[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:08:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: Mad Max : Fury Road ในกรอบของภาพยนตร์นิเวศ  (อ่าน 1770 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.272 Chrome 50.0.2661.272


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2559 02:46:51 »



ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

การกลับมาของหนังแอ็กชันเรื่อง Mad Max : Fury Road ซึ่งเป็นภาคที่ ๔ ของหนังชุด Mad Max ผลงานกำกับของ จอร์จ มิลเลอร์ ได้สร้างความฮือฮาอย่างยิ่งด้วยสองเหตุผลใหญ่ๆ ประการแรกคือความมันระเบิดของฉากแอ็กชันที่แทบไม่ได้หยุดตลอดเรื่อง ซึ่งถ่ายทำโดยวิธีดั้งเดิม เช่น ใช้สตันต์แมนและการแสดงจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับหนังแอ็กชันในปัจจุบันที่ใช้วิชวลเอฟเฟกต์  ประการที่ ๒ เป็นหนังแอ็กชันที่ยั่วล้อขนบทางเพศในหนังแอ็กชัน (ซึ่งให้ความสำคัญแก่บุรุษนิยม) ด้วยการใส่แนวคิดสตรีนิยม  แม้แมกซ์ (รับบทโดย ทอม ฮาร์ดี) จะเป็นเจ้าของชื่อเรื่อง แต่ไม่ได้เด่นที่สุดในเรื่อง เพราะตัวละครที่เด่นเท่า/เด่นกว่าคือ ฟูรีโอซา (รับบทโดย ชาร์ลีซ เทอรอน) นักรบหญิงแขนด้วน (ต้องต่อแขนเหล็ก) ผู้แม่นปืนกว่าแมกซ์  เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของภาคนี้คือ ฟูรีโอซาฉกตัวนางทาสหลายคนของจอมเผด็จการ อิมมอร์ทัน โจ แล้วพาพวกเธอหนีขึ้นรถขนน้ำมัน นั่นทำให้โจขนกองทัพรถมาไล่ล่า แมกซ์กับฟูรีโอซาและบรรดานางทาสก็ร่วมมือกันต่อสู้พร้อมการเดินทางไปยังดินแดนสีเขียว  หนังตอบสนองและยั่วล้อขนบทางเพศในหนังแอ็กชันไปพร้อมกัน แง่หนึ่งนางทาสก็เซ็กซี่ราวกับนางแบบยกทรง แต่อีกแง่พวกเธอก็ต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าว  หนังยังนำเสนอแก๊งหญิงชราที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่แมกซ์ด้วย

อย่างไรก็ดีประเด็นเหล่านี้มีการพูดคุยอย่างมากแล้ว บทความนี้จึงขอละไว้ เปลี่ยนไปขบคิดในประเด็นภาพยนตร์นิเวศแทน  ภาพยนตร์นิเวศ (ecocinema) เป็นแขนงหนึ่งของการวิเคราะห์ที่แพร่หลายในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา โดยมิได้มุ่งศึกษาเพียงภาพยนตร์ที่มีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดแจ้ง (เช่นสารคดีรณรงค์ต่างๆ) แต่ขยายวงกว้างไปยังภาพยนตร์ทั่วๆ ไป เพราะหนังทุกเรื่องย่อมมีมิติเกี่ยวกับนิเวศวิทยาไม่มากก็น้อย ด้วยหนังเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นสื่อบันทึกโลกซึ่งสร้างโลก (ของเรื่องเล่า) ขึ้นมาใหม่โดยใช้ทรัพยากรของโลกจริง  การทับซ้อนของโลกจริงและโลกที่ถูกปรุงแต่งนั้นทำให้เกิดมิติหลากหลายระหว่างภาพยนตร์กับสิ่งแวดล้อม  กรอบคิดแบบภาพยนตร์นิเวศจึงได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นเลนส์ศึกษาแขนงหนึ่ง เช่นเดียวกับกรอบการวิเคราะห์อื่นๆ เช่น เพศ สีผิว ชนชั้น



ในแง่ตระกูลความรู้ ภาพยนตร์นิเวศเป็นดอกผลจากการเหลื่อมกันระหว่างกรอบวิชาการของภาพยนตร์ศึกษากับกรอบวิชาอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งมนุษยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ  ในกลุ่มวิชาการเหล่านี้มีคำฮิตที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ anthropocene ผู้เขียนขอแปลกว้างๆ ว่า “ยุคสมัยมนุษย์” ซึ่งความหมายหยาบๆ ของคำนี้เกิดจากการแบ่งยุคทางธรณีวิทยา เช่น สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) ช่วง ๑.๖ ล้านปีถึง ๑ หมื่นปีก่อน มีน้ำแข็งปกคลุมเป็นระยะ  สมัยโฮโลซีน (Holocene Epoch) ตั้งแต่ ๑ หมื่นปีก่อนเป็นต้นมา โลกอุ่นขึ้นจนมนุษย์สร้างอารยธรรมได้  ทว่าตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของโลกนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มาจากตัวธรรมชาติเอง  เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการเสนอว่า ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๑๐ (บางกลุ่มก็เสนอว่า ค.ศ. ๑๙๔๕) ให้นับยุคทางธรณีวิทยาใหม่ โดยเรียกว่ายุคสมัยมนุษย์ (anthropocene) ซึ่งมีนัยว่าตั้งแต่ ค.ศ. ดังกล่าว (๑๖๑๐ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมัยใหม่-modernity  ส่วน ๑๙๔๕ คือจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาหลังสงครามโลก) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโดยมนุษย์นั้นทำให้มนุษย์กลายเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางนิเวศและธรณีวิทยาของโลกด้วยการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในระดับสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏ เมื่อมนุษย์เป็นตัวการสำคัญก็ต้องรับผิดชอบ  ความหมายกว้างๆ ของการนิยามยุคสมัยมนุษย์คือการตระหนักสำนึกของเวลาแบบใหม่ที่เกิดจากฐานเวลาทางธรณีวิทยา การมองประวัติศาสตร์และภาวะสมัยใหม่โดยเพิ่มมิติทางสิ่งแวดล้อม การตระหนักถึงสภาพปัจจุบันว่ามนุษย์สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงการมองอนาคตกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์จะต้องเผชิญ  คำถามใหญ่คือ มนุษย์ใน “ยุคสมัยมนุษย์” ควรจะคิดและทำอย่างไรต่อโลก ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดาวเคราะห์นี้

มองในแง่ดังกล่าว โลกใน Mad Max : Fury Road คือการนำเสนอภาพเลวร้ายที่สุดของยุคสมัยมนุษย์ เพราะมนุษย์ได้ถลุงทรัพยากรจนแทบไม่เหลือ ซึ่งตรงกับการคาดการณ์แบบเลวร้ายของคณะกรรมการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)  ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายที่เกือบไม่มีต้นไม้เหลืออยู่ อุปกรณ์ประกอบฉากแทบไม่ใช้วัสดุที่ทำจากไม้เพราะหาได้ยากยิ่งในโลกของหนัง  อากาศเป็นพิษจนต้องสวมหน้ากาก หรือผิวหนังของมนุษย์แปรเปลี่ยน  พายุทะเลทรายผสมด้วยสารพิษ  สัตว์ก็สูญพันธุ์จนเหลือเพียงบางชนิด อย่างกิ้งก่า แมลง ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นอาหารของมนุษย์  มีฉากหนึ่งที่นกปรากฏตัว มันเหมือนความมหัศจรรย์เล็กๆ เพราะตัวละครมองนกราวกับสัตว์ในตำนานที่ไม่เคยเห็น  เมื่อทรัพยากรแทบไม่เหลือ ที่เหลืออยู่จึงมีค่ามากกว่าเงินซึ่งไม่มีมูลค่าใดๆ ในระบบใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยผู้มีทรัพยากรอยู่ในมือคือผู้คุมอำนาจ



สิ่งที่มาแทนเงินคือของเหลวอันเป็นกลจักรสำคัญของระบอบอำนาจนิยมใหม่ ของเหลวในที่นี้กินความตั้งแต่น้ำบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยากมากและอยู่ในการครอบครองของโจ ผู้มีอำนาจตัดสินใจเปิด-ปิดท่อน้ำขนาดยักษ์ ซึ่งผู้คนนับพันยืนรอคอยราวกับเป็นขอทาน ถือขันถือชามคนละใบ มิได้ขอเงิน แต่เพื่อรองน้ำ  ของเหลวอย่างที่ ๒ คือน้ำมันซึ่งโจก็ยึดครองอีก  หนังผูกเรื่องให้ฟูรีโอซาเป็นคนขับรถส่งน้ำมันให้กลุ่มกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับโจ จะเห็นได้ว่าน้ำมันเป็นเครื่องต่อรองและเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่ผู้มีอำนาจ  ของเหลวแบบที่ ๓ และ ๔ คือน้ำนมและเลือด (ตามลำดับ) เมื่อโลกขาดแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำนมและเลือดในตัวมนุษย์จึงถูกรีดออกมาใช้ โดยโจเลี้ยงนางทาสอ้วนๆ หน้าอกโตเพื่อเป็นแม่พันธุ์ผลิตน้ำนม ส่วนเลือดนั้นหนังนำเสนอในตอนที่แมกซ์ถูกจับไปเป็นเชลยช่วงต้นเรื่อง เขาถูกรีดเลือดเพื่อเป็นธนาคารเลือดส่วนตัวของลูกสมุนของโจ ในตอนท้ายเลือดของแมกซ์ก็ใช้ช่วยชีวิตฟูรีโอซา

เส้นเรื่องหลักของหนังคือการที่ฟูรีโอซา แมกซ์ และนางทาสที่หนีรอดร่วมเดินทางไปยังดินแดนสีเขียว อันมีนัยแห่งพระแม่ธรณี หรือการมองโลกในสถานะของแม่ หนังให้เหตุผลว่าเป็นดินแดนที่ฟูรีโอซากับแม่เคยอยู่ในสมัยเด็กๆ แถมยังเป็นดินแดน “หญิงล้วน” ด้วย  จุดหักมุมคือหนังไม่ได้ให้คำตอบง่ายๆ ว่าพวกเขาเดินทางไปค้นพบพระแม่ธรณีแล้วอยู่กับโลกธรรมชาติดังเดิม ตรงกันข้าม ฉากสะเทือนอารมณ์ที่สุดคือฟูรีโอซาตระหนักว่าไม่มีดินแดนสีเขียวเหลือแล้ว มนุษย์มาช้าไป ธรรมชาติตายหมด พระแม่ธรณีตายแล้ว มนุษยชาติกลายเป็น “ลูกกำพร้าแม่”

เมื่อระบบนิเวศแปรเปลี่ยน มโนทัศน์เรื่องร่างกายก็แปรเปลี่ยนไปด้วย สิ่งน่าสนใจที่สุดคือหนังนำเสนอร่างกายในสถานะของ “ร่างกายกลุ่ม” (assemblage) ซึ่งปฏิเสธความเป็นปัจเจกและความเป็นเอกเทศของร่างกายมนุษย์ หากเป็นการประกอบกันระหว่าง “ร่างมนุษย์” และ “ร่างของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” (nonhuman) เช่น ตัวละครหลักทั้งสามมีร่างที่ต่อกับสิ่งอื่น ฟูรีโอซามีแขนเหล็กต่อแทนแขนที่ขาดหายไป แมกซ์โดนเชื่อมกับตัวรถ โจต้องสวมหน้ากากที่มีสายยางเชื่อมโยงตลอดเวลา



มากไปกว่านั้น ร่างของมนุษย์ (ที่แม้จะต่ออวัยวะที่ไม่ใช่มนุษย์) ก็ยังไม่ใช่ร่างอันสมบูรณ์  รถยนต์ในเรื่องนี้มิใช่พาหนะ แต่มีสถานะเป็นส่วนขยายของร่างมนุษย์ (หรือมองในทางกลับกัน ร่างมนุษย์คือส่วนขยาย-อะไหล่ชิ้นใหม่ของรถ) รถและมนุษย์เป็นอวัยวะ/อะไหล่ส่วนเติมเต็มของกันและกัน  ในฉากสำคัญ นุกซ์ ทหารหนุ่มบรรลุศรัทธาของชีวิตเมื่อหยิบพวงมาลัยต่อกับรถ ร่างเอกเทศของนุกซ์คือความไม่สมบูรณ์ เขาจะรู้สึกสมบูรณ์ในระดับจิตวิญญาณก็ต่อเมื่อร่างของตนต้องต่อ-สวม-ขับรถยนต์เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น “ร่างกายกลุ่ม” อันเกิดจากร่างมนุษย์และรถยนต์ประกอบกันก็ยังไม่ใช่ร่างกายสมบูรณ์ที่สุด มันอาจขยายความเชื่อมโยงเป็นลักษณะ “ร่างฝูง” ซึ่งหนังวางตำแหน่งให้อยู่เหนือร่างกายแบบปัจเจก  ฟูรีโอซา แมกซ์ นุกซ์ และนางทาสทั้งหลายไม่ได้เพียงแค่นั่งอยู่บนรถในฐานะผู้โดยสาร แต่พวกเขาและตัวรถเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทุกคนเปรียบดั่งอวัยวะชิ้นหนึ่งของร่างใหญ่  ฝั่งผู้ร้ายก็เป็นร่างแบบฝูงที่ใหญ่กว่า แต่ละตัวมีรถประจำตัวซึ่งส่วนใหญ่มีคนเป็นส่วนประกอบในตำแหน่งต่างๆ  รถทั้งหมดขับเป็นหมู่คล้ายแมลงฝูงใหญ่ไล่ล่าแมลงฝูงเล็ก  หนังทั้งเรื่องคือการเสนอภาพการไล่ล่าระหว่างแมลงฝูงใหญ่กับแมลงฝูงเล็ก มีตัวละครหล่นตายบ้าง รถคว่ำบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ร่างกายแบบฝูงพังทลายลง (ยกเว้นตอนท้ายเรื่อง เพื่อขนบของหนังแอ็กชัน)  การตายรายทางของตัวละครและรถก็คล้ายนกหรือแมลงที่หลุดจากฝูงแล้วโดนฆ่า แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งฝูงหยุดวิ่ง หนังเองก็ไม่พิรี้พิไรเสียใจต่อการตายของตัวละคร นั่นก็เพราะความเป็นฝูงสำคัญกว่าปัจเจก

ความสัมพันธ์แบบฝูงนั้นล้อกับความเป็นเครือข่ายของระบบนิเวศ เพราะในระบบนิเวศไม่มีใครอยู่ผู้เดียว ชีวิตจะเกิดขึ้นได้ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์  การเสนอเรื่องสถานะเครือข่ายหรือฝูงหรือการเป็นกลุ่มนี้มิใช่เรื่องใหม่ นักทฤษฎีในยุโรปและอเมริกาได้พูดคุยกันมานานแล้ว  สำหรับผู้เขียน สิ่งน่าสนใจใน Mad Max คือการสอดแทรกเรื่องดังกล่าว (ซึ่งเป็นการกระจายคุณค่าในเครือข่าย) ในหนังแอ็กชัน (ซึ่งมักเชิดชูคุณค่าแบบปัจเจก เช่น การเน้นความเป็นฮีโร่ของพระเอก) เรื่องนี้ลดบทบาทร่างกายแบบมนุษย์ปัจเจกลงและขับเน้นร่างกายแบบกลุ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ดีเพื่อรักษาขนบของหนังแอ็กชัน จึงต้องเชิดชูคุณค่าแบบปัจเจกของแมกซ์เป็นระยะ ที่เห็นชัดมากคือฉากจบซึ่งแมกซ์ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของฝูง เขาเดินสวนฝูงชนออกไปจากเมืองเพื่อเดินทางอย่างโดดเดี่ยวอีกครั้ง แต่ภาพในช็อตเกือบสุดท้ายแมกซ์เองก็ยังอยู่ในฝูงชน เขาออกจากฝูงไม่ได้ง่ายนัก  ในทางตรงกันข้าม ช็อตจบจริงๆ ของหนังเป็นภาพของฟูรีโอซากับหมู่นางทาสยืนอยู่บนลิฟต์ในตรรกะคล้ายร่างมนุษย์เชื่อมกับรถยนต์ ร่างของฟูรีโอซาและนางทาสคนอื่นๆ เชื่อมต่อลิฟต์ พวกเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างใหม่ที่ต้องเอาตัวรอดในโลกยุคสมัยมนุษย์ต่อไป

อ่านประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติมที่

บทความ “บันทึกหลังดู ‘Mad Max : Fury Road’” ใน facebook.com/konmongnangweekly
บทสัมภาษณ์ จอร์จ มิลเลอร์ “Fury Road : All Your Darkest Environmental Nightmares Come True” ใน http://www.sierraclub.org/sierra/2015-3-may-june/feature/fury-road-all-your-darkest-environmental-nightmares-come-true
บทความ “Mad Max : Fury Road may be the Anthropocene at its worst – but it makes for pretty sick cinema” ใน http://grist.org/living/mad-max-fury-road-may-be-the-anthropocene-at-its-worst-but-it-makes-for-pretty-sick-cinema/
 

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 364 มิถุนายน 2558

จาก http://www.sarakadee.com/2015/07/09/mad-max-fury-road/

<a href="https://www.youtube.com/v/hEJnMQG9ev8" target="_blank">https://www.youtube.com/v/hEJnMQG9ev8</a>

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
Hit the road Jack!
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
เงาฝัน 1 2361 กระทู้ล่าสุด 29 พฤษภาคม 2553 16:02:00
โดย เงาฝัน
Mad Max: Fury Road (แมด แม็กซ์:ถนนโลกันต์) ซับไทย
หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
มดเอ๊ก 0 2594 กระทู้ล่าสุด 04 พฤศจิกายน 2557 21:39:44
โดย มดเอ๊ก
นักแสวงบุญแห่งทิเบต บนถนนสู่การหยั่งรู้ ( The Road To Enlightenment )
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1188 กระทู้ล่าสุด 19 กรกฎาคม 2559 22:29:23
โดย มดเอ๊ก
[ไทยรัฐ] - “One for the Road” “วี วิโอเลต-นุ่น ศิรพันธ์” เป็นตัวแทนขอบคุณผู้ชมจากใจ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 249 กระทู้ล่าสุด 29 มีนาคม 2565 13:45:43
โดย สุขใจ ข่าวสด
[ไทยรัฐ] - ONE และ แฟร์เท็กซ์ ไฟต์ โปรโมชัน แถลงข่าวจัด Road To ONE Thailand มวยมันพันธุ์ EXTREME
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 216 กระทู้ล่าสุด 09 กรกฎาคม 2565 20:28:10
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.407 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 27 มีนาคม 2567 13:04:23