[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 17:56:51 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: The Revenge of Gaia : เมื่อโลกแก้แค้น  (อ่าน 4156 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 เมษายน 2554 11:15:27 »




The Revenge of Gaia : เมื่อโลกแก้แค้น (1)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ดร.ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3906 (3106)

ภาวะโลกร้อนเป็นข่าวพาดหัวบ่อยครั้งหลังจากนักการเมืองชื่อดังเช่นอดีตรองประธานาธิบดี แอล กอร์ ของสหรัฐอเมริกาเขียนหนังสือและสร้างภาพยนตร์รางวัลตุ๊กตาทองออกมาฉาย ตามด้วยการพิมพ์รายงาน ของคณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel for Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทุกภาคของโลก คณะกรรมการชุดนี้ เพิ่งจัดประชุมครั้งใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การเป็นข่าวพาดหัวอาจสร้างความตื่นตัว ให้กับชาวโลกมากขึ้น แต่การตื่นตัวนั้นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา เพราะปัจจัยหลายอย่า งรวมทั้งระบบการคิดในการมองปัญหาด้วย ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เน้นระบบการคิดใหม่ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์รุ่นลายครามชาวอังกฤษชื่อ James Lovelock ซึ่งตอนนี้อายุ 88 ปีแล้ว เขาเสนอแนะให้เรามองโลกว่า เป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีระบบการทำงานสลับซับซ้อนสูงและตั้งชื่อแนวคิดของเขาว่า "ทฤษฎีกายา" (Gaia Theory) พร้อมกับเสนอการแก้ปัญหาโลกร้อนไว้ในหนังสือขนาด 170 หน้าของเขาชื่อ The Revenge of Gaia: Earth"s Climate in Crisis and the Fate of Humanity ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2549

ผู้เขียนเริ่มบทแรกด้วยการกล่าวถึงความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปลายปี 2548 และจากมหา พายุแคทรีนาที่ถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 แม้ภัยใหญ่หลวงทั้งสองนั้นจะฆ่าคนเป็นเรือนแสน แต่ผู้เขียนบอกว่าเหตุการณ์ในวันข้างหน้าจะคร่าชีวิตคนมากกว่านั้นหลายเท่านัก หากเรายังมีพฤติกรรมในแนวกระทำชำเราโลกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ที่เป็นเช่นนั้น เพราะขณะนี้โลกมีอายุมากขึ้น และอยู่ในสภาพอ่อนแอกว่าแต่ก่อน มันจึงไม่สามารถที่จะรับภาระจากการกระทำของเราได้เท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่ดินทำการเกษตร ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดพิษต่างๆ หรือแม้กระทั่งการกระทำที่เราคิดว่า น่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นเพียงการเสนอให้รักษามะเร็งปอดด้วยการหยุดสูบบุหรี่เท่านั้น เขาเห็นว่าแม้เราจะหยุดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อโลก ณ วันนี้ เช่น หยุดนำที่ดินใหม่มาใช้เพื่อการเกษตร และหยุดปล่อยควันพิษออกไปในอากาศ โลกก็จะต้องใช้เวลากว่าพันปีจึงจะฟื้นคืนกลับสู่สภาพ ก่อนที่มนุษย์จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ร้ายยิ่งกว่านั้นเขาเสนอว่าความเสียหายที่เราได้สร้างขึ้นแล้วนั้น กำลังผลักดันให้โลกเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยนขนานใหญ่ ที่จะยังผลให้การกระทำของเราต่อไปเกิดความเสียหายแบบทวีคูณ และ ณ จุดนั้นการตอบสนองของโลกจะได้แก่การทำลายผู้ที่ก่อความเสียหายไม่ต่างกับการแก้แค้น

ตามมุมมองผู้เขียน "โลก" มีความหมาย กว้างกว่าที่เรามักเข้าใจกันและเขาตั้งชื่อมันว่า "กายา" ตามชื่อเทพเจ้าในเทพนิยายกรีก ในความหมายของเขาซึ่งเขาสาธยายไว้ในบทที่ 2-3 "โลก/กายา" รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนเปลือกโลกซึ่งมีความหนาประมาณ 200 ไมล์โดยวัดจากจุดเชื่อมต่อระหว่างส่วนที่เป็นของแข็งกับส่วนที่เป็นเหลวในใจกลางของลูกโลก ซึ่งอยู่ลึกจากผิวโลกลงไปประมาณ 100 ไมล์ ออกไปจนถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างชั้นบรรยากาศกับห้วงอวกาศ ซึ่งอยู่นอกผิวโลกออกไปประมาณ 100 ไมล์ โลก/กายานี้มีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิต นั่นคือ เป็นระบบที่มีการทำงานของส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งรวมทั้งส่วนที่เป็นกายภาพ ส่วนที่เป็นสารเคมีและส่วนที่มีชีวิต เพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะแก่การคงอยู่ของตัวมันเอง การมองโลกแบบนี้จะแก้ข้อบกพร่อง อันเกิดจากการมองแบบแยกส่วนของนักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ เพราะพวกเขามักศึกษามาเพียงด้านเดียว

โลก/กายามีความสามารถที่จะปรับตัวตามความจำเป็นเช่นเดียวกับสัตว์บางชนิด เช่น อูฐ นั่นคือ ในตอนกลางวัน เมื่ออากาศในทะเลทรายร้อนจัด อูฐจะปรับอุณหภูมิภายในร่างกายของมันให้ขึ้นไปอยู่ที่ 40 องศาเซนติเกรดเพื่อป้องกันมิให้เหงื่อไหล และสูญเสียน้ำซึ่งแสนหายาก พอตกกลางคืนอุณหภูมิภายนอกลดลง อูฐก็จะลดอุณหภูมิภายในร่างกายของมันให้เหลือแค่ 34 องศา มิฉะนั้นมันจะรู้สึกหนาวมากเนื่องจากร่างกายต้องเสียความร้อน การทำงานของโลก/กายามีความสลับซับซ้อนสูงมากจนยากแก่การถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาของเรา ในปัจจุบันนี้สิ่งที่เราคิดว่าเราเข้าใจนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่าๆ กับระดับที่ปลาไหลเข้าใจในการทำงานของทะเลที่มันอาศัยอยู่

ย้อนไปก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับคงที่ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายพันปี แต่ตอนนี้โลกกำลังจะปรับอุณหภูมิให้ขึ้นไปอยู่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างผลกระทบสะสมมาเป็นเวลานาน เช่น การเผาผลาญพลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตร ในครั้งนั้นอุณหภูมิบนผิวโลกสูงกว่าในระดับปัจจุบันราว 8 องศาเซนติเกรดในแถบเขตหนาวและ 5 องศาเซนติเกรดแถบในเขตร้อน โลก/กายาต้องใช้เวลาราว 2 แสนปีก่อนที่มันจะปรับอุณหภูมิให้เย็นลงได้ นั่นหมายความว่าเมื่อโลก/กายาปรับอุณหภูมิขึ้นไปอยู่ในระดับนั้นอีกครั้ง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาจจะตายไปเกือบหมดเพราะน้ำแข็งในแถบขั้วโลกจะละลายทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นถึง 14 เมตรยังผลให้ศูนย์กลางของประชากรขนาดใหญ่ๆ จมลงอยู่ใต้น้ำเกือบทั้งหมด

ในบทที่ 4 ผู้เขียนพูดถึงคำพยากรณ์สำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเริ่มมา 7 ปีแล้ว เขาอ้างถึงคำพยากรณ์ที่มีอยู่ในรายงานครั้งที่ 3 ของ IPCC ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปี ค.ศ.2001 (ปีนี้ IPCC ได้พิมพ์รายงานครั้งที่ 4 ออกมาส่วนหนึ่งแล้ว รายงานครั้งที่ 4 ไม่มีอะไรขัดแย้งกับรายงานครั้งที่ 3) ในหนังสือเรื่อง Global Warming ของ Sir John Houghton ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2004 และในหนังสือชื่อเดียวกันของ Stephen Schneider ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2532 นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อน พยากรณ์ไว้ในรูปของช่วงอุณหภูมิ ระหว่างสูงกับต่ำ หากอุณหภูมิจริงขึ้นไปใกล้กับระดับต่ำของคำพยากรณ์ เราอาจไม่ต้องเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัสนัก หากอุณหภูมิจริงขึ้นไปใกล้ระดับสูง โลกกำลังจะเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยน ชนิดกู่ไม่กลับ ผู้เขียนนำคำทำนายเหล่านั้นมาเสนอพร้อมกับชี้ว่า ในขณะนี้โลกมีอุณหภูมิจริงใกล้กับระดับสูงที่ปราชญ์เหล่านั้น ได้ทำนายไว้แล้ว ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่อไปจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงอย่างแน่นอน แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ การเพิ่มขึ้นของมันจะไม่เป็นแบบทีละน้อยๆ และค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง หากจะเป็นในรูปของแบบทันทีทันใด และไม่ต่อเนื่องกัน และการพุ่งขึ้นแบบนั้น จะเป็นชนวนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สร้างความเสียหายต่อไปแบบทวีคูณ ผู้เขียนนำการศึกษามาเสนอ 3 อย่างด้วยกันคือ

1) เมื่ออุณหภูมิของผิวโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.7 องศาเซนติเกรด การละลายของธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ จะเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือ มันจะละลายต่อไปอย่างต่อเนื่องจนหมดแม้อุณหภูมิจะลดลงมาต่ำกว่านั้นก็ตาม เมื่อธารน้ำแข็งหมดไป โลกจะขาดกลไกในด้านการทำความเย็นตัวสำคัญยังผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

2) เมื่ออุณหภูมิของผิวโลกเพิ่มขึ้นไปถึง 4 องศาเซนติเกรด ป่าดงดิบในเขตร้อนจะสูญหายไป ทำให้พื้นที่กลายเป็นทะเลทราย หรือไม่ก็มีเพียงต้นไม้จำพวกพุ่มเตี้ยๆ ขึ้นอยู่ นั่นหมายความว่าโลกจะสูญกลไกในการทำความเย็นสำคัญยิ่งอีกตัวหนึ่ง ยังผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่อไปในอัตราเร่ง

3) ในระหว่างที่อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นไปนั้น น้ำทะเลก็จะร้อนขึ้นด้วย น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจะทำให้สาหร่ายในทะเลตาย สาหร่ายทำหน้าที่สำคัญในด้านทำให้โลกเย็นคือ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสาหร่ายไม่สามารถดูดซับได้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 500 ส่วนในล้านส่วนของอากาศ นั่นจะเป็นจุดที่สาหร่ายตายหมด และธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายต่อไปจนหมด

ณ วันนี้อากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใกล้ 500 ส่วนแล้ว

หน้า 50

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007june18p6.htm

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 เมษายน 2554 11:17:06 »




The Revenge of Gaia : เมื่อโลกแก้แค้น (2) - คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ดร.ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3907 (3107)

ในบทที่ 5 ผู้เขียนพูดถึงที่มาของพลังงานโดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่โลกปัจจุบันขาดไม่ได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม มุมมองของเขามักต่างจากแนวคิดกระแสหลักของนักวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่

กลุ่มแรกได้แก่พลังงานจากฟอสซิลอันเกิดจากซากสัตว์และพืชซึ่งตายทับถมกันไว้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์อันประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนมองว่าเนื่องจากฟอสซิลเกิดจากสิ่งมีชีวิต ฉะนั้นมันจึงเกิดขึ้นใหม่ได้เช่นเดียวกับที่มาของพลังงานชนิดอื่น เช่น ต้นไม้ และการเผาฟอสซิลเพื่อเอาพลังงานไม่ต่างจากการเผาท่อนไม้ ความจริงข้อนี้คนส่วนใหญ่มองข้าม ทำให้พากันคิดกันว่าฟอสซิลจะหมดไปโดยไม่มีการเกิดขึ้นใหม่มาแทน นั่นอาจเป็นความจริงหากเรามองในกรอบเวลาเพียงสั้นๆ แต่อายุของโลกต้องนับกันเป็นพันล้านปี

เราผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาน้ำมันและถ่านหิน ในกระบวนการเผานี้เราเก็บพลังงานได้เพียงราว 40% ส่วนอีก 60% สูญเสียไปในในรูปต่างๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำ เท่าที่ผ่านมาเราไม่สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่านี้ เพราะเทคโนโลยีมีข้อจำกัด ในขณะนี้เทคโนโลยีใหม่เริ่มเกิดขึ้นซึ่งจะเอื้อให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น พร้อมกับฟอกควันให้สะอาด ก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงปีละ 27,000 ล้านตัน หากเราทำให้มันเย็นลงถึงลบ 80 องศาเซนติเกรด มันจะแข็งเป็นภูเขาสูงขนาด 1 ไมล์ และมีเส้นรอบฐานยาว 12 ไมล์ เราจะไปเก็บมันไว้ที่ไหนยังเป็นปริศนา ฉะนั้นผู้เขียนจึงมองว่ายังอีกนานกว่าเทคโนโลยีใหม่จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง

ส่วนก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและในบ้านเพื่อการหุงต้มและทำความร้อนก็มีปัญหามากเช่นกัน จริงอยู่การเผาผลาญก๊าซธรรมชาติจะสะอาดกว่าการเผาถ่านหิน แต่ก๊าซธรรมชาติมักรั่วไหลได้ง่ายซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้ ก๊าซที่รั่วออกไปเป็นมีเทน ซึ่งมีผลร้ายในการสร้างก๊าซเรือนกระสูงถึง 12 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้นการมองเพียงด้านเดียวจึงไม่พอ

กลุ่มที่ 2 เป็นก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเราต้องผลิตขึ้นมาจากสิ่งอื่น เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำ จริงอยู่ก๊าซไฮโดรเจนผลิตไม่ยาก แต่ผู้เขียนมองว่าโอกาสที่มันจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอนาคตอันใกล้มีน้อย เพราะข้อจำกัดต่างๆ เช่น ราคาแพงและยากแก่การเก็บ นอกจากนั้นมันยังระเบิดง่ายอีกด้วย

กลุ่มที่ 3 เป็นสิ่งที่ไม่หมดไปหรือผลิตขึ้นมาทดแทนได้เมื่อนำมาใช้ซึ่งประกอบด้วยลม คลื่น น้ำ ชีวมวลและแสงแดด ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าถ้ามนุษย์เราสามารถใช้พลังงานกลุ่มนี้แทนการเผาผลาญฟอสซิลได้แล้ว เราจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปโดยไม่สร้างปัญหาให้แก่โลก เขาเห็นว่านั่นอาจเป็นความจริง ถ้าเรามีประชากรต่ำกว่าในปัจจุบัน ณ วันนี้โลกมีประชากรมากถึงกว่า 6 พันล้านคน และทุกคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น พลังงานจากกลุ่มนี้จึงไม่สามารถที่จะสนับสนุนระดับการบริโภคนั้นได้โดยไม่สร้างปัญหาต่อโลก

ประเทศในทวีปยุโรปตั้งความหวังที่จะใช้พลังงานจากลมไว้สูงมาก แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความหวังนั้นอาจเป็นความฝันลมๆ แล้งด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น (1) การผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมมีต้นทุนสอง 2.5-3 เท่า ของการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และจากพลังนิวเคลียร์ (2) ลมพัดในเพียงบางเวลา มันจึงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 16-25% ของเวลาทั้งมดเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เหลือเราต้องใช้พลังงานที่เก็บไว้หรือใช้จากแหล่งอื่น แต่การเก็บพลังงานในปริมาณมหาศาลยังทำไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นในช่วงเวลาที่มีลมพัดก็จะต้องสร้างกังหันลมจำนวนมาก จึงจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้พอใช้ เช่น อังกฤษจะต้องสร้างกังหันลมถึง 276,000 ตัว หรือ 3 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางไมล์ ซึ่งจะทำให้เนื้อที่ทั้งประเทศเต็มไปด้วยกังหันลม และ (3) กระแสลมที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่าจะเกิดขึ้นนั้น อาจไม่เกิดอีกต่อไปเมื่อผิวโลกร้อนขึ้น ยังผลให้เขตร้อนขยายออกไปจนครอบคลุมเขตอบอุ่นในปัจจุบัน

ในด้านการใช้พลังงานจากคลื่นในมหาสมุทร ผู้เขียนมองว่าการค้นคว้าเพิ่งเริ่มต้นและคงต้องใช้เวลาอีกราว 20-40 ปีกว่าจะนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง ส่วนพลังงานจากกระแสน้ำนั้นมีอันตรายน้อยกว่าจากฟอสซิลจริง แต่กระแสน้ำมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนคนบนผิวโลก ตอนนี้มีการพูดถึงพลังงานจากชีวมวลกันมาก แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการผลิตชีวมวลจำนวนมากแฝงไว้ด้วยอันตรายที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง นั่นคือ มันต้องการที่ดินซึ่งโลกใบนี้ไม่มีให้อีกแล้ว ฉะนั้นพลังงานจากแหล่งนี้จำกัดอยู่ที่การเผาผลพลอยได้จากการเกษตร เช่น ฟางและแกลบ ส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัดทั้งที่มีการพัฒนามาหลายสิบปีแล้ว เช่น ราคายังแพงมาก แสงแดดไม่มีตลอดเวลาและยังไม่สามารถเก็บพลังงานที่ผลิตได้ไว้ใช้ในยามที่ไม่มีแดด

กลุ่มที่ 4 เป็นพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าจะเป็นแหล่งที่ถูกนำมาใช้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ความเห็นของเขาต่างจากของนักวิทยาศาสตร์และคนส่วนใหญ่ซึ่งเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายสูง เขานำข้อมูลมากมายมาเสนอเพื่อแย้งว่าความเชื่อนั้นไม่ได้วางอยู่บนฐานของข้อมูลที่แท้จริง และเพื่อแสดงว่าอันตรายที่อาจเกิดจากการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นั้นต่ำกว่าอันตรายที่เกิดจากการเผาผลาญฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม เขาไม่เสนอให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ตลอดไป เขามองว่าในระหว่างที่เรามองหาแหล่งที่มาของพลังงานใหม่ ที่จะไม่สร้างอันตรายต่อโลก นิวเคลียร์เป็นพลังงานสำหรับใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมที่สุด มิฉะนั้นเราจะต้องเปลี่ยนแนวการดำรงชีวิตกันขนานใหญ่เพื่อจำกัดการใช้พลังงาน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เต็มใจที่จะทำ

ในบทที่ 6 ผู้เขียนพูดถึงสิ่งที่เรากระทำในนามของการปกป้องสิ่งแวดล้อมหลังจากถูก Rachel Carson ปลุกให้ตื่นจากภวังค์ด้วยหนังสือชื่อ Silent Spring ซึ่งคงแปลว่า "เมื่อโลกนี้ไม่มีเสียงนก" เมื่อปี 2505 หนังสือเรื่องนี้ชี้ให้เห็นอันตรายของการใช้สารเคมีเพื่อฆ่าวัชพืชและแมลงที่ทำลายพืชผักผลไม้ในนา ในไร่และในสวน เมื่อนกตายจากการกินแมลงที่มีสารเคมีตกค้างอยู่

อันตรายนั้นนำไปสู่การห้ามใช้สารเคมีต่างๆ รวมทั้งดีดีทีซึ่งมีประโยชน์สูงมากในการกำจัดยุงที่มีชื้อมาลาเรีย ปราศจากดีดีทีประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากโรคนั้นทั้งที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคร้าย

หากเกิดจากการใช้สารเคมีมากเกินไปเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การห้ามใช้สารเคมีซึ่งมีประโยชน์จึงเป็นการมองแบบแยกส่วน แทนที่จะมองภาพรวมทั้งหมด เช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ที่มีสารไนเตรดซึ่งเราเข้ากันใจว่าเป็นอันตราย การใช้ปุ๋ยคอกเพียงเล็กน้อยไม่สร้างปัญหาหนักหนาสาหัส แต่การใช้จำนวนมาก ทำให้ส่วนหนึ่ง ไหลลงสู่สายน้ำยังผลให้น้ำสกปรกจนปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ อยู่ไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลการวิจัยซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร Scientific American เมื่อเดือนกันยายน 2547 ชี้ให้เห็นว่าสารไนเตรดในอาหารและน้ำไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของคน ตรงข้ามมันช่วยในการย่อยอาหารและฆ่าแบคทีเรียในร่างกาย

การกระทำด้วยความตั้งใจดีแต่มองปัญหาแบบแยกส่วนและไม่ศึกษาต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เช่น การกำจัดฝนพิษ เนื่องจากหมอกควันส่วนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดฝนพิษเป็นละอองของกำมะถันจากการพ่นแอโรโซล หมอกควันนี้มีประโยชน์เพราะมันช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปทำให้ผิวโลกเย็นลงหลายองศา การกำจัดหมอกควันจึงทำให้ปัญหาโลกร้อนร้ายแรงยิ่งขึ้น

ในยุคนี้สิ่งที่เรากลัวกันมากที่สุดอย่างหนึ่งได้แก่โรคมะเร็ง เราพยายามจำกัดสารเคมีต่างๆ เพราะคิดว่ามันเป็นต้นตอของโรค แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ก่อเกิดโรคมะเร็งมากที่สุดมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เช่น ก๊าซออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปทุกวันนั้น เป็นตัวก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง เช่นเดียวกับกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในดิน ในอากาศและในบ้านของเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นพืชที่เราคิดว่าเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารของเรานั้น อันที่จริงแล้วไม่ชอบให้เรากินมันเลย มันจึงพยายามผลิตสารพิษขึ้นมาต่อต้านเรา อาหารจึงเป็นต้นตอของโรคมะเร็งด้วย

หน้า 46

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 15 เมษายน 2554 11:23:44 »




The Revenge of Gaia : เมื่อโลกแก้แค้น (จบ) - คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย ดร.ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3908 (3108)

ในบทที่ 7 ผู้เขียนพูดถึงข้อเสนอที่จะป้องกันมิให้โลกร้อนขึ้นไปกว่าในปัจจุบันอีก ข้อเสนอแรกได้แก่ การสร้างแผงกันแดด หรือร่มขนาดมหึมาขึ้นในอวกาศ ของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ร่มซึ่งทำด้วยวัตถุสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 7 ไมล์นี้จะถูกส่งขึ้นไปไว้ในอวกาศ ณ ตำแหน่งที่โลกและดวงอาทิตย์มีแรงดึงดูดเท่ากัน นอกจากนั้นนักวิทยากลุ่มนี้ ยังเสนอทางเลือกอีกหนึ่งทางด้วย นั่นคือ ส่งลูกโป่งขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นไปไว้ในอวกาศ เพื่อให้มันสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป ส่วนนักวิทยาศาสตร์อเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งเสนอให้สร้างเครื่องมือตีผิวน้ำทะเลให้เป็นละอองในพื้นที่ขนาดใหญ่ ละอองน้ำนี้จะช่วยทำให้ผิวโลกเย็นลงเช่นเดียวกับที่สาหร่ายทะเลปล่อยก๊าซดิเมทิลซัลไฟด์ออกมา จริงอยู่ข้อเสนอเหล่านี้มีทางเป็นไปได้ แต่มีนักวิทยาศาสตร์แย้งว่ามันเป็นการแก้ปัญหาเพียงด้านเดียวคือ ป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ ฉะนั้นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนสำคัญอีกด้านหนึ่งจึงจะยังคงมีอยู่ต่อไป นั่นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์เราปล่อยออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันนี้มีข้อเสนอที่จะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์หลายอย่าง แต่ยังไม่มีใครนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเลย ร้ายยิ่งกว่านั้นข้อเสนอต่างๆ มักต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญฟอสซิล ฉะนั้นมันจึงเป็นการสร้างปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเพื่อจะขจัดปัญหาที่มันก่อให้เกิดขึ้น

ผู้เขียนมองว่าในวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจสร้างพลังงานได้อย่างไม่จำกัดจากปฏิกิริยารวมตัวกันของอะตอม (fusion) แต่โลกเราก็ยังมีปัญหาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น นั่นคือ เราจะต้องผลิตอาหารจากการรบกวนโลกต่อไปในรูปของการเกษตร และการประมง ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดค้นหาเทคโนโลยีที่จะสังเคราะห์อาหารจากสารเคมีที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แทนวิธีผลิตอาหารในปัจจุบัน นอกจากนั้นผู้เขียนยังเสนอให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการแยกประเทศออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเมือง ส่วนที่เป็นพื้นที่เพื่อการผลิตอาหาร และส่วนที่ปล่อยไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ

การอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นจะลดความจำเป็นในการใช้พลังงานเพื่อการเดินทาง ส่วนการติดต่อระหว่างประเทศเขาเสนอให้กลับไปใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ซึ่งอาศัยกระแสลมเป็นพลังขับเคลื่อน เนื่องจากตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เราติดต่อกันได้อย่างฉับพลันไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลกแล้ว เช่น โทรศัพท์มือถือ ตามข้อเสนอของเขาสังคมในอนาคตจะเป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสูงแต่ใช้พลังงานต่ำ

ในบทที่ 8 ผู้เขียนพูดถึงเรื่องความเห็นส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ที่รวมเรียกว่าสิ่งแวดล้อมนิยม (environmentalism) เขาเห็นว่าจุดอ่อนของกระบวนการเหล่านั้นได้แก่ฐานของความคิดซึ่งวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า โลกเป็นเสมือนสินทรัพย์ซึ่งมีไว้สำหรับให้มนุษย์แสวงหาประโยชน์ ความเชื่อนี้ทำให้เราพยายามแสวงหาประโยชน์ต่อไป ในนามของการพัฒนา ซึ่งก็คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคเพิ่มขึ้น

ความเชื่อนี้ถูกหล่อหลอมต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นเสมือนสัญชาตญาณของมนุษย์ไปแล้ว คำสอนของศาสนามีส่วนในการหล่อหลอมนี้ ในสมัยที่ศาสดาตั้งศาสนาใหญ่ๆ ขึ้นโลกมีประชากรเพียง 100-200 ล้านคน ท่านจึงไม่ได้คิดถึงปัญหาซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ความเชื่อนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเริ่มปลูกฝังความเชื่อใหม่ๆ ให้แก่เด็ก เรื่องนี้ศาสนาคริสต์นิกายเจซุอิทได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้ ฉะนั้นถ้าเราต้องการจะรักษาโลกใบนี้ไว้ให้อยู่ในสภาพดี เราจะต้องปลูกฝังแนวคิดกันใหม่โดยให้มองว่าโลกเป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตตามคำจำกัดความที่เขาให้ไว้ในตอนต้น นอกจากนั้นเราจะต้องยอมรับว่าโลกใบนี้มีสิ่งต่างๆ ที่เราไม่รู้อีกมากมายและบางอย่างเราอาจไม่มีทางหยั่งรู้ได้อย่างกระจ่างชัดเลย เช่น จิต ชีวิตและการจัดระเบียบในตัวเองของสิ่งต่างๆ

ผู้เขียนเห็นว่าต้นตอพื้นฐานของปัญหาทั้งหมดของเราได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนเกินความสามารถ ที่โลกจะสนับสนุนให้เราอยู่กันได้โดยไม่ทำลายโลก จริงอยู่การคำนวณหาจำนวนประชากรที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การดำเนินชีวิตของเรา แต่เขาเสนอว่าจำนวนประชากรตามอุดมการณ์ไม่น่าจะเกิน 1 พันล้านคน นอกจากนั้นเราอาจต้องอยู่กันแบบเรียบง่ายโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดตามแนวของ มหาตมะ คานธี เนื่องจากเรามีความสามารถในการแสวงหาเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ เขาจึงเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนความเชื่อจากแนวแยกส่วน ไปสู่แนวที่เขาเสนอแนะ เราจะสามารถหาเทคโนโลยีที่เอื้อให้เราอยู่ได้โดยไม่ทำลายโลกได้อย่างแน่นอน

ในบทสุดท้ายผู้เขียนย้อนไปกล่าวถึงที่มาของมุมมองของเขา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาหลังจากนั้น เขาได้ศึกษาหาความรู้จนคิดว่าเขารู้จักโลก/กายาเป็นอย่างดี แต่ขณะนี้เขารู้แล้วว่าเขาคิดผิดถนัด เขาคิดไม่ถึงว่าโลกจะโกรธ และทำโทษเราอย่างรุนแรงถึงขนาดจะไล่เราให้ออกไปให้พ้น เขาเปรียบพฤติกรรมของมนุษยชาติในขณะนี้ว่า ไม่ต่างกับตอนที่กองทัพของนโปเลียนเข้ายึดครองเมืองมอสโก ในตอนปลายปี 2355 โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่ากองทัพของเขา ได้รุกไปไกลเกินแก่การส่งกำลังบำรุง และฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามานั้นเป็นพันธมิตรสำคัญยิ่งของรัสเซีย ทางเดียวที่เขาจะหลีกเหลี่ยงความพ่ายแพ้ได้แก่ การถอยทัพอย่างเป็นระเบียบ เช่นเดียวกับเมื่ออังกฤษถอยทัพกลับออกไปจากฝรั่งเศส ที่เมืองดันเคอร์ก เมื่อปี 2483

ในปัจจุบันนี้เรามีประชากรมากเกินไปในขณะที่ทรัพยากรกำลังร่อยหรอลง เราจะต้องถอยทัพอย่างเป็นระเบียบ และเฉกเช่นการล่าทัพของอังกฤษเมื่อปี 2483 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัครจำนวนมาก ที่พากันลงแรง และเสี่ยงชีวิตนำเรือขนาดเล็กใหญ่ออกไปรับกองทัพ เราต้องการคนจำนวนมาก อาสาที่จะดำเนินชีวิตแบบใหม่โดยไม่เบียดเบียนโลก

ต่อคำถามที่ว่าสังคมมนุษย์จะล่มสลายภายในคริสต์ศตวรรษนี้หรือไม่ดังที่ใครต่อใครคาดกัน ผู้เขียนไม่ตอบโดยตรง แต่หวังว่ามันคงไม่ถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศก้าวหน้าทั้งหลาย จะพากันตระหนักถึงความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วพากันแก้ปัญหา เราอาจจะสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น ร่มขนาดมหึมาที่กางไว้ในห้วงอวกาศ หรือเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้โลกเปลี่ยนอุณหภูมิ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาแบบนี้จะเป็นเพียงการซื้อเวลาชั่วคราวจนกว่าเราจะหาวิธีที่อยู่กับโลกได้อย่างกลมกลืนเท่านั้น เพื่อความไม่ประมาทเขาเสนอให้รัฐบาลต่างๆ เตรียมตัวให้พร้อมไว้สำหรับรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในศตวรรษนี้ นั่นคือ อุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นมากและเหตุการณ์จำพวกที่มีคนตายเป็นเรือนหมื่นเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี 2546 จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น และลมพายุจะรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังจะมีเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้เกิดขึ้นอีกด้วย เช่น การระเบิดของภูเขาไฟขนาดยักษ์ที่จะทำให้ควันบดบังแสงแดดเป็นเวลานาน ในทำนองเดียวกันกับภูเขาไฟตัมปุระในอินโดนีเซียระเบิดเมื่อปี 2357 เขาเสนอว่าเราอาจพิจารณาเขียนคู่มือ สำหรับสร้างอารยธรรมไว้สำหรับให้ผู้ที่จะรอดชีวิต ใช้เป็นแนวทางสร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่ เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ทำประวัติศาสตร์ให้เกิดซ้ำรอย

ข้อคิดเห็น - ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นบรมครูแล้ว ยังเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านเช่นเดียวกับ Jared Diamond ผู้เขียนเรื่อง Guns, Germs, and Steel และเรื่อง Collapse อันโด่งดังและ คอลัมน์นี้ได้นำมาย่อยเสนอแล้วอีกด้วย (พิมพ์ซ้ำในหนังสือเรื่อง "กะลาภิวัตน์") ฉะนั้นการที่เขาเสนอแนะ ให้เรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวเราแบบองค์รวม แทนการมองแบบแยกส่วน และเราจะไม่สามารถเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าเราจะพยายามสักแค่ไหน จึงเป็นคำแนะนำ ที่น่าจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง จริงอยู่ความเห็นบางอย่างของเขาอาจจะดูตกขอบไปบ้าง เช่น การเสนอให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างกว้างขวาง และการเสนอให้ลดประชากรโลกลงเหลือเพียงราว 1 พันล้านคน แต่ผู้อ่านไม่ควรจะใช้ข้ออ้างนี้ เพื่อหยุดพิจารณาข้อเสนอของเขาทั้งหมด โดยเฉพาะข้อเสนอก่อนสุดท้ายที่เขาแนะให้ประเทศต่างๆ เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน แน่ละ กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ๆ ที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้

หน้า 50


แถม ภาพศิลปะ จิตกรรม เกี่ยวับ พระแม่ไกอา

http://fantasy.mrugala.net/Josephine%20Wall/
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.571 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 16 เมษายน 2567 06:28:37