[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:37:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ไปโม้ด  (อ่าน 1992 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 มกราคม 2561 17:09:22 »


ทหารสยามในสงครามโลก

จากข้อเขียน "เมื่อนักบินไทยไปสงครามโลกครั้งแรก" โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์ ว่า ๑๑ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งครบ ๑๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗

ชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ เมื่ออาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ องค์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และพระชายา ถูกลอบปลงพระชนม์บนรถเปิดประทุนระหว่างการเดินทางเยือนกรุงซาราเยโว ในบอสเนีย และนี่คือสงครามโลกที่เปลี่ยนโฉมหน้าการรบแบบเดิมแทบจะทุกอย่าง เป็นสงครามที่มีเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นสงครามที่ก่อให้เกิดองค์การระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก จนนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของเผด็จการอำนาจนิยมในยุโรปในเวลาต่อมา

การรบรูปแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในการสงคราม อาทิ เทคโนโลยีการบิน การใช้อาวุธเคมีเป็นครั้งแรกในยุทธการอีแปร์ ครั้งที่ ๒ เยอรมนีใช้แก๊สคลอรีนยิงในอากาศใส่ฝ่ายตรงข้าม ทำให้มีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การใช้เรือดำน้ำทำลายเรือเสบียงของฝ่ายตรงข้าม หรือการที่อังกฤษนำรถถังมาใช้วิ่งฝ่าสนามเพลาะของข้าศึก เป็นต้น

๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (ประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยให้ทหารแสดงน้ำใจอาสาไปราชการ และเปิดโอกาสให้พลเรือนที่มิได้รับราชการทหารกองประจำการอยู่ในขณะนั้นได้แสดงน้ำใจรับอาสาไปราชการด้วย ในส่วนของทหารประจำการได้กำหนดคุณลักษณะโดยรวมดังนี้

๑.มีประกาศนียบัตรเป็นนักบิน หรือแม้ไม่มีก็ดี แต่มีความเต็มใจที่จะรับการฝึกหัดเป็นนักบิน
๒.มีความรู้และความสามารถในการใช้เครื่องยนต์ และ
๓.มีความรู้และความสามารถในทางการแพทย์ หรือมีความชำนาญในการพยาบาล

มีอาสาสมัครสมัครเข้าร่วมรบในครั้งนี้แบ่งออกเป็น กองบินทหารบก รวม ๔๐๐ คน และกองทหารบกรถยนต์ รวม ๘๕๐ คน โดยให้ พ.อ.พระเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการกองทหารอาสาในส่วนกองบินทหารบก ทหารอาสาในกองบินทหารบกถูกคัดเลือกจำนวน ๑๐๖ คน ประกอบด้วย นายทหารสัญญาบัตร ๔๗ คน นายสิบ ๔๔ คน และพลทหาร ๑๕ คน (ทั้งหมดได้รับการจ่ายเครื่องแต่งกายสำหรับบิน ประกอบด้วย หมวกสำหรับขึ้นบิน ถุงศีรษะ ถุงมือ เสื้อผ้าป่านคอสูง เสื้อกางเกงหนัง รองเท้าข้างในเป็นสำลีสำหรับสวมภายนอกรองเท้าธรรมดา)

ส่วนนายทหารสัญญาบัตร ๒ คน นายสิบ ๑๔ คน และพลทหาร ๒๐๙ คน ซึ่งไม่ผ่านการคัดเลือกได้บรรจุเข้าเป็นช่างเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ในส่วนกองบินทหารบก มี พ.ต.หลวงทยานพิฆาฎ (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้บังคับกองบิน แบ่งเป็นกองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบินขับไล่), กองบินใหญ่ที่ ๒ (กองบินลาดตระเวน) และกองบินใหญ่ที่ ๓ (กองบินทิ้งระเบิด)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนําประเทศเข้าร่วมสงคราม โดยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา เป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามไม่เข้าข้างฝ่ายผิด ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสกับอังกฤษจะเคยเอาเปรียบบีบบังคับให้เรายกดินแดนให้ในอดีต การประกาศสงครามครั้งนี้กระทําเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญญานานาประเทศซึ่งทําไว้โดยไม่ต้องการที่จะกระทําศึกต่อการค้าขายหรือต่อมนุษยชาติหรือต่อความสงบเรียบร้อยของโลกโดยทั่วไป



๑๙ มิถุนายน ๒๔๖๑ ทหารอาสาทั้งหมดเดินทางลงเรือที่กรุงเทพฯ โดยเรือ "ศรีสมุท", "กล้าทะเล" และ "สุครีพครองเมือง" ไปที่เกาะสีชัง เพื่อลงเรือ "เอมไปร์" ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน เวลา ๑๐.๒๐ น. และออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส โดยเดินทางถึงเมืองมาร์เซย์ ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๑ และเข้าฝึกต่างๆ ทั้งการฝึกการบินชั้นต้น บินรบ ฝึกนักบินขับไล่ ฝึกยิงปืนในอากาศ ฝึกทิ้งระเบิด ฝึกยุทธวิธีทางอากาศ ฝึกบินตรวจการณ์ ตรวจตำบลกระสุนตก และถ่ายรูปทางอากาศ เป็นต้น จนพร้อมออกรบได้

๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๑ (ขณะนั้นยังนับ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก่อนที่ทหารไทยจะเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส ได้จัดให้มีพิธีมอบธงชัยเฉลิมพลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปพระราชทาน และผู้แทนของกองทัพฝรั่งเศสได้นำตรามาให้แก่ผู้บังคับบัญชากองบินทหารบกไทย คือ พ.อ.พระเฉลิมอากาศ รับตราเลจิยอง ดอนเนอร์ ชั้น ๔ และ พ.ต.หลวงทะยานพิฆาฎ รับตราเลจิยอง ดอนเนอร์ ชั้น ๕

๑ พฤษภาคม ๒๔๖๒ ทหารอาสาจากกองบินทหารบกชุดแรก ๓๔๑ คน เดินทางกลับสยาม ปีเดียวกันนั้น ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม กองทหารอาสาพร้อมธงชัยเฉลิมพล จำนวน ๑ กองร้อย ๑๓๘ คน ได้รับเชิญจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะผ่านประตูชัยกรุงปารีส และ ๑๙ กรกฎาคม กองทหารอาสาพร้อมธงชัยเฉลิมพล จำนวน ๕๕ คน ได้รับเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้ร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะในกรุงลอนดอน ตามด้วย ๒๒ กรกฎาคม กองทหารอาสาพร้อมธงชัยเฉลิมพล จำนวน ๑ กองร้อย ๑๖๗ คน ได้รับเชิญจากรัฐบาลเบลเยียมให้ร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะในกรุงบรัสเซลส์ และ ๑๙ สิงหาคม กองบินทหารบกส่วนสุดท้าย เดินทางออกจากท่าเรือเมืองมาร์เซย์ กลับสยาม

ในราชการสงครามครั้งนั้น มีผู้สำเร็จได้เป็นนักบิน จำนวน ๙๕ คน ช่างเครื่อง จำนวน ๒๒๕ คน ได้เป็นกำลังอันสำคัญของกิจการบินของประเทศไทยในเวลาต่อมา และแม้กองบินทหารบกจะไม่ทันเข้าสู่สมรภูมิ เพราะสงครามสงบลง แต่ก็ได้รับเหรียญ "ครัวซ์ เดอ แกร์" ประดับที่ธงชัยเฉลิมพลด้วย

๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น ณ สนามหลวง (บริเวณสามเหลี่ยมทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ฝั่งตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ) เพื่อบรรจุอัฐิทหารอาสาที่เสียชีวิต ทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์และทรงบรรจุอัฐิทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติราชการ จำนวน ๑๙ นาย (เสียชีวิตในประเทศไทยก่อนออกเดินทาง ๒ นาย และเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ๑๗ นาย) ได้จารึกนามของผู้เสียชีวิตไว้ทั้งหมด ตลอดกระทั่งวันเกิด วันถึงแก่กรรม และสถานที่ถึงแก่กรรมของทุกคน

นับว่าล้วนเป็นผู้ซึ่งได้สละชีวิตเป็นชาติพลีเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของชาติไทยและกรุงสยาม รวมทั้งเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมระหว่างประเทศให้บรรดาคนไทยทั้งหลายได้ระลึกถึงและเป็นแบบอย่างอันดีงามสืบไป


จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "ทหารสยามในสงครามโลก" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


ภาพ : YouTube.com

ประโคมย่ำยาม : มรดกโลก

คำอธิบายมาจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นำการสวดทำนองหลวงและการประโคมย่ำยามเข้าสู่กระบวน การขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเป็นการเร่งด่วน เพื่อปกป้องและรักษามรดกภูมิปัญญาของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ

รมว.วธ.กล่าวว่า การประโคมย่ำยามเป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวัง จัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ทั้งนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา แต่มีการจดบันทึกชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๔ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติที่ควรได้รับการอนุรักษ์และสืบสานอย่างต่อเนื่อง

วธ.จึงได้เตรียมนำการ "ประโคมย่ำยาม" ขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นการเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ต่อไป เพื่อปกป้องรักษามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ

นายวีระกล่าวว่า กระบวนการนำการสวดและการประโคมย่ำยามขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ให้ชัดเจน รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เคยเสนอและได้ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแล้วในประเภทการบรรเลงดนตรีลักษณะเดียวกับประโคมย่ำยาม เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ก่อนนำเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนการขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีขั้นตอนดังนี้

๑.ชุมชนผู้ปฏิบัติ (สำนักพระราชวัง/สำนักการสังคีต/สภาวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร) ร่วมกับคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จัดทำข้อมูลตามเกณฑ์การจัดทำรายการเบื้องต้นของกรุงเทพมหานคร

๒.คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเสนอรายการประโคมย่ำยามเพื่อขอขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อ สวธ.

๓.สวธ.นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเสนอความเห็นให้สวธ. และ

๔.สวธ.นำความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาประกาศขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน วธ.จะขอพระบรมราชานุญาตจากสำนักพระราชวังก่อน คาดว่าจะนำเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาได้อย่างเร็วที่สุดในปี ๒๕๖๑

รมว.วธ.กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ จำนวน ๓๑๘ รายการ ครอบคลุม ๖ เรื่อง ได้แก่

๑.แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล เช่น มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
๒.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เช่น นิทาน ตำนาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย ภาษาไทย ภาษาถิ่น
๓.ศิลปะการแสดง เช่น ดนตรีและเพลงร้อง นาฏศิลป์ ละคร การแสดงพื้นบ้าน
๔.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น อาหารและโภชนาการ โหราศาสตร์
๕.งานช่างฝีมือดั้งเดิม เช่น จักสาน งานผ้า เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ โลหะ เครื่องหนัง
๖.การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย ว่าวไทย

ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโกขณะนี้มี ๕ รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา มวยไทย และสำรับอาหารไทย


จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "ประโคมย่ำยาม : มรดกโลก" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด




ภาพ : daily.khaosod.co.th

ประตูพระบรมมหาราชวัง

ข้อมูลจากหอมรดกไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เรื่องประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง ว่า ประตูที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นประตูเครื่องยอดไม้ทรงมณฑปซ้อนสามชั้น ทาดินแดง เช่นเดียวกับประตูพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประตูและป้อมจึงสร้างแบบหอรบ มีคฤห์อยู่ส่วนบน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนแปลงยอดเครื่องไม้เป็นก่ออิฐ ถือปูน เป็นแบบซุ้มทรงฝรั่ง ปัจจุบันประตูดังกล่าวเหลืออยู่เพียงบางแห่ง เช่น ที่ประตูรัตนพิศาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนประตูจากทรงฝรั่งเป็นทรงปรางค์ เช่น ประตูวิมานเทเวศร์ ประตูวิเศษไชยศรี ประตูมณีนพรัตน์ ประตูสวัสดิโสภา ประตูเทวาพิทักษ์ ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ประตูดังกล่าวแม้จะเป็นทรงปรางค์แบบไทย แต่ประกอบด้วยซุ้มบันแถลง โดยเลียนเครื่องยอดทรงมณฑป ลดชั้นองค์ระฆังยอดใส่ปรางค์แทนที่จะใส่เหมและบัวกลุ่ม นับว่าเป็นทรงปรางค์อีกแบบหนึ่งที่แปลกออกไป

ส่วน ประตูศรีสุนทร ทำเป็นทรงปรางค์ มีบัณนแถลงใหญ่ ที่สันบันแถลงใส่บราลีแบบบราลีปักยอดปราสาท เป็นบราลีแบบปรางค์ นับว่าเป็นประตูที่แปลกอีกประตูหนึ่ง และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประตูวังได้เปลี่ยนเป็นประตูยอดแบบใหม่เพียงประตูเดียว คือประตูเทวาภิรมย์ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก ยอดประตูแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากประตูหอรบเป็นประตูยอดในคราวเดียวกันกับประตูสามยอด

ประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวังมีทั้งหมด ๑๓ ประตู เรียงลำดับจากด้านตะวันตกของกำแพงพระบรมมหาราชวัง เวียนขวา (ทักษิณาวรรต) ดังนี้

ประตูรัตนพิศาล อยู่ทางด้านตะวันตก (เรียกชื่อสามัญว่า ประตูยี่สาน), ประตูวิมานเทเวศน์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ, ประตูวิเศษไชยศรี อยู่ทางด้านทิศเหนือ, ประตูมณีนพรัตน์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ ตรงกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านเหนือ (เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าประตูฉนวนวัดพระแก้วมรกต เพื่อออกไปทุ่งพระเมรุ), ประตูสวัสดิโสภา อยู่ด้านทิศตะวันออก ตรงกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออก ตรงกับศาลาว่าการกลาโหม (มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า ประตูทอง เพราะมีผู้เอาแผ่นทองคำเปลวไปปิดบูชาพระแก้วมรกตอยู่เสมอ), ประตูเทวาพิทักษ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทางเหนือพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ใต้ป้อมสิงขรขันธ์

ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทางใต้พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, ประตูวิจิตรบรรจง อยู่ทางด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนทางด้านเหนือ และข้างในตรงกับพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ (ประตูฉนวนชั้นนอกออกไปวัดโพธิ์), ประตูอนงคารักษ์ อยู่ทางด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนทางด้านเหนือ (มีชื่อเป็นสามัญว่า ประตูผีชั้นนอก), ประตูพิทักษ์บวร อยู่ทางด้านทิศใต้ เป็นประตูด้านสกัดทางใต้ ตรงกับถนนมหาราช ข้างในตรงกับถนนสกัดกำแพงพระบรมมหาราชวัง (มีชื่ออย่างหนึ่งว่าประตูแดงท้ายสนม เพราะทาสีแดง ตั้งอยู่ริมตลาดชื่อท้ายสนม)

ประตูสุนทรทิศา อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นประตูด้านสกัดทางเหนือตรงกับถนนแปดตำรวจเดิม, ประตูเทวาภิรมย์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ (เรียกชื่อเป็นสามัญว่า ประตูท่าขุนนางหน้าโรงทาน) และประตูอุดมสุดารักษ์ อยู่ทางด้านทิศใต้ เป็นประตูฉนวนออกทางตรงพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิฐ





ประตูชั้นกลางและชั้นในของพระบรมมหาราชวัง มี ๒๕ ประตู ดังนี้

ประตูสุวรรณภิบาล เป็นประตูสองชั้น อยู่ทางด้านเหนือ ตรงกับประตูพิมานเทเวศร์ เข้ามาข้างในตรงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, ประตูพิมานไชยศรี เป็นประตูสองชั้น อยู่ตรงประตูวิเศษไชยศรี เข้ามาข้างในตรงพระที่นั่งจักรีปราสาท, ประตูเทวราชดำรงศร อยู่ตรงพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม ระหว่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ซึ่งรื้อออกแล้วเมื่อตอนต่อมุขพระที่นั่งอนันตสมาคมออกมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประตูอุดรสิงหรักษ์ เป็นประตูซุ้มสองชั้น อยู่ทางด้านทิศเหนือ ทางที่จะเข้าไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม, ประตูทักษิณสิงหาร เป็นประตูซุ้มสองชั้น อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นทางออกไปพระตำหนักสวนกุหลาบเดิม, ประตูพิศาลทักษิณ อยู่ด้านใต้ ไปออกประตูวิจิตรบรรจง แล้วออกวัดพระเชตุพน (เรียกกันเป็นสามัญว่า ประตูฉนวนวัดโพธิ์ สำหรับฝ่ายในออกไปวัดโพธิ์), ประตูกัลยาวดี อยู่ด้านใต้ เพื่อไปออกประตูอนงคารักษ์ (เรียกกันเป็นสามัญว่า ประตูผีสำหรับนำศพออกไป)

ประตูศรีสุดาวงษ์ คือ ประตูดินใหม่ อยู่ด้านตะวันตก อยู่ริมอุโมงค์ (เรียกเป็นสามัญว่า ประตูศรีสำราญ), ประตูอนงค์ลีลา อยู่ด้านตะวันตก คือประตูดินเก่า ใต้ประตูยาตราสตรี, ประตูยาตราสตรี อยู่ทางด้านตะวันตก ตรงกับประตูอุดมสุดารักษ์ ทางออกไปท่าราชวรดิฐ, ประตูศรีสุนทร อยู่ทางด้านตะวันตก ริมหอนิเพธพิทยา ตรงกับประตูเทวาภิรมย์ ทางออกไปท่าราชวรดิฐ

ประตูพรหมศรีสวัสดิ์ อยู่ทางด้านเหนือ ข้างซ้ายพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, ประตูพรหมโสภา อยู่ด้านเหนือ ข้างขวาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, ประตูสนามราชกิจ อยู่ด้านตะวันออก ข้างขวาพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, ประตูดุสิตศาสดา อยู่ด้านตะวันออก เป็นประตูฉนวนชั้นในเพื่อออกไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (เรียกกันว่า ประตูฉนวนวัดพระแก้ว), ประตูสีกรลีลาศ อยู่หน้าพระที่นั่งทรงผนวช ซึ่งปัจจุบันรื้อออกไปแล้ว

ประตูแถลงราชกิจ อยู่ริมพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิมทางด้านเหนือ, ประตูปริตประเวศ เป็นประตูช่องเล็กอยู่ริมพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม ทางด้านขวา, ประตูราชสำราญ อยู่ตรงกับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ทางด้านใต้พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท, ประตูกมลาสประเวศ เป็นทางออกสู่พุทธรัตนสถาน ปัจจุบันรื้อออกแล้ว, ประตูอมเรศสัญจร เป็นทางออกสู่อ่างแก้ว ปัจจุบันรื้อออกแล้ว

พระทวารจักรพรรดิภิรมย์ อยู่มุขกระสันตรงพระบุษบกหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระทวารเทวราชมเหศวร อยู่หลังพระที่นั่งบุษบกหลังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน, พระทวารเทเวศรักษา เป็นซุ้มอยู่ที่กำแพง ข้างพระที่นั่ง อมรินทรฯ และพระทวารเทวาภิบาล เป็นซุ้มสามพระทวาร ข้างพระที่นั่งอมรินทรฯ

จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "ประตูพระบรมมหาราชวัง" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด




เสาเอก

ทำไมสร้างบ้านต้องยกเสาเอก?

คำตอบมาจากกระทรวงวัฒนธรรมว่า การจะสร้างบ้านหรืออาคารสักหลังหนึ่งในเมืองไทย ขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกันมากคือขั้นตอนยกเสาเอก ตามความเชื่อว่า การทำพิธียกเสาเอกจะทำให้งานก่อสร้างมีความราบรื่น ไม่มีปัญหาและอุปสรรค เป็นสิริมงคลต่อการอยู่อาศัย เมื่อเข้าอยู่บ้านจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม พิธีการและขั้นตอนการยกเสาเอกอาจแตกต่างกัน บ้านบางหลังทำพิธีโดยพระ บางหลังทำพิธีโดยพราหมณ์ บางหลังทำพิธีโดยผู้ใหญ่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ กระทำในเวลาที่ดูฤกษ์ไว้แล้วว่าเป็นมงคล ย้อนไปในสมัยโบราณ การก่อสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็นการสร้างบ้านไม้ เสาบ้านก็เป็นเสาไม้ ฤกษ์ลงเสาเอกก็คือฤกษ์เวลาที่นำเสาหลักของบ้านหย่อนลงสู่หลุมที่เตรียมเอาไว้ จัดเสาให้ตั้งตรง ใช้ไม้ค้ำยันค้ำไว้ เอาดินกลบหลุมทั้งหมด

แต่ปัจจุบันขั้นตอนและวิธีการก่อสร้างเปลี่ยนไป อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องตอกเสาเข็ม ต้องเทฐานราก ทำตอม่อแล้ว จึงจะขึ้นเสาโผล่พื้นดินได้ ดังนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าพิธียกเสาเอกกับการก่อสร้างในปัจจุบันที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตกระทำกันในช่วงไหนของการก่อสร้าง

       ๑.อาจยึดเวลาที่ตอก (เจาะ) เสาเข็มต้นแรก หรือเวลาที่ตอก (เจาะ) เสาเข็มต้นที่กำหนดให้เป็นเสาเอก (น่าจะเรียกว่าฤกษ์เข็มเอก)
       ๒.อาจยึดเวลาที่ยกเสาเหล็กเสริม เทคอนกรีตฐานราก (เทคอนกรีตฐานรากพร้อมกับการตั้งเหล็กเสาต้นที่เป็นเสาเอก) และ
       ๓.อาจยึดเวลาที่เทคอนกรีตหล่อเสาอาคารจริงๆ (ซึ่งอาจจะตั้งหลังจากเริ่มก่อสร้างแล้วเป็นเดือน)

มาถึงการเตรียมของใช้และขั้นตอนยกเสาเอก แบบยึดเวลาที่ยกเสาเหล็กเสริมขึ้นตั้งและเทคอนกรีตฐานราก ซึ่งเป็นลักษณะที่การสร้างบ้านส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้กัน ทั้งนี้ การเตรียมของใช้ในพิธียกเสาเอกมีอยู่หลายตำราด้วยกัน ในที่นี้อ้างอิงจากศาสนพิธีในหนังสือพุทธศาสตร์ ปีที่ ๔๓ อันดับที่ ๑/๒๕๔๓ เริ่มด้วยการเตรียมของใช้ในพิธียกเสาเอก
       ๑.จัดโต๊ะหมู่บูชา ๑ ชุด พร้อมเครื่องสักการะ
       ๒.จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ ๑ ชุด (กรณีนิมนต์พระมาประพรมน้ำมนต์และเจริญชัยมงคลคาถา)
       ๓.เครื่องบูชาฤกษ์หรือสังเวยเทวดา
       ๔.ใบทอง นาก เงิน อย่างละ ๓ ใบ
       ๕.ทอง เงิน อย่างละ ๙ เหรียญ
       ๖.ทรายเสก ๑ ขัน
       ๗.น้ำมนต์ ๑ ขัน (พร้อมกำหญ้าคา ๑ กำ)
       ๘.ด้ายสายสิญจน์ ๑ ม้วนเล็ก
       ๙.ทองคำเปลว ๓ แผ่น
       ๑๐.ผ้าแพรสีแดงห่มเสา หรือผ้าขาวม้า ๑ ผืน
       ๑๑.หน่อกล้วย อ้อยอย่างละ ๑ หน่อ
       ๑๒.แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ ๑ แผ่น
       ๑๓.ข้าวตอกดอกไม้ ๑ ขัน และ
       ๑๔.ท่อนไม้มงคล ๙ ชนิด ได้แก่ กันเกรา ทรงบาดาล ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ขนุน สักทอง ทองหลาง ไผ่สีสุก พะยูง ไม้มงคลเหล่านี้จะลงอักขระที่เรียกว่า หัวใจพระอิติปิโส ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ลงบนท่อนไม้ชนิดละอักขระ พร้อมปิดทองทั้ง ๙ ท่อน โดยปักวนจากซ้ายไปขวา (ทักษิณาวรรต)

ลำดับพิธี วางสายสิญจน์เริ่มจากโต๊ะบูชาไปโต๊ะสังเวยบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร) เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ จุดเทียนธูปที่โต๊ะสังเวยบูชาเทวดาให้คุ้มครอง พิธีกรกล่าวสังเวยเทวดา เจ้าภาพตอกท่อนไม้มงคล ๙ ชนิด วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงินลง ก้นหลุม นิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ โปรยทรายเสกที่หลุมเสา เจิมและปิดทองเสาเอก เจ้าบ้านผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้า สีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก ถือด้ายสายสิญจน์พร้อมทั้งญาติมิตร ผู้ร่วมพิธี ช่างช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตร เป็นอันเสร็จพิธี


จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "เสาเอก" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด




สังข์

คนไทยคุ้นเคยกับหอยสังข์ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ที่รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียมาแต่โบราณ จนพิธีกรรมและความเชื่อแบบพราหมณ์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคนไทย และสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับพิธีมงคลคือสังข์

สังข์ คือหอยทะเลกาบเดียว ใช้ประกอบพิธีมงคล โดยสังข์พิธีจะเรียกลักษณนามว่า “ขอน” ไม่ใช่ “ตัว” เหมือนหอยทั่วไป ผิวชั้นนอกสุดเป็นเปลือกหนาสีน้ำตาล คือ ไคติน จะหลุดออกเมื่อหอยตายไปสักระยะหนึ่ง เมื่อลอกเปลือกชั้นนอกออกจะพบเปลือกแข็งลักษณะเรียบมันมีสีสันต่างกันไป เช่น ขาว เทา ชมพู ส้ม หอยสังข์แต่ละชนิดมีชื่อเรียกตามถิ่นที่พบเจอตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก โดยจะพบในเขตร้อน ได้แก่ สังข์อินเดีย สังข์ศรีลังกา สังข์สุวรรณภูมิ หรือสังข์อันดามัน สังข์ยักษ์แอฟริกา สังข์บราซิล สังข์แคริบเบียน

สำหรับสังข์ที่นิยมใช้ในพิธีมงคล คือสังข์อินเดีย ส่วนสังข์ที่พบในไทย คือ สังข์สุวรรณภูมิ หรือสังข์อันดามัน ในน่านน้ำไทยฝั่งอันดามัน ถือเป็นหอยหายากราคาแพง หลังภัยพิบัติสึนามิปี ๒๕๔๗ ไม่พบสังข์ชนิดนี้ในทะเลอันดามันอีกเลย

การใช้ประโยชน์จากสังข์มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะเครื่องใช้ ทั้งเครื่องประดับ ภาชนะ และแตรสัญญาณ ส่วนการใช้ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบันทึกเมื่อมีศาสนาพราหมณ์ ในประเทศอินเดีย ตำนานเล่าถึงพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ กับคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ที่รวบรวมบทสวด ความรู้และความเชื่อ

เรื่องเล่าว่า ยักษ์ชื่อสังข์อสูร ไปพบพระพรหมบรรทมแล้วเห็นพระเวทไหลออกมาจากพระโอษฐ์ จึงขโมยพระเวทมา พระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นจึงตามไปทวงพระเวทคืน แต่ยักษ์กลับกลืนพระเวทลงท้องแล้วหนีลงมหาสมุทร พระนารายณ์ก็แปลงกายเป็นปลา เมื่อเจอสังข์อสูรจึงใช้พระหัตถ์ล้วงพระเวทในท้องจนเนื้อที่ปากของยักษ์เป็นรอยนิ้วพระนารายณ์ เมื่อได้พระเวทคืนพระนารายณ์สาปให้สังข์อสูรอยู่ในมหาสมุทรตลอดไป และสั่งให้มีสังข์เข้าร่วมพิธีมงคล เมื่อมนุษย์จะทำการมงคลจึงจับสังข์มาร่วมพิธี

ตามเรื่องเล่าที่ถือว่าสังข์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะสังข์เคยเป็นที่อยู่ของคัมภีร์พระเวท คัมภีร์ที่ได้รับการบูชาสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ส่วนอีกหนึ่งเกร็ดจากเรื่องเล่า คือร่องรอยจากพระหัตถ์พระนารายณ์ที่ทิ้งไว้ที่ปากสังข์อสูร เมื่อนำหอยสังข์อินเดียมาพิจารณาจะเห็นร่องเป็นสันที่ปากสังข์ ส่วนนี้เองที่เรียกว่ารอยนิ้วพระนารายณ์

จากคติความเชื่อทำให้สังข์ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะใช้เพื่อความเป็นมงคล สังข์ที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีมากที่สุด คือ สังข์อินเดีย เนื่องจากมีลักษณะถูกต้องตามหลักความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ นอกจากนี้ในอดีตสังคมอินเดียยังแบ่งสีของสังข์ตามวรรณะเพื่อเป็นเครื่องใช้ประจำตัว สีขาวสำหรับพราหมณ์, สีแดง น้ำตาล ชมพู สำหรับกษัตริย์, สีเหลือง สำหรับไวศยะหรือพ่อค้า และสีเทา ดำ สำหรับศูทร ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน

สำหรับการใช้งาน มีทั้งใช้รดน้ำและใช้เป่า สังข์รดน้ำใช้ตามความเชื่อจากกำเนิดสังข์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อน้ำใดผ่านสังข์จึงถือเป็นมงคลด้วย ส่วนสังข์เป่าเป็นวิธีการใช้งานตั้งแต่โบราณกาล โดยการตัดปลายด้านจุกแหลมให้เป็นรู แล้วเป่าเกิดเสียงก้องกังวาน ใช้ทั้งเป็นเครื่องดนตรีและการส่งสัญญาณ ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ถือเป็นเสียงมงคล ด้วยเสียงที่ดังคล้ายเสียง “โอม” ซึ่งเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เป็นเสียงที่สร้างบรรยากาศอันเป็นมงคลในงานพิธี

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ สังข์ศักดิ์สิทธิ์ต้องเวียนซ้ายหรือเวียนขวา ซึ่งแท้จริงสังข์ที่มีลักษณะหายากนี้เรียกได้หลายชื่อ ทั้งมหาสังข์ สังข์ทักษิณาวัตร สังข์ทักขิณาวรรต คือสังข์อินเดียที่เวียนขวา (เวียนซ้าย เรียกอุตราวรรต) เวลาดูให้หันด้านที่เป็นจุกม้วนวนเข้าหาตัว หากปากสังข์เปิดทางขวา นั่นคือสังข์เวียนขวา วิธีการดูอย่างนี้ตรงกันข้ามกับการดูสังข์ทางชีววิทยา ตามหลักชีววิทยา มหาสังข์เวียนขวาจะเรียกว่าสังข์เวียนซ้าย เพราะใช้วิธีการดูด้านตรงข้ามกัน

โดยทั่วไปหอยทะเลจะมีเปลือกหมุนเวียนซ้าย กรณีสังข์เวียนขวาจึงเกิดจากการผ่าเหล่า หาได้ยากชนิดที่ว่าเป็นหนึ่งในล้าน

จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "สังข์" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤศจิกายน 2561 13:51:54 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2561 16:03:35 »



ภาพจาก : wikimapia.org
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี - พระนาม 

จากเรื่อง พระนามทางการของ “พระเจ้ากรุงธนบุรี” ที่เลือนหายจากความทรงจำของคนไทย เมฆา วิรุฬหก เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรม อ้างอิงบทความ “พระนามทางการ ที่ปลาสนาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” โดย สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม ๒๕๓๓ ว่า

คนไทยส่วนใหญ่มักเรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งเป็นพระนามที่ปรากฏบนจารึกหน้าฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่ ส่วนที่มาของพระนามดังกล่าว คนเฒ่าคนแก่ หรือครูบาอาจารย์ชอบบอกว่า เพราะพระองค์เป็นเจ้าเมืองตากมาก่อน เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงธนบุรี คนก็ยังติดกับพระนามเดิมจึงมักเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าตากสิน

อย่างไรก็ดี สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ บอกว่า การเรียกพระนามดังกล่าวเท่ากับเป็นการลดทอนพระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะนั่นมิใช่พระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน  และภายหลังมีความพยายามลดทอนพระบารมี ไม่ยอมรับพระองค์ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยข้ออ้างว่า เมื่อสมัยที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บ้านเมืองยังเป็นจลาจล หาพราหมณ์ทำพิธีไม่ได้ การประกอบพระราชพิธีในครั้งนั้น จึงบกพร่องไม่เป็นไปตามโบราณราชประเพณี

สุทธิศักดิ์ ยืนยันว่า ทรงมีสถานะเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์มาแต่ต้นรัชกาล เห็นได้จากหลักฐานการตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๐๙ ที่ระบุว่าทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” และรับ “พระราชโองการ” ตามอย่างพระเจ้าแผ่นดินพระมหานครศรีอยุทธยาทุกประการ

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ราชวงศ์ใหม่ ทรงถูกลดทอนพระบารมีลงด้วยการไปเรียกขานด้วยชื่อตำแหน่งเมื่อครั้งที่ยังคงมีสถานะเป็นเพียงขุนนาง เช่นในหมายรับสั่งเรื่องแห่พระทราย พ.ศ.๒๓๒๕ เรียกพระองค์ว่า “พระยาตากสิน” และเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัท) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ.๒๓๒๗ ก็เรียกว่า “พญาตากสิน” สะท้อนว่าในทัศนะของราชวงศ์ใหม่พระเจ้ากรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเพียงหัวหน้าชุมชนเท่านั้น ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน

เอกสารในยุคหลังจึงยึดเอาธรรมเนียมการเรียกขานพระนามของพระองค์ด้วยสถานะเทียบเท่าหัวหน้าชุมนุมเรื่อยมา หรือเลี่ยงที่จะเอ่ยพระนามไปเสีย จนกระทั่งเข้าถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานะความเป็นพระเจ้าแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น เพื่อแสดงความสืบเนื่องของแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสมัยของพระองค์ (รัชกาลที่ ๔)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ขนานพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่ตามพระวินิจฉัยส่วนพระองค์ว่า “สมเด็จพระบรมราชา องค์ที่ ๔” ซึ่งนักพงศาวดารไทยก็ได้ยึดถือตามกันมาและถือเป็นพระนามทางการของพระองค์ ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยตามหลักฐานที่ปรากฏในภายหลัง ระบุว่า พระนามที่แท้จริงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีควรจะเป็น “สมเด็จพระเอกาทศรถ” อันเป็นพระนามที่กษัตริย์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงใช้สืบต่อกันมา รวมถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ดังที่ปรากฏพระราชโองการตั้งเจ้านครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ สุทธิศักดิ์ ยังพบว่า ข้อสันนิษฐานภายหลังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีหลักฐานอื่นรองรับอีกหลายชิ้น เช่นพระราชสาส์นล้านช้าง ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานไปถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔ ที่จดพระนามร่วมสมัยของพระองค์ว่า “สมเด็จพระมหาเอกา ทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ตามด้วยพระราชสาส์นล้านช้าง พ.ศ.๒๓๑๗ ที่ออกพระนามว่า “สมเด็จพระมหาเอกทศรธอิศวรบรมนารถบรมบพิตรฯ”

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระองค์ได้แก้ไขพระวินิจฉัยเดิมและแก้พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใหม่เป็น “พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว” ซึ่ง สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า พระนามดังกล่าวถอดความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ผู้ครอบครองราชรถทั้งสิบเอ็ดรถ

ทั้งนี้ สุทธิศักดิ์มองว่า พระนามดังกล่าวมิได้เป็นพระเกียรติยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน “จึงเห็นควรปริวรรตพระนามตามอักขรวิธีในปัจจุบันเป็น พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้แบ่งภาคมาจากเทพยดาผู้เป็นใหญ่ทั้ง ๑๑ พระองค์ คือ พระพรหม พระพิษณุ พระอิศวร พระพาย พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพศรพณ์ พระอินทร์ พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ตามคติความเชื่อในลัทธิเทวราชของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจรรโลงสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต”

จึงสรุปว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงควรมีพระนามทางการตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร นับเป็นพระองค์ที่ ๖ ถัดจากพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรที่ ๕ (สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ)” ไม่ใช่สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๔ อย่างที่ยึดถือกันมาแต่เดิม

จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี-พระนาม" หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2561 15:17:20 »


โขดหินฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

จากการที่ จ.เพชรบูรณ์รวบรวมแหล่งธรณีวิทยาภายในจังหวัดเพื่อนำเสนอเป็นอุทยานธรณีวิทยา (จีโอปาร์ก-Geopark) กับยูเนสโก ทำให้ชาวบ้านเริ่มแจ้งข้อมูลใหม่ให้กับคณะทำงาน ล่าสุดค้นพบแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด "โขดหินฟอสซิลดึกดำบรรพ์อายุ ๒๔๐ ล้านปี" บริเวณหมู่ ๑๒ บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี

โดยชาวบ้านแจ้งว่าพบทุ่งโขดหินประหลาด ภายในมีฟอสซิลหอยเต็มไปหมด ทีมสำรวจซึ่งประกอบด้วย ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ นักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณีวิทยา, นายอรุณ เมฆฉาย นายอำเภอวิเชียรบุรี รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงลงพื้นที่ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นท้องทะเลหรือมหาสมุทรมาก่อน ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ทำให้เกิดโขดหินที่มีตั้งแต่ก้อนหินขนาดเล็กไปถึงแนวโขดหินขนาดใหญ่ ภายในมีซากฟอสซิลสัตว์และพืชใต้ท้องทะเลนานาชนิด อาทิ ปะการัง หอยฝาเดียว หอยสองฝา เรดิโอลาเรียน ฟิวซูลินิก และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน

โขดหินเหล่านี้มีสภาพเป็นดงหรือเป็นทุ่งโขดหินกว้างไกลสุดสายตา มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ไร่ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นก้นมหาสมุทรหรือ ก้นทะเล เกิดในยุคเพอร์ เมียน (-permian-) อายุราว ๒๔๐-๒๘๐ ล้านปี โดยเกิดจากแผ่นดินเปลือกโลกเคลื่อนที่และดันตัวขึ้นสู่ผิวโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาซึ่งมีการสะสมของหินปูนใต้ทะเลและยังเป็นตัวเชื่อมเกิดการแตกหักกระจาย เมื่อกาลเวลาผ่านไปยาวนานทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแนวโขดหินซึ่งมีซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว

และต่อมาวันที่ ๑๕ ก.ค. รายงานว่า คณะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ทหารจากกองร้อยรักษาความสงบที่ ๒ กองพันทหารม้าที่ ๑๓ กองพลทหารม้าที่ ๑ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เดินทางไปตรวจสอบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ซึ่งชาวบ้านแจ้งว่าพบกระจัดกระจายอยู่ทั่วเนินเขาบริเวณพื้นที่หมู่ ๘ บ้านซับชมภู ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ พบว่าแหล่งฟอสซิลแห่งนี้อยู่ระหว่างช่วงหลัก ก.ม.ที่ ๗ ถนนสายบ้านโภชน์-วังปลา ตรงข้ามกับทางเข้าสวนรุกขชาติน้ำตกซับชมภู ส่วนใหญ่เป็นซากหอยชนิดต่างๆ ฝังอยู่ตามแท่งหินและก้อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่กระจัดกระจายทั่วบริเวณ

นอกจากนี้ ยังพบแหล่งฟอสซิลที่บ้านซับเดื่อ หมู่ ๖ ต.บ้านโภชน์ ห่างออกไปอีกราว ๑๐ กิโลเมตร ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่พบมีลักษณะใกล้เคียงกันกับในแหล่งแรก เป็นหอยฝังอยู่ตามชั้นหินและก้อนหินทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มองเห็นได้อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่จึงร่วมสำรวจตรวจสอบ ถ่ายภาพ จัดเก็บข้อมูล เพื่อจะรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นายวิศัลย์เปิดเผยว่า ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่พบในพื้นที่ อ.หนองไผ่ เป็นฟอสซิลหอยตะเกียงสายพันธุ์ต่างๆ และ Fenestella ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียว พบอยู่ในชั้นหินปูน อันเป็นหลักฐานสำคัญว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นทะเลน้ำตื้นมาก่อน ประมาณช่วงกลางยุคเพอร์เมียน นอกจากนี้ ยังมีรายงานการพบแหล่งฟอสซิลที่บ้านวังปลา ต.พญาวัง อ.บึงสามพัน อยู่ในชั้นหินทรายซึ่งก็เหมือนชายทะเล โดยหอยตะเกียง หรือ Brachiopods (แบรคิโอพอด) เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ รูปร่างคล้ายหอย แต่ไม่ใช่หอย มี ๒ ฝาประกบที่ไม่เท่ากัน มีหลายชนิดและหลายขนาดในแต่ละแห่งที่พบ

"เมื่อเชื่อมโยงแหล่งซากดึกดำบรรพ์ทั้ง ๓ แหล่งเหมือนการต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมของสภาพภูมิศาสตร์

ยุดดึกดำบรรพ์ในแนวพื้นที่นี้เมื่อ ๒๔๐-๒๘๐ ล้านปี โดยแหล่งน้ำตกซับชมภูพบหอยตะเกียงอยู่ในหินปูนซึ่งอยู่ในน้ำตื้น ส่วนแหล่งวังปลาพบหอยตะเกียงอยู่ในชั้นหินทรายเหมือนอยู่บริเวณชายทะเล ในขณะที่แหล่งภูน้ำหยดพบฟอสซิลหอยตะเกียงอยู่ในหินปูนเป็นจำนวนมากซึ่งเหมือนก้นทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้น เมื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพเดียวกันแล้วทั้ง ๓ แหล่ง ต่างมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตั้งแต่หาดทรายจนไปถึงทะเลลึกหรือก้นทะเล โดยสังเกตได้จากหลักฐานหอยตะเกียงที่อยู่ในชั้นหินที่แตกต่างกัน" นายวิศัลย์กล่าว


ที่มา : รู้ไปโม้ด น้าชาติประชาชื่น : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.782 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 9 ชั่วโมงที่แล้ว