
หมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท หรือนายช้าง เพื่อนต้นรัชกาลที่ ๕
ถ่ายภาพคู่กับอำแดงพลับ ภรรยา อายุของภาพ ๑๐๐ ปีขึ้น
ภาพจาก : เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมนายช้าง (หมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาถ)
“เพื่อนต้น” ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นายช้าง ชื่อเดิมของหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาถ หรือบางแห่งเขียนว่า ปติพัทธภูวนารถ เพื่อต้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายช้าง เป็นบุตรของนายคง และนางบุญ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙ ต้นตระกูลมีเชื้อจีน ประกอบอาชีพค้าขายและทำไร่นา มีฐานะอยู่ในขั้นคหบดี ต่อมาได้สมรสกับนางพลับซึ่งอยู่ในสกุลคหบดีด้วยกัน และประกอบอาชีพค้าขายทำไร่นาสืบมาเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น ๑๑ คน เป็นธิดา ๖ คน บุตรชาย ๕ คน ไม่ปรากฏชื่อแน่นอน นางพลับถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ นายช้างถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ อายุ ๗๑ ปี
สาเหตุที่ทำให้นายช้างได้สนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะ “เพื่อนต้น” เนื่องมาจากการเสด็จประพาสต้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระราชอัธยาศัยโปรดการเสด็จประพาสหัวเมืองน้อยใหญ่ในพระราชอาณาเขต เพื่อทรงตรวจการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และทอดพระเนตรความเป็นอยู่แท้จริงของพสกนิกรอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเสด็จเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงไม่โปรดให้จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ คือไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดสร้างที่ประทับแรม ณ ที่ใด สุดแต่พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ใดก็ประทับที่นั่น ได้ทรงรู้จักนายช้างในการเสด็จประพาสต้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗
การเสด็จประพาสต้นใน พ.ศ.๒๔๔๗ นี้เสด็จโดยเรือมาดเก๋ง ๔ แจว มีเรือยนต์จูง และเรือตามพร้อมด้วยเรือเสบียงเป็นกระบวนอย่างไม่เป็นทางการ เส้นทางที่เสด็จประพาสคือจากบางปะอินไปจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และกลับบางปะอิน ขากลับเมื่อเสด็จจากสุพรรณบุรีมาถึงมาถึงบางหลวงอ้ายเอียงเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โปรดให้หาสถานที่ทำครัวปรุงอาหาร ได้พบทำเลเหมาะสมที่บ้านกำนัน ซึ่งมีสะพานและโรงยาวตั้งอยู่ริมน้ำ ขณะนั้นกำนันไม่อยู่ไปค้าข้าว อยู่แต่นายช้างและนางพลับพ่อตาแม่ยาย ทั้ง ๒ คนมีอัธยาศัยต้อนรับขับสู้อย่างดีเพราะเข้าใจว่าเป็นเรือขุนนางที่ตามเสด็จ นางพลับได้ช่วยทำครัวด้วยตัวเอง ส่วนนายช้างเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นขุนนางเข้าไปประทับแคร่ในโรงเรือนใกล้กัน หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้งรับ และนั่งสนทนาเสมอกันอย่างสนิทสนม นายช้างเล่าว่าตนเคยลงมากรุงเทพฯ บ่อยๆ และมีบุตรชายคนหนึ่งบวชเณรอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร (สามเณรไลย ต่อมาได้เป็นเปรียญ) ทั้งได้ปรารภว่าอยากได้ปืนเมาเซอร์สักกระบอกหนึ่ง แต่ไม่รู้จะไปขออนุญาตที่ไหนขอให้คุณช่วยเป็นธุระหาซื้อให้ด้วย เงินทองราคาปืนจะเป็นเท่าไรไม่เป็นไร ขอให้คิดเต็มราคา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับจะเป็นธุระจัดการให้ ก่อนออกเรือที่ประทับ ได้พระราชทานธนบัตรซองหนึ่งตอบแทนที่รับเสด็จ เนื่องจากการเสด็จขึ้นประทับ ณ บ้านนายช้างนี้ นับว่าเป็นที่สำราญพระทัยอย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้ว ปรากฏว่านายช้างและนางพลับได้พาลูกหลานมากรุงเทพฯ เที่ยวสืบถามว่าใครตามเสด็จไปที่บ้านของตนบ้าง เพื่อจะไปขอขมาเจ้านายหรือขุนนางเหล่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสอบถามนายช้างว่ารู้ความจริงได้อย่างไร นายช้างทูลว่า เมื่อเสด็จกลับแล้วเพื่อนบ้านพากันมาถามข่าว และมีผู้ที่จำพระเจ้าอยู่หัวได้ ยืนยันว่าประทับอยู่ด้วยแน่ ประกอบกอบเงินในซองที่ได้รับพระราชทานนั้นเป็นจำนวนถึง ๔๐๐ บาทมากเกินกว่าผู้ใดจะให้ได้ จึงตกใจจัดเรือพาครอบครัวล่องลงมากรุงเทพฯ ทันที และจะขอให้เจ้านายที่ตามเสด็จพาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้นอีกครั้ง และได้เสด็จแวะบ้านนายช้างด้วย ปรากฏว่านายช้างได้จัดเตรียมตกแต่งบ้านเรือนไว้รับเสด็จอย่างเต็มที่ คือปลูกหอนั่งสำหรับรับเสด็จใหม่ ย้ายโรงเรือนที่เคยประทับเข้าไปด้านใน ดาดปะรำตั้งแต่สะพานท่าน้ำจนถึงบันไดเรือน ครั้งนี้นายช้างได้รับพระราชทานของที่ระลึกเป็นกระดุมเงินลงยาใหญ่ นางพลับได้รับหีบเงินมีตรา จ.ป.ร. ธิดา ๒ คนได้รับพระราชทานผ้าห่อ นายช้างได้ตามไปส่งเสด็จถึงป่าโมก
นายช้างได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาถ และได้มีงานฉลองตราก่อนที่จะรับเสด็จครั้งที่ ๒ ไม่นานนัก นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าเมื่อใดก็ได้ตามปรารถนา ทรงเรียกว่า “เพื่อนต้น”
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป พ.ศ.๒๔๕๐ ก็ได้พระราชทานไม้เท้าเป็นของฝาก ซึ่งไม้เท้านี้ถือเสมือนเครื่องยศอย่างหนึ่งที่เพื่อนต้นถือเข้าเฝ้าทั้งที่กรุงเทพฯ และเวลาเสด็จประพาสหัวเมือง หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกเพื่อนต้นทั้งหลาย เข้าร่วมบำเพ็ญกุศลในงานพระบรมศพและถวายพระเพลิงได้เหมือนข้าราชการทั่วไป
ปัจจุบันที่ตั้งบ้านของนายช้างอยู่ในท้องที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังมีบ้านของผู้สืบเชื้อสายจากนายช้างและนางพลับอยู่ ใช้นามสกุลว่า คชาธารที่มา : อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๓๖

อาคารปฏิพัทธ์สหราษฎร์ เดิมเป็นเรือนเมรุเผาศพอำแดงพลับ เดิมเป็นอาคารแบบบ้านเรือนไทย
เป็นกุฎีเมรุ ซึ่งหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท (นายช้าง เพื่อนต้น ร.๕) ได้สร้างขึ้นเนื่องในงานเผาศพ
นางพลับ คชาธาร ภริยาของท่าน อยู่ข้างวัดกอไผ่ ตำบลบางหลวงโดด ต่อมา ปี พ.ศ.๒๔๙๒
นายชัย คชาธาร บุตรชายของท่านหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท ได้ถวายกุฎีเมรุหลังนี้มาทำอาคารเรียน
คือ โรงเรียนวัดกอไผ่ ตำบลบางหลวงโดด และตำบลใกล้เคียง ได้เล่าเรียน ลักษณะอาคารเรียน
เป็นไม้สักทรงไทยสวยงาม มีลายแกะสลักไม้สักวิจิตรงดงามหาดูได้ยากยิ่ง ประตู ๓ บาน
มีลวดลายแกะสลักแตกต่างกันไป ปัจจุบันยังใช้เป็นอาคารเรียน ชื่อ"อาคารปฏิพัทธ์สหราษฎร์"
ของโรงเรียนวัดกอไผ่ ตำบลบางหลวงโดด อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพจาก : เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม







