[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 08:57:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หมุดคณะราษฎร (People’s Party Plaque)  (อ่าน 1943 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 เมษายน 2560 11:21:19 »




หมุดคณะราษฎร (People’s Party Plaque)

กรณีที่เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน คือเรื่องการเปลี่ยน “หมุดคณะราษฎร” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าออก และแทนที่ด้วยหมุดใหม่

หมุดดังกล่าวเป็นอนุสรณ์ (memorial) หรือสัญลักษณ์ต่อการปฏิวัติในสยาม โดยคณะราษฎร์ ที่ประกอบด้วยข้าราชการ พลเรือน ทหารบก ทหารเรือ ตลอดจนราษฎรบางคน ได้ร่วมมือกันกระทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบการเมืองใหม่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ที่มีพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดและทรงอยู่เหนือกฎหมาย มาสู่การปกครองระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

หมุดคณะราษฎรเป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นในเขตพระราชฐาน บนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

หมุดคณะราษฎร เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดทำขึ้น ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการสร้าง จึงถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ พิธีฝังหมุดมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด

ในช่วงปีหลังนี้หมุดคณะราษฎรเป็นสถานที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบริเวณนั้น

หมุดคณะราษฎรถูกปรับเปลี่ยนและถอดใหม่อยู่หลายครั้ง เช่น มีการนำวัสดุสีดำมาลาดทับ การนำของแข็งมาขีดจนเป็นรอยจำนวนมาก รวมทั้งการปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ นำมาประกอบพิธีสะกด โดยเมื่อต้นปี ๒๕๕๘ สมบัติ บุญงามอนงค์ ได้โพสต์ภาพชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังทำพิธีกับหมุดคณะราษฎร ที่ฝังไว้กับถนนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยเผยว่าเป็นการทำพิธีถอนหมุดออก เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น

มีประเด็นหมุดคณะราษฎร ซึ่งหายไปเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือไม่?

กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ได้บัญญัติให้ "โบราณวัตถุ" หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป์ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี

ซึ่งจากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งเป็นเวลา ๔ ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ดังนั้นหมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น





การก่อตั้งคณะราษฎร ก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕

อยากทราบการก่อตั้งคณะราษฎร หมายถึงก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ตั้งใจจะเก็บไว้ตอบใกล้วาระประวัติศาสตร์วันที่ ๒๔ มิถุนายน แต่ยามนี้ เมื่อเกิดเหตุ “หมุดคณะราษฎร” ถูกทำให้หายไป จึงนำขึ้นมาตอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเรียบเรียงจากข้อมูลที่วิกิพีเดียรวบรวมไว้

คณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) คือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.๒๔๗๕ ยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ

ย้อนไปก่อนหน้า ราชอาณาจักรสยามปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาติได้ประสบกับปัญหาซึ่งเกิดจากรัฐบาลต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงและภัยคุกคามจากต่างชาติ (จักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ประเทศยังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ เมื่อชาวเมืองและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครขยายจำนวนขึ้น พร้อมกับการเรียกร้องสิทธิและวิจารณ์ว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ

คณะราษฎรประกอบด้วย กลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยน แปลงการปกครอง (ชื่อ “คณะราษฎร” นายปรีดี พนมยงค์ เสนอตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๐ ด้วยผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่ ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”-ข้อมูลจากสารคดี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจาก ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นเป็น ๗ คน ได้แก่

๑.ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ รัชกาลที่ ๖ นักเรียนวิชารัฐ ศาสตร์ ฝรั่งเศส
๒.ปรีดี พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส
๓.ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ฝรั่งเศส
๔.ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนโรงเรียนทหารม้า ฝรั่งเศส
๕.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
๖.จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส และ
๗.แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย เนติบัณฑิตอังกฤษ

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ คณะราษฎรนัดประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ ๙ ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมประชุมมี ๗ คนดังกล่าว การประชุมกินเวลาติดต่อกันนานถึง ๔ คืน ๕ วัน โดยมี ร.ท.แปลก ที่สมาชิกคนอื่นๆ เรียกว่า “กัปตัน” เป็นประธาน ที่ประชุมลงมติให้ นายปรีดี เป็นประธานและหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นในกาลต่อไป

ที่ประชุมมีมติตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ “ยึดอำนาจ โดยฉับพลัน” รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจ ที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส

ในการประชุมครั้งนั้น คณะราษฎรได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย ๖ ประการ ซึ่งหลังจากยึดอำนาจได้แล้วต่อมาได้ประกาศเป้าหมาย ๖ ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ และต่อมาได้เรียกเป็น “หลัก ๖ ประการของคณะราษฎร” คือ

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชใน บ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกัน ลดน้อยลงให้มาก

๓.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

และ ๖.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
....ที่มา ข่าวสดออนไลน์



โปรดติดตามตอนต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤษภาคม 2560 13:08:43 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 พฤษภาคม 2560 13:16:27 »



จากบันทึกความทรงจำของ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ช่วงนี้ไว้อย่างละเอียด โดยท่านเป็นผู้ที่ประสานให้นายทหารระดับสูงที่มีแนวคิดเดียวกัน เช่น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้าร่วมกับคณะราษฎร ทั้งนี้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนายังได้รับการทาบทามจาก แนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นหลานอา โดยเป็นบุตรของ พลโทพระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และรับสถานะเป็นหัวหน้าคณะราษฎร

การประชุมในประเทศไทย คณะราษฎรได้ประชุมกัน ๒ ครั้ง ครั้งแรกประชุมกันเพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือ ที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดชที่สะพานควาย และครั้งที่ ๒ ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ที่ถนนเศรษฐศิริ โดยได้ตกลงในหลักการ จะต้องพยายามมิให้เกิดการนองเลือด จะต้องไม่กระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เกินควร และตกลงว่า จะปฏิวัติในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่วังไกลกังวล

เมื่อกลับมายังสยาม คณะราษฎรได้พยายามหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารระดับสูงที่มีแนวความคิดอย่างเดียวกันมานานก่อนหน้านี้ ๔-๕ ปีแล้ว จนได้สมาชิกทั้งสิ้น ๑๑๕ คน แบ่งเป็นสายต่างๆ คือ สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยที่ประชุมคณะราษฎรตกลงกันว่า การปฏิวัติตลอดจนสถาปนาความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิกและของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร ส่วนการร่างคำประกาศ การร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่างๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน

สมาชิกคณะราษฎรที่แบ่งเป็น ๓ สาย คือ มีสมาชิกคนสำคัญในแต่ละสาย ได้แก่ สายทหารบก : พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ทั้งนี้ ๔ คน รวมเรียกเป็น “สี่ทหารเสือ” และหลวงพิบูลสงคราม สายทหารเรือ : หลวงสินธุสงครามชัย, หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ) และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) และสายพลเรือน : หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), ตั้ว ลพานุกรม, แนบ พหลโยธิน, ทวี บุณยเกตุ และประยูร ภมรมนตรี

๑๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้วางแผนการที่บ้าน ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เพื่อดำเนินการควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ในการปฏิบัติการมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนั้น บันทึกอย่างย่อไว้ใน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งเป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙ โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ฝังหมุด

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว คณะราษฎรได้มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมืองและสังคม เป็นระยะเวลาประมาณ ๑๕ ปี กระทั่งหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ.๒๔๙๐ จากการรัฐประหารของคณะนายทหารภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ
....ที่มา ข่าวสดออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
Puppy Party
ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
เงาฝัน 2 2080 กระทู้ล่าสุด 07 มีนาคม 2553 09:14:05
โดย เงาฝัน
[ไลฟ์สไตล์] - ชวนเที่ยวงาน Siam Center x Esther Bunny Summer Party
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 268 กระทู้ล่าสุด 24 มีนาคม 2565 18:28:37
โดย สุขใจ ข่าวสด
เพลงเขมรแดง หาฟังยากมาก (People's Republic of Kampuchea )
หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
มดเอ๊ก 0 215 กระทู้ล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2566 12:59:55
โดย มดเอ๊ก
บรรพบุรุษไทยในจีน 3000 ปี ชนชาติผู้จ้วง (People of Zhuang ethnic group)
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
มดเอ๊ก 0 177 กระทู้ล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2566 20:31:06
โดย มดเอ๊ก
[ข่าวมาแรง] - "Do you hear people sing?" คอนเสิร์ตครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา เสียงของผู้ไม่ยอมจำนนยังคงก
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 24 กระทู้ล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 00:54:04
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.397 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 08 มีนาคม 2567 09:14:30