Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« เมื่อ: 24 กันยายน 2560 12:30:10 » |
|
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:20:16 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 กันยายน 2560 16:57:58 » |
|
เริ่มศึกษาธรรมะเรานี้โชคดีจริงๆ เกิดมาไม่คิดว่าจะทำได้ อยู่ๆ ก็มาเอง นั่ง ๑๐ นาที ๑๕ นาที มันก็สงบ แล้วก็ไม่มีอาจารย์ ไม่มีครู อ่านจากหนังสือแล้วก็ลองทำดู แต่ก่อนจะได้ทำก็หลายเดือนอยู่นะ อ่านหนังสืออยู่หลายเดือน ระหว่างทำงานได้สักสองเดือน ช่วงกรกฎาคมหรือสิงหาคม พอดีมีฝรั่งที่มาเที่ยวพัทยา คุยกันแล้วเขาเห็นว่าเราชอบทางนี้ ก็เลยเอาหนังสือธรรมะมาให้อ่าน ได้หนังสือธรรมะเล่มแรกเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยได้ศึกษาธรรมะเป็นครั้งแรกในชีวิต เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ๒๐ กว่าหน้า พระฝรั่งแปลมาจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง เปรียบเทียบคำสอนของศาสนาพุทธกับของนักปราชญ์ทางตะวันตก พออ่านแล้วหูตามันสว่างขึ้นมา นอกจากอนิจจังแล้วก็ทรงสอนมรรคด้วย คือวิธีที่จะปฏิบัติกับความไม่เที่ยงต่างๆ ถึงรู้ว่าต้องภาวนา นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้จิตใจรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าจิตใจไม่สงบ เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงจะรับไม่ได้ ถ้าจิตสงบแล้วจะรับได้ จะได้ไม่เดือดร้อน
ต่อมาก็เลยเขียนจดหมายไปขอหนังสือจากประเทศศรีลังกามาเพิ่ม ได้หนังสือเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องธัมจักกัปปวัตตนสูตร เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ที่เรายึดเป็นอาจารย์ มาเป็นคัมภีร์คู่มือปฏิบัติ ในพระสูตรนี้ ท่านสอนพระภิกษุให้นั่งสมาธิก่อน ให้ไปหาที่สงบตามโคนไม้ ตามป่าตามเขา แล้วก็ให้นั่งขัดสมาธิ หลับตา กำหนดจิตดูลมหายใจเข้าออก เมื่อออกจากสมาธิก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน ยืน นั่ง นอน แล้วก็ให้พิจารณาดูกาย พิจารณาดูอาการ ๓๒ ดูซากศพ ดูอสุภะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็ให้พิจารณาดูเวทนา ว่ามีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ให้ปล่อยวางตามความเป็นจริง อ่านหนังสืออยู่เกือบ ๓ เดือน แต่ยังไม่ได้นั่งสักครั้ง อยู่มาวันหนึ่งก็ถามตัวเองว่า ทำไมยังไม่นั่งสักที พอได้สติปั๊บ ก็นั่งเลย นั่งตอนนั้นเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ ถ้าไม่เริ่มปฏิบัติก็จะไม่ได้ปฏิบัติ จะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคอยหลอกล่ออยู่ตลอดเวลา ก็จะผัดวันไปเรื่อย อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ให้เสร็จเรื่องนี้ก่อน นั่งไปตอนต้นก็ฟุ้งซ่าน ก็เลยท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรที่แปลเป็นภาษาอังกฤษไปก่อน นั่งไปก็ท่องพระสูตรนี้ไป ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที
เวลานั่งสมาธิถ้าอยู่กับลมหายใจไม่ได้ ยังฟุ้งซ่านอยู่ ก็ท่องพระสูตรนี้ไปก่อน อาศัยการท่องนี้เป็นการทำสมาธิไปในตัว แทนที่จะพุทโธๆ หรือดูลมหายใจก็ท่องพระสูตรนี้ไป การสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เวลาจะทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ ไม่ต้องนั่งพนมมือ ไม่ต้องไปนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหมือนกับนั่งทำสมาธินี่ นั่งสวดไปเรื่อยๆ ข้อสำคัญให้มีสติอยู่กับการสวดก็แล้วกัน สวดไปให้นานอย่างนี้ จะนั่งได้นาน ถ้าพุทโธๆๆ แล้วจะแวบไปเรื่องอื่น แล้วก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ถ้าสวดมนต์ไปนานๆ จะไม่ค่อยเจ็บ เพราะจิตมีสมาธิอยู่กับการสวด จะไม่สนใจกับเวทนาของกาย
พอสวดจบแล้ว ประมาณสักครึ่งชั่วโมง หรือ ๔๐ นาทีจะรู้สึกเบา เวลาท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ก็เข้าใจความหมายว่าให้ทำอะไร ทรงสอนให้เจริญสติในร่างกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในร่างกายก็มีหลายรูปแบบ เช่น ในอิริยาบถ ๔ ก็ให้มีสติ ตามรู้ร่างกายว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง หรือกำลังนอน หรือจะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายก็ได้ หรือจะตามรู้การกระทำต่างๆ ของร่างกายก็ได้ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้ตามรู้ ให้รู้อยู่กับกิจกรรมของร่างกาย กำลังพูด กำลังหันหน้าไปทางซ้าย หันหน้าไปทางขวา ก็จะมีสติขึ้นมา พอมีสติแล้วก็จะสามารถควบคุมความคิดได้ ให้อยู่กับลมหายใจ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ได้ จะไม่ไปไหน จากนั้นก็ดูลมต่อ จิตก็จะสงบเย็นสบาย ไม่ลงลึก แต่ไม่ฟุ้งซ่าน จะลงลึกก็ตอนที่นั่งไปแล้วเจ็บปวด ตอนนั้นก็นึกขึ้นมาเองว่าต้องบริกรรม ก็เลยบริกรรมอนิจจังๆ ไป บริกรรมไปไม่นาน ความเจ็บก็หายไป จิตก็นิ่งสงบ เกิดความมหัศจรรย์ใจขึ้นมาว่า จิตเปลี่ยนไปได้อย่างนี้ด้วยการบริกรรมนี่เอง เวลาเจ็บจะทรมานใจ อยากจะหนีจากความเจ็บ อยากจะให้ความเจ็บหายไป ตอนนั้นถ้าไม่มีอะไรควบคุมความอยากไว้จะทนนั่งต่อไปไม่ได้ ก็เลยต้องใช้การบริกรรม พอบริกรรมไปเดี๋ยวเดียวก็หายไปเลยความเจ็บ จิตมันนิ่งสงบ สบาย ก็ให้อยู่ในความนิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเอง ถอนออกมาแล้ว ก็ลุกไปทำอย่างอื่นต่อ
เวลาลุกก็ให้มีสติ ก่อนจะลุกก็รู้ว่ากำลังจะลุก แล้วก็เจริญสติต่อไป เจริญสติปัฏฐาน เช่น กายคตาสติในอิริยาบถ ๔ เมื่อถึงเวลาจะกลับมานั่งก็นั่งต่อ มีสติอยู่ตลอดเวลา เวลานั่งก็มีสติ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีสติตลอดเวลา เวลาเดินอยู่ ถ้าอยากจะสวดมนต์ก็ได้ แทนที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็สวดมนต์ต่อ สวดในอิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็สวดไป อย่างอาตมานี้ ได้ธรรมะเพราะได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่มีพวกราชาศัพท์ eat ก็ eat ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือจะเป็นคนขอทานก็ eat เหมือนกัน ฟังแล้วเข้าใจง่ายดี พอมาอ่านราชาศัพท์แล้วงง เพราะอาตมาไม่ได้ศึกษามาก่อน ถ้าเราชำนาญภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษจะเข้าใจง่ายกว่าติดใจในรสแห่งธรรมเรื่องการให้ทาน อาตมาก็ไม่มีสมบัติอะไร ก็ไม่ต้องทำมาก ถ้ามีใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลืออยู่เสมอ เรื่องศีล อาตมาก็ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ชอบโกหก ไม่ชอบลักทรัพย์อยู่แล้ว ขาดที่ภาวนา ก็เลยลองภาวนาดู ก็ทำไปได้เรื่อยๆ ได้ทีละเล็กละน้อย จนรู้สึกว่าพอไปได้
ตอนสมัยเป็นฆราวาส เราไม่เคยใส่บาตรพระเลย ไม่เคยเข้าวัดเลย ตอนนั้นไม่รู้จักวัด รู้จักแต่ธรรมะจากหนังสือ ก็เลยไม่ได้ทำทาน เพราะไม่มีจะทำ มีสำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นเอง ไม่ได้วิตกที่ไม่ได้ทำทาน เพราะเคยทำมาตลอด เห็นใครเดือดร้อน เราก็ยินดีช่วยเหลือ ใครต้องการอะไรพอจะให้กันได้ก็ให้ ไม่เคยหวง เรารู้ว่ามีทานอยู่ในใจอยู่แล้ว ไม่หวงไม่ยึด ไม่ติด ไม่มีสมบัติมาก มีเสื้อผ้าไม่กี่ชุดที่เป็นสมบัติของเราในตอนนั้น จึงไม่กังวลกับการให้ทาน ศีลก็มีอยู่ในใจ ไม่กล้าทำบาป ไม่กล้าลักขโมย ไม่กล้าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พูดปดมดเท็จ เราไม่กล้าทำ เวลาทำแล้วไม่สบายใจ ทำอยู่อย่างเดียวก็คือภาวนา เจริญสติ พยายามทำจิตให้สงบ พยายามพิจารณาให้รู้ไตรลักษณ์ให้มาก พอรู้มากเข้าก็รู้ว่าทุกอย่างไม่มีความหมายเลยหนังตัวอย่างถ้าได้ความสงบแล้ว จะไม่อยากได้เงินล้าน เพราะดีกว่า มีคุณค่ามากกว่า คุณค่ามันต่างกันมาก ความสงบนี้เงินล้านซื้อไม่ได้ เมื่อก่อนนี้เราก็ไม่เคยสนใจศาสนา เป็นคนหัวทันสมัย คิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนล้าสมัย กลัวจะหลงงมงาย เพราะเห็นคนเข้าหาศาสนาเป็นคนงมงาย เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งศาสนาบางศาสนาก็เป็นอย่างนั้น แต่ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ศาสนาพุทธสอนนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้ ศาสนาพุทธสอนว่าความทุกข์เกิดจากความอยากต่างๆ ถ้าอยากจะดับความทุกข์ก็ให้ดับความอยาก พอนำไปปฏิบัติดู พอดับความอยากได้ ความทุกข์ก็หายไป จะรู้เลยว่านี้เป็นคำสอนที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ช่วยเราได้จริงๆ ช่วยดับความทุกข์ภายในใจของเราได้ เพราะเวลาศึกษาศาสนานี้ ต้องดูที่ใจเราเป็นหลักว่าคำสอนมีผลอย่างไรต่อจิตใจ ถ้าทำให้ใจทุกข์น้อยลงได้ก็ใช้ได้ แต่จะให้หายหมดเลยหรือไม่นี้ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละศาสนา ศาสนาส่วนใหญ่จะช่วยทำให้ความทุกข์ใจเบาบางลง แต่จะให้หมดไปเลยมีเพียงแต่ศาสนาพุทธนี้เท่านั้นที่จะทำให้ความทุกข์หมดไปได้ ก่อนที่จะตัดสินใจออกจากงาน ได้เห็นหนังตัวอย่างแล้ว ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้หรอก จิตหลุดจากทุกขเวทนาด้วยการบริกรรม พอเจ็บก็บริกรรมไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็หายไปเลย เบา โล่ง สบาย ก่อนหน้านี้รู้สึกทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง พอบริกรรมอย่างต่อเนื่อง มันก็หายไปหมดเลย แต่ยังเป็นเพียงตัวอย่าง เป็นเหมือนเชลล์ชวนชิม ได้ชิมได้ลิ้มรสแล้วรู้ว่าไปถูกทางแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่แสวงหามาตลอดแต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงนี้ ตอนนี้รู้แล้ว รู้ว่าการที่จะได้มาเป็นกอบเป็นกำนี้ ต้องมีเวลาให้กับมัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องเลือกทางนี้ลาออกจากงานตอนที่ตัดสินใจออกจากงานแล้วมาภาวนา การทำสมาธิก็ได้สัมผัสมาบ้าง เคยนั่งดูมันเจ็บมันปวดอยู่ เวลาเราภาวนาไป กำหนดอนิจจังๆ ไปสักพักหนึ่งมันก็หายไป จิตมันสงบนิ่งเข้าไป ความเจ็บปวดตรงนั้นเจ็บปวดตรงนี้ก็หายไปเลย ก็แปลกใจ เอ๊ะ ทำไมเมื่อครู่นี้มันยังดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่ เดี๋ยวนี้มันหยุดนิ่ง ก็เลยจับประเด็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาย่อมดับได้เปลี่ยนแปลงได้
อาตมาไม่ค่อยเสียดายเรื่องเงินทองเรื่องวัตถุอยู่แล้ว อยู่แบบง่ายๆ ได้กินก๋วยเตี๋ยวข้างถนนก็กินได้ กินอาหารในโรงแรมก็กินได้ ได้ทุกอย่าง ไม่ได้ไปยึดไปติดเรื่องการอยู่การกินเท่าไร แต่กังวลเรื่องจิตใจมากกว่าที่วุ่นวาย ไม่มั่นคง หวั่นไหวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
พอได้ฝึกนั่งสมาธิ ก็รู้สึกว่านั่งแล้วก็สบายใจดี เอ๊ะ ถูกทางแล้วนี่ อาตมาอยากจะหาความสบายใจ ไม่ได้อยากจะหาอะไรในโลกนี้ เพราะเห็นคนที่มีสมบัติเงินทองข้าวของ มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ปัญหาทั้งนั้น เราไม่อยากจะมีปัญหากับใครทั้งสิ้น อยากจะมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของเราเอง มีความสุขตามอัตภาพของเรา ทางนี้น่าจะเป็นทางที่จะไป แต่พอออกจากสมาธิ แล้วไปสัมผัสกับเรื่องธุรกิจการงานต่างๆ ก็เกิดมีความปั่นป่วนขึ้นมา เวลาทำงานจิตจะฟุ้งซ่าน ต้องคิดต้องปรุงอยู่ตลอดเวลา ทำจิตให้สงบยาก ก็เลยรู้ว่าการทำงานเป็นอุปสรรค เป็นนิวรณ์ ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ก็เลยเห็นความแตกต่างระหว่างการอยู่ในสมาธิกับการทำงาน ไปคนละทางเลย ถ้าต้องการความสงบความสบายใจก็ต้องตัดเรื่องการทำงานไป แต่ถ้ายังต้องพึ่งพาอาศัยการทำงานอยู่ เพื่อมีรายได้มาจุนเจือก็ต้องพยายามสะสมเก็บเงินทองไว้ให้มีพอกับการใช้จ่าย พอมีพอแล้วก็จะออกจากงานได้ ตอนนั้นทำงาน ๖ เดือน เก็บเงินได้ประมาณสัก ๖,๐๐๐ บาท ก็คิดว่าน่าจะมีเสบียงอยู่ได้ปีหนึ่ง ก็เลยลาออกจากงาน ตอนไปลาออก ฝรั่งก็คิดว่าลาออกเพื่อจะขอเงินเดือนเพิ่ม ถามว่าคุณต้องการเงินเพิ่มหรือ ตอบว่า ไม่หรอก พอดีตอนนี้ได้ศึกษาธรรมะ ได้มาฝึกนั่งทำสมาธิ รู้สึกว่าการทำงานกับการนั่งสมาธิมันขัดกัน อยากจะไปนั่งสมาธิมากกว่า งานการก็เคยทำมาพอสมควรแล้ว ความสุขในทางโลกก็เคยได้สัมผัสมาแล้ว เที่ยวก็เที่ยวมาพอสมควรแล้ว แต่ความสุขทางด้านความสงบยังไม่ได้สัมผัสมากเท่าที่ควร อยากจะสัมผัสให้มากกว่านี้ ก็เลยอยากจะออกจากงาน คิดว่าจะปฏิบัติสักปีหนึ่ง ทดลองดูว่าจะเป็นอย่างไร จะก้าวหน้าในทางปฏิบัติได้ไหม ถ้าได้ก็จะไปบวช ถ้าไปไม่ได้ก็จะกลับมาทำงาน แล้วก็จะเลิกนั่งสมาธิไปเลย ต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้านั่งสมาธิแล้วทำงานไปด้วย ก็เหมือนน้ำร้อนกับน้ำเย็นผสมกัน จะร้อนก็ไม่ร้อน จะเย็นก็ไม่เย็น มันอุ่นๆ ถ้าได้สมาธิแล้วแต่ยังต้องทำงานทางโลกอยู่ ก็จะไม่เจริญทางธรรมะเท่าที่ควร เพราะอยู่กันคนละทิศ ถึงเวลาที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็เลยลาออกจากงานและขอเวลาสักปีหนึ่งอยู่กับการปฏิบัติ ไปบอกกับฝรั่งตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายน บอกล่วงหน้าหนึ่งเดือน ทำงานวันสุดท้ายตอนสิ้นปี ๒๕๑๖ คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ ทำงานได้ ๖ เดือนเป้าหมายหลังออกจากงานตั้งเป้าไว้ว่า ในหนึ่งปีนี้จะไม่ไปทางกามฉันทะ ไม่หาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะภาวนาอย่างเดียว จะเจริญสติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว
อย่างสมัยที่อาตมาเคยปฏิบัติมา ตอนต้นก็นั่งไปตามอัธยาศัย นั่งไปแล้วรู้สึกว่าดีก็อยากจะนั่งมากขึ้น แต่ช่วงนั้นยังทำงานอยู่ ก็เลยตัดสินใจว่าอีกเดือนหนึ่งสิ้นปีพอดี ก็จะขอลาออกจากงาน จะขอใช้เวลา ๑ ปีทุ่มเทกับการปฏิบัติอย่างเดียว จะไม่ทำอย่างอื่น จะรับประทานอาหารมื้อเดียวก่อนเที่ยง ตลอดวันจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะเป็นส่วนใหญ่ จะไม่ออกไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ภายนอก เหมือนกับสมัยที่ไม่ได้ปฏิบัติ พอตื่นเช้าขึ้นมาปั๊บก็ต้องออกจากบ้านไปชายทะเล ไปที่ไหนก็ได้ ขอให้ได้ไป แต่ตอนนี้จะไม่ไปแล้ว จะภาวนาปฏิบัติอยู่ในบ้าน ถ้าไปข้างนอกก็จะไปหาที่สงบที่เงียบ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ไปหามุมสงบแถวชายทะเล บางทีก็ไปภาวนานอนค้างที่เกาะ กำหนดว่าจะลองทำสักปีหนึ่งความเป็นอยู่ช่วงปฏิบัติเองพอออกจากงานแล้ว วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๗ ก็เริ่มต้นขังตัวเองอยู่ในบ้าน พอดีมีห้องแถวอยู่ในตลาดนาเกลือห้องหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ จึงได้อยู่คนเดียวเหมือนกับได้อยู่ที่วัด แต่ก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นตลอดทั้งปี บางช่วงก็ไปที่อื่นบ้าง ไปนอนที่เกาะบ้าง ไปพักที่อื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่บ้านคนเดียว ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็จะนั่งสมาธิ ท่องพระสูตรไปก่อน แล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตาทำกิจอย่างอื่น ลงมาเดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะ สลับกับนั่งสมาธิ ตอนนั้นทำกับข้าวกินเองบ้าง ออกไปซื้อกินข้างนอกบ้าง กินวันละมื้อ แล้วก็ถือศีล ๘ ไม่ไปหาความสุข จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยู่แต่ในบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำไปคนเดียว แต่ก็ไม่เคยไปวัด ปฏิบัติตามหนังสือ
สมัยที่อาตมาปฏิบัติอยู่คนเดียวนี่ วันหนึ่งใช้เงินแค่ ๕ บาทก็อยู่ได้แล้วเพราะกินแค่มื้อเดียว สมัยนั้นข้าวจานละ ๓ บาท ก๋วยเตี๋ยวก็ชามละ ๒ บาท วันหนึ่งก็กินข้าวจานหนึ่งและก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งก็อยู่ได้แล้ว ไม่ต้องใช้เงินมากหรอก อาตมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็ไม่ได้สนใจกับเรื่องอาหารการกิน อะไรก็ได้ ก็เลือกอาหารที่ชอบบ้างถ้ามีให้เลือก แต่ไม่ต้องเป็นร้านเชลล์ชวนชิม ส่วนใหญ่ชอบกินก๋วยเตี๋ยวข้างถนน กินให้อิ่มก็ใช้ได้แล้ว อาตมาเคยเจอพวกฝรั่งที่ชอบอยู่แบบซำเหมา พวกนี้มีเงินแต่อยากจะประหยัด อยากจะอยู่อยากจะเที่ยวนานๆ เชื่อไหมเขาซื้อข้าวแกงกินกัน กินข้าวแกงข้างถนนจานละ ๒ บาท ๓ บาท เมื่อก่อนเรากลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ยังต้องไปกินร้านอาหารที่ติดแอร์ มีคนเสิร์ฟ พอเห็นเขาทำแบบนี้ เราก็บอกตัวเราว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเราแล้ว เพราะเงินก็มีเหลือน้อย แล้วก็อยากจะมีเงินอยู่ไปได้นานๆ เพราะไม่อยากจะไปทำงาน อยู่เฉยๆ สบายกว่า ก็เลยประหยัดดีกว่า ยอมกินของถูกๆ แต่ไม่ต้องเป็นลูกจ้าง ไปให้เจ้านายคอยด่า คอยสั่ง ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน ไปเบียดบนรถเมล์ กว่าจะได้เงินมาไม่กี่สตางค์ ไม่มีความเป็นอิสระ เรารักความเป็นอิสระ จึงยอมลำบาก ยอมอด ไม่ค่อยอยากจะรับคำสั่งจากใคร โดยเฉพาะจากคนที่โง่กว่าเรา แต่สั่งเราได้เพราะเขารวยกว่าเราต่อสู้กับความอยากบางเวลาก็ยังแพ้กิเลสอยู่ บางทีนั่งแล้วเจ็บทนไม่ไหวก็เปลี่ยนอิริยาบถก็มี แต่บางครั้งก็ฮึดสู้ บางเวลาก็ทรหด บางเวลาก็อ่อนแอ บางทีอยากจะยอมแพ้ เป็นเรื่องธรรมดาของการต่อสู้ เวลาทำอะไรที่ยากลำบากมากๆ ก็ท้อแท้เหมือนกัน แต่รู้อยู่ว่าถอยไม่ได้ เลิกไม่ได้ มาทางนี้แล้วต้องไปต่อ ถ้ายังไม่ตายก็ต้องไปเรื่อยๆ มันก็ไปได้
สมัยที่อาตมาปฏิบัติใหม่ๆ อยู่คนเดียว ฝึกภาวนาอยู่ประมาณปีหนึ่ง ฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรมในบ้าน อ่านหนังสือธรรมะ พยายามควบคุมจิตใจที่อยากจะออกไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ พยายามไม่ทำตามใจ เพราะรู้ว่าเวลาออกไปเที่ยวก็สนุกดี แต่พอกลับมาแล้วก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา สู้พยายามฝืนดีกว่า พยายามบังคับจิตใจให้ต่อสู้กับความเศร้าสร้อยหงอยเหงาที่มีอยู่ในตัว เรารู้ว่าเป็นกิเลส รู้ว่าเป็นอารมณ์ รู้ว่าจิตไปคิดไปสร้างมันขึ้นมา ถ้าเราพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักพักอารมณ์เหล่านั้นก็จะหายไปเอง นี่เป็นวิธีแก้ที่ถูก เวลาเกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมาก็อย่าไปแก้ด้วยการออกไปเที่ยว จริงอยู่เวลาออกไปเที่ยว ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็หายไป แต่พอกลับมาอยู่บ้านเดี๋ยวก็กลับมาอีก จึงมีคำพังเพยที่ว่า “เวลาออกจากบ้านเหมือนไก่บิน เวลากลับมาเหมือนห่ากิน” กลับมาก็คอพับ รู้ว่าต้องอยู่บ้าน ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็กลับมาเหมือนเดิม ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข แต่ถ้าแก้ความเศร้าสร้อยหงอยเหงานี้ด้วยการไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะเศร้าอย่างไรก็จะสู้กับมัน รู้ว่าเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ามีธรรมะเป็นเครื่องแก้แล้วจะแก้ถูกทาง เพราะเมื่อได้ภาวนา ได้นั่งสมาธิแล้ว เดี๋ยวอารมณ์ความรู้สึกนี้ก็จะหายไปเอง
ช่วงหนึ่งปีที่ปฏิบัติ จิตมันก็เป็นสมาธิสลับกันไป เวลานั่งก็สงบ พอออกมาแล้ว เผลอไปคิดโน่นคิดนี่ก็ฟุ้งซ่าน ก็ต้องรีบกลับมานั่งหรือเดินจงกรมใหม่ คอยควบคุมจิต พอสงบปั๊บก็สบาย แล้วก็ปล่อยมันอีก พอปล่อยไปสักพักหนึ่งก็คิดฟุ้งซ่านอีก ก็ต้องกลับมาควบคุมอีก ก็สู้กันไปสู้กันมาอยู่อย่างนี้ บางทีมีความอยากจะออกไปเที่ยว ก็ต้องพยายามต่อสู้ ใช้ปัญญาสอนว่า ไปแล้วก็เหมือนกับเดินถอยหลัง เราเดินมาถึงนี่แล้วก็เหมือนกับปีนเขาได้หลายขั้นแล้ว ถ้าออกไปเที่ยวก็เหมือนเดินกลับลงไปข้างล่าง เดี๋ยวต้องปีนกลับขึ้นมาที่เก่าอีก ถ้าเราไม่ไป เราก็จะได้ปีนสูงขึ้นไป เอาเวลาที่ไปเที่ยวนี้มาปีนต่อดีกว่า พยายามคอยดึงใจที่ชอบอยากโน่นอยากนี่ไว้ พยายามฝืนความอยาก อยากจะไปที่โน่นก็ไม่ไป ฝืนจนหายอยากไปเอง ตอนที่อยากก็ทุรนทุราย ทรมานจิตทรมานใจมาก พอหยุดปั๊บก็โล่งใจเบาใจ จะใช้วิธีนี้เป็นหลัก
ใจชอบเพ่นพ่านไปโน่นมานี่ไม่มีเหตุมีผล พออยากจะไปไม่ได้ไปก็จะหงุดหงิด ทุกข์ทรมานใจ เราก็ใช้สติดูมันไป ไม่ไปตามความอยาก พอรู้ว่าไปไม่ได้ มันก็หยุดอยาก หายอยากไปเอง หายขาดไปเลย แล้วก็สงบลงไป จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเกิดความคิดว่า “วันๆ หนึ่งเราไม่เคยนั่งอยู่กับที่เลย ทำไมวันนี้เราไม่นั่งอยู่กับที่ดูบ้าง” เลยหาเก้าอี้สบายๆ มานั่งสักตัวหนึ่ง เอาน้ำมาวางไว้ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดู ไม่ต้องฟังอะไร จะนั่งสมาธิก็ได้ จะพิจารณาธรรมก็ได้ ถ้าเมื่อยจะลุกขึ้นยืนก็ได้ จะเข้าห้องน้ำก็ได้ นอกจากนั้นจะไม่ให้ไปจากเก้าอี้ เริ่มนั่งตั้งแต่ตอนสายๆ หลังจากรับประทานอาหารแล้ว จะนั่งจนมืดจนต้องเปิดไฟ ถึงจะลุกไปจากที่นั่งก็ต้องต่อสู้กับความอยากที่อยากจะไปทำโน่นทำนี่ สู้กับความอยากไปด้วยสมาธิ ด้วยพุทโธบ้าง ด้วยการพิจารณาธรรมบ้าง แต่ไม่อ่านหนังสือ ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น สู้กับความอยาก ส่วนใหญ่เราจะปฏิบัติอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะนั่งดูลมหายใจบ้าง พิจารณาร่างกายบ้าง พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ทำอยู่อย่างนี้ พิจารณาแล้วปฏิบัติตาม พอรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ไม่ไปแสวงหา ไม่ไปดู ไม่ไปฟัง ไม่ไปเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ให้เสพแต่สิ่งที่จำเป็นกับร่างกาย รับประทานก็รับประทานเพื่อร่างกายมีอะไรก็รับประทานไป เครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่ดื่ม ดื่มแต่น้ำเปล่ามั่นใจในแนวทางปฏิบัติการปฏิบัติตามแนวของมหาสติปัฏฐานสูตรที่ค้นคว้าศึกษามาเองโดยไม่มีอาจารย์ ปีนั้นทั้งปีปฏิบัติอยู่คนเดียว เอาหนังสือเล่มนี้เป็นอาจารย์ ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามีหรือไม่มี ไม่เคยสงสัย เวลาอ่านหนังสือธรรมะจะรู้สึกว่าพระพุทธเจ้ากำลังตรัสสอนเราโดยตรง คำสอนของท่านแม้จะผ่านมากว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วก็ตาม แต่เป็นความจริง จึงเหมือนกับได้ฟังจากพระโอษฐ์ ก็เลยมีความมั่นใจ
นอกจากภาวนาแล้ว จิตสงบร่มเย็นแล้ว ก็มีพิจารณาปัญญาด้วย พิจารณาไปเรื่อยๆ เดินตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ส่วนใหญ่ก็พิจารณากายอยู่เรื่อยๆ เวทนาก็พยายามนั่งให้ผ่านให้ได้ แล้วก็ต่อสู้กับความอยาก พอเราเผลอก็จะรู้สึกหงุดหงิด อยากจะไปเล่นไปเที่ยวบ้าง ต้องพยายามต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านี้ เพราะตอนนั้นสมาธิไม่ได้เป็นแบบต่อเนื่องตลอดเวลา ช่วงที่มีสมาธิก็สบาย พอไม่มีสมาธิ จิตก็คิดปรุงแต่ง ก็อยากออกไปหาแสง สี เสียง ก็รู้สึกหงุดหงิดเศร้าสร้อยหงอยเหงา ตอนนั้นก็ต้องตั้งสติ ต้องพิจารณาธรรม หรือนั่งสมาธิทำจิตให้สงบ ถ้าปล่อยให้อยู่เฉยๆ ก็ยิ่งปรุงใหญ่ จะยิ่งฟุ้งซ่าน ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ พยายามทำให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าทำจนจิตไม่มีเวลาว่างไปคิดเรื่องต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ก็จะก้าวหน้าไป ถ้าไม่เดินจงกรมก็นั่งสมาธิ ถ้าไม่นั่งสมาธิก็ฟังธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะสลับกันไป หรือไม่เช่นนั้นก็ทำกิจที่ต้องทำ เป็นฆราวาสก็ต้องกวาดถูบ้าน ก็กวาดถูไป ซักผ้าก็ซักไป ทำกับข้าวรับประทานอาหารก็ทำไป แต่ให้มีสติอยู่กับกิจกรรมนั้นๆ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น พอเสร็จกิจแล้วก็เดินจงกรมต่อ นั่งสมาธิต่อ สลับกันไป ไม่นั่งเหม่อลอยคิดถึงอดีตที่หวาน จะทำให้รู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา คิดถึงเพื่อนฝูง แต่ก็อดเผลอไม่ได้ พอได้สติก็ต้องรีบนั่งสมาธิเลย หรือเดินจงกรมควบคุมจิตไม่ให้เพ้อเจ้อ ไม่ให้เหม่อลอย แต่มันมีช่วงของมันเพราะสติยังไม่ต่อเนื่องเวลาที่เผลอปั๊บนี่ กิเลสจะมาพาไปคิดแล้ว ถ้าไม่ทันมันก็จะทุกข์ทรมานใจ กว่าจะดึงกลับเข้ามานั่งสมาธิได้ก็ต้องลากกันอย่างสุดแรงถึงจะกลับมาได้ มันก็ต้องทรมานเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่เลวร้าย เป็นความทรมานที่ให้ผลดี ต่อมา พอผ่านไปแล้วก็เหมือนกับพ้นอุ้งมารไป หลุดจากการควบคุมของกิเลสได้นี้มันแสนจะสบาย ไม่มีอะไรมารบกวนใจ ไม่มีอะไรมาคอยหลอกมาล่อให้หลงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่เฉยๆ ก็มีความสุข เป็นรางวัลที่คุ้มค่ามากเงินใกล้หมดหาวัดบวชของอาตมานี่ คล้ายๆ กับว่าเป็นบุญหรืออะไรไม่ทราบ ถึงเวลาก็มีช่องไปโดยที่ไม่เคยคิดไว้ก่อนเลย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะมาบวชเป็นพระ เพราะโดยปกติที่บ้านก็ไม่ได้เข้าวัดเข้าวากัน ตอนเรียนหนังสือก็เรียนโรงเรียนคริสต์ เกือบจะเป็นคริสต์แล้ว แต่ตอนที่จะต้องตัดสินใจก็เปลี่ยนใจ หนังสือธรรมะก็ไม่ได้จากที่วัด ได้มาจากฝรั่งที่มาเที่ยวพัทยา ก่อนที่จะปฏิบัติธรรม ก็ไม่เคยเข้าวัด เวลาปฏิบัติก็ศึกษาเองไม่รู้จักครูบาอาจารย์ที่ไหน
ในสมัยแรกๆ ตอนที่ปฏิบัติอยู่คนเดียว ตอนที่เป็นฆราวาสนั้นไม่เคยคิดอยากจะบวชเลย คิดว่าถ้าเป็นลูกคนรวยมีเงินสักก้อนหนึ่งแล้วไม่ต้องบวชได้นี่ก็จะไม่บวช จะอยู่เป็นฆราวาสปฏิบัติของเราไป ได้ตั้งใจไว้ว่าจะปฏิบัติอยู่ปีหนึ่ง เพราะมีเงินใช้กับการปฏิบัติได้ปีหนึ่งพอดี พอครบเวลาปีหนึ่งก็ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะเสบียง คือเงินที่มีไว้สำหรับใช้จ่ายค่าอาหารก็ใกล้จะหมด ก็มีอยู่ ๒ ทางเลือก คือถ้าจะอยู่แบบฆราวาสก็ต้องไปหางานทำอีก ถ้าไปทำงานเวลาปฏิบัติก็มีน้อย ไปทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง เดินทางไปกลับอีก รวมกันอย่างน้อยก็ ๑๐ ชั่วโมง กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อย เวลาที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องก็จะมีไม่มาก จะปฏิบัติได้เท่าที่เวลาจะอำนวย ไม่มีทางที่จะภาวนาได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าอยากจะปฏิบัติต่อก็ต้องไปบวช ถ้าบวชจะมีเวลาปฏิบัติได้เต็มที่ ตอนนั้นใจหนึ่งก็ไม่อยากจะบวช กิเลสยังหวงความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ความเป็นอิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน เพราะคิดว่าการบวชเหมือนกับถูกจับขังอยู่ในกรง ก็เลยยังกล้าๆ กลัวๆ ตอนนั้นก็ทรมานใจพอสมควร ตอนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ พอได้คิดไปคิดมาและตัดสินใจได้แล้วว่าต้องบวช เพราะจะได้มีเวลาปฏิบัติ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องทำมาหากินก็รู้สึกโล่งอกไปเลย เบาใจ บวชก็บวช เรื่องบวชก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะตลอดปีที่ปฏิบัติก็กินอยู่เหมือนนักบวชอยู่แล้ว ไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ไปหาความสุขจากอะไร วันๆ หนึ่งก็อ่านแต่หนังสือธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รับประทานอาหารวันละมื้อ ที่สำคัญเมื่อบวชแล้วจะต้องหาวัดที่สงบ ไม่ต้องเรียนปริยัติ อย่าไปเจอวัดที่มีการสวด มีกิจนิมนต์ต่างๆ มีงานศพ งานบุญ หรือไปทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องภาวนาเลย เพราะเท่าที่ได้ศึกษาในพระไตรปิฎกก็ไม่เห็นมีงานอย่างที่ทำกันเหมือนในสมัยปัจจุบันนี้หรอก
ในสมัยพุทธกาลพอออกบวชแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ไปอยู่ตามป่าตามเขา ไปภาวนากัน แต่สมัยนี้บวชแล้วต้องไปทำโน่นทำนี่ ไปสวดศพ ไปงานบุญ ไปงานอะไรเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่เป็นงานของพระเลย เพราะเหตุนี้เองจึงต้องหาวัดที่มีแต่การปฏิบัติ ตอนก่อนจะบวชก็เคยศึกษาดูว่ามีวัดแบบไหนบ้าง พอดีตอนนั้นได้อ่านหนังสือของฝรั่งชาวอเมริกันชื่อ Jack Kornfield ซึ่งเคยบวชมาแล้ว เขาทำหนังสือเกี่ยวกับวัดปฏิบัติธรรมในเมืองไทยชื่อว่า A Guide to Buddhist Monasteries and Meditation Centres in Thailand เขาไปมาหมดเลยนะวัดที่สำคัญๆ ในประเทศไทยนี้ ฝรั่งคนนี้ขวนขวายหาความรู้มาก เขาจะรู้รายละเอียดของแต่ละวัดว่าอาจารย์สอนแบบไหน อาหารเป็นอย่างไร มีพระเณรกี่รูป เขารู้จักวัดปฏิบัติทั้งหมดในเมืองไทย แล้วทำเป็นหนังสือไกด์เหมือนกับเวลาไปเที่ยวยุโรปหรือประเทศอื่นๆ เขาก็มีหนังสือไกด์แนะนำให้ไปดูสถานที่ต่างๆ อันนี้เขาทำเป็นหนังสือไกด์แนะนำวัดกรรมฐาน วัดปฏิบัติธรรมต่างๆ เราก็เปิดดู ก็พอรู้ว่ามีวัดปฏิบัติอยู่ที่ไหนบ้างแต่ยังไม่ได้ไป เพราะตอนนั้นยังไม่ได้บวช ตอนที่ได้ตัดสินใจบวชแล้ว อาตมาได้ไปกราบเรียนปรึกษาพระที่วัดช่องลม ต.นาเกลือ เป็นวัดธรรมยุตที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยในจังหวัดชลบุรี และมีชาวบ้านนับถือเลื่อมใส คือ พระครูวิบูลธรรมกิจ หรือหลวงพ่อบัวเกตุ ปทุมสิโร ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระอุปัชฌาย์ของวัดนี้ ช่วงไหนที่ไม่มีกิจในวัด ท่านจะเดินทางไปศึกษาด้านปฏิบัติกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นทางภาคอีสานอยู่เป็นประจำ ตอนนั้นท่านเพิ่งกลับมาจากไปกราบหลวงปู่ฝั้นมา โดยอาตมาได้กราบเรียนท่านว่าอยากจะบวช แต่ไม่อยากบวชอยู่วัดที่มีพิธีกรรมต่างๆ มีงานบุญบังสังสวดมากไม่เอา อยากจะหาวัดที่มีการปฏิบัติภาวนาเพียงอย่างเดียว เพราะกำลังปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ อยู่ ท่านบอกว่า วัดของท่านไม่มีการปฏิบัติเป็นวัดปริยัติ เป็นวัดเรียน วัดสวด มีเมรุ มีฉันเพล มีพิธีกรรม มีกิจนิมนต์ ถ้าบวชกับท่านก็ต้องอยู่จำพรรษากับท่าน ๕ พรรษา ตามพระธรรมวินัย ท่านจึงเมตตาแนะนำว่า ถ้าอยากจะบวชแล้วภาวนา ต้องไปหาครูบาอาจารย์ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นทางภาคอีสาน สมัยนั้นก็มีหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาวหลวงตามหาบัว หลวงปู่ชา โดยให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณฯ วัดบวรฯ นี้ ท่านเมตตารับบวชให้ เมื่อบวชแล้วต้องการไปภาวนาไปปฏิบัติ ท่านก็จะอนุญาตให้ลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์สายปฏิบัติ แทนที่จะต้องอยู่กับท่าน ๕ พรรษาตามพระธรรมวินัยได้
นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของหลวงปู่มั่น เพราะตอนที่ปฏิบัตินั้นอาศัยหนังสือที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา เป็นหนังสือที่คัดมาจากพระสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยไม่ทราบว่าพระปฏิบัติในประเทศไทยมีอยู่ที่ไหนบ้าง เราก็เลยมุ่งไปที่วัดบวรนิเวศฯ ก็ไม่รู้จักสมเด็จพระญาณสังวรฯ แต่ทราบว่าที่นั่นมีพระชาวต่างประเทศพำนักอยู่ก็เลยไป พอไปถึงก็พบพระชาวอังกฤษ บวชมาได้ ๑๐ พรรษา (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) ได้สนทนาธรรมกับท่าน เล่าให้ท่านฟังเป็นภาษาอังกฤษ ท่านฟังแล้วก็อาสาว่าจะไปกราบทูลสมเด็จพระญาณฯ ให้เรื่องที่จะขอบวช พอไปกราบทูลเสร็จ สมเด็จฯ ก็รับสั่งให้ไปเฝ้า ท่านก็ถามคำสองคำว่ารู้จักใครในวัดนี้ไหม ตอบท่านว่าไม่รู้จักใครเลย เพราะเพิ่งมาครั้งแรก และเพิ่งเจอพระฝรั่งรูปที่มากราบทูลให้ ท่านก็ถามว่า มีพ่อมีแม่หรือเปล่า เพราะคิดว่าอาตมาเป็นคนเร่ร่อน ตอบท่านว่า มี ท่านก็บอกให้พามาพบหน่อย ก็เลยนัดวันพบ แล้วอาตมาก็กลับไปบอกคุณพ่อคุณแม่ คุณแม่ก็เลยให้พามากราบสมเด็จฯ
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:20:45 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 กันยายน 2560 17:10:54 » |
|
ขออนุญาตออกบวชพอเจอธรรมะ พอได้นั่งปฏิบัติก็ติดใจ มันก็ไปตามเรื่องของมัน ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะมีปัญหา จะต้องทิ้งใครไป ตอนนั้นก็ยังโสด ไม่มีภาระอะไรกับใคร พ่อแม่ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไปโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ชีวิตก็ไปตามขั้นของมัน แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะบวชนานเท่าใด เป็นคนที่ไม่ยึดติดกับอะไรมากจนเกินไป ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องให้ได้อย่างนั้น จะต้องให้ได้อย่างนี้ ทำไปก็แล้วกัน จะได้มากน้อยเพียงไร ก็ประเมินผลไปเรื่อยๆ แล้วก็พิจารณาดูว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะแก้ไขอย่างไรต่อไป ถ้าไปทางนี้จะมีอุปสรรคอะไรบ้าง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ก็แก้ไขไป ศึกษาไป
ตอนขอออกบวช โยมแม่เขาก็อนุโมทนา แต่โยมพ่อไม่เห็นด้วย ความเห็นไม่ตรงกัน โยมพ่อคิดว่า เราไม่มีทางไปแล้วหรือถึงจะต้องไปบวชอาศัยผ้าเหลืองกิน ท่านคิดอย่างนั้น คิดว่าคนไปบวชเป็นคนไม่มีทางไปแล้ว ท่านก็ว่าเราไม่ใช่เป็นคนแบบนั้น ได้ไปเรียนหนังสือมา มีความรู้ความสามารถ ทำไมต้องมาท้อแท้กับชีวิต ท่านคิดว่าคนที่ไปบวชเป็นคนท้อแท้ต่อชีวิต คนสิ้นท่า ไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้กับชีวิต ท่านอยากให้อยู่สู้ต่อไป อย่าไปท้อแท้ชีวิตใหม่ในเพศบรรพชิตอาตมาโชคดีเพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ยังไม่มีอะไร งานที่ทำก็ไม่ใช่เป็นงานที่อาตมาอยากจะได้ แต่ต้องทำ เพราะต้องมีอะไรเลี้ยงชีพ ก็ทำไปพอประทังชีพเท่านั้นเอง ก็เลยไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรเลยเวลาจะต้องออกจากงานนี้ไป เวลาจะบวชก็ไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองติดตัวอยู่ ก็เลยไม่มีอะไรให้เสียดาย จึงไปง่าย เหมือนกับมาตัวเปล่าๆ แล้วก็ไปตัวเปล่าๆ ยังไม่ได้มีอะไรจะต้องเสียดาย ไม่มีอะไรที่จะเหนี่ยวรั้งให้ติดอยู่กับชีวิตของฆราวาส มองไปข้างหน้ามีแต่ความหวัง เพราะเชื่อว่าเป็นทางที่ดี จะได้ปฏิบัติเต็มที่ คนที่ชอบปฏิบัติจะเห็นว่าการเป็นพระนี้ดีที่สุดเลย พระพุทธเจ้าทรงวางแนวทางให้ไปทางนี้จริงๆ เป็นพระไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ถ้าศึกษาแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะรู้ว่าทรงสอนให้ภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ให้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น
เมื่อถึงวันนัดพบ อาตมาก็ได้พาคุณพ่อคุณแม่มากราบพบท่านที่วัดบวรฯ สมเด็จฯ ได้พูดคุยและกำหนดวันบวชเป็นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มีสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ โดยบวชคู่กับอีกคนหนึ่งที่บวชชั่วคราว บวชประมาณ ๑๕ วัน เขาพึ่งจบปริญญาโทมาจากสหรัฐฯ เป็นลูกนายพล ตอนนั้นอาตมาเหลือเงินเก็บอยู่ ๓,๐๐๐ บาท ก็พอดีสำหรับซื้อเครื่องอัฐบริขารไว้บวชพอดี เลยไม่ต้องรบกวนเงินของคุณพ่อคุณแม่ วันที่บวช ทางอีกฝ่ายเขาก็มีแขกมาเยอะร่วม ๑๐๐ คน แต่เรามีเพียง๔ คน มีพ่อมีแม่มีน้องสาว แล้วก็ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง เพราะไม่ได้บอกใครชอบทำอะไรเงียบๆ ตอนที่ลาออกจากงานก็ไม่ได้บอกใคร ตอนที่อยู่บ้านปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้บอกใคร เพราะไม่รู้จะบอกทำไม ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องบอก เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง บวชแล้วก็ไม่มีใครตามมายุ่ง ก็มีคนหนึ่งรู้ เขาต้องการให้เราไปทำงานก็ส่งโทรเลขมาตาม แต่ก็ไม่สนใจแล้ว
ช่วงที่อยู่วัดบวรฯ มีพระฝรั่งไปวัดป่าบ้านตาดกัน ก็เลยรู้ว่าทางภาคอีสานมีวัดของหลวงตามหาบัว มีวัดหลวงปู่เทสก์ มีวัดหลวงปู่ฝั้น ที่มีชื่อเสียง ก็เลยคิดว่าจะลองไปดู โดยเลือกวัดป่าบ้านตาดของหลวงตาเป็นวัดแรก ตอนนั้นก็ไม่รู้จักวัดป่าบ้านตาด พระฝรั่งบอกว่า เวลาไปวัดป่าบ้านตาดต้องเขียนจดหมายไปขออนุญาตจากท่านอาจารย์ปัญญาก่อน ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ พวกชาวต่างชาติจะติดต่อทางวัดผ่านท่านอาจารย์ปัญญา ท่านจะไปกราบเรียนหลวงตาอีกทีหนึ่ง ถ้าหลวงตาอนุญาตก็ไปได้ เราก็เลยเขียนจดหมายไปหาท่านอาจารย์ปัญญา เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็นคนชาติไหน ใช้ชื่อ อภิชาโตภิกขุ ท่านก็ไปกราบเรียนหลวงตาๆ ก็บอกว่าไปได้ อาตมาบวชได้ประมาณ ๖ อาทิตย์ที่วัดบวรฯ พอห่มจีวรเป็น บิณฑบาตเป็น ดูแลรักษาอัฐบริขารต่างๆ และสามารถเดินทางได้โดยไม่รู้สึกลำบากใจเกี่ยวกับการห่มผ้า ก็ได้กราบลาสมเด็จฯ ขออนุญาตไปอยู่กับหลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด สมเด็จฯ ก็พูดว่า ท่านอนุญาต แต่หลวงตาจะอนุญาตหรือไม่ก็อยู่ที่หลวงตา พอถึงเวลาเราก็ไปประมาณต้นเดือนเมษายน จำได้ว่าก่อนวันจักรีสักวันสองวัน ก็นั่งรถไฟขึ้นไป รถไฟออกตอนเย็น ไปถึงนั่นก็เช้ามืด ทางวัดก็เมตตา มีญาติโยมอุปัฏฐากที่อยู่อุดรฯ มารับไปส่งที่วัดเลยบททดสอบแรกของพระนวกะที่ตัดสินใจเลือกวัดป่าบ้านตาด เพราะมีพระชาวต่างประเทศแนะนำ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ จะไปดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่อยู่ ถ้าถูกใจก็อยู่ ถ้าถูกใจแต่ไม่ให้อยู่ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ยึดติดอะไรมากจนเกินไป เพียงแต่ต้องการสถานที่สงบ ให้ได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่เท่านั้น เป็นเป้าหมายที่ไป ตอนแรกไม่ได้คิดพึ่งพาครูบาอาจารย์เป็นหลัก เพราะมีหนังสือธรรมะพอเป็นแนวทางได้
ตอนไปอยู่บ้านตาด ก็ไม่คิดว่าจะได้อยู่หรือไม่ จะอยู่นานไม่นานก็ไม่ได้คิด เพียงแต่ขอให้ได้ไปก็แล้วกัน ตอนนั้นอยากจะได้ที่ภาวนาเท่านั้นเอง อยากจะได้ที่สงบ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีครูบาอาจารย์ระดับไหนอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่เคยอ่านหนังสือของทางสายปฏิบัติ หนังสือที่ได้อ่านส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็เลยจะรู้แต่เรื่องพระในอดีต แต่พระในปัจจุบันจะไม่รู้ แต่ตอนนั้นรู้แล้วว่าจิตของเราต้องการสถานที่ที่สงบสงัด สถานที่ที่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้ นั่งรถไฟไปตอนเย็น ถึงอุดรฯ ตอนเช้ามืด มีรถของญาติโยมที่อุดรฯ มารับ พอมาถึงศาลาวัด ก็พอดีได้เวลาออกบิณฑบาต หลวงตาท่านก็เพิ่งลงมาก็เลยไปกราบท่าน ท่านก็พูดว่า อยู่ไม่ได้นะ อยู่ได้ชั่วคราว กุฏิไม่ว่าง เสร็จแล้วท่านก็ไม่พูดอะไร ก็รีบเตรียมบริขารแล้วก็ออกบิณฑบาต
อาตมาเหมือนเด็กเกิดใหม่ ยังไม่เดียงสาในการเป็นพระนัก วันแรกที่ไปถึงก็เห็นสมรรถภาพของตัวเองจากการเดินบิณฑบาตที่เร็วมากของวัดป่าบ้านตาด เราไม่เคยเดินเร็วอย่างนั้น ขาไปก็เดินตามปกติไปแบบสบายๆ แต่ขากลับ พอพ้นบ้านหลังสุดท้ายใส่บาตรเสร็จ พระรับบาตรของหลวงตาปั๊บ ต่างคนต่างโกยแนบกันเลย เราไม่เคยเดินวิ่งแบบนั้น ซึ่งเหมือนแข่งเดินเร็วในโอลิมปิก มีข้าวเหนียวเต็มบาตรที่หนักมาก ถลกบาตรก็ผูกไม่แน่น เดินกลับมาได้ครึ่งทางถลกบาตรก็หลุด จีวรก็จะหลุด ต้องคอยประคับประคองอย่างทุลักทุเล กว่าจะไปถึงศาลาเขาก็เริ่มจัดแจกอาหารกันแล้ว ตอนนั้นหลวงตาท่านคงมอง แต่ท่านเมตตา ท่านไม่พูดอะไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นพระมาใหม่ ท่านจะไม่ใช้มาตรการหนัก ท่านจะเฉยๆ ไปก่อน นอกจากแย่จริงๆ ก็อาจจะถูกว่าโดยตรง แต่ใหม่ๆ ท่านจะสังเกตดู ถ้าเห็นว่ามีความตั้งใจปฏิบัติ จะช้ากว่าเขา ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ท่านก็ไม่พูดอะไร จนประมาณสัก ๑ เดือนก่อนจะเข้าพรรษา ท่านจะบอกพระที่มาขออยู่จำพรรษาว่า องค์ไหนอยู่ได้ องค์ไหนอยู่ไม่ได้ ช่วงนั้นท่านจะรับพระประมาณ ๑๕-๑๖ รูปเท่านั้นเอง ตอนนั้นพอมาถึงเรา ท่านก็บอกว่า ท่านจำได้ไหมว่าวันที่ท่านมานี้ ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ชั่วคราว ดังนั้นท่านก็อยู่ไม่ได้นะ พอได้ยินอย่างนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็เฉยๆ ไว้ก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร จากนั้นหลวงตาท่านก็แสดงธรรมเกือบ ๒ ชั่วโมง พอจะเลิกประชุมก็ลุกขึ้นมากราบพระพร้อมๆ กัน ท่านก็พูดขึ้นว่า ท่านที่มาจากวัดบวรฯ ท่านจะอยู่ก็อยู่นะ พอท่านอนุญาตให้อยู่ได้ พระเก่าก็มาแสดงความยินดี เพราะท่านจะไม่รับใครง่ายๆ มีพระหลายรูปด้วยกันที่ท่านไม่ให้อยู่ ท่านต้องการให้เห็นคุณค่าของการได้อยู่จะได้มีความตั้งใจ เพราะเวลาได้อะไรมาง่ายๆ เราจะไม่เห็นคุณค่าของมัน สิ่งใดที่ได้มาด้วยความยากลำบากเราจะรักษามัน อาตมาก็เลยได้อยู่ต่อ อยู่ที่นั่นก็มีกติกาว่า ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาก็จะไม่ให้ไปไหน เพราะพระวินัยกำหนดไว้ ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาไม่ให้อยู่โดยปราศจากครูบาอาจารย์ นอกจากมีเหตุคอขาดบาดตาย มีธุระจำเป็นที่จะต้องไปทำ แต่ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ท่านจะไม่ให้ไป ให้อยู่ให้ได้ ๕ พรรษาก่อน เช่น บวชได้ ๒ พรรษาแล้วจะไปธุดงค์องค์เดียวก็ยังไปไม่ได้ นอกจากท่านเห็นว่าสมควร ถ้าไปแล้วได้ประโยชน์ แต่ถ้าไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ ท่านก็ไม่ให้ไป มีพระอยู่รูปหนึ่งอยู่ได้ ๒-๓ พรรษาก็ขอลาไปธุดงค์ ลาสองสามครั้ง ท่านก็ไม่อนุญาต ครั้งสุดท้ายไปลา ท่านก็บอกว่า ถ้าไปก็ไม่ต้องกลับมา ท่านจะดูจิตของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก อายุพรรษาไม่สำคัญเท่าไหร่ บางทีได้ ๕ พรรษาแล้ว ถ้าท่านเห็นว่ายังไม่สมควรไป ไปแล้วเสีย ไปแล้วสึก ท่านก็พยายามดึงไว้ อย่างน้อยอยู่ในวัดก็ยังได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ สำหรับอาตมาก็อยู่มาตลอด ๕ ปีแรกก็ไม่ได้ไปไหนเลยเปลี่ยนทัศนคติใหม่เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดหาครูบาอาจารย์ ตอนเรียนหนังสือก็เรียนอีกศาสนาหนึ่ง ไปเรียนต่อก็ไปอยู่อีกซีกโลก แต่ทำไมยังมาทางนี้ได้ เพราะที่ไปมานั้นไม่ถูกใจ ไปเพราะหน้าที่ ต้องไปเรียนหนังสือ พอหมดหน้าที่แล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเองได้ พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มเดียวก็ติดใจเลย ก็เขียนไปขอมาอีกหลายเล่ม พอได้อ่านก็รู้ว่าต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติได้ผลปั๊บ ก็รู้ว่าต้องหาที่ปฏิบัติ เพราะชอบความสงบเวลาจะบวชก็กำหนดไว้เลยว่า ต้องบวชวัดที่สงบไม่มีกิจกรรมต่างๆ ไม่มีงานบุญบังสังสวด
การปฏิบัตินี้ ถ้ามีสถานที่ดี มีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางนี้ มีความพากเพียรที่จะปฏิบัติตามคำสอน ผลจะต้องปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะผลเกิดจากเหตุ เหตุก็คือความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ต้องมีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วคอยสอนถึงจะมีความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียร เข้มแข็ง อดทน กล้าหาญ แล้วก็มีสถานที่ๆ เหมาะต่อการปฏิบัติ ไม่มีอะไรต่างๆ มาดึงใจไปจากการภาวนา เช่น งานก่อสร้างต่างๆ งานบุญงานกุศลต่างๆ ได้เดินจงกรม ได้นั่งสมาธิ ได้ปลีกวิเวก ได้รับอุบายต่างๆ จากผู้ที่ได้รับผลมาแล้วก็จะได้ผลอย่างรวดเร็ว
พอบวชแล้วได้อยู่วัดป่าบ้านตาด จึงเห็นว่าไม่ได้เป็นการติดคุกเลยเป็นการบำเพ็ญเป็นการปฏิบัติ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ต่างหาก
ก่อนหน้านั้นก็เคยคิดอยู่ว่าการบวชเป็นเหมือนติดคุก ตอนที่เริ่มปฏิบัติก็ไม่เคยคิดว่าจะบวช คิดว่าเป็นฆราวาสปฏิบัติไปก็จะอยู่อย่างมีความสุข แต่พอปฏิบัติไปจริงๆ ก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันขัดกัน ชีวิตของฆราวาสกับความสงบของจิตใจไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อเห็นสัจธรรมนี้แล้ว ก็จะไม่เห็นว่าการบวชเป็นเหมือนติดคุก แต่ก็ยังมีกิเลสลึกๆ ที่ทำให้ไม่อยากบวชอยู่ ถ้าช่วงนั้นมีเงินพอ ไม่ต้องไปทำงาน ก็อาจจะไม่บวชก็ได้ อาจจะปฏิบัติเป็นฆราวาสไปเรื่อยๆ แต่จะเป็นผลเสียมากกว่าเป็นผลดีเพราะจะขาดครูบาอาจารย์ ขาดหมู่คณะ ยังไม่เก่งพอที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยลำพังได้ อาจจะหลงผิดติดอยู่กับเพศฆราวาส คนที่คิดว่าปฏิบัติธรรมเก่งแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่ แสดงว่ายังหลงผิดอยู่มาก เราก็เคยคิดอย่างนี้มาก่อน พอบวชแล้วจึงเห็นคุณค่าของการบวช ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ที่เลิศวิเศษ อยู่กับหมู่คณะที่ดี ได้สถานที่ดีมันช่วยได้มาก
ตอนที่ยังไม่ได้ไปอยู่กับหลวงตา ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีพระมีครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูง เพราะไม่เคยได้สัมผัส ตอนนั้นอยู่แต่ภาคกลางก็ไม่ค่อยได้เจอ เห็นแต่พระตามบ้านตามเมือง ก็ไม่ได้มีอะไรวิเศษ ตอนนั้นก็อาศัยการอ่านหนังสือธรรมะ ในความรู้สึกก็คิดว่าเพียงพอที่จะคลำทางไปได้เอง
แต่เมื่อได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วจึงจะรู้ว่ามันต่างกันมาก เหมือนกับมีแผนที่พาเราเดินทางออกจากป่า กับมีพรานที่ชำนาญทางพาเราเดินออกนี่มันต่างกัน
การดูแผนที่คลำไปนี่ บางทีก็ดูผิดดูถูกได้ แต่ถ้ามีคนพาไปนี่เราไม่ต้องทำอะไรเลย เดินตามเขาไปอย่างเดียว เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำตามเขาบอก ไม่ต้องเสียเวลา เพราะการปฏิบัตินี้มันจะต้องหลงผิดทุกขั้นไปเลย ถ้าไม่ได้อยู่ศึกษากับผู้ที่ได้ผ่านมานี้ จะไม่รู้คุณค่าของข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็จะปฏิบัติไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา ซึ่งเป็นความรู้สึกของกิเลสนั่นเอง ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วไปปฏิบัติตามลำพัง ส่วนใหญ่จะหลงทางกัน ถ้าไม่หลงก็จะเสียเวลามาก ลำดับต่อไป ชีวิตพระวัดป่าบ้านตาด
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:21:12 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #3 เมื่อ: 04 ตุลาคม 2560 18:02:03 » |
|
ชีวิตพระวัดป่าบ้านตาดพระที่ไปอยู่กับหลวงตาก็เป็นเหมือนลูกของท่าน ท่านเป็นเหมือนพ่อเป็นเหมือนแม่ของพระเณรที่ไปอยู่ศึกษากับท่าน พระเณรจึงเรียกท่านว่า พ่อแม่ครูจารย์
สมัยที่ไปอยู่บ้านตาดใหม่ๆ นี่ ท่านรับพระเณรประมาณ ๑๗ รูปเท่านั้น ใครเป็นลำดับที่ ๑๘ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องออกไป แต่ตอนหลังท่านก็เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพราะมีผู้สนใจมาก ครูบาอาจารย์ที่ให้การอบรมสั่งสอนได้ก็ชราภาพลงไปมาก มีน้อยลงไป ท่านก็เลยต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น คุณภาพก็ด้อยลงไปด้วย พอมีพระเณรมากขึ้น ก็จะไม่สงบเหมือนเมื่อก่อน เพราะถ้ามีพระเณรที่ไม่มีธรรมมาก ก็จะดึงไปในทางที่ไม่ใช่ธรรม ถ้ามีจำนวนน้อยแต่มีธรรม ก็จะไปในทางธรรมกัน เวลารับพระรับเณร ท่านถึงต้องดูคุณสมบัติว่าใฝ่ธรรมหรือไม่ สนใจที่จะปฏิบัติธรรมจริงๆ หรือไม่ จะดูว่ามีสติหรือไม่ ถ้ามีสติแสดงว่าใฝ่ธรรมแล้ว ถ้าไม่มีสตินี้แสดงว่าไม่ใฝ่ธรรม ถึงแม้จะใฝ่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ถ้าทำอะไรผิดๆ ถูกๆ สะเปะสะปะ แสดงว่าไม่มีสติอยู่กับตัว ดูก็รู้ ท่านจึงเลือกพระเณรพอสมควร
พระที่ได้อยู่ศึกษากับหลวงตานี้ พออยู่ได้ระยะหนึ่งท่านจะไล่แล้ว ท่านจะบอกว่าเปิดโอกาสให้พระอื่นเข้ามาเรียน
ข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่าบ้านตาด ช่วงที่ไปอยู่ พอตื่นเช้าขึ้นมาทำกิจส่วนตัวเรียบร้อยก็ลงไปที่ศาลา ต้องรีบไปให้ทัน ถ้าไปหลังเขาแสดงว่าเอารัดเอาเปรียบ พอไปถึงศาลาก็เตรียมจัดอาสนะ จัดบาตร จัดอะไรก่อนที่จะออกบิณฑบาต และก็จะกวาดถูศาลากัน เมื่อก่อนนี้หลวงตาจะลงมาคุมพระทำงานที่ศาลาเอง ช่วงที่พระกำลังทำงาน ท่านก็จะนั่งยืดเส้นยืดสายไปด้วย ท่านใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำกิจของท่านไปในตัว และคุมพระไปด้วยแทนที่จะอยู่ทำกิจของท่านที่กุฏิ ปล่อยให้พระละเลงกันเองที่ศาลา คนขยันก็ทำแทบเป็นแทบตาย คนขี้เกียจก็จะไม่ทำเลย แต่พอมีท่านนั่งคุมอยู่ทุกคนก็พร้อมเพรียงกัน
แต่บางครั้งท่านก็ต้องลุกมาทำเองนะ เพราะบางทีมีพระที่หูหนวกตาบอดมาจากที่อื่น ไม่รู้ว่าหน้าที่ของพระเป็นอย่างไร เช่นตอนเช้าที่พวกเราจะช่วยกันกวาดถูศาลา บางทีมีพระมาจากกรุงเทพฯ เขาจะไม่เคยกวาดถูศาลามาก่อน ก็จะยืนเฉยๆ บางทีหลวงตาท่านก็ต้องลงไปถูเองกวาดเองเขาถึงจะทำตาม
พื้นศาลาที่นั่นใช้เทียนไขทา เอาเทียนไขมาต้มกับน้ำมันก๊าด แล้วก็มาทาบนพื้นไม้ เวลาเดินจะมีรอยติดอยู่ จึงต้องถูพื้นด้วยกะลามะพร้าวทุกเช้าทุกเย็น ทุกคนต้องช่วยกันทำ พอเริ่มถูก็ถูกันหมดทุกรูปเลย ถูเสร็จก็ช่วยกันกวาด กวาดเสร็จก็เตรียมห่มจีวรออกบิณฑบาต
มีอยู่ปีหนึ่งหนาวมากถึง ๖ องศา หนาวจริงๆ ก็ยังต้องออกบิณฑบาต สมัยนั้นถนนยังเป็นลูกรัง ยังไม่ได้ราดยาง เวลาเดินเหยียบก้อนหินเหมือนกับเหยียบก้อนน้ำแข็ง ต้องเดินเท้าเปล่า สุดทรมานเลย แต่เป็นการฝึกที่ดี แต่ไม่เคยท้อหรอก ช่วงเสาร์อาทิตย์จะมีญาติโยมจากอุดรฯ มาสัก ๒-๓ เจ้า มาใส่บาตร ส่วนใหญ่จะได้อาหารจากบิณฑบาต เสริมด้วยอาหารจากโรงครัว และผลไม้ที่ปลูกไว้ในวัด พวกกล้วย มะละกอ สับปะรด มะม่วง แล้วแต่ฤดู
ฉันเสร็จก็ล้างบาตร ช่วยกันทำความสะอาดศาลา หลังจากนั้นก็กลับกุฏิภาวนา จนถึงช่วงบ่าย ๒ โมง ถ้าอยากจะฉันน้ำชากาแฟ ฉันน้ำปานะ ก็มีที่เตรียมไว้ให้ฉัน ฉันเสร็จแล้วก็ช่วยกันปัดกวาด เสร็จแล้วก็ช่วยกันทำความสะอาดศาลา เข็นน้ำไปใส่ตุ่มตามที่ต่างๆ ตักน้ำจากบ่อใส่ปี๊บใส่รถเข็นแล้วก็เข็นไปใส่ในห้องน้ำต่างๆ ตามกุฏิ ตามสถานที่ต่างๆ เสร็จแล้วก็กลับกุฏิสรงน้ำ แล้วก็ภาวนาต่อ
วันไหนที่ท่านจะประชุมอบรมพระ ท่านจะให้พระมาบอกตอนใกล้ๆ พลบค่ำ พอบอกปั๊บก็ต้องรีบไปเลย เพราะท่านจะไปรออยู่แล้ว จะปล่อยให้ครูบาอาจารย์นั่งรอก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ พอพระมาบอกประชุมคำเดียวก็รีบไปเลย หยิบไฟฉายหยิบผ้าปูนั่งกับจีวรได้ก็ต้องรีบไปเลย ใครไปถึงก่อนก็ช่วยจัดที่นั่ง จุดธูปจุดเทียน ไม่มีไฟฟ้า เวลาท่านเทศน์ก็มีแค่เทียน ๒ เล่มที่จุดไว้บูชาพระเท่านั้นเอง สมัยที่อยู่กับหลวงตา ท่านจะอบรมพระทุก ๔ หรือ ๕ วัน อย่างน้อยก็ ๒ ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าช่วงเข้าพรรษาจะอบรมอย่างถี่อย่างต่อเนื่อง ธรรมะของหลวงตาเข้มข้นมาก ตอนนั้นท่านยังมีกำลังวังชา มันพุ่งไปๆ อย่างเดียว บางทีเทศน์ไม่ทันธรรมที่ไหลออกมา ยิ่งเทศน์ยิ่งเร็ว พอได้ฟังก็เหมือนกับปลาได้น้ำมีกำลังจิตกำลังใจ
ท่านเห็นความสำคัญของการอบรมมาก เป็นประโยชน์มาก เวลาไม่ได้ฟังธรรม ใจจะคิดไปทางโลก พอได้ฟังธรรมใจจะหมุนไปทางธรรม ฟังแล้วจะมีกำลังใจ เหมือนต้นไม้ได้น้ำ มีความกระตือรือร้น ออกจากประชุมไปเดินจงกรม นั่งภาวนาได้ทั้งคืนเลย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ว้าเหว่ รู้สึกว่าครูบาอาจารย์และมรรคผลนิพพานอยู่ใกล้ๆ เรา
แต่ถ้าไม่มีประชุม พอสัก ๔–๕ วัน ผ่านไป กำลังใจก็ค่อยอ่อนไปเรื่อยๆ กิเลสก็ฮึกเหิมขึ้น ก็จะขี้เกียจภาวนา เดินได้สองสามก้าวก็เบื่อแล้วเพราะใจไม่หมุนไปทางธรรมเหมือนใจของท่าน ใจของท่านเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา แต่ใจของพวกเรายังไปทางโลก ยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ พอคิดทางโลกก็จะไม่มีกำลังภาวนา พอได้ฟังธรรมแล้วก็จะมีกำลัง
ฉะนั้น การศึกษาธรรมะด้วยตนเองสู้อยู่กับครูบาอาจารย์ไม่ได้ เพราะท่านเป็นเหมือนหมอ แต่หนังสือเป็นเหมือนตำรารักษาโรค ไม่เหมือนกัน ถ้าบอกหมอว่าเป็นอะไร หมอจะบอกวิธีรักษา บอกยาให้รับประทานเลย ถ้าเป็นตำราก็ต้องไปค้นหาดูกว่าจะพบว่าโรคนี้ควรจะใช้ยาชนิดไหน จะรักษาแบบไหนก็จะนาน หรือรักษาผิดๆ ถูกๆ ก็ได้ ถ้ามีหมอจะง่ายกว่า ครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนหมอ ส่วนหนังสือธรรมะเป็นเหมือนตำราที่หมอเขียนไว้ แต่เขียนไว้หลายโรคด้วยกัน เวลาเราเป็นโรคกว่าจะไปเปิดหาเจอว่าโรคนี้รักษาด้วยวิธีไหนก็ต้องเสียเวลาไปพอสมควร
แต่โดยเจตนารมณ์เดิมที่ไปนั้นไม่ได้ไปหาครูบาอาจารย์ นี่ไม่ได้ประมาทนะ เพียงแต่เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง เพียงแต่อยากจะหาสถานที่ปฏิบัติ
โชคดีที่ได้ทั้งสถานที่ ได้ทั้งครูบาอาจารย์ด้วย ยิ่งทำให้การปฏิบัติไปได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างง่ายดาย เหมือนได้พบทางเดิน เพียงเดินตามจะเกิดผลไปโดยไม่คาดฝัน อยู่ที่บารมี ถ้าสะสมมามากจะผลักเราไปเอง เติมเต็มภาคปฏิบัติจากหนังสือหลวงตาสมัยที่เราไปใหม่ๆ ยังไม่มีเทปให้ฟัง ได้แต่อ่านหนังสือของท่านวันละชั่วโมง ก็เหมือนกับได้ฟังท่านเทศน์ เพราะท่านเขียนออกมาจากใจ เป็นธรรมล้วนๆ อ่านแล้วจิตก็สงบ ถ้าท่านไม่เรียกประชุมก็ได้ฟังเทศน์ด้วยการอ่านหนังสือของท่าน ทำให้มีธรรมคอยเตือนใจให้เร่งปฏิบัติ การฟังธรรมจึงสำคัญมาก เพราะยังไม่รู้จักทาง ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่รู้อุบายต่างๆ ปัญหาต่างๆ พอได้อ่านแล้วก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ
อาตมาก็ไม่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรง ส่วนใหญ่จะได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ อีกส่วนหนึ่งก็อ่านหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง จะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือที่เป็นตำรา เพราะอ่านไม่ได้ เรื่องเยอะเหลือเกิน บางทีเรื่องไม่ตรงประเด็นที่เราต้องการจะรู้ แต่ถ้าอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์พระปฏิบัตินี้ ท่านจะพูดตรงประเด็นกับที่เราปฏิบัติ แล้วก็ยกเรื่องจากพระไตรปิฎกมาเสริม ในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องราวต่างๆ อยู่มาก อาจจะทำให้เราท้อได้ ต้องเรียนรู้ทุกๆ เรื่องเลยหรือ ไม่ต้องหรอก หาหนังสือดีๆสักเล่มหนึ่งที่เจาะจุดสำคัญๆ ก็พอ เช่น หนังสือของครูบาอาจารย์นี่แหละ
ตอนที่ไปอยู่กับหลวงตาใหม่ๆ ช่วงไหนไม่ได้นั่งภาวนาหรือเดินจงกรมก็จะอ่านหนังสือของหลวงตา อ่านทุกวันเลย ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน วันละชั่วโมง อ่านเกือบทุกเล่ม เวลาอ่านนี้ก็นั่งขัดสมาธิอ่าน ก็เหมือนกับนั่งฟังเทศน์ สมัยนั้นในวัดยังไม่มีเครื่องเล่นเทป ก็ใช้อ่านหนังสือเอา อ่านไปจิตก็เย็นสบาย เกิดปัญญาด้วย เกิดความเข้าอกเข้าใจ ตอนนั้นมีไม่กี่เล่ม มีปฏิปทาฯ มีประวัติพระอาจารย์มั่น มีหนังสือที่ท่านไปเทศน์ที่ลอนดอน มีแว่นดวงใจ ที่เป็นเล่มหนาที่สุด ตอนนั้นยังไม่มีธรรมชุดเตรียมพร้อม
ธรรมชุดเตรียมพร้อม ชุดนี้ดีมากนะ เพราะท่านสอนวิธีปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ท่านไม่สอนเรื่องทาน เรื่องศีล ท่านจะสอนเรื่องภาวนาเป็นหลัก เรื่องละตัณหาต่างๆ ความหลง เรื่องการปล่อยวางร่างกาย เพราะผู้ฟังคือ คุณเพาพงานี้ป่วยเป็นโรงมะเร็ง รักษาไม่หายแล้ว หมอบอกว่าไม่มียา ไม่มีวิธีที่จะรักษาเขาให้หายได้ เหลือเวลาอีกอย่างมากก็ ๖ เดือน เขาก็เลยมาพึ่งหลวงตา ขอหลวงตาไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด เพื่อให้หลวงตาช่วยสอนเขาเจริญทางด้านจิตใจ ให้เขามีธรรมะเพื่อที่จะดับความทุกข์ที่เกิดจากความตายนี้ให้ได้
หลวงตาบอกว่า ถ้าจะมาเพื่อภาวนาก็มาได้ แต่ถ้ามาแล้วต้องเอาหมอเอาหยูกเอายาเอาอะไรต่างๆ มาด้วย ก็อย่ามาดีกว่า เขาก็ใจกล้า ไปแบบตัวเปล่าๆ ไปเพื่อภาวนาจริงๆ หลวงตาท่านเห็นความจริงจังที่เขามุ่งมั่นมาหาท่านเป็นที่พึ่งจริงๆ ท่านก็เลยยอมสอนให้เขาได้มีที่พึ่ง
หลวงตาท่านเทศน์ในปี ๒๕๑๘ เราเข้าไปอยู่ตอนเดือนเมษายน คุณเพาพงาไปตอนออกพรรษาแล้ว ช่วงปลายตุลาคม ต้นพฤศจิกายน ท่านก็เมตตาเทศน์ทุกคืน ตั้งแต่สร้างวัดป่าบ้านตาดมาท่านไม่เคยไปเทศน์ทุกคืนในครัวเลย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ท่านเทศน์ทุกคืน ยกเว้นคืนที่มีภารกิจอื่น คืนที่ต้องเทศน์สอนพระ ท่านก็ไม่ได้ไปในครัว หรือไปธุระข้างนอก รู้สึกว่าท่านแสดงประมาณ ๙๐ กว่าครั้งด้วยกัน ในระยะเวลา ๔ เดือนนี้ ท่านบอกว่าท่านไม่เคยแสดงธรรมแบบนี้ให้กับใครมาก่อน เท่าที่เราได้ยินก็ทราบว่าเขาได้รับผลจากการได้ศึกษาได้ปฏิบัติในครั้งนี้
ฉะนั้น ธรรมะนี้เป็นของที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติและรับผลได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส เป็นหญิงหรือเป็นชาย ข้อสำคัญขอให้มีคนสอนเถอะ แล้วขอให้เราคนเรียนก็ตั้งใจเรียนจริง ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ แล้วรับรองได้ว่าผลจะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน
หลังจากที่ท่านเทศน์โปรดคุณเพาพงาแล้ว ม.ร.ว.ส่งศรีกับน้องสาวต้องขอหลวงตาพิมพ์หลายครั้ง ท่านถึงจะอนุญาต จึงเป็นที่มาของหนังสือ ๒ เล่ม คือ ธรรมชุดเตรียมพร้อม และศาสนาอยู่ที่ไหน
ท่านบอกว่าชุดนี้มันเผ็ดร้อน สอนให้เตรียมตัวสู้กับทุกขเวทนาตอนใกล้ตาย สำหรับคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าแรงเกินไป ท่านจึงไม่อยากให้เผยแผ่ไปสู่คนที่ไม่ได้ปฏิบัติ เกรงจะไม่ได้รับประโยชน์ เหมือนกับให้เด็กกินแกงเผ็ด กินแค่คำเดียวก็ส่ายหน้าหนี แต่ผู้ใหญ่ที่ชอบของเผ็ดๆ ร้อนๆ อยู่แล้ว พอได้กินเพียงคำเดียวก็จะติดใจ เป็นประโยชน์มาก เพราะท่านเน้นไปเรื่องธาตุขันธ์
เรื่องการต่อสู้กับทุกขเวทนา ด้วยอุบายแห่งสมาธิ ระลึกอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง จะเป็นพุทโธก็ได้ หรือพิจารณาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าเวทนาก็สักแต่เวทนา ไม่ได้ร้ายแรงอะไร จะสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นเวทนาเหมือนกันหมด มีอวิชชา มีความหลง ไปแยกว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่แยกก็เหมือนกันหมด สุขเวทนาก็เป็นเวทนา ทุกขเวทนาก็เป็นเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์เวทนาก็เป็นเวทนาเหมือนกัน ปรากฏขึ้นมาในจิตแล้วก็ดับไป เกิดดับๆ อยู่ในจิต ถ้าจิตไม่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีอวิชชา ความหลงไปแยกว่า เวทนาแบบนี้ดี เวทนาแบบนี้ไม่ดี ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เหมือนกับน้ำที่โยมถวายมามีน้ำเขียว น้ำขาว น้ำแดง ถ้าไปแยกว่าชอบไม่ชอบเข้าก็จะมีปัญหา คนที่ชอบน้ำสีขาวพอเจอน้ำสีแดงก็ส่ายหน้า คนที่ชอบน้ำสีแดงพอเจอน้ำสีขาวก็ส่ายหน้า คนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบก็มีใจเหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ถูกเสี้ยมสอนมาให้ชอบไม่ชอบเท่านั้นเอง
ใจของเราถูกอวิชชาถูกความหลงเสี้ยมสอนมาไม่ให้ชอบทุกขเวทนา ให้ชอบแต่สุขเวทนา พอเจอสุขเวทนาก็ยิ้มอยากจะได้ จึงแย่งกัน แย่งสมบัติกัน แย่งสามีภรรยากัน เพราะเป็นสุขเวทนา พอต้องไปทำงานตรากตรำลำบากลำบนก็ส่ายหน้าหนีกันหมด เพราะถูกเสี้ยมสอนมาแบบนั้น ก็เลยต้องมีปฏิกิริยาแบบนั้น แต่พวกเราไม่รู้ว่าถูกเสี้ยมสอนมา คิดว่าเป็นธรรมชาติของเราที่พ่อแม่ไม่ต้องสอน เรื่องสุขเวทนาทุกขเวทนานี้ พ่อแม่ไม่ต้องเสียเวลาสอน จิตมันรู้เอง พอเจอทุกขเวทนาก็ส่ายหน้าหนีเลย พอเจอสุขเวทนาก็วิ่งเข้าหาเลยฟังเทศน์ฟังธรรมหลวงตาการฟังธรรม ฟังเพื่อให้เกิดฉันทะ วิริยะ ที่จะปฏิบัติ เมื่อมีฉันทะ วิริยะแล้ว เวลาปฏิบัติไม่ต้องนั่งอยู่ใกล้ท่านแล้ว ต้องไปปลีกวิเวก ไปหาที่สงบสงัด พอธรรมะจะจางหายไปจากใจก็กลับมาหาท่านใหม่ กลับมาฟังเทศน์ฟังธรรมต่อ แล้วก็กลับไปปฏิบัติใหม่ ครูบาอาจารย์ถึงต้องคอยอบรมพระเณรที่อยู่กับท่านอย่างสม่ำเสมอ
ตอนเราเข้าไปอยู่ที่บ้านตาดใหม่ๆ เวลาหลวงตาจะอบรมพระนั้น แล้วแต่ท่านจะสะดวก ช่วงนั้นประมาณสัก ๔-๕ วันครั้ง ตอนเย็นๆ ตอนเกือบพลบๆ ท่านจะบอกให้พระรูปหนึ่งไปบอกพระมาประชุม ไม่มีการตีกลอง ตีระฆัง ตีอะไรทั้งสิ้น ท่านจะบอกพระที่ใกล้ชิดที่ปฏิบัติท่าน ให้ไปบอกพระมาประชุมกัน แล้วพระท่านก็จะไปบอกต่อๆ กัน พอบอกประชุมปั๊บ ต้องรีบ มาเลย กำลังทำอะไรอยู่ต้องวางไว้หมด เอาผ้าอาสนะ เอาไฟฉาย เอาจีวรแล้วก็รีบมา เพราะถ้ามาช้านิดหนึ่งนี่ ท่านจะนั่งรอเราอยู่แล้ว
สมัยที่เข้าไปอยู่ไม่มีไมโครโฟน ก็เหมือนตอนนี้ มีพระเณรประมาณ๑๐ กว่ารูป ท่านก็นั่งอยู่ตรงนี้ พระเณรก็นั่งอยู่ข้างหน้าท่าน ท่านก็พูดเสียงดังพอได้ยินกัน
เวลาหลวงตาเทศน์ พูดครั้งแรกก็ประมาณสักชั่วโมงหนึ่ง หรือ ๔๕ นาที เสร็จแล้วท่านก็พักฉันน้ำ เคี้ยวหมาก แล้วทีนี้ก็จะเล่าเรื่องราวสมัยที่อยู่กับหลวงปู่มั่น สมัยที่ท่านปฏิบัติ เช่น ตอนที่ท่านนั่งภาวนาทั้งคืน เป็นต้น ก็จะแบ่งเป็นสองภาค เทศน์แต่ละครั้งก็ประมาณสัก ๒ ชั่วโมง
ฟังแล้วก็จะได้กำลังจิตกำลังใจ พอกลับไปแล้ว ก็ขยันหมั่นเพียรขึ้นเยอะ มีกำลังใจนั่งสมาธิได้นาน เดินจงกรมได้นาน เป็นเครื่องกระตุ้นให้เราเร่งความเพียรอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้นิ่งนอนใจ การฟังเทศน์ถึงต้องฟังอยู่เรื่อยๆ กาเลน ธัมมัสสวนัง พอฟังเทศน์ของท่านแล้ว มีกำลังใจ บางทีกลับไปนั่งภาวนา เดินจงกรมจนถึงสว่างเลย เหมือนกับท่านอัดฉีดกำลังใจให้เต็มที่เลย
การได้อยู่กับครูบาอาจารย์แบบนี้ถือว่าโชคดี เป็นบุญมาก เพราะโดยปกติตัวเราเองจะไม่ค่อยมีกำลังที่จะขับตัวเราเท่าไร ไม่มีธรรมะที่จะล่อด้วย ท่านมีทั้งลูกล่อและลูกผลัก ลูกล่อ ก็คือ ธรรมะอันวิเศษที่ได้จากการปฏิบัติเอาออกมาอวดมาโชว์ เหมือนกับท่านมีแหวนเพชรสวยๆ ท่านก็เอามาโชว์ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะได้แหวนอย่างนี้ พอเห็นแหวนสวยๆ เราก็อยากจะได้ ก็มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ แล้วท่านก็จะบอกวิธีการปฏิบัติว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องอดทนขนาดไหน จะต้องทุ่มเทอย่างไร มันก็ทำให้เรามีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติมากขึ้น
การได้ยินได้ฟังธรรมะของท่านอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นการเตือนสติให้รู้ว่าทางที่จะต้องไปนั้นไปทางไหน เวลาปฏิบัติธรรมนี้จิตมักจะไปติดตามจุดต่างๆ เวลาได้สมาธิก็จะติดอยู่ในสมาธิ ภาวนาทีไรก็จะภาวนาให้สงบอย่างเดียว พอสงบนิ่งแล้วก็มีความสุข พอถอนออกมาก็ไม่ได้พิจารณาธรรมะต่อ ไปทำอะไรอย่างอื่นก๊อกๆ แก๊กๆ ไป พอจิตฟุ้งซ่านขึ้นมาก็กลับไปทำสมาธิใหม่ แต่ไม่ได้เจริญปัญญา
ท่านก็เลยต้องคอยเตือนเสมอว่า พอได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิควรไปทางปัญญาต่อ ควรพิจารณาร่างกายก่อน พิจารณาให้เห็นถึงความไม่สวยงาม อสุภะ ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย เพื่อคลายความกำหนัดยินดี นอกจากอาการทั้ง ๕ ที่อยู่ข้างนอกร่างกายคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังแล้ว ยังมีอาการที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ผิวหนัง เช่น เนื้อ เอ็น กระดูก อวัยวะต่างๆ ให้เข้าไปดูด้วยปัญญา คือตาเนื้อของเรานี้มองทะลุหนังเข้าไปไม่ได้ แต่ปัญญานี้มันทะลุเข้าไปได้ เพราะเราสามารถกำหนดพิจารณาจินตนาการภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้
ช่วงหลังๆ การประชุมก็เริ่มห่าง เพราะหลวงตาท่านมีภารกิจมากขึ้น มีปัญหาทางด้านสุขภาพบ้าง จนบางครั้งก็ห่างเป็นเดือนเลยก็มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นว่าได้มีการบันทึกเสียงธรรมะของท่านไว้เป็นจำนวนมากแล้ว พระทุกองค์สามารถหาฟังได้ จึงไม่ค่อยวิตกกังวลกับการอบรมสั่งสอน
เทคโนโลยีหรือเครื่องใช้ไม้สอยสมัยใหม่นี้เอามาใช้ประโยชน์ในทางธรรมะได้ เอามาเปิดฟังธรรมได้ เวลาที่อยากจะฟังก็เอามาเปิดฟังได้ ไม่ต้องไปพบท่านเสมอไป เพราะธรรมะที่ฟังแต่ละครั้งนี้ จะได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ท่านพูด ๑๐๐ คำ อาจจะได้เพียง ๑๐ คำเท่านั้นเอง หรือเข้าใจเพียง ๑๐ คำ เพราะจิตของเราวันนั้นอยู่ในระดับนั้น รับได้เพียงส่วนนั้น แต่ส่วนที่เหนือความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้ก็จะไม่เข้าใจ พอได้ปฏิบัติธรรมได้ขยับขึ้นไปอีกหน่อย พอกลับมาฟังกัณฑ์เดิมก็เหมือนได้ฟังกัณฑ์ใหม่ เหมือนไม่เคยได้ฟังมาก่อน คราวที่แล้วก็ฟังมาแล้วแต่ทำไมไม่เหมือนกับคราวนี้ ได้อะไรใหม่ที่ไม่ได้ในคราวที่แล้ว
จึงอย่าไปคิดว่าธรรมะที่ได้ฟังแล้วนี้จะซ้ำซากจำเจหรือไม่มีอะไรใหม่ มันมีแต่เราไม่รู้ ควรฟังธรรมสลับกับการปฏิบัติ ให้ยึดเป็นแนวทางของการดำเนิน เวลาเข้าหาครูบาอาจารย์ไม่ได้เข้าเพื่อเห็นหน้าเห็นตาท่าน ไปเพื่อฟังธรรม ฟังแล้วจะได้ประเด็นไปปฏิบัติต่อ มีการบ้านไปทำ ธรรมที่ท่านแสดงที่เรายังทำไม่ได้ เป็นการบ้านของเรา ถ้าทำได้แล้วก็หมดปัญหาไป การเข้าหาครูบาอาจารย์ต้องเข้าอย่างนี้
เวลาไปวัด ถ้าไม่ได้นั่งข้างหน้า ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ถ้ามีระบบเสียงที่เราสามารถได้ยินได้ฟัง ก็เหมือนกับนั่งใกล้ชิดกับท่านก็ใช้ได้ ไปเพื่อธรรมะ เพราะท่านมีธรรมะ ไม่ต้องการอย่างอื่นจากท่าน ไม่ต้องการขนม ไม่ต้องการให้ท่านยิ้มหรือทักทายเรา ส่วนนั้นถือเป็นของแถมก็แล้วกัน เหมือนกับไปเติมน้ำมัน ถ้าแจกอะไรก็รับไว้ แจกผ้าขนหนู แจกปากกา แจกดินสอ แจกสมุด ก็รับไว้ แต่เราไม่ได้ไปปั๊มเพื่อสิ่งเหล่านี้ เราไปเติมน้ำมันเพื่อจะได้ขับรถไปสู่จุดหมายปลายทาง ไปหาครูบาอาจารย์ก็ไปหาธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมันที่จะขับจิตใจของเราให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน พระฝรั่งฟังธรรมหลวงตาสมัยที่อาตมาเข้าไปใหม่ๆ มีพระฝรั่ง ๓ รูป คือ ท่านปัญญา ท่านเชอรี่ และท่านเอียน ปัจจุบันท่านเอียนลาสิกขาแล้ว หลังจากนั้นอีกสักปีสองปีก็มีเข้ามาเพิ่มเป็น ๕-๖ รูป
พระชาวต่างประเทศที่อยู่กับหลวงตา ถ้าเป็นเรื่องธรรมะลึกๆ ก็ต้องอาศัยคนแปลให้ ท่านปัญญาจะทำหน้าที่แปลให้พระฝรั่งรูปอื่นฟัง หลังจากที่หลวงตาเทศน์เสร็จแล้ว หลวงตาก็บอกว่า เอาท่านปัญญาอธิบายให้หมู่เพื่อนฟัง
ท่านปัญญาก็จะสรุปให้ฟังประมาณสัก ๑๐ นาที ว่าวันนี้หลวงตาท่านพูดเรื่องอะไรบ้าง เขาก็พอที่จะได้เกร็ดความรู้บ้าง
ระหว่างนั้นหลวงตาก็จะนั่งฉันน้ำฉันหมากไป พระรูปอื่นก็นั่งสมาธินั่งภาวนาไป รอให้ท่านปัญญาอธิบายให้เสร็จเรียบร้อย พอเสร็จแล้ว หลวงตาก็จะคุยต่อแบบสนทนากัน เล่าเรื่องการปฏิบัติของท่าน เรื่องการอยู่กับหลวงปู่มั่น และเรื่องราวต่างๆ เป็นเกร็ดความรู้ พูดคุยประมาณ ๔๕ นาทีก็เลิกประชุมกัน
ตอนที่เราอยู่ก็ช่วยแปลหนังสือบางเล่มให้เขาอ่านกัน เทศน์บางกัณฑ์ที่ท่านเทศน์ เราก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาฟังกัน เพราะธรรมะนี่ละเอียดนะ เป็นนามธรรม จะแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวนี้ไม่พอ พวกสุนัขจึงไม่มีบุญ ไม่มีโอกาสที่จะได้รับธรรมะ ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ไม่มีสุนัขเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องเป็นมนุษย์ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้มาเจอพระพุทธเจ้า เจอพระพุทธศาสนาจึงเป็นลาภวิเศษที่สุด ไม่ได้เกิดได้ง่ายๆ นะ คราวหน้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็อาจจะไม่เจอพระพุทธศาสนาก็ได้ บุคคลสัปปายะถ้าได้ครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว แต่อาหารไม่ค่อยสัปปายะก็ไม่เป็นไร อย่างพระฝรั่งที่ไปอยู่กับหลวงตา ไม่เคยกินอาหารอย่างนี้มาก่อนก็กินได้ ไม่เคยอยู่ในสภาพแบบนี้มาก่อนก็อยู่ได้ ฝรั่งเกิดมาก็อยู่ท่ามกลางความสุขสบายอยู่แล้ว บ้านเขาก็มีทุกอย่าง มีเครื่องปรับความร้อน ปรับความเย็น มีน้ำไฟพร้อมทุกอย่างแต่เขาก็สละได้เพราะต้องการสิ่งที่ดีกว่า
ผู้ที่จะให้เขาได้ก็คือครูบาอาจารย์ บุคคลสัปปายะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ก็คืออาจารย์ที่เก่งและฉลาด ถ้าไม่มีอาจารย์ก็ต้องอาศัยสหธรรมิก คือเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ถ้าเป็นคนที่ฉลาดเก่งกว่าเรา อยู่กับเขาก็จะได้ประโยชน์ ถ้าไม่เก่งไม่ฉลาดกว่าเรา หรือฉลาดน้อยกว่าเรา เขาก็จะชวนเราคุย ชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เราเสียเวลาได้ เราจึงต้องเลือกคนที่เราอยู่ด้วย เพราะจะอยู่ตามลำพังไปตลอดไม่ได้ อยู่ในวัดก็ต้องอยู่กันหลายคน ถ้ารู้ว่าเขาไม่ภาวนา ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ถ้าไม่จำเป็นต้องทำสังฆกรรมร่วมกันก็แยกย้ายกันไปหาที่สงบ
ที่บ้านตาด หลวงตาท่านให้พระแยกกันอยู่ คือไม่ให้จับกลุ่มกัน ทำกิจเสร็จแล้วก็ให้แยกกันไป พอฉันเช้าเสร็จก็ให้แยกกันไป ตอนบ่ายมาฉันน้ำร้อน ฉันเสร็จก็ให้แยกกันไป ไม่ให้นั่งฉันน้ำร้อนแล้วคุยกันไป ท่านจึงต้องเดินมาตรวจที่โรงน้ำร้อนอยู่เรื่อยๆ มีอะไรฉันอย่างนั้นที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาเป็นประจำ ก็คือฉันในบาตร อาหารคาวหวานต่างใส่รวมเข้าไปในบาตรแล้วก็ฉันมื้อเดียว พอต่อความต้องการของร่างกาย ถ้าฉันมากกว่า ๑ มื้อก็แสดงว่าฉันเพื่อกิเลส ยังติดอยู่กับรสชาติของอาหาร ถ้าจู้จี้จุกจิกเลือกอาหารก็ต้องทรมานมันด้วยการคลุกอาหาร ทำไม่นานหรอกไม่ต้องทำไปตลอด ทำไปจนกว่าจะหายจู้จี้จุกจิก มีอะไรก็กินได้ ข้าวคลุกน้ำปลาก็กินได้
พระที่วัดป่าบ้านตาดไม่มีสิทธิเลือกอาหาร ทุกองค์ทำหน้าที่ตักแจกอาหารใส่บาตรให้แก่กัน ไม่ได้นั่งเลือกอาหารเอง เปิดบาตรไว้ พระแต่ละองค์พอรับอาหารจากหลวงตามา ก็เอาไปตักแจกใส่บาตรให้พระทุกรูป
ตอนบวชใหม่ๆ ใช้วิธีตัดปัญหาเรื่องชอบหรือไม่ชอบอาหาร ด้วยการใส่อาหารทั้งคาวทั้งหวานทั้งผลไม้รวมลงไปในบาตร แล้วก็คลุกรวมกัน เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันในท้องอยู่ดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย ร่างกายเป็นผู้กินเขาไม่เดือดร้อนอะไรเลย ใจไม่ได้กินกลับวุ่นวายเป็นตัวจู้จี้จุกจิก ใจไม่ได้กินร่างกายเป็นผู้กิน ใจเป็นเหมือนแม่ ร่างกายเป็นเหมือนลูก แม่จู้จี้จุกจิกเลือกอาหารให้ลูกกิน แม่ชอบอาหารอะไรก็บังคับให้ลูกกินอาหารชนิดนั้น แต่ลูกไม่สนใจ ให้กินอะไรก็กินได้ทั้งนั้น ให้ร่างกายกินอะไรเขาก็กินได้ทั้งนั้นควรฝึกอย่างนี้
ถ้าอยากจะก้าวหน้า ต้องฝึกมักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือใช้น้อยๆ กินน้อยๆ สันโดษก็คือยินดีตามมีตามเกิด มีอาหารอะไรก็รับประทานไป ถ้ารับประทานไม่ลงก็จะได้อดอาหาร ได้ดัดสันดานกิเลส พอไม่ได้กินมื้อนี้ เดี๋ยวมื้อต่อไปก็จะกินอะไรก็ได้เพราะหิว อาหารที่ไม่เคยกินไม่ชอบกิน ก็จะกินได้ เพราะหิว แม้แต่ข้าวคลุกน้ำปลาก็อร่อย ถ้าไม่ใช้มาตรการอย่างนี้จะไม่ก้าวหน้า ถ้าใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า ต้องทรมานใจด้วยอุบายต่างๆ
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติธุดงควัตร ๑๓ ข้อให้พระภิกษุปฏิบัติเพื่อเป็นการทรมานกิเลส เช่น ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นการทรมานกิเลส กิเลสชอบกินแต่ไม่ชอบบิณฑบาต ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อทรมานกิเลสที่ชอบกินทั้งวัน ธุดงควัตรเป็นอุบายทรมานกิเลสเพื่อพัฒนาใจให้เจริญก้าวหน้า เป็นการรีดกิเลส เหมือนรีดหนอง
ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ หนองจะไม่ไหลออกมาเอง ต้องรีดมันออกมาจะได้หายเร็ว จึงควรใช้มาตรการเหล่านี้ ถ้าต้องการเจริญทางจิตใจ ต้องกล้าจะใช้มาตรการแบบนี้
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:21:47 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #4 เมื่อ: 04 ตุลาคม 2560 18:06:08 » |
|
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(พระธรรมวิสุทธิมงคล) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ภาพจาก dhammada.net อดข้าวแก้กิเลสหลังจากบวชแล้วไม่ค่อยมีเหตุการณ์ทรมานใจ เพราะอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วก็ภาวนาตลอดเวลา ตอนนั้นบุกกิเลสแทนที่จะปล่อยให้มันบุก บุกมันด้วยการอดอาหาร พออดอาหารกิเลสจะถอย ถ้าไม่อดอาหาร ตอนเย็นๆ จะคิดถึงอาหาร อยากจะรับประทานอาหาร แต่พออดอาหารแล้วจะไม่คิดเลย เพราะเวลาอดอาหารจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องภาวนาตลอดเวลา ถ้าไม่ได้ภาวนาปุ๊บจิตจะปรุงแต่งคิดเรื่องอาหารทันที จะหิวขึ้นมาทันที พอนั่งสมาธิไป เดินจงกรมไป มันก็จะสงบลง ความคิดเรื่องอาหารก็จะหายไป
เวลาที่ได้อยู่กับหมู่กับพวกที่ปฏิบัติด้วยกันแล้ว จะเห็นอุบายวิธีต่างๆ อุบายที่ได้จากการไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดก็คือการอดอาหาร ตอนที่ศึกษาและปฏิบัติเองนี้ ยังไม่เคยทราบเรื่องการอดอาหาร แต่พอไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดใหม่ๆ ก็ไม่รู้ว่าพระท่านอดอาหารกัน บางวันพระบางรูปอยู่ๆ ท่านก็หายไป คิดว่าท่านลาไปธุระ พอถามท่านก็บอกว่าไปอดอาหาร
การอดอาหารนี้ อาตมาก็ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ตอนต้นฉันมื้อเดียวก็คิดว่าเต็มที่แล้ว พอเห็นพระท่านอดอาหารกันทีละหลายๆ วัน ก็เลยทำให้มีความมุมานะอยากจะลองดูบ้าง โชคดีที่เวลาอดอาหารมันก็ถูกจริต คือเป็นเครื่องกระตุ้นให้ต้องภาวนา เพราะเวลาอดอาหารนี่มันจะหิวข้าวมาก แล้วถ้าอยู่เฉยๆ มันจะคิดปรุงถึงเรื่องอาหารตลอดเวลา แล้วจะทุกข์ทรมานมาก จึงต้องดับมันด้วยการภาวนา ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงทำสมาธิก็นั่งกำหนดจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้ว ความคิดปรุงแต่งก็หยุดไป ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งก็หายไป ก็เลยเห็นว่าความหิวส่วนใหญ่นี้ มันอยู่ที่จิตเราแท้ๆ เวลาคิดถึงอาหารแล้วจะทรมานจิตใจมาก บางทีทั้งๆ ที่รับประทานอาหารเสร็จไปใหม่ๆ ถ้าไปคิดถึงอาหารจานโปรดเข้า ก็อยากจะรับประทานขึ้นมาอีกก็เกิดความหิวขึ้นมาอีกได้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ร่างกายก็รับอาหารเข้าไปเต็มที่อยู่แล้ว
เวลาที่อดอาหารไม่ต้องออกมาทำกิจร่วมกับหมู่คณะ ไม่ต้องมาทำกิจกรรมบนศาลา ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต แม้แต่การปัดกวาดของส่วนรวมก็ไม่ต้องทำ ทำแต่เฉพาะส่วนของตน หลวงตาท่านเน้นให้ปลีกวิเวกไม่ให้มาคลุกคลีกัน ไม่ให้มาสัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ถ้าอดอาหารก็ให้ภาวนาอย่างเดียว
เวลาอดอาหารนี้จะสร้างภาวะกดดันขึ้นมา คือสร้างความทุกข์ขึ้นมา คือความหิว ถ้าหิวแล้วก็มีวิธีแก้อยู่ ๒ วิธี คือ ๑.ต้องหาอาหารมารับประทาน ๒.ต้องดับความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ ถ้าอดอาหารก็จะไม่หาอาหารมาดับความหิว ก็มีอยู่ทางเดียวคือต้องดับความหิวด้วยการภาวนา ทำใจให้สงบ เพราะความหิว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ออกมาจากใจ ไม่ได้ออกจากร่างกาย ความหิวของร่างกายมีน้ำหนักเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งมีน้ำหนัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ถ้านึกถึงอาหาร น้ำลายก็จะไหลแล้ว
ดังนั้นเวลาอดอาหารก็เหมือนกับขึ้นเวที ไม่ได้ชกกระสอบทรายแล้วต้องชกกับกิเลสตัณหา จะอยู่แบบสบายๆ ไม่ได้ ต้องเข้มงวดกวดขันกับการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้านั่งแล้วเมื่อยก็เดินจงกรม เดินจงกรมแล้วเมื่อยก็กลับไปนั่งต่อ ก็เลยเป็นการบังคับให้ทำความเพียรไปในตัว เหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีแล้วจะยืนเก้ๆ กังๆ ไม่ได้ จะต้องใช้ความสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้
เวลาอดอาหารก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาคือความหิว ก็ต้องภาวนาเท่านั้น พอจิตสงบ ความหิวก็จะหายไป ออกมาเดินจงกรมได้สบายพอเดินไปได้สักระยะหนึ่ง กำลังของสมาธิก็จะหมดไป ความคิดปรุงแต่งก็จะคิดถึงอาหารอีกแล้วก็ต้องกลับไปนั่งสมาธิใหม่ พอจิตสงบ ความหิวก็หายไปอีก พอนั่งแล้วเมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมต่อ ทำอย่างนี้สลับกันไปทั้งวันทั้งคืน ก็เลยได้ ภาวนาอย่างต่อเนื่อง จิตถูกควบคุมด้วยสติด้วยปัญญาอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ต้องพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร เวลาคิดถึงอาหารที่อยู่ในจาน ก็ต้องนึกถึงอาหารที่อยู่ในปาก อยู่ในท้อง เวลาออกมาจากร่างกาย ก็จะหยุดความคิดปรุงแต่งเรื่องอาหารได้เป็นพักๆ พอคิดถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ปั๊บ ก็ต้องนึกถึงเวลาอยู่ในปาก อยู่ในท้องและเวลาออกมาจากร่างกาย แล้วความอยากที่จะรับประทานอาหารก็จะหายไป
เราจึงต้องสร้างภาวะที่กดดันจิตใจ เพื่อเราจะได้ผลิตธรรมะออกมาต่อสู้ ผลิตปัญญา ผลิตสมาธิผลิตสติ ถ้าอยู่ในสภาพที่สบายๆ กิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน
วันที่ฉันอาหาร เวลากลับมาถึงกุฏิจะง่วงเลย จะหาหมอนก่อน ไม่อยากเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถ้านั่งก็นั่งได้เดี๋ยวเดียวแล้วก็คอพับ ก็จะใช้การอดอาหารเป็นเครื่องมือสนับสนุนความเพียรไป อดบ้างฉันบ้างสลับกันไป อดทีละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง แล้วก็กลับมาฉัน ๒ วัน แล้วก็กลับไปอดใหม่
หลวงตาท่านเตือนให้สังเกตดูธาตุขันธ์ด้วยว่าเสียหายหรือเปล่าถ้า อดมากเกินไปก็จะทำให้ท้องเสียได้ ต้องคอยสังเกตดู ช่วงที่อดอาหารเราไม่มีอาการวูบ โดยจะทำจากน้อยไปหามาก ค่อยๆ ลดปริมาณลงไป ให้ร่างกายปรับตัว ถ้าอดอาหารแล้วมีปัญหาก็แสดงว่าไม่ถูกกับจริตก็ต้องใช้วิธีอื่น ของเราเคยอดได้สูงสุด ๙ วัน มากไปกว่านั้นจะไม่ได้ผล เพราะไม่ได้ภาวนา จะนอนมากกว่า
ถ้าอดได้ครั้งละ ๕ วันนี้กำลังดี ๓ วันแรกจะทรมานหน่อย เพราะช่วง ๓ วันแรกจะหิวมาก พอผ่าน ๓ วันไปแล้ว ก็จะไม่คิดถึงอาหารชนิดต่างๆ เพราะคิดก็ไม่ได้กิน จึงอดไปเรื่อยๆ ครั้งละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง อดวันเว้นวันบ้าง วันนี้ฉัน พรุ่งนี้ไม่ฉัน ทำอยู่ ๒ ถึง ๓ ปี แต่ไม่ได้อดเพราะเรื่องอาหารอย่างเดียว อดเพราะช่วยการภาวนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกียจคร้าน ไม่ให้ง่วง
ตอนอดอาหาร ท่านก็อนุญาตให้ฉันนมได้บ้าง สมัยนั้นไม่มีนมกล่อง มีนมข้นชงกับโอวัลติน ก็ฉันวันละถ้วย ก็ช่วยทำให้ไม่อ่อนเพลียมากเกินไป ตอนบ่ายก็ฉันน้ำปานะ บางครั้งหลวงตามีช็อกโกแลตมาแจก ท่านมักจะแจกให้กับพระที่อดอาหาร พระที่ไม่อดจะไม่ค่อยได้ ใครอยากจะฉันช็อกโกแลตก็ต้องอดอาหาร เวลาอดอาหารก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปเจอเสือ (หลวงตามหาบัว) ที่บนศาลา เวลาไปฉันแต่ละวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ ต้องขึ้นศาลาไปเจอเสือ ถ้าไม่อยากเจอเสือก็ต้องอดอาหาร พระเณรจึงอดอาหารกันมาก อดกันบ่อย ในช่วงเข้าพรรษานี้บางทีหายไปทีครึ่งวัด ถ้าไม่อด ออกมาฉันจะโดนเสือคำราม หลวงตาท่านต้องการให้พระภาวนากัน
อยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ถ้าไม่อดอาหารก็ต้องออกไปบิณฑบาต ออกไปทำกิจร่วมกับผู้อื่นก็จะเผลอคุยกัน ใจก็จะไม่สงบ ไม่ก้าวหน้า ไม่คิดถึงทางจงกรม ไม่คิดถึงการนั่งสมาธิ เพราะไม่มีเหตุบังคับ เช่นความหิวเหมือนกับยา ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่คิดถึงยา แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะคิดถึงยาตลอดเวลา เพราะอยากจะให้หาย เวลาอดอาหารก็เหมือนกัน จะคิดนั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้าไม่ทำ ความทุกข์ทรมานใจก็จะตามมาเพราะจะคิดปรุงแต่งแต่เรื่องอาหาร
พอเห็นคุณค่าของการอดอาหารแล้ว ก็ได้อดอาหารไปเรื่อยๆ จนจิตเข้าร่องเข้ารอย จึงไม่ต้องทรมานจิตด้วยการอดอาหารอีกต่อไปหลวงตาแก้ปัญหาให้โดยไม่ได้ถามเวลามีปัญหา เราไม่เคยถามท่านเลยนะตั้งแต่อยู่กับท่านมา ตอนที่ท่านเทศน์มันก็ครบอยู่แล้ว ยังไม่เคยถามปัญหาท่านเลย
แต่ครั้งหนึ่งเคยคุยกับพระรูปหนึ่ง เคยถามอะไรอยู่เรื่องหนึ่ง จำไม่ได้ อยู่ๆ หลวงตาก็ตอบมาโดยที่ไม่ได้ถามท่าน เหตุการณ์นี้คือไปปรนนิบัติท่าน ตอนนั้นช่วยถอนขนตาให้ท่านที่ทิ่มเข้าไปในตา ขนตาธรรมดามันจะยื่นออกมาข้างนอก แต่ของท่านจะยื่นเข้าไปข้างใน ต้องคอยถอน คนหนึ่งต้องคอยส่องไฟ อีกคนหนึ่งใช้คีมเล็กๆ ดึงขนตาออก ตอนแรกอาตมาก็ไม่ได้ไปทำหรอก แต่ตอนหลังหาพระไปทำไม่ได้ พระก็เลยบอกว่า ท่านไปทำหน่อย ถ้าไม่มีใครทำ เราก็ไป แต่ถ้ามีใครปรนนิบัติท่านอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องไป
ก่อนที่จะไป เราเคยคุยกับพระที่ท่านช่วยส่องไฟ ถามเรื่องอะไรไม่ทราบจำไม่ได้แล้ว อยู่ๆ หลวงตาก็พูดออกมา เออทำอย่างนั้นนะ ทำอย่างนี้นะ ท่านตอบคำถามของเราโดยที่เราไม่ได้ไปถามท่าน แต่เรื่องทางด้านปฏิบัตินี้แทบจะไม่ต้องถาม เพราะท่านเทศน์อย่างละเอียด เล่าทุกอย่างให้ฟัง อยู่กับท่าน ฟังเทศน์ก็หลายร้อยกัณฑ์แล้วก็เข้าใจ ต่อสู้กับความกลัวครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านก็มีป่ามีเขา มีสัตว์มีเสือเป็นเครื่องทดสอบจิตใจ ท่านจึงออกไปธุดงค์กันเพื่อเจริญวิปัสสนา ไปพิสูจน์ธรรมะของจริง ส่วนพวกเรายังเป็นปัญญาที่อยู่ในที่ปลอดภัย อาจจะคิดว่าเราไม่กลัวแล้วก็ได้ พอถึงเวลาที่ต้องไปเจอของจริงก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร
อย่างตอนที่เราต่อสู้กับความกลัวนี้ เวลาเดินในวัดตอนกลางคืนก็กลัวงู พอกลัวมากๆ ก็คิดว่า นี่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ ก็เลยตัดสินใจไม่ฉายไฟเดินไปมืดๆ ถ้าจะเหยียบงูหรืองูจะกัดก็ให้มันกัดไป ตอนที่กลัวมากๆ กลัวสุดขีดนี้ พอปลงได้แล้วก็หายกลัว ใจดิ่งเข้าสู่ความสงบ ต้องปลงจริงๆ ต้องยอมตายจริงๆ ต้องยอมให้งูกัดจริงๆ ต้องคิดว่ามีงู คิดว่ากำลังจะเหยียบงู ความจริงจิตมันหลอกเรา แต่ก็ต้องให้มันหลอก จะได้ปลงตายได้ พอปลงได้แล้วใจก็จะสงบ จะหายกลัว การทำอย่างนี้เพื่อเป็นการเข้าห้องสอบ เป็นการรีดหนองคือความกลัวให้ออกมาจากใจ ก็ต้องเจ็บบ้างเป็นธรรมดา งานภายใน งานภายนอกหลวงตาท่านเคยเล่าว่า ในหลวงท่านอยากจะสร้างโบสถ์ถวาย หลวงตาท่านยังปฏิเสธเลย ท่านบอกว่าวัดนี้ไม่สนใจกับการสร้างวัตถุ สนใจแต่สร้างคน สร้างคนให้เป็นพระมากกว่า การสร้างคนให้เป็นพระ ไม่จำเป็นต้องมีโบสถ์ แต่ต้องมีสถานที่สงบสงัดวิเวกในป่าในเขา
อย่างสมัยที่ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านก็เน้นแต่เรื่องงานภายในเป็นหลัก ให้พระภาวนาให้มาก ส่วนงานภายนอกก็ทำเท่าที่จำเป็น ท่านเข้มงวดมาก เรื่องงานภายนอกสำหรับพระเณร ที่วัดหลวงตาจึงไม่เน้นเรื่องถาวรวัตถุ สร้างเพื่อให้ใช้งานได้ก็พอ แล้วก็ไม่สร้างอย่างวิจิตรพิสดาร อย่างศาลาที่สร้างตั้งแต่ตอนสร้างวัดมาก็ยังไม่ได้รื้อ เพียงแต่ยกพื้นให้สูงขึ้น เพราะมีคนมามาก ชั้นบนพื้นที่ไม่พอ ก็เลยยกพื้นขึ้นเพื่อใช้ชั้นล่างที่กว้างใหญ่กว่าแทน
เวลาจะสร้างกุฏิแต่ละครั้ง ท่านต้องพิจารณาว่าจำเป็นจริงๆ ถึงจะให้สร้าง ท่านต้องการให้มีเวลาภาวนามากๆ ช่วงนั้นพระเณรท่านก็ไม่รับมากเกินไป เพราะว่า ๑. ถ้ามีมากก็ต้องสร้างที่อยู่เพิ่ม ๒. มีมากก็จะควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ได้ ฉะนั้น ที่วัดจึงมีกุฏิพอประมาณ ไม่มากจนเกินไป ถ้ามีมากก็อยู่ใกล้ชิดกันมาก ความวิเวกก็จะหมดไป มีแต่ความอึกทึกครึกโครม เวลาจะสร้างก็จะช่วยกันรีบทำให้เสร็จ ไม่ยืดเยื้อ ไม่ทำหามรุ่งหามค่ำ ทำถึงตอนเย็นก็ให้หยุด เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ
ส่วนงานที่ต้องทำประจำ ก็ช่วยทำพร้อมกันทั้งวัด เช่น งานทำไม้กวาด ซึ่งปีหนึ่งก็จะต้องไปตัดกิ่งไผ่ใช้สำหรับทำไม้กวาด และงานไสแก่นขนุน เพราะต้องหาไว้สำหรับซักย้อมจีวรทุก ๑๕ วัน
พอทางวัดมีฐานะดี ก็จะไม่ใช้พระในวัดทำงาน เช่น ตอนที่สร้างกำแพงรอบวัด มีผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุน ไม่ต้องใช้พระเณร จ้างชาวบ้านแทน ท่านจะไปดูงานเอง ตอนเช้าฉันเสร็จท่านก็เดินไปดู ตอนบ่ายท่านก็เดินไปดู ตอนเย็นก่อนจะเลิกงานท่านก็เดินไปดู ไม่ให้ทำเลยเถิด ทำเกินเวลา เพราะเสียงจะรบกวนการภาวนา
ถ้าไม่มีความจำเป็น ถึงแม้มีคนมาถวายเงินจะให้สร้างกุฏิ ท่านก็ไม่รับ ท่านก็จะส่งเงินคืนไป บอกเขาว่าไม่มีความจำเป็น เพราะท่านไม่เห็นอะไรจะมีคุณค่าเท่ากับงานภายใน หลวงตาจะหวงพระมาก ไม่ให้ไปทำงานอย่างอื่นไม่ให้รับกิจนิมนต์ ไม่ให้ทำงานก่อสร้างในวัด
ถ้าสถานที่ไหนสงบสงัดวิเวกเหมาะกับการบำเพ็ญ หลวงตาท่านก็จะซื้อไว้ ท่านพยายามส่งเสริม เพราะต่อไปสถานที่ปฏิบัติจะมีน้อยลงๆ ไปทุกวัน เพราะประชากรจะมีมากขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าก็จะมีมากขึ้นๆ ทุกวันนี้ที่ต่อสู้ก็เพื่อรักษาป่าเขาสถานที่บำเพ็ญไว้เท่านั้นเอง ถ้าพระไม่ได้อยู่ป่าก็อย่าไปหวังว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานกัน ถ้าให้อยู่ในโบสถ์สวยๆ กุฏิสวยๆ ติดแอร์ ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นไปได้หรอก เพราะอยู่แบบฆราวาส ได้แต่โกนหัวห่มผ้าเหลืองเท่านั้น อาจจะอยู่สบายกว่าฆราวาสเสียอีก กุฏิพระบางแห่งมีทั้งแอร์ มีทั้งพรม มีอะไรเต็มไปหมด แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งภาวนา พอเจ็บนิดปวดหน่อยก็นั่งไม่ได้แล้ว
งานภายนอก ถ้าปล่อยไปตามความอยากแล้ว มันจะพาให้สร้างอะไรต่างๆ ได้อย่างพิสดาร เช่น วัดบางวัดที่สร้างอะไรต่อมิอะไรอย่างใหญ่โตมโหฬารพิสดาร มันไม่มีความหมายอะไรหรอก การสร้างวัตถุไม่เหมือนกับสร้างธรรมะภายในจิตใจ พวกเราจึงอย่าหลงประเด็น อย่าไปหลงกับการสร้างสิ่งต่างๆ สะสมสิ่งต่างๆ ภายนอกให้มากเกินความจำเป็น เพื่อเราจะได้มีเวลามาสร้างสิ่งที่ดีที่งามภายในจิตใจของเรา
เวลาทำบุญจึงต้องใช้ปัญญาเพื่อจะได้เกิดประโยชน์ อยากจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็ต้องส่งเสริมให้ถูกทาง อย่าไปสร้างพวกวัตถุต่างๆ พยายามส่งเสริมให้มีสถานที่ปฏิบัติธรรม ส่งเสริมพระที่เผยแผ่ธรรมะ เพื่อให้คนได้รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง แล้วจะได้นำเอาไปปฏิบัติจัดงานให้ถูกกับคนปฏิบัติงานภายนอกเป็นงานหยาบ ครูบาอาจารย์ส่งเสริมงานภายในมากกว่า
ถ้าใจยังหยาบอยู่ ยังเข้าถึงงานละเอียดไม่ได้ ท่านก็ให้ทำงานภายนอกไปก่อน ยังภาวนาไม่ได้ หลวงตาก็ให้ไปดูแลโรงครัว ปัดกวาด เช็ดถูต่างๆ ไปก่อน ถ้าทำงานละเอียดได้แล้ว ท่านก็จะไม่บังคับให้ทำงานหยาบ เวลาเห็นมาทำงานหยาบท่านก็จะไล่ไป
อย่างสมัยที่อาตมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด บางครั้งก็มีการสร้างกุฏิ ก็มีพระช่วยกันทำ เราก็ไปช่วย พอหลวงตาท่านเห็น ท่านก็ไล่เราไป แต่ท่านก็พูดแบบไม่ให้คนอื่นเสียกำลังใจ ท่านก็ว่า เรามันไม่ได้เรื่อง อย่ามาเกะกะ ก็เหมือนกับท่านชี้โพรงให้แล้ว เราก็สบายใจ วันต่อไปก็ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ไม่ได้มาช่วย เป็นธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีภาระความรับผิดชอบร่วมกันมีงานส่วนรวมที่ต้องช่วยกันทำ พอดีท่านเมตตา ท่านแยกแยะคนให้ไปทำงานอีกอย่างจะดีกว่า เพราะจะเกิดประโยชน์ตามมาทีหลัง
งานภายนอกก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ไม่มากเท่ากับงานภายในงานภายใน ผู้ปฏิบัติก็ได้ประโยชน์ เมื่อปฏิบัติเสร็จผู้อื่นก็จะได้รับประโยชน์ด้วย
ควรไปวัดที่มีครูบาอาจารย์ฉลาด รู้เรื่องงานหยาบงานละเอียด รู้ว่าเหมาะกับงานชนิดไหน ท่านแยกแยะได้ ถ้าไปอยู่วัดที่ไม่แยกแยะ ถึงเวลาทำงานหยาบ ทุกคนก็ต้องทำด้วยกันหมด ไม่ว่ากำลังทำงานละเอียดขนาดไหนก็ต้องปล่อยไว้ก่อน มาทำงานหยาบก่อน งานละเอียดก็จะไม่ก้าวหน้า จะเสียเวลา
ถ้าปล่อยให้ทำไปตามภูมิจิตภูมิธรรม กำลังทำงานหยาบก็ทำไป กำลังทำงานละเอียดก็ทำไป แยกกันไป จะได้ไม่เสียเวลาสำหรับคนที่ทำงานละเอียดถ้าทำงานหยาบมากๆ งานละเอียดก็จะเสียหายได้ เวลาที่เหมาะสมในการภาวนาเคยอยู่ครั้งหนึ่ง เวลาเดินจงกรมง่วงนอนมาก แต่เราไม่ยอมนอน บังคับให้เดินไปๆ บังคับให้บริกรรมพุทโธๆ ซ้ายขวาๆ สักพักหนึ่งจิตก็สงบวูบลงไปหายง่วงเลย หูตาสว่างเย็นสบาย ไม่รวมแบบสลบไสลแบบหลับใน แต่รวมแบบมีสติ
ตอนก่อนนอนจะเหนื่อยเพลีย พอได้นอนพักแล้ว ตื่นขึ้นมาจิตจะละเอียด นักปฏิบัติจะนอนเพียง ๔-๕ ชั่วโมง ตื่นตอนตี ๒ ตี ๓ ตอนนั้นจิตจะละเอียดที่สุด ถ้าดีสำหรับเราตอนไหนก็เอาตอนนั้น เพราะต่างคนต่างมีความแตกต่างกัน โดยทั่วไปจิตจะละเอียดตอนเช้ามืดตอนตี ๒ ตี ๓ หลังจากได้พักผ่อนหลับนอนเต็มที่แล้ว ภายนอกก็เงียบสงบ ส่งเสริมความสงบภายใน
ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ แล้ว ต่อไปจะภาวนาเวลาไหนก็ได้ ยกเว้นเวลาฉันเสร็จ นั่งแล้วจะหลับ ต้องเดินจงกรมก่อนแล้วค่อยไปนั่งต่อ เสร็จแล้วถ้าอยากจะพักก็พักสักชั่วโมงหนึ่ง พอลุกขึ้นมาก็เดินต่อ นั่งต่อ ทำกิจวัตรปัดกวาด พอสรงน้ำแล้ว ก็เดินจงกรมจนถึงเวลานั่งสมาธิ แล้วก็พัก ๔-๕ ชั่วโมง แล้วก็มานั่งต่อ เดินต่อ มีเวลาพักผ่อนหลับนอนเท่านั้นที่ไม่ได้ภาวนาแม้แต่เวลาทำกิจต่างๆ ก็ต้องมีสติ พระที่วัดป่าบ้านตาดท่านไม่คุยกันเวลาทำกิจวัตร กลัวเสือสมัยอาตมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดก็อาศัยเสือ คือหลวงตา ถ้าอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว สามารถทำอะไรโดยไม่หวาดหวั่น มือไม้ไม่สั่นได้ แสดงว่าเริ่มมีสมาธิ มีปัญญาแล้ว เพราะบางทีทำอะไรมือไม้สั่นไปหมด แสดงว่ายังควบคุมใจไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้ ในขณะที่ต้องทำอะไรในยามคับขัน สมาธิเป็นเพียงตัวสนับสนุน ตัวที่จะขจัดความสั่น ความกลัวต่างๆ ก็คือปัญญา
ประสบการณ์ของอาตมาตั้งแต่เป็นฆราวาส รู้ว่าคนดุเป็นคนใจดี จะได้ประโยชน์จากคนดุมากกว่าคนไม่ดุ เวลาเรียนหนังสือก็จะหาครูที่ดุๆ ที่เคี่ยวๆถ้าไม่เคี่ยวจะไม่ได้ความรู้
เวลาหลวงตาจะดุใครก็แล้วแต่คน ดุตรงๆ ได้หรือไม่ จะเกิดประโยชน์หรือเกิดโทษ ถ้าดุแล้วเป็นบ้าไปเลย ท่านก็ไม่ดุ ท่านดูจริตนิสัยของคนว่าจะรับได้มากน้อยขนาดไหน ท่านเล็งถึงประโยชน์หรือโทษที่จะเกิดขึ้น บางทีก็ไม่ได้ว่าตรงๆ แต่พูดเรื่องคนอื่นให้คนนี้ฟัง แต่เป็นเรื่องของคนนี้ ถ้ามีปัญญาก็น้อมเอาเข้ามาพิจารณาว่าเป็นเรื่องของตนหรือเปล่า คนฟังมันควรน้อมเข้ามาเสมอ ไม่ว่าพูดเรื่องอะไรต้องน้อมเข้ามา แต่ไม่น้อมแบบโมโหโทโสแบบมีอารมณ์ น้อมมาเพื่อศึกษาดูว่าเราบกพร่องหรือเปล่า ท่านว่าคนนั้นบกพร่อง เราก็ต้องย้อนมาดูว่าเราบกพร่องเหมือนกับที่ท่านว่าหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะฟังเพื่อแก้ไขส่วนที่บกพร่อง ฟังเพื่อพัฒนาตัวเรา ส่วนดีที่เรายังไม่มี ก็ควรพัฒนาให้มีขึ้นมา ส่วนไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าท่านจะพูดเรื่องใครก็ตาม เราต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเราเสมอ
นักปราชญ์ท่านฉลาด ท่านรู้ว่าคนเรามีจริตนิสัยต่างกัน สอนตรงๆ อาจจะรับไม่ได้ จะอับอายขายหน้าเพื่อนฝูง อาจจะโกรธขึ้นมาเลยก็ได้ อาจจะเลิกนับถือเป็นอาจารย์ไปเลยก็ได้ ท่านต้องดูแต่ละคนว่าจะรับได้มากน้อยเพียงไร
มาใหม่ๆ อาตมาก็ไม่รู้ เคยโดนดุเรื่องนั่งเท้าแขนเหมือนกัน ท่านบอกไม่ให้นั่งเท้าแขน คงเป็นท่านั่งที่ไม่สุภาพ
นอกจากนี้ก็เคยถูกหลวงตาตะปบเรื่องไม่รู้วิธีปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ไม่รู้ว่าตามธรรมเนียมลูกศิษย์ย้อนถามอาจารย์ไม่ได้ ถ้าท่านไม่เปิดโอกาสให้ถาม ท่านพูดอะไรก็ครับอย่างเดียวหรือเฉยอย่างเดียว
เวลานั่งรถไปกับหลวงตา พระทุกรูปจะนั่งสงบ ต่างคนต่างดูจิตของตน มีสติกัน ไม่เพ้อเจ้อ ไม่คุยกัน เวลาอยู่กับหลวงตา เหมือนท่านมีฤทธิ์เสกให้ทุกคนแข็งตัวนิ่ง
เวลาไปใหม่ๆ เห็นพระตัวสั่นเวลาอยู่ต่อหน้าหลวงตา ก็คิดว่าเราจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ตอนต้นก็ไม่สั่น รู้สึกเฉยๆ เพราะยังไม่ถูกตะปบ พอโดนตะปบสัก ๒–๓ ครั้ง พอเห็นท่านเดินมาก็เดินหนีแล้ว
ตอนหลังที่กลัวท่านมากก็เพราะไม่อยากจะแสดงความโง่ออกมา ถ้าท่านว่ากล่าวตักเตือนครั้งแรกแล้ว จะพยายามไม่ให้มีครั้งที่สอง พยายามจำไว้เลย เพราะท่านสอนจากจิตจากใจ สิ่งที่ท่านสอนมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่พวกเราไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เราก็ปล่อยมันไป ซึ่งเป็นเหมือนรอยรั่ว เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่เจริญกัน เพราะไม่ระมัดระวังกันครูบาอาจารย์ด่าเรียกว่าเมตตาสมัยที่อยู่บ้านตาด หลวงตาท่านก็ร่วมปวารณาด้วย โดยเริ่มจากพระอาวุโสก่อน ท่านจะตำหนิติเตียนพระลูกวัดเสมอ หลักของพระปฏิบัติถือว่าเมื่อเข้าอยู่ในหมู่คณะแล้ว ต้องปวารณาตัวตลอดเวลา แต่ที่ทำนี้เป็นเพียงพิธีกรรม ความจริงต้องปวารณาตั้งแต่วันบวชเลย ต้องพร้อมที่จะรับการว่ากล่าวตำหนิติเตียน
บวชเรียนเพื่อพัฒนาตน จะพัฒนาได้ก็ต้องรู้ว่าตนได้ทำผิดอย่างไรจะได้แก้ไข จึงต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนกัน ถ้าสังคมมีการปวารณากันโลกนี้จะไม่มีปัญหาอะไร ผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องคิดให้ดีก่อนว่าสิ่งที่พูดนั้นจริงหรือไม่ ออกมาจากจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้ากำลังโกรธ กำลังเกลียดก็อย่าพึ่งไปว่ากล่าวตักเตือน รอให้ใจสบายก่อน แล้วค่อยว่ากล่าวตักเตือนกัน แต่ในเชิงปฏิบัตินี้จะมีคนเดียวที่ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ก็คือครูบาอาจารย์ หรือพระเถระที่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส ถ้าไม่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสไปว่ากล่าวตำหนิติเตียนจะรับไม่ได้ ผู้ว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้อื่น ต้องดูสถานภาพของตนก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นโทษได้ เป็นเวรเป็นกรรมได้
ถ้ามีครูบาอาจารย์อย่างหลวงตานี้จะช่วยได้มาก แต่ต้องเคารพท่าน ต้องเชื่อฟังท่าน ต้องเกรงกลัวท่าน ท่านจะช่วยเราได้มาก แต่อย่ากลัวจนไม่มีสติสตัง พอเห็นท่านก็สั่นไปทั้งตัว ให้เชื่อท่าน ท่านด่าเรา ท่านว่าเรานี้ ท่านกำลังช่วยเรา เราไม่ชอบด่าตัวเราเอง เราไม่ชอบห้ามตัวเราเอง เราต้องให้ท่านช่วยห้าม ช่วยด่าเรา คนอื่นด่าเราไม่ได้ มีคนเดียวที่ด่าเราได้ก็คือครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีความยำเกรงแล้ว ท่านจะไม่มีประโยชน์กับเรา ท่านว่าเรา ท่านห้ามเรา เราก็ไม่ฟังท่าน อยู่กับท่านก็อยู่แบบทัพพีในหม้อแกง ไม่เกิดประโยชน์อะไร
คนส่วนใหญ่มักจะชอบให้หลวงตารัก ให้หลวงตาเมตตา พอท่านด่าเข้าก็ว่าท่านไม่เมตตาแล้ว แต่ความจริงท่านเมตตาถึงได้ว่าเรา ถ้าไม่ว่าแสดงว่าไม่เมตตา เห็นเราทำผิดแล้วไม่ช่วยแก้ไข ไม่ช่วยตักเตือน ถ้าอยากจะปฏิบัติธรรม อยากจะมีครูบาอาจารย์ ก็ต้องกล้าหาญอดทน มีสติ มีปัญญา ครูบาอาจารย์จะดุด่าว่ากล่าวอย่างไร เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปมีปฏิกิริยาอะไรทั้งสิ้น ให้นิ่งเหมือนหินเลย ฟังอย่างเดียว แล้วก็เอาไปพิจารณา ถ้าสิ่งที่ท่านพูดเป็นความจริงก็ต้องรีบแก้ไข อย่าให้ท่านว่าท่านสอนซ้ำได้เป็นดี เพราะถ้าต้องว่าซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ แล้ว แสดงว่าเราไม่ได้เรื่อง สั่งสอนยาก
ถ้าไม่มีทิฐิ ก็โง่จนไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน แล้วนำเอาไปแก้ไขปรับปรุงได้ ถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว การดำเนินชีวิตของเราจะเป็นประโยชน์ทางด้านธรรมะตลอดเวลา จะไม่สนใจกับคำสรรเสริญเยินยอ จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะถ้าจริงเราก็เป็นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกเราว่า เราดีอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้ เราก็รู้อยู่แล้ว ถ้าไม่จริง มันก็ไม่ได้ทำให้เราวิเศษขึ้นมา คำสรรเสริญเยินยอสำหรับนักปราชญ์ สำหรับคนที่มีสติปัญญาแล้ว จะไม่มีความหมายอะไร ในสังคมของนักปราชญ์จึงไม่ค่อยชมกันมีแต่สังคมของคนโง่ที่ชอบชมกัน ยกย่องสรรเสริญกัน ให้รางวัลกัน ทั้งๆ ที่สงสัยกันว่าได้รางวัลได้อย่างไร
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:22:18 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #5 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2560 18:20:38 » |
|
อุบายความโกรธความโกรธเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์จะใช้สอนลูกศิษย์ลูกหา ท่านจะยั่วยุแหย่โทสะลูกศิษย์อยู่เรื่อย ลูกศิษย์ก็รู้ว่าโกรธครูบาอาจารย์ไม่ได้ ก็โกรธอยู่ข้างในนั้นแหละ แต่ในที่สุดก็ดับได้ เพราะท่านช่วยคุ้ยเขี่ยให้เรา
บางคนพอได้สมาธิแล้ว ก็คิดว่าบรรลุแล้ว ไม่โกรธแล้ว บางคนฟังเทศน์ฟังธรรมจนซาบซึ้งจิตใจแล้ว ก็คิดว่าไม่มีความโกรธแล้ว เหมือนนิทานเรื่องคุณหญิงคุณนายที่ฟังเทศน์ฟังธรรมกับหลวงพ่อองค์หนึ่ง ฟังจนซาบซึ้งใจ จนจิตสงบ กิเลสสงบราบ ความโลภความโกรธไม่มีเหลืออยู่ในใจ ก็เลยดีใจไปเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า
“ตั้งแต่หนูได้ฟังเทศน์ฟังธรรมหลวงพ่อแล้ว เดี๋ยวนี้จิตใจหนูเย็นสบาย ไม่โกรธไม่แค้นเลย” หลวงพ่อตอบไปว่า “อีตอแหล” เท่านั้น ความโกรธก็โผล่ขึ้นมาเลย
เหมือนเวลาไปกราบหลวงปู่เจี๊ยะ ต้องทำใจมากๆ พอไปถึงท่านจะถามว่า “มาทำไมวะ” เมื่อก่อน เวลาใครไปกราบหลวงตา ท่านจะพูดว่า “มายุ่งทำไม มาไม่ได้เรื่องได้ราว” ท่านจะไล่ใหญ่เลย
นั่นแหละอุบายของครูบาอาจารย์ สอนเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในวัด ท่านจะแย็บใส่เราก่อนเลย
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำใจก็คือต้องโดนดุแน่ๆ จะได้ธรรมะจากการทำใจนี่แหละ โดยธรรมชาติกิเลสชอบการสรรเสริญ ชอบการต้อนรับขับสู้ พอถูกขับไล่ ทำใจไม่ค่อยได้ พอไปถึงแทนที่จะต้อนรับกลับถามว่า “มาวุ่นวายทำไม” เป็นเพียงการแย็บดูใจของเราว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ารับไม่ได้ใจก็ล้มพับไปแล้ว
พวกที่รู้ทันก็จะเฉยๆ ท่านจะว่าอย่างไรก็ว่าไป มีหน้าที่ฟังก็ฟังไป เพราะไปก็เพื่อไปฟัง ไม่ได้ไปให้ท่านต้อนรับขับสู้ ลูบหน้าปะจมูกเรา ชมว่าดีอย่างนี้ดีอย่างนั้น ไปเพื่อฟังธรรมะ คนที่ต้องการธรรมะก็จะทำใจให้สงบ เป็นเหมือนผู้รักษาประตูฟุตบอล คอยรับลูกอย่างเดียว ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเตะแบบไหน ต้องรับได้ทุกรูปแบบ จะเตะมาแรงก็ได้ มาค่อยก็ได้ สมัยนั้นจึงไม่ค่อยมีคนไปวัดป่าบ้านตาดกัน เพราะกลัวหลวงตา แต่ก็ดีไปอย่าง สงบเงียบดี ข้าวของก็มีไม่มาก มีพอใช้ ไม่เดือดร้อนอะไร ความเข้มงวดของหลวงตาสมัยก่อนไม่ค่อยมีใครไปวัดป่าบ้านตาดกัน ส่วนใหญ่จะไปวัดครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่าหลวงตา วันเสาร์วันอาทิตย์อย่างมากก็มีรถแค่ ๒-๓ คันที่ไปจากอุดรฯ เท่านั้นเอง ไปใส่บาตรไปถวายอาหาร
ตอนนั้นวัดของหลวงตาเป็นวัดที่เขาไม่ค่อยกล้าเข้ากัน ท่านดุมากนะ และหลวงตาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มากัน ถ้าจะมาก็ต้องทำใจไว้ก่อนถึงจะมาได้ พวกที่ทำใจไม่ได้ก็จะไม่มา จะเลยไปวัดอื่นเลย ส่วนใหญ่จะมากันเยอะก็ช่วงกฐิน จะมีคณะจากกรุงเทพฯ เหมารถบัสกันไป ไปเดี๋ยวเดียว พอถวายของเสร็จ รับพรเสร็จก็กลับกันมา ไม่กล้าค้างกัน
ความที่ญาติโยมไม่ค่อยมากันเยอะ พอฉันเสร็จ ทำภารกิจต่างๆ เรียบร้อย พระก็รีบแยกกันกลับไปที่พักโดยเร็ว มุ่งไปที่การภาวนาอย่างเดียว เดินจงกรม นั่งสมาธิ เวลาพระออกมาเพ่นพ่านก็จะถูกหลวงตาไล่ไปภาวนา ถ้าออกมาเพ่นพ่านบ่อยๆ ก็จะโดนไล่ออกจากวัดเลย
หลวงตาท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรมาก ท่านไม่ต้องการให้พระเณรเสียเวลากับเรื่องของกิเลส ส่วนใหญ่เรามักจะติดเรื่องของกิเลสกัน เช่น เรื่องขบเรื่องฉัน เรื่องคุยกันที่ไม่เกิดประโยชน์
ตอนอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จะรวมกันเฉพาะเวลาหลวงตาเรียกประชุมเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วพระจะไม่มารวมกัน ท่านต้องการให้แยกกัน ให้ปลีกวิเวก ต่างคนต่างภาวนา ต่างคนต่างบำเพ็ญ ท่านจะคอยไล่พระให้ภาวนา ให้เข้าทางจงกรม พระก็ชอบแอบออกมานั่งอยู่แถวโรงน้ำร้อนน้ำชาอยู่เรื่อยๆ ท่านก็ต้องคอยเดินตรวจอยู่ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เดินมาครั้งแรกเห็นหน้าไม่เป็นไร ท่านจะไม่พูดอะไร ถ้าเห็นครั้งที่ ๒ ต้องรีบกระโจนนะ ไม่งั้นเดี๋ยวโดน ท่านจะว่า “ยังอยู่ตรงนี้อีกหรือ จะฉันไปถึงไหนกัน ทำไมไม่ไปเข้าทางจงกรม ทำไมไม่ไปนั่งสมาธิกัน” หลวงตาจะคอยกำราบ ท่านไม่ค่อยให้คุยกัน ให้รีบฉันให้เสร็จแล้วก็แยกกันกลับไป เพราะคุยกันแล้วจิตมันฟุ้งซ่านดีไม่ดีก็ทะเลาะกัน เถียงกัน
ถ้าท่านเห็นกุฏิไหนมีรองเท้าอยู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ก็จะโดนเลย เวลาจะเยี่ยมกันต้องซ่อนรองเท้าไว้ เวลาคุยกันก็ต้องไม่ให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากกุฏิเลย เมื่อก่อนนี้ตอนกลางคืนหลวงตาจะเดินตรวจพระอยู่เป็นประจำ ท่านไม่ให้พระไปสุงสิง ไปคุยกันตามกุฏิ บางทีท่านก็ไม่ใส่รองเท้าเดิน จะเดินเงียบๆ จะไม่ได้ยินเสียงท่านเดิน ไม่ใช้ไฟด้วย สร้างความกลัวให้พระต้องคอยระวังตัวเองตลอด ถ้าองค์ไหนไม่ภาวนาก็จะโดนหลวงตาดุแน่นอน
ส่วนใหญ่เราจะไม่ไปคุยกับใคร เพราะติดภาวนา จะอยู่ตามลำพังที่กุฏิ นานๆ ถ้ามีธุระจำเป็นจริงๆ ก็ไปพูดไปคุยบ้าง ส่วนใหญ่จะพูดคุยกันตอนที่ยังไม่มืด ช่วงตอนปัดกวาด ตอนทำกิจวัตรร่วมกัน คุยกันนิดหน่อย เสร็จกิจแล้วก็แยกกัน แต่จะไม่ไปนั่งคุยที่กุฏิ ส่วนใหญ่จะไม่ไปไหน ไปทำกิจที่ศาลา เสร็จแล้วก็กลับมาอยู่ที่กุฏิ หรือไปภาวนาเดินจงกรมอยู่ในป่า อยู่คนเดียว แสนจะสุขแสนจะสบาย เวลาบำเพ็ญจนจิตสงบแล้วจะไม่อยากยุ่งกับใคร จิตสงบเป็นเหมือนกับน้ำนิ่ง พอไปพูดไปคุยกับใครก็ทำให้กระเพื่อม จิตก็จะไม่ใส ไม่สดชื่น ไม่สุข ทำให้เสียเวลาด้วย เพราะนอกจากการทำจิตให้สงบแล้วยังมีงานสำคัญกว่านั้นอีก คือการเจริญปัญญา พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ ๕
ตั้งแต่บวชมานี่ เราไม่เคยไปงานไหนเลย งานผ้าป่า งานกฐิน งานฉลอง งานศพ ไม่เคยไปเลย ในช่วงเข้าพรรษาจะมีธรรมเนียมไปกราบครูบาอาจารย์ ทำวัตรขอขมา ท่านไปทำองค์เดียว จะไม่ให้พระเณรไปไหน หลวงตาจะไม่พาพระเณรไปกราบครูบาอาจารย์เลย
งานศพของครูบาอาจารย์ต่างๆ พระเณรในวัดก็ไม่ต้องไป เช่น งานศพของพระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านก็ให้พระเถระ ๒–๓ รูปไปกับท่าน พระเณรในวัดไม่ให้ออกไปข้างนอก ท่านว่าถ้ากำลังภาวนาอยู่ก็ไม่ควรเสียเวลา ท่านเห็นความสำคัญของการภาวนามากกว่าการไปช่วยงานศพที่เป็นงานระดับทาน ถ้าไปงานศพก็จะไม่ได้ภาวนา ถ้าออกไปข้างนอกวัดจะเสียการภาวนา ทำให้จิตหยาบลง ท่านหวงมาก ไม่อยากให้ออกไปสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส กลับมา จะมีสัญญาอารมณ์ตกค้างอยู่ในใจ เวลาเดินจงกรมก็จะคิดถึงภาพที่เห็นเป็นอันตรายมากต่อความสงบของจิตใจ
นี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าไหร่ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมานี้ ก็ไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับงานต่างๆ ตั้งแต่ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน หนังสือก็บอกให้เข้าข้างใน ปฏิบัติเข้าข้างในอยู่ตลอด ไม่มีเหตุดึงให้เราไปข้างนอก การอดนอนการอดนอน ให้ถือ ๓ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่ให้นอน
ถ้าอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะหลับได้ไม่นาน เวลาง่วงมากๆ ก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา จากนั้นก็ไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากลุกขึ้น
การปฏิบัตินี้ขึ้นอยู่กับจริตแต่ละคน บางคนชอบอดนอน ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ ที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสได้ปฏิบัติก็ต้องรีบทำ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส ความมักน้อยของหลวงตาได้ยินว่าสมัยก่อนหลวงตาท่านมากรุงเทพฯ ท่านจะนั่งรถไฟชั้น ๓ เก้าอี้ไม้ไม่มีเบาะ ท่านไม่นอน ท่านนั่งมาตลอดคืน ทั้งๆ ที่เขาอยากถวายตู้นอนให้ท่าน แต่ท่านไม่เอา ท่านทำเพื่อให้จิตใจเข้มแข็ง ให้กิเลสอ่อนกำลังลง จะได้ไม่มาสร้างความวุ่นวายให้กับใจ ขอให้ใช้ความมักน้อยเสมอ กิริยาพระอรหันต์หลวงตาท่านบอกว่า ท่านทำอะไรเป็นกิริยาหมด เวลาดุด่าท่าทางเหมือนโกรธแค้น โกรธเคือง แต่ในใจไม่มีอะไร เป็นเพียงกิริยา เป็นการแสดง เราแสดงอย่างนั้นได้หรือเปล่า ถึงเวลาวางแผน ก็วางแผนไป ถึงเวลาทำอะไรก็ทำไป พอไม่เป็นไปตามที่คาดไว้จะหงุดหงิดหรือเปล่า ถ้าหงุดหงิด มันก็เป็นโทษกับตัวเราเองที่ไปเอาจริงเอาจังมากจนเกินไป ลืมไปว่าเราเพียงเล่นละคร ที่เราไปเอาเป็นเอาตายกับมันเพราะยังติดกับกามสุขอยู่ ถ้าอยากจะกินอะไรแล้วไม่ได้กิน จะหงุดหงิด ทำไมไม่คิดว่าเราเพียงเล่นละคร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(พระธรรมวิสุทธิมงคล) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี การดูแลสุขภาพของหลวงตาพระที่นั่งสมาธิประจำ ไม่ได้เป็นโรคเข่าเสื่อมก็มีตั้งเยอะแยะไป ครูบาอาจารย์อย่างหลวงตา ท่านอายุเก้าสิบกว่าแล้ว ทำไมท่านก็ยังไปไหนมาไหนได้อยู่ เพราะท่านรู้จักวิธีดูแลรักษาร่างกายของท่าน ทำโยคะอยู่เรื่อย ท่านก็มีท่าของท่าน เราก็เห็นท่าของท่าน ตอนเช้าที่มานั่งคุมพระกวาดถูศาลา ท่านก็ยืดเส้นยืดสายอะไรของท่านไป นอกจากนั้นก็มีพระคอยจับเส้นให้ เพราะเส้นมันตึงมันยึด บีบแล้วมันก็คลาย
เมื่อก่อนนี้หลวงตาเดินตรวจพระตอนกลางคืนอยู่เป็นประจำ ท่านใช้การเดินตรวจพระเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถไปในตัว เพราะบางทีท่านไม่มีเวลาเดิน จึงใช้การเดินตรวจให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง ได้ประโยชน์ทางกาย ได้ประโยชน์ในการดูแลพระเณร คนที่มีอายุถึงขนาดนี้ ยังเคลื่อนไหวขนาดนี้ได้ ต้องถือว่าเก่งมาก อายุเก้าสิบกว่าแล้ว ยังคล่องแคล่วว่องไว ยังทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชฯ นี่ต่างกัน สมเด็จฯ เป็นพระในเมือง ไม่มีโอกาสได้เดินมากนั่งรับแขกรับคนอยู่เรื่อยๆ มันก็จะชำรุดเร็วกว่า
จึงขอสรุปว่า สังขารเป็นของไม่เที่ยง จงพยายามทำประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ธรรมโอสถรักษาโรคพระปฏิบัติพระป่าส่วนใหญ่จะไม่กังวลกับเรื่องหยูกยาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะรับประทานยาสมุนไพร จะไม่ค่อยไปหาหมอไปโรงพยาบาล นอกจากเป็นโรคที่รักษาได้ผลจริงๆ ถ้าเป็นไข้ป่า ก็ใช้ธรรมโอสถ
ตั้งแต่บวชนี้ไม่เคยฉันยาแก้ปวดเลย เราไม่เคยมียาแก้ปวดอยู่ในกุฏิแม้แต่เม็ดเดียว แต่มีธรรมโอสถเป็นยาแก้ปวดอยู่ในใจ ปวดก็ปล่อยให้ปวดไป ร่างกายมันปวด แต่ใจไม่รู้สึกปวด ใจแยกออกจากร่างกายได้ ถ้าอดข้าวทีละ ๕ วัน ๗ วันได้นี้ ความเจ็บปวดอย่างอื่นจะไม่ทรมานเท่าไหร่ จึงอย่าเสียดายร่างกายเลย ให้พิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ จะได้รู้ว่ารักษาอย่างไรก็ต้องตาย เสียเวลาไปเปล่าๆ สู้รักษาใจดีกว่า จะสบายไปตลอด ร่างกายจะเป็นอย่างไรจะไม่เดือดร้อน จะรวยจะจนก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่รักษาใจแล้วกิเลสจะหลอกให้อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากให้ร่ำให้รวยไปตลอด อยากให้สุขไปตลอด พอมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเงินการทอง ก็จะวุ่นวายใจ อย่าไปให้ความสำคัญกับร่างกายมากเกินไป เรามีร่างกายมาหลายร่างแล้ว เหมือนมีเสื้อผ้ามาหลายชุดแล้ว มาให้ความสำคัญกับใจดีกว่า พระอุปัฏฐากหลวงตาถ้าได้ปฏิบัติหลวงตาก็จะได้ธรรมะ หรือแก้ปัญหาธรรมได้มากเวลาอยู่รับใช้ท่าน เช่น พระอุปัฏฐากก็จะมีโอกาสเยอะ เพราะเวลาอยู่ใกล้ตัวท่าน ก็เหมือนกับขึ้นเวทีต่อยมวย คู่ต่อสู้ก็จะคอยต่อยเราอยู่เสมอใช่ไหม
เราก็ต้องคอยตั้งรับอยู่เสมอ ก็ทำให้เรามีสติสตัง มีปัญญาไว้คอยรับแต่ถ้าไม่ได้เข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดกับท่าน ก็เป็นเหมือนคนดู นั่งดูเฉยๆ เท่านั้นเอง ก็จะไม่ได้ท่านคอยช่วยกระตุ้นธรรมะให้กับเรา ยกเว้นถ้าเราเป็นคนที่สามารถปฏิบัติของเราเองได้ ก็ไม่ต้องอาศัยท่านให้คอยกระตุ้น แต่ถ้าได้ไปรับใช้ใกล้ชิดก็เป็นโอกาสที่ดี
เหมือนกับพระอานนท์ที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด ก็จะได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยกันทุกคน เพราะท่านก็องค์เดียว แล้วท่านก็มีลูกศิษย์ตั้งเยอะแยะ ก็แล้วแต่ว่าท่านจะพิจารณาใคร แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดอย่างนั้น คนอื่นที่ไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าหรือกับครูบาอาจารย์ เขาก็บรรลุธรรมได้ ความจำกับความจริงส่วนใหญ่หนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษจะเกี่ยวกับปริยัติมากกว่าการปฏิบัติ จะเกี่ยวกับชื่อของกิเลส ชื่อของธรรม ไม่เกี่ยวกับอาการของกิเลสของธรรมว่าเป็นอย่างไร
หลวงตาท่านบอกว่า ความรู้ที่ได้จากการอ่านเป็นความจำ ไม่ได้เป็นความจริง เราอ่านแล้ว เราก็จำสิ่งที่เราอ่านแล้วก็คาดคะเนไป เพราะยังไม่ได้เห็นของจริง ก็ต้องวาดภาพไปภายในใจก่อน ใจของเราเป็นเหมือนแว่นตาที่ไม่ใสสะอาด หรือแว่นตาที่ไม่ได้ขนาดกับสายตา พอมองไปก็จะมองไปตามแว่นตา แว่นตาบอกเป็นสีแดง เราก็ว่าเป็นสีแดง แต่ความจริงเป็นสีม่วง แต่เนื่องจากแว่นตามีสีเคลือบไว้ ก็เลยทำให้เราเห็นเพี้ยนจากความจริงไป เห็นไปตามแว่นตา
ใจก็เห็นไปตามการคาดเดาของเรา ความรู้ที่ได้จากการศึกษาอย่างเดียวจึงยังไม่พอ ต้องปฏิบัติเทียบกับความจริงที่ใจเป็นผู้สัมผัสรับรู้ ถ้าเอามาเทียบมาสัมผัสแล้วก็จะรู้ทันทีว่าเป็นอย่างไร แต่การที่ใจจะสัมผัสรับรู้ได้ใจต้องสะอาดก่อน ถึงแม้จะไม่สะอาดถาวร ก็ต้องสะอาดชั่วคราว พอให้เห็นความจริงได้สักแวบหนึ่ง เหมือนกับแว่นตาที่เช็ดแล้วก็จะสะอาดอยู่ระยะหนึ่ง พอให้เห็นภาพจริงได้ ถ้าจะให้เห็นตามความเป็นจริง จิตต้องมีสมาธิก่อน ต้องรวมลง ต้องหลุดจากความครอบงำของกิเลส ความคิดของเราอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาของกิเลส อวิชชาปัจจยาสังขารา ก็เลยคิดไปในทางอวิชชาคือความหลง เหมือนแว่นตาที่ไม่สะอาด จึงต้องเช็ดแว่นตาให้สะอาดก่อน แล้วจะเห็นตามความเป็นจริง สีเขียวก็เป็นสีเขียว สีแดงก็เป็นสีแดง จะไม่เป็นสีอื่น
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:22:58 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #6 เมื่อ: 15 ตุลาคม 2560 16:15:51 » |
|
เรื่องที่ไม่มีแสดงในพระไตรปิฎก ในประวัติท่านพระอาจารย์มั่นได้เขียนไว้ว่า มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มาแสดงธรรม มาสนทนาธรรมกับท่านอยู่เป็นประจำ แต่นี่ก็เป็นกรณีพิเศษเฉพาะบุคคลที่ติดต่อกับจิตของผู้อื่นได้ ถ้าไม่มีความสามารถทางด้านนี้ก็จะติดต่อไม่ได้ ก็เหมือนกับคนที่มีโทรศัพท์มือถือกับคนที่ไม่มี คนที่มีก็สามารถติดต่อกับผู้ที่มีได้ ถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศก็ยังติดต่อกันได้ แต่เรื่องนี้ไม่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
คนที่ศึกษาพระไตรปิฎกจนเป็นหนอนก็จะค้านหัวชนฝาหาว่าหลวงปู่มั่นอุตริ อย่างที่ปรากฏอยู่ในท้ายหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ที่วิจารณ์หลวงปู่มั่นว่าเป็นหลวงตาเพ้อเจ้อหรือเปล่า พูดในสิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎก
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถือว่าตนเป็นเอกในด้านพระไตรปิฎก ยืนยันว่าสิ่งที่หลวงปู่มั่นพูดไม่มีในพระไตรปิฎก หลวงตาท่านก็ตอบไปว่า ความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นเหมือนน้ำในตุ่มในไห แต่ความรู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลมาก ความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ไม่ได้บรรจุไว้ในพระไตรปิฎก เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร เหมือนใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า พระพุทธเจ้าทรงถามภิกษุว่าส่วนไหนจะมากกว่ากัน พระภิกษุก็ตอบว่า ใบไม้ในกำมือมีไม่กี่ใบ นับได้เลย แต่ใบไม้ในป่านับไม่ถ้วน
พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ความรู้ที่ตถาคตรู้อยู่ในใจเหมือนกับใบไม้ในป่า แต่ความรู้ที่ตถาคตสอนพวกเธอเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือ สอนเท่าที่จำเป็นเพื่อให้พวกเธอเอาไปปฏิบัติแล้วจะได้เห็นความรู้ที่ตถาคตไม่ได้เอามาสอน ถ้าพวกเธอเพียงแต่ศึกษาพระไตรปิฎกก็จงอย่าไปอุตริว่ารู้มาก จะกลายเป็นใบลานเปล่าไป ต้องไปปฏิบัติก่อน แล้วความรู้ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในจิต จะมีมากมายก่ายกอง แล้วจะไม่ปฏิเสธความรู้ที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก พิธีเผาศพภาคอีสานอาตมาตอนไปอยู่บ้านตาดใหม่ๆ ก็ไปสวดงานศพ ชาวบ้านทางอีสานเวลาเผาศพจะไม่มีโลงไม้ปิดมิดชิด จะเป็นโลงกระดาษแปะโครงไม้ ไม่มีฝา เวลาเผาก็ตั้งบนกองฟืน เอาไม้ ๒ ท่อนทับโลงไว้ เวลาไฟเผาร่างกายจะดีดขึ้นมา ก็ไปพิจารณาดูคนตายอยู่เรื่อยๆ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ต้องไปดูของจริง ดูของจริงแล้วก็เอามาคิดเอามาเจริญอยู่เรื่อยๆ อยู่ในใจ ว่าสักวันหนึ่งร่างกายเราก็ต้องเป็นอย่างนี้
งานเผาศพของโยมแม่หลวงตา ตอนนั้นเผาตอนบ่ายที่หน้าศาลาภายในวัด ไม่ได้ก่อเมรุ เอาฟืนมากอง แล้วก็เอาโลงศพไปตั้ง พอถึงเวลาก็จุดไฟเผา ตอนดึกพอไฟไหม้หมดแล้ว ก็เก็บเศษกระดูกขี้เถ้าไปโรยใต้ต้นโพธิ์ในวัด จากดินก็กลับคืนสู่ดิน
ตอนเช้าที่หน้าศาลาไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีซากเหลืออยู่เลย เก็บเรียบร้อยหมด ตอนต้นท่านจะให้เผาวันที่เสียเลย เสียตอนเช้าท่านจะให้เผาตอนบ่าย ญาติพี่น้องขออนุญาตเก็บไว้คืนหนึ่ง จะได้บอกญาติพี่น้องที่อยู่ไกลจะได้มาร่วมงาน ก็เลยเก็บไว้คืนหนึ่ง ไม่มีการสวด ตั้งศพไว้เฉยๆ ใครอยากจะไหว้ก็ไหว้ไป แต่ไม่มีพระสวดกุสลาฯ เวลาก่อนจะเผาก็นิมนต์ครูบาอาจารย์ ๑๐ รูปมาบังสุกุล ไม่ได้สวดกุสลาฯ
กุสลา แปลว่า ความฉลาด ก็คือการพิจารณาว่าเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง เป็นดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องกุสลาตอนที่ยังไม่ตาย ตายไปแล้วจะกุสลาหาอะไร ต้องกุสลากับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คนที่มีชีวิตอยู่นี้ต้องกุสลาเอง ไปนิมนต์พระมากุสลาทำไม พระต้องกุสลาร่างกายของท่านเอง พวกเราก็ต้องกุสลาร่างกายของพวกเรา ต้องสร้างความฉลาดให้แก่ใจ ให้รู้ทันธรรมชาติของร่างกายว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีอายุขัย ต้องแก่ เจ็บ ตาย ฝึกปฏิบัติภาวนาไม่ท้อถอยตอนอยู่ที่บ้านตาด ก็ไม่ได้ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์อะไร ก็ทำตามกำลังของเรา พูดคำว่าอุกฤษฏ์แล้ว เดี๋ยวมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนที่เขาอุกฤษฏ์กว่าอาตมายังมีอยู่เยอะ เพราะมัชฌิมาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คือเราทำเต็มที่ของเราก็แล้วกัน
ถ้าเป็นรถยนต์ก็เหยียบสุดคันเร่งนะ แต่จะเร็วกว่าคันอื่นหรือไม่ หรือช้ากว่าคันอื่น ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะรถแต่ละคันมีซีซีไม่เท่ากัน รถเรา ๑๕๐ ซีซี ไปเจอรถ ๒๕๐ ซีซี มันก็สุดคันเร่งด้วยกัน แต่เขาต้องไปเร็วกว่าเรา แต่เร็วหรือช้าก็ถึงที่หมายเหมือนกัน ถ้าไม่ยอมแพ้ก็มาถึงจนได้ ถ้าเกิดท้อแท้โอ๊ย ไปไม่ถึงหรอก
การปฏิบัติจึงต้องไม่ท้อแท้ แต่จะต้องเจออุปสรรค ต้องเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้บ้าง แต่ก็อย่าหยุด พักบ้าง วันนี้เบาหน่อย วันนี้ภาวนาไม่ค่อยได้เรื่องก็เบาหน่อย อ่านหนังสือแทน ถ้าไปบีบมากๆ ไปกดดันมากๆ จะยิ่งเครียดใหญ่ จะเกิดการต่อต้าน จะทำให้มีปัญหาตามมาเวลาที่จะปฏิบัติคราวต่อไป ดังนั้น บางวันถ้ารู้สึกว่านั่งไม่ได้จริงๆ ฝืนเต็มที่แล้วยังไม่ได้ก็พักสักหน่อย แต่อย่าพักนาน พักเฉพาะวันนี้ พรุ่งนี้มีกำลังก็เริ่มใหม่ ทำไปเรื่อยๆ การปฏิบัติบางวันก็ดีไปสะดวกรวดเร็ว จิตเป็นอารมณ์ บางวันก็ไปทางมรรคก็ดี บางวันไปทางสมุทัยก็ยาก เหมือนเดินทวนลมกับเดินตามลม วันไหนถ้าไปตามลมก็จะง่าย นั่งสมาธิจิตสงบง่าย ไม่ฟุ้งซ่าน บางวันนั่งแล้วก็คิดแต่เรื่องนั้นคิดแต่เรื่องนี้ มีแต่อารมณ์ฉุนเฉียวอยู่ตลอดเวลา นั่งยังไงก็ไม่สงบ จึงต้องสังเกตจิตเรา ถ้านั่งไม่ได้จริงๆ ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ถ้าฟุ้งซ่าน ก็ลองเปิดหนังสือธรรมะอ่านดู อยากจะคิดไม่อยากจะสงบ ก็เจริญทางปัญญาแทน พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไป บางทีไม่อยากจะอยู่นิ่งๆ ก็เอามาพิจารณาให้เกิดปัญญา บางวันไม่อยากจะคิด อยากอยู่นิ่งๆ ทำจิตให้สงบก็ง่าย จึงต้องคอยสังเกตดูจิตของเราอยู่เรื่อยๆ
เวลาเกิดความท้อแท้ก็ให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านก็เหมือนเรา เป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญมาก่อน ท่านก็ต้องต่อสู้ฝืนจิตเหมือนกัน ศึกษาวิธีของท่านว่าท่านทำอย่างไรท่านจึงไปได้ ท่านไม่ถอยท่านสู้ไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์ทุกรูปทุกองค์ก็สู้ไปเรื่อยๆ ท่านไม่ถอย ไม่หยุด อาจจะพักบ้าง ไม่ได้ปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ทุกวันหรอก บางครั้งก็ต้องพักบ้าง แต่ไม่พักแบบเถลไถลเลยเถิดไปทำเรื่องอื่น ไม่สนใจใครมุ่งแต่ธรรม ช่วงเวลาที่อยู่บ้านตาดก็ไม่ได้ไปไหน อยู่ที่นั่น ๙ ปีก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย ตั้งแต่บวชมานี้ก็ไม่ค่อยได้สนิทสนมกับใคร ทั้งๆ ที่อยู่ในวัดเดียวกัน รู้จักชื่อ รู้จักหน้าค่าตา แต่ไม่ได้ทำความสนิทสนมกับใคร เพราะต่างคนก็มีหน้าที่ของตน
อยู่ที่นั่นก็เหมือนกับอยู่ที่นี่ เช้าก็ไปที่ศาลาเตรียมตัวออกบิณฑบาต กลับมาจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ ทำความสะอาดเสร็จ ก็กลับกุฏิใครกุฏิมัน บ่ายก็ออกมาปัดกวาด ฉันน้ำร้อนน้ำชา เสร็จแล้วก็กลับไปสรงน้ำ เข้าที่ภาวนา ชีวิตของพระปฏิบัติก็มีแค่นั้น
อยู่ที่นั่นก็ไม่ค่อยได้ไปหาใคร ไม่ได้ไปคุยกับใคร รู้จักว่าเป็นใครเท่านั้น แต่ก็ไม่รู้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่ค่อยคุยกับใคร อาจจะแปลกไปหน่อย ลาแล้ว...บ้านตาดเราก็ไม่เคยไปวัดบวรฯ ไม่รู้จักใครที่นั่น บุญก็พาเราไปพบสมเด็จฯ ท่านก็เมตตาบวชให้ บุญก็พาให้รู้จักวัดป่าต่างๆ เพราะที่วัดบวรฯ มีชาวต่างประเทศที่บวชแล้วจะไปอยู่ตามวัดป่าของครูบาอาจารย์กัน เช่น วัดของหลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงตามหาบัว เราก็เลือกไปวัดหลวงตาก่อน กะว่าจะแวะไปเรื่อยๆ ไปดูหลายๆ วัด พอไปถึงวัดหลวงตาก็ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ประมาณเกือบ ๙ ปี อยู่ ๙ พรรษา ๘ ปีกว่า
ตั้งแต่บวชจากวัดบวรฯ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ พอต้นเดือนเมษาฯ ๒๕๑๘ ก็ได้ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด อยู่ที่นั่น ๘ ปี ๘ เดือน ออกมาตอนธันวาฯ ๒๕๒๖ อยู่ได้ ๙ พรรษา ก็ไม่ได้ไปไหน อยู่ที่นั่นตลอด อยู่ที่นั่นก็เคยเข้าไปในเมืองอุดรเพียง ๔-๕ ครั้ง ไปกิจนิมนต์ครั้งสองครั้ง ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ไปหาหมอสองสามครั้งเพราะเป็นไข้ป่าไปให้หมอฉีดยาให้ และเคยขึ้นไปเชียงใหม่อยู่ครั้งหนึ่ง มีคนไปทอดกฐินเขาชวนไปนั่งรถเที่ยว เขาเห็นไม่เคยไปไหนก็เลยชวนไป ก็มีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นเองที่เดินทางไกล
อยู่อุดรฯ ก็ไม่เคยได้ไปกราบครูบาอาจารย์องค์อื่นเลย ไม่เคยมีความรู้สึกว่าจะต้องไป เพราะรู้ว่าไปก็เท่านั้น เวลาไปกราบท่านก็สอนให้กลับมานั่งภาวนาอยู่ดี ไปหาครูบาอาจารย์กี่ร้อยรูปก็เหมือนกันทั้งนั้น ท่านก็สอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา หาให้เจอเถอะ ถ้าได้เจออาจารย์ภายในใจเราแล้วก็ไม่ต้องไปหาอาจารย์ข้างนอก
ส่วนธุดงค์ก็ไม่ได้ไป อยู่ในวัดก็สามารถบำเพ็ญได้ เพราะการไปธุดงค์ก็เพื่อให้อยู่ห่างไกลจากภารกิจการงานต่างๆ ที่ไม่ใช่งานภาวนา หลวงตาท่านส่งเสริมเรื่องภาวนาอยู่แล้ว ถ้าพระเณรที่ต้องการภาวนา ท่านก็จะไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับการงานต่างๆ ท่านส่งเสริมเต็มที่
พออยู่ได้ ๕ พรรษาก็ขอกราบลาท่านมาเยี่ยมบ้าน ท่านก็อนุญาตให้กลับมา พักได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ก็กลับ ขากลับก็แวะไปภาวนาที่เขื่อนจุฬาภรณ์ ตอนนั้นเป็นเดือนเมษายน ๒๕๒๓ อยู่ภาวนาได้ประมาณ๑ อาทิตย์ ก็ได้ข่าวเครื่องบินตก เครื่องบินที่ครูบาอาจารย์ ๕ รูปโดยสาร ท่านมรณภาพ ก็เลยอยากจะกลับไปวัด ไม่ทราบว่าต้องช่วยทำอะไรบ้าง พอไปถึงวัดก็ทราบว่าหลวงตาไม่ให้พระเณรไปช่วยทำอะไร ท่านต้องการให้พระเณรภาวนา เพราะงานข้างนอกเป็นงานหยาบ งานข้างในเป็นงานละเอียด ถ้ากำลังทำงานข้างในแล้วออกไปทำงานข้างนอก ก็จะทำให้งานข้างในเสียได้ท่านเลยไม่ให้พระเณรไป มีแต่ท่านกับพระเถระรูปสองรูปไปดูแลงานของครูบาอาจารย์ที่มรณภาพไป
พอออกพรรษา ๘ ก็ขอลาออกมาภาวนาแล้วก็มาเยี่ยมบ้านด้วยเป็นปลายปี ๒๕๒๕ มาแวะเยี่ยมบ้านก่อน แล้วก็มาที่วัดญาณฯ เป็นครั้งแรกได้ยินว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้สร้างวัดนี้ หลวงปู่เจี๊ยะเคยมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ก็เลยมาดูว่าเป็นอย่างไร พักอยู่ได้ประมาณ ๒ อาทิตย์ แล้วก็กลับไปพักอยู่ที่สวนของวัดช่องลมประมาณ ๓ เดือน แล้วก็เดินทางกลับไปวัดป่าบ้านตาด กลับไปจำพรรษาปี ๒๕๒๖ เป็นพรรษาที่ ๙
พอออกพรรษาปี ๒๕๒๖ หลังจากรับกฐินเสร็จแล้ว ทางบ้านก็ส่งข่าวมาว่าโยมพ่อไม่ค่อยสบาย ท่านเป็นโรคมะเร็งที่ก้านคอ ก็เลยขอลาท่านออกมาเพื่อจะมาอยู่ใกล้และดูแลพ่อ โดยมาพักอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา โยมพ่อก็รักษาตัวจนถึงเดือนมิถุนาฯ ปี ๒๕๒๗ ท่านก็เสีย เสียแล้วก็เผา เสร็จงานศพก็ใกล้ๆ เข้าพรรษาก็เลยไม่ได้กลับไปบ้านตาด
ตอนที่มาก็ไม่ได้คิดว่าจะมาแบบไม่กลับ พอเสร็จงานเผาศพก็ใกล้จะเข้าพรรษา ก็เห็นว่าที่บ้านตาดมีพระอยากจะเข้าไปอยู่กันเยอะ ถ้ากลับไปก็ทำให้คนอื่นไม่ได้อยู่ ก็เลยคิดว่า ได้อยู่มานานพอสมควรแล้ว คือ ๙ พรรษา ไปอยู่ตั้งแต่พรรษาหนึ่งถึงพรรษา ๙ ไม่ครบ ๙ ปี ประมาณ๘ ปีกว่า ไปเดือนเมษาฯ ๒๕๑๘ พอธันวาฯ หรือพฤศจิกาฯ ๒๕๒๖ ก็ออกมาแล้วก็ไม่ได้กลับไปอีกเลยอยู่ประจำที่วัดญาณฯพรรษา ๑ ถึง ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา พรรษา ๑๑ ถึงปัจจุบัน อยู่ที่วัดญาณฯ มาอยู่ที่วัดญาณฯ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ ออกจากวัดป่าบ้านตาดมาแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ที่เมืองพัทยา อยู่พรรษาหนึ่ง พอออกพรรษาและรับกฐินเรียบร้อยแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดญาณฯ ในปลายปี ๒๕๒๗ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมาพักที่นี่อยู่ชั่วคราว แต่ตอนนั้นพักอยู่ข้างล่าง ข้างบนยังไม่ได้บุกเบิก ยังเป็นป่าเป็นเขาอยู่
อาตมามาวัดญาณฯ ปลายปี ๒๕๒๗ ก็พักอยู่ข้างล่างก่อนประมาณ๒ ปีกว่า พอปี ๒๕๓๐ เดือนมีนาฯ ก็ขึ้นมาอยู่บนนี้ ก็อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อยู่มาได้เกือบ ๓๐ ปี ทำกิจกรรมร่วมกับพระที่อยู่ข้างล่าง บิณฑบาตก็ร่วมกัน ฉันอาหารก็ฉันที่ศาลาเดียวกัน เพียงแต่เวลาอยู่ก็แยกกันอยู่ ถ้าต้องการความสงบก็ขึ้นมาอยู่บนเขา ถ้ายังไม่ถนัดยังไม่พร้อมที่จะอยู่บนเขาก็อยู่ข้างล่างไปก่อน
อาตมาอยู่ที่นี่ก็อยู่ไปตามอัธยาศัย เคยปฏิบัติอย่างไรตอนที่อยู่กับครูบาอาจารย์ ก็ปฏิบัติของเราไป ไม่ได้ไปสอนใคร แต่ถ้าใครสนใจอยากจะสนทนาธรรมด้วย ก็สนทนากันไป ทำหน้าที่ของเรา เช้าก็เดินลงไปบิณฑบาต ฉันเสร็จก็กลับมาที่พัก แล้วก็ไม่ยุ่งกับใคร อยู่ตามลำพัง ใครสนใจจะมาฟังเทศน์ฟังธรรมก็มา ก็พูดไปตามความรู้ความสามารถเท่าที่จะพูดที่จะสอนได้ไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้คิดอะไร ก็อยู่ไปอย่างนี้ จนหมดเวลาของเราเท่านั้นเอง ถ้าทำแล้วสบายใจ ไม่วุ่นวายใจ ไม่ทำลายความสงบ ก็ทำไป ถ้ารบกวนความสงบ ก็อาจจะต้องหาที่อยู่ใหม่ ขยับขยายไป เพราะงานหลักคือดูแลจิตใจ รักษาจิตใจให้สงบ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ถ้ามีเรื่องมาบีบมากจนรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ก็ต้องไป ถ้าไม่มีอะไรมาบีบก็อยู่ต่อไปแต่ก็ยังไม่รู้จะไปทางไหน เพราะไม่ได้ไปที่ไหนเลย ไม่ได้สมาคมกับใครที่ไหนประวัติวัดญาณสังวรารามสมเด็จพระสังฆราชอยากจะให้เป็นวัดกรรมฐาน ให้เป็นวัดที่มีการปฏิบัติ นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธุดงควัตรกัน แต่ก็อยากจะให้เป็นวัดที่สวยงาม จึงสร้างให้สวยงาม ก็เลยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไป มีคนมาเที่ยวชมตลอดเวลา แล้วก็อยากจะให้เป็นเหมือนวัดบวรฯ อยากให้มีขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดบวรฯ ด้วย ก็เลยปนกันไปปนกันมา เป็นทั้งลูกทุ่ง เป็นทั้งลูกกรุง
วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นองค์ประธานจัดสร้างวัด
เมื่อปี ๒๕๑๙ นายแพทย์ขจร และคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้ถวายที่ดินแด่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภทบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ
ต่อมาคณะผู้ริเริ่มสร้างวัดได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินที่ติดต่อเขตวัดถวายเพิ่มเติมอีกประมาณ ๖๐ ไร่เศษ รวมเป็นที่ดินทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา เพื่อขอให้สร้างวัด และขอใช้ชื่อว่า "วัดญาณสังวราราม"
การสร้างวัดได้ดำเนินการมาโดยลำดับ วัดญาณสังวราราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ ตอนที่ ๔๓) ในปัจจุบันวัดญาณสังวราราม มีเนื้อที่รวมทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา ไม่รวมถึงพื้นที่โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รักษาการเจ้าอาวาส
การสร้างวัดญาณสังวราราม มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสำนักปฏิบัติ คือเน้นทางด้านสมถะและวิปัสสนา และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในทางการศึกษาอบรมพระธรรมวินัย รวมทั้งเพื่อให้เป็นที่ยังประโยชน์ในการบำเพ็ญอเนกกุศลต่างๆ ด้วย สิ่งก่อสร้างภายในวัดญาณฯวัดญาณฯ นี้สร้างอะไรแต่ละอย่างก็มีเจตนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งนั้น อย่างเช่น
พระอุโบสถของวัด ก็สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สร้างเป็นทรงจีน เอาแบบมาจากวัดบวรฯ พระประธานในพระอุโบสถ พระนามว่า “สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์” ก็สร้างถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจดีย์ ก็สร้างถวายพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๙ พระองค์ในพระราชวงศ์จักรี พระมณฑปที่อยู่บนยอดเขา ก็สร้างถวายในหลวงและพระราชินี ศาลาสวดมนต์ ก็สร้างถวายสมเด็จพระเทพฯ และพระบรมฯ ศาลาฉันอาหาร ก็สร้างถวายพระพี่นางฯ และสมเด็จย่าฯ
วัดนี้สร้างเพื่อเทิดทูนพระมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ที่ปกป้องรักษาเอกราชให้ประเทศไทยได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ประวัติที่พักภาวนาบนเขาชีโอนพระที่วัดนี้เป็นเหมือนลูกกำพร้า สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้ควบคุมดูแลพระเณรเอง ทรงฝากให้พระองค์นั้นดูแลบ้าง พระองค์นี้ดูแลบ้าง ตอนหลังนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ดูแลกันเอง
ตอนนั้นที่วัดญาณฯ ยังไม่มีพระหัวหน้าอยู่ประจำ สมเด็จฯ อยากจะให้เป็นวัดป่าเป็นวัดกรรมฐาน เจ้าคุณที่วัดบวรฯ ก็ไม่ถนัดเรื่องกรรมฐานกันก็เลยไม่ได้มาอยู่ สมเด็จฯ จึงต้องไปขอพระจากครูบาอาจารย์ทางภาคอีสานให้มาอยู่ ท่านเคยนิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะมาอยู่สักพรรษาหรือสองพรรษา แล้วหลวงปู่เจี๊ยะก็ไป หลังจากนั้นก็นิมนต์องค์นั้นองค์นี้มาสลับกันไป จนปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้นิมนต์พระอาจารย์หวัน จุลปัณฑิโต ลูกศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย จากวัดถ้ำกลองเพลให้มาอยู่ ท่านก็อยู่เป็นหัวหน้าสงฆ์ที่วัดญาณฯ นี้หลายพรรษา
ช่วงที่ท่านมาอยู่เห็นว่าที่บนเขาเป็นที่สงบสงัดวิเวกดี ก็เลยปรารถนาขึ้นมาทำสถานที่ปฏิบัติ ก็เลยขออนุญาตสมเด็จฯ ขึ้นมาพัฒนา พอดีมีญาติโยมรื้อบ้านแล้วเอาไม้มาถวายวัด ท่านก็เลยชวนญาติโยมแบกไม้ขึ้นมาสร้างศาลาและกุฏิ สมัยนั้นไม่มีถนนขึ้นมา เป็นทางเดินป่า ก็ต้องแบกไม้ขึ้นมาอย่างลำบากลำบนเพื่อมาสร้างกุฏิและศาลาหลังนี้
พอสร้างเสร็จได้ไม่กี่เดือน สมเด็จพระสังฆราชฯ ก็รับเสด็จในหลวงบนศาลาหลังนี้ ทรงสนทนาธรรมกัน พวกคุณหญิงคุณนายที่ติดตามมา ก็เห็นว่าศาลาหลังนี้ไม่เหมาะไม่สมพระเกียรติเลย ก็เลยอยากจะรื้อแล้วสร้างใหม่ พอพวกชาวบ้านที่ช่วยสร้างรู้เข้าก็ขู่ว่า ถ้ารื้อก็จะไม่ใส่บาตรพระ พอสมเด็จฯ ทราบก็เลยห้ามไม่ให้รื้อ ก็เลยเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้
ศาลาหลังนี้มีทั้งในหลวง มีสมเด็จพระสังฆราช มีหลวงตา ได้มาใช้แล้ว เป็นศาลาที่มีความเป็นมงคลอยู่มาก มีบุคคลสำคัญทั้งทางโลกและทางธรรมได้มาเยี่ยมเยียนก็เลยรักษามา มีคนมาขอสร้างให้ใหม่หลายคน แต่สร้างใหม่ไม่ได้ เดี๋ยวพระไม่มีข้าวกิน ตอนหลังชาวบ้านก็บอกไม่เป็นไร จะรื้อก็รื้อได้เขาไม่ว่าอะไรแล้ว แต่ตอนนั้นมันเสียความรู้สึก เพราะอุตส่าห์แบกไม้กันขึ้นมาอย่างลำบากลำบน สร้างได้เพียงไม่กี่เดือนก็จะไปรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่
นี่ก็เป็นเรื่องของศาลาหลังนี้ พอมีใครไปยึดติดแล้วก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่ยึดติด ก็ไม่เป็น ใครจะรื้อก็รื้อไป สร้างใหม่ก็ดี ถ้าพูดตามความจริงจะสร้างให้อย่างถาวรเลยก็น่าจะดีกว่า ถ้าเป็นวัดอื่นก็คงจะดีใจกันมารื้อกระต๊อบแล้วสร้างเป็นตึกให้ใหม่ แต่ที่นี่ชาวบ้านเขายึดติดที่ต้องลำบากลำบนขนไม้ขึ้นมาสร้างกัน ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลยเป็นป่าล้วนๆ
คืนแรกพระอาจารย์หวันมาปักกลดอยู่คนเดียวก่อน มาเปิดทางก่อน ท่านก็เล่าว่าพอนั่งสมาธิ ก็มีชายร่างใหญ่ๆ ดำๆ โผล่มา ถือไม้กระบองจะไล่ท่านไป ท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้มาขับไล่ไสส่งใคร ไม่ได้มามีเรื่องมีราวกับใคร มาบำเพ็ญสมณธรรมหาความสงบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็เดินหนีไป พอคืนที่สองก็มาอีก ทีนี้เขามาแบบมีไมตรีจิตบอกท่านว่าถ้ามาอยู่แบบนี้ก็มาได้ แล้วเขาก็กลับไป พระเณรจึงได้ขึ้นมาอยู่กัน
ข้างบนเขานี้เป็นที่ปลีกวิเวก ไม่ทำกิจร่วมกัน ไม่ได้ไหว้พระสวดมนต์ร่วมกัน ให้ถือการภาวนาเป็นการบูชา เป็นปฏิบัติบูชา เป็นการทำวัตร แต่ก็แปลกนะ มีบางคนมาอยู่แล้วอยู่ไม่ได้ มาอยู่แล้วบอกเจออะไรไม่ทราบมาอยู่คืนหนึ่งแล้วเปิดเลยก็มี
เมื่อวันปีใหม่ก็มีฆราวาสมาขออยู่ อยู่ได้คืนหนึ่งก็เจอเหมือนกัน มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร เลยบอกว่า แผ่เมตตาให้เขาไป ขออนุญาตเขา เขาเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ไม่ทำอะไรหรอก ก็จะลองอยู่อีกคืนหนึ่ง แต่พอตกเย็นก็ไม่กล้าอยู่ กลับไปก่อน ถ้าขึ้นมาแล้วตั้งใจปฏิบัติ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้ามาแล้วจิตใจไม่สงบ คิดมาก อาจจะเป็นอุปาทานก็ได้
แต่กับเราไม่เห็นมีอะไร เหมือนคนหูหนวกตาบอด มาอยู่เกือบ ๓๐ ปีแล้วไม่เคยเห็นอะไร ไม่เคยมีใครมาขับมาไล่เลย อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ก่อสร้างอะไรที่ไม่จำเป็นเลย
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:24:20 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #7 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2560 14:11:07 » |
|
สมเด็จฯ จำไม่ได้ เราบวชที่วัดบวรฯ บวชกับสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช อยู่วัดบวรฯ ได้ ๖ อาทิตย์ ก็ขอสมเด็จฯ ไปศึกษากับหลวงตามหาบัว ที่วัดป่าบ้านตาด ท่านก็อนุญาต หลังจากออกมาแล้ว ก็ไม่ได้กลับไปหาสมเด็จฯ อีกเลย จนมาอยู่ที่วัดญาณฯ นี้ ถึงได้มาพบท่าน ท่านก็จำไม่ได้
ท่านก็ถามว่า ใครบวชให้ พอดีพระเลขาสมเด็จฯ ที่ท่านนั่งอยู่ด้วยท่านก็บอกว่า พระองค์ท่านแหละเป็นผู้บวชให้ เพราะพระเลขาท่านเป็นพระพี่เลี้ยงตอนที่เราบวช ท่านจำเราได้ ตอบแทนคุณพระอุปัชฌาย์ฐานานุกรม คือ ชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยnซึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีสมณศักดิ์สูงบางตำแหน่งมีสิทธิ์ตั้งพระรูปอื่นให้เป็นฐานานุกรมได้ตามศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต
ตำแหน่ง พระจุลนายก (พระราชาคณะปลัดซ้าย) เป็นฐานานุกรมชั้นพระราชาคณะ ตำแหน่งนี้มีเฉพาะฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น เป็นตำแหน่งพิเศษ เพราะการได้สมณศักดิ์พิเศษนี้ หมายถึงงานพิเศษที่ต้องรับผิดชอบ และจากคุณสมบัติที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองแล้วจากสายตาของสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งฐานานุกรมให้พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ที่พระจุลนายก และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม เพื่อรับผิดชอบดูแลพระสงฆ์และกิจการภายในวัดญาณสังวรารามแทนพระองค์ ขณะเดียวกันพระอาจารย์สุชาติก็จะได้สนองพระคุณของสมเด็จฯ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย
ฉะนั้นไม่ว่าใครจะมาบวชที่วัดแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์สุชาติจะเป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งเผยแผ่ธรรมะแก่ผู้สนใจปฏิบัติธรรมทั่วไป สถานที่ปฏิบัติธรรมบนเขาชีโอนสถานที่ปฏิบัติธรรมบนเขานี้ ไม่ค่อยมีคนรู้กัน ก็เลยไม่ค่อยมีใครขึ้นมารบกวน แล้วก็มีด่านคอยกั้นไว้ด้วย คนที่มาทำบุญที่วัดตอนเช้าก็ไม่รู้ มาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์เสร็จแล้วก็กลับ ไม่ค่อยได้ปล่อยให้ใครขึ้นมา เพราะกลัวจะมารบกวน มาสร้างความวุ่นวาย สถานที่ไม่กว้างใหญ่ จึงต้องระมัดระวังหน่อย
เนื้อที่ทั้งหมดของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอนก็ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มีถนนวิ่งรอบเกือบ ๘ กิโลฯ ส่วนบริเวณที่ปฏิบัติธรรมของพระก็ประมาณสัก ๑๐๐ ไร่ได้มั้ง หรือ ๘๐ ไร่ มีทางเดินเป็นวงกลม แล้วก็มีทางแยกไปสู่แต่ละกุฏิ อยู่ได้ประมาณสักสิบกว่ารูป แต่ก็อยู่กันไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่แค่ ๕–๖ รูป
ผู้ที่มาบวชที่วัดญาณฯ ถ้าอยากจะปฏิบัติ ก็มักจะไปอยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์กัน ส่วนพวกที่บวชชั่วคราว ก็ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติ ก็ไม่ค่อยชอบขึ้นมา เพราะข้างบนนี้มันกันดารพอสมควร ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำก็ต้องอาศัยน้ำฝน รองใส่แท้งก์ ต้องใช้อย่างประหยัดเพราะมีไม่มาก มีแท้งก์อยู่ ๒–๓ ลูกต่อหนึ่งกุฏิ ถ้าต้องการสรงน้ำให้จุใจ ช่วงตอนเช้าเวลาลงไปข้างล่างก่อนจะออกบิณฑบาต ก็สรงที่ข้างล่างก็ได้ เพราะมีน้ำประปา มีไฟฟ้า ที่ข้างบนนี้สมัยก่อนเวลาสรงน้ำก็ต้องประหยัดๆ หน่อยสัก ๔–๕ ขัน พอทำความสะอาดร่างกายก็พอแล้ว เพราะไม่มีที่เก็บน้ำเยอะ
แต่พอมีความจำเป็นต้องการอะไร มันก็มาเอง ตอนแรกทางเดินไม่ได้เป็นปูนซิเมนต์ เป็นทางดิน ตอนหน้าฝนดินมันเหนียว เวลาเดินดินจะติดกับรองเท้าหนาปึ้กเลย แล้วก็ลื่นด้วย ก็เลยปรารภอยู่ในใจว่า น่าจะทำทางเดินปูนซิเมนต์ ไม่นานก็มีคนมาถามว่าต้องการอะไรไหม กุฏิมีพอใช้ไหม ก็บอกเขาไปว่ามีกุฏิพอเพียงอยู่ แต่สิ่งที่ขาดก็คือทางเดิน เพราะช่วงหน้าฝนมันลำบาก ทางเดินจะกลายเป็นร่องน้ำ เป็นเหมือนลำธารเลย เวลาฝนตกจะเดินลำบาก พระเณรต้องลงแต่เช้ามืด เดินลำบากมาก ก็เลยอยากจะทำทางเดินเป็นปูนซิเมนต์ เขาก็เลยบอกให้พิจารณาดูว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่พอบอกเขาไปก็เขียนเช็คมาให้เลย
อย่างพวกแท้งค์น้ำก็เหมือนกัน เวลาที่สร้างกุฏินี่ คนสร้างไม่รู้ว่าแท้งค์น้ำมีความจำเป็นมาก ก็จะมีแท้งค์น้ำให้ลูกเดียว น้ำก็จะไม่พอใช้ก็ปรารภอยู่ในใจว่าน่าจะมีสัก ๓ ใบต่อหนึ่งหลัง ไม่นานก็มีคนเอาแท้งค์น้ำมาถวาย จนมีเกือบทุกกุฏิข้อวัตรปฏิบัติของพระวัดญาณฯถ้าพักอยู่ข้างล่างก็ใกล้ศาลา ไม่ต้องเดินไกล น้ำไฟก็มีพร้อม ถ้าอยู่บนนี้ก็ต้องเดินไกลหน่อย ประมาณ๓ กิโลฯ ครึ่ง เดินลงไปตั้งแต่เช้ามืด ยังไม่สว่าง ต้องลงไปให้ทันเวลาที่จะออกไปบิณฑบาต ทุกวันนี้ออกบิณฑบาตประมาณตี ๕.๔๕ น. ก็จะลงประมาณตี ๔ ครึ่ง เวลามีฝนตกก็ไป ถ้าเป็นพายุก็ต้องรอให้หยุดก่อน ถ้าตกแบบธรรมดาพอกางร่มเดินไปได้ก็กางไป ใช้เวลาประมาณสัก ๔๕ นาที
การที่ไม่มีรถมารับบนเขา ส่วนหนึ่งเพราะคนขับรถยังไม่ตื่น อีกส่วนหนึ่งก็เป็นอุบายให้ได้ภาวนาไปในตัว เดินไปก็พิจารณาความตายไปเรื่อยๆ ก็เป็นปัญญาขึ้นมา จนจิตยอมรับความจริงว่า เวลาจะไปเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ เมื่อพร้อมแล้วก็ไม่เดือดร้อนอะไรก็สบายใจ ต้องใช้การเดินลงเขาไปบิณฑบาตเป็นเครื่องช่วยภาวนาให้เกิดปัญญา ถ้าอยู่ที่สุขที่สบายที่ปลอดภัย ก็จะไม่เห็นความไม่เที่ยงที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้าอยู่อย่างนี้ก็ต้องปลงอยู่ตลอดเวลา เดินไปไม่รู้จะไปเจออะไรข้างหน้า บางทีก็มีงูบ้าง มีสัตว์อื่นบ้างก็ดี เป็นการทดสอบใจ
ลงไปถึงก็ประมาณตี ๕ ครึ่ง นั่งพักอยู่สัก ๑๕ นาที ก็มีรถมารับไปบิณฑบาต โดยจะบิณฑบาตทั้งข้างนอกและรับอาหารข้างในวัด ที่นี่ไม่ได้ถือธุดงควัตรที่ไม่รับอาหารอื่นนอกจากบิณฑบาต เพราะไม่ได้ทำมาตั้งแต่เริ่มตั้งวัด ก็เลยไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติกันมา
พระที่วัดญาณฯ จะไม่ได้อดอาหารกัน เพราะไม่มีใครทำเป็นตัวอย่างให้ดู พระที่ปฏิบัติจริงๆ จังๆ จะไม่ได้อยู่ที่นี่กัน จะเป็นพระที่บวช ๓ เดือนตอนเข้าพรรษา บวชตามประเพณี บางท่านบวชไปแล้วชอบชีวิตแบบนี้ก็อยู่ต่อ แต่ไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐาน ได้แต่ลงโบสถ์ ไหว้พระสวดมนต์ บิณฑบาต ทำกิจกรรมต่างๆ ก็พอใจแล้ว
กลับมาจากบิณฑบาตถึงวัดก็ประมาณเจ็ดโมงครึ่ง ก็มีญาติโยมที่มารอที่ศาลามาถวายอาหาร ใส่บาตรที่ศาลาฉันอีก กว่าจะเสร็จก็ประมาณแปดโมงเช้า จากนั้นก็พูดธรรมะสักครึ่งชั่วโมง ที่นี่จะเทศน์ให้ฟังก่อนฉัน เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารพร้อมๆ กับพระไปเลย พระที่อยู่บนเขาและข้างล่าง ก็จะฉันที่ศาลาฉันร่วมกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป ถ้าเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ หรือวันพระ ก็จะช่วงเวลานี้ แต่ถ้าเป็นวันธรรมดาก็จะเร็วกว่านี้ เพราะไม่มีคนมามาก กลับจากบิณฑบาต ๗ โมง จัดอาหารเสร็จก็ประมาณ ๗ โมงครึ่ง ก็ฉันกันแล้ว
หลังจากที่พระเสร็จกิจจากการฉันแล้ว พระที่อยู่ข้างบนก็จะกลับกุฏิ ท่านจะไม่นั่งสมาธิ ส่วนใหญ่จะเข้าทางจงกรมกัน เดินให้มันหายง่วง เมื่อหายง่วงแล้วค่อยกลับมานั่งสมาธิ ถ้าจำเป็นก็อาจจะพักจำวัด ส่วนมากท่านจะพักตอนกลางวันประมาณชั่วโมงหนึ่ง พอตื่นขึ้นมาปั๊บก็รีบลุกขึ้นมาเดินจงกรมต่อ นั่งสมาธิต่อ หรือถ้ามีกิจที่จะต้องทำ เช่น ปัดกวาด ก็ปัดกวาดด้วยการมีสติ
การปัดกวาดของพระนี้ก็เป็นการภาวนาไปในตัว เพราะว่าจิตของท่านไม่ไปอยู่ที่อื่น จิตจะอยู่กับไม้กวาด กวาดซ้ายกวาดขวา จิตก็จะอยู่กับการสัมผัสของไม้กวาดนั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น คิดถึงเรื่องนี้ การภาวนานี้ต้องให้จิตอยู่ในปัจจุบันอยู่เสมอ ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อย่าส่งไปในอดีต อย่าส่งไปในอนาคต จิตจะนิ่งได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าไปในอดีตมันก็แกว่งไปแล้ว เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าอยากจะให้ลูกตุ้มนาฬิกาอยู่ตรงกลาง ก็ต้องไม่ให้ขยับไปทางซ้ายหรือไปทางขวาที่พักภาวนาสำหรับฆราวาสที่นี่มีที่พักให้ฆราวาสมาปฏิบัติได้ แต่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน พักกันตามอัธยาศัย ใครถนัดที่จะภาวนาแบบไหนก็ทำกันไป
จะมีให้ลงโบสถ์เช้าเย็น ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น แล้วก็นั่งสมาธิในโบสถ์สักครึ่งชั่วโมงพร้อมๆ กัน ตอนเช้าก็ประมาณตีห้า ตอนเย็นก็ประมาณ ๖ โมงเย็น หลังจากนั้นก็กลับไปที่พักของใครของมัน ที่พักก็จะเป็นเรือนใหญ่เป็นห้องๆ เหมือนกับโรงแรม มีห้องน้ำอยู่ในตัว ให้อยู่ครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน ๗ วัน อย่างต่ำ ๓ วัน และไม่เกิน ๗ วันต่อครั้ง ที่ให้อย่างน้อย ๓ วัน เพราะกลัวพวกที่มาเที่ยวกันแล้วไม่มีที่พักจะอาศัยวัดนอน
ส่วนที่ข้างบนเขา โดยปกติจะไม่ให้ใครขึ้นมาอยู่ นอกจากคนที่เคยบวชอยู่ที่นี่มาก่อน แล้วอยากจะมาขอพักสักคืนสองคืน ถ้ามีกุฏิว่างก็อยู่ได้ แต่ไม่ได้เปิดกว้างให้คนทั่วไปขึ้นมาอยู่ แล้วก็ไม่อยากจะให้มากันมากเพราะที่มันแคบ ไม่กว้างนัก ข้างบนนี้น้ำก็ไม่สะดวก ต้องอาศัยน้ำฝนที่รองใส่แท้งก์ไว้ก็มีจำนวนจำกัด ใช้มากก็จะหมด ไม่พอใช้ ไฟฟ้าก็ไม่มี คนที่ไม่รักการภาวนาจริงๆ จะไม่ชอบที่อย่างนี้ แต่คนที่ชอบภาวนากลับจะชอบที่อย่างนี้ ลำบากเรื่องน้ำ เรื่องไฟ อดอยากขาดแคลนไม่เป็นไร ขอให้ที่สงบสงัด ไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจก็แล้วกัน จะเป็นประโยชน์ในการภาวนา
ถ้ามาอยากจะให้มาเดี่ยวๆ มากกว่า ถ้ามา ๒ คนก็มักจะจับคู่กัน การภาวนาต้องเน้นความวิเวก ไม่จับกลุ่มกันได้ก็จะดี ถ้าจับกลุ่มกันแล้วก็อดที่จะคุยกันไม่ได้ เวลามาคนเดียวรู้สึกว่าโล่งไปหมด ไม่ต้องกังวลห่วงกัน ถ้ามา ๒ คน ก็ต้องห่วงหน้าห่วงหลังกัน มาคนเดียวก็เข้าประจำที่ภาวนาได้เลย
ข้างบนเขานี้แม้แต่พระบวชใหม่ก็ไม่ได้ให้ขึ้นมาทันที พระบวชใหม่ยังไม่รู้จักการภาวนา ถ้าปล่อยให้ขึ้นมาเดี๋ยวก็มาสร้างความวุ่นวายให้กับพระรูปอื่น เพราะจะไม่ภาวนานั่นเอง จะไปรบกวนพระกุฏินั้นกุฏินี้ ไปคุยกับเขา ไปทำอะไรต่างๆ ก็เลยต้องให้อยู่ข้างล่างไปสักพักก่อน ดูสภาพจิตใจว่ารักความสงบหรือไม่ ชอบภาวนาหรือไม่ ถ้าไม่ชอบความสงบก็ไม่ให้ขึ้นมาไม่เกิดประโยชน์อะไร สังเกตตัวเองตอนบวชใหม่ๆ นี่จะฉันน้ำตาลเยอะเพราะฉันมื้อเดียว ตอนบ่ายจะรู้สึกหิว ก็จะฉันพวกโกโก้ใส่น้ำตาลเป็นช้อนๆ ลงไป ก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นๆ สังเกตดูว่าจะเริ่มแพ้น้ำตาล ฉันอะไรหวานๆ แล้วจะเกิดอาการร้อนในขึ้นมา จะมีแผลในปาก ตอนต้นก็ไม่ทราบว่าแผลในปากนี้เกิดเพราะเหตุใด คนส่วนใหญ่เวลาเป็นแผลในปากก็จะไปหายามาทาหายามารับประทาน โดยไม่คิดถึงเหตุของอาการว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
อาตมาก็พยายามสังเกตดูอยู่เรื่อยๆ ลองลดสิ่งนั้นลดสิ่งนี้ลงไป จนในที่สุดก็มาเจอคำตอบที่ตัวน้ำตาลว่าต้องลดลง พอลดลงเพียง ๒-๓ วัน มันก็หายไป ถ้าวันไหนฉันน้ำตาลมากกว่าปกติที่ร่างกายจะรับได้ มันก็จะเป็นขึ้นมา ก็รู้ว่าน้ำตาลนี่เป็นเหตุที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย รู้ว่าร่างกายจะมีสัญญาณคอยเตือน เช่น อาการร้อนใน มีแผลในปาก เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้วแผลในปาก เพราะคอยควบคุมปริมาณน้ำตาลไม่ให้มากเกินกว่าร่างกายจะรับได้ พออายุมากขึ้นรู้สึกว่าความต้องการน้ำตาลจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เคยฉันของหวานๆ ได้ เดี๋ยวนี้ต้องลด เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้ฉันของหวานเลย ฉันเท่าที่จะฉันได้ มันอยู่ที่ตัวเรา
การออกกำลังกายก็ดี การหลับนอนก็ดี มันก็บอกเรา วันไหนถ้านอนไม่พอนี่ ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการไม่ปกติขึ้นมา จะรู้สึกไม่มีกำลัง ง่วงเหงาหาวนอน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเรากำลังไม่ได้ดูแลรักษาร่างกายให้ถูกต้อง การออกกำลังกายก็มีส่วน ถ้านั่งๆ นอนๆ อยู่เรื่อยๆ เวลาลุกขึ้นมาเดินมาทำอะไร จะรู้สึกไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง แต่ถ้าได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้เดิน ได้ทำอะไร จะมีกำลังวังชาดี
ถ้าสังเกตดูตัวเองแล้วจะรู้ทุกขณะเลยว่าร่างกายมีปัญหาในส่วนไหนบ้าง เวลาเป็นอะไรขึ้นมาก็สังเกตดู เช่น เวลาถ่ายท้องก็มีหลายสาเหตุ ของอาตมาส่วนใหญ่จะเป็นเพราะฉันนม ถ้าฉันทุกวันจะไม่เป็น แต่ถ้าวันไหนหยุดไปแล้วกลับมาฉันใหม่ก็จะถ่าย ก็คอยสังเกตดูอาการต่างๆ มาตลอด โดนงูกัดที่วัดญาณฯเคยโดนงูกัด แต่เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะอยู่ในที่มืดไม่ได้ฉายไฟ เป็นตอนเช้ามืด เดินลงเขาจะไปบิณฑบาต พอออกจากแนวป่า เดินอยู่บนถนนโล่งๆ แล้วไม่คิดว่าจะมีงู ก็เลยไม่ได้ฉายไฟ อาศัยแสงดาวแสงเดือนพอเห็นลางๆ เดินมาตั้งหลายปีก็ไม่เคยเจออะไร
วันนั้นเดินไปเจอก็ไม่ทราบว่าโดนงูกัด คิดว่าไปเตะหนามเข้า ก็เลยฉายไฟดู ก็เห็นงูกะปะตัวเล็กๆ ไม่ยาว รอยที่มันกัดก็เหมือนถูกเข็มเล็กๆ แทงมีเลือดออกมาเป็นจุดเล็กๆ ตอนนั้นอยู่ใกล้ๆ กับบ้านพักของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในเบื้องต้นก็บีบเลือดออกมาก่อน แล้วก็เดินไปที่บ้านพักปลุกคนให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเริ่มเจ็บแล้ว เริ่มเดินไม่ค่อยได้ เขาก็เอามะนาวมาโปะที่แผลไว้ก่อนช่วยดูดพิษได้ แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล
ตอนที่ไปถึงโรงพยาบาลก็เกือบจะ ๖ โมงเช้า ตอนต้นเอาเลือดไปตรวจดู เลือดก็ยังเป็นปกติอยู่ เพราะพิษงูเพิ่งเข้าไปได้ไม่นานได้เพียงครึ่งชั่วโมง ยังไม่กระจายไปทั่ว ต้องรออีก ๖ ชั่วโมงถึงจะตรวจเลือดอีกครั้งหนึ่ง เราก็คิดว่าหมอจะรีบเอายามาฉีด แต่กลับไม่ได้ฉีด ปล่อยให้นอนอยู่เฉยๆ เอาสายน้ำเกลือมาใส่ เลยถามว่า ไม่ทำอะไรหรือ พยาบาลบอกว่า เพียงแต่ตรวจเลือดดูก็พอ เพราะพิษงูนี้มันไม่ตายทันที ที่ยังไม่ให้ยาทันทีเพราะกลัวจะแพ้ยา พิษของงูชนิดนี้ไม่ได้ไปทำลายประสาท ไม่ได้ทำให้หัวใจหยุดเต้น แต่จะทำลายเลือด คือจะทำให้เลือดไม่แข็งตัว เลือดจะไหลไม่หยุดถ้ามีเลือดไหลออกมา เขาบอกว่าหมอสั่งให้เช็คดูก่อนว่าเลือดยังแข็งตัวอยู่หรือเปล่า ถ้าโดนงูพิษกัดตอนเช้ามืด พิษจะไม่แรงเพราะมันออกหากินทั้งคืนแล้วคงได้ไปกัดสัตว์อื่นบ้างแล้ว อาจจะมีพิษเหลืออยู่น้อยพอที่ร่างกายจะกำจัดมันได้เอง ตอนแรกเขาไม่ได้อธิบายแบบนี้ เราก็กระสับกระส่ายอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่ทำอะไร ใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวแล้วมั้ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
พอใกล้ๆ เที่ยง เขาก็มาเจาะเลือดดูอีกที ตอนนั้นเลือดไม่แข็งตัวแล้ว ธรรมดาเลือดจะแข็งตัวประมาณ ๑๐ กว่านาที แต่นี่ ๓๐ กว่านาที ก็ยังไม่แข็งตัว ก็เลยต้องให้ยาเซรุ่ม ถ้าแพ้ยาก็อาจจะทำให้ช็อคได้ ก็เลยให้พยาบาลผู้ชายมาเฝ้าดูอาการตรวจชีพจรกับเช็คความดันอยู่ทุกชั่วโมง เราก็ไม่รู้สึกอะไร ยาที่ให้ขวดแรกก็ขนาดนมกล่องเล็กๆ ผ่านทางสายยาง ใช้เวลาประมาณสัก ๔๕ นาที พออีก ๖ ชั่วโมง ก็มาตรวจเลือดอีก ก็ยังไม่แข็งตัวต้องให้เพิ่มอีกหนึ่งขวด พออีก ๖ ชั่วโมงก็มาตรวจอีกที ตอนนี้เลือดแข็งตัวเป็นปกติแล้ว แต่แผลที่ถูกงูกัดเริ่มดำคล้ำ เส้นเลือดที่พิษงูวิ่งผ่านไปจะเป็นสีดำคล้ำไปหมด หมอบอกรอดูอีกวันสองวัน อาจจะต้องเฉือนเนื้อออกไปบ้างเพราะมันจะเน่า แต่สองวันต่อมาอาการก็ดีขึ้น เริ่มกลับเป็นสีชมพู ก็เลยไม่ต้องเฉือนออกไป อาจจะเป็นเพราะมะนาวที่ช่วยทำให้ไม่เน่าหรือการบีบเลือดออกตอนที่ถูกกัดใหม่ๆ ช่วยลดพิษงูให้น้อยลง
เราเกิดมาก็ไม่เคยคิดว่าจะถูกงูกัด ทำอย่างไรได้ในเมื่อมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้ว ก็คอยประคับประคองสติรักษาใจไว้เท่านั้นเอง ไม่ไปวุ่นวายจนเกินเหตุเกินผล ก็ไม่ได้ถึงกับปล่อยเลย ยอมตายล่ะ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ ถ้าหาหมอได้ก็ไปหาหมอหลวงตาเมตตามาเยี่ยมหลวงตาท่านก็เมตตามาอยู่เรื่อยๆ ใหม่ๆ ท่านจะมาเกือบทุกปี ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ไปที่สวนแสงธรรม ท่านจะมาพักอยู่ที่สวนป่ากรรมฐานของวัดช่องลม ต.นาเกลือ วัดของหลวงพ่อบัวเกตุ โดยเถ้าแก่กิมก่ายได้มาสร้างกุฏิสร้างศาลาถวายหลวงตาไว้ที่วัดนี้ บางครั้งทราบว่าท่านจะมาพักที่สวนของวัดช่องลม ก็เคยไปรอรับท่านและกราบท่านที่นั่น
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านมาพักบนเขาของวัดญาณฯ ตอนนั้นท่านมาปลีกวิเวกเพื่อรักษาอาการโรคหัวใจกำเริบ ท่านอยากจะหาที่สงบ ท่านมาถึงช่วงบ่ายๆ มาองค์เดียว พอลงจากรถท่านก็ชี้มาที่ศาลาหลังนี้และบอกว่าจะพักที่นี่ ก็เลยจัดให้ท่านพักบนศาลานี้ ท่านบอกว่า พรุ่งนี้ท่านจะไม่ฉัน ท่านต้องการความสงบอย่างเดียว วันรุ่งขึ้นก็มีญาติโยมมารับท่านกลับไป
พอสร้างสวนแสงธรรมแล้ว หลวงตาก็ไม่ค่อยได้แวะมาพักแถวนี้แต่บางทีถ้าท่านผ่านมาแถวนี้ก็จะแวะขึ้นมาบนนี้ ทุกครั้งที่ท่านมาไม่เคยบอกล่วงหน้าก่อน มาแบบจู่โจม เตรียมตัวรับไม่ทัน แต่มาทีไรก็ไม่เคยไม่เจอเราสักที เจอทุกครั้ง เพราะเราก็ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้เป็นอย่างไรตั้งแต่บวชและออกจากวัดป่าบ้านตาดแล้วไม่เคยคิดอยากจะไปไหนเลย
นับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๖ มานี่ ยังไม่เคยกลับไปที่วัดป่าบ้านตาดเลย ความสำคัญของวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงที่เป็นสถานที่ที่สงบ มีครูบาอาจารย์คอยสอนคอยแก้ปัญหาต่างๆ ให้งานศพครูบาอาจารย์การไปหรือไม่ไปงานศพของครูบาอาจารย์นี้ ความจริงก็ทำได้ทั้ง ๒ อย่าง ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ถ้าเข้าใจว่าไม่ไปเพราะอะไร จะไม่ไปก็ได้ เพราะสามารถบูชาท่านได้ที่นี่ ไม่ต้องไปที่หน้าศพของท่าน
การบูชานี้ ท่านก็ได้สอนอยู่แล้วว่า การปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่แท้จริง ถ้าเราปฏิบัติตามที่ท่านสอนให้เราปฏิบัติ คือ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้ว เป็นการบูชาที่แท้จริง คือปฏิบัติบูชา จะบูชาต่อหน้าท่านก็ได้ บูชาข้างหลังก็ได้
อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ถึงแม้จะได้เกาะชายผ้าเหลือง ถ้าไม่ได้ปฏิบัติก็ยังอยู่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเป็นโยชน์ ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเป็นโยชน์ ถ้าได้ปฏิบัติก็ถือว่าได้เกาะชายผ้าเหลือง ได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว เพราะผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้เห็นธรรม ผู้บรรลุธรรม ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผลก็คือดวงตาเห็นธรรมก็จะปรากฏขึ้นมา เมื่อเห็นธรรมก็จะเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นผู้ที่บูชาที่แท้จริง ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปฏิบัติบูชา
พอเราได้ศึกษาได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนไม่ว่าจากพระพุทธเจ้าเองหรือจากพระอริยสงฆ์สาวก แล้วนำมาปฏิบัติ เราก็ได้บูชาอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ท่านสละเวลาอบรมสั่งสอนพวกเราก็เพื่อให้พวกเราได้มีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม ได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน เป็นเป้าหมายของการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนถึงครูบาอาจารย์ในสมัยปัจจุบันนี้ ท่านไม่ปรารถนาอะไรจากเรายิ่งกว่าการที่จะเห็นพวกเราได้บรรลุธรรม ได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตเราของใจเรา อาจารย์แทนหลวงตา คำสอนของหลวงตานี้ ก็จะเป็นอาจารย์แทนหลวงตาต่อไป พวกเราจึงไม่ได้อยู่โดยปราศจากอาจารย์ คำสอนของท่านที่ได้ถูกบันทึกไว้ก็มีมาก ทั้งที่เป็นหนังสือ เป็นแผ่นซีดี และเป็นภาพวีดีโอ ที่พวกเราไม่ควรเก็บไว้ในลิ้นชักหรือตั้งไว้บนหิ้งไว้กราบเฉยๆ แต่ควรหมั่นเปิดดูเปิดฟังอย่างสม่ำเสมอ เพราะธรรมคำสอนนี้เป็นอกาลิโก ไม่ได้เสื่อมไปกับกาลเวลา กับการจากไปของครูบาอาจารย์
คำสอนของท่านที่สอนในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่มีประสิทธิภาพอย่างไร คำสอนนั้นก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าสรีระของท่านได้จากไปแล้วก็ตาม แต่คำสอนของท่านไม่ได้จากพวกเราไป ถ้าน้อมเอาคำสอนของท่านมาสอนใจแล้วปฏิบัติตามก็จะได้รับประโยชน์เหมือนกับขณะที่ท่านสอนต่อหน้าเรา แต่อยู่ที่การน้อมเอาคำสอนของท่านให้เข้ามาสู่ใจ เพราะคำสอนที่ยังอยู่ในหนังสือหรืออยู่ในสื่อต่างๆ นั้น ยังไม่ใช่ความจริงสำหรับเรา จะเป็นความจริงก็ต่อเมื่อได้น้อมเข้ามาสู่ใจด้วยการปฏิบัติ เพื่อชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความจริงที่จะอยู่กับใจไปตลอด ไม่ว่าใจไปที่ไหน จะมีคำสอนคอยดูแลรักษาปกป้องใจไม่ให้ตกทุกข์ได้ยาก จะรักษาใจให้มีแต่ความสุขไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม บทสรุปปิดท้ายชีวิตก็อยู่กับธรรมะตั้งแต่วันเริ่มต้นเลย ตั้งแต่วันที่เกิด ฉันทะได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มแรก แล้วก็เกิดความพอใจที่จะปฏิบัติธรรม จึงมุ่งแต่ปฏิบัติ คิดแต่เรื่องปฏิบัติ จดจ่อกับการปฏิบัติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรเลย
ถ้าทำอย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิน ๗ ปี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ๗ ปีนี้จะนานเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่เวลาอ่านพยากรณ์นี้ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นไม่สนใจ สนใจอยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น ขอให้ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่ล้มพับ ไม่ถอย กลัวอย่างเดียวคือกลัวจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง จะเสร็จเมื่อไหร่ไม่สำคัญ ถ้าทำอย่างไม่หยุดต้องถึงแน่ๆ เหมือนกับรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานไม่หยุด ก็ต้องอิ่มแน่ๆ ตารางเวลาพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต เวลา ๐๕.๔๕-๐๖.๔๐ น. (โดยประมาณ) เดินบิณฑบาตพร้อมคณะสงฆ์วัดญาณฯ บริเวณบ้านอำเภอ เวลา ๐๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. ฉันเช้า ณ ศาลาฉัน วัดญาณสังวราราม หลังฉันสนทนากับญาติโยม เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. แสดงธรรมในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนวันอื่นจะสนทนาธรรมกับญาติโยม ณ จุลธรรมศาลาเขตปฏิบัติธรรมบนเขา ทุกวันพระ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ พระอาจารย์สุชาติจะแสดงธรรมประมาณ ๓๐ นาทีก่อนฉัน ณ ศาลาฉัน เวลา ๐๘.๐๐ น. โดยประมาณ
**ขอความกรุณางดเข้าพบนอกเวลาตามที่กำหนด** **สุภาพสตรีงดใส่กระโปรงหรือกางเกงสั้นบริเวณวัดและเขตปฏิบัติธรรม ยกเว้นแบบสามส่วน เมื่อเข้าพบหรือฟังธรรม** **งดรับกิจนิมนต์ในทุกกรณี** 550/ p.
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 14:25:26 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #8 เมื่อ: 20 ตุลาคม 2560 16:36:06 » |
|
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ตุลาคม 2560 16:44:53 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #9 เมื่อ: 24 ตุลาคม 2560 15:00:25 » |
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #10 เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2560 13:16:08 » |
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5694
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
|
|
« ตอบ #11 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2563 11:42:16 » |
|
ประวัติบางส่วนของท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต สมัยที่เราเริ่มปฏิบัติเราก็ปฏิบัติคนเดียว ไม่ได้ไปเข้าคอร์สที่ไหน อาศัยอ่านหนังสือ อ่านหนังสือเราก็เข้าใจว่าต้องทำใจให้สงบ ให้นั่งสมาธิ ให้เจริญสติ เราก็พยายามทำไปตามที่อ่านหนังสือ ว่าต้องอยู่คนเดียวถึงจะสะดวก ไม่มีอะไรมารบกวน จะได้ฝึกสติควบคุมใจควบคุมความคิด เพราะความคิดเนี่ยที่ทำให้ใจเราวุ่นวาย คิดแล้วเดี๋ยวก็กังวล เดี๋ยวก็ห่วง เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็อยาก มาจากความคิดทั้งนั้น ถ้าเราควบคุมความคิดได้ ไม่ให้มันคิด อารมณ์ต่างๆ ก็จะไม่เกิด แล้วเวลานั่งก็สามารถทำให้มันนิ่งทำให้มันสงบได้ ก็พยายามอยู่คนเดียว ก็พอดีมันเป็นนิสัยที่เราไม่ค่อยจะไปยุ่งเกี่ยวกับใคร ตอนทำงานก็อยู่คนเดียว พอไม่ทำงานก็ปฏิบัติแทนทำงาน แทนที่จะไปทำงานก็อยู่ในบ้านเดินจงกรมนั่งสมาธิไป ไม่รู้นะ เรามันโชคดี ไม่มีการเกี่ยวข้องกับใคร เลยไม่มีใครมายุ่งกับเรา เราจะทำอะไรรู้สึกว่าทำคนเดียวมันสะดวกกว่า ตอนที่เรียนจบตอนที่จะกลับบ้านก็คิดจะแวะไปเที่ยวยุโรป ก็พอดีมีเพื่อนที่จบด้วยกันชาวอเมริกันเขาก็จะไปเที่ยวยุโรป ก็เลยนัดกันไปด้วยกัน พอไปถึงยุโรปพอไปเที่ยวด้วยกันสักสองสามวัน เราเบื่อล่ะ เราบอกไม่เอา เที่ยวคนเดียวดีกว่า เรื่องมาก คนนั้นก็จะทำอย่างนั้นคนนี้ก็จะทำอย่างนี้ ต้องมานั่งคอยมาคุยกันมาคอยอะไรกัน มันรู้สึกว่ามันไม่คล่องแคล่วว่องไว ก็เลยบอกเขาว่าบ๊ายบาย ไปคนเดียวดีกว่า ไปคนเดียวเราจะไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไรก็ทำได้ มันไม่ทราบมันเป็นนิสัยอย่างนั้น รู้สึกว่าถ้าเราอยู่คนเดียวนี้แล้วเราเหมือนจะมันสบายใจกว่า ถึงแม้ตอนที่เรียนหนังสือถึงแม้จะอยู่กับเพื่อนเรียนแบ่งแชร์บ้านอยู่กันก็ต่างคนก็ต่างอยู่กัน เพียงแต่ใช้บ้านที่อยู่เป็นที่หลับนอนเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เราก็ไปเรียนหนังสือของเราไปทำงานของเรา เขาก็ทำงานของเขาเรียนหนังสือของเขา ต่างคนต่างอยู่กัน รู้สึกว่าทำอะไรคนเดียวนี้มันสนุกกว่าสำหรับเรา มันเรื่องไม่มาก ไม่มากเรื่อง มากคนก็มากเรื่อง มันก็เลยเป็นนิสัยอย่างนั้นมันชอบไปเดียว ไปเดี่ยวนี่แทนที่จะเหงากลับไม่เหงา เพราะเดี๋ยวเวลานั่งเครื่องบินหรือนั่งรถไฟก็มีคนก็คุยกับเขาได้เลย รู้จักกับเขาได้ง่ายกว่า ถ้าเรามีเพื่อนเราไปคุยกับคนอื่นมันก็มันก็ทิ้งเพื่อน แต่เราอยู่คนเดียวเรานั่งติดกับใครเราก็คุยกับเขาไปเลย เดี๋ยวก็รู้จักกันเป็นเพื่อนกันไป
โยม: แล้วเวลาพระอาจารย์ไม่มีปัญหาอะไรเลยเหรอ หมายถึงว่า พระอาจารย์ : ปัญหาก็แก้ซิ
โยม: ไม่ต้องศึกษาอะไร พระอาจารย์: ก็ไม่มีปัญหาอะไร มันรู้สึกว่า หมายถึงการปฏิบัติใช่ไหมหรือปัญหาในทางชีวิต
โยม: ทั้งสองอย่างเลยเจ้าค่ะ พระอาจารย์: ก็แก้มันไป มีปัญหาก็แก้มันไป วิธีแก้ของเราก็แปลก เช่น ตอนที่เราไปมีอยู่ช่วงหนึ่ง เงินที่เรามีไว้สำหรับใช้มันไม่พอ เพราะเราแบ่งไปซื้อรถ ไม่มีรถมันก็ไปไหนมาไหนไม่ได้ ไปซื้อรถแล้วก็เลยต้องผ่อนรถ เงินเดือนที่ได้มาใช้นี่มันก็ถูกดูดไปแบ่งรถเกือบครึ่ง หนึ่งในสาม แล้วมันก็เลยทำให้เราเหลือเงินอยู่ประมาณวันละเหรียญสำหรับค่าอาหาร เราก็เหรียญก็เหรียญวะ ก็กินมันมื้อเดียวเลย ยอมอด (หัวเราะ) มันไม่ได้คิดไปขอเงินใคร ไม่ได้เขียนมาทางบ้านว่าขอเงินเพิ่มหรืออะไร ไม่อยากจะรบกวนเขา เห็นเขาทำงานก็ต้องมาส่งให้เรา แล้วเราจะมาอยู่สบาย เขาลำบาก เราก็เลยขอไม่ออก เขาให้มาแค่นี้เราก็ เพราะตอนที่เราไปเรียนตอนนั้นเราตั้งใจแล้วว่าเราจะไม่ขอ เราไม่อยากจะรบกวนทางบ้าน เราคิดว่าเราไปเรียนแบบไปเที่ยว ถ้าจบก็จบไม่จบก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้ไปเที่ยว อยากจะไปต่างประเทศไม่เคย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยไปต่างประเทศ แล้วก็เวลาจะไปเรียนก็ไม่ได้ขอทางบ้านอีกนะ ไปทำงานอยู่ปีกว่า เก็บสำหรับค่าเครื่องบินค่าโรงเรียนสำหรับปีแรก มีเงินไปอยู่ได้ปีแรก แล้วก็มีค่าเครื่องบิน แล้วก็ไม่ได้คิดจะไปขอทางบ้าน คิดว่าไปข้างหน้าแล้วก็ไปหาหางานทำเอา ก็ทางบ้านเขาก็ยังส่งไปให้อยู่ก็เลยไม่ต้องทำงาน ช่วงแรกๆ ไปไม่ต้องทำงาน เพราะส่วนหนึ่งเรามีเงินของเราไปเอง อีกส่วนหนึ่งทางบ้านส่งไปให้ก็เลยพอ ทีนี้พอต้องซื้อรถนี่มันก็เลยเกิดปัญหา ตอนต้นก็ซื้อรถเก่า รถเก่าก็ซ่อมอีก โอ้โหย เงินที่มีสำรองไว้ก็หมด ก็เลยขายไอ้รถเก่านี้ดาวน์ พอดีมีเพื่อนคนหนึ่งเขาเมตตา เขาเป็นคนใช้ชื่อเขาซื้อให้เพราะเราไม่มีเครดิต เขามีเครดิต แล้วเราก็ผ่อน ผ่อนให้เขา เขาก็ผ่อนให้ทางธนาคารอีกทีหนึ่ง คนนี้เขาดีมาก ไม่รู้จักกันไม่เคยรู้จักกัน แต่ไปเจอกันที่นั่นเป็นคนไทยด้วยกัน เขาก็เห็นเราขับรถเก่าๆ ก็วันหนึ่งก็เดินไปโชว์รูมไปเจอรถเขาถามว่าเอาไหม เอาก็เอา (หัวเราะ) เขาจะเป็นคนเหมือนกับรับประกันให้ เขาเป็นคนไฟแนนซ์ให้เราผ่อนผ่านเขาอีกที เราก็เลยต้องมีค่าจ่ายรถผ่อนรถ แล้วช่วงนั้นยังไม่ได้ทำงานมันก็เลยเงินขาด จ่ายค่ารถค่าน้ำมันค่าเช่าบ้านค่าน้ำค่าไฟอะไร เหลือไว้สำหรับค่าอาหารวันละเหรียญเดียว ก็กินได้มื้อเดียว สมัยนั้นก็มื้อหนึ่งก็มันมีแบบอาหาร All you can eat ก็รอตอนเย็นก็ไปกินมัน All you can eat เหรียญหนึ่งงี้ ส่วนกลางวันก็อดไป เรียนหนังสือก็ตาลายบางทีหิว (หัวเราะ) บางทีก็ซื้อนมกล่องหนึ่ง 10 เซนต์กินรองท้องหน่อย รอไว้ตอนเย็นจะได้ไปกินอาหาร นี่มันตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรคิดว่า เอ้า ยังอยู่ได้ก็อยู่ไป แต่ต้องรู้ต้องคิดแล้วว่าต้องเริ่มหางานทำแล้ว ก็เลยไปหางานทำ ก็โชคดีได้งานร้านอาหารแต่เป็นงานล้างถ้วยล้างชาม ต้องไปล้างถ้วยล้างชาม ก็ดีเขาให้อาหารฟรี เวลาไป เริ่มก่อนทำงานเขาก็ให้รับประทานอาหารฟรี แล้วนี่เขาดีนะเขาให้นั่งแบบเป็นแขกเลย ไปสั่งกินนะนั่งในร้านอาหารกิน แล้วเขาถือว่าค่าอาหารนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน เงินเดือนเขาก็ให้ ตอนนั้นชั่วโมงละเหรียญกว่า เหรียญ ๖๕ มั้ง ล้างถ้วยล้างชามนี้ ขั้นต่ำ แรงงานขั้นต่ำชั่วโมงละ ก็เลยมีอาหารกิน แล้วเวลาเลิกจากงานก็ยังเอาอาหารที่นั่นกลับไปบ้านกินอีกได้อีกมื้อหนึ่ง ก็ดีก็เลย (หัวเราะ) แต่ไอ้ช่วงที่เอากลับบ้านเขาไม่ได้อนุญาตหรอก แต่เขาก็ไม่ว่าอะไร ก็เป็นการที่รู้กัน ใครอยากจะกินอะไร แทนที่จะกินที่ทำงานก็เอากลับไปกินที่บ้าน ไม่ได้ขโมย เพียงแต่ว่าเขาให้กิน ทำงาน ๔ ชั่วโมงเขาก็ให้พักกินข้าว ๕ นาทีก็เลย ก็เลยเรื่องอาหารก็หมดปัญหาไป แต่อดอยู่พักหนึ่งมั้งสองสามเดือนกินแค่วันละมื้อ มันก็แปลกมันก็ทนได้นะ มันก็เลยทำให้เวลามาปฏิบัติเรื่องกินมันเลยไม่ค่อยมี ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร พอเริ่มปฏิบัติเราก็กินวันละมื้อเลย เนี่ยเวลามีแก้ปัญหามันก็แก้ของมันไป หาวิธีแก้คิดไปไม่ต้องไปปรึกษาใครไม่ต้องไปถามใคร แก้ของเราไปทุกอย่าง ชีวิตเรานี่มันเราคิดของเราเองหมดแหละตั้งแต่เรียนจบหนังสือ ทำงานก็หางานเองคิดเองว่าจะทำอะไรต่อ พอดีจังหวะมันมีบริษัทต่างประเทศเข้ามาสร้างสนามบินอู่ตะเภา แต่เขาไปพักอยู่แถวพัทยา ที่บ้านก็มีบ้านพักให้เขาเช่าก็เลยได้คุยกับฝรั่งที่ไปเช่า ก็ถามเขาว่าจะไปทำงานได้เปล่า เขาบอกได้ ก็เลยอาศัยรถเขาไป ไปกับเขานั่นแหละ เขาก็จัดการให้เราได้งานทำไม่ต้องไปเข้าแถวไปสมัครหรืออะไร เขาเอาใบสมัครมาให้กรอกเลย กรอกเสร็จก็ทำงาน ทำงานก็เลยได้เริ่มเก็บเงินไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปหรือไม่ไป เพียงแต่ว่าตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันจะไปได้หรือเปล่า ก็มีงานทำก็ทำไปเก็บเงินไป เพราะส่วนใหญ่เพื่อนๆ ที่เขาเรียนกับเราจบเขาก็ไปต่างประเทศกันต่อ แต่เพื่อนๆ เราส่วนใหญ่พ่อแม่เขาสบายพ่อแม่เขามีเงิน เขาไม่ต้องมาทำงานแบบเรา แต่เราอยากจะไปพ่อแม่เขาไม่มีปัญญา พ่อแม่เขาไม่เคยไปเมืองนอกเขาไม่รู้ การจะไปเมืองนอกไปยังไงต้องใช้เงินเท่าไหร่ เขาก็เลยไม่ได้พูดอะไร เขาเห็นว่าเรามีงานทำเราก็แฮปปี้แล้ว แต่เขาก็ไม่รู้ว่าแผนเราเป็นอย่างไร เราก็วางแผนว่าจะต้องไปหาโรงเรียน สมัยนั้นก็ไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ต้องไปที่ห้องสมุด ห้องสมุดของ ห้องสมุดของ American library เขาเรียก “ยูซิส” (USIS) สมัยนั้นอยู่ที่พัฒน์พงศ์ ตอนนั้นพัฒน์พงศ์ ไปห้องสมุดแล้วก็ไปอ่านหนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา เราก็หาเอา รัฐที่ไหนเราอยากไปก็หารัฐนั้น โรงเรียนก็ดูโรงเรียนรัฐโรงเรียนที่มันราคาถูกที่สุด สมัยนั้นก็ถูก ถ้าเรียนโรงเรียน Junior college มันหน่วยกิตละ ๕ เหรียญเท่านั้นเอง ถ้าเทอมหนึ่งก็ประมาณ ๗๕ เหรียญสำหรับค่าเล่าเรียน สมัยนั้น ๒๐ บาทต่อ ๗๕ เหรียญก็แค่ ๑,๕๐๐ บาท ค่าเล่าเรียน ฉะนั้นค่าเล่าเรียนตอนนั้นไม่มีปัญหา ถูก มันก็แพงอยู่ที่ค่ากิน ค่ากินอยู่ช่วงแรกๆ ก็ไปอยู่บ้านแบบบ้าน Guest House อย่างงี้ เป็นบ้านของคนแก่เขาเปิดรับนักเรียนแล้วเขาก็ Room and board เขาก็มีอาหารให้กินเช้าเย็น อาหารเที่ยงไปหากินเอง เช้าเย็นเขาจะทำอาหารให้ ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์มั้ง เสาร์-อาทิตย์เขาหยุด ต้องไปหากินเอง คิดเดือนละ ๘๐ เหรียญตอนนั้นน่ะ ค่าบ้านพักกับค่าอาหารตก ๘๐ เหรียญ อันนี้ก็ ก็พอดีมีเงินที่ได้เก็บสะสมไว้จ่ายค่าเครื่องบินแล้วยังมีเหลืออยู่ประมาณสัก ๑,๐๐๐ กว่าเหรียญ เราทำงานนี้เราเก็บได้ประมาณสัก ๒,๐๐๐ เอ้อ เท่าไหร่จำไม่ได้ ค่าเครื่องบินตอนนั้นมัน ๕๐๐ ๕๐๐ เหรียญจากเมืองไทยไปอเมริกานี้ตอนนั้น ๕๐๐ เหรียญก็ ๑๐,๐๐๐ หนึ่ง สมัยนั้น ๒๐ บาทต่อ ๑ เหรียญ แล้วเราก็มีเหลืออยู่อีก ๑,๐๐๐ เหรียญติดตัวไป ตอนไปใหม่ๆ ก็เลยมีเงินสำรองไว้ แต่ก็พอไปอยู่สักพักมันไปไหนไม่ได้มันไม่มีรถ รถเมล์ก็ไม่มี ก็เลยต้องคิดซื้อรถก็เลยเอาเงินที่เหลือนี่มาซื้อรถ ตอนต้นก็ซื้อรถมือสองรถเก่า ซื้อมาใช้แล้วเดี๋ยวก็ต้องเสียต้องซ่อมอยู่นั่น ใช้มันอยู่ปีกว่าซ่อมไปมากกว่าค่ารถที่ซื้ออีก ส่วนหนึ่งก็ยังหารายได้ ตอนนั้นจะทำงานแต่เฉพาะช่วงปิดเทอม ปิดเทอมก็ไปทำงานเก็บเงินมา แล้วทางบ้านก็ส่งมาส่วนหนึ่ง สรุปก็ทางบ้านส่งมาครึ่งหนึ่งเราหาเองครึ่งหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรก็มันก็มีปัญหาอะไรก็คิดคิดแล้วก็ทำตามความคิดของเรา ไม่ได้ปรึกษาใครไม่ได้ไปถามใคร หาข้อมูลต่างๆ อยากจะรู้อะไรก็ไม่รู้ถ้ามีคนถามได้ก็ถามเขา ถ้าถามไม่ได้ก็มีหนังสือก็หาหนังสืออ่าน เราโชคดีสมัยที่เรียนหนังสือที่เซเว่นเดย์ มีครูเขาบังคับให้สั่งนิตยสาร “ไทม์กับรีดเดอร์สไดเจสท์” (Time and Reader’s Digest) มาอ่าน เราก็เลยได้มีได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ พอสมควร ไทม์กับรีดเดอร์สไดเจสท์ เขาคล้ายเหมือนกับเป็นเชิงบังคับ ครูเขาให้หนังสือศึกษา มีนักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติม “Current events” ข่าวสารต่างๆ ก็เลยสมัครไทม์แมกกาซีนกับรีดเดอร์สไดเจสท์ มาอ่าน แล้วเราก็แปลกเราก็เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่ มีหนังสือที่ไหนใครวางไว้ตรงไหนก็หยิบมาอ่าน มันก็มีความรู้ของมันเองโดยที่ไม่ต้องไปถามใคร
โยม: แล้วท่านอาจารย์มีความทุกข์อยู่ไหมคะ (ได้ยินไม่ชัด) พระอาจารย์ : มี แต่มันไม่ทุกข์กับมันน่ะ เราไม่เหมือนใคร เราอยู่ เด็กๆ เราก็ไม่เคยอยู่กับพ่อแม่ พอสักสองขวบพ่อแม่เขาก็เอาไปฝากไว้อยู่กับย่า อยู่กับย่า ๑๐ ปีมั้ง ประมาณ ๘ ปี หลังจากนั้นพ่อแม่เขาก็เอากลับมาอยู่มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ย่าอยู่สุพรรณบุรี มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพก็ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เขาไปเช่าห้องพักให้อยู่ ให้อยู่คนเดียวแล้วก็ให้เราไปโรงเรียนเอง หากินเอง ทิ้งเงินให้ให้ค่าเงินไว้สำหรับใช้อาทิตย์หนึ่งแล้วก็ค่าข้าวค่าอะไรหาข้าวกินเอง ค่ารถไปโรงเรียนเองอะไรเอง น่ะเราอยู่แบบนั้นน่ะไม่ได้เคยอยู่กับพ่อแม่ ตอนต้นก็ไปเช่าห้องพัก ต่อไปก็ไปฝากไว้อยู่ที่โรงเรียนกินนอนของโรงเรียนจีน พ่อแม่เขารู้จักครูใหญ่ที่นั่น แต่ไม่เรียนที่นั่นแต่ไปอยู่กินนอนกับเขา แต่ตอนเวลาเรียนหนังสือก็นั่งรถไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง เราย้ายหลายที่เดี๋ยวก็หลังจากนั้นก็ไปฝากอยู่กับบ้านคนที่เขารู้จักอีก แต่ไม่เคยอยู่กับพ่อแม่ งั้นเราเลยไม่เคยมีใครมาคอยเอาใจคอยอะไรคอยสั่งคอยอะไร ต้องรู้จักทำหน้าที่ของตัวเองตลอดเวลา ถึงเวลาต้องตื่นเองถึงเวลากินถึงเวลาต้องไปโรงเรียน ไม่มีใครมาบอกมันรู้ของมันอยู่ในตัว มันแปลกนะ มันก็ทำของมันโดยอัตโนมัติ ไม่รู้ มันแปลก มันคิดของมันเอง สมัยอยู่สุพรรณบุรีก็เวลาอยู่ว่างๆ มันก็ไม่อยู่เฉยๆ ไปหางานทำไปเอาขนมจีบซาลาเปาไปขาย ขายปาท่องโก๋ มันก็หารายได้ของมันเองเพราะทางพ่อแม่เขาไม่ได้ฝากเงินไว้ให้ ย่าเขาก็ไม่มีสตางค์ให้ อยากจะได้สตางค์ก็เลยต้องหางานทำเอาเอง
โยม: ไม่เคยคิดออกนอกลู่นอกทางเลยเหรอคะ พระอาจารย์: ไม่เคย มันไม่รู้จะไปไหน มันไม่มีไปไหน สมัยเด็กๆ จะดูหนังก็ต้องไปรออยู่ที่หน้าทางเข้าโรงหนัง แล้วพอมีผู้ใหญ่ก็ขอเกาะกับเขาไป (หัวเราะ) บางคนก็ให้เกาะบางคนก็ไม่ให้เกาะ ถ้าไม่รู้จักก็ไปเกาะก็ไม่ได้ บางทีไปรอจนกระทั่งหนังฉายก็ไม่ได้ดูก็กลับบ้าน ชีวิตมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันคล้ายๆ ว่ามันดิ้นรนของมันไปเอง แต่มันไม่ได้ไปแบบไปลักขโมยไปทำอะไรผิดศีลผิดธรรม
โยม: ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรก็เอาใหม่ก็แล้วแต่อะไรอย่างนี้ พระอาจารย์: เอ้อ ก็อย่างนั้น ก็อาจจะเสียใจนิดหน่อยผิดหวังนิดหน่อย วันนี้ไม่ได้ดูหนังก็คอพับกลับบ้าน เอ้อ ผ่านไป เดี๋ยวพรุ่งนี้เอาใหม่ (หัวเราะ) มันก็เลยรู้สึกว่ามาปฏิบัติธรรมมันก็เลยไม่รู้สึกไม่อยากเห็นตรงไหน
โยม: ก็เข้าอัปปนาเลยใช่ไหมเจ้าคะ พระอาจารย์: พอตัดสินใจลาออกจากงานปุ๊บก็เริ่มปฏิบัติเลย พอไม่ไปทำงานก็แทนที่จะไปทำงานก็เดินจงกรมนั่งสมาธิอ่านหนังสือธรรมะอยู่ที่บ้านไป เปลี่ยนงานไปเท่านั้นเอง เปลี่ยนงานจากข้างนอกเข้ามาสู่ข้างใน แล้วเราปกติก็ไม่ได้ยุ่งกับใครเกี่ยวข้องกับใคร ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนก็เพื่อนแบบก็พบปะกันสังสรรค์กันชั่วครั้งชั่วคราว แต่เวลาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตัวเอง มันก็เลยไม่รู้สึกเหงาไม่รู้สึกว้าเหว่ อยู่คนเดียวกลับชอบ กลับไม่ชอบอยู่กับคนมาก มากคนมากเรื่อง ก็กะจะไปเที่ยวกับเพื่อน ตอนต้นก็คิดว่าไปคนเดียวจะเหงา มีเพื่อนไปหลายคนพอไปกันสักวันสองวันก็เบื่อแล้วไม่เอาแล้ว ปัญหามาก แต่ละคนก็มีความคิดไม่เหมือนกัน คนหนึ่งก็อยากจะทำอย่างนั้นอีกคนนึงก็อยากจะทำอย่างนี้ ก็ต้องมานั่งรอกันมานั่งอะไรกันกว่าจะทำอะไรกันได้สักครั้งหนึ่ง ก็ไปคนเดียวดีกว่าอยากจะทำอะไรก็ไปได้เลย
โยม: พอมาบวชแล้วก็คือไม่เคยเสียดายชีวิตฆราวาสเลยใช่ไหมเจ้าคะ พระอาจารย์: เอ้อ ไม่ มันไปมาหมดแล้วเนี่ย โลกก็ตอนนั้นก็เราไปรอบโลกครั้งหนึ่งแล้ว ตอนไปเราก็ไปทางตะวันออก ไปแวะ ฮ่องกง โอซาก้า โตเกียว ฮอนโนลูลู แอลเอ แล้วขากลับก็มาทางยุโรป ยุโรปก็ไปตั้งแต่บรัสเซลส์ ฮอลแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ลงมาทางเยอรมันนี ลงมาทาง จากเยอรมันก็ไปออสเตรีย ออสเตรียก็ลงมาสวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ก็ลงมา อิตาลี อิตาลีก็กลับเข้ามาฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาที่ฮอลเเลนด์ ขึ้นเครื่องกลับ ไปขึ้นเครื่องที่ฮอลแลนด์กลับ ช่วงนั้นก็ซื้อตั๋วเดือน ตั๋วรถไฟเดือน เดือนหนึ่งใช้ได้ชั้นสอง นอนบนรถไฟส่วนใหญ่
โยม: ตอนนั้นท่านไปกี่เดือนครับ พระอาจารย์: เดือนหนึ่ง ประมาณเดือนกว่าๆ ซื้อยูเรลพาส (Eurail Pass) ใบหนึ่ง ตั๋วรถไฟใช้ได้หนึ่งเดือนชั้นสอง นอนบนรถไฟตอนเย็น รถออกตอนเย็น ตอนเช้าก็ถึง แต่มันไม่ค่อยดีมันนอนไม่ค่อยหลับ หลับแล้วก็ไม่ค่อยสนิท พอถึงแล้วมันก็เพลีย แล้วเวลาไปพักก็พักตามยูธฮอสเตล (Youth Hostel) ยูธฮอสเตลตอนนั้นก็คืนละเหรียญ เรามีหนังสือ “ยูโรไฟว์ดอลลาร์อะเดย์” (Euro 5 Dollars a Day) เป็นไกด์ หนังสือไกด์ใช้เที่ยวยุโรปวันละ ๕ เหรียญ ค่าหารมื้อละเหรียญ สามมื้อสามเหรียญ เหลืออีกสองมื้อก็ไว้สำหรับค่าอะไรต่างๆ ค่าที่พักก็อีกเหรียญหนึ่ง สบายสนุกดี ไปก็ไม่ได้ไปทำอะไร ไปก็ไปถ่ายรูปดูนู่นดูนี่หน่อย เสร็จแล้วเดี๋ยวก็ขึ้นรถไฟไปอีกเมืองแล้ว ไปตามหนังสือ หนังสือบอกเมืองนี้มีอะไรน่าดูบ้าง ก็ไปดูซะหน่อย ไปถ่ายรูปซะหน่อย มันก็เลยเที่ยวซะเหนื่อยเลย เหนื่อยแล้วทีนี้มันก็ไม่อยากจะเที่ยวแล้ว มันก็รู้แล้วมันไปมาแล้วเห็นมาแล้ว ไม่เห็นมีอะไร ตอนกลับมามันก็เลยมาสนใจอ่านหนังสืออีก ทีนี้มาอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจ เรื่องฟิโลโซฟี่ (philosophy) เรื่องอะไร นี้ เรียกว่าคนเรากำลังหาอะไรกันแน่ เกิดมานี่มาทำอะไรกันมาหาอะไรกัน อ่านไปอ่านมาก็ไปเจอหนังสือศาสนา อ่านหนังสือศาสนา ก็เลยมาเจอหนังสือพุทธเข้า ก็เลยติดใจ พระพุทธเจ้าอธิบายดีที่สุดว่าชีวิตนี้มีไว้เพื่ออะไร มาเกิดมาทำอะไร ท่านก็ชี้บอกว่าเรามาเกิดเกิดมาเพื่อมาดับทุกข์กัน เพราะพวกเราทุกคนมีความทุกข์กัน แต่วิธีดับทุกข์ของพวกเรามันดับไม่สนิทดับไม่ถาวร ดับแล้วเดี๋ยวก็เกิดอีก เวลาเราทุกข์ใจเราก็ไปเที่ยวกัน ไปดูหนังฟังเพลงกัน ไปกินไปดื่มกัน ไป Shopping กัน ความทุกข์ใจก็หายไป เดี๋ยวอีกสักพักมันก็กลับมาใหม่ พระพุทธเจ้าก็บอกว่านี่ไม่ใช่วิธี พระพุทธเจ้าก็เคยหาเคยดับความทุกข์แบบนี้มาก่อนตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนหลังท่านก็เห็นว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ท่านก็บอกว่าวิธีนี้ไม่มีวันดับได้ ยิ่งเวลาไปแก่ไปเจ็บไปตายนี้ยิ่งจะทุกข์มากขึ้นใหญ่ เพราะจะไม่สามารถดับความทุกข์ด้วยการหาความสุขต่างๆ ได้ ก็เลยตัดสินใจไปลองอีกวิธีหนึ่งของนักบวช เห็นนักบวชเขาดับความทุกข์อีกวิธีหนึ่ง ดับด้วยการนั่งสมาธิทำใจให้สงบ ท่านก็เลยสละราชสมบัติออกบวช เราก็เลยถือแนวนี้เหมือนกัน เอ้อเราก็เคยดับความทุกข์ไปเที่ยวมา ไปเที่ยวยุโรป ไปเรียนหนังสือแทบเป็นแทบตายก็คิดว่าจะไปดับความทุกข์ แต่ที่ไหนไปเรียนก็ทุกข์อีก จบมากว่าทุกข์อีก ทุกข์เพราะต้องหางานทำอีก พอได้งานทำก็ทุกข์กับงานอีก ไม่รู้ว่าจะทำได้กี่เดือนกี่ปี เขาจะไล่ออกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เวลาทำงานก็ทุกข์กับคนที่ทำงานด้วยกันอีก มีปัญหาอีกอะไรอีก รู้สึกว่ามันมองไปไหนมันมีแต่ทุกข์ วิธีที่เราจะดับความทุกข์มันกลับไปวิ่งไปเจอทุกข์อยู่เรื่อยๆ พออ่านวิธีของพระพุทธเจ้าบอก ไปอยู่คนเดียวสิ เราเห็นด้วยเลยว่า เอ้อ อยู่คนเดียวเนี่ยดีที่สุด อยู่กับคนอื่นแล้วมันเรื่องมาก มีแต่เรื่อง เราอยู่กับเขาเพื่อดับความทุกข์เราใช่ไหม เราอยู่กับเขาเพราะเราอาศัยเขาให้ความสุขกับเรา แต่ความสุขที่เราได้จากเขามันไม่ได้เป็นสุขอย่างเดียว มันมีทุกข์ตามมาด้วย มีทุกมีปัญหาตามมา ดีไม่ดีเราต้องไปเลี้ยงเขาอีกไปดูแลเขาอีกเพื่อให้เขามาให้ความสุขกับเรา มันก็เลยไม่ใช่เป็นวิธีดับทุกข์ แต่พอมาอ่านหนังสือวิธีดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกให้ฝึกสมาธิ ทำใจให้สงบ แล้วก็ใช้ปัญญาหยุดความอยาก ถอดถอนความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้มันหมดไป เราก็ทำตาม เราไม่ได้ทำอะไร อยู่คนเดียว แค่นี้เราก็ อ่านหนังสือแค่นี้มันก็เข้าใจแล้ว ไม่เห็นต้องไปถามใคร ใช่ไหม สติก็สอนในสติปัฏฐาน ให้ดูกายอยู่ตลอดเวลา เฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา ร่างกายทำอะไรก็อยู่กับมันไป มันล้างหน้าก็ล้างหน้ากับมัน มันแปรงฟันก็แปรงฟัน มันหวีผมก็หวีผม มันหันหน้าไปทางซ้ายก็ไปหันหน้าไปทางขวาก็หันหน้าไปกับมัน ให้อยู่กับมันเนี่ยให้เฝ้าดูมัน อย่าไปที่อื่น ถ้าเราไม่ทำงานแล้วมันไม่มีเรื่องจะต้องไปคิดหรอก แล้วเราคนเดียวด้วยยิ่งสบาย ครอบครัวก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีหมดแหละ เราเป็นคนโชคดี เวลาจะปฏิบัตินี้ไม่มีทรัพย์สมบัติมีอะไรที่จะต้องหวงห่วง มีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงเราให้อยู่ได้แค่ปีเดียวเท่านั้นเอง เงินที่เราเหลือจากการทำงานเก็บไว้ ก็เลยไม่มีความคิดต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้กับใคร ก็คอยควบคุมความคิดอยู่ทั้งวันทั้งคืน เดินยืนนั่งนอน สลับกับเดินจงกรมนั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ อ่านไปเรื่อยๆ อ่านแล้วมันก็มีเกิดความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็ใช้หนังสือสติปัฏฐานเนี่ยเป็น พระสูตรแล้วมันยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระสูตรนี้ เขาเรียกว่า “คอมเม้นต์เทอร์รี่” (commentary) มีพวกที่เขาขยายความของพระสูตรอีกทีว่ามีความหมายยังไง นั่งดูลมดูลมยังไง อะไรต่างๆ ก็อ่านมันเข้าไป อ่านมันก็เข้าใจก็ปฏิบัติไปของมัน
โยม: ไม่มีท้อเลยเหรอเจ้าคะ พระอาจารย์: ก็มีบ้างเวลาเผลอ เวลาเผลอบางทีก็ไปคิดถึงการไปเที่ยวการไปอะไร มันก็ทำให้รู้สึกว้าเหว่ ซึมเศร้าขึ้นมา แต่ถ้ามีสติรู้ทันก็รีบกลับมาคุมต่อ บางทีก็ ถ้าแพ้มันก็บางทีก็ออกไปบ้าง มันก็บอกให้ไปนู่นมานี่ก็ออกไปบ้าง แต่ออกไปก็รู้ว่ามันจืดชืดมันไม่ค่อยจะ มันไม่เหมือนกับตอนที่ เมื่อก่อนนี้ ตอนที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิ ตอนนี้นั่งสมาธินี้จิตมันสงบมันมีรสชาติกว่า กว่ารูปเสียงกลิ่นรส แต่บางทีมันก็เผลอลืม แล้วมันก็ไม่มีกำลังที่จะเข้าไปนั่งสมาธิ บางทีก็ถูกหลอกออกไป เอ้า ออกไปดูไปเที่ยวไปเดินดูนู่นดูนี่อะไร บางทีเช่นเป็นวันลอยกระทง เอ้า ออกไปบ้างอะไรอย่างนี้ ตอนปีใหม่ ออกไปแล้ว แต่มันไม่ดูดดื่มเหมือนเมื่อก่อนเนี่ย ไปก็แบบ จืดๆ ชืดๆ ไปก็ไม่มีรสมีชาด เพียงแต่ว่ามันอยู่ไม่ได้มันก็ต้องออกไป ออกไปเดี๋ยวมันก็ โอ๊ะ กลับบ้านดีกว่า ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ อยู่คนเดียว ปฏิบัติไป รู้ว่าถ้าจะชนะมันนี้ต้องไม่ออก ไม่ต้องไปไหน วิธีแก้ความไม่สบายใจก็ต้องนั่งสมาธิต้องทำใจให้สงบเท่านั้น ถ้าไปทำวิธีอื่นก็แสดงว่าถูกมันหลอก ถ้ามันหลอกให้ไปทำนู่นทำนี่ ไปทางตาหูจมูกลิ้นกายแล้ว แสดงว่าถูกมันหลอกไปแล้ว มีวิธีเดียวก็ต้องทำให้มันเข้าข้างในให้ได้ ให้มันสงบ พอมันสงบนิ่งแล้วเย็นสบาย อันนี้ช่วงนี้แหละมันจะยาก เหมือนชักเย่อกัน ดึงกัน กิเลสมันก็จะคอยดึงเราให้ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปทางรูปเสียงกลิ่นรส ไปหาคนนั้นคนนี้ หาไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปทำเรื่องนั้นทำเรื่องนี้ ถ้าไปทางนั้นมันก็ไม่มีวันที่จะสงบ มันต้องเข้าข้างในอย่างเดียว ต้องดึงมันเข้าข้างใน ต้องใช้สติต้องเดินจงกรมต้องนั่งสมาธิ ถึงแม้จะรู้สึกไม่สบาย เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ ก็ต้องบังคับให้มันเดินบังคับให้มันนั่ง อ่านหนังสือธรรมะ ต้องสู้กัน
***พอดีฝนตกนะคะ ฝนตกไหมสองเม็ดมันยังไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเทวดารดน้ำมนต์ให้ เดี๋ยวมันซู่ก่อนแล้วค่อยขยับก็ได้ หรืออยากจะขยับก็ได้นะ ตามใจ แต่ท่าทางมันไม่ตกหรอก
โยม: พระอาจารย์คะ ที่เป็นขณิกะ ขณิกะสมาธิ พระอาจารย์: ใหม่ๆ มันจะอยู่ได้เดี๋ยวเดียวไง ก็ลงไปปุ๊บหนึ่งแล้วก็เด้งออกมา
โยม: แต่ก่อนที่เราจะลงนี้เราจะไม่รู้ว่ามันจะลงไปอย่างนั้น พระอาจารย์: ไม่รู้หรอก มันจะลงแบบพรวดพราดลงไป
โยม: แต่มันก็ยังมีความสุขนิดๆ ที่มันอยู่ตรงนั้นแล้วมันก็ออก พระอาจารย์: เอ้อมัน มันเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่มัน เหมือนฟ้าแลบอย่างเนี่ย แต่มันรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์ใจ มันสุขใจอิ่มใจเบาอกเบาใจ ใหม่ๆ เพราะสติเรามีกำลังไม่มากพอ กิเลสมันคอยดันเราออกตลอดเวลา พอดีช่วงนั้นสติเรามันได้จังหวะมีกำลังเลยดึงให้มันเข้าในไปในช่องนั้นได้ พอมันเข้าไปในช่องของสมาธิได้มันก็เลยเบา สบายอกสบายใจ แล้วพอเข้าไปปั๊บมันก็หมดกำลังก็ถูกกิเลสดันออกมา ทีนี้ก็ต้องมาฝึก ออกมาก็เดินจงกรมต่อ ฝึกสติต่อ เดินเมื่อยแล้วก็กลับไปนั่งต่อ
โยม: ที่เคยฟังที่พระหลวงตาเคยเทศน์ไว้ว่า พวกนี้ก็คือมันจะค่อยๆ สะสมๆ แล้วก็เพียรไปเรื่อยๆ พระอาจารย์: ใช่ สติมันจะมีกำลังมากขึ้นไง สติมันจะต่อหนึ่งมากขึ้น มันจะไม่เผลอ มันจะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มากขึ้น มันจะอยู่กับงานที่เราให้มันทำอยู่ เดินก็จะอยู่กับเดินมากขึ้นๆ ใหม่ๆ มันจะเดินแล้วก็เดี๋ยวก็แว๊บไปเรื่องนั้นแว๊บไปเรื่องนี้ แต่ต่อมาถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ คอยควบคุมมันไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็จะอยู่มันไม่ไป พอไม่ไปเวลานั่งให้มันดูลมมันก็จะดูลมอย่างเดียว แล้วก็มันก็จะพลุ๊บเข้าไป บางทีมันก็เข้าเป็นขั้นๆ เข้าไปทีละกึ๊กๆ กึ๊กๆ ก็มี บางทีก็เข้าพรวดไปเลยก็มี แต่ก็ไม่ต้องไปกังวลวิธีเข้าของมัน มันจะเข้าแบบไหน บางทีมันก็เข้าแบบยังรับรู้ทางเรื่องทางร่างกายอยู่ ยังรู้เรื่องความเจ็บของร่างกายอยู่ เพียงแต่ว่าตอนที่มันเข้าไปนั้นมันจะไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความเจ็บไม่รู้สึกกับอะไร กับเสียงใครทำอะไรยังไงก็ใจมันเฉย อีกแบบหนึ่งก็หายไปหมดเลยร่างกาย เหลือแต่ตัวรู้ตัวเดียว มันมีสองแบบวิธีเข้าสมาธิ ทีนี้มันจะเข้าแบบไหนเราไปกำหนดไปบังคับไปสั่งมันไม่ได้ แล้วแต่กำลังของสติของเรา แต่ได้ทั้งสองแบบ ขอให้ใจมันเฉยวาง วางเฉยได้ ตอนต้นรู้สึกเจ็บโน่นปวดนี่ พอมันเฉยแล้วปั๊บมันไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย ก็ยังรู้ว่ามันเจ็บอยู่ แต่มันเฉยๆ อยู่กับมันได้ การฝึกสตินี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีสติแล้วไม่มีวันที่จะดึงจิต เข้าข้างในได้ ถ้าดึงจิตเข้าข้างในไม่ได้ก็ไปทางปัญญาไม่ได้ ถึงแม้จะรู้ทางปัญญาว่า อันนี้เป็นทุกข์ก็หยุดความอยากไม่ได้ ไม่มีกำลัง มันต้องให้จิตเข้าข้างในมันถึงจะหยุดความอยากได้ ฉะนั้น ตอนนี้เรามีปัญญากัน แต่ปัญญาที่ใช้ดับกิเลสไม่ได้ดับความทุกข์ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังสู้กับความอยาก เรารู้ว่าไปเที่ยวไม่ดี แต่ก็ยังอดไปเที่ยวไม่ได้ ระหว่างไปเที่ยวกับเข้าสมาธิกับไม่ไปเที่ยวน่ะ ไม่ไปเที่ยวมันดีกว่า แต่เราสู้มันไม่ได้ เพราะเราไม่มีกำลังดึงใจให้เข้าข้างใน มันก็จะดึงเราออกไปเที่ยวจนได้ แต่ถ้าเรามีสมาธิแล้วมันดึงเราไปไม่ได้ เพราะสมาธิดีกว่า ความสุขจากสมาธินี้มันดีกว่าความสุขที่จากการไปเที่ยว ไปดื่มกาแฟไปดื่มไวน์ ไปดูหนังไปฟังเพลง มันสู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้ ความสงบดีกว่า มันก็ไม่ไปมันก็สู้กับความอยากได้ แต่ถ้ามันไม่มีความสงบ เดี๋ยวพอใครมาชวนปั๊บไปเลย เพราะอยู่เฉยๆ มันไม่มีความสุข มันก็เลย พอไปเที่ยวมันมีความสุข มันก็ไปสิ ถึงแม้ว่าจะเป็นความสุขเดี๋ยวเดียวก็ดีกว่าไม่สุข ดีกว่าอยู่แบบหงุดหงิด อยู่แบบเศร้าสร้อยหงอยเหงา พอมีจังหวะไปเที่ยวมันก็ไปทันที มีโอกาสไปมันก็ไปทันที แต่ถ้ามีสมาธิมันไม่ไป มันเปรียบเทียบกันแล้วความสุขจากสมาธิมันดีกว่าความสุขจากการไปเที่ยว ความสุขในดีกว่าความสุขนอก สมาธินี้สุขใน สุขนอกก็รูปเสียงกลิ่นรส ไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปงานเลี้ยงไปปาร์ตี้ ไปอะไร ๑๐๘ ที่คนเราทำกันอยู่เนี่ย มันสู้ความสุขที่เกิดจากความสงบไม่ได้ ถ้าไม่มีความสุขที่เกิดจากความสงบ มันก็สู้กิเลสไม่ได้ ฉะนั้น ถึงแม้จะรู้ปัญญาว่า ทำตามกิเลสไม่ดี ก็สู้มันไม่ได้
โยม: บางทีถ้ากิเลสเขาหลอกว่าไปแล้วเดี๋ยวค่อยกลับมาทำ มันก็พลาดถูกไหมเจ้าคะ พระอาจารย์: เอ้อ
โยม: มันก็คือถอยหลังกลับไปก้าวหนึ่ง พระอาจารย์: ก็ทำไมไม่ถามว่าไปทำไมล่ะ ก็ทำซะตอนนี้สิ ใช่ไหม ไปก็แสดงว่ามันเปลี่ยนวิธีหาความสุขแล้ว วิธีหาความสุขที่ถูกต้องก็คือ ต้องไม่ไป ถ้าไปหาความสุขแบบนั้นมันก็แบบเก่า แล้วมันจะติดด้วย พอมันไปแล้วมันจะติด ไปครั้งหนึ่งแล้วมันก็อยากจะไปอีกครั้งหนึ่ง เหมือนสูบบุหรี่ สูบมวนหนึ่งแล้วเดี๋ยวมันก็อยากจะสูบอีกมวนหนึ่ง กินเหล้าแก้วหนึ่งแล้วเดี๋ยวก็อยากจะกินอีกแก้วหนึ่ง
โยม: มันก็จะแย่งเวลาในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ พระอาจารย์: มันก็ยังไปติดอยู่กับการหาความสุขแบบเดิม ความสุขที่จะต้องทำให้เราผิดหวังเสียใจเวลาที่เราทำไม่ได้ นั่นมันหลอกเรา อย่าไป ให้รู้ว่าต้องอยู่ข้างใน ต้องนั่งสมาธิ ต้องเข้าข้างในอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าจะหลอกให้เราไปนู่นมานี่มันก็หลอกได้ เพราะมันจะมีเรื่องมาให้หลอกเราเยอะแยะ เดี๋ยวไม่ใช่เรื่องของเราก็เรื่องของพ่อบ้างของแม่บ้างของพี่บ้างของลูกบ้างของเพื่อนบ้าง มันมีเรื่องหลอกเราตลอดเวลา แต่เรามันโชคดี เราไม่มีเพื่อน ไม่มีพ่อไม่มี มีก็เหมือนกับไม่มี เพราะเราไม่เคยอยู่กับเขาไม่เคยยุ่งกับเขา เคยห่วงเขา ไม่เคย (หัวเราะ) เราก็เลยไม่มีเลยมีความรู้สึกผูกพันกับเขา ไม่เคยคิดที่อยากจะไปหาเขาไปพบกับเขาหรืออะไร เรามันโชคดี มันไม่ติดกับใคร เข้าใจไหม ไม่มีความติดพันกับใครเลย ใครจะเป็นจะตายยังไงเราไม่เดือดร้อน เข้าใจไหม เราไม่เดือดร้อนนะ แต่ตอนที่เราเห็นซากศพครั้งแรกในชีวิต ตอนที่เราตอนนั้นอายุสัก 12 ขวบ เพื่อนที่โรงเรียน ความจริงเขาไม่ได้เรียนโรงเรียนเรา แต่เป็นพี่ชายของเพื่อน เขาไปตายที่อเมริกา ไปเรียนอเมริกา แล้วไปจมน้ำตาย เอาศพกลับมาทำพิธีศพเป็นชาวคริ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
|
กำลังโหลด...