[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 17:16:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: #องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม  (อ่าน 2711 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 ตุลาคม 2559 16:16:25 »




สลากกินแบ่ง

สลากกินแบ่ง มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า สลากที่จัดให้มีเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งเป็นหลายรางวัลแก่ผู้เล่น ซึ่งถือสลากเลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนด มีชื่อเรียกอื่นว่า ลอตเตอรี่ หวย หรือหวยเบอร์

หลักฐานการใช้คำว่า “สลากกินแบ่ง” เป็นครั้งแรกปรากฏในหนังสือของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๕๒/๒๙๒๔ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งแต่เดิมเรียกทับศัพท์ว่า ลอตเตอรี่ หมายถึง การเสี่ยงโชค เป็นลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรป คือ เสี่ยงโชคด้วยตัวเลข การออกลอตเตอรี่ครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ผู้เขียนมีคำตอบจากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตย สถาน เล่ม ๒๗ ดังนี้...

สลากกินแบ่งหรือลอตเตอรี่ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากนายทหารมหาดเล็กคนหนึ่งมีดำริที่จะช่วยเหลือชาวต่างประเทศที่นำสิ่งของมาร่วมในงานแสดงพิพิธภัณฑ์

ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สามารถขายของได้บ้าง จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการออกสลากกินแบ่งโดยใช้ของที่นำมาจัดแสดงเป็นของรางวัลตามมูลค่าของเงินรางวัลที่จะได้รับ แต่ถ้าต้องการรับเป็นเงิน จะต้องถูกลดเงินรางวัลลงร้อยละ ๑๐

การออกรางวัลครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นครั้งเดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสลากกินแบ่งชุดแรกนี้พิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน ๒๐,๐๐๐ ฉบับ ขายราคาฉบับละ ๑ ตำลึง หรือ ๔ บาท

ผลการออกรางวัลมีเฉพาะรางวัลที่ ๑-๓ คือ รางวัลที่ ๑ เลขที่ออก ๑๖๗๒ เงินรางวัล ๑๐๐ ชั่ง หรือ ๘,๐๐๐ บาท รางวัลที่ ๒ เลขที่ออก ๑๔๒๕ เงินรางวัล ๕๐ ชั่ง หรือ ๔,๐๐๐ บาท และรางวัลที่ ๓ เลขที่ออก ๓๖๖๒ เงินรางวัล ๒๕ ชั่ง หรือ ๒,๐๐๐ บาท.


อารี พลดี/เรียบเรียง
#องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม






ศตวรรษธงไตรรงค์

ไปรษณีย์ไทยร่วมกับพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยจัดทำ iStamp ชุดพิเศษ "ร้อยปีธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ" เนื่องในโอกาสก้าวสู่ ๑๐๐ ปี การประกาศใช้ "ธงไตรรงค์" เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐

เป็นภาพวิวัฒนาการของธงชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นภาพธงแดงประกอบรูปจักรขาว ต่อมาได้เพิ่มรูปช้างเผือก และเปลี่ยนมาเป็นธงช้างเผือก และธงช้างเผือกยืนบนแท่นตามลำดับ ก่อนจะปรับเป็นธงแดงขาว ๕ ริ้ว

กระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางเป็นสีน้ำเงิน จนได้ชื่อว่า "ธงไตรรงค์" หรือ ธงสามสี อันหมายถึงสามสถาบันหลักของประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นธงชาติไทยและใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สนใจหาซื้อได้ ที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยในราคาชุดละ ๕๐๐ บาท พร้อมลายเซ็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย แถมฟรี! สายรัดข้อมือฉลอง ๑๐๐ ปีธงชาติไทย สอบถามโทร.08-4623-3223


แสตมป์ที่ฉันรัก/ข่าวสดออนไลน์



การ์ตูนไทยเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไร แล้วใครเป็นคนเขียน?

หากไม่นับการเขียนภาพฝาผนังลักษณะเหมือนจริงแบบตะวันตกของจิตรกร “ขรัวอินโข่ง” ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ประวัติศาสตร์การ์ตูนสยามก็น่าจะนับว่า ตั้งต้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ (พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปล cartoon เป็นคำไทยว่า ภาพล้อ)

โดยมี “ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต” (เปล่ง ไตรปิ่น) ได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

มีบันทึกว่า สมัยที่ท่านติดตามราชทูตไปอังกฤษ เคยเป็นเด็กรับใช้ครูศิลปะ มีหน้าที่ล้างพู่กันและถือกระป๋องสี อาศัยครูพักลักจำวิชาวาดรูป ก่อนเริ่มศึกษาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา ครั้นเก่งกล้าจึงออกเดินทางแสวงโชคในหลายประเทศ และยังชีพด้วยการเขียนรูปเรื่อยมา

เมื่อกลับคืนแผ่นดินสยามก็มีงานวาดการ์ตูนล้อนักการเมืองลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ไทยหนุ่ม บางกอกไทม์ ฯลฯ

ฝีมืออันโดดเด่นของท่านทำให้ได้รับพระราชทานรางวัลการประกวดวาดภาพล้อจากรัชกาลที่ ๖ ด้วย

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี
ฉบับที่ ๓๗๖ มิถุนายน ๒๕๕๙





คำไม่จริง

คำโกหกของใครบางคนถูกอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาน้ำใจ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ขึ้นชื่อว่า โกหก แล้ว ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังบทนิยามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ว่า โกหก คือ จงใจกล่าวคำที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ

นอกจากคำ โกหก แล้ว พจนานุกรมฯ ยังอธิบายคำที่เกี่ยวข้องไว้อีก ๒ คำ คือ โกหกพกลม และ โกหกโกไหว้ ทั้ง ๒ คำนี้เป็นภาษาปาก และมีความหมายใกล้เคียงกัน

โดย โกหกพกลม หมายถึง พูดไม่จริง, เหลวไหล ส่วน โกหกโกไหว้ หมายถึง พูดหลอกไปวันๆ

หนังสือรู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๗ ฉบับราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า การโกหกมีหลายลักษณะและหลายระดับ สำนวนที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ โกหกหน้าตาย และ โกหกพกลม

สำนวน โกหกหน้าตาย หมายถึง พูดคำเท็จโดยไม่เห็นพิรุธในสีหน้าและแววตา ทั้งๆ ที่ผู้อื่นรู้ดีว่าความจริงเป็นเช่นไร เช่น ในประโยคที่ว่า เรามีหลักฐานทั้งภาพและเสียงว่าเขายุให้ ๒ ฝ่ายตีกัน ยังมา โกหกหน้าตาย อีกว่าพยายามเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๒ ฝ่ายนั้น

ส่วน โกหกพกลม หมายถึง โกหกแบบหาความจริงไม่ได้แม้แต่น้อย อุปมาเหมือนกับพูดแล้วมีแต่ลมคือความว่างเปล่า หาความจริงใดๆ ไม่ได้ สำนวน โกหกพกลม พบในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนสู่ขอนางศรีมาลาให้พลายงาม

โดยเนื้อเรื่องในตอนนี้เป็นตอนที่นางบุษบา มารดาของนางศรีมาลากังวลว่า พลายงามต้องไปราชการไกล เกรงจะไปรักกับลูกเจ้านายอื่น พลายงามก็ให้สัญญาว่าจะรักมั่นคงอยู่กับนางศรีมาลา โดยที่ขุนแผนก็รับรองคำสัญญาของพลายงามด้วยว่า


”ขุนแผนพ่อพูดต่อเจ้าพลายงาม ความที่มันสัญญาน่าจะสม
เห็นจะไม่ โกหกพกลม แต่นานนมหนักไปก็ไม่ดี
ลูกคิดว่าถ้าหมั้นต่อกันไว้ถึงห่างไกลก็พะวงตรงที่นี่
เหมือนตัวไปใจอยู่ด้วยคู่มี อย่างนี้เป็นทำนองที่ป้องกัน”




ปั้นน้ำเป็นตัว

สำนวนว่าด้วยเรื่องการโกหก นอกจากให้นิยามของการโกหกแบบต่างๆ เป็นวิทยาทานให้เราได้เรียนรู้และระมัดระวังแล้ว ยังแฝงความหมายและให้ข้อคิดเตือนใจ ไม่ให้พูดปดอยู่ในทีด้วย

สำนวนเกี่ยวกับการพูดโกหกสำนวนหนึ่งที่หลายท่านคงคุ้นหูกันดีคือ สำนวน ปั้นน้ำเป็นตัว

หนังสือรู้รักภาษาไทย เล่ม ๖ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าหมายถึง แต่งเรื่องหรือสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ เช่น เขา ปั้นน้ำเป็นตัว ให้ข่าวจนเธอเสียหาย กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่จริงเธอก็หมดอนาคตเสียแล้ว

สำนวนนี้บางครั้งมีผู้นำไปใช้เรียกอาชีพการทำน้ำให้เป็นน้ำแข็งก้อน หรือเรียกการทำนาเกลือว่าปั้นน้ำเป็นตัวซึ่งมักเป็นไปในทางเย้าแหย่ ดังที่ปรากฏในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ว่า


“ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชลาไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ”

อย่างไรก็ตาม สำนวน ปั้นน้ำเป็นตัว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะมีจุดประสงค์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเดือดร้อนเสมอ ดังตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่อง มณีพิชัย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

โดยเหตุการณ์ในตอนที่ยกมานี้ กล่าวถึงท้าวพิชัยนุราช พระบิดาของพระมณีพิชัยรู้ความจริงว่า นางยอพระกลิ่นถูกนางจันทรเทวีใส่ร้ายว่ากินแมว จึงบริภาษนางจันทรเทวีว่า


“น้อยหรืออีเฒ่าเจ้าความคิด ทุจริตอิจฉาขายหน้าผัว
เสกสรรปั้นน้ำเป็นตัว เอออะไรไม่กลัวเขานินทา”

เมื่อการโกหกไม่เคยให้คุณแก่ใครแล้ว ก็หวังเพียงให้ผู้อ่านทุกท่านเลือกพูดแต่ความจริง พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่โกหกหลอกลวงกันไม่ว่ากับใครก็ตาม.

อารยา ถิรมงคลจิต/เรียบเรียง - นสพ.เดลินิวส์




เฒ่าแก่-เถ้าแก่

ประเพณีการแต่งงานของไทยที่แม้จะมีการตัดทอนพิธีการต่างๆ ให้กระชับและสะดวกขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ในขั้นตอนการสู่ขอนั้นพบว่ายังคงนิยมให้มีผู้หลักผู้ใหญ่มาเป็นประธานในการหมั้นและงานแต่งงานเสมอ โดยเรียกผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่นี้ว่า เฒ่าแก่

เฒ่าแก่ นอกจากจะหมายถึง สตรีสูงอายุที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ตั้งไว้ในตําแหน่งข้าราชการ มีหน้าที่ดูแลสตรีฝ่ายในในพระราชสำนักแล้ว เฒ่าแก่ยังหมายถึง ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้นด้วย

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เฒ่าแก่ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
๑.เฒ่าแก่ทาบทาม เมื่อฝ่ายชายต้องเนื้อพึงใจหญิงคนใด ก็มักจะจัดผู้หลักผู้ใหญ่ให้เป็นผู้แทนไปสู่ขอหญิงนั้น โดยวานให้ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปพูดจาดูลาดเลาว่า จะยินดียอมยกลูกสาวให้หรือไม่ หากพึงพอใจไม่มีข้อรังเกียจใดๆ ฝ่ายชายก็จะต้องให้ผู้ใหญ่สูงอายุหรือผู้ที่มีคนนับหน้าถือตาให้ไปเป็นเฒ่าแก่ทาบทามพูดจาสู่ขอฝ่ายหญิง และตกลงเป็นหลักฐานเป็นทางการ

๒.เฒ่าแก่ขันหมากหมั้น เมื่อได้เวลาฤกษ์ ฝ่ายชายต้องจัดเฒ่าแก่ขันหมากหมั้น ซึ่งเป็นคู่สามีภริยาหรือสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งก็ได้ เป็นผู้นำของหมั้นไปมอบให้แก่เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าเฒ่าแก่ของทั้ง ๒ ฝ่าย ทำหน้าที่รู้เห็นเป็นพยานในการหมั้นนั้น เพราะหากมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในภายหลังจะได้มีเฒ่าแก่ของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นผู้รู้เห็นเป็นหลักฐาน

๓.เฒ่าแก่ขันหมากแต่ง คู่สามีภริยาที่ทางฝ่ายชายให้เป็นผู้นำขันหมากแต่งพร้อมกระบวนแห่ตามฐานะไปยังบ้านเจ้าสาว

นอกจากนี้ คำว่า เฒ่าแก่ บางครั้งก็สะกดว่า เถ้าแก่ ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่าเป็นคำที่มาจากภาษาจีนว่า เถ่าแก่

เถ้าแก่มี ๒ ความหมาย คือ เถ้าแก่ ที่หมายถึงผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้น และเถ้าแก่ ที่หมายถึงคำเรียกชายจีนที่เป็นผู้ใหญ่และมีฐานะดี หรือคำเรียกชายจีนที่เป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า เถ้าแก่เนี้ย ที่ใช้เป็นคำเรียกหญิงจีนที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นภรรยาของเถ้าแก่


กนกวรรณ ทองตะโก/เรียบเรียง - นสพ.เดลินิวส์





ทะเบียนบ้าน

ในสมัยก่อน เราเรียกทะเบียนบ้านว่า ทะเบียนสำมะโนครัว หรือสำมะโนครัว คำว่า สำมะโนครัว หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจํานวนราษฎรในแต่ละครัวเรือน

นอกจากนี้ ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังได้อธิบายความหมายของคำว่า สำมะโนครัว ไว้โดยละเอียดว่า สำมะโนครัวเป็นคำที่ได้นำมาใช้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติสำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชบัญญัติกำหนดหลักการไว้ ๓ ข้อคือ...

๑) ให้จัดทำบัญชีสำมะโนครัว ๒) ให้จัดทำบัญชีคนเกิดและคนตาย และ ๓) ให้จัดทำบัญชีคนเข้าและคนออก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีสำมะโนครัวขึ้น เพื่อสำรวจจำนวนคนในเขตท้องที่ต่างๆ และจัดทำบัญชีในรูปของทะเบียนสำมะโนครัวแสดงรายการชื่อคน ชื่อสกุล ความเกี่ยวพันกันระหว่างครอบครัวว่าเป็นพ่อ แม่ บุตร หลาน อายุ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ เชื้อชาติ ที่เกิดและภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยไว้เป็นหลักฐาน

โดยผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่จัดทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตน และคอยแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องเสมอ ส่วนกำนันมีหน้าที่รักษาบัญชีสำมะโนครัวและทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้นให้ถูกต้องตรงกับบัญชีผู้ใหญ่บ้าน

กระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ให้สำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎรทั่วราชอาณาจักร โดยเป็นการสำรวจเพื่อตรวจสอบบุคคลในทุก ๆ บ้านที่มีอยู่ทุกเขตพื้นที่เพื่อให้ปรากฏตัวคนที่อยู่จริงในแต่ละบ้าน

โดยนำทะเบียนสำมะโนครัวออกตรวจสอบร่วมกับสมุดคู่มือกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อการสำรวจตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้จัดทำทะเบียนบ้านของแต่ละบ้านขึ้น โดยคัดลอกรายการคนที่อยู่ในบ้านจากแบบสำรวจตรวจสอบ หรือทะเบียนสำมะโนครัวที่จัดทำไว้ก่อนนั้น

และนับจากวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นต้นมา การจัดทำทะเบียนสำมะโนครัวเป็นอันยกเลิก และเริ่มมีการจัดทำหลักฐานทะเบียนบ้านขึ้นใช้แทนจนถึงปัจจุบันนี้





ปาสตุรสภา
กำเนิดสถานเสาวภา

ปาสตุรสภา เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบวิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในอดีตคนที่โดนสุนัขกัดจะมีความเสี่ยงมากที่อาจเสียชีวิตได้ หากสุนัขที่กัดนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคโรคพิษสุนัขบ้า

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า ในประเทศไทย ปาสตุรสภาก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีดำริที่ต้องการให้จัดตั้งสถานที่ทำการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โรคกลัวน้ำ ขึ้น เนื่องจากหม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดา ได้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมือง เป็นที่ผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยย้ายงานทำพันธุ์หนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือที่เราเรียกว่าโรคฝีดาษจากนครปฐมเข้ามารวมกัน และเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ ใช้ชื่อว่า ปาสตุรสภา และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น สถานปาสเตอร์

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินตรงบริเวณหัวมุมสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) เชื่อมต่อกับถนนไปหัวลำโพง หรือถนนพระรามที่ ๔ ในปัจจุบัน และเงินทุนสำหรับสร้างตึกที่ทำการหลังใหญ่ พระราชทานนามว่า สถานเสาวภา

โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นอนุสรณ์สถานเชิดชูพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราช (พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว

และเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิด อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการของสถาน ปาสเตอร์ทั้งหมดจึงได้ย้ายมาดำเนินการที่สถานเสาวภา




ภูษามาลา

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่า ภูษามาลา หมายถึง ข้าราชการในราชสำนัก มีหน้าที่รักษาเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องแต่งพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนถวายทรงพระเครื่องใหญ่ ถวายพระกลด ถวายสุกำ ทำสุกำ เปลื้องเครื่องสุกำศพพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกำศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น

เรียกกันว่า เจ้าพนักงานภูษามาลา ในสมัยโบราณ พนักงานภูษามาลายังมีหน้าที่ถวายเครื่องต้นด้วย และในกฎหมายตราสามดวงเรียกแยกเป็น พนักงานพระภูษา และ พนักงานพระมาลา

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า พนักงานภูษามาลา มีมาแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงตราบทพระอัยการนาพลเรือน กำหนดศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ ขึ้นนั้น ได้กำหนดศักดิ์เจ้ากรมปลัดทูลฉลองและพนักงานพระภูษามาลาไว้ด้วย

หน่วยงานที่พนักงานภูษามาลาสังกัดในสมัยโบราณเรียกว่า กรมมาลาภูษา ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อกรมว่า กรมภูษามาลา ส่วนเจ้ากรมภูษามาลา หรือหัวหน้าพนักงานภูษามาลานั้น ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ มีราชทินนามว่า อุไทยธรรม ในสมัยต่อมามีศักดิ์เป็นพระยาก็มี แต่ก็ยังคงราชทินนามเดิมกันเรื่อยมา

กรมภูษามาลามีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงได้ยุบกรมภูษามาลาลงเป็นแผนก เรียกว่า แผนกราชูปโภค แต่คงปฏิบัติหน้าที่ในงานของกรมภูษามาลาเดิม และผนวกงานพระแสงต้นรวมเข้าไว้ด้วย





วัดสำคัญในราชธานี

การสร้างวัดหรือบูรณะวัดอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเพื่อถวายเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาล เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคล รวมถึงการสร้างและบูรณะวัดด้วยเหตุที่ว่า ต้องการให้มีตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ดังที่ในพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้เรียบเรียง และสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ ได้อธิบายไว้ว่า...

ธรรมเนียมประเพณีโบราณนั้น ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐาน เหมือนเช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยาในอดีต

จากราชประเพณีดังกล่าว ทำให้ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดสลัก เป็นวัดนิพพานาราม และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์

และในเวลาต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ จึงให้เปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็น วัดมหาธาตุ

วัดราชบุรณะซึ่งถือว่าเป็น ๑ ใน ๓ ของวัดสำคัญที่ต้องมีในราชธานี นั้น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ซึ่งต่อมาได้ให้นามว่า วัดราชบุรณะ ทำให้ยังคงขาดแต่วัดราชประดิษฐ์เท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และทรงอุทิศถวายแด่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

อนึ่ง ได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต วัดทรงประดิษฐ์ ไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดราชประดิษฐ์” หรือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” วัดนี้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔.



ผาติกรรม

การทําให้เจริญขึ้นนั้น ในบางครั้งอาจเกิดจากการเสื่อมหรือร้างมาก่อน ดังเช่นการทำผาติกรรมในทางพระพุทธศาสนาที่พบว่า วัดหลายแห่งเคยถูกรื้อเอาอิฐ หรือแม้กระทั่งเอาที่ของวัดที่ร้างไปทำอย่างอื่น โดยผู้กระทำจะต้องทำผาติกรรมด้วยในภายหลัง

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายความหมายคำ ผาติกรรม ไว้ว่า หมายถึง การทําให้เจริญ, ใช้ในวินัยว่า การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทําของสงฆ์ชํารุดไปบ้าง, รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทําให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่นเอาที่วัดไปทําอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้

ดังเช่นเมื่อคราวสร้างพระนครซึ่งเริ่ม ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ที่สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ มีการสร้างกำแพงป้องกันพระนครกันอย่างเร่งรีบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการหาอิฐจำนวนมากมาใช้ในการสร้างกำแพง

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตไปรื้อเอาอิฐจากวัดชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยา แต่ได้ร้างไปก่อนสร้างกรุงเทพฯ เหลือซากสิ่งก่อสร้างอยู่หลายอย่างมาก่อสร้างกำแพงพระนคร

หลังจากนั้นเมื่อก่อสร้างกำแพงพระนครและพระราชมณเฑียรเสร็จลง รัชกาลที่ ๑ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปบูรณะวัดชัยพฤกษ์ร้างนั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลและเป็นการทำผาติกรรมด้วย

โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าไม้ อิฐ ปูน ไปสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และกุฎีสงฆ์สำหรับจำพรรษา และรับวัดชัยพฤกษ์แห่งนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ โดยเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินบ้าง ประทานผ้าไตรจีวรบริขารให้พระโอรสพระธิดาทรงนำไปถวายแทนทุกปีมิได้ขาด

กระทั่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงมอบให้เป็นพระธุระของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายผ้าพระกฐินทุกปีจนสิ้นรัชกาลของพระองค์.


กนกวรรณ ทองตะโก/เรียบเรียง
#องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 กุมภาพันธ์ 2560 19:05:19 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กุมภาพันธ์ 2560 19:10:24 »



อานุภาพแห่งรัก

ว่ากันว่าความรู้สึกที่เรียกว่า รัก มีหลากหลายรูปแบบ แต่ต่างก็มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

วรรคทองบทหนึ่งที่สามารถพรรณนาอานุภาพแห่งรัก ซึ่งทำให้มนุษย์ทั้งสุขและทุกข์ได้มากมายคือวรรคทองบทต่อไปนี้

เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล

หนังสือ “กวีวัจน์วรรณนา วรรคทองในวรรณคดีไทยพร้อมประวัติและคำอธิบาย” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า วรรคทองบทนี้มาจากเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งแต่งโดยสุนทรภู่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นคำพูดของนางละเวงที่กล่าวตอบถ้อยคำอ่อนหวานของพระอภัยมณี ซึ่งได้นางเป็นชายาแล้ว และกล่าวถ้อยคำเล้าโลมนาง นางละเวงจึงแกล้งพ้อว่า พระอภัยมณีอาจพูดคำหวานให้นางหลงใหลไปเช่นนั้นเอง หากวันใดโอรสและอนุชาของพระอภัยมณี เข้ามารับพระองค์ไปแล้ว พระอภัยมณีก็คงจะทิ้งขว้างนางอย่างไม่ไยดี

วรรคทองบทนี้มีความหมายว่า ตามธรรมดาของคนเรา เมื่อยามรักกันหวานชื่น แม้แต่น้ำผักต้มที่มีรสขมก็ยังอาจชมว่ามีรสหวานได้ แต่เมื่อความรักจืดจางก็อาจติน้ำตาลที่มีรสหวานว่ามีรสเปรี้ยวและทำหมางเมินไปได้

ความดีเด่นของวรรคทองบทนี้อยู่ที่การแสดงอานุภาพของความรักที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ สุนทรภู่ใช้ความเปรียบง่ายๆ แต่แยบคายโดยเชื่อมโยงความรักกับการรับรสชาติต่าง ๆ

ความเปรียบที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีความรัก ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูสวยงามสดชื่น แม้สิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา เช่น ความขม ก็ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งดีมีค่าขึ้นมาได้ แต่เมื่อหมดรักแล้ว สิ่งที่คนทั่วไปนิยมว่าดี เช่น ความหวาน ก็เห็นเป็นตรงกันข้ามไปได้ ความรักจึงทำให้มนุษย์มองและตัดสินสิ่งต่างๆ ตามใจปรารถนาโดยปราศจากเหตุผล.


"องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม"
อารยา ถิรมงคลจิต. นสพ.เดลินิวส์

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.759 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มกราคม 2567 14:46:17