[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 20:40:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธคันธารราษฎร์ - พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์  (อ่าน 4273 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 พฤศจิกายน 2558 11:44:17 »

.


พระพุทธคันธารราษฎร์  พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์
พระคันธารราษฎร์ เลขทะเบียน ร.ส.๙๗
อายุสมัย/แบบศิลปะ : สมัยรัตนโกสินทร์ แบบศิลปะคันธารราษฎร์
ชนิด : สัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง
ขนาด : สูงพร้อมฐาน ๗๓.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๒๓.๕ x ๒๓.๕ เซนติเมตร
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี ช่างชาวอิตาเลียนปั้น
โดยอนุโลมตามพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓
ราชบัณฑิตยสภารับมาจากพระที่นั่งมหิศรปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร


พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

จากนิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร พิมพ์-เผยแพร่

“พระพุทธคันธารราษฎร์” คือพระพุทธรูปปางขอฝน สร้างขึ้นโดยอาศัยมูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ที่มีมาในพระไตรปิฎก ครั้งแรกสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์ นับถือเป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเดือนหก พระราชพิธีพรุณศาสตร์ หรือพระราชพิธีขอฝนเดือนเก้า และพระราชพิธีไล่เรือ หรือพระราชพิธีไล่น้ำ (ออกจากไร่นาในฤดูเก็บเกี่ยว) เดือนอ้าย เป็นการพึ่งพิงอาศัยพระพุทธานุภาพบันดาลสิริสวัสดิ์แก่การพระราชพิธีให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพียงพอหล่อเลี้ยงข้าวกล้าอาหาร ยังความอุดมสมบูรณ์แก่การกสิกรรมในถิ่นฐานบ้านเมือง สืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน

มูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ปรากฏในอรรถกถามัจฉชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก กล่าวปรารภเหตุชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝนว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดภัยพิบัติ ฝนไม่ตกลงเลย ข้าวกล้าทุกตำบลก็เหี่ยวแห้งไป บึงบ่อสระโบกขรณีใหญ่น้อยทุกแห่ง น้ำแห้งจนพื้นแตกระแหง แม้แต่สระโบกขรณีเชตวัน ซึ่งมีน้ำใสเย็นเป็นพุทธบริโภคก็เหือดแห้ง เหล่านกกาต่างพากันมาจิกกินฝูงปลาและเต่าที่หลบซ่อนอยู่ในเปือกตม พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น ก็เกิดความกรุณา ดำริจะให้ฝนตกบรรเทาความทุกข์เดือดร้อนให้สิ้นไป จึงเสด็จมาทรงสถิตที่บันไดขั้นแรกสระโบกขรณีเชตวัน ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎก (ผ้าชุบสรง) จากพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากเพื่อจะสรงน้ำ พระเถระกราบทูลว่าสระโบกขรณีน้ำแห้งขาดเสียแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคำอยู่ เมื่อพระเถระเชิญผ้ามาถวายแล้ว พระศาสดาทรงนุ่งผ้าอุทกสาฎกด้วยชายข้างหนึ่ง ชายอีกข้างหนึ่งทรงห่มคลุมพระสรีระ ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบเหตุ จึงมีเทวบัญชาเรียกวลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝน บันดาลให้เกิดมหาเมฆและห่าฝนตกลงในแคว้นโกศล ครู่เดียวน้ำก็ท่วมท้นเต็มสระโบกขรณีและที่อันควร มีน้ำขังทุกแห่ง พระบรมศาสดาจึงลงสรงน้ำแล้วเสด็จกลับยังพระคันธกุฎี มหาชนและสัตว์ทั้งหลายจึงรอดพ้นจากความพินาศ ได้ความสุขจากน้ำฝนโดยทั่วกัน

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราษฎร์ผู้เลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ได้สดับเรื่องพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ในแคว้นโกศล ปรารถนาคุณพระพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกในแว่นแคว้นของตน จึงให้สร้างพระพุทธปฏิมากรทรงนั่ง พระกรหนึ่งทรงกวักเมฆเรียกฝน พระกรหนึ่งหงายรองรับน้ำฝน เมื่อปีใดเกิดฝนแล้งก็เชิญพระพุทธปฏิมาออกตั้งสักการบูชา ขอพระพุทธเดชานุภาพให้ฝนตกลงในเขตแคว้นของตน ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้สร้างพระพุทธรูปแสดงปางขอฝนว่า “พระพุทธคันธารราษฎร์” เพราะสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์เป็นต้นแบบมาแต่เดิม

การตั้งบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์เพื่ออำนวยให้ฝนตก มีเค้ามูลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ระบุว่ามีการอัญเชิญพระพุทธรูปสมาธิองค์หนึ่ง และรูปปลาช่อนมาตั้งในโรงพิธีแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๒๐ รูป มาสวดคาถาว่าด้วยชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝน (มัจฉชาดก) ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ๓ วัน และป่าวร้องให้ราษฎรนำน้ำมารดสรงพระพุทธรูปและรูปปลา เพื่อให้ฝนตก





ตามหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่า พระนครศรีอยุธยามีพระพุทธรูปที่ทรงพุทธานุภาพอันเป็นหลักพระนคร ๘ พระองค์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระพุทธคันธารราษฎร์ ลักษณะเป็นพระปฏิมานั่งสมาธิ หน้าตักศอกหนึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประวัติว่าลอยน้ำมาจากปักษ์ใต้ อัญเชิญขึ้นไว้ยังพระวิหารวัดธรรมมิกราช มีพุทธานุภาพมาก ขอฝนให้ตกได้ เป็นต้นเค้าแสดงถึงประเพณีการสร้างพระพุทธรูปขอฝนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

พระพุทธคันธารราษฎร์รุ่นเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา สร้างเป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งตามธรรมเนียมสืบมาแต่แคว้นคันธารราษฎร์ อาทิ พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะพระปฏิมานั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกขึ้น งอนิ้วพระหัตถ์เป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา แบบศิลปะจีนปนไทย คือครองจีวรคลุมพาหาทั้งสอง แหวกพระอุระกว้าง คาดรัดประคดที่พระอุทร แบบพระจีนญวนหรือพระจีน พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีรูปเปลวเพลิง พระเกตุมาลาทรงมะนาวตัด เม็ดพระศกเป็นขมวดเล็ก พระขนงโค้งเป็นสันคม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เหยียดกว้าง ใบพระกรรณยาว ประทับบนฐานบัวหงายซ้อนเหนือแข้งสิงห์ ลักษณะฐานแอ่นโค้ง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ เป็นต้นแบบพระพุทธรูป ซึ่งเจ้าจอมเอิบในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้หล่อขยายอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปัจจุบัน





ภาพถ่ายเก่าพระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๖




พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๒




พระคันธารราษฎร์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปที่พระระเบียงพระอุโบสถ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หน้า ๑๑๓


------------------------------------------------
”แจ้งความราชบัณฑิตยสภา” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๔๔ ตอน๐ง, วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๗๐ : ๔๙๗.
จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๖๘ มัดที่ ๑๒๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ ; พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๕๔),๔๔,๒๘๓,๓๗๖
พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒ (กรุงเทพฯ : ศิวพร,๒๕๕๖.มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕), ๒๐๔-๒๑๐.
พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๘๘-๒๘๙
จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๑ จ.ศ.๑๑๔๘ (พ.ศ.๒๓๒๙) เลขที่ ๒, พิธีว่าด้วยพิธีพิรุณศาสตร์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ.
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๕), ๔๐-๔๑.
ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดพระพุทธรูปคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาและชาติกำเนิด เจ้าจอมเอิบ เกิดที่เมืองเพชรบุรี



ภาพพระคันธานุราชจาก "ตำราพระพุทธรูป ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ"
เลยที่ ๕๐ มัด ๗ ตู้ ๑๑๗ ชั้น ๔/๑ ภาพจากหนังสือตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ
ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า ๘๖

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นสมัยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมตามแบบอย่างครั้งบ้านเมืองดีในสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำริถึงโบราณราชประเพณี อันเอื้อประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีพิบัติกังวลเพราะฝนแล้ง จึงโปรดให้ช่างหล่อพระปฏิมาคันธารราษฎร์สำหรับพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ๒ พระองค์ ตามรูปทรงสัณฐานพระปฏิมาโบราณซึ่งเคยทอดพระเนตร มีลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิ ถ่ายแบบจากศิลปะอยุธยา เป็นการถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ของพระปฏิมาคันธารราษฎร์แต่โบราณ คือ พระคันธารราษฎร์ใหญ่องค์ ๑ และพระคันธารราษฎร์จีนองค์ ๑

พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อสำเร็จเมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖) ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๗.๔๐ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๖๓.๑๐ เซนติเมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ไม่มีสังฆาฏิบนพระอังสาซ้าย จีวรจีบเป็นริ้วคล้ายพระพุทธรูปแบบจีน เดิมหล่อสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง มีแต่องค์ไม่มีแท่นฐาน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายช่างหล่อพุทธอาสน์ และให้กะไหล่ทองคำทั้งองค์ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลมที่พระนลาฏ ปัจจุบันประดิษฐานที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระคันธารราษฎร์จีน ขนาดตักกว้าง ๒๙.๓๐ เซนติเมตร สูง ๓๗.๘๐ เซนติเมตร และสูงรวมฐาน ๔๘.๑๐ เซนติเมตร ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์และการครองจีวรเป็นแบบจีน พระหัตถ์ขวายกขึ้น แสดงดรรชนีมุทรา (พระดรรชนียกสูงขึ้น เป็นท่าตักเตือนหรือข่มขู่ มีความหมายถึงการป้องกันอันตราย) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย และช้อนตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดไว้ในระหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา และโปรดให้กะไหล่ทองทั้งองค์พระพุทธรูปและเครื่องประดับ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงตรวจสอบคัดเลือกพระพุทธอิริยาบถที่ปรากฏในคัมภีร์ รวบรวมไว้เป็นตำราได้ ๔๐ ปาง  ครั้งนั้นได้รวมพระพุทธคันธารราษฏร์ไว้ในสมุดภาพตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียกในตำราว่า “พระคันธานุราช” ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายกวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ขวาวางหงายเหนือพระชงฆ์รองรับน้ำฝน ตามรูปแบบที่สืบมาจากครั้งรัชกาลที่ ๑



(ซ้าย) พระคันธารราษฎร์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๖ สูงรวมฐาน ๘๗.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง
(ขวา) พระคันธารราษฎร์จีน รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒
ภาพจากนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง


สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อการพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์เป็นอย่างมาก ดังโปรดให้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ ฉางข้าวหลวง พลับพลาและมณฑลพิธีสำหรับประกอบการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไว้ในท้องสนามหลวงแห่งหนึ่ง ทรงปรับปรุงการพระราชพิธีให้มีบัณฑิตอ่านประกาศการพระราชพิธีและทรงผูกพระคาถาสำหรับพระสงฆ์สวดในพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้ทรงโปรดให้กะไหล่ทองพระพุทธคันธารราษฎร์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ พระองค์ และโปรดให้หล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔ เป็นองค์ขนาดย่อมองค์หนึ่ง โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยไต่สวนเนื้อความตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า เมื่อเวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงในสระโบกขรณีนั้น เสด็จประทับยืนที่ปากสระ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อเป็นพระพุทธรูปเสด็จประทับยืนอยู่บนฐานบัวแข้งสิงห์ ที่ฐานมีขั้นอัฒจันทร์ลงไป ๓ ขั้น หมายถึงขั้นบันไดลงในสระ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงสอบสวนพระพุทธลักษณะในคัมภีร์ต่างๆ มีความใกล้เคียงกับมนุษย์สามัญมากขึ้น คือ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ไม่มีพระเกตุมาลา ใบพระกรรณสั้นแบบหูมนุษย์ พระพักตร์ตรง พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจับชายลูกบวบหงายพระหัตถ์ขึ้นรองรับน้ำฝน ครองจีวรเฉียง ห่มเป็นริ้วผ้าเสมือนจริงตามธรรมชาติ แบบอิทธิพลแนวสัจนิยมตะวันตก จึงเกิดมีพระพุทธคันธารราษฎร์ประทับยืน บูชาร่วมกับพระพุทธคันธารราษฎร์นั่ง สำหรับการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ อันเป็นผลจากการสอบความจริงตามพระไตรปิฎกขึ้นในครั้งนั้น

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เนื่องจากพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้คัดเลือก และสร้างตำราไว้ ๔๐ ปาง ทรงให้หล่อพระปฏิมาไว้ด้วยแร่ทองแดง ปางละ ๑ องค์ เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ๓๓ พระองค์ กรุงธนบุรี ๑ พระองค์ และกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ พระองค์ คงเหลือพระพุทธรูปจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนแต่ ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปปางลองหนาว และพระคันธารราษฎร์ ประกอบกับเหตุที่มีมาในพระราชประวัติว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภาพ ต้นปีฝนแล้งติดต่อเนื่องมาจากปีชวดจัตวาศก ทำให้ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ เกิดฝนตกใหญ่ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการเกิดฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ ในรัชสมัยนี้จึงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นเป็นจำนวนมาก



พระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔
สูงรวมฐาน ๕๗ เซนติเมตร ภาพจากหนังสือ
พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๔๙

พระพุทธคันธารราษฎร์ประจำพระชนมพรรษา สร้างขึ้นเท่าจำนวนพระชนมายุ ๕๘ พระองค์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรตามแบบแผนอย่างโบราณ พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบเป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจีบวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา ดวงพระพักตร์เป็นอย่างใหม่ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ไม่มีพระเกตุมาลา มีแต่เฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ สังฆาฏิเป็นแถบกว้าง จีวรเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานบัวคว่ำบัวหงายมีเกสรบัวอย่างโบราณ แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีฉัตรทองกั้น จำนวน ๑๕ พระองค์ เท่ากับพระชนมพรรษาเมื่อยังมิได้เสวยราชย์ และที่มีฉัตรทองปรุกั้น จำนวน ๓๔ พระองค์เท่าพระชนมพรรษาตั้งแต่เสวยราชสมบัติจนเสด็จสวรรคต


พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปางขอฝน ตักกว้าง ๗.๑๐ เซนมิเตร สูงรวมฐาน ๑๔.๖๐ เซนติเมตร สูงรวมฉัตร ๓๑.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๗๖,๓๗๘.

พระพุทธคันธารราษฎร์ประทับขัดสมาธิเพชรอย่างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์โปรดมาก จึงกราบบังคมทูลขอหล่อขึ้นด้วยเงินอีกองค์หนึ่ง ทรงนำไปตั้งในพิธีขอฝนหลายครั้ง มีคุณดีวิเศษ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ของหลวงต่อมาด้วย

นอกจากนี้โปรดให้หล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ประดิษฐานภายในซุ้มมณฑปหน้าพระอุโบสถ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา สำหรับราษฎรประกอบพิธีฝน โดยให้จารึกพระคาถาและวิธีสวดบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์ไว้บนแผ่นศิลาอ่อนติดไว้ที่ฐานพระพุทธรูปด้วย พุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระคันธารราษฎร์สมัยรัชกาลที่ ๔ คือมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ประทับยืนตรง มีเฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา เม็ดพระศกเล็ก เป็นแนวหย่อนลงที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอังสาจีบ เป็นกิริยาเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับบั้นพระองค์ จีบนิ้วพระหัตถ์หงายรองรับน้ำฝน ครองจีวรเป็นริ้ว ขมวดชายลูกบวบยาวตลอดถึงชายจีวรแบบธรรมชาติ ฐานบัวแข้งสิงห์ประดับลวดลายเทศ



(ซ้าย) ซุ้มพระคันธารราษฎร์ หน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
จารึกแผ่นหินอ่อนความว่า "พระคันธารราษฎร์สำหรับขอฝน"
(ขวา) พระคันธารราษฎร์ยืน สมัยรัชกาลที่ ๕ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา



ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ยืนองค์หนึ่ง ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๕ โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นหล่อ เป็นพระพุทธปฏิมายืนปางขอฝนบนฐานบันไดสระโบกขรณี ตามเนื้อความในอรรถกถามัจฉชาดก รูปแบบศิลปกรรมเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์ อันเป็นพุทธศิลป์ที่เจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในดินแดนที่ชาวกรีกเคยครอบครองเป็นใหญ่ มีความงามตามสุนทรีภาพของกรีก-โรมัน พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้ากรีก พระศกยาว เกล้าเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ คอรงผ้าสาฎกเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือขั้นบันไดสระโบกขรณี ทำขั้นบันได ๓ ขั้น มีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษยนาค (นาคแปลง) มีความหมายถึงน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์ พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน ทำอาการดุจเรียกฝน ฐานและพระองค์ถอดออกจากันได้เป็น ๓ ส่วน

พระพุทธรูปพระองค์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวิจารณ์ฝีมือสร้างไว้ในลายพระหัตถ์ ซึ่งมีไปประทานหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ดังนี้ “พระคันธารราษฎร์ องค์ที่เป็นฝรั่งนั้น กรมพระนเรศรรับสั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จัดให้ นายโตนาเรลี ช่างอิตาเลียนในกรมศิลปากรปั้น ที่เปนเช่นนั้นก็ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดพระฝีมือกรีกที่เสด็จพ่อเอามาแต่อินเดีย พระกรีกนั้นอาว์ก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่ชอบพระที่นายโตนาเรลีปั้น เหตุใดจึ่งเป็นเช่นนั้น เหตุด้วยกลับกันไปทางช่างกรีกเขาทำเอางามเปนที่ตั้ง เอาเหมือนคนเข้าประกอบ ซึ่งมาโดนทางเดียวกันเข้ากับที่อาว์พยายามจะทำ คือเอารูปทรงงามของรูปภาพตัวท้าวตัวพญาของไทยเปนที่ตั้ง เอาสิ่งที่เหมือนคนเข้าประกอบ ส่วนที่นายโตนาเรลีทำนั้น เอาเหมือนคนเปนที่ตั้ง อาว์ไม่ชอบที่เห็นว่าเปนพระเจ้าหาได้ไม่ชอบกลนักหนา จะว่าไทยไม่รู้จักจะทำรูปให้เหมือนคนก็ไม่ได้ เขาพยายามทำให้เหมือนคนก็มี แต่เขาเรียกว่า “ภาพกาก” ไม่ทำในภาพ ตัวท้าวตัวพญา ฐานพระองค์นั้นที่เปนกะไดก็ด้วยกรมพระนเรศรออกความคิดให้ตาฝรั่งนั้นทำ โดยหลักว่าพระเจ้าเสด็จยืนที่หัวกะไดสระน้ำในเมืองสาวัตถี ซึ่งสระนั้นน้ำแห้ง ตรัสเรียกผ้าชุบสรงมาทรงแล้วตรัสเรียกฝน เทวดา จึ่งบันดาลให้ฝนตกลงมาตามพระประสงค์จนเต็มสระ ตาฝรั่งแกไม่เข้าใจว่ากะไดสระควรเปนอย่างไร แกก็ทำเปนกะไดฝรั่ง มีพนักข้างเดียว อย่างกะไดที่ลงจากรักแร้ตึกฝรั่ง ก็เอาดีแหละ เพราะฝรั่งเขาทำ เรื่องพระคันธารราษฎร์ขอฝนนั้นเปนของที่คิดผิดคาด ที่แท้เปนพระเจ้าปางเทศนาธรรมจักรของบุราณมีแต่นั่งห้อยพระบาทกับพับพะแนงเชิงไม่มียืน ที่ทำยืนก็เพื่อจะให้ต้องตามอาการที่ได้คิดคาด เปนของใหม่ทั้งนั้น




พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
ฝีมือนายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



ฐานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ตกแต่งภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมและภาพมนุษย์นาค
มีความหมายถึงน้ำและความอุดมสมบูรณ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ธันวาคม 2558 15:34:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 02 ธันวาคม 2558 15:45:23 »




พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

(จบ)

พระพุทธคันธารราษฎร์ถือเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระปฏิมาคันธารราษฎร์เนื้อเงิน ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะอย่างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา คือประทับขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับฝน พระพักตร์ค่อนข้างกลม ไม่มีพระเกตุมาลา ปรากฏเฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ใบพระกรรณสั้น ครองจีวรห่มเฉียง จีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ สังฆาฏิเป็นแถบกว้าง ชายผ้าทิพย์มีตราพระเกี้ยวประจำรัชกาลที่ ๕ ฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีเกสรบัว ต่อด้วยฐานเขียงมีท้องไม้สูง สำหรับจารึกข้อความซึ่งทรงพระราชอุทิศ

แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ประกอบการพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระราชพิธีพรุณศาสตร์ คงได้หล่อพระคันธารราษฎร์ยืนองค์ใหญ่ขนาดใหญ่ขึ้นในการพิธีองค์หนึ่ง ด้วยสังเกตฝีมือสร้างในรัชกาลนั้น ต่อมาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษา พร้อมตู้แปดเหลี่ยมสลักปิดทอง ลักษณะเป็นพระปฏิมาคันธารราษฎร์ยืน พระศกยาวเกล้าเป็นมุ่นโมลี เช่นเดียวกับพระคันธารราษฎร์ สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่รูปทรงคลี่คลายเป็นแบบไทยประเพณียิ่งขึ้น คือ พระพักตร์เป็นแบบไทย พระวรกายเรียบรื่นไม่แสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์สามัญ ทรงผ้าชุบสรงบางแนบพระองค์เป็นริ้วอย่างธรรมชาติ สบงมีชายพับจีบเป็นริ้วทางด้านหน้า พระพักตร์แหงนเงย เหลือบพระเนตรสู่เบื้องบนท้องฟ้า พระหัตถ์ขวายกขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน ประทับยืนบนฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีเกสรบัว ซ้อนบนแข้งสิงห์และหน้ากระดานย่อไม้ยี่สิบ กึ่งกลางฐานตกแต่งด้วยหน้ากาลหรือหน้าสิงห์ แบบศิลปะรัชกาลที่ ๖



พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตักกว้าง ๗.๒๐ ซม. สูงรวมฐาน ๑๑.๒๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๔๖.๒๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมา ในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๓๖,๔๓๘.




พระปฏิมาคันธารราษฎร์ กระทรวงเกษตราธิราช ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖
เก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน


ในรัชสมัยนี้ เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดี กระทรวงเกษตราธิราช ได้หล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล พุทธศักราช ๒๔๖๘ และถวายประดิษฐานยังหัวเมือง มีจำนวนอีก ๘๓ พระองค์ เพื่อส่งไปประดิษฐานยังหอทะเบียนที่ดินจังหวัดต่างๆ สำหรับสักการบูชาและกระทำพิธีพรุณศาสตร์ พระพุทธรูปชุดนี้ องค์หนึ่งยังคงพบเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน ถนนพระพิพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เดิมประดิษฐาน ณ หอทะเบียนที่ดินกลาง เป็นพระปฏิมายืนหล่อด้วยทองเหลือง แบบไทยประเพณี พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเป็นขมวดก้นหอย มีพระเกตุโมลีและพระรัศมีรูปเปลว พระขนงโค้ง พระเนตรรูปกลีบบัว พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น ครองผ้าอุทกสาฎกเฉวียงพาดพระอังสาซ้าย รวบชายพันไว้กับข้อพระกรซ้าย สบงมีชายทบจีบเป็นริ้วทางด้านหน้า พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน ฐานบัวคลุ่มทรงกลม ขนาดสูงเฉพาะองค์พระ ๒๘ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๓๓ เซนติเมตร และฐานกว้าง ๘.๕ เซนติเมตร

พระคันธารราษฎร์ลักษณะและขนาดเดียวกันยังพบเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (วิหารพระศรีศาสดา) ข้อมูลทะเบียนวัตถุไม่มีบันทึกประวัติที่มา แต่สันนิษฐานได้ว่าเดิมคงประดิษฐานที่หอทะเบียนที่ดินจังหวัดพิษณุโลกมาแต่เดิม ต่อมาคงได้รวบรวมถวายไว้ยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

พระคันธารราษฎร์กระทรวงเกษตราธิราช ซึ่งส่งไปตามหัวเมือง เพื่อการบวงสรวงขอฝนเพื่อผลในการทำนา ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพของพระพุทธรูปปางขอฝนแพร่หลายไปในท้องถิ่นต่างๆ มีการบริจาคทรัพย์และขออนุญาตกระทรวงเกษตราธิราช จัดสร้างพระพุทธปฏิมาคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปขอฝนประจำตำบลต่างๆ อีกหลายแห่ง การสร้างพระคันธารราษฎร์ตามขนบการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ของหลวง จึงเกิดเป็นความนิยมในหมู่ราษฎรต่อมาด้วยเหตุนั้น



พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง ตักว้าง ๕.๖๐ ซม. สูงรวมฐาน ๑๙.๕๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๓๖.๒๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๕๒.

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา แต่ทำยักเยื้องต่างจากพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๕ โดยทำพระพุทธรูปปางขอฝนประทับห้อยพระบาทบนพระแท่น พระบาททั้งสองวางบนฐานกลีบบัวหงาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระพักตร์ค่อนข้างกลม มีอุณาโลมที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระเกศายาวรวบเกล้าเป็นมวยแบบพระคันธารราษฎร์ของอินเดีย มีพระรัศมีรูปเปลวไฟต่อจากมุ่นพระเกศา ทรงครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วแบบธรรมชาติ พาดชายเหนืออังสาซ้ายพับซ้อนยาวลงมาจรดพระนาภี จำนวนรวม ๔๒ พระองค์ ไม่มีฉัตรกั้น ๓๒ พระองค์ เท่าพระชนมพรรษาเมื่อยังมิได้เสวยราช ด้านหลังแท่นจารึกพระนามย่อ ปศ (ประชาธิปกศักดิเดช) และกั้นฉัตร จำนวน ๑๐ พระองค์ เท่าจำนวนปีที่เสวยราชสมบัติ ด้านหลังแท่นจารึกพระปรมาภิไธย ปปร (ประชาธิปก ปรมราชา)

เมื่อทรงสละราชสมบัติวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ แล้ว ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าให้กรมศิลปากรสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนประทับห้อยพระบาท องค์พระพุทธรูปกั้นด้วยฉัตรทองปรุ ๕ ชั้น ประดิษฐานเหนือฐานเขียงสูง มีจารึกประกอบทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗



พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เงิน กะไหล่ทอง สูงรวมฐาน ๑๖.๘๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๔๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๘๑.


ระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่ามีการหล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ทองคำ สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลและการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานภายในหอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำเป็นพระพุทธรูปยืนขอฝน พระหัตถ์ขวายกขึ้นกวักขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายเป็นกิริยารองรับน้ำฝน พุทธลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ตามแบบศิลปกรรมในช่วงเวลานี้ คือ พระรัศมีรูปดอกบัวตูม เม็ดพระศกขมวดเวียนขวาขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาเตี้ย พระพักตร์ค่อนข้างกลม เงยพระพักตร์ขึ้นเล็กน้อย พระขนงโก่ง มีอุณาโลมกึ่งกลางพระขนง พระเนตรเหลือบขึ้นด้านบน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น พระหนุเป็นปม ใบพระกรรณค่อนข้างสั้น ครองผ้าอุทกสาฎกพาดเฉวียงเหนืออังสาซ้าย ปล่อยชายพับซ้อนยาวจรดพระนาภี เป็นริ้วเสมือนจริงตามธรรมชาติ ส่วนล่างนุ่งสบงจีบเป็นริ้ว ทบชายพับซ้อนทิ้งลงเป็นจีบหน้านาง ประทับยืนตรงบนก้านดอกบัว มีกลีบบัวหงายซ้อน ๓ ชั้น และเกสรบัว ผุดขึ้นจากฐานที่หล่อเป็นภาพสระโบกขรณีแห้งขอดเต็มด้วยสัตว์น้ำฝูงปลาดิ้นรนอยู่ในเปือกตม ตามพระประวัติที่ปรากฏในมัจฉชาดก



(ซ้าย) พระพุทธคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๗ ทองคำ สูง ๔๕.๗๕ ซม. สูงรวมฐาน ๖๐.๙๐ ซม.  
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๕๖๒.
(ขวา) พระพุทธคันธารราษฎร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๗๓
โลหะผสม สูง ๔๐ ซม. วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ปั้นหล่อ
สมบัติของวัดมงกุฏกษัตริยาราม ภาพจากหนังสือศิลปวัตถุวัดมกุฏกษัตริยาราม หน้า ๒๕


ปัจจุบันพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ของหลวงที่สร้างขึ้นและอัญเชิญสักการบูชาสำหรับการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีรวมทั้งสิ้น ๕ พระองค์ คือ พระคันธารราษฎร์ใหญ่ และพระคันธารราษฎร์จีนหล่อสัมฤทธิ์ในรัชกาลที่ ๑ กะไหล่ทองในรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๒ พระองค์ พระคันธารราษฎร์ประทับยืนบนฐานขั้นบันได หล่อในรัชกาลที่ ๔ พระองค์หนึ่ง พระคันธารราษฎร์เงิน นั่งขัดสมาธิเพชร สร้างในรัชกาลที่ ๕ พระองค์หนึ่ง และพระพุทธคันธารราษฎร์ทองคำประทับยืนเหนือสระโบกขรณี สร้างในรัชกาลที่ ๗ พระองค์หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่ผูกพันกับทุกข์สุขการทำมาหากินของอาณาประชาราษฎร โดยอาศัยพระพุทธานุภาพเป็นกุศโลบายในการสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยผ่อนภัยพิบัติจากน้ำด้วยประการต่างๆ ยังดำรงแบบแผนสืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พระพุทธคันธารราษฎร์ ยังพบสร้างและประดิษฐานอยู่ตามพระอาราม ซึ่งมีหมายเกณฑ์ให้พระสงฆ์ทำพิธีขอฝนหรือสวดขอฝน และเริ่มปรากฏการสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนแพร่กระจายในชุมชนท้องถิ่นที่ทำการกสิกรรมเพาะปลูก ทำนา ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อต้นรัชกาลที่ ๗ สืบต่อเนื่องจากการประดิษฐานพระพุทธคันธารราษฎร์ของกระทรวงเกษตราธิการยังหัวเมืองต่างๆ พระพุทธคันธารราษฎร์จึงได้รับความนับถือสักการบูชาเป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์เป็นสิริแก่การเพาะปลูก ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ ยังความผาสุกสวัสดีแก่ชุมชนบ้านเมืองตราบเท่าถึงทุกวันนี้



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร  ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๔ ก.ค.-ส.ค.๒๕๕๖ หน้า ๑๑๐-๑๒๖.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ธันวาคม 2558 15:49:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.603 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้