[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 เมษายน 2567 05:43:26 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แฝดสยามอิน-จัน  (อ่าน 14286 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 23 ธันวาคม 2558 12:20:34 »

.



แฝดสยามอิน-จัน
โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

• แฝดสยามอิน-จัน กับทูตอเมริกา : อิน-จันไปอเมริกาก่อนส่งทูตมา
ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี สยามคือแผ่นดินทอง มีเรือสำเภาต่างชาติมาจอดเทียบท่าที่อยุธยาคึกคัก ชาวสยามทำมาค้าขายกับชนชาติในยุโรป โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน เป็นหลัก มีการแต่งตั้งคณะทูตเดินทางไป-มา

สยามอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ข้าวปลาอาหาร หนังกวาง ของป่า ช้าง และงาช้าง เปี่ยมล้นด้วยไมตรีจิต เรืองรองและร่ำรวย มีชาวต่างชาติมาปักหลักทำธุรกิจ อยู่กันแบบพหุสังคม รวมถึงมีชาวต่างชาติเข้าทำงานสำคัญในราชสำนัก เป็นที่ปรึกษาทำราชการเป็นเจ้าใหญ่นายโต มีกองทหารของแต่ละชนชาติ มีชุมชนเป็นของตนเอง เมื่อครั้นเมื่อพระนารายณ์สวรรคตใน ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๒๓๑ ที่เมืองลพบุรี บรรดาขุนนางสยามที่กุมอำนาจจึงระดมกำลังทหาร ขับไล่ฝรั่งชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำการค้า เผยแพร่ศาสนาให้ออกไปจากแผ่นดินสยาม โดยไม่ขอติดต่อกับชาติตะวันตกอีกต่อไป จนเสียกรุงครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ แต่ก็พอมีชาวต่างชาติติดต่อไป-มา แบบเป็นส่วนตัวจำนวนไม่มาก

สยามมาเริ่มเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปเข้ามาติดต่อค้าขายกันอีกครั้งสมัยต้นในหลวง ร.๓

ในยุคนั้นสหรัฐกำลังแจ้งเกิดเป็นประเทศ ในขั้นต้นประกอบด้วย ๑๓ รัฐรวมตัวกันหลังจากรบชนะอังกฤษ สหรัฐประกาศเอกราชเมื่อ ๔ กรกฎาคม ๑๒๑๙ นี่เองครับ (ต่อมาจึงขยายอาณาเขตเป็น ๕๐ รัฐ) ตอนนั้นอเมริกากระดูกยังไม่แข็งเท่าประเทศในยุโรป

สหรัฐบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ในปี พ.ศ.๒๓๖๔ กัปตันแฮน (Captain Han) นำเรือสินค้าสหรัฐลำแรกเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แต่สหรัฐไม่ค่อยสนใจสยามนัก เพราะมีสถานีการค้าหลักอยู่ในเมืองปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) แล้ว และระยะทางแล่นเรือไกลมาก สยามยังไม่ใช่ดินแดนที่ต้องใจนัก

ผู้เขียนขอเปลี่ยนอารมณ์ท่านผู้อ่าน ไปสนใจเรื่องเบาๆ ราวขนนกที่นึกไม่ถึงมาก่อน ฝาแฝด อิน-จัน คือชาวสยามที่ไปหากินในอเมริกา ก่อนอเมริกาส่งทูตมาสยาม

พ.ศ.๒๓๖๗ ในสมัยในหลวง ร.๓ ทรงทราบว่ามีฝาแฝดตัวติดกันอยู่ที่ ต.ตลาดใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม แฝดคู่นี้ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคน ๒ คนตัวติดกันตรงหน้าอก จึงมีรับสั่งให้นำเข้าเฝ้าฯ

พ.ศ.๒๓๗๒ นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ (ชาวสยามเรียก นายหันแตร) ที่เปิดกิจการอยู่แถววัดประยูรวงศ์ ระแคะระคายเรื่องฝาแฝดอิน-จัน จึงเดินทางไปสมุทรสงคราม สืบหาแฝดสยามคู่นี้ แกมองทะลุว่าเป็นสินค้าทำเงินเป็นแน่แท้ อดทนตีสนิทกับครอบครัว รอให้แฝดอายุถึง ๑๘ ปี จึงเกลี้ยกล่อมขอทำสัญญา ๓ ปีกับพ่อแม่ จ่ายเงิน ๑,๖๐๐ บาท นำเด็กแฝดลงเรือสินค้าชื่อ ซาเคม (Sachem) ไปถึงอเมริกา ขึ้นบกที่บอสตัน นายฮันเตอร์ตระเวนนำแฝดสยาม อิน-จัน (ไปตั้งชื่อว่า Eng-Chang) ออกแสดงทั่วอเมริกา สินค้าจากสยามตัวนี้ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ผู้คนในอเมริกาแตกตื่นอยากดูมนุษย์ประหลาดจากสยาม คนอเมริกันไม่น้อยรู้จักสยามเพราะฝาแฝดอิน-จัน ตระเวนแสดงตัวเก็บเงินจนเบื่ออยู่ราว ๑๐ ปี ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ ส่วนฝรั่งเศสไม่ยอมให้เข้าประเทศ ท้ายสุด อิน-จัน ผู้โด่งดัง ไปมีเมียเป็นฝรั่งอเมริกันทั้ง ๒ คน

• แฝดสยามดังระเบิดเถิดเทิงในอเมริกา ก่อนทูตอเมริกามาสยามซะอีก
กลับมาเรื่องทูตอเมริกาครับ … ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๓๖๗ ประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็คสัน ส่งนายเอ็ดมันด์ โรเบิรต์ส เข้ามาเฝ้าในหลวง ร.๓ ที่กรุงเทพฯ และบรรลุข้อตกลงสามารถลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขาย (Treaty of Amity and Commerce in Bangkok) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อ ๒๐ มีนาคม ๒๓๖๗ ตอนนั้นสยามเรียกว่าสหปาลีรัฐอเมริกา โดยใช้รูปแบบสัญญาเช่นเดียวกับที่สยามทำกับอังกฤษ

หนังสือสัญญาฉบับประวัติศาสตร์นี้คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สยาม-สหรัฐ อย่างเป็นทางการ

ขณะนั้น มิชชันนารีอเมริกันที่เป็นนายแพทย์ ชื่อหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bradley ชาวสยามเรียกปลัดเล) เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ รักษาโรคด้วยวิธีการสมัยใหม่ ทำงานในสยามอยู่ก่อนแล้ว หมอบรัดเลย์ ที่จบแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชนชาติสหรัฐ จนเป็นที่ไว้วางใจจากราชสำนักและชาวสยาม ความสัมพันธ์สยาม-สหรัฐเติบใหญ่งอกงาม วอชิงตันจึงขยายผลโดยแต่งตั้งสาธุคุณ สตีเฟน แมททูน (Stephen Mattoon) ที่ทำงานสอนศาสนาในสยามอยู่ก่อนแล้ว สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ดี เป็นกงสุลสหรัฐคนแรก ความสัมพันธ์จึงกระชับ ก้าวไปอีกขั้น

ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นการแต่งตั้งคนของสหรัฐเพื่อทำงานนะครับ เขาแต่งตั้งคนที่ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาท้องถิ่นได้ คนที่มีต้นทุนอยู่แล้ว เพื่อให้ทำงานสำเร็จ

ต่อมาเมื่อ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๔ สหรัฐจึงแต่งตั้งกงสุลใหญ่คนแรก ชื่อนายจอห์น เอ. ฮัลเดอร์แมน (John A. Halderman) มาประจำในสยาม

เพื่อให้เป็นไปตามพิธีการทูตใน พ.ศ.๒๔๓ สยามจึงแต่งตั้งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ชุมสาย เป็นราชทูตสยามประจำสหรัฐ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฯ ทรงทำหน้าที่เป็นทูตในยุโรปรวม ๑๒ ประเทศอยู่แล้ว โดยประทับอยู่ที่ลอนดอน ยังไม่ได้ไปอยู่ในอเมริกา โดยในช่วงเวลานั้นเป็นยุคล่าอาณานิคมล่าเมืองขึ้น วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเชือดเฉือนแผ่นดินสยามอยู่นั้น สหรัฐมิได้มีท่าทีคุกคามสยามแต่อย่างใด มุ่งทำการค้าและเผยแผ่ศาสนา รักษาพยาบาล วางระบบการศึกษา เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลของสยามเป็นงานหลัก

ตามที่ผู้เขียนตั้งประเด็นกับตนเองว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ๑๘๒ ปีแล้ว เริ่มต้นเป็นมาอย่างไร ก็ค้นมาจนได้คำตอบแล้ว และนำมาแบ่งปันครับ





•แฝดสยาม อิน-จัน พบรักแรกกับสาวลอนดอน
เดิมทีเดียว ผู้เขียนตั้งใจจะสืบค้นว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติสยาม ใครหนอคือคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เสี่ยงตายลงเรือเดินทางไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา ไปเรียนหนังสือ ไปทำมาหากิน ไปเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือไปสำรวจขอบฟ้าใหม่ให้ชีวิต เค้าไปกันยังไง เพราะสองร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในโลกนี้ สูง ต่ำ ดำ ขาว แม้แต่ชาวจีนยังหลั่งไหลอพยพไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา ดินแดนแผ่นดินแห่งโอกาส อาณาจักรแห่งความฝันของมวลมนุษยชาติ

ค้นไปค้นมาจึงไปเจอข้อมูลจริงที่มหัศจรรย์แสนจะเหลือเชื่อ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว คนสยามที่ตัวติดกันเป็นคู่แฝดประหลาดคู่นี้ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ซักคำ พออายุได้ ๑๘ ปี มีพ่อค้าอังกฤษและกัปตันเรืออเมริกันจ่ายเงินให้พ่อ-แม่ที่ปากคลองแม่กลอง ต.แหลมใหญ่ เมืองสมุทรสงคราม จำนวนมหาศาลถึง ๑,๖๐๐ บาท จับใส่เรือสินค้าจากสยามแล่นผ่านมหาสมุทรค่อนโลกไปจัดการแสดง "มนุษย์ประหลาด" ในอเมริกา ข้ามโลกไปแสดงในอังกฤษ คนในอเมริกาแห่กันซื้อตั๋วเสียตังค์เข้ามาขอดู ขอพิสูจน์การแสดงของคนตัวติดกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน แฝดจากสยามสนุกสนาน เฮฮา ร่าเริง ตระเวนไปแสดงเกือบทั่วแผ่นดินอเมริกา มีผู้จัดการส่วนตัวจัดโปรแกรมการแสดง จนทั้งสองคนมีเงินร่ำรวย

ชายชาวสยามผู้มีลำตัวติดกัน สมัยเด็กอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง เลี้ยงเป็ดขายไข่ หาปลาเลี้ยงชีพ บรรพบุรุษสยามคู่นี้ในที่สุดเสน่ห์แรงไปมีเมียเป็นฝรั่งอเมริกัน ทั้งคู่สร้างตัว สร้างบ้าน ซื้อที่ดินในอเมริกาขนาดมหึมา แถมมีลูกดกบานตะไท เหมือนผลไม้ใส่ปุ๋ยออกดอกออกผล แตกหน่อต่อกิ่งเกิดเป็นลูกหลาน เหลน ลื่อ สร้างวงศาคณาญาติในอเมริกา นับถึงปัจจุบันมีโคตรเหง้ารวมราว ๑,๕๐๐ คนในอเมริกา นับเป็นเรื่องราวสุดแสนพิสดารและเป็นหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ที่คนไทยไม่ทราบไม่ได้ครับ

ประการสำคัญคือ มีการบันทึกเป็นวิชาการเกือบครบถ้วน เกร็ดข้อมูล หลักฐานสำคัญจะอยู่ในอเมริกาเกือบทั้งหมด เชื่อถือได้ทั้งด้านการแพทย์ ด้านสังคม มุมมองจากหลายมิติ

เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายหรือตำนาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีลมหายใจ ไม่มีเรื่องอะไรจะโดนใจผู้เขียนเท่ากับเรื่องราวของแฝดสยามอิน-จัน ที่ต่อมาก่อให้เกิดคำว่า Siamese Twin ใช้กันทั่วไปในโลก

ขอนำเกร็ดสาระมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังแบบสบายๆ ครับ เรื่องนี้เป็นมงคลสำหรับแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะพี่น้องบ้านแหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ที่เป็นต้นกำเนิดความแปลกน่าศึกษา ขยายตัวกลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปทั่วโลก

ในรัชสมัยในหลวง ร.๒ เด็กชายตีอาย ชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพโดยเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากท้องทะเลพร้อมกับบิดา มารดา มุ่งหน้าเข้ามาอาศัยแผ่นดินสยาม ครอบครัวนี้สู้ชีวิตสุดสุด แบบชาวจีนนับหมื่นนับแสนคนที่หนีความอดอยากแร้นแค้นจากจีนเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแผ่นดินสยามที่เขียวขจี ตีอายเติบใหญ่ ทำอาชีพประมงและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แถวปากคลองแม่กลอง เมื่อตีอายอายุอานามพอเหมาะพอควร ได้พบรักกับนางนาก ชาวสยามเชื้อสายจีน-มาเลย์ ที่ปักหลักทำมาหากินอยู่ถิ่นละแวกนั้น แต่งงานอยู่กินกันจนให้กำเนิดลูก เป็นครอบครัวใหญ่ ลูกเยอะตามวิถีชีวิตของชาวสยาม แต่สำหรับท้องที่ ๕ นางนากเจ็บปวดใจจะขาดแทบสิ้นลม เพราะทารกที่คลอดมานั้นเป็นฝาแฝด แฝดคู่นี้ไม่ธรรมดาเพราะลำตัวมีเนื้อเยื่อเป็นเส้นเชื่อมทารกน้อยทั้งสองทำให้เห็นชัดว่าท้องติดกัน

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๕๔ ในสมัยในหลวง ร.๒ คือวันเกิดของทารกแฝดตัวน้อยที่หมอตำแยทำคลอด ที่มีสภาพหน้าท้องติดกันแต่กลับหัวกลับเท้าซึ่งกันและกัน ร่างกายเด็กน้อยดูสมประกอบ ไม่มีอะไรแปลกหูแปลกตา หมอตำแยจับทารกอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ทำกรรมวิธีตามตำราเสร็จสรรพ จึงเห็นชัดว่ามีเพียงหนังเหมือนเชือกที่บิดเป็นเกลียวเชื่อมทารกน้อยตรงบริเวณหน้าอกเข้าด้วยกัน

ท่านผู้อ่านบทความนี้จำนวนหนึ่งคงไม่คุ้นกับคำว่า "หมอตำแย" เป็นแน่แท้
หมอตำแย หมายถึงหญิงที่ทำหน้าที่คลอดลูกตามแผนโบราณครับ ชื่อตำแยที่ฟังดูแล้วรู้สึกว้าเหว่ หนาวกายหนาวใจสำหรับคนในยุคนี้ คาดว่ามาจากชื่อของเถรตำแย เจ้าสำนักวิชาการทำคลอดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

โบราณกาลของสยาม หมอตำแยเป็นบุคคลสำคัญในชุมชนที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของทารกเริ่มตั้งแต่ตั้งท้อง หมอตำแยมีทักษะสามารถใช้มือคลำไปที่ท้องแล้วบอกข้อมูลของเด็กในท้องได้เลย จะต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ จัดท่าทาง จัดหัว จัดเท้าของทารกในท้องแม่เพื่อให้คลอดออกมาสะดวก ปลอดภัย ทุกสังคมในโลกนี้มีหมอตำแยทั้งสิ้น (หมอตำแย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า midwives) ต่อมาเมื่อแพทย์และวิชาการจากโลกตะวันตกเข้ามาในสยาม องค์ความรู้ของหมอตำแยนี้จึงพัฒนามาเป็นวิชาผดุงครรภ์ สูตินารี

ในหลักวิชาชีพหมอตำแยของสยาม มีสิ่งต้องห้ามที่เข้มงวดที่สุดคือ ก่อนเด็กคลอดออกมา ห้ามพูดว่าเด็กในท้องเป็นหญิงหรือชาย

สำหรับสังคมไทย เมื่อวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงเริ่มมีการ จัดระเบียบหมอตำแย ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ผลลัพธ์คือหมอตำแยค่อยๆ หายหน้าสาบสูญไปจากวงการ เพราะคนไทยหันมาให้ความเชื่อถือสถานผดุงครรภ์และโรงพยาบาลที่ใช้หลักการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับการทำคลอด

ผู้เขียนเชื่อว่า ใน พ.ศ.๒๕๕๘ นี้ยังคงมีคนไทยรุ่นอาวุโสที่เกิดมาด้วยฝีมือหมอตำแยและยังมีชีวิตอยู่ไม่น้อยครับ

กลับมาที่เรื่องแฝดสยาม ข่าวการให้กำเนิดแฝดประหลาดของนางนากอื้ออึงตึงตังไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ชาวบ้านละแวกนั้นต่างตั้งตัวเป็นเกจิ ผู้หยั่งรู้ ส่งข่าวปากต่อปากชี้เปรี้ยงว่า เด็กแฝดประหลาดคู่นี้ชะรอยจะเป็นลางร้ายที่จะนำเสนียดจัญไรหายนะมาสู่บ้านเมืองเป็นแน่แท้

วงซุบซิบนินทาคิดหาหนทางร้อยแปด เจ้ากี้เจ้าการยื่นมือยื่นปากยุแหย่ที่จะต้องผ่าแยกร่างทารกแฝดพิสดาร หรือต้องกำจัดเสียให้จงได้

ในครั้งกระโน้น คงมิพักที่จะพูดถึงการผ่าตัดแยกร่างโดยแพทย์ที่ไหน เจ็บไข้ได้ป่วยต้องใช้การเสกเป่า ท่องคาถา รดน้ำมนต์ ทุกชีวิตที่เกิดมาหรือต้องตายไปเป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟ้าดิน และบุญวาสนา ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ อวัยวะภายในร่างกาย ปอด ตับ ไต ไส้ พุง ของเด็กแฝดคู่นี้มีอวัยวะอะไรที่ใช้ร่วมกัน มีอะไรที่แยกจากกันได้-ไม่ได้ ชาวสยามยุคนั้นไม่สามารถรู้ได้เลย แม้แต่มโนก็มโนแบบมืดสนิท เห็นด้วยตาอย่างเดียวคือ มีหนังเชื่อมกันตรงบริเวณหน้าอก

ข้อมูลทางการแพทย์ที่ค้นมาเล่าแถมอธิบายแบบบ้านๆ คือว่า เมื่อผู้ชายหลั่งเชื้อตัวผู้หรืออสุจิ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า sperm : สเปิร์ม) เข้าไปในช่องคลอดผู้หญิงเพื่อผสมกับไข่หรือเชื้อตัวเมีย เชื้อตัวผู้ นับร้อยล้านตัว จะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ในมดลูกของผู้หญิง ซึ่งธรรมชาติให้ผู้หญิงมีไข่ตัวเมียคราวละ ๑ ฟอง เดือนละครั้งเท่านั้น

แต่ถ้าหากรังไข่ของผู้หญิงเกิดผลิตไข่ตกมาพร้อมกัน ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ฟอง เป็นเวลาเดียวกับที่สเปิร์มแห่กันเข้าไป ก็จะเกิดปฏิสนธิเป็นแฝด ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ได้ครับ เด็กแฝดส่วนใหญ่มีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าเด็กธรรมดาครับ

หมอตำแย พ่อมด หมอผี และผู้คนทั้งหลายต่างคิดว่า แฝดพิสดารของเมืองแม่กลองคู่นี้คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่ผ่านมาเด็กแฝดลักษณะนี้อายุสั้นทั้งนั้น

นายตีอายและนางนากตั้งชื่อลูกแฝดคู่นี้ว่า อินและจัน
ชื่อนี้มีความหมายแค่ไหน อิน-จัน เป็นชื่อของผลไม้ไทย # แบบที่อยู่ร่วมต้นเดียวกันคือ ผลแบบทรงกลมแป้น เรียกว่าลูกจัน ไม่มีเมล็ด และผลแบบทรงกลม ผลหนา ผิวเรียบ ไม่มีรอยบุ๋ม มีเมล็ด เรียกว่าลูกอิน จำง่ายดีจัง

วันคืนผ่านไปหลายเพลา นายตีอายและนางนากไม่เคยคิดจะผ่าแยกร่างลูกน้อยตามที่ชาวบ้านละแวกนั้นอยากเห็น เรื่องของไสยศาสตร์มนต์ดำมีอิทธิพลทางความคิดอ่านต่อผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด แต่นายตีอายและนางนากไม่แยแสขี้ปากคนแถวนั้น ยืนกรานที่จะไม่ขอแยกร่างลูกน้อยเด็ดขาด

เด็กน้อยแสนประหลาดอิน-จันสมบูรณ์แข็งแรงเช่นเด็กปกติทั่วไป พ่อแม่ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ร่าเริงแจ่มใส ไม่เจ็บป่วย กินได้ นอนหลับ ทำเอาเกจิอาจารย์หมอผีทั้งหลายต้องหลบหน้าหายไป ทารกแฝดเริ่มคลานไปไหนก็ไปด้วยกัน น่ารักน่าชัง มีความสอดคล้องราวกับคนเดียวกัน มีบางครั้งก็เงอะงะไปตามประสาเด็ก

พ่อแม่ของแฝดอิน-จันทำให้ลูกน้อยได้อย่างเดียว คือพยายามยืดหนังที่เชื่อมลำตัวอินและจันให้ขยายออกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยมีระยะห่าง ไม่ดึงตัวกัน แต่ก็ยืดได้ไม่มากนัก พ่อแม่เฝ้าสังเกตว่าลูกน้อยหากมีการเจ็บป่วยก็จะป่วยพร้อมกันและจะหายป่วยพร้อมกัน

ในขณะที่ต้องสาละวนกับแฝดคู่นี้ นางนากยังมีลูกเพิ่มอีก ๓ คนที่ถือเป็นน้องของแฝดอิน-จัน รวมลูกของนางนากเบ็ดเสร็จ ๙ คน

อิน-จันมีพัฒนาการไปตามธรรมชาติของมนุษย์ จากคลานจนกระทั่งเริ่มยืน (ตั้งไข่) จนถึงขั้นเดินเตาะแตะ แฝดคู่นี้ล้มลุกคลุกคลาน หงายหน้า หงายหลังไปตามเรื่อง เพราะทารก ๒ คนตัวติดกันมี ๔ แขน ๔ ขา ๒ หัว ยังไม่ได้เริ่มฝึกหัดที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

ความท้าทายที่ทุกคนต่างเฝ้ามองคือ แล้วไอ้แฝดอิน-จันคู่นี้มันจะเดินเหินใช้ชีวิตด้วยกันยังไงวะ?
ท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกนะครับว่าเอาเชือกมาผูกหน้าอกเชื่อมคน ๒ คน (เอาแบบเชือกมีระยะห่างเล็กน้อย) แล้วให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และต้องอยู่ให้ได้ตลอดไป ว่ามันจะเกิดความรุงรังอะไรขึ้นบ้าง

ธรรมชาติไม่ไร้ความปรานี มีการหยิบยื่นน้ำใจและโอกาสต่อแฝดอิน-จันครับ
การเดินไป-มา การหยุด เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงที่คู่ชีวิตทั้ง ๒ จะต้องร่วมกันคิดอ่านแก้ไข หาวิธีการที่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขต่อไปให้ได้ อิน-จันมักจะล้มหัวคะมำ อินจะนั่ง จันจะยืน จันจะวิ่ง อินจะหยุด หกคะเมน คว่ำหงายเป็นที่ขบขัน เรียกเสียงเฮฮาจากผู้คนทั่วไปในหมู่บ้านเสมอ

พ่อแม่ของเด็กน้อยทั้งสองและธรรมชาติล้วนเป็นครูสอนให้ลูกแฝดเรียนรู้ที่จะโอบไหล่ กอดเอวกัน ตอนเดิน ตอนหยุด เดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เข้าขากันดี แบบทูอินวัน ความรู้สึกนึกคิดแบบคนคนเดียวเข้ามาหล่อหลอมโอบอุ้ม และในที่สุดแฝดอิน-จันกลายเป็นคน "รู้ใจกัน" ก็วิ่งเล่นได้เหมือนเด็กทั่วไป เป็นที่โจษขานกันไปทั่วทุกสารทิศ แถมยังว่ายน้ำในคลอง หาปลาปูกุ้งหอยมาเลี้ยงพ่อแม่พี่น้องอีกต่างหาก

ประการสำคัญคือ อินและจันไม่เคยโต้เถียงเกี่ยงงอนกัน





• ในหลวง ร.๓ โปรดฯ ให้แฝดอิน-จันเข้าเฝ้าฯ

สภาพร่างกายของแฝดอิน-จัน ที่สารรูปพิสดารผิดมนุษย์ทั่วไป ตกเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของนางนาก มารดา ที่ต้องมีความอดทน ใส่ใจ ทะนุถนอมต่อลูกแฝดเป็นพิเศษ แต่ก็มิได้เอาอกเอาใจ ป้อนน้ำป้อนข้าวแบบไข่ในหิน เพื่อนบ้านในละแวกปากน้ำแม่กลองต่างเฝ้าดู แอบดูอยู่ตลอดว่าไอ้เด็กแฝดมันจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน พ่อแม่มันจะเลี้ยงดูกันอีท่าไหน?

ผู้เขียนตั้งใจสืบค้นชีวิตช่วงวัยเด็กด้วยใจจดจ่อ ข้อมูลที่ชัดเจนของคนแฝดบันลือโลกคู่นี้ไปปรากฏในอเมริกาทั้งสิ้น บันทึกของไทยหาได้ค่อนข้างยาก ในที่สุดจึงไปเจอหนังสือ "แฝดสยาม อิน-จัน คนคู่สู้ชีวิต" ของคุณวิลาส นิรันดร์สุขศิริ ซึ่งเรียบเรียงมาจากบทความหญิงชาวอเมริกันชื่อแฟนนี โรเปอร์ ฟิวด์จ (Fannie Roper Feudge) ที่ไปเขียนในวารสาร The Galaxy เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๗ บางช่วงบางตอนดังนี้ครับ

"บ้านที่แฝดอิน-จันอยู่อาศัยกับครอบครัวนั้น ในสยามเรียกกันว่า "เรือนแพ" จอดเทียบกับแม่น้ำ อยู่นิ่งกับที่ โดยอาศัยเสาขนาดใหญ่หลายต้นขนาบทั้ง ๒ ข้าง

กระท่อมหลังน้อยสร้างด้วยแผ่นไม้สัก หลังคามุงด้วยใบจาก มีระเบียงยาวทอดเหนือน้ำ มีพื้นที่ที่พ่อใช้วางปลาที่จับมาได้ และแม่ใช้เป็นที่ขายของ เด็กน้อยทั้งสองว่ายน้ำเก่งและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ

แฝดสยามที่เราเรียกกันนั้นที่แท้ไม่ใช่ชาวสยามแต่อย่างใด ทั้งสองเป็นลูกชายของบิดาชาวจีนซึ่งพูดภาษาแต้จิ๋ว ส่วนมารดาเป็นลูกสาวของพ่อแม่ชาวจีนกับชาวสยาม คนที่บางกอกเรียกเด็กทั้งสองว่า "แฝดจีน"

แฝดคู่นี้มักใส่เสื้อผ้าแบบชาวจีน ไว้ผมเปียตามความนิยมของลูกชายที่มีบิดาเป็นชาวจีน เรียนภาษาจีน พูดภาษาสยาม

อินตัวเล็ก เงียบขรึม จันตัวใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า ร่าเริงสดใส และมีความเป็นผู้นำมากกว่าอิน

อินสุภาพอ่อนโยน ทั้งสองมีน้ำใจต่อกัน มีการประนีประนอมกัน โดยอินจะยอมให้เสมอ แต่บางครั้งรู้สึกตรงข้าม เคยโกรธกัน ทะเลาะกัน ทั้งสองเคยด่ากันด้วยคำหยาบคาย หลังจากทะเลาะกันแล้วก็จะรู้สึกเสียใจ แล้วก็กลับมาดีกันเหมือนกับเด็กทั่วไป"

ข้อความข้างบนนี้เป็นบันทึกของสุภาพสตรีอเมริกันเมื่อราว ๑๕๐ ปีที่แล้ว เธอข้ามน้ำข้ามทะเลบากบั่นเดินทางเข้ามาในสยามเพื่อมาพูดคุยกับนายตีอายและนางนากพ่อแม่ของแฝดสยามที่ดังระเบิดในอเมริกาแสดงว่าเธอผู้นี้เป็นแฟนคลับตัวจริงของอิน-จันในอเมริกาจนต้องมาค้นหาความจริงที่ทำให้ชาวสยามได้ทราบกันทั่วหน้า

และแล้วเรื่องเศร้าหมองก็อุบัติขึ้นมาจริงๆ ซะด้วย ตอนแฝดน้อยอายุได้ ๘ ขวบ นายตีอายพ่อของเขาเกิดป่วยด้วยโรคห่าที่แพร่ระบาดไปถึงสมุทรสงคราม ไม่มีใครรู้ว่าโรคห่าคืออะไร น้องของแฝดอิน-จันที่เกิดมาตามหลังก็เสียชีวิตอีก ๓ คน

ณ เวลานั้นโรคห่าระบาดในสยาม เรียกกันว่า "ห่าลง" ทำเอาชาวสยามล้มตายกองพะเนินเทินทึกไปทั่วแผ่นดินนับหมื่นคน

ข้อมูลจากเว็บไซต์นานาสาระระบุว่า พ.ศ.๒๓๖๓ เกิดอหิวาต์ระบาดอย่างรุนแรงในอินเดียเป็นครั้งแรก ผู้คนล้มตายครั้งใหญ่ แล้วเริ่มแพร่ระบาดมาที่สยาม ในหลวง ร.๒ ทรงโปรดฯ ให้ทำพิธีขับไล่โรคนี้ เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จัดให้มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครทั้งวันทั้งคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยน้ำมนต์ตลอดทาง จัดทำบุญเลี้ยงพระ ประกาศมิให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้ชาวประชาทั้งหลายอยู่แต่ในบ้าน กระนั้นก็ตามปรากฏว่ายังมีชาวสยามเป็นโรคห่าตายราว ๓ หมื่นคน เอาศพไปทิ้งกันไว้ที่วัดกองเป็นภูเขา เผาไม่ทัน บ้างก็แอบทิ้งศพลงแม่น้ำตอนกลางคืน ศพลอยอืดในแม่น้ำ บางหมู่บ้านตายกันหมดไม่เหลือ ผู้คนทำได้อย่างเดียวคืออพยพย้ายหนีไปสร้างเมืองใหม่ ทิ้งศพเก่าให้แร้งกามาจิกกิน น่าอนาถยิ่งนัก

ผู้เขียนไปค้นเจอบันทึกของนายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้จัดการหอจดหมายเหตุฯ ได้ศึกษา ระบุว่าโรคห่าคือโรคระบาดร้ายแรงเป็นช่วงๆ โดยสมัยก่อนผู้คนยังไม่ทราบว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นคือโรคอะไร แต่จำนวนผู้คนที่ล้มตายจำนวนมากในระยะเวลาที่รวดเร็วเรียกรวมๆ ว่าห่าลง มีบันทึก พ.ร.บ.สำหรับโรคระบาด ปี พ.ศ.๒๔๕๖ ระบุไว้ว่าโรคห่าคือกาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ

ในสมัยในหลวง ร.๓ โรคห่ากลับมาอีกครั้ง มีข้อมูลว่าภายในเดือนเดียวมีชาวสยามล้มตายราว ๒๐,๐๐๐ คน ทั้งๆ ที่เริ่มมีมิชชันนารีและแพทย์จากยุโรปและอเมริกาเข้ามาช่วยดูแลรักษา แต่ก็นับว่าองค์ความรู้ด้านการแพทย์ครั้งกระโน้นยังไม่สามารถตอบโจทย์ป้องกันรักษาโรคห่าได้จริง

และคราวนี้หนึ่งในผู้คนที่สังเวยชีวิตโรคห่าคือนายตีอาย พ่อของแฝดอิน-จัน

เสียงเล่าลือว่าอิน-จัน เป็น "ตัวซวย" ก็แพร่กระจายตอกย้ำซ้ำเติมลงไปอีก ครอบครัวที่เคยมีพ่อเป็นเสาหลักคงเหลือเพียงแม่คือนางนากที่จะต้องหาเลี้ยงลูกน้อยทั้งครอบครัว เด็กแฝดตัวติดกันเหมือนปาท่องโก๋ ณ บ้านแหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม เมืองในชนบทเล็กๆ ที่กลายเป็นเมืองแห่งตำนาน ถูกโจษจันกล่าวขานระบือกันไปทั้งสิบทิศของสยาม

ตามความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นจะเพ่งเล็งหนูน้อยอิน-จันในด้านลบมากกว่าบวก เพราะที่ผ่านมาเด็กแฝดในลักษณะตัวติดกันแบบนี้ก็เคยมี แต่คลอดมาไม่นานก็ตายหมด ขนาดตายไปแล้วยังโดนนินทาตามหลังในความเป็นกาลกิณีอีกต่างหาก

ฝรั่งในยุโรปก็มีความเชื่อเช่นกันว่าเด็กแฝดที่มาเกิดลักษณะนี้เป็นเหมือนผีห่าซาตานที่จะก่อให้เกิดเหตุเภทภัยกับบ้านเมืองจึงจำเป็นต้องกำจัดเสีย

อิน-จันมีบุญรักษา เทวดาคุ้มครอง ไม่อายุสั้นเหมือนแฝดคู่อื่นที่เกิดมาก่อนหน้านี้ แต่ก็มีมารผจญในคราบผู้หวังดีประสงค์ร้าย จะมาขอเป็นพวกจิตอาสา ลองวิชาท้าพิสูจน์เป็นเจ้าภาพทำพิธีผ่าแยกร่างให้จงได้

เรื่องของแฝดอิน-จันแพร่กระจายขยายวงฟุ้งออกไปถึงบางกอก ในรัชสมัยในหลวง ร.๓ ท่านทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้าในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เรือสำเภาจากต่างประเทศคึกคัก แล่นสวนกันไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยา บ้างก็จอดเทียบท่าในกรุงเทพฯ สยามเปิดประเทศเดินหน้าค้าขายเต็มสูบ หลังจากเคยปิดประเทศไม่ติดต่อคบค้ากับชาติตะวันตก ไล่ฝรั่งต่างชาติออกไปหมดหลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต

เมืองกรุงเทพฯเป็นที่เลื่องลือกันไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำว่ามีสินค้าที่ชาวยุโรปต้องการทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดฯ ให้สยามค้าขายกับทุกชาติ ทุกภาษา มีชาวต่างชาติแล่นเรือเข้ามา นำเข้า ส่งออกแสนจะคึกคัก ชาวสยามทำการค้าเก่ง สยามเริ่มทำสัญญาทางการค้ากับอังกฤษ ตามด้วยสหปาลีรัฐอเมริกา ฝรั่ง แขก จีน ฯลฯ เริ่มเข้ามาเปิดบริษัท ตั้งสถานีการค้าเป็นเรื่องเป็นราว

ในช่วง พ.ศ.๒๓๖๙ อยู่มาวันหนึ่งเมื่อแฝดอายุได้ราว ๑๔ ปี ในหลวง ร.๓ ทรงทราบเรื่องแฝดคู่นี้ จึงรับสั่งให้คนมาแจ้งแก่นางนากว่าขอนำตัวลูกแฝดประหลาดคู่นี้ไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวในวังที่บางกอก

การเดินทางในรัตนโกสินทร์ตอนต้นคงทำได้เพียงทางน้ำเป็นหลัก คู่แฝดจากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ได้นั่งเรือที่ทางราชสำนักส่งมารับที่หน้าบ้านเพื่อไปเข้าเฝ้าฯ อินและจันคงดีใจผสมผสานกับกังวลใจว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงมีพระประสงค์เช่นไร แต่ด้วยอายุอานามที่เติบใหญ่มา ชีวิตของเด็กน้อยทั้งสองเคยตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนมาตลอด ผ่านหลายร้อนหลายหนาว จึงมิได้ประหม่าตื่นตกใจมากนัก

มีเกร็ดเรื่องแฝดอิน-จันเข้าเฝ้าฯ เพียงเล็กน้อยที่เล่าขานกันต่อมาว่า สวรรค์ได้ประทานความเฉลียวฉลาดให้เด็กแฝดทั้งสองมาเป็นการชดเชย เขาทั้งสองมิใช่คนพิการ เด็กแฝดคู่นี้ได้หมอบกราบถวายบังคมต่อในหลวง ร.๓ และตอบคำถามพระองค์ที่ทำให้เป็นที่ทรงพระสำราญพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ถูกอกถูกใจผู้คนในวังทุกหมู่เหล่า จึงได้รับพระราชทานของขวัญรางวัลจากในหลวง ร.๓ แบบจุใจ ฝาแฝดขนของพระราชทานกลับมาเต็มลำเรือ มุ่งหน้ากลับสู่บ้านแม่กลอง แฝดคู่นี้กลายเป็นบุคคลที่ระบิลระบือไปทุกสารทิศ มีทุนรอนที่จะทำมาค้าขาย สามารถขยายกิจการเลี้ยงเป็ด ขายไข่ให้นางนาก ด้วยความที่มีสายเลือดจีน อิน-จันมีทักษะในเรื่องการทำมาค้าขายเต็มตัว ทำงานหนัก ขยันตัวเป็นเกลียว เฉกเช่นชาวจีนทั้งหลายที่อพยพมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในสยาม เป็นที่ชื่นชม ทำให้พี่น้องร่วมอุทรมีกินมีใช้ได้ไม่น้อยหน้าใครในละแวกนั้น

ชีวิตของแฝดอิน-จันเปลี่ยนไป พ่อตาย ได้เข้าเฝ้าฯพระเจ้าแผ่นดินในหลวง ร.๓

พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์คงแอบชื่นชมเด็กแฝดน่ารักคู่นี้เช่นกัน จึงประทานโชคชะตาแบบนึกไม่ถึงลงมาให้ฝาแฝดแห่งเมืองสมุทรสงคราม


มีต่อ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มกราคม 2559 14:57:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 มกราคม 2559 15:13:17 »

.


• แฝดอิน-จัน ไม่ได้เป็นกาลกิณีบ้านเมือง

ขอย้อนเหตุการณ์พาท่านผู้อ่านที่เคารพ หันกลับมาฉายภาพแฝดอิน-จัน อายุ ๑๔ ปี จากแม่กลอง จ.สมุทรสาคร กำลังจะได้เข้าเฝ้าฯในหลวง ร.๓ ในพระราชวังที่บางกอก จะเกิดอะไรขึ้น แฝดจากสมุทรสงคราม จะปฏิบัติเช่นไร

ผู้เขียนตั้งใจแน่วแน่จะต้องหาข้อมูลแบบเจาะลึกจากเอกสารโบราณของต่างประเทศให้จงได้ ในที่สุดจึงได้พบหนังสือ An Account of the celebrated Siamese Twins, Chang and Eng. เขียนโดย Thomas W. Strong ที่พิมพ์เป็นหนังสือไว้ในปี ๑๘๕๓ (พ.ศ.๒๓๙๖) เป็นเอกสารที่ถ่ายลงเป็นสื่อดิจิตอล ที่ผู้เขียนขอแปลและเรียบเรียงมาในเหตุการณ์ที่แฝดอิน-จันเข้าเฝ้าฯในหลวง ร.๓ ไว้อย่างน่าตื่นเต้น ความว่า

วังของพระเจ้าแผ่นดินสยามอยู่ที่กรุงเทพฯ เมืองที่โดดเด่นด้วยวัดในศาสนาพุทธ ยอดเจดีย์สีทองหลายแห่งเปล่งแสงระยิบระยับ สลับกันกับกระต๊อบชาวเมืองที่เรียงรายตามแม่น้ำ ต้นมะพร้าว ต้นไม้ที่เป็นไม้ผลหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีแพจำนวนมากทำด้วยลำไม้ไผ่ที่ใช้เป็นที่อาศัยเหมือนบ้านลอยอยู่สองฝั่งแม่น้ำ ชาวจีนใช้เรือเล็กพายขายของไปมาให้กับเรือสินค้าขนาดใหญ่จากเมืองจีนที่จอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำ มีเรือเล็ก เรือใหญ่ หลากหลายขวักไขว่ไปมาในแม่น้ำ (แม่น้ำเจ้าพระยา : ผู้เขียน) การเดินทางด้วยเรือเป็นวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯ แทบไม่มีถนนให้ผู้คนได้ใช้ มีเพียงทางเดินเท้าในชุมชน

ข้อความข้างบนนี้น่าจะเป็นการพรรณนาภาพที่ไม่ผิดไปจากความจริง เป็นภาพที่ฝาแฝดตัวติดกันจากแม่กลอง ประสบเมื่อล่องเรือเข้ามาบางกอกเพื่อเข้าเฝ้าฯในหลวงครั้งแรกในชีวิต

นายสตรองได้บันทึกเล่าต่อไปว่า

เจ้าหน้าที่จากในพระราชวังได้จัดการนำฝาแฝดจากสมุทรสงคราม ล่องเรือเข้ามากรุงเทพฯ โดยจะไม่ยินยอมเปิดเผยหน้าตาฝาแฝดให้ใครได้เห็นตัวเป็นๆ ก่อนเป็นอันขาด พระเจ้าแผ่นดินจะทอดพระเนตรก่อนเท่านั้น

แฝดอิน-จันมาพักคอยในกรุงเทพฯราว ๒๔ ชั่วโมงด้วยความกระวนกระวายใจ หลังจากนั้นเดินทางต่อด้วยเรืออีกหน่อย จนเรือไปเทียบท่าที่พระราชวัง คณะจากแม่กลองเดินผ่านซุ้มประตูวังที่กว้างใหญ่ชั้นที่ ๑ ทะลุไปสู่กำแพงวังชั้นที่ ๒

ประตูวังชั้นที่ ๒ มีทหารยามแต่งตัวสง่างาม ต่อด้วยทางเดินทอดยาวมีหลังคา ทั้ง ๒ ข้างทางมีปืนใหญ่ขนาดต่างๆ เรียงราย มีศาลาเป็นสถานที่ออกตัดสินคดีความ มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นช้าง ๑๐-๑๒ ตัวพร้อมควาญช้างกำลังทำงาน

ผ่านมาถึงประตูวังชั้นที่ ๓ คณะของแฝดสยามทุกคนต้องถอดรองเท้า เดินผ่านเข้าไปมองเห็นยอดอาคารเป็นโลหะทรงแหลมทำด้วยวัสดุแวววาวระยิบ เดินเลยมาถึงห้องโถงใหญ่สำหรับเข้าเฝ้าฯ ห้องมีขนาดใหญ่พอที่จะให้ข้าราชบริพารได้เข้าเฝ้าฯ โดยผู้เข้าเฝ้าฯ จะนั่งรายทางตามลาดพระบาทไปจนถึงแท่นพระราชอาสน์

ผนังห้องและเพดานเป็นสีแดงสด ตัดขอบด้วยโลหะสีทองขัดเงา พระราชอาสน์สูงราว ๑๕ ฟุต (ความสูงตรงนี้น่าจะไม่ถูกต้อง : ผู้เขียน) หุ้มด้วยแผ่นทองคำแวววาว มีพระวิสูตร (ม่าน) ที่ทำด้วยแผ่นใยทองบางๆ มีพระมหาเศวตฉัตรขนาดต่างๆ ลดหลั่นกันลงมาหลายชั้น เหนือพระราชอาสน์

ข้อความข้างบนนี้ ผู้เขียนพยายามแปลและเรียบเรียงด้วยความระมัดระวัง จากเอกสารเก่าของ มร.สตรองที่บันทึกไว้เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว เป็นการพรรณนาถึงพระราชวังในกรุงเทพฯ ที่แฝดอิน-จันได้มาเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.๓ ผู้เขียนเชื่อว่าชาวต่างชาติคนนี้มิได้มาเข้าเฝ้าฯ ด้วย แต่อาจจะได้รับการบอกเล่าถ่ายทอดจากอิน-จัน ตอนไปอยู่อเมริกาแล้ว

การพรรณนาแบบ ๓ มิตินี้ทำให้คนไทยรุ่นหลังได้ทราบ เหมือนเดินเข้าไปในพระราชวังพร้อมกับแฝดอิน-จัน ในวันนั้นเลยทีเดียว

แฝดหนุ่มตัวติดกันคลานช้าๆ เข้าไปโดยมีมหาดเล็กเคียงคู่ไปด้วย เมื่อถึงจุดที่กำหนดจึงนั่งคุกเข่าถวายบังคม ๙ ครั้งต่อในหลวง ร.๓ โดยยกมือประนมเหนือศีรษะ โน้มกายที่ติดกันลงพร้อมกันอย่างพร้อมเพรียง ทุกครั้งก้มลงจนหน้าผากจรดพื้น

ต่อหน้าพระพักตร์ในหลวง ร.๓ เด็กหนุ่มตัวติดกันปฏิบัติได้อย่างราบรื่น เพราะได้ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี การคลานเข้าไปพร้อมกัน หมอบลงตรงแทบพระบาทของพระองค์ การปฏิบัติทุกขั้นตอนเป็นไปประหนึ่งคนคนเดียว

มร.สตรองพรรณนาต่อไปว่า ณ นาทีนั้นดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพอพระราชหฤทัยแฝดหนุ่มทั้งสอง มีขุนนางท่านหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามฝาแฝดต่อหน้าพระพักตร์ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ครอบครัว การประกอบอาชีพ ซึ่งแฝดจากแม่กลองตอบคำถามอย่างฉาดฉาน ข้าราชบริพารทั้งหลายที่หมอบกราบอยู่ได้ยินได้ฟังต่างประทับใจยิ่งนัก

การพูดคุย ตอบคำถาม ดำเนินไปพักใหญ่ ทันใดนั้นเสียงกลองรัวขึ้นดังกระหึ่ม ตามด้วยเสียงถวายพระพรของข้าราชบริพาร มหาดเล็กปิดพระวิสูตร (ม่าน) หมายถึงการเข้าเฝ้าฯ ยุติลง

หลังจากนั้น ผู้ร่วมเข้าเฝ้าฯ ที่หมอบกราบก้มหน้าอยู่ ข้าราชบริพารทั้งหลายก็กรูกันเข้ามาประชิดตัวแฝดอิน-จัน พูดคุย สอบถามหยอกล้อกันไปมาเป็นที่สนุกสนาน มีคำถามมากมายพรั่งพรูแบบที่เด็กหนุ่มอิน-จันตั้งตัวไม่ติด ทุกคนขอจับเนื้อต้องตัวฝาแฝด ชาววังทั้งหลายต่างขอดูส่วนเนื้อหนังมังสาบริเวณหน้าอกที่เชื่อมตัวติดกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยไมตรีจิตซึ่งกันและกัน

ผู้เขียนคิดว่า ถ้าเป็นสมัยนี้ผู้คนตรงนั้นคงขอเซลฟี่กันอุตลุด

การได้มาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในพระบรมหาราชวัง ในบางกอก ได้พบปะพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในครั้งนั้น เท่ากับเป็นการพิสูจน์ตัวตนของความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่อาจแตกต่างเพียงกายภาพ แต่ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ หาได้วิปริตไม่ อีกทั้งตอบโจทย์ได้ว่า เค้าทั้งสองมิได้เป็นกาลกิณีตามที่ผู้คนพยายามยัดเยียดให้

ก่อนเดินทางกลับแม่กลอง เด็กแฝดได้รับอนุญาตให้เดินชมพระบรมหาราชวังที่ประทับต่ออีกหน่อย ได้พบเห็นช้างเผือกที่นำมาเลี้ยงในวัง ม้าจากต่างประเทศที่ใช้ในพระราชพิธี แลเห็นผนังในพระราชวังบางส่วนมีภาพวาดรามเกียรติ์ พระพุทธรูปทองคำหลายองค์ และยังได้ชมพระพุทธรูปที่เป็นมรกตที่มีความสูงราว ๑๘ นิ้ว (ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระแก้วมรกต : ผู้เขียน)

ผู้เขียนต้องเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพว่า การค้นพบต้นฉบับภาษาอังกฤษในเอกสารเก่าจากอินเตอร์เน็ตแล้วสามารถดาวน์โหลดเอกสารออกมาได้ตรงนี้ นับว่าเป็นความปลื้มใจที่สุด เพราะเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่แฝดสยามอิน-จัน ได้ประสบครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตก่อนจากแผ่นดินสยามไปชั่วชีวิต ตัวหนังสือที่เรียบเรียงออกมาเป็นการถ่ายทอดจากชาวต่างชาติที่ไม่เกินเลยความจริง เก็บรายละเอียดได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะพระราชประเพณีและการปฏิบัติต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่ไม่ง่ายนักที่จะได้รับทราบเช่นนี้

แฝดหนุ่มจากเมืองไกลคู่นี้ก็คงไม่นึกไม่ฝันมาก่อนที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด เป็นความมหัศจรรย์ เป็นมงคลแห่งโชคชะตาที่ต้องสำนึกไปจนชั่วชีวิต

คณะของอิน-จันออกจากพระราชวังเปี่ยมล้นด้วยความเป็นสิริมงคลของชีวิต มุ่งหน้าล่องเรือกลับบ้านที่แม่กลอง พร้อมด้วยข้าวของพระราชทาน ซึ่งส่วนหนึ่งคือต้นทุนที่จะนำไปเป็นทุนทำมาหากิน

แฝดอิน-จันตัดสินใจลงทุนเลี้ยงเป็ด เพื่อขายไข่และนำมาทำเป็นไข่เค็มจำหน่าย ชาวสยามในชุมชนแถวแม่กลองมีปลาอุดมสมบูรณ์ เป็ด ไข่เป็ด และไข่เค็มจึงเป็นสินค้าตัวใหม่ที่ไปได้สวย เลี้ยงไปเลี้ยงมากิจการเลี้ยงเป็ดเติบใหญ่ กำไรงาม แม่ของเด็กแฝดและพี่น้องของแฝดจึงกลายเป็นผู้มีอันจะกิน มีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นสองรองใครอีกต่อไป เป็นที่กล่าวขานกันว่า แฝดทั้งสองเป็นคนหนักเอาเบาสู้ ขยันทำมาหากินแบบลูกจีนทั้งหลาย จึงตั้งตัวได้อย่างมั่นคงในเวลาไม่นาน

การเลี้ยงเป็ดก่อให้เกิดทักษะในการเลี้ยงสัตว์ เกิดความรักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ แฝดหนุ่มเลี้ยงหนู เลี้ยงนก มีพรสวรรค์สอนสัตว์ให้ทำท่าทางต่างๆ ได้ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น และพรสวรรค์นี้แหละที่แฝดคู่นี้นำติดตัวไปอเมริกา ทำให้แฝดสยามมีเสน่ห์อันยิ่งใหญ่

ผู้เขียนขอหักเหอารมณ์ท่านผู้อ่าน วนออกไปชำเลืองมองสภาวะอันน่าตื่นตาตื่นใจเมืองบางกอก ในยุคในหลวง ร.๓ หน่อยครับ

เมืองกรุงเทพฯ ในสมัยในหลวง ร.๓ คึกคักค้าขายกับทุกชาติที่แล่นเรือสำเภาเข้ามา จีน อินเดีย ฝรั่งตะวันตก พ่อค้าวาณิชทั้งหลายบันทึกเรื่องราวของกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่อุดมด้วยทองคำ วัดวาอาราม มีเจดีย์สูงใหญ่สีทองสูงเสียดฟ้า มีสินค้ามากมายเกินบรรยาย

โดยเฉพาะชนชาติจากตะวันตกที่ชาวสยามเรียกว่าฝรั่ง ที่เป็นมหาอำนาจทางทะเล แล่นเรือไปมาค้าขาย ล้วนจ้องมองสยามตาเป็นมัน เพื่อจะขอเข้ามาทำสัญญาค้าขาย ผูกไมตรี

ความรุ่งเรืองของการค้าต่างประเทศฟูเฟื่องจนทำให้ในหลวง ร.๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างเรือสำเภาจีนที่วัดยานนาวา ก็เพราะพระองค์เห็นว่าแต่ก่อนมาก็ใช้เรือสำเภาค้าขายไปมากับต่างประเทศเป็นพื้น ครั้นต่อมาเมื่อเกิดความนิยมใช้เรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งขึ้นในเวลานั้น พระองค์จึงทรงพยากรณ์ไว้ว่าในอนาคตเรือสำเภาจะสูญไปในที่สุด

เมื่อได้สร้างเรือสำเภาสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดใหม่เป็น "วัดยานนาวา"

เรือสำเภาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนี้ มีขนาดเท่าเรือสำเภาจริง โดยคำว่า ยานนาวา มีความหมาย คือ วัดที่มีพาหนะดุจสำเภาในการที่จะนำเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นโอฆสงสาร

ชีวิตสุดแสนพิสดารของแฝดสยามอิน-จัน มีความเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติที่ฟ้าลิขิตให้มาพลิกชีวิตของหนุ่มแม่กลองแบบที่ท่านผู้อ่านจะคาดเดาไม่ถูก

นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ที่สวรรค์ส่งมาเกิดในแผ่นดินอังกฤษแต่ดันมารุ่งเรืองเฟื่องฟูเก่งฉกาจในเรื่องพาณิชย์นาวี นายคนนี้แล่นเรือไปมาค้าขายระดับโลก นำสินค้าจากยุโรปมาแลกเปลี่ยนค้าขายในอินเดีย เกาะชวา รวมทั้งบางกอก

วันหนึ่งในสมัยในหลวง ร.๓ นายฮันเตอร์แกลงทุนซื้อปืนแก๊ป ที่เรียกว่า มัสเก็ต (Musket) คาบศิลาเอี่ยมอ่องจากอินเดียบรรทุกใส่เรือสำเภา ตรงเข้าสู่บางกอก หาทางติดต่อกับบรรดาพ่อค้าชาวต่างชาติที่ทำมาหากินอยู่ในสยามมาก่อน ในที่สุดนายฮันเตอร์ก็สามารถหาช่องทางขอเข้าเยี่ยมคารวะต่อเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหมของสยามประเทศได้สำเร็จ

นายฮันเตอร์ ผู้ปราดเปรื่องว่องไวได้ขอมอบปืนมัสเก็ตคาบศิลา ผ่านเจ้าพระยาพระคลัง ขึ้นไปถวายในหลวง ร.๓ ซึ่งในขณะนั้นสยามกำลังมีการศึกสงครามกับหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือและสยามกำลังรบติดพันกับญวนอีกต่างหาก ปืนคาบศิลาที่เป็นเขี้ยวเล็บใหม่ของสยามจึงเป็นที่ถูกพระทัยยิ่งนัก แม่ทัพนายกองของสยามตื่นเต้นไม่น้อย รีบนำปืนคาบศิลาอันทรงอานุภาพทาสีแดงที่รางปืนเป็นเครื่องหมายให้เห็นเด่นชัด (อันเป็นที่มาของคำว่า ปืนรางแดง) ทหารของสยามรีบนำปืนรางแดงชุดนี้มาฝึกหัดยิงให้ชำนาญก่อนนำเข้าสู่สมรภูมิ

จากจุดนี้ นายฮันเตอร์ ผู้มาใหม่กลายเป็นพ่อค้าคนสำคัญในบางกอกไปซะแล้ว และพ่อค้านายนี้แหละที่ต่อมาคือคนที่พลิกชีวิตของแฝดอิน-จัน ที่ทำให้ความคิดของคนในโลกนี้เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนกลับ



มีต่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มกราคม 2559 15:17:52 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 13 มกราคม 2559 13:20:48 »

.


• นายหันแตร เซเลบตัวพ่อแห่งสยาม

ฝรั่งมังค่าทั้งหลายที่เข้ามาทำงานในสยามในยุคโน้นโดนผันชื่อการออกเสียงไปหมด เช่น คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวสยามเรียกว่า "กาสตัน" หรือเอ็ดมันด์ โรเบิร์ต เราเรียกว่า "เอมินราบัด" นายจอห์น ครอฟอร์ด ชาวสยามสะดวกที่จะเรียกว่า "นายการะฟัด" นายแอนโตนิโอ วีเซน เรียกเป็น "องคนวีเสน" ซึ่งก็เป็นการเรียกชื่อที่ง่ายๆ และน่ารักน่าชังไม่น้อย

ในขณะที่ผู้เขียนออกนอกเรื่องไปเล่าถึงนายฮันเตอร์   ฝาแฝดอิน-จันในขณะนั้นกลับไปลงทุนเลี้ยงเป็ดที่แม่กลอง หลังจากได้เข้าเฝ้าฯ ร.๓ แล้ว ที่พรรณนาถึงชาวต่างประเทศในบางกอกเพราะต้องการให้เห็นบุคลิกภาพของพ่อค้าฝรั่งที่มีการทำงานที่ถึงลูกถึงคน ไม่แพ้พ่อค้าชาติอื่นๆ

ใน พ.ศ.๒๓๖๘ เจ้าพระยาพระคลังแบ่งที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนเหนือถนนสะพานฉนวน หน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ให้นายหันแตรสร้างตึก ๒ ชั้น ๓ หลัง ใช้เป็นโกดัง เป็นห้างสรรพสินค้า เป็นที่พักอาศัย เรียกว่าบริติช แฟคทอรี่ (British Factory) เปิดทำการไม่นานก็ดังกระหึ่มบางกอก เพราะเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม มีสินค้าแปลกใหม่ ตื่นตา ตื่นใจ ชาวต่างประเทศในบางกอกแห่กันมาดู มาเที่ยว มาพบปะชุมนุม สรวลเสเฮฮาที่บริติช แฟคทอรี่ เหมือนเป็นเมืองของชาวตะวันตกขนาดย่อม ฝรั่งที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามก็จะต้องมาพักอยู่ที่นี่ จนมีชื่อเรียกกันอีกแบบว่า ตึกฝรั่ง

ผู้เขียนเลยพลอยนึกถึงถนนวิทยุใน กทม.ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายๆ ประเทศที่มักจะอยู่ใกล้กัน แต่บางประเทศก็จะจัดให้สถานทูตของประเทศต่างๆ อยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด เช่น ในนิวเดลีของอินเดีย และอีกหลายประเทศ

นายหันแตรเป็นพ่อค้าแบบครบเครื่อง อยู่ไม่นานก็พูดภาษาไทยได้ มีความคุ้นเคยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสำนัก การค้าขายเติบโตแบบก้าวกระโดด นำสินค้ามาจากอังกฤษ เน้นเครื่องใช้ในสำนักงาน ถ้วยชาม ของใช้ในเรือ ผ้าฝรั่ง ผ้าแขก ยาฝรั่ง ยาควินิน นำเครื่องถ้วยที่คนไทยเรียกว่า "เครื่องถ้วยฝรั่งกังไส" ซึ่งฝรั่งอังกฤษ ฝรั่งฮอลแลนด์ลอกเลียนแบบจากเครื่องถ้วยจีนไปผลิตเองในยุโรป นายหันแตรใจถึงพึ่งได้ นำเข้ามาวางจำหน่ายในบางกอกเป็นเจ้าแรก ไม่นานนักก็เป็นเศรษฐีแห่งบางกอก นายหันแตรแล่นเรือสินค้าไปมาระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งยุโรป และได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนดินดำอีกหลายชนิดมามอบ มาขายให้สยาม ในที่สุดจากความดีความชอบทั้งหลาย นายหันแตรจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จาก ร.๓ เป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช ผู้เขียนไปค้นเพิ่มเติมจากเอกสารของอังกฤษว่า บรรดาศักดิ์ดังกล่าวตรงกับคำว่า Marquis of Extraordinary Arms

ใครจะเรียกชื่อตึกนี้ว่ากระไรก็ตาม ชาวสยามขอเรียกชื่อตึกนี้แบบสะดวกปากว่า ตึกหันแตร บ้างก็เรียกว่าตึกฝรั่ง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยครับ

มีบันทึกต่อมาว่านายหันแตร ชาวอังกฤษ ได้พบรักกับทายาทรุ่นที่ ๔ ของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ชาวกรีกที่เข้ามารับราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา) ชื่อ แองเจลิน่า ทรัพย์ (Angelina Sap) ที่แสนสวย ชาวสยามเรียกเธอว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ หรือแหม่มทรัพย์ ซึ่งต่อมาเธอผู้นี้แหละที่กลายเป็นผู้นำชุมชนกะดีจีน หรือกุฎีจีน นายฮันเตอร์กับแหม่มทรัพย์มีลูกด้วยกันหลายคน คนโตเป็นผู้ชายตั้งชื่อว่าโรเบิรต์ ฮันเตอร์ (ในธรรมเนียมชาวตะวันตกชื่อลูกซ้ำกับชื่อพ่อได้ แต่อาจจะเพิ่มคำว่าจูเนียร์หรือเติมคำว่าที่สองต่อท้าย) ลูกคนนี้ส่งกลับไปเรียนที่อังกฤษแล้วกลับมาสยาม ทำงานเป็นล่ามให้สมุหพระกลาโหม

ผู้เขียนโชคดีที่ไปพบข้อมูลเรื่อง An Early British Merchant in Bangkok ที่บันทึกบทบาทของนายฮันเตอร์ไว้อย่างละเอียดแบบตรงไปตรงมาครับ ความว่า :

นายฮันเตอร์เดินทางเข้ามาถึงบางกอกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗ ยังไม่ลงหลักปักฐานซะทีเดียว แล่นเรือค้าขายเส้นทางสิงคโปร์ กลันตัน ตรังกานู และปัตตานี เมื่อตัดสินใจจะทำการค้ากับบางกอก จึงไปจัดหาปืนมัสเก็ต (Musket) จำนวน ๑ พันกระบอก เพื่อมามอบให้รัฐบาลสยามซึ่งกำลังติดพันการรบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เรื่องที่ดินของคนต่างชาติในบางกอก เคยมีเรื่องต้องผิดใจกันมาแล้ว เช่น กรณีนายคาลอส ดา ซิลวา (Carlos da Silva) กงสุลโปรตุเกสที่อยู่มานาน และในที่สุดเกิดการอ้างว่า ร.๒ พระราชทานที่ดินให้

กรณีของพ่อค้าอังกฤษคนนี้เลยต้องมีสัญญาเช่าตึก ๒ ชั้น ๓ หลังที่สร้างเสร็จ ฝรั่งกันเองยังเรียก ห้างหันแตร (Hang Huntraa) เปิดทำการในเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๓๖๗

นายหันแตรมีเรือบรรทุกสินค้าของตัวเอง ๔ ลำ ในขณะที่สยามมีเรือสินค้าแล่นไปมา ๒ ลำ ชื่อเรือ Buddha Ummarth และ Riddhi (สะกดตามบันทึกของอังกฤษ : ผู้เขียน)

สินค้าที่น่าตื่นเต้นคือเครื่องแก้วเจียระไน กระจก ของใช้หรูหราจากยุโรป ชาวต่างชาติและชาวสยามที่มีกะตังค์ทั้งหลายแห่กันมาช้อปปิ้งที่ตึกหันแตร รัฐบาลอังกฤษภูมิใจและสนับสนุนพ่อค้าคนนี้ ที่สามารถเปิดตลาดการค้า เปิดห้างสรรพสินค้าได้เป็นรายแรกในสยาม อังกฤษเห็นว่าการค้ากับสยามเติบใหญ่ไปได้สวย จึงส่งกัปตันเฮนรี่ เบอร์นีย์ (Captain Henry Burney) ตามเข้ามาทำสัญญาการค้ากับสยามซ้ำเข้าไปอีก ธุรกิจนายหันแตรยิ่งขยายตัวเป็นทวีคูณ

นายหันแตรหลงใหลได้ปลื้มการค้ากับกรุงสยามอยู่นานโข นานไปเริ่มจะกร่างเกินขนาด วางอำนาจบาตรใหญ่เพราะถือว่ารัฐบาลอังกฤษหนุนหลัง จนเลยเถิดถึงขนาดแอบลักลอบนำฝิ่นปะปนสินค้าเข้ามาขายในสยาม และมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ในที่สุดนายหันแตรต้องถูกรัฐบาลสยามขับออกนอกประเทศ

อังกฤษบันทึกว่า ฮันเตอร์ต้องออกนอกสยามประเทศไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๓๘๗ หลังจากทำการค้าและพักพิงในสยามนาน ๒๐ ปี

ระหว่างนายหันแตรอยู่ในเมืองสยาม ถือว่าเป็นผู้มีชื่อเสียง มีหน้ามีตา ประการสำคัญคือมีสตางค์เยอะ เป็นคนสำคัญในสยาม ซอกแซกเดินทางไปทั่วเพื่อขยายธุรกิจและเรียนรู้ ใช้ชีวิตอย่างบรมสุข บุคคลสำคัญที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองที่มาสยามต้องมาพบปะนายหันแตร

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.๒๓๖๗ ในช่วงแรกที่เข้ามาตั้งห้างฯ ในบางกอก ความที่นายหันแตรเป็นคนชอบกีฬา ชอบแล่นเรือ เป็นคนอยู่ไม่สุข เที่ยวตระเวนไปในสยามโดยเฉพาะทางน้ำ พระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้นายหันแตรได้ฟังเรื่องราวที่แสนสนุก ว่า ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งแถบปากน้ำแม่กลอง มีสยามแปลกประหลาดตัวติดกัน ๒คน ๔ แขน ๔ขา ทำมาหากินอยู่แถวนั้น จะไปดูกันหน่อยมั้ย

และแล้ว..วันหนึ่ง พ่อค้าชาวสก๊อตลงเรือจากท่าเรือในบางกอกมุ่งหน้าไปแม่กลอง เพื่อตามหาของแปลกหายากตามคำบอกเล่า ใช้เวลาเดินทางไม่นานนักก็ถึงปากน้ำแม่กลอง ล่องเรือไปเสาะหา ถามผู้คนทั้งหลายในย่านนั้นเรื่องคนแฝด ในย่านนั้นไม่มีใครไม่รู้จักอิน-จัน เรือนายหันแตรเดินทางต่อไปอีกไม่นาน และแล้วสิ่งที่เคลื่อนไหวปรากฏต่อสายตาเจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยามคือเด็กหนุ่ม ๒ คนว่ายน้ำในคลองด้วยความคล่องแคล่วในจังหวะท่วงท่าเหมือนคนคนเดียวกัน เป็นดั่งคำเล่าลือจริงๆ ด้วย

เมื่อแล่นเรือเข้าไปใกล้ นายหันแตรก็พบว่านิทานปรัมปราจากเมืองสมุทรสงครามเป็นของจริง มีมนุษย์ประหลาดตัวติดกันว่ายน้ำให้ได้เห็นต่อหน้ากลางวันแสกๆ

ประกายความคิดเรื่องเงินทองไหลมาเทมา เป็นเรื่องหลักสำหรับสินค้าตัวใหม่จากเอเชียที่จะส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกา ซึ่งในยุคสมัยนั้นการแสดงของประหลาด คนประหลาด สัตว์ประหลาด เป็นการทำมาหากินที่ทำรายได้งามในยุโรปและอเมริกา

ในสยามประเทศก็เช่นกันนะครับ ของแปลกเหล่านี้จะไปปรากฏในงานวัด มีการล้อมเขตด้วยสังกะสี ด้วยผ้า เป็นอาณาเขตย่อยๆ มีป้ายโฆษณาภาพวาดแสดงของประหลาดที่แสนจะเร้าใจแบบไม่ดูไม่ได้ ใครจะเข้าไปดูของประหลาดเหล่านี้ต้องเสียเงินเดินเข้าไป ที่งานวัดภูเขาทองมีมนุษย์ไร้แขน ผู้หญิงมีเครา มนุษย์หน้าขน ไก่ไม่มีหัว เมียงู เมียจระเข้ (ผู้หญิงหน้าตาเบื่อโลกนั่งคู่กับจระเข้ที่สตั๊ฟไว้) งู ๒ หัว ๒ หาง งูที่กระดูกสันหลังคดแล้วมีป้ายบอกว่าเป็นพญานาค มีไก่ ๓ ขา ช้าง ม้า วัว ควาย เอางูเห่ามาทำท่าจะกัดกับพังพอนให้ดู ที่รออยู่นานก็ไม่กัดกัน (เพราะแก่มากแล้ว)

แม้กระทั่งคนที่กายภาพผิดไปจากธรรมชาติก็ถูกนำมาแสดง สิ่งเหล่านี้จะมีคนอยากรู้อยากเห็น ยอมเสียเงินมุดเข้าไปดู ทั้งๆ ที่รู้ว่าเค้าหลอก แถมยังมีการคุยโม้โอ้อวดว่ามีฤทธิ์เดชศักดิ์สิทธิ์นักแล เลยเสียเงินแล้วต้องไปนั่งกราบไหว้อีกต่างหาก เรื่องกราบไหว้บูชาแบบนี้ชาวสยามนำหน้าฝรั่งไปหลายช่วงตัว

ท่านผู้อ่านยังคงจำได้นะครับว่า หลังจากอิน-จันเข้าเฝ้าฯ ร.๓ ที่บางกอกแล้วนั่งเรือกลับบ้านที่แม่กลอง ได้รับพระราชทานทุนรอนมาก้อนหนึ่ง จึงตัดสินใจเลี้ยงเป็ด ขายไข่เป็ด ทำไข่เค็ม และยังคงสู้ชีวิตหาเลี้ยงนางนากผู้เป็นแม่และพี่น้องในครอบครัว โดยอาศัยบ้านริมแม่น้ำแถวแม่กลอง ตอนนั้นแฝดหนุ่มอายุราว ๑๔ ปีเศษ

เรือนายหันแตรตรงเข้าหาแฝดหนุ่มแห่งแม่กลองที่กำลังว่ายน้ำทันที ทักทายด้วยหัวใจพองโตปลาบปลื้ม ขอติดตามฝาแฝดไปถึงบ้านเรือนแพ พบกับนางนากและพี่น้องของอิน-จัน สร้างมิตรภาพแบบงูๆ ปลาๆ คุยกันสนุกครึกครื้น ฟุดฟิดฟอไฟกันสนั่นแพ ซึ่งแฝดอิน-จันก็มองไอ้ฝรั่งคนนี้ว่าเป็นคนประหลาดเช่นกัน มีผมสีทอง ผิวขาว ตัวสูงใหญ่ มีขนตามตัวรุงรัง มันพูดภาษาอะไรไม่รู้เรื่อง


• ต่างคนต่างเจอของแปลก
ตามบันทึกของต่างประเทศ แฝดอิน-จันไว้ผมเปียยาวประมาณ ๔ ฟุต สูงประมาณ ๕ ฟุต ๒นิ้ว อ่าน เขียน พูดภาษาจีนได้ พูดไทยได้

นายฮันเตอร์ได้พบกับ สินค้าทำเงิน หนึ่งเดียวในโลกเข้าแล้ว ลากลับไปบางกอก กลับมาเยี่ยมใหม่ เทียวไล้เที่ยวขื่อ ไปลามาไหว้ ความสนิทสนมของนายฮันเตอร์กับครอบครัวนางนากพัฒนาไปอย่างราบรื่น วันคืนผ่านไป นายฮันเตอร์ไม่ปล่อยคนประหลาดให้หลุดมือหายไปแน่นอน ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ต้องเรียกว่า นายหันแตร "ล็อกเป้า" แฝดสยามแบบกัดไม่ปล่อย จะต้องหาทางเอามนุษย์ประหลาดจากปากน้ำแม่กลองคู่นี้ไปยุโรปบ้านเกิด และไปอเมริกาให้จงได้ เงินจะไหลนอง ทองจะไหลมาแน่นอน


มีต่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 มกราคม 2559 13:22:49 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 15 มกราคม 2559 16:47:35 »

.


• ฟ้าลิขิตเด็กแฝดจากแม่กลองต้องไปอเมริกา

นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) ที่ชาวสยามเรียกสะดวกปากว่านายหันแตร พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เจ้าของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ๔ ลำที่กล้าหาญชาญชัยมาเปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกบนแผ่นดินสยาม ที่บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ทอดสะพานปรับทุกข์ผูกมิตรกับนางนากและครอบครัวของแฝดอิน-จัน มานานโข รอเวลาให้แฝดประหลาดคู่นี้มีอายุถึง ๑๘ ปี

หันแตรไปมาหาสู่จนสนิทสนมกับทุกคนในครอบครัวอิน-จัน หัวข้อที่พูดคุยกันคือ ลอนดอนเปรียบได้กับศูนย์กลางของโลก

หันแตรรอคอยด้วยความอดทน ใช้ความรอบคอบสุขุม ไม่บุ่มบ่าม จะกินอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ แฝดหนุ่มเพิ่งนมแตกพาน อายุ ๑๔ เศษๆ ยังไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนกัน น่าจะรอให้สนิทสนมกันอีกสักหน่อย ถ้าจะพาไปทำมาหากินในยุโรป ควรต้องอายุ ๑๘ ปี จึงจะงามพร้อมสรรพ

ผู้อ่านที่เคารพหลายท่านฝากให้ผู้เขียนพรรณนาถึงรูปร่างหน้าตาของแฝดสยามที่ออกไปสร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกพร้อมทั้งหาภาพที่เชื่อถือได้มาให้ยลโฉมกันหน่อย...ยินดีจัดให้ครับข้อมูลจากเอกสารห้องสมุดในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่รวบรวมเรื่องราวคนประหลาดจากสยามบรรยายไว้อย่างน่าตื่นเต้นดังนี้ครับ

รูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า หน้า และทรงผมของแฝดอิน-จัน

พระเจ้าประทานพรอันเป็นมงคลสูงสุดให้แก่แฝดอิน-จันสยาม เพราะว่าในโลกนี้มีแฝดตัวติดกัน หัวติดกัน ตูดติดกันอีกหลายคู่ แต่แฝดเหล่านั้นทั้งหมดเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย มีชีวิตแบบประคองกันไปอยู่เพื่อรอวันตาย ไม่โลดโผนพิสดี้พิสดาร ไม่มีตำนานเล่าขานระดับโลกเหมือนกับแฝดสยามจากปากน้ำแม่กลองคู่นี้

อิน-จันมีก้อนเนื้อรูปทรงเหมือนกระบอกข้าวหลามยาวประมาณ ๓.๕ นิ้ว (ช่วงแรกเกิด) เชื่อมตัวติดกันบริเวณหน้าอก สุขภาพดี แข็งแรง สมบูรณ์ ร่าเริงแจ่มใสเบิกบานมาโดยตลอด ด้วยความที่นายตีอายผู้เป็นพ่อมีเชื้อสายจีน แม่ชื่อนางนาก ก็มีสายโลหิตจีนส่วนหนึ่ง จึงทำให้หน้าตาท่าทางแฝดคู่นี้ออกไปทางลูกจีน จนชาวบ้านแถวนั้นบางคนชอบเรียกว่าแฝดจีน

ข้อมูลทางวิชาการแพทย์ที่นำมาบอกกล่าวแบบง่ายๆ ครับ
แฝดตัวติดกัน (Co joined Twins) คือแฝดร่วมไข่ซึ่งมีร่างกายติดกันแต่กำเนิด มีโอกาสเกิดประมาณ ๑ ใน ๕๐,๐๐๐ คน ถึง ๑ ใน ๒๐๐,๐๐๐ คน ประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ตอนคลอด ส่วนที่รอดมาได้ก็จะมีความผิดปกติทางร่างกาย แฝดตัวติดกันร้อยละ ๗๐-๗๕ จะเป็นผู้หญิง

แฝดอิน-จันเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่หาได้ยากมากสำหรับแพทย์ในยุโรปและอเมริกายุคก่อน พ.ศ.๒๔๑๗ ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษแทบทุกสำนักจะมีคำว่า Siamese Twins ปรากฏอยู่ โดยมีคำอธิบายทำนองว่า เป็นแฝดที่ตัวติดกันแต่กำเนิดทุกชนิด ไม่ว่าอวัยวะส่วนใดของร่างกายก็ตาม

ผู้เขียนพบข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก รพ.พระเจ้าตากสินมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร บางส่วนจึงขอนำมาถ่ายทอด ความว่า
แฝดสยาม (Siamese Twins) แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
   ๑.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณส่วนกลางของร่างกาย เช่น หน้าอก ท้อง
   ๒.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณเชิงกราน
   ๓.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณส่วนล่าง เช่น ก้นกบ สะโพก
   ๔.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณส่วนบน เช่น ศีรษะ

ประเภทที่ ๑ พบมากที่สุด และประเภทที่ ๔ พบน้อยที่สุด

นายตีอายและนางนากเลี้ยงดูป้อนข้าวป้อนน้ำแฝดน้อยตั้งแต่เกิด เค้าทั้งสองก็เหมือนกับเด็กทั่วไปแถวหมู่บ้าน เดิน นั่ง นอน ยืน กินข้าว อาบน้ำ สนุกสนาน ก็ทำได้แบบสอดประสานเหมือนคนคนเดียว

ที่โดดเด่นที่สุดสำหรับแฝดคู่นี้คือ การไว้ผมเปียหางยาวแบบลูกจีน หรือแม้กระทั่งเด็กสยามสมัยก่อน ไปถึงอเมริกาเดินทางต่อไปในยุโรปก็ยังคงเอกลักษณ์ไว้ผมเปีย ที่เท่สุดขอบฟ้าสยาม

บ้านเกิดของแฝดที่มีพี่น้องรวม ๙ คน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แฝดคู่นี้เลยว่ายน้ำเก่งเหมือนลูกแม่น้ำทั้งหลาย เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่โตเต็มที่ อินสูง ๕ ฟุต ๒ นิ้ว และจันสูง ๕ ฟุต ๑ นิ้ว (แพทย์ชาวอเมริกันบันทึกไว้ในรายงานทางการแพทย์เมื่อไปถึงอเมริกา)

ในขณะที่คู่แฝดนอนหลับ ไม่มีท่าทางอะไรที่พิสดาร ถึงแม้ตัวติดกัน ก็จัดท่าทางการนอนให้ลงตัวได้เป็นอิสระจากกัน แต่ก้อนเนื้อที่เชื่อมหน้าอกที่ยาว ๓.๕ นิ้ว เลยทำให้แฝดต้องนอนหันหน้าชนกัน ทั้งสองคนเป็นคนนอนง่าย นอนหลับสนิท และจะตื่นนอนในเวลาใกล้เคียงกันเสมอ

ในขณะที่ผู้คนทั้งหลายนึกคิดว่า ไอ้เด็กตัวติดกันคู่นี้น่าจะกระโดกกระเดก เงอะงะ งุ่มง่าม แต่ในทางตรงข้าม เด็กน้อยที่น่ารักน่าชังคู่นี้กลับเป็นนักวิ่งแข่งฝีเท้าเยี่ยมที่เรานึกไม่ถึง วิ่งแข่งกับเพื่อนเด็กในหมู่บ้านทีไรไม่เคยแพ้ใคร แถมยังท้าว่ายน้ำแข่งกับผู้คนได้ทุกโอกาส

ถ้าจะว่าไปแล้วแฝดอิน-จัน เปรียบได้กับเครื่องยนต์ ๒ แรงม้า ย่อมมีกำลังเหนือกว่าเครื่องยนต์ ๑ แรงม้าแน่นอน

ในเรื่องชีวิตประจำวัน ทั้งคู่ชอบกินอาหารเหมือนๆ กัน กินอาหารได้มาก แปลว่ากินจุ

ข้อมูลเบ็ดเตล็ดที่หาได้ยากครับ ผู้เขียนถอดความเรียบเรียงมาจากหนังสือเก่ามากเรื่อง Siamese Twins, Chang and Eng โดย Thomas W. Strong ที่เรียบเรียงไว้ในอเมริกาเมื่อราว ๒๐๐ ปีที่แล้ว และมีข้อมูลทางการแพทย์อีกหลายตอนที่แพทย์ในอเมริกาและคณะแพทย์ในอังกฤษศึกษาค้นคว้าด้วยการทดลองเอาเข็มจิ้มเอายาให้กินเอาเหล้าให้กินสารพัดหมอทั้งหลายกระเหี้ยนกระหือรือ

ขอเก็บเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ในขณะข้อมูลในไทยหาไม่ได้เลย

ท่านผู้อ่านที่เคารพหลายท่านคงอยากที่จะรู้ว่า ไอ้คนตัวติดกันคู่นี้ เค้ากิน นอน โลภ โกรธ หลง หัวเราะ ร้องไห้ ร่วมกันยังไง อินกับจัน

คุยกันมั้ย ถ้าคุยกัน คุยเรื่องอะไร เคยยืมเงินกันมั้ย เคยโกรธกันมั้ย เค้าจีบสาวกันยังไง ไปเข้าห้องน้ำพร้อมกันมั้ย ตอนเรียนภาษาจีนเค้าถามกันมั้ย เรื่องแบบนี้น่าสนใจครับ

ผู้เขียนเองก็พยายามที่จะค้นมาเล่าสู่กันฟังให้มากที่สุดครับ ส่วนผู้เขียนเองก็อยากทราบเหมือนกันว่า ถ้าเราเอานิ้วไปแหย่จั๊กจี้ที่เอวอิน แล้วจันจะหัวเราะมั้ย?

การทดสอบ ค้นคว้า ทดลองทางการแพทย์ทั้งปวงไปทำกันในต่างประเทศทั้งสิ้นโดยคณะแพทย์ในอังกฤษ อเมริกาครับ การทดลองหลายๆ ครั้งก็ทำเอาแฝดสยามหงุดหงิดรำคาญเช่นกัน ซึ่งจะลำเลียงข้อมูลมาให้อ่านกันแบบจุใจตามลำดับ

กลับมาที่ปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงครามครับ

หลังจากเจอแฝดตัวเป็นๆ ที่แม่กลอง นายฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษครุ่นคิดไม่หยุด เทียวไปเทียวมาระหว่างบางกอกกับที่บ้านของอิน-จัน ที่ปากน้ำแม่กลอง หาหนทางที่จะต้องนำแฝดทำเงินจากสยามไปทำเงินในอังกฤษ ในยุโรปและอเมริกาให้จงได้

นายหันแตรใช้ความอุตสาหะ ความเพียร เล่านิทานเรื่องราวในอเมริกา เรื่องยุโรป และเรื่องรายได้เป็นกอบเป็นกำให้นางนากฟังทุกครั้งที่มาพบ เพื่อโน้มน้าวให้นางอนุญาตลูกแฝดไปหาเงินกลับมาสร้างบ้านที่ปากน้ำแม่กลอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สนุกสนานชวนหัวไม่น้อย

ท่านผู้อ่านกรุณาจินตนาการถึงสภาพกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยในหลวง ร.๓ นะครับ ชาวตะวันตกที่เรียกว่าฝรั่ง เข้ามาทำมาค้าขายคึกคักไปหมด ชาวสยามคงมีความฝันที่จะเห็นอเมริกาและยุโรป

อเมริกากำลังสร้างบ้าน สร้างเมืองเป็นมหาอำนาจแข่งกับยุโรป ส่งมิชชันนารีและนายแพทย์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในบางกอก ดูแลรักษาพยาบาลให้กับบุคคลสำคัญในราชสำนัก (ทำงานควบคู่กันไป ชาวสยามเลยเรียกรวมว่าหมอสอนศาสนา) และบุกเบิกงานทางการแพทย์แผนใหม่อย่างได้ผล ชาวสยามให้การยอมรับนับถือการทำงานของแพทย์และมิชชันนารีอเมริกันอย่างออกหน้าออกตา หมอบรัดเลย์ แพทยศาสตร์บัณฑิตจากนิวยอร์ก พร้อมครอบครัว ที่ชาวสยามเรียกว่าปลัดเล เข้ามาผ่าตัดให้พระสงฆ์ที่วัดประยุรฯเป็นครั้งแรกในสยาม ปลัดเลตั้งโรงพิมพ์ พิมพ์เอกสารให้ราชการเป็นครั้งแรกก่อนใคร ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ให้ชาวสยามและชาวต่างประเทศได้อ่านกันเป็นครั้งแรกก่อนเพื่อน และสร้างสรรค์หลายเรื่องให้กับแผ่นดินสยาม

สหรัฐในขณะนั้นไม่มีท่าทีคุกคามที่จะแย่งยึดครอบครองดินแดนของสยามในลักษณะอาณานิคมแต่ประการใด ตรงกันข้ามกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในลัทธินักล่าอาณานิคม

นายหันแตรพ่อค้าชาวอังกฤษต้องการเอาตัวแฝดหนุ่มไปทำมาหากินให้ได้ อดทนคอยมา ๓ ปีเศษ เพื่อความชัวร์เลยต้องไปพึ่งบริการจากกัปตันคอฟฟิน ชาวอเมริกัน

ตัวละครอีก ๑ ที่สวรรค์ส่งเขาลงมาล้อเล่น แบบหมาหยอกไก่กับโชคชะตาของแฝดสยาม

กัปตันเอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) ชาวอเมริกันผู้กว้างขวาง นักเดินเรือระดับโลกที่ไปมา ๗ คาบสมุทร เห็นดีเห็นงามไปกับนายฮันเตอร์ที่จะต้องเกลี้ยกล่อมทุกฝ่ายให้เห็นชอบนำตัวแฝดคู่นี้ไปอเมริกาให้จงได้ โอกาสทองกำลังรออยู่ในอเมริกา โดยกัปตันคอฟฟินรับอาสาจะคุยกับผู้ใหญ่ในบางกอก เรียกแบบสมัยนิยมก็ต้องเรียกว่ากัปตันคอฟฟิน จะไปเคลียร์กับทางราชการในประเด็นข้อกฎหมายของสยามให้สะดวกโล่งทั้งหมด และนายฮันเตอร์ต้องไปเคลียร์กับนางนากเอง

ฝรั่งทั้งสองคนวางแผนว่าจะนำแฝดประหลาดจากสยามไปทำธุรกิจแสดงตัวเก็บเงินในอเมริกาสัก ๓ ปี ดีดลูกคิดไปมาแล้ว ค่ากินอยู่หลับนอน เฮ้ย.. ยังไงก็ได้กำไรแน่นอน สินค้าตัวนี้โดนแน่ๆ พาไปอเมริกาเที่ยวนี้รวยลูกเดียว

๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๗๒ คือวันที่ชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดหนุ่มอายุย่าง ๑๘ ปี จากปากน้ำแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม ตัดใจลาจากนางนากแม่บังเกิดเกล้า อำลาเพื่อนฝูงทั้งหลายในแผ่นดินสยามลงเรือชื่อซาเคม (Sachem) เดินทางข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรเพื่อมุ่งหน้าสู่บอสตัน อเมริกา เด็กหนุ่มทั้งสองที่จะต้องทำฝันให้เป็นจริงให้จงได้

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้บันทึกชัดเจนว่า หัวหน้าคณะมิชชันนารีของอเมริกาในบางกอก ฝากจดหมายไปกับกัปตันคอฟฟิน เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐเร่งจัดส่งมิชชันนารีมาช่วยทำงานเพิ่มในสยามอีก เพราะชาวสยามมีนิสัยใจคอเป็นมิตรที่ดีงาม เอื้อเฟื้อ และจดหมายที่ฝากไปกับอีตาคอฟฟินนี่แหละที่ทำให้มีแพทย์ นักการศึกษา บุคคลสำคัญจากอเมริกาเฮโลกันเข้ามาทำงาน สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน สร้างโบสถ์ วางระบบการศึกษาให้สยามมีพัฒนาการเติบใหญ่ในหลายมิติ

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงต้องเอาใจช่วยอิน-จันกันหน่อยครับ เกิดมาไม่เคยเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรออกทะเลลึก ภาษาอังกฤษคือความมืดทึบ กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์จะไว้ใจได้หรือ ไอ้ฝรั่ง ๒ คนนี้มันจะเอาคนประหลาดจากสยามไปต้มยำทำแกงเยี่ยงไร เมืองอเมริกาหน้าตาเป็นยังไง ร้อยแปดคำถามอันแน่นในอกของแฝดหนุ่มอิน-จัน รวมทั้งนางนากผู้เป็นแม่ที่แสนจะห่วงหาลูกในอุทร

ท่านผู้อ่านลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ถ้าท่านเป็นแฝดอิน-จัน ภายใต้บริบทนั้น ท่านจะกล้าลงเรือไปอเมริกากะเค้ามั้ย?

อิน-จัน ขอไปตายเอาดาบหน้าในอเมริกา แฝดสยามที่มีใจดุจเหล็กเพชรคู่แรกที่กล้าล้อเล่นกับโชคชะตาจะเจอะเจอกับอะไรในอเมริกา


มีต่อ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 04 กุมภาพันธ์ 2559 16:47:33 »

.



• ชาวสยามคู่แรกที่ไปเหยียบอเมริกา
๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๒ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในอเมริกา ยืนยันว่าอิน-จัน แฝดหนุ่มตัวติดกันจากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม คือชาวสยามคู่แรกที่ไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา

ผู้เขียนนึกถึงพ่อแม่คนไทยที่มีเงินตัดสินใจส่งลูกไปเรียนเมืองนอก มักจะให้ไปในช่วงอายุประมาณ ๑๘ ปี หรือนักเรียนไทยเก่งๆ ที่สอบชิงทุนไปเรียนเมืองนอก ก็จะไปเรียนต่อตอนมีอายุก็เท่าๆ กับแฝดสยาม

เรือซาเคม (Sachem) ระวางขับน้ำ ๓๘๗ ตัน ที่มีนายเอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) ชาวอเมริกัน เป็นกัปตันเรือ เดินทางจากท่าเรือกรุงเทพฯ แล่นออกอ่าวไทย ผ่านช่องแคบมะละกา ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ใต้สุดของทวีปแอฟริกา ผ่านทะเลที่แสนจะโหดร้ายจากพายุและคลื่นยักษ์ ตัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกขึ้นเหนือ ไปถึงท่าเรือที่เมืองบอสตัน (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา

กัปตันคอฟฟินบันทึกเรื่องราวไว้ชัดแจ๋วว่าใช้เวลาเดินทางจากบางกอกถึงบอสตันทั้งสิ้น ๑๓๘ วัน

อะไรคือสิ่งตอบแทนที่นางนากได้รับหรือสัญญิงสัญญาอะไรกันไว้จึงทำให้แฝดอิน-จันตกลงเดินทางลงเรือไปอเมริกากับกัปตันคอฟฟิน

เบื้องหลังการถ่ายทำก็คือมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่านางนากจะได้รับเงินจากกัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์จำนวน ๒๐ ชั่ง (คิดเป็นเงินไทยราว ๑,๖๐๐ บาท) คู่แฝดจะต้องไปแสดงตัวตามสถานที่ต่างๆ ในอเมริกา ๒ ปี ๖เดือน จึงจะหมดพันธะ ซึ่งถึงตอนนั้นฝาแฝดจะมีอายุ ๒๑ ปี ระหว่างแสดงตัวในอเมริกา ในช่วงแรกแฝดหนุ่มจะได้เงินเดือนละ ๑๐ เหรียญ เมื่อผ่าน ๒ ปีไปแล้วจะเพิ่มให้เป็นเดือนละ ๕๐ เหรียญ

หนังสือสัญญาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ อิน-จันลงนามในสัญญาเป็นภาษาจีน และหนังสือสัญญาตัวจริงฉบับนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ในอเมริกาครับ

ก่อนออกเดินทางจากสยาม นายฮันเตอร์และกัปตันคอฟฟินต้องเจรจากับเสนาบดีที่รับผิดชอบด้านต่างประเทศของสยาม เพื่อจะนำคนสยามออกนอกประเทศแบบมีสัญญา

ประการสำคัญที่สุด จากการที่อิน-จันเคยได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวต่อ ร.๓ ในพระราชวังที่บางกอก เลยทำให้แฝดจากแม่กลองคู่นี้มีสถานะเสมือนราษฎรที่อยู่ในการดูแลของพระองค์ มีข้อห่วงใยจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวัง โดยเฉพาะในเรื่องสถานะของอิน-จัน ที่จะได้รับความเคารพแค่ไหน อย่างไร เนื่องจากในสมัยนั้น ในอเมริกามีทาสผิวดำทำงานหนัก ถูกฆ่า ถูกทรมานเป็นอันมาก (ถ้าปัจจุบันก็จะเรียกว่าสิทธิมนุษยชน)

กัปตันคอฟฟินได้กราบบังคมทูลถวายรายงานว่า แฝดชาวสยามคู่นี้แหละที่จะเป็นเสมือนทูตชั้นเยี่ยมจากสยามที่จะทำให้ยุโรปและอเมริการู้จักสยามประเทศ และจะดูแลเป็นอย่างดี หมดสัญญาแล้วจะนำตัวกลับมาที่สยาม

ท้ายที่สุด อิน-จันก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้

กัปตันคอฟฟิน เมื่อได้สินค้าทำเงินลงเรือเรียบร้อย ถึงกับผิวปากดีดนิ้วเปาะ เดินยิ้มทั้งวัน สั่งออกเรือทันที

กัปตันคอฟฟิน นักเดินเรือจากบอสตันเริ่มสังเกตและบันทึกเรื่องราวไลฟ์สไตล์ของเด็กแฝดแบบเจาะลึกที่ขออนุญาตแปลจากเอกสารของ ThomasW.Strong เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วและเรียบเรียงมาบอกกล่าวดังนี้

ระหว่างที่อยู่บนเรือ แฝดหนุ่มสดใส ร่าเริง ไม่เคยเอ่ยว่าคิดถึงบ้าน เด็กแฝดทำอะไรๆ ได้เหมือนคนๆ เดียว คล่องแคล่ว ชอบออกกำลังกาย ชอบแต่งกายด้วยชุดจีน ไว้ผมเปียยาว ๔ ฟุต ทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องมีคนช่วยเหลือ เวลาแฝดอิน-จันเล่นหมากรุกกัน คนหนึ่งใช้แขนซ้าย คนหนึ่งใช้แขนขวา ปรับร่างกายและจิตใจได้รวดเร็ว เป็นคนมีระเบียบ อัธยาศัยดีงาม เป็นที่ประทับใจของทุกคนที่ได้พูดคุย

ทั้งสองคนไม่ค่อยคุยกันมากนัก เพราะมีความรู้สึกนึกคิดแบบคนคนเดียวเลย ไม่ต้องถ่ายทอดต่อกัน

กัปตันคอฟฟินยังบันทึกต่ออีกว่ามีคนพยายามที่จะทดสอบชวนแยกกันคุย แฝดสยามก็แยกกันคุยได้สบาย มีอารมณ์ขัน ไม่โกรธง่าย ไม่พูดคำหยาบ ถึงแม้แฝดจะไม่พูดกัน แต่ก็ล่วงรู้ได้ว่าอีกคนคิดอะไร จะทำอะไร

ตอนอยู่บนเรือ อิน-จันดื่มชา กาแฟ ดื่มไวน์ ชอบกินอะไรก็ชอบเหมือนกัน ทานอาหารได้ทุกอย่าง หิว และอิ่มพร้อมกันเสมอ ง่วงพร้อมกัน ตื่นพร้อมกัน ไม่เคยเห็นคนหนึ่งหลับและอีกคนหนึ่งตื่นเลย ความรู้สึกทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันตลอดเวลา

คู่แฝดไม่ชอบให้ใครมาพูดเรื่องผ่าตัดแยกร่างออกจากกันแฝดจากแม่กลองยืนยันว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องแยกร่าง ไร้สาระ ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนซะหน่อย

แฝดหนุ่มดูขรึมซึมเศร้าอยู่ระยะหนึ่งเมื่อต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่ไม่กี่วันเด็กหนุ่มคู่นี้เริ่มหันมาสนใจเรียนภาษาอังกฤษ เริ่มอ่าน เขียน ออกเสียงภาษาอังกฤษไปในเรือที่กำลังเดินทาง ทั้งคู่เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เร็ว เป็นมิตรกับผู้โดยสารบนเรือ มีเพื่อนใหม่เยอะกับผู้คนในเรือ สนุกสนาน ชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง อินค่อนข้างเงียบ สำรวม ในขณะที่จันสรวลเสเฮฮา


ทั้งคู่กิน นอนง่าย ไม่จู้จี้จุกจิก คู่แฝดเล่าให้กัปตันคอฟฟินฟังว่า ในอนาคตเค้าทั้งสองใฝ่ฝันจะเป็นกัปตันเดินเรือแบบกัปตันคอฟฟิน

ในระหว่างรอนแรมในเรือ ๔ เดือนเศษ แฝดหนุ่มฝึกหัดเรียนรู้การเล่นหมากรุก ไม่นานนักก็ท้าเล่นกับเพื่อนร่วมทางหน้าใหม่ในเรือ เวลาผ่านไปเพียงนิด ทั้งคู่ได้รับการชูมือให้เป็นแชมป์หมากรุกในเรือ กัปตันคอฟฟินแอบสังเกตแฝดหนุ่มถึงปฏิกิริยาอาการปวดหัวตัวร้อน ตลอดการเดินทางที่แวะตามเมืองท่าตามเส้นทางไปอเมริกา ปรากฏว่าทั้งสองมิได้มีอาการเมาคลื่นแม้แต่น้อย สนุกสนานกับการเดินทาง พูดคุย

กัปตันคอฟฟินแอบคิดการใหญ่ล่วงหน้าเชิงธุรกิจในอเมริกาไว้แล้ว โดยเขียนจดหมายไปบอกแม่และครอบครัวในบอสตันให้ไปแอบกระซิบกับหนังสือพิมพ์ในบอสตัน เพื่อเล่นข่าวเรื่องมนุษย์ประหลาดตัวติดกันหนึ่งเดียวในโลกจากสยาม กำลังจะมาถึง

เช้าตรู่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๒ เด็กแฝดตัวติดกันที่แสนประหลาด มีอาชีพเลี้ยงเป็ด ทำประมงจากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ไปยืนผงาดกอดคอคู่กันที่เมืองบอสตัน อเมริกา

นายแพทย์จอห์น คอลลินส์ วอเร็น (John Collins Warren) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือบุคคลแรกที่ได้รับเกียรติให้มาตรวจร่างกายของแฝดหนุ่มที่เดินทางมาค่อนโลก การมาตรวจถ้ามองในแง่ดีก็เพื่อให้แน่ใจว่าแฝดหนุ่มจากแม่กลอง สยามประเทศ มิได้นำเชื้อโรคติดตัวมาแพร่กระจายในอเมริกา ซึ่งก็เหมือนกับทำหน้าที่เป็นด่านกักกันโรคตอนเดินทางไปต่างประเทศ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Quarantine

แต่ที่แน่ๆ นายแพทย์อเมริกันคนนี้ แกมาตรวจให้เห็นกับตาว่ากัปตันคอฟฟินนำแฝดตัวติดกันจริงๆ (Conjoined Twins) จากสยามมาแสดงในอเมริกา ไม่ได้โดนชาวสยามแหกตานะ

นายแพทย์วอเร็นจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านนี้ใช้เวลาในการตรวจอิน-จันอยู่ระยะหนึ่งและกล้าฟันธงเปรี้ยงเลยว่าตัวติดกันจริงถ้าผ่าตัดแยกร่างอิน-จัน คำตอบคือต้องเสียชีวิต

ตั้งแต่เกิดมาโดยหมอตำแยที่แม่กลอง นี่เป็นการตรวจร่างกายอิน-จัน โดยนายแพทย์แผนใหม่ครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้

ในที่สุดนายแพทย์วอเร็นออกมาประกาศรับประกันว่าแฝดอิน-จันตัวติดกันจริงๆ เป็นของจริง ไม่ใช่นักมายากลจากสยาม ทุกอย่างก็ไหลลื่น สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

หนังสือพิมพ์ Boston Patriot ได้เล่นข่าวนี้เป็นข่าวหลัก ประโคมหน้าแรกว่า มนุษย์ตัวติดกันจากสยามได้เดินทางมาถึงบอสตันแล้ว ข่าวชิ้นนี้เป็นการทำการตลาดสำหรับการโชว์ตัวอย่างเอิกเกริก ตูมตาม

เมืองบอสตันในยุคสมัยนั้นมีประชากรราว ๖๐,๐๐๐ คน โอ่อ่า ตึกรามบ้านช่องสวยงาม เป็นที่ตื่นตาตื่นเต้นสำหรับแฝดหนุ่มจากสยาม เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) สถานศึกษาระดับโลก ฝรั่งในบอสตันที่พบเจอช่างซักช่างถาม กัปตันคอฟฟินกำหนดแผนการโชว์ตัวฝาแฝด เบื้องต้นจะมุ่งไปโชว์ตัวตามเมืองหลักๆ ในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา

อเมริกาในยุคที่อิน-จันไปเหยียบนั้น ใช้ธงชาติแบบปัจจุบันนี่แหละครับ แต่มีดาวสีขาวที่มุมธงเพียง ๒๔ ดวง เพราะเพิ่งรวมตัวกันได้เพียง ๒๔ รัฐ ยังคงเหยียดผิวอย่างออกหน้าออกตา คนขาวกับคนดำ เป็นเรื่องที่ปะปนกันไม่ได้เด็ดขาด (ปัจจุบันมีดาวบนธงชาติสหรัฐ ๕๐ ดวง เพราะประกอบด้วย ๕๐ รัฐ)

ในแต่ละวันอิน-จันจะต้องเผชิญกับการซักถาม ตอบคำถามจากแพทย์ที่เห็นคนตัวติดกัน ต้องตอบโจทย์ที่หมอทั้งหลายอยากรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บรรดาหมอและฝรั่งมุงทั้งหลายตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมาวนเวียน แต่ทั้งสองก็ยังคงสดชื่นแจ่มใส ยิ้มแย้มกับทุกสถานการณ์

นายแพทย์โจเซฟ สกีย์ (Joseph Skey) จากกองทัพบกอังกฤษที่มาปฏิบัติงานในบอสตัน ได้เข้ามาทดสอบที่ทำให้แฝดสยามหงุดหงิดโดยขอทดสอบเรื่องการปลุกให้ตื่น หมอคนนี้แกทดสอบการหลับการตื่นของฝาแฝด แกแอบสะกิดปลุกอิน ผลปรากฏว่าจันก็ตื่นนอนด้วย แกคงทดลองหลายครั้งเพื่อทดลองทางการแพทย์ เลยทำเอาฝาแฝดต้องห้ามอีตาหมอคนนี้เข้ามายุ่งอีกต่อไป

น่าเห็นใจนะครับ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ทั้งหลายต่างมุ่งมั่นจะมาเก็บข้อมูลด้วยตัวเองจากแฝดตัวติดกันคู่สำคัญของโลก มะรุมมะตุ้มวันละหลายชั่วโมง จุดที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือ ท่อนเนื้อตรงหน้าอกที่เชื่อมร่างกายทั้งสอง


กล่าวกันว่าแฝดทั้งสองเป็นบุคคลที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุด เป็นดาราจากเอเชียแจ้งเกิดในอเมริกาที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนั้น

กัปตันคอฟฟินเดินหน้าตามแผนธุรกิจโดยจัดการแสดงตัวแฝดสยามเป็นครั้งแรกในบอสตันใช้ชื่อว่า "The Siamese Double Boys" มีบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าการแสดงรอบปฐมทัศน์คืนนั้น คนแน่นขนัด ซื้อตั๋วราคา ๒-๖ เหรียญ เพื่อเข้าไปดูคนประหลาดตัวติดกัน

กัปตันคอฟฟินแสนปลื้มใจในการเปิดตัวสินค้าตัวท็อปจากสยาม โดยมีนายเจมส์ เว็บสเตอร์ เฮล (James Webster Hale) ทำหน้าที่เป็นออร์แกไนเซอร์ เตรียมสถานที่สำหรับการแสดง ทำโปสเตอร์โฆษณา ดูแลแฝดหนุ่มเรื่องข้าวปลาอาหาร การแต่งตัว เสื้อผ้า หน้า ผม ที่หลับที่นอน ตลอดการแสดงในอเมริกา

กัปตันคอฟฟินจ้างนายแพทย์จอห์น บริคเก็ต (John Bricket) เป็นแพทย์ประจำตัวคู่แฝด ดูแลสุขภาพตลอดเวลา (และต่อมาแพทย์คนนี้แหละที่แฝดสยามไว้ใจให้เป็นผู้จัดการส่วนตัว)

บรรดาฝรั่งทั้งหลายที่เสียเงินเข้าไปดูตัวฝาแฝด ต่างตื่นเต้นสนุกสนาน หัวเราะ ชื่นชม นินทากันอื้ออึงไปหมด ฝรั่งปากจัดคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ไอ้พวกที่เข้าไปดูน่ะ ครึ่งหนึ่งเข้าไปดูเพราะไม่เชื่อ และอีกครึ่งหนึ่งเข้าไปดูเพราะกลัว

บ้างก็เสริมแต่งกันไปว่าไอ้แฝดคู่นี้เป็นปีศาจร้าย ฝรั่งช่างนินทา ปากคอเราะร้ายนัก

อิน-จันเริ่มต้องเผชิญกับชีวิตใหม่ในอเมริกา เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ท้าทาย แปลกประหลาดที่นึกไม่ถึงมาก่อนว่าจะต้องมาใช้ชีวิตสุดแสนพิสดารในอเมริกา

ผู้เขียนเองตื่นเต้นที่ได้เรียบเรียงประวัติแฝดหนุ่มจากสยามที่ต้องจากพ่อแม่พี่น้องที่สมุทรสงครามมาอยู่กับมนุษย์ฝรั่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอาหารการกินความคิดอ่านการทำมาหากินแบบฝรั่ง เรื่องราวร้อยแปดที่ต้องเผชิญชะตากรรม ต้องยอมรับว่าแฝดหนุ่มคู่นี้กล้าหาญ ใจเด็ดที่สุดที่ชาวไทยต้องยกย่อง

เป็นการเปิดตัวแบบฟอร์มโตตูมตาม สื่อมวลชนในอเมริกาเองก็เล่นข่าวเด็กแฝดเป็นกระแสหลัก ลงรูปภาพอิน-จันสนั่นเมือง เป็นซุป′ตาร์ของเมืองใหญ่ฝั่งตะวันออกของอเมริกาในชั่วข้ามคืน

รูปแบบการแสดงตัวช่วงแรกที่เมืองบอสตัน คือให้แฝดยืนบนเวที มีไฟส่อง มีพิธีกรบรรยายประวัติว่า อิน-จันเดิมมีอาชีพประมง ค้าขายเล็กๆน้อยๆ เลี้ยงเป็ด ขายไข่เป็ด กล่าวถึงประเทศสยาม กล่าวถึงสรรพคุณ ให้เดินวน นั่ง นอน ยืน ซึ่งก็ไม่ยากเย็นอะไรเลยเพราะทำมาตั้งแต่เกิด

บางช่วงเวลาที่ไม่ต้องไปโชว์ตัว ก็ต้องให้แพทย์ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ยอมเชื่อว่าตัวติดกันจริงมาตรวจ เพราะในทางการแพทย์สมัยโน้น ไม่เคยปรากฏว่าคู่แฝดจะมีอายุมั่นขวัญยืนแบบนี้มาก่อน แพทย์ทั้งหลายจึงแข่งกันต้องการข้อมูลในตัวของอิน-จันไปนำเสนอเป็นบทความทางวิชาการเป็นคนแรกของโลก

การโชว์ตัวของแฝดอิน-จันเปรียบเทียบได้กับการจับพญานาคพ่นไฟได้ตัวเป็นๆ ได้ในแม่น้ำของประเทศไทยครับ

ในปฐพีอเมริกาในวันนั้น แฝดสยามยิ่งใหญ่ไม่เป็นสองรองใคร

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2559 15:44:23 »

.



• อิน-จัน ฮาเฮในอเมริกา
ฝาแฝดตัวติดกันจากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่โดนนินทาค่อนแคะโดยพ่อมดหมอผีทั้งหลาย ถูกกระแนะกระแหนว่าจะเป็นกาลกิณีนำโชคร้ายมาสู่บ้านเมือง ได้เดินทางโดยเรือบรรทุกสินค้าอเมริกาชื่อ ซาเคม ของกัปตันคอฟฟิน จากกรุงเทพฯ ผ่านมหาสมุทรครึ่งโลก รอนแรม ๑๓๘ วัน มาขึ้นฝั่งที่เมืองบอสตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาโดยสวัสดิภาพ

อิน-จัน ฝึกการพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษบนเรือ คุ้นเคยกับชาวต่างชาติมากหน้าหลายตา เรียนรู้ที่จะต้องอยู่รอด เรือแวะตามเมืองท่าใหญ่ๆ ที่ชาวสยามน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเช่นนี้

การโชว์ตัวของแฝดที่ตัวเชื่อมติดกัน (Cojoined Twins) ได้รับการรับรองจากแพทย์ทุกคนในอเมริกาว่าเป็นของจริง ไม่ใช่นักมายากลมาหลอกเอาเงิน การแสดงของอิน-จัน เพื่อให้คนดูได้รับความบันเทิงเป็นไปด้วยความราบรื่น มีมุขตลก ลูกเล่นลูกฮา ตระเวนไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในบอสตันเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

แพทย์ทุกคนที่มาตรวจ มาขอจับไอ้โน่น ตรวจไอ้นี่ ในร่างกายของแฝดหนุ่ม ก็จำต้องอดทนทำตามสัญญาที่ลงนามไว้ที่บางกอกกับกัปตัน คอฟฟินและนายฮันเตอร์ ทั้งสองคนเบื่อๆ อยากๆ แต่ก็สนุกกับการพบปะผู้คนในอเมริกา

พูดถึงเรื่องหนังสือสัญญาภาษาอังกฤษที่กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์เขียนให้นางนากแม่ของอิน-จัน ลงนาม เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว มีอิน-จันลงชื่อและมีนายเทียนเซ้งเป็นพยานนั้น คุณอริยา จินตพานิชการ ผู้เขียนหนังสือคู่กันนิรันดร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ระบุว่า เอกสารสัญญาตัวจริงฉบับประวัติศาสตร์นี้ยังคงเก็บรักษาไว้ที่ตู้นิรภัยธนาคารเฟิร์สท์ซิติเซ่น สาขาซูรี่เคาน์ตี้ เจ้าของเอกสารนี้คือสมาคมประวัติศาสตร์แห่งซูรี่เคาน์ตี้ ที่ไปประมูลเอาสัญญาฉบับนี้มาเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลัง ลูกหลานเหลนของแฝดอิน-จัน ได้รู้หัวนอนปลายตีนของตน

เหลือเชื่อครับ แต่ก็เป็นความจริง เรื่องราวที่เป็นเศษเสี้ยวชีวิตอิน-จัน ที่เป็นคนแสนจะธรรมดาจากสยามประเทศ แฝดจากปากน้ำแม่กลองเป็นแค่เศษผงธุลีของกาลเวลา กลายไปเป็นคนสำคัญในอเมริกา คนอเมริกันเก็บรักษาหนังสือสัญญาที่เหมือนเศษกระดาษชิ้นนี้ไว้ และจากการตรวจสอบของผู้เขียน ยังมีของใช้ รูปภาพ เตียงนอน เก้าอี้นั่ง ผลการตรวจร่างกายของแพทย์สมัยนั้น และเอกสารอีกหลายรายการที่เป็นของอิน-จัน ถูกเก็บรักษาไว้ให้ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในรัฐนอร์ธแคโรไลนา

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นข้าราชการระดับสูงสุดผู้ดำเนินการเรื่องอิน-จัน เดินทางออกนอกประเทศสยาม บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเรื่องคนแฝดไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ว่า

"กัปตันคอฟฟินไปว่ากล่าวกับบิดามารดาของเด็กแฝด ตกลงทำสัญญากันว่าบิดามารดายอมให้กัปตันคอฟฟินพาเด็กแฝดไปอะเมริกามีกำหนด๓ ปี กัปตันรับให้เงินแก่บิดามารดา ๑,๖๐๐ บาท แลสัญญาว่าจะพาเด็กมาส่งแก่บิดามารดาเมื่อครบ ๓ ปี รัฐบาลจึงอนุญาตตามประสงค์"

หลังจากอิน-จัน โชว์ตัวที่บอสตันผ่านไประยะหนึ่ง คณะของแฝดสยามได้เดินทางลงใต้ไปอีกหน่อย ไปแสดงที่เมืองโพรวิเดนซ์โรดไอแลนด์ (Providence, Rhode Island) เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาที่มีอากาศหนาวเย็นสุดสุด

แฝดหนุ่มจากสยามปรับตัวได้ดี เริ่มเจนเวที ผ่านการโชว์ตัวมาหลายรอบ จึงมีการพัฒนารูปแบบการแสดงให้น่าดู เร้าใจขึ้นไปอีก แฝดหนุ่มตีลังกาหน้า-หลังพร้อมกัน เล่นกายกรรม เล่นแบดมินตันบนเวที เล่นกับคนดูมากขึ้น การแสดงมีชีวิตชีวา มีสีสันแพรวพราว ไม่ได้ยืนนิ่งเป็นหุ่น เป็นที่ถูกใจฝรั่งยิ่งนัก แฝดหนุ่มทั้งสองภูมิใจได้สัมผัสเงิน มีรายได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของตนในอเมริกา

ชีวิตใหม่ในอเมริกาแสนสดใส ทั้งสองเปรียบประดุจดาวฤกษ์ที่มีประกายแสงในตัวเองภายใต้ความหรรษาทั้งปวง แฝดทั้งสองแอบบ่นคิดถึงกิจการเลี้ยงเป็ด ขายไข่เป็ด ทำไข่เค็ม ที่บ้านปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่ต้องทิ้งให้แม่และพี่น้องดูแลกิจการก่อนมาอเมริกา

ขอกราบเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพนะครับว่า บรรดาข้อมูลทั้งหลายที่บันทึกไว้เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว เป็นการบันทึกของนักเขียนในอเมริกาเป็นหลัก เพราะแฝดอิน-จันเริ่มปรากฏกายเป็นทางการในอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ มีชาวอเมริกันเขียนหนังสือเรื่องแฝดสยามขายทำเงินได้ในอเมริกา ส่วนการบันทึกในสยามแทบหาไม่ได้เลย เพราะชาวสยามในสมัยนั้นยังแทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ยังไม่มีโรงเรียน โรงเรียนที่เปิดให้ชาวสยามเรียนหนังสือ ให้อ่านออกเขียนได้อย่างเป็นทางการเริ่มมีในสมัยในหลวง ร.๕ ครับ

ก่อนตัดสินใจเดินทางไปอเมริกา แฝดทั้งสองก็เป็นแค่คนประหลาดที่แสนธรรมดาในท้องทุ่งริมแม่น้ำที่แม่กลอง แต่เมื่อไปถึงอเมริกา กลับกลายเป็นบุคคลที่มีต้นทุนรายวันที่กัปตันคอฟฟิน และทีมงานต้องถอนทุนที่ให้เงินกับนางนากแม่ของฝาแฝดและบวกด้วยกำไร

ข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา แฝดทั้งสองจะต้องแสดงตัววันละไม่เกิน ๔ ชั่วโมง

เมืองบอสตันเป็นเมืองหลักของอเมริกา ก่อร่างสร้างเมืองจากตอนที่คนอังกฤษแห่กันออกมามาจากเกาะอังกฤษเพื่อตั้งรกราก เพื่ออิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพที่รัฐบาลอังกฤษไม่มีให้ บ้านเมืองสวยงาม เก่าแก่ ดูขรึม ในยุคหลังที่ผ่านมา ครอบครัวคนไทยที่มีเงินจะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่เมืองบอสตันกันเยอะ

อิน-จัน ใช้ภาษาอังกฤษได้แบบเฮฮาปลาๆ งูๆ ในการแสดงทุกครั้ง ตระเวนไปโชว์ตัวในหลายเมืองทางฝั่งตะวันออกของอเมริกา การโชว์ตัวในที่ต่างๆ เนื่องจากคนอเมริกันเองก็ยังไม่รู้จักโลกมากนัก ผู้คนในโลกนี้ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าโลกแบน แล่นเรือไปในมหาสมุทรสุดทางถ้าไม่ระวังจะตกไปนอกโลก ไม่รู้ว่าประเทศไหนอยู่ตรงไหน ในการโชว์ตัวโฆษกฝรั่งมักจะบอกคนดูในอเมริกาว่า ประเทศสยามตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรจีนกับพม่า

เรื่องราวที่โฆษกฝรั่งจะกระตุกความสนใจจากคนดูให้เข้ามาดูโชว์ตัวฝาแฝด ก็จะแหกปากตะโกนร้องว่า สยามคือดินแดนที่มีมนต์ขลัง ดินแดนที่มีช้างสีขาว (ช้างเผือก) สยามมีงูขนาดยักษ์ มีงูพิษ มีปีศาจ คนสยามมีเวทมนตร์ มีคาถาอาคม อาณาจักรสยามมีวิญญาณของนักรบโบราณสิงอยู่คอยปกป้องคุ้มครอง

เป็นธรรมดานะครับ ถ้าจะหลอกล่อผู้คนให้จ่ายเงินเข้ามาดูคนประหลาดตัวติดกัน ก็ต้องละเลงสีสัน บรรยายให้เร้าใจว่า แฝดคู่นี้ที่ตัวติดกันก็เพราะมาจากดินแดนที่ลี้ลับมหัศจรรย์พิสดารแบบสยาม

อิน-จัน ก็เก่งนะครับ เอาไงเอากัน ให้โชว์ตัวได้เงินก็สนุกกับชีวิต ทั้งสองยังคงไว้ผมเปียหางยาวถึงกลางหลัง แต่งตัวแบบชาวจีน สะดุดประหลาดตาน่ามองยิ่งนัก

โฆษกฝรั่งหน้างานยังโม้ต่อไปอีกว่า ดินแดนสยามเต็มไปด้วยเพชร กลาดเกลื่อนไปด้วยอัญมณีล้ำค่า ในสยามมีทองคำ ชาวสยามร่ำรวยหรูหราใช้ผ้าไหมคลุมเตียงนอน ชาวสยามมีความเก่งกาจในการพยากรณ์ ทำนายโชคชะตาในอนาคต

การโหมโรงโฆษณาแบบนี้เป็นพิธีกรรม ฝรั่งแหกตาฝรั่งกันเองในแนวภาพยนตร์เรื่อง ขุมทองแมคเค็นน่า หรือเรื่องประเภทขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า หรือแนวอินเดียน่า โจนส์ ที่เป็นหนังทำเงินมหาศาล เพื่อให้แฝดอิน-จันเกือบจะเป็นสัตว์ประหลาดที่ไม่ดูไม่ได้

เทคนิคการโฆษณาหาเงินแทบจะเหมือนกันหมดทั้งโลก หลอกล่อยั่วยุให้เสียเงิน ถ่มถุยกันไปมา ขำๆ ครับ อย่าไปถือโทษโกรธเคืองกัน

เกร็ดเรื่องราวที่ฝรั่งแอบสังเกตเห็นไลฟ์สไตล์ของชาวสยามและนำไปเขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง คือเรื่องความเชื่อ ค่านิยมของแฝดอิน-จัน ที่เมื่อตระเวนไปโชว์ตัวตามที่ต่างๆ และต้องหาที่พักค้างแรม สิ่งที่ทำความลำบากใจให้กับทีมงานคือ อิน-จัน จะไม่ยอมพักในห้องชั้นล่างที่มีคนอยู่ชั้นบนของอาคาร นี่เป็นความเชื่อของผู้คนในเมืองสยามที่จะไม่ยอมให้ใครมาอยู่เหนือศีรษะตน ห้ามจับศีรษะ เพราะไม่เป็นมงคล ศีรษะชาวสยามเป็นของสูง แม้กระทั่งเรือในแม่น้ำที่ต้องแล่นลอดสะพานจะไม่ยอมลอดผ่านสะพานที่มีคนเดินข้างบน

ซึ่งก็เป็นความจริงครับ ผู้เขียนเองตอนเด็กๆ ก็เคยได้รับการบอกกล่าวในแนวนี้เช่นกันว่า ถ้าเป็นผู้ชายอย่าไปมุด อย่าไปลอดราวตากผ้าของผู้หญิงเด็ดขาดเพราะเทพเทวดาที่อยู่รักษาและสิงสถิตในตัวเราจะหนีจากทันที เวทมนตร์ในตัวเราจะเสื่อม ชีวิตเราจะไม่ปลอดภัย เราก็ต้องเชื่อไว้ก่อน เพราะกลัวเทวดาจะหนีจากเราไป

ฝรั่งพรรณนาต่อไปว่า ทุกพื้นที่ในสยามศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ในป่า ภูเขา แม่น้ำลำธาร มีเทวดา มีพระภูมิเจ้าที่ มีวิญญาณของคนตาย วนเวียนคอยปกปักรักษาและเป็นเจ้าของสถานที่ตรงนั้น ต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในป่ามีเทพารักษ์ที่เปรียบได้กับเทวดาสิงอยู่ทุกต้น ต้นไม้บางต้นถ้าเอาขวานไปฟันไปโค่นเทพารักษ์จะเจ็บปวดร้องไห้ออกมาให้เห็นเป็นหยดน้ำตาตรงรอยขวาน งูใหญ่ตัวสีขาวจะได้รับการกราบไหว้ว่าเป็นงูเจ้า ยิ่งถ้างูใหญ่สีขาวไปพันตัวล้อมต้นกล้วยที่มีหัวปลีออกกลางต้น จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวสยามแทบจะหยุดทำมาหากินไป ๒-๓ วัน เพื่อตีความพยากรณ์ล่วงหน้า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นเรื่องของนางฟ้าเทวดา ที่เป็นผู้บันดาล

ทุกเรื่องที่แปลกประหลาด เรื่องที่ไม่มีคำตอบ ไม่มีที่มาที่ไปจะถูกจัดให้เป็นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพกราบไหว้ เป็นเรื่องของนานาจิตตังครับ

สนุกสนาน ครึกครื้นกันไปครับ จะสูงต่ำดำเตี้ย ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ ก็มีเรื่องผู้ใหญ่หลอกเด็ก แหกตากันไปมาทั้งโลก มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ว่ากัน

ความเชื่อและพิธีกรรมในชีวิตประจำวันของชาวสยาม ชาวตะวันตกสังเกตเห็น มองว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู ที่ชาวสยามส่วนหนึ่งยึดถือในการดำรงชีวิตประจำวัน

ในสมัยนั้นประเทศสยามแทบไม่มีการสร้างอาคาร ๒ ชั้นเพราะไม่จำเป็น และจะไม่มีใครยอมอยู่ชั้นล่าง ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของแฝดสยามทำเอาฝรั่งเพื่อนร่วมงานที่พาอิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวปวดหัวจัด เพราะนี่มันอเมริกา โรงแรมมันก็หลายชั้น อิน-จันจะต้องนอนชั้นบนสุดของอาคารทุกครั้ง

ผ่านไปนานพอควร แฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองจึงยอมรับสภาพของที่พักในอเมริกาที่ต้องนอนชั้นล่างที่มีคนอยู่ชั้นบนได้ ยอมให้มีคนอยู่ชั้นบนเหนือศีรษะ และก็ไม่เห็นมีความซวย ความพินาศอุบาทว์บังเกิดขึ้นแต่อย่างใด ฝรั่งแอบไปซุบซิบนินทาต่อไปอีกว่า ชาวสยามเป็นคนถือโชคถือลาง มีฤกษ์พานาทีในการดำรงชีวิต มีเวทมนตร์ การตัดสินใจของชาวสยามในบางเรื่องมักใช้ข้ออ้างว่าแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า แล้วแต่โชควาสนา แล้วแต่บุญแต่กรรม

ความเชื่อ ไม่เชื่อ นับถือ ไม่นับถือ ภูต ผี ปีศาจ ผีฝรั่งก็แลบลิ้นปลิ้นตา ผีไทยก็แบบแม่นาคพระโขนง ที่ยื่นมือลงไปเก็บลูกมะนาวใต้ถุนบ้านนั่นแหละ ก็เป็นสิ่งที่ปะปนแฝงอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกหมู่เหล่าทั้งโลกล่ะครับ

อิน-จัน แสดงตัวอยู่ในเมืองทางฝั่งตะวันออกของอเมริการาว ๒ เดือนเศษ พบปะผู้คนที่มีทั้งหวาน ทั้งขม แต่แฝดอิน-จันก็ยังคงกอดคอกันสู้งานการโชว์ตัวแบบกระฉับกระเฉง

แฝดหนุ่มไม่ได้ข่าวจากนางนากเลย ในเวลาเดียวกัน นางนากก็มิรู้จะทำเยี่ยงไรที่จะทราบความเป็นอยู่ของลูกแฝด

เป็นที่น่าภูมิใจนะครับ คำว่า Siamese Twins หรือแฝดสยาม เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้น เกิดการใช้แพร่หลายในวงการแพทย์ในวงสังคม บางครั้งเป็นการอุปมาอุปมัย คำๆ นี้บังเกิดขึ้นในโลกเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันครับ

เสร็จจากโปรแกรมโชว์ตัวที่โรดไอแลนด์ ทีมงานแฝดสยามคิดการใหญ่ ทำเงินก้อนโต วางแผนไปตระเวนปรากฏตัวในมหานครนิวยอร์ก (New York) เมืองอลังการระดับต้นๆ ของโลกที่ใครก็ฝันถึง

ผู้เขียนขอย้อนยุคบรรยากาศในมิติด้านสังคมความเป็นอยู่ของสังคมในอเมริกาบางส่วนมานำเสนอ เพื่อประดับอารมณ์ของท่านผู้อ่านที่เคารพพอสังเขปครับ

อิน-จัน เข้าไปถึงอเมริกาโดยเรือสินค้าในห้วงเวลาใกล้เคียงกับทาสผิวดำถูกลำเลียงมาขายในอเมริกาจำนวนมาก การแบ่งสีผิว ขาวและดำ เห็นได้ด้วยตาเปล่า คนผิวดำที่พ่อค้าซื้อมาจากแอฟริกามาทางเรือเหมือนหมูหมาสัตว์ป่า ถูกนำมาประมูลขายตามท้องถนนในอเมริกาให้คนผิวขาวซื้อเอาไปใช้งาน โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา ต้องการใช้ทาสจำนวนมากเพื่อทำการเกษตร

ตำนานเรื่องทาส เกิดมาราวสมัยอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง กองทัพโรมันอันเกรียงไกรบุกตะลุยรบชนะ ปราบกองทัพเมืองต่างๆ ได้เกือบหมดทวีปยุโรป นับได้ว่าเป็นมหาอำนาจของโลก เก็บกวาดยึดเอาของมีค่าจากทุกเมืองไปเป็นสมบัติของจักรพรรดิโรมัน รวมทั้งกวาดต้อนเอาผู้คนทั้งหลายที่แพ้สงครามไปเป็นแรงงานที่ต้องทำงานหนักให้กับอาณาจักรโรมันที่แสนจะรุ่งเรืองสวยงามตระการตาเชลยศึกเหล่านี้คือทาสไม่ถือว่าเป็นคน

ทาสรุ่นแรกๆ ถูกขายออกจากยุโรปไปอเมริกาครับ เมื่อคนดำที่เป็นทาสคือสินค้าทำเงิน ต่อมาจึงเอาเรือไปขนมาจากแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา ทาสรุ่น ๑ เนื้อแท้ดำสนิทที่ไปซื้อมาเป็นทางการ ขึ้นบกที่รัฐเวอร์จิเนีย ในปี พ.ศ.๒๑๖๒ ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งอยุธยาโน่น สังคมอเมริกันตอนนั้นมีทั้งพวกสนับสนุนการนำแรงงานทาสเข้ามาใช้แรงงานในอเมริกา และอีกพวกหนึ่งต่อต้านการมีทาส การซื้อทาสจากแอฟริกามาขายในอเมริกาโดยเฉพาะผู้ชายเป็นธุรกิจกำไรงาม การประมูลซื้อขายทาสในตลาดตามประวัติศาสตร์นั้น จะต้องจับทาสแก้ผ้าเปลือยกายล่อนจ้อน เพื่อดูมัดกล้าม ดูโครงสร้างทุกส่วนของร่างกายว่าจะทำงานทำเงินให้เจ้าของได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนคนไทยไปเลือกซื้อวัวควายมาใช้งาน

ผู้หญิงผิวดำจากแอฟริกาที่ถูกนำมาประมูลขายก็ไม่เว้นที่ต้องเปลือยเหมือนสัตว์ป่า ให้ผู้คนผิวขาวที่มุงดูอยู่ดูรูปโฉมโนมพรรณ ดูไฝฝ้าหน้าผมตามร่างกาย ประมูลเลือกซื้อตามความพอใจ คนขาวนำไปเป็นคนงานในบ้าน ซักผ้ารีดผ้า นำไปเป็นโสเภณี ทำงานในสวน ในไร่ สารพัดงานที่จะทำเงินตอบแทนให้ได้ เรื่องราวพรรค์นี้ ประวัติศาสตร์อเมริกันเปิดเผย หาอ่านได้ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้ได้ดูกันจะ ทั้งคนขาวและคนดำ

กิจการค้าทาส (ปัจจุบันเรียกแบบดัดจริตว่า การค้ามนุษย์ : Human Trafficking) ดำเนินต่อไปจนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๕๑ สภาคองเกรสของสหรัฐจึงออกกฎหมายยกเลิกการนำเข้าทาส

ใน พ.ศ.๒๔๐๔ความบาดหมางของสังคมอเมริกันมาถึงจุดเดือดในประเด็นเรื่องทาส และผสมกับเรื่องอื่นๆ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมือง รบกันอยู่ราว ๔ ปี ตายไปราว๖ แสนคน

ในปี พ.ศ.๒๔๐๘ สงครามกลางเมืองยุติ ทาสในอเมริกาถูกปลดปล่อยเป็นเสรีชน

สถิติที่น่าสนใจว่าในช่วงการค้าทาส พ.ศ.๒๐๖๙-๒๔๑๐ นั้น มีการซื้อคนจากแอฟริกามาเป็นทาสราว ๑๒.๕ ล้านคน และจำนวน ๑๐.๗ ล้านคนไปเป็นทาสในอเมริกาครับ

ชีวิตของแฝดอิน-จัน ช่วงหนึ่งเกี่ยวข้องกับทาสในอเมริกา

ในอเมริกา แฝดอิน-จัน ไม่ใช่ทาส ตระเวนโชว์ตัวในอเมริกา ๒ เดือนเศษ ข่าวเรื่องแฝดสยามดังข้ามหาสมุทรไปถึงลอนดอน จึงต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรไปเกาะอังกฤษซะหน่อย... ไปทำอะไร? มีหวาน มีขมครับ


.



• พบรักแรกกับสาวลอนดอน
หลังจากแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) จากปากน้ำแม่กลองลงเรือไปถึงอเมริกา ตระเวนโชว์ตัวทำเงินในบอสตันและอีกหลายเมืองของอเมริการวมทั้งนิวยอร์กได้ราว ๒ เดือนเศษ มีผู้จัดการแสดง (ขอดัดจริตเรียกว่าออร์แกไนเซอร์) ชาวอเมริกันชื่อกัปตันคอฟฟิน และพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อนายฮันเตอร์ ดูแลกำหนดการแสดง แฝดอิน-จันได้รับเงินเดือนตามสัญญา แฝดหนุ่มเริ่มคิดถึงแม่บังเกิดเกล้าที่สมุทรสงคราม ยังไม่ทราบข่าวว่าฝรั่งสองคนนี้ได้ให้เงินค่าเช่าตัวกับนางนาก แม่ของฝาแฝดที่ปากน้ำแม่กลองจำนวน ๑,๖๐๐ บาทครบแล้วหรือยัง

น้ำขึ้นให้รีบตัก เสียงเล่าลือเรื่องมนุษย์ประหลาดตัวติดกันจากสยาม ดังก้องกังวานจากอเมริกาไปถึงลอนดอน ซึ่งระหว่างโชว์ตัวในอเมริการาว ๒ เดือนเศษนั้น ทีมงานได้ทำการตลาดโฆษณาไปถึงลอนดอนล่วงหน้าแล้วว่า แฝดสยามจะไปโชว์ตัวในอังกฤษและต่อไปอีกหลายประเทศในยุโรป

พ่อค้าอเมริกันและอังกฤษ จ่ายเงินไปก้อนใหญ่โขเพื่อเช่าเอาตัวอิน-จันมาแสดง เลยต้องรีบถอนทุน ก็ตรงไปตรงมานะครับ สัญญาว่าจะเอาเงินให้นางนาก ๑,๖๐๐ บาท แล้วขอเอาตัวอิน-จันไปโชว์ตัวในอเมริกาและยุโรปนาน ๓ ปี ในระหว่างโชว์ตัวจะมีเงินเดือนให้อีก มันคือธุรกิจการค้า แต่จะตรงไปตรงมาหรือโกงไปโกงมา จะลำเลียงเรื่องมาเล่าต่อไปครับ

ราวกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๒ เรือเดินสมุทรชื่อ Robert Edwards มีกัปตันเรือชื่อ Sherburne เป็นพาหนะนำทีมงานแฝดสยามจากท่าเรือในนิวยอร์ก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าไปเกาะอังกฤษ

ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบซะแล้ว การเดินทางครั้งนี้ อิน-จันพบว่าห้องพักของตนนั้นมันคือห้องใต้ท้องเรือที่มีค่าห้องถูกที่สุด ต้องนอนปะปนกันรวมกับคนรับใช้ของเจ้านายที่นอนอยู่ห้องชั้นบน ในขณะที่กัปตันคอฟฟินและภรรยาพักอยู่บนห้องหรู

สภาพห้องที่โกโรโกโสแบบนี้ทำให้แฝดทั้งสองไปต่อว่ากัปตันคอฟฟินแต่กัปตันก็แก้ตัวว่าเป็นความเข้าใจผิดในการจองห้อง เรื่องราวบานปลายเมื่ออิน-จันไปสอบถามความจริงกับกัปตันเรือเองซึ่งกัปตันยืนยันว่ากัปตันคอฟฟินจองมาให้แฝดสยามนอนใต้ท้องเรือแบบนี้แน่นอน ผลการประท้วงเลยได้ขยับไปนอนในห้องใหม่ที่ระดับเหนือกว่าคนรับใช้

การเดินทางที่ทำให้ทีมงานขุ่นเคืองใจกันในครั้งนี้ใช้เวลาถึง ๒๘ วัน

๑๙ พฤศจิกายน ๒๓๗๒ คณะของแฝดสยามไปขึ้นบกที่เมืองดาร์ตมัธ (Dartmouth) ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ เพื่อเดินทางด้วยเรือเล็กต่อเข้ามหานครลอนดอน การเดินทางช่วงนี้แสนจะลำเค็ญแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เนื่องจากเรือเจอเข้ากับพายุรุนแรงในระหว่างแล่นผ่านช่องแคบอังกฤษ ถึงขนาดที่เสากระโดงเรือหัก สมอเรือขาด แต่เรือก็นำผู้โดยสารทั้งหมดไปขึ้นบกที่ลอนดอนอย่างปลอดภัยในที่สุด

หลังจากปรับตัวอีกครั้ง ตั้งหลักได้ในลอนดอน ชีวิตของแฝดสยามก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ที่ประสบมาในอเมริกา ๒ เดือนเศษ

๒๔ พฤศจิกายน ๒๓๗๒ คณะแพทย์ของอังกฤษจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน นำคณะแห่กันมาที่อียิปเตียน ฮอลล์ (Egyptian Hall) ย่านพิคคาดิลี่ (Piccadilly) อันโก้หรูกลางกรุงลอนดอน เพื่อขอตรวจสภาพร่างกายของแฝดหนุ่มอีก คราวที่แล้วไปขึ้นบกที่อเมริกาให้แพทย์ของอเมริกาตรวจ คราวนี้มาที่อังกฤษ แพทย์อังกฤษก็ต้องตรวจเช่นกัน แพทย์อังกฤษที่ถือว่าไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้ ต้องการทำงานวิจัยทางการแพทย์เรื่องคนแฝดตัวติดกันแข่งกับข้อมูลแพทย์ของอเมริกา

คงต้องทำใจครับ สภาพร่างกาย โครงสร้างทุกส่วนภายนอกและภายในร่างกายของแฝด อิน-จัน เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและวิชาทางการแพทย์ที่มีคุณค่าเกินบรรยาย ในยุโรปก็มีแฝดตัวติดกันนะครับ แต่อายุสั้น อยู่แป๊บเดียวก็ตายกันหมด แต่แฝดสยามตัวติดกันคู่นี้อายุ ๑๘ ปีแล้ว เดินทางมาค่อนโลก มันมีอะไรดีถึงยังไม่ตาย แถมจะมาโชว์ตัวเอาเงินคนอังกฤษอีกด้วย

ผลการตรวจออกมาเหมือนเดิม คณะแพทย์ของอังกฤษที่มีชื่อเสียงอันดับ ๑ ของโลก ออกเอกสารลงชื่อคณะแพทย์ทั้งหมด ยืนยันว่าอิน-จันเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จริงแท้แน่นอน ไม่ได้เอากาวทาตัว มาแหกตาผู้ดีทั้งหลายในอังกฤษ

เมื่อผ่านการตรวจร่างกายทุกซอกทุกมุม ทุกรูขุมขนจากคณะแพทย์ราชวิทยาลัย ศัลยแพทย์รับรองว่าเป็นแฝดตัวติดกันจริงที่มหัศจรรย์ยิ่ง เลยเป็นข่าวดังกระจายสำหรับการโชว์ตัวในมหานครลอนดอน

คนอังกฤษในยุคราวเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วก็ใช่ว่าจะรู้จักดินแดนต่างๆ ในโลกนี้ อังกฤษตอนนั้นเป็นมหาอำนาจทางทะเล มีเรือปืน เรือสินค้า ไปค้าขายทั่วโลก รวมทั้งไปล่าอาณานิคมแข่งกันกับฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ โปรตุเกส สเปน

ถ้าถามว่าสยามอยู่ที่ไหน คนอังกฤษบางส่วนจะตอบว่าสยามอยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับพม่า เพราะอังกฤษกำลังรุกเข้าพม่าเอาเป็นเมืองขึ้น และกำลังชำแหละดินแดนของจีนมาแบ่งกันเป็นอาณานิคม ในยุคสมัยนั้นชาติตะวันตกทั้งหลายกำลังแข่งกันอวดมั่งอวดมีเรื่องการล่าเมืองขึ้น

อิน-จันตื่นตาตื่นใจกับมหานครลอนดอนที่ช่างโอ่อ่าตึกรามบ้านช่องช่างสวยงามเหมือนที่นายฮันเตอร์หรือนายหันแตรไปโฆษณาไว้  สยามแฝดหนุ่มเริ่มปรับโฉมการแต่งกาย ปรับมาแต่งชุดสูทสากล แต่ยังไว้ผมเปียยาวถึงกลางหลังเหมือนเดิม

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เอกสารการตรวจร่างกายแฝดสยามที่คณะแพทย์อังกฤษร่วมกันลงนามราว ๓๐ คน และมีนายแพทย์ โจชัว บรูคส์ (Joshua Brooks) ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน ร่วมลงนามด้วยเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว ถ้อยคำที่แพทย์ใช้ในการบรรยายแฝดสยามส่วนหนึ่งคือคำว่า "Lusus Nature" แปลเป็นภาษาไทยว่า มนุษย์ที่มีลักษณะประหลาด และบันทึกต่อว่าเป็น ๒ คนที่มีชีวิต น่าสนใจ น่ามอง สมควรได้รับการเอาใจใส่จากสาธารณชน

ความเห็นแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ปราศจากอคติทางด้านการทรงเจ้าเข้าผี ปราศจากเวทมนตร์คาถา มายาคติทั้งปวง แปลว่าแฝดคู่นี้มิได้เป็นภูตผีปีศาจที่จะมาหลอกหลอน หรือเป็นกาลกิณีแต่อย่างใด

มนต์เสน่ห์ของแฝดสยามฟุ้งกระจาย ทุกคนที่มาขอพบจะต้องลงทะเบียนในสมุดเยี่ยม

นายฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อตที่ชาวสยามเรียกว่านายหันแตร ร่วมกับกัปตันคอฟฟินพาแฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองตระเวนโชว์ตัวใช้ชีวิตในเกาะอังกฤษเหนือจรดใต้ราว ๗ เดือนเศษ ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะแฝดตัวติดกันเป็นของจริง โดนใจผู้ดีอังกฤษสุดสุด ตระเวนไปเมืองต่างๆ บนเกาะอังกฤษ เช่นที่เมือง Reading, Oxford, Cheltenham, Bath, Bristol, Worcester, Birmingham, Liverpool

ทีมงานเดินทางต่อขึ้นไปตอนเหนือของเกาะอังกฤษ ที่เมือง Glasgow แวะเยี่ยมบ้านเกิดของนายฮันเตอร์ด้วย

บันทึกข้อมูลของนาย Jas W.Hale ระบุว่าอิน-จันไปแวะพักที่ Dublin นาน ๒ สัปดาห์ แล้วกลับไป Liverpool, Chester, Leeds, York, Sheffield, Birmingham แล้วมาจบการโชว์ตัวที่ London ชื่อเมืองต่างๆ เหล่านี้ท่านที่เป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษจะคุ้นเคยดีแน่นอน

ท่านผู้อ่านลองนำแผนที่เกาะอังกฤษมากางดูนะครับ ๗ เดือนเศษแฝดหนุ่มจากสยามคู่นี้ไปมาเกือบทุกเมืองหลักแบบที่คนอังกฤษบางคนก็ยังไม่เคยเดินทางแบบนี้ อิน-จันคือชาวสยามคู่แรกที่ไปทำหน้าที่เสมือนทูตของสยาม การแสดงบนเวทียังคงสร้างความประทับใจให้กับคนดูโดยเฉพาะการตีลังกากลับหน้ากลับหลังพร้อมกัน ตีแบดมินตันกันเอง เล่นกับคนดูได้เฮฮาทุกที่

ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนภูมิใจที่ได้พบข้อมูลเพิ่มเติมจากต่างประเทศคือการที่พระราชินีอเดลเลด(Queen Adelaide)แห่งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๖ รวมทั้งพระราชวงศ์ของอังกฤษหลายท่านได้ไปชมการแสดงของแฝดมหัศจรรย์ที่ชื่ออิน-จัน บรรดาเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่ประจำการในลอนดอนต่างบอกกันปากต่อปากแห่กันมา นักวิทยาศาสตร์ บุคคลผู้มีชื่อเสียงนับไม่ถ้วน มากหน้าหลายตา ต่างมาขอสัมผัสแฝดหนุ่มแบบหัวกระไดไม่แห้ง

นาย Hale เขียนบันทึกเป็นสถิติที่คุยฟุ้งเลยว่านายฮันเตอร์ตระเวนพาแฝดอิน-จัน เดินทางบนเกาะอังกฤษรวมเป็นระยะทางราว ๔,๐๐๐ กิโลเมตร พบผู้คนจากการโชว์ตัวราว ๓๐๐,๐๐๐ คน




แฝดหนุ่มเป็นจุดสนใจของคนอังกฤษทุกชนชั้น ทั้งชายหญิง บรรยากาศที่สนุกสนานแปลกใหม่ ถ้าอิน-จันจะไม่มองสาวอังกฤษเอาเสียเลยคงเป็นเรื่องแปลก แฝดหนุ่มที่พร้อมจะมีความรัก หัวใจเริ่มเรียกหาชายตามองสาวอังกฤษ แต่อุปสรรคทางกายภาพคือกำแพงสูงที่มาขวางกั้น

และแล้วสาวสวยเลอโฉมเลือดอังกฤษนามว่าโซเฟีย (Sophia) คือเทพธิดาที่มาปรากฏตัวแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับแฝดหนุ่ม เธอทุ่มเทเวลาและหัวใจให้อิน-จันแบบหมดหน้าตัก

ช่วงนั้นอิน-จันใช้ภาษาอังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ แต่อาศัยใจกล้าบวกกับความเหงา จึงได้สาวน้อยโซเฟียมาเป็นผู้ปลอบประโลมแบบเปิดเผยและยอมรับว่าหลงรักโซเฟียเข้าแล้ว

เมื่อดวงจิต ๓ ดวงผูกพันเข้าด้วยกัน โซเฟียจึงประกาศความรักแฝดหนุ่มสยามต่อสาธารณชนในลอนดอนแบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม เป็นการจุดพลุส่องสว่างบนท้องฟ้ามหานครลอนดอนให้เจิดจ้า ผู้ดีอังกฤษมีเรื่องซุบซิบ อิจฉา นินทากันแบบไม่เหงาปาก

หนังสือพิมพ์ในอังกฤษเล่นข่าวเรื่องความรักของคนแฝดจากสยามเป็นข่าวหลัก สาวสวยอังกฤษยืนยันพร้อมวิวาห์กับแฝดหนุ่มตัวติดกันจากสยามผู้มาเยือน

สังคมในลอนดอนฮือฮาตาร้อน คำถามมากมายที่เป็นประเด็นซุบซิบ เป็นเรื่องทางกายภาพว่าจะแต่งกับอิน หรือจะแต่งกับจัน มันจะแยกกันยังไงวะ หรือจะอยู่กันแบบ ๒ ชาย ๑ หญิง เค้าจะไปแยกร่างกันตอนไหน ฝรั่งอังกฤษฟุตฟิตกันสนุกปาก

แต่ที่แน่ๆ คือประเด็นทางข้อกฎหมายว่าจะเป็นการสมรสซ้อนไหม ถ้ามีลูกออกมาแล้วสถานะทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร ผิดศีลธรรมหรือไม่ ลูกจะเป็นของใคร ผู้คนในเกาะอังกฤษมีชีวิตชีวา วี้ดว้าย วาดวิมานในอากาศ นึกภาพคู่ผัวตัวติดกัน ดันมีเมียคนเดียว

แม่สาวน้อยโซเฟียไม่หวาดหวั่นที่จะเผชิญกับการติฉินของสังคมอังกฤษ โซเฟียยอมรับว่าเป็นความแปลกใหม่ที่เข้ามาในชีวิต เธอยอมรับว่าเธอไม่สามารถทนความเย้ายวนจากเสน่ห์ของฝาแฝดคู่นี้ได้ เธอพร้อมที่จะต่อสู้ข้อกฎหมายทั้งปวงของอังกฤษเพื่อให้ได้เป็นคู่สมรสของแฝดอิน-จัน ที่สำคัญที่สุดแฝดจากสยามก็มีใจหลงรักโซเฟียไม่น้อยไปกว่ากันเลย

เรื่องนี้ติเตียนกันไม่ได้แน่นอน หนุ่มฉกรรจ์จากสยามตอนนี้อายุ ๑๙ ปีแล้ว เดิมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด เนื้อตัวมอมแมมอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง เป็นคนประหลาดไม่เคยรู้อนาคต อยู่มาวันหนึ่งโชคชะตาฟ้าบันดาลให้มาเจอสาวสวยอังกฤษบอกรักเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นเร้าใจสุดสุด

ผู้เขียนเองเชื่อว่าตอนเลี้ยงเป็ดขายไข่อยู่ที่เรือนแพที่แม่กลองแฝดหนุ่มคงยังไม่ได้ไปบอกรักสาวที่ไหนและก็คงไม่มีสาวๆ แถวบ้านกล้ามาบอกรักคนประหลาดนี้เช่นกันและถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๕๘ นี้ เชื่อว่าแฝดอิน-จันและสาวน้อยโซเฟียคงต้องเรียกสื่อมวลชนมาเปิดแถลงข่าวทางโทรทัศน์ ที่คนไทยทั้งประเทศต้องหยุดทำงานเพื่อดูทีวี ขอทราบความในใจว่าจะอยู่กินกัน ๓ คนผัวเมียเยี่ยงไร

ผู้เขียนเดาใจท่านผู้อ่านที่คงมีคำถามว่าแล้วสาวน้อยไฮโซในลอนดอนที่ชื่อโซเฟียน่ะตกลงเธอรักใครกันแน่ระหว่างอินและจัน?

คำกลอนที่สุดสวยโซเฟียบรรจงแต่งเพื่อบอกรัก

How happy could I be with the either, were the other dear charmer away.

ฉันจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าได้อยู่กับสุดที่รักคนหนึ่ง,

โดยสุดที่รักอีกคนหนึ่งไม่อยู่ด้วย

คำตอบและความหมายคือโซเฟียรักทั้งอินและจันครับ..ผู้เขียนคิดเอาเองสนุกๆ ครับว่าเธอตั้งใจเหมาจ่ายแบบไม่แบ่งใครเลย

เธอไม่ได้กระซิบข้างหูของอิน-จัน และไม่ใช่คลิปหลุดที่ไหน โซเฟียแสนสวยเธอส่งกลอนบทนี้ไปประกาศลงหนังสือพิมพ์ในลอนดอน

ช่างน่าภูมิใจในความสำเร็จ เงินทองไหลมาเทมา เรียกว่าครบเครื่องรวมทั้งความรัก อิน-จันทำให้คนบนเกาะอังกฤษไม่น้อยรู้จักกับคำว่า Siamese Twins (แฝดสยาม) ชีวิตพลิกผันจากคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมาใส่สูทหล่อเฟี้ยวอยู่ในอังกฤษและกำลังมีแฟนเป็นไฮโซสาวอังกฤษอีกต่างหาก

ความรักอันบริสุทธิ์ของแฝดอิน-จันกับสาวสวยโซเฟียจะเป็นไฉน ประการใด

(โปรดติดตามตอนต่อไปครับ)


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:20:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:38:02 »

.



• พ่อค้าฝรั่งโกงค่าตัวอิน-จัน
อิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวอยู่ในอเมริกานานเกือบ ๓ เดือน แล้วข้ามมหาสมุทรไปลุยต่อในอังกฤษ สก็อตแลนด์ และเวลส์อีกราว ๑๔ เดือน แฝดสยามดังระเบิด มีสาวสวยไฮโซในลอนดอนนามว่า โซเฟีย ( Sophia ) ใจถึง ประกาศรวบหัวรวบหางขอแต่งงานกับแฝดสยามแบบเปิดเผย อิน-จัน รับรักโซเฟียแบบหมดใจเช่นกัน รักแรกที่แสนจะดื่มด่ำ ของ ๒ ชาย ๑ หญิง ประสบกับแรงต้าน แรงเสียดสีจากสังคมของผู้ดีอังกฤษในด้านจริยธรรม ศีลธรรมจนกลายเป็นความปวดร้าว

อิน-จัน และโซเฟีย ทุ่มเทกายใจให้แก่กัน แต่แล้วก็ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ รักแรกของแฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองกับสาวสวยลอนดอนจบลงด้วยการพลัดพรากที่สุดแสนอาดูร

ในระหว่างใช้ชีวิตแบบคณะละครเร่ในอังกฤษ อิน-จัน หันมามองตัวเอง เห็นอนาคตขมุกขมัวที่จะต้องเผชิญกับชีวิตจริงที่จะต้องอยู่ให้รอดท่ามกลางความสำเร็จ ความผิดหวัง และความท้าทายทั้งปวงในอนาคต ทั้งสองคนจึงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษแบบเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ แฝดทั้งสองได้ขะมักเขม้นการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้รับคำชมจากนายฮันเตอร์ว่า การอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษใช้ได้เลยทีเดียว

หลักฐานข้อมูลที่บันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า แฝดอิน-จัน เป็นผู้ที่มีระเบียบ รักความสะอาด อัธยาศัยดี มีน้ำใจต่อทุกๆ คนที่เข้ามาสัมผัส ภาษาอังกฤษที่ใช้สนทนา มีพัฒนาการเห็นได้ชัด ฝรั่งอังกฤษแอบจ้องจับผิด คอยสังเกต และชอบทดสอบว่า อิน-จัน มีไลฟ์สไตล์ มีอุปนิสัยอย่างไร บางทีก็ยื่นขนมให้ อินคนเดียว คอยแอบดูว่าจะแบ่งปัน เอาเปรียบ กันอย่างไร ผลปรากฏว่า ทุกอย่างที่ได้รับมา แฝดสยามจะแบ่งปันกันเสมอ ไม่เอาเปรียบกัน แม้กระทั่งการแต่งตัวที่ลำบากตอนจะสอดเสื้อผ้าเข้าไปตรงท่อนเอ็นที่เชื่อมต่อกันตรงหน้าอก จะต้องใช้เวลาสักหน่อย อินและจัน ก็จะคอยช่วยกันจัดเสื้อผ้า หน้า ผม ให้เข้าที่ซึ่งกันและกันเสมอ

ผู้คนทั้งหลายที่พบเห็น อดที่จะชื่นชมไม่ได้ และที่ทุกคนชื่นชอบคือ แฝดตัวติดกัน เวลาที่เดินไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะการแสดงบนเวที ทั้งคู่จะมีท่าทางที่อ่อนช้อย กลมกลืน งดงามเหมือนคู่เต้นรำที่มีความสวยงามในความสับสน

ข้อมูลทางกายภาพที่คณะแพทย์จาก ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน มีคุณค่าสูงทางวิชาการแพทย์ถูกนำไปเผยแพร่ในวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแฝดตัวติดกันคู่อื่นๆ แน่นอนที่สุด ยังมีผู้คนจำนวนมากป้วนเปี้ยน ใจจดใจจ่อ ตั้งคำถาม ตั้งประเด็น อยากรู้อยากเห็น จะขอเข้ามาผ่าตัดแยกร่างให้ไม่เลิกไม่รา

คณะแพทย์บันทึกข้อมูลสำคัญที่ผู้คนทั่วไปอยากรู้ คือ แฝดอิน-จัน จะปวดท้องและต้องไปถ่ายหนักในเวลาเดียวกันเสมอ

คณะแพทย์ของอังกฤษต้องคอยปกป้องอิน-จัน ด้วยหลักการของแพทย์อย่างเข้มแข็งเสมอว่า ถ้าผ่าตัดแยกร่าง หมายถึง ตายทั้งคู่ประการสำคัญ แฝดทั้งสองเค้าคุยกันแล้วว่าจะไม่ขอผ่าแยกร่าง ขออยู่กันแบบนี้ไม่ได้เดือดร้อนใครตรงไหนเลย อย่าสาระแนมาพูดเรื่องนี้อีก

ท่ามกลางชีวิตประจำวันที่อิน-จัน เผชิญอยู่บนเกาะอังกฤษ แฝดสยามเริ่มคุยกันเรื่องรายได้จากการแสดงที่ดูเหมือนว่ามาก แต่กลับน้อยความระแวงสงสัยเรื่องเงินเริ่มมีมาตั้งแต่ลงเรือจากนิวยอร์กมาลอนดอน อิน-จัน สัมผัสได้ถึงการเอาเปรียบจากกัปตันคอฟฟิน รวมทั้งภรรยากัปตันที่ชื่อ นางซูซาน ที่เริ่มไม่ตรงไปตรงมาซะแล้ว แฝดจากเมืองสมุทรสงครามคู่นี้ปรึกษาหารือใครไม่ได้แน่นอน ในสมัยนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ สยามยังมิได้แต่งเอกอัครราชทูตไทยมาประจำในลอนดอน ในยุคนั้นสยามเพิ่งเปิดประเทศแล่นเรือสำเภาค้าขายกับจีนเป็นหลัก เป็นยุคตั้งต้นมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาทยอยเข้ามาในสยามเผยแพร่ศาสนา เผยแพร่การรักษาโรคแผนใหม่

ในสมัยในหลวง ร.๓ อังกฤษส่งร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี (ชาวสยามเรียกว่า นาย บาระนี) ข้าหลวงอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดียเข้ามาทำข้อตกลงการค้ากับสยามสำเร็จ และหลังจากนั้นสยามก็ทยอยลงนามสัญญาค้าขายกับหลายประเทศ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูต

ในเวลานั้น อิน-จัน คือคู่คิด คู่เดียวในโลกที่พูดกันรู้เรื่อง ไม่มีเอกอัครราชทูต ไม่มีสถานทูตไทยในลอนดอนให้ปรึกษา

แฝดหนุ่มซ่อนความรู้สึกที่โดนกัปตันคอฟฟินเอาเปรียบไว้ อากาศที่เกาะอังกฤษช่วงหน้าหนาวมันแสนจะทรมานสำหรับแฝดหนุ่มจากสยาม ความอดทน เท่านั้นคือปัจจัยที่จะมีชีวิตอยู่ได้ จากบันทึกประวัติศาสตร์ แฝดสยามป่วยเป็นหวัดเล็กน้อยเนื่องจากหมอกและความชื้นในลอนดอนพร้อมๆ กัน และหายจากป่วยพร้อมกัน คณะแพทย์ในอังกฤษได้สอบถามประวัติการเจ็บป่วยตอนเด็กๆ ก่อนมาถึงอังกฤษ แฝดสยามเล่าให้หมอบันทึกประวัติว่า ตอนอยู่ที่ปากน้ำแม่กลองเคยออกหัดมาแล้ว และในช่วงอายุ ๘ ขวบ เคยเป็นฝีดาษ ที่ชาวสยามเรียกว่า ห่าลง ในเมืองครั้งใหญ่ พ่อบังเกิดเกล้าที่ชื่อ นายทีอาย และน้องของแฝดอิน-จัน เสียชีวิตรวม ๖ คนในคราวนั้น ส่วนแฝดมีบุญคู่นี้ รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์

เกล็ดประวัติการเจ็บป่วยย้อนหลังตั้งแต่เป็นเด็กช่วงนี้ ได้รับการบันทึกไว้โดยคณะแพทย์ของราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน อังกฤษในหนังสือชื่อ On The United Siamese Twins โดย นายแพทย์ George Buckley Bolton ตอนที่แฝดมาถึงลอนดอนแล้ว

การทดลองทางการแพทย์ที่น่าสนใจของ Sir James Y Simpson คือการทดสอบให้ อิน รับประทาน โปแตสเซียม ไอโอไดด์ คนเดียว แล้วไปตรวจปัสสาวะของจัน ปรากฏว่าไม่มีสารดังกล่าวเจือปนออกมา แสดงว่าระบบการปัสสาวะแยกออกจากกัน ถ้าจะว่าไป เรื่องแบบนี้พวกหมอเค้าสนใจอยากรู้มากครับ


มีเหตุการณ์ที่แพทย์อังกฤษ บันทึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแฝดคู่นี้คือ คืนหนึ่งในขณะที่ทั้งคู่หลับสนิท ไม่ทราบว่าอินหรือจัน ตะโกนออกมาเสียงดังด้วยความตกใจ หมอจึงเข้าไปถามว่า เกิดอะไรขึ้นอิน ตอบว่าฝันว่าได้พบกับนางนากผู้เป็นแม่ ส่วน จันตอบว่า ฝันว่ามีคนกำลังจะเข้ามาตัดผมเปียที่แสนจะหวงแหน

เป็นเรื่องที่แฝดทั้งสอง จะประสบเหตุพบด้วยกัน คล้ายกันแม้กระทั่งเมื่อฝัน

แพทย์บันทึกไว้แบบนี้ เพราะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญสำหรับ ความเหมือน ความแตกต่างสำหรับคนที่เป็นฝาแฝด

ตามแผนงาน หลังจากตระเวนโชว์ตัวจนทั่วเกาะอังกฤษแล้ว นายฮันเตอร์ และกัปตันคอฟฟินได้เตรียมการที่จะให้ฝาแฝดเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษไปโชว์ตัวต่อในฝรั่งเศสอิน-จัน ไม่ลังเลแต่อย่างใด การเตรียมการทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่ท้ายที่สุด ข้อมูลที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับ คือข้อมูลด้านลบในตัวตนที่พิกลพิการของแฝดสยาม เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสมีจินตนาการว่าแฝดสยามคู่นี้เป็นอสุรกายที่อาจจะทำให้เกิดความอุจาดต่อสายตาสุภาพสตรีฝรั่งเศส ลามไปถึงสตรีมีครรภ์ที่อาจจะทำให้ลูกในท้องต้องมีร่างกายวิปริตตามไปด้วย

ในที่สุดทางการปารีส ไม่อนุมัติให้แฝดสยามและคณะเดินทางเข้าไปเปิดการแสดงในฝรั่งเศส

ทีมงานแฝดคนดัง ต้องปรับแผนการทำงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความโด่งดัง และเสน่ห์ของแฝดสยามยังตลบอบอวลในลอนดอน

ก่อนลาจากเกาะอังกฤษ ฮันเตอร์ จัดการแสดงของแฝดในมหานครลอนดอนอีกตามคำเรียกร้อง ทุกอย่างเป็นไปตามคาด คนในลอนดอนที่พลาดชมการแสดงครั้งก่อน ผู้คนมาตีตั๋วกันเนืองแน่น บรรยากาศที่ทำเงินทำทองแบบนี้ ได้ช่วยบรรเทาความภาวะรักขมระหว่างแฝดสยามกับสาวสวยโซเฟีย ให้จางลงได้บ้าง

สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความไม่แน่นอนครับ

นายฮันเตอร์ พ่อชาวอังกฤษ เชื้อสายสก๊อต เจ้าของธุรกิจเรือเดินสมุทร ๔ ลำ ที่ไปเอาตัวแฝดอิน-จันมาจากปากน้ำแม่กลอง มาทำหน้าที่เป็นออแกไนเซอร์ พาแฝดอิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวหากะตังค์ในเกาะอังกฤษราว ๑๕ เดือน เกิดเป็นกังวลกับธุรกิจเดินเรือสินค้าของตนซึ่งเป็นอาชีพหลัก ไม่สามารถมาฝังตัวอยู่กับการโชว์ตัวของอิน-จันได้อีกต่อไป แกมาตระเวนหาเงินกับเด็กแฝดนานเกินไปแล้ว อันที่จริงแกไปเปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เกาะสิงคโปร์ ธุรกิจในอินเดีย มีธุรกิจการค้าหลายแห่งรวมทั้งกิจการห้างสรรพสินค้าแห่งแรก (ชื่อห้างหันแตร)ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเมืองบางกอกสยามประเทศ ที่ตั้งอยู่บริเวณวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร จำต้องขอลาแยกตัวจากคณะแฝดไปล่องเรือหาซื้อสินค้าป้อนตลาดระหว่าง ยุโรป-เอเชีย

ฮันเตอร์ ที่ชาวสยามเรียกว่า นายหันแตร กำลังจะจากไปพร้อมกับรายได้ก้อนใหญ่ โดยฮันเตอร์ขายหุ้นครึ่งหนึ่งให้เป็นของ กัปตันคอฟฟิน ดังนั้นเถ้าแก่จัดการแสดงโชว์ตัวของแฝดสยามต่อจากนี้ไปจึงตกเป็นของกัปตันคอฟฟินแต่ผู้เดียว

ตามบันทึกของนาย เจมส์ เฮล แฝดสยามให้การยอมรับนับถือ นายฮันเตอร์ เหมือนบิดาเพราะย้อนหลังไปราว ๕ ปีที่แล้ว นายฮันเตอร์คนนี้แหละที่ไปพบแฝดสยามว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสาคร แล้วไปตีสนิทกับครอบครัวของแฝดสยาม เพื่อเช่าซื้อตัวแฝดสยามเอามาแสดงในอเมริกาและยุโรป เป็นตัวเป็นตนมาได้เพราะนายฮันเตอร์นี่แหละ

สิ่งที่นาย ฮันเตอร์ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ อิน-จัน ก่อนลาจาก คือ นายฮันเตอร์สัญญาที่จะเดินทางกลับไปสยาม และจะไปเยี่ยมนางนากที่ปากน้ำแม่กลองเพื่อส่งข่าวเรื่องชีวิตการทำมาหากินของแฝดอิน-จัน ที่ไปอยู่อเมริกาและยุโรปเกือบ ๒ ปีแล้ว

อิน-จัน ดีใจน้ำตานองหน้า ฝากข้าวของเยอะแยะมากับนายฮันเตอร์ ไปให้นางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่ปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม นี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ส่งข่าวไปหาแม่

ผู้เขียนอ่านไป ค้นข้อมูลไป วิเคราะห์จากความรู้สึกเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วได้ว่า ชาวตะวันตกที่เรียกว่า ฝรั่งรักการค้าขายไม่แพ้ชนชาติใด รักการเดินทางติดต่อกับผู้คน แลกเปลี่ยนสินค้า แสวงหาดินแดน แสวงหาทรัพยากร มุ่งมั่นในความร่ำรวย ไม่หวั่นเกรงการผจญภัยข้ามทะเล สินค้าตัวเก่งที่พ่อค้าฝรั่งนำไปขายทั่วโลกคือ อาวุธปืนทุกชนิด ที่ถือว่ามนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์อยากได้ครอบครองเพื่อการสร้างอำนาจที่เหนือกว่า ข้ามมหาสมุทรที่ยุคสมัยนั้นแทบบอกไม่ได้เลยว่าไปแล้วจะได้กลับมาเห็นหน้ากันอีกมั๊ย แต่ที่เก่งกล้าไม่เป็นรองใครคือ อิน-จัน จากสยาม ที่ไปโลดแล่นอยู่ในยุโรปและอเมริกาแบบไม่เกรงกลัวสิ่งใดเช่นกัน

สยามเองก็เป็นลูกค้ารายสำคัญที่ซื้อปืนคาบศิลามัสเก็ตและกระสุนดินดำจากนายฮันเตอร์

อิน-จัน อ่านออกเขียนได้ เริ่มได้กลิ่นโชยว่ากระแสเงินรายได้ขาดตกบกพร่อง การโชว์ตัวทุกรอบแน่นขนัด ไม่ขาดทุนแน่นอน นับนิ้วหลายรอบแล้ว ทั้งคู่น่าจะต้องได้รับเงินมากกว่านี้

สิ่งที่แฝดสยามอยากทราบใจจะขาด คือ นางนากที่บ้านปากน้ำแม่กลองได้รับเงินค่าตัว ๑,๖๐๐ บาทครบหรือไม่ ฝูงเป็ด กิจการขายไข่และไข่เค็ม รวมทั้งบรรดานก หนู สัตว์ต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน เพื่อนฝูงที่เคยหยอกล้อวิ่งเล่น ว่ายน้ำแข่งกันแถวละแวกบ้าน ยังมีชีวิตอยู่ฤา?

เมื่อการแสดงชุดสุดท้ายในลอนดอนจบลง กัปตันคอฟฟิน เป็นเจ้าของกิจการแต่ผู้เดียว แต่คอฟฟินก็ประสบปัญหาเรื่องอาชีพหลักคือการเดินเรือที่ทิ้งไปนานเช่นกัน จึงต้องมอบให้ภรรยาคือนางซูซาน เข้ามาควบคุมธุรกิจการโชว์ตัวของแฝดสยามต่อไป

หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป นางซูซาน มีปัญหากับแฝดสยามเรื่องกระจุกกระจิก ระหองระแหงบ้าง เพราะต่างคนต่างวิธีคิด แต่ก็ต้องร่วมงานกันต่อไป

ในที่สุด ทีมงานอิน-จัน ลงเรือชื่อ เคมบริส (Cambris) มีกัปตันเรือชื่อ มัวร์ (Moore) แล่นเรือออกจากลอนดอนไปขึ้นฝั่งที่นิวยอร์กในวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๔

ชีวิตของแฝดสยามที่จากบ้านปากน้ำแม่กลองมาเกือบ ๒ ปี กลับมาเปิดการแสดงที่อเมริกาเป็นรอบที่ ๒ ผ่านร้อนผ่านหนาว สัมผัสกับความรักและความผิดหวังจากรักแรกมาแล้ว

ชีวิตต้องดำเนินต่อไปในอเมริกา ตามหนังสือสัญญาเช่าตัวมาแสดง ๓ ปีที่ยังไม่หมดอายุสัญญา แฝดหนุ่มคิดถึงบ้านเรือนแพที่สมุทรสงครามใจจะขาด แฝดหนุ่มกำลังคิดอะไรอยู่



• แฝดสยาม ออกหมัดคู่ใส่ฝรั่งคนดู
วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๔ อิน-จันเดินทางด้วยเรือจากลอนดอนกลับมาถึงนิวยอร์กเป็นรอบที่ ๒ แฝดหนุ่มจากสมุทรสงคราม ถูกหล่อหลอมด้วยวิถีชีวิตแบบอเมริกันและอังกฤษ มีชีวิตครบทุกรส ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ผสมผสานกับรักแรกที่แสนเศร้า เผชิญกับเรื่องราวสารพัด แสดงตัวต่อผู้คนนับแสนในอังกฤษและอเมริกา ชีวิตของแฝดอิน-จัน จากเด็กเลี้ยงเป็ดแถวปากน้ำแม่กลองเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนคืน

ชีวิตของแฝดหนุ่มนักผจญภัย แข็งแกร่งทั้งกายและใจ

นิวยอร์ก ไม่ใช่เมืองใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจต่อไปอีกแล้ว อิน-จันเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่จิตใจเริ่มแปรปรวน รอคอยเงียบๆ ว่า เมื่อไหร่หนอจึงจะหลุดพ้นจากสัญญาที่นายคอฟฟินไปเช่าเอาตัวจากนางนากมาแสดงละครเร่ ๓ ปี นี่ผ่านมาแล้วเกือบ ๒ ปี เหลือระยะเวลาอีก ๑ ปีเศษเท่านั้นก็จะเป็นอิสระ

เวลาและวารีไม่คอยใคร เถ้าแก่ที่เข้ามาคุมกิจการคนใหม่คือนางซูซาน ภรรยาของกัปตันคอฟฟิน เธอมอบหมายต่อให้นายเจมส์ เฮล (James Hale) เป็นผู้จัดการส่วนตัวควบคุมการโชว์ตัวในนิวยอร์กและเมืองต่างๆ ในอเมริกา การแสดงในอเมริกาต้องดำเนินต่อไปหลังจากเคยตระเวนแสดงมาแล้วก่อนย้ายวิกไปแสดงที่อังกฤษ

สาเหตุที่นายเฮลต้องเข้ามาดูกิจการตรงนี้ ก็เพราะนางซูซานเองเธอก็ต้องกลับไปดูแลครอบครัว มีลูกที่กระจองอแงอยู่ที่บ้านเช่นกัน

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากอะไรเลยสำหรับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วไปที่มีครอบครัว การแสดงตัวของแฝดอิน-จันในอเมริกา ก็เปรียบเสมือนละครเร่ ที่ต้องพเนจรไปทั่ว ไม่มีหลักแหล่ง ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ซึ่งนางซูซานเองไม่สามารถมาใช้ชีวิตเยี่ยงนี้ได้

ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตไทยโบราณที่กล่าวว่า คนที่มีอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เป็นอาชีพที่ต้องเดินทางตลอดเวลา ชีพจรลงเท้า อยู่ที่ไหนไม่นาน ไม่มีหลักแหล่ง ชาย ๔ อาชีพนี้มักจะโปรยเสน่ห์ ขายขนมจีบไปทั่ว ดังนั้นหญิงไทยทั้งหลายพึงหลีกเลี่ยงให้ไกล และจงละเว้นที่จะให้บุคคลเหล่านี้มาทำหน้าที่เป็นผัวเด็ดขาด

เป็นคำกล่าวคำสอนลูกผู้หญิงไทยสมัยโบราณนะครับ ผู้เขียนไม่ได้มโนขึ้นเอง

ผู้เขียนขอนำพาท่านผู้อ่านที่เคารพ ย้อนเวลาหาอดีตไปเกือบ ๒๐๐ ปี เพื่อลงไปเดินบนถนนในแผ่นดินอเมริกาทางฝั่งตะวันออกในขณะนั้น เพื่อให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของอเมริกาว่าแฝดหนุ่มนักผจญภัยจากสยามเผชิญกับอะไรในอเมริกา ที่เปรียบได้กับดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มนุษย์ค้นพบ

ในราว พ.ศ.๒๐๓๕ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวสเปน แล่นเรือออกจากสเปนไปทางตะวันตกนานนับเดือน ในที่สุดไปพบหมู่เกาะแห่งหนึ่ง โคลัมบัสเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทวีปเอเชีย (ต่อมาเรียกบริเวณนี้ว่าหมู่เกาะแคริบเบียน อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา) ยังไม่ได้ขึ้นแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกา ประวัติศาสตร์โลกจารึกชื่อ โคลัมบัสว่าเป็นคนค้นพบทวีปอเมริกา

พ.ศ.๒๑๕๐ บริษัทยาสูบของอังกฤษได้ข้อมูลแผ่นดินโลกใหม่ จึงแล่นเรือออกมาจากอังกฤษ เพื่อมาหาพื้นที่ปลูกต้นใบยาสูบ เจอแผ่นดินในฝันตามคำบอกเล่า กุลีกุจอเข้าจับจองเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทันที บริษัทยาสูบจากอังกฤษประกาศตั้งเมืองเจมส์ทาวน์ (Jamestown) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจมส์ที่ ๑ ของอังกฤษ แล้วสถาปนาบริษัทชื่อ London Virginia Company บุกเบิกทำไร่ยาสูบที่เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ในช่วงแรกคนงานที่อพยพเข้ามาประสบสภาพอากาศที่แห้งแล้งและหนาวจัด ป่วยล้มตายจำนวนมาก ชาวพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนแถวนั้นมีน้ำใจงามให้ความช่วยเหลือ คนงานอังกฤษจึงรอดตายมาได้ทั้งหมด

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวคือรัฐเวอร์จิเนียของอเมริกา ส่วนคนไทยทั้งหลายที่เป็นนักสูบบุหรี่ คงคุ้นกับบุหรี่ที่โฆษณาว่าใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ที่จำหน่ายไปทั่วโลก นี่คือประวัติความเป็นมาครับ

ในยุคนั้นทวีปอเมริกาถือว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ รัฐบาลของประเทศยุโรปเองสนับสนุนให้ประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสภาพอากาศที่หนาวแบบทารุณ พวกไม่มีที่ทำกิน ไปจับจอง ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไปแสวงโชค ผู้คนที่ไม่มีอะไรจะเสียจึงขอไปตายเอาดาบหน้าในแผ่นดินอเมริกา

อันที่จริงจะบอกว่าแผ่นดินอเมริกาไม่มีเจ้าของ คงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตมาก่อนนับหมื่นปีพันปีคืออินเดียนแดง ที่ไม่ชอบใส่เสื้อ มีขนนกปักเป็นแผงอยู่บนศีรษะ ขี่ม้าเก่ง ยิงธนูแม่น เอาสีทาหน้าเป็นริ้วๆ ที่คนไทยเคยเห็นในหนังคาวบอยนั่นแหละครับ คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาก่อนนานแสนนาน

ในกาลสมัยนั้น แผ่นดินอเมริกาคือจุดหมายปลายทางของผู้แสวงโชคของผู้คนทุกหมู่เหล่า บรรดาผู้คนในโลกนี้เรียกแผ่นดินตรงนี้ว่า "โลกใหม่ (New World)" ยังไม่มีใครเรียกว่าอเมริกา

พ.ศ.๒๑๖๓ คนกลุ่มหนึ่งจากอังกฤษเรียกตัวเองว่าพิลกริม (Pilgrim) จำนวน ๑๐๒ คนที่ไม่สามารถทนการกดขี่ทางศาสนาในอังกฤษลงเรือชื่อเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower) ใช้เวลา ๖๕ วันไปขึ้นบกที่ปลายแหลมค็อด (Cape Cod) ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่าเมืองพลีมัธ (Plymouth) อยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ต่อมาบุคคลกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรพบุรุษของอเมริกา

พ.ศ.๒๑๘๑ ชาวสวีเดน ผู้เก่งกาจในการเดินเรือ ก็อพยพจากดินแดนตนเองที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ หนาวสุดขั้วหัวใจแห่กันเข้าไปตั้งรกรากในแผ่นดินอเมริกา บริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ส่วนกลุ่มชาวดัตช์หรือฮอลันดา ที่เป็นมหาอำนาจทางทะเลอพยพมาทีหลัง ตลาดเกือบจะวาย กลัวเสียเปรียบชาวสวีเดน จึงใช้กำลังเข้าปล้นยึดดินแดนของสวีเดนในอเมริกา แล้วตั้งชื่ออาณานิคมตรงนั้นว่านิวเนเธอร์แลนด์ ตั้งเมืองชื่อว่านิวอัมสเตอร์ดัม ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหานครนิวยอร์ก ก่อนที่แฝดอิน-จันจากสยามเข้าไปทำมาหากินนี่แหละครับ

นักเดินเรือชาวดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ เป็นเจ้าแห่งนักเดินเรือนะครับ คนพวกนี้เดินเรือเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีที่แล้วเช่นกัน

บรรดาผู้คนทุกสารทิศ รวมทั้งมีการนำทาสผิวดำ (ที่เรียกกันว่านิโกร) เข้าไปในอเมริกาไม่หยุด ฝรั่งเศสไม่ยอมเป็นรองใคร ส่งพลเมืองเข้าไปยึดดินแดนบุกเบิกจับจองแดนทางใต้ลึกเข้าไปในแผ่นดินอเมริกาแถบแม่น้ำมิสซิสซิปปี และชายฝั่งเม็กซิโก ปัจจุบันคือรัฐลุยเซียนา ส่วนอังกฤษคู่กัดถาวรของฝรั่งเศสแย่งกันลงเรือข้ามมหาสมุทรไปยึดดินแดนที่ค่อนไปทางเหนือเกาะขอบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเป็นหลักตั้งชุมชนตั้งเมืองนิวเจอร์ซีย์ เพนซิลเวเนีย

มือใครยาว สาวได้สาวเอา แผ่นดินอเมริกาที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดขอบฟ้า สุดสองมหาสมุทร ป่าไม้ ผืนน้ำ ทะเลทราย ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือเฟือคือเดิมพันและรางวัล

ผ่านไปหลายปี ชาวอังกฤษที่อพยพมาอยู่ในโลกใหม่ (อเมริกา) จาก ๑๓ อาณานิคมทางฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกายังถูกเรียกเก็บภาษีจากรัฐบาลประเทศอังกฤษ ทนไม่ไหวอีกต่อไป จึงรวมตัวกันประกาศไม่ขอเป็นอาณานิคมของอังกฤษอีกต่อไป ประกาศขอเป็นประเทศเอกราช อังกฤษส่งกำลังทหารไปปราบปราม เกิดการสู้รบอย่างหนัก ๖ ปี จอร์จ วอชิงตัน เป็นแม่ทัพของอเมริกา ฝรั่งเศสส่งกำลังทหารสนับสนุนอเมริการบกับอังกฤษ ในที่สุดอังกฤษแพ้สงคราม โทมัส เจฟเฟอร์สัน เขียนคำประกาศเอกราชที่เมืองฟิลาเดลเฟีย อเมริกาจึงเป็นเอกราช เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๙

ถ้าเทียบเคียงกับสยามในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ท่านผู้อ่านคงพอจำได้นะครับ กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ แสดงว่าอเมริกาประกาศอิสรภาพตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กำลังกอบกู้บ้านเมือง

อเมริกาตั้งเมือง มีรัฐธรรมนูญ จัดระบบการปกครอง มีกฎหมาย ผนวกดินแดนของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก ตั้งมหาวิทยาลัย ทำได้อย่างรวดเร็ว เร่งขยายดินแดนออกไปทางตะวันตก เพื่อให้ไปบรรจบมหาสมุทรแปซิฟิก มีการรวม แลกเปลี่ยน ซื้อขายดินแดนที่น่าสนใจ ดังนี้

ซื้อรัฐลุยเซียนาจากฝรั่งเศส ราคา ๑๕ ล้านเหรียญ

ซื้อรัฐอลาสกาจากรัสเซีย ราคา ๗.๒ ล้านเหรียญ

คนขาวรบพุ่งกับชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ในที่สุดนำดินแดนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าพหุสังคม พหุวัฒนธรรม มาปะติดปะต่อ บูรณาการกัน จัดรูปแบบการปกครอง เปลี่ยนชื่อจาก United Colonies เป็นสหรัฐ United States of America เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๓๑๙ สยามเรียกประเทศใหม่นี้ว่า สหปาลีรัฐอเมริกา

ส่วนชื่ออเมริกานั้นผู้เขียนค้นคว้าจากตำรา บทความของต่างประเทศแล้ว มีข้อมูลหลากหลายที่จะยกเครดิตการตั้งชื่ออเมริกาให้กับคนนั้นคนนี้ มีการแต่งเรื่องราวสารพัดประวัติศาสตร์ แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นการตั้งชื่อตามนักสำรวจและเดินเรือชาวอิตาเลียนที่ชื่ออเมริโก เวสปุชชี (Americo Vespucci) ที่เดินทางไปโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) หลังโคลัมบัส และตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือแจกจ่ายไปทั่วยุโรป

กลับมาที่เรื่องแฝดสยามครับ

อิน-จันนั่งเรือมาถึงนิวยอร์กครั้งนี้ยังไม่มีโอกาสได้เห็นเทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ที่แสนสง่างามในอ่าวนิวยอร์ก ซึ่งฝรั่งเศสมอบอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพนี้ให้เป็นของขวัญแก่ประชาชนอเมริกัน เนื่องในโอกาสฉลองวันชาติอเมริกาครบ ๑๐๐ ปี ประชาชนฝรั่งเศสชื่นชมประชาชนอเมริกันที่กล้าหาญสู้รบกับกองทัพอังกฤษจนทำให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษและเป็นประเทศเอกราชโดยทำพิธีส่งมอบและเปิดอนุสาวรีย์เป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๙

อิน-จันเข้าไปในอเมริกา หลังจากอเมริกาเป็นเอกราชราว ๕๓ ปี ช่วงนั้นประธานาธิบดีสหรัฐชื่อแอนดรู แจ๊กสัน ในตอนนั้นเรื่องสำคัญคือ อเมริกากำลังจัดระเบียบกลุ่มชนพื้นเมืองคือพวกอินเดียนแดง โดยประธานาธิบดีมีคำสั่งให้นำอินเดียนแดง ๕ เผ่า ไปรวมกันอยู่ในรัฐโอคลาโฮมา

นิวยอร์กในยามที่แฝดสยามต้องไปแสดงละครเร่นั้น เป็นเมืองท่าเรือขนาดยักษ์ที่ผู้คนจากทุกมุมโลกทยอยอพยพ ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกราก ตามข้อมูลของนายเฮลที่เป็นพี่เลี้ยงแฝดอิน-จันในช่วงนั้น นิวยอร์กมีประชากรแค่ราว ๒.๕ แสนคน เป็นเมืองที่คึกคัก มีพ่อค้า นายธนาคาร มีคนงานท่าเรือ บริษัทก่อสร้าง ช่างฝีมือ คนยากดีมีจน คนผิวสี ทาสผิวดำ แหล่งบันเทิง ซ่องโสเภณี ปะปนระคนกันไป ถ้าเรียกภาษาไทยคือผู้คนร้อยพ่อพันแม่ กลุ่มคนที่ดูเหมือนว่าจะโดนรังเกียจคือกลุ่มชาวไอริช จากทางตอนเหนือของเกาะอังกฤษที่อพยพเข้ามา

อเมริกาถือเป็นดินแดนแห่งโอกาส เสรีภาพ ไม่มีระบบเจ้าขุนมูลนาย ใครเก่ง ใครขยัน คนนั้นรวย ผู้คนใช้ชีวิตแบบใครดีใครอยู่ มีทุกอาชีพ คนดี คนร้าย เจ้าพ่อ เจ้าแม่อาชญากรรม มาเฟีย รีบเร่งทุกนาที ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง

มนุษย์บนโลกใบนี้ไม่เคยหยุดการย้ายถิ่นฐานครับ อิน-จัน จากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม พ่อก็เป็นลูกจีนชื่อนายทีอาย ที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาสยามตั้งแต่เด็ก แม่ชื่อนางนาก ก็เป็นลูกผสมจีน-มาเลย์ ตอนเกิดมาตัวติดกัน คนแถวนั้นเรียกแฝดคู่นี้ว่าแฝดจีน และแฝดจีนก็ไปอเมริกา

การแสดงของแฝด มีสีสันขึ้นในลักษณะโดนลองดีจากคนดูการแสดง การแสดงครั้งหนึ่งที่แมสซาชูเซตส์ ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาจะขอเอาเข็มมาแทงเพื่อทดสอบปฏิกิริยาความรู้สึก ในที่สุดถึงขั้นโต้เถียงกัน อิน-จันปรี่เข้าไปจะชกชายคนนั้น จนมีคนเข้ามาห้ามปรามเรื่องจึงยุติ

การแสดงอีกรอบที่เดินทางลงไปทางใต้ที่รัฐอะลาบามา ระหว่างการแสดง หมอที่มาร่วมชมการแสดงเดินขึ้นไปบนเวที ประกาศขอดูท่อนเอ็นที่เชื่อมบริเวณหน้าอกเพื่อการพิสูจน์แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย อิน-จันปฏิเสธที่จะให้หมอคนนี้พิสูจน์ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย

ไอ้หมอคนนี้หันกลับมาแหกปากตะโกนบอกคนดูว่า เรื่องแฝดตัวติดกันเป็นเรื่องโกหกลวงโลก

อิน-จันที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ไม่รอช้า กระโดดเข้าชกไอ้หมอปากหมาคนนี้ด้วยพลังหมัดคู่ จนล้มคว่ำบนเวที มีคนพยายามจะเข้ามาช่วยห้ามปราม บ้างก็จะช่วยอิน-จัน บ้างก็เป็นพวกไอ้หมอ ในห้องแสดงเลยชุลมุนยกพวกต่อยกันเละ เหมือนในหนังฝรั่งที่เราเคยดูนั่นแหละครับ แถมมีการยกเก้าอี้ฟาดกันอีกต่างหาก การแสดงเลยต้องยุติ

เหตุการณ์ครั้งนี้ไปจบลงที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่า อิน-จันทำร้ายร่างกายผู้อื่น อิน-จันโดนปรับ ๓๕๐ เหรียญสหรัฐ ผู้เขียนไม่แน่ใจนะครับว่าค่าปรับก้อนนี้ใช้เงินของผู้จัดการส่วนตัว หรือเงินของแฝดนักชก

สำหรับเงินจำนวนนี้ ในสมัยนั้นถือว่ามหาศาลนะครับ เพราะตั๋วค่าเข้าชมคนละ ๕๐ เซนต์ ซึ่งก็ถือว่าแพงพอสมควร

แฝดอิน-จันได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนจากเดือนละ ๑๐ เหรียญสหรัฐ เป็น ๕๐ เหรียญ ทั้งนี้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนเดินทางออกมาจากปากน้ำแม่กลอง

เหตุการณ์แบบขมๆ นี้ยังทยอยเข้ามาอีกหลายครั้ง ในลักษณะการลองของ ประลองกำลัง และกวนประสาท ทำเอาแฝดหนุ่มเสียสุขภาพจิต หดหู่ใจไม่น้อย แต่ก็ต้องอดทนทำงานต่อไปด้วยการประนีประนอม

ขอเรียนท่านผู้อ่านเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแสดงของแปลก คนประหลาด สัตว์พิสดาร ในอเมริกายุคนั้น เป็นธุรกิจทำเงิน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Freak show คณะการแสดงจะตระเวนไปตามเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ได้เงินแน่นอน

ชาวอเมริกันคนหนึ่งเปิดบริษัททำธุรกิจหากิน ชื่อ Sideshows PT Barnum ที่จ้องเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก พิสดาร โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว เรื่องในที่ลับของชาย-หญิงที่เป็นคนที่มีลักษณะประหลาดเอามาแสดงหากิน ความพิกลพิการ ผู้หญิงมีหนวด คนหน้าเหมือนลิง นางเงือก หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่ไม่ปกติ เรื่องของชาวบ้านที่เขาปกปิด เรื่องในที่ลับทั้งหลาย จะเป็นสินค้าที่ทำเงินได้

ในกรณีของแฝด อิน-จัน บริษัทของนายบาร์นัม ก็อยากได้มาเป็นสินค้าตัวโปรดเช่นกัน

แฝดอิน-จันเดินทางรอนแรมไปหลายเมือง ด้วยขบวนเกวียนของตัวเอง มีความสะดวกสบาย และเหตุผลที่ใช้รถม้าเทียมเกวียนก็เพราะนางซูซานไม่อยากให้ผู้คนทั้งหลายเห็นแฝดอิน-จันบนรถไฟ เรือเมล์ และที่สาธารณะทั่วไป ต้องไปเสียเงินดูเอง

บรรพบุรุษอิน-จันของชาวสยาม ช่างเป็นนักผจญภัยเดินทางที่ยิ่งใหญ่สุดขอบฟ้า เกินคำบรรยายครับ

เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของหนุ่มสยาม ๒ คนนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มีนาคม 2559 16:07:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 02 มีนาคม 2559 13:59:43 »

.



• แฝดสยามบู๊กับคนดูอีกครั้ง
ใครๆ ในอเมริกาก็อยากเห็นแฝดสยามอิน-จัน ที่ฝรั่งอเมริกันเรียกว่า Siamese Twins (แฝดสยาม) แต่ในโปสเตอร์โฆษณาให้มาชมการแสดงใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Eng-Chang บางที่ก็เรียกว่า Chang-Eng แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเด็กหนุ่ม ๒ คนตัวเชื่อมติดกันตรงหน้าอก

ม้าลากเกวียนที่มีหลังคาเหมือนในหนังคาวบอยอเมริกัน ที่ถือว่าเป็นพาหนะส่วนตัว ตระเวนไปทุกที่ที่มีถนน เมืองเล็ก เมืองใหญ่ไปหมด เพื่อเก็บเงินจากการแสดงวันละ ๔ ชั่วโมงตามข้อตกลง

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพนะครับ ในขณะที่แฝดสยามไปร่อนเร่ในอเมริกานั้น ในเมืองสยามคือสมัยในหลวง ร.๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดอะไรขึ้น สยามประเทศมีบรรยากาศแบบไหน

ในเวลานั้นชาวสยามกำลังย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ สยามกำลังเร่งหาเงินมาสร้างบ้านสร้างเมือง ขอให้ท่านผู้อ่านจินตนาการนึกถึงบริเวณแถวๆ วัดพระแก้วฯ ที่อยู่ใกล้กับสนามหลวง นึกถึงศาลหลักเมืองนะครับ

บริเวณนั้นคือกล่องดวงใจของกรุงเทพฯ และสยามประเทศ

สยามกำลังรุ่งเรืองจากการค้าขายด้วยเรือสำเภาจากจีนเป็นหลัก นอกจากนั้นคือเรือกลไฟจากชาติตะวันตก แล่นเข้า-ออกอ่าวไทยทางแม่น้ำเจ้าพระยา สยามทำเงินจากการค้าได้อย่างเป็นระบบ จัดเก็บภาษีด้วยระบบจังกอบ อากร ฤชา ส่วย ภาษีเงินราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้

ชาวจีนที่ทยอยอพยพเข้ามาโดยเรือสำเภานับหมื่นนับแสนตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพลังขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจอย่างสำคัญให้กับสยาม พ่อของอิน-จันที่ชื่อนายทีอายก็เป็นลูกจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสยามที่ปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม

ทางการสยามใช้กระบวนการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมูลรับเหมาผูกขาดให้ไปเก็บภาษีจากราษฎร ส่วนใหญ่ผู้ที่ประมูลงานเก็บภาษีได้จะเป็นชาวจีน ซึ่งเป็นคนที่มีทักษะทางการค้าขาย ทำงานกันเป็นทีม เป็นระบบการเก็บภาษีที่ได้ผลดี สยามมีรายได้แผ่นดินเป็นเงินก้อนโต เงินก้อนนี้แหละที่เอาไปสร้างกรุงเทพฯ เพราะกรุงศรีอยุธยาโดนพม่าเผาเรียบ ที่เรียกว่ากรุงศรีแตกไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๐

รายได้แผ่นดินสูงสุดจากการค้าและภาษีที่เก็บได้โดยระบบนี้เคยสูงสุดถึง ๒๕ ล้านบาท

ในระหว่างที่แฝดอิน-จันซึ่งเปรียบเสมือนทูตจากสยามไปตระเวนสร้างชื่อเสียง เก็บเงินในอเมริกาและอังกฤษ ฝรั่งชาติตะวันตกรู้จักสยามมากขึ้น พ่อค้าฝรั่งคนที่เข้ามาเจาะตลาดทำการค้ากับสยามได้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นคนอังกฤษ ชื่อนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ที่พาอิน-จันไปทำธุรกิจหาเงินจากการโชว์มนุษย์ประหลาด พ่อค้าจะนำทาง ปูทางมาก่อน เมื่อรัฐบาลทราบว่าสะดวกราบรื่นดี รัฐบาลก็จะตามเข้ามาทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับสยามเป็นทางการเพื่อขยายผล

เมื่อนายฮันเตอร์ได้รับความไว้วางใจจากทางการสยามแล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงส่ง ร.อ.เฮนรี เบอร์นี่ (ชาวสยามเรียกว่านายบาระนี) เข้ามาเจรจาลงนามทางการค้ากับสยาม เรียกว่าสนธิสัญญาเบอร์นี่ ลงนามเมื่อ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๖๙ นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สยามทำกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์

ส่วนทางสหปาลีรัฐอเมริกา(ชื่อที่สยามเรียกในสมัยนั้น) เข้ามาสร้างไมตรีกับสยามในแนวทางของตนเอง โดยส่งมิชชันนารีและแพทย์อเมริกันเข้ามาเผยแพร่ศาสนา รวมทั้งรักษาพยาบาลแผนใหม่ให้กับประชาชนและบุคคลชั้นสูงของสยาม ได้รับความเชื่อถือสูงส่ง มาทำการผ่าตัดคนไข้ให้ชาวสยามได้ประจักษ์ เอายาสมัยใหม่มาใช้รักษา เป็นที่ฮือฮาว่ารักษาหายขาด ไม่ใช่หมอผี ทีมงานรายงานกลับไปอเมริกาว่าชาวสยามมีน้ำใจงาม รัฐบาลของสหปาลีรัฐอเมริกาจึงส่งนายเอ็ดมันส์ โรเบิร์ต (Edmunds Robert) เข้ามาเจรจากับสยาม โดยลอกแบบสัญญาของอังกฤษ เจรจาอยู่ ๒๒ วัน มี ๑๐ มาตรา ลงนามกันเรียบร้อยเมื่อ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๕

การแสดงตัวของแฝดสยามเป็นที่กล่าวขานกันไป หนังสือพิมพ์ในอเมริกาลงบทความผสมผสานกับรายงานทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ออกมา แพทย์แต่ละคนนำเสนอตามข้อมูลที่ตนเองเจาะลึก ผลการตรวจของแพทย์ทั้งหลายเลยทำให้ผู้คนอยากรู้อยากเห็นแฝดสยามตัวจริงโดยปริยาย ทุกคนที่มาชมการแสดงบอกกันปากต่อปากว่าตัวติดกันจริง ประหลาดจริง

หนังสือพิมพ์ในอเมริกาชื่อ Daily Chronicle Philadelphia ครั้งหนึ่งลงข่าวว่า ในการแสดงในเมือง แฝดอิน-จันคืนเงินครึ่งหนึ่งให้กับผู้ดูคนหนึ่ง โดยบอกเหตุผลว่าคุณมีตาข้างเดียว คุณไม่ควรเสียเงินเต็มราคา เรียกเสียงเฮจากคนดูได้สนั่น

ตอนนั้นแฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองพูดภาษาอังกฤษได้ หยอกล้อคนดูไม่ให้เบื่อหน่าย เป็นเสมือนผู้ให้ความบันเทิง (Entertainer) กับคนที่เสียเงินเข้ามาดูตนเองได้เป็นอย่างดี

ความเบื่อระอาที่อิน-จันต้องเผชิญในการแสดงแต่ละรอบคือ ความจำเจ ซ้ำซากของคำถาม ประเภทชอบมั้ยที่ตัวติดกัน อยากผ่าแยกร่างมั้ย แต่ประเภทกวนประสาทหน่อยก็จะถามว่า ถ้าคนหนึ่งต้องเข้าคุก อีกคนจะยอมเข้าไปด้วยมั้ย? น่าเห็นใจกับความจำเจ วนเวียนซ้ำซาก

สุขภาพจิตของทั้งสองคนคงอ่อนล้าไม่น้อย นายเฮล (Hale) ผู้จัดการส่วนตัว ยังคงสังเกตว่าแฝดทั้งสองไม่ค่อยคุย ไม่ปรึกษาหารือกันเลย ทุกวันต้องมีโปรแกรมการแสดงตัว การเดินทางรอนแรมไปทั่ว ทำให้แฝดหนุ่มเห็นแผ่นดินอเมริกาแบบเจาะลึก เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนอเมริกันแบบหลากหลาย เปรียบเทียบกับอาชีพเลี้ยงเป็ดที่ผ่านมา

วิบากกรรมยังตามมาไม่ขาดระยะ การแสดงครั้งหนึ่งของคณะแฝดปรากฏว่าเจอการลองของจากคนดู ไอ้เบื๊อกฝรั่งคนหนึ่งที่เข้ามาขอจับมือจันแล้วบีบมืออย่างแรง จันเลยต่อยชายผู้นั้น เรื่องไปถึงตำรวจอีกเหมือนเดิม โทษครั้งนี้ต้องติดคุก อินเลยต้องประท้วงว่าตนเองบริสุทธิ์ ทำไมต้องเข้าคุกด้วย ถ้าต้องเข้าคุกไปด้วยก็จะฟ้องกลับ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์พิลึกในอเมริกาครั้งนี้ ตำรวจไม่สามารถเอาจันเข้าคุกคนเดียวได้ เลยต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ปล่อยตัวออกมาทั้งคู่

ผู้เขียนเดาย้อนหลังไปเกือบ ๒๐๐ ปีว่าแฝดสยามคู่นี้คงหัวเราะเป็นภาษาอังกฤษและเดินยิ้มทั้งวัน

อิน-จันใช้ชีวิตช่วงนี้แบบสมถะ ตระเวนแสดงตัวเหมือนละครเร่ไปทุกชุมชนในอเมริกา เก็บหอมรอมริบ อดทนต่อการยั่วยุของคนดู สร้างความบันเทิงเอิ๊กอ๊ากให้ทุกที่ พบปะผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ปรับตัวให้เข้ากันได้กับวัฒนธรรมการกินอยู่หลับนอน สิ่งที่อดไม่ได้คือคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่ และพี่น้องที่ปากน้ำแม่กลอง

การแสดงตัวผ่านไปนับเดือน อิน-จันสะสมอารมณ์ขุ่นมัว มีความเห็นไม่ลงรอยกับนางซูซาน คอฟฟิน เรื่องรายจ่ายหยุมหยิม วันหนึ่งนายเฮลจึงชวนให้แฝดได้พักผ่อนและใช้ชีวิตส่วนตัวแบบสบายๆ ในเมืองลินน์ฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยจัดให้ไปยิงนกตกปลาในป่า เพราะแฝดคู่นี้ชอบการใช้ชีวิตแบบที่เติบโตมา

นายเอลบริดจ์ เกอรี่ (Elbridge Gerry) และนายเพรสกอตต์ (Prescott) ชาวบ้านแถวนั้นทราบข่าว จึงพยายามที่จะเข้าไปหาแฝดที่กำลังเพลิดเพลินกับความเป็นส่วนตัว นายเฮลขอร้องให้ชายทั้งสองหยุด อย่าไปรบกวน ร้องเตือนให้อยู่ห่างๆ มิฉะนั้นแฝดอาจจะยิงใส่ ชายทั้งสองจึงร้องท้าให้แฝดยิง เกิดมีปากเสียงท้าทายกันไปมา แฝดหนุ่มสุดจะอดทนจึงใช้พานท้ายปืนเหวี่ยงใส่ชาวบ้านทั้ง ๒ คน นายเกอรี่จึงหยิบก้อนหินขว้างใส่แฝดอิน-จัน โดนที่ศีรษะใครคนหนึ่งเลือดออก แฝดสยามจึงต้องลั่นกระสุนใส่ ซึ่งเดชะบุญที่กระสุนนัดนั้นเป็นกระสุนที่มีเพียงดินปืน ไม่มีหัวกระสุน จึงมีแต่เสียงดังสนั่นป่า ชาวบ้านจอมสาระแนทั้งสองจึงเผ่นหนีไปด้วยความกลัว วิ่งไปแจ้งเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นว่าอิน-จันทำลายความสงบสุขของชุมชน

อิน-จันโดนปรับอีกครั้งเป็นเงิน ๒๐๐ เหรียญ

อย่างว่าละครับ เป็นคนดังแบบดารา แถมร่างกายแปลกประหลาด มาแถวบ้านใครก็อยากรู้อยากเห็น แถมไม่ต้องเสียเงินไปดูอีกต่างหาก เลยต้องเสี่ยงกันหน่อย ซึ่งก็ได้เสี่ยงสมใจ

ผู้เขียนคาดเดาเองว่า อิน-จันคงมีความเบื่อหน่ายสำหรับความจำเจวนเวียนของชีวิต แต่ต้องกัดฟันอดทนทำตามที่สัญญาระบุไว้ ประการสำคัญคือร่างกายที่พิสดารของแฝดทั้งสองทำเงินรายได้ที่ไหลเวียนเข้ามาดีกว่าเลี้ยงเป็ดขายไข่หรือเป็นตัวตลกวิ่งเล่นอยู่ที่บ้านแน่นอน

เมื่อชีวิตที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องฝืนชีวิตจริง ผู้เขียนนึกถึงการเปิดใจให้สัมภาษณ์ของนางงามที่เปิดใจเล่าสุดสุดว่าเมื่อได้ตำแหน่งนางงามแล้ว มีสัญญาจะต้องตระเวนแสดงตัวไป ๑ ปี ทุกที่ที่เธอไปจะต้องทำการยิ้มให้สวยสมตำแหน่งที่ได้รับมา เธอต้องสวยตั้งแต่ศีรษะจรดเล็บเท้า คนที่พบเห็นทุกคนมีความคาดหวังที่จะเห็นเธอยิ้มให้ เธอสารภาพว่ามันเป็นการทรมานอย่างที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ต้องบังคับปาก ดึงกล้ามเนื้อตรงแก้มทั้งสองให้แยก ทุกวันเธอจะต้องยิ้มตั้งแต่เช้ายันมืดค่ำ บางครั้งน้ำลายในปากมันแห้งผาก ยิ้มมาตั้งแต่เช้าตรู่ ฟันกับริมฝีปากเค้าเกาะกันอยู่แบบแห้งๆ เหงือกก็ไร้ของเหลวมาหล่อเลี้ยง เมื่อตั้งใจยิ้มสวยแล้ว ฟัน เหงือก ริมฝีปากมันไม่บูรณาการกัน มันทรมานแสนสาหัส

อิน-จันก็คงตกอยู่ในสภาพเดียวกันครับ ที่จะต้องแต่งตัว เสื้อผ้า หน้า ผม ต้องเอี้ยมเฟี้ยม ใส่สูท ถักผมเปียให้เข้าที่เข้าทาง ฝรั่งคนดูชอบอิน-จันตรงผมเปีย (Pigtail) ที่แสนจะบาดใจ เผชิญกับคำถามสารพัด ต้องหกคะเมนตีลังกา ตีลูกขนไก่บนเวทีทุกวัน

ชีวิตของแฝดอิน-จันและทีมงานทั้งหมดที่ต้องร่อนเร่พเนจรนับเดือนนับปี ทั้งหมดก็เพื่อเงินที่ทุกคนมีหุ้นและมีส่วนแบ่ง นางซูซาน คอฟฟิน เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด มีนายเดวิสเป็นเลขานุการ ทั้งสองมิได้ร่วมเดินทางด้วย แต่มอบให้นายเจมส์ เฮล (James Hale) ที่มีครอบครัวแล้วทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง การติดต่อรายงานผลว่าไปแสดงเมืองไหน มีรายรับรายจ่ายเท่าใด ใช้จดหมายเป็นสื่อหลัก

ม้าที่ใช้ลากเกวียนและตัวเกวียนต้องมีการบำรุงรักษา ม้าต้องกินอาหาร ค่าใช้จ่ายเริ่มพองตัวโป่งขึ้น ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้เป็นสิ่งที่แฝดและคณะมิได้คำนวณไว้เผื่อ เพราะนึกไม่ถึง นายเฮลได้รับการร้องขอจากแฝดให้เขียนจดหมายถึงนางซูซานเพื่อขอเพิ่มเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ การตอบโต้ทางจดหมายไป-มาเป็นไปแบบยืดเยื้อเรื้อรัง

แต่คำตอบสุดท้ายที่ได้รับจากนางซูซานคือการปฏิเสธ

เหตุการณ์ตรงนี้กดดันให้นายเฮล เพื่อนที่แสนดีของแฝดสยาม ที่กินนอนคลุกคลีกันมาแสนนาน ต้องเดินทางกลับไปบอสตันขอพบนางซูซาน และในที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากคณะการแสดงของแฝดสยามในตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๔

ตัดบัวยังเหลือเยื่อใยครับ นายเฮลไม่ทอดทิ้งอิน-จันให้ตกงาน เขาจึงได้ไปทาบทามนายชาร์ลส์ แฮริส (Charles Harris) อายุราว ๓๐ ปีชาวอังกฤษที่อพยพเข้ามาอยู่อเมริกามาทำหน้าที่แทน

นายแฮริสไม่ใช่ใครอื่น เขาเคยเข้ามาร่วมคณะการแสดงของแฝดสยามตอนที่คณะนี้ไปแสดงตัวที่เกาะอังกฤษ นายแฮริสมีพื้นฐานทางการบัญชีมาก่อน ทำบัญชีรับ-จ่ายได้เรียบร้อย มีความชัดเจน โปร่งใส แฝดทั้งคู่พอใจ และเมื่อรายงานไปถึงนางซูซานก็ได้รับคำชม ละครเร่ของแฝดสยามยังมีลมหายใจดำเนินต่อไปได้อีก

เกร็ดข้อมูลที่ผู้จัดการส่วนตัวบันทึกไว้คือ ทั้งอินและจันใช้อาวุธปืนทุกชนิดได้อย่างคล่องแคล่ว มีทักษะในการดำรงชีพแบบง่ายๆ ชอบการล่าสัตว์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะแฝดทั้งสองเติบโตมาจากการใช้ชีวิตในชนบทตามทุ่งตามท่าแถวปากน้ำแม่กลองสมุทรสงครามมาก่อน

ตอนที่เลี้ยงเป็ดฝูงใหญ่ที่บ้านแม่กลอง อิน-จันเคยจับงูเหลือมที่เข้าไปกินเป็ดในเล้า เรื่องขี้ผงแบบนี้ ชาวสยามในชนบทถือเป็นชีวิตที่แสนธรรมดา

การรอนแรมไปแสดงตัวครั้งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย ระหว่างเดินทางที่ยาวไกล ขบวนรถม้าของคณะแฝดต้องหยุดพักเพื่อให้ม้ากินน้ำ ในเวลาเดียวกันแฝดอิน-จันก็เดินเข้าไปในร้านอาหาร สุภาพสตรีเจ้าของร้านถึงกับผงะ กึ่งตกใจกึ่งขำ นึกว่ามนุษย์ประหลาด ๒ คนเข้ามาล้อเล่นในร้านของเธอ เธอร้องเสียงแหลมขอให้แฝดหยุดตรงนั้น ลูกค้าที่รับประทานอาหารต่างตกตะลึงและหันไปมองมนุษย์ประหลาดเป็นตาเดียวกัน เพื่อความแน่ใจเธอจึงเดินเข้าไปขอดูหน้าอกบริเวณก้อนเนื้อที่เชื่อมติดกัน

เมื่อประจักษ์ด้วยสายตาตนเองว่าเป็นแฝดตัวติดกันจริง ไม่ได้เข้ามาล้อเล่น ในที่สุดเธอจึงยอมให้อิน-จันเข้ามากินอาหารในร้าน บ่นพึมพำยาวเหยียด พร้อมทั้งสบถแก้เขินว่า ทั้งสองเป็นพี่น้องกันแน่นะ

ช่วงที่ใช้ชีวิตตระเวนในอเมริกา แฝดอิน-จันเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้จนชาชิน ไม่ตื่นเต้นตกใจหรือเขินอาย เพราะเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) แบบนี้แหละถึงได้มาท่องโลกกว้าง มาทำงานหาเงินในอเมริกาได้

บันทึกของผู้จัดการส่วนตัวที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ในช่วงแรกที่กลับมาถึงนิวยอร์ก อินและจันได้เปิดบัญชีเงินฝากเอาไว้ที่ธนาคารแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ตลอดระยะเวลาที่เดินทาง ทั้งสองมิได้เบิกเงินฝากมาใช้เลย ทั้งสองใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์น่าชมเชยเป็นที่สุด

รายได้รายเดือนที่ขยับขึ้นเป็น ๕๐ เหรียญต่อเดือนนั้น แฝดอิน-จันต้องรับผิดชอบในการดูแลม้าและรถม้าด้วย ในที่สุดนางซูซาน คอฟฟิน ที่เกลือเรียกพี่ จึงยอมเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แฝดอีกเดือนละ ๒ เหรียญ

ความโหดร้ายที่ไม่เคยปรานีใครในอเมริกาคือความหนาวเย็น ที่ทีมงานของแฝดใส่ใจหาเครื่องนุ่งห่มให้ ทีมงานที่เป็นคนอเมริกันยังออกปากชมว่าแฝดจากสยามเมืองร้อนทนความหนาวได้ดี

เรื่องเงินค่าใช้จ่ายของทีมงานยังมีปัญหาไม่จบ เงินที่นางซูซานให้เพิ่มอีกเดือนละ ๒ เหรียญ ไปไม่รอด

แฝดอิน-จันฮึดสู้อีกครั้งว่า ถ้านางซูซาน คอฟฟิน ไม่เพิ่มเงินให้อีก ทีมงานจะต้องทิ้งม้าและรถม้า โดยจะเดินทางด้วยรถไฟหรือยานพาหนะอื่น จึงขอให้นายแฮริสเขียนจดหมายไปหานางซูซานด่วน

นางซูซาน คอฟฟิน ให้นายเดวิสผู้เป็นเลขาฯตอบจดหมายมาว่า

เกี่ยวกับพาหนะเดินทาง อิน-จันจะทำอย่างไรก็เชิญตามสะดวก

ข้อความที่นางตอบมาทางจดหมายนี้ยิ่งทำให้ทีมงานละครเร่เป็นเดือดเป็นแค้น จึงส่งจดหมายไปอีกเป็นครั้งสุดท้าย

ผลปรากฏว่านางคอฟฟินยอมเพิ่มให้อีกเดือนละ ๑ เหรียญ รวมเป็นเดือนละ ๓ เหรียญ

เงินรายได้จากการแสดงลดลงฮวบเมื่อถึงฤดูหนาว ที่เกือบทุกพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาเต็มไปด้วยหิมะ ผู้คนแทบไม่ออกจากบ้าน บางครั้งอิน-จันเลยต้องกลายเป็นกบจำศีล

ในช่วงเวลานั้น กัปตันคอฟฟิน สามีนางซูซานที่พาอิน-จันมาอเมริกา ขอปลีกตัวไปดูแลเรือสินค้าที่ตระเวนอยู่แถบอินเดีย สิงคโปร์ เมืองปัตตาเวีย (ชวา) และบางกอก แต่ก็ยังดำรงการติดต่อกับนางซูซานผู้เป็นภรรยาทางจดหมาย จึงทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแฝดพอสมควร

จดหมายฉบับล่าสุดของกัปตันคอฟฟินมาถึงนางซูซาน ระบุว่ากำลังจะแล่นเรือกลับมาอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีที่จะได้สะสางปมปัญหาเรื่องเงินทอง เรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่ทำให้ขุ่นเคืองใจกันมานาน

ประการสำคัญที่สุดคือ กัปตันคอฟฟินไปพบนางนากมารดาของแฝดสยามที่สมุทรสงครามแล้ว น่าจะมีข้อมูลความเป็นอยู่ของแม่ที่เมืองไทยมาเล่าให้ชื่นใจบ้าง

อิน-จันฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษ และทำบัญชีเงินได้แล้วนะครับ ลายมือที่เขียนภาษาอังกฤษ สวยงามตามแบบฉบับ ตัวอักษรต้องเอียงไปข้างหลังเล็กน้อย ตอนผู้เขียนเป็นเด็กประถมก็ต้องเขียนอังกฤษตัวเอน โดยต้องทำสมุดให้เอียงจึงจะเขียนถนัด มาวันนี้แทบไม่เคยเห็นใครเขียนแบบนั้น ก็ไม่ทราบว่าทำไมต้องเขียนให้เอียง และทำไมไม่ต้องเอียง

ในช่วงหน้าหนาว พ.ศ.๒๓๗๕ ทีมงานละครเร่ลดเวลาการแสดงลงเนื่องจากสภาพอากาศ และเป็นห้วงเวลาที่ทีมงานรอคอยกัปตันคอฟฟินเดินทางกลับ

เหนือสิ่งอื่นใด แฝดสยามลูกรักของนางนากกำลังจะมีอายุครบ ๒๑ ปีใน ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๗๕ นี้แล้ว อิน-จันกระวนกระวายใจด้วยเหตุผลที่สัญญาการเช่าตัวมาแสดงกำลังจะหมดอายุลง

อิน-จันกำลังจะต้องเลือกเส้นทางอนาคต แฝดหนุ่มจะไปทางไหนต่อ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มีนาคม 2559 16:07:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 09 มีนาคม 2559 16:37:46 »

.



• แฝดสยาม อิน-จัน กล้าบอกเลิกสัญญา

ม้าเทียมเกวียนที่มีหลังคา ตระเวนลากทีมงานแฝดสยาม อิน-จัน ไปทุกที่ในอเมริกาตามแผนงานการแสดง เมืองเล็กเมืองใหญ่ที่ไหนไปหมด งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ช่วงการเดินทางในอเมริกาเป็นรอบที่ ๒ นี้ ฝรั่งที่เป็นผู้จัดการส่วนตัว บันทึกไว้ในหนังสือแบบไม่ละเอียดนัก

หลังจาก อิน-จัน ต่อรองทางจดหมายแบบฝืดสุดสุดกับเถ้าแก่เนี้ย ที่ชื่อนางซูซาน (ที่มิได้ร่วมเดินทางกับคณะด้วย) เรื่องเงินจนได้เพิ่มมาอีกเป็น ๓ เหรียญต่อเดือน ก็นับว่าการเงินของคณะการแสดงยังขัดสนไม่ไหลลื่น สภาพอากาศที่หนาวจัดไม่เกื้อกูลต่อการแสดง ซ้ำเติมให้คณะละครเร่หายใจไม่ทั่วท้อง

สิ่งที่แฝดหนุ่มมีความหวังในอนาคตของตน แอบคิดแบบเงียบมาตลอดในอเมริกาคือ การสิ้นสุดของสัญญาเช่าตัวมาแสดงในยุโรปและอเมริกาที่กำลังจะมีผล สัญญาที่ทำไว้กำหนดเวลา ๒ ปี ๖ เดือน

แฝดหนุ่มที่กำลังจะมีอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๓๗๕ มีอารมณ์ขุ่นมัวมานาน มีการฉ้อฉลเรื่องส่วนแบ่งรายได้มาตลอด ก่อตัวเพิ่มระดับอุณหภูมิแห่งการแตกหัก

นางซูซาน คอฟฟิน บ่ายเบี่ยงตลอดมาที่จะพบเพื่อเจรจากับแฝดหนุ่ม เพราะทราบดีว่าแฝดจากปากน้ำแม่กลองจะต่อรองเรื่องค่าใช้จ่ายของคณะแสดง ประการสำคัญคือ แฝดหนุ่มที่สามีเธอไปเช่าตัวมาจากเมืองแม่กลอง สยามประเทศนั้น สัญญาเช่าตัวกำลังจะหมดอายุลง คนประหลาดตัวติดกันที่เป็นตัวทำเงินกำลังจะโบยบิน ไม่อยู่ในสังกัดของเธออีกต่อไป

ก็เฉกเช่นกับดารา นักร้อง นักแสดง ศิลปิน ทั้งหลายที่ส่วนใหญ่มีบริษัทที่เป็นมืออาชีพจัดการงานแสดงให้โดยมีกรอบเวลา ถ้ายังเป็นซุปตาร์ดารายอดนิยมของผู้คน บริษัทก็จะยังคงต้องการให้ทำงานด้วยกันต่อไป แต่ถ้าไม่ร้อนไม่แรง ความประพฤติเสื่อมเสีย ติดเหล้าเมายา ไม่หล่อ ไม่สวย หน้าตาไม่ทันสมัย ทำยอดขายตกวูบ คงเป็นการเปลืองข้าวสุก คนไทยโบราณเค้าเรียกว่า ให้ตัดหางปล่อยวัดไป

งานนี้ ศิลปินอิน-จัน คิดจะตัดหางเถ้าแก่แล้วเอาไปปล่อยวัดครับ


นางซูซาน พยายามอิดออด โอ้เอ้ ที่จะคุยเรื่องนี้ โดยเขียนจดหมายไปบอกอิน-จัน ว่าให้รอกัปตันคอฟฟิน ผู้เป็นสามีที่ไปเดินเรือแถบเอเชียกลับมาถึงอเมริกาก่อน  อิน-จัน รับทราบด้วยความพะอืดพะอม อดทนรอคอยการนัดหมายที่จะต้องพูดกันให้เห็นขาวเห็นดำอย่างกระวนกระวาย โดยมีนายแฮริส เป็นพี่เลี้ยงในระหว่างการเดินทางที่รายได้ตกต่ำ

ลองหันมาดู เรื่องราวแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม ของแฝดหนุ่มสยามที่ร่ำรวยความรักกับหญิงสาวมะริกัน ที่พอนำมาเล่าสู่กันฟังได้บ้างครับ

ในช่วงที่รอคอยคำตอบเรื่องเงินสนับสนุนและตระเวนแสดงแบบกระท่อนกระแท่นในอเมริกา แฝดอิน-จัน พอมีเวลาเขียนจดหมายตอบโต้กับสาวๆ ที่มารุมกรี๊ดด้วยหลายราย หนุ่มตุ๊กตาคู่รวยเสน่ห์ได้รับจดหมายจากสาวๆ แบบหัวกระไดไม่แห้ง

อิน-จัน จากสยาม สวมบทเจ้าบุญทุ่มสั่งซื้อของขวัญมอบให้สาวคนนั้น คนนี้ ส่งทางไปรษณีย์ไม่ขาด โดยนายแฮริส จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แบบรู้เห็นเป็นใจ เชียร์ให้ลองมีแฟนฝรั่ง นับเป็นยาวิเศษที่ชโลมใจให้ทั้งสองกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง มองท้องฟ้าอเมริกาเป็นสีชมพูได้บ้าง

แน่นอนครับ เป็นดาราหนุ่มคนดัง อายุอานามย่างสู่ ๒๑ ขวบ คงต้องรักใครบ้าง หรือคงต้องมีใครมารักบ้างเป็นธรรมดา อิน-จัน คงต้องการใช้ของต่างประเทศกะเค้าบ้าง

ในระหว่างนี้ อิน-จัน พอเปิดการแสดงแบบพอเลี้ยงตัวเองไปวันๆ แต่ก็เร่งรัด มอบให้นายแฮริส หมั่นเขียนจดหมาย ขอนัดพบนางซูซาน อีกหลายครั้งและคำตอบที่ได้รับทุกครั้งคือ นางปฏิเสธที่จะพบ

จดหมายฉบับที่เจ็บปวดบาดใจที่สุด ที่มาถึง นายแฮริสระบุว่า กัปตันคอฟฟิน ยังเดินเรืออยู่แถวชวา (อินโดนีเซีย) โน่น คงต้องอีกราว ๔ เดือน จึงจะมาถึงอเมริกาเพื่อพูดคุย

นี่ถือได้ว่า เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่วางบนหลังลา

ทันทีที่คณะของแฝดสยามเดินทางมาถึงพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) แฝดสยามผู้ทระนง จึงขอให้นายแฮริสเขียนจดหมายไปบอกกับนางซูซานว่า

นับแต่นี้ไป แฝดหนุ่มจากสยามจะขอเป็นอิสระ จะไม่อยู่ในการควบคุมของกัปตันคอฟฟินอีกต่อไป แฝดอิน-จัน จะดำเนินธุรกิจการแสดงด้วยตัวเอง และวันนั้นคือ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๓๗๕ ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด อิน-จัน อายุครบ ๒๑ ปี

นี่เป็นการประกาศอิสรภาพของแฝดสยามในอเมริกา

นางซูซาน เมื่อเธอได้รับจดหมายตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจฉบับนี้ เปรียบได้กับโดนงูจงอางฉก พ่นพิษวิ่งเข้าสู่ขั้วหัวใจ เธอทราบดีว่า ชีวิตของ อิน-จัน ที่สามีเธอลงทุนไปเช่าตัวมาจากนางนาก สมุทรสงครามในราคา ๑,๖๐๐ บาท กำลังหลุดลอยพ้นจากเอื้อมแขนของเธอและสามีไป

อิน-จัน กำลังจะบินเดี่ยว ทำธุรกิจหาเงินในอเมริกาด้วยตัวเอง หลังจากซึมซับประสบการณ์ทุกอย่างมาแล้วเกือบ ๓ ปี

นางซูซาน คอฟฟิน ยังคงอาลัยอาวรณ์กับธุรกิจ ที่เรียกว่า Freak Show (โชว์ประหลาด) ที่ทำเงินให้กับเธอเองได้พอสมควร รายได้ก้อนนี้กำลังหลุดลอยไปทั้ง ที่ควบคุมอย่างใกล้ชิด แม้กระนั้นเธอยังให้นายเดวิส (เลขานุการ) เขียนจดหมายไปตัดพ้อต่อว่า ผสมกับอ้อนวอนทำนองว่า ควรให้กัปตันคอฟฟิน กลับมาถึงบอสตันเสียก่อน

แต่ทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลแต่ประการใด เพราะแฝดสยามทราบดีว่านี่คือลูกเล่นที่นางซูซานมีคุณสมบัติแพรวพราว และที่ผ่านมา สำหรับนางซูซานแล้ว เกลือยังเรียกเธอว่าพี่

อิน-จัน ถูกเอาเปรียบ โดนฉ้อฉลเงินรายได้ก้อนโตมานานเกินที่จะเก็บกด ขอระเบิดมันออกมา และวันนี้ เขาทั้งสองแข็งแกร่ง กระดูกเบอร์ใหญ่ห้าวหาญพอที่จะดูแลตัวเอง ทำธุรกิจในสังคมอเมริกาได้แล้ว
ข้อมูลที่เรียบเรียงมานำเสนอท่านผู้อ่านที่เคารพทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลบางส่วนจากเอกสารของ โจเซฟ แอนดรูว์ ออร์เซอร์ (Joseph Andrew Orser) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เขียนไว้ ตรงไปตรงมาแบบนักเลงดี ไม่ดัดจริตลำเอียงเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติแต่ประการใด

ผู้เขียนขอนำพาท่านผู้อ่านที่เคารพ ไปสัมผัสกับความรู้สึกของ สังคมตะวันตก เพื่อตอบโจทย์ว่าสังคมในอเมริกาที่เพิ่งแจ้งเกิดขึ้นใหม่บนโลกใบนี้ พยามหาความแตกต่างระหว่าง ตะวันตก-ตะวันออก และมองแฝดสยามในมุมไหน ทำไมร่างกาย อิน-จัน จึงขายได้?

ในช่วงเวลานั้น แอนดรูว์ แจ๊กสัน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ (ในสยามตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓) ผู้คนในอเมริกาที่เรียกว่า ร้อยพ่อพันแม่ ส่วนใหญ่เป็นพวกผิวขาวจากทวีปยุโรป อพยพทางเรือเข้ามาอเมริกาแบบมืดฟ้ามัวดิน คนพวกนี้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวตะวันตก จึงเพ่งมองอิน-จัน ไอ้พวกชาวตะวันออก ผิวซีดเหลือง ผมดำ ตาหยี ทั้งหลาย (คือพวกที่อยู่ในทวีปเอเชีย) รูปร่าง หน้าตา มันกินอยู่กัน มีวัฒนธรรมแบบไหน? อย่างไร?

พวกชาวตะวันตกเคลื่อนไหวถ่ายเท คุ้นเคยกับเผ่าพันธุ์ตนเอง เฉพาะชาวยุโรป ที่มีผิวขาว ผมทอง ผมสีดำ ตาสีฟ้า ตาสีเขียว ตัวสูงใหญ่ มีขนรุงรังเต็มหน้า มีหนวดเคราหนา มีขนเต็มตัว

ชาวยุโรปไม่ค่อยชินตากับมนุษย์เผ่าพันธุ์ สีผิวอื่นๆ นักโดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่เพิ่งเข้าไปตั้งรกรากในอเมริกา

ย้อนเวลากลับไป เมื่ออิน-จัน เดินทางด้วยเรือสินค้า ๑๓๘ วัน จากบางกอกไปถึงบอสตัน เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๓๗๒  มีการโหมโฆษณา โดยใช้ชื่อเบื้องต้นเรียกแฝดจากสยามคู่นี้ว่า Siamese Youths บางทีก็เรียกว่า Siamese Boys หรือ Siamese Twins ชื่อเหล่านี้สร้างความตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็นให้กับมะริกันชนทั้งหลาย เพราะแทบไม่มีใครรู้จักสยามประเทศว่าอยู่ส่วนไหนของโลก รู้เพียงคร่าวๆ ว่า สยามเป็นดินแดนอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน

ในอดีต สยามเคยปิดประเทศขับไล่ชาวต่างชาติออกไปในปลายสมัยอยุธยา ไม่ขอติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก เกลียดและไม่ไว้ใจฝรั่ง สยามคบหาค้าขายกับจีนเป็นหลัก ต่อมากรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้บ้านเมือง ทำศึกขับไล่พม่าออกไปสำเร็จ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของสยามได้ราว ๑๕ ปี

รัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษก ตั้งเมืองกรุงเทพเป็นราชธานี สยามยังต้องรบกับพม่าอีก พออังกฤษเข้ายึดพม่า พี่หม่องมัวไปทำศึกกับฝรั่งอังกฤษ สยามไม่ต้องรบกับพม่า จึงมีเวลาดูแล สร้างบ้านสร้างเมืองกันอุตลุด

สยามเริ่มเปิดประตูบ้าน ค้าขายกับประเทศตะวันตกอีกครั้งในสมัยในหลวง ร.๓ กระแสคนจีนนับหมื่นนับแสนอพยพหนีความอดอยาก หนีความขัดแย้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ลงเรือสำเภาเสี่ยงตายฝ่าคลื่นลมมรสุม เข้ามาตั้งรกรากในสยามไม่ขาดสาย ในสภาพเสื่อผืนหมอนใบ มาตั้งรกรากในเมืองบางกอก ตามเมืองชายฝั่งทะเลของสยาม รวมทั้งปู่และพ่อของอิน-จัน ที่มาตั้งรกรากที่เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม

ชาวจีนทำมาค้าขายเก่ง อดทน ทำงานหนัก รักพวกพ้อง ในเวลาไม่นานนัก ชาวจีนผงาดขึ้นเป็นเจ้าของกิจการแทบทุกสาขาอาชีพในแผ่นดินสยาม

ตลอดรัชสมัยในหลวง ร.๓ ชาติตะวันตกทยอยเข้ามาสร้างไมตรี จับคู่ค้าขายกับสยาม เรือสำเภา เรือกลไฟของต่างชาติเอาสินค้าจากยุโรปเข้ามา และขนสินค้าจากสยามออกไป อเมริกาแอบชำเลืองมองว่า พ่อค้าอังกฤษประสบความสำเร็จ ในการปูทาง ร้อยเรียงสายต่อท่อสานสัมพันธ์ครั้งใหม่กับสยาม จึงขอตามก้นอังกฤษมาติดๆ

รัฐบาลอเมริกาสืบทราบว่า นายจอห์น ครอเฝิด (John Crawfurd) ของอังกฤษกำลังเดินเจรจาทำสัญญาการค้าอย่างได้ผลกับสยาม สิ่งที่ชาวยุโรปและมะริกันต้องการมากจากสยามคือ เครื่องเทศ เขาควาย หนังเสือดาว ดีบุก และน้ำตาลทราย

ผู้เขียนไม่ทราบมาก่อนเลยครับว่า น้ำตาลทราย คือสินค้าตัวเก่งของสยาม

อิน-จัน คือ ตัวแทนทุกสิ่งทุกอย่าง รูปร่าง หน้าตา ลักษณะนิสัย การกินอยู่หลับนอน การได้เห็นอิน-จัน เป็นเสมือนการตอบโจทย์ที่หลายคนอยากทราบ แถมเป็นฝาแฝดที่ตัวติดกัน (Conjoined Twins) แสนประหลาดที่เย้ายวนสุดจะห้ามใจไหว

แฝดสยามที่ อเมริกันเรียกว่า Eng-Chang ได้สร้างการรับรู้ให้กับชาวตะวันตก ทั้งอังกฤษและอเมริกาอย่างอเนกอนันต์ ข้อมูลที่แพทย์ในอังกฤษเข้ามาตรวจร่างกายระบุว่า อิน สูง ๕ ฟุต ๓ นิ้วครึ่ง ส่วนจัน เตี้ยกว่า ๑ นิ้ว ระบุสีผิว รูปโฉมโนมพรรณ ยิ่งกระพือให้คนในอเมริกา กระเหี้ยนกระหือรือที่จะศึกษาว่า มนุษย์จากซีกโลกตะวันออก มีรูปใบหน้า ลักษณะหัวกะโหลก สีผิว สีผม ความกว้างของหน้าผาก กินอาหารอะไร แต่งตัวยังไง


นายเจมส์ เฮล (James Hales) ที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวของแฝดอิน-จัน ในช่วงแรก คือคนที่เอาเรื่องของ แฝดสยาม ไปเขียนเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกในอเมริกา ชื่อว่า “An Historical Account of the Siamese Twins Brothers” บรรยายเรื่องเร้นลับสรรพคุณ ของแฝดหนุ่ม วางขายที่หน้างานที่โชว์ตัวทุกโอกาส เพื่อให้ผู้ชมรู้จัก แฝดสยาม แบบละเอียด หนังสือที่แกพิมพ์ขายเป็นเจ้าแรกนี่แหละ เลยทำให้คำว่า Siamese Twins ที่กำหนดไว้เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว เป็นคำที่ได้รับการยอมรับมาถึงทุกวันนี้

โชคดีนะครับ ที่สังคมอเมริกัน ยอมรับกติกาหลักการเรื่องดินแดนที่อิน-จันเกิด คือ ประเทศสยาม เพราะถ้าโดนเรียกว่า แฝดจีน หรือ Chinese Twins ผู้เขียนคงไม่ทราบว่าจะเขียนไปทำไม และที่เมืองสมุทรสงครามคงไม่ทำอนุสาวรีย์ให้แน่นอน

บันทึกของชาติตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกับสยาม จะพูดตรงกันว่า การติดต่อค้าขายในสยามต้องติดต่อกับพ่อค้าชาวจีนที่เป็นเจ้าของกิจการเกือบทั้งหมด พ่อค้าชาวจีน มีทักษะทางการค้า การทำบัญชี ขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ข้อมูลตรงนี้ถูกถ่ายทอดไปยังประเทศของตน ทำให้ไปโยงกับ อิน-จัน ว่า การที่ อิน-จัน อดทนเรียนรู้สู้งานหนัก มาทำงานหาเงินในอเมริกา เพราะมีเชื้อสายความเป็นคนจีนนั้นเอง

ผู้เขียนมองย้อนอดีตไป เห็นว่าพวกฝรั่งนี่ช่างคิด ชอบศึกษา ชอบบันทึก ชอบทดลอง ค้นคว้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้เป็นชนชาติที่มีความเจริญ ก้าวหน้ามาตลอด

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับว่า บรรดาจดหมายที่อิน-จัน เขียนเรียกร้องเงินค่าจ้าง จดหมายที่ทำธุรกิจแสดงตัวหาเงิน จดหมายของกัปตันคอฟฟิน ที่แล่นเรือค้าขายในเอเชีย ที่เขียนกันไป-มาบันทึกทั้งหลายของเจ้านายอิน-จันที่เขียนด้วยลายมือ บัญชีรายรับ รายจ่ายแสดงตัวเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วยังมีอยู่ครบ ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในอเมริกา บันทึกของลูก หลาน เหลน โหลน ในอเมริกา ทำให้เรามีเรื่องอิน-จัน มาเล่าให้คนไทยรุ่นหลังได้ทราบ

กลับมาที่อิน-จัน ที่กำลังปีกกล้า ขาแข็งขอบินเดี่ยวในอเมริกา

อิน-จัน เมื่อประกาศตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ นางซูซาน คอฟฟิน ภรรยาของกัปตันเอเบล คอฟฟิน แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อแบบไม่มีเกียร์ถอยหลัง

ความเป็นคนซื่อตรง และการเป็นเพื่อนในยามยาก ทำให้แฝดสยามตัดสินใจเลือก นายแฮริส มาเป็นหุ้นส่วน เป็นผู้จัดการส่วนตัว มาร่วมงานกับแฝดสยาม อีกครั้ง

ลูกผู้ชายตัวจริง คนคู่ตัวติดกันจากเมืองแม่กลอง จะทำธุรกิจต่อไปในอเมริกาด้วยตัวเอง เสมือนนกน้อยที่เพิ่งโบยบินออกจากรัง

อิน-จัน จะบินไปได้ไกลแค่ไหน จะเผชิญกับศัตรูหมู่มารเช่นไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 09 มีนาคม 2559 16:39:57 »

.




• เงินไหลนอง ทองไหลมา

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งเปิดมาประสบพบตำนานระดับโลกตรงนี้ ผู้เขียนขอฉายหนังย้อนกลับให้ทราบว่า แฝดชายอิน-จัน ที่ลำตัวติดกัน (Cojoined Twins) จากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสาคร แห่งสยามประเทศ อายุราว ๑๘ ปี ได้ถูกพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) และกัปตันเรือชาวอเมริกัน ชื่อ เอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) เช่าเอาตัวไปแสดง คนประหลาดตัวติดกัน ในยุโรปและอเมริกา มีสัญญา ๒ ปี ๖ เดือน

เด็กแฝดจากเมืองแม่กลองคู่นี้เกิดมาตัวเชื่อมติดกันด้วยท่อนเนื้อ เมื่อโตขึ้นท่อนเนื้อตรงหน้าอกนี้ (หรือจะเรียกว่ากระดูกอ่อน) จะขยายตัวตามอายุ ยาวสุดประมาณ ๖ นิ้ว วัดเส้นรอบวงของท่อนเนื้อตรงนี้ได้ประมาณ ๔ นิ้ว (ดูภาพ)

ฝรั่งนำไปทำโฆษณาว่า เป็นอสุรกาย (Monster) บ้างก็เรียกว่าสุดยอดสิ่งประหลาดที่มีชีวิต (The Greatest Living Curiosities) หรือ Siamese Double Boys เพื่อปลุกเร้าให้คนมาเสียเงินดูตัวเป็นๆ ทำเงินเลี้ยงตัวได้ในอเมริกา

ตระเวนโชว์ตัวมาซะโชกโชน ไปแสดงโชว์ในอังกฤษนาน ๑๕ เดือน ชีวิตมีหวาน มีขม มีรัก มีโศก เก็บเงินได้พอสมควร โดนเจ้านายฝรั่งอมค่าตัวไปบ้าง ผ่านมาเกือบ ๓ ปี อายุจะครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ แฝดหนุ่มฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้แบบเข้าที่เข้าทาง

การแสดงที่เป็นธุรกิจที่ผ่านมา แฝดหนุ่มพบว่า นางซูซาน คอฟฟิน ที่เป็นเสมือนเถ้าแก่เจ้าของกิจการ ตุกติกเรื่องการเงินตลอด ทำให้ชีวิตฝืดเคืองไม่น้อย จะขอเจรจาด้วยก็บ่ายเบี่ยง

เมื่อ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๕ อิน-จันส่งจดหมายไปหานางซูซาน คอฟฟิน ประกาศแยกทาง ไม่ขอร่วมงานอีกต่อไป แฝดหนุ่มจะขอทำธุรกิจโชว์ตัวเองในอเมริกา แต่ก็ยังมีทีมงานเดิม คือ นายแฮริสคอยประสานงานให้

นางซูซานโกรธจัด เพราะถือว่ากัปตันคอฟฟิน สามีนักเดินเรือ ไปเอาตัวแฝดมาจากเมืองแม่กลองมาทำเงินในอเมริกา

นับแต่นั้นมา คนประหลาดตัวติดกันจากสยาม ถือได้ว่าหลุดพ้นจากสัญญาธุรกิจทั้งปวงที่เคยทำไว้ในเมืองสยาม เมื่อราว ๓ ปีก่อน

๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๕ ณ เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก คือกำหนดการรอบปฐมทัศน์ที่จะเปิดแสดงตัว โดยเป็นธุรกิจของตัวเอง ไม่มีเถ้าแก่มาหักค่าหัวคิวให้หงุดหงิดอีกต่อไป เรียกให้โก้ว่า เป็นการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจใหม่ เพื่อต้องการให้มีผลกำไรมากขึ้น

พาหนะที่ใช้เดินทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นายแฮริสทำหน้าที่เป็นคนกลาง เจรจาขอซื้อม้าและรถเทียมม้าจากนางซูซานด้วยเงิน ๑๐๓ เหรียญ ส่วนช่างซ่อมรถม้าที่ชื่อ นายทอม ไดเออร์ ที่ติดตามคณะมาตลอดก็ไม่จ้างต่อ เปลี่ยนเป็นนายโทมัส ครอกเกอร์ (Thomas Crocker) มาทำหน้าที่แทนเพราะเรียกค่าจ้างรายเดือนถูกกว่า

พื้นที่ที่จะตระเวนโชว์ตัว เก็บเงินในช่วงแรก คือบริเวณรัฐทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา คือ นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย เวอร์จิเนีย นิวเจอร์ซี่ ทั้งหมดนี้ทีมงานจะร่อนเร่พเนจรไปในช่วง ๖ เดือน ถ้าเป็นสุภาษิตไทยโบราณ เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านครับ คือแสดงไปเรื่อย ได้เงินมากบ้างน้อยบ้าง ก็อดออมสะสมไปทีละเล็กละน้อย ไม่ดูถูกเงินแม้น้อยนิด

วันเวลาผ่านไป อิน-จันพบว่าตัวเองชื่นใจ มีเงินรายได้แบบคนมีอันจะกิน เดินยิ้มทั้งวัน กินก็อิ่ม นอนก็หลับ ทุกคนในทีมงานพลอยมีความสุขกับธุรกิจตรงนี้ นายแฮริสมีทักษะทางการบัญชี เลยทำให้รายรับ รายจ่ายมีความชัดเจนสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับ ว่าสมุดบัญชีรับ-จ่ายของอิน-จัน ปัจจุบัน ซึ่ง คุณอริยา จินตพานิชการ นำมาเรียบเรียงไว้ในหนังสือ คู่กันนิรันดร ซึ่งผู้เขียนขอถ่ายทอดมาบางส่วน

ค่าซิการ์ ๕๐๐ มวน ราคา ๙ เหรียญ ค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา ๔.๓๑ เหรียญ ค่าม้าชื่อ บ็อบ ๗๒.๕๐ เหรียญ ค่าสูทแบบผ้าบาง ๑๓.๕๐ เหรียญ ค่าหนังสือ ค่าปืนพกยี่ห้อลักกี้ ๒ กระบอก ค่าปืนไรเฟิล ๑  กระบอก ฯลฯ

รายรับ รายจ่าย ทุกอย่างปรากฏในบัญชี

ที่น่าสนใจที่สุดคือ ค่าซิการ์ ซึ่ง อิน-จัน ไม่ได้สูบซิการ์ แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจสู้ชีวิต อิน-จัน ซื้อซิการ์ไปจำหน่ายพร้อมตั๋วเข้าชมการแสดง พอทำกำไรได้ระหว่างการเดินทาง เรียกว่ามีสายเลือดของนักธุรกิจอัดแน่นเต็มตัว

ชีวิตของแฝดหนุ่มที่อายุครบ ๒๑ ปีในอเมริกา ผันตัวเองจากคนเลี้ยงเป็ด หาปลา แถวปากน้ำแม่กลอง ไปตระเวนใช้ชีวิตทำธุรกิจในอเมริกา เดินทางไปเมืองเล็กเมืองใหญ่ไปหมด

บัญชีรายจ่ายค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา ๔.๓๑ เหรียญ บ่งบอกว่า อิน-จัน ตระเวนขึ้นไปเหนือสุดของรัฐนิวยอร์ก และเดินทางไปถึงน้ำตกไนแองการาที่เป็นน้ำตกขนาดมหึมาที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้ไปชมแล้วเดินทางทะลุเข้าไปในแคนาดา ทั้งตอนเหนือและตอนใต้ นับว่าคนประหลาดตัวติดกันคู่นี้คือ นักเดินทางระดับโลกที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสเช่นนี้

ส่วนค่าสูทแบบผ้าบางนั้น ตอนอยู่อเมริกา แฝดอิน-จัน ใส่สูทในบางโอกาส แต่ยังคงไว้ผมเปียยาวถึงกลางหลัง เท่ชะมัด

ธุรกิจการโชว์ตัวที่เรียกว่าโชว์ประหลาด (Freakshow) ในอเมริกาได้สร้างความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้ใหญ่ ความคิดอ่านหล่อหลอมเด็กจากท้องนาสยามให้เป็นหนุ่มอเมริกันไปแล้ว การแสดงบนเวที มีการหยอกล้อพูดคุยกับคนดู สร้างความบันเทิงได้ มีลูกเล่น ลูกฮาทุกครั้งทุกที่แสนประทับใจ

อิน-จัน มีเพื่อนอเมริกัน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในธุรกิจหลากหลาย เพราะแฝดเป็นผู้มีอัธยาศัยดี และมีเพื่อนสนิทมากเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อ เจสซี เกรฟส์ (Jesse Graves) เขียนจดหมายติดต่อกัน ปรึกษาหารือ ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตลอดเวลา แต่อีกใจหนึ่งก็ยังหวนระลึกถึงนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลองทุกเมื่อเชื่อวัน

อิน-จัน ถึงแม้จะตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกัปตัน และนางซูซาน คอฟฟินแล้ว แต่ก็ยังต้องง้อและแอบรอคอยว่ากัปตันคอฟฟินที่เดินเรือไปเมืองสยามจะมีข่าวมาจากนางนากหรือไม่ แม่และพี่น้องในครอบครัวที่บ้านแพริมน้ำที่แม่กลอง สบายดีหรือไฉน ?

อิน-จัน ทนไม่ไหวใจจะขาด จึงขอร้องให้นายแฮริส (ที่ทำหน้าที่เลขา) มีจดหมายหลายฉบับไปหานายเดวิส (เลขานางคอฟฟิน) เพื่อวิงวอนขอทราบข่าวจากแม่ที่บ้าน

แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

สันนิษฐาน ตรงนี้ได้ว่านางคอฟฟินยังโกรธแฝดอิน-จัน ที่แยกตัวออกไปแบบไม่กรวดน้ำคว่ำขันให้แก่กัน แฝดหนุ่มมองไม่เห็นหนทางที่จะได้รับข่าวจากแม่เลย ช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยในหลวง ร.๓ ของสยามครับ

สยามประเทศยังไม่มีระบบไปรษณีย์ ถ้าอิน-จันส่งจดหมายมา ก็ไม่ทราบจะจ่าหน้าซองยังไง บ้านเลขที่ ทะเบียน ตรอกซอกซอย ก็ยังมิได้กำหนด ข้อสำคัญคือ ไม่มีบุรุษไปรษณีย์ ไปรษณีย์สยามมาเริ่มต้นในสมัยในหลวง ร.๕ ครับ

เรื่องความกินแหนงแคลงใจ เรื่องเงินส่วนแบ่งที่ผ่านมา ยังเป็นหนามยอกอก ระหว่างแฝดกับ นางคอฟฟิน ตามบันทึกประวัติศาสตร์ พบว่ายังมีการเขียนจดหมายต่อว่าต่อขานกันไป-มาอีกหลายฉบับแบบเผ็ดร้อน ในลักษณะกล่าวหาซึ่งกันและกัน อุปสรรคใหญ่คือ การไม่ได้พบหน้าและไม่ได้แสดงหลักฐานการเงินแบบเปิดเผยต่อกัน เพราะต้องเดินทางตลอดเวลา ข้อมูลทุกอย่างติดต่อทางจดหมายเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคนไทย คงเห็นตรงกันนะครับว่า กิจการไปรษณีย์ในอเมริกายุคนั้น มีประสิทธิภาพสูงมากและเชื่อถือได้

เรื่องราวความขัดแย้งบานปลายถึงขนาด มีการไปสืบค้นขุดคุ้ยว่า เมื่อ ๓ ปีก่อนตอนที่นายฮันเตอร์ และกัปตันคอฟฟิน ไปทำสัญญาเช่าตัวแฝดมาแสดงนั้น แฝดได้ลงนามเองหรือเปล่า สัญญาเช่าตัวนานแค่ไหนกัน ข้อความในสัญญาหมกเม็ดซ่อนปมอะไรไว้ และนางนากได้รับเงิน ๑,๖๐๐ บาท แล้วหรือไม่ ?

เรื่องราวเหล่านี้บานปลาย ที่คนไทยใช้ศัพท์ Go So Big แปลแบบสำนวนไทยว่า ไปกันใหญ่ (สำนวนนี้ใช้แบบขำๆ สำหรับคนไทยนะครับ ฝรั่งไม่รู้เรื่อง)

และแล้วอยู่มาวันหนึ่ง อิน-จันก็ได้รับจดหมาย ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๕ จากกัปตันเฮล (อดีตผู้จัดการส่วนตัวของแฝดที่ขอแยกทางไปก่อน) ข้อความว่า

กัปตันคอฟฟินกำลังเดินทางจากบอสตันในคืนนี้เพื่อมาพบคุณ


กัปตันคอฟฟินไม่ได้พบอิน-จัน มาราว ๒ ปี เพราะต้องไปเดินเรือทะเล ที่จะเดินทางมาพบเพื่อเคลียร์ปัญหาที่คาใจเรื่องเงินรายได้ และมาเกลี้ยกล่อมให้แฝดหนุ่มกลับมาร่วมงานกันใหม่อีกครั้ง คราวนี้จะพาไปแสดงตัวที่ปารีส พร้อมทั้งยืนยันว่าสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลสยามนั้นระบุว่า จะนำตัวแฝดออกมาแสดงเป็นเวลา ๗ ปี ส่วนที่บอกกับนางนากว่าจะนำตัวมาแสดง ๒ ปีครึ่งนั้น ก็เพื่อให้นางนากสบายใจเท่านั้น

ด้วยการชี้แจงของกัปตันคอฟฟินเช่นนี้ เหมือนเอาน้ำมันสาดเข้ากองไฟ อิน-จันขยะแขยงการพูดคุยกับกัปตันคอฟฟินสุดสุด เพราะเพิ่งตาสว่างว่าโดนแหกตามาตลอด

กัปตันคอฟฟินไม่ย่อท้อลงทุนตื๊ออยู่นาน แต่ทุกอย่างสายเกินแก้ แฝดสยามตั้งสติแล้วประกาศเลิกคบค้าเด็ดขาดกับกัปตันคอฟฟิน

การเจรจาแบบแตกหักของคอฟฟินกับอิน-จันตรงนี้ อาจจะมีฉากน้ำเน่าแบบนิยาย บ้านทรายทอง ของสยาม มีอิจฉาตาร้อน มีสงสาร มีรักมีโศก กลายเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้น

กัปตันคอฟฟิน เมื่อได้รับการปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยจากอิน-จัน จึงพกเอาความแค้นไประบาย ไปปล่อยข่าวกับผู้คนทั้งหลาย ตีฆ้องร้องป่าวว่าไอ้อิน-จัน มันสำมะเลเทเมา เที่ยวซ่องโสเภณี ติดการพนันงอมแงม ความประพฤติเสื่อมเสีย

ทั้งหมดเพื่อการแก้แค้น อิน-จัน ที่ไม่กลับมาร่วมงาน

มีเกร็ดประวัติแบบตลกร้ายที่ขอนำมาแทรกอีกเรื่องครับ

ในระหว่างตระเวนโชว์ตัวในอเมริกา วันหนึ่ง นายแฮริสที่ทำหน้าที่เพื่อนของแฝด ได้ไปยื่นเรื่องต่อสภารัฐเวอร์จิเนีย เพื่อขอยกเว้นภาษีการแสดง โดยเขียนคำร้องว่าเป็นการแสดงของมนุษย์ประหลาดจากสยามนี้ มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน แต่ละครั้งจะมีคนดูในเมืองเล็ก เมืองใหญ่จำนวนไม่เท่ากัน

นายแฮริสบรรยายในคำร้องต่อทางการรัฐเวอร์จิเนีย แบบนักอ้อนมืออาชีพต่อไปว่า บางเมืองที่ไปไม่มีคนดู ที่ผ่านมาคนอเมริกันที่มาดูการแสดง ล้วนเป็นคนชั้นล่างแบบบ้านๆ คณะของแฝดมิได้ไปเปิดการแสดงในโรงแรมโก้หรูแต่อย่างใด แถมยังทวงบุญคุณอีกว่า เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนแบบที่หาดูที่ไหนไม่ได้

ผู้เขียนคิดว่า ฟังดูแล้ว ก็มีเหตุมีผลน่ารับฟังนะครับ

การยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นประเด็นร้อนฉ่าทันที เพราะคำตัดสินจะส่งผลต่อธุรกิจหลายแขนง
และแล้ว ข่าวลึกลับชิ้นหนึ่งไปปรากฏในหนังสือพิมพ์โดยบรรยายความทำนองว่า ไอ้เจ้าแฝดอิน-จัน คนประหลาดนี้แหละ กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์เป็นคนไปซื้อตัวเป็นๆ มาจากสยาม เพื่อมาแสดงตัวหาเงินนะ คนรับเงินก้อนนี้คือ แม่ของเด็ก ไม่เห็นจะต้องยกเว้นภาษีให้มันเลย

เรื่องที่ทำให้เรื่องราวบานปลายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง เพราะเกิดการตีความต่ออีกว่า แฝดอิน-จัน มีสถานะเป็นทาสหรือไม่?

กระแสต่อต้านที่โผล่มาแฉว่า เด็กแฝดคู่นี้แม่เค้าขายมาทำเงินในอเมริกาตรงนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากกัปตันคอฟฟิน ที่ผิดหวังจากการเจรจารื้อฟื้นธุรกิจกับอิน-จันนั่นเอง

เอกสารของนายออเซอร์ (Joseph A. Orser) ยังระบุอีกว่า การปรากฏตัวเป็นๆ ของอิน-จัน เวลานั้นในอเมริกา เป็นการจุดประกายความคิดให้กับสังคมคนอเมริกันได้พอสมควร เพราะอเมริกาอยู่ในระยะฟักตัว สร้างรัฐชาติขึ้นมา เหมือนเด็กกำลังตั้งไข่ พากเพียรเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ มนุษย์บนโลกใบนี้ ยังไม่มีโอกาสเดินทางมากนัก มีแต่ภาพเขียน และบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวหนังสือ

อิน-จัน คือสิ่งมีชีวิตที่แสนมหัศจรรย์ที่สุด ที่ไม่มีใครในอเมริกาเคยเห็นมาก่อน (ชาวสยามในสมัยนั้นมาจนทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครเคยเห็น) แถมมาใช้ชีวิตเคียงคู่ ปรับวิถีชีวิตเข้ากับคนอเมริกันได้เป็นอย่างดี จึงกลายเป็นมนุษย์มีค่าที่น่าเมียงมอง

เหมือนกับทุกวันนี้ที่เราดูหนังที่มีมนุษย์ต่างดาว มีสัตว์ประหลาดจากนอกโลก มีหุ่นยนต์พูดได้มาร่วมกับคน แสดงพ่นไฟแปลงร่าง เหาะไปมา แบบเรื่องอวตาร ทำนองนั้นแหละครับ

ท่านผู้อ่านกรุณาอย่าลืมนะครับว่า กัปตันคอฟฟิน คนนี้แหละคือกัปตันที่เดินเรือไป-มา จากสยามไปยุโรป ไปอเมริกา บรรดามิชชันนารีและแพทย์อเมริกันยุคแรกที่เข้ามาทำงาน เผยแผ่ศาสนาและรักษาคนเจ็บป่วยในสยามให้รอดตายจำนวนมากนั้น มีกัปตันคอฟฟินเป็นผู้ประสานงานอยู่หลังฉาก

มีคนอเมริกันกล่าวในขณะที่คนอเมริกันผิวขาว อยากดูลำตัวประหลาดของอิน-จัน จากสยามนั้น พวกคนอเมริกันเชื่อว่าคนสยามคงอยากสำรวจตรวจร่างกายของคนอเมริกันที่ไปทำงานในสยามมากกว่าเสียอีก

ชีวิตเริ่มมั่งมีศรีสุข คณะจึงเดินทางลงไปรัฐทางใต้อเมริกา ตัวอย่างเช่น การไปแสดงที่รัฐเคนตักกี มีกำไร ๔๑๓ เหรียญ ไปแสดงที่รัฐเทนเนสซีและอลาบามามีกำไร ๑,๑๐๕ เหรียญ ไปแสดงที่มิสซิสซิปปีกำไร ๒,๔๓๓ เหรียญ นี่เป็นผลจากการทำธุรกิจเอง คุมบัญชีเอง นับว่าเม็ดเงินดังกล่าว

มีรายการจ่ายเงินค่าทำฟันให้ทันตแพทย์ ซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ค่าตัดผม ทุกเดือนด้วย

ชีวิตของเด็กเลี้ยงเป็ดจากเมืองแม่กลองในอเมริกายังต้องเดินต่อไป แฝดเดินทางไปตามที่สวรรค์ลิขิตมาให้ แบบไม่มีทางคาดเดาได้

กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ





หลังจากแยกตัวออกมาจากนายจ้างฝรั่ง อิน-จันตระเวนรอนแรมด้วยรถม้าขึ้นไปรัฐทางเหนือของอเมริกาทะลุเข้าไปในแคนาดา แล้วลงใต้ไปถึงมิสซิสซิปปี อิน-จัน ได้พิสูจน์แล้วว่าความอดทน ความตั้งใจทำธุรกิจในอเมริกา คือปัจจัยที่ทำให้เงินทองไหลมาไม่หยุด ชื่อเสียงของแฝดหนุ่มจากเมืองแม่กลองโด่งดังในอเมริกาในนามของ Siamese Twins (แฝดสยาม)

ส่วนการเดินสายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา นายแฮริส ที่ทำหน้าที่เลขาคณะละครเร่ พาอิน-จัน ข้ามทะเลออกจากอเมริกาไปแสดงตัวหาเงินถึงเกาะคิวบา

แฝดอิน-จัน จากสยาม จากเด็กประหลาดตัวติดกัน เลี้ยงเป็ดแถวเมืองแม่กลอง วันนี้กลายเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ท่องโลก

ในช่วงเวลาตรงนี้ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูตแลกเปลี่ยนกันระหว่างสยาม-สหปาลีรัฐอเมริกา แต่มีมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาเดินทางเข้ามาตรวจรักษาชาวสยาม และช่วยวางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ให้กับสยาม กิจการด้านต่างประเทศของสยามกับประเทศทางตะวันตกเริ่มมีชีวิต พลิกฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากขับไล่เตะฝรั่งออกนอกสยามจนเกลี้ยงนานหลายปี

ชีวิตของแฝดสยามในอเมริกาเริ่มมั่นคงมีรากฐาน แฝดนักธุรกิจคู่นี้ที่ตระเวนไปทั่ว เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยตัวเอง แผ่นดินในอเมริกาที่แสนกว้างใหญ่ ผู้คนจากทั่วโลกเรียกอเมริกาว่า New World (โลกใหม่) ชาวยุโรปโดยเฉพาะคนผิวขาว แห่กันเข้าไปจับจองที่ดินสร้างชีวิต สร้างครอบครัว มีบาดเจ็บล้มตาย แย่งชิงที่ดิน ตัดสินปัญหากันด้วยปืน บ้างก็เฮง บ้างก็ซวย ใครดีใครอยู่

หนังอเมริกันคาวบอยที่พระเอกคาดเข็มขัดเอียงๆ ขี่ม้ายิงปืน ปล้นธนาคาร ยิงกับอินเดียนแดง ควบม้าปล้นเงินสดจากรถไฟ ความยุติธรรมและความเป็นลูกผู้ชาย ตัดสินกันด้วยการดวลปืนนัดเดียวบนลานกว้าง โดยมีผู้คนทั้งหลายยืนดูในฐานะพยาน ใครชักปืนลูกโม่ขึ้นมาจากเอวเร็วที่สุด แล้วลั่นไกใส่ฝ่ายตรงข้ามแม่นที่สุด คนนั้นชนะ และอยู่รอด ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งในแผ่นดินอเมริกา

ม้ากับปืน คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนอเมริกัน แม้กระทั่งปัจจุบัน เรื่องซื้อปืน ซื้อกระสุน เป็นเรื่องง่ายพอๆ กับการเดินไปหาซื้อบัตรเติมเงินมือถือ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๙ การพกปืนยังคงเป็นสิ่งที่คนอเมริกัน (ในบางรัฐ) ต้องการ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

เวลาเปลี่ยน แฝดสยามเปลี่ยน คนคู่ตัวติดกันทั้งสองมีบุคลิกภาพดีขึ้นมาก เสื้อผ้า หน้า และผมเปีย ฝาแฝดมีกำหนดตรวจรักษาฟัน ใช้หวี ใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า รองเท้า แบบของดีมีคุณภาพ ปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกันได้อย่างดี น้ำหนักตัวทั้งสองเพิ่มมากขึ้น

บุคลิกด้านบวก ของแฝดทำให้คนอเมริกันที่จับตาดู เกิดการยอมรับในทีว่า แฝดตัวติดกันคู่นี้ มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่ประหลาด ส่วนจิตใจใสประเสริฐ ไม่ใช่สัตว์ประหลาด ไม่ใช่อสุรกาย

ค่านิยมในโลกตะวันตกยุคนั้นทั้งในยุโรปและอเมริกา คือการเหยียดสีผิว ด้วยความเชื่อที่ว่า คนขาวมีสติปัญญา มีความคิด มีคุณธรรมเลอเลิศประเสริฐกว่าคนผิวสีอื่น คนดำไม่มีสิทธิเรียนหนังสือในโรงเรียนคนขาว ไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำของคนขาว คนขาวต้องได้รับสิทธิก่อนเสมอ ในยุคต่อมาแบ่งแยกถึงขนาดขึ้นรถรางคนขาวต้องนั่งตอนหน้าของรถ ส่วนคนดำต้องไปนั่งตอนหลัง

สิ่งที่ฝรั่งทั้งหลายชื่นชม คือ ความมีน้ำใจของแฝดหนุ่ม ที่มีนิสัยการแบ่งปัน ชอบหยิบยื่นเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่ยากไร้ที่พบเห็นในอเมริกา สิ่งเหล่านี้คือการบ่งบอกว่าสถานะทางสังคมของแฝดสยามว่า ฉันไม่ใช่คนยากไร้ตามท้องถนน ไม่ใช่คนสิ้นหวังเร่ร่อนขอทาน ฉันประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งการวางตัววางระดับ เช่นนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะดูแคลนแฝดสยาม

เหตุผลที่ผู้เขียนยกประเด็นนี้ขึ้นมา เนื่องจากในเวลานั้น มีกิจการค้าทาสผิวดำที่คนขาวไปซื้อตัวชายหญิงผิวดำ ตัวเป็นๆ จับล่ามโซ่ลงเรือมาจากแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นแรงงานหลักด้านการเกษตรในภาคใต้ของอเมริกา สถานะของทาสผิวดำในเวลานั้นแทบไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงของคนขาว มีการแบ่งสีผิวอย่างชัดเจนแบบที่มนุษย์พึงแยกจากสัตว์ป่า

ชาวเอเชีย ผิวเหลืองแบบอิน-จัน ที่ไปจากสยามไม่อยู่ในสถานะที่โดนรังเกียจ โดนรังแก เช่นทาสคนดำ

ผู้เขียนต้องขอยกย่องการวางตัวของบรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้ที่มีความรอบรู้ มีภูมิปัญญาที่จะเอาตัวรอด วางตัวให้อยู่เหนือระดับจากการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของสังคมในอเมริกาในยุคนั้นได้อย่างสง่างาม

ต้องเน้นย้ำกับท่านผู้อ่านนะครับว่า สังคมในอเมริกายุคนั้น คนผิวขาวด้วยกันเอง เห็นต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูครับ พวกทางเหนือไม่กีดกันคนผิวดำ แต่รัฐทางใต้ที่ครอบครองทาสจำนวนมากใช้ทำการเกษตรไม่ยอมรับในสถานะความเป็นมนุษย์ ต้องการมีทาส (และต่อมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองรบกันที่เองเรียกว่า Civil War ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้นาน ๔ ปี ตายไปราว ๖ แสนคน)

ผู้เขียนเองก็อยากทราบเช่นกันว่าไอ้เรื่องการเกลียด กีดกันคนผิวสีมีสาเหตุมาจากอะไร

คำตอบที่ค้นมาได้แบบบ้านๆ คือ คนผิวขาวแท้ๆ ที่อพยพมาจากยุโรปรวมถึงคนผิวขาวที่มาเกิดในอเมริกา กลัวการสูญเสียสถานะทางสังคมของตนเอง กลัวการโดนตีเสมอเทียบเท่า เพราะมีการปลูกฝังกันมาว่า ธรรมชาติได้สร้างให้คนขาวเหนือกว่าคนดำในทุกเรื่อง

กระแสความชิงชังจึงพุ่งไปที่คนผิวดำ คนขาวต่อต้านการอพยพเข้ามาใหม่ กีดกันลัทธิทางศาสนาบางกลุ่ม ในบางพื้นที่บางชุมชนถึงขนาดที่ประกาศว่า คนดำอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดคำว่า Negrophobia ที่หมายถึง ความรู้สึกเกลียด-กลัวคนผิวดำ ซึ่งโชคดีที่อิน-จัน จากสยามไม่ใช่คนผิวดำ
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันก็นับว่าคลายตัวไปมาก

อยู่มาราว ๔ ปี อิน-จัน วางตัวได้สง่างาม

แฝดหนุ่มเคยได้ขอร้องผู้คนทั้งหลาย อย่าเรียกพวกเขาว่า Siamese Boys เนื่องจากทั้งสองมีอายุ๒๑ ปี และพ้นจากความเป็น boy แล้ว การเรียกว่า boy มีภาพราวกับว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กที่วิ่งเล่น แล้วมีคนไปซื้อตัวมาสงเคราะห์เลี้ยงดู

โดยขอให้เรียกว่า Gentlemen ที่แปลว่า ท่านสุภาพบุรุษ หรือคุณผู้ชายที่ดูโก้หรูทีเดียว

แม้กระทั่ง เมื่อไปรับประทานอาหารในร้าน อิน-จัน จะมีความสุขมากเมื่อได้ยินพนักงานเสิร์ฟเรียกแฝดว่า Gentlemen
เรื่องราวตรงนี้โดยเฉพาะการเป็นคนมีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสเป็นอาจิณ

หนังสือพิมพ์ในอเมริกา นำไปเป็นประเด็นบอกเล่า ซึ่งได้ผลออกมาเป็นบวกมีภาพพจน์ที่ดี

เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนชัง มีคนหมั่นไส้ เป็นธรรมดาครับ

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประการหนึ่งในอเมริกา คือ ความเป็นส่วนตัว ที่หาได้ยากมาก

ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนไปซะหมด ไม่เห็นก็ต้องสาระแน สอดรู้สอดเห็นชีวิตของแฝดให้จงได้ โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย เรื่องเร้นลับทั้งหลายที่คนทั่วไปทำ

ในยุคสมัยนั้น วิธีการสื่อสารของอเมริกันชน คือการเขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเรื่องราวสารพัด เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องซุบซิบนินทา ปัญหาหัวใจ เรื่องที่โดดเด่นจะถูกตีพิมพ์ พร้อมด้วยคำตอบหรือคำแนะนำ เรื่องของแฝดอิน-จัน ก็เป็นข่าวที่ขายได้ในทุกโอกาสในอเมริกา มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

ความบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกราทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากกัปตันต้องไปเดินเรือตามตารางกำหนด คราวนี้คอฟฟินต้องออกเรือจากบอสตันไปไกลถึงอินเดีย และชวา

ท่ามกลางการใช้ชีวิตแบบนักสู้ชีวิตในอเมริกามาเกือบ ๔ ปี ความปลื้มปีติอย่างที่สุด คือ ข่าวจากนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลอง ที่รอแล้วรอเล่า

และอยู่มาวันหนึ่ง นายเจมส์ เฮล (ที่เคยทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการให้แฝดในช่วงที่ไปแสดงในอังกฤษ) ได้เขียนจดหมายมาบอกอิน-จัน ว่า
นางนากผู้เป็นมารดา อยู่ที่เมืองแม่กลองสบายดี นางนากได้นายเซ็นเป็นสามีคนใหม่ พี่ชาย-พี่สาวของอิน-จัน สบายดี ทุกคนที่บ้านเมืองสยามอยากให้อิน-จัน กลับมาให้แม่เห็นหน้ากันหน่อย

นายเฮลแยกตัวไปจากแฝดก่อนหน้านี้ เพื่อไปเดินเรือเช่นกัน ช่วงที่ห่างไปแฝดและนายเฮล ยังคงติดต่อกันทางจดหมาย รักษาความเป็นเพื่อนและมีน้ำใจต่อกันเสมอ

(บิดาของแฝดอิน-จัน ชื่อนายทีอาย เสียชีวิตเมื่อตอนแฝดอายุ ๘ ขวบ จากโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ในเมืองสยาม มีคนตายจำนวนมาก)

จดหมายจากนายเฮล ยังบรรยายต่อว่า นายฮันเตอร์พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ประกอบความชอบในแผ่นดินสยาม เป็นที่โปรดปรานจนในหลวง ร.๓ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นหลวงอาวุธวิเศษ มีหน้ามีตาโก้หรู มีแฟนตรึมในบางกอกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คงเห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ที่แฝดอิน-จัน เข้าไปเป็นตัวละครที่สำคัญในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของสยามกับอเมริกาตรงนี้

ความดีความชอบของนายฮันเตอร์ คือเขาเป็นพ่อค้าที่นำอาวุธปืนคาบศิลาที่เรียกว่า ปืนมัสเก็ต พร้อมกระสุนดินดำ เข้ามาขายและมอบให้รัฐบาลสยามจำนวนหนึ่ง นายฮันเตอร์ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักสยาม ขุนนางสยามและเพื่อนฝูงเรียกชื่อแบบสะดวกปากว่า นายหันแตร

สยามได้ใช้งานปืนมัสเก็ต (Musket) ที่ทันสมัย ทำศึกทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทำศึกด้านตะวันออกอย่างได้ผล นอกจากนั้น นายหันแตรพ่อค้าคนเก่งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศแห่งแรกในสยามตรงบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี) อีกต่างหาก ซึ่งต่อมาเกิดน้ำท่วมเมืองสยามครั้งใหญ่ ทำเอานายหันแตรขาดทุนแทบหมดตัว

อิน-จัน คิดหนัก เพราะแม่ร้องขอให้กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง เมืองสยามแต่ทั้งสองก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้
ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากตระเวนแสดงตัวในอเมริกาแล้ว ๑๙ รัฐ ในขณะนั้นอเมริกามีเพียง ๒๔ รัฐ (ปัจจุบันมี ๕๐ รัฐ)

นายแฮริส จุดประกายความคิดขึ้นมาอีก คราวนี้คิดที่จะพาแฝดไปแสดงตัวที่ปารีสและตระเวนไปในอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ผ่านมาทางการฝรั่งเศสเคยปฏิเสธไม่ให้อิน-จันเข้าประเทศมาแล้ว เพราะมีข้อมูลว่าแฝดคู่นี้เปรียบเหมือนอสุรกาย จะทำให้สตรีฝรั่งเศสที่กำลังมีครรภ์เกิดปัญหาต่อเด็กในท้อง

ในที่สุดการเดินทางเข้าปารีส ก็ได้รับการอนุมัติ นายแฮริส พาแฝดลงเรือชื่อ Resolution เดินทาง ๕ สัปดาห์จากนิวยอร์กไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ (Dover) การโฆษณามนุษย์ประหลาดจากสยามกระหึ่มอีกครั้งในปารีส

เมื่อเข้าไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสเมืองน้ำหอม ท่อนเนื้อทรงกระบอกยาว ๖ นิ้วที่เชื่อมตรงหน้าอกของหนุ่มสยาม ยังคงเป็นจุดรวมความสนใจของชาวปารีสเช่นเคย ชาวปารีสสนใจมาดูการแสดงพอสมควร แต่เมื่อแสดงตัวไปนานราว ๓ เดือน กลับพบว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงลิ่ว ธุรกิจขาดทุน เพราะปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเมืองหนึ่งของโลก

แฝดคู่นี้ ต้องย้ายวิกหากินใหม่อีกและที่หมายต่อไปคือ เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงตัวที่นั่นนาน ๓๐ วัน เดินทางต่อไปเมืองแอนทเวอร์ป (Antwerp) นาน ๒ สัปดาห์ ทุกอย่างราบรื่น คณะละครเร่เดินทางต่อไปอีก จัดการแสดงที่เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ยาวต่อไปถึงกรุงเฮก (Hague) นานอีก ๒ สัปดาห์ ลากต่อไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ นาน ๑ เดือน

ที่เนเธอร์แลนด์ แฝดสยามได้รับเกียรติสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ วิลเลียม ถึงในพระบรมมหาราชวัง

ตำนานที่ตระเวนยุโรปช่วงนี้ ค่อนข้างรางเลือน แต่ชัดเจนว่า แฝดทั้งสองจากสยามจากเมืองแม่กลอง ชอบกินหอยนางรมเป็นชีวิตจิตใจ แต่คงไม่มีใบกระถินให้เคี้ยวด้วยแน่นอน

เรือชื่อ ฟรานซิส นำคณะของแฝดกลับจากยุโรปไปถึงอเมริกา ใน ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๙

นี่คือตำนานการเดินทางท่องโลกอันเหลือเชื่อของเด็กแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลอง ประเทศสยาม ที่เกิดมาใหม่ๆ มีคนชิงชัง แอบนินทาว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง

ในที่สุด คนสู้ชีวิตตัวติดกันจากสยามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ในชีวิตจริงทั้งคู่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกใบนี้แบบมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย

โชคชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดอิน-จัน จำต้องพบรัก มีเมียอเมริกันซะแล้ว แล้วมันจะไปกันต่อยังไง? แล้วแบบสบายใจสุด มันอยู่ตรงไหน? มีคำถามร้อยแปด


แฝดหนุ่มเคยได้ขอร้องผู้คนทั้งหลาย อย่าเรียกพวกเขาว่า Siamese Boys เนื่องจากทั้งสองมีอายุ๒๑ ปี และพ้นจากความเป็น boy แล้ว การเรียกว่า boy มีภาพราวกับว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กที่วิ่งเล่น แล้วมีคนไปซื้อตัวมาสงเคราะห์เลี้ยงดู

โดยขอให้เรียกว่า Gentlemen ที่แปลว่า ท่านสุภาพบุรุษ หรือคุณผู้ชายที่ดูโก้หรูทีเดียว

แม้กระทั่ง เมื่อไปรับประทานอาหารในร้าน อิน-จัน จะมีความสุขมากเมื่อได้ยินพนักงานเสิร์ฟเรียกแฝดว่า Gentlemen

เรื่องราวตรงนี้โดยเฉพาะการเป็นคนมีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสเป็นอาจิณ

หนังสือพิมพ์ในอเมริกา นำไปเป็นประเด็นบอกเล่า ซึ่งได้ผลออกมาเป็นบวกมีภาพพจน์ที่ดี

เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนชัง มีคนหมั่นไส้ เป็นธรรมดาครับ

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประการหนึ่งในอเมริกา คือ ความเป็นส่วนตัว ที่หาได้ยากมาก

ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนไปซะหมด ไม่เห็นก็ต้องสาระแน สอดรู้สอดเห็นชีวิตของแฝดให้จงได้ โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย เรื่องเร้นลับทั้งหลายที่คนทั่วไปทำ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มีนาคม 2559 16:42:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 09 มีนาคม 2559 16:42:00 »

.



• แฝดสยาม อิน-จัน กล้าบอกเลิกสัญญา (ต่อ)

ในยุคสมัยนั้น วิธีการสื่อสารของอเมริกันชน คือการเขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเรื่องราวสารพัด เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องซุบซิบนินทา ปัญหาหัวใจ เรื่องที่โดดเด่นจะถูกตีพิมพ์ พร้อมด้วยคำตอบหรือคำแนะนำ เรื่องของแฝดอิน-จัน ก็เป็นข่าวที่ขายได้ในทุกโอกาสในอเมริกา มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

ความบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกราทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากกัปตันต้องไปเดินเรือตามตารางกำหนด คราวนี้คอฟฟินต้องออกเรือจากบอสตันไปไกลถึงอินเดีย และชวา

ท่ามกลางการใช้ชีวิตแบบนักสู้ชีวิตในอเมริกามาเกือบ ๔ ปี ความปลื้มปีติอย่างที่สุด คือ ข่าวจากนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลอง ที่รอแล้วรอเล่า

และอยู่มาวันหนึ่ง นายเจมส์ เฮล (ที่เคยทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการให้แฝดในช่วงที่ไปแสดงในอังกฤษ) ได้เขียนจดหมายมาบอกอิน-จัน ว่า นางนากผู้เป็นมารดา อยู่ที่เมืองแม่กลองสบายดี นางนากได้นายเซ็นเป็นสามีคนใหม่ พี่ชาย-พี่สาวของอิน-จัน สบายดี ทุกคนที่บ้านเมืองสยามอยากให้อิน-จัน กลับมาให้แม่เห็นหน้ากันหน่อย

นายเฮลแยกตัวไปจากแฝดก่อนหน้านี้ เพื่อไปเดินเรือเช่นกัน ช่วงที่ห่างไปแฝดและนายเฮล ยังคงติดต่อกันทางจดหมาย รักษาความเป็นเพื่อนและมีน้ำใจต่อกันเสมอ

(บิดาของแฝดอิน-จัน ชื่อนายทีอาย เสียชีวิตเมื่อตอนแฝดอายุ ๘ ขวบ จากโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ในเมืองสยาม มีคนตายจำนวนมาก)

จดหมายจากนายเฮล ยังบรรยายต่อว่า นายฮันเตอร์พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ประกอบความชอบในแผ่นดินสยาม เป็นที่โปรดปรานจนในหลวง ร.๓ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นหลวงอาวุธวิเศษ มีหน้ามีตาโก้หรู มีแฟนตรึมในบางกอกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คงเห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ที่แฝดอิน-จัน เข้าไปเป็นตัวละครที่สำคัญในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของสยามกับอเมริกาตรงนี้

ความดีความชอบของนายฮันเตอร์ คือเขาเป็นพ่อค้าที่นำอาวุธปืนคาบศิลาที่เรียกว่า ปืนมัสเก็ต พร้อมกระสุนดินดำ เข้ามาขายและมอบให้รัฐบาลสยามจำนวนหนึ่ง นายฮันเตอร์ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักสยาม ขุนนางสยามและเพื่อนฝูงเรียกชื่อแบบสะดวกปากว่า นายหันแตร

สยามได้ใช้งานปืนมัสเก็ต (Musket) ที่ทันสมัย ทำศึกทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทำศึกด้านตะวันออกอย่างได้ผล นอกจากนั้น นายหันแตรพ่อค้าคนเก่งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศแห่งแรกในสยามตรงบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี) อีกต่างหาก ซึ่งต่อมาเกิดน้ำท่วมเมืองสยามครั้งใหญ่ ทำเอานายหันแตรขาดทุนแทบหมดตัว

อิน-จัน คิดหนัก เพราะแม่ร้องขอให้กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง เมืองสยามแต่ทั้งสองก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้

ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากตระเวนแสดงตัวในอเมริกาแล้ว ๑๙ รัฐ ในขณะนั้นอเมริกามีเพียง ๒๔ รัฐ (ปัจจุบันมี ๕๐ รัฐ)

นายแฮริส จุดประกายความคิดขึ้นมาอีก คราวนี้คิดที่จะพาแฝดไปแสดงตัวที่ปารีสและตระเวนไปในอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ผ่านมาทางการฝรั่งเศสเคยปฏิเสธไม่ให้อิน-จันเข้าประเทศมาแล้ว เพราะมีข้อมูลว่าแฝดคู่นี้เปรียบเหมือนอสุรกาย จะทำให้สตรีฝรั่งเศสที่กำลังมีครรภ์เกิดปัญหาต่อเด็กในท้อง

ในที่สุดการเดินทางเข้าปารีส ก็ได้รับการอนุมัติ นายแฮริส พาแฝดลงเรือชื่อ Resolution เดินทาง ๕ สัปดาห์จากนิวยอร์กไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ (Dover) การโฆษณามนุษย์ประหลาดจากสยามกระหึ่มอีกครั้งในปารีส

เมื่อเข้าไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสเมืองน้ำหอม ท่อนเนื้อทรงกระบอกยาว ๖ นิ้วที่เชื่อมตรงหน้าอกของหนุ่มสยาม ยังคงเป็นจุดรวมความสนใจของชาวปารีสเช่นเคย ชาวปารีสสนใจมาดูการแสดงพอสมควร แต่เมื่อแสดงตัวไปนานราว ๓ เดือน กลับพบว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงลิ่ว ธุรกิจขาดทุน เพราะปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเมืองหนึ่งของโลก

แฝดคู่นี้ ต้องย้ายวิกหากินใหม่อีกและที่หมายต่อไปคือ เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงตัวที่นั่นนาน ๓๐ วัน เดินทางต่อไปเมืองแอนทเวอร์ป (Antwerp) นาน ๒ สัปดาห์ ทุกอย่างราบรื่น คณะละครเร่เดินทางต่อไปอีก จัดการแสดงที่เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ยาวต่อไปถึงกรุงเฮก (Hague) นานอีก ๒ สัปดาห์ ลากต่อไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ นาน ๑ เดือน

ที่เนเธอร์แลนด์ แฝดสยามได้รับเกียรติสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ วิลเลียม ถึงในพระบรมมหาราชวัง

ตำนานที่ตระเวนยุโรปช่วงนี้ ค่อนข้างรางเลือน แต่ชัดเจนว่า แฝดทั้งสองจากสยามจากเมืองแม่กลอง ชอบกินหอยนางรมเป็นชีวิตจิตใจ แต่คงไม่มีใบกระถินให้เคี้ยวด้วยแน่นอน

เรือชื่อ ฟรานซิส นำคณะของแฝดกลับจากยุโรปไปถึงอเมริกา ใน ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๙

นี่คือตำนานการเดินทางท่องโลกอันเหลือเชื่อของเด็กแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลอง ประเทศสยาม ที่เกิดมาใหม่ๆ มีคนชิงชัง แอบนินทาว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง

ในที่สุด คนสู้ชีวิตตัวติดกันจากสยามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ในชีวิตจริงทั้งคู่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกใบนี้แบบมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย

โชคชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดอิน-จัน จำต้องพบรัก มีเมียอเมริกันซะแล้ว แล้วมันจะไปกันต่อยังไง? แล้วแบบสบายใจสุด มันอยู่ตรงไหน? มีคำถามร้อยแปด

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ





• เงินไหลนอง ทองไหลมา

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งเปิดมาประสบพบตำนานระดับโลกตรงนี้ ผู้เขียนขอฉายหนังย้อนกลับให้ทราบว่า แฝดชายอิน-จัน ที่ลำตัวติดกัน (Cojoined Twins) จากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสาคร แห่งสยามประเทศ อายุราว ๑๘ ปี ได้ถูกพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) และกัปตันเรือชาวอเมริกัน ชื่อ เอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) เช่าเอาตัวไปแสดง คนประหลาดตัวติดกัน ในยุโรปและอเมริกา มีสัญญา ๒ ปี ๖ เดือน

เด็กแฝดจากเมืองแม่กลองคู่นี้เกิดมาตัวเชื่อมติดกันด้วยท่อนเนื้อ เมื่อโตขึ้นท่อนเนื้อตรงหน้าอกนี้ (หรือจะเรียกว่ากระดูกอ่อน) จะขยายตัวตามอายุ ยาวสุดประมาณ ๖นิ้ว วัดเส้นรอบวงของท่อนเนื้อตรงนี้ได้ประมาณ ๔ นิ้ว (ดูภาพ)

ฝรั่งนำไปทำโฆษณาว่า เป็นอสุรกาย (Monster) บ้างก็เรียกว่าสุดยอดสิ่งประหลาดที่มีชีวิต (The Greatest Living Curiosities) หรือ Siamese Double Boys เพื่อปลุกเร้าให้คนมาเสียเงินดูตัวเป็นๆ ทำเงินเลี้ยงตัวได้ในอเมริกา

ตระเวนโชว์ตัวมาซะโชกโชน ไปแสดงโชว์ในอังกฤษนาน ๑๕ เดือน ชีวิตมีหวาน มีขม มีรัก มีโศก เก็บเงินได้พอสมควร โดนเจ้านายฝรั่งอมค่าตัวไปบ้าง ผ่านมาเกือบ ๓ ปี อายุจะครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ แฝดหนุ่มฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้แบบเข้าที่เข้าทาง

การแสดงที่เป็นธุรกิจที่ผ่านมา แฝดหนุ่มพบว่า นางซูซาน คอฟฟิน ที่เป็นเสมือนเถ้าแก่เจ้าของกิจการ ตุกติกเรื่องการเงินตลอด ทำให้ชีวิตฝืดเคืองไม่น้อย จะขอเจรจาด้วยก็บ่ายเบี่ยง

เมื่อ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๕ อิน-จันส่งจดหมายไปหานางซูซาน คอฟฟิน ประกาศแยกทาง ไม่ขอร่วมงานอีกต่อไป แฝดหนุ่มจะขอทำธุรกิจโชว์ตัวเองในอเมริกา แต่ก็ยังมีทีมงานเดิม คือ นายแฮริสคอยประสานงานให้

นางซูซานโกรธจัด เพราะถือว่ากัปตันคอฟฟิน สามีนักเดินเรือ ไปเอาตัวแฝดมาจากเมืองแม่กลองมาทำเงินในอเมริกา

นับแต่นั้นมา คนประหลาดตัวติดกันจากสยาม ถือได้ว่าหลุดพ้นจากสัญญาธุรกิจทั้งปวงที่เคยทำไว้ในเมืองสยาม เมื่อราว ๓ ปีก่อน

๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๕ ณ เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก คือกำหนดการรอบปฐมทัศน์ที่จะเปิดแสดงตัว โดยเป็นธุรกิจของตัวเอง ไม่มีเถ้าแก่มาหักค่าหัวคิวให้หงุดหงิดอีกต่อไป เรียกให้โก้ว่า เป็นการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจใหม่ เพื่อต้องการให้มีผลกำไรมากขึ้น

พาหนะที่ใช้เดินทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นายแฮริสทำหน้าที่เป็นคนกลาง เจรจาขอซื้อม้าและรถเทียมม้าจากนางซูซานด้วยเงิน ๑๐๓ เหรียญ ส่วนช่างซ่อมรถม้าที่ชื่อ นายทอม ไดเออร์ ที่ติดตามคณะมาตลอดก็ไม่จ้างต่อ เปลี่ยนเป็นนายโทมัส ครอกเกอร์ (Thomas Crocker) มาทำหน้าที่แทนเพราะเรียกค่าจ้างรายเดือนถูกกว่า

พื้นที่ที่จะตระเวนโชว์ตัวเก็บเงินในช่วงแรก คือบริเวณรัฐทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา คือ นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย เวอร์จิเนีย นิวเจอร์ซี่ ทั้งหมดนี้ทีมงานจะร่อนเร่พเนจรไปในช่วง ๖ เดือน ถ้าเป็นสุภาษิตไทยโบราณ เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านครับ คือแสดงไปเรื่อย ได้เงินมากบ้างน้อยบ้าง ก็อดออมสะสมไปทีละเล็กละน้อย ไม่ดูถูกเงินแม้น้อยนิด

วันเวลาผ่านไป อิน-จันพบว่าตัวเองชื่นใจ มีเงินรายได้แบบคนมีอันจะกิน เดินยิ้มทั้งวัน กินก็อิ่ม นอนก็หลับ ทุกคนในทีมงานพลอยมีความสุขกับธุรกิจตรงนี้ นายแฮริสมีทักษะทางการบัญชี เลยทำให้รายรับ รายจ่ายมีความชัดเจนสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับ ว่าสมุดบัญชีรับ-จ่ายของอิน-จัน ปัจจุบัน ซึ่ง คุณอริยา จินตพานิชการ นำมาเรียบเรียงไว้ในหนังสือ คู่กันนิรันดร ซึ่งผู้เขียนขอถ่ายทอดมาบางส่วน

ค่าซิการ์ ๕๐๐ มวน ราคา ๙ เหรียญ ค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา ๔.๓๑ เหรียญ ค่าม้าชื่อ บ็อบ ๗๒.๕๐ เหรียญ ค่าสูทแบบผ้าบาง ๑๓.๕๐ เหรียญ ค่าหนังสือ ค่าปืนพกยี่ห้อลักกี้ ๒ กระบอก ค่าปืนไรเฟิล ๑ กระบอก ฯลฯ

รายรับ รายจ่าย ทุกอย่างปรากฏในบัญชี

ที่น่าสนใจที่สุดคือ ค่าซิการ์ ซึ่ง อิน-จัน ไม่ได้สูบซิการ์ แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจสู้ชีวิต อิน-จัน ซื้อซิการ์ไปจำหน่ายพร้อมตั๋วเข้าชมการแสดง พอทำกำไรได้ระหว่างการเดินทาง เรียกว่ามีสายเลือดของนักธุรกิจอัดแน่นเต็มตัว

ชีวิตของแฝดหนุ่มที่อายุครบ ๒๑ ปีในอเมริกา ผันตัวเองจากคนเลี้ยงเป็ด หาปลา แถวปากน้ำแม่กลอง ไปตระเวนใช้ชีวิตทำธุรกิจในอเมริกา เดินทางไปเมืองเล็กเมืองใหญ่ไปหมด

บัญชีรายจ่ายค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา ๔.๓๑ เหรียญ บ่งบอกว่า อิน-จัน ตระเวนขึ้นไปเหนือสุดของรัฐนิวยอร์ก และเดินทางไปถึงน้ำตกไนแองการาที่เป็นน้ำตกขนาดมหึมาที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้ไปชมแล้วเดินทางทะลุเข้าไปในแคนาดา ทั้งตอนเหนือและตอนใต้ นับว่าคนประหลาดตัวติดกันคู่นี้คือ นักเดินทางระดับโลกที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสเช่นนี้

ส่วนค่าสูทแบบผ้าบางนั้น ตอนอยู่อเมริกา แฝดอิน-จัน ใส่สูทในบางโอกาส แต่ยังคงไว้ผมเปียยาวถึงกลางหลัง เท่ชะมัด

ธุรกิจการโชว์ตัวที่เรียกว่าโชว์ประหลาด (Freakshow) ในอเมริกาได้สร้างความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้ใหญ่ ความคิดอ่านหล่อหลอมเด็กจากท้องนาสยามให้เป็นหนุ่มอเมริกันไปแล้ว การแสดงบนเวที มีการหยอกล้อพูดคุยกับคนดู สร้างความบันเทิงได้ มีลูกเล่น ลูกฮาทุกครั้งทุกที่แสนประทับใจ

อิน-จัน มีเพื่อนอเมริกัน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในธุรกิจหลากหลาย เพราะแฝดเป็นผู้มีอัธยาศัยดี และมีเพื่อนสนิทมากเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อ เจสซี เกรฟส์ (Jesse Graves) เขียนจดหมายติดต่อกัน ปรึกษาหารือ ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตลอดเวลา แต่อีกใจหนึ่งก็ยังหวนระลึกถึงนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลองทุกเมื่อเชื่อวัน

อิน-จัน ถึงแม้จะตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกัปตัน และนางซูซาน คอฟฟินแล้ว แต่ก็ยังต้องง้อและแอบรอคอยว่ากัปตันคอฟฟินที่เดินเรือไปเมืองสยามจะมีข่าวมาจากนางนากหรือไม่ แม่และพี่น้องในครอบครัวที่บ้านแพริมน้ำที่แม่กลอง สบายดีหรือไฉน ?

อิน-จัน ทนไม่ไหวใจจะขาด จึงขอร้องให้นายแฮริส (ที่ทำหน้าที่เลขา) มีจดหมายหลายฉบับไปหานายเดวิส (เลขานางคอฟฟิน) เพื่อวิงวอนขอทราบข่าวจากแม่ที่บ้าน

แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

สันนิษฐาน ตรงนี้ได้ว่านางคอฟฟินยังโกรธแฝดอิน-จัน ที่แยกตัวออกไปแบบไม่กรวดน้ำคว่ำขันให้แก่กัน แฝดหนุ่มมองไม่เห็นหนทางที่จะได้รับข่าวจากแม่เลย ช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยในหลวง ร.๓ ของสยามครับ

สยามประเทศยังไม่มีระบบไปรษณีย์ ถ้าอิน-จันส่งจดหมายมา ก็ไม่ทราบจะจ่าหน้าซองยังไง บ้านเลขที่ ทะเบียน ตรอกซอกซอย ก็ยังมิได้กำหนด ข้อสำคัญคือ ไม่มีบุรุษไปรษณีย์ ไปรษณีย์สยามมาเริ่มต้นในสมัยในหลวง ร.๕ ครับ

เรื่องความกินแหนงแคลงใจ เรื่องเงินส่วนแบ่งที่ผ่านมา ยังเป็นหนามยอกอก ระหว่างแฝดกับ นางคอฟฟิน ตามบันทึกประวัติศาสตร์ พบว่ายังมีการเขียนจดหมายต่อว่าต่อขานกันไป-มาอีกหลายฉบับแบบเผ็ดร้อน ในลักษณะกล่าวหาซึ่งกันและกัน อุปสรรคใหญ่คือ การไม่ได้พบหน้าและไม่ได้แสดงหลักฐานการเงินแบบเปิดเผยต่อกัน เพราะต้องเดินทางตลอดเวลา ข้อมูลทุกอย่างติดต่อทางจดหมายเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคนไทย คงเห็นตรงกันนะครับว่า กิจการไปรษณีย์ในอเมริกายุคนั้น มีประสิทธิภาพสูงมากและเชื่อถือได้

เรื่องราวความขัดแย้งบานปลายถึงขนาด มีการไปสืบค้นขุดคุ้ยว่า เมื่อ ๓ ปีก่อนตอนที่นายฮันเตอร์ และกัปตันคอฟฟิน ไปทำสัญญาเช่าตัวแฝดมาแสดงนั้น แฝดได้ลงนามเองหรือเปล่า สัญญาเช่าตัวนานแค่ไหนกัน ข้อความในสัญญาหมกเม็ดซ่อนปมอะไรไว้ และนางนากได้รับเงิน ๑,๖๐๐ บาท แล้วหรือไม่?

เรื่องราวเหล่านี้บานปลาย ที่คนไทยใช้ศัพท์ Go So Big แปลแบบสำนวนไทยว่า ไปกันใหญ่ (สำนวนนี้ใช้แบบขำๆ สำหรับคนไทยนะครับ ฝรั่งไม่รู้เรื่อง)

และแล้วอยู่มาวันหนึ่ง อิน-จันก็ได้รับจดหมาย ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๗๕ จากกัปตันเฮล (อดีตผู้จัดการส่วนตัวของแฝดที่ขอแยกทางไปก่อน) ข้อความว่า
กัปตันคอฟฟินกำลังเดินทางจากบอสตันในคืนนี้เพื่อมาพบคุณ

กัปตันคอฟฟินไม่ได้พบอิน-จัน มาราว ๒ ปี เพราะต้องไปเดินเรือทะเล ที่จะเดินทางมาพบเพื่อเคลียร์ปัญหาที่คาใจเรื่องเงินรายได้ และมาเกลี้ยกล่อมให้แฝดหนุ่มกลับมาร่วมงานกันใหม่อีกครั้ง คราวนี้จะพาไปแสดงตัวที่ปารีส พร้อมทั้งยืนยันว่าสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลสยามนั้นระบุว่า จะนำตัวแฝดออกมาแสดงเป็นเวลา ๗ ปี ส่วนที่บอกกับนางนากว่าจะนำตัวมาแสดง ๒ ปีครึ่งนั้น ก็เพื่อให้นางนากสบายใจเท่านั้น


ด้วยการชี้แจงของกัปตันคอฟฟินเช่นนี้ เหมือนเอาน้ำมันสาดเข้ากองไฟ อิน-จันขยะแขยงการพูดคุยกับกัปตันคอฟฟินสุดสุด เพราะเพิ่งตาสว่างว่าโดนแหกตามาตลอด

กัปตันคอฟฟินไม่ย่อท้อลงทุนตื๊ออยู่นาน แต่ทุกอย่างสายเกินแก้ แฝดสยามตั้งสติแล้วประกาศเลิกคบค้าเด็ดขาดกับกัปตันคอฟฟิน

การเจรจาแบบแตกหักของคอฟฟินกับอิน-จันตรงนี้ อาจจะมีฉากน้ำเน่าแบบนิยาย บ้านทรายทอง ของสยาม มีอิจฉาตาร้อน มีสงสาร มีรักมีโศก กลายเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้น

กัปตันคอฟฟิน เมื่อได้รับการปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยจากอิน-จัน จึงพกเอาความแค้นไประบาย ไปปล่อยข่าวกับผู้คนทั้งหลาย ตีฆ้องร้องป่าวว่าไอ้อิน-จัน มันสำมะเลเทเมา เที่ยวซ่องโสเภณี ติดการพนันงอมแงม ความประพฤติเสื่อมเสีย

ทั้งหมดเพื่อการแก้แค้น อิน-จัน ที่ไม่กลับมาร่วมงาน

มีเกร็ดประวัติแบบตลกร้ายที่ขอนำมาแทรกอีกเรื่องครับ

ในระหว่างตระเวนโชว์ตัวในอเมริกา วันหนึ่ง นายแฮริสที่ทำหน้าที่เพื่อนของแฝด ได้ไปยื่นเรื่องต่อสภารัฐเวอร์จิเนีย เพื่อขอยกเว้นภาษีการแสดง โดยเขียนคำร้องว่าเป็นการแสดงของมนุษย์ประหลาดจากสยามนี้ มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน แต่ละครั้งจะมีคนดูในเมืองเล็ก เมืองใหญ่จำนวนไม่เท่ากัน

นายแฮริสบรรยายในคำร้องต่อทางการรัฐเวอร์จิเนีย แบบนักอ้อนมืออาชีพต่อไปว่า บางเมืองที่ไปไม่มีคนดู ที่ผ่านมาคนอเมริกันที่มาดูการแสดง ล้วนเป็นคนชั้นล่างแบบบ้านๆ คณะของแฝดมิได้ไปเปิดการแสดงในโรงแรมโก้หรูแต่อย่างใด แถมยังทวงบุญคุณอีกว่า เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนแบบที่หาดูที่ไหนไม่ได้
ผู้เขียนคิดว่า ฟังดูแล้ว ก็มีเหตุมีผลน่ารับฟังนะครับ

การยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นประเด็นร้อนฉ่าทันที เพราะคำตัดสินจะส่งผลต่อธุรกิจหลายแขนง

และแล้ว ข่าวลึกลับชิ้นหนึ่งไปปรากฏในหนังสือพิมพ์โดยบรรยายความทำนองว่า ไอ้เจ้าแฝดอิน-จัน คนประหลาดนี้แหละ กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์เป็นคนไปซื้อตัวเป็นๆ มาจากสยาม เพื่อมาแสดงตัวหาเงินนะ คนรับเงินก้อนนี้คือ แม่ของเด็ก ไม่เห็นจะต้องยกเว้นภาษีให้มันเลย

เรื่องที่ทำให้เรื่องราวบานปลายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง เพราะเกิดการตีความต่ออีกว่า แฝดอิน-จัน มีสถานะเป็นทาสหรือไม่?

กระแสต่อต้านที่โผล่มาแฉว่า เด็กแฝดคู่นี้แม่เค้าขายมาทำเงินในอเมริกาตรงนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากกัปตันคอฟฟิน ที่ผิดหวังจากการเจรจารื้อฟื้นธุรกิจกับอิน-จันนั่นเอง

เอกสารของนายออเซอร์ (Joseph A. Orser) ยังระบุอีกว่า การปรากฏตัวเป็นๆ ของอิน-จัน เวลานั้นในอเมริกา เป็นการจุดประกายความคิดให้กับสังคมคนอเมริกันได้พอสมควร เพราะอเมริกาอยู่ในระยะฟักตัว สร้างรัฐชาติขึ้นมา เหมือนเด็กกำลังตั้งไข่ พากเพียรเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ มนุษย์บนโลกใบนี้ ยังไม่มีโอกาสเดินทางมากนัก มีแต่ภาพเขียน และบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวหนังสือ

อิน-จัน คือสิ่งมีชีวิตที่แสนมหัศจรรย์ที่สุด ที่ไม่มีใครในอเมริกาเคยเห็นมาก่อน (ชาวสยามในสมัยนั้นมาจนทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครเคยเห็น) แถมมาใช้ชีวิตเคียงคู่ ปรับวิถีชีวิตเข้ากับคนอเมริกันได้เป็นอย่างดี จึงกลายเป็นมนุษย์มีค่าที่น่าเมียงมอง

เหมือนกับทุกวันนี้ที่เราดูหนังที่มีมนุษย์ต่างดาว มีสัตว์ประหลาดจากนอกโลก มีหุ่นยนต์พูดได้มาร่วมกับคน แสดงพ่นไฟแปลงร่าง เหาะไปมา แบบเรื่องอวตาร ทำนองนั้นแหละครับ

ท่านผู้อ่านกรุณาอย่าลืมนะครับว่า กัปตันคอฟฟิน คนนี้แหละคือกัปตันที่เดินเรือไป-มา จากสยามไปยุโรป ไปอเมริกา บรรดามิชชันนารีและแพทย์อเมริกันยุคแรกที่เข้ามาทำงาน เผยแผ่ศาสนาและรักษาคนเจ็บป่วยในสยามให้รอดตายจำนวนมากนั้น มีกัปตันคอฟฟินเป็นผู้ประสานงานอยู่หลังฉาก

มีคนอเมริกันกล่าวในขณะที่คนอเมริกันผิวขาว อยากดูลำตัวประหลาดของอิน-จัน จากสยามนั้น พวกคนอเมริกันเชื่อว่าคนสยามคงอยากสำรวจตรวจร่างกายของคนอเมริกันที่ไปทำงานในสยามมากกว่าเสียอีก

ชีวิตเริ่มมั่งมีศรีสุข คณะจึงเดินทางลงไปรัฐทางใต้อเมริกา ตัวอย่างเช่น การไปแสดงที่รัฐเคนตักกี มีกำไร ๔๑๓ เหรียญ ไปแสดงที่รัฐเทนเนสซีและอลาบามามีกำไร ๑,๑๐๕ เหรียญ ไปแสดงที่มิสซิสซิปปีกำไร ๒,๔๓๓ เหรียญ นี่เป็นผลจากการทำธุรกิจเอง คุมบัญชีเอง นับว่าเม็ดเงินดังกล่าว

มีรายการจ่ายเงินค่าทำฟันให้ทันตแพทย์ ซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ค่าตัดผม ทุกเดือนด้วย

ชีวิตของเด็กเลี้ยงเป็ดจากเมืองแม่กลองในอเมริกายังต้องเดินต่อไป แฝดเดินทางไปตามที่สวรรค์ลิขิตมาให้ แบบไม่มีทางคาดเดาได้


กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 มีนาคม 2559 15:25:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 31 มีนาคม 2559 15:22:34 »

.



• แฝดสยาม อิน-จัน ไม่มีสถานะทาสในอเมริกา

หลังจากแยกตัวออกมาจากนายจ้างฝรั่ง อิน-จันตระเวนรอนแรมด้วยรถม้าขึ้นไปรัฐทางเหนือของอเมริกาทะลุเข้าไปในแคนาดา แล้วลงใต้ไปถึงมิสซิสซิปปี อิน-จัน ได้พิสูจน์แล้วว่าความอดทน ความตั้งใจทำธุรกิจในอเมริกา คือปัจจัยที่ทำให้เงินทองไหลมาไม่หยุด ชื่อเสียงของแฝดหนุ่มจากเมืองแม่กลองโด่งดังในอเมริกาในนามของ Siamese Twins (แฝดสยาม)

ส่วนการเดินสายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา นายแฮริส ที่ทำหน้าที่เลขาคณะละครเร่ พาอิน-จัน ข้ามทะเลออกจากอเมริกาไปแสดงตัวหาเงินถึงเกาะคิวบา

แฝดอิน-จัน จากสยาม จากเด็กประหลาดตัวติดกัน เลี้ยงเป็ดแถวเมืองแม่กลอง วันนี้กลายเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ท่องโลก

ในช่วงเวลาตรงนี้ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูตแลกเปลี่ยนกันระหว่างสยาม-สหปาลีรัฐอเมริกา แต่มีมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาเดินทางเข้ามาตรวจรักษาชาวสยาม และช่วยวางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ให้กับสยาม กิจการด้านต่างประเทศของสยามกับประเทศทางตะวันตกเริ่มมีชีวิต พลิกฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากขับไล่เตะฝรั่งออกนอกสยามจนเกลี้ยงนานหลายปี  ชีวิตของแฝดสยามในอเมริกาเริ่มมั่นคงมีรากฐาน แฝดนักธุรกิจคู่นี้ที่ตระเวนไปทั่ว เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยตัวเอง แผ่นดินในอเมริกาที่แสนกว้างใหญ่ ผู้คนจากทั่วโลกเรียกอเมริกาว่า New World (โลกใหม่) ชาวยุโรปโดยเฉพาะคนผิวขาว แห่กันเข้าไปจับจองที่ดินสร้างชีวิต สร้างครอบครัว มีบาดเจ็บล้มตาย แย่งชิงที่ดิน ตัดสินปัญหากันด้วยปืน บ้างก็เฮง บ้างก็ซวย ใครดีใครอยู่

หนังอเมริกันคาวบอยที่พระเอกคาดเข็มขัดเอียงๆ ขี่ม้ายิงปืน ปล้นธนาคาร ยิงกับอินเดียนแดง ควบม้าปล้นเงินสดจากรถไฟ ความยุติธรรมและความเป็นลูกผู้ชาย ตัดสินกันด้วยการดวลปืนนัดเดียวบนลานกว้าง โดยมีผู้คนทั้งหลายยืนดูในฐานะพยาน ใครชักปืนลูกโม่ขึ้นมาจากเอวเร็วที่สุด แล้วลั่นไกใส่ฝ่ายตรงข้ามแม่นที่สุด คนนั้นชนะ และอยู่รอด ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งในแผ่นดินอเมริกา

ม้ากับปืน คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนอเมริกัน แม้กระทั่งปัจจุบัน เรื่องซื้อปืน ซื้อกระสุน เป็นเรื่องง่ายพอๆ กับการเดินไปหาซื้อบัตรเติมเงินมือถือ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๙ การพกปืนยังคงเป็นสิ่งที่คนอเมริกัน (ในบางรัฐ) ต้องการ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

เวลาเปลี่ยน แฝดสยามเปลี่ยน คนคู่ตัวติดกันทั้งสองมีบุคลิกภาพดีขึ้นมาก เสื้อผ้า หน้า และผมเปีย ฝาแฝดมีกำหนดตรวจรักษาฟัน ใช้หวี ใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า รองเท้า แบบของดีมีคุณภาพ ปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกันได้อย่างดี น้ำหนักตัวทั้งสองเพิ่มมากขึ้น

บุคลิกด้านบวก ของแฝดทำให้คนอเมริกันที่จับตาดู เกิดการยอมรับในทีว่าแฝดตัวติดกันคู่นี้ มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่ประหลาด ส่วนจิตใจใสประเสริฐ ไม่ใช่สัตว์ประหลาด ไม่ใช่อสุรกาย

ค่านิยมในโลกตะวันตกยุคนั้นทั้งในยุโรปและอเมริกา คือการเหยียดสีผิว ด้วยความเชื่อที่ว่า คนขาวมีสติปัญญา มีความคิด มีคุณธรรมเลอเลิศประเสริฐกว่าคนผิวสีอื่น คนดำไม่มีสิทธิเรียนหนังสือในโรงเรียนคนขาว ไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำของคนขาว คนขาวต้องได้รับสิทธิก่อนเสมอ ในยุคต่อมาแบ่งแยกถึงขนาดขึ้นรถรางคนขาวต้องนั่งตอนหน้าของรถ ส่วนคนดำต้องไปนั่งตอนหลัง

สิ่งที่ฝรั่งทั้งหลายชื่นชม คือ ความมีน้ำใจของแฝดหนุ่ม ที่มีนิสัยการแบ่งปัน ชอบหยิบยื่นเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่ยากไร้ที่พบเห็นในอเมริกา สิ่งเหล่านี้คือการบ่งบอกว่าสถานะทางสังคมของแฝดสยามว่า ฉันไม่ใช่คนยากไร้ตามท้องถนน ไม่ใช่คนสิ้นหวังเร่ร่อนขอทาน ฉันประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งการวางตัววางระดับ เช่นนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะดูแคลนแฝดสยาม

เหตุผลที่ผู้เขียนยกประเด็นนี้ขึ้นมา เนื่องจากในเวลานั้น มีกิจการค้าทาสผิวดำที่คนขาวไปซื้อตัวชาย หญิงผิวดำ ตัวเป็นๆ จับล่ามโซ่ลงเรือมาจากแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นแรงงานหลักด้านการเกษตรในภาคใต้ของอเมริกา สถานะของทาสผิวดำในเวลานั้นแทบไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงของคนขาว มีการแบ่งสีผิวอย่างชัดเจนแบบที่มนุษย์พึงแยกจากสัตว์ป่า

ชาวเอเชีย ผิวเหลืองแบบอิน-จัน ที่ไปจากสยามไม่อยู่ในสถานะที่โดนรังเกียจ โดนรังแก เช่นทาสคนดำ

ผู้เขียนต้องขอยกย่อง การวางตัวของบรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้ที่มีความรอบรู้ มีภูมิปัญญาที่จะเอาตัวรอด วางตัวให้อยู่เหนือระดับจากการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของสังคมในอเมริกาในยุคนั้นได้อย่างสง่างาม

ต้องเน้นย้ำกับท่านผู้อ่านนะครับว่า สังคมในอเมริกายุคนั้น คนผิวขาวด้วยกันเอง เห็นต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูครับ พวกทางเหนือไม่กีดกันคนผิวดำ แต่รัฐทางใต้ที่ครอบครองทาสจำนวนมากใช้ทำการเกษตรไม่ยอมรับในสถานะความเป็นมนุษย์ ต้องการมีทาส (และต่อมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองรบกันที่เองเรียกว่า Civil War ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้นาน ๔ ปี ตายไปราว ๖ แสนคน)

ผู้เขียนเองก็อยากทราบเช่นกันว่าไอ้เรื่องการเกลียด กีดกันคนผิวสีมีสาเหตุมาจากอะไร

คำตอบที่ค้นมาได้แบบบ้านๆ คือ คนผิวขาวแท้ๆ ที่อพยพมาจากยุโรปรวมถึงคนผิวขาวที่มาเกิดในอเมริกา กลัวการสูญเสียสถานะทางสังคมของตนเอง กลัวการโดนตีเสมอเทียบเท่า เพราะมีการปลูกฝังกันมาว่าธรรมชาติได้สร้างให้คนขาวเหนือกว่าคนดำในทุกเรื่อง

กระแสความชิงชังจึงพุ่งไปที่คนผิวดำ คนขาวต่อต้านการอพยพเข้ามาใหม่ กีดกันลัทธิทางศาสนาบางกลุ่ม ในบางพื้นที่บางชุมชนถึงขนาดที่ประกาศว่า คนดำอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดคำว่า Negrophobia ที่หมายถึง ความรู้สึกเกลียด-กลัวคนผิวดำ ซึ่งโชคดีที่อิน-จัน จากสยามไม่ใช่คนผิวดำ

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันก็นับว่าคลายตัวไปมาก

อยู่มาราว ๔ ปี อิน-จัน วางตัวได้สง่างาม แฝดหนุ่มเคยได้ขอร้องผู้คนทั้งหลาย อย่าเรียกพวกเขาว่า Siamese Boys เนื่องจากทั้งสองมีอายุ ๒๑ ปี และพ้นจากความเป็น boy แล้ว การเรียกว่า boy มีภาพราวกับว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กที่วิ่งเล่น แล้วมีคนไปซื้อตัวมาสงเคราะห์เลี้ยงดู โดยขอให้เรียกว่า Gentlemen ที่แปลว่า ท่านสุภาพบุรุษ หรือคุณผู้ชายที่ดูโก้หรูทีเดียว  แม้กระทั่งเมื่อไปรับประทานอาหารในร้าน อิน-จัน จะมีความสุขมากเมื่อได้ยินพนักงานเสิร์ฟเรียกแฝดว่า Gentlemen

เรื่องราวตรงนี้โดยเฉพาะการเป็นคนมีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสเป็นอาจิณ หนังสือพิมพ์ในอเมริกา นำไปเป็นประเด็นบอกเล่า ซึ่งได้ผลออกมาเป็นบวกมีภาพพจน์ที่ดี เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนชัง มีคนหมั่นไส้ เป็นธรรมดาครับ ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประการหนึ่งในอเมริกา คือ ความเป็นส่วนตัว ที่หาได้ยากมาก ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนไปซะหมด ไม่เห็นก็ต้องสาระแน สอดรู้สอดเห็นชีวิตของแฝดให้จงได้ โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย เรื่องเร้นลับทั้งหลายที่คนทั่วไปทำ

ในยุคสมัยนั้น วิธีการสื่อสารของอเมริกันชน คือการเขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเรื่องราวสารพัด เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องซุบซิบนินทา ปัญหาหัวใจ เรื่องที่โดดเด่นจะถูกตีพิมพ์ พร้อมด้วยคำตอบหรือคำแนะนำ เรื่องของแฝดอิน-จัน ก็เป็นข่าวที่ขายได้ในทุกโอกาสในอเมริกา มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

ความบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกราทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากกัปตันต้องไปเดินเรือตามตารางกำหนด คราวนี้คอฟฟินต้องออกเรือจากบอสตันไปไกลถึงอินเดีย และชวา

ท่ามกลางการใช้ชีวิตแบบนักสู้ชีวิตในอเมริกามาเกือบ ๔ ปี ความปลื้มปีติอย่างที่สุด คือ ข่าวจากนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลอง ที่รอแล้วรอเล่า

และอยู่มาวันหนึ่ง นายเจมส์ เฮล (ที่เคยทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการให้แฝดในช่วงที่ไปแสดงในอังกฤษ) ได้เขียนจดหมายมาบอกอิน-จัน ว่า นางนากผู้เป็นมารดา อยู่ที่เมืองแม่กลองสบายดี นางนากได้นายเซ็นเป็นสามีคนใหม่ พี่ชาย-พี่สาวของอิน-จัน สบายดี ทุกคนที่บ้านเมืองสยามอยากให้อิน-จัน กลับมาให้แม่เห็นหน้ากันหน่อย

นายเฮลแยกตัวไปจากแฝดก่อนหน้านี้ เพื่อไปเดินเรือเช่นกัน ช่วงที่ห่างไปแฝดและนายเฮล ยังคงติดต่อกันทางจดหมาย รักษาความเป็นเพื่อนและมีน้ำใจต่อกันเสมอ

(บิดาของแฝดอิน-จัน ชื่อนายทีอาย เสียชีวิตเมื่อตอนแฝดอายุ ๘ ขวบ จากโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ในเมืองสยาม มีคนตายจำนวนมาก)

จดหมายจากนายเฮล ยังบรรยายต่อว่า นายฮันเตอร์พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ประกอบความชอบในแผ่นดินสยาม เป็นที่โปรดปรานจนในหลวง ร.๓ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นหลวงอาวุธวิเศษ มีหน้ามีตาโก้หรู มีแฟนตรึมในบางกอกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คงเห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ที่แฝดอิน-จัน เข้าไปเป็นตัวละครที่สำคัญในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของสยามกับอเมริกาตรงนี้

ความดีความชอบของนายฮันเตอร์ คือเขาเป็นพ่อค้าที่นำอาวุธปืนคาบศิลาที่เรียกว่า ปืนมัสเก็ต พร้อมกระสุนดินดำ เข้ามาขายและมอบให้รัฐบาลสยามจำนวนหนึ่ง นายฮันเตอร์ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักสยาม ขุนนางสยามและเพื่อนฝูงเรียกชื่อแบบสะดวกปากว่า นายหันแตร

สยามได้ใช้งานปืนมัสเก็ต (Musket) ที่ทันสมัย ทำศึกทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทำศึกด้านตะวันออกอย่างได้ผล นอกจากนั้น นายหันแตรพ่อค้าคนเก่งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศแห่งแรกในสยามตรงบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี) อีกต่างหาก ซึ่งต่อมาเกิดน้ำท่วมเมืองสยามครั้งใหญ่ ทำเอานายหันแตรขาดทุนแทบหมดตัว

อิน-จัน คิดหนัก เพราะแม่ร้องขอให้กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง เมืองสยามแต่ทั้งสองก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้

ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากตระเวนแสดงตัวในอเมริกาแล้ว ๑๙ รัฐ ในขณะนั้นอเมริกามีเพียง ๒๔ รัฐ (ปัจจุบันมี ๕๐ รัฐ)

นายแฮริส จุดประกายความคิดขึ้นมาอีก คราวนี้คิดที่จะพาแฝดไปแสดงตัวที่ปารีสและตระเวนไปในอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ผ่านมาทางการฝรั่งเศสเคยปฏิเสธไม่ให้อิน-จันเข้าประเทศมาแล้ว เพราะมีข้อมูลว่าแฝดคู่นี้เปรียบเหมือนอสุรกาย จะทำให้สตรีฝรั่งเศสที่กำลังมีครรภ์เกิดปัญหาต่อเด็กในท้อง

ในที่สุดการเดินทางเข้าปารีส ก็ได้รับการอนุมัติ นายแฮริส พาแฝดลงเรือชื่อ Resolution เดินทาง ๕ สัปดาห์จากนิวยอร์กไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ (Dover) การโฆษณามนุษย์ประหลาดจากสยามกระหึ่มอีกครั้งในปารีส

เมื่อเข้าไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสเมืองน้ำหอม ท่อนเนื้อทรงกระบอกยาว ๖ นิ้วที่เชื่อมตรงหน้าอกของหนุ่มสยาม ยังคงเป็นจุดรวมความสนใจของชาวปารีสเช่นเคย ชาวปารีสสนใจมาดูการแสดงพอสมควร แต่เมื่อแสดงตัวไปนานราว ๓ เดือน กลับพบว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงลิ่ว ธุรกิจขาดทุน เพราะปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเมืองหนึ่งของโลก

แฝดคู่นี้ ต้องย้ายวิกหากินใหม่อีกและที่หมายต่อไปคือ เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงตัวที่นั่นนาน ๓๐ วัน เดินทางต่อไปเมืองแอนทเวอร์ป (Antwerp) นาน ๒ สัปดาห์ ทุกอย่างราบรื่น คณะละครเร่เดินทางต่อไปอีก จัดการแสดงที่เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ยาวต่อไปถึงกรุงเฮก (Hague) นานอีก ๒ สัปดาห์ ลากต่อไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ นาน ๑ เดือน

ที่เนเธอร์แลนด์ แฝดสยามได้รับเกียรติสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ วิลเลียม ถึงในพระบรมมหาราชวัง

ตำนานที่ตระเวนยุโรปช่วงนี้ ค่อนข้างรางเลือน แต่ชัดเจนว่า แฝดทั้งสองจากสยามจากเมืองแม่กลอง ชอบกินหอยนางรมเป็นชีวิตจิตใจ แต่คงไม่มีใบกระถินให้เคี้ยวด้วยแน่นอน

เรือชื่อ ฟรานซิส นำคณะของแฝดกลับจากยุโรปไปถึงอเมริกา ใน ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๙

นี่คือตำนานการเดินทางท่องโลกอันเหลือเชื่อของเด็กแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลอง ประเทศสยาม ที่เกิดมาใหม่ๆ มีคนชิงชัง แอบนินทาว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง

ในที่สุด คนสู้ชีวิตตัวติดกันจากสยามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ในชีวิตจริงทั้งคู่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกใบนี้แบบมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย

โชคชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดอิน-จัน จำต้องพบรัก มีเมียอเมริกันซะแล้ว แล้วมันจะไปกันต่อยังไง? แล้วแบบสบายใจสุด มันอยู่ตรงไหน? มีคำถามร้อยแปด


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 04 เมษายน 2559 19:41:46 »

.



• ลีลา-ลูกเล่นแฝดหนุ่มจีบสาว..อิน-จันจะมีเมียฝรั่ง

ผู้เขียนเรียบเรียงบทความเรื่องแฝดสยามอิน-จัน ตำนานระดับโลกมา ๑๔ ตอน พี่น้องผองเพื่อนทั้งหลายที่ติดตาม มีความสนใจที่แน่วแน่อย่างเดียวคือ อยากทราบว่ามนุษย์ประหลาดบรรพบุรุษสยามคู่นี้จะมีชีวิตรัก ใช้ชีวิตแต่งงานกันอีท่าไหน ให้รีบบรรยายด่วนที่สุด เรื่องสัพเพเหระอื่นๆ ให้ทิ้งไว้ก่อน ไม่อยากรู้เว้ย ไม่ต้องบรรยาย

ผู้เขียนยินดีจัดให้ครับ

แฝดตัวติดกันจากเมืองแม่กลองร่อนเร่ไปเหมือนในเทพนิยาย จากเด็กเลี้ยงเป็ดปากน้ำแม่กลอง ไปท่องโลกในอเมริกา ไปยุโรปแล้ว กลับมาอเมริกาอีก ถ้าฝรั่งไม่บันทึกไว้เป็นหนังสือขายดี ผู้เขียนจะไม่มีวันเชื่อเด็ดขาด

อายุอานามของแฝดราว ๒๘ ปี เป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีเงิน มีแรงเป็น ๒ เท่าเพราะตัวติดกัน และมีเวลา ที่ผ่านมามีรักแรกเป็นสาวลอนดอน ถัดมาเป็นสาวอเมริกัน (จะเปิดเผยภายหลัง) แบบรักเค้าข้างเดียว ซื้อของขวัญเพื่อร้อยรัดดวงใจ เขียนจดหมายไปจีบสาวเล่าเรื่อง ที่จีบมาทั้งหมดเพราะแพ้ความขาว เลยจีบแต่คนผิวขาว

ไปแสดงตัวที่บ้านไหน เมืองไหน มีแต่คนนินทาซุบซิบว่ามันมีลูกมีเมียรึยัง ถ้ายังไม่มี แล้วไอ้แฝดประหลาดตัวติดกันนี้ มันจะมีเมียกันอีท่าไหนวะ?

ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า อิน-จันคุยกันเรื่องนี้รึเปล่า ที่ผ่านมาฝรั่งที่ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัวบันทึกว่า ทั้ง ๒ คนไม่ค่อยได้พูดจากันให้เห็น แต่อาจจะแอบคุยกันตอนกลางคืน เรื่องจะมีเมียกันยังไงดี ฝรั่งเลยไม่ได้ยิน หรืออาจจะคุยภาษาไทยแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ

แฝดจากเมืองแม่กลองผู้โด่งดังในอเมริกา ใช้ชีวิตพเนจรแสดงตัวเก็บเงินมาราว ๘ ปี มีเงินถุงเงินถัง มีหน้ามีตาในสังคม มีเพื่อนอเมริกันหลากหลายอาชีพ เห็นบ้านเมืองตั้งแต่นิวยอร์กไปจนถึงชนบท ไม่ว่าจะร่อนเร่พเนจรไปเมืองไหน แฝดหนุ่มก็เลือกที่จะกลับมาตั้งหลักที่นิวยอร์กเสมอ เพื่อนสนิททั้งหลายที่เป็นหมอเป็นผู้พิพากษาล้วนเป็นชาวนิวยอร์ก

ชีวิตแฝดสยามมั่นคง มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร และจากความหวังดีของเพื่อนฝูงที่แสนดีในนิวยอร์ก แฝดคู่นี้ได้รับการเชื้อเชิญให้เซ็นสัญญาแสดงตัวกับพิพิธภัณฑ์พีลส์ (Peale’s New York Museum) มีกำหนด ๓ ปี ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๗๗-๒๓๘๐ ชีวิตมีแต่งานและเงินที่ไหลมาเทมาไม่หยุด

หลังจากการแสดงคืนวันหนึ่ง นายแพทย์เจมส์ คัลโลเวย์ (James Calloway) หนึ่งในผู้มาชมการแสดงทนไม่ไหว ขอเข้าไปคุยส่วนตัวกับแฝดหลังเวที การพูดคุยเปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพ หมอเจมส์เอ่ยปากชวนแฝดไปพักผ่อนที่นอร์ธแคโรไลนา บทสนทนาในคืนนั้นคือจุดพลิกผันชีวิตของแฝดหนุ่มที่เป็นตำนานระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ขอเรียนอีกครั้งว่า อิน-จัน ฟัง พูด อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี บุคลิกลักษณะดี เท่ ฝรั่งช่างสังเกตบันทึกไว้ว่า แฝดสยามมีลีลาท่าทางแบบนักธุรกิจเต็มตัว มีไลฟ์สไตล์แบบอเมริกัน มีวิสัยทัศน์ในแบบทุนนิยมเต็มพิกัด คิดอ่านอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด

สังคมอเมริกันในตอนนั้นรู้จักแฝดสยามจากการซื้อตั๋วราคา ๒๕ เซ็นต์เข้าไปดูการโชว์ตัว หนังสือเล่มเล็กๆ ที่วางขายหน้างานที่เรียกว่าสูจิบัตรเป็นสื่อที่แพร่กระจายประวัติ นิสัยใจคอ ความลึกลับมหัศจรรย์ของแฝดคู่นี้อย่างได้ผล เป็นหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ทำเงินได้อีกไม่น้อย

โลกนี้มีมืดและมีสว่าง ข่าวความเคลื่อนไหวในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องคนประหลาดจากสยามในอเมริกาขายได้เสมอ ข่าวที่ขายได้มักจะมีมุมมองแบบเสียดสีแบบเลือดซิบๆ ในลักษณะการกีดกัน รังเกียจเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

สังคมคนผิวขาวในอเมริกาจัดวางระดับให้อิน-จัน เป็นบุคคลที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วในอเมริกา แต่จะไม่มีวันเท่าเทียมกับคนขาวแน่นอน

กัปตันคอฟฟิน (Abel Coffin) อดีตผู้จัดการด้านธุรกิจการแสดงของแฝดหนุ่ม ยังรังควาน ผูกใจเจ็บไม่เลิกไม่รา คอฟฟิน เจ้าคิดเจ้าแค้นที่แฝดคู่นี้ไม่ยอมกลับมาร่วมธุรกิจ เลยปล่อยข่าวในทำนองว่า เขาคือผู้แทนการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐที่เข้าไปเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสยาม และเขาคือคนที่ไปซื้อตัวไอ้เด็กแฝดคู่นี้มากับมือ ให้เงินแม่ของแฝดไปหมดแล้ว ไปซื้อมันมาเลี้ยงแบบทาส

คำกล่าวอ้างในทำนองนี้เจือปนด้วยแค้น กัปตันคอฟฟินต้องการลดทอนสถานะในความเป็นมนุษย์ของแฝดสยามให้ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับทาสผิวดำ

กัปตันคอฟฟินยังเล่นข่าวเหน็บแนมอีกว่า ไอ้แฝดคู่นี้ทำเงินในอเมริกาได้มหาศาลถึง ๑ แสนเหรียญ จากการเป็นมนุษย์ร่างกายประหลาด แต่มันไม่เคยส่งเงินกลับไปให้แม่ที่แสนยากจนในสยามเลยแม้แต่น้อย

เกร็ดตำนานของนักสู้ชีวิตแฝดเพื่อเรียกคนซื้อตั๋วเข้ามาดูการแสดงที่ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง มีการตีฆ้องร้องป่าวถึงขนาดว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้ มันคือลิงอุรังอุตังชนิดหนึ่งที่ไปจับตัวมาได้จากป่าลึก บางที่ก็โฆษณาว่า คนแฝดคู่นี้คือบรรพบุรุษของคนอเมริกันที่อยู่ในอเมริกามาก่อนคนขาวจะอพยพเข้ามา

บ้างก็เลยเถิดแหกตาชาวบ้านว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้เป็นนางเจน เมียของทาร์ซาน ที่ไปจับมาได้จากป่า

โฆษณาแนวนี้ โดนใจมะริกันชนนักแล

นับเป็นโฆษณาที่เร้าใจแบบไม่ดูไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่ากันนะครับ เทคนิคการขายของที่ไหนในโลกก็ใช้ลูกเล่นแบบนี้ ในเวลาเดียวกันข้อมูลภาพลักษณ์ในด้านลบเหล่านี้ก็เป็นเสมือนดาบที่กลับมาฟันคอแฝดหนุ่มในเรื่องของสตรีเพศที่ผูกสมัครรักใคร่ไม่น้อย

สาวสวยอเมริกันที่อิน-จันรักจริงหวังแต่งย่อมต้องลังเลคิดหนักที่จะคบหาแบบคนรักเพราะดูเหมือนแฝดจะไม่ใช่คน

วันหนึ่ง..ความจำเจที่แฝดมีอาชีพต้องเป็นผู้ให้ความบันเทิง (Entertainer) กับมะริกันชนมาต่อเนื่อง ใช้ชีวิตในป่าคอนกรีตยาวนาน ทำให้แฝดปรึกษานายแฮริสเพื่อนร่วมงานที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมนายแพทย์คัลโลเวย์ ที่รัฐนอร์ธแคโรไลนาตามที่รับปากกันไว้ เพื่อการพักผ่อนยิงนกตกปลาที่แฝดจากแม่กลองชอบที่สุด

ในราวต้นปี พ.ศ.๒๓๘๒ คณะแสดงของแฝดก็เดินทางมาพบกับทิวทัศน์แบบป่าเขาลำเนาไพร และสัตว์ป่าในเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่าวิลส์เคาน์ตี้ (Wilkes county) มันคือดินแดนในจินตนาการที่แฝดอิน-จันเคยฝันถึง นายแพทย์คัลโลเวย์ เจ้าถิ่นจัดเต็มให้แฝดได้ยิงนก ตกปลา แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แถมยังแนะนำให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้ผูกมิตรเฮฮาป่าลั่นกับคู่แฝดแบบสนิทใจ แฝดสยามใช้เวลาส่วนใหญ่ในลำธารเพื่อตกปลาที่ชำนิชำนาญมาตั้งแต่เกิดที่เมืองแม่กลอง สลับด้วยการล่ากวางที่เกะกะชุกชุมในป่าแถวนั้น เพื่อนๆ ฝรั่งต่างชมว่าแฝดใช้ชีวิตในป่าได้อย่างกลมกลืน รวมทั้งใช้อาวุธปืนได้คล่อง

หมอคัลโลเวย์กัลยาณมิตรของแฝด จบแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาฝึกงานด้านการแพทย์ในหลายเมืองในรัฐนอร์ธแคโรไลนา ซึ่งในเวลานั้นชุมชนที่แฝดเข้าไปพักผ่อนอยู่ด้วยนั้นยังเป็นบ้านนอกของอเมริกา ก็ไม่แตกต่างจากบ้านนอกของสยาม ผู้คนยากจน น้ำ ไฟ การรักษาพยาบาล โรงเรียน คือสิ่งที่ไม่มีทั้งสิ้น มีแต่เสน่ห์อันตรึงใจจากธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องและความสงบ

คู่แฝดเช่าบ้านพักผ่อนใช้ชีวิตแบบสบายๆ เนิบนาบ วันคืนผ่านไป จิตใจแฝดเริ่มถูกสะกดด้วยมนตราของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ความอ่อนช้อยของแม่น้ำลำธารแบบถอนตัวไม่ขึ้นซะแล้ว ดินแดนที่ดาษดื่นไปด้วยพืชผลการเกษตร ฝ้าย ยาสูบ ข้าวสาลี มีคนงานเป็นทาสผิวดำเต็มท้องทุ่ง ภายใต้การกำกับของคนอเมริกันผิวขาวที่เป็นนาย

เมื่อแฝดทั้งคู่ยืนยันว่า “ตรงนี้แหละ ใช่เลย” จึงเจรจาขอซื้อที่ดินตรงที่ใช่ เนื้อที่ ๑๕๐ เอเคอร์ (ประมาณ ๓๗๕ ไร่) ในราคา ๓๐๐ เหรียญ มีการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินถูกต้องตามกฎหมายของรัฐ เป็นที่ฮือฮาบอกเล่ากันไปหลายคุ้งน้ำ ที่มีคนประหลาดตัวติดกันจากเมืองสยามมาลงปักหลักตั้งถิ่นฐานในชุมชนของคนขาว

ที่ดินขนาดนี้ถือว่าไม่เล็กนะครับ อิน-จัน เด็กเลี้ยงเป็ดจากสยามใจถึงจริงๆ

ผู้เขียนคิดว่า บุคคลจากสยามคู่นี้คือบรรพบุรุษสยามคู่แรกที่ประทับตราเป็นเจ้าของแผ่นดินในอเมริกาอย่างเป็นทางการที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ ผืนดินตรงนั้นมีลำธารใสเย็นเห็นตัวปลาชื่อแซนดี้น้อย (Little Sandy Creek) หมู่บ้าน (หรืออาจจะเป็นตำบล) แทร็ปฮิล (Trap Hill) รัฐนอร์ธแคโรไลนา

ชีวิตของแฝดนักผจญภัยต้องเดินต่อไปแบบมีทิศทาง เหมือนเรือต้องมีหางเสือ เมื่อมีที่ดินแล้ว บ้านในฝันของคนจากแดนสยามจึงเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อ และเงินทองของแฝด เป็นบ้านขนาด ๔ ห้องนอน ใช้เวลาไม่นานนักบ้านหลังแรกของชีวิตในอเมริกาก็แล้วเสร็จ

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือข้าวของเครื่องใช้สำหรับสุภาพบุรุษตัวติดกันคู่นี้ที่จะต้องสั่งทำพิเศษ เตียงนอนต้องแบบนอนคู่ เก้าอี้ต้องมี ๒ ก้นใน ๑ ตัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้ในบ้านนายแฮริส ผู้จัดการส่วนตัวไปสั่งซื้อสั่งทำพิเศษจากนิวยอร์ก

ชีวิตลงตัวในอเมริกา มีเงิน มีบ้าน มีแรง อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี พระเจ้าช่างเมตตาแฝดอิน-จันเสียนี่กระไร

ไหนๆ ก็ไหนๆ ชีวิตเดินทางมาไกล เกินกว่าจะย้อนกลับ ไม่มีใครทราบว่า แฝดอิน-จัน คิดจะกลับไปหาแม่ที่แม่กลองหรือไม่ แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ ขนาดซื้อที่ดินปลูกบ้านทำการเกษตรแล้ว เรื่องกลับไปใช้ชีวิตที่แม่กลอง คงเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยซะแล้ว

ก้าวย่างต่อไปที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอเมริกันคือการแปลงสัญชาติ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ มีเรื่องเฮฮาประสาชาวสยามคือ อิน-จัน ประชาชนชาวสยามในยุคนั้น ไม่มีนามสกุลที่จะใช้จดทะเบียน ในเมืองสยามในรัชสมัยในหลวง ร.๓ ยังไม่มีการใช้นามสกุลกันนะครับ มีเพียงชื่อไอ้ดำ อีแดง ไอ้อ้วน นางเตี้ย อีหมวย แค่นี้ก็ทราบดีว่าหมายถึงใคร ตอนลงเรือออกมาจากสยามเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว นางนากผู้เป็นแม่ก็ไม่ได้บอกว่านามสกุลอะไร เทือกเถาเหล่ากอก็สืบค้นไม่ได้

ข้อมูลจากหนังสือของ Kay Hunter (หลานของนายฮันเตอร์) ระบุว่าความคิดที่ตกผลึกของแฝดสยามแบบไม่ต้องคิด คือการนึกถึง วิลเลียม บาร์ทูเอล และเฟรดเดอริก เพื่อนรัก ๓ พี่น้องชาวอเมริกันในนิวยอร์กที่ช่วยเหลือเจือจุนกันมานานที่นามสกุลบังเกอร์ (Bunker) มีการติดต่อเพื่อขอใช้นามสกุลบังเกอร์ร่วมด้วย เพื่อนอเมริกันทั้ง ๓ ชอบใจ มีคนมาขอใช้นามสกุลเลยจัดให้ทันที

และแล้วประชากรอเมริกาก็ปรากฏชื่อของ Eng Bunker และ Chang Bunker ในประวัติศาสตร์อเมริกา

อิน-จัน จากสยามผ่านกระบวนการทางกฎหมายของอเมริกาแบบม้วนเดียวจบ ตบท้ายด้วยการสาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกัน ตัดขาดจากความเป็นพลเมืองสยามโดยสมบูรณ์

ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ตรงนี้ว่า บรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้คือชาวสยามคู่แรกที่เข้าสู่กระบวนการโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒

และจากข้อมูลของโจเซฟ แอนดรู ออเซอร์ ในหนังสือ The Lives of Chang and Eng ระบุว่า นายแฮริสที่ร่วมงานกันมานานก็ถือโอกาสแปลงสัญชาติจากไอร์แลนด์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เป็นพลเมืองอเมริกันพร้อมกันไปด้วย

ผู้คน สูง ต่ำ ดำ เตี้ย แขก ฝรั่ง จีน คนดำจากแอฟริกา มืดฟ้ามัวดิน ทุกชาติพันธุ์กำลังหลั่งไหลเข้าไปแสวงโชคเริ่มต้นชีวิตในอเมริกาที่เรียกว่าโลกใหม่ (New World) ในจำนวนนั้นมีชาวสยามเข้าไปร่วมกะเค้าด้วย ๒ คน มาแบบพิเศษกว่าทุกคนในโลกคือเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins)

แฝดสยามใช้ชีวิตกับการเกษตรปลูกข้าวโพดในที่ดินที่ซื้อมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สุขกายสบายใจกับธรรมชาติในชนบท ไม่ต้องออกไปร่อนเร่แสดงตัวหาเงินนานพักใหญ่ นายแฮริสเพื่อนรักก็พลอยปักหลักเช่าบ้านอยู่ไม่ไกลกันนักแวะเวียนไปมาหาสู่กันตลอด

และแล้ว นายแฮริสหนุ่มใหญ่เพื่อนรักของแฝดที่อ้างว้างว้าเหว่มานาน ๓๘ ปี ประกาศแต่งงานกับสาวแสนสวยที่มีนามว่าแฟนนี่ บอเกส (Fannie Bauguess) ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าซึ่งเฝ้ามานาน

งานฉลองแต่งงานในคืนนั้นเป็นไปตามแบบชนบทในอเมริกา ผู้คนมากหน้าหลายตาในแทร็ปฮิลมาร่วมงานเกือบทั้งตำบล อาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี เต้นรำ

แน่นอนที่สุดแฝดสยามสุดหล่อคือแขกคนสำคัญของงาน

แฝดหนุ่มทั้งสองไม่ใช่คนแปลกหน้าในงานฉลองแต่งงาน ทุกคนล้วนคุ้นเคย เป็นกันเองแบบคนบ้านเดียวกัน

ในงานคืนนั้น จันคือคนที่คึกคักมีรักในหัวใจ กระฉับกระเฉง สอดส่ายสายตามองหารักจากสาวอเมริกันที่มาอวดโฉมในงาน ส่วนอินก็จนปัญญา ชีวิตไม่มีทางให้เลือกมาตั้งแต่เกิด ไปไหนก็ต้องกระเตงกันไป ในระหว่างสรวลเสเฮฮากับเพื่อนๆ ในงาน แฝดจันเกิดไปประสานสายตากับสาวน้อยนามว่าซาราห์ แอน เยทส์ (Sarah Ann Yates) ลูกสาวสวยสะพรั่งอายุ ๑๘ ปีของเดวิด และแนนซี่ เยทส์ (David-Nancy Yates) คหบดีผู้มีอันจะกินในเมืองใกล้ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยง

จันเหมือนถูกมนต์สะกด ยิ้มแย้มเดินปรี่ตรงเข้าไปแบบช้างก็ฉุดไม่อยู่ แต่ก็ต้องลากเอาตัวแฝดอินเข้าไปด้วย พระผู้เป็นเจ้ากำลังเมตตาสงสารแฝดหนุ่มที่อาภัพรัก

ซาราห์ แอน ไม่ได้มากับพ่อเท่านั้น แต่เธอควงคู่มากับน้องสาวที่สวยไม่แพ้กันที่ชื่ออาดิเลด (Adelaide) อายุ ๑๗ ปีมาด้วย แฝดหนุ่มคุ้นเคยกับเดวิด เคยพบกันมาบ้าง แต่ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าอีตาเดวิดมีลูกสาวสวยขนาดนางฟ้าทั้ง ๒ คน

ในหนังสือ The Romance of the Siamese Twins โดยเชพเพิร์ด มอนโร ดักเกอร์ (Shepherd Monroe Dugger) บรรยายความสำนวน ลีลา ลูกเล่นแพรวพราวของแฝดแม่กลอง ที่พี่น้องสองสาวต้องเคลิ้ม

แฝดอินเอ่ยปากทักทายสาวด้วยคำหวาน “น้องชายของผมต้องการแต่งงาน ถ้าใครซักคนสนใจ เค้าก็จะขอแต่งในคืนนี้ซะเลย”

พี่น้องสองสาวถึงกับตกตะลึง ถอยไปตั้งหลัก

“เขาต่างหากที่อยากแต่งงาน แต่มาอ้างผม ผมเดินมานี่ก็แค่อยากคุยกับคุณเท่านั้นเอง” จันรีบรับลูก

พี่น้องสองสาวเริ่มตั้งหลักได้จึงยิ้มแย้มตอบรับไมตรีของแฝดสยามสัญชาติอเมริกัน

จันรุกต่อว่า “เหตุที่ผมยังไม่แต่งงาน ก็เพราะตัวติดอยู่กะเค้านี่แหละ”

สาวน้อยซาราห์ตัดสินใจเอ่ยประโยคแรก “เห็นจะจริง มีโอกาสที่คุณ ๒ คนจะแยกตัวออกจากกันมั้ย ?”

แฝดอินรับลูกต่อว่า “หมอบอกว่า ไม่มีทางแน่นอน เราเองทั้ง ๒ คนตัดสินใจกันแล้วว่า เราคงจะใช้ชีวิตได้แค่มองสาวสวย แล้วก็พร้อมจะไปนอนในหลุมศพ”

“น่าสงสารที่สุด ที่คุณมีความรักต่อหญิงสาว แต่คุณก็แต่งงานด้วยไม่ได้” แอดดี้กล่าวด้วยความเห็นใจเชิงหยอกล้อ

“ผมจะหาโอกาสไปเยี่ยมคุณที่บ้านให้ได้ แต่ผมจะไม่พาอินไปด้วย เพราะเค้าชอบแย่งสาวที่ผมชอบเสมอ” จันสานต่อแบบไม่ขาดตอน

อินรีบสวน “ผมเป็นคนยุติธรรมนะ เอาอย่างนี้ ผมขอให้คุณเลือกก่อนเลยว่า คุณชอบใคร?”

จันไม่รอช้า “ผมเลือกแอดดี้” แล้วหนุ่มสาว ๒ คู่ ๔ คน ก็พร้อมใจกันหัวเราะลั่นทุ่งท่ามกลางงานเลี้ยงแต่งงานของเพื่อนแฮริส

การสนทนาแรกพบของ ๔ สหายในคืนนั้นเป็นไปตามคำพังเพยไทยที่เรียกว่าหมาหยอกไก่ แฝดอินทราบดีว่างานนี้แฝดจันเอาจริง ส่วนพี่น้องสองสาว ซาราห์และแอดดี้ก็มีไมตรีที่แสนอบอุ่นแต่ต้องคิดหนัก เพราะนึกภาพไม่ออกเลยว่ามันจะรักกันได้ยังไง?

สองสาวยังคิดไปไม่ถึง แต่แฝดมโนไปไกลสุดขอบฟ้าซะแล้ว

ที่ผ่านมาตลอดชีวิต แฝดทั้งสองมีความคิดเหมือนกันต่างกันบ้างไม่มาก แต่ครั้งนี้แฝด ๒ แรงม้าเดินหน้าเต็มตัว

เวลาช่างเนิ่นนานสำหรับคนรอคอย แฝดหนุ่มทำงานในไร่ยาสูบและไร่ข้าวโพดดูแลพืชทุกชนิดที่ลงทุนเพาะปลูกแบบชาวไร่ชาวสวนที่ทำเป็นมาตั้งแต่เป็นเด็กที่แม่กลอง

วันที่พระเจ้าประทานพรให้ก็มาถึงอีกครั้ง แฝดหนุ่มแต่งตัวสุดหล่อตัดสินใจเดินทางด้วยรถม้ามุ่งตรงไปที่บ้านของสองสาวที่เคยผูกไมตรีไว้เพื่อขอพิสูจน์พรหมลิขิต ชะตาชีวิตตนเอง เดินทางไปถึงบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ระหว่างแทร็ปฮิลกับวิลส์โบโร ตามที่ได้เคยสอบถามกันมา

บ้านหลังนี้ต้องเป็นบ้านของสาวน้อยแอดดี้ และซาราห์แน่นอน แฝดจึงตัดสินใจเคาะประตู

แฝดแม่กลองถึงกับผงะ เพราะสุภาพสตรีที่มาเปิดประตูเธอคือสาวอเมริกันในชนบทที่สูงราว ๑๖๘ เซนติเมตร คะเนดูจากรูปร่างน้ำหนักเธอน่าจะประมาณมากกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมแน่นอน

เธอแนะนำตัวว่าเธอคือแนนซี่ เยทส์ เป็นแม่ของแอดดี้และซาราห์

เป็นไงเป็นกัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และจะเกิดอะไรกับชีวิตที่สุดแสนพิสดารของแฝดคู่นี้


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 เมษายน 2559 19:43:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 11 เมษายน 2559 15:52:13 »

.



• มารผจญคนสร้างตำนานรักสะท้านโลก

ความเดิมจากตอนที่แล้ว แฝดอิน-จันตัวติดกันจากเมืองแม่กลองไปใช้ชีวิตแสดงตัวในยุโรปและอเมริกานานเกือบ ๑๐ ปี เก็บเงินได้ก้อนใหญ่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน ซื้อที่ดิน ๑๕๐ เอเคอร์ (ประมาณ ๓๘๐ ไร่) ปลูกข้าวโพด ยาสูบ สร้างบ้านที่โอบล้อมด้วยขุนเขา ลำธารที่แสนจะสวยงาม สงบร่มรื่นของ แทรปฮิล เมาธ์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา

แฝดหนุ่มผ่านร้อนผ่านหนาวมาราว ๓๐ ปีเศษ เคยติดตาต้องใจพี่น้องสาวสวย แอดิเลดและซาร่าห์ ที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองแต่งงานของนายแฮริส ทั้งแฝดและสองสาว เคยโอภาปราศรัยหยอดคำหวานเป็นสะพานเชื่อมไมตรีกันไว้แบบลืมไม่ลง

แรงคิดถึงผลักดันให้แฝดตัดสินใจเดินทางด้วยรถม้า มุ่งตรงไปที่บ้านของสองสาวที่ห่างออกไปราว ๑๖ ไมล์ ถามไถ่ไปตามทางจนกระทั่งไปเคาะประตูบ้านของตระกูลเยทส์ (Yates)

สุภาพสตรีที่มาเปิดประตูบ้านต้อนรับแนะนำตัวเองว่า เธอคือ แนนซี่ เยทส์ เป็นแม่ของแอดิเลดและซาร่าห์นั่นเอง แฝดหนุ่มถึงกับผงะ เมื่อเห็นเธอสูงราว ๑๖๕ เซนติเมตร คำนวณด้วยสายตาแล้วน้ำหนักน่าเธอจะมากกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมแน่นอน

แนนซี่เองก็ลมจับล้มทั้งยืนเมื่อเปิดประตูมาพบกับคนประหลาดตัวติดกันที่มาเคาะประตูบ้าน ต่างคนต่างมีของแปลกมาประชันกัน แนนซี่ให้การต้อนรับอิน-จันแบบอบอุ่น การบุกไปบ้านของสองสาวครั้งแรกได้พบมารดาของเธอทั้งสองเป็นการปูทางสร้างกำลังใจที่จะให้หนุ่มใหญ่ไขว่คว้าหารักให้สำเร็จ

การทำไร่ข้าวโพด ข้าวสาลี และร้านค้าของชำโดยแฝดสยามเป็นไปด้วยดี นับว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากแบบคนหน้าใหม่ที่เปิดตัวแรงเต็มพิกัด

ไม่ว่าจะทำมาหากินเหนื่อยยากแค่ไหน หัวใจก็ไม่เคยหยุดเรียกร้องสองสาวตระกูลเยทส์ ทุกครั้งที่แฝดต้องเดินทางเข้าเมือง ก็จะต้องหาเรื่องแวะ มีส้มสุกลูกไม้ติดไม้ติดมือไปฝากครอบครัวนี้เสมอ สมาชิกในครอบครัวก็มีน้ำใจเชิญทานอาหารแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะอาหารค่ำที่จะมีเรื่องพูดคุยที่แสนจะตื่นเต้น

ทุกคนในครอบครัวตระกูลเยทส์ชอบที่จะฟังเรื่องราวของเมืองแม่กลอง ราชอาณาจักรสยาม (ซึ่งตอนนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓) เรื่องราวการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากสยามมาอเมริกา การพเนจรไปหลายประเทศในยุโรป ในอเมริกา เรื่องราวเหล่านี้จะมีกี่คนในโลกนี้ที่เคยประสบพบเจอ สาวน้อยแอดิเลด (เรียกง่ายๆ ว่า แอ้ดดี้) และซาร่าห์ (เรียกง่ายๆ ว่า แซลลี่) เคลิบเคลิ้มไปกับสองผู้ยิ่งใหญ่จากสยาม

ความรักที่แอบรักเค้าข้างเดียว มันอึดอัดคับอกต้องยกออก แฝดหนุ่มคิดหนัก คงต้องใช้บริการของเพื่อนรัก นายแฮริสที่เป็นเพื่อนร่วมงานมาหลายปี แฮริสเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะขผ่านประตูเหล็กบานใหญ่ผ่านไปให้จงได้




นายแฮริส ชาวอังกฤษเชื้อสายไอริชที่มาแต่งงานกับลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าในแทรปฮิล หลังจากได้รับฟังเรื่องความรักที่หนักปานภูผา ถึงกับมึนตึ้บ

แฮริสทราบดีว่าความรักของแฝดยิ่งใหญ่ หนักแน่นเกินบรรยาย แต่ความไม่ปกติของร่างกายอิน-จัน คือกำแพงเหล็กที่สูงตระหง่านขวางกั้นความรักจากฝ่ายหญิง

สามัญสำนึกของแฮริสบอกได้ทันทีว่าเรื่องพิสดารแบบนี้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ เรื่องการสมรสข้ามสีผิว การสมรสข้ามเผ่าพันธุ์เป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันในยุคนั้นถือว่าร้ายแรงมาก ถ้าผู้ชายผิวขาวไปสมรสกับหญิงสีผิวอื่นถือเป็นเรื่องยอมรับได้ แต่ถ้าผู้หญิงผิวขาวไปสมรสกับชายสีผิวอื่นเป็นเรื่องที่ต้องห้าม

อเมริกาในยุคสมัยนั้น มีการแบ่งแยกสีผิวชัดเจนแบบปะปนกันไม่ได้เลย พ่อค้าคนขาวจะไปซื้อคนดำที่เรียกว่านิโกร จากทวีปแอฟริกาใส่เรือมาอเมริกา เพื่อมาทำงานหนักมีสถานะเป็นทาส

บรรทัดฐานสังคมที่เข้มงวด รวมถึงจารีตประเพณีของคนอเมริกันผิวขาวในยุคนั้น เป็นอุปสรรคขวากหนามที่แหลมคมสำหรับอิน-จัน รวมทั้ง แอ้ดดี้และแซลลี่ เรื่องจริยธรรม ค่านิยมในสังคมของหญิงสาวในยุคเหยียดสีผิวมีผลในทางปฏิบัติเข้มงวด ทั้งๆ ที่กฎหมายก็มิได้ระบุไว้

ประการสำคัญที่สุด ความรู้สึกของพี่น้อง ๒ สาว ที่ลังเลใจต่อความรัก เพราะเธอมีความฝันว่าถ้าได้แต่งงาน เธอคงฝันอยากมีชีวิตส่วนตัวกับคนรัก แต่ชายหนุ่มคู่นี้ตัวมันติดกันมาตั้งแต่เกิด มันจะไปเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวกันตอนไหนได้ ชีวิตที่เรียกว่าร่วมเรียงเคียงหมอน มนุษย์ทั่วไปทำกันแค่ ๒ คนเท่านั้น นี่กำลังจะเล่นเป็นหมู่ ๔ คน

เธอคงอยากได้สามีคนเดียว ไม่อยากได้ของแถม

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพนะครับ ตำนานรักบันลือโลกของชาวสยามคู่นี้ คือความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของแฝดสยาม ที่ฝรั่งเรียกว่า Siamese Twins ที่สร้างความเป็นอมตะระดับโลกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

มีคนแฝดตัวติดกันที่เรียกว่า Conjoined Twins ในโลกนี้อีกหลายคู่ ศีรษะติดกัน ก้นติดกัน แต่แฝดเหล่านั้นอายุไม่ยืนยาวเหมือนแฝดสยาม แฝดสยามมีทุกอย่างปกติเหมือนคนทั่วไป ใช้ชีวิตเช่นผู้คนทั้งหลาย แต่มีท่อนเนื้อเหมือนกระบอกข้าวหลามยาวประมาณ ๖ นิ้ว เชื่อมติดกันบริเวณหน้าอก (กรุณาดูภาพอย่างละเอียด) ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามตัวติดกันที่มีอายุยืนยาวที่สุดและเป็นผู้แหกกฎเกณฑ์ทั้งปวง

ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ และมีพลังไปกว่าความรัก แฝดทั้งสองดั้นด้นเทียวไปเทียวมา กระเตงกันไปแบบคนคู่สู้ชีวิต หาเรื่องเข้าบ้านฝ่ายหญิงไม่ขาดตอน มีบันทึกว่าหลังอาหารเย็นที่บ้านของสองสาว แฝดหนุ่มจะโชว์เสียงเพลงรักจากขลุ่ยอันโหยหวนที่มนต์สะกด เดวิด แนนซี่และ สมาชิกในครอบครัวเยทส์อย่างได้ผลชะงักนักแล

รักพิสดารกระฉ่อนโลกของ ๔ คนนี้ มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

ข่าวดีคือ แอดิเลดยอมรับและเห็นใจแฝดจัน

ข่าวร้ายคือ ซาร่าห์ไม่เล่นด้วย แฝดอินจึงเป็นส่วนเกิน

น่าสนใจมากนะครับ บรรพบุรุษของชาวสยามคู่นี้เค้าไปจีบกันยังไง ในขณะที่แฝดจันพร่ำคำหวานต่อแอ้ดดี้ แฝดอินก็ต้องฟังอยู่ด้วย กี่ครั้งกี่หนก็ต้องฝืนทนอยู่กะเค้า หลับๆ ตื่นๆ ง่วงเหงาหาวนอน จะขอตัวไปนอนก่อนก็ไปไม่ได้ หรือจะไปฉี่ ก็ไปไม่ได้

มาร์ค เทวน (Mark Twain) นักประพันธ์ ศิลปินที่มีชื่อระดับโลกได้รับทราบข่าวว่ามีแฝดตัวติดกันในอเมริกา จึงประพันธ์บทบรรยายแนวบันเทิงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์แสนมหัศจรรย์คู่นี้ และได้เขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนในช่วงที่จันกำลังมีความสุขคุยกับแอดิเลดในยามดึกดื่นเที่ยงคืน แต่อินต้องเหงาเงิบง่วงนอน

ข้อมูลเด็ดเรื่องเด็กแฝดในโลกนี้ที่นึกไม่ถึงแต่มีบันทึกไว้ใน Encyclopedia of Multiple Birth records ปี ๒๐๐๘ ระบุว่า ในปี พ.ศ.๒๒๔๓ คุณแม่ชาวรัสเซียที่แสนจะมีบุญ ได้คลอดแฝด ๓ คน จำนวน ๗ ครั้ง ตามด้วยการคลอดแฝด ๔ คนอีก ๔ ครั้ง รวมแล้วคุณแม่คนนี้ให้กำเนิดลูก ๓๗ คน ผู้เขียนขอสงวนความคิดเห็นครับ เพราะนึกภาพไม่ออกเรื่องการกินนม

ผู้เขียนขอสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ของสยามในห้วงเวลาตรงกับที่แฝดสยามไปตั้งรกรากสร้างชีวิตในอเมริกา

ในช่วงเวลานั้น สยามไม่มีศึกสงครามกับพม่าแล้ว เนื่องจากพม่ากำลังสู้รบ ชาวพม่าบาดเจ็บล้มตายทำสงครามต่อต้านอังกฤษที่ส่งกำลังเข้ายึดครองพม่า ในหลวง ร.๓ ที่ทรงพระปรีชาสามารถจึงทุ่มเทสรรพสิ่งทั้งปวงไปกับการพัฒนา มีการขุดคลองบางขนาก ขุดคลองหมาหอน ขุดคลองบางขุนเทียนเพื่อการขนส่งทางน้ำ

ด้านการสาธารณสุข ในยุคนั้นนายแพทย์บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) แพทย์ชาวอเมริกันที่ชาวสยามเรียกปลัดเล ได้เข้ามารักษาพยาบาลชาวสยามด้วยวิชาการแพทย์สมัยใหม่ ผสมผสานกับการเผยแพร่ศาสนา หมอริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกในสยาม มีการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค หมอปลัดเลแสดงวิธีการการผ่าตัดคนไข้รายแรกของสยามให้ได้เห็นกันจะจะ

ปลัดเลคนนี้ยังขยันไม่หยุด แกไปประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยเพื่อทำแท่นพิมพ์ สร้างโรงพิมพ์เป็นครั้งแรก แถววัดประยูรวงศาวาส แถมยังกล้าออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายปักษ์ ชื่อ แบงคอก รีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ให้ชาวสยามได้อ่าน หมอออกแบบทำปฏิทินให้ชาวสยามได้ใช้เป็นปฐมบท

กลับมาเรื่องของความรัก ของหนุ่มสยามที่กำลังกลัดกลุ้ม รักไม่ลงตัว ที่สาวน้อยซาร่าห์ ยังคิดไม่ตกที่จะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันแบบ ๔ คน ความหมองคล้ำปรากฏบนใบหน้าของแฝดอิน ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ

เสียงซุบซิบนินทาเริ่มเล็ดลอดออกมา กระจายไปในชุมชนแทรปฮิลว่า ไอ้แฝดประหลาดคู่นี้มันกำลังหลงรักสาวอเมริกันผิวขาว

แฝดอิน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากแฝดจัน จึงหาทางออกโดยประกาศจัดงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งก็เป็นกิจกรรมธรรมดาที่แฝงด้วยความไม่ธรรมดา เพื่อนบ้านในบริเวณใกล้-ไกล ต่างได้รับเชิญมาร่วมงานที่บ้าน

แน่นอนที่สุด เป้าหมายคือการได้พบแอดิเลดและซาร่าห์

เธอทั้งสองเป็นแขกคนสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านชายโสดฝาแฝดที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้น ถ้วยชาม แก้วน้ำ ช้อนส้อม ล้วนเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก

เมื่องานดำเนินไปจนดึกดื่นเพื่อนบ้านทั้งหลายทยอยกลับไปจนคนสุดท้าย แต่ยังคงมีแอดิเลดและซาร่าห์ เป็นเพื่อนคุยกับแฝด

การเจรจาเพื่อยืนยันในรักแท้ คือประเด็นหลักในการสนทนาที่ต่อเนื่องข้ามคืนเข้าสู่เช้าวันใหม่ แอดิเลดที่ยอมรับรักจากแฝดจันมาก่อนแล้ว ได้ช่วยพูดอ้อนวอนพี่สาว สร้างสะพานเชื่อมนำความรัก ความเข้าใจแบบหมดจด เธออ้อนวอนให้ซาร่าห์ตอบรับความรักของแฝดอิน

พระเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ท่านคงได้ยลยินกับเสน่หา ความรักของ ๒ หนุ่ม ๒ สาวมาทั้งคืน พระผู้เป็นเจ้าจึงดลบันดาลให้ซาร่าห์เอ่ยปากยอมรับในความรักของแฝดอินในที่สุด

รุ่งสางของวันนั้น โลกทั้งใบเป็นของแฝดสยาม ความรักคือการให้ เมื่อรักมาบรรจบครบ ๔ คนความสุขก็เริ่มปรากฏ แต่ทุกอย่างยังคงเป็นความลับที่มิได้แพร่งพรายต่อผู้ใด

อิน-จัน ยังคงทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย แวะไปเยี่ยมบ้านของสองสาวตามปกติวิสัยทุกครั้งที่เดินทางเข้า-ออกจากเมือง

ความสนิทสนมที่ก่อตัวมานาน สร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ๒ คู่ชายหญิงจากแทรปฮิล นั่งรถม้าเปิดประทุนออกไปเที่ยวเล่นด้วยกันตามประสาหนุ่มสาว ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวแสดงตนต่อสาธารณชนว่าเป็นคู่รักที่ลงตัวแล้ว

การปรากฏตัวครั้งนั้น เป็นการเฉลยคำตอบอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า สองสาวผิวขาว ซาร่าห์และแอดิเลด ลูกสาวอีตาเดวิดกับนางแนนซี่เป็นคนรักของไอ้แฝดตัวติดกันอย่างไม่ต้องสงสัย ไฟลามท้องทุ่งยังเคลื่อนตัวช้ากว่าเสียงติฉินนินทา ที่พุ่งออกไปทั่วสารทิศเร็วปานจรวดในชุมชนวิลส์คโบโร

ค่านิยม จารีตและความคิดและจิตใจของคนผิวขาวในยุคสมัยนั้น มีกรอบว่าถ้าหญิงสาวคนขาวจะมีความรักกับบุรุษต่างสีผิว มันคือหายนะ มันคือความสำส่อนโสมมที่รับไม่ได้เด็ดขาด

หนุ่มสาวทั้ง ๔ คนที่ต่างมีโลกเป็นสีชมพูไม่สามารถแพร่งพรายได้ เรื่องความรักที่ลงตัวของ ๒ หนุ่ม ๒ สาว ยังไม่ระแคะระคายกับเสียงก่นด่าที่ตลบอบอวลท้องทุ่ง มาทราบอีกครั้งเมื่อบ้านของเธอโดนขว้างด้วยก้อนหินกระจกแตกกระจายในคืนวันถัดมา

มันคือสัญญาณจากปรปักษ์รอบข้างที่ออกอาการชัดเจนว่ารังเกียจการคบหาของหนุ่มที่มีร่างกายวิปริตกับสาวเจ้าถิ่น

ความชิงชังยังก่อกวนจิตประสาทของครอบครัวตระกูลเยทส์ โดยมีจดหมายมาข่มขู่ให้ควบคุมลูกสาวมิให้คบหากับไอ้แฝดสยามคู่นี้ ถ้าไม่หยุดการคบหาแบบคนรัก ชาวบ้านจะไปเผาพืชไร่ของเดวิดให้พินาศหมดตัว

หนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph Andrew Orser สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับตระกูลเยทส์ ที่ต้องแบกรับการติเตียนแสนสาหัสจากสังคมรอบด้านในอเมริกายุคนั้น โดยระบุว่าในช่วงนั้นมีคดีความฟ้องร้องกันในศาลเกี่ยวกับเรื่องการอยู่กินกันของชายหญิงโดยไม่แต่งงาน การคบชู้สู่ชาย คดีเรื่องลูกนอกสมรส หลากหลายในสังคมชนบทอเมริกา ทางการมีความพยายามที่จะออกกฎหมายป้องปรามและกำหนดบทลงโทษ

เดวิดและแนนซี่ เยทส์ พ่อแม่ของแซลลี่และแอ้ดดี้ ครอบครองที่ดิน ๕๐๐ เอเคอร์ มีทาสทำงานในไร่ ๗ คน นับว่าเป็นครอบครัวที่มีหน้ามีตา ได้รับการยอมรับนับถือจากชุมชนวิลส์คโบโร ในเมื่อลูกสาว ๒ คนกำลังจะไปออกเรือนกับชายรูปร่างพิสดารตัวติดกันเช่นนั้น แกจึงต้องปกป้อง กีดกันทุกวิถีทาง

ชีวิตของแฝดหนุ่มจากสยาม ช่างรันทด อาภัพรักเสียนี่กระไร อันที่จริงชาวชุมชนเมืองวิลคส์ ก็ต้อนรับนับแฝดคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยมิได้ตั้งแง่รังเกียจอะไร แต่พอมาทราบว่าแฝดพิสดารคู่นี้เกิดไปรักใคร่ชอบพอกับสาวสวยในชุมชนตัวเอง มันเสียเหลี่ยมคนขาว ก็ต้องหมั่นไส้ไล่ส่งเป็นธรรมดา

มารผจญ คนหลอกหลอนไม่หยุด สื่อท้องถิ่น คาโรไลนา วอทช์แมน (Carolina Watchman) และอีกหลายฉบับชิงเปิดพื้นที่ข่าวหน้า ๑ ละเลงสีสันแบบเมามัน วาดภาพการแต่งงานที่จะมีขึ้นโดยใช้คำว่าสมรสหมู่ ๔ การแต่งงานของสัตว์ป่า สัตว์ป่าบ้าตัณหากำลังเข้าพิธีสมรส

การเย้ยหยัน เสียดสีในหน้าหนังสือพิมพ์เลยเถิดไปไกล ในทำนองว่าจะเป็นการสมรสระหว่างคนกับสัตว์ คนสมรสกับอสุรกาย





ซาร่าห์ แอน เยทส์ เกิดเมื่อ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๖๕ พบหน้าแฝดครั้งแรกในงานเลี้ยงเมื่ออายุ ๑๘ ปี

แอดิเลด เยทส์ เกิดเมื่อ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๖๖ พบหน้าแฝดครั้งแรกในงานเลี้ยงเมื่ออายุ ๑๗ ปี

ทั้งสองสาวเกิดในชนบทรัฐนอร์ธ แคโรไลนา มีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งสิ้น ๖ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๔

เมื่อชาวบ้านรุมด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง แฝดหนุ่มจากแม่กลองที่โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน หาได้หยุดความพยายามไม่ โดยถือคติว่ามารไม่มีบารมีไม่เกิด ยังอดทนวาดฝัน ฟันฝ่าตามหารักแท้

เดวิดและแนนซี่คิดหนัก เพราะโดนขู่จากสังคมรอบด้าน ส่วนพี่น้องสองสาวที่กลายเป็นจำเลยสังคม เป็นขี้ปากชาวบ้านกลับมีความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ไม่แยแสต่อเสียงเห่าหอนของภูตผีปีศาจทั้งหลาย

สองนารีพี่น้องแห่งเมืองวิลส์คกลับเป็นฝ่ายรุก แอบนัดพบกับแฝดหนุ่มเป็นผลสำเร็จ ทั้ง ๔ คน ได้พบกันในสถานที่ลับเฉพาะหลายครั้ง เพื่อปรึกษาหาทางออกให้กับชีวิตที่จะต้องก้าวข้ามจารีตคตินิยมให้ได้

คำตอบที่สรุปออกมาได้จากการลักลอบพบกันคือ แฝดทั้งสองจะเดินทางไปฟิลาเดลเฟียพบศัลยแพทย์เพื่อผ่าตัดแยกร่างให้จงได้

ความรักมีพลังแสนจะยิ่งใหญ่

เมื่อแฝดไปถึงฟิลาเดลเฟีย จึงไปพบศัลยแพทย์เพื่อขอร้องให้ผ่าตัดแยกร่างที่ใช้ชีวิตตัวติดกันมาราว ๓๐ ปี เพื่อจะแยกกันไปแต่งงานและใช้ชีวิตครอบครัวเยี่ยงปุถุชนทั้งหลาย

แพทย์ทั้งหมดในฟิลาเดลเฟียทุกสำนัก ยืนยันว่าจะไม่มีวันลงมือผ่าแยกร่างให้เป็นอันขาด เพราะผลที่จะได้รับคือการสูญเสียทั้งอินและจัน

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ในยุคสมัยนั้นยังมีแฝดตัวติดกันที่เรียกว่า Conjoined Twins อีกหลายคู่นะครับ แต่ไม่มีใครสร้างตำนานระดับโลกทิ้งไว้ ทั้งเป็นนักสู้ บู๊ ดุเดือดเลือดพล่าน รัก หวานชื่น ขื่นขม แบบนี้เลย

เมื่อการผ่าตัดแยกร่างเป็นไปไม่ได้ บรรยากาศแห่งความรักของเทพบุตรสยามกับนางฟ้าพลอยมืดมิดไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง

การเดินทางไปฟิลาเดลเฟีย ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเสียสละของแฝดที่มีต่อพี่น้องทั้งสองสาวเป็นร้อยเท่าพันทวี

พี่น้องสองสาวฮึดสู้แบบหัวชนฝา เธอทั้งสองจะขอเป็นฝ่ายฉีกกฎเหล็กของสังคม สองสาวแอบลักลอบนัดพบกับแฝดอีกครั้ง เธอทั้งสองประกาศจะวิวาห์เหาะพากันหนีทั้ง ๔ คน แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เธอจะไปขอให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Collby Spark) ไปช่วยพูดกับพ่อแม่ของเธออีกครั้ง และครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย

สองสาวพี่น้องและแฝดหนุ่มต่างเจ็บปวด ทุกข์ระทมกับความไม่สมบูรณ์ของชีวิต

ผู้เขียนคิดด้วยใจเป็นธรรม คิดถึงใจเขา-ใจเรา ถ้าวันนี้เราเป็นพ่อ-แม่ของสองสาว ก็ต้องห่วงหวงและกังวลกับชีวิตของลูกสาวไม่น้อยว่าถ้าได้สามีเป็นคนต่างชาติต่างผิวพรรณ ไม่รู้เทือกเถาเหล่ากอ ความไม่เป็นปกติของร่างกาย ที่ไม่ทราบว่าแฝดคู่นี้มีอาการป่วยซ่อนอยู่ข้างใน หรือไม่ หรือเมื่อมีลูกมีหลานแล้วมันจะออกมาเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือจะออกลูกมาเป็นหอยสังข์ เงาะป่า หรือจะออกลูกมาเป็นนางเงือก?

สามีภรรยาคู่นี้คิดไปได้ร้อยแปด น่าเห็นใจนายเดวิดและนางแนนซี่นะครับ

คำตอบสุดท้ายจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 21 เมษายน 2559 14:03:36 »

.


• แฝดสยามไปสร้างทายาทราว ๑,๕๐๐ คน ในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลดประกาศรักจริง-หวังแต่งกับแฝดตัวติดกันจากสยามแบบไม่แยแสต่อคำครหานินทาจากสังคมรอบด้าน วางแผนจะทำวิวาห์เหาะพากันหนีไปครองรักครองเรือนให้รู้แล้วรู้รอด หากพ่อแม่ไม่เห็นชอบ

โอกาสสุดท้ายริบหรี่ที่จะได้ไฟเขียวจากนายเดวิดและนางแนนซี่ เยทส์ ในที่สุดพี่น้องสองสาวได้ขอร้องให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Colby Spark) ที่พึ่งสุดท้ายเป็นผู้ไปอ้อนวอนพ่อ-แม่เป็นครั้งสุดท้าย

บาทหลวงทำหน้าที่ได้ทะลุเป้า หลังเกลี้ยกล่อมพ่อและแม่อยู่พักใหญ่ให้เห็นใจในความรักที่อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง เดวิดและแนนซี่ยอมรับในความรักและการแต่งงานแบบพิสดารของหนุ่มสาวทั้ง ๔ คน

ในที่สุดชัยชนะเป็นของคนรักทั้ง ๔ เรื่องรักอมตะแบบนี้ก็ต้องใช้พระนำเฉกเช่นชาวสยาม

๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๓๘๖ คือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ๒ หนุ่มจากเมืองแม่กลอง แฝดหนุ่มได้เข้าพิธีแต่งงานกับ ๒ สาวพี่น้องอเมริกันที่บ้านของเจ้าสาว คู่รักทั้ง ๔ คนได้ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค ขวากหนาม สร้างความรัก ความเข้าใจมานาน ๔ ปี เพื่อที่จะเป็นของกันและสมปรารถนาในที่สุด

ผู้เขียนไม่ทราบว่าใน พ.ศ.๒๓๘๖ มีประเพณีสงกรานต์ในสยามหรือไม่ แต่วันที่แฝดสยามแต่งงานตรงกับวันสงกรานต์

พิธีแต่งงานโดยบาทหลวงพ่อสื่อรักที่ชื่อ คอลบี้ สปาร์ค เป็นไปอย่างรวบรัด เป็นพิธีทางศาสนาแบบเรียบง่าย และเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ ความรักชนะทุกสิ่ง ในที่สุดโลกต้องจารึกว่าเป็นการแต่งงานระหว่าง นายเอ็ง บังเกอร์ กับ นางสาวซาร่าห์ แอน เยทส์ นายจัน บังเกอร์ กับ นางสาวแอดิเลด เยทส์

ในหนังสือของต่างประเทศ ที่บันทึกเรื่องราวของแฝดสยามจะเรียกว่า Eng (อิน) Chang (จัน) นะครับ

และคำว่าบังเกอร์ (Bunker) เป็นนามสกุลของแฝดที่ขอใช้นามสกุลเพื่อนรักชาวอเมริกันตอนที่ขอโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันก่อนหน้านี้

มีแขกเหรื่อ เพื่อนที่เข้าใจ เห็นใจเพื่อนมาร่วมในพิธีแต่งงานพอสมควร ถือได้ว่าเวลาในอนาคตของคนรักทั้ง ๔ จะเป็นเครื่องพิสูจน์คำสบประมาท คำครหาทั้งหลาย

คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความหมายเมื่อมีความรัก แฝดหนุ่มอิน-จัน ตัวติดกันจากสยามใช้ชีวิตในอเมริกามานาน ๑๔ ปี (มาถึงอเมริกา เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒) เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ยาสูบ โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน มีบ้านหรู มีเงินจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ วันนี้มีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวเป็นตน เฉกเช่นคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน ใครจะทำไม?

แฝดสยาม (Siamese Twins) ตัวติดกันผู้สร้างตำนานรักกึกก้องโลกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๒ ปี

หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น รวมทั้งจากรัฐใกล้เคียง เมื่อทราบข่าวการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางเสียงติเตียน ต่างก็พากันบรรเลงสีสันบรรยายข่าว เล่าข่าวกันแบบหลุดโลก สังคมอเมริกันติดตามข่าวการแต่งงานแฝดสยามอย่างหิวกระหาย

บ้านของแฝดอิน-จัน ที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้น เป็นเรือนหอที่สร้างรอรักมานาน สื่อมวลชนทั้งหลายแย่งกันเล่นข่าวแบบเมามัน ถ้อยคำวาบหวามร้อนแรงเหมือนไปเห็นมากับตา ถึงขนาดบรรยายว่า

เตียงสำหรับ ๒ คู่ชู้ชื่น ที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ๔ คนเสมอนั้น เป็นเตียงขนาดพิเศษที่เสริมความมั่นคงแล้ว (super-sized reinforced bed)

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าเค้าต้องนอนรวมกัน ๔ คน เตียงมันก็ต้องแข็งแรง และใหญ่เป็นพิเศษหน่อย แล้วเค้าทั้ง ๔ คนเป็นสามีภรรยากัน ไม่ใช่ที่นอนทารกจะมานอนกินนม

ในที่สุดเมื่อบุคคลทั้ง ๔ ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว และทำตามกฎหมายทุกประการ เพื่อนบ้านชาวเมืองก็ทำได้แต่เพียงติฉินนินทา ซึ่งต้องขอใช้ศัพท์ว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแบบด่าไม่เลิก แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะออกไปในแนวของการล้อเลียน ติดตลก ขำขัน

คําว่า Siamese Twins เพิ่มน้ำหนักการรับรู้ให้กับสังคมในอเมริกาเป็นทวีคูณ หนังสือพิมพ์จากรัฐต่างๆ ในอเมริกา เดินทางมาสัมภาษณ์ มาทำสกู๊ปข่าวกันอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกว่า แฝดตัวติดกันคู่นี้มีหัวนอนปลายตีนเช่นไร และเหตุไฉนสองสาวน้อยแห่งแทรปฮิลจึงยินยอมที่จะใช้ชีวิตสมรสแบบพิสดารเยี่ยงนี้

ในมุมมองด้านลบต่อการสมรสของหนุ่มสาวทั้ง ๔ ก็ยังคงรบกวนจิตใจจิกกัดไม่เลิก หนังสือ The Two ของ Wallace เขียนไว้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของเจ้าถิ่น คนขาวชาวอเมริกันตอนนั้นเห็นว่าการแต่งงานของบุคคลทั้ง ๔ คือการทำผิดจารีตประเพณีของสังคมอย่างร้ายแรง

จารีตที่กำหนดขึ้นมาในอเมริกายุคนั้น เพื่อกีดกันการสมรสระหว่างนิโกร ผิวดำ กับผู้หญิงผิวขาว และยังขัดขวางการสมรสระหว่างผู้ชายอินเดียนแดงกับผู้หญิงผิวขาวโดยเฉพาะ

ผู้เขียนค้นเอกสารหลายสำนักในอดีต โดยเฉพาะเอกสารเก่าของอเมริกาทั้งหลายที่บันทึกไว้แบบมีเหตุมีผล

สรุปได้ว่า การสมรสดังกล่าวเป็นสิ่งที่แหกกฎเกณฑ์เรื่องสีผิว เป็นการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ เป็นการสมรสกับบุคคลที่มีความผิดปกติของร่างกาย

สำหรับชาวเอเชียทั้งหลายไม่มีใครที่จะเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งตอนในของทวีปอเมริกาแบบอิน-จัน ชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนโดยมากจะปักหลักตามเมืองท่า เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมกร เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่แฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ฉีกกฎเหล็กทุกข้อขึ้นมาเทียบชั้นกับเจ้าถิ่นคนขาวเจ้าของประเทศ

แฝดสยามคือคนต่างเผ่าพันธุ์ คือคนต่างถิ่น คือคนที่มีกายภาพไม่ปกติ มันก็ต้องรังเกียจเดียดฉันท์กันหน่อย

ถ้าจะต้องวาดภาพความเป็นอยู่ของแฝดอิน-จัน ต้องดูกันที่บ้านช่องห้องหอ บ้านที่แฝดช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นบ้านขนาดใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามตามตำรา มีปล่องไฟ ๒ ปล่อง มีหน้าต่างกระจกรับแสงแดดขนาดใหญ่ รูปทรงบ้านไม่เป็นสองรองใครในชุมชน

ข้าวของเครื่องใช้ในครัว ของใช้ทั้งหลายเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก ช้อนส้อมเป็นเงิน แก้วน้ำ ถ้วยโถโอชามเป็นของดีมีราคา แฝดคู่นี้ชอบเลี้ยงเพื่อนฝูงผู้มาเยือนไม่ขาดสาย

แปลเป็นภาษาไทยว่า แฝดคู่นี้มีความเป็นอยู่แบบคนมีอันจะกิน เหนือชั้นกว่าเพื่อนบ้านทั้งหลายเลยทีเดียว

ก็นับว่าพี่น้องสองสาวได้สองคหบดีต่างสีผิว ต่างเผ่าพันธุ์ มาเป็นสามี ใช้ชีวิตมีระดับแนวหน้าในท้องถิ่น แฝดสยามมิได้รักกันหนาพากันหนีไปกัดก้อนกินเกลือให้ลำบากเหมือนความรักในหนังมนต์รักลูกทุ่งแต่อย่างใด

อันที่จริง ตอนต้นๆ ของบทความนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องที่แฝดไปแสดงตัวในอังกฤษ แล้วแฝดจันไปพบรักกับสาวอังกฤษที่ขอรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัว แต่งงานด้วยแบบ ๑ รุม ๒ เป็นที่ฮือฮามาแล้วในลอนดอน แต่ครั้งกระนั้น อิน-จัน ยังไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีเงิน ยังไม่หล่อ ยังไม่มีสถานะที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกับใครได้เลย เป็นความรักแบบรักหมารักแมว

ย้อนเวลาไป ๑๗๓ ปีนะครับ ว่าคุณทวดอิน-จันของชาวสยามไปเลือกมีเมียฝรั่งหน้าตาแบบไหน หนังสือของ โจเซฟ เอ. ออเซอร์ บรรยายไว้ดังนี้

ซาร่าห์ เป็นคนเรียบง่าย ประหยัด อดออม ทำอาหารเก่ง ทำอาหารอร่อยมาก ผมสีน้ำตาล ฟันขาวเป็นระเบียบสวยงาม นัยน์ตาสีน้ำตาลอมแดง เธอไม่ได้รับการศึกษา รูปร่างเจ้าเนื้อ ค่อนข้างท้วม เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายเอ็ง (Mrs. Eng)

แอดิเลด รูปร่างสูงกว่าพี่สาวเล็กน้อย ผอมเพรียว ฉลาดเฉลียว แต่งตัวดูประณีตสวยงาม งามสง่าและสวยกว่าพี่สาว ก่อนแต่งงานมีหนุ่มๆ คาวบอยมาขายขนมจีบมากหน้าหลายตา เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายจัน (Mrs. Chang)

ท่านผู้อ่านกรุณาดูในภาพนะครับ

ในประเด็นของชีวิตส่วนตัว มีแต่การคาดเดาจากเพื่อนมนุษย์ในสังคมมะริกันว่าคงทำอย่างนั้น คงเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องเพศรส ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าตัวแฝดติดกันมีท่อนเนื้อยาวประมาณ ๖นิ้ว เหมือนกระบอกข้าวหลามเชื่อมต่อ การขยับตัวของแต่ละคนคงทำได้ในลักษณะจำกัด ไม่มีความเป็นอิสระจากกันแน่นอน การแสดงความรัก การมีเพศสัมพันธ์ในแบบของมนุษย์ปกติทั่วไป คงทำไม่ถนัดถ้าขาดความร่วมมือ ร่วมแรง

นั่นย่อมหมายความว่า พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลด อาจจะต้องยินยอมพร้อมใจด้วยเช่นกัน หมายความว่า น่าจะต้องเกิด ๔ ประสานเท่านั้น นี่แหละคือสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกระหาย กระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้ ใจจะขาด

๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ (ราว ๙ เดือนเศษถัดมา) สมาชิกใหม่ของครอบครัว ลูกครึ่งไทย-อเมริกันของแท้รุ่น ๑ ได้ออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของอิน-ซาร่าห์ ตั้งชื่อว่า แคเธอรีน มาร์เซลลัส (Catherine Marcellus) เธอได้รับการจารึกว่าเป็นลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์

๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ สมาชิกใหม่คนที่ ๒ คลานตามออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของจัน-แอดิเลด ตั้งชื่อว่า โจเซฟฟิน เวอร์จิเนีย (Josephine Virginia)

วันที่คลอดออกมาห่างกัน ๖ วัน เป็นการบ่งบอกถึง การปฏิสนธิของชีวิตเด็กน้อยในครรภ์ของ ซาร่าห์ และแอดิเลดว่า เริ่มต้นใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะเริ่มพร้อมๆ กัน

คุณปู่ทวด อิน-จัน บรรพบุรุษ สุภาพบุรุษของชาวสยามท่านคำนวณแม่นมีโรดแมปชัดเจนจริงๆ

ความเหนื่อยยากผสมผสานกับความปลื้มปีติของครอบครัวบังเกอร์อีกประการหนึ่ง คือ การมีคนมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะนักเขียน นักข่าว ที่ขอมาเป็นแขกทานอาหาร พูดคุย มาขอพักอยู่กับครอบครัวเพื่อเขียนเรื่องราวของครอบครัวนี้

และผ่านไป ๔ ปี อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้อง ให้กำเนิดลูกอีกฝ่ายละ ๔ คน สมาชิกในบ้านหลังนี้อุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งบ้านเต็มไปด้วยเด็กเล็กไล่เลี่ยกันแบบหัวปีท้ายปี

อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้องได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่คือรักแท้ของคนธรรมดา ลูกที่เกิดมาทุกคนมีอวัยวะครบถ้วน ไม่มีใครพิกลพิการ หรือเป็นภูตผีปีศาจแต่อย่างใด

ผู้เขียนพยายามเสาะหา เรื่องส่วนตัวที่ทุกท่านต้องการความกระจ่างว่า ทั้ง ๔ คนมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไร

ต้องย้อนกลับไปอ้างอิงข้อมูลของแพทย์ที่เคยตรวจและทดสอบความรู้สึกทางเพศของแฝดทั้งสองตอนที่มาถึงอเมริกาใหม่ๆ ว่า ความรู้สึกทางเพศของแฝดแยกออกจากกัน แฝดคนหนึ่งจุมพิตสาว แฝดอีกคนจะไม่ได้เสียวซ่านแต่อย่างใด

ผู้เขียนค้นหาจากหนังสือ เอกสารทุกชิ้นในอดีตในภาษาอังกฤษ และภาษาไทยบางส่วน เพื่อตอบโจทย์ที่แฟนคลับเรียกร้องให้นำมาบอกเล่าให้หนำใจ ให้บรรยายภาพ กลิ่น รส และเสียง เหมือนกับได้ไปแอบอยู่ใต้เตียงนอนของแฝด ผู้เขียนก็จนใจจริงๆ ครับ ฝรั่งผู้เขียนหนังสือในอดีตก็มีเพียงข้อมูลจากการคาดเดา มีจินตนาการในลีลาหลากหลาย

มีข้อมูลบางเบาชิ้นหนึ่งระบุเพียงว่า ตอนอยู่บนเตียงแฝดทั้งสองน่าจะใช้ผ้ากั้นสายตาป้องกันการขวยเขิน

บ้างก็มโนไปทั้ง ๔ ไม่ได้ปิด ไม่ได้บังอะไรกันเลย เพราะทุกคนรับสภาพและทุกคนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็อาจจะเป็นบรรยากาศของความรักสามัคคี ที่จับต้องได้

ลูกที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันข้างละ ๔ คน เป็นคำตอบทางวิทยาศาสตร์ว่า ก็ถ้าเริ่มมีเพศสัมพันธ์พร้อมๆ กันก็น่าจะคลอดออกมาไล่เลี่ยกัน

ไม่ใช่มีลูกแค่นี้นะครับ ในช่วงท้ายก่อนปิดโรงงานผลิตเด็ก คู่รักบันลือโลกคู่นี้มีลูกรวม ๒๑ คน ถ้าใช้ศัพท์การตลาด ต้องเรียกว่า แฝดสยามลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ จริงใจ แจกไม่อั้น ใจดีสุดสุด

ลูกดกถี่ยิบขนาดนี้ คงไม่ได้ใช้ผ้าบังกั้นฉากแน่นอน

เมื่อไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นเรื่องแบบนี้ และคุณปู่ทวดอิน-จัน ของชาวสยามก็ไม่เคยมาเปิดใจ เราคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของท่านทั้งหลาย ที่จะไม่ก้าวล่วงบรรพบุรุษสยาม

มาถึง พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ จากแฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกันในปี พ.ศ.๒๓๘๖ มาจนถึงปัจจุบันได้ขยายวงศ์ตระกูล แตกหน่อเป็นลูก หลาน เหลน โหลน นับได้ราว ๑,๕๐๐ คนอยู่ในอเมริกาครับ มีการเลี้ยงรวมญาติประกาศตัวกันชัดเจน

ผู้เขียนวิงวอนขอให้พี่น้องชาวเมืองสมุทรสงคราม ตามหาญาติพี่น้อง ของแฝดอิน-จัน ที่ต้องมีการสืบวงศ์ตระกูลต่อมาถึงปัจจุบันแน่นอน ถ้าเริ่มการสืบหาได้เค้าลาง เมืองสมุทรสงครามจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และในประเทศอีกมหาศาล

กลับมาที่เรื่องของบรรพบุรุษสยามที่ดังสนั่นอเมริกาเมื่อราว ๑๗๓ ปีที่แล้วครับ

ในช่วงเวลาต่อมา ข่าวหนังสือพิมพ์ที่ถูกนำเสนอออกไปสู่สาธารณชน พลิกกลับเป็นกระแสยกย่องสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความมีน้ำใจ ความเป็นชาวเอเชียที่ขยันขันแข็ง ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามคู่นี้เป็นพลเมืองน้ำดีของสหรัฐอเมริกา

วันเวลาและพฤติกรรมดีที่ผ่านไปได้พิสูจน์ว่าแฝดอิน-จัน คือพลเมืองดีของชุมชน เป็นพลเมืองดีของสหรัฐ แฝดทั้งสองตามภรรยาไปเข้าโบสถ์สวดมนต์แบบคริสต์ มีน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม ต้อนรับขับสู้ผู้คนทั้งหลายจนกระทั่งชนะใจชาวเมือง

ซาร่าห์และแอดิเลด สองศรีพี่น้องมีลูกคนละ ต้องทำงานหนัก เลี้ยงดูลูกทั้งสองฝ่าย ทำอาหาร ดูแลสามี แฝดสยามเคยได้รับของขวัญวันแต่งงานเป็นหญิงผิวดำชื่อ เกรซ เกทส์ (Grace Gates) มาเป็นทาสในบ้านเพื่อดูแลงานและช่วยเลี้ยงลูก นอกจากนั้นครอบครัวบังเกอร์ยังมีทาสผิวดำอีกจำนวนหนึ่งทำงานในไร่ดูแลพืชผลการเกษตร

บรรยากาศในบ้านดูเหมือนจะไม่ราบรื่น บ้านหลังใหญ่ที่อยู่ในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นบ้านหลังเล็ก เพราะมีเด็กจาก ๒ ท้องเกิดเพิ่มมาไล่เลี่ยกันถึง ๘ คน แต่หลังจากคลอดลูกไล่เลี่ยกัน ๔ คู่ ครอบครัวบังเกอร์มีการจัดระเบียบ คุมกำเนิดให้ตั้งท้องสลับกัน เพื่อแบ่งเบาภาระการงานทั้งปวง ซึ่งการคลอดลูกคนต่อๆ มาก็เป็นไปตามแผนทุกประการ

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าขืนอยู่กันแน่นในบ้านแบบปรากระป๋องเช่นนี้ เห็นจะต้องเกิดเรื่องทะเลาะกันเป็นแน่แท้ เพราะลูกๆ กำลังเข้าคิวกันมาเกิดอีกจำนวนมาก


ชีวิตครอบครัวบังเกอร์จะดำเนินไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ




• รวมกันตายหมู่-แยกกันอยู่บ้านละ ๓ วัน

แฝดสยามอิน-จันจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกัน ซาร่าห์และอาดีเลด ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในชนบท ณ เขตปกครองแทรปฮิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา อย่างสมบูรณ์พูนสุข วันเวลาผ่านไป เพื่อนใกล้ไกลในชุมชนส่งเสียงสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นคนขยันทำมาหากิน เป็นพลเมืองต่างเผ่าพันธุ์ เป็นประชากรน้ำดีของสหรัฐอเมริกา เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ ที่สร้างครอบครัว มีลูก ๒ ท้อง ๘ คน วิ่งเล่นในบ้าน

เหตุผลหลักที่อิน-จันโอนสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐ ซื้อที่ดิน ปักหลักสร้างครอบครัวในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ธแคโรไลนาตรงนี้ เพราะต้องการปลีกตัวจากสังคมเมืองที่ทุกสายตาจ้องมองมาที่ร่างกายของแฝดที่ไม่เป็นปกติ ไปไหนก็มีแต่คนจ้อง (ตัวติดกัน) นอกจากนั้นแฝดสยามคู่นี้คงมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตตัวเองที่จะต้องมีครอบครัว มีลูก คงนึกเบื่อ สะอิดสะเอียนกับสายตาที่เยาะเย้ยแบบหมาหยอกไก่ เบื่อการตอบสารพัดคำถามจากผู้คนทั้งหลาย และคงนึกสงสารลูกมีพ่อที่ร่างกายแปลกไปจากมนุษย์ธรรมดา

ในหนังสือบันทึกตำนาน The Lives of Chang and Eng (ชีวิตอิน-จัน) ระบุว่าแฝดคู่นี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬากลางแจ้ง ไม่ปรากฏว่าแฝดสยามคู่นี้เคยเจ็บป่วยแต่ประการใดในการใช้ชีวิตในอเมริกา อิน-จันเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทุ่มเทการทำงานสร้างรายได้จากไร่ยาสูบ ข้าวสาลี ข้าวโพด เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม เลี้ยงแกะและหมู

ความเป็นเด็กสู้ชีวิตจากชนบทจากเมืองแม่กลอง ส่งผลให้แฝดทำงานในไร่ได้สารพัด เป็นที่ประหลาดใจของเพื่อนอเมริกันที่แวะมาเยี่ยมเยือน เพราะมีมโนภาพว่าอิน-จันคือคนพิการ ไร้ค่า

กิจกรรมที่ประทับใจมิตรสหายมะริกันคือ อิน-จันจะแบกขวานเข้าป่าแล้วใช้ขวานฟันต้นไม้ แบบสลับฟัน หรือฟันคู่ ทั้งสองคนจะใช้ขวานทั้งสองด้ามฟันลงไปยังต้นไม้ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา ต้นไม้จะโค่นลงอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่า แฝดจะกระหน่ำขวานแบบมีศิลปะ มีลีลาไม่ซ้ำแบบใครทั้งนั้น ผู้คนนำไปเล่าสู่กันฟังและต่างก็อยากมาดูด้วยตา นอกจากนั้น อิน-จันยังเป็นนักล่าสัตว์ ที่มีฝีมือไม่เป็นสองรองใคร

บ้านที่ปลูกขึ้นมาหลังแรกลุล่วงจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนคู่สู้ชีวิต แม้กระทั่งตอนขึ้นไปมุงหลังคาบ้าน คนตัวติดกัน ๒ คนปีนขึ้นที่สูงช่วยกันทำงานแบบสอดประสาน ผู้คนที่ผ่านไปมาชอบอกชอบใจ หัวเราะกันเป็นภาษาอังกฤษเอิ๊กอ๊ากที่เห็นการแสดงสดตัวเป็นๆ ของแฝดบนหลังคา

แฝดอิน-จัน และครอบครัวและลูกๆ ได้สร้างความรู้สึกด้านบวก เป็นมิตรกับเพื่อนอเมริกันในชุมชน

ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ.๒๓๘๙ ความอุ่นหนาฝาคั่งของสมาชิกตัวน้อยๆ ในครอบครัวจำนวน ๑๒ คน เริ่มกลายเป็นความแออัดในบ้าน แฝดอิน-จันปรึกษาภรรยา ตกลงใจไปซื้อที่ดินอีกแปลงเพื่อปลูกบ้านที่ห่างออกไปราว ๔๐ ไมล์

ครอบครัวบังเกอร์สู้ชีวิตปลูกบ้านใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม เพราะยังต้องการมีลูกเพิ่มอีก (หลังจากมีลูกแล้วท้องละ ๔ คน) ที่ดินผืนใหม่อยู่ในย่านเซอร์รี่เคาน์ตี้ (Surry County) ใกล้เมืองเมาท์แอรี่ (Mt. Airy) ส่วนบ้านหลังเก่าที่แทรปฮิลล์ยังคงเก็บไว้ ครอบครัวบังเกอร์ปลื้มใจที่สุดคือ ลูกๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเหล่านี้จะได้ไปโรงเรียน อ่านออกเขียนได้

อิน-จัน คนคู่ แสดงฝีมือสร้างบ้านอีกครั้งด้วยแรงงานของตนเอง มีนักข่าวที่เกาะติดกับชีวิตครอบครัวบังเกอร์ตามมาเมียงมองการใช้ชีวิตทุกแง่มุม มีบ้างที่ขอสาระแนสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่ได้พบเห็นคือ อิน-จัน เป็นชาวเอเชียที่มีทักษะความเป็นช่าง โดยเฉพาะช่างไม้ งานก่อสร้างทั้งปวง

ในเรื่องการเกษตร ดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เลยสำหรับแฝดคู่นี้ในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการทำงาน การติดต่อทางธุรกิจซื้อขายพืชผล แฝดทำได้กลมกลืนและมีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

แฝดสยามที่เป็นบรรพบุรุษของเราคู่นี้ ตั้งแต่เกิดจากท้องนางนากและพ่อตีอายที่เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ไม่เคยได้ไปโรงเรียนนะครับ แต่ตอนนี้อยู่อเมริกา ทำการเกษตรทำธุรกิจ มีเงินฝากธนาคารในนิวยอร์ก รวมทั้งภรรยาอเมริกันสองพี่น้องซาร่าห์และอาดีเลดก็แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ

แฝดเอาจริงเอาจังกับงานเพาะปลูก มีหลักฐานระบุว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้ร่วมบุกเบิกปลูกใบยาสูบพันธุ์เขียวตองอ่อน (Bright Leaf) ที่นำใบยามามวนเป็นบุหรี่ได้เลย แถมยังต่อยอดซื้อเครื่องรีดใบยามาใช้ในไร่อีกต่างหาก

อิน-จัน บังเกอร์ ใช้ชีวิตแบบลงตัว ตามวิถีชีวิตชาวชนบทในรัฐนอร์ธแคโรไลนา อิน-จัน จะติดตามภรรยาไปโบสถ์เป็นบางครั้งในเช้าวันอาทิตย์ ชาวชนบทในอเมริกาในยุคนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แทบไม่ใคร่จะรู้จักคนเอเชีย หรือหน้าตาของพุทธศาสนาเท่าใดนัก ถ้าจะพูดกันแฟร์ๆ ต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกัน

มีเกร็ดตำนานที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Southerner ไปคุยกับอิน-จัน ที่ตามภรรยาซาร่าห์และอาดีเลดไปโบสถ์ในเช้าวันหนึ่งแล้วตีพิมพ์ความว่า

“คุณมีความเข้าใจในศาสนาคริสต์แค่ไหน? คุณคิดว่าคุณเชื่อศาสนาของเรามั้ย?” นักข่าวยิงคำถาม

“ศาสนาเราไม่เหมือนของคุณ ของคุณทะเลาะกัน เรื่องใครถูก ใครผิด เราไม่เคยทะเลาะกันเรื่องศาสนา” อินตอบนักข่าว

นักข่าวถามต่อ “คุณคิดว่าตายแล้วจะไปไหน?”

“เราไปเกิดเป็นหมู เพราะเราทำบาปเอาไว้ในโลก ต่อไปอาจจะเกิดเป็นม้า หรือเป็นกวาง จนกว่าเราจะสำนึกได้ ก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่ดีขึ้น” อินตอบนักข่าว

“ถ้าคุณทำบาป แล้วไปเกิดเป็นม้า แล้วคุณจะต้องไปลากเกวียน ไปไถไร่ข้าวโพด ทำงานหนักด้วยมั้ย?” นักข่าวยิงคำถามต่อ

“เราเชื่อว่าเป็นความจริง ศาสนาสอนเราเช่นนั้น รวมทั้งคนสยามก็เชื่อเช่นนั้น” อินตอบนักข่าวแบบมั่นใจ

“ตอนที่คุณไปโบสถ์ คุณเชื่อสิ่งที่บาทหลวงพูดมั้ย?” นี่เป็นคำถามตรงจากนักข่าวแบบไม่อ้อมค้อม

“บางครั้งบาทหลวงก็พูดไม่จริง” อินไม่ลังเลที่จะตอบนักข่าว

นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Southerner ที่ไปคุยกับแฝดตีพิมพ์เรื่องราวตรงนี้เป็นเรื่องเป็นราว โดยอาศัยมุมมองจากแฝดอิน-จัน ซึ่งถือเป็นคนนอกศาสนาคริสต์ ซึ่งในขณะนั้นมีความแตกแยก บาดหมางในหลักคิดของศาสนา ระหว่างนิกายแบพติสต์ และนิกายเมโธดิสต์ ในสังคมอเมริกายุคนั้น

ส่วนคำตอบของอิน-จันต่อนักข่าว ซึ่งเป็นความเชื่อคนสยามในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นชุดความคิดในเรื่องเวรกรรม เรื่องการไม่ทำบาป เป็นเรื่องที่สอนลูกหลานชาวสยามแบบเปิดเผย ผู้ใหญ่สอนเด็ก ครูสอนนักเรียน พระสอนฆราวาสให้ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เคยได้รับการบอกกล่าวเช่นนั้น

ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการพิสูจน์ตรวจสอบกันมากขึ้น ความเชื่อแนวนี้คงจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เพราะผู้เขียนไม่เคยนำไปสั่งสอนผู้ใด และไม่เคยได้ยินใครมาสั่งสอนเช่นกัน

มีหลักฐานบันทึกว่า อิน-จัน ที่จากบ้านจากเมืองสยามไปอเมริกาเมื่ออายุราว ๑๘ ปีนั้น ได้นำหนังสือชื่อ เรื่องราวเอลียา ซึ่งเป็นผู้ทำนายแห่งพระเจ้า (History of Elijah พิมพ์ในปี พ.ศ.๒๓๙๑) ซึ่งเป็นหนังสือแนวทางคำสอนของศาสนาคริสต์ที่นำมาเผยแพร่ในสยามติดตัวไปด้วยเพียงเล่มเดียว

ในสมัยนั้นสยามเพิ่งเริ่มการพิมพ์หนังสือ และหนังสือที่แจกจ่ายฟรีแก่คนทั่วไปคือคำสอนของศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีลงทุนจัดทำและเผยแพร่ทั่วไป

ในชีวิตประจำวัน อินชอบอ่านบทกลอน บทกวีของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) กวีชาวอังกฤษให้ลูกๆ ฟังอย่างมีความสุขเสมอ ไม่ดื่มเหล้าและชอบอ่านข่าวการเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่วนจันเริ่มดื่มสุรามากขึ้น และมากขึ้น กินอาหารรสจัด ชอบเล่นไพ่โป๊กเกอร์แบบดึกดื่นข้ามคืน ในขณะที่อินต้องหลับคาวงไพ่

ครอบครัวบังเกอร์ใช้ชีวิตแบบราบรื่นมาได้ยืนยาวราว ๑๐ ปี สภาพของคนตัวติดกันของพ่อ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่รื่นรมย์นัก ความหงุดหงิด การกระทบกระทั่ง การมีความเห็นต่าง การใช้ชีวิตที่แตกต่างเริ่มปรากฏ ซาร่าห์และอาดีเลดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ซาร่าห์ภรรยาของแฝดอินมีน้ำหนักตัวประมาณ ๑๑๕-๑๒๐ กิโลกรัม ส่วนอาดีเลดภรรยาของแฝดจันก็อวบท้วมขึ้นไล่เลี่ยกัน

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนรักที่ชื่อชาร์ลส์ แฮริส ที่เป็นคนชักนำร่วมคณะการแสดงตัว นำพาแฝดมาถึงจุดนี้ได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร กัลยาณมิตรเพียงคนเดียวที่สนิทสนมมานาน ทิ้งให้แฝดและครอบครัวบังเกอร์รู้สึกใจหาย

ความคิดเรื่องการแยกกันอยู่เป็น ๒ บ้านเพื่อลดความแออัดของ ๒ ครอบครัว เป็นประเด็นที่เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น

ในที่สุด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายถ้วนหน้า แฝดอิน-จันและภรรยาแม่ลูกดกทั้งสองจึงตกลงจะแยกบ้าน แบ่งข้าวของเครื่องใช้ แบ่งทรัพย์สินกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งแต่อย่างใด บ้านที่สร้างใหม่ขึ้นมา ห่างจากบ้านปัจจุบันราว ๑ ไมล์ (๑.๖ กิโลเมตร) ตั้งแต่แฝดเกิดมา นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีการแบ่งสมบัติ

ติดอยู่อย่างเดียว คือตัวพ่อที่ตัวติดกัน แยกไม่ได้ และกฎ ๓ วัน คือคำตอบที่ลงตัวที่สุด

บ้าน ๒ หลัง ๒ ครอบครัว ที่อยู่ห่างกันต้องการพ่อฝาแฝดตัวติดกันที่ไม่สามารถแยกร่างได้ อินและจันจึงตกลงกันว่า

วันจันทร์-อังคาร-พุธ ๓ วันเป็นตารางของแฝดอินที่ได้อยู่กับซาร่าห์และครอบครัวที่บ้านของอิน แฝดจันที่ตัวติดกันก็ต้องหุบปาก ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีความเห็นใดๆ ทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ กระเตงตัวเองให้ความร่วมมือกับอินทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข

พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์ ๓ วันเป็นตารางของจันที่จะได้อยู่กับอาดีเลดและลูกๆ ที่บ้าน แฝดอินต้องทำเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ และให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อแม้ทั้งสิ้นเช่นกัน

นี่คือข้อมูลที่เปิดเผยโดยนายแพทย์วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

เพื่อนสนิทของตระกูลบังเกอร์ โดยยอมรับว่าแฝดทั้งสองเคารพกฎ ๓ วันนี้อย่างเคร่งครัดตลอดมาแบบราบรื่นไร้กังวล

แม้กระทั่งเรื่องบนเตียง ยามมีเพศสัมพันธ์

น่าทึ่งมากนะครับ สำหรับตำนานชีวิตครอบครัวสุดแสนโรแมนติกแนวปรองดอง ที่ปู่ทวดอิน-จันของชาวสยามได้สร้างไว้ และทั้งหมดคือความจริงที่ประคับประคองชีวิตคู่ให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

การแยกบ้านและกฎ ๓ วันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับลูกๆ ของครอบครัวแฝด เริ่มมีการทำบัญชีแบ่งเงินรายได้ แบ่งที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ แฝดทั้งสองค้าขายกันเอง เช่นครั้งหนึ่ง แฝดจันเคยขายทาสสาวนิโกรให้อินในราคา ๘๐๐ เหรียญ

ถึงขนาดแยกกันอยู่ ๒ บ้าน แบบผลัดกันคนละ ๓ วัน ในที่สุดความรักที่ยิ่งใหญ่ได้สร้างทายาท

อินและซาร่าห์มีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๑ คน
จันและอาดีเลดมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๐ คน

รวม ๒ ท้องพี่น้องไทย-อเมริกัน รุ่น ๑ ของแท้โดยแฝดเมืองแม่กลอง เมดอิน USA รวม ๒๑ คน

ลูกของจันกับอาดีเลด เสียชีวิต ๑ คน

ครอบครัวขนาดมหึมา บ้านช่อง ทรัพย์สินที่ดินทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมหามาได้ในอเมริกา เป็นการตัดสินได้เลยว่า แฝดอิน-จันจากเมืองแม่กลองไม่มีโอกาสกลับไปหาแม่ที่เมืองแม่กลองแน่นอน

ความมีอันจะกินบวกกับความมีน้ำใจของแฝดสยามที่คนอเมริกันเองยังยกย่องชมเชยคือ แฝดอิน-จัน บังเกอร์ได้บริจาคที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อก่อสร้างโบสถ์ ชื่อ White Plains Baptist Church แถมยังเป็นช่างก่อสร้างให้ด้วย โบสถ์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมจิตใจของชุมชน ทั้งๆ ที่แฝดจากสยามคู่นี้ไม่เคยประกาศตนเป็นคริสต์ ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๙) โบสถ์แห่งนี้ยังคงความสวยงาม ยืนตระหง่านปรากฏต่อสายตาของลูก หลาน เหลน โหลน ตระกูลบังเกอร์และประชาชนทั่วไป

การเป็นเกษตรกรของแฝดที่ผ่านมา รวมถึงการเลี้ยงลูกทั้งสองครอบครัว แฝดชาวเอเชียคู่นี้มีทาสนิโกรผิวดำเป็นผู้ช่วยในไร่เสมอมา ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดแฝดอิน-จันเป็นเจ้าของทาสนิโกร ๒๘ คน โดยปลูกกระท่อมให้พักอาศัย ๔ หลังในพื้นที่ใกล้เคียง

แน่นอนที่สุด ในความขัดแย้งของสังคมในอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เรื่องทาสนั้น อิน-จัน บังเกอร์สนับสนุนการมีและการใช้ทาสนิโกรผิวดำสนิท ผมหยิกหยอยทั้งชายหญิง

การครอบครองทาสในรัฐทางใต้ของอเมริกาในยุคนั้น เป็นเรื่องของคนผิวขาวอเมริกันเท่านั้น

อิน คือ คนที่มีน้ำใจ เมตตาปรานีต่อทาส แต่จันเข้มงวดและโหดในการปฏิบัติต่อทาสทั้งปวงในเวลาทำงาน จนกลายเป็นประเด็นร้อนในอเมริกา…

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤษภาคม 2559 15:31:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 27 เมษายน 2559 13:24:56 »

.



• แม่แฝดเสียชีวิต-สงครามกลางเมืองในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว แฝดอิน-จัน ชาวเอเชียจากเมืองแม่กลอง ที่ไปโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เป็นเกษตรกรเต็มตัว มีที่ดินขนาดมหึมา โดนเขม่นจากสังคมคนผิวขาวว่า เหตุไฉนแฝดคู่นี้จึงเป็นเจ้าของทาสนิโกรผิวดำได้ถึง ๒๘ คน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องล้ำเส้น เกินหน้าเกินตาคนผิวขาวเจ้าของประเทศ

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพเป็นเกร็ดความรู้ว่า ในอเมริกายุคสมัยนั้น คนขาวเหยียดสีผิว กีดกันเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ มีความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการมีทาส การเลิกทาส โดยมีการแบ่งฝ่ายชัดเจนระหว่างรัฐทางฝ่ายเหนือที่ไม่สนับสนุนการมีทาส ส่วนรัฐทางใต้สนับสนุนการมีทาสไว้ทำงาน

อิน-จันมีโอกาสแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวของทาสในสยามให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งในยุคสมัยนั้นสยามมีระบบทาสเช่นกัน

แฝดอิน-จันที่ปักหลักมีครอบครัวในช่วงนั้น นอกจากมีทาสในครอบครองแล้วยังโดนเขม่นเรื่องการมีเชื้อสายจีนอีกต่างหาก เพราะอเมริกันผิวขาวกำลังรณรงค์ต่อต้านการอพยพของชาวจีนที่ทะลักเข้าไปในรัฐแคลิฟอร์เนียแบบมืดฟ้ามัวดิน คนจีนที่อพยพมาทางเรือขึ้นฝั่งทางตะวันตกจำนวนมหาศาล กลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนียในเวลาไม่กี่ปี

ประเด็นร้อนในสังคมอเมริกาตะวันตกยุคนั้นคือความพยายามที่จะสกัดกั้นชาวจีนที่กำลังเข้ามาในอเมริกาไม่หยุด และในเวลาเดียวกันก็หาทางออกกฎหมายจำกัดสิทธิคนจีนที่เข้ามาอยู่ในแคลิฟอร์เนียแล้ว

สังคมคนผิวขาวค่อนข้างมีอคติกับชาวจีน ด้วยเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวจีนทั้งหลายมีคุณสมบัติเป็นเลิศในการทำงานหนัก มีความรักพวกพ้อง ชอบอยู่รวมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในอนาคตความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ อาจจะทำให้ชาวจีนกลายเป็นผู้กุมชะตาธุรกิจค้าขายในอเมริกา หรือมีศักยภาพเหนือคนผิวขาวเจ้าของแผ่นดิน

ข้อมูลจากหนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph A. Orser อธิบายว่า ยุคนั้นอเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่ กำลังต้องการแรงงานราคาถูก และชาวจีนคือตัวเลือกที่เด่นที่สุดเมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ ที่แห่กันเข้าไปหางานตั้งรกรากในอเมริกา

ตรงกับสุภาษิตไทยที่เรียกว่าเกลียดตัวแต่กินไข่

ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมา ขับไล่พม่าออกไปจากอยุธยา ชาวจีนทางตอนใต้นับหมื่นก็อพยพทางเรือหนีความอดอยาก ฝ่าพายุในทะเล รอนแรมแบบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามจำนวนมหาศาลเช่นกัน และชาวจีนเหล่านี้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่งในแผ่นดินไทยแทบทั้งนั้น รวมทั้งปู่และพ่อของแฝดสยามที่ชื่อนาย ตีอาย ก็เป็นลูกจีนแท้ๆ ที่ลงเรือมาสยามกับเค้าด้วย

ข้อมูลในอดีตของสหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๑-พ.ศ.๒๓๙๘ มีชาวจีนอพยพทางเรือมาขึ้นฝั่งที่ซานฟรานซิสโกราว ๕๐,๐๐๐ คน กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในแคลิฟอร์เนียได้เพราะคนจีนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

ในเวลาเดียวกัน ชาวไอริชราว ๑๐๐,๐๐๐ คน และชาวเยอรมันราว ๗๐๐,๐๐๐ คนก็ทยอยเข้าสู่อเมริกาทางตะวันออกของอเมริกาเช่นกัน

ข้อมูลเหล่านี้เป็นความรู้สึกกังวลของคนผิวขาวที่อยู่ในแผ่นดินมาก่อนว่าคนต่างเชื้อชาติที่มาทีหลังคือผู้มาแย่ง มาเบียดเบียนตน หรืออาจจะมีชัยเหนือตน

นสพ. The National Era ซึ่งเป็นสื่อรัฐทางเหนือที่ต่อต้านการมีทาส ออกมาเปิดประเด็น ตั้งคำถามถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่สามารถครอบครองทาสได้หรือไม่? แฝดสยามที่ถูกมองว่ามีสถานะเหมือนชาวจีนอพยพเลยโดนหางเลข โดนเขม่นกะเค้าด้วย

ในแต่ละวันหนังสือพิมพ์ของรัฐทางเหนือจะออกข่าวโจมตีรัฐทางใต้เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การทรมานทารุณกรรมต่อทาสนิโกรอย่างดุเดือด ส่วนหนังสือพิมพ์ของรัฐทางใต้ก็จะตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน สังคมแตกแยก เป็นปรปักษ์กันแบบเปิดเผย

นอกจากนั้นยังมีข่าวในหนังสือพิมพ์อีกว่า แฝดสยามคู่นี้เฆี่ยนตีทรมานทาสนิโกรแสนสาหัสปรากฏขึ้นมาในลักษณะหาเรื่องใส่ความ ในที่สุด อิน-จัน บังเกอร์ ซึ่งเป็นประชาชนอเมริกันแล้วต้องเขียนชี้แจงตอบโต้ข่าว โดยมีบรรดาทาสทั้งหลายลงชื่อรับรองในจดหมายส่งไปยังสื่อต่างๆ จึงยุติประเด็นดังกล่าวได้

กลับมาที่แฝดอิน-จัน และครอบครัวครับ

กฎ ๓ วันแบ่งกันอยู่ใช้ได้ผล เป็นกฎเหล็ก ไม่อ่อนตัว แฝดอิน-จันเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวล่วงกัน ครอบครัวของอินและจันไม่มีการกระทบกระทั่ง ซาร่าห์และอาดีเลดรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ลูกที่เกิดมาทั้ง ๒ ครอบครัวอุ่นหนาฝาคั่ง ต้องกินต้องใช้เงิน เพื่อนของแฝดที่ชื่อนายแพทย์เอ็ดมันด์ โดตี้ (Edmund Doty) มาชวนให้แฝดสยามออกโชว์ตัวเก็บเงินเหมือนที่เคยทำมาก่อน แต่คราวนี้ปรับแผนการแสดง โดยให้เอาลูกของแฝดทั้งสองขึ้นเวทีการแสดงด้วย จะแสดงตัว ๖วันต่อสัปดาห์ เมื่อดีดลูกคิดแล้ว อิน-จัน บังเกอร์ จะมีรายได้ปีละ ๘,๐๐๐ เหรียญต่อปี

อิน-จัน ที่ร้างเวทีไป ๑๐ ปีตอบตกลงตามข้อเสนอ

การแสดงตัวเก็บเงินครั้งนี้ แฝดสยามนำลูกสาวชื่อ โจเซฟฟินและแคธเธอรีน อายุ ๕ ขวบไปด้วย โดยไปตั้งต้นการแสดงที่นิวยอร์ก บ้านเก่าที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต

การแสดงของแฝดคราวนี้กลับมีบรรยากาศความเงียบเหงาวังเวงเหมือนผีหลอก ไม่คึกคักตามแผนการตลาด ความตื่นเต้นเร้าใจของผู้คนนิวยอร์กที่จะเสียเงินเข้ามาดูตัวแฝดและลูกสาวค่อนข้างแผ่วเบา แฝดสยามถูกมองว่าไม่ร้อนแรง เก่าเก็บ

เพียง ๖ เดือน คณะการแสดงของแฝดสยามพร้อมลูกสาว ๒ คนที่มีหมอโดตี้เป็นผู้จัดการแสดงต้องม้วนเสื่อ เก็บของจากนิวยอร์กกลับบ้าน เพราะแฝดอิน-จันขายไม่ออก ไม่มีคนสนใจชมการแสดง

เบื้องหลังความเย็นชาของชาวนิวยอร์กที่ไม่สนใจจะมาดูตัวแฝดสยาม เนื่องจากเจ้าพ่อนักธุรกิจอเมริกันชื่อ พี ที บาร์นัม (P. T. Barnum) กำลังจัดการแสดงตัว “นายพล ทอม ทัมบ์” (General Tom Thumb) คือคนตัวจิ๋วมีชีวิต ที่มีความสูงเพียง ๒๘ นิ้ว หนัก ๑๕ ปอนด์ เท้ายาวเพียง ๓ นิ้ว มนุษย์คนนี้แหละคือของแปลกกว่า ที่มีความตื่นเต้น ท้าทายมากกว่าการแสดงของแฝดในนิวยอร์ก

ที่จริงนายบาร์นัมไปเจอมนุษย์ตัวจิ๋วคนนี้และซื้อมาจากพ่อแม่ในรัฐคอนเนกทิคัต เพื่อให้ตื่นเต้นเรียกแขก แกจึงจับแต่งตัวมนุษย์จิ๋วคนนี้ใส่เครื่องแบบทหาร โฆษณาแหกตา

ว่าไปขอซื้อตัวมาจากอังกฤษ และเพื่อให้พิสดารหลุดโลก เขาจึงตั้งยศให้เป็นนายพลของกองทัพสหรัฐ (ดูภาพ)

วันหนึ่งในระหว่างการเดินทาง ข่าวที่สร้างความสะเทือนใจกับแฝดมาถึงมือ โดยแจ้งว่า นายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ (Robert Hunter) ที่ชาวสยามเรียกแบบสะดวกปากว่านายหันแตร พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ที่ไปนำตัวแฝดอิน-จัน จากแม่กลองมาอเมริกาเมื่อ ๑๕ ปีก่อน เสียชีวิตลงในสกอตแลนด์บ้านเกิด

ท่านผู้อ่านยังคงจำได้นะครับ พ่อค้าคนนี้เป็นเจ้าของเรือสินค้าเดินทะเล เข้ามาค้าขายในแผ่นดินสยาม ติดต่อ สนิทสนมกับผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ สมัยในหลวง ร.๓ นำปืนคาบศิลา กระสุนดินดำมาขายให้ทางการไทย รวมทั้งอาวุธอีกหลายรายการ จนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “หลวงอาวุธวิเศษ”

นอกจากนี้ นายหันแตรคนนี้แหละที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าเป็นเจ้าแรกในสยาม (ปัจจุบันอยู่แถวบริเวณวัดประยุรวงศาวาส) หัดพูดภาษาไทยได้คล่อง ค้าขายร่ำรวย เดินเรือไปมาระหว่างยุโรปกับเอเชีย แต่ต่อมาทางการไทยจับได้ว่านายหันแตรลักลอบนำฝิ่นเข้ามาทางเรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวสยาม และชาวจีนในสยาม ในช่วงหลัง นายหันแตรเริ่มข่มขู่ขุนนางสยามเรื่องการค้าขาย ในที่สุดนายหันแตร หรือนายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ ผู้นี้จึงถูกทางการสยามเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗

หลังถูกขับออกจากสยาม นายฮันเตอร์กลับไปที่อังกฤษ และเสียชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๙๑

นายฮันเตอร์ ผู้ทำให้เกิดตำนานของแฝดสยามที่ดังไปทั่วโลก กัลยาณมิตรของอิน-จัน ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ที่ผ่านมานายฮันเตอร์คนนี้แหละคือเพื่อนคนเดียวที่ทำหน้าที่ส่งข่าวคราวระหว่างนางนากแม่ของแฝดที่เมืองแม่กลองกับอิน-จันในอเมริกา

ต่อไปนี้คงมืดมน ไม่ทราบข่าวคราวของแม่ในสยามเป็นแน่แท้ ความห่างเหินของแฝดสยามกับแผ่นดินสยามเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ


ขอนำท่านผู้อ่านย้อนอดีตกลับมามองสยามประเทศในช่วงนั้น ซึ่งบรรดาพ่อค้าชาวต่างชาติทยอยกันเข้ามาติดต่อทำมาค้าขายที่กรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักด้วยเรือสินค้าและชาวต่างชาติ ในหลวง ร.๓ ท่านมีพระประสงค์ส่งเสริมการค้ากับทุกชาติ สยามร่ำรวยเงินทอง

มิชชันนารีอเมริกันเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และรักษาพยาบาลชาวสยามที่เจ็บป่วยอย่างได้ผลชะงัก โดยเฉพาะการปลูกฝีป้องกันฝีดาษที่ชาวสยามเคยตายนับหมื่นคน

สาธุคุณแซมมวล เฮาส์ (Samual House) เข้ามาทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง สนิทสนมกับข้าราชการน้อยใหญ่ เดินทางไปหลายเมืองในสยาม ชาวสยามให้ความเคารพสาธุคุณเฮาส์ยิ่งนัก เลยเรียกท่านสะดวกปากว่าหมอเหา

วันที่ไม่อยากให้มาถึง ก็มาถึงจนได้…หนังสือ The Two ของ Irving Wallace and Amy Wallace อธิบายไว้ว่า : แฝดอิน-จัน ได้รับจดหมายจากหมอเหาที่ทำงานในสยาม ๒ ฉบับ โดยที่ผ่านมาหมอเหาได้เดินทางไปรักษาคนป่วยที่เมืองเพชรบุรี และหมอเหายังได้แวะเข้าไปที่บ้านของอิน-จัน ที่แม่กลองด้วย

ฉบับแรก ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๒ แจ้งมายังแฝดอิน-จัน ว่า นางนาก แม่ของแฝดได้เสียชีวิตแล้ว และยังบรรยายถึงสภาพบ้านเรือน แพริมแม่น้ำแม่กลองที่แฝดอิน-จันเคยอาศัย ได้พบกับนายน้อยที่อยู่บ้านคนเดียว บ้านมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก

จดหมายฉบับที่ ๒ เป็นจดหมายที่นายน้อย พี่ชายของอิน-จัน พูดเป็นภาษาไทยแล้วให้หมอเหาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แจ้งว่าพ่อเซ้งตายเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๓๘๖ และต่อมา นางนากผู้เป็นแม่ตายเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๙๐…ก่อนแม่เสียชีวิต แม่บ่นคิดถึงอิน-จันเสมอ อยากจะให้อิน-จันกลับมาทำบุญ มาเยี่ยม แล้วค่อยกลับไปอเมริกาก็ได้ อิน-จันจากแม่ไปนาน แม่ไม่เคยได้ข่าวคราวเลย อยากรู้ว่าลูกทั้งสองสบายดีหรือไม่อย่างไร พี่น้อยแก่มากแล้ว มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ไม่มีใครช่วยเหลือดูแลเลย……

หัวใจสลายแหลกละเอียด ไม่มีการสูญเสียอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว อิน-จันลูกนางนากเคยได้ข่าวจากแม่ครั้งสุดท้ายเมื่อราว ๕ ปีที่แล้ว พวกมิชชันนารีที่ไปทำงานในสยามเป็นผู้ส่งข่าว ที่ผ่านมาอิน-จันเคยได้รับข่าวว่าแม่อยากให้กลับมาเยี่ยมบ้าง แต่แฝดตัวติดกันคู่นี้ก็ไม่ได้ไปกราบแม่เลย มาคราวนี้ไม่มีแม่ให้กราบอีกแล้ว เลือดเนื้อเชื้อไข พี่น้องร่วมสายโลหิตคงมีแต่ “พี่น้อย” ที่เดียวดายในกระต๊อบที่เมืองแม่กลอง พี่น้องที่เหลือ ที่สุดขอบฟ้าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมดหนทางที่จะรับรู้

แฝดอิน-จัน บังเกอร์ บัดนี้คือประชาชนอเมริกัน มีครอบครัวใหญ่ มีลูกเต็มบ้าน มีที่ดินแปลงใหญ่ มีฐานะมั่นคงในนอร์ทแคโรไลนา มาถึงนาทีนี้ ถือว่าการกลับไปกราบแม่ กลับไปใช้ชีวิตที่เหลือในสยามเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน

ที่บ้านหลังใหม่ ณ เมาท์แอรี่ ครอบครัวของอิน-จัน ได้รับการยกย่องจากคนอเมริกันที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อราลีห์รีจิสเตอร์ (Raleight Register) บันทึกชมเชยไว้ คือการที่อิน-จันลงทุนสร้างอาคารแล้วให้ลูกหลานเรียนหนังสือ จ้างครูมาสอนหนังสือแบบมีมาตรฐาน แถมยังชักชวนให้เพื่อนบ้านในละแวกนั้นส่งลูกมาเรียนหนังสือด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นผู้นำทางความคิด มีวิสัยทัศน์ เพราะชีวิตของแฝดและภรรยาก็ไม่เคยได้รับการศึกษามาก่อน

ปู่ทวดอิน-จัน บรรพบุรุษชาวสยามน่ายกย่องจริงๆ ครับ ข้อมูลสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอิน-จัน และซาร่าห์ อาดีเลด บังเกอร์ คือในลูก ๒ ท้องรวม ๒๑ คนนั้นคลอดมา เป็นชาย ๙ คน เป็นหญิง ๑๒ คน ในจำนวนนี้มีลูก ๒ คนหูหนวก และเสียชีวิต ๒ คนตอนอายุราว ๓ ขวบ

ข้อมูลตรงนี้แหละ เป็นอีกเรื่องที่สังคมคนผิวขาวในอเมริกาสนใจเป็นพิเศษ การแต่งงานระหว่างชายชาวเอเชียที่เป็นแฝดตัวติดกันกับหญิงผิวขาว แล้วลูกที่เกิดมาจะมีส่วนผสม มีหน้าตาเป็นอย่างไร? สีผม นัยน์ตาจะเป็นสีอะไร จะเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่? จะคลอดลูกแฝดอีกมั้ย ลูกจะสมประกอบหรือไม่?

เป็นเรื่องจริงนะครับ ในสังคมที่มีมนุษย์หลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อยู่รวมกันในอเมริกา คำถามที่รุมเร้า โดยเฉพาะแพทย์ มีความอยากรู้อยากเห็นมากที่สุดคือ ถ้าคนเผ่าพันธุ์นี้ไปสมรสกับไอ้คนสายพันธุ์นี้ แล้วลูกที่เกิดมาจะมีความฉลาดมากน้อยแค่ไหน อายุจะยืนมั้ย แข็งแรงบึกบึนแค่ไหน?

ตุลาคม พ.ศ.๒๔๐๓ อิน-จันไปเซ็นสัญญาแสดงตัวเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ กับพี ที บาร์นัม ที่นิวยอร์ก ในจังหวะนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ของอังกฤษที่มาเยือนอเมริกาในขณะนั้น ยังได้เข้ามาชมการแสดงของอิน-จัน ซึ่งต่อมาท่านได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอังกฤษ

เสร็จจากนิวยอร์ก นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่เดินทางด้วยเรือชื่อ Northern Light จากท่าเรือนิวยอร์กมุ่งหน้าออกทะเลเพื่อจะไปซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย การเดินทางครั้งนี้แฝดพาลูกชายชื่อมอนต์โกเมอรี่และแพทริกไปด้วย การเดินทางในยุคนั้นของอเมริกาจากตะวันออกไปตะวันตกต้องใช้เรือวิ่งลงทางทิศใต้ (ตามเข็มนาฬิกา) ไปที่ช่องแคบปานามา (ยังไม่มีคลองปานามา) ขึ้นรถไฟข้ามแผ่นดินตรงช่องแคบ ลงเรือเดินสมุทรต่อ แล้ววกขึ้นเหนือไปขึ้นฝั่งที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย (กรุณาดูแผนที่)

แคลิฟอร์เนียคือดินแดนทางตะวันตกของอเมริกา ที่ผู้คนกำลังแห่กันเข้าไปขุดทองคำ แฝดไม่ได้ไปขุดทอง แต่จะไปเอาเงินจากกระเป๋านักขุดทอง

การหวนกลับมาแสดงตัวทางภาคตะวันตกของอเมริกาเป็นไปด้วยความราบรื่น อิน-จันโดนสื่อโจมตีเล็กน้อยว่าการนำพาลูกขึ้นเวทีไปทำมาหาเงินด้วยเป็นการอาศัยลูกหากิน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร

ในช่วงที่แฝดและลูกๆ เดินทางด้วยเรือ เป็นเวลาเดียวกับการประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลปรากฏว่า อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐ

นโยบายหลักของลินคอล์นที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงคือ การเลิกทาสในอเมริกา

การโชว์ตัวของแฝดสยามวัยกลางคนพร้อมลูกหาเงินที่ซานฟรานซิสโก เป็นพื้นที่ที่ชาวจีนกำลังอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้รับการต้อนรับอย่างคึกคัก ทำรายได้พอสมควร โดยมีลูกชายคอยเขียนจดหมายกลับไปรายงานครอบครัวที่นอร์ทแคโรไลนาเป็นระยะๆ

ในระหว่างโชว์ตัวที่ซานฟรานซิสโก แฝดอิน-จันซึ่งมีทาสนิโกรผิวดำทำงานอยู่ในไร่ราว ๓๐ คน เริ่มมีความกังวลไม่น้อยกับนโยบายการเลิกทาสของประธานาธิบดีลินคอล์นที่กำลังร้อนแรง เป็นประกายไฟของความขัดแย้งของรัฐต่างๆ ที่แบ่งกันเป็นรัฐฝ่ายเหนือที่สนับสนุนการเลิกทาส และรัฐฝ่ายใต้ที่สนับสนุนการมีทาส

อิน-จันเป็นเจ้าของทาส มีทาสเป็นกำลังหลักในการทำไร่

ทีมงานการแสดงของแฝดและลูกๆ ได้เงินกลับบ้านก้อนใหญ่ รีบลงเรือเดินทางกลับบ้านที่เมาท์แอรี่ ด้วยการย้อนเส้นทางเดิมที่ใช้เวลาขึ้นรถลงเรือแล้วขึ้นรถราว ๒๐ วัน ในที่สุดครอบครัวบังเกอร์ก็กลับมาอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกอีกครั้ง

สงครามกลางเมือง (Civil War) ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ของอเมริกากำลังก่อตัว ใครจะรบกับใคร แต่ที่แน่ๆ แฝดสยามจากเมืองแม่กลองและครอบครัวได้เข้าไปนัวเนียเกี่ยวพันกับตำนานระดับโลกกะเค้าอีกจนได้


.



• อิน-จัน ได้รับเชิญไปพบประธานาธิบดีลินคอล์น

อับราฮัม ลินคอล์น ทนายความผู้ซื่อสัตย์ ของรัฐอิลลินอยส์จากแดนไกลโพ้น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งใน ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๔ ซึ่งแฝดอิน-จันเป็นพลเมืองสหรัฐ มีครอบครัวใหญ่ มีลูกรวมกัน ๒ ท้อง ๒๑ คน ปักหลักอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา บรรพบุรุษสยามคู่นี้และลูกชาย ๒ คนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองตรงนี้เต็มตัวครับ

ผู้เขียนขออนุญาตแทรกประวัติศาสตร์อันโศกสลดของอเมริกาที่เรียกว่า “สงครามพี่น้องฆ่ากันเอง” เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ครับ

หลังจากสหรัฐอเมริกาชนะสงครามกับอังกฤษ ประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในปี พ.ศ.๒๓๒๔ บรรดารัฐต่างๆ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ
     - กลุ่มรัฐที่ไม่ส่งเสริมการมีทาสซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม
     - กลุ่มรัฐที่ส่งเสริมการใช้ทาสซึ่งอยู่ทางตอนใต้ มีรายได้หลักจากการเกษตร ที่ต้องใช้ทาสเป็นหลัก

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มรัฐทางภาคเหนือและกลุ่มรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกามีมาต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ กรณีทาสเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในความขัดแย้งเชิงนโยบาย ระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ทันทีที่ทราบผลการนับคะแนนว่าลินคอล์นได้รับเลือกไปนั่งเป็นเบอร์หนึ่งของทำเนียบขาว กระแสต่อต้านประธานาธิบดีที่ไม่สนับสนุนการมีทาสคนนี้ปะทุขึ้นเฉียบพลันทันใจ

๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๓ สภาแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนาลงมติเป็นเอกฉันท์ เป็นรัฐหัวหมู่ทะลวงฟัน ประกาศขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแรก รีบจัดตั้งกองทหารของรัฐ ต่อมารัฐจอร์เจีย รัฐมิสซิสซิปปี รัฐเท็กซัส รัฐฟลอริดา รัฐอลาบามา และรัฐลุยเซียนา ที่อยู่ทางใต้อีก ๖ รัฐ รวมเป็น ๗ รัฐที่มีนโยบายต้องการมีทาส รวมตัวกันประกาศแยกตัวจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America หรือ Confederacy) เมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๔ พูดง่ายๆ คือ ๗ รัฐนี้จับมือกันตั้งเป็นประเทศใหม่ มีเจฟเฟอร์สัน เดวิส (Jefferson Davis) เป็นประธานาธิบดี ส่วนรัฐทางเหนือที่มีลินคอล์นเป็นประธานาธิบดี เรียกว่าสหภาพ (Union)

๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๔ กองทหารของรัฐเซาท์แคโรไลนาที่เพิ่งตั้งมา ๒ สัปดาห์ก็เข้าตีค่ายทหารฝ่ายเหนือที่ฟอร์ตซัมเตอร์ (Fort Sumter)ในรัฐเซาท์แคโรไลนา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง

ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศระดมพลฝ่ายเหนือสร้างกองทัพให้ได้ ๑๕๐,๐๐๐ นาย และประกาศว่ารัฐทางใต้เป็นกบฏ  รัฐทางใต้อีก ๔ รัฐที่ยังเก้ๆ กังๆ ยังไม่ได้เลือกข้างคือ รัฐเวอร์จิเนีย รัฐนอร์ธแคโรไลนา รัฐเทนเนสซี และรัฐอาร์คันซอ ตัดสินใจเลือกข้างกระโดดเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐ หรือ Confederacy สรุปแล้วรัฐทางใต้ ๑๑ รัฐทำสงครามกับรัฐทางเหนือ ๒๓ รัฐ

รัฐฝ่ายใต้ ๑๑ รัฐประกาศชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับรู้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐทางใต้ที่จะขอแยกตัวออก เพราะความเป็นรัฐมีความเก่าแก่กว่าความเป็นสหรัฐ (Union) และการเลิกทาสมิใช่สาเหตุของสงคราม

ปู่ทวดอิน-จันของสยามที่ไปเป็นพลเมืองสหรัฐอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา มีทาสนิโกรใช้งานในไร่ยาสูบราว ๓๐ ชีวิต และสนับสนุนการมีทาส เป็นพลเมืองสังกัดรัฐนอร์ธแคโรไลนาเลยต้องเข้าไปมีเอี่ยว มีส่วนได้ส่วนเสียกะเค้าด้วย  เกิดความสับสนอลหม่าน เพราะคนทางใต้ไปเป็นทหารฝ่ายเหนือ คนทางเหนือลงมาเป็นทหารในกองทัพฝ่ายใต้  ทหารฝ่ายเหนือมีใจให้กับฝ่ายใต้ ส่วนทหารฝ่ายใต้ปันใจให้ทหารฝ่ายเหนือ รู้หน้าไม่รู้ใจ

ช่วง ๒ ปีแรกของสงครามกลางเมืองในอเมริกา ครอบครัวบังเกอร์ไม่ได้รับผลกระทบอะไร สนามรบอยู่ห่างออกไปไกลโข ประชาชนทั้งหลายมีหน้าที่อย่างเดียวคือให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กองทัพฝ่ายใต้ ต้องซื้อพันธบัตร เสียภาษีเพิ่มแบบโหดระห่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ผู้คนทางใต้ต้องอยู่แบบฝืดเคือง อดอยาก ขาดแคลนแบบไม่เคยประสบมาก่อน

นี่เป็นสงครามที่คนอเมริกันรบกันเองนะครับ ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เป็นตำนานก้องโลกพี่น้องฆ่ากันเอง

๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๖ การระดมพลเด็กหนุ่มของกองทัพฝ่ายใต้มีชื่อคริสโตเฟอร์ เร็น บังเกอร์ (Christopher Wren Bunker) ลูกชายคนโตอายุ ๑๘ ปีของแฝดจันมีชื่อเข้าไปอยู่ในบัญชีเรียกพลด้วย โดยเขาได้รับการบรรจุในกองร้อยทหารม้าที่ ๑ กองพันทหารม้าที่ ๓๗ ในรัฐเวอร์จิเนีย ทหารม้าขี่ม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกันคนแรก เข้าทำการรบในหลายสมรภูมิ

๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๗ คริสโตเฟอร์กลับมาพักที่บ้านเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่เมาท์แอรี่ ออกจากบ้านอีกครั้งกลับไปที่หน่วยในแนวหน้า ขาดการติดต่อไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร

๔ สิงหาคมปีเดียวกัน เพื่อนคริสโตเฟอร์นำม้าของคริสโตเฟอร์กลับมาที่บ้านโดยไม่มีเจ้าของขี่มาด้วย นักรบหนุ่มทหารม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน หายไปไร้ร่องรอย ไม่ทราบชะตากรรม

ทุกคนที่บ้านหัวใจแตกสลายฟูมฟายโดยไม่ต้องอธิบาย ความโศกเศร้าเข้าครอบคลุมครอบครัวบังเกอร์  ในขณะที่ยังเสียใจกับคริสโตเฟอร์ที่สาบสูญ อีก ๓ เดือนต่อมา สตีเฟ่น เดคาเตอร์ บังเกอร์ (Stephen Decartur Bunker) ลูกชายของแฝดอินมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์พอดี จึงถูกเรียกเข้าประจำหน่วยทหารม้าอีกคน ตามหลังคริสโตเฟอร์พี่ชายที่หายไปในสนามรบ

ตระกูลบังเกอร์ส่งลูกชาย ๒ คนเป็นทหารม้า ควบม้ายิงปืน ใช้ดาบเข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายใต้

ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เข้าสู่สนามรบ แต่งเครื่องแบบสวยสด ตีกลองเป็นจังหวะ มีนายทหารสัญญาบัตรถือกระบี่นำแถวนักรบแบบองอาจ ทหารเดินแถวหน้ากระดานเข้าหากันทั้งสองฝ่าย เล็งปืนเข้าใส่กันยิงกันคนละนัด แล้วต้องรีบบรรจุกระสุนใหม่ทันทีเพื่อจะยิงนัดต่อไป ใครตายก็ทิ้งอยู่ตรงนั้น ที่เหลือเดินหน้าต่อไป ยิงกันแบบไม่ต้องหมอบ ไม่ต้องหลบ ทหารทั้งสองฝ่ายตายในสนามรบเหมือนมดเหมือนปลวกชีวิตช่างไร้คุณค่า คิดอย่างเดียวคือฆ่ามันให้หมด เพื่อชาติอันเป็นที่รัก

ส่วนทหารม้า ชายชาติทหารทั้งสองฝ่ายนั่งบนหลังม้า ควบม้าศึกเข้าหากัน ยิงปืนใส่กันแบบห่าฝน ใครดีใครอยู่ แล้วรีบชักดาบออกมาแทนปืน พุ่งเข้าใส่กันดุเดือดเลือดพล่าน ไม่มีการถอยหนี ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร

ท่านผู้อ่านลองหาภาพยนตร์ดูนะครับ คนรุ่นหลังสร้างหนังเหตุการณ์ตรงนี้ไว้หลายเรื่อง เพื่อเรียนรู้ความพินาศ ความสูญเสีย เป็นบาดแผลในชีวิตของชนชาติอเมริกัน เหวอะหวะเกินคำบรรยาย

ท่ามกลางความทุกข์ ห่วงหาลูกชาย ๒ นักรบที่เข้าสู่สงคราม อยู่มาวันหนึ่งโดยไม่คาดฝัน ครอบครัวบังเกอร์ได้รับจดหมายจากคริสโตเฟอร์เล่าว่า ตอนนี้เขาโดนทหารฝ่ายเหนือจับเป็นเชลยอยู่ที่ค่ายเชส (Chase Camp) ห่าง ๔ ไมล์ทางตะวันตกของเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ (Ohio) ขอให้ที่บ้านส่งเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า อาหาร และยารักษาโรคให้ด้วย มีนักโทษเสียชีวิตจำนวนมากจากโรคฝีดาษ อหิวาต์ และคมกระสุน

๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๘ ในช่วงปลายสงคราม มีการประกาศแลกเปลี่ยนตัวเชลยนับพันคนระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ หนึ่งในนั้นคือคริสโตเฟอร์ ที่ได้รับการปล่อยตัว และต่อมาก่อนสงครามเลิก คริสโตเฟอร์ได้กลับบ้านที่เมาท์แอรี่ คริสโตเฟอร์ไม่ตาย

๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ สงครามกลางเมืองในอเมริกาที่ดำเนินมา ๔ ปีสงบลงเมื่อนายพล โรเบิร์ต อี. ลี แม่ทัพของฝ่ายใต้ยอมแพ้ต่อนายพลยูลิซิส เอส.แกรนท์ ณ Appomattox Court House ในรัฐเวอร์จิเนีย

ข่าวดีต่อมา สตีเฟ่น ลูกชายคนโตของแฝดอินเป็นอีกคนที่เข้าไปเป็นทหารของฝ่ายใต้ และขาดการติดต่อกับทางบ้านก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเช่นกัน ในระหว่างทำสงคราม สตีเฟ่น ได้รับบาดเจ็บ ๒ ครั้ง มีบันทึกว่าเขาบาดเจ็บจากคมกระสุนขนาด .๔๔ ที่หัวไหล่

ครอบครัวบังเกอร์กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกกันอีกครั้ง สภาพเศรษฐกิจ การทำมาหากินแสนจะฝืดเคือง บ้านเมืองป่นปี้

ในระหว่างสงคราม ครอบครัวบังเกอร์ต้องช่วยสนับสนุนในการตัดเย็บ ซ่อมแซมเสื้อผ้าให้กับทหารฝ่ายใต้ ข่าวร้ายคือ ลูกสาวคนที่ ๒ ของแฝดอินชื่อจูเลียเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

หนังสือ The two: A Biography by Irving Wallace and Amy Wallace บันทึกชัดเจนเลยว่า หลังสงครามจบลง ประชาชนทั้งผองเกลียดขี้หน้ากัน อาฆาตมาดร้าย เป็นปรปักษ์ต่อกันทุกหมู่เหล่า รัฐบาลต้องเร่งหาทางเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ

แฝดอิน-จัน คนตัวติดกัน ที่กำเนิดจากเมืองแม่กลองสยามประเทศได้รับเชิญให้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าพบประธานาธิบดี ลินคอล์นเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของความ ปรองดอง เอื้อเฟื้อ และการให้อภัยในสังคมอเมริกา

ประธานาธิบดีลินคอล์นเล่าให้อิน-จัน ฟังเรื่องการทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิดของตนในรัฐอิลลินอยส์

นักการเมืองในอเมริกาใช้คำว่า Siamese Twins เป็นวาทกรรม เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์เชิงบวกของการอยู่ร่วมกัน

๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ สังคมอเมริกันต้องตกตะลึงสุดขีดเมื่อประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบยิงเสียชีวิตในโรงละคร Ford Theater โดยมือปืนชื่อ John Wilkes Booth เป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารในโรงละคร และแอนดรูว์ จอห์นสัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนถัดมา

๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๘ รัฐบาลสหรัฐประกาศนิรโทษกรรมการกระทำของรัฐทางใต้ทั้งปวงที่เป็นกบฏ

สงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้องฆ่ากันเอง ตายไปราว ๖๒๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บอีกนับล้านคน บ้านเมืองรัฐทางใต้กลายเศษเป็นซาก เป็นบาดแผลที่ยังค้างอยู่ในใจของคนอเมริกันจวบจนทุกวันนี้

ครอบครัวบังเกอร์ได้รับผลกระทบทางการเงินไม่น้อย เนื่องจากเพื่อนบ้านหลายรายมาขอหยิบยืมเงินระหว่างสงครามพากันหายหน้ากันไป ธนบัตรที่ฝ่ายใต้พิมพ์ใช้ระหว่างสงครามกลายเป็นเศษกระดาษไปในพริบตา ฝรั่งถ้ายืมเงินก็มีฤทธิ์หายตัวได้เช่นกัน

สงครามเลิก ฝ่ายเหนือชนะ อิน-จันต้องปลดปล่อยทาส

สงครามกลางเมืองในอเมริกา ที่แฝดอิน-จันอยู่ในอเมริกาและลูกชายทั้ง ๒ คนเข้าร่วมรบด้วยนั้น ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๔ ของสยาม ซึ่งชาวสยามบางส่วนที่อ่านหนังสือออก โดยมีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกชื่อ Bangkok Recorder ที่หมอบรัดเลย์ชาวอเมริกันลงทุนผลิตเป็นรายแรกในสยาม

ผู้เขียนขอแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ให้คนไทยรุ่นหลังได้รับทราบอีกเรื่องนะครับว่า ในสมัยนั้นสยามไม่ได้โดดเดี่ยว สยามเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์ มีไมตรีต่อเพื่อนร่วมโลกเสมอ

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปสุดขอบฟ้ากำลังทำสงครามกลางเมือง ในหลวง ร.๔ ทรงทราบข่าวการสู้รบจากชาวต่างชาติที่ทำงานในสยาม โดยเฉพาะแพทย์และบาทหลวงชาวอเมริกัน จึงทรงปรารถนาดี มีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน เสนอที่จะส่งช้างสยามไปอเมริกา โดยทรงอธิบายเป็นจดหมายภาษาอังกฤษด้วย

พระองค์เองถึงพระราชประสงค์ที่จะมอบช้างสยามให้อเมริกานำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่ง ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะใช้ช้างเป็นเครื่องทุ่นแรง ช่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics) แบบที่สยามใช้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มิถุนายน 2559 10:44:22 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2559 15:41:34 »

.



ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ รัฐบาลสหรัฐได้มีสาส์นตอบแสดงความซาบซึ้งในน้ำพระทัย โดยแจ้งว่าสภาพอากาศในอเมริกาไม่เหมาะสมกับช้างสยาม ประกอบกับสหรัฐมีเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่ง และใช้ทำงานภายในประเทศอยู่แล้ว

และต่อมาหลังสงคราม นายพลยูลิซีส แกรนท์ ผู้นำกองทัพฝ่ายเหนือที่นำทัพชนะกองทัพฝ่ายใต้ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี พ.ศ.๒๔๑๒-๒๔๒๐ หลังหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว แกรนท์ออกเดินทางไปรอบโลก และในปี พ.ศ.๒๔๒๒ ท่านแวะมากรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวง ร.๕ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเครื่องดนตรีไทยเป็นของที่ระลึกหลายชิ้น นายพลแกรนท์นำของดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

วกกลับมาที่เรื่องของปู่ทวดอิน-จัน ในอเมริกาครับ

หลังสงครามกลางเมือง ผู้คนฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้มีความชิงชังซึ่งกันและกัน ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความอาฆาตพยาบาทต่อกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คำว่า “แฝดสยาม หรือ Siamese Twins” ถูกรัฐบาลนำไปเป็นสัญลักษณ์ “ของการอยู่ร่วมกันแม้แตกต่าง การแบ่งปัน ความยุติธรรม” เพื่อเร่งฟื้นฟูความปรองดองของสังคมที่เป็นซากแหลกละเอียด

น่าภูมิใจนะครับที่คำว่า Siam หรือสยาม คือประเทศสยาม ไปเป็นสัญลักษณ์ในเชิงสร้างสรรค์ในสังคมอเมริกา ในขณะที่ชาวสยามแทบไม่รู้จักอเมริกา

สงครามเลิก ทาสนิโกรผิวดำชักแถวเดินออกจากไร่ของอิน-จัน บังเกอร์ เช่นเดียวกับทาสทั่วอเมริกา การเกษตรกรรมในไร่หยุดลงโดยอัตโนมัติทั่วพื้นที่รัฐตอนใต้ของอเมริกา ครอบครัวใหญ่ต้องใช้เงินมาก

บุญเก่าที่พ่อแม่ให้มา คือการเป็นแฝดตัวติดกัน ซึ่งมาถึงวันนี้ อิน-จัน อายุอานามมากโขแล้ว จะต้องหาเงินมาประทังชีวิต

แฝดสยามตัดสินใจกัดฟันกลับไปเปิดการแสดงโชว์ตัวอีกครั้ง โดยเลือกให้นายเอช.พี.อิงกอลล์ (H.P.Ingalls) เพื่อนเก่าทำหน้าที่ผู้จัดการ คราวนี้ต้องปรับแผน โดยเอาภรรยา ซาร่าห์และอาดีเลดที่ยังไม่เคยปรากฏตัวบนเวทีมาก่อน พร้อมบุตรชาย ๒ คนคือแพทริก และอัลเบิร์ตร่วมเดินทาง

ผู้เขียนต้องขอบูชาในความเป็นนักสู้ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ บรรพบุรุษ ๒ ท่านนี้ยิ่งใหญ่ ไม่รู้จักความเหนื่อยยาก

นายอิงกอลล์เป็นมือใหม่หัดขับ ไม่มั่นใจว่าตนเองจะนำพาคณะการแสดงไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ จึงตัดสินใจพาแฝดและลูกๆ ไปพบกับเจ้าพ่อแห่งวงการแสดงเจ้าเดียวที่ยืนหยัดตลอดการ คือ นายพี.ที.บาร์นัม (P.T.Barnum)

ในราวกลางปี พ.ศ.๒๔๑๑ เหมือนราชรถมาเกย นายบาร์นัมดีดนิ้วเป๊าะ ตอบตกลงโดยจะให้แฝดแสดงที่นิวยอร์กก่อนแล้วจะพาคณะไปลุยในยุโรป ในช่วงนั้นนายบาร์นัมเองก็ถังแตก เนื่องจากในระหว่างสงครามกลางเมือง อาคารพิพิธภัณฑ์การแสดงของเขาถูกไฟไหม้เกลี้ยง

กลยุทธ์เรียกคนดูที่มีมนต์ขลังของพ่อมด บาร์นัมคือ ป่าวประกาศว่านี่จะเป็นการแสดงตัวครั้งสุดท้ายของแฝดสยามตัวติดกัน ก่อนเดินทางไปผ่าตัดแยกร่างในอังกฤษ

ผลการโหมโฆษณาของยอดนักขายบาร์นัมได้ผลอีกตามเคย ผู้คนแห่กันเข้ามาชมการแสดงไม่น้อยกว่าสมัยแรกๆ ทำเงินได้พอสมควร ทั้งๆ ที่อเมริกายังไม่ฟื้นจากบาดแผลสงครามกลางเมือง

๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ คณะการแสดงประกอบด้วย อิน-จัน และแคเธอรีน สาวสวยวัย ๒๔ ลูกสาวของแฝดอิน และแนนซี่ ลูกสาว หน้าหวานสยาม-อเมริกัน วัย ๒๑ ปี พร้อมด้วย นายอิงกอลล์ ออกเดินทางจากท่าเรือนิวยอร์กด้วยเรือชื่อไอโอวา (Iowa) หันหัวเรือไปเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษ

ตลอดการเดินทางเจอคลื่นลมตลอดทาง ผู้โดยสารเมาเรืออาเจียนเจ็บป่วยร้องระงม แต่แฝดอิน-จันลูกทะเลจากแม่กลองกลับเล่นหมากรุก ดื่ม กินอาหาร สูบบุหรี่ กินลมชมทะเลอย่างมีความสุขยิ่งนัก

๑๘ ธันวาคม ปีเดียวกัน คณะทั้งหมดขึ้นฝั่งที่เมืองลิเวอร์พูล

ครอบครัวบังเกอร์มาอังกฤษคราวนี้มีวาระซ่อนเร้นในใจหลายเรื่องที่ล้วนสะสมความร้อนรุ่มท่ามกลางความหนาวเหน็บ แคเธอรีนลูกสาวคนสวยของแฝดอินป่วยเป็นวัณโรคที่รักษาในอเมริกามานานไม่ดีขึ้นเลย ภาวนาขอให้เจอแพทย์ในอังกฤษที่จะช่วยรักษาเธอให้หาย

แฝดอิน-จันที่ตัวติดกันมานานราว ๕๗ ปี เกิดความคุกรุ่นในใจ ที่อดทนและทนอดกันมา ช่วงหลังแฝดจันกลายเป็นนักดื่มคอทองแดงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ทำเอาแฝดอินต้องทุกข์ระทมไปด้วยนานนับปี และการที่พ่อของลูกๆ ต้องแยกกันอยู่บ้านละ ๓ วัน มันเป็นความอึดอัดสะสม

ความคิดเรื่องการผ่าตัดแยกร่างในวัย ๕๗ ปียังเป็นความคิดที่ไม่สายเกินไป

จะเกิดอะไรขึ้น การตัดสินใจครั้งสำคัญบนแผ่นดินอังกฤษ






• คนคู่จากสยามได้เฝ้าควีนวิกตอเรียที่บัคกิง

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านมหากาพย์ระดับโลกเรื่องแฝดสยามอิน-จัน มาตลอด ๒๐ตอน สอบถามมาว่า ได้ข้อมูลของแฝดอิน-จันและครอบครัวที่ละเอียดทุกซอกทุกมุมเหล่านี้มาจากไหน

เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว แฝดสยามอิน-จัน ลูก หลาน และเพื่อนๆ ของแฝดอิน-จันในอเมริกา เขียนบันทึกไดอารี่ เขียนจดหมายตอบโต้กันทางไปรษณีย์ บรรยายความอย่างละเอียด ระบุวัน เดือน ปี และเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของแฝดอิน-จัน มีทั้งดี ทั้งร้าย จดหมายเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ลูกหลานเหลนภูมิใจนำข้อมูลมาเปิดเผยรวบรวมเพื่อสืบค้นหาบรรพบุรุษต้นตระกูลของตนเอง

เพื่อนสนิทมิตรสหายของแฝดสยาม แพทย์ ผู้พิพากษา พ่อค้า ชาวอังกฤษและอเมริกัน ที่เคยสัมผัสกับครอบครัวของแฝดคนคู่ ล้วนเขียนเป็นหนังสือขายดีโด่งดังในอเมริกา นี่คืออุปนิสัยของชาวตะวันตกที่ชอบบันทึก ขีดเขียน วาดภาพ บอกเล่าทุกอย่าง น่ายกย่องยิ่งนัก

ถ้าฝรั่งเหล่านี้ไม่เขียนบันทึกอะไรไว้ คนไทยรุ่นหลังจะไม่ทราบเรื่องบรรพบุรุษสยามจากเมืองแม่กลองที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกคู่นี้เลย

ผู้เขียนขอเรียนว่า พ.ศ.๒๕๕๙ ลูก หลาน เหลน โหลน ของแฝดสยามจากเมืองแม่กลองที่สืบตระกูล ขยายเครือญาติ ๕ ชั่วอายุคนต่อมาเกือบ ๒๐๐ ปี เป็นพลเมืองอเมริกันนามสกุลบังเกอร์ (Bunker) รวมตัวกันนับญาติได้ราว ๑,๕๐๐ คน ได้รวบรวมข้อมูลทั้งปวงของบรรพบุรุษอิน-จัน มาเผยแพร่ ทายาทของแฝดสยามเก็บรักษาเอกสาร เครื่องใช้ของแฝดอิน-จันไว้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย และยังมีนักเขียนของอเมริกา เขียนหนังสือเป็นวรรณกรรมขายทั่วโลก

แฝดสยามที่ชื่ออิน-จัน ฝรั่งเรียกว่า Eng-Chang ที่กล้าเดินทางออกไปจากแผ่นดินสยามเมื่ออายุ ๑๘ ปี ในขณะที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกหู เพื่อแสวงโชคลาภจากโลกกว้างในสมัยในหลวง ร.๓ คือบรรพบุรุษชาวสยามที่ทำให้คนทั้งโลก โดยเฉพาะแพทย์ รู้จักคำว่า Siamese Twins มาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในประเทศไทยปัจจุบัน ชาวเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม จะลองสืบหาลูกหลาน เหลน วงศาคณาญาติของแฝดบันลือโลกคู่นี้หรือไม่? ท่านเป็นวีรบุรุษของชาวไทยนะครับ

กลับมาที่ตำนานชีวิตแฝดสยามครับ

ในยุคสมัยที่แฝดไปอยู่ที่อเมริกานั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความฝันว่า อยากจะเห็นลอนดอน มหานครที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่องสถานที่ราชการที่งามสง่า มีบุคคลที่มีชื่อเสียง คนเก่งๆ ของโลก แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ กวี นักดนตรี การศึกษาทุกแขนง กองทัพเรืออันเกรียงไกร ล้วนรวมตัวกันอยู่ที่ลอนดอน อังกฤษคือศูนย์กลางของโลกนี้

ในตอนค่ำของ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๑ แฝดอิน-จันที่อายุหมิ่นเหม่ ๖๐ ปี และลูกสาว ๒ คน คือ แคเธอรีน สาวน้อยวัย ๒๔ ปี และแนนนี่ อายุ ๒๑ ปี พร้อมด้วยนายอิงกอลส์ (Ingalls) เดินทางด้วยเรือจากนิวยอร์กมาถึงเมืองลิเวอร์พูล ของอังกฤษ ในช่วงที่อากาศหนาวกัดเซาะเข้าไปถึงกระดูกอ่อนข้างในร่างกาย

เดินทางในทะเลมานาน ๑๔ วันเต็ม ลูกสาว ๒ คนเมาคลื่น เมาทะเล อาเจียนจนรากเขียวรากเหลืองเหมือนผู้โดยสารอื่นๆ แต่แฝดสยามลูกแม่กลองอิน-จัน กิน ดื่ม เล่นลูกเต๋า เล่นหมากรุกกันมาตลอดทาง เฮฮาปาร์ตี้ กระเซ้าเย้าแหย่ เล่าเรื่องตลกโปกฮากับผู้โดยสารคนอื่นๆ ในเรือมาตลอด หาได้ปวดหัวตัวร้อนแต่ประการใดไม่

คณะของลุงอิน-จัน เข้าที่พักชั่วคราว แล้วเดินทางต่อด้วยรถไฟไปถึงเมืองเอดินเบอร์ก (Edinburgh) ที่อยู่ทางตอนเหนือติดชายทะเลด้านตะวันออกของเกาะอังกฤษ มีงานเลี้ยงต้อนรับคณะของแฝดสยามรวมทั้งคณะการแสดงอื่นๆ ที่จะมาร่วมโชว์ตัว โชว์ของแปลก คนประหลาด มีชาวเมืองสนใจเข้ามาชมการแสดงพอสมควร ซึ่งต่างก็มาขอดูแฝดตัวติดกันเป็นๆ ครั้งสุดท้ายตามคำโฆษณาชวนเชื่อ ก่อนการผ่าแยกร่างในอังกฤษ

หน้าฉากของแฝดสยาม คือการยิ้มแย้ม แจ่มใส ตั้งใจพูดคุยกับผู้คนทั้งหลาย แต่สิ่งที่ร้อนรุ่มกลุ้มใจและรอคำตอบอย่างกระวนกระวาย คือการขอนัดพบกับแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก (Edinburgh Medical College) เพื่อให้ตรวจร่างกายแคเธอรีนลูกสาวคนสวยของแฝดอินที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เธอป่วยเจ็บมานาน ไม่แข็งแรง ทุกคนสวดภาวนา ขอให้เกิดปาฏิหาริย์กับลูกสาวคนสวย ลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน สักครั้ง

ทีมแพทย์ที่วิทยาลัยเอดินเบอร์กช่วยกันตรวจร่างกายแคเธอรีนอย่างละเอียดแล้ว ลงความเห็นว่าเธอป่วยเป็นวัณโรค การรักษาในขณะนี้ทำได้เพียงแค่การบรรเทาอาการเท่านั้น

มันคือพายุอีกลูกที่กระหน่ำเข้ามาในชีวิต สาวน้อยแคเธอรีนได้รับการยืนยันชัดเจนสิ้นสงสัยจากแพทย์ในอังกฤษ ซึ่งฟังแล้วหดหู่ไร้ความหวัง (ในสมัยนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาวัณโรค : ผู้เขียน)

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป การนัดพบแพทย์คิวต่อไปคือ เรื่องของแฝดตัวติดกันจากสยาม ที่ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วจะขอผ่าตัดแยกร่าง แสวงหาเสรีภาพ อิสรภาพ ประสงค์จะแยกทางกันเดินก่อนตายให้จงได้

เรื่องนี้เป็นประเด็นโด่งดัง และเป็นความท้าทายของแพทย์ระดับโลกในยุโรปและอเมริกาครับ จะเป็นการตรวจร่างกายก่อนการผ่าแยกร่างของแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) ซึ่งการตัดสินใจตรงนี้ จะเป็นการวัดความเก่ง ความซื่อตรงของแพทย์ ที่ใครก็อยากแสดงฝีมือเป็นรายแรกของโลก

เซอร์เจมส์ ซิมป์สัน (Prof. Sir James Simpson) เป็นศาสตราจารย์ของวิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก มีดีกรีเป็นแพทย์ที่เคยถวายการรักษาพระราชินีของอังกฤษและบุคคลสำคัญระดับโลกมาแล้วหลายราย มีเกียรติประวัติผลงานระดับโลก ขอเป็นเจ้าภาพดูแลความเป็นไปได้ที่จะผ่าแยกร่างแฝดประหลาดคู่นี้ให้เองกับมือ

หนังสือ The Two ของ Irving Wallace และ Amy Wallace บรรยายอย่างละเอียดว่า ศาสตราจารย์แพทย์ยอดเก่งคนนี้แหละคือคนที่คิดผลิตคีมที่แพทย์ใช้ เรียกว่า Forceps แกยังเป็นคนริเริ่มใช้อีเทอร์ (Ether) เป็นยาสลบเป็นคนแรก และเป็นคนริเริ่มการใช้ยาชาเฉพาะที่เป็นคนแรกของโลก

แนนนี่เขียนบันทึกไดอารี่เมื่อ ๒๒ ธันวาคม ว่า เซอร์ ซิมป์สันเดินทางมาพบกับแฝดอิน-จัน ในงานเลี้ยงด้วยตัวเอง ท่านเป็นคนมีบุคลิกน่านับถือ สุขุมเยือกเย็น คุณหมอเอ่ยปากเชิญอิน-จันให้ไปพบที่ที่ทำงาน แต่ให้ไปพบศ.โซจีน (Prof. Sogine) เพื่อการตรวจขั้นต้นก่อน

วันรุ่งขึ้น อิน-จันเดินทางไปพบ ศ.โซจีนตามนัด คณะแพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ใช้เวลานานพอดู คำตอบที่ลุงอิน-จันได้รับคือ ไม่สมควรผ่าแยกร่าง และแพทย์ยังกล่าวเสริมอีกว่า แม้จะเดินทางไปที่ปารีส หรือที่ไหนๆ ก็จะไม่มีหมอคนใดกล้าลงมือผ่าแยกร่างให้

ยังเหลือ ศ.ซิมป์สันอีกคนที่จะให้ความเห็นเป็นคนสุดท้าย

วันรุ่งขึ้นคณะของแฝดสยามเดินทางไปพบ ศ.ซิมป์สันด้วยหัวใจระทึก เพราะหัวใจของแฝดทั้งสองได้แยกร่างออกจากกันล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ศ.ซิมป์สัน แพทย์มือหนึ่งระดับโลกตรวจร่างกายอย่างละเอียดซ้ำอีก ทีมแพทย์ใช้แสงไฟส่องไปที่เนื้อเยื่อตรงที่ยึดร่างกายแฝดเข้าด้วยกันเพื่อต้องการทราบข้อมูลอวัยวะภายใน ดูแล้วดูอีก แต่ยังไม่ลงความเห็นทันที ขอไปประชุมหารือกับทีมแพทย์ให้รอบคอบ ให้อิน-จันอดทนรอคำตอบอย่างเป็นทางการ

๗ สัปดาห์แห่งการอคอยคำตอบที่สำคัญที่สุดในชีวิต ผลการวินิจฉัยของ ศ.ซิมป์สัน ระบุอีกเช่นกันว่า ไม่สมควรผ่าแยกร่าง

ศ.ซิมป์สัน นำผลการตรวจวิเคราะห์ร่างกายของลุงอิน-จัน ไปเขียนบทความทางวิชาการชื่อ “A Lecture on the Siamese and Other Viable United Twins” ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๒

แฝดสยามหมดอาลัยตายอยาก ความทุกข์โศกเข้ามาปกคลุมชีวิตให้ทุกข์ระทมหนักเป็นทวีคูณ คนคู่นี้รอคอยการผ่าแยกร่างมาทั้งชีวิตตั้งแต่เป็นทารกจนแก่เฒ่า แต่ก็ต้องผิดหวัง

อิสรภาพที่โหยหา ขอผ่าแยกร่างก่อนตายเป็นไปไม่ได้ซะแล้ว ตั้งแต่เกิดมา ๕๗ ปีแล้วไม่เคยเดินไปไหนคนเดียว ไม่เคยนอนคนเดียว ไม่เคยเข้าส้วมคนเดียว แต่งงานมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องอุ้มกระเตงกันไป พลิกคว่ำพลิกหงาย กินเหล้าเล่นไพ่ ติดหนึบกันไปทั้งกายและใจมาตลอด

ผู้เขียนขอแทรกความเห็นส่วนตัวว่า แพทย์ทุกท่านที่แฝดไปขอคำปรึกษามาตลอดชีวิต ตั้งแต่เหยียบแผ่นดินอเมริกาเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนจนมาถึงมือ ศ.ซิมป์สัน ทุกท่านมีจรรยาบรรณของแพทย์มืออาชีพ ซื่อสัตย์ในหลักวิชาการของแพทย์ การผ่าแยกร่างเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับแพทย์ทุกคน แต่อวัยวะภายในต่างหากที่ไม่เกื้อกูลต่อการผ่า

ผ่าไม่ได้คือไม่ได้ ถ้าแพทย์คนใดคิดอยากดัง ทรยศต่อวิชาชีพ กะล่อนเหลวไหล ตัดสินใจลงมือผ่าแยกร่างให้ คงไม่มีใครกล้าขัดขวาง ซึ่งแฝดก็คงจะเสียชีวิตทันที และแพทย์ที่ลงมือทำคงจะออกมากล่าวขอโทษพอเป็นพิธี อ้างโน่นอ้างนี่เรื่อยเปื่อย

คณะของอิน-จัน พักสงบจิตใจ ทำใจ แต่ก็โชว์ตัวหาเงินไปด้วยแบบหน้าชื่นอกตรมในเมืองเอดินเบอร์กต่ออีก ๒ สัปดาห์ จึงย้ายวิกเดินทางต่อไปตะวันตกถึงเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) แสดงตัวเก็บเงินอีก ๒ สัปดาห์ อากาศหนาวสุดๆ ไม่มีแสงแดด ลมแรง ฝนตกเฉอะแฉะตามแบบฉบับของเกาะอังกฤษ ทุกคนในคณะล้วนปวดหัวตัวร้อน ไอจามเป็นไข้หวัดกันงอมแงม

แฝดและคณะเดินทางฝ่าลมหนาว ละอองฝน ท้องฟ้าที่ไร้ดวงตะวัน ขึ้นไปโชว์ตัวในสกอตแลนด์ ตระเวนแสดงตัวเก็บเงินอยู่อีกราว ๖ เดือน ซึ่งก็ได้เงินมาจากกระเป๋าชาวสก๊อตไม่น้อย เพราะผลของการโฆษณาของนายบาร์นัมที่พยายามโกหกชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายว่า นี่จะเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายก่อนผ่าแยกร่าง

ได้เงินมาพอสมควร แต่สิ่งที่สูญเสียไปมากโขคือ สุขภาพร่างกายของแฝดอาวุโสที่เสื่อมทรุดลงอย่างฮวบฮาบ

ระหว่างที่แฝดสยามตระเวนในอังกฤษ หนังสือพิมพ์แสดงความเป็นมิตรกับแฝดอย่างอบอุ่น โดยนำเรื่องราวเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ตอนที่แฝดหนุ่มจากสยามคู่นี้มาที่เกาะอังกฤษ แทรกด้วยตำนานรักของสาวลอนดอนที่จะขอวิวาห์กับแฝด “แบบเหมาจ่าย” ขอรวบแฝดเป็นสามีแต่ผู้เดียว เป็นที่วี้ดว้ายกระตู้วู้สนั่นเมืองมาแล้ว

แนนนี่ ลูกสาวของแฝดบันทึกในไดอารี่ว่า คนอังกฤษชื่นชมการแสดง ปรบมือต้อนรับให้กำลังใจแฝดในทุกเวที ชาวอังกฤษให้การยอมรับแฝดว่าเป็นนักสู้ชีวิต เป็นพระเอกตัวจริง ที่ ๔๐ ปีที่แล้ว แฝดหนุ่มมาปรากฏตัว มาตรวจร่างกายในอังกฤษ เมื่ออายุมากขึ้นราว ๕๗ ปี ก็มิได้มีความผิดปกติของร่างกาย มิได้แปลงร่างเป็นอสูร เป็นปีศาจซาตานแต่อย่างใด แถมยังมีลูกสาวสวยมาโชว์ตัวให้ดูซะอีก

ระหว่างการแสดงในอังกฤษยังไม่ทันเลิกรา เพื่อนใหม่ที่มีนามว่านายวอลเลซ (Wallace) เข้ามาตีสนิท เสนอตัวขอนำแฝดไปแสดงที่ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย เวียนนา อิตาลี และสเปน คุณลุงอิน-จันตกตะลึงในข้อเสนอธุรกิจที่ร้อนแรง และจะได้เดินทางสุดหล้าฟ้าเขียวในยุโรป แฝดให้ความสนใจกับข้อเสนอทางการเงินของนายวอลเลซ หลายประเทศในยุโรปที่รุ่งเรืองเจิดจรัส คนคู่สู้ชีวิตประสงค์จะไปเยือนให้จงได้

โชคชะตาของแฝดสยามที่จะได้พบบุคคลสำคัญของโลกเวียนมาอีกแล้วครับ

วันหนึ่งบนเกาะอังกฤษ อิน-จันได้รับการติดต่อจากสำนักพระราชวังให้ไปเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษในพระราชวังบัคกิงแฮม นี่เป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งของชีวิตแฝดสยามอีกครั้ง

ลูกสาวที่ไปด้วยบันทึกว่า พระราชินีวิกตอเรียทรงมีพระราชปฏิสันถาร สอบถามเรื่องราวชีวิตของอิน-จันในสยาม ก่อนกราบบังคมทูลลากลับ พระราชินีของอังกฤษได้พระราชทานนาฬิกาพกแบบมีโซ่คล้องแกะสลักชื่อให้แก่แฝดสยามคนละเรือน ซึ่งปัจจุบันเหลนของแฝดยังคงเก็บรักษาไว้ เป็นสมบัติของตระกูลบังเกอร์ในอเมริกา

อิน-จัน คือทูตตัวจริงเสียงจริงจากสยามประเทศที่ได้เข้าเฝ้าพระราชินีอังกฤษ ผู้เป็นมหาอำนาจอันดับต้นของโลกใบนี้ จะมีใครซักกี่คนที่ได้มีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับสยามประเทศเฉกเช่นอิน-จัน

แฝดจากแม่กลอง อายุอานามใกล้ ๖๐ ปี เดินทางท่องโลกไปมา เหมือนตัวละครในเทพนิยาย ถึงแม้จะเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ต้องยอมรับว่าไม่เคยหวาดหวั่นภยันตราย เหตุเภทภัยและมัจจุราชทั้งปวง บนบก และในทะเล

การแสดงตัวหาเงินในอังกฤษปิดฉากลงอย่างสวยงาม

๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๒ เรือกลไฟชื่อ City of Antwerp ออกจากท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ (Queenstown) แล่นฝ่าคลื่นลมข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นำผู้โดยสารเต็มลำรวมทั้งแฝดสยามผู้โด่งดังกลับมาถึงนิวยอร์กในราวกลางเดือนสิงหาคม

เงินตุงกระเป๋า บวกกับของฝากของขวัญสารพัดที่ซื้อเพื่อครอบครัวมาจากอังกฤษ อิน-จันไม่ลืมที่จะช้อปปิ้งในมหานครนิวยอร์ก หาซื้อของฝากทุกคนในครอบครัวที่รอคอยที่บ้านเมาท์แอรี่ นอร์ธแคโรไลนา มีของฝากให้แม้กระทั่งทาสที่บ้าน

เพื่อนรัก เพื่อนสนิทของแฝดได้บันทึกว่า ลุงแฝดมือหนัก ใช้จ่ายเงินไม่น้อยเพื่อซื้อของฝากครอบครัว เพื่อครอบครัวแล้ว แฝดทั้งสองจะใช้ของดี กินดีอยู่ดีเสมอ

แต่ตอนนี้ หลังสงครามกลางเมือง แฝดและครอบครัวประสบปัญหาการเงิน การทำเกษตรในที่ดินอันกว้างใหญ่ที่เคยทำรายได้เป็นอันต้องพังพาบเพราะไม่มีทาสไว้ทำงานในไร่อีกต่อไป

การตระเวนแสดงตัวเก็บเงินไปเรื่อยๆ คือบุญเก่า ที่พระเจ้าให้มา ที่พอจะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้

ขอเปลี่ยนอารมณ์ท่านผู้อ่านมาย้อนอดีตดูว่า ในขณะที่แฝดสยามไปใช้ชีวิตในอเมริกา ยุโรปแบบโชกชุ่ม แล้วในสมัยนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้างในสยามประเทศของเรา เพื่อเป็นความรู้เสริมครับ

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น พระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษได้ส่งราชทูตคือ เซอร์จอห์น เบาริง มาเข้าเฝ้าฯในหลวง ร.๔ ที่กรุงเทพฯ เพื่อขอทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับสยาม คณะของอังกฤษมาพำนักและประชุมกับข้าราชการของสยามในกรุงเทพฯ ราว ๑ เดือน และลงนามในสัญญาร่วมกันเมื่อ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘ สัญญาดังกล่าวชาวสยามเรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง (Bowring Treaty) ที่เปิดประตูการค้าให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯโดยเสรี สยามอนุญาตให้ตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ให้ชาวอังกฤษถือครองที่ดินในสยามได้ ประการสำคัญ ข้าว ปลา และเกลือ จะไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป

กลับมาที่ตำนานชีวิตแฝดอิน-จัน ที่มีชะตาชีวิตสูงส่งได้ไปเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษที่บัคกิงแฮม

คณะของลุงแฝดอิน-จันยอดทรหด เดินทางต่อจากนิวยอร์กกลับถึงบ้านที่เมาท์แอรี่ นอร์ธแคโลไรนา พร้อมเงินก้อนใหญ่เพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่มีลูก ๒ ท้องรวมกัน ๒๑คน และเพื่อเงินเป็นทุนจ้างทาสนิโกรมาทำงานในไร่ขนาดมหึมาให้มีผลผลิต

ตามความตกลงที่ลุงแฝดจับมือกับนายวอลเลซที่อังกฤษ หมายความว่า ลุงแฝดตอบรับที่จะเดินทางทัวร์ยุโรปอีกครั้ง อิน-จันจะมีเวลาอยู่บ้านทำมาหากินในอเมริกาอีก ๕ เดือน ก็จะต้องร่อนเร่ไปแสดงตัวหาเงินในเยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี และสเปน เพื่อเปิดตลาดหาเงินมาประคับประคองครอบครัวต่อไปอีก

สำหรับสาวสวย แคเธอรีน ที่ป่วยเป็นวัณโรค หลังจากเดินทางกลับจากพบแพทย์ที่อังกฤษ อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทานปาฏิหาริย์ต่อเธอ ถัดมาอีกราว ๒ ปี เธอเสียชีวิตครับ

ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน วัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายได้ (ผู้เขียน)

ลุงแฝดมีครอบครัวใหญ่ ต้องใจถึง ต้องไม่กลัวความยากลำบาก ต้องพร้อมเผชิญกับทุกสถานการณ์ การเดินทางไปยุโรปครั้งต่อไปจะเป็นครั้งสุดท้าย? และจะเกิดอะไรขึ้นในพระราชวังที่รัสเซีย?


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มิถุนายน 2559 10:47:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:15:03 »

.



• แฝดวิงวอนแพทย์เยอรมันผ่าแยกร่างก่อนตาย – ทัวร์สุดท้ายของชีวิต

ช่วงต้นรัชสมัย ในหลวง ร.๓ มีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ มาลงทุนตั้งบริษัทในบางกอก ชาวตะวันตกเริ่มทยอยขอทำสัญญาการค้ากับสยามคึกคัก เดินกันเพ่นพ่าน ชาวสยามจะเรียกคนผิวขาวเหล่านี้ว่า ฝรั่ง แต่มีแขกเปอร์เซีย และจีน เป็นคู่ค้าหลักของสยาม

เรือกลไฟพ่นควันดำยาวเป็นสายบนท้องฟ้า เรือสินค้าคือองค์ประกอบหลักในอ่าวไทยและแม่น้ำเจ้าพระยา บางกอกเป็นเมืองที่ถูกกล่าวขานว่ามีสินค้าทุกอย่างที่ตลาดยุโรปต้องการ สินค้าเกษตร ข้าว ปลา อาหาร และหนังสัตว์

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในรัชสมัยในหลวง ร.๓ ต่อเนื่องไปถึงรัชสมัยในหลวง ร.๔ นั้น มีชายฝาแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลองที่เป็นตัวแทนชาวสยามออกไปทำมาหากิน แสดงตัวหาเงินต่อผู้คนในอเมริกา และยุโรปจนได้ฉายาว่า Siamese Twins เป็นตำนานที่เลื่องลือระดับโลกนะครับ

ตำนานของแฝดสยามที่ฝรั่งบันทึกไว้อย่างละเอียด เป็นการบ่งบอกต่อชาวไทยทั้งหลายว่า อิน-จัน คือชาวสยามที่กล้าเดินออกไปนอกประเทศอย่างสง่างาม มีโอกาสได้พูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๒ ท่าน คือ อับราฮัม ลินคอล์น และแอนดรูว์ จอห์นสัน

อิน-จัน เคยได้เข้าเฝ้าควีนวิกตอเรียของอังกฤษ ไกเซอร์ของเยอรมัน พระเจ้าซาร์ของรัสเซียและบุคคลสำคัญในยุโรปอีกหลายท่าน

แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ สาธุคุณแมคฟาร์แลนด์ และฝรั่งอีกหลายท่านได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมสยามในบางกอกอย่างน่ายกย่องสรรเสริญยิ่งนัก

สยามไม่เคยสิ้นคนดี คนกล้า มีฝรั่งมาได้ ก็มีคนสยามไปได้

กลับไปที่ตำนานชีวิตวัย ๖๐ ปีของแฝดอิน-จัน ในอเมริกาครับ

แฝดอิน-จัน จากเมืองแม่กลองไปใช้ชีวิตในอเมริกาเกือบ ๔๐ ปีมีครอบครัวใหญ่ เผชิญกับเหตุการณ์ชั่ว ดี ถี่ ห่าง มีได้ มีเสียมาตลอดชีวิต ในช่วงหลังสงครามกลางเมืองในอเมริกา ทำเอาครอบครัวทรุดฮวบเรื่องเงินทองไม่พอใช้จ่ายสำหรับลูกดกเดินเต็มบ้าน

ในช่วงที่อายุราว ๖๐ เศษ แฝดยังมีความกล้า ความขยันที่จะพาลูกออกไปตระเวนแสดงตัวหาเงินในยุโรป และถือโอกาสไปพบแพทย์ในประเทศนั้น เพื่อขอคำปรึกษาที่จะผ่าแยกร่างออกจากกันก่อนตายให้จงได้ แพทย์ทุกประเทศที่ไปพบมา ลงความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่สมควรผ่าแยกร่าง เพราะอวัยวะภายในไม่เอื้ออำนวย แม้กระทั่งคณะแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่วิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก ในอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะลงมือผ่าแยกร่างให้

๕ เดือนต่อมา นายวอลเลซ (Wallace) เพื่อนใหม่เพิ่งพบหน้ากันที่ลอนดอน ขอเป็นโต้โผ จัดโปรแกรมพาลุงอิน-จัน ไปเปิดการแสดงตัวหาเงินในเยอรมัน และอีกหลายประเทศในยุโรป การเดินทางรอบนี้ ลุงแฝดขอพาลูกชายไปทัวร์ด้วย ๒ คน คือ เจมส์ อายุ ๒๑ ปีลูกของแฝดอิน และอัลเบิร์ต อายุ ๑๒ ปี ลูกของแฝดจัน
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๓ คณะของลุงแฝดสยามจำนวน ๕ คนลงเรือชื่อ Allemagne จากท่าเรือนิวยอร์ก ใช้เวลา ๑๘ วัน ไปขึ้นฝั่งที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ของเยอรมัน

แฝดสยามคู่นี้ เป็นนักเดินทางท่องโลกที่ยิ่งใหญ่ ใช้ชีวิตคุ้มค่า

คณะเดินทางต่อไปเมืองเบอร์ลิน (Berlin) นายวอลเลซจองโรงแรมไว้นาน ๓ สัปดาห์ เพื่อโชว์ตัวขอโกยเงินจากกระเป๋าชาวเยอรมันผู้ไม่เคยมีใครเห็นคนประหลาดแบบนี้มาก่อน

ความตกตะลึงที่ลุงแฝดได้รับทราบแล้วกระอักกระอ่วนที่สุดคือการแสดงของแฝดสยามที่ต้องไปเล่นร่วมกับคณะละครสัตว์ ที่ผ่านมาในชีวิต แก่ป่านนี้แล้ว ยังไม่เคยต้องมาบูรณาการเล่นกับคณะละครสัตว์

ไม่มีปัญหา ไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งนั้น เล่นก็เล่น เปรียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า ผีถึงป่าช้าแล้วยังไงก็ต้องฝัง

ในห้วงเวลานั้น เยอรมันกำลังขับเคี่ยวกับฝรั่งเศส ชิงดีชิงเด่นกันในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการเป็นมหาอำนาจทางทหาร ประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังจับขั้วแบ่งข้างจะทำสงครามกันทั้งทวีป

บุคคลสำคัญที่ตั้งใจเข้ามาชมการแสดงตัวของแฝดประหลาดในกรุงเบอร์ลิน คือ ไกเซอร์ วิลเฮม ที่ ๑ บุรุษเหล็กของเยอรมัน อายุ ๗๓ ปี และขุนพลคู่บารมีชื่อ Prime Otto Von Bismark ขุนศึกทั้งสองท่านนี้เพิ่งส่งกำลังทหารไปบดขยี้เดนมาร์ก และออสเตรียพินาศสิ้น

นาทีนั้นกองทัพเยอรมันฮึกเหิม เกรียงไกรสะท้านทวีปยุโรป

ทุกเวลานาทีในวัย ๖๐ ปีของแฝดอิน-จัน ที่โชว์ตัวในเยอรมันมีค่ายิ่งนัก แต่ทว่าสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจคือ การเสาะแสวงหาแพทย์จากทุกสำนักในยุโรป ที่จะขอผ่าแยกร่างออกจากกัน

การแสดงตัวของ Siamese Twins ราบรื่นได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ชาวเมืองเบียร์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

วาระซ่อนเร้นในใจคือ คำถามว่า หมอเยอรมันจะช่วยผ่าตัดแยกร่างออกจากกันก่อนตายได้มั้ย?

นายวอลเลซ ชาวอังกฤษที่เป็นหุ้นส่วนเดินทางมาด้วย แอบไปติดต่อเงียบๆ กับแพทย์เยอรมันที่ชื่อ นายแพทย์ รูดอล์ฟ เวอร์โชว์ ( Dr.Rudolf Virchow) เพื่อขอนัดให้แฝดมาตรวจร่างกาย

ลุงแฝดอิน-จัน บรรพบุรุษสยามของเรา ตอนนี้มีความเชื่องช้า ขึ้นรถลงเรือ เดินเหินไปไหนไม่ปราดเปรียวเหมือนตอนหนุ่มๆ แต่ก็ได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรีจากสังคมชาวเยอรมันที่อยากเห็นความประหลาดของแฝดบันลือโลกที่ข้ามทะเลมาจากอเมริกา หนังสือพิมพ์ในเบอร์ลินชื่อ The Vossiche Zeitung ฉบับ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๓ ลงข่าวครึกโครมเรื่องการแสดงตัวของลุงแฝดในเบอร์ลิน ทำให้การแสดงทุกรอบอุ่นหนาฝาคั่งจากชาวเมืองเบียร์และไส้กรอก

ประวัติความเป็นมาของแฝดสยามอายุ ๖๐ ปี ถูกนำไปพิมพ์ขาย และขายได้ขายดี แน่นอนที่สุด สรีระร่างกายของแฝดคู่นี้เป็นประเด็นอร่อยปากที่หมอในเยอรมันนำมาพูดคุย ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง และหมอทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะมาขอสัมผัสตัวเป็นๆ ของแฝดด้วยความอยากได้ใคร่รู้

การแสดงไหลลื่นไปทุกวัน จิตใจก็พะวงที่จะได้พบหมอเวอร์โชว์วันแล้ววันเล่า

คุณหมออายุ ๔๙ ปี แกมีลูกเล่นที่เหนือชั้น คืนวันหนึ่งหมอเวอร์โชว์แอบไปซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงของแฝดแบบไม่ให้ใครรู้ แกเข้าไปนั่งชมการแสดงได้พักเดียว แทนที่หมอจะได้ยินเสียงปรบมือ แต่หมอกลับได้ยินแต่เสียงหัวเราะปนเสียงบ่นเวทนาจากคนดูตลอดการแสดง

สิ่งที่หมอประจักษ์ด้วยตา คือ แฝดทั้งสองมีสภาพของผู้สูงวัยเงอะงะ งุ่มง่าม ไม่น่าดูชมแต่ประการใด การแสดงน่าเบื่อหน่ายจนคุณหมอทำใจไม่ได้ เลยต้องขอลุกออกจากห้องชมการแสดงก่อนจบ

ในที่สุด หมอเวอร์โชว์ผู้ใส่ใจกับลุงแฝด จึงยอมรับนัดให้ไปพบเพื่อตรวจร่างกายอย่างเป็นทางการ

จากการตรวจของแพทย์ชาวเยอรมันที่ชื่อเวอร์โชว์ราว ๑ ชั่วโมง คุณหมอบอกว่าจะส่งผลการตรวจวิเคราะห์ให้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่สุด แต่ที่หมอบอกได้ทันทีหลังการตรวจ คือ แฝดทั้งสองกำลังจะเป็นคนหูตึง โดยแฝดคนหนึ่งจะเริ่มหูตึงก่อน และจะตามด้วยแฝดอีกคน

หมอวินิจฉัยได้ตรงเป๊ะ เพราะแฝดจันเริ่มหูตึงทั้งสองข้างแล้ว ส่วนของแฝดอินนั้น หูข้างซ้ายด้านที่ติดกับแฝดจัน ก็เริ่มไม่ได้ยินเสียง

นอกจากนั้น หมอยังบันทึกไว้ด้วยว่า ใน ๑ นาทีชีพจรของแฝดจันเต้นเร็วกว่าของแฝดอิน ๖-๘ ครั้ง และแฝดจันหายใจเร็วกว่าแฝดอิน

ทีมแพทย์เยอรมันในเบอร์ลินยังระบุด้วยว่า สำหรับอวัยวะภายในของแฝดนั้น ทีมแพทย์ไม่มั่นใจประเด็นเดียว คือ แฝดใช้ตับร่วมกันหรือไม่?

นี่เป็นข้อมูลที่คุณหมอเยอรมันบันทึกไว้เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วครับ

ยุคสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์ที่จะมองเห็นตับ ไต ไส้ พุง ในร่างกาย หมอก็บอกอะไรมากไม่ได้นัก แต่สำหรับยุคปัจจุบันหมอบอกเราได้ทุกอย่างเหมือนหมอเดินเข้าไปในปากเรา แล้วเห็นทุกอย่างในร่างกาย (ผู้เขียน)

ลุงแฝดตระเวนแสวงหาหมอเพื่อผ่าตัดแยกร่างมาเกือบตลอดชีวิต อเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ยังไม่เคยมีหมอสำนักไหนกล้าลงมือผ่าให้ ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ตรงกันทั้งหมด คือ ถ้าผ่าแยกร่างคือการเสียชีวิต

ความฝันดับวูบลงอีกครั้ง ในเบอร์ลินผ่าแยกร่างไม่ได้ หมอไม่ลงมีดเฉือนให้ แถมยังกำลังจะกลายเป็นคนหูหนวกตอนแก่

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ไม่มีคำว่าท้อถอย

คณะของลุงแฝด ๕ คนนำโดยนายวอลเลซ เก็บข้าวของย้ายวิก ออกเดินทางต่อไปเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersberg) แล้วเดินทางต่อไป มุ่งหน้ามอสโก

การประสานงานล่วงหน้าทำได้อย่างยอดเยี่ยม ลุงแฝดได้รับการต้อนรับอย่างดีในเมืองหลวงของรัสเซียเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามค้นหาข้อมูลการแสดงในมอสโก ไม่มีบันทึกให้คนรุ่นหลังได้ติดตาม

ความเป็นคนดังของแฝดกระหึ่มในมอสโก ทำให้ทหารของพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ ๒ มาพบหลังเวที เพื่อขอเทียบเชิญแฝดสยามผู้อาวุโสและบุตรทั้งสองไปเข้าเฝ้าท่านฯ ในพระราชวัง

โอ้ว พระเจ้าช่วย…แฝดสยามนอนไม่หลับอีกแล้ว

ลุงแฝดพร้อมด้วยเจมส์ อายุ ๒๑ ปี และอัลเบิร์ต อายุ ๑๒ ปี เป็นแขกของพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ กษัตริย์ของรัสเซีย เดินทางเข้าไปในพระราชวังอย่างสง่างาม

อิน-จัน ต้องตกตะลึงอีกครั้งเมื่อพระเจ้าซาร์โปรดฯ ให้ลุงแฝดจากเมืองแม่กลองไปนั่งชมการแสดงละครในพระราชวังพร้อมกับพระองค์ ที่สำคัญที่สุดคือ พระเจ้าซาร์โปรดฯ ให้อิน-จัน นั่งดูละครด้วยกันในห้องส่วนตัวของพระองค์ในโรงละคร พระเจ้าซาร์ทรงพูดคุย หยอกล้อเป็นกันเองกับสุภาพบุรุษแฝดอย่างนึกไม่ถึง

ในการสนทนากับพระเจ้าซาร์ แฝดจันได้ทูลกับพระเจ้าซาร์ว่า ลูกชาย ชื่ออัลเบิร์ต ไม่ค่อยสบาย เป็นฝีที่บริเวณลำคอ ซึ่งพระเจ้าซาร์ ทรงเมตตารับสั่งให้หมอหลวงในวังมาช่วยดูแลรักษาให้ด้วย

นี่เป็นตำนานชีวิตของบรรพบุรุษไทย ที่คนไทยรุ่นหลังควรได้รับทราบ แฝดคู่นี้ แรกเกิดมาจากท้องนางนาก ที่บ้านเรือนแพริมน้ำ เมืองแม่กลอง มีแต่คนชี้นิ้วว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง แต่เมื่อไปอยู่อเมริกา ท่องยุโรป คนที่ร่างกายผิดปกติคู่นี้ กลับกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับเกียรติให้เข้าพบผู้นำของโลกในสมัยนั้น ชนิดที่ใครก็ทำเทียม เลียนแบบไม่ได้

แผนการเดินทางไป คือตระเวนต่อไปหาเงินในเวียนนา โรม มาดริด และตบท้ายด้วยการแสดงที่ปารีส

ในความเจิดจรัสรุ่งเรืองของยุโรปเวลานั้น แอบแฝงไปด้วยความคุกรุ่น ความขัดแย้งที่ซ่อนในใจของผู้นำประเทศ การแย่งชิงทรัพยากร การแข่งขันกันแย่งยึดดินแดนให้กว้างใหญ่ที่สุดของมหาอำนาจทั้งหลาย สะสมกันมาเหมือนไฟสุมขอน พร้อมที่จะเปิดศึกสงครามต่อกัน

นายวอลเลซ ที่เป็นผู้จัดการทีมของลุงแฝด ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ได้รับคำเตือนว่า ไฟสงครามในยุโรปกำลังก่อตัว บรรยากาศไม่อำนวยต่อการเดินทางไปหาเงิน
และข่าวลือก็เป็นความจริง ใน ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๓ ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับปรัสเซีย (พัฒนาต่อมาเป็นประเทศเยอรมัน)

คณะ ๕ คนของแฝด มีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือ ยกเลิกการเดินทางต่อ เก็บของกลับบ้านในอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ กำลังสร้างชาติให้แข็งแกร่ง โดยไม่เข้ามาข้องแวะกับความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ในยุโรป

จากมอสโก ย้อนกลับไปฮัมบูร์ก และตีตั๋วเรือโดยสารชื่อ Gluckstadt มุ่งหน้ากลับนิวยอร์ก ระหว่างการเดินทางบนเรือ แฝดผู้มากมิตรไม่เคยเหงา เฮฮากับผู้โดยสารมากหน้าหลายตา ที่ถนัดที่สุดคือ การดวลหมากกระดานกับใครก็ได้ ที่คิดว่าเก่งพอ

วันที่ ๗ ของการเดินทางบนเรือเดินสมุทรกลับอเมริกา สถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน หลังจากการดวลหมากรุกจบ ข้อมูลแรกระบุว่า แฝดเล่นหมากรุกกับ ดร.โรเบิร์ต ประธานาธิบดีประเทศไลบีเรีย ที่เดินทางมาบนเรือ ข้อมูลที่สองระบุว่า ลุงแฝดเล่นหมากรุกกับเฟรดเดอริก ดักกลาส (Frederick Douglas) ที่ปรึกษาคนสำคัญของประธานาธิบดีลินคอล์น

เกมดวลหมากรุกที่ลุงแฝดเก่งขั้นเทพจบลง ลุงแฝดลุกขึ้นยืนพร้อมกัน ปรากฏว่า แฝดจันลุกขึ้นตามแฝดอินไม่ไหว แขนขวา และขาไม่มีแรงพยุงตัว

แฝดอินสอบถามคู่ชีวิตตัวติดกันชื่อจัน ที่เคียงข้างกันมา ๖๐ ปี จันตอบว่าไม่มีแรง ไม่สามารถขยับตัวได้เลย แขนขวาชาไปหมด ชาลงไปถึงท่อนล่างของลำตัว นี่คืออัมพาตอย่างอ่อนๆ

สัญญาณเตือนความเสื่อมทรุดของสังขาร ได้มาถึงลุงแฝดอิน-จันแล้วขณะเดินทางบนเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกจากฮัมบูร์กกลับบ้านในอเมริกา เป็นการเจ็บป่วยแบบล้มหมอนนอนเสื่อครั้งแรกที่คนคู่ตัวติดกันไม่เคยประสบมาก่อนตั้งแต่เกิด

เมื่อแฝดจันขยับลุกออกจากเตียงไม่ได้ แฝดอินเลยต้องนอนบนที่นอนในเรือ ติดหนึบอยู่ด้วยกันตลอดการเดินทาง บนเรือไม่มีหมอที่จะดูแลรักษา

ท่านผู้อ่านคงมโนได้นะครับว่า สภาพที่แฝดทั้งสองประสบอยู่เวลานั้น แฝดอิน-จัน มีลำตัวติดกันตรงบริเวณซี่โครง แฝดจันเป็นอัมพาต แขนข้างหนึ่งและร่างกายท่อนล่างไม่มีแรง ตัวเชื่อมติดกัน จะลุกนั่งนอนเดิน จะไปห้องน้ำ ทานอาหาร มันทรมานร่างกายและจิตใจแฝดอินแค่ไหน

สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๓ เรือเดินสมุทรจากฮัมบูร์กวิ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เทียบท่าที่นิวยอร์ก ผู้โดยสารทั้งหมดขึ้นฝั่ง ลูกชายของแฝดอิน-จัน รีบพาพ่อและลุงแฝดไปให้หมอตรวจทันที ลุงแฝดอยู่ในความดูแลของแพทย์ในนิวยอร์ก ๒-๓ วัน เมื่ออาการทุเลาลง พอจะขยับเขยื้อนได้บ้าง ครอบครัวบังเกอร์ทั้ง ๔ ชีวิตรีบเดินทางกลับบ้านที่เมาท์แอรี่ นอร์ธแคโลไรนา

หมอโจเซฟ และหมอวิลเลี่ยม โฮลลิงส์เวิธ (Dr.Joseph- Dr.William Hollingsworth) คือเพื่อนรักและแพทย์ประจำครอบครัวรุดมาตรวจร่างกายทันทีที่แฝดกลับมาถึงบ้าน

อาการของแฝดจัน คือ ไอ เหนื่อย หอบ แขนขวาและร่างกายท่อนล่างไม่มีแรง ส่วนแฝดอินยังสุขภาพดีแข็งแรง แต่สภาพจิตใจตกต่ำสุดขีด แฝดอินมีความเครียดกับแฝดจันที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหฉุนเฉียว และแฝดจันที่บัดนี้กลายเป็นนักดื่มหัวราน้ำ

อาการของแฝดจันกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงต้องพยุงกันไปตลอดเวลา ภรรยาของแฝดที่เป็นพี่น้องคลานตามกันมา คือ ซาราห์ และอาดีเลด คือ ตัวละครที่มีชีวิตจริง ต้องทำงานหนักเพื่อประคับประคองร่างกายที่อ่อนล้าและจิตใจที่ตกต่ำของสามีแฝดทั้งสอง

เธอทั้งสองทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการดูแลสามี เปรียบประดุจของขวัญจากพระเจ้าที่ส่งมาเป็นภรรยาของแฝดสยามยามแก่เฒ่า

ตำนานชีวิตของแฝดสยามนักสู้จากเมืองแม่กลองยิ่งใหญ่ตลอดกาล ช่วงสุดท้ายของชีวิตแฝดบันลือโลกกำลังวิ่งเข้ามาหา งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา





• เมื่อพญามัจจุราช กวักมือเรียกทีละคน

ชีวิตของคนคู่ตัวติดกัน ที่เรียกว่า Siamese Twins หรือ แฝดสยาม อิน-จัน บรรพบุรุษของชาวไทยจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่ไปใช้ชีวิตในอเมริกาย่างเข้าสู่วัย ๖๐ ปี โชกโชนด้วยประสบการณ์ขั้นเทพ ร่างกายที่แปลกประหลาดน่าจะเป็นกาลกิณีอับอาย น่าจะเป็นอุปสรรคของชีวิต ผู้คนทั้งหลายเย้ยหยัน แต่คนคู่อิน-จัน กลับใช้ชีวิตได้อย่างสง่างาม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เดินทางท่องโลก มีเงินมีทอง มีครอบครัวในอเมริกา สร้างตำนานระดับโลกต้องจารึก

ลุงแฝดหอบหิ้วพะรุงพะรังกันกลับมาบ้านในอเมริกาหลังจากยุติแสดงตัวหาเงินในเยอรมันและรัสเซีย เพราะเกิดสงครามในยุโรป แฝดจันเป็นอัมพาต ท่อนล่างของลำตัวไม่มีแรง แขนขวาไม่มีกำลังเป็นตัวรั้งหน่วงแฝดอินให้ต้องหอบหิ้วกัน ใช้เชือกรั้งร่างกายให้พยุงกันไปไหนต่อไหนได้บ้าง

แฝดอิน-จัน ตระหนักดีว่า การที่ร่างกายเชื่อมติดกัน และอวัยวะภายในร่างกายยังคงเป็นปริศนาแบบนี้ หากวันหนึ่งใครสักคนต้องตายลงก่อน จะทำให้อีกคนต้องตายตามเป็นแน่แท้

ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ แยกร่างกายออกจากกันเป็นอิสระ ขอเป็นคน ๒ คน ๒ ร่างกาย แต่ที่ผ่านมาทั้งชีวิต ไม่มีหมอที่ไหนยอมผ่าตัดแยกร่างให้

คนเป็นอัมพาตตัวคนเดียวก็น่าอึดอัดอยู่แล้ว แต่นี่คน ๒ คน ดันมีร่างกายตรงบริเวณหน้าอกเชื่อมติดกัน ยิ่งเป็นความระทมขมขื่นเป็นสองเท่า

กฎแบ่งกันอยู่บ้านละ ๓ วันมานานนับ ๑๐ ปี ยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด บ้านของแฝดอินและบ้านของแฝดจัน ๒ ที่ เมาท์แอรี่ เมืองเล็กๆ ในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐ นอร์ธแคโรไลนา ห่างกันราว ๑ ไมล์ แยกกันอยู่เพื่อลดความแออัดและลดการกระทบกระทั่งอย่างได้ผล

ครอบครัวของแฝดทั้งสอง มีหมอโจและหมอบิลลี่ เพื่อนรักของลุงแฝดทำหน้าที่คอยดูแลมายาวนาน หมอทั้งสองประคองดูแลสุขภาพให้แฝดทั้งสองมีสุขภาพร่างกายดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัญหาหลักคือ แฝดจันพยายามบำบัดความกลัดกลุ้มด้วยการใช้เหล้าเป็นตัวช่วยเสมอมา

วันที่แฝดจันไม่กินเหล้า แฝดทั้งสองก็เป็นปกติสุข แยกสั่งการคนงานในไร่ของตนให้ทำงาน บริหารจัดการธุรกิจ ทำมาค้าขายแบบที่เพื่อนบ้านอเมริกันยังต้องอิจฉา แต่เมื่อดื่มเหล้าแฝดจันจะกลายเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจที่สุดที่ไม่สามารถผลักไสออกไปได้ และการทะเลาะเบาะแว้ง มีปากเสียงก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน จะจบลงด้วยความใจเย็นของแฝดอินที่คอยปลอบประโลมและเอื้อเฟื้อต่อแฝดจันเสมอ และแฝดจันก็จะขอโทษขอโพยแฝดอิน เป็นเช่นนี้ร่ำไป แต่ไหนแต่ไรตั้งแต่เป็นเด็กแถวเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม

การทำมาหาเลี้ยงชีพ แฝดทั้งสองทุ่มเทกับการเกษตร ที่ดิน ทรัพย์สินของแฝดแยกขาดจากกัน

แฝดจันมีลูกเหลือ ๙ คน ทำมาค้าขายเก่ง มีกิจการผลิตเนย ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ในที่ดิน ๓๕๐ เอเคอร์ มีคนงานผิวสีทำไร่ ๓ คน มีการประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเสียภาษีว่า ทรัพย์สินของแฝดจันมีค่ารวมราว  ๒๓,๐๐๐ เหรียญ ถือได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินในสังคมชนบทของอเมริกา

ส่วนแฝดอิน ผู้ใจดี ใจเย็น ได้รับการประเมินทรัพย์สินและที่ดินเป็นมูลค่าราว ๗,๐๐๐ เหรียญ น้อยกว่าแฝดอิน แต่ครอบครัวก็สุขสบายพอตัว

ถ้าอารมณ์ดีๆ อากาศแจ่มใส ลุงแฝดทั้งสองจะชวนกันนั่งรถม้าออกไปกินลมชมวิว ทักทายเพื่อนฝูง เฮฮา เพื่อผ่อนคลาย และบางครั้งยังเข้าไปช้อปปิ้งถึงในเมือง ซึ่งแทบทุกคนจะคุ้นเคยกับลุงอิน-จัน คู่นี้เป็นอย่างดี

หนังสือพิมพ์ยังติดตามเขียนข่าวชีวิตและครอบครัวของลุงแฝดเป็นระยะๆ

ความโชคดี โดดเด่นของแฝดคู่นี้ประการหนึ่งที่ฝรั่งเขียนบันทึกไว้คือ ความสามารถและพลังทางเพศที่เหลือเฟือ

ที่ผ่านมา หลังแต่งงาน ทั้งคู่แทบไม่เคยปล่อยให้ภรรยาท้องว่าง ทั้งสองมีลูกต่อเนื่องกันมา ประดุจจูงมือกันเดินแถวออกมาจากครรภ์ของซาร่าห์และอาดีเลดได้

ลูกสาวคนสุดท้ายของแฝดจัน ชื่อ แฮตตี้ คลอดออกมาก่อนแฝดจันเป็นอัมพาต ๒ ปี

ส่วนโรเบิร์ต ลูกชายคนสุดท้องของแฝดอิน เกิดก่อนแฝดจันเป็นอัมพาต ๓ ปี

แปลความหมายได้ว่า แฝดอายุใกล้ ๖๐ กันแล้ว ยังทำให้ภรรยาทั้งสองตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัวที่พระเจ้าประทานมาให้

อย่าลืมนะครับว่า ลุงแฝดตัวติดกัน คงชวนกัน สะกิดกัน และมีความสุขกายสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย ๔ คนเสมอมา

ท่ามกลางความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุลักทุเล ครอบครัวทั้งสองยังมีความเห็นใจ ห่วงใยเอื้ออาทรต่อกันเสมอ เมื่ออายุมากขึ้นเพื่อนฝูงทั้งหลาย งานสังคมที่เคยไปร่วมเสมอก็ต้องถอยตัวเองออกมา อยู่กับความจริงของชีวิต

เกล็ดตำนานที่ผู้พิพากษาเกรฟส์ เพื่อนรักของลุงแฝด บันทึกเอาไว้ระบุว่า อยู่มาวันหนึ่ง แฝดได้รับจดหมายจากเมืองสยาม เขียนโดยนายชู แจ้งมายังน้าแฝดว่า นายน้อยพี่ชายของแฝดที่เหลืออยู่คนเดียวเสียชีวิตแล้วที่บ้านแม่กลอง ภรรยาของลุงน้อยและลูก ๘ คน ยังอยู่ในเมืองแม่กลอง

นายชูคนนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลูกของพี่สาวแฝดที่ไปแต่งงานกับคหบดีในบางกอก และนายชูคนนี้เคยมาเยี่ยมน้าแฝดที่อเมริกา มีการศึกษาได้เรียนหนังสือในบางกอก
ขอนำพาท่านผู้อ่านย้อนอดีต กลับมามองสยามว่าในห้วงเวลานั้นมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง

ในช่วงที่แฝดสยามออกจากสยามไปอเมริกา ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ มาบัดนี้กลายเป็นลุงแฝดที่อายุ ๖๓ ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยของในหลวง ร.๕ ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ในหลวง ร.๕ เสด็จเยือนเกาะสิงคโปร์และเกาะชวา (อินโดนีเซีย) เป็นครั้งแรก โปรดเกล้าฯ ให้เลิกทรงผมมหาดไทย โปรดเกล้าฯ ให้เลิกการหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้าฯ ทรงให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาส ทรงให้ตั้งโรงเรียนสตรีวังหลัง โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือรัฐมนตรีสภา และโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงกิจการทหารให้เป็นแบบตะวันตกครั้งใหญ่

กลับไปดูตำนานชีวิตลุงแฝดที่กำลังป่วย ในอเมริกาครับ

แฝดจันอาการยังไม่ดีขึ้นจากอัมพาตท่อนล่างของลำตัว สุขภาพมีแต่ทรงกับทรุด แต่สิ่งที่สุภาพบุรุษทั้งสองท่านไม่เคยงอแง คือ กฎอยู่บ้านละ ๓ วันที่ยึดถือกันมามากกว่า ๑๐ ปี
ในช่วงเวลา ๓ วันที่ไปอยู่บ้านของแฝดอิน แฝดจันก็จะต้องหุบปาก ให้แฝดอินเป็นนาย แฝดจันต้องให้ความร่วมมือทุกอย่าง และนี่คือ ๓ วันที่แฝดอินห้ามแฝดจันดื่มเหล้าเด็ดขาด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดี

แต่ ๓ วันถัดมา เมื่อต้องหมุนเวียนไปอยู่ที่บ้านแฝดจัน แฝดอินจะต้องทำเหมือนกับว่าไม่มีตัวตนในโลกนี้ แฝดจันจะกินเหล้าหัวราน้ำ แฝดอินก็ต้องหุบปากเงียบ

นี่คือวงจรชีวิตสุดแสนพิสดารของแฝดบันลือโลกคู่นี้ที่เรียกว่า Siamese Twins ที่ฝรั่งต้องเอามาตีแผ่ให้คนทั้งโลกทราบ

ช่วงเวลาแห่งความเจ็บป่วยแสนขลุกขลักผ่านไปราว ๓ ปี

เช้าวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๗ เป็นห้วงเวลาที่แฝดทั้งสองต้องอยู่บ้านของแฝดจัน หนุ่มคาวบอยในชุมชน ชื่อ เชฟเพิร์ด มอนโร ดักเกอร์ แวะเวียนมาเยี่ยมลุงแฝด ทักทายพูดคุยพอหอมปากหอมคอ แล้วลากลับ แฝดจันเริ่มมีอาการไอต่อเนื่อง หนักขึ้นและหนักขึ้น เหนื่อย หอบ เจ็บหน้าอก หมดเรี่ยวแรง ซึ่งเดิมก็เป็นอัมพาตอยู่ก่อนแล้ว

หนุ่มน้อยดักเกอร์คงไม่ทราบหรอกว่า เขาคือแขกคนสุดท้ายในชีวิตของ Siamese Twins แฝดบันลือโลกที่ได้มาพบปะพูดคุยด้วย
หลังจากเพื่อนบ้านกลับไปแล้ว แฝดจันไอไม่หยุด บ่นเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หน้าตาบอกบุญไม่รับ

อาดีเลดภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแฝดจันรีบให้รถม้าไปรับหมอโจตามที่เคยรับปากไว้ ว่าเรียกได้ตลอดเวลา แต่ปรากฏว่าหมอวิลเลี่ยม (ฝรั่งเรียกว่า บิลลี่) นั่งรถม้ามาแทน
หมอบิลลี่ลงความเห็นว่า แฝดจันหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ต้องนอนพักผ่อน ห้ามออกไปโดนความหนาวเย็น ทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ ส่วนแฝดอินร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ

แฝดอินที่แข็งแรงดีทำตามหมอสั่ง ให้ความร่วมมือเต็มที่ นอนก็นอนด้วยกันบนเตียงถึงแม้จะไม่ป่วยตลอดจันทร์-อังคาร-พุธ เพราะไม่รู้จะหนีไปไหนมาตั้ง ๖๓ ปีแล้ว ทั้งคู่นอนคุยกัน ให้กำลังใจ ดูแลกันเป็นอย่างดี ความรักของแฝดที่มีต่อกัน ยิ่งใหญ่มากกว่าตำนานรักใดๆ ในโลกนี้ แฝดจันอาการดีขึ้นเล็กน้อย

กฎ ๓ วันเป็นสิ่งที่แฝดจันต้องเคารพแบบไม่มีวันอ่อนข้อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม อาการของแฝดจันทรงตัว ไอน้อยลง แต่ยังคงต้องพักผ่อน ทำร่างกายให้อบอุ่นเสมอ เมื่ออาการกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แฝดจันยืนยันว่าจะต้องย้ายไปอยู่บ้านของแฝดอินตามกติกา ๓ วัน

แฝดอินขอร้องว่าไม่ต้องย้ายไปบ้านแฝดอินหรอก เพราะหมอไม่ให้กระทบหนาว ร่างกายต้องอุ่นตลอดเวลา อาดีเลด ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากก็ร้องขอ มิให้สามีเดินทางระยะ ๑ ไมล์เพราะอากาศหนาวจัด

รถม้าเป็นรถเปิดประทุน ไม่มีหลังคา และเย็นวันนั้นอุณหภูมิดิ่งลงสู่จุดเยือกแข็ง หิมะกระหน่ำไร้ความปรานี ถนนขรุขระเต็มไปด้วยหิมะ

แฝดจันเป็นสุภาพบุรุษรักษาคำพูด ในที่สุดแฝดทั้งสองทุลักทุเลหอบหิ้วกันนั่งรถม้าวิ่งฝ่าหิมะ ฝ่าความหนาวเพื่อไปบ้านของแฝดอินตามกติกาบ้านละ ๓ วัน

ตามกติกาเรื่องบ้านละ ๓ วันนั้น จะต้องเดินทางไปให้ถึงก่อนค่ำมืด รถม้าวิ่งฝ่าความหนาวเย็นมาตลอดทาง แฝดทั้งสองที่ตระกองกอดกันมาตั้งแต่เริ่มหัดเดินที่เมืองแม่กลอง ผ่านมา ๖๓ ปี มาจนบัดนี้ก็ยังต้องกอดกันเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตบั้นปลาย

เวลาผ่านไปนานเกินจะจดจำ รถม้าไปถึงบ้านของแฝดอิน ซาราห์และลูกๆ ลงมาช่วยกันพาพ่อและอาจันที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ และกำลังไอจนหมดแรงขึ้นบ้านทันที
ซาราห์เตรียมซุปร้อนๆ ไว้ต้อนรับสามีและคู่แฝด แฝดจันทานได้ไม่มากนัก เพราะหนาวสั่น และดูเหมือนว่าอาการป่วยจะทรุดลงไปจากความหนาวเย็นที่เพิ่งผจญมาบนรถม้า
ลุงแฝดทานอาหารเสร็จ ทุกคนในบ้านแยกย้ายกันไป

แฝดจันขอร้องให้แฝดอินพากันไปนั่งผิงที่หน้าเตาผิงในบ้านเพื่อรับไออุ่นจากกองฟืนที่เผาไหม้ คนคู่สู้ชีวิตนั่งคุยกันหน้าเตาผิงเป็นเวลานานพอที่จะรับรู้ความรักแท้ที่เป็นนิรันดร์
เมื่อแฝดอินรู้สึกดีขึ้น แฝดคู่ทุกข์คู่ยากก็ประคองกันไปที่ห้องนอน ทันทีที่แผ่นหลังถึงฟูก แฝดจันหลับปุ๋ย

รุ่งสางวันต่อมา เมื่อรู้สึกตัวตื่น แฝดจันบอกกับแฝดอินว่า เมื่อคืนเจ็บหน้าอกมาก เจ็บทั้งคืน นึกว่าจะตายซะแล้ว

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม อาดีเลดเข้ามาสอบถามอาการสามี ซึ่งแฝดจันฝืนตอบไปว่า ดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องห่วง แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น อาการของแฝดจันทรุดลง ลุงแฝดทั้งสองนั่งๆ นอนๆ ในบ้าน คุยกันเรื่อยเปื่อยแก้เหงายาวไปจนถึงอาหารค่ำ

หลังอาหารค่ำ ที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแบบอบอุ่นแฝดพร้อมใจกันเข้านอน

มันเป็นคืนที่เงียบสงัด วังเวง และเย็นยะเยือก

แฝดอินที่สุขภาพดี แข็งแรง เมื่อหัวถึงหมอนหลับสนิท ส่วนแฝดจันที่อาการไม่ค่อยดียังไม่หลับ อึดอัด หายใจลำบาก

แฝดจันสะกิดคู่ชีวิตตัวติดกันที่กำลังกรนให้ตื่น เพื่อขอให้พาไปสูดอากาศบริสุทธิ์ใกล้หน้าต่าง หลังจากสูดอากาศ ดื่มน้ำนิดหน่อย แฝดจันจึงชวนแฝดอินกลับเข้าไปนอน
แฝดอินชิงหลับก่อนได้อีกครั้ง แฝดจันยังไม่หลับ และกระสับกระส่าย

นาฬิกาชีวิตเดินผ่านเที่ยงคืน ข้ามไปวันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม แฝดจันก็ยังไม่หลับ แถมสะกิดแฝดอินให้พาไปนั่งผิงไฟที่ห้องผิงไฟอีกครั้ง แฝดอินงัวเงียปฏิเสธที่จะลุกขึ้น บอกว่าบนเตียงนี่ก็อุ่นพอแล้ว

แฝดจันยืนยันว่า หายใจไม่ออก เขย่าตัวแฝดอินบนเตียง และในที่สุดแฝดอินผู้ให้มาตลอดชีวิต ก็ประคองแฝดจันมานั่งบนเก้าอี้แฝดในห้องที่มีเตาผิงไฟ

ราวตี ๑ เศษ หลังจากคุยกันจนอิ่ม ทั้งสองประคองกันกลับไปที่เตียงอีกครั้ง ทั้งสองเอนกายลงบนเตียงพร้อมกัน คราวนี้แฝดจันผล็อยหลับทันทีที่หลังแตะฟูก

ราวตี ๔ มีเสียงร้องเรียกออกมาจากห้องของแฝด ทุกคนในบ้านไม่รู้สึกแปลกใจอันใด แต่วิลเลี่ยมลูกชายวัย ๑๘ ของแฝดอิน ถือตะเกียงลุกไปดูห้องนอนพ่อ

วิลเลียมเปิดผ้าห่มดูอาการหายใจของพ่อ ที่บริเวณหน้าอกมีการขยับเล็กน้อย และถามพ่อว่าเป็นไงบ้าง แฝดอินตอบลูกว่า พ่อสบายดี ไม่เป็นอะไร และบอกให้ไปดูอาจัน

วิลเลียมเดินอ้อมเตียงไปอีกด้าน ขยับตะเกียงในมือลงไปใกล้ตัวอาจัน เพ่งมองที่หน้าอกชั่วครู่ใหญ่ ไม่มีการไหวติง หน้าอกนิ่งสนิท และเมื่อเอื้อมมือไปแตะลำตัวอาจัน สัมผัสที่มือได้รับคือความเย็นเยือก

วิลเลียมพูดพึมพำในลำคอว่า อาจันตายแล้ว !

วิลเลียมตะโกนเรียกคนในบ้านให้มาช่วยกันดูอาจันอีกครั้ง ซึ่งสมาชิกในบ้านทุกคนมาสัมผัส พยายามขยับ ปลุกแล้วปลุกอีก แต่อาจันหาได้ไหวติงแต่ประการใดไม่

แฝดอินที่นอนเคียงคู่ทราบดีว่า พญามัจจุราชได้มานำตัวแฝดจันไปแล้วเป็นคนแรก

เสียงร้องไห้ระงมตกใจ เสียใจดังทั่วบ้าน เสียงคร่ำครวญจากลูกหลานโหยหวนระคนกันไป

แฝดอินอยู่ในอาการผวาสุดขีด พึมพำในลำคอฟังไม่ได้ศัพท์ เพราะแฝดอินคือ คนเดียวบนปฐพีนี้ที่ทราบว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขา

ประโยคเดียวที่พอฟังรู้เรื่องจากปากของแฝดอิน คือ ต่อไปก็ฉันนะสิ !

พญามัจจุราชมารับแฝดจันไปก่อน ร่างกายคน ๒ คนที่เชื่อมติดกันมา ๖๒ ปี มีการใช้อวัยวะร่วมกันมาตลอด พญามัจจุราชจะจัดการอย่างไรต่อไปกับแฝดอิน


เชิญติดตามตอนต่อไปครับ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:43:42 »

.



• อีกราว ๒ ชั่วโมง…พญามัจจุราชก็มารับแฝดอินไปอีกคน

ราวตี ๔ ของวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๑๗ ณ เขตปกครองเมาท์แอรี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา Siamese Twins หรือแฝดสยาม จากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ต้นตระกูลบังเกอร์ (Bunker) สูญเสียแฝดจันที่มีเรือนร่างติดกับแฝดอินไปโดยไม่มีวันกลับ

คืนก่อนหน้านี้ แฝดคู่ทุกข์คู่ยากที่กระหนาบข้างกันมา ๖๓ ปี ได้พูดคุย ปรับทุกข์ ผูกมิตร ให้กำลังใจซึ่งกันและกันหน้าเตาผิงในบ้านแล้วจูงมือกันเข้านอนบนเตียงคู่ แล้วก็ผล็อยหลับไปทั้งคู่

ไม่มีลางสังหรณ์ใดๆ มาสะกิดเตือนก่อนเลยว่า คนคู่สู้ชีวิตจากสยามประเทศคู่นี้จะต้องแยกวิญญาณออกจากกันซะแล้ว

พญามัจจุราชมาพรากเอาวิญญาณของแฝดจันไปเงียบๆ คงทิ้งให้แฝดอินที่นอนติดกันถึงกับผวาที่จะต้องตามแฝดจันไป

แฝดอินสุขภาพแข็งแรงดี มีเรือนร่างติดกับแฝดจันมา ๖๓ ปี นอนขนาบข้างแฝดจันที่ปราศจากวิญญาณด้วยความตื่นตระหนก พร้อมกล่าวกับภรรยาและลูกหลานว่า “คนต่อไป ก็ฉันสินะ” มันคือประโยคที่แฝดอินมีแรงรำพึงออกมาจากลำคอที่สั่นเครือ

“ขอพระผู้เป็นเจ้า ประทานความเมตตาต่อวิญญาณของข้าพเจ้าด้วย” ประโยคสุดท้ายของชีวิตแฝดสยามผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก พร้อมกับกอดศพของแฝดจันแล้วนิ่งสนิท ท่ามกลางความสงบ เงียบสงัด แสนวังเวง

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งมาอ่านมหากาพย์ตอนใกล้อวสานตอนนี้ อาจไม่ทราบว่า อิน-จัน หรือแฝดสยาม ฝรั่งเรียกว่า Siamese Twins เป็นแฝดประหลาดที่มีร่างกายบริเวณหน้าอกเชื่อมติดกันมาตั้งแต่เกิด มีพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันขอเช่าตัวจากแม่ในราคา ๑,๖๐๐ บาท เดินทางออกจากสยามไปอเมริกาตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี ตอนนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓

แฝดอิน-จัน ตั้งรกราก มีบ้าน มีเมียฝรั่งผิวขาว ในอเมริกา มีครอบครัวใหญ่ ลูกรวม ๒ ท้อง ๒๑ คน มาบัดนี้อายุเหยียบ ๖๓ ปี ตระเวนไปหาหมอที่เก่งที่สุดในอเมริกาและยุโรปทั่วทุกสารทิศ ไม่มีหมอสำนักไหนยอมผ่าแยกร่างให้

“แฝดคนคู่” ทราบดีทุกลมหายใจว่า ความตายของใครคนหนึ่งจะทำให้อีกคนต้องตายตาม จึงดิ้นรนขวนขวายจะให้หมอผ่าแยกร่างกายให้มานานแล้ว หมอโจและหมอบิลลี่ที่สนิทกับครอบครัวของแฝดเคยบอกว่า หากใครคนหนึ่งเสียชีวิตลง จะรีบมาผ่าแยกร่างให้ทันที และนาทีนี้ แฝดจันหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เส้นโลหิตในสมองอุดตันเสียชีวิตไปขณะนอนอยู่ข้างๆ

ขณะที่แฝดจันเสียชีวิต เป็นห้วงเวลาที่แฝดทั้งสองต้องมานอนที่บ้านของแฝดอินตามกฎ ๓ วัน

ท่ามกลางความหนาวเหน็บ บวกกับอาการตกตะลึง ซาราห์และลูกๆ ชะเง้อมองหารถม้าที่กำลังบึ่งไปรับหมอโจและหมอบิลลี่ ที่สัญญาว่าจะมาผ่าแยกร่างเพื่อรักษาชีวิตของแฝดอีกคนไว้ให้จงได้

๑ นาทีที่ผ่านไปช่างยาวนานประดุจ ๑ ชั่วชีวิตคน หมอโจคือผู้กำหนดชะตาชีวิตว่า แฝดอินจะอยู่หรือตาย

บ้านหมอโจห่างออกไป ๓ ไมล์ (ราว ๕ กม.)

ลูกๆ ทุกคนในบ้านพร้อมใจกันมาปลอบใจพ่อแฝดอินที่อยู่ในอาการผวา ตื่นตระหนก เพราะทราบดีว่าจะต้องตายตกตามกันไปเป็นแน่แท้ ร่างกายของแฝดอินชุ่มไปด้วยเหงื่อจากอาการช็อก แต่ยังพอมีสติเล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะแฝดจันจะเสียชีวิตให้ซาราห์และลูกๆ ทุกคนได้ฟัง

หลังจากปัจฉิมวาจาประโยคนี้ แฝดอินนอนสงบนิ่งกอดร่างของแฝดจันไปอีกราว ๑ ชั่วโมง โดยไม่ไหวติง ไม่มีใครรู้ว่าควรจะต้องรักษาพยาบาลอย่างไรเพื่อช่วยชีวิตแฝดอิน มันช่างเป็นความทรมานกายและใจสุดบรรยาย

หมอโจผู้มีน้ำใจแสนประเสริฐพร้อมเครื่องมือผ่าตัดนั่งรถม้าฝ่าความหนาวยะเยือกมาถึงที่บ้าน แต่พบว่าแฝดอินก็เพิ่งหมดลมหายใจตามแฝดจันไปอย่างสงบแล้ว

วินาทีก่อนจากโลกนี้ไป ทั้งคู่ยังต้องกอดกัน ความตายมิอาจพรากให้สุภาพบุรุษเลือดสยามคู่นี้ต้องแยกจากกัน

มหากาพย์ชีวิตของ Siamese Twins หรือแฝดสยามที่โด่งดังกว่าครึ่งโลก ปิดฉากลงในวัย ๖๓ ปี

เช้าวันถัดมา เพื่อนฝูง มิตรรักทั้งหลายในชุมชนและเมืองถัดไปต่างรับทราบการจากไปของ อิน-จัน บังเกอร์ ฝาแฝดร่างกายติดกันจากสยามประเทศที่กลายมาเป็นประชาชนอเมริกันที่มีคุณค่า ด้วยร่างกายที่เป็นจุดอ่อนกว่าคนทั่วไป แต่สามารถสร้างตัว สร้างตน ทำมาหาเลี้ยงชีพ จนกลายเป็นผู้มีอันจะกินได้

บรรดามิตรรักบ้านใกล้เรือนเคียงต่างร่วมใจกันมาเพื่อแสดงความอาลัย แต่ไม่ปรากฏพิธีศพแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เฮอรัลด์ ในอเมริกาพาดหัวการเสียชีวิตของปู่แฝด และเล่นข่าวต่อเนื่องอีกหลายวัน ทำเอาครอบครัวบังเกอร์ต้องเป็นกังวลกับปัญหาใหม่ คือ แพทย์หลายสถาบันพยายามที่จะขอเป็นเจ้าภาพผ่าศพพิสูจน์ เพื่อไขปริศนาอวัยวะภายในร่างกายของปู่แฝด แพทย์ทั้งหลายอยากรู้จริงๆ ว่า ข้างในร่างกายมนุษย์ประหลาดมีโครงสร้างอย่างไร และมีอะไรซุกซ่อนอยู่

แม้กระทั่งพ่อค้า นักธุรกิจ ก็แสดงความจำนงอยากซื้อศพเอาไปดองเพื่อนำออกแสดงหาเงิน ถ้าเป็นในเมืองไทยก็คล้ายๆ กรณีศพของซีอุยที่ชอบกินตับคน ที่ใครก็อยากเห็นตอนตาย

ร่างที่ไร้วิญญาณของปู่แฝดเป็นเงินเป็นทองแม้ยามตาย ที่ผู้คนพยายามแย่งยื้อ หรือมีคนคิดจะขโมยศพด้วยซ้ำไป

เมื่อครอบครัวบังเกอร์กลับมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา ในขั้นต้นตกลงกันว่าได้ว่า ให้นำศพบรรจุลงในโลงไม้วอลนัท และเพื่อไม่ให้ศพเน่าเหม็นและเพื่อป้องกันการขโมยศพ จะต้องบรรจุลงในโลงศพที่ทำด้วยดีบุกอีกชั้นหนึ่ง และฝังโลงศพไว้ในบริเวณบ้าน

ชาวเมืองเมาท์แอรี ชื่อ ไอแซค ออกัสตัส ไรช์ (Isac Augustus Reich) มีอาชีพทำถังดีบุก เลยต้องหันมาทำโลงศพดีบุกแทน ประเด็นสำคัญคือยังไม่ได้ฉีดยารักษาศพ

ครอบครัวบังเกอร์ มีลูกชายคนโตชื่อคริสโตเฟอร์ บังเกอร์ เป็นอดีตทหารม้ากองทัพฝ่ายใต้ ผ่านการรบในสงครามกลางเมือง (Civil War) เคยโดนจับเป็นเชลยศึก ต่อมาไปทำมาหากินอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเดินทางกลับมาถึงเมาท์แอรี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดการศพ

มีเกร็ดตำนานเล่าว่า ซาร่าห์และอาดีเลด ๒ ภรรยาของแฝดสยามไม่แน่ใจในการทำพิธีทางศาสนา เนื่องจากแฝดสยามคู่นี้ตั้งแต่แต่งงานกันมาไปโบสถ์ด้วยกันเสมอ แต่ไม่เคยปฏิญาณตนเป็นคริสต์ ในขณะที่ตอนเป็นเด็กที่เมืองแม่กลองเป็นชาวพุทธ

ในช่วงที่ปู่แฝดจากแม่กลองเสียชีวิต ตรงกับช่วงที่นายพลยูลีซิส แกรนท์ (Ulysses Grant : อดีตแม่ทัพของฝ่ายเหนือที่ชนะสงครามกลางเมือง) เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

หมอโจที่เป็นคู่คิดของครอบครัวบังเกอร์รับหน้าที่ประสานการทำงานเรื่องศพ ซึ่งในใจของหมอโจค่อนข้างจะสนับสนุนการบริจาคศพให้กับสถาบันทางการแพทย์

สื่อกระแสหลักคือหนังสือพิมพ์ในอเมริกา ยังคงติดตามชีวิตคนดังหลังความตายไม่ลดละ พร้อมกับการตั้งคำถามต่อสังคมต่อไปว่า สาเหตุที่แฝดอินตาย ทั้งๆ ที่มิได้เจ็บป่วย เกิดจากอะไรกันแน่ ?

หนังสือพิมพ์ NY Herald ส่งนักข่าวจากนิวยอร์กมาที่เมาท์แอรีเพื่อขอสัมภาษณ์หมอโจถึงสาเหตุที่แฝดอินต้องตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ช่วยอะไรไม่ได้
หมอโจให้ความเห็นในทำนองว่า แฝดอินตายเพราะหวาดผวา เกิดอาการช็อกตกใจสุดขีด เนื่องจากฝังใจว่า เมื่อแฝดคนหนึ่งตายและอีกคนต้องตายตาม ความเห็นหมอโจดังกล่าวทำเอาหลายคนส่ายหน้า ไม่เห็นด้วย เลยกลายเป็นประเด็นอื้ออึง ต่อความยาวสาวความยืดกันไปในสังคมเมืองมะกัน

การเจรจาเรื่องศพของแฝดอิน-จัน มายุติลงโดยที่คุณหมอวิลเลียม เอช. แพนโคสท์ (William H. Pancoast) อธิการบดีวิทยาลัยแพทย์เจฟเฟอร์สัน (Jefferson Medical College) ติดต่อผ่านหมอโจ ขอความกรุณาครอบครัวบังเกอร์บริจาคศพเพื่อเป็นวิทยาทานแก่วงการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งครอบครัวบังเกอร์ไฟเขียวให้ความเห็นชอบถ้วนหน้า

ทีมแพทย์กล่อมครอบครัวบังเกอร์ว่า ตั้งแต่แฝดสยามมาเหยียบแผ่นดินอเมริกาตอนอายุ ๑๘ ปี แพทย์ทั้งหลายในอเมริกาและยุโรปได้ช่วยดูแลรักษาแฝดมาตลอด เมื่อแฝดเสียชีวิตลงคู่แฝดต้องตอบแทนแพทย์ โดยการให้แพทย์ศึกษาร่างกายของแฝด

เมื่อหมอแพนโคสท์และทีมแพทย์ได้รับโทรเลขข่าวดีว่าจะได้ศพของแฝดสยามมาผ่าพิสูจน์ จึงรีบเดินทางมาเมาท์แอรีทันที

๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๗ ทีมแพทย์เดินทางมาถึงบ้านแฝดอิน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขุดเอาศพขึ้นมาเพื่อฉีดยาถนอมศพ

ทีมแพทย์ประวัติศาสตร์ที่ถือว่าได้ลงมีดผ่าศพแฝดสยามพิสูจน์เพื่อเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ประกอบด้วย หมอแพนโคสท์ หมอแฮริสัน แอลเลน (Harrison Allen) และหมอที. เอช. แอนดรู (T.H. Andrews)

ครอบครัวบังเกอร์ขอร้องมิให้ทีมแพทย์ผ่าตัดบนผิวด้านนอกของท่อนเอ็นจนเกิดเป็นรอยแผล เพื่อรักษารูปทรงให้คงเดิมให้ได้ ซึ่งทีมแพทย์ให้สัญญาจะปฏิบัติตาม

วันที่ลงมือผ่าศพขั้นต้น คือ ๑๕ วันหลังจากแฝดคนคู่เสียชีวิต เมื่อเริ่มงานชันสูตรศพไปได้พักเดียวก็พบว่า ที่บ้านของแฝดอินไม่เหมาะสำหรับการทำงานของแพทย์ที่ต้องการเครื่องมือประกอบการทำงานของแพทย์อีกมาก

การจัดการศพและลักษณะของศพตามที่วารสาร Philadelphia Medical Times บรรยายไว้ดังนี้ :

“ศพของแฝดสยามถูกฝังไว้ที่ห้องใต้ดินภายในบ้านของแฝดอิน มีผงถ่านกลบไว้ข้างบน ศพถูกบรรจุไว้ในโลงไม้วอลนัท ที่บรรจุไว้ในโลงดีบุกอีกชั้นหนึ่ง ต้องคลายตะปูควงออกแล้วจึงเปิดฝาโลง สิบห้าวันผ่านไป ไม่มีกลิ่นศพแต่อย่างใด ศพยังไม่เน่า ใบหน้าของแฝดอินเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แต่ใบหน้าของแฝดจันมีริมฝีปากซีด ปากเบี้ยว ผิวหนังบริเวณหูเป็นสีม่วงคล้ำ”

ทีมแพทย์ฉีดยารักษาศพเข้าไปทางเส้นเลือดของศพทั้งสอง การทำงานของทีมแพทย์ไม่สะดวกจึงขออนุญาตจากครอบครัวนำศพไปพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ (Mutter Museum) ในวิทยาลัยแพทย์แห่งฟิลาเดลเฟีย

ใช้เวลาเดินทาง ๕ วัน จึงนำศพเข้าสู่กระบวนการในห้องปฏิบัติการของแพทย์ในฟิลาเดลเฟียที่มีเครื่องมือพร้อมทำงาน โดยมีหมอแพนโคสท์คอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา มีการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะทีมแพทย์ต้องการทราบว่า
๑.ข้างในท่อนเอ็น/พังผืดที่เชื่อมลำตัวต่อกันนั้นมีอวัยวะอะไรซ่อนอยู่ข้างใน ?
๒.ชีวิตของแฝดมีอวัยวะอะไรที่ใช้ร่วมกัน ?
๓.ถ้าผ่าตัดแยกร่างตอนมีชีวิตอยู่จะทำให้เสียชีวิตหรือไม่ และหากผ่าแยกร่าง เมื่อคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนจะสามารถรักษาชีวิตอีกคนหนึ่งไว้ได้หรือไม่ ?

หนังสือพิมพ์ The New York Times เกาะติดเรื่องการชันสูตรศพ เพราะร่างกายของแฝดสยามที่มีหนึ่งเดียวในโลก

กรรมวิธีการชันสูตรเริ่มจากจัดสภาพศพในท่ายืน สวมเสื้อผ้า แล้วถ่ายภาพจากหลายมุม ต่อมาเปลื้องเสื้อผ้าศพออก แล้วถ่ายภาพซ้ำอีก ซ้าย ขวา หน้า หลัง แล้วให้ช่างดำเนินกรรมวิธีเพื่อหล่อเป็นรูปปั้นของแฝดทำด้วยปูนปลาสเตอร์ขนาดเท่าของจริงตามที่ครอบครัวบังเกอร์ระบุไว้ในสัญญา

การผ่าศพแฝดเพื่อศึกษาเป็นข้อมูลศึกษาทางการแพทย์ ใช้เวลาทำงานราว ๘ วันเต็ม

เช้าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ในห้องโถงของวิทยาลัยแพทย์ มีคณาจารย์แพทย์มารวมตัวกันจำนวนมาก เพื่อรอฟังผลการชันสูตรร่างของแฝดสยาม สื่อฉบับเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวคือ Philadelphia Medical Times นอกนั้นห้ามเข้า

การแถลงข่าวตามแบบฉบับของแพทย์เพื่อการเรียนรู้ จะต้องนำศพมาแสดงประกอบการชี้แจง หมอแพนโคสท์ กล่าวรายงานเป็นคนแรก ความว่า :

ร่างกายทั้งคู่เชื่อมต่อกันด้วยกระดูกอ่อน ที่เป็นส่วนฐานของกระดูกหน้าอก โดยมีเนื้อเยื่อตับบรรจุอยู่ในท่อนเอ็น แฝดทั้งสองใช้ตับร่วมกัน การผ่าตัดแยกร่างเมื่อโตขึ้นแล้วจะเป็นอันตราย จะอันตรายน้อยกว่าหากผ่าแยกร่างในวัยเด็ก การผ่าตัดผ่านกระบังลมและช่องท้องอาจทำให้เกิดอาการช็อกต่อระบบประสาท อาจก่อให้เกิดอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบและกระบังลมอักเสบ และอาจจะลุกลามไปถึงถุงหุ้มหัวใจหรือเยื่อหุ้มปอดได้ (เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะ)

แพทย์ได้ฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดของแฝดอิน พบว่าสีนั้นไหลเข้าไปในเส้นเลือดของแฝดจัน แสดงว่าเลือดสามารถไหลผ่านท่อนเอ็นที่เชื่อมร่างกายอิน-จันได้

หมอแอลเลนนำเสนอเป็นคนต่อไป ความว่า :

ท่อนเอ็นตรงที่ติดกับตัวแฝดจันมีความอ่อนแอมากกว่าบริเวณที่ติดกับลำตัวของแฝดอิน เนื้อเยื่อของท่อนเอ็นติดกับลำตัวอินมีไขมันมากกว่าด้านของแฝดจัน การผ่าตัดแยกร่างในขณะที่แฝดยังมีชีวิตเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

บรรดาแพทย์ที่มาฟังสรุปการผ่าพิสูจน์ มีความเห็นในช่วงท้ายว่า การผ่าตัดแยกร่างหลังจากคนหนึ่งเสียชีวิตแล้ว ถ้าลงมือผ่าทันที ก็จะทำให้อีกคนปลอดภัย

ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น สมองของแฝดทั้งสอง ครอบครัวไม่ยินยอมให้คณะแพทย์ผ่าพิสูจน์ แต่แพทย์มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่แฝดจันเสียชีวิตน่าจะเกิดจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน (Cerebral clot)

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของแพทย์ครั้งนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในวงการแพทย์อย่างอเนกอนันต์มาจนถึงปัจจุบัน

คริสโตเฟอร์ บังเกอร์ ลูกชายคนโตของแฝดอินและเดคาเตอร์ ลูกชายของแฝดจัน พากันเดินทางมาฟิลาเดลเฟียเพื่อรับศพพ่อและอาทันทีเมื่อแพทย์ชันสูตรศพแล้วเสร็จ ลูกชายทั้งสองทราบดีว่าได้นำพาเฉพาะร่างกายกลับบ้าน คุณูปการอันยิ่งใหญ่คือ การบริจาค ปอด ตับ และอวัยวะภายในร่างของแฝดสยามดองในน้ำยา ตั้งแสดงต่อสาธารณชนในพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ได้ต่อไป

ศพของแฝดสยามถูกนำกลับไปถึงเมาท์แอรี นอร์ทแคโรไลนา และยังต้องฝังไว้ในชั้นใต้ดินบ้านของแฝดอินอีกราวปีเศษเพื่อมิให้โดนขโมย ต่อมาเมื่อผู้คนคลายความสนใจลงจึงย้ายศพไปฝัง ณ ใต้ต้นฮอลลี่ในที่ดินของแฝดจัน

ผ่านมาอีกราว ๔๓ ปี ลูกหลานของแฝดสยามเห็นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวอาจจะถูกขายต่อไปอยู่ในมือผู้อื่น จึงย้ายศพของบรรพบุรุษไปไว้ ณ สุสานหลังโบสถ์ไวท์เพลนส์ (White Plains Cemetery) ที่แฝดอิน-จันได้เคยบริจาคที่ดินและลงมือสร้างโบสถ์ให้กับชุมชน

ในระหว่างเคลื่อนย้ายที่ฝังศพของแฝดสยาม ปรากฏนกพิราบสีขาวมาเกาะอยู่บนโลงศพตลอดเวลาการเดินทาง ต่อเมื่อจะนำศพลงฝัง ณ หลังโบสถ์ไวท์เพลนส์แห่งนี้ นกพิราบขาวนิรนามตัวนี้ก็โผบินขึ้นฟ้าหายไป

ศพของอาดีเลด ภรรยาของแฝดจัน เสียชีวิตในวัย ๙๔ ปี ก็ถูกฝังไว้เคียงกันกับศพของแฝดสามี

ส่วนศพของซาราห์ ภรรยาของแฝดอิน เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๕ ปี แยกฝังอยู่ก่อนแล้วในไร่เมาท์แอรีมาจนถึงปัจจุบัน


ตอนต่อไปจะเป็นตอนอวสานแล้วครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มิถุนายน 2559 11:49:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:47:38 »

.

.



• (อวสาน) เกิดมาคู่กัน ตายเคียงกัน…ข้าขอลิขิตชีวิตข้าเองฯ

ถ้าเปรียบชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตของแฝดสยาม อิน-จัน คู่นี้คือนักเดินทางผู้เกรียงไกร กล้าหาญ และเป็นมนุษย์มหัศจรรย์จอมทระนงที่ไม่ยอมก้มหัวต่ออุปสรรคทั้งปวง

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๕๔ ที่บ้านปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แฝดคนคู่ตัวติดกันชาวสยามมีชะตาชีวิตที่โลดโผน เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขึ้นสวรรค์ เฉียดนรก แล้วปีนป่ายขึ้นไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ดุจนิทานปรัมปรา แต่ทั้งหมดคือเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายครับ

ร่างกายประหลาดของเด็กชาย ๒ คนที่เกิดมามีหน้าอกติดกัน คลอดมาจากท้องนางนากที่ประดุจโดนคำสาป กลับกลายเป็นคนที่มีพรสวรรค์ พ่อค้าชาวอังกฤษและกัปตันเรือชาวอเมริกันที่เข้ามาทำมาค้าขายในสมัยในหลวง ร.$ มองเห็นเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนต้องขอเช่าตัวเด็กแฝดจากแม่เพื่อนำไปแสดงตัวอวดโฉม ตระเวนหาเงินในอเมริกาและยุโรป ทั้งๆ ที่ชาวสยามทั้งมวลไม่เคยทราบว่าอเมริกาคืออะไร อยู่ที่ไหน จะไปหากินกันยังไง ภาษาอังกฤษก็สื่อสารกันแสนลำบาก

การตัดสินใจพาตัวเองลงเรือสินค้าไปกับฝรั่งตอนอายุ ๑๘ ปี ข้ามมหาสมุทร ๑๓๘ วัน จากบางกอกไปถึงบอสตัน อเมริกา เป็นความกล้าหาญชาญชัยยิ่งนัก แฝดอิน-จันมีใจประดุจเหล็กเพชร มีการครองตนอย่างชาญฉลาด การรู้จักเก็บหอมรอมริบ ในที่สุดชาวสยามคู่นี้สามารถประกอบธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ในอเมริกา

อิน-จัน อดทนต่อความยากลำบากทั้งปวง ปรับตัวปรับใจให้สอดคล้องกับสังคมอเมริกันที่รังเกียจคนผิวสี กีดกันคนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ แต่อิน-จัน มิได้ยำเกรง คนคู่ฝ่าฟันทะลุทะลวงอุปสรรคทั้งปวง โอนสัญชาติเป็นประชาชนอเมริกัน ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ที่เขตปกครองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ซื้อทาสนิโกรผิวดำมาทำงาน สร้างตำนานรักบันลือโลกที่คนแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) แต่งงานกับสองสาวพี่น้องชาวอเมริกันผิวขาว ที่เมืองเมาท์แอรี่ มีลูกโขยงใหญ่ ๒ ท้อง ๒๑ คน

ผู้คนพลเมืองฝรั่งต่างตะเกียกตะกายสืบเสาะว่า กินอยู่หลับนอนกับภรรยากันด้วยท่วงทีลีลาเช่นไร ทำไมจึงลูกดกปานฉะนี้?

แฝดอิน-จัน คือคนที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทั้งสองเป็นชาวสยามคู่แรกที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เป็นชาวสยามคู่แรกที่เป็นเจ้าของที่ดินในสหปาลีรัฐอเมริกา (ชื่อในสมัยนั้น) เป็นชาวสยามคู่แรกที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับสาวมะริกัน แฝดสยามมีลูกชายเป็นทหารม้าของกองทัพฝ่ายใต้เข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา แฝดเคยได้รับเชิญให้ไปพบประธานาธิบดีสหรัฐ ๒ ท่าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองในทางการเมืองและสังคมของอเมริกาที่แบ่งแยกสีผิว

อิน-จัน เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นนักกีฬา เล่นหมากกระดานเก่งมาก มีทักษะในงานช่าง ล่าสัตว์ ใช้อาวุธได้ทุกชนิด มีอารมณ์ขันหยอกล้อฝรั่งมังค่าทั้งหลายได้สารพัด ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาก่อน

แทนที่จะอับอายในร่างกายที่พิกลพิการ จนฝรั่งทั้งหลายแอบนินทาว่าเป็น Monster (สัตว์ประหลาด-ปีศาจ) แต่แฝดคู่นี้กลับกล้ายืดอกเผชิญกับทุกสายตา ท้าทายทุกคนที่เดินเข้ามาหา เงินทองไหลมาเทมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ร้อนหนาวแค่ไหนไปแสดงตัวได้ทุกที่

ตำนานฝรั่งบันทึกว่า แฝดอิน-จัน มีความคิดเฉกเช่นพ่อค้าเร่ ชอบซื้อมาขายไป เดินทางไปเปิดการแสดงแทบทุกเมือง เหนือจดใต้ในแผ่นดินอเมริกาเมื่อราว ๑๘๐ ปีที่แล้ว คุ้นเคยกับดิน น้ำ ลม ไฟ สัมผัสผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ในอเมริกายากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน แม้ชาวมะริกันเจ้าถิ่นยังไม่เคยมีประสบการณ์เยี่ยงนี้

เพื่อนอเมริกันที่สนิทสนมยังเขียนบันทึกชื่นชมการใช้ชีวิตแบบหนักเอาเบาสู้ไม่เคยท้อถอย ประการสำคัญคือ ความมีวิสัยทัศน์ของแฝดที่เลือกมาตั้งรกรากในชนบทของรัฐทางตอนใต้ เพื่อหลบกระแสการต่อต้าน กีดกันชาวจีนที่ทะลักเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกา ชาวจีนชอบทำงานเป็นกุลีตามเมืองท่าใหญ่ๆ ในอเมริกาโดยเฉพาะนิวยอร์ก คนผิวขาวเจ้าถิ่นพากันหวาดระแวง

อิน-จัน เติบโตมาจากชนบทเมืองแม่กลอง เรื่องทำไร่เลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ชีวิตเขาแข็งแกร่ง เมื่อมาเป็นเกษตรกรในอเมริกา จึงเป็นเรื่องเล็ก ซึ่งทำเอาเพื่อนฝรั่งแปลกใจไม่น้อย แถมยังเป็นผู้นำชุมชน สร้างโรงเรียน บริจาคที่ดินสร้างโบสถ์ให้กับท้องถิ่น

แฝดคู่นี้เคยได้รับเชิญให้ไปเฝ้าควีนวิกตอเรียที่ทรงอานุภาพของอังกฤษในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เคยได้รับเชิญจากไกเซอร์ของเยอรมัน และพบปะกับซาร์ของรัสเซียในมอสโคว์
ชีวิตหันเหจากเด็กเลี้ยงเป็ดที่ปากน้ำแม่กลอง กล้าตัดสินใจลงเรือออกมหาสมุทรเสี่ยงตาย แต่ไม่ตายแถมโด่งดัง

 
อิน-จันเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า “Siamese Twins” ให้โลกรู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

ทรรศนะของฝรั่งในหนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph A. Orser บรรยายไว้ว่า แฝดร่างกายประหลาดคู่นี้มีจุดขายคือความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ความเป็นคนต่างเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาในอเมริกา การใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นเรื่องลึกลับ ท่วงทีลีลาการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ชีวิตร่วมกัน อวัยวะภายในร่างกายที่เป็นปริศนาสำหรับแพทย์ หนังสือพิมพ์ในอเมริกาและยุโรปเกาะติดชีวิตความเคลื่อนไหวขายข่าวได้ตลอดเวลาที่แฝดขยับตัว ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนเป็นคุณูปการแก่ชีวิตของแฝดทั้งสิ้น

ประเด็นที่เป็นสีสัน ซ่อนเร้นกินใจฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวที่แอบตั้งข้องสังเกตคือบรรดาลูกๆ ของแฝดที่ออกมาเค้าจะมีหน้าตา ผิวพรรณ สีของนัยน์ตา สีผม สีคิ้ว ความคมเข้มของใบหน้าแบบไหน แปลความได้ว่าฝรั่งผิวขาวทั้งหลายตื่นเต้นกับการสมรสข้ามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ คนอเมริกันผิวขาวเกือบทั้งหมดอพยพมาจากยุโรป เป็นพวกคอเคซอยด์ (ฝรั่งผิวขาว) ด้วยกัน เมื่อแฝดสยามเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ (ชาวเอเชียตะวันออก) เข้าไปเป็น “ต้นแบบ-พ่อพิมพ์” แต่งงาน มีลูกผสมออกมาให้เห็น ซึ่งผลที่ออกมาทำให้คนขาวทั้งหลายยอมรับว่า “ลูกครึ่งเหล่านี้รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณดี ฉลาดเฉลียว แข็งแรง” แต่ก็ยังถูกกีดกันจากสังคมว่าไม่ใช่คนผิวขาว ถึงขนาดต้องกรอกในทะเบียนราษฎร์ว่าเป็น “คนผิวสี (Colored)” ซึ่งสังคมคนผิวขาวในอเมริกาในครั้งกระโน้นก็ยังโลกแคบ ไม่ทราบว่ามนุษย์ในโลกนี้เค้าไม่ได้มีเฉพาะคนตัวขาว จึงเรียกลูกๆ ของแฝดอิน-จันว่าเป็นเผ่าพันธุ์พวกมองโกเลียนหรือพวกมาลายัน (Mongolian หรือ Malayan)

เพื่อเป็นการยืนยันแบบข้อมูลเชิงประจักษ์ เรื่องหน้าตา หล่อ-สวย-ขี้ริ้ว-ขี้เหล่ ของลูกอิน-จัน

ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร LIFE ซึ่งพิมพ์จำหน่ายไปทั่วโลกได้เดินทางไปที่บ้านของแฝดอินที่เมาท์แอรี่ เพื่อติดตามถามไถ่ ขอดูหน้าตาทายาทรุ่นหลานของแฝด ซึ่งพบว่าทายาทรุ่นหลานของแฝดที่เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ ทุกคนล้วนหน้าตาดี ผิวเข้ม ร่างกายกำยำ ผมดำ เรียกได้ว่าหล่อและสวยกันทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนขาวขี้อิจฉาต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ เรื่องการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ (Interracial marriage)

ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ลูกครึ่ง ลูกผสมไทย-ฝรั่ง จำนวนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาดี ได้เป็นดาราหนัง นางเอก พระเอกละครในสังคมไทยจนทำให้คนไทยหลายคนต้องไปทำศัลยกรรมใบหน้า ทำตา ทำจมูก อมเหล็กเส้นเต็มปาก เพื่อหลบหนี “หน้าตาดั้งเดิม” และเพื่อให้ดูดีมีอนาคตกะเค้าบ้าง

ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา หลาน เหลนของแฝดอิน-จัน ชื่อ Dottie และ Alex คือทายาทกลุ่มแรกที่กล้าประกาศความเป็นผู้สืบสายเลือดของ Siamese Twins อย่างเปิดเผย และพยายามรวบรวมทายาทที่กระจัดกระจายแยกย้ายกันอยู่ในอเมริกา

Alex เป็นทายาทรุ่นหลานของแฝดสยาม เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๓ เธอกล้าประกาศต่อสาธารณชนทั้งหลายว่าบรรพบุรุษของเธอคืออิน-จัน

ในเวลาเดียวกัน ลูกหลานของแฝดสยามหลายคนพยายามปกปิดเรื่องบรรพบุรุษของตนที่มีรูปร่างผิดธรรมชาติ เป็นคนผิวสี ทายาทบางคนละอายที่ถูกล้อเลียนซักถาม บางคนขอไปตั้งหลักใช้ชีวิตในฝั่งตะวันตกของอเมริกาที่มีชาวเอเชียอพยพเข้ามาอยู่ เพื่อให้ดูกลมกลืน

เรื่องนี้ต้องขอเรียนกับท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในยุคสมัยนั้นในอเมริกากระแสการเหยียดผิวเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย การไม่ได้เกิดเป็นคนผิวขาวแล้วทะเล้นไปเดินอยู่ในอเมริกาเป็นเรื่อง “ลำบากยากแค้น แสนสาหัส”

การเลือกปฏิบัติที่เอาจริง เอาจังที่สุดคือ การกีดกัน จำกัดขอบเขตชาวจีนที่กำลังทะลักเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ซึ่งอิน-จัน ถูกนับรวมแบบเหมาเข่งว่ามีเชื้อจีนเช่นกัน

กลับมาที่เรื่องศพของแฝดครับ

หมอแพนโคสต์ (William H. Pancoast M.D.) หัวหน้าทีมแพทย์ที่ผ่าศพแฝดสยามเพื่อการพิสูจน์อวัยวะภายในของแฝด กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืน คุณหมอเขียนรายงานผลการผ่าศพพิสูจน์ที่ผู้คนทั้งหลายอยากรู้ อยากเห็น ลงในวารสารทางการแพทย์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และส่งผลให้คุณหมอขยับสถานะขึ้นเป็นศาสตราจารย์ ในวิทยาลัยแพทย์ในเวลาต่อมา

เกร็ดประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งยังจารึกด้วยว่าลูกชาย ๒ คนของแฝดอิน-จัน คือ คริสโตเฟอร์ เร็น (Christopher Wren) และสตีเฟน เดคาเตอร์ (Stephen Decatur) ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ขอนำศพของแฝดสยามกลับมาฝังที่เมาท์แอรี่แทนที่จะบริจาคศพดองในน้ำยาเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้สาธารณชนมาเที่ยวชม เพราะสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นว่า อิน-จัน เป็นคนจีนที่คนผิวขาวไม่ยินดีต้อนรับ

คริสโตเฟอร์กังวลเรื่องนี้มาก ถึงกับกล่าวว่า “แต่นี้ต่อไปจะไม่มีใครได้เห็นแฝดสยามอีกเลย”

ส่วนศพของซาร่าห์ ที่แยกออกมาจากสุสานที่หลังโบสถ์ไวท์เพลนนั้น รุ่นหลานรุ่นเหลนให้ข้อมูลต่อมาว่า เธอได้ร้องขอไว้ก่อนเสียชีวิตในวัย ๗๐ ปีว่า ให้ฝังร่างของเธอไว้ใกล้ๆ กับลูกของเธอที่เสียชีวิตก่อนเธอตรงนั้น

ส่วนอาดีเลด ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแฝดจัน เธอเสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย ๙๔ ปี ถูกฝังไว้ใกล้กับหลุมศพของแฝดอิน-จัน

นายแพทย์ที่ผู้เขียนปรึกษาหารือและท่านติดตามเรื่องของแฝดสยามมาตลอดบอกกับผู้เขียนว่า ปริศนาเกี่ยวกับอวัยวะภายในลำตัวของแฝดอิน-จัน ที่อยากรู้อยากเห็นกันนักหนา ถ้าเป็นสมัยนี้เรื่องของอวัยวะภายในของแฝดจะเป็นเรื่องง่ายประดุจการเคี้ยวกล้วยในปาก เพราะโลกนี้เพิ่งมีเครื่องเอกซเรย์หลังแฝดเสียชีวิตแล้ว และปัจจุบันนี้มีเครื่องมือไฮเทคที่เรียกว่า MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ส่องเห็นทุกอณูในร่างกาย ภาพชัดเหมือนกับคณะแพทย์และพยาบาลเดินจูงมือกันเข้าไปทางปากของเราและเดินสำรวจไปได้ทุกแห่งในร่างกายของเราตั้งแต่ปากจรดทวารหนัก ไม่อะไรในร่างกายที่เป็นความลับอีกต่อไป




การรวมตัวของ “ทายาทอิน-จัน” เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมาการ “รวมญาติตระกูล บังเกอร์” ที่สืบสายเลือดมาจากแฝดอิน-จัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ มาไล่เรียงเทือกเถาเหล่ากอ ซึ่งติดต่อสืบค้นกันทางอินเตอร์เน็ต นับญาติได้ราว ๑,๕๐๐ คนครับ (ตามภาพ)

หลุมฝังศพ สุสาน และโบสถ์ไวท์เพลน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาด สว่าง สงบ สวยงาม สนามหญ้าเขียวขจี มีนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวของแฝดสยามมาท่องเที่ยวเสมอ ทำให้เขตปกครองเมาท์แอรี่มีชีวิตชีวา

อนุสรณ์ของแฝดอิน-จัน ในอเมริกาที่เมืองเมาท์แอรี่ ที่ทางการจัดสร้างให้คือสะพานชื่อ อิน-จัน ยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร ที่ทอดข้ามลำห้วยสจ๊วต (Stewarts Creek) ถือว่าเป็นการให้เกียรติระลึกถึงพลเมืองดีที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ ชื่อ อิน-จัน ที่สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔

นามสกุลบังเกอร์ (Bunker) ของคนอเมริกันมีหลายสายนะครับ มีสายตรงของแฝดอิน-จัน และที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย นามสกุลซ้ำกัน ก็พลอยต้องคอยตอบคำถามเรื่องแฝดสยามไปด้วย

ท่านผู้อ่านที่เคารพ สอบถามมาเรื่องหลานเหลนของแฝดสยาม ซึ่งจากการสืบค้นพบว่ามีหลายคนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง เช่น

นายจอร์จ เอฟ แอชบี เป็นประธานกิจการรถไฟในอเมริกาที่เรียกว่า บริษัท ยูเนียนแปซิฟิก เรลโรด ในปี พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๓

คาเลบ แวนซ์ เฮนส์ นายพลของกองทัพอากาศสหรัฐ เคยเป็นนักบินรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

อเล็กซ์ ซิงค์ สาวสวย เหลนของแฝดจัน เป็นสาวสวยที่มีชื่อเสียงในวงการการเงิน การธนาคารในอเมริกา เธอประกาศว่าเธอเป็นทายาทตระกูลอิน-จัน

ทายาทอิน-จันนัดรวมตัวกันเป็นประจำทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ข่าวดีครับ…ล่าสุด หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ลงข่าวว่านายกเทศมนตรีเมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอรธ์แคโรไลนาของอเมริกา ทำจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยขอจับมือเป็น “เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองสมุทรสงคราม” และจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ผู้เขียนถือว่าเป็นข่าวสร้างสรรค์สำหรับเมือง สมุทรสงครามที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักสำหรับมิตรรัก แฟนเพลง ญาติมิตร หรือแฟนคลับของแฝดอิน-จัน ทั้งไทยและเทศ

ผู้เขียนขอสนับสนุนชาวเมืองสมุทรสงครามที่จะติดตามสืบค้นหาทายาทแฝดอิน-จันที่เป็นบุคคลระดับโลก สถานที่ที่พอจะอนุมานได้ว่าเป็นที่เกิด บ้านริมน้ำที่ครอบครัวแฝดอาศัย เพื่อให้แฟนคลับที่จะมาเยือนได้ชื่นอกชื่นใจ

ชาย-หญิงชาวไทยแถงเมืองแม่กลองที่มีหน้าตาคล้ายแฝดอิน-จัน รีบส่องกระจกดูหน้าตัวเอง ลองถามไถ่ไล่เรียงลำดับญาติกันดูนะครับ เผื่อเจอะเจอว่าเป็นหลานเป็นเหลนของแฝดอิน-จัน รับรองว่าดังข้ามโลก ต้องไปเยี่ยมญาติถึงอเมริกาโน่น

ส่วนอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน กลางเมืองสมุทรสงครามที่ทำหล่อด้วยสำริดขนาดเท่าของจริง กำเนิดจากศรัทธาของประชาชนชาวแม่กลองรวมตัวกันจัดสร้างไว้ ยืนตระหง่านอยู่ค่อนข้างเงียบเหงา มีภาพสลักนูนเล่าเรื่องชีวิตของแฝดที่ค่อนข้างสื่อความหมายแบบลางเลือน ควรได้รับการปรับปรุง เสริมแต่งให้มีชีวิต มีความสง่างามเพื่อส่งเสริมตำนานของบรรพบุรุษสยามที่สร้างชื่อเสียงให้แผ่นดินไทย และควรค่าแก่การมาเยือนของทุกคนในโลกนี้

ด้วยจิตคารวะต่ออิน-จัน บรรพบุรุษสยามและขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่เคารพ กรุณาติดตามมา ๒๕ ตอน ขอบคุณและชื่นชมผลงานของคุณอริยา จินตพานิชการ ขอบคุณและชื่นชมผลงานของคุณวิลาส นิรันดร์สุขศิริ และข้อมูลจากต่างประเทศในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิตอลจำนวนมหาศาล




ขอบพระคุณต่อ นสพ.มติชนที่ให้ผู้เขียนมีโอกาสแปลและเรียบเรียงด้วยความสุขใจครับ
จบบริบูรณ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มิถุนายน 2559 11:51:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว แฝดสยามอิน-จัน แฝดสยาม ก้องโลก
สยาม ในอดีต
มดเอ๊ก 0 1909 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 19:53:43
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.597 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 16:30:43