[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 15:13:36 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2] 3 4 ... 7   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ  (อ่าน 44083 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 54.0.2840.71 Chrome 54.0.2840.71


ดูรายละเอียด
« ตอบ #20 เมื่อ: 04 พฤศจิกายน 2559 11:08:44 »




การพัฒนาจิต

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ตลอดถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สืบไป

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในสมัยนี้ หรือว่ายุคนี้ ท่านใช้คำศัพท์ใหม่ ไม่เหมือนกันกับที่ผ่านมา คือท่านให้ความหมายจากคำว่าการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต อย่างที่หลวงพ่อได้ไปร่วมในการปฏิบัติ โดยที่คณะอาจารย์ขั้นบริหารมาปฏิบัติที่เมืองอุบลฯ ของเราที่ผ่านมานั้นมี ๔ รุ่น รุ่นละ ๒๕๐ ท่าน

คำว่า ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นี้ ท่านหันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต แทน คือเพื่อจะไม่ให้ซ้ำกัน เพื่อจะไม่ให้ซ้ำซาก หรือเพื่อเหมาะแก่ภาวะของผู้ปฏิบัติ ก็เลยใช้คำว่า พัฒนาจิต ที่จริงก็ถูก

คือว่า การพัฒนาจิต ก็หมายความว่า ทำจิตของตนให้ดีขึ้น ทำจิตของตนให้เจริญขึ้น ทำจิตของตนให้ประเสริฐ ทำจิตของตนให้ดีเด่น ทำจิตของตนให้พ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า พัฒนาจิต

เพราะเหตุไรจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต

เพราะว่า การพัฒนาจิตก็คือการทำจิตของเราให้ดีขึ้น หรือว่ายกจิตของเราให้ดีขึ้น

เพราะเหตุไรจึงว่าเช่นนี้ หรือว่าจิตของเราที่ผ่านๆมานั้นยังไม่ดี

ที่จริงที่ผ่านมานั้นจิตของเราก็ดีอยู่ แต่ว่ายังดีไม่พอ หรือดีไม่พร้อม ดีไม่ถึงที่ ส่วนมากจิตของเรานั้นตกอยู่ในอำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่เราทั้งหลายเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางทีได้ข่าวทางหนังสือพิมพ์บ้าง ข่าวทางทีวีบ้าง ทางวิทยุบ้าง ว่าฆ่ากันที่โน้น ฆ่ากันที่นี้ ขโมยของกันที่โน้น ขโมยของกันที่นี้ ตั้งแต่ของเล็กๆน้อยๆ จนถึงของใหญ่โตรโหฐาน มีการล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน หนักๆเข้า พ่อข่มขืนลูก ครูบาอาจารย์ข่มขืนลูกศิษย์ลูกหา ตลอดถึงการโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน เพื่ออยากได้ทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง หนักเข้าก็เสพยาเสพติด ดื่มสุรายาเมา ฝิ่น เฮโรอีน ผงขาว ดมกาว สมัยนี้ก็มียาบ้าเพิ่มขึ้นมา

หลวงพ่ออ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ที่เขาจับได้เมื่อวานนี้ ยาบ้า จับยาบ้าได้สี่ล้านเม็ด ท่านทั้งหลายคิดดูสิว่าเกือบจะครึ่งประเทศไทย สี่ล้านเม็ดนี่ ถ้าไปแจกคนโน้นบ้าง แจกคนนี้บ้าง ฐานะของประเทศชาติมันจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า สภาวะที่มันเป็นอยู่นี้ หรือสิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ ประเทศไทยของเรานั้นล่อแหลมต่ออันตรายยิ่งนัก ล่อแหลมต่ออันตรายมาก

คิดๆแล้ว ทุกวันนี้ เขาใช้วิธีรบกับพวกเราด้วยวิธีอื่น เช่น เขา (ประเทศอื่น) รบกับประเทศไทย รบด้วยเศรษฐกิจบ้าง เดี๋ยวนี้ก็เอายาบ้ามามอมเมาประชากรของประเทศไทย หากว่าเขาทำสำเร็จแล้ว ประเทศไทยของเราจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อว่า ถ้ามันหนักเข้าๆ หากว่าเขายกทัพจับศึกเข้ามา ไทยเราก็คงสู้เขาไม่ได้ อย่างประเทศลาว สมัยที่ฝรั่งปกครองอยู่โน้น ฝรั่งมันก็มอมเมาประชาชนชาวลาว โดยที่ให้ดื่มเหล้า ปลูกฝิ่น ปลูกกัญชา เล่นการพนันได้โดยอิสระ ไม่มีกฎหมายบังคับ ผลสุดท้ายประชากรของประเทศลาวก็ไม่คิดที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนให้เจริญรุ่งเรืองถาวรได้ ข้อนี้ฉันใด

ประเทศไทยของเรา หากว่าภาวะมันเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ จนทั่วทุกหัวระแหงแห่งที่แล้ว ในสถาบันต่างๆ ทางโรงเรียนก็ดี ทางหน่วยราชการอื่นๆก็ดี หนักเข้าทะลักเข้ามาภายในวัด ถ้าว่ามันเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร

สรุปแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอย่างนี้ ก็เกิดขึ้นจากจิตที่ยังไม่ได้พัฒนา คือจิตยังไม่ดี ประเทศแต่ละประเทศที่มีสัมพันธ์ต่อกัน ก็หาวิธีที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน พูดคร่าวๆอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวนี้เขารบกันวิธีไหน

ประเทศไทยหากยังเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยจะตกเป็นทาสเขาไหม หรือว่าจะเอาชนะเขาได้ไหม อะไรทำนองนี้ ต้องคิด ต้องพิจารณา เพื่อจะหาทางช่วยเหลือประชาชนคนไทยของเราทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เป็นขี้ข้าประเทศอื่นชาติอื่น พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราทั้งหลายได้ช่วยตัวเองด้วย และก็ช่วยประเทศชาติบ้านเมืองด้วย เพื่อจะให้อยู่รอด

สภาวะที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าจิตของพวกเราทั้งหลายแต่ละรูปแต่ละนามนั้น ยังไม่ได้พัฒนา หรือว่าพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ดีพอ ยังไม่ดีพร้อม เหตุนั้น หน่วยราชการที่เล็งเห็นมองเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดการอบรมครูอาจารย์ ผู้ที่จะไปบริหารประเทศชาติบ้านเมืองให้ดำรงคงมั่นอยู่ไปได้ ประชากรของประเทศนั้น แต่ละคนๆ ต้องอาศัยครูเป็นสำคัญ คือครูนี้เป็นผู้ให้ความรู้ทุกสิ่งทุกประการ

ประชากรทุกคนๆนั้น หากว่าไม่ได้มีการศึกษาเล่าเรียน ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจว่า ประเทศชาติควรจะดำเนินไปอย่างไร ทำอย่างไรประเทศชาติของเราจึงจะเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของประเทศอื่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องอาศัยครูเป็นผู้กำบังเหียนอันสำคัญ ถ้าขาดครูเสียแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ความสุขความเจริญได้

เหตุนั้น ครั้งแรกจึงเอาเฉพาะครูอาจารย์ชั้นบริหารมาอบรมแต่ละหน่วยๆ ขณะนี้มีทั้งครูมัธยม มีทั้งครูประถม ก็เป็นโชคอันดีที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาจิต เรียกว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนาภาวนา

เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือว่าจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต เพราะว่าจิตของเรานั้นส่วนมากตกอยู่ใต้อำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตของเราตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เมื่อรวมแล้วสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นตกอยู่ในระบบที่ไม่ดี ท่านแยกประเภทไว้มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. โลภะ จิตของคนเราทั้งหลายนั้น ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ คือความคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนเองในทางทุจริต นับตั้งแต่อยากได้ของเล็กๆน้อยๆ มีราคาค่างวดไม่เท่าไหร่ แล้วก็อยากได้ของใหญ่โตขึ้นตามลำดับๆ

ถ้าเป็นประเทศแต่ละประเทศก็อยากได้ประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้นของประเทศตัวเอง ที่เราทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า โลภะความอยากได้นี้มันเพิ่มทวีขึ้นไปตามลำดับๆ จนกลายเป็นตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

เมื่อโลภะยังไม่สงบระงับไปจากจิตจากใจของเรา ความอยากได้หรือความต้องการก็ยิ่งเพิ่มประมาณขึ้นไปเรื่อยๆ เพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวโลภะนี้ก็ถือว่าเป็นแรงอันหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ ขาดคุณธรรม ขาดศีลธรรมอันดีงาม

๒. โทสะ คือความโกรธ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจ เกิดโทมนัสความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความคับแค้นใจ เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน ฆ่ากันประหัตประหารกัน ด้วยกำลังศัสตราอาวุธ ตลอดถึงยาพิษ อะไรนานาประการ ตามอำนาจของความโกรธที่เกิดขึ้นว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะสามารถเอาชนะคนอื่นได้ ก็ต้องหาวิธีที่จะเอาชนะคนอื่น ว่าวิธีไหนอย่างไร ที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ก็หาวิธีนั้น หรือประกอบกรรมทำเข็ญด้วยวิธีนั้นๆ ก็ถือว่าโทสะนี้เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้

๓. โมหะ คือความหลงผิด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ไม่รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะทำให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้รับความเดือดร้อน ทำอย่างไรประชาชนทั้งหลายจะได้รับความสุขความเจริญ

ทำให้เป็นผู้มีใจอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือมรรคผลพระนิพพาน ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ คุณครูบาอาจารย์ และท่านผู้มีพระคุณเป็นต้น อันนี้เป็นลักษณะของโมหะ

๔. มานะ คือความถือตัว คือถ้าตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา

มานะคือความถือตัวนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เราทั้งหลายไปในสังคมแต่ละสังคม เราจะเห็นอำนาจของมานะนี้ มันทำให้แยกหมู่แยกคณะ แยกพรรคแยกพวก แยกชั้นวรรณะ ทำอะไรๆก็ลำบาก ต้องทำให้ถูกตามกฎตามเกณฑ์

ถ้าว่าไม่ถูกตามลักษณะ สมมติว่า ผู้มีอายุ ๕๕ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ มีอายุเพียง ๓๐ ปี แต่ว่ามีวุฒิสูงกว่า สำเร็จปริญญาโทอย่างนี้ ผู้ที่มีอายุตั้ง ๕๕ ปี ก็ต้องลงไปอยู่ในการปกครองของผู้ (มีอายุน้อยคราวลูก แต่) มีความรู้มากกว่า เช่นที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นในสถาบันต่างๆ ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้

ที่มันเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะอำนาจของมานะคือความถือตัว เมื่อถือตัวแล้วก็ถือพรรคถือพวก ถือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ พวกนั้นพวกนี้ ชาตินั้นชาตินี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ ไปเรื่อยๆ ก็เป็นอำนาจของมานะ

ถ้าว่าถิ่นไหนหรือสถาบันใดๆ ที่มีมานะมากๆ มีแต่ผู้มีมานะมากๆแล้ว มีมานะกล้าแล้ว กลุ่มนั้นสถาบันนั้นก็จะอยู่ด้วยความลำบาก นี้ก็ถือว่าเป็นตัวมานะ ก็ถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้สังคมเดือดร้อน

๕. ทิฏฐิ คือความเห็นผิด คือเป็นความเห็นที่ขัดต่อสภาวธรรมจริงๆ สมมติว่าเห็นไปว่า พระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ไม่มี ครูบาอาจารย์ไม่มีพระคุณ พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี นรก สวรรค์ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี เป็นต้น อันนี้เป็นอำนาจของทิฏฐิ เมื่อมีทิฏฐิคือความเห็นผิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายคิดผิด ทำผิด พูดผิด ทำให้สังคมเดือดร้อน

๖. วิจิกิจฉา คือความสงสัย ความสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติ เช่นว่า สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน

สงสัยข้อวัตรปฏิบัติของตนที่ปฏิบัติอยู่นี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน จริงหรือไม่ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า วิจิกิจฉา คือความสงสัย เมื่อคนเรามีความสงสัยแล้วก็ไม่กล้าทำอะไรลงไป

๗. อุทธัจจะ คือความคิดมาก กิเลสตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในขันธสันดานของผู้ใด หรือผู้ใดที่มากไปด้วยอุทธัจจะแล้ว ผู้นั้นหรือบุคคลนั้นจะเป็นคนคิดมาก

สมัยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวกวิตกจริต คือคิดมาก เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ คิดจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโรคประสาท ให้เกิดความดันสูง คนที่เป็นโรคประสาท เป็นบ้า เกิดความดันสูง ก็เพราะอุทธัจจะนี้เป็นตัวการสำคัญอีกตัวหนึ่ง

ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆไปว่า ตัวนี้มันหนัก มันมีพิษสงขนาดไหน เราก็คิดดูว่า หนักถึงเขาต้องตั้งโรงพยาบาลประสาท เช่น ที่อุบลฯ ของเรานี้ ก็มีโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคประสาท แต่ละจังหวัดๆ ก็มีโรงพยาบาลประเภทนี้อยู่ทุกจังหวัด ในส่วนกลางเช่นกรุงเทพฯ ก็ต้องมีโรงพยาบาลประเภทนี้ ที่รักษาโรคประสาท

ทีนี้ โรคประสาทเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความคิดมาก ซึ่งเกิดจากอำนาจของอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ตัวอุทธัจจะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนไม่กล้าทำอะไร และทำอะไรส่วนมากก็ไม่ถูกต้อง หนักๆเข้าก็เป็นโรคประสาท เป็นความดันสูง

๘. ถีนะ คือความท้อใจ เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อใจ ความท้อใจมีอยู่กับบุคคลผู้ใดหรือหน่วยงานใด บุคคลผู้นั้นหรือหน่วยงานนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปดีได้ หรือไม่กล้ากระทำ

สมมติว่าจะศึกษาเล่าเรียน ก็เกิดความท้อใจมาแล้ว จะไปสอบความรู้ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำไร่ทำนาก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำงานอุตสาหกรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว

พอจะมาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว เมื่อบวชมาแล้วจะศึกษาเล่าเรียนพุทธมนต์หรือพุทธวจนะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ท้อใจขึ้นมาแล้ว จะเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ก็ท้อใจ จะเรียนบาลีเพื่อจะสอบเป็นเปรียญธรรม ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมา

เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจในการจะประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานขึ้นมา เมื่อมีความท้อใจอยู่ที่ไหนหรืออยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็ไม่กล้ากระทำงานทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งด้านปริยัติ ทั้งด้านปฏิบัติ การงานอื่นๆ ถีนะก็ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๙. อหิริกะ ความไม่ละอาย คือไม่ละอายบาป ไม่ละอายผลของบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายคนอื่น ไม่ละอายพ่อแม่ ไม่ละอายครูบาอาจารย์ ไม่ละอายประชาชน ไม่ละอายเทวดาฟ้าดิน คนเราเมื่อไม่มีความละอายแล้ว ก็สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ความไม่ละอายนี้ก็ถือว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๑๐. อโนตตัปปะ คือความไม่กลัว ไม่กลัวความชั่ว และไม่กลัวการทำความชั่ว กล้าทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่กลัวต่ออำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

เช่นว่า พูดถึงครอบครัว ลูกไม่กลัวพ่อไม่กลัวแม่ สามีไม่กลัวภรรยา ภรรยาไม่กลัวสามี ลูกๆ หลานๆ ไม่กลัวพ่อกลัวแม่ คนในหมู่บ้านไม่กลัวผู้ปกครองของหมู่บ้าน อำเภอไม่กลัวผู้ปกครองภายในอำเภอ หนักเข้า รวมทั้งประเทศ ก็ไม่กลัวอำนาจของผู้ปกครองระดับประเทศ เรามาบวชในวัดในวา ก็ไม่กลัวครูบาอาจารย์ หนักๆเข้า ไม่กลัวตัวเองด้วย

สรุปแล้วว่า ไม่กลัวตัวเองด้วย ไม่กลัวคนอื่นด้วย กิเลสตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้คนเราทั้งหลายเดือดร้อน

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ว่า สภาวะของจิตของคนทั้งหลายที่อยู่ในสังคมอยู่ทุกวันๆนี้ ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย เมื่อจิตใจของเรามันตกอยู่ในสภาวะทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าจิตใจของเราไม่ดี จิตใจของเรายังไม่ดีพอ จิตใจของเรายังสกปรกโสมมอยู่ เป็นจิตใจที่ทำให้ตัวเองและสังคมได้รับความเดือดร้อน

เหตุนั้น ผู้ที่เห็นการณ์ไกลจึงได้จัดระบบการอบรมขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พัฒนาจิต ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็เรียกว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเมื่อก่อนโน้น ต่างคนต่างทำ ต่างสำนักต่างทำ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคำสั่งตู้มออกมาเลย เป็นข้อปฏิบัติระดับประเทศ คือแต่ละจังหวัดต้องมีศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อไปๆ ก็ต้องมีมาถึงอำเภอถึงตำบล ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจิตหรือเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นจะเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้จะเข้าใจว่า เมื่อใด จิตที่เราได้พัฒนาแล้ว ก็จะเป็นจิตที่ดีที่เลิศที่ประเสริฐ เป็นจิตที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจความชั่วทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมาเป็นขั้นๆ เช่นว่า สีลวิสุทธิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ด้วยความสุขความสบาย มีระเบียบ ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องอยู่ในกฎระเบียบของสังคม เช่นว่า ครอบครัวก็ต้องมีระเบียบของครอบครัว ชาววัดก็ต้องมีระเบียบของชาววัด ชาวบ้านก็ต้องมีระเบียบของชาวบ้าน ระเบียบของสังคมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือศีล ๕ ประการ

การที่เราทั้งหลายตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการนี้ ก็ถือว่าจิตของเรามีระเบียบ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติในกฎระเบียบของสังคมก็ดี ของครอบครัวก็ดี ของหมู่บ้านก็ดี ของตำบล ของอำเภอ ของจังหวัด ของประเทศชาติ ก็ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นมา ไม่เดือดร้อน

พวกเราทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราถือศีล ๑๐ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ศีลอุโบสถบ้าง หรือศีล ๒๒๗ บ้าง เมื่อใดเราตั้งอยู่ในศีลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การแสดงออกของสังคมนั้นๆ เป็นผู้มีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ เมื่อมีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ มีจิตใจที่ไม่พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน ต่างคนก็ตั้งอยู่ในระบบของสังคม หรือตั้งอยู่ในระเบียบของสังคม สังคมของเราก็อยู่เย็นเป็นสุข

สรุปแล้วว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ศีลนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเยือกเย็น ให้สังคมเยือกเย็นน่าอยู่ สังคมก็อยู่เย็นเป็นสุข

เมื่อจิตใจของเราเยือกเย็นแล้ว คือจิตใจของเรามันมีความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากสีลวิสุทธิ คือ มีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราก็เยือกเย็นเป็นปกติ เมื่อจิตใจของเราไม่เดือดร้อนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ

จิตใจของเราจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดี เช่นว่า เราตั้งจิตตั้งใจไว้ในอารมณ์ไหน จิตใจของเราก็จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การคิดของเรามีระบบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนสมาธิยังไม่มี มันจะคิดอะไรร้อยแปดพันประการ ขณะนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ คิดอย่างหนึ่ง อีกนาทีต่อไป ชั่วโมงต่อไป คิดอีกอย่างหนึ่ง บางที ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที คิดไปเป็นหมื่นๆเรื่อง เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ

เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว การคิดจะมีระบบ ซึ่งเรียกว่า จิตตวิสุทธิ คือมีจิตอันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่จิตที่เป็นสมาธินั่นเอง เมื่อสมาธิสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา คือสมาธินี้จะอบรม เมื่อสมาธิอบรมดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

เมื่อเกิดปัญญามาแล้วท่านทั้งหลาย ผู้อยู่ทางโลกก็จะเห็นความเป็นไปของทางโลกว่ามันเป็นไปอย่างไรๆ ที่เป็นอยู่นี้ สังคมโลกขณะนี้มันถูกไหม การดำเนินวิถีชีวิตอย่างนี้มันถูกต้องไหม เราอยู่ในสมณเพศ การดำเนินวิถีชีวิตของเรานี้ขณะนี้ มันถูกต้องไหม การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันถูกต้องไหม เกิดความเห็นขึ้นมา

ผลสุดท้าย เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็จะเห็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เช่นว่า เห็นรูปเห็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เช่นว่า เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำเล่นๆ

ยืนหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เวลาเราเจ็บเราปวดกำหนดว่า ปวดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม หรือเวลาเกิดความสุขขึ้นมา กำหนดว่า สุขหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม

เมื่อเวลาเราคิดโน้นคิดนี้ก็กำหนด เอาสติกำหนดว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ในขณะที่กำหนดว่า คิดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อตาเห็นรูปก็กำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เวลารับประทานอาหารเรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาเราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า อ่อนหนอ แข็งหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ อะไรทำนองนี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

ปัญญาดังกล่าวมาแล้วนี้ เกิดจากอำนาจของสมาธิ สมาธิที่เราบำเพ็ญดีแล้ว มันจะให้เกิดปัญญาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และก็ปัญญานี้ เมื่อเกิดก็จะเกิดตามวิถีของมัน ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่จิตของเรายังไม่เป็นระบบ การคิดยังไม่เป็นระบบ

เมื่อการคิดของเราเป็นระบบแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นระบบ ไม่ไปทางโน้นไปทางนี้ คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ มันจะเป็นระบบของมันเอง เมื่อเห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาข้ามพ้นความสงสัย

เมื่อก่อนโน้น เรามีความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน เป็นต้น ความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะหมดไป เช่นว่า คนเรานี้มาจากไหน มาเกิดในที่นี้ เกิดขึ้นมาเพราะกรรมอะไร คนผู้นี้เขามีความรู้สูง มีสติปัญญาดี มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

สรุปเอาสั้นๆว่า มันจะเกิดความรู้ขึ้นว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ รูปนามนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูปเกิดนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามลำดับๆ ปัญญาของเราก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับๆ ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คือเห็นว่า รูปมันเกิดมาจากอันนี้ นามเกิดมาจากนี้ รูปนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด นามนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด ดังที่ท่านกล่าวไว้ในหลักของการปฏิบัติว่า

รูป เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

เวทนา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

สัญญา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

สังขาร เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

วิญญาณ เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา นามรูป และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

นี้เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คือการเกิดของคนเรา มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จนหมดความเคลือบแคลงสงสัยว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูป อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม หมดความสงสัยแล้ว

เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือจะมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก การคิด การทำ การพูดอย่างนี้มันผิด แล้วก็จะได้ละ การคิด การทำ การพูด อย่างนี้เป็นทางถูก ก็จะได้ดำเนินต่อไป ประพฤติปฏิบัติต่อไป เมื่อประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว ก็จะเป็นปัญญา นี้ก็ส่งกันเป็นขั้นๆ

ขอย้อนอีกครั้งหนึ่ง สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ จะเกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับๆ จนเห็นความเกิดความดับของรูปนาม เห็นเฉพาะความดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

เบื่อหน่ายในรูปในนาม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไป จากรูป จากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามต่อไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่ท้อถอย พร้อมจะต่อสู้ พร้อมจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ยอมสู้ตาย ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดก็เอาคางเกาะไป เมื่อใด หากว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นยังไม่สามารถทำลายสภาวธรรมที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นจะไม่ลดละความพยายาม

เมื่อใด หากโลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มานะก็ดี ทิฏฐิก็ดี วิจิกิจฉาก็ดี อุทธัจจะก็ดี ถีนะก็ดี อหิริกะก็ดี อโนตตัปปะก็ดี ยังไม่หมดไปจากขันธสันดานแล้ว เมื่อนั้น จะไม่หยุดความเพียร ไม่เลิกการประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด เรายอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดยอมเอาคางเกาะไป

เมื่อใด เรายังไม่สามารถทำลายสภาวะที่ชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นเราจะไม่ละการปฏิบัติ เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า จะต้องทำให้จิตใจเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือว่ามันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย

เมื่อใดยังเอาชนะสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ เมื่อนั้นเราจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่ไม่ดี ที่ให้โทษแก่ตัวเองและสังคม จิตใจก็จะเด็ดเดี่ยวขึ้นมา ยอมสู้ตายเพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี

อุปมาเหมือนกับเข้าสู่สนามรบ ยอมสู้ตาย เมื่อใดยังเอาชนะข้าศึกไม่ได้ ก็จะไม่วางปืน ไม่วางอาวุธ ยอมตาย เอาหัวเป็นประกัน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่เมื่อใดเอาชนะข้าศึกได้แล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจ ข้อนี้ฉันใด เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ จิตใจของเราจะเกิดความกล้าหาญ จิตใจจะเข้มแข็ง หนักแน่น ยอมสู้ตาย จนสามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

เมื่อปฏิบัติผ่านไป เห็นว่าช่องทางนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสตัณหามันหมดไปจากขันธสันดาน เห็นแนวทาง เห็นวิธีการ เห็นหลักการ ที่จะทำให้กิเลสตัณหาหรือความชั่วทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นหมดไปแล้ว ก็ทำให้ใจสบาย เออ เรารู้มันละ เรารู้มันแล้ว เราเห็นทางแล้ว เราเห็นทางต่อสู้แล้ว เราเห็นทางที่จะเอาชนะมันได้แล้ว ตอนนี้เราจะพักผ่อนก่อน เอากำลังซะก่อน แล้วจึงจะได้บุกไปข้างหน้าในชั่วโมงหน้าต่อไป จิตใจของผู้ปฏิบัติก็สบายๆ มาถึงนี้ ชื่อว่ามันดำเนินในปฏิปทาที่ถูกต้องแล้ว

ทีนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันไปตามลำดับๆ ปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ปัญญาขั้นสุดท้าย เรียกว่า โลกุตตรปัญญา แต่ที่อธิบายมาแล้วข้างต้นนั้นเป็นโลกิยปัญญาอยู่

เมื่อโลกิยปัญญาสมบูรณ์แบบแล้ว มีอานุภาพ มีกำลัง มีพลัง มีสมรรถนะสูงเต็มที่แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดโลกกุตตรปัญญา เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือจะเห็นหนทางเอาชนะโรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หรือสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น มันจะเห็นช่องทางแล้วตอนนี้

เมื่อเห็นช่องทางแล้วว่า โอ หนทางที่จะเอาชนะพวกนี้ มีหนทางเดียว คือเราต้องทำให้เกิดปัญญารู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจิตใจของเรามันดำเนินปฏิปทามาอย่างนี้ ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารตัวที่ผูกพันกับกิเลสเหล่านี้อยู่

ตัวอะไรที่มันผูกพันตัวนี้ คือ โคตรภูญาณ หมายความว่า จิตใจของคนเราทุกวันนี้ มันผูกพันอยู่กับสิ่งชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 54.0.2840.71 Chrome 54.0.2840.71


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 04 พฤศจิกายน 2559 11:10:42 »


การพัฒนาจิต (ต่อ)

คนเรามันทำดีไม่ถึงที่ เพราะว่าจิตใจของเรานั้นผูกอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจของเรามันผูกอยู่กับ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ใจของเรามันผูกอยู่ในสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้ผูกอยู่กับจิตใจของเรา มันจึงไปไม่พ้นจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จิตใจของเราจึงไม่เป็นอิสระ จิตใจของเราจึงตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้

เราจะหาวิธีอย่างไรที่จะทำลายมัน เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็รู้วิธีทันทีว่า เออ กูต้องฆ่ามันๆ ก็ต้องทำลายให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ปัญญาขั้นนี้ก็จะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำลายโคตรของปุถุชน ซึ่งหนักแน่นหรือหนาแน่นไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ให้ดับไป ให้สิ้นไป ให้สูญไป จากขันธสันดานทันที คือ ตัดโคตรของปุถุชน ก้าวเข้าสู่โคตรของพระโสดาบัน

หลังจากทำลายได้แล้ว มัคคญาณ ผลญาณ ก็เกิดขึ้นมาในขันธสันดาน หมายความว่า ถึงนิพพานแล้ว ตอนนี้ถึงโลกุตตระแล้ว ถึงพระนิพพานแล้ว จิตของเราถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต หรือ ๒ ขณะจิตแล้ว เมื่อเราดำเนินมาจนสามารถยังมัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว ก็เรียกว่าเราได้ความบริสุทธิ์ขั้นสุดท้าย คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์แล้ว

ทีนี้ความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาที่ทำจิตใจของเราให้ชั่วช้าลามกมาตั้งหลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ จนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ บัดนี้เราทำลายมันหมดแล้ว จิตใจของเราเป็นอิสระแล้ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายต่ำอีกต่อไปแล้ว

ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง เราจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

อันนี้เป็นอานิสงส์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเป็นอานิสงส์ที่หน่วยราชการตั้งชื่อว่า พัฒนาจิต เมื่อทางหน่วยราชการจัดการอบรมพัฒนาจิตอยู่ทุกวันนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เว้นไว้แต่ว่าหน่วยอบรมนั้นๆ จะประพฤติปฏิบัติไปได้มากได้น้อยแค่ไหนเพียงไร

ถ้าว่าเราปฏิบัติได้ถึงขึ้นสูงสุดยอดแล้ว ก็ถือว่าสังคมนั้นอยู่เป็นสุขร่มเย็น ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าว่ายังไม่ถึงนั้น (อย่างน้อย) ก็ทำให้สังคมของเราสงบ การอยู่ของสังคมมีระบบ ทั้งทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ ทำสังคมให้อยู่อย่างผาสุกไม่เดือดร้อน

สำหรับผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าอยู่ในพระศาสนา เป็นพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี ก็อยู่สบายๆ ผู้อยู่ครองฆราวาสก็อยู่สบายๆ จิตใจของเราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา อันนี้เป็นความมุ่งหมาย หรือว่าเป็นผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากการอบรมพัฒนาจิตหรือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

สรุปว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สามารถทำลายความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ให้หมดไป ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัตินี้ แม้ว่าจะเป็นวิถีทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ แต่เราต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคหลายๆอย่าง เช่น ในขณะนี้ที่เราจากวัดจากวามา เราก็ต้องตัดความห่วง ความกังวล ความผูกพันให้หมดไปจากจิตจากใจ เราจึงจะสามารถปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้

ปลิโพธ คือความกังวล หรือความห่วงใยในสิ่งต่างๆนั้น ท่านกล่าวไว้ ๑๐ ประการ คือ

๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่

๒) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓) โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ

๔) กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่ตนทิ้งมา

๕) โรคปลิโพธ ห่วงเกรงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างโน้นอย่างนี้

๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกลว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว เราต้องเดินกลับไป สะตุ้งสตังค์ของเราก็ไม่มี เราจะกลับได้อย่างไร อะไรทำนองนี้ หรือว่าอยากไปโน้นอยากไปนี้ เรียกว่าอัทธานปลิโพธ

๗) คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ คือเห็นว่าปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาแล้ว อยากให้หมู่ให้คณะมาประพฤติปฏิบัติ อยากให้พ่อให้แม่ ครูบาอาจารย์ อยากให้ผู้ที่เคารพนับถือได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

๘) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติที่อยู่เบื้องหลังว่า ขณะนี้ญาติของเราจะเป็นอย่างไร คนโน้นจะเป็นอย่างไร คนนี้จะเป็นอย่างไร ก็เกิดความห่วงใย เกิดความผูกพันขึ้นมา

๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียนว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้เรียนหนังสือเลย มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความรู้ที่มีอยู่มันก็จะหมดไป เสื่อมไป สูญไป ความรู้ของเราที่เรียนมาแล้วก็จะลืมไป อะไรทำนองนี้ หรือว่าคิดอยากจะไปเรียนหนังสือที่โน้น คิดจะไปเรียนหนังสือที่นี้ คิดอยากดูหนังสือสอบ อะไรทำนองนี้ ก็เกิดขึ้นมา เรียกว่าคันถปลิโพธ ห่วงการเรียน

๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์ เช่น ผู้ปฏิบัติจะคิดว่า เรามานี้ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าว่าเราอยู่วัดของเรา เราสวดทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก แจกวัตถุมงคล คงจะได้สะตุ้งสตังค์ อย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความห่วงขึ้นมา

ความห่วงทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ถือว่าเป็นสภาวธรรมที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ให้ดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพยายามตัดความห่วงใยทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน

เอาละท่านทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายขอให้ กำหนดต้นจิต สมมติว่า เรานั่งอยู่นี้ เวลานั่งอยู่อย่างนี้ เราอยากพลิกก็ให้กำหนดว่า อยากพลิกหนอๆ แล้วก็พลิกหนอๆ เราอยากเหยียดเท้าเหยียดแขน ก็กำหนดว่า อยากเหยียดหนอๆ แล้วก็เหยียดหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ ขึ้นมา อยากนอน ก็กำหนดว่า อยากนอนหนอๆ

เวลานอนลงไปก็กำหนด นอนหนอๆ เมื่อนอนลงไปแล้ว กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลับ ก็พยายามจำให้ได้ว่า มันจะหลับไปตอนเรากำหนดพองหนอ หรือหลับไปตอนกำหนดยุบหนอ ก็พยายามกำหนดให้ได้

อย่างอื่นที่ไม่ได้กล่าวมานี้ ก็ขอให้กำหนด คือให้กำหนดอิริยาบถใหญ่แล้วก็อิริยาบถย่อยด้วย อิริยาบถใหญ่ ก็คือยืน เดิน นั่ง นอน นี้เป็นอิริยาบถใหญ่ ก็ให้กำหนด อยากยืน ก็กำหนดว่า อยากยืนหนอๆ แล้วก็ยืนหนอๆ อยากเดิน ก็กำหนดว่า อยากเดินหนอๆ แล้วก็เดินหนอๆ อยากนั่ง ก็กำหนดว่า อยากนั่งหนอๆ แล้วก็นั่งหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ อันนี้เป็นการกำหนดอิริยาบถใหญ่

เมื่อกำหนดอิริยาบถใหญ่ได้แล้ว ชำนาญแล้ว ก็ให้กำหนดอิริยาบถย่อย เช่น กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องพยายามกำหนดให้ทัน

ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ แต่ละบทเรียน แต่ละบทที่ต้องปฏิบัตินั้น คล้ายๆกับมันไม่มีความหมาย ไม่เหมือนกับเรียนชั้นประถม มัธยม หลักสูตรปริญญาตรี โท เอก ไม่เหมือนอย่างนั้น

มันคล้ายของพื้นๆ ใครๆก็มีอยู่ แต่ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำให้ได้ คือต้องฝึกให้ได้ และก็ต้องทำให้ได้ เพราะเราทำอยู่นี้ก็เพื่อว่าให้สติของเรามีพลังมีอำนาจ เพื่อจะนำไปปราบกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นต้น ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

หากว่าเราฝึกฝนอบรมปฏิบัติอยู่นี้ กำลังยังมีไม่พอ คือสติของเรามีกำลังไม่พอ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นประธานนั้นให้สิ้นไปได้

เหตุนั้น เราต้องอย่าชะล่าใจ พยายามฝึกอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ามันจะยากลำบากอย่างไร ก็ขอให้อดทน กัดฟันต่อสู้ พยายามฝึกให้ได้ ถ้าว่าเราไม่ฝึกสติ สติของเราก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

บทเรียนมิใช่ว่าจะมีเฉพาะเท่านี้ เราต้องพยายามเรียนไปตามลำดับๆ เห็นว่าบทนี้ทำได้แล้ว ชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนขึ้นไปอีก มันเป็นบทๆอยู่ บทนี้ชำนาญแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ

เหมือนกันกับเราเรียนหนังสือจบ ม.๑ แล้ว ก็ต้องเรียน ม.๒ จบ ม.๒ แล้วก็ต้องเรียน ม.๓ จบ ม.๓ แล้วก็ต้องเรียน ม.๔ จนเรียน ม.๖ แล้วก็สอบได้แล้วนั่นแหละ จึงจะสำเร็จการเรียน

และก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ เพิ่มไปๆ เมื่อบทเรียนของเราสมบูรณ์ การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นสมบูรณ์ ก็สามารถเอาความรู้ที่เราเรียนมาปฏิบัติ จนสามารถทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้ประมาท พยายามกำหนดตามบทเรียนที่ถวายหรือที่มอบให้ทุกบทนั้นให้ชำนิชำนาญเถิด

เอาละ เท่าที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


ลพ.บุญเรือง สารโท
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 54.0.2840.71 Chrome 54.0.2840.71


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2559 10:18:19 »




องค์คุณของนักปฏิบัติธรรม ๗ ประการ

ลำดับต่อไปนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ในเรื่อง องค์คุณของนักปฏิบัติ สืบต่อไป

องค์คุณของนักปฏิบัตินั้น มีอยู่ ๗ ประการ ดังพระบาลีว่า สตฺตหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อาหุเนยฺโย โหติ เป็นต้น

แปลใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นองค์คุณของนักปฏิบัติ ๗ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่สักการะวรามิส ควรแก่การกราบไหว้นับถือ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก

องค์คุณทั้ง ๗ ประการนั้นคือ

๑. ธัมมัญญู รู้ธรรม

๒. อัตถัญญู รู้อรรถ

๓. อัตตัญญู รู้ตน

๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ

๕. กาลัญญู รู้กาล

๖. ปริสัญญู รู้บริษัท

๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล

๑. ธัมมัญญู คำว่า ธัมมัญญู รู้ธรรมนั้น ในแนวปฏิบัติ หมายเอาวิปัสสนาภูมิ ๖ ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท

เมื่อจะกล่าวโดยย่อในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดรูปนาม คืออาการพอง อาการยุบ ใช้สติกำหนดไว้ที่ท้อง ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ย่อมถูกขันธ์ ถูกธาตุ ถูกอายตนะ ถูกอินทรีย์ ถูกอริยสัจ ถูกปฏิจจสมุปบาท และถูกทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ได้ในอรรถว่า ธัมมัญญู ผู้รู้ธรรม คือรู้ทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ รู้ทั้งภาคปฏิเวธ

๒. อัตถัญญู รู้อรรถนั้น คือรู้ความหมายของธรรมะ รู้ใจความของภาษิตเป็นต้น ตัวอย่างที่พระอัสสชิแสดงธรรมโดยย่อแก่พระสารีบุตรว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เป็นต้น แปลความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น ก็เข้าใจความหมายของธรรมทันทีว่า

ในพระศาสนานี้สอนว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิด ก็เพราะเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับ ก็เพราะเหตุดับก่อน ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา และรู้ชัดขึ้นว่า ในศาสนานี้ สอนให้ละตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

๓. อัตตัญญู รู้ตน คือรู้ว่า ขณะนี้คุณธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา (ปัญญา ๔ คือ หีนปัญญา มัชฌิมปัญญา มหาปัญญา อุตตมปัญญา) ปฏิภาณ ได้แก่ มีเชาวน์ไวไหวพริบ มีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ เฉียบแหลม คมคาย สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีอยู่ในตนเอง การรู้ธรรมทั้ง ๖ ประการนี้เรียกว่า รู้ตน

๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ คือ

๑) รู้ประมาณในการบริโภคโภชนะ

๒) รู้ประมาณในการใช้จ่าย

๓) รู้ประมาณในปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น

๔) รู้ประมาณในอายุสังขารของตน

๕) รู้ประมาณในการปฏิบัติธรรม

๖) รู้ประมาณในการคบหาสมาคมกับบุคคลภายนอก

นอกจากนี้ ยังต้องรู้ประมาณกับคุณธรรมภายใน ได้แก่ รู้ปัจจุบันธรรม รู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล พระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า มัตตัญญู คือเป็นผู้รู้ประมาณ

๕. กาลัญญู รู้กาล หมายความดังนี้

๑) อยํ กาโล อุทฺเทสสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรเรียน ควรฟังธรรม ก็ต้องเรียน ต้องฟังธรรม

๒) อยํ กาโล ปริปุจฺฉาย รู้ว่ากาลนี้ควรสอบอารมณ์ ควรสอบถามปริยัติ ก็ต้องไปสอบอารมณ์สอบถามปริยัติกับครูบาอาจารย์ตามสมควร

๓) อยํ กาโล โยคสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรทำความเพียร ก็ต้องรีบทำความเพียรไม่ชักช้า มิได้ผลัดวันประกันพรุ่ง

๔) อยํ กาโล ปฏิสลฺลานาย รู้ว่ากาลนี้ควรหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เพื่อให้ได้ความสงบ ๓ ประการคือ

(๑) กายวิเวก สงัดกาย คือ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่

(๒) จิตตวิเวก สงัดจิต คือ สงบจากสิ่งรบกวนภายนอกและภายใน

(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส คือ มีใจสงัดจากกิเลส ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

สรุปความย่อๆ ได้แก่ ผู้ที่ไม่ประมาทในวัยและไม่ประมาทในชีวิต รีบทำกิจคือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั่นเอง

๖. ปริสัญญู รู้จักบริษัท หมายความว่า รู้จักขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท และรู้จักบริษัท ๓ คือ

๑) อคฺควตี ปริสา บริษัทที่เลิศที่ประเสริฐ ไม่มักมาก ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระการงาน ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญ น้อมใจไปในวิเวกทั้ง ๓ ประการ ปรารภความเพียร เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน

๒) วคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่แตกกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก เสียดสีกัน กีดกันซึ่งกันและกัน อิจฉาริษยากัน เอารัดเอาเปรียบกัน โกงกัน ฆ่ากัน ข่มเหงเบียดเบียนกันและกันโดยประการต่างๆ ไม่ปรองดองกัน ไม่มีความสามัคคีกัน ถือพวก ถือหมู่ ถือก๊ก ถือเหล่า รังเกียจเหยียดหยามซึ่งกันและกัน

๓) สมคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่พร้อมเพรียงกันดี เพลิดเพลินต่อกันและกัน ไม่ทะเลาะกัน รักใคร่กัน ดุจดื่มน้ำนมจากแม่คนเดียวกัน และดูแลกันด้วยจิตเอ็นดู สงสารกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม

สมัยนั้น ได้บุญมาก เป็นอยู่อย่างประเสริฐ เกิดปีติปราโมทย์ เกิดปัสสัทธิ สงบกายสงบใจ เกิดความสุข เกิดสมาธิ เกิดปัญญา อุปมาเหมือนฝนตกลงมายังพื้นแผ่นดิน ย่อมยังพื้นพสุธาให้ชุ่มชื่น ยังห้วยหนองคลองบึงให้เต็มเปี่ยม ตลอดจนยังทะเลหลวงชลาลัยให้เต็มฉะนั้น

เมื่อรู้ว่าบริษัทไหนดีแล้ว ให้เข้าไปหาบริษัทนั้น นำเอาจริยาวัตรและข้อปฏิบัติของท่านมาปฏิบัติ เพื่อเป็นการอบรมตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมวัฒนธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่าปริสัญญู รู้บริษัท

๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล ท่านจำแนกวิธีเลือกบุคคลไว้ในพระไตรปิฎก ๗ ประการ คือ

๑) เทฺว ปุคฺคลา ในระหว่างบุคคล ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากเห็นพระภิกษุ อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากเห็นภิกษุ ควรเลือกคบพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ

๒) เทฺว ทสฺสนกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากเห็นภิกษุนั้น ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากฟังพระสัทธรรม อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากฟังพระสัทธรรม ควรเลือกคบหาสมาคมกับจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๓) เทฺว โสตุกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ตั้งใจฟังพระสัทธรรม อีกพวกหนึ่ง ไม่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ควรเลือกจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นบุคคลควรแก่การสรรเสริญ

๔) เทฺว โอหิตโสตา ในบุคคลจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำได้ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำไม่ได้ ควรเลือกคบบุคคลที่ฟังแล้วจำได้ เพราะควรแก่การสรรเสริญ

๕) เทฺว ปุคฺคลา สุตฺวา ธมฺมํ ธาเรนฺติ ในบุคคลที่ฟังธรรมแล้วจำได้นั้น ยังแบ่งออกอีกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ย่อมพิจารณาธรรมที่จำได้ อีกจำพวกหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณา ควรเลือกคบบุคคลจำพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๖) เทฺว ปุคฺคลา ธตานํ ธมฺมานํ อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ ในบุคคลจำพวกที่พิจารณาไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ปฏิบัติธรรมตามควรแก่ธรรม คือได้เจริญวิปัสสนาสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ควรเลือกคบบุคคลจำพวกที่ ๑ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๗) เทฺว ปุคฺคลา อตฺถมญฺญาย ธมฺมมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ในบุคคลจำพวกรู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผล แล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น อีกจำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ควรเลือกคบคนจำพวกสุดท้ายนี้ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปุคฺคลปโรปรญฺญู ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล โดยอาการอันบรรยายมานี้

แม้ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็เพื่อให้เกิดโพชฌงค์ ๗ เพื่อให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ท่านก็ให้คบกับบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีศรัทธาจริง ปฏิบัติจริง เช่นเดียวกัน

ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๗ ประการมีธัมมัญญูรู้ธรรมเป็นต้นดังกล่าวมาแล้วนี้อยู่ในตน ผู้นั้นชื่อว่า เป็นนักปฏิบัติธรรมแท้จริง เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้ควรแก่การเคารพ เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญยอดเยี่ยมของโลก ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ดังมีแจ่มแจ้งอยู่ในบทสังฆคุณแล้ว

เมื่อใด เราประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง คือเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็จะได้สมาธิสมาบัติ ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา

ข้อนี้ ขอยกอุทาหรณ์ที่ได้ประสบการณ์มา ไม่ใช่เรื่องอดีตในครั้งพุทธกาล แต่เป็นเรื่องในปัจจุบัน คือ

มีโยมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธากล้า ได้มาบวชเป็นปะขาวอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อบวชแล้ว แกก็ไม่อยากอยู่ที่นี้ บวชแล้วอยากไปอยู่หนองคาย ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดเนินพระเนาว์ (อำเภอเมืองหนองคาย)

ในสมัยนั้น ก็มีท่านพระอาจารย์ปาน เป็นอาจารย์สอนอยู่ มีชื่อเสียงมากในภาคอีสานของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ ขณะนี้เราเพิ่งบวชเข้ามาใหม่ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรเราก็ยังไม่ชำนิชำนาญ ยังไม่ช่ำชอง เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรตามกฎหรือกติกาในสำนักของท่าน เอาเป็นว่าพรรษานี้ประพฤติปฏิบัติในที่นี้เสียก่อน หากว่าปฏิบัติในที่นี้แล้วไม่เป็นผลพอใจ ออกพรรษาแล้วจึงค่อยขยับขยายไปอยู่ที่หนองคายก็ได้ ก็เลยตกลงปลงใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้

พอประพฤติปฏิบัติ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติแบบหนักเอาเบาสู้ ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน และปีนั้นก็เป็นปีเริ่มให้ญาติโยม พระสงฆ์ สามเณร ทำวัตรทั้งตอนเช้าตอนเย็น พอดีโยมคนนั้นแกได้ฟังคำทำวัตรแปล โดยเฉพาะบทสังฆคุณ คือพรรณนาคุณของพระสงฆ์ เมื่อได้ยินก็เกิดความสังเวชสลดใจว่า

เรามาบวชนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติตรง ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เรานี้ยังไม่สมควรที่จะรับไทยธรรมที่ญาติโยมเขาถวาย คุณธรรมของเรายังไม่มี

เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เกิดความอุตสาหะพยายามขึ้นมาว่า ถึงอย่างไรๆก็ตาม เราจะประพฤติปฏิบัติจริงๆ ถึงจะตายก็ให้มันตายรู้แล้วรู้รอดไป ตายในเวลาประพฤติปฏิบัตินี้คงจะไม่เป็นบาป คงจะได้อานิสงส์ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ

ผลสุดท้าย การปฏิบัติในปีนั้น แกปฏิบัติได้ดีกว่าเพื่อนๆทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี แกประพฤติปฏิบัติผ่านไปได้ถึง ๓ ขั้น คือผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ นี้ไปถึง ๓ ครั้ง

พอออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็ให้ลาศีลกลับไปเสียก่อน เพราะจัดการมรดกทางบ้านยังไม่เรียบร้อย ก็เลยให้กลับไปก่อน เมื่อจัดการมรดกทุกสิ่งทุกประการเสร็จแล้ว ก็มาบวชใหม่เป็นพระ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ประพฤติปฏิบัติต่อไปอีก แล้วท่านก็ปฏิบัติได้ถึงที่สุด แต่ก็น่าเสียดาย แทนที่จะได้อยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน ท่านก็มาด่วนมรณภาพไปเสียก่อน

นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าเรามีศรัทธาจริง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย รักและอยากได้มรรคผลจริงๆ ก็สามารถที่จะทำได้ อันนี้อยู่ที่จิตที่ใจของเราเอง ถ้าว่าเรามีความรักจริงๆ ต้องการที่จะบรรลุจริงๆ ต้องการที่จะสลัดตัวออกจากอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ จริงๆ เราก็สามารถที่จะทำได้

เพราะเหตุไร

เพราะว่าพวกเราที่รวมกันอยู่นี้ หรือมาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้ ก็ล้วนแต่เป็นผู้มีศรัทธาความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัตินั้นมีผล จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างมาประพฤติปฏิบัติ

แต่มีอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อมาประพฤติปฏิบัติแล้วชะล่าใจ จิตใจของเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา ผลสุดท้ายจิตใจของเราก็พลอยเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เลยทำให้การเจริญวิปัสสนาของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร

เหตุนั้น ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ในเวลาน้อยนิดเดียวที่ยังมีเหลืออยู่นี้ หลวงพ่อคิดว่า หากว่าเราคิดสู้ขึ้นมา ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆแล้ว ก็สามารถที่จะสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาได้


ลพ.บุญเรือง สารโท
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 55.0.2883.87 Chrome 55.0.2883.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 24 มกราคม 2560 14:14:52 »




องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

ที่ว่ายากเพราะเราไม่รู้วิธีปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ถือว่าการปฏิบัตินั้นดำเนินไปได้ยากหรือบางทีดำเนินไปไม่ได้เสียเลย

บางทีในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้น บางอย่างมันไม่พร้อมหรือบางครั้งเกิดความเห็นแก่ตัวมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความเห็นแก่ตัวมันมากเกินไป คือโลภะมันมากเกินไป ถ้าอย่างนี้ก็ดำเนินไปได้ช้า

หรือบางที เวลาประพฤติปฏิบัติ โทสะมันมากเกินไป ได้ยินเสียงก็หงุดหงิด ได้ยินคนนั้นพูดก็หงุดหงิด ได้เห็นผู้นั้นทำอย่างนี้ๆ ก็หงุดหงิด มันหงุดหงิดอยู่ตลอด มันเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจอยู่ในอารมณ์ตลอดเวลา การปฏิบัติก็ทำได้ยาก หรือบางทีขาดสติ คือสติมันไม่พอ สติไม่สมบูรณ์ เวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส อะไรนานาประการ เราไม่มีสติกำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็ถือว่าทำได้ยาก การประพฤติปฏิบัตินี่ก็ทำได้ยาก เช่นว่า เวลาเราเดินไปตามวัดนี่ เราเดินไป ที่โน้นที่นี้ ห้องน้ำ ห้องสุขา อะไร เราไม่ได้กำหนดไปเลย

ขวาซ้ายๆ หรือว่า พุทโธๆ ไป เราไม่ได้กำหนดเลยเดินไปตามธรรมชาติ ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่า ทำไม่ถูก บางทีเราจะพูด จะคุย เราจะพูดกับคนโน้น เราจะคุยกับบุคคลนี้ เราจะพูดกับพระรูปนั้นพระรูปนี้ เราไม่มีสติ หรือไม่กำหนดเสียก่อนว่า เราจะพูด เราจะพูดอะไร เราจะพูดเรื่องอะไร การพูดอย่างนี้ดีมั้ย เราไม่ได้คิดอยากพูด ก็พูดเลย อันนี้เรียกว่าขาดสติ

เวลาเราเดินมาฉันเช้าฉันเพลก็เหมือนกัน มาตามถนน เราไม่รู้ว่ากำหนดหรือไม่กำหนดว่า ขวาซ้ายๆ มา บางทีเราไม่ได้กำหนด บางทีเดินกันไป พูดกันไป คุยกันไป เฮกันไป เรื่องที่พูดที่คุย บางทีก็มีสาระ บางทีก็ไม่มีสาระ อย่างนี้ก็เรียกว่า การปฏิบัติของเราไม่ถูก

บางทีทั้งเดินทั้งพูด ก็ถือว่าทำไม่ถูก ขาดสติ เวลาเราเหยียดเท้า เหยียดแขน คู้แขน เหยียดขา คู้ขา เราจะหลับจะนอน อะไรทำนองนี้ เราไม่ได้กำหนด ปล่อยสติให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าทำอย่างนี้ก็ถือว่า การปฏิบัติของเรายังไม่ถูกต้องสมควร ถือว่าทำให้การปฏิบัติของเรานั้นยาก โอกาสที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวธรรม คือสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันดำเนินไปได้ช้า ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าไม่สำคัญนะ

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราต้องการสติมากที่สุด ถ้าผู้ใดมีสติมาก แล้วก็มีความเพียรสมบูรณ์ ผู้นั้นสามารถปฏิบัติผ่านไปได้เร็ว บางทีปฏิบัติเช้านี้ก็ได้เช้านี้ บางทีปฏิบัติพรุ่งนี้ ก็ได้พรุ่งนี้

ส่วนมากเท่าที่หลวงพ่อสังเกต ผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนเคยปฏิบัติมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติ ๔-๕ วันผ่านไปแล้ว การปฏิบัติผ่านไปแล้วรอบหนึ่งก็มี ๗ วันผ่านไปสองรอบก็มี เหตุนั้น ก็พึงสังวรระวังไว้ให้มากๆ เราทั้งหลายคิดเสมอว่า เรามีปากก็ถือว่าคล้ายกับคนใบ้ พูดไม่เป็น มีปากก็ทำคล้ายกับคนใบ้ มีร่างกายแข็งแรงก็ทำเหมือนกับคนเปลี้ยคนง่อย เราอยู่กับสติ มีสติอยู่ตลอดเวลา

ถ้าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในลักษณะอย่างนี้ รูปนาม ขันธ์ ๕ ปรากฏขึ้นชัด วิปัสสนาญาณก็จะแก่กล้าเร็ว เราก็จะสามารถที่จะผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้เร็ว ที่ว่ามันง่ายก็เหมือนดังกล่าวมา

ผู้ปฏิบัติง่ายก็หมายความว่า ผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแล้ว สติก็สมบูรณ์ ความเพียรก็แก่กล้า สมาธิก็ดี ศรัทธาก็สมบูรณ์ มีศรัทธาคือความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเต็มเปี่ยม มีความเชื่อความเลื่อมใสในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ตลอดถึงความเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน เชื่อเรื่องกรรม เรื่องพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรามีความเชื่ออย่างสมบูรณ์

เมื่อมีความเชื่อโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุให้เกิดปีติ เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็หมายความว่าเราได้อาหารใจแล้ว เมื่อได้อาหารใจแล้ว เราก็สามารถเดินทางได้ เท่าที่หลวงพ่อสังเกต บางรูปปฏิบัติวันนี้ ผ่านไปวันนี้ก็มี บางรูปก็ ๒ วัน บางรูปก็ ๓ วัน บางรูปก็ ๕ วัน บางรูปก็ ๗ วัน ก็ผ่านการปฏิบัติไปได้

นี้เห็นว่าการประพฤติปฏิบัติง่าย ก็เหมือนอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาแล้วข้างต้นคือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี เคยสร้างสมอบรมบารมีมาสมบูรณ์แล้ว การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามวิถีทางที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ ผู้ใดที่ตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผลตามบุญญาธิการที่ได้สั่งสมอบรมไว้

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ บางท่านที่เป็นผู้บวชใหม่ก็ดี หรือเคยบวชมานานแล้วก็ดี บางคนถ้าพูดเรื่องมรรคเรื่องผลก็คัดค้าน บางคนก็พูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลแล้ว มรรค ผล นิพพาน ไม่มีแล้ว พูดอย่างนี้ก็มีนะ ที่มาหาหลวงพ่อ บางทีไปบรรยายธรรมในหน่วยปฏิบัตินั้นบ้าง หน่วยนี้บ้าง

บางทีญาติโยมก็สนทนากันว่า สมัยนี้พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มีแล้ว เพียงแต่เราอยู่ๆไป ทำกันไป อยู่กันไปเท่านั้น เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียน แต่ว่ามรรค ผล พระนิพพาน ไม่มีแล้ว บางทีเคยชี้หน้าหลวงพ่อ เวลาขึ้นหอธรรมะ (ธรรมาสน์) ชี้หน้าหลวงพ่อว่า ท่านจะมาเทศน์ทำไม สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มี

หลวงพ่อก็ไม่ได้พูดว่ากระไร แต่ถึงเวลาบรรยายธรรมะ ถึงเวลาเทศน์ หลวงพ่อก็พูดไปตามธรรมดาๆ ค่อยๆโปรดเขาไป มันไปด้วยกันนั่นแหละ พอดีหลังจากบรรยายธรรมะแล้ว เทศน์แล้ว บางคนก็คลานเข้ามาขอขมาโทษ บางคนก็ไม่คัดค้านอีก ไม่มีกระแสคัดค้านอีก มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย

แต่หลวงพ่อก็พูดไปในแนวเดียวกันว่า ญาติโยมทั้งหลาย หรือว่าท่านทั้งหลาย เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพานนี้ แม้จะมีหรือไม่มี หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และก็จะปฏิบัติอยู่อย่างนี้ หากว่าปฏิบัติตลอดชีวิตแล้วไม่ได้อะไร ก็คงไม่ขาดทุน คุณความดีที่เกิดจากการปฏิบัติ ก็ต้องมีไม่มากก็น้อย

อุปมาเหมือนกันกับเราปลูกพริก จะมีผลหรือไม่มีผล เราก็ปลูก เมื่อเราปลูก เราพรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืชอยู่อย่างนี้ๆแล้ว หากว่ามันไม่มีผล ก็จะได้เห็นกันไปว่ามันจะเป็นอย่างไร เราก็จะดูกันไป เราปลูกต้นมะพร้าวก็ดี ต้นมะม่วงก็ดี ส้มเขียวหวานก็ดี เงาะก็ดี ทุเรียนก็ดี มังคุดก็ดี น้อยหน่าก็ดี หลวงพ่อว่า มันจะผลิดอกออกผลก็ตาม หรือจะไม่ผลิดอกออกผลก็ตาม หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และแนะนำให้คนทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้

ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ หากว่าผลไม้นั้นไม่ออกลูกมาก็ให้มันเห็นไป บางทีครูบาอาจารย์ท่านต่อว่า บางทีก็ต่อต้าน บางทีครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ก็เคยต่อต้านว่า มันไม่มี มรรค ผล นิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี (ผมก็เลยถามว่า) หลวงพ่อ ที่พูดมาอย่างนี้ หลวงพ่อเคยปฏิบัติมาหรือยัง ปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหนเพียงไร อึ้งเลย ไม่ตอบ ส่วนมากจะไม่ตอบ

หากว่าสมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี เมื่อเห็นว่าไม่มีแล้ว หลวงพ่อจะไม่แนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์ สามเณร ให้ปฏิบัติหรือ จะไม่สอนให้เขาปฏิบัติหรือ จะไม่แนะนำให้เขาทำหรือ อยู่ๆ พอถึงวันแล้วมันก็จะได้มรรคผลนิพพานเองอย่างนั้นหรือ ส่วนมากเวลาหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ท่านก็ไม่พูด นี่แหละท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเครื่องแก้ความเห็นผิดของชาวพุทธทั้งหลาย

ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ โยมที่จะนำกฐินมาถวายปีนี้แหละ มาครั้งไรๆ เขาก็พูด แต่หลวงพ่อก็คิดว่าจะเทศน์โปรดเขาอยู่ แต่เมื่อไรหนอจึงจะมีโอกาสเทศน์โปรด เพราะเหตุใด จึงจะเทศน์โปรด เพราะว่าเขาจะนำกฐินมาที่วัด เมื่อจะนำมาถวายที่วัด แต่ผู้เป็นเจ้าภาพยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เขารู้จักแต่ทำบุญแหละ แต่เขาไม่รู้จักบุญ เขามาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อไม่ต้องห่วงไม่ต้องพูดกันล่ะ เรื่องมรรคผลพระนิพพาน สมัยนี้ไม่มีแล้ว พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว หลวงพ่อก็คิดว่าจะตอบเขาอยู่หลายๆครั้ง แต่ว่ายังไม่มีโอกาส นี้ล่ะเรื่องอย่างนี้มันเป็นไปได้

สรุปแล้วว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คือมันง่ายที่รู้วิธีปฏิบัติ รู้หลักการในการประพฤติปฏิบัติ มีสติ มีความเพียร มีสมาธิ มีศรัทธา มีปัญญาสมบูรณ์ มีบารมีที่สร้างสมอบรมมาสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัตินั้นปฏิบัติง่าย

แต่ผู้ที่ว่าปฏิบัติยาก ก็หมายความว่า ไม่รู้วิธีการปฏิบัติ และการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่ดำเนินไปตามวิถีที่ถูกต้อง ถือว่ามันเป็นการทำให้ยาก กล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ก็ล่วงมานานแล้ว พระศาสนานับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงมาถึงป่านนี้ นานถึง ๒๕๔๓ ปีแล้ว พระอริยบุคคลจะยังมีอยู่ในโลกหรือไม่ อาจจะคิดอย่างนี้

หากว่าท่านทั้งหลายมีความสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อจะขอน้อมนำเอาธรรมะที่ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า

๑.ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่หนึ่ง เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๑ พันปี ในช่วง ๑ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐานให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุ และสามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือ

๑) ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
๒) อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
๓) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ
๔) นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา สามารถพูดธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุม คัมภีรภาพ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ

ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ สามารถที่จะเกิดได้

๒.ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปี ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถจะยังอภิญญา ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้

อภิญญา ๖ ประการนั้น คือ
๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้
๒) ทิพพโสตะ ได้หูทิพย์
๓) ทิพพจักขุ ได้ตาทิพย์
๔) ปรจิตตวิชานนะ สามารถที่จะรู้วาระจิตของผู้อื่น
๕) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้
๖) อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน

อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้สร้างสมอบรมบารมีมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน เมื่อภพก่อนชาติก่อนได้สร้างสมอบรมบารมี ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้อธิษฐานจิตไว้แล้วว่า สาธุ ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าบำเพ็ญครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตาทิพย์ หรือว่าได้หูทิพย์ หรือว่าแสดงฤทธิ์ได้ หรือให้รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือให้ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่าให้ข้าพเจ้ารู้วิธีหรือหลักการทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน อธิษฐานไว้แล้วอย่างนี้

เมื่อเราอธิษฐานไว้แล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ในภพนี้ชาตินี้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญาทั้ง ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่เคยอธิษฐานจิตไว้เลย ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิด

๓.เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๓ พันปี ในช่วง ๓ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถที่จะยังวิชชา ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดขึ้นได้

วิชชา ๓ ประการนั้น คือ
๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้
๒) จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ว่าผู้นี้เขามาจากไหนมาเกิดที่นี้ ตายแล้วไปเกิดในที่ไหน สามารถที่จะรู้ได้
๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

๔.สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานได้

แต่ว่าไม่สามารถที่จะยังปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ วิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ หมายความว่า ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี ไม่สามารถที่จะเกิดได้ เป็นแต่เพียงว่าสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน ท่านผู้นี้เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ขีณาสพประเภท สุกขวิปัสสกะ

๕.ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๕ พันปี ในช่วง ๕ พันปีนี้ แม้ว่าผู้ใดมาทำกัมมัฏฐาน จะทำความเพียรมากสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นแต่เพียงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ได้เท่านั้น

อันนี้(คือ)หลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะตัดสินเอา

แต่ขอร้องอย่างเดียวว่า หากว่าเราประพฤติปฏิบัติยังไม่ถึงที่ ขอร้องว่า ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่า มรรคผลพระนิพพานนั้นไม่มี คือบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรายังไม่รู้ เราจะปฏิเสธเสียเลยว่าไม่มี ก็ไม่ได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องเอาตัวของเราไปพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า มีหรือไม่ เราค่อยว่ากันทีหลัง

แต่ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิบัติแล้วไม่มี ไม่ได้ ไม่ถึง ก็ขออย่าได้เข้าใจว่า มันไม่มี เพราะว่าบางสิ่งบางอย่าง มันก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าบารมีของเราไม่พร้อม มันก็อาจจะไม่เกิด

เหตุนั้น เราอย่าไปคัดค้านว่า มันไม่มีอย่างนั้น ไม่มีอย่างนี้ กัมมัฏฐานที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ กำหนดอยู่ทุกวันนี้ เราไม่เอา เช่นว่า กำหนดพองหนอ ยุบหนอ หรือว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือปวดหนอ เจ็บหนอ คิดหนอ ร้อนหนอ เย็นหนอ อะไรทำนองนี้

คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้ เราไม่เอา เช่น ท่านทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันๆ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ นี่เราไม่เอา เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของอริยมรรคอริยผลเท่านั้น หรือว่าเราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิสมาบัติ เมื่อสมาธิ สมาบัติ อริยมรรคอริยผล เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้เราสลัดทิ้ง ไม่เอาแล้ว อุปมาเหมือนกับว่า เราข้ามแม่น้ำโขง เราต้องอาศัยเรือไปยังฝั่งโน้น เมื่อถึงฝั่งแล้วเราก็สลัดเรือทิ้ง เราก็ขึ้นไปบนฝั่งที่เราต้องการ ข้อนี้ฉันใด

เราทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้เราก็สลัดไป อุปมาเหมือนกับเราจะดื่มเครื่องดื่ม สมมติว่า เครื่องดื่ม เป็นพวกโค้ก สไปรท์ เป๊ปซี่ แฟนต้า อะไรทำนองนี้ เวลาที่เราไปซื้อเราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว เราก็เปิดดื่มเฉพาะน้ำของมัน พวกขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราภาวนาหรือบริกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ เราภาวนาหรือบริกรรมก็เพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ต่างหาก

แม้แต่อาการที่เราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ เมื่อภาวนามันได้ที่แล้ว มันก็จะทิ้งไปทันที เรียกว่าในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์อยู่ เราก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อย เมื่อภาวนาไปๆ จิตของเราก็จะผ่านบริกรรมเข้าสู่อุปจาระ

เมื่อเข้าสู่อุปจาระ มันเฉียดฌานเข้าไป เฉียดมรรคเข้าไป เมื่อใดวิถีจิตของเรามันถึง มันเดินเข้าไปจนถึงฌาน คำบริกรรม มันก็ทิ้งไปเลย หรือเมื่อถึงมรรคแล้วก็ทิ้งไปเลย

เมื่อใดที่เราภาวนาไปตามลำดับ เมื่อวิถีจิตของเรามันถึงฌานถึงมรรคแล้ว คำบริกรรมอยู่ในขณะนี้ ทิ้งไปเลย คำบริกรรมเราก็ไม่รู้เลย จำไม่ได้ มันก็หายไปเลย ทิ้งไปเลย จิตของเราก็มีแต่สมาธิรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะในขณะเข้าสู่ฌานธรรมนี้ จิตก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง รูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไปแล้ว เมื่อถึงมรรค การดับมันก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปๆ รูปนาม ขันธ์อะไรมันก็ดับไปหมด

ต่อไป องค์คุณของผู้ปฏิบัติ

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราต้องการดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ หรือการปฏิบัติของเรานี้ เพื่อต้องการจะทำให้ได้ฌาน ได้มรรค ผล นิพพาน เพื่อละกิเลสตัณหา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้สิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน แต่ว่าเราต้องมีองค์คุณสมบัติจึงจะดำเนินไปได้ ถ้าขาดองค์คุณสมบัติ ก็ไม่สามารถผ่านไปได้

องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัตินั้นคือ
๑.มีสติ หมายความว่า เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะกิน จะดื่ม จะคิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม อย่าขาดสติ มีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา มองซ้าย แลขวา เดินหน้า ถอยหลัง นุ่งสบง ทรงจีวร หรือเครื่องนุ่งห่มอะไรก็ตาม ให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา

หรือว่า ในขณะที่เรานั่งบริกรรมอยู่ พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ บางทีเรานั่งไปๆ มันเกิดเผลอไปหลับไปอย่างนี้ เราก็ต้องมีสติให้ทันปัจจุบันว่า มันหลับตอนท้องพอง หรือหลับไปตอนท้องยุบ ในขณะที่เรานั่งอยู่ตรงๆนั่นแหละ หากว่าเรามีอาการคล้ายๆว่ามันจะหลับ ง่วงๆ ก็ปล่อยให้มันหลับไปเลย

แต่ว่าเราต้องมีสติจำให้ได้ว่า เรานั่งหลับไปตอนไหน เรากำหนดพองหนอหรือยุบหนอ พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเรานอน เรานอนกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ เราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนพองหนอ ยุบหนอ หรือว่ากำหนดว่า ถูกหนอ ก็พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเราภาวนาอยู่ว่า ปวดหนอๆ อาการปวดของเรามันหายไปเมื่อไหร่

พอกำหนดมาถึงตรงนี้ มันหายไปเลยอาการปวด พยายามจำให้ได้ หรือเวลาเราคิดอย่างนี้ เรากำหนดว่า คิดหนอๆ ให้เรารู้ว่า ความคิดมันเกิดขึ้นในขณะใด ความคิดมันดับไปขณะใด กำหนดให้ทันปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่า มีสติ ประการที่หนึ่ง

๒.มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คือทุกสิ่งทุกอย่าง ให้มีสัมปชัญญะ รู้ตัวตลอดเวลา สมมติว่า เราจะเหยียดแขนอย่างนี้ เราคิดซะก่อน สติมันคิดซะก่อนว่าจะเหยียด และเมื่อเราคิดว่า เราจะเหยียด แล้วก็เหยียดไป ในขณะที่เหยียดไปนั้น มีสัมปชัญญะกำหนดไป เหยียดหนอๆ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

สรุปแล้วว่า ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

๓.มีความเพียร วิริยะความพากเพียรในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือ
๑) มีฉันทะ พอใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน
๒) มีวิริยะ แข็งใจเจริญกัมมัฏฐาน

แม้เจริญพระกัมมัฏฐานนี้ มันจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใด เราก็ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป หากว่าเรายังไม่บรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะไม่ลดละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เอาชีวิตแลก ยอมตายเอาดาบหน้า จนสามารถได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามเจตนาที่เราตั้งไว้

๓) มีจิตตะ ตั้งใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน ไม่เหลาะแหละ ไม่เหลวไหล แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ แล้วก็อยากได้จริงๆ อยากถึงจริงๆ อยากรู้จริงๆ คนเราเมื่อมีจิตใจตั้งมั่น คิดจะเอาอะไรมันก็สามารถที่จะทำได้

เราตั้งใจว่า เราจะเรียนให้จบชั้น ม.๑ หรือ ม.๒, ม.๓, ม.๔, ม.๕, ม.๖ มันก็สามารถที่จะทำได้ หากว่าเราตั้งใจที่จะเรียนให้มันจบ ถ้าว่าคนที่จิตใจไม่ตั้งมั่น ทุกสิ่งทุกอย่าง การงานที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิด มันก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เหตุฉะนั้น เราผู้เป็นนักปฏิบัติต้องมีจิตตะ ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ อย่าถอยหลัง

๔) มีวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาปฏิบัติมันต้องใช้ปัญญา ผู้ที่จะให้ทานก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่จะรักษาศีลก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่เจริญภาวนาก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญสมถะก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ต้องอาศัยปัญญา ถ้าขาดปัญญาแล้วก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ถึงฝั่งได้

แต่เมื่อใดเรามีปัญญา เราอาศัยปัญญาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติวันนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้หนอ การปฏิบัติทำไมมันไม่ก้าวหน้าหนอ การปฏิบัติทำไมมันถอยหลัง การปฏิบัติทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมมันจึงง่วงนอน ทำไมมันเกียจคร้าน

เราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา มันจะเห็นข้อแก้ไขทันทีว่า เออ วันนี้เราเดินอย่างนี้ เรานั่งอย่างนี้ เราภาวนาอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คุยอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็ทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ก็จะได้แก้ไข

เมื่อใด นักปฏิบัติตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัติอย่างนี้ การปฏิบัติก็สามารถที่จะได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

๑.อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เช่น เดินแขนแข็งๆไว้ เหมือนกับคนยกแขนไม่ได้ เดินก็เดินช้าๆ ในเวลาฉันเช้า เพื่อนๆก็ฉันไปก่อนแล้ว นี้เรียกว่า ทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็ไม่เดินตามปกติ นั่งก็ไม่นั่งตามปกติ นอนก็ไม่นอนตามปกติ คือหมายความว่า การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง มันทะแม่งๆ พูดง่ายๆว่า คล้ายกับแกล้ง หรือว่าเป็นการดัดจริต แทนที่เราจะปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนี้ๆ กลับไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าดัดจริต ภาษาทุกวันนี้เขาเรียกว่า ดัดจริต

ถ้าลักษณะนี้เกิดขึ้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี ต่อไปอย่าทำอีก เพราะจะทำให้คนอื่นจับผิดเรา บางทีจะหาว่าเราเสียจริตไปแล้ว เสียสติไปแล้ว หรือวิปลาสไปแล้ว อะไรทำนองนี้ เขาจะจับผิดเรา แทนที่จะให้คนอื่นมาปฏิบัติ เขาก็จะไม่มา ผลสุดท้ายเขาก็จะคลายความเลื่อมใส ไม่อยากมาประพฤติปฏิบัติ เกรงว่าถ้าไปประพฤติปฏิบัติแล้วจะเป็นบ้าอย่างนั้น เป็นบ้าอย่างนี้

เหมือนกันกับที่เคยไปเรียนปฏิบัติมา หลวงพ่อก็ไปสำนักพ้นอเวจีพ้นนรก สำนักปฏิบัติธรรมเหนือนรก พากันปฏิบัติเพื่อจะละสังขารไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนจะปฏิบัติก็ให้พระรูปอื่นเอาเชือกมัดติดกับเก้าอี้ รูปนั้นก็มัด รูปนี้ก็มัด ทางหน้าห้องก็ให้พระใส่กุญแจไว้ ล็อกกุญแจไว้ ข้าวน้ำก็อด ไม่กิน ผลสุดท้ายก็ถึงแก่มรณกรรมไป

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า มันทำไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าให้ผิดปกติ ให้เป็นไปตามปกติ แต่สำคัญหน้าที่ของเราคือต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

๒.อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น สมมติว่า เราเดินจงกรม บางทีมันเกิดความต้องการขึ้นมาว่า เราจะเดินจงกรมให้ดีที่สุด เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาน ในขณะที่เดินจงกรมอยู่นี้ หรือว่าเราจะให้มรรคผลนิพพานมันเกิดในขณะที่เดินจงกรมอยู่อย่างนี้ หรือเราจะเดินจงกรมให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ปล่อยให้ความต้องการเกิดขึ้น

ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วปฏิบัติอย่างนี้ก็เกิดโทษ ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดตามที่เราคิดไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโลภะ เกิดวิสมโลภะว่า เราสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดความเห็นผิดขึ้นมา

ถ้าว่ามันไม่เกิดตามที่คิดไว้ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ไม่อยากประพฤติปฏิบัติอีกต่อไป เห็นว่าการปฏิบัติมันก็ได้แค่นี้ล่ะ ไม่มีอะไรก้าวหน้า เลยไม่อยากประพฤติปฏิบัติ

๓.อย่าเครียด คำว่า เครียด ในที่นี้หมายความว่า ตึงเครียด อย่าให้เกิดความเครียด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตาม ขออย่าให้เกิดความเครียด คนเราถ้าเกิดความเครียดแล้ว เราจะเห็นทันที คือคิดมาก ความอยากได้ก็เกินประมาณ เมื่อคิดมาก เวลานอนก็นอนไม่หลับ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท เข้าโรงพยาบาลประสาท ผู้ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า อาการเครียดมันเกิดขึ้นมาแล้ว เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ค่อยได้ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท

๔.อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ เช่นว่า อยากมีหูทิพย์ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดหรือการตายของบุคคลหรือสัตว์อื่น อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดคิดหนักๆ เรื่องอย่างนี้ ผู้นั้นร้อยทั้งร้อยที่มาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมาก เป็นบ้า ผู้ใดมาปฏิบัติอยากได้อย่างนี้ หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่า เราได้คุณวิเศษแล้วอย่างนี้ๆ ส่วนมากเป็นบ้า ไม่บ้ามากก็บ้าน้อย

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้มากๆ อย่าให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้น เวลาประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐาน

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านครูบาอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดทั้งคณะแม่ชี ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หลวงพ่อพระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 มกราคม 2560 14:18:18 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #24 เมื่อ: 01 มีนาคม 2560 09:24:03 »



ธรรมะเบ็ดเตล็ด

เรียนท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา เพื่อนสหธรรมิก ลูกพระลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย คิดว่าได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้เป็นเวลาหลายราตรีมาแล้ว กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเกิดความเบื่อหน่าย วันไหนๆ ก็ได้ฟังแต่หลวงพ่อพูด ก็กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเบื่อหน่ายคลายศรัทธา คลายอุตสาหะในการประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

เหตุนั้น วันนี้จะไม่บรรยายธรรม จะถือโอกาสคุยกันวันนี้ แต่จะใช้เวลานานเท่าใด หรือมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

วันนี้ จะคุยเรื่อง บาป เรื่อง บุญ เสียก่อน เพราะว่าเรื่องบาปเรื่องบุญนี้ พวกเราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ ไม่ได้หมายเอาพวกเรา แต่(หมายถึง)ผู้ที่ไม่ได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ส่วนมากยังเข้าใจคำว่า บุญ คำว่า บาป ผิด ก็เพราะว่า ถ้าพูดเรื่องบุญเรื่องบาปแล้ว จะทำให้จิตใจของผู้ฟังนั้นไขว้เขว หรือเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่สบายใจว่างั้นเถอะ ถ้าพูดเรื่องบาป ก็ว่าบาปไม่มี ไม่กลัวหรอก บาปมันไม่ขี่ช้างสูบบุหรี่มาดอก อะไรทำนองนี้

มีนักศึกษาหลายๆ คนที่มาคุยกับหลวงพ่อ คุยไปคุยมา พูดไปพูดมา เขาก็พูดว่า หลวงพ่อ ผมว่าบาปมันไม่มีหรอก หลวงพ่อก็พูดว่า อ้าว ถ้าบาปมันไม่มี คุณก็ลองเอาขวานจามหัวแม่คุณดูสิ มันจะเป็นอย่างไร

ก็พูดตัดบทถึงขนาดนี้ เขาก็เงียบไป แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกแล้ว ก็พูดต่อไปว่า เรือนจำ หรือตะราง หรือคุกนั้น เขาสร้างไว้ทำไม การที่เขาประหารชีวิตคนโน้นคนนี้ ด้วยการยิง ด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้าก็ดี เพราะเหตุอะไรเขาจึงประหาร ทำไมเขาจึงฆ่า หลวงพ่อก็พูดเพียงเท่านี้

ท่านทั้งหลาย คำว่า “บาป” นี้ ถ้าหากว่ากล่าวโดยสภาวะอย่างสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ คือสภาวะใดที่ทำให้เราได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทุกข์ ด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ เราก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นบาป แต่ว่าคนที่ได้ทำบาปแล้ว ผลที่ได้รับจากการทำบาปนั้นก็คือทุกข์ แต่ผลที่ได้รับพิเศษที่พวกเราทั้งหลายทราบกันดีอยู่แล้ว

ถูกปรับไหมใส่โทษ ถูกจองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต หรือว่าตายแล้วไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกาย ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ ซึ่งเกิดจากการทำบาปต่างหาก แต่สภาวะที่เป็นบาปแท้ๆ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์

คำว่า บุญ ซึ่งหลวงพ่อได้บรรยายมาหลายๆ วันที่ผ่านมา โดยสภาวะได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นตัวบุญแท้ๆ สำหรับบุญเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความสุขใจ

ส่วนที่ท่านกล่าวว่า ทำบุญแล้วทำให้เกิดเป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน ไม่ตายง่าย หรือว่าเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติบริวารนานาประการ ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติ อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดจากบุญ หรือเกิดจากการทำดี คิดดี พูดดีต่างหาก

ทีนี้ก็ขอพูดถึงเรื่อง บาป นี่ เกิดขึ้นแก่เราได้อย่างไร ในเมื่อมันเกิดแล้วไปอยู่ที่ไหน มีอะไรเป็นเครื่องรับรองไว้ นี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เรื่องบาปนี้ก็ขอพูดสั้นๆ แต่หัวข้อ ซึ่งไม่ทำให้เกินเวลากินเวลาไปมาก ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี้ ถือว่าเป็นบาป

ทีนี้ เมื่อบาปนี้มันเกิดขึ้นแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม เป็นราคะก็ตาม เป็นโทสะก็ตาม เป็นโมหะก็ตาม เวลามันเกิดขึ้นแก่เรา เพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ จะเป็นโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม

วินาทีแรกที่มันเกิดขึ้น จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง มี ๓ ประโยคคือ วาระจิตของเราจะนึก จะคิด จะสั่ง อาการนึก อาการคิด อาการสั่ง นี้มันเกิดขึ้นมา ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป ถ้าจะพูดภาษาธรรมะก็เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เปลี่ยนมาเป็นคำพูดง่ายๆ ว่า

เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อชวนจิตดวงแรกเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไป สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไป

สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว

โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็จะดับลงไป

ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๓ ขณะ ขณะที่ ๔ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๕ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๖ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๗ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เมื่อชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะแล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว

ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาโลภะ โทสะ โมหะนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เกิดขึ้นมาหนึ่งขณะจิตแล้วก็จะดับไป เมื่อลงไปถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว ภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นมารักษา โลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราต่อไป ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ที่เรียกว่าอนุสัย

ราคานุสัยก็ดี ปฏิฆานุสัยก็ดี อวิชชานุสัยก็ดี หรือว่าอนุสัยต่างๆ ทั้ง ๗ ประการ หรือบาปทั้งหลายทั้งปวงที่เรียกว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็จะนอนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของเรา คือนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเรา มันก็จะนอนอยู่อย่างนั้นร่ำไป ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายมันได้ ตายแล้วเกิดอีกๆ มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน ไม่มีอำนาจใดๆ จะทำลายได้เลย

เราจะให้ทานหมดทรัพย์เป็นพันๆ ล้านบาท หรือเป็นหลายโกฏิ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายบาปหรือกิเลสตัณหา ที่มันนอนจมอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราให้หมดไปได้

เราจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จนตายแล้วรักษาอีก อย่างไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย รักษาร่ำไป ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ไม่รู้ว่ากี่ชาติ กี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายให้มันหมดสิ้นลงไปได้ มันก็จะนอนเนื่องอยู่อย่างนั้นตลอดไป เมื่อมันมีโอกาสมีเวลาเมื่อใด ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อุปมาเหมือนกันกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้หรือพุ่มไม้ ซึ่งมันคอยจ้องที่จะตะครุบกินอาหารที่ผ่านไปผ่านมา มีกบและเขียดเป็นต้น มันจะนอนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเห็นเหยื่อผ่านมาเท่านั้น มันก็ฉกกัดทันที ข้อนี้ฉันใด

พวกอนุสัยกิเลสทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าบาปทั้งหลายทั้งปวงที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ตามปกติแล้วมันจะไม่ปรากฏ ไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อใดมีอารมณ์มายั่ว คือมีอารมณ์มาเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีอนุสัยเป็นต้น ก็จะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อันนี้เป็นหลักการ หรือหลักทฤษฎีในเรื่องบาปมันเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันดำเนินไปตามวิถีจิตอย่างไร และก็มันไปอยู่ที่ไหนและก็เมื่อไรที่จะทำลายให้หมดสิ้นไป เรื่องบาปนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน

ทีนี้คุยเรื่องบุญ คำว่า บุญ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ของเรานี้ ไม่ใช่ว่ามันไปเกิดที่อื่น คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นที่เกิดของบุญของบาป ทีนี้ เมื่อบุญเกิดขึ้นเพราะการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้

สมมติว่า เรานึกจะทำบุญเท่านั้น หรือนึกจะเดินจงกรม นึกจะนั่งภาวนาเท่านี้ เมื่อ มหากุศลจิตมันเกิดขึ้นมา ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป

เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอาบุญ เช่นว่า บุญที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น มันก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสวยบุญหรือว่าเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๗ ขณะจิต จึงเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ

อุปมาเหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละพันบาทมาใบหนึ่ง เราก็มาพิจารณาดู เพราะว่าธนบัตรใบละพันบาทนี้ก็ถือว่าเป็นของมีค่า ถ้าเราชะล่าใจ ไม่รอบคอบ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ได้มาแล้วก็เอาไปใช้เลย หรือเก็บไปเลย บางทีเป็นธนบัตรปลอม เราก็เสียใจ เหตุนั้น เราต้องพิจารณาว่า ธนบัตรนี้มันใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ พลิกดูด้านหน้า พลิกดูด้านหลัง พลิกกลับไปพลิกกลับมา ๗ ครั้ง จึงว่า เออ ธนบัตรนี้ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เราก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด ชวนจิต ก็เหมือนกันฉันนั้น

เมื่อบุญที่ได้จากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตไปจนถึงชวนจิต

แล้วชวนจิตก็จะเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมารักษาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตต่อไป

สรุปว่า ภวังคจิต นี้ ทำหน้าที่รักษาทั้งบุญและบาป บุญเกิดขึ้นก็รักษา บาปเกิดขึ้นก็รักษา และในขณะที่มันอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้น ขณะใดบาปมันมีกำลังมาก มีกำลังกล้า และก็ได้โอกาส บาปก็ให้ผลเป็นทุกข์ ขณะใดบุญมีกำลังกล้า มีอานุภาพเหนือกว่าบาป ขณะนั้น บุญก็ให้ผล นี่มันสลับกันอย่างนี้

สรุปแล้ว จิตของเรานี้ ถ้าจะพูดในทางเชิงเล่านิทานให้ลูกให้หลานฟัง ก็ว่าจิตของเรานี้มีพระราชาครองอยู่ ๒ องค์ คือ ๑) พระยาโมหะ ๒) พระยาสติ พระยาโมหะก็หมายความว่าเป็นราชาแห่งบาปทั้งหลาย สติก็เป็นราชาแห่งบุญกุศลทั้งหลาย

บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีสติเป็นราชาเป็นใหญ่ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สำหรับบาปก็มีโมหะความหลงเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาทั้ง ๒ องค์นี้ ต่างก็แย่งกันครองร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบาป และก็เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบุญ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ปวัตติ(ผัน)ไปตามวิถีของจิต ไปจนถึงห้วงแห่งภวังค์ และก็อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ของเราต่อไป

อนึ่ง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นภาคปริยัติผสมกับภาคปฏิบัติ แต่ถ้าจะพูดหรือจะคุยให้เข้าใจง่ายๆว่ามันใช้เวลานานเท่าใด คือการที่บาปก็ดี บุญก็ดี มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตนั้น ใช้เวลานานเท่าไร ประมาณ ๕ วินาทีเท่านั้น ท่านทั้งหลาย

สมมติว่า เราดีดนิ้วมือของเรานี้ มันยังช้ากว่า ถ้าอุปมาก็เหมือนกับการถ่ายภาพ เราเอากล้องถ่ายรูปนั้นถ่ายรูป พอดีเรากดชัตเตอร์เท่านั้นแหละ ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์ม ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราคิดจะทำบุญหรือทำบาป พอเราคิดจะทำบุญทำบาปเท่านั้นแหละ มันไปแล้ว มันไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิตเราแล้ว มันลงไปถึงที่แล้ว นี่เราพูดในหลักของการปฏิบัติ

แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัตินั้น คล้ายๆ กับว่ามันจะใช้เวลานานๆ ต้องมานึกมาคิดให้รู้ให้เข้าใจเสียก่อนแล้วถึงจะสั่ง เสร็จแล้วก็ถึงจะขึ้นมารับเอาบุญเอาบาป เมื่อรับไปแล้วจึงจะได้มาพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วจึงจะมาตัดสินรับเอา เมื่อตัดสินรับเอาแล้วจึงจะมาเสพ มาดูว่ามันเป็นบุญเป็นบาปได้อย่างไร เสร็จแล้วก็จึงจะมารับไปเก็บไว้ในที่ที่เราต้องการ คือภวังคจิต เหมือนกับว่าใช้เวลาเป็น ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง เราฟังแล้ว คล้ายๆ ว่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่ที่จริงแล้ว มันเกิดเร็วจนไม่สามารถที่จะคิดทัน คือมันเกิดขึ้นประมาณสัก ๕ วินาทีเท่านั้น มันก็ถึงห้วงแห่งภวังคจิตแล้ว เหมือนกับเราถ่ายภาพ พอเรากดชัตเตอร์เท่านั้น ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์มแล้ว ข้อนี้ฉันใด บาปก็ดี บุญก็ดี ที่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็เหมือนกันฉันนั้น

ทีนี้ บาป เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราอย่างนั้นตลอดไป ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะกำจัดให้มันหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราได้

แม้ว่าเราจะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนา จนได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นต้น ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไปได้

หนทางก็มีอย่างเดียว คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังที่เราท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ คืออานุภาพของการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ เป็นสภาวธรรมที่มีอำนาจ ที่มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานได้

ดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย ทรงได้ทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดผู้สร้างเหย้าสร้างเรือนให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จนได้พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ในการตรัสรู้ เป็นพระสยัมภู ผู้รู้เอง ตรัสรู้เอง หรือเหมือนกับเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า

ท่านก็ทำลายกิเลสตัณหาโดยวิธีเดียวกันหรือในลักษณะเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว นี่เป็นกฎ เป็นหลักสัจธรรม หรือเป็นหลักของอมตธรรม คือเป็นธรรมะที่ไม่ตาย ใครที่มาประพฤติปฏิบัติ จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกา ชาติไหนภาษาใดก็ตาม จะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมก็ตาม มาประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายบาป มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ต่อเมื่อใดที่เรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว เมื่อสติสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปเห็นนาม ว่าในร่างกายยาววาหนาคืบของเรานี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม

เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นสภาวะทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป นอนเนื่องอยู่ในรูปในนามของเรา หรือนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เมื่อเห็นบาปเห็นบุญนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง สภาวะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นบุญเป็นบาป เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป มันจะเห็นพระไตรลักษณ์

เมื่อใดเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ขณะใด วินาทีใด ขณะนั้น หรือว่าวินาทีนั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ ของเราก็จะนึก จะคิด จะสั่งทันที คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ พอดีเราเห็นพระไตรลักษณ์ จะเป็นอนิจจังก็ตาม เป็นทุกขังก็ตาม เป็นอนัตตาก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้น มันไม่เหมือนกัน

บางท่านก็อนิจจังปรากฏชัด ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยได้ให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว ก็จะเห็นอนิจจังชัด แต่ทุกขังและอนัตตาก็มีอยู่ แต่มันไม่ชัดเท่าอนิจจัง

ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมาแล้ว ได้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานไว้มาก ทุกขังก็จะปรากฏชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา

ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญวิปัสสนามามาก ได้บำเพ็ญวิปัสสนามามากกว่า การให้ทาน รักษาศีล การเจริญสมถะ เมื่อเป็นเช่นนี้ อนัตตาก็จะปรากฏชัดเจน

เมื่ออนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นปั๊บวินาทีใด วินาทีนั้น ชวนจิต ของเรา ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็จะดับลงไป มันจะเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมา รับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิตก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต ดังกล่าวมาข้างต้น คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับไป

เมื่อดับไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นต่อไป

ในทำนองเดียวกันนี้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันลงไปถึงห้วงแห่ง ภวังคจิต มันก็จะทำหน้าที่ทำลายกิเลสตัณหา ทั้งที่เป็นโลภะ ทั้งที่เป็นโทสะ ทั้งที่เป็นโมหะ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพราะว่า ในขณะนี้ก็ถือว่าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมีกำลังกล้าแล้ว

เมื่อศัตรูไปพบกัน ท่านทั้งหลายก็คงคิดได้ว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อใดศัตรูมาพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไพรีต่อไพรีไปพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไฟกับน้ำไปเจอกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดน้ำมากกว่าไฟ น้ำก็ดับไฟทันที เมื่อใดไฟมากกว่าน้ำ ไฟก็ลุกโพลงไหม้โน่นเผานี่ทันที ข้อนี้ฉันใด

ในขณะที่พระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้น แล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต จนไปถึงห้วงแห่งภวังค์ เมื่อถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว มันก็จะทำลายโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเรา ถ้าหากว่ามันมีกำลังไม่มาก มันก็จะค่อยทำลายไปๆ ตามลำดับๆ

เหมือนกับที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ขณะนี้ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อยากนั่งหนอๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คิดหนอ ปวดหนอ เฉยหนอ ดีใจหนอ ทุกข์ใจหนอ อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่ากำลังพระไตรลักษณ์ไม่มาก หรือไม่มีกำลังพอ มันก็จะทำลายกิเลสหรือบาป ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นให้ค่อยหมดไปๆ ตามลำดับๆ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ค่อยดับไปๆ

ไม่ใช่ว่ามันจะดับไปพับเดียวเลยนะท่านทั้งหลาย มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้วก็มันเกิดพั่บขึ้นมา ก็จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับพึ่บไปเลยทีเดียว เหมือนกันกับจุดระเบิดปรมาณู หรือทิ้งระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์ ไม่ใช่อย่างนั้น คืออำนาจศีล สมาธิ ปัญญา หรือพระไตรลักษณ์นี้ มันจะค่อยทำลายบาปให้หมดไปๆ ตามลำดับๆ

เหมือนกันกับเราใช้กรดลบหมึก ถ้ากรดลบหมึกนั้นมันมีความเข้มข้น คือความเปรี้ยวของมันนั้นมันมาก มันเข้มข้น เราหยดลงไปที่แผ่นน้ำหมึก จะเป็นหมึกสีน้ำเงินก็ตาม สีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม หมึกนั้นก็จะค่อยจางไปทันที ถ้าว่ารสเปรี้ยวมันเข้มข้นมาก เราหยดลงไปพั่บ หยดเดียวเท่านั้น ภาพหมึก(หรือรอยน้ำหมึก)นั้นก็หายไปเลย แต่ถ้าว่าความเข้มข้นของมันไม่มาก มันก็ค่อยจางไปๆ ตามลำดับจนหมดไป ข้อนี้ฉันใด วิธีที่พระไตรลักษณ์ทำลายกิเลสตัณหาก็เหมือนกัน

อุปมาเหมือนเราตีงู ตีที่หัวของมัน มันก็ตายแล้ว หัวของมันก็กระดุกกระดิกไม่ได้แล้ว แต่ว่ากลางตัวและหางของมันยังกระดุกกระดิกอยู่ ยังเคลื่อนไหวได้อยู่ เราก็เอาแส้มาเฆี่ยน เฆี่ยนไปๆ จนถึงสะดือของมัน ตั้งแต่สะดือขึ้นมาถึงหัว มันก็จะค่อยๆ หมดกำลังไม่กระดุกกระดิกไม่เคลื่อนไหวแล้ว แต่หางของมันยังกระดิกอยู่ ยังกระดิกยิกๆอยู่ เราก็เฆี่ยนไป เฆี่ยนไปตามหางของมัน ผลสุดท้ายมันก็หมดสภาพ กระดุกกระดิกไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิต เมื่ออำนาจของศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นเพราะการเจริญวิปัสสนาของพวกเราทั้งหลาย กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็จะค่อยดับไปๆ ตามลำดับๆ จนสามารถเป็นสมุจเฉทปหานเป็นครั้งสุดท้าย คือมันจะดับไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นวิกขัมภนปหานบ้าง ตทังคปหานบ้าง ผลสุดท้ายก็จะเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง

อันนี้เป็นหลักการหรือวิธีการที่เราจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป เหตุนั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราท่านทั้งหลายเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ทุกวันๆ นี้ เราทำเพื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อจะออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเราจะทำบ้าๆ บอๆ หรือว่าเราจะทำเพราะว่าครูบาอาจารย์สั่งไว้อย่างนี้ หรือว่าเราทำเพื่อให้ถูกตามตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์เขียนไว้อย่างนี้ ไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นการเข้าใจผิดแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการเข้าใจผิด

คือการที่เราเดินจงกรมกำหนดบทพระกัมมัฎฐานอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็กำหนด ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ เราก็กำหนดอยู่ตลอดเวลา

เพราะเหตุไรเราจึงกำหนด เพราะว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสติของเราให้มีอานุภาพ มีอำนาจ มีพลัง มีสมรรถนะสูง เมื่อใดสติของเรามีอานุภาพ มีพลัง มีกำลัง มีสมรรถนะสูงแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาจะดับไฟมันไหม้บ้าน ไหม้ตึกรามบ้านช่อง หรือไหม้ตลาด หรือไหม้ในตัวอำเภอ ตัวจังหวัด ดังที่เราเคยประสบพบเห็นมา เขาจะดับไฟด้วยวิธีอย่างไร บางทีเขาก็ใช้น้ำฉีด บางทีก็ใช้ดินกลบ ถ้าเอาน้ำฉีดยังไม่ดับ เอาดินกลบมันก็ยังไม่ดับ จำเป็นก็ต้องใช้สารเคมี โปรยลงไปๆ ผลสุดท้ายไฟมันก็ดับ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน เราจะดับกิเลสตัณหา หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้น เราจะเอาอย่างอื่นไปดับ มันก็ไม่สามารถที่จะดับได้เลยท่านทั้งหลาย

ที่ท่านกล่าวไว้ว่า การให้ทานเป็นการกำจัดหรือทำลายมัจฉริยะ จริงอยู่ท่านพูดก็จริงอยู่ แต่มันไม่ใช่ว่าทำลายโดยเด็ดขาด เป็นแค่เราข่มมันไว้ สะกดมันไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น ในขณะที่เราให้ทานนั้น เราสามารถข่มมัจฉริยะความตระหนี่ หรือโลภะความโลภนี้ ให้มันสงบลงไป แน่นิ่งลงไป ไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาเท่านั้น แต่ว่ามันยังไม่ดับ

ส่วนการรักษาศีลเพื่อจะทำลายความโกรธ หรือว่าเจริญเมตตาเพื่อว่าจะทำลายความโกรธอย่างนี้ ที่จริงในขณะนั้นความโกรธมันก็ยังไม่ดับ เป็นแต่ว่ามันอ่อนกำลังลงไป หรือว่ามันสงบแน่นิ่งอยู่ในภวังคจิตเท่านั้น แต่เพราะว่าศีลของเรามีกำลัง หากเมตตาภาวนาของเรามันมีกำลัง เมื่อมันมีกำลังเหนือโทสะแล้ว โทสะก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาไม่ได้ แต่มันยังไม่หมด ยังไม่สิ้น

ถ้าเราเจริญสมถะภาวนาเพื่อทำลายโมหะ ที่ท่านพูดไว้ก็จริงอยู่ แต่มันยังทำลายไม่ได้หมด เป็นแต่เพียงว่าในขณะนั้นเราสามารถข่มโมหะ หรือว่าข่มอวิชชานี้ให้สงบลงไป ให้แน่นิ่งลงไป เพื่อว่าจะไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาต่อต้านเราในขณะที่เจริญภาวนาอยู่นั้น แต่ว่ามันยังไม่หมด

สรุปสั้นๆว่า การให้ทาน การรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนานี้ เป็นแต่เพียงอุบายวิธีที่จะข่มโลภะ โทสะ โมหะ นั้นให้อ่อนกำลังลงไป ให้เบาบางลงไป แต่ยังไม่หมดยังไม่สิ้น

ต่อเมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนมีสติสัมปชัญญะแก่กล้า เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติของเรานี้ก็จะทำหน้าที่ดับกิเลสตัณหาที่มีอวิชชาเป็นประธานเป็นใหญ่ทันที คือการที่จะดับกิเลสตัณหานั้น เราจะเอาอะไรๆ ไปดับมันก็ดับไม่ได้ นอกจากวิปัสสนา

เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจะเอาสติของเรานี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบริวาร ให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา

ถ้าเราดับได้ครั้งหนึ่ง คือสติเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง เห็นพระไตรลักษณ์ชัดเจนแจ่มแจ้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป แต่ยังไม่หมดสิ้น คือกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ถ้ากล่าวตามหลักอภิธรรมก็ว่า โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตปั๊บขึ้นมาครั้งหนึ่ง โลภะเราจะละได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะก็ทำลายไปได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ถ้าหากว่าสติของเรามันสมบูรณ์ครั้งที่ ๒ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถยังมัคคจิตให้เกิดปั๊บขึ้นมาครั้งที่ ๒ ก็จะสามารถทำโลภะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้อ่อนกำลังลงไป แต่ยังดับไม่ได้นะ เป็นแต่เพียงทำให้อ่อนกำลังลงไป

ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบครั้งที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตครั้งที่ ๓ เมื่อมัคคจิตเกิดครั้งที่ ๓ มัคคจิตที่ประกอบด้วยสตินั่นแหละ ก็สามารถทำลายโลภะได้เพียง ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะหมดไป ตอนนี้โทสะหมดไปแล้ว

ถ้าสติของเรามันเกิดพร้อมด้วยมัคคจิตครั้งที่ ๓ โทสะหมดไปแล้ว กามราคะ คือการคิดจะสร้างเหย้าสร้างเรือน มีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย การที่คิดว่าจะสึกไปเอาลูกเอาเมีย สร้างครอบสร้างครัว อะไรทำนองนี้ ไม่มีแล้ว หมดแล้ว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา

ถ้าเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถทำให้สติของเรามันสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในกาลใด ในกาลนั้น จตุตถมรรคคือมรรคที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาที่เหลืออยู่ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ หรือว่าโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ตามแนวของอภิธรรม

เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นมาครั้งที่ ๔ นี้ จะสามารถทำลายโลภะทั้ง ๘ ตัวนั้นให้หมดไป ส่วนโทสะมันหมดไปก่อนแล้ว โมหะที่ยังเหลืออีก ๑ ตัวคืออวิชชาก็จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ของเรามันจบแล้ว มีชาติสิ้นแล้ว มีข้อวัตรปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติ ก็ได้ปฏิบัติให้สมบูรณ์แบบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราได้เราถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน

นี่แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วิธีการหรือหลักการหรือว่าภาคทฤษฎี ที่บาปก็ดี บุญก็ดี เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ และมันดับไปก็ดับไปในลักษณะดังที่กระผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อันนี้เป็นการคุยเรื่องบุญเรื่องบาป แล้วก็เรื่องการทำลายบาปทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป

ต่อไปก็ขอคุยเรื่องปฏิบัติสักเล็กน้อย ท่านทั้งหลาย เรื่องการปฏิบัตินี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการเดินจงกรมนี้ ไม่สามารถที่จะสนองปสาทะศรัทธาของท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ทำไม่ได้

เพราะเหตุใดจึงทำไม่ได้ เพราะสถานที่ของเราสร้างยังไม่เสร็จ บริเวณที่จะเดินจงกรมนั้น ยังไม่พอ ยังไม่มี ต้องทำอีกสักหนึ่งปีหรือหนึ่งแล้ง จึงจะมีสถานที่เดินจงกรม ก็คิดว่าจะไปหาปูนฉาบ แล้วก็จะหาหญ้าหาแฝก หรือว่าเทคอนกรีต อะไรทำนองนี้ เป็นหลังคา พอเราจะเดินจงกรมได้

ในขณะนี้ สถานที่ที่จะเดินจงกรมนั้นไม่มีเลย จะมีก็มีแต่คูสระ หรือปรกกรรมที่ใกล้ๆ ที่ท่านทั้งหลายอยู่ ที่ไม่ได้สั่งว่าเดินจงกรมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุนั้นแหละเป็นปัจจัย ก็คิดว่าท่านครูบาอาจารย์ทุกรูปโดยส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าก็คงจะได้เดินจงกรมตามกำลัง ตามความสามารถ ตามโอกาสหรือสิ่งแวดล้อมมันเอื้ออำนวย

เหตุนั้น ก็ขอใ
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #25 เมื่อ: 07 มีนาคม 2560 16:38:19 »




สติกับโมหะ

วันนี้ จะได้นำธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติสืบไป

คำว่า สติ คือความระลึกได้ หมายความว่า เราระลึกได้เสียก่อน จึงทำ จึงพูด จึงคิด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราระลึกเสียก่อนจึงทำกิจนั้นๆ จึงเรียกว่ามีสติ

สตินี้มีอุปการะแก่ธรรมทั้งหลายในฝ่ายกุศล นับตั้งแต่การให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ไหว้พระก็ดี ทำวัตรสวดมนต์ก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี ตลอดถึงเจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนาก็ดี ก็มีสติเป็นอุปการะ หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราจะได้มาซึ่งฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติก็ดี หรือว่าจะสำเร็จซึ่งวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผลก็ดี ต้องอาศัยสติเป็นอุปการะทั้งนั้น ถ้าขาดสติ เราก็ไม่สามารถจะบรรลุคุณธรรมเหล่านั้นได้ สตินั้นเป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลายในฝ่ายที่เป็นกุศล

สำหรับตัว โมหะ แปลว่า ความหลง มีความหมายถึง ๗ ประการ

๑. หมายความว่า รู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ ได้แก่ รู้ทุจริตทั้ง ๓ คือรู้การประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ได้ดีที่สุด เช่น รู้วิธีฆ่าสัตว์ รู้วิธีลักทรัพย์ รู้วิธีประพฤติผิดในกาม รู้วิธีทำชู้สู่สม ล่วงเกินลูกเขาเมียเขาผัวเขาได้ดีที่สุด รู้วิธีโกหกต้มตุ๋น ยักยอกหลอกลวง ฉุดคร่าอนาจาร เนรคุณ อกตัญญู และรู้วิธีพูดคำหยาบ คำที่ไร้สาระประโยชน์ได้ดีที่สุด

๒. หมายความว่า ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้สุจริตทั้ง ๓ ประการ คือไม่รู้จักเจริญเมตตา ไม่รู้จักสันโดษยินดีด้วยของๆ ตนตามมีตามได้ ไม่รู้จักสทารสันโดษยินดีเฉพาะภรรยาสามีของตน ไม่รู้จักค่าของการพูดคำสัตย์คำจริง ไม่รู้จักพูดวาจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักคำพูดที่ทำให้ผู้อื่นสมานสามัคคี เคารพนับถือรักใคร่กัน ไม่รู้จักพูดคำอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่รู้จักวิธีทำบุญให้ทาน และอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน ทั้งไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน เป็นต้น

๓. หมายความว่า ไม่รู้จักขันธ์ ๕ และความหมายของขันธ์ ๕

๔. หมายความว่า ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ คือไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

๕. หมายความว่า ยังสรรพสัตว์ให้แล่นไปผิดทางให้หลงทาง คือให้แล่นไปในวัฏสงสารหาที่สุดมิได้

๖. หมายความว่า หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์

๗. หมายความว่า ไม่รู้จักวิปัสสนาภูมิ คือไม่รู้จักทางที่จะให้เกิดปัญญา ได้แก่ ไม่รู้จักอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น

โมหะนี้ มีความไม่รู้สภาวะตามความเป็นจริง คือไม่รู้รูปนาม ไม่รู้ปัจจุบัน ไม่รู้พระไตรลักษณ์ ไม่รู้มรรค ไม่รู้ผล ไม่รู้นิพพาน มีใจอันมืดบอด

โมหะนี้แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ โมหะอย่างหยาบ ๑ โมหะอย่างกลาง ๑ โมหะอย่างละเอียด ๑

โมหะอย่างหยาบ ได้แก่ ความหลงที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา พาให้เกิดการฆ่ากัน ลักของกัน ประพฤติผิดประเวณี โกหกต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่น พูดคำหยาบเป็นต้น

โมหะนี้ เวลาโลภะเกิดก็เกิดด้วย เวลาโทสะเกิดก็เกิดด้วย ถ้าโลภะโทสะไม่เกิด ก็เกิดได้เองตามลำพัง โมหะนี้เป็นตัวสำคัญกว่าโลภะและโทสะ โลภะและโทสะนั้นถึงจะมีโทษมากอยู่ก็จริง แต่ถ้าจะพูดถึงอำนาจและการละได้ยากนั้น ก็ได้แก่ตัว โมหะ

โมหะนี้ มีคติคล้ายกับปัญญา คล้ายกับญาณ ดังนั้นในหลักธรรมท่านจึงกล่าวไว้ว่า ญาณคติธรรม แปลว่า ธรรมที่มีคติคล้ายกับปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ มีอยู่ ๕ อย่างคือ วิตก วิจาร ทิฏฐิ โลภะ โมหะ

ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมควรระวัง ญาณคติธรรม นี้ให้มาก คือญาณคติธรรมนี้เมื่อเกิดขึ้น จะเหมือนกับเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หรือเหมือนกับเราได้ฌานหรือเข้าฌาน เพราะว่าเข้าฌานก็ต้องผ่านวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

แต่ญาณคติธรรมนี้ แปลกแยกกัน ๓ องค์เบื้องปลาย คือเบื้องต้น วิตก วิจาร มีเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงองค์ที่ ๓ ถ้าทิฏฐิเกิดเป็นญาณคติธรรม เราจะทำการสังเกตญาณคติธรรมได้ง่ายๆ คือเมื่อผ่านวิตกวิจารไปแล้ว ทิฏฐิความเห็นผิดจะเกิดขึ้นมา โลภะ คือความปลื้มใจ ดีใจ พอใจจะเกิดขึ้นมาผิดปกติ หลังจากนั้นโมหะก็จะเกิดขึ้น

โมหะเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ลืม ทำให้จำอารมณ์ไม่ได้ จำบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี ไม่ได้ปัจจุบันธรรม กำหนดอยู่ว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ อยู่ก็ตาม ทำให้เผลอให้ลืมไป ทำให้ขาดความรู้สึกไปนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกขึ้นมา เรียกว่า ญาณคติธรรม

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายเพียรพยายามตั้งสติสัมปชัญญะให้มั่น เวลาจะสัปหงกไปข้างหน้า หรือผงะไปข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ก็พยายามจำให้ได้ว่ามันไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ก็จำให้ได้ อย่าให้ญาณคติธรรมนี้เกิดครอบงำจิตใจของเราได้

เพราะว่า ญาณคติธรรมนี้เป็นเหตุให้เราเข้าใจผิด หลงผิด ได้ของปลอม คือได้สมาธิปลอม ได้สมาบัติปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม

เมื่อญาณคติธรรมเกิดอย่างรุนแรง ก็เป็นเหตุให้เกิดวิปลาสขึ้นมา เช่น จิตวิปลาส คิดผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม บางทีก็เข้าใจผิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์แล้ว

โมหะอย่างกลาง นี้เกิดขึ้นในใจของแต่ละบุคคล เช่น นึกถึงกามคุณ ๕ แล้วพอใจ ลุ่มหลง ติดอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ ไม่ได้ปรากฏออกมาภายนอกให้ผู้อื่นรู้ รู้เฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น

โมหะอย่างละเอียด นั้นได้แก่ อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจของแต่ละบุคคล ดุจขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม หรือดุจยางที่ต้นโพธิ์ต้นไทร หรือดุจเหง้าอุตพิดฉะนั้น

ธรรมดาต้นโพธิ์ต้นไทร เรามองไม่เห็นยางของมัน แต่ถ้าเอามีดไปกรีดจะเห็นยางได้ ฉันใด อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจก็เหมือนกันฉันนั้น เรามองดูเผินๆ เหมือนกับว่า คนนี้ไม่มีกิเลสตัณหา แต่พอมีอารมณ์มากระทบเท่านั้น ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อุปมาเหมือนกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้ ถ้ามองดูเผินๆ เหมือนกับมันไม่มีความหิว ความอยากอะไร แต่ถ้าบังเอิญมีกบหรือเขียดผ่านมาเท่านั้น งูตัวนั้นก็จะจับเอากบหรือเขียดนั้นกินเป็นอาหารทันที ข้อนี้ ฉันใด อนุสัยกิเลสก็เหมือนกันฉันนั้น

โมหะกิเลสนั้น เมื่อเกิดขึ้นจะให้โทษแก่ผู้นั้น คือทำให้ลืมคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ลืมคุณพ่อแม่ ลืมบาปลืมบุญ ลืมคุณลืมโทษ ลืมประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ลืมคุกลืมตะราง ประพฤติออกนอกลู่นอกทาง คือประพฤติชั่วช้าหยาบคาย ทางกาย ทางวาจา ทำให้ละเมิดศีลธรรม ทำตนเองและบุคคลเหล่าอื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตัดประโยชน์โลกนี้โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน โดยมาก เวลาตาย โมหะนี้จะนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

โมเหน หิ นิจฺจํ สมฺมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนึ อุปปชฺชนฺติ

จริงอยู่บุคคลทั้งหลายตายไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีความลุ่มหลงมัวเมาอยู่เป็นนิจ ก็เพราะอำนาจแห่งโมหะ ดังนี้

โมหะนี้เป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลาย ในฝ่ายอกุศลฝ่ายบาป

สติที่เป็นพระราชาฝ่ายบุญกุศลนั้น ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นนครหรือเป็นราชสมบัติ

ส่วนโมหะที่เป็นพระราชาฝ่ายบาปอกุศล ก็ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบนี้ เป็นพระนครหรือเป็นราชสมบัติเหมือนกัน

หมายความว่า กายนครคือร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะนี้ มีสภาวธรรมที่เป็นใหญ่หรือปกครองอยู่ ๒ อย่างคือสติกับโมหะ

อุปมาเหมือนกับพระราชาซึ่งครองนครเดียวกัน ต่างองค์ต่างก็แย่งชิงกันปกครอง เมื่อใดพระยาสติมีกำลังเข้มแข็งพอ ก็กรีฑาทัพยึดกายนครนี้มาปกครอง ตกแต่งกายนครนี้ให้สวยสดงดงาม น่าอยู่น่าอาศัย พาทำบุญทำทาน พาเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

ขณะใดพระยาสติอ่อนกำลังลง แต่พระยาโมหะมีกำลังเข้มแข็ง พระยาโมหะก็จะกรีฑาทัพยึดกายนครไว้ในอำนาจ แล้วก็บัญชาการให้ลูกสมุนเที่ยวฆ่า เที่ยวเบียดเบียน เที่ยวลักขโมยปล้นจี้ เที่ยวฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราอนาจาร โกหกหลอกลวงต้มตุ๋น ยุยงให้ประชาชนแตกกัน เกลียดกัน แตกร้าวสามัคคีกัน เป็นนักเลงเจ้าชู้ นักเลงสุรา เข้าคลับเข้าบาร์ เป็นนักเลงเล่นการพนัน กำหมัดกัดฟัน พูดจาหยาบคาย วางเพลิงจุดบ้านเผาเมือง เป็นต้น

เหตุนั้น การที่เราท่านทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการเข้าสู่สมรภูมิสนามรบ รบกันที่ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเป็นสนามรบของสติกับโมหะ เหมือนกันกับการทำศึกสงคราม ศัตรูข้าศึกรบกัน ณ ที่ใด ที่นั้นชื่อว่าสนามรบ

วิปัสสนาจะเอาสัมมาสติอันเป็นแม่ทัพฝ่ายกุศลมารู้ทันปัจจุบันธรรมก่อน มีสัมมาวายามะเพียรชอบเป็นเครื่องสนับสนุน มีโสภณเจตสิกเหล่าอื่นเป็นเครื่องเสริมให้สติสมบูรณ์ ให้เอาชนะโมหะได้

สติกับโมหะรบกันที่ปัจจุบันธรรม ดังจะแสดงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อขณะเห็น สติระลึกรู้ทัน โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศล คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่ถ้าในขณะเห็นไม่มีสติรู้ทัน บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้น บาปอกุศลก็เข้าไปในขันธสันดานของเรา

๒. เมื่อขณะได้ยินเสียง สติรู้ทันคือเราได้กำหนด โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศลคือศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา เมื่อขณะได้ยิน สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา

๓. เมื่อขณะรู้กลิ่น สติระลึกทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้กลิ่น สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนดหรือว่ากำหนดไม่ทัน บุญกุศลก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น

๔. เมื่อขณะรู้รส สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้รส สติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอพร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

๕. เมื่อขณะรู้สึกทางกาย สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น มีสติรู้ทัน จิตสะอาดบริสุทธิ์ โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอ พร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เข้าไปได้ ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

๖. เมื่อขณะนึกคิด คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เป็นต้น สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายคือศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดขึ้น ขณะใดรู้ไม่ทัน คือไม่ได้ตั้งสติเอาไว้ ความเผลอได้โอกาสเข้ามาพร้อมทั้งอกุศลทั้งหลายทั้งทำจิตใจของเราให้เศร้าหมอง

เหตุนั้น ท่านผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลายพึงประคองสติ บำรุงสติให้สมบูรณ์ ขยันหมั่นเพียรตั้งสติบ่อยๆ โมหะตัวเผลอซึ่งเป็นศัตรูของสติก็จะลดน้อยลงๆ เบาบางลงตามลำดับ จนกระทั่งดับสิ้นเชื้อสิ้นยางแล้ว จะได้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว

อุปมาเหมือนกันกับปลูกต้นไม้ ต้องหมั่นพรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชอยู่เสมอ ต้นไม้จึงจะเจริญงอกงามได้ แล้วผลิดอกออกผลให้แก่เรา ถ้าไม่เอาใจใส่พรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ยกำจัดศัตรูพืชเป็นต้น ต้นไม้ของเราก็จะอับเฉาลงไปตามลำดับๆ และเจริญเติบโตขึ้นไปไม่ได้ ผลและดอกที่จะออกมาให้เห็นก็ไม่มี ฉันใด แม้สติของเราถ้าไม่หมั่นบำเพ็ญเสมอแล้ว อาจจะเสื่อมลงได้ ฉันนั้น

แต่สุดท้ายก็จะมีรูปนามขันธ์ ๕ ที่เศร้าหมองเพราะบาปอกุศลทั้งปวงไม่อาจที่จะพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้านักปฏิบัติธรรมท่านใดเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสติให้ระลึกรู้ทันอยู่เสมอ ผู้นั้นชื่อว่าเดินทางพร้อมด้วยวาสนาบารมีที่จะถึงที่สุดคือพระมหานฤพานได้

ดังนั้น ขอท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงได้เร่งขวนขวายพยายามตั้งสติให้ทันปัจจุบัน ถึงแม้การกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้มุมานะกัดฟัน อดทนพยายามที่จะกำหนดร่ำไป หรือหากว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนาของเราทั้งหลายจะได้รับความลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายหมั่นเตือนสติตนเองอยู่เสมอว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ สู้ความทุกข์ที่เราจะได้รับในอบายไม่ได้

หากว่าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว เกิดประมาทหรือพลาดพลั้งเมื่อใด อาจจะไปตกอบายได้ หากว่าเราไปตกอบายแล้ว ก็จะได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอย่างนับไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตของเราก็จะเกิดความพยายามในการประพฤติปฏิบัติต่อไป

อนึ่ง ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า หากเปรียบเทียบกับความทุกข์ที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารแล้ว เป็นความทุกข์เพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนความทุกข์ที่เราจะเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น เป็นความทุกข์เหลือที่จะพรรณนาให้จบลงได้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นเหมือนกับภิกษุใจเพชร ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป ได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว ได้พากันออกป่าทั้ง ๓๐ รูป เมื่อถึงป่าแล้ว ก็ได้ตั้งสัจจะปฏิญญาต่อกันว่า

เราท่านทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพร้อมกันแล้ว เรามาสู่สถานที่นี้เพื่อบำเพ็ญความเพียร เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เราอย่าพูดอย่าคุยกัน ให้อยู่ที่ละรูปๆ อย่าอยู่รวมกันถึง ๒ รูป ให้อยู่แห่งละรูปๆ ตั้งอกตั้งใจเจริญสมณธรรม เพื่อจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามเจตนารมณ์ที่เราท่านทั้งหลายตั้งไว้ เมื่อถึง ๑๕ วันเราจึงมาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ

นัดหมายกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ที่ละองค์ๆ ที่ละรูปๆ นั่นแหละ ไม่อยู่ที่เดียวกันถึงสองรูป

แต่อนิจจา พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นหาทราบไม่ว่า ในป่านั้นมีเจ้าป่ารักษาอยู่หรืออาศัยอยู่ พระภิกษุจำนวน ๓๐ รูปนั้นหารู้ไม่เลย เมื่อประพฤติปฏิบัติไป ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง จวนจะสว่างก็จะพากันพักผ่อนหลับนอน เสือใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าป่า เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องมาคาบพระภิกษุไปกินวันละรูปๆ ในขณะที่เสือคาบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปกินนั้น พระภิกษุรูปนั้นก็หาได้ปริปากไม่ ไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือแม้แต่คำเดียว

เพราะเหตุไร

เพราะได้ตั้งสัจจะไว้แล้วว่าเราจะไม่พูดกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เสือมันจะคาบไปกินก็ไม่พูด เพราะจะเป็นการผิดสัจจะที่ให้ไว้ต่อกัน เพราะว่าต่างรูปก็ต่างอยู่เฉพาะที่ของตน

ในขณะนั้น พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์จึงเอ่ยเผยวาจาขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความฉงนสนเท่ห์ใจยิ่งนัก ชะรอยในป่านี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งแก่พวกเราเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน เสร็จแล้วก็ลงอุโบสถจบแล้วก็แยกย้ายกันไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

วันนั้นเป็นวันพระอุโบสถ ต่างก็ประพฤติปฏิบัติธรรมยันรุ่งจนจะสว่าง และในขณะจวนๆ จะสว่างนั้น ภิกษุรูปหนึ่งก็เอนกายลงไป เผื่อว่าจะพักผ่อนหลับนอน แต่หาทราบไม่ว่า ในขณะนั้นมีเสือใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน จ้องที่จะตะครุบท่านไปกินอยู่แล้ว

ท่านก็ไม่ได้สนใจ คือไม่ได้สำรวจ ปฏิบัติธรรมมาแล้วก็เอนกายลงไป กำลังจะม่อยหลับไปนั้นแหละ เสือใหญ่ตัวนั้นก็ตะครุบท่านทันทีจะคาบไปกิน พอพระภิกษุรูปนั้นรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว รู้ว่าตนอยู่ในปากเสือแล้ว ก็จึงร้องบอกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วยๆ เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว

พระภิกษุทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้ยินสำเนียงเสียงร้องขอความช่วยเหลือ พระภิกษุทั้งหลายจำนวน ๑๔ รูป ก็วิ่งไล่ตามไป ไล่ตามไปๆ เสือก็คาบพระรูปนั้นวิ่งไปเรื่อย พระภิกษุทั้งหลายก็วิ่งไล่ไปเรื่อยๆ จนไปถึงตีนเขา เมื่อถึงตีนเขา เสือตัวนั้นก็คาบพระภิกษุรูปนั้นวิ่งขึ้นไปยอดเขา คือเป็นทาง ก็วิ่งขึ้นไปๆ จนถึงยอดเขา พระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันก็ไม่สามารถที่จะตามไปช่วย

ก็ได้แต่ร้องบอกอยู่ที่เชิงเขาว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ได้ตามมาช่วย พวกผมทั้งหลาย ตามมาช่วยท่านจนหมดความสามารถที่จะช่วย บัดนี้ผมทั้งหลายไม่สามารถที่จะตามไปช่วยท่านได้แล้ว เราท่านได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

พระภิกษุรูปนั้น ซึ่งถูกเสือคาบอยู่ในขณะนั้น เสือมันก็วางพระภิกษุรูปนั้นไว้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็ได้ฟังเสียงพระภิกษุเพื่อนๆ ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน แว่วเสียงมาแต่ตีนเขา ก็มีสติสัมปชัญญะทันที ยึดเอา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินที่นิ้วเท้าของท่านแล้วกัดกินนิ้วเท้า กัดเข้าไปๆ กินเข้าไป

ท่านก็เจริญพระกัมมัฏฐานว่า ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อย ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อย วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นจากญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงข้อเท้าเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

แต่เมื่อท่านสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังไม่ลดละความพยายาม ยังมีขันติความอดทนเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานร่ำไปว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เกิดไปเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นเสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ กัดกินเข้าไป กัดเข้าไป กินเข้าไป พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงหัวเข่า ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

แต่ถึงกระนั้น ท่านยังมีขันติความอดทนอย่างแรงกล้า ไม่ยอมลดละการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังกัดฟันอดทน ต่อสู้ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปใหม่ และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ท่านก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอ เจ็บหนอไปเรื่อยๆ สลับกันไปเรื่อยๆ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงสะดือ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

แต่พระภิกษุใจเพชรเหมือนดังท่านจะด่วนปรินิพพานนั้นก็ยังหาไม่ ท่านยังมีสติสัมปชัญญะ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้ประกอบไปด้วยอธิวาสนขันติ คืออดทนอย่างแรงกล้า ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเด็ดขาด ตายก็ให้มันตายอยู่ที่ปากเสือนี่ คาปากเสือนี่

ท่านก็ตั้งจิตตั้งใจ รวบรวมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งกำลังกาย ทั้งกำลังใจ กำลังสติปัญญา เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ เจริญไปๆ วิปัสสนาญาณก็สูงขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ไปเรื่อยๆ เสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ในขณะเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านนั้นแหละ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านพิจารณาดูว่า เราบวชมานี้ ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม ท่านพิจารณาไปๆ ว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดี ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เราประมาทไปหน่อยหนึ่งเท่านั้นแหละ จึงถูกเสือคาบมากินในที่นี้ แต่ช่างเถอะ เรื่องนี้แล้วๆ ไป แต่บัดนี้เราบังเอิญได้พระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนสามารถยึดเอา พระอรหันตคุณ ไว้ได้ในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไม่ช้าไม่นานก็ปรินิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ถึงโลกุตตรสุข

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ของภิกษุใจเพชรแล้ว ไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของท่าน เพราะเหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

เพราะว่า การที่ท่านทั้งหลาย ได้เสียสละเวลามาประพฤติปฏิบัติ บ้างก็ลาญาติโยมมา บ้างก็ลาราชการมาบวช ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ถึงจะทุกข์ยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้เราใช้อธิวาสนขันติ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนกว่าจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุด หรือจนสามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคเป็นอย่างต่ำ

ในเมื่อเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขั้นปฐมมรรคแล้วก็เป็นอันว่าเราไว้ใจได้ เราได้ใบประกันชีวิต จุติจากอัตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ เป็นผู้มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน เราสามารถจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในวันข้างหน้า

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #26 เมื่อ: 10 มีนาคม 2560 16:17:59 »




แนะแนวทางการปฏิบัติ (๑)

ท่านครูบาอาจารย์ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวอะไรให้พิสดาร กว้างขวาง สุขุม เพราะว่าเท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนแต่ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันแล้ว ยังเหลือไม่กี่รูปเฉพาะพระบวชใหม่ เหตุนั้น เกี่ยวกับกฎของการปริวาสนี้ กระผมจะขอพูดคร่าวๆ พอเข้าใจแก่ผู้ที่บวชใหม่ ปฏิบัติใหม่

การเข้าปริวาสนี้ เราทำเพื่อความบริสุทธิ์ ต้องการให้กายของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้วาจาของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้ใจของเราบริสุทธิ์ เพราะว่ากาย วาจา และใจของเรายังไม่บริสุทธิ์ การเจริญพระกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของเราได้

เหตุนั้น เราจึงต้องประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาส ก็ขอปรับความเข้าใจว่า หลวงพ่อไม่ได้หมายความว่า ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันต้องครุกาบัติ เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อไม่ได้คิด และก็หลวงพ่อไม่มองท่านทั้งหลายในแง่อกุศล แต่หลวงพ่อคิดอย่างเดียว เข้าใจอย่างเดียวว่า ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้

ประการที่ ๑ ต้องการที่จะมาปฏิบัติธรรม เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และบูชาครูบาอาจารย์ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ตั้งใจไว้แล้ว

ประการที่ ๒ เพื่อให้การประพฤติวัตรของเรานี้สนับสนุนเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ต้องการให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อจะได้ช่วยกันจรรโลงพระศาสนาของเรา ให้เจริญรุ่งเรืองถาวรตั้งมั่นอยู่ได้ อันนี้เป็นความในจิตในใจโดยย่อ

เหตุนั้น ก่อนอื่นก็ขอปรับความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ คือการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ หากว่าเราทั้งหลายมีความระแวง หรือความสงสัย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติ เช่นว่า ต้องครุกาบัติข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นการเผื่อเหนือตกใต้ เพื่อต้องการไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้นในขันธสันดาน

พวกเราทั้งหลายจึงได้จัดงานปฏิบัติธรรมนี้ขึ้นมา หากว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว การปฏิบัติของเราก็ก้าวหน้า หากว่าเราไม่ทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ แม้ว่าเราจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในแง่ของสมถกัมมัฏฐาน จะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน จนเท้าแตก จะนั่งสมาธิเป็นหลายๆ ชั่วโมง ก็ไม่สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้เลย ไม่สามารถที่จะยังปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และอรูปฌานทั้ง ๔ ประการ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้เลย

หากว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดในขันธสันดาน ไม่สามารถที่จะบรรลุสามัญผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะอะไร เพราะว่า อกุศลจิตฝังจนแน่นอยู่ในจิตใจของเรา เป็นเกราะป้องกัน กั้นจิตของเราไม่ให้บรรลุคุณธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

หากว่าเรามาประพฤติวุฏฐานวิธี เพียงแต่คืนเดียว วันเดียว หากว่าบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งสมาธิสมาบัติ สามารถที่จะได้มรรคได้ผลตาม บุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่าเราเมื่อก่อนโน้นยังไม่ได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้อยู่กรรมเลย โอกาสที่จะได้บรรลุคุณสมบัติหรือสามัญผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุได้

และการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ สมมติว่า เราปกปิดอาบัติไว้ ๑ วัน การประพฤติวุฏฐานวิธีก็ต้องประพฤติ ๑ วัน เสร็จแล้วจึงจะขอมานัตต์ได้ ถ้าเราต้องครุกาบัติมาเป็นหลายเดือนหลายปี เราปกปิดไว้ เมื่อประพฤติวุฏฐานวิธี เราก็ต้องอยู่ปริวาสจนครบกำหนดที่เราปิดไว้เสียก่อนจึงจะขึ้นมานัตต์ได้ แต่ถ้าเราทั้งหลายได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย ก็สามารถที่จะยังสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า ทำไมเรานี้ต้องครุกาบัติมาเป็นเดือนหรือเราต้องครุกาบัติมาเป็นปีๆ มาประพฤติวุฏฐานวิธีเพียง ๓ วัน มันจะบริสุทธิ์ได้หรือ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้ ส่วนมากพวกเราเข้าใจกันในลักษณะดังนี้ เพราะเราทั้งหลายบวชมาแล้ว ส่วนมากก็เกิดความประมาท อาจจะทำพลาดไปบางสิ่งบางประการ เมื่ออกุศลจิตมีมาในจิตในใจของเราเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เกิดวิปฏิสารเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดได้ว่า การที่เราปกปิดอาบัติไว้นานๆ นั้น ถ้าพูดให้จริงๆ ลงไปแล้ว ส่วนมากเราไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะเหตุใดจึงไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะว่า เรานับตั้งแต่บวชมา เราบวชเข้ามาแล้ว ส่วนมากเราปลงอาบัติกันเกือบทุกวัน สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ จนถึงวรรคสุดท้ายว่า สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ หมายความว่า เราบอกไว้ทั้งอาบัติเบา ทั้งอาบัติหนัก ในเวลาเรา สัพพา ตา หรือปลงอาบัตินั้น เราได้บอกทั้งอาบัติหนัก ทั้งอาบัติเบา

อาบัติเหล่าใดที่เป็นอาบัติเบา ตั้งแต่ ทุกกฎ ทุพภาษิต ขึ้นมาจนถึง ถุลลัจจัย ก็เป็นอันว่าเราได้บอกไว้แล้ว บริสุทธิ์ไปแล้ว แต่อาบัติเหล่าใดที่เป็น ครุกาบัติ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว ไม่ถือว่าปกปิด ส่วนมากเราคิดว่าเราปกปิด แต่ที่แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ปกปิด คือเราบอกอาบัติทุกวัน สัพพา ตา ทุกวัน ถึงแม้ว่าเราจะปกปิดไว้มาก หรือไม่ได้ปลงอาบัติ ไม่ได้ สัพพา ตา มาถึงจะมากเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะไม่เกิน ๑๕ วัน เพราะเหตุใด เพราะ ๑๕ วันนี้เราลงอุโบสถครั้งหนึ่ง ในขณะที่ลงอุโบสถนั้นเราก็ สัพพา ตา หรือบอกประจานตัว เพื่อความสมบูรณ์ และก็บอกอาบัติทุกวันๆ

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจว่าเราปกปิดอาบัติไว้ พวกเราทั้งหลายเมื่ออัพภานกรรมแล้ว ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นมา เพราะอาศัย สงฆ์วีสติวรรค เป็นผู้รับรองหรืออาศัยบารมีของท่าน

แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายเคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็มาบวชพระทีหลัง อาบัตินั้น ในเมื่อเรามาบวชเป็นพระนี่ เวลาเราเข้ากรรมมาฝึกปฏิบัติ ก็บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เป็นพระนี้เท่านั้น แต่ในสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายต้องไปเข้ากรรมใหม่อย่างน้อย ๑ ครั้ง เมื่อเข้าแล้วก็ออกปริวาสกรรม เสร็จแล้วก็ขึ้นมานัตต์แล้วก็ขออัพภานก็จึงจะบริสุทธิ์ได้ ดังนี้

หลวงพ่อพูดเพียงคร่าวๆ ก็พอสรุปได้ว่า เราเข้าปริวาสนี้ก็เพื่อให้ศีลของเราบริสุทธิ์ หากว่าศีลของเราไม่บริสุทธิ์ การปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่ได้ผล ถ้าเจริญพระกัมมัฏฐาน ในส่วนของสมถะก็ไม่สามารถที่จะได้ฌานได้สมาบัติ แต่ถ้าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหตุนั้น เผื่อเหนือตกใต้ เผื่อความผิดพลาด เราทั้งหลายจึงได้ให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีควบคู่กันไป ขอจบสั้นๆ ในเรื่องอยู่ปริวาสเพียงเท่านี้

ต่อไปเรื่องการปฏิบัติ หลวงพ่อก็จะไม่พูดอะไรให้มาก เพราะว่าท่านครูอาจารย์ทั้งหลาย ส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันทั้งหมดแล้ว ผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ไม่กี่รูป แต่เพื่อผู้บวชใหม่ให้เข้าใจในแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ก็จะขอกล่าวโดยย่อ พอเข้าใจ พอจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

คือการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ส่วนมากปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้ผลคุ้มค่า ครูอาจารย์หรือญาติโยมผู้ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐากก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า ผู้ประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า เหนื่อยเปล่าเสียเป็นส่วนมาก เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะอาศัยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะได้ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อด่านะ

ส่วนมาก เราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะลงไปได้ การประพฤติปฏิบัติธรรม นอกจากอกุศลธรรมอื่นๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มานะทิฏฐิ ผู้ใหญ่ก็มานะทิฏฐิมาก ผู้ที่เป็นพระเล็กเณรน้อย ก็มีทิฏฐิมานะเหมือนกันทั้งนั้น แต่จะมากหรือน้อยนั้น ก็แล้วแต่อุปนิสัย

เพราะเหตุใดจึงไม่ได้บรรลุ ไม่ได้คุณธรรมสมบัติหรือไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เพราะอะไรๆ ก็ถือว่า กู กูดีแล้ว กูรู้แล้ว กูเข้าใจแล้ว อะไรๆ ก็เข้าข้างตัวทั้งหมดด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ เดินจงกรมก็ว่า กูได้ปฏิบัติมาแล้ว เราเคยเดินมาแล้ว นั่งสมาธิกูเคยทำมาแล้ว กูเคยทำได้แล้ว

เราไปที่โน้นที่นี้ เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ กูเคยปฏิบัติมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว ครูบาอาจารย์เทศน์อย่างนั้นสอนอย่างนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เราไปที่นั้นที่นี้ว่า เทศน์ไม่ดี แสดงไม่ดี การเทศน์การสอนไม่ได้เรื่อง สำหรับตัวเองก็สรุปแล้วว่า คนอื่นสู้เราไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของเราจึงไม่ได้ผล ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อว่าเป็นการสรุป นับตั้งแต่หลวงพ่อได้สอนธรรมะภาคปฏิบัติมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้

เพราะเหตุใด บรรดาผู้ปฏิบัตินั้นผู้ที่ได้ผลจึงมีน้อย ผู้ที่ไม่ได้ผลจึงมีมาก หลวงพ่อก็มาสรุปว่า มันอยู่ที่ไหน เพราะอะไร มันผิดที่ตรงไหน เมื่อสรุปๆ ลงมาแล้วก็เข้าใจว่า ที่ไม่สามารถทำได้เพราะอำนาจมานะทิฏฐิความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว เท่านี้แหละท่านทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัวนี้ เป็นสภาวะกั้นจิตของเรา ไม่ให้บรรลุคุณงามความดี พูดสั้นๆ ท่านทั้งหลายไปคิดเอาเอง ไปคำนวณเอง

สมมติว่า เราไปสถานที่ต่างๆ ไปเข้าปริวาสไปปฏิบัติที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง กฎกติกาอะไรที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ถวายไว้ ส่วนมากพวกเราทำไม่ได้ ท่านไม่ให้คุยกัน เราก็คุยกัน ท่านไม่ให้สูบบุหรี่ เราก็สูบบุหรี่ ท่านบอกไม่ให้ทำอย่างโน้น ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ เราก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ทำตาม ท่านให้เดินอย่างนั้น ท่านให้นั่งอย่างนี้ เราก็ไม่ทำตาม ท่านไม่ให้คุยเราก็คุย อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ขออภัยหลายๆ พูดความจริงที่ค้นคว้ามาแล้วว่ามันสรุปมาแล้วเป็นอย่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่างนะท่านทั้งหลาย

สรุปว่า ที่เราทำไม่ได้ เพราะอำนาจทิฏฐิมานะ ท่านทั้งหลายอาจจะว่าหลวงพ่อด่า สูบบุหรี่ กินหมากอะไร แต่ไหนๆ มาหลวงพ่อไม่เคยว่า หากครูบาอาจารย์องค์อื่นท่านจะว่า หลวงพ่อก็ไม่ว่าและไม่ห้าม บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ สูบบุหรี่นี่ผิดไหม มันเป็นการห้ามการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลหรือ อะไรทำนองนี้ก็ตาม หลวงพ่อก็จะพูดคำเดียวว่า การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ก็ดี ผู้กินหมากก็ดี สามารถที่จะได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติได้เหมือนกัน ผู้สูบบุหรี่ก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ ถึงสวรรค์ได้ ถึงพรหมโลกได้ และก็ได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติได้

หากว่า เราพอที่จะอดได้ก็อดไป พอที่จะทนได้ก็ทนไป โดยเฉพาะเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หากเป็นไปได้ก็งดเสียก่อน เพราะเราอยากเลิก อยากฝึกเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็อย่าสูบอย่าเคี้ยว หรือว่าพอเป็นไปได้เราก็งดมันเลย เพราะไหนๆ มาแล้ว เรามาปฏิบัติธรรมขั้นสูง ทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไปสิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน แค่หมากพลูบุหรี่ เราคงทำได้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ แต่ไม่ใช่หลวงพ่อด่าหลวงพ่อว่านะ

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่มาสู่สถานที่แห่งนี้ อย่าคิดว่า วัดพิชฯ นี้ ระบบการปกครองทุกสิ่งทุกอย่างเคร่งครัดเหลือเกิน อะไรๆ ก็จะแตะต้องไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ ก็ถือว่าคิดผิด เพราะเหตุใด ลองมองดูสามเณรตัวน้อยๆ เขาก็ยังทำได้ เราก็สามารถทำได้เหมือนกัน ถ้าว่าระบบการปกครองนั้นเคร่งเกินไป บรรดาพระเล็กเณรน้อยก็คงเดือดร้อนเหมือนกัน คงเดือดร้อนไปตามๆ กัน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติธรรมะของเรามันไม่ก้าวหน้า ก็เพราะว่า เราข่มมานะทิฏฐิลงไม่ได้ เหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย เรามาประพฤติปฏิบัติ ณ สถานที่แห่งนี้ เรามาปฏิบัติเพื่อกายสามัคคี วาจาสามัคคี จิตสามัคคี เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์

เราเอาสิ่งใดไปบูชาในสิ่งที่เราจะบูชา คือเราจะบูชาพระพุทธเจ้า เราจะบูชาพระธรรมเจ้า เราจะบูชาพระสังฆเจ้า เราจะบูชาครูบาอาจารย์ พ่อ แม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เราก็ต้องทำดอกไม้ธูปเทียนของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อนให้ดีเสียก่อน ให้สวยให้งามเสียก่อนจึงจะบูชาได้ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายจะบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ เราก็ทำกายของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำวาจาของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำใจของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำความคิดของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะสมควรว่า เราได้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์

ถ้าเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย เวลา ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ เป็นเวลาที่คุ้มค่ามาก ไม่ใช่ว่าของไม่มีคุณค่า ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ถือว่าเป็นของที่มีคุณค่ามาก เพราะเหตุใดจึงมีคุณค่ามาก เพราะ ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ทุกวินาที ครูบาอาจารย์มอบให้เราแล้ว ถวายเราแล้ว ครูบาอาจารย์ถวายเราผู้ปฏิบัติธรรมทุกวินาที ลักษณะอย่างนี้เป็นของหายากนะท่านทั้งหลาย

พวกเราทั้งหลายส่วนมากชีวิตความเป็นอยู่ของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น เนื่องด้วยสังคม เดี๋ยวก็โน้น เดี๋ยวก็นี้ อะไรจิปาถะ บางวันเกือบจะไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เกือบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ถือว่าเป็นของที่ทำได้ยาก ไม่ใช่ว่านั่งอยู่นอนอยู่ก็จะได้ไป

การที่คณะครูบาอาจารย์จะมอบถวายชั่วโมง นาที วินาทีให้พวกเราเป็นของที่หายากเหลือเกิน สำหรับครูบาอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านเสียสละเพื่อเราทั้งนั้น ทำงานเพื่อพวกเราทั้งนั้น ญาติโยมที่ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐาก ก็เพื่อพวกเราทั้งนั้น ท่านไม่ขอแม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาถึงแล้ว ก็ขอให้ใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เวลาเดินจงกรมก็ขอให้ตั้งใจเดินจริงๆ อย่าให้เป็นแต่เดิน เวลาเดินขอให้ทันปัจจุบันจริงๆ ต้นยก กลางยก สุดยก อะไรทุกสิ่งทุกอย่างให้มันทันจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม ขอให้ทันมันทุกอย่าง ความคิดที่เกิดขึ้นก็ขอให้ทันมันทุกอย่าง

เมื่อใดเราสามารถทำให้ทันมัน ตามันเคลื่อนไหวหรือมีปฏิกิริยาอย่างไร เราก็ทันมัน เห็นอย่างไร เราก็ทันมัน และขณะนั้นใจของเรามันคิดอย่างไร เราก็ทันมัน หูได้ยินเสียง เสียงที่เราได้ยิน ก็ให้ทันมัน ให้ทันเสียง แล้วก็ใจที่รู้ว่าเสียงนั้น ก็ให้ทันมัน จมูกได้กลิ่น ก็ให้ทันมัน ทันการเคลื่อนไหวของจมูก กลิ่นที่มากระทบกับจมูก แล้วก็ใจที่รู้อาการกระทบกลิ่นนั้น ก็ขอให้ทันมัน

เวลาใจของเรารู้จักสัมผัสอาการ รสต่างๆ ก็ขอให้ทันมันว่า รสอะไร เปรี้ยวหวานอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงมากระทบอย่างนี้ และใจที่รู้อาการกระทบของกลิ่นนั้น ก็ให้ทันมัน กายของเรามันถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ให้ทันมัน แล้วก็รู้ให้ทันใจของเราให้รู้ทันมัน

ส่วนมากพวกเราไม่ทันตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลามันมีอะไรเกิดขึ้นมาเราไม่ทัน ปล่อยให้ใจเพลินไปตามอารมณ์ เพลินไปตามรูป เพลินไปตามกลิ่น เพลินไปตามรส เพลินไปตามเสียง เพลินไปตามสัมผัส เราอยู่ในประเภทที่ว่า แมลงภู่ แมลงผึ้ง ที่บินแสวงหาเกสรดอกไม้ ตามปกติแมลงภู่ก็ดี แมลงผึ้งก็ดี มันจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันบินแสวงหาซึ่งกลิ่นอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด

ใจของเราก็เหมือนกัน มันไม่อยู่นิ่ง แล้วก็วิ่งไปตามรูป วิ่งไปตามเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เมื่อมันวิ่งไปแล้ว มันไม่วิ่งไปเฉยๆ มันเอาความโลภ โกรธ หลง เอามานะทิฏฐิ อะไรจิปาถะเข้ามาด้วย พูดสั้นๆ ว่า มันเอาความดีใจเสียใจเข้ามาด้วย มันไม่ไปเฉยๆ

เพราะฉะนั้น ใจของเรานี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้อาการเคลื่อนไหวของรูป ของนาม รูปมันเคลื่อนไหวอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร ก็ขอให้ทัน ให้รู้ทันว่า ใจของเรามันเคลื่อนไหวอย่างไร และขณะที่มันเคลื่อนไหวอยู่นั้น มีอะไรที่เกิดขึ้น ความโลภ โกรธ หลง มีไหม ใจเรามีไหมบุญกุศล

ก็ขอให้มันรู้ตลอดเวลา รู้แม้เมื่อเรากำหนดอิริยาบถยืนว่าเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่า อาการพองอาการยุบเหมือนกัน พองหนอ ยุบหนอ ไม่ใช่ว่าเราจะพูดแต่ปากเปล่า ก็ต้องรู้ว่าอาการพอง ต้นพอง กลางพอง สุดพองนั้นเป็นอย่างไร อาการพอง อาการยุบ เกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างไร ขณะนั้นมันเป็นอย่างไร มันหยาบมันละเอียดแค่ไหนเพียงไร ในขณะมันกระทบอยู่นั้น โลภ โกรธ หลง มันมีไหม โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชามีไหม เราต้องดูมันให้เห็นให้ทันเวลา

เพราะเหตุใด จึงให้ทันมันทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพราะว่าคุณสมบัติที่เราต้องการ อยากได้ อยากถึงนั้น เช่น สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ที่เราต้องการ ที่จะได้นั้น หากว่า เราไม่ทำสภาวะดังกล่าวให้สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะได้มาซึ่งสามัญผล

เพราะว่าสามัญผลคือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน หรือว่า กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล หรือโลกุตตรกุศลจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น สมาธิก็ดีหรือฌานก็ดีจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พองยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง มองข้ามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มองข้ามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มองข้ามอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง เรามองข้ามสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เพราะเหตุใดจึงมองข้าม

เพราะว่าเป็นสภาวะที่เคยชินแล้ว เมื่อเป็นสภาวะที่เคยชินก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน การที่ปล่อยไปตามธรรมชาตินั้นแหละ สามัญผลจึงไม่เกิดขึ้นแก่เรา เพราะว่าเราลืมไปเผลอไปตามอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า โบราณท่านกล่าวว่า อันร่างกายยาววาหนาคืบนี้เป็นแก้วสารพัดนึก สามารถที่จะนึกได้ดังใจหมาย ถ้ามีความฉลาด

แต่พวกเราก็มองข้ามอีกนั่นแหละ ก็คิดว่าแก้วสารพัดนึกนั้นเป็นของวิเศษอยู่เขาลูกนั้นอยู่เขาลูกนี้ หรืออยู่กับผู้ที่วิเศษอย่างนู้น อยู่กับผู้วิเศษอย่างนี้ มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง ไม่มองตัวเอง ไปมองอย่างอื่น มันก็จึงยังไม่ได้สามัญผลที่เราต้องการ หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เราย่อมมุ่งหวังจะได้สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ความอยากได้ของเรานี้มีจริง แต่มองข้ามสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ ผลที่เราต้องการจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า หลวงพ่อพูดอยู่เสมอว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบเป็นสิ่งที่สามารถจะให้เกิดทรัพย์สมบัติได้ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ ไม่ใช่ว่ามันจะไปเกิดอยู่ที่อื่น มันเกิดอยู่ที่นี้

หมายความว่า ผู้ที่แสวงหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม เขาก็แสวงหาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ เพราะว่าเขาฉลาดในการแสวงหา เขาแสวงหาจากจมูก หู คอ ลิ้น กาย ใจ จากข้อมือ ข้อเท้า จากแขนอะไร เขายังได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี อย่างนี้ถึงจะได้

ถ้าเราฉลาดในการแสวงหา ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เพียงแต่เขาแสวงหาจากเท้าเท่านั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ หาเงินจากข้อมืออย่างเดียวนั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ เขาหาเอาจากฟันของเราอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเป็นเศรษฐีได้

สรุปแล้วว่า คนที่มีความฉลาด สามารถที่จะแสวงหาเอาทรัพย์ที่เป็นโลกิยทรัพย์ได้จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ มันเกิดจากตัวนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาเอาที่อื่น แต่เพราะพวกเรามองข้ามปัญหาใกล้ตัว แล้วก็มีแต่อยากสบาย มีแต่อยากได้ แต่มองข้ามปัญหาใกล้ตัว จึงแสวงหาในสิ่งที่ไกลตัวออกไป ผลสุดท้าย แทนที่จะได้ผล กลับช้ำใจ เมื่อเราทั้งหลายแสวงหาเอาทรัพย์สมบัติในส่วนที่เป็นทางคดีโลกจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ฉันใด

พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านแสวงหาเอาโลกุตตรทรัพย์ ท่านก็แสวงหาเอาจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปแสวงหาเอาที่อื่น คือตาของเราที่มีอยู่นี้ สามารถที่จะแลกเอาซึ่งโลกุตตระได้ หูที่ฟังอยู่นี้ สามารถให้เกิดโลกุตตระได้

จมูกที่ได้กลิ่นอยู่นี้ ทั้งเหม็นทั้งหอม สามารถที่จะให้เกิดซึ่งโลกุตตระได้ ปากของเรานิดเดียวเท่านั้น สามารถทำให้เกิดโลกุตตระได้ ร่างกายของเราทุกส่วน สามารถที่จะทำให้เกิดโลกุตตระได้ ท้องพองท้องยุบของเราที่พองขึ้นยุบลงนี้ สามารถจะทำให้เกิดโลกุตตระได้ โลกุตตรธรรมจะเกิดก็เกิดที่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ต้องดูให้เป็น อย่าเป็นแต่ดู กำหนดให้เป็น อย่าเป็นแต่กำหนด ที่หลวงพ่อว่าโลกุตตระมันเกิดที่นี้ ก็เพราะว่า เวลาจะบรรลุจริงๆ แล้ว บางทีเราเพ่งแต่ตาอย่างเดียว เห็นหนอๆ ก็สามารถให้เกิดโลกุตตระได้ คือสามารถที่จะให้เกิดโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นต้นได้ เพ่งดูที่ตาอย่างเดียว กำหนดที่ตาอย่างเดียว สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้

ถ้าหากว่าเราพิจารณาดูแต่หูอย่างเดียว กำหนดเสียงอย่างเดียว ได้ยินหนอๆ เมื่อเรากำหนดไปๆ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อเกิดสติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นมรรค ผล พระนิพพานได้ มันเกิดที่ตรงนี้

จมูกของเราก็เหมือนกัน โลกุตตรธรรมสามารถที่จะเกิดขึ้นในขณะที่เราสูดกลิ่นนี้ กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆ อย่างเดียว ก็ได้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ ได้ฌาน ได้มรรค ได้ผลที่ตรงนี้ ลิ้นของเราก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า รสหนอๆ อย่างเดียว สามารถที่จะสำเร็จสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ หรือว่าเรากำหนดว่า ถูกหนอๆ แข็งหนอๆ อย่างเดียวสามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน

หากว่าเรากำหนดพองหนอยุบหนออย่างเดียว ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งฌาน ซึ่งสมาบัติ ได้มรรค ได้ผล หรือว่าเราจะกำหนดตามเวทนาว่า สุขหนอๆ หรือว่า ทุกข์หนอๆ ไม่ต้องเอาอย่างอื่น ทุกข์หนอๆ สุขหนอๆ อย่างเดียวก็สามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล

หรือว่าเราจะกำหนดความคิดอย่างเดียว คิดหนอๆ กำหนดที่หัวใจของเรา กำหนดว่า คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ก็สามารถที่จะได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล ส่วนมากพวกกำหนดจิตอย่างเดียวนี่ เท่าที่สังเกตมาจะได้ฌานมากกว่าอย่างอื่น

สรุปแล้วนะท่านทั้งหลายว่า ร่างกายยาววาหนาคืบนี้ถือว่าเป็นสมบัติมหาศาล โลกิยทรัพย์ก็เกิดอยู่ที่ตรงนี้ จะเป็นโลกิยทรัพย์ของมนุษย์ก็ดี ของเทพก็ดี ของพรหมก็ดี ก็เกิดอยู่ในนี้ โลกุตตรทรัพย์ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ก็เกิดอยู่ที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดอยู่ที่อื่น

แต่เพราะพวกเราทั้งหลายถูกตัณหา มานะ ทิฏฐิครอบงำ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมของที่มีอยู่ ลืมตา ลืมหู ลืมจมูก ลืมลิ้น ลืมกาย ลืมใจ ลืมอาการพองอาการยุบ ลืมเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นต้น ไปแสวงหาทรัพย์ภายนอก ไม่แสวงหาทรัพย์ภายใน ไม่แสวงหาทรัพย์ที่อยู่ใกล้ตัวเอง การบรรลุหรือว่าจะได้มาซึ่งฌาน สมาบัติ การบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน จึงเป็นของหายากได้ยาก

เราจะสังเกตได้ว่า เวลามาประพฤติปฏิบัติร่วมกัน ส่วนมากชั่วโมงการปฏิบัติของเรามีน้อย มีเวลาส่งจิตส่งใจไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนมาก มัวคลุกคลีกัน คุยกันอะไรกันเสียเป็นส่วนมาก จะเดินก็ปล่อยอารมณ์ เวลานั่งก็ปล่อยอารมณ์ เวลากินก็ปล่อยอารมณ์ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ส่วนมากเมื่อเราปล่อยอารมณ์แล้ว ไม่รักษาอารมณ์ เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ (โดยปล่อยใจไปตามอารมณ์ต่างๆ) จากวันนี้ถึงวันตาย หลวงพ่อขอรับรองว่า ไม่ได้อะไร เสียแรงเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ไหนๆ เราก็มาปฏิบัติ เพื่อตนเองบ้าง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการมีสติ สัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่ามองข้ามปัญหาใกล้ตัว ขอให้มองดูตัวของเราตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น ถึงใจ มองดูอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในใจของเราว่า ใจของเรานั้น ขณะนี้มันมีอะไรอยู่บ้าง ร่างกายของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง เรารู้แล้ว

แต่ในใจของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง มีอะไรอยู่ในใจของเรานี้ มันดีหรือมันชั่ว มันดีสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง หรือว่ามันยังไม่สมบูรณ์ มันบริสุทธิ์แล้วหรือยังไม่บริสุทธิ์ มองดู ทีนี้เราไม่เป็นวัวลืมตีน ให้เราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมะ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลายประทานแล้ว

ถึงที่เราต้องการถึงมรรคผล ถึงสามัญผลใดๆ ที่เราต้องการ หากว่าเรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง คือเรายังไม่ถึงโลกุตตระ เราก็ยังสามารถที่จะได้มาซึ่งโลกิยะ ในส่วนที่เป็นฌาน เป็นสมาบัติ หรือเป็นอภิญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

เอาละ ท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้ชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติทั้งด้านพระวินัย คืออยู่ปริวาสกรรมและก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอจะเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายได้แล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #27 เมื่อ: 16 มีนาคม 2560 10:02:13 »


แนะแนวทางการปฏิบัติ (๒)

ขอปรับความเข้าใจท่านครูบาอาจารย์ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ธรรมะที่นำมาถวายความรู้แต่ละวันๆ นั้น ไม่ใช่ธรรมบรรยาย และก็ไม่ใช่ธรรมเทศนา เพราะว่าในช่วงหน้าเทศกาลพรรษาก็ดี นอกพรรษาก็ดี หลวงพ่อใช้วิธี แนะแนวทางของการปฏิบัติ หรือการสอนเป็นบางสิ่งบางประการ เพื่อเป็นการเสริมความรู้

อาจจะผิดไปจากที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะพวกเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ หรือเวลาสอน เรายังไม่รัดกุมเท่าที่ควร เวลาปฏิบัติก็เหมือนกัน ส่วนมากการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่รัดกุมเท่าที่ควร คือยังหย่อนยานอยู่ จะว่าเคร่งก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ยังไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาแท้ คือยังไม่ถึงครึ่ง

เราจะสังเกตได้ อย่างเช่นการเดินจงกรมอย่างนี้ เราใช้วิธีกำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ระยะอื่นก็เหมือนกัน แล้วแต่การปฏิบัติของเรา เวลาที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เราก็มีแต่ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ แต่เมื่อเราคิดซึ้งๆ ไปแล้ว ยังไม่สมบูรณ์ สติของเรายังขาดช่วงอยู่ แทนที่ขวาย่างหนอ สติของเราจะทันตั้งแต่เริ่มยกขึ้น ก้าวไป เหยียบลง เราไม่ทันเป็นส่วนมาก ถ้าเราทันจริงๆ นะท่านทั้งหลาย ทำให้สภาวะเปลี่ยนแปลงไปได้เร็ว สามารถที่จะเพิ่มความรู้ด้านภาวนามยปัญญานี้ได้เร็ว

ถ้าหากว่าเรากำหนดจริงๆ แล้วก็สมบูรณ์ถึง ๘๐ ๙๐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติของเรามันก็ก้าวหน้าแล้วก็ได้ผลเร็ว อย่างเช่น เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี้ สามารถจะทำสมาธิ เกิดฌาน เกิดมรรค เกิดผลได้ ดังที่กล่าวแล้วเมื่อคืนนี้ว่า สมาธิ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดได้ทุกขณะ ในขณะที่เรามีสติกำหนดบทกัมมัฏฐาน กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ สามารถที่จะทำให้ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ทำให้เกิดฌานได้

ตัวอย่าง พระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ทองพูน มาปฏิบัติในสถานที่แห่งนี้ ปีนั้นปฏิบัติอยู่ตรงห้วยใกล้ๆ กันนี่แหละ ปีนั้นหลวงพ่อนั่งดูการปฏิบัติ คือนั่งอ่านหนังสือไป ดูบรรดาลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติธรรมไป ดูไปและก็อ่านหนังสือไป พระรูปนั้นเดินจงกรมกลับไปกลับมา ในเมื่อเดินจงกรมไป เดินไปๆ ก็เห็นยืนอยู่ ยืนอยู่ตรงๆ และในขณะนั้นก็อยู่ในช่วงก้าวขา ก้าวเท้าออกไป ขวาย่างหนอ ก้าวเท้าออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงเท้าลงไปเลย กำลังก้าวออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงลง ก็เห็นยืนอยู่อย่างนั้น

หลวงพ่อว่า พระทองพูน ทำไม เดินจงกรมจึงยืนอยู่อย่างนั้นนานเหลือเกิน แทนที่จะเหวี่ยงลง ก็ไม่เห็นเหวี่ยงสักที ก็เลยเดินไปดู เมื่อเดินไปดูแล้วก็สำรวจอาการหายใจ สำรวจดู อาการพอง อาการยุบ แล้วก็สัมผัสดู ที่ไหนได้ ท่านทั้งหลาย ได้สมาธิ ได้สมาธิในขณะที่กำลังก้าวเท้าไป ถ้าเราทำได้ทันจริงๆ มันเกิดนะ หรือว่าในขณะที่เรากำหนดว่า ยืนหนอๆ ถ้าสติของเรามันดีจริงๆ นะ ทันปัจจุบันจริงๆ สามารถได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่ยืนอยู่ก็มี

เช่น หลวงปู่แดง มาปฏิบัติธรรมในช่วงหน้าพรรษา ฉันเช้าแล้วก็ลุกออกไป ถึงเวลาก็เดิน เริ่มปฏิบัติเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กลับไปกลับมา ไปถึงต้นแถว คือต้นแถวของการเดินจงกรม แล้วก็หันกลับมา จะเดินต่อ ก่อนที่จะเดินต่อแล้วก็กำหนดว่า ยืนหนอๆ แล้วก็อยากเดินหนอๆ ในขณะที่กำหนดว่า ยืนหนอๆ อยู่นั้น ได้สมาธินะท่านทั้งหลาย ตอนนั้นช่วงสักสองโมงเช้าเศษๆ แล้วก็เริ่มปฏิบัติ หลวงปู่แดงยืนอยู่ในท่ายืนจนถึงเที่ยงครึ่ง (๐๘.๐๐-๑๒.๓๐ น.) จึงกระดุกกระดิก ก็ลืมตาขึ้นมา

ก็เป็นอันว่า สามารถทำสมาธิได้ ในขณะที่ยืนอยู่นั้น ในขณะที่เราเหยียดแขนไป อยากเหยียดหนอๆ หรือว่า อยากคู้หนอๆ สามารถทำสมาธิได้ในขณะที่เราทำอาการคู้อาการเหยียดก็มี หรือว่าสามารถตั้งสมาธิ สามารถที่จะได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่นั่งอยู่ก็มี

ดังเช่นโยมคนหนึ่งอยู่บ้านโคก แต่ที่จริงเขาเรียกว่าบ้านโคกเท่อเล่อ คือมันมีแต่พวกกรวด มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้ เรียนวิธีปฏิบัติอยู่ที่นี้ เดินจงกรมนั่งสมาธิเสร็จแล้วก็กลับไป ตอนกลางคืนหลังจากอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ แต่เวลาปฏิบัติ ลืม! ลืมคำบริกรรม ลืมคำภาวนา นึกได้อย่างเดียวว่า นั่งหนอๆ ก็กำหนดอาการนั่งนั้นร่ำไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถทำสมาธิให้เกิดในขณะที่กำหนดคำว่า นั่งหนอๆ มันทำได้ท่านทั้งหลาย และบางคนก็สามารถทำได้ในอิริยาบถนอน

เหตุนั้น การกำหนดบทกัมมัฏฐาน หลวงพ่อจึงย้ำว่า เรายังไม่ทันปัจจุบันเต็มที่ ได้แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เหตุนั้น บทพระกัมมัฏฐานที่ศึกษาเล่าเรียนมา ท่านทั้งหลายก็รู้มาทุกขั้นๆ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้น หลักวิชาการที่เราเรียนมานั้น เราเอาไปใช้ไม่เต็มที่

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามให้เต็มที่ เช่นว่าเวลาเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ เราต้องรู้ว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง เป็นอย่างไร ยุบหนอ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร และในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น ต้องสังเกตสภาวะคือนามด้วย ในขณะที่กำหนดอยู่นี้ โลภ โกรธ หลง มีไหม หมายความว่า ความดีใจ ความเสียใจ มันมีไหม นี่เราต้องรู้ คือต้องรู้ทั้งรูป รู้ทั้งนาม คือรู้ทั้งอาการพอง อาการยุบ และก็รู้ทั้งนาม

ถ้าความรู้สึกในขณะนั้น ในขณะที่เรากำหนดเวทนาว่า ทุกข์หนอๆ หรือ สุขหนอๆ หรือว่า เฉยหนอๆ เราต้องให้ทันอาการที่ทำให้เกิดสุข อาการที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วก็อาการเฉย และในขณะนั้นเราต้องรู้สภาวะที่เป็นนามด้วยว่า ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น ความดีใจ ชอบใจคือโลภะมีไหม ความไม่พอใจคือโทสะมีไหม ความไม่เอาใจใส่ในการกำหนด(โมหะ)ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ กำหนดแต่สักว่ากำหนด คือขาดสติมีไหม คือมันมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะไหม มีความเห็นแก่ตัวไหม อะไรจิปาถะนะ เราต้องรู้ทันมัน

ในขณะกำหนดเวทนา และในขณะกำหนดการคิดก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะคิดหนอๆ เสียเฉยๆ เราต้องรู้หทัยรูปคือสภาวะที่กำหนดที่ใต้ราวนมข้างซ้าย ๓ นิ้ว ต้องรู้ ต้องมีสติรู้ที่ตรงนี้ และในขณะที่เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อยู่นี้ จิตของเรามี(โลภะ)ความชอบใจไหม หรือมี(โทสะ)ความไม่พอใจไหม หรือว่า (โมหะ) จิตใจของเรามันลืมสภาวะ ปล่อยไปตามธรรมชาติหรือไม่

ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็หมายความว่า โลภะ โทสะ โมหะ ยังมีอยู่ในจิตในใจอยู่ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเวลากำหนดว่า คิดหนอๆ ส่วนมากบางครั้งก็เกิดความชอบใจ พอใจ บางครั้งก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ บางทีก็เฉยๆ ไม่ได้กำหนด

แล้วในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น สภาวะที่เรากำหนดอยู่นั้น กิเลสต่างๆ ที่เรากำหนดอยู่สมมติว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ ความพอใจชอบใจมีไหม พยาบาท ความไม่พอใจ หงุดหงิด แค้นเคืองมีไหม ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ซึมเซา หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนมีไหม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดมาก ฟุ้งซ่าน รำคาญใจมีไหม วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยมีไหม ในขณะนั้น เมื่อเรากำหนดให้ดีๆ แล้ว มันจะเห็นธรรม ทั้งกุศลและอกุศล

ในขณะที่กำหนดอยู่นั้น สภาวะคือความศรัทธามันมีไหม ความเพียรมีไหม สมาธิคือความตั้งใจมีไหม อะไรจิปาถะ เราต้องรู้ รู้สภาวธรรม คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราต้องรู้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราปฏิบัติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือมันไปพร้อมกัน มันมีอยู่ด้วยกัน เราต้องรู้

อีกอย่างหนึ่งในขณะที่เรากำหนดได้ดังนี้ อิริยาบถย่อยที่มี เราก็ต้องปฏิบัติ เช่นว่า เวลาตาเห็นรูปนี้ เราก็ต้องกำหนดว่า เห็นหนอๆ อย่างนี้ คือในขณะที่เรากำหนดอยู่นี้มันมีทั้งรูป มีทั้งนาม คือตาที่เราเห็นก็ดี สีที่เราเห็นก็ดี เป็นรูปธรรม ใจที่รู้อาการเห็นนั้นก็เป็นนาม เป็นนามธรรม หูได้ยินเสียง เราก็กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น รูปธรรมนามธรรมต้องมีพร้อม

ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็คือเสียงที่เราได้ยิน หูก็ดี เสียงก็ดี ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไร ว่าเสียงดี ว่าเสียงที่ชอบ ใจที่รู้ก็เป็นนามธรรม หรือในขณะที่เรากำหนดว่า กลิ่นหนอๆ รูปธรรมนามธรรมมันมีพร้อมแล้ว กลิ่นที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็นอย่างไรนั้น กลิ่นที่รู้ก็เป็นรูปธรรม จมูกของเราก็เป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็น เป็นนามธรรม ในขณะที่ลิ้มรสก็เหมือนกัน รสเปรี้ยว รสหวาน เป็นรูปธรรม และใจที่รู้ว่ามันเปรี้ยว มันหวาน ก็เป็นนามธรรม มันอยู่ในตัวของมัน

เหตุนั้น เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน อิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย คือกำหนด ตา หู จมูก ตลอดถึงอาการคู้ เหยียด อะไรจิปาถะ เราต้องทำให้ทัน

เมื่อใดเราทำได้ทันปัจจุบันธรรมแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรามันก้าวหน้าและได้ผล ส่วนมากเราไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าเราอยู่ในที่ว่าพวกมากลากไป ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เพราะว่าพวกเรานั้น พวกมากลากไป เราวิ่งไปตามกระแสของสังคม พวกมากลากไป ถ้าเราไม่พูดไม่คุย ก็เกรงว่าเพื่อนจะว่าเอา

เวลาเดินไปตามทาง สมมติว่าเราเดินไปฉันเช้าฉันเพล หรือทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หรือจะเดินไปสรงน้ำ อาบน้ำนี้ ถ้าเราจะเดินไปโดยที่มีสติ ไม่พูดไม่จา เดินไป ในขณะเดินนั้น เราตั้งสติอยู่ตลอดเวลา เราก็ทำไม่ได้ล่ะทีนี้ เพราะอะไร เพราะเราพูดไป เดินไป คุยไป เดินไป

เพราะเหตุใด เพราะว่าเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป การกำหนดมันก็ขาดจังหวะขาดช่วง ตลอดทั้งเวลาฉันนั่นแหละ เวลาฉันแทนที่เราจะทำสติของเราให้สมบูรณ์ เราก็ฉันไปคุยไปๆ พวกเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป ผลสุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมบทพระกัมมัฏฐานคือการกำหนด ลืมสติ

เมื่อลักษณะดังนี้มีอยู่ในพวกเราผู้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ได้แต่หลักการ ได้แต่วิธีการ แต่สภาวะที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานนั้น ไม่ได้ หลวงพ่อสังเกตท่านทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นแต่ว่าพวกเรา ที่มาปฏิบัติในพรรษาก็ดี หรือในช่วงหน้าพรรษาก็ดี ส่วนมากผู้ที่ได้สามัญผลนั้น มีน้อยเหลือเกินนะท่านทั้งหลาย เกือบจะว่าไม่มี ยิ่งไปเรื่องมรรคเรื่องผลนี้ยิ่งหาได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ ยังหาได้อยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ แต่มันมีน้อยท่านทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น หากท่านทั้งหลายตั้งจิตตั้งใจว่าอยากได้จริงๆ อยากได้สมาธิสมาบัติ อยากได้มรรคได้ผลจริงๆ เราก็ควรที่จะปลีกวิเวกอยู่ ต่างรูปต่างอยู่ ต่างรูปต่างทำ เพราะเวลาของเรามีน้อย ๙ วันนี้ วันแรกก็เสียไปแล้ว ๑ วัน วันพรุ่งนี้ก็เสียอีก ๑ วัน วันสุดท้ายก็เสียอีก ๑ วัน เสียไป ๓ วัน ได้เพียง ๖ วัน แล้วก็ไม่สมบูรณ์เสียด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย การที่จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน มันหาได้ยาก หาได้น้อยเหลือเกิน ไม่ใช่ว่านะ นี่พูดตรงนี้นะ

เหตุนั้น หากว่าเรามีโอกาสมีเวลา เราได้ปฏิบัติธรรมในสำนักต่างๆ เวลาท่านจัดขึ้น ก็ขอให้สังวรระวัง ปฏิบัติให้ดีที่สุดเท่าที่จะดียิ่งๆ เพราะว่าการปฏิบัติต่อสังคม ส่วนมากก็จะอยู่ปริวาส แต่ในงานปริวาสงานปฏิบัติในหน้าพรรษานี้ บางทีที่เราปลีกจากวัด เพราะว่ารำคาญหลวงพ่อเจ้าอาวาส ใช้ไปโน้น ใช้ทำโน้นทำนี้ ลำบาก ขี้เกียจ ก็หนีหลวงพ่อเจ้าอาวาสมา เมื่อมาถึงแล้วที่นี่ มีแต่เสวนากัน ชั่วโมงปฏิบัติหรือนอกชั่วโมงปฏิบัติ เราก็ไม่ทำสติให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่มันได้อยู่ แต่ว่ามันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ท่านทั้งหลาย ที่เรามีกะจิตกะใจมาอยู่ในสถานที่นี้มาปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าบุญล้นฟ้าล้นดิน เกือบจะมีบุญล้นฟ้าล้นดิน แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ คือสิ่งที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ เรื่องสมาบัติ ฌาน มรรค ผล นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการอยากได้ที่สุด

เพราะเหตุใดจึงอยากได้ เพราะว่า การที่ทำให้จิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง เป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตใจของเราเป็นอัปปนาสมาธิ เราก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ หรือสามารถข่มกิเลสทั้งหลายทั้งปวงให้สามารถสงบระงับลงได้ ทำให้เกิดความสุข เกิดความสุขแล้วก็จะทำให้การปฏิบัติของเรานั้นก้าวหน้า ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว จิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราบริสุทธิ์สามารถที่จะข่มกามคุณทั้ง ๕ ได้แล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิเกือบจะได้แล้ว

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็เกือบจะปิดประตูอบายภูมิได้เต็มที่แล้ว ถ้าหากว่าเราทำได้อย่างนี้ เรานั่งอยู่ตรงนี้ก็ดี หรือนั่งอยู่ที่ไหนก็ดี ร่างของเราเป็นพระธรรมดา เป็นเณรธรรมดา แต่จิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว สามารถข่มกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว

หากว่าเราสร้างสมอบรมบารมีมามาก ความเพียรของเราก็แก่กล้า เราก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัติก้าวหน้า จึงจะทำให้สติของเราสมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้รูปรู้นาม

เมื่อทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ เห็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วมันดับไป เห็นรูปนามเป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นรูปนามนี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเกิดความดับไปของรูปของนาม หรือว่าในขณะที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ รูปนามที่ดับไปเราก็รู้ แล้วก็ทันปัจจุบัน ในขณะรูปดับไปเราก็รู้ ในขณะที่นามดับไปเราก็รู้ ในขณะเดียวกัน ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้ คือถ้าจิตใจของเรามันทันจริงๆ นะ

ถ้าสติของเราทันปัจจุบันจริงๆ แล้ว มันจะเห็นอาการดับทั้งรูปดับทั้งนามและทั้งกิเลส คือว่าถ้าเราทำได้อย่างนี้แล้ว มันจะมีอาการ จะเห็นอาการเกิดอาการดับของรูปนามและเห็นกิเลส คือในขณะนั้นรูปมันดับไปเราก็ทัน ทันว่ามันดับไป เราก็รู้ว่ามันดับไป นามดับไปคือความรู้สึกของเรามันดับไปเราก็รู้ และขณะนั้นความชอบใจดีใจ คือกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้

เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนา เห็นทั้งการเกิด เห็นทั้งความดับ เห็นทั้งกิเลสตัณหามันดับไป ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิได้ โอกาสที่เราจะไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเราปิดได้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัตินั้น ต้องทำให้ทันปัจจุบัน ต้องมีสติจริงๆ และต้องทันปัจจุบันจริงๆ เวลากำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนด พองหนอ ยุบหนอก็ดี กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิตก็ดี กำหนดธรรมก็ดี กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ดี ให้ทันปัจจุบัน

เมื่อเราทำได้อย่างนี้ เราก็ว่าเราปฏิบัติมานานพอสมควรแล้ว ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ต้องสังเกตดู เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร การปฏิบัติธรรมของเรานี้ก้าวหน้าหรือไม่เพียงไร สังเกตดู

ลักษณะของการสังเกตนั้น คือ

๑. อาการพอง อาการยุบนั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว เราต้องสังเกต

๒. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ปรากฏชัด พองหนอ ยุบหนอนี่ ตัวไหนปรากฏชัด ตัวไหนไม่ปรากฏชัด

๓. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด พองหนอมันหยาบหรือมันละเอียด ยุบหนอมันหยาบหรือมันละเอียด

๔. อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน เช่นว่า พองหนอ ยุบหนอ อันเดียวกันหรือคนละอัน

๕. อาการพองกับอาการยุบ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เราต้องรู้มัน อาการพอง อาการยุบ พองหนอยุบหนออยู่นั้น มันเร็วขึ้นๆ มีไหม ต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย

๖. อาการพองอาการยุบของเรานั้น บางครั้งมีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือมันอึดอัด เหมือนใจจะขาด มันแน่นอึดอัดสูงขึ้นๆ แล้วหายไป มีไหมในขณะนั้น ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะกำหนดอาการพองอาการยุบของเรา รู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดมีไหม

๗. อาการพองอาการยุบ บางครั้งสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราก็ละเอียดไปๆ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ บางทีเหมือนกันกับว่ามันหมดไป หรือบางทีเหมือนกับจะดับ ตัวของเราจะตายไป ลักษณะนั้นมีไหม

การประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อกล่าวให้กว้างขวางพิสดาร มันก็มีมาก แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติจริงๆ เอาเท่านี้ท่านทั้งหลาย เราต้องสังเกตอารมณ์ที่เรากำหนด เช่นว่า กำหนดหายใจเข้า หายใจออก

สมมติว่า เรากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกว่า พุทโธๆ หรือหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อะไรทำนองนี้ บางครั้งลมหายใจของเรามันเร็ว มันหายใจเร็วขึ้นๆ มันมีไหม หรือบางครั้งอาการลมหายใจเข้าหายใจออกมันรู้สึกฝืดๆ เหมือนจะหายใจไม่ได้ หรือหายใจไม่ออกมันมีไหม หรือบางครั้งอาการหายใจเข้า หายใจออกในขณะที่กำหนดพุทโธๆ อยู่นั้น มันสม่ำเสมอดี

บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เหมือนกับไม่มีลมหายใจ มันมีไหม เราต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่า พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ สัมมาอรหัง อะไรทำนองนี้ หรือว่ากำหนดโดยที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีจุดหมายปลายทาง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้มันได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผลเสียเลย

เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดได้ดังนี้ สังเกตได้อย่างนี้ เราก็สังเกตต่อ ๆ ไปว่า เพราะถ้าอาการอย่างนี้มันมีแล้ว มันก็มีอยู่เป็นอยู่บ่อยๆ นั่งสมาธิครั้งหนึ่งอาจจะมีอยู่ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง มันเกิดลักษณะอย่างนี้มันเกิด มันอาจจะมี หากลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นมันมี

ทีนี้สังเกตต่อไปว่า เมื่อเรากำหนดต่อไป อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างมีไหม คือบางทีมันก็เร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง หรือผงะไปข้างหลังบ้าง หรือไปข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง หรือบางทีมันขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน มันมีไหม ท่านทั้งหลายต้องสังเกต

หรือบางทีกำหนดพองหนอยุบหนออยู่นั้น อาการฝืดๆ อึดอัดๆ แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกไปข้างหน้าบ้างไปข้างหลังบ้าง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน ลักษณะดังนี้ มีไหม เป็นไหม

บางทีอาการพองอาการยุบมันเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง มีไหมลักษณะอย่างนี้ ถ้าเรากำหนดได้อย่างนี้แล้ว โบราณท่านว่า อเนกานิสังสา มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ หลวงพ่อว่า ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ปฏิบัติได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติใกล้มรรคผลนิพพานแล้ว ใกล้จะถึงแล้ว ใกล้จะสำเร็จแล้ว

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะจริงๆ แล้วก็ได้ผลได้อานิสงส์จริงๆ อย่าให้เสีย อย่าให้ต้องมาแล้วก็ไม่ได้อะไร ขาดทั้งทุน สูญทั้งกำไร

หลวงพ่อได้น้อมนำเอา หลักของการปฏิบัติโดยย่อ มาถวาย แนวทางของการประพฤติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายออกไปแล้ว ก็จะได้ไปสอนญาติสอนโยม สอนลูกศิษย์ลูกหา ก็ขอให้จำหลักการไว้ให้ดี เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป หรือการปฏิบัติต่อไป

หลวงพ่อน้อมนำธรรมะมาถวายความรู้เพื่อเป็นแนวทางของการปฏิบัติของการสอน ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #28 เมื่อ: 29 มีนาคม 2560 13:43:10 »




แนะแนวทางการปฏิบัติ (๓)

ท่านอาจารย์ทั้งหลาย หลวงพ่อในนามคณะสงฆ์ ขอเจริญพรขอบใจ ขออนุโมทนาท่านคณาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนี้

พิธีกรรมหรือปฐมนิเทศใดๆ เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติผ่านมาแล้วตอนกลางวัน คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจึงไม่จำเป็นที่จะพูดอะไรให้มาก

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาแล้ว ส่วนมากเรียนมากกว่าหลวงพ่อ จบปริญญาตรี จบปริญญาโท จบปริญญาเอก การเรียนวิชาการต่างๆ ท่านทั้งหลายได้เรียนมากกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อ(จบ)เพียงแต่ชั้น ป.๔ เท่านั้น เหตุนั้น การพูดจาภาษาใดๆ อะไรก็ตาม หากว่าขาดตกบกพร่องหรือไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ

ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจเดินทางมาสู่สถานที่นี้ตามนโยบายของรัฐบาล มาปฏิบัติ สำหรับการปฏิบัติท่านทั้งหลายก็รู้ก็เข้าใจ เคยปฏิบัติมาแล้ว จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่จำเป็นที่หลวงพ่อต้องสาธยายอะไรให้มาก แต่ขอชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัตินี้ เราต้องการความรู้ขั้น ภาวนาญาณ เท่านั้น เพราะความรู้ด้าน สุตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เรียนมาแล้ว ความรู้ด้าน จินตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เคยใช้มาแล้ว แต่ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ส่วนมากเราไม่ได้ใช้กันเท่าที่ควร หรือว่าใช้ก็ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย แม้จะจบปริญญาเอก แต่ส่วนมากความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ พวกเราไม่จบ น้อยคนที่จะจบ

ลูกศิษย์ลูกหาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ หลายๆ พันรูป หลายๆ พันคน ที่จะเรียนรู้ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ หาสักร้อยคนก็หายาก คือไม่จบ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ไม่จบ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเป็นอันว่า ความรู้ใดๆ ที่พวกเราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ขอยกไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอามาใช้ เก็บไว้ก่อน หลวงพ่อต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายศึกษาหาความรู้ด้านภาวนาญาณ

ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ เราจะศึกษาหาจากตำรับตำราอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ความรู้ใดๆ ที่มีอยู่ในตำรับตำรา แม้แต่ความรู้ในด้านปริยัติ คือพระไตรปิฎก ความรู้ในด้านพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ ถือว่าเป็นความรู้ด้านปริยัติ เป็นปริยัติ แล้วก็เป็นจินตาญาณ เป็นสุตาญาณ ยังไม่ถึงขั้นภาวนาญาณ

ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ นี้ เราต้องทำเอาเอง ศึกษาเอง ก็รู้เองเข้าใจเอง การที่เราจะอ่านตำรับตำราหลายคัมภีร์สักเท่าใดก็ตาม ไม่จบ การเรียนรู้เรื่องภาวนาญาณนี้ บางท่านก็เรียนไม่จบเลย คือมันเป็นขั้นๆ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ถ้าจะแบ่งก็มีอยู่ ๔ ระดับ ๔ หมวด

แล้วความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ เราเรียนจากไหน

เราเรียนจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียนที่ พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น เราเรียนที่นี้ ไม่ได้เรียนที่อื่น

เพราะเหตุไรจึงเรียนที่นี้ (ที่กายนี้)

เพราะว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นบ่อเกิดความรู้ด้าน ภาวนาญาณ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

แต่ส่วนมาก พวกเราทั้งหลาย มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง คือมองข้ามเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรามองข้ามเลย ไม่เอามาขบคิดปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง หรือให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวะที่เป็นภาวนาญาณได้

วิธีที่เรียนรู้ บทที่ประกอบ หรือคู่มือที่เอามาประกอบก็คือ

๑.มีสติ คือมีสติอยู่ตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม รู้ตัวตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา (สติมา)

๒.มีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อม เราจะทำงานใดๆ จะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง จะเคลื่อนไหวอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เราก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเราเขียนหนังสือ ตัว ก. ตัว ต. นั้นเป็นอย่างนี้ นี้เป็นสติ แล้วก็ลักษณะของตัวนั้นเป็นอย่างไรๆ นี้เป็นลักษณะของสัมปชัญญะ (สัมปชาโน)

๓.มีวิริยะความเพียร คือมีฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ วิริยะ แข็งใจในการปฏิบัติ จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ และวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ (อาตาปี)

นี่คือคู่มือหรือลูกกุญแจที่จะเปิดเอาความรู้ด้านภาวนาญาณ เมื่อเราเอากุญแจไปเปิดตำรับตำราเรื่องภาวนาญาณ มันจะเห็นตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็รู้มันก็เห็น แล้วก็อาการขวาย่างซ้ายย่าง มันจะเห็นอาการขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นอย่างไร มันจะเห็นได้

เพราะอะไร

เมื่อเรามีสติกำหนดอารมณ์ดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นทีนี้ มันจะเห็นว่า พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ลักษณะมันเป็นอย่างไร คือมันจะปรากฏกายขึ้นมาเอง พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ก็จะเห็น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็จะเห็น มันเกิดขึ้นในเวลาเราเดินจงกรม

มันเจ็บ มันปวด บางทีก็เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ บางทีก็มีความสุข บางทีก็เฉยๆ มันจะเห็นอยู่ที่นี้ เห็นตรงนี้ มันเห็นอัตโนมัติ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นเอง มันเป็นอัตโนมัติ

ในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่ก็ดี เรากำหนดเดิน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก็ดี มันจะทำเหมือนกับสภาวะที่ซ้อนอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา มันมีสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน อะไรที่เป็นสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน มันจะเห็นเองโดยอัตโนมัติ เราบอกกันไม่ได้ ถ้าบอกได้มันก็เป็นปริยัติ มันก็เป็นสุตาญาณ หรือจินตาญาณ แต่นี้เราต้องการภาวนาญาณ มันจะเห็นเอง ถ้าเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง แทงตลอดเอง เรียกว่า ภาวนาญาณ มันจะเห็น

แล้วความรู้ขั้นนี้ ขณะที่เรากำหนดจิตของเรา คิดหนอๆ เรากำหนดอยู่อย่างนี้ร่ำไป มันจะเห็นอาการนะ มันจะเห็นอาการคิดของเรา มันคิดเรื่องอะไร มีอะไร เหตุเกิดที่แอบแฝงอยู่ในจิตในใจของเรา มีอะไร มันเกิดความคิดขึ้นมา ความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างนี้ เขาเรียกว่า ภาวนาญาณ

ภาวนาญาณนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน เมื่อเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว หรือมีสติสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็น ดังนี้ คือ

ปัญญาขั้นที่ ๑ เห็นรูป เห็นนาม (นามรูปปริจเฉทญาณ) เช่นว่า ขวาย่างหนอ นี่ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม มันจะเห็นเอง ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาตาเห็นรูป เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาลิ้นรับรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เวลาสัมผัสอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ อ่อนหนอ แข็งหนอ อะไรก็ตาม ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ขวาย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูปตรงไหนเป็นนาม ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เมื่อเรากำหนดอยู่อย่างนี้ เฝ้าดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ กำหนดอยู่อย่างนี้ ดูมันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันก็จะเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เมื่อแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว มันจะเห็นอะไรลึกๆ ไปกว่านั้นอีก มันจะเห็นของลึกๆ อยู่ในนั้น เรียกว่า เป็นของที่เกิดโดยภาวนาญาณ

ปัญญาขั้นที่ ๒ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เมื่อเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เมื่อเห็นเหตุเห็นปัจจัยแล้ว ก็จะเห็นรูปนามนั้นเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นทุกขัง คือสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นอนัตตา คือสภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป (ปัจจยปริคคหญาณ)

ที่หลวงพ่อพูดนี้เป็นปริยัตินะ แต่ที่เราต้องการรู้คือ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ๆ ไป มันจะรู้ คือความรู้ด้านภาวนาญาณนี้มันเกิดขึ้นมาเอง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ของรูปของนาม มันจะเห็นเอง

ปัญญาขั้นที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลำดับที่ ๓ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเห็นความเกิดความดับของรูปของนาม (สัมมสนญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๔ เห็นความเกิดดับของรูปนาม เมื่อเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม ที่แม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ท่านว่าอย่างนี้ ถ้าเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เรามีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี (อุทยัพพยญาณ)

ถ้าเรามาถึงปัญญาขั้นนี้แล้ว หากว่าเราตายไปในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ หรือในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราตายไปเพราะจิตดวงนี้หรือดับไปเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ประพฤติธรรม ได้ปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรม

ปัญญาขั้นที่ ๕ เห็นความดับของรูปนาม เมื่อปัญญาขั้น(เห็นความเกิดดับของรูปนาม)นี้แก่กล้าแล้ว ปัญญาขั้นที่ห้า (ภังคญาณ) ก็จะ เห็นเฉพาะความดับไป ของรูปนาม ความดับของรูปนามเป็นอย่างไร มันจะเห็น เห็นความดับของรูปนาม

ปัญญาขั้นที่ ๖ เห็นรูปนามปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ปัญญาขั้นที่หก เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวคือ รูปนามที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นี่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี่ มันจะปรากฏเห็นเป็นของน่ากลัว แล้วก็เห็นด้วยภาวนาญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม คือเมื่อเห็นว่ารูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวแล้ว ก็จะเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามเป็นลำดับที่เจ็ด เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม (อาทีนวญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๘ เห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ในลำดับที่แปด เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ก็จะเห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ทั้งร่างกายตนเอง และร่างกายของคนอื่น (นิพพิทาญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๙ เกิดความอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปนาม ปัญญาขั้นที่เก้า คือเมื่อเบื่อหน่ายรูปนามแล้ว ก็จะอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน อยากไปให้พ้น อยากออก อยากหนี ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป (มุญจิตุกัมยตาญาณ)

ถ้าปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะไม่จบภาคการปฏิบัติ เมื่อเวลาของเรามีอยู่ แต่เมื่อการปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ นั่งสมถกัมมัฏฐานก็ไม่อยากนั่ง เดินก็ไม่อยากเดิน คือ มีแต่อยากออก อยากหนี อยากเลิก อย่างเดียว

ปัญญาขั้นที่ ๑๐ จิตใจของผู้ปฏิบัติก็เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ (ปฏิสังขาญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ นั่งกัมมัฏฐานก็นั่งสบายๆ นี่เป็นความรู้ด้านภาวนาญาณ

เมื่อปัญญาขั้นนี้สมบูรณ์แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี เข้าสู่มัคควิถีคือ เห็นความเกิดความดับของรูปนามด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะก้าวเข้าสู่มัคคญาณ ผลญาณ

เมื่อเราถึงมัคคญาณผลญาณแล้ว เราจะเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญา ชัดอย่างไร ถ้าเราเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว รูปของเราก็ดับ นามก็ดับ กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็ดับไป

ถ้าเราสามารถเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา ๔ ระดับแล้ว ก็ถือว่า กิเลสตัณหานั้นหมดไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่ติดตามหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน นี่เป็นความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากการเจริญภาวนา เรียกว่า ภาวนาญาณ

ท่านทั้งหลาย (อาจจะคิดว่า) มีเวลาน้อยนิดเดียวเท่านั้น มันจะถึงไหมหลวงพ่อ หลวงพ่อว่า แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

บางคนเวลาน้อยนิดเดียว เราปฏิบัติตอนนี้ สามารถที่จะรู้ได้ตอนกลางคืนหรือตอนเช้า คือเราปฏิบัติตอนเช้า อาจได้ผลตอนเย็นก็ได้ แล้วแต่ปฏิปทาของใครของมัน บางคนปฏิบัติง่ายแล้วก็ได้บรรลุง่าย บางคนปฏิบัติง่ายแต่รู้ช้า บางคนปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว บางคนปฏิบัติลำบากและก็รู้ช้า แล้วแต่ปฏิปทาของแต่ละท่าน

ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อพูดมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีมรรคผลพระนิพพานอยู่หรือ พระอริยบุคคลยังมีอยู่หรือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ยังมีอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ แล้วก็เข้าใจอย่างนี้ เรื่องนี้หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูที่เรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)

แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาถึงปานนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลของการปฏิบัตินี้ มีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องฌานเรื่องสมาบัตินี่ ผู้ที่สามารถทำฌาน ทำสมาบัติ สามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง มีเป็นจำนวนมากพอสมควร

เมื่อเหตุปัจจัยในปัจจุบันเป็นหลักฐานอ้างอิงอยู่อย่างนี้ ตำรับตำราที่ท่านว่าไว้ก็มีเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ที่สอน ผู้ที่ปฏิบัติเพราะครูบาอาจารย์สอนก็มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย อย่าไปเชื่อตำรับตำรา(อื่นๆ )ที่เขากล่าวไว้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่า ศาสนาจะเป็นอย่างนั้น ศาสนาจะเป็นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลายอย่าไปเชื่อ ถ้าจะเชื่อก็ให้ถือตามหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตามที่กล่าวมาแล้ว

เพราะตามตำรานี้ หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาจนถึงบัดนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ยังเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพอสมควร แล้วผู้ได้ฌานได้สมาบัติ ก็มีมากพอสมควร

ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น หลักการของการปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่ละสำนักแต่ละอาจารย์(สอน)ไม่เหมือนกัน คือ

๑) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พุทโธๆ
๒) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง
๓) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมพุทโธ
๔) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวา
๕) บางสำนัก หายใจเข้า ภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
๖) บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
๗) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นะมะพะทะ ไปเรื่อยๆ
๘) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า รู้หนอๆ
๙) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งหนอ ถูกหนอ
๑๐) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ถูกหนอๆ
๑๑) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า กระทบหนอๆ
๑๒) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ
๑๓) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
๑๔) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
๑๕) บางสำนัก ยกมือไป ยกมือมา ภาวนาว่า เกิดดับๆ ว่าไปเรื่อยๆ
๑๖) บางสำนัก หายใจเข้า หายใจออก ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร นั่งดูอารมณ์เฉยๆ ภาษาบ้านเราเรียกว่า ซอมเบิ่งอารมณ์ นั่งดูเฉยๆ
อันนี้เป็นการบริกรรม ว่าถึงเรื่อง คำบริกรรม ที่ต่างกันไปในแต่ละสำนัก

ส่วนการเดินจงกรม ก็มีแตกต่างกันในแต่ละสำนัก ถ้าจะพอจำแนกได้ ก็มีดังนี้
๑) บางสำนัก ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
๒) บางสำนัก ขวาย่าง ภาวนาว่า พุทโธ ซ้ายย่าง ภาวนาว่า พุทโธ
๓) บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
๔) บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
๕) บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
๖) บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
๗) บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
๘) บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
๙) บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
๑๐) บางสำนักกำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร
๑๑) บางสำนักเดินจงกรมภาวนาว่า นะมะพะทะ

นี่ (การบริกรรม/คำภาวนา) ที่ท่านสอนกันภายในประเทศของเรา และในต่างประเทศ สอนกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีก แต่ละสำนักๆ ก็ใช้ไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะถือเอาอย่างไร สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก (ขอตอบว่า) ถูกด้วยกันทั้งนั้น

ที่ตอบว่าถูกด้วยกันทั้งนั้น คือ ถ้าเดินจงกรมและนั่งภาวนา โดยต้องการที่จะให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถะ คือ ถ้าภาวนาก็ดี เดินจงกรมก็ดี เราตั้งใจบริกรรม ตั้งใจที่จะทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มันก็ถูกแบบสมถะ

แต่ถ้าใช้วิธีกำหนด กำหนดรู้ ต้องการจะให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถูกแบบวิปัสสนา คือ ถ้าใช้วิธีกำหนดรู้ รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ รู้รูป รู้นาม รู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ถูกแบบวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น เราผู้ปฏิบัตินั้น แล้วแต่จะเลือกเอา แต่จะเอาอย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลาย การที่เราจะเลือกเอาสมถะ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลดังใจอยากได้ หรือว่าเราอยากได้วิปัสสนา ก็ไม่ใช่ว่าจะสมใจที่เราอยากได้ มันอยู่ที่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

ถ้าสมมติว่าเราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี่คำเดียวนี่แหละ พองหนอ ยุบหนอ นี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีในทางสมถะมาก่อน คือตั้งแต่ชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะมาก่อน หรือเมื่อก่อนโน้นได้ให้ทานรักษาศีลมากกว่าอย่างอื่น เวลามาเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดพองหนอ ยุบหนอ อย่างนี้แหละ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เมื่อสติสัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เกิดฌาน ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกันแหละ

นี่ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีทางสมถะมามาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามที่หลวงพ่อเคยสอนๆ มา บางคนก็สามารถทำสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง บางคนก็ทำได้ถึง ๓๐ ชั่วโมง

แต่ส่วนมากหลวงพ่อสอนไปถึง ๓๐ ชั่วโมง แล้วก็คิดว่า ๓๐ ชั่วโมงนี่ ก็นานพอสมควรแล้ว ถ้าเราตายในฌานเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สอนได้เพียงแค่นี้ แต่ว่าการทำสมาธิหรือฌานที่เราทำในสมัยนี้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ก็สามารถอยู่ในสมาธิในฌานได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีทางวิปัสสนามาก่อน คือเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ อย่างนี้แหละ ถ้าเราได้เคยสร้างสมอบรมบารมีในทางวิปัสสนามาก่อน คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวเข้าสู่ญาณชวนวิถี เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ผ่านไปตามลำดับๆ จนไปถึงมัคคญาณ ผลญาณ บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่มันผลไม่เหมือนกัน

สมถะหรือว่าผลของสมถะ แม้ว่าเราจะเดินจงกรม ได้สมาธิ ได้ฌาน เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ปิดประตูอบายภูมิยังไม่ได้นะ หากว่าเราประมาทไม่ได้ตายในฌาน ตายแล้วก็ยังไปเกิดในอบายภูมิได้

แต่วิปัสสนาภาวนานี้ ถ้าว่าเราได้วิชาวิปัสสนาเพียงแค่ ปฐมมรรค สามารถทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปปธัมโม เป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ สัมโพธิปรายโน จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถที่จะสำเร็จได้

ต่อไปก็ ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

๑. การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อจะให้ได้ถึงมรรคถึงผลนี้ ต้องประกอบด้วย องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม ดังนี้
๑) ต้องมีสติ รู้ทันปัจจุบัน
๒) มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม
๓) มีวิริยะความเพียร คือ พอใจปฏิบัติ ตั้งใจปฏิบัติ แข็งใจปฏิบัติ แล้วก็ฉลาดในการปฏิบัติ
อันนี้เป็นคุณสมบัติ เหมือนกันกับท่านทั้งหลายไปสอบเข้าโรงเรียนที่โน้นที่นี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ต้องมีคุณสมบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติแล้วไปไม่ได้

๒. นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติ จะต้องสังวรระวังในการปฏิบัตินั้น คือ
๑) อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็เดินตามปกติ คือ เวลาเดินก็เดินตามปกติ อย่าไปแข็งๆ เหมือนกับคนเป็นเปลี้ยเป็นง่อย อย่าทำให้อิริยาบถผิดปกติ
๒) อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น เช่นว่า นั่งภาวนาอยู่ หรือเดินจงกรมอยู่ จะเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาให้เห็นนรกให้เห็นสวรรค์ ให้เห็นโน้นให้เห็นนี้ ให้เห็นหวยที่มัน จะออกในวันที่ ๑๖ นี้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่า อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น คือพยายามอย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น ถ้าทำให้ความต้องการเกิดขึ้น เวลาปฏิบัติกัมมัฏฐานมันก็จะรั่ว การปฏิบัติไม่ได้ผล
๓) อย่าเครียดจนเกินไป ถ้าเครียดเกินไป มันจะทำให้จิตใจของเราคิดมาก จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก ถ้าอาการเครียดมาก เวลาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากปฏิบัติไม่ได้ผล หนักๆ เข้าก็เป็นบ้า เพราะอะไร เพราะว่ามันขาดสติ สติของเราไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความเครียด แล้วก็อย่าเครียดจนเกินไป แล้วก็อย่าหย่อนยานจนเกินไป
๔) อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ อยากได้หูทิพย์ อยากได้ตาทิพย์ อยากรู้วาระจิตของผู้อื่น อยากระลึกชาติหนหลังได้ อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี่ ร้อยทั้งร้อย เป็นบ้า เป็นบ้ามากหรือน้อยนี่ก็แล้วแต่ แต่มีอย่างเดียวก็คือ เป็นบ้า

เพราะฉะนั้น ก็ขออย่าให้ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้เกิดขึ้น

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #29 เมื่อ: 31 มีนาคม 2560 11:14:50 »




แนะแนวทางการปฏิบัติ (๔)

ขอกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้ รู้สึกซาบซึ้ง ยินดี ปีติ ตื้นตันใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้จัดพิธีปฏิบัติธรรม ก็นับว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจกว้างขวาง

เพราะผู้ที่มาปฏิบัติธรรมนี้ อยู่หลายจังหวัด ไม่ใช่ว่าอยู่เฉพาะจังหวัดอำนาจเจริญ และก็หลายๆ จังหวัดรวมกัน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะบรรยายธรรมะ หรือชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติธรรม ก็ขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางประการ เผื่อว่าจะได้สะดวกแก่การฟังแก่การพูด หากว่าท่านผู้ใด หลวงปู่ หลวงตา หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา มีอายุพรรษาตั้งแต่ ๗๐ กว่าไป ๗๓, ๗๔, ๗๕ ก็ขอยกไว้เป็นพ่อเป็นแม่ ฟังคำอะไรที่พูดไปก็ขอให้เข้าใจว่า วันนี้เราเป็นพ่อเป็นแม่ สำหรับท่านรูปใดที่อายุพรรษาอ่อนกว่า ๔๓ ปี ก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหา

ขอสรุปเอาสั้นๆ ว่า ไหนๆ เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันแล้ว ก็ขอใช้คำรวมๆ กันว่า หลวงพ่อ ก็แล้วกัน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ เราเป็นลูก เราเป็นโน้นเป็นนี้ ก็สมมติในจิตในใจเอา แต่ในขณะที่นั่งฟังอยู่ ก็ถือว่า ตอนนี้หลวงพ่อเป็นพ่อเป็นแม่ เราเป็นลูกเป็นหลาน ก็คิดเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน

ก่อนที่จะกล่าวธรรมะเพื่อเป็นการฉลองศรัทธาปสาทะของท่านทั้งหลาย ก็ขอปรับความเข้าใจเป็นบางสิ่งบางประการ โดยเฉพาะการพูดจาปราศรัย หลวงพ่อนั้นเป็นพระลูกทุ่ง ภาษาอีสาน พูดจาปราศรัยอะไร บางทีบางครั้งก็จะเป็นถ้อยคำที่ฟังไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ ด้วย

อีกอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่หลวงพ่อเบื่อ (แพ้) แตงโม ตั้งแต่โน้นมาจนถึงบัดนี้ ประสาททางการพูดกระท่อนกระแท่น ภาษาที่เขาเรียกว่า ลิ้นพัน เหตุนั้น ถ้อยคำอันใดที่ฟังมาแล้วไม่รื่นหู ก็ขอให้นึกว่าเป็นสภาวะของสังขารก็แล้วกัน

สำหรับวันนี้ การปฏิบัติธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น พวกท่านทั้งหลายก็ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เท่าที่สังเกต ทุกท่านถือว่าปฏิบัติกันมาพอสมควรแล้ว เว้นไว้แต่บางท่าน ในชีวิตนี้ที่ยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติรุ่นก่อนก็ถือว่าให้โอกาสให้เกียรติผู้ที่มาทีหลัง สำหรับการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น เราท่านทั้งหลายเข้าใจอยู่แล้วว่า ท่านปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านทั้งหลายก็รู้มาแล้ว

เพราะว่า แนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมโดยพิสดารนั้น มีหลายสิ่งหลายประการ ถ้าคิดเป็นสำนักๆ แล้วก็มีอยู่เกือบ ๒๐ สำนัก (หรือ ๒๐ แนวทาง) การปฏิบัติหรือกุศโลบายของผู้ปฏิบัติของผู้เป็นครูบาอาจารย์นั้นไม่เหมือนกัน แต่ผลที่ต้องการนั้นเหมือนกันหมด คือต้องการให้ทุกคนนั้นได้พ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน แม้จะใช้ คำบริกรรม อย่างไรๆ ก็แล้วแต่ จุดหมายปลายทางเหมือนกันหมด แต่จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ปฏิปทาหรือบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมมา

ส่วนการภาวนา ถ้าเราได้รู้ได้เข้าใจแล้ว แม้เราจะภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายนะ แต่เราใช้คำบริกรรมว่า อยากตายหนอๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิให้ได้ฌาน ผลสุดท้ายสติปัญญาแก่กล้า ก็สามารถที่จะได้ถึงมรรคถึงผลได้เหมือนกัน

สมมติว่าเรานั่งอยู่บนสาดบนเสื่อน้ำมันนี้ เรามองดูบริกรรมว่า เห็นหนอๆ เพ่งอยู่ เพ่งไปๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานเหมือนกัน หลวงพ่อได้ทดลองดูบางคนก็ได้สมาธิได้ฌานถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่าเราจะใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง ก็ดี อิติปิ โส ภควา พองหนอ ยุบหนอ หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม

การบริกรรมการภาวนามันแตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้ก็แล้วแต่กุศโลบายของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ แต่เมื่อสรุปแนวทางของการปฏิบัติ ทุกคนทุกท่านต้องการผลของการปฏิบัติเหมือนกัน คือต้องการจะพ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลนิพพาน

สำหรับพวกเราทั้งหลาย ที่ใช้คำภาวนาอยู่ในขณะนี้ ส่วนมากเราใช้สติปัฎฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะเหตุไรจึงใช้สติปัฏฐาน ๔ เพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่ครอบจักรวาล เป็นธรรมหรือบทปฏิบัติที่รวมยอด ผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม จะเป็น ๑๐ สำนัก ๑๐๐ สำนักก็ตาม แต่เมื่อรวมลงไปแล้วก็รวมลงในจุดเดียวกันคือ สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ รสหนอ ถูกหนอ ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม หมายความว่า สิ่งใดที่เราสามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ว่า สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ก็คือ ใจ ของเรา ใจนี่เป็นนามธรรม

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราเอารูปเอานามเป็นอารมณ์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงไปแล้ว ก็มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น เช่นว่า อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สำหรับใจที่รู้ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม

ก็เป็นอันว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อรวมกันแล้วได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น หากว่าจะขยายออกไปมากกว่านี้ เช่น เวทนานี้ เวลาเราเจริญพระกัมมัฏฐานว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ อันนี้เป็นรูปเป็นนามอยู่ด้วยกัน เช่นว่า มันเจ็บก็ดี ปวดก็ดี เฉยก็ดี อันนี้ใครเป็นผู้เฉย ใจของเราเป็นผู้เฉย ใจนี้ก็ถือว่าเป็นนามธรรม หรือว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ใครเป็นผู้คิด ใจของเราเป็นผู้คิด เราก็กำหนด คิดหนอๆ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม สำหรับธรรมทั้งหลายทั้งปวง ธรรมที่เป็นกุศลก็ดี ธรรมที่เป็นอกุศลก็ดี เช่น ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี มันเป็นนามธรรม

หากว่าเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ สิ่งที่ได้ผลเร็วที่สุด คือเราใช้ จิตตานุปัสสนา เช่น เรากำหนดคิดหนอๆ ผู้ต้องการฌานต้องการสมาธินั้นจะได้ก่อนเพื่อน เพราะเหตุไร เพราะว่าเมื่อเราควบคุมระบบความคิดแล้ว เมื่อเราควบคุมได้แล้ว ความคิดของเราจะน้อยลงไปๆ ถ้าว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ความคิดของเรามันจะหยุดลงไป เมื่อมันคิดใหม่ เราก็กำหนดใหม่ เรากำหนดได้ มันก็หมดพลังไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้

หากว่าในขณะเจริญพระกัมมัฏฐานมันคิดมากเกินไป เราก็พยายามกลั้นลมหายใจ เรากลั้นใจไว้ ประมาณสัก ๔ สัก ๕ หรือสัก ๓๐ วินาที หรือว่า ๔๐ วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมไปๆ หากว่ามันคิดอีก เราก็กลั้นใจไว้อีก มันคิดอีก กลั้นใจไว้อีก ไม่ช้าไม่นาน มันก็อ่อนกำลังลง ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้

หรือว่ายังไม่หาย ถ้าปานนี้มันยังไม่หายก็ลงน้ำไปเลย ดำอยู่ในน้ำนั่นแหละ เพราะอะไร เพราะว่าคนดำน้ำอยู่นั้นมันไม่คิด คิดไม่ได้ นี้วิธีที่จะทำลายความคิดเราให้อ่อนกำลังลงไป แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิ การเจริญพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ผลที่ได้ เมื่อสรุปลงแล้ว บางท่านที่ได้สร้างสมอบรมบารมีมาในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน หรือว่าท่านทั้งหลายที่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ตั้งแต่โน้น ตั้งแต่หลายปี หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เราเจริญสมถกัมมัฏฐานมามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานก่อน

แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามาก คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พ้นทางวิปัสสนา ทั้งๆ ที่ใช้คำบริกรรมเหมือนกัน คือ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เหมือนกันหมด

แต่ว่าผลที่ออกมานั้น ไม่เหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา ถ้าผู้ใดเคยบำเพ็ญในทางสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน ถ้าเคยเจริญวิปัสสนามาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้มรรคได้ผล แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ในสมัยนี้ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ เพราะเท่าที่ไปสอนธรรมะหลายๆ แห่ง กระแสต่อต้านก็มีหลายแห่งเหมือนกัน ส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนเขาเห็นว่าสมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานไม่มี และคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขาก็คิดกันอย่างนี้ เขาคิดว่า มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานได้สมาบัติไม่มี

แต่เรื่องนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผู้ที่ได้สมาธิได้ฌานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่นปีที่ผ่านมา ที่บ้านอีเติ่ง ก็มีผู้ทำสมาธิทำฌานได้ มีถึง ๓๐๐ เศษๆ เข้าได้ออกได้ตามอำนาจกำลังสมาธิของใครของมัน แล้วก็เอามาฝึกให้ทำสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็ ๓๐ ชั่วโมง ที่บ้านอีเติ่ง

นอกจากนี้ สำนักหรือวัดต่างๆ ที่หลวงพ่อไปเทศน์ไปสอน ก็รู้สึกว่ามีผู้ที่สามารถทำสมาธิได้เป็นจำนวนมาก เป็นอันว่า เมื่อเราฟังมาถึงนี้ ก็ถือว่าหมดปัญหาที่จะคัดค้าน ในเมื่อผลของการปฏิบัติปรากฏอยู่อย่างนี้

ส่วนท่านทั้งหลายจะคัดค้านก็ถือว่าเป็นบาปเป็นบุญของท่าน หรือว่าท่านจะคัดค้านก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านจะรักษาทิฏฐิมานะนี้ไว้ตลอดชีวิต หรือภพหน้าชาติหน้าก็จะรักษามิจฉาทิฏฐิไปก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย อันนี้ก็แล้วแต่เจตนารมณ์ของท่านผู้ปฏิบัติธรรม

แต่สำหรับผลของวิปัสสนานั้นเราบอกกันไม่ได้ เพราะรู้เฉพาะตน เพราะว่าผลของวิปัสสนานั้น หากว่าเราจะเอามาประกาศเอามาโฆษณาว่า ผู้นั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ฉันได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วนะ ผู้นั้นเป็นสกทาคามีแล้ว โน้นสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้คนก็หมั่นไส้ คนอื่นก็หมั่นไส้ เขาก็หาว่าเราอวดอุตริมนุสธรรม

เหตุนั้น เราจึงพูดกันในลักษณะอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราสังเกตเอากิริยาอาการต่างๆ การไปการมา การพูดจาปราศรัย สังเกตให้มากๆ หน่อยว่า กิเลสเขามีมากน้อยแค่ไหน เพียงใด เราก็สังเกตได้

หากพูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายยังไม่สบายใจ หรือไม่ปักใจเชื่อ หลวงพ่อก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะที่กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูเรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)

ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ บางท่านก็ไม่เชื่อ เพราะเหตุใด เพราะว่าเราได้ฟังตำรับตำราของครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านแต่งมาเขียนมา (ในยุคหลังๆ) เช่นว่าหนังสือความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นมีตอนหนึ่งว่า พระศาสนาล่วงเลยไปถึง พ.ศ. นั้น เป็นอย่างนั้นๆ เป็นต้น มีเขียนแทรก(เพิ่มเติม)อยู่ในหนังสือนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ หรือศึกษามาน้อยก็จะเชื่อว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน

มีโยมคนหนึ่งที่มาทอดกฐินที่วัดหลวงพ่อ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเจ้าภาพที่จะทอดกฐิน มาทีไรๆ ก็จะพูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพานดอก สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน อย่าคิดอะไรให้ลำบาก เอาแต่เพียงให้ทานรักษาศีลก็พอแล้ว เขาก็พูดอยู่นั่นแหละ

เพราะว่าตอนที่จะทอดกฐินก็ได้คุยกันไม่กี่ครั้ง หลวงพ่อก็คิดว่า เอ เราจะเอาอย่างไรหนอ หากว่าเราไม่สามารถจะทำลายทิฏฐิมานะของโยมคนนี้ได้ เราก็จะไม่รับกฐินเลย รับไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าเขายังเป็นเจ้ามานะทิฏฐิอยู่

พอดีใกล้ๆ วันจะทอดกฐิน เขาก็มาพูดอีกว่า หลวงพ่อ สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มีดอก พระโสดาบันก็ไม่มี พระสกทาคามี พระอนาคามีก็ไม่มี หลวงพ่อก็เลยได้โอกาส ก็เลยถามว่า คุณโยมเคยปฏิบัติมาหรือยัง คุณโยมได้ปฏิบัติมาหรือไม่ ตอบว่าไม่เคยปฏิบัติมา ถ้าว่าไม่เคยปฏิบัติจะรู้อย่างไรว่า มรรคผลนิพพานไม่มี เขาก็เก้อ เขาก็พูดไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ (๑) อย่าเพิ่งปฏิเสธ (๒) อย่าเพิ่งรับ ทุกสิ่งทุกอย่าง หากว่าเราไม่พิสูจน์ด้วยตัวเองก็อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออย่าเพิ่งปฏิเสธ ขอให้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาตริตรองเสียก่อน แล้วจึงตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ ผลสุดท้ายโยมที่จะมาทอดกฐินนั้นก็ยอมแพ้ ละทิฏฐินั้น

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาตริตรองให้รอบคอบว่า เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย แต่หลวงพ่อเชื่อ

เพราะเหตุไร หลวงพ่อจึงเชื่อ

เพราะว่าองค์สมเด็จพ่อท่านตรัสไว้

ท่านตรัสไว้ที่ไหน

ท่านตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เรื่องมรรคเรื่องผล ในสูตรนั้นบ้าง สูตรนี้บ้าง เหตุนั้น หลวงพ่อจึงเชื่อ ตกลงก็เป็นอันว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน มีอยู่นะท่านทั้งหลาย เพราะหลวงพ่อได้พยายามแนะนำพร่ำสอน แนะนำพร่ำเตือนลูกศิษย์ลูกหามาหลายๆ พันรูป หลายพันคนแล้ว

สมัยนี้สมาธิสมาบัติก็ยังมีอยู่ เพราะว่ายังมีผู้สามารถทำสมาธิทำฌานได้ ตั้งแต่ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมงไปจนถึง ๗๒ ชั่วโมง ก็ยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ได้ผลทางวิปัสสนา ก็พอที่จะเห็นได้ พอที่จะสังเกตได้ จะสังเกตได้จากลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัตินั้น ว่าคนนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เราพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อพิสูจน์ได้อย่างนี้ ก็พอที่จะพิสูจน์ได้ว่า สมัยนี้ยังมีมรรคผลนิพพานอยู่

ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เราอยู่ไม่เหมือนกัน บางท่านก็เป็นครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ บางท่านก็เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา แต่คำภาวนาคำบริกรรมนี่ เราใช้เหมือนกันหมด มันจะได้มรรคผลนิพพานอย่างไร ท่านทั้งหลาย การภาวนานั้นจะใช้คำไหนอย่างไรก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกา สามเณรก็ตาม ได้ผลเหมือนกันหมด บางทีก็จะคิดว่า เอ หลวงพ่อชักพูดไปกันใหญ่แล้ว มันได้ผลเหมือนกันอย่างไร

ท่านทั้งหลาย เราเจริญพระกัมมัฏฐาน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนออยู่นั้น อะไรมันเกิด สติของเรามันเกิดแล้ว นี่สติของเรามันจะสมบูรณ์ขึ้นๆ

เมื่อสติของเราสมบูรณ์มีพลังมีอำนาจ เราก็เอาสตินี่แหละไปทำลายกิเลสตัณหา ก่อนที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานนั้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ

๑. อนิจจัง สภาวธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

๒. ทุกขัง สภาวธรรมที่เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

๓. อนัตตา สภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันแล้ว ในขณะที่เราเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ ก็จะคิดจะนึกจะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพอารมณ์พระไตรลักษณ์ เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

หมายถึงว่า มาถึงชวนจิตดวงที่ ๕ เป็นจิตที่เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทมา ใบละ ๑,๐๐๐ บาทนั้นเป็นของมีราคาค่างวด เราต้องใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาว่ามันปลอมไหม มันใช้ได้ตามกฎหมายไหม เราก็พลิกไปพลิกมา กลับหน้ากลับหลังดูว่า เออ มันใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับๆ จนถึงจิตดวงที่ ๕ แล้ว เมื่อจิตดวงที่ ๕ ดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเก็บลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เมื่อลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ ก็จะรักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์ไว้ในภวังค์ หรือว่า ภวังค์นี้เป็นผู้รักษาพระไตรลักษณ์

สรุปแล้วว่า สมมติเราทำบาป เช่นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็จะ ปวัตติ ไป คือหมุนไปตามวิถีของจิต ตั้งแต่จิตดวงที่ ๑ จนถึงดวงที่ ๗ แล้วภวังคจิตก็จะรักษาบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไว้ และบาปที่อยู่ในภวังคจิตนั้นก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปทำลายได้ เราจะทำลายด้วยการให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เมตตา ภาวนา ก็ไม่สามารถที่จะทำลายได้ มันก็อยู่ในจิตในใจของเรานั้นตลอดเวลา

ทีนี้ทำอย่างไรเราจะทำลายมันได้ มีหนทางเดียวท่านทั้งหลาย คือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์แล้ว บุญกุศลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์นี่แหละก็จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ในภวังคจิต ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน มันทำลายกันอยู่ตรงนี้

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า หลวงพ่อ มันเชื่อไม่ได้ๆ จะเชื่อได้หรือไม่ได้ ก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย ขอร้องแต่ว่าให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไปเถอะ ผลสุดท้ายแล้วก็จะรู้เองว่า มันทำลายกันได้อย่างไร คือเมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ เช่น กำหนดพองหนอยุบหนอไปอย่างนี้

เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าเมื่อเราปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา มันจะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลัง ลงไปๆ เช่นว่า คนที่ชอบโกรธ ผลสุดท้ายก็ไม่โกรธ คนที่อยากได้ด้วยความทะยานอยากที่ว่าตัณหามาก เมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้ความอยากได้มันจะอ่อนกำลังลงไปๆ เรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็หมดสิ้นเชื้อสิ้นยางไป ด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำลายบาปที่ท่านกล่าวว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ มันจะหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ได้ว่า การปฏิบัติธรรมของเราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องมีองค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติ เมื่อไม่มีองค์คุณสมบัติ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล

เหมือนกับคนที่ต้องการจะทำปริญญา เช่นว่า ต้องการที่จะเป็นผู้บริหาร เป็นครู อะไรทำนองนี้ เราต้องเรียนให้จบเสียก่อน จึงจะสามารถเป็นครูได้ จึงจะทำงานประเภทนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเราเรียนไม่จบ เขาประกาศว่า ต้องการปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่เราไม่ได้ปริญญาอะไร ก็เป็นครูกับเขาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด เราก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าไม่มีองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็ปฏิบัติไม่สำเร็จ

องค์คุณของนักปฏิบัติธรรมนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม พอใจเดินจงกรม พอใจนั่งสมาธิ พอใจในการกำหนด

๒. วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ การปฏิบัติจะลำบากยากเย็นเพียงใดก็แข็งใจ กัดฟัน อดทนต่อสู้ ยอมตายดาบหน้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลดละการปฏิบัติเป็นอันขาด เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์

๓. จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจกำหนด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด จะทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็พยายามตั้งใจกำหนดตามอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ไม่ได้ผลอะไร คือ เห็นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้กลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้รสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้อง อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติมันก็ไม่ได้ผล เรียกว่าไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติ คือไม่ตั้งใจ

๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ

เมื่อเราตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัตินี้ การปฏิบัติของเรามันก็ได้ผล

ต่อไปก็ ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ

๑. เราต้องมีศรัทธา พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ และสิ่งใดที่จะทำให้เกิดศรัทธา เราก็หาวิธีที่จะทำให้เกิดศรัทธา เพราะว่าคนเรานี้ ถ้าไม่มีศรัทธาแล้วจะทำอะไรมันก็ไม่ได้ผล เรียนก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เรียนบาลีประโยคนั้นประโยคนี้ ถ้าไม่มีศรัทธาก็เรียนไม่จบ ผู้ทำการงานแผนกนั้น แผนกนี้ ถ้าไม่มีศรัทธา การทำงานก็ไม่ได้ผล

สรุปว่า งานทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นงานทางโลกก็ตาม ทางธรรมก็ตาม หากไม่มีศรัทธา ผลก็ไม่เกิด แต่ถ้ามีศรัทธาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหลือวิสัย งานทุกอย่างก็สามารถที่จะทำสำเร็จได้ เช่น พวกเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าเรามีศรัทธาความเชื่อมั่นแล้ว ผลของการปฏิบัติมันก็เกิดมาเป็นธรรมดา

๒. อย่าเร่งจนเกินไป หมายความว่า อยากได้มากเกินไป เช่นว่า เดินจงกรมจะให้ได้สมาธิ เดินจงกรมให้ได้มรรค ผล นิพพาน หรือเดินจงกรมในขณะนี้จะได้ตาทิพย์ รู้วาระจิตผู้อื่น ดังนี้เป็นต้น ก็อย่าเร่งเกินไป

ถ้าเราเร่งจนเกินไป ต้องการที่จะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ เดินจงกรมจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ นั่งสมาธิจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ หรือว่านั่งสมาธิไป จะให้ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ นั่งสมาธิไปจะได้เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว นั่งสมาธิไปจะได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า หรือนั่งสมาธิจะเห็นพระอินทร์ อะไรทำนองนี้ เรียกว่า เราเร่งเกินไป

หากว่าเราเร่งเกินไป อะไรมันเกิดขึ้น คือสติของเราไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นคนคิดมาก สติของเราก็ไม่สมบูรณ์ สติไม่มี นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง เหตุนั้น การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่เราอย่าเร่ง ถ้าเราเร่งเกินไป ใจของเราก็ไม่สงบ เราก็ไม่สามารถควบคุมจิตของเราได้

๓. อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าเราหย่อนเทิบทาบจนเกินไป เช่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้ผล

๔. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี้ ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ที่มาปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำจะทำให้เป็นบ้า เพราะว่าคนคิดมากนี่จะเป็นบ้า คนที่เป็นบ้าเพราะคิดมาก เหตุนั้น ผู้ที่มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่อยากเป็นผู้วิเศษนั้น ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน มันไม่ได้ผล มิหนำซ้ำก็เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจแนวทางปฏิบัติโดยย่อที่หลวงพ่อได้น้อมนำมาบรรยายถวายความรู้ ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาแนวทางของการปฏิบัติ

หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะมาโสรจสรงองค์ศรัทธาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 57.0.2987.133 Chrome 57.0.2987.133


ดูรายละเอียด
« ตอบ #30 เมื่อ: 10 เมษายน 2560 10:30:47 »




พระไตรลักษณ์

บัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยายถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบต่อไป

คำว่า ไตรลักษณ์ คือลักษณะที่มีส่วนเสมอกันของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่มีใจครองก็ดี อนุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่ไม่มีใจครองก็ดี ล้วนตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการ คือ

อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป

ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

รูป นาม ขันธ์ ๕ ที่เราทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันนี้ พร้อมทั้งปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี ที่เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี รูปนามที่เป็นของหยาบก็ดี เป็นของละเอียดก็ดี เป็นของเลวก็ดี เป็นของประณีตก็ดี ที่อยู่ไกลก็ดี อยู่ใกล้ก็ดี ล้วนเป็นของไม่เที่ยง เพราะเหตุไร เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป ดับไป สูญไป ในกาลนั้นๆ ในที่นั้นๆ

รูปและนามใดที่เป็นอดีต รูปและนามนั้น ก็จักดับสิ้นไปในกาลอันเป็นอดีต หาถึงกาลอันเป็นปัจจุบันไม่ รูปและนามใดที่เป็นอนาคต รูปและนามนั้นก็จักดับสิ้นไปในอนาคต จักไม่ถึงกาลในอนาคตเบื้องหน้าอีกต่อไป รูปและนามใดที่เป็นปัจจุบัน รูปและนามนั้นก็จะดับสิ้นไปในกาลปัจจุบันนี้ หาไปถึงกาลอนาคตไม่ แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่บนแผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่บนแผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ อุปมาฉันใด

รูปและนาม ก็เหมือนกันฉันนั้น หมายความว่า ถ้าดวงตรานั้นเป็นดวงตราที่สวยงาม เมื่อเราประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นก็พลอยสวยงามไปด้วย แต่ถ้าดวงตรานั้นไม่สวยงาม เราเอาประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นกระดาษนั้น ก็ไม่สวยไม่งาม

รูปและนามนี้ก็เหมือนกัน หากว่ารูปนามที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว เป็นรูปนามที่ดี คือเป็นรูปนามที่เป็นมหากุศลในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ ระวังตัวอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอไปตามบาปอกุศล หมั่นให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น นี้ก็แสดงว่ารูปนามของเราดีแล้วในอดีต เมื่อมาเกิดในปัจจุบันรูปนามก็พลอยดีไปด้วย

ทีนี้ รูปนามในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าว่ารูปนามในปัจจุบันเป็นรูปนามที่ดี หากไม่ประมาท พยายามสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพิ่มเติมเสริมส่งบารมีของเราให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป มีการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาเป็นต้น เมื่อรูปนามนี้ดับไป หากว่าบาปบุญยังมีอยู่ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในชาติหน้า ภพหน้า เมื่อไปเกิดแล้ว รูปนามก็พลอยดีไปด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในอดีตรูปนามไม่ดี เพราะว่า ในอดีตโน้นเราตั้งอยู่ในความประมาท ไม่แสวงหาคุณความดี เมื่อมาถึงภพนี้ชาตินี้ รูปนามก็พลอยไม่ดีไปด้วย และเมื่อเราเกิดอยู่ในชาตินี้ภพนี้เราประมาทอีก ไม่ได้สร้างสมอบรมคุณงามความดีไว้ เมื่อไปภพหน้า ชาติหน้า รูปนามก็ไม่ดีเหมือนกัน

เหตุนั้น รูปนามจะดีหรือชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับบุญกรรมหรือบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ และรูปนามทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้น ทั้งที่เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ดับไป สิ้นไป สูญไปทั้งนั้น คือ

รูปนามที่เป็นภายใน ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายใน หาถึงความเป็นรูปนามภายนอกไม่

รูปนามใดที่เป็นภายนอก ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายนอก หาถึงความเป็นรูปนามภายในไม่

รูปนามใดที่หยาบ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่หยาบนั้น หาถึงความเป็นรูปนามที่ละเอียดไม่

รูปและนามใดที่ละเอียด ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ละเอียด หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่หยาบไม่

รูปและนามที่เลว ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่เลว หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่ดีไม่

รูปและนามที่ดี ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ดี หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่เลวไม่

รูปและนามที่อยู่ใกล้ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ไกลไม่

รูปและนามที่อยู่ไกล ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ไกล หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ไม่

เหตุนั้น รูปนามจึงเป็นของไม่เที่ยงเพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมดับสิ้นไปในกาลนั้นๆ ไม่ล่วงพ้นกาลนั้นๆ ไปได้

รูปนามใดเป็นของไม่เที่ยง รูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและความดับไป เบียดเบียนบีบคั้นอยู่เป็นนิตย์

รูปและนามใดเป็นทุกข์ รูปและนามนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นเป็นทุกข์ รูปใดเป็นทุกข์ รูปนั้นเป็นอนัตตา รูปใดเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

เวทนา อนิจฺจา เวทนาคือความทุกข์ความสุข หรือความเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

สญฺญา อนิจฺจา สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ต่างๆ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือความปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว หรือคิดไม่ดีไม่ชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณคือความรู้อารมณ์ เป็นสิ่งไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

เหตุนั้น ตามที่กล่าวมานี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นทั้งอนิจจัง เป็นทั้งทุกขัง เป็นทั้งอนัตตา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน คือ

รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นของไม่เที่ยง

เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นของไม่เที่ยง

สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นของไม่เที่ยง

สงฺขารา อนิจฺจา สังขารไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นของไม่เที่ยง

วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นของไม่เที่ยง

รูปํ ทุกฺขํ รูปเป็นทุกข์ ธรรมเหล่าใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นทุกข์ไม่มีสุข

เวทนา ทุกฺขา เวทนาเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นทุกข์ ทนได้ยาก

สญฺญา ทุกฺขา สัญญาคือความจำได้หมายรู้เป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

สงฺขารา ทุกฺขา สังขารเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

วิญฺญาณํ ทุกขํ วิญญาณเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น รูปนี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนานี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

สญฺญา อนตฺตา สัญญาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญานี้จึงเป็นอนัตตา

สงฺขารา อนตฺตา สังขารเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารนี้จึงเป็นอนัตตา

วิญฺญาณํ อนตฺตา วิญญาณเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณนี้จึงเป็นอนัตตา

เท่าที่ได้บรรยายมานี้ พอได้ใจความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งในที่ไกลที่ใกล้ ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ทั้งที่เลวและประณีต ทั้งที่หยาบและละเอียด ทั้งที่ดีและชั่ว ทั้งที่เป็นปัจจุบันก็ดี เป็นมาแล้วในอดีตก็ดี จะเป็นไปในอนาคตก็ดี มีความเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และล้วนแต่เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีรูปนามใดที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุเป็นแดนเกิด

เหตุปัจจัยที่ให้เกิดรูป คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ก็แล อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหารนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น เมื่อรูปเกิดจากสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

เวทนา คือ ความสุขความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี หรือสัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ดี หรือสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่วก็ดี เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ ก็แล อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนา สัญญา สังขาร จึงตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ด้วย คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

วิญญาณ ความรู้อารมณ์ เกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และนามรูป ก็อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น วิญญาณก็จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปด้วย

แต่ว่าส่วนมาก ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา จะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ถึงเห็นก็เห็นขั้นต่ำๆ คือขั้นสุตาญาณหรือจินตาญาณ ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้

เพราะว่า สันตติ คือความสืบต่อ อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ฆนสัญญา ความสำคัญว่าอัตภาพอันยาววาหนาคืบนี้เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ปิดบังเอาไว้ เพิกไม่ออก

ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมอย่าได้ชะล่าใจ อย่าประมาท พยายามใช้ความเพียร ใช้สัมปชัญญะ ใช้สติกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกัน เพราะการกำหนดเป็นการเพิกเครื่องปิดกั้นหรือเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกไป เมื่อใดเราเพิกเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็สามารถที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งอริยสัจ ๔ และวิโมกข์ ๓ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา

อีกอย่างหนึ่ง ในขณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นนั้น ท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยได้ประพฤติปฏิบัติมา และไม่เคยฟังธรรมเรื่องแว่นธรรม ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติกับภาคปริยัติไม่เหมือนกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปริยัตินั้น เราท่องบ่นสาธยายกินเวลาไปตั้ง ๖ วัน ๑๐ วัน ก็ยังไม่จบ

แต่มาปฏิบัติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิดเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

เหมือนกับเราเดินไปในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ อย่างนี้ เราไม่รู้ว่าถนนสายนี้เขาเรียกชื่อว่าอย่างไร แต่เราก็สามารถที่จะเดินไปได้ หรือเราบริโภคผลไม้ชนิดที่ไม่เคยบริโภคเลย รสชาติผลไม้เป็นอย่างไรเราก็รู้ แต่ไม่รู้จักชื่อของผลไม้นั้นว่ามีชื่ออย่างไร ข้อนี้ฉันใด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ฉันนั้น

ส่วนมาก เวลาเกิดขึ้น ถึงได้เคยฟังธรรมมาก็จริงอยู่ บางท่านได้ฟังเทศน์ในเรื่องแว่นธรรมตั้งหลายครั้งหลายหน แต่เมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ แล้วไม่รู้จักว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า ธรรมะด้านภาวนาญาณไม่เหมือนกันกับสุตาญาณและจินตาญาณ

สุตาญาณและจินตาญาณนั้น เราฟังเอาได้ คิดเอาได้ แต่สำหรับขั้นภาวนาญาณนี้ เราคิดเอาตามไม่ได้ คือถึงเวลาเกิดก็เกิดเองแล้วก็ดับเอง เราอยากให้เกิดก็ไม่เกิด คือไม่ถึงเวลา สภาวธรรมไม่สมบูรณ์เต็มที่ อินทรีย์ ๕ หย่อน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะไม่เกิด

แต่หากว่าธรรมอันเป็นองค์คุณให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น คือมีสติทันปัจจุบันรูปนาม สามารถกำหนดรูปนามติดต่อกัน ไม่เผลอ เมื่อเราไม่เผลอ อินทรีย์ ๕ ก็จะสมดุลกันขึ้นมา ไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นดังนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเกิดขึ้นทันที

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ส่วนมากจะเกิดไม่นาน เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น อย่างมากจะไม่ถึง ๑ นาที หรือผู้ที่เกิดชัดที่สุดก็ประมาณ ๑ นาที แล้วก็หายไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดอยู่ตลอดเวลา บางท่านก็อนิจจังเกิดชัด บางท่านก็ทุกขังเกิดชัด บางท่านก็จะอนัตตาเกิดชัด แต่จะเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ทั้งนั้น

เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัตินี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติมักจะใช้สติไปพิจารณาว่า อันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็อยู่ในขั้นจินตาญาณไปแล้ว ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

ในขั้นภาวนาญาณนี้ ต้องเกิดขึ้นมาเอง เมื่อพระไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบชัดเต็มที่เมื่อใด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ปฐมมรรคขึ้นไป ตามบุญตามกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นพระเป็นเณรก็ตาม เป็นปะขาวแม่ชีก็ตาม เป็นโยมผู้ชายผู้หญิงก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ดังตัวอย่างนางกุณฑลเกสีเถรี (ภิกษุณี)

กิระ ดังได้สดับมาว่า มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง อยู่ในกรุงราชคฤห์ อายุ ๑๕–๑๖ ปี มีรูปสวยน่ารัก หญิงที่ตั้งอยู่ในวัยนี้ชอบมัวเมาใฝ่ใจโลเลในบุรุษเสมอ ฉะนั้น มารดาบิดาของเธอจึงให้อยู่บนปราสาทชั้น ๗ ให้นางทาสีคนหนึ่งคอยรับใช้บำรุง

วันหนึ่ง พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งมา เฆี่ยนด้วยหวายทีละ ๔ ครั้งๆ นำไปสู่ที่ฆ่า ในลำดับนั้น ธิดาเศรษฐีได้ยินเสียงครวญครางของโจรจึงมองดูทางหน้าต่าง เห็นโจรนั้นแล้วเกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ อยากได้โจรนั้นมาเป็นสามี เธอจึงนอนอดอาหารอยู่บนเตียงในห้อง

ฝ่ายมารดารู้เรื่องจึงเข้าไปหาธิดาแล้วสอบถาม ธิดาเศรษฐีนั้นจึงบอกว่า คุณแม่ พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งแล้วเฆี่ยนตีด้วยหวายไปเรื่อยๆ หากว่าลูกไม่ได้โจรคนนั้นมาเป็นสามี ลูกเห็นจะตายเป็นแน่ มารดาบิดาห้ามแล้วห้ามเล่า ธิดานั้นหาได้ยินยอมไม่ คงยืนกรานอย่างนั้น บิดาจึงให้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะแก่ราชบุรุษแล้วให้ปล่อยโจรมา ให้ฆ่าบุรุษอื่นแทน

ครั้นธิดาเศรษฐีได้โจรมาเป็นสามีแล้วจึงขะมักเขม้นทำงานเพื่อให้ถูกใจสามี ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่ตนเองจะทำได้ เพื่อให้สามีรัก แต่แล้วสันดานโจรก็คงเป็นโจรอยู่วันยังค่ำ ครั้นพอได้โอกาสโจรก็ทำเป็นอดอาหารนอนอยู่บนเตียง ภรรยาผู้น่ารักจึงเข้าไปถามสามีด้วยความเป็นห่วงว่า พี่ พี่เป็นอะไรไป

สามีเห็นได้โอกาสจึงรีบบอกว่า น้องรัก พี่ได้ทำพลีกรรมแก่เทวดาไว้ก่อน ที่ได้มาอยู่ร่วมกันกับน้องก็ด้วยอำนาจเทวดานั้น บัดนี้ก็ถึงเวลาทำพลีกรรมแก่เทวดาแล้ว

โธ่พี่ เรื่องแค่นี้จะยากเย็นอะไร ของมีอยู่เต็มบ้าน พี่ต้องการอะไรก็บอกน้องมา น้องจะจัดแจงมาให้

โจรก็กระหยิ่มอยู่ในใจว่า สิ่งที่เราต้องการจะสำเร็จวันนี้แหละ จึงได้บอกภรรยาถึงสิ่งที่ตนต้องการ

ฝ่ายภรรยาก็กุลีกุจอ กลัวจะไม่ถูกใจสามี เมื่อจัดแจงสิ่งของเสร็จแล้วก็ได้เวลาเดินทาง สามีภรรยาพร้อมด้วยบริวารก็มุ่งหน้าไปสู่ภูเขาลูกหนึ่งอันเป็นที่ทิ้งโจร คือเขาฆ่าโจรแล้วก็นำไปทิ้งในเหวบนภูเขาลูกนั้น

เมื่อไปถึงภูเขา โจรจึงหันมาพูดกับภรรยาของตนว่าให้บอกบริวารกลับไป ภรรยาก็บอกให้พวกบริวารนั้นกลับไป เหลือเพียงสองสามีภรรยาเท่านั้น ขึ้นไปบนยอดเขา ถึงแม้หนทางจะลำบากบ้าง นางก็อดทนเอาด้วยความรักและเป็นห่วงในสามี เมื่อถึงที่ทำพลีกรรมแล้ว นางจึงได้บอกให้สามีกระทำพลีกรรมตามความประสงค์

แต่โจรกลับตวาดว่า ไม่ใช่เราจะทำพลีกรรมแต่อย่างใด หากแต่เราจะทิ้งเจ้าลงในเหวนี้ แล้วถือเอาสิ่งของของเจ้าเท่านั้น จงเอาสิ่งของของเจ้ามาโดยดี ฝ่ายภรรยาจึงอ้อนวอนขอชีวิตไว้ว่า หากว่าต้องการสิ่งใดในตัวดิฉันแล้ว ก็จงถือเอาสิ่งนั้นไปเถิด โจรไม่เอา กลับบอกว่าฉันจะฆ่าเธอ

นางเห็นไม่ได้การจึงอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีกและกล่าวต่อไปว่า ถ้าจะฆ่าดิฉันจริงๆ แล้วละก็ ขอให้ดิฉันได้เวียนรอบสามีผู้เป็นที่รักของดิฉันสัก ๓ ครั้ง เป็นการกระทำประทักษิณสามีเสียก่อน

โจรฟังแล้วจึงยอมตามใจของนาง เมื่อธิดาเศรษฐีได้โอกาสเช่นนั้นก็เวียนรอบสามี พอดีครบ ๓ รอบ ก็ทำทีเข้าไปกอดสามี รวบทั้งแขนซ้ายและขวาอย่างมั่นคง เมื่อนางกอดได้ที่เหมาะๆ และโจรแพ้กุศโลบายของนาง เผลอตัว นางจึงผลักโจรนั้นลงเหวตายไปอย่างน่าอเนจอนาถ

เทวดาที่สิงอยู่ที่ภูเขานั้นได้ให้สาธุการว่า สาธุ บุรุษไม่ใช่จะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน แม้สตรีก็เป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถานเหมือนกัน

ธิดาเศรษฐี ครั้นฆ่าโจรแล้วก็คิดว่า ถ้าเราจะกลับบ้าน มารดาบิดาก็คงจะลงโทษ เพราะว่าสามีนี้ มิใช่ว่าได้มาเปล่า ต้องเอาทรัพย์สมบัติแลกเอาจึงได้มา นางจึงตัดสินใจไม่กลับไปบ้าน ได้เดินทางไปในเมืองอื่น และนางได้เข้าไปสู่สำนักของปริพาชกลัทธิหนึ่ง ขอบรรพชาอยู่ในสำนักของปริพาชกนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นก็ให้นางบวชอยู่อย่างง่ายดาย

ครั้นบวชแล้ว ธิดาเศรษฐีนั้นได้ถามวิธีปฏิบัติตามลัทธิของปริพาชก ทราบว่าในลัทธินั้นสอนการบริกรรมกสิณ ๑๐ จนได้ฌาน และการเรียนวาทะพันหนึ่ง

นางคิดว่า เราคงไม่อาจที่จะทำฌานให้เกิดได้ จึงเลือกเรียนวาทะพันหนึ่ง เมื่อได้เรียนจบแล้ว พวกปริพาชกก็มอบกิ่งหว้าให้แล้วบอกให้นางออกเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อหาคนโต้วาทะ ถ้ามีผู้ที่สามารถที่จะตอบปัญหาวาทะได้ หากเป็นคฤหัสถ์ ก็ให้เป็นภรรยาของผู้นั้น หากเป็นนักบวชแก้ปัญหาได้ ก็ให้บวชในสำนักของท่าน

นางได้เที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ จนไม่สามารถที่จะหาคนโต้ตอบปัญหากับนางได้ ชื่อเสียงของนางเป็นที่เล่าลือ เหตุนั้น นางมีชื่อว่าชมพูปริพาชิกา เพราะนางเที่ยวเอากิ่งหว้าไปปักไว้ในที่ต่างๆ ประกาศว่า ถ้าใครต้องการที่จะได้โต้ปัญหาวาทะกับนาง ก็ให้ทำลายกิ่งหว้านั้น แม้แต่พวกเด็กๆ ก็ไม่มีใครกล้าทำลาย

วันหนึ่ง นางได้เอากิ่งหว้าไปปักไว้ที่กองทรายใกล้กับประตูเมือง ขณะนั้นเวลาเช้า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาต ไปถึงที่นั้นแล้วเห็นกิ่งไม้นั้นจึงถามพวกเด็กๆ ดู พอทราบความแล้วก็สั่งให้พวกเด็กๆ ทำลาย พวกเด็กๆ ก็ทำตาม นางมาถึง มีความโกรธเป็นกำลังที่ถูกพวกเด็กๆ ทำลายกิ่งไม้ของตนที่ปักไว้ พวกเด็กจึงบอกว่า พระเถระเป็นผู้ใช้ให้ทำลาย นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นดีแล้ว เราจะได้ถามปัญหากับพระเถระ

ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีก็ได้มีความแตกตื่น เพราะจะได้ฟังสองบัณฑิตโต้ปัญหากัน จึงพากันมาฟังเป็นจำนวนมาก ครั้นได้โอกาส นางปริพาชิกาจึงเริ่มถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า นางถามจนหมดวาทะพันหนึ่งที่ตนได้ร่ำเรียนมา พระสารีบุตรเถระเจ้าก็แก้ได้ทั้งหมด นางจึงอ่อนใจ

ดังนั้น พระเถระเจ้าจึงได้ถามเป็นปฐมปัญหาแก่นางว่า อะไรชื่อว่าพุทธมนต์

นางตอบปัญหาของพระเถระเจ้าไม่ได้เลย จึงขอบวชในสำนักของท่าน ท่านส่งไปในสำนักของนางภิกษุณี บวชแล้วได้มีชื่อว่า กุณฑลเกสีเถรี นางได้ทำความเพียรโดยที่ล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีเถรีมีนิดเดียวเท่านั้น ทำไมจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนาเรื่องอะไรกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เรากล่าวแล้ว พวกเธออย่าได้กำหนดว่าน้อยหรือมาก บทตั้งร้อยบทที่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ประเสริฐ สู้บทแห่งธรรมที่ประกอบด้วยประโยชน์แม้บทเดียวก็ไม่ได้

นางกุณฑลเกสี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะว่านางได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ปลงปัญญาลงสู่ไตรลักษณ์ คือได้พิจารณารูปนามให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จึงสามารถได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นขันธวิมุตติพ้นจากขันธ์ ๕ เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

เหตุนั้น พวกเราประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมกันทุกวันนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คืออยากพ้นไปจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาชาติเดียวก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ดี เป็นผู้น้อยก็ทุกข์สมผู้น้อย เป็นผู้ใหญ่ก็ทุกข์สมเท่ากับผู้ใหญ่ เป็นสามเณรก็ทุกข์เท่ากับฐานะที่เป็นสามเณร เป็นพระก็ทุกข์เท่าเป็นพระ เป็นหลวงปู่หลวงตา ก็ทุกข์สมเท่ากับหลวงปู่หลวงตา

อีกอย่างหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ผู้บริหารเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ก็ต้องมีความทุกข์มากขึ้น เป็นแม่ชีก็มีความทุกข์มากเหมือนกัน ไหนจะทำนั้นทำนี้ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ต้องทำกับข้าว นึ่งข้าวปรุงอาหาร เพื่อจะถวายแก่พระสงฆ์สามเณร เสร็จแล้วก็ต้องขัดต้องล้าง อยู่ในวัดก็ต้องทำ ออกจากวัดไปอยู่บ้านเราก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีเวลาไหนที่จะไม่มีความทุกข์ ยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดทั้งวันทั้งคืน มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น

เราเกิดมาชาติเดียวนี้ เราก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ยิ่งมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ความทุกข์ก็มีมากขึ้น บางทีเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เงินทองที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี บางทีมีครอบครัวก็ต้องหย่าร้างกัน ต้องทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ต้องแตกร้าวสามัคคีกัน ต่างคนต่างอยู่ บางทีสามีจากไป ลูกตั้งห้าคนหกคน ไหนจะต้องหาเลี้ยงลูก ไหนจะเลี้ยงตนเอง

การเกิดมาภพชาติเดียวนี้เป็นทุกข์เหลือเกิน เป็นทุกข์เหลือทนจริงๆ ส่วนมากคนทั้งหลายไม่ได้คิดกัน เหตุที่ไม่คิด ก็เพราะว่ามีเครื่องกีดกัน มีเครื่องกำบังอนิจจังความไม่เที่ยง

อะไรบังไว้ ? สันตติ ความสืบต่อปิดบังอนิจจังไว้ ทำให้เรามองไม่เห็น

สมมุติว่า ผมของเรา ถ้าไม่ได้ตัดออก จะยาวแค่ไหนเพียงไร ของทุกอย่างเป็นของใหม่หมด ของเก่าหายไป ของใหม่เกิดขึ้น หรือว่าเล็บอย่างนี้ มีแต่ของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กมันหมดไปแล้ว กี่วันเราตัดเล็บ ๕ วัน ๖ วัน เราตัดเล็บทิ้งไปเรื่อยๆ เรามองครั้งใดๆ ก็เห็นแต่เล็บเท่าเดิม แต่ว่ามันเป็นของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว

สันตติ มันสืบต่อกันไว้อย่างนี้ ผมก็เหมือนกัน เส้นเก่าหมดไป เหลือแต่เส้นใหม่เท่านั้น เนื้อหนังของเราก็เหมือนกัน เซลล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแรกหมดไปๆ เซลล์ใหม่เกิดแทนขึ้นมา เป็นอยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ความเป็นเด็กหายไป ความเป็นหนุ่มเป็นสาวเกิดขึ้นมาแทน ความเป็นหนุ่มเป็นสาวหายไป ความเป็นคนแก่เกิดขึ้นมาแทน สันตติสืบต่อกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เราเลยไม่เห็นอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารซึ่งเปลี่ยนแปลงไป

อีกอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้ ก็สืบต่ออยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก ลมที่หายใจเข้าไปเก่าหมดไปๆ ลมที่หายใจเข้าไปใหม่ก็ทดแทนอยู่ตลอดเวลา

คนส่วนมากไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถจะเห็นอนิจจังได้ เพราะถูกสันตติปิดบังไว้ ที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เพื่อให้เห็นสันตติ เพิกสันตติออก

นอกจากอนิจจังแล้วก็ยังเป็นทุกขัง คือทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ เราอยากให้อยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ เราอยากจะเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ อยากมีความสุขความสบายตลอดไป ก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับพระอาทิตย์อุทัยขึ้นในตอนเช้า แล้วก็ผ่านไปๆ เคลื่อนไปๆ และก็อัสดงไปในเวลาเย็น ข้อนี้ฉันใด รูป นาม ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกันฉันนั้น เราอยากอยู่อย่างนี้ตลอดไปก็อยู่ไม่ได้

แต่พวกเราส่วนมากมองไม่เห็น เพราะเหตุไร เพราะว่าอิริยาบถทั้ง ๔ ปิดบังไว้ จึงไม่เห็นทุกข์ นั่งนานเข้าเป็นทุกข์ เราก็ลุกขึ้นยืน ยืนนานเป็นทุกข์ ก็เปลี่ยนเป็นเดิน เดินนานไปเมื่อยก็เปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งนานเกินไปเมื่อยอีก ก็นอน นอนนานเมื่อยก็ลุกขึ้น

อิริยาบถทั้ง ๔ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยืนเดิน นั่ง นอนอยู่อย่างนี้ เมื่อเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ บังอยู่อย่างนี้ เราเลยไม่เห็นตัวทุกขัง เมื่อไม่เห็นทุกขัง ก็เหมาเอาว่าเป็นสุข เกิดมาแล้วมีความสุข

สำหรับอนัตตาก็เหมือนกัน คนส่วนมากถ้าไม่ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว จะไม่รู้ไม่เห็นตัวอนัตตา เพราะอะไร เพราะว่าคนเราเกิดมาก็มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่า ร่างกายนี้เป็นก้อน เป็นตัว เป็นตนที่เรียกว่า ฆนสัญญา และยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามาเจริญกัมมัฏฐานแล้ว จะเห็นว่าไม่เป็นเรา ไม่เป็นของเรา ถ้าเราได้เรียนเรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาแล้วปฏิบัติพร้อมกันไป จึงจะเห็นว่า รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงแต่รูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

เมื่อใด เราสามารถเพิกเครื่องปิดบังพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ได้แล้ว เราก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดด้วยปัญญา พร้อมทั้งเห็นอริยสัจ ๔ ควบคู่กันไปด้วย และในขณะเดียวกัน วิโมกข์ ๓ ก็จะเกิดขึ้นมา ทั้งที่เป็นอนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์

เมื่อใด เรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน จนสามารถเพิกสันตติ เพิกอิริยาบถ และเพิกฆนสัญญา ให้หมดไปจากจิตใจของเรา ให้มีแต่ปัญญาแจ่มแจ้ง สว่างไสว ได้เกิดญาณ คือเริ่มแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคญาณ ผลญาณแล้ว ชื่อว่าทำลายเครื่องปิดกั้นได้เต็มที่ และในขณะเดียวกันก็จะเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมทั้งวิโมกข์ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้น เราก็จะสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

เหตุนั้น ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้เข้าใจว่า การกำหนดบทกัมมัฏฐานนี้เป็นของทำเล่น ท่านให้กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้กำหนด

เมื่อกำหนดอย่างนี้ นอกจากจะเป็นการทำลายตัวอุปาทานแล้ว ยังเป็นกุศโลบายทำลายเครื่องปิดกั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้หมดไป เมื่อใดเราทำลายเครื่องปิดกั้นพระไตรลักษณ์ได้หมดไปแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปได้. 


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 57.0.2987.133 Chrome 57.0.2987.133


ดูรายละเอียด
« ตอบ #31 เมื่อ: 19 เมษายน 2560 16:29:20 »



พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามปกติของในโลกนี้ ย่อมมีของคู่กัน คือ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีเย็นก็ต้องมีร้อน มีชั่วก็ต้องมีดี ควบคู่กันไป

ในทางธรรมะก็เหมือนกัน มีบาปก็ต้องมีบุญ มีกิเลสก็ต้องมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลาย ตามธรรมดานิยมของโลก เป็นมาอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไร

เหตุนั้น แม้ว่าขันธสันดานของเรานี้ท่านจะแบ่งไว้ว่า มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดครอบงำอยู่ หรือเป็นนายเหนือหัวของจิตของใจเราอยู่ก็จริง แต่กิเลสนั้นจะมีมากมายสักปานใดก็ตาม ก็มีธรรมเป็นเครื่องทำลายให้หมดไปได้เหมือนกัน

เราทั้งหลายลองนึกย้อนหลังดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายว่า เมื่อก่อนนั้น ท่านก็มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ได้อาศัยธรรมะซึ่งเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับกิเลส ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไปสูญไป

พระองค์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และยังได้ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนธรรมะนั้นให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม ต่างก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง ไปตามๆ กัน

ธรรมดาในขันธสันดานของเรานี้ หรือในจิตใจของเรานี้ ส่วนลึกนั้นมีอนุสัยกิเลสเป็นเครื่องนอนดองอยู่ เหมือนขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม อันบุคคลจะทำลายได้โดยยากที่สุด เราจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ ก็ไม่สามารถทำลายได้ ต้องเอาธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้าม ซึ่งมีพลานุภาพมาก มีกำลังมาก มาทำลาย จึงจะสามารถมาทำลายได้

เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยาย เพราะว่า พระไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราทั้งหลายได้

อันธรรมดาว่าลายเสือย่อมอยู่กับตัวเสือ เห็นเสือก็เห็นลายฉันใด แม้ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อรู้ทันปัจจุบันจนเห็นรูปนามดับไปๆ ชัดด้วยปัญญา ก็ฉันนั้น ย่อมจะเห็นลักษณะของรูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์ คือ

๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป

๒. ทุกขัง ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป

๓. อนัตตา ไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป

ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลวดลายของรูปนาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขุดทำลายอนุสัยอันเป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดไป อุปมาเหมือนกันกับทำลายรัง หรือขุดรากของต้นหญ้าฉะนั้น

เพราะเมื่อทำลายได้สิ้นเชิงเมื่อใด ก็จะไม่เจริญขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณเข้าไปพิสูจน์รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว เป็นปัจจัยทำลายต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นอนุสัย

อนุสัย นอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตได้อย่างไร พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัยได้อย่างไร จะได้แสดงไปตามลำดับ แต่ก่อนอื่น ขอแสดงถึงเรื่องวิถีของจิตเสียก่อน

วิถีจิตนั้น เป็นทางเดินของจิต เป็นที่หลั่งไหลของบุญและบาปเข้าสู่ภวังค์

บุญเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีจิตนี้ บาปเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีของจิตนี้เช่นเดียวกัน คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต จนลงสู่ห้วงภวังค์ตามวิถีของจิต ดังนี้

เมื่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นรูปารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะตาเห็นรูปก็ดี สัททารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะหูได้ยินเสียงก็ดี เป็นต้น เกิดขึ้นมา สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง

เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้น ๑ ขณะจิต พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง แล้วเป็นปัจจัยให้ ชวนจิต เกิดขึ้นมาเสพรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๗ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ครั้ง เมื่อชวนจิตดับลงครบ ๗ ขณะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต เกิดขึ้น ๒ ขณะจิต รับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ หลังจากนั้น ภวังคจิต ก็ทำหน้าที่รักษารูปารมณ์เป็นต้นนั้นไว้ในห้วงแห่งภวังค์ต่อไป

(การเกิดขึ้นของวิถีจิตที่มีสัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นนี้ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และได้เฉพาะอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เท่านั้น ในขณะที่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจนั้น สัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเมื่อธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ตัดสินรับเอาธรรมารมณ์นั้นทันที ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิตเสพธรรมารมณ์นั้น ๗ ขณะแล้วเป็นตทาลัมพณะ เป็นภวังค์ต่อไป)

ในลักษณะเดียวกัน อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้นก็เกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตตามลำดับๆ จนถึงตทาลัมพนะ เก็บลงสู่ภวังค์จนเป็นสันดาน เรียกว่า อนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฎฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย ทั้ง ๗ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ

เช่นว่า ราคะความกำหนัด เกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชอบใจ เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นปัจจัยให้ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้น มารับเอาอารมณ์อันประกอบไปด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับไป

เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต ขึ้น เสพอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นติดต่อกันไป ๗ ขณะแล้วดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะ เก็บอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นลงสู่ภวังค์ เมื่อตทาลัมพนจิตดับลง ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นไว้ภายในจิตต่อไป ราคะนั้นได้ชื่อว่า ราคานุสัย

ทีนี้หากว่าโทสะก็ดี ทิฏฐิความเห็นผิดก็ดี วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยก็ดี มานะความถือตัวก็ดี ภวราคะความยินดีในภพก็ดี และอวิชชาความเขลาก็ดี เกิดขึ้นเพราะประสบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัย คือโทสะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชานั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลงไป ก็เป็นปัจจัยให้เกิด สันตีรณจิต ขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง

เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิต เกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต เสพอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะจิต เก็บเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ อันมีโทสะเป็นต้นลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้น ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นรักษาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นไว้ภายในห้วงภวังค์ เป็นปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย นอนดองอยู่ในขันธสันดาน ตลอดไป

อุปมาเหมือนกันกับเราถ่ายรูป พอเราเปิดหน้ากล้องแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น รูปก็เข้าไปติดอยู่ที่ฟิล์มนั้นตลอดไป อนุสัยนั้นก็เช่นกัน ก็จะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดไป

อนุสัยกิเลส ที่นอนดองในขันธสันดานนี้ เราจะให้ทานจนหมดทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็ดี จะไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ รักษาศีลได้ดีจนกระทั่งวันตายก็ดี เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยนั้นได้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมแล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยภาวนาญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิต (กุสลญาณสัมปยุต) เสพอารมณ์ที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้น ๗ ขณะจิต อุปมาเหมือนกับเราได้ธนบัตรใบละ ๕๐๐ มาใบหนึ่ง แล้วก็มาพลิกดูด้านหน้าด้านหลังว่า ใช้ได้หรือเปล่าหนอ พลิกกลับไปกลับมา ๗ ครั้ง เห็นว่าธนบัตรนี้ใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด

เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ๗ ขณะแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทาลัมพนจิตขึ้น ๒ ขณะ รับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้นลงสู่ภวังค์แล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์นั้นเป็นองค์สำคัญอยู่ภายในจิตในใจต่อไป

อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกาลใด ในกาลนั้นชวนจิตทั้ง ๗ ขณะก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และในขณะที่เสพพระไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็จะตัดอนุสัยทั้ง ๗ ประการ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวอนุสัย และไม่ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอนุสัยอีกต่อไป เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์มากเท่าไรๆ อนุสัยก็จะเบาบางน้อยลงไปเท่านั้นๆ จนดับสิ้นเชื้อสิ้นยาง ไม่มีเหลือค้างอยู่ในจิตสันดาน

อุปมาเหมือนกับน้ำหมึกที่เราเขียนเป็นตัวอักษรลงในแผ่นกระดาษ จะเป็นหมึกสีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม สีน้ำเงินก็ตาม เรามีโอกาสที่จะลบมันได้โดยที่ใช้กรดลบหมึก เมื่อเราเอากรดลบหมึกมาหยดใส่ ถ้ากรดลบหมึกนั้นมีความเข้มข้นเพียงพอ พอเราหยดลงไป สีดำ สีแดง สีน้ำเงินเหล่านั้นก็จางหายไปเลย ไม่มีอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่ถ้าว่ากรดลบหมึกนั้นไม่เข้มข้น เมื่อเราหยดลงไป ก็จะยังเป็นคราบสีดำ สีแดง สีน้ำเงินให้เห็นอยู่ ข้อนี้ฉันใด

เรื่องอนุสัยกิเลสกับพระไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น หากว่าอำนาจของพระไตรลักษณ์นั้นมีกำลังอ่อน เมื่อมีกำลังอ่อนเช่นนั้นแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต เมื่อลงถึงภวังคจิตก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยได้เด็ดขาดเหมือนกรดลบหมึกที่ไม่เข้มข้น ไม่สามารถที่จะลบรอยหมึกได้เด็ดขาด

แต่ถ้าขณะใด พระไตรลักษณ์มีอำนาจเต็มที่ หมายถึงในขณะที่พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นนั้น สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ถูกอะไรครอบงำเลย เป็นสติที่มีกำลังมีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังแก่กล้า พระไตรลักษณ์ก็มีกำลังแก่กล้า มีอานุภาพ เมื่อพระไตรลักษณ์ที่มีอานุภาพ ปวัตติไปตามวิถีของจิตลงสู่ภวังค์ อนุสัยกิเลสก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ทำลายได้เด็ดขาด

เหตุนั้น การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ครูบาอาจารย์จึงแนะแล้วแนะอีก พร่ำเตือนแล้วพร่ำเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายอย่าชะล่าใจ ต้องบำเพ็ญสติให้สมบูรณ์ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม จะสรงน้ำ ถ่ายหนักถ่ายเบา นุ่งสบง ห่มจีวร ก็ขอให้มีสติ ให้กำหนดเสียก่อน อนึ่ง ที่แนะนำพร่ำเตือนอย่างนี้ ต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายปลุกสติให้มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก เมื่อพระไตรลักษณ์มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้นให้หมดไปจากจิตจากใจในพริบตาเดียวได้เมื่อเกิดขึ้น

เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ส่วนมากชะล่าใจ อยู่ในอำนาจของอนุสัยกิเลส ไม่อยากที่จะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน และมัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มัวพูดจาปราศรัยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ผลสุดท้ายก็เลยเห็นการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นของธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้ เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้

อนึ่ง การเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งที่ถูกแก่อัธยาศัย อาสวะกิเลสที่ไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในขันธสันดานนั้น คือ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิก็ดี กามาสวะ อาสวะคือกามก็ดี ภวาสวะ อาสวะคือภพก็ดี อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาก็ดี ก็จะถูกทำลายลงไปตามลำดับๆ และจะไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในใจอีกเหมือนกาลก่อนไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะที่มีอยู่ก่อนก็จะบรรเทาเบาบางลงไปทีละน้อยด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณจนสิ้นไป เมื่อสิ้นอาสวะกิเลสขณะใด ก็จะบรรลุสันติลักษณะ คือลักษณะที่สงบจากทุกข์ทั้งปวง ได้แก่พระนิพพาน โดยอาศัยลำดับญาณทั้ง ๑๖ คือเริ่มตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณไปตามลำดับๆ จนถึง อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ และก็เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ เกิดครบสมบูรณ์ถึง ๔ ครั้ง ก็ได้ชื่อว่า อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิเลสสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติจบแล้ว มีจิตอันเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน โอกาสต่อไป หน้าที่ของเราก็เผยแผ่ศาสนา แนะนำลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติอย่างที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติแล้ว

นอกจากนี้ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งว่า วันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันโกน วันต่อไปก็จะเป็นวันพระใหญ่ เป็นวันอุโบสถด้วย วันเช่นนี้ ก็ถือว่าได้เคยเตือนมาแล้วว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปจะเกิดขึ้นมาขัดขวางจิตใจของเรา หรือทำจิตใจให้ผิดปกติ มีอาการหงุดหงิดและกลุ้มใจ อยากออก อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป บางทีก็หนีไปเลยก็มี

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น พึงสังวรระวังให้ดี พยายามอย่าทำสิ่งใดๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของมารตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะว่า ถ้าเราทำตามอำนาจของมาร ก็จะทำลายล้างคุณงามความดีที่เราจะพึงได้พึงถึงนั้นให้หมดไป สิ้นไป สูญไป

ตามปกติ วันพระนี้มักจะเป็น ทั้งๆที่เราประพฤติปฏิบัติมาดีๆอยู่ แต่พอถึงวันโกนวันพระก็เป็นขึ้นมาเกิดขึ้นมา การพูดฟังแล้วก็ไม่รื่นหู การทำทุกสิ่งทุกอย่าง มองดูแล้วไม่น่าเลื่อมใส สำหรับใจของเราก็ไม่ค่อยเป็นปกติ

เหตุนั้น พึงสังวรพึงระวัง พยายามใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ความเพียร กำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ดี เพื่อจะยังสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะตามปกติการบรรลุหรือการผ่านการประพฤติปฏิบัติส่วนมากก็จะบรรลุหรือผ่านในวันโกนวันพระ

ดังนั้น ในวันโกนวันพระเช่นนี้ ขอให้กำหนดให้ติดต่อกันไป และพยายามอยู่ดึกกว่าวันปกติสักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังผลซึ่งเราได้ตั้งอกตั้งใจไว้ จะได้คุ้มค่าเหน็ดค่าเหนื่อย ถ้าไม่ชะล่าใจ เพียรกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ การปฏิบัติของเราก็ได้ผลเร็ว แต่ถ้าการปฏิบัติของเราย่อหย่อน ก็ได้ผลช้า ได้ผลไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้ผลเสียเลย ขออย่าต้องเป็นผู้เสียใจในภายหลัง.


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.81 Chrome 58.0.3029.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #32 เมื่อ: 28 เมษายน 2560 15:51:08 »




การปรับปรุงจิต

สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง การปรับปรุงจิต เพื่อจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้ได้ผลตามที่เราตั้งใจไว้

หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หากว่าเราไม่รู้จักการปรับปรุงจิต ไม่รู้จักการยักย้าย หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ฉลาดในการปฏิบัติแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้บรรลุสามัญผลตามที่เราต้องการได้

เหตุนั้น จึงจักนำเรื่อง การปรับปรุงจิต มาบรรยายเพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

การปรับปรุงจิตนั้น ดังนี้คือ

ในขณะที่เราเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาอยู่ รู้สึกว่าจิตไม่ผ่องแผ้วมั่นคง เช่น มักจะเผอเรอ ท้อถอย ใจไม่สงบ สมาธิหย่อน จิตฟุ้งซ่าน ใจคอเหี่ยวแห้ง รู้สึกโงกง่วง หรือจิตใจยึดมั่นในตัวตน และไม่สามารถที่จะพิจารณากำหนดให้อารมณ์เหล่านี้หายไปได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องทำการปรับปรุงจิต ดังต่อไปนี้ คือ

ถ้าผู้ปฏิบัติมักจะเผอเรอในการกำหนด เพื่อที่จะให้มีสติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสติ หรือเพิ่มสติให้มากๆ ดังนี้

๑. ใช้สติติดตามอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าได้ขาด

๒. สติกำหนดนั้นๆ ต้องสม่ำเสมอ และติดต่อกัน

๓. เว้นจากการคบคนที่มีสติเผอเรอ

๔. ควรคบกับคนที่มีสติมั่นคง

แต่ถ้าหากว่า ผู้ปฏิบัตินั้นบรรลุถึงญาณต่างๆ ได้ช้า หมายความว่า เวลาประพฤติปฏิบัติ สภาวะแต่ละอย่างๆ นั้น เปลี่ยนไปช้ามาก ญาณต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงช้าหรือเกิดช้า ผู้ปฏิบัติต้องปรับปรุงจิต ดังนี้

๑. หมั่นสอบถามวิธีปฏิบัติกับครูบาอาจารย์

๒. ทำร่างกายและที่อยู่อาศัย ตลอดทั้งเครื่องนุ่ง ห่มให้สะอาด

๓. ทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ให้สม่ำเสมอกัน เท่าๆ กัน ส่วนสตินั้นไว้กลางๆ

๔. เว้นห่างจากคนที่ไม่มีปัญญาในด้านปฏิบัติ

๕. คบกับคนที่มีปัญญา

๖. พิจารณาให้เข้าใจรูปนาม และปฏิจจสมุปบาท คือให้รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นต้น มิใช่ว่าเราจะกำหนดหยาบๆ เพียงแต่กำหนดอาการพอง อาการยุบว่า พุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ เท่านั้น ก็หามิได้ เราต้องรู้ว่า ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เป็นต้น

เมื่อทำอย่างนี้ก็ยังไม่สามารถทำสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้น และผู้ปฏิบัติมีความเพียรน้อย ผู้ปฏิบัติต้องปลูกฝังความเพียรให้มากขึ้นด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

๑. ระลึกถึงภัยในอบายภูมิ คือพิจารณาว่า ความทุกข์ที่ได้รับในขณะที่ทำความเพียรนี้ ถึงแม้จะเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ถ้าหากว่าเราประมาทเสีย จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิ ยิ่งจะได้รับความทุกข์ร้อนมากกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดความพยายามในการที่จะบำเพ็ญความเพียรต่อไป

๒. เล็งเห็นว่า ความเพียรจะนำไปสู่มรรค ผลนิพพาน คือต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในธรรมะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ว่าสามารถนำเราผู้ปฏิบัตินี้ให้บรรลุถึงมรรค ผลนิพพานได้

๓. ระลึกว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าได้ดำเนินไปแล้ว ทางสายนี้ คนเกียจคร้านไม่สามารถดำเนินไปได้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดอุตสาหะในการบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมา

๔. สำหรับนักบวชควรระลึกว่า เราฉันอาหารที่ผู้มีศรัทธาถวายแล้ว ควรทำตนให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ประมาทว่าเราฉันอาหารของญาติโยม กว่าญาติโยมได้อาหารมาต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อุตสาหะหาอาหารมาถวาย

เราบริโภคอาหารของผู้มีศรัทธาแล้วไม่ควรที่จะประมาท ควรจะรีบเร่งบำเพ็ญความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เพื่อจะยังสามัญผลให้เกิดขึ้นในตน เพื่อจะทำให้บุญกุศลของญาติโยม ซึ่งถวายอาหารนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก

๕. ระลึกว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ตั้งอยู่ในความเพียร เราควรปฏิบัติตาม จึงจะได้ชื่อว่าบูชาพระองค์ท่าน

๖. พระธรรมเป็นมรดกตกทอดมาจากพระพุทธองค์ เราควรรับเอาไว้ ซึ่งจะรับได้ก็ด้วยมีความเพียรเท่านั้น ถ้าว่าเราขาดความเพียรแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรับมรดกธรรมได้

๗. เว้นจากการคบคนเกียจคร้าน

๘. คบคนที่มีความเพียร

๙. ทำความเพียรให้มากๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้มีความเพียรเกิดขึ้น

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติน้อย ต้องปฏิบัติดังนี้

๑. ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

๒. ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

๓. ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เจ้าเนืองๆ

๔. ระลึกถึงคุณของศีลเนืองๆ

๕. ระลึกถึงการบริจาคเนืองๆ

๖. ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาเนืองๆ

๗. ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเนืองๆ

๘. เว้นจากการคบคนที่ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย

๙. คบหาสมาคมกับคนที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

๑๐. เตือนใจให้เลื่อมใสในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้อยู่เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปสาทะศรัทธา เกิดอุตสาหะวิริยภาพอย่างแรงกล้า ในการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปได้

แต่ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติ มีใจกระวนกระวายไม่สงบ ต้องดำเนินตามปฏิปทาดังต่อไปนี้

๑. บริโภคอาหารอันประณีต ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เว้นจากของที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บของตนเสีย

๒. อยู่ในที่สบาย

๓. เคลื่อนไหวอิริยาบถให้สบาย

๔. ปฏิบัติแต่พอเหมาะ อย่าให้เคร่งเครียดจนเกินไป

๕. เว้นจากการคบคนที่มีจิตใจกระสับกระส่าย

๖. คบกับคนที่มีกายใจสงบ

๗. พยายามรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

๘. เตือนใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ

เมื่อประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็จะสามารถที่จะระงับความที่จิตไม่สงบ ระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความกระวนกระวายในจิตลงได้

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้ว่า สมาธิของตัวหย่อนไป หรือไม่มีสมาธิเลยในเวลาปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. รักษาความสะอาด ทั้งร่างกายตัวเอง ตลอดทั้งเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่

๒. มีความฉลาดรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นว่าอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นให้รีบกำหนดทันที ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ก็ให้เข้าใจว่า สติสมาธิของเราหย่อน ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มสัก ๕-๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สมาธิ ญาณ จะดีขึ้นและจะได้เกิดขึ้น

๓. พยายามรักษาอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกัน

๔. ถ้าจิตท้อถอยหรือเกิดเบื่อหน่ายคลายความเพียร ต้องทำจิตให้ดีขึ้น คือพยายามนึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่าพระสาวกทั้งหลาย ให้เป็นทิฏฐานุคติเป็นตัวอย่าง หรือมิฉะนั้นก็นึกถึงคุณงามความดีของตน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความอุตสาหะ และให้เกิดสมาธิขึ้น

๕. ถ้าจิตฟุ้งซ่าน ต้องข่มจิตลง

๖. ถ้าจิตเหี่ยวแห้ง ต้องทำจิตให้ร่าเริงสดชื่น

๗. ถ้าจิตวางเฉย ไม่หดหู่ ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ท้อถอย ก็ให้ประคับประคองจิตไว้ ให้อยู่ในลักษณะนั้นตลอดไป

๘. เว้นจากบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น

๙. คบกับคนผู้มีจิตตั้งมั่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้น

แต่ถ้าจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ เกิดท้อถอยขึ้นมา ไม่มีอุตสาหะในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีความท้อใจ มีความอ่อนใจ บางทีก็คิดจะเลิกการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องแก้ไข ดังนี้คือ

๑. เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา หมายความว่า ต้องอดต้องทน ต้องข่มใจในการปฏิบัติ

๒. ทำความเพียรให้มากๆ อย่าเกียจคร้าน ทำความเพียรร่ำไป ถึงจะมีความอ่อนใจ หรือท้อถอยอย่างไร ก็จะต้องข่มใจ

โดยบางครั้งอาจตั้งสัจจะปฏิญญาว่า เราจะทำความเพียรอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เมื่อใดยังไม่ได้บรรลุ จะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเลือดจะหมดไป เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูกก็ตาม ก็จะไม่ละความเพียรเป็นเด็ดขาด

๓. พยายามปฏิบัติให้ก้าวหน้า

๔. อย่ารับประทานอาหารมากเกิน ควรให้บริโภคแต่พอดีๆ

๕. เปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง คืออย่านั่งอย่างเดียว ถ้านั่งถึงกำหนดแล้ว ก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม แล้วจึงมานั่งต่อ

๖. เพ่งดูแสงจันทร์ แสงไฟคบเพลิง หรือแสงอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นอ่อนๆ หรือก่อนจะอัสดงตกไป ห้ามเพ่งแสงอาทิตย์เวลากล้า

๗. อยู่ในที่แจ้ง อย่าไปนั่งในห้องนอน

๘. คบมิตรที่ดี

๙. สนทนาแต่เรื่องที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ

๑๐. เตือนใจไม่ให้ท้อถอย

เมื่อเรานึกอย่างนี้ หรือปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะทำให้ความท้อถอยนั้นหมดไป และให้เกิดอุตสาหะในการปฏิบัติต่อไป

แต่ถ้าจิตใจของผู้ปฏิบัติฟุ้งซ่านคิดมาก ต้องปฏิบัติดังนี้

๑. เจริญปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขาให้มาก หมายความว่า พยายามกำหนดบทกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป อาจจะเหลือแต่หายใจเข้ากำหนดท้องพองว่า พุท ท้องยุบลงไปกำหนดว่า โธ อย่างนี้ก็ได้ หรือท้องพองขึ้นมากำหนดว่า พอง ท้องยุบลงไปกำหนดว่า ยุบ พอง ยุบ ๆ ร่ำไปก็ได้ คือพยายามเพิ่มสมาธิให้มากๆ ลดความเพียรลง

๒. เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา

๓. สอบถามอารมณ์กับครูบาอาจารย์บ่อยๆ

๔. คบแต่คนดีๆ

๕. สนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควร ที่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม

สำหรับในเรื่องสนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควรอันจะเป็นอุปการะแก่การปฏิบัตินั้น มีเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง คือมีคนมาบวชและได้มาปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่ในที่นี้ แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติควบคู่กัน อาจารย์รูปนั้นคิดอะไรร้อยแปดพันประการ คิดจนผอม นั่งอยู่ ๕ นาทีคิดจะสร้างแต่บุญแต่กุศล ส่วนมากก็คิดแต่เรื่องที่ดีๆ คิดว่าเอากฐินไปทอดวัดนั้นวัดนี้ ไปทอดแล้วไม่มีผู้เทศน์ผู้ฉลอง ก็จะขึ้นเทศน์เองอย่างนั้นอย่างนี้ คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดจนตัวคล้ำไป

พอเดินไปเดินมา ไปเจอเอาภิกษุนวกะรูปนั้นเข้า ภิกษุนวกะรูปนั้นก็พูดขึ้นว่า คนที่ไปตกนรกมากๆ นั้น ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ คนที่เป็นบ้า ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ พอพูดอย่างนั้นพระรูปนั้นก็ได้สติขึ้นมาทันที ก็หายจากอาการฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติหดหู่ เหี่ยวแห้ง จิตใจไม่ร่าเริงเบิกบาน จะต้องปฏิบัติดังนี้คือ

๑. ให้เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้มากๆ คือใคร่ครวญ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังมา แล้วก็พยายามบำเพ็ญความเพียร พยายามนึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เพื่อให้เกิดความปีติอิ่มใจ ปราโมทย์รื่นเริง บันเทิงใจในขันธสันดานของตน

๒. ให้พิจารณาถึงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และความทุกข์ในอบาย ตลอดถึงความทุกข์ในอดีต อนาคต และปัจจุบันที่เราได้รับอยู่ เช่น เราพิจารณาว่า การเกิดบ่อยๆ นี้เป็นทุกข์

การที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความชราภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้ว มีความเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรนานัปการเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การไปเกิดในอบายภูมิเป็นทุกข์ เรานี้โชคดีที่ได้มีโอกาสปฏิบัติ เพื่อดำเนินไปสู่ทางพ้นทุกข์เหล่านี้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความร่าเริงเบิกบาน หายจากอาการหดหู่เหี่ยวแห้ง

๓. ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเนืองๆ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใจของผู้ปฏิบัติยึดมั่นในตัวตน คือยึดมั่นในร่างกายของตัวเอง และบุคคลอื่น ว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น จะต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาวางตัวเป็นกลาง ดังนี้

๑. วางตัวเป็นกลางในสัตว์ในบุคคล คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุคคลโน้นบุคคลนี้ว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา

โดยคิดว่า สัตว์ก็ดี บุคคลก็ดี เขาก็มาตามบุญกรรมบาปกรรมของเขา เมื่อจากโลกนี้ไป เขาก็ไปเพราะบุญเพราะบาปของเขา เราจะไปห่วงใยเขาเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่าเราก็มาเพราะบุญบาปของเรา เมื่อคิดดังนี้ ก็จะหมดความยึดมั่นถือมั่นไปได้

๒. วางตนเป็นกลางในสังขาร คือเห็นว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของว่างเปล่า

สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มันเป็นสมบัติส่วนกลางของโลกอยู่อย่างนี้ตลอดไป แม้เรายังไม่มาเกิด มันก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็ทิ้งอยู่ในโลกนี้ ปล่อยให้เป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป ไม่สามารถที่จะติดตามตนไปในสัมปรายภพได้

๓. เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นถือมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

๔. คบกับบุคคลที่ไม่มีความยึดมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

เมื่อเราทำเราประพฤติอย่างนี้ ก็จะทำให้ความยึดมั่นในตัวตนว่าเป็นเรา เป็นของเราหมดลงไปได้ และก็จะทำให้เกิดความอุตสาหะในการเจริญวิปัสสนาต่อไป

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำมาปรับความเข้าใจ หรือชี้แนะแนวทางแก่ท่านทั้งหลาย ในเรื่องการปรับปรุงจิตนี้ เป็นแต่เพียงส่วนย่อๆ ไม่ได้อธิบายให้พิสดาร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายไปใคร่ครวญพิจารณา ท่านผู้ใดที่เป็นในลักษณะไหน ก็ขอ ให้ดัดแปลงแก้ไข พยายามปรับปรุงจิตของตนเอง ให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อว่าจะให้การปฏิบัติได้ผล.

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.110 Chrome 58.0.3029.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #33 เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2560 15:04:54 »



ปรับความเข้าใจผู้ปฏิบัติธรรม

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ มิใช่ว่าเราจะปฏิบัติไปรวดเดียวแล้วก็จะบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นสุดยอดเลยทีเดียวนั้น เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัตินี้ ต้องดำเนินไปตามลำดับของภาวนามยปัญญา คือจะต้องดำเนินไปตามหลักของวิปัสสนาญาณ

เมื่อเราปฏิบัติครั้งแรก มีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

หลังจากนั้นก็จะเกิดปัญญาญาณขึ้นมา ตั้งแต่ญาณที่ ๑ นี่ขอรวบรัดเอาเลย ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว ก็ถือว่าเป็นที่สุดของญาณโลกีย์ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ และกำลังวิปัสสนาของเรามีกำลังเต็มที่แล้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคควิถีทันที

คำว่า มัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่อริยมรรค เมื่อเข้าสู่มัคควิถีแล้ว ก็จะดำเนินถึง สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อถึงสัจจานุโลมิกญาณแล้ว จะตั้งอยู่ในสัจจานุโลมิกญาณ ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่ โคตรภูญาณ จะตั้งอยู่ในโคตรภูญาณอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคคญาณ จะตั้งอยู่ในมัคคญาณ ๑ ขณะจิต เมื่อถึงมัคคญาณแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาได้ตามกำลังของมรรค

ถ้าเกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ก็สามารถจะละโลภะได้ ๔ ตัว สำหรับโทสะนั้นละไม่ได้ ละโมหะได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา และตั้งอยู่ในมัคคญาณนั้น ๑ ขณะจิต หลังจากนั้น ผลจิตก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตามลักษณะของติกขบุคคลหรือมันทบุคคล ถ้าติกขบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๓ ขณะจิต ถ้าว่าเป็นมันทบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่ออยู่ในผลญาณ ๒ หรือ ๓ ขณะจิตแล้ว จิตของเราก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็น ปัจจเวกขณญาณ คือเป็นญาณที่ ๑๖

เป็นอันว่า เมื่อเราประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากนั้น หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมา สมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงๆ ขึ้นไป วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ โดยที่ละจากปัจจเวกขณญาณ

การที่ละจากปัจจเวกขณญาณนี้ มิใช่ว่าเราจะเลิกเองนะ ปัจจเวกขณญาณ คือการพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ตนละได้แล้วและยังเหลืออยู่ อันนี้เป็นภาคปริยัติ แต่สำหรับภาคปฏิบัติแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น

ในเมื่อถึงปัจจเวกขณญาณ บางรูปบางท่านอาจจะคิดว่า เอ อันนี้มันอะไรกันหนอ เอ ทำไมเมื่อตะกี้นี้มันหลับไป หรือว่ามันเป็นอะไรไป หรือบางทีสัปหงกวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา ทำไมมันงงๆ อย่างนี้ มันหลงทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เพียงแค่นี้แหละ ปัจจเวกขณญาณ เพียงแค่นี้

ไม่ใช่คิดว่า โอ บัดนี้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เราละกิเลสได้เท่านั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่เท่านั้นๆ อันนี้พิจารณาในด้านปริยัติ แต่ว่าด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

ทีนี้คำว่า ละจากการพิจารณา นั้น มิใช่ว่าเราจะคิดเอาว่า เออ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะละจากปัจจเวกขณญาณ ไม่พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วหรือยังเหลืออยู่ จะไม่พิจารณาต่อไป บัดนี้เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไป มิใช่ว่าเราจะคิดเอาอย่างนี้

เป็นแต่เพียงว่า พอบรรลุถึงขั้นปัจจเวกขณญาณแล้ว หากว่าเรายังมีบุญญาวาสนาบารมี สมควรที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานต่อไป ปัจจเวกขณญาณก็จะไม่เกิดต่อไป ในขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นั่นแหละ ยังไม่ทันลุกเลยก็มี ล่วงไป ๑ ชั่วโมง ล่วงไป ๑ คืน ๑ วัน ๑ เดือน ๑ ปีก็มี คือจะละจากปัจจเวกขณญาณเองตามธรรมชาติ

หมายความว่า พอดีปัจจเวกขณญาณเกิดผ่านพับขึ้นไปแล้ว ถ้าผู้มีบุญมาก มีวาสนามาก วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นใหม่เลยทีนี้ แต่เริ่มเกิดทีหลังนี้ จะเริ่มเกิดตั้งแต่ญาณที่ ๔ ขึ้นมา สำหรับญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ทิ้งไปแล้ว เหลือแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เมื่อญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมา ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งที่ ๒ นี้ รูปนามนั้นเบามาก และละเอียดมาก แต่ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ตามความเป็นจริง คือวิปัสสนาญาณของเราจะคมกล้า สามารถที่จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความดับไปของรูปนาม

เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของที่น่าเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ท้อถอย จะเอาจะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ และก็มีความเฉยมาก เฉยต่อรูปนาม

วิปัสสนาญาณนี้จะคมกล้าเป็นพิเศษ คมกล้ากว่าครั้งที่ ๑ พอดีถึง สังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิด อาวัชชนจิต ทางมโนทวาร ๓ ขณะจิต คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๓ คืออาวัชชนจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ขึ้นสู่ อนุโลมญาณ เมื่อขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๑ ขณะจิตแล้ว ก็ผ่านโวทาน คือผ่านโวทานโคตร ของพระโสดาบัน แล้วก็จิตของเราจะอยู่ในอนุโลมญาณนั้น ๑ ขณะจิต จะอยู่ในโวทานนั้น ๑ ขณะจิต

หลังจากนั้น สกทาคามิมัคคจิต ก็จะเกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต หลังจากสกทาคามิมัคคจิตดับลงไปแล้ว สกทาคามิผลก็เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง หรือว่าสกทาคามิมรรค สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นทันที พอดีสกทาคามิผลเกิดขึ้นแล้ว ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วจิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์แล้ว พอดีขึ้นจากภวังค์มา ก็จะได้พิจารณาปัจจเวกขณญาณ และปัจจเวกขณญาณนี้ก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หากว่าผู้นั้นมีบุญวาสนาบารมี สมควรที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสูงๆ อีกต่อไป และได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก บารมีแก่กล้า จะอยู่ในปัจจเวกขณญาณนั้น อาจจะอยู่เพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที จะอยู่ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๑ ปี ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

ถ้าผู้มีบุญวาสนามาก พอดีผ่านปัจจเวกขณญาณแล้วเท่านั้นแหละ วิปัสสนาญาณก็เกิดต่อเลยทีเดียว คือจะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ มาใหม่อีก ทีนี้เมื่อย้อนไปถึงญาณที่ ๔ นี้ รูปนามนั้นยิ่งเบากว่าเดิม ยิ่งเบากว่า ยิ่งละเอียดกว่า เพราะเหตุไร เพราะว่ากิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมากแล้ว

เมื่อกิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมาก รูปนามของเราก็ละเอียด รูปนามของเราก็เบา ทุกสิ่งทุกอย่าง การประพฤติปฏิบัติทั้งทางกายทั้งทางจิตใจของเราก็คล่องแคล่วในการประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าถึงรูปนามนั้นจะเบาหรือละเอียดสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณของเราก็จะคมกล้า เหมือนกันกับดาบที่ลับแล้วเป็นพันๆ ครั้ง สามารถที่จะพิสูจน์เห็นความเกิดดับของรูปนาม ตลอดถึงทุกข์โทษของรูปนาม ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

วิปัสสนาญาณก็จะผ่านไปตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอถึงที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี พอดีเข้าสู่มัคควิถีพับเท่านั้นหละ อาวัชชนจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นมา ๓ ขณะจิต แล้วก็ดับลง ดับลงแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอนุโลมญาณอีก ๑ ขณะจิต แล้วดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวทานจิตก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็นปัจจเวกขณญาณ เมื่อผ่านได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลสมบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว

ทีนี้ หากว่าผู้มีบุญวาสนาบารมีแก่กล้า สมควรจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดต่ออีกทันที เริ่มเกิดเลย ในขณะที่เรานั่งอยู่นั้นก็ได้ หรือล่วงไปวันหนึ่งสองวันก็ได้ แล้วแต่บุญวาสนา หรือ ขิปปาภิญญา หรือว่า ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็วหรือตรัสรู้ช้า ในปฏิปทา ๔

พอดีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งนี้ วิปัสสนาญาณนั้นก็ยิ่งละเอียด ยิ่งเบายิ่งละเอียดกว่าเดิมเป็นอันมาก ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็มีความคมกล้า สามารถที่จะไปพิสูจน์เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดถึงเห็นความเกิดดับของรูปนามเป็นต้น ผ่านญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงที่ ๑๑ แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี

แล้วทีนี้ ถ้ากำลังพอก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี อาวัชชนจิตก็เกิดขึ้น ๓ ขณะ แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว อนุโลมญาณก็เกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว ก็เกิดโวทานจิต ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อโวทานจิตดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็ลงสู่ภวังคจิต ๑ ขณะ แล้วก็ขึ้นจากภวังค์มา ก็เป็นปัจจเวกขณญาณ แล้วก็จึงจะได้พิจารณามรรคผลพระนิพพาน

เมื่อผ่านมาได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันตบุคคล เป็นผู้มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว มีธรรมอันเกษมล่วงส่วนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอรหันต์ จุติแล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน

หากว่าท่านยังไม่จุติ ขันธ์ของท่านก็เป็น วิสุทธิขันธสันดาน คือมีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ เหมือนน้ำมันซึ่งกรองแล้วเป็นพันๆ ครั้ง เป็นขันธสันดานที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นขันธสันดานอันบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าผ่านได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงขั้นสูงสุดยอดแล้ว หมดกิจที่จะต้องทำแล้ว คือหมดกิจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว หน้าที่ของเราก็มีแต่แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมให้รู้ตามให้ได้บรรลุตามเท่านั้น

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติครั้งที่ ๑ นี้ก็ไม่ลำบากเท่าไร ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไปในรอบที่ ๒ หลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งที่ ๒ นี่ ความเกิดดับก็ชัดกว่าเดิม หากว่าเวทนาคือความทุกข์ก็จะทุกข์มากกว่าเดิม ถ้ามีสุขก็จะสุขมากกว่าเดิม แต่ว่าความสุขนี่หาได้ยาก หาได้ยากที่สุด จะมีเวทนาก็มีเวทนามากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าคิดก็คิดมากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าเบื่อก็เบื่อกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้ากลุ้มใจก็กลุ้มใจกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว

ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ก็เข้มแข็งกว่าเดิมเป็น ๓ เท่าตัว บางทีนั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี มันเป็นอย่างนี้ สำหรับความเฉยมีนิดเดียวเท่านั้น คือหาความสุขได้เพียงนิดเดียว ส่วนมากมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น นี่ท่านทั้งหลายพึงสังวร

ทีนี้ หากว่าเราปฏิบัติในอันดับที่ ๓ หากว่าเราปฏิบัติในรอบที่ ๓ นี่ เวทนาก็จะเกิดขึ้น ๓ เท่าตัว ถ้าคิดก็จะคิดเป็น ๓ เท่าตัว ความเกิดดับก็จะเห็นชัดเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเกิดความกลัวก็จะกลัว ๓ เท่าตัว ถ้าเจ็บนี่ปวดโน่น ทุกขเวทนาก็จะมีมากเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเบื่อหน่ายก็เบื่อหน่ายเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าหากว่ากลุ้มใจก็จะกลุ้มใจเป็น ๓ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้น มีนิดเดียว นี่พึงสังวรระวัง

ถ้าปฏิบัติในรอบที่ ๔ คือ รอบสุดท้าย รอบที่ ๔ นี้ถือว่าเป็นรอบสุดท้าย การปฏิบัติในรอบที่ ๔ นี้ อะไรๆ ที่มีอยู่มันโหมขึ้นมาทั้งหมด กิเลสตัณหาเหล่าใดที่มันยังเหลืออยู่ มันก็แสดงปฏิกิริยามาทั้งหมด ความเกิดดับของรูปนามก็ชัดกว่าเดิม

ถ้าเกิดความกลัวก็กลัวมากกว่าเดิม บางทีอยู่ในห้องกัมมัฏฐานจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี่รูปเดียวไม่ได้ อยู่ในห้องชีจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี้ คนเดียวนั้นเดินมาไม่ได้ หรือจะเดินมาหน้าโบสถ์นั้น ก็เดินมาไม่ได้ กลางวันแสกๆ ก็ไม่สามารถที่จะเดินมาได้ คล้ายกับคนเป็นโรคประสาท จะเดินเข้าไปในโบสถ์คนเดียวก็ไม่ได้ บางทีมีเพื่อนๆ มานอนล้อมอยู่ตั้ง ๖๗ รูป ก็ยังมีความกลัวอยู่ ทำอย่างไรๆ ก็ยังมีความกลัวอยู่ ความกลัวเท่าไรมันมีอยู่ มันจะโหมโรงเข้ามาทั้งหมด

ถ้าหากว่าเกิดความเบื่อหน่าย ก็เบื่อหน่ายจนไม่อยากปฏิบัติต่อไปนั่นแหละ บางทีอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี บางทีน้ำสุกกะนี่มันไหลออกไป เหมือนกับเราไปฟันต้นโพธิ์ต้นไทร เอาพร้าหรือเอามีดไปกรีดที่ต้นโพธิ์ต้นไทรหรือต้นยางนี่ มันไหลตลอดทั้งวัน เราไม่ได้ไปแตะไปต้องมันก็ไหลตลอดทั้งวัน มันน่าเบื่อหน่ายจริงๆ

บางทีมันไม่เป็นอย่างนั้น น้ำสุกกะนี่มันไหลออกมาทางปากเลย ไหลออกมาทางปาก หลั่งไหลออกมาทางปาก แล้วก็อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป บางทีอาเจียนอยู่ตั้ง ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันก็มี เมื่อถึงลักษณะอันเบื่อหน่ายมันเป็นอย่างนี้

บางคนต้องร้องห่มร้องไห้ นึกว่า โอ ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติรอบที่ ๓ นี้ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก อายุของพรหมนี่มันช่างยืนยาวเหลือเกินหนอ เราจะไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในชั้นพรหมนี้ ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะพ้นได้ นึกถึงจะไปอยู่ในชั้นพรหมก็เกิดความน้อยใจขึ้นมา บางทีร้องห่มร้องไห้ เพราะพิจารณาเห็นทุกข์ในการที่ตนจะไปทรมานอยู่ในชั้นพรหม ก็เกิดร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา อยากถึงพระนิพพานแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น นี่มันเบื่อจริงๆ

เมื่อก่อนนั้น ไม่เบื่อเท่าไร แต่ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว เบื่อทั้งเมืองมนุษย์ เบื่อทั้งเมืองเทวดา เบื่อทั้งเมืองพระพรหม จะปรินิพพานอย่างเดียวเท่านั้นดี นอกนั้นไม่มีอะไรดีเลย นี่มันเป็นลักษณะอย่างนี้ พอดีถ้ามีความเข้มแข็งก็มีความเข้มแข็งเป็น ๔ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้นมันนิดเดียว คือความสบายมีนิดเดียว

ก็ขอสรุปสั้นๆ ว่า เมื่อเราปฏิบัติครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้ ความสุขนั้นหาได้น้อยที่สุด เกือบจะเห็นว่าไม่มีความสุขเสียเลย มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เห็นแต่ทุกข์แต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น

หากว่าท่านรูปใดหรือท่านผู้ใดจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่รักในการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ บางทีก็ถอยเลย ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติต่อไป แต่ถึงอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติในครั้งนี้ก็คงจะมีสัจจปฏิญาณอันแน่วแน่ในการที่จะปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดยอด อย่างน้อยที่สุดก็ได้ขั้นปฐมมรรค อันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ด้วย

ต่อไปก็ขอเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า วันพรุ่งนี้ก็จะพากันออกไปเทศนาโปรดญาติโยมแล้ว ถ้าว่าการไปนี้ หลวงพ่อว่า ถ้าวัดไหนมันใกล้ๆ ก็เดินเอา เช่นว่า วัดนาหนองทุ่ง วัดนาแมด วัดห่องไผ่ วัดนาขนัน อย่างนี้ มันใกล้ๆ เราก็เดินเอา ต่างออกกำลัง เพราะเราอยู่กับที่มานานแล้ว ออกกำลังเอา ทีนี้ถ้าว่าวัดไหนมันอยู่ไกลก็ให้รถนำไปส่ง ตอนกลับก็ให้รถนำกลับเอา

ผู้ใดที่จะกลับพร้อมรถให้รถมารับก็บอกรถเขาไว้ ถ้าว่าจะเดินเอาก็แล้วแต่ ต้องบอกเขาไว้ ค่ำคืนวันนี้ก็เตรียมซะ แต่หลวงพ่อว่าถ้าพอเป็นไปได้ ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติทุกบ้านนั่นแหละ ไม่เป็นไรหรอก เราเทศน์กัณฑ์เดียวกันนั่นล่ะ ถ้าพอเป็นไปได้ก็ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติ เหมือนกันกับหลวงพ่อบรรยายธรรมะเป็นสัมโมทนียกถาในภาคปฏิบัติ ที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วนั่นแหละ

การเจริญภาวนานั้นเป็นของง่ายนิดเดียว เพียงแต่เราจะทำอะไรก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ ว่าไปตามลำดับๆ จนโน้น ถึงเราจะนั่งอยู่ภาวนาอยู่ก็ดี ก็ขอให้จำได้ มันจะนั่งหลับไปตอนไหน ตอนพองหรือตอนยุบ ก็ขอให้จำได้ เราจะนอนหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ ก็ขอให้จำได้

เราเทศน์ในภาคปฏิบัตินั้นจะดีมาก เพราะว่าญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลนั้น จะได้ถือเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่สำหรับผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่ยากหรอก ทีนี้เราเผื่อว่า บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่มาสมาทานอุโบสถศีลใหม่ มาปฏิบัติใหม่ เพื่อจะให้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ขอให้เตือนสติญาติโยมว่า

การประพฤติปฏิบัตินี้ องค์คุณของผู้ปฏิบัติ

๑. ต้องมีสติ (สติมา)

๒. มีสัมปชัญญะให้ทันปัจจุบัน (สัมปชาโน) แล้วก็

๓. มีความเพียร (อาตาปี)

๔. อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น

ถ้าเรามีความต้องการเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นตามความประสงค์ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว บางทีเห็นว่าครูบาอาจารย์ก็สู้เราไม่ได้ ถ้ามันไม่เกิดตามความคิด ก็จะให้เกิดโทมนัส หรือเกิดความโกรธ ความท้อแท้ใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความขี้เกียจ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติต่อไป แล้วก็

๕. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

๖. อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ

ก็ขอให้แนะนำญาติโยมไว้อย่างนี้ เราพูดเอาง่ายๆ เพราะการพูดเอาง่ายๆ มันได้ประโยชน์กว่า เราเทศน์จบแล้วก็ให้โอกาสแก่ญาติโยมได้สนทนาปัญหา ได้ไต่ถาม ข้อไหนญาติโยมสงสัย ก็เปิดโอกาสให้โยมได้ไต่ถามได้ซักถาม เราก็แนะนำเอา อันนี้ก็ขอให้ไปเทศน์ในแนวนี้

เอาละ ที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


พระราชปริยัตยากร


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.110 Chrome 58.0.3029.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #34 เมื่อ: 01 มิถุนายน 2560 10:00:04 »



โรค ๒ ประการ

สำหรับวันนี้ ก่อนที่จะได้รับพร ก็ขอนำธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าว ในลักษณะที่ว่าเป็นสัมโมทนียกถา เป็นถ้อยคำที่กล่าวเพื่อให้เกิดความชื่นใจ ความดีใจ ความเบิกบานใจ ความปลื้มใจ ความปราโมทย์

วันนี้ หลวงพ่อจะกล่าว เรื่อง โรค ๒ ประการ

โรค คือ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ดีมาเบียดเบียน

โรคมี ๒ ประการ คือ ๑) โรคกาย ๒) โรคใจ

สำหรับ โรคกาย ขอยกไว้ก่อน เอาไว้กล่าวตอนท้าย จะขอกล่าวเรื่องของโรคใจก่อน

คือ โรคใจ เป็นโรคที่รักษายาก ถ้าจะหายาไม่ว่าจะเป็นยามโหสถ ยาโรงพยาบาล ยาตามร้านค้า หรือเป็นยาที่วิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาบำบัดหรือรักษาโรคใจได้ แม้ว่าเขาจะศึกษาเล่าเรียนมาจนจบวิชาทางแพทย์โดยตรงก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะรักษาได้

แม้แต่ผู้ที่มีเดชานุภาพ มีอภิญญาจิต แม้ว่าผู้ที่มีกายทิพย์ มีใจทิพย์ เช่น เทพบุตร เทพธิดา ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจให้หายไปได้ แม้แต่ผู้ที่บำเพ็ญสมถภาวนาจนได้สมาบัติ ๘ ประการ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้จบสมาบัติ ๘ ประการ ได้จบอภิญญาจิต ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้

ถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ ผู้ที่ยังอยู่ในเมืองมนุษย์ มีศักดาเดชานุภาพ แม้ผู้ที่เป็นพระราชา มหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิราช ก็รักษาไม่ได้ หากว่าผู้ที่เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ ทรงสมณเพศเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยมหันตคุณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็รักษาโรคได้ครึ่งๆ กลางๆ รักษายังไม่ได้หมด ต่อเมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะรักษาโรคได้หมด

อีกอย่างหนึ่ง หากว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยทิพย์ หรือผู้มีกายทิพย์ มีใจอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ มีอำนาจอันเป็นทิพย์ เช่น เทวดาในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจได้ เพราะเทวดาก็ยังมีโรคใจอยู่บางสิ่งบางประการ แม้แต่เป็นพระพรหมก็ดี จะเป็นรูปพรหมก็ดี เป็นอรูปพรหมก็ดี ถึงแม้จะได้ฌาน ได้อภิญญาจิต ก็ยังไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ รักษาได้ก็เป็นบางส่วน รักษาได้ยังไม่หมด

โรคใจมีหลายอย่าง แต่หลวงพ่อจะสรุปสั้นๆ เพื่อให้เหมาะแก่เวลา

โรคใจประการที่ ๑ ความโลภคือโลภะ อันนี้ถือว่าเป็นโรคทางด้านจิตใจของเราเหมือนกัน เมื่อถูกโรคนี้เข้าเบียดเบียน ก็จะทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรนหาสิ่งที่ต้องการ เพื่อมาป้อน มาบำรุงบำเรอ หนักๆ เข้าก็ประพฤติไม่ดีไม่งาม ล่วงเกินกฎหมายบ้านเมือง ล่วงเกินศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

อย่างเช่น ไปเบียดเบียนเอาของเขา ไปยักยอกเอาของเขา ไปกดขี่ข่มเหงเอาของเขา หนักๆ เข้า ก็ไปปล้นไปทำร้ายผู้อื่นจนถึงตายไปก็มี ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความโลภคือโลภะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทะเยอทะยานให้เกิดความอยากได้อยากมี ไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้นี่ อยากได้นั่น เช่น อยากได้ทีวี พัดลม ตู้เย็น สเตอริโอ อยากได้ไปร้อยแปดพันประการ แม้จะได้เป็นร้อยล้าน พันๆ ล้านก็ไม่พอ เป็นต้น

สรุปสั้นๆ ว่า แม้จะหาทรัพย์สมบัติในโลกมนุษย์นี้มากองพะเนินให้เต็มเรือนชานบ้านช่อง กองเต็มสถานที่ที่อยู่ก็ยังไม่พอ นี่แหละคือโรคความโลภ ที่เป็นเหตุให้ผู้มีความโลภหรือโลภะ เกิดความทุกข์ทรมานในจิตใจ เพราะความอยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาแล้วยังไม่พอ ยังอยากจะได้อีก ยกตัวอย่าง เช่น มีภรรยาอยู่แล้วยังไม่พอ ยังอยากจะมีคนที่ ๒ อยากมีคนที่ ๓ อยากมีคนที่ ๔ มันอยากไม่สิ้นสุด

ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะรักษาโรคคือโลภะได้ เราจะรักษาได้อย่างต่ำๆ คือการให้ทาน เช่น ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ การให้ทานก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผ่อนคลายความโลภให้เบาบางลง แต่ยังไม่สิ้นสุด เพียงแต่ข่มไว้ไม่ให้มันรุนแรงเกินไป เมื่อเราบริจาคทานแล้วก็จะช่วยข่มความโลภได้ ข่มมัจฉริยะคือความตระหนี่ ให้เบาบางลงไปได้ แต่ว่ามันยังไม่หมด มันยังไม่ขาด เพียงแต่มันสงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา

อุปมาเหมือนกับต้นหญ้า ถ้าเอาศิลาหรือก้อนหินไปทับเอาไว้ มันก็เกิดไม่ได้ แต่เหง้ามัน รากมันยังไม่ตาย แต่เมื่อใดเรายกศิลาหรือก้อนหินออก หญ้านั้นมันก็เกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด เมื่อเราทั้งหลายบำเพ็ญทานอยู่ขณะนี้ความโลภคือโลภะ มัจฉริยะคือความตระหนี่ มันก็สงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา

ทีนี้ถ้าเราจะทำลายให้เด็ดขาดไป การเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน ก็ยังรักษาไม่ได้ เป็นแต่เพียงข่มไว้ ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์พระสงฆ์องค์เณร ที่มาเจริญอยู่ทุกวันนี้ เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาไปตามลำดับขั้น ญาณในด้านวิปัสสนาญาณก็จะเกิด ภาวนามยปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาๆ เห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เมื่อใดที่เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น โลภะก็จะค่อยๆ หมดไปๆ ตามลำดับ เมื่อใดที่สำเร็จปฐมมรรค คือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

โลภะทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๘ ตัว เมื่อเราสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแล้ว โลภะทั้งหมดที่มีอยู่ ๘ ตัว ก็จะละได้ ๔ ตัว เหลืออีก ๔ ตัว เมื่อใดที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว อันนี้พูดโดยย่อ

โรคใจประการที่ ๒ ความโกรธคือโทสะ มันทำให้จิตใจของเราเร่าร้อนกระวนกระวาย และเดือดดาลตลอดเวลา ไม่มีที่สิ้นสุด มีอะไรมากระทบนิดหน่อย ก็จะเกิดความหงุดหงิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้นมา เห็นรูปที่ไม่งามก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความแห้งใจ ความคับแค้นใจ ความท้อใจ ความทุกข์ใจ

ทุกอย่างที่กล่าวมาคือตัวโทสะทั้งหมด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำให้ไม่พอใจในอารมณ์ ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เช่น เห็นรูปไม่สวย ก็ไม่พอใจ ได้ยินเสียงไม่เพราะ ก็ไม่ถูกใจ ได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่อร่อย ก็ไม่ถูกใจ ได้กลิ่นที่ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ ได้สัมผัสถูกต้องเสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ หนักๆ เข้าก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฆ่ากันให้เบียดเบียนกัน

ดังที่เราเห็นกันอยู่ เช่น สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี แม่ฆ่าลูกตั้งแต่อยู่ในท้องหรือคลอดออกมาแล้ว ก็สามารถที่จะฆ่าได้ เพราะโทสะสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งสามีตัวเอง ภรรยาตัวเอง ลูกตัวเอง สามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ สามารถที่จะฆ่าแม้ครูบาอาจารย์ได้ สามารถที่จะฆ่าผู้ที่มีพระคุณได้

การพูดจาปราศรัยสามารถจะด่าได้หมด ด่าได้แม้กระทั่งแดด ด่าลม ด่าแผ่นดิน แผ่นฟ้า ด่าพระอาทิตย์ ด่าพระจันทร์ ด่าดวงดาว ด่าได้ แม้กระทั่งพระ เณร พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ด่าไปได้หมด ทำไมถึงด่าได้ ที่ด่าได้ก็เพราะโทสะ ถ้าคิดดูดีๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ไม่ดี ไม่พอใจต่างๆ ที่เกิดมา ก็คือโทสะทั้งหมด ฉะนั้น เราจะต้องหาวิธีแก้ วิธีทำลาย

ตัวโทสะจะมีอยู่ ๒ ตัว คือ

๑) ความโกรธที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งกระตุ้น เช่น มีผู้มายุยงให้โกรธ ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ทำให้โกรธ เป็นต้น

๒) ความโกรธที่เกิดขึ้นเองโดยลำพัง มันนอนอยู่ในจิตในใจของเรา เช่น นอนสบายๆ อยู่เฉยๆ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาเอง คิดเกลียดคนนั้น คิดเกลียดคนนี้

หนักเข้าพอตื่นเช้าขึ้นมา แทนที่จิตใจจะร่าเริงแจ่มใสเบิกบาน ได้ยินเสียงต่างๆ กลับไม่พอใจไปหมด เช่น ได้ยินเสียงเมียตื่นขึ้นมาหุงข้าวก็ไม่พอใจ หาว่าทำเสียงดัง เราจะหลับจะนอน ได้ยินเสียงลูกหลาน เปิดเพลง เปิดวีดีโอ ก็ไม่พอใจแล้ว ได้ยินเสียงระฆังที่วัด ก็ไม่พอใจว่า ทำไมถึงตีตั้งแต่เช้า คนกำลังหลับกำลังนอน นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาทำให้ไม่พอใจ จึงเกิดความโกรธ เป็นต้น

วิธีรักษาความโกรธ อย่างต่ำคือการรักษาศีล เหมือนกันกับญาติโยมทั้งหลายสมาทานรักษาอยู่นี้ เช่น การรักษาศีล ๕ การรักษาศีล ๘ การรักษาศีลอุโบสถ การรักษาศีล ๑๐ การรักษาศีล ๒๒๗ ก็เป็นการผ่อนคลายความโกรธให้เบาบางลง แต่ยังรักษาได้ไม่หมด ถึงแม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติ แม้จะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช ก็ยังรักษาไม่ได้หมด

อีกอย่าง คือการเจริญเมตตาปรารถนาให้สรรพสัตว์มีความสุขทั่วหน้ากัน เช่น เมื่อนึกถึงบุคคลที่ทำให้เราไม่พอใจ ที่มันผ่านมาหลายวันแล้วก็ตาม ให้เรานึกถึงหน้าเขาแล้วเจริญเมตตา ขอให้บุคคลที่เรานึกถึงนั้น จงมีความสุขเถิด ขอท่านจงมีความสุขเถิด

เราทำอย่างนี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความโกรธได้ ถ้าเราคิดได้ตอนไหน ก็ให้เจริญเมตตาทุกเวลาๆ ที่คิดได้ ถ้าเราเห็นใครไม่ถูกใจ ก็ให้เจริญเมตตา ขอให้คุณจงเป็นผู้มีความสุขเถิด ถ้าเจริญเมตตาอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ความโกรธนี้เบาบางลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปนิสัย ถ้าเราหัดอยู่แบบนี้ เจริญเมตตาอยู่แบบนี้ไป ถึงจะมีโกรธอยู่ ยังไม่หมด นี่แหละ คือวิธีบรรเทา

ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่กำลังเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเจริญไปๆ ผ่านปฐมมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไป และเมื่อผ่านทุติยมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไปอีก และเมื่อผ่านตติยมรรค คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธก็หมดเลย ไม่มีเหลืออยู่ในใจอีกเลย นี่แหละคือวิธีแก้อย่างเด็ดขาด

ถ้าว่าความโกรธหาย แต่ทำไมหลวงพ่อจึงชอบด่าจัง ใช่สิพอหลวงพ่อพูดอะไรก็ว่า หลวงพ่อด่า หลวงพ่อชี้แนะแนวทางก็ว่าแต่หลวงพ่อด่า ทั้งๆ ที่เวลาที่หลวงพ่อพูดไปไม่ได้มีจิตมีใจที่จะด่าเลย มีแต่ญาติโยม พระสงฆ์ องค์เณร คิดไปเองว่าหลวงพ่อด่า เพียงแค่สำนวนสำเนียงที่พูดออกไปมันไม่รื่นหู ที่พูดไปมันฟังไม่รื่นหู ก็เลยคิดเอาว่าหลวงพ่อด่า

สรุปสั้นๆ ว่า เราจะแก้ความโกรธให้มันหายไปหมดก็ต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธมันถึงจะหมดไป

โรคใจประการที่ ๓ โมหะคือความมืดบอด ความหลง ความไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือไม่รู้จักมรรคผลพระนิพพาน มืด ๘ ด้าน ไม่รู้ว่าบุญเป็นยังไง ไม่รู้ว่าบาปเป็นยังไง

ถ้าพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็ไม่รู้จัก พูดถึงเรื่องมรรค ผล นิพพานก็ไม่รู้จัก เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกนี้ เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกหน้า และก็ตัดเสียซึ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรค ผล พระนิพพาน อันนี้แหละคืออำนาจของโมหะ เป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา อยู่ในสังคมใด ก็ไม่ฉลาด ไม่ทันคนอื่นเขา นี่แหละตัวโมหะ

ทีนี้ โมหะ นี้ ทำอย่างไรมันถึงจะหมดเบาบางลงไป วิธีที่จะทำมีอยู่ ๒ ประการ คือ

วิธีที่ ๑ ทำให้เบาบางลง การที่จะทำให้เบาบางลงก็คือการอ่านตำรับตำราธรรมะ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาอ่าน อ่านทั้งทางโลกและทางธรรม ก็จะทำให้มันเบาบางลงเหมือนกันกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้อยู่ทุกวันนี้

ก็เพราะเราบำเพ็ญตัวนี้ และจากการศึกษาเรียนรู้มาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่แนะนำเรา เราก็รู้ เราไปโรงเรียนประถม มัธยม ก็ทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมา จึงทำให้โมหะเบาบางลงไป เรียนไปจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะทำให้โมหะค่อยๆ เบาบางลงไปเรื่อยๆ

สรุปแล้ว ถ้าสิ่งไหนไม่รู้ ก็ให้เรียนสิ่งนั้นๆ ก็จะทำให้ความโง่ความไม่รู้เบาบางลงไปๆ

วิธีที่ ๒ ให้ถามครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ท่านผู้รู้ ไต่ถามสิ่งที่เราไม่เข้าใจ สิ่งที่เราข้องใจสงสัย ให้ท่านอธิบายชี้แจงให้ฟัง จนหมดความสงสัย นี่อย่างต่ำ อย่างสูงก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนาเหมือนที่พากันเจริญอยู่ทุกวันนี้ เจริญไปๆ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์โน่นแหละจึงจะหมด โมหะ ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ตัวคือ

๑) หลง หลงด้วยอำนาจอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน คือหลงเพราะคิดมาก คิดมากก็ทำให้เกิดความหลงได้

๒) หลง ด้วยอำนาจวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ

จิตใจฟุ้งซ่านมากก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล ก็ยังละโมหะได้เพียงตัวเดียว คือวิจิกิจฉา ความลังเลความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ บุญบาป โลกนี้โลกหน้า นรกสวรรค์ มรรคผลพระนิพพาน ความสงสัยเหล่านี้มันหมดไป (คือละได้แล้ว)

ต่อเมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๔ จึงจะสามารถละโมหะได้หมด คือละตัวอุทธัจจะความคิดมากนี่ก็จะหมดไป จะไม่คิดจนเป็นบ้าเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนนี่คิดจนเป็นบ้า คิดจนเป็นโรคประสาท คิดจนความดันสูง แต่พอผ่านวิปัสสนาญาณไปจนครบแล้ว ความคิดดังกล่าวมันก็หมดไปจากขันธสันดาน

ถ้ามันหมดทั้ง ๓ ตัว ตัวอื่นไม่ต้องกล่าวถึง ตัวนี้เป็นพ่อมัน แม่มัน ปู่มัน ย่ามัน ถ้าเราฆ่ามันแล้ว ฆ่าปู่ฆ่าย่าฆ่าพ่อฆ่าแม่มันแล้ว ตัวอื่นมันก็ตายหมด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราฆ่าหัวหน้าทัพมันแล้ว ลูกน้องมันก็ตายหมด นี่คือวิธีรักษา

ถ้าเราฆ่ามันหมดจากจิตจากใจของเราแล้ว เราก็มีใจที่สบายๆ อยู่ในโลกนี้ก็เหมือนกับได้บรรลุพระนิพพานแล้ว เหมือนกับอยู่ในปรินิพพาน เพราะว่าพระนิพพานเป็นโลกุตตรสุข ไม่เหมือนสุขของโลก ไม่มีความเสียใจดีใจ เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา มีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน ชุ่มเย็นอยู่ตลอด ได้กระทบอารมณ์ใดๆ ก็ตาม อารมณ์ที่ดีก็ตาม อารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม ก็มีใจสบายๆ ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว

หลวงพ่อคิดว่า พ่อออกแม่ออกบ้านเรา คงจะดีใจ พอใจ อิ่มใจ ปลื้มใจ หรือเต็มใจในการรักษาโรคใจ ๒ ประการ ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะว่าพวกเราก็ได้ประพฤติปฏิบัติกันมา แต่ปีนี้หรือในยุคสมัย ไอเอ็มเอฟ นี้ ไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าใด

เพราะว่าปีนี้ไม่ค่อยสัปปายะ ไม่ว่าอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไม้สอย เงินทองกองแก้วก็ไม่สัปปายะ หนักๆ เข้า มาปีนี้ อากาศก็ไม่สัปปายะ เพราะว่าความร้อนมันไม่เหมือนทุกปี ปีนี้รู้สึกว่าร้อนๆ เหมือนกับเหงื่อมันจะมาเผาเนื้อเผากายเราให้สุก มันไม่สัปปายะ

การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สะดวกสบายเหมือนทุกปี ครูบาอาจารย์ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ลำบากลำบน เพราะมันร้อนมาก ก็เลยบอกว่า ผ้านี่ไม่ต้องห่มต้องคลุมดีมากหรอก ในห้องกัมมัฏฐานนี่ เอาผ้าจีวรพาดบ่าเอาเลย มันถึงจะสะดวก สำหรับโรคใจ ก็ขอพักไว้เพียงเท่านี้ ไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว โรคใจคือกิเลสที่กล่าวมาข้างต้น

ทีนี้สำหรับ โรคกาย กายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เราจะรักษาอย่างไร โรคกายของเรา วิธีรักษาเราก็จะต้องไปหามดหาหมอ โรงพยาบาลใดมีหมอดี ที่ไหนมียาดี เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเราก็ไปหาท่าน โรคกายรักษาได้ด้วยหยูกยา หากว่าเราจะรักษาด้วยธรรมะ เราก็บำเพ็ญ เราก็เว้นจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นบุคคลอื่น และก็เว้นจากการฆ่าบุคคลอื่นสัตว์อื่น เป็นผู้มีจิตใจอันประกอบไปด้วยเมตตา ก็สามารถที่จะผ่อนคลายโรคกายนี้ให้เบาบางลงไปได้ สำหรับโรคกายรักษาได้ด้วยยา

แต่ถ้าเราจะเอาธรรมะไปรักษาด้วย เราก็ต้องเจริญเมตตาไปด้วย เช่น ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ทรมานกัน ก็จะสามารถเบาบางลงไปได้

แต่สำหรับโรคกายต้องรักษาด้วยยา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง สำหรับยาก็พอจะหาแพทย์หาหมอได้ สำหรับโรคกายก็ให้พากันรักษาเอา แต่อย่าให้มากเกินไปนัก มันทำให้เสียสุขภาพทีหลัง บางทีเราคิดไม่ถ่องแท้ มันก็เสีย

เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแสดงไขในเรื่อง โรคใจ ๒ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มิถุนายน 2560 11:37:07 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.110 Chrome 58.0.3029.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #35 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2560 10:31:53 »




โรคใจ ๑๐ ประการ

วันนี้ จะได้บรรยายเสริมการปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า โรค นั้นมันมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. โรคที่เกิดขึ้นทางกาย ก็เรียกว่า โรคกาย
๒. โรคที่เกิดขึ้นทางจิต ก็เรียกว่า โรคใจ

โรคกาย นั้น หากว่าเรารักษาไม่หาย ในโลกนี้มันก็มีจุดจบ คือเมื่อถึงกองฟอน เขาเอาไฟจุดแล้วก็หมดไป

แต่สำหรับ โรคใจ นั้น หากว่าเรารักษาไม่หายในโลกนี้ แม้ตายแล้วก็ยังไม่หาย คือยังจะติดตามเราไป ในภพหน้าชาติหน้าที่เราเกิด แล้วก็ยังเป็นโรคที่ติดอยู่ในจิตในใจของเราตลอดไปจนกว่าเราสามารถที่จะรักษา คือกำจัดให้มันหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจแล้วนั้นแหละ จึงจะชื่อว่ารักษาโรคใจได้ โรคใจจึงจะหายได้ โรคใจ นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑.โรคโลภะ ความอยากได้ในทางทุจริต คืออยากได้ในอารมณ์ ๖ อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ น่าชอบใจ น่าปรารถนา น่าใคร่

๒.โรคโทสะ ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาต คือไม่พอใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ประการ คือไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ

๓.โรคโมหะ ความหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง

๔.โรคมานะ ความเย่อหยิ่งถือตัว

๕.โรคทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ ว่าบุญบาปไม่มี เป็นต้น

๖.โรควิจิกิจฉา ความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย ว่ามีจริงหรือไม่

๗.โรคอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตส่าย ใจวอกแวก

๘.โรคถีนะ ความหดหู่ ซึมเซาท้อถอยจากการงาน อยากนอนอย่างเดียว

๙.โรคอหิริกะ ความไม่ละอายต่อบาปทุจริตต่างๆ

๑๐.โรคอโนตตัปปะ ความไม่กลัวต่อบาปทุจริต

โรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ โรคมานะ โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉา โรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคไม่ละอายบาป โรคไม่กลัวบาป คุกตะรางสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอใส่ คนที่ไปติดคุกติดตะรางหรือถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ก็เพราะเป็นโรค อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนี้ ผู้ใดไม่มีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้นั้นจะเป็นผู้มีความสุขในโลกนี้

ก็โรคใจนี้ ไม่เหมือนกันกับโรคภายนอก คือไม่เหมือนกับโรคกาย โรคกายนั้นอย่างมากก็เป็นแค่กาย ยาอื่นรักษาไม่หาย พระเพลิงก็รักษาหายหมด ส่วนโรคใจนั้น ถ้าชาตินี้รักษาไม่หาย ก็จะติดไปอีกในชาติหน้า ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน โรคนี้ก็ตามไปด้วย แต่ว่าโรคนี้ไม่ใช่ว่าจะตามไปให้คุณ แต่ตามไปให้โทษ ถ้าเรามีโรค ๑๐ อย่างนี้ก็เท่ากับมีเพื่อนชั่ว ๑๐ คน คือ

๑.โรคโลภะ โรคประเภทนี้ ชวนให้ลักของเขา ปล้นจี้เขา หลอกลวงเขา ฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชั่น เป็นต้น ล้วนแต่อำนาจของโลภะทั้งสิ้น

ดังเราที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ที่เขาพูดกัน ซึ่งพวกเราไม่น่าจะนำมาพูดกัน หรืออะไรทำนองนี้ เช่นว่า โรคกินเสาไฟฟ้า กินทองแดง โรคกินหิน โรคกินทราย โรคกินปูน กินกรวด อะไรทำนองนี้ ก็ล้วนแต่โลภะนี้เป็นต้นเหตุ ถ้าหากว่าไม่มีโรคคือโลภะ การอยากอย่างนั้น หรือการกินอย่างนั้น คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างนั้น ก็คงไม่มี

๒.โรคโทสะ ทำให้เป็นคนดุร้ายเนรคุณ ตัวอย่างที่ลูกฆ่าพ่อแม่ด่าพ่อแม่ ก็เพราะโรคโทสะ นักเรียนทำร้ายครู ศิษย์คิดฆ่าอาจารย์ สามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามี พี่น้องออกจากท้องเดียวกันฆ่ากันได้ ก็เพราะโรคโทสะเป็นต้นเหตุ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ระหว่างสามีภรรยา บางทีไปคบชู้สู่สมมา เอายาพิษให้สามีกิน หรือสามีเอายาพิษให้ภรรยากิน อะไรทำนองนี้ ล้วนแต่เป็นโรคตัวโทสะนี้เป็นต้นเหตุ

๓.โรคโมหะ ทำให้หลงเพลิดเพลินในกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พาหลงไปหาสุรานารี พาชีกีฬาบัตร อกตัญญูเนรคุณ ฉุดคร่าอนาจาร กระทำชำเรา จุดบ้านเผาเมือง

ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้ทุจริต ๓ คือ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ทำให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทำชู้สู่สมกับผัวเขาเมียเขาลูกเขา โกหก ต้มตุ๋น ยักยอก หลอกลวง พูดชั่วเป็นต้น ไม่รู้ขันธ์ ๕ ไม่รู้ความหมายของขันธ์ ๕ ไม่รู้อริยสัจ ๔ หลงติดอยู่ในบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

๔.โรคมานะ ทำให้เกิดความลำพอง สำคัญตัวเองว่าเราดีกว่าเขาบ้างหละ หรือว่าเราเสมอเขาบ้างละ เราเลวกว่าเขาบ้างละ ทำอะไรมักจะทำตามใจชอบ ใครจะบอกก็ไม่เชื่อ ว่าก็ไม่ฟัง กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก คนประเภทนี้แข็งนอกอ่อนใน เจริญเติบโตไม่ได้

ถ้าอยู่ในวงข้าราชการ ก็ไม่สามารถที่จะเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงๆ ขึ้นไปได้ แม้จะอยู่ในวัดวาอารามก็ไม่สามารถที่จะเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระบวรพุทธศาสนาได้

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้อย่างนี้ ต้นไม้บางชนิดมันแข็งนอกแต่อ่อนใน แข็งนอกอ่อนในนี้ ส่วนมากก็เจริญไม่ได้ แข็งในแต่อ่อนนอกเจริญได้ เช่น ต้นกะบาก ต้นยางอะไรอย่างนี้มันเจริญได้ แต่ประเภทแข็งนอกอ่อนใน เช่นต้นมะพร้าว ต้นตาล ก็โตไม่มาก

คนเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แม่ชีไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ดังที่เราฟังกันทุกวันว่า วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ พร ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ยศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมเจริญ แก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้เคารพต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ

๕.โรคทิฏฐิ ความเห็นผิด คือมีความเห็นว่าคนเราที่เกิดมานี้ บางคนมั่งมี บางคนยากจน มิใช่เป็นผลที่ทำไว้แต่ปางก่อน ชาติก่อน ที่มั่งมีหรือยากจนนั้น เกิดจากพระพรหมบันดาล เกิดจากพระเจ้าบันดาลบ้าง หรือมีความเห็นว่าการทำดีทำชั่วในชาตินี้ จะไม่ส่งผลให้ได้รับในภพหน้า ชาติหน้า นอกจากว่าไปลักของเขาให้เขาจับได้ นั่นแหละจึงจะได้รับโทษจึงจะเป็นบาป ถ้าเจ้าของเขาจับไม่ได้ก็ไม่เป็นบาป

บางคนก็มีความเห็นว่า การทำดีทำชั่วนั้น ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เป็นแต่กิริยาเท่านั้น หมายความว่า ใครทำดี ใครทำชั่ว ก็ไม่ได้รับผลของความดี ของความชั่ว บางคนเห็นผิด ขนาดว่าพ่อแม่ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็ไม่มีบุญคุณอะไรกับตนเลย เกิดมาหลงอย่างหนัก

๖.โรคถีนะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่เป็นธรรมชาติให้จิตของเราหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ เกิดอาการสะลึม สะลือ การทำงานอะไรก็ไม่กระฉับกระเฉง ท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา เวลาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจับปัจจุบันธรรมได้

เช่น ครูอาจารย์แนะนำพร่ำเตือนว่า ท่านจะนั่งหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือตอนนั่ง ตอนถูก ก็พยายามจับให้ได้ หรือว่าท่านจะนอนหลับไป ตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือตอนนอน ตอนถูก ก็พยายามจำให้ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะจำได้ จำแล้วก็จำอีกๆ คืนแล้วก็คืนเล่าๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ก็ไม่สามารถที่จะจำได้

เพราะเหตุไร ก็เพราะโรคคือตัวถีนะนี่แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามันท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง จิตใจของเราจับอารมณ์ไม่มั่น เลยจับปัจจุบันธรรมไม่ได้

๗.โรคอุทธัจจะ โรคชนิดนี้ เป็นธรรมชาติที่ทำจิตให้ฟุ้งซ่าน คือจิตรับอารมณ์ไม่มั่น เดี๋ยวจิตคิดอารมณ์โน้นบ้าง คิดอารมณ์นี้บ้าง จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก อุปมาเหมือนกันกับรถที่วิ่งบนถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้ว แผ่ซ่านกระจายไปทั่วทิศานุทิศ สรุปแล้วคือจิตไม่เป็นสมาธินั่นเอง

๘.โรควิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่อง บุญบาป โลกนี้ โลกหน้า ในเรื่องนรกสวรรค์ มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น

๙.โรคอหิริกะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่ไม่ละอายบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายผู้อื่น ไม่นึกถึงศักดิ์ศรี และหน้าที่การงาน ฐานะ เพศ ภูมิของตน สามารถทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประเภทนี้สามารถที่จะทำได้

๑๐.โรคอโนตตัปปะ โรคอโนตตัปปะนี้ เป็นโรคที่ไม่กลัวบาป ไม่กลัวใครว่า ไม่กลัวใครนินทา เช่น ลูกทำผิดไม่กลัวพ่อแม่ ศิษย์ทำผิดไม่กลัวครูอาจารย์ นักเรียนทำผิดไม่กลัวครู สามีเจ้าชู้ ทำชู้สู่สมกับหญิงอื่น นอกใจภรรยา ไม่กลัวภรรยาตำหนิ หรือภรรยาไปคบกับชายอื่น เป็นการนอกใจโดยไม่กลัวสามีตำหนิ ข้าราชการประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่กลัว

อโนตตัปปะตัวนี้ ทำให้คนกล้าฆ่ากัน ลักขโมยกัน ทำชู้ผิดประเวณี พูดโกหก พูดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาท ผิดเถียงกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดถ้อยคำที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ สามารถพูดถ้อยคำที่ไร้สาระประโยชน์ หยาบโลน กล้าสูบกัญชา เฮโรอีน ผงขาว บุหรี่ เหล้า นำเข้าซึ่งของเสพติดโดยไม่กลัว กล้าทำบาปโดยไม่กลัวว่า ชาตินี้จะต้องถูกตำหนิปรับไหม ใส่โทษจองจำ พันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต ไม่กลัวผลของกรรมที่จะนำไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในอนาคต เป็นต้น

โรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ที่ผ่านๆ มานี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาและใส่ใจดูว่า มันยังมีในจิตในใจของเราอยู่ไหม เพราะเรามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ประการหนึ่งที่จะละเว้นไม่ได้ ก็คือมารักษาโรคใจทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้มันหายไป สิ้นไป สูญไป และโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติพระวิปัสสนามาจนถึงวันนี้ มันเบาบางลงไป หรือว่ามันหมดไปจากจิตจากใจของเรามากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเอา คือโรคพวกนี้ โรคโลภะนี้ พระโสดาบันละได้ครึ่งหนึ่ง คือโรคโลภะนี้มันจะมีอยู่ ๘ ตัว พระโสดาบันนั้นละได้ รักษาให้หายไปได้ครึ่งหนึ่งคือ ๔ ตัว สำหรับพระสกทาคามีนั้น ทำให้โรคโลภะที่ยังไม่หายนั้นเบาบางลง สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามี ละได้ทั้งหมด

โรคโลภะนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี ละได้ครึ่งหนึ่ง คือทำลายได้ครึ่งหนึ่ง พระสกทาคามี นั้นทำให้เบาบางลง ยังละไม่ได้ สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามีหรือผู้ที่สำเร็จพระอริยมรรคอริยผลขั้นที่ ๓ ก็สามารถที่จะรักษาโรคโทสะนี้ให้หมดไป

โรคโทสะ นั้นมันมี ๒ ประการ คือ

๑.โทสะที่เกิดขึ้นโดยลำพัง โดยที่ไม่มีใครยุยงส่งเสริม ก็เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่อาศัยอารมณ์ทั้ง ๖ ประการมากระตุ้น

๒.โทสะที่เกิดขึ้นเพราะมีผู้มากระตุ้น คือเกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์ ๖ มากระตุ้นคือ มีผู้ใดมากระตุ้นหรือมายุยงส่งเสริมเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ โรคโทสะทั้ง ๒ นี้ ถ้าว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว มันจะหมดไป ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ

ท่านทั้งหลายจะต้องวัดดูว่า ขณะนี้เรายังมีความโกรธอยู่ไหม กระทบอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังมีความหงุดหงิด ยังมีความน้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ คิดอยากฆ่าเขา คิดอยากแก้แค้นเขา คิดพยาบาท อาฆาต จองล้าง จองผลาญเขาอยู่ไหม ถ้ามันมี ก็แสดงว่าเรายังไม่ถึงขั้นอนาคามี

แต่ถ้ามันไม่มี เขาพูดไม่ดีก็เฉย ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จิตใจของเราไม่เปลี่ยนแปลง จิตใจของเรายังเป็นปกติอยู่ คือถูกว่าในสิ่งที่ไม่ดี หรือกระทบในสิ่งที่ไม่ดีก็เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี้ก็แสดงว่าโรคโทสะมันหายไป เมื่อโรคโทสะมันหายไป ก็แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านจวนจะจบอยู่แล้ว ถ้าเราผ่านการปฏิบัติได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

สำหรับโรคทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นชอบว่าบุญบาปไม่มีเป็นต้น และก็โรควิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยเป็นต้น โรค ๒ ตัวนี้ พระโสดาบันละได้หมด คือพระโสดาบันรักษาให้หายไปจากจิตจากใจ

โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉานี้ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันไปแล้ว จะไม่มีในขันธสันดานของท่านอีกเลย คือจะไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลพระนิพพาน พูดเอาสั้นๆ ว่า ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระรัตนตรัยแล้ว หมดแล้ว ไม่มีแล้ว

ทีนี้ สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้น ก็ไม่มีแล้วทีนี้ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าว่าเราสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็สามารถที่จะรักษาให้หายได้ สำหรับโรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคอหิริกะ โรคอโนตตัปปะนั้น พระอรหันต์จึงจะละได้เด็ดขาด

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว โรคอุทธัจจะก็ดี โรคถีนมิทธะก็ดี โรคอหิริกะก็ดี โรคอโนตตัปปะก็ดี จะหมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมะนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรักษาโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพียงแต่ว่าเรารักษาให้หายไปสักครึ่งหนึ่งอย่างนี้ เราก็มีความสุขแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข และความสุขที่ได้รับก็เป็นความสุขที่ชุ่มฉ่ำ เรียกว่าเป็นความสุขที่บอกไม่ถูกว่า มันสุขแค่ไหนเพียงไร เราบอกไม่ถูก เพียงแต่ว่ามีความสุขในฌานอย่างนี้

สมมติว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปจนได้บรรลุถึงตติยฌานที่ ๓ ได้รับความสุขในฌาน ถ้าเราได้ฌานที่ ๓ นี้ เราก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าความสุขในโลกนี้ ซึ่งเป็นขั้นโลกิยะนั้น ก็มีความสุขในฌานที่เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยม เราก็ถือว่ามีความสุขเต็มที่แล้ว

แต่ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อย่างนี้ ความสุขที่เราได้รับนี้ ก็มีความสุขเพิ่มขึ้นจากความสุขที่อยู่ในฌานที่ ๓ เพราะว่าความสุขที่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้รับนั้น เป็นโลกุตตรสุขแล้ว คือพ้นจากโลกิยสุข เป็นโลกุตตรสุขแล้ว เป็นสุขที่จะนำเข้าสู่พระนิพพานแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเราสามารถรักษาโรคให้หายทั้ง ๑๐ ประการ ความสุขนั้น เราบอกไม่ถูกว่ามันสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราอยู่ในโลกนี้ แต่พ้นแล้วจากโลกนี้ เราอยู่ในโลกนี้ แต่ไม่ข้องเกี่ยวในโลกนี้ อารมณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในโลก จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม ไม่สามารถที่จะทำลายระบบจิตใจของเราให้เปลี่ยนแปลงไปได้เลย

จะไม่มีความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ ไม่มีผู้ใดจะมาทำให้รัก ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำให้ชังได้ คือความรักมันก็หมดไป ความชังมันก็หมดไป ความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานามันก็หมดไป ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะหมด อย่างความรักมันไม่น่าจะหมด ความชังมันไม่น่าจะหมด

ความโศกเศร้าโศกาอาดูรปริเทวะ บ่นเพ้อพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมดสิ้นไป ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความหงุดหงิดในจิตในใจ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมด เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หมดไป ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า มันจะมีความสุขแค่ไหน

เพราะว่าเราทั้งหลายที่มีความทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ว่าเพราะเรายังมีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความทุกข์ใจ และเกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าเรารักษาให้หายจากโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็ถือว่าเราได้รับความสุขอันสูงสุดยอดเยี่ยม เป็นเอกันตบรมสุข ไม่มีสุขใดที่เสมอเหมือนได้ อยู่ในโลกนี้ก็ถือว่าเราได้ถึงนิพพานแล้ว ซึ่งเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ถึงนิพพานแล้ว คือจิตใจของเรามันหมดโรคแล้ว

โรคทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปแล้ว คือโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราแล้ว มันยังเหลือแต่เบญจขันธ์เท่านั้น ในเบญจขันธ์นี้ สำหรับใจของเราก็ไม่มีโรคใดๆ ที่จะมาทำลายระบบจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ได้ เราจะมีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา อยู่ในโลกก็พ้นจากโลกแล้ว และเมื่อเราจุติแล้ว คือดับทั้งขันธ์ดับทั้งกิเลสแล้ว ก็เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน

ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาดูว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงวันนี้ เราสามารถรักษาโรคของเราให้หายไปได้กี่ตัว ยังเหลืออยู่เท่าไร หายไปแล้วเท่าไร ถ้ามันหายไปแล้วทั้งหมด หลวงพ่อก็สาธุอนุโมทนา ถือว่าการทำการทำงานการปฏิบัติธรรมของท่านก็ไม่ไร้ค่า

การสอนของหลวงพ่อและคณะครูบาอาจารย์ ก็ไม่ไร้ประโยชน์ คือได้ประโยชน์เกื้อกูลทั้งสองอย่าง ญาติโยมที่ถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐากทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกเช้าทุกเพล ก็ไม่ไร้ประโยชน์ น้ำปานะที่ลูกเณรถวายทุกเย็น ก็เป็นประโยชน์โสตถิผลแก่ลูกเณร และก็เป็นบุญเป็นอานิสงส์ของท่านทั้งหลายด้วย

ขอให้เราท่านทั้งหลายได้คิดอยู่เสมอว่า เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ เราจะทำภัตตาหารหรือปัจจัยสี่ ที่ผู้มีศรัทธาถวาย ให้เป็นปัจจัยที่ถวายแก่พระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน เผื่อจะทำอานิสงส์ของผู้ที่มีศรัทธาบริจาคนั้น ให้มีอานิสงส์มากยิ่งขึ้น และเราเองก็จะได้บรรลุโลกุตตรสุข เราจะไม่วกไปสู่อบายภูมิอีกต่อไป เราจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตัวอย่างพระภิกษุใจเพชร มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุททกนิกาย (มีเนื้อหาดังที่เล่าไว้แล้วในเรื่อง สติกับโมหะ)

นี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้า และเป็นเหล่ากอของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ขอให้เราเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า เข้มแข็งเหมือนกันกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอันขาด ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป

ให้คิดเสียว่า ทุกข์นี้ที่เรารับอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะสู้ทุกข์ที่เราจะต้องรับในนรก ในการที่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ได้ ทุกข์ในอบายภูมินั้น มากกว่าทุกข์ที่เราได้รับอยู่นี้ร้อยเท่าทวีคูณ เมื่อเราคิดอย่างนี้แล้ว เราจะมีแก่จิตแก่ใจในการที่จะเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแถลงไขในเรื่องโรคใจ ๑๐ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมาก็เห็นว่า พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
   พระราชปริยัตยากร


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.110 Chrome 58.0.3029.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #36 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2560 11:40:41 »



การประหารกิเลส ๑๐ ประการ

ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพ ท่านนักปฏิบัติธรรมที่เป็นห่วง ที่นับถือ และที่รักทุกท่าน เราได้เรียนเรื่อง ธาตุ ขันธ์ อายตนะ มาพอสมควรแล้ว ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอรู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ก็คงจะเข้าใจถ่องแท้สมบูรณ์แบบแล้ว

นับตั้งแต่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน อาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็คิดว่าครูบาอาจารย์ ตลอดจนท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน คงเข้าใจดีว่า ตรงนี้มันเป็นรูป ตรงนี้มันเป็นนาม คงจะทำความเข้าใจและสำเหนียกได้พอสมควรแล้ว วันนี้เราก็มาศึกษากันต่อ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติทันปัจจุบันธรรมคือรูปนามสมบูรณ์แล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ซึ่งเป็นลายของรูปนาม ถ้าว่าคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะจะบอกว่าตนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น เป็นไปไม่ได้

อุปมาเหมือนกันกับบุคคลที่จะเห็นลายเสือ ก็ต้องเห็นตัวเสือเสียก่อน ถ้าว่าเราไม่เห็นตัวเสือจะเห็นลายเสือได้อย่างไร ข้อนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานก็เหมือนกัน จะเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องเห็นรูปเห็นนามเสียก่อน

เพราะว่า รูปนามอุปมาเหมือนกับตัวเสือ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป นี้อุปมาเหมือนกับลายของเสือ

หมายความว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลายของรูปนาม เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว จึงเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นพระไตรลักษณ์ก็คือการเห็นรูปเห็นนามนั่นเอง เมื่อเราเห็นรูปนามชัดด้วยปัญญา คือเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังกล่าวมาข้างต้น หลังจากนั้นก็จะเห็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

อะไรเป็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

ได้นำมาบรรยายบ้างแล้วในเจตสิก ๕๒ ดวง แต่สิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนามนั้นมีมาก มีทั้งบุญทั้งบาป แต่วันนี้ จะได้นำมาบรรยายเฉพาะส่วนที่เป็นบาป ได้แก่ กิเลส ๑๐ ประการ ที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม พร้อมทั้งบรรยายการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ควบคู่กันได้ด้วย

ทุกท่านย่อมทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า การที่เราจะประหารกิเลสตัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุโลกุตตรภูมิ เมื่อบรรลุแล้ว ก็สามารถปราบกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นชั้นๆ ไป

อันกิเลสตัณหานั้นมีอยู่มิใช่น้อย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เพื่อความเข้าใจง่ายจึงได้ประมวลลงในกิเลส ๑๐ ประการ อันเป็นหลักใหญ่ๆ คือ

๑. โลภะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความพอใจ ความอยากได้

๒. โทสะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตใจของเราเกิดความโกรธ หรือความพยาบาท เป็นต้น

๓. โมหะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลง มีอาการมืดบอด

๔. มานะกิเลส คือกิเลสอันเป็นเหตุให้ถือตัว

๕. ทิฎฐิกิเลส คือสภาวะที่ให้เกิดความเห็นผิด

๖. วิจิกิจฉากิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความสงสัย

๗. ถีนะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อแท้

๘. อุทธัจจะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตฟุ้งซ่านคิดมาก

๙. อหิริกะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่ละอายในการทำบาป

๑๐. อโนตตัปปะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่กลัวในการทำบาป

ต่อไปจะกล่าวถึงโลกุตตรภูมิที่ทำการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนั้นโดยลำดับ

ผู้ที่ได้ปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนาจนได้บรรลุถึงโลกุตตรภูมิอันดับแรก สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล ด้วยอำนาจแห่งโลกุตตรภูมิชั้นนี้ ย่อมทำให้สามารถละกิเลสได้ ๒ ตัว คือ

๑. ทิฎฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน ก็เข้าใจว่าตนเป็นผู้ยืน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดในความหมุนเวียนของวัฏฏะ

เรื่องสักกายทิฏฐินี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระบาลีว่า

สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ  ทยฺหมาโนว มตฺถเก
สกฺกายทิฏฺฐิปหานาย  สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช

ซึ่งแปลความว่า

ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร รู้สึกตนประหนึ่งถูกศาสตราวุธอันมีคมทิ่มแทงอยู่บนศีรษะแล้ว พึงเป็นผู้มีสติไม่ประมาทอยู่เถิด เพื่อจะได้กำจัดเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ (๑๕/๕๗/๑๙)

อธิบายว่า เหมือนบุคคลผู้ถูกอาวุธแหลมคมหรือว่าหอกปักคาอยู่ที่อก ถ้าบุคคลนั้นมีปัญญา ก็มีหน้าที่เพียรพยายามเพื่อจะถอนหอกนั้นออกจากอก ยิ่งกว่าจะคิดไปทำธุระอย่างอื่น

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ถูกไฟเผาอยู่บนศีรษะ ได้รับความเร่าร้อนกระวนกระวายยิ่งนัก ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีสติดี ก็ต้องคิดที่จะรีบดับไฟบนศีรษะตนเสียโดยเร็ว อุปมานี้ฉันใด สักกายทิฏฐิก็ฉันนั้น

บุคคลทั้งหลายต้องได้รับความเดือดร้อน วนเวียนอยู่ในวัฏทุกข์ โดยไม่อาจนับภพนับชาติได้ ก็ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐินั่นเอง ฉะนั้น ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สามารถทำลายสักกายทิฏฐิให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานได้แล้ว ก็เท่ากับว่าถอนหอกที่ปักอกหรือดับไฟบนศีรษะของตนได้สำเร็จ

๒. วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสงสัย ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามธรรมดาผู้ยังมีวิจิกิจฉาอยู่ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาไหนก็ตาม ย่อมสงสัยในพระรัตนตรัยอยู่เสมอ เช่น

๑) สงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตัดกิเลสได้จริงหรือ พระองค์ทรงคุณพิเศษ สามารถแสดงธรรมเพื่อที่จะยังสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสารได้จริงหรือ พระองค์ทรงพ้นจากทุกข์เสด็จเข้าสู่แดนอมตมหานฤพานได้จริงหรือ ดังนี้เป็นต้น

๒) สงสัยในพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้นจริงหรือ พระธรรมที่เร้นลับมองไม่เห็นต่างๆ เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องมรรคผลพระนิพพานเป็นต้นนั้นมีอยู่จริงหรือ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานจริงหรือไม่ เป็นต้น

๓) สงสัยในพระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงท่านสามารถดับกิเลสได้จริงหรือ ท่านสามารถได้บรรลุมรรคผล นิพพานจริงหรือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลเป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน ได้ดื่มอมตรสกล่าวคือพระนิพพานแล้ว มีหรือ

ความสงสัยในพระรัตนตรัยดังกล่าวมาก็จะขาดสิ้นไปจากขันธสันดาน ทั้งนี้ก็เพราะว่าตนได้ประสบยอดของธรรมกล่าวคือพระนิพพานแล้ว จึงมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐอย่างแน่แท้ เพราะสามารถทรงนำพระนิพพานอันเป็นอมตธรรมมาเผยแผ่ให้ปรากฏแก่ชาวโลกได้ และในบรรดาธรรมทั้งหลายนั้น พระนิพพานได้ชื่อว่าเป็นยอดแห่งธรรม

ก็เมื่อพระนิพพานอันเป็นยอดแห่งธรรมมีจริง เพราะตนได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองมาแล้วอย่างนี้ เหตุไฉน ธรรมอันพระองค์ตรัสไว้จะไม่มีจริงเล่า พระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่จริงๆ เพราะการที่จะได้เป็นพระอริยสงฆ์ ก็โดยอาศัยการได้ลิ้มรสอมตธรรมคือนิพพาน อีกอย่างหนึ่ง ตนเองก็ได้ลิ้มรสพระนิพพานแล้วเหมือนกัน ฉะนั้น ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ก็เป็นอันหมดสิ้นไป

เมื่อหมดความสงสัยในพระรัตนตรัยโดยเอาตนเองเข้าเป็นพยานแล้ว ก็จะมีจิตผ่องแผ้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น มีความเคารพบูชาในพระรัตนตรัยอย่างซาบซึ้ง เป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง และในขณะนี้เอง ตัววิจิกิจฉากิเลสก็จะหมดสิ้นไปจากขันธสันดาน ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล

จึงเป็นอันว่า พระโสดาบันบุคคลเป็นผู้สามารถตัดกิเลสขาดออกไปจากขันธสันดานได้แล้ว ๒ ตัว คือ ทิฏฐิกิเลส และ วิจิกิจฉากิเลส ดังนั้น ในวิสุทธิมรรค อรรถกถา ท่านจึงแสดงไว้ว่า

กิเลเสสุ ทิฏฺฐิวิจิกิจฺฉา ปฐมญาณวชฺฉา

บรรดากิเลสทั้งหลาย ทิฏฐิกิเลส และวิจิกิจฉากิเลส ทั้งสองนี้ มัคคญาณที่ ๑ คือโสดาปัตติมัคคญาณ ประหารได้โดยเด็ดขาด

๓. โลภะกิเลส ได้แก่

๑) รูปราคะ คือ ความใคร่ ความยินดีพอใจในรูปภพหรือรูปฌาน มีความพอใจไปเกิดในรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ พระอรหันต์จึงจะละได้โดยเด็ดขาด

๒) อรูปราคะ ความยินดีพอใจในอรูปภพหรืออรูปฌาน มีความยินดีพอใจไปเกิดเป็นอรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมานี้ เป็นโลภะกิเลสที่ละเอียดที่สุด พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนกามราคะนั้น พระอนาคามีละเป็นสมุจเฉทปหานได้แล้ว

๔. โทสะกิเลส ได้แก่ กิเลสที่ทำให้เป็นคนเหี้ยมโหดทารุณ เป็นอันธพาล พยาบาทอาฆาตกัน ประหัตประหารกัน ทำให้เป็นคนเนรคุณ เป็นต้น ตลอดจนถึงทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติหรือในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูบาอาจารย์ เป็นต้น นี้เป็นลักษณะของโทสะ โทสะกิเลสนี้ พระอนาคามีบุคคลละได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว

๕. มานะกิเลส ได้แก่ ความถือตัว (ขุทฺทกนิกาย อัฏฐกถา ปฏิสมฺภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี หน้า ๖๗๙)

มานะนี้เป็นกิเลส เพราะเมื่อว่าตามสภาวะ ย่อมเป็นการปฏิบัติผิด โดยยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นเราเป็นเขา จึงเป็นเหตุให้ตกอยู่ในวัฏทุกข์ประการหนึ่ง มานะกิเลสนี้ แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ ๒ ส่วน คือ

๑) อยาถาวมานะ ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความจริง ได้แก่

ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

อยาถาวมานะ ทั้ง ๖ ประการนี้ พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาดแล้ว เพราะเป็นกิเลสที่หยาบมาก

๒) ยาถาวมานะ ความถือตัวอันเป็นไปตามความเป็นจริง ได้แก่

ตนเป็นคนชั้นสูง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นกลาง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

ตนเป็นคนชั้นต่ำ ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ยาถาวมานะ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นกิเลสที่ประณีตกว่า อยาถาวมานะ แม้พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเห็นพระนิพพานมา ๒ - ๓ ครั้งตามลำดับแล้ว ก็ยังไม่สามารถละมานะเหล่านี้ได้เด็ดขาด เป็นแต่เพียงทำให้เบาบางลงเท่านั้น ต่อเมื่อใดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงสามารถประหารกิเลสนี้ให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด

๖. อุทธัจจะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ทำจิตใจให้ฟุ้งซ่าน จับอารมณ์ไม่แน่นอน หรือสภาพที่ไม่สามารถตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานๆ อุทธัจจะเป็นอกุศลชาติ ซึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความดีไม่ให้เกิดขึ้น พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด

ในกรณีนี้ก็จะมีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็จะยังมีอุทธัจจะอยู่ ทำให้สงสัยว่า เมื่อยังมีอุทธัจจะความฟุ้งซ่านคิดมากอันเป็นเครื่องปิดกั้นความดีแล้ว จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้อย่างไร

แก้ว่า ก็เพราะว่า ในขณะที่มรรคผลจะเกิดขึ้นแก่ท่านแต่ละครั้งๆ สมาธิแห่งวิปัสสนาของท่านจะมีกำลังเข้มแข็งเป็นอันมาก สามารถข่มอุทธัจจะกิเลสนี้ลงได้ชั่วขณะหนึ่ง และในขณะที่อุทธัจจะกิเลสนี้ดับลงไปนั้นเองอริยมรรคอริยผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล ย่อมพลันจะเกิดมีแก่ท่านทันที ทำให้ท่านสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้เป็นลำดับมา แต่ยังไม่สามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่ออรหัตตมรรคอุบัติเกิดขึ้น จึงจะสามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ให้หมดไปจากขันธสันดาน

๗. ถีนะกิเลส ได้แก่ กิเลสที่ทำให้จิตง่วงเหงาท้อถอย ถีนะกิเลสนี้ ย่อมมีอยู่ในขันธสันดานของปุถุชนและพระเสขบุคคล เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงจะสามารถกำจัดถีนะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้

หมายความว่า การที่พระอรหันต์ทั้งหลายยังมีการหลับนอนอยู่นั้น หาใช่เป็นไปตามอำนาจของถีนะกิเลสไม่ ที่แท้เป็นเพราะร่างกายของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้ว ย่อมมีการอ่อนเพลียหมดกำลัง จิตตกภวังค์ไปเฉยๆ ตามธรรมดาแห่งอุปาทินนกสังขาร ซึ่งจะมีการพักผ่อนหลับนอนไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

อนึ่ง ถีนะกิเลสตัวนี้ จะเกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นสสังขาริก คือในขณะที่จิตจับอารมณ์ไม่เข้มแข็ง เช่น ในขณะที่ง่วงจวนจะหลับหรือในขณะที่ตื่นนอน แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นเวลาหลับ เพราะในเวลาหลับนั้น จิตเป็นภวังค์ ซึ่งถีนะกิเลสไม่สามารถเกิดขึ้นร่วมได้ คือขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจไว้ว่า เวลาเรานอนหลับนั้น ไม่ใช่ว่าถูกถีนะกิเลสเข้าครอบงำ

เวลาเรานอนหลับนั้น จิตของเราลงสู่ภวังค์ จิตเป็นภวังค์ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ ถีนะกิเลสเกิดร่วมไม่ได้ ถีนะกิเลสนี้จะเกิดร่วมได้ตอนเราง่วง หรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ หรือว่าเรารับประทานอาหาร ฉันอาหารอิ่มใหม่ๆ เราไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ ขณะนั้นถีนะกิเลสเกิดร่วมได้

๘. อหิริกะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ไม่ละอายต่ออกุศลทุจริต ย่อมเป็นที่รังเกียจแห่งบัณฑิตทั้งหลาย ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีกล่าวไว้ว่า ก้อนเหล็กที่เปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ คนที่ฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเป็นของที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน ฉันใด อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะถูกต้อง เพราะมีใจหยั่งลงสู่ลัชชีธรรม คือความละอายแก่ใจในการที่จะแตะต้องอกุศลทุจริตอันเป็นบาปเป็นความชั่วนั้น

ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำ ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยปราศจากความละอาย อันเป็นอลัชชีธรรม คือสภาพที่ไม่ละอาย ไม่รังเกียจในอกุศลทุจริต นี้เรียกว่าอหิริกะ ซึ่งพระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะละได้เด็ดขาด

ที่ว่าพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะสามารถละอหิริกะนี้ได้หมดสิ้นนั้น ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็ยังมีความพอใจในการประพฤติทุจริตอีกอยู่หรือ

แก้ว่า พระเสขบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น มิได้มีความพอใจในอกุศลทุจริตเหมือนปุถุชน แท้ที่จริงแล้ว โดยอำนาจอริยมรรคที่เกิดขึ้น ท่านได้กำจัดกิเลสนี้เป็นขั้นๆมาแล้ว คือ พระโสดาบัน สามารถประหารอหิริกะกิเลสในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือกิเลสที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้แล้ว

ส่วนพระสกทาคามีและพระอนาคามี แม้ยังไม่สามารถประหารอหิริกะกิเลสอันเป็นส่วนละเอียดสุขุมได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เบาบางลงจากขันธสันดานได้เป็นอันมาก ส่วนพระอรหันต์ ย่อมสามารถกวาดล้างอหิริกะกิเลสนี้ไม่ให้เหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย

๙. อโนตตัปปะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริต ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องได้รับความทุกข์ในวัฏสงสาร ขึ้นชื่อว่าอกุศลทุจริตนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมมีความเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ให้ผลเป็นทุกข์แก่ผู้ประพฤติเป็นอย่างมาก

ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถาท่านกล่าวว่า ก้อนเหล็กแดงที่ถูกไฟเผาลุกโชน คนฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเกรงกลัวความร้อนที่ก้อนเหล็กแดงนั้น ซึ่งถ้าแตะต้องย่อมได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะมีปัญญาหยั่งทราบด้วยดีว่า อกุศลทุจริตนี้ มีแต่จะให้ทุกข์ให้โทษอย่างเดียว มิให้คุณเลย

ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำจิต ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยไม่มีความเกรงกลัวเลย สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริตนี้ ชื่อว่า อโนตตัปปะ ซึ่งพระอรหันต์บุคคลเท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนพระเสขบุคคลคือพระโสดาบัน สามารถประหารอโนตตัปปะที่เป็นอปายคามินีนำพาไปสู่อบายภูมิได้ พระสกทาคามี แม้ว่า อโนตตัปปะ ส่วนที่สุขุมละเอียดจะมีอยู่ในขันธสันดาน แต่ก็เบาลงมากแล้ว ส่วนพระอรหันต์สามารถประหารได้โดยไม่มีเหลือ

๑๐. โมหะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่มืดมน ปิดบังปัญญามิให้เห็นจตุราริยสัจธรรม คืออริยสัจ ๔

โมหะกิเลสก็คืออวิชชาความไม่รู้นั่นเอง

ถามว่า ไม่รู้อะไร

ตอบว่า ไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ ๑) ไม่รู้ทุกข์ ๒) ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ๓) ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ๔) ไม่รู้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์

โมหะกิเลสนี้ พระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดกวาดล้างให้หมดไปจากขันธสันดานได้โดยเด็ดขาด

ในกรณีนี้ ถ้าจะมีปัญหาถามว่า อวิชชาคือความไม่รู้จตุราริยสัจนี้ เหตุใดจึงมีเหลืออยู่จนต้องให้พระอรหัตตมรรคประหารอีก ในเมื่ออริยมรรคเบื้องต่ำคือโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ ก็เห็นจตุราริยสัจทำลายกิเลสได้ทุกครั้งไปอยู่แล้ว

วิสัชนาว่า ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอริยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ เมื่อเกิดขึ้น ทำให้เห็นจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ก็จริง แต่ว่าบรรดามรรคเหล่านั้น มีสภาพธรรมเป็นวิชชูปมาธรรม (คือธรรมที่อุปมาเหมือนฟ้าแลบ) ส่วนอริยมรรคขั้นสูงสุดคืออรหัตตมรรคนั้น เมื่ออุบัติขึ้นย่อมจะทำให้เห็นอริยสัจกำจัดอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด เพราะว่าอรหัตตมรรคนี้ มีสภาพเป็น วชิรูปมาธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว โมหะก็ถูกประหารเป็นสมุจเฉทไป

อุปมาว่า ธรรมดาสายฟ้าที่ฟาดหรือผ่าลงมานั้น ย่อมมีกำลังกล้ายิ่งนัก เมื่อผ่าลงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นย่อมแตกทำลายไป อุปมาข้อนี้ฉันใด อรหัตตมรรคเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กิเลสตัวหนึ่งตัวใดที่ไม่ถูกทำลายนั้นเป็นอันไม่มี กิเลสทั้งหลายที่อริยมรรคอื่นๆทำลายไม่ได้จะต้องถูกทำลายไปด้วยอรหัตตมรรคให้หมดไปสิ้นไป ฉันนั้น

อรหัตตมรรคนี้เป็น วชิรูปมาธรรม คือเปรียบเหมือนฟ้าผ่า การบรรลุอรหัตตมรรค หรือว่าอรหัตตมรรคเกิดขึ้นมาแล้วย่อมจะสามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ ให้หมดไปจากขันธสันดาน

กิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หากว่ามรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ ทำลายแล้ว แต่ว่ายังดับไม่สนิท ความร้อนของกิเลสเหล่านี้ยังมีอยู่ ก็จะถูกอรหัตตมรรคที่เกิดขึ้นทำลายให้หมดสิ้นไป เหมือนกันกับสายฟ้าที่ฟาดลงมาบนต้นไม้หรือโคตรเพชรโคตรเหล็กก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะแข็งสักปานใด ก็จะต้องแหลกลาญเป็นจุณวิจุณไป และไม่มีวันที่จะกลับเกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด กิเลสที่ถูกอรหัตตมรรคทำลายได้แล้ว ก็จะหมดไปสูญไป ไม่มีวันเกิดขึ้นอีก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น อรหัตตมรรคนั้น ท่านจึงอุปมาเป็นคำจำกัดความว่า วชิรูปมาธรรม คือธรรมที่เปรียบเหมือนฟ้าผ่า

สรุป กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส พระโสดาบันละได้เด็ดขาด สำหรับโทสะกิเลส โลภะกิเลส มานะกิเลส อุทธัจจะกิเลส ถีนะกิเลส อหิริกะกิเลส อโนตตัปปะกิเลส และโมหะกิเลสนั้น ในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานนั้น พระโสดาบันละได้แล้ว ไม่สามารถที่จะพาให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

ส่วนพระสกทาคามี ทำกิเลสที่เหลืออยู่จากที่พระโสดาบันละได้แล้วให้เบาบางลง พระอนาคามีละโลภะส่วนที่เป็นกามราคะและละโทสะได้ ส่วนพระอรหันต์ละกิเลสที่ยังเหลืออยู่ได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกประการ

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หนทางที่เราท่านทั้งหลายจะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานก็มีอยู่หนทางเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น เมื่อใดเรายังไม่สามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ตัวใดตัวหนึ่งให้ดับไปสิ้นไปสูญไป โอกาสที่จะไปเกิดในอบายภูมิก็ยังมี

เราเป็นพระแล้ว มิใช่ว่าเราจะปิดประตูอบายภูมิได้ เป็นพระก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน เป็นสามเณร ปะขาว แม่ชี ก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นพระเป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชีนี้ ยิ่งมีโอกาสที่จะไปตกนรกได้เร็วกว่าโยมเขา

เพราะเหตุใด

เพราะว่า ชีวิตของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น และนอกจากนี้ ข้อวัตรปฏิบัติของเรามีมากกว่าโยม ธรรมดาเมื่อเราทำผิดศีลของเรา ก็มีโอกาสที่จะไปสู่อบายภูมิได้

ทีนี้ เมื่อใดเราผ่านมัคคญาณผลญาณได้ครั้งหนึ่ง ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตัวอย่างนายตัมพทาฐิกะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

นายตัมพทาฐิกะนั้นเป็นผู้มีร่างกายกำยำ มีเคราแดง มีตาเหลือกเหลือง เป็นคนที่น่าเกรงกลัวที่สุด เขาคิดอยากจะเป็นโจร จึงได้ไปขออาศัยอยู่ในสำนักของพวกโจร แต่หัวหน้าโจรดูลักษณะของเขาแล้วคิดว่า บุรุษคนนี้มีจิตใจกล้าแข็งยิ่งนัก เขาสามารถที่จะเชือดนมมารดาหรือสามารถจะเชือดเอาเลือดจากลำคอของบิดามาดื่มกินได้ จึงไม่รับเขาไว้

แต่นายตัมพทาฐิกะนั้นไม่ยอมกลับ ไปอาศัยอยู่กับบริวารของโจร พยายามทำความดีทุกสิ่งทุกประการ จนบริวารโจรคนนั้นเชื่อใจไว้ใจแล้วก็พาเขาไปหาหัวหน้าโจร บอกว่าบุรุษคนนี้เป็นคนดี ไม่เกียจคร้าน สามารถทำงานได้ทุกอย่าง หนักเอาเบาสู้ ซื่อสัตย์สุจริต ควรที่จะรับเขาไว้ ผลสุดท้ายหัวหน้าโจรก็ใจอ่อนรับนายตัมพทาฐิกะนั้นไว้

ก็เป็นธรรมดาของโจรย่อมไม่อยู่เฉยๆ พวกโจรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน ๕๐๐ ก็พากันออกเที่ยวปล้นตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระราชา พระองค์จึงตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่พร้อมทั้งประชาชนออกตามล่าโจร จนสามารถจับโจรมาได้ทั้ง ๕๐๐ เมื่อนำมาแล้ว ศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิตโจรทั้ง ๕๐๐ นั้นด้วยการตัดคอ ครั้งนั้น ในพระนครนั้นไม่มีใครสามารถที่จะกล้าตัดคอโจรเหล่านั้นได้ จึงไปถามหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะว่าเคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ได้อยู่กันมานาน

คนทั้งหลายจึงถามไปตามลำดับ แต่ไม่มีใครยอมทำ จนกระทั่งถามมาถึงนายตัมพทาฐิกะว่า ท่านสามารถที่จะฆ่าโจรเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านยอมฆ่า พวกเราจะไว้ชีวิตท่าน เขาก็ตอบรับว่า ข้าพเจ้าสามารถ ชนทั้งหลายจึงมอบดาบให้แก่เขา เขาได้ดาบแล้วก็ตัดคอโจรไปทีละคนๆ ขาดไป โดยไม่มีความสะทกสะท้าน จนหมดทั้ง ๔๙๙ คน

ผลสุดท้าย พวกคนก็พากันให้ความยกย่องนับถือ แล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเพชฌฆาต หลังจากนั้นมา เมื่อจับโจรได้ ศาลสั่งประหารชีวิต ก็นำมาให้เขาฆ่าคราวละ ๒๐๐ บ้าง ๓๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง คราวละ ๒-๓ คนบ้าง

ตั้งแต่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เป็นเวลา ๕๕ ปี ได้ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อชีวิตของเขาย่างเข้าสู่วัยชรา ก็ไม่อาจที่จะตัดคอโจรทีเดียวให้ขาดไปได้ ต้องตัด ๒-๓ ที ทำให้นักโทษต้องได้รับความลำบากมากทรมานมาก ชนทั้งหลายจึงได้ถอดเขาออกจากตำแหน่ง

ในระหว่างที่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เขาไม่ได้ทำกิจ ๔ อย่างนี้เลย คือ การนุ่งผ้าใหม่ การดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ การประดับดอกมะลิ การทาด้วยของหอม ในวันที่เขาออกจากตำแหน่งนั้น ชนทั้งหลายได้ทำกิจ ๔ อย่างนั้นแก่เขา

ในเช้าวันนั้น เขาจึงลงไปอาบน้ำชำระร่างกาย นุ่งผ้าใหม่ ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ทาน้ำหอม แล้วก็เตรียมตัวที่จะบริโภคข้าวยาคูเจือน้ำนมปรุงด้วยเนยใสใหม่ของตน

ในเช้าวันนั้นเอง พระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติแล้วได้พิจารณาว่า ใครจะเป็นผู้มีศรัทธา จะเป็นผู้ได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ ก็พิจารณาเห็นว่า นายตัมพทาฐิกะเป็นผู้มีศรัทธา เขาจะได้บรรลุคุณธรรมอันใหญ่หลวง เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงนุ่งสบงทรงจีวรถือบาตรมาสู่บ้านของนายตัมพทาฐิกะ ยืนอยู่ที่ประตูบ้าน

ขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะกำลังจะบริโภคยาคูนั้น พอดีเหลือบมาเห็นท่านพระสารีบุตรเข้า เกิดความปีติดีใจว่า เราเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เราไม่เคยทำบุญทำทานเลยสักครั้งเดียว เราพ้นจากตำแหน่งวันนี้ ชนทั้งหลายทำกิจ ๔ อย่างแก่เราวันนี้ และพระเถระเจ้าก็มาโปรดเราในวันนี้ บัดนี้ ไทยธรรมของเราก็มีอยู่

เมื่อเขาคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงนิมนต์พระสารีบุตรเถระขึ้นไปบนบ้าน เมื่อท่านนั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอาข้าวยาคูมาใส่ลงในบาตร นิมนต์ให้ท่านฉัน ส่วนตนเองนั่งพัดให้พระเถระ กลิ่นของข้าวยาคูทำให้เขากระวนกระวาย เพราะไม่เคยได้ลิ้มรสมานาน พระเถระทราบอัธยาศัยจึงบอกให้เขาไปทานข้าวยาคูของเขา เมื่อเขาทานข้าวยาคูเสร็จก็มาพัดพระเถระต่อ

เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นายตัมพทาฐิกะ แต่เขาไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ เกิดความฟุ้งซ่านคิดมาก นึกถึงแต่บาปกรรมที่ตนได้ทำไว้

พระเถระทราบวาระจิตจึงได้กล่าวขึ้นว่า อุบาสก เหตุใดท่านจึงไม่สามารถส่งใจไปตามธรรมเทศนาได้ ท่านขอรับ ผมเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อผมฟังเทศน์อยู่ ภาพคนที่ผมฆ่าก็มาปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระผมจึงไม่สามารถจะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้

ท่านพระมหาเถระเป็นผู้ฉลาดจึงคิดว่า เราจะใช้กุศโลบายสอนบุรุษนี้ แล้วจึงถามนายตัมพทาฐิกะว่า อุบาสก เวลาอุบาสกฆ่าคน อุบาสกฆ่าเองหรือว่าผู้อื่นสั่งให้ฆ่า นายตัมพทาฐิกะจึงตอบว่า ผมไม่ได้ฆ่าเอง ผู้อื่นสั่งให้ฆ่า ก็เมื่ออุบาสกไม่ได้ฆ่าเอง บาปนั้นก็ไม่ตกอยู่ที่อุบาสก

เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้ นายตัมพทาฐิกะจึงมีความสำคัญว่าตนเองไม่มีบาป เกิดความอิ่มใจ รื่นเริงใจ พระเถระก็แสดงธรรมต่อ เขาส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบ ลากลับ เขาจึงตามส่งพระเถระหน่อยหนึ่ง กลับมาตามหนทาง ถูกนางยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรในปางก่อนแปลงร่างเป็นแม่โคกระโดดขวิดตายไป

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า นายตัมพทาฐิกะนี้ เขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน ในวันที่เขาพ้นจากตำแหน่ง ชาวบ้านได้ทำกิจ ๔ อย่างแก่เขา เขาได้ทำบุญแก่พระสารีบุตรในวันนั้น และในวันนั้นเองเขาก็สิ้นชีวิต เมื่อเขาตายแล้ว เขาจะไปเกิดที่ไหนหนอ

องค์พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันเรื่องของนายตัมพทาฐิกะว่า เขาตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหนหนอ พระองค์จึงทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปบังเกิดแล้วในดุสิตบุรี เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงว่า เป็นไปได้อย่างไรกัน หรือว่าผลของบาปไม่มี
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.110 Chrome 58.0.3029.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #37 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2560 11:43:28 »


การประหารกิเลส ๑๐ ประการ (ต่อ)

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรเลย จึงได้ทำบาปมีประมาณเท่านี้ แต่บัดนี้ บุตรของเราได้กัลยาณมิตร ได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถวายทานแก่ท่าน ได้ฟังเทศน์ของท่าน ยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เหตุนั้น เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราคิดดูซิว่า ฆ่าคนเพียงคนเดียว หรือเราฆ่าตัวเราเองชีวิตเดียวเท่านั้น เราก็จะต้องไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว นี่นายตัมพทาฐิกะฆ่าคนตั้งสองพันกว่าคน ทำไมจึงไม่ต้องตกอเวจี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงกระแสพระนิพพานแม้เพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็ถือว่ามีพระนิพพานเป็นที่ไปเป็นที่ถึงเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปย่อมไม่จมไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

อุปมาเหมือนกันกับเรายืนอยู่บนสะพานสูงๆ เราจะทิ้งก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ลงไปในแม่น้ำ แต่ในแม่น้ำนั้นมีเรือเป็นเครื่องรองรับอยู่ เราทิ้งลงไปก็ค้างอยู่บนเรือ ไม่จมไปในน้ำ ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว ก็แสดงว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ ตายแล้วก็ไม่มีจมไปสู่อบายภูมิ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในคราวนี้ ถือว่าท่านทั้งหลายมีบุญล้นฟ้าล้นดิน การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในหน้าพรรษานี้ หากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทั้งหลายต้องได้บรรลุธรรมวิเศษ อย่างน้อยที่สุดต้องได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

สามเดือนนี้มีโอกาสมีเวลาที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการจริงๆ เว้นไว้แต่ท่านทั้งหลายจะประมาท ไม่เอาเถ้าเอาถ่าน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ ปฏิบัติแบบให้วันและคืนผ่านไป ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อก็ยังคิดว่า ท่านทั้งหลายคงมีวิริยะอุตสาหะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะมีความเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวกระหาย หรือเบื่อหน่ายกลุ้มใจอย่างไร ก็คงเอาชนะได้ เมื่อใดท่านทั้งหลายสามารถเอาชนะได้ อริยมรรคอริยผลที่ท่านต้องการหรือปรารถนาก็คงจะเป็นสมบัติของท่านอย่างไม่ต้องสงสัย.


พระราชปริยัตยากร


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 59.0.3071.115 Chrome 59.0.3071.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #38 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2560 16:54:10 »




นิวรณ์ ๕ ประการ

ณ โอกาสบัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ธรรมะที่จะนำมาบรรยายในวันนี้ ได้แก่ เรื่องนิวรณ์ ๕ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม ไม่สำเร็จตามความประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง หรือมีอันตรายเกิดขึ้น ฉันใด การเจริญพระกัมมัฏฐานของเราไม่สำเร็จสมประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรค หรืออันตรายเข้ามาขัดขวาง ฉันนั้น

ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาเรื่อง นิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งเป็นมหาภัยอันยิ่งใหญ่ ในการขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราท่านทั้งหลาย ไม่ให้ดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรค อริยผล

นิวรณ์ธรรม นี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผลไม่ให้เข้าถึงตัวเรา

หมายความว่า นิวรณ์ธรรม นี้ เป็นธรรมที่กั้นความดีไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา หรือว่ากั้นจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี

อุปมาเหมือนกันกับแผ่นกระดาษหรือพลาสติก หรือน้ำยากั้นกระแสไฟฟ้าไม่ให้ช็อตกัน ข้อนี้ฉันใด นิวรณ์นี้ก็เป็นบาปหรือกิเลสกั้นบุญไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา เช่น เวลาที่พวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็กั้นศีล กั้นสมาธิ กั้นปัญญา กั้นพระไตรลักษณ์ กั้นอริยมรรคอริยผล กั้นพระนิพพานไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นแก่เรา หรือว่ากั้นจิตกั้นใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา พระไตรลักษณ์ อริยมรรค อริยผล นิพพาน

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ

๑. กามฉันทะนิวรณ์ ได้แก่ ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา เช่น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าชอบใจ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในความสุข ในความสบาย ในความเฉย หรือพอใจในความคิดของตัวเอง

พอใจในการทำงาน พอใจในการพูดการคุยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ พอใจในการเล่น ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เช่น เรานั่งไป เห็นแม่น้ำ เห็นภูเขา เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพรหม เห็นพ่อแม่ ซึ่งได้ล่วงลับจากเราไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็มีความใคร่ความพอใจในนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เรา

ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในแสงสว่างที่เกิดขึ้น ในเวลาปฏิบัติ มีความใคร่ความพอใจในปีติ ในปัสสัทธิ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในสติ ในญาณะคือ ความรู้ ในอุเบกขาความเฉย

หรือมีราคะดำกฤษณา กำหนัดกล้า เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมพินาศอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยถูกตัดรอน คือเอาสติไปกำหนดจิตที่ถูกกามฉันทะเข้าครอบงำ ก็จะเกิดความดิ้นรน เหมือนสุนัขบ้าที่เต็มไปด้วยความดุร้าย ทำให้จิตใจใฝ่ฝันหาแต่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ดีๆ นึกถึงแต่รสกามคุณที่เคยสัมผัส จนเป็นเหตุทำอะไรนอกรีตนอกรอยของธรรมวินัย

ขาดหิริความละอายใจตัวเอง ขาดโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อผลของบาป ขาดการยั้งคิด ขาดความเข้มแข็ง จิตใจอ่อนแอ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของราคะดำกฤษณา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ลงไปแล้วจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุด เพราะว่าผู้ที่ยินดีในกามคุณหรือบริโภคกามคุณ ก็อุปมาเหมือนกันกับสุนัขที่แทะกระดูกซึ่งไม่มีเนื้อ ตนเองนึกว่าเอร็ดอร่อย แต่ที่ไหนได้ต้องกลืนกินน้ำลายตัวเอง ข้อนี้ฉันใด ผู้บริโภคกามคุณ ซึ่งนึกว่ามีความเอร็ดอร่อย ในรสอันเลอเลิศ ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

๒. พยาปาทะนิวรณ์ ความปองร้าย เช่น นึกถึงคนที่เคยล่วงเกินขึ้นมา ก็เกิดความโกรธ เกิดความแค้นใจ ผูกใจเจ็บ คิดจะแก้แค้นขึ้นมา

ตลอดถึง ไม่พอใจในผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่พอใจในการเดินจงกรมของเพื่อน ซึ่งบางท่านอาจเดินไปพูดไปคุยไป หรือบางครั้งก็ไม่พอใจในการพูด การจาม การไอ การเข้าห้องน้ำ การสรงน้ำ ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวน หรือไม่พอใจในการฉันอาหารของเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน

หรือไม่พอใจในผู้เทศน์ผู้สอน ผู้สอบอารมณ์ ไม่พอใจในการบรรยายธรรมะ ตลอดถึงไม่พอใจในสถานที่อยู่ ไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี

และไม่พอใจในความเจ็บปวด ความคิดที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง คือไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทำให้ใจหงุดหงิดโกรธง่าย เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมอยู่เป็นนิจ ดุจดังว่าอาวุธที่เสียบแทงดวงใจอยู่ ให้ปวดร้าวแสนสาหัส ฉะนั้น

๓. ถีนมิทธะนิวรณ์ คือความหดหู่ท้อถอย กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง หรือจิตจับอารมณ์ไม่มั่น ทำให้เวลาเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี ทำให้สติสัมปชัญญะหย่อน

ผู้ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำนี้ ไม่เพียงแต่จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิเท่านั้นที่กำหนดไม่ได้ดี แม้ว่าในขณะที่ฟังบรรยายธรรมะ หรือเทศน์หรือสอนก็ดีก็หลงๆ ลืมๆ จับต้นชนปลาย จับหลังใส่หน้า จับหน้าใส่หลัง ไม่รู้ว่าอะไรเริ่มต้น ท่ามกลาง และสิ้นสุด คือฟังไม่รู้เรื่อง

หรือว่าประกอบการงานอย่างอื่นเช่นว่า แม่ครัวทำครัวก็ทำไม่ได้ดี บางทีไฟไหม้หม้อข้าวก็มี บางทีลืมไปเอาอย่างโน้นมาประกอบอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็เสียไป สำหรับผู้ทำการงานบางอย่าง เช่นขับรถ หากว่าถีนมิทธะเข้าครอบงำ บางครั้งทำให้หลับในได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดอันตรายขึ้นแก่ตนได้ทุกขณะ

ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำลายล้างสติไม่ให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันรูปนาม มันซึมอยู่เนืองๆ ดุจฝุ่นที่ฟุ้งขจรไปปิดกั้นทางสัญจร ไม่ให้คนเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่เห็นทาง ฉะนั้น

๔. อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ความร้อนใจเมื่อนึกถึงบาปกรรมอันตนเคยทำมาแล้ว

ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้ว มิใช่ว่าจะทำแต่คุณงามความดีอย่างเดียว คิดดี ทำดี พูดดี อย่างเดียวหามิได้ ทุกรูปทุกนามเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งก็อาจทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้น การทำดี พูดดี คิดดีก็ตาม การคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วก็ตาม เวลามาเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จะเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา

โดยเฉพาะนึกถึงบาปกรรมที่ตนเคยทำมาแล้ว และบุญไม่ได้ทำ หรือทำเพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนใจ เพราะนึกถึงแต่บาปกรรมที่ตนเคยทำไว้ และเป็นเหตุให้เกิดคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งเรื่องในอดีต ทั้งเรื่องในอนาคต วุ่นวาย ทับถมจิตใจ ทำให้เหินห่างต่อการที่จะกำหนดรู้ในปัจจุบันธรรม ดุจดังในวสันตฤดู หมู่เมฆจากทิศานุทิศปิดบังสุริยแสงให้มืดครึ้ม อีกฝนฟ้าก็คะนอง เป็นอุปสรรคต่อบุรุษผู้ต้องการเดินทาง ฉะนั้น

เมื่อใด อุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำจิตใจของเราอยู่ เมื่อนั้น แม้ว่าเราจะฟังธรรม สาธยายธรรม หรือว่าเราจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถบรรลุสามัญผลตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ (เรื่องมีเล่าไว้แล้วในเรื่อง การประหารกิเลส ๑๐ ประการ)

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราลองนึกดูซิว่า(คนที่เคย) ฆ่าคนตั้ง ๒ พันกว่าคน แทนที่ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ แต่นี่นายตัมพทาฐิกะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่เป็นมรรคครั้งแรกเท่านั้น ก็ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายไปแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในวันข้างหน้า

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หนทางที่เราจะปฏิบัติไม่ให้บาปกรรมทั้งหลายที่เราทำไว้ติดตามทัน มีหนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งนี้ นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะ นี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้จิตใจของเราเกิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมได้ เมื่อใดเราข่มอุทธัจจกุกกุจจะลงได้ จิตใจของเราเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความสงบสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เหมือนกับนายตัมพทาฐิกะ

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัย เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม ใครไปเห็นมา นรกสวรรค์มีจริงไหม ไม่เห็นว่าจะน่าเชื่อที่ตรงไหน คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดจริง ไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ บาปบุญนรกสวรรค์ พระนิพพานมีจริงไหม การบวชได้บุญจริงหรือ เราสึกดีกว่า เพราะเราไม่ได้บวชเอาบุญ เราบวชตามประเพณีต่างหาก

ตลอดทั้ง สงสัยในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ นั่งกำหนดไปเห็นนิมิตเกิดขึ้นมา เช่น เห็นแม่น้ำ เห็นป่าไม้ภูเขา ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น ก็เกิดความสงสัยเอะใจขึ้นว่านี่อะไรกัน ก็เป็นตัววิจิกิจฉาความสงสัยแล้ว

เมื่อเอะใจขึ้นมา สมาธิของเราก็ตก เมื่อสมาธิตก การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น ตัววิจิกิจฉานี้ จึงเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเจริญขึ้นได้ มีความกังขาสงสัยอยู่ในใจเสมอว่า รูปนามเป็นอย่างไรหนอ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานนั้น เป็นอย่างไร ดุจบุรุษผู้เดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง ทั้งไม่ทราบว่าจะไปตรงไหนจึงจะถูกต้อง ได้แต่นั่งรำพึงอยู่ว่า ทางไหนหนอๆ สิ้นกาลนานฉะนั้น

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นสิ่งที่กั้นกระแสจิตของเรา ไม่ให้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา ดังนั้น นิวรณ์นี้จึงเป็นภัยใหญ่อันสำคัญ ที่ขัดขวางหรือกั้นกาง ไม่ให้บรรลุปฏิเวธธรรม

เมื่อนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย รีบกำหนดทันที เมื่อใดเรากำหนดได้ นิวรณ์ ๕ นี้สงบลง เราก็สามารถที่จะได้ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมมา

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง นิวรณ์ ๕ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 59.0.3071.115 Chrome 59.0.3071.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #39 เมื่อ: 31 กรกฎาคม 2560 15:50:19 »




มาร ๕ ประการ

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง มาร ๕ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

มาร ๕ ประการ นี้ ถือว่าเป็นมหาภัยกั้นกาง หรือขัดขวางการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ของท่านทั้งหลาย ไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

คำว่า มาร ได้แก่ สิ่งที่มุ่งร้าย เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง หรือขัดขวางการกระทำความดี ในที่นี้ หมายเอาสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ไม่ให้บรรลุผล หรือได้ผลน้อย ได้ผลไม่คุ้มค่า

มาร ๕ ประการ นั้นคือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร มีอธิบายดังนี้

มารตัวที่ ๑ คือตัวหลอกลวง ได้แก่ กิเลสมาร มารคือกิเลส มารคือกิเลสนี้ เป็นมารที่มาขัดขวางความดีทุกอย่างไม่ให้เกิดขึ้น เป็นมารที่ทำจิตใจให้เศร้าหมอง เป็นสภาวะที่ลามก หมักดองอยู่ในขันธสันดาน กิเลสมารนี้ มีมากถึงพันห้าร้อย แต่จะยกมาประกอบการบรรยายสัก ๑๐ ประการ เรียกว่ากิเลส ๑๐ คือ

๑) โลภะ อยากได้ในอารมณ์ ๖ คืออยากได้รูปที่สวยๆ อยากฟังเสียงที่ดีๆ อยากได้กลิ่นที่ดีๆ อยากได้รสที่เอร็ดอร่อยที่ดีๆ อยากได้สัมผัสที่ดีๆ อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดีๆ สรุปแล้วว่า อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าชอบ น่าปรารถนา น่าพอใจนั่นเอง

ตัว โลภะ นี้ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความอยากได้อย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เช่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็อยากให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น อยากให้สมาธิเกิดขึ้น อยากให้โอภาสคือแสงสว่างเกิดขึ้น อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งจากโลกนี้ไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เป็นต้น หากว่าเกิดขึ้นกับคนธรรมดา ก็พาให้เป็นคนโกง ลักทรัพย์ ค้าของเถื่อน หาเลี้ยงชีพในทางทุจริต เป็นต้น

แต่โลภะนี่ ขอให้เข้าใจว่า โลภะในภาคปริยัติ กับ โลภะในภาคปฏิบัตินี้ ไม่เหมือนกัน ถ้าโลภะในภาคปริยัติ หมายเอาการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต และก็หาเอาในทางทุจริต เช่น ลักขโมยเอาบ้าง ปล้นเอาบ้าง จี้เอาบ้าง ยักยอก หลอกลวงเอาบ้าง ถ้าเรามีความอยากได้ในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริตอย่างนี้ แม้จะได้มาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ก็ถือว่าเป็น โลภะ แล้ว แต่ถ้าอยากได้ในทางสุจริต แล้วก็หาเอาในทางสุจริต แม้จะได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท ก็ไม่ถือว่าเป็นโลภะ

ส่วนโลภะในด้านปฏิบัติแล้วเอาละเอียดกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาปฏิบัติ ถ้ามีความชอบใจ ก็เป็น โลภะ แล้ว ไม่ชอบใจจัดเป็นโทสะ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้กำหนด ก็จัดเป็นโมหะ อันตัวโลภะ โทสะ โมหะ ในด้านปฏิบัตินี้ เราเอาละเอียดกว่าด้านปริยัติ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี

การบรรยายธรรมะ การเทศน์ หรือการสอนธรรมะ เราอย่าเอาปริยัติกับปฏิบัติไปผสมกัน แล้วก็จะทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา เพราะว่าธรรมะในด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ หมายเอาละเอียดกว่ากันดังกล่าวมาแล้ว

๒) โทสะ ความโกรธ ทำให้ใจเศร้าหมอง หงุดหงิด โกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยเกิดขึ้น ก็โกรธ ก็ขัดใจ ทำตัวเป็นศัตรู แห้งผากใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ร้อนใจเหมือนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา หากเกิดกับคนธรรมดาสามัญ ก็ทำให้ด่ากัน ฆ่ากัน วางเพลิง จุดบ้าน เผาเรือนกัน เป็นต้น

๓) โมหะ ความหลง ไม่รู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะไม่รู้อริยสัจ ๔ คือไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้ประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ทำให้เป็นคนหัวดื้อ ขี้เมา ฉุดคร่าอนาจาร บ้ากาม ประมาท เกียจคร้าน เป็นต้น

คนทั้งหลาย ที่ติดอยู่ในของเสพติดมีประการต่างๆ เช่น ติดอยู่ในหมากพลู กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล้า ผงขาว ดมกาว อะไรนานัปการ จนหลงติดอยู่กับอบายมุข ๖ ประการ มีการพนัน เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจของโมหะทั้งนั้น เพราะว่า โมหะ ทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ว่าเป็นของดี และก็เป็นเหตุให้หลวมตัวเข้าไป ผลสุดท้ายก็ต้องเสียผู้เสียคน เสียคุณงามความดี อันจะพึงได้พึงถึง เสียอนาคตของตัวเอง เหตุนั้น โมหะนี้ ก็จึงถือว่าเป็นตัวหลอกลวงตัวหนึ่ง

๔) อหิริกะ ความไม่ละอายบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป สามารถทำความชั่วได้ ไม่ละอายทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๕) อโนตตัปปะ ความไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป ถือว่าชาตินี้ตัวเป็นสุขก็พอ คนอื่นจะเดือดร้อนเช่นไรก็ช่างเขา ขอแต่เราเป็นสุขในชาตินี้ก็พอแล้ว ชาติหน้าจะเป็นไส้เดือนกิ้งกือก็ช่างมัน อันนี้เป็นลักษณะของตัว อโนตตัปปะ

๖) ทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น เห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หามีคุณไม่ เป็นคนอกตัญญู เนรคุณแก่ท่านผู้มีพระคุณต่อเรา

๗) มานะ ความถือตัวว่าไม่เท่าเพื่อน ถือว่าดีกว่าเพื่อนบ้าง เลวกว่าเพื่อนบ้าง ทำให้เป็นคนหัวดื้อถือรั้น ว่ายากสอนยาก ชอบเอาแต่ใจตนเองเป็นต้น

๘) อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เช่น จิตคิดไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต

เวลาทำกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดได้ปัจจุบันธรรม คือไม่สามารถที่จะจับรูปนาม ให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเราไม่ได้ปัจจุบันธรรม พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนั้น พึงสังวรให้ดี เวลาอุทธัจจะเกิดขึ้น พยายามตั้งจิตตั้งใจให้ทันปัจจุบัน

๙) ถีนะ ความท้อถอยต่ออารมณ์ต่างๆ ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม จิตใจอ่อนแอ จับอารมณ์ไม่มั่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ทันปัจจุบัน ไม่สามารถกำหนดได้อย่างกระฉับกระเฉง มีแต่เซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา

๑๐) วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ใครไปเห็นมา พระธรรมที่ตรัสไว้เป็นจริงหรือ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริงหรือ ชาติหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ สวรรค์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงผู้ไปเกิดในสวรรค์ไม่เห็นมีใครมาบอก เป็นต้น

กิเลสมาร เป็นมารได้อย่างไร

เป็นมารได้อย่างนี้คือ เพราะว่ากิเลสมารนี้ เป็นสภาพทำลายล้างคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป และกีดกันขัดขวางคุณงามความดีคือบุญกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเวลาปฏิบัติธรรม ก็ทำลายล้างศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว มีขึ้นแล้วให้หมดไป และกีดกันศีล สมาธิ ปัญญาอริยมรรค อริยผลใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา

กิเลสแต่ละชนิดแต่ละตัวนั้น ล้วนแต่เป็นมารเป็นศัตรูทำลายล้าง และกีดกันคุณงามความดีทั้งนั้น ที่ร้ายที่สุดก็พวกตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า และพวกอภิชัปปา คือกิเลสกระซิบที่จิต ทำให้เราเข้าใจผิด และทำให้การปฏิบัติผิด เดินทางไม่ถูก ผลสุดท้าย ก็ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอริยผล

เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มีหนทางเดียวเท่านั้น คือต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระนิพพานแล้วนั่นแหละ จึงจะพ้นจากอำนาจของมารได้ ข้อนี้มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับกัปปะมาณพว่า

เรากล่าวว่า พระนิพพาน อันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะ นี้แหละ เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้พระนิพพานนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลย ดังนี้

มารตัวที่ ๒ คือ ตัวทวงสิทธิ์ ได้แก่ ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕

เพราะเหตุไรขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ เป็นสภาวธรรมที่ให้เกิดความลำบากอยู่เป็นนิจ บางครั้งก็ลำบากจนเหลืออดเหลือทน เดี๋ยวก็ปวดที่โน้น เดี๋ยวก็เจ็บที่นี้ เดี๋ยวก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หิวกระหาย อ่อนเพลีย เดี๋ยวก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะ โรคความดันสูง โรคประสาท เป็นต้น

มีเงินมีทองหามาบำรุงเยียวยาเท่าไรก็ไม่พอ หนักๆ เข้าก็คิดทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย ยิงตัวตาย แทงตัวตาย ผูกคอตาย กระโดดน้ำตาย กระโดดตึกตาย บางครั้งก็เอาน้ำมันราดเผาตัวเองตาย กินยาพิษตาย แล้วก็ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ยิ่งได้รับความทุกข์มากขึ้น

สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นทุกวันนี้ ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ว่า เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา หารู้ไม่ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นสภาวธรรมที่เบียดเบียนเรา ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ ไม่มีความสงสัย

ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกับบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดี ผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แต่มาคิดว่า คฤหบดีนี้เขารักษาตัวดีนัก เราจะฆ่าโดยพลการนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องฆ่าโดยอุบาย เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปขอเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านของคฤหบดี

คฤหบดีก็รับไว้ แต่หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนั้นเขาจะมาเพื่อฆ่าตน ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่ได้รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน จนคฤหบดีนั้นไว้เนื้อเชื่อใจทุกสิ่งทุกประการ เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจแล้วก็มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบหน้าที่การงานทุกอย่างให้ บุรุษนั้นก็สามารถทำงานโดยอิสระ เข้านอกออกในได้ตามความประสงค์

อยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่คฤหบดีนอนหลับอยู่ บุรุษนั้นได้นำดาบมา แล้วตัดคอคฤหบดีนั้นตายไป ท่านทั้งหลาย ในขณะที่บุรุษนั้นมาอยู่ด้วย คฤหบดีก็ดี คนทั้งหลายก็ดี ก็หารู้ได้ไม่ว่า บุรุษนี้เขามาเพื่อจะพยายามฆ่า ในขณะที่ใช้เขาอยู่ ก็ไม่รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน และในขณะที่เขาฆ่าคฤหบดีตายไปแล้ว คฤหบดีนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นผู้ฆ่า หรือคนในบ้านนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นคนฆ่า ข้อนี้ฉันใด

ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ก็เป็นสภาวธรรมที่ทำลายล้างและเบียดเบียน ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา ทำลายคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป คนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำความชั่วช้าลามกนานาประการ ก็เพราะว่าไม่รู้ความจริง หรือว่าไม่รู้ความเป็นไป ไม่รู้ธาตุแท้แก่นแท้ของขันธ์ ๕ ประการนี้ว่าเป็นอย่างไร เลยหลงยึดมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเรา อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้ทำความชั่วนานัปการ เมื่อตายแล้วก็ไปตกอบายภูมิ

ดังนั้น การไปตกนรก ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่คนไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ก็ดี ในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ เหตุนั้น เบญจขันธ์นี้จึงถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่ร้ายกาจที่สุด

เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของขันธมาร เราต้องปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเกิดปัญญา เกิดนิพพิทา เกิดวิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะพ้นได้

ดังมีพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระราธะว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่า มาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นของธรรมดา ชื่อว่า มาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย แล้วมารก็จะตามไม่ทัน ก็จะเป็นเหตุละขันธมารได้”

มารตัวที่ ๓ คือตัวอิทธิพล ได้แก่ อภิสังขารมาร มารคือบาป บาปในที่นี้ หมายถึงบาปที่เราเคยทำไว้ในอดีตตามสนองบ้าง และก็หมายเอาบาปที่เราทำไว้ในภพนี้ชาตินี้บ้าง บวกกันทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน

บาป จัดเป็นมารได้อย่างไร

บาปจัดเป็นมารได้ เพราะว่าบาปนี้ เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้สำเร็จ เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง คือเผาไหม้กุศลจิตให้เหี้ยมเกรียมไป ทำน้ำที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือบุญกุศลให้หมดไป ยกตัวอย่างผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ ประการ มี ปิตุฆาตฆ่าบิดา มาตุฆาตฆ่ามารดา อรหันตฆาตฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาททำลายพระพุทธเจ้าเพียงพระโลหิตห้อ สังฆเภททำลายสงฆ์ให้แตกกัน

เมื่อเราทำอนันตริยกรรม ๕ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราเป็นอภัพพบุคคล ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดีได้เลย แม้จะสำเร็จสมาบัติ ๘ ประการ อันนับว่าเป็นกุศลที่สูงสุดฝ่ายโลกิยะ แต่หากว่าได้ทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า สมาบัติทั้ง ๘ ประการนั้นก็เสื่อม

ตัวอย่าง พระเทวทัต เมื่อก่อนโน้นได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เมื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฌานและอภิญญาจิตก็เสื่อม เพราะเหตุไร เพราะจิตใจของผู้ทำอนันตริยกรรมนั้น ถูกกิเลสเผาไหม้จนเหี้ยมเกรียมไปหมดแล้ว อุปมาเหมือนกับไฟที่ไหม้ต้นไม้หรือท่อนไม้ให้เป็นถ่านเป็นเถ้าไป เมื่อไม้นั้นเป็นถ่านเป็นเถ้าไป ก็ไม่สามารถจะนำไม้นั้นมาใช้ประโยชน์ได้

อนึ่ง หากว่าเราทำบาปไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า เราล่วงเกินพ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ ให้ท่านต้องเจ็บใจ ต้องน้ำตาตกเพราะเราเป็นต้นเหตุ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงจัดเป็นอภิสังขารมาร คือ บาป นี้เป็นมารตัวร้ายกาจตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล

เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอภิสังขารมารได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น ต้องเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไป จนสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้วเท่านั้นแหละ มารจึงจะตามไม่ทัน

ดังพระพุทธพจน์ ที่ทรงตรัสแก่เมตตคูมาณพว่า ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดขึ้นมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนโง่เขลาไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้น เมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดให้มีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะทำการละอภิสังขารมารนี้ได้

มารตัวที่ ๔ คือตัวกลมารยา ได้แก่ เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร เทวบุตรนั้นมีอยู่ ๓ จำพวกคือ

๑) สมมติเทวบุตร ได้แก่ เป็นเทวบุตรโดยสมมติ เช่น พระราชา พระราชินี บิดา มารดา เป็นต้น

๒) อุปปัตติเทวบุตร ได้แก่ เทวบุตรโดยกำเนิด

๓) วิสุทธิเทวบุตร ได้แก่ ท่านผู้มีความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ คือผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

เทวบุตรมาร ในที่นี้หมายเอาจำเพาะประเภทที่ ๑ และที่ ๒ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ที่ปกครองบุตรธิดาหรือลูกศิษย์ลูกหาอย่างไม่ยุติธรรม ลำเอียงเพราะรักคนโน้นชังคนนี้เป็นต้น ทำอะไรขาดเหตุผล ขาดวิจารณญาณ คอยแต่จะให้ร้ายอยู่เสมอ ท่านจึงจัดว่าเป็น มาร

และประเภทที่ ๒ หมายเอา ผู้ที่เป็นเทวบุตรจริงๆ เช่น รุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอารักขเทวดาบ้าง หรือเป็นอากาสัฏฐเทวดาบ้าง แต่เป็นเทวดาที่เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เลื่อมใสในบุญกุศล ไม่เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อเห็นผู้หนึ่งผู้ใดบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือประพฤติปฏิบัติธรรม ก็หาทางกีดขวางนานัปการ แสดงตัวให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าพิลึกสะพรึงกลัว บางทีทำให้เหมือนสัตว์ร้าย เหมือนเปรต เหมือนอสุรกาย เหมือนภูตผีปีศาจ มาหลอกมาหลอนบ้าง มีเสียงข่มขู่ให้ตกใจกลัวบ้าง อันนี้ก็ถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่สุด ที่ทำลายล้างการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ให้เกิดขึ้น หากว่าผู้มีความกลัวเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้วยิ่งร้าย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปได้เลย

ทีนี้เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของเทวบุตรมาร ทำอย่างนี้คือ

๑) เจริญเมตตา แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญกุศลให้

๒) ใช้ความเพียรตั้งสติกำหนดให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่ก็จะหลีกไปเอง

ดังครั้งหนึ่ง พระศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กหญิงจำนวน ๕๐๐ ชาวบ้านพราหมณ์ปัญจสาละ ว่าควรแก่การที่จะบรรลุพระโสดาบัน เช้าขึ้นมาพระองค์ก็นุ่งสบง ทรงจีวร มีกรจับบาตร ลีลาศเข้าไปสู่หมู่บ้านพราหมณ์ปัญจสาละนั้นเพื่อบิณฑบาต และจะได้โปรดเด็กหญิงทั้ง ๕๐๐ นั้น

ในขณะที่พระองค์ทรงเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มารก็เข้าดลใจชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้เลื่อมใส ไม่ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านทั้งหลายลองนึกดูซิว่า มารนี้มีกำลังร้ายแรงขนาดไหน สมเด็จพระบรมครูของเรา เป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้ว มารยังกล้าเบียดเบียน ได้ดลจิตดลใจชาวบ้านให้เฉยอยู่ ไม่ทำความสำคัญในพระองค์เลย ราวกับว่าพระองค์เป็นคนธรรมดา

เมื่อพระองค์เสด็จบิณฑบาตจนทั่วหมู่บ้านแล้ว ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลย พระองค์ก็เสด็จออกจากบ้านนั้น ไปถึงประตูบ้านที่พวกเด็กหญิง ๕๐๐ คนกำลังเดินมาถึงประตูบ้านพอดี และในขณะนั้น พระยามารเห็นว่าพระองค์กำลังจะเสด็จออกจากบ้าน เลิกจากการบิณฑบาต ก็เข้าไปหาพระพุทธองค์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ไม่ได้บิณฑบาตหรือ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมาร ก็เธอทำชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้นึกถึงเราตถาคตผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ แล้วยังจะมีหน้ามากล่าวเช่นนี้อีกหรือ มารก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์จงเสด็จไปใหม่เถิด คราวนี้ชาวบ้านจักเลื่อมใส

พระองค์จึงได้ตรัสพระถาคาว่า ดูก่อนมาร เราผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขดีหนอ เราจะเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา เหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสร ฉะนั้น เวลาจบพระคาถา หญิงทั้ง ๕๐๐ คนซึ่งพากันนั่งฟังพระพุทธเจ้าสนทนากับพระยามาร ส่งกระแสจิตกระแสใจไปตามพระดำรัสของพระองค์ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้เราพ้นจากเทวบุตรมาร ก็มีดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

มารตัวที่ ๕ คือตัวล่าสังขาร ได้แก่ มัจจุมาร มารคือความตาย เพราะเหตุใดความตายจึงจัดว่าเป็นมารเพราะว่า ความตาย เป็นที่ตัดชีวิตเสียก่อนจะได้บำเพ็ญคุณงามความดีให้เต็มที่ เช่น จะก่อสร้างศาสนวัตถุให้สำเร็จ จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้สำเร็จ จะเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไปให้สำเร็จ ก็มาปลิดชีวิตไปเสีย

อีกอย่างหนึ่ง ความตาย ที่จัดว่าเป็นมาร เพราะคนเรามีความกลัวตาย ไม่กล้าทำความดี ไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวตาย เช่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย หิวกระหาย ขี้เกียจ กลุ้มใจ ลำบากสักหน่อย ก็เลิกปฏิบัติ หยุดปฏิบัติ เพราะกลัวตาย

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องตายเสียก่อนตาย จึงจะสำเร็จ คือตายเสียก่อนที่มัจจุราชจะมาปลิดชีวิตของเรา เราไม่ยอมให้มัจจุราชฆ่าเราตาย แต่เราตายของเราเอง เรียกว่าตายอย่างพระอริยเจ้า เมื่อการปฏิบัติธรรมต้องตายเสียก่อนตายอย่างนี้

ทีนี้ เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของมัจจุราช การที่จะพ้นจากอำนาจของมัจจุราชนั้น ต้องปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธองค์ตรัสพระพุทธพจน์แก่โมฆราชมาณพว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจะไม่ตามทัน

สรุปแล้วว่า วันนี้ ได้นำมหาภัยสิ่งที่มาขัดขวาง หรือกั้นกางการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผล มาบรรยาย ๕ ประการ ก็ได้แก่ มาร ๕ ประการ คือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร

เมื่อใดมารทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้น ก็จะทำลายล้างสภาวธรรมที่ดีคือบุญกุศล หรือศีล สมาธิ ที่มีอยู่ให้เสื่อมไป และเป็นสิ่งที่กั้นกางขัดขวาง ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เกิดขึ้น

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป ให้มีเผลอน้อย ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มารได้ช่องได้โอกาส เข้าแทรกแซงหรือทำลายล้างคุณงามความดีของเรา

ท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง มาร ๕ ประการ มาบรรยาย เพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 7   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.183 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 16 มีนาคม 2567 22:43:49