[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
01 พฤศจิกายน 2567 07:58:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หัวอกชาวพุทธสั่นไหว อย่าตกใจ... “ปางหนุนตัก”  (อ่าน 1007 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 20 สิงหาคม 2559 02:43:07 »



   ใจหาย... เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปปางพิสดาร อีกองค์นอนหนุนตัก อีกองค์ประคองไว้ด้วยห่วงใย บวกท่าทีอ่อนช้อยแห่งรูปปั้น ยิ่งทำเอาตีความกันไปในทางเสียหายใหญ่โต บ้างวิจารณ์หนักถึงขั้นคิดว่าเป็นปางลูบไล้ จึงร้องเรียนให้สำนักพุทธช่วยพิจารณา
       ผลปรากฏว่าไม่ได้เป็นปางพิเรนทร์อย่างที่เข้าใจ แต่ช่างปั้นตามปางในพุทธประวัติทุกอย่าง โถ..ชาวพุทธทั้งหลาย สงสัยจะยังรู้จักพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกน้อยเกินไปจริงๆ



ไม่ใช่ปางแปลก เพียงแค่ไม่แพร่หลาย...



 ...พระพุทธรูปองค์เบื้องหน้านอนตะแคง ส่วนศีรษะเอนพิงอยู่บนเข่าขวาที่ตั้งชันขององค์เบื้องหลัง ถูกประคองเอาไว้ด้วยท่าทีแห่งความห่วงใย มือขวาจากองค์เบื้องหลังส่งเข้าประคองแขนขวาขององค์เบื้องหน้าเอาไว้ ส่วนมือซ้ายจากองค์เบื้องหลังส่งผือผายและหงายขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งให้องค์เบื้องหน้าวางมือฝากน้ำหนักเอาไว้...
        
        จากลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานี้เอง ที่ทำให้พระพุทธรูปปางนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ตกอยู่ในห้วงแห่งคำครหา ถูกวิจารณ์จากชาวบ้านที่พบเห็นว่าเป็นปางพิสดารบ้างแสดงความคิดเห็นหนักถึงขั้นบอกว่าเป็นปางพิเรนทร์และล่อแหลม มีลักษณะการสัมผัสลูบไล้ส่อไปในเชิงชู้สาว ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อชาวพุทธบางรายที่ได้พบเห็น จึงร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบดูแล
        
        สอบถามรายละเอียดจนได้ความว่า ผู้ต้นคิดการสร้างพระพุทธรูปปางนี้คือชาวบ้านวัย 51 ภู เรี่ยมไธสงค์ ที่มีจิตเป็นกุศล หวังดีอยากให้พระพุทธรูปปางนี้ได้เป็นเครื่องเตือนใจเกี่ยวกับการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ในทุกครั้งที่มีผู้เข้ารักษาภายในโรงพยาบาล จึงรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาจำนวน 50,000 บาท มาเป็นต้นทุนในการสร้าง กระทั่งออกมาเป็น “ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ” 1 ใน 80 ปางตามพุทธประวัติซึ่งระบุไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ “ปางพิสดาร”, “ปางลูบไล้” หรือ “ปางหนุนตัก” อย่างที่หลายต่อหลายคนเรียกขาน
      
        เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปปางเดียวกันนี้ในสถานที่อื่นๆ ที่เคยสร้างเอาไว้ จะเห็นว่าองค์ที่ตั้งอยู่ที่ จ.จันทบุรี องค์นี้ มีลักษณะที่อ่อนช้อยกว่าองค์อื่นๆ อยู่มากเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นความต้องการของผู้สร้างที่ไม่อยากให้พระพุทธองค์ดูแข็งและไร้องค์ประกอบศิลป์เกินไปนัก องค์ที่อยู่เบื้องหน้าจึงอยู่ในลักษณะนอนตะแคงแฝงความอ่อมช้อยเอาไว้อย่างที่เห็น ซึ่งต่างจาก “ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ” องค์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะนอนหงายหน้าและมีท่าทีแข็งๆ เสียมากกว่า
      
        ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์พระพุทธรูปปางเดียวกันนี้ดู จะพบว่าเคยเป็นข่าวในลักษณะไม่ต่างกันจากครั้งนี้นัก คือถูกครหาว่าเป็น “พระพุทธรูปปางแปลก” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น วัดน้ำริดเหนือ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็นจนมีผู้คนเดินทางไปกราบไหว้อย่างล้นทะลัก



[ปางเดียวกัน จากวัดอื่นซึ่งดูอ่อนช้อยน้อยกว่า]

        หรือแม้แต่ วัดขนอนเหนือ บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมกันใหญ่โต แม้ว่าจะมีแผ่นป้ายเขียนบรรยายติดเอาไว้ด้วยว่าคือ "พระพุทธรูปจริยาปางพยาบาลภิกษุอาพาธ" จึงเป็นเหตุให้เจ้าอาวาส ผู้อนุมัติให้สร้าง ต้องออกโรงมาอธิบายเป็นการใหญ่ เช่นเดียวกับรองเลขาธิการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ที่ต้องออกมาไขความกระจ่างให้สังคม ให้เลิกมองปางนี้ไปในทางลบ เนื่องจากความเข้าใจผิดจากอิริยาบถที่ค่อนข้างแปลกตาสำหรับความเป็นพระพุทธรูปที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน
      
        “หากมองแล้วว่า พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด และยังเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีพุทธลักษณะที่ไม่เหมาะสมออกไปในแนวอุบาทว์ ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะจังหวัดเข้าไปดูแล”
      
        เพื่อลดความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในรั้วศาสนา หลักการที่ถูกต้องจริงๆ ที่วัดหรือสถานที่ต่างๆ ควรทำ หากต้องการสร้างพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแปลกตา ก็คือการขออนุญาตจากทางมหาเถรสมาคมหรือเจ้าคณะจังหวัดผู้ปกครอง ให้ช่วยพิจารณาเรื่องความเหมาะสมเสียก่อน หากผลออกมาว่าวัดไหนสร้างพระพุทธรูปปางพิสดารโดยไม่ขออนุญาต จะต้องให้ทางเจ้าคณะผู้ปกครองเข้าตักเตือนโดยเร็วที่สุด

ปางแปลกกว่านี้ยังมี! จงมองที่ “พุทธคติ” ที่แฝงมา


[กำเนิด “ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ” จากพุทธประวัติ]

       ปางพิสดาร, ปางลูบไล้, ปางพิเรนทร์, ปางหนุนตัก ฯลฯ ด้วยความไม่รู้จึงทำให้เกิดความเขลา เพราะไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติมาก่อน จึงทำให้ชาวพุทธตั้งชื่อเรียกพระพุทธรูป “ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ” ออกไปในทางเสื่อมเช่นนั้น และเพื่อไม่ให้ในอนาคตจะต้องเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับองค์พระพุทธรูปปางเดียวกันนี้อีก ชาวพุทธทั้งหลายจึงควรมีพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนเรื่องนี้เอาไว้ประดับสมอง
      
        ที่ทำให้เกิดพระพุทธรูปปางพยาบาลขึ้นมานั้น มาจากอาการอาพาธของพระภิกษุรูปหนึ่งจากอาการท้องเสีย อาพาธหนักจนต้องนอนจมกองปัสสาวะ-อุจจาระของตนเองอยู่อย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าผ่านไปเห็น พร้อมพระอานนท์ที่ตามเสด็จ จึงเข้าไปถามไถ่อาการ และได้คำตอบว่าเหตุใดจึงไม่มีใครช่วยดูแลพยาบาลภิกษุรูปนั้นแม้แต่รูปเดียว
      
       "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทำประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลข้าพระองค์"
      
        เมื่อทราบความจริงเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกพระอานนท์ ให้ช่วยไปเอาน้ำมาให้ จากนั้นพระองค์ก็นำมาอาบให้แก่พระภิกษุรูปที่ไร้ผู้ดูแลองค์นี้เอง หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าจึงไปตรัสถามความจริงต่อภิกษุทั้งหลายว่าเหตุใดจึงไม่มีพระรูปใด ลงมือพยาบาลเลยแม้แต่รูปเดียว จึงได้คำตอบกลับมาว่า
      
        "ภิกษุทั้งหลายไม่พยาบาลเธอ เพราะเธอไม่ทำประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าข้า"



[พระพุทธเจ้า ทรงช่วยพยาบาล โดยมีพระอานนทร์เป็นลูกมือ]

        จึงกลายเป็นที่มาของหลักคำสอนเกี่ยวกับการพยาบาลภิกษุ ให้พึงมีน้ำใจต่อกัน เพราะการมาอยู่รวมกันในที่นี้ ไม่มีบิดามารดาของเหล่าภิกษุมาคอยช่วยเหลือ ดังนั้น หากพบว่าพระรูปใดอาพาธ ไม่ว่าจะเป็นมีฐานะเป็นเพื่อนภิกษุด้วยกันเอง หรือเป็นอาจารย์ผู้อุปัชญาย์ให้ ก็ต้องพยาบาลแก่กัน ถ้าไม่ทำ ให้ถือว่าอาบัติ
      
        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาผู้จะพึงพยาบาลพวกเธอก็ไม่มี ถ้าเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพยาบาลเรา ก็พึงพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย
        
        ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ผู้ร่วมอุปชฌายะ หรือผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์พึงพยาบาลเธอ ถ้าไม่พยาบาลต้องอาบัติทุกกฎ"
      
        หากจะพูดกันถึงเรื่องปางแปลกตาของพระพุทธรูปที่เคยเกิดเป็นข่าวแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนเพิ่งมีปรากฏในวัดดังของเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งนั่งชันเข่าห้อยขา แขนข้างหนึ่งวางบนหัวเข่า ส่วนแขนอีกข้างใช้มือยันพื้น ลักษณะดูผ่อนคลายจนเกินงาม จนถูกตั้งชื่อปางว่า “ปางเอาที่สบายใจก็แล้วกัน”


[ท่าผ่อนคลายเกินงาม จนถูกเรียก “ปางเอาที่สบายใจก็แล้วกัน”]


        แต่หลังสืบค้นข้อมูลความจริง จึงมาทราบภายหลังว่าองค์ที่ถูกกล่าวถึงนั้น ไม่ใช่พระพุทธรูป แต่เป็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ปางหมอยา ซึ่งสร้างขึ้นตามพุทธศิลปะแบบมหายานของจีน ไม่ใช่การตั้งใจทำเรื่องพิเรนทร์อย่างที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
      
        เช่นเดียวกับประเด็นร้อนที่เคยวิจารณ์กันหนักมาก เมื่อครั้งมีพระพุทธรูปถูกหญิงสาวโอบกอดคอและใช้ขากอดรัดบั้นเอว จนถูกชาวพุทธทั้งหลายต่างออกมารุมประนาม สาบแช่งผู้ปั้นกันไปต่างๆ นานาว่ามีจิตคิดอกุศลกับพระพุทธรูป กระทั่งมาทราบความจริงภายหลังว่า แท้จริงแล้วพระพุทธรูปปางนี้เป็นปางหนึ่งในนิกายตันตระยาน ซึ่งเรียกว่า “ปางยับยุม (Yab-Yum)” เป็นปางที่ใช้แพร่หลายกันมากในอินเดีย, ภูฏาน, เนปาล และทิเบต


[“ปางยับยุม (Yab-Yum)” เป็นปางที่ใช้แพร่หลายกันมากในอินเดีย, ภูฏาน, เนปาล และทิเบต]


       ส่วนลักษณะการกอดรัดที่ดูสุ่มเสี่ยงเหล่านั้น แท้จริงแล้วคือสัญลักษณ์ที่ใช้แทน “พ่อ” และ “แม่” โดยมีเพศชายเป็นตัวแทนแห่งปัญหา เพศหญิงเป็นตัวแทนแห่งความเมตตา ซึ่งต้องมีควบคู่กันเพื่อให้สามารถบรรลุธรรมที่แท้ และอีกนัยหนึ่งนั้น ทางนิกายตันตระยานต้องการสะท้อนแนวคิดเรื่องหนทางสู่นิพพาน โดยการเสพกิเลสทุกชนิดจนเกิดความเบื่อหน่าย กระทั่งสามารถคลายกิเลสและหลุดพ้นได้ในที่สุด
      
        นอกจากนี้เมื่อปลายปีก่อนก็มี “ปางชู 2 นิ้ว” เป็นภาพวาดนูน ปรากฏอยู่บนจั่วโบสถ์วัดเจริญสุคันธาราม บ้านกันผม จ.นครราชสีมา จนมีคนนึกสนุกตั้งชื่อปางให้ว่า “ปางฟรุ้งฟริ้ง” กระทั่ง เจ้าอาวาสออกมาเผยความจริงสยบดรามาว่า คือปางที่แฝงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ เรื่อง “การปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่าง” คือต้อง “ไม่ตึง” และ “ไม่หย่อน” จนเกินไป คือให้เดินทางสายกลางเพื่อมุ่งสู่เส้นทางสู่นิพพาน


[“ปางชู 2 นิ้ว” แท้จริงแฝงปริศนาธรรม]

 จะเห็นได้ว่าพุทธลักษณะในปางต่างๆ ของพระพุทธรูป แท้จริงแล้วแฝงไปด้วย “คติธรรม” อยู่ในทุกอณู แต่เพราะเหตุแห่งความเขลา ตัดสินด้วยตา และการศึกษาที่ไม่ดีเพียงพอ จึงทำให้นัยดีๆ ที่แฝงไว้ กลายมาเป็นกำแพงกั้นแผงใหญ่ ไม่ให้ชาวพุทธเข้าถึงประตูแห่งแสงสว่างจากพระพุทธองค์



 ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
 ขอบคุณภาพ: workpointtv.com, faiththaistory.com

จาก http://astv.mobi/AHqT2u5


      

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.422 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 11 พฤษภาคม 2567 07:57:01