[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 13:31:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โลกุตรธรรมกับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร  (อ่าน 8188 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 มีนาคม 2560 12:40:13 »


ภาพที่ ๑ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

.  โลกุตรธรรมกับพระปรางค์วัดอรุณฯ  .

เมื่อกล่าวถึงพระพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ ย่อมเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งในหมู่ชนชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างประเทศ ในเรื่องของความประณีตวิจิตรบรรจงของกระบวนการออกแบบการก่อสร้างจนถึงการประดับตกแต่งงดงามบริสุทธิ์ เรียกว่างามพร้อมทั้งทางด้านหุ่นโครงสร้างขององค์พระปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเรียกสถาปัตยกรรมและลวดลายเครื่องประดับตกแต่ง ปัจจุบันเรียกงานช่างประณีตศิลป์ แสดงออกถึงภูมิแห่งพุทธิปัญญาของผู้ให้อย่าง คือ ผู้ออกแบบ และควบคุมการสร้างอย่างสูงยิ่ง ที่ได้เนรมิตผลงานอันวิเศษและน่าอัศจรรย์แห่งนี้ขึ้น ก่อนที่จะมีการสร้างพระปรางค์ปัจจุบัน เดิมวัดอรุณฯ เป็นวัดเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่าวัดมะกอก หรือวัดบางมะกอก ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดแจ้ง และวัดอรุณราชวรารามฯ ตามลำดับ เดิมวัดนี้มีพระปรางค์คู่กับวัดอยู่ก่อนแล้ว มีความสูงขององค์พระปรางค์ประมาณ ๘ วา หรือ ๑๖ เมตร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชดำริจะสถาปนาพระพุทธปรางค์ขนาดใหญ่ครอบทับพระปรางค์เดิม แต่คงจะลงมือสร้างอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตามรูปแบบที่กำหนดไว้แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๒ เพราะเท่าที่สังเกตดูรูปทรงขององค์พระปรางค์งามแฉล้มกว่าพระปรางค์อื่นๆ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยกัน เช่น พระปรางค์ประดับหินอ่อน ๔ องค์ ในบริเวณพระระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และพระปรางค์ประดับเครื่องกระเบื้องรอบพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม หรือพระปรางค์ห้ายอดที่วัดชนะสงคราม (วัดตึก) กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ทั้งนี้งานก่อสร้างมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมามีการซ่อมบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อีกครั้งหนึ่ง

นักวิชาการด้านศิลปะส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ผู้ออกแบบหรือผู้กำหนดรูปแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบ ตลอดจนการวางผังกลุ่มพระปรางค์จากวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม มีพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลาง มีพระปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ตรงมุมทั้ง ๔ ด้าน ใกล้กับองค์ปรางค์ประธานโดยมีพื้นไพทีเตี้ยๆ รองรับพระปรางค์ทั้งหมดไว้ ถัดอกมาเป็นพื้นลานกว้างรายล้อมด้วยปราสาทหรือมณฑปทิศ ๔ องค์ มณฑปราย ๔ องค์ มีรูปลักษณะและขนาดเดียวกัน รวม ๘ องค์ แล้วชักระเบียงเชื่อมต่อกันทุกองค์ ภายในมณฑปมีพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดใหญ่ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ประดับซุ้มเรือนแก้ว ภายในมณฑปปรายมณฑปละ ๒ องค์ สี่มุมรวม ๘ องค์ อันหมายถึงวิชชา ๘ ประการ ได้แก่

๑.วิปัสสนาญาณ
๒.มโนมยิทธิญาณ
๓.อิทธิวิธี
๔.ทิพยโสตญาณ
๕.เจโตปริยญาณ
๖.ทิพยจักขุ
๗.ปุพเพนิวาสา นุสสติญาณ
๘.อาสวักขยญาณ

มณฑปทิศ ๔ องค์มีพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดใหญ่ประจำมณฑปละ ๑ องค์ รวม ๔ องค์ หมายถึงพุทธภูมิธรรม ๔ ประการ คือ
๑.อุสฺสาโห
 ๒.อุมตฺโต
๓.อวตฺถานํ
๔.หิตถจริยา



ภาพที่ ๒ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ภาพลายเส้นที่ ๑ แผนผังพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รวมพระทรงเครื่องขนาดใหญ่ทุกมณฑปมี ๑๒ องค์เท่ากับธรรม ๑๒ ประการของผู้ไม่ประมาท ได้แก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ดูภาพที่ ๒ และภาพลายเส้นที่ ๑) ซึ่งเป็นผังของหมู่พระปรางค์ภายในระเบียงที่เชื่อมระหว่างองค์พระมณฑปทั้ง ๘ ช่วง มีพระพุทธรูปขนาดใกล้เคียงกับคนจริงห่มผ้าไตรแบบเรียบธรรมดา นั่งเรียงรายบนพุทธรัตนบัลลังก์เหนือพุทธอาสน์เดียวกันเป็นแถวรายไปตามแนวผนังของพระระเบียงด้านในช่วงละ ๑๖ องค์ มีความหมายถึงญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณอันเกิดจากการพิจารณาจิตของตนเองจนเห็นจิตในจิตในจิต ได้แก่ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน๑๖ จนเกิดญาณทัศนะ ๑๖ หรืออานิสงส์ของความไม่ประมาท๑๖ ประการก็ได้ เรื่องความไม่ประมาทนี้พระพุทธองค์ทรงเน้นมากจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ทรงมีพระบรมพุทโธวาทแก่พระภิกษุที่เฝ้าอยู่ ณ ที่ๆ จะเสด็จดับขันธปรินิพพานเพื่อยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ดังนี้เป็นต้น ส่วนองค์พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลางของผังมีบันไดขึ้นทั้ง ๔ ทิศนั้นหมายถึงผู้เจริญอิทธิบาทสี่อย่างบริบูรณ์ได้แก่ องค์พระพุทธเจ้า ช่องประตูคูหาทั้งสี่ช่องหรือสี่ซุ้ม หมายถึง ทรงเห็นพระอริยสัจ ๔ ประการ ฐานของพระปรางค์ ๓ ชั้น หมายถึงไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา องค์พระปรางค์ซึ่งใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปรางค์ขนาดเล็กสี่องค์ที่อยู่ใกล้ฐานของพระปรางค์ประธานหมายถึง พระอริยสาวก ๔ ประเภท  มณฑปทั้ง ๘ องค์ ที่รายล้อมองค์พระปรางค์ประธาน หมายถึง องค์อริยมรรคมี ๘ องค์ หรือพระอริยเจ้าทั้งสี่คู่หรือแปดบุรุษก็ได้ ระเบียงที่ชักเชื่อมต่อกับมณฑปโดยรอบมองด้านนอกมีผนังกั้น หมายถึง อวิชชา ความไม่รู้ไม่เห็น เมื่อผ่านประตูด้านทิศตะวันออกมี ๒ ช่อง กับทิศตะวันตกอีก ๒ ช่อง รวมเป็น ๔ ช่อง ก็คือ อริยสัจ ๔ เข้าไปภายในก็จะแลเห็นพระพุทธรูปน้อยใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในระเบียงและมณฑป ก็คือเห็นพระพุทธ ได้แก่ ปัญญา ปัญญาคือความรู้ พุทธแปลว่า รู้หรือผู้รู้ คือรู้ธรรมตามความเป็นจริง พระพุทธองค์ทรงตรัสเสมอว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเราเข้าไปในพระระเบียง (ในสมัยที่วัดไชยวัฒนารามยังไม่ถูกภัยสงคราม) ก็จะแลเห็นพระปรางค์ประธานได้ตลอดองค์รวมทั้งแลเห็นพระปรางค์บริวารทั้ง ๔ องค์ อีกทั้งพระพุทธรูปรายในระเบียงพร้อมกันด้วย ก็หมายถึงได้เห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการเห็นพระธรรมและเห็นพระอริยสงฆ์สาวกทั้ง ๔ ประเภทด้วย ได้แก่ พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน คือ พระปรางค์บริวารทั้ง ๔ องค์นั้น  ดูภาพที่ ๒ และ ๓ ต่อมาดูภาพลายเส้นที่ ๑ ซึ่งเป็นผังของวัดไชยวัฒนารามจะเห็นด้านบนมีรูปผังอาคาร คือพระอุโบสถ ซ้าย ขวา ด้านบนของอุโบสถ หมายเลข ๑ และ ๒ ได้แก่ เจดีย์ย่อไม้สิบสอง หมายถึง ธรรมสองอย่างที่พุทธบริษัท และพระสาวกจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ธรรมประเภทที่ต้องทำให้เกิดมีขึ้นในตนได้มากที่สุดที่จะมากได้ ได้แก่ พระธรรมกับธรรมประเภทที่ต้องงดเว้นโดยเด็ดขาด ได้แก่ พระวินัยหรือศีลด้วยการปฏิบัติธุระสองอย่าง ได้แก่ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ต้องมาเป็นเบื้องต้นก่อนอย่างอื่น จึงจะสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ ดุจดังต้องผ่านเจดีย์สององค์ด้านหน้าวัดก่อนจะเข้าไปภายในวัด

ฉะนั้นการจัดวางผังพุทธสถานในวัดไชยวัฒนารามจึงไม่ได้มีความหมายไปในทางคติไตรภูมิอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นคติความหมายแบบปรมัตถธรรม โลกุตรธรรม คือ ธรรมที่มีเนื้อความอันไม่วิปริตผันแปรเปลี่ยนแปลงโดยเด็ดขาด จำแนกได้เป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ส่วนรูปลักษณะขององค์พระปรางค์ประธาน และปรางค์บริวารนั้นเป็นพระอัจฉริยะปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์และนายช่าง รวมถึงพระสงฆ์เถรานุเถระที่ช่วยกินคิดความหมายในหลักธรรมเข้าแฝงไว้ในหมู่ศาสนสถานต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งนายช่างผู้ออกแบบเพียงแต่หยิบยืมรูปลักษณะภายนอกของปรางค์ขอม ซึ่งพงศาวดารกล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองยกทัพไปตีนครวัดแล้วนำรูปแบบมาสร้างวัดไชยวัฒนาราม แต่มิได้หมายความหรือมีความหมายอย่างเขมรที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เพียงแต่เป็นการนำเอารูปลักษณะทางความงามของศิลปกรรมมาใช้ได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น เลยทำให้เข้าใจผิดไปได้ไกล




ภาพที่ ๓ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


จากบน-กลาง-ล่าง
ภาพลายเส้นที่ ๒ แผนผังพระปรางค์วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดราชบุรี
ภาพลายเส้นที่ ๓ ลายเส้นรูปตั้งพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ภาพลายเส้นที่ ๔ แผนผังพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม


ภาพที่ ๔ พระพุทธรูปทรงเครื่องในมณฑปทิศวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพที่ ๕ พระปรางค์วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดราชบุรี
ภาพที่ ๖ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร

ยังมีพระปรางค์อีกแห่งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบหรือให้ความประทับใจในการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ คือพระปรางค์ที่วัดอรัญญิกาวาส ใกล้เขางู จังหวัดราชบุรี เป็นปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน มีลวดลายปูนปั้นประดับส่วนบนและส่วนล่างขององค์ปรางค์ทุกองค์โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีบันไดขึ้นทั้ง ๔ ทิศ จนถึงประตูซุ้มซึ่งตัน ๓ ด้าน และเป็นช่องประตูเข้าในคูหาพระปรางค์ด้านทิศตะวันออก มีปรางค์บริวารขนาดเล็กกว่ารายล้อมอยู่ ๔ มุม แต่ชำรุดสูญหายไป ๓ มุม หรือ ๓ องค์ ยังเหลือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพียงองค์เดียว ตั้งอยู่บนไพทีเดียวกันกับปรางค์ประธาน ดูรูปผังในภาพลายเส้นที่ ๒ ซึ่งจะเป็นผังใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดอรุณมาก และเชื่อว่ารัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ คงได้เคยทอดพระเนตรเห็นพระปรางค์องค์นี้ด้วย เพราะพระมหากษัตริย์ทั้ง ๓ องค์ เคยเสด็จในราชการสงครามและน่าจะผ่านใกล้บริเวณนี้หลายครั้ง อีกทั้งรัชกาลที่ ๑ เคยเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๒ ก็ทรงพระราชสมภพที่บ้านอัมพวา มีนิวาสสถานเดิมอยู่ไม่ไกลจากวัดอรัญญิกาวาสนี้มากนัก ย่อมจะต้องได้พบเห็นวัด และพระปรางค์องค์นี้แน่นอน ซึ่งถ้าเราจะดูพระปรางค์ในภาพที่ ๕ เป็นพระปรางค์วัดอรัญญิกฯ แห่งนี้เปรียบเทียบกับพระปรางค์ของวัดอรุณฯ ในภาพที่ ๖ ก็จะเห็นมุมที่เกือบจะตรงกันทีเดียว จะต่างกันก็แต่เพียงรูปลักษณะและรายละเอียดขององค์พระปรางค์บางประการ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของงานช่างศิลปกรรมที่สร้างขึ้นต่างยุคต่างสมัยและกาลเวลา จึงมีรสนิยมในรูปแบบความงามที่แตกต่างกันบ้าง แต่คติความหมายยังคงรักษาสืบต่อ จึงทำให้มีรูปลักษณ์ต่างกันบ้างแต่ตำแหน่งที่ตั้งและผังตรงกัน เพียงแต่บันไดขึ้นลงตรงกลางฐานไพทีทั้ง ๔ ทิศของปรางค์วัดอรัญญิกฯ นั้นที่พระปรางค์วัดอรุณตั้งเป็นปราสาทมณฑปแทน เลี่ยงบันไดออกสองข้าง มณฑปกลายเป็นบันไดขึ้นไพทีชั้นแรกของวัดอรุณฯ มีทิศละ ๒ บันได รวม ๔ ทิศ เป็น ๘ บันได ทางขึ้นตรงกับความหมายของมรรค ๘ คือหนทางที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อมุ่งสู่พระนิพพานอันเป็นการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเวียนเกิดเวียนตาย บันไดทางขึ้นพระปรางค์วัดอรุณ มีทั้งหมด ๓ ระดับๆ ละ ๘ บันได คือ ๑.บันไดขึ้นฐานไพทีใหญ่ชั้นแรกมีด้านละ ๒ บันได ๔ ด้าน รวม ๘ บันได หมายถึง ทางของพระเสขะ  ๒.บันไดขึ้นพระมณฑปทั้ง ๔ องค์ๆ  ๒ บันได รวม ๘ บันได หมายถึง ทางของพระอเสขะ  ๓.บันไดขึ้นพระปรางค์ประธานมี ๒  ชั้นๆ ละ ๔ บันได รวม ๘ บันได หมายถึง ทางของพระพุทธเจ้า แต่พระปรางค์รายทั้ง ๔ องค์ยังคงอยู่ตำแหน่งเดียวกันกับพระปรางค์วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดราชบุรี ดูภาพลายเส้นที่ ๓ และรูปผังในภาพลายเส้นที่ ๒ และภาพลายเส้นที่ ๔ เปรียบเทียบกับหมายเลข ๑ ได้แก่ ปรางค์ประธานหมายเลข ๒ หมายถึง ปรางค์บริวารหมายเลข ๓ หมายถึงบันไดทางขึ้นพื้นไพทีของพระปรางค์ทั้ง ๒ วัด รวมถึงพระปรางค์ขนาดเล็กทั้ง ๔ องค์ ซึ่งตั้งรายมุมร่วมชั้นไพทีเดียวกันกับพระปรางค์องค์ประธานของวัดไชยวัฒนารามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงความหมายถือคติอย่างเดียวกัน ซึ่งอาจหมายถึงพระอริยสาวก ๔ จำพวก ซึ่งคำว่าสาวกก็หมายถึงบริวารอยู่แล้ว หรืออาจหมายถึงการเห็นการรู้พระอริยสัจ ๔ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเมื่อเราพ้นจากผนังระเบียงด้านนอก อันหมายถึงอวิชชา คือความไม่รู้จริง หรือกิเลส หมายถึงเครื่องกั้น ผ่านประตูทั้ง ๔ ก็จะแลเห็นพระพุทธรูปในระเบียง หมายถึง เกิดปัญญาความรู้ คือ พุทธะ ได้แก่ พระพุทธรูปที่นั่งรายอยู่ภายในระเบียงรอบพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ในภาพที่ ๗ หรือพระพุทธรูปที่นั่งรายอยู่ในระเบียงรอบพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ในภาพที่ ๘ เพราะคำว่าพุทธะนั้นหมายถึง ผู้รู้อยู่แล้ว และรู้รอบรู้แจ้งแทงตลอดด้วย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบรมศาสดาอาจารย์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ตามบาลีที่ว่า สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ไปเป็นบริวารล้อมเขาพระสุเมรุบ้าง เขามัณฑร เขาไกรลาสบ้าง โดยมีพระอินทร์หรือพระอิศวรนั่งเป็นประธานอยู่ข้างบน พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีต ทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ บางพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกถึงขนาดบอกพระอภิธรรมพระสงฆ์ได้ก็มี เช่น สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์นอกจากรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๔ แล้ว รัชกาลที่ ๓ อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกมาก และพระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งพระองค์ย่อมทรงทราบความหมายในพระปรมัตถธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดียิ่ง อีกทั้งพระเถรานุเถระผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกและสัมมาปฏิบัติก็ยังมีมากในขณะนั้น การที่จะสร้างพระพุทธสถานอันเป็นที่เคารพสูงสุดในแผ่นดินให้มีความหมายเป็นไตรภูมิ คือ ๓๑ ภูมิ ซึ่งยังเป็นวัฏฏะน่าสงสารจึงเรียกว่า สังสารวัฏฏะ แปลว่าเวียนเกิด เวียนตาย ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และคงไม่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตคนใดอุตริคิดอย่างนั้นแน่ เมื่อผ่านพระระเบียงเข้าไปภายในหรือด้านในก็จะพบกลุ่มพระปรางค์ที่มีพระปรางค์ใหญ่ และมีพระปรางค์องค์น้อยเป็นบริวารดังที่ได้กล่าวแล้ว พระปรางค์องค์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย่อมต้องหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าแน่นอน จะหมายถึงพระอินทร์ หรือพระอิศวรไม่ได้แน่ ทั้งฐานขององค์พระปรางค์ใหญ่ก็ซ้อนลดหลั่นกันเป็น ๓ ชั้นอันหมายถึง ไตรสิกขา คือ การศึกษา ๓ อย่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ซึ่งผ่านการศึกษาและปฏิบัติในเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา มาอย่างครบถ้วนบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ก็มีแต่พระพุทธองค์เท่านั้น เรียกว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นฐานเป็นแท่น นั่ง นอน ยืน เดิน อยู่บนศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ว่าจะเป็นฐานของพระปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ พระสถูปเจดีย์บรมธาตุ พระแท่นแว่นฟ้าเบญจา ชุกชี พุทธอาสน์ รัตนบัลลังก์ รองรับพระประธาน ก็มักนิยมทำเป็นฐานใหญ่ ๓ ชั้นทั้งนั้น เช่น พระแท่นเบญจาพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และวัดหนังวรวิหาร กรุงเทพฯ ฯลฯ และอีกหลายๆ วัดล้วนหมายถึงไตรสิกขาทั้งสิ้น ที่ท่านผู้รู้สมัยปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๙) อธิบายว่าเป็นเขาพระสุเมรุและเป็นเขาสัตบริภัณฑ์ที่ล้อมเขาพระสุเมรุนั้น ไม่อาจเห็นตามได้เพราะเขาสัตบริภัณฑ์นั้นเป็นที่อยู่ของทวยเทพชั้นรอง หรือต่ำดิ์กว่าพระอิศวร (ทางคติพราหมณ์) และต่ำกว่าพระอินทร์ (ทางคติพุทธ) แต่ระเบียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นรูปของพระบรมศาสดา การได้เห็นพระพุทธรูปก็เปรียบประดุจดังได้เห็นพระพุทธภูมิ แปลตรงตัวว่า ที่อยู่ของพระพุทธ ไม่ใช่ที่อยู่ของเทพบริวารของพระอิศวร หรือบริวารของพระอินทร์ ต่ำกว่านั้นก็เป็นสัตว์หิมพานต์ไปเลย อีกทั้งวัดอรัญญิกาวาสก็ไม่ได้ตั้งไกลลำน้ำที่อาจจะอ้างว่าเป็นมหานทีสีทันดรด้วย แต่ว่าวัดไชยวัฒนารามกับวัดอรุณราชวรารามทั้งสองวัดตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำซึ่งเป็นคุ้งที่โค้งเข้าหาวัดทั้งสองแห่งนี้ ถ้าหากจะให้หมายถึงมหานทีสีทันดรแล้ว ผู้สร้างวัดทั้งสองแห่งควรจะเลือกทำเลที่เป็นคุ้งน้ำโค้งออกเป็นหัวคุ้ง หัวแหลมหรือเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบเสีย แต่ที่ผู้สร้างวัดทั้งสองแห่งเลือกทำเลที่สร้างวัดตรงคุ้งน้ำที่พุ่งเข้าหาวัดนั้น ต้องการให้ผู้คนทั้งในศาสนาและนอกศาสนาที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยในอดีต ซึ่งใช้สัญจรไปมาทางน้ำโดยการใช้เรือแพต่างๆ เมื่อเข้าคุ้งน้ำใกล้วัดจะแลเห็นกลุ่มของพระปรางค์เด่นเป็นสง่ามาแต่ไกลทั้งสองทาง และผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้เคารพนพไหว้นมัสการ และมีจิตใจยึดมั่นอยู่ในองค์พระรัตนตรัย ถ้าหมายถึงมหานทีสีทันดรแล้วจะต้องมีน้ำล้อมรอบทุกด้านอย่างเช่นคูที่ขุดล้อมปราสาทแบบขอมเขมรที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป และเขาสัตบริภัณฑ์แปลว่าเขา ๗ เทือก หรือ ๗ วงรอบเขาพระสุเมรุ ไม่ใช่มณฑป ๘ ยอด ที่รายรอบองค์พระปรางค์ ซึ่งหมายถึงอริยมรรค ๘ หรือพระอริยเจ้า ๘ ประเภท ที่เป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า อีกทั้งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาพระสุเมรุของพระอินทร์ และเขาไกรลาสของพระอิศวรแต่อย่างใด พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ (เขาหัวแร้ง) ที่กรุงราชคฤห์ และพื้นที่ของกรุงราชคฤห์นี้มีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๕ ลูก เลยทำให้บางคนเรียกกรุงราชคฤห์ว่าปัญจคีรีนคร ถ้าจะคิดว่าพระพุทธปรางค์ที่วัดไชยวัฒนารามและพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นภูเขาพระสุเมรุแล้ว น่าจะคิดว่าเป็นเขาคิชฌกูฏดีกว่า เพราะเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์จริงๆ แต่เขาคิชฌกูฏก็มีเขาล้อมอยู่ห่างๆ จำนวน ๕ ลูก ไม่ใช่ ๗ วงรอบ และไม่มีน้ำล้อมรอบ อีกทั้งเขาบริวารทั้ง ๕ ลูกก็มีขนาดสูงใหญ่กว่าเขาคิชฌกูฏอีกด้วย  ฉะนั้น ขอให้ผู้อ่านโปรดเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุที่มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานจะมีพระปรางค์บริวารล้อมหรือไม่ หรือพระบรมธาตุที่มีพระสถูปเจดีย์ใหญ่เป็นประธานจะมีเจดีย์เล็ก พระปรางค์น้อยเป็นบริวารหรือไม่ ล้วนมีความหมายเป็นพระปรมัตถธรรมโลกุตรธรรมทั้งสิ้น

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงความหมายในรูปลักษณ์จากสัดส่วนต่าง ๆ ขององค์พระปรางค์ประธานและหมู่พระปรางค์ราย มณฑปทิศบริวารของปรางค์ประธาน รวมไปถึงพระอุโบสถเดิม และพระวิหารน้อยที่อยู่ทางด้านหน้าขององค์พระปรางค์ด้วย ในภาพที่ ๙ หมายเลข ๑ ปรางค์ประธานหมายถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาโคตม (เจ้าชายสิทธัตถะเดิม) หมายเลข ๓ คือพระปรางค์ราย ๔ องค์ ได้แก่ปรางค์ในภาพที่ ๑๐ หมายถึง พระอริยสาวกที่สำเร็จพระอริยมรรค ทั้ง ๔ ประเภท คือ พระโสดาปฏิมรรค พระสกิทาคามิมรรค พระอนาคามิมรรค และพระอรหัตมรรค หมายเลข ๒ หมายถึง พระอริยสาวก ที่สำเร็จพระอริยผลอีก ๔ ประเภทคือ พระโสดาปฏิผล พระสกิทาคามิผล พระอนาคามิผล และพระอรหัตผล ท่านจึงได้แยกไว้ให้เป็นสองแบบคือ  พระอริยมรรค อยู่ในรูปแบบของพระปรางค์ราย พระอริยผลอยู่ในรูปแบบของมณฑปทิศในหมายเลข ๒ หรือในภาพที่ ๑๑ ซึ่งมีอยู่ ๔ องค์ ประจำทิศทั้ง ๔ อีกทั้งภายในมณฑปทิศทั้ง ๔ นี้ยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อยู่ภายในห้องคูหามณฑปนั้นด้วยดังนี้

มณฑปด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ภาพที่ ๑๒ มณฑปด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ โดยใช้พระพุทธรูปนาคปรกแทน ซึ่งอยู่ในพระพุทธประวัติตอนเสวยวิมุตติสุขหลังการตรัสรู้ ๗ สัปดาห์ ณ สัตตมหาสถาน ดูภาพที่ ๑๓ มณฑปทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนามีพระสงฆ์ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ อยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูป ดูภาพที่ ๑๔ มณฑปด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระพุทธรูปไสยาสน์บนพระแท่น มีพระสงฆ์สาวกถวายความเคารพ อยู่เบื้องหลังพระพุทธไสยาสน์ ดูภาพที่ ๑๕ ในประวัติวัดอรุณฯ กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่รื้อพระระเบียงรอบพระปรางค์ซึ่งมีประตูทางเข้า องค์พระปรางค์ ๙ ประตูออก แล้วทำรั้วเหล็กมีซุ้มทางด้านหน้า ๓ ช่อง ด้านหน้า – หลัง ๒ ช่องรวมเป็น ๕ ช่องเท่ากับรัชกาลที่ ๕ และประดับพระราชลัญจกรประจำทั้ง ๕ รัชกาลไว้ด้วย



ภาพที่ ๗ พระพุทธรูปปูนปั้นราย พระระเบียงวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพที่ ๘ พระพุทธรูปราย พระระเบียงวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร


ภาพที่ ๙ หมู่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร


ภาพที่ ๑๐ พระปรางค์ราย รอบพระปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวราราม

ในเมื่อมณฑปทิศทั้ง ๔ ที่อยู่ตรงกับบันไดทางขึ้นองค์ปรางค์ประธานประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ปางนาคปรกแทนปางตรัสรู้ ปางโปรดปัญจวัคคีย์และปางปรินิพพาน ไว้ทั้ง ๔ ทิศนั้น ย่อมหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล อันเป็นที่ๆ พระพุทธองค์เคยมีพระพุทธดำรัสแก่ภิกษุสงฆ์สาวก และพุทธบริษัททั้งหลายว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว หากใครคิดถึงหรือต้องการรำลึกถึงพระองค์ให้ไปปลงธรรมสังเวชที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนี้ เมื่อเป็นดังนี้มณฑปทิศและพระปรางค์รายสี่มุมบนฐานไพที จะหมายถึงเขาสัตบริภัณฑ์ไปไม่ได้ เพราะคำว่าเขาสัตบริภณฑ์แปลว่าเขาบริวาร ๗ รอบ ที่ล้อมเขาพระสุเมรุ แต่บนฐานไพทีของพระปรางค์วัดอรุณฯ แบ่งเป็นพระปรางค์รายจำนวน ๔ องค์ หมายถึง องค์อริยมรรค ๔ และมณฑป ๔ องค์ หมายถึง องค์แห่งอริยผล ๔ ตรงตัวทีเดียว ท่านจึงได้แยกไว้เป็น ๒ แบบ ถ้าหมายถึง เขาสัตบริภัณฑ์แล้วก็คงจะทำเป็นรูปแบบเดียวกันและจะต้องมีจำนวน ๗ องค์ เท่าจำนวนเขาสัตบริภัณฑ์ และจะเอาสังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาไปเป็นบริวารล้อมเขาพระสุเมรุที่มีพระอินทร์บ้าง พระอิศวรบ้างสถิตเป็นองค์ประธานอยู่บนยอดเขานั้นย่อมไม่มีพุทธบริษัทคนไหนคิดทำอย่างนั้นแน่ ที่วัดไชยวัฒนารามมีมณฑป ๘ องค์ล้อมพระปรางค์ประธาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระปรางค์เรียงเป็นแถวอยู่ทั้งหมด ๘ องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดล้วนหมายถึง องค์แห่งอริยมรรคทั้งสิ้น ผู้ใดจะเข้าสู่ใจกลางของพระพุทธสถานเหล่านี้จะต้องผ่านพระปรางค์ ๘ องค์ทั้งนั้น หมายความว่าจะสำเร็จเป็นพุทธะได้จะต้องผ่านมรรค ๘ ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่เหล่าพุทธบริษัทว่า ทางที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้มีอยู่หนทางเดียวเป็นทางสายเอก คือมรรค ๘ หรือทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เท่านั้น ได้แก่  
๑.สัมมาทิฏฐิ
๒.สัมมาสังกัปปะ
๓.สัมมาวาจา
๔.สัมมากัมมันตะ
๕.สัมมาอาชีวะ
๖.สัมมาวายามะ
๗.สัมมาสติ
๘.สัมมาสมาธิ

เมื่อพบหรือผ่านอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็จะถึงไตรสิกขา คือ การศึกษาและปฏิบัติธรรมชั้นสูงที่สำคัญยิ่ง เปรียบดังฐานที่สำคัญและมั่นคงที่รองรับองค์พระพุทธะหรือธรรมทั้ง ๓ ระดับ ที่หนุนนำให้มนุษย์ปุถุชนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ เทียบกับฐาน ๓ ชั้น ที่รองรับพระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ที่วัดอรุณฯ ดูภาพที่ ๑๖ หมายเลข ๑ ทำเป็นรูปอสูรหรือมารแบกอยู่ เหนือฐานชั้นที่ ๑ หมายถึง ศีล ย่อมขจัดโกธะ หรือโทสะ ความโกรธ ความดุร้าย ความเบียดเบียน จึงทำเป็นรูปอสูรหรือมารแบกฐานพระปรางค์ หมายถึง บุคคลที่ดับความโกรธเสียได้ย่อมเข้าถึงพระธรรม คือพระพุทธศาสนาและเป็นพลังให้เจริญสู่สมาธิต่อไป หมายเลข ๒ เป็นรูปลิงหรือกระบี่แบก หมายถึง สมาธิ ธรรมดาจิตมนุษย์ไม่สงบนิ่งคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าปฏิบัติสมาธิให้ถูกวิธีก็จะทำให้จิตหยุดนิ่งไม่คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ เมื่อจิตหยุดนิ่ง ไม่หลุกหลิกซัดส่าย จิตก็จะเริ่มพิจารณาและเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงของมัน ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า ปัญญา สามารถขจัดอวิชชา คือความไม่รู้หรือความมืดมนเสียได้ดังพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก



ภาพที่ ๑๑ พระมณฑปทิศ สี่ด้านพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๑๒-๑๓ พระพุทธรูปในพระมณฑปทิศ รอบพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๑๔-๑๕ พระพุทธรูปในพระมณฑปทิศ รอบพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม


ภาพที่ ๑๖ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร


ภาพที่ ๑๗ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำซุ้มคูหาทั้งสี่ทิศ ของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๑๘ รูปพระนารายณ์และรูปครุฑยุดนาคประดับชั้นอัสดัง ปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๑๙ ปรางค์ห้ายอด วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) กรุงเทพมหานคร


ภาพที่ ๒๐ นพศูล ยอดปรางค์
ภาพที่ ๒๑ พระมหามงกุฎยอดเหนือนพศูล ยอดปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๒๒ มณฑปทิศ วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 มีนาคม 2560 12:42:59 »



โลกุตรธรรมกับพระปรางค์วัดอรุณฯ (จบ)

จิตที่มีสมาธิมั่นคงย่อมเป็นจิตที่แข็งแรงและมีพลังมาก พร้อมที่จะเป็นที่เกิดแห่งปัญญา ได้แก่ รูปเทพเทวดาแบกเห็นเป็นแถวอยู่ตรงหมายเลข ๓ เหนือฐานของพระปรางค์ชั้นที่ ๒ สรุปฐานของพระปรางค์ประธานทั้ง ๓ ชั้นนั้นก็หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง หมายถึง การศึกษาและปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ที่นั่ง นอน ยืน เดิน อยู่บนศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือองค์พระพุทธะนั้นเองไม่ใช่พระศิวะ และพระอินทร์ แต่เผอิญครูช่างได้ออกแบบรูปพระอินทร์ทรงช้างเอาราวัณไว้ประจำซุ้มคูหาพระปรางค์ประธาน ตรงคูหาเรือนธาตุตำแหน่งที่พระปรางค์สมัยเก่าเคยใช้ประดิษฐานพระบรมธาตุ และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ก็เลยเรียกคูหาพระธาตุหรือเรือนธาตุ นักปราชญ์สมัยปัจจุบันจึงทึกทักว่าเป็นวิมานพระอินทร์กลายเป็นปรางค์ไพชนยนต์ไป แต่ถ้าเข้าใจความหมายที่ท่านครูบูรพาจารย์แฝงไว้ ก็จะทราบได้ว่ารูปพระอินทร์นั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวสหัสสนัยหรือท้าวพันตา ผู้มีดวงพระเนตรตั้ง ๑,๐๐๐ ดวง เปรียบประดุจพระพุทธองค์ที่ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างทั่วทั้งมหาจักรวาลอนันตโลกธาตุ ปรากฏในรูปของท้าวสหัสสนัย ส่วนช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพแปลงมี ๓ เศียรเป็นเทพพาหนะของพระอินทร์ เปรียบดังพระสัพพัญญุตญานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ๒.จุตูปปาตญาณ  ๓.อาสวักขยญาน ที่พาให้พระองค์ได้ตรัสรู้สู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระองค์และเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาด้วย ช่างทำเป็นรูปทรงช้างเอราวัณอยู่ทั้ง ๔ ทิศของซุ้มคูหาพระปรางค์นั้นหมายถึง รู้แจ้งทุกทิศทางทุกสิ่งทุกอย่างจึงเรียกว่าสัพพัญญูแปลว่ารู้ทั่วรู้ตลอดรู้แจ้งในสัจธรรมทั้งปวง เหนือซุ้มคูหาที่มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสถิตอยู่ จึงทำเป็นรูปยอดปรางค์ทุกซุ้ม ๔ ยอด รายล้อมยอดปรางค์ประธานอาจหมายถึงพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในภัทรกัปมี ๕ พระองค์ ๔ ยอดปรางค์เหนือซุ้มคูหาทั้ง ๔ นั้น คือพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้นอกพุทธธันดรนี้มี ๔ พระองค์ ปรางค์ยอดกลางนี้หมายถึง สมเด็จพระมหาโคตมะพุทธเจ้าที่เราเคารพอยู่ในปัจจุบัน ส่วนรูปพระนารายณ์ที่ประทับยืนเหนือครุฑประดับอยู่ตรงชั้นอัสดงค์ปรางค์โดยรอบนั้นมีทั้งหมด ๑๖ รูป

ถ้าจะเปรียบบุคลาธิษฐานก็จะหมายถึงเทวราชหรือจอมเทพก็ยังต้องมาถวายการอารักขา หรือรักษาพระบรมธาตุหรือรักษาพระพุทธศาสนา จะเห็นว่ารูปพระนารายณ์ทั้ง ๑๖ รูป รายรอบยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ นี้ ทุกรูปประนมหัตถ์ถวายนมัสการพระรัตนตรัยอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี คือ วงศ์พระนารายณ์เป็นผู้สถาปนาองค์พระปรางค์ประธาน บริวาร ตลอดจนพระอารามก็ได้ แต่ถ้าจะเปรียบด้านธรรมาธิษฐานก็จะหมายถึง ญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณ เพราะผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระโสดาบันได้จะต้องสำเร็จญาณ ๑๖ ถ้าไม่ผ่านญาณ ๑๖ ก็ไม่สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ดูภาพที่ ๑๘ ปรางค์ ๕ ยอดนี้สร้างอยู่หลายแห่งด้วยกัน เช่น ปรางค์พระมหาธาตุที่จังหวัดเพชรบุรี ปรางค์ห้ายอดขนาดไม่ใหญ่นักที่วัดชนะสงคราม (วัดตึกใกล้คลองถม กรุงเทพมหานคร) ในภาพที่ ๑๙ ตรงชั้นอัสดงค์ปรางค์ทำเป็นรูปอสูรยืนกุมตะบองมุมละ ๓ ตน รวม ๑๒ ตนตรงตำแหน่งเดียวกับรูปนารายณ์เหนือครุฑของปรางค์ประธานที่วัดอรุณฯ ส่วนนพศูลในภาพที่ ๒๐ ไม่ใช่นพศูลยอดปรางค์วัดอรุณฯ แต่มีลักษณะเดียวกันคือ มีรูปลักษณะเป็นมีดหรือดาบมีด้ามเข้าเชื่อมติดกับด้ามหอก ซึ่งอยู่ตรงกลางหันปลายดาบหรือปลายมีดออกด้านนอกทั้ง ๔ ทิศ มี ๒ ชั้นบ้าง หรือ ๓ ชั้นบ้าง แต่ในภาพที่ ๒๐ และยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ มี ๓ ชั้นรวม ๑๒ เล่ม เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นยอดปรางค์ขอมหรือเขมรเรียกนพศูลบ้าง ลำภุขันบ้าง หมายถึงอาวุธของเทพเจ้า แต่ถ้าอยู่บนยอดปรางค์ในศาสนาพุทธย่อมหมายถึง อาวุธที่ใช้ทำลายกิเลส ได้แก่ ธรรม ๑๒ ประการของผู้ไม่มีความประมาทหรือผู้ไม่ประมาทต้องมีธรรม ๑๒ ประการ ส่วนอาวุธที่อยู่ตรงกลางมีรูปคล้ายหอกนั้นหมายถึงรู้แจ้งแทงตลอด คือบุคคลเมื่อยังกิจทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทแล้วย่อมรู้แจ้งแทงตลอดลงได้ ดูภาพที่ ๒๐ แต่ที่ยอดของพระปรางค์ประธานของวัดอรุณยังมีพระมหามงกุฎติดประดับอยู่ ผู้รู้ทั้งหลายอธิบายว่าเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ คือพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แต่อีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงเครื่องหมายของบรมจักรพรรดิก็ได้ เพราะพระพุทธองค์อธิบายให้พระอานนทเถระและพระสาวกที่ตามเสด็จไปยังนครกุสินารา ในคราวที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เมืองกุสินารานี้ในอดีตเคยเป็นมหานครใหญ่ ชื่อพระมหานครกุสาวดีมีพระราชาเป็นบรมจักรพรรพิพระนามว่าพระเจ้ามหาสุทัศน์และพระเจ้ามหาสุทัศน์พระองค์นั้นก็คือพระองค์ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์นอกจากจะทรงเป็นพระบรมศาสดาแล้ว ในอดีตชาติยังเคยทรงเป็นพระบรมจักรพรรดิอีกด้วย เรื่องนี้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตรวมถึงพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีทรงทราบดีทุกพระองค์ การที่ประดับพระมหามงกุฎไว้บนยอดพระปรางค์หรือพระสถูปเจดีย์ นอกจากจะหมายถึงเป็นตราประจำรัชกาลที่ ๔ แล้ว อาจเป็นการถวายพระเกียรติยศแด่พระพุทธองค์ว่าทรงเป็นพระบรมจักรพรรดิด้วยก็ได้ ภาพที่ ๒๑ อีกทั้งยังมีซุ้มทรงมงกุฎอีกหลายแห่งรวมถึงพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิเกือบทุกยุคสมัยปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป

ที่ซุ้มคูหาทั้ง ๔ ทิศของพระปรางค์รายบริวารรอบปรางค์ประธานปั้นเป็นรูปเทวดาทรงม้า ว่าเป็นพระพายทรงม้า พระพาย คือ ลม หมายถึงความว่างหรือสุญตา ม้า คือ ญาณคือเครื่องพาไปให้ถึง ดูภาพที่ ๒๓,๒๔ หมู่พระปรางค์วัดอรุณฯ นี้เดิมว่ามีระเบียงล้อมแบบวัดอรัญญิกาวาส แต่มารื้อออกแล้วสร้างเป็นกำแพงรั้วเหล็กในสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวว่ามี ๙ ประตูเข้าออก คงจะมีประตูกลางระหว่างพระอุโบสถและวิหารน้อยด้านหน้าวัด แล้วมีประตูรายรอบอีก ๘ ประตูทางเข้า ซึ่งหมายถึง มรรค ๘ ของกัลยาปุถุชน แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นประตูรั้วเหล็กและมี ๕ ประตู แต่ด้านหน้าก็มี ๓ ประตู คืออยู่ระหว่างกลางของพระอุโบสถและวิหารเดิมที่อยู่ด้านหน้า หมายถึงมโนทวารและอีกสองประตูซ้าย ขวา ของพระอุโบสถและวิหารเดิมรวมเป็น ๓ ประตู คือ ไตรทวาร ได้แก่ กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร การจะเข้าสู่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้นั้นจะต้องเปิดใจเข้าไปศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจ การศึกษาและปฏิบัติก็คืออุโบสถและวิหารเดิมที่อยู่ตรงทางเข้าด้านหน้านั่นเอง อันหมายถึงพระธรรมวินัย ด้วยการศึกษาและปฏิบัติ คันถธุระและวิปัสสนาธุระในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น การจะเข้าถึงพระพุทธศาสนา ต้องผ่านเส้นทางเป็นลำดับขึ้นไป ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินทางเข้าสู่พระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อพบโลกุตรธรรมที่แท้จริง



ภาพที่ ๒๓ พระปรางค์ราย วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
ภาพที่ ๒๔ พระพายทรงม้า ภายในซุ้มคูหาพระปรางค์ราย วัดอรุณราชวราราม
ภาพที่ ๒๕ ประตูรั้วเหล็กช่องกลาง ๑ ในประตูด้านหน้าทิศตะวันออกขององค์พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม


ภาพลายเส้นที่ ๕ รูปด้านพระปรางค์วัดรุณราชวราราม


ภาพลายเส้นที่ ๖ แผนผัง พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

ความหมายต่างๆ ของกลุ่มปรางค์วัดอรุณฯ จากภาพลายเส้นที่ ๕ และ ๖ มีดังนี้
๑.รูปมารแบก หมายถึง ชั้นศีล
๒.รูปกระบี่แบก หมายถึง ชั้นสมาธิ
๓.รูปเทวดาแบก หมายถึง ชั้นปัญญา
๔.ยอดปรางค์ขนาดเล็ก ๔ องค์ หมายถึง พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์
๕.พระมหามงกุฎ หมายถึง ความเป็นพระบรมจักรพรรดิ
๖นพศูล หมายถึง อาวุธคือความไม่ประมาท ๑๒ ประการ ทำให้ถึง ซึ่งความรู้แจ้งแทงตลอด คือ พระพุทธะ
๗.ปรางค์ยอดเอกหรือยอดประธาน หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระมหาโคตรมะ)
๘.รูปพระนารายณ์เหนือครุฑ หมายถึงผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา จึงทำให้ประนมมือนมัสการ
๙.รูปครุฑ หมายถึง ญาณ ๑๖
๑๐.พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หมายถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แจ้งแจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงเป็นสัพพัญญูด้วยพระญาณทั้ง ๓
๑๑.พระอัปปราชิตบัลลังก์ รัตนบัลลังก์
๑-.พระอริยสาวกที่ได้โสดาปฏิมรรค ถึงอรหัตมรรค
๑๓.บันไดทางขึ้น ได้แก่ มรรค ๘
๑๔.พระพายทรงม้า หมายถึงความว่างในจิตของพระอริยะ
๑๕.พระอริยสาวกที่ได้โสดาปฏิผล ถึงอรหัตผล
๑๖.ทางขึ้น คือ มรรค ๘
๑๗.ธุระสำคัญในพระพุทธศาสนา คือคันถธุระ และวิปัสสนาธุระที่พุทธบริษัท ๔ จะทอดธุระไม่ได้ โดยเฉพาะพระสงฆ์
๑๘.ประตู ๓ ช่อง ได้แก่ ไตรทวาร
๑๙.รั้วหรือกำแพงกั้น หมายถึง อวิชชา หรือกิเลส คือกำแพงแก้ว

เพราะฉะนั้นรูปแบบของปรางค์ที่สร้างเป็นเทวสถานของเขมรเป็นปราสาทอิฐบ้าง ปราสาทหินบ้าง ปราสาทแลงบ้าง เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ซึ่งได้รับรูปแบบความเชื่อมาจากทางอินเดีย ทวารวดี จาม ชวา ฯลฯ ผสมผสานกันเกิดเป็นรูปลักษณะปราสาทเขมรขึ้น เกิดเป็นลักษณะรูปทรงอันมีที่มาจากบัวตระกูลบัวหลวง และบัวสายผสมกลมกลืนกันประกอบกับพระพุทธศาสนาก็ถือดอกบัวเป็นไม้ประจำศาสนา จึงยกให้เป็นดอกไม้ที่มีความหมายและเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา คือ แสงสว่างส่องใจหรือจิตให้เห็นธรรม คือการบรรลุธรรมสูงสุด ช่างศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนา จึงหยิบยืมรูปแบบของปรางค์ปราสาทของขอมมาใช้ได้โดยสะดวก แต่ก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบโดยตรงเลยทีเดียว มีการปรับรูปแบบให้ต่างกันอยู่หลายอย่าง เช่น ปรางค์ ๓ ยอด จังหวัดลพบุรี แม้จะสร้างในคติพระพุทธศาสนา แต่สร้างตามรูปแบบของขอมเพราะขอมเป็นผู้สร้าง แต่ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟจังหวัดลพบุรี ซึ่งน่าจะสร้างในยุคสมัยเดียวกันแต่รูปทรงไม่เหมือนกัน เพราะช่างชาวสยามสร้างในคติพุทธศาสนาเถรวาท หรือปรางค์ที่วัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ก็มีรูปทรงที่ต่างจากปรางค์มหาธาตุที่จังหวัดราชบุรีเช่นเดียวกัน รวมถึงปรางค์ปราสาทนครวัดกับปรางค์ที่วัดไชยวัฒนารามด้วย เพราะผู้สร้างมีคติความเชื่อความศรัทธา ที่ต่างกันตามคติธรรม หลักธรรมของแต่ละศาสนา เป็นเหตุให้นักวิชาการบางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเหตุผลและเรื่องเดียวกัน เพราะนิพพานของพราหมณ์อยู่ในเรื่องไตรภูมิ แต่นิพพานของพระพุทธศาสนาอยู่เหนือไตรภูมิ แต่ถ้าอยากจะจัดเป็นภพภูมิใดสักภูมิหนึ่งก็ควรจัดอยู่ในจัตตุถภูมิ โลกุตรภูมิ ปรมัติถภูมิ คือภูมิแห่งพระนิพพานนั้นเอง การปล่อยให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นองค์พระปรางค์ จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร
                       นิตยสารกรมศิลปากร ฉบับที่ ๕ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 4377 กระทู้ล่าสุด 07 เมษายน 2557 13:54:37
โดย Kimleng
หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร (หลวงพ่อเสือดำ) วัดศรีนวลธรรมวิมล กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 2112 กระทู้ล่าสุด 02 กรกฎาคม 2560 09:50:29
โดย ใบบุญ
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 1701 กระทู้ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2561 19:13:24
โดย Kimleng
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 708 กระทู้ล่าสุด 05 ตุลาคม 2561 13:03:53
โดย ใบบุญ
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 783 กระทู้ล่าสุด 05 ตุลาคม 2561 13:04:52
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.778 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 เมษายน 2567 09:57:54