[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 23:15:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ครูบาศรีวิชัย ศรัทธา อภินิหาร การเมือง  (อ่าน 1500 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 16 สิงหาคม 2559 20:28:24 »



ขบวนธรรมยาตราแห่แหนรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย
จากอำเภอลี้มายังปลายทางคือวัดพระธาตุหริภุญชัย
กิจกรรมนี้เป็นเสมือนการย้อนรอยประวัติศาสตร์
เมื่อครั้งท่านเดินทางเข้ารับการไต่สวนในลำพูนเมื่อปี ๒๔๖๒

ครูบาศรีวิชัย
ศรัทธา อภินิหาร การเมือง

ว่ากันว่าไม่มีวันไหนที่หน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเชิงดอยสุเทพจะปราศจากดอกไม้ ควันธูป และแสงเทียน

แม้จะเป็นช่วงเช้าวันธรรมดา แต่ลานหน้าอนุสาวรีย์ครูบาก็มีผู้คนคึกคัก ทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ ทุกคนมาสักการะปิดทองรูปเหมือนของท่านด้วยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก  กลิ่นควันธูปอวลในอากาศ ดอกดาวเรืองกองสูงถึงครึ่งองค์ รถยนต์ที่แล่นผ่านยังต้องกดแตรแสดงคารวะไม่เว้นคัน

คนทั่วไปรู้จัก “ครูบาศรีวิชัย” (ปี ๒๔๒๑-๒๔๘๑) ในฐานะผู้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ถนนสายนั้นจึงมีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่า “ถนนศรีวิชัย”

แต่ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นว่า ที่ดูแปลกคือนอกจากดอกไม้มาลัยตามปรกติ ยังมีคนนำไข่มาไหว้ครูบาเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ใส่ถุงหูหิ้วพลาสติก วางกองในกระบะ จนถึงยกแผงไข่ซ้อนมัดกันมา  ตะกร้าบางใบผมประเมินด้วยสายตาแล้วน่าจะบรรจุไข่ร้อยใบขึ้นไป

ฝั่งตรงข้ามอนุสาวรีย์มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนเรียงแถวนับสิบร้าน แม่ค้าสาว ๆ ยืนถือดอกไม้ธูปเทียนส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรียกลูกค้า  น้องนางหนึ่งตอบคำถามผมว่า เราบนบานครูบาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ขายบ้านขายที่ดินจนถึงขอลูก  ส่วนใหญ่นิยมบนด้วยไข่ต้ม แต่ที่ถวายเป็นไข่ดิบก็มี  จะถวายเท่าไรก็ได้ เพียงมักให้ลงท้ายเป็นเศษ ๙ อย่างถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ บนที ๙๙๙ ใบก็มี

สาวแม่ค้าหน้าใสร้านข้าง ๆ ไขปริศนาเรื่องไข่ให้ผมฟัง

“สมัยครูบายังมีชีวิต ท่านฉันมังสวิรัติ ชาวบ้านเอาไข่ใส่บาตร ท่านไม่ชอบ พอท่านมรณภาพแล้ว คนก็เลยเอาไข่มาถวาย”

“อ้าว ! ทำไมล่ะ ก็ท่านไม่ชอบนี่” ผมแย้ง

เธอบรรยายต่อ “ท่านไม่ชอบ ขออะไรก็ให้หมด คนเลยเอาไข่มาถวาย”

“พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง…” เธอสำทับเหมือนกลัวผมจะไม่เชื่อ

ประวัติการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในปี ๒๔๗๗ เริ่มต้นจากการที่หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ (ภายหลังได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ถึงหกสมัย) ดำริว่าต้องการจะปักเสาเดินสายไฟฟ้าขึ้นไปยังวัดพระธาตุ-ดอยสุเทพ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ จึงนำความไปเรียนหารือกับครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือ

ตามธรรมเนียมล้านนาโบราณ พระสงฆ์ที่จะขนานนามว่า “ครูบา” ได้จะต้องเป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพรรษากาลสูง คือบวชมานานหลายสิบปี และที่สำคัญคือสมัญญานี้ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกตัวเอง หากแต่ต้องเป็นการยกย่องจากสังคมว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่กราบไหว้ได้โดยสนิทใจ

ครูบาศรีวิชัยแนะหลวงศรีประกาศว่าให้สร้างทางรถยนต์ก่อน แล้วไฟฟ้าก็คงตามไปไม่ยาก และท่านรับปากว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ให้สำเร็จให้จงได้

แต่การตัดถนนขึ้นดอยสุเทพถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ก่อนหน้านั้นราวปี ๒๔๖๐ ทางราชการเคยสำรวจแนวถนน แต่ติดขัดที่ใช้งบประมาณสูงถึง ๒ แสนบาทและต้องใช้เวลา ๓ ปี รัฐบาลยังไม่มีเงินเพื่อการนี้  หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า หลังจากฟังความเห็นของครูบา ตนเองก็ยังลังเลจึงลองนำความไปกราบทูลเจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าหลวงเชียงใหม่ตอบอย่างมั่นใจว่า “ครูบาศรีวิชัยท่านมีอะไรของท่านอย่างหนึ่ง ถ้ารับรองว่าสำเร็จเป็นสำเร็จแน่”

เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย หลวงศรีประกาศจึงทำหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้อนุมัติให้นายช่างมาช่วยสำรวจแนวทางตัดถนน  ครูบาศรีวิชัยเห็นชอบตามนั้นพร้อมรับหน้าที่เป็นประธานการสร้างถนนสายนี้ให้เสร็จ โดยกำหนดฤกษ์เวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

ครูบาโสภา หรือครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง สหายธรรมผู้ใกล้ชิดของครูบาศรีวิชัย ทักท้วงว่า ตามฤกษ์นี้ถนนคงสำเร็จ แต่จะมีปัญหายุ่งยากตามมาอีกมาก น่าจะหาฤกษ์ใหม่ และควรต้องนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่มาเจริญชัยมงคลคาถา บางทีจะได้อาศัยบารมีของท่านเหล่านั้นช่วยเป็นกำลังด้วย แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วยทั้งสองเรื่อง เพราะถ้าเปลี่ยนกำหนดฤกษ์ ท่านเองติดกิจนิมนต์ต้องไปที่อื่น และเห็นว่าไม่ควรรบกวนพระสังฆาธิการ

ในที่สุดเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ก็ทรงเป็นผู้ลงจอบแรกฟันดินตามฤกษ์เดิม ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ และคนอื่น ๆ ระหว่างนั้นครูบาเถิ้มและพระสงฆ์ในคณะของครูบาศรีวิชัยร่วมกันสวดชัยมงคลคาถา ณ ตำแหน่งที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยในปัจจุบัน

ระยะแรกมีแรงงานช่วยทำถนนแค่ไม่กี่สิบคน หลวงศรีประกาศจึงให้พิมพ์ใบปลิวฎีกาบอกบุญที่แต่งเป็นค่าว (บทร้อยกรองของล้านนา) ออกแจกจ่ายทั่วภาคเหนือ  บางแหล่งข้อมูลว่าพิมพ์สองครั้ง ครั้งละ ๕,๐๐๐ ใบ บ้างว่าพิมพ์มากถึง ๕ หมื่นใบ

แม้จะยังไม่เคยพบต้นฉบับของจริงเลยสักใบ แต่จนถึงยุคทศวรรษ ๒๕๓๐ หรือราว ๖๐ ปีให้หลัง เมื่อ โสภา ชานะมูล เก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ว่าด้วยครูบาศรีวิชัย ก็ยังหลงเหลือคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ท่องจำคำค่าวในใบปลิวนั้นได้

“หลวงศรีแต่งไจ้ ใบแพร่ดีก๋า ไปทั่วนานา บ้านนอกคอกห้วย…”

ปากต่อปาก ในไม่ช้าผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือไปจนถึงสุโขทัย พิษณุโลก ทั้งฆราวาส ภิกษุสงฆ์ และชาวเขาชนกลุ่มน้อย ต่างหลั่งไหลมาร่วมงานนี้กับครูบาศรีวิชัย ประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน

หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า

“วิธีการรับทำถนนสายนี้โดยให้เข้ากันเป็นพวกหรือหมู่ เรียกตามภาษาเหนือว่าศรัทธา คือทายก-ทายิกาของวัดใดวัดหนึ่งร่วมกันรับตอนหนึ่ง แล้วแต่มีคนมากและน้อย”

พระครูจันทสมานคุณ หรือหลวงปู่หล้า (ปี ๒๔๔๑-๒๕๓๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าเคยพาญาติโยมวัดป่าตึงไปช่วยทำถนนตั้งแต่ช่วงแรก ๆ

“การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของผู้ไปร่วม  ชาวบ้านที่ติดตามไปจากวัดป่าตึงทำได้ ๕ วา ใช้เวลา ๑๔ วัน  พวกที่ไปจากเมืองพานทำได้ ๖๐ วา”

จนเดี๋ยวนี้ใครที่นั่งรถขึ้นดอยตรงทางโค้งช่วงสุดท้ายก่อนถึงเชิงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ จะเห็นว่าตรงนั้นเป็นโค้งหักศอกที่ลาดชัน เล่ากันว่าโค้งอันตรายนี้เคยเกิดอุบัติเหตุมีคนตายหลายสิบราย

พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนะวณิชย์) คณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเล่าให้ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ ลูกศิษย์ในคณะฟังว่า สมัยที่ท่านยังเป็นนายช่างใหญ่กรมโยธาเทศบาล เคยส่งนายช่างจากกองทางไปช่วยครูบาศรีวิชัยเพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคสำหรับการตัดถนนให้รถยนต์แล่นได้ตามหลักวิชา แต่ครูบาศรีวิชัยก็มีความเห็นของท่านเองเสมอ  “ส. สุภาภา” บันทึกปากคำของเจ้าคุณประกิตฯ ไว้ว่าความขัดแย้งครั้งสำคัญคือโค้งสุดท้ายก่อนถึงวัดพระธาตุฯ

“การสร้างถนนมาถึงตอนนี้ นายช่างกองทางจึงวางแนวถนนให้วกอ้อมไปทางทิศเหนือเพื่อจะเลี่ยงความสูงชันของระดับดิน ให้ถนนค่อย ๆ ขึ้น แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าจะถึงพระธาตุฯ อยู่แล้ว ทำไมจะต้องอ้อมไปให้ไกลอีก ในที่สุดท่านก็ชนะ”

เมื่อนายช่างกองทางยอมแพ้ ผู้ที่อาสารับผิดชอบตัดถนนช่วงนี้แทนคือขุนกันชนะนนถี คหบดีชาวไต (ไทยใหญ่) จากเชียงตุง โค้งนั้นจึงเรียกกันว่า “โค้งขุนกัน” มาจนทุกวันนี้

ดูจากรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการตัดถนน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงของสังคมเชียงใหม่ เช่น เจ้าแก้วนวรัฐ หลวงศรีประกาศ  แต่เมืองเชียงใหม่ก็เหมือนเมืองใหญ่ทั่วไปที่ประกอบด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ โยมอุปัฏฐากคนสำคัญหลายคนของครูบาก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นอกจากขุนกันชนะนนถี ยังมีหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง) พ่อค้าจีนคนสำคัญของเชียงใหม่

พลังศรัทธาจากกลุ่มชาติพันธุ์ยังหลงเหลือร่องรอยในประวัติศาสตร์บอกเล่าด้วย  ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เขียนหนังสือ ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน ๒ ว่าด้วยประวัติชีวิตและวัตถุมงคลอันเกี่ยวเนื่องกับครูบาศรีวิชัย ท่านเล่าให้ผมฟังว่าจากที่เคยเก็บข้อมูลปากคำผู้เฒ่าผู้แก่ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา เรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพถือเป็นความทรงจำร่วมของคนรุ่นนั้น แทบทุกคนจะมีเรื่องเล่าของตัวเอง

“กำลังสำคัญคือกะเหรี่ยงนอกหรือกะเหรี่ยงที่มาจากพม่า พวกที่อยู่กับบริษัทป่าไม้  พวกนี้เรื่องตัดไม้ ทำลายหิน กรุยทาง เขาเก่งอยู่แล้ว เขามีเทคโนโลยี อย่างเช่นหินก้อนผาที่ขวางทางอยู่ จะทำอย่างไร รถเครนก็ไม่มี กลางคืนเขาก็สุมไฟเผา ตอนเช้าก็ตักน้ำมารด มันก็ยุ่ยออกเป็นทาง”

นับจาก “จอบแรก” ถนนทางขึ้นดอยสุเทพระยะทางเกือบ ๑๒ กิโลเมตรสำเร็จลงเมื่อสิ้นเดือนเมษายน ปี ๒๔๗๘ หรือภายในระยะเวลาไม่ถึง ๖ เดือน

ก่อนหน้าถนนของครูบา คนเชียงใหม่แต่โบราณมีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ในช่วงวันเพ็ญมาฆบูชา เป็นการจาริกแสวงบุญสำคัญประจำปีที่ต้องใช้เวลาเดินลัดเลาะขึ้นเขาในความมืดเป็นครึ่งค่อนคืน  ดังนั้นสำหรับครูบาศรีวิชัยถนนสายนี้ยังมีอีกความหมายซ้อนเหลื่อม คือเป็น “มรรค” หรือเส้นทางสู่พระนิพพาน เพราะระหว่างทางท่านวางแผนจะให้สร้างวัดขึ้นสามแห่ง คือ วัดศรีโสดา วัดสกิทาคา และวัดอนาคามี อันหมายถึงลำดับขั้นบรรลุธรรมของพระอริยบุคคล จากโสดาบันสู่สกิทาคามี และอนาคามี โดยมุ่งหมายว่าวัดพระธาตุดอยสุเทพบนยอดเขานั่นแหละคืออรหัตผล หรือภาวะของพระอรหันต์

เดี๋ยวนี้วัดศรีโสดาและวัดสกิทาคา (ผาลาด) ยังมี ส่วนวัดอนาคามีนั้นยังไม่ทันสร้างก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้นก่อน

อาจเป็นเพราะครูบาศรีวิชัยอาจหาญรับงานที่แม้แต่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็ยังทำให้ไม่ได้ อาจด้วยการรวมแรงศรัทธาจากคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติทั่วทั้งเมืองเหนือ หรืออาจสืบเนื่องจากความสำเร็จอันเป็นเสมือนปาฏิหาริย์ในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน  พอถึงช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๔๗๘ ปรากฏว่าเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ถึง ๙๐ วัด ทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย เฮละโลไปยื่นหนังสือขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ส่งคืนใบสุทธิ (เทียบได้กับบัตรประจำตัวของสงฆ์) แล้วขอขึ้นตรงกับครูบาศรีวิชัยตามระบบหัวหมวดอุโบสถโบราณ  ทางครูบาศรีวิชัยก็ออกใบสุทธิใหม่ประทับตราหัวเสืออันหมายถึงปีขาลซึ่งเป็นปีเกิดของท่านมอบให้แทน ซึ่งเท่าที่พบบัญชีมีการออกใบสุทธิเป็นจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ฉบับสำหรับพระสงฆ์จำนวนเท่ากันนั้น

คณะสงฆ์ล้านนาแต่โบราณมิได้มีการรวมศูนย์อำนาจ หากแต่ใช้ระบบแบ่งแยกการปกครองวัดเป็นสำนักหรือกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า “หัวหมวดอุโบสถ” อุปัชฌาย์อาจารย์ผู้เป็นเจ้าหมวด มีหน้าที่ดูแลปกครองวัดในกลุ่มในท้องที่ และมีอำนาจอุปสมบทพระภิกษุภายในเขตของตน โดยเมื่อบวชกับพระรูปใดให้ถือว่าอยู่ในปกครองของพระอาจารย์ท่านนั้น  แต่ระบบนี้ก็เสื่อมสลายไปนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นมณฑลพายัพของสยาม อำนาจทางการเมืองและการทหารของกรุงเทพฯ เข้าควบคุมดินแดนล้านนาพร้อม ๆ กับการปกแผ่อำนาจการปกครองคณะสงฆ์จากส่วนกลาง

การพยายามหยุดเวลา ย้อนกลับสู่ยุคหัวหมวดอุโบสถของคณะสงฆ์ล้านนาเมื่อปี ๒๔๗๘ ยังเกิดขึ้นควบคู่การต่อต้านการเรียนภาษาไทยกลางและระบบโรงเรียนของรัฐบาล เช่น ในเขตอำเภอลี้มีรายงานว่าโต๊ะเก้าอี้ของโรงเรียนประชาบาลถูกแอบเผาบ้าง โยนทิ้งในป่าบ้าง

กรณีนี้มีการรายงานด่วนยังคณะรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องหาทางนำตัวครูบาศรีวิชัยออกจากเชียงใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อตัดตอนเหตุอันอาจแผ่ขยายลุกลามโดยง่าย  ข้อเสนอมีต่าง ๆ กันไป เช่น จะให้ครูบาศรีวิชัยลงมาควบคุมการบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีญาติโยมทางกรุงเทพฯ เคยนิมนต์ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไปเพราะเกรงว่าครูบาอาจผัดผ่อนไม่ยาก

สุดท้ายหลังจากออกพรรษาปี ๒๔๗๘ ทางราชการจึงนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมารับการอบรมและซักซ้อมความเข้าใจ (ตามสำนวนปัจจุบันคงเรียกว่า “ปรับทัศนคติ”) ที่กรุงเทพฯ  ข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ต้องเดินทางมาส่งด้วยตัวเอง โดยจัดที่พักถวายครูบา ณ ตำหนักสมเด็จ วัดเบญจม-บพิตรฯ พ่วงด้วยข้อหามากมาย ตั้งแต่การเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน การออกใบสุทธิโดยไม่มีอำนาจ ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ และการบูรณะโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตจากทางราชการ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระสงฆ์ผิวขาวร่างเล็กรูปนี้ถูกส่งมากักตัวที่วัดเบญจมบพิตรฯ ในกรุงเทพฯ และไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านโดนข้อกล่าวหามากมาย เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วง ๒๐ กว่าปีก่อนหน้า

นับแต่กฎหมายใหม่จากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ค่อย ๆ ประกาศใช้ให้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่มณฑลต่าง ๆ ที่มีผลสำคัญต่อคณะสงฆ์ในล้านนาคือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) การปกครองคณะสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ จึงแทนที่ระบบหัวหมวดอุโบสถ สงฆ์พื้นเมืองบางส่วนถูกดึงเข้าสู่โครงสร้างใหม่ ได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น ขณะอำนาจบรรพชาอุปสมบทที่เคยเป็นของพระเถระในหัวหมวดอุโบสถกลับกลายเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายเท่านั้น พร้อม ๆ กับที่เด็กหนุ่มล้านนาซึ่งเคยบวชเป็นพระสงฆ์ได้ตามศรัทธาโดยได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในยุคเดิมก็ต้องถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารหลวงทั้งหมด

ปฏิกิริยาที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้พระศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ต้องอธิกรณ์ (คือถูกกล่าวโทษเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ) หลายครั้งด้วยเรื่องเป็นพระอุปัชฌาย์บวชลูกหลาน
 ชาวบ้านโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งบ้าง การขัดคำสั่งเจ้าคณะแขวง ไม่เข้าร่วมประชุมบ้าง ข้อกล่าวหาทำนองนี้มีมาเป็นระยะ ๆ  พระศรีวิชัยเคยถูกลงโทษกักตัวไว้ที่วัดหลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมืองลำพูน) นับปีก็ครั้งหนึ่ง แต่หนที่รุนแรงกว่าเพื่อนคือในปี ๒๔๖๒

ครั้งนั้นพระศรีวิชัยถูกเจ้าหลวงลำพูนเรียกตัวเข้าเมืองลำพูนเพื่อรับการไต่สวน

พ่ออุ๊ยสิงห์คำ อิ่นมา (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นหลานน้าของครูบาศรีวิชัย เพราะแม่ของพ่ออุ๊ยเป็นพี่สาวของท่าน  ในวัยเยาว์พ่ออุ๊ยคือหนึ่งในแปดของพระสงฆ์สามเณรที่ครูบาบวชให้ในคราวนั้น  พ่ออุ๊ยเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี ขณะอายุ ๙๒ ปีเมื่อปี ๒๕๓๙ ว่า

“ครูบาท่านถูกฟ้องตอนบวชพ่ออุ๊ย คราวนั้นท่านบวชพระเณรทั้งหมดแปดรูปด้วยกัน  ทางคณะสงฆ์ลำพูนเขากล่าวหาว่าท่านบวชโดยไม่ได้รับอนุญาต เขาเอาตัวท่านไปกักไว้ที่ลำพูน  เวลานั้นพ่ออุ๊ยต้องสึกจากเณร เพราะท่านสั่งไว้ว่าถ้าใครกลัวความหรือกลัวถูกจับ ให้หนีเอาตัวรอด…”

ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๒ หรือ ๑๐ ปีให้หลังจากเหตุการณ์ บรรยายฉากการเริ่มต้นเดินขบวนในครั้งนั้นว่า

“ฝ่ายสงฆ์สามเณรทั้งหลายก็พากันตกแต่งคุมผ้ามัดอก ลูกประคำห้อยคอ ถือวีและไม้เท้า  ศิษย์โยมนักบวชทั้งหลาย บางพวกถือระฆัง กังสดาล บัณเฑาะว์ หอยสังข์ ฆ้อง กลอง ดีดสีตีเป่าไปก่อนหน้าและตามหลังเจ้าภิกขุตนนั้นออกจากอรัญญาวาส คือวัดศรีทรายมูลบุญเรือง ตำบลบ้านปาง รวมทั้งคฤหัสถ์นักบวชประมาณ ๑๕๐๐ เศษ ก็ยกออกมาตามอรัญญวิถีมัคคีรี”



อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพ
เป็นที่เคารพสักการะทั้งสำหรับคนเมืองเชียงใหม่และคนต่างถิ่น

•ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี Jul 11, 2015  

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
สร้าง 'ครูบาศรีวิชัย' องค์ใหญ่ที่สุดในโลก
ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
หมีงงในพงหญ้า 0 2977 กระทู้ล่าสุด 25 มิถุนายน 2553 00:37:30
โดย หมีงงในพงหญ้า
ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ตำนานการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1187 กระทู้ล่าสุด 20 กรกฎาคม 2559 22:56:06
โดย มดเอ๊ก
ตำนานเรื่องเล่า : อภินิหาร หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1586 กระทู้ล่าสุด 20 กรกฎาคม 2559 23:12:11
โดย มดเอ๊ก
องค์พระบาง จากลาวสู่สยาม มาเพราะ การเมือง แต่ส่งกลับเพราะ ความเชื่อ
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
หมีงงในพงหญ้า 6 3119 กระทู้ล่าสุด 04 กันยายน 2564 13:16:25
โดย หมีงงในพงหญ้า
[ข่าวด่วน] - “จุรินทร์”แนะเลือกประชาธิปัตย์ เบอร์ 26 ประเทศรอดทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ประชาธิปไ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 105 กระทู้ล่าสุด 04 พฤษภาคม 2566 16:39:06
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.604 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 12:30:26