[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 08:00:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  (อ่าน 4347 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 11 เมษายน 2560 13:47:37 »



พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิลดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ครั้งเสด็จนิวัตพระนคร พุทธศักราช ๒๔๘๑

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร

The Royal Cremation of His Majesty King Ananda Mahidol

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ เวลา ๙ นาฬิกา ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานนามว่า “อานันทมหิดล” หมายความว่า “ผู้เป็นที่รักของแผ่นดิน” มีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระอนุชาพระองค์หนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พุทธศักราช ๒๔๗๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษและทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ มีนาคม เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ นับตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี พระราชทานธงประจำกองแก่ยุวชนทหารที่ท้องสนามหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดสำคัญและทรงเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิด ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ฯลฯ



พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
เสด็จฯ สถานีเกษตรหลวงบางเขน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙


แบบแปลนพระเมรุมาศ

วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ยังความเศร้าโศกแสนอาลัยแก่ประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน และรัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลและให้ประชาชนได้ถวายราชสักการะ

รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการปลูกสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร การออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนั้น มีพลเอก เจ้าพระยารามราฆพ เป็นประธานพิจารณาการจัดสร้างพระเมรุมาศ กรมศิลปากรได้ออกแบบเช่นเดียวกับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีขนาดย่อมลงเล็กน้อย แต่มีความพิเศษกว่าประการหนึ่ง คือ เมื่อครั้งพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๖ ได้อัญเชิญพระบรมศพโดยเจ้าพนักงานภูษามาลาจากพลับพลาเปลื้องที่สร้างอยู่เชิงพระเมรุมาศด้านทิศตะวันออกขึ้นบันไดพระเมรุมาศด้านทิศตะวันออก แต่ในครั้งนี้ ได้นำบันได้นาคที่ใช้เมื่อคราวพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มาวางทอดตั้งแต่เชิงบันไดพระเมรุมาศด้านทิศเหนือขึ้นไปจนถึงบนพระเมรุมาศให้มีความสูงกว่าระดับพื้นพระเมรุมาศเล็กน้อยแล้วมีแท่นไม้วางรางเหล็กทอดรับพระบรมโกศจากเกรินเข้าไปถึงฐานพระจิตกาธาน โดยกรมศิลปากรได้ซ่อมแซมลวดลายที่หักชำรุดและลงรักปิดทองประดับกระจกให้มีความวิจิตร การดำเนินงานก่อสร้างพระเมรุมาศเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ โดยเริ่มจากตั้งเสาโครงองค์พระเมรุมาศ ปลูกสร้างพระที่นั่งทรงธรรม ทำเครื่องประดับองค์พระเมรุมาศอันได้แก่ ฐานเขียง เสาโคมฉนวน ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ กาบพรหมศร เครื่องยอด ฉลักลาย กระดาษทองย่น เย็บผ้าบุ ทำฉัตรโปร่ง และเทวดาถือตาลปัตรไฟ ทำม่านทององค์พระเมรุ ฉากบังเพลิง รวมถึงจัดทำพระโกศจันทน์

นอกจากการจัดสร้างพระเมรุมาศแล้ว กรมศิลปากรได้ตรวจสอบสภาพของพระมหาพิชัยราชรถและพระมหาเวชยันตราชรถ ปรากฏว่า สภาพของพระมหาพิชัยราชรถชำรุดทรุดโทรมจำเป็นต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมมากกว่าพระมหาเวชยันตราชรถที่ยังมีความแข็งแรงกว่า เนื่องจากได้รับการซ่อมแซมตกแต่งเมื่อครั้งงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ งานพระราชพิธีในครั้งนี้จึงได้ใช้พระมหาเวชยันตราชรถและให้เรียกว่า “พระมหาพิชัยราชรถ” กรมศิลปากรได้ทดลองลากจูงพระมหาพิชัยราชรถไปตามเส้นทางที่จะแห่เชิญพระบรมศพโดยบรรทุกเหล็กแท่งมีน้ำหนักมากกว่าพระบรมโกศ ๔-๕ เท่า ผลการซ้อมพบว่าสามารถทนทานต่อน้ำหนักบรรทุกได้ พบเพียงล้อรถปริออกจากวงเหล็กรัดล้อบ้าง กรมศิลปากรจึงได้ซ่อมแซมและตกแต่งทาสีปิดทองประดับกระจกให้งดงาม

กรมศิลปากรดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งพระเมรุมาศแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ และเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ นายพรหม พรหมพิจิตร ตำแหน่งสถาปนิก ผู้กำกับการสร้างพระเมรุมาศประกอบพิธีบวงสรวงในพิธียกฉัตรด้วยหัวหมูบายศรี ขนมต้มแดงต้มขาว ครั้นเวลา ๑๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมายกฉัตร ๙ ชั้น ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พันโท หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพานทองใส่เชือกชักยอดฉัตร มีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรขึ้นไปประจำบนนั่งร้านเตรียมตัวชักรอกเพื่อยกฉัตรขึ้นให้ได้จังหวะกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงชักเชือกเบื้องล่าง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจตามโบราณราชประเพณี เพื่อถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศประจำประเทศไทย รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าราชการทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน



ซ้าย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยกยอดเศวตฉัตร ๙ ชั้น ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
ขวา พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร


ผู้โพสท์ขอเสริมความรู้เรื่องเครื่องหมายตราครุฑสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบค่ะ
รูปครุฑที่ใช้ในหนังสือราชการไทย มี ๒ แบบ : แบบ ๑ ใช้ในหนังสือราชการทั่วไป ขาครุฑมีลักษณะแบนขนานกับแถวตัวหนังสือ
ส่วนแบบที่ ๒ ขาครุฑจะตั้งเอียงประมาณ ๔๕ องศา ครุฑชนิดนี้ใช้กับพระมหากษัตริย์ เป็นตราราชการของกรมราชองครักษ์
และหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงใช้บนหน้าปกราชกิจจานุเบกษาหนังสือเดินทาง
สำหรับภาพประกอบด้านบน แจ้งกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นเวลาล่วงมาเนิ่นนานแล้ว ขาครุฑแบนขนานกับแถวหนังสือ
และถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน หนังสือการพระราชพิธี จะใช้คำว่า "หมายกำหนดการ" ไม่ใช้ "กำหนดการ" ค่ะ

งานพระราชกุศลออกพระเมรุ
วันพุธที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มายังพระบรมมหาราชวัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระสัมมาสัมพุทธพรรโณภาศ ซึ่งประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะถวายบังคมพระบรมศพ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์รวม ๓๐ รูป สวดศราทธพรตคาถาแล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา ทรงจุดธูปเทียนที่พระแท่น พระสวดพระอภิธรรมแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพออกถวายพระเพลิง
วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมายังพระบรมมหาราชวัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระสัมพุทธพรรโณภาศ และเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมศพ แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๓๐ รูป สดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานเปลื้องพระลองประกอบพระโกศออก ถวายตาดคลุมพระโกศ นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร. เชิญพระโกศพระบรมศพลงจากพระแท่นแว่นฟ้าทอง ออกพระทวารด้านตะวันตก ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปประดิษฐานเหนือพระยานมาศ ๓ ลำคาน ซึ่งทหารเรือเป็นผู้หามประกอบพระลองทองใหญ่แล้ว กางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่หน้าประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก ขณะนั้นชาวประโคมได้ประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ จนพระลองประกอบเสร็จ

เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศหน้าหลัง สมเด็จพระสังฆราชทรงเสลี่ยงกง อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพตั้งริ้วกระบวนพยุหยาตรา ๔ สาย ตำรวจหลวง มหาดเล็ก นายทหารบก นายทหารเรือ และนายทหารอากาศ เป็นคู่แห่พร้อมด้วยพระอภิรุมชุมสาย มโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะคู่เคียงและเครื่องบรมอิสสริยยศราชูปโภค พร้อมสรรพ เคลื่อนกระบวนออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ กระบวนพระบรมศพยาตราไปตามถนนมหาราช ถนนพระเชตุพน ถนนสนามไชย มายังเกรินพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นประทับ ณ พลับพลายกพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระลองเลื่อนจากพระยานมาศสู่เกรินบันไดนาค ทรงทอดผ้าไตรพระสงฆ์ ๒๐ รูป สดับปกรณ์ แล้วเจ้าพนักงานเลื่อนเกรินขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ เชิญพระลองพระบรมศพเลื่อนเข้าสู่บุษบก ตั้งกระบวนแห่ไปสู่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง กระบวนหน้าทหารบก กระบวนพระบรมราชอิสริยยศจัดเป็น ๔ สาย มีธง ๓ ชาย นำริ้ว มโหระทึก นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ มหาดเล็ก ตำรวจหลวง เป็นคู่แห่ราชรถ สมเด็จพระสังฆราชอ่านพระอภิธรรมนำพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมศพ มีทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศฉุดชัก ข้าราชการผู้ใหญ่เป็นคู่เคียงพร้อมด้วยอภิรุมชุมสาย เครื่องสูง สังข์ แตร กลองชนะ เครื่องบรมราชอิสริยยศราชูปโภคและนาลิวันตามครบตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศประจำประเทศไทย รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายทหารพลเรือน และตำรวจทหารมหาดเล็กแซง ทหารเรือ ทหารอากาศเป็นกระบวนหลัง

ทหารปืนใหญ่ถวายความเคารพโดยยิงปืนนาทีละ ๑ นัด จำนวนสองคราว คราวที่หนึ่งนับแต่เคลื่อนกระบวนจากพระบรมมหาราชวัง จนพระบรมศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ คราวที่สองนับแต่เคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถจนถึงพระบรมศพขึ้นประดิษฐานยังพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ




ทหารเรือหามพระยานมาศ ๓ ลำคาน ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ


ริ้วขบวนแห่พระโกศพระบรมศพบริเวณถนนสนามไชยและถนนราชดำเนินใน

กองทหารกระบวนหน้าแห่เชิญพระบรมศพยาตราไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนิน เลี้ยวเข้าถนนจันทร์ ไปหยุดตั้งแถวในสนามหน้าพระเมรุมาศด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พลับพลายกท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานเชิญพระลองพระบรมศพเลื่อนลงทางเกรินสู่ราชรถปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ฉุดชักราชรถเชิญพระบรมศพเข้าเวียนพระเมรุมาศ โดยกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ตามพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ หรือเวียนซ้าย ครบ ๓ รอบ แล้วเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่บันไดนาคพระเมรุมาศด้านเหนือ เจ้าพนักงานภูษามาลาเลื่อนพระลองสู่เกริน เชิญพระบรมศพขึ้นพระเมรุมาศประดิษฐานบนพระจิตกาธานยอดพระมหาเศวตฉัตรดอกไม้สด ประกอบพระโกศจันทน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมศพ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งทรงธรรมประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ระหว่างที่พระบรมศพประดิษฐานที่พระเมรุมาศ พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมประจำ ๔ ซ่างทั้งกลางวันกลางคืน จนกว่าจะได้เชิญพระบรมอัฐิกลับและมีเครื่องประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ กับปี่พาทย์ประโคมยามตามเวลา

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะถวายบังคมพระบรมศพแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระสังฆราชถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบแล้ว พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๕๐ รูป สวดศราทธพรตคาถา แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระเมรุมาศทรงวางเครื่องราชสักการะขมาพระบรมศพ ทหารเป่าแตรเดี่ยว จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียนถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ และปี่พาทย์ ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศกระทำวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ยิงปืนใหญ่และปืนเล็กพร้อมกันตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม พระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศประจำประเทศไทย รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ขึ้นถวายพระเพลิง จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินกลับ แล้วพระสงฆ์และเจ้าพนักงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ



พระโกศจันทน์ประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ณ พระเมรุมาศ


พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ
วันศุกร์ที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เจ้าพนักงานเลี้ยงพระสงฆ์ที่สวดประจำซ่าง และเจ้าพนักงานภูษามาลาดับพระเพลิงด้วยน้ำพระสุคนธ์แล้วประมวลพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร ถวายทรงคลุมไว้ กางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องพระสุคนธ์และขันสรงกับพระโกศทองลงยา ประดับมณีรัตนสำหรับทรงพระบรมอัฐิ และเครื่องนมัสการทองน้อยไว้พร้อม

เวลา ๘ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จขึ้นสู่พระเมรุมาศ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิและสรงพระบรมอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ เจ้าพนักงานแจงและแปรพระบรมรูปถวายคลุม จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทอดไตรแพรสามหาบ พระสงฆ์ ๙ รูปสดับปกรณ์ เจ้าพนักงานเปิดคลุมพระบรมอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประมวลพระบรมอัฐลงขันพระสุคนธ์และในพระโกศเจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศ พนักงานภูษามาลาถวายอู่งานพระกลดไปประดิษฐานยังบุษบกเหนือพระแทนแว่นฟ้าทองบนพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตาม เจ้าพนักงานประดิษฐานพระบรมอัฐิแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ ทรงประเคนภัตตาหารเครื่องสามหาบแก่พระสงฆ์ ๙ รูป ที่สดับปกรณ์แล้ว ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร เจ้าพนักงานได้ประมวลเชิญลงในพระผอบทองประดิษฐานบนพานทองคลุมตาด พักไว้ในพระเมรุมาศ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วถวายอนุโมทนา ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์อีก ๓๐ รูป สดับปกรณ์เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิลงจากพระที่นั่งทรงธรรมแล้วนำขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานมีทหารเรือหาม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยมีทหารเรือหาม ตั้งกระบวนพระบรมราชอิสสริยยศ ๔ สาย แห่เชิญพระบรมอัฐิจากหน้าพระที่นั่งทรงธรรม มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ กระบวนออกประตูราชวัติพระเมรุมาศด้านเหนือเลี้ยวขวาไปตามถนนจันทร์ เลี้ยวถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรีไปตามถนนจักรีจรัณย์ กระบวนพระบรมราชสรีรางคารแยกไปยังเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องหลัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายอยู่งานพระกลดเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานพักไว้ในพระศรีรัตนเจดีย์ กระบวนพระบรมอัฐิตรงเข้าประตูพิมานไชยศรี เลี้ยวขวาถนนอมรวิถี เลี้ยวไปเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานยังเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระบรมอัฐิไปประดิษฐานยังบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขตะวันตก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระสัมพุทธพรรโณภาศ และเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ




การพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน
วันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาไปประดิษฐานยังพระแท่นเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาเวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย และเครื่องราชสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี และพระบรมอัฐสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระสงฆ์ ๓๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบ พระสงฆ์ ๔ รูปรับอนุโมทนา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์อีก ๑๓ รูปสดับปกรณ์พระบรมอัฐและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี แล้วถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัยและเครื่องสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระสงฆ์ถวายพรพระจบแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสร็จแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบแล้ว พระสงฆ์ ๔ รูปรับอนุโมทนา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมกัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลา แล้วทรงทอดผ้า พระสงฆ์สดับปกรณ์อีก ๒๐๐ รูป

จากนั้นได้ตั้งกระบวนพระบรมราชอิสสริยยศเชิญพระบรมอัฐิโดยเทียบพระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งมีทหารเรือหามไว้ที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ตำรวจหลวง มหาดเล็กปืนคู่แห่ ๔ สาย พร้อมด้วยเครื่องสูงมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะคู่เคียงและเชิญเครื่องตามไว้พร้อม

เวลา ๑๓ นาฬิกา ๓๐ นาที เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลจากบุษบกพระเท่นแว่นฟ้าทอง ออกทางพระทวารมุขตะวันออกไปทางชาลาสู่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยาน เคลื่อนกระบวนไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตาม พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อถึงแล้วเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานยังเกยพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางบันไดตะวันออก เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไปประดิษฐานยังพระวิมานชั้นบน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมอัฐิพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิยังที่แล้ว ทรงเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จกราบถวายบังคม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ


พระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร
วันพุธที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารซึ่งประดิษฐานบนพานทองมีตาดคลุม ออกจากพระศรีรัตนเจดีย์ขึ้นพระราชยาน พนักงานภูษามาลาถวายอยู่งานพระกลด เชิญออกจากประตูพระระเบียงหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นประดิษฐานบนรถยนต์พระที่นั่ง มีทหารม้านำ เคลื่อนกระบวนออกประตูวิเศษไชยศรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งตามรถทรงพระบรมราชสรีรางคาร ออกประตูวิเศษไชยศรี ไปตามถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนบำรุงเมือง เทียบ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารลงจากรถยนต์พระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นสู่พระวิหาร ประดิษฐานพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร พักไว้เหนือชั้นหมู่ทองลายสลัก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระศรีศากยมุนี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมราชสรีรางคาร แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๓๐ รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระผอบลงบรรจุใจหีบศิลา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรึงหมุดผนึกหีบศิลาแล้ว เจ้าพนักงานเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศกระทำวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่ง พระราชทานให้มหาดเล็กหลวงไปบูชาพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ในพระอุโบสถ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การประกอบพระราชพิธีในครั้งนั้นได้พิจารณาโบราณราชประเพณีนับแต่อดีต โดยเฉพาะงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายพระเกียรติยศอันสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรให้สมพระเกียรติและรักษาสืบทอดราชประเพณีอันยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของชาวไทยและชาวโลกสืบไป



พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ที่มา (ภาพ-ข้อมูล) : ภาพเก่า-เล่าอดีต พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิลดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
                         โดย วัลยา เชี่ยวสุขตระกูล นักจดหมายเหตุชำนาญการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 เมษายน 2560 18:59:41 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 14 เมษายน 2560 18:59:19 »



พระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๕๓

ราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมศพ

รถ คือ ยานมีล้อ ขับเคลื่อนด้วยแรงคนและสัตว์ชักลาก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รถศึก (โยธรถ) และรถประดับ (อลังการรถ)

รถศึกของไทยรูปร่างอย่างเกวียนหรือระแทะ เทียมด้วยโคหรือกระบือ ติดอาวุธ เคลื่อนที่เร็ว ใช้ในการบรรทุกเครื่องยุทธภัณฑ์ไปในกองทัพ รูปร่างของรถศึกเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีการสงครามที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของวิทยาการโดยลำดับ

รถประดับ ได้แก่ ราชรถ คือ รถทรงของพระราชา ซึ่งสร้างเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยสร้างขึ้นเป็นราชรถประดับตกแต่งสลักเสลาลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างวิจิตร ใช้เพื่อการประพาสไปมาเป็นปกติ และใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ



พระเวชยันตราชรถ ออกนามว่า พระมหาพิชัยราชรถ
เมื่อทรงพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ออกพระเมรุมาศ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓


รถรถ (บุษบก) น้อย ใช้เป็นรถโยงผ้าสดับปกรณ์ งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ราชรถใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ราชรถสร้างขึ้นเป็นรถวิจิตรขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างอลังการ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ สง่างาม ไม่ได้ใช้เพื่อการไปมาเป็นปกติ แต่ใช้เฉพาะการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ ในการเชิญพระบรมโกศและพระโกศเข้าขบวนแห่ไปสู่พระเมรุเท่านั้น”

ราชรถอันเป็นเกียรติยศของแผ่นดินที่เรียกว่า “พิชัยราชรถ” สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับใช้ในการออกพระเมรุท้องสนามหลวงในการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระปฐมบรมราชชนกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘ จำนวน ๗ รถ

ราชรถทรงบุษบกพิมานขนาดใหญ่ ๒ รถ ใช้เป็นรถทรงพระบรมอัฐิ ๑ รถ และรถพระที่นั่งรอง ๑ รถ ปรากฏนามต่อมาว่า “พระมหาพิชัยราชรถ” และ “พระราชยันตราชรถ” ตามลำดับ



ราชรถน้อยใช้ทรงพระโกศเจ้านาย ระดับพระองค์เจ้า ชั้นลูกหลวง
สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ


ราชรถโถงใช้เป็นรถจันทน์ รถทรงพระอัฐิ
และทรงพระโกศเจ้านาย ศักดิ์เสมอกับราชรถน้อย


รถพระวอวิมาน ใช้ทรงพระโกศเจ้านาย
ระดับพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง มีศักดิ์รองจากราชน้อย

พระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นราชรถอันมีเกียรติยศสูงสุด สำหรับทรงพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี สมเด็จพระมหาอุปราช และสมเด็จพระบรมวงศ์ (พระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี) มีนามหมายถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นขัตติยะหรือนักรบ เหตุนั้นรถทรงของพระเจ้าแผ่นดินจึงตั้งนามอันเป็นมงคลเพื่อชัยชนะ

“พระเวชยันตราชรถ” หมายถึง รถทรงของพระอินทร์ผู้เป็นจอมทัพของเหล่าเทวดา เป็นมงคลนามต่อชัยชนะของพระเจ้าแผ่นดิน มีพระเกียรติยศรองลงมา ใช้สำหรับทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ระดับสมเด็จเจ้าฟ้า และใช้เป็นราชรถสำรองสำหรับทรงพระโกศพระบรมศพ เมื่อพระมหาพิชัยราชรถชำรุดไม่สามารถใช้การได้ ดังเคยใช้ทรงพระบรมโกศสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ออกพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ แต่ออกนามว่าพระมหาพิชัยราชรถตามพระราชอิสริยยศ

ราชรถทรงบุษบกขนาดเล็ก ๓ รถ ไม่ปรากฏนามเรียกแต่เพียงว่า “ราชรถน้อย” ใช้เป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำหน้าพระบรมอัฐิ ๑ รถ (รถพระ) รถสำหรับโปรยข้าวตอก ๑ รถ (รถโปรย) รถสำหรับโยงผ้าสดับปกรณ์ ๑ รถ (รถโยง หรือ รถชัก) ส่วนอีก ๒ รถ ใช้เป็นรถจันทน์ (หรือเรียกว่า รถท่อนจันทน์ หรือ รถเครื่องหอม) สำหรับใส่พระโกศจันทน์และไม้หอม เข้าใจว่าเป็นราชรถโถงไม่มีเครื่องยอด

ต่อมายังมีการสร้างราชรถและรถขนาดเล็กใช้สำหรับทรงพระโกศและหีบศพพระบรมวงศ์และผู้มียศต่างกันตามลำดับเกียรติยศอีกหลายรถ อาทิ ราชรถน้อย รถโถง รถพระวอวิมานหรือรถมณฑป รถจัตุรมุข (พิมาน) รถพระประเทียบ รถประเทียบ รถวอ รถแปลง และรถสามัญ รวมถึงรถขนาดเล็ก ใช้เป็นรถพระสงฆ์ รถโปรย รถโยง รถจันทน์ ตามประเพณีใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพและศพด้วย


 
ซ้าย รถจตุรมุข ใช้ทรงพระโกศเจ้านาย ระดับพระองค์เจ้าชั้นหลานหลวง ขวา รถวอพระประเทียบ ใช้ทรงพระโกศเจ้านาย
ระดับพระองค์เจ้าวังหน้าพระองค์เจ้าชั้นพิเศษ พระองค์เจ้าชั้นหลานหลวง พระองค์เจ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นพิเศษ และหม่อมเจ้า

 
ซ้าย รถวอประเทียบ ใช้รองศพผู้มียศ ชั้นหม่อมเจ้า ข้าราชการฝ่ายหน้า ชั้นเจ้าพระยา ข้าราชการฝ่ายใน และเจ้าจอมมารดา
ขวา รถรูปร่างอย่างวอ (หลังคาคฤห มีพนัก เว้นช่องพนักสองข้าง) น่าจะได้แก่ "รถวอ" ใช้รองศพผู้มียศ ชั้นหม่อมเจ้า
ข้าราชการฝ่ายหน้าชั้นพระยาเจ้าจอมมารดา พนักงานฝ่ายใน และพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ชั้นพระราชาคณะ


รถพระ ขนาดเล็ก ไม่มีเครื่องยอด สำหรับพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำหน้าพระศพและศพ

รถปืนใหญ่ใช้ในพระราชพิธีออกพระเมรุ

รถอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีพระเกียรติยศใช้สำหรับทรงพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์และผู้มียศ คือ รถปืนใหญ่ จัดเป็นรถนอกทำเนียบราชรถ เดิมเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์สำหรับการรบ ไม่ปรากฏธรรมเนียมการใช้ในพระราชพิธีมาแต่ก่อน

รถปืนใหญ่ คือ รถประดับบนล้อปืนใหญ่เทียมม้า หรือใช้แรงคนฉุดชัก เรียกตามหมายกำหนดการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาว่า “ราชรถปืนใหญ่” บ้าง “รถปืนใหญ่” บ้าง “ล้อปืนใหญ่รางเกวียน” บ้าง “รางเกวียนปืนใหญ่” บ้าง “เกวียนรางปืน” บ้าง “เกวียนรางปืนใหญ่” บ้าง เริ่มใช้ในการพระราชพิธีออกพระเมรุครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศเป็นพิเศษเฉพาะแก่ผู้ได้รับยศทางทหาร มีประวัติการใช้ทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน  พระศพพระบรมวงศานุวงศ์ และศพผู้มียศ ดังนี้

พุทธศักราช ๒๔๕๙ เชิญพระโกศลองใน ประกอบพระโกศทองใหญ่ ทรงพระศพจอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช จอมพลทหารบกเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ขึ้นรถปืนใหญ่เทียมม้าเทศ ๓ คู่ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นโดยเฉพาะ มีนายพันนายร้อยทหารปืนใหญ่ขับขี่ ๓ นาย จากวังตำบลคลองมหานาค ไปยังพระเมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๙

พุทธศักราช ๒๔๖๓ เชิญพระโกศทองใหญ่ประดับพุ่มเฟื่อง ทรงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จอมพลทหารบกราชองครักษ์และเสนาธิการทหารบก โดยเกวียนรางปืน เทียมม้า ๔ ม้า จากวังปารุสกวันไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๓

พุทธศักราช ๒๔๖๖ เชิญพระโกศทองน้อยประดับพุ่มยอดและเฟื่อง ทรงพระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องคมนตรี เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ขึ้นล้อปืนใหญ่รางเกวียนจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง และเวียนพระเมรุเป็นอุตราวัฏครบ ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖



รถปืนใหญ่เทียมม้าเทศ ๓ คู่ เชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
มีพระกลดหักทองขวางกั้น บังสุริยะ พัดโบก อินทร์พรหมเชิญจามร พร้อมคู่เคียงเป็นพระเกียรติยศ


ขบวนแห่พระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ขณะเคลื่อนผ่านถนนพระราชดำเนินนอก มีรถปืนใหญ่เทียมม้าเทศ ๓ คู่


ซ้าย การประดิษฐานพระโกศพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
บนเกวียนรางปืน ขวา กระบวนอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
ประดิษฐานบนเกวียนรางปืนไปสู่พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง


ซ้าย รางเกวียนปืนใหญ่ เทียมม้าเทศ ๓ คู่ ทรงพระโกศทองใหญ่ ประดับพุ่มและเฟื่อง
ทรงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ขวา ขบวนอัญเชิญพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
กรมหลวงนครราชสีมาด้วยรางเกวียนปืนใหญ่เวียนพระเมรุ พลทหารเรือ ๔๐ นาย ชักลาก

พุทธศักราช ๒๔๖๘ เชิญพระโกศทองใหญ่ประดับพุ่มและเฟื่อง ทรงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ขึ้นรางเกวียนปืนใหญ่ เทียมม้า ๖ ม้า จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง จากนั้นปลดม้า เปลี่ยนพลทหารเรือ ๔๐ นาย ฉุดลากรางเกวียนปืนใหญ่ประดิษฐานพระโกศเวียนพระเมรุเป็นอุตราวัฎ ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘

พุทธศักราช ๒๔๖๙ เชิญพระโกศทองน้อยประดับพุ่มและเฟื่อง ทรงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช องคมนตรี และราชองครักษ์พิเศษ ขึ้นเกวียนรางเกวียนปืนใหญ่ เทียมม้า ๖ ม้า จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมงมังคลารามไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง และเวียนพระเมรุถ้วน ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘

พุทธศักราช ๒๔๖๙ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานล้อเกวียนปืนใหญ่ เวียนพระเมรุมาศ เป็นพระราชปัจฉิมยาตรา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

พุทธศักราช ๒๔๗๒ เชิญพระลองพระศพจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อภิรัฐมนตรี รัฐมนตรี องคมนตรี ราชองครักษ์พิเศษ จเรทหารทั่วไป ขึ้นเสลี่ยงแว่นฟ้า ไปประดิษฐานเหนือรถปืนใหญ่ประกอบพระโกศทองใหญ่ ประดับพุ่มยอดดอกไม้ไหว เฟื่อง และดอกไม้เอว จากวังบูรพาภิรมย์ไปที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเวชยันตราชรถ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒

พุทธศักราช ๒๔๙๓ เชิญพระลองทองใหญ่ทรงพระศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สยามินทราธิราช รัชกาลที่ ๘ ประดิษฐานราชรถปืนใหญ่ ทหารปืนใหญ่ฉุดชัก ๔๐ นาย เวียนพระเมรุมาศท้องสนามหลวง โดยอุตราวัฎ ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

พุทธศักราช ๒๔๙๓ เชิญพระลองทองใหญ่ประดับพุ่ม ยอด ดอกไม้ไหว พู่เฟื่อง ทรงพระศพจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขึ้นประดิษฐานเหนือรถปืนใหญ่จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปสู่พระเมรุท้องสนามหลวง แห่เชิญพระศพเข้าเวียนพระเมรุ ๓ รอบ ทหารปืนใหญ่ฉุดชัก ๔๐ นาย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓

พุทธศักราช ๒๔๙๓ เชิญพระลองทองใหญ่ประดับพุ่มยอด ดอกไม้ไหว พู่เฟื่อง ทรงพระศพพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประดิษฐานเหนือรถปืนใหญ่จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปสู่พระเมรุท้องสนามหลวง และเวียนพระเมรุ ทหารปืนใหญ่ฉุดชัก ๔๐ นาย เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓

พุทธศักราช ๒๕๐๗ เชิญโกศจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ขึ้นรถปืนใหญ่ มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศและตำรวจฉุดชัก ๖๐ นาย ตั้งกระบวนแห่จากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปยังเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗

ตามประวัติรถปืนใหญ่ได้ใช้ในการออกพระเมรุ พระศพพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช จอมพลทหารบกเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นปฐม ในพุทธศักราช ๒๔๕๙ และได้ใช้เป็นแบบอย่างต่อมา สำหรับงานพระศพเจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าและข้าราชการ (ชั้นจอมพล) ที่มียศทางทหาร



ล้อเกวียนปืนใหญ่ทรงพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระมหาเศวตฉัตรคันดาลปักนำพระบรมศพเวียนพระเมรุ โดยขบวนพระราชอิสริยยศ
มีเสลี่ยงกงทรงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอ่านพระอภิธรรมนำ พร้อมด้วยพระบรมวงศ์
มีตำรวจหลวงและทหารเชิญธงกระบี่ธุช ธงพระครุฑพ่าห์นำเสด็จพระราชดำเนินตาม
เวียนพระเมรุถ้วน ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

ราชรถปืนใหญ่ ประดิษฐานพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร ทหารปืนใหญ่ฉุดชัก ๔๐ นาย เชิญพระบรมศพเข้าเวียนพระเมรุมาศ โดยกระบวน
พระราชอิสริยยศ กางกั้นด้วยพระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก คู่เคียง อินทรเชิญพุ่มต้นไม้เงิน และพรหมเชิญพุ่มต้นไม้ทอง

ราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดิน

ราชรถปืนใหญ่เคยใช้ทรงพระบรมโกศพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินในการเวียนพระเมรุมาศ ๒ ครั้ง คือ ครั้งงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙  ครั้งหนึ่ง และงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ อีกครั้งหนึ่ง

ธรรมเนียมการเวียนพระเมรุมาศสำหรับพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเดิมเคยใช้พระยานุมาศสามคาน เพื่อการเวียนพระเมรุ การใช้ราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมศพเวียนพระเมรุครั้งงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อสนองพระราชประสงค์ ตามความในพระราชพินัยกรรมข้อหนึ่งซึ่งระบุไว้ว่า “ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้ยานมาศตามประเพณีจากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร

กระบวนแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระยานมาศสามลำคาน อัญเชิญพระบรมโกศจากพระมหาปราสาทไปสู่ที่ตั้งกระบวนพยุหยาตรา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วอัญเชิญพระบรมโกศเข้ากระบวนแห่ไปสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงโดยทรงพระมหาพิชัยราชรถตามโบราณราชประเพณี เมื่อกระบวนถึงพระเมรุมาศ จึงเชิญพระบรมโกศประดิษฐานล้อเกวียนปืนใหญ่เวียนพระเมรุมาศเป็นอุตราวัฏถ้วน ๓ รอบ เป็นพระราชปัจฉิมยาตรา ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เมื่อเกิดธรรมเนียมการใช้ราชรถปืนใหญ่ ใช้ทรงพระบรมโกศครั้งพุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นแบบอย่างแล้ว ในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงเป็นไปตามแบบแผนธรรมเนียมครั้งงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ ทั้งนี้ คงด้วยนับถือพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นจอมทัพไทย ราชรถปืนใหญ่จึงควรแก่เกียรติยศแห่งขัตติยะตระกูล

ธรรมเนียมการใช้รถทรงพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดินในกระบวนพยุหยาตราจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง จึงใช้พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถทรง ใช้พระเวชยันตราชรถเป็นรถพระที่นั่งรองหรือรถสำรอง และใช้ราชรถปืนใหญ่ในการเวียนพระเมรุมาศ เป็นที่สุดของกระบวนแห่พระบรมศพตามแบบอย่างสืบมา


ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : ราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมศพ โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร
              
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 เมษายน 2560 19:06:55 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.757 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 03 เมษายน 2567 23:11:53