[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 19:43:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง  (อ่าน 8216 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 56.0.2924.87 Chrome 56.0.2924.87


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2560 09:33:02 »




มงคลนอกสู่มงคลใน

สังคมชาวพุทธไทย ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังชื่นชอบในเรื่อง "วัตถุมงคล" ไม่ว่าจะด้วยพุทธศิลป์ พุทธคุณ หรือ พุทธานุสติก็ตาม ถ้านับเป็นปริมาณคงไม่อาจกำหนดนับจำนวนวัตถุมงคลทั้งหมดในประเทศได้ โดยความศรัทธาเชื่อถือต่อวัตถุมงคลทางพระพุทธศาสนานี้ มีปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุมาตั้งแต่สมัยทวารวดี คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 ทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ ธรรมจักร และใบเสมา จนสืบทอดต่อมาถึงปัจจุบัน

เพราะธรรมชาติของคนไม่ว่าเชื้อชาติไหน เผ่าพันธุ์ใด ก็ล้วนต้องการความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความกลัวและความตาย วัตถุมงคล จึงกลายมาเป็นหลักประกันสำคัญที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่เชื่อมั่นยึดถือ แม้ในการศึกสงคราม ก็มีบันทึกเอาไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีการปลุกเสกวัตถุมงคลแจกจ่ายให้นักรบนำติดตัวในระหว่างการออกศึก ดังนั้นวัตถุมงคลจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรักษากำลังใจ ในช่วงภาวะศึกสงคราม บ้านเมืองแตกความสามัคคี หรือช่วงที่มีความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต

มาถึงปัจจุบันการสร้างวัตถุมงคลยังคงทำกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่อาศัยความเชื่อว่า วัตถุมงคลเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยคุ้มครองรักษา ป้องกันภยันตราย และส่งเสริมความสำเร็จ จนลืมความจริงที่สำคัญที่สุดของการสร้างไปว่า เจตนาแรกสุดของการสร้างวัตถุมงคลนั้น เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ประการที่สอง เพื่อเป็นการชักนำไปสู่การรักษาศีลและการเจริญภาวนา เพราะการใช้วัตถุมงคลนั้น ถ้าผู้ใช้มีศีลบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับผลแห่งอานุภาพของวัตถุมงคลมากขึ้นเท่านั้น และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการภาวนา ที่อาจมาในรูปแบบของคำอาราธนา หรือ การปลุกวัตถุมงคล

ดังนั้นครูบาอาจารย์ผู้สร้างวัตถุมงคล จึงมักจะบอกอุปเท่ห์ในการใช้ให้เกิดผลมาด้วย เช่น หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ถ้าใครต้องการใช้วัตถุมงคลของท่านให้เกิดผล ท่านบอกไว้ว่า "ต้องงดเว้นจากการลักทรัพย์ และงดเว้นจากการดื่มสุราโดยเด็ดขาด"หรือ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ท่านจะสั่งกำกับไว้ว่า เมื่อมีพระเครื่องของท่านติดตัว "ให้ภาวนา พุทโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ โดยเฉพาะการด่าพ่อแม่ของตนและผู้อื่น และห้ามผิดสามีภรรยาผู้อื่น อีกทั้งให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน"

เพราะ "ไม่มีวัตถุมงคลใดเป็นของสำเร็จรูป และไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ใดที่ไม่ต้องลงทุน"ดังนั้นเรื่องของวัตถุมงคลในพุทธศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องโง่เขลางมงาย หากแต่เป็นกุศโลบายเพื่อเข้าถึงธรรมในเบื้องต้น เป็นสื่อนำคนให้เห็นอานุภาพและเกิดศรัทธาต่อคุณแห่งพระรัตนตรัย เพราะถ้าไม่มีศรัทธา โอกาสก้าวเข้าไปสู่หลักธรรมชั้นสูงก็เป็นไปได้ยาก วัตถุมงคลจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาศีลและการพัฒนาจิตใจ ส่วนผลในด้านอื่นๆ นั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ที่เสมือนหนึ่งของแถมเท่านั้นเอง

สำหรับบางท่านที่ชอบใจในส่วนของการปฏิบัติโดยตรง ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุมงคลเป็นสื่อน้อมนำ ดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระสุปฏิปันโน แห่ง จ.สุรินทร์ ได้กล่าวไว้ว่า

"ท่านที่มีความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันภาวนาไป ไม่ต้องไปสนใจกับวัตถุมงคลอันเป็นของภายนอก...แต่ผู้ที่ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่น วัตถุมงคลนี้เป็นที่พึ่งไปก่อนเถิด อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัยมีภยันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี เขาก็จะบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง"

สาระสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การกล่าวหาโจมตีบุคคลที่มีรสนิยมแตกต่าง เห็นคนบูชาวัตถุมงคลก็ไปประณามว่างมงาย ดูถูกว่าเป็นเรื่องนอกพระพุทธศาสนา หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ยึดติด มองผู้อื่นด้อยปัญญากว่าตนเองไปเสียหมด โดยไม่ได้เข้าใจหลักการของโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของจริตนิสัย

ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกสิ่งในโลกล้วนมีคุณค่าแห่งการใช้สอย เหมือนหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสระแก จ.อยุธยา ท่านกล่าวไว้ว่า "ติดวัตถุมงคลยังดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล"ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ว่าจะสามารถดึงประโยชน์ออกมาได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าฉลาดจริง ก็ย่อมสามารถเริ่มต้นที่วัตถุมงคลและไปจบลงที่มรรคผลพระนิพพานได้แม้ในชาติปัจจุบัน ซึ่งนั่นก็คือจุดสูงสุดของการเชื่อมมงคลภายนอกเข้าสู่ภายใน





บุญคุณของผู้ให้กำเนิด

ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยการแสดงความคิดต่าง เรื่องหน้าที่และบุญคุณของพ่อแม่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกัน เพราะบางคนมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเรื่องครอบครัว บางคนไม่เคยเจอหน้าพ่อแม่ตั้งแต่จำความได้ บางคนเกิดมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความกดดันและความรุนแรง จึงทำให้พลอยคิดไปว่า พ่อแม่ที่เพียงแค่ให้กำเนิดแล้วทิ้งไปไม่ไยดี หรือพ่อแม่ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลลูก หรือกระทั่งพ่อแม่ที่ใช้ลูกเป็นเครื่องระบายอารมณ์ ถือว่ามีบุญคุณกับลูกจริงหรือ

นับตั้งแต่โบราณกาลมา เหล่าบรรดาพราหมณาจารย์ และฤๅษีชีไพรต่างๆ ในแดนชมพูทวีป ได้ศึกษาเรื่องของโลก ชีวิต และธรรมชาติ จนได้บทสรุปว่าแท้จริงแล้ว พลังแห่งการสร้างโลก คือ พลังในการให้กำเนิด ซึ่งบุคคลที่จะให้กำเนิดได้ คือ พ่อและแม่ จึงมีการสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเป็นศิวลึงค์แทนความเป็นพ่อ และอุมาโยนีแทนความเป็นแม่ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ยังคงเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นพ่อแม่มาจนปัจจุบัน

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้กล่าวยกคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดไว้อย่างสูงเลิศเลอ คือ หากแม้ว่าลูกได้นำพ่อกับแม่ขึ้นนั่งบนบ่าข้างละคน ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยปี คอยปรนนิบัติดูแลด้วยปัจจัยสี่ ด้วยการอบกลิ่น ด้วยการนวดเฟ้น ด้วยการอาบน้ำ ด้วยการดัดกาย และให้พ่อแม่ได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงบนบ่าของลูกอยู่ตลอดเวลายาวนานเพียงนั้น แม้ทำถึงขนาดนั้นก็ยังไม่นับว่าตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ให้สิ้นสุดได้

เพราะพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมว่า "สัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีกรรมเป็นของตน ล้วนเป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และกรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต" ดังนั้นบุคคลที่จะลงมาสู่ตระกูลเดียวกัน คือ เป็นพ่อแม่กับลูกกันได้ จึงต้องมีสายสัมพันธ์ของกรรมที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกันมาอย่างพอดีไม่มีผิดเพี้ยน "ลูกมีบุญบารมีอยู่ในระดับใด ก็จะลงมาสู่ครรภ์ของแม่ในตระกูลที่มีบุญบารมีในระดับเดียวกันนั้น ชนิดไม่ขาดไม่เกิน" จึงส่งผลให้ทั้งรูปลักษณะภายนอกและอุปนิสัยภายในของลูกมีความคล้ายคลึงกับพ่อแม่ ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ จะใช้คำว่า "พันธุกรรม" ส่วนพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "ผลแห่งกรรม" ซึ่งก็มิได้มีความหมายแตกต่างกัน เพียงแต่ความรู้ของพระพุทธศาสนานั้น สามารถอธิบายได้ก้าวล้ำล่วงลึกเกินไปกว่าสิ่งที่มองเห็นได้จากเนื้อหนังจนทะลุไปถึงต้นเหตุที่นำมาสู่ผลได้อย่างแท้จริง

จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าชีวิตสักชีวิตจะมาเกิดเป็นคนในท้องของแม่ เพราะกว่าจะหาเจอพ่อแม่ที่มีบุญกรรมเสมอกับตัวเองได้นั้น ถือเป็นเรื่องหนึ่งในร้อยล้านพันล้านหรือยิ่งกว่านั้น ลองนึกภาพดูว่าการจะหาบุคคลในโลกที่หน้าตาและอุปนิสัยคล้ายคลึงกันจนแทบมิผิดเพี้ยนเจอนั้น มีโอกาสสักกี่มากน้อย ดังนั้นพ่อแม่แม้เพียงแค่ให้ที่เกิดอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นบุญคุณมากล้นเกินกว่าจะประมาณแล้ว เพราะถ้าไม่มีพ่อแม่คู่นี้ก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องรออีกกี่หมื่นกี่ล้านปี กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ส่วนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดนั้น จะเป็นเพราะสิ่งใด จะเจตนาหรือไม่เจตนา นั่นก็มิอาจกลบลบความจริงของการให้ที่เกิดนี้ได้ ยิ่งถ้าพ่อแม่ยังให้ความรัก ให้การเลี้ยงดูอุปถัมภ์อย่างดี นั่นก็ยิ่งสุดจะพรรณนาถึงคุณอันยิ่งใหญ่นั้นได้จนหมดสิ้น

ส่วนที่เด็กสมัยนี้มักกล่าวหาว่าพ่อแม่ไม่ดี ไม่เข้าใจ ไม่เอาใจใส่ดูแล คอยกดดัน หรือกระทั่งใช้ความรุนแรง นั่นเป็นเพราะความไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแจ่มแจ้ง เพราะที่ไม่ดีจริง มิใช่พ่อแม่ แต่เป็นเหตุที่ตัวเด็กสร้างไว้ในอดีตไม่ดีเองต่างหาก ทุกอย่างไม่มีคำว่าบังเอิญ มีแต่เหตุที่คู่ควรกับผล เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ สิ่งที่ได้รับในปัจจุบันก็เหมาะสมแล้วกับการกระทำในอดีต ส่วนสิ่งใดที่จะได้รับสืบต่อไปในเบื้องหน้า ก็คู่ควรแล้วกับการกระทำในปัจจุบัน

พระคุณของแม่นั้น ยิ่งใหญ่สุดฟ้าสุดดิน จะหาสิ่งใดมาเทียบเทียมอุปมานั้นหรือก็หามิได้ แค่เพียงพระคุณที่อุ้มท้อง ยอมทุกข์ทนลำบากอยู่ 9 เดือน และผ่านความเจ็บปวดทรมานจากการคลอด ก็มิอาจกำหนดนับจดจารลงในสิ่งใดๆ ได้หมดสิ้น ถึงแม้บางคนอาจไม่ได้รับความสุขจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้าเถิดว่า "อสาธุง สาธุนา ชิเน พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี" คือ ไม่ว่าท่านจะดีกับเราหรือไม่ ก็ควรตอบแทนการให้ที่เกิดด้วยการทำดีกับท่านให้ถึงที่สุด แล้วที่สุดความดีที่ทำให้แก่ผู้มีคุณนั้นจะกลับสนองคืนสู่เราเป็นร้อยเท่าพันทวี ด้วยอานุภาพของกฎแห่งกรรม!





พังเพราะโทสะ

ข่าวดังที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในช่วงสัปดาห์แห่งความรักนี้ คงไม่มีเรื่องไหนถูกหยิบยกมาถกกันเกินไปกว่าเหตุการณ์ "ลุงวิศวะยิงเด็ก ม.4" ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์รุนแรงบนท้องถนน โดยความ ขัดแย้งที่มีนั้น มาจากความมักง่ายไม่เคารพกฎจราจรและความไม่ทนต่อเรื่องราวที่ขัดใจ จนนำไปสู่เหตุการณ์ปรอทแตกเปลี่ยนชีวิต ซึ่งถ้าจับเข่าคุยกันตรงๆ สำหรับการขับขี่ของเมืองไทย คงน้อยคนนักที่จะกล้าบอกว่าตัวเองไม่เคยหงุดหงิดเวลาใช้รถ ทั้งๆ ที่ปกติ ในเวลาอื่นก็สามารถอดทนอดกลั้นได้เป็น อย่างดี

ในสังคมของชาวอินเดีย มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจที่ควรแก่การเล่าสู่กันฟัง คือ "ชาวอินเดียไม่ชอบความโกรธ" ถ้ามีใครเกิดโมโหขึ้นมา ผู้คนจะมายืนล้อมวงดู เพราะผู้โกรธสำหรับที่นี่ คนเขามองว่าเป็นของตลก เป็นเหมือนจำอวดที่แสดงงิ้วให้ชาวบ้านดู ซึ่งปกติก็หาดูได้ไม่บ่อยครั้งนัก เพราะคนอินเดียไม่นิยมโกรธกัน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการใช้รถใช้ถนนของคนที่นี่ ถ้าใครเคยมาสัมผัสจะทราบว่าเขาขับขี่กันปานประหนึ่งว่าโลกกำลังจะแตก มีแต่ความวุ่นวาย บีบแตรกันสนั่นหวั่นไหว แทรกทุกซอกหลืบที่มีทางไป

บางครั้งปาดหน้า เอาสีข้างมาถู ชาวอินเดียก็เพียงแค่บีบแตรเป็นสัญญาณเตือน ให้รู้ เมื่อเกิดเหตุรถชนกันขึ้นมา ถ้าไม่ถึงกับใหญ่โต จนมีบาดเจ็บล้มตาย หรือ รถเสียหายไปสักครึ่งคัน คนอินเดียก็เพียงแค่ส่ายศีรษะสองสามครั้ง แล้วก็เป็นอันเลิกรากันไปเท่านั้น จนครั้งหนึ่งผู้เขียนอดไม่ได้ต้องถามคนที่นี่ว่า "ขับรถชนกันแบบนี้ไม่โกรธกันบ้างเหรอ" ซึ่งพ่อหนวดงามฟันขาวก็ตอบ ยิ้มๆ ว่า "จะโกรธกันทำไมภันเต รถเขามีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้โชว์ ดังนั้นมันก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา"

ซึ่ง "ความโกรธ" นี้ พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงโทษเอาไว้อย่างน่ากลัวหลายประการ คือ "ผู้มักโกรธย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ผู้มักโกรธย่อมนอนเป็นทุกข์ ผู้มักโกรธมัก สูญเสียประโยชน์จากสิ่งที่จะพึงได้พึงมี ผู้มักโกรธย่อมเสื่อมจากยศ ลาภ และทรัพย์ ผู้มักโกรธญาติมิตรมักหลบลี้หนีหน้า ผู้มักโกรธย่อมไม่มีความเจริญใดๆ ผู้มักโกรธเมื่อตกตาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก..."

โดยพระองค์ยังทรงตรัสไว้อีกว่า "ฆ่าความโกรธได้ ย่อมเป็นสุข" ดังนั้นจะมากจะน้อย ชาวอินเดียก็ย่อมได้รับรสแห่งพระสัจธรรมอมตะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ทำให้ค่านิยมการไม่เอาความโกรธกลายเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันของผู้คน

เนื้อตัวของความโกรธนั้น มีพื้นฐานมาจากทิฐิมานะ การถือตัวถือตน พอมีสิ่งขัดข้องเข้ามากระทบ ความถือตัวตนก็บังเกิดกำเริบขึ้น ได้ยินแล้วร้อนหู ได้เห็นแล้วร้อนตา ส่วนใหญ่มักเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบ เอาตัวเองเข้าไปวัด แล้วกำหนดมาตรฐานขึ้นมาเอง ถ้าสามารถทนรับวิบัติผลของความโกรธที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจงโทษไว้ได้ ก็ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร เพียงแค่อยู่ให้ห่างจากผู้คนเอาไว้ จะได้ไม่ไปสร้างโทษภัยให้แก่ผู้อื่น แต่ถ้าอ่านแล้วได้พิจารณาเห็นโทษของความโกรธอย่างชัดเจน ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ถอนพิษภัยของความโกรธให้หมดสิ้น ก็ควรทำการฝึกฝน

ต้องฝึกจิตให้มีกำลังด้วยสมาธิ ฝึกคิดให้เป็นด้วยโยนิโสมนสิการ ฝึกรู้เท่าทันให้เป็นด้วยการเรียนรู้สภาวะ และฝึกปล่อยวางให้เป็นด้วยปัญญา ทันทีที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส หรือได้นึกถึง แล้วเกิดความไม่ชอบใจ ก็ปล่อยให้จบลงตรงนั้น กองทิ้งไว้ตรงนั้น ไม่ต้องหยิบมาปรุงโทษภัยใส่ตัวเองต่อ

หรือ ถ้ากระทบแล้วอารมณ์โกรธเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาดูให้ชัดว่า สิ่งที่ผู้อื่นเขาทำให้เห็น เขาพูดให้ได้ยิน เป็นเรื่องจริงหรือไม่? ถ้าเป็นเรื่องจริง เราก็ไม่ควรไปโกรธเกลียดเขา เพราะเขาอุตส่าห์ลงทุนยอมเป็นกระจก ส่องให้เห็นภาพอันหน้าเกลียดน่าชังของเรา เพื่อให้เราแก้ไขให้ดีขึ้น ก็ยกให้เขาเป็นครู ถ้านักเรียนคนไหนเกลียดครู นักเรียนคนนั้นย่อมเอาดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเป็นจริง ก็ควรรับไว้ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองต่อไป

ส่วนถ้าสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูด ไม่มีความจริง ก็นับว่าเขาเป็นบุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา แม้กระทั่งความจริงเป็นเช่นไรก็ยังไม่สามารถแยกแยะได้ คนแบบนี้จึงน่าสงสารมากกว่าน่าโกรธ และคู่ควรแก่การให้อภัย เพราะเราจะโกรธหรือไม่โกรธเขา จะเบียดเบียนเขาหรือไม่ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ถ้าหมั่นพิจารณาอยู่แบบนี้ อารมณ์โกรธก็จะไม่ค่อยสะสมอยู่ในจิต จนนำไปสู่การฆ่าความโกรธได้อย่างแท้จริง

ต่อให้ใครจะชนะผู้อื่นในสงครามได้ถึงพันครั้ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "ยังไม่ถือว่ายอดเยี่ยม" ส่วนผู้ใดเพียงชนะใจตัวเองได้สักเพียงครั้งเดียว ด้วยการเอาชนะความโกรธในใจได้ นั่นแล ที่พระองค์ทรงเรียกว่า "ยอดเยี่ยม"

คนที่ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยา ไม่ผูกพยาบาทอาฆาต มองโลกตามความเป็นจริง และยอมรับความจริงของโลกได้ คือ คนที่จะอยู่ในโลกนี้และโลกไหนๆ ได้อย่างมีความสุขอย่างที่สุด



งานสำคัญของชีวิต

ในโลกยุคสงครามข่าวสาร ที่ใครหยุดนิ่งคือผู้พ่ายแพ้ จึงทำให้คนสมัยนี้ต้องปากกัดตีนถีบ แก่งแย่งแข่งดีกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จในชีวิต หน้าที่ และการเงิน จนต้องจำกัดจำเขี่ยเวลาสร้างโอกาสทางธรรมของตน ที่เดิมมีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก ทำให้โลกเต็มไปด้วยความแปรปรวนจากความไร้ศีลไร้ธรรม คนปกติกลายเป็น คนไม่ปกติ ส่วนคนไม่ปกติกลับกลายเป็นธรรมดา จนคนดีแทบหาที่ยืนในสังคมไม่ได้

ความเจริญทางวัตถุที่แลกมาด้วยความบกพร่องทางศีลธรรมและความสุขในครอบครัว ดูเหมือนจะเป็นแรงปรารถนาในเบื้องต้น แต่เมื่อลิ้มรสแล้ว กลับมีหลายคนที่หันหลังให้ แล้วเดินไปสู่เรื่องพื้นฐาน คือ ความสุขบนรากเดิมแห่งศีลธรรมและการแบ่งปันอีกครั้ง ดังมี ให้เห็นอยู่มาก ทั้งที่เป็นเศรษฐีคนดัง ผู้ประสบความสำเร็จ แต่พอถึงจุดหนึ่งกลับนำทรัพย์สินของตัวเองที่หามาได้อย่างยากลำบากออกแจกจ่ายคืนให้กับสังคม จุนเจือคนด้อยโอกาส และตนกลับใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ

เช่น นักแสดงชื่อดังจากฮ่องกงอย่าง โจวเหวินฟะ ผู้ซึ่งติดตาชาวไทยในมาดของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ที่โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช้ของแบรนด์เนม นั่งรถโดยสารประจำทาง หรือ รถไฟใต้ดิน ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า ใส่เสื้อผ้าในชีวิตประจำวันด้วยชุดเดิมๆ และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศยกทรัพย์สินเกือบ 5,000 ล้านบาทที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตให้การกุศลหลังจากเขาเสียชีวิต

หรือ พระเอกชื่อดังจากฮอลลีวู้ด อย่าง คีอานู รีฟส์ ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นนักแสดงตลอดระยะเวลาหลายปี แต่กลับใช้ชีวิตอย่างสมถะ อยู่แฟลตเล็กๆ ไปไหนมาไหนคนเดียวด้วยรถไฟใต้ดิน ไม่ชอบใส่เสื้อผ้าราคาแพง นิยมการบริจาครายได้ให้การกุศล และศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง จนถึงขนาดอธิบายหลักธรรมในทางพุทธศาสนาได้ว่า

"เมื่อเรามีทุกข์ เรามักหาที่พักพิง สิ่งที่เราใช้กันประจำ คือ เหล้า เซ็กซ์ ยา อำนาจ หรือ เงินตรา แต่ในที่สุด มันก็ไม่ยั่งยืนจนเราไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริงกันแน่ ในปรัชญาแห่งพุทธ ที่พึ่งที่ดีที่สุด คือ พระรัตนตรัย ซึ่งประกอบไปด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ คือ องค์พระศาสดา ผู้เปรียบเหมือนนายแพทย์ที่ค้นพบวิธีพ้นทุกข์ พระธรรม คือ ตัวยาที่จะฆ่าเหตุแห่งทุกข์ออกไปจากเรา และ พระสงฆ์ คือ คณะแพทย์ที่รู้ว่าเราเหมาะกับยาใด เรียนรู้พระรัตนตรัย จะทำให้เราพบกับความสุขที่ยั่งยืน"

ซึ่งแท้จริงแล้วการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงการชักพาออกจากสังคมแต่ฝ่ายเดียว หรือไม่ใช่การชักชวนให้ยากจน อดมื้อกินมื้อ แต่การเรียนธรรมะจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ สามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ เพื่อพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตอยู่กับโลกอย่างปลอดภัย

โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน ผู้เรียนธรรมะจะเข้าอย่างแจ่มแจ้งว่า การทำงานทางโลกก็พึงทำไปตามกำลังของร่างกาย โดยแข่งขันกับตัวเอง แก้ไขซ่อมแซมไปตามหน้าที่ ได้มากหรือน้อยก็ควรพอใจตามกำลังของตัวเองในแต่ละวัน ให้ถือเอาความพอดีของกายกับจิตเป็นที่ตั้ง แล้วใจจะเป็นสุขพร้อมกับความสำเร็จของ การงาน เพราะคำว่าเสร็จจริงๆ ของงานทางโลกนั้นไม่มี ดังนั้นผู้ฉลาดย่อมไม่ปล่อยให้งานทางโลกกลืนกินเวลาทั้งหมดของชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว มิเช่นนั้นอาจจะแก่เกินแกงหรือตายก่อนที่จะได้ทำงาน "ทางธรรม"

เพราะสาระสำคัญของการเกิด คือ การสานต่องานทางธรรมให้ถึงเป้าหมายที่ปลายทาง คือ การพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง โดยที่งานทางธรรมนั้นแตกต่างจากงานทางโลก คือ มีการจบลงได้ตามลำดับ พอจบแล้วคำว่าเสื่อมถอยให้ต้องกลับมาซ่อมแซมอีกย่อมไม่มี จึงทำให้งานในส่วนนี้มีความเจริญขึ้นโดยฝ่ายเดียว สวนทางกับโลกที่ย่อมมีขึ้นและมีลง

ดังนั้นถ้าต้องการชีวิตที่สมบูรณ์แบบจริงๆ ก็ควรเฉลี่ยเวลาของตนให้เหมาะสมทั้งงานโลกและงานธรรม จัดสรรเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งนี้เองจะนำเราไปสู่ความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต แล้วเราจะกลายเป็นผู้หนึ่งที่ประสบชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในความเป็นมนุษย์ที่เกินกว่า
ใครต่อใครอีกมากมาย


ฤทธิ์เหล้าสลายในแดนพุทธภูมิ

Alcohol is not allowed หรือ No Alcohol เป็นแผ่นป้ายที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในโรงแรมของเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดช่วงฤดูกาลแสวงบุญของชาวพุทธที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ทั่วทั้งรัฐพิหารได้ออกประกาศกฎหมายว่าด้วยการห้ามซื้อ-ขาย และบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเต็มรูปแบบ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีจนถึงตลอดชีวิต และปรับเงินจำนวน 100,000 ? 1,000,000 รูปี

โดยผู้ที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้คือ นายนิธิศ กุมาร ผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเขาได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกรัฐสภาจำนวน 243 คน ตลอดจนได้รับแรงส่งเสริมจากประชา ชนอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากพวกเธอเชื่อว่าการที่ผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว การคุกคาม รวมทั้งปัญหาความยากจน

แต่มาตรการนี้ก็มิได้ผ่านมาบนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะทันทีที่ประกาศใช้กฎหมายครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2559 บรรดาผู้เสียผลประโยชน์อย่างกลุ่มคนค้าเหล้าก็ออกมาคัดค้านแบบหัวชนฝา โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานบ้างล่ะ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนล่ะ หรือทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 5 หมื่นล้านรูปีบ้างล่ะ

ซึ่ง นายนิธิศ กุมาร ก็ตอบกลับแบบหน้าตาเฉยว่า "การซื้อขายเหล้า ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน" และเขาเองก็ไม่สนว่าภาษีของเครื่องดื่มทำลายสติปัญญาเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับรัฐมากขนาดไหน เพราะนายกุมารเชื่อว่า ต่อให้เป็นเงินมากกว่านี้ก็ไม่คุ้มที่จะแลกกับความเสื่อมทรามของสังคมด้วยฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ จนพวกสมาคมพ่อค้าเหล้าต้องรีบวิ่งแจ้นไปฟ้องร้องต่อศาลสถิตยุติธรรม ศาลจึงมีคำสั่งระงับใช้กฎหมายชั่วคราว และเมื่อพิจารณาถึงที่สุดแล้ว ศาลสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กฎหมายนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะเห็นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม และเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกหลานชาวอินเดียอย่างแท้จริง

อินเดียกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแม้จะต้องสูญเสียรายได้ไปอย่างมหาศาล ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ รู้ว่าการงดเว้นจากสุราเมรัยปรากฏหราอยู่ในเรื่องศีล 5 อีกทั้งโดยมากก็ทราบว่าโทษของสุราเมรัยร้ายแรงขนาดไหน ตั้งแต่กรอกเข้าปากก็ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าในร่างกายอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งเยื่อบุในปากและลำคอ กระเพาะอาหาร สำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ต่อมเพศ ตับ ไต หัวใจ กระแสเลือด และสมอง ยังไม่นับรวมผลกระทบในแง่ของสังคม เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง ทำร้ายคนรัก ทำลายครอบครัว ฆาตกรรม ข่มขืนอนาจาร เป็นต้น

แม้โทษมหันต์เห็นปานนั้น แต่ผู้บริหารประเทศกลับไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง โดยมักจะหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นของอ้างทุกครั้งที่มีใครขอให้พิจารณาระงับการขายเหล้าในแผ่นดิน ซึ่งผ่านมาหลายปีก็ยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นแต่อย่างไร แต่สิ่งที่เสียไปคือคุณภาพชีวิตของประชากรอันตกต่ำลงเรื่อยๆ ซ้ำร้ายเมื่อรัฐบาลส่งเสริมอาชีพทีไร ก็พบว่าการผลิตเหล้ามักเป็นอันดับต้นๆ ที่คิดออกเสมออีกด้วย นี่นับเป็นความแตกต่างในเรื่องวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง

สำหรับชาวพุทธที่รักและศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงควรฟังคำเตือนด้วยความห่วงใยของพระองค์เอาไว้บ้างว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์"

อีกทั้งโทษในปัจจุบันที่ท่านบอกไว้ คือ 1.เสียทรัพย์ 2.ก่อการทะเลาะวิวาท 3.เกิดโรค 4.ถูกติเตียน 5.เป็นผู้ไม่มียางอาย 6.บั่นทอนกำลังสติปัญญา

โดยบางท่านอาจคิดว่าการดื่มเหล้าที่บ้าน ตามลำพังไม่น่าจะบาปหรือสร้างโทษกับใคร ก็ควรทราบไว้ว่า "ทุกอึก" ที่เครื่องดื่มประเภทนี้ผ่านลำคอลงไปไม่เพียงแต่จะทำลายสุขภาพร่างกายเท่านั้น ยังทำลายปัญญา บั่นทอนความฉลาด ลดประสิทธิภาพของมันสมองลงเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นพิษร้ายของแอลกอฮอล์ยังบีบให้สติเล็กลง แล้วผลักดันให้กิเลสทุกชนิดพองโตขึ้นเรื่อยๆ จนความยับยั้งชั่งใจจะสูญสิ้นไป ทำให้สามารถสร้างความชั่วทุกอย่างได้อย่างไร้ยางอายได้ในที่สุด

ส่วนการดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคมที่หลายคนเห็นว่ายังเป็นเรื่องจำเป็นนั้น ก็ขอบอกกล่าวท่านที่รักทั้งหลายด้วยคำของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ที่จำไม่เคยลืมเลือนว่า "ถ้ายังมีความจำเป็นต้องละเมิดศีล ก็ยังมีความจำเป็นต้องลงนรกอยู่วันยังค่ำ"


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กันยายน 2560 11:21:43 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 58.0.3029.81 Chrome 58.0.3029.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 28 เมษายน 2560 16:05:39 »




ธรรมะชะลอความแก่

หลายคนอาจเคยเห็นและสงสัยว่า ทำไมผู้ปฏิบัติธรรมหลายคนถึงดูหน้าตาอ่อนกว่าวัยไม่ค่อยแก่ชรา หรือมีร่างกายเสื่อมโทรมไวเหมือนกับคนทั่วไป โดยเฉพาะพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติภาวนาหลายรูป เช่น หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่ พระสุปฏิปันโนที่โด่งดังระดับประเทศ ซึ่งมีใบหน้าผ่องใส ดูอย่างไรก็ไม่น่าเกิน 60 แต่ปรากฏว่าอายุจริงของท่านก็ 83 ปีเข้าไปแล้ว หรือ พระอาจารย์ชยสาโร ภิกษุชาวอังกฤษ ลูกศิษย์หลวงพ่อชา แห่งวัดหนองป่าพง ซึ่งปัจจุบันอายุเฉียด 60 แต่กลับยังมีใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์อย่างน่าประหลาดใจ

และไม่เฉพาะแต่พระสงฆ์เท่านั้น แม้แต่ฆราวาสหลายท่านที่มีการปฏิบัติสมาธิภาวนามาอย่างต่อเนื่อง ก็มักจะอยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ คือ มีหน้าตาอ่อนเยาว์แลดูเปล่งปลั่งผ่องใส ผิดกับอายุอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องพึ่งการออกกำลังกาย การกินอาหารวิเศษเลอเลิศ หรือการไปทำสปาที่ไหนทั้งสิ้น

ในทางทฤษฎี ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคยทำการทดลองกับนักปฏิบัติสมาธิจำนวน 36 ท่าน จนพบว่าโดยเฉลี่ยของผู้ปฏิบัติสมาธิมีอัตราการใช้ออกซิเจนลดลง 17% จากคนทั่วไป เมื่อร่างกายใช้ออกซิเจนน้อยลง อัตราการเผาผลาญในร่างกายก็จะลดลง และเมื่อมีการเผาผลาญลดลง ร่างกายจึงเสื่อมถอยน้อยลงตามไปด้วย ทำให้หน้าตาแลดูอ่อนกว่าวัยและอายุขัยก็จะยืนยาว

หรืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โดย ทอนย่า เจค็อบ ร่วมกับเอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเทโลเมียร์ ในปี พ.ศ.2552 ได้ใช้อาสาสมัคร 30 คน ฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อผ่านช่วงเวลาดังกล่าวจึงค้นพบว่าการทำงานของเอนไซม์เทโลเมอเรส จากอาสาสมัครที่ฝึกสมาธิทำงานได้ดีขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 30% ทั้งยังเพิ่มปริมาณการหลั่งเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการชะลอความแก่และความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และยังช่วยทำให้มีอายุยืนขึ้นอีกด้วย

สำหรับในแง่ของนักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์หลายรูปมักตอบไว้สั้นๆ แต่ได้สาระครบถ้วนว่า "การภาวนาจะทำให้มีกำลังใจเยือกเย็น ผ่อนคลาย ไม่เครียด และเมื่อไม่เครียด ร่างกายก็จะทรุดโทรมช้าลง"

ดังนั้น การฝึกสมาธิ จึงมักปรากฏสอดแทรกอยู่ในเคล็ดลับการมีสุขภาพดีและมีอายุยืน ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก แม้แต่ดาราฮอลลีวู้ดหลายท่านก็หันมาฝึกสมาธิแบบหวังผลในเรื่องของความผ่อนคลาย และการมีใบหน้าอ่อนกว่าวัย เช่น ดาราสาวที่เคยได้ชื่อว่าสวยที่สุดในโลก อย่างกวินเน็ต พาโทรว์ ก็ได้รับการเปิดเผยไว้ในหนังสือ The Body Doesn"t Lie ว่า เธอจะนั่งทำสมาธิผ่อนคลาย วันละ 3 เวลา ครั้งละ 15 นาที ในทุกวัน หรือ ฮิวจ์ แจ๊กแมน (จาก X-men) ที่แม้จะไม่เคยบอกว่านับถือพุทธ แต่ก็ให้สัมภาษณ์ว่าเขาทำสมาธิวันละ 2 ครั้ง มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ธรรมะที่ชะลอความแก่ในพระพุทธศาสนา ก็มิได้มีเพียงการนั่งสมาธิเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะวิธีเพิ่มเติมเอาไว้ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลอีกว่า "คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภค ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า ครองอายุอยู่ได้นาน"

ด้วยการเป็นคนมีสติทุกเมื่อ คือ อยู่ด้วยสติ มีธรรมะ ไม่ประมาทในชีวิต จะทำให้ใจสบาย ไม่เครียด ไม่ยึดติดกังวล และรู้จักในการยับยั้งชั่งใจในการกิน ไม่ใช่เอะอะนึกอยากขึ้นมาก็ตะบี้ตะบันกินมันทุกอย่างที่ขวางหน้า ถ้าทำได้โรคภัยไข้เจ็บก็จะเบียดเบียนน้อย แก่ช้า และมีอายุยืนอีกด้วย พอพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ซึ่งเป็นปุถุชนเหมือนกับคนทั่วไปในปัจจุบัน ได้ฟังเท่านั้นก็ไม่รอช้า มีรับสั่งให้มหาดเล็กท่องจำพุทธโอวาทนี้ให้แม่นยำ และคอยกล่าวขึ้นมาขณะที่พระองค์เสวยทุกมื้อ ไม่ช้าไม่นานผลดีก็บังเกิดแก่พระองค์ ทำให้มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี แลดูอ่อนเยาว์ลงไป จนทำให้คนทั่วเมืองแปลกประหลาดใจไปตามๆ กัน

แต่ถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสเรื่องการปฏิบัติที่ทำให้แก่ช้า ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะหลีกเลี่ยงความแก่และความตายได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัจธรรม คือ ความจริงของชีวิต ที่แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังต้องดับขันธปรินิพพาน

ไม่ว่าใครจะพยายามต้านทานความชราไว้เพียงใด ถึงที่สุดแล้วทุกคนก็ล้วนเดินไปบนเส้นทางสายเดียวกัน ดังนั้น การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอทั้งกายและใจ ไม่ละเลยคนรอบข้างที่มีบุญคุณต่อกัน และขวนขวายสร้างบุญกุศลในทุกลมหายใจ จะช่วยให้เราเป็นผู้มีอายุยืนอย่างมีความสุข และสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างยาวนานที่สุด





สง่างามด้วยการปฏิบัติธรรม

ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่อง "ทำบุญอย่างไรให้ถูกหวย" จึงทำให้มีผู้มารบเร้าให้เขียน "ทำบุญอย่างไรให้สวย" บ้าง ซึ่งสวยในความหมายที่ว่านี้ ไม่ใช่สวยเพียงภายในเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการสวยส่งออกมาสู่ภายนอก คือ หน้าตาดี รูปร่างดี ผิวพรรณดี ให้ชนชาวโลกได้รับรู้ด้วย ซึ่งก็นับเป็นความมหัศจรรย์ในธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ของพระพุทธองค์ ที่ไม่ว่าหวังผลในระดับใด ถ้าปฏิบัติจริงก็มีผลให้อย่างครบถ้วนทุกประการ ทั้งความสุข ความบริสุทธิ์หมดจด และความงดงาม ตั้งแต่ชาตินี้จนถึงพระนิพพาน

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อนำไปสู่ความงดงามตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ไม่น้อย คือ

1.ให้ทานด้วยศรัทธา ไม่ว่าจะให้ทานชนิดใดก็แล้วแต่ขอให้สร้างปีติให้เกิดขึ้นกับใจมากที่สุด แล้วส่งทานนั้นออกไปด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ผลที่ได้คือ (ในสัปปุริสสูตร) จะทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากในอนาคต อีกทั้งยังจะส่งผลให้ "เป็นผู้ที่มีรูปงามชวนมอง น่าเลื่อมใส ผิวพรรณเปล่งปลั่งงดงามอย่างยิ่ง" ได้อีกด้วย เหมือนเวลาเราเห็นคนใส่บาตร ทั้งที่บางทีหน้าตาก็อาจไม่โดดเด่น แต่กลับเปล่งประกายฉายแววให้ชวนมองด้วยความชื่นชมอยู่เป็นนานสองนาน เป็นต้น

2.สร้างหรือซ่อมแซมพระปฏิมา เคยมีคนเคยสงสัยว่า นางวิสาขาทำบุญด้วยอะไรทำไมจึงได้เบญจกัลยาณี คือ ผมสวย ผิวสวย ปากสวย ฟันสวย และสวยสมวัยตลอดชีวิต พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าอดีตชาติของนางว่า เคยซ่อมแซมพระปฏิมาให้กลับมาสวยสง่า จนยังให้เกิดความปลาบปลื้มยินดีเป็นล้นพ้น ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่สร้างรูปเคารพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้คนได้เห็นแล้วเกิดความศรัทธาเลื่อมใส กราบไหว้บูชาจนเกิดมหากุศลจิตติดตัวเป็นยานนำร่องไปสู่สุคตินั้นเอง จึงส่งผลให้นางวิสาขาได้ความงามเป็นเลิศติดตัวมาด้วยตราบเท่าที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่

3.กวาดลานพระเจดีย์ เพราะคนโบราณเชื่อกันว่า ผู้ที่มีโรคผิวหนังพุพอง โรคเรื้อน หรือมีสิวฝ้าหน้ายับเยิน ถ้าได้มาเก็บขยะ กวาดใบไม้ ทำความสะอาดลานวัด หรือลานพระเจดีย์ ให้สวยงามสะอาดตาแล้วนั้น จะทำให้ผิวพรรณวรรณะงดงามและทำให้โรคร้ายทั้งหมดสลายตัวไป ซึ่งความจริงเรื่องนี้มีมูลมาจากพระไตรปิฎก ที่พระนางโรหิณี น้องสาวพระอนุรุธเถระ เป็นโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจจนต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คนเพราะความอับอาย แต่พระอนุรุธเถระท่านแนะนำให้ไปทำบุญกวาดลานวัด ไม่นานโรคผิวหนังก็หาย กลายเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามในชาตินั้น

4.รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าหมั่นชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใสด้วยศีลอยู่อย่างสม่ำเสมอ ความเกลี้ยงเกลาหมดจดจะส่งออกจากใจสู่ภายนอก ศีลจะตกแต่งให้เนื้อหนังร่างกายมีความสมส่วนบริบูรณ์ขึ้นตามลำดับ จนนำไปสู่ความงดงามไร้ที่ติ เหมือนกับใจที่ไม่มีความแปดเปื้อนใดๆ จากการละเมิดศีลเหลืออยู่

5.ใช้เมตตาเป็นยารักษาใจ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสเหตุแห่งความอัปลักษณ์เอาไว้ว่า "ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ" ดังนั้นถ้าปรารถนาจะงามจึงต้องเป็นผู้หมั่นเจริญเมตตาให้จิตใจชุ่มเย็นด้วยความอ่อนโยน ไม่โกรธง่าย มีขันติ ให้อภัยคนให้เป็นปกติ แล้วความผุดผ่องสว่างไสว น่ารักน่ามอง ดูเปล่งประกาย ยิ่งดูก็ยิ่งสดชื่น ก็จะฉาบฉายโลมไล้ทั่วใบหน้าเป็น "เมตตา" มหานิยมอย่างแท้จริง

6.ยิ้มไว้ให้เกิดสุขอยู่เสมอ การยิ้มเป็นธรรมคำสั่งสอนที่หลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์เป็นจำนวนมากมักจะบอกสอนอยู่เสมอ ลูกดื้อสามีไม่ดีก็ยิ้ม ใครด่าว่าหาเรื่องให้ปวดหัวก็ยิ้ม เจออุปสรรคปัญหาก็ยิ้ม ผิดหวังก็ยิ้ม โกรธเกลียดใครก็ยิ้ม หนักแค่ไหนก็ยิ้ม ฝึกยิ้มเอาไว้เสมอ อย่างน้อยให้ปากยิ้มก่อน ต่อไปใจก็จะค่อยๆ ยิ้มง่ายตาม ถ้าใครเคยเข้าไปหาพระแล้วเห็นท่านยิ้มจนเย็นใจด้วยเมตตาอย่างไร ถ้าเราฝึกยิ้มจนชินได้ ก็จะมีใจเย็นเป็นเมตตาอย่างนั้น ใครพบเห็นก็ชื่นใจชวนมอง เป็นมหาเสน่ห์ไปโดยปริยาย แม้แต่นางงามจักรวาลก็ยังต้องแข่งกันที่รอยยิ้ม

7.ฝึกเจริญสมาธิภาวนา ถ้าทำได้จะช่วยให้จิตใจและทุกอย่างในร่างกายมีความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียดอย่าง cortisol และ adrenaline ลดน้อยลง เมื่อความเครียดลดลง ริ้วรอยก็ลดตามไปด้วย นอกจากนั้นการนั่งสมาธิยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนที่มีความสามารถในการต่อต้านริ้วรอยและช่วยชะลอวัย อีกทั้งในช่วงที่หายใจเข้าหายใจออกในขณะนั่งสมาธิ ร่างกายจะมีการนำออกซิเจนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ผิว ช่วยทำให้ผิวได้ฟื้นฟู จึงแลดูอ่อนกว่าวัย เปล่งปลั่งผ่องใสมากขึ้นอีกด้วย

วิธีการสร้างความสวยสง่าให้เกิดขึ้นเหล่านี้ มิใช่สิ่งที่ยากเย็นเกินกว่าจะทดลองปฏิบัติ เพียงมีความตั้งใจกระทำสิ่งใดทุกอย่างให้ต่อเนื่อง ย่อมจะส่งผลให้ชีวิตดีขึ้น เต็มไปด้วยความสวยสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จิตใจผ่องใสบริสุทธิ์ขึ้น และยังช่วยดับทุกข์ทั้งหมดได้อีกด้วย




เมืองทองแห่งธรรม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากสุดในอินเดีย คือ กว่า 200 ล้านคน พึ่งจะผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ โดยพรรคภารติยะ ชันนะตะ (บีเจพี) อันเป็นพรรคการเมืองของนายนาเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศได้รับชัยชนะไปอย่างขาดลอย ส่งผลให้ Baba Yogi Aditya Nath Ji ได้รับเลือกให้เป็นมุขมนตรี หรือผู้ว่าการคนใหม่ของรัฐ ความน่าสนใจอยู่ที่มุขมนตรีท่านนี้เป็น "นักบวช" และมีดีกรีเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดโครักคนาถ วัดฮินดูสำคัญที่สุดของเมืองโครักขปูร์อีกด้วย

สำหรับรัฐอุตตรประเทศ นับเป็นสถานที่อันอุดมด้วยสังเวชนียสถานสำคัญของชาวพุทธ ได้แก่ สาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี นอกจากนี้เมืองโครักขปูร์ ยังถือเป็นเมืองสำคัญเกี่ยวเนื่องกับสยามประเทศในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 อีกด้วย เพราะเมืองนี้เป็นสถานที่ส่งมอบพระบรมสารีริกธาตุที่นักโบราณคดีอังกฤษขุดค้นเจอเป็นครั้งแรกในอินเดีย จนนำไปสู่การทูลเกล้าถวายกษัตริย์ไทย และนำมาประดิษฐานไว้ที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ ดังนั้นรัฐอุตตรประเทศจึงมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับชาวพุทธไทยผู้เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียไปโดยปริยาย

เหลียวกลับมาแลที่ประเทศไทย ถ้านักบวชเข้าไปมีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนบริหารประเทศ คงไม่พ้นโดนวิพากษ์จนเสียผู้เสียคน แต่สำหรับอินเดียกลับถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้แต่รัฐบุรุษคนสำคัญของเขาอย่าง มหาตมะ คานธี ยังเคยกล่าวไว้ว่า  "ถูกแล้วคุณ...ผมเป็นนักการศาสนา แต่คุณจะว่าผมหลงทางเข้ามาในวงการเมืองไม่ได้ นักการศาสนาจะต้องต่อต้านความไม่มีศาสนาในทุกแห่งหนที่เขาได้พบเห็น แต่ในยุคปัจจุบัน ความไม่มีศาสนาได้เข้าไปยึดการเมืองไว้ เป็นป้อมปราการอันสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นผมจึงต้องเข้าไปในวงการเมืองเพื่อต่อต้านความไม่มีศาสนา สำหรับผมแล้ว...การเมืองที่ปราศจากหลักธรรมทางศาสนาเป็นเรื่องของความโสมมที่ควรสละละทิ้งเสีย การเมืองเป็นเรื่องของประเทศชาติ และเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพ...จึงต้องเป็นเรื่องของผู้มีศีล มีธรรมประจำใจ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องนำเอาศาสนจักรไปสถาปนาไว้ ในวงการเมืองด้วย"

เพราะอินเดียเป็นเมืองส่งออกศาสนา เป็นสถานที่ให้กำเนิดศาสดาเจ้าลัทธิจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นประเทศนี้จึงมีความเชื่อว่า "การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องมีศาสนา" แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระพุทธ เจ้าก็เข้าไปมีเอี่ยวกับเรื่องราวของการเมืองอยู่เป็นประจำ เช่น กรณีการระงับข้อพิพาทเรื่องน้ำของพระญาติทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกำลังจะทำสงครามกันอยู่รอมร่อ กรณีเสด็จไปห้ามทัพของพระเจ้าวิฑูฑภะ โอรสพระเจ้าปเสนทิโกศลที่กำลังจะยกทัพไปล้างบางเจ้าศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ หรือการเสนอหลัก "อปริหานิยธรรม" แก่กษัตริย์แคว้นวัชชีเพื่อให้นำไปเป็นเครื่องมือบริหารปกครองแผ่นดิน เป็นต้น

การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทุกครั้งของพระพุทธเจ้า มีจุดยืนอยู่ที่การเสนอทางออกจากความขัดแย้ง คลี่คลายปัญหาทุกข์ร้อนที่เกี่ยวพันถึงคนหมู่มาก พระองค์ไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านระบอบการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองใดๆ เพราะพระองค์ทรงทราบว่าต่อให้ระบบการปกครองดีขนาดไหนก็ตาม ถ้าคนยังไม่ดีอย่างไรบ้านเมืองก็ไปไม่รอด

ดังนั้น หัวใจของการเข้าไปเกี่ยวกับการเมืองของศาสนานั้นจึงไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล หากแต่เป็นเรื่องของธรรมะ ถ้าคนไม่มีธรรมะ นึกโกรธขึ้นมาไม่ว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็ฆ่าได้ลงคอ ถ้าคนไม่มีธรรมะ ตัณหาราคะสะสมก็ข่มขืนลูกสาวแท้ๆ ได้ ถ้าคนไม่มีธรรมะ เพียงมองหน้ากันทั้งที่ไม่เคยรู้จักก็ถึงขั้นยิงทิ้งได้ ถ้าคนไม่มีธรรมะ พอได้เป็นใหญ่ก็หลงระเริง จนนำไปสู่ความวิบัติทั่วทั้งประเทศได้ แม้กฎหมายบ้านเมือง ซึ่งออกมาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติ "ธรรม" แต่ถ้าฝ่ายผู้ปกครองไร้ศีลธรรม จรรยา กฎหมายก็เป็นอย่างมากได้เพียงเครื่องมือสนองตัณหาของผู้มีอำนาจเท่านั้น

เพราะธรรมะเป็นสิ่งสำคัญ ศาสนาซึ่งห่อหุ้มธรรมะไว้จึงต้องเข้าไปมีบทบาทโอบอุ้มประคับประคองการเมืองและคนในประเทศเพื่อมิให้ความสงบสุขถูกกลืนหายไปกับทะเลเพลิงแห่งหายนะ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวพุทธทุกระดับชั้นควรจะเริ่มศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเพื่อให้ชีวิตมีธรรมะกันเสียที มิใช่เพียงปล่อยไว้ในตู้คัมภีร์หรือฝากไว้กับพระในวัดเท่านั้น


บุญที่หล่นหาย

"บุญ" เป็นชื่อของความสุข คนฉลาดล้วนปรารถนาในบุญ เพราะผลจากบุญ คือ เป็นความสุขสำเร็จที่ให้ผลได้แบบครบวงจร ทั้งสุขที่ส่งผลให้มั่งมีแบบคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ทั้งอิทธิพลที่ส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองอย่างรั้งไม่อยู่ ทั้งสามารถฉุดดึงชีวิตให้ก้าวพ้นอุปสรรคปัญหานานา และเป็นทั้งอำนาจลึกลับที่สนับสนุนให้พบเจอความสำเร็จ

พระพุทธศาสนาสอนกฎแห่งกรรม แต่ไม่ยินยอมให้จำนนชนิดงอมืองอเท้ารอการพิพากษา ทั้งนี้เพราะทุกอย่างสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น แก้ไขเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องได้ เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออก ถ้าปัญหาใดไม่มีทางออกนั่นก็ย่อมไม่เรียกว่าปัญหา

โดยสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็คือ บุญ แต่หลายครั้งนักบุญจำนวนมาก ก็มักพลาดเพียงเพราะมองข้ามจุดเล็กๆ ซึ่งวันนี้ผู้เขียนได้บรรจงนั่งลงไล่เรียงเป็นข้อได้ 8 ประการ ที่คนไปวัดแล้วมักสร้างบาปด้วยความไม่รู้ตัว

1.นุ่งสั้น แขนกุด รัดรูป ดันทรง เป็นสิ่งที่ไม่น่ารักสำหรับการไปวัดเป็นอย่างยิ่ง เทวดาฟ้าดินจะเอือมระอา หลวงพี่หลวงพ่อเองก็ไม่ใช่หัวตอ จะพลอยจิตตกพกความลำบากใจ ไม่กล้าให้เข้าใกล้ ไม่กล้าให้พร ชาวบ้านกร่นด่าประณาม ดังนั้นควรหาผ้ามาคลุมให้ดูไม่อุจาดตา มิเช่นนั้นชาติหน้าอาจเกิดมาพร้อม ผิวพรรณเสื่อมทราม รูปร่างอัปลักษณ์ จนใครต่อใครก็ทนดูไม่ได้เช่นเดียวกัน

2.ปิดทองบูชาพระ ให้ระวังอย่าทิ้งกระดาษห่อทองเรี่ยราดเกลื่อนกลาดต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อแน่ว่าพระท่านคงไม่ยินดีที่เห็นเรามักง่ายถวายทองแล้วทิ้งกระดาษอย่างไม่แยแส อันเป็นที่มาของความรกรุงรังและความสกปรก

3.หญ้าอย่าเหยียบดอกไม้อย่าเด็ด เป็นปกติที่วัดวาอารามต่างๆ มักสร้างความร่มรื่นด้วยการปลูกต้นไม้เอาใจใส่ต้นหญ้า นักบุญที่ดีก็ไม่ควรมักง่าย เห็นดอกไม้สวยก็เด็ด เห็นผลไม้แปลกก็ดึง เห็นสนามหญ้าก็เดินลัด ซึ่งนอกจากจะทำลายรมณียสถานให้สูญเสียยังสร้างกรรมให้ตนเองต้องฝืดเคือง ขัดข้อง ของหาย เพราะไปทำลายของสงฆ์เข้าให้อีกด้วย

4.เวลาพระเทศน์ สวดมนต์ หรือให้พร อย่าไปคุยแข่งตะแบงเสียง สะกดกั้นกิเลสเอาไว้สักครู่ คนอื่นเขายังทนได้ อย่าให้โรคขี้คุยกำเริบผิดเวลา เพราะการไปสร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นกับใครภายในวัด ถือเป็นการทำลายปัญญาให้เสื่อมทรามลง ตัดทางเข้าถึงความดีของตัวเอง ทั้งยังเป็นการสร้างเหตุแห่งความขุ่นข้องรำคาญใจให้เกิดในชีวิตประจำวันอีกด้วย ถ้าเด็กมาแว้นใส่หน้าบ้านบ่อยๆ หรือบ้านเช่าข้างๆ เมาแล้วส่งเสียงโหวกเหวกโวยวายเป็นประจำ ให้รู้ไว้เลยว่ากรรมเกิดจากเหตุนี้

5.มีลูกตัวน้อยที่นิยมการร้องไห้ ต้องระวัง อย่าพาเข้าไปจุดที่มีการสวดมนต์ปฏิบัติธรรมให้รบกวนผู้อื่น สร้างโทษให้ลูกหลานและตัวเอง เพราะคนอื่นอาจไม่ได้มองว่าน่ารักเหมือนกับเรา แล้วเขาก็ไม่ผิดที่จะมองเช่นนั้น ยิ่งถ้าผู้ปฏิบัติธรรมกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มจะสงบใจอยู่รอมร่อก็ยิ่งมีโทษหนัก ดังนั้นอย่าไปสร้างบาปกรรม มิฉะนั้นชีวิตจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายตลอดเวลา

6.รักษาความสะอาดในห้องน้ำสุดชีวิต พยายามอย่าทำสกปรก หนักเบาให้ราดน้ำทุกครั้ง และสำรวจให้แน่ใจว่าไม่ทำให้ห้องน้ำสกปรกมากขึ้นหลังจากใช้บริการ เกิดชาติหนึ่งฉันใดจะได้ไม่ต้องเป็นคนรับใช้ตามเช็ดตามล้างคืนให้กับใคร ไม่ต้องไปทนทำงานอย่างไม่คุ้มค่าเหนื่อย นอกจากนี้การทำห้องน้ำวัดให้สกปรก ยังได้โทษของการปิดกั้นความสุขในชีวิตอีกด้วย เพราะ "สุขา" คือ ที่แห่งการปลดทุกข์ เห็นสุขทันตา ถ้าไปทำเลอะแล้วใครจะอยากมาปลดทุกข์ต่อจากเรา

7.อย่าใช้ความคุ้นเคยกับพระมาสร้างโทษให้กับตัว จะลุกขึ้น ยืน เดิน กราบไหว้ หรือจะพูดอะไร ควรใช้สติสัมปชัญญะและปัญญาให้มาก อย่ามักง่าย จนบางคนยืนค้ำหัวพระ หรือแทบเดินเหยียบจีวรท่านก็ยังไม่รู้สึกตัว ยิ่งถ้าพระรูปไหนเป็นเกจิ เราไปจิกใช้ท่าน ขอนู่นขอนี่ สร้างความลำบากให้แก่ท่าน ก็เตรียมตัวต้อนรับความลำบากกันเอาไว้ได้เลย

8.เป็นมิตรกับความสะอาด ดื่มน้ำหมดอย่าแกล้งทำเป็นลืมขวดทิ้งไว้ เห็นจุดใดภายในวัดสกปรก ใบไม้ร่วงกราว มีขยะ ก็ควรช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพราะเป็นบุญที่สร้างได้โดยไม่ต้องเสียสตางค์แม้แต่บาทเดียว แต่กลับได้อานิสงส์อย่างมากมายมหาศาล

เมื่อทราบตามนี้แล้ว สิ่งใดที่พลาดพลั้งไปก็ควรแก้ไขโดยเริ่มต้นใหม่ได้ตั้งแต่งานบุญวันสงกรานต์ปีนี้เป็นต้นไป



หมด "กลัว" ความสำเร็จ "เกิด"

คราวหนึ่งผู้เขียนเคยมีโอกาสรับฟังโอวาทธรรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ที่แสดงไว้ในเรื่อง "จิตของ ผู้มีบุญ" ซึ่งข้อหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า "ผู้มีบุญจะไม่กลัว" เพราะผลแห่งบุญที่เคยสะสมอบรมมาจะแปรเปลี่ยนสภาพจิตใจให้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยวตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้จิตใจไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ด้วยเหตุว่ามีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์และบุญอันสะสมไว้ดีแล้วของตนเอง ดังนั้นไม่ว่าจะคิด พูด หรือกระทำสิ่งใด ก็ล้วนแต่มีกำลังบุญมารองรับ จนทำให้ความกลัวนั้นปลาสนาการไป

"ความกลัว" ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของความสำเร็จ ผู้ที่ได้ถูกความกลัวครอบงำจะไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าทดลอง ไม่กล้าก้าวออกจากกะลาใบน้อย หรือแม้แต่การคิดถึงความสำเร็จ เช่น โทมัส เอดิสัน ถ้ากลัวความล้มเหลว โลกใบนี้ก็อาจจะยังไม่มีโอกาสได้เห็นแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า หรือถ้าหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ถูกอาจารย์ของตัวเองตราหน้าว่า "สมองช้า ไม่ชอบสังคม และล่องลอยอยู่ในความฝันอันโง่เขลาของตัวเองตลอดเวลา" ยังคงกลัวและยึดติดกับคำสบประมาทนั้น โลกคงไม่รู้จักผู้ชาย ที่ชื่อ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" บิดาแห่งปรมาณู

บางครั้งความกลัวยังเป็นได้แม้กระทั่งเพชฌฆาตที่ลงดาบซ้ำเติมตัวเองจากโรคภัยทั้งหลาย เช่น เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักคนขับรถสามล้อเครื่อง ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ ร่างกายกำยำ แลดูแข็งแรงเป็นพิเศษ คนผู้นี้ออกกำลังกายทุกวัน จนใครๆ ต่างยกให้เป็นพ่อจอมพลังประจำซอย

วันหนึ่งเกิดจับพลัดจับผลูไปตรวจสุขภาพร่างกายตามภรรยา ปรากฏว่าโดนแจ๊กพอต คือ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง แล้ววินิจฉัยว่าจะอยู่ได้อีกประมาณครึ่งปี ซึ่งทันทีที่เขารู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง กำลังใจก็ห่อเหี่ยว เต็มไปด้วยความหดหู่ หวาดกลัว และที่สุดก็ต้องตายไปภายในเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์นับจากนั้น

ซึ่งความจริง "หลายเรื่องไม่น่ากลัวเท่ากับความนึกกลัวที่เกาะกินจิตใจ" เหมือนกับที่ "มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง" หรือ "ความล้มเหลวไม่น่ากลัวเท่ากับการกลัวล้มเหลว"  

ในทางพระพุทธศาสนา ความกลัวทุกอย่างล้วนเป็นเพราะ "สักกายทิฏฐิ" คือ ความรักตัว กลัวความทุกข์ กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเจ็บ และกลัวตาย สาเหตุเพราะสำคัญมั่นหมายว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เมื่อจินตนาการว่าร่างกายนี้จะต้องเจ็บปวดหรือมีอันเป็นไป จึงเกิดอาการหวาดสะพรึง ทนไม่ได้ รับไม่ไหว ทำให้ความกลัวมาปรากฏกายหลอกหลอนจนต้องจมดิ่งในความหมดหวังไม่เป็นอันจะทำอะไรต่อไป

แต่นิยามของชาวพุทธ คือคนทุกคนสามารถเป็นผู้ที่ปราศจากความกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ ได้ ขอเพียงให้ทรงไว้ซึ่งคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีอยู่ทุกอณูรอบตัวเรา เป็นสิ่งมีอานุภาพมากอย่างไม่มีประมาณ อยู่ที่ผู้ใดจะสามารถน้อมนำเข้ามาใส่ตัวได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถดึงคุณของพระทั้งสามเข้าสู่กายใจได้มาก ก็จะยิ่งมีความมั่นคงมากตามไปด้วย พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ฝากชีวิตได้จริง นึกถึงเมื่อไหร่ย่อมมีความอบอุ่นใจในทุกเวลา ขอเพียงมีศรัทธา พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และทรงไว้ซึ่งความเคารพในพระรัตนตรัย นั่นย่อมได้ชื่อว่า "เป็นผู้มีบุญ" ที่จะไม่หวั่นไหวกับภัยใดๆ ในโลกนี้อีก

ยิ่งถ้าต้องการความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม ขอให้ก้าวข้ามความกลัวโดยใช้ความเป็นผู้มีบุญอันสะสมไว้ดีแล้วเป็นปัจจัย ตั้งหน้าตั้งตาทำทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนก็ตาม จะร้อยคนพลาดหมื่นคนไม่สำเร็จ ก็มิได้หมายความว่าเราจะต้องพลอยกระทำ ไม่สำเร็จตามไปด้วย ขอเพียงมีกำลังใจเข้มแข็ง เดินลุยไปข้างหน้าอย่างไม่หวั่นเกรง มั่นใจในความดีของตนเอง ก้าวข้ามความกลัวให้พ้น แล้วทำสิ่งที่มั่นใจนั้นให้ถึงที่สุด...

ขอให้เชื่อเถิดว่า แม้แต่มรรคผล ความพ้นทุกข์ถึงพระนิพพาน ก็ยังสามารถทำให้ถึงได้แม้ในชาติปัจจุบัน


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กันยายน 2560 11:32:41 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 59.0.3071.115 Chrome 59.0.3071.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2560 17:17:19 »




ฝืดเคืองเพราะวาจา

ถ้าใครไปอินเดีย สิ่งหนึ่งที่มักต้องพบเจอ คือ การมะรุมมะตุ้มของพลพรรคขอทานทั้งเด็กเล็กเด็กโตหรือเด็กโข่ง ยิ่งถ้าเป็นเขตพุทธสถานยิ่งมีจำนวนมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกองทัพทีเดียว ประกอบกับคนไทยที่มีความกรุณาเป็นเอกลักษณ์ พอเจอขอทานที่น่าสงสารก็อดไม่ได้ต้องให้สตางค์ และเมื่อเงินนั้นถูกนำออกมาให้ปรากฏแก่สายตาของเหล่าเด็กๆ ขอทานอีกนับสิบหรือบางทีอาจนับร้อยจะกรูกันเข้ารุมยัดเยียดแบมือไม้ของตัวเองมาติดชิดอยู่ปลายจมูกเราเป็นพัลวัน หรือบางทีอาจถึงขั้นยื้อยุดฉุดกระชากลากเงินจากมือ จนแทบเกิดเป็นจลาจลย่อมๆ ไป

ขอทานที่นี่บางคนดูน่ารักน่าเอ็นดู บางคนดูทะเล้นแสบสันต์ บางคนแลดูน่าสงสาร บางคนดูน่าอเนจอนาถ และบางคนก็แทบจะทนดูต่อไปไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ คนเหล่านี้ยากจนและเป็นคนที่ถูกสังคมในระบบวรรณะจัดสรรให้อยู่ในประเภท "คนชั้นล่างสุด" ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาออกมาดูโลก สำหรับคนประเภทนี้ บางคนถึงขนาดต้องไปขุดคุ้ยเศษอาหารเก่า ที่มีผู้มาเททิ้งลงถังขยะไว้ขึ้นมากิน บางคนต้องกัดกินซากขนมปังที่ขึ้นรา บางคนกินของบูดเน่าที่เก็บติดตัวไว้นานวัน

เมื่อเห็นภาพคนยากจนในประเทศนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องของ "พระโลสกะ" จากในพระไตรปิฎก เพราะท่านขัดขวางบุญ ตัดทางลาภของผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ตกนรกหมกไหม้ไปนานหลายแสนปี เมื่อขึ้นมาก็เกิดเป็นยักษ์ 500 ชาติ เป็นสุนัขอีก 500 ชาติ ในทุกชาติต้องอดอยากหิวโซ ไม่เคยได้อิ่มท้อง จะมีเพียงวันสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ที่จะได้กินจนอิ่มและตายจากไป แม้กระทั่งชาติสุดท้ายซึ่งได้มาเกิดเป็นคน ก็เกิดในตระกูลขอทาน ต้องกินแต่ข้าวบูดข้าวเน่า หรือเศษข้าวติดจานที่ผู้อื่นเททิ้งไว้ในท้องร่อง ต่อมาเมื่อได้บวชเป็นพระสงฆ์ ก็ยังไม่เคยได้ฉันอิ่มแม้แต่วันเดียว จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต ทำให้ร้อนถึงพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระศาสดา ต้องไปบิณฑบาตมาให้ แล้วแทบจะต้องป้อนใส่ปากท่านโลสกะทีเดียว ท่านจึงได้อิ่มเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต แล้วที่สุดก็กลายเป็นพระอรหันต์เข้าสู่นิพพานในวันนั้น

การขัดขวางบุญมีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพูดด้วยวาจา เช่น บอกผู้อื่นว่า

"อย่าไปทำบุญที่วัดนี้ วัดนี้รวยแล้ว!"
"อย่าไปทำมาก เก็บไว้กินเองบ้าง เดี๋ยวก็อดตาย!"
"ทำบุญไปได้ยังไง ที่นั่นไม่มีใครเขาไปทำกันแล้ว!"
"เธอไม่น่าไปทำเลย เสียดายเงิน เอาไปทำอย่างอื่นดีกว่าตั้งเยอะ!" เป็นต้น

ซึ่งคนในปัจจุบันมักจะสร้างบาปกรรมลักษณะนี้โดยไม่ได้รู้ตัวเลยว่า ได้สร้างอนาคตแห่งความฝืดเคืองไว้ให้แก่ตนเองแล้ว ถามว่าถ้าเตือนเพราะหวังดีจะมีโทษหรือไม่ พระครูภาวนาพิลาศ วัดเขาวง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ท่านเคยเมตตาเล่าให้ฟังว่า "หลวงตามีความลำบาก จะทำอะไรก็ไม่ค่อยลื่นไหล ติดขัดตลอด เพราะสมัยก่อนหลวงตาชอบเตือนลูกหลาน ชอบเตือนคนที่มาวัดมาทำบุญกับหลวงตาว่า เก็บเงินเก็บทองไว้บ้างนะลูกเอ้ย... อย่าเอามาทำบุญหมด, เหลือไว้เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าบ้าง...,ไม่ต้องทำเยอะหรอกลูก...เพราะไปขวางบุญเขา ไปตัดกำลังใจเขา ถ้าเขากำลังใจสูงมาแล้วทำบุญในลักษณะนั้นอานิสงส์จะมีมาก แต่เราไปเบรกเขา ไปตัดเขา เราเลยพลอยมีโทษไปโดยไม่รู้ตัว"

ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของพระพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์ไปเกิดเป็นคนเลี้ยงวัว ต้อนวัวไปเลี้ยง พอเห็นวัวกำลังจะกินน้ำขุ่น จึงดึงเชือกที่ล่ามห้ามเอาไว้ไม่ให้มันกินด้วยความหวังดี อยากจะให้ไปกินน้ำใสที่อยู่ในบ่อใกล้กัน ด้วยผลแห่งกรรมเพียงแค่นั้น ทำให้วันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพหลังการตรัสรู้ของพระองค์ ทรงกระหายน้ำอย่างรุนแรง เพราะเดินทางมาไกล ประกอบกับมีโรคาพาธเบียดเบียนอย่างหนัก จึงทรงหยุดพักและรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำในลำธารมาถวาย พอพระอานนท์ไปถึงท่าก็พบว่าน้ำขุ่นจนดื่มไม่ได้ จึงเดินกลับไปมือเปล่า พระพุทธเจ้าจึงต้องขอให้พระอานนท์กลับมาเอามาอีกครั้งถึงได้ทรงดื่ม

ดังนั้น ในเรื่องบุญกุศล ควรหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ความรู้สึกของปุถุชนไปตัดสิน และข้อสำคัญคือ พึงระวังคำพูดไม่ให้ขวางบุญขวางลาภใคร จะได้ไม่เกิดโทษทัณฑ์โดยไม่รู้ตัว เพราะความติดขัด ขัดเคือง คงไม่ใช่เรื่องที่ใครปรารถนาจะพบเจอ



ความอดทน คือ มนต์แห่งความสำเร็จ

ขงเบ้ง ปราชญ์แห่งยุคสามก๊ก มีคำกล่าวไว้ว่า "สูงส่งแต่ไม่เย่อหยิ่ง ชนะแต่ไม่ลำพอง ปราดเปรื่องแต่รู้จักลงจากเวที เข้มแข็งแต่มีความอดทน...คือ สูตรสำเร็จของความยิ่งใหญ่"

ในทุกหลักสูตรของความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ "ความอดทน" ซึ่งความอดทน ในภาษาธรรมะเรียกว่า "ขันติ" เป็นหลักธรรมข้อแรกที่พระพุทธเจ้าหยิบยกขึ้นมาสอนไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นวิธีการเข้าถึงธรรมในพระพุทธศาสนา โดย ขันติ หมายถึง การยอมรับได้ด้วยปัญญา ถ้าทนไปบ่นไป หรือทนแล้วเก็บกด แบบนี้ไม่เรียกว่า ขันติธรรม นอกจากนี้ ขันติ หรือ ความอดทน ยังถือเป็นปฏิปักษ์ของความโกรธ เป็นที่ประชุมของคุณธรรมทั้งหลาย และนำไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้อีกด้วย

ความอดทน ในภาษาจีนจะใช้ตัวอักษรที่เขียนเป็นรูปมีดปักบนหัวใจ อ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า "เหริ่น" ซึ่งการใช้สัญลักษณ์แบบนั้น เป็นการแสดงถึงแนวคิดของความอดทนที่เปรียบเหมือนความปวดร้าวที่มีมีดปักบนหัวใจ ต้องทนต่อความเจ็บปวด ทนต่อความเหนื่อยยาก ทนต่อความลำบาก ทั้งกายและจิตใจ และตามความเชื่อของชาวจีนได้กล่าวไว้ว่า "บุคคลที่สามารถอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่สุดของชีวิต จนสามารถผ่านวิกฤตดังกล่าวได้ จะกลายเป็นคนเหนือคน"

ในอดีตมีบุคคลระดับโลกมากมายที่ก่อร่างสร้างความสำเร็จขึ้นจากความอดทน เช่น วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh) จิตรกรไส้แห้งที่ไม่ประสบความสำเร็จตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ เพราะทั้งชีวิตเขาขายภาพวาดได้เพียงชิ้นเดียว และยังเป็นการขายให้กับเพื่อนเพื่อแลกกับเศษเงินในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้น แต่แวนโก๊ะไม่เคยย่อท้อ ยังคงอดทนตั้งหน้าตั้งตาวาดภาพต่อไป ต่อมาเมื่อเขาเสียชีวิต ภาพที่วาดไว้กลับกลายเป็นของมีค่ามีราคาในระดับโลก จนสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้

หรือ ลุดวิค ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ผู้เนรมิตบทเพลงรัก ซิมโฟนีอันทรงคุณค่าของโลก ซึ่งเคยถูกค่อนขอดโดยครูสอนดนตรีของเขาเองว่า "น่าจะไปไม่รอดแน่" แต่บีโธเฟนกลับไม่ย่อท้อ สู้อดทนแต่งเพลงแล้ว แต่งเพลงเล่า ฝึกฝนขัดเกลาฝีมือของตนเองตลอดชีวิต จนในที่สุดเขาก็กลายเป็นตำนานเพลง แม้ในวันที่หูหนวกแล้วก็ตาม แม้กระทั่งคนในวงการธุรกิจอย่าง เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการรถยนต์ แต่กว่าจะมีวันนี้ เขาต้องล้มเหลวกับธุรกิจมาจนทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ด้วยความอดทนและมุ่งมั่น ในที่สุดก็สามารถยืนหยัดอย่างสง่าผ่าเผยในเวทีโลกได้

สำหรับบ้านเรา ตัวอย่างที่น่ามอง คือ นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีมากมาย ที่หอบหิ้วเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกล แต่กลับขยับขยายจาก เพิงเก่าหลังเล็ก จนกลายเป็นเจ้าสัวใหญ่ มีคฤหาสน์มหึมา เป็นมหาเศรษฐีติดอันดับต้นๆ ของประเทศอย่างที่เห็นได้ดารดาษในปัจจุบัน โดยทั้งนี้ วิลเลี่ยม สกินเนอร์ ได้เคยศึกษาจนมีข้อสรุปว่า "นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะทำงานวันละ 14-16 ชั่วโมง และทุกคนต้องผ่านความล้มเหลวในด้านต่างๆ มาก่อน แต่ก็สามารถต่อสู้เอาชนะอุปสรรคได้ด้วยความอดทนอดกลั้น อย่างไม่กลัวความยากลำบาก"

สำหรับเรื่องความอดทน พระพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า "...ไม่ควรท้อแท้ ถ้าทำไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย เมื่อปรารถนาเช่นไร ก็ย่อมได้สมใจตามนั้น" จึงเป็นเรื่องของคนฉลาด ที่จะใช้ความลำบากและอุปสรรคสร้างตัว ในขณะที่คนไม่ฉลาดจะไม่ยอมรับการแก้ไข วิ่งหนีปัญหา และมุ่งแต่จะหาความสุขสบายเพื่อนำไปสู่การทำลายตน

ในขณะที่คนยุคใหม่ซึ่งดูเหมือนมากความสามารถ พูดได้หลายภาษา จบมหาวิทยาลัยดัง ใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างคล่องแคล่วทันสมัย แต่มากต่อมากที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจถึงกับเป็นที่เอือมระอาของบริษัทห้างร้าน เพื่อนฝูงในที่ทำงาน เพียงเพราะว่า "ขาดความอดทน" จนทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน ยินดีรับเด็กต่างจังหวัดจากมหาวิทยาลัยภูมิภาคมากกว่า ด้วยเหตุผลว่า "สอนงานง่าย สู้งานหนัก มีความอดทนสูงกว่า และสามารถหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้ใกล้เคียงกัน"

"ความอดทน" จึงกลายเป็นอาวุธลับสำคัญสู่ความสำเร็จ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากความอดทนถดถอย ถ้าเรามีความอดทนเลิศกว่าใคร ยังต้องกลัวอีกหรือว่า จะทำกิจการงานใดไม่ประสบความสำเร็จจนมั่งคั่งร่ำรวย?



เข็มทิศชีวิตนักปฏิบัติ

สําหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติธรรมให้เพื่อเข้าถึงธรรมจริงๆ นั้น มีวิธีการและลักษณะที่เป็นเครื่องบ่งชี้ เพื่อใช้เป็นมาตรวัดความพัฒนาของกาย วาจา ใจ จนแสดงออกมาคร่าวๆ ได้ 11 ประการ ดังนี้

1.ปฏิบัติเหมือนไม่ปฏิบัติ คือ นักปฏิบัติธรรมที่ดี จะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดา ยิ่งสำหรับฆราวาส แม้จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงออกให้ใครต่อใครรู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ มิเช่นนั้นอาจอยู่ในสังคมที่ผสมปนเปอยู่ด้วยคนพาลลำบากขึ้น

2.ไม่เพ่งโทษใคร มีแต่ความระมัด ระวังใจตัวเองด้วยสติอยู่เสมอ เพราะจิตที่หยาบกระด้างเท่านั้น ถึงจะคอยจ้องจับผิดผู้อื่น ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เกิดมาเป็นครูของใคร หากแต่ให้หมั่นสอนใจตัวเอง เตือนตัวเองอยู่เสมอ จึงจะสามารถเข้าถึงความดีในพระพุทธศาสนา

3.ไม่จิกกัดผู้อื่นด้วยวาจา ไม่นินทาว่าร้ายใครด้วยเพราะเหตุผลใดก็ตาม เพราะผู้ปฏิบัติธรรมจะถูกขัดเกลาทั้งกาย วาจา ใจ ให้มีความละเอียดประณีตมากยิ่งขึ้น ดั้งนั้นจึงมีความฉลาด รู้เท่าทันว่า การสร้างวจีกรรม เป็นการทำร้ายผู้อื่นและตัวเองอย่างโหดร้ายทารุณ

4.ไม่บ่น ไม่จุกจิกจู้จี้ ไม่โวยวาย ไม่ออกงิ้ว ไม่แปลงเป็นลิงค่าง เวลาถูกกระทบ เพราะมีสมาธิหล่อเลี้ยงจิตใจจนมั่นคง หากแม้ว่าโกรธ แต่ก็มีสติ พยายามไม่ปล่อยความชั่วร้ายของตัวเองถูกส่งออกสู่กายและวาจา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการประจานความชั่วของตัวเอง

5.ไม่อวดรู้ อวดดี วางฟอร์ม ร้อนวิชา หรือ ฟาดฟันผู้อื่นด้วยธรรมะ ใครพูดถูกก็รับฟัง พูดผิดก็รับฟัง ถ้ามีเหตุให้พูดก็พูด หมดเหตุให้พูดก็หยุด พร้อมจะทำหน้าที่กัลยาณมิตร คือ ให้คำแนะนำด้วยกรุณา ไม่ซ้ำเติม ไม่ดันทุรังไปเปลี่ยนใครให้คิดเหมือนตัวเอง ให้โอกาส และคอยเป็นกำลังใจให้เสมอ

6.ใจเย็น รักความสงบ ไม่ชอบวุ่นวาย ไม่ปรารถนาการเบียดเบียน ไม่ต้องใช้ความครื้นเครงสนุกสนานเฮฮาของหมู่คณะมาเป็นเครื่องแก้เหงา เหล่านี้คือ สมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม ใครอยู่ใกล้ก็พลอยได้รับความสงบเยือกเย็น สบายกาย สบายใจตามไปด้วย

7.รอได้ เพราะผู้ปฏิบัติธรรม สามารถเปลี่ยนนาทีที่น่าเบื่อจากการ รอ ให้เป็นเวลาทองแห่งความสุขได้ด้วยการ ภาวนา แล้วความทุกข์ทั้งปวงจากการรอก็จักสลายตัวไป

8.ตรงต่อเวลา ด้วยความที่คนปฏิบัติธรรมจำเป็นต้องมีสัจจะ นัดใคร หรือรับปากสิ่งใดไว้ ต้องทำให้สำเร็จ จะไม่เป็นผู้มักอ้างว่า เช่น รถติด ฝนตก ตื่นสาย ทำไม่ได้ ฯลฯ หากลองได้ลั่นวาจาไปแล้ว ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อรับผิดชอบสัจจะของตัวเอง ข้อนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์คุณธรรมของผู้ปฏิบัติธรรมได้ดี

9.ทำเรื่องยากให้ง่าย ทำสิ่งที่มากให้น้อย ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก มีชีวิตอยู่กับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็พร้อมจะปล่อยวางเมื่อหมดเหตุปัจจัย รู้จักยืดหยุ่น ผ่อนสั้น ผ่อนยาวได้ ประนีประนอม ไม่ค่อยถือสาหาความอะไรใคร และพร้อมที่จะให้อภัย

10.พยายามพัฒนากายใจอย่างต่อเนื่อง คือ ชอบก็ทำไม่ชอบก็ทำ เหนื่อยก็ทำขี้เกียจก็ทำ ง่วงก็ทำร้อนก็ทำ ไม่มักอ้างว่าและหาเหตุให้คลายความเพียร ต้องแบบนี้เท่านั้นถึงจะเข้าถึงธรรมได้จริง

11.เห็นซึ้งถึงกฎแห่งกรรม คือ ใจของผู้มีธรรม จะถือความเข้าใจเป็นใหญ่ ไม่ถือความถูกผิดเป็นเกณฑ์ แต่มิใช่ไม่เห็นผิด ไม่รู้ถูก หรือแยกดีชั่วไม่ออก ตรงกันข้าม คือ ย่อมรู้ดีชั่วอย่างชัดเจนยิ่งกว่าใคร แต่ใจของผู้ปฏิบัติจะเต็มไปด้วยพรหมวิหารธรรม ไม่โกรธเกลียดคนทำผิด ท่านจึงไม่เห็นใครเลว เพราะทราบชัดว่าทุกเรื่องล้วนดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เพราะบางครั้ง แค่ได้ฟัง ได้อ่าน หรือได้เห็นข้อความสั้นๆ เพียงแค่นั้นก็อาจพลิกใจที่หดหู่เศร้าหมองให้กลับกลายเป็นสว่างไสว เห็นรำไรถึงทางแห่งความสุข ลองคิดดูเถิดว่า ถ้าได้ลองปฏิบัติธรรมจนวิมุตติรสบังเกิดแก่ใจจริงๆ จะดื่มด่ำกับความสุขอันล้ำลึกได้ขนาดไหน... คุณลองคิดดู


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 สิงหาคม 2560 11:37:07 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 59.0.3071.115 Chrome 59.0.3071.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2560 12:44:35 »




ธรรมะบนฝ่ามือ

ในสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องด้วยเรื่องราวของ ?โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง? ที่นำพระสงฆ์จาก 5 ประเทศ มาร่วมกันเดินเผยแผ่สันติธรรม ใช้ "พุทธศาสน์การทูต" สร้างเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนในภูมิภาคนี้ เพื่อลดความขัดแย้ง และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยจุดร่วม คือ พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่หยั่งรากฝังลึกในแผ่นดินมาอย่างยาวนาน จนมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสยกให้เป็นศาสนาที่หนึ่งของแต่ละประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงสุดท้ายของการเดินทางธรรมยาตราซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ถึง 4 มิ.ย. คือ การเดินเท้าเข้าประเทศเมียนมา ผ่านแม่สอดสู่เมียวดี โดยสัมผัสแรกที่คณะพระสงฆ์ธรรมยาตราได้รับรู้เมื่อหยั่งเท้าลงบนแผ่นดินนี้ คือ กระแสแห่งความประทับใจที่คลื่นมหาศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของพุทธบริษัทกว่า 30,000 คน ปิดเมือง ประกาศเป็นวันหยุดราชการ และทั้งหมดล้วนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ ชุดประจำเผ่า นั่งโบกสะบัดธงฉัพพรรณรังสี ส่งเสียงสาธุกันกึกก้อง เพื่อต้อนรับคณะธรรมยาตราอย่างอลังการ

ทำให้หวนนึกไปถึงวันแรกที่พระโสณะ พระอุตระ และคณะ ได้เดินทางมาประกาศศาสนาในแผ่นดินสุวรรณภูมิ เมื่อปีพุทธศักราชสองร้อยเศษ วันนั้นไม่มีใครมายืนต้อนรับ ไม่มีผู้โบกธงหรือรำฟ้อน เพราะคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ยังนับถือผี เมื่อแรกเห็นท่าน ก็เกิดความแปลกหน้า มีความระแวงสงสัย ออกมายืนดูท่านเหมือนเป็นตัวประหลาด แต่จนแล้วจนรอดท่านก็อาศัยความมีธรรมนำหน้า ออกเดินบิณฑบาตอย่างสงบสำรวม เมื่อถึงเวลาจึงแสดงธรรมเทศนาบทแรกด้วย ?พรหมชาลสูตร?

เป็นเหตุให้ผู้คนกว่า 60,000 ในสุวรรณภูมิประเทศ รวมทั้งพระราชาผู้ปกครองในสมัยนั้นเกิดความศรัทธาและหันมานับถือเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ทั้งยังมีกุลบุตรออกบวชมากถึง 3,500 คนในคราวนั้นคราเดียว

ถึงวันนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี ผู้คนที่ เมียวดียังคงแสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาอันมั่นคงที่สืบเนื่องมาอย่างช้านาน และไม่เพียงเท่านั้น ภายในรัฐกะเหรี่ยงของประเทศพม่าที่เมียวดีตั้งอยู่ ยังมีหลักฐานสำคัญสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคพระโสณะเข้ามาประกาศศาสนา คือ เจดีย์สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่เชื่อกันว่าเก็บรักษาพระธาตุของพระโสณะเอาไว้หลังจากท่านละสังขารเข้าสู่พระนิพพาน โดยพระเจดีย์นี้ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางของคณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดินด้วย

ซึ่งถ้าจะนับคำนวณความดีความชอบของการส่งพระธรรมทูตออกสู่ประชาคมโลกในยุคสมัยนั้น บุคคลสำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงส่งพระออกนอกตัวจริง คือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระมหาเถระองค์สำคัญแห่งยุค ท่านเป็นประธานสงฆ์ของแผ่นดินชมพูทวีปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านคือผู้อยู่เบื้องหลังการรักษาและส่งต่อพระพุทธศาสนามิให้สาบสูญไปจากอินเดียอย่างแท้จริง

โดยท่านบอกกับพระเจ้าอโศกมหาราชว่า "กาลต่อไปในเบื้องหน้า ถ้าพระสัทธรรมยังคงมีอยู่เพียงแค่ในชมพูทวีป หากวันใดวันหนึ่งเกิดถูกทำลายลงจากน้ำมือคนต่างลัทธิความเชื่อ พระธรรมวินัยนี้อาจไม่ดำรงเหลืออยู่อีกต่อไป จึงควรจะส่งพระธรรมทูตนำพุทธธรรมไปประกาศให้ทั่วทุกแว่นแคว้น เพื่อเป็นการฝากพระพุทธศาสนาไว้กับโลก ให้อยู่คู่โลก เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนเป็นอันมากทั้งหลายตลอดไป"

พระเจ้าอโศกมหาราช พอฟังก็เห็นคล้อยตาม จึงปวารณาตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ในการส่งคณะพระธรรมทูตออกสู่โลกภายนอกเท่าที่ชาวชมพูทวีปจะรู้จักในสมัยนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ก็เป็นธุระลงมือคัดพระสงฆ์จากพระอรหันต์ "หกล้านรูป" ทั่วสังฆมณฑลให้เหลือ 45 รูป ที่เชี่ยวชาญภาษาของประเทศที่จะถูกส่งไป โดยแบ่งออกเป็น 9 สาย สายละ 5 รูป ซึ่งในสายที่ 8 ก็มีพระโสณะและพระอุตตระ เป็นผู้นำคณะมาสู่สุวรรณภูมิ ประดิษฐานศาสนามั่นคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นว่ากว่าพระพุทธศาสนาจะอยู่รอดผ่านกาลเวลามาได้ยาวนานถึงเพียงนี้ แต่ละยุคสมัยต้องอาศัยพระธรรมทูตหัวใจเพชรที่มองการณ์ไกล เสียสละ และทุ่มเทด้วยชีวิต อย่างพระธรรมทูต 45 รูปที่ถูกส่งออกมาในสมัยนั้น ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่สละลมหายใจ ทิ้งชีวิตไว้ในแผ่นดินที่มาเผยแผ่ โดยมิได้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย

ดังนั้นชาวพุทธในวันนี้ ควรจะรู้และตระหนักว่า พระพุทธศาสนา กว่าจะถูกส่งทอดต่อมาถึงมือเรา 2,600 กว่าปีนี้ได้มิใช่ง่ายดาย และถ้าพุทธธรรมไม่ประเสริฐเป็นเลิศจริงก็คงไม่มีใครเก็บรักษามาถึงปัจจุบัน

ในเมื่อรัตนะอันมีค่าที่เป็นแสงสว่างของโลกได้ถูกประคับประคองลงบนฝ่ามือทั้งสองของเราแล้ว เหล่าผู้มีปัญญายังจะรีรอสิ่งใด ในเมื่อทางออกจากทุกข์มีอยู่ จึงควรเร่งฝึกฝนจิตใจ ปฏิบัติธรรมให้ทุกข์ทุเลา... หรือต้องรอให้สูญสิ้นชีวิต สูญเสียพระศาสนาไปก่อนแล้วจึงค่อยสำนึกเสียใจ?



ทำไมไปอินเดียต้องมีพระ

สําหรับผู้ที่เคยเดินทางไปแสวงบุญประเทศอินเดียแล้ว จะทราบดีว่าการมีพระสงฆ์เดินทางไปด้วยนั้นดีอย่างไร ส่วนหลายคนที่เพียงแค่ "จะ" แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปเสียที ก็อาจเคยได้ยินว่า เมื่อไปแสวงบุญในเขตสังเวชนียสถานที่แดนพุทธภูมิ มักจะมีพระสงฆ์ไทยในประเทศอินเดียที่เรียกว่า ?พระธรรมวิทยากร? ขึ้นรถบัสมาด้วยทุกครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้การไปอินเดียไม่เหมือนกับไปประเทศไหนๆ ในโลก เพราะพระธรรมวิทยากรจะเปิดประตูความดื่มด่ำปีติใจให้แก่ผู้ไปเยือนสัมผัสธรรมะอย่างเต็มที่ ในสังเวชนียสถานของพระพุทธองค์

หน้าที่หลักของพระธรรมวิทยากรไทยในแดนพุทธภูมิ คือ

1.คอยดูแลรักษากำลังใจ แก่พุทธบริษัทชาวไทยที่เดินทางไปสู่ประเทศอินเดีย-เนปาล เพราะวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่แตกต่างของผู้คนนับพันล้าน การเดินทางสู่ประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแห่งนี้ อาจปรับตัวได้ยาก หรือปรับตัวไม่ทัน กับสารพันปัญหา เช่น รถติด ขอทาน การบีบแตร ลีลาแขก ฯลฯ ซึ่งพระธรรมวิทยากรก็จะคอยแนะนำอย่างละมุนละม่อม เป็นธรรมอย่างที่สุด เพื่อให้ผู้ไปเยือนสามารถปรับระดับกำลังใจให้เกิดบุญอย่างสูงสุดตลอดทั้งการเดินทาง

2.บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละสถานที่ (พระธรรมวิทยากรที่ดีไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ไกด์ เพราะหน้าที่ไกด์เป็นของฆราวาสที่ไปกับบริษัททัวร์) พระธรรมวิทยากรจะนำผู้ไปเยือนเข้าเฝ้าให้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด คอยฉายภาพพระพุทธประวัติและศาสนธรรม เชื่อมโยงให้เห็นถึงวัฏจักรผ่านซากอิฐกองปูน พลิกเศษหินสถูปดินให้กลายเป็นความประทับใจที่น่าจดจำมิรู้ลืม

3.นำทำศาสนพิธีให้ถูกต้องสอดคล้องกับสถานที่ ในฐานะผู้ทรงศีล ตลอดจนนำสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา และนำพาอธิษฐาน ให้เกิดผลอย่างสูงสุด

4.คอยปกป้องผลประโยชน์ให้แก่พุทธบริษัท ที่เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ ในฐานะ "พวกเดียวกัน" เพื่อมิให้คนท้องถิ่นหรือใครๆ มาหลอกลวงให้เกิดความเสียหาย เพราะพระธรรมวิทยากรมิได้มีส่วนได้เสีย หรือ ไม่ได้มีผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใดๆ กับผู้ไปเยือน

5.คอยแนะนำและแสดงธรรมตลอดระยะเวลา ที่อยู่ในเส้นทางแห่งการแสวงบุญ ซึ่งเป็นการแสดงธรรมแบบ non stop เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความดื่มด่ำและได้ประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง

6.คอยประสานหาทางออกเมื่อมีภัย พระธรรมวิทยากรจะทราบช่องการประสานงานกับวัดไทยต่างๆ ในสายงานของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ที่ตั้งอยู่ในสังเวชนียสถาน ทุกตำบล ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ประสบอุบัติเหตุ ป่วยกะทันหัน พาสปอร์ตหาย ฯลฯ พระธรรมวิทยากรจะสามารถประสานเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

7.ชี้ช่องทางสร้างบารมีแก่คณะ ผู้แสวงบุญ เพื่อเป็นการยกระดับการแสวงบุญของการเดินทางให้มากขึ้น พระธรรมวิทยากรจะคอยแนะนำกิจกรรมบุญต่างๆ ของทุกวัดให้ทราบ เช่น การเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลแก่วัดไทยต่างๆ, การเลี้ยงเด็กกำพร้านับพันคนที่วัดไทยพุทธคยา, การเปิดไฟบูชาพระธาตุเจดีย์ที่วัดไทยกุสินารา เป็นต้น เพราะพระธรรมวิทยากรในสายงานของพระธรรมทูตจะทราบว่าแต่ละวัดมีกิจกรรมบุญใดที่น่าสนใจในช่วงเวลาใด และสามารถเข้าร่วมได้อย่างใด

ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ผู้แสวงบุญแดนพุทธภูมิที่หวังประโยชน์สูงสุดจากการเดินทาง จึงควรมีพระธรรมวิทยากร ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ชำนาญการในพื้นที่คอยติดตามดูแลและให้ธรรมะแก่คณะตลอดเส้นทาง เพราะการไปอินเดียควรเป็นมากกว่าการไปท่องเที่ยว ไปถ่ายรูป หรือไปตามกระแสนิยมของโลก หากแต่เป็นการปฏิบัติตามมรดกธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า สังเวชนียสถานเป็นสิ่งแทนพระองค์ที่ผู้มีศรัทธาควรไปเห็นควรไปพิจารณาให้เกิดปัญญา

ดังนั้นการไปที่นั่น ก็เสมือนหนึ่งการไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แบบเป็นรูปธรรมที่สุด เมื่อได้เห็นแล้ว ได้พิจารณาอย่างชัดเจนแล้วในสถานที่เหล่านั้น ก็จะเป็นการเสริมสร้างศรัทธา เพิ่มพูนปัญญา และพัฒนาชีวิต สมดังเจตนาของพระพุทธองค์


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 สิงหาคม 2560 11:37:37 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 60.0.3112.101 Chrome 60.0.3112.101


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 25 สิงหาคม 2560 17:47:08 »




สติในความสุขสบาย

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้อ่านงานวิจัยของ Julie Lythcott-Haims นักเขียนและอดีตผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่วิจัยจนได้ข้อสรุปว่า "การเลี้ยงลูกให้เขาประสบความสำเร็จ คือ ต้องให้เขาทำงานบ้านตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ควรปล่อยให้ขี้เกียจตั้งแต่เด็ก แต่ต้องไม่ใช่การบังคับหรือบงการจนเกินพอดี"

เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ที่เปิดกว้างรับทุกสิ่งอย่างเร็วรวด ดังนั้นการฝึกให้ทำอะไรด้วยตัวเองจึงเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาวิชาชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันพ่อแม่ มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลงด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงมักเลี้ยงดูแบบเอาอกเอาใจอย่างเต็มที่ ประคบประหงมดูแลอย่างดี เมื่อเจอหน้า ด้วยกลัวลูกไม่รัก แต่การปล่อยให้เด็กสบายทุกอย่าง ตามใจสารพัด ใช้เงินจ้างคนรับใช้ดูแลแม้กระทั่งอาบน้ำหรือล้างก้นจนเติบโต ก็อาจไม่แน่ว่าจะดี

หลายครอบครัวเศรษฐีในปัจจุบันที่ใช้เงินซื้อความสุข เลี้ยงลูกแบบตามใจ มักประสบปัญหาพาครอบครัวล่มจมหรือทำสังคมมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น ทายาทตระกูลเบียร์ของโคลัมเบีย "อังเดรส ซานโต โดมิงโก" ขับรถชนคนแล้วหนีลอยนวล จนโดนคนประณามทั้งประเทศ, จีนา ไรน์ฮาร์ต เศรษฐินีรวยที่สุดของออสเตรเลียมักจะออกสื่อยอมรับบ่อยๆ ว่า "เซ็งที่สุดในความไม่เอาถ่านของลูกๆ ตัวเอง", "เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์" ฆาตกรกินคนผู้โด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งร่ำรวย หรือหนุ่มสาวลูกเศรษฐีใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ชอบจัดปาร์ตี้ มั่วเซ็กซ์และยาเสพติดจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ

ซึ่งนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความเห็นสำหรับกรณีลูกคนรวยที่สร้างปัญหาแก่สังคมเอาไว้ว่า "ลูกเศรษฐีหลายคนที่ถูกเลี้ยงด้วยเงิน มักจะมีปัญหาขาดความอบอุ่นตั้งแต่เด็ก ซึ่งนั่นคือรากฐานของปัญหาที่เขาเหล่านี้ต้องการบางสิ่งมาเติมเต็ม"

ดังนั้นความสุขสบายจึงอาจไม่ได้เป็นทุกอย่างของชีวิต เพราะโทษที่ควรรู้เท่าทันของความสบาย คือ

1.ทำลายความมุ่งมั่นให้พังพินาศ คือ พอคิดจะทำอะไร เมื่อไปเจอความยากลำบากสักหน่อยก็ท้อถอย สูญสิ้นความกล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป เพราะคิดว่าถึงจะไม่ทำความสุขสบายก็ยังคงรออยู่ จึงกลายเป็นว่าความสุขสบายจะกลืนกินปณิธานไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือ

2.กายใจไม่พัฒนา เพราะความสบายจะทำให้หยุดการขวนขวายไม่สานต่อการเรียนรู้ ไม่เพิ่มพูนการพัฒนาให้เก่งและดีขึ้น ในขณะที่โลกกำลังหมุนไป ถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลังลงคลอง

3.เปิดประตูรับความขี้เกียจ เมื่อสุขสบายก็มักจะถูกความขี้เกียจควบคุมจิตใจได้ง่าย เมื่อความขี้เกียจเข้าครอบครองใจ ความเสื่อมถอยแห่งสมบัติพัสถานก็จะเกิดขึ้น ทรัพย์สินเงินทองที่มีก็ย่อมสูญสิ้นไป จนเข้าตำราธุรกิจครอบครัวอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วคน

4.ความสุขสบายทำให้ยึดติดง่าย พอเกิดอาการยึดติด ความเห็นแก่ตัวก็เกาะกินพื้นที่ในจิตใจ หวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แบ่งปัน คิดเข้าข้างตัวเองเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวอย่างปราศจากเหตุผลและวุฒิภาวะ เพราะกลัวจะต้องสูญเสียความสุขสบายที่มีไป

5.มองไม่เห็นว่าแท้จริงโลกนี้มีปัญหา มองไม่เห็นความทุกข์ มองไม่เห็นว่าปลายสุดของความสุขสบายคือความพลัดพรากและสูญเสีย จึงทำให้ไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม หรือการทำความดี และเมื่อไม่ปฏิบัติธรรม โอกาสที่จะพ้นทุกข์จึงไม่มี ซึ่งนับว่าเสียโอกาสอย่างยิ่งในการได้เกิดเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนา

เพราะพิษของความสบายเหล่านี้ มหาเศรษฐีระดับโลกหลายคน เช่น บิล เกตส์ เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก, วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีอันดับรองลงมา หรือ เฉินหลง ดาราดัง ฮอลลีวู้ด จึงเลือกที่จะยกเงินเกือบทั้งหมดของชีวิตให้กับองค์กรการกุศลแทนที่จะมอบ ให้กับลูกๆ ของตัวเอง

และถ้าความสุขสบายแบบเนื้อหนังทางโลกเป็นของดีจริง เจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ละทิ้งอำนาจกษัตริย์ ไม่ทิ้งพระราชวัง 3 ฤดู ทิ้งนางสนมกำนัลกว่าสี่หมื่น และทิ้งพระมเหสีที่งดงามระดับนางงาม ผลัดเปลี่ยนเป็นผ้าห่อศพคลุมตัว กินอาหารตามมีตามได้ บากบั่นแสวงหาความหลุดพ้นอย่างทรมานกว่า 6 ปี จนสามารถบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิก้าวขึ้นสู่ความเป็นบรมครูผู้เป็นมหาศาสดาเอกของโลกได้อย่างยิ่งใหญ่ในที่สุด

มาถึงปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นต้องสลัดต้นทุนความสบายจนหมดสิ้น เพียงแต่ให้ตระหนักไว้ว่า "อุปสรรคและความลำบากคือยาดีที่ทำให้แข็งแกร่ง ส่วนความสบายคือภัยร้ายที่อาจฉกกัดคนด้อยปัญญาอยู่เสมอ" จึงไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาทเพลิดเพลินจนเกินไป เพราะความสุขสบายที่ไม่ประกอบด้วยธรรมย่อมจะกลับกลายเป็นความร้ายมาทำลายตัวในที่สุด  



เก็บสาระจากโลกสมมติ

ท่ามกลางสังคมข่าวสารในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คครองเมือง ที่เพียงแค่คิดแล้วสื่อสารออกไป ไม่ว่าจะผ่านปากหรือปลายนิ้ว โลกจะรับลูกและแพร่กระจายขยายข้อมูลออกไปให้รับรู้กันครึ่งค่อนประเทศภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งจุดนี้เป็นเหมือนดาบสองคมที่ผู้คนอาจใช้เป็นเครื่องมือสนองคุณหรือยัดเยียดโทษให้แก่กัน จนทำให้โลกยุคปัจจุบันได้ไหลเข้าสู่ภาวการณ์แห่ง "สงครามสื่อ" ที่มีสื่อเป็นใหญ่อย่างชัดเจน และถ้าเราซึ่งเป็นผู้บริโภคข่าวสาร ขาดการพิจารณาที่จัดเจน ก็อาจตกเป็นทาสแห่งความโกรธเกลียด ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีได้กดขี่หลอกใช้เป็นเครื่องมือให้ร้ายทำลายกัน จนเกิดโทษภัยแก่ตัวเองและผู้อื่นอย่างรุนแรง

ถ้าว่าในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่จะใช้ตัดสินข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ว่ามีน้ำหนักควรค่าแก่การเชื่อถือปฏิบัติตามได้มากน้อยเพียงไร ให้วัดจากหลักที่ใช้ตัดสินใน "กาลามสูตร" หรือในพระไตรปิฎกใช้คำว่า "เกสปุตตสูตร" 4 ประการ คือ

1. เป็นสิ่งเร้าให้เกิดกุศล

2. เป็นสิ่งไม่มีโทษทั้งตัวเองและผู้อื่น

3. เป็นสิ่งที่วิญญูชนคนดีสรรเสริญ

4. เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข โดยเฉพาะเพื่อการพ้นทุกข์

เมื่อประกอบพร้อมทั้ง 4 ประการนี้ สิ่งเหล่านั้นย่อมควรค่าแก่การเชื่อถือ บอกต่อ แชร์ต่อ หรือทดลองปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมในวงกว้างสืบต่อไป หากแม้เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นอกุศล เป็นอัปมงคล ก็ควรให้เรื่องนั้นสิ้นสุดยุติลงที่เรา ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ต่อ เพราะนอกจากไม่เกิดประโยชน์แก่ใครแล้ว ยังเป็นการสร้างบาปให้กับผู้บอกและเป็นการสร้างโทษให้เกิดกับผู้รับอีกด้วย

และถ้าจะให้ชัดเจนลงไปอีก ก็ให้พิจารณาจากครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสกับวัสสการพราหมณ์ ในคราวที่พ่อพราหมณ์ตัวดีนี้ตั้งใจอวดภูมิรู้กับพระพุทธเจ้าว่า "เมื่อข้าพเจ้าเห็นอย่างไร ได้ยินอย่างไร ได้กลิ่นอย่างไร ลิ้มรสอย่างไร กระทบสัมผัสอย่างไร มีความนึกคิดอย่างไร การพูดสิ่งนั้นออกมา (คือ พูดตรง) ย่อมไม่มีโทษ" ในขณะที่พระพุทธเจ้าได้ตอบกลับจนตาพราหมณ์แกแทบหงายหลังและต้องยอมชูธงก้มหัวให้กับพระองค์ท่านว่า "ไม่ควรพูดทุกอย่างที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ได้ลิ้มรส ที่ได้กระทบสัมผัส ที่ได้นึกคิด อันเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเจริญ อันเป็นเหตุให้กุศลธรรมเสื่อม"

จึงสรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าถือหลักของกุศลเป็นที่ตั้ง ในการรับหรือให้เรื่องราวข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพราะมีเพียงบุญกุศลเท่านั้นที่ถือเป็นมิตรที่ให้คุณประโยชน์แก่ตัวเองอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ยิ่งคราวหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ที่สำนักสงฆ์สวนทิพย์

หลวงปู่เป็นพระนักปฏิบัติที่มีจริยางดงามควรค่าแก่การกราบไหว้บูชายิ่ง และการไปครั้งนั้นทำให้ได้รับธรรมะจากที่แห่งนี้ชนิดจำติดใจไม่ลืมว่า "ความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยชน คือ ปุถุชน ตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยความ "ถูกต้อง" ในขณะที่พระอริยบุคคล ตัดสินทุกเรื่องราวด้วยความ "เข้าใจ"

ซึ่งความเข้าใจนี้ คือ ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม ที่มีกุศลและอกุศลเป็นมูลเหตุ บางคนอาจชั่ว เพราะกฎแห่งกรรมเข้าบีบคั้น แล้วมีกำลังใจไม่มั่นคงพอที่จะตั้งมั่นยืนหยัดกับความดี ดังนั้นถ้าต้องการอยู่ในโลกนี้ให้มีความสุขและปลอดภัย ก็มิควรเอาเป็นเอาตายกับความถูกผิดจนชนิดกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพียงใช้เป็นเครื่องมือแบ่งกั้นทิฐิและความเชื่อในโลกก็น่าจะเพียงพอ

ส่วนใจเรานั้น ขอให้อยู่ด้วยความเข้าใจโลกว่า "โลกก็เป็นของมันแบบนี้ มีขึ้น มีลง มีพบ มีจาก มีสำเร็จ มีผิดหวัง มีเจ็บ และมีตาย" จึงไม่ควรไปถกเถียงเอาเป็นเอาตายหาเรื่องใครให้เสียเวลา ไม่ควรโมโหโกรธาคนที่คิดต่าง ไม่ขึงเครียด เกลียดชังกับพวกที่ผิดพลาด อยู่อย่างเข้าใจความแตกต่าง และเคารพในกฎแห่งกรรม

ถ้าทำได้เช่นนี้ เราจะอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างสบาย ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปขนาดไหนก็ตาม



อยู่อย่างคนเหนือดวง

ท่ามกลางความแตกต่างของมนุษย์ ทั้งรูปร่าง หน้าตา ปัญญา ความคิด ความเก่งกาจ ความเฉลียวฉลาด พรสวรรค์ ชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวย ความสามารถพิเศษ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า ล้วนมีเหตุมาจากกรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต

กรรมจะถักทอให้เกิดรูปธรรมนามธรรม จนกลายเป็นเราได้อย่างไร้ตำหนิ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์อาจมองลักษณะการถ่ายทอดรูปร่าง หน้าตา บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัย จากพ่อแม่สู่ลูก ด้วยกระบวนการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม แต่ในพุทธศาสนาอธิบายไว้กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ทั้งเหตุผลที่ต้องลงมาสู่ตระกูลของพ่อแม่ในรูปแบบต่างๆ เพราะอะไรต้องได้พ่อแม่ที่รักใคร่ ได้พ่อแม่ที่เอาใจใส่ หรือได้พ่อแม่ที่ทิ้งขว้าง อธิบายลักษณะการรวมตัวกันจนเกิดเป็นชีวิต บอกเหตุที่จะต้องมีรูปร่างและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน บอกไว้ละเอียดขนาดว่า อวัยวะแต่ละส่วนที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งทั้งหมดนั้น ล้วนอธิบายได้ด้วยนิยามของ "กฎแห่งกรรม"

โดยชีวิตที่ถูกออกแบบมาด้วยผลแห่งกรรม ทั้งกรรมเก่าใหม่ผสมผสาน จะส่งผลให้มีทั้งความสุขทุกข์คละเคล้ากันอยู่ตลอด เพราะบุคคลที่ยังไม่ได้ฝึกตนย่อมทำทั้งความดีและความชั่วปะปนกัน เมื่อเวลาใด ที่ผลของความดีเข้ามาสนอง ในช่วงนั้น ทำสิ่งใดจะง่าย มีความสะดวกคล่องตัว ประสบโชคลาภ จับอะไรก็พบกับความสำเร็จไปหมด แต่ถ้าวาระที่ผลแห่งความชั่วที่เคยทำไว้ตามมาสนอง ช่วงนั้นจะเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทรัพย์สินพังพินาศ สูญเสียของรัก ทำสิ่งใดก็แย่ไปเสียทุกครั้ง นี่คือลักษณะการดำเนินชีวิตไปตามเกมกรรม

ในขณะที่พระพุทธศาสนาสอนให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางสายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ให้เป็นหนทางแห่งความสุขโดยส่วนเดียว สอนให้รู้จักลิขิตชีวิตด้วยสองมือตัวเอง สอนให้ออกแบบรูปลักษณ์ทั้งภายในภายนอกด้วยการกระทำ รวมถึงสอนให้สร้างกรรมใหม่ที่ดียิ่งกว่า เพื่อเอาชัยเหนือกรรมเก่าที่ยอดแย่ของตน

ถึงแม้ว่ากรรมดีกรรมชั่วจะลบล้างกันไม่ได้ สิ่งที่เคยกระทำมาแล้วย่อมต้องส่งผลอยู่วันยังค่ำ แต่กระนั้น การสร้างความดีใหม่ที่ใหญ่กว่าและตรงจุด ย่อมสามารถตัดรอนการส่งผลของกรรม ทำให้กรรมชั่วที่กำลังจะให้โทษ มีความคลาดเคลื่อนออกไป หรือทุเลาเบาลงกว่าที่ควรจะเป็นได้ เพราะอำนาจแห่งบุญที่ทำอย่างต่อเนื่องโอบอุ้มค้ำชูไว้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ทำบุญลบล้างกรรมไม่ได้ แต่ทำบุญหนีกรรมจนตามไม่ทันได้" นั่นเอง

ซึ่งบุญพิเศษที่ให้ผลหนีกรรมได้รวดเร็วที่สุด มี 3 ประการ คือ

1. ทาน ต้องเพิ่มเติมให้มากขึ้น และมีความต่อเนื่อง โดยคำว่ามากไม่ได้หมายความว่าต้องให้เงินทอง วัตถุสิ่งของครั้งละมากๆ แต่หมายถึงการให้ทำบ่อยขึ้น และที่สำคัญต้องมีความต่อเนื่อง เช่น ใส่บาตรพระ ถวายสังฆทาน สร้างถนน สะพาน สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล แจกขนมให้เด็ก ให้เศษสตางค์แก่ขอทาน เลี้ยงอาหารสุนัขจรจัด เป็นต้น ให้พยายามฝึกให้ทานจนชินเป็นนิสัย

2. ศีล ควรพยายามรักษาให้ได้ รักษาได้ 1 ข้อ ได้หลักประกันชีวิตคุ้มครองเพิ่ม 1 ด้าน รักษาได้ 2 ข้อ เพิ่ม 2 ด้าน รักษาครบถ้วน ก็ครอบคลุมทุกด้าน เพราะศีลคือยันต์คุ้มกันภัยที่ดีที่สุด เพียงศีล 5 ถ้ารักษาได้ครบถ้วน จะเป็นการป้องกันความชั่วแบบครบวงจร และหนุนส่งให้บังเกิดแต่ความดีงาม

3. ภาวนา คือ การฝึกจิตตนเอง ให้ตั้งมั่นอยู่ในกรอบของความดี เช่น การสวดมนต์ เจริญสมาธิ ฝึกวิปัสสนา ซึ่งถือเป็นบุญที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านได้อย่างดีที่สุด จึงควรทำทุกวัน

หากหมั่นสร้างบุญทั้ง 3 ด้านนี้ อย่างต่อเนื่อง วิถีแห่งกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างพลิกชะตา ชีวิตจะพบความสุขและความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และวิบากกรรมต่างๆ ก็จะค่อยๆ ถอยจากไป จนทำให้เราสามารถกลายเป็น "คนเหนือดวง"


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 สิงหาคม 2560 17:48:48 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 60.0.3112.101 Chrome 60.0.3112.101


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 28 สิงหาคม 2560 11:55:22 »




ต้นโพธิ์พุทธคยาไม่ได้โค่น!!

จากข่าวด่วนที่ส่งต่อกันไปอย่างมากในสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเรื่องต้นพระศรีมหาโพธิ ณ สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โค่นล้มลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จนยังความโศกสลดให้เกิดแก่ชาวพุทธจำนวนมาก ผู้รับทราบข่าวสารนี้ ผู้เขียนในฐานะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย จึงหลีกไม่พ้นคลื่นคำถามที่ถาโถมเข้ามาแบบถล่มทลาย จนตอบกันไม่หวาดไม่ไหว ว่าข้อเท็จเป็นอย่างไร? ต้นโพธิสำคัญนี้ล้มลงจริงหรือไม่? ข่าวที่ถูกส่งออกมามีมูลมากน้อยเพียงใด?

จึงขอยืนยันในมุมของผู้อยู่ในพื้นที่จริงและได้เห็นเหตุการณ์จริงว่า

"ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นไม้จริงแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัม พุทธเจ้าไม่ได้โค่นล้มลง"

แม้กระทั่งต้นพระศรีมหาโพธิต้นที่ 2 หรือต้นที่ท่านเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม บิดาแห่งการสำรวจโบราณคดีอินเดีย นำหน่อจากต้นจริงแยกออกมาปลูกทางฝั่งทิศตะวันออกของพระมหาเจดีย์อีกต้นหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2423 ก็ไม่ได้โค่นล้มลงตามที่เป็นข่าว

เพียงแค่ต้นโพธิต้นที่ท่านเซอร์ ชาวอังกฤษผู้นี้ นำแยกออกมาปลูกทางฝั่งตะวันออก มีบางกิ่งเติบโตจนเป็นกิ่งใหญ่ มีอายุมาก แล้วโน้มลงจนขาดสมดุลเพราะน้ำหนักสูง ทั้งยังไม่มีต้นเสาคอยค้ำยันไว้ได้หักลงมาทับสถูปเล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพราะช่วง 3 วันก่อนหน้านั้น เมืองพุทธคยาได้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน จึงทำให้กิ่งโพธิใหญ่ใกล้หักอยู่รอมร่อนี้ ดูดซับรับน้ำเพิ่มขึ้นอีกมาก และในที่สุดก็ทานน้ำหนักไม่ไหว ต้องหักทำลายลงมาในที่สุด

จึงเป็นอันว่าต้นพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยาไม่ได้โค่น ไม่ว่าจะต้นจริงที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ต้นที่ 2 หรือต้นไหนๆ ในอาณาบริเวณโพธิมณฑล ก็ไม่ได้โค่นทั้งนั้น

และเพื่อให้ชาวพุทธเกิดความมั่นใจ ว่าหลักชัยสิ่งเครื่องแทนให้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธศาสดาที่อยู่กับชาวพุทธมานับพันปีนี้ ยังคงอยู่คู่กาลเวลาสืบต่อไป พระธรรมทูตไทยประจำแดนพุทธภูมิ จึงพากันออกไปสาธยายพระพุทธมนต์ มีบทพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น พร้อมทั้งเจริญจิตตภาวนา ภายใต้ต้นโพธิที่กิ่งหักลงมากันจนตลอดทั้งวัน

ในท่ามกลางเสียงแห่งความห่วงใยของผู้ศรัทธา ว่าต้นพระศรีมหาโพธิจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็มีความเห็นอีกมุมหนึ่งที่ดูคล้ายกับกึ่งเข้าถึงธรรมกึ่งปล่อยวาง กล่าวว่า "ต้นโพธิก็แค่เพียงต้นไม้ ไม่ใช่ธรรมะ ทำไมไม่เอาธรรมะ เพียงเอาแค่ต้นโพธิ" หรือ "นั่นก็แค่ต้นไม้ ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา" หรือ "ต้นโพธิไม่ใช่พระพุทธเจ้า" ฯลฯ

ซึ่งความเห็นในลักษณะนี้ คงจะไม่เกิดในพระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคลผู้ประเสริฐเป็นแน่ เพราะในคัมภีร์ลังกาวงศ์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าเทวานันปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกา ได้ถามพระมหินทเถระองค์อรหันต์ผู้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังดินแดนของพระองค์ว่า "พระคุณเจ้ามีความยินดีหรือไม่ ที่บัดนี้พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานมั่นคงแล้วในแผ่นดินนี้" พระมหินทเถระ กลับตอบว่า "ย่อมยังไม่...เพราะอาตมภาพยังอยู่ไกลพระศาสดา" กษัตริย์ก็ทรงแย้งว่า "พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้วมิใช่หรือพระคุณเจ้า" พระมหินทเถระกล่าวว่า "แม้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว แต่ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิในที่ตรัสรู้ เป็นสิ่งแทนพระองค์ได้" ซึ่งการสนทนาครั้งนี้นำไปสู่การปลูกต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลกตามที่บันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ เมืองอนุราธปุระประเทศศรีลังกา

ดังนั้นบุคคลผู้มีปัญญา จะไม่กราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิในสถานะเพียงความเป็นต้นไม้ แต่จะกราบด้วยการมองผ่านกิ่งก้านใบจนเข้าถึงเนื้อใน จนระลึกรู้ถึงความพยายามอย่างถึงที่สุดของมหาบุรุษเอกในโลก ที่ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ สร้างสมบารมีมายาวนานจนไม่มีผู้ใดกระทำได้ยิ่งกว่า เสียสละชีวิตและสมบัติทั้งหมดเป็นทานจนนับชาติไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเพื่อผู้อื่นอีกนับล้านๆ ครั้ง ทั้งหมดก็เพียงเพื่อระยะเวลา 45 ปี แห่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ดังนั้น "ต้นโพธิ" จึงเป็นเสมือนตัวแทนความดีงามทั้งปวงแห่งการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทำให้ชาวพุทธจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ยอมมอบเศียรเกล้าถวายเป็นเครื่องบูชามาตราบเท่าทุกวันนี้



สร้างบุญมหาศาลจากการแสวงบุญ

คําถามคาใจของใครหลายคนที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ผู้ไปประกาศพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแดนดินถิ่นเกิดพระศาสนา มักต้องตอบกันอยู่เสมอมา คือ ทำไมต้องไปอินเดีย? วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยก็มีออกมากมาย ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ประเทศไทยมิได้หรือ?

ซึ่งผู้เขียนก็มักจะหยิบยกคำของพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล รูปปัจจุบัน มาตอบกันอยู่ร่ำไปว่า "ถ้าสถานที่ไม่มีความสำคัญ พระพุทธเจ้าคงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงพุทธคยา และถึงจะไม่กล่าวเหตุผลในข้ออื่นเลย เพียงการเดินทางมาสู่แดนพุทธภูมิ ก็เป็นการปฏิบัติตามพินัยกรรมที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ก่อนปรินิพพานแล้ว"

คำถามจำพวกนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวพุทธที่ส่วนใหญ่คิดเพียงว่า "พระอยู่ที่ใจ", "ปฏิบัติธรรมที่ใดก็ได้" หรือ "ภาวนาอยู่บ้านดีกว่าการไปวัด" เป็นต้น ซึ่งชุดความคิดเหล่านี้เพียงถูกต้องสำหรับบางคน ที่ผ่านการปฏิบัติธรรมจนจิตใจมั่นคง สามารถใช้ธรรมะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองได้แล้ว แต่สำหรับบุคคลเป็นจำนวนมากที่ยังมิได้ลงมือปฏิบัติ วัดวาไม่นิยม ศีลไม่เคยรักษา สมาธิยังไม่เคยฝึก แม้การทำวิปัสสนาก็ยังไม่รู้จัก ย่อมถือเป็นคำพูดโคมลอย เพราะเป็นสิ่งที่พูดได้ หากแต่ทำมิได้จริง

"บุญ" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ การเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปวัด หรือพุทธสถานต่างๆ ซึ่งจะก่อเกิดประโยชน์ในการสร้างบุญสะสมบารมีทั้ง 10 ประการได้อย่างน่าอัศจรรย์ ได้แก่

1.ทานบารมี โดยธรรมดาเวลาออกเดินทางไปทำบุญที่ใด ก็มักมีโอกาสให้ทาน บริจาคทรัพย์อยู่เป็นปกติ จึงถือว่าการแสวงบุญเป็นสิ่งเร่งรัด "ทานบารมี"

2.ศีลบารมี ถ้าในการเดินทางมีการรักษาศีล หรือเมื่อไปวัดได้ฟังธรรม ก็มักมีการให้รับศีลเพิ่มบุญกุศลก่อน ประการนี้จึงทำให้ "ศีลบารมี" เพิ่มพูน

3.เนกขัมมะบารมี คือ การเพิ่มความบริสุทธิ์ เพราะในการไปแสวงบุญมักควบการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว ยิ่งถ้าได้พักที่วัด ก็มักมีการแยกห้องพักระหว่างชายหญิงเพื่อให้ถือพรหมจรรย์อยู่เสมอ ดังนั้นจึงทำให้ได้ละวางกิเลสกามและวัตถุกามชั่วคราว ซึ่งถือเป็นการสร้าง "เนกขัมมะบารมี"

4.ปัญญาบารมี เมื่อเข้าวัดที่มีพระสงฆ์ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะทำให้มีโอกาสเห็นปฏิปทาของท่าน อันเป็นเหตุทำให้ชุ่มชื่นเบิกบานใจและเป็นกำลังใจต่อการสร้างความดี ยกจิตขึ้นจากความมืดมน พลิกจิตให้สว่างไสว ยิ่งถ้าท่านกล่าวธรรมะ หรือแสดงสิ่งอันเป็นธรรมะให้ประจักษ์ ยิ่งก่อเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ได้ทางลัดในการปฏิบัติธรรม เสริมสร้าง "ปัญญาบารมี" เป็นอย่างดี

5.วิริยะบารมี คือ ความเพียร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเสมอในการออกเดินทางไปสู่การสร้างบุญกุศล

6.ขันติบารมี คือ ความอดทน ในการเดินทางออกไปทำบุญ เมื่อมีการไปเป็นแบบหมู่คณะ มากคนก็มากเรื่อง ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ ถ้าสามารถฝึกฝนอดทนจนรับมือได้โดยไม่ทุกข์มาก ย่อมทำให้ "ขันติบารมี" งอกเงย

7.สัจจะบารมี เมื่อกำหนดวันเดินทางเรียบร้อยแล้ว ถึงที่สุดสามารถทำตามความตั้งใจจนสำเร็จ แม้ว่าเมื่อถึงวันจริงอาจเกิดอารมณ์ขี้เกียจ รถติด รถเสีย รอไม่ไหว หรือ มีสารพันปัญหาเข้าขวางกั้น แต่สุดท้ายก็ยังดั้นด้นไปจนถึง ข้อนี้ทำให้ได้เพิ่มพูนในส่วนของ "สัจจะบารมี"

8.อธิษฐานบารมี ในทุกคราวที่ทำบุญ การตั้งอธิษฐาน คือ มีความตั้งใจมั่น กำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้วลงมือทำจนกว่าจะสำเร็จย่อมถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ

9.เมตตาบารมี เมื่อออกเดินทาง ซึ่งส่วนมากไปกันเป็นหมู่คณะ ก็มักจะเกิดการช่วยเหลือดูแลกัน แบ่งปันน้ำใจให้กัน ทำให้ได้บารมีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกมาก

10.อุเบกขาบารมี ในหลายแห่ง เมื่อไปแล้วได้พบเห็นสัจธรรม เกิดความสลดสังเวช เช่น ไปอินเดียได้พบขอทานเป็นจำนวนมาก เห็นการเผาศพริมแม่น้ำคงคา ทำให้มีโอกาสสร้างอุเบกขาบารมี คือ เกิดปัญญารู้เท่าทันสังขารทั้งปวง ลดความเห็นแก่ตัวลง เป็นต้น


ดังนั้น ชาวพุทธผู้ฝึกฝนพัฒนาตน จึงควรหมั่นพาตัวเองออกไปจากโลกส่วนตัวบ้าง เช่น ออกไปไหว้พระทำบุญ ไปเลี้ยงเด็กกำพร้า ไปดูแลผู้เฒ่าคนชรา พาพ่อแม่ไปปฏิบัติธรรมที่วัด ฯลฯ อย่ายึดติดกับพื้นที่ส่วนตัวจนเกินไป เพราะแม้จุดนั้นจะดูสบายดี มีความเพลิดเพลินจากการนอนหลับพักผ่อน หรือดูละครโทรทัศน์ แต่ก็อาจทำให้จิตใจอ่อนแอลง และจะทนทานรับความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งธรรมดาโลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง พอถึงจุดนั้นคนติดสุขจะทุกข์สาหัสทันที

เพราะความสุขเพลิดเพลินที่ไม่มีธรรมะเป็นรากฐาน ก็คือความทุกข์ทรมานที่กำลังรอการกลับมาให้ผล




กรุณาคุณ หนุนนำพรรษา

ปีนี้ฤดูกาลแห่งการเข้าพรรษามาถึงเร็วกว่าหลายปีที่ผ่านมา พระสงฆ์ในพุทธศาสนามีหน้าที่ต้องเลือกอยู่จำพรรษา ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง ตามพุทธฎีกาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติให้พระภิกษุค้างแรมอยู่กับที่ตลอดฤดูฝน 3 เดือนเต็ม ในสถานที่อันเหมาะสม เช่น วัดวาอาราม ตามถ้ำ ในบ้านร้าง แม้กระทั่งในเรือหรือกองเกวียน ก็สามารถจำพรรษาได้ เพราะสมัยก่อนการขนสินค้าไปขาย บางคราวไปกันเป็นปี พระภิกษุที่ติดตามไปเพื่ออนุเคราะห์แก่บรรดาพ่อค้าให้มีโอกาสสดับฟังธรรม จึงต้องพลอยจำพรรษาในเรือหรือกองเกวียนตามไปด้วย เป็นต้น

สาเหตุที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษากับที่ตลอดหน้าฝนนั้น ในบาลีมหาวรรค พระวินัยปิฎกระบุว่า สมัยพุทธกาลพวกชาวบ้านได้โพนทะนาตำหนิภิกษุว่า "ในฤดูฝนเช่นนี้พวกเดียรถีย์ยังหยุดไม่จาริกไปไหน แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานบางจำพวก ก็ยังหยุดอยู่ประจำที่ไม่ไปไหน ส่วนพวกสมณศากยบุตรนี้ยังเที่ยวจาริกตลอดปีไม่มีหยุด เที่ยวเดินเหยียบย่ำข้าวกล้า ธัญญชาติ หรือ พืชพันธุ์ต่างๆ เสียหาย ในที่สุดแม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ก็ถูกเหยียบย่ำชีวิตให้พินาศไปเพราะการเที่ยวจาริกของพวกสมณศากยบุตรเหล่านี้เอง"

พอมีเสียงบ่นหนาหูมากขึ้นจนได้ยินไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงอาศัยความกรุณา สงเคราะห์ทั้งผู้นินทาและภิกษุของพระองค์ คือ สงเคราะห์ชาวบ้านที่ช่างโพนทะนา เพื่อมิให้ต้องสร้างโทษภัยแก่ตัวในการนินทาว่าร้ายต่อผู้ทรงศีล ซึ่งอันนี้ก็ว่าไม่ได้ เพราะพวกปากหอยปากปูมีมาแต่ไหนแต่ไร มิใช่เพิ่งจะมามีเอาในยุคสมัยเราเสียเมื่อไหร่ ก็มีอย่างหรือ? ขนาดวัวควายยังรู้ว่าตรงไหนเป็นหญ้า ตรงไหนเป็นข้าว แล้วพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้ามีหรือที่จะหลับหูหลับตาเดินลุยเข้าไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้าน

ซึ่งเรื่องจริงคือ สมัยนั้นมีการแก่งแย่งแข่งขันกันในเรื่องศาสนาสูงมาก ศาสนาส่วนใหญ่ใช้ข้อวัตรปฏิบัติที่ดูแล้ว "เคร่ง" กว่าปกติเป็นจุดขาย เช่น ศาสนาเชนของศาสดามหาวีระ ที่สร้างรูปแบบการปฏิบัติให้ดูเคร่งครัดจริงจัง เดินไปไหนต้องกวาดถนนก่อน เพราะกลัวจะเหยียบสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เวลาหายใจต้องใช้ผ้าปิดจมูก เพราะกลัวจะสูดเอาเชื้อโรคหรือแบคทีเรียเข้าไป และที่โดดเด่นสุดจนใครต่อใครมักจะหลงเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ คือ การแก้ผ้าเดินโทงๆ เพื่อแสดงถึงความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งปวง

ซึ่งศาสนาเชน ได้ออกบัญญัติไม่ให้นักบวชของตนเดินทางในฤดูฝน เนื่องจากฤดูฝนเต็มไปด้วยสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากมาย เมื่อศาสนาเชนกำหนดข้อห้ามไว้ดังนี้ คนอินเดียที่นับถือศาสนาเชนเป็นจำนวนมาก ก็จดจำจนขึ้นใจว่า เมื่อถึงฤดูฝนเหล่านักบวชจะไม่เดินทาง พอศาสนาพุทธปรากฏขึ้นแล้วนักบวชของศาสนาพุทธยังเดินทางกันอยู่ พระสงฆ์จึงโดนชาวบ้านกลุ่มนี้โพนทะนาไปโดยปริยาย

ส่วนที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพรรษาเพื่อการสงเคราะห์ภิกษุของพระองค์ คือ

1.ป้องกันการอาพาธของภิกษุทั้งหลาย เพราะฤดูฝนในชมพูทวีปนั้น ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว การเดินทางในช่วงนี้ย่อมทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งผู้เขียนได้ประจักษ์ด้วยตนเองเพราะอยู่จำพรรษาในประเทศอินเดียมาหลายปี

2.ป้องกันภิกษุทั้งหลายจากสัตว์ร้ายจำพวกอสรพิษ คือ งู ที่มักออกหากินมากที่สุดในช่วงฤดูฝน เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรเที่ยวจาริกไปตามที่ต่างๆ เพราะสมัยนั้นป่าดงพงไพรยังมีมาก

3.เพื่อรักษาบริขารแก่ภิกษุ เพราะสมัยก่อนพระสงฆ์ใช้ผ้าบังสุกุล คือผ้าเก่าเก็บที่ผู้อื่นทิ้งแล้ว หนาบ้าง บางบ้าง มาเย็บมาย้อมด้วยน้ำฝาด เพื่อทำผ้าไตรจีวร ส่วนใหญ่ผ้าก็จะทั้งหนาและหนัก เมื่อเดินทางในฤดูฝน พอจีวรถูกฝน นอกจากจะต้องแบกผ้าหนักขึ้นแล้ว ยังตากแห้งได้ยาก และท้ายสุดเมื่อผ้าไม่แห้งบ่อยเข้าก็เกิดการผุ ทำให้ต้องเสียผ้าจีวรไปโดยปริยาย กว่าจะเสาะแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเพื่อเย็บเป็นจีวรใหม่ ก็ต้องเสียเวลาไปอีกมาก

4.เพื่อความสามัคคีของหมู่คณะ เพราะตลอดระยะเวลา 8-9 เดือน ภิกษุในสมัยนั้นมักเที่ยวจาริกเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา พอเข้าพรรษาพระสงฆ์จะมีโอกาสได้กลับมาพบหน้ากัน ให้รู้ว่ายังอยู่ดี มิได้ล้มหายตายจากไปไหน พระอุปัชฌาย์ได้เห็นหน้าลูกศิษย์ เพื่อสหธรรมิกได้สนทนาปราศรัย ลูกศิษย์ได้ทำข้อวัตรปฏิบัติดูแลอาจารย์ ความเข้มแข็งของคณะสงฆ์จึงมีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

5.ทำให้สามารถรับฟังธรรมคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ ได้ทบทวนพระสูตร พระวินัย ได้ศึกษาเพิ่มเติมทั้งปริยัติและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องถึงติดต่อกันถึง 3 เดือน เป็นการเพิ่มคุณธรรมความดีให้แก่ตนเอง

6.เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีโอกาสทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสงฆ์อย่างเต็มที่ในช่วงเข้าพรรษา

จึงเห็นได้ว่าในช่วงพรรษาเป็นเวลาแห่งคุณค่าของพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงวางระเบียบแบบแผนไว้ให้อย่างละเอียดลออ ซึ่งข้อสำคัญคือน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยกรุณาคุณของพระองค์ ที่ไม่ว่าเรื่องใดก็จะทรงคิดเผื่อให้แก่พุทธบริษัทของพระองค์เสมอ ที่สุดแม้แต่ธรรมะทุกบทตอนก็ล้วนแต่สมบูรณ์ชนิดตัดก็ขาดต่อก็เกิน รอเพียงให้ชาวพุทธหยิบขึ้นมาปฏิบัติตามอย่างจริงจังจนเกิดผลเท่านั้น


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 60.0.3112.113 Chrome 60.0.3112.113


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 07 กันยายน 2560 17:21:32 »



โลกช้ำเพราะธรรมวิบัติ

อีกครั้งที่โลกส่งสัญญาณถึงความวิปริต ผ่านภัยร้ายแรงของธรรมชาติ ซึ่งขยับใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ จากที่เคยถล่มทลายในประเทศอื่นไปทั่วทุกมุมโลก มาวันนี้ภัยดังกล่าวได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ดังปรากฏเป็นวิกฤตการณ์ในรอบ 30 ปีที่ "สกลนคร จมบาดาลทั้งเมือง" เพราะพิษจากพายุ ที่ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน หนำซ้ำยังลามไปถึงนครพนมและร้อยเอ็ด ทำให้พี่น้องชาวไทยเกิดความเดือดร้อน ลำบากเรื่องที่อยู่ที่กิน เสียทรัพย์สิน หรือถึงกับเสียชีวิต

ในความโศก จำต้องเกิดความคิด พิจารณาหาประโยชน์จากสิ่งอันเป็นโทษให้ได้ จึงจะถือว่ามีปัญญาจริงตามหลักพระพุทธศาสนา

ที่โลกประสบความปั่นป่วนมากขึ้นอย่างชัดเจนนี้ ถ้าว่ากันตามหลักการของพุทธ สาเหตุเป็นเพราะในปัจจุบันจิตใจของผู้คนมีความวิปริตแปรปรวนมากขึ้น กระทำความชั่วโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ เอารัดเอาเปรียบโดยไม่สนลูกเขาเมียใคร ทำลายศีล 5 ของตนจนกลายเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกิเลสตัณหาของผู้คนเร่าร้อนมากขึ้น เท่าไหร่ ดินฟ้าอากาศก็ยิ่งวิปริตแปรปรวนได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อ "อยาก" มาก ก็ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายชีวิต ถ่ายเทของเสียลงสู่ธรรมชาติ ขุดเจาะทรัพย์ในดินสินในน้ำจนเกินพอดี ทำลายระบบนิเวศ เพื่อแสวงหากำไร มุ่งประโยชน์ตนเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม จนธรรมชาติต้องขาดสมดุล

และนอกจากเหตุที่มองเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ในพระอรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ยังได้กล่าวอย่างชัดเจนลงไปอีกว่า "เมื่อผู้คนในโลกขาดศีลธรรม เหล่าเทวดาอารักษ์ ตลอดจน ทวยเทพผู้มีหน้าที่รักษาฤดูกาลก็ย่อมไม่ประกอบด้วยธรรม ทำให้สภาพของโลกเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ลมย่อมไม่พัดไปตามทางลม ฤดูหนาว ฤดูร้อนย่อมไม่เป็นไปตามฤดูกาล เมื่อฤดูผิดแผกไป ฟ้าฝนย่อมไม่ปกติ เมื่อฝนไม่ปกติ ก็ไม่เกื้อกูลต่อข้าวกล้า จนทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ข้าวกล้าจึงสุกไม่พร้อมกันและจะค่อยๆ ปราศจากกลิ่นและรส การบริโภคข้าวนั้นเข้าไปย่อมเกิดโทษ คือ มีโรคมากและมี อายุน้อยลง"

จึงสรุปได้ว่า ความวิปริตแปรปรวนของคน คือ ต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์ละเมิดศีล ทำความชั่วมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็จะยิ่งวิบัติมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการทำความดีมีศีลธรรม จึงไม่เพียงเป็นการทำเพื่อตัวเองเท่านั้น ยังเป็นการช่วยลดภาระให้กับโลก ช่วยคน ช่วยประเทศชาติได้มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะการทำความดีเป็นหมู่คณะ เช่น การไปร่วมสวดมนต์ที่วัด ชวนกันรักษาศีลเป็นหมู่คณะ ตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล หรือการเจริญพระกรรมฐานตามสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ เป็นต้น

หากไม่มีโอกาสได้ไปวัด ก็ให้ชวนคนในครอบครัวสร้างความดีด้วยกัน ร่วมกันสวดมนต์ก่อนนอน ชวนกันรักษาศีล 5 นั่งสมาธิภาวนาร่วมกัน เพราะบุญเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติโดยตรงในแง่ของความสุขความเจริญแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมกรรมสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีมากขึ้นอีกด้วย ทั้งยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือเยียวยาโลก แม้คนที่ ตั้งหน้าตั้งตาทำดีจะมีน้อย เมื่อเทียบกับอัตราส่วนของผู้คนกว่า 6,000 ล้านคนในโลก แต่กำลังของความดีนั้นสูงกว่ากำลังของความชั่วมาก จึงยังพอระงับยับยั้งหรือบรรเทาเหตุเภทภัยต่างๆ ได้ หรืออย่างน้อยเราและครอบครัวก็ยังสามารถเอาตัวรอดในเหตุวิบัติภัยต่างๆ ได้ตามสมควรด้วยอำนาจของบุญที่ได้กระทำ

 ความดีความชั่วที่มนุษย์ทำลงไปนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหน หากแต่แปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบของกระแสพลังงานที่รวมตัวกัน ถ้าใครทำดีก็จะโดนกระแสพลังของความดีนี้ดึงดูด ถ้าใครทำชั่วกระแสความชั่วก็ดึงดูด เป็นการหนุนเสริมทั้งด้านดีและด้านชั่ว แต่ถ้ายังปล่อยให้กระแสเป็นไปในทางชั่วเช่นนี้ต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ดินฟ้าอากาศวิปริตผิดเพี้ยน เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจการเมือง หรือการทั่งผู้คนที่โหดร้ายหรือมีอาการทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ

"ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะพินาศอย่างแน่นอน"




อิทธิพลราหู ต่อชาวพุทธ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เชื่อในวงการโหราศาสตร์ มีอันต้องขยับขยายขวนขวายทำพิธีส่ง "พระราหู" ย้ายราศีจนเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หลายต่อหลายวัดจัดพิธีทำบุญใหญ่ให้พระราหู จนมีผู้เดินทางมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น ทั้งที่พิธีจัดกันในยามดึกดื่นเที่ยงคืน เนื่องจากฤกษ์เคลื่อนย้ายอยู่ ในเวลาประมาณ 23.05 น. ซึ่งพระราหู ตามตำราทางโหราศาสตร์นั้นถือเป็นดาว นพเคราะห์ดวงหนึ่ง เป็นเทพเจ้าแห่งการเปลี่ยนแปลง สามารถให้ผลได้ทั้งคุณและโทษ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเกรงกลัวต่ออิทธิพลของพระราหู

ท่านเจ้าคุณธงชัย แห่งวัดไตรมิตร หนึ่งในผู้แตกฉานในโหราวิทยา ได้ออกมาพูดเรื่องดาวราหูเคลื่อนย้ายในคราวนี้ว่า "จะเกี่ยวกับเรื่องของการเงิน เศรษฐกิจ บรรยากาศบ้านเมืองจะดีขึ้น เศรษฐกิจการลงทุนจะมีมากขึ้น การเมืองจะดีขึ้น คนดีจะมีที่ยืนมากขึ้น" จึงทำให้บรรดาผู้หวังพ้นจากอุปสรรค ความฝืดเคือง ความเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้าร่วมงานพิธีที่จัดขึ้นตามวัดกันอย่างคับคั่งจนเกิดเป็นกระแส กลายเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า ช่วงนี้ผู้คนประสบปัญหาเรื่องปากท้องกันมากขึ้นจริงๆ

พอกล่าวถึงโหราศาสตร์ เรื่องความเชื่อก็ไม่พ้นต้องมีคนอีกกลุ่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาโชว์อัตวิสัยที่คิดว่าสูงส่งกว่า วิพากษ์วิจารณ์คนเห็นแตกต่างว่างมงาย ไม่ฉลาด ไม่เป็นวิทยาศาสตร์และไม่ทันสมัย โดยไม่คำนึงถึงสาระแห่งวิถีชีวิตที่ผูกโยงกันมาตั้งแต่โบราณว่าเนื้อหานั้นซ่อนประโยชน์อะไรไว้บ้าง ซึ่งการดูถูกผู้อื่นย่อมมิใช่วิสัยแห่งปัญญาชน และตาที่มองเห็นแต่ความผิดของผู้อื่นก็มิใช่ดวงตาของคนดี

เรื่องพระราหู ในทางดาราศาสตร์ ดาวราหู ไม่ได้มีตัวตนเหมือนกับดาวอื่นๆ ในระบบสุริยจักรวาล แต่ในทางพุทธศาสตร์ พระราหูเป็นผู้ที่มีตัวตนอยู่จริงดังมีเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีเทวดาท่านหนึ่ง รูปร่างใหญ่โตกว่าเทวดาทั่วไปมาก ใหญ่จนผิดปกติชนิดไปไหนถ้าไม่ใช้ฤทธิ์เดชจำแลงแปลงให้เล็กลงก็จะลำบาก ซึ่งท่านมีชื่อ "อสุรินทราหู"

สมัยที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ท่านราหูก็ได้ยินได้ฟังเรื่องของพระพุทธเจ้า อยู่ตลอด เห็นเทวดาท่านโน้นท่านนี้ไปกราบอยู่เสมอ ตัวเองจึงอยากไปกราบใจจะขาด แต่ติดที่มีทิฏฐิว่า "เรานี้ตัวใหญ่ ถ้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ต้องก้มหัว มันจะเสียศักดิ์ศ" เพราะท่านมีดีที่ตัวใหญ่ จึงภูมิใจในความเป็นใหญ่ของตัวเอง เวลาเจอใคร มีแต่ผู้อื่นต้องแหงนหน้าขึ้นมอง แต่ครั้นเห็นเหล่าเทพยดาทั้งหลายเหาะไปเฝ้าพระ บรมศาสดากันคราวละมากๆ ก็ไม่อาจหักห้ามใจ วันหนึ่งจึงแอบเหาะตามติดไปด้วย

พระพุทธเจ้าท่านทราบความคิดของ อสุรินทราหู จึงแสดงปาฏิหาริย์เนรมิตพระวรกายในท่านอนสีหไสยาสน์ให้ใหญ่ยิ่งกว่าพระราหู พอท่านมาเห็นพระพุทธเจ้าแบบนั้น ก็ตกตะลึง เพราะปรากฏว่าแค่ท่านอนยังสูงเลยหัวอสุรินทราหูไปตั้งไม่รู้กี่เท่า แทนที่จะก้มลงมองดูพระพุทธองค์ อสุรินทราหูกลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อชมพระพุทธลักษณะอันงดงามตั้งแต่พระบาทจนถึงพระพักตร์ ทำให้เกิดความปีติปลาบปลื้ม จึงยอมหมดหัวใจก้มกราบลงตรงนั้น พร้อมทั้งเปล่งวาจานับถือบูชาพระรัตนตรัยไปจนตลอดอายุขัย

ต่อมาพระพุทธเจ้าก็มีพุทธพยากรณ์ต่ออสุรินทราหูว่า สืบไปในเบื้องหน้าท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งมีนามว่า "นารทะสัมมาสัมพุทธเจ้า" ภายหลังจากมีการสร้างพระพุทธรูปแล้ว จึงมีการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์แบบลืมพระเนตรขึ้น ซึ่งปางนี้เรียกว่า "พระปางโปรดอสุรินทราหู" เป็นปางขจัดทิฏฐิมานะทำให้ตาสว่างขึ้นมา

เป็นอันว่าในทางพระพุทธศาสนา พระราหูนับว่ามีตัวตนอยู่จริง ซ้ำยังมีบุญมากขนาดที่ต่อไปในอนาคตจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกด้วย ดังนั้น ชาวพุทธถ้าต้องการบูชาพระราหู จึงไม่ควรเห็นท่านเป็นแค่ภาพเงาอมจันทร์อมอาทิตย์ หรือเป็นเพียงดาวนพเคราะห์ดวงหนึ่ง แต่ควรบูชาในแง่ที่ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคล ผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งนอกจะเป็นบุญยิ่งขึ้นแล้วยังถือว่าสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 60.0.3112.113 Chrome 60.0.3112.113


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 08 กันยายน 2560 16:29:09 »




ตาดีได้ตาร้ายเสีย

บทเรียนการสอนของคุณครูท่านหนึ่ง กำลังโด่งดังอย่างมากในโลกของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ด้วยลีลาการสอนที่ชี้ทิศให้เห็นชัดถึงทัศนคติของผู้คนยุคปัจจุบัน ซึ่งมักมองข้ามส่วนดี เลือกมองแต่ส่วนเสียของผู้อื่น จนทำให้สังคมแทบไม่มีพื้นที่สีขาวหลงเหลือให้แก่ความดีใดๆ งอกเงยขึ้นมา โดยเนื้อความนั้นมีว่า

ครูโรงเรียนประถมท่านหนึ่งเขียนสูตรคูณแม่ 9 บนกระดาน คือ 9x1=7, 9x2=18, 9x3=27, 9x4=36, 9x5=45, 9x6=54, 9x7=63, 9x8=72, 9x9=81, 9x10=90 เมื่อครูเขียนเสร็จ เด็กๆ ต่างหัวเราะเยาะ เพราะเธอเขียนสูตรคูณบรรทัดแรกผิด

ครูจึงพูดกับเด็กว่า "ที่ครูเขียนผิด เพราะต้องการสอนให้นักเรียนรู้สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่โลกภายนอกจะปฏิบัติกับพวกเธอ เห็นไหมว่าครูเขียนสูตรคูณถูกต้อง 9 ครั้ง แต่ไม่มีใครชื่นชมครู ตรงกันข้าม กลับหัวเราะเยาะและตัดสินครูทั้งที่เขียนผิดเพียงครั้งเดียว" นี่คือบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า โลกอาจไม่ได้ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่คุณทำมานับล้านอย่าง แต่จะตัดสินจากการทำผิดเพียงครั้งเดียว

หลายคนเชื่อว่า "เห็นสิ่งใดก็ควรพูดในสิ่งนั้น" ยิ่งเห็นเรื่องไม่ดียิ่งควรนำมาเปิดเผย ด้วยเชื่อว่าการกระทำเช่นนั้นจะนำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้น เป็นการตัดเนื้อร้ายทำลายภัยของสังคม นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมแห่งการจับผิดกัน ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนเองได้รับคำถามจากนักข่าวท่านหนึ่งว่า "ถ้าเราเอาเรื่องจริงมาพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็ไม่น่าจะมีความผิดใช่ไหมครับ" ผู้เขียนจึงตอบโดยใช้เหตุการณ์ที่มหาเสนาบดีแห่งแคว้นมคธอันใหญ่ยิ่งในชมพูทวีป เคยอวดภูมิรู้ตนกับพระพุทธเจ้าว่า

"สิ่งใดที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้นึกคิดมาเองกับตัว สิ่งนั้นย่อมสามารถพูดได้ โดยปราศจากโทษ"

แต่พระพุทธเจ้ากลับตอบว่า "ไม่ควรพูดถึงทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ได้ลิ้มรส ที่ได้สัมผัส และที่ได้คิด อันเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเจริญ และทำให้กุศลธรรมเสื่อม"

เล่นเอามหาเสนาบดีผู้ชาญฉลาดท่านนั้นหงายผึ่งแทบตกเก้าอี้ แต่ด้วยความเป็นคนมีปัญญาดีจึงชื่นชมวาจาของพระพุทธเจ้าว่า "จริงแท้แน่นอน" ก่อนจากไป

นักข่าวท่านนั้นก็ถามต่อไปว่า "ถ้าไปเจอเรื่องไม่ดีมา โดยเฉพาะเรื่องของพระสงฆ์ ในฐานะนักข่าวก็จำเป็นต้องเสนอข่าว ยิ่งข่าวไม่ดีเมื่อนำมาตีแผ่แล้ว เชื่อว่าน่าจะทำให้พระไม่ดีหรืออลัชชีหมดไปจากศาสนาเสียที" ผู้เขียนจึงเลือกเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยสอนในเรื่อง "วาจาของสัตบุรุษ" มาตอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะคนสมัยนี้มักไม่ค่อยให้โอกาสพระพุทธเจ้าได้พูด ทั้งที่คำพูดของพระองค์สามารถเป็นข้อยุติทุกเรื่องราวในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สัตบุรุษ ซึ่งหมายถึง บุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ

1.เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของผู้อื่น ก็จะไม่เปิดเผยให้ปรากฏ หากจำเป็นต้องพูด ก็จะพูดเพียงเล็กน้อย

2.แม้ไม่มีใครถามถึงความดีของผู้อื่น ก็จะเปิดเผยให้ปรากฏ ยิ่งเมื่อถูกใครถาม ก็ย่อมกล่าวถึงความดีนั้นอย่างเต็มที่

3.แม้ไม่มีใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ยังเปิดเผยทำให้ปรากฏ หากมีคนถาม จะบอกกล่าวอย่างเต็มที่อย่างไม่หลีกเลี่ยงบิดพลิ้ว

4.แม้มีใครถามถึงความดีของตน ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ถ้าถูกคะยั้นคะยอ ก็จะพูดเพียงเล็กน้อย

ทั้ง 4 ประการนี้ คือลักษณะของสัตบุรุษ

เพราะพระองค์ทรงรู้ว่า "การขยายขายความชั่ว เป็นสิ่งนำมาซึ่งความเสื่อม" เนื่องจากความชั่วและคนไม่ดีมีอยู่ทั่วไปในทุกสังคม จึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้หมดสิ้นไปได้ ตรงข้ามกับ "การบอกต่อเล่าความดี คือหนทางนำไปสู่ความเจริญ" ที่จะเป็นการใช้น้ำดีขับไล่น้ำเสีย วางความดีให้อยู่เหนือความชั่ว ดังนั้นหากเอาแต่เพ่งโทษผู้อื่น หาแต่ข้อเสียของใครต่อใครมาขยายต่ออยู่เสมอ จะทำให้จิตใจของบุคคลนั้นสะสมแต่สิ่งปฏิกูลจนเศร้าหมอง พร้อมทั้งยังพาให้คนรอบข้างและสังคมต้องโทษรับพิษภัยไปด้วย ที่สำคัญเมื่อใจมีแต่ขยะ มองใครก็เห็นแต่เรื่องร้ายๆ ต่อไปทั้งชีวิตก็จะได้พบเจอแต่เรื่องร้ายเช่นเดียวกัน โบราณจึงให้สำนวนไว้เตือนสติว่า "ตาดีได้ ตาร้ายเสีย" เพราะลักษณะของผู้มีปัญญา คือ มีความสามารถในการมองเห็นความดีของผู้อื่นอยู่เสมอ แล้วทั้งชีวิตก็จะพบเจอแต่เรื่องที่ดี

ดังนั้น นับจากนี้อย่ามัวแต่เอาเวลาไปนั่งเพ่งโทษใคร หรือนินทาพระสงฆ์สามเณร สู้ใช้เวลาที่มีเหลืออย่างจำกัดไปมองหาความดี มองหาพระดี แล้วกราบไหว้ฟังธรรมจากท่าน เพื่อสร้างบุญบารมีให้แก่ตนเองย่อมจะประเสริฐล้ำกว่ามาก




ภัยนอก สู่ความหลุดพ้นภายใน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในรัฐพิหาร สถานที่ตั้งของเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ในฐานะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ซึ่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปีของรัฐ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 200 คน ประชาชนอีก 400,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนไปอาศัยตามศูนย์พักพิงชั่วคราวของทางการ บ้างนอนพักอยู่ริมถนน และผู้คนอีกราว 10 ล้านคนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้

เมื่อน้ำลดก็อาจตามมาด้วยโรคระบาดและการสูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะคนรัฐพิหารส่วนใหญ่มีรายได้น้อย จึงนิยมสร้างบ้านด้วยดิน ซึ่งเป็นดินเหนียวผสมฟางหญ้า พอน้ำหลากมาคราวหนึ่ง ทั้งบ้านพัก เสื้อผ้า เครื่องเรือน ก็มักถูกกลืนหายไปกับสายน้ำทั้งหมดไม่มีเหลือ

จึงไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม ประเทศอินเดียและอีกหลายแห่งในโลกก็กำลังถูกคุกคามด้วยน้ำมือของธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกทั้งใบกำลังมีปัญหา และไม่เพียงภัยธรรมชาติเท่านั้นที่กำลังสำแดงเดชอย่างไม่เกรงใจใคร แม้แต่ภัยสงครามจากฝ่ายมหาอำนาจในโลกก็มีแนวโน้มที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นทุกขณะ ซึ่งถ้ามองตามวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ เมื่อใดที่ประชากรล้นโลก ก็มักต้องมีเหตุให้สูญเสียครั้งใหญ่ เช่น เกิดโรคระบาด เกิดทุพภิกภัยหาอาหารกินไม่ได้ เกิดสงครามรบราฆ่าฟันกัน หรือเกิดภัยพิบัติ ทำให้ผู้คนตกตายคราวละมากๆ เพื่อให้สมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

สำหรับประเทศไทย ยังถือว่าไม่หนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นซึ่งประสบภัยจนคนตายกันนับพันนับหมื่น ทั้งนี้เพราะคนไทยหลายกลุ่มยังอยู่ในศีลกินในธรรม วัดวาอารามต่างๆ ยังรวบรวมกำลังจัดสวดมนต์ปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนพอจะเป็นกำลังให้ธรรมะรักษาแผ่นดินได้ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นเหตุให้ประเทศชาติยังสามารถอยู่รอดปลอดภัย ทั้งที่เพื่อนบ้านโดยรอบ ต่างประสบภัยกันอย่างหนักหนาสาหัส

แต่ถ้าคนไทยยังมัวแต่ประมาทคิดว่าภัยห่างไกลตัว หลงระเริง เพลิดเพลินโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปล่อยให้คนเพียงกลุ่มน้อยเป็นกำลังรักษาแผ่นดินด้วยความดี ส่วนตัวเองปล่อยไหลตามกระแสกิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ เพียงไม่นานภัยต่างๆ ก็อาจหนักข้อขึ้นจนต้องประสบเรื่องรุนแรงไม่ แตกต่างจากหลายประเทศที่พบเจออยู่ในขณะนี้

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2554 ประเทศไทยเคยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ พอถึงต้นปี 2555 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ออกมาเตือนผ่านสติผ่านพรปีใหม่ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยความตอนหนึ่งว่า

"เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองนับว่าเป็นปกติดี แต่พอเข้าปลายปี ก็เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ประชาชนหลายจังหวัดต้องประสบอันตราย และความเดือดร้อนลำบาก ความเสียหายครั้งนี้ดูจะร้ายแรงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจอย่างสำคัญ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้นจะต้องมีทุกข์มีภัย มีอุปสรรคผ่านเข้ามาเนืองๆ ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปกติสุขอย่างเดียวได้ ทุกคนจึงต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมเสมอ..."

สาระสำคัญ คือ ความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อพสกนิกรด้วยการตักเตือน "ไม่ให้ประมาท" การใช้ชีวิตในโลกจำเป็นต้องเตรียมกายใจไว้เสมอ หลายครั้งที่ศูนย์เฝ้าระวังภัยออกมาเตือนเรื่องภัยพิบัติ หลวงปู่หลวงพ่อหลายรูปออกมาพูดถึงเหตุเภทภัยในอนาคต ทั้งนี้มิใช่เพื่อให้คนเกิดความหวาดกลัวจนไม่เป็นอันกินอันนอน แต่เพื่อการเตรียมพร้อมเอาตัวให้รอดในสภาพการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น

จึงต้องย้อนกลับมาที่การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา จนมองเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่น่ากลัวมิใช่ภัยภายนอก เพราะชีวิตของคนไม่ได้มีมาก ถ้าคิดแบบประมาทก็คือมีแค่วันนี้ ถ้าคิดแบบไม่ประมาทคือมีแค่ลมหายใจนี้ ในเมื่อเวลาเรามีจำกัดเพียงแค่นี้ ยังจะมัวไปกลัวภัยภายนอกอยู่ทำไม สู้ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมไม่ดีกว่าหรือ?

ยอมเหนื่อยแค่ตอนนี้ แต่ถ้าเหนื่อยแล้วพ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเจอปัญหา เจอภัยพิบัติ เจอความเดือดร้อน เจอความผิดหวังเสียใจ เจอความเจ็บปวดทรมาน... มันไม่คุ้มค่ายิ่งกว่าหรือ?





อโศกมหาราชผู้ทรงธรรม

เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) นักเขียนและนักประวัติศาสตร์คนดังชาวอังกฤษ ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Outline of History ของเขาว่า "ในจำนวนนับหมื่นพระนามของกษัตริย์และจักรพรรดิมากมายในประวัติศาสตร์โลก ท่านเหล่านั้นปรากฏแสงอยู่เพียงชั่วขณะก่อนจะเลือนลับหายไปอย่างรวดเร็ว แต่พระนามของ "พระเจ้าอโศก" ยังคงสว่างเรืองรองไม่ต่างจากเดือนดารา แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน"

ในขณะที่ซีรีส์เรื่อง "อโศกมหาราช" ยังคงโลดแล่นบนจอแก้ว บิดาของผู้เขียนก็พยายามเร่งรัดให้เล่าเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราชบ้าง ด้วยเห็นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมายที่ใกล้ชิดติดตามเอาใจช่วยมหาราชพระองค์นี้ ซึ่งผู้เขียนได้รับปากแต่ยังคงไม่สบโอกาส จนมาวันนี้เห็นว่าเหมาะดี จึงขอนำเรื่องราวบางแง่มุมที่น่าสนใจของพระองค์มาเล่าสู่ฟัง

พระเจ้าอโศกมหาราช ถือเป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา อีกทั้งพระองค์ยังเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป ตามบันทึกประวัติ ศาสตร์ชนชาติอินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราช คือ พระราชาผู้มีพระราชอำนาจแผ่ไพศาลกินอาณาบริเวณกว้างขวางสุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งผลงานต่างๆ แม้ผ่านมากว่า 2,300 ปี ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของยุคสมัยจนมิอาจถูกลบกลบล้างด้วยกาลเวลา

เสาศิลาหัวสิงห์สี่ทิศ กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

ธรรมจักรที่สิงห์ทั้งสี่แบกไว้เหนือเศียรเกล้า ถูกนำมาประดับอยู่ใจกลางธงชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

"ความจริงเท่านั้นที่จะชนะ" ที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก ได้เป็นคำขวัญประจำชาติของอินเดีย

แม้พระพุทธศาสนาจะสาบสูญจากชมพูทวีป แต่พระเกียรติยศและสิ่งที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้ ทั้งเสาศิลาหัวสิงห์ แผ่นจารึก ยังคงสถิตอยู่คู่อินเดียมาจนปัจจุบัน

สำหรับชาวพุทธ พระเจ้าอโศก คือธรรมราชา ผู้สร้างสถูปเจดีย์พร้อมปักเสาศิลา 84,000 แห่ง ค้นหาสังเวชนียสถานของพระพุทธองค์ กำจัดอลัชชีทั่วทั้งแว่นแคว้น อุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3 และส่งสมณทูตออกไปทั่วโลกเท่าที่พระองค์รู้จักในขณะนั้น อันประกอบด้วย 9 เส้นทาง โดยสุวรรณภูมิของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้พระพุทธศาสนาอยู่คู่แผ่นดินไทยมาจวบจนวันนี้

แต่เดิมเจ้าชีวิตผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีปพระองค์นี้มิได้นับถือพระพุทธศาสนา หากแต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือพระองค์เกิดความสลดพระทัยจากการยกทัพบุกไปตีแคว้นกาลิงคะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสน จนเลือดนองเสมอด้วยตาตุ่มม้า ต่อมาได้พบสามเณรนิโครธผู้เป็นอรหันต์ จึงถามสามเณร 3 ประการว่า

"อะไรที่คนรักมากที่สุด อะไรที่น่าเกลียดที่สุด และอะไรที่ดีที่สุด?"

สามเณรตอบว่า "ตัวเอง" คือ สิ่งที่คนรักมากที่สุด "ความโกรธ" คือ สิ่งที่น่าเกลียดที่สุด และไม่มีอะไรดีที่สุด นอกจาก "พระนิพพาน" จากนั้นสามเณรจึงแสดง อัปมาทธรรม คือ การใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท จนทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชยอมศิโรราบ เปลี่ยนความโศกเศร้ากลายเป็นความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจนเกิดความเข้าใจและเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง จึงเริ่มใช้ธรรมะในการปกครองแผ่นดินตลอดจนเมืองในอาณัติของพระองค์ ซึ่งหลักการปกครองโดยธรรมของพระองค์ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมการให้ทาน คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันด้วยทรัพย์และสิ่งของ โดยเน้นเรื่องของธรรมทาน การช่วยเหลือแนะนำวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้องบนพื้นฐานแห่งความดี

2.สนับสนุนให้คนถือศีล งดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ โดยเฉพาะให้ยกเลิกการฆ่าสัตว์บูชายัญอย่างเด็ดขาด

3.ระงับสถานบันเทิงที่มัวเมามั่วสุม ส่งเสริมให้คนหันมาปฏิบัติธรรมและเจริญปัญญา แม้แต่พระองค์ก็เลิกหาความสำราญด้วยการล่าสัตว์ชมระบำ เปลี่ยนเป็นธรรมยาตรา เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถาน เยี่ยมเยียนชาวบ้านและแนะนำประชาชน

4.เน้นสังคมแห่งการปฏิบัติธรรม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เช่น ลูกต้องเชื่อฟังบิดามารดา ศิษย์นับถือครูบาอาจารย์ เจ้านายปฏิบัติต่อลูกน้องด้วยมนุษยธรรม เป็นต้น

5.ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน และเอื้อเฟื้อต่อกันระหว่างคนต่างลัทธิศาสนา

ด้วยสังคมอุดมธรรมประหนึ่งอุดมคติที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนี่เอง จึงทำให้พระเกียรติคุณของพระองค์คงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน "เพราะความดีที่กระทำ ย่อมปรากฏอยู่คู่กาลเวลา แม้ตัวจะตายจากไป..."



ห่างไกลโรคอ้วนด้วยธรรม

ในเมืองแขกมีค่านิยมสุดแปลกอยู่ประการหนึ่ง คือ "ใครอ้วน ถือว่าคนนั้นมีความเจริญมั่งคั่งและอยู่ในครอบครัวที่เป็นสุข" เพราะคนอินเดียใช้หน้าท้องหรือพุงเป็นเครื่องวัดความมีอันจะกิน ยิ่งถ้าแต่งงานแล้ว ทั้งหญิงชายถ้าไม่สามารถทำแต้มเพิ่มน้ำหนักตัวได้ ย่อมกลายเป็นขี้ปากให้ชาวบ้านนินทา เดินตลาดเข้าศาลเจ้า ก็อาจโดนค่อนขอดไปตลอดทางว่าไม่มีปัญญาเลี้ยงตัวกับภรรยาให้สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เอง ในอินเดียถ้าเดินสวนกับใคร 5 คน จึงต้องพบคนอ้วนอย่างน้อย 1 คน

พอมายุคนี้ความอ้วนถูกสถาปนาให้กลายเป็น "โรคอ้วน" ความอ้วนจ้ำม่ำที่เคยน่ารักน่าชัง จึงไม่ใช่เรื่องของความสมบูรณ์พูนสุขอีกต่อไป แต่กลายเป็นสัญญาณแห่งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าเรื้อรัง แม้กระทั่งการ "ไว้พุง" เพียงเล็กน้อยให้ดูน่าภูมิฐาน ก็ยังถูกข้อมูลทางการแพทย์ชี้เชื่อมโยงเข้ากับความเจ็บป่วยหลายๆ โรค จนความอ้วนเริ่มกลายเป็นมหันตภัย และถูกผูกโยงเข้ากับคำอันไม่น่าพึงปรารถนา อย่าง "อายุสั้น" ไปเสีย

ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียรุ่นใหม่บางกลุ่ม จึงเริ่มตระหนักถึงความร้ายกาจของโรคอ้วน อีกทั้งภาพลักษณ์ที่ดาราอินเดียในวงการบอลลีวู้ดปัจจุบันต่างก็นิยมมีหุ่นสเลนเดอร์ เอวคอดกิ่ว จึงทำให้หนุ่มสาวอินเดียหันมาสนใจสุขภาพรูปร่างมากขึ้น ทำให้ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและศูนย์ฟิตเนสในอินเดียเติบโตแพร่หลายไปทั่วทุกมุมของเมืองใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจเปลี่ยนใจ "คนทั่วไป" อันเป็นคนส่วนใหญ่ให้หันมาเอาดีด้านมีหุ่นเพรียวลมได้ เพราะเขาเหล่านั้นยังรู้สึกเฉยๆ กับพุง ตัวเอง อีกทั้งยังคงติดในค่านิยมแบบดั้งเดิมอยู่นั่นเอง

เหลียวมาแลฝั่งไทย ที่คนยุคใหม่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดไขมันส่วนเกินแบบไม่เลือกวิธี แม้กระทั่งการสะกดจิต ทาครีมนวดหน้าท้อง ยาสูตรพิเศษกินแล้วผอม (ซึ่งบางคนกินแล้วตาย) ที่ขายกันเกร่ออย่างไม่มีใบรับรองในอินเตอร์เน็ต โดยยาแบบนี้โบราณเรียกว่า "ยาผีบอก" ทั้งที่วิธีการกินอาหารแบบธรรมชาติ หรือ การออกกำลังกายมีอยู่ แต่ด้วยค่านิยมผสมขี้เกียจที่ไม่ต้องการลงแรงแต่คาดหวังผลสำเร็จ เอาง่ายและเร็วเข้าว่าของคนส่วนใหญ่สมัยนี้ หนทางที่ดูสบายสุดจึงมักถูกเลือกใช้ก่อน ซึ่งผลก็มักจะเสียเงินและสุขภาพหนักยิ่งไปกว่าเดิม

สำหรับการลดความอ้วนแบบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสเตือนพระราชาพระองค์หนึ่ง ซึ่งอ้วนอุ้ยอ้ายเดินไม่สะดวก เสด็จไหนนิดหน่อยก็เหนื่อยหอบ กลางวันง่วงเหงาหาวนอนตลอด จนไม่เป็นอันออกว่าราชการ ด้วยพระดำรัสว่า

"ในกาลใด บุคคลเป็นผู้กินจุ มักง่วง มักนอนหลับ กระสับกระส่าย เป็นดุจสุกรใหญ่ที่เขาเลี้ยงด้วยอาหาร, ในกาลนั้น เขาเป็นคนมึนซึม ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ มหาบพิตร การบริโภคโภชนะแต่พอประมาณ จึงควร, เพราะผู้บริโภคพอประมาณ ย่อมมีความสุข" พร้อมตรัสอีกว่า "บุคคลผู้มีสติอยู่เสมอ รู้ประมาณในอาหารที่ได้มา จะมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า มีอายุยืนนาน"

ต่อมาพระราชาก็ให้พระราชนัดดาหรือหลานของพระองค์คอยกล่าวเตือนด้วยวาจานี้ทุกครั้งขณะกำลังจะเสวย ในที่สุดพระองค์ก็ทรงลดความอ้วนได้สำเร็จ

คำว่ามีสติรู้ประมาณในอาหารของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ดูว่ากินหมดจานหรือไม่ หรือไม่ใช่ดูเอาว่าอร่อยแค่ไหน แต่การมีสติ รู้บริโภคอย่างพอประมาณ พระสารีบุตร อัครสาวกของพระพุทธองค์ ท่านขยายความว่า "ควรเลิกกินก่อนรู้สึกอิ่ม 4-5 คำ แล้วดื่มน้ำ เท่านี้ก็เพียงพอให้อยู่อย่างผาสุก"

โดยธรรมชาติของคน "พออายุมากขึ้นร่างกายจะเริ่มสะสมไขมัน เพราะการออกทำมาหากินไม่คล่องตัวเหมือนสมัยหนุ่มสาว จึงต้องสะสมไว้ไม่ให้อดอยาก" จึงไม่แปลกถ้าสมัยหนึ่งกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แต่พอมีอายุขึ้น กินไม่กี่คำก็บวมเป่งพุงหลาม ดังนั้น ถ้าอายุเพิ่มขึ้นแล้วไม่ต้องการอ้วน จึงมีเพียง 2 ทางเลือก คือกินให้น้อยลงหรือใช้พลังงานให้มากขึ้น

ซึ่งทั้งสองอย่างก็ล้วนขึ้นอยู่กับกำลังใจว่าเข้มแข็งมากน้อยขนาดไหน ถ้าใจอ่อนก็ไม่สามารถห้ามปากตัวเองได้ ซึ่งผู้ที่ห้ามปากตัวเองไม่ได้ก็มักรักษาศีลไม่ได้ด้วย เพราะกำลังใจในการห้ามปากกับกำลังใจที่ห้ามตัวเองมิให้ละเมิดศีลเป็นกำลังใจตัวเดียวกัน

การรักษาศีลไม่ได้เกิดจากกำลังสมาธิไม่เพียงพอ ผู้ที่สมาธิไม่พอนั่นเพราะปัญญายังไม่ดี จึงสรุปได้ว่าแค่เรื่องอ้วนก็สะท้อนให้เห็นถึงกำลังบุญในศีล สมาธิ ปัญญา ของแต่ละคน



เอาดีกับการกราบ

ในสังคมอินเดียที่ผู้คนมักเชื่อมั่นศรัทธาต่อสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติตามหลักการของศาสนาฮินดู ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความเคารพบูชาแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนทุกชนชั้น ตั้งแต่การกราบไหว้เทพเจ้าจนถึงสักการบูชาสัตว์เดรัจฉาน การกระทำเหล่านั้นมองผิวเผินอย่างคนไม่เข้าใจก็อาจมองว่าโง่งมงาย คร่ำครึ ไม่เจริญ หรือตกยุคสมัย หากแต่ความจริงกลับพิสูจน์ประเทศอินเดียว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกในหลายๆ ด้าน

ประชากรอินเดียติดหนึ่งในผู้มีไอคิวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เศรษฐกิจอินเดียมีอัตราเติบโตเร็วเกือบที่สุดของโลกในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

อินเดียเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ ด้วยการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ ไม่ต่ำกว่า 90 หัวรบ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่งประกาศความสำเร็จจากการทดลองขีปนาวุธ "อัคนี-5" ที่สามารถยิงไกลได้ถึง 5,000 กิโลเมตร เป็นประเทศที่ 6 ในโลก

มีความเป็นเลิศด้านไอที ด้วยจำนวนวิศวกรซอฟต์แวร์ติดอันดับมากที่สุดในโลก ล่าสุดเยาวชนอายุ 18 ปี ของประเทศนี้เพิ่งสร้างความฮือฮาด้วยการประดิษฐ์ดาวเทียมน้ำหนักเบาที่สุด ขนาดเล็กกว่ากำปั้น องค์การนาซ่าจึงคัดเลือกให้ถูกยิงขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในทันที

นอกจากนี้อินเดียมีอารยธรรมเก่าแก่ยาวนานไม่เคยล่มสลายมานับพันๆ ปีจนถึงปัจจุบัน และประการสำคัญ อินเดียส่งออก "ศาสนา" ซึ่งเป็นหลักการดำเนินชีวิตด้วยศีลธรรมมาตั้งแต่อดีต จึงกลายเป็นว่าความเจริญทั้งวัตถุและจิตใจได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนโลกที่พัฒนาไม่กล้าสบประมาทอินเดียว่า "โง่งมงาย คร่ำครึ ไม่เจริญ และตกยุคสมัย" อีกต่อไป

ส่วนเรื่องสังคมวรรณะที่มักโดนคนนอกประเทศโจมตีอยู่เสมอ กลับไม่ได้ทำให้คนอินเดียรู้สึกทุกข์ร้อนแต่อย่างใด เพราะความเป็นวรรณะได้หล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่มีจิตสำนึกยอมรับและพอใจในขอบเขตของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่า 9 ใน 10 ของคนอินเดียมีความสุขกับชีวิตไม่ว่าจะตกอยู่ในวรรณะต่ำต้อยขนาดไหนก็ตาม

การแสดงความเคารพกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเจริญมาอย่างยาวนานของสังคมอินเดีย คนที่นี่กราบไหว้เทพเจ้า เพราะยอมรับนับถือในความดีของเทพเหล่านั้น ส่วนการกราบไหว้สัตว์ แท้จริงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ต่อตน เช่น กราบไหว้วัว เพราะวัวเป็นสัตว์มีคุณที่ให้ทั้งนม แรงงาน และมูลที่สามารถนำไปทำเชื้อเพลิง การกราบไหว้งู เพราะงูช่วยกินสัตว์เล็กๆ ที่มาทำลายเรือกสวนไร่นา หรือกราบไว้กบ เพราะกบสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้เวลาฝนจะตก เป็นต้น สัตว์มีคุณเหล่านี้จึงถูกสถาปนาให้สูงศักดิ์ในฐานะพาหนะของเหล่าทวยเทพ

ด้วยการปลูกฝังค่านิยมผ่านการกราบไหว้และการมองเห็นความดีของทุกสรรพชีวิตนี่เอง จึงส่งผลสู่สังคมให้อุดมด้วยความกตัญญูต่อกันในครอบครัว ลูกรักและเทิดทูนพ่อแม่ ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโส คนกว่าพันล้านจึงสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างดีในสังคม

สำหรับประเทศไทย เมื่อเดือนเศษที่ผ่านมามีดราม่าเรื่องการหมอบกราบพระบรมรูป 2 รัชกาล ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายคัดค้านก็มองว่าเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย หนักเข้าก็บอกเป็นการแสดงออกของทาส ตั้งคำถามว่า กราบแล้วได้อะไร? โดยหยิบยกเรื่องที่ ในหลวง ร.5 ทรงยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานในการเข้าเฝ้าฯ มาตั้งเป็น ข้อสงสัย ทั้งที่จริง ร.5 ทรงยกเลิกการหมอบกราบนั้น เพื่อทำลายข้ออ้างของพวกฝรั่งล่าอาณานิคมที่จะมายึดบ้านเมือง

โดยกล่าวหาชาวสยามว่าล้าหลังจากหมอบคลาน แต่ในทางปฏิบัติพระองค์มิได้ทรงบังคับให้ผู้ที่เห็นความดีและยอมรับนับถือในพระองค์เลิกการหมอบกราบตามประเพณีแต่อย่างใด เสมือนที่ลูกที่สามารถกราบพ่อแม่ ศิษย์กราบครูหรือฆราวาสกราบพระนั่นเอง

เพราะคนบางกลุ่มมองเรื่องกราบเป็นการทำลายศักดิ์ศรี มองรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกซึ่งความดีเป็นเรื่องไร้สาระ จึงนำไปสู่สังคมแห่งความไม่เห็นหัว มองไม่เห็นความดีของกันและกัน เด็กขาดความเคารพผู้ใหญ่ และความเกรงใจสูญหายไปจากวิถีไทย

การกราบสำหรับพระพุทธศาสนาถือเป็นหนทางแห่งการทำลายทิฏฐิมานะ ลดอัตตาตัวตน เพราะคำว่าศักดิ์ศรีทำให้มนุษย์ฆ่ากันตายไม่รู้เท่าไหร่

ทุกวันนี้ขับรถตัดหน้าก็ยิงทิ้ง มิใช่เพราะศักดิ์ศรีหรือ? ศักดิ์ศรีเป็นสาขาหนึ่งของอัตตา สวนทางกับการปล่อยวาง จึงขัดขวางการเข้าถึงความดีอย่างแท้จริง ในขณะที่การสลายอัตตาตัวตนด้วยการก้มกราบ กลับเป็นทางเลือกของผู้ฉลาด เพราะคนมีปัญญารู้ว่าการกราบเป็นความดี ดังที่พระมักจะให้พรว่า

"อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฒาปะจายิโน, จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง"

แปลว่า "พรทั้งสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่อยู่เสมอ"


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2560 09:02:34 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 61.0.3163.100 Chrome 61.0.3163.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 12 ตุลาคม 2560 09:29:03 »



ไหว้เทพเจ้าให้ถึงธรรม

วันที่ 17 กันยายน ของทุกปี ชาวฮินดูนับพันล้านในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะตระกูลช่างจะจัดแจงนำเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางการช่างทุกชนิด ตลอดจนเครื่องจักรกลที่ถูกสร้างขึ้น เช่น รถยนต์ รถบรรทุก และรถไถ มาทำความสะอาดขัดถูจนเงางาม งดการใช้งานตลอดทั้งวัน แล้วนำมาเรียงรายรวมกัน เพื่อประกอบพิธีบูชาในเทศกาล "วิศวกรมบูชา"หรือ เทศกาลบูชาองค์ "พระวิศวกรรมา" ผู้เป็นเทพแห่งการช่างและการออกแบบ ซึ่งในพิธีกรรมนี้จะมีการเชิญพราหมณ์ที่ตนนับถือมาทำพิธีเจิมผงแป้งและสาธยายมนตราให้แก่เครื่องมือทุกชนิดภายในบ้านหรือห้างร้าน เพื่ออัญเชิญองค์เทพให้ลงมาสถิตอยู่ในเครื่องมือทำมาหากินเหล่านั้น พระวิศวกรรมาพระองค์นี้คนไทยเรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า "พระวิศวกรรม" หรือเรียกตามความคุ้นเคย ซึ่งพ้องกับชื่อของพระวิษณุ หนึ่งในสามมหาเทพของศาสนาฮินดูว่า "พระวิษณุกรรม" จนทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวะ หรือ เทพแห่งการช่าง สำหรับเทพแห่งวิศวะตัวจริง คือ พระวิศวกรรมา หรือ พระวิษณุกรรม นั้น ท่านเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรที่มีความชำนาญในงานช่างทุกแขนง และมีผลงานปรากฏอยู่ทั้งในคัมภีร์ของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ

แม้แต่ "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" ชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย ก็มีความหมายว่า กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดา ที่พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าท่านจะสร้างกรุงเทพฯ หรือไม่อย่างไร คงไม่นำมาเป็นประเด็นในบทความนี้ เพราะสาระน่าสนใจอยู่ที่คุณธรรมอันถอดออกมาจากรูปลักษณ์แทนตัวของท่าน ตามตำนานฮินดูกล่าวว่า ท่านมีพระเนตร 3 ดวง มีกายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า มือถือคทา แต่คนไทยนิยมวาดหรือปั้นรูปพระวิศวกรรมา ให้ทรงชฎา มือถือลูกดิ่ง และจอบ หรือผึ่ง หรือไม้เมตร อันสื่อถึงเครื่องมือทางช่าง ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาในวิถีแห่งช่างว่า "ต้องมีความซื่อตรง ไม่คดโกง เที่ยงตรง และแม่นยำ จึงถือเป็นสุดยอดแห่งช่างฝีมือ"

และไม่เพียงคุณธรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติเมื่อยอมรับนับถือเทพเจ้าแล้วเท่านั้น คนอินเดียที่ทำพิธีกรรมบูชาพระวิษณุกรรมนี้ ยังให้ความเคารพต่อเครื่องมือของตนเอง เสมือนหนึ่งว่ามีเทพสิงสถิตอยู่ การจะจับวางทุกครั้งต้องระมัดระวัง เวลาจะใช้งานก็ทำด้วยความเคารพ เมื่อจะเก็บต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพราะถือว่ามีครูอยู่กับเครื่องมือ จึงกลายเป็นว่าช่างอินเดียจะหวงแหนและทะนุถนอมเครื่องมือทำมาหากินของตัวเองอย่างมาก

วัฒนธรรมอินเดียนั้น มีความเกื้อกูลธรรมชาติ ผ่านการเคารพนับถือเทพเจ้า คนอินเดียกราบไม้ ไหว้เหล็ก บูชาค้อน ถ้ามองอย่างไม่ลึกซึ้ง อาจมีอคติแล้วเผลอไปดูถูกดูแคลนเขา ทั้งที่จริงการกราบไหว้เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนลง ทำลายสักกายทิฏฐิ คือ ความถือตัวถือตน เพื่อยอมให้ความดีหลั่งไหลเข้าสู่จิตใจ เคารพกันและกัน เคารพครูบาอาจารย์ เคารพธรรมชาติ คนอินเดียไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์ เพราะเชื่อว่าของทุกชิ้นมีครู คนอินเดียไม่กล้าทำชั่ว เพราะเกรงกลัวว่าเทวดาทั้งหลายจะรู้เห็นความผิดของตน

ในพระพุทธศาสนา การกราบไหว้นับถือ เทวดาหรือเหล่าเทพเจ้าไม่ใช่เรื่องผิด พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงคุณงามความดี ที่ควรนับถือของเทวดาไว้ในอนุสติ 10 คือ เทวตานุสติ หมายถึง การระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ เพราะการจะเป็นเทวดาได้ต้องมีหลักธรรมที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.หิริ คือ มีความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

2.โอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

ดังนั้นคนทั่วไปก็สามารถเป็นเทวดาได้ ถ้าหมั่นปฏิบัติในธรรมของเทวดา ให้ชินเป็นนิสัย จนพาติดตัวข้ามภพชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำต่อไปว่า ที่สูงส่งและมีอานุภาพยิ่งกว่าเทวดา คือ "พรหม" อันมีหลัก "พรหมวิหาร 4" เป็นคุณธรรม ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าใครสามารถปฏิบัติในธรรมทั้ง 4 นี้ได้ ก็เท่ากับการมีคุณธรรมเสมอด้วยพรหม และที่สูงยิ่งไปกว่านั้น คือ "พระ" ผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันถือเป็นยอดแห่งความสูงส่งกว่าสิ่งทั้งปวง มีอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือทุกภพทุกภูมิ ซึ่งสามารถเป็นได้ด้วยการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ และปัญญา

ปฏิบัติน้อย ทำลายทุกข์ได้เล็กน้อย ปฏิบัติมากทำลายทุกข์ได้มาก ดังนั้นทั้งหมดก็อยู่ที่เลือกเอง ว่าชีวิตของเราจะเป็นอะไร



"ศาสนา"สู่ความเป็นมหาอำนาจ ของอินเดีย

อินเดียวันนี้ กลายเป็นประเทศสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อโลกในหลายแง่มุม ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนลงคอลัมน์ในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยทุกมิติอันโดดเด่น มักผสมผสานการสร้างชาติขึ้นมาบนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนา ดังที่ชาวภารตะทั้งหลายภาคภูมิใจเรียกประเทศของตัวเองว่า "ฮินดูสถาน" คือ ถิ่นที่อยู่ของคนฮินดู

ด้วยสายใยแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา จึงทำให้วิถีชีวิตคนอินเดียผูกโยงไว้กับหลักธรรมคำสอนตามความเชื่อของตน ไม่เว้นแม้กระทั่งการเมืองการปกครอง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า เพราะเหตุใด? ทำไมชนชาติหนึ่งถึงมีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยขาดตอนมาอย่างยาวนาน และมีพัฒนาการต่อเนื่อง ผ่านความยิ่งใหญ่ เคยล้ม และกำลังจะกลับมาผงาดบนหน้าประวัติศาสตร์โลกในฐานะมหาอำนาจได้อีกครั้ง

บทวิเคราะห์เหตุที่ทำให้อินเดียมีความสำคัญ จนประเทศมหาอำนาจในโลกไม่อาจมองข้าม

1.สร้างความเจริญบนอัตลักษณ์แห่งตน อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้จากสิ่งที่มีอยู่โดยไม่ต้องตามง้อประเทศอื่นใด ในด้านการเกษตร อินเดียมีผลผลิตเพียงพอที่สามารถเลี้ยงดูคนได้ทั้งประเทศ ด้านเทคโนโลยี เยาวชนอินเดียบางคนสร้างดาวเทียมได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยใช้วัสดุทั้งหมดจากในท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐีอินเดียส่วนใหญ่ร่ำรวยจากการสร้างแบรนด์ของตนเองที่ผลิตภายในประเทศ มากกว่าการนำสินค้าเข้ามาขาย เพราะคนอินเดียเชื่อว่าประเทศของตนมีดีมากพอด้วยการประทานจากเหล่าทวยเทพ จึงนิยมใช้สิ่งที่ผลิตได้เองมากกว่า ดังนั้นการหยิบจับสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ ความฉลาดล้ำที่ทำให้อินเดียไม่ต้องพึ่งพาชาติตะวันตกหรือชาติใดๆ

2.การใช้หลักการ "Simple and Better" คือ ทำทุกอย่างให้ง่ายและสิ่งที่ดีกว่าจะตามมา ซึ่งหลักการนี้ถือเป็นหัวใจในวิถีชีวิตของชาวอินเดีย เพราะคนส่วนใหญ่ที่นี่ อยู่ง่ายกินง่าย ใช้ชีวิตไม่ซับซ้อนตามหลักของศาสนาที่ตนนับถือ ดังนั้นทุกเรื่องจึงต้องทำให้ง่าย และคนอินเดียจะทำอะไรโดยเน้นที่ประโยชน์ใช้สอย มากกว่ารูปลักษณ์หรือรูปแบบ สิ่งนี้เองคือเหตุผลที่ทำให้อินเดียสามารถผงาดในโลกได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก

3.เป็นเมืองแห่งเหตุผลของคนนักคิด อินเดียเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้และแสดงออก มีการศึกษาวิชาปรัชญาและศาสนากันอย่างกว้างขวาง โดยการเรียนการสอนในโรงเรียน จะเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้เวลาในห้องเรียนไม่มาก เพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสการสืบค้นเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้เวลากับครอบครัวและศาสนา อีกทั้งหนังสือทุกประเภทที่ขายในท้องตลาดก็มีสนนราคาถูกมาก ถูกเสียยิ่งกว่าประเทศต้นตำรับที่เขียนอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมประเทศอินเดียถึงสามารถผลิตนักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอิทธิพลในระดับโลกได้มากมาย

4.ค่านิยมความรักชาติ คนอินเดียมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตนเองอย่างสูง ซึ่งในความภูมิใจก็มีการแสดงออกอย่างหลากหลาย เช่น ผ่านสติ๊กเกอร์ท้ายรถสิบล้อ ด้วยข้อความว่า "อินเดียคือที่สุด" , "อินเดียเป็นแผ่นดินแม่" หรือ "อินเดีย ประเทศแห่งอิสรภาพ" หรือการแสดงออกแบบสุดเหวี่ยงอย่างที่คนบ้านเราเรียกว่า "ปล่อยผี" ไปทั่วประเทศในงานวันชาติ ตลอดจนเรื่องการเมือง ก็เป็นหนึ่งหัวข้อสุดฮิตในการพูดคุยของคนที่นี่ ดังนั้นเมื่อชาวอินเดียมีสายเลือดแห่งความรักชาติฝังแน่นอยู่อย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประเทศก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

5.ใช้ศาสนารักษามาตรฐานของศีลธรรม ชาวอินเดียยอมลงทุนเทเวลาอันมีค่าของตัวเองให้กับเรื่องศาสนา ในทุกเดือนต้องมีวันหยุดที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้า บางเดือนหยุดถึง 10 วัน เพื่อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอยู่กับที่พึ่งทางใจ อีกทั้งยังมีการปลูกฝังความรักต่อศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเห็นได้จากเด็กชาวอินเดีย ที่แม้ว่าอายุไม่ถึง 10 ขวบ แต่ส่วนใหญ่กลับสามารถไล่เรียงชื่อเทพเจ้าที่มีมากมายเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้าให้ฟังได้อย่างน่าประทับใจ อีกทั้งยังสามารถบอกเล่าตำนานเกี่ยวกับองค์เทพต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุดติดขัดอีกด้วย ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่กับศาสนาของชาวอินเดีย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คอยค้ำจุนศีลธรรมของคนพันกว่าล้านในอินเดีย

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ยอมรับกันโดยสากลว่า เป็นศาสนาแห่งภูมิปัญญาและความสุข ดังนั้นทำไมชาวพุทธจึงไม่คิดที่จะนำข้อดีในศาสนามาส่งเสริมศีลธรรม ตลอดจนใช้เป็นนโยบายการพัฒนาชาติบ้าง เพื่อให้มีการพัฒนาก้าวไปโดยมีจุดขายเป็นของตัวเอง และยิ่งใหญ่ในแบบของความเป็นไทยอย่างยั่งยืนสืบต่อไป


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 61.0.3163.100 Chrome 61.0.3163.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 31 ตุลาคม 2560 11:50:15 »




แค่เดินเป็นก็เติมบารมีได้

ความคึกคักของข่าวคราวแวดวงสงฆ์ระดับภูมิภาค ในช่วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า "โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง" ที่พระสงฆ์เกือบ 100 ชีวิต จาก 5 ชาติ กำลังเดินทางจาริกไปบน 5 แผ่นดิน คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา สร้างความสงบสันติ และเชื่อมไมตรีระหว่างกันด้วยพุทธธรรม ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ ด้วย "พุทธศาสน์การทูต" ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

งานธรรมยาตราในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญระดับตัวแทนรัฐบาล จากทั้ง 5 ประเทศเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เช่น พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีไทย, นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, ดร.คินฉ่วย ประธานสหพันธ์พุทธเถรวาทเมียนมา, นายประสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำกัมพูชา และนายเหวียน จั๊ก ถ่วน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ส่วนผู้แทนคณะสงฆ์ระดับสูงจากประเทศต่างๆ ที่ปรากฏโฉมในงาน ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช เทพวงศ์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำลงบุญ ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, พระอัคคะ มหาสัตธัมมะโชติกะธะชะ สังฆนายกแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่ง 2 ท่านหลังนี้ บ้านเราจะเรียกหาแต่ละท่านว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ด้านเวียดนามมี ดร.พระติ๊ด เทียน ต๋าม รองประธานสมัชชาสงฆ์เวียดนาม ส่วนประเทศไทยได้ พระธรรม โพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เข้าร่วม

ความน่าตื่นตาตื่นใจมิได้หยุดอยู่เพียงแค่การมีตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลและฝ่ายสงฆ์จากทุกประเทศเข้าร่วมเท่านั้น หากแต่ทั้งพ่อค้า ประชาชน และภาคเอกชน ของแต่ละประเทศก็ให้ความสนใจออกมา ร่วมเดินธรรมยาตรากับคณะสงฆ์กันอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะเมื่อออกบิณฑบาตในแต่ละเช้า ไม่ว่าไปสู่ประเทศใด ประชาชนจะมารอใส่บาตรไม่ต่ำกว่าหลักพัน ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในพระธรรมทูตไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเดินจาริกบุญจารึกธรรมในครั้งนี้ จึงได้สัมผัสรับกับอลังการแห่งศรัทธาที่มีศาสนสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงเป็นตัวเชื่อมโยงอย่างตำตา

ในการเดินธรรมยาตราข้ามประเทศแบบนี้ โอกาสพูด โอกาสแสดงธรรม ของพระสงฆ์ต่อประชาชนถือว่ามีน้อย เพราะถูกขีดกั้นด้วยความแตกต่างด้านภาษา แต่สิ่งหนึ่งที่ใช้ในการเผยแผ่ให้เกิดความศรัทธาระหว่างกัน คือ การเดิน!! และ การนั่ง!!

เพียงสองอิริยาบถนี้ ถ้าทำเป็นบางครั้ง ยังเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดีกว่าการพูด อีกด้วย เช่น "การเดิน" ต้องเดินให้ได้แบบ "พระอัสสชิ" เพราะเพียงแค่เดินอย่างสงบสำรวม ไม่พูดไม่จา รักษากิริยาอย่างเรียบ ร้อย ระยะทางไม่กี่เมตร ก็ทำให้เกิดลูกศิษย์คนสำคัญ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระอรหันต์นามกระเดื่องว่า "พระสารีบุตร" ถ้าในปัจจุบัน ก็ต้องเดินให้ได้แบบ "หลวงพ่อชา" วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ที่เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะทางฝั่งตะวันตกเมื่อปี ๒๕๒๐ ทั้งที่พูดภาษาเขาไม่ได้ วัฒนธรรมก็ไม่รู้ แต่ท่านก็อาศัยการเดินบิณฑบาตเพื่อประกาศพุทธธรรม จนเป็นเหตุให้ได้วัดไทยในยุโรปถึง 2 แห่ง ดังท่านเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่า

"พระใบ้ เลยเป็นเหตุให้ได้สาขาตั้งสองแห่ง คือ กรุงลอนดอนและฝรั่งเศส"

นอกจากเดินแล้ว ยังต้อง "นั่งเป็น" ซึ่งชาวพุทธควรนั่งให้ได้แบบ "พระควัมปติ" เพราะพระองค์นี้ใครๆ ก็อยากพบ อยากเจอ อยากทำบุญด้วย จนครูบาอาจารย์ในยุคหลังอดไม่ได้ต้องนำท่านมาทำเป็นวัตถุมงคล เรียกว่า "พระปิดตา" ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คือ พระสังกัจจายน์ ทั้งที่เป็นคนละองค์กัน โดยพระปิดตา หรือ พระควัมปติ มีค่านิยมว่า ใครบูชาจะเป็นมหาอุตม์ อยู่ยงคงกระพัน ทั้งเป็นเมตตามหานิยม มีลาภมาก เป็นต้น ก็ด้วยเหตุว่าในอดีต พระควัมปติ เป็นลูกเศรษฐีใหญ่ พอบวชท่านก็ชอบนั่งหลับตาเข้าฌานสมาบัติ มีความสำรวมมาก ยิ่งพระพุทธเจ้าใช้ให้ท่านไประงับภัยพิบัติแก่หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม ยิ่งดังเป็นพลุแตก คนสมัยก่อนจึงนิยมตามหาท่านเพื่อใส่บาตรทำบุญด้วย จนเกิดเป็นความเมตตามหานิยมขึ้นมา

โบราณาจารย์จึงจับมาใช้เป็นอุปเท่ห์สร้างเป็นพระปิดตา เพราะท่านสำรวมและชอบนั่งหลับตาเข้าฌานสมาบัติ อีกทั้งยังใช้เป็นคติสอนใจให้ธรรมด้วยว่า พระปิดตา แทนการไม่รับสิ่งไม่ดีเข้ามา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย เรียกง่ายๆ ว่ามีความสำรวม ไม่ต้องไปสอดรู้เรื่องชาวบ้านมันทุกเรื่องก็ได้!!

สรุปรวมจึงได้ความว่า ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพียงเดินให้เป็น นั่งให้ดี มีความสำรวมก็ได้ชัยไปเกินครึ่ง ส่วนนักปฏิบัติธรรมผู้หวังแบ่งปันความรู้สู่ผู้อื่น ก็ควรทราบว่าวิธีเผยแผ่มิเพียงแค่พูดเท่านั้น ยังต้องสำรวมเป็น ปฏิบัติให้ธรรมะเกิด ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส การบอกสอนธรรมะแก่ใครจึงมีผล...

มิฉะนั้นถ้าเอาแต่เถียงธรรมะกันได้ คำพูด ได้ทะเลาะกันตายไปข้างหนึ่งพอดี!!




ท่ามกลางความแตกต่างของมนุษย์ ทั้งรูปร่าง หน้าตา ปัญญา ความคิดความเก่งกาจ เฉลียวฉลาด พรสวรรค์ ความร่ำรวย ความสามารถพิเศษ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า "ล้วนมีเหตุมาจากกรรม" เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้หยาบและประณีต

กรรมจะถักทอให้เกิดรูปนามจนกลายเป็นเราได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ซึ่งทางวิทยาศาสตร์อาจมองลักษณะการถ่ายทอดรูปร่าง หน้าตา บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัย จากพ่อแม่สู่ลูก ด้วยกระบวนการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ในพุทธศาสนาอธิบายไว้กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ทั้งเหตุผลที่ต้องลงมาสู่ตระกูลของพ่อแม่ในรูปแบบต่างๆ เพราะอะไรต้องได้พ่อแม่ที่รักใคร่ ได้พ่อแม่ที่เอาใจใส่ หรือได้พ่อแม่ที่ทิ้งขว้าง อธิบายลักษณะการรวมตัวกันจนเกิดเป็นชีวิต บอกเหตุแห่งการมีรูปร่างและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน บอกไว้ละเอียดขนาดว่า อวัยวะแต่ละส่วนที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งสิ่งทั้งมวลนั้น ล้วนอธิบายได้ด้วยนิยามของ "กฎแห่งกรรม"

เนื่องจากชีวิตถูกออกแบบมาด้วยผลแห่งกรรม ทั้งเก่าใหม่ผสมผสาน จึงส่งผลให้มีความสุขทุกข์คละเคล้ากันอยู่ตลอด เพราะบุคคลที่ยังไม่ได้ฝึกตนย่อมทำทั้งความดีและความชั่วปะปนกัน เมื่อเวลาใดที่ผลของความดีเข้ามาสนอง ในช่วงนั้นทำสิ่งใดจะง่าย มีความสะดวกคล่องตัว ประสบโชคลาภ จับอะไรก็พบกับความสำเร็จไปหมด แต่ถ้าวาระที่ผลแห่งความชั่วที่เคยทำไว้ตามมาสนอง ช่วงนั้นจะเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทรัพย์สินพังพินาศ สูญเสียของรัก ทำสิ่งใดก็แย่ไปเสียทุกครั้ง นี่คือลักษณะการดำเนินชีวิตไปตามเกมกรรม

พระพุทธศาสนากำเนิดขึ้นมาเพื่อสอนให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ถอนเส้นทางสายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ให้เป็นหนทางแห่งความสุขโดยถาวร สอนให้รู้จักลิขิตชีวิตด้วยสองมือตัวเอง สอนให้ออกแบบรูปลักษณ์ทั้งภายในภายนอกด้วยการกระทำ รวมถึงสอนให้สร้างกรรมใหม่ที่ดียิ่งกว่า เพื่อเอาชัยเหนือกรรมเก่าที่ยอดแย่ของตน

ถึงแม้ว่ากรรมดีกรรมชั่วจะลบล้างกันไม่ได้ สิ่งที่เคยกระทำมาแล้วย่อมต้องส่งผลอยู่วันยังค่ำ แต่กระนั้น การสร้างความดีใหม่ที่ใหญ่กว่าและตรงจุด ย่อมสามารถตัดรอนการส่งผลของกรรม ทำให้กรรมชั่วที่กำลังจะให้โทษ มีความคลาดเคลื่อนออกไป หรือทุเลาเบาลงกว่าที่ควรจะเป็นได้ เพราะอำนาจแห่งบุญที่ทำอย่างต่อเนื่องโอบอุ้มค้ำชูไว้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ทำบุญลบล้างกรรมไม่ได้ แต่ทำบุญหนีกรรมจนตามไม่ทันได้" นั่นเอง

ซึ่งบุญพิเศษที่ให้ผลหนีกรรมได้รวดเร็วที่สุด มี 3 ประการ คือ

1.ทาน ต้องเพิ่มเติมให้มากขึ้น และมีความต่อเนื่อง โดยคำว่ามากมิได้หมายความว่าต้องให้เงินทอง วัตถุสิ่งของครั้งละมากๆ แต่หมายถึงการให้ทำบ่อยขึ้นตามกำลัง และที่สำคัญต้องมีความต่อเนื่อง เช่น ใส่บาตรพระ ถวายสังฆทาน สร้างถนน สะพานสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล แจกขนมให้เด็ก ให้เศษสตางค์แก่ขอทาน เลี้ยงอาหารสุนัขจรจัด เป็นต้น ให้พยายามฝึกให้ทานจนชินเป็นนิสัย

2.ศีล ควรพยายามรักษาให้ได้ รักษาได้ 1 ข้อ ได้หลักประกันชีวิตคุ้มครองเพิ่ม 1 ด้าน รักษาได้ 2 ข้อ เพิ่ม 2 ด้าน รักษาครบถ้วน ก็ครอบคลุมทุกด้าน เพราะศีลคือยันต์คุ้มกันภัยที่ดีที่สุด เพียงศีล 5 ถ้ารักษาได้ครบถ้วน จะเป็นการป้องกันความชั่วแบบครบวงจร และหนุนส่งให้บังเกิดแต่ความดีงาม

3.ภาวนา คือ การฝึกจิตตนเอง ให้ตั้งมั่นอยู่ในกรอบของความดี เช่น การสวดมนต์ เจริญสมาธิ ฝึกวิปัสสนา ซึ่งถือเป็นบุญที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านได้อย่างดีที่สุด จึงควรทำทุกวัน

หากหมั่นสร้างบุญทั้ง 3 ด้านนี้ อย่างต่อเนื่อง วิถีแห่งกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างพลิกชะตา ชีวิตจะพบความสุขและความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และวิบากอกุศลกรรมต่างๆ ก็จะค่อยๆ สลายตัวไป


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 62.0.3202.94 Chrome 62.0.3202.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2560 11:25:35 »



มารยาทของ ผู้ประเสริฐ

เรื่องราวที่ครึกโครมมากที่สุดในแวดวงข่าวสารของประเทศอินเดียคงหนีไม่พ้นเรื่องนายรามนาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของชาวภารตชน ที่ได้รับการโหวตเลือกจากคณะกรรมการเลือกตั้ง 4,896 คน ซึ่งก่อตั้งจากสมาชิกรัฐสภา และสภารัฐต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้มีการประกาศผลเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา

ความน่าสนใจอยู่ที่ นายรามนาถ เป็นคนมาจากชนชั้นต่ำสุดของสังคม คือ "จัณฑาล" ซึ่งถือเป็นกลุ่มพวก อวรรณะ หรือ นอกวรรณะ ที่สังคมวรรณะแบบฮินดูดูถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติมากที่สุด เพราะตามความเชื่อเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดูนั้น วรรณะมี 4 ระดับ ไล่ตามศักดิ์ศรีสูง ส่งลงไปต่ำสุด คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร แต่เมื่อมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาก็จัดเป็นพวกจัณฑาลในทันที และความเป็นจัณฑาลนี้ จะคงอยู่สืบไปตราบชั่วกัลปาวสาน ไม่ว่าจะสืบเชื้อสายต่อไปอีกกี่ชั่วโคตรก็ตาม

จัณฑาลถูกคนวรรณะอื่นรุมรังเกียจจนถึงกับไม่กล้าถูกเนื้อต้องตัว ด้วยกลัวว่าจะติดเชื้อโรค แม้โดนเงาก็ไม่ได้ วัดฮินดูก็ถูกสั่งห้ามเข้า เมื่อคนมีวรรณะทำร้ายถ้าตอบโต้ก็กลายเป็นความผิด โดนกีดกันเรื่องการศึกษา ถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา เช่น สาปแช่ง ก่นด่า เยาะเย้ย ถ่มถุย จนดูเหมือนคนจัณฑาลเป็นสิ่งสกปรกที่ถูกโยนขึ้นมาจากท่อน้ำทิ้ง ซึ่งเหล่านี้เป็นคำสอนกันมาแต่โบราณและยังคงเชื่อกันมาจนทุกวันนี้

อาชีพของพวกเขาส่วนใหญ่คือกวาดถนน ล้างท่อระบายน้ำ เก็บขยะ เก็บสิ่งปฏิกูล ทำความสะอาดส้วมสาธารณะ เป็นต้น ถ้าจะทำการเกษตรก็ทำได้เพียงเช่าที่เขาทำ ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่อนุญาตให้ใช้ของบางชนิดซึ่งคนในวรรณะอื่นๆ ใช้ และจะอาศัยแถวๆ กองขยะหรือตามแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งบางคัมภีร์ของศาสนายังมีการระบุว่า จัณฑาลมีสิทธิ์ครอบครองเพียงผ้านุ่ง 1 ผืน และแพะ 1 ตัวเท่านั้น

เมื่อเกิดมาเป็นจัณฑาลก็ต้องมีชีวิตอยู่อย่างจัณฑาล และตายไปอย่างจัณฑาล ที่สำคัญพวกเขาแทบทั้งหมดก็ยอมรับว่าพวกตนถูกพระเจ้าสาปให้เกิดมาใช้เวรใช้กรรม เขาจึงเป็นคนที่แตกสลาย ไร้อนาคต รอเพียงวันตาย สมดังคำว่า จัณฑาล (Dalit) ซึ่งแปลว่า มืดมน ไร้อนาคต

และเพราะเหตุที่จัณฑาลถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้พวกเขาจำนวนไม่น้อยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนศาสนา โดย "ศาสนาพุทธ" ถือเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้

ดังที่ อโชกะ สำราต ผู้นำกลุ่มชาวจัณฑาลที่มีชื่อเสียงในรัฐคุชราต ได้กล่าวว่า "มีผู้คนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบวรรณะมากกว่าเสียชีวิตจากการก่อการร้ายเสียอีก พุทธศาสนาแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกัน"

แต่มาถึงวันนี้ เมื่ออินเดียได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นคน "จัณฑาล" ทำให้กลุ่มคนประเภทเดียวกัน ซึ่งมีกว่า 200 ล้านคนจากทั่วประเทศได้เฮกันลั่น เพราะนี่เป็นความหวังใหม่ในหมู่จัณฑาลที่เป็นฮินดู ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างอินเดียที่เห็นคุณค่าของความเป็นคนอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้คนชั้นล่างสุดมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในสังคมอย่างที่ควรจะเป็นมากยิ่งขึ้นไป

ถ้าได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้พร้อมทั้งพิจารณาตาม จะพบว่าพวกเราชาวพุทธเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง ที่ไม่ต้องทนรับกับสภาพการบีบคั้นด้านชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรงเหมือนสังคมอินเดีย ไม่ต้องคอยพะวงว่าจะมีลูกเกิดเป็นจัณฑาลที่สังคมไม่ยอมรับ ซึ่งแต่แรกมาพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาแห่งความเสมอภาค ทุกชั้นชนวรรณะตั้งแต่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถึงจัณฑาล เมื่อบวชเข้ามาก็จะกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่แบ่งแยก

เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงไว้ชัดเจนว่า "บุคคลจะเป็นคนเลวหรือเป็นผู้ประเสริฐเพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่ย่อมเป็นคนเลวหรือเป็นผู้ประเสริฐได้เพราะการกระทำต่างหาก"

เพราะศาสนาพุทธเชื่อเรื่องกรรม "ไม่ว่าชั่วดี เมื่อกระทำ ย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้นอย่างแน่นอน" ดังนั้นหากคนจะเป็น "ผู้ประเสริฐ" ก็มิใช่เพราะชาติตระกูลดี ไม่ได้อยู่ที่เกิดก่อน ไม่เพียงเพราะเรียนสูง หรือมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

หากแต่จรรยาของการเป็นผู้ประเสริฐ คือ ต้องสุขุมรอบคอบ มีศีล มีสัจจะ แต่ละคำที่ออกมาจากปากต้องเป็นธรรมและมีประโยชน์ และไม่เอาชื่อเสียง ชาติตระกูล ความมั่งคั่งร่ำรวย มาเป็นตัวตัดสินคน และที่สำคัญต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ นี่เองคือมารยาทของ "ผู้ประเสริฐ" อย่างแท้จริง


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 62.0.3202.94 Chrome 62.0.3202.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2560 13:52:31 »



อย่ากลัวความสำเร็จ

คราวหนึ่งผู้เขียนเคยมีโอกาสรับฟังโอวาทธรรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดร ธานี ที่แสดงไว้ในเรื่อง "จิตของผู้มีบุญ" ซึ่งข้อหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า "ผู้มีบุญจะไม่กลัว" เพราะผลแห่งบุญที่เคยสะสมอบรมมา จะแปรเปลี่ยนสภาพจิตใจให้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้จิตใจไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ด้วยเหตุว่ามีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์และบุญอันสะสมไว้ดีแล้วของตนเอง ดังนั้นไม่ว่าจะคิด พูด หรือกระทำสิ่งใด ก็ล้วนแต่มีกำลังบุญมารองรับ จนทำให้ความกลัวนั้นปลาสนาการไป

ความกลัวถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของความสำเร็จ ผู้ที่ถูกความกลัวครอบงำจะไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าทดลอง หรือแม้แต่ไม่กล้าคิดถึงความสำเร็จ เช่น โทมัส เอดิสัน ถ้ากลัวความล้มเหลว โลกใบนี้ก็อาจจะยังไม่มีโอกาสได้เห็นแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า หรือถ้าหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ถูกอาจารย์ของตัวเองตราหน้าว่า "สมองช้า ไม่ชอบสังคม และล่องลอยอยู่ในความฝันอันโง่เขลาของตัวเองตลอดเวลา" ยังคงกลัวและยึดติดกับคำสบประมาทนั้น โลกคงไม่รู้จักผู้ชายที่ชื่อ "อัลเบิร์ต ไอสไตน์" บิดาแห่งปรมาณู

บางครั้งความกลัวยังเป็นประดุจเพชฌฆาตที่ลงดาบซ้ำเติมจากโรคภัยทั้งหลาย เช่น เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักคนขับรถสามล้อเครื่อง ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ ร่างกายกำยำ แลดูแข็งแรงเป็นพิเศษ คนผู้นี้ออกกำลังกายทุกวัน จนใครๆ ต่างยกให้เป็นพ่อจอมพลังประจำซอย วันหนึ่งเกิดจับพลัดจับผลูไปตรวจสุขภาพร่างกายตามภรรยา ปรากฏว่าโดนแจ๊กพอตแตก คือ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง จะอยู่ได้อีกประมาณครึ่งปี ซึ่งทันทีที่เขารู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง กำลังใจก็ห่อเหี่ยว เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และที่สุดก็ต้องตายไปภายในเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์นับจากนั้น

ซึ่งความจริง "หลายเรื่องไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวที่เกาะกินจิตใจ" เหมือนกับที่ "มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง" หรือ "ความล้มเหลวไม่น่ากลัวเท่ากับการกลัวล้มเหลว"

ในทางพระพุทธศาสนา ความกลัวทุกอย่างล้วนเป็นเพราะ "สักกายทิฏฐิ" คือ ความรักตัว กลัวความทุกข์ กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเจ็บ และกลัวตาย เพราะสำคัญว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เมื่อคิดจินตนาการว่าร่างกายนี้จะต้องเจ็บปวดหรือมีอันเป็นไป จึงเกิดอาการทนไม่ได้ รับไม่ไหว ทำให้ความกลัวมาปรากฏกายหลอกหลอนจนไม่กล้าก้าวเดินต่อไป

แต่นิยามของชาวพุทธ คือ คนทุกคนสามารถเป็นผู้ที่ปราศจากความกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ ได้ ขอเพียงให้ทรงไว้ซึ่งคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าคุณของพระรัตนตรัยนั้น มีอยู่ทุกอณูรอบตัวเราเป็นสิ่งอันมีค่า มีอานุภาพมาก ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ อยู่ที่จะสามารถน้อมนำออกมาใช้ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถดึงเข้ามาสู่ตัวได้มาก นำหลักมาปฏิบัติได้มาก ก็ยิ่งมีความมั่นคงได้มาก พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ฝากชีวิตได้จริง นึกถึงเมื่อไหร่ย่อมมีความอบอุ่นใจในทุกเวลา ขอเพียงเรามีศรัทธา มีศีลให้บริสุทธิ์ และทรงไว้ซึ่งความเคารพในพระรัตนตรัย แล้วเราจะเป็นผู้ขึ้นชื่อว่า "มีบุญ" ที่จะไม่หวั่นไหวกับภัยใดๆ ในโลกนี้อีก

ยิ่งถ้าต้องการความสำเร็จ ทั้งทางโลกหรือทางธรรม ขอให้ก้าวข้ามความกลัวโดยใช้เหตุแห่งการสร้างบุญเป็นปัจจัย แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนก็ตาม จะร้อยคนพลาด หมื่นคนไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพลอยกระทำไม่สำเร็จตามไปด้วย ขอเพียงมีกำลังใจเข้มแข็ง เดินลุยไปข้างหน้าอย่างไม่หวั่นเกรง มั่นใจในความดีของตนเอง ก้าวข้ามความกลัว แล้วทำสิ่งที่มั่นใจนั้นให้ถึงที่สุด...ขอให้เชื่อเถิดว่า แม้แต่มรรคผล ความพ้นทุกข์ถึงพระนิพพาน ก็ยังสามารถทำให้ถึงได้แม้ในชาติปัจจุบัน



บุญใหญ่ที่ไม่ต้องลงเงิน

ถ้าใครมีโอกาสเข้าวัดในเวลายามเย็นหรือหัวรุ่ง อาจได้เห็นภาพมงคลที่พระสงฆ์กำลังจับไม้กวาด ทำความสะอาดลานวัด ปัดฝุ่นเช็ดถูอาราม โดยเฉพาะในสำนักของวัดปฏิบัติธรรม ที่จะเคร่งครัดต่อการรักษากิจวัตรด้วยการปัดกวาดในทุกเช้าเย็น ตามที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยแนะนำพระเณรว่า "การปัดกวาดลานวัด เป็นศีลวัตรอันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์ จะพึงปฏิบัติ" ซึ่งแม้แต่ท่านเองก็ต้องลงกวาดลานวัดทุกวันในเวลา 3-4 โมงเย็น จนถึงคราวใกล้มรณภาพ เพราะการกวาดลานวัดนี้ นอกจากจะทำให้วัดสะอาดแล้ว ยังถือเป็นเครื่องฝึกจิตใจอย่างดีและมีอานิสงส์มากมายติดพ่วงมาอีกหลายประการ

นับตามคติโบราณ มักเชื่อถือกันว่า ผู้ที่มีโรคผิวหนัง เป็นแผลพุพอง เป็นภูมิแพ้ มีสิวฝ้าหน้ายับเยิน หรือโรคเรื้อน ถ้าได้หมั่นเก็บขยะ กวาดใบไม้ที่ร่วงหล่น ทำ ความสะอาดลานวัดให้สวยงามดูสะอาดตาแล้วนั้น เชื่อกันว่าจะทำให้ผิวพรรณวรรณะงดงามและทำให้โรคร้ายหายไป

สอดคล้องกับเนื้อหาในพระไตรปิฎก ที่บ่งบอกอานิสงส์แห่งการทำความสะอาดลานวัดไว้หลายตอน เช่น เรื่องของพระโพธิสัมมัชชกะ ที่ในอดีตชาติได้เคยเก็บกวาดใบไม้บริเวณลานโพธิ์ไปทิ้ง ด้วยผลบุญนั้นทำให้ทุกชาติต่อมา ท่านกลายเป็นผู้มีอวัยวะสมบูรณ์ สวยงามสะอาด มีผิวพรรณนุ่มละเอียด ไม่มีโรคผิวหนัง ไม่มีความทุกข์ใจสาหัส ไปไหนก็มีแต่คนปกป้องคุ้มครอง และในชาติสุดท้ายก็สามารถบรรลุอรหันต์

หรือเรื่องของพระปภังกร ที่ในอดีตเคยแผ้วถางลานเจดีย์รกร้าง อันมีต้นไม้ ใบหญ้า และเถาวัลย์ปกคลุม ด้วยอานิสงส์นั้นทำให้ท่านได้เสวยทิพยสุขอยู่นานแสนนาน เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณสีสวยประดุจดั่งทองคำและไม่เป็นโรคผิวหนังใดๆ อีก เมื่อถึงชาติสุดท้ายก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้อย่างง่ายดาย

กระทั่งเรื่องของพระนางโรหินี ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังมีแผลพุพองไปทั่วทั้งตัว จนเกิดความอับอายไม่กล้าออกจากบ้าน พระอนุรุทธะจึงได้แนะนำว่า ให้สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่งเพื่อเป็นโรงฉันสำหรับพระสงฆ์ และให้คอยปัดกวาดทำความสะอาดศาลา พร้อมทั้งตั้งน้ำฉันสำหรับพระภิกษุอยู่เสมอ ซึ่งนางก็ว่าง่าย กระทำตามทุกอย่าง ต่อมาในเวลาไม่นาน โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นตามร่างกายก็ทุเลาเบาลงอย่างน่าอัศจรรย์

การใช้แรงกายต่างทรัพย์สินในการทำบุญนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินตรา แต่กลับให้ผลอันคุ้มค่า เช่น กวาดลานวัด ส่งผลภายนอกให้ผิวพรรณสดสวย ปราศจาคโรคผิวหนัง, ช่วยล้างจาน ทำความสะอาดภาชนะ มีอานิสงส์ทำให้ร่างกายหรือชีวิตสะอาดปราศจากโทษภัย, ล้างห้องน้ำสาธารณะ ช่วยเรื่องโรคภายในให้ดีขึ้น, เช็ดถูองค์พระปฏิมา ทำความสะอาด พระเจดีย์ ส่งผลตรงต่อการขจัดอุปสรรคและเครื่องเศร้าหมองของชีวิต

นอกจากนี้ การทำความสะอาดพระเจดีย์หรือสมบัติของสงฆ์ยังมีอานิสงส์พิเศษ คือ เป็นอุปนิสัยให้บรรลุธรรมได้เร็ว และพลอยทำให้ผู้ที่พบเห็นพระเจดีย์ที่สะอาดสะอ้านเกิดความเลื่อมใส ทำให้ได้อุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมติดตัวไปด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าใครมักง่ายชอบไปทิ้งขยะเรี่ยราด ทำความสกปรกให้เกิดขึ้นกับวัดวาอาราม ลานพระเจดีย์ หรือพุทธสถาน ก็มักเป็นเหตุให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องผิวหนังผิวหน้า และมีอุปสรรคความติดขัดอยู่เสมอ จึงควรระมัดระวังไม่ให้สร้างเหตุอันเป็นโทษเช่นนี้แก่ตน

ดังนั้น บุญการทำความสะอาดปัดกวาดลานวัด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการสร้างเสบียงบุญอันยิ่งใหญ่ และเป็นบุญที่ไม่ต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินเงินทองใดๆ เพียงมีกำลังและความตั้งใจก็สามารถเดินตัวปลิวเข้าไปที่วัด แล้วไปหาไม้กวาด เครื่องทำความสะอาดเอาที่นั่น เท่านั้นก็สามารถสร้างบุญใหญ่ให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเหตุให้เกิดการพัฒนาตนได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

กวาดลานวัด กวาดกิเลส ในใจตน

จิตหลุดพ้น หากเรากวาด ด้วยปัญญา

กวาดลานวัด ละมานะ ลดอัตตา

ละอวิชชา ให้หมดสิ้น ไปจากใจ


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 62.0.3202.94 Chrome 62.0.3202.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 12 ธันวาคม 2560 10:45:15 »




ถึงธรรมด้วยวัตถุมงคล

สัปดาห์นี้ขอว่าด้วยเรื่องของ "วัตถุมงคล" เพราะวัตถุกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน แม้แต่ในเขตของศาสนา จากการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่ามีการบรรจุ "ศาสนสถาน และ ศาสนวัตถุ" ไว้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของศาสนาทุกศาสนาในโลก รวมถึงพระพุทธศาสนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป้าหมายของการสร้างวัตถุ ก็เพื่อให้บุคคลได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ใช้เตือนสติ ให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว และปฏิบัติตามหลักของศาสนา จนนำไปสู่การเรียกวัตถุที่สร้างขึ้นในลักษณะนี้ว่า "วัตถุมงคล"

โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา ที่มีการสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปเคารพของพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากกว่าศาสดาของศาสนาใดๆ จนถูกนำไปบันทึกไว้ใน กินเนสส์บุ๊ก (The Guinness Book of Records) ว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่มีอนุสาวรีย์รูปเคารพมากที่สุดในโลก เพราะเพียงแค่ประเทศไทยก็มีมากมายจนนับไม่ได้แล้ว ดังนั้นเรื่องวัตถุมงคลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ในพระพุทธศาสนาของประเทศไทย แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วน หรือสำนักเรียนบางแห่งที่ออกมาตำหนิวัตถุมงคลว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของศาสนา

ซึ่งในความเป็นจริง โบราณาจารย์ท่านมีความเข้าใจสภาพของบุคคลมากกว่าคนในปัจจุบัน โดยท่านทราบว่าพุทธศาสนิกชนนั้นมีความแตกต่างกัน เปรียบเหมือนพีระมิดที่มีส่วนฐานกว้างใหญ่สุด คือ บุคคลที่ยึดติดในพิธีกรรมและสิ่งมงคลต่างๆ ส่วนตรงกลาง คือผู้ที่พยายามจะศึกษาให้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสั่งสอนอะไร ส่วนยอดเพียงเล็กน้อย คือคนที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นอย่างแท้จริง แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็มีการจำแนกบุคคลออกเป็น 4 ประเภท และใช้วิธีการสอนที่ไม่เหมือนกัน เพราะทรงทราบว่าแต่ละบุคคลมีการสะสมบุญบารมีมาแตกต่างกัน จะให้มาเหมือนกันหมดทั้งโลกนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ปราชญ์ในอดีตท่านจึงจำเป็นต้องหาสิ่งมายึดโยงกำลังใจของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ให้อยู่กับพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างวัตถุมงคลขึ้นมา ทำให้บุคคลทั่วไปที่กำลังใจยังต้องการยึดเกาะสิ่งต่างๆ อยู่ มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในด้านความดีจะได้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องและสมควร

ซึ่งโดยหลักการที่จะบูชาวัตถุมงคลให้มีผลอย่างแท้จริงนั้นประกอบด้วย

1.มีศรัทธาในคุณของพระรัตนตรัย และครูบาอาจารย์ผู้สร้างวัตถุมงคลนั้นอย่างมั่นคง ไม่ใช้เพียงหาบูชาวัตถุมงคลตามกระแส หรือหลงเชื่อสรรพคุณร้อยแปดพันประการที่มีการโฆษณาชวนเชื่อกัน

2.มีความดีในเบื้องต้นเพียงพอ เช่น รักษาศีล 5 เจริญจิตตภาวนา หรือใส่บาตรทำบุญ เป็นปกติ ดังที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อน เมื่อแจกวัตถุมงคลจะบอกกล่าวกับลูกศิษย์ตนเองว่าให้รักษาความดีบางประการ เช่น หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา บอกลูกศิษย์ให้รักษาศีลข้อ 2 และ 5 จึงจะบูชาพระของท่านแล้วมีผล หรือหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา บอกกล่าวแก่ผู้บูชาพระของท่านว่า ห้ามด่าพ่อแม่ผู้มีคุณโดยเด็ดขาด เป็นต้น

3.อาราธนาพระทุกเช้า เป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของพระรัตนตรัย และครูบาอาจารย์ หมั่นสวดมนต์ บูชาวัตถุมงคล ให้เหมือนกับบูชาพระพุทธเจ้า เพราะวัตถุมงคลไม่ใช่เครื่องดูดทรัพย์สำเร็จรูปที่เพียงวางไว้บนหิ้ง หรือผูกติดคออยู่ทุกวัน โดยไม่นึกถึงพระ ก็จะทำให้ผู้ใช้ปลอดภัยหรือร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีได้

4.หมั่นระลึกถึงพระอยู่เสมอ ว่ามีพระและครูบาอาจารย์อยู่กับตัว จะทำสิ่งใดต้องมีสติ ถ้าเรื่องใดไม่ดีงามก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะโดยธรรมชาติ พระย่อมไม่ช่วยใครทำชั่วอย่างแน่นอน

ถ้าสามารถบูชาวัตถุมงคลได้ดังที่กล่าวมานี้ ก็ย่อมสามารถเข้าถึงประโยชน์และอานุภาพสูงสุดของวัตถุมงคลนั้นได้อย่างแท้จริง ส่วนผลพลอยได้อื่นๆ ที่มากับวัตถุมงคลนั้น ให้ถือเสียว่าเป็นของแถมพิเศษเพราะการทำความดีของเรา




สวยสง่าแบบ ผู้ปฏิบัติธรรม

ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่อง "ทำบุญอย่างไรให้ถูกหวย" จึงทำให้มีผู้มารบเร้าให้เขียน "ทำบุญอย่างไรให้สวย" บ้าง ซึ่งสวยในความหมายที่ว่านี้ มิใช่สวยเพียงภายในเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการสวยส่งออกสู่ภายนอก คือ หน้าตาดี รูปร่างดี ผิวพรรณดี ให้ชนชาวโลกได้รู้เห็นเป็นประจักษ์ ซึ่งก็นับเป็นความมหัศจรรย์ในธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ว่าหวังผลในระดับใด ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงก็ย่อมมีผลตามที่ปรารถนา ทั้งความสุข ความบริสุทธิ์หมดจด และความงดงาม ตั้งแต่โลกนี้ยันโลกหน้า หรือหลุดพ้นออกไปจากโลกใดๆ ที่เรียกว่า พระนิพพาน

เรื่องราวแห่งการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความงดงามตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ไม่น้อย เช่น

1.ให้ทานด้วยศรัทธา ไม่ว่าจะให้ทานรูปแบบใด ขอให้สร้างปีติให้เกิดขึ้นกับใจมากที่สุด แล้วส่งทานนั้นออกไปด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ผลที่ได้คือ (ในสัปปุริสสูตร) จะทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากในอนาคต อีกทั้งยังจะส่งผลให้ "เป็นผู้ที่มีรูปงามชวนมอง น่าเลื่อมใส ผิวพรรณเปล่งปลั่งงดงามอย่างยิ่ง" ได้อีกด้วย เหมือนเวลาเราเห็นคนใส่บาตร ทั้งที่บางทีหน้าตาก็อาจไม่โดดเด่น แต่กลับเปล่งประกายฉายแววให้ชวนมองด้วยความชื่นชมอยู่เป็นนานสองนาน เป็นต้น

2.สร้างหรือซ่อมแซมพระปฏิมา เคยมีคนเคยสงสัยว่า นางวิสาขาทำบุญด้วยอะไรจึงได้ความงามเลิศอย่างเบญจกัลยาณี คือ ผมสวย ผิวสวย ปากสวย ฟันสวย และสวยสมวัยตลอดชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสไขปัญหาเอาไว้ว่า ในอดีตนางเคยซ่อมแซมพระปฏิมาให้กลับมาสวยสง่า จนยังให้เกิดความปลาบปลื้มยินดีเป็นล้นพ้น ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่สร้างรูปเคารพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อชวนผู้คนให้เห็นแล้วเกิดความศรัทธาเลื่อมใส กราบไหว้บูชาจนเป็นมหากุศลติดตัวไปนี้เอง จึงส่งผลให้นางวิสาขาได้ความงามเป็นหนึ่งติดตัวมาด้วยตราบเท่าที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่

3.กวาดลานพระเจดีย์ เพราะคนโบราณเชื่อกันว่า ผู้ที่มีโรคผิวหนังพุพอง โรคเรื้อน หรือมีสิวฝ้าหน้ายับเยิน ถ้าได้เก็บขยะ กวาดใบไม้ ทำความสะอาดลานวัด หรือลานพระเจดีย์ ให้สวยงามสะอาดตาแล้วนั้น จะทำให้ผิวพรรณวรรณะงดงามและทำให้โรคร้ายทั้งหมดสลายตัวไป ซึ่งความจริงเรื่องนี้มีมูลมาจากพระไตรปิฎก ที่พระนางโรหิณี น้องสาวพระอนุรุธเถระ เป็นโรคผิวหนังอันน่ารังเกียจจนต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คนเพราะความอับอาย แต่พระอนุรุธเถระท่านแนะนำให้ไปทำบุญกวาดลานวัด ไม่นานโรคผิวหนังก็หาย กลายเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามตั้งแต่ในชาตินั้นเอง

4.รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าหมั่นชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใสด้วยศีลอยู่อย่างสม่ำเสมอ ความเกลี้ยงเกลาหมดจดจะส่งออกจากใจสู่ภายนอก ศีลจะตกแต่งให้เนื้อหนังร่างกายมีความสมส่วนบริบูรณ์ขึ้นตามลำดับ จนนำไปสู่ความงดงามไร้ที่ติ เหมือนกับใจที่ไม่มีความแปดเปื้อนใดๆ จากการละเมิดศีลเหลืออยู่

5.ใช้เมตตาเป็นยารักษาใจ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสเหตุแห่งความอัปลักษณ์เอาไว้ว่า "ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือเป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ" ดังนั้นถ้าปรารถนาจะงามสง่า จึงต้องเป็นผู้หมั่นเจริญเมตตา ให้จิตใจชุ่มเย็นด้วยความอ่อนโยน ไม่โกรธง่าย มีขันติ ให้อภัยคนให้เป็นปกติ แล้วความผุดผ่อง สว่างไสว น่ารัก น่ามอง ดูเปล่งประกาย ยิ่งดูก็ยิ่งสดชื่น ก็จะฉาบฉายโลมไล้ทั่วใบหน้าเป็น "เมตตา" มหานิยมอย่างแท้จริง

6.ยิ้มไว้ไม่ทุกข์สนุกดี เพราะรอยยิ้มคือมหาเสน่ห์ เพิ่มความเบิกบานใจให้แก่ผู้พบเห็น ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ถ้าฝึกยิ้มอยู่เป็นนิจจนติดเป็นนิสัย ทั้งภายนอกและภายในก็จะค่อยๆ ปรับจูนสู่ความงดงามน่ารัก เป็นมิตร ชวนมอง เห็นเท่าไหร่ย่อมไม่มีเบื่อเลย

7.ฝึกเจริญจิตตภาวนา ผลจากงานวิจัยพบว่าการนั่งสมาธิจะทำให้หัวใจจะเต้นช้าลง หายใจช้าลง ความดันโลหิตต่ำลง เกิดอนุมูลอิสระน้อยลง ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เครียด และมีการปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หมั่นนั่งสมาธิจะมีผิวพรรณผุดผาด ใบหน้าผ่องใส และดูสวยงามอ่อนกว่าวัย

ความสวยสร้างได้จากทุกบุญที่ลงมือกระทำ ทุกอย่างอยู่ที่การเลือก...อยู่ที่จะทำหรือไม่เท่านั้น?(


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ธันวาคม 2560 10:50:42 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.84 Chrome 63.0.3239.84


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 20 ธันวาคม 2560 09:50:50 »



ปลดล็อกด้วย "พุทธทำนาย"

ผู้คนเป็นจำนวนมากในยุคนี้ เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นอิสระ ภูมิใจในความคิดแหวกแนว ไม่ถูกผูกพันด้วยลัทธิความเชื่อ ชิงชังความงมงาย ไม่ปฏิญาณตนขึ้นกับศาสนาใด โดยที่คนเหล่านี้กลับ ไม่เคยเฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า ที่หลงสำคัญผิดคิดว่ามีความเป็นอิสระในตนเองนั้น แท้จริงกลับยังตกเป็นทาสของอำนาจกิเลสตัณหาชนิดหาทางออกไม่เจอ คลำทางไม่ถูก ทั้งคิด พูด ทำ ก็ล้วนแต่ถูกสนตะพายไปตาม "ความอยาก" จนนำไปสู่ความเสื่อมทรามทางด้านจิตใจและสังคม

เพราะโลกทั้งใบกำลังเต็มไปด้วยเครื่องล่อ เต็มไปด้วยกับดักหลุมดำ ที่ดึงดูดผู้คนให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ ทั้งพิษภัยจากเศรษฐกิจ บรรยากาศที่ระอุรุนแรงทางการเมือง อาชญากรรมการเข่นฆ่า สื่อลามกอนาจารเกลื่อนกลาด การแก่งแย่งแข่งกันจนมนุษย์มุ่งทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง ลูกขาดความกตัญญู เด็กไม่เคารพต่อผู้หลัก ผู้ใหญ่ มีท้องก่อนวัยอันควร ฯลฯ ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่คนในโลกกลับมีความสุขน้อยลง ปลอดภัยน้อยลง มีปัญหาในการดำรงชีวิตมากขึ้น ซึ่งวิกฤตการณ์เหล่านี้ ถ้าสืบค้นที่มาก็จะพบว่าล้วนแต่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือ "ความอยาก" อันปราศจากการควบคุมด้วยศีลธรรมนั้นเอง

สภาพความเป็นไปของสังคมในปัจจุบันนี้ ทำให้นึกย้อนกลับไปสู่ "พุทธทำนาย" ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีพยากรณ์ไว้ 16 ประการ ผ่านความฝันของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ในยุคนั้น เช่น

ประการแรก ทรงฝันว่ามีวัว 4 ตัว ตั้งท่าคิดจะชนกัน พากันวิ่งตาลีตาเหลือกมาจากทั้ง 4 ทิศ ชาวบ้านมารอดู วัวทั้ง 4 ต่างส่งเสียงคำรามลั่น แต่แล้วก็ต่างถอยออกไปไม่ชนกัน : ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายว่า ในอนาคต เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม มนุษย์จะไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำจะแล้ง ทุพภิกขภัยจักเกิดขึ้น คล้ายเมฆตั้งเค้าจะมีฝน ฟ้าร้องกระหึ่ม แต่แล้วฝนก็ไม่ตก กลับเลยหายไป เหมือนวัวตั้งท่าจะชนกัน แต่ไม่ชนกัน

ทรงฝันว่า ต้นไม้เล็กๆ ที่โตได้เพียง คืบบ้าง ศอกบ้าง กลับออกดอกออกผลแล้ว : พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า ต่อไปเมื่อโลกเสื่อม มนุษย์แม้จะมีอายุเยาว์ มีวัยยังไม่สมบูรณ์ ก็จะมีราคะกล้า และสมสู่กันตั้งแต่อายุน้อย ทำให้มีลูกตั้งแต่เด็ก เหมือนต้นไม้เล็กๆ แต่ก็ออกดอกออกผลแล้ว

บางประการ ทรงฝันเห็นแม่วัวตัวใหญ่ กลับพากันดื่มนมของฝูงลูกโคที่เพิ่งเกิด : ทรงทำนายว่า ต่อไปในอนาคตการเคารพนบนอบผู้ใหญ่ หรือ การอ่อนน้อมถ่อมตนก็เสื่อมถอย พ่อแม่คนเฒ่าคนแก่เมื่อหมดแรงที่พึ่งตัวเอง หาเลี้ยงตนไม่ได้ ก็ต้องประจบเอาใจเด็กๆ ดังที่แม่วัวต้องกินนมลูกฉะนั้น

หรือ ประการสุดท้าย ทรงฝันว่า ฝูงแกะพากันไล่กวดและกัดกินฝูงเสือ ทำให้เสืออื่นๆ สะดุ้งกลัว จนต้องหนีไปแอบซ่อนตัวจากฝูงแกะ : ทรงทำนายว่า ต่อไปในภายหน้า คนชั่วจะเรืองอำนาจ และใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม ข่มเหงคนดี ทำให้คนดีถูกทำร้าย ไม่ได้รับความเป็นธรรม จนต้องหลบหนีไปซ่อนตัวจากภัยร้าย เหมือนเสือซ่อนตัวจากแกะ

พุทธทำนาย 16 ประการ ที่หยิบยกมาเพียงบางส่วนนี้ ถือเป็นมรดกที่พระศาสดาได้ฝากไว้เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เกิดความประมาท เมื่อใจคนห่างธรรม ยึดความอยากเป็นใหญ่ สติปัญญาและความรู้ความสามารถใดๆ ก็ไร้ค่า เพราะความคิดอ่านทั้งหมดจะถูกนำมาปรนเปรอความหน้ามืดตามัวให้ยิ่งถลำลึก จนเป็นเหตุให้สังคมวิปริต ผู้คนเอารัดเอาเปรียบกัน ทำลายสิ่งแวดล้อม กอบโกยไปบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง โดยขาดความรักความเมตตาต่อกัน ทำให้ธรรมชาติวิบัติแปรปรวนจนทุกคนในโลกต้องรับผลกระทบกันไปตามๆ กัน

ดังนั้น การพาตัวให้รอดจากความวุ่นวายของโลก คือการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อใดได้ศึกษาจนเกิดสภาวะ "รู้เห็นตามจริง" ว่าอย่างใดเป็นกุศล มีธรรมชาติสว่างรุ่งเรือง เป็นไปเพื่อความสุขสบาย แบบไหนคืออกุศล มีธรรมชาติด้านมืด หดหู่เศร้าหมอง เป็นไปเพื่อความทุกข์ร้อน จึงจะสามารถรู้จักอิสระที่แท้จริงและดึงตัวเองออกจากหลุมดำต่างๆ ที่ติดอยู่ได้ทีละเปลาะจนที่สุดสามารถชำระล้างความสกปรกทั้งปวง เข้าถึงจุดสูงสุดอันเป็นยอดแห่งความสุขที่ปราศจากโทษภัยใดๆ อย่างถาวร

"พระพุทธศาสนา" เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นทางรอดที่ยังหลงเหลืออยู่ และจับต้องได้ เพียงรอว่าเราจะ "เอาจริง" เมื่อไหร่ ก่อนที่จะสายเกินไปเท่านั้น




สูตรลับอาหารใจ

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ พระองค์เดินทางไปแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี จากนั้นทรงประทับจำพรรษาแรกอยู่ที่นั่นจนครบถ้วนไตรมาสพรรษา ซึ่งในพรรษาที่ 1 ของพระองค์นี้ มีเหล่าบรรดาลูกผู้ดีเศรษฐีใหญ่จากทั่วทั้งพาราณสี จำนวน 55 ตระกูล สละสมบัติพัสถานนับพันหมื่นล้าน ปลงผมครองผ้ากาสาวพัสตร์ สะบัดหน้าหนีจากความสุขทางโลกออกบวชกับพระองค์เพื่อแสวงหาความสุขอันเกิดจากภายใน

ทั้งที่ดีกรีความรวยของแต่ละท่านไม่ธรรมดา เช่น ท่านยสะ ที่บ้านรวยถึงขนาดว่ามีคฤหาสน์ 3 ฤดู อันโอ่อ่าดุจพระราชวัง พร้อมนางบำเรอไว้คอยพะเน้าพะนอเอาใจตลอด 24 ชั่วโมง เวลาไปไหนมาไหน พ่อบังเกิดเกล้ายังสั่งให้คนหามไปด้วยเสลี่ยงประดับอัญมณี เพื่อไม่ให้เท้าลูกรักต้องแปดเปื้อนเศษธุลี หากแม้จำเป็นต้องลงเดินก็เอาใจถึงขนาดสั่งทำรองเท้าจากทองคำแท้ให้สวมใส่เหยียบย่ำไปบนพื้นดินเหมือนกับการใส่รองเท้าแตะของคนปกติทั่วไป แต่ทั้งที่มั่งคั่งร่ำรวยเห็นปานนั้น ในที่สุดท่านก็เบื่อหน่าย จนสลัดสมบัติที่ผู้คนในโลกเที่ยวแสวงหาเข้าป่าออกบวชอย่างไม่ไยดี และในที่สุดก็ได้พบของล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่เคยครอบครอง

หรือในโลกปัจจุบัน หลายคนอาจคิดจนหัวแทบแตกก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่มีพร้อมทุกอย่าง เช่น พระอาจารย์สิริ ปันโน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเพียงหนึ่งเดียวของมหาเศรษฐีอันดับสองของมาเลเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงละทิ้งมรดกกว่า 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.85 แสนล้านบาท) แล้วออกบวชกับวัดป่าที่ห่างไกลแถวเมืองกาญจน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดสาขาของหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ในปัจจุบันก็ยังมีผู้คนอีกมากมาย นำทรัพย์สินที่ตัวเองแสวงหามาทั้งชีวิตบริจาคแก่การกุศลแล้วมุ่งหน้าหันเข้าหาการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

"ทั้งนี้เพราะทุกชีวิตในโลกล้วนต้องการความสุข ซึ่งต่างก็ดิ้นรนแสวงหา แต่จนแล้วจนรอด ที่ได้กลับมาก็กลายเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่เคลือบแฝงไว้ด้วยความทุกข์เท่านั้น"

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะหาความสุขด้วยการเพิ่มเติมอาหารให้เฉพาะร่างกาย คือ กินได้ ใช้ได้ เที่ยวได้ สนุกได้ ตามใจกิเลสทุกอย่าง แต่กลับละเลย "อาหารใจ" จึงทำให้จิตใจอ่อนแอ ดังนั้นทุกครั้งที่ปล่อยใจให้ไหลไปตามความอยาก พออาหารใจไม่มี จะรู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองขาดอะไรบางอย่าง ทำให้ต้องพยายามตะเกียกตะกายหาทุกอย่างที่อยากมาจนแทบท่วมทับตัวเองตาย โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าสิ่งที่ขาดอยู่นั้นเป็นเพียงแค่สิ่งเล็กๆ คือ อาหารใจ แต่กลับไปเอาสิ่งภายนอกมาเสพสุขมากมาย คิดว่าสามารถทดแทนได้ ในที่สุดก็ไม่ประสบผล เพราะสิ่งที่ใจต้องการแท้จริงคือความสงบสุขจากภายใน

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 24 พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสว่า "ในบรรดาคนที่มีความสุข ฉันเป็นหนึ่งในนั้น" เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ คือ "เคล็ดลับที่นำไปสู่ความสุขสงบอย่างถาวร" ซึ่งก็คือการเติมอาหารใจของมนุษย์ให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ โดยการค้นพบนี้ ได้ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็น "ศาสดาของศาสนาแห่งความสุข" ไปโดยปริยาย

หลายคนเที่ยวไปทั้งโลกเพื่อค้นหาความสุข หลายคนแสวงหาทรัพย์สมบัติมากมาย หลายคนต้องดิ้นรนหาสารพัดสิ่งมาสร้างความสุขให้แก่ตนเองตามรสนิยม เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ไปเดินห้าง หรือการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น แต่ท้ายสุดก็จะพบว่าสิ่งนั้นไม่ใช่คำตอบ... เพราะแท้จริงสิ่งที่ผู้คนกำลังขาดแคลนในปัจจุบัน คือ "ความสงบทางใจ" ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

ดังนั้น กลับถึงบ้านวันนี้ อย่าลืมหยิบหนังสือสวดมนต์ขึ้นมาสวด พยายามฝึกนั่งสมาธิ หัดรักษาศีลอย่างน้อยครั้งละข้อสองข้อ เพื่อหาอาหารใจให้แก่ตัวเองบ้าง เมื่อใจมีอาหาร คือความสุขสงบเข้าไปหล่อเลี้ยงแล้ว การดิ้นรนอยากได้ใคร่ดีในสิ่งต่างๆ ก็จะลดน้อยลง และเมื่อนั้นความสุขที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่เคยพบ ก็จะพึงปรากฏขึ้นโดยพลัน


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 10 มกราคม 2561 16:06:27 »




เฉียบขาดในบุญ

ปกติผู้เขียนมักจะมีโอกาสแวะเวียนไปที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดียอยู่เสมอ ซึ่งวัดนี้ถ้านับโดยพฤตินัยแล้ว ถือเป็นวัดประจำองค์ของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เพราะพระองค์ทรงประทับจำพรรษาอยู่ถึง 19 พรรษา ซึ่งนับว่านานกว่าที่อื่นทั้งหมด และวัดแห่งนี้ยังถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะทรงแสดงพระสูตรต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถ้านับเอาเพียงแค่ประชากรในเมืองสาวัตถี ซึ่งขณะนั้นมีทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน ก็มีมากถึง 50 ล้าน 5 แสนคน ที่ได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วบรรลุกลายเป็นพระอริยบุคคลในชั้นต่างๆ ที่นี่

ดังนั้น ที่วัดนี้จึงเต็มไปด้วยร่องรอยและเรื่องราวให้ย้อนระลึก ในขณะที่ผู้เขียนเดินผ่าน ธรรมสภา สถานที่แสดงพระธรรมของพระพุทธเจ้าในวัดพระเชตวัน ก็ทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวของบุคคลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ นายจูเฬกสาฎก พราหมณ์ตกยากผู้หนึ่ง ซึ่งมีชีวิตยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัส เพราะตัวแกกับภรรยามีผ้าห่มเก่างั่กไว้คลุมออกจากบ้านเพียงแค่ผืนเดียว จึงต้องผลัดกันใช้ ผลัดกันออกไปทำมาหากิน จนคราวหนึ่งตาพราหมณ์ได้ยินว่า พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมอยู่ที่วัดพระเชตวัน จึงคิดว่า "เราเป็นคนยากจน ต้องทำมาหากินตลอด จะหาโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าเป็นของยาก" จึงเข้าไปนั่งฟังธรรมที่ธรรมสภานั้นด้วย

ในวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงเทศน์เรื่องอานิสงส์ของการให้ทาน และชี้แจงโทษของความตระหนี่ว่า "บุคคลเหล่าใด ที่เป็นคนตระหนี่ ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ บุคคลเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดในสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นเปรต ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลคนยากจน ซึ่งจะหาผ้าผ่อนท่อนสไบ เสื้อผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก คนพาลเหล่านี้ แม้ต้องประสงค์สิ่งใดจากผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมความปรารถนา..."

แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงถึงอานิสงส์ของทานว่า "ทานเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสุข ทำให้เป็นที่รัก มีบริวารมาก เมื่อตายแล้วจะได้บังเกิดในสุคติภูมิ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีกย่อมเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวย..." พอตาพราหมณ์ได้ฟังอย่างนั้น ก็เกิดศรัทธา คิดว่า ที่เรายากจนเพราะในอดีตไม่เคยทำทานมา จึงต้องการจะถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวบูชาพระพุทธเจ้า แต่ทันทีที่คิดจะถวาย อกุศล คือ ความตระหนี่ก็เข้ามาแทรก จึงเกิดความคิดว่า ถ้าให้ไปแล้วจะเอาอะไรห่ม แล้วภรรยาที่บ้านจะห่มอะไร อย่าพึ่งไปให้เลยดีกว่า นึกแล้วก็ฟังธรรมต่อ

พอฟังไปถึงช่วงกลาง เกิดความรู้สึกว่า ก็เพราะอย่างนี้ เราถึงยังจนอยู่แบบนี้ ให้ไปเถิด แล้วค่อยหาเอาใหม่ แต่พอคิดจะถวาย อกุศล ก็เข้ามาตัดรอน ทำให้คิดต่อไปอีกว่า ถ้าให้ไปแล้ว หาใหม่ไม่ได้ เราทั้งสองก็จะไม่มีอะไรห่ม จึงนั่งฟังธรรมต่อไป พอพระพุทธเจ้าใกล้จะแสดงธรรมจบลง ตาพราหมณ์ ก็คิดว่า เอาล่ะ ไม่ว่าอย่างไรก็จะถวายให้ได้ เพราะไม่ให้วันนี้ ก็ไม่รู้จะได้ให้วันไหนแล้ว จึงดึงผ้าห่มเก่าคร่ำคร่าของตนเองออกมาจากกาย พับเสร็จเรียบร้อยก็นำไปน้อมถวายที่พระบาทของพระพุทธเจ้า พร้อมกับอุทานว่า ชิตังเม ชิตังเม แปลว่า "ข้าพเจ้าชนะแล้ว" จนดังลั่นได้ยินกันทั่วทั้งธรรมสภา

และด้วยอานิสงส์ของการถวายผ้าบูชาพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ ทำให้จูเฬกสาฎกพราหมณ์ ได้รับผ้าเนื้อดีรวมทั้งช้าง ม้า วัว ควาย บริวารหญิงชาย อย่างละ 4 พร้อมทรัพย์อีก 4,000 กหาปณะ และหมู่บ้านสำหรับเก็บส่วยกินอีก 4 ตำบล จนกลายเป็นเศรษฐีย่อมๆ ไปในวันรุ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งต่อมาพระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า จูเฬกสาฎก ถวายช้าไปถ้าถวายตถาคตตั้งแต่ยามต้น จะได้ผ้าและอื่นๆ 12 คู่ ถ้าถวายยามกลาง จะได้ 8 คู่ นี่ถวายยามสุดท้าย จึงได้เพียง 4 คู่เท่านั้น ดังนั้นการทำบุญต้องตัดสินใจให้เฉียบขาด แล้วเมื่อโอกาสมาถึงควรรีบทำ

เวลาทำความดีใด ควรรีบทำให้เร็วที่สุด อย่ามัวแต่คิดว่า เดี๋ยวค่อยทำก็ทัน หรือ ไว้มีโอกาสดีกว่านี้ค่อยทำ เนื่องจากคนมักจะพลาดพลั้งเสียความตั้งใจและเสียโอกาสแล้วมากต่อมาก จากความล่าช้าและความลังเล เพราะการทำความดี มักจะมี "มาร" มาขวาง ยิ่งยืดระยะเวลาไปมากเท่าไหร่ โอกาสเสียประโยชน์ย่อมมีได้มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าไปฟังคนอื่น ก็อาจจะมีเสียงว่า "ทำไมต้องทำด้วย?" แล้วพอเกิดความลังเล ไหลตามผู้อื่นไป ก็ทำให้เสียโอกาสทำดีไปอีกคราว

ดังนั้นเมื่อตัดสินใจจะทำความดีใด "ควรทำเดี๋ยวนั้นทันที" คนจะว่า หรือใครจะติง นั่นเป็นเรื่องของเขา เพราะเราใช้ปัญญาพิจารณาในความดีที่เราจะทำไว้อย่างดีแล้ว ถ้ามัวแต่ไปกลัวขี้ปากชาวบ้าน แบบนั้นทั้งปีชาติก็มิต้องเป็นอันทำอะไร พอถึงเวลาที่เราทุกข์ เราลำบาก ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้มีเดือดร้อนลำบากกับเราด้วย แล้วทำไมเวลาที่เราจะทำความดี สร้างเหตุแห่งความสุขให้กับตน ยังจะต้องไปเกรงใจชาวบ้านเขาด้วย!!


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2561 11:22:03 »



สิ้นปี ความดีไม่สิ้นสุด

เปลี่ยนปฏิทินผลัดปีแต่ละที คนจากวงการต่างๆ มักมีการทบทวนหวนระลึกถึงเรื่องเด่นที่ผ่านพ้นในรอบปี เช่น มวยสากลมีการจัดลำดับ 10 ยอดนักชกโลกประจำปี ซึ่งปีที่ผ่านมาอันดับหนึ่งได้แก่ เจ้าแหลม ศรีสะเกษ นักชกความภาคภูมิใจของชาวไทย แวดวงธุรกิจจัดเพิ่มลดอันดับเศรษฐีประจำปีกันใหม่ โดยที่บิล เกตส์ ก็ยังคงครองแชมป์ที่ 1 อย่างเหนียวแน่นนอนมาด้านการท่องเที่ยว เว็บไซต์ดังต่างก็พากันจัดอันดับเมืองน่าท่องเที่ยว ทำให้กรุงเทพมหานครของเราได้ติดโผเมือง คุ้มค่าในการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกไปด้วย

ตลอดจนพวกแวดวงสื่อ ที่มักมีการย้อนทวนข่าวเด่นดังประจำปี มอบฉายาให้กับดาราคนนู้นคนนี้ ประมวลเรื่องฉาวข่าวดีในรอบปีให้ดูกันใหม่ ทำให้ผู้บริโภคได้ระลึกรู้ในสิ่งที่ลืมเลือนไปอีกครั้ง

สำหรับวงการนักบุญ ผู้ปรารถนาความสุขบนเส้นทางของความดี ก็ควรจะได้นึกทบทวนดูเหมือนกับทุกสาขาอาชีพเช่นกันว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีความดีใดบ้างที่ได้กระทำไว้จนเป็นที่ชื่นใจ นึกถึงครั้งใดก็เกิดปีติ ไล่ตามลำดับ 1 2 3 ไปจนถึง 10 หรือ 20 ตามกำลังบุญของแต่ละคน ถ้านึกออกบอกได้แล้วเกิดความภาคภูมิขึ้นมาทันที เช่นนี้ก็แสดงว่าบุญที่กระทำนั้นเป็นสิ่งที่พึ่งได้จริง เพราะสามารถทำให้เกิดสุขทุกครั้งที่คิดถึง แต่หากคิดแล้วคิดอีกจนศีรษะแทบระเบิด ยังงัดความจำ เกี่ยวกับบุญที่ทำในรอบปีไม่ได้ อย่างนี้ก็นับว่าสุ่มเสี่ยงเต็มทีกับชีวิตหลังความตาย

ซึ่งการนึกทบทวนความดีในรูปแบบนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อนุสติ" อันถือเป็นกรรมฐานใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่จำแนกแจกแจงออกได้ 10 อย่าง คือ พุทธานุสติ  นึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า, ธัมมานุสติ นึกถึงคุณของพระธรรม, สังฆานุสติ นึกถึงคุณของพระสงฆ์, สีลานุสติ นึกถึงคุณของศีลที่ตนเองได้รักษา, จาคานุสติ นึกถึงคุณของทาน ความดี หรือความเสียสละที่ตนได้สร้างไว้, เทวตานุสติ นึกถึงคุณของเทวดา ซึ่งเป็นได้เพราะมีหิริ (ละอายชั่ว) โอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป), อุปสมานุสติ นึกถึงคุณของพระนิพพาน คือ การพ้นทุกข์, มรณสติ นึกถึงความตายให้คลายความประมาท, อานาปานสติ นึกถึงลมหายใจเข้าออกให้เกิดสมาธิ และกายคตาสติ นึกถึงความสกปรกของร่างกายให้หมดราคะ

ทั้ง 10 ประการนี้ มิใช่ว่าต้องนึกทั้งหมดพร้อมกันในคราวเดียว หรือมานั่งนึกเรียงสลับกันไปมาให้สับสนเล่น แต่ถ้าสะดวกอย่างไร ชอบแบบไหน ก็ให้ทำจนคล่องตัวเกิดความชำนาญเป็นอย่างๆ ที่สำคัญคือ หมั่นระลึกนึกถึงความดีให้บ่อยครั้ง ทำให้คุ้นชิน เช่น ก่อนนอนก็พิจารณาหรือจดบันทึกลงไดอารี่ว่า วันนี้ทำอะไรที่เป็นความดีลงไปบ้าง นึกถึงความดีนั้นแล้วชื่นใจ หรือไม่ เพราะความดีที่เป็นบุญจะมีอานุภาพยกจิตให้เบิกบานชุ่มชื่นอยู่เสมอ เวลาขุ่นมัวเมื่อนึกถึงบุญที่เคยกระทำ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนพลิกอารมณ์ให้คลายความเศร้าหมองได้

สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการนึกถึงบุญเป็นอารมณ์ หรือ นำบุญออกจากหน่วยความจำในสมองได้ยาก ก็สามารถใช้วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อตอกย้ำความทรงจำ คือ หมั่นทำความดีให้บ่อยขึ้นในทุกวัน ทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยความดีหรือบุญกุศลเป็นสิ่งที่ควรทำแล้วทำอีก มิใช่ทำแล้วไม่ทำอีก ดังมักมีบางคนหา ข้ออ้างหลีกเลี่ยงบุญไปอย่างสวยหรูว่า บุญนี้เคยทำแล้ว! อันนี้เคยสร้างไปแล้ว! แบบนี้เคยถวายมาแล้ว! ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเชื่อผิดที่คิดว่าบุญใดทำแล้วไม่ต้องทำอีก เพราะขึ้นชื่อว่าบุญ สามารถทำได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ทำได้ตลอดชีวิตตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ทำมากสร้างมากยิ่งเป็นกำไรในชีวิต เพิ่มขอบเขตแห่งความสุขและพอกพูนบารมีให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

หรือบางคนอาจกล่าวอย่างไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสรรเสริญให้ทำอะไรอย่างพอดี เป็นทางสายกลาง ทำบุญก็ทำพอดีๆ ปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติพอดีๆ กลางๆ แต่โดยแท้จริงพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระองค์ไม่สรรเสริญการสันโดษในกุศลธรรม คือ ไม่ต้องพอเพียงในการสร้างความดีหรือการปฏิบัติธรรม และความเข้าใจที่เชื่อว่า ให้ทำบุญแบบพอดีเป็นทางสายกลาง นี่ก็มิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เพราะทางสายกลางของพระองค์หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น หาใช่การทำอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่

การทำ "บุญมาก" ในพระพุทธศาสนา มิใช่หมายถึงทุ่มเทเงินทองไปกอง ครั้งละมากมาย แต่หมายถึงให้ทำบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการบริจาคทาน ก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี ขอให้กระทำอย่างตั้งใจและต่อเนื่อง ผลย่อมบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่คนส่วนใหญ่ที่ยังเอาดีกับการปฏิบัติธรรมไม่ได้ นั่นเป็นเพราะยังไม่ทำอย่างจริงจัง ทดลองเล็กน้อย นั่งสมาธิวันเว้นสามวัน ขยันก็ สวดมนต์มากหน่อยขี้เกียจก็หนีไปนอน แล้วเช่นนี้ธรรมะจะให้ผลได้อย่างไร

ขึ้นปีใหม่ทั้งที ขอให้ตั้งใจเอาจริงกับความดีอย่าหยุด

เพราะธรรมะเป็นของจริง จึงมีผลให้เฉพาะคนจริงได้สัมผัสเท่านั้น!!



ของขวัญคนไทย

ในช่วงนี้หลายคนอาจกำลังสาละวนอยู่กับการหาของขวัญปีใหม่มอบให้ คนรัก เจ้านาย หมู่มิตร หรือครอบครัว ผู้เขียนเองก็มีความตั้งใจจะมอบของขวัญปีใหม่ด้วยท่วงทำนองแห่งอักษรผ่านบทตอนในคอลัมน์ฝึกจิตนี้

ซึ่งของขวัญที่ตั้งใจมอบเป็นกำลังใจแด่ทุกคน คือ "คุณค่าของพระพุทธศาสนา"

พอกล่าวเช่นนี้ หลายท่านอาจส่ายหน้า พร้อมกับคิดว่าเป็น "เรื่องเดิมๆ" ที่รู้กันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าพิจารณาให้จริงจัง พร้อมทั้งยอมรับแบบตรงไปตรงมา จะพบว่าน้อยคนเหลือเกินที่กล้าพูดอย่างเต็มปากแบบไม่หลอกตัวเองว่า ได้สัมผัส "อมฤตรส" อันวิเศษของพระพุทธศาสนาแล้วอย่างแท้จริง

คนในสมัยพุทธกาลเมื่อรสแท้ของกระแสธรรมได้เข้าถึงใจจนชีวิตเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะโพล่งออกมาด้วยปีติในแบบเดียวกันว่า "แจ่มแจ้งนัก แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนการหงายของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่ปิดอยู่ บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือว่าจุดประทีปไว้ในที่มืดเพื่อว่าคนมีตาจักได้เห็นรูป, ฉันใดก็ฉันนั้น!!" และนับตั้งแต่นั้นผู้คนที่กล่าวคำนี้ออกมาอย่างน้อยจะสมาทานไตรสรณคมน์ พร้อมทั้งรักษาศีล 5 จนตลอดชีวิต

สำหรับคนไทยที่มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่แผ่นดินมาแต่โบราณ จะมีสักกี่คนที่ได้สัมผัสกับเนื้อแท้แห่งธรรมอันวิเศษของพระพุทธศาสนาจริงๆ ทั้งที่บรรพบุรุษส่งมอบของขวัญอันมีค่าผ่านกาลเวลา คนมีปัญญาในทุกยุคก็เฝ้าพิทักษ์รักษามาอย่างสมบูรณ์โดยตลอด แต่กลับมีน้อยคนนักที่กล้าเปิดกล่องและลงมือหยิบเพชรเม็ดงามไปเป็นสมบัติในชีวิตแห่งตน

จุดเด่นที่ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นและลัทธิความเชื่อทั่วไป จนเรียกได้ว่าเป็นของขวัญอันวิเศษประจำชาติของชนชาวไทย มีหลายประการ เช่น

1.คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรมประจำโลก ที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยปัญญา จะนับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น คนทำดีมีสุคติรองรับ คนทำชั่วมีทุคติรับรอง การเรียนพระพุทธศาสนาเพื่อใช้เป็นคู่มือชีวิตที่จะกำหนดทิศทางตามภูมิปัญญาแห่งตน ปรารถนาความสุขอย่างใด ต้องการความสำเร็จแบบไหน พระพุทธศาสนาสอนวิธีการเอาไว้ทั้งสิ้น อยู่ที่ยอมลงทุนลงแรงศึกษาและปฏิบัติมากแค่ไหน

2.จุดมุ่งหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือ ละกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์จนหมดสิ้น เพื่อหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร โดยผู้ที่ประสบทุกข์ไม่ว่าระดับใดก็ตาม ถ้าลงมือปฏิบัติจะค่อยๆ สัมผัสกับผล คือ ความทุกข์ที่ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับจนถึงที่สุด

3.ชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพระพุทธศาสนาเน้นย้ำว่า "ทุกชีวิตมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรม" ข้อสำคัญคือต้องมีความพยายามในการปฏิบัติเพื่อสะสางความเห็นผิดและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส และไม่ว่าเรื่องใดก็ตามถ้ามีความเพียร ใช้สติปัญญาอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้แต่โชคชะตา หรือเทพเจ้าใดก็ยังไม่อาจขัดขวางความสำเร็จได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ด้วยความเพียรของมนุษย์ แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้"

4.วิปัสสนาเป็นยาแห่งความสำเร็จ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการฝึกสมาธิ และการยกระดับของสมาธิขึ้นเป็นวิปัสสนา คือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งมีเพียงศาสนาเดียวในโลกสอนเรื่องนี้ ขอให้ลองพิจารณาดูเถิดว่าจะดีสักเพียงใด ถ้าเรามีปัญญาแจ่มแจ้งสามารถมองเห็นความจริงทุกอย่างของโลกได้ จนความทุกข์ทั้งหลายไม่อาจเกาะกินใจ จะอยู่ที่ไหน เผชิญหน้ากับเรื่องใด จิตใจจะสว่างไสวและมีความมั่นคงไม่หวั่นไหวใดๆ อีกต่อไป

ด้วยความพิเศษหลายประการนี้ พระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นของมีค่าที่แม้แต่ในหลวง ร.9 ยังทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า "ธรรมะในพระพุทธศาสนา มีความหมดจดบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยเหตุผล ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญา ความเพ่งพินิจให้เกิดประโยชน์ คือ ความเจริญ ความผาสุกแก่ตนได้อย่างเที่ยงแท้ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน คือ การตั้งตัวได้เป็นปกติสุขจนถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถ์ คือ หลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ ข้อนี้เป็นลักษณะพิเศษในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนามีคุณค่าประเสริฐสุด"

ดังนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของท่านแล้วว่า จะยอมลงทุนแกะกล่องของขวัญชิ้นนี้และคว้าสิ่งมีค่ามาเป็นสมบัติติดตัวกันเมื่อไหร่?



สร้างบุญสูงด้วยต้นทุนต่ำ

มีอยู่คราวหนึ่งได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง เพื่อไปเยี่ยมเยียนสหธรรมิกที่เข้าป่าไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมอันเหมาะแก่จริตของตน ในครั้งนั้นชาวกะเหรี่ยงทั้งหมู่บ้านเกือบ 200 คน ได้มาร่วมทอดผ้าป่าเพื่อสร้างศาลาถวายวัดพอดี โดยแต่ละครอบครัวนำเงินเหรียญบาท เหรียญสลึงที่ตนมี มานั่งประดิษฐ์ประดอยห่อพับด้วยกระดาษจนกลายเป็นภาพดอกไม้ที่สวยงาม เมื่อทอดผ้าป่าเสร็จ นับยอดรวมปัจจัยได้ประมาณ 300 กว่าบาท ซึ่งแม้จะดูน้อยในสายตาของคนเมือง แต่ชาวบ้านทุกคนหรือกระทั่งเพื่อนสหธรรมิกก็มีความแช่มชื่นยินดีในบุญกิริยาของสาธุชนชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

โดยท่านสหธรรมิกได้เล่าสู่กันฟังว่า ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะกินยังแทบไม่มี พอเข้าป่าได้กล้วยมา ก็จะนำมาถวายให้พระได้ฉันก่อนเสมอ หรือมีอะไรที่พอจะแบ่งปันได้ เขาจะนำมาถวายพระอย่างไม่ลังเล แล้วที่วันนี้นำปัจจัยมาทอดผ้าป่ากัน ก็เป็นความต้องการของคนในหมู่บ้านที่ต้องการสร้างบุญใหญ่ ถึงแม้เขาจะทอดผ้าป่าได้ปัจจัยที่อาจดูไม่มากนัก แต่ทุกคนในหมู่บ้านก็พอใจ แล้วเชื่อว่าเดี๋ยวทุกคนก็คงมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างศาลาจนแล้วเสร็จเหมือนทุกครั้งเป็นแน่ ดังนั้นสำหรับที่นี่เงินทองจึงจำเป็นน้อยกว่าเรื่องของน้ำใจ

เมื่อได้ฟังดังนี้ จึงได้ข้อคิดให้พิจารณาว่า บางครั้งการทำบุญด้วยต้นทุนอันสูงลิบ อาจจะได้ผลบุญเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ถ้ามีความตั้งใจ มากด้วยศรัทธา และมีปัญญาในการสละออกอย่างแท้จริง ก็สามารถทำเงิน 1 บาท 2 บาท ให้กลายเป็นบุญสูงสุดได้

อย่างในอดีตที่ประเทศจีน มีการเรี่ยไรเพื่อหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระสงฆ์ในวัดจึงออกไปประกาศบอกบุญ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาชีพกวาดถนน พอได้ฟังจึงเกิดศรัทธาอยากจะร่วมบุญด้วย แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่แค่อีแปะเดียว จึงตัดสินใจถวายเงินหนึ่งอีแปะนั้นร่วมไปด้วย พระที่เรี่ยไรอยู่นั้นกลับเห็นว่าเงินน้อยเกินไป จึงโยนเงินกลับคืนไปให้

ซ้ำยังพูดสำทับอีกว่า 'เงินน้อยนิดเพียงนี้ จะเอาไปทำอะไรได้ พระองค์ใหญ่ตั้งหลายวา' ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงเก็บเงินอีกแปะนั้นไว้ เมื่อพระท่านเรี่ยไร จนได้ทองแดง ทองเหลือง จำนวนมากพอ จึงนำไปหล่อเป็นองค์พระ ก็ปรากฎว่าหล่ออย่างไรก็หล่อไม่ติด 1 ครั้งก็แล้ว 2 ครั้งก็แล้ว 3 ครั้งก็แล้ว หล่อไม่สำเร็จเสียที เจ้าอาวาสท่านมีประสบการณ์สูง จึงเรียกพระลูกวัดและบรรดากรรมการวัดทั้งหมดมาสอบถาม ว่าในช่วงที่ออกไปเรี่ยไรจากชาวบ้านนั้น มีสิ่งผิดปกติอะไรบ้างหรือเปล่า

ท่านก็ไล่สอบถามพระไปทีละสาย จนไปเจอพระสายนี้ บอกว่ามีหญิงคนหนึ่งทำอาชีพกวาดถนน เขาบริจาคมาหนึ่งอีแปะ เห็นว่ามันน้อยจึงโยนคืนกลับไป ท่านเจ้าอาวาสเมื่อทราบ ก็นำพระทั้งวัดไปขอขมาแล้วขอเหรียญอีแปะนั้นคืน เมื่อได้เหรียญอีแปะนั้นแล้ว จึงเอาใส่ลงในเบ้าเพื่อหล่อพระ คราวนี้เมื่อทุบแบบออกมา ปรากฎว่าเป็นองค์พระที่สมบูรณ์ทุกประการ และสิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ อีแปะเหรียญนั้นไม่ละลาย แต่ไปติดอยู่ตรงหน้าอกพระ ที่หัวใจพอดิบพอดี

ท่านเจ้าอาวาสจึงขอรายละเอียด ก็พบว่าหญิงกวาดถนนนั้น เงินเดือนแทบไม่พอยาไส้ เงิน 1 อีแปะเขาสามารถซื้อข้าวต้มเปล่ากินเป็นอาหารประจำวันได้ 1 ถ้วย จึงเรียกทานนี้ว่าเป็น 'ทานสละชีวิต' เพราะนี่ไม่ใช่แค่เงิน 1 อีกแปะ แต่เป็นเงิน 1 ชีวิตที่สละออกได้เพราะศรัทธา ทำให้บุญส่วนนี้จึงมากมายเหลือประมาณ

ดังนั้นการทำบุญด้วยทรัพย์แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าทรัพย์นั้นถูกจัดสรรอย่างพอดีแก่ฐานะ โดยไม่เหลือความหวงหน่วงเหนี่ยว ไม่มีส่วนแห่งความโลภที่เจือปน หรือ กระทั่งไม่ต้องการใบประกาศเกียรติคุณยกย่องใดๆ มีแต่เจตนาเพื่อบุญที่สามารถสละออกได้อย่างเต็มที่ เต็มกำลังใจ และเต็มศรัทธาจริงๆ จนอดไม่ได้ที่จะต้องสุขใจอยู่ลึกๆ นึกถึงแล้วต้องอมยิ้มน้อยๆ แบบนั้นก็นับเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่ มีอานิสงส์มหาศาล จนสามารถสะเทือนถึงพระนิพพานได้ทันที


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 09 มีนาคม 2561 12:46:32 »




"พุทธแท้" แบบใหม่ในอินเดีย

ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปสู่ประเทศอินเดีย เมื่อสัญจรผ่านตามสี่แยกต่างๆ สิ่งที่มักปรากฏสู่สายตาของผู้มาเยือนอยู่เสมอคือ "อนุสาวรีย์เชิดชูคุณธรรม" รูปปั้นบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนหรือประเทศชาติ เพียงจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง อาจปรากฏรูปเคารพของบุคคลที่แตกต่างกันให้เห็นนับ 10 อนุสาวรีย์ ซึ่งแต่ละอนุสาวรีย์ก็มักจารจารึกประวัติกันยาวเหยียดชนิดอ่านกันจนตาลาย

แต่ในบรรดารูปปั้นบุคคลสำคัญเหล่านั้น ถ้านับอย่างจริงจัง จะพบว่ามีเพียง 3 คน ที่ถูกจัดให้เป็น "เทพเจ้าเดินดิน" ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียยุคใหม่หลังได้รับเอกราชคืน และมีการสร้างรูปเคารพให้อนุชนรุ่นหลังได้บูชาเอาไว้มากที่สุด

3 บุคคลนี้ คือ มหาตมะ คานธี ผู้นำการทวงคืนอิสรภาพกลับสู่อินเดีย ด้วยอหิงสาวิธี จนได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งประชาชาติของอินเดีย", ศรี ยวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ผู้เป็น "บิดาแห่งประชาธิป ไตยของอินเดีย"

และ ดร.อัมเบดการ์ หรือชื่อเต็มว่า บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ผู้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้ถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" นอกจากนี้ ดร.อัมเบดการ์ ยังถือเป็น "วีรบุรุษผู้นำพระพุทธศาสนากลับคืน สู่ประเทศอินเดีย" อีกครั้ง จากการนำผู้คนจำนวน 5 แสน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ที่เมืองนาคปูร์ ใน ปี พ.ศ.2499

สำหรับมหาตมะ คานธี และศรียวาหระลาล เนห์รู คนไทยที่นิยม "ความรู้รอบตัว" เป็นอันมากคงเคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณกันโดยทั่วไปแล้ว ส่วน ดร. อัมเบดการ์ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยข้ามแดนมาเหยียบถิ่นอินเดียก็มักไม่รู้ว่าอนุสาวรีย์ของคนร่างใหญ่ ใส่สูทพอดีตัว สวมแว่นตาหนา มือข้างหนึ่งถือตำรา อีกข้างหนึ่งชี้ไปข้างหน้า ก็คือรูปเหมือนของท่าน

ดร.อัมเบดการ์ คือ จัณฑาล ที่ต่ำต้อย แต่สามารถต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการและความอยุติธรรมตลอดชีวิต จนพลิกชะตาขึ้นเป็นหนึ่งในรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทั้งยังจุดประกายความหวังแก่คนวรรณะต่ำหรือคนนอกวรรณะที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด ให้พบทางสว่างด้วยการถอนตัวออกจากศาสนาฮินดูที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น สู่พระพุทธศาสนาที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ และมีหลักธรรมที่นำพาออกจากทุกข์ได้จริง

หลังจาก ดร.อัมเบดการ์ เสียชีวิต ในปี พ.ศ.2499 คลื่นแห่งมหาชนผู้เชื่อถือใน ดร.อัมเบดการ์ อีกจำนวนมาก ยังรักษาธรรมเนียมการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่ ดร.อัมเบดการ์ เคยเริ่มเอาไว้ จากรุ่นสู่รุ่น จนชาวพุทธในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดก็มีผู้เปลี่ยนศาสนาหันมานับถือพุทธ จำนวนหลายหมื่นคน ที่เมืองนาคปูร์และเมืองมุมไบ ในวันคริสต์มาส (25 ธ.ค. 60) ที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจในพิธีประกาศตนของชาวพุทธใหม่เหล่านี้คือ ทุกคนตั้งใจเปลี่ยนศาสนาด้วยหัวใจ เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์อย่างกึกก้องกังวาน เพราะทุกคนได้เรียนรู้หลักธรรมะมาอย่างเข้าใจก่อนจะเปลี่ยนศาสนา ทุกคนเชื่อและรักในพระพุทธเจ้า การประกาศตนจึงเสมือนเป็นการแสดงความพร้อม ว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะขอมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุด จะรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดจนตลอดชีวิต และจะปฏิบัติตามคำสั่งสอน คือ ทาน ศีล ภาวนา เพื่ออิสรภาพสูงสุด คือพระนิพพาน ซึ่งนี่แตกต่างจากการประกาศความเป็นพุทธมามกะของคนไทย หรือของเด็กนักเรียนไทยในหลายแห่ง ที่แม้จะขึ้นป้ายใหญ่โตโก้หรู แต่เด็กบางคนที่มาร่วมงานยังแทบไม่รู้เลยว่างานนี้แตกต่างอย่างไรกับการไปรับศีล 5 ที่วัดก่อนถวายสังฆทาน

ชาวพุทธใหม่เหล่านี้แม้จะไม่มีวัดพุทธหรือพระสงฆ์ในพื้นที่ ต้องข้ามรัฐข้ามเมืองไปนิมนต์พระสงฆ์ที่ห่างไปกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อมาให้ศีล แต่นั่นก็มิได้ทำให้เขาเหล่านี้มีศรัทธาต่อพระรัตนตรัยน้อยลง กลับขวนขวายปฏิบัติในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อสร้างที่พึ่งให้แก่ตนจนตลอดชีวิต ศีลทุกข้อพยายามรักษาจนตัวตาย และเมื่อมีโอกาสได้พบพระสงฆ์องค์สามเณรก็เบิกบานมีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม อุปัฏฐากดูแลเป็นอย่างดี แม้ชาวบ้านหลายคนอาจไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่กลับร่ำรวยศรัทธา เปี่ยมล้นไปด้วยหัวใจอบอุ่นของชาวพุทธที่มั่นคงต่อธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาเป็นอย่างดี

แล้วพวกเราคนไทยที่เป็นชาวพุทธมาโดยตลอด นอนกอดสมบัติอันประเสริฐมาตั้งแต่ยังมิรู้ความ มีวัดมีพระให้กราบไหว้ทำบุญอยู่ทุกหมู่บ้าน มีพระไตรปิฎกให้สืบค้นเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส สามารถจะประกาศตนว่าเป็น "พุทธแท้" ที่รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดหรือยัง? เพราะเพียงแค่อ่านตำราไม่กี่เล่ม ใช้วาทะแหลมคมเชือดเฉือนผู้อื่นได้ไม่กี่คำ หรือยกตนข่มท่านทั้งที่รู้มากกว่าคนอื่นไม่เท่าไหร่ นี่ยังคงห่างไกลคำว่า "พุทธแท้" อีกมากมายนัก

หรือต้องรอให้พระพุทธศาสนาเลือนหายไป แล้วต้องกระหายหลักธรรมเหมือนชาวอินเดียทุกวันนี้ จึงค่อยเริ่มหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังเสียที



รู้ตัวเมื่อสายไป

สํานักข่าว Daily Mail ของประเทศอังกฤษ ได้ออกสัมภาษณ์คนอายุเกิน 60 ปี เป็นจำนวนมาก ด้วยคำถามว่า "ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกเสียดายอะไรมากที่สุด และหากย้อนเวลากลับไปได้จะแก้ไขอย่างไร" ซึ่งคำตอบของคนส่วนใหญ่ที่ปรากฏออกมาเรียงตามลำดับได้ดังนี้

1.ถ้าย้อนเวลากลับได้ จะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และดูแลท่านให้มากกว่านี้ เพราะพ่อแม่คือผู้ที่รู้จักเราดี หวังดีต่อเรา พร้อมยืนเคียงข้างเราอยู่เสมอ และให้ความรักเราไม่เคยเปลี่ยน เมื่อเราได้เติบโตขึ้นจึงทำให้เรารับรู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดนั้น ควรค่าแก่การเชื่อฟังอย่างยิ่ง

2.จะทำสิ่งที่อยากทำ เพราะเสียดายเวลาและโอกาสที่เคยผ่านมา ตอนมีกำลังวังชากลับไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ มัวแต่ห่วงกังวล ลังเล กลัวล้มเหลว ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง พอถึงอายุ 60 จึงตระหนักว่า ความล้มเหลวหนักที่สุดของมนุษย์ คือ "การไม่ลงมือทำ"

3.จะพูดคำว่ารักให้มากขึ้น และจะไม่ใช้วาจาทำร้ายจิตใจคนที่รักอีกโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่น้อง ลูกหลาน หรือสามีภรรยา เพราะบางทีหลงนึกไปเองว่า เราทำอะไรให้ตั้งมากมาย ควรจะรู้ได้จากการกระทำ แต่ตราบใดที่เราไม่พูดคำว่ารักและห่วงใยออกมาให้ชัดเจน ก็ยังดูเหมือนคนใจแข็ง ไม่ยอมเปิดใจ คนรอบข้างก็จะขาดความมั่นใจ และยิ่งการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ มันอาจต้องทำให้เสียใจไปตลอดชีวิตทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

4.จะเปลี่ยนงานหากงานที่ทำมันบั่นทอนจิตใจ งานหนักเกินไป ถูกเอาเปรียบมากเกินไป โดนบีบคั้นมากเกินไป หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ที่ให้ความสุขในชีวิตหายไป คนวัยเกิน 60 บอกว่า นึกไม่ออกว่าทำไมไม่หางานใหม่ทำ ทำไมต้องทนอยู่แบบนั้นจนเกษียณ ทั้งที่เปลี่ยนงานแล้วจะมีความสุขขึ้น ถึงแม้การเงินอาจจะมั่นคงน้อยลงก็ตาม แต่ที่สุดป้ายหมายของที่ชีวิตก็คือความสุข ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างทรมาน

5.จะไม่ยอมเสียเวลาไปกับการกังวลเรื่องต่างๆ อีกต่อไป เพราะมีแต่ความเครียด กังวล คิดมาก จนทำให้ชีวิตสูญเสียโอกาสและสิ่งดีไปมากมาย และการคิดกังวลสารพัดก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยนอกจากเสียเวลา บั่นทอนสุขภาพ ที่สำคัญทุกเรื่องก็มักจบลงได้ด้วยตัวของมัน โดยที่ความกังวลของเราไม่ได้ทำให้เรื่องดีขึ้นหรือแย่ไปกว่าเดิม

เหล่านี้คือสิ่งที่ "รู้ตัวเมื่อสาย" ของคนเป็นอันมากหลังจากมีอายุพ้นวัยทำงาน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะเพียงชาวอังกฤษเท่านั้น แต่น่าจะเป็นทั่วทั้งโลก โดยเหตุผลอันดับ 1 ที่คนส่วนใหญ่เลือกตอบ สะท้อนให้เห็นถึงความผิดหวัง ความเสียดาย ของการไม่รักษาสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ดังนั้น ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จึงเชิดชูความกตัญญู การเคารพบุพการี และการตอบแทนคุณพ่อแม่ไว้อย่างสูง จนยกให้เป็นยอดแห่งมงคล พร้อมทั้งสอนวิธีปฏิบัติต่อพ่อแม่ไว้อย่างน้อย 5 ประการ คือ คอยดูแลเอาใจใส่ อย่ามัวแต่ห่วงเรื่องตัวเอง แล้วทิ้งพ่อแม่ไว้อย่างไม่เหลียวแล, ประพฤติตัวให้เป็นคนดี, สร้างความภาคภูมิใจให้สมกับที่สืบทอดตระกูล, ทำงานแทน และชักชวนเข้าหาการปฏิบัติธรรม

และด้วยความที่พ่อแม่ลูก คือ "คน" มีความคิดจิตใจและความรู้สึกแตกต่างกัน ก็ย่อมมีกระทบกันเป็นของธรรมดา แต่หน้าที่ของผู้เป็นลูกไม่ใช่การเถียงคอเป็นเอ็น ตอบโต้ หรือโมโหเกรี้ยวกราดใส่ เพราะนั่นเป็นการเสียความดี เสียคุณธรรม เสียบุญเกื้อหนุนตนเองจนทำให้หาความเจริญไม่เจอ และที่สำคัญ คือ ต้องเสียใจเมื่อสายเกินไป

หลักการของพระพุทธศาสนา เน้นให้ทรงไว้ซึ่งความดีอยู่ทุกขณะใน ทาน ศีล ภาวนา พร้อมทั้งกล่าวถึงหน้าที่ที่ควรมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลก ทั้งการปฏิบัติต่อพ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา ลูกหลาน ญาติมิตร และบริวาร เพื่อไม่ทำชีวิตให้สูญเปล่า และเกิดความรู้สึกเสียใจในภายหลัง

ชาวพุทธถ้าสามารถสร้างชีวิตให้มีธรรมะได้ ความเสียใจและคำว่ารู้ตัวเมื่อสาย จะไม่เกิดขึ้นแม้แต่ประการเดียว เช่น คำตอบประการที่ 2 ของคนทั่วไปในยามแก่เฒ่า คือ ความเสียดายโอกาสในชีวิต เพราะความกลัว ความลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ แต่นิยามของชาวพุทธ คือ ทุกคนสามารถเป็นผู้ที่ปราศจากความกลัวเกรงต่อสิ่งใดได้ เพียงทรงไว้ซึ่งความดีใน ทาน ศีล ภาวนา เพราะสิ่งนี้เรียกว่าบุญ บุญจะกลายเป็นความมั่งคง และสร้างความมั่นใจ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่อแรงสั่นสะเทือน หรือย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ พร้อมทั้งผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นเพียงไร จะร้อยคนพลาด หมื่นคนไม่สำเร็จ ก็มิได้หมายความว่าคนมีบุญจะต้องพลอยกระทำไม่สำเร็จตามไปด้วย

การพยายามรักษาความดีไว้ทุกลมหายใจนี่เอง ที่จะช่วยไม่ให้เราต้องเสียใจในภายหลังอีกตลอดไป



บุพเพสร้างได้

นับแต่ในอดีตสิ่งที่สาววัยรุ่นชาวชมพูทวีปมักบนบานศาลกล่าวกับเทพเจ้ามากที่สุด คือ การขอให้พบเจอคู่ครองที่ดีมีฐานะเสมอกัน และมีลูกคนแรกเป็นเพศชาย เพราะในวัฒนธรรมอินเดีย ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อแต่งงานแล้วย่อมไม่สามารถแต่งงานได้อีกตลอดชีวิต ซึ่งผิดกับผู้ชาย ที่สามารถแต่งงานใหม่กี่ครั้งก็ได้ ตราบเท่าที่ยังมีเรี่ยวแรงจะเลี้ยงดูภรรยา ยิ่งถ้าฝ่ายหญิงไม่สามารถคลอดบุตรให้แก่ตระกูลได้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างเหตุผลในการหย่าร้างแก่ฝ่ายชายอย่างเต็มประตู

แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีบุคคลที่โด่งดังอย่าง นางสุชาดา แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ผู้ถวายข้าวมธุปายาสรสเลิศ อันเป็นอาหารมื้อก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเจตนาของนางสุชาดานั้น มิได้ตั้งใจทำอาหารถวายพระมหาบุรุษ แต่ต้องการถวายเทพเจ้าเพื่อแก้บน ตามที่ตนได้เคยบนบานเอาไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ว่าขอให้ได้พบเจอคู่ครองที่มีฐานะเสมอกันและได้ลูกคนแรกเป็นผู้ชาย

เพราะผู้หญิงอินเดียคาดหวังต่อความสุขชั่วชีวิตของตนและลูกที่จะเกิดขึ้นมาอย่างที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะพิถีพิถันในการเลือกคู่ครองขนาดไหน ก็ยังคงพลาดพลั้งจนถึงกับต้องเลิกร้างกันไปเป็นจำนวนมากในสังคมอินเดีย ซึ่งการหย่าร้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการยุติความสัมพันธ์ของคนที่เคยรักกันได้อย่างยากเย็น โดยปัญหาการหย่าร้างก็มิได้เพิ่งมีในยุคนี้ แต่มีมาทุกยุคทุกสมัยและมีอยู่ไปทั่วทุกพื้นที่ในโลก

โดยสาเหตุของคนที่เลิกร้างกันไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นๆ ที่ตื้นเขิน แต่กลับแก้ไขได้อย่างยากเย็น นั่นคือ "การทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด" เพราะอัตตาของคนเราจะบีบให้รู้สึกว่าตัวเองดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีก คนอื่นต่างหากที่ต้องเปลี่ยนให้เหมือนกับที่เราคิด จึงไปเข้าตำราโบราณที่ว่า "โทษคนอื่นเท่าภูเขา โทษตัวเราเท่าเส้นขน" พอไม่มีการปรับตัวเข้าหากันก็เกิดอาการอัตตาปะทะอัตตา สุดท้ายจึงมีแต่พังพินาศลูกเดียว

พระพุทธเจ้าจึงแนะนำวิธีการอยู่ครองคู่กันอย่างยั่งยืนไว้ว่า ประการแรก ต้องมีสัจจะ คือให้ความจริงใจต่อกัน พอมีเรื่องเกิดขึ้น ควรพูดคุยกันให้รู้เรื่องก่อน อย่าเอาแต่ใช้อารมณ์ ประเภทน้อยใจไม่พูดด้วยไป 3 วัน กว่าจะได้คุยกันรู้เรื่อง คนง้อก็เบื่อ คนงอนก็เหนื่อย ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากเสียเวลาไปโดยมิใช่เหตุ และยังเป็นการสร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นในระยะยาวอีกด้วย วันไหนอีกฝ่ายเบื่อ จะง้อ วันนั้นก็เป็นอันบ้านแตกกัน

ประการที่สอง ต้องมี ทมะ คือ การข่มใจตัวเอง ไม่ให้ออกงิ้ว แสดงความเกรี้ยวกราด พาลใส่สารพัด จนเสียอาการ ถ้าเห็นสิ่งใดไม่ถูกต้อง ควรค่อยๆ หาทางพูดคุยกันดีๆ ด้วยเหตุและผล มองผลของการบันดาลโทสะใส่กันให้ยาวไกล อย่าเพิ่งไปต่อว่าให้กัน จนจุดชนวนทิฐิมานะของอีกฝ่ายขึ้นมาทะเลาะกัน จากเรื่องเล็กก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด

ประการที่สาม ต้องมีขันติ คือ ความอดทนในการใช้ชีวิตร่วมกัน ถนอมน้ำใจกัน เพราะชีวิตคู่เป็นการยอมรับใครอีกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะทำอะไรจึงต้องคิดถึงคนที่อยู่ด้วยกันเสมอ ต้องตระหนักไว้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวอีกแล้ว ยิ่งหลายครอบครัวก็อาจมิได้แต่งกับคนรักเราเพียงคนเดียว แต่อาจต้องแต่งกับครอบครัว คือ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องของเขาด้วย จึงต้องเพิ่มความอดทนให้มากเป็นพิเศษถึงจะอยู่กันยืด

ประการสุดท้าย ต้องมีจาคะ คือ ความเสียสละให้แก่กัน ถ้าเห็นสิ่งใดที่พอเสียสละให้กันได้ ก็ควรเร่งทำ และถ้าเห็นบางสิ่งที่เราไม่ชอบใจในตัวเขา ถ้าเสียสละด้วยการให้อภัยได้ก็ควรกระทำ หรือถ้าความดีใดที่มีอยู่ในตัวเราแล้วเป็นสิ่งดีกับเขา ก็ควรพยายามทำให้มากเข้าไว้ แล้วจะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมั่นคง

เพราะชีวิตคู่นั้น ในช่วงแรกรักหวานซึ้ง จะเป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างนำเสนอในสิ่งที่ดีของตน ส่วนข้อบกพร่องจะเก็บซ่อนเอาไว้ ดังนั้นในเมื่อเริ่มต้นด้วยการนำเสนอแต่สิ่งดีจนอีกฝ่ายเคยชิน พออยู่กันไปนานๆ ข้อบกพร่องย่อมปรากฏขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอถึงตอนนั้นก็ต้องอาศัยธรรมะเข้าช่วยประคับประคองกันไว้ คือต้องมีความจริงใจต่อกัน มีความข่มกลั้น มีความอดทน และมีความเสียสละต่อกัน ซึ่งถ้าทำได้ชีวิตคู่ก็จะยืนยงคงมั่น

ยิ่งถ้าสามารถชักชวนกันปฏิบัติธรรมได้ ด้วยการพากันให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา ร่วมกันอยู่เนืองๆ ฉุดดึงกันทำบุญทุกอย่าง ก็ยิ่งเป็นการสร้างแรงดึงดูดที่เหนือแรงดึงดูดทั้งปวง อันจะช่วยยึดเหนี่ยวกันไว้อย่างแน่นแฟ้น ยิ่งนานก็ยิ่งแนบสนิทส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จูงมือสู่ความเจริญด้วยกัน เช่นนี้นับเป็นความสัมพันธ์อันดีงามที่สุด ผูกพันกลมเกลียวกันที่สุด ตราบจนไปถึงสุดทางด้วยกัน คือ พระนิพพาน



ที่สุดแห่งรัก

ในประเทศอินเดียมีอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ถูกบรรจงสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยสีขาวสว่างไสวดุจไข่มุกเมื่อต้องแสง ทั้งยังประกอบด้วยตำนานรักเลื่องชื่อ ร่ำลือถึงความผูกพันอันเป็นนิรันดร์ จนทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่ใครต่อใครอยากจะไปเห็นด้วยตาสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งสถาปัตยกรรมแห่งความรักนี้ มีชื่อว่า "ทัชมาฮาล" สุสานของพระนางมุมตัส มาฮาล มเหสีของพระเจ้าชาห์ จาฮาน กษัตริย์องค์ที่สี่ในราชวงศ์โมกุล ทัชมาฮาล คือ ประจักษ์พยานความรักล้ำลึกที่กษัตริย์พระองค์นี้มีต่อหญิงอันเป็นที่รักยิ่งของตน

แต่หลังม่านความยิ่งใหญ่ขาวบริสุทธิ์ของทัชมาฮาล กลับซ่อนไว้ซึ่งความจริงที่แสนเจ็บปวดและกลิ่นคาวเลือดของประชาชนเป็นอันมาก เพราะการก่อสร้างสัญลักษณ์ความรักอันใหญ่โตนี้ ได้กะเกณฑ์แรงงานและขูดรีดเงินภาษีจากราษฎรเพื่อนำเงินมาใช้ในการก่อสร้างจำนวนมหาศาล ช่างฝีมือเป็นจำนวนมากที่แกะสลักหินต้องตาบอดเนื่องจากถูกบังคับให้ทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน คนงานมากมายต้องล้มตายเพราะถูกบังคับให้ทำงานหนักอย่างทารุณ เมื่อสร้างทัชมาฮาลสำเร็จ สถาปนิกผู้ออกแบบก็ถูกสั่งฆ่า เพื่อป้องกันมิให้ไปสร้างสิ่งก่อสร้างสวยงามที่อื่นอีกต่อไป

"ความรักที่ชโลมด้วยความสูญเสียนี้ จึงไม่ควรจะเป็นความรักที่สูงส่งสวยงาม"

ขณะที่ตำนานรักอีกบทของมหาราชอีกพระองค์ในแผ่นดินอินเดีย คือ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ขยายอาณาเขตแผ่พระราชอำนาจออกไปได้อย่างกว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย พระองค์ได้ก่อสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักให้แก่พระนางอันเป็นที่รักยิ่งกว่ายอดดวงใจของตัวเองเช่นกัน โดยมหาสถานตำนานรักแห่งนี้มีชื่อว่า "มหาสถูปสาญจี" ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่รัฐมัธยมประเทศ ตอนกลางของประเทศอินเดีย

ในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ยังเป็นเพียงมหาอุปราช ที่ถูกพระราชบิดาส่งไปปกครองเมืองอุชเชนี กลับได้พบรักกับพระนางเวทิสา ซึ่งเป็นเพียงหญิงชาวบ้าน ลูกสาวของพ่อค้าในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยที่ครั้งแรกพระนางก็ไม่ทราบว่าเจ้าชายอโศกเป็นใคร แต่ก็มอบความรักที่ใสบริสุทธิ์ให้แก่กัน จนนำไปสู่การอภิเษกสมรสเมื่ออายุ 18 ปี จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ครองคู่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นกำลังใจให้กันและกันอยู่ไม่ห่าง จนพระนางเวทิสาให้กำเนิดพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ (ซึ่งในกาลต่อมาทั้งพระโอรสและพระธิดานี้ ได้ออกบวชจนกลายเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญแห่งยุคทั้งคู่) เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ขึ้นปกครองราชอาณาจักรสืบต่อจากพระบิดา จำต้องย้ายจากเมืองอุชเชนีไปอยู่ที่เมืองหลวง คือ ปาฏลีบุตร ทั้งคู่ก็ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย

แต่ขึ้นชื่อว่าชีวิต ย่อมหาความเที่ยงแท้แน่นอนอันใดมิได้ ในเวลาไม่นานพระนางเวทิสาก็จากพระองค์ไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงนำความโศกสลดวิปโยคมาสู่มหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีดำริให้จัดสร้าง "พระมหาสถูปสาญจี" ขึ้นในบริเวณที่ทรงอภิเษกกับพระนางเวทิสา พระสถูปเจดีย์แห่งนี้ มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระอัครสาวก และพระธาตุของพระอรหันต์อีก 10 องค์ ไว้ในส่วนต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชาเป็นบุญกุศลสืบไป โดยพระเจ้าอโศกมุ่งหวังให้ผลบุญอันเกิดแต่การสร้างเจดีย์นี้ สำเร็จแก่พระนางอันเป็นที่รักของพระองค์

ความรักของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลต่อพระนางเวทิสา และประชาชนคนหมู่มากที่มีโอกาสได้กราบไหว้บูชาพระเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ทุกครั้งที่ผู้คนได้เห็นพระเจดีย์นี้ ย่อมจะสูดได้ถึงกลิ่นอายรักบริสุทธิ์งดงามที่พระเจ้าอโศกมีต่อนางแก้วของพระองค์ พระมหาสถูปสาญจีแห่งนี้ ยังเป็นเพียงพระเจดีย์เดียว ใน 84,000 แห่ง ของพระองค์ ที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย และอยู่คู่ดินฟ้ามากว่า 2,300 ปี จนถึงทุกวันนี้

ความรักที่งดงาม คือ ความรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี เกื้อกูลต่อบุคคลอันเป็นที่รักและคนหมู่มาก ซึ่งความรักในรูปแบบนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อได้ลองศึกษาและปฏิบัติธรรม จนเมื่อธรรมะผลิดอกออกผล จะทำให้เราได้เห็นโลกในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างไป ซึ่งเป็นแง่มุมที่เต็มไปด้วยความสุขอันลึกซึ้ง ไม่มีการทำลายล้างเพื่อรัก มีแต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในชีวิต และเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ใครๆ โดยส่วนเดียว ซึ่งลักษณะแบบนี้ต่างหาก จึงจะเรียกว่าเป็น "ที่สุดแห่งรัก" อย่างแท้จริง



พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 14:41:57 »



สติในความสุขสบาย

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้อ่านงานวิจัยของ Julie Lythcott-Haims นักเขียนและอดีตผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่วิจัยจนได้ข้อสรุปว่า "การเลี้ยงลูกให้เขาประสบความสำเร็จ คือ ต้องให้เขาทำงานบ้านตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ควรปล่อยให้ขี้เกียจตั้งแต่เด็ก แต่ต้องไม่ใช่การบังคับหรือบงการจนเกินพอดี"

เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ที่เปิดกว้างรับทุกสิ่งอย่างเร็วรวด ดังนั้นการฝึกให้ทำอะไรด้วยตัวเองจึงเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาวิชาชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันพ่อแม่ มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลงด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงมักเลี้ยงดูแบบเอาอกเอาใจอย่างเต็มที่ ประคบประหงมดูแลอย่างดี เมื่อเจอหน้า ด้วยกลัวลูกไม่รัก แต่การปล่อยให้เด็กสบายทุกอย่าง ตามใจสารพัด ใช้เงินจ้างคนรับใช้ดูแลแม้กระทั่งอาบน้ำหรือล้างก้น จนเติบโต ก็อาจไม่แน่ว่าจะดี

หลายครอบครัวเศรษฐีในปัจจุบัน ที่ใช้เงินซื้อความสุข เลี้ยงลูกแบบตามใจ มักประสบปัญหาพาครอบครัวล่มจมหรือทำสังคมมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น ทายาท ตระกูลเบียร์ของโคลัมเบีย "อังเดรส ซานโต โดมิงโก" ขับรถชนคนแล้วหนีลอยนวล จนโดน คนประณามทั้งประเทศ, จีนา ไรน์ฮาร์ต เศรษฐินีรวยที่สุดของออสเตรเลียมักจะออกสื่อยอมรับบ่อยๆ ว่า "เซ็งที่สุดในความไม่เอาถ่านของลูกๆ ตัวเอง", "เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์" ฆาตกรกินคนผู้โด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งร่ำรวย หรือ หนุ่มสาว ลูกเศรษฐีใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ชอบจัดปาร์ตี้ มั่วเซ็กซ์และยาเสพติดจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ

ซึ่งนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความเห็นสำหรับกรณีลูกคนรวยที่สร้างปัญหาแก่สังคมเอาไว้ว่า "ลูกเศรษฐีหลายคนที่ถูกเลี้ยงด้วยเงิน มักจะมีปัญหาขาดความอบอุ่นตั้งแต่เด็ก ซึ่งนั่นคือรากฐานของปัญหาที่เขาเหล่านี้ต้องการบางสิ่งมาเติมเต็ม"

ดังนั้นความสุขสบายจึงอาจไม่ได้เป็น ทุกอย่างของชีวิต เพราะโทษที่ควรรู้เท่าทันของความสบาย คือ

1.ทำลายความมุ่งมั่นให้พังพินาศ คือ พอคิดจะทำอะไร เมื่อไปเจอความยากลำบากสักหน่อย ก็ท้อถอย สูญสิ้นความกล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป เพราะคิดว่าถึงจะไม่ทำ ความสุขสบายก็ยังคงรออยู่ จึงกลายเป็นว่าความสุขสบายจะกลืนกินปณิธานไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือ

2.กายใจไม่พัฒนา เพราะความสบายจะทำให้หยุดการขวนขวาย ไม่สานต่อการเรียนรู้ ไม่เพิ่มพูนการพัฒนาให้เก่งและดีขึ้น ในขณะที่โลกกำลังหมุนไป ถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลังลงคลอง

3.เปิดประตูรับความขี้เกียจ เมื่อสุขสบายก็มักจะถูกความขี้เกียจควบคุมจิตใจได้ง่าย เมื่อความขี้เกียจเข้าครอบครองใจ ความเสื่อมถอยแห่งสมบัติพัสถานก็จะเกิดขึ้น ทรัพย์สินเงินทองที่มีก็ย่อมสูญสิ้นไป จนเข้าตำราธุรกิจครอบครัวอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วคน

4.ความสุขสบายทำให้ยึดติดง่าย พอเกิดอาการยึดติด ความเห็นแก่ตัวก็เกาะกินพื้นที่ในจิตใจ หวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แบ่งปัน คิดเข้าข้างตัวเองเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวอย่างปราศจากเหตุผลและวุฒิภาวะ เพราะกลัว จะต้องสูญเสียความสุขสบายที่มีไป

5.มองไม่เห็นว่าแท้จริงโลกนี้มีปัญหา มองไม่เห็นความทุกข์ มองไม่เห็นว่าปลายสุดของความสุขสบายคือความพลัดพรากและสูญเสีย จึงทำให้ไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรมหรือการทำความดี และเมื่อไม่ปฏิบัติธรรม โอกาสที่จะพ้นทุกข์จึงไม่มี ซึ่งนับว่าเสียโอกาสอย่างยิ่งในการได้เกิดเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนา

เพราะพิษของความสบายเหล่านี้ มหาเศรษฐีระดับโลกหลายคน เช่น บิล เกตส์ เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก, วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีอันดับรองลงมา หรือเฉินหลง ดาราดัง ฮอลลีวู้ด จึงเลือกที่จะยกเงินเกือบทั้งหมดของชีวิตให้กับองค์กรการกุศลแทนที่จะมอบ ให้กับลูกๆ ของตัวเอง

และถ้าความสุขสบายแบบเนื้อหนังทางโลกเป็นของดีจริง เจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ละทิ้งอำนาจกษัตริย์ ไม่ทิ้งพระราชวัง 3 ฤดู ทิ้งนางสนมกำนัลกว่าสี่หมื่น และทิ้งพระมเหสีที่งดงามระดับนางงาม ผลัดเปลี่ยนเป็นผ้าห่อศพคลุมตัว กินอาหารตามมีตามได้ บากบั่นแสวงหาความหลุดพ้นอย่างทรมานกว่า 6 ปี จนสามารถบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิก้าวขึ้นสู่ความเป็นบรมครูผู้เป็นมหาศาสดาเอกของโลกได้อย่างยิ่งใหญ่ในที่สุด

มาถึงปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นต้องสลัดต้นทุนความสบายจนหมดสิ้น เพียงแต่ให้ตระหนักไว้ว่า "อุปสรรคและความลำบากคือยาดีที่ทำให้แข็งแกร่ง ส่วนความสบายคือภัยร้ายที่อาจฉกกัดคนด้อยปัญญาอยู่เสมอ" จึงไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาทเพลิดเพลินจนเกินไป เพราะความสุขสบายที่ไม่ประกอบ ด้วยธรรมย่อมจะกลับกลายเป็นความร้าย มาทำลายตัวในที่สุด
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.117 Chrome 66.0.3359.117


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 26 เมษายน 2561 09:58:25 »



แบบอย่างคนดัง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีโอกาสพาซูเปอร์สตาร์อย่างณเดชน์ คูกิมิยะ กราบสักการะสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล และสถานที่ปรินิพพาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย เมื่อไปถึงทั้งคนไทยและคนเทศที่รู้จักหน้าค่าตาของดาราหนุ่มคนนี้ ก็มักเข้ามาขอบันทึกภาพคู่ ภาพหมู่ ภาพเดี่ยว หรือยกกล้องขึ้นถ่ายต่อหน้าต่อตากันอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งที่สังเกตเห็นคือ ณเดชน์ก็มักตอบแทนด้วยความอ่อนน้อมแก่ผู้ที่เข้ามาขอถ่ายภาพหรือสนทนาด้วยเช่นกัน

ด้วยความเป็นดาราสายบุญของณเดชน์ จึงมีความปรารถนาว่า สักครั้งหนึ่งขอให้ได้เดินทางมาสู่ดินแดนของพระพุทธองค์เพื่อกราบไหว้สังเวชนียสถาน ตามมรดกธรรมพินัยกรรมของพระพุทธเจ้าที่ระบุไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเมื่อปีก่อน ณเดชน์ คุณแม่แก้ว คุณแม่พัตร พร้อมทั้งญาติธรรม เคยเดินทางมากราบสถานที่ตรัสรู้และแสดงปฐมเทศนาแล้ว จากนั้นจึงใช้เวลาวางแผนสับหลีกคิวงานแสดงที่แน่นตลอดเวลา จนผ่านพ้นมาอีกหนึ่งปีเต็ม ถึงมีโอกาสเดินทางมาในอีกสองสถานที่ที่เหลือ"

จากการเดินทางมาแดนพุทธภูมิทั้งสองครั้ง และผู้เขียนมีโอกาสได้นำคณะเข้าเฝ้าองค์พระศาสดาผ่านศาสนสถาน ทำให้เห็นอัธยาศัยและความเอาจริงเอาจังในการศึกษาธรรมะของพระเอกคนดังคนนี้ เพราะในเวลาที่บอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ณเดชน์จะตั้งใจฟังอย่างเอาจริงเอาจังระคนซาบซึ้งอยู่ตลอด เมื่อถึงเวลาสวดมนต์ก็ส่งเสียงดังอย่างไม่มีแผ่นเสียงตกร่อง บทนั่งสมาธิก็เต็มที่เต็มเวลา นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกที่ชัดเจนว่าคุ้นเคยกับพระสงฆ์และวัดเป็นอย่างดี

เมื่อได้เห็นแม่แก้ว สุดารัตน์ คูกิมิยะ คอยเป็นสะพานบุญใหญ่ให้ใครต่อใครในคณะ แนะนำการสวดมนต์ ชักชวนกันร่วมบุญต่างๆ อย่างสุดกำลัง จึงทำให้ทราบขึ้นมาทันทีว่า เพราะอะไร ณเดชน์จึงกลายเป็นซุป"ตาร์ คนดังอย่างไม่มีตก"

คำตอบคือ "เพราะมีแม่ผู้ชี้ธรรมนำทางสร้างบุญดีนั่นเอง!!" เพราะแม่สอนให้กตัญญู ซึ่งความกตัญญูต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณ ด้วยใจรักห่วงใยอย่างแท้จริง ดูแลจนท่านมีความสุขกายสบายใจ คอยแบ่งเบาภาระไม่นำเรื่องเดือดร้อนมาให้ เป็นบุญที่ส่งผลให้เป็นที่รักของผู้คนได้ง่าย อยู่กับใครเขาก็เอ็นดู และมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนอยู่เสมอ

เพราะแม่สอนให้สร้างความดี ด้วย "ทาน" คือ การให้ด้วยศรัทธา หรือ การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตา ซึ่งจะส่งผลให้กายใจมีความผ่องใส ใครเห็นก็สัมผัสถึงความเย็นด้วยเมตตาได้เสมอ และที่สำคัญ "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

สอนให้รักษา "ศีล" คือ การไม่เบียดเบียนใคร ด้วยการฆ่า การขโมย การผิดประเวณี การโกหก และการทำร้ายสติของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้จิตใจปลอดโปร่ง เบาสบายไม่เก็บกด ไม่สะสมความทุกข์ ไปสู่สถานที่ใดผู้คนย่อมกล่าวขวัญถึงในทางดีงาม ให้ความเคารพเลื่อมใส และนิยมชมชอบ เพราะร้อยทั้งร้อยใครก็ชอบคนดี

สอนให้ "สวดมนต์" เพราะณเดชน์จะสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธคุณ หรือ อิติปิโส... เกินอายุ 1 จบ ทุกวัน พร้อมพ่วง "พาหุง มหากา" และกลับจากอินเดียคราวนี้ ดูท่าว่าจะได้ [/b]"พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"[/b] ไปเพิ่มอีก 1 บทต่อวันด้วย ซึ่งการสวดมนต์ ส่งผลให้พูดจาฉะฉาน มีสติในการพูดจา มีน้ำเสียงไพเราะ และมีพลังดึงดูดอย่างน่าสนใจ

สอนให้ "นั่งสมาธิ" เพื่อฝึกจิตใจ ทำให้คลื่นสมองสงบ สมองส่วนจิตสำนึกทำงานดีขึ้น รู้กาลเทศะ อ่อนน้อมถ่อมตน หน้าตาผ่องใส คิดได้ ลึกซึ้ง และดูฉลาดน่าชื่นชม

และสอนให้ [/b]"ใช้ชื่อเสียงนำทางสร้างบุญ"[/b] เผยแผ่เกียรติคุณของพระรัตนตรัย สรรเสริญผู้ทรงคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสื่อนำให้คนเข้าถึงธรรมะ ชักชวนสร้างสาธารณประโยชน์ที่มีผลกับคนหมู่มากอยู่เนืองๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นบุญกุศลมหาศาล ยังเป็นการสร้างแรงดึงดูดเพิ่มความเด่นดังให้เกิดเป็นกระแสชื่นชมอย่างกว้างขวางได้อย่างไม่ยากเย็น

คุณธรรมเหล่านี้ เผื่อใครจะลองนำไปปฏิบัติดูบ้าง จะได้กลายเป็นที่รักและมีชื่อเสียงเกียรติคุณงดงามกันให้ทันใช้กันในชาติปัจจุบัน



ใช้การงานสร้างบารมี

การสร้างบุญต้นทุนต่ำชนิดหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องใช้เงินมาก และอ้างไม่ได้ว่าไม่มีเวลา คือ การเลือกประกอบสัมมาชีพ ซึ่งเป็นหนทางแห่งอริยมรรค มีองค์ 8 ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ โดยสัมมาชีพของพระพุทธองค์ คือ การประกอบอาชีพสุจริตที่ถูกด้วยกฎหมาย ชอบด้วยสังคม ใช้เลี้ยงชีพได้โดยไม่สร้างโทษให้แก่ใคร และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมจนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน

พระพุทธเจ้ายังทรงเน้นย้ำให้ชาวพุทธของพระองค์ละเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดจนกลายเป็นสะสมโทษสร้างบาปกรรมให้แก่ตน เช่น คดโกง หลอกลวง เอาเปรียบ สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ซึ่งรูปแบบของการโกงในอาชีพการงานนี้ นอกจากจะโกงกินเงิน ยักยอกทรัพย์สิน หรือขโมยลิขสิทธิ์ทางปัญญาแล้ว การโกงเวลา หรืออู้งานก็ถูกจับมัดรวมไว้ ในข้อหานี้ด้วย

คนที่ชอบโกงเวลางาน เช่น งานเข้า 9 โมง แต่ถึงที่ทำงาน 10 โมง หรือ ในเวลางานก็เอาแต่นั่งเล่นเกม ออนเฟซ ฯ เล่นไลน์ พอ 3 โมงกว่าๆ ก็หาข้ออ้างเลิกงานไปเที่ยวต่อ ทั้งที่จริงเวลาเลิกงาน คือ 5 โมงเย็น ทำผิดข้อตกลง ไม่ซื่อสัตย์ในสิ่งที่ได้ตกลงเอาไว้กับบริษัทหรือราชการ ซึ่งถ้าลองสังเกตดูอย่างจริงจัง จะพบว่าคนอู้งาน โกงเวลางาน มักจะไม่ค่อยได้รับความเจริญเท่าไหร่

ในขณะที่ผู้อุทิศเวลาให้กับการทำงาน ยอมลำบากทำงานเกินเวลาด้วยความเต็มใจ เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงด้วยดี มักจะเจริญในตำแหน่งหน้าที่ มั่งมีการเงิน และประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เพราะนี่คือ "ผลบุญ" อันเกิดจากการประกอบสัมมาชีพที่ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มเวลา เต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ซึ่งทุกอาชีพสามารถสร้างบุญแห่งความเจริญในลักษณะนี้ได้ เช่น ถ้าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็สามารถสร้างบุญด้วยการพูดจาให้ไพเราะขึ้นกับผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ พยายามทุ่มเททำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เอาประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นที่ตั้ง ไม่ละเลยความเดือดร้อนของใครๆ

ถ้าเป็นหมอรักษาผู้ป่วย ก็อาจมาเข้างานให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งให้เวลาแก่คนไข้เพิ่มมากอีกสักนิด วินิฉัยโรคให้ละเอียดยิ่งขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อความมีประสิทธิภาพ ให้การรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะคนไข้หลายคนเดินทางมารอคุณหมออยู่หลายชั่วโมง แต่คุณหมอกลับมีเวลาให้เพียง 5 นาที หรือน้อยกว่านั้น

ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ขาย ก็อาจลงทุนใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ลงแรงล้างทำความสะอาดวัตถุดิบให้สะอาดปลอดภัย มีหลักประกันเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ทำทุกอย่างเหมือนกับของที่ตนสามารถบริโภคเองได้ ไม่เพียงสักแต่ว่าขายทำกำไร คุณภาพจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ

ถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็สามารถสร้างบุญให้ตนได้ด้วยการตั้งใจทำงาน เลิกอู้ เลิกนินทา หยุดแทงข้างหลังเพื่อนร่วมงาน และไม่แอบทำอย่างอื่นนอกเวลางาน พยายามทุ่มเทเพื่อพัฒนาองค์กรของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะการเติบโตของบริษัท คือ การพัฒนาศักยภาพการทำงานของเรา

"คนฉลาดมักใช้ความลำบากและอุปสรรคในการงานเพื่อฟูมฟักตัวและหัวใจให้แข็งแกร่ง ในขณะที่คนโง่จะวิ่งหนีปัญหา หลบลี้หนีงาน มุ่งแต่หาความสบายที่จะกลับมาทำลายตน"

และควรตระหนักว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ลงแรงไปเกินกว่าค่าจ้างหรือรายได้ที่ได้รับ นั่นไม่ใช่การขาดทุน และไม่ใช่ความสูญเปล่า เพราะส่วนเกินเหล่านั้นได้กลายสภาพไปอยู่ในรูปแบบของบุญที่จะเกื้อหนุนให้ชีวิตประสบความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานได้อย่างมั่นคงและยาวนาน


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.228 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 มีนาคม 2567 07:55:28