[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 14:32:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๒ การแสดงบาป  (อ่าน 1023 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5072


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2559 01:59:49 »

หมวดหมู่: คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร

ตอนนี้ผมเรียบเรียง คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร เนื้อหาประกอบด้วย ๑๐ ปริเฉทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในจะมีเนื้อหา แบ่งเป็นในแต่ละปริเฉท ซึ่งจะมีบทปริวรรตภาษาสันสกฤตเป็นอักษรไทย 2 แบบ และมีเสียงประกอบให้อ่านตามได้ ส่วนล่างสุดจะเป็นบทแปลครับ เหมาะสำหรับผู้สนใจทั้งคัมภีร์ศาสนา, การออกเสียงภาษาสันสกฤต, และฉันทลักษณ์สันสกฤต

คัมภีร์โพธิจรรยาวตารเป็นบทประพันธ์อันมีชื่อเสียงของท่านศานติเทวะ ผู้เป็นพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ 8 เนื้อหาประกอบด้วย ๑๐ ปริเฉท มีจํานวนโศลกทั้งสิ้น 913 โศลก ในการประพันธ์ได้ใช้ฉันทลักษณ์11 ชนิด

คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร เป็นคัมภีร์สําคัญของพระพุทธศาสนามหายานนิกายมาธยมิก ที่กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ หรือหลักการดําเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์ เป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งหลักคําสอนอันครอบคลุมแนวความคิดสําคัญทั้ง 3 ด้านของพระพุทธศาสนามหายานคือ แนวความคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ แนวความคิดเรื่องปรัชญาศูนยตาและแนวความคิด เรื่องพุทธภักติ อันมีเนื้อหาสาระส่วนใหญ่มุ่งอธิบายถึงหลักการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์เป็นสําคัญ

ต้นฉบับภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครีจากโครงการ DSBC ปริวรรตเป็นไทยโดยโปรแกรมไทย-สันสคริปท์ เสียงจากโครงการ Bodhisvara ในส่วนคำแปลนั้น ได้รับอนุญาตจากผู้แปลคือ พระมหาวิชาญ กำเหนิดกลับ

เนื้อหาเพิ่มเติม http://blog.thai-sanscript.com/category/bodhicharyavatara/




โพธิจรรยาวตารของศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๒ การแสดงบาป

ในปริเฉทที่ ๒ ท่านศานติเทวะ อธิบาย วิธีการชำระล้างจิตใจเพื่อ ที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างโพธิจิต

ต้นฉบับจากโครงการ DSBC เสียงจากโครงการ Bodhisvara  แปลโดย พระมหาวิชาญ กำเหนิดกลับ ปริวรรตเป็นไทยโดยโปรแกรมไทย-สันสคริปท์

เพิ่มเติม http://blog.thai-sanscript.com/benefits_bodhicitta/



โพธิจรรยาวตารของศานติเทวะ

ปริเฉทที่ ๒ การแสดงบาป

๑. เพราะการยึดมั่นซึ่งจิตตรัตนะนั้น ข้าพเจ้าจึงทำการสักการบูชาอย่างดียิ่งแด่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แด่พระธรรมรัตนะอันบริสุทธิ์ไร้มลทิน และแด่เหล่าพระพุทธบุตรผู้มีคุณอันกว้างขวางทั้งหลาย
๒. มีดอกไม้ ผลไม้ และเภสัชทั้งหลายประมาณเพียงใด รัตนะทั้งหลายและน้ำบริสุทธิ์อันน่าอภิรมย์ใจประมาณเท่าใดมีอยู่ในโลก
๓. มีภูเขาแก้วต่าง ๆ และป่าดงพงไพรอันเงียบสงัดและน่ารื่นรมย์ใจ มีเถาวัลย์ที่งดงามอร่ามสดใสด้วยการประดับตกแต่งแห่งดอกไม้ต่างๆทั้งยังมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ ซึ่งมีกิ่งห้อยย้อยน้อมลงต่ำเพราะมีผลดก
๔. มีธูปหอม ต้นกัลปพฤกษ์และต้นรัตนพฤกษ์ทั้งหลาย (ที่เกิด) ในเทวโลก เป็นต้น ทั้งยังมีสายธารที่ดาษดื่นไปด้วยกลุ่มดอกบัวอันน่าตราตรึงใจยิ่งนัก พร้อมด้วยเสียงร้องแห่งหงส์ห่าน
๕. ท้องทุ่งที่ประกอบไปด้วยข้าวกล้าอันหลากหลาย และเครื่องประดับสำหรับการสักการบูชาอย่างต่าง ๆ หรือเขตแดนที่แผ่ซ่านไปทั่วอากาศธาตุทั้งมวล สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้ามิได้ยึดมั่นถือมั่นอยู่เลย
๖. ครั้นได้ยึดมั่นอยู่ในปัญญาชาติผู้รู้แล้ว ข้าพเจ้าจึงขอน้อมถวายแด่พระผู้เป็นจอมมุนีทั้งหลาย พร้อมทั้งเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เมื่อจะทรงอนุเคราะห์ข้าพเจ้า ขอพระผู้ทรงมหากรุณาคุณผู้ทรงเป็นทักขิเณยบุคคลอันประเสริฐ ได้โปรดทรงรับเครื่องสักการบูชาของข้าพเจ้านี้ด้วยเถิด
๗. ข้าพเจ้ามิได้สร้างสมบุญกุศลไว้ ทั้งยังเป็นผู้ยากจนขัดสนยิ่ง วัตถุใด ๆ อื่นของข้าพเจ้าที่เป็นประโยชน์สำหรับการบูชาก็ไม่มี ดังนั้นด้วยพลังอำนาจของพระองค์ขอพระนาถเจ้าผู้มีพระหฤทัยน้อมไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่น จงโปรดรับเครื่องสักการะนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
๘. ข้าพเจ้าขอน้อมถวายตนแด่พระชินเจ้าทั้งหลาย และขอน้อมยอมตนโอนอ่อนต่อเหล่าพุทธบุตรทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ขอพระผู้องอาจได้โปรดคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิดข้าพเจ้าขอถึงความเป็นทาสของพระองค์ด้วยความคารวะภักดี
๙. เมื่อพระองค์ทรงคุ้มครองข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าย่อมไม่มีความหวาดกลัว จะมุ่งทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะก้าวล่วงบ่วงบาปที่เคยทำไว้ในครั้งก่อน ทั้งจะไม่กระทำบาปอื่นๆอีกต่อไป
๑๐. ณ เคหสถานลานสรงสนานซึ่งมีกลิ่นหอมดี อันโชติช่วงชัชวาลงามสง่าไปด้วยเสาแก้ว มีเพดานประดับด้วยแก้วมุกดาขาวสะอาดสดใสมีพื้นแก้วผลึกส่องประกายเป็นเงามัน
๑๑. ข้าพเจ้าจะขอทำการสรงสนาน (พระวรกาย) ของพระตถาคตทั้งหลาย พร้อมทั้งเหล่าพุทธบุตรทั้งมวลด้วยหม้อแก้วจำนวนมากล้วนที่เต็มบริบูรณ์ไปด้วยน้ำหอมและดอกไม้อันน่าเพลิดเพลินใจพร้อมกับการประโคมดนตรีและเสียงเพลงกล่อม
๑๒. ข้าพเจ้าจะชำระพระวรกายของพระตถาคตและเหล่าพระสาวกเหล่านั้น ด้วยกลิ่นธูปและผ้าบริสุทธิ์สะอาดอันหาที่เปรียบมิได้ จากนั้น ข้าพเจ้าจะถวายจีวรอันประเสริฐซึ่งย้อมและอบดีแล้วแด่พระตถาคตและหมู่พระสาวกทั้งปวง
๑๓. ข้าพเจ้าจะตกแต่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย มีพระสมันตภัทร ๑ พระมัญชุโฆษ ๒ และพระอวโลกิเตศวร ๓ เป็นต้น ด้วยผ้าทิพย์เนื้ออ่อนนุ่มและงามวิจิตรทันสมัย พร้อมด้วยเครื่องประดับอันเหมาะสมชนิดต่างๆ
๑๔. ข้าพเจ้าจะลูบไล้พระวรกายแห่งท่านผู้เป็นจอมมุนีทั้งปวงนั้น ซึ่งมีองค์ทรงประกายด้วยแสงทองส่องบริสุทธิ์ดุจรัศมีอาทิตย์อุทัย ด้วยเครื่องหอมอันประเสริฐเลิศด้วยกลิ่นหอมอบอวลไปไกลถึง ๓,๐๐๐ โลก
๑๕. ข้าพเจ้าขอสักการบูชาท่านจอมมุนีผู้ควรบูชาทั้งหลาย ด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอมอันน่าหลงใหลทั้งมวล มีดอกมนทารพ ๑ ดอกบัวและดอกมะลิ เป็นต้น พร้อมด้วยพวงมาลัยทั้งหลายที่ร้อยไว้อย่างดีน่าชื่นชมอภิรมย์จิต
๑๖. ข้าพเจ้าจะอบองค์ท่านจอมมุนีเหล่านั้น ด้วยควันธูปอันมีกลิ่นหอมสดชื่นเจริญใจและน่ารื่นรมย์ทั้งข้าพเจ้าจะขอมอบถวายภัตตาหารชั้นสวรรค์ที่ประกอบพร้อมไปด้วยของกินของขบเคี้ยวและน้ำดื่มชนิดต่างๆแด่ท่านเหล่านั้น
๑๗. ข้าพเจ้าขอน้อมถวายรัตนประทีปที่จัดไว้อย่างสวยสดงดงามบนดอกบัวทองทั้งหลาย และข้าพเจ้าจะโปรยเกลี่ยกลุ่มดอกไม้ที่ชวนอภิรมย์ใจไว้บนภาคพื้นอันประพรมไปด้วยน้ำหอม
๑๘. ข้าพเจ้าขอน้อมถวายวิมานเมฆที่ชวนเพลิดเพลินเจริญโสตด้วยเสียงเพลงสดุดี อันเปล่งแสงแพรวพราวงดงามไปด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี ซึ่งห้อยย้อยระยิบระยับประดับประดาไปทั่วทุกสารทิศแด่พระผู้ทรงเมตตากรุณาคุณทั้งหลาย
๑๙. ข้าพเจ้านั้นจะกั้นรัตนฉัตรอันงดงามยิ่ง ซึ่งประดับตกแต่งด้วยแก้วมุกดาที่บุคคลยกตั้งกางไว้พร้อมกับคันทองคำอันน่าอภิรมย์ชวนชมนักแด่พระมหามุนีเจ้าทั้งหลาย
๒๐. ลำดับนั้น ขอเครื่องสักการบูชาทั้งมวลที่ชวนเสน่ห์ เครื่องดนตรีและเพลงขับทั้งหลายตลอดถึงความยินดีปรีดาแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวงพึงดำรงคงอยู่ตลอดไป
๒๑. ขอสายฝนมีบุษปพรรษและรัตนพรรษเป็นต้นพึงตกรดรั่วลงบนพระสัทธรรมรัตนะทั้งปวงบนสถานที่สักการะบวงสรวงและที่พระรูปทั้งหลายตลอดกาลเป็นนิตย์เถิด
๒๒. ข้าพเจ้าย่อมบูชาพระตถาคตเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งหมู่พระสาวกสงฆ์เช่นเดียวกับที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย มีพระมัญชุโฆษ เป็นต้น ได้บูชาพระชินเจ้าทั้งหลายอยู่ฉะนั้น
๒๓. ข้าพเจ้าขอสรรเสริญสดุดีห้วงมหรรณพคือ คุณความดีทั้งหลาย ด้วยมหาสมุทรคือบทสวดสรรเสริญจำนวนมากล้น และขอเพลงขับสดุดีทั้งปวงจงดลปรากฏแด่พระโพธิสัตว์เหล่านั้นชั่วนิรันดร์กาลเถิด
๒๔. ข้าพเจ้าขอนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ซึ่งทรงเสด็จประทับอยู่ในกาลทั้ง ๓ พร้อมทั้งพระธรรมและพระโพธิสัตว์สงฆ์ ด้วยความเคารพนบน้อมเท่าจำนวนผงอณูในพุทธเกษตรทั้งมวล
๒๕. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมสถานที่สักการบูชาทั้งปวง ซึ่งเป็นเหมือนสถานที่บำเพ็ญบุพพกิจของพระโพธิสัตว์ และขอคารวะนบน้อมแด่พระอาจารย์ แด่ท่านผู้บำเพ็ญพรตและท่านผู้ควรกราบไหว้ทั้งหลาย
๒๖. ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัย ขอถึงพระธรรมและหมู่พระโพธิสัตว์สงฆ์เป็นสรณะจนกระทั่งข้าพเจ้าได้บรรลุถึงสารัตถะแห่งสัมมาสัมโพธิ
๒๗. ข้าพเจ้าขอประณมกรน้อมนำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตมั่นอยู่ในทิศทั้งมวลพร้อมทั้งเหล่าพระโพธิสัตว์ผู้ทรงไว้ซึ่งมหากรุณาคุณทั้งปวงให้ทรงรับทราบว่า
๒๘. ในสงสารวัฏอันไม่มีเบื้องต้น ในชาตินี้หรือชาติไหน ๆ ข้าพเจ้าผู้เป็นสัตว์ชั่วช้าลามกได้สรรสร้างบาปกรรมหรือได้ให้ผู้อื่นทำบาปใดๆไว้แล้ว
๒๙. เพราะความหลงที่ตั้งขึ้นจากตัวตน ข้าพเจ้าจึงบันเทิงยินดีต่อบาปกรรมเหล่านั้น ข้าพเจ้าขอประกาศความผิดพลาดนั้นเพราะถูกความเร่าร้อนแผดเผาแล้วในภายหลัง
๓๐. เพราะความโอหังหยิ่งทะนงตน ข้าพเจ้าจึงได้ทำความผิดพลาดด้วยกายวาจาใจไว้ในพระรัตนตรัยในบิดามารดาครูบาอาจารย์และผู้คนเหล่าอื่นๆ
๓๑. ข้าแต่พระผู้ชี้นำทั้งหลาย บาปกรรมอันทารุณใด ๆ ที่ข้าพเจ้าคนชั่วช้าลามก ผู้ถูกโทษทุกข์เป็นเอนกประการเบียดเบียนอยู่ ได้สร้างสมไว้แล้ว ข้าพเจ้าขอประกาศแสดงบาปทั้งหมดนั้น (ต่อท่านทั้งหลาย)
๓๒. ข้าแต่พระนายกเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นผู้กังวลใจอยู่เป็นนิตย์ (เพราะคิด) ว่า เราจะสลัดออกจากทุกข์ได้อย่างไร เมื่อการสั่งสมบาปยังไม่สิ้นสุด ขอความตายอย่าพึงมีแก่ข้าพเจ้าเสียก่อน
๓๓. (เพราะกังวลร้อนใจอยู่ว่า) ข้าพเจ้าจะสลัดปัดเป่าความทุกข์ได้อย่างไร ขอพระองค์ทั้งหลายจงปกปักษ์รักษาข้าพเจ้าโดยเร็วพลันเถิดและขอความตายจงอย่าถึงแก่ข้าพเจ้าผู้ยังไม่สิ้นบาปโดยฉับพลันเลย
๓๔. ก็ความตายนี้ไม่เคยคำนึงถึงกิจที่เราทำแล้วและยังมิได้ทำเป็นฆาตกรเลือดเย็นยิ่งนักสามารถกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นได้โดยเร็ว ซึ่งบุคคลทั้งเชื่อและไม่เชื่อก็ไม่ควรวางใจได้เลย
๓๕. ข้าพเจ้าได้สร้างสมบาปไว้อย่างเอนกอนันต์ ก็เพราะมีบุคคลอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังเป็นเหตุ ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าใจรู้แจ้งถึงความชั่วนี้ว่า เราควรสละทิ้งสิ่งทั้งปวงแล้วหลีกไปเสีย (ดีหรือไม่)
๓๖. จักไม่มีบุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก แม้ผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าก็จักไม่มี ข้าพเจ้าเองก็ไม่มี และสิ่งทั้งปวงก็จักไม่มีเช่นกัน
๓๗. ข้าพเจ้าได้พึ่งพาอาศัยสิ่งใด ๆ สิ่งนั้น ๆ ย่อมเหลือไว้เพียงเพื่อความทรงจำ สิ่งทั้งมวลเป็นเช่นเดียวกับความฝันเมื่อผ่านพ้นไปแล้วข้าพเจ้าย่อมไม่พบเห็นอีกเลย
๓๘. บุคคลอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังทุกเหล่าพวก เมื่อผ่านไปแล้วหาตั้งอยู่ (เพื่อทำร้ายข้าพเจ้า) ในที่นี้ก่อนไม่ แต่บาปกรรมอันใดที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้กับพวกเขาเหล่านั้นแล้ว บาปอันชั่วช้านั้นได้ตั้งมั่นรอคอย (ข้าพเจ้า) อยู่แล้วอย่างน่ากลัว
๓๙. ข้าพเจ้ามิได้ใคร่ครวญอย่างนี้ว่าตัวเรานี้เป็นเพียงอาคันตุกะสัตว์จรมาข้าพเจ้าจึงได้ก่อกรรมทำบาปไว้โดยประการต่างๆด้วยเพราะมีราคะโทสะและโมหะทั้งหลาย (ครอบงำอยู่)
๔๐. ความเสื่อมถอยแห่งอายุของข้าพเจ้าก็เจริญเพิ่มขึ้นทุกคืนวัน และการเข้าถึงความยั่งยืนนานแห่งอายุนั้นก็ไม่มีข้าพเจ้าจักไม่ตายหรืออย่างไรกัน
๔๑. ในสภาพการณ์เช่นนี้ แม้ข้าพเจ้าจะดำรงตนอยู่ในท่ามกลางหมู่ผองเพื่อน หรือนอนเนื่องอยู่บนเตียงเพียงลำพัง ก็ควรอดกลั้นทนต่อเวทนา มีการบั่นทอนทำลายไปแห่งอวัยวะร่างกายเป็นต้น
๔๒. เมื่อข้าพเจ้าถูกยมทูตครอบงำอยู่ เหล่าพวกพ้องของข้าพเจ้าจักมีแต่ที่ไหน ข้าพเจ้าจักหามิตรผู้ใจดีได้อย่างไรบุญอย่างเดียวเท่านั้นที่จะคุ้มครองช่วยเหลือได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยส่องเสพบุญนั้นเลย
๔๓. ข้าแต่พระนาถเจ้าทั้งหลาย เพราะการผูกติดยึดอยู่กับชีวิตอันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ข้าพเจ้าเป็นผู้ประมาทแล้วไม่รู้เห็นซึ่งภัยนี้จึงได้สร้างกรรมทำชั่วไว้อย่างมากมาย
๔๔. ผู้ที่ถูกนำไปสู่จุดหมายคือการตัดอวัยวะร่างกายให้สิ้นไปในวันนี้ เขาย่อมแห้งเหี่ยวใจ มีความดิ้นรนกระหายอยากดวงตาก็เจ็บปวดทรมานเขาย่อมมองเห็นโลกเป็นอย่างอื่น
๔๕. จะมีประโยชน์อันใดที่จะกล่าวถึงผู้ซึ่งถูกเหล่ายมทูตที่มีลักษณะท่าทางน่ากลัวควบคุมย้ำยีอยู่ผู้ถูกทุกข์คือความหวาดกลัวอย่างยิ่งยวดท่วมทับอยู่ หรือผู้ที่เจ็บปวดทรมานใจเพราะเปอะเปลือนไปด้วยมลทินสิ่งปฏิกูล
๔๖. เพราะเกิดอาการขี้ขลาดขึ้น ข้าพเจ้าจึงต้องแสวงหาแหล่งที่พึ่งพิงทั่วจตุรทิศ ใครกันเล่าจะเป็นผู้คุ้มครองข้าพเจ้าได้ดีจริงๆจากมหันตภัยของข้าพเจ้าเอง
๔๗. เพราะเห็นซึ่งเส้นทางอันปราศจากผู้คุ้มครอง ข้าพเจ้าจึงเกิดความหลงขึ้นอีก เมื่อภัยใหญ่สถิตตั้งมั่นอยู่เช่นนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า
๔๘. ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระชินเจ้าทั้งหลายผู้ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลก มีพลังอำนาจมหาศาล ทรงสละเวลาเพื่อประโยชน์จะปกปักษ์รักษาสัตว์โลกทั้งปวง และผู้ทรงขจัดความหวาดกลัวทั้งมวลให้สูญสิ้นไปว่าเป็นสรณะที่พึ่งในวันนี้ทีเดียว
๔๙. ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมที่พระชินเจ้าเหล่านั้นทรงบรรลุแล้ว อันสามารถทำลายภัยในสังสารวัฏเสียได้ว่า เป็นสรณะที่พึ่ง ทั้งข้าพเจ้าขอถึงซึ่งหมู่พระโพธิสัตว์ว่า เป็นสรณะเช่นเดียวกัน
๕๐. ข้าพเจ้าผู้ทุกข์ยากลำบากใจเพราะความกลัว ขอน้อมถวายตัวแด่พระสมันตภัทรโพธิสัตว์พร้อมทั้งขอน้อมถวายตัวแด่พระมัญชุโฆษโพธิสัตว์ด้วยตนเอง
๕๑. ด้วยความสะดุ้งตกใจกลัว ข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอร้องอ้อนวอนด้วยความเร่าร้อนใจต่อพระอวโลกิเตศวร ผู้ทรงเป็นที่พึ่ง เพียบพร้อมไปด้วยพระเมตตากรุณาอันบริสุทธิ์ ขอพระองค์นั้นได้โปรดคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าผู้มีบาปด้วยเถิด
๕๒. ข้าพเจ้าผู้กำลังแสวงหาแหล่งที่พึ่งพิง จึงขอร้องอ้อนกล่าวต่อพระอากาศครรภโพธิสัตว์และพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ผู้ทรงประเสริฐ ตลอดถึงพระผู้ทรงเลิศด้วยมหากรุณาธิคุณทั้งหลายทั้งมวล
๕๓. สัตว์ที่น่ากลัวและร้ายกาจที่สุดมีเหล่ายมทูตเป็นต้น ย่อมหนีไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ เพราะเห็นพระวัชรปาณีโพธิสัตว์พระองค์ใด ข้าพเจ้าขอน้อมสมัสการพระวัชรปาณีองค์นั้น (ให้ทรงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด)
๕๔. ข้าพเจ้าเคยล่วงละเมิดเลิกคำสอนของพระองค์ท่านมาแล้ว แต่เพราะได้ประจักษ์แจ้งแห่งภัยโดยตรง จึงเกิดความกลัวขึ้นแล้ว ขอถึงพระองค์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ได้โปรดทำลายภัยให้พินาศโดยเร็วพลันเถิด
๕๕.แม้ผู้ที่กลัวต่อโรคซึ่งเกิดเป็นครั้งคราว ก็ยังไม่กล้าล่วงละเมิดถ้อยคำ (แนะนำ) ของแพทย์จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผู้ที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนย่ำยีอยู่ถึง ๔๐๔โรค๕๖. ประชาชนคนอาศัยอยู่ในชมพูทวีปทั้งมวล แม้สามารถจะอดกลั้นโรคหนึ่ง ๆ ได้ ก็ยังต้องตาย (เพราะ)พวกเขาไม่ได้รับยาในทุกที่ทุกเวลา (อันเหมาะสม)
๕๗. เหตุเพราะข้าพเจ้าได้ล่วงละเมิดคำสั่งสอนของแพทย์ (คือพระตถาคต) ผู้ทรงสัพพัญญูรู้ทุกอย่าง ทรงสามารถถอดถอนลูกศรคือความทุกข์ยากทั้งมวลให้หมดไป ข้าพเจ้าจึงตั้งอยู่ในความอับอายและความหลงงงงวยตลอดกาลนาน
๕๘. ฉะนั้น ข้าพเจ้าย่อมตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แม้เมื่อตกไปในที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำไม (ข้าพเจ้าจะไม่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทยิ่งขึ้น) เมื่อต้องตกไปในที่ ๆ ลึกล้ำต่ำลดถึงพันโยชน์ด้วยเล่า
๕๙. ความตายยังไม่มาถึงในวันนี้ก็จริง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ควรจะเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เพราะเวลาที่ข้าพเจ้าจักไม่มี (ชีวิต) นั้นย่อมมาถึงโดยแน่แท้
๖๐. ใครกันเล่าสามารถให้อภัยแก่ข้าพเจ้าได้ หรือข้าพเจ้าจักสลัดออกจากทุกข์ได้อย่างไรข้าพเจ้าจักต้องตายโดยแน่แท้แล้วข้าพเจ้าจักมีจิตใจสงบมั่นอยู่ได้อย่างไรกัน
๖๑. จากการอันตรธานหายไปแห่งประสบการณ์ครั้งเก่าก่อน ข้าพเจ้ามีสิ่งอันเป็นสาระแก่นสารว่างหลงเหลืออยู่บ้างหรือ แต่เพราะข้าพเจ้าหลงยึดติดสิ่งเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น ข้าพเจ้าจึงได้ล่วงละเมิดคำสอนของครู (พุทธโพธิสัตว์) ทั้งหลายเสีย
๖๒. ครั้นได้สละทิ้งสัตว์โลกนี้พร้อมทั้งเหล่าผองเพื่อนและมิตรสหายที่สนิทชิดเชื้อแล้ว ข้าพเจ้าย่อมดำเนิน (ชีวิต) ไปในที่ต่าง ๆ ตามลำพังเท่านั้น ข้าพเจ้าจำต้องมีคนอันเป็นที่รักและที่เกลียดชังทั้งหลายอีกทำไมกัน
๖๓. ลำดับนั้น ข้าพเจ้าควรคิดพิจารณาอย่างนี้ตลอดคืนและวัน (ว่า) ข้าพเจ้าจะพึงสลัดทิ้งซึ่งทุกข์อันไม่งดงามและเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอนให้หมดไปได้อย่างไร
๖๔. เพราะความไม่รู้และความหลงผิด ข้าพเจ้าจึงได้สร้างสมบาปกรรมต่าง ๆ ไว้ และข้าพเจ้าก็ยังทำสิ่งที่น่าตำหนิติเตียนทั้งยังกล่าวสอนสิ่งผิดๆไว้อีกมากมาย
๖๕. ข้าพเจ้านั้นหวาดผวากลัวต่อความทุกข์ ได้ยืนประคองอัญชลีอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ขอนบน้อมนมัสการแสดงบาปอันลามกและความผิดพลาดทั้งมวลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (บ่อยๆ)
๖๖. ขอพระผู้ทรงชี้นำทั้งหลายได้โปรดรับ (รู้) ความผิดและบาปกรรมของข้าพเจ้าด้วยเถิดข้าแต่พระผู้ทรงเป็นที่พึ่ง บาปและความผิดนี้เป็นสิ่งไม่ประเสริฐเลย ข้าพเจ้าไม่ควรกระทำอีกต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์ (โพธิจรยาวตาร) ศานติเทวะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 3 2545 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 01:17:16
โดย มดเอ๊ก
คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๑ อานิสงส์ของโพธิจิต
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1171 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 01:50:05
โดย มดเอ๊ก
คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๓ การเข้าถึงซึ่งโพธิจิต
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1161 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 02:08:00
โดย มดเอ๊ก
คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๔ ความไม่ประมาทในโพธิจิต
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1107 กระทู้ล่าสุด 30 กรกฎาคม 2559 02:15:00
โดย มดเอ๊ก
คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร ของ ศานติเทวะ ปริเฉทที่ ๕ การรักษาซึ่งสัมปชัญญะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1266 กระทู้ล่าสุด 13 สิงหาคม 2559 18:19:27
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.499 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 10:12:13