[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 21:09:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต  (อ่าน 2940 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 สิงหาคม 2558 14:59:09 »

.


พระประธาน วิหารวัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร
อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


ประเพณีทำบุญ

ในขั้นแรกที่จะทราบเรื่องทางทำบุญนั้น เราสมควรจะทราบลักษณะของธรรมชาติ ๒ ประการ คือ “บุญ” อย่างหนึ่ง กับสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ “บาป” อีกอย่างหนึ่งก่อน

บุญ” ได้มีคำแปลไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า “เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข”  โดยนัยนี้เราจะเห็นได้ว่า การทำบุญก็คือทำความดี การทำความดีทุกๆ อย่างย่อมไม่มีจำกัดเขตหรือจำกัดเวลาใดๆ ถ้าหากเป็นความดีแล้ว จะทำอย่างไรหรือทำเมื่อไรก็นับเป็นบุญทั้งสิ้น

ส่วนที่จะอธิบายคำว่า “บาป” นั้นเราไม่จำเป็นต้องถือคำแปลของพจนานุกรมฉบับไหน เรากลับคำอธิบายเรื่องบุญให้ตรงกันข้ามเสีย ก็ทราบได้ว่าบาปคืออะไร กล่าวอย่างง่ายๆ คือ “ความชั่ว” ซึ่งตรงกันข้ามกับ บุญ คือความดี

ปัญหาจึงมีต่อไปว่า “การเว้นจากบาปเท่านั้น จะนับเป็นบุญได้หรือไม่ ซึ่งทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความดีอะไรเลย?” ขอตอบตามหลักว่า “การเว้นจากบาปเท่านั้น ยังนับไม่ได้ว่าเป็นบุญ ถ้าจะให้เป็นบุญ ต้องทำบุญด้วย คนที่เกิดมานอนนั่งอยู่เฉยๆ ตลอดชีวิต ไม่ทำอะไรเลยจะเรียกว่าบุญไม่ได้ การที่ไม่ทำบาปและไม่ทำบุญทั้งสองอย่าง ย่อมไม่ได้ทั้งความดีและความชั่ว นับเป็นปานกลางเสมอตัว แต่ถ้ามนุษย์คนใดที่เกิดมาในโลกนี้นั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ใช้ชาติทั้งชาติให้หมดเปลืองไปด้วยการไม่กอบกิจใดๆ ทั้งสิ้น มนุษย์คนนั้นจะมีค่าตัวเลวทรามกว่าท่อนไม้ เพราะเหตุนั้นเราจึงสมควรเข้าใจไว้ง่ายๆ ในที่สุดว่าการทำบาปเป็นของชั่วร้าย การเว้นจากบาปเป็นการเสมอตัว ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ถ้าจะให้ดีต้องทำบุญเพิ่มเข้าอีกส่วนหนึ่ง”

การทำบาปก็ดี การเว้นจากบาปและไม่ทำบุญก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ต้องหยิบยกขึ้นมาอธิบาย จะอธิบายแต่การทำบุญอย่างเดียว

การทำบุญ เป็นการกระทำโดยหวังผลตามความมุ่งหมายของดวงจิต แต่การทำบุญเพื่อจะให้ได้รับผลตามที่ดวงจิตมุ่งหมายอย่างแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นอยู่สักหน่อย เพราะดวงจิตของมนุษย์มักจะโอนอ่อนน้อมเข้าไปเป็นทาสของความชั่วร้ายอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสำคัญที่จะต้องพยายามกระทำดวงจิตให้ตกอยู่ในอำนาจได้เสมอไป จำเป็นจะต้องปลุกเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้เกิดมาขึ้นในขณะเริ่มจะทำบุญ (ปุพฺพเจตนา) ขณะกำลังทำบุญ (มุญฺจนเจตนา) และในขณะที่พ้นมาแล้ว (อปราปรเจตนา) ดังจะอธิบายเป็นอย่างๆ ไป

ในชั้นแรก จะเริ่มทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ท่านผู้อุปการคุณก็ดี หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ยากจนก็ดี มีข้อบังคับมิให้หวังผลตอบแทนจากผู้รับเหมือนอย่างทำการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย  ต้องตั้งใจบูชาคุณ หรืออนุเคราะห์กันจริงๆ ห้ามไม่ให้ถือว่า เมื่อได้ทำลงไปแล้ว จะได้ผลตอบแทนอย่างที่ว่าทำบุญเฟื้องหนึ่งจะได้รับร้อยเฟื้อง ถ้าคิดดังนี้ ผลของการทำจะน้อยลงไป อนึ่งเล่า การทำบุญต้องทำด้วยความสุภาพ ห้ามไม่ให้ทำดุจทิ้งเสีย หรือโดยเสียไม่ได้ แม้แต่จะให้สตางค์แก่คนขอทานสักหนึ่งสตางค์ จะต้องให้โดยสุภาพ ห้ามไม่ให้ทำดุจทิ้งเสีย หรือโยนให้ หรือแสดงกิริยาหยาบคายอย่างหนึ่งอย่างใด อีกประการหนึ่ง สิ่งของที่จะทำบุญก็ต้องเป็นของที่บริสุทธิ์  (ตามหลักเรียกว่าทักษิณาวิสุทธิ) ตัวอย่างเงินทองของใช้ ต้องเป็นของที่ได้มาหรือมีอยู่โดยชอบ ไม่ใช่เป็นของที่ได้มาโดยทุจริต เพียงเท่านี้ยังไม่หมด คนผู้รับการทำบุญของเรา ก็ควรเลือกเฟ้นผู้ที่สุจริตและบริสุทธิ์ ทั้งการกระทำของเราก็ควรให้เป็นการกระทำที่มีประโยชน์จริงๆ อีกด้วย

มีเรื่องในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถรอัครสาวกทูลถามพระพุทธเจ้าว่าคนที่ทำบุญเหมือนๆ กัน แต่ไม่ได้ผลเหมือนกันนั้น ก็มีอยู่มิใช่หรือ? พระพุทธเจ้าตอบว่า มี ที่เป็นดังนั้นเพราะว่าคนบางจำพวกในโลกนี้ เวลาทำบุญมุ่งผลของการกระทำหรือมีดวงจิตไม่บริสุทธิ์เกี่ยวเกาะเสียดายสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ผลบุญก็ย่อมได้น้อยไป ส่วนผู้ที่ทำบุญด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีดวงจิตเกี่ยวเกาะ ไม่มุ่งสั่งสม และไม่มีเจตนาอะไรอย่างอื่นๆ ที่ไม่ดี ตั้งใจอยู่อย่างเดียว การทำบุญเป็นความดี เป็นประโยชน์มีเจตนามุ่งเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นประมาณเท่านั้นแล้ว ย่อมนับว่าเป็นบุญอันดีที่สุด

พุทธโอวาทอันนี้ย่อมเป็นหลักสำคัญในการทำบุญเพื่อความสะดวกแก่การที่ผู้อ่านจะใช้ข้อความเรื่องประเพณีทำบุญนี้ให้เป็นประโยชน์ จะได้แยกแบ่งวิธีทำบุญออกไว้เป็นอย่างๆ ในชั้นแรกเราอาจแบ่งวิธีทำบุญออกได้ ๒ อย่างคือ ๑.ทำบุญโดยปกติ ๒.ทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณี

ในที่นี้จะกล่าวถึงการทำบุญตามปรกติก่อน ส่วนการทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณีนั้น จะกล่าวต่อไปภายหลัง



หนทางที่จะทำบุญมีอยู่ ๓ ทางคือ  ๑.ให้ทาน  ๒.รักษาศีล และ ๓.ภาวนา

๑.ทาน

ยังมีนักเรียนธรรมของเราเป็นอันมาก ยังไม่เข้าใจความมุ่งหมายของคำว่า “ทาน” จึงพาให้คิดเขวไปว่าทานกับบุญนั้นเป็นคนละอย่าง  ความเข้าใจอันนี้ทำให้เราพูดติดปากกันไปว่า “ทำบุญแล้วให้ทาน” ดูประหนึ่งว่าการทำบุญกับให้ทานเป็นคนละอัน ที่จริงบุญกับทานไม่ได้เป็นคำคู่กัน หรือเป็นคำแยกกัน บุญกับทานก็เป็นอันเดียวกัน คือทาน เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่งนั่นเอง

ดูเหมือนจะเข้าใจกันว่า ทานหมายถึงการให้อย่างต่ำๆ อย่างให้ของแก่คนขอทานยากจนเข็ญใจ และการหยิบยกเอาเงินทองสิ่งของให้แก่กัน ความเข้าใจอันนี้นับว่าผิดมาก และโดยความเข้าใจผิดอันนี้เอง ที่ทำให้เราแยกอาการทำบุญกับให้ทานออกไปอยู่ต่างหากจากกัน การถวายอาหารแก่พระสงฆ์ เราไม่เรียกกันว่าให้ทาน เพราะกลัวจะเป็นของต่ำ เราเรียกเสียว่าทำบุญ แต่ที่จริงทานหมายถึงการบริจาคทุกๆ อย่าง ไม่จำเป็นจะต้องเฉพาะแต่การบริจาคอย่างต่ำๆ เช่นนั้น หรือเฉพาะเป็นสิ่งของเงินทองที่หยิบยกให้กัน ทั้งไม่เฉพาะที่คนมั่งมีทำแก่คนจนอย่างที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก ขึ้นชื่อว่าการให้แล้ว ไม่ว่าคนชนิดไหนให้แก่คนชนิดไหน แม้สิ่งที่ให้จะไม่เป็นของที่หยิบยกได้ ก็นับเป็นทานเหมือนกัน เช่น พระสงฆ์สั่งสอนให้คฤหัสถ์ ๆ ถวายของแก่พระสงฆ์ หรือพระสงฆ์ต่อพระสงฆ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็นับว่าเป็นทานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่สุดแม้เพียงช่วยเหลือให้อาชีพทางทำมาหากินแก่กัน ก็นับว่าเป็นทานได้

คราวนี้ได้แบ่งลักษณะของทานออกเป็น ๒ ประเภท คือ ก.ให้แก่คนธรรมดา และ ข.ถวายสงฆ์

เรื่องให้แก่คนธรรมดา เป็นการให้ที่ไม่ต้องจำกัดจำเขี่ยในทุกๆ อย่าง เช่น เวลาหรือสิ่งของ เป็นการให้ที่ไม่ต้องมีพิธีอะไรทั้งสิ้น ตรงข้ามกับการถวายสงฆ์ซึ่งจะต้องพูดต่อไป ส่วนเรื่องถวายสงฆ์นั้นต้องแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ
   ก.ถวายอาหาร
   ข.ถวายเครื่องนุ่งห่ม
   ค.ถวายเสนาสนะ (ที่อยู่) และ
   ง.ถวายยา

การถวายทานแก่สงฆ์นั้น มีนักปราชญ์ได้แต่งคำถวายไว้ด้วย ถือว่าเป็นการถูกระเบียบและให้มีผลมาก เพราะฉะนั้น ในการถวายทานแก่สงฆ์แทบทุกอย่าง จึงมีคำถวายกำกับอยู่ด้วย โดยเหตุฉะนี้ ในการถวายทานที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะได้มีคำถวายกำกับไปด้วยทุกเรื่องไป แต่ถ้าเรื่องใดไม่มีกำกับไว้ พึงเข้าใจว่า เรื่องนั้นใช้คำกลางทั่วไป คือคำว่า ”สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” (ข้าพเจ้าถวายทานที่ดีแล้ว ขอจงเป็นสิ่งที่นำความสูญสิ้นกิเลสมาให้ด้วย) แบบโบราณเรามักเติมคำว่า นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ=ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน เข้าไว้ในตอนท้ายด้วย คำถวายนี้ใช้ได้ทั่วไปไม่จำกัด เช่น ในเวลาใส่บาตร ทำทานแก่คนยากจน เป็นอาทิ หรือในเวลาทำบุญสิ่งใดๆ จะใช้คำนี้เสมอไปด้วยก็ได้

ก.ถวายอาหาร
การถวายอาหารแก่สงฆ์ มีอยู่หลายวิธี ซึ่งทำแปลกจากกันออกไป อาหารอย่างหนึ่งเกือบจะมีวิธีไปอย่างหนึ่ง ข้อความที่จะบรรยายต่อไปนี้ จะกล่าวถึงวิธีทำและมูลเหตุก่อน แล้วจึงมีคำถวายไว้ข้างท้าย

๑.ตักบาตร
ก.วิธีทำและมูลเหตุ วิธีตักบาตรนั้นเราทราบกันอยู่แล้วทุกคนว่า การนำเอาข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรถวายพระสงฆ์สามเณร

มีมูลกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัย และคัมภีร์ปฐมสมโพธิว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงบรรพชาแล้วใหม่ๆ เสด็จแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ตำบลหนึ่งในแคว้นมัลลชนบทชั่วเวลาราว ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกภิกขาจาร (เที่ยวบิณฑบาต) เข้าเขตมคธชนบท เสด็จผ่านกรุงราชคฤห์ราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร พวกชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาต ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ รู้สึกประหลาดใจ จึงชวนกันเอาอาหารมาใส่บาตรถวายเป็นอันมาก ตั้งแต่นั้นมา การตักบาตรถวายพระสงฆ์จึงถือเป็นธรรมเนียมมาเป็นลำดับ  อีกเรื่องหนึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ที่อ้างไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เสด็จประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ (ไม้เกต) มีพ่อค้าสองนายชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจาตุมหาราชนำเข้าไปถวาย เรื่องนี้จึงเป็นมูลเหตุของการตักบาตรได้อีกอย่างหนึ่ง

ข.คำถวายในเวลาตักบาตร
“สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกขยาวหํ โหตุ ทุติยมฺปิ สุทินฺนํ (เหมือนกัน) ตติยมฺปิ สุทินฺนํ (เหมือนกัน) อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” แปลว่า “ข้าพเจ้าถวายทานดีแล้ว ขอจงเป็นสิ่งที่นำความสูญสิ้นแห่งกิเลสมาให้ด้วย” (โบราณมักเติมคำว่า”นิพพานปจฺจโย โหตุ = ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน” ไว้ด้วยเสมอ เติมหรือไม่เติมคงใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง)


๒.ถวายข้าวสาร
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
เรื่องนี้แต่ก่อนมาพุทธศาสนิกชนมักทำกันในคราวเกิดข้าวยากหมากแพง หรือคราวพระสงฆ์มีบิณฑบาตไม่พอฉัน เดี๋ยวนี้การถวายข้าวสารถือเป็นธรรมเนียมประจำปี มักทำกันในเวลาจวนเข้าพรรษา โดยวิธีจัดอาหารติดมาด้วย และแบ่งออกเป็นส่วนเท่าๆ กัน ตามจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดที่จะถวายตามควรที่พอจะทำได้

เสนาสนกฺขนฺธก แห่งพระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่มที่ ๖ ดูเรื่อง พระไตรปิฎกในดวงประทีป เล่มที่ ๒) แสดงว่าเมื่อครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร คราวนั้น ในพระนครราชคฤห์เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนไม่สามารถจะถวายอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ให้ทั่วถึงกันได้ จึงใคร่จะถวายไว้เป็นครั้งเป็นคราว พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุอันนี้ จึงทรงอนุญาตให้ถวายได้ตามปรารถนา สืบมาจนถึงเวลานี้

ข.คำถวายข้าวสาร
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ตณฺฑุลานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ตณฺฑุลานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (หลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบถวายข้าวสารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับข้าวสารพร้อมด้วยของบริวารของข้าพเจ้าเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน”




๓.ถวายข้าวสงฆ์
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
เป็นธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าจะถวายเป็นข้าวสงฆ์ ต้องนิมนต์ภิกษุอย่างน้อยตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป จึงจะใช้ได้ (ภิกษุ ๔ รูปจึงเรียกว่าสงฆ์ ต่ำลงมาไม่ถือเป็นคณะและบุคคล) และต้องมีพระพุทธรูปตั้งไว้เป็นประธานด้วย ที่เป็นดังนี้เนื่องมาจากคำถวายที่จะได้เห็นในตอนต่อไปว่ามีคำ “พุทฺธปฺปมุขสฺส” แปลว่า “มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” อยู่ด้วย ไม่มีจำกัดฤดูกาลที่จะถวาย จะถวายเวลาไหนก็ได้ ตามแต่จะเกิดมีศรัทธาขึ้นเมื่อไร เรื่องนี้ยังค้นมูลเหตุไม่ได้ถนัดว่าเนื่องมาแต่ครั้งไหน

ข. คำถวายข้าวสงฆ์
“อิมสฺมึ จาเนเยว อิมานิ ภตฺตานิ สสูปพยญฺชนานิ สปานกานิ สเภสชฺชานิ พุทฺธปฺปมุขสฺส ภิกฺขุสงฆสฺส เทมิ” (ถ้าหลายคนใช้ เทม) แปลว่า ข้าพเจ้าขอถวายภัตรเหล่านี้ พร้อมด้วยแกง, กับ, น้ำ และเภสัชแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” (คำถวายอันนี้ใช้ในเวลาถวายอาหารแก่พระสงฆ์ ในเวลานิมนต์มาฉันที่บ้าน ในตอนที่ว่าด้วยการทำบุญที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีในตอนหลังนี้ด้วย)


๔.ถวายสังฆทาน
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
คือทานที่ถวายแก่สงฆ์ หาได้เจาะจงถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ มีวิธีที่จะถวายดังนี้ เมื่อจะนิมนต์พระไปรับสังฆทานสักกี่รูปก็ตาม (ต้องให้ถึง ๔ รูปหรือกว่านั้น) พึงเข้าไปหาเจ้าอาวาส หรือผู้จัดอาหารถวายพระในวัด ขออาราธนาพระสงฆ์ไปรับสังฆทาน สุดแต่จะนิมนต์ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยไม่เลือก ห้ามมิให้นิมนต์เจาะจงเอาภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าเจาะจงแล้วไม่เป็นสังฆทาน

วิธีถวายสังฆทานนี้ ปรากฏในทักขิณาวิภังคสูตรว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้แก่พระอานนท์

ข.คำถวายสังฆทาน
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุเม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย แปลว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายอาหารพร้อมด้วยของบริวารแก่พระสงฆ์เป็นอันดี ขอพระสงฆ์จงรับภัตรของข้าพเจ้า พร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน”



๕.ถวายสลากภัต
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
สลากภัต คืออาหารที่ทายกร่วมฉันทะกันนำมาถวายสงฆ์ อาหารนั้นไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างหามา ตามปรกติมักทำกันในฤดูผลไม้ ที่เรียกว่าสลากภัต เพราะถวายโดยจับสลาก เขียนชื่อเจ้าของอาหารลงในแผ่นกระดาษเล็กๆ ม้วนแล้วเอาลงรวมเคล้ากันให้ทั่ว แล้วนิมนต์ภิกษุจับสลากตามลำดับพรรษา สุดแต่จะถูกชื่อของคนไหน  คนนั้นก็ต้องนำเอาอาหารที่จัดไปถวาย หรือไม่เช่นนั้น จะเขียนชื่อพระให้ทายกจับก็ได้ ใครถูกชื่อภิกษุรูปใดก็เอาอาหารไปถวายรูปนั้น ถ้าไม่ใช้ชื่อ ใช้ตัวเลขแทนบ้างก็ได้

ปรากฏในคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา (แผนกอรรถกถาพระสูตร ซึ่งเป็นพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕) ว่ามีสตรีคนหนึ่ง (ในตำนานว่านางยักษ์) เป็นผู้รู้เกณฑ์ฝนและเกณฑ์น้ำได้ดีมาก นางยักษ์บอกเรื่องนี้แก่หญิงผู้เป็นสหาย และชาวเมืองให้ทำนาได้ข้าวดีไม่เสียหาย ปีไหนฝนน้ำไม่ดี นางก็ห้ามไม่ให้ทำ พวกชาวเมืองรักใคร่นับถือมาก ฝ่ายผู้รู้อุปการคุณก็นำเครื่องสักการมาให้จนร่ำรวย นางได้เอาสิ่งเหล่านี้ถวายเป็นสลากภัตขึ้นก่อนใครๆ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา

ก.คำถวายสลากภัต
“เอตานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ อสุกฏฐาเน ฐฺปิตานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ เอตานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายอาหารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าวางไว้ในที่โน้นแก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับอาหารพร้อมด้วยของที่เป็นบริวารเหล่านั้นเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาล”



๖.ถวายเครื่องดื่ม
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปาน” (อ่านว่าปานะ) แปลว่า “เครื่องดื่ม” จัดไว้ในพระบาลีมี ๘ ชนิด (เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน คือน้ำดื่ม ๘ อย่างนั่นเอง) คือน้ำมะม่วง, น้ำหว้า, น้ำกล้วยมีเมล็ด, น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด, น้ำมะซาง, น้ำผลจัน, น้ำรากบัว  และน้ำลิ้นจี่ นอกไปจากนี้ยังมีเติมไว้อีก ๘ ชนิด คือน้ำผลกระเบา, น้ำผลเล็บเหยี่ยว, น้ำพุทรา, น้ำนม, น้ำยาคู และน้ำที่มีรส (คงเป็นน้ำตาล) น้ำดื่มเหล่านี้ เรียกว่าน้ำอัฏฐบานทั้งสิ้น ไม่มีการถวายเป็นพิธีอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อประสงค์จะถวายภิกษุสามเณรรูปใด ก็เอาไปถวายรูปนั้น แต่สำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องนำเอาผลไม้เหล่านี้มาคั้นเอาแต่น้ำ กรองให้ดีแล้วใส่น้ำตาลกรวด ห้ามไม่ให้ถวายเข้าไปทั้งผล มิฉะนั้นจะไม่เรียกว่าเครื่องดื่ม เรื่องนี้มีมูลมาอย่างไรยังค้นไม่พบ

ต่อไปจากที่ได้กล่าวมานี้ ในพระบาลีเภสัชชขันธกมหาวรรค แห่งพระวินัย ท่านแสดงถึงพระพุทธานุญาตให้ถวายเภสัชทั้ง ๕ คือเนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย แก่ภิกษุได้ไม่จำกัดว่าเวลาและฤดูไหน แต่มักถวายในฤดูร้อน

ตามที่ปรากฏในพระบาลีนั้นว่า พวกภิกษุเกิดอาพาธในฤดูร้อน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตเภสัช ๕ อย่างไว้เพื่อระงับอาพาธ

ข. คำถวายเครื่องดื่ม
“สรโท นามายํ ภนฺเต กาล สมฺปตฺโต ยตฺถ ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ สรทิกาพาเธน อาพาธิกานํ ภิกฺขูนํ ปญฺจเภสชฺชานิ อนุญฺญาสิ สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุผาณิตํ อหนฺทานิ ตกฺกาลสทิสํ อิมํ สมฺปตฺโต (ถ้าหลายคนใช้ สมฺปตฺตา) ตสฺส ภควโต ปญฺญาตฺตานุคตํ ทานํ ทาตุกาโม (ถ้าหลายคนใช้ ทาตุกามา) เตสุ ปริยาปนฺนํ เตลํ จ มธํ จ ผาณิตํ จ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้โน) ภนฺเต สงฺโฆ เตลํ จ มธํ จ ผาณิตํ จ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถึงฤดูใบไม้ร่วงแล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตเภสัช ๕ คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย แก่พระภิกษุผู้อาพาธในฤดูใบไม้ร่วง บัดนี้ถึงกาลเช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะถวายทานตามบัญญัติของพระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ข้าพเจ้าขอมอบถวายน้ำมัน, น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย พร้อมกับเนยสด เนยข้นเหล่านั้นด้วยดีแล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอสงฆ์จงรับน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนานเทอญ”




ภาพเขียน "ครูเหม เวชกร"

ข.การถวายเครื่องนุ่งห่ม
ตามธรรมดาได้แก่การถวายไตรจีวร คือสังฆาฏิ (ผ้าพาด) จีวร (ผ้าห่ม) สบง (ผ้านุ่ง) จะถวายเมื่อไรก็ได้ คำถวายเหมือนกับถวายผ้าอื่นๆ เปลี่ยนแต่เรียกชื่อผ้าว่า ติจีวรานิ ถ้าถวายพร้อมทั้งอัฏฐบริขาร ก็เติมคำว่า “สปริวารานิ” เข้าอีกคำหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่ต้องมีพิธีพิเศษนั้น มีดังต่อไปนี้


๑.ถวายผ้าอาบน้ำฝน
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ผ้าอาบน้ำฝน พูดง่ายๆ ได้แก่ผ้าที่ถวายในฤดูฝน มีประมาณตามวินัยบัญญัติว่าให้ยาว ๔ ศอก  ๓ กระเบียด และกว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียด นิยมถวายตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ขึ้นไปจนถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ระหว่างนี้จะถวายวันใดวันหนึ่งก็ได้

จีวรขันธกมหาวรรค แห่งพระวินัยปิฎกแสดงไว้ว่า ครั้งหนึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาให้คนมาที่วัดกำลังฝนตก คนที่มาเห็นภิกษุต่างเปลือยกายอาบน้ำฝน ก็ไปบอกนางวิสาขา นางวิสาขาจึงทูลขออนุญาตถวายผ้าสำหรับใช้ในฤดูฝน แก่ภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต ธรรมเนียมนี้จึงกลายติดต่อกันเป็นลำดับมาจนถึงเวลานี้

ข. คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต วสฺสิกสาฏิกจีวรานิ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต สงฺโฆ วสฺสิกสาฏิกจีวรานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”
แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนนั้น เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน”



๒.ถวายผ้าจำนำพรรษา
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ผ้าจำนำพรรษา ตามภาษาบาลีเรียกว่า “วัสสาวาสิกสาฏก” คือ ผ้าที่สำหรับถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนตามวินัย ปรากฏว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล สุดแต่ใครจะนำเอาผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะเป็นสบงหรือจีวรก็ได้ นิยมเวลาถวายตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงกลางเดือน ๑๒ มีอนุญาตพิเศษแก่ภิกษุรู้ได้กรานกฐิน ให้ขยายวันถวายสำหรับภิกษุนั้นออกไปได้อีก จนถึงวันกลางเดือน ๔ เพราะการถวายผ้าจำนำพรรษานี้มีบัญญัติอนุญาตให้ถวายเร็วกว่ากำหนดนี้ได้ สำหรับผู้ที่ถวายรีบร้อนอยากถวายก่อน โดยความจำเป็นจะต้องไปทางไกล แต่ผู้ที่ถวายก่อนกำหนดนี้ ไม่เรียกว่าผ้าจำนำพรรษา เรียกว่าอัจเจกจีวร

มูลเหตุในเรื่องนี้เกิดจากที่ว่า เมื่อภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว พอออกพรรษาแล้วก็จะต้องไปในที่ต่างๆ เพื่อสั่งสอนคน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้รับผ้าสำหรับใช้ได้ต่อไป และที่เราเรียกว่าผ้าจำนำพรรษานั้น หมายความว่า เป็นผ้าที่ภิกษุจะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว

ข.คำถวายผ้าจำนำพรรษา
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต วสฺสาวาสิกจีวรานิ (จีวรสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษา) สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต สงฺโฆ อิมานิ วสฺสาวาสิกจีวรานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” คำแปลก็เหมือนเรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน เปลี่ยนแต่ชื่อผ้าเท่านั้น)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ธันวาคม 2558 17:10:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 07 กันยายน 2558 15:31:17 »

.


๓.ทอดกฐิน
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
พระบาลีและอรรถกถา แห่งกฐินขันธกมหาวรรคแห่งพระวินัยปิฎก อธิบายคำ “กฐิน” ไว้ว่า เป็นชื่อของไม้สะดึงที่กางออกสำหรับขึงเย็บจีวร ตัวอย่างที่เรียกว่า “ผ้าไตรครอง” สำหรับถวายแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่า มีพรรษามาก หรือมีความสามารถมาก บัดนี้มักใช้ผ้าที่สำเร็จมาแล้วเป็นผ้ากฐิน

ทอดกฐินอยู่ข้างจะเป็นบุญใหญ่สักหน่อย บางท่านอาจทอดด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ จึงมีวิธีแนะนำได้อีกอย่างหนึ่ง “กฐินสามัคคี” คือรวมสิ่งของทอดด้วยกันในคราวหนึ่ง พระวัดหนึ่งจะทอดแก่พระวัดอื่นก็ได้ มีกำหนดไว้ในพระบาลี ให้ทอดได้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปหมดเขตถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ จะเป็นวันหนึ่งวันใดซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดได้ทั้งสิ้น ถ้าพ้นจากเขตนี้ไปไม่เรียกว่าทอดกฐิน

มูลเหตุมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองปาวาหรือปาฐา ถือธุดงค์ด้วยกันทุกๆ รูป ได้ชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระนครสาวัตถี ถึงคราวไปไม่ทันพรรษา จึงจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต อันตั้งอยู่ในระหว่างทาง ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเหตุที่มาไม่ทันพรรษา และความลำบากอีกหลายอย่างที่ต้องได้รับมาตลอดทาง จนจีวรเปียกชุ่มและเลอะเทอะด้วยโคลนให้ทรงทราบ ด้วยเหตุนี้จึงทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสาวกตลอดมา

ข. คำถวายกฐิน
“อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน)  ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ)  ฆทีรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายผ้ากฐินพร้อมด้วยของบริวารนี้ ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินพร้อมด้วยของบริวารของข้าพเจ้านี้ อนึ่งเมื่อรับไว้แล้ว ขอพระสงฆ์จงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน เทอญ”



๔.ทอดผ้าป่า
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ที่เรียกว่า “ผ้าป่า” นั้น เพราะครั้งพุทธกาล ผ้าชนิดนี้ถูกทิ้งอยู่ในป่าจริงๆ หรือบางทีก็ในบริเวณขยะมูลฝอย คือหมายความว่าเป็นผ้าที่ทิ้งแล้ว ภิกษุพบเข้าก็ชักบังสุกุลเอามาเพราะความยากจนไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนในสมัยนี้ ภายหลังมีผู้นิยมทอดผ้าป่า โดยวิธีเอาผ้าไปวางไว้ในป่า สุดแต่ภิกษุรูปใดมาพบเข้าก็ชักเอาไป

วิธีทอดผ้าป่า ให้หาสิ่งของมาตามมากและน้อย แต่ให้ใจว่าผ้าเป็นของสำคัญอย่างยิ่งจะขาดเสียไม่ได้ มิฉะนั้นจะไม่เรียกว่าทอดผ้าป่า เมื่อได้มาแล้ววางทอดไว้ในที่ไกลตาคน คอยดูอยู่ ไม่ให้ตั้งใจจะถวายภิกษุรูปหนึ่งรูปใด สุดจะเป็นลาภของภิกษุรูปใด ให้ถวายแก่ภิกษุรูปนั้น บางครั้งใส่แพหยวกลอยน้ำไป ภิกษุรูปใดมาพบก่อนก็เป็นลาภของภิกษุรูปนั้นที่จะชักเอาไป

ข.คำถวายผ้าป่า
“เอตานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต จีวรานิ สปริวารานิ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ว่า โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ว่า โน) ภนฺเต เอตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ว่า อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” (เทียบคำแปลเอาตามนัยก่อนๆ)



หอสวดมนต์ วัดตาปะขาวหาย อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ค.การให้เสนาสนะ (ที่อยู่)
๑.ประวัติการถวายเสนาสนะ
ปรากฏมีขึ้นแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อภิกษุยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ตำนานทางพระพุทธศาสนาพรรณนาไว้ว่ากาลครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาทรงพระราชดำริถึงสถานอันควรเป็นที่เสด็จอยู่ของพระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าพระราชอุทยานเวฬุวันสวนไม้ไผ่ เป็นที่ไม่ไกลและไม่ใกล้บ้านนัก มีทางเป็นที่ไปมาได้สะดวก เป็นที่สงบสงัดสมควรเป็นที่อยู่ของผู้ปรารถนาความเพียร ควรเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว ทรงจับพระเต้าทองเต็มด้วยน้ำ หลั่งลงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆารามแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน   ในวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับแล้ว และทรงอนุญาตให้ภิกษุรับอารามที่ทายกถวายตามปรารถนา การถวายเสนาสนะ (ที่อยู่) มีประวัติสืบต่อมาถึงบัดนี้

๒.พิธีการสร้างวัด
พุทธศาสนาในยุคก่อนๆ การจะถวายเสนาสนะแก่ภิกษุสงฆ์ นิยมกันแต่วิหารอย่างเดียว ต่อมาในยุคหลังๆ กิจการของสงฆ์มีมากขึ้นเป็นลำดับ ที่อยู่ของสงฆ์ก็ต้องขยายตัวออก วิหารที่เคยอยู่อาศัยก็ไม่เพียงพอแก่การอาศัย การสร้างที่อยู่ถวายแก่ภิกษุในชั้นหลังๆ จึงต้องเพิ่มจำนวนสถานที่อันจำเป็นขึ้นอีก ต้องมีโบสถ์ มีวิหาร มีกุฏิเป็นที่อยู่ มีสีมาเป็นเครื่องกำหนดเขตวัดให้ถูกระเบียบตามพุทธบัญญัติ

โบสถ์ เป็นคำย่อมาจากอุโบสถ เมื่อครั้งแรกๆ การสร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ไม่มีการสร้างโบสถ์ไว้ด้วย เพราะกิจที่จะต้องเกี่ยวถึงไม่มี ต่อมาสงฆ์มีกิจที่จะต้องทำในสถานที่เช่นนี้หลายอย่างตามพุทธานุญาต เช่น การบวช การรับผ้ากฐินที่ทายกนำมาถวาย และสังฆกรรมอย่างอื่นอีก เหตุฉะนี้การสร้างเสนาสนะถวาย จึงสร้างโบสถ์ไว้ด้วย

สำหรับวิหาร พูดถึงสมัยก่อนก็จำเป็นต้องมีอยู่เอง เพราะภิกษุสงฆ์ไม่มีกุฏิอยู่เช่นเดี๋ยวนี้ ต้องถือเอาวิหารเป็นที่อยู่หลับนอน เพราะการสร้างเสนาสนะในยุคโน้นสร้างแต่วิหารอย่างเดียว ภิกษุสงฆ์ก็รวมอยู่ในวิหารแห่งเดียว ครั้นต่อมาเสนาสนะอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากเป็นลำดับ ภิกษุสงฆ์ก็พากันไปอยู่ตามเสนาสนะอื่นๆ เช่นกุฏี ทิ้งวิหารเสีย ซึ่งที่จริงสำหรับสมัยนี้วิหารเป็นของไม่สำคัญอะไรเลย จะไม่ต้องมีไว้ก็ได้ ภิกษุมีกุฏีอยู่พอแล้ว ถึงกระนั้นเราก็ยังคงมีไว้เสมอ โดยถือว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เราทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เหมือนอย่างเรามีศาลพระภูมิไว้ในบ้านนั่นเอง

สีมาที่มีไว้นั้น ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องกำหนดเขตแดนของวัดอย่าง ๑ (สำหรับวัดที่มีมหาสีมา คือมีสีมารอบวัด ดูตัวอย่างวัดราชประดิษฐ์ฯ)  สำหรับวัดที่มีวัตถุอื่นเป็นเขตวัด สีมามีไว้เพื่อกำหนดเขตกระทำสังฆกรรม ซึ่งมักกำหนดเอาตัวโบสถ์อีกอย่าง ๑ สีมาจึงตั้งอยู่รอบๆ โบสถ์ทั้งสิ้น

การฝังลูกนิมิต ไม่ใช่เพื่ออะไรอย่างอื่นเลย เพื่อเป็นแนวที่ปักเขตสีมาอย่างเดียว การที่จะทำเขตที่เรียกว่าสีมานั้นต้องถือเอาลูกนิมิตที่ฝังไว้เป็นเกณฑ์ ตลอดจนการผูกสีมาก็จำต้องชักแนวให้ติดต่อไปตามลูกนิมิตที่ฝังไว้นั้นด้วย

การถวายเสนาสนะ คือที่อยู่แก่สงฆ์นั้น กล่าวว่ามีอานิสงส์มาก เพราะเป็นสิ่งที่มีคนทำได้โดยยาก แต่มาถึงสมัยนี้เมื่อเรามีวัดมากมายแล้ว การสร้างวัดใหม่ไม่จำเป็นเลย ถ้าหากเราจะปฏิสังขรณ์วัดเก่าให้ดีขึ้น ก็คงมีอานิสงส์ดีเท่ากับสร้างวัดใหม่เหมือนกัน

สร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ พึงใช้คำถวายดังต่อไปนี้
     "ยคฺเฆ ภนฺเต สงฺโฆ ชานาตุ มยํ สงฺฆสฺส จ ผาสุวิหารํ อากงฺขมานา วิหารทาเน จ อานิสํสํ สมฺปสฺสมานา อตฺตโน ธนํ ปริจฺจชิตฺวา อิมํ เสนาสนํ การาเปตฺวา สงฺฆสฺส นิยาเทม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ เสนาสนํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ ยถาสุขํ ปริภุญชตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย"  แปลว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงทราบว่า พวกข้าพเจ้าหวังให้พระสงฆ์อยู่เป็นผาสุก และเห็นอานิสงส์ในอันถวายท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับเสนาสนะของข้าพเจ้านี้ ก็และเมื่อรับแล้วขอจงใช้สอยตามความสบาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน เทอญ"

คำถวายอันนี้จะใช้ถวายในการปฏิสังขรณ์ ก็ไม่ขัดข้องประการใด อนึ่ง คำถวายข้างต้นสำหรับหลายคน ถ้าคนเดียวก็เปลี่ยนเพียง ๒-๓ คำ คือ มยํ เป็น อหํ, อากงฺขมานา เป็น อกงฺขมาโน, สมฺปสฺสมานา เป็น สมฺปสฺสมาโน, นิยาเทม เป็น นิยาเทมิ, โน เป็น เม, อมฺหากํ เป็น มม  ผู้ที่อ่านมาโดยความสังเกตมาแต่ต้นแล้ว แม้ไม่เคยเรียนบาลีก็คงเปลี่ยนได้



ง.ถวายยา
ยานั้นนิยมมาแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาเห็นคุณประโยชน์ของยาว่าอาจรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ โรคหนักจักเป็นโรคเบา คนไม่เป็นโรคจัดเป็นลาภอย่างประเสริฐ พระองค์จึงทรงสั่งสอนให้พระสาวกหมั่นฉันยาที่เป็นของประจำ ยาที่ให้ฉันเสมอนั้นพระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าและยาที่ทรงอนุญาตไว้ในเวลาต่อมามีตามกำหนด ๕ อย่าง คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย แต่อาจมีสิ่งอื่นๆ ที่อนุโลมเข้าหากันได้ ตลอดถึงยาที่ใช้รักษาโรคที่ปรากฏมีอยู่ในบัดนี้ ซึ่งปราศจากของเบื่อเมาเข้าเจือปน

ผู้ที่ถวายยาแก่สงฆ์ ควรเลือกหายาที่ทรงอนุญาตไว้ เลือกหาของที่ไม่มีรสและกลิ่นมึนเมา ตัวอย่าง ยาดองเหล้าจะถวายแก่สงฆ์ไม่ได้ คำถวายยาอย่างเดียวกับคำถวายในตอนหนึ่งว่าถึงเรื่องน้ำดื่ม ผู้ปรารถนาจะใช้พึงดูตามนั้น

ที่แล้วไปแล้ว ได้อธิบายและแนะนำถึงเรื่องทำบุญด้วยวิธีให้ทานมาให้เห็นพอเป็นตัวอย่าง พอได้เป็นทางให้เลือกเทียบเคียงดูได้ในทานชนิดอื่นๆ แล้ว บัดนี้ จะได้อธิบายถึงวิธีทำบุญอย่างที่ ๒ คือศีลต่อไป


.

๒.ศีล
ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย แบ่งออกเป็นหลายชั้น คือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ในชีวิตของมนุษย์ตามปรกติ จะรักษาไปให้หมดทุกอย่างไม่ได้ แต่ศีล ๕ เป็นศีลที่คนทุกชั้นสามารถรักษาได้ทุกขณะตลอดชีวิต  ฉะนั้น ศีล ๕ นี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นิจศีล” คือศีลที่อาจรักษาได้เป็นนิจ หรืออีกอย่างหนึ่งว่าศีลที่ควรรักษาอยู่เป็นนิจ ศีลทั้ง ๕ ประการนี้ คือ
๑.ไม่ให้ฆ่าสัตว์
๒.ไม่ให้ถือเอาสิ่งของๆ คนอื่นโดยที่ตนไม่มีสิทธิ
๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม คือไม่เกี่ยวข้องในทางความรักกับผู้ที่ตนไม่มีสิทธิ
๔.ไม่ให้พูดเท็จ และ
๕.ไม่เสพย์ของมึนเมา

ศีล ๕ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มนุสสธรรม” คือธรรมของมนุษย์ ที่เรียกเช่นนี้เพราะธรรมทั้ง ๕ นี้ เป็นธรรมประจำโลกที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมี ไม่ว่าในชาติใด ศาสนาใด

ศีล ๘ นั้น ๕ ข้อข้างต้นเหมือนกับศีล ๕ เป็นแต่เปลี่ยนข้อ ๓ ให้แรงขึ้น คือห้ามมิให้ประพฤติล่วงพรหมจรรย์ หมายความว่าติดต่อรักใคร่ร่วมประเวณีไม่ได้เลยเป็นอันขาด แม้กับภรรยาของตนก็ไม่ได้ และเดิม ๖.ห้ามไม่ให้รับประทานอาหารต้องห้ามในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงย่ำรุ่ง  ๗.ห้ามมิให้ขับร้อง และประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องหอม  และ ๘.ห้ามมิให้นอนบนที่นอนสูงใหญ่เกินไป

เหล่านี้เรียกว่าศีล ๘ หรืออุโบสถศีล คือศีลที่ควรรักษาในวันอุโบสถ (วันพระ) แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามไม่ให้รักษาเป็นนิจตลอดไป ถ้ามีศรัทธาจะรักษาเป็นนิจได้ ก็นับว่าประเสริฐ

ศีล ๑๐ เบื้องต้นเช่นเดียวกับศีล ๘ อยู่ ๕ ข้อ แต่ตอนปลาย ๕ ข้อ มีแปลกออกไป คือ
๖.ห้ามมิให้บริโภคอาหารต้องห้ามในเวลาวิกาล
๗.ห้ามมิให้ขับร้องประโคมดนตรี
๘.ห้ามมิให้ประดับแต่งตัวด้วยเครื่องหอม
๙.ห้ามมิให้นอนนั่งในที่ใหญ่สูงเกินกำหนด และ
๑๐.ห้ามรับเงินทอง

ความจริงก็เกือบเหมือนศีล ๘ เพิ่มเข้ามาอีก ๑ ข้อ ห้ามรับเงินทองเท่านั้น

ศีล ๑๐ นี้ ครั้งพุทธกาล ปรากฏว่าเป็นศีลสำหรับภิกษุ ต่อมาเมื่อราหุลกุมารพุทธโอรส เข้ามาบวชเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงยกศีล ๑๐ ให้เป็นศีลปฏิบัติสำหรับสามเณรจนถึงทุกวันนี้ และทรงบัญญัติศีล ๒๒๗ ข้อ ให้เป็นศีลสำหรับภิกษุต่อมา

สำหรับผู้ที่มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี ถ้าปรารถนาจะบวชต้องบวชเป็นสามเณรก่อน ต่อเมื่ออายุ ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว จึงสมควรจะบวชเป็นภิกษุต่อไป การบวชเป็นสามเณรเรียกว่า “บรรพชา” การบวชเป็นภิกษุเรียกว่า “อุปสมบท” ที่จริงคำว่า “บรรพชา” ใช้สำหรับสามเณรก็ได้ แต่คำว่า “อุปสมบท” จะใช้สำหรับบวชเป็นสามเณรไม่ได้ เรื่องการบวชมีวิธีอย่างไรเราจะเขียนลงเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะเขียนลงในที่นี้ได้

การรักษาศีล ๕ และศีล ๘ นั้น จะตั้งใจรักษาเองก็ได้ แต่ตามปรกติเรามีวิธีขอศีลจากพระและพระก็บอกให้ อย่างที่เรียกว่าให้ศีล การที่จะต้องขอจากพระนั้นก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียวคือ จะให้มีใจมั่นคงยิ่งขึ้น คำขอศีลนี้เรียกกันว่า อาราธนาศีล มีดังต่อไปนี้

คำอาราธนาศีล
อหํ (สำหรับหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต (วิสุํ วิสุํ) รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ (ถ้าศีล ๘ เป็น อฎฐ) สีลานิ ยาจามิ (ถ้าสำหรับหลายคนใช้ ยาจาม) ทุติยมฺปิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต (ต่อไปนี้เหมือนกัน) ตติยมฺปิ อหํ (ถ้าสำหรับหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต (ต่อไปนี้เหมือนกันคือต้องว่า ๓ หน)

แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอศีล ๕ ข้อ (หรือ ๘ ข้อ) พร้อมกับไตรสรณาคมน์ เพื่อต้องการจะรักษา (เป็นส่วนๆ ไป) ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๒, ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓

คำว่า “วสุํ วิสุํ” ที่วงเล็บไว้ข้างบนนั้น แปลว่าเป็นส่วนๆ ไป จะใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ แต่การใช้กับไม่ใช้มีผลผิดกัน คือถ้าไม่ใช้ ศีลที่รับไปนั้น เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าขาดไปข้อเดียวก็ขาดหมด แต่ถ้าใช้คำว่า “วิสุํ วิสุํ” แล้ว ข้อหนึ่งขาด ข้ออื่นๆ ยังดีอยู่

นอกจากทานกับศีล อันเป็นที่ตั้งแห่งทางบำเพ็ญชนิดที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว ยังมีทางบำเพ็ญบุญวิธีที่ ๓ คือภาวนา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มีนาคม 2559 15:31:08 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 10 มีนาคม 2559 15:50:38 »

.



๓ ภาวนา
มีคนเป็นอันมากเข้าใจว่า ภาวนา แต่เพียงผิวๆ กล่าวคือมักเข้าใจกันว่าภาวนาได้แก่การนั่งบ่นอะไรต่ออะไรพึมพำไปตามเรื่อง ความเข้าใจดังนี้นับว่าผิดนัก

ภาวนาเป็นคำเดียวกับคำของฝรั่งว่า “Meditation” แปลว่า การตริตรอง เพราะฉะนั้น ภาวนา จึงหมายถึงการตริตรอง ไม่ใช่การที่เอาเรื่องอะไรมาพูดบ่นเพ้อพึมพำไปลอยๆ โดยไม่รู้เรื่อง คนที่เรียกว่านั่งภาวนา ต้องหยิบเอาหัวข้อธรรมอันหนึ่งขึ้นมานั่งคิด ตั้งใจลงแน่วแน่อย่างแท้จริง อาศัยความเงียบสงัดเป็นเครื่องช่วย คนที่บูชาพระจะต้องระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ตรองให้เห็นว่าพระองค์เป็นผู้ประเสริฐเพียงไร คนที่ฟังพระสวดมนต์ จะต้องเข้าใจข้อความที่พระสวด และระลึกตรึกตรองไปจึงจะนับว่าถูกต้องแท้ คนที่นั่งฌานหรือเรียกว่านั่งเข้าที่นั้น ได้แก่คนกำลังภาวนานั่นเอง และด้วยเหตุนี้เอง ทางพระพุทธศาสนาจึงสรรเสริญภาวนาว่าวิเศษสุด มีผลสูงกว่าให้ทานและรักษาศีล

ภาวนา เป็นทางบำเพ็ญที่ทำยากกว่าทานและศีล ก่อนที่จะอธิบายสมควรที่เราจะแบ่งภาวนาออกเป็น ๓ ประการ เรียงตั้งแต่ขั้นง่ายขึ้นไปหาขั้นที่ยาก ดังนี้
๑.การบูชาเพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
๒.การทำวัตรสวดมนต์ และ
๓.การฟังธรรม


๑.การบูชาเพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
การบูชาพระ มักเป็นสิ่งที่เราเกียจคร้านไม่อยากทำ และบางทีเราเห็นไม่เป็นการสำคัญ แต่ที่จริงเป็นกิจสำคัญยิ่ง เพราะทำให้จิตใจเบิกบานด้วยความระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า การบูชาแบ่งออกเป็นหลายอย่างดังต่อไปนี้

ก.บูชาพระตามปกติ
การบูชาพระ เป็นกิจการหลังจากการอื่นๆ ได้หมดสิ้นแล้วในวันหนึ่งๆ เป็นกิจที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำเป็นนิจ คนที่ไม่มีโอกาสจะทำบุญอะไรอย่างอื่นๆ ได้ สมควรจะถือเอาการบูชาพระทุกวันเป็นการทำบุญของตน ควรบูชาพระในเวลาก่อนเข้านอน ให้จุดธูปเทียนระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า บูชาด้วยคาถานอบน้อม คือ นโมฯ ๓ ครั้ง ว่า สรณคมน์ ตั้งแต่ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นต้นไป แล้วสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คือ อิติปิโส เหล่านี้เป็นวิธีบูชาพระตามปรกติ

ข.บูชาในวันวิสาขะ
วิสาขบูชา คือการบูชาครั้งใหญ่ในวันจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขนักษัตร คือวันเพ็ญกลางเดือน ๖ แต่ถ้าในปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปด ๒ หน วันวิสาขบูชาก็เลื่อนไปทำในกลางเดือน ๗ วิสาขะเป็นมหามงคลสมัยของผู้นับถือพุทธศาสนา เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และนิพพานของพระพุทธเจ้า ในวันมหามงคลสมัยเช่นนี้ (มีวันมาฆบูชากับวันอัฐมีซึ่งจะกล่าวต่อไปด้วย)  พุทธศาสนิกชนประชุมกันทำสักการบูชาอย่างใหญ่หลวง มีการตกแต่งเครื่องสักการบูชาในพระอุโบสถ จุดประทีปสว่างไสวในบริเวณนั้น พวกที่สามารถก็จัดราชวัติฉัตรธงปักเรียงรายในพระอุโบสถและพระสถูปเจดียสถาน พอถึงเวลาค่ำต่างพากันมาชุมนุมในอุปจาร (ที่ใกล้) แห่งพระพุทธปฏิมาหรือพระสถูป จุดธูปเทียนพร้อมด้วยดอกไม้ ๑ ช่อ กล่าวคำบูชาเป็นภาษามคธ (มีหัวหน้ากล่าวนำ) ว่าดังนี้

“ยมมฺหโข มยํ ภควนฺตํ สรณํ คตา, โย โน ภควา สตฺถา, ยสฺส จ มยํ ภควโต ธมฺมํ โรเจม, อโหสิ โข โส ภควา มชฺฌิเมสุ ชนปเทสุ อริยเกสุ มนุสฺเสสุ อุปปนฺโน ขตฺติโย ชาติยา โคตโม โคตฺเตน, สกฺยปุตฺโต สกฺยกุลา ปพฺพชิโต, สเทวเก โลเก สมารเก สพรฺหฺมเก สสฺสมณพรฺาหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธิ อภิสมฺพุทโธ, นิสฺสํสยํ โข โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจารณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา.

สฺวากฺขาโต โข ปน เตน ภควตา ธมฺโม. สนฺทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ.

สุปฏิปนฺโน โข ปนสฺส ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

อยํ โข ปน ถูโป (คำว่าถูโปใช้สำหรับเวลาบูชาที่พระสถูปเจดีย์ แต่ถ้าบูชาที่พระพุทธรูปให้ใช้ว่า ปฏิมา) ตํ ภควนฺตํ อุทฺทิสฺสกโต ยาวเทวทสฺสเนน ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสริตฺวา ปสาทสํเวคปฏิลาภาย, มยํ โข เอตรหิ (อิมํ วิสาขปุณฺณมีกาลํ ตสฺส ภควโต ชาติสมฺโพธินิพฺพาน กาลสมฺมตํ () ปตฺวา อิมํ ฐานํ สมฺปตฺตา, อิเม ทณฺฑทีปธูปาปุปฺผาทิสกฺกาเร, คเหตฺวา, อตฺตโน กายํ สกฺการุปธานํ กริตฺวา ตสฺส ภควาโต ยถาภจฺเจ คฺเณ อนฺสฺสรนฺตา, อิมํ ถูปํ (ถ้าสวดต่อหน้าพระพุทธรูปให้ใช้ว่า ปฏิมาฆรํ) ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กริสฺสาม ยถาคหิ เตหิ สกฺกาเรหิ ปูชํ กุรุมานา สาธุ โน ภนฺเต ภควา สุจิรปรินิพฺพุโตปี ญฺาตพฺเพหิ คฺเณหิ อตีตารมฺมณตาย ปญฺญายมาโน, อิเม อมฺเหหิ คหิเต สกฺกาเร ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย.”

คำแปล
“เราทั้งหลายได้นับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใดว่าเป็นที่ระลึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดทรงเป็นศาสดาของเรา เราทั้งหลายชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วในพวกอริยกะ ในมัชฌิมชนบท เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคดมโดยพระโคตร เป็นศากยบุตรเสด็จออกจากศากยสกุล ทรงผนวชแล้ว ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันประเสริฐในโลก เป็นไปกับด้วยเทพดามารพรหม, ในหมู่สัตว์ เป็นไปกับด้วยสมณะและพราหมณ์ทั้งเทพดาและมนุษย์, ไม่ต้องสงสัยเลย พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเองแล้ว ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้วรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถีทรมานบุรุษที่ควรทรมาน ไม่มีสารถีอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า เป็นศาสดาของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม
 
อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นกล่าวดีแล้ว เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง ปฏิบัติได้ทุกๆ เวลา สามารถจะแสดงให้เห็นได้ว่าดีจริง เป็นสิ่งที่ควรจะน้อมนำเข้ามาไว้ในใจตน และวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตัว

อนึ่ง หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ทรงปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อธรรม เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว มีอยู่ ๔ คู่ รวมเป็นบุคคล ๘ ชื่อ ว่าหมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าควรได้รับของอันบุคคลนำมาบูชา ควรได้รับการต้อนรับ ควรได้รับการกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาอันอื่นจะยิ่งไปกว่า

อนึ่ง พระสถูป (พระปฏิมานี้) ได้สร้างอุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้น การที่ได้แลเห็นย่อมให้เกิดความเลื่อมใสและความสังเวช

บัดนี้ เราทั้งหลายมาถึงการวิสาขบุรณมีนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงมาพร้อมกัน ณ ที่นี้ ถือเครื่องสักการะทั้งหลาย มีประทีปธูปเทียนเป็นต้นเหล่านี้ กระทำกายของตนประหนึ่งเชิงรองเครื่องสักการะ แล้วระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตามที่เป็นจริง แล้วจักเวียนรอบพระสถูป (พระปฏิมา) นี้ ๓ รอบ และบูชาด้วยสักการะทั้งหลายที่ถือไว้ทั้งนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ก็ยังดำรงอยู่เป็นอารมณ์อันแนบแน่นตรึงตราแก่ใจด้วยพระคุณทั้งหลาย อันข้าพเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ.

เมื่อกล่าวคำบูชาแล้ว กระทำประทักษิณ ๓ รอบ คือเวียนข้างขวาไปหาซ้าย เวลาเดินนั้นให้เจริญพระพุทธคุณ (อิติปิโส ฯเปฯ) เป็นอารมณ์ และประนมมือชูไปทางขวาครบ ๓ ตอบแล้วเข้าโบสถ์ บูชาพระสวดมนต์ ฟังธรรมตามประเพณีนิยม

ค.บูชาในวันอัฐมี
วันอัฐมี คือ ๘ วันภายหลังวิสาขะ ถือกันว่าเป็นวันถวายเพลิงพระศพพระพุทธเจ้า มีพิธีการอย่างเดียวกับวิสาขะ แต่เปลี่ยนคำบูชา ดังได้ทำฟุตโน้ตไว้ในตอนวิสาขะนั้นแล้ว

ง.บูชาในวันมาฆะ
คือการบูชาในวันเพ็ญมาฆมาส (กลางเดือน ๓) เป็นงานสำคัญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของพระพุทธศาสนา กำหนดนิยมในวันกลางเดือน ๓ ต่อเมื่อในปีนั้นมีอธิกมาส วันมาฆบูชาจึงเลื่อนไปเป็นวันกลางเดือน ๕ วันนี้นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” วันที่ประชุมสงฆ์ ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ พระสงฆ์ ๑๒๕๐ องค์ ล้วนเป็นพระขีณาสพ ๑  เป็นเอหิภิกษุทั้งสิ้น ๑  ไม่ได้เชื้อเชิญมาประชุมกันเอง ๑  วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี  พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ (หัวใจศาสนา) ในที่ประชุมนั้น ๑  รวมเป็นองค์ ๔ ประการ จัดว่าเป็นวันมหามงคลดิถี ในปีหนึ่งมีครั้งเดียว วิธีทำอย่างอื่นๆ ถอดแบบจากวันวิสาขบูชาทั้งสิ้น แต่มีคำบูชาผิดไปอีกอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

“ยมมฺหโข มยํ ภควนฺตํ สรณํ คตา (ต่อไปนี้เหมือนบูชาวิสาขะ จนกระทั่งถึง) อนุสฺสริตฺวา ปสาทสํเวคปฏิลาภาย, มยํ โข เอตรหิ อิมํ มาฆปุณฺณมีกาลํ ยตฺถ โข ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตถาหิ อฑฺฒเตรสภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ, สพฺเพ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา, เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกจฺฉายาย, ตสฺมึ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสนฺปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก, อฑฺฒเตรสภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ ตกฺกาลสมฺมตํ ปตฺวา อิมํ ฐานํ สมฺปตฺตา, อิเม ทณฑทีปธูปาทิสกฺกาเร คเหตฺวา, อตฺตโน กายํ สกฺการุปธานํ กริตฺวา, ตสฺส ภควโต สสาวกสงฺฆสฺส ฯเปฯ (ต่อไปนี้เหมือนในวิธีวิสาขบูชา มีเติม สสาวกสงฺโฆ หน้า  สุจิรปรินิพฺพุโต ตัวเดียว) หิตาย สุขาย”

มีคำแปลดังต่อไปนี้ “เราทั้งหลายเป็นผู้ได้นับถือ (ต่อไปนี้เหมือนคำบูชาในวิสาขะจนกระทั่งถึง) บัดนี้ เราทั้งหลายมาถึงกาลมาฆบุรณมีนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นวันที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ ในสาวกสันนิบาต ประกอบด้วยองค์ ๔ คือพระสงฆ์ ๑๒๕๐ องค์ เป็นพระขีณาสพ ๑  เป็นเอหิภิกษุทั้งสิ้น ๑  ไม่ได้เชื้อเชิญมาในสำนักสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานในเวลาพระจันทร์แจ่มกระจ่าง เพราะวันนั้นเป็นวันเพ็ญประกอบด้วยมาฆฤกษ์ ๑  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น ๑ สาวกสันติบาตประกอบด้วยองค์ ๔ แห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ได้มีแล้วครั้งเดียวเท่านั้นมาพร้อมกัน ณ ที่นี้แล้ว ถือเครื่องสักการนี้ มีธูปเทียนเป็นต้น ทำกายแห่งตนไปเป็นเชิงรองเครื่องสักการ ระลึกถึงพระคุณอันเป็นจริงของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากับด้วยพระสงฆ์สาวกนั้น จักเวียนรอบพระสถูป (พระปฏิมา) นี้ ๓ รอบ ทำสักการบูชาด้วยสักการที่ถือไว้นี้ ขอสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระสงฆ์สาวกแม้นิพพานมานานแล้ว ก็ยงปรากฏพระคุณทั้งหลายที่พึงทราบได้โดยเป็นอารมณ์อันแนบแน่นอยู่แก่ใจ จงทรงรับเครื่องสักการที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้นี้ เพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน เทอญฯ  พิธีนอกนั้นดำเนินตามพิธีวิสาขะ

การบูชาในวันทั้ง ๓ วันที่กล่าวมานี้ เป็นการบูชาเกี่ยวแก่นักขัตฤกษ์อันสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เป็นวันประกาศคุณค่าของพระพุทธศาสนา และสมเด็จพระบรมศาสดาผู้นิพพานไปแล้วให้ปรากฏเด่นชัด นับว่าเป็นการบุญที่สำคัญอย่างยิ่งใหญ่ ปีหนึ่งๆ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่สมควรจะให้ขาดเสียได้เลย

ภาวนาในข้อเกี่ยวแก่การบูชา เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเราได้ทราบกันมาแล้ว คราวนี้จะกล่าวถึงภาวนาอีกขั้นหนึ่งคือ


๒.การทำวัตรสวดมนต์
ทำวัตรสวดมนต์ สำหรับผู้อยู่ในฆราวาส ถ้ามีไม่ได้เป็นนิตย์ สมควรจะให้มีเป็นครั้งคราว เช่นวันพระครั้ง ๑ แต่ข้อสำคัญในเรื่องทำวัตรสวดมนต์ ซึ่งเราจะลืมเสียไม่ได้ก็คือ ต้องรู้เรื่องว่ามนต์ที่สวดหมายความว่ากระไร คือต้องเข้าใจความที่สวดจึงจะได้รับผลถูกลักษณะของภาวนาในข้อนี้

๓.การฟังธรรม
แบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ คือ ก.ฟังเทศน์ตามธรรมดา  ข.ฟังเทศน์คู่ที่เกี่ยวกับธรรมหรือนิทานเป็นครั้งคราว  ค.ฟังเทศน์มหาชาติ  และ ง.มีแจง การมีเทศน์ต้องมีคำขอ คือให้พระเทศน์ให้ฟัง เรียกว่า อาราธนาธรรม

ก.การฟังเทศน์ธรรมดา
คือการไปวัด ฟังเทศน์ทุกๆ วัน หรือเฉพาะแต่วันพระทุกๆ ครั้งไม่มีขาด เทศน์ที่มีขึ้นในวัดเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมที่ทางวัดจัดมีขึ้นเพื่ออุบาสกอุบาสิกา ผู้สละการเรือนในวันนั้นไปฟังธรรมตามประเพณีของพระพุทธศาสนา การฟังเทศน์ตามปรกติมีรับศีลก่อน ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะได้รักษาศีลในวันนั้นด้วย

ข.ฟังเทศน์คู่เกี่ยวแก่ธรรมนิทานเป็นครั้งคราว
อาจมีขึ้นได้ในวัดหลายครั้ง ชั่วเวลา ๑ ปี ฟังเทศน์ชนิดนี้ ฟังให้ดีอาจเป็นทางให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้มาก เพราะพระท่านมาแสดงไต่ถามแยกแยะกันออกให้เป็นที่เข้าใจของผู้ฟังได้ดีมาก อย่าถือว่าพระท่านจะมาแข่งดีกัน

ค.ฟังเทศน์มหาชาติ
มหาชาติ คือเทศนาที่กล่าวถึงมหาบารมีที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาเมื่อครั้งเป็นพระเวสสันดร (ชาติก่อนหน้าได้มาตรัสรู้) ท่านผู้ร้อยกรองได้พยายามแต่งเป็นคำสัมผัสใช้เทศน์เป็นทำนองทุกๆ กัณฑ์ รวม ๑๓ กัณฑ์ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับความเพลิดเพลินไม่เบื่อหน่าย เป็นเทศนาน่าฟังมาก นิยมกันว่าเป็นเทศนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง บรรดาที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเองยังทรงพระราชนิยมมาก เคยมีเป็นงานปีละ ๑ ครั้งเสมอ ผู้นับถือพุทธศาสนาสมควรมีเทศน์มหาชาติ โดยวิธีรับถวายเป็นกัณฑ์ๆ ข้อสำคัญเรื่องฟังอย่าให้ขาดได้เป็นดี เทศน์มหาชาติที่ตามตำนานว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงในหมู่ญาติครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดุสิตคราวขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา

ง.มีแจง
เทศน์แจง คือเทศน์เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย มีวิธีให้พระเทศน์ก่อนแล้วก็สวด ซึ่งเป็นการทำเทียม (Imitation) สังคายนานั่นเอง การมีแจงถือเป็นงานใหญ่มาก เพราะต้องมีพระสวดมาก แต่ข้อความที่เทศน์ก็ดี ที่สวดก็ดี เป็นแต่ย่อๆ พอให้ได้ใจความในพระไตรปิฎกเท่านั้น

ในตอนนั้นได้กล่าวให้ทราบกันมาแล้วว่า การทำบุญนั้นเราได้รวบรัดลงเป็นหัวข้อ ๒ อย่างคือ ก.ทำบุญตามปรกติ และ ข.ทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณี การทำบุญตามปรกติ ได้อธิบายไว้ให้ดูตลอดมาแล้ว ยังเหลืออยู่แต่การทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณีอย่างเดียว ซึ่งจะได้ถึงคราวอธิบายต่อไปในบัดนี้




จิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองแวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณี
คือบุญที่ทำตามประเพณีซึ่งมีมาแต่เดิม ตัวอย่างเช่น การทำศพ, ทำบุญบ้าน, ทำบุญอายุ และทำบุญเจ็ดวัน ร้อยวัน เป็นต้น

การทำศพ เมื่อญาติหรือใครคนใดคนหนึ่งตายลงแล้วก็ทำบุญอุทิศให้กัน เผาตามธรรมเนียม เมื่อพูดถึงวิธีทำบุญอันเกี่ยวแก่การทำศพ จะอธิบายเรื่องทำบุญเจ็ดวันร้อยวันรวมกันไปเสียทีเดียว ที่เป็นดังนั้น เพราะการทำบุญเจ็ดวันร้อยวันก็เป็นการทำบุญอุทิศผลให้ผู้ตายด้วยเหมือนกัน ซึ่งที่จริงการทำศพก็เป็นการอุทิศผลให้แก่ผู้ตาย ผิดกันที่การทำศพหมายไปถึงการเผาศพตามธรรมเนียมด้วย

ในคราวทำบุญจำพวกนี้ โดยมากมีวิธีจัดหาอาหารมาถวายพระ อาหารที่จัดมาเรียกว่า “มตกภัต” คือ อาหารเพื่อผู้ตาย ซึ่งเรามักนิยมทำในวันที่มีผู้ตาย หรือทำบุญครบ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และบางครั้งทำบุญตรงกับวันตาย มีคำถวาย มตกภัต ไว้ว่าดังนี้
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขฺสงฺโฆ อิมานิ มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”

แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายภัตรเพื่อผู้ตาย พร้อมด้วยบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ดีแล้ว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับภัตรเพื่อผู้ตาย พร้อมด้วยบริวารของข้าพเจ้าเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน เทอญ”

มูลเหตุที่จะทำบุญชนิดนี้ มีเรื่องปรากฏว่า ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่งหนีตามผู้ชายไป เศรษฐีพ่อเข้าใจว่าลูกสาวตายเสียแล้ว จึงได้จัดทำมตกภัตส่งไปให้ เป็นธรรมเนียมเนื่องมาอย่างนี้

ทำบุญบ้าน เป็นประเพณีนิยมในคราวปลูกบ้านใหม่ คราวขึ้นบ้านใหม่ คราวบ้านเจียนจะพินาศด้วยอัคคีภัยหรือโจรภัย แต่รอดมาได้ หรือทำฉลองอายุบ้านที่ตั้งมาได้นานแล้วอย่างปลอดภัย เพื่อประสงค์ความสวัสดิภาพ ความมีโชคสะเดาะเคราะห์ให้โชคร้ายออกไป ให้มีแต่ความเจริญผาสุก

ทำบุญอายุ (ตามที่จีนเรียกงานแซยิด) นิยมทำในคราวมีอายุครบ ๒๕ (เบญจเพส) ๕๐ (ถือว่าเป็นกึ่งอายุของมนุษย์) หรือทำในปีที่ตรงกับปีเกิด หรือในวันเกิดอย่างไรก็ได้ไม่จำกัด รวมทั้งที่ทำในคราวที่จวนจะดับชีพ ซึ่งเรียกว่าต่ออายุ ทั้งนี้ก็เพื่อปรารถนาให้ชีวิตมีความเจริญและเพื่อต่ออายุให้ยืนยาว เป็นพิธีสมควรกระทำเป็นครั้งคราว

วิธีกระทำบุญเหล่านี้ เป็นจารีตของผู้นับถือพระพุทธศาสนา สมควรนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ เพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย เพื่อให้เกิดสิริมงคล แล้วต้องมีการถวายอาหารตามธรรมเนียม อนึ่ง ในการทำบุญครั้งหนึ่งๆ นี้ ทายกควรถือศีล ๕ ในวันนั้น และก่อนเวลาพระจะสวดมนต์ยังมีวิธีที่จะต้องอาราธนาเสียก่อนด้วย  วิธีการอาราธนาพระสวดมนต์นั้นเรียกว่า “อาราธนาพระปริตร” และซึ่งถ้าเราปรารถนาจะมีเทศนาด้วยแล้ว ก็จำต้องมีการอาราธนาธรรมด้วยอีกอย่างหนึ่ง

คำอาราธนาพระปริตร
     วปตฺติปฏิพาหาย  สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
     สพฺพทุกฺขวินาสาย  ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
     วิปตฺติปฏิพาหาย  สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
     สพฺพภยวินาสาย  ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
     วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
     สพฺพโรควินาสาย  ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ

แปลว่า “ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวมงคล เพื่อปัดเป่าความวิบัติ เพื่อความสำเร็จสมบัติทั้งปวง เพื่อความพินาศทุกข์ทั้งปวง ฯลฯ เพื่อความพินาศภัยทั้งปวง ฯลฯ เพื่อความพินาศโรคทั้งปวง”

คำอาราธนาธรรม
     พฺรหฺมา จ โลกาธิปติ สหมฺปติ
     กตญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
     สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
     เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ

แปลว่า “ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นเจ้าโลก ได้กระทำอัญชลีทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ว่า สัตว์ทั้งหลายตาบอดมีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรม เพื่ออนุเคราะห์สัตว์เหล่านี้”

สำหรับการทำบุญในประเภทนี้ มีข้อที่เราควรสังเกตอยู่ ๒-๓ ประการ คือ
๑.การทำบุญตามปรกติ เรานิมนต์พระมาฉันที่บ้าน ผิดกับสังฆทานซึ่งเราเอาของกินไปถวายที่วัด หรือนิมนต์พระมาที่บ้านรับเอาของกินไป โดยที่พระไม่ต้องฉันที่บ้าน

๒.การทำบุญเกี่ยวแก่การตาย ไม่ต้องมีสายสิญจน์และไม่ต้องตั้งหม้อน้ำมนต์ การวงสายสิญจน์และตั้งหม้อน้ำมนต์ ใช้สำหรับการสวัสดิมงคลเท่านั้น

๓.เราอาจทำบุญเกี่ยวกับการตาย และการมงคลในเวลาเดียวกันได้ เช่นทำบุญร้อยวันศพที่เผามาแล้ว และนำเอากระดูกมาตั้งในที่ทำบุญ และโดยความประสงค์จะทำบุญบ้านไปพร้อมด้วยกันทีเดียวก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้วงสายสิญจน์และตั้งหม้อน้ำมนต์ แต่ห้ามมิให้เอาสายสิญจน์ไปวงติดต่อกับโกศที่ใส่กระดูกเข้า จะเอาสายสิญจน์วงติดต่อกับที่ใส่กระดูกต่อเมื่อถึงเวลาจะบังสุกุลอีกชั้นหนึ่ง

๔.การบังสุกุล เป็นประโยชน์ของพระอง ไม่ใช่ของคฤหัสถ์ผู้ทำบุญ คือเมื่อมีกระดูกหรือศพอยู่ ก็ให้พระได้มีโอกาสมาปลงให้แลเห็นว่า สังขารเป็นของไม่เที่ยง หรือแม้คนที่ยังเป็นอยู่ก็ให้พระบังสุกุลได้ อย่างที่เราเรียกกันว่าบังสุกุลเป็น ซึ่งมีข้อความที่พระจะต้องกล่าวผิดกับบังสุกุลตาย ผลบุญในการบังสุกุลนั้น ตามหลักที่แท้จริงตกอยู่แก่พระ แต่เราถือกันว่าผู้ตายหรือคนที่กำลังเป็นอยู่ที่ถูกบังสุกุลนั้นได้รับผลบุญด้วย การถือเช่นนี้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะการที่จะเป็นบุญหรือไม่เป็นนั้นอยู่ในใจ

๕.ตามธรรมดา ในการทำบุญต้องมีพระพุทธรูปมาตั้งด้วย การตั้งพระพุทธรูปและวางแถวพระสงฆ์นั้น ที่ถูกจะต้องให้พระพุทธรูปอยู่ข้างขวาพระสงฆ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องให้พระสงฆ์อยู่ซ้ายพระพุทธรูป และควรตั้งจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือจากทิศเหนือไปหาทิศใต้ ถ้าสามารถจะทำได้ ถ้าไม่สามารถจะทำได้ดังนั้นก็ถือหลักแต่เพียงว่า ต้องตั้งแถวให้พระสงฆ์อยู่ข้างซ้ายพระพุทธรูป

๖.สายสิญจน์ให้ใช้ด้ายดิบ วิธีจับนั้นง่ายที่สุด คือทำบ่วงเข้าอันหนึ่งแล้วก็จับเข้าบ่วงเรื่อยมาเหมือนถักลูกไม้ ตามปรกติต้องจับสองหน เพราะหนเดียวอาจไม่แข็งแรงพอ การวงสายสิญจน์ต้องหาที่ผูกที่ใกล้ๆ ที่ตั้งพระพุทธรูป วงไปรอบๆ เรือนหรือรอบบริเวณบ้านตามแต่ความต้องการ แล้วเอามาพันที่ๆ พระพุทธรูป ต่อลงมาพันหม้อน้ำมนต์แล้วเอาม้วนที่เหลือไว้ให้พระจับเวลาสวด พอพระให้ศีลจบก่อนจะอาราธนาพระปริตร ก็เอาสายสิญจน์ถวาย

๗.ยังมีพิธีอีกอย่างหนึ่ง คือการกรวดน้ำ การกรวดน้ำมีความหมาย ๓ ประการ คือ (๑) เป็นการแสดงกิริยายกให้ คือของสิ่งใดที่ใหญ่โตเกินไป ที่จะหยิบยกให้ไม่ได้ ก็ใช้น้ำหลั่งใส่มือผู้รับหรือหลั่งลงบนแผ่นดิน เช่นเรื่องพระเจ้าพิมพิสารถวายสวนเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้าตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  (๒) เป็นการตั้งความปรารถนาขอให้ผลบุญที่ทำไปแล้วอำนวยให้การสบผลที่ประสงค์ การกรวดน้ำในทำนองนี้ กรวดเมื่อเวลารับพรของพระซึ่งพระขึ้นต้นว่า “ยถาวารีวหา ปุรา ฯลฯ” ซึ่งแปลว่า ปรารถนาสิ่งไรขอให้เต็มบริบูรณ์เหมือนน้ำที่เต็มฝั่ง และ (๓) เป็นการแผ่ส่วนกุศลแผ่เมตตาจิตแก่ญาติมิตรและคนทั้งหลาย ขอให้ได้รับส่วนบุญที่ตนทำนี้ด้วย การกรวดน้ำมีคำในภาษาบาลีเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นเลยตั้งจิตนึกเอาเองได้ คำที่นักปราชญ์แต่งไว้ในภาษาบาลีอาจไม่ตรงกับความต้องการของเราก็ได้.


---------------------------------------------
() ตอนที่วงเล็บไว้นี้ ถ้าวันอัฐมี เปลี่ยนเป็น "วิสาขปุณฺณมิโต ปรํ อฏฺฐมิกาลํ ตสฺส ภควโต สรีรชฺฌาปนกาลสมมตํ ปตวา" แปลว่า "ถึงแล้วซึ่งกาลอัฐมีเบื้องหน้าแต่วิสาขบุรณมี ซึ่งสมมติว่าเป็นการถวายพระเพลิงพระสรีระของผู้มีพระภาค"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มีนาคม 2559 15:54:57 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 มีนาคม 2559 14:29:12 »



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

ประเพณีเลี้ยงลูก
พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เรียบเรียง
กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

ธรรมดาบิดามารดากับบุตร ก็เป็นธรรมเสียมของปุถุชนทั่วโลก ย่อมมีความกรุณาอุปถัมภ์และสั่งสอนจะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรของตนนั้น สืบมาทุกรูปทุกนาม จะพรรณนาให้กว้างขวางโดยละเอียดก็จะยืดยาวไป ทราบแก่ใจของปุถุชนทั้งปวงอยู่แล้ว

จะขอกล่าวความโดยโวหาร และไต่ถามท่านผู้รู้พระบรมพุทโธวาทมาเรียบเรียงลงไว้พอเป็นสังเขป

ตามบาลีอังคุตตรนิกายติกนิบาตรว่า ตโยเม ภิกฺขเว ปุตฺตา สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ กตเม ตโย อภิชาโต อนุชาโต อวชาโต จาติ  ความว่าบุตรมี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตาจำพวก ๑  อนุชาตบุตรจำพวก ๑  อวชาตบุตรจำพวก ๑  เป็น ๓ จำพวกดังนี้  

อภิชาตบุตรนั้น คือ บุตรชายบุตรหญิงก็ดี มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จะร่ำเรียนวิชาการต่างๆ หรือคิดทำการสิ่งใดก็ว่องไวเฉียบแหลมยิ่งเกินบิดามารดา จะมียศศักดานุภาพทรัพย์สมบัติก็ยิ่งกว่าบิดามารดา บุตรจำพวกนี้ได้ชื่อว่า อภิชาตบุตร

อนุชาตบุตรนั้น มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง ประพฤติการที่ชอบประกอบคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง มีสติปัญญาเล่าเรียนวิชาทำการสิ่งต่างๆ หรือประกอบไปด้วยยศและสมบัติ ก็ไม่ยิ่งไม่ต่ำกว่าบิดามารดานัก พอเสมอตามตระกูลบิดามารดา บุตรดังนี้ได้ชื่อว่าอนุชาตบุตร

อวชาตบุตรนั้น มิได้ตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน ประพฤติการสิ่งซึ่งมิชอบ คบเพื่อนเสพสุราประกอบการทุจริตต่างๆ มีความประพฤติต่ำเลวทรามกว่าบิดามารดา  จะคิดทำการสิ่งใดก็ไม่เป็นคุณประโยชน์ ไม่เป็นที่ชอบใจแห่งบิดามารดาและวงศาคณาญาติ ชักให้ตระกูลบิดามารดาต่ำถอยลงด้วย บุตรอย่างนี้ได้ชื่อว่าอวชาตบุตร

ก็แลบุตรทั้ง ๓ จำพวกดังกล่าวมานี้ จะมาบังเกิดในสำนักบิดามารดาตระกูลใด บิดามารดาก็ย่อมมีความสิเนหาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรทั้ง ๓ จำพวก ให้ประพฤติการตามตระกูลเสมอกัน หากอุปนิสัยของบุตรผิดกัน จึงแตกต่างไปเป็น ๓ จำพวกดังกล่าวมา

เมื่อบิดามารดาทราบว่าบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้วก็มีความยินดี ตั้งใจทำนุบำรุงรักษาบุตรในครรภ์ตามสมควรแก่ความสามารถของบิดามารดา มารดานั้นแม้อยากจะบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเป็นของที่ชอบใจก็สู้อดงดเว้นไม่บริโภค เมื่อจะนั่งนอนเดินไปมาก็ระวังรักษากาย เพื่อจะมิให้บุตรในครรภ์ป่วยเจ็บเป็นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ ฝ่ายบิดาก็หาหมอยามาประกอบยาให้มารดาบุตรนั้นรับประทานเพื่อจะได้รักษาบุตรในครรภ์ให้มีความสุขสบายเจริญวัยวัฒนาขึ้น จนครรภ์มารดาถ้วนกำหนดจวนจะคลอดบุตรแล้ว จึงหาหมอพยุงครรภ์ หมอยาหมอนวดมาประจำรักษาครรภ์มารดาอยู่ เผื่อจะเจ็บครรภ์หรือจะขัดขวางประการใด จะได้แก้ไขให้ทันท่วงที มารดาต้องทนทุกขเวทนา รักษาครรภ์บุตรนั้นมาได้ความลำบากถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน

ครั้นถึงฤกษ์งามยามดี บุตรคลอดพ้นจากครรภ์มารดา บางทีขัดขวางทนทุกขเวทนาต่างๆ กัน บางทีจนถึงมารดานั้นตายก็มี ถ้าบุตรคลอดจากครรภ์มารดาโดยสะดวกแล้วบิดามารดาก็มีความโสมนัส จัดการเลี้ยงดูโดยประเพณีที่นับถือเป็นคติสืบกันมา ตั้งต้นแต่หาสมุดดินสอมาจดหมายฤกษ์ยามวันคืนเดือนปีบุตรไว้ เพื่อจะได้ให้โหรดูชะตาราศีบุตรให้ถูกต้องตามตำรา ส่วนหมอพยุงครรภ์ก็รับเอาบุตรมาเอานิ้วมือควักโลหิตในปากบุตรนั้นออก แล้วเอาน้ำผึ้งทองคำเปลวกวาดที่ต้นลิ้น เพื่อจะมิให้ทารกนั้นมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ ถ้าหมอพยุงครรภ์ควักโลหิตในปากทารกนั้นออกไม่หมด หรือไม่ได้ควักออกแล้ว ก็ถือว่าทารกนั้นมักจะมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ และน้ำผึ้งทองคำเปลวนั้น บิดามารดาหาเตรียมไว้ก็ได้กวาด ถ้าไม่มีก็หาได้กวาดไม่ หมอก็เอาบุตรนั้นมาตัดสายอุทรที่ติดอยู่กับรก วิธีที่ตัดสายอุทรนั้นต้องไว้สายยาวเสมอกับเข่าทารกนั้น แล้วเอาด้ายดิบที่ย้อมครามผูกคาดสายอุทรที่จะตัดให้แน่น ปรารถนาจะไม่ให้เลือดลมเดินได้เมื่อจะตัดสายอุทรนั้น เอาก้อนดินที่แข็งรองสายอุทรไว้จำเพาะให้เอาผิวไม้รวกตัดสายอุทรนอกกายที่ผูกคาดไว้ และรกที่ตัดขาดออกแล้วต้องล้างน้ำให้หมดจด ใส่หม้อตาลเอาเกลือใส่ทับรกไว้บนปากหม้อ ซึ่งเอารกล้างน้ำให้หมดจดนั้น เพราะปรารถนาจะกันไม่ให้บุตรป่วยเจ็บเป็นพุพองเปื่อยพังได้ แล้วหมอพยุงครรภ์จึงได้รับเอาบุตรไปอาบน้ำชะระกายให้หมดมลทิน ปูเบาะและผ้าในกระด้ง ยกบุตรลงวาง ถ้าบุตรเป็นชายบิดาและญาติก็เอาสมุดดินสอวางไว้ในกระด้งข้างเบาะ  ถ้าบุตรเป็นหญิงก็เอาเข็มด้ายใส่ลงไว้ ความประสงค์ของบิดามารดาเพื่อจะให้บุตรชายบุตรหญิงรู้วิชาในการหนังสือและการเย็บปักถักร้อย แล้วหมอพยุงครรภ์มีลัทธิยกกระด้งที่รองบุตรนั้นขึ้นร่อน ออกวาจาว่า ๓ วันลูกผี ๔ วันลูกคน ลูกของใครๆ มารับเอาเน้อ แล้วทิ้งกระด้งลงกับพื้นเรือนเบาๆ พอให้บุตรที่นอนในกระด้งตกใจสะดุ้งร้องดังขึ้น แต่หมอยกกระด้งรองบุตรขึ้นร่อนแล้วทิ้งลง ออกวาจาดังกล่าวมาแล้วนั้นถึง ๓ ครั้ง บางทีบิดาบ้าง ญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุบ้าง ออกวาจาว่า “ลูกของข้าเอง” หมอจึงได้ส่งกระด้งรองทารกนั้นให้ ท่านผู้รับก็วางลงไว้ในที่สมควรใกล้มารดา ฝ่ายข้างมารดานั้น บุตรคลอดออกจากครรภ์แล้วก็รับประทานน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อน นอนไฟอยู่ด้วยเตาเชิงกรานมีฟืน ๓ ดุ้น อยู่ ๓ วัน แล้วบิดาและญาติจึงหาวันดีทอดเตาไฟใหญ่ เมื่อจะทอดเตาไฟนั้น มีหมอทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเตาไฟ เสกข้าวสารกับเกลือเคี้ยวพ่นหลังพ่นท้องผู้ที่จะอยู่ไฟ และพ่นเตาไฟด้วยเรียกว่าดับพิษไฟ มีธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้หมากพลูกระทงเล็กๆ ใส่กุ้งพล่าปลายำวาง ๔ มุมเตาไฟ แล้วมารดาต้องกราบไหว้เตาไฟ ระลึกถึงคุณพระเพลิง พระพาย พระธรณี พระคงคา เป็นที่พึ่ง หมอเสกขมิ้นกะปูนทาหลังทาท้องแล้วจึงขึ้นอยู่บนกระดาน รับประทานยาแก้โลหิตเช้าเย็นกว่าจะออกไฟ แต่การที่นอนไฟนั้น ลางที่นอนอยู่ครบเดือนบ้าง ไม่ครบเดือนบ้าง สุดแต่จะอยู่ได้ไม่ได้ หม้อตาลที่ใส่รกนั้นต้องวางไว้ริมเตาไฟด้วย เพราะจะให้สายอุทรบุตรแห้งเร็ว ครั้นสายอุทรบุตรนั้นหลุดแล้ว หมอจึงเอาใบพลูสดลนควันไฟใต้เสม็ดให้ร้อนพอประมาณ มาทาบกับสะดือบุตร โรยผงดินสอพองบ้าง พิมเสนบ้าง แล้วเอาผลมะกรูดลนควันไฟใต้เสม็ดมาคลึงท้อง ปรารถนาจะให้สะดือแห้งเร็ว และให้เนื้อที่ท้องทารกนั้นหนา จะได้ไม่ปวดท้อง

เมื่อบุตรนอนอยู่ในกระด้งครบ ๓ วันนั้น บิดามารดาให้ญาติและคนใช้ทำบายศรีปากชาม ทำขวัญแล้วยกบุตรขึ้นจากกระด้งขึ้นนอนเปลตามธรรมเนียมมา ที่บิดามารดาบริบูรณ์ก็จัดหาพี่เลี้ยงแม่นมเลี้ยงดูรักษาบุตรตามสมควร ที่บิดามารดาขัดสนยากจนก็อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรไปตามลำพัง ครั้นบุตรมีอายุครบเดือนกำหนดจะโกนผมไฟแล้ว บิดามารดาจึงได้บอกกล่าวญาติพี่น้องมาช่วยในการมงคลโกนผมไฟ มีบายศรี ทำขวัญ เลี้ยงดูกันตามประเพณี ผู้ที่มาช่วยมีเงินและสิ่งของมาทำขวัญให้บุตรนั้นตามวงศ์ตระกูลมากและน้อย ที่เป็นคนขัดสนอนาถา ก็เอาแต่ด้ายดิบมาผูกข้อมือบุตรเรียกมิ่งขวัญโกนผมไฟบุตรไปตามจน เมื่อมารดาออกจากนอนไฟแล้ว ก็หาผู้รู้ตำราวิธีที่จะฝังรกบุตรนั้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่ทิศใดทิศหนึ่ง มีกำหนดหลุมลึกและตื้นเป็นสำคัญ เพื่อจะให้บุตรนั้นมีความเจริญสืบไป บางคนก็หาได้ทำตามตำราไม่ ทิ้งหม้อรกผุพังไปก็มีโดยมาก



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

เมื่อบุตรมีอายุเจริญขึ้นสมควรที่จะไว้ผมจุกผมเปียอย่างไร บิดามารดาก็หาวันดีไว้ผมจุกผมเปียให้บุตรตามประเพณี หรือมิได้ไว้ผมจุกผมเปียให้แก่บุตร ให้โกนผมเสียทีเดียว ประสงค์จะให้สะอาดก็มีบ้าง ถ้าบุตรเจ็บป่วยลงประการใด บิดามารดามีความร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นอันที่จะนอนที่จะบริโภคอาหาร หาหมอมารักษาพยาบาลกว่าบุตรจะหายป่วย ต้องเสียเงินขวัญข้าวค่ายาอยู่เนืองๆ ครั้นบุตรมีอายุเจริญขึ้นไปโดยสมควรที่จะหาเครื่องตกแต่งต่างๆ ให้แก่บุตรแล้วบิดามารดาก็หาทองคำทำรูปพรรณประดับเพชรพลอยต่างๆ เป็นเครื่องแต่งตัวให้แก่บุตรตามสมควร ถ้าบุตรชายมีอายุสมควรที่จะสั่งสอนให้ประพฤติที่ชอบด้วยประเทศบ้านเมืองประการใด บิดามารดาก็ควรจะตั้งใจสั่งสอนบุตรนั้นให้อยู่ในอำนาจของบิดามารดา เป็นต้นว่าให้บุตรเล่าเรียนรู้ธรรมวินัยพุทโธวาท บวชเป็นสามเณรภิกขุปฏิบัติตามวินัยสิกขาบท ฝ่ายคันถธุระวิปัสสนาธุระดังนี้เป็นที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้าจะประกอบการตามโลกีย์แล้ว ก็ให้เล่าเรียนรู้หนังสือเลขลูกคิดประกอบกัน ศึกษาในทางเสมียนแบบอย่างทางราชการฝ่ายทหารพลเรือน หรือเป็นเสมียนตระลาการ ดูพระราชกำหนดกฏหมายทางพิจารณาตัดสินคดีความ ฝึกหัดการช่างต่างๆ ให้ชำนาญรู้ได้จริงๆ ถ้าเป็นบุตรหญิง บิดามารดาก็ตั้งใจสั่งสอนบุตรให้รู้หนังสือ แล้วประกอบการให้ดูแลรวบรวมทรัพย์สมบัติในบ้านเรือนโดยละเอียดทั่วไป ฝึกหัดเป็นช่างปัก ช่างเย็บ ช่างร้อย ช่างทำเครื่องคาวหวาน หรือให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการทำมาหาเลี้ยงชีพตามเพศตระกูลบิดามารดาในประเทศนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยประสงค์จะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรและธิดา

ปุถุชนที่มักประพฤติการเป็นพาลทุจริต เช่นคบเพื่อนเป็นพาลกินสุราสูบยาฝิ่นเล่นเบี้ยโปการพนันต่างๆ และฉกลักตีชิงวิ่งราวปล้นสะดมทรัพย์สมบัติของท่านผู้อื่นนั้น เพราะไม่ประพฤติการตามความประสงค์ของบิดามารดาที่เลี้ยงดูมา ที่จะเป็นเพราะบิดามารดาไม่ปรารถนาจะให้ลูกดีนั้นหาไม่ แต่บางทีก็เป็นเพราะบิดามารดาเลินเล่อ ไม่ระวังดูแลตามสมควร บุตรจึงได้พากันเป็นพาลทุจริตไปต่างๆ ถ้าบิดามารดามีความอุตสาหะกดขี่สั่งสอนบุตรให้อยู่ในอำนาจบิดามารดา ให้บุตรชายหญิงเล่าเรียนรู้วิชาประพฤติการทำมาหากินที่ชอบตามประเทศบ้านเมืองดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว บุตรนั้นก็คงจะไม่ใคร่ประพฤติการเป็นพาลทุจริตได้ ถ้าจะเป็นไปบ้างก็คงจะเบาบางน้อยลง การที่จะป้องกันมิให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการเป็นพาลทุจริตไปโดยมาก จะเอาสิ่งอันใดมาแก้ไขกดขี่ให้บุตรประพฤติการแต่ที่ชอบได้ก็ต้องอาศัยอำนาจแห่งบิดามารดา หรืออาจารย์ที่สั่งสอนนั้นข่มขืนน้ำใจบุตรไว้ตั้งแต่เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปี ตลอดไปอย่าให้บุตรประพฤติในทางพาลทุจริตได้ ถ้าบิดามารดาละเลยตามใจให้บุตรนั้นประพฤติการทุจริตซึ่งไม่เป็นประโยชน์แล้ว ภายหลังบุตรนั้นมีความเจริญเกินที่บิดามารดาจะสั่งสอนแล้ว บิดามารดาจะกลับมากดขี่สั่งสอนให้บุตรกลับมาประพฤติการสิ่งที่ชอบนั้นได้โดยยาก จะต้องถึงอำนาจบ้านเมืองบังคับกดขี่ไปตามกฎหมาย บิดามารดาก็คงจะได้ความเดือดร้อน แม้อย่างต่ำก็ได้ความโทมนัสแก่บิดามารดาญาตินั้นโดยมาก

เมื่ออายุบุตรเจริญได้ ๑๑ ปี ๑๓ ปีบ้าง บิดามารดาจึงทำการตัดจุกบุตรเป็นการมงคลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่บุตรหญิงนั้นมักทำการมงคลตัดจุกเสียแต่ในอายุ ๑๑ ปี โดยมากหาเหมือนบุตรชายไม่ เพราะหญิงมีลักษณะร่างกายเจริญวัฒนาเร็วกว่าบุตรชาย ถ้าบุตรชายเมื่ออายุได้ ๗-๘ ปี ๙-๑๐ ปีขึ้นไป สมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใด บิดามารดาก็ส่งบุตรไปอยู่วัดบวชเป็นสามเณรบ้างเป็นลูกศิษย์วัดบ้าง หรือส่งโรงเรียนที่มีอาจารย์สั่งสอน ให้บุตรนั้นเล่าเรียนหนังสือ หัดวิชาตามสติปัญญาจนอายุนับปีเดือนบริบูรณ์เต็ม ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาก็จัดหาผ้าไตรเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของไทยทาน ซึ่งจะถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด อันดับ กำหนดวันคืน มีธูปเทียนไปลาท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติพี่น้อง มาประชุม ณ บ้านเรือนทำขวัญเวียนเทียนให้บุตรซึ่งจะบวช เรียกว่าเจ้านาค ครั้นเวลาเช้าบิดามารดาวงศาคณาญาติพร้อมกันแห่นาคไปวัด แต่บิดามารดานั้นต้องจูงมือบุตรเข้าไปในพระอุโบสถเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ เพราะเป็นการศรัทธาเชื่อถือคุณพระรัตนตรัย ให้บุตรอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเป็นการกุศลอย่างอุกฤษฏ์

ครั้นบุตรอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่วัดตลอดไป บิดามารดาก็เป็นธุระจัดสำรับคาวหวานติดตามไปส่งเช้าส่งเพล ไม่ให้บุตรอดอยากได้ ครั้นบุตรนั้นละเพศบรรพชิตเป็นฆราวาสแล้ว สมควรจะตกแต่งให้มีภรรยา หรือบุตรหญิงอายุได้ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปี ขึ้นไป มีผู้มากล่าวสู่ขอไปเป็นภริยาก็ดี บิดามารดาเห็นดีสมควรที่จะให้บุตรมีสามีภริยาได้ ก็ประชุมปรึกษาญาติทำการมงคลใหญ่ ให้บุตรชายบุตรหญิงมีสามีภริยา แบ่งปันเงินทองทรัพย์สิ่งของต่างๆ แก่บุตรตามมากและน้อย มีแจ้งอยู่ในเรื่องทำการวิวาหมงคลซึ่งจะมีต่อไปภายหลังนั้นแล้ว ถ้าบุตรชายหญิงซึ่งบิดามารดาตกแต่งให้มีสามีภริยา ออกจากบิดามารดาไปทำมาหาบริโภคตามกำลังตนเองแล้ว ถ้ามีความเจริญประกอบด้วยยศศักดิ์ทรัพย์สินบริบูรณ์ บิดามารดาก็มีความความยินดีชื่นชมโสมนัสในบุตรนั้นเป็นอันมาก ถ้าบุตรมีความทุกข์ร้อน คับแค้นอนาถาลงด้วยเหตุต่างๆ บิดามารดาก็มีความโทมนัสเสียใจด้วย ถึงโดยบุตรจะชั่วช้าประพฤติแต่การทุจริต ไม่อยู่ในถ้อยคำสั่งสอนเป็นที่โกรธเคืองของบิดามารดาก็ดี บิดามารดาก็เสียไม่ได้ ต้องเกื้อหนุนสั่งสอนสงเคราะห์แก่บุตรต่อไปตามกำลัง ซึ่งบิดามารดามีความเตตากรุณาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรชายบุตรหญิงนั้น เป็นการไม่รู้สิ้นสุดลงได้ ต่อเมื่อใดบิดามารดาหรือบุตรดับขันธ์ไปสู่ปรโลกฝ่ายหนึ่งแล้ว การอุปถัมภ์และการสงเคราะห์สั่งสอนบุตรนั้นจึงจะขาดไม่มีต่อไปได้ ถึงดังนั้นก็ยังมีความกรุณาเมตตาระลึกถึงบุตรด้วยความอาลัยอยู่เนืองๆ ถ้าบุตรนั้นได้ชื่อว่าอภิชาตบุตร อนุชาตบุตรแล้ว บิดามารดาก็มีความเสน่หารักใคร่มาก จะมีทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารมากน้อยเท่าใดก็เต็มใจที่จะยกให้แก่บุตรไม่มีความรังเกียจทุกประการ

เรียบเรียงความเรื่องบิดามารดากับบุตรมีความอุปถัมภ์บำรุงรักษาสั่งสอนกันมาพอเป็นสังเขปเพียงนี้ ฯ.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.766 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 08:39:42