[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 21:34:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : มรดกทางจิตวิญญาณของโทมัส เมอร์ตัน  (อ่าน 1655 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5063


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.272 Chrome 50.0.2661.272


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2559 02:45:39 »



มรดกทางจิตวิญญาณของโทมัส เมอร์ตัน

โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2559

ชื่อของโทมัส เมอร์ตัน (ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๖๘) อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยในบ้านเราเท่าไรนัก แต่ในแวดวงชาวคริสต์แล้ว พระสงฆ์คริสต์ผู้นี้เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของศตวรรษที่ ๒๐ เป็นผู้นำในการใช้คริสตธรรมมาสนับสนุนการสร้างสันติภาพ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ช่วยให้ชาวตะวันตกได้รู้จักศาสนาตะวันออกอย่างถ่องแท้ เมอร์ตันได้พบและสนทนาอย่างลึกซึ้งกับเพื่อนต่างศาสนา จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

โทมัส เมอร์ตันเกิดในฝรั่งเศส โดยมีแม่เป็นชาวอเมริกันและพ่อเป็นชาวนิวซีแลนด์ ในปี ๑๙๓๒ เมอร์ตันย้ายมาพำนักในสหรัฐอเมริกา หลังจากบวชเข้าคณะแทรปพิสต์ (คณะนักพรตที่เน้นการหลีกเร้นภาวนา) ในปี ๑๙๔๑ ด้วยความที่เขามีพรสวรรค์ในการเขียน เมอร์ตันจึงได้รับการสนับสนุนจากอธิการให้เขียนหนังสือ นั่นจึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักของโลกภายนอก แม้ว่าตัวเขาเองแทบจะไม่ปรากฏตัวนอกอารามเลย เขามีงานตีพิมพ์เป็นหนังสือกว่า ๗๐ เล่ม มีผลงานบทกวี บทความ และจดหมายอีกมากมาย ในช่วงแรก เขาเน้นเขียนเรื่องแนวคิดในคริสตศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการทำสมาธิภาวนา อัตชีวประวัติเรื่อง The Seven Storey Mountain ที่ว่าด้วยการแสวงหาภายในของเขา จากเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตเหลวแหลก จนมาพบหนทางภาวนา สละเรื่องทางโลกและหันหน้าเข้าสู่อาราม กลายเป็นหนังสือยอดนิยม ที่นำพาคนหนุ่มสาวในยุคนั้นหันเข้าสู่ศาสนาและการภาวนา จนถึงปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ไปแล้วกว่าล้านเล่ม

แม้จะหยั่งรากลึกกับการภาวนาวิถีคริสต์ แต่เมอร์ตันก็เปิดใจเรียนรู้จากศาสนาอื่น โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษที่ ๕๐ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เมอร์ตันศึกษาและเขียนงานเกี่ยวกับศาสนาตะวันออกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเต๋า ฮินดู ซูฟี และศาสนาพุทธ เขาให้ความสนใจกับเซ็นเป็นพิเศษ เพราะพบว่าวิถีของอาจารย์เซ็นนั้น คล้ายคลึงกับวิถีนักพรตคริสต์เป็นอย่างยิ่ง เขาเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนความเข้าใจกับ ดี.ที.ซูซูกิ หนึ่งในผู้นำเซ็นไปเผยแพร่ในโลกตะวันตกเป็นเวลาหลายปี เมื่อทั้งสองมีโอกาสพบกัน ซูซูกิชมว่าเมอร์ตันเป็นนักเขียนตะวันตกที่สามารถเข้าใจเซ็นได้ดีที่สุด

งานเขียนของนักบวชคริสต์ผู้นี้ ได้ช่วยเปิดประตูให้ชาวตะวันตกหันมาทำความเข้าใจศาสนาตะวันออก และขณะเดียวกัน ศาสนาตะวันออกก็ช่วยให้เมอร์ตันเติบโตทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน ก่อนเสียชีวิตไม่นานเขาพูดกับเพื่อนนักบวชว่า “ผมไม่เชื่อว่าผมจะสามารถเข้าใจความเชื่อทางคริสต์แบบที่ผมเข้าใจเช่นนี้ได้ หากไม่ใช่เพราะความเข้าใจในศาสนาพุทธ”

เมอร์ตันไม่เพียงแค่สนใจในเรื่องจิตวิญญาณเพื่อพัฒนาปัจเจกบุคคลเท่านั้น ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิต ขณะที่สังคมอเมริกันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่ศาสนจักรในเวลานั้นยังไม่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลก เมอร์ตันเป็นผู้ส่งเสียงเรียกให้คริสตชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เขาเป็นปัญญาชนผิวขาวคนแรกๆ ที่สนับสนุนขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ รวมไปถึงสิทธิของชนพื้นเมืองในอเมริกา ในช่วงระยะเวลาของสงครามเย็นและการคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ เขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อความรุนแรงของสงครามได้ เขาเขียนว่า “ดูเหมือนว่าสำหรับข้าพเจ้าแล้ว คำถามเรื่องสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญ มันสำคัญมากจนข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ชาวคริสต์คนหนึ่งที่มีศรัทธาอย่างจริงจังจะสามารถละเลยเรื่องนี้ไปได้” ในเวลานั้นยังไม่มีนักบวชคาทอลิกคนใดออกมาต่อต้านสงครามอย่างเปิดเผย ด้วยเชื่อว่าไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของนักบวช แต่เมอร์ตันกลับผลิตงานเขียนต่อต้านสงครามออกสู่สาธารณะ เขาสนับสนุนการสร้างสันติภาพด้วยสันติวิธี และเรียกร้องให้ศาสนิกมีบทบาทในการยุติสงคราม เขากล่าวว่าศาสนจักร “ต้องเป็นผู้นำบนหนทางไปสู่การแก้ปัญหาโดยไร้ความรุนแรงและค่อยๆ นำไปสู่การยุติสงคราม” แม้ว่างานของเขาจะมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในศาสนาและมนุษยธรรม แต่ในที่สุดเขาถูกสั่งจากผู้ใหญ่ในคณะให้หยุดการตีพิมพ์เรื่องต่อต้านสงคราม อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าเป็นหน้าที่ของศาสนิกที่จะต้องพยายามยุติการเข่นฆ่ามนุษย์ เขาจึงยังคงหาวิธีผลิตงานเขียนออกมาได้เรื่อยๆ

เดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๖๖ โทมัส เมอร์ตัน ได้พบกับท่านติชนัทฮันห์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้จักพระเซ็นจากเวียดนามรูปนี้นัก ท่านนัทฮันห์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกเล่าให้ชาวอเมริกันรับรู้ผลร้ายของสงครามเวียดนามจากมุมมองของคนเวียดนามเอง เนื่องจากเมอร์ตันเป็นบุคคลสำคัญในการต่อต้านสงครามและมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียน องค์กร Fellowship of Reconciliation จึงจัดการให้ทั้งสองได้พบกันที่อารามของเมอร์ตันในรัฐเคนตักกี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงของการพบกัน ทั้งสองได้สานสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น เมอร์ตันได้รับรู้เรื่องราวความรุนแรงของสงครามจากท่านนัทฮันห์ และเรียนรู้วิถีการปฏิบัติของพระเซ็น ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งเมอร์ตันให้ความสนใจมานานแล้ว หลังจากการพบกัน เมอร์ตันเขียนบทความที่เปี่ยมด้วยความกรุณาชื่อ “นัทฮันห์คือน้องชายของฉัน” เขาบอกเล่าถึงความเลวร้ายของสงครามเวียดนาม และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือน้องชายชาวพุทธของเขาคนนี้

หลังการสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี ๑๙๖๕ พระศาสนจักรคาทอลิกตื่นตัวกับการปฏิรูปศาสนาให้ทันยุคสมัยในหลายๆ ด้าน พระสันตะปาปาออกสมณสาส์นว่าด้วยเรื่องสันติภาพในโลก ซึ่งโทมัส เมอร์ตันเป็นผู้บุกเบิกเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว มีความพยายามที่จะปฏิรูปคณะนักบวชคาทอลิก ซึ่งเมอร์ตันก็เป็นผู้นำในความคิดเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นเมอร์ตันจึงได้รับเชิญให้มาประเทศไทยตอนปลายปี ๑๙๖๘ เพื่อแสดงปาฐกถาในการประชุมเพื่อการปฏิรูปคณะนักบวชเอเชีย เขาจึงใช้โอกาสนี้เดินทางไปเยือนอินเดียและศรีลังกาด้วย

การเดินทางมาเอเชียเป็นครั้งแรกในชีวิตมีความหมายพิเศษสำหรับเมอร์ตัน เพราะเขาให้ความสนใจเรื่องจิตวิญญาณตะวันออกอย่างจริงจังมานาน นี่เป็นโอกาสที่เขาจะได้มีประสบการณ์ตรง ขณะที่เครื่องบินกำลังมุ่งหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเขาเขียนบันทึกว่า “ฉันกำลังกลับบ้าน บ้านที่ฉันไม่เคยไปในร่างนี้” เมอร์ตันมีโอกาสพบและสนทนากับองค์ทะไลลามะซึ่งลี้ภัยอยู่ในธรรมศาลา ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่า เมอร์ตัน “เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นคนที่มีคุณภาพในเชิงจิตวิญญาณ เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้รับความรู้สึกเช่นนี้จากคนที่นับถือศาสนาคริสต์ นับแต่นั้นมา อาตมาก็ได้มีโอกาสพบกับคนอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติทำนองเดียวกัน แต่เมอร์ตันเป็นคนแรกที่แนะนำให้อาตมาได้รู้จักกับความหมายของคำว่า ‘ชาวคริสต์’ อย่างแท้จริง” ท่านยังกล่าวอีกว่า การสนทนากับเมอร์ตันมีประโยชน์อย่างมาก “ทั้งนี้เพราะอาตมาพบว่าในพุทธศาสนาและคาทอลิกนั้นมีข้อเหมือนกันอยู่มาก... เมอร์ตันได้เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างประเพณีทางศาสนาระหว่างศาสนาทั้งสองของเรา ยิ่งไปกว่านั้น เขาช่วยให้อาตมาเข้าใจว่า ศาสนาหลักทุกศาสนา ที่สอนในหลักของความรักความกรุณา สามารถทำให้มนุษย์เราเป็นคนดีได้” นอกจากพบกับองค์ทะไลลามะแล้ว เมอร์ตันได้เรียนรู้วัชรยานจากอาจารย์ชาวทิเบตอีกหลายท่านในอินเดีย ได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณครั้งสำคัญต่อหน้าพระพุทธรูปในศรีลังกา และเดินทาง “กลับบ้าน” ครั้งสุดท้ายในร่างนี้ ที่เมืองไทย

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๙๖๘ โทมัส เมอร์ตัน แสดงปาฐกถาครั้งสุดท้าย ให้กับนักบวชคริสต์จากหลากหลายประเทศที่สวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพื่อนนักบวชพบร่างไร้ลมหายใจของเขาในห้องพัก สันนิษฐานว่าเขาเสียชีวิตจากกระแสไฟฟ้าช๊อตจากพัดลมในห้อง ร่างของพระผู้ปฏิเสธสงครามผู้นี้ถูกส่งกลับอเมริกาด้วยเครื่องบินรบของสหรัฐ พร้อมกับทหารที่เสียชีวิตจากสงครามเวียดนาม

มรดกทางจิตวิญญาณที่โทมัส เมอร์ตันทิ้งไว้ให้กับผู้แสวงหารุ่นหลังก็คือ แบบอย่างของชีวิตภาวนาที่หยั่งลึกกับรากของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างที่จะดื่มด่ำจากจิตวิญญาณของศาสนาอื่น การไม่เพิกเฉยต่อเสียงร้องของเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก และการนำศาสนธรรมมารับใช้การสร้างสันติภาพ โดยข้ามพ้นเส้นที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นสีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนาก็ตาม


จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2016/07/blog-post_15.html#more

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.378 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 05 พฤศจิกายน 2566 12:37:12