[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 06:51:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วันวิสาขบูชา - การสร้างรูปเคารพ  (อ่าน 1813 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2325


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 12 กันยายน 2560 15:51:11 »



วันวิสาขบูชา - การสร้างรูปเคารพ

“คำว่าวิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือการบูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งถ้าปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7”

วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ อันเกี่ยวเนื่องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ คือเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน โดยพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจะประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา ด้วยการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม โดยเฉพาะ ‘การเวียนเทียน’ รอบองค์พระธาตุ พระอุโบสถ หรือสิ่งแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ และได้รับการยอมรับให้เป็นวันหยุดสากลทั่วโลกจากสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542

วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี : ทรงประสูติ

พระนางสิริมหามายา พระราชมารดา ทรงพระครรภ์แก่ จึงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน ก็ได้ประสูติพระโอรส ในวันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า สมปรารถนา และเมื่ออสิตดาบสเห็นพระราชกุมาร ได้พยากรณ์ว่า “พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย” แล้วกราบลงแทบพระบาท พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ถึงกับทรุดลงอภิวาทพระราชโอรสตามพระดาบส ด้วยทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมด้วยปีติยิ่งนัก

วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี : ทรงตรัสรู้ ‘อนุตตรสัมโพธิญาณ’

หลังทรงออกผนวชได้ 6 ปี เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระชนมายุได้ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเรียก “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

วันเพ็ญ เดือน 6 พระชนมายุ 80 พรรษา : ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

หลังจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และแสดงธรรมนานถึง 45 ปี จนพระชนมายุได้ 80 พรรษา ขณะนั้นทรงจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี และทรงประชวรหนัก แต่ในวันเพ็ญ เดือน 6 นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์ไปรับบิณฑบาตที่บ้าน ทรงเสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ทรงมีอาการอาพาธแต่อดกลั้น แล้วมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ พร้อมประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” จากนั้นเสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพานในค่ำคืนวันเพ็ญ เดือน 6 นั้นเอง

วิสาขปุรณมีบูชา หรือวันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งจะมีการประกอบพิธีพุทธบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แห่งพระพุทธองค์ที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติ กำหนดให้เป็นวันสำคัญของโลก และถือเป็นวันหยุดอีกวันหนึ่งของสหประชาชาติ โดยเรียกว่า ‘Vesak Day’ ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา

โดยให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

ซึ่งในปี 2560 นี้ “วันวิสาขบูชา” ตรงกับวันพุธที่ 10 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนดไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ ครับผม




วันวิสาขบูชา สันนิษฐานว่าเริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศลังกา เมื่อประมาณปี พ.ศ.420 โดยกษัตริย์แห่งกรุงลังกา พระนามว่า “พระเจ้าภาติกุราช” ได้ประกอบ “พิธีวิสาขบูชา” ขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยได้รับแบบแผนมาจากประเทศลังกา ด้วยมีความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา พร้อมนำ “ศาสนพิธีวิสาขบูชา” เข้ามาปฏิบัติ จากบันทึกใน “หนังสือนางนพมาศ” มีความกล่าวอ้างถึงสรุปได้ว่า

… เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ …

หลังสิ้นสมัยสุโขทัยเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้นทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชาอีกเลย จนล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟู “พิธีวิสาขบูชา” ขึ้นใหม่ ตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการเป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปี พ.ศ.2360 โดย สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ เป็นผู้ถวายพระพร จึงนับเป็นต้นแบบในการถือปฏิบัติมาจวบจนปัจจุบัน

ด้วย วิสาขปุรณมีบูชา หรือวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก จึงได้มีการจัดสร้างรูปเคารพในรูปแบบพระบูชา-พระเครื่อง เพื่อเป็นการรำลึกถึงและสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ดังนี้

ปางประสูติ เป็นพระอิริยาบถขณะประสูติ อาทิ เป็นรูปจำลองพระพุทธองค์ครั้งประสูติ หรือรูปพระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ และพระพุทธองค์ประสูติออกทางด้านข้างของพระวรกาย เป็นต้น

“พระพุทธรูปปางประสูติ” ได้ถือกำเนิดเป็นรูปเคารพขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ได้แพร่เหลายเข้ามายังประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยความเชื่อว่าผู้บูชาจะได้เริ่มต้นชีวิตอันเจริญรุ่งเรือง เพราะปางประสูติถือเป็นอากัปกิริยาเริ่มแรกของพระพุทธองค์

ปางตรัสรู้ เป็นพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย หรือที่เรียกว่า “ปางสมาธิ” พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี อันสื่อถึงการเจริญสมาธิ หมายถึง ปัญญา

ปางปรินิพพาน เป็นพระอิริยาบถประทับนอน หรือที่เรียกกันว่า “พระปางไสยาสน์” พระพุทธรูปประจำวันอังคาร หมายถึง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน การปล่อยวาง และการลดทิฐิ ซึ่งคือวางตนให้เยือกเย็น

อนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า พระปางไสยาสน์หรือพระนอน นั้น มีหลายอากัปกิริยา สำหรับ “ปางปรินิพพาน”จะเป็นพระอิริยาบถบรรทมตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระพาหา (แขน) ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระกรทาบบนพระปรัศว์ (สีข้าง) พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ด้านข้างหรือแนบพระอาสนะรองรับพระเศียร พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา

วันวิสาขบูชา ในวันพุธที่ 10 พฤษภาคมนี้ วัดวาอารามทั่วทั้งประเทศได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมสร้างบุญกุศล ขอเชิญชวนแฟน “พันธุ์แท้พระเครื่อง” ทุกท่านตั้งมั่นกระทำความดี ทำบุญตักบาตร สร้างบุญกุศล พร้อมร่วมกันเวียนเทียนเพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ และอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยทั่วถึงกันครับผม


พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
แสดงธรรม ณ.วัดอ้อน้อย วันวิสาขบูชา 28.05.2553 9.30 น.
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก 0 1938 กระทู้ล่าสุด 18 มีนาคม 2555 15:15:54
โดย มดเอ๊ก
ในเวลาเช้าของวันเพ็ญ เดือน 6 วันวิสาขบูชา
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 1527 กระทู้ล่าสุด 28 พฤษภาคม 2555 23:30:34
โดย 時々๛कभी कभी๛
ประวัติวันวิสาขบูชา, วันวิสาขบูชา 2556
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Nerobian 0 3814 กระทู้ล่าสุด 23 พฤษภาคม 2556 14:13:50
โดย Nerobian
[ไทยรัฐ] - วันวิสาขบูชา 2566 มีกิจกรรมอะไรบ้าง พร้อม 6 ข้อปฏิบัติชาวพุทธ ช่วยเสริมสิริมงคลให้ชี
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 78 กระทู้ล่าสุด 31 พฤษภาคม 2566 09:44:25
โดย สุขใจ ข่าวสด
วันวิสาขบูชา
เกร็ดศาสนา
ใบบุญ 0 198 กระทู้ล่าสุด 02 มิถุนายน 2566 15:31:57
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.319 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 04 เมษายน 2567 23:33:20