[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 23:53:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์  (อ่าน 2818 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 ตุลาคม 2559 14:13:01 »




สมเด็จพระปิยมหาราช

ตลอดระยะเวลากว่า  ๑๐๐ ปีมาแล้ว ที่ประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันประกอบกรณียกิจอย่างหนึ่งอันน่าพึงชมอย่างยิ่งคือ การแสดงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวที ต่ออดีตพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติ ในยามที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ ทรงปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขถ้วนทั่ว ในโอกาสที่คล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่านได้เวียนมาบรรจบในรอบปี คือ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ชนชาวไทยต่างพากันนำพวงมาลาตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียน ไปกระทำการสักการบูชาพระบรมรูปพระองค์ท่าน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ก็คือ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกที่ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ประดิษฐาน ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นรัฐสภาแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าของพระราชานุสาวรีย์พระองค์นั้น เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเป็นพระองค์ที่ ๑ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระองค์เสด็จสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า "จุฬาลงกรณ์" นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง "พระเกี้ยว" ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา  ทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระชนนี รวม ๓ พระองค์ มีพระนามดังต่อไปนี้
     ๑.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์
     ๒.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ในรัชกาลที่ ๕
     ๓.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปิโยรสของพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระเยาว์ มีพระนามเรียกเล่นๆ ว่า “พ่อใหญ่”  พระองค์เสด็จอยู่ใกล้ชิดพระบรมชนกนาถตลอดเวลา แม้เสด็จประพาสหัวเมืองก็เสด็จติดตามไปด้วย เมื่อพระชันษาได้ ๙ พรรษา สมเด็จพระชนนีประชวรและสวรรคต  ในปีนั้นเองพระองค์ได้ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามตามจารีตเจ้าฟ้าในโบราณราชประเพณีว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชวโรรส”

ครั้น พ.ศ.๒๔๐๔ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระเจ้าลูกเธอชายหญิงอีกหลายพระองค์ พระชันษาก็ควรจะเล่าเรียนความรู้ให้สูงขึ้นไป จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์ ได้หญิงชาวอังกฤษเกิดที่แคนาดาคนหนึ่งชื่อแอนนา ลิโอโนเวนส์ รับเข้ามาสอน พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับแหม่มคนนี้จนกระทั่งทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมาได้หมอจันดเล ชาวอเมริกันเป็นครูสอน ทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงราชย์แล้ว พ.ศ.๒๔๑๖ ยังได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนายแปตเตอรสันอีก แต่ทรงอยู่ไม่ได้นาน เพราะไม่มีเวลาว่าง แม้กระนั้นก็ได้ชื่อว่าทรงรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าใครๆ ในเวลานั้น ด้วยพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองโดยลำพังในเวลาต่อมา

การศึกษาของพระองค์ท่าน เหมาะสมกับกาลสมัยในฐานะขัตติยกุมาร นอกจากภาษาบาลีแล้ว มีวิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง วิชาอัศวกรรม คชกรรม    แต่ส่วนวิชารัฐประศาสน์ ราชประเพณี และโบราณคดี สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา

เมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา พระองค์ได้ทรงรับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาเมื่อชันษาย่างเข้า ๑๕ พรรษา ก็ทรงรับเลื่อนกรมขึ้นเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ และทรงปฏิบัติราชการแผ่นดิน โดยพระบรมชนกนาถทรงมอบให้ทำหน้าที่บัญชาการกรมมหาดเล็ก กรมทหารบกวังหน้า (เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว) และกรมพระคลังมหาสมบัติ

ตั้งแต่สมเด็จพระบวรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังหาได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรหรือรัชทายาทไม่ แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า พระราชโอรสจะได้ดำรงองค์พระมหากษัตริย์สืบต่อไป รัชกาลที่ ๔ ทรงวางนโยบายสำหรับพระราชโอรสของพระองค์ หากพระชนมายุบรรลุเวลาอันสมควรแล้ว เป็นเหตุให้เกิด “วังสราญรมย์” ขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ ดังนี้  “อนึ่ง เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ลงมือสร้างพระราชวังสราญรมย์ขึ้นที่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ทางด้านตะวันออก อีกแห่งหนึ่งด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมบูรณ์พระชันษา พอเสร็จกิจทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะแล้ว จะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองนั้นจะเสด็จออกเป็น “พระเจ้าหลวง” (ทรงกำหนดว่า คำว่า “พระพุทธเจ้าหลวง ให้ใช้เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ในเวลาเมื่อเสด็จละพระราชสมบัติ แต่ยังดำรงพระชนม์อยู่ ให้ใช้ว่า “พระเจ้าหลวง”) และออกไปประทับอยู่ที่วังสราญรมย์ ทรงช่วยแนะนำกำกับราชการต่อไปจนตลอดพระชนมายุ แต่กระแสพระราชดำริข้อนี้ หาได้ทรงเปิดเผยไม่ ถึงกระนั้นก็ทราบกันอยู่ในบรรดาผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชทายาท ทรงพระประชวรก่อนสวรรคต ทรงโปรดปรานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นเฝ้าเยี่ยมเยียนพระอาการประชวร พระบวรราชเจ้าพระองค์นี้ยังตรัสพร้อมทั้งยกพระหัตถ์ลูบที่พระเศียรว่า “เจ้าใหญ่ที่แหละจะเป็นที่พึ่งของญาติต่อไปได้” พระราชดำรัสนี้สมจริงต่อมาภายหลัง

เหตุการณ์บ้านเมืองของไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แตกต่างกับสมัยกรุงศรีอยุธยามาก นอกจากศึกอันเกิดจากศัตรูภายนอกแล้ว ภายในนับว่าสงบเรียบร้อยดีมาก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการส่วนใหญ่กลมเกลียวกันดีมาก ไม่ปรากฏว่าบ้านเมืองจะเกิดความยุ่งเหยิงด้วยการแย่งชิงราชสมบัติเหมือนประเทศใกล้เคียงบางประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นรัชสมัยที่ไทยได้มีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศทางตะวันตก ไทยดำรงความเป็นเอกราชมาได้เพราะมหากษัตริย์ทรงมีพระเนตรเล็งเห็นการณ์ไกล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนำรัฐนาวาผ่านกระแสชลด้วยความราบรื่น ไทยกับฝรั่งเวลานั้นเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ได้มีการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยียนทางทูต หนังสือเรื่อง “นิราศลอนดอน” ของ หม่อมราโชชัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งเป็นล่ามหลวงไปในคณะทูต ที่โปรดให้แต่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๔ ทำให้เราทราบถึงสภาพของประเทศอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศมหาอำนาจและมีอาณานิคมในทวีปเอเชียนี้มากที่สุด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ พระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา เนื่องด้วยทรงศึกษาวิชาการแทบทุกชนิด โดยเฉพาะโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ พระองค์ทรงสามารถคำนวณได้ว่า จะเกิดมีสุริยปราคาสูรย์มืดหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการจะเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงอัญเชิญ ท่านเซอร์แฮริออด อุปราชเมืองสิงคโปร์และภรรยาไปร่วมทอดทัศนาด้วยในครั้งนั้น

หลังจากเสด็จไปดูสูรย์ที่จังหวัดประจวบฯ คราวนั้นแล้ว เมื่อเสด็จกลับพระนคร ผู้ที่ร่วมขบวนเสด็จต่างประชวรและป่วยด้วยโรคไข้มาเลเรียไปตามๆ กัน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรมโอรสาธิราช พระองค์ออกจะมีอาการร้ายแรงมากกว่าผู้อื่น ประชวรหนักจนตระหนักพระทัยว่าพระอาการครั้งนี้คงไม่รอดตลอดคืน จึงมีรับสั่งให้เรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ๓ พระองค์พร้อมด้วยพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้า มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์เห็นจะมีพระชนม์ชีพต่อไปไม่ได้เสียแล้ว เป็นห่วงด้วยราชสมบัติไม่อยากผูกมัดว่าจะให้ใครขึ้นครองแทน จึงใคร่ให้ที่ประชุมตัดสินคัดเลือกว่า ใครสมควรที่จะเป็นกษัตริย์สืบแทนพระองค์ต่อไป  

ที่ประชุม ณ ที่นั้น มีพระบรมราชวงศ์ ๓ องค์ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กราบบังคมทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า สมเด็จพระบรมราชโอรสาธิราช เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ทรงเหมาะสมที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป จึงพร้อมใจกันถวายปฏิญาณที่จะมอบราชสมบัติ ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ด้วยพระอาการสงบ

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการน้อยใหญ่ พร้อมใจกันยก เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่ พระชันษา ๑๖ พรรษาเท่านั้น ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น ยังมิได้มีพิธีพระบรมราชาภิเษกทันที ต้องรอฤกษ์ก่อน พระองค์ประทับแรม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นเวลากว่าเดือน ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน จึงถึงพระฤกษ์ทำพิธีราชาภิเษกเฉลิมราชมณเฑียร ครั้นทรงบรรลุนิติภาวะในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ก็เสด็จออกทรงผนวช นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จออกทรงผนวชในขณะครองราชย์ แต่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศเพียง ๑๕ วัน ก็ทรงลาผนวช เมื่อทรงลาผนวชแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖ เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ต่อจากนี้ก็ทรงรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมืองโดยสิทธิ์ขาดแต่พระองค์เดียว

พระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงปฏิรูปบ้านเมืองเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยพระปรีชาสามารถ ปฏิรูปขนบธรรมเนียมของไทยบางอย่างที่ชาวต่างประเทศเห็นว่าเป็นการล้าสมัย ให้เป็นไปตามแบบชาวตะวันตกอันเหมาะสมด้วยกาลเทศะ เช่นประเพณีการหมอบเฝ้าซึ่งใช้กันมาสมัยกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็รับสั่งให้เลิก เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและนั่งเก้าอี้ แบบผมของชายไทย เคยตัดกันแบบที่เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” คือด้านข้างศีรษะเกรียนเรียบ ไว้เป็นจุกหย่อมเดียวกลางศีรษะ ก็เปลี่ยนรูปทรงดังเช่นปัจจุบัน ท่านหญิงที่เคยไว้ทรงผม “ทรงปีก” อย่างท่านผู้หญิงโมแห่งนครราชสีมาก็เปลี่ยนทรง “ยาวประบ่า”  แต่เครื่องแต่งกายแบบข้าราชการนั้น ยังค่อนข้างน่าขันอยู่ ท่อนบนแบบสากล คือสวมเสื้อเปิดอกผูกเน็คไท แต่ท่อนล่างยังคงผ้าม่วงโจงกระเบน ตอนหลังเมื่อเสด็จไปประเทศอินเดียแล้ว ได้ทรงออกแบบเสื้อใหม่ คล้ายๆ เสื้อแขกเป็นเสื้อคอปิด กระดุมเรียงแถว ๕ เม็ด ทรงขนานนามเสื้อแบบนี้ว่า “เสื้อราชประแตน” และใช้กันมาตลอดจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๗ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มิใช่ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างเท่านั้น ที่ทรงปฏิรูปให้เหมาะสมทัดเทียมอารยประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขบ้านเมืองทุกด้านที่เห็นสมควร เช่น ระเบียบการปกครองประเทศซึ่งแต่เดิมก็เป็นไปแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งส่วนกลางนั้นมีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร ปกครองชาวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายก หัวหน้าฝ่ายพลเรือนปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ และมีจตุสดมภ์ มีเสนาบดีกรมคลัง จัดการพระคลังและการต่างประเทศ เสนาบดีกรมเมือง จัดการปกครองพระนคร และหัวเมืองใกล้เคียง เสนาบดีกรมวัง จัดการในพระบรมมหาราชวัง และเสนาบดีกรมนา จัดการเกี่ยวกับไร่นา

ระเบียบการปกครองดังกล่าว ได้ทรงดัดแปลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยตั้งเป็นกระทรวงทบวงกรม และมีเสนาบดีประจำทุกกระทรวง การจัดการปกครองส่วนภูมิภาค ได้ทรงจัดแบ่งออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงปกครองกันอยู่แบบนี้ เว้นแต่ยกเลิกมณฑลเสียเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองทุกด้าน หากจะพรรณนาแยกแยะออกโดยละเอียดแล้ว คงเป็นหนังสือขนาดเล่มโตๆ หลายเล่ม ดังที่มีผู้เคยกระทำมาแล้ว และเราจะหาอ่านได้โดยง่ายไม่ว่าทางปรับปรุงบ้านเมือง เช่น การศึกษา การศาล การทหาร การคมนาคม ทางศิลปวรรณกรรม ทางศาสนา ไม่ทรงละเว้นแม้แต่ทางที่ทำให้มนุษย์เสียคน เช่นทรงเลิกบ่อนเบี้ย   เสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ แต่ที่เราตระหนักในพระเดชพระคุณมากที่สุดนั้น คือ การเลิกทาส ด้วยพระราโชบายอันนุ่มนวล การเลิกทาสของไทยเราได้รับคำยกย่อง แม้แต่ชาวต่างประเทศเองที่ทราบเรื่องราวของไทยเราในรัชสมัยนั้น

แม้แต่สายตาของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ของเรา ยังอดที่จะสรรเสริญพระองค์ท่านไม่ได้ มีตัวอย่างเช่น มิสเตอร์คาร์ลบ๊อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ได้เคยเข้ามาสำรวจดินแดนไทยในด้านภูมิศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ๑๓ ปี เกือบ ๗๐ ปีนี้เอง  นายคาร์ลบ๊อคได้เขียนเล่าถึงพระราชกรณียกิจบางอย่างเท่าที่เขาทราบและตลอดจนพระลักษณะนิสัยที่เห็นได้ด้วยตาของตนเอง ตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เราได้มาถึงห้องรับแขก ซึ่งเป็นห้องกว้างขวาง โอ่อ่าตกแต่งแบบยุโรปทั้งหมดอย่างหรูหราที่สุด เมื่อเราเข้าไปในห้อง ก็ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามและลาว ประทับอยู่ตรงหน้าเราพอดี พระองค์มีลักษณะอันสง่างามมาก พระชนมายุประมาณ ๓๐ พรรษา พระวรกายค่อนข้างผอมและประทับตรงมาก พระฉวีงามตามแบบชาวไทย พระเนตรดำวาวเป็นประกาย

เราหยุดถวายคำนับ ๓ ครั้ง ตามประเพณี พระองค์ทรงลุกขึ้นต้อนรับ และพระราชทานพระหัตถ์ให้มิสเตอร์นิวแมน (กงสุลอังกฤษ) สัมผัส เมื่อเพื่อนข้าพเจ้าได้กล่าวนำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็พระราชทานพระหัตถ์ให้สัมผัสเช่นเดียวกัน และพระราชทานอนุญาตให้เรานั่งเก้าอี้ใกล้กับกึ่งกลางห้อง ส่วนพระองค์ประทับพระเก้าอี้ที่ตั้งไว้บนยกพื้นใกล้กับผนังห้อง การยกเลิกขนบธรรมเนียมแบบเก่าที่ระบุให้ทุกคนที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหมอบลงกับพื้น เป็นพระราชบัญญัติเรื่องแรกเรื่องหนึ่งที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงยกเลิกเสียเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑ บัดนี้ ประชาชนทุกชั้นและทุกคนต่างก็เข้าเฝ้าได้โดยสะดวก  และจะยืนตรงเมื่อเข้าเฝ้าใกล้ๆ ได้

การถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นถวายได้ด้วยตนเอง ประชาชนคอยเฝ้าถวายฎีกาเมื่อพระองค์ทรงพระราชดำเนินเล่นในลานพระบรมมหาราชวัง นโยบายการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าก้าวหน้าไปไกลทุกๆ ด้าน พระองค์มิได้ละเว้นความพยายามอันใดที่จะเพิ่มพูนความสุขความเจริญให้แก่ประชาชนของพระองค์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยคงจะได้แก่การเลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร กฎหมายการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ เริ่มบังคับใช้ในปี ๒๔๑๕ และค่อยๆ มีผลบังคับใช้มาตามลำดับ จนกระทั่งลูกของทาสก็ได้เป็นอิสระด้วย สำหรับเรื่องนี้เรื่องเดียวไม่นับเรื่องอื่น และไม่ว่ากษัตริย์องค์นี้จะทรงสามารถทำการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่พระองค์ทรงเริ่มกระทำมาตั้งแต่ได้เสวยราชสมบัติได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม พระองค์ก็สมควรจะได้ถวายพระนามว่า “ปิยราช” หรือ “มหาราช” โดยแท้

พระนามเต็มของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังมีสร้อยพระนามเป็นทางการตามประเพณียืดยาวออกไปอีกว่า “พระเจ้าช้างเผือก”


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ของพระราชบิดา และพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนคือ คิงมงกุฎ หรือตามพระนามเต็มว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ” ผู้ทรงเป็นทั้งนักศึกษาและกษัตริย์ทางตะวันออกที่มีชื่อเสียงมากพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงได้ประโยชน์อย่างมากจากการศึกษาเบื้องต้นที่พระราชบิดาทรงกวดขันประสิทธิ์ประสาทให้ การศึกษาในด้านต่างๆ ของพระองค์ทำให้ทรงเป็นประโยชน์ และพยายามจะให้บังเกิดผลตามพระราชดำริที่เกิดขึ้นเพราะการที่ได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และรัชสมัยของพระองค์ก็เป็นการเริ่มยุคใหม่ในด้านความด้าวหน้าของประเทศสยาม”

พระราชกรณียกิจต่อบ้านเมืองทรงมีอย่างมากมายดังปรากฏมีผู้เขียนเรื่องราวพรรณนามาแล้วเนืองๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการศึกษา พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลมาก ทรงเห็นว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าทันเทียมอารยประเทศ ประชาชนพลเมืองจะต้องได้รับการศึกษา อาศัยการศึกษาเป็นกำลังสำคัญ ในขั้นแรกก็ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในต่างประเทศใหญ่ๆ แทบทุกประเทศ และทรงจัดการศึกษาภายในบ้านเมืองโดยสละพระราชทรัพย์อุดหนุน พระองค์ทรงเล็งเห็นสาธารณประโยชน์สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนพระองค์ ดังลายพระหัตถ์ไปถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ภายหลังคือเจ้าพระยาพระเสด็จฯ) เจ้ากระทรวงธรรมการ มีใจความว่าได้ทรงทราบถึงเรื่องการขยับขยายการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าด้วยการขยายโรงเรียนต่างๆ ออกรับนักเรียนให้กว้างขวางขึ้น และเมื่อทรงทราบว่าเงินทุนอุดหนุนยังมิสามารถจะหาที่ไหนได้ ทรงสู้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออก ดังจะเห็นพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เมื่อไม่มีกำลังหนุนก็จะสำเร็จไม่ได้ จึงได้หากำลังเวลานี้ เห็นว่าลูกหญิงเล็กเยาวมาลย์นฤมลกรมขุนสวรรคโลกตายลง ทรัพย์สมบัติมีอยู่ ซึ่งจะจัดออกน้อมไปเพื่อสาธารณประโยชน์ สำหรับแก่ชาติไทยสักประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท จะยอมให้เงินรายนี้ใช้ในการศึกษา เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การเล่าเรียนของชาติ และให้เป็นส่วนข้างสมบัติตั้งอยู่ไม่ใช่จ่ายสูญไป เพื่อจะได้เป็นที่ระลึกถึงผู้ตายให้ญาติพี่น้องเขาได้อนุโมทนา จะเป็นสร้างโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ซีกข้างใต้หรืออย่างไรก็ตาม แต่จะคิดเห็นเป็นประโยชน์ ถ้าจะขาดเงินเพียง ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท คงจะหาเติมได้...”

พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาการกุศลในการสร้างโรงเรียน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีสาธุชนจำนวนไม่น้อย ที่อุทิศเงินเพื่อสาธารณประโยชน์มีการสร้างสถานการศึกษาให้แก่บ้านเมือง

พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกแผ่ทั่วไปทุกแห่งทุกหนทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๑๖ พรรษา นับเป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ นับพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา รวมเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๔๒ ปีเศษ ทรงมีพระโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น ๗๗ พระองค์

ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สมเด็จพระปิยมหาราช” ทรงราชย์นั้น นับได้ว่าเป็นระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประเทศชาติเป็นอย่างมาก ชาวไทยได้รับความร่มเย็นเป็นสุข แม้จะมีเหตุการณ์อันน่าระทึกใจอยู่บ้าง เช่น กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒ ในกรณีกบฏฮ่อ กบฏเงี้ยว แต่พระองค์ก็ทรงขจัดปัดเป่าให้ไทยพ้นจากเรื่องร้ายแรงไปได้ด้วยดี  ฉะนั้น เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ คนไทยทุกคนทุกหนทุกแห่งต้องน้ำตาหลั่งไหลประดุจสูญเสียบิดาผู้มีพระคุณของตนไป

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ นั้นเอง ประเทศไทยได้เกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้า แม้จะเป็นไปตามธรรมชาติของหลักวิทยาศาสตร์ แต่คนในสมัยนั้นถือว่าเป็นอาเพศ คือเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร ปรากฏดาวหางดวงใหญ่ซึ่งมีหัวและหางจดคนละขอบฟ้า ชาวพสกนิกรพากันตระหนกตกใจว่าจะเกิดสงครามใหญ่ หรือมิฉะนั้นบุคคลสำคัญของชาติจะต้องสูญเสียชีวิต แต่หามีผู้ใดตระหนักถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของตนไม่

หนังสือฉบับหนึ่งได้เขียนไว้ว่า
“เมื่อคืนวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เวลาดึกภายในพระบรมมหาราชวังปั่นป่วนที่สุด เมื่อนายแพทย์หลวงได้ถูกติดตามมาโดยด่วนทุกคน ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระประชวรด้วยพระโรควักกะ (ไต) พิการมา ๒-๓ วัน แล้วนั่นเอง

นอกเสียจากนายแพทย์หลวงเหล่านั้นแล้ว พระเลขานุการ ยังได้ลุกไปปลุกบรรทมเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมารจากวังสราญรมย์มาโดยด่วน พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ มเหสี และเจ้าจอมหม่อมห้ามนางในเข้าเฝ้าโดยพร้อมเพรียง แต่เมื่อพระองค์เผชิญพระพักตร์พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์โต ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะเสวยราชย์แทนนั้น พระองค์ไม่อาจมีกระแสรับสั่งได้แล้ว หากแต่มีน้ำพระเนตรคลอ และในที่สุดพระองค์ก็สิ้นพระอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยอาการสงบ เมื่อเวลา ๒๔.๒๕ น.นั่นเอง ในท่ามกลางความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง...”


การสูญเสียองค์พระประมุขของไทยในครั้งนั้น เสมือนหนึ่งเชือดเฉือนเอาดวงใจของประชาชนทั่วไปไม่มีใครจะไม่รู้สึกเศร้าโศกสลด มีผู้เขียนไว้กล่าวถึงไพร่บ้านพลเมืองขณะนั้น ดังนี้

“ขณะที่ขบวนแห่พระบรมศพออกจากพระราชวังดุสิตเมื่อเวลา ๑๙ น.เศษ มาตามถนนราชดำเนินทั้งสามสายนั้น ประชาชนทั้งสองฟากฝั่งถนนมิได้มีเสียงคนพูดจากันเลย นอกจากเสียงสะอึกสะอื้นร่ำไห้อึงคะนึงอยู่ทั่วไป ผสมกับในขณะเชิญพระบรมศพนั้นไฟฟ้าทุกแห่งดับมืดถึงกับต้องจุดเทียนวอมแวม   ในรัตติกาลอันมืดมิด จึงดูวังเวงยิ่ง ซึ่งกล่าวกันว่านับแต่ประเทศไทยตั้งมา ๘๐๐ กว่าปี ไม่เคยมีครั้งใดสมัยใดที่ประชาชนทั้งเมืองจะสวมชุดดำกลืนกับความมืดมายืนร่ำไห้ริมสองฟากถนนที่พระบรมศพแห่ผ่านเสมือนครั้งนี้ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาต่างระลึกกันว่า ได้สูญเสียพระบิดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาไปนั่นเอง”



http://www.sookjaipic.com/images_upload/92547080872787__3619_3634_3617_3634_5.gif
สมเด็จพระปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์


แม้สมเด็จพระปิยมหาราชจะสิ้นพระองค์มานานแล้ว แต่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์
ดังประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นหลัง ยังระลึกถึงความดีของพระองค์
ที่ทรงมีต่อประเทศชาติในอดีต ฉะนั้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม ที่จะถึงนี้เราทุกคนจงน้อมระลึกถึง
การสักการะพระบรมรูปของพระองค์ท่าน ดังที่เคยกระทำมาแล้วทุกปี.

'ตะวันตก'


โปรดติดตามตอนต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2559 11:17:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 23 ตุลาคม 2559 10:43:27 »


๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓
เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๓๐ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๔๑๑ พรรษา ถ้าเทียบปฏิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม คริสต์ศักราช ๑๘๖๘ นับวันนี้เป็นต้นรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ประดิษฐานดำรงกรุงเทพมหานคร เป็นราชธานีแห่งสยามประเทศได้ ๘๗ ปี

พงศาวดารได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช” ไว้โดยละเอียดแล้วทั้งยังชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยทั่วกัน

จึงจักได้มุ่งไปถึงเหตุการณ์ตอนสิ้นรัชกาล ซึ่งพสกนิกรชาวไทยต้องโศกเศร้าเป็นล้นพ้น และเหตุการณ์ในตอนนี้มีผู้จดบันทึก เขียนเอาไว้มากมายดังจะได้รวบรวมมาไว้ดังต่อไปนี้

จกหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงประชวรจนถึงสวรรคต ของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ซึ่ง ประพัฒน์ ตรีณรงค์ ได้นำตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ พระชีวประวัติและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

“เมื่อเสด็จกลับมาสู่พระมหานครแล้ว ดูทรงพระสำราญดีกว่าเมื่อก่อนเสด็จประพาสยุโรป จะมีที่ไม่ปกติเล็กน้อยก็ในเรื่องพระนาภี เพราะพระบังคนหนักไม่สะดวก ต้องทรงใช้พระโอสถระบายอยู่เสมอๆ แต่การประชวรที่เรียกกันว่าถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้นไม่ปรากฏเลยตลอดมา จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๙  (พ.ศ.๒๔๕๓) ในวันนั้นได้ทรงขับรถไฟฟ้าเสด็จออกประพาสทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศที่พญาไท แต่มิได้เสด็จจากรถพระที่นั่ง มีรับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยจะสบายจะรีบกลับ” แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว

วันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชและเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาทีหลังตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการ และตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้าเหมือนเวลาทรงพระสำราญ

วันที่ ๒๐ ตุลาคม
เวลา ๓ โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอเบอร์เตอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวส์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่งแก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ) ว่าให้จัดอาหารเลี้ยงหมอ และจัดที่ให้หมออยู่ประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการหมอไรเตอร์ๆ ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อน ไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่งอย่าเสวยอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมาฟังพระอาการ มาด้วยกันตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ได้บรรทมหลับเป็นปกติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็กอยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่าพระศอแห้งแล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผลหนึ่ง พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัย เรียกหมอทั้งสามคนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่า ที่เสวยน้ำผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่น ในเวลานี้ไม่ค่อยจะดีเพราะกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสวยพระกระยาหาร หรือพระโอสถจึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมด และเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วหมอว่า อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้ และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้ เมื่อหมอกลับลงมาแล้วมีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า ให้ไปตามใครๆ เขามาพูดจากันดูเถิด สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้า ให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรง  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์  ในเวลาย่ำรุ่งวันนี้  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมาทรงเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ฟัง แล้วเจ้านายซักถามหมอ หมอก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไรบรรทมอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เจ้านายพากันเห็นจริงตามหมอไปหมด รวมกันถวายความเห็นว่า ที่หมอรักษากันอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย ๔ พระองค์เสด็จมาแล้ว ได้ซักถามหมอและเห็นด้วยตามที่หมอชี้แจง ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไรต่อไป

เวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านายและหมออยู่นั้น มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคูประมาณ ๑ จานซุป หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี ตั้งแต่นี้ต่อไปก็มีพระอาการซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไรก็ให้รักษากันเถิด” ตามที่รับสั่งเช่นนี้ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริงๆ

ตอนเที่ยงเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่า นับแต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา มีพระบังคนเบาครั้งหนึ่งประมาณ ๑ ช้อนกาแฟสีเหลืองอ่อน สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก  สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านายผลัดเปลี่ยนกันประจำฟังพระอาการอยู่เสมอไป

ตอนบ่ายมีความร้อนในพระองค์ ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔ แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน  ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เจ้านายออกจะสงสัยถามหมอๆ ก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารส ๒-๓ ช้อนเท่านั้น ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้นพระบังคนเบาจึงน้อยไป ไม่เป็นอะไร เมื่อเสวยพระกระยาหารและพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคนเบาก็จะมีเป็นปรกติ แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับยังมีอยู่เสมอ

ตอนเย็นเมื่อเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ยินรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” แล้วก็ไม่ตรัสสั่งอะไรอีก เมื่อเจ้านายและหมอกลับลงมาคราวนี้พากันรู้สึกว่า พระอาการมาก ไมใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียวเป็นทางพระวักกะ (คิดนี) เครื่องกรองพระบังคนเบาเสีย เสียด้วย  มีพระบังคนเบาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ  ตอนนี้หมอและเจ้านายยิ่งแน่ใจทีเดียวว่า เป็นพระวักกะพิการ หมอได้รับประชุมกันประกอบพระโอรสบำรุงพระบังคนเบา แต่ไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระบังคนเบาเลย

ตอนค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย เห็นพระพักตร์แต่ห่างๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้ เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด ได้ยินเสียงหายพระทัยดังและยาวมากบรรทมหลับอยู่ ถ้าจะถวายพระโอสถ พระอาหาร หรือพระสุธารสก็ต้องปลุกพระบรรทม หมอกลับลงมาได้ความว่า การหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้วเห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาน้อยอีกประมาณ ๑ ทุ่มเศษ มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือ และเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ค่ำวันนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง  เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่าพระบังคนเบาคงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้ง เป็นน้ำสีดำๆ หมอฝรั่งหมอไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคนเบาปนอยู่ด้วย  วันนี้เสวยน้ำซุปไก่เป็นพักๆ พักละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง  พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ทรงชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่งหมอไทยไม่คัดค้านอะไร  คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการกลับดึกกว่าคืนก่อนๆ

วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ และหมอฝรั่งสามคนขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาขึ้นไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์

พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านายเสนาบดีว่า พระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย  ข้าพเจ้าจึงให้นายฉันหุ้มแพร (นิตย ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไร  พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่า พระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่อมซึมอยู่นั้น เป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้ว ก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติ พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า “หมอมาหรือ” ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงไปมาก ยังบรรทมหลับเซื่อมซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ (ยศขณะนั้น) และหมอฝรั่งขึ้นไปตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล  สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรค้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน  สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพระยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่า พระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ” แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นนั้นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกรรแสง  พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลยคงบรรทมหลับอยู่ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที (ของวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติมาได้ ๔๐ พรรษา”

ที่คัดมานี้เป็นบันทึกของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” และได้รับยกย่องว่าเป็นบันทึกที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง

การสวรรคตครั้งนี้ยังความเศร้าโศกแก่พสกนิกรเป็นอย่างมาก หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าเหตุการณ์วันสวรรคตไว้ในหนังสือ ปาริชาติ ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ข้าพเจ้าเจ็บเป็นบิดมีไข้อยู่ที่วังประตูสามยอด กำลังนอนหลับสนิทและสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยได้ยินเสียงผู้ชายร้องไห้อย่างเต็มเสียง ข้าพเจ้าตกใจเพราะไม่เคยได้ยินผู้ชายร้องไห้ แล้วก็นึกว่าฝันไป สักครูได้ยินเสียงนั้นอีก และคราวนี้จำได้ว่าเป็นสุรเสียงของเสด็จพ่อ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)  ข้าพเจ้าก็ยิ่งตกใจมากขึ้น จึงหันไปปลุกแม่นมของข้าพเจ้าซึ่งนอนอยู่ข้างๆ ถามเขาว่า “ได้ยินอะไรไหม?” นมแจ๋วลุกขึ้นนั่งแล้วตอบว่า “ได้ยินค่ะ อย่าตกพระทัยไป เสียงทางท้องพระโรงน่ะ!” แล้วเขาก็หันไปมองดูนาฬิกา ข้าพเจ้ามองตามเขาไป จึงเห็นว่าเวลา ๒ น.เศษ  ทันใดนั้นได้ยินเสียงคนขึ้นบันไดมาทางเฉลียงที่เรานอน ข้าพเจ้าลุกขึ้นนั่งก็พอดีเห็นเสด็จพ่อทรงยืนอยู่ทางปลายมุ้ง ตรัสว่า “พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้วลูก!” แล้วก็ทรงกรรแสงโฮใหญ่ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้โฮตามไปด้วย แล้วท่านก็เสด็จกลับไปทางท้องพระโรง ทรงพระดำเนินไปช้าๆ เหมือนคนหมดแรง ข้าพเจ้านั่งตะลึงมองตามไปด้วยไม่รู้ว่าจะทำอะไร!”

และอีกตอนหนึ่งว่า
“เสด็จพ่อทรงสั่งราชการพลางทรงพระกรรแสงพลางอยู่ที่วังตอนเช้าวันอาทิตย์ พวกพี่น้องของข้าพเจ้า เขาก็พากันกลับเข้าวังหมดแทบทุกคน ข้าพเจ้ายังมีไข้ เข้าไปช่วยทำงานในวังไม่ได้ พอเสด็จพ่อทรงเครื่องเต็มยศใหญ่เข้าไปสวนดุสิตแล้วข้าพเจ้าก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส  อากาศมืดครึ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่า นี่แหละคือหมอก ชุมเกตุ ที่ในตำราเขากล่าวว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น  ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวน เสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกลๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้เข้ามาๆ ในความมืดเงียบสงัด ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้พระบรมศพผ่านได้ และที่เงียบสงัดก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่กลองมาแล้ว เคยได้เห็นแห่พระบรมศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัว เมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่า พระบรมศพ! แล้วก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัวเหลียวไปทางอื่นเห็นแต่แสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแวมๆ ไปตลอด ในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้าๆ ปิดหน้าอยู่  เราหมอบลงกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดินก้มหน้าลงกันปืนอยู่ข้างหน้าเราเป็นระยะไปตลอด ๒ ข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะๆ อยู่บนหลังมือของเขาอื่น ทหารผู้อยู่ในยินิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังเสียดายประมุขของประเทศอันเลิศของเขา! เสด็จพ่อตรัสเล่าว่า ได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ในตอนเปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่าภายใน ๗ วันนับแต่วันสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร ฉะนั้น จึงจะต้องเข้าใจว่าแม้แต่โจร ก็ยังเสียใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชของเรา”

แม้มิได้อยู่ในเหตุการณ์วันเสาร์ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เพียงได้อ่านบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น ก็ยังความหม่นหมองในหัวใจได้ บารมีของพระองค์ท่านแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า ภายใน ๗ วัน นับแต่วันสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บรรยายความเศร้าสลดไว้ใน สี่แผ่นดิน ว่า
“ตลอดทางที่พลอยผ่านมีแต่ชาวบ้านร้านตลาดแต่งกายไว้ทุกข์ นุ่งดำเดินมุ่งหน้าไปทางเดียวกันทั้งสิ้น ทุกคนมีใบหน้าอันเศร้าหมอง ส่วนมากถือดอกไม้ธูปเทียนในมือ บางคนเดินร้องไห้ดังๆ บางคนก็เดินเช็ดน้ำตา ทุกคนต่างมุ่งหน้าไปคอยกระบวนพระบรมศพ เพื่อถวายบังคมสักการะในวันนี้

รถม้าที่พลอยนั่งมาแล่นถึงสะพานช้างโรงสี พลอยบอกให้รถหยุดรออยู่ที่นั้น แล้วก็เดินปนกับฝูงคนไปถนนราชดำเนินใน เมื่อพลอยไปถึงนั้นก็มีทหารยืนถือปืนหันปากกระบอกลงดินยืนรายทางอยู่ทั้งสองข้างถนน และตามสองข้างถนนนั้นราษฎรมานั่งคอยถวายบังคมพระบรมศพกันโดยตลอด ทุกคนเงียบกริบ ไม่มีใครส่งเสียงกระโตกกระตาก พลอยค่อยๆ หลีกคนเข้าไป เห็นมีที่ว่างข้างถนนหน่อยหนึ่งก็เข้าไปนั่งเยื้องไปข้างหน้าพอเอื้อมมือถึง มีทหารยืนรายทางอยู่คนหนึ่ง

พลอยนั่งคอยอยู่นาน ฝูงคนที่มาคอยถวายบังคมก็มากขึ้นทุกที อากาศที่ครึ้มอยู่ตลอดวันนั้นกลายเป็นเมฆฝนขนาดหนัก บดบังท้องฟ้าไปมืดมิดไปทั่วราวกับเวลากลางคืนที่มืดสนิท พลอยมองไปข้างหน้าตามขอบฟ้าเห็นฟ้าแลบไกลๆ เป็นระยะๆ และเสียงฟ้าร้องดังครืนอยู่ไกลๆ แต่ดินฟ้าอากาศที่แสดงว่าฝนจะตกนั้น มิได้ทำให้ฝูงชนที่มาคอยถวายบังคมพระบรมศพนั้นท้อถอยไปได้เลย เวลายิ่งล่วงไป ความมืดก็ยิ่งทวีขึ้น พลอยขนลุกเมื่อได้ยินเสียงคนเป็นอันมากร้องไห้โฮดังมาจากถนนราชดำเนินนอกอันเป็นต้นทาง ในที่สุดก็ได้ยินเสียงดนตรี เสียงปี่เสียงกลองจากกระบวนแห่ กระบวนหน้าข้ามสะพานมัฆวาฬเดินมาตามถนนราชดำเนินใน คู่แห่นั้นถือเทียนแวววาวแลดูเป็นทางยาวคู่หนึ่งสุดลูกตา เสียงปี่เสียงกลองชนะดังใกล้เข้ามาอีก หมู่คนที่นั่งอยู่ริมถนนเริ่มจุดดอกไม้ธูปเทียน ที่ต่างถือมาราวกับนัดกันไว้ อีกสักครู่ตามสองข้างถนนก็มีแสงธูปเทียนดารดาษเหมือนดาวในท้องฟ้า นางพิศจุดธูปเทียนส่งมาให้จากข้างหลัง พลอยรับมาถือไว้ ยกสองมือกำแน่น  พระบรมโกศประดิษฐานอยู่บนพระยานมาศสามลำคาน กั้นกางด้วยพระมหาเศวตฉัตร และดูสูงทะมึนข้ามสะพานมาแล้ว ทุกคนเปล่งเสียงดังร้องไห้ด้วยความรู้สึกจากหัวใจ ทุกคนก้มลงกราบถวายบังคม พลอยนั่งใจเต้นระทึก มือที่ถือธูปเทียนอยู่นั้นเริ่มสั่นด้วยความเศร้าสลด

ยิ่งพระบรมโกศถูกเชิญใกล้เข้ามา เสียงคนร้องไห้ก็ดังใกล้ติดตามมาเหมือนกับจะแข่งกับเสียงปี่กลอง พอพระยานมาศเคลื่อนมาอยู่ตรงหน้า พลอยก็ก้มลงกราบถวายบังคมและเมื่อเงยหน้าขึ้น ตาก็พอดีไปจับอยู่ที่ใบหน้าทหารที่ยืนรายทาง ทหารคนนั้นยืนถือปืนกลับปลายกระบอกลงก้มหน้าไม่มีกระดิกตามที่ได้รับคำสั่ง ใบหน้าของทหารคนนั้นเป็นใบหน้าของเด็กหนุ่มชาวบ้านนอกเหมือนกับทหารอื่นๆ ที่เกณฑ์เข้ามา แต่สิ่งที่เข้ามาปลดปล่อยความรู้สึกของพลอยให้ปะทุออกมาทั้งหมดก็คือ บนใบหน้าทหารหนุ่มนั้นมีทางน้ำตาเป็นทางยาวไหลออกมาจากเบ้าตาทั้งสองข้างและน้ำตานั้นไหลอยู่ไม่ขาดสาย พลอยเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมาให้คนอื่นเห็น แต่เมื่อเห็นทหารคนนั้นด้วยแสงเทียนที่ถืออยู่ พลอยก็ปล่อยโฮออกมาอย่างหมดอับอาย

พลอยนั่งอยู่ข้างถนนนั้นอีกนานจนกระบวนแห่หายเข้าประตูวังไปแล้ว พลอยจึงลุกขึ้นเดินกลับช้าๆ ตามองขึ้นดูยอดปราสาทและหลังคาตำหนักในวัง ซึ่งแลเห็นได้เป็นครั้งคราวด้วยสายฟ้าแลบ ชีวิตที่ได้ผ่านมาทั้งหมดดูนานหนักหนา แต่เหตุการณ์วันนี้ก็เหมือนหลักบอกระยะทางแห่งชีวิตว่าได้ผ่านพ้นไประยะหนึ่งแล้ว ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้นดูมืดเหมือนกับความมืดที่กั้นขวางอยู่ข้างหน้า ฟ้าแลบอีกปลาบหนึ่งจนแลเห็นทุกอย่างได้ชัด เสียงฟ้าร้องแสบแก้วหู แล้วฝนห่าใหญ่ก็กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พลอยเดินช้าๆ ต่อไปอย่างไม่รีบร้อน นางพิศก็รู้ใจไม่เร่ง พอถึงรถและขึ้นรถได้พลอยเปียกโชกไปทั้งตัว รถม้านั้นมุ่งหน้ากลับบ้านมีพลอยนั่งมาอย่างทอดอาลัย ไม่เดือดร้อนต่อความเปียกและความหนาวเย็นในขณะนั้น!”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัตินานถึง ๔๐ พรรษา
....."ตะวันตก"

---------------------
* คำว่า"เมื้อ" หมายถึง กลับ...เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์-เสด็จกลับสู่สวรรคาลัย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2559 10:50:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 ตุลาคม 2559 11:14:23 »



ภาพจาก : memocent.chula.ac.th

⊚ แห่พระบรมศพเจ้า จอมจักร
หวนระลึกนึกตระหนัก เนตรแสร้ว
ฉนำฉนำภาพจำหลัก จารึก
สามสิบสี่ปีแล้ว จิรไร้ใจลืม
⊚ รวิวารแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑
เชิญพระศพสมเด็จชนกเจ้า
ปิ่นรัฐขัติยเพ็ชราวุธ
ทรงพระดำเนินเข้า  เคลื่อนคล้อยรอยทาง ฯ
⊚ ย่ำค่ำคำสั่งให้ เดินขบวน
เสียงสุรางค์นางครวญ คร่ำก้อง
แตรปี่มี่รัญจวน ใจสลด
เปิงพรวดพรวดๆ ซร้อง ศัพท์ซ้ำกำศรวญ ฯ
⊚ สามคานยานมาศเรื้อง จำรัส
นพปฎลเสวตฉัตร เชิดกั้ง
พระโกศโรจนรัตน์ ไรแอร่ม
ยังบ่เคยมีครั้ง อื่นให้ใครเห็น ฯ
⊚ ธูปเทียนดอกไม้เนื่องแนวถนน
ยามค่ำชะอ่ำฝน ฟ้ามืด
แลบ่เห็นตัวได้สดับเพี้ยงเสียงครวญ ฯ
⊚ ท้าววรุณเทวราชให้วลาหก มาฤๅ
เพื่อกระทั่งหลั่งอุทก ที่กว้าง
เมฆมิดปิดดารก เดือนลบ
เทียนส่องแซงสองข้าง คู่ริ้วทิวขบวน ฯ
⊚ ยานมาศยาตร์เยื้องท่องแถวถนน
ยังมิถึงครึ่งหน เหือดอ้าว
มารุตดุจดังฝน แสนห่า มาแฮ
ฟ้าแลบแทบทุกก้าว ที่ก้าวยาวทาง ฯ
⊚ เมื่อขบวนจวนเข้าราช ดำเนิน ในนา
ถนัดดั่งฟ้ามาเชิญเสด็จฟ้า
อัมพรอมรเหิร เห็นแวบ
แววประกายพรายกล้าเกลื่อนท้องเวหา ฯ
⊚ ยิ่งใกล้ไฟแลบฟ้า นำฝน
ปราบแปรบแถบนภดลดื่นข้าง
สว่างทั่วปริมณฑล ทุกอึด ใจเอย
ดังทิวามามล้าง มืดมล้าราตรี ฯ
⊚ เมขลาล่อแก้วช่วง ชัชวาลย์
รามสูรขว้างขวาน ไขว่คว้า
รำไรไล่รำบาญ ฤๅเบื่อ
เปรี้ยงแวบสายแลบฟ้า ผ่าฟ้าพาฝน ฯ
⊚ เมขลารามสูรร้าย ราวี
มาช่วยอำนวยกี รณกล้า
โอภาศราชวิถีทางแห่ง
ดังประทีปกลีบฟ้าซึ่งฟ้ามาถวาย ฯ
⊚ อจิรประภาอากาศก้องก่องจรัส
ฉายพระโกษฐ์เสวตร์ฉัตร เชิดถ้ำ
อึดใจไป่เว้นอัส นีส่อง
ช่วงโชติโรจนล้ำ เลิศพ้นคนทำ ฯ
⊚ ถั่นถึงทวารเวศม์เจ้า จอมปราณ
ยานมาศราชศวาธาร เทิดเงื้อม
สายฟ้าประภาการ ปรากฏ
ดั่งพระอาทิตย์เอื้อม อร่ามทั้งวังหลวง ฯ
⊚ เสร็จเชิญพระศพไท้ เถลิงอาศน์
ดุสิตมหาปราสาทสุดเศร้า
จึ่งพระพิรุณสาดฝนส่ง
ทึกท่วมถึงข้อเท้า ท่องน้ำดำเนิน ฯ
⊚ ฝนดั่งฝนสั่งฟ้า ส่งรัชกาลที่ห้า
เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ ฯ

พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้นามแฝง "น.ม.ส."
ในการประพันธ์โคลงดังกล่าวข้างต้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2559 11:17:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:20:03 »


ตุลาคม เดือนแห่ง “ปริวิโยค”
เปิดคำให้การ
“นางร้องไห้” ในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕



เครื่องกงเต๊กในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ ๗ วัน
(ภาพจาก L'Instantane๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๑๑)

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ตุลาคมปีนั้น นับเป็นเดือนแห่งความทุกข์โศกของชาวสยามทั้งปวง เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม นำความ “ปริวิโยค” ใหญ่หลวงมาสู่คนไทยและผู้อยู่ใต้ร่มพระบารมี

ในงานพระบรมศพครั้งนั้น ยังมี “นางร้องไห้” เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ ๖

หม่อมศรีพรหมา หรือ เจ้าศรีพรหมา ธิดาพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (เจ้าสุริยะ ณ น่าน) ผู้ครองนครน่าน ชายาหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเป็นนางกำนัล รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้รับหมายให้เป็นนางร้องไห้ในงานพระบรมศพ ได้เขียนเล่าถึงเรื่องราวและความรู้สึกในห้วงเวลานั้นอย่างละเอียดไว้



หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา

ข้อความส่วนหนึ่ง มีดังนี้

“………..ต่อมาผู้เขียนได้รับหมายให้ไปเป็นนางร้องไห้ ให้ไปตั้งแต่ ๘ โมงเช้าวันนั้น (๒๓ ตุลาคม) โดยแต่งชุดขาวทั้งชุด ท่านผู้สำเร็จราชการของสมเด็จ (คุณท้าวปั้ม) ท่านก็จัดไปตามหมาย เมื่อผู้เขียนออกจากพระตำหนัก จะเข้าไปเป็นนางร้องไห้ในวังหลวง สมเด็จก็ยังไม่คืนพระสติ ภายหลังทราบจากเพื่อนๆ ที่ไมได้เข้าไปเป็นนางร้องไห้ว่า พอรู้สึกพระองค์ ก็ทรงพระกรรแสงจนหมดพระสติไปอีกหลายครั้งหลายคราว

ผู้เขียนได้ไปนั่งร้องไห้อยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การร้องไห้นั้น แท้ที่จริงเป็นการร้องเพลงอย่างเศร้าที่สุด เกิดมาผู้เขียนก็เพิ่งเคยได้ยิน ขณะนั้นผู้เขียนอายุในราว ๑๙-๒๐ และรู้สึกว่าเพลงร้องไห้นี้ช่างเศร้าเสียนี่กระไร ทุกคนน้ำตาไหลรินจริงและสะอื้นจริงๆ ยิ่งมีเสียงปี่ที่โหยหวน และเสียงกลองชนะ (เปิงพรวด) เลยยิ่งไปกันใหญ่

นางร้องไห้มีผลัดกันหลายผลัด แต่ละผลัดแบ่งเป็นยามๆ คือ ยามรุ่ง ยามเที่ยง ยามค่ำ และสองยาม เมื่อได้เวลาผลัดใครผู้นั้นๆ ก็ไปรวมกันที่พระที่นั่งดุสิตฯ แต่ละผลัดของนางร้องไห้ จะมีทั้งหมด ๑๔ คน  แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ ต้นเสียง ๖ คน นอกนั้นเป็นลูกคู่ พวกต้นเสียงนั้น โดยมากเป็นคนประจำของวงดนตรีของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ส่วนลูกคู่ ๘ คนก็จัดเอาพวกเจ้าจอมที่ยังสาวอยู่ไปรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย

การจะตั้งต้นร้องไห้นั้น ต้องคอยฟังเสียงประโคมก่อน แล้วจึงจะร้องบทเพลงพิเศษโดยร้องกันไปรับกันไป จนเสียงประโคมหยุด เป็นอันหมดพิธีของผลัดนั้น แต่หากผลัดใดประจวบกับวันทำบุญใหญ่ทุกๆ ๗ วัน นางร้องไห้จะต้องร้องแทรกระหว่างยามค่ำกับสองยามอีกวาระหนึ่ง

วันทำบุญใหม่จะมีเจ้านาย ขุนนาง และชาวต่างประเทศมาร่วมเป็นจำนวนมาก นางร้องไห้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดีเป็นพิเศษ และต้องทำงานหนักกว่าวันธรรมดาหน่อย ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปเป็นเวลาร่วมปีจนถวายพระเพลิง”



เครื่องกงเต๊กในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ ๗ วัน
(ภาพจาก L’Instantane ๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๑๑


บทนางร้องไห้

ต้นเสียงร้องพร้อมกัน  
“โอ้พระร่มโพธิ์ทองพระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย

ลูกคู่รับ
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ต้นเสียง                
“โอ้พระร่มโพธิ์ทอง พระเสด็จสู่สวรรคตชั้นใด”
“ละข้าพุทธบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย”
“พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย”

ลูกคู่รับ                      
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ต้นเสียง              
“โอ้พระร่มโพธิ์ทอง พระเสด็จสู่สารทิศใด”
“ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย”
“พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย”

ลูกคู่รับ
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ตุลาคม 2559 14:28:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:32:59 »


“นายจ่ายวด”
มหาดเล็กอยู่งาน “ปลายพระแท่นบรรทม” วันสวรรคตรัชกาลที่ ๕



ริ้วกระบวนพระบรมศพหน้ามณฑลพิธี ในงานพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๕
ภาพจากวารสาร Collier's, Nov.๑๙๑๐

๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ข้อความต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของคำบอกเล่า โดย นายจ่ายวด (นพ ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นมหาดเล็กอยู่งานปลายพระแท่นบรรทมในช่วงวันใกล้วันสวรรคต จนถึงนาทีสุดท้าย


“วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง ๓ คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที

พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่่นต่อเจ้านาย เสนาบดี ว่าพระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาแต่เช้าได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่าควรให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้นายฉัน หุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที

พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหล แต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมา ยืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นอะไร เชื่อว่ามีบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่นั้นเป็นตัวฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติดี

พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ตรัสว่า ‘หมอมาหรือ’ ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมา ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ

เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน

สมเด็จพระราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้งพระองค์เจ้าสาย ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ”

แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์

การหายพระทัยค่อยๆเบาลงทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้าโศกอาลัย ทรงกันแสงคร่ำครวญสอึกสอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั่นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องมิได้หยุดหย่อยเลย

ในที่พระบรรทมและตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงมเซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมดล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาดูรเป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ่นสุดได้”


ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:41:50 »



ภาพประกอบข่าววันสวรรคตรัชกาลที่ ๕ จากหนังสือพิมพ์ L'ILLUSTRATION
วันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๑๐ ซึ่งเป็นภาพพระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ใน ค.ศ.๑๙๐๗

พระบรมฉายาลักษณ์ “สุดท้าย” ร.๕
พร้อมลำดับพระอาการก่อนสวรรคตไม่ถึงสัปดาห์

๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ เป็นวันแห่งความวิปโยคของชาวสยามทั้งแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต โดยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง ๔๒ ปี

ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระ และนักเขียนชื่อดังได้เรียบเรียงลำดับพระอาการ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ทรงมีพระอาการประชวรว่า ภายหลังทรงขับรถไฟฟ้าออกไปประพาสฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ทุ่งพญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง รับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ”

ต่อมา ระหว่าง ๑๗-๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องจากพระนาภี (ท้อง) ยังไม่ปกติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมฯ เสด็จแทน

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พระอาการกำเริบหนักขึ้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้ตามหมอฝรั่ง มีนายแพทย์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ไรเตอร์ และนายแพทย์ปัวซ์ เข้ามารักษา และอยู่เฝ้าอาการประจำ

วันที่ ๒๑ ตุลาคม เวลาย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่าพระศอแห้ง แล้วเสวยพระสาธุรสเย็น รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำเงาะคั้น ๑ ลูก พอเสวยได้ครู่เดียวก็ทรงพระอาเจียนออกมาหมด ในวันนี้ทรงพระราชดำรัสเพียง ๒ ประโยคว่า

“การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษาเถิด” และ “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว”

ตอนค่ำวันนี้มีพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ประมาณ ๑ ช้อนชา และเป็น “ครั้งสุดท้าย”

วันที่ ๒๒ ตุลาคม พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ ทำให้มีพระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ

วันนี้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์แผนไทย มาเข้าเฝ้าเพื่อตรวจพระอาการ ทรงพระราชดำรัสเป็น “ครั้งสุดท้าย” ว่า “หมอมาหรือ” แล้วก็มิได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

เย็นวันนี้พระหทัยเต้นอ่อนลง ลืมพระเนตรได้ แต่หายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล

สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่า เสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์ได้ แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกันแสง แบบน้อยพระทัยพระองค์เองว่าทำไมหมดเรี่ยวแรง

หลัง ๒ ยามเพียง ๔๕  นาทีก็เสด็จสวรรคตในลักษณะที่ยังบรรทมหลับอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ บนชั้นที่ ๓ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริรวมพระชนมพรรษา ๕๗พรรษา



พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งทรงฉายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสวรรคตไม่ถึงสัปดาห์
หลังประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการมา ๕ ปี

ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 15:05:20 »



ท้องสนามหลวง เพิ่งเริ่มปลูกต้นมะขามสมัย ร.๕

ร.๕ โปรดให้ปลูกต้นมะขาม รอบท้องสนามหลวง

ท้องสนามหลวงกว้างขวางกว่าเดิม แล้วปลูกต้นมะขามโดยรอบ มีขึ้นสมัย ร.๕ ต่อจากนั้นพัฒนาสืบมาอย่างต่อเนื่อง จะสรุปจากงานศึกษาค้นคว้าของ เทพชู ทับทอง มาดังต่อไปนี้

ร.๕ โปรดให้รื้อกำแพงป้อมปราการที่ไม่สำคัญของวังหน้าทางด้านทิศตะวันออก คงไว้แต่ที่สำคัญๆ กับรื้อสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มีมาแต่รัชกาลก่อนๆ ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว

โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา

เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๒๕ (จุลศักราช ๑๒๔๔) สมัย ร.๕ ก็ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่ มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเท้า ส่วนรอบท้องสนามหลวงก็ปลูกโรงไทยทานสำหรับเลี้ยงพระเลี้ยงไพร่ตลอดงาน

นอกจากนั้นยังจัดให้มี “นาเชนนัล เอกซฮิบิเชน” การแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง ๓ เดือนอีกด้วย

หลังจากที่ ร.๕ เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) ก็ได้มีพวกข้าราชการ ฯลฯ มาเฝ้ารับเสด็จบริเวณท้องสนามหลวงหลายครั้ง

พ.ศ.๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) ร.๕ มีพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ทรงจัดให้มีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาที่ท้องสนามหลวงด้วยส่วนหนึ่ง โดยพระองค์และมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลาให้ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าเฝ้าถวายพระพรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน




ท้องสนามหลวงสมัย ร.๕ ยังไม่ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง
(ภาพกองทหารสวนสนามน่าจะถ่ายราว พ.ศ.๒๔๓๖ จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๓๖
เปิดเผยแสนยานุภาพของกองทัพสยามในกรณี ร.ศ.๑๑๒)
(คำอธิบายภาพ โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

งานสนุกๆ ที่ท้องสนามหลวง

งานใหญ่ๆ ที่สนุกสนานมากซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวงใน ร.๕ ยังมีอีก ๒ งาน คือ

เล่นโขนกลางแปลงรับเสด็จ ร.๕ กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ดัดแปลงท้องสนามหลวงให้เป็นบ้านเมืองและเป็นป่า

งานสงครามบุปผาชาติแต่งแฟนซี และตกแต่งรถจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขี่ขว้างปากันด้วยกระดาษลูกปาและกระดาษสายรุ้ง ซึ่ง ร.๕ ทรงจัดรับเสด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ประเทศรัสเซีย เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราวเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒

ปลายสมัย ร.๕ กีฬาว่าวท้องสนามหลวงเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่เจ้านายและข้าราชการตลอดจนพ่อค้าประชาชน ถึงขนาดมีการแข่งขันชิงถ้วยทองคำพระราชทาน สนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟ

สืบเนื่องจาก ร.๕ เสด็จกลับจากประพาสยุโรป ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมต่างก็พร้อมใจกันจัดให้มีงานฉลองน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีต่างๆ

ส่วนการเล่นกอล์ฟนั้น ก็เริ่มต้นที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีสนามขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันเพียง ๓ สนามเท่านั้น คือสนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์เล่าว่าพวกข้าราชการที่เป็นชาวต่างประเทศที่ชอบเล่นกอล์ฟ ได้อาศัยสนามทั้ง ๓ นี้รวมกันทำเป็นสนามกอล์ฟเล่นได้ ๙ หลุมพอดี


สุจิตต์ วงษ์เทศ - มติชนออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.702 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 17:46:02