[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 20:39:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานอานิสงส์ทอดกฐิน  (อ่าน 3508 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 15:59:42 »



นิทานอานิสงส์ทอดกฐิน

เมื่อในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วสิ้นกาลช้านาน ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า (พาราณสีวาสี)  ยังมีบุรุษผู้หนึ่งอยู่ในเมืองพาราณสี ยากไร้อนาถาหาบิดามารดามิได้ จึงเข้าไปสู่สำนักศิริธรรมมหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์ถึงแปดสิบโกฏิ แล้วจึงกล่าวว่า นายขอรับ ข้าพเจ้าจะขอเป็นลูกจ้างเลี้ยงชีวิตอยู่ในสำนักแห่งท่าน มหาเศรษฐีจึงได้ถามว่า ท่านมีศิลปศาสตร์สิ่งใดเล่า บุรุษผู้เข็ญใจนั้นจึงบอกว่า ข้าพเจ้าไม่มีศิลปศาสตร์สิ่งใดเลย เศรษฐีจึงว่า ถ้ากระนั้นแล้ว ท่านจงไปรักษาไร่ของเราเถิด เราจะให้อาหารวันละหม้อ  ตั้งแต่นั้นมาบุรุษผู้นั้นก็รักษาไร่หญ้าของมหาเศรษฐี จึงมีนามกรปรากฏชื่อว่า ติณปาละบุรุษ (เอกทิวสัง) ในวันหนึ่งติณปาละบุรุษผู้เข็ญใจจึงมาคิดว่าตัวเรานี้ แต่ปางก่อนเราไม่ได้กระทำทานกุศลอันใดอันหนึ่งเลย มาชาตินี้จึงได้เข็ญใจไร้ญาติ ไม่มีสมบัติพัสถานแม้แต่อาหารของตัวจะกินให้เต็มท้องก็ทั้งยาก ต้องลำบากยากเข็ญใจ ตั้งแต่วันนั้นติณปาละบุรุษผู้เข็ญใจ จึงขวนขวายให้ทานเสียก่อน จึงค่อยบริโภคเมื่อภายหลัง ซึ่งอาหารที่มหาเศรษฐีให้แก่ติณปาละบุรุษผู้เข็ญใจนั้น ติณปาละบุรุษแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนั้นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งจึงเอาไว้บริโภค  ด้วยเดชะผลทานของติณปาละบุรุษ มหาเศรษฐีจึงทวีอาหารให้มากขึ้นไปสองส่วน ติณปาละบุรุษจึงแบ่งออกมาสามส่วน ส่วนหนึ่งนั้นใส่บาตรพระสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งนั้นให้ทานแก่ยาจก อีกส่วนหนึ่งนั้นตนรับประทานเอง สิ้นกาลมาช้านาน จนถึงวันออกพรรษา ประชาชนคนทั้งปวงเขาชวนกันทำกฐินทาน ฝ่ายติณปาละบุรุษ จึงมาคิดแต่ในใจว่า ทานอันนี้เห็นจะเป็นทานอันประเสริฐ หาใช่เป็นทานอันต่ำช้าเลวทรามไม่ อย่าเลยจำจะต้องไต่ถามมหาเศรษฐีดู คิดดังนั้นแล้ว นายติณปาละบุรุษจึงเข้าไปใกล้เศรษฐี จึงถามว่ากฐินทานนี้ผลานิสงส์เป็นประการใด  มหาเศรษฐีจึงบอกว่า ดูก่อนท่านติณปาละ ท่านจะถามไปไยเล่า ขึ้นชื่อว่ากฐินทานแล้วมีผลานิสงส์อันล้ำเลิศประเสริฐนักหนา   สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าย่อมโถมนาการสรรเสริญว่า ประเสริฐยิ่งนักหนา ฝ่ายติณปาละบุรุษได้เสวนาก็ชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดา เต็มตื้นขึ้นมาในขันธสันดาน จึงว่าข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าจะขอส่วนกฐินอันนี้ด้วยกับท่าน  ท่านเศรษฐีจะทำกฐินทานเมื่อไรเล่า มหาเศรษฐีจึงว่าอีกเจ็ดวันเราจะกระทำ  ติณปาละได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็กลับมาสู่ที่อยู่แห่งตน จึงคิดว่า อันข้านี้ผ้าสักผืนหนึ่งที่จะเข้าส่วนกฐินก็ไม่มีเลย อย่าเลยนะเราจะเอาผ้านุ่งนี้แหละเปลื้องออกเป็นมูลค่าใส่ลงในองค์กฐิน ขณะที่จะคิดเปลื้องผ้านุ่งไปจำหน่ายเข้าส่วนกฐินนั้น ก็ให้บังเกิดความตระหนี่ความอายในดวงจิต ถ้าเอาผ้าไปเสียแล้วจะเอาอะไรนุ่งเล่าเมื่อยังมีอยู่ผืนเดียว  ฉะนี้ จะกระทำอย่างไรได้ เมื่อเกิดศรัทธาแก่กล้าตัดความตระหนี่ความอายได้แล้ว ก็เปลื้องผ้านุ่งออกจากตัวแล้วก็นุ่งซึ่งใบไม้ จึงถือเอาผ้านุ่งนั้นไปเที่ยวเร่ขายในร้านตลาด ชาวตลาดทั้งหลายต่างก็หัวเราะเยาะเย้ยอื้ออึงไปทั่วร้านตลาด  ติณปาละบุรุษจึงว่า ท่านทั้งหลายอย่าหัวเราะเลย เรายากไร้นุ่งใบไม้อยู่ในชาตินี้ ชาติหน้าเราจะนุ่งผ้าอันเป็นทิพย์ ว่าแล้วก็ไปเที่ยวขายผ้าของตนจนได้ทรัพย์มาห้ามาสก (คิดเป็นเงินสองสลึงเฟื้อง) จึงเอาเงินนั้นไปให้แก่เศรษฐี  มหาเศรษฐีจึงว่า สิ่งของอื่นๆ ในส่วนกฐินก็มีครบสิ้นแล้ว ยังแต่ด้ายจะเย็บผ้าไตรกฐินเท่านั้น   ดังนั้น ทรัพย์ของท่านนี้เราจะเอาเป็นมูลค่าด้ายเย็บผ้าไตรกฐิน ท่านจะชอบใจหรือประการใด  ติณปาละบุรุษ  จึงมาคิดแต่ในใจว่า อันด้ายนี้เป็นที่หน่วงเหนี่ยวไว้ซึ่งผ้าให้มั่นคงถ้าหากไม่ได้ด้ายแล้ว ผ้านั้นก็จะกระจัดกระจายไปจากกัน อันข้าจะทำบุญด้วยด้ายอันเป็นที่ยึดหน่วงให้มั่นคงดังนี้ น่าจะได้ผลานิสงส์ในภายภาคหน้าโน้น ก็คงจะหนาแน่นเป็นแก่นสารด้วยทรัพย์เป็นมั่นคง   ติณปาละบุรุษคิดเห็นอานิสงส์ดังนี้แล้ว ก็ยินยอมพร้อมใจให้เอาทรัพย์ของตนเป็นมูลค่าด้ายเย็บผ้าจีวรในกาลครั้งนั้น

ในบัดนั้น เทพเจ้าทั้งปวงอันอาศัยในเรือนแห่งเศรษฐีก็บังเกิดโกลาหลด้วยความยินดี ร้องสาธุการอยู่อึงมี่ว่าดูราชาวเราทั้งหลาย กุศลที่ติณปาละบุรุษกระทำนี้ยากที่บุคคลใดใครผู้หนึ่งจักกระทำได้ ฝ่ายเทพเจ้าผู้สิงอยู่ทั่วพระนครก็ซ้องสาธุการอื้ออึงไป ส่วนสมเด็จพระเจ้าพาราณสี พระองค์ได้ทรงฟังเสียงโกลาหลในครั้งนั้นพระองค์ก็สะดุ้งตกพระทัยกลัวนักหนา เสียงอื้ออึงในครั้งนี้น่าที่จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของพระองค์ ถ้ามิฉะนั้นก็คงจะเป็นแก่อัครมเหสี หรือมิฉะนั้นก็คงจะบังเกิดมีแก่สมบัติ หรือว่าจะมีแก่ศิริเศวตฉัตรเป็นประการใด จึงทรงให้หาโหราปุโรหิตพราหมณ์เข้ามา แล้วพระองค์ก็ตรัสถามพราหมณ์ปุโรหิตทั้งหลาย พราหมณ์ปุโรหิตทั้งหลายเหล่านั้นจึงกราบทูล ขอพระราชทานเหตุการณ์ทั้งนี้เป็นอัศจรรย์นักหนา อันตรายชีวิตจะมีแก่พระองค์ ขอพระองค์จงได้พระกรุณาให้ฆ่าสัตว์บูชายัญลอยบาปเสีย จึงพ้นอันตรายแห่งพระองค์ ฝ่ายเทพยดาอันสิงอยู่ในกำพูฉัตร์ จึงจะมีเทวบัญชาว่าดูก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อันตรายจะได้มีแก่พระองค์นั้นมิได้ เสียงที่เอิกเกริกโกลาหลทั้งหลายนี้ ก็เพราะเทพยดาและท้าวมหาพรหมซ้องสาธุการแก่ติณปาละ บุรุษผู้เปลื้องผ้าสำหรับนุ่งไปเข้าส่วนกฐิน ยากที่บุคคลที่จะกระทำเช่นนั้นได้ ส่วนสมเด็จพระมหากษัตริย์ได้ทรงฟังดังนั้น พระองค์มีพระทัยยินดียิ่งนัก จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้ไปนำติณปาละบุรุษนั้นเข้ามาสู่ที่เฝ้า  ฝ่ายอำมาตย์เมื่อได้รับพระราชโองการแล้ว ก็ไปสู่สำนักติณปาละบุรุษรับแจ้งดังนั้นแล้วจึงว่าแก่อำมาตย์ว่า ข้านี้เป็นคนยากนักหนา แม้แต่ผ้าจะนุ่งก็ไม่มี เมื่อนุ่งใบไม้อยู่ฉะนี้ ไม่สมควรที่จะไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ ราชบุรุษก็เข้าไปกราบทูล พระมหากษัตริย์ทรงทราบดังนั้น พระองค์จึงพระราชทานซึ่งผ้าคู่สาฎกหนึ่ง ผ้าสาฎกแต่ละผืนนั้นควรค่าได้แสนหนึ่งแก่ติณปาละบุรุษ  ติณปาละบุรุษก็นุ่งห่มเสร็จแล้วก็เข้าไปสู่ที่เฝ้า สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงตรัสว่า ดูก่อนนายติณปาละเราจักให้ทรัพย์แก่ท่านพันหนึ่ง ท่านจงให้ส่วนบุญที่ท่านได้เข้าส่วนกฐินนั้นแก่เรา ติณปาละบุรุษก็ไม่ให้แก่บรมขัตติยา พระองค์ทวีทรัพย์นั้นขึ้นไปเป็นหมื่นเป็นแสน ติณปาละบุรุษจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ อันกระหม่อมฉันจะแลกส่วนบุญนั้นแลกมิได้ ถ้าพระองค์จะขอแต่อนุโมทนาเท่านั้น แล้วกระหม่อมฉันก็จะถวายแก่พระองค์ ได้แต่กึ่งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ก็ทรงอนุโมทนาซึ่งส่วนบุญแล้ว จึงตรัสให้ตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวพระนครกระทำสักการบูชาแก่ติณปาละบุรุษ ส่วนพระองค์นั้นก็พระราชทานโคกระบือช้างม้า ราชรถข้าชายหญิง นางกำนัลสนมสิ่งละร้อยๆ กับทั้งเครื่องประดับประดาอาภรณ์และปรางค์ปราสาทและเศวตฉัตรแล้วก็ตั้งให้เป็นมหาเศรษฐี  ฝ่ายคหบดีแลมหาอำมาตย์และมหาเศรษฐีกระทั่งมหาอุปราช ก็ชวนกันให้ทรัพย์แก่นายติณปาละบุรุษนั้นคนละโกฏิ เป็นทั้งนี้ก็อาศัยด้วยบุญกุศลที่ตนเปลื้องผ้าออกเป็นมูลค่ากฐินนั้น กระทำกุศลเท่านั้นบังเกิดผลมากมายถึงเพียงนี้ สมเด็จพระชินศรีสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า “อปฺปมตฺตกนฺติ น อวมญฺญิตพฺพํ” บุคคลผู้ทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่น ว่าบุญหน่อยเดียว บาปหน่อยเดียว เมื่อไรจะบังเกิดผล “จิตฺตสฺมึ ปสนฺเน” เมื่อมีจิตผ่องใสอยู่แล้ว กุศลหน่อยเดียวก็ย่อมให้ผลนั้นเป็นอันมาก ดุจหนึ่งนายติณปาละบุรุษนี้



พระครูนิทัศน์ธรรมานุกูล (หลวงปู่เฉลิม) วัดช่องคีรีศรีสิทธิวราราม อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ในกาลครั้งนั้น สมเด็จท้าวอมรินทราธิราช พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ สักกเทวโลกมาลอยเลื่อนอยู่ในอากาศ แล้วมีเทวบัญชาตรัสว่า ดูก่อนติณปาละเศรษฐีท่านจงให้ส่วนบุญแก่เราบ้าง เมื่อติณปาละเศรษฐีได้ฟังดังนั้น จึงไต่ถามว่าท่านนั้นมีนามชื่อใด สมเด็จท้าวอมรินทราธิราช ก็ทรงตรัสตอบไปว่า อันเรานี้คือองค์อมรินทราธิราช ติณปาละเศรษฐีจึงถามว่า เมื่อให้ส่วนบุญไปแล้ว พระองค์จะให้ทรัพย์สิ่งใดแก่ข้าพเจ้าเล่า สมเด็จอมรินทราธิราช จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ท่านจะต้องการ ทรัพย์สิ่งใดก็แล้วแต่ความปรารถนาของท่านเถิด ติณปาละเศรษฐีได้ยินเช่นนั้นแสนจะดีใจ จึงจะมีวาจาออกมาว่าข้าพเจ้านั้นปรารถนาด้วยพร ๔ ประการ พรข้อหนึ่งนั้นขออย่าให้ลุอำนาจแก่มาตุคาม สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสถามว่า อันมาตุคามนั้นชั่วช้าเป็นประการใดหรือ จึงทำให้ท่านไม่พอใจที่จะลุอำนาจ  ติณปาละเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ครั้งแต่ชาติปางก่อนนั้น ข้าพเจ้ามีภริยารูปร่างงดงามประดุจหนึ่งนางฟ้า แต่ทว่าใจนั้นร้ายตระหนี่ทรัพย์ เมื่อข้าพเจ้ากระทำกุศลสิ่งใด หล่อนก็ห้ามปรามมิให้ทำได้ เหตุฉะนี้ เมื่อมาเกิดในชาตินี้ข้าพเจ้าจึงยากไร้อนาถา เมื่อสมเด็จอมรินทราธิราชได้ทรงทราบแล้ว ก็ประสาทพรให้ตามความปรารถนาแก่ติณปาละเศรษฐี  ดังนั้น ติณปาละเศรษฐีจึงขอพรข้อที่สองว่า ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้คบหาสังวาสด้วยภริยาใจพาล ซึ่งหาศีลมิได้ขอให้ได้แต่ภรรยาที่เป็นคนดีมีศีลประจำใจ สมเด็จอมรินทราธิราชจึงซักถามว่า ด้วยเหตุไฉนจึงไม่ปรารถนาภรรยาผู้เป็นคนทุศีล (ไม่มีศีล) ติณปาละเศรษฐีจึงทูลความว่า เมื่อชาติปางก่อนนั้น ข้าพเจ้านี้มีภรรยาใจพาลชอบคบชู้สู่ชายแล้วก็ให้ฆ่าข้าพเจ้าเสียให้ถึงแก่ความตาย อาศัยด้วยเหตุฉะนี้แหละ  ข้าพเจ้าจึงมีความเกรงกลัวแต่ภรรยาอันเป็นพาล เมื่อพระองค์ทรงฟังแล้วก็อนุญาตประสาทพรให้ติณปาละเศรษฐี ติณปาละเศรษฐีจึงขอพรข้อสามอันมีใจความว่าดังนี้ ขออย่าให้ข้าพเจ้ายินดีที่จะคบหาสมาคมด้วยคนพาล  ท้าวอมรินทร์จึงตรัสถามว่าด้วยเหตุไฉนหรือท่านจึงไม่ยินดีที่จะคบหาด้วยคนพาล ติณปาละเศรษฐีจึงทูลความว่าแต่ชาติปางก่อนนั้น ข้าพเจ้าได้คบคนพาลกินเหล้าเมาสุรา ผลกรรมอันนั้นจึงแต่งผลให้ยากจนอนาถา เทพามนุษย์ได้ฟังพระธรรมเทศนาก็สำเร็จมรรคแลผล ซึ่งนำตนเข้าสู่พระนิพพานสิ้น แต่ตัวของข้าพเจ้าผู้เดียวนี้แลที่ยังวนเวียนยากจนอยู่ในภพสงสาร ทั้งนี้ก็เพราะว่าด้วยการคบหาสมาคมด้วยคนพาล สมเด็จท้าวอมรินทราธิราชก็ประสาทพรให้ตามใจปรารถนา ติณปาละเศรษฐีจึงขอพรเป็นข้อที่สี่ว่า ขออย่าให้ข้าพเจ้ามีใจพาลตระหนี่ทรัพย์ ท้าวอมรินทราธิราชจึงตรัสถาม อันทรัพย์สินเงินทองนี้สิ ก็เป็นสิ่งปรารถนาของคนทั้งหลาย เหตุไฉนท่านจึงไม่พอใจที่จะตระหนี่ ติณปาละเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานด้วยกระหม่อมฉันนี้ นึกว่าจะให้ทานแล้วก็มิอาจให้ได้จนเนิ่นนานไป ควรที่จะได้สมบัติมาก แต่กลับกลายให้ได้สมบัติแต่น้อยก็ด้วยเพราะผลแห่งความตระหนี่นั้นเอง สมเด็จท้าวอมรินทราธิราช เมื่อได้ทราบเหตุผลจากติณปาละเศรษฐีแล้ว ก็ทรงอนุญาตประสาทพรให้ พระองค์ก็อนุโมทนาซึ่งส่วนกุศลแห่งติณปาละมหาเศรษฐี แล้วองค์อมรินทราธิราชก็เสด็จไปสู่ไพชยันตวิมานห้องของพระองค์ ในครั้งนั้นนางเทพอัปสรสาวสวรรค์ ก็กราบทูลถามสมเด็จท้าวอมรินทราธิราชว่า พระองค์เสด็จไปสู่สถานที่ใด สมเด็จท้าวอมรินทราธิราชจึงตรัสบอกว่า เราไปขอส่วนบุญแห่งติณปาละมหาเศรษฐี เดิมทีเพื่อนเป็นคนยากมีแต่ผ้านุ่งผืนเดียว ปลดเปลื้องเข้าในส่วนกฐินยากที่บุคคลจะทำได้ ซึ่งใช้ใบไม้แทนต่างผ้า ส่วนนางฟ้าทั้งปวงก็ใคร่จะได้เห็นติณปาละ กับอีกประการหนึ่งก็ใคร่อยากรับส่วนกุศล  ดังนั้น จึงชวนกันอ้อนวอนสมเด็จอมรินทราธิราชว่า กระหม่อมฉันใคร่จะได้เห็นติณปาละมหาเศรษฐีผู้มีศรัทธา กับอนึ่งจะได้ขออนุโมทนาส่วนกุศล สมเด็จท้าวอมรินทราธิราชก็ทรงใช้ให้พระมาตุลีเทวสารถี ให้เทียมมหาเวชยันต์ราชรถลงไปรับติณปาละมหาเศรษฐีขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก ส่วนนางเทพอัปสรสาวสวรรค์ ก็ชวนกันกระทำสักการบูชาด้วยทิพยมาลามาลัย ทั้งดอกไม้และของหอม และก็อนุโมทนาส่วนกุศลของติณปาละมหาเศรษฐี เมื่อพอแก่เวลาอันสมควรแล้ว ติณปาละมหาเศรษฐีก็อำลาสมเด็จท้าวอมรินทราธิราชกลับ สมเด็จท้าวอมรินทราธิราชก็มีเทวบัญชาตรัสสั่งพระมาตุลีให้เทียมเวชยันต์ราชรถนำติณปาละเศรษฐีลงมาส่งให้ถึงพระนคร เมื่อส่งถึงที่แล้ว พระมาตุลีเทวสารถีก็กลับไปสู่สถานที่อยู่แห่งตน ส่วนติณปาละมหาเศรษฐีนั้นก็มิได้ประมาทในกองการกุศล บริจาคทานแก่ยาจกวณิพกคนอนาถาจนตลอดอายุขัย เมื่อจวนจะสิ้นใจก็นอนอยู่เหนือเตียง เทพยดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นกามาก็นำมาซึ่งรถทิพย์ ชวนกันร้องเชิญอาราธนา ติณปาละเศรษฐีจึงไต่ถามว่า พระจุฬามณีเจดีย์นั้นมีอยู่ในห้องสวรรค์ชั้นใด เทพยดาทั้งหลายจึงบอกแจ้งว่ามีอยู่ในห้องสวรรค์ชั้นดาวดึงสา ว่าแล้วเท่านั้นก็กระทำกาลกิริยา ดุจหนึ่งว่าหลับแล้วแลตื่นขึ้น ก็ได้ไปบังเกิดในวิมานแก้วอันสูงได้ ๕ โยชน์ แวดล้อมไปด้วยนางฟ้าหมื่นหนึ่งเป็นบริวาร ได้เสวยรมย์ชมสมบัติอยู่ในสวรรค์สิ้นถึงพุทธันดรหนึ่ง

เมื่อพระศาสนาแห่งพระมหากรุราสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเรานี้ พระองค์เสด็จอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารครั้งนั้น มหาโมคคัลลานเถรเจ้าผู้มีอายุ พระผู้เป็นเจ้าขึ้นไปสู่ดาวดึงส์พิภพ เห็นวิมานแห่งติณปาละเทพบุตร อันประกอบไปด้วยสมบัติรุ่งเรืองปรากฏ พระผู้เป็นเจ้าก็เข้าไปใกล้แล้วก็ไต่ถามด้วยสารพระคาถาว่า ดูก่อนเทพบุตรผู้มีฤทธิ์ ตัวท่านนี้ประดิษฐานอยู่ในวิมานอันมีเสียงเบญจางคดุริยดนตรี ดีดสีตีเป่า ร้องรำบำเรอบำรุงอยู่เป็นนิตย์ แต่ปางก่อนนั้นท่านได้กระทำกุศลเป็นประการใด เทพบุตรได้ฟังแล้วจึงบอกว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระพุทธเจ้านี้หรือ เมื่ออยู่ในมนุษย์แต่ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าติณปาละบุรุษเข็ญใจไร้ทรัพย์ มีแต่ผ้านุ่งผืนเดียว เมื่อครั้งนั้นมีศรัทธาเปลื้องผ้านุ่งออกขายเป็นค่าด้ายเย็บผ้ากฐิน ด้วยผลอานิสงส์เท่านี้แหละพระผู้เป็นเจ้า กระหม่อมฉันจึงได้มาเสวยสมบัติเห็นปานฉะนี้ ด้วยผลกุศลเท่านี้แหละพระผู้เป็นเจ้า เมื่อศาสนาพระศรีอาริยเมตตรัยนั้น กระหม่อมฉันติณปาละ จะได้สำเร็จแก่พระอรหันต์ มีนามบัญญัติชื่อว่าพระติณปาละเถระ พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้าก็กลับมาจากสวรรค์ จึงเข้าไปกราบทูลถามสมเด็จพระมหากรุณาว่า ข้าแต่พระสัพพัญญูพระพุทธเจ้า บุคคลใดถวายกฐินทานนั้น จะมีผลานิสงส์นั้นประการใด พระมหากรุณาจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนโมคคัลลานะ พระกฐินทานนี้มีผลานิสงส์ล้ำเลิศกว่าทานทั้งปวง ย่อมจะสำเร็จสมบัติ ๓ ประการ คือหนึ่งมนุษย์สมบัติ สองสวรรค์สมบัติ สามนิพพานสมบัติ   ด้วยเหตุฉะนี้ บุคคลจึงต้องอุตส่าห์กระทำกฐินให้ได้ ถึงแม้จะยากจนเข็ญใจอย่างไรก็ตาม ก็ให้เข้าส่วนกฐินด้วยทานตามสติกำลังของตน อย่างต่ำจะเป็นเส้นด้าย หรือเข็มก็ยังนับว่าเป็นส่วนกุศล ถ้าหากว่าเส้นด้าย เข็ม ไม่มี ก็ให้อนุโมทนาผลานิสงส์นั้น พระพุทธฎีกาตรัสสรรเสริญกฐินทาน โดยอเนกปริยายฉะนี้แล้ว พระองค์จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลาน์ ท่านได้เห็นหรือซึ่งปาละเทพบุตร อันบริบูรณ์ไปด้วยสมบัติพัสถาน ติณปาละบุรุษผู้นี้ แต่เมื่อครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์ มีแต่ผ้านุ่งผืนเดียวเท่านั้น แต่ทว่ามีศรัทธาเปลื้องผ้านุ่งของตนมาจำหน่าย ขายเอาเงินเข้า ส่วนตนนั้นก็นุ่งผ้าใบไม้ ผลานิสงส์ส่งให้เป็นมหาเศรษฐี ผลนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์  ครั้นตายแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดาวดึงส์พิภพ เมื่อออกจากดาวดึงส์พิภพแล้วก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นกามา เมื่อออกจากสวรรค์ชั้นกามาแล้วก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตพิภพ เมื่อพระศรีอาริยเมตตรัยได้มาตรัสในโลกนี้ ติณปาละเทวบุตรก็จุติจากดุสิตพิมาน ลงมาบังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ามัณฑาละราช ในเมืองมัณฑาลวดีมหานคร เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ได้เสวยราชสมบัติแทนพระบิดา ต่อมาพระองค์สละราชสมบัติออกบวชในสำนักพระศรีอาริยเมตตรัย ได้บวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา บาตรและจีวรอันเป็นทิพย์ จะเลื่อนลอยมาเหนือนภากาศ และก็มาสวมลงในกรัชการแห่งพระผู้เป็นเจ้า ด้วยผลานิสงส์ที่ได้เข้าด้ายเย็บผ้ากฐินในกาลครั้งนั้น เมื่อดับขันธ์ ก็เข้าสู่ปรินิพพาน  เหตุดังนั้น บุคคลทั้งหลายเมื่อรู้ว่าอานิสงส์พระกฐินทานมากมายดังนี้แล้ว จงอุตส่าห์กระทำตามพุทธาธิบายแห่งพระตถาคตตรัสเทศนาไว้ แม้มาตรว่าจะปรารถนาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ อัคคสาวกภูมิ หรือจะปรารถนาพุทธบิดา พุทธมารดา พุทธบุตร พุทธอุปัฏฐาก ก็อาจจะสำเร็จความปรารถนา ด้วยเดชานุภาพ อานิสงส์แห่งกฐินทานที่ได้เป็นไวยยาวัจกรฯ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 16:07:51 »



ปริศนาธรรม
"ธงกฐิน" จระเข้-ตะขาบ-นางมัจฉา-เต่า

"ในเรื่องของธงกฐิน หลายคนเห็นธงมานาน แต่อาจยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความหมาย ธง ๔ อันนี้หมายถึงโลภ โกรธ หลง สติ อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ทุกคนได้มีความเข้าใจ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายไปได้ ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน"

การทอดกฐินตามวัดต่างๆ นอกจากจะเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว ยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ใช้มิติศาสนาสืบสานวิถีถิ่น-วิถีไทย

ในการทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุ โดยไม่เฉพาะเจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง อันเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่นี้แหละที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธงกฐินมาแต่อดีต

พระมหาสมศักดิ์ สุธัมมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เล่าว่า ธงกฐิน เป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้วมี ๔ แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ คติธรรม ประกอบด้วย
๑.ธงจระเข้ เปรียบถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) มีตำนานว่าเศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย ใช้ประดับวัดที่ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมที่เดินผ่านไปมาเห็นเข้าก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาสาธุ

๒.ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ (พิษ ที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม

๓.ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่าอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม

๔.ธงเต่า หมายถึง สติ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน ๑๒


"ปริศนา ธรรมจากธงกฐินทั้ง ๔ ธงจระเข้ ตะขาบ นางมัจฉา ก็คือ ความโลภ โกรธ หลง ที่มีมาจากคณะกฐิน หรือพุทธศาสนิกชนบางคน พอได้อานิสงส์ผลบุญจากการทอดกฐินก็จะปรากฏธงเต่า คือ เกิดสติ ทำให้มีปัญญา แก้ปัญหาทุกอย่างลงได้ เชื่อกันว่าอานิสงส์จากการถวายผ้ากฐิน เป็นการถวายสังฆทานที่ได้บุญยิ่งใหญ่ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมบุญทั้งตักบาตรเทโวโรหณะและทอดกฐิน เพื่อเป็นการให้ทาน รักษาศีลอยู่สม่ำเสมอ เกิดความสงบร่มเย็นในชีวิต
จาก...นสพ.ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.509 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 06 เมษายน 2567 12:43:16