[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 10:18:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ‘พระพิฆเณศวร์’ เทพแห่งศิลปวิทยา  (อ่าน 1215 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 ตุลาคม 2560 16:24:06 »




บางแง่มุม เกี่ยวกับ “พระพิฆเนศวร์”
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

พระพิฆเนศวร์หรือพระคเณศ เป็นเทพฮินดูที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบัน

ครูไมค์ (ไมเคิล ไรท์) ผู้ล่วงลับ แอบทิ้งปริศนาไว้ในหนังสือและงานเกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์ของท่านคล้ายจะแย้มพรายให้ชวนคิดต่อ (ตามสไตล์ของท่าน) ว่า หรือพระคเณศจะมาจากอุษาคเนย์?

ท่านชี้ชวนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอุษาคเนย์หรืออินเดียต่างนับถือช้างมาอย่างเก่าแก่ (ในอินเดีย การนับถือช้างเป็นคติที่มีมาก่อนศาสนาฮินดู)

“ปู่เจ้าสมิงพราย” หรือเจ้าป่าเจ้าเขาของเราไม่รู้ว่าหมายถึงช้างหรือไม่ แต่ช้างดูจะเป็นสัตว์ที่มีความหมายมากๆ ในศาสนาโบราณโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น ก็เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรของสัตว์บก น่าเกรงขาม ฉลาดและทรงพลังอำนาจ

แม้แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านเมื่อพูดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักเรียกตนเองว่า “ลูกช้าง”
 
คำนี้น่าสนใจนะครับ ในอินเดียภาคใต้มีชื่อเรียกพระพิฆเนศวร์ด้วยภาษาพื้นเมือง (ทมิฬ) ว่า “ปิลไลยาร์” (เติม ร์ เป็นการแสดงความเคารพ) คำนี้มีผู้แปลว่า “ลูกชาย” แต่บางท่านว่าในเซนส์ของภาษาทมิฬมันหมายถึง “ลูกช้าง” มากกว่า

ผมคิดว่าเราคงไม่ได้รับคติความเชื่อ “ลูกช้าง” มาจากแขกหรอกครับ แต่อย่างน้อยๆ ก็แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อพื้นเมืองของเรากับเขาคล้ายกัน

ด้วยเหตุนี้ความเชื่อเกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์จึงสามารถเข้ามาสู่สังคมไทยได้โดยสะดวกตั้งแต่โบราณโดย “ปราศจากอุปสรรค”

ถ้าคิดดังที่ครูไมค์เคยเสนอ อาจเป็นได้ที่คติการนับถือช้างจะส่งจากอุษาคเนย์ไปยังอินเดีย อันนี้ผมไม่กล้ายืนยันเพราะยังมีหลักฐานไม่มากพอ

แต่ก็มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลย เพราะอินเดียเองก็ติดต่อค้าขายกับเรามาช้านาน รับอะไรกันไปๆ มาๆ และมีอะไรตรงกันหลายอย่าง

ชาวอารยันผู้รจนาพระเวทไม่รู้จักช้าง (เพราะมาจากที่ที่ไม่มีช้าง)

ในคัมภีร์พระเวทจึงไม่มีเทพที่มีเศียรเป็นช้าง แม้จะถือกันว่าในมณฑล (เล่ม) ที่สิบแห่งฤคเวทมีบทสวดถึง “คณปติ” ซึ่งเป็นพระนามสำคัญของพระพิฆเนศวร์ แต่ในพระเวทบอกเพียงว่าพระองค์คือเทพของกวีมิได้มีที่ใดเลยที่บอกว่าพระองค์มีรูปร่างอย่างช้าง แม้ในภายหลังจะสวมพระนาม “คณปติ” “พรหมนัสปติ” ให้กับเทพที่มีเศียรเป็นช้างของพื้นเมืองในภายหลัง

กว่าพระคเณศจะกลายเป็นเทพองค์เดียวกับเทพเศียรช้างนั้น ก็ล่วงถึงยุคปุราณะแล้ว

และกว่าจะปรากฏเทวรูปก็ล่วงมาเกือบพุทธศตวรรตที่ ๙

แคว้นมหาราษฎร์ซึ่งเป็นแคว้นนับถือพระพิฆเนศวร์มากที่สุดในประเทศอินเดียนั้น พระคเณศองค์สำคัญล้วนแต่เป็นหินธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายช้าง จะเก่าแก่เพียงไหนไม่มีใครทราบได้ (เว้นเสียแต่องค์สร้างใหม่)

ผมเคยเห็นเวลาพราหมณ์ที่นั่นประกอบพิธีบูชา ท่านจะถวายหญ้า “ทูรวา” หรือหญ้าแพรกที่จัดเป็นพวงไว้บนพระเศียรของเทวรูป

เป็นแบบเดียวกับที่เวลาเราเห็นช้างป่าใช้งวงเด็ดหญ้าแล้วยกไปไว้บนหัว หรือเอาปัดตามตัวแล้วติดไปบนหัวนั่นแหละครับ

นอกจากนี้ ในงานเทศกาลต่างๆ ในแคว้นนั้นยังใช้ “แตรงอน” ซึ่งส่งเสียงแบบเดียวกับการร้องของช้างด้วย




ท่านอาจเถียงผมว่าพระพิฆเนศวร์ไม่ใช่ช้าง อันนั้นคือแง่มุมจากความเชื่อครับ แต่ตามความคติโบราณและความเข้าใจเชิงสัญญวิทยาศาสนา เทพเจ้าก็คือสัตว์พาหนะ สัตว์สัญลักษณ์หรือสัตว์ที่เกี่ยวพันกับเทพนั้นๆ ด้วย พระศิวะก็คือโค พระแม่ก็คือเสือ และพระคเณศก็คือช้าง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันกับการนับถือสัตว์ในฐานะสัญลักษณ์ของเผ่า (คณะ) ในอดีต

พระคเณศจึงเก่าแก่มากในบรรดาเทพฮินดูทั้งหลาย แม้ว่าโดยเทวตำนานเรามักจะคุ้นชินท่านในฐานะที่เป็นเด็กน้อยร่าเริง เพราะอิทธิพลจากตำนานในคัมภีร์ปุราณะ ที่พราหมณาจารย์โบราณรจนาให้ท่านเป็นโอรสของพระศิวะหรือพระแม่ปารวตี

แต่ความจริงแล้ว ในมิติทางประวัติศาสตร์ท่านเป็นผีหรือเทพที่มีมาก่อนศาสนาฮินดูจะสถาปนาขึ้นและหยั่งลึกลงในอินเดีย

ครูไมค์ถึงคล้ายๆ ส่งสัญญาณว่า ด้วยเหตุนี้ คติความเชื่อหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อกำหนดอย่างหนึ่งของศาสนาฮินดูที่ว่า พระคเณศจะต้องได้รับการสักการะบูชาเป็นเบื้องต้น (สันสกฤตว่า อาทิปูชยัม) หรือเป็นองค์แรกเสมอในพิธีกรรมหรือในกิจการต่างๆ นั้น (อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเอ่ยพระนาม) เป็นเพราะท่านเป็นเทพที่เก่าแก่ที่สุดนั่นเอง (ศัพท์สันสกฤตว่า อาทิเทวตา หรือเทวตาที่มีมาแต่แรก) เป็นของที่มีมาแต่เดิม เทพไหนๆ ก็มาทีหลัง

เก่าแก่เพราะเป็นของพื้นเมือง เก่าแก่กว่าเทพของชาวอารยันทั้งหมด

พระคเณศ จึงเป็นเทพที่มีบทบาทหลากหลาย เพราะความเก่าแก่ยาวนานทำให้พระองค์ “ซ่อน” อะไรไว้หลายอย่างรอให้เราตีความ

จากเทพพื้นเมืองในที่สุด ความนิยมนับถือในพระองค์จะทำให้เกิดนิกายของพระองค์เอง คือนิกาย “คาณปัตยะ”

นิกายคาณปัตยะแพร่หลายมากในแคว้นมหาราษฎร์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ นำโดยนักบุญ “โมรยา โคสาวี” ผู้ที่ชาวบ้านนอกจากจะเชื่อกันว่าท่านเป็น “คเณศภักตะ”หรือผู้ภักดีในพระคเณศยังถือกันว่า ท่านและวงศ์วานของท่านอีก 7 รุ่น ล้วนแค่เป็นพระคเณศอวตารทั้งสิ้น

ผมเคยไปสักการะสถานที่สำคัญของพระคเณศแห่งหนึ่งชื่อ “มหาคณปติ” (หมายถึงพระคณปติผู้ยิ่งใหญ่) ตำนานแห่งสถานที่นั้น (สถาลปุราณัม) ชวนให้เพื่อนผู้ร่วมทางฉงน รูปที่ประดับเทวสถานชวนให้ฉงายเข้าไปอีก

เพราะตำนานที่นี่เล่าว่า เมื่อพระศิวะจะทรงปราบอสูร “ตรีปุระ” (ในตำราฝ่ายเราเรียก ตรีบุรัม) แต่อสูรนี้ร้ายนัก ปราบไม่ลงเสียที สุดท้ายพระองค์จึงต้องไปขอพรต่อพระคเณศยังสถานที่ตั้งพระมหาคณปตินี่เอง พระคเณศจึงสอนมนตร์ของพระองค์ให้เพื่อใช้ในการปราบเจ้าอสูรร้ายนั้น สุดท้ายพระศิวะชนะอสูรตรีปุระด้วยมนตร์และอำนาจของพระคเณศ

ภาพในเทวสถานที่บอกเล่าตำนานสถานที่ จึงเป็นรูปพระศิวะกำลังวันทนาการน้อมไหว้พระคเณศ ใครเคยอ่านเทวตำนานพระคเณศมาบ้างก็คงงง เพราะเชื่อมาตลอดว่าพระศิวะเป็นพระบิดา เหตุใดพระบิดาถึงมาไหว้ลูกชายตัวเอง

ตำนานนี้แม้จะคล้ายตำนานจากคัมภีร์ปุราณะอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ถูกดัดแปลงและให้ความสำคัญกับพระคเณศเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นตำนานจากปุราณะของนิกายคาณปัตยะโดยเฉพาะ ซึ่งมีอยู่สองปุราณะคือ คเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ

สําหรับนิกายคาณปัตยะแล้ว พระ “ปรมาตมัน” หรือพระเป็นเจ้าสูงสุดก็คือองค์พระคเณศ พระปรมาตมันนี้เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลายจักรวาล และทรงสำแดงออกเป็นเทพเจ้าทั้งหลาย

และพระปรมาตมันที่เป็นองค์พระคเณศนี้เอง ก็สำแดงพระองค์ออกมาเป็น “พระคเณศ” ในปางต่างๆ รวมทั้งที่เป็นโอรสของพระศิวะด้วย

พระศิวะจึงต้องบูชาพระคเณศ เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุดสำหรับนิกายนี้ ทรงยิ่งใหญ่กว่าเทพทุกๆ พระองค์

นอกจากบทบาทหรือศัพท์แขกมักใช้อย่างไพเราะว่า “ลีลา” ของพระคเณศจะมีหลากหลาย นับแต่ผีพื้นเมืองของชาวบ้านที่สุดท้ายได้กลายเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดแห่งสกลจักรวาลสำหรับปราชญ์และพราหมณาจารย์แล้ว พระองค์ยังเป็นที่รักของคนทั้งหลายด้วยว่าพระองค์สำแดงความ “ก้ำกึ่ง” อันเป็นพรมแดนสนธยาของชีวิตและจิตใจของเรา

พระองค์จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง จะคนก็ไม่สัตว์ก็ไม่ จะชายหรือหญิงก็ดูไม่ออก (พระองค์มีปางสตรีชื่อ ไวนายกี หรือ คเณศวรีด้วย) พระองค์ทรงมหิทธานุภาพหรือทรงขี้เล่น ทรงเรียบง่ายหรือทรงยิ่งใหญ่ ฯลฯ

ในพรมแดนของความก้ำกึ่งนี้ จึงเป็นที่ที่เราสามารถก้าวข้ามไปมา ระหว่างความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หลุดพ้นหรือติดข้อง โลกิยะหรือโลกุตระ กลัวหรือกล้า ฯลฯ

พระองค์จึงเป็นทั้งอุปสรรคและเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค ไม่มีการก้าวข้ามใดไม่มีอุปสรรคและเมื่อระลึกได้เช่นนั้น อุปสรรคจะกลับกลายเป็นสิ่งผลักดัน

ในอินเดียพระองค์จึงเป็นทวารบาลตามเทวสถานบ้านเรือน เพราะไม่มีที่ใดที่จะเหมาะสมที่พระองค์จะสถิตไปแล้วยิ่งกว่าที่นั้น

ครูไมค์ผู้ล่วงลับถึงได้เคยเขียนในทำนองว่า การเข้าใจเทวตำนานเกี่ยวกับพระคเณศนั้น สะท้อนปมทางจิตวิทยาของเราเอง การทำความเข้าใจเทพเจ้าและเทวตำนานนี้จึงช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองด้วย

ในอินเดีย จึงมีเพียงเทพองค์เดียวเท่านั้นที่ผู้คนกล้าล้อและเล่นสนุกกับพระองค์ ในเทวรูปของเทศกาลใหญ่ๆ ของพระองค์เอง ในป้ายโฆษณา ในแอนิเมชั่นและการ์ตูนในรายการโทรทัศน์ เพราะความก้ำกึ่งที่พระองค์สามารถให้ความบันเทิงรื่นรมย์ทั้งของโลกนี้และโลกอุดรไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้แล้ว เมื่อพระองค์เสด็จมายังดินแดนนี้ พระองค์ยังกลมกลืมกลับความเป็นพื้นบ้าน และนั่นยิ่งทำให้พระองค์มีลีลาที่หลากหลาย และต่างไปจากอินเดียขึ้นไปอีก




‘พระพิฆเนศวร์’ ที่อินเดียไม่รู้จัก
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
เผยแพร่ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

ความรู้เกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์อย่างที่ตรงกับ “แขก” ของเราเพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่6 ซึ่งทรงสนพระทัยในภารตวิทยา และเพิ่มพูนมากขึ้นในปัจจุบันนี้เอง

บทบาทของพระพิฆเนศวร์แต่โบราณของเราค่อนข้างคลุมเครือและไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจในตอนนี้ กล่าวคือ ไม่ได้มีบทบาทด้านศิลปวิทยา ไม่ได้มีบทบาทด้านขจัดอุปสรรคหรือความสำเร็จ

แม้แต่ในโองการแช่งน้ำหรือคำไหว้ครูโขนละครและช่าง ก็ไม่มีพระนามปรากฏ แม้จะมีเทวรูปสักการะกันมาช้านานแล้ว

นอกจากนี้ ในคติดั้งเดิมของเรายังมีความเชื่อว่า “พระขันทกุมาร” เป็นองค์เดียวกันกับพระพิฆเนศวร์อีกด้วย

คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง (ต้นรัตนโกสินทร์) มีปรากฏตำนานว่า เมื่อพระขันทกุมารจะโสกันต์แต่เศียรหลุดด้วยวาจา “อ้ายลูกหัวหาย จะนอนให้สบายก็มิได้” ของพระนารายณ์ สุดท้ายได้ศีรษะช้างมาต่อแล้วเฉลิมพระนามใหม่เป็นพระพิฆเนศวร์

เรื่องพระคเณศเป็นองค์เดียวกับพระขันทกุมารนี้ ผมลองค้นในตำราของแขกโดยเฉพาะปุราณะต่างๆ ก็ยังไม่เจอ ชะรอยตำนานนี้เราจะแต่งเองกระมัง หรือเป็นไปได้ว่า อาจมีอยู่ในตำนานของชาวบ้านทางอินเดียใต้สักฉบับ ใครทราบโปรดแจ้งเบาะแสจะเป็นพระคุณยิ่ง

ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เหตุใดพระคเณศตามคติเก่าของเราจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปวิทยาและการประพันธ์อย่างของแขก เพราะเราไปผูกพระพิฆเนศวร์ไว้กับพระขันทกุมารซึ่งเป็นเทวเสนา เป็นเทพแห่งการสงคราม

นอกจากนี้ ผมยังคิดว่า อาจเพราะพระคเณศในบ้านเรามีบทบาทหนึ่งที่สำคัญกว่าบทบาทอื่น คือเป็น “ครูหมอช้าง” ในทางคชศาสตร์

ใน “ตำราช้าง” และ “ตำรานารายณ์ยี่สิบปาง” ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีการกล่าวถึงเทพที่สำคัญในทางคชศาสตร์ได้แก่ “พระศิวบุตร” สองพระองค์ คือ “พระพิฆเนศวร์” กับ “พระโกญจนาเนศวร” และเทพเจ้าอีกองค์นามว่า “พระเทวกรรม”

พระศิวบุตรพิฆเนศวร์นั้นมิได้มีบทบาทในตำราช้างมากไปกว่าที่ระบุไว้ว่า หากพบช้างที่มีงาเดียวแต่กำเนิด ถือว่าเป็นศุภลักษณ์เพราะคล้ายกับลักษณะของพระองค์ และให้หมอช้างพึงเคารพนับถือพระพิฆเนศวร์องค์นี้ด้วย ส่วนพระโกญจนาเนศวร์ศิวบุตร ทั้งในตำราช้างและนารายณ์ยี่สิบปางระบุรูปลักษณะที่ตรงกัน คือมีเศียรช้างสามเศียรหกกร ในพระกรทั้งหกมีช้างที่มีในสวรรค์เช่นเอราวัณ ช้างเผือกเอกโทตรีและสังข์ทักษิณาวัตรอุตรวัฏที่มีในโลก ประทับยืนบนช้างเจ็ดเศียร มีบทบาทสำคัญในทางคชศาสตร์ว่าทรงสร้างช้างเผือกสำหรับบรรดาพระราชาในโลกนี้

แต่พระพิฆเนศวร์ในอินเดียไม่มีพระนามและปาง “โกญจนาเนศวร์” ส่วนเทวลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นพระคเณศสามเศียร เรียกว่า “ตรีมุขคณปติ” (พระคณบดีสามพักตร์) มีกล่าวถึงในตำราตัตวนิธิของอินเดียใต้ และไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวกับช้างแต่อย่างใด

ท่านพระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานว่า พระนาม “โกญจนาเนศวร”นี้ น่าจะเป็นนามของพระขันทกุมาร เพราะคำว่า “โกญจ” ตรงกับสันสกฤตว่า “เกราญจ” ซึ่งเป็นภูเขาที่พระขันทกุมารเสด็จไปประทับ

“โกญจนาเนศวร” จึงมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์เกราญจะ (ตามการแปลของอาจารย์มณีปิ่น พรหมสุทธิลักษณ์) ดังนั้นก็ควรหมายถึงพระขันทกุมาร

และคงด้วยอิทธิพลความเชื่อแต่โบราณที่ถือว่าพระขันทกุมารและพระคเณศเป็นองค์เดียวกันนี่เอง พระนามโกญจนาเนศวร์จึงถูกใช้กับเทพที่มีเศียรช้างพระองค์นี้

แต่ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ เพิ่มเติมครับ คือในตำราช้าง มิได้เขียนว่า “โกญจนาเนศวร” เหมือนในตำรานารายณ์ยี่สิบปาง แต่เขียนว่า “โกญจนาทเนศวร์”

โกญจนาท แปลว่า “เสียงร้องของช้าง” ฉะนั้น เป็นไปได้ว่า พระนามที่ควรเป็นคือ “โกญจนาเทศวร” (พระเป็นเจ้าที่มีเสียงร้องของช้าง) หรือ “โกญจนาทเนศวร” อาจมาจาก โกญจนาทนฺ + อีศวร ตามวิธีสนธิสันสกฤตสไตล์ทมิฬ ซึ่งนี่เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นมากๆ และอาจแสดงให้เห็นว่า พระนามนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพระขันทกุมารตามที่สันนิษฐานกัน
 
ส่วนอีกองค์ที่ซับซ้อนและสับสนมากยิ่งไปกว่าคือ “พระเทวกรรม” หรือ “เทพกรรม”

ในตำราช้าง ภาพพระเทพกรรมเป็นภาพเทวบุรุษ มีหกกร ประทับนั่งถือบ่วงบาศนาคราช มีคำบรรยายว่า” พญาองค์นี้ชื่อเทพกรรม”

ในตำรานารายณ์ยี่สิบปางก็มีรูปเดียวกันนี้ แต่บรรยายไว้ว่า “พระนารายณ์เทพกรรม”

แต่ทั้งนี้ นอกจากภาพพระนารายณ์เทพกรรมแล้ว ในตำรานารายณ์ยี่สิบปางยังมีภาพพระเทพกรรมหรือเทวกรรมแบบอื่นซึ่งไม่มีในตำราช้าง คือภาพเทพที่มีเทวลักษณะเช่นเดียวกับพระพิฆเนศวร์ทุกประการ มีสองกร ประทับยืน ในพระหัตถ์ถืองาหัก หรือบางครั้งถือคทาด้วย

ตำนานฝ่ายคชศาสตร์ เล่าว่าพระนารายณ์เสด็จไปปราบช้าง “เอกทันต์” และตั้งชาวบ้านสี่คนเป็นผู้ช่วย พร้อมถ่ายทอดสรรพวิชาเกี่ยวกับคชกรรมให้ ทั้งสี่คนนี้จึงได้กลายเป็นครู “ปะกำ” (คำนี้แปลว่าเชือกบาศที่ใช้คล้องช้าง) ของหมอช้างทั้งหลาย

พราหมณ์พฤฒิบาศที่กระทำพิธีเกี่ยวกับช้างจึงถือกันว่าเป็นฝ่าย “พระนารายณ์” ผิดกับพวกพราหมณ์ราชพิธีที่ถือ “พระศิวะ” ส่วนหมอช้างส่วนใหญ่ทั้งหลวงและราษฎร์นับถือ “ครูปะกำ” ซึ่งไม่มีลักษณะอย่างอินเดีย แต่เป็นลักษณะผีพื้นเมืองมากกว่า

น่าแปลกที่ในพระราชพิธีเกี่ยวกับช้างต้องเชิญเทวรูป “พระเทวกรรม” ที่เป็นรูป “พระพิฆเนศวร์” (เช่นเดียวกับที่มีในนารายณ์ยี่สิบปาง) แต่ไม่มีการเชิญพระโกญจนาเนศวร์หรือพระนารายณ์เทพกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีตำนานหมอช้างใดที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร์ “เทวกรรม” องค์นี้

ในอินเดียไม่มีพระพิฆเนศวร์หรือเทพเจ้าชื่อ “เทวกรรม” และคำนี้มีความหมายเพียงว่า “การกระทำของเทวดา” ซึ่งดูจะไม่มีนัยพิเศษอะไรกับบทบาทที่มี
 
ผมลองไปสืบดูอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับตำราคชศาสตร์ของอินเดีย โดยมีเล่มที่สำคัญได้แก่ หัสติอายุรเวท, มาตังคลีลาและคชศาสตร์ โดยมากเขียนขึ้นในอินเดียภาคใต้

ไม่มีเล่มใดเลยที่กล่าวถึง พระเทวกรรม หรือแม้แต่พระพิฆเนศวร์ในปางใดๆ ก็ตาม

เข้าใจว่าในอินเดียพระคเณศก็คือช้างอยู่แล้ว แม้จะมีบางปางที่สะท้อนว่าพระองค์น่าเกี่ยวกับคชศาสตร์ เช่น การที่ทรงถืออังกุศและปาศ (ขอช้างและเชือกบาศ) แต่ก็มิได้มีการยกพระองค์ขึ้นเป็น “ครูหมอช้าง” อย่างในอุษาคเนย์

พระเทวกรรมจึงเป็นเทพของเราโดยแท้ เป็นพระพิฆเนศวร์ในแบบที่อินเดียไม่มีและไม่รู้จักพระองค์หนึ่ง

ที่จริงก็อาจกล่าวในอีกแบบว่า พระเทวกรรม คือผีครูหมอช้างพื้นเมืองที่เราไปหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระพิฆเนศวร์จากอินเดียมาใช้ อาจเพราะเห็นว่าเทวลักษณะของเทพองค์นี้เหมาะแก่การเป็น “ครู” ของคชกรรมหรือเรื่องช้างอย่างที่สุด

เขียนไปเขียนมา ผมเลยขอเสนออีกว่า แม้แต่พระนาม “เทวกรรม” หรือ “เทพกรรม” (อ่าน เทบ-พะ-กำ) ก็ไม่ใช่คำแขกหรือมาจากเทพแขกองค์ไหน

แต่น่าจะมาจากคำ “เทพปะกำ” (ออกเสียงคล้ายเทพกรรม) คำพื้นเมืองเรียกผีครู (ปะกำ) ผสมคำแขก (เทพ) ที่ถูกทำให้กลายเป็นคำที่ดูแขกมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ในราชสำนักนั่นเอง

อานุภาพของผีในอุษาคเนย์นี่แน่นอนจริงๆ





‘พระพิฆเณศวร์’ เทพแห่งศิลปวิทยา?
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
เผยแพร่ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙

พระคเณศในอินเดียมีบทบาทใหญ่เป็นเทพแห่งอุปสรรค (ซึ่งรวมการขจัดอุปสรรคและความสำเร็จไปด้วย) และเพราะการปลอดอุปสรรคเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องการ พระองค์จึงกลายเป็น “เทพแห่งการเริ่มต้น” (god of beginning) ของทุกกิจกรรมในชีวิต

จะเริ่มเรียน แต่งงาน ขึ้นบ้าน ประพันธ์หนังสือ ออกรถ เดินทาง ค้าขาย ฯลฯ ใครๆ ก็ต้องบูชาพระองค์ทั้งนั้น

ตามคติอินเดีย พระคเณศมิได้เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยานะครับ ในคัมภีร์ต่างๆ ไม่เคยระบุบทบาทนี้ของพระองค์เลย

เทพแห่งศิลปวิทยา อักษรศาสตร์และความรู้ทั้งหลายเป็นบทบาทของพระเทวี “สรัสวตี” หรือสุรัสวดี

พระเทวีองค์นี้มีเทวลักษณะเป็นหญิงสาวสวย ทรงพิณ คัมภีร์ ประคำ หรือบางครั้งมีเหล็กจาร สวมอาภรณ์เรียบๆ สีขาว ครบถ้วนสัญลักษณ์แห่งความรู้ทั้งวิชาการ ศาสนาและศิลปะ

ในขณะที่พระคเณศเคยมีบทบาททางอักษรศาสตร์เพียงแค่ทรงทำหน้าที่จดจารเรื่องราวมหาภารตะจากฤษีวยาส ตามตำนานในมหาภารตะเท่านั้น

ไม่ได้ทรงประพันธ์นะครับ แค่ทรงจดตามคำท่านฤษีบอก

แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น จะร่ำเรียนก็ต้องบูชาพระองค์ (พร้อมๆ กับพระสุรัสวดี) คนอินเดียในปัจจุบันก็เลยถือว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับการเรียนไปด้วยกลายๆ

ส่วนในทางศิลปะ ทางอินเดียเขาก็ยังถือว่าพระสุรัสวดีเป็นเทพแห่งศิลปะสืบมาแต่โบราณ

แม้พระคเณศจะมีปาง “นฤตยะ” หรือปางร่ายรำ แต่มิได้ทรงเป็น “นาฏราช” ผู้คิดค้นถ่ายทอดนาฏยศาสตร์แก่ปวงมนุษย์อย่างพระศิวะหรือพระอิศวร อันมนุษย์ควรถือว่าเป็น “บรมครูรำ”

พระคเณศจึงไม่ใช่ครูรำ แต่พระคเณศรำทำไมใครจะทราบได้ เพราะไม่มีตำนานบอก ชะรอยช่างผู้คิดเทวปางคงอยากให้เป็นเหมือนพระศิวะผู้บิดา (ตามปุราณะ) หรือไม่ก็แสดงความสุขร่าเริงอันเป็นลักษณะประจำของพระองค์

ในคติโบราณของเราเอง พระคเณศก็ไม่มีบทบาททางศิลปวิทยา และที่จริงพระองค์มีบทบาทอื่นๆ น้อยมาก (นอกจากเรื่องหมอช้าง)

เราไม่เคยขึ้นต้นคำประพันธ์ต่างๆ (ประณามพจน์) ด้วยการสรรเสริญพระคเณศอย่างอินเดีย

แต่ตำราเรียน “จินดามณี” ของเรากลับมีคำไหว้พระสุรัสวดี และในคำไหว้ครูละครของครูเกษพระรามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมีมนตร์สันสกฤตที่สวดถึงพระสุรัสวดี แม้จะไม่มีหน้าโขนหรือรูปเคารพพระองค์ (แต่สุดท้ายเทวีทั้งหลายจะหายไปจากพิธีทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ ๖)

พิธีไหว้ครูทั้งโขนละครและดนตรี (โดยเฉพาะของสายหลวง) มีการเชิญเทวรูปหรือหน้าโขนของพระคเณศเข้าพิธี แต่ไม่มีการกล่าวอัญเชิญ ไม่มีคำไหว้ ไม่เรียกเพลง และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนี้ (เว้นเสียแต่ครูท่านจะปรับตำราให้เข้ากับความรู้ใหม่ๆ ของทางอินเดีย ซึ่งเริ่มมีกันบ้างแล้ว)

ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ครูผู้ใหญ่ทางดนตรี เคยกล่าวว่า พระคเณศนั้นทางนาฏศิลป์ดนตรีถือว่า “ครูแรง” ผมหาคำอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะพระคเณศท่านบทบาทน้อยเหลือเกิน จนกระทั่งกลับมาทบทวนเรื่องพระคเณศกับความเป็นพื้นเมืองใหม่

คือพูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่โบราณมาเราไม่ได้ถือพระคเณศอย่างที่อินเดียถือนะครับ เรานำพระคเณศของแขกมาผสมกับ “ผี” ของเรา “พระเทวกรรม” หรือ “ผีครูหมอช้าง” ของเราจึงเข้าไปสวมทับลงในเทวลักษณะพระคเณศที่มาจากเมืองแขก

ผีไหนจะแรงเท่าผีหมอช้างล่ะครับ พระคเณศจึงทรงมหิทธานุภาพ ทั้งๆ ที่ยังคลุมเครือในบทบาท แต่เราก็นับถือท่านในแบบคลุมเครืออย่างนี้มาตลอด

การที่เรานำหน้าโขนหรือเทวรูปพระคเณศเข้าในพิธีไหว้ครูทั้งๆ ที่ไม่มีตำราใดระบุว่าพระองค์มีบทบาททางนาฏศิลป์และดนตรี ไม่มีโองการเชิญหรือคำไหว้ ก็เพราะพระองค์ คือ ผีศักดิ์สิทธิ์ที่จะขาดไปไม่ได้ในพิธีไหว้ครู ถ้านับว่าการไหว้ครูที่จริงแล้วมีพัฒนาการมาจากการไหว้ผี (ของวิชาชีพและศิลปะต่างๆ)

ผมเคยเห็นพิธีไหว้ครูของศิลปะพื้นบ้านต่างๆ เช่น ช่างซอหรือช่างฟ้อน หรือโนรา ก็เห็นได้เลยว่า พิธีไหว้ครูทางดนตรีนาฏศิลป์นั้นมีพัฒนาการมาอย่างไร

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจครับ สมัยเมื่อครูอาคม สายาคม ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์เพียงท่านเดียวได้เสียชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอด ทางการได้จัดพิธีไหว้ครูและพระราชทานครอบโขนละคร ในปี ๒๕๔๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวเสด็จมาเป็นองค์ประธาน

การตั้งแต่งมณฑลพิธีกระทำโดยเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวัง ท่านให้เชิญพระพุทธรูปพิเศษเข้าในพิธีถึงสามองค์ เช่น พระชัยนวโลหะและพระ “นิรันตราย”

ที่สำคัญ มีการจัดมณฑลพิธีไม่เหมือนอย่างงานไหว้ครูโขนละครทั่วไป เพราะท่านให้ ตั้งแท่นสำหรับหัวโขนพระพิฆเนศวร์ อยู่ด้านหน้า แยกออกมาจากแท่นหน้าโขนอื่นๆ ทั้งหมด

ที่สำคัญข้างแท่นพระคเณศ มีพานขนาดใหญ่ ตั้ง “บ่วงบาศก์” (คือเชือกปะกำที่ใช้คล้องช้าง) และ “ขอสับช้าง” ไว้ด้วย

ปะกำและขอช้างไม่ใช่ “เครื่องโรง” (เครื่องใช้ในการแสดงโขนละคร) แต่เป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ ในความเชื่อของหมอช้าง และถือกันว่า “แรง” มาก จึงชัดเจนว่าพระคเณศที่ประดิษฐานอยู่นั้น ทรงมาในฐานะ “ครู” ช้างที่ทรงมหิทธานุภาพ เพื่อปัดเป่าพิฆนจัญไรตามความเชื่อเก่าเกี่ยวกับพระคเณศ ไม่ใช่เทพของทางนาฏศิลป์ (โดยตรง)

แล้วพระคเณศกลายมาเป็นเทพแห่งศิลปวิทยา รวมไปถึงระบำรำฟ้อนในบ้านเราได้อย่างไร?

พระคเณศกลายมาเป็นเทพแห่งศิลปวิทยา ก็โดยพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งในสมัยนั้น เริ่มมีการค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ทางภารตวิทยา

เทพฮินดูที่ถูกเคารพนับถืออย่างไทยๆ จึงถูกทำให้กลับไปเป็นอย่างแขกอีกครั้ง

รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดพระคเณศมาก อาจด้วยทรงเป็นนักประพันธ์ จึงพระราชนิพนธ์บทสรรเสริญพระคเณศไว้ต้นบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เสมอ

ในบทละครมัทธนะพาธา ทรงประพันธ์ประณามพจน์ว่าพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะ “เป็นเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธะวรรณ วิทฺยาวิเศษสรรพสอน”

ที่สำคัญทรงนำพระคเณศมาเป็นตรา “วรรณคดีสโมสร” ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ และพัฒนามาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากรซึ่งขยายขอบเขตของงานศิลปะนอกจากการประพันธ์แล้ว ยังมีอีกเจ็ดแขนง รวมทั้งนาฏศิลป์และวิจิตรศิลป์ด้วย

ตรากรมศิลปากรนี้ยังเชื่อมโยงไปยังตราของมหาวิทยาลัยศิลปากร และที่สุดพระคเณศได้กลายมาเป็นเทพเจ้าประจำของมหาวิทยาลัย

จากพระราชนิยมให้พระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ (ซึ่งในรัชสมัยนั้นเน้นวรรณศิลป์) ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่การเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาทุกแขนงผ่านความสัมพันธ์กับกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร

พร้อมๆ กับการค่อยๆ ลืมเลือนพระสุรัสวดีเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาที่แท้จริงตามคติอินเดีย

เหตุไฉน เทวนารีของอินเดีย ซึ่งเดิมมีบทบาทน้อยอยู่แล้ว กลับยิ่งน้อยลงไปอีกในสังคมไทย อันนี้น่าพิเคราะห์อย่างยิ่ง

และการทำให้พระคเณศกลายเป็นทั้งครูหมอช้างและเทพแห่งศิลปวิทยา เป็น “บรมครู” ของศิษยานุศิษย์ เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยแท้

ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นผ่านสื่อ วงการบันเทิง และวงการวัตถุมงคลที่ยิ่งดูจะพยายามขยายบทบาทของพระองค์ออกไปไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวแม้จะไม่เหมือนกับอินเดียก็ไม่ได้แปลว่าผิด กาลเวลาอาจทำให้ความหมายของสิ่งต่างๆ แปรเปลี่ยนไปได้

แต่ทั้งนี้ เราก็ควรรู้ว่า พระคเณศที่เรารักนับถือนั้นมีเส้นทางความเป็นมาของพระองค์อย่างไร



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ตุลาคม 2560 16:25:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
‘พระพิฆเณศวร์’ เทพแห่งศิลปวิทยา? : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (เชฟหมี)
สุขใจ ห้องสมุด
มดเอ๊ก 0 1501 กระทู้ล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2559 16:21:21
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.718 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 03:30:58