[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 16:36:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทรรศการ ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก  (อ่าน 4230 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 ตุลาคม 2559 11:39:39 »






นิทรรศการฉัฐรัช : พัสตราภรณ์
ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
๑๐ สิงหาคม - ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙

นิทรรศการฉัฐรัชพัสตราภรณ์ ครั้งนี้อาศัยข้อมูลภาพส่วนใหญ่จากภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจกที่เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และยังมิได้เคยมีการเผยแพร่มาก่อน  ดังนั้น จึงอาจมีข้อจำกัดในการอ่านภาพ เช่น ยังไม่สามารถระบุพระนามหรือนามของบุคคลในภาพ รวมถึงรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วน หากท่านผู้ใดทราบข้อมูลเหล่านี้ และประสงค์จะให้รายละเอียดเพื่อประโยชน์ทางวิชาการของส่วนรวมในวันข้างหน้า ขอได้โปรดให้ข้อมูลด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ขณะพระชนมายุ ๓๐ พรรษา และสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา รวมเวลาเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ๑๕ ปีเศษ

แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ต่อเนื่องมาจากแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวงศ์ ขุนนาง รวมทั้งสามัญชน เริ่มเข้าพระทัยและเข้าใจยอมรับการแพร่หลายของวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเป็นพระเจ้ากรุงสยามพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทรงศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักรนานถึง ๙ ปี จากประสบการณ์นี้อาจจะเป็นช่วงที่ทรงรับระเบียบแบบแผนด้านการศึกษา การให้ขยายบทบาทและสิทธิสตรี ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าของสตรีสยามในช่วงรัชกาลที่ ๖ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างรวดเร็ว ลักษณะเด่นของแฟชั่นและความงามของสตรีสยามในพระราชทัศนะมีตัวอย่างเช่น การนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมยาว และฟันขาว

แม้ว่ารัชสมัยนี้เป็นช่วงเวลาเพียง ๑๕ ปี แต่การแต่งกายของสตรีชั้นสูงของสยามสามารถจำแนกเป็น ๓ สมัย ตามหลักฐานภาพฟิล์มกระจกซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ อาจนำมาเทียบได้กับการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นตะวันตกคือ ช่วงต้นรัชกาล ช่วงกลางรัชกาล และช่วงปลายรัชกาลได้อย่างชัดเจน หากพิจารณาเทียบเคียงทั้งบริบทภายในประเทศและบริบทสังคมสมัยนิยมของสากล จะพบว่ายุครัชกาลที่ ๖ เป็นสมัยแห่งการเพิ่มบทบาทสตรี ยกสถานภาพ และเปิดโอกาสให้สตรีได้คิด เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ประยุกต์ และพัฒนาในด้านสุนทรีภาพและวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวางสอดคล้องกับกาลสมัยอย่างลงตัวทุกมิติ

การแต่งกายของสตรีช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ช่วงเวลา ๕ ปีแรกนับแต่ทรงครองราชย์สมบัติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ถึง พ.ศ.๒๔๕๘ (ค.ศ.๑๙๑๐-๑๙๑๕) เป็นช่วงต่อของแฟชั่นสองสมัย นิยามสมัยด้านการศึกษาแฟชั่นสตรียุโรปเรียกว่า “ช่วงปลายสมัย Edwardian เอ็ดวอร์เดียน” (รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งสหราชอาณาจักร ครองราชย์ ๒๒ มกราคม ค.ศ.๑๙๐๑-๖ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๑๐) และ Early Teens หรือ “ทีนส์ตอนต้น”

คริสต์ศักราช ๑๙๐๑-๑๙๑๐ เป็นช่วงที่มีการปฏิวัติทางด้านแฟชั่นของสตรี จากสมัยวิกตอเรียตอนปลาย โดยเสื้อผ้าที่รัดรูปแนบตัวถูกแทนที่ด้วยเสื้อลูกไม้สีงาช้างแขนยาวแบบพองตัว คอเสื้อทรงสูงถึงต้นคอ และกระโปรงแบบแนบตัวทรงกระดิ่ง ยกเลิกการสวมใส่ บัสเสิต์ล (bustle) หรือโครงเสริมกระโปรง แบบกรงนกที่ใส่ไว้ที่บั้นท้าย และเริ่มใช้คอร์เซ็ต (corset) หรือเสื้อยกทรงรัดลำตัวของสตรี แบบรูปตัวอักษรตัวเอส เพื่อช่วยสร้างสัดส่วนร่างกายแบบนาฬิกาทรายเพื่อให้เอวคอดกิ่ว (hour glass silhouette) พร้อมทั้งทรงผมยาวเกล้าแบบโป่งรวมไปถึงการสวมสร้อยไข่มุกหลายสายซึ่งเป็นนิยมแพร่หลายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สตรีชั้นนำในยุครัชกาลที่ ๕ นำเสื้อลูกไม้แบบไม่รัดตัวและคอร์เซ็ตมาประยุกต์ พร้อมกับนุ่งโจงกระเบน สวมถุงน่องและรองเท้า แฟชั่นสยามในช่วงนี้เห็นได้ชัดเจนจากพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ฉายในห้องบันทึกภาพ (studio) ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ตามแบบแฟชั่นสตรียุคเอ็ดวอร์เดียน แขนฉลองพระองค์ยาวถึงช่วงกลางพระองค์พร้อมพระภูษา ทรงถุงพระบาทยาวถึงพระชานุ ฉลองพระบาทแบบตะวันตก และทรงไว้พระเกศาสั้น (ผมทัด) ตามพระราชนิยม ทรงสร้อยพระศอมุกและเพชรหลายเส้น ซึ่งตรงสมัยเดียวกับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (Queen Alexandra) แห่งสหราชอาณาจักร ในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗

ครั้นถึงช่วงทีนส์ตอนต้น (ค.ศ.๑๙๑๑-๑๙๑๕) ซึ้งเริมพร้อมกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยนิยมยุคนี้ ในพระราชสำนักฝ่ายในเจ้านายที่ทรงพระชนมายุมากยังทรงแต่งพระองค์ตามที่ทรงคุ้นชินในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ทว่าเจ้านายรุ่นเยาว์เริ่มไว้พระเกศายาวและเกล้าเป็นมวย โจงกระเบนยังเป็นที่นิยม และเริ่มมีการสวมเสื้อที่มีคอเสื้อแบบกลม แหลม รวมทั้งมีปกทั้งแบบกลมและเหลี่ยม แขนเสื้อเริ่มสูงขึ้นถึงข้อศอก เอวของเสื้อเริ่มต่ำลง และชายกระโปรงเริ่มสูงขึ้นไม่กรอมเท้าอีกต่อไป สืบเนื่องจากบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของทางโลกตะวันตกได้ให้อิสระ สิทธิเสรีภาพ และยอมรับบทบาทและสถานภาพของ “ความเป็นสุภาพสตรี” มากขึ้น เริ่มมาจากการเรียกร้องให้สตรีสามารถลงเสียงเลือกตั้งได้ (women’s suffrage) สมัยวิกตอเรียตอนปลายตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของสตรี ซึ่งเห็นได้ชัดคือการสวมคอร์เซ็ตอันรัดรึงก็ค่อยลดความนิยมจนกระทั่งยกเลิกไปในที่สุด ตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเปรียบเสมือนการปลดเปลื้องพันธนาการของสตี การใช้บราเซียเริ่มเข้ามาแทนที่เพื่อช่วยเสริมรูปร่างแทนที่การรัดตัว

จากหนังสือ “๘๐ ปีในชีวิตข้าพเจ้า” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงในต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า “เมื่อได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามอารยประเทศในด้านอื่นๆ แล้ว ในด้านการแต่งกายก็ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแต่งกายของสตรี ระยะแรกยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อยังนิยมใช้ลูกไม้ประดับอยู่ คอลึกกว่าเดิม แขนยาวเสมอข้อศอก แต่แขนเสื้อไม่พองเหมือนแบบสมัยรัชกาลที่ ๕ มีผ้าคาดเอวสีดำ มีผ้าสไบพาดไหล่รวบตอนหัวไหล่ติดด้วยเข็มกลัดรูปดอกไม้ ชายผ้าสไบดังกล่าวรวบไว้ตรงข้างลำตัว สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง

ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (ตามปกติผ้าซิ่นใช้กันทางภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งนุ่งกันเป็นประเพณีมักเป็นผ้าซิ่นด้าย แต่ในกรุงเทพฯ ไม่นิยมนุ่งกันเลย จะนุ่งกันแต่โจงกระเบน เมื่อเริ่มนุ่งผ้าซิ่นนั้น ผ้าซิ่นจะเป็นพวกซิ่นไหม และซิ่นเชิงทอด้วยเส้นเงิน เส้นทอง) เกิดเสื้อแบบใหม่ๆ สำหรับเข้าชุดกับผ้าซิ่นขึ้น การสะพายแพรไม่เป็นที่นิยมกันต่อไป นอกจากสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์จะแต่งกายเต็มยศ ซึ่งเป็นผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยังคงใช้แพรปักตราจุลจอมเกล้าสะพายอยู่เหมือนเดิม (การสะพายแพรยกเลิกในรัชกาลที่ ๗)

...ทางด้านผู้หญิง หญิงสาวทั่วไปเริ่มไว้ผมยาว ไม่ไว้ผมทัดเหมือนที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อเป็นเด็ก เว้นแต่สาวใหญ่หรือผู้ใหญ่ยังใช้ผมทัดกันอยู่มาก การแต่งตัวเวลาออกจากบ้านไปในงาน หรือจะเรียกว่าออกสังคม หญิงสาวนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนพอง (คือ เสื้อแขนยาวพองที่หัวไหล่สองข้าง) ไว้ผมเรียกว่า “ผมโป่ง” (คล้ายญี่ปุ่น) รวบผมข้างหลังที่ต้นคอแล้วปล่อยยาวลงไป สวมถุงเท้า รองเท้า ผู้ใหญ่ชั้นสูงแต่งอย่างเดียวกัน และสะพายแพรทิ้งชายไปข้างหลัง (สาวที่ยังไม่มีสามีไม่สะพายแพร ต่อมีสามีแล้วจึงสะพายแพร) ส่วนมากมักเป็นผมทัด เวลาแต่งจำลอง ทั้งหมดนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมใส่เสื้ออะไรก็ได้ ผู้ใหญ่ห่มผ้าสไบ เฉียง หรือห่มสไบมีผ้าห่มทับหรือใส่เสื้ออะไรก็ได้ รองเท้าแตะ

ทางด้านเด็กที่เคยไว้จุกกันแทบจะทั่วไป มาถึงรัชสมัยนี้เริ่มไม่ไว้จุกกันมากขึ้นทุกทีจนถึงไม่ไว้กันเลย ล่วงมาถึงเลยกลางสมัยรัชกาลที่ ๖ ไม่ช้าเกิดมีแฟชั่นใหม่สำหรับสตรีขึ้น คือมีการนุ่งผ้าซิ่นออกมาจากราชสำนัก การนุ่งซิ่นแพร่มาถึงราษฎร เลยเป็นที่นิยมนุ่งกันแพร่หลายทั่วไป การนุ่งโจงกระเบนสำหรับสาวๆ ค่อยหายไป นอกจากผู้ใหญ่ยังคงนุ่งโจงกระเบนอยู่บ้าง การนุ่งซิ่นสำหรับคนชั้นสูง นุ่งซิ่นเชิง เป็นไหม ใส่เสื้อรัดรูปแบบต่างๆ แขนยาว เกล้าผม สวมรองเท้าส้นสูง ชาวบ้านแต่งแบบเดียวกัน เป็นซิ่นธรรมดาบ้าง ซิ่นเชิงบ้าง ใส่เสื้อต่างๆ รัดรูป มักใช้รองเท้าแตะที่ใช้ส้นสูงก็มี แปลว่าราชสำนักในสมัยรัชกาบที่ ๖ เป็นบ่อเกิดนำแฟชั่นเครื่องแต่งกายใหม่ๆ ขึ้นให้ประชาชนพลเมืองเดินตามก่อน แล้วต่อนั้นมาหนังฝรั่งอเมริกันจึงเข้ามานำสมัย เริ่มแต่สตรีเปลี่ยนมานุ่งกระโปรงเป็นเริ่มแรก”

การไว้ทรงผมของสตรีในสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือใน พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเชิญบรรดาผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนประมุขจากหลายประเทศเข้าร่วมเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงความเป็นอารยะของสยาม จึงโปรดเกล้าฯให้พระขนิษฐภคินี คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงออกรับแขกเมืองไว้พระเกศายาวตามแบบสากล ภายหลังจากนี้ก็มีสตรีฝ่ายในไว้ผมยาวตามอย่าง รวมไปถึงสตรีชั้นสูงและสามัญชน ต่อมาเมื่อถึงประมาณกลางรัชกาล สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็ทรงพระเกศาดัดลอนและทรงรัดเกล้าฯ ทรงพิถีพิถันในเรื่องการแต่งพระองค์อย่างมาก ทรงเป็นผู้นำในการดัดแปลงประยุกต์เสื้อผ้าให้สวยงามและสะดวกต่อการสวมใส่ โดยริเริ่มดัดแปลงผ้าซิ่นธรรมดาให้เป็นถุงสำเร็จ ทรงออกแบบตัดเย็บให้เข้ากับรูปร่างและสวมใส่สบาย ในการตัดฉลองพระองค์นั้น จะทรงเลือกแบบจากในแค็ตตาล็อกที่ทรงสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวของสตรีสมัยนี้เป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อนาย Pual Poiret

ประกอบกับการเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวบูรพาคดีนิยม (Orientalism) ซึ่งนำรูปทรงเสื้อผ้าและศิลปะจากทางโลกตะวันออก เข้ามาผสมกับเสื้อผ้าในช่วงปลายสมัยเอ็ดวอร์เดียน เช่น ทรงของกิโมโนญี่ปุ่นที่ตรงและแคบ สตรีสยามก็เริ่มนำความคิดเหล่านี้ โดยนำมาผสมกับเสื้อผ้าท้องถิ่น รวมไปถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๖ เรื่องการนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมยาว และฟันขาว ซึ่งนับเป็นพัฒนาการต่อไปถึงการแต่งกายในยุคกลางรัชสมัย

การแต่งกายของสตรีช่วงกลางรัชกาลที่ ๖ คือช่วงเวลา ๕ ปี จาก พ.ศ.๒๔๕๘ ถึง พ.ศ.๒๔๖๓ (ค.ศ.๑๙๑๕-๑๙๒๐) ช่วงนี้ภาษาด้านการศึกษาแฟชั่นสตรีทางยุโรปเรียกว่า ช่วง Late Teens หรือ ทีนส์ตอนปลาย (ค.ศ.๑๙๑๕-๑๙๒๐) ในช่วงนี้โลกแฟชั่นยุโรปถูกกดดันจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (๒๘ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๑๔-๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๑๘) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับรูปทรง (silhouette) และรูปร่าง (shape) ของชุดแต่งกายสตรี รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวลง การใช้ปริมาณผ้าน้อยลงเพื่อลดความฟุ่ยเฟือย และแพตเทิร์นที่ง่ายในการตัดเพื่อลดแรงงาน สามารถเจียดเวลาไปช่วยราชการสงคราม เห็นได้ชัดจากเสื้อผู้หญิงที่เริ่มปล่อยทิ้งชายให้ดิ่งตรงลงมาถึงสะโพกเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวคล่องขึ้น เปลี่ยนทรงคอร์เซ็ตเป็นแบบตรง ไม่เน้นเอวคอดกิ่ว กระโปรงเริ่มสั้นขึ้นมาเหนือข้อเท้า ครั้นมองในประเทศสยาม ผ้าซิ่นก็เริ่มเป็นที่นิยมตามพระราชนิยม แต่การนุ่งโจงกระเบนก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ ส่วนผมเริ่มไว้ยาวและรวบขึ้นเหนือคอแต่ไม่โป่งพองเท่าสมัยต้นรัชกาล ดังจะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งฉายในช่วงเวลานั้น

ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของการแต่งกายสตรีสยามที่สำคัญมากช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์พัสตราภรณ์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนความเป็นผู้หญิงจากผ้านุ่งโจงสู่ผ้าซิ่น การเปลี่ยนแปลงนี้รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มาจากการใส่คอร์เซ็ต เสื้อ และผ้าซิ่น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศให้ประเทศสยามเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ในช่วงนี้ทั่วโลกเกิดลัทธิชาตินิยม สยามก็เป็นประเทศหนึ่งในนั้น เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนธงช้างเผือกเป็นธงไตรรงค์ โดยมีเหตุผลทางพระบรมราโชบายประการหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลก เสื้อผ้าของสตรีที่เปลี่ยนจากนุ่งผ้านุ่งโจงกระเบนสู่การนุ่งซิ่นตามกระแสพระราชนิยมและชาตินิยม

หลังมีพระราชดำริเรื่องการแต่งกายพระราชนิยม เจ้านายฝ่ายในรุ่นเยาว์ หรือเจ้านายฝ่ายในที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เริ่มเปลี่ยนมานุ่งซิ่น โดยเป็นผ้าซิ่นไหม ซิ่นเชิงทอด้วยเส้นเงิน เส้นทอง สำหรับเสื้อก็ออกแบบให้เหมาะสมกับซิ่นตามแบบแฟชั่นโลกตะวันตก เช่นเสื้อแพรและลูกไม้แบบฝรั่ง เสื้อทรงหลวมตัวยาวถึงเข่าเพื่อสวมทับผ้าซิ่นเชิงสีต่างๆ คาดทับด้วยเข็มขัดแบบต่างๆ หลากหลายวัสดุและรูปแบบ มีการใช้ริบบิ้นแพรตกแต่ง พร้อมปักลูกปัดหรือมุก รวมถึงใช้ผ้าที่ทอขึ้นเป็นการเฉพาะจากโรงทอ ของเจ้านายฝ่ายใน ส่วนการสะพายแพรไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก คงใช้บ้างในโอกาสเป็นทางการ เช่น เมื่อต้องแต่งกายเต็มยศ สำหรับการแต่งกายสีตามวันแบบนุ่งสีหนึ่งห่มสีหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นค่านิยมเคร่งครัดในรัชกาลที่ ๕ เริ่มมีการปรับเปลี่ยน ในสมัยนี้นิยมใช้เครื่องประดับคาดที่ศีรษะ ซึ่งมีตั้งแต่เป็นผ้าชิ้นเล็กยาวปักดิ้น ผ้าพื้นธรรมดา ผ้าไหมสักหลาดประดับเพชร ไข่มุกสร้อยหลายสาย เข้ากับแบบและสีเสื้อ ทั้งยังนิยมเครื่องประดับจากยุโรป เช่น นาฬิกาข้อมือ สร้อยคอเล็ก ห้อยจี้ล็อกเก็ต และที่น่าสังเกตที่สตรีในยุคนี้จะนิยมใส่นาฬิกาข้อมือสูงกลางต้นแขน อาจเป็นเพราะลักษณะการสวมถุงมือแบบตะวันตก ผนวกเข้ากับลักษณะการสวมพาหุรัดแบบไทย

การแต่งกายของสตรีช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ ช่วงเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง พ.ศ.๒๔๖๘ (ค.ศ.๑๙๒๐-๑๙๒๕) ช่วงนี้ศัพท์ทางสมัยนิยมแฟชั่นสตรียุโรปเรียกว่า Flappers หรือ Art Deco ตอนต้น ซึ่งเป็นการย่อคำจากงานนิทรรศการแสดงสินค้าและศิลปะการตกแต่งที่กรุงปารีส (L’Exposition des Arts Decoratifs) ใน พ.ศ.๒๔๖๘ ช่วงนี้รสนิยมการเต้นรำกับเพลงแจ๊ส หรือ Jazz Age ขยายกว้างไปทั่วโลกจากอเมริกา พร้อมทั้งศิลปะแบบอลังการศิลป์ หรือ ศิลปะตกแต่ง (Art Deco) ถือกันว่าเป็นศิลปะของความหรูหรา มีประโยชน์ใช้สอยและเป็นสมัยใหม่ การเคลื่อนไหวทางศิลปะทั้งสองนี้ ประกอบเข้ากับการค้นพบสุสานตุตันคาเมนใน พ.ศ.๒๔๖๕ โดยฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีและอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษ เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นสตรีตะวันตก ให้เป็นทรงเรขาคณิตมากขึ้นพร้อมกับการใช้ลูกปัดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวกับการแต่งกายอย่างอียิปต์ในยุคตุตันคาเมน หรือยุคอาณาจักรใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมการเข้าชมภาพยนตร์เงียบ (silent movie) จากสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีเข้ามาฉายในสยาม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ (ปลายรัชกาลที่ ๕) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันดาราภาพยนตร์อเมริกันก็เริ่มเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงอิทธิพลของการโฆษณาผ่านนิตยสารแฟชั่นและห้างร้านต่างๆ ในพระนคร ตลอดจนลักษณะการใช้ชีวิตของนักเรียนทุนรุ่นแรกๆ ที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งนำสมัย นำวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และประสบการณ์ส่วนตัวมาปรับใช้ในสยาม เป็นตัวแปรที่ปรับเปลี่ยนลักษณะสมัยนิยมของสตรีชาวสยาม

เสื้อผ้าสตรีสยามในยุคนี้จะเป็นทรงตรงดิ่งหรือแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลางรัชสมัย เอวจะเลื่อนลงมาเลยสะโพกเกือบถึงต้นขา แขนเสื้อเริ่มสูงเลยข้อศอกหรือแขนสั้นถึงหัวไหล่ ชายกระโปรงหรือผ้าซิ่นสูงขึ้นถึงระดับน่องและใต้หัวเข่า สวมพร้อมกับถุงน่องรองเท้า การแต่งตัวของสตรีสยามช่วงนี้ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมีการใช้กระโปรงแบบตะวันตก หรือแม้แต่ชุดแบบตะวันตกทั้งชุด ประดับด้วยมุกและขนสัตว์แทนชุดแบบผสมผสานระหว่างเสื้อแบบตะวันตกกับผ้าซิ่น มีการสวมหมวกอย่างแพร่หลาย สตรีเริ่มไว้ผมสั้นดัดลอนประหูหรือผมบ๊อบ ซึ่งเป็นผมตัดสั้นระดับใบหูตอนล่างสองข้างยาวเท่ากัน ตัดผมหลังโค้งเข้าหาต้นคอเล็กน้อยแทนที่ผมยาวเกล้าแบบโป่ง ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ซิปแทนกระดุมที่เริ่มแพร่หลายนับแต่ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การตัดเย็บและสวมใส่เสื้อผ้าสตรีได้รวดเร็วขึ้น เหมาะสมกับวิถีชีวิตของสตรีที่มีบทบาทเฟื่องฟูเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดคือฉลองพระองค์ของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ขณะทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ที่ฉายในสตูดิโอ ราว พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยว สไตล์ Art Deco ยาวถึงพระชงฆ์ (แข้ง) คาดสายรัดพระองค์ตรงพระโสณี (สะโพก) ทรงมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ กลัดเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ และเข็มกลัดอักษรพระบรมนามาภิไธยบรรจุเส้นพระเจ้า ทรงสร้อยพระศอเพชร ทรงพระธำมรงค์หมั้นที่พระอนามิกา (นิ้วนาง) ข้างซ้าย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำแบบอย่างศิลปะการแสดงละครแบบตะวันตกมาเผยแพร่ ทั้งบทละคร วิธีจัดการแสดง การวางตัวละครบนเวที การเปล่งเสียงพูด พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในทุกขั้นตอน ทั้งการพระราชนิพนธ์บทละคร ทรงควบคุมการแสดงและทรงแสดงร่วมโดยมีสุภาพสตรีเข้าร่วมแสดงด้วย ดังนั้นแฟชั่นสตรีจึงถูกถ่ายทอดทั้งผ่านการแต่งตัวประจำวัน งานพระราชพิธี และผ่านเวทีการละคร หรือแม้แต่พระบรมฉายาลักษณ์และรูปถ่ายในยุคนั้น

ในช่วงระยะเพียง ๑๕ ปี อาจดูเหมือนเป็นชั่วเวลาอันสั้น แต่หากได้ศึกษาลักษณะแฟชั่นสมัยนิยมของสตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของสตรีชั้นสูงในสยามอย่างชัดเจนจากอาภรณ์สตรีทั้งสามสมัยดังที่กล่าวข้างต้น

ด้วยกระแสพระราชนิยม สตรีสยามได้มีการแต่งตัวให้ทันสมัยตามแฟชั่นสตรีโลก แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของสตรีสยามผู้ได้รับพระราชทานการยกระดับสถานภาพและบทบาทให้ทวีขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต นับเป็นพระราชอัจฉริภาพล้ำเลิศของพระประมุขผู้ทรงเป็นปราชญ์ ทรงเข้าพระราชหฤทัยความเป็นไปของสากล นับเป็นความแยบยลแห่งรัฐประศาสโนบาย และเป็นการสื่อสารสยามสู่สาวตาชาวโลกที่แนบเนียนที่สุด ผลแห่งพระราชกรณียกิจและพระราชนิยมอันเลิศวิไลในสมัยนั้น ยังทรงคุณูปการเป็นอัจฉริยลักษณ์ของสังคมไทยสู่เราทั้งหลายในปัจจุบัน



สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ฉายในห้องบันทึกภาพ (สตูดิโอ) ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ตามแบบสตรียุคเอ็ดวอร์เดียนตอนปลาย
ปลายแขนฉลองพระองค์ถึงกลางพระองค์ ทรงพระภูษาโจงผ้ายกไหม ถุงพระบาทยาวถึงพระชานุ
ทรงฉลองพระบาทแบบตะวันตก และทรงไว้พระเกศาสั้นตามพระราชนิยม ทรงวลัยพระกร
พระธำมรงค์ พระหัตถ์ขวาทรงซับพระพักตร์สีขาว ทรงสร้อยพระศอมุก และเพชรหลายเส้น
ซึ่งเป็นสมัยนิยมเดียวกับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (Queen Alexandra)
แห่งสหราชอาณาจักร ในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗


*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
เมื่อทรงเป็นหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ทรงฉลองพระองค์แบบทีนส์ตอนปลาย
(Late Teens) (ค.ศ.๑๙๑๕-ค.ศ.๑๙๒๐) ผ้าลูกไม้พื้นขาว
คอวี เสริมด้วยผ้าแพร ทรงรัดพระองค์ ทรงภูษาโจงไหม ถุงพระบาทยาว
ถึงพระชานุ ทรงฉลองพระบาทแบบตะวันตก พระเกศาเกล้า ทรงวลัยพระกร
พระธำมรงค์ และทรงสร้อยพระศอมุก

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ตุลาคม 2559 13:32:25 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2559 13:59:14 »


ประมวลภาพอาภรณ์สตรีสยามในสมัยรัชกาลที่ ๖
ที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และยังมิได้เคยมีการเผยแพร่มาก่อน

--------------------------

เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์วิวัฒนาการของเครื่องแต่งกายสตรีในสมัยรัชกาลที่ ๖
จึงขอแบ่งเวลาในฉัฐรัฐออกเป็นสามช่วง มีกำหนดช่วงละประมาณ ๕ ปี

ระยะแรกเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลใหม่ แบบแผนการแต่งกายของสตรีที่ก้าวหน้า
และปรับเปลี่ยนไปพอสมควรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงมีอิทธิพลต่อการแต่งกาย
ของสตรีในรัชกาลที่ ๖ อยู่ไม่น้อย ครั้นเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงกลางรัชกาล
ลักษณะความเป็นตัวของตัวเองของรัชสมัยนี้ก็ปรากฏชัดเจนขึ้น การแต่งกายด้วยผ้านุ่ง และกลายเป็นกระโปรงไปในที่สุด
เริ่มเข้ามาแทนที่โจงกระเบนที่ได้รับความนิยมมาแต่ก่อน เช่นเดียวกันกับเสื้อที่มีความเปลี่ยนแปลงไปทางตะวันตกมากขึ้น
มาเมื่อถึงช่วงท้ายปลายรัชกาล วิถีชีวิตของตะวันตกและตะวันออกที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว กลายเป็นความคุ้นเคย
ของคนจำนวนไม่น้อย และส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเครื่องแต่งกายของสตรีไปด้วย


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ลักษณะการ
แต่งกายแบบยุโรปนิยมเสื้อลูกไม้ผสมผ้าแพรแบบฟอง  สตรีไทยชั้นสูง
ยังนิยมสะพายแพรทิ้งชายแขนเสื้อเสมอศอก นุ่งโจงเริ่ม นิยมไว้ผมยาว
และเกล้าเก็บไว้ข้างหลัง อันเป็นแฟชั่นสาวสมัยเอ็ดวอร์เดียน
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพแต่งกายตามสมัยนิยมในรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น ตรงกับรอยต่อระหว่าง
ปลายสมัยเอ็ดวอร์เดียน (Edwardian) กับทีนส์ตอนต้น (Early Teens)
เสื้อลูกไม้บางผสมผ้าไหมชีฟองแบบพอง คอสูง เสื้อแขนยาวเลยศอก ติดเข็มกลัด
ตรงหน้าอก พร้อมแพรไหมชีฟองสะพายทิ้งชาย นุ่งโจงสีอ่อน  และเข็มขัดเงินแบบ
ลูกโซ่ สวมถุงน่อง และรองเท้าหนัง พร้อมเข็มกลัดเพชร สวมต่างหูและกำไลเพชร
ไว้ผมสั้น สืบเนื่องมาจากสมัยนิยมช่วงปลายรัชกาลที่ ๕
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เสื้อลูกไม้บางและผ้าฝ้าย คอสูง แขนเสื้อยาวทรงกระดิ่ง ติดเข็มกลัด
ตรงหน้าอก และที่คอ พร้อมสะพายแพรจีบ ไว้ผมสั้น น่าสังเกตว่าเริ่มมีการยิ้ม
ในการถ่ายภาพ  อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีการถ่ายภาพดีขึ้น  ความไวแสง
ของสารเคมีที่ใช้กับฟิล์มกระจกที่เร็วขึ้น ทำให้เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพสั้นลง
จึงไม่ต้องอยู่นิ่งเป็นเวลานานอย่างสมัยก่อน
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เสื้อลูกไม้แบบพองคอสูง แขนปล่อยชายกว้างเสมอศอก ทรงกระดิ่ง (Bell-shaped Sleeves)
พร้อมสะพายแพรทิ้งชาย นุ่งโจงสีอ่อน สวมถุงน่อง และรองเท้าหนัง พร้อมเข็มกลัด
เพชร เครื่องประดับ แต่ยังไว้ผมสั้นตามความนิยมที่สืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



เสื้อลูกไม้บาง แบบพอง คอสูง แขนเสื้อยาวเลยศอก ประดับเข็มกลัด
สะพายแพรทิ้งชายทอสลับดิ้นเงิน นุ่งโจงสีอ่อน และเข็มขัดหนัง สวม
ถุงน่องและรองเท้าหนัง สวมต่างหู และกำไลเพชร ไว้ผมสั้น  แม้การ
แต่งกายและอาภรณ์จะเป็นอย่างยุโรป แต่ก็ยังไม่นิยมสวมหมวกอย่าง
สตรียุโรป
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



สมัยนิยมในรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น ตรงกับปลายสมัยเอ็ดวอร์เดียน (Edwardian)
สู่ทีนส์ตอนต้น (Early Teens) เสื้อลูกไม้บางและผ้าฝ้ายคอสูง แขนเสื้อ
ยาวมีลายละเอียด ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้หลายแบบและขนาด ตามสมัยนิยมของเสื้อผ้า
ผู้หญิงในยุโรปสมัยนั้น ประดับเข็มกลัดตรงหน้าอกและที่คอ สะพายแพรทิ้งชายสีเข้ม
นุ่งโจงสีอ่อน สวมถุงน่องสีเข้มและรองเท้าหนัง สวมต่างหู และกำไลเพชร
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



รองเท้าหนังแบบยุโรปสไตล์แมรี เจน (Mary Jane) ซึ่งเป็นที่นิยม
ในปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖ เป็นแบบรองเท้ามีส้นและมีสายรัดข้างหน้า
ซึ่งเป็นที่นิยมต่อเนื่องมาจากสมัยวิกตอเรีย โดยมีแรงบันดาลใจจากตัวการ์ตูนเด็ก
ที่ชื่อ แมรี เจน ที่สร้างขึ้นโดยนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน ชื่อนายริชาร์ด เฟลตัน เอาท์คอลท์ (Richard Felton Outcault)
ผู้ให้กำเนิดการ์ตูนเรื่อง บัสเตอร์ บราวน์ (Buster Brown) ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ (ค.ศ.๑๙๐๒)
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



การประดับเข็มกลัดเพชรที่คอเสื้อ เป็นความนิยมของสตรีในยุโรป ส่วนผมยาว
และเกล้าเก็บไว้ข้างหลัง เป็นแฟชั่นสาวสมัยเอ็ดวอร์เดียนตอนปลาย
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ นิยมเสื้อลูกไม้คอตั้ง ร้อยริบบิ้นเพิ่มรายละเอียด
ผ้าไหมชีฟองพิมพ์ลาย ประดับเข็มกลัดเพชรที่คอเสื้อตามความนิยมของสตรี
ในยุโรป แต่ยังคงไว้ผมสั้นตามสมัยนิยม ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๕
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



สตรีในยุคนี้จะนิยมสวมนาฬิกาข้อมือสูงกลางต้นแขน    อาจเป็นเพราะ
วัฒนธรรมการสวมถุงมือยาวจากโลกตะวันตก ซึ่งต้องร่นให้นาฬิกาสูงขึ้น
ผสานเข้ากับวัฒนธรรมการสวมพาหุรัดทองกรอย่างไทย
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



การแต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น ตรงยุคทีนส์ตอนต้น
(Early Teens) พ.ศ.๒๔๕๔-พ.ศ.๒๔๕๘ (ค.ศ.๑๙๑๑-ค.ศ.๑๙๑๕)
ภาพนี้ น่าสนใจอย่างยิ่งเนื่องจากสตรีสยามไว้ผมทรงตรงยุคอย่างที่
ตะวันตกนิยม เป็นทรงผมแบบโป่ง แฟชั่นสาวสมัยเอ็ดวอร์เดียนตอนปลาย
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ ภริยาพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ)
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



แต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น สวมเสื้อลูกไม้แบบพองทิ้งชาย
แขนเสมอศอก ใส่ผ้าซิ่นไหมไทยวนตีนจก ผมเกล้าพองตามแบบจารีต
เจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับแฟชั่นของยุโรป สวมต่างหูมุก สร้อยคอและจี้
อัญมณี พร้อมแหวนและกำไล สวมถุงน่องและรองเท้าหนัง สไตล์แมรี เจน
ลักษณะการวางบุคลิกท่าทางถ่ายภาพมีท่าทีที่ทัดเทียมบุรุษ
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



คุณใหญ่ (บุนนาค) สิงหเสนี
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



คุณใหญ่ (บุนนาค) สิงหเสนี  สวมเสื้อลูกไม้คอกว้าง แขนเสมอศอก
ประดับด้วยริบบิ้นและผ้าแถบ สวมต่างหูและกำไลเพชร ผมยาวเกล้าโป่ง
ประดับผมด้วยริบบิ้น สะท้อนลักษณะการแต่งกายของวัยรุ่นสตรีชั้นสูง
ในต้นรัชกาลที่ ๖
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



เสื้อคอกว้าง แขนเสมอศอก ทรงเสื้อไม่รัดตัว สวมต่างหู และกำไลเพชร
ผมยาวเกล้าโป่ง ข้างหลังปล่อยยาว ประดับผมด้วยเข็มกลัด การวางลีลา
เพื่อถ่ายภาพเริ่มเป็นลักษณะลำลองไม่เป็นทางการ  แสดงให้เห็นถึงสิทธิ
และบทบาทสตรีที่ได้รับการยอมรับให้เป็นอิสระและเปิดเผยสู่สังคมภายนอกมากขึ้น
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาสิทธิ์นฤมล
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาสิทธิ์นฤมล ทรงแต่งพระองค์ตามแฟชั่นยุโรป
สมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนต้น ตรงกับปลายสมัยเอ็ดวอร์เดียน สู่สมัยทีนส์ตอนต้น
ด้วยชุดเดรสผ้าไหมซาติน ปกเสื้อผ้าลูกไม้ทรงเหลี่ยม กระโปรงยาวกรอมเท้า
สวมหมวกประดับด้วยขนนก

ควรสังเกตว่า ถือร่มเป็นเครื่องประดับตามความนิยมในสมัยนี้ พ.ศ.๒๔๕๕
ถึง พ.ศ.๒๔๕๗ (ค.ศ.๑๙๑๒-ค.ศ.๑๙๑๔) รูปทรง (Sihouette) ของสตรี
สมัยนี้ ไม่เน้นเอวที่คอดกิ่วเหมือนปลายรัชกาลที่ ๕ อีกต่อไป แต่นิยมสวม
คอร์เซ็ตที่พยุงหน้าอก (ไม่รัดตึง) และยาวลงมาถึงต้นขาแทน
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ รพีพัฒน์
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ รพีพัฒน์ ทรงแต่งองค์ตามสมัยนิยมในรัชกาลที่ ๖ ตรงยุค
ทีนส์ตอนปลาย (ค.ศ.๑๙๑๕-ค.ศ.๑๙๒๐) ฉลององค์ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย คอวี
เสริมด้วยผ้าลูกไม้ปกแบบกะลาสีเรือ ประดับด้วยริบบิ้นผ้าไหมซาติน

สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (๒๘ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๑๔-๑๑ พฤศจิกายน
ค.ศ.๑๙๑๘) เสื้อผ้าสตรีในยุคนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแบบของ
ทหารเรือ โดยเฉพาะเสื้อปกกะลาสี และเป็นที่นิยมสวมใส่โดยสตรีรุ่นเยาว์
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



คุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



คุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา แต่งกายตามสมัยนิยมในรัชกาลที่ ๖ ตรงยุค
ทีนส์ตอนปลาย ภาพนี้เป็นช่วงต่อระหว่างช่วงต้น และช่วงกลางสมัย
สังเกตได้จากทรงผมที่ยังคงแบบยาวโป่ง แต่เสื้อผ้าไหมซาตินซึ่งเริ่มเป็น
ที่นิยมในสมัยช่วงทีนส์ตอนปลาย

เสื้อผ้าไหมซาติน คอวี แขนเสมอศอก ประดับด้วยริบบิ้น และผ้าแถบ
ชีฟอง สวมต่างหูและกำไลเพชร ผมยาวเกล้าโป่ง ประดับผมด้วยเข็ม
พระปรมาภิไธยวชิราวุธ ป.ร. (วชิราวุธ ปรมราชาธิราช)
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



เสื้อแพรแบบพอง ชายเสื้อยาวถึงสะโพก แขนเสมอศอก ประดับริบบิ้น
นุ่งผ้าไหมยก ผมยาว รวบไว้ข้างหลัง และสวมศิราภรณ์ (Bandeuax)
ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์
รัชกาลที่ ๕ สวมสร้อยเพชร และสร้อยโชกเกอร์สักหลาดประดับด้วย
เพชร กำไล และนาฬิกาข้อมือ
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



การแต่งกายตามสมัยทีนส์ตอนปลาย เสื้อผ้าลูกไม้แบบพอง พร้อมรายละเอียด
ผ้าไหมซาตินพาดบ่าทั้งสองข้าง สะพายแพร ปล่อยชายตามสมัยนิยม แขน
เสมอศอก ผมยาว รวบไว้ข้างหลัง และสวมศิราภรณ์ สังเกตว่าเสื้อแบบนี้สตรี
สยามนำมาปรับนุ่งกับโจงกระเบนได้อย่างลงตัว
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องประดับสตรี
ที่เป็นพระปรมาภิไธย พระบรมนามาภิไธย อักษรพระปรมาภิไธย อักษรพระบรม
นามาภิไธย พระราชลัญจกร พระบรมราชสัญลักษณ์ต่างๆ หลายรูปแบบและหลายชั้น
เช่น เข็มกลัดพระปรมาภิไธย วชิราวุธ ป.ร. (วชิราวุธ ปรมราชาธิราช) ซึ่งมีหลาย
ลำดับชั้น ตั้งแต่ชั้นสูงสุด คือประดับเพชรล้วน ถึงชั้นทองคำลงยา สำหรับพระราชทาน
แก่เจ้านายฝ่ายใน และสตรีตามพระราชอัธยาศัย
*~ ·.·´¯`·.· ·.·´¯`·.· ~*


มีต่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ตุลาคม 2559 13:31:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2559 12:42:00 »


ประมวลภาพอาภรณ์สตรีสยามในสมัยรัชกาลที่ ๖
ที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และยังมิได้เคยมีการเผยแพร่มาก่อน
(ต่อ)

--------------------------


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


การแต่งกายสมัยทีนส์ตอนปลาย เสื้อผ้าแพรแบบพอง ชายเสื้อยาว
ถึงสะโพก แขนเสมอศอกพร้อมริบบิ้น นุ่งผ้านุ่งไหมยก พร้อมเครื่อง
ประดับที่เกี่ยวเนื่องกับสกุลหรือบุพการี เช่น เข็มกลัดนามราชสกุล
“เกษมศรี” สร้อยรูปงูคล้องจี้ล็อกเกตพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เป็นต้น ผมยาวรวบไว้ข้างหลัง และสวม
เครื่องประดับศีรษะ สังเกตว่าเสื้อนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจาก
ชุดเดินตากอากาศ (Promenade dress) ในยุคนี้จากยุโรป
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพถ่ายแม่และเด็กในช่วงรัชกาลที่ ๖ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
และวัฒนธรรมสยามโดยเฉพาะชุดแต่งกายเด็กที่ได้หยิบยืมมาจากทางตะวันตก  
ในสมัยวิกตอเรียและเอ็ดวอร์เดียน เพศสภาพของเด็กเล็กไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ
เหมือนสมัยปัจจุบัน  การใช้สีเสื้อผ้าตามเพศนั้นยังไม่เกิดขึ้น ภาพส่วนมาก
จากสมัยนี้ มักจะเห็นเด็กเล็กทั้งชายและหญิงแต่งตัวคล้ายกัน เด็กเล็กชาย
และหญิงที่ยังเดินไม่ได้มักจะสวมชุดกระโปรงพร้อมทั้งหมวกบอนเน็ตสำหรับ
เด็กเล็ก(Baby Bonnet) เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดผ้าอ้อม
และสวมหมวกเพื่อช่วยให้อบอุ่นและป้องกันการเจ็บป่วย
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ควรสังเกตทรงผมว่าตรงกับแฟชั่นของยุโรปอย่างไม่มีผิดเพี้ยน และลักษณะ
การยืนเบียดเทียมบ่าบุรุษได้ แม้ในการถ่ายภาพอย่างเป็นทางการ แสดงนัย
เชิงสัญลักษณ์ สะท้อนบทบาทและสถานภาพสตรีในยุคนั้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าแพรชีฟองแบบพอง ชายเสื้อยาวเกือบถึงเข่า แขนเสมอศอก
พร้อมพู่ไหม นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวยพร้อมเครื่องประดับ ผมยาวดัดลอน
ตกแต่งด้วยศิราภรณ์  การถ่ายภาพในสตูดิโอแบบนั่งหันข้างให้แสง
สะท้อนอย่างมลังเมลืองเป็นที่นิยมในยุคนี้
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าแพรแบบพอง ชายเสื้อยาวถึงสะโพก แขนเสมอศอกแต่งริบบิ้น
นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวย พร้อมเครื่องประดับ ผมยาวดัดลอน เก็บมวยไว้
ด้านหลัง ยังคงสวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



หม่อมประยูร (สุขุม) โสณกุล ณ อยุธยา
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หม่อมประยูร (สุขุม) โสณกุล ณ อยุธยา  แต่งกายตามแฟชั่นสมัย
รัชกาลที่ ๖ ตอนกลาง ตรงกับยุคทีนส์ตอนปลาย ควรสังเกตรองเท้า
ผู้หญิงแบบมีสายรัดข้างหน้าแบบสไตล์แมรี เจน  ที่เคยเป็นที่นิยมมา
แต่ปลาย รัชกาลที่ ๕ เริ่มถูกแทนที่ด้วยแบบใหม่  เป็นรองเท้าส้นสูง
แบบคัทชู (Court Shoes)
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิง ตลับ ยมราช และธิดา คือ นางสาวประจวบ สุขุม
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


การแต่งกายของท่านผู้หญิง ตลับ ยมราช และธิดา คือ นางสาวประจวบ สุขุม
บอกเล่าเรื่องราวแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนกลาง หรือทีนส์ตอนปลาย
ได้อย่างน่าสนใจ    ท่านเป็นผู้หญิงเป็นบุคคลผู้สื่อสะท้อนถึงแฟชั่นของ
ผู้หญิงที่เติบโตมาในรัชกาลที่ ๕ ยังคงความคุ้นชินในการนุ่งโจง สวมเสื้อ
ลูกไม้แบบพอง ทิ้งแขนสามส่วน สะพายแพร  แล้วทับด้วยสายสะพาย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า  สวมถุงน่องและรองเท้าหนังสไตล์
แมรี เจน  ขณะที่หญิงสาวผู้เป็นธิดานุ่งซิ่นไหมเชิงกรวยและไว้ผมยาว
สวมรองเท้าหนังแบบคัทชู สะท้อนแฟชั่นยุคใหม่ตอนกลางของรัชกาลที่ ๖
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าลูกไม้แบบไม่รัดรูป ชายเสื้อยาวถึงสะโพก แขนเสมอศอก
แขนเสื้อปล่อยชาย นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวย พร้อมเครื่องประดับ
ผมยาวดัดลอนปล่อยยาว ยังคงสวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงเยี่ยม (อิศรเสนา) จรัญสนิทวงศ์
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงเยี่ยม ผู้เป็นมารดา พลเอกหญิง ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
แต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนกลางทีนส์ตอนปลาย น่าสังเกตลักษณะ
การวางท่าทางของสตรีสยามในยุครัชกาลที่ ๖ ว่ามีการทอดสายตา ยกแขน การทิ้ง
น้ำหนักสะโพกและขา ที่สอดคล้องกับสตรียุโรปผู้มีรสนิยมตามแค็ตตาล็อก
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ สวมชุด
เสื้อชีฟองปักเลื่อม และกระโปรงผ้าไหมชายเสื้อยาวถึงหัวเข่า กระโปรงยาว
ถึงน่อง แขนสั้นถึงต้นแขน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่สตรียุโรป
ผมสั้นดัดลอน ถือพัดขนนก สวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ฉายพระฉายาลักษณ์นี้ในสตูดิโอ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ขณะทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก  ซึ่งทรง
ฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวสไตล์อาร์ตเดคโค (Art Deco)
ยาวถึงครึ่งพระชงค์ (แข้ง) ทรงรัดพระองค์ตรงพระโสณี (สะโพก)
ด้วยลักษณะเครื่องประดับแบบระย้าสไตล์อาร์ตเดคโค  ทรงมงกุฎ
ประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสวมสะพายทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
ทรงสร้อยพระศอเพชร และพระธำมรงค์หมั้น

เข็มกลัดบนสายสะพายเหนือเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖
๑.เข็มพระบรมนามาภิไธย ราม ร.(ราม รามาธิบดี) เพชรล้วน  
๒.เข็มอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ (ราม รามาธิบดี ๖) ภายใต้
พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีฝังเพชรล้วน  ที่ปลายรัศมีฝังไพลิน
ที่รองซับหลังอักษรพระบรมนามาภิไธยเป็นตลับแก้วสีน้ำเงินบรรจุ
เส้นพระเจ้า    ที่พระอุระขวา เข็มพระราชลัญจกรประจำพระองค์
ในรัชกาลที่ ๖ รูปวงรี เรียกกันว่า เข็มใกล้ชิด ประดับเพชรล้วน
รองด้วยแพรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับชั้นตระกูลสูงสุดที่ได้รับ
พระราชทาน ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ท.จ.ว. จัดสอด
แพรใต้เข็มใกล้ชิดเป็นแพรชมพู
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระยาสุรินทรเสวี (เถา วัลยะเสวี)
คุณหญิงสุรินทรเสวี (เอื้อ วัลยะเสวี สกุลเดิม เศรษฐบุตร)

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


คุณหญิงสวมชุดแต่งงานแบบตะวันตกร่วมสมัย ชุดผ้าไหมสีขาวและผ้าคลุม
ผมลูกไม้บางยาวถึงพื้น  กระโปรงเริ่มที่จะสั้นขึ้นมาใต้หัวเข่า  ถือช่อดอกไม้
ผมตัดสั้น ดัดลอนใต้ติ่งหู การถ่ายภาพบุรุษสตรีคู่สามีภริยาคู่กัน เป็นความ
นิยมแพร่หลายในรัชกาลที่ ๖ สื่อสะท้อนถึงพระราชประสงค์ให้คนไทยดำเนิน
ชีวิตสมรสแบบเอกภริยา (Monogamy) หรือที่เรียกโดยสามัญ
ว่าระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ตามอารยประเทศในยุโรป อันเป็นรากฐานของ
การพระราชทานสิทธิสตรี และสิทธิทางกฎหมายแพ่ง โดยเฉพาะเรื่องบุคคล
และครอบครัวตามระบบกฎหมายสมัยใหม่
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


แฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลายสมัยอาร์ตเดคโค เสื้อผ้าสตรีสยาม
ในยุคนี้จะเป็นทรงตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลา
งรัชสมัย และเอวจะเลื่อนลงมาเลยสะโพกเกือบถึงต้นขา แขนเสื้อเริ่ม
สูงเลยข้อศอก หรือแขนสั้นถึงหัวไหล่ ชายกระโปรงหรือผ้าซิ่นสูงขึ้น
ถึงระดับน่องและใต้หัวเข่า สวมถุงน่องและรองเท้าแบบคัทชู
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ควรสังเกตว่า สตรีในภาพนี้มีฟันขาว สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรม
การกินหมากเริ่มลดความนิยมลงแล้วในยุคนี้ การถ่ายภาพบุคคล
ในปลายรัชกาลที่ ๖ จึงเริ่มมีการยิ้มเผยให้เห็นฟันมากขึ้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สุภาพสตรีในภาพสวมเสื้อแขนสั้นทรงกระบอก ตัวเสื้อทิ้งต่ำ เอวของตัวเสื้อเลื่อน
ลงมาถึงสะโพก แต่ยังคงนุ่งซิ่นไว้ผมบ๊อบ นยุคนี้เด็กสาวรุ่นใหม่ยกเลิกการสวมคอร์เซ็ต
และมาสวมบราเซีย แบบอ่อนเต็มตัวแทนที่ เพื่อ “เสริมทรง” แทนที่จะ “รัดทรง”
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สุภาพสตรีในภาพสวมเสื้อแขนสั้นถึงหัวไหล่ ตัวเสื้อทิ้งต่ำ เอวของตัวเสื้อ
เลื่อนลงมาถึงสะโพก นุ่งซิ่นเชิงกรวย ไว้ผมบ๊อบ การถือช่อบูเกต์เป็นช่อ
ดอกไม้ใบไม้ หรือการนำช่อบูเกต์มาประกอบการจัดท่าทาง  เป็นที่นิยม
แพร่หลาย โดยช่อดอกไม้หรือใบไม้นั้นจัดในลักษณะเรียบง่ายแสดงความ
งามตามธรรมชาติ ไม่กรุยกราย ใช้ดอกไม้แต่น้อย
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ กับพระอัยยิกา (ยาย)
คือท้าวสุนทรนาฎ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้อำนวยการมหรสพหลวงฝ่ายใน
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


พระนางเจ้าสุวัทนาฯ  ฉลองพระองค์แบบสตรีสยามนิยม ในช่วงอาร์ตเดคโค
เสื้อเป็นผ้าชีฟอง แบบทรงกระบอก พร้อมซับในแขนยาวเหนือพระกัประ (ศอก)
ทรงพระภูษาซิ่นไหม ทรงถุงน่องฉลองพระบาท พระเกศาดัดเป็นลอน ทรงสร้อยมุก
และนาฬิกา ทรงพระมาลาตามสมัยนิยม ในขณะที่ท้าวศรีสุนทรนาฏ ยังแต่งกาย
เหมือนสตรีปลายรัชกาลที่ ๕  เสื้อกระดุมผ่าอก แขนยาว สะพายผ้าแถบ กลัด
เข็มพระปรมาภิไธย วชิราวุธ ป.ร. เป็นอาทิ และนุ่งผ้าโจง
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ในขณะที่สตรีวัยรุ่งแต่งกายอย่างสมัยใหม่ สตรีในภาพมีวัยกลางอายุ ค่อนไปทาง
ปลายอายุ  กลับยังคงดำเนินตามแฟชั่น สมัยรัชกาลที่ ๖ตอนกลาง  ซึ่งเป็นสมัย
ทีนส์ตอนต้น สวมเสื้อลูกไม้ผสมผ้าแพร แบบพอง คอกลม  ประดับด้วยผ้าลูกไม้
แถบสีเข้ม ปักเลื่อมแขนปล่อยชายยาวเลยข้อศอก สะพายแพรพิมพ์ลาย ทิ้งชาย
นุ่งโจง พร้อมเครื่องประดับ และไว้ผมสั้น ตามสมัยนิยมช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ และ
ต้นรัชกาลที่ ๖  เช่น เหรียญรัชมังคลาภิเศกรัชกาลที่ ๕ เหรียญบรมราชาภิเษก
รัชกาลที่ ๖ เหรียญปีกุน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี  แต่งตัวตามสมัยรัชกาลที่ ๖
ช่วงปลาย ซึ่งยังคงไว้ทรงผมตามแบบรัชกาลที่ ๕ สวมถุงเท้ายาวถึงเข่า
สีเข้ม พร้อมรองเท้าหนังแบบมีกระดุมอยู่ข้างหน้า สไตล์แมรี เจน  
ภาพนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าแฟชั่นยุคนั้นเจ้านายและผู้ใหญ่ยังคงนุ่งโจง
และไว้ผมสั้น เพียงเปลี่ยนเสื้อตามสมัยนิยม    เด็กชายในภาพคือ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล น่าจะถ่ายก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ
ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร เพ็ญพัฒน์ (ขวา)
หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร เทวกุล

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร เพ็ญพัฒน์ (ขวา)
หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร เทวกุล
พระธิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และหม่อมแช่ม กฤดากร
ทรงแต่งองค์ตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลาย สมัยอาร์ตเดคโค เป็นทรง
ตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลางรัชสมัย  แขนฉลององค์
ยาวเสมอต้นกร ฉลององค์ทิ้งต่ำ ภูษาผ้าซิ่นไหมลายขวาง ไว้เกศาบ๊อบตามสมัย  
ภาพนี้เป็นภาพที่น่าสนใจว่า เทคโนโลยีการถ่ายภาพเจริญขึ้นจนไม่จำเป็น
ต้องถ่ายภาพแบบพอร์เทรตในห้องสตูดิโออีกต่อไป เพราะเป็นการบันทึกภาพที่วังที่ประทับ
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สตรีทั้งสอง แต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลาย สมัยอาร์ตเดคโค เป็นทรง
ตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลางรัชสมัย แขนยาวเสมอไหล่
ตัวเสื้อทิ้งต่ำ สวมผ้าซิ่นไหมลายขวาง ไว้ผมบ๊อบตามสมัย ภาพนี้เป็นภาพที่น่าสนใจ
เพราะทุกคนยิ้มฟันขาวสดใส และวางท่าทางอย่างสบายๆ เป็นธรรมชาติ สะท้อนสภาพ
สังคม สิทธิเสรีภาพ และบรรยากาศแห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ตุลาคม 2559 18:19:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 22 ตุลาคม 2559 19:14:37 »


นิทรรศการฉัฐรัช : พัสตราภรณ์
เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

เป็นงานจัดแสดงภาพถ่ายการแต่งกายในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ของเจ้านายในราชสำนักและบุคคลในรัชสมัย นำเสนอเทียบเคียงกับพัฒนาการแห่งยุค
ของแฟชั่นสากล โดยจัดแสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจก รวม ๔๕ ภาพ(ตามกระทู้ด้านบน)
เป็นภาพถ่ายแบบโบราณ เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ซึ่งยังไม่เคยเผยแพร่
มาก่อน  นอกจากภาพถ่ายโบราณแล้ว ภายในงานยังจัดแสดงชุดแต่งกายของสตรีใน
ราชสำนักและแฟชั่นที่นิยมในยุคนั้น รวมถึงให้ข้อมูลความรู้เรื่องวิวัฒนาการถ่ายภาพ
ด้วยฟิล์มกระจก ผู้เข้าชมนิทรรศการจึงได้ทั้งสาระความรู้ทางวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม
ที่พวกเราควรตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ไว้เป็นมรดของชาติสืบไป
 




กระเป๋าหนังพิมพ์ลายพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕
กระเป๋าหนังพิมพ์ลายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบเหรียญ
ประพาสมาลาสำหรับสตรีใบนี้ มีลายพระราชหัตถ์ในรัชกาลที่ ๕ ระบุว่า
ของฝากจากแฮมเบิก” พระราชทานเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรป
ครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ซึ่งในการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร
ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ในพระนคร


แบบจำลองการแต่งกายขององค์ราชนารี ตามพระราชนิยม
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖

แบบจำลองนี้จัดสร้างขึ้นใหม่สำหรับแสดงครั้งแรกในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาส ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ
๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
โรงเรียนราชินีให้ยืมจัดแสดง


แพรปักจุลจอมเกล้าของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฉบับเก่านับแต่รัชกาลที่ ๕
บัญญัติเครื่องยศสำหรับสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ใช้ในงานมีหมายกำหนดการไว้ในมาตรา ๑๖ ว่า “เครื่องยศสำหรับสมาชิกฝ่ายในนั้น
คือแพรห่มสีชมพูปักดิ้นเลื่อมลายทอง” โดยจำแนกออกเป็น ๔ ชั้น ตามลำดับชั้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลดังกล่าว ทั้งนี้การห่มแพรปักเป็นเครื่องยศถูกยกเลิกไป
เมื่อต้นรัชกาลที่ ๗


ลำดับที่ ๑ เข็มใกล้ชิด รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖
คุณหญิงนิธิวดี (กูรมะโรหิต) อันตระการ (พ.ศ.๒๔๕๔-พ.ศ.๒๕๕๗) คุณพนักงาน
ฝ่ายในในสมัยนั้น เล่าว่า “การขึ้นเฝ้าฯ ปฏิบัติอยู่เวรในพระราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๖
คุณพนักงานทุกคนต้องกลัดเข็มใกล้ชิดที่ได้รับพระราชทานเสมอ ขาดไม่ได้ ถือเป็น
เครื่องหมายแทนเหรียญราชรุจิ สำหรับงานที่ไม่ได้กำหนดให้แต่งกายเต็มยศครึ่งยศ
หากเป็นงานมีหมายกำหนดให้แต่งกายเต็มยศครึ่งยศ โปรดเกล้าฯ ให้ประดับเหรียญราชรุจิ
แทนเข็มใกล้ชิด ส่วนแพรรองเข็มนั้น ให้ใช้ตามแพรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่
ได้รับพระราชทานขณะนั้น”
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๒ เสมาอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาคล้องสร้อยทองคำคุณพนักงานฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๖
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๓ กำไลงาช้างประดับทองคำลงยาอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
พื้นรองอักษรพระบรมนามาภิไธยลงยาเป็นสีของแพรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมี
เกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พระราชทานสำหรับคุณพนักงานฝ่ายใน ที่ถวายตัวรับราชการทุกคน
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๔ เข็มกลัดพระปรมาภิไธย วชิราวุธ ปร.ทองคำลงยา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์แก่คุณหญิงแม้น
สุนทรเทพกิจจารักษ์ (พ.ศ.๒๔๓๖-พ.ศ.๒๕๒๕) ภริยาพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
(ทอง จันทรางศุ) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ คราวติดตามสามีขณะมีราชทินนามที่พระยาสุรินทรฦๅชัย
ไปปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นจังหวัด
ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน
(ทายาทคุณหญิงแม้ สุนทรเทพกิจจารักษ์ ให้ยืมจัดแสดง)



ลำดับที่ ๕ เข็มราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม
สร้างเป็นที่ระลึกสำหรับผู้สมทบทุนซื้อเรือรบหลวงพระร่วง นิยมใช้เป็นเครื่องประดับ
ทั้งบุรุษและสตรี ในยุคนั้น (อาจารย์ระวี สัจจโสภณ ให้ยืมจัดแสดง)





เครื่องแต่งกายของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
เครื่องแต่งกายของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ. (พ.ศ.๒๔๑๙-พ.ศ.๒๕๐๔)
ภริยาเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อธิบดีศาลฎีกา และราชเลขาธิการ
ในรัชกาลที่ ๖ ท่านผู้หญิงกลีบเป็นผู้มีความสามารถด้านคหกรรมศาสตร์
และเป็นหนึ่งในสตรีชั้นนำในยุครัชกาลที่ ๖ ผู้มีรสนิยมในการเรือนและการ
แต่งกายตามพระราชนิยม เครื่องแต่งกายเหล่านี้ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  -
มาลากุล ณ อยุธยา ธิดาของท่านผู้หญิงได้มอบไว้เพื่อจัดแสดง ณ โรงเรียน
ราชประชาสมาสัย ซึ่งท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการ
(โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ยืมจัดแสดง)






คอร์เซ็ต (Corset)
คอร์เซ็ต (Corset) ที่จัดแสดงเป็นของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
การใส่คอร์เซ็ตมีความยุ่งยากพอสมควร และต้องสวมใส่ให้ถูกต้องตามแบบ โดยตะขอ
สำหรับยึดตัวอยู่ข้างหน้า และเชือกสำหรับดึงตัวอยู่ข้างหลัง ส่วนบนของคอร์เซ็ตมักจะ
ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้เพื่อเพิ่มความงาม และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสวมใส่



หนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ (The Siamese Exhibition)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ณ สวนลุมพินี
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของชาติ ประมวลเรื่องราว
ของประเทศสยามรวมถึงภาพการแต่งกายของสตรียุคนั้นไว้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม งานนี้ถูกล้มเลิกไปเนื่องจากการเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่
๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘
(ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ให้ยืมจัดแสดง)




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2559 18:58:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 27 ตุลาคม 2559 19:25:26 »


ฟิล์มกระจก

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุในรูปแบบหลากหลาย ทั้งเอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์ โสตทัศนจดหมายเหตุ แผนที่ แผนผัง แบบแปลน และเอกสารประเภทอิเล็กทรอนิกส์ มาแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในเอกสารจดหมายเหตุทรงคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึง วิวัฒนาการของการถ่ายภาพและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีตของประเทศไทย ได้ถูกบันทึกไว้ในรูปของ “ฟิล์มกระจก” อันเป็นวัสดุที่ใช้ในการบันทึกภาพ โดยการนำแผ่นกระจกฉาบสารเคมีแล้วนำไปสร้างภาพในลักษณะเนกาทีฟและโพซิทีฟ

ความสำคัญของฟิล์มกระจก
การบันทึกภาพเริ่มต้นราวพุทธศักราช ๒๓๗๐ โดยนายโจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์ (Joseph Nicéphore niépce) ได้ใช้สารบิทูเมน (Bitumen) เป็นสารไวแสงสำหรับบันทึกภาพ โดยฉาบสารบิทูเมนบนแผ่นโลหะผสมระหว่างดีบุกและตะกั่ว บริเวณใดถูกแสงของสารบิทูเมนจะเกิดการแข็งตัว และบริเวณที่ไม่ถูกแสงจะเกิดการอ่อนตัว เพราะถูกสารไลต์ปิโตรเลียม (Light Petroleum) ผสมกับน้ำมันลาเวนเดอร์ (Lavender Oil) ละลายออกไป

พุทธศักราช ๒๓๗๒ นายหลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์ (Louis Jacgues Mandé Daguerre) ได้ร่วมกับนายโจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์ ค้นคว้าเรื่องการใช้สารไวแสงพวกซิลเวอร์คลอไรด์ (Silver Choride) ในการบันทึกภาพ แต่นายโจเซฟ เนียฟเฟอร์ เนียฟซ์ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน และนายหลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์ ก็ได้ค้นคว้าต่อมา  นายหลุยส์ ฌาร์ค ดาแกร์ ได้ใช้ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Silver Iodide) เป็นสารไวแสง โดยนำแผ่นเงินอังด้วยไอของไอโอดีนแล้วไปติดตั้งในส่วนหลังของกล้องถ่ายภาพแบบดาแกร์ (Daguerreotype) หันด้านไวแสงเข้าหาเลนส์ สร้างภาพโดยนำแผ่นเงินที่ถ่ายภาพแล้วไปอังเหนือไอปรอท ทำให้ไอปรอทไปเกาะที่ผิวหน้าของแผ่นเงิน จากนั้นนำแผ่นเงินไปคงสภาพด้วยสารละลายของเกลือแกง ใช้ไฮโป (Hyposulphite of Soda) เพื่อละลายซิลเวอร์ไอโอไดด์ส่วนที่ไม่ถูกแสงให้หมดไป ก็จะได้ภาพถ่ายคงตัวถาวร ผลจากการเผยแพร่ของดาแกร์ ทำให้ระบบการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ในช่วงเวลาสงครามกลางเมืองของอเมริกา (พ.ศ.๒๔๐๔-พ.ศ.๒๔๐๘) มีการพัฒนาใช้แผ่นสังกะสีแทนแผ่นเงินเพื่อประหยัดต้นทุน ภาพถ่ายระบบดาแกร์โรไทป์นี้ถ่ายได้เพียงครั้งละรูปและอัดสำเนาไม่ได้ เท่ากับว่าหากต้องการ ๑๐ รูป ก็ต้องถ่าย ๑๐ ครั้ง จนกระทั่งชาวอังกฤษ นามว่า นายวิลเลียม เฮ็นรี่ ฟ็อกซ์ ทัลบอต (William Henry Fox Talbot) ได้ค้นพบวิธีการถ่ายภาพที่เรียกว่า ทัลโบไทป์ (Talbotype) ซึ่งเป็นการผลิตภาพถ่ายลงบนกระดาษที่อาบด้วยซิลเวอร์คลอไรด์ ทำให้สามารถทำสำเนาภาพได้ตามต้องการ จากเทคนิคต่างๆ ข้างต้น จึงนำมาสู่การปรับปรุงและทดลองจากผู้คิดค้น จนนำไปสู่การใช้กระจกอาบน้ำยาเป็นตัวรับแสง ที่เรียกว่า “ฟิล์มกระจก” แล้วนำไปอัดภาพลงบนกระดาษ

ประเภทของฟิล์มกระจก
ฟิล์มกระจกแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
     -ฟิล์มกระจกเปียก และ
     -ฟิล์มกระจกแห้ง

ฟิล์มกระจกเปียก เกิดขึ้นเมื่อชาวอังกฤษ นามว่า นายเฟรดเดริค สก็อต อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) ทำการทดลองโดยใช้กระจกเป็นวัตถุรองรับในการถ่ายภาพแทนแผ่นโลหะ และใช้สารละลายโคโลเดียน (Collodian) เป็นตัวช่วย ฟิล์มกระจกเปียกจึงประกอบด้วย แผ่นกระจก สารโคโลเดียน และสารละลายเงิน เมื่อมีแสงตกกระทบจะทำให้ภาพที่ได้มีโทนสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม วิธีนำกระจกถ่ายรูปต้องจุ่มแผ่นกระจกลงในสารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต (Silver Nitrate) ในห้องมืด แล้วนำไปใช้ในการถ่ายภาพทันทีขณะที่กระจกยังเปียกอยู่ กระบวนการนี้ทำให้ผู้ถ่ายภาพนอกสถานที่ต้องนำกระโจมห้องมืด ขนขวดน้ำยาและเครื่องมือจำนวนมากไปด้วยเสมอ หลังจากนี้จึงมีผู้คิดค้นฟิล์มกระจกแห้งหรือฟิล์มกระจกสำเร็จรูปขึ้น

ฟิล์มกระจกแห้ง คิดค้นโดย ดร.ริชาร์ด ลีช แมดด๊อกซ์ (Dr.Richard Leach Maddox) ใช้วัตถุไวแสงที่เป็นเจลาติน (พัฒนาจากการใช้โคโลเดียนซึ่งมีกลิ่นเหม็น) ต่อมา นายชาร์ลส์ เบนเน็ต (Mr.Charles Bennet) ได้ปรับปรุงการทำฟิล์มกระจกแห้ง ด้วยการนำกระจกที่ฉาบสารเคมีมาล้างในขณะที่ยังหมาด เพื่อล้างเกลือเงินที่อยู่ในอิมัลชันออกให้หมด เพื่อไม่ให้กระจกมีรอยตำหนิ และปรับปรุงเรื่องความไวแสง จนเกิดฟิล์มกระจกแห้งสำเร็จรูป ฟิล์มกระจกแห้งจึงประกอบด้วย แผ่นกระจก เจลาตินที่ใช้เคลือบ และสารละลายเงิน ซึ่งภาพที่ได้จะมีสีโทนสีเทาไปจนถึงสีดำ

การถ่ายภาพในประเทศไทยได้เริ่มจากการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ พบหลักฐานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการนำของพระสังฆราช ฌ็อง บัปทิสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง หลุยส์ ลาร์โนดี (Father Louis Larnaudie)

ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เขียนเล่าในหนังสือสยามประเภท ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๔ ว่า “...พึ่งมีมีช่างถ่ายรูปครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ นั้นคือ ท่านสังฆราชฝรั่งเศส ชื่อปาเลอกัว เป็นผู้ถ่ายรูปแผ่นเงินในกรุงสยามก่อนมนุษย์ที่ ๑ ภายหลังพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) แต่ยังเป็นมหาดเล็กอยู่นั้น ได้ถ่ายรูปเป็นครั้งที่ ๒ เป็นศิษย์สังฆราชด้วย...ภายหลังหลวงพระปรีชากลการ (สำอาง) เป็นช่างถ่ายรูปครั้งที่ ๓ ภายหลังหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เป็นช่างถ่ายรูปครั้งที่ ๔”

ภายหลังจากการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ การถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มกระจกได้เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔-พ.ศ.๒๔๑๑) เมื่อมีการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ทดแทน ฟิล์มกระจกจึงมีความนิยมลดลง และเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป แต่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในกลุ่มเฉพาะ ฟิล์มกระจกมีความเปราะบาง แตกง่าย แต่จัดได้ว่าเป็นวัสดุในการบันทึกภาพที่มีคุณภาพมากกว่าฟิล์มชนิดอื่น ไม่เสื่อมสลายง่ายตามกาลเวลา และอัดภาพได้จำนวนมากๆ ข้อมูลที่บันทึกบนแผ่นฟิล์มกระจก บันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บุคคล สถานที่ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธศักราช ๒๕๒๐ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รวบรวมฟิล์มกระจกจากหอพระสมุดวชิรญาณ (หวญ.) นำมาจัดเก็บ ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และติดตามฟิล์มกระจกเพิ่มเติมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมแผนที่ทหาร (ผท.) และภาพส่วนพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทำให้สามารถรวบรวมฟิล์มกระจกได้ราว ๔๐,๐๐๐ แผ่น และนำเก็บรักษาในคลังเอกสารที่ควบคุมอุณหภูมิที่ ๑๘ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๔๐ องศาเซลเซียส ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับฟิล์มกระจก โดยทำการสแกนฟิล์มกระจกต้นฉบับให้ได้ภาพดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ฟิล์มกระจกต้นฉบับ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วต่อการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์




(ซ้าย) กล้องถ่ายรูปแบบดาแกร์โรไทป์ หรือรูปบนแผ่นเงิน
(ขวา) รูปแผ่นเงินของผู้ประดิษฐ์ หลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์




(ซ้าย) ตัวอย่างกล้องฟิล์มกระจกเปียก
(กลาง) ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในกล้องฟิล์มกระจกเปียก
(ขวา) การเคลือบแผ่นกระจกด้วยสารโคโลเดียนก่อนจะนำไปใช้ในการถ่ายภาพ



(บน-ซ้าย) การแช่สารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต เพื่อชุบกระจก (Sensitising Process)
(บน-ขวา) ภาพการล้างฟิล์มกระจกเปียก
(ล่าง-ซ้าย) ภาพฟิล์มกระจกเปียกที่ล้างแล้ว
(ล่าง-ขวา) อุปกรณ์ใส่แผ่นฟิล์มกระจกแห้ง



(ซ้าย) พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐
ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ถ่ายโดยเทคนิคดาแกร์โรไทป์
โดยพระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล)
(ขวา) พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙
ถ่ายโดยเทคนิคฟิล์มกระจก โดยนักถ่ายภาพชาวสก๊อต จอห์น ทอมสัน (John Thomson)


ข้อมูล/ภาพ : นิทรรศการ ฉัฐรัช พัสตราภรณ์
ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก
ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
๑๐ สิงหาคม - ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2559 19:28:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 27 ตุลาคม 2559 19:52:13 »



พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้ากรุงสยาม
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ขณะพระชนมายุ ๓๐ พรรษา


พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเชิญบรรดาผู้แทนรัฐบาล
และผู้แทนประมุขจากหลายประเทศ เข้าร่วมเฉลิมฉลอง จึงโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงออกรับแขกเมือง
ไว้พระเกศายาวตามแบบสากล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์บทความชื่อ “เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรือง คือ สภาพแห่งสัตรี”
ทรงใช้พระนามแฝงว่า “รามจิตติ” ทรงแสดงพระราชนิยมว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่ง
เป็นผู้ที่เห็นควรให้หญิงไทยไว้ผมยาว เพราะคนที่ไว้ผมสั้นได้แก่เงาะ...”

พ.ศ.๒๔๕๕ ทรงเปลี่ยนปฏิทินจากแบบรัตนโกสินทรศกเป็นแบบพุทธศักราช
คือเริ่มปีใหม่ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นต้นไป


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ บุตรีของพระยาอภัยภูเบศร
(เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี  
ทรงรับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ ในโอกาสร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระร่วง"
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว



The End...จบบริบูรณ์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ตุลาคม 2559 20:15:23 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.984 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้