง๑ การสร้างกุศลให้พรั่งพร้อม๑ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๑  ๓ ประการนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๓.การไม่กล่าวร้ายแก่ใครๆ การไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าใครๆ การสำรวมระวังด้วยดีในระเบียบวินัย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร การอยู่ในที่สงัด การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรทางจิต ทั้ง ๖ ประการนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

ดูก่อนภราดา! คนส่วนมาเข้าใจว่า เรื่องที่จะต้องอดทนคือเรื่องอันไม่เป็นที่พอใจหรืออนิฏฐารมณ์เท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ต้องการความดีให้แก่ชีวิต จะต้องอดทนทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา บุคคลที่อดทนต่ออารมณ์อันไม่น่าปรารถนาได้ เช่น อดทนต่อคำด่าว่าเสียดเสียได้ นับว่าน่าสรรเสริญ แต่ผู้ที่อดทนต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนา เช่น ลาภ ยศ และเสียงสรรเสริญได้ คือไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจยั่วยวนของสิ่งเหล่านั้น ยิ่งน่าสรรเสริญขึ้นไปอีก เพราะทำได้ยากกว่า อารมณ์อันไม่น่าปรารถนาทำคนให้เสียได้เหมือนกันถ้าไม่อดทนพอ แต่ถ้าเขามีความอดทนต่ออารมณ์นั้นเพียงพอ มันก็จะกลายเป็นยาขมที่ช่วยทำลายโรคได้ คือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้ ส่วนอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าเพลิดเพลิน ยั่วยวนใจ ได้ทำให้มนุษย์ผู้หลงใหลเสียคนมามากต่อมากแล้ว เพราะอดกลั้นได้ยาก มนุษย์ผู้นั้นจะกลับตัวเป็นคนดีได้อีกทีหนึ่งก็ต่อเมื่ออารมณ์หรือสภาพแวดล้อมอันยั่วยวนใจนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว และเขาได้กระทบกระทั่งกับอนิฏฐารมณ์อย่างจัง เหมือนเผชิญหน้ากับควายป่าที่ดุร้าย ตัวอย่างผู้มีอำนาจ เมื่อสูญเสียอำนาจแล้วจึงได้รู้จักสัจธรรม

บรรดาสิ่งยั่วยวนใจทั้งหลาย อำนาจนับเป็นสิ่งยั่วยวนใจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งใครมีเข้าแล้วมักหลงใหลมัวเมาอยู่ในอำนาจนั้น จนปัญญาจักษุมืดมนลง ให้เห็นดำเป็นขาว เห็นผิดเป็นชอบ แล้วประกอบกรรมหนักด้วยอำนาจที่มีอยู่นั้น จนต้องประสบชะตากรรม มีวิบากอันเผ็ดร้อน เมื่อนั้นแหละจึงจะรู้สึกตัว แต่มักสายเสียแล้ว เรื่องทำนองนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เนืองๆ อำนาจอาจทำให้คนที่เคยดีเสียไปได้ ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่ชั่วอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ระวัง ต้องมีตีติกขาขันติ ดังกล่าวมา

ความงามของสตรีเป็นสิ่งยั่วยวนใจสำหรับบุรุษอย่างยิ่งประการหนึ่ง บุรุษผู้ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความงามของสตรีจึงเป็นบุรุษอาชาไนย หาได้ยาก คนเช่นนั้น แม้เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ ความงามของสตรีได้เคยฆ่าบุรุษผู้ทรงศักดิ์มามากต่อมากแล้ว

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ความอดทนนั้นเป็นอาภรณ์ของนักพรต เป็นตบะของผู้ต้องการบำเพ็ญตบะ แม้นักพรตผู้เริงแรงด้วยตบะ มีชื่อกระฉ่อนก็เคยพ่ายแพ้ต่อความงามและความยั่วยวนของสตรีมามากนักแล้วเช่นกัน ทางปลอดภัยแท้จริงของนักพรตก็คือไม่คุ้นเคยด้วย, ชักสะพานเสีย คือไม่สนิทสนมด้วยสตรี

ดูก่อนภราดา! ในตอนที่ ๓  แห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ดูเหมือนพระบรมศาสดาจะทรงมุ่งแสดงคุณสมบัติของผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาว่า ต้องไม่ก้าวร้าว, ไม่เบียดเบียน, มีระเบียบวินัยดี ไม่เห็นแก่ปากท้อง แสวงหาความสงบ และทำความเพียรทางจิตคือสมถะวิปัสสนาอยู่เสมอ ไม่ทอดธุระในอธิจิตตสิกขา

คุณสมบัติดังกล่าวมาผู้เผยแผ่ศาสนาควรคำนึงอยู่เป็นนิตย์และควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตน  อนึ่ง ผู้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ไม่ควรคิดแต่จะเผยแผ่ศาสนาหรือหลักธรรมให้แก่ผู้อื่นอย่างเดียว แต่ควรเผยแผ่ศาสนาให้แก่ตนเองด้วย คือไม่ควรมุ่งแต่สอนผู้อื่นเท่านั้น แต่ควรสอนตนเองให้ได้ด้วย วาจาที่พูดออกมาจึงจะไม่เป็นที่เย้ยหยันของใครๆ สิ่งที่สอนมีลักษณะที่เรียกว่า “บานออกมาจากข้างใน” คือมีความจริงใจ – ใจมีความรู้สึกอย่างที่พูดนั้นจริงๆ

มีนักเผยแผ่ศาสนาอยู่ไม่น้อย ที่สนใจฝึกฝนแต่วาทศิลป์ กิริยาท่าทางที่พูด ความหนักเบาของน้ำเสียง แต่การอบรมตนให้มีคุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ให้มีความหนักแน่นมั่นคงนั้น พวกเขามักละเลยเสีย อันที่จริง การทำได้อย่างที่สอนนั่นแหละคือยอดแห่งพุทธวิธีในการสอน บางทีไม่ต้องพูดด้วยซ้ำไป หรือพูดน้อย แต่ได้ผลมาก


ในพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่ง ใครๆ เรียกท่านว่า “เอกอุทาน” แปลว่าเทศน์สอนอยู่เรื่องเดียว ท่านประจำอยู่ในป่า ท่านเทศน์ทีไร ทั้งมนุษย์และเทวดาก็สาธุการกันสนั่นหวั่นไหว ต่อมามีพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงมาก เรียนมาก รู้มาก มีศิษย์มาก ไปพัก ณ สำนักของพระเอกอุทานเถระ ถึงวันอุโบสถท่านนิมนต์ให้พระธรรมกถึกนั้นเทศน์ พระธรรมกถึกเทศนาอย่างวิจิตรพิสดาร พอจบลง ไม่มีใครสักคนเดียวที่สาธุการ เงียบกันไปหมดทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั้งนี้เพราะพระธรรมกถึกนั้นพูดได้อย่างเดียว ส่วนพระเอกอุทานท่านทำได้อย่างที่ท่านพูด เรียกว่า “บานออกมาจากข้างใน” ให้รู้สึกซาบซึ้งกินใจผู้ฟังยิ่งนัก พูดน้อยแต่ได้ผลมาก

แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งใดที่ตนทำไม่ได้แล้วจะให้เลิกพูดเลิกสอนสิ่งนั้นเสีย, ควรพูดและควรสอนอยู่นั่นเอง เป็นทำนองว่านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมาบอกเล่าเปิดเผยให้รู้กัน ท่านที่มีอุปนิสัยดี มีอินทรีย์แก่กล้า เมื่อฟังแล้ว อาจทำได้อย่างพระอริยเจ้านั้น ตัวอย่างเคยมีมาแล้ว พระกลุ่มหนึ่งประมาณ ๖๐ รูป เรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วเดินทางเข้าไปในป่าบำเพ็ญเพียรอยู่ ได้อุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ภิกาถวายอาหาร ได้บอกกรรมฐานคือกายคตาสติภาวนา พิจารณากาย ซึ่งมีอาการ ๓๑๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาทิให้เห็นว่าไม่งาม โสโครก อุบาสิกาเรียนกรรมฐานแล้วไปพิจารณาได้สำเร็จอนาคามิผล เป็นพระอนาคามีอริยบุคคลขั้นที่ ๓ ในขณะที่ภิกษุผู้บอกกรรมฐานยังมิได้สำเร็จอะไรเลย

ขอย้อนกล่าวถึงเรื่องที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกต่อไป ครั้งนั้น เมื่อพระศาสดาทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ท่านทั้งสองแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนพระพุทธองค์ว่า ทรงประทานตำแหน่งโดยเห็นแก่หน้า (มุโขโลกนะ) ไม่เป็นธรรม. ความจริงแล้วควรประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระอัญญาโกณฑัญญะกับอีกรูปใดรูปหนึ่งในกลุ่มปัญจวัคคีย์ เพราะท่านเหล่านั้นบวชก่อนและได้บรรลุธรรมก่อน ถ้าไม่ประทานแก่ภิกษุปัญวัคคีย์ก็ควรประทานแก่ภิกษุกลุ่ม ๕๕ รูปมีพระยสะเป็นประมุข หรือมิฉะนั้นก็แก่ภิกษุกลุ่มภัทรวัคคีย์ผู้สำเร็จมรรคผล ณ ไร่ฝ้าย ถ้าไม่ประทานแก่พวกภัทรวัคคีย์ก็ควรประทานแก่ภิกษุบุราณชฎิล ๓ พี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสปเป็นต้น แต่พระศาสดาหาทรงทำอย่างนั้นไม่ ทรงเห็นแก่หน้าประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะผู้บวชใหม่เพียงไม่ถึงเดือน

ภราดา! ภิกษุผู้ติเตียนไม่รู้ความจริงที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่านเหล่านั้นมีพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ไม่รู้มโนปณิธานของแต่ละท่านว่า ได้บำเพ็ญบารมีมาอย่างไร ประสงค์สิ่งใดสูงสุดในชีวิตของตน

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายตำหนิติเตียนพระองค์เช่นนั้นจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่ แต่เราได้ให้ตำแหน่งที่ทุกคนปรารถนาแล้ว เขาได้รับตำแหน่งที่เขาเคยทำบุญแล้วปรารถนาไว้นั่นเอง

“ภิกษุทั้งหลาย! ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๑ กัปป์ โกณฑัญญะเกิดเป็นกุฎุมพีผู้หนึ่ง ชื่อจุลกาลได้ปลูกไร่ข้าวสาลีไว้มาก วันหนึ่งได้ฉีกข้าวสาลีที่กำลังท้องต้นหนึ่งแล้วชิมดู รู้สึกรสอร่อย จึงขอแรงเพื่อนบ้านให้ช่วยกันฉีกรวงข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้น ให้เคี่ยวด้วยน้ำนมจนข้นแล้วปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด แล้วถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้นเป็นประมุข แล้วตั้งความปรารถนาขอบรรลุธรรมก่อนผู้อื่นในอนาคตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ‘ของจงเป็นอย่างนั้นเถิด’ เมื่อถึงหน้าข้าวเม่าได้ถวายทานอันเลิศด้วยข้าวเม่า หน้าเก็บเกี่ยวก็ได้ถวายทานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ยิ่งเขาทำบุญมากทรัพย์สมบัติของเขายิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นๆ อย่างน่าอัศจรรย์

“ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ ข้อนี้เป็นอานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม, ตั้งอยู่ในธรรม  อนึ่งผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ ไม่ตกต่ำ"

“แม้ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ เขาถวายมหาทาน ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดาพระองค์นั้น แล้วตั้งความปรารถนาเพื่อบรรลุธรรมอันเลิศก่อนผู้อื่น

“ภิกษุทั้งหลาย! อัญญาโกณฑัญญะได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้ว ณ บัดนี้”

ภราดา! พระตถาคตเจ้าทรงยืนยันอย่างมั่นคงอยู่เสมอว่า “ธรรมนั่นแหละย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมนำความสุขมาให้” แต่ศาสนิกจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจธรรม คลางแคลงสงสัยในธรรมว่าจะให้ความสุขจริงหรือ? ประพฤติแล้วได้อะไร? ความจริงเมื่อเขาประพฤติธรรมก็ได้ธรรมนั่นเอง เมื่อได้ธรรมแล้วการได้อย่างอื่นก็ตามมา ธรรมนั่นแหละเป็นผู้อำนวยสิ่งต่างๆ ให้  ถ้าเขาเสื่อมจากธรรมก็จะเสื่อมหมดทุกอย่าง บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนดีที่สุดชื่อว่าได้ประพฤติธรรม แต่ต้องเป็นหน้าที่อันประกอบด้วยธรรม หน้าที่อันประกอบด้วยธรรมนั่นและจะอำนวย ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขสวัสดีให้แก่เขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า มนุษย์เรามีหน้าที่หลายอย่าง คนที่ดีที่สุดคือผู้ที่ทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุด ครบถ้วนที่สุดและถูกต้องที่สุด ผู้ปกครองหรือผู้นำมวลชนจะต้องปกครองโดยธรรม

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ทรงธรรม ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามขึ้นว่า ก็อะไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น พระตถาคตเจ้าตรัสตอบว่า ‘ธรรม’ อย่างไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ดูก่อนภิกษุ, พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมราชา ย่อมทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงดำเนินกิจการต่างๆ ไปโดยธรรม  ดูก่อนภิกษุ, แม้เราตถาคตก็เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เราต้องอาศัยธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา และมีธรรม เป็นใหญ่ดังนี้

จึงพอกล่าวได้ว่าผู้เป็นใหญ่สูงสุดในโลกทั้งปวงคือธรรม บุคคลผู้เป็นใหญ่จะยิ่งใหญ่อยู่ได้ก็เฉพาะเมื่อดำรงตนอยู่ในธรรม อยู่ในร่มเงาของธรรม ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือแห่งธรรม ให้งานทุกสายเป็นทางเดินแห่งธรรม บุคคลผู้ยอมมอบตนให้แก่ธรรม ให้ธรรมเป็นผู้นำทางชีวิตย่อมไม่เสื่อม มีแต่ความเจริญ

พระจอมมุนี ตรัสไว้ว่า “บุคคลจะเป็นผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย จะเป็นผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย คือผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม”

ภราดา! ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำงานและดำเนินชีวิตเพื่อเอาใจธรรม ไม่ใช่เพื่อเอาใจคนทั้งหลายซึ่งมีใจต่างกัน ถูกใจคนหนึ่ง ไม่ถูกใจอีกคนหนึ่ง ถูกใจกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ธรรมมีใจเดียวคือความถูกต้อง เรามุ่งเอาธรรมาธิปไตยเป็นทางดำเนินชีวิต

เมื่อได้มอบตนให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของธรรมแล้วก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไรทั้งหมด ต้องการสิ่งใดธรรมจะเป็นผู้มอบให้, ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ได้มาโดยธรรมอันมอบให้แล้ว จะเป็นสิ่งสงบเย็นไม่เร่าร้อนเหมือนลาภยศสรรเสริญสุขที่ได้มาโดยอธรรม

อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริงของบุคคลผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทะยานอยากนี้? ธรรมอย่างไรเล่า พระพุทธองค์ตรัสว่า “จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิดอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” และทรงชี้บอกว่า “ธรรมคือความไม่กังวล ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละคือที่พึ่ง (ของใจ) หาใช่อย่างอื่นไม่ ภิกษุทั้งหลาย! คนเขลายึดมั่นอยู่ว่า ‘นั่นบุตรของเรา นั่นทรัพย์ของเรา จึงต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ตามความเป็นจริงแล้วตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จะมีที่ไหนเล่า’"

ท่านผู้แสวงสัจจะ! คนยิ่งมีความยึดถือมากก็ยิ่งมีความกลัวมาก ไม่มีอะไรจะกลัวเฉพาะหน้า ก็กลัวอนาคต กลัวเสียจนหาความสุขความสงบให้แก่ชีวิตในปัจจุบันไม่ได้ แม้บัณฑิตจะบอกธรรมพร่ำสอนอยู่ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะจัดตัวมันเอง” ก็ตาม เขาก็หารับฟังไม่ หาว่าคนบอกเป็นคนเขลา ไม่รู้จักเตรียมการเพื่ออนาคต คนพวกนั้น พออนาคตที่เขาหวังไว้มาถึงเข้าจริง เขาก็คงหาความสงบสุขให้แก่ชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะมันตกมาเป็นปัจจุบันเสียแล้ว เขาคงแบกก้อนหินแห่งชีวิตคือความหนักอกหนักใจวิ่งฝ่ากองไฟคือความทะยานอยากไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า เพราะ ‘มันไม่มีอะไร’ แต่เพราะเขาสำคัญมั่นหมายว่า ‘มันมี’ จึงแบกต่อไป และต่อไปพร้อมกับร้องว่า “ร้อน หนัก-ร้อน หนัก” อย่างนี้เรื่อยไป

ท่านผู้แสวงสัจจะ! ความจริงอันน่าพิศวงมีอยู่ว่า ความสงบเยือกเย็นของดวงจิตเพราะความเป็นผู้ “ไม่ต้องการอะไร” นั้นมีค่ายิ่งกว่าสมบัติบรมจักร์แห่งกษัตราธิราช หรือมหาจักรพรรดิผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด มิฉะนั้นแล้ว ไฉนเล่าพระบรมครูของพวกเราจึงทรงสละสมบัติบรมจักร์ เพื่อแสวงหาความสงบเย็นให้แก่ดวงจิต เมื่อพระองค์ประสบความสำเร็จในทางนี้แล้วก็กลายเป็นที่พึ่งที่บูชาของโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นี้ชี้ให้เห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่าผู้นำโลกที่แท้จริง คือผู้นำทางจิตหรือวิญญาณหาใช่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์แต่ประการใดไม่


บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๕

๑.ขันติ ๓ อย่าง ๑ ธีติขันติ=อดทนต่อหนาวร้อน หิว กระหาย ความลำบาก ตรากตรำ  ๒ อธิวาสนขันติ=อดทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บป่วย  ๓ ตีติกขาขันติ=อดทนต่ออารมณ์ยั่วยวนใจ
๒.อาชาไนย หมายถึงบุคคลหรือสัตว์ที่ได้รับการฝึกดีแล้ว
๓.จักกวัตติสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๑๓๘ ข้อ ๔๕๓
๔.ภาราภวสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ หน้า ๓๔๖ ข้อ ๓๐๓
๕.พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓ ข้อ ๑๕

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 พฤศจิกายน 2558 16:00:07 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2558 16:11:18 »




       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๖ กรรมบังไว้

ภราดา! ข้าพเจ้าได้พูดแล้วว่า คนจำนวนไม่น้อยแบกก้อนหินแห่งชีวิตคือความหนักอกหนักใจวิ่งฝ่ากองไฟคือความทะยานอยากไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า

ภราดา! สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่ง กลิ้งหินอันแสนหนักขึ้นสู่ยอดเขาแล้วปล่อยให้หินนั้นตกลงมายังภาคพื้น ตามลงมากลิ้งขึ้นไปอีกแล้วปล่อยลงมาเขากลิ้งหินขึ้นยอดเขาอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อบุคคลผู้นั้น เขาถูกบังคับให้เข็นก้อนหินโดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องเข็นทำไม

บุคคลสมมติดังกล่าวนั้นฉันใด คนส่วนมากในโลกนี้ก็ฉันนั้น ได้ลงทุนลงแรงเป็นอย่างมาก เข็นก้อนหินคือภาระอันหนักของตนเพื่อไปสู่ยอดเขาแห่งความว่างเปล่า ต่างคนต่างก็กลิ้งขึ้นไป ถูกความทะยานอยากของตนผลักดันให้กลิ้งขึ้นไปด้วยเข้าใจว่าบนยอดเขานั้นจะมีอะไร บางพวกก็กลิ้งหินกระทบกันแย่งทางกันแล้วทะเลาะกัน เบียดเบียนฆ่าฟันกัน แข่งกันว่าใครจะถึงยอดเขาก่อน เมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร คนทั้งหมดต้องนั่งลงกอดเข่ารำพันว่า ‘เหนื่อยแรงเปล่า’

ท่านผู้แสวงสัจจะ! มนุษย์จะถูกลงทัณฑ์ให้ประสบชะตากรรมคือการลงแรงที่สิ้นหวังและไร้ผลตอบแทนอันคุ้มเหนื่อย ก็เพราะความเขลาของมนุษย์เอง แม้มนุษย์จะพอฉลาดบ้างแล้วในเรื่องอื่นๆ ในสาขาวิชาการมากหลาย แต่มนุษย์ยังเขลาต่อเรื่องราวแห่งชีวิต มนุษย์ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชีวิตควรจะต้องการ และขึ้นให้ถึง ส่วนใหญ่ยังถือเอา กาม กิน และเกียรติ เป็นจุดหมายของชีวิต นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมมนุษย์ ตามความเป็นจริงแล้ว การงานทุกอย่างของมนุษย์ควรเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาตนให้ขึ้นสู่ฐานะอันสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ นั่นคือความสะอาดแจ่มใสแห่งดวงจิต ข้ามแดนแห่งความมืดมนของชีวิตเสียได้

ขอกล่าวถึงปุพพกรรมของสหาย ๕๕ คน มีพระยสะเป็นต้น พระตถาคตเจ้าตรัสว่า บุคคล ๕๕ คน มีพระยสะเป็นประมุขนั้นได้ปรารถนาอรหัตคุณ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ชวนกันทำบุญเป็นอันมาก ต่อมาในช่วงหลัง เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น (พุทธันดร) ทั้ง ๕๕ คนเป็นสหายกันเที่ยวจัดแจงศพอนาถา วันหนึ่งพวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงนำไปป่าช้า ให้ ๕ คนทำหน้าที่เผา อีก ๕๐ คนเที่ยวตรวจดูศพไม่มีญาติอื่นๆ

นายยสะซึ่งเป็นหัวหน้าได้เอาหลาวเหล็กแทงศพนั้นพลิกกลับไปกลับมา ขณะที่กำลังเผาอยู่นั่นเองได้อสุภสัญญา คือความสำคัญหมายว่า ไม่งาม เขาชี้ให้สหายอีก ๔ คนดูว่า “จงดูศพนี้ หนังลอกออกแล้ว ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เหมือนรูปโคค่าง ไม่สะอาด เหม็น พึงรังเกียจ”

สหายทั้ง ๔ คนก็ได้อสุภสัญญาเหมือนกัน เมื่อกลับเข้าไปในบ้านได้บอกเรื่องนั้นแก่สหายทั้ง ๕๐ คน สหายเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา ยสกุลบุตรเมื่อกลับไปบ้านได้บอกแก่มารดาบิดาและภริยา ท่านเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา

เพราะเหตุที่มี บูรพูปนิสัย ทางอสุภสัญญานี่แล เรือนซึ่งเกลื่อนกล่นด้วยสตรีงามบำรุงบำเรอให้เพลิดเพลินอยู่ จึงปรากฏแก่ยสกุลบุตรประดุจป่าช้า และด้วยอุปนิสัยนั้นเหมือนกัน เขาจึงได้บรรลุคุณวิเศษคืออรหัตผล พวกเขาได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้ว

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ถ้าไม่มีอุปนิสัยทางนี้แล้ว ความรู้สึกอย่างนั้นจะเกิดแก่ยสกุลบุตรไม่ได้ ยสะเป็นบุตรเศรษฐีมั่งคั่งมากในเมืองพาราณสี มีสตรีที่สวยงามบำรุงบำเรออย่างดี คืนหนึ่งยสะนอนหลับไปก่อน เมื่อตื่นขึ้นตอนดึกขณะที่ไฟสว่างอยู่ เขาเห็นสตรีเหล่านั้นนอนด้วยอาการพิกลต่างๆ บางนางพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางสยายผม บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อพก หญิงเหล่านั้นปรากฏแก่ยสะประดุจซากศพที่เขาทิ้งเกลื่อนกล่นอยู่ในป่าช้า เกิดความสลดจิต เบื่อหน่าย ออกอุทานด้วยความสลดใจว่า “ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” จึงลงมาสวมรองเท้าออกจากเรือนไป ออกประตูเมืองเดินไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนะ เวลานั้นใกล้รุ่งแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่โล่งแจ้ง ทรงได้ยินเสียงของยสกุลบุตรว่า “ที่นี่ขุดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” จึงตรัสเรียกและว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” ยสกุลบุตรได้ฟังดังนั้น จึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้า พระศาสดาทรงแสดงธรรมให้ฟัง ตรัสถึงเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม (กามาทีนพ) และความสุขความโปร่งใจของผู้ออกจากกามแล้ว (เนกขัมมะ) โดยใจความย่อว่า มนุษย์ผู้อยู่ร่วมกันควรต้องมีการเสียสละให้กัน, ไม่เบียดเบียนกัน จึงจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข แต่ความสุขชั้นกามนั้นเจือด้วยโทษ เป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ สุขโสมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือคุณของกาม ทุกข์โทมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือโทษของกาม แต่กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก มีพิษมาก มีความเดือดร้อนมาก มีรสอร่อยน้อย มีความขมขื่นปวดร้าวมาก ผู้เห็นโทษของกามจึงชักกายชักใจออกจากกาม ได้ความโปร่งใจ มีความสุขอันประณีต นั่นคือเนกขัมมสุข ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องหวาดระแวงภัยเพราะกาม

ยสกุลบุตรผู้หน่ายกามอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์อันชี้ให้เห็นโทษของกามและคุณของการออกจากกาม จิตก็แล่นไปสู่เนกขัมมสุข พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของยสะห่างจากความพอใจในกาม ควรรับพระธรรมเทศนาที่สูงขึ้นไปได้แล้ว จึงแสดงอริยสัจ ๔ เสมือนช่างย้อมผู้ฉลาด ฟอกผ้าให้สะอาดควรแก่การย้อมก่อน แล้วจึงย้อมด้วยสีที่ต้องการ ยสกุลบุตรฟังพระธรรมเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ต่อมาภายหลังจึงได้สำเร็จอรหัตตผล

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ข้อความที่น่าสะกิดใจอย่างยิ่งก็คือคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเศรษฐีผู้เป็นบิดาของพระยสะ บิดาของท่านยสะบอกว่ามารดาเศร้าโศก รำพันถึงบุตรนักหนา จงให้ชีวิตแก่มารดาโดยการกลับไปเรือนเถิด พระยสะมองดูพระศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “...จิตของยสะหลุดพ้นจากอาสวะ มิได้ยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้ว ควรหรือที่ยสะจะกลับไปบริโภคกามคุณอีกเหมือนแต่ก่อน?” บิดาของพระยสะทูลตอบว่า “ไม่อย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า, เป็นลาภแล้ว ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ดีแล้ว”

ภราดา! เมื่อเศรษฐีบิดาของท่านยสะทราบว่าบุตรของตนบรรลุอรหัตตผล สิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว พูดออกมาว่า “ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ดีแล้ว” ดังนี้ เป็นการยืนยันถึงความเข้าใจของท่านว่า “การได้ดีสูงสุดของมนุษย์นั้นคือการสิ้นกิเลส” ดังนั้นภาวะแห่งการสิ้นกิเลสจึงควรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์ และต้องเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทุกๆ ชาติที่เกิด แต่จะไปสำเร็จเอาชาติใดนั้นก็สุดแล้วแต่บารมีที่สั่งสม ผู้มีจุดมุ่งหมายของชีวิตอย่างนี้เท่านั้นจึงจะพบกับความสงบสุขของชีวิต มิฉะนั้นแล้ว ถึงจะได้อะไรมาก็หาพอใจไม่ ชีวิตจะต้องระหกระเหินต่อไป จิตใจจะดิ้นรนร่านหาของใหม่ๆ แปลกๆ ที่เข้าใจเอาว่าจะให้ความสุขความสมหวังแก่ตนได้

พระภัทรวัคคีย์ผู้สำเร็จมรรคผลที่ไร่ฝ้าย และท่านชฎิลมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น ก็ล้วนแต่ได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่ออรหัตตผลเท่านั้นหาได้ปรารถนาตำแหน่งใดๆ ไม่

อนึ่ง ชฎิลสามพี่น้องมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น มีชีวิตเกี่ยวพันกับพระเจ้าพิมพิสารเพียงในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเกี่ยวพันกันมาแล้ว ได้ทำบุญกุศลร่วมกันมา พระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๒ กัปป์ ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะและปุสสะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๐ และ ๒๑ พระเจ้าพิมพิสารเกิดเป็นสมุห์บัญชีของพระราชกุมาร ๓ พระองค์ คือ ชฏิล ๓ พี่น้องเวลานี้ได้ร่วมกันทำบุญทำทานในสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชกุมาร ๓ พระองค์ได้รับศีล ๑๐ นุ่งห่มผ้ากาสายะ ๒ ผืน ตลอดเวลา ๓ เดือน มอบพระราชภาระในการบำรุงพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตให้แก่สมุห์บัญชีของพระองค์คือพระเจ้าพิมพิสารเวลานี้ แต่บริวารของสมุห์บัญชีอันเป็นทาสบ้าง กรรมกรบ้างได้กินของที่เขาอุทิศสงฆ์เองบ้าง ให้บุตรหลานกินบ้าง เพราะไม่อาจระงับความอยากได้เมื่อเห็นของดีๆ ของนั้นมิใช่เหลือจากสงฆ์ แต่เป็นของที่เขาอุทิศถวายสงฆ์และสงฆ์ยังมิได้ฉัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นจึงเกิดเป็นเปรตอยู่นานถึง ๔ พุทธันดร ได้ถามพระพุทธเจ้าถึง ๓ พระองค์ว่า เมื่อใดพวกตนจึงจะพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสตอบว่าจักพ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคดม”

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันแก่พระศาสดาแล้ว เพราะอำนาจแห่งกรรมชั่วของเปรตเหล่านั้นปิดบังไว้ จึงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารมิได้ทรงระลึกที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ใครเลย ในราตรีนั้น เปรตทั้งหลายจึงไปเปล่งเสียงอันน่ากลัวในพระราชวังของพระราชา แสดงตนให้ปรากฏ จอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ทรงสะดุ้งตกพระทัยเป็นอันมาก รุ่งเช้าจึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเรื่องนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “มหาบพิตร นับถอยหลังจากกัปป์นี้ไป ๙๒ กัปป์ ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ พวกเปรตเหล่านั้นเป็นญาติของพระองค์ กินอาหารที่เขาเตรียมไว้ถวายสงฆ์ เกิดในเปรตโลกแล้ว หวังได้รับส่วนบุญจากพระองค์มาตลอดกาลช้านาน......”

“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าหม่อมฉันถวายทานในบัดนี้ เปรตเหล่านั้นจักได้รับหรือ?”
“ได้รับ มหาบพิตร” พระศาสดาตรัสตอบ

พระราชาพิมพิสารทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทานในวันรุ่งขึ้นแล้วได้พระราชทานส่วนบุญว่า “ด้วยอานุภาพแห่งมหาทานนี้ ขอข้าวน้ำอันเป็นทิพย์จงสำเร็จแก่เปรตเหล่านั้น” ข้าวน้ำอันเป็นทิพย์เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้นแล้ว

คืนต่อมา เปรตเหล่านั้นเปลือยกายแสดงตนแก่พระราชา พระเจ้าพิมพิสารทูลถามความนั้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ตรัสให้ถวายผ้าแก่พระสงฆ์ พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายจีวรแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วทรงอุทิศส่วนบุญว่า “ด้วยอานุภาพแห่งจีวรทานนี้ ขอผ้าอันเป็นทิพย์จงเกิดขึ้นแก่เปรตทั้งหลาย” ขณะนั้นเอง ผ้าทิพย์อันเกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น พวกมันละอัตตภาพแห่งเปรตดำรงอยู่ในอัตตภาพอันเป็นทิพย์แล้ว

พระศาสดาทรงอนุโมทนาบุญของพระราชาพิมพิสารโดยนัยว่า
“เปรตทั้งหลายมายืนอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่งบ้าง มาสู่เรือนของตนแล้วยืนอยู่นอกฝาประตูบ้าง เมื่อข้าวน้ำและของควรเคี้ยวควรบริโภคเป็นอันมากมีอยู่ ใครสักคนหนึ่งก็มิได้นึกถึงเปรตเหล่านั้น เพราะกรรมของสัตว์ (คือเปรต) นั่นเองปิดบังไว้ ผู้มีใจอนุเคราะห์เมื่อให้ทาน จึงควรระลึกถึงญาติบ้างว่า ‘ขอกุศลผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า’ ญาติทั้งหลายผู้ไปบังเกิดเป็นเปรตมาประชุมกันอนุโมทนาด้วยความเคารพ ตั้งจิตให้ญาติผู้ทำบุญไปให้ได้มีอายุยืนนาน ทายกผู้ทำบุญก็ไม่ไร้ผล ในเปตโลกนั้นไม่มีกสิกรรม โครักขกรรมก็ไม่มี ไม่มีพานิชกิจ หรือการซื้อขายใดๆ เปรตทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยทานที่มนุษย์ทำบุญอุทิศไปให้เท่านั้น น้ำตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด ขอทานที่ท่านให้แล้วจากโลกนี้ จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้น เหมือนห้วงน้ำหรือห้วยหนองคลองบึงเต็มแล้วหลั่งลงสู่สาคร

“ผู้มีใจกรุณาระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วแก่ตนมาก่อนว่า ‘ผู้นี้ได้เคยให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้เคยทำสิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้เป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนของเรา’ แล้วทำบุญให้ทานอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งหลายด้วยความสำนึกคุณนั้น อันนี้เป็นประโยชน์ ส่วนการร้องไห้เศร้าโศกคร่ำครวญไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับ เขาคงอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

“ทักษิณาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญนี้ ชื่อว่าทรงตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับตามควรแก่ฐานะ”
“พระองค์ทรงแสดงญาติธรรมให้ประจักษ์แล้วในคราวนี้ ทรงทำการบูชาอันโอฬารแก่พระญาติผู้ล่วงลับ ทรงให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยแล้ว ชื่อว่าได้ทรงขวนขวายในบุญเป็นอันมาก”

พระคาถาอนุโมทนานี้ ยังความปลาบปลื้มพระทัยให้เกิดแก่พระเจ้าพิมพิสารเป็นที่ยิ่ง เพราะมีพระทัยจดจ่อในการบุญกุศลอยู่แล้ว เมื่อทรงทราบว่าพระราชกุศลที่ทรงทำอุทิศให้พระญาติในอดีตสำเร็จประโยชน์เช่นนั้น ก็ทรงปราโมชขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ภราดา! กรรมดีกรรมชั่วมีจริง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง บุคคลมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง เป็นที่พึ่งอาศัย คนทำดีหาความสุขได้ง่าย ส่วนคนทำชั่วหาความสุขได้ยาก
 

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๖

๑.พุทธธันดร คือระยะกาลที่ว่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็เกิดในระยะนี้
๒.บูรพูปนิสัย คืออุปนิสัยในกาลก่อน หมายถึงได้เคยอบรมบ่มนิสัยมาอย่างไร เมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งนั้นหรือสิ่งคล้ายคลึงกันในชาติต่อมา บูรพูปนิสัย จะกระตุ้นเตือนให้มีความรู้สึกนึกคิดอย่างที่เคยรู้สึกมาแล้ว
๓.จงกรม คือการเดินกลับไปกลับมา เพื่อพิจารณาอารมณ์กัมมฐาน หรือพิจารณาหัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
๔.ทั้ง ๕ อย่างมีทานเป็นต้นนี้เรียกอนุปุพพิกถา
๕.นัยติโรกุฑฑสูตร
๖.จูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ หน้า ๓๗๖ ข้อ ๕๘๑
๗. น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฎการินา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 13:32:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2558 19:12:51 »

.


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๗ ปุพเพปณิธาน

ภิกษุทั้งหลายทูลถามถึงบุพพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสองว่า มีปณิธานมาอย่างไร พระศาสดาได้ตรัสเล่าว่า

ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ พระสารีบุตรเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมานพ ส่วนพระโมคคัลลานะเกิดในสกุลคหบดีมหาศาล มีนามว่า สิริวัฒกุฎุมพี ท่านทั้งสองเป็นสหายรักกัน

วันหนึ่ง สรทมานพอยู่ในที่เงียบสงัด ไตร่ตรองเรื่องของชีวิต เกิดความคิดขึ้นว่า “เราสามารถรู้เรื่องของชีวิต และอัตตภาพในโลกนี้เท่านั้น แต่มืดมนต่อปัญหาชีวิตและอัตตภาพในโลกหน้าเหลือเกิน สัตว์ผู้เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี เราจักต้องตายแน่แท้ ชีวิตในโลกหน้าของเราจักเป็นอย่างไรหนอ?”

เพื่อตอบปัญหาชีวิตนี้ให้ได้ สรทมานพต้องการออกบวชแสวงหาโมกขธรรม จึงไปชวนสิริวัฒกุฎุมพีผู้สหาย แต่สิริวัฒไม่พร้อมจะทำได้ จึงปฏิเสธ สรทมานพคิดว่า “ผู้ไปสู่ปรโลก คือโลกหน้าจะชวนสหายหรือญาติมิตรไปด้วยไม่ได้ โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน บุคคลต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำนั่นแหละเป็นของเรา และจะติดตามเราไปในโลกหน้า” คิดดังนี้แล้ว จึงบริจาคทรัพย์เท่าที่มีเป็นทานแล้วออกบวชเป็นชฏิล มีผู้ออกบวชตามเป็นอันมาก

สรทดาบสทำ กสิณบริกรรม จนได้อภิญญา ๕ และมาสมาบัติ ๘  ชฎิลบริวารก็ได้คุณสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน

เช้าวันหนึ่ง พระอโมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ หรือพระมหากรุณาสมบัติ ทรงพิจารณาอุปนิสัยแห่งสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรทดาบสพร้อมด้วยบริวารว่า สรทดาบสอาศัยพระองค์แล้วจักปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก ดังนี้แล้วเสด็จไปยังสำนักของสรทดาบส เสด็จไปทางอากาศ ทรงอธิษฐานพระทัยว่าขอให้สรทดาบสรู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นเองเสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนภาคพื้น

สรทดาบสเห็นอานุภาพแห่งอาคันตุกะ และเพ่งพินิจสง่าราศีแห่งพระพุทธสรีระแล้วระลึกถึงวิชาดูลักษณะคนที่ตนช่ำชองอย่างดี ก็ได้ทราบด้วยปัญญาญาณว่า อาคันตุกะผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถอดถอนกิเลสทั้งปวงออกจากจิตได้แล้วจึงถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จัดอาสนะถวาย ตนเองนั่งบนอาสนะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้น้อยกว่า

ขณะนั้นชฏิลบริวารของสรทดาบสจำนวนมาก กลับจากหาผลาผลได้เห็นอาจารย์ของตนนั่งแสดงความเคารพอาคันตุกะผู้หนึ่งอยู่เกิดความประหลาดใจ จึงกล่าวว่าพวกเราเข้าใจว่า ในโลกนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มี บุรุษผู้นี้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์หรือ?

สรทดาบสตอบว่า “ท่านทั้งหลายอย่านำเม็ดทรายไปเทียบภูเขาสิเนรุราชเลย เราเป็นเสมือนเม็ดทราย ส่วนท่านผู้นี้เป็นเสมือนสิเนรุราชบรรพต พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า”

บริวารของสรทดาบสแน่ใจว่า อาคันตุกะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แท้จริง มิฉะนั้นแล้ว ไฉนเล่าอาจารย์ของพวกตนจึงแสดงอาการกายและวาจาเช่นนั้น จึงพร้อมพันหมอบลงแสดงความเคารพ

สรทดาบสล้างมืออย่างดีแล้วนำเอาผลไม้ที่มีรสดีวางลงในบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่พระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้ากำลังทรงทำภัตตกิจ ท่ามกลางการแวดล้อมของชฎิลบริวารของสรทดาบส และทรงปราศรัยอยู่กับสรทดาบสนั่นเอง ทรงดำริว่า “ขอให้อัครสาวกของเราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงมา”

พระอัครสาวกทั้งสองทราบพระดำริของพระศาสดาด้วยโทรจิต แล้วรีบมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร ยืนถวายบังคมอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง

สรทดาบสสั่งให้ชฏิลบริวารผู้ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ไปนำดอกไม้จากป่าใหญ่มาทำอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้า พระอัครสาวกและภิกษุสงฆ์ทั้งมวลทำอาสนะดอกไม้สำเร็จโดยรวดเร็ว ด้วยอำนาจฤทธิ์ของผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย

ภราดา! วิสัยสามารถแห่งเด็กเล็กกับวิสัยสามารถแห่งผู้ใหญ่ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ และกำลังปัญญา ย่อมแตกต่างกันมากฉันใด วิสัยสามารถแห่งสามัญชนกับท่านผู้สำเร็จแล้วทางอภิญญาสมาบัติก็แตกต่างกันมากฉันนั้น ท่านจึงเตือนไว้ว่าสามัญชนไม่ควรคิดมากในเรื่องต่อไปนี้คือ
๑.วิสัยสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พุทธวิสัย)
๒.วิสัยสามารถแห่งผู้ได้ฌานสมาบัติ (ญาณวิสัย)
๓.วิสัยแห่งกรรมและผลของกรรม (กัมมวิปากวิสัย)
๔.ความคิดถึงความเป็นมาของโลก (โลกจินตา)

ท่านว่าเรื่องทั้ง ๔ นี้เป็น อจินไตย ใครคิดมากต้องการรู้ด้วยเหตุผล อาจเป็นบ้าได้

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? คำตอบก็คือว่า บางอย่างเรารู้ได้ด้วย ประสาทสัมผัส๗ ธรรมดาเช่น รูปที่หยาบรู้ด้วยตาเนื้อ เสียงที่หยาบรู้ด้วยหูเนื้อ สัมผัสที่หยาบรู้ด้วยกายเนื้อเป็นต้น, บางอย่างเรารู้ได้ด้วยเหตุผล เช่น ความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว เป็นต้น, แต่บางอย่างเราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและด้วยเหตุผล แต่รู้ได้จริงๆ ด้วย ญาณวิเศษ ของท่านผู้ที่มีจิตใจประณีตจนมีญาณเกิดขึ้นเช่นทิพจักษุญาณ เป็นต้น สามารถเห็นกายทิพย์ที่จักษุธรรมดาเห็นไม่ได้

ภราดา! สรุปว่า สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งผัสสะเรารู้ได้ด้วยผัสสะสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งเหตุผล เรารู้ได้ด้วยเหตุผล ส่วนสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งญาณก็ต้องรู้ด้วยญาณ

แม้ในเรื่องผัสสะนั่นเองก็ต้องจับให้ถูกคู่ของมันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ผิดคู่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เอาตาไปชิมแกง เอาลิ้นไปดูรูป เป็นต้น

ตลอดเวลา ๗ วันที่พระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สำนักของสรทดาบสนั้น สรทดาบทได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้ถวายด้วยปีติปราโมช มีความสุขตลอด ๗ วัน และ ๗ วันนั้น พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกรวมทั้งพระสาวกอรหันต์ได้เข้านิโรธสมาบัติ เพื่อให้สักการะของสรทดาบสและชฏิลบริวารมีอานิสงส์มาก

ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ รับสั่งให้อัครสาวกนามว่าพระนิสภะอนุโมทนา และรับสั่งให้พระอัครสาวกอีกรูปหนึ่งคือ พระอโนมเถระแสดงธรรม แต่ไม่มีใครได้สำเร็จมรรคผลเลย พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมเอง ชฏิลบริวารของสรทดาบสได้สำเร็จอรหัตผลหมด ส่วนท่านสรทะไม่ได้สำเร็จเพราะมีจิตฟุ้งซ่านอยู่ตั้งแต่เริ่มฟังอนุโมทนาของพระอัครสาวกจนถึงฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า จิตของท่านวนเวียนอยู่ว่า “ไฉนหนอเราจะพึงได้รับภาระเช่นนี้บ้างจากพระพุทธเจ้าซึ่งจะบังเกิดขึ้นในอนาคต”

สรทดาบสจึงตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า “พระเจ้าข้า, ด้วยกุศลกรรมครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะหรือความเป็นพรหม แต่ข้าพระองค์ปรารถนาเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระ”

พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปในอนาคต ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า “ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคต ท่าจักเป็นอัครสาวกที่หนึ่ง นามว่าสารีบุตร จักเป็นผู้สามารถหมุนธรรมจักรได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า จักเป็นผู้มีปัญญามาก บรรลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีญาณ”

เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว สรทดาบสรีบไปหาสิริวัฒผู้สหายเล่าเรื่องทั้งปวงให้ฟัง และขอร้องสิริวัฒปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

สิริวัฒเชื่อท่านสรทดาบส จึงเตรียมหาทานถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วันแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องปุพพจริยาของอัครสาวกทั้งสองจบลงแล้ว ตรัสเพิ่มเติมว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! นี่คือความปรารถนาที่บุตรของเราตั้งไว้แล้วในครั้งนี้ บัดนี้ เธอทั้งสองได้ตำแหน่งนั้นตามปรารถนาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่”

ภราดา! ความพยายามและความปรารถนาของบุคคลผู้ทำความดี สั่งสมกรรมดีนั้นไม่เคยไร้ผล มันจะคอยจังหวะให้ผลในโอกาสอันควรอยู่เสมอ แต่เนื่องจากคนบางคนขณะพยายามเพื่อทำกรรมดี สั่งสมกรรมดีอยู่นั้นก็ให้โอกาสแห่งความชั่วแทรกแซงเข้ามาเป็นระยะๆ เมื่อเป็นดังนี้ผลแห่งกรรมดีก็ถูกขัดขวางเป็นระยะๆ เหมือนกัน, ไม่มีโอกาสให้ผลได้เต็มที่

อนึ่ง ความพยายามเพื่อเอาชนะความชั่วในตนนั้น จัดเป็นความพยายามที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ เราจะต้องพยายามไปตลอดชีวิต ชีวิตเดียวไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ต้องพยายามกันชาติแล้วชาติเล่า โดยหาวิธีให้จิตค่อยเจริญขึ้นทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า “มหาสมุทร๑๑ ลึกลงโดยลำดับ ลาดลงโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาด ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาตามลำดับ (อนุปุพพสิกขา) มีการกระทำตามลำดับ (อนุปุพพกิริยา) มีการปฏิบัติตามลำดับ (อนุปุพพปฏิปทา)”

ความเจริญที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ นั้นจะช่วยให้เราเอาชนะความคิดและนิสัยที่ชั่วช้าได้ทีละน้อย ถ้าเร่งเกินไป อาจทำให้ฟุ้งซ่านเกิดภาวะความขัดแย้งมากมายในใจ

ความรู้หรือการให้อาหารแก่ใจก็ทำนองเดียวกับการให้อาหารแก่ร่างกายต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยทีละขั้น อาหารที่ย่อยดีจึงจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ความรู้ความเข้าใจที่ย่อยดีแล้วจึงจะเป็นประโยชน์แก่ดวงจิต ในการนี้ความอดทนเป็นคุณธรรมที่จำเป็นจริงๆ ปราศจากความอดทนเสียแล้วก็ทำไปได้ไม่ตลอด อาจทอดทิ้งเสียกลางคัน

ช่างฝีมือบางพวก เมื่อจะทำงานสำคัญบางชิ้น เขาจะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตทีเดียวเพื่องานนั้น นักปราชญ์ผู้แสวงหาปัญญาจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตเหมือนกันเพื่อให้รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเพื่อให้ชีวิตก้าวไปสักขั้นหนึ่งในทางปัญญา แม้จะเป็นขั้นเล็กๆ ก็ตามแล้วไปต่อเอาชาติหน้าอีก ความพยายามของเราจะต้องเป็นไปติดต่อ (วิริยารัมภะ) ซื่อสัตว์และเอาจริง ผลจะต้องมีอย่างแน่นอนแม้จะช้าสักหน่อยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ โชคชาตาของแต่ละคนจึงเป็นผลรวมแห่งการกระทำในอดีตของเขา ความสามารถทางจิต สภาพทางกาย อุปนิสัยทางศีลธรรม และเหตุการณ์สำคัญในชาติหนึ่งๆ ย่อมเป็นผลรวมแห่งความปรารถนา ความคิด ความตั้งใจของเราเองในอดีต ความต้องการในอดีตของเราเป็นสิ่งกำหนดโอกาสในปัจจุบันให้เรา ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ สภาพปัจจุบันของเราจึงเป็นผลแห่งการกระทำ, ความคิดและความต้องการของเราในอดีต ไม่เฉพาะแต่ในชาติก่อนเท่านั้น แต่หมายถึงในตอนต้นๆ แห่งชีวิตในชาตินี้ของเราด้วย

จึงสรุปได้ว่า ทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลแห่งสิ่งที่เราเคยคิดไว้

“สิ่ง๑๑ทั้งปวงมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจเศร้าหมอง การทำและการพูดก็เศร้าหมอง ความทุกข์จะตามมา ถ้าใจผ่องแผ้ว การทำและการพูดก็สะอาดบริสุทธิ์ ความสุขจะตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค หรือเหมือนเงาตามตัว”

ภราดา! พระตถาคตเจ้าตรัสไว้อีกว่า
“จิต๑๒ที่ตั้งไว้ถูกย่อมอำนวยผลดีให้สุดจะคณนาอย่างที่มารดาบิดาหรือญาติไม่อาจมอบให้ได้ ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมทำให้บุคคลนั้นย่อยยับป่นปี้ยิ่งเสียกว่าศัตรูคู่เวรทำให้”

ดังนั้น การบำรุงรักษาใจให้ดีจึงมีคุณแก่บุคคลผู้บำรุงรักษายิ่งกว่าบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพราะใจเป็นสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์
 
 
บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๗

กสิณบริกรรม การเพ่งกสิณ เช่น เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ หรือสีเหลือง สีเขียว สีขาว สีแดง เป็นต้น พร้อมกับบริกรรมว่า ดินๆ เป็นต้น  กสิณ ๑๐ เป็นทางให้เกิดอภิญญาสมาบัติ
อภิญญา คือความรู้ยิ่ง ความรู้เหนือสามัญชน เหนือธรรมดา (Supernatural knowledge) ผู้ได้อภิญญา ย่อมได้อำนาจเหนือธรรมชาติ (Supernatural power) สามารถทำสิ่งทีสามัญชนทำไม่ได้ เราอาจเทียบให้เห็นได้กับช่างอิเล็คโทรนิคที่สามารถทำกับเครื่องไฟฟ้าที่คนผู้ไม่ได้เรียนไม่ได้ฝึกฝนมาทำไม่ได้ หรือแม้นักกายกรรมก็สามารถทำอะไรได้แปลกๆ ชนิดที่สามัญชนทำไม่ได้เหมือนกัน ผู้ฝึกทางจิตก็ย่อมมีอำนาจจิตพิเศษเป็นรางวัลตอบแทนความพยายาม
สมาบัติ ๘ คือฌาน ๗ นั่นเอง เป็นความละเอียดประณีตของดวงจิตเป็นขั้นๆ ฌานที่เองเป็นบาทฐานอันสำคัญของอภิญญา
นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติลำดับที่ ๙ เหนือสมาบัติ ๘ ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ในขั้นนี้ผู้เข้าดับสัญญาและเวทนาหมดสิ้น ไม่หายใจเหมือนคนตาย แต่ยังมีไออุ่นอายุยังไม่สิ้น การหมุนเวียนของโลหิตในร่างกายยังมีพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี และอรหันต์ที่ได้สมาบัติ ๘ เท่านั้น จึงจะเข้าได้ต่ำกว่านั้นเข้าไม่ได้ เพราะสมาธิไม่พอ เข้านิโรธสมาบัติอย่างน้อย ๗ วัน อย่างมาก ๑๕ วัน
เบญจางคประดิษฐ์ การแสดงความเคารพที่ประกอบด้วยองค์ ๕ คือศีรษะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ ทั้งหมดราบลงกับพื้น เป็นการหมอบลงราบกับพื้น เห็นชาวธิเบตทำเป็นประจำที่พุทธคยาในอินเดีย
โทรจิต (Telepathy) การส่งความคิดให้ผู้อื่นทราบโดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายหรือคำพูดใดๆ (The passing  of thought from one person to another without the use of signs or words) เป็นวิสัยของท่านผู้ฝึกจิตจนเกิดความชำนาญแล้ว
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Empiricism เชื่อว่าบุคคลรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์ทางอายตนะ
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Rationalism เชื่อว่าบุคคลได้รับความรู้ด้วยผ่านทางเหตุผล
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Intuitionism เชื่อว่าบุคคลจะได้รับความรู้ผ่านทางญาณ เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงภายใน
๑๐-๑๑-๑๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๕๒, ๑๔ ๒๐ ข้อ ๑๑๗, ๑๑, ๑๓ ตามลำดับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 13:30:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 24 ธันวาคม 2558 16:22:02 »

.


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๘ เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด

เมื่อพระศาสดาตรัสเล่าบุพพกรรมหรือปุพเพปณิธานของพระอัครสาวกจบลงแล้ว ท่านทั้งสองได้กราบทูลเรื่องปัจจุบันของตนตั้งแต่ต้นจนถึงเรื่องที่ชักชวนท่านสัญชัญมาเฝ้าพระตถาคตเจ้า แต่ท่านสัญชัยไม่ยอมมาอ้างว่าไม่สมควรเป็นศิษย์ของใครอีกแล้ว ท่านสัญชัยบอกว่า “ไปเถิด คนฉลาดๆ จงไปสำนักของพระสมณโคดม ส่วนคนโง่ๆ จงอยู่ในสำนักของเรา เพราะในโลกนี้คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด” แม้ข้าพระองค์ทั้งสองจะกราบเรียนว่า ลัทธิของท่านอาจารย์ไม่มีสาระแล้ว ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเถิด ท่านอาจารย์สัญชัยก็หาฟังไม่

พระตถาคตเจ้าทรงสดับคำของอัครสาวกแล้วตรัสว่า “สัญชัยยึดมั่นในสิ่งที่ไม่มีสาระว่า “มีสาระ” และเห็นสิ่งที่มีสาระว่า “ไม่มีสาระ” เพราะมิจฉาทิฐิเป็นเหตุเป็นปัจจัย ส่วนเธอทั้งสองเห็นตรงตามเป็นจริง เพราะความที่เธอเป็นบัณฑิต” ดังนี้ แล้วตรัสย้ำอีกว่า

“ชนใด เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ คนพวกนั้นมีความดำริผิดเป็นทางดำเนิน ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ ส่วนชนใดเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ คนพวกนั้นมีความดำริชอบเป็นทางดำเนิน ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ”

ภราดา! ก็อะไรเล่าคือสิ่งที่ไม่เป็นสาระ? อะไรคือสิ่งที่เป็นสาระ? ตอบตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา สิ่งใดก็ตามอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบีบคั้น, เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเอาใจไว้ไม่อยู่ ทำให้จิตเตลิด, เป็นไปเพื่อความหลงงมงาย มือมน, เป็นไปเพื่อความติดพันยึดมั่น สิ่งทำนองนั้นแหละเป็นอสาระ ส่วนสิ่งใดก็ตามอันเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนบีบคั้น เป็นไปเพื่อความสงบระงับแห่งดวงจิต, เป็นไปเพื่อปัญญาเห็นแจ้ง, เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น สิ่งนั้นหรือสิ่งทำนองนั้นเรียกว่า “มีสาระ”

คนส่วนมาก อาศัยความดำริผิด (มิจฉาสังกัปปะ) จึงเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ แล้วหมกมุ่นอยู่ พัวพันอยู่ จมอยู่ในสิ่งอันไม่เป็นสาระนั้น มิหนำซ้ำยังนึกดูหมิ่นผู้ที่กำลังศึกษาปฏิบัติอยู่ซึ่งสิ่งอันเป็นสาระว่าขวนขวายในสิ่งที่ไม่มีสาระ เมื่อเป็นดังนี้ เขาจึงไม่มีโอกาสประสบสิ่งอันเป็นสาระได้ เพราะได้สมาทานมิจฉาทิฐิไว้เต็มที่

ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสาระ! กล่าวโดยย่อ อกุศลธรรมทั้งปวง เป็นอสาระ กุศลธรรมทั้งปวงเป็นสาระ สิ่งที่ทำให้จิตใจต่ำเป็นอสาระ สิ่งที่ทำให้ใจสูงเป็นสาระ คนดีเป็นสาระ คนชั่วเป็นอสาระ

ท่านผู้แสวงสัจจะ! คนส่วนมากอยากเป็นคนดี อยากทำดีและอยากได้ดี แต่ที่ทำต่างๆ กันไปก็เพราะความเห็นในเรื่องความดีไม่ตรงกัน บางคนเห็นผิดไปเห็นชั่วเป็นดี เมื่อทำเข้าจึงชั่ว ผลออกมาเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน บางคนเห็นดีเป็นชั่ว จึงเว้นสิ่งที่ควรทำไม่ได้ทำความดี บางคนเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว มีความเห็นถูก ดำริถูก จึงทำถูก พูดถูก ผลออกมาเป็นความสุข ความเจริญ ความเย็นใจ

โดยนัยดังกล่าวมา บุคคลจึงควรปรับความเห็นและความคิดของตนให้ถูก ให้ตรงก็จะดำเนินชีวิตไปในทางถูก ทางตรง เขาย่อมพบสิ่งที่เป็นสาระ เพราะมีความเห็นถูก คิดถูกนั้นเป็นประทีปส่องทาง ส่วนผู้ที่มีความคิดความเห็นไม่ตรงย่อมมีแต่โทษทุกข์เป็นผล ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย  ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อบุคคลมีความเห็นผิด อกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดแล้วย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อบุคคลมีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น  อนึ่ง มิจฉาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องตกนรก ส่วนสัมมาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ผู้เป็นมิจฉาทิฐิเกิดมาเพื่อความฉิบหายวอดวาย เพื่อโทษทุกข์แก่คนมาก ส่วนผู้เป็นสัมมาทิฐิเกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก เพราะทำให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ

ภิกษุทั้งหลาย! กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ เพราะเหตุไร? เพราะทิฐินั้นเลวทราม ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินอันชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชเลว ฉันใด  ภิกษุทั้งหลาย! กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดีของบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิก็ฉันนั้น เป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา เพราะความเห็นของเขาเลวทราม เจตนาก็ตาม ความปรารถนาก็ตาม ความตั้งใจก็ตาม มีผลที่ไม่น่าปรารถนาไปด้วย เพราะเกิดจากทิฐิอันเลวทราม

“ภิกษุทั้งหลาย! กายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม เจตนาความปรารถนา ความตั้งใจ สังขาร เครื่องปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร?  เพราะทิฐิของเขาดี ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี อันบุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื่น รสดิน รสน้ำ ที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมด ย่อมเป็นของมีรสหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชพันธุ์ดี กายกรรม วจีกรรม ของบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ ก็ฉันนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา เพราะทิฐิของเขาดี”

ภราดา!เห็นหรือไม่ว่าความเห็นชอบ ความดำริชอบมีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลอย่างไร เหมือนประทีปส่องทาง เหมือนเมล็ดพืชที่ดีอำนวยประโยชน์และความสุขแก่บุคคลหาประมาณมิได้

พระอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้มีความเห็นชอบและมีความดำริชอบตั้งแต่สมัยเป็นปริพพาชก จึงตั้งใจแสวงหาสาระและได้มาพบสาระอันสูงยิ่งในศาสนาของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครคบท่านทั้งสองก็ได้รับสารประโยชน์

ก็ท่านทั้งสองได้รับการยกย่องสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นอเนกประการ ดังที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะทั้งสองมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้เกิด โมคคัลลานะเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงกว่านั้น

พระสารีบุตรนั้น พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศทางปัญญา สามารถแสดงธรรมจักรให้กว้างขวางลึกซึ้งและพิสดารเช่นเดียวกับพระองค์ พระสารีบุตรฉลาดในการสั่งสอน เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลาย มีภิกษุมากขึ้นแล้ว ถ้ามีภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาทูลลาพระศาสดาเพื่อเที่ยวจาริกไปในแดนไกล มักตรัสถามว่าได้ลาสารีบุตรแล้วหรือไม่ ถ้าภิกษุกราบทูลว่ายังไม่ได้ลาก็จะทรงแนะนำให้ไปลาพระสารีบุตรก่อนเพื่อท่านจะได้สั่งสอนภิกษุเหล่านั้น เช่น ครั้งหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท ตรัสบอกให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน ทรงชมเชยว่าสารีบุตรมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต

เมื่อภิกษุเหล่านั้นไปลาตามรับสั่ง พระสารีบุตรถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ผู้มีอายุ ถ้าผู้มีปัญญาจะถามปัญหากะท่านทั้งหลายว่า ครูของท่านสอนอย่างไร? ท่านเคยเรียนเคยฟังมาแล้วหรือไม่ว่าจะตอบอย่างไร จึงจะไม่ผิดคำสอนของพระศาสดาผู้ทรงเป็นครูของพวกเรา ไม่ให้เขาติเตียนได้”

ภิกษุเหล่านั้นตอบไม่ได้ ขอให้ท่านสั่งสอน, พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ถ้าเขาถามอย่างนั้น ท่านพึงตอบว่า ครูของเราสอนให้ละความกำหนดรักใคร่เสีย ถ้าเขาถามอีกว่าละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งใด? พึงตอบว่า ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันรวมเป็นขันธ์ ๕ ถ้าเขาอีกว่าครูของท่านเห็นโทษอย่างไรและเห็นอานิสงส์อย่างไรจึงสอนอย่างนั้น พึงตอบว่า เมื่อบุคคลยังมีความกำหนัดรักใครในรูปเป็นต้นนั้นอยู่ ครั้นรูปเป็นต้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นก็เกิดทุกข์โศกร่ำไรรำพัน เมื่อละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นเสียได้ แม้สิ่งเหล่านั้นจะวิบัติแปรไป ทุกข์ก็ไม่เกิด ครูของเราเห็นโทษและเห็นอานิสงส์อย่างนี้

อนึ่ง ถ้าบุคคลประพฤติอกุศลธรรมแล้วอยู่เป็นสุขไม่ต้องคับแค้น ไม่ต้องเดือดร้อน และบุคคลผู้ประพฤติกุศลธรรม จะต้องอยู่เป็นทุกข์ ต้องคับแค้น ต้องเดือดร้อนแล้วไซร้ พระศาสดาคงไม่ทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรมเจริญกุศลธรรม แต่เพราะเหตุที่อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ กุศลให้ผลเป็นสุข พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม

ท่านผู้แสวงสัจจะ! เรื่องการตอบปัญหาเพื่อย่ำยีหรือแก้ปรัปวาทนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่ภิกษุทั้งหลายต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจ เพื่อให้คนทั้งหลายผู้ข้องใจสงสัยในพระพุทธศาสนาได้เข้าใจตามความเป็นจริง เมื่อพระศาสดาจะนิพพานก็ทรงปรารภเรื่องนี้เหมือนกันว่า บัดนี้มีพุทธบริษัทผู้สามารถย่ำยีปรับวาทมากพอสมควรแล้ว ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่พระองค์จะนิพพาน แปลว่ามีสาวกผู้สามารถมากพอที่จะทำงานเผยแพร่พระธรรมแทนพระองค์ได้ พระองค์ก็ทรงพอพระทัย เสมือนมารดาหรือบิดาผู้มีมรดกไว้ให้ลูก เมื่อทราบว่าลูกเติบโตพอและมีปัญญาพอที่จะรักษามรดกได้แล้วก็พอใจนอนตาหลับ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น เป็นของไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย ใครจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ ผู้ใดยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันรวมเป็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตน ผู้นั้นจะต้องเดือดร้อนเพราะความแปรปรวนไปแห่งขันธ์ ๕ นั้น ท่านจึงสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่และความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เสีย เพื่อจะได้ไม่ร้อนใจเมื่อมันปรวนแปรไป

อนึ่ง ขันธ์ ๕ นี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นหลักสูตรเพื่อปริญญา เป็นปริญเญยธรรม คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง เพี่อไม่หลง ไม่ติด ไม่ยึด เมื่อกำหนดรู้ตามความเป็นจริงจนไม่หลง ไม่ติด ไม่ยึดแล้วก็จะถึงความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นั่นแลคือปริญญาในศาสนาของพระศาสดา

อีกครั้งหนึ่ง พระรูปหนึ่งชื่อ ยมกะกล่าวว่า พระอรหันต์ (ขีณาสพ) ตายแล้วดับสูญ ภิกษุทั้งหลายท้วงติงว่าเห็นอย่างนั้นผิด พระยกมะไม่เชื่อ ยังคงถือทิฐิอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงได้นิมนต์พระสารีบุตรไปช่วยสอนพระยมกะให้คลายความเห็นผิด

พระสารีบุตรถามพระยมกะว่า “ยมกะ ท่านเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นพระขีณาสพ (พระอรหันต์) หรือ?”

“ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” พระยมกะตอบ“ท่านเห็นว่า พระขีณาสพมีในขันธ์ ๕ หรือ? พระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ หรือ? พระขีณาสพเป็นขันธ์ ๕ หรือ? พระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ?” ท่านถามต่อ

พระยมกะปฏิเสธทุกคำถามว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้เจริญๆ”

พระสารีบุตรจึงว่า “เมื่อเป็นดังนี้ ควรหรือยมกะ ที่ท่านจะพูดยืนยันว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ”

พระยมกะกราบเรียนท่านว่า เมื่อก่อนนี้มีความเห็นผิด แต่บัดนี้ได้ฟังท่านสารีบุตรแล้วละความเห็นผิดเสียได้และได้บรรลุธรรมพิเศษด้วย
“คราวนี้ ถ้ามีผู้ถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้ว เป็นอะไร? ท่านจะตอบอย่างไร?” พระสารีบุตรถามพระยมกะ
“ข้าพเจ้าจะตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงดับไปแล้ว”

“ดีแล้ว ยมกะ” พระสารีบุตรรับ “เราจะอุปมาให้ท่านฟัง บุคคลผู้หนึ่ง มั่งมี รักษาตัวแข็งแรง บุรุษผู้หนึ่งคิดจะฆ่าเขา เห็นว่าจะฆ่าโดยเปิดเผยเห็นจะยาก เพราะมีอารักขาแข็งแรง ควรจะลอบฆ่าด้วยอุบาย จึงปลอมตนเข้าไปเป็นคนรับใช้ของเจ้าของเรือนนั้น หมั่นปรนนิบัติจนเขาไว้ใจ เมื่อเผลอก็ฆ่าเสียด้วยศัสตรา ยมกะท่านเห็นอย่างไร เจ้าของเรือนนั้น เมื่อบุรุษผู้ปองล้างชีวิตตนมาขออยู่รับใช้ก็ดี ใช้อยู่ก็ดี เวลาเขาฆ่าตัวก็ดี ไม่รู้เลยว่าผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา อย่างนั้นมิใช่หรือ?”

“อย่างนั้นแล ท่านผู้เจริญ” พระยมกะตอบ

พระสารีบุตรจึงว่า “ปุถุชนผู้มิได้สดับธรรมก็อย่างนั้น เขาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตนบ้าง เห็นตนมีขันธ์ ๕ บ้าง ไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ นั้น อันที่แท้แล้ว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน มีปัจจัยปรุงแต่ง ดุจผู้ฆ่า ปุถุชนนั้นยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่เขายึดมั่นไว้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ส่วนสาวกของพระอริยะได้สดับธรรมแล้ว ไม่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และเพื่อสุขตลอดกาลนาน”

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ความแตกต่างระหว่างปุถุชนผู้มิได้สดับธรรมกับสาวกของพระอริยะ (อริยสาวก) ผู้ได้สดับธรรมแม้จะยังเป็นปุถุชนก็ตาม ก็คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับธรรม เป็นผู้เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในโลกียธรรมต่างๆ อาทิว่า ทรัพย์ของเรา บุตรภรรยาของเรา สามีของเรา เพื่อนของเรา นั่น นี่ของเราไม่รู้โทษของความยึดถือ เมื่อสิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นของตนแปรปรวนไปเพราะความไม่เที่ยง ไม่อาจเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ก็เกิดทุกข์โทมนัส ร่ำไร รำพัน ตรอมใจ หม่นไหม้ แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่านั่นเป็นเพราะโทษของความยึดมั่นถือมั่น กลับเห็นว่าเป็นเพราะความพลัดพรากบ้าง เพราะผู้อื่นมาทำให้บ้าง ส่วนสาวกของพระอริยะผู้สดับธรรม ศึกษาธรรม เรียนรู้ธรรม ย่อมเป็นผู้คลายความยึดมั่นถือมั่น เพราะรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งนั้นๆ แปรปรวนไปเพราะไม่เที่ยงก็รู้ว่าสิ่งนั้นแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย ท่านไม่ต้องทุกข์โทมนัส ไม่ร่ำไรรำพัน ไม่หม่นไหม้ตรอมใจ ท่านอาศัยสิ่งต่างๆ อย่างอิสระไม่เป็นทาสของสิ่งที่อาศัย จิตใจของท่านจึงปลอดโปร่ง ชื่นฉ่ำอยู่ด้วยธรรม มีสติปัญญาว่องไว รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตน และเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนทั้งหลายผู้รู้จักเกี่ยวข้อง นี่คืออานิสงส์ของการเรียนรู้ธรรม สดับธรรม ประพฤติธรรม

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๘

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๖ ข้อ ๑๑
๒-๓-๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๔๐-๔๓ ข้อ ๑๘๑-๑๙๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กุมภาพันธ์ 2559 13:28:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2559 13:26:18 »

.


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๙ บันลือสีหนาท

แม้จะได้รับการยกย่องจากพระศาสดาและเพื่อนพรหมจารีในพระศาสนามากถึงปานนั้น พระสารีบุตรก็ยังประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง ดังเรื่องต่อไปนี้-

คราวหนึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรประสงค์จะจาริกไปชนบทเพื่อประกาศธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลลาพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วออกไปด้วยบริวารของตน

มีภิกษุไปส่งท่านกันมาก พระสารีบุตรเถระได้ทักทายปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้มีน้ำใจไปส่งตามสมควรและให้เหมาะกับฐานานุรูปของท่านนั้นๆ แล้วบอกให้กลับ

ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า “จะเป็นการดีหาน้อยไม่ ถ้าพระเถระจะทักทายปราศรัยกับเราแล้วบอกให้กลับ”

แต่เนื่องจากมีภิกษุจำนวนมากด้วยกัน พระเถระจึงไม่อาจทักทายปราศรัยให้ทั่วถึงได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ภิกษุนั้นเกิดความไม่พอใจในพระเถระ ว่ามิได้ยกย่องตนเหมือนภิกษุทั้งหลายอื่น บังเอิญชายสังฆาฏิของพระสารีบุตรเถระไปกระทบภิกษุนั้นเข้าหน่อยหนึ่งขณะท่านเดินผ่าน

ภิกษุนั้นเห็นได้ช่องที่จะกล่าวหา จึงรีบเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า พระสารีบุตรทะนงตนว่าเป็นอัครสาวก เมื่อจะจากไปแกล้งเอาชายสังฆาฏิกระทบข้าพระองค์แล้วมิได้ขอโทษแม้แต่น้อย”

พระศาสดารับสั่งให้พระรูปหนึ่งไปตามพระสารีบุตรกลับมา ขณะนั้นเองพระมหาโมคคัลลานะและพระอานนท์ได้ทราบเรื่องนั้น คิดว่า “พระบรมศาสดาจะไม่ทรงทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็หาไม่ แต่รับสั่งให้พระสารีบุตรพี่ชายของเรากลับเข้าไปเฝ้า คงจะทรงประสงค์ให้บรรลือสีหนาท คือกล่าววาจาอันอาจหาญ ประทับใจท่ามกลางพุทธบริษัท เราควรให้พุทธบริษัทประชุมกัน” ดังนี้แล้วเที่ยวประกาศให้ภิกษุทั้งหลายในเชตวนารามประชุมกันเพื่อฟังการบันลือสีหนาทของพระธรรมเสนาบดี ณ เบื้องพระพักตร์แห่งพระศาสดา ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประชุมกันแล้ว

เมื่อพระสารีบุตรเข้าเฝ้าแล้ว พระศาสดาตรัสว่า “เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่ง กล่าวหาเธอว่ากระทบเขาด้วยชายสังฆาฏิแล้วไม่ขอโทษ หลีกไปสู่ที่จาริก สารีบุตรว่าอย่างไร?”

นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง พระสารีบุตรจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลก! พึงเป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มิได้อบรมกายตาสติภาวนา[sup][/sup] กระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งแล้วไม่ขอโทษ หลีกไปสู่ที่จาริก  “พระองค์ผู้เจริญ! ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำเลือด น้ำหนองบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้เกลียดชังสิ่งนั้น มิได้ระอิดระอาต่อสิ่งนั้น คงรับไว้ด้วยอาการอย่างเดียวกัน ทั้งกองหยากเยื่อและกองดอกไม้ ฉันใด “ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเช่นเดียวกับแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง มีใจเสมอในบุคคลทั้งปวง ไม่มีเวร ไม่มีความคิดเบียดเบียน“

“ข้าแต่พระจอมมุนี น้ำย่อมรับของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่เกลียดชัง ไม่ระอิดระอาต่อของเหล่านั้น ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น มีใจเสมอด้วย น้ำ ลม และไฟ ไม่มีเวรกับใคร ไม่คิดเบียดเบียนใคร”

ต่อจากนั้น พระธรรมเสนาบดีได้เปรียบตนเองกับผ้าเช็ดธุลี, เด็กจัณฑาล, โคเขาขาด, สตรีหรือบุรุษผู้เกลียดชังซากศพงู, คนประคองภาชนะน้ำมัน โดยนัยว่า “อันว่าผ้าเช็ดธุลี ย่อมเช็ดได้ทั้งของหอมของเหม็น ของสะอาดและของโสโครก, เด็กจัณฑาล ถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าเข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งใจนอบน้อมเข้าไป โคที่เขาขาดแล้ว ได้รับการฝึกดีแล้ว ย่อมสงบเสงี่ยม เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ ฉันใด “ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น มีใจอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีเวร ไม่คิดเบียดเบียนใคร”

“พระองค์ผู้เจริญ” พระธรรมเสนาบดีทูลต่อไป “อนึ่ง บุรุษหรือสตรีรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับประดา พึงอึดอัดระอาต่อซากศพงูหรือซากศพสุนัขที่มีคนมาผูกไว้ที่คอฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ย่อมอึดอัดระอาต่อกายอันเปื่อยเน่านี้”

“พระองค์ผู้เจริญ! อันว่าบุคคลผู้ประคองภาชนะน้ำมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น บริหารกายนี้ ประคับประคองกายนี้ซึ่งมีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ มีสิ่งปฏิกูลไหลเข้าไหลออกอยู่เนืองนิตย์ ข้าพระองค์ย่อมระอิดระอาต่อกายนี้ อนึ่งบุรุษผู้ประคองถาดน้ำมันที่เต็มและมีคนอื่นถือดาบอันคมกริบอยู่ข้างหลัง พลางบังคับให้ถือถาดน้ำมันโดยดี ถ้าหกเพียงหยดเดียวจะประหารชีวิตเสีย บุรุษนั้นย่อมตั้งใจประคับประคองถาดน้ำมันนั้นอย่างไร ข้าพระองค์ก็ประคับประคองกายของตนฉันนั้น พระองค์ผู้เจริญ! สติอันเป็นไปในกายอันภิกษุใดมิได้เข้าไปตั้งไว้ด้วยดีแล้ว ภิกษุนั้นพึงกระทบเพื่อนพรหมจรรย์แล้วหลีกไปโดยมิได้ขอโทษเป็นแน่แท้”

เมื่อพระธรรมเสนาบดีกล่าวคุณของตนอยู่อย่างนี้ มหาปฐวีได้แสดงอาการหวั่นไหวแล้ว ขณะที่พระเถระเปรียบตนด้วยผ้าเช็ดธุลี เด็กจัณฑาล โคเขาขาด และถาดน้ำมันนั้น ภิกษุผู้เป็นปุถุชนไม่อาจกลั้นน้ำตาได้ ฝ่ายพระอรหันต์ ขีณาสพ ปลงธรรมสังเวช

ขณะนั้นเอง ความเร่าร้อนในสรีระได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กล่าวตู่ หมอบลงแทบพระยุคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วทูลว่า “ข้าพระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้กล่าวตู่พระธรรมเสนาบดีด้วยคำเท็จ ขอได้โปรดอดโทษให้ข้าพระองค์ด้วยเถิด เพื่อความสำรวมระวังต่อไป”

พระศาสดาตรัสว่า “การทำความผิดแล้วรู้สึกผิดแล้วขอโทษเสีย เพื่อสำรวมระวังต่อไปนั้นเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า” ดังนี้แล้ว ตรัสกับพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร ท่านควรอดโทษให้โมฆะบุรุษนี้ก่อนที่ศีรษะของเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง”  พระธรรมเสนาบดี รีบลุกจากอาสนะ นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีและกล่าวว่า “ผู้มีอายุ ผมอดโทษให้ท่าน ถ้าโทษไรๆ ของผมมีอยู่ ขอท่านได้โปรดอดโทษให้ผมด้วย”

ภิกษุทั้งหลายได้เห็นดังนั้น ชมเชยพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีคุณไม่ต่ำทราม (อโนมคุณ) มิได้โกรธหรือถือโทษ ภิกษุผู้กล่าวตู่เลยแม้แต่น้อย ยังนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี ขอให้ภิกษุนั้นอดโทษตนเสียอีก

พระศาสดาทราบเรื่องนั้นแล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย! คนเช่นสารีบุตรนั้นใครๆ จะทำให้โกรธไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย! จิตของสารีบุตรเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาเขื่อน” ดังนี้แล้วตรัสย้ำว่า “บุคคลผู้มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง ท่านเป็นผู้มั่นคงเหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้มีวัตรดีผ่องใสอยู่ประดุจห้วงน้ำลึกใสแจ๋วไม่ขุ่นมัวด้วยตม”

ภราดา! ดูเถิด ดูคุณอันไม่ต่ำทรามของพระเถระผู้เป็นที่สองรองจากพระบรมศาสดา และเป็นเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายทางปัญญา เป็นผู้มีจิตอ่อนโยนและมั่นคงอย่างยิ่ง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม อันความพอใจหรือความไม่พอใจถูกต้องไม่ได้ ใจของท่านผ่องใสอยู่อย่างนั้น อารมณ์และอะไรๆ ทำให้ขุ่นมัวไม่ได้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจเพราะได้หรือไม่ได้ปัจจัยหรือสักการะสัมมานะ

ภราดา! บุคคลยินดีมากเมื่อได้ เขาจะต้องยินร้ายมากกว่านั้น เมื่อเสีย และความสูญเสียจะต้องมีอย่างแน่นอน เตรียมใจไว้รับเถิดเร็วหรือช้าเท่านั้น

ภราดา! ลองตรองดูให้แน่ชัดเถิด ในชีวิตของปุถุชนนั้น บุคคลเคยลุ่มหลงเพลิดเพลินกับสิ่งใด ย่อมจะต้องทุกข์ทรมานกับสิ่งนั้น พูดอีกทีหนึ่ง สิ่งใดที่ให้ความทุกข์ทรมานอยู่เวลานี้ ลองตรวจดู ลองสำรวจดู จะเห็นและจะเห็นทุกเรื่องไปที่เป็นโลกียารมณ์หรือโลกียสมบัติ

ภราดา! พระอริยเจ้าท่านกล่าวว่าน้ำย่อมขุ่นเพราะมีฝุ่นมีละออง หรือเปือกตมฉันใด ใจของคนก็ย่อมขุ่นมัวเพราะเปือกตมคือกาม หนามธรรมดาย่อมเสียบแทงผู้เหยียบมันให้เจ็บช้ำฉันใด หนามคือกาม (กามกัณฏกะ) ย่อมเสียบแทงใจของผู้หลงในกามคุณให้ชอกช้ำฉันนั้น

ภราดา! พระธรรมเสนาบดีท่านระอิดระอาอยู่ เหนื่อยหน่ายอยู่ซึ่งอัตภาพนี้ – อัตภาพอันเปรียบเสมือนซากงูหรือซากสุนัข ไม่มีความกำหนัด ไม่มีความพอใจอัตภาพอันเป็นเสมือนถาดน้ำมันที่มีรูทะลุ

ภราดา! คราวหนึ่งมีผู้มาถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุแห่งราคะ โทสะ โมหะ ความยินดี ความไม่ยินดี และความกลัว มีอะไรเป็นเหตุ ความตรึกในใจเกิดแต่อะไรแล้วดักจิตไว้

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “อัตภาพนี้แหละเป็นเหตุแห่งราคะ โทสะ โมหะ ความยินดียินร้าย และความกลัวเกิดแต่อัตภาพนี้ ความตรึกในใจก็เกิดแต่อัตภาพนี้แล้วดักจิตไว้”

“อันว่าย่านไทรเกิดจากต้นไทร แล้วแผ่ปกคลุมไปในป่าฉันใด ความคิดชั่วต่างๆ เกิดขึ้นในใจเพราะมีตัณหาเป็นแดนเกิดแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย อัตภาพนี้เกิดจากตัณหา ผู้ฉลาดรู้ว่าอัตภาพนี้เกิดจากสิ่งใดแล้วบรรเทาสิ่งนั้นเสีย จงฟังเถิดบุคคลเช่นนั้นแหละย่อมสามารถข้ามห้วงกิเลสที่ข้ามได้ยากนี้เสีย เป็นผู้ไม่มีภพอีกต่อไป”

ภราดาเอย! สมัยเมื่อมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธและวัสสการพราหมณ์เตรียมการสร้างเมืองใหม่ในเขตปาฏลิคาม ให้ทูลอาราธนาพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์สาวกบริวารไปเสวยในนิเวศน์ของตนในเขตปาฏลิคามนั้น เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จออกจากนิเวศน์ของมหาอำมาตย์, สุนิธะและวัสสการพราหมณ์ตามส่งเสด็จไปเบื้องหลัง พร้อมกับตั้งใจว่า วันนี้พระสมณโคดมบรมศาสดาเสด็จออกทางประตูใด จะตั้งชื่อประตูเมืองตรงนั้นว่าประตูโคดม เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาตรงท่าใด จะตั้งชื่อท่านั้นว่า ท่าโคดม

พระมหาสมณโคดม บรมศาสดาเสด็จยังแม่น้ำคงคาอันมีน้ำเปี่ยมฝั่ง พอกาดื่มได้ (กากเปยฺยา) ขณะนั้นบุคคลผู้ต้องการข้ามฝั่ง บางพวกแสวงหาเรือ บางพวกผูกแพ แต่พระศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกทรงหายจากฝั่งนี้ไปปรากฏ ณ ฝั่งโน้นด้วยอำนาจฤทธิ์ เร็วเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกแล้วคู้แขนเข้าฉะนั้น ทรงเห็นพวกมนุษย์วุ่นวายอยู่ด้วยการหาเรือหาแพ จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า “ผู้ใดข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสังสาระ และสระคือตัณหาด้วยสะพานคืออริยมรรคได้แล้ว ไม่เปื้อนเปือกตมคือกาม เมื่อคนทั้งหลายจะข้ามน้ำแม้น้อยๆ ยังต้องอาศัยเรือนแพ แต่พระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกไม่ต้องอาศัยเรือแพก็ข้ามได้

ดูก่อนผู้แสวงธรรม! พระตถาคตเจ้าและพระสาวกของพระตถาคตเจ้ามีพระสารีบุตรเป็นต้นเป็นอย่างนี้ คือมีปกติอดทนสิ่งที่คนทั้งหลายทนได้ยาก เอาชนะสิ่งที่คนทั้งหลายเอาชนะได้ยาก และทำสิ่งที่คนทั้งหลายทำได้ยาก จึงได้รับสิ่งที่คนทั้งหลายรับได้ยาก
 

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๙

วุฏฐิสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๒๑๕
กายคตาสติภาวนา คือการหมั่นพิจารณากายว่าเป็นของไม่สะอาด เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลนานาประการ หรือพิจารณาว่า กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๑ หน้า ๒๗ และอรรถกถาธรรมบทภาค ๔ อรหันตวรรควรรณนา
สุจิโลมสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๘๐๗
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๗๔




๒-๓-๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๔๐-๔๓ ข้อ ๑๘๑-๑๙๐

โปรดติดตามตอนต่อไป
๙ บันลือสีหนาท
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เสียงอ่านจากหนังสือ ผู้สละโลก โดย อ.วศิน อินทสระ มี 34 ช่วงให้รับฟัง « 1 2 »
เสียงธรรมเทศนา
หมีงงในพงหญ้า 36 24223 กระทู้ล่าสุด 02 กันยายน 2553 15:00:38
โดย หมีงงในพงหญ้า
กายนี้เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์ วศิน อินทสระ
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
เงาฝัน 2 4268 กระทู้ล่าสุด 26 เมษายน 2554 09:08:02
โดย เงาฝัน
ปัญหาน่าสนใจทางพระพุทธศาสนาโดยอาจารย์ วศิน อินทสระ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2141 กระทู้ล่าสุด 30 พฤษภาคม 2554 18:59:35
โดย 時々๛कभी कभी๛
ปัญหาน่าสนใจโดยอาจารย์ วศิน อินทสระ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 1624 กระทู้ล่าสุด 16 สิงหาคม 2554 18:57:54
โดย 時々๛कभी कभी๛
เสียงอ่านพระอานนท์พุทธอนุชา ๓๓ ตอน :วศิน อินทสระ
เสียงธรรมเทศนา
เงาฝัน 0 2706 กระทู้ล่าสุด 10 พฤษภาคม 2555 15:50:35
โดย เงาฝัน
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.105 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 มีนาคม 2567 09:03:26