[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 17:59:41 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เมตตา และ กรุณา (ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง)  (อ่าน 3429 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5067


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2559 14:51:53 »



เมตตาและกรุณา

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้ไปเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เผชิญความตายอย่างสงบ ของเครือข่ายพุทธิกา เสมสิกขาลัย ซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล ร่วมบรรยาย ซึ่งเป็นการอบรมสำหรับผู้สนใจทั่วไป

ในการอบรมครั้งนั้นพบว่ามีประชาชนและแพทย์ พยาบาล มาอบรมร่วมกัน ผู้บรรยายกล่าวว่า ช่วงระยะหลัง ๆ มานี้มีแพทย์และพยาบาลมาร่วมอบรมมากขึ้นทุกปี นั่นย่อมแสดงว่าทีมบุคลากรทางสาธารณสุขเริ่มมีความใส่ใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจมากขึ้น

ระหว่างการอบรมมักมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความคิดเห็นและความเข้าใจเกี่ยวกับความตายหลายอย่าง มีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ให้ทุกคนไปเป็นจิตอาสาเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม มีการจับคู่กันไปเยี่ยมผู้ป่วยกันเอง จากนั้นก็นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มใหญ่อีกที

แพทย์ชายวัยกลางคนท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้จับคู่กับชายหนุ่มอายุราว 30 ปีซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ได้ไปเยี่ยมหญิงชราอายุ 60 ปีซึ่งป่วยด้วยภาวะหอบเหนื่อยจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในห้องไอซียู

ทันทีที่ทั้งคู่ไปเยี่ยมหญิงชรา ต่างก็พากันชวนคุยเพื่อให้หญิงชราสบายใจแม้ว่าหญิงชราจะพูดไม่ได้ก็ตาม ชายหนุ่มเริ่มพูดขึ้นก่อนว่า “ป้าชอบทำอะไรครับ ชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน ทำกับข้าว หรือไปช็อปปิ้ง”

หญิงชราเริ่มยิ้มน้อย ๆ แล้วส่ายหน้าว่าพูดไม่ได้

“ป้าไม่ต้องพูดหรอก แค่พยักหน้าก็พอแล้ว ป้าชอบตกปลาไหมล่ะ”

หญิงชราพยักหน้าพร้อมกับยิ้มตาเป็นประกาย

ก่อนที่นายแพทย์ซึ่งไปด้วยกำลังจะเอ่ยปากว่า การตกปลานั้นเป็นบาปที่ป้าไม่ควรทำ ทันใดนั้นชายหนุ่มก็เริ่มจับมือของป้าแล้วพูดว่า “อ๋อ ตกปลาสนุกดีใช่ไหมครับ”

จากนั้นก็เริ่มเล่าวิธีตกปลา “ผมก็ไม่ชำนาญหรอกนะ แต่ตอนเด็ก ๆ ผมมักไปตกปลากับพ่อที่แม่น้ำข้างบ้าน ตอนแรกก็ต้องไปขุดหาไส้เดือนก่อน ป้าก็ต้องขุดใช่ไหมหรือป้าซื้อเอา”

หญิงชราขยับริมฝีปากโดยไม่มีเสียงออกมาอ่านได้ว่า…..ขุดเอา

“พอขุดได้แล้วก็เอาไส้เดือนไปเกี่ยวกับอะไรน้า” ชายหนุ่มทำท่าใช้ความคิด

หญิงชราขมุบขมิบปากอีกว่า….ตะขอ

“ใช่แล้ว ๆ จากนั้นก็เหวี่ยงคันเบ็ดไปที่แม่น้ำ ผมเคยตกได้ปลาดุกตัวเท่าแขนเลยนะ”

หญิงชรายิ้มและพยักหน้าอย่างเร็ว ๆ พร้อมกับขมุบขมิบปากว่า…. เหมือนกันเลย

“แต่บางวันโชคไม่ดีก็นั่งมันทั้งวันเลยก็ตกไม่ได้ บางวันหลับไปทั้งวันเลยก็มี ปลาเดี๋ยวนี้มันฉลาดขึ้นเลยจับยากขึ้นทุกที”

หญิงชราขยับปากสนับสนุนขึ้นมา ….ใช่ ๆ

พอดีมีทีมวิทยากรมาตามเพื่อให้คู่นี้ไปเยี่ยมเตียงของผู้ป่วยรายอื่น ๆ อีก เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องไปเยี่ยม

ทันทีที่จิตอาสาคู่นี้ทำท่าจะผละออกจากเตียง หญิงชราก็เริ่มหน้าเศร้าพร้อมกับมีท่าทีเหงาหงอย

ชายหนุ่มรีบเอื้อมมือไปจับและตบมือของหญิงชราเบา ๆ อย่างให้กำลังใจว่า “เดี๋ยวไปเยี่ยมเตียงนั้นแป๊บเดียวก็จะกลับมาใหม่”

หญิงชรายิ้มออกมาอย่างมีความหวัง

หลังจากจิตอาสาคู่นี้ไปเยี่ยมเตียงอื่นสักพักก็กลับมาพูดคุยกับหญิงชราจนกระทั่งหมดเวลาเยี่ยม

ชายหนุ่มแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มให้ฟังว่า

“ผมรู้สึกถึงความเหงาของป้า ป้าคงไม่มีใครมาพูดคุยด้วย อาจเป็นเพราะป้าใส่ท่อช่วยหายใจอยู่แล้ว คนคงคิดว่าป้าพูดไม่ได้ แต่พอผมพูดเสร็จ ป้าก็พึมพำขยับปากได้แม้จะไม่มีเสียง แต่เราก็อ่านปากเข้าใจกันได้ ทำให้เราสื่อสารกันได้อย่างออกรสชาติ พอผมจะย้ายไปเตียงอื่นก็สังเกตได้เลยว่าป้ายังอยากคุยกันต่อ อาจเป็นเพราะผมเลือกเรื่องคุยที่ป้าเขาชอบก็ได้”

นายแพทย์ที่ไปด้วยกล่าวว่า “ผมเคยชินกับผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจอยู่แล้ว จนนึกภาพไม่ออกว่าจะไปเยี่ยมกันอย่างไรเพราะเขาพูดไม่ได้ แต่ผมเห็นน้องเขาพยายามชวนพูดคุยเหมือนกับลูกหลานมาเยี่ยม ทำให้หลายครั้งป้าเขายิ้มออกมาได้ เขาก็สื่อสารกันได้ด้วยการอ่านริมฝีปาก ก็นับเป็นการสื่อสารที่ออกรสชาติได้เท่าการพูดคุยกันเลย น้องเขามีการจับมือจับตัวของป้าด้วยก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น”

“ตอนแรกก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรกัน อยู่ดี ๆ น้องเขาก็พูดเรื่องตกปลาขึ้นมา ผมกำลังจะพูดว่าการตกปลานั้นเป็นบาป แต่น้องชิงพูดขึ้นมาเรื่องวิธีการตกปลา เอาไส้เดือนเกี่ยวตะขอ จนป้าสนุกสนานไปด้วย”

“ผมว่าน้องเขาเป็นพระเอกมากเลย ผมเกือบจะเป็นผู้ร้ายเลยครับ” นายแพทย์ท่านนั้นกล่าวจบประโยคพร้อมกับรอยยิ้ม

ชายหนุ่มกล่าวเสริมขึ้นว่า “จริง ๆ แล้วผมเห็นด้วยกับคุณหมอว่า การตกปลานั้นเป็นบาป แต่ในสภาพร่างกายของป้าที่เจ็บปวดขนาดนี้ เขาคงอยากมีความสุข ความหวัง ความฝันกับสิ่งต่าง ๆ ในอดีต บางครั้งการได้นั่งคิดถึงอดีตที่มีความสุขก็ทำให้ลืมความทุกข์ที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้…. มันคงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเทศนาเรื่องความดีงามและความถูกต้องนะครับ”

“ผมไม่ได้ชำนาญเรื่องการตกปลาหรอกครับ แต่บังเอิญชวนคุยไปเรื่อยเปื่อยแล้วพบว่า พอพูดถึงการตกปลาแล้วป้ายิ้มอย่างกระตือรือร้น ผมจึงเลือกคุยเรื่องนี้ เวลาพูดคุยผมรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมคนในครอบครัวจริง ๆ จนอยากให้เขาสบายใจที่สุด ตอนคุยผมยังได้เรียนรู้วิธีตกปลาที่ถูกต้องไปด้วย จนมั่นใจว่ากลับไปนี่จะตกปลาได้เก่งขึ้นเลยครับ ผมรู้สึกสุขใจที่เห็นป้าเขายิ้มได้ทั้งที่ร่างกายคงทรมานมาก”

การเป็นจิตอาสานี้มีประโยชน์มาก หลายครั้งเราติดกับดักของอาชีพมากเกินไป พอเราไปอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นสภาพคุ้นชินเดิม ๆ ก็ทำให้หัวโขนของความเป็นหมอเหล่านั้นกลับมา เราจึงอยากไปสอนและอบรมผู้ป่วยโดยไม่ได้ดูว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาพเช่นไร เพียงเราถอดเปลือกทุกอย่างออกแล้วลองคิดแบบเขาไปพร้อมกับเข้าใจเขา เราก็จะมีความอ่อนโยนมากพอที่จะเจือจานและอยากให้เขาหายหรือสบายใจ

เพียงเรารักษากายของผู้ป่วยไปตามวิชาที่ร่ำเรียนมา และเติมความเข้าอกเข้าใจไปพร้อมกับความเห็นใจเพียงเท่านี้ก็สามารถเยียวยาผู้ป่วยได้ทั้งกายและใจ

ในบทบาทญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยก็ไม่ควรทุกข์ร่ำไห้เกินหน้าเกินตายิ่งกว่าผู้ป่วย ญาติควรเพิ่มบทบาทเยียวยาใจด้วยการพูดคุยถึงความหวัง ความฝัน และความดีที่เขามีความภาคภูมิใจ รวมทั้งให้กำลังใจว่าพร้อมจะอยู่เคียงข้างก็ยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยก้าวข้ามความเจ็บป่วยไปได้อย่างราบรื่น

การอบรมครั้งนี้มีการสอนให้ทำทองเลนซึ่งเป็นการฝึกภาวนาเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น โดยมีหลักการคือ เปิดใจรับความทุกข์ ความเจ็บปวดของผู้อื่นมาที่ตัวเรา และเปิดใจส่งความดี ความสุข ความเข้มแข็งของเราให้ผู้นั้น

“ทองเลน” พลังจักรวาลขั้นสูงสุดแห่งทิเบต เปลี่ยนพลังจักรวาลด้านลบเป็นบวก จากบันทึกของท่าน “โซเกียล รินโปเช” ได้กล่าวถึงการทำสมาธิแบบ “ทองเลน” อันเป็นการทำสมาธิเพื่อเปลี่ยนพลังลบเป็นบวกได้อย่างอัศจรรย์ ท่านโซเกียล รินโปเช ได้ศึกษาสมาธิแบบทองเลนนี้มาจากท่าน “เกะเช เชคาวา” อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำวิชานี้ไปเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับ โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ไม่มีทางรักษาได้ ด้วยการฝึกสมาธิแบบทองเลนนี้ กลับทำให้พวกเขาหายจากโรคเรื้อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำไปสู่การยอมรับสมาธิแบบนี้ในเวลาต่อมา

พระไพศาล วิสาโล ประยุกต์กระบวนการทำทองเลนมาใช้ในการฝึกอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ” ของเครือข่ายพุทธิกา ดังนี้

นั่งตามสบาย หายใจเข้า-ออกด้วยความผ่อนคลาย น้อมจิตให้อยู่กับลมหายใจ ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน

รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกายของเขา

ในใจของเรานั้นเปี่ยมด้วยความเมตตา

ให้สร้างภาพในใจว่า มีควันดำพวยพุ่งขึ้นจากร่างกายที่เจ็บปวดของเขา ให้ใจเราเปิดน้อมเอาควันดำนั้นลอยเข้ามาในตัวเรา ควันนั้นค่อย ๆ ขจัดความเห็นแก่ตัวของเรา จนในที่สุดความยึดถือในตัวเราได้ถูกควันนั้นกัดกร่อนทำลายให้ลดน้อยลง จิตที่เห็นแก่ตัวได้ถูกทำลายไปก็ยิ่งแผ่รังสีขาวนวลจากใจแผ่เมตตาไปที่ผู้ป่วย ให้ความปรารถนาดีไปเยียวยาความทุกข์ของเขา

เราอาจทำง่าย ๆ ได้โดยใช้ใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาอยากให้เขาเป็นสุข และเพิ่มความกรุณาซึ่งอยากให้เขาพ้นทุกข์เข้าไปด้วย

อาจเพียงแค่ส่งความปรารถนาดีผ่านทางการสัมผัส เช่น กุมมือของผู้ป่วยไว้ อาจสื่อได้ด้วยน้ำเสียงแววตา ผู้ป่วยจะรับรู้ได้แม้อยู่ในภาวะโคม่าก็ตาม นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีอื่นที่ทำให้พลังเมตตาส่งไปที่ตัวผู้ป่วยได้ สัมผัสผู้ป่วยในขณะที่ใจเมตตา นึกภาวนาให้เขาหายจากโรคร้ายด้วยใจสงบนิ่งแม้ไม่พูดเลย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเราจะมีพลังที่สื่อไปถึงเขาได้

จาก http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1297#.V3wJEHY2veM

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เมตตา ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโก)
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
เงาฝัน 1 3203 กระทู้ล่าสุด 10 มีนาคม 2553 19:08:25
โดย หมีงงในพงหญ้า
ลิงหลอกเจ้า : ปรัชญา และ กรุณา
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 2 2526 กระทู้ล่าสุด 14 มกราคม 2554 10:25:11
โดย เจ้าทึ่ม
ของขลังเรียกทรัพย์ เมตตา มหานิยม
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
ใบบุญ 6 30091 กระทู้ล่าสุด 21 มกราคม 2557 18:52:54
โดย ใบบุญ
เมตตา… วิถีความสุขแห่งทิเบต
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1098 กระทู้ล่าสุด 06 กรกฎาคม 2559 14:59:07
โดย มดเอ๊ก
ดอกบัวแห่งปัญญา และ กรุณา เพม่า โชดรัน
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 1 1940 กระทู้ล่าสุด 18 กรกฎาคม 2559 14:59:50
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.313 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 เมษายน 2567 05:36:15