[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 08:14:23 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แกะรอย "กระซิบรักบรรลือโลก" ปู่ม่าน-ย่าม่าน วัดภูมินทร์ จ.น่าน  (อ่าน 5856 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 มกราคม 2559 14:54:52 »



แกะรอย "กระซิบรักบรรลือโลก"
ปู่ม่าน - ย่าม่าน
วัดภูมินทร์ อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน
ภาพ : ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

เมืองน่าน ในอดีตเป็นนครรัฐเล็กๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำสาขา ในหุบเขาทางตะวันออกของภาคเหนือ เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.๑๘๒๕ ภายใต้การนำของพญาภูคา ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพระยาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดย ขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และ ขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว

เมืองน่านแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าไปเยือนมากมาย เช่น พระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ หอศิลป์ริมน่าน วัดช้างค้ำวรวิหาร ล่องแก่งลำน้ำว้า ฯลฯ  แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่เอ่ยถึงเมืองน่านแล้ว ทุกคนมักจะแนะนำให้ไปเยือนคือ "วัดภูมินทร์"  ที่นอกจากจะไปเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังได้ชื่นชมจิตรกรรมฝาผนัง "ปู่ม่าน-ย่าม่าน" ภาพประวัติศาสตร์มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่ทำให้เกิดความสงสัยว่า “หนานบัวผัน” ได้เรียนรู้ทักษะการเขียนภาพจากที่ไหน เพราะในสมัยนั้นสยามประเทศยังไม่มีสถาบันสอนศิลปะที่ใดเลย

วัดภูมินทร์ มีประวัติปรากฏร่วม ๔๐๐ ปี เป็นวัดหลวงที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดวัดหนึ่งในเขตกำแพงเมืองน่าน  ตั้งอยู่กลางเมืองน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  ตัวอาคารเป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในหลังเดียวกัน มีลักษณะเป็นทรงจัตุรมุข มองดูคล้ายอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่สองตัว ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ๔ องค์บนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรสวยงามแสดงเรื่องราวชาดก ตำนานพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของชาวเมืองน่านในอดีต นอกจากนั้น ที่บานประตูยังมีงานแกะสลัก ๓ ชั้น บนไม้สักทอง เป็นลวดลายเครือเถาที่วิจิตรบรรจงมาก

ตามประวัติของวัดและพงศาวดารน่าน กล่าวว่า  วัดนี้สร้างโดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๙ หลังจากที่ทรงครองนครได้ ๖ ปี แต่บางตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๓๘ และมีชื่อเดิมว่า วัดพรหมมินทร์  เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ทรงออกแบบพระอุโบสถและวิหารตามแบบล้านนา แต่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากวัดอื่นๆ (บางตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างชาวไทลื้อ)  ในปัจจุบันนี้สัญลักษณ์ของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ที่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน คือ ลักษณะของ “พรหมสี่หน้า” ในวิหารหลวง แต่สภาพของวัดที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านรุ่นหลัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ (ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔) โดยทรงโปรดให้มีการซ่อมแซมเป็นการใหญ่และเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.๒๔๑๗ และได้กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการบูรณะครั้งนี้ว่า “รวมสิ่งของทั้งมวล ท่านได้สร้างแปงพระวิหารหลวงภูมินทร์ที่นั้น เหล็กเสี้ยงสามหมื่น ทองเสี้ยงห้าพันปลายหนึ่งร้อย แก้วเสี้ยงสามแสนสามหมื่นสองพัน คำปิวเสี้ยงห้าหมื่นสี่พันเจ็ดร้อย รักเสี้ยง ๓๕ ไหปลาย ๑๖ บอก หางเสี้ยง ๑๘ ห่อ น้ำมันสมซะทายเสี้ยง ๒๐ ไห น้ำอ้อยเสี้ยงตื้อหกแสนห้าหมื่น ปูนเสี้ยง ๒ ตื้อสี่ล้านสามแสนสี่หมื่น จ้างช่างเลื้อยไม้เงินตราเสี้ยง ๕ ชั่ง เงินแถบเสี้ยง ๓๐๐ แถบแล...”   อนึ่ง ที่ประตูทางเข้าวัดจะมีรูปปั้นสิงห์ ๒ ตัว นั่งเฝ้าอยู่ อันเป็นรูปแบบทางศิลปกรรมของล้านนา

วัดภูมินทร์มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นแปลกไปจากวัดอื่นๆ ในล้านนา เนื่องจากพระอุโบสถและวิหารของวัดจะรวมอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน  สำหรับพระอุโบสถเป็นทรงจัตุรมุข ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน หลังคามีระดับลดหลั่น ๓ ชั้น จัตุรมุขยื่นไปตามทิศทั้งสี่ มีมุขบันไดและประตูเข้าออกทั้ง ๔ ทิศ (ทวารทั้งสี่) เหนือราวบันไดปั้นเป็นรูปพญานาคพาดตัวตามแนวบันไดโดยหางนาคอยู่ทางทิศใต้ หันเศียรนาคขึ้นไปทางทิศเหนือ และเสมาแต่ละหลักมีลักษณะการปักเกือบจะจมมิดลงไปในดิน ทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าก่อนการสร้างตัวอาคารเมื่อคราวปฏิสังขรณ์ใหม่นั้น ได้ทำการถมพื้นให้สูง ทำให้ระดับพื้นมีความสูงเกือบถึงยอดเสมาซึ่งเป็นของเดิม นอกจากนี้ตัวเสมายังเป็นเสมาหินแบบเก่าเรียบๆ มิได้จำหลักลวดลายแต่อย่างใด

ตัวนาคสะดุ้งมาชนกับผนังวิหารด้านนอก ทางออกเป็นบันไดนาคชนผนังวิหารด้านใต้เช่นกัน  นอกจากนี้ สิงห์คู่ทางด้านทิศตะวันตกจะมีทรงผมที่แตกต่างไปจากตัวอื่นๆ คือตัวหนึ่งผมยาวประบ่า และอีกตัวหนึ่งผมตั้งชี้ขึ้นไป สำหรับตรงกลางภายในอุโบสถเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนที่โผล่ทะลุหลังคาจัตุรมุข สันนิษฐานว่าคงจะสร้างเจดีย์นี้ขึ้นก่อนและสร้างพระอุโบสถครอบทีหลัง  อนึ่ง ด้านในของวิหารและพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ ๔ องค์ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน พุทธลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ อยู่บนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศตรงตามช่องประตู โดยออกแบบให้มีพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองเป็นตัวเชื่อมและอยู่เป็นใจกลางของพระอุโบสถ-พระวิหาร  ดังนั้น ฐานชุกชีจึงเป็นฐานร่วมขององค์เจดีย์ไปโดยปริยาย   คาดว่าพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ มีอายุกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว สำหรับผนังทุกด้านภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่น เป็นภาพพระพุทธรูป พุทธประวัติ พุทธสาวก และนิทานชาดก เรื่อง คัทธณะกุมารชาดก นอกจากนี้ เสาวิหารจำนวน ๑๖ ต้นนั้น มีแกนเป็นเสาไม้แล้วพอกปูนทับ จากนั้นลงรักปิดทองสลักเป็นลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม เช่นเดียวกับเพดานของวิหาร ตลอดจนบานประตูไม้ลงรักปิดทองที่ได้รับการแกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษาและรูปเสี้ยวกาง มีอายุในราว พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๑๗ จำนวน ๔ บาน



พระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ ๔ องค์ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน
พุทธลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ อยู่บนฐานชุกชี
มีพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองเป็นตัวเชื่อมและอยู่เป็นใจกลาง
ของพระอุโบสถ-พระวิหาร




อาคารทรงจัตุรมุข เป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในหลังเดียวกัน
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ องค์หันพระปฤษฎางค์ชนกัน
และมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง "ปู่ม่าน ย่าม่าน ตำนานกระซิบรักบันลือโลก"
และภาพภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก ภาพวิถีชาวเมืองน่านในอดีตให้ได้สัมผัสชื่นชม


เสาไม้พอกปูนทับ จากนั้นลงรักปิดทองสลักเป็นลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม





ประวัติจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์
สันนิษฐานว่าจิตรกรรมบนฝาผนังด้านสกัดของมุขทั้ง ๔ น่าจะเริ่มเขียนขึ้นภายหลังการปฏิสังขรณ์พระวิหารในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช โดยศิลปินนาม “หนานบัวผัน” และศิลปินนิรนามผู้ร่วมงานสร้างสรรค์อีก ๒-๓ คน ช่วงเวลาที่เริ่มเขียนอาจเป็นปี พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๒๒  โดยจัดแบ่งพื้นที่เขียนภาพพุทธประวัติ ภาพชาดกเรื่องคัทธณะกุมารชาดก  สำหรับภาพพุทธประวัติได้เขียนขนาดภาพค่อนข้างใหญ่ประมาณขนาดเท่าคนจริงอยู่ด้านบนผนังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ ทั้ง ๓ ด้าน  เขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวกนั่งประนมมืออยู่ข้างละ ๒ องค์ในรูปลักษณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม   และเขียนภาพที่มีสัดส่วนคนขนาดเล็กในลักษณะเล่าเรื่องราวชาดกบริเวณพื้นผนังถัดลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสามด้าน โดยเริ่มต้นเขียนจากผนังด้านทิศตะวันตก ซึ่งผนังด้านทิศตะวันตกนี้ศิลปินได้เขียนภาพบริเวณด้านบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในลักษณะปางไสยาสน์ มีพระสาวกนั่งแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจอยู่ ๔ องค์ ถัดลงมาเป็นภาพเล่าเรื่อง เนมีราชชาดก

“หนานบัวผัน” ชอบใช้สีแดงชาดและสีครามระบายพื้นภาพเพื่อรองรับการเขียนภาพบุคคลและภาพตามเนื้อหาชาดก เพื่อให้ภาพมีลักษณะนุ่มนวลละเมียดละไม   ศิลปินได้แสดงความสามารถในการทำให้ภาพทั้งหมดของจิตรกรรมฝาผนังทั้งภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก ภาพบุคคล ฯลฯ มีความประสมประสานกันได้อย่างกลมกลืนด้วยการไม่ใช้เส้นแบ่งคั่นสร้างกรอบภาพใดๆ แต่จะจัดวางตำแหน่งภาพ การเว้นช่องว่างและการสร้างความต่อเนื่องด้วยฉากธรรมชาติตลอดจนสีพื้นหลังให้เชื่อมโยงภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด จึงเป็นลักษณะอันโดดเด่นของการแสดงออกอย่างอิสระทางอารมณ์ของศิลปินผู้วาด



ภาพวิจิตรงดงาม พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว
มีพุทธสาวกนั่งประนมมือขนาบซ้าย-ขวา


สตรีสามัญชนถ้ายังโสดจะมีผ้าคล้องไหล่ ถ้าแต่งงานแล้วจะเปลือยอก


ลักษณะการแต่งกายของสตรีสูงศักดิ์นครน่าน






วิถีชีวิตชาวน่านที่เรียบง่าย สงบ แสดงออกด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใสที่ใบหน้ากลมแป้น  
คิ้วโค้งรูปวงพระจันทร์ นัยน์ตาเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ริมฝีปากเล็กรูปกระจับ














Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มิถุนายน 2559 15:08:55 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 มกราคม 2559 16:11:50 »

.


เคยมีการสันนิษฐานว่าบุรุษในภาพน่าจะเป็นศิลปินผู้เขียนภาพ คือตัวหนานบัวผัน
แต่ทว่าได้รับการปฏิเสธในเวลาต่อมา ทั้งนี้หนานบัวผันได้แต่งคำบรรยายภาพ
เป็นภาษาล้านนาอันสละสลวย สมเจตน์ วิมลเกษม ได้แปลถอดความ
จากอักษรล้านนาเป็นภาษาไทย ได้ความว่า

คำอ่านอักษรล้านนา:
คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…

คำแปล:
ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว
จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย
หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป
เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง
ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น

กระซิบรักบันลือโลก “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” คืออักษรล้านนาซึ่งเขียนกำกับบรรยายภาพนี้ เคยมีการสันนิษฐานเบื้องต้นคลาดเคลื่อนว่า น่าจะเป็นภาพศิลปินกับคู่รัก แต่เมื่อมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าศิลปินผู้เขียนภาพนี้เป็นศิลปินชาวไทลื้อ นาม “หนานบัวผัน” (ทิดหนานบัวผัน) จึงเกิดคำถามว่า “ภาพกระซิบบันลือโลกนี้เป็นศิลปินกับคู่รักจริงหรือ? “ ภายหลังได้มีคนเรียกขานภาพนี้ว่า “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” ทำให้จินตนาการอารมณ์ภาพนี้ถูกขีดกั้นขอบเขตไปบ้าง

สำหรับข้อความที่เขียนกำกับว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน หมายถึง คำเรียกผู้ชายพม่า - ผู้หญิงพม่าคู่นี้ สื่อให้เห็นว่าทั้งสองคนเป็นสามีภรรยากัน แล้วการเกาะไหล่กันเป็นธรรมชาติของผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยา ถ้ายังเป็นหนุ่มสาวคนในสมัยนั้นจะไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวกันได้ และรูปลักษณะการแต่งกายชี้ชัดไปอีกสอดคล้องกับคำว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน ม่านคือพม่า ปู่นี่คือผู้ชาย พ้นวัยเด็กผู้ชายเรียกปู่ พ้นวัยเด็กผู้หญิงเรียกย่า ซึ่งที่จริงออกเสียง "ง่า" ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย

ภาพ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” เป็นภาพชายหนุ่มเกาะไหล่หญิงสาวและป้องมือกระซิบขณะที่หญิงสาวแสดงอาการรับรู้นัยยะและประทับใจด้วยรอยยิ้มกรุ้มกริ่มบนใบหน้า  ภาพวาดนี้ศิลปิน “หนานบัวผัน” ได้ตั้งชื่อภาพด้วยเจตนารมณ์แสดงออกถึงมนต์ขลังของวัฒนธรรมการแต่งกายแบบพม่าที่ทรงอิทธิพลต่อคนล้านนาในสมัยนั้น จึงมีการเขียนอักษรล้านนาด้วยสีขาวกำกับไว้ด้านบนภาพว่า “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ซึ่งการเขียนภาพนอกกรอบเรื่องชาดกนี้แสดงท่าทางการเกาะไหล่กระซิบหยอกล้อกับคู่รักในที่แจ้ง และลักษณะการจับไหล่สตรีในที่แจ้งสมัยเมื่อร้อยกว่าปีนั้นบ่งบอกความเป็นสามี-ภรรยาชัดเจน  ดังนั้น ภาพดังกล่าวจึงหาใช่การกระซิบกระซาบเล้าโลมบอกรักของหนุ่มสาวดังที่มีการแปลความหมายหรือสรรค์สร้างนำความงดงามของถ้อยคำด้านวรรณกรรมล้านนาเปรียบเปรยบรรยายความงดงามของภาพ (ภายหลัง) ในแนวทางโน้มเอียงเป็นรูปแบบของภาพตามเจตนารมณ์ของศิลปินและอาจเป็นการก้าวล้ำวิถีวัฒนธรรมอันงดงามของชาวน่านในอดีตสู่ทิศทางไม่เหมาะสมได้




ปู่ม่านกับรอยสัก ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวล้านนาในอดีต

ค่านิยมการสักของชาวล้านนา
สมัยโบราณผู้ชายแถบล้านนา แพร่ น่าน นิยมสักลายตามร่างกาย ตั้งแต่ขา สักเลยสูงขึ้นไปถึงพุงและเอว
โดยมีความเชื่อว่านอกจากจะเป็นเครื่องรางของขลังแล้ว ยังต้องการอวดความเป็นชาย เป็นคนกล้า ให้ผู้หญิงเห็น
ว่าตนเป็นผู้มีความอดทน เข้มแข็ง สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้  เล่ากันว่า ใครที่มีรอยสัก เวลาไปจีบสาว
จะต้องถลกโสร่งขึ้นสูงเพื่อให้สาวๆ เห็นรอยสักอย่างเด่นชัด และผู้ชายที่ไม่ได้สักลาย ผู้หญิงจะไม่ให้อาบน้ำ
ร่วมท่าด้วย เพราะถือว่าไม่ได้เป็นชายชาตรีอย่างเต็มตัว ผู้หญิงสมัยก่อนจะดูการสักขาของผู้ชาย ถ้ายิ่งสักมาก
ลวดลายละเอียดมาก และยิ่งสักสูงขึ้นไปถึงเนื้ออ่อนๆ ตรงขาหนีบ แสดงว่าผู้ชายคนนั้นยิ่งมีความแข็งแกร่ง
มีความอดทนสูงมาก


การสักลายรูปสัตว์เป็นไปตามความเชื่อเช่น ตัวลิงลม ตัวมอม นกร้าย ซึ่งมีความเชื่อว่า
สักตัวมอมจะทำให้มีพลังมีความแข็งแรง สักลิงลมจะทำให้แคล่วคล่องว่องไว สักนกร้ายจะทำให้เก่งกล้าสามารถ
ส่วนลักษณะการสักนั้น จะมีการสักขาเป็น ๒ แบบคือ สักตั้งแต่ใต้เข่า คลุมเข่าขึ้นมาถึงขาส่วนบน เรียกว่า สักขายาว
ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ การสักเพียงแค่เหนือเข่าขึ้นมาจนถึงขาส่วนบน เรียกการสักแบบนี้ว่า สักขาก้อม
 
ตามที่ได้สอบถามผู้อาวุโสไทหล่ม ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้ทำการสักขามานั้น  ท่านเล่าเกร็ดการสักให้ฟังว่า
เวลาต้องการจะสักจะเดินทางร่วมกันไปกับเพื่อนหลายคนเพื่อไปสักที่บ้านหมอสัก ซึ่งจะคิดค่าสักขาข้างละ ๑๐ บาท
หมอสักจะใช้เหล็กแหลมยาวแต้มน้ำหมึกดำจิ้มสักลงไปที่ขาเป็นลวดลายตามที่กำหนด เป็นที่เจ็บปวดมาก
ถึงกับต้องกินฝิ่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดไปด้วย การสักขาแต่ละข้างจะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ วัน
ตอนสักเสร็จใหม่ขาจะบวมมาก แล้วต้องเว้นห่างกัน ๑๕ วันถึงจะกลับมาสักขาอีกข้างได้
การสักขาลายเริ่มเสื่อมความนิยมลง เมื่อดินแดนลาวตกอยู่ในการปกครองของสยามและมีข้าราชการจากสยาม
ขึ้นไปปกครองตามหัวเมืองต่างๆ และได้ปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ไปด้วย จนได้มีการเลิกนิยมการสักขาลายไป
เมื่อประมาณราวๆ สงครามโลกครั้งที่ ๒ (*ไทหล่ม เป็นคนเชื้อสายลาวที่มีต้นกำเนิดอยู่ทางดินแดนล้านช้าง เมืองหลวงพระบาง)
...อ้างอิง : ไทหล่มและลาวพุงขาว !!  ดร.วิศัลย์  โฆษิตานนท์  wison_k@hotmail....





ชาวล้านนานิยมสูบบุหรี่มานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด

มูลี
มูลี หมายถึง บุหรี่ คือยาสูบที่ใช้ใบตอง เป็นต้น พันให้เป็นมวนเพื่อใช้จุดไฟสูบรมควัน

ส่วนสำคัญของมูลี มีสองส่วนคือ ใบยาสูบหั่นฝอย กับวัสดุที่ใช้หุ้มยาเส้นนั้นให้เป็นแท่งเพื่อสะดวกในการจุดสูบ  

วัสดุที่ชาวล้านนานิยมใช้พันใบยาสูบหั่นฝอยได้แก่ตองกล้วย (ใบกล้วย) และกาบหมาก ทั้งนี้ นิยมใช้ใบแห้งของกล้วยตีบ และกล้วยอ่อง(หรือกล้วยน้ำว้า) โดยชาวบ้านจะเลือกฉีกเอาใบกล้วยที่มีสภาพดีนำไปตากแดดพอให้คลี่ออกได้ง่าย แล้วตัดให้เป็นแผ่นขนาดกว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ เซนติ ใช้เตารีดร้อนนาบใบตองนั้นให้แห้ง หรืออาจใช้ปีบคว่ำบนเตาอั้งโล่แล้วเอาตองกล้วยอ่อนพันรอบๆ ภายนอกปีบไฟ จะช่วยให้ตองอ่อนแห้งได้ บางคนจะคั่วทรายให้ร้อน กรอกใส่ถุงผ้าขนาดส้มโอ ผูกปากให้เรียบร้อย เอาทาบตองอ่อน เสร็จแล้วม้วนรวมเข้าไว้ หรือจะใช้กรรไกรตัดเจียนขอบให้เรียบร้อย เสร็จแล้วนำมาพันเข้าด้วยกันให้เป็นม้วน  ใบตองชนิดนี้จะให้ความหอมแก่บุหรี่ได้อีกด้วย

ในการพันมูลีนั้น เริ่มจากการนำตองมูลีที่ม้วนออก มาคลี่บนกระดานโดยเอาด้านบนของใบออกทางด้านนอก นำยาเส้นมาพรมน้ำเล็กน้อยเพื่อมิให้เส้นยาเปราะ  หยิบมาเกลี่ยลงบนใบตอง แล้วม้วนให้แน่น โดยให้ทางโคนคือทางปากคาบเล็กกว่าทางด้านปลาย จากนั้นก็ใช้กรรไกรตัดเจียนให้เรียบร้อย ใช้ยางมะตูมหรือยางไม้ชนิดอื่นป้ายพอประมาณแล้วปิดไว้ ทั้งนี้อาจใช้กระดาษสีติดกาวทำเป็นเส้นขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตรคาดกลางมวนก็ได้ บ้างก็ใช้ด้ายหรือเศษใบตองผูกกันหลุดก็ได้

ในช่วงที่หนุ่มสาวเจรจาเพื่อเสนอไมตรีกันอยู่นั้น หากสาวเจ้าพอใจชายใดจนกระทั่งถือกันว่าเป็นตัวพ่อตัวแม่ คือคู่หมายกันแล้ว นอกจากหญิงจะทำพลูแหล้ม คือพลูจีบให้หนุ่มแล้ว ก็มักจะมวนบุหรี่ให้ชายนั้นไปสูบอีกด้วย อย่างคำกล่าวที่ว่า “ตะวันนั้นเปนใผมานั่งซีดซี พันมูลีใส่ถงเสื้อ เมื่อใกล้จักเมือ ถงเสื้อพอโล้ง” แปลงว่าวันนั้นมีใครมานั่งอยู่ข้างๆ และสาวก็มวนบุหรี่ใส่กระเป๋าเสื้อให้ด้วย ตอนใกล้จะกลับนั้นบุหรี่ก็มากจนกระเป๋าเสื้อทะลุ

มูลีที่มวนขึ้นมานั้น จะมีทั้งมูลีอยาขื่น และมูลีอยาจาง คือบุหรี่ชนิดที่ใช้ยาฉุนและที่ใช้ยารสอ่อนตามความถนัดของผู้สูบ บ้างก็ชอบมวนขนาดย่อมเพราะสูบได้ถึงใจ แต่ก็มีบ้างที่ต้องการชอบมวนใหญ่เพราะหนักแน่นถึงใจ แต่ก็มีบ้างที่ต้องการเพิ่มรสชาติให้หอมมากขึ้นก็อาจโรย ซีโอย หรือขี้โอย (ขี้โย) ลงเป็นแนวยาวบนยาสูบแล้วจึงมวนในลักษณะของมวนโตและขนาดยาวพิเศษ พบว่าบางคนมวนมูลีขี้โอยยาวถึง ๒๐ เซนติเมตร และที่ส่วนหัวนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๔ เซนติเมตรก็มี มูลีซีโอยนี้ เวลาสูบอาจมีลูกไฟตกลงมาด้วยก็ได้ กล่าวกันว่าหากพบคนที่เสื้อผ้ามีรอยไหม้เป็นรูเล็กๆ หลายๆ รู แล้วก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าผู้นั้นเป็นนักนิยมมูลีซีโอย



“แม่หญิงไปกาด” เป็นภาพกลุ่มชายหญิง ที่ข่วงนอกเมือง




ภาพให้แง่คิดทางศิลปะ วิถีการดำรงชีวิต สภาพของสังคม วัฒนธรรมการแต่งกาย และศิลปะการออกแบบลายผ้าของล้านนา
โดยศิลปินได้เขียนใบหน้า ทรงผม และผ้านุ่งแบบชาวไทลื้อ


พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน บรรดาพระสาวกที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล
ต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยถึงพระบรมศาสดา
"หนานบัวผัน" เขียนภาพแสดงอาการเศร้าเสียใจด้วยการเขียนมุมปากหุบลง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มกราคม 2559 18:46:30 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 20 มกราคม 2559 19:20:21 »

.


คัทธณะกุมารเกี้ยวพาราสีนางสีไว ธิดาเศรษฐีเมืองจำปานคร
จิตรกรรมภาพอันงดงามในวัดภูมินทร์ แสดงชาดก เรื่อง "คัทธณะกุมาร"
...อดีตกาลมีวัฒนธรรมการลงข่วง บรรดาสาวๆ จะมานั่งปั่นฝ้ายที่ลานบ้านตอนค่ำๆ
หนุ่มๆ จะมาเที่ยวและเกี้ยวพาราสี โดยอาจนำเครื่องดนตรีมาเล่นประกอบการขับเพลงเกี้ยว...


 
เนื้อเรื่อง "คัทธณะกุมารชาดก”

เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคัทธณะกุมาร ได้บรรเทาทุกข์แก่สรรพสัตว์ผู้ยากทั่วสารทิศโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยาก ไม่ว่าไปถึงที่ใด ณ ที่นั้นความเดือดร้อนก็จะหมดสิ้นทุกแห่งหน จากนั้นคัทธณะกุมารพร้อมด้วยนายไผ่ร้อยกอกับนายเกวียนร้อยเล่ม สองบ่าวคู่ใจก็จะไปยังถิ่นฐานที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป

เมื่อคัทธณะกุมารกับสองบ่าวเดินทางเข้ามายังเมืองขวางทะบุรีศรีมหานคร ซึ่งขุนบรมราช เจ้าเมืองได้มีประกาศว่าในวัน ๗ ค่ำ และ ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมห้ามชาวบ้านชาวเมืองกระทำการบาปใดๆ คำสั่งนี้เป็นเสมือนคำสาปแช่งด้วย เพราะหากผู้ใดฝืนประกาศแล้วจะบังเกิดความพินาศวิบัติล่มจมทั้งตนเองและบ้านเมือง ขวางทะบุรีศรีมหานครก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา กระทั่งถึงสมัยพระยาผู้ครองเมืององค์หนึ่งไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมและยังทำความเดือดร้อนให้บ้านเมืองเคียงข้างไม่ว่างเว้น ไม่ว่าจะเป็นการหาเหตุรุกรานฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฉุดคร่าลูกสาวเขา ร้อนถึงอาสน์พระยาแถน เทวดาผู้เป็นใหญ่ เห็นการณ์จะไม่เข้าที ขืนปล่อยไว้นานสืบไปคงจะกำเริบเสิบสานไม่มีที่สุด จึงสั่งพญางูใหญ่น้อยมากมายให้มาทำลายเมืองและผู้คนเสียให้สิ้น เมืองจึงกลายเป็นเมืองร้าง มีเพียงชีวิตเดียวที่รอดมาได้ก็คือ นางกองสี พระธิดาของพญาผู้ฮึกเหิม ซึ่งบิดาได้ซ่อนตัวนางไว้ในกลองใบใหญ่ก่อนที่กรรมจะตามสนอง

เมื่อคัทธณะกุมารผ่านเข้ามาในเมืองร้างขวางทะบุรีศรีมหานคร ไม่ปรากฏว่ามีผู้อยู่อาศัยและรกร้างด้วยรังนกรังกา เดินสำรวจพบกลองใบใหญ่บนหอกลอง พอเอาไม้เคาะดูและได้ใช้พระขรรค์เปิดหนังหน้ากลองออกก็ได้ตัวพระธิดากองสี บอกเล่าว่างูร้ายฝูงใหญ่จะลงมาทำร้ายผู้คนทันทีหากเห็นกลุ่มก้อนควันไฟลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า คัทธณะกุมารจึงสั่งให้นายไผ่ร้อยกอกับนายเกวียนร้อยเล่ม จัดการก่อไฟกองโตควันทะมึน พระยาแถนจึงสั่งงูร้ายให้ลงมายังขวางทะบุรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้บรรดางูร้ายทั้งหลายถูกคัทธณะกุมารฆ่าตายหมด ฝ่ายพระยาแถนก็มิได้ติดใจยืดเยื้อ อาจเห็นว่ามีคนดีมาเกิดแล้ว และพวกขวางทะบุรีศรีมหานครก็ได้รับบทเรียนแล้ว คงจะกลับตัวกลับใจได้

ครั้นเมืองขวางทะบุรีศรีมหานคร มีความร่มเย็นเป็นสุขดีแล้ว คัทธณะกุมารก็มอบเมืองบำเหน็จแก่นายไผ่ร้อยกอ ปกครองอยู่กินกับราชธิดากองสีสืบไป ส่วนพระองค์กับนายเกวียนร้อยเล่มก็ออกเดินทางต่อไป







ต่อมาเมื่อคัทธณะกุมารกับนายเกวียนร้อยเล่มเดินทางมาถึงเมืองชะวาทะวดีศรีมหานคร ก็ปรากฏว่ามิได้มีอะไรผิดแผกไปจากขวางทะบุรีศรีมหานครเลย เมืองชะวาทะวดีศรีมหานครได้กลายเป็นเมืองร้างปราศจากร่องรอยสิ่งมีชีวิต คัทธณะกุมารกับนายเกวียนร้อยเล่มจึงตรวจหาความจริงโดยผ่านเข้าไปถึงกลางท้องพระโรง ได้ใช้ไม้เคาะเสาท้องพระโรงต้นหนึ่ง กลับได้ยินเสียงผู้หญิงร้อง คัทธณะกุมารจึงเปิดโพรงเสาพบหญิงสาวแสดงตนเป็นราชธิดาแห่งชะวาทะวดี ชื่อนางคำสิง พร้อมทั้งได้เล่าเรื่องแต่ครั้งก่อนว่า เมืองของนางนั้นเดิมมามีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งพระบิดาเสด็จประพาสป่าแล้วประทับพักผ่อนใต้ต้นไม้ เผอิญกาที่จับอยู่บนต้นไม้นั้นถ่ายมูลลงมาถูกพระองค์เข้า ทรงพิโรธยิ่งนัก กาตัวนั้นจึงต้องตายเท่านั้นยังไม่พอ ทรงออกประกาศให้พลเมืองของพระองค์ฆ่าแร้งกาที่พบเห็นให้หมดสิ้น การสำแดงพระองค์เป็นพาลเช่นนี้ พระยาแถนจึงบัญชาให้นกรุ้ง นกแร้งและหงส์ทองจำนวนมากมาจิกกินชาวชะวาทะวดีทั้งหมด แต่ที่นาคำสิงรอดมาได้นี้ก็เพราะก่อนที่พระบิดากับพระมารดาจะถูกแร้งปลงพระชนม์ชีพ ได้นำนางมาซ่อนไว้ในโพรงเสาท้องพระโรง ถ้าหากคัทธณะกุมารจะช่วยเหลือนางแล้วก็ขอให้ก่อกองไฟเพื่อมีควันมากๆ แล้วฝูงแร้งฝูงหงส์เหล่านั้นจะพากันมาโดยทันที นายเกวียนร้อยเล่มจึงได้จุดกองไฟเรียกนกแร้ง ฝ่ายพระยาแถนเทวดาเห็นควันไฟลอยพุ่งขึ้นมาจากนครร้างก็ส่งฝูงนกแร้ง นกรุ้ง หงส์ทองลงมาทันใด คัทธณะกุมารได้แสดงอิทธิฤทธิ์สังหารเสียสิ้น พระยาแถนก็มิได้ติดใจ คัทธณะกุมารจึงจัดแจงชุบชีวิตเจ้าเมือง มเหสี และไพร่บ้านพลเมืองขึ้นมาดังเดิม ส่วนนายเกวียนร้อยเล่มก็ได้รับบำเหน็จขึ้นปกครองชะวาทะวดีศรีมหานครกับนางคำสิงด้วยทศพิธราชธรรมโดยสงบ สันติเรื่อยมา ฝ่ายคัทธณะกุมารก็ออกจาริกต่อไป





















ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว สืบสานเรื่องราว "ปูม่าน-ย่าม่าน" วัดภูมินทร์ จ.น่าน
วัดหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน
(กดอ่านที่ตัวอักษรสีเทาด้านล่างค่ะ)
http://www.sookjai.com/index.php?topic=175345.msg205656#msg205656
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มิถุนายน 2559 15:09:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กับพงศาวดาร "บ่อเกลือ" เหตุสำคัญให้เชียงใหม่ยกทัพยึดเมืองน่าน
สยาม ในอดีต
ร้องเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา 0 3616 กระทู้ล่าสุด 18 มิถุนายน 2557 01:49:56
โดย ร้องเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา
จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว สืบสานเรื่องราว "ปูม่าน-ย่าม่าน" วัดภูมินทร์ จ.น่าน
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 1 6484 กระทู้ล่าสุด 18 มิถุนายน 2559 15:00:54
โดย Kimleng
ถอดรหัสวัดเมืองน่าน ตอน วัดภูมินทร์ แง่งามแห่งนิพพาน
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก 0 1234 กระทู้ล่าสุด 30 กันยายน 2559 19:12:34
โดย มดเอ๊ก
หลวงพ่อบุญทา พุทธวังโส วัดดอนตัน ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1154 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2560 11:52:29
โดย ใบบุญ
[ไทยรัฐ] - เลขาฯ กอ.รมน. ลุยเชียงใหม่-น่าน รณรงค์ "สร้างป่าเปียก" ลดไฟป่าหมอกควัน
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 271 กระทู้ล่าสุด 16 มิถุนายน 2565 15:28:39
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.539 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 ชั่วโมงที่แล้ว