[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 12:46:23 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตะกรุด  (อ่าน 7892 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2558 06:59:02 »




ตะกรุด

"ถ้าจะสู้อาราธนาเอาไว้ด้านหน้าเป็นมหาอุด ถ้าหนีให้รูดเอาไว้ด้านหลัง เป็นแคล้วคลาด ถ้าจะหาผู้หญิงให้เอาไว้ด้านซ้าย เป็นมหาเสน่ห์ ถ้าจะหาผู้ใหญ่หรือเจ้านายให้เอาไว้ด้านขวา เป็นมหานิยม"

ตะกรุด หมายถึง แผ่นโลหะที่แผ่แล้วม้วนกลมๆ ลงอักขระเลขยันต์คาถาอาคม แล้วแต่ตำราของแต่ละเกจิอาจารย์ เป็นเครื่องรางของขลังที่มีอายุเก่าแก่ มักสร้างขึ้นในสมัยโบราณ เพื่อใช้เป็นวัตถุมงคลในการออกรบและพกพาแก้อาถรรพ์ต่างๆ นอกจากจะลงในแผ่นโลหะแล้วก็ยังลงในใบลาน ใบตาล หนังหน้าผากเสือ หนังควายเผือก แล้วม้วนกลมๆ ก็ย่อมเรียกว่า "ตะกรุด" ได้ทั้งสิ้น

ประโยชน์ของตะกรุด ก็คือ เป็นเครื่องรางของขลังใช้คุ้มครองตัว โดยการลงตะกรุดของแต่ละพระอาจารย์ก็จะลงตามสูตรของแต่ละสายที่ได้ศึกษาสืบต่อมา และมีอุปเท่ห์การใช้แตกต่างกันไป การเรียกชื่อก็แตกต่างกันไปตามแต่ละอาจารย์ ขนาดก็แตกต่างกันไป ส่วนมากอุปเท่ห์การใช้จะมีดังนี้ ถ้าจะสู้อาราธนาเอาไว้ด้านหน้า เป็น "มหาอุด" ถ้าหนีให้รูดเอาไว้ด้านหลัง เป็น "แคล้วคลาด" ถ้าจะหาผู้หญิงให้เอาไว้ด้านซ้าย เป็น "มหาเสน่ห์" ถ้าจะหาผู้ใหญ่หรือเจ้านายให้เอาไว้ด้านขวา เป็น "มหานิยม" เป็นต้น

ตะกรุดที่เป็นตะกรุดดอกเดียวจะเรียกว่าเป็น "ตะกรุดโทน" ทำเป็นสองดอกคู่กัน ก็เรียก "ตะกรุดคู่" หรือจะเป็นหลายๆ ดอก เช่น แปดดอก หรือเก้าดอกจนถึง 108 ดอกก็มี อีกชนิดหนึ่งเรียก "ตะกรุดลูกอม" ลักษณะจะเป็นดอกสั้นๆ ม้วนกลมๆ คล้ายลูกอม บางท่านก็ดัดแปลงทำเป็นเครื่องประดับ อย่างเช่น ตะกรุดท่านเจ้าคุณสนิมสมณคุณ วัดท้ายตลาด ทำเป็นสร้อยคล้องคอ ซึ่งปัจจุบันหาชมยากยิ่ง

ตะกรุดของพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดัง มีมากมายหลายท่านและหลายประเภท อาทิ ตะกรุดมหาโสฬสมงคลของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ตะกรุดหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ตะกรุดหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตะกรุดมหาปราบ มหาระงับ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตะกรุดใบลานบางปืน หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ตะกรุดไมยราพสะกดทัพ หลวงพ่อกุน วัดพระนอน ตะกรุดลูกอมหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ตะกรุดลูกอมหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ตะกรุดหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณราชวราราม ฯลฯ

ยกตัวอย่างเช่น...ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี นับเป็นจักรพรรดิแห่งตะกรุดทั้งปวง ทำจากแผ่นทองแดง นำมาลงอักขระ ลงยันต์ โสฬสมงคลด้านหนึ่ง อีกด้านลงยันต์ไตรสรณคมน์ แล้วจึงปลุกเสกโดยหลวงปู่เอี่ยม 3 ไตรมาส เมื่อม้วนตัวตะกรุดแล้วจึงถักเชือก จากนั้นจึงโรยผงมหาโสฬสมงคล เป็นผงชนิดเดียวกับที่ทำพระปิดตา แล้วจึงนำมาลงรักปิดทับ ในสมัยนั้นทำบุญกับท่าน 1 บาท ได้รับตะกรุด 1 ดอก

ปัจจุบันตะกรุดนี้มีอายุการสร้างเกือบ 100 ปีแล้ว โปรดสังเกตว่า การทำตะกรุดจะมีแผ่นตะกรุดโผล่หัว-ท้าย ตัวตะกรุดมีทั้งทองแดง ตะกั่ว และเงิน ความยาวของตะกรุดมีตั้งแต่ 2 นิ้วครึ่ง, 3 นิ้วครึ่ง, 4 นิ้ว พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยมคงกระพันสารพัดกัน และกันศาสตราวุธทั้งปวง

ตะกรุดมหาปราบ มหาระงับ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 4 นิ้ว อายุการสร้างเกือบ 100 ปีเช่นกัน ท่านทำแจกเฉพาะศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น แผ่นตะกรุดทำจากเนื้อตะกั่ว แล้วถักด้วยเชือกเป็นลายจระเข้ขบฟัน จากนั้นจึงลงรัก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "ตะกรุดมหาปราบ" เนื่องจากหลวงพ่อคงเน้นพระเวทวิทยาคม ไปในทางมหาอำนาจและคงกระพันชาตรี นอกจากนี้ยังมีตะกรุดดอกสั้น ยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง ชื่อ "ตะกรุดมหาระงับ" มีลักษณะเหมือนกันทุกประการแต่สั้นกว่า ส่วน พุทธาคมจะเด่นทางแคล้วคลาด

เอกลักษณ์เฉพาะของตะกรุดมหาปราบ จะอยู่ที่ลายถัก และความเก่าของรักเป็นสำคัญ

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ ธนบุรี มีอายุการสร้างประมาณ 100 ปี ความยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ทำจากหนังหน้าผากเสือ นำมาลงอักขระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ม้วนแล้วมัดด้วยด้าย 3 เปลาะ แล้วลงรักน้ำเกลี้ยง บางดอกจะปิดทองมาแต่เดิม มีพุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยม

ตะกรุดหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี อายุการสร้างประมาณ 100 ปี ขนาดความยาวไม่แน่นอน ทำจากทองแดง พอกด้วยครั่งชันโรง ไม่ลงรักก็มี ลงรักทับอีกทีก็มี พุทธคุณเด่นทาง ป้องกันเขี้ยวงา เคยมีตำนานของชาวบ้านทะเลเล่าสู่กันว่า หากโดนงูกะปะกัด รวมถึง ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษทั้งหลาย ให้นำตะกรุดหลวงพ่อทองสุขมาปิดที่แผล สามารถดูดพิษได้

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของตะกรุดหลวงพ่อสุข ก็คือ จะพอกด้วยครั่งชันโรงทุกดอก ครับผม

ราม วัชรประดิษฐ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 18:11:47 »

.


ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย
 
สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง คือตะกรุดหนังหน้าผากเสือ คนโบราณจะนิยมตะกรุดหนังหน้าผากเสือมาก แต่ก็หายากทั้งวัสดุที่นำมาใช้ทำตะกรุด และพระคณาจารย์ที่ทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือก็มีน้อยรูปเช่นกันครับ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือรุ่นเก่าๆ ของพระอาจารย์ที่โด่งดังมากๆ ก็คือ พระธรรมานุสารี (สว่าง) วัดเทียนถวาย ปทุมธานี พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณ กทม. พระวิเชียร โมลี (ปลั่ง) วัดบรมธาตุฯ กำแพงเพชร เป็นต้น

ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ที่กล่าวมาแล้ว พระธรรมานุสารี (สว่าง) นั้นอาวุโสมากที่สุด ตะกรุดของท่านก็โด่งดังมาก และหายากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนน้อยมาก ส่วนมากจะอยู่กับคนดั้งเดิมที่อยู่ในละแวกวัดเทียนถวาย

วัดเทียนถวายเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สุนทรภู่ เคยพรรณนาไว้ในนิราศพระบาท ครั้งร่วมขบวนเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ไปนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี เมื่อปี พ.ศ.2350 ตอนที่ผ่านวัดเทียนถวายว่า

ถึงวัดเทียนถวายท่าใหม่ข้าม
ก็รีบตามเรือที่นั่งมากลางหน
ทุ่งละลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน
สะพรั่งต้นตาลโตนดอนาถใจ
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน
ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล

พระธรรมานุสารี (สว่าง) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2398 โยมบิดาชื่ออ่อน โยมมารดาชื่อทิม ที่บ้านหลังวัดเทียนถวาย พออายุพอสมควรบิดาจึงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่กับพระปลัดปิ่น วัดบางกระดี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรและอยู่กับพระปลัดปิ่น จนกระทั่งอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดเทียนถวาย โดยมีพระปลัดปิ่นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ยัง วัดเทียนถวายเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระดี 3 พรรษา จากนั้นก็เข้ามาศึกษาต่อที่วัดสระเกศ ศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ โหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ

ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสมุห์ของพระวินยานุกูลเถร (ศรี) จนกระทั่งพระวินยานุกูล (ศรี) มรณภาพ ท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดบางกระดี จนถึงปี พ.ศ.2435 วัดเทียนถวายว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงได้มาอาราธนาหลวงพ่อสว่างมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย

ปี พ.ศ.2435 เป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย และเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2455 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระครูศีลานุโลมคุณ
พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมานุสารี และเป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ.2464 ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมานุสารี

หลวงพ่อสว่างเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก และมักเรียกท่านว่า หลวงพ่อหว่าง หรือหลวงปู่หว่าง วัตถุมงคลของท่าน จะทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือและผ้าประเจียด ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปพระราชวังบางปะอิน เมื่อถึงวัดเทียนถวายได้ทรงแวะขึ้นไปนมัสการพระอุปัชฌาย์สว่าง และทรงให้พนักงานฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์กับพระอุปัชฌาย์สว่าง ในครั้งนั้นพระอุปัชฌาย์สว่างก็ได้ถวายตะกรุดหนังหน้าผากเสือแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

พระธรรมานุสารี (สว่าง) มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2475 สิริอายุได้ 77 ปี

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงพ่อหว่างในปัจจุบันนั้นหายากมากครับ และในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย จากหนังสือ ตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลัง ขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

     ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์



ตะกรุดมหาปราบของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมากของแม่กลอง นอกจากพระเครื่องที่หลวงพ่อคงได้สร้างและปลุกเสกไว้ ก็มีเครื่องรางของขลังต่างๆ ที่หลวงพ่อคงได้สร้างแจกให้แก่ศิษย์ เช่น ตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ลูกอม แม้แต่การลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชันที่เรียกกันว่า "ยันต์กะโหลกทองคำ"

เครื่องรางของหลวงพ่อคงนั้นหายากมากในปัจจุบัน และเจ้าของก็หวงแหนกันมาก เรามาคุยกันเล่นๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องของขลังของท่าน เรื่องแรกคือการลงกระหม่อม ปัจจุบันก็หมดไปหลังจากหลวงพ่อมรณภาพ แต่ก็เป็นเรื่องน่ารู้ ผมได้รับการบอกเล่ามาจากคุณตาของเพื่อน สกุล ณ บางช้าง และหลวงพ่อคงได้ลงกระหม่อมให้คุณตาด้วยขมิ้นชัน โดยหลวงพ่อคงจะใช้ขมิ้นชันเหลาให้ปลายแหลม แล้วจุ่มน้ำมนต์ในบาตร แล้วมาจารตรงหน้าผาก หลวงพ่อจะทำให้ในวันเสาร์และวันอังคารเท่านั้น ซึ่งเป็นวันที่กล้าแข็ง และหลวงพ่อจะลงให้เป็นบางคนเท่านั้น โดยท่านจะพิจารณาด้วยตัวเองว่าคนไหนสมควรลงให้

คุณตาเล่าให้ผมฟังว่า ยันต์นี้จะติดตัวไปจนตายแม้เผาก็ยังไม่ไหม้ จะเป็นรอยติดอยู่ที่กะโหลก แม้ยันต์ที่ลงให้ ถ้าคนนั้นมีบุตรชายคนโต ยันต์ที่ลงนี้จะติดไปถึงลูกชายด้วย ก่อนที่คุณตาจะเสีย ยังสั่งเสียกับบุตรว่าเวลาเผาศพท่านให้เฝ้าดูกระดูกหน้าผากของท่านให้ดี และนำมาเก็บไว้ด้วย ซึ่งปัจจุบันลูกหลานของท่านก็ยังเก็บรักษาไว้บูชา และที่แปลกก็เป็นตามที่คุณตาสั่งเสียทุกประการ




ลูกอมมหากัณฑ์ถักเชือกลงรัก


ลูกอมมหากัณฑ์

วิชาการลงกระหม่อมนี้หลวงพ่อคงเรียนจากสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณฯ โดยหลวงพ่อคงได้ไปจอดเรือเรียนอยู่ถึง 1 เดือน และได้ศึกษาวิชาไปหลายอย่าง วิชาการลงกระหม่อมนี้มีชื่อว่า "ยันต์กะโหลกทองคำ"

เครื่องรางของขลังอีกอย่างคือลูกอม หลวงพ่อคงสร้างจากเนื้อผง ที่เขียนยันต์ลงบนกระดานชนวนแล้วลบ นำผงมาทำเป็นลูกอม ภายในลูกอมจะบรรจุกระดาษสา จารด้วยยันต์ "นะ" เพียงตัวเดียว หลวงพ่อคงจะปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ลูกอมของท่านศักดิ์สิทธิ์มาก เด่นทางด้านคงกระพัน เมตตามหานิยม ลูกอมของหลวงพ่อนั้นถ้าใครประพฤติไม่ดี นำไปในที่อันไม่สมควร ลูกอมจะแตกเป็นสองเสี่ยง บางคนลูกอมหายไปเฉยๆ แล้วกลับมาอยู่ที่หน้าหิ้งบูชาของหลวงพ่อคง บางคนมาขอใหม่ หลวงพ่อคงก็จะบอกว่า "ให้รอประพฤติตนให้ดีเสียก่อนนะจ๊ะ แล้วค่อยมาเอาใหม่"

เรื่องตะกรุดของหลวงพ่อคง ก็มีทั้งตะกรุดโทน ที่เรียกว่าตะกรุดมหาปราบ และตะกรุดมหาระงับเป็นตะกรุด 5 ดอก ยาวดอกละประมาณ 3 นิ้ว ในสมัยก่อน วัดบางกะพ้อมจะมีงานหลวงพ่อคงจะให้ลูกศิษย์นำตะกรุดมหาระงับไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ภายในวัด เพื่อระงับการทะเลาะเบาะแว้งกันในงานวัด เนื่องจากในสมัยก่อน งานวัดก็เป็นที่ชุมนุมของคนหลายกลุ่ม ทั้งนักเลงหัวไม้ด้วย ซึ่งมาจากต่างที่ต่างถิ่น บ้างก็เป็นอริกันมาก่อน แต่ปรากฏว่าที่วัดบางกะพ้อมไม่เคยมีเรื่องราวใดๆ เลย ส่วนตะกรุดมหาปราบ หลวงพ่อคงเรียนมาจากหลวงพ่อปาน วัดโรงธรรม เด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด

ในวันนี้ผมได้นำรูปลูกอม และตะกรุดมหาปราบของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

   ด้วยความจริงใจ
   แทน ท่าพระจันทร์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2559 18:14:51 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 กันยายน 2559 16:44:07 »



ตะกรุดใบลานบางปืน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย เป็นพระสงฆ์ที่โด่งดังมาก และเป็นที่รักเคารพของชาวแม่กลอง ได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมและหายากทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เหรียญ หรือตะกรุดใบลานบางปืน

หลวงพ่อแก้วเกิดเมื่อปี พ.ศ.2393 ที่ ต.บางแค อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อกัน โยมมารดาชื่อเนียม ได้บวชตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เป็นสามเณร ที่วัดบางแคใหญ่ อ.อัมพวา พออายุได้ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดบางแคใหญ่ โดยมีหลวงพ่อเพ็ง เจ้าอาวาสวัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามยาว่า "พรหมสโร" และได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดแห่งนี้

หลวงพ่อแก้วได้เรียนวิทยาคมมาจากบิดาของท่านซึ่งเป็นอดีตทหารของวังหน้าและมีวิชาอาคมขลังมาก สามารถเสกดอกจำปีให้กลายเป็นแมลงภู่ และบินไปหาญาติมิตรที่รู้จักกันได้ แล้วตกลงมากลายเป็นดอกจำปีอย่างเดิม

นอกจากนี้ยังมีวิชาคงกระพันชาตรีเป็นเลิศอีกด้วย วิชาต่างๆ เหล่านี้หลวงพ่อแก้วได้เรียนมาจากบิดาของท่าน

นอกจากนี้หลวงพ่อแก้วได้เรียนคันถธุระและวิปัสสนาธุระกับหลวงพ่อเพ็ง พระอุปัชฌาย์ของท่านและหลวงพ่อเพ็ง ยังเก่งในด้านพุทธาคมอีกด้วย

ต่อมาหลวงพ่อแก้วได้เดินทางมาอยู่ ที่เพชรบุรี เพื่อเรียนวิปัสสนาธุระและพุทธาคมที่วัดเขาตะเครา เพชรบุรีอีก และมาเรียนเพิ่มเติมกับพระอาจารย์เกตุ พระพี่ชายของท่านที่วัดทองนพคุณ เพชรบุรี อยู่จำพรรษาที่เพชรบุรีนานมากจนบางท่านเข้าใจว่าเป็นคนเพชรบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ.2424 เจ้าอาวาสวัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม ได้ว่างลง ประชาชนชาวสมุทรสงครามจึงได้ขึ้นไปนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม ท่านจึงได้เดินทางมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม พร้อมด้วยหลวงพ่อบ่าย และพระอีก 3 รูป เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมอยู่ได้ 6 ปี พอปีพ.ศ.2430 ก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ โดยให้หลวงพ่อบ่ายเป็นเจ้าอาวาส วัดช่องลมสืบแทน พอมาอยู่ที่วัดพวงมาลัยแล้วท่านก็ได้ก่อสร้างกุฏิศาลาต่างๆ เพิ่มเติมอีกหลายหลัง สร้างศาลาท่าน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสร้างวัดขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น วัดเขาอีโก้ และวัดสาธุชนาราม เป็นต้น ชาวแม่กลองเคารพนับถือในตัวท่านเป็นอย่างมาก หลวงพ่อแก้วมรณภาพในปี พ.ศ.2462 สิริอายุได้ 69 ปี พรรษาที่ 49

หลวงพ่อแก้วได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุดใบลานบางปืน เหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อหลายรุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีพระเนื้อผงอีกด้วย

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้วนั้น เป็นที่นิยมและหวงแหนกันมาก สนนราคาค่อนข้างสูง อย่างเหรียญรุ่นแรกที่เป็นเหรียญพระพุทธและเหรียญรูปท่านที่สร้างในปี พ.ศ.2459 นั้นสนนราคาสวยๆ หลักแสนครับ นอกจากนี้ยังมีเหรียญหล่อ พิมพ์เศียรโล้น ที่สร้างในปี พ.ศ.2460 ถ้าสวยๆ ราคาอยู่ที่หลักหมื่น

สำหรับเครื่องรางของขลังที่หายาก และนิยมกันมากก็คือ ตะกรุดใบลานบางปืน ซึ่งก็มีทั้งที่ทำเป็นและตะกรุดโทน และตะกรุดพิสมร ทำไมจึงเป็นตะกรุดใบลานบางปืน อุปเท่ห์เนื่องมาจากครั้งหนึ่งมีผู้นิมนต์หลวงพ่อแก้วไปงานทำบุญที่บ้านบางปืน ระหว่างที่หลวงพ่อแก้วเดินทางไปนั้นได้เดินผ่านต้นลานต้นหนึ่งที่ขึ้นอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางทุ่งนา ก็เกิดสะดุดใจว่าต้นลานต้นนี้แปลกขึ้นอยู่อย่างโดดเดี่ยว และชื่อบ้านบางปืนก็พ้องเสียงกับบังปืน

ต่อมาหลังจากนั้นจึงได้ให้ศิษย์ไปนำใบลานต้นนั้นที่บ้านบางปืนมาจารเป็นตะกรุด โดยใช้อุปเท่ห์การพ้องเสียงที่ว่า "บางปืนเป็นบังปืน" และตะกรุดใบลานของหลวงพ่อแก้ว ก็มีประสบการณ์ทางด้านอยู่ยงคงกระพัน ปืนยิงไม่ออกจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ปัจจุบันหาตะกรุดแท้ๆ ยากมาก ทั้งตะกรุดโทน และตะกรุดพิสมร ในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดใบลานบางปืนทั้งแบบตะกรุดโทน และตะกรุดพิสมรจากหนังสือตามรอยตำนานสุดยอดอมตภาพถ่าย 108 พระคณาจารย์แดนสยามมาให้ชมครับ

     ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์




ตะกรุดและลูกอม เนื้อเมฆพัดของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี เป็นพระสงฆ์ที่ชาวสุพรรณเคารพนับถือมาก มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย ท่านได้สร้างพระเครื่องเนื้อตะกั่ว และเครื่องรางของขลังไว้ให้แก่ศิษย์ แต่ปัจจุบันหายากมากครับ

หลวงพ่อเนียม เกิดเมื่อราวปีพ.ศ.2372 ที่ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า ตอนเด็กหลวงพ่อเนียมได้เข้ามาศึกษาอยู่ที่วัดในกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดระฆังฯ เนื่องจากท่านมีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์ในวัดระฆังฯ และเคยส่งลูกศิษย์มาเรียนหนังสือที่วัดระฆังฯ หลักฐานว่าท่านบวชที่วัดใดนั้นไม่มีการบันทึกไว้ ทราบแต่เพียงว่าท่านศึกษาทางวิปัสสนาธุระจนเชี่ยวชาญ ต่อมาในปี พ.ศ.2413 หลวงพ่อเนียมได้กลับมา จำพรรษาอยู่ที่วัดรอเจริญระยะหนึ่ง จากนั้นชาวบ้านที่วัดน้อยได้มาอาราธนาหลวงพ่อเนียมให้ช่วยไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ท่านก็ไม่ขัดข้อง และเมื่อมาอยู่ที่วัดน้อยแล้วท่านก็เริ่มบูรณะให้เป็นสภาพวัดกลับมาใหม่ และมีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษามากขึ้นตามลำดับ วัดน้อยจึงเจริญขึ้นอย่างทันตาเห็น

หลวงพ่อเนียมมีเมตตาสูง บรรดาสัตว์ต่างๆ ภายในวัดจะมารุมล้อมท่านเวลาฉันอาหารอยู่เสมอ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ก็เดินทางจากอยุธยามาขอศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน และเลื่อมใสในหลวงพ่อเนียมมาก หลวงพ่อเนียมมีวาจาสิทธิ์ ในวันงานแซยิดของหลวงพ่อเนียม ซึ่งลูกศิษย์ได้จัดขึ้นนั้น พอใกล้ค่ำเมฆฝนดำทะมึนพายุพัดแรง ร้านค้าต่างก็เก็บของกันจ้าละหวั่น หลวงพ่อเนียมเห็นเข้าจึงมามองดูท้องฟ้าแล้วพูดขึ้นว่า "ไม่ต้องเก็บ ไม่ต้องเลิก มหรสพเล่นต่อไป ขายของต่อไป ที่นี่ไม่มีฝน ฝนไม่ตก" เหมือนคำประกาศิต ฝนไม่ตกจริงในบริเวณวัด แต่กลับตกรอบๆ วัด

มีผัวเมียอยู่คู่หนึ่ง เร่ขายพลูตามลำน้ำแม่น้ำสุพรรณ แกเป็นคนดีหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็ไม่ค่อยมีเงิน หลวงพ่อเนียมเห็นว่าสองผัวเมียเป็นคนดี จึงบอกให้ไปแทงหวยที่กรุงเทพฯ ได้เงินมาหลายชั่ง ฐานะดีขึ้นทันตาเห็น ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็มีทั้งฝรั่งทั้งจีนมาลองดีกับท่าน ต่างก็ต้องยอมและเข้าไปกราบเป็นศิษย์ท่านหลายราย

หลวงพ่อเนียมได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระเครื่องพิมพ์ต่างๆ เช่น พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์เศียรโล้น พิมพ์เศียรแหลม และอื่นๆ ได้รับความนิยมและหายากทั้งสิ้น นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้ด้วย เช่น ตะกรุด ลูกอม ลูกสะกด เป็นต้น แต่ก็ล้วนแล้วแต่หายากทั้งสิ้นในปัจจุบัน ชาวสุพรรณต่างหวงแหนกันมาก

หลวงพ่อเนียมมรณภาพเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 สิริอายุ 80 ปี

ในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดและลูกอมเนื้อเมฆพัดของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมด้วยครับ

     ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์




ตะกรุดลูกอมโลกธาตุของหลวงปู่ยิ้ม

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จังหวัดกาญจนบุรี หลวงปู่ยิ้มเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแก่และโด่งดังมากของเมืองกาญจน์ พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านก็นับว่าหายากมากแล้วในปัจจุบัน

หลวงปู่ยิ้ม เกิดเมื่อวันอังคาร ปีพ.ศ.2387 ที่บ้านวังด้ง ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โยมบิดาชื่อยิ่ง โยมมารดาชื่อเปี่ยม เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบท ที่สำนักวัดหนองบัว โดยมีพระอาจารย์กลิ่น เจ้าอาวาสวัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเทวสังฆาราม กับพระอาจารย์อิน วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวดได้รับฉายาว่า "จันทโชติ" เมื่อท่านบวชศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดหนองบัว 2 พรรษา ท่านก็ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แดงว่าแม่กลองมีพระอาจารย์ที่ทรงกิตติคุณอยู่หลายวัด ประกอบด้วยวิชาแขนงต่างๆ ไม่ซ้ำกัน หลวงปู่ยิ้ม จึงได้เดินทางมาที่แม่กลองมาเรียนกับพระปลัดทิม วัดบางลี่น้อย อ.อัมพวา

พระปลัดทิมเก่งทางด้านทำน้ำมนต์โภคทรัพย์ ผงเมตตามหานิยม และเชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ ต่อมาจึงได้ไปศึกษากับหลวงพ่อพ่วง วัดลิงโจน วัดปากอ่าวแม่กลอง หลวงพ่อพ่วงเก่งทางด้านวิชาทำธงกันฟ้าผ่า และลมพายุคลื่นลมในทะเล ชาวทะเลเคารพกันมาก นอกจากนี้ยังมีวิชาลงอักขระหวายขดเป็นรูปวงกลม โยนลงทะเลอาราธนาตักน้ำในวงหวายกลายเป็นน้ำจืดได้ และยังมีวิชาทำลูกอมหมากทุย วิชามนต์จินดามณี เมื่อศึกษาจบแล้วหลวงปู่ยิ้มก็ได้ไปศึกษากับหลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม อ.อัมพวา ซึ่งท่านเป็นเยี่ยมทางด้านวิชามหาอุด อยู่ยงคงกระพันและมหานิยม

นอกจากนี้ท่านยังเก่งทางด้านย่นระยะทางและสามารถเดินบนผิวน้ำได้ และหลวงปู่ยิ้มยังเดินทางไปศึกษากับหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อ.อัมพวา ซึ่งท่านเก่งทางด้านทำมีดหมอปราบปีศาจและวิชามหาประสาน วิชาทำเชือกคาดตลอดจนวิชาแพทย์แผนโบราณอีกด้วย หลังจากเชี่ยวชาญในวิชาของแต่ละอาจารย์แล้ว หลวงปู่ยิ้มก็ยังกลับมาเรียนวิชาต่อกับหลวงปู่กลิ่น พระอุปัชฌาย์ของท่านอีก ซึ่งหลวงปู่กลิ่นโด่งดังทางด้านวิชากำบังกายหายตัว วิชาแหวกน้ำดำดิน

หลวงปู่กลิ่นพิจารณาเห็นว่าหลวงปู่ยิ้มมีวัตรปฏิบัติงดงามและมีพลังจิตกล้าแกร่ง ท่านจึงถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้จนหมดสิ้น หลวงปู่ยิ้มก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัวจนกระทั่งหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบแทน ในสมัยที่หลวงปู่ยิ้มเป็นเจ้าอาวาสนั้นชาวบ้านและประชาชนทั่วไปตลอดจนพระภิกษุสำนักต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง ต่างก็แวะเวียนไปนมัสการหลวงปู่ยิ้มและขอเครื่องรางของขลังจากหลวงปู่ยิ้มมิขาดสาย จนถึงเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท่านยังทรงมานมัสการหลวงปู่ยิ้ม และขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่ยิ้มถึง 2 ครั้งด้วยกัน หลวงปู่ยิ้มมรณภาพในปี พ.ศ.2453 สิริอายุได้ 66 ปี พรรษาที่ 46

ตะกรุดลูกอมโลกธาตุของหลวงปู่ยิ้ม เป็นต้นตำรับของตะกรุดลูกอมโลกธาตุ ซึ่งท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่สร้างตะกรุดลูกอม เช่น หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เป็นต้น ปัจจุบันตะกรุดลูกอมโลกธาตุของหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัวหายากมาก ในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดลูกอมโลกธาตุ เนื้อทองคำของหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

     ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์


บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2560 19:06:59 »



ตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรื่องเครื่องรางของขลังประเภทตะกรุดยุคเก่าของจังหวัดพิจิตร และเป็นต้นตำรับของตะกรุดเมืองพิจิตร ก็คือตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพระเครื่องก็อาจจะไม่ค่อยรู้จัก เนื่องจากเป็นพระยุคเก่ามากๆ ประวัติของท่านก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ เพียงแต่มีการบอกเล่ากันต่อมา และหลวงพ่อโพธิ์เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ที่มีคนเคารพนับถือกันมาก เรามารู้จักกับตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า กันนะครับ

หลวงพ่อโพธิ์เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตร จากการสืบค้นจาก คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้รับคำบอกเล่าจากพ่อแม่เล่าต่อกันมาว่า ท่านเป็นพระมอญ เดินธุดงค์มาจากเมืองปทุมธานี เมื่อมาถึงตำบลบางคลาน ท่านก็สร้างกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเล็กๆ อยู่ริมน้ำ ที่บริเวณนี้เป็นคุ้งน้ำและมีน้ำวน และมักจะมีหมาเน่าที่ลอยมาตามน้ำก็มักจะลอยมาวนติดอยู่ที่คุ้งน้ำแห่งนี้ บางครั้งก็มีจำนวนมากนับสิบตัว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณแถบนี้ในสมัยก่อนว่า “วังหมาเน่า”

สมัยก่อนเป็นป่าหญ้าคาเงียบสงบ ไม่มีผู้คน หลวงพ่อโพธิ์จึงปักหลักเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่บริเวณนี้ ท่านมิได้สนใจกับกลิ่นเหม็นจากหมาเน่า ตัดกลิ่นรบกวนจนหมดสิ้น มีคำเล่าลือกันว่าในหน้าแล้งมักจะเกิดไฟไหม้ป่าหญ้าคาแถวกุฏิท่าน บ่อยๆ ท่านก็นิ่งเฉย นั่งสมาธิสงบอยู่ในกุฏิ เมื่อไฟลามมาถึงก็จะดับลงหรือไม่ก็เปลี่ยนทิศไปทางอื่น กุฏิของท่านเป็นไม้เตี้ยๆ มุงหญ้าคาซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี แต่ไฟก็ไม่เคยไหม้ลามไปถึงกุฏิท่านเลย ชาวบ้านในสมัยนั้นเคารพเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อโพธิ์มาก แม้แต่หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ซึ่งจำพรรษาอยู่ไม่ไกลกันนักก็มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อโพธิ์

หลังจากหลวงพ่อโพธิ์มรณภาพแล้ว บรรดาญาติทางเมืองปทุมธานีได้ขึ้นมาขนข้าวของของท่านกลับไปจนหมด จึงแทบไม่เหลือหลักฐานใดๆ ไว้เลย ส่วนวัดวังหมาเน่าต่อมาถึงปีพ.ศ.2482 ก็ได้รับจัดตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการ มีชื่อใหม่ว่า “วัดโพธิ์ศรี” โดยนำชื่อของหลวงพ่อโพธิ์มาตั้งเป็นชื่อวัด ในส่วนของลูกศิษย์ของท่านก็ได้นำตำราเก่าของหลวงพ่อโพธิ์ที่ตนเองเก็บรักษาไว้กลับมาเก็บไว้ที่วัด ทำให้ยังพอมีตำราเก่าของหลวงพ่อโพธิ์หลงเหลืออยู่ที่วัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน จากการรวบรวมสืบค้นประวัติของท่านและอายุตอนที่ท่านมรณภาพ จึงสันนิษฐานได้ว่าหลวงพ่อโพธิ์น่าจะเกิดในราวปีพ.ศ.2314 มรณภาพในราวปีพ.ศ.2416 สิริอายุราว 102 ปี พรรษาที่ 82

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโพธิ์เท่าที่ทราบก็คือตะกรุดโทน ซึ่งจากผู้ที่ครอบครองโดยได้รับมรดกตกทอดมานั้น แกนกลางของตะกรุดจะเป็นตะกรุดทองแดงแล้วหุ้มด้วยแผ่นตะกรุดตะกั่วอีก และมีหลายชั้น ซึ่งอาจจะเป็นโลหะทองแดงหรือโลหะอื่นสลับกันไปหลายชั้นก็มี ตะกรุดของท่านจึงมักจะมีขนาดหนาใหญ่ทั้งสิ้น ส่วนความยาวก็มีตั้งแต่ 4 นิ้วไปจนถึง 6 นิ้ว เท่าที่พบส่วนใหญ่มักมีทั้งลงรักถักเชือก และไม่ได้ถักก็มี

พุทธคุณนั้นเด่นทางอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด หลวงพ่อเปรื่อง อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ก็มีตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์เก็บไว้อยู่ดอกหนึ่ง เป็นตะกรุดที่ตกทอดมาจากผู้ที่โดนจระเข้งับลากลงในแม่น้ำ แต่กัดไม่เข้า และแกก็ได้ใช้มีดแทงเข้าที่ตาจระเข้จึงรอดมาได้ นอกจากนี้ก็มีผู้ที่ถูกยิงมาก็มากที่ไม่เข้า ตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์จะมีจำนวนน้อย เนื่องจากเมื่อมีคนไปขอท่านก็จะให้เตรียมวัสดุมาเอง แล้วท่านจึงลงจารอักขระ และปลุกเสกของท่านเอง แล้วจึงเอามาคืนให้แก่เจ้าของในภายหลัง

ตะกรุดของจังหวัดพิจิตรในยุคต่อมาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้สร้างตามตำรับของหลวงพ่อโพธิ์ ก็เริ่มมาตั้งแต่ตะกรุดหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อพิธ หลวงพ่อเตียง เป็นต้น ซึ่งเป็นตะกรุดที่โด่งดังมากในปัจจุบันและหายาก ในส่วนตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์นั้นหายากมากๆ ครับ แต่เท่าที่เล่ามาก็เพื่อพอให้ทราบว่าตะกรุดคู่ชีวิต ตะกรุดสายพิจิตรนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และในวันนี้ผมก็ได้นำรูปตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ


ชมรมพระเครื่อง
ข่าวสดออนไลน์
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.317 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 12:26:49