[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 22:45:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คำคม คนดัง  (อ่าน 1893 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2561 19:16:12 »


รวม 'วาทะ' บุคคลสำคัญ


พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)

พระยามานวราชเสวี
ภาษีมรดกต้อง “ยุติธรรม"

“ร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดก นอกจากตัวหนังสือแล้วยังต้องมีวิธีปฏิบัติการในเรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้…
ถ้าได้ออกกฎหมายแล้ว เราต้องให้ยุตติธรรมและให้สมควร เราต้องเก็บให้เหมือนๆ กัน ต้องรักษาความเที่ยงธรรมว่าอย่างไรควรและไม่ควร
ที่จริงร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกนี้บางคนเห็นว่าน่ากลัว คนที่มีเงินตั้งแต่ล้านบาทขึ้นไปควรเก็บให้มาก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ขอจงไว้ใจให้ทำ
แต่ถ้ามีโอกาสก็จะพยายามที่จะทำให้เร็วที่สุด เพราะคนที่มีเงินตั้งล้านที่แก่แล้วมีหลายคน ถ้ารอช้าเราก็จะขาดเงินไป”
พระยามานวราชเสวี
คำอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๕๐/๒๔๗๕
วันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕*

* เวลานั้นนับปีใหม่ในเดือนเมษายน ในที่นี้หากนับตามปัจจุบันจะเป็นปี ๒๔๗๖ – หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน ๒๔๗๕

(จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน ๒๕๕๘)



หม่อมคัทริน พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พระโอรส
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ประเพณีมี “หลายเมีย” ของชายไทย
“…ประเพณีหลายเมียซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากนั้น เป็นที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
ผู้ชายบางคนมีเมียถึงสิบคน บางคนก็มากกว่านี้ คนหนึ่งเป็นเมียหลวงส่วนที่เหลือก็เป็นเสมือนข้าช่วงใช้ในบ้าน…”

ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่หม่อมคัทริน นามเดิมว่า เอกาเทรินา อิวาโนวา เดสนิตสกี หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า แคทยา
ชายาชาวรัสเซียในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เขียนถึงพี่ชายคนเดียวที่อยู่ในรัสเซีย

คัดจากตอนหนึ่งของหนังสือ วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์ โดย ศันสนี วีระศิลป์ชัย

(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙)



ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระสงฆ์ชาวเวียดนาม

สันติวิธีแบบ-ติช นัท ฮันห์
“ถึงต้องตายก็ไม่ยอมใช้ความรุนแรงโต้ตอบ”
ทหารผ่านศึกรายหนึ่งตั้งคำถามต่อ ติช นัท ฮันห์ พระสงฆ์นิกายเซนจากเวียดนามผู้ปฏิเสธการใช้กำลังโดยสิ้นเชิง ว่า
“คุณจะทำยังไงหากมีคนต้องการฆ่าชาวพุทธจนหมดโลกและเหลือคุณเป็นคนสุดท้าย คุณจะไม่พยายามฆ่าคนที่ต้องการจะฆ่าคุณ
ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาพุทธศาสนาไว้ด้วยหรอกหรือ”    ติช นัท ฮันห์ ได้ตอบกลับไปว่า “อาตมาคงยอมให้เขาฆ่าให้ตายดีกว่า
หากพุทธะและธรรมะคือสัจจธรรมอันเที่ยงแท้ย่อมไม่มีวันสูญสลายไปจากโลก แต่จะกลับคืนมา เมื่อผู้คนพร้อมที่จะแสวงหาสัจจธรรม
ให้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง การฆ่าย่อมเป็นการทรยศและทอดทิ้งต่อทุกคำสอนของอาตมา ซึ่งอาตมาขอเลือกที่จะปกป้องมันเอาไว้
ดังนั้นมันคงดีกว่าที่จะให้เขาฆ่าอาตมาเสีย โดยที่อาตมาจะขอยึดมั่นต่อจิตวิญญาณแห่งธรรมะต่อไป”
(จากหนังสือ 50 Ideas You Really Need to Know โดย Peter Stanford)

(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันวันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙)



บรรยากาศตลาดสด และเขียงหมูในเยาวราชเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐

จอมพล ป. เจ็บใจ
ตรุษจีนทีไร เจ๊กขายหมู และร้านขายกับข้าว พากันปิดร้านหมด
“—รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไร เจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกินกับข้าวก็ไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเขาบ้าง—”
เป็นคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสภาพของสังคมในสมัยนั้น ว่าการค้าขายแทบทั้งหมดอยู่ในมือของชาวจีนเกือบทั้งสิ้น

ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลอันเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีน ร้านค้าของชาวจีนทั้งหมดจะหยุดดำเนินกิจการ เป็นเหตุให้เกิดความลำบากโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน*

และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการแสดงความกังวลที่กิจการหลายๆ อย่างในเมืองไทยตกอยู่ในมือของคนจีน ซึ่งขณะนั้นสำนึกความเป็นไทยในหมู่คนจีนอพยพยังไม่มีเหมือนในปัจจุบัน

(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑)




พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“…ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์…”
“…ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี’ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า
เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่า เรายอมเสียสละได้แม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความจำเป็น
ที่เราจะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการเสียชื่อเสียง เสียสัจจะวาจาก็อาจจะเป็นความจำเป็น…”

พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องยอมผิดคำพูด นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่
ก่อนลงเอยด้วยการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนจนถูกขนานนามเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “พฤษภาทมิฬ”
(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันอังคารที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙)



วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา

ฝรั่งมองไทย
การสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์สมัยอยุธยา “แปลกประหลาด”
“กฎหมายและธรรมเนียมของประเทศนี้ ได้กำหนดการสืบสันตติวงศ์ไว้อย่างแปลกประหลาด แต่ทว่าก็เป็นการกำหนดตายตัว
คือเมื่อพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง พระอนุชารองลงมาของพระองค์จะได้รับราชสมบัติแต่ถ้าพระองค์ไม่มีพระอนุชา
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่จึงจะได้ราชสมบัติ เมื่อราชสมบัติตกแก่ราชโอรสเช่นนี้ พระอนุชาองค์ถัดๆไปก็จะได้สืบสันตติวงศ์
จนสิ้นจำนวนพระอนุชานั้น พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้ราชสมบัติโดยเด็ดขาด ด้วยการ
สืบสันตติวงศ์เช่นนี้ สายของกษัตริย์องค์ปฐมจะสุดสิ้นไปนั้นเป็นการยาก

แต่กฎการสืบสันตติวงศ์นี้ มีการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างเฉียบขาดไม่บ่อยครั้งนัก เจ้านายซึ่งได้ราชสมบัติมักจะเป็นเจ้านายที่มี
อำนาจมากที่สุด หรือมิฉะนั้นก็เป็นเจ้านายที่กษัตริย์องค์ก่อนทรงโปรดปราน ตัวอย่างจะเห็นได้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน
(พระเจ้าปราสาททอง) พระองค์ได้ทรงประหารรัชทายาทที่ชอบธรรมและเจ้านายอื่นๆ รวมทั้งข้าราชบริพารเป็นอันมาก ทั้งนี้
เพื่อจะไม่ให้มีเจ้านายคนใดขัดขวางการขึ้นครองประเทศของพระองค์ และเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงมอบราชบัลลังก์ให้แด่
พระอนุชาหรือพระโอรสต่อไปโดยปราศจากการคัดค้าน”
(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ วันพุธที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)




ฝรั่งยกย่อง “พระเจ้าตาก”
ทรงพระปรีชา ไม่กลัวเสื่อมพระราชอำนาจเพียงเพราะการออกพบราษฎร
“…บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตาก
หาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ และในธรรมเนียมของเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออก
ให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย

พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์
และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด พระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วย
พระเนตรของพระองค์เองทั้งสิ้น พระองค์ทรงทนทานแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม
มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว ถ้าจะว่าก็เป็นทหารอันกล้าหาญคน ๑ ตั้งแต่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้เสด็จ
ยกทัพไปปราบเมืองนครศรีธรรมราช และเมือไทรบุรีก็มายอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์แล้ว เมื่อเร็วๆนี้พระเจ้าตากได้เสด็จ
ไปตีเมืองคันเคาและเมืองป่าสักมาได้ และทางฝ่ายเขมรนั้นไม่มีใครคิดสู้พระองค์เลย…”

คัดมาจาก จดหมายเหตุมองเซนเยอร์เลอบอง ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๒
(พ.ศ.๒๓๑๕) ในประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๒๓ จดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงธนบุรี และ
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
 (จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)



ลายเส้นรูปพระสงฆ์สมัยอยุธยา จากบันทึกของนิโกลาส์ แชร์เวส นิโกลาส์ แชร์เวส
ชาวฝรั่งเศสผู้อยู่ในคณะทูตของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์

พระภิกษุทำตัว “ประดุจโคกระบือ”
จึงต้องตรากฎหมายควบคุมสงฆ์
“…พระภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามามิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีแต่เนื้อหนังบริบรรณ
ประดุจโคกระบือ มีแต่จะบริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้…”

พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.
ตำนานคณะสงฆ์ ในประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม, ๒๕๑๔)
(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)



พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าไชเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์

เจ้าอนุวงศ์ตีกรุงเทพฯ หวังได้อังกฤษกวนสยาม
“… เรา(เจ้าอนุวงศ์) ได้ยินข่าวทัพเรืออังกฤษก็มารบกวนปากน้ำ…น่าที่เราจะยกกองทัพใหญ่ไปตีกรุงเทพฯ ก็เห็น
ได้โดยง่ายเพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบ ทัพอังกฤษเป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ ไทยก็จะพว้าพวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง
 คงจะเสียทีเราเป็นมั่นคงไม่สงสัย…”

คัดจากบทความ ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย โดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต ภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน ๒๕๔๙ ในส่วนที่อ้างถึง
จดหมายเหตุ ร.๓ จ.ศ.๑๑๘๗ เลขที่ ๕/ข
(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)



ภาพวาดของเชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บังในเครื่องแต่งกายแบบขุนนางสยาม มาจากหนังสือ
บันทึกความทรงจำของฟอร์บังตีพิมพ์ในอัมส์เตอร์ดัมเมื่อปี ค.ศ.๑๗๒๙ (พ.ศ.๒๒๗๒)

ขุนนางฝรั่งเศสชี้
“คนไทยปัญญาทึบ เชื่อฟังแต่บิดา” เลยไม่รับคริสต์ศาสนา
“…ผู้หญิงไทยเป็นหญิงบริสุทธิ์ ผู้ชายไม่ดุร้าย และเด็กก็เชื่อฟังบิดาเพราะเหตุฉะนั้น ไม่มีหวังเลยที่จะเปลี่ยนใจคนไทย
ให้มาเลื่อมใสคริสต์ศาสนาได้ นอกจากคนไทยมีปัญญาทึบเกินที่จะสอนให้เข้าใจความลึกลับของคริสต์ศาสนาแล้ว
เขายังมีความเห็นว่า ธรรมจรรยาของเขาเลิศกว่าของเรามาก เขาหานับถือผู้สั่งสอนศาสนาของเราไม่ เพราะว่า
ผู้สั่งสอนศาสนาไม่เคร่งครัดเท่าพระภิกษุสงฆ์…”

คัดจากบางส่วนของ “จดหมายเหตุฟอร์บัง” แปลโดย หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล
จดหมายเหตุฉบับนี้เป็นบันทึกประวัติและเรื่องราวของเชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บัง นายเรือโท ชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามา
ยังกรุงศรีอยุธยาพร้อมคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อคณะทูตเดินทางกลับ พระนารายณ์ได้ตรัสขอฟอร์บัง
ไว้ช่วยราชการ ภายหลังจึงได้เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่มีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิสงคราม
(จากศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่วันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มีนาคม 2561 16:33:03 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2561 15:08:45 »



บ้านเรือนและวัดวาอารามของไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพเขียนสีน้ำโดย ดร. จอร์จ ฟินเลย์สัน (George Finlayson)
นักธรรมชาติวิทยาที่เข้ามาสำรวจไทยและเวียดนามใน ค.ศ. ๑๘๒๑ และ ๑๘๒๒ ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ British Library, Oriental
and India Office Collection
(ภาพจาก "THAI ART & CULTURE : Historic Manuscripts from Western Collections".
Henry Ginsburg. Silk-worm Books, 2000
)

ทูตสหรัฐฯ สมัย รัชกาลที่ ๔  ชม “ชนบทสยาม” เรียบร้อย
สะอาดตากว่าชาติอื่น-ช่วยพ้นโรคภัย


“...๒-๓ ไมล์เหนือปากน้ำขึ้นมาจะเริ่มเห็นบ้านชนบทของไทยโดยทั่วไปแล้ว บ้านเหล่านี้ดูเรียบร้อย และสะอาดตามาก และดีกว่า
บ้านของชาวชนบทในอินเดีย จีน และโดยเฉพาะบ้านของชาวมลายูมาก บ้านมีเสาหลายต้น สูงเหนือพื้นดิน ๖ ฟุต ซึ่งไม่เพียงแต่
ช่วยทำให้อุณหภูมิของอากาศแห้งมากขึ้นเท่านั้น. ยังช่วยทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านปลอดภัยจากแกสกรดคาร์โบนิก หรือไข้มาเลเรีย”

เทาเซนด์ แฮรีส ผู้แทนทางการทูตผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาขอปรับแก้สนธิสัญญาระหว่างไทย (หรือที่มักถูก
เรียกว่าสยามในขณะนั้น) กับสหรัฐฯ ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา: “เมืองไทยในความรู้สึกของ เทาเซนด์ แฮรีส”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม ๒๕๕๙



หม่อมแคทยาแต่งกายแบบอย่างกุลสตรีไทยชั้นสูงตามความนิยมในสมัยนั้น
และสะพายแพรติดเข็มพระนามจักรพงษ์ภูวนาถประดับเพชร


สวนภายในบริเวณวังปารุสกวันที่หม่อมแคทยาลงมือจัดแต่งสวนด้วยตนเอง

หม่อมชาวรัสเซียชมบรรยากาศเมืองไทย “ดั่งเทพนิยาย”

หม่อมชาวรัสเซีย เอกาเทรินา อิวาโนวาเดนิตสกี หรือหม่อมแคทยา ในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กล่าวถึงการใช้เวลาร่วมกันของทั้งสองพระองค์ในช่วงเย็นหลังเวลาเสวย ว่า
“…เราสองคนก็มักจะออกไปขับรถเล่นกินลม หิ่งห้อยตัวเล็กเกาะอยู่ตามต้นไม้ข้างทางดูแล้วเหมือนดาวระยิบระยับ
บางทีก็บินวนรอยๆรถ ถนนเก่าแคบๆ มีร่มเงาครึ้มดูน่ารัก ต้นไม้ใหญ่เรียงรายตามเส้นทางที่เลียบขนานไปกับ
คลองที่เต็มไปด้วยดอกบัว เราสองคนเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพที่ดูราวกับบรรยายไว้ในเทพนิยาย”



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ฉายคราวเสด็จประพาส
แหลมมลายู พ.ศ.๒๔๓๓ ที่บ้านระนองของพระยารัตนเศรษฐี

เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร “สำนักโสเภณี” ในปีนัง

“...ต้องไปเที่ยวดูพอให้รู้เห็นบ้าง ว่าการทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร...”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อความที่ว่า “...ต้องไปเที่ยวดูพอให้รู้เห็นบ้าง...” นั้นทรงหมายถึงการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปดูสำนักโสเภณี ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งพระราชหฤทัยในอันที่จะเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง เพราะในด้านมืดของแต่ละประเทศนั้นหากเสด็จฯ เป็นทางการแล้วจะไม่ใคร่ได้มีโอกาสดูรู้เห็น

แต่ครั้งนั้นเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ จึงทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะได้เสด็จฯ ไปดูทุกๆ ที่ของบ้านเมืองนั้นในทุกๆ ด้าน ดังที่ทรงกล่าวไว้ว่าเสด็จฯ ไป “...ดูพอให้รู้เห็นบ้าง...”

การเสด็จไปเพื่อดูพอให้รู้เห็นครั้งนั้น เป็นการเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู ใน พ.ศ.๒๔๓๓ ครั้งนี้นับเป็นครั้งพิเศษ เพราะทรงแจ้งพระราชประสงค์ว่าจะเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ โปรดให้ใช้พระนามระหว่างการเสด็จฯ ว่า “เจ้าจักรี” โดยทรงให้เหตุผลว่า “...เพื่อจะให้ได้เห็นการที่ไม่เคยเห็น และไม่ควรเห็นได้ในเวลาทำยศให้ทั่วตามความมุ่งหมายที่จะเที่ยวอย่างเป็นสามัญ...” ทั้งนี้เพราะพระองค์เคยเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายูอย่างเป็นทางการมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรความเจริญต่างๆ ของบ้านเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของอารยประเทศ การได้รู้ได้เห็นทั้ง ๒ ครั้ง จึงเป็นการรู้เห็นอย่างเป็นทางการและเหมาะสมกับการเป็นพระราชอาคันตุกะ

แต่ครั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรในสิ่งที่ไม่เคยเห็นและไม่ควรเห็น ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “...ครั้งนี้มีความประสงค์จะดูจะรู้มากกว่าความสนุก ถึงว่าความรู้ที่เรียนได้ในทางไม่ดี ก็ควรจะจดจำไว้พออย่าให้ลืมเสียดีกว่า จึงจดไว้ตามที่จำได้...”

ด้วยเหตุนี้การบันทึกเรื่องนี้จึง “...เป็นการบันทึกไว้สำหรับความทรงจำ มิใช่หนังสือแต่งให้คนอ่าน บางครั้งจึงมีบางคำที่ผู้ใกล้ชิดจึงจะเข้าใจ...”

การเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ครั้งนั้นทรงพระเกษมสำราญ เพราะทรงรู้สึกอิสระในการที่จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่อย่างแท้จริงของชาวบ้าน เช่น ตลาดสดและซื้อของกินของใช้ที่ชาวบ้านกินและใช้ ทรงเล่าถึงวิธีการเสด็จฯ ไว้ว่า “...ทำเป็นไพร่อยากดูอะไรๆ เล่นตามปกติบ้านเมือง...ปลอมไปเที่ยวดูตามร้านแขกและร้านเจ๊ก...ไปซื้อซาเต๊ะกับกล้วยแขกตามที่น่าตึกริมถนนกิน...”

นอกจากการเสด็จประพาสเพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินปกติของสามัญชนแล้ว อีกสถานที่หนึ่งซึ่งก็ถือเป็นการทำมาหากินของทุกบ้านเมือง แต่หากเสด็จฯ อย่างเป็นทางการแล้วจะไม่ทรงมีโอกาสได้เห็น นั่นคือ สำนักโสเภณี

การเสด็จฯ ครั้งนั้น นายเต๊กซุน คนในตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากที่ปีนัง เพราะมีกิจการต่างๆ มากมาย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับโสเภณี จึงรับอาสาพาพระองค์ทอดพระเนตรสำนักโสเภณีในปีนัง ดังที่ทรงเล่าว่า “...โรงที่เราไปดูนั้นที่ปีนังโรงเดียว...เพราะเป็นตึกที่เต๊กซุนให้เช่า ทั้งเขาเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงคนพวกนี้อยู่โดยมาก จึงได้ขึ้นไปดูได้ เพราะคนพวกนี้ไม่รับคนชาติใดนอกจากจีนด้วยกัน...”

เมื่อได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรแล้ว ทรงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสำนักโสเภณีตามที่ทรงเห็นอย่างละเอียด ทั้งการแต่งกาย การต้อนรับ ลักษณะการจัดสถานที่ วิธีการรับแขก ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “...ยังการที่เที่ยวกลางคืนอีกอย่างหนึ่งน่าเล่าเต็มที มิใช่เรามีความปรารถนาในการผู้หญิงริงเรืออะไร...”

ทรงเล่าถึงการเตรียมการต้อนรับไว้ว่า “...ชักรอกผ้าระบายใต้สาหร่ายกับม่านขึ้นแขวน ขนเครื่องดีดสีตีเป่าออกมาตั้ง...”

เมื่อเตรียมสถานที่แล้ว ต่อจากนั้นก็เตรียมน้ำชาออกมาตั้งเลี้ยง มีเด็กผู้หญิงอายุสัก ๑๓-๑๔ ปี ๒ คน มาคอยปรนนิบัติ ทรงเล่าถึงลักษณะทรงผมและการแต่งกายของเด็กผู้หญิงไว้ว่า “...ขวั้นผมเข้าไปครึ่งหัวถักเปียผม ตีนไรไว้ยาวสัก ๒ นิ้ว กริบเสมอ นุ่งกางเกงแพรสวมเสื้อแพรติดขลิบใหญ่...เด็ก ๒ คนนี้เป็นคนมาฝึกหัดการปฏิบัติตั้งแต่ดีดสีขับร้องเป็นต้นไป ใครจะเล่นหัวลูบคลำก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าจะ ‘เปิด’ ต้องเสียเงินมากในคราวแรก...”

ทรงเล่าถึงการแต่งตัวและลักษณะเฉพาะของผู้หญิงอื่นๆ ที่ออกมาร่วมต้อนรับ “...ผมเกล้าอย่างจีนมีสไตล์ต่างๆ ดูไม่ใคร่เหมือนกัน สวมถุงเท้ารองเท้าอย่างจีน นางคนหนึ่งตีนเล็กเหมือนตีนกวางแท้ๆ แต่ดูมันเดินคล่องแคล่วไม่กระโผลกกระเผลกเลย เสื้อชั้นในใช้รัดเชือกอย่างเสื้อละคอน มีตุ้มหูทองเปล่าบ้างประดับหยกบ้าง...การปฏิบัติก็คือผลัดกันร้องและดีดสีต่างๆ และเอากล้องมรกู่มาบรรจุยาให้สูบบ้าง มีมานั่งให้หยอกเป็นพื้น...” การหยอกล้อและการปฏิบัติดังกล่าวดำเนินไปพร้อมกับการดื่มน้ำชาและรับประทานอาหารเบาๆ ต่อจากนั้นจึงมีการเลือกคู่ที่ตนพอใจ ซึ่งทรงเรียกว่า “เปรียบคู่” ซึ่งทรงจำเป็นต้องเลือกเพื่อผู้อื่นจะได้เลือกต่อ โปรดให้พาผู้หญิงที่เลือกไปที่บ้านสวนของเต๊กซุน ทรงบรรยายถึงสถานที่นั้นไว้ว่า “...สกปรกเต็มที...เหม็นเยี่ยวออกคลุ้งไปทั้งนั้น...” ทรงเล่าถึงข้อสงสัยในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับสตรีจีนว่า “...เขาว่าลัดตีนเพื่อจะให้ลั่นขึ้นไปข้างบน...”

เมื่อไปถึงห้องซึ่งน่าจะได้ทรงพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ดังที่ทรงเล่าว่า “...ครั้นเมื่อไปถึง ใครๆ ก็พากันรอเรา เห็นมันไปกีดเขาอยู่ จึงตกลงยอมไปเข้าห้องดูนางตีนเล็ก ไม่เห็นจริงดังคำกล่าวเลย แต่เราไม่ได้มีธุระอันใดต่อไป นั่งเล่นอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นที่ประชุมต่อ เวลาดึกมากจึงได้กลับมา...”

นอกจากโสเภณีชาวจีนที่ทรงมีโอกาสรู้เห็นชัดเจนแล้ว ยังทรงสังเกตสิ่งรอบๆ พระองค์ เช่น ทรงเล่าถึงลักษณะของโสเภณีญี่ปุ่น “...พวกญี่ปุ่นนั้นทำหัวเป็นฝรั่ง แต่ยังแต่งตัวเป็นญี่ปุ่นอยู่ ผิวพรรณมันแห้งๆ ดูหน้าและตัวเป็นพรุนๆ เทือกกล้วยไข่ไปแทบทุกคน ดูใกล้ๆ ครุคระเหลือทน ทำกิริยาอาการจะใคร่เป็นฝรั่ง...” และยังทรงเล่าถึงสภาพของโสเภณีที่น่าสังเวช “...แต่ถ้าดึกหน่อยแล้ว นั่งหลับอยู่กับเก้าอี้ ดูน่าสังเวช ดูกิริยาไม่เป็นเชิงยวนยีให้เกิดความกำหนัด...”

การเสด็จประพาสสำนักโสเภณีครั้งนั้น แสดงอย่างชัดเจนถึงความเป็นผู้ใฝ่รู้เรื่องรอบพระองค์ในทุกๆ ด้านอย่างจริงจัง ละเอียดลออ และทรงสามารถที่จะวิเคราะห์ส่วนดีส่วนเสียได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในหมู่มวลมนุษย์


(บาวส่วนจาก คอลัมน์วาทะเล่าประวัติศาสตร์ เรื่อง เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร “สำนักโสเภณี” ในปีนัง เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม เมษายน ๒๕๖๑)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 กรกฎาคม 2561 15:12:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.613 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 08:50:11