[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 15:27:42 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิซซ่าเป็นมากกว่าฟาสต์ฟู้ด  (อ่าน 1305 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2327


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 29 มีนาคม 2559 19:28:04 »


พิซซ่าเป็นมากกว่าฟาสต์ฟู้ด

พิซซ่าที่คนทั่วโลกรับประทานในปัจจุบันนี้ แต่เดิมไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่พวกเราเห็นกัน ซึ่งอาหารชนิดนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานย้อนไปถึงยุคกรีกคลาสสิก กำเนิดของพิซซ่ามาจากเหตุบังเอิญในการประกอบอาหาร เพราะพ่อครัวลืมนำขนมปังแผ่นกลมแบนออกจากเตาอบทำให้แป้งกรอบและมีกลิ่นหอม ชาวกรีกมักจะรับประทานขนมปังแบบนี้โดยฉีกเป็นชิ้น แล้วจิ้มกับน้ำมันมะกอกและเกลือ หลังจากนั้นการอบขนมปังแผ่นกลมแบนได้แพร่ไปยังตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลีและพัฒนามาเป็น ฟอคัคชา (focaccia) หรือชื่อในภาษาละตินว่า panis focacius นักประวัติศาสตร์ถือว่าฟอคัคชาเป็นบรรพบุรุษของพิซซ่า แม้กระนั้นชาวอีทรัสกันจนมาถึงชาวโรมันยังคงรับประทานฟอคัคชากับน้ำมันมะกอก แต่เพิ่มรสชาติด้วยเครื่องเทศ อาทิ ใบเบซิล (basil-จำพวกกะเพรา, โหระพา)



ในขณะที่ซีกโลกตะวันออกมีเรื่องเล่าในหมู่ชาวจีนว่าพิซซ่าดัดแปลงมาจาก ชงโหย่วปิง (congyoubing) หรือโรตีทอดใส่ต้นหอม ซึ่ง มาร์โค โปโล เป็นผู้นำไปเผยแพร่ในอิตาลีโดยสั่งให้พ่อครัวจากเนเปิลส์ปรุงอาหารชนิดนี้ให้กับแขกที่มาร่วมงานเลี้ยงของเขา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงให้ใช้ส่วนที่จะมาทำเป็นไส้โรยหน้าแป้งแทน เรื่องที่เล่ามาข้างต้นไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุโรป แม้แต่บันทึกของมาร์โค โปโล เองก็ไม่ได้กล่าวถึงชงโหย่วปิง และจีนเองไม่ได้อ้างสิทธิว่าเป็นผู้คิดค้นพิซซ่า ถึงแม้ว่าประเด็นนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ แต่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าชาวจีนบริโภคแป้งสาลีมาหลายศตวรรษด้วยการนึ่ง แป้งสาลีนึ่งนี้ชาวจีนมักจะใส่ยีสต์ไปด้วยในขณะนวดแป้ง เมื่อนึ่งเสร็จแล้วจะฟูสังเกตได้จาก หมั่นโถว ซาลาเปา ตรงข้ามกับแป้งสาลีที่ประกอบอาหารด้วยการอบ จะไม่มีการเติมยีสต์ เพราะฉะนั้นเวลารับประทานขนมเปี๊ยะ แป้งจึงไม่ฟู และอาหารจีนที่ทำจากแป้งสาลีจะไม่มีส่วนผสมของนม เนย เนยแข็ง และโยเกิร์ต ทั้งๆ ที่จีนเคยมีปฏิสัมพันธ์กับชาวมองโกลและทิเบต แต่ชาวจีนบริโภคเนยแข็งและโยเกิร์ตได้เพียง 20 ปีนี้เอง



ที่เปอร์เซีย มีการรับประทานขนมปังแผ่นแบนย้อนไปถึงรัชสมัยของกษัตริย์ ดาริอุสมหาราช (Darius the Great) ครองราชย์ระหว่างปี 521-486 ก่อนคริสต์ศักราช ทหารของพระองค์อบขนมปังแผ่นแบนบนโล่ของตนเองและแต่งหน้าขนมปังด้วยผลอินทผาลัมแห้งกับมันหมู (lard) ระหว่างเดินทัพ สำหรับคำว่า พิซซ่า (pizza) นั้นยังมีที่มาไม่แน่ชัด ในภาษาอิตาเลียนโดยนัยหมายถึง pie ซึ่งอาจมีรากจากภาษาละตินคำว่า pix หรือ pita ในภาษากรีก โดยคำหลังยังมีความหมายว่าขนมปังแถวเล็ก รวมไปถึงเค้ก ทั้งนี้ ชาวกรีกในปัจจุบันใช้เรียกขนมปังแผ่นแบนรับประทานในรูปแบบแซนด์วิชกับเนื้อแกะ เนื้อวัว หรือเนื้อไก่ เรียกว่า ไจรอส (gyros) ขณะที่ชาวอิสราเอลรับประทาน pita กับฮูมุส (hummus-เครื่องจิ้มของชาวอาหรับและยิวทำจากถั่วชิกพี (chickpea) บด งาบด ผสมกับน้ำมันมะกอก น้ำเลมอน เกลือ และกระเทียม)



จากเอกสารทางวิชาการของ จูเซปเป้ น็อกกา (Giuseppe Nocca) จากสถาบันอัลแบร์เกียโร แห่งฟอร์มิอา (Istituto Alberghirero di Formia) อ้างถึงบันทึก codex diplomaticus cajtanus ว่าปรากฏคำ pizza ครั้งแรกใน ค.ศ.997 ในฐานะหนึ่งในรายการอาหารจัดอยู่ในประเภทส่วยที่ผู้ประกอบการโรงโม่แป้งสาลีบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ การิก–ลาโน (Garigliano) จะต้องส่งให้กับอาร์คบิชอบแห่งกาเอตา (Gaeta) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเนเปิลส์ (Naples หรือ Napoli ในภาษาอิตาเลียน) ราว 80 กิโลเมตร แต่เมืองที่คิดค้นพิซซ่ากลับเป็นเนเปิลส์ และชาวเมืองก็ภาคภูมิใจกับอาหารริมทางสุดคลาสสิกจานนี้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเนเปิลส์ไม่พอใจอย่างมากกับงานวิชาการของน็อกกา ความภาคภูมิใจในพิซซ่าของชาวเนเปิลส์เพิ่มพูนขึ้นไปอีกเมื่อพิซซ่าได้ขึ้นโต๊ะเสวยระหว่างการเสด็จเยือนเนเปิลส์ของกษัตริย์ อุมแบร์โต (King Umberto) และราชินี มาเกริตา (Queen Margherita) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19



ในระยะแรกหน้าของพิซซ่า (topping) ยังคงใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและผลผลิตส่วนเกินทางการเกษตร จึงสะดวกต่อการซื้อหามารับประทานในหมู่ครอบครัวผู้ใช้แรงงานและคนทั่วไป จนกระทั่งการสำรวจโลกใหม่โดยเฉพาะพืชผลแปลกๆที่นำมาจากอเมริกาได้เพิ่มรสชาติและสีสันให้กับพิซซ่า การมาถึงของมะเขือเทศในปี ค.ศ.1522 ครั้งแรกที่ชาวเมืองเห็นมะเขือเทศก็ไม่กล้ารับประทานเพราะเกรงว่าพืชชนิดนี้อาจจะมีพิษ เมื่อมีผู้กล้าหาญได้ลิ้มลองแล้วติดใจ ต่อมามะเขือเทศเป็นองค์ประกอบหลักของพิซซ่า เมื่อ ราฟาเอล เอสโปซิโต (Rafael Esposito) ผู้ประกอบการร้านพิซซ่า พิเซอเรีย แบรนดิ (Pizzeria Brandi) ในย่านพอร์ตอัลบา (Port Alba) เมืองเนเปิลส์ นำมะเขือเทศมาแต่งหน้าเป็นครั้งแรกพร้อมกับเนยแข็ง มอซซาเรลลา (mozzarella cheese) น้ำมันมะกอก ปลา แอนโชวี่ (anchovy) และกระเทียม ซึ่งลักษณะของพิซซ่าเหมือนกับธงชาติอิตาลีจากสีแดงของมะเขือเทศ สีขาวจากเนยแข็งมอซ– ซาเรลลา และสีเขียวจากใบเบซิล แล้วนำขึ้นถวายแด่ราชินี

มาเกริตาตามที่กล่าวมาข้างต้น และพิซซ่าจานนี้ราชินีโปรดมากเสียจนเอสโปซิโตให้ชื่อว่า มาเกริตาพิซซ่า (Margherita Pizza)




ทว่า มะเขือเทศยังคงเป็นสิ่งเกินเอื้อมสำหรับชนชั้นแรงงาน พิซซ่าของพวกเขายังคงปรุงด้วยแป้ง น้ำมันมะกอก มันหมู (lard) และสมุนไพร ต่อมาเมื่อมะเขือเทศเป็นผักที่ทุกครัวเรือนหาซื้อได้และนำประกอบอาหาร เช่น สปาเกตตีซอส แต่ชาวอิตาเลียนยังคงนิยมรับประทานพิซซ่าแบบดั้งเดิมที่แต่งหน้าด้วยน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ กระเทียม ลูกสน ใบโรสแมรี่ และเกลือป่น เช่นเดิม

กระทั่งในปี ค.ศ.2009 มาเกริตาพิซซ่าได้รับตรารับรองอาหารประจำชาติ STG (Specialita Tradizionali Garantite หรือ Traditional Guaranteed Specialty) จากสหภาพยุโรป ถึงแม้ว่ามาเกริตาพิซซ่าจะไม่ได้รับรางวัลหรือเหรียญตราใดๆก็ตาม พิซซ่าชนิดนี้จากเมืองเนเปิลส์ก็เป็นที่นิยมและถือเป็นวัฒนธรรมทางอาหารของอิตาลีและของโลกในทางพฤตินัย

พิซซ่าได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสหรัฐอเมริกาโดยผู้อพยพชาวอิตาลี และก็เป็นชาวเนเปิลส์เช่นเคยที่ทำให้อเมริกัน–ชนที่ไม่ใช่เชื้อสายอิตาลีได้รับประทานพิซซ่าบางกรอบ เริ่มจากนิวยอร์กและกระจายไปตามเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบอสตัน ชิคาโก และเซนต์หลุยส์ ชาวเนเปิลส์ที่อพยพสู่สหรัฐอเมริกานั้นมิได้หวังร่ำรวยจากการทำพิซซ่าขาย




ผู้ริเริ่มเปิดร้านพิซซ่าเป็นจริงเป็นจังแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาคือ เจนนาโร ลอมบาร์ดี (Gennaro Lombardi) ร้านตั้งอยู่บน ถนนสปริง นิวยอร์ก ในปี ค.ศ.1905 ใช้ชื่อร้านว่า ลอมบาร์ดี’ส (Lombardi’s) พิซซ่าของร้านในระยะแรกจำหน่ายในราคาถาดละ 5 เซนต์ ร้านพิซซ่าของลอมบาร์ดียังคงดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ร้านไม่ได้อยู่บนถนนสปริงเหมือนแรกตั้ง และฉลองครบ 100 ปี เมื่อปี ค.ศ.2005 (ความจริงแล้วร้าน Lombardi’s เปิดกิจการมาจนถึงปี ค.ศ.1984 แล้วกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ.1994 ที่ตั้งของร้านไม่ไกลจากที่ตั้งเดิมเท่าไรนัก) พิซซ่ายังถือเป็นอาหารต่างชาติสำหรับชาวอเมริกันจนกระทั่งทศวรรษ 1950 พิซซ่าเป็นอาหารหลักและแพร่หลายในหมู่ชาวอเมริกัน ปัจจุบันพิซซ่าไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาหารของชนชาติใดชาติหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นอาหารจานด่วนในสายตาของชาวอเมริกันทั้งหลาย

ในยุโรป พิซซ่าได้รับความนิยมในหมู่ชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เมื่อทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลเข้าอิตาลีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำอาหารจานนี้มาเผยแพร่ยังบ้านเกิดของตน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมาพิซซ่าจึงเป็นที่รู้จักทั่วทั้งยุโรป หลังจากความนิยมจำกัดอยู่ในประเทศอิตาลีมานานนับศตวรรษ

สำหรับประเทศไทย คนไทยส่วนมากมักจะคุ้นลิ้นกับพิซซ่า อเมริกันแบบแป้งหนานุ่มจากร้านพิซซ่าแฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง พิซซ่าฮัท หรือ โดมิโน พิซซ่า มากกว่าพิซซ่าแบบอิตาเลียนแบบแป้งบาง กรอบนอก นุ่มใน ชุ่มชีส และมีกลิ่นชีสมอซซาเรลลา หรือ ชีสพาร์เมซาน (Parmesan cheese)

นอกจากนี้ พิซซ่ายังมีบทบาทสำคัญในด้านการทหารและการเมือง หน่วยสืบราชการลับที่ 113 สังกัดกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ใช้การส่งพิซซ่าเพื่อทำการ จารกรรมข้อมูลจากนักข่าวและนัก การเมือง ในปลายทศวรรษที่ 1960 และแฟรนไชส์พิซซ่ายักษ์ใหญ่อย่างพิซซ่าฮัท ในสหภาพโซเวียตมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคณะรัฐประหารที่จะยึดอำนาจจากนาย มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbashev) ด้วยการส่งพิซซ่าเป็นเสบียงให้ในปี 1991

ปัจจุบันพิซซ่าไม่ได้มีแค่สัญชาติอิตาเลียนอีกต่อไป เมื่อไปตามที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาและแปลงสัญชาติไปตามถิ่นที่อยู่นั้นไม่ว่าจะเป็นพิซซ่าเม็กซิกัน พิซซ่ากรีก โดยหน้าของพิซซ่าเหล่านั้นไม่ได้จำกัดวัตถุดิบเพียงซอสมะเขือเทศ มอซซาเรลลา หรือปลาแอนโชวี่ อีกต่อไป ถ้าหากเดินทางไปแคลิฟอร์เนีย จะได้รับประทานพิซซ่าหน้าแปลกๆ ตั้งแต่ไก่บาร์บีคิว ไปจนถึงปลาแซลมอนรมควัน ในขณะที่พิซซ่าเซนต์หลุยส์ เป็นพิซซ่าในถาดสี่เหลี่ยม แป้งบาง ขอบนอกกรอบ มีหน้าหลายหน้าให้เลือก พิซซ่านิวยอร์กจะเป็นพิซซ่าถาดใหญ่ ปรุงด้วยซอสในปริมาณไม่มาก ในคูราเซา (Curacao-ประเทศหมู่เกาะในอเมริกาใต้) จะแต่งหน้าพิซซ่า ด้วย ชีสเกาด้า (Gouda-เมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีชื่อเสียงในการผลิตชีส) ที่บราซิล ไข่ต้มแข็ง จะปรากฏบนหน้าพิซซ่า ที่ญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวอาจจะได้ลิ้มลองพิซซ่าหน้ามายองเนสกับสาหร่ายโนริ ประเทศไทย หน้าพิซซ่าจะถูกแปลงโฉมด้วยพริกแห้ง แกงเผ็ด ต้มยำกุ้ง แหนม ไส้อั่ว ไม่เว้นแม้กระทั่งผลไม้อย่างมะม่วง

ในโลกสมัยใหม่ แป้งพิซซ่าไม่ได้มีแป้งโดว์ (dough) เท่านั้น เพียงแค่ขนมปังอบหนึ่งแผ่นทาซอสมะเขือเทศกับชีสมอซซาเรลลาก็สามารถรับประทานเป็นพิซซ่าได้ แป้งพิตา (pita) บรรพบุรุษของพิซซ่าก็ยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็นพิซซ่าได้ รวมไปถึง ตอร์ติยา (tortilla) แผ่นแป้งแบบเม็กซิกันที่ทำมาจากแป้งข้าวโพดก็นำมาทำเป็นแป้งพิซซ่าได้ด้วยเช่นกัน.


โดย : ชนะประสิทธิ์ โพธิพันธุ์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.429 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 4 ชั่วโมงที่แล้ว