หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นให้ครบบริบูรณ์ ตามระเบียบของการสร้างวัดคือ มีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ พระมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก
และหอระฆัง
ระฆังที่นำมาประดิษฐานนี้สันนิษฐานได้เป็น ๒ นัย นัยหนึ่งกล่าวว่า เป็นระฆังซึ่งพบในการขุดสระเพื่อสร้างหอไตร
ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทรงผาติกรรมมาจากวัดนั้น เนื่องด้วยเป็นระฆังที่มีเสียงกังวาลมาก
แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าเป็นระฆังที่โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยเฉพาะ
หอระฆังที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างอย่างไร
ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในตำแหน่งเดิมโดยรื้อหอระฆังเก่าออกไป
แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี
ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงเป็นแม่กองประดับกระเบื้องหอระฆังทั้งหลัง
ในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการซ่อมเฉพาะส่วนชำรุดโดยทั่วไปพร้อมทั้งลงรักปิดทองประดับกระจกส่วนยอดใหม่
ในรัชกาลที่ ๙ ได้มีการบูรณะในส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงรักษาศิลปะเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ลักษณะสถาปัตยกรรมหอระฆังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างเป็นบุษบกทรงมณฑป ตั้งบนฐานทักษิณแบบปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง
ที่ฐานนี้มีประตูทางเข้า ๔ ด้านทำเป็นซุ้มจรนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องถ้วย หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา
เคลือบสีเขียวขอบสีแดง ตอนบนของซุ้มเป็นทรงบันแถลงนาค ๓ เศียร ๒ ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปหัวนาค
กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียวเป็นรูปโค้งแหลมตามรูปซุ้มจรนำ ตอนล่างเป็นบานประตู ๒ บาน ทาสีเขียวเปิดเข้าไป
ตอนบนเป็นช่องลมกรุด้วยลวดตาข่าย ตรงกลางมีแผ่นไม้รูปกลมรีจำหลักเป็นลายพุดตาน
ส่วนล่างของฐานทักษิณประดับด้วยหินอ่อนสีเทารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยรอบ ผนังของฐานทักษิณประดับด้วยกระเบื้องก้นถ้วย
รูปกลมสีขาวเป็นพื้น ตกแต่งเป็นดอกด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ เฉพาะตรงส่วนย่อมุมไม้สิบสองประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว
แบบลายไทย ซึ่งสั่งทำมาจากเมืองจีน พร้อมกับการนำมาประดับที่ปราสาทพระเทพบิดร ตอนบนและล่างทำเป็นบัวหัวเสา
และบัวปลายเสาประดับกระเบื้องถ้วย ขอบนอกประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเป็นลายรักร้อย
บุษบกประดิษฐานระฆังตั้งอยู่บนฐานเขียง และฐานสิงห์ ๒ ชั้น คั่นด้วยหน้ากระดานฐานบัว ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ
ส่วนบุษบกย่อมุมไม้สิบสองเป็นไม้ปิดทองประดับกระจกฐานเสาทำเป็นกาบพรหมศร หัวเสามีคันทวยรับชายคาโดยรอบ
ระหว่างเสาตอนบนประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้งปลายลายเป็นพญานาคปิดทอง ตอนล่างประดับด้วยกระจังปูนปั้นประดับกระจก
เพดานบุษบกปิดทองฉลุลายเป็นรูปดาวเพดานแขวนระฆังไว้ตรงกลาง
ที่มา:
www.vcharkarn.com/vcafe/37346