[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
08 มิถุนายน 2567 14:41:19 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนอดีตเรือไททานิก ตำนานโศกนาฏกรรมในทะเลครั้งใหญ่ที่สุด  (อ่าน 1891 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5520


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2560 16:39:18 »




ย้อนอดีตเรือไททานิก
ภาพเก่า..เล่าตำนาน ความโศกสลดของเรือไทนานิค

เรือสำราญสุดหรูของอังกฤษ เป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างบนโลกและลอยน้ำได้ ได้รับฉายาว่า “วัตถุที่ไม่มีวันจม” (Unsinkable) เป็นของเล่น เป็นพาหนะสำหรับเศรษฐี มีผู้โดยสารบนเรือที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มหาเศรษฐี นักธุรกิจระดับโลก นักวิชาการ สื่อมวลชน ชนชั้นสูงทั้งหลายที่ยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อขอขึ้นไปเพื่อเสพสัมผัสกับสวรรค์ลอยน้ำ

หลังเดินทางออกจากท่าไปเพียง ๔ วัน โลกต้องตะลึงกับข่าวโศกนาฏกรรมในทะเลครั้งใหญ่ที่สุด

เรือไททานิก (Titanic) ที่งามสง่า วิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็งในทะเลแอตแลนติกเหนือตอนกลางดึก เรือเหล็กหักงอเหมือนแผ่นสังกะสี มีคนกำลังนอน กำลังร้องเพลง ดื่มเหล้า เต้นรำ และมีคู่รักกอดกันจมน้ำตายในห้องนอน ผู้โดยสารจมน้ำตายเพราะถูกแช่แข็งในทะเลมากกว่า ๑,๕๐๐ คน และมีคนรอดตาย ๗๑๐ คน

๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๕) ท้องฟ้าแจ่มใส สายลมแผ่วเบาโชยผ่านเมืองเซาแธมป์ตัน ในอังกฤษ วิมานลอยน้ำชื่อไททานิกลำนี้ พร้อมผู้โดยสารที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงตะโกนล่ำลา อวยชัยให้พร พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางเป็นปฐมฤกษ์จากเมืองเซาแธมป์ตัน (Southampton) ของอังกฤษ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
มีมหาเศรษฐีที่ถือว่ารวยที่สุดในตอนนั้น ชื่อ จอห์น จาคอบ แอสเตอร์ ที่ ๔ (John Jacob Aster IV) ที่จองตั๋วล่วงหน้ามา ๑ ปี ประการสำคัญคือจะเป็นการล่องเรือสำราญฮันนีมูนกับสาวน้อยวัย ๑๘

เรือไททานิก (RMS : Royal Mail Steamer Titanic) ของบริษัทเดินเรือ White Star Line ของอังกฤษ สร้างโดยบริษัท Harland and Wolff ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายหรูหราที่สุด บนเรือมีห้องออกกำลัง สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคาร บาร์ห้องเต้นรำ และห้องพักผู้โดยสารจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโทรเลขไร้สาย ในยุคสมัยนั้นกิจการเดินเรือระหว่างยุโรป-อเมริกา เป็นธุรกิจที่ทำเงินแบบโตวันโตคืน
ในเวลาเดียวกันนั้น บริษัทเดินเรือ Lunard มีเรือเดินสมุทรสุดหรูชื่อ ลูซิตาเนีย (Lusitania) ถือได้ว่าเป็นบริษัทเดินเรือที่เป็นคู่แข่งของ White Star Line มีการแข่งขันกันการบริการ จุดขายของการเดินเรือคือ “ความหรูหรา สะดวกสบายของผู้โดยสาร”

เรือไททานิก ถูกบรรจงสร้างให้เหนือชั้นกว่า เรือลูซิตาเนีย เป็น ๑ใน ๓ ของเรือโดยสารชั้นโอลิมปิก (Olympic-Class) สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๕๔ โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ (Harland and Wolff) ในเบลฟาสต์ (Belfast) ออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสารได้ ๒,๔๓๕ คน สร้างเสร็จปล่อยลงน้ำที่อู่ต่อเรือเมืองเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ ๓๑ พฤษภาคม ๑๙๑๑ ใช้เวลาต่อเรือนาน ๒ ปี ตัวเรือยาว ๒๗๐ เมตร มีความสูง ๕๓ เมตร ใช้ความเร็วสูงสุดได้ ๔๔ กม/ชม.

บริษัทโหมโฆษณามาอย่างต่อเนื่องว่า สวยงามอร่ามหรู และปลอดภัยที่สุดในโลก และ ไททานิกจะเป็นวัตถุเคลื่อนได้ที่ใหญ่ที่สุดที่ทำด้วยฝีมือมนุษย์ มีคนมาร่วมชมพิธีปล่อยเรือลงน้ำครั้งประวัติศาสตร์วันนั้นราว ๑ แสนคน เรือลูซิตาเนียและไททานิกถูกปล่อยลงน้ำในเวลาใกล้เคียงกัน

หัวหน้าทีมวิศวกรที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือไว้วางใจได้มากที่สุดในเวลานั้น คือ โทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) เขาคือผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิก วิศวกรโทมัสมีความสุขที่สุดที่ได้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือ เขาชื่นชมเรือไททานิก และกล่าวว่าเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะทำได้

พ.ศ.๒๔๕๒ โทมัสเริ่มร่างภาพ ออกแบบ และต้องการใช้ระบบที่ทันสมัยที่สุดในเรือไททานิก จนหลังจากผ่านการทดสอบได้ไม่นานเขาก็ได้ทำงานหลายแผนกในบริษัท จนกลายเป็นผู้จัดการ และในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้เป็นสมาชิกในคณะสถาปนิกของกองทัพเรืออังกฤษ ซึ่งแววความอัจฉริยะทางด้านวิศวกรรมของเขาก็ทำให้อีก ๖ ปีต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ โทมัสโชกโชนด้วยประสบการณ์การต่อเรือทั้งที่อายุยังน้อย

ความเป็นอัจฉริยะของวิศวกรหนุ่มโทมัสและทีมงานทำให้มีงานออกแบบและสร้างเรือคู่ขนานกันไปอีก ๑ ลำ ที่เรียกกันว่า “เรือพี่-เรือน้อง” โดยให้ Titanic เป็นเรือน้อง และพี่สาวคือเรือ Olympic ทีมวิศวกรต่อเรือไททานิกทำงานได้อย่างราบรื่น และรุดหน้าไปได้ด้วยดี เรือโอลิมปิก (Olympic) เรือแฝดพี่สร้างเสร็จก่อน แล้วก็ตามด้วยแฝดน้อง นั่นก็คือไททานิก

กัปตันเอ็ดวาร์ด จอห์น สมิธ (Captain Edward John Smith) หรือมีชื่อย่อว่า E.J. Smith เป็นกัปตันเรือที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรคนหนึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และเป็นกัปตันเรือที่ค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น ด้วยความสามารถของกัปตันผู้มากด้วยประสบการณ์ เคยเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมานับครั้งไม่ถ้วน ประสบการณ์ที่โดดเด่นจึงถูกว่าจ้างให้ทำหน้าที่กัปตันเรือประวัติศาสตร์ ชื่อไททานิก

ผู้บริหารสูงสุดของสายการเดินเรือ ชื่อ เจ บรูซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay) และโทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) ผู้ออกแบบเรือลำนี้ก็ไม่พลาดที่จะร่วมเดินทางในการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้
ไททานิกออกจากท่าเซาแธมป์ตันแล้ว แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก ผู้โดยสารในเรือลำนี้มี ๓ ระดับ คือ ชั้น ๑,๒ และ ๓ คล้ายกับการขึ้นเครื่องบินในปัจจุบัน

หลังจากออกเรือมา ๔ วัน กลางดึกของวันที่ ๑๔ เม.ย. พ.ศ.๒๔๕๕ เรือไททานิกพาผู้โดยสาร ๒,๒๔๐ คน บวกกับลูกเรือ ๘๙๒ คนที่กำลังกิน นอน ดื่ม เต้นรำ ในมหาสมุทรและท้องน้ำสีฟ้า สนุกสนานหรรษาชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อ ๒๓.๔๐ น. และจมหมดลำในเวลา ๐๒.๒๐ น.

ไททานิก เรือสำราญที่กลายเป็นเศษโลหะลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก แตกและจมลง โดยยังมีผู้โดยสารอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่ตกไปในน้ำเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน จากภาวะร่างกายเย็นเกิน (hypothermia) เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง

ผู้รอดชีวิตที่ลงเรือชูชีพ (ที่บรรทุกในเรือไททานิก) จำนวน ๗๑๐ คนถูกส่งต่อขึ้นเรือ คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) ที่เขามาช่วยหลังจากนั้น ๓ ชม.

ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ มีการค้นพบชิ้นส่วนของเรือไททานิกที่จมนิ่งอยู่ท้องมหาสมุทรลึกลงไปราว ๔ กม. เรือที่ทำให้ท้องทะเลกลายเป็นสุสาน เลยกลับมาโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอีกครั้ง และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

การชนแฉลบกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้ลำเรือไททานิกหักงอเข้าหากัน ตัวเรือหลายจุดด้านกราบขวาแตกเป็นแผลขนาดใหญ่ และเปิดห้องกันน้ำ ๕ จาก ๑๖ ห้องให้น้ำทะเลทะลักเข้ามา อีก ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที ต่อมาน้ำทะเลเย็นเฉียบก็ไหลเข้ามาในเรือและเรือค่อยๆ จมลง ผู้โดยสารและลูกเรือบางส่วนถูกอพยพลงในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกผู้โดยสารอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก ทุกคนต้องการเอาชีวิตรอด มีผู้ชายจำนวนมากถูกทิ้งอยู่บนเรือที่กำลังจมลง เพราะระเบียบกำหนดให้ “ผู้หญิงและเด็กลงเรือชูชีพไปก่อน”

แทบไม่มีใครเชื่อว่าเรือไททานิกจะประสบอุบัติเหตุในลักษณะนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในการเดินเรือโดยสารในท้องทะเล เป็นความประมาท และเกิดการละเลยที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบจนนำไปสู่หายนะ มีการสอบสวน สืบค้นหาสาเหตุที่เรือล่มทั้งในอังกฤษและสหรัฐเพื่อกำหนดหลักในความปลอดภัยในทะเล
ผลที่ได้หลังการสอบสวน คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS : Safety of Life At Sea) ใน พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งยังเป็นมาตรการที่ใช้ควบคุมความปลอดภัยการเดินเรือในทะเลมาจนถึงทุกวันนี้

ในมิติด้านสังคม ผู้รอดชีวิต สูญเสีย สิ้นเนื้อประดาตัวและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น ครอบครัวแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสมาชิกครอบครัวของลูกเรือจากเมืองเซาแธมป์ตัน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ผู้สร้างภาพยนตร์นำเอาตัวละครและสถานที่จริงบนเรือมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ทำเงินมหาศาล รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ที่กระหึ่มไปทั่วโลก

ทำไมเรือชนภูเขาน้ำแข็ง และมีเบื้องลึก เบื้องหลังประการใด มีแจ๊ค และโรส ที่ต้องลาจากกันหรือไม่ ?




ตอนสายของวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ เรือสำราญหรู ทันสมัยที่สุด และราคาตั๋วแพงอันดับ ๑ ของโลก ชื่อ ไททานิก เป็นเรือของบริษัทเดินเรืออังกฤษ ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์พร้อมผู้โดยสารระดับมหาเศรษฐีจากทวีปยุโรป จากสแกนดิเนเวีย แล่นจากท่าเรือเมืองเซาแธมป์ตัน (Southampton) ของอังกฤษแวะรับผู้โดยสารในฝรั่งเศสและไอร์แลนด์ เพื่อมุ่งหน้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่มหานครนิวยอร์ก

๑๔ เมษายน ๒๔๕๕ ราว ๒๓.๔๐ น. (ตามเวลาเรือ) เรือไททานิกแล่นไปชนภูเขาน้ำแข็งในทะเลแอตแลนติกเหนือ เรือยักษ์ขนาดความยาว ๒๗๐ เมตร ย่นยุบเข้ามา หักงอเหมือนเศษเหล็ก น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักเข้าตัวเรือด้านขวา ผู้โดยสารหนีตายแย่งชิงกันลงเรือชูชีพ ไอ้คนที่ชิงลงเรือได้มีแต่คนใจดำไม่ยอมคอยคนอื่น ชิงออกเรือชูชีพเผ่นหนีทั้งๆ ที่ยังมีที่ว่างพอที่จะให้เพื่อนผู้โดยสารคนอื่นๆ รอดตายได้อีกตั้งเยอะแยะ

เรือไททานิกชนแฉลบ “ภูเขาน้ำแข็ง” (Iceberg) อย่างแรงเมื่อเวลา ๒๓.๔๐ น. ผู้โดยสารราว ๗๐๐ คนรอดตายเพราะได้ลงเรือชูชีพ เรือค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เวลา ๐๒.๒๐ น. จึงจมลงก้นทะเลหมดทั้งลำ มีคนตายจากอุบัติเหตุครั้งนี้มากกว่า ๑,๕๐๐ ราย

สารคดี National Geographic นำเสนอบทวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เรือชนภูเขาน้ำแข็งว่า น่าจะเกิดจากภาพลวงตาอันเกิดจากมวลอากาศอุ่น มาปะทะกับอากาศเย็น เหมือนเราเห็นน้ำนองบนถนนตอนแดดจัด (Mirage) ภาพลวงตาที่ว่านี้จะทำให้เราเห็นเส้นขอบฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง ภาพจริงของภูเขาน้ำแข็งจึงถูกซ่อนในเงามืดของทะเล หรือถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ มองไม่เห็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ตรงหน้า

ส่วนสาเหตุที่เรือจมลง เพราะด้านขวาของเรือไททานิกแฉลบชนกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้ห้องกันน้ำในตัวเรือฉีกแตกถึง ๖ ห้อง หาก ณ นาทีนั้นหัวเรือวิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็ง โอกาสรอดจะยังมีมากกว่านี้ เพราะความเสียหายจะน้อยกว่า

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยหลังจากหายนะครั้งประวัติศาสตร์อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรือชูชีพที่เตรียมไว้จะอพยพผู้โดยสารได้เพียง ๗๐๐ คน เพราะมั่นใจว่ายังไงๆ ก็จะไม่มีวันได้ใช้เรือชูชีพแน่นอน

ทุกคนเชื่อว่า เรือไททานิกที่แข็งแรงที่สุดในปฐพี ใหญ่ที่สุด มั่นคงที่สุด และหรูหราที่สุดจะไม่มีวันจมแน่นอน

ในยุคสมัยนั้น การเดินทางระหว่างยุโรปกับอเมริกาทำได้ทางเดียวคือ เรือเดินสมุทรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก บริษัทเดินเรือ White Star Line ของอังกฤษเป็นเจ้าพ่อใหญ่ในกิจการนี้ บริษัทนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๓๙๓ โดยโทมัส อิสเมย์ (Thomas Ismay) และเซอร์ เอ็ดเวิร์ด ฮาร์แลนด์ (Sir Edward Harland) เข้ามาซื้อกิจการ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) บริษัทสัญชาติอเมริกันเข้ามาซื้อกิจการต่อไปอีกครั้ง แต่ยังคงใช้ลูกเรือที่เป็นชาวอังกฤษ

ย้อนอดีตกลับไปอีกนิด ตอนนั้น White Star Line คิดการใหญ่จะเป็นเจ้าสมุทร ตัดสินใจลงทุนต่อเรือทีเดียว ๓ ลำ คือ เรือ Olympic เรือ Titanic และเรือ Gigantic (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Britannic)

เรือ Olympic มีระวางขับน้ำ ๔๕,๐๐ ตัน สร้างเสร็จและให้บริการทันที วิ่งในทะเลได้เพียง ๒ เดือนก็เกิดอุบัติเหตุไปชนกับเรือลำอื่นและต้องเข้าอู่ซ่อม กัปตันเรือโอลิมปิกชื่อ E.J. Smith ต่อมาถูกทาบทามให้มาเป็นกัปตันของเรือไททานิกที่กำลังจะออกสู่มหาสมุทร

กัปตัน E.J. Smith คือกัปตันเรือที่มีค่าตัวแพงที่สุดในเวลานั้น

เรือไททานิก พระเอกของเรื่องนี้มีระวางขับน้ำ ๔๖,๓๐๐ ตัน ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก ถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ ๓,๕๔๗ คน ใช้เครื่องยนต์ ๔๖,๐๐๐ แรงม้า งบประมาณต่อเรือ ๗.๕ ล้านเหรียญ และตกแต่งภายในให้เป็นวิมานลอยน้ำอีก ๒.๕ ล้านเหรียญ รวมมูลค่าราว ๑๐ล้านเหรียญสหรัฐ (ถ้าคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันราว ๒ หมื่นล้านเหรียญ)

ไททานิก สวรรค์ลอยน้ำ มีห้อง VVIP ๒ ห้องที่มีดาดฟ้าส่วนตัวไว้ให้ผู้โดยสารคนสำคัญกินลมชมทะเลขณะแล่นเรือเป็นแรมเดือนชนิดที่ไม่ต้องปะปนกับใคร ห้องผู้โดยสารชั้น ๑ จำนวน ๖๗ ห้อง ตกแต่งห้องแบบหลากหลายตามแต่รสนิยมและตามกำลังเงิน มีห้องแบบหลุยส์ แบบดัตช์ มีเตาผิง มีห้องอบไอน้ำ และเป็นเรือลำแรกที่สร้างสระว่ายน้ำไว้บนเรือ

เมื่อบุคคลสำคัญ มหาเศรษฐี นักธุรกิจต้องมากินอยู่หลับนอนบนเรือนานเกือบเดือนระหว่างเดินทาง การติดต่อสื่อสารกับบริษัทและหน่วยงานของตนที่อยู่บนฝั่งเพื่อทราบความเคลื่อนไหว เรื่องกำไร-ขาดทุน เรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผู้โดยสารแทบทุกคนกระวนกระวายที่จะใช้บริการวิทยุโทรเลขแบบรหัสมอร์ส (Morse) บนเรือไททานิก เพื่อรับ-ส่งข้อมูลและเรื่องส่วนตัวเท่านั้น การติดต่อระหว่างเรือที่วิ่งในทะเลด้วยกัน ข้อมูลด้านอื่นๆ จึงถูกละเลย

พนักงานวิทยุโทรเลขบนเรือที่มีจำกัด ต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการบริการรับข่าว-ส่งข่าวทางโทรเลขที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้โดยสาร การติดต่อเพื่อแจ้งข่าวสาร/ข้อมูลเรื่องการเดินเรือ ลมฟ้าอากาศ การแจ้งเตือนภัยจากเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือจึงเป็นเรื่องที่ขาดหายไป

เรือไททานิกในเวลานั้นจึงเปรียบได้กับคนหูหนวกตาบอด

ข้อมูลในรายละเอียดที่ถูกนำมาเปิดเผยภายหลังโศกนาฏกรรม ระบุว่า ในคืนวันเกิดเหตุคือวันที่ ๑๔เมษายน ๒๔๕๕ พนักงานวิทยุโทรเลขได้รับคำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่บริเวณใกล้เคียงถึง ๗ ฉบับ จากเรือชื่อ แคโรเนีย เรือบอลติก เรืออเมริกา เรือแคลิฟอร์เนีย เรือเมซาบา ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรที่กำลังแล่นอยู่ในแอตแลนติกเหนือด้วยความหวังดีต่อเพื่อนร่วมทาง แจ้งเตือนกัปตันเรือไททานิกเรื่องภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางข้างหน้า

อนิจจา พนักงานวิทยุมัวสาละวนกับรับ-ส่งโทรเลขบริการผู้โดยสาร จึงมิได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อกัปตัน

ตอนหัวค่ำของคืนวันที่ ๑๔ เมษายน คืนวันเกิดเหตุ เรือโดยสารแคลิฟอร์เนียเข้าไปติดอยู่ในวงล้อมของภูเขาน้ำแข็งในทะเล ต้องหยุดการเคลื่อนที่ และได้ส่งโทรเลขแจ้งมาที่กัปตันเรือไททานิกที่กำลังแล่นตามมาอีกครั้งด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี โทรเลขฉบับนี้ ไม่มีใครว่างที่จะนำไปให้กัปตันทราบครับ

บนเรือไททานิกเองมีการจัดยาม ๒ นายขึ้นไปยืนบนเสากระโดงเรือเพื่อตรวจการณ์ไปข้างหน้า ยามคนหนึ่งชื่อ เฟรเดอริก ฟลีต (Frederick Fleet) เฝ้ามองภูเขาน้ำแข็งท่ามกลางความขมุกขมัวของอากาศที่หนาวเหน็บแบบขั้วโลกเหนือ ตามข้อมูลที่เปิดเผยภายหลัง ยามทั้ง ๒ นายเป็นเพียงลูกเรือที่มิได้ถูกฝึกอบรมมาก่อน และมิได้นำกล้องส่องสองตาติดตัวขึ้นไป



ยมบาลกำลังกวักมือเรียกเรือไททานิก

๒๓.๔๐ น. ท่ามกลางความหนาวเหน็บ ท้องฟ้ามีแสงสลัวรำไร ผู้โดยสารระดับมหาเศรษฐี นักธุรกิจชั้นนำของยุโรป ที่กำลังดื่มด่ำความสุขในเรือ วงดนตรีในห้องขับกล่อมให้คู่รักเต้นรำกันอย่างมีความสุข เรือไททานิกแล่นไปในทะเลน้ำแข็ง

ยาม ๒ นายบนเสากระโดงเรือ ตกใจสุดขีดตะโกนร้องสุดเสียง และรีบส่งสัญญาณไปยังห้องควบคุมการเดินเรือ “ภูเขาน้ำแข็งตรงหน้า” บุรุษผู้ที่ทำหน้าที่กัปตันชื่อ เมอร์ดอค (First Officer William M. Murdoch) สะดุ้งสุดตัว ตะโกนสั่งให้ไททานิกหยุดเดินเครื่องและให้เบนหัวเรือยักษ์เลี้ยวไปทางซ้าย

๔๐ วินาทีต่อมา กราบขวาของลำเรือกระแทกเข้ากับภูเขาน้ำแข็งเสียงดังสนั่นปานฟ้าผ่ากลางดึก ผู้โดยสารบนเรือคะมำลงไปกองกับพื้น สิ่งของทุกชนิดกลิ้งระเนระนาดบนพื้นเรือ ตัวเรือที่เป็นเหล็กระวางขับน้ำ ๔๖,๓๐๐ ตันหักงอ มีรอยฉีกขาดเป็นแผลขนาดใหญ่ น้ำทะเลแช่แข็งเริ่มแทรกตัวเข้ามาตามรอยแตก น้ำเย็นพุ่งไปทุกหนแห่งบนเรือ กวาดทุกอย่างที่ขวางหน้าด้วยแรงดันมหาศาลปานพายุร้าย เรือสำราญกลายเป็นขุมนรก

เรือแตกทางกราบขวาและกำลังจะจมลงสู่ท้องมหาสมุทร

ภูเขาน้ำแข็ง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Iceberg หมายถึง ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ ที่แตกออกจากธารน้ำแข็งแถบขั้วโลก ล่องลอยไปในทะเลแถบขั้วโลก  เวลา ๔๐ วินาที สำหรับเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังแล่นเต็มฝีจักรในทะเล ไม่พอเพียงที่หยุดยั้งเรือยักษ์ลำนี้ได้ ความหายนะทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในคืนวันนั้นไม่มีใครบอกได้ว่า ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

วันต่อมา คือ ๑๕ เมษายน เรือ Prinz Adalbert แล่นไปถึงบริเวณที่เรือจมในวันรุ่งขึ้นได้ถ่ายภาพ “ภูเขาน้ำแข็งมรณะ” ลูกนี้ไว้ได้ซึ่งปรากฏความสูงประมาณ ๑๐๐ ฟุต เพราะส่วนใหญ่ของภูเขาจมอยู่ใต้น้ำ (ตามภาพที่ปรากฏข้างบน) เรือเบรเมน (Bremen) ของเยอรมัน และเรือมิเนีย (Minia) ที่ทยอยกันเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตบริเวณที่ไททานิกจมลง ก็บันทึกภาพภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ไว้ได้เช่นเดียวกัน (ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com)




ความเดิมจากตอนที่แล้ว….เรือสำราญวิมานลอยน้ำไททานิก ชนแฉลบกับภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือตอนกลางดึกของวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๕๕ เมื่อเวลา ๒๓.๔๐ น. (ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๖) ผู้โดยสารแย่งชิงกันลงเรือชูชีพหนีตายไปได้ราว ๗๑๐ คน ผู้โดยสารชะตาขาดลงเรือชูชีพไม่ทัน ต้องกระโดดลงไปลอยคอในทะเลที่เย็นเกือบเป็นน้ำแข็งอุณหภูมิ ลบ ๒ องศา ในที่สุดร่างกายทนไม่ไหวเสียชีวิตเพราะภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) และเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ อีกมากกว่า ๑,๕๐๐ คน เรือที่ได้รับการออกแบบให้ “ไม่มีวันจม” (The Unsinkable) หลังจากกระแทกเข้ากับภูเขาน้ำแข็งที่มีอายุราว ๓พันปี ทำให้ตัวถังเรือด้านขวาแตกฉกรรจ์ น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักทะลุไปทุกแห่งในลำเรือ จ้าวสมุทรไททานิกค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก จมสนิทมิดลำเรือในเวลา ๐๒.๒๐ น. (ของวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๕)

มีเวลาทำการอพยพผู้โดยสารลงเรือชูชีพราว ๑ ชม. ๒๐ นาที

การสอบสวนความหายนะของไททานิกในภายหลังระบุว่า เย็นวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ ทะเลสงบผิดปกติ อากาศโดยรอบเย็นวาบ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเดินเรือว่าจะต้องมีภูเขาน้ำแข็งอยู่ในบริเวณใกล้พื้นที่ใกล้เคียง กัปตันและลูกเรือบางส่วนบอกได้จากประสบการณ์ในทะเล

กัปตัน อี. เจ. สมิธ ผู้ช่ำชองแอตแลนติกกังวลใจไม่น้อยเรื่องภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg)

ในเวลา ๒๐.๕๕ น. ด้วยความไม่แน่ใจ กัปตันสมิธเดินมายังสะพานเดินเรือ กังวลว่าไททานิกกำลังแล่นเข้าสู่เขตของภูเขาน้ำแข็ง กัปตันปรึกษากับทีมงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรืออยู่พักใหญ่ด้วยความไม่สบายใจ ทุกคนยอมรับว่าทัศนวิสัยคืนนั้นแย่มาก

เรือโดยสารขนาดยักษ์ที่ทันสมัยที่สุดในโลกยังคงเดินทางต่อไป

ในเวลา ๒๑.๓๐ น. กัปตันสมิธออกไปจากสะพานเดินเรือ (ห้องควบคุมและสั่งการ) โดยย้ำเตือนแก่พนักงานบนเรือให้เฝ้าสังเกตสิ่งผิดปกติข้างหน้า ให้รักษาความเร็วของเรือไททานิกที่ ๒๒ นอต (ประมาณ ๔๐กิโลเมตร/ชม.) และมอบให้ผู้ช่วยกัปตันเมอร์ด็อค รับผิดชอบสั่งการแทน

เวลา ๒๓.๔๐ น. ยามที่ยืนบนเสากระโดงเรือเพื่อเฝ้ามองเส้นทางชื่อเฟรดเดอริก ฟลีท (Frederick Fleet) ตะโกนว่า “ภูเขาน้ำแข็งตรงหน้า” เรือไททานิกกำลังพุ่งเข้าไปปะทะตรงหน้า เฟรดเดอริกเป็นลูกเรือและเป็นยามเสากระโดงเรือมากว่า ๔ ปี และได้ถูกมอบหมายให้มาเป็นยามสังเกตการณ์บนเรือสำราญลำนี้ร่วมกับ เรจินัลด์ ลี (Reginald Lee) ที่ย้ายมาจากเรือโอลิมปิกเรือแฝดพี่ของไททานิก

เมื่อได้รับสัญญาณอันตราย ผู้ช่วยกัปตันสั่งหยุดเครื่องยนต์และให้เดินเครื่องถอยหลังเต็มตัว เรือใหญ่ที่สุดในโลกอันแสนจะอุ้ยอ้ายไม่สามารถหยุดได้ในเสี้ยวนาที หลังจากนั้นเพียง ๔๐ วินาที เสียงที่เรือสำราญไปแฉลบชนกับภูเขาน้ำแข็งในทะเลดังสนั่นปานฟ้าผ่าตอนดึก

กัปตันสมิธที่แต่งเครื่องแบบนอนอยู่ในห้องพักสะดุ้งสุดตัวตาม แรงกระแทกสะท้านของตัวเรือ กัปตันรีบไปที่สะพานเดินเรือ สั่งการให้ปิดประตูกั้นน้ำทั้งหมด ผู้ช่วยกัปตันเมอร์ด็อค บอกว่าปิดเรียบร้อยแล้ว และรายงานต่อว่า เรือได้เฉียดไปชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ผู้โดยสารทุกคนบนเรือทราบดีว่าดึกดื่นป่านนี้ เรือออกอาการกระแทกขนาดนี้ ต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน วินาทีนั้นคือการเริ่มต้นของวิกฤตหนีตาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เรือออกทะเลมา ๔ วันไม่เคยมีการซักซ้อมแผนการสละเรือแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีระเบียบที่ต้องซักซ้อม

ทุกคนหวีดร้องหยิบฉวยสิ่งของ ตะโกนเรียกหาครอบครัวและคนรักแล้วพุ่งตรงไปดาดฟ้าเพื่อไปให้ถึงเรือชูชีพ

เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) เป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่องไททานิก ผลิตโดย ทเวนตี้เซ็นจูรีฟ๊อกซ์ และ พาราเมาท์พิกเจอร์ เลือกนักแสดงชายหล่อลากดินชาวอเมริกัน ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์ชื่อแจ๊ค รับบทเป็นเด็กหนุ่มอเมริกันเตร็ดเตร่เล่นโป๊กเกอร์ชนะได้รางวัลเป็นตั๋วเดินทางชั้น ๓ และ เคต วินสเล็ต นักแสดงชาวอังกฤษเป็นนางเอกในภาพยนตร์ที่ชื่อโรส รับบทสาวงามผู้ดีมีตระกูลออกฉายเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ภาพยนตร์เรื่องนี้ครองแชมป์ทำรายได้สูงสุดของโลกนานอยู่ ๑๒ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๓ ภาพยนตร์เรื่องอวตาร ที่เจมส์ คาเมรอน (คนเดิม) กำกับการแสดงก็ขึ้นมาทำรายได้แซงหน้าไททานิก

งบประมาณในการสร้างหนังเรื่องไททานิกใช้ไปราว ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่งบประมาณต่อเรือไททานิกทั้งลำใช้ไป ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เวลาต่างกันกันราว ๘๐ ปี)

ผู้กำกับมือทองสั่งให้นักแสดง-ทีมงานในภาพยนตร์ใช้เวลาศึกษากิริยาและบุคลิกของผู้คนสมัยปี พ.ศ.2455 รวมทั้งข้อมูลจากซากเรือไททานิกที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรนาน ๗๓ ปี ลึกเกือบ ๔ กม. นักสำรวจใต้น้ำได้บันทึกภาพของเรือไททานิก รวมทั้งอุปกรณ์บนเรือ สิ่งของในห้องใต้ท้องเรือ แม้กระทั่งสภาพของห้องอาหารที่เรียกอาหารมื้อนั้นว่า The Last Supper of Titanic เพื่อการสร้างฉากให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด

ลองมาย้อนอดีตถึงบุคคลที่มีอยู่จริงบนเรือไททานิกและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

นักแสดงคนสำคัญ คือ กัปตันสมิธ ซึ่งนักแสดงเกือบทุกคนมีอยู่จริงบนเรือไททานิก ที่ผู้กำกับคาเมรอน กำหนดให้นักแสดงกว่า ๑๕๐ ชีวิตแสดงเป็นตัวละครที่มีชื่อบนเรือ

มากาเร็ต โทบิน บราวน์ (Magaret Tobin Brown) หรือฉายามอลลี่ผู้ไม่มีวันจม เป็นเศรษฐีในยุคนั้นได้ร่วมเดินทางไปกับเรือไททานิกครั้งนั้นด้วย ในภาพยนตร์เธอช่วยหาชุดแต่งกายแบบชนชั้นสูงให้กับแจ๊ค
คู่รักชายหญิงชราภาพที่นอนเคียงกันตระกองกอดและจุมพิตกันบนเตียงในห้องที่น้ำกำลังท่วมเพื่อขอตายไปพร้อมกัน ในเรือที่กำลังจม

แจ๊ค ดอว์สัน ที่เป็นพระเอกในภาพยนตร์ มีตัวตนจริง เขาเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งและเสียชีวิตไปพร้อมเรือ ญาติของแจ๊คไปสร้างหลุมฝังศพให้เขาที่สุสาน ในเมืองโนวาสโกเทีย (Nova Scotia) ทางตะวันออกสุดของประเทศแคนาดา หลุมฝังศพของเขาได้รับการเข้าเยี่ยมมากที่สุดในสุสาน

เรื่องเหลือเชื่อ แต่ต้องเชื่อครับ…ในภาพยนตร์มีฉากที่นักดนตรีในเรือยังคงบรรเลงเพลงต่อไปทั้งๆ ที่เรือประสบอุบัติเหตุ นักดนตรีที่ดีดสีตีเป่า ออกอาการลังเลอยู่บ้าง ซึ่งในเหตุการณ์จริงก็เป็นเช่นนั้น ผู้กำกับศึกษาข้อมูลจากผู้รอดชีวิตมาแล้ว ระบุว่า นายฮาร์ทลีย์ (Wallace H. Hartley) หัวหน้าวงสั่งให้นักดนตรีเล่นเพลง Nearer My God to Thee ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายถึงการได้ใกล้ชิดพระเจ้า เป็นเพลงที่คริสต์ศาสนิกชนใช้ร้องสวดให้มีกำลังใจที่จะได้พบพระเจ้า ในขณะที่เรือประสบอุบัติเหตุยังคงเล่นต่อไป (ภาพนักดนตรีทั้งวงตามที่ปรากฏข้างบน)

วิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิกมาตั้งแต่เริ่มชื่อ โทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) สะเทือนใจเป็นที่สุด ขณะที่เรือกำลังจะจม วิศวกรผู้นี้เดินเข้าไปในห้องสูบบุหรี่ของผู้โดยสารชั้น ๑ ขอสละชีพไปกับเรือที่ตนออกแบบ เพื่อจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับคำถามและความอับอายที่จะต้องแบกรับในอนาคต

หุ้นส่วนเจ้าของบริษัทเรือชื่อ บรู๊ซ อิสเมย์ (Bruce Ismay) ในขณะเรือประสบเหตุ มีพยานยืนยันว่าชายผู้นี้ใช้ผ้าคลุมศีรษะ พรางตัวเป็นสตรีเพื่อจะที่ได้รับสิทธิลงเรือชูชีพหนีไปก่อนพร้อมกับเด็ก และในที่สุดก็แย่งชิงกับเด็กและสตรีลงเรือชูชีพไปได้จึงรอดตาย แต่ต่อมาบุคคลผู้นี้ได้รับการประณามหยามเหยียดจากสังคมทุกหนแห่งตลอดชีวิตจนตาย

ในฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อโรสพบกับแจ๊คที่บันได นาฬิกาบอกเวลา ๐๒.๒๐ น. เป็นเวลาจริงๆ ที่เรือไททานิกล่ม

ภาพยนตร์เรื่องไททานิก ได้รับรางวัลออสการ์ ถึง ๑๑ สาขา และรางวัลลูกโลกทองคำอีก ๔ สาขา กวาดทุกรางวัลบนโลกใบนี้ไปหมด มีแฟนพันธุ์แท้เวียนเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้หลายรอบแบบมิรู้เบื่อ

เรื่องของแจ๊ค ดอว์สัน กับโรส บูเคเตอร์ เป็นเรื่องของบทประพันธ์ที่สร้างขึ้นได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้ชมถึงกับละเมอถึงความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ที่จำต้องพลัดพราก รวมทั้งเพชรห้อยคอสีน้ำเงินที่ชื่อ “หัวใจมหาสมุทร” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของบทประพันธ์

ฉากที่วิเศษสุดของไททานิก คือ ฉากรักที่พระเอกแจ๊คตระกองกอดนางเอกโรสที่ยืนกางแขนตรงส่วนหัวของเรือเดินสมุทร แจ๊คสอนให้เธอรู้จักบิน ทั้งคู่มองออกไปในทะเลที่ไร้คลื่น ฟ้าเป็นสีคราม ผมสีทองของเธอปลิวสลวยไปกับสายลม ร่างกายของหนุ่มสาวที่มีความรักได้รับลมทะเลที่มาม้วนโอบ หลอมรัดกายาของคู่รักให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน

ประโยคที่เศร้าที่สุดก่อนทั้งคู่ตัดสินใจกระโดดลงทะเล คือ You jump, I jump. โรสบอกแจ๊คว่า เธอโดดลงไปแล้วฉันจะโดดตาม

โปรดติดตามตอนต่อไป ที่จะเปิดเผยผลการสอบสวนหายนะครั้งนี้โดยสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐที่ใช้เวลาสอบสวนนานถึง ๑๘ วันครับ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กุมภาพันธ์ 2560 16:42:05 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5520


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2560 16:41:01 »




ย้อนอดีตเรือไททานิก (ต่อ)

เรือโดยสารของบริษัทเดินเรืออังกฤษที่ทันสมัยที่สุดในโลก ไปชนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติก จมมิดหายไปทั้งลำเมื่อ ๐๒.๒๐ น. ของวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๕ คนตายไปราว ๑,๕๐๐ คน ฝรั่งไม่เชื่อว่าเป็นเคราะห์กรรมแต่ปางก่อน

สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา รีบตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุความสูญเสียที่โลกตะลึง

วุฒิสมาชิกวิลเลียม เอ. สมิธ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการด้านการพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานการสอบสวน โดยเริ่มเมื่อ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๕ ณ มหานครนิวยอร์ก แต่ต่อมาย้ายไปดำเนินการที่กรุงวอชิงตัน และกลับไปนิวยอร์กอีกครั้งใน ๒๕ พฤษภาคม เพื่อสรุปผลและรายงานสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ๗ คนใช้เวลา ๑๘ วันเพื่อสอบสวนทวนความเหตุการณ์จากผู้รอดชีวิตและบรรดาลูกเรือ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่เข้าไปช่วยผู้รอดชีวิตหลังไททานิกอับปาง ประเด็นร้อนฉ่าที่สังคมต้องการทราบความจริง คือ เรื่องการแจ้งเตือน เรื่องเรือชูชีพที่จัดไว้เพียงพอหรือไม่ การควบคุมเรือ-ความเร็ว การติดต่อสื่อสาร มาตรการการอพยพ/สละเรือ ฯลฯ

สื่อในอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์การสูญเสียครั้งนี้แบบเดือดดาล

วุฒิสภาสหรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายเรียกพยาน ๘๐ ปากมาให้การด้วยวาจา ซึ่งบางส่วนขอส่งข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือ ข้อเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยการเดินเรือไปสู่ฝ่ายบริหารเพื่อเร่งรีบกำหนด กฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล ในเวลานั้นประธานาธิบดีสหรัฐชื่อ ทัฟท์ (William Howard Taft) ซึ่งมีเพื่อนสนิทเสียชีวิตในไททานิกด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนขอแปลและเรียบเรียงจากรายงานบางส่วนดังนี้

วันแรกของการไต่สวน ณ โรงแรมวัลดอฟ-แอสทอเรีย ในนิวยอร์ก บรู๊ซ อิสเมย์ (หุ้นส่วนบริษัทเรือผู้ที่เอาผ้าคลุมศีรษะพรางตัวเป็นผู้หญิงแทรกตัวหนีลงเรือชูชีพหนีมาก่อน) ถูกสมาชิกวุฒิสภาประเดิมยิงคำถามเป็นคนแรก สหรัฐใช้หมายศาลเรียกตัวบรู๊ซไว้

ผู้โดยสารบนเรือชูชีพ (จากเรือไททานิก) ที่ลอยลำในทะเลคืนนั้น ได้รับการช่วยเหลือจากเรือเดินสมุทรคาร์พาเธีย (Carpathia) ที่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ เรือคาร์พาเธียนำผู้รอดชีวิตทั้งหมดเดินทางไปถึงท่านิวยอร์ก

อนุกรรมาธิการตั้งคำถามกับหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยบนเรือ สอบถามยามที่ยืนบนเสากระโดงเรือ พนักงานสื่อสาร กัปตันเรือคาร์พาเธีย และกัปตันเรืออีกหลายลำที่อยู่บริเวณเรือไททานิกล่มในคืนวันนั้น

อนุกรรมาธิการยังขอไปดูระบบการทำงานของประตูกั้นน้ำในเรือโอลิมปิกที่เป็นเรือคู่แฝด ที่ใช้ระบบแบบเดียวกัน

รายงานผลการสอบสวนของวุฒิสภาสหรัฐยาว ๑๙ หน้า มีภาพประกอบ ๔๔ หน้า มีเอกสารคำให้การและเอกสารประกอบอื่นๆ อีก ๑,๑๔๕ หน้า โดยมีประเด็นหลัก คือ
๑.ขาดการเตรียมการ จึงทำให้ผู้โดยสารและลูกเรืออยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม การอพยพทำด้วยความโกลาหล ไม่มีระบบการแจ้งเตือน ไม่มีการประชุมชี้แจงลูกเรือ ไม่มีความพยายามที่จะจัดระบบเรื่องความปลอดภัย
๒.ขาดการทดสอบและละเลยการใช้เครื่องมือช่วยชีวิตบนเรือ
๓.กัปตันสมิธของเรือไททานิก ไม่ได้รับทราบถึงอันตรายที่เป็นสาเหตุหลักอันเป็นเหตุให้เรือประสบหายนะ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิด
๔.เรือชูชีพที่ไม่พอเพียง เป็นความบกพร่องของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ของอังกฤษที่ยังมิได้กำหนดระเบียบขึ้นมา การตรวจสอบอย่างรีบเร่งทำให้เกิดความบกพร่อง
๕.บรู๊ซ อิสเมย์ หุ้นส่วนเจ้าของเรือมิได้สั่งให้กัปตันเพิ่มความเร็วเรือตามที่เป็นข่าว แต่การปรากฏตัวของเขาบนเรืออาจทำให้กัปตันคิดไปเองว่าต้องเพิ่มความเร็ว (ประเด็นนี้บรู๊ซ อิสเมย์ โดนกล่าวหามาตลอด)
๖.ผู้โดยสารชั้น ๓ มิได้ถูกกีดกันที่จะลงเรือชูชีพ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีปฏิบัติในการอพยพเมื่อประสบอุบัติเหตุ
๗.เรือคาลิฟอร์เนียนที่แล่นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเรือไททานิกในเวลานั้น แต่กัปตันของไททานิกไม่ติดต่อขอความช่วยเหลือ

ยังมีรายละเอียดอีกมหาศาลที่ไม่ขอนำมากล่าว

ลองมาดูผลการสอบสวนของรัฐบาลอังกฤษครับ

รัฐสภาอังกฤษมอบให้คณะกรรมการอุบัติภัย (British Wreck Commissioner) เป็นผู้สอบสวนหายนะของไททานิก

คณะกรรมาธิการพาณิชย์ โดยมีผู้พิพากษาศาลสูง ลอร์ดเมอร์สีย์ (Lord Mersey) เป็นประธาน เริ่มต้นสอบสวนเมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ถึง ๓ กรกฎาคม ๒๔๕๕ ณ กรุงลอนดอน

คณะกรรมการใช้เวลาสอบสวน ๖๒ วัน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทะเล พนักงานบริษัทเดินเรือ ผู้ออกแบบเรือ ผู้โดยสารและลูกเรือที่รอดชีวิต ข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหลังโศกนาฏกรรมมาให้การ มีผู้มาให้การกว่า ๑๐๐ คน สำหรับ ๒๕,๐๐๐ คำถาม

เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวเรือ บันทึกการเดินเรือ ลักษณะความเสียหายของเรือ จำนวนคน ก็เพราะเรือไททานิกเป็นเรือของบริษัทเดินเรืออังกฤษ ทางการจึงต้องใส่ใจเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของอังกฤษที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล ที่ถือว่าล้มละลายไปพร้อมกับไททานิกที่อับปาง รายงานผลการสอบสวนจัดพิมพ์แล้วเสร็จใน ๓๐ กรกฎาคม บทสรุปคือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่รัฐสภาสหรัฐก็ดำเนินการคู่ขนานกันไปกับอังกฤษ

มีสาระสำคัญบางส่วนที่นำมาบอกกล่าวดังนี้
๑.มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑,๕๐๐ คน รอดชีวิต ๗๑๐ คน เรือคาร์พาเธียที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยหลังจากเรือล่มแล้วราว ๒ ชั่วโมง ซึ่งช่วยได้เฉพาะคนที่อยู่ในเรือชูชีพและบางส่วนที่ลอยคอในทะเลที่ตรวจพบ
๒.ในช่วงแรกเกิดความสับสนทั้งอเมริกาและรัฐบาลอังกฤษเนื่องจากสื่อรายงานว่า เรือคาร์พาเธียช่วยชีวิตผู้โดยสารจากเรือไททานิกไว้ได้หมดและนำส่งขึ้นฝั่งที่นิวยอร์กไปแล้ว
๓.ดัฟฟ์ กอร์ดอน (Sir Cosmo Duff-Gordon) นักกีฬาชื่อดังผู้มีอันจะกิน ถูกประณามและถูกประจานเรื่องที่ลงเรือชูชีพที่มีความจุ ๔๐ คนหนีไปจากเรือไททานิก พร้อมภรรยาและเลขานุการ เป็นเรือชูชีพลำแรกที่ผละหนีไปในขณะที่ในเรือชูชีพมีผู้โดยสารเพียง ๑๒ คน เพราะจ่ายสินบนให้ลูกเรือ
๔.มีเหตุไฟลุกไหม้ในห้องเก็บถ่านหินบนเรือไททานิกอยู่นาน ๑๐ วันก่อนที่จะออกเรือไป และก็ยังลุกไหม้ไปตลอดทาง แต่ประเด็นนี้มีการบันทึกในรายงานไม่มากนัก (นักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมานำไปเป็นประเด็นกล่าวหาว่าความร้อนจากการลุกไหม้ดังกล่าวทำให้ตัวเรือขาดความแข็งแรง และเป็นเหตุให้เรือต้องอับปาง) คณะกรรมการสอบสวนของอังกฤษยืนยันว่า เรือไททานิกล่มโดยมีสาเหตุจากการชนกับภูเขาน้ำแข็ง
๕.ข้อมูลแจ้งเตือนถึงอันตรายจากภูเขาน้ำแข็งไม่ถึงมือกัปตันสมิธ จึงทำให้กัปตันไม่มีข้อมูลพอเพียงสำหรับการนำร่อง
๖.ในเวลานั้น เรือแคลิฟอร์เนียนสมควรที่จะแล่นฝ่าทะเลน้ำแข็งเข้าไป ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ เลย ซึ่งจะช่วยชีวิตคนได้มากกว่านี้
๗.เรือชูชีพไม่พอเพียงสำหรับการอพยพผู้โดยสารเป็นข้อมูลที่เป็นทางการบางส่วนนะครับ เพราะในโซเชียลเน็ตเวิร์กของฝรั่งเองมีนิยายที่มโนกันเพื่อกล่าวหาแบบเลอะเทอะ ใส่ร้ายป้ายสี อ่านเป็นเดือนก็ไม่จบ

ท่านผู้อ่านสอบถามมา เรื่องบทบาทของกัปตันสมิธ ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ ผู้เขียนลืมนำมาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากเรือสำราญไททานิกชนแฉลบกับภูเขาทะเลน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำสูงเพียง ๑๐๐ ฟุต (มวลน้ำแข็งมหึมาลักษณะแบบภูเขาอยู่ใต้น้ำซึ่งมองไม่เห็น) กัปตันสั่งให้เรือช่วยชีวิต (เรือชูชีพ) ทุกลำเตรียมพร้อมไว้ เขาได้ไปห้องวิทยุเพื่อที่จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ไททานิกใช้ระบบ Morse Code เรือขนส่งคาร์พาเธีย (Carpathia) เป็นเรือที่อยู่ในระยะใกล้ที่สุด คือ ๕๘ ไมล์ ผู้บังคับการเรือ ชื่อกัปตันอาเธอร์ โรสตรอน คิดในใจว่าไม่เชื่อว่าไททานิกจะขอความช่วยเหลือ แต่ก็สั่งการให้เรือของเขาเบนหัวเรือไปช่วยเรือไททานิกทันที

ขณะที่น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักเข้าทางรอยแตกด้านขวาของเรือและกำลังจะอับปาง กัปตันสมิธที่มีค่าตัวแพงที่สุดได้ขึ้นไปที่ดาดฟ้าเรือ ควบคุมผู้โดยสารที่ก่อการจลาจล กัปตันออกคำสั่งให้สั่งเด็ดขาด “ผู้หญิงกับเด็กให้ลงเรือชูชีพก่อน”

กัปตันสมิธ ลูกผู้ชายตัวจริงแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่และขอชดใช้ความผิดที่ตนเองชะล่าใจเรื่องคำเตือนภูเขาน้ำแข็งที่เรือลำอื่นๆ ส่งมาเตือนแล้วยังควบคุมเรือไม่ดีพอ กัปตันสมิธไม่ยอมทิ้งเรือไททานิกไปไหน ขอสละชีพจมลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
ผู้เขียนเรียนรู้มาว่า กัปตันเรือรบทุกลำที่เข้าสู่สนามรบ จะไม่ยอมสละเรือ การสละชีพพร้อมกับเรือที่ตนเองรับผิดชอบ ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับชีวิตของทหารเรือ


เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กุมภาพันธ์ 2560 16:44:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.751 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 02 มิถุนายน 2567 00:24:02