[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 02:18:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัดนิเวศธรรมประวัติ 'ประวัติวัด' พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (อ่าน 3928 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 เมษายน 2559 15:09:14 »




พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ

วัดนิเวศธรรมประวัติ
ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณท้ายเกาะลอย หน้าพระราชวังบางปะอิน  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๔๙ ตารางวา  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปี ให้มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (กอทิกเลียนแบบโบสถ์คริสต์) ทั้งพระอาราม


วัดนิเวศนธรรมประวัติ สร้างอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าพระราชวังบางปะอิน ซึ่งในอดีตเมื่อ ๑๓๐ ปีเศษที่ผ่านมา บริเวณแห่งนี้เป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่มีบ้านผู้คนอยู่อาศัย การคมนาคมติดต่อกับภายนอกลำบากมาก อาศัยแต่เรือเป็นพาหนะเท่านั้น ซึ่งนานๆ จะแล่นผ่านสักลำ ๑  แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดในบริเวณเกาะกลางน้ำแห่งนี้  ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้ๆ กับพระราชวังบางปะอิน เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชฐาน เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เริ่มก่อสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) มีพระราชประสงค์ขอพระสงฆ์ที่มีพรรษาอายุและคุณธรรมของวัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นสำนักพระราชอุปัธยาจารย์ไปครอง โดยจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ  สมเด็จพระสังฆราชทรงคัดเลือกคณะสงฆ์ ให้ 'พระครูปลัดฯ' ที่เห็นว่ามีความรู้สมควรพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติได้ จึงนำความถวายพระพรทูลให้ทรงทราบ  แต่ยังมิทันได้ทรงแต่งตั้งพระครูปลัด ให้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติ พระครูปลัดรูปนั้นเกิดขัดข้อง กลับใจไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช ไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง เพราะเกรงจะทนความลำบากไม่ไหว ถ้าขืนให้ไปจะสึก

ความเงียบสงัด ความเดือดร้อนลำบาก ในการที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางเกาะกลางแม่น้ำที่ห่างไกลละแวกบ้านผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ผู้โพสต์ได้คัดความตั้งแต่มูลเหตุของการก่อสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ ความลำบาก ความอดอยาก ความเงียบเหงา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาต้องขาดแคลนทั้งยาและหมอรักษาไข้ ของพระสงฆ์ที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปะอินในสมัยนั้น ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเผยแพร่ เพราะเห็นเป็นความรู้อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ได้อย่างถ่องแท้ ให้ปรากฏอยู่ ไม่สูญหาย    

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่บวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ เรื่องที่พระองค์ทรงนิพนธ์ หรือ 'เล่า' ให้ฟัง จึงเป็นเรื่องราวที่ทรงรู้เห็นเอง ไม่ได้เอาความในหนังสือหรือได้ยินผู้อื่นบอกเล่ามากล่าว





สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

มูลเหตุอันมาเป็น “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ”
บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หมายเหตุ: ต้นฉบับเขียน "วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ" มี น.การันต์


เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช ว่า ครั้งทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาส ได้ขอพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร สำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปครอง วัดที่ทรงสร้างใหม่นี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ อันเป็นสำนักของสมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ไปครอง แต่ไม่ใช่วัดใหญ่โต จะทรงตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสเป็นแต่พระครู สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพร รับจะจัดคณะสงฆ์ถวายตามพระราชประสงค์

ก็วัดราชประดิษฐ์ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ด้วยเจตนาจะให้เป็นวัดขนาดย่อมสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่ใกล้ๆ พระราชฐานให้สะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศล  ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอินนั้นเอง

จำนวนพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงมีน้อย เวลาหาพระสงฆ์สำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัตินั้น ที่ในวัดราชประดิษฐ์ฯ มีพระที่พรรษาอายุและเป็นเปรียญทรงคุณธรรมสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ชื่อเปีย เป็นเปรียญ ๕ ประโยคองค์ ๑ พระครูสัทวิมล ฐานานุกรมตำแหน่งคู่สวด ชื่อพุฒ พึ่งได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค องค์ ๑  สมเด็จพระสังฆราชชวนพระครูสัทวิมลกับพระสงฆ์อันดับ ที่รับจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้แล้วให้นำความกราบบังคมทูล  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงยินดีพระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูสัทวิมล (พุฒ) เป็นที่พระครูสถิตธรรมสโมธาน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แต่ในระหว่างเวลา ๒ ปีที่กำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น เผอิญพระครูสถิตธรรมสโมธาน (พุฒ) อาพาธถึงมรณภาพ ยังเหลือแต่พระครูปลัด (เปีย) องค์เดียวที่พอจะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้ สมเด็จพระสังฆราชตรัสชวน แต่แรกเธอก็รับจะไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า พระครูปลัดเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้วจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แต่ยังไม่ทันทรงตั้ง พระครูปลัด (เปีย) กลับใจไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง จะเป็นเพราะเหตุใด ในใจจริงข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช โดยอ้างว่าไม่มีญาติโยม เกรงจะไปทนความลำบากที่บางปะอินไม่ไหว สมเด็จพระสังฆราชก็จนพระหฤทัย ได้แต่ถวายพระพรให้ทรงทราบเหตุที่เกิดขัดข้อง และทูลว่าในวัดราชประดิษฐ์ฯ ยังมีเปรียญแต่พระมหาอ่อน (ภายหลังต่อมาได้เป็นพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ –อ่อน โกมลวรรธนะ) องค์เดียว แต่บวชยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา ซึ่งเป็นเขตสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส  

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัดเคืองในเรื่องที่พระครูปลัด (เปีย) กลับใจ ดำรัสสั่งให้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ถ้าพระมหาอ่อนทรงคุณธรรม อย่างอื่นสมบูรณ์อยู่แล้ว ถึงพรรษาอายุยังไม่ถึงขนาด ก็ไม่ทรงรังเกียจ  สมเด็จพระสังฆราชตรัสถามพระมหาอ่อนว่า ถ้าโปรดฯ ให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน จะยอมไปหรือไม่ พระมหาอ่อนได้ทราบเรื่องมาแต่ต้น เห็นสมเด็จพระสังฆราชได้รับความเดือดร้อนรำคาญมากจึงทูลรับว่าถ้าโปรดฯ ให้ไป ถึงลำบากก็จะไปสนองพระเดชพระคุณให้สมพระราชประสงค์ สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นวิตก ให้นำความถวายพระพรทูลว่าพระมหาอ่อนเป็นผู้มีอัธยาศัยและความรู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสได้ มีบกพร่องแต่ที่พรรษาอายุยังน้อยเท่านั้น และตัวก็เต็มใจรับจะไปโดยไม่รังเกียจ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดี ดำรัสว่าได้ทรงเจตนาจะตั้งพระครูปลัด (เปีย) เป็นพระราชาคณะ ถึงพระมหาอ่อนพรรษาอายุยังน้อยก็เป็นเปรียญและมีความกตัญญูเป็นความชอบพิเศษ สมควรจะเป็นพระราชาคณะได้ จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต (ตามนามฉายาของท่านว่า อมโร) และทรงพระราชปรารภจะมิให้มีความเดือดร้อน เมื่อขึ้นไปอยู่บางปะอิน โปรดฯ ให้ไต่ถามถึงญาติโยม ได้ความว่าโยมผู้ชายยังมีตัวอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม และหลวงญาณวิจิตร (จุ้ย ต้นสกุล ผลพันธิน) เปรียญในกรมราชบัณฑิต กับนางเพิ้งภรรยาเป็นโยมอุปัฏฐากอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คนนั้นก็สมัครจะขึ้นไปอยู่ที่บางปะอินกับพระอมราภิรักขิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบ้านเรือนพระราชทานที่ริมเขตวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แล้วทรงตั้งหลวงญาณวิจิตรเป็นหลวงธรรมวงศประวัติตำแหน่งเจ้ากรมวัด  และให้เป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรด้วย และทรงตั้งนายดี บิดาพระอมราภิรักขิต เป็นที่ขุนปฏิบัติชินบุตร ตำแหน่งปลัดกรมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ  

อนึ่ง เมื่อกำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น ทรงพระราชปรารภว่าควรจะมีตำหนักสักหลัง ๑ สำหรับเวลาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นไปจะได้พัก เหมือนอย่างตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างไว้ที่วัดเสนาสนาราม ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระราชดำริว่ากุฏิที่สร้างสำหรับพระครูเจ้าอาวาสแต่เดิมอยู่ข้างเล็กไป จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนใช้เป็นตำหนักและให้สร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่อีกหลัง ๑ ให้ใหญ่โตสมศักดิ์พระราชาคณะ การอันนี้ก็เนื่องมาแต่ที่ทรงตั้งพระอมราภิรักขิตครั้งนั้น

การสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติทำอยู่ ๒ ปีสำเร็จบริบูรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๒๑ มีการฉลองที่บางปะอินเป็นการใหญ่โต รายการจารึกไว้ในแผ่นศิลาที่พระอุโบสถ ดังนี้
“ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๔๒๑) ได้เชิญพระพุทธปฏิมากรพระพุทธนฤมลธรรโมภาสและพระคัมภีร์ไตรปิฎกและรูปพระมหาสาวก และพระราชาคณะฐานานุกรมอันดับ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๘ รูป ลงเรือกลไฟแต่กรุงเทพฯ มาพักไว้ที่วัดเชิงเลนตรงบางไทรข้าม  ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิ์ศกได้ตั้งกระบวนแห่แต่วัดเชิงเลน เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสตั้งบนบุษบก เรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ พระธรรมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกลงเรือเอกชัย หลังคาสี รูปพระมหาสาวกลงเรือเอกชัยหลังคาสีอีกลำหนึ่ง พระราชาคณะฐานานุกรมลงเรือกราบม่านทองแย่ง พระสงฆ์อันดับลงเรือกราบม่านมัสรู่แห่ขึ้นไปตามลำน้ำในระหว่างเกาะบางปะอินนี้ เลี้ยวศีรษะเกาะข้างเหนือ ล่องลงมาจอดที่สะพานฉนวน ฝั่งเกาะข้างตะวันตกริมลำน้ำใหญ่ แล้วตั้งกระบวนแห่บกเชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นพระยานมาศ พระธรรมพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกขึ้นเสลี่ยงแปลง รูปพระมหาสาวกขึ้นเสลี่ยงโถง พร้อมด้วยเครื่องสูง กลองชนะคู่แห่ แห่แต่ฉนวนน้ำไปโดยทางหน้าพระอุโบสถ เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถ รูปพระมหาสาวก ๖ องค์ตั้งรายไว้...ฯ”

“ในเวลาบ่ายวันนั้น ได้ทรงถวายไตรจีวรบริขารแก่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะกับฐานานุกรมและพระสงฆ์อันดับ ซึ่งมาอยู่ในพระอารามนี้ ๘ รูป นิมนต์ให้ขึ้นอยู่กุฏิที่ได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น แล้วประชุมพระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญคณะธรรมยุตินิกาย ๕๘ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ทั้งพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามนี้ ทรงถวายวิสุงคามสีมา กำหนดโดยยาวเส้น ๔ วา โดยกว้าง ๑๖ วา ๖ นิ้ว มีเสาศิลาแนวกำแพงแก้วในทิศทั้ง ๖ เป็นที่สังเกต และที่เขตขอบบริเวณพระอาราม ซึ่งเป็นที่พระสงฆ์ได้อาศัยนั้น กำหนดตั้งแต่กำแพงรั้วเหล็ก หน้าพระอารามด้านเหนือ ตลอดทั้งที่วิสุงคามสีมาจนถึงกำแพงสกัดท้ายโรงเรือ ยาว ๔ เส้น ๑๑ วา ๖ นิ้ว กว้างตกลำน้ำตามฝั่งเกาะทั้งสองด้านเป็นเขตพระอาราม แล้วทรงถวายผ้าไตรแด่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะธรรมยุตินิกาย ๕๐ รูป สวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น ตั้งแต่ ณ วันจันทร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ๓ เวลา จนถึงวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ๕๘ รูป ได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินทรงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้ง ๓ เวลา และทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ๕๘ รูป   ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ทรงถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะมหานิกาย ๕๘ รูป เวลาเย็นสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ   รุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วถวายเครื่องบริขารไทยธรรมต่างๆ และในวันศุกร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายรับพระราชทานฉัน ๓๐ รูป เวลาค่ำมีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เป็นพระราชกุศลส่วนมาฆบูชา ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวันละกัณฑ์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีเทศนาเป็นธรรมทานวันละ ๓ กัณฑ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี ราษฎรพร้อมกันเวียนเทียนรอบพระอาราม ๓ วัน และมีการมหรสพสมโภช การเล่น (มีโขนชักรอกโรงใหญ่) เต้นรำครบทุกสิ่ง และตั้งต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทานและทรงโปรยผลกัลปพฤกษ์และฉลากต่างๆ เป็นมโหฬารบูชา ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันอาทิตย์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ รวมสี่วันสี่ราตรี เป็นเสร็จการพระราชกุศลมหกรรมพุทธาทิรัตนบูชา...ฯ”

พระอมราภิรักขิต ขึ้นไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่ออายุ ๒๗ ปี บวชได้ ๖ พรรษา เวลานั้นมีพระสงฆ์เถรานุเถระกับทั้งเจ้านายขุนนาง ขึ้นไปช่วยงานฉลองวัดอยู่ที่บางปะอินเป็นอันมาก มิใคร่มีใครรู้จักพระอมราภิรักขิตมาแต่ก่อน  ทราบกันแต่ว่าได้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพราะมีความกตัญญู ยอมทนความลำบาก เพื่อจะเปลื้องความเดือดร้อนของสมเด็จพระสังฆราช ต่างก็พากันอยากเห็น ที่เป็นพระสงฆ์เถรานุเถระได้พบก็อวยชัยให้พร ที่เป็นคฤหัสถ์ก็พากันแสดงไมตรีจิตถึงถวายปวารณารับเป็นอุปัฏฐากก็มี







ซุ้มประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ หรือ พระขอฝน
พุทธลักษณะ ประทับยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงอาการกวักขอฝน

พระอมราภิรักขิตจึงมีฐานะพิเศษผิดกับพระราชาคณะองค์อื่นๆ ในชั้นเดียวกันมาแต่แรก ความลำบากที่ไปอยู่บางปะอินมีอย่างไรบ้าง บุคคลในสมัยนี้ยากที่จะเข้าใจได้ ที่พระครูปลัด (เปีย) กลัวนั้นที่จริงมีมูลอยู่บ้าง (จะพรรณนาถึงความลำบากในที่อื่นต่อไปข้างหน้า) แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระวิตก เกรงว่าพระสงฆ์ที่ขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ จะได้ความเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งระเบียบการ ถึงเดือนหนึ่งให้เรือไฟหลวงบรรทุกเสบียงอาหารพระราชทานสำหรับทำครัวเลี้ยงพระขึ้นไปส่งครั้งหนึ่ง และในการกฐิน พระราชทานผ้าไตรพระสงฆ์ทั้งวัดอีกส่วนหนึ่งนอกจากผ้าไตรปี เป็นนิจผิดกับวัดอื่นๆ แต่ส่วนตัวพระอมราภิรักขิตเองนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงคุ้นเคยมากขึ้น ก็ยิ่งทรงพระเมตตา ตรัสชมมารยาทและอัธยาศัยว่าสุภาพเรียบร้อย ถวายเทศนาก็โปรดปฏิภาณ ถึงคนทั้งหลายอื่น เมื่อท่านขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ ไม่ช้านานเท่าใด ก็พากันเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านทั่วไป ในท้องถิ่นอำเภอบางปะอิน มีคนไปทำบุญถือศีลฟังธรรม และให้ลูกหลานไปบวชเรียนอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ มากขึ้น จนกุฏิไม่พอพระอยู่  จึงโปรดฯ ให้แก้ตึกแถวที่สร้างสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกศิษย์วัด กั้นห้องเรียงกัน แปลงเป็นกุฏิสำหรับพระที่บวชใหม่  ต่อมาจำนวนพระสงฆ์ยังเพิ่มขึ้นอีก ต้องโปรดฯ ให้สร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มขึ้นอีก ๒ แถว จึงพอพระสงฆ์อยู่ได้ไม่ยัดเยียด

.....ถึง พ.ศ.๒๔๒๒ ข้าพเจ้า (หมายถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ...ผู้โพสต์) ก็ได้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีหน้าที่ตามเสด็จไปไหนๆ ด้วยเสมอ    มักเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตั้งแต่สร้างวัดแล้ว เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปะอินครั้งใด ก็เสด็จไปที่วัดด้วยทุกครั้ง

ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๒๕ เสด็จไปวัดนิเวศน์ฯ ทรงบูชาพระในพระอุโบสถแล้ว ทรงพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรการบำรุงรักษาในบริเวณวัด เมื่อเสด็จไปถึงตรงตำหนัก เห็นจะทรงรำลึกขึ้นว่าปีนั้นอายุข้าพเจ้าถึงกำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “วัดนิเวศน์ฯ นี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี”  ข้าพเจ้าก็ทูลสนองในทันทีว่า เมื่อข้าพเจ้าบวช ถ้าโปรดให้อยู่วัดนิเวศน์ ก็จะยินดี  ตรัสถามซ้ำว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลสนองซ้ำว่า จริงอย่างนั้น ก็ทรงยินดี ไปตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านถวายพระพรว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยในปีนั้น พระอมราภิรักขิตจะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เพราะบวชยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาบริบูรณ์ หย่อนอัตราตามพระวินัยอยู่พรรษาหนึ่ง  ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นจะรอไปบวชต่อปีหน้า ก็เป็นการตกลง ข้าพเจ้าจึงเลื่อนเวลามาบวชต่อใน พ.ศ.๒๔๒๖ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี  บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสยาจารย์ก็ลงมานั่งในคณะปรกด้วย  เมื่อบวชแล้วไปพักอยู่วัดราชประดิษฐ์  

วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฟื้นประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ดำรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข กับทั้งพระอมราภิรักขิตและตัวข้าพเจ้า เข้าไปรับบิณฑบาตที่ชาลาต้นมิดตะวัน ในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์ (อันอยู่ในสวนศิวาลัยบัดนี้)  เสด็จลงทรงบาตรพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ข้าพเจ้าจะไปจำพรรษาอยู่ไกล ญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสทำบุญด้วย จึงให้ไปรับบาตรเสียก่อน  วันต่อนั้นมาจะขึ้นไปทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ  สมเด็จพระสังฆราชท่านทราบพระอัธยาศัยว่า สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ไม่พอพระหฤทัย ที่พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดอื่น นอกจากวัดบวรนิเวศน์ จึงเรียกพระอมราภิรักขิตกับข้าพเจ้าขึ้นไปสั่งแต่กลางคืนว่าให้ขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์ฯ ให้พระอมราภิรักขิตเอาดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะส่วนของท่านขึ้นไปถวายก่อน  ให้ข้าพเจ้าคอยอยู่ข้างล่างสัก ๑๐ นาที แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องสักการะทูลลา เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้า ก็เห็นเสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงเบิกบานดี ตรัสฝากข้าพเจ้าแก่พระอมราภิรักขิต แล้วประทานพระโอวาทกำชับข้าพเจ้า ให้เคารพนับถืออยู่ในถ้อยคำของท่านผู้เป็นอาจารย์ การทูลลาก็เป็นอันเรียบร้อยทุกสถาน สมเด็จพระสังฆราชท่านให้เจ้าคุณอมราฯ กลับขึ้นไปก่อนวันหนึ่ง   รุ่งขึ้นนับเป็นวันที่ ๔ ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวช จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ท่านอุตส่าห์ตามลงไปอำนวยพรถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อขึ้นไปถึงวัดนิเวศน์ฯ ไปบูชาพระพุทธเจ้าที่ในพระอุโบสถก่อน แล้วไปยังกุฏิเจ้าคุณอมราภิรักขิต ถวายเครื่องสักการะ ขอนิสัยท่านตามระเบียบพระวินัย

พิธีขอนิสัยนั้นก็คือ ไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของท่าน ขอให้ท่านเอาเป็นภาระปกครองเรา ฝ่ายเราก็รับจะเอาเป็นภาระปฏิบัติท่านตามสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านให้นิสัยรับเป็นอาจารย์แล้ว เราจึงมีหน้าที่จะต้องกระทำการปฏิบัติ การนั้นถ้าอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์เรียกว่า “อุปัชฌายวัตร” ถ้าอยู่ในสำนักพระอาจารย์เช่นตัวข้าพเจ้าเรียกว่า “อาจาริยวัตร” แต่เป็นการอย่างเดียวกัน คือเวลาเช้าเมื่อท่านตื่นนอน ต้องเอาน้ำบ้วนปากล้างหน้ากับไม้สีฟันไปถวาย พอค่ำถึงเวลาที่ท่านกำหนด ต้องขึ้นไปฟังท่านสั่งสอน แต่ท่านให้ทำพอเป็นวินัยกรรม ไม่กี่วันก็อนุญาตให้หยุด เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัน เมื่อทำพิธีขอนิสัยแล้ว ข้าพเจ้าไปอยู่ที่ตำหนักเจ้าคุณอมราฯ ท่านให้พระปลัดชื่อนากเป็นผู้อุปการะอย่างเป็นพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าด้วย



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 พฤษภาคม 2559 09:24:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2559 16:07:16 »



มูลเหตุอันมาเป็น “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ(๒)
บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หมายเหตุ: คัดโดยคงพยัญชนะและตัวสะกดเดิม

ข้าพเจ้าบวชขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ ครั้งนั้น นอกจากบ่าวไพร่มีพวกพ้องตามไปหลายคน ที่บวชไปจำพรรษาอยู่วัดนิเวศน์ฯ ด้วยกันก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ไปอยู่เป็นเพื่อนก็มี ที่บวชนั้นคือหม่อมเจ้าโอภาส ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ องค์ ๑  นายร้อยตรี หลวงสุรยุทธโยธาหาร (ดั่น ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแต่แรกตั้ง ภายหลังได้เป็นนายพันโท ไปบังคับทหารที่เมืองนครราชสีมาอยู่จนถึงแก่กรรม) คน ๑  นายร้อยตรีขุนชาญสรกล (อิ่ม ภายหลังได้เลื่อนเป็นหลวงเป็นพระ และได้นำทหารไปรบเงี้ยวที่เมืองเชียงราย ที่สุดได้เป็นพระยาวิเศษสัจธาดา) คน ๑  พลทหารเพ็งเล็ก เวลานั้นเป็นคนรับใช้ของข้าพเจ้าอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ภายหลังได้เป็นขุนวรการพิเศษ ในกระทรวงธรรมการ คน ๑  ทั้ง ๔ นี้บวชเป็นพระภิกษุ ที่บวชเป็นสามเณรคือ หม่อมเจ้าหลง ในกรมพระเทเวศร์วัชรินทร ภายหลังได้มีตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรมองค์ ๑  หม่อมเจ้าเล็ก ในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท  ภายหลังได้ตำแหน่งในกระทรวงพระคลังฯ องค์ ๑  ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น  นายเพ็งใหญ่ เสมียนในกรมทหารมหาดเล็ก ซึ่งเคยบวชอยู่วัดโสมนัสวิหารหลายพรรษา ขอลาไปอยู่เป็นผู้แนะนำข้าพเจ้าในการปฏิบัติพระวินัย คน ๑ แต่ที่เป็นคนสำคัญควรกล่าวถึงอีกคนนั้นคือ เจ้าพระยายมราช เวลานั้นเรียกกันว่า “มหาปั้น” ท่านเป็นสหชาติเกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า แต่อุปสมบทก่อนข้าพเจ้าปีหนึ่ง ชอบกันมานานแต่ยังเปรียญ ท่านบวชพระอยู่พรรษาเดียวก็ลาสิกขา เมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าบวช ยังไม่ได้รับราชการ จึงสมัครไปอยู่ด้วยตลอดพรรษา จนข้าพเจ้าสึกจึงได้กลับมากรุงเทพฯ ด้วยกัน


มารดาของข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปอยู่บางปะอิน ท่านอยู่แพจอดฝั่งพระราชวังตรงวัดนิเวศน์ฯ ข้าม  อำนวยการหาอาหารเลี้ยงข้าพเจ้ากับทั้งผู้อื่นที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ด้วย ถึงวันพระท่านรักษาศีลอุโบสถ ข้ามไปเลี้ยงพระและทำวัตรฟังเทศน์ด้วยกันกับพวกอุบาสกอุบาสิกาเป็นนิจ เขาเลยขอให้ท่านเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาอยู่ตลอดพรรษา เพราะมีคนขึ้นไปด้วยกันกับข้าพเจ้ามากเช่นนั้น พวกที่อยู่วัดนิเวศน์ฯ มาแต่ก่อนพากันออกปากว่าตั้งแต่เป็นวัดนิเวศน์ฯ มายังไม่เคยครึกครื้นเหมือนพรรษานั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง แต่ถ้าว่าสำหรับตัวข้าพเจ้าเองเมื่อแรกขึ้นไปถึงในคราวที่บวชนี้ออกจะรู้สึกอ้างว้าง เพราะแต่ก่อนเคยขึ้นไปบางปะอินแต่ตามเสด็จประพาส ในเวลาเช่นนั้นมีเรือจอดหลามตลอดเกาะ ทั้งมีเรือไฟไปมาทุกวัน เรือแจวพายขายของและเที่ยวเตร่กันในแม่น้ำก็มีไม่ขาดสาย ที่บนบกผู้คนกล่นเกลื่อนทั้งที่พระราชวังและตามตำหนักเจ้าบ้านขุนนาง มีทั้งตลาดยี่สาน พวกชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งขายของต่างๆ ครึกครื้น ดูราวกับเป็นเมืองอันหนึ่ง  ขึ้นไปในเวลาเสด็จไม่อยู่ดูเงียบเหงาไม่มีเรือแพผู้คนเหมือนกับเป็นเมืองร้าง  ด้วยในสมัยนั้นอย่าว่าแต่ยังไม่มีรถไฟเลย ถึงเรือไฟที่จะไปมาทางนั้นเช่นเรือเมล์รับคนโดยสาร หรือลากเรือสินค้าขึ้นล่อง ก็ยังไม่มี หลายๆ วันจะได้เห็นเรือไฟแล่นผ่านวัดสักลำ ๑ ถึงพวกเด็กลูกศิษย์วัดพากันชอบวิ่งออกไปดู มีแต่เรือไฟหลวงบรรทุกเสบียงอาหารขึ้นไปถึงวันขึ้น ๓ ค่ำเดือนใหม่เสมอทุกเดือน  เรือลำนั้นชื่อเรือ “นกอินทรี” เสียงไอเสียขึ้นปล่องดังอย่างยิ่ง พอเรือถึงเกาะเกิดก็ได้ยินเสียงถึงวัดนิเวศน์ฯ เลยถือกันเป็นสัญญาพอได้ยินเสียง พวกที่อยู่วัดก็พากันลงไปคอยขนเสบียงอาหารที่พระราชทาน ของที่ส่งไปสำหรับพวกข้าพเจ้าก็มักฝากเรือหลวงไป เพราะฉะนั้นอยู่วัดนิเวศน์ฯ มีเวลาเงียบเหงาเดือนละหลายๆ วัน แต่ไปอยู่ไม่ช้าก็ชินไป พอชินแล้วก็รู้สึกว่าอยู่วัดนิเวศน์ฯ สบายมาก สบายกว่าอยู่วัดในกรุงเทพฯ เช่นวัดบวรนิเวศน์ฯ ที่ข้าพเจ้าเคยอยู่เมื่อบวชเป็นสามเณร และวัดราชประดิษฐ์ฯ ที่ข้าพเจ้าไปพักอยู่เมื่อก่อนขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ เพราะที่บางปะอินอากาศดี และวัดนิเวศน์ฯ อยู่ที่เกาะกลางน้ำห่างละแวกบ้าน ไม่มีผู้คนละเล้าละลุม และเงียบสงัดไม่อึกทึก จะเที่ยวเดินเหินหรือนั่งสำราญอิริยาบถที่ไหนก็เป็นผาสุก และเห็นลำน้ำและไร่นาจนสุดสายตา พาให้เพลิดเพลินเจริญใจ ทั้งตัววัดเองนับตั้งแต่พระอุโบสถตลอดจนเสนาสนะ ก็ทรงสร้างอย่างประณีตน่าดูและอยู่สบาย แต่วัดนิเวศน์ฯ นั้นใครเห็นแต่ไกล มักสำคัญว่าเป็นวัดศาสนาคริสตัง เพราะสร้างตามแบบช่างอย่างโกธิค ซึ่งฝรั่งมักสร้างวัดในศาสนาของเขา  




สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระราชดำริว่าศาสนาไม่ได้อยู่ที่อิฐปูน การสร้างวัดในพระพุทธศาสนา ก็ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องสร้างเป็นรูปร่างอย่างใด แม้วัดหลวงที่สร้างมาแต่ก่อน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงยักเยื้องแบบอย่างสร้างตามพระราชอัธยาศัย (เช่นแบบที่สร้างวัดพระเชตุพนฯ กับวัดราชโอรส ก็ผิดกันห่างไกล)  ทรงอุปมาการสร้างวัดว่า เหมือนเก็บดอกไม้บูชาพระ ถึงจะเป็นดอกไม้หลายอย่างต่างพรรณ ถ้าถวายโดยเจตนาบูชาพระแล้วก็เป็นพุทธบูชานั่นเอง



พระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ




ที่วัดนิเวศน์ฯ มีของอันควรจะบอกอธิบายไว้ในหนังสือนี้บางสิ่ง สิ่งหนึ่งคือพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” ซึ่งเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ซึ่งทรงเกียรติคุณว่าเป็นช่างอย่างวิเศษมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยทำพระพุทธรูปนับไม่ถ้วน แต่คนทั้งหลายเห็นพ้องกันหมดว่า พระพุทธนฤมลธรรโมภาสงามเป็นยอดเยี่ยมในฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงสร้างพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งขนาดเดียวกัน มีพระราชดำรัสกำชับพระองค์เจ้าประดิษฐ์ฯ ว่า ขอให้ทำให้งามเหมือนพระพุทธนฤมลธรรโมภาส แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้สมพระราชประสงค์ได้ เพราะ “สิ้นฝีมือ“ อยู่ที่พระพุทธนฤมลฯ จึงนิยมกันว่า เป็นพระพุทธรูปงามอย่างเอกองค์หนึ่ง  


(ซ้าย) รูปปั้นพระอินทร์  (ขวา) รูปปั้นพระเบญจสีขร ในภาษาบาลีเรียกว่า "ปัญจสิข" - ครูเทพเครื่องสายมโหรี

อนึ่ง ข้างด้านหน้าพระอุโบสถ สองข้างประตูมีซุ้มยอดแบบโกธิค  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯ ให้ปั้นรูปพระอินทร์กับพระเบญจสีขรตั้งไว้ในซุ้มข้างละองค์อย่างรูปนักบุญที่เขาตั้งตามศาสนาคริสตัง รูปปั้นนั้นนานมาถูกฝนสาดชำรุดด้วยเนื้อสิเมนต์ร่อยหรอไป   ปีหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าสึกแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็น โปรดฯ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รับสั่งจัดการหล่อเทวรูปด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลวไปเปลี่ยนของเดิม มีพระราชดำรัสว่า “จะได้เป็นที่ระลึกในการที่เธอบวชอยู่วัดนี้” เทวรูปนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ฯ

จะเลยเล่าต่อไป ถึงความลำบากที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปะอินในสมัยนั้น ข้อใหญ่ก็อยู่ที่ “อดอยาก” จะว่า “อด” ไม่ได้ เพราะข้าวปลาอาหารไม่อัตคัด แต่อาหารที่ชาวบางปะอินเขาบริโภคกัน ผิดกับอาหารที่เราชอบบริโภคในกรุงเทพฯ จึงควรเรียกว่า “อดอยาก” คืออดเฉพาะของที่อยากกิน เป็นต้นว่า ชาวกรุงเทพฯ ชอบกินข้าวนาสวนแต่ชาวบางปะอินชอบกินข้าวนาเมือง ซึ่งรสชาติต่างกันไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง กับข้าวของชาวบางปะอินก็มีแต่ผักกับปลาเอามาประสมกัน มักปรุงรสด้วยปลาร้ากับพริกและเกลือ รสชาติแปลกไปอีกอย่างหนึ่ง หลายๆ วันจึงมีเรือเจ๊กมาขายหมู หรือเรือชาวกรุงเทพฯ บรรทุกของสวน เช่น มะพร้าว และกล้วย อ้อย ขึ้นไปขายที่บางปะอินสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยอยากกินกล้วยน้ำว้าเผาครั้งหนึ่งในเวลาไม่สบาย  มารดาให้เที่ยวหาซื้อตลอดถิ่นก็หาไม่ได้ยิ่งผู้ที่ชอบหมากยังลำบากต่อไปถึงที่ต้องกินแต่หมากสงกับพลูนาบเพราะจะหาหมากดิบและพลูสดในที่นั้นได้โดยยาก แต่ความลำบากด้วยเรื่องอดอยากดังกล่าวมามีแต่แก่ผู้ซึ่งขึ้นอยู่ใหม่เช่นข้าพเจ้า ถ้าไปอยู่จนเคยเสียแล้วเช่นเจ้าคุณอมราฯ กับพระสงฆ์ ซึ่งขึ้นไปด้วยกันจากกรุงเทพฯ ไปอยู่แรมปีก็สิ้นลำบาก บริโภคได้เหมือนคนในท้องถิ่น แต่ตัวข้าพเจ้ารู้สึกลำบากในเรื่องอาหารอยู่ตลอดพรรษา เมื่อแรกขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ ข้าพเจ้าลองออกรับบิณฑบาต ๒ ครั้ง ได้อาหารมา กินไม่ได้ก็เลยเลิกไม่ไปอีกด้วยเห็นว่าเหมือนหนึ่งไปแย่งอาหารอันควรจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมาเททิ้งเสียเปล่าๆ รอดตัวอยู่ได้ด้วยมารดาขึ้นไปหาเลี้ยง เพราะท่านรู้ว่าข้าพเจ้าชอบกินอาหารอย่างไร ท่านทำให้กินได้อยู่เสมอ ถึงกระนั้นเมื่อของสดอัตคัดก็ทำได้แต่บางอย่าง กับข้าวที่ได้กินอยู่เป็น ”ท้องเครื่อง” นั้นมีแต่ ๓ สิ่ง คือ ไข่เค็มสิ่ง ๑  พริกกับเกลือสิ่ง ๑  กับปลากุเราอีกสิ่ง ๑  ถึงวันชาวบ้านเขามาเลี้ยงพระ ข้าพเจ้าลงไปฉันในการเปรียญด้วยกันกับพระสงฆ์ของธารณะที่มารดาหาไปเลี้ยงพระ ท่านทำอาหารที่ข้าพเจ้าชอบกินห่อไปส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าเขานิมนต์ไปฉันที่อื่น ท่านก็ให้คนเอาของเช่นนั้นไปช่วยเขา ขอให้ใส่ในสำรับเลี้ยงข้าพเจ้า จึงไม่เดือดร้อนด้วยอาหารการกิน แต่เมื่อถึงเวลาเสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปะอิน กลับตรงกันข้าม อาหารการกินบริบูรณ์จนเกินต้องการ ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง มีสำรับของหลวงพระราชทานมาแต่ห้องเครื่องสำรับ ๑  ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรโปรดประทานสำรับ ๑  และท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์วัยวัฒน์ (มารดาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์) มีเมตตาส่งมาสำรับ ๑  นอกจากนั้นยังมีอาหารที่เจ้านายกับขุนนางอันเป็นญาติและมิตรสหายส่งมาทุกวัน เวลาฉันมีสำรับและโต๊ะถาดอาหารตั้งล้อมราวกับฆ้องวง



พระตำหนักสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แรกสร้างเพื่อใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส แต่มีขนาดเล็กจึงปรับเปลี่ยนใช้เป็นพระตำหนักประทับ
สำหรับสมาชิกในราชสกุลที่ทรงผนวช ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ประทับจำพรรษาเป็นพระองค์แรก เมื่อคราวผนวช พ.ศ.๒๔๒๖
เพื่อสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่จะให้มีเจ้านายมาประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศฯ แห่งนี้ และในระหว่างทรงจำพรรษา
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์แบบเรียนภาษาไทย “ตำราเรียนเร็ว”
เพื่อทดลองใช้สอนเด็กนักเรียนด้วยหลักสูตรแบบใหม่เป็นครั้งแรก







โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤษภาคม 2559 15:50:29 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 10 พฤษภาคม 2559 16:44:15 »



มูลเหตุอันมาเป็น “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ(จบ)
บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อยู่บางปะอินในสมัยนั้นมีความลำบากอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาป่วยเจ็บหาหมอยาก ได้อาศัยแต่ยากลางบ้าน ใครนับถือยาขนานไหน ก็ทำไว้สำรับบ้านเรือน ใครป่วยเจ็บก็ไปขอกิน ข้าพเจ้าเคยไปป่วยครั้งหนึ่ง และการรักษาอยู่ข้างจะขบขัน จะเล่าให้ฟังต่อไป เมื่อถึงเดือนกันยายน เห็นจะเป็นเพราะปีนั้นฝนตกชุกกว่าปกติ ข้าพเจ้าทนชื้นไม่ได้ ก็เกิดมีอาการมือเย็นเท้าเย็นและเมื่อยขบ กินอาหารมิใคร่ได้ นอนก็ไม่หลับสนิท เขาว่าเป็นโรคกระสาย มารดาให้ยากินก็ไม่หาย ขอยาที่มีตามกุฏิพระมากินก็ไม่ถูกโรค ข้าพเจ้ารำคาญ บ่นกับพระปลัดนากที่เป็นพี่เลี้ยง ท่านบอกว่า หลวงแพ่งซึ่งอยู่บ้านแป้งตรงวัดข้ามฟากมียาขนานหนึ่ง ชื่อว่า “ยาอภัยสาลี” แก้โรคกระสายชะงัดนัก แต่เป็นยาแรงด้วยเข้ากัญชาเท่ายาทั้งหลาย ใครกินมักเสียสติ อาจจะทำอะไรวิปริตไปได้ ในเวลาเมื่อฤทธิ์ยาแล่นอยู่ในตัว เจ้าของจึงไม่บอกตำราแก่ผู้อื่น เป็นแต่ทำไว้สำหรับบ้าน ถ้าใครไปขอต่อเห็นว่าเจ็บจริงจึงให้กิน ข้าพเจ้าได้ยินเล่าก็ออกคร้ามฤทธิ์ยาอภัยสาลี เกรงว่าถ้ากินเข้าไปเสียสติ เจ้าคุณอมราฯ ท่านจะติโทษได้ จึงนิ่งมาจนถึงกลางเดือนกันยายน อาการโรคกำเริบขึ้น ประจวบเวลาเจ้าคุณอมราฯ ลงมากรุงเทพฯ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา ทางโน้นพระปลัดนากเป็นผู้บัญชาการวัด ข้าพเจ้าไม่สบายเหลือทนจึงบอกพระปลัดว่า ขอลองกินยาอภัยสาลีสักที เผื่อจะถูกโรคบ้าง ท่านก็ให้ไปขอยานั้นมาจากหลวงแพ่ง เป็นยาผงเคล้าน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กำหนดให้กินครั้งหนึ่งเท่าเมล็ดพุทรา วันเมื่อจะกิน ข้าพเจ้ายังครั่นคร้าม จึงอ้อนวอนชวนให้พระที่ชอบพอกันฉันด้วยสักสี่ห้าองค์รวมทั้งท่านปลัดด้วย แรกกินยานั้นเมื่อเวลาเย็นก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่ามีพิษสงอย่างไร จนออกนึกทะนงใจว่าคงเป็นเพราะกำลังของเราสู้ฤทธิ์ยาได้ ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกา พระสงฆ์สามเณรลงประชุมกันทำวัตรที่ในพระอุโบสถตามเคย ท่านปลัดเป็นผู้นำสวดแทนเจ้าวัด พอขึ้น “หนฺท มยํ” เสียงก็แหบต้องกระแอม พอข้าพเจ้าได้ยินเสียงท่านปลัดดัง “แอ๊ม” ก็ให้นึกกลั้นหัวเราะไม่อยู่ปล่อยกิ๊กออกมา พระสงฆ์องค์อื่นที่ได้ฉันยาอภัยสาลีด้วยกัน ก็เกิดนึกขันที่ข้าพเจ้าหัวเราะ พลอยหัวเราะกันต่อไป เสียงดังกิ๊กกั๊กไปทั้งโบสถ์ ดูเหมือนพระเณรองค์อื่นๆ ที่ไม่ทราบเรื่องจะพากันตกใจ แต่ท่านปลัดยังมีสติ พอทำวัตรแล้วก็รีบเลิกประชุม ไม่สาธยายสวดมนต์ต่อไปตามเคย ข้าพเจ้ากลับมาถึงตำหนัก เมื่อเข้านอนรู้สึกเตียงโคลงไปโคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นในทะเล แต่มีสติเข้าใจว่าเป็นด้วยฤทธิ์ยาอภัยสาลี นิ่งนอนหลับตาอยู่สักครู่หนึ่งก็หลับ คืนนั้นนอนหลับสนิทเหมือนสลบจนรุ่งเช้าตื่นขึ้นรู้สึกแจ่มใส ไปนั่งกินอาหารก็เอร็ดอร่อยแทบลืมอิ่ม ทั้งเวลาเช้าและเพล เลยกลับสบายหายเจ็บ ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าลองกินยาอภัยสาลีอีกจนบัดนี้ พระที่ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันคืนวันนั้น กลับไปกุฏิก็มีอาการวิปริตต่างๆ แต่อาการขององค์อื่นไม่แปลกเหมือนคุณแช่ม เธอไปนอนไม่หลับร้อง “ตูมๆ” เต็มเสียง จนเพื่อนสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียงพากันตกใจไปถามเธอบอกว่าหายใจไม่ออก ถ้าร้องตูมเสียค่อยหายใจคล่องก็พากันเห็นขัน ข้าพเจ้าได้รู้ฤทธิ์ของกัญชาในครั้งนั้นว่ามีคุณมหันต์และโทษอนันต์ แต่ก็ยังเข้าใจไม่ได้ว่าสบายอย่างไร จึงมีคนชอบสูบกัญชากันจนติด

เมื่อเจ้าคุณอมราฯ ครองวัดนิเวศน์ฯ ดูเหมือนท่านถือการ ๓ อย่างเป็นหลัก อย่างหนึ่งในระเบียบการสงฆ์ ท่านรักษาแบบแผนของวัดราชประดิษฐ์ฯ มิให้เคลื่อนคลาด อนุโลมตามพระราชประสงค์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงปรารถนาจะให้วัดนิเวศน์ฯ เป็นสาขาของวัดราชประดิษฐ์ฯ อีกอย่างหนึ่งท่านเอาใจใส่ในการบำรุงรักษาวัดให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้าน เฉลิมพระราชศรัทธามิให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงติเตียนได้ ใครไปก็ออกปากชมว่าวัดนิเวศน์ฯ รักษาสะอาดดี  กับอีกอย่างหนึ่งท่านพยายามสั่งสอนสงเคราะห์บริษัทไม่เลือกหน้า ส่วนตัวท่านเองก็ไว้วางอัธยาศัยสุภาพไม่ดุร้ายหรือถือตัวทำภูมิแก่ใครๆ ชอบสนทนาสมาคมกับบุคคลทุกชั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เหลาะแหละหย่อนตัวแก่ใครให้ลวนลาม อีกประการหนึ่งท่านประพฤติกิจวัตรสม่ำเสมอ ดูเหมือนจะตั้งใจให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พระภิกษุสามเณรในวัดนั้น  โดยปกติท่านลงโบสถ์นำทำวัตรสวดมนต์เช้าครั้ง ๑ ค่ำครั้ง ๑ เป็นนิจ  ถึงวันพระท่านนำพระสงฆ์รับสาธารณะที่การเปรียญ แล้วลงโบสถ์ให้ศีลแก่พวกสัปปุรุษและแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังในตอนเช้ากัณฑ์ ๑ แต่ตอนบ่ายท่านให้พระองค์อื่นที่เป็นฐานานุกรมหรือเปรียญเทศน์ (เคยให้ข้าพเจ้าเทศน์ครั้งหนึ่ง) การสวดปาฏิโมกข์ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ ดูเหมือนสมเด็จพระสังฆราชทรงสวดเองเป็นนิจ แต่ที่วัดนิเวศน์ฯ เจ้าคุณอมรมฯ สวดเองบ้าง บางครั้งก็ให้พระองค์อื่นสวด เห็นจะเป็นการฝึกหัดพระในวัดนั้น ส่วนที่เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าท่านคงรู้สึกเกรงใจมาก ด้วยเป็นเจ้านายองค์แรกที่เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งเมื่อก่อนบวชข้าพเจ้าก็เป็นราชองครักษ์ และเป็นนายพันตรี ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก อย่างว่า “เป็นคนโต” อยู่บ้างแล้ว ถึงกระนั้นท่านก็ประพฤติอย่างเป็นอาจารย์มิได้ลดหย่อนอย่างไร  เว้นแต่ไม่ให้เข้าเวรปฏิบัติท่านเหมือนกับพระบวชใหม่องค์อื่น และไม่เรียกไปหาที่กุฏิของท่าน เพราะพบกันที่ในโบสถ์วันละ ๒ ครั้งเสมอ ถ้าท่านมีกิจธุระจะไต่ถามหรือบอกเล่าแก่ข้าพเจ้า ท่านก็มักพูดที่ในโบสถ์ ท่านให้ทอดอาสนะของข้าพเจ้าไว้ใกล้กับอาสนะของท่านทางข้างหลัง มิได้นั่งปะปนกับพระองค์อื่น  นานๆ ท่านจะมายังตำหนักที่ข้าพเจ้าอยู่สักครั้งหนึ่ง และดูเหมือนท่านจะคอยระวังมิให้ข้าพเจ้ารู้สึกรำคาญที่ตัวท่าน เป็นต้นว่าเวลาข้าพเจ้าไปสำราญอิริยาบถอยู่ที่ใด เช่นข้าพเจ้าไปนั่งเล่นที่ศาลาริมน้ำในเวลาเย็นๆ เวลานั้นท่านก็มักออกเดินตรวจวัด แต่ไม่เคยเห็นท่านเดินมาใกล้ศาลาที่ข้าพเจ้านั่งอยู่สักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นท่านเกรงใจเช่นนั้น จึงมักหาเหตุไปหาท่านที่กุฏิเนืองๆ ไปถามข้ออรรถธรรมะบ้าง ไปเรียนเรื่องอื่นๆ บ้าง ดูท่านก็ยินดีชี้แจงให้ทราบ และสนทนาปราศรัยฉันอาจารย์กับศิษย์ที่สนิทสนมกัน





พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
ทำจากกระจกสี ประดิษฐานเหนือประตูเข้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ

ในสมัยนั้น ยังไม่เกิดประเพณีมีหลักสูตรสำหรับพระบวชใหม่จะต้องเรียนและสอบความรู้ เป็นแต่เมื่อแรกเข้าพรรษาลงโบสถ์ในเวลาค่ำไหว้พระสวดมนต์แล้ว มีพระฐานานุกรมหรือเปรียญองค์หนึ่งขึ้นธรรมาสน์ปาติโมกข์ อ่านบุพพสิกขาสอนพระบวชใหม่วันละตอนไปจนจบคัมภีร์  นอกจากนั้นเช่นคำไหว้พระสวดมนต์และข้อวัตรปฏิบัติต้องท่องและเรียนเอาเอง แต่เจ้านายมักได้ศึกษามาแต่ก่อนทรงผนวชแล้ว กิจที่ข้าพเจ้าจะต้องเรียนเมื่อบวช จึงมีน้อยกว่าพระบวชใหม่องค์อื่น สามารถจะช่วยทำการอย่างอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ ข้าพเจ้ารับเป็นหน้าที่ในการสองอย่าง คือ จัดโรงเรียนอย่าง ๑ กับบำรุงต้นไม้ที่ปลูกเป็นเครื่องประดับพระอารามอย่าง ๑ ด้วยเมื่อก่อนข้าพเจ้าบวช ได้รับหน้าที่จัดตั้งโรงเรียนหลวงอยู่แล้ว เป็นแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นกรมศึกษาธิการ ไปเห็นโรงเรียนที่วัดนิเวศน์ฯ เกิดประหลาดใจที่เด็กนักเรียนเรียนตั้งปียังอ่านไม่ออกโดยมาก ถามอาจารย์รอดซึ่งเป็นผู้สอนว่าทำไมเด็กจึงเรียนรู้ช้านัก แกบอกเหตุให้ทราบว่าที่บางปะอินนั้นพ่อแม่ให้เด็กมาเรียนหนังสือแต่เวลาว่างนา ถ้านับวันเรียนปีหนึ่งไม่กี่เดือน พอมีการทำนาเมื่อใดพ่อแม่ก็มาเอาลูกไปช่วยทำการ เช่น ให้เลี้ยงน้องในเวลาผู้ใหญ่ไปทำนาเป็นต้น  จนเสร็จการจึงกลับเอามาส่งโรงเรียนอีกเป็นเช่นนั้นปีละหลายๆ คราว เด็กได้เรียนอะไรไว้ก็มักไปลืมมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อกลับมาต้องสอนย้อนขึ้นไปใหม่ จึงรู้ช้า ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าที่พ่อแม่ให้ลูกหยุดเรียนเช่นนั้น ด้วยความจำเป็นในอาชีพ จะห้ามไม่ได้ ทางแก้ไขมีแต่ต้องคิดแก้กระบวนสอนแยกความรู้เป็นอย่างๆ ให้เด็กเรียนสำเร็จภายในเวลาเรียนระยะละอย่าง  เป็นมูลเหตุที่ข้าพเจ้าจะแต่งหนังสือ “แบบเรียนเร็ว” มาใช้ในโรงเรียนทั้งปวงเมื่อภายหลัง แต่เด็กนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์อยู่ประจำวัดก็มีพวกหนึ่ง มักเป็นลูกผู้ดีเป็นพื้น ลูกศิษย์วัดในปีที่ข้าพเจ้าบวช เมื่อเติบโตมาได้เป็นขุนนางก็หลายคน จะระบุแต่ที่นึกได้ในเวลาเขียนหนังสือนี้ คนหนึ่งชื่อแช่ม เป็นบุตรหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ได้เป็นพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ  ยังลูกชายหลวงธรรมวงศ์ประวัติก็หลายคน ที่เติบใหญ่ในเวลาข้าพเจ้าบวช พอยกสำรับประเคนข้าพเจ้าได้ ๓ คน  คนที่ ๑ ชื่อเพิ่ม ต่อมาได้เป็นหลวงอนุสาสนวินิจ  คนที่ ๒ ชื่อสด ต่อมาได้เป็นหลวงสังขวิทยวิสุทธิ  คนที่ ๓ ชื่อเหม ได้เป็นพระยาโอวาทวรกิจอยู่ในกรมศึกษาธิการทั้ง ๓ คน  คนที่ ๔ ชื่อทองสุก เวลานั้นยังเล็กชอบเที่ยววิ่งเล่นในลานวัด แต่อย่างไรมาติดข้าพเจ้า บิดาเลยยกให้ ครั้นเติบใหญ่สำเร็จการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าขอเอามาฝึกหัดให้รับราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้าพเจ้าออกจากมหาดไทยมาแล้ว ได้เป็นพระยาแก้วโกรพ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ลูกชายคนเล็กชื่อบุญศรี เกิดเมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ เติบใหญ่เข้ารับราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นหลวงประชาภิบาล ตำแหน่งนายอำเภอ นอกจากที่ระบุมายังมีคนอื่นอีก แต่นึกไม่ออกจึงไม่กล่าวถึง

มีการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีที่ข้าพเจ้าบวชแล้ว จึงแพร่หลายไปถึงโรงเรียนทั้งปวง คือให้นักเรียนสวดคำนมัสการคุณานุคุณ ข้าพเจ้าไปสังเกตเห็นว่าในโรงเรียนยังขาดสอนคดีธรรม แต่จะให้เทศน์ให้เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่าถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารภไปยังพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) ขอให้ท่านช่วยแต่งคำนมัสการส่งขึ้นไปให้ ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ ๗ บท ขึ้นต้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอนเป็นภาษาไทยทุกบทนมัสการพระพุทธเจ้าขึ้นว่า “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน” เป็นต้นบท ๑ นมัสการพระธรรมเจ้าบท ๑ นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท ๑  สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า มีคำบูชาคุณบิดามารดาบท ๑ บูชาคุณครูบท ๑  สำหรับให้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่าย และมีคำบูชาพระคุณพระมหากษัตริย์บท ๑ คำขอพรเทวดาบท ๑ สำหรับให้สวดเมื่อจะเลิกเรียน เริ่มสวดกันในโรงเรียนวัดนิเวศน์ฯ  ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังบวชอยู่

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มเกิดขึ้นที่วัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวช ด้วยข้าพเจ้าไปทราบว่าในฤดูน้ำเมื่อว่างการทำนา และสามารถใช้เรือไปไหนๆ ได้สะดวก เป็นเวลาสำหรับราษฎรเที่ยวเตร่หาความสนุกสบายตลอดแขวงจังหวัดอยุธยา พอออกพรรษาก็พากันเที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆ และแข่งเรือกันเล่นที่หน้าวัดเป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ จนถือกันเหมือนนัดหมายว่าวันนั้นประชุมกันที่วัดนั้นเป็นแน่นอน เริ่มตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ไปจนสิ้นเดือน ตั้งแต่สร้างวัดนิเวศน์ฯ พวกราษฎรอยากนัดกันไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯ แต่ยังเกรงกลัวด้วยมิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ข้าพเจ้าทูลความตามที่ได้ทราบ ลงมายังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงยินดี ดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดการให้ราษฎรไหว้พระ ณ วัดนิเวศน์ฯ ในปีนั้น  จึงเอาวันแรม ๑๒ ค่ำเป็นกำหนดมิให้พ้องกับวันไหว้พระที่วัดอื่น แล้วชักชวนพวกกรมการกับพวกคฤหบดี ให้ช่วยกันตกแต่งวัดและมีการมหรสพ ประกาศพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรู้กันแพร่หลาย ก็เลยมีประเพณีไหว้พระวัดนิเวศน์ฯ แต่ปีนั้นต่อมาทุกปีจนบัดนี้





พระศรีมหาโพธิ์ Ficus religiosa เมล็ดพันธุ์จากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูก เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๐
โพธิ์ต้นนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดมาก ด้วยทรงเพาะเมล็ดเอง เมื่อก่อนเสวยราชย์

การที่ข้าพเจ้าช่วยแต่งต้นไม้ในวัดนิเวศน์ฯ มีข้อขบขันอยู่บ้าง ด้วยในพระวินัยห้ามมิให้พระภิกษุตัดต้นไม้ ดูน่าสันนิษฐานว่า ความหมายห้ามมิให้ทำให้ต้นไม้ตายเป็นสำคัญ แต่พระถือกันว่า ถ้าตัดต้นไม้แม้ตัดเพียงกิ่งก้านหรือตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้งอกงามดีขึ้น ก็เป็นอาบัติล่วงสิกขาบทนั้น ถึงสั่งให้ผู้อื่นตัดก็ไม่พ้นอาบัติ แต่ว่ามีทางหลีกอาบัตินั้นได้ ด้วยสั่งเป็นกัปปิยโวหารว่าให้ไป “ดู” ถึงผู้รับคำสั่งจะไปตัดต้นไม้ พระผู้สั่งก็ไม่เป็นอาบัติ ถือกันมาดั่งนี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะใช้กันมาแต่ก่อนเก่า เพราะบางทีมีความจำเป็นที่พระจะต้องให้ตัดต้นไม้ เช่นมีต้นไม้เอนจะล้มทับกุฏิก็ดี หรือในป่าดงมีต้นไม้รกกีดขวางทางเดินจะหลีกไปให้ได้ก็ดี พระจึงสั่งผู้อื่นโดยกัปปิยโวหารให้ไป “ดู” ต้นไม้นั้น ผู้รับใช้เห็นเหตุก็ตัดต้นไม้สำเร็จประโยชน์ ก็เลยสั่งเช่นนั้นมาเป็นประเพณี จะมีมูลมาอย่างไรก็ตาม การที่สั่งให้ตัดแต่งต้นไม้พระใช้คำว่า “ดู” เป็นประเพณี ถ้าใครไม่รู้มูลเหตุไปได้ยินคำสั่งเช่นว่า “ดูกิ่งนั้นเสียสักหน่อย ดูกิ่งนี้ให้สั้นเสียอีกสัก ๖ นิ้ว” หรือว่า “ดูหญ้าเสียให้เตียน” และ “ดูต้นนั้นเสียทั้งต้นทีเดียว” ดั่งนี้ก็จะประหลาดใจ ข้าพเจ้าทราบคติเรื่องนี้มาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร เมื่อบวชพระก็สั่งให้ “ดู” คลองที่วัดนิเวศน์ฯ มีต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิ เมืองพุทธคยา ปลูกไว้เป็นเจดียวัตถุต้นหนึ่ง  โพธิ์ต้นนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดมาก ด้วยทรงเพาะเมล็ดเองแต่เมื่อก่อนเสวยราชย์ (ดังปรากฏในหนังสือทรงพระราชนิพนธ์แจกในงานพระศพพระเจ้าลูกเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี) เดิมอยู่ในกระถางมาช้านาน ครั้นเอาไปปลูกที่วัดนิเวศน์ฯ ได้อากาศและรสดินถูกธาตุก็งอกงามรวดเร็ว แต่แตกกิ่งสาขาเก้งก้างไม่มีใครกล้าตัดแต่ง ด้วยเกรงพระราชอาญาหรือกลัวบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง  ข้าพเจ้าจึงเอาเป็นธุระสั่งให้ “ดู” กิ่งก้านพระศรีมหาโพธิที่เกะกะ แต่งจนเรือนงาม  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นก็โปรด  นอกจากนั้นข้าพเจ้าให้หาต้นมะม่วง ขึ้นไปปลูกรายเป็นระยะในกำแพงวัด และหลวงสุรยุทธโยธาหารหาต้นหูกวางขึ้นไปปลูกรายที่ริมเขื่อนเพื่อให้รากยึดดินกันพัง ดูเหมือนจะยังอยู่จนบัดนี้ทั้ง ๒ อย่าง

เมื่อเวลาข้าพเจ้าบวช สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ๓ ครั้ง ครั้งแรกเสด็จไปถวายพุ่มเมื่อแรกเข้าพรรษา ครั้งหลังเสด็จไปพระราชทานพระกฐินเมื่อออกพรรษาแล้ว  โปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์วัดนิเวศน์ฯ กับวัดชุมพลนิกายาราม เข้าไปรับบิณฑบาตที่ในพระราชวังทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกรับบิณฑบาตทางบก ใช้สะพายบาตรมีสายโยคตามอย่างโบราณ อยู่ข้างจะลำบากแก่พระธรรมยุตเพราะเคยแต่อุ้มบาตร เจ้าคุณอมราฯ ท่านสั่งให้ฝึกหัดซักซ้อมรับบาตรสะพายสายโยค ด้วยเกรงว่าฝาบาตรหรือแม้ตัวบาตรจะไปพลัดตกลง แต่เมื่อคราวพระราชทานพระกฐินเป็นฤดูน้ำ เข้าไปรับบิณฑบาตทางเรือ มีเรือสำปั้นฝีพายหลวงไปรับสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณอมราฯ และตัวข้าพเจ้ากับพระและเจ้าเณรที่บวชขึ้นไปด้วยกัน เราเป็นแต่นั่งไป ไม่ต้องทำอะไรนอกจากคอยเปิดฝาบาตรรับอาหาร แต่พระสงฆ์ในท้องถิ่นองค์อื่นต้องลงเรือสำปั้นเล็ก ซึ่งเรียกกันว่า “เรือรับบิณฑบาตร” มีบาตรตั้งข้างหน้าพายไปเองอย่างไปเที่ยวรับบิณฑบาตโดยปกติ พระสงฆ์บางองค์ไม่ชำนาญการพายเรือเพราะโดยปกติไม่ใคร่ออกรับบาตร ไปได้ความลำบากก็มี  ในปีข้าพเจ้าบวชนั้น ได้ยินว่าเรือพระครูธรรมทิวากร (โห้) เจ้าอาวาสวัดชุมพลฯ เข้าไปล่มที่ในพระราชวังต้องช่วยกันเอะอะ

เมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่วัดนิเวศน์ฯ ประจวบกับมีเหตุสำคัญเกิดขึ้นอย่างหนึ่งซึ่งควรจะเล่า เพราะคนภายหลังยังไม่มีใครได้เคยพบเหตุเช่นนั้น เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระว่างวันที่ ๒๗ จนถึงวันที่ ๓๐ เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลๆ หลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพานท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯ ไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ  ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุต่อไป  ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงได้ทราบข่าวว่า ภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งระลอกน้ำในท้องทะเล แผ่ไปถึงนานาประเทศไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน เรื่องที่ข้าพเจ้าเล่านี้ถ้าใครจะใคร่รู้โดยพิสดารจงไปดูในหนังสือเอนไซโคลปีเดีย บริแตนิคะ ตรงอธิบายเรื่องเกาะกระกะเตาก็จะรู้ชัดเจน



อนุสาวรีย์คุณปลัดเสงี่ยม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าเป็นพิเศษ
ให้ประดิษฐานเจดีย์อัฐิธาตุ คุณหญิงเสน่หามนตรี ตำแหน่งคุณปลัดเสงี่ยม
ราชนัดดา ใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สายนครศรีธรรมราช
ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระราชวังบางปะอินพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณปีพระพุทธศักราช ๒๔๒๑
อนุสาวรีย์สร้างด้วยศิลาอ่อนแกะสลักสวยงาม มีกำแพงล้อมรอบ ประดับเสากำแพงด้วยกระถางศิลาอ่อน
หลังคามุงกระเบื้องหินชนวนแบบโบราณ ซึ่งเป็นวัสดุมุงดั้งเดิมของพระอุโบสถ


ภายในประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังลงรักปิดทองบรรจุอัฐิ พระเสน่หามนตรี หรือคุณปลัดเสงี่ยม
พระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดปรานมาก

คราวนี้ถึงตอนข้าพเจ้าจะสึก มีเรื่องประหลาดน่าเล่าอยู่บ้าง เมื่อออกพรรษาแล้วมีเวลาว่างก่อนทอดพระกฐินหลวงอยู่หลายวัน ข้าพเจ้าทูลลาไปเที่ยวทางหัวเมืองข้างเหนือ ก็โปรดฯ พระราชทานเรือไฟหลวงให้ใช้ และให้ไปทอดกฐินหลวงที่วัดธรรมามูล แขวงเมืองชัยนาทด้วย เมื่อกลับมาจัดการให้ราษฎรไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯ แล้วลงมากรุงเทพฯ เพื่อทูลลาสึกตามธรรมเนียม ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชได้ลงมากรุงเทพฯ ครั้งเดียวเท่านั้น พักอยู่ ๓ วัน พอเฝ้าทูลลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชแล้วก็กลับขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ ต่อมาในไม่กี่วัน มีเรือไฟหลวงรับมหาดเล็กเชิญลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปถึงข้าพเจ้าฉบับหนึ่งความว่า พวกฮ่อจะลงมาตีหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือ (คือมณฑลอุดร) อีก จะแต่งกองทัพให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เวลานั้นทรงบัญชาการมหาดไทย) เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปปราบฮ่อ มีพระราชประสงค์จะให้ข้าพเจ้ามีตำแหน่งไปในกองทัพครั้งนั้นด้วย ในพระราชหัตถเลขาตรัสว่า “เมื่อรับกฐินแล้วขอนิมนต์ให้สึกโดยเร็ว” ข้าพเจ้าทราบก็ยินดี ด้วยเป็นทหารจะได้ไปเห็นการทัพศึก รับสั่งให้โหรหาฤกษ์ เฉพาะไปได้ฤกษ์ตรงกับวันที่จะพระราชทานพระกฐิน  สมเด็จพระสังฆราชท่านปรึกษากับเจ้าคุณอมราฯ ว่าข้าพเจ้าควรจะอยู่ให้เสร็จพิธีกราลกฐินเสียก่อน ท่านบอกว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงปรารภว่า มีความขัดข้องอยู่อย่างหนึ่งในการที่ข้าพเจ้าจะสึกค่ำวันนั้น ด้วยพระสงฆ์ต้องสภาคาบัติ เพราะวันนั้นนุ่งห่มผ้าไตรย้อมขมิ้นที่พระราชทานในการพระกฐินด้วยกันทั้งวัด แม้สมเด็จพระสังฆราชเองเมื่อก่อนวันทอดกฐิน เข้าไปสวดมนต์ที่ตำหนักใหม่ของพระอัครชายาเธอฯ ก็ไปห่มผ้าไตรย้อมขมิ้น เป็นอาบัติอย่างเดียวกัน จะรับปลงอาบัติให้ไม่ได้ ขอให้บอกข้าพเจ้าว่า เมื่อบวชได้บวชโดยบริสุทธิ์แล้ว จะสึกก็ควรให้บริสุทธิ์อย่าให้อาบัติติดตัวไปจึงจะสมควร ความยากก็จะเกิดขึ้น ด้วยพระสงฆ์ธรรมยุตติซึ่งจะรับแสดงอาบัติมีอยู่ถึงวัดเสนาสน์ฯ ที่พระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างใกล้ ในเวลากำลังมาปรึกษากันอยู่ที่ตำหนักนั้น เผอิญเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปหา ท่านมีแก่ใจให้ยืมเรือไฟของท่านรับพระขึ้นไปแสดงอาบัติที่วัดเสนาสน์ฯ จึงวานคุณทรัพย์ขึ้นไปแสดงอาบัติบริสุทธิ์ แล้วกลับมารับอาบัติของข้าพเจ้าได้ทันเวลา พิธีการสึกนั้นทำที่ในพระอุโบสถ ข้าพเจ้านิมนต์สมเด็จพระสังฆราชกับเจ้าคุณอมราฯ และพระฐานานุกรมอีก ๓ รูป นั่งเป็นคณะปรก พิธีก็ทำง่ายๆ ข้าพเจ้าเข้าไปกราบ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวแก่พระสงฆ์ว่า “คีหิติ มํ ธาเรถ” ถ้าแปลก็ว่า “ท่านทั้งหลายจงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์” แต่เมื่อว่าไปแล้วเห็นสมเด็จพระสังฆราชท่านนั่งนิ่งเฉยอยู่ ข้าพเจ้าก็ประนมมือนั่งคุกเข่านิ่งอยู่ ประเดี๋ยวท่านสั่งให้ข้าพเจ้าว่าอีก แต่ให้ว่าเช่นนั้นซ้ำถึงสี่ห้าครั้ง  เมื่อว่าครั้งหลังท่านหันไปถามเจ้าคุณอมราฯ ว่า “เห็นจะขาดละนะ” เจ้าคุณอมราฯ รับว่า “ขาดแล้ว” ท่านจึงบอกให้ข้าพเจ้าไปเปลื้องไตร ผลัดผ้าเป็นคฤหัสถ์ ที่ทำเช่นนั้นเพราะท่านถือว่าการที่สึกใจต้องสิ้นอาลัยจริงๆ จึงจะขาดจากเพศสมณะ ถ้าใจยังอาลัยอยู่ถึงปากจะว่าอะไรก็ไม่ขาด ถ้าไปทำอะไรละเมิดพระวินัยก็จะเกิดเป็นบาปกรรมฐานภิกษุทุศีล จึงให้ว่าลาสึกซ้ำอยู่จนเห็นว่าใจสิ้นอาลัยจริงๆ แล้วก็อนุญาตให้สึก ครั้งนั้นจะเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงเมืองลพบุรีด้วย เมื่อสึกแล้วข้าพเจ้าเตรียมตัวจะไปตามเสด็จในตำแหน่งราชองครักษ์ แต่รุ่งขึ้นเช้าไปถวายพระราชกุศล มีพระราชดำรัสว่าอย่าไปตามเสด็จเลย ให้รีบกลับกรุงเทพฯ เตรียมตัวไปทัพ พอเสด็จไปแล้วไม่มีเรืออื่น ข้าพเจ้าจึงขอยืมเรือแหวดของหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ให้คนแจวลงมาจากวัดนิเวศน์ฯ ในเย็นวันนั้น จนใกล้รุ่งสว่างจึงมาถึงบ้าน แต่การที่จะไปทัพนั้นต่อมาอีกสัก ๑๕ วันก็บอกเลิก ด้วยได้ข่าวว่าพวกฮ่อถอยหนีไปหมดแล้ว เพราะรู้ว่าทางหัวเมืองเตรียมกองทัพไว้ไม่ประมาทเหมือนหนหลัง

ตั้งแต่สึกแล้วข้าพเจ้าก็ห่างกับเจ้าคุณอมราฯ มาหลายปี เพราะนานๆ ท่านจึงลงมากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง แต่เวลาข้าพเจ้าขึ้นไปบางปะอินคราวใดก็ไปหาท่านเสมอ นอกจากตัวข้าพเจ้า ในเจ้านายมีกรมพระสมมตฯ อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งสนิทชิดชอบกับท่าน เพราะทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ เมื่อท่านยังอยู่วัดนั้น  มักไปหาท่านเหมือนกับข้าพเจ้า เรื่องเนื่องกับประวัติของท่านในระยะนี้ดูเหมือนขุนปฏิบัติชินบุตร บิดาของท่านถึงแก่กรรม (หรือจะถึงแก่กรรมก่อนข้าพเจ้าบวชก็จำไม่ได้แน่) และทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานฐานานุศักดิ์ให้ท่านตั้งพระวินัยธร กับพระวินัยธรรมได้อีก ๒ รูป เสมอยศเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนั้นก็ที่มีคนศรัทธามาบวชเรียนในวัดนิเวศน์ฯ มากขึ้นจนต้องสร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มเติมดังกล่าวมาแล้ว มามีเหตุสำคัญเกิดขึ้นฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ในปีนั้นข้าพเจ้าตามเสด็จขึ้นไปบางปะอินเมื่อเข้าพรรษา ไปถวายพุ่มตามเคยเห็นท่านผ่ายผอมและผิวพรรณหม่นหมองผิดกับแต่ก่อน ถามอาการท่านตอบแต่ว่าไม่ใคร่สบาย ไม่บอกว่าป่วยเจ็บอย่างไร  กรมพระสมมตฯ ก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ครั้นเมื่อออกพรรษาตามเสด็จขึ้นไปทอดพระกฐิน ไปหาเจ้าคุณอมราฯ อีก ดูท่านก็ยังหม่นหมองอยู่เช่นนั้น แต่คราวนี้ถามท่าน ท่านบอกให้ทราบว่า ความเบื่อหน่ายสมณเพศเกิดขึ้นแก่ท่านมาหลายเดือนแล้ว เพียรระงับสักเท่าใดก็ไม่ระงับได้ เห็นจะต้องลาสิกขาเป็นสิ้นวาสนาเพียงนั้น กรมพระสมมตฯ กับข้าพเจ้าไม่อยากให้ท่านสึก ต่างอ้อนวอนห้ามปรามท่านก็ไม่ยอม พูดจาชี้แจงแก่ท่านอย่างไรท่านก็โต้แย้ง ประหลาดใจในคำโต้แย้งของท่านนั้น มักยกเอากลอนในเรื่องพระอภัยมณีมาท่องอ้าง ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านมา ไม่เคยได้ยินท่านพูดถึงเรื่องประโลมโลก หรือได้ยินว่าท่านอ่านหนังสือเรื่องใด ซึ่งในทางศาสนาปรับว่าเป็น “ติรัจฉานกถา” มาแต่ก่อน เห็นจะจับอ่านหนังสือพระอภัยมณีเมื่อเกิดไม่สบายนั่นเอง  เป็นอันรู้ว่าท่านเป็นโรคซึ่งชาววัดเรียกว่า “โรคกระสัน” อันเป็นเหตุที่พระราชาคณะและเปรียญสึกมาแต่ก่อนโดยมาก  ที่จริงพระภิกษุเป็นโรคอย่างนี้มีมาแต่ในพุทธกาล ปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าเช่นนิบาตชาดก เป็นต้น หลายเรื่อง แต่พระคันถรจนาจารย์เห็นจะยกมาแสดงเฉพาะเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสามารถแสดงพระธรรมเทศนาให้กลับใจได้ ในเรื่องเจ้าคุณอมราฯ กรมพระสมมตฯ กับข้าพเจ้าปรึกษากันเห็นว่าอาการโรคหนักเสียแล้วยังมีแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงองค์เดียวที่จะทรงห้ามปรามได้ด้วยเจ้าคุณอมราฯ มีความกตัญญูมาก แต่เมื่อไปกราบทูลให้ทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า โรคอาการถึงเช่นพระอมราฯ ยอมให้สึกเสียดีกว่า ถ้าขืนใจให้บวชอยู่ต่อไปอาจจะให้โทษแก่ตัว เมื่อท่านได้ทราบว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะไม่ทรงขัดขวางก็ถวายพระพรลาสึก เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๓๒ เมื่อสึกนั้นอายุได้ ๓๗ ปี บวชเป็นพระภิกษุ ๑๖ พรรษา






พลับพลาที่ประทับ รัชกาลที่ ๕ ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ


สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์
ที่บรรจุอัษฐิธาตุท่านผู้เป็นบุรพการี - เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกรัชกาลที่ ๔
เจ้าจอมมารดา ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ท่านอุบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗ ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖






บริเวณหน้าพระราชวังบางปะอิน เป็นจุดขึ้นกระเช้าข้ามแม่น้ำไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ


กระเช้าข้ามฟาก ไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ  


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 พฤษภาคม 2559 09:49:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.583 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 17 ชั่วโมงที่แล้ว