'ทำความดีเดี๋ยวมันหล่อเอง' หมอล็อต - น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน เรื่อง :
วรชัย รัตนดวงตา ภาพ :
พาณุวัฒน์ เงินพจน์ มีคนในเมืองใหญ่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า เห็นข่าวช้างลงมากินพืชไร่ของชาวบ้านแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา? ไฟในบ้านดับยังกระทบซะมากกว่า! ซึ่งนั่นก็จริง แต่มันเป็นความจริงเพียงแค่คืบทันทีเมื่อเราได้มานั่งพูดคุยกับชายหนุ่มที่เชื่อมข้อเท็จจริงของป่าและเมืองเข้าไว้ด้วยกัน หมอล็อต หรือนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน คือนักอนุรักษ์และหมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทย ที่ทำงานเพื่อการรักษาสัตว์ป่ายังถิ่นอาศัยมานานกว่า 10 ปี บอกกับเราว่าป่ากับเมืองนั้นไม่เคยแยกจากกัน เพราะเรายังอยู่บนโลกใบเดียวกัน อะไรที่เกิดขึ้นในป่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมของมนุษย์ในเมืองทั้งสิ้น แต่เรามักจะไม่เห็นทันทีทันใดเพราะโครงข่ายแบบโดมิโนนี้มีขนาดมหึมามาก ซึ่งเมื่อโดมิโนตัวเล็กๆ ได้ล้มลง ตัวที่เหลือก็จะล้มตาม เพียงแต่ว่ากว่าเราจะรู้สึกตัวได้นั้นก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายสิบปี ซึ่งทุกวันนี้เราได้สัมผัสแล้วกับภาวะโลกร้อนและการระบาดของโรคร้ายแรง
ป่าและเมืองจึงไม่ใช่เรื่องไกลกัน พอๆ กับหัวใจไม่ไกลจากดวงตา เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง แต่ที่น่ากลัวกว่าการมองไม่เห็นก็คือ ‘โลก’ ที่เรารุกรานเริ่มสะท้อนความร้ายกาจกลับมาแต่เราดันไม่รู้สึก
ยังทันไหมที่จะกลับตัวกลับใจ? ยังทันไหมที่เราจะฟื้นฟู? และยังทันไหมที่เราจะสำนึกว่ามันคือเรื่องใกล้ตัว? ลุกจากโต๊ะทำงาน เก็บของใส่เป้มุ่งหน้าสู่เขาใหญ่ ไปนั่งคุยกับหมอล็อตกัน เมืองกับป่าเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร แล้ววันนี้มันมีความสำคัญแค่ไหนในแง่การอนุรักษ์ ผมเพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ มองซ้ายมองขวาก็จะเห็นคน แน่นอนมันคือโลกมนุษย์ เรามองเป็นโลกมนุษย์ แต่เพียง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่เราเดินทางมาเขาใหญ่ เราจะเห็นนก เห็นลิง เห็นฝูงชะนี เห็นช้าง เห็นกระทิง เห็นวัวแดง เห็นงู เห็นต้นไม้ เห็นสิ่งมีชีวิตต่างๆ นานาชนิด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ออกไปดาวดวงอื่นนะ เรายังอยู่บนโลกใบนี้ สิ่งที่มันบอกเราเมื่อเข้ามาที่เขาใหญ่ก็คือ มันคือโลกของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่โลกมนุษย์
เมื่อเราบอกว่าโลกนี้เป็นของมนุษย์ เราจะใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลางของโลก คิดที่จะทำอะไรต่างๆ นานา มนุษย์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุด เพราะคำว่ามนุษย์มาจากคำว่ามโนสนธิกับคำว่าอุษย์ ก็คือผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง รู้จักใช้อย่างมีเหตุมีผล นั่นคือนิยามของมนุษย์
แต่ดูสิ่งที่มนุษย์ทำกับโลกใบนี้สิ การทำลายทรัพยากร การทำลายธรรมชาติ การเบียดเบียนคุกคาม การล่าสัตว์ป่า นั่นคือสิ่งที่นำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตสิ่งใดก็ตามที่อยู่บนโลกใบนี้มันเกี่ยวโยงเชื่อมต่อกัน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้รับผลกระทบหรือสูญหายไปมันก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่มาสู่สิ่งมีชีวิตอีกสิ่งหนึ่ง
ณ เวลานี้เราต้องการให้สังคมรู้ว่านี่คือโลกของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Planet ไม่ใช่โลกมนุษย์ แล้วมันมีความเชื่อมโยงกันยังไง? เมื่อสักครู่นี้เราบอกแล้วว่าเราอยู่ในโลกเดียวกัน สิ่งแวดล้อมเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมมันเกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งที่อยู่ในโลก
อย่างเมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 2558) ท่านนายกฯ ท่านไปประชุมสภาพภูมิอากาศโลกที่มันสูงขึ้นจนมีความกังวลกันว่าถ้ามันสูงขึ้นเกิน 2 องศา เราจะหยุดยั้งไม่อยู่ เพราะว่าถ้ามันเตลิดไป 3 ไป 4 ไป 5 ไป 6 เราจะหยุดยั้งไม่ได้ แค่ 1 องศาเราก็สัมผัสได้แล้ว ตอนนี้มันกำลังไต่ไปถึง 2 ทุกประเทศในโลกเริ่มเห็นสอดคล้องร่วมกันเรื่องของคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด) เรื่องภาวะเรือนกระจก ทีนี้ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าแต่ละประเทศจะลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์
เรื่องภาวะเรือนกระจกนี่เราก็ได้ยินมานานมากพอสมควร ถามจริงๆ ว่าวันนี้เราเอามันอยู่ไหม เอาไม่อยู่แล้ว เขามีการแถลงมาว่าอุณหภูมิโลกหรือภาวะเรือนกระจกครั้งนี้มันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มันบ่งบอกว่าในบางพื้นที่ของโลกยังไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรืออาจจะมีปัญหาอุปสรรค หรืออาจจะมองเรื่องการพัฒนาเป็นประเด็นแรกๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหน เล็กหรือใหญ่ ถ้าคุณไม่ให้ความร่วมมือ ผลกระทบมันก็ถึงกันแน่นอน เพราะอยู่ในเรือนกระจกเดียวกัน
เราจะได้รับผลกระทบยังไง? มันก็ออกมาแล้วไงเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่ตรงตามฤดูกาล
ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น มันบอกแล้วว่าโลกเปลี่ยนตั้งแต่ชั้นบรรยากาศจนมาถึงใต้ทะเลและพื้นดินตรงแกนโลกที่มีการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีเรื่องของโรคระบาดโรคติดต่อ อย่าลืมว่าพอโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมันก็เกิดการปรับตัวเองให้อยู่ได้สบายขึ้น เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัสมันก็ปรับตัวให้อยู่รอดได้ แล้วมันยังมีความสามารถในการกลายพันธุ์ ซึ่งสิ่งที่ตามมาในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดก็คือศักยภาพในการก่อโรคจะรุนแรงขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่มนุษย์จะติดต่อโรคก็ง่ายขึ้น
แล้วเชื้อโรคพวกนี้มันไปอยู่ที่ไหน ทำไมเราจึงค้นหามันก่อนและป้องกันมันไม่ได้ ส่วนใหญ่โรคอุบัติใหม่หรือเชื้อโรคที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จะอยู่ในสัตว์ป่า เพราะเป็นแหล่งรวมโรคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเชื้อโรคเหล่านี้ไม่ทำให้สัตว์ป่าแสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด พอมนุษย์ไปทำลายทรัพยากร ไปทำลายธรรมชาติ ไปล่าสัตว์ป่ามาบริโภคด้วยความเชื่อจึงทำให้เกิดช่องทาง การใช้ทรัพยากรที่ดินที่ไม่เหมาะสมไปถางป่าก็ทำให้สัตว์ป่ามันมาใกล้ชิดกับมนุษย์ พอเป็นแบบนี้เชื้อโรคก็เข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงสู่คนก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตาย แต่มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เชื้อโรคมันสามารถติดจากสัตว์สู่คนแล้วมันก็จากคนสู่คนไปเรื่อยๆ กลายเป็นโรคติดต่อที่มันรุนแรง ธรรมชาติสร้างเชื้อโรคในสัตว์ป่าขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันว่ามนุษย์อย่ามารุกล้ำ ถ้ารุกล้ำคุกคามคุณก็จะเจอเชื้อโรค ฉะนั้นเวลานี้ธรรมชาติกำลังคัดเลือกมนุษย์นะ
ธรรมชาติกำลังคัดเลือกผู้ที่แข็งแรงเพื่อให้อยู่รอด คนที่จะอยู่รอดคือผู้ที่ต้องรู้จักปรับตัว เป็นการปรับตัวในการใช้ชีวิต ในเมื่อมนุษย์เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ เราก็ต้องหาเครื่องมือมาต่อสู้กับธรรมชาติ นั่นก็คือธรรมชาติบำบัด เราต้องสร้างธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ให้มันคงอยู่ ที่มีอยู่แล้วก็รักษามันไว้ ตรงไหนที่เคยเป็นเคยมีเราก็ต้องฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าให้ได้ เขาให้ทางเลือกมาแล้วว่าอยากอยู่รอดก็ต้องเข้าหาธรรมชาติ คุณไม่ต้องไปหาเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่หรอก แค่ย้อนกลับมา
อีกหนทางรอดหนึ่งคือ เราคนไทยมีในหลวงซึ่งถือว่าเป็นเทวดาที่มีชีวิต ท่านมีกรอบแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับคนไทยอยู่แล้วในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือใช้อย่างพอเพียง แล้วก็ไม่ให้เกิดการทำลายเพิ่มเติม สิ่งสำคัญก็คือพระองค์ท่านจะเน้นย้ำเรื่องการปลูกพืชสมุนไพร ประเทศไทยมีสมุนไพรนานาชนิดในการรักษาโรค ในการดูแลสุขภาพให้ดี นั่นคือกุญแจแห่งการอยู่รอด สมุนไพรที่เราปลูกตามบ้านล้วนเป็นยาอายุวัฒนะทั้งสิ้น ผมเองกินฟ้าทะลายโจรเป็นประจำ โอกาสเจ็บป่วยมันก็น้อย เรามีของพวกนี้อยู่แล้ว
ฟังๆ ดูสัตว์ป่าก็คือแหล่งรวมโรคดีๆ นี่เอง แต่ทำไมคนบางกลุ่มยังนิยมที่จะบริโภคมัน เราดันไปเชื่อกันผิดๆ ว่าเนื้อสัตว์ป่าคือแหล่งยาบำรุงกำลัง เวลาคุณกินเมนูสัตว์ป่าจะรู้สึกกระชุ่มกระชวย รู้สึกมีพลัง เลือดสูบฉีด ที่ไหนได้มันเกิดจากเครื่องเทศ ใส่เนื้อไก่เนื้อหมูมันก็สูบฉีดได้เหมือนกัน เนื้อสัตว์ป่ามันก็แค่แหล่งโปรตีนธรรมดา หรืออย่างความเชื่อเรื่องบำรุงกำลังทางเพศก็เหมือนกัน เสือผสมพันธุ์กันไม่กี่วินาทีแล้วคุณไปเอาตัวเดียวอันเดียวเขามากินจะช่วยอะไร ช้างแค่ 15 วินาทีก็หมดแรงแล้ว ส่วนใครที่ชอบกินเกล็ดลิ่น (ลิ่นคืออีกชื่อเรียกของตัวนิ่ม) มันก็ไม่ต่างอะไรกับกินเล็บ ใครอยากกินเกล็ดลิ่นก็ไปเรี่ยไรเล็บคนที่ตัดมากินก็ได้ เคราตินเหมือนกัน เลียงผาที่คนคิดว่าน้ำมันของมันจะช่วยรักษาอาการฟกช้ำดำเขียวอะไรต่างๆ ก็เหมือนกัน ผมรักษาเลียงผาที่ถูกทุบตีเดินขาหักมาเยอะแยะยังไม่เห็นว่ามันจะรักษาตัวเองได้เลย เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากความเชื่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและผิดเพี้ยน แล้วที่สำคัญผิดกฎหมาย
สัตว์ป่าตายหนึ่งตัวใช่ว่าจะหาใหม่ได้ บางคนคิดว่ามันยังมีเหลืออีก 200-300 ตัว แต่ในสายตาเรามองว่ามันคือพันธุกรรมดีที่หายไปเลยนะ มันคือความหลากหลายทางพันธุกรรม อย่างผมหายไปคนจะเอาใครมาทดแทนได้ไหม เรื่องรูปร่างหน้าตา ความสามารถ มันไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันช้างป่าตายตัวหนึ่งจะเอาช้างบ้านไปปล่อยชดเชย มันแทนกันไม่ได้! ช้างป่าหนึ่งตัวมันทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางธรรมชาติ โน้มกิ่งไม้ข้างบนมาข้างล่างให้สัตว์ชนิดอื่นกินยอดไม้ กินอาหารแล้วอึออกมาก็ได้กระจายพันธุ์ไม้ ที่ไหนมีช้างที่นั่นมีป่า นี่เราคิดมูลค่าจากคุณประโยชน์ของช้างหนึ่งตัว เพราะฉะนั้นในแง่เศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า มูลค่าของสัตว์ป่าให้คูณราคาตามท้องตลาด 17-20 เท่า สมมุติช้างบ้านเชือกหนึ่งราคา 1 ล้านบาท ถ้าเทียบราคาช้างป่าคือ 20 ล้าน เพราะเขาคิดจากคุณประโยชน์ของช้างป่าตัวหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อธรรมชาติ
แล้วเราจะเดินคู่กันไปอย่างไร ระหว่างความศิวิไลซ์กับการอนุรักษ์ เขาเรียก sustainable หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คือมีการใช้แล้วก็มีการทดแทน มีการรักษา ทำให้เพิ่มขึ้น เราใช้วันนี้ลูกหลานเราก็ยังมีใช้ ซึ่งต่างจากอดีตที่เราใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง ใครกอบโกยได้ก่อนก็ได้ทรัพยากรมาก วันนี้เราต้องมาดูว่าเราใช้ได้แค่เท่าไหร่ เราไม่ได้ต่อต้านเรื่องการพัฒนา แต่มองเรื่องการอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย
อีกเรื่องก็คือการ
ปรับทัศนคติ ในอดีตบ้านใครมีงาช้างก็จะมองเป็นเรื่องเจ๋ง เปลี่ยนมุมมองได้ไหม ใครมีเยอะสนับสนุนให้ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ซะ ในขณะที่ใครยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในบ้านก็อย่าไปมองว่าเขาเจ๋ง จริงๆ มันเอาต์ไปแล้วกับการมีเขา มีงา มีซากสัตว์อยู่ในบ้าน
อย่าไปยกย่องคนที่มีสิ่งเหล่านี้ เราควรจะชื่นชมบ้านที่ปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้าน บ้านที่ปลูกพืชสวนครัวไว้กินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของการครอบครองซากสัตว์หรืออะไรที่ผิดกฎหมายต่างๆ การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เอากฎหมายไปจับคนที่มีอยู่แล้ว เราควรจะป้องกันคนที่จะมีใหม่ด้วยการปรับทัศนคติของคนในสังคม ใครมีซากสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่เชย
ป่าในเมืองนี่จำเป็นแค่ไหน อย่างกรณีของบางกระเจ้าเองก็เริ่มๆ จะมีการพัฒนาที่ดินกันแล้ว ถ้าเรามีปอดที่ใหญ่เราก็วิ่งได้ไกลขึ้น ฉะนั้นการปลูกต้นไม้ในเมืองมันคือการเพิ่มความแข็งแรงให้กับปอด ต้นไม้ก็คือส่วนหนึ่งของตัวเราเอง มองให้เป็นตัวเรา นั่นคือปอดของเรา ถ้ามีมากขึ้นตัวเราเองได้ประโยชน์อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการฟอกอากาศ เรื่องออกซิเจน เรื่องของความร่มรื่น ความสวยงาม ลองคิดดูว่าสถานที่หรือถนนไหนก็ตามที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งดึงดูดเนี่ยยังไงก็ต้องมีต้นไม้มีดอกไม้ ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้คนที่เกี่ยวข้องเขารู้ล่ะแต่เอาง่ายไว้ก่อน ถ้าละเอียดรอบคอบมากกว่านี้เราจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมหาศาล
ในกลุ่มคนที่มองเรื่องการพัฒนาที่ดินเขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราปลูกเพิ่มใหม่ได้ ถามจริงๆ ในความคิดหมอคิดว่ามันจะทันไหมกับภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ เรื่องโลกร้อนมนุษย์เห็นผลแล้วว่าการทำลายธรรมชาติมันมีผลกระทบต่อมนุษย์ แน่นอนการทำลายมันเกิดขึ้นซึ่งใช้เวลาสั้น ส่วนการฟื้นฟูใช้เวลายาว การฟื้นฟูที่ใช้เวลายาวๆ เนี่ยมันเป็นไปได้ยากเพราะผลกระทบเราเกิดขึ้น ณ วันนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่นานาประเทศจะขวนขวายหาดาวดวงใหม่ คือวันนี้ดาวดวงเดิมก็ยังพออยู่ได้ แต่อนาคตมันอยู่ไม่ได้แน่ๆ ทวีปอื่นเขาหาดาวดวงใหม่กันแล้ว แต่ทวีปเรายังทำลายกันอยู่เลย ฉะนั้นเรือโนอาห์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในอนาคตอาจจะมี แต่ว่าใครล่ะจะได้ไป ตอนนี้ธรรมชาติกำลังคัดเลือกเราด้วยโรคต่างๆ เรื่องภัยธรรมชาติ ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤติขึ้นมาจนโลกเราอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็ต้องคัดเลือกกันเองแล้วว่าใครจะได้ไปอยู่ที่ใหม่
ในฐานะคนเมือง เราจะมีวิธีช่วยดูแลธรรมชาติกันยังไงบ้าง เริ่มจากตัวเราเองในชีวิตประจำวันนี่แหละ ใช้น้ำอย่างประหยัด อย่างตัวผมก็ไม่รีดเสื้อ ใส่เสื้อยับๆ เพื่อประหยัดไฟ เรามองภายนอกแต่งตัวเนี้ยบเรียบหรูใช่ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป เรามาสร้างเทรนด์ใส่เสื้อยับกันดีกว่า เพราะเวลาเรารีดผ้าคนรีดก็ร้อน พอร้อนก็เปิดแอร์รีดผ้าอีก แค่คุณเสียเวลาสลัดผ้าตากหน่อยมันก็เรียบแล้ว
แล้วห้ามเดินห้างไหม? เดินเลย เพราะมันเป็นการสร้างความสบายให้กับตัวคุณเอง มันเป็นกิจกรรมของมนุษย์อยู่แล้ว อย่าไปสุดโต่ง ขอให้มีสติ ตอนนี้ทุกคนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงมันเกิดจากอะไร ทุกคนรู้แต่ไม่ปรับตัว เราไม่อยู่ในสถานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้น แนวทางของเราแค่พูดเขาก็อาจจะไม่อิน ต้องดึงเขาเข้ามาสัมผัส ให้เขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างสมมุติผมกำลังรณรงค์เรื่องขยะในอุทยาน เราบอกว่าอย่าทิ้งขยะในอุทยานนะ สัตว์ป่ามากินแล้วจะไม่ดี คนก็บอกว่าทิ้งให้ถูกที่ก็พอมั้ง แต่พอขยะมันเยอะๆ เข้าก็ขนทิ้งไม่ทัน สัตว์ป่าก็ไปคุ้ยกิน ฉะนั้นเราต้องเอาคนเหล่านี้มาสัมผัส อย่างเช่นเห็นลิงตัวนี้ไหมที่คนเอาอาหารมาให้เมื่อ 15 นาทีที่แล้ว แต่ปัจจุบันมันถูกรถชนตายเพราะคนให้เขาคิดว่าทำบุญ แต่สำหรับลิงกลับเรียนรู้ว่าเมื่ออยู่ข้างถนน คนก็จอดรถเอาขนมให้กิน พอได้กินติดใจรสชาติ มันก็เรียนรู้ต่อว่าถ้ากระโดดขวางรถ รถจะหยุดแล้วมีคนเอาอาหารให้ มันเริ่มต้นจากการทำบุญแต่ท้ายสุดก็เป็นบาป เราต้องพาคนเหล่านี้มาดูมาสัมผัส อย่างเราผ่าท้องกวางก็ชี้ให้เขาเห็นเลยว่าในท้องมันมีถุงพลาสติกอัดอยู่เต็มเลย เมื่อคนเหล่านี้มาเห็นก็จะเกิดการกลั่นกรอง การปรับทัศนคติด้วยตัวเขาเอง แล้วมันจะกลายเป็นข้อมูลนำเสนอต่อคนอื่นๆ ดังนั้นหน้าที่ของเราก็ต้องเป็นคนสื่อความหมายของธรรมชาติ โจทย์คือเราจะทำยังไงให้คนเหล่านี้รู้ได้มาก เราต้องสร้างฮีโร่ขึ้นมา ทุกคนเป็นฮีโร่ได้ ให้เขาไปขยายในวงของเขา เราเรียกว่าฮีโร่แชร์ลูกโซ่
หน้าที่ของหมอนอกจากอยู่ในป่าแล้ว ยังเห็นออกไปทำงานเรื่องกำหนดนโยบายและแผนด้วย เป็นยังไงมายังไงถึงไปทำได้ คือเมื่อก่อนผู้ปฏิบัติกับผู้กำหนดกรอบทำงานแบบต่างคนต่างทำ มันเลยเกิดการผิดเพี้ยน แต่ ณ เวลานี้ผู้ใหญ่ก็มองว่ามันควรจะเชื่อมโยงกัน แล้วผมเองในฐานะสัตวแพทย์ที่เข้ามาทำงานอนุรักษ์
เราก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มงานอนุรักษ์ แต่หลักๆ ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่จบวนศาสตร์ จบป่าไม้ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเขตอุทยาน เมื่อเรามาทำงานกับพวกเขาก็เห็นว่าเขาเหล่านั้นเสียสละมาก แต่ด้วยความที่เขาทำงานในพื้นที่ก็มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริง เมื่อเรามีโอกาสมาทำงานในเชิงนโยบายก็เอาข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปบอกเล่า
ตอนผมทำงานตอนแรกไม่มีใครเชื่อเพราะสิ่งที่เราทำมันไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ช้างบาดเจ็บ กระทิงบาดเจ็บ คุณจะเข้าไปรักษาเขาในป่ายังไง เขาก็คิดกันว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นคือทำไม่ได้ แต่ในมุมมองของเราคืออะไรที่ไม่เคยทำไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้
ตอนนั้นวิชาชีพเดียวกันกับผมก็ยังคิดว่าทำได้เหรอ ซึ่งจริงๆ เราจะหยุดทำก็ได้เพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ แต่ถ้าเรามองในฐานะตัวแทนวิชาชีพ เวลานั้นมันจึงไม่ใช่เวลาการทำงานของไอ้ล็อต แต่เป็นการทำงานของสัตวแพทย์ไทย เอาวะ! เป็นนักมวยขึ้นเวทีต้องชก จะโดนน็อก จะโดนหามนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเรานึกว่าเป็นตัวแทนวิชาชีพเราจะมีความรอบคอบมุ่งมั่น หาทีมที่ปรึกษา การทำงานตอนแรกเราจะทำอย่างเดียว ภาพที่ออกมามันก็จะเห็นภาพการทำงาน ดีบ้างไม่ดีบ้างเราก็เต็มที่กับมันแล้ว เมื่อสังคมเห็นว่าหมอล็อตทำเต็มที่เขาก็คิดกันเองว่ามีอะไรจะช่วยได้บ้าง เพราะในการทำงานตอนแรกๆ นั้นผมไม่มานั่งพูดหรอกว่าไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ต้องไปเดินขอยาอะไรต่างๆ นานา เราจะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่มันเหมือนการถุยน้ำลายรดหลังคาบ้านตัวเองหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าเราทำเต็มที่แล้วครับตามสภาพความพร้อมที่เรามี การทำงานมันมีข้อจำกัดมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นเราคือ practitioner ไม่ใช่ perfectionist เมื่อเขาเห็นภาพการทำงานก็จะเห็นเลยว่าต้องสนับสนุนอะไร จากเดิมที่เราพูดแล้วไม่เชื่อ แต่จากที่เราสร้างภาพให้เกิดขึ้น สร้างข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้น ให้สังคมได้ความรู้ความเข้าใจ
เมื่อเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการอยู่ในรัฐสภา เป็นนักวิชาการผู้ชำนาญการ เราก็เอาภาพถ่ายข้อเท็จจริงทั้งภาพนิ่งและวีดิโอให้ผู้ใหญ่เขาดู อย่าลืมว่าสังคม ณ เวลานี้การดับเบิ้ลเช็กมันทำได้ง่าย รู้เลยว่าใครจริงหรือไม่จริง
สมัยผมทำงานแรกๆ
จะเห็นเลยว่าหน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอด แต่เวลานี้เป็นยุคใหม่ ทั้งสองฝั่งมาประสานกัน เมื่อรัฐมีข้อจำกัดด้านไหนเอ็นจีโอก็เข้ามาช่วยกัน เพราะเป้าหมายก็คือเป้าหมายเดียวกันคือบูรณาการใหม่ของการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันความเกรงใจมันก็ไม่ใช่เพิ่มมากขึ้นนะ หากเนื้อหาใดไม่สอดคล้องก็โต้แย้งกันได้ ฉะนั้นการอนุรักษ์ตอนนี้สนุกมาก
เรื่องระเบียบ เรื่องการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของเรา ตอนนี้มีคุณภาพอยู่ในระดับไหนของโลก
เมื่อวันก่อนผมไปบรรยายก็ถูกตั้งคำถามมาว่า ทำไมบ้านเราระเบียบการเข้าเขตอนุรักษ์แย่มาก ผมก็ตอบว่าในแง่การจัดการของเรานั้นดีที่สุดในโลก เพราะว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศไม่เหมือนที่อื่น การจัดการจึงไปเทียบที่อื่นไม่ได้ เอาระบบที่อื่นมาจัดการทั้งหมดไม่ได้ กฎระเบียบที่วางไว้ในประเทศไทยมันดีอยู่แล้ว แต่ที่มันแตกต่างจากที่อื่นเลยคืออะไรรู้ไหม
คือสำนึกของคนที่มาเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาไม่ทิ้งขยะสักชิ้น เขาเก็บแล้วเอาลงไปทิ้งข้างล่าง เขามีสำนึก จนคนเราเองไปโทษว่าต้องมีกฎหมายเข้มงวด จริงๆ แล้วมันอยู่ที่สำนึกเท่านั้นเอง แล้วการจะกระตุ้นสำนึกให้เห็นพ้องและเข้าใจ เราทำให้เขารู้ไม่พอ ต้องให้เขามาสัมผัส
ทีนี้การเข้าถึงคนมันมีหลายกลุ่มมาก การเปลี่ยนมุมมองการไปยืนอยู่ในสมองเขามันไม่พอ มันต้องนั่งในหัวใจเขาให้ได้ นั่นก็คือการเป็นพวกเดียวกัน เช่น ผมอยากรณรงค์กับนักปั่นจักรยาน เราก็เป็นนักปั่นไปกับเขา ทำยังไงให้วินวินกันทั้งคู่ คนมาเขาใหญ่ก็ได้ เราก็มีกิจกรรมเก็บขยะ ทำโป่ง ถางต้นสาบเสือ ทำฝาย เป็นการตอบแทนธรรมชาติ อย่างอยากจะเข้าถึงกลุ่มไบค์เกอร์ผมก็เป็นไบค์เกอร์บ้าง หามอเตอร์ไซค์มาขี่เลย เราจะได้คุยภาษาเดียวกัน
เปิดอกคุยมันก็ง่าย เพราะกิจกรรมของไบค์เกอร์มันส่งผลต่อการอนุรักษ์จริง ดังนั้นเราก็ต้องหากรอบที่เหมาะสมให้กับเขา ไม่ใช่รถเสียงดังก็ห้าม อย่าลืมนะครับว่าการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดคือการมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันในการเข้าถึงธรรมชาติ แล้วกรอบต้องเป็นยังไง เช่น อย่าขับเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงท่อต้องไม่ดังเกิน 95 เดซิเบล เราก็สร้างกฎระเบียบกติกากัน ตอนยังไม่เข้าเขตอนุรักษ์วัดแล้วเสียงไม่เกิน แต่รวมกลุ่มแล้วเกินทำยังไง เราก็ให้เขาไปทำการบ้านมา เขาก็บอกว่าไม่เร่งรอบ ไม่เบิ้ลเครื่อง ไม่ขี่รวมกลุ่ม นี่เป็นกฎที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เป็นการแสดงจิตสำนึกของตัวเขาเอง เราก็เสริมเขาว่านานๆ คุณมาในอุทยานทีนั่นคือโอกาสดีที่ได้หายใจได้ฟอกปอด หากคุณขับช้าๆ นั่นคือการได้หายใจนานๆ ได้ฟอกปอดนานๆ เป็นข้อดีว่าทำไมต้องขับช้าๆ เมื่อต้องอยู่ในเขตอุทยาน นี่คือความใจกว้าง เมื่อกลุ่มนี้ทำได้ก็จะมีการส่งต่อความรู้ไปยังกลุ่มอื่นๆ อีก คนเหล่านี้ทำงานแทนเราทั้งนั้น เรามีหน้าที่สร้างฮีโร่ อย่างที่บอกเราไม่ได้เป็นจุดศูนย์รวม แต่เราเป็นจุดเริ่มต้น
อย่างกรณีของพระ พระมาธุดงค์เป็นการรบกวนสัตว์ป่าหรือไม่ พระเองเมื่ออยู่ในป่าก็ถูกทำร้าย บางครั้งการเอาอาหารไปให้สัตว์ที่ชายป่า เมื่อสัตว์ป่าลงมากินมันติดใจก็ลงไปพื้นที่ชาวบ้าน ชาวบ้านก็เดือดร้อน นายพรานก็ไม่ต้องล่าไกลแล้ว เราก็ต้องไปจับพระ พระก็บอกว่าอาตมาทำบุญ ทำแล้วสัตว์ป่ามากินแล้วมีความสุข
เพราะฉะนั้นศัตรูในการทำงานของพวกเราคือความปรารถนาดีนะ แต่มันเป็นความปรารถนาดีที่ผิดเพี้ยน เวลาเราไปคุยกับพระ พระก็บอกว่าไม่ต้องมาสอนอาตมาหรอก พูดอย่างนี้แล้วทำยังไงล่ะ เราก็บวชสิครับเพื่อเป็นพวกกับเขา แล้วก็ตั้งข้อกำหนดกันออกมาว่าหลักการให้อาหารสัตว์ป่าทำยังไง
การให้อาหารสัตว์ป่าโดยตรงมันผิดธรรมชาติ ผิดพฤติกรรม เพราะเราไม่ได้ให้อาหารที่เป็นธรรมชาติของป่า ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือการสร้างครัวให้กับเขา สร้างอาหารให้ไปกินเอง สร้างแหล่งอาหารกับให้อาหารมันคนละอย่างกันนะ เพราะฉะนั้นกลยุทธ์คือสิ่งที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมันจะเป็นภาพออกมาให้สังคมเห็น ผู้ใหญ่เห็นก็จะเกิดการสนับสนุนกลับมา