[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:52:10 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธไสยาสน์ที่งามที่สุดในประเทศ วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  (อ่าน 2061 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 16 มีนาคม 2561 14:34:21 »



พระพุทธไสยาสน์ที่งามที่สุดในประเทศ
วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
(Wat Pa Mok Warawihan)

วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้ท้ายตลาดหรือวัดชีปะขาว ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดมหานิกาย  เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่และเก่าแก่ของไทย

มีผู้สันนิษฐานว่า วัดป่าโมก เดิมนั้นจมลงไปในแม่น้ำหมดแล้ว  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขุนหลวงท้ายสระได้โปรดให้พระยาราชสงครามจัดการอัญเชิญพระพุทธไสยาสมาประดิษฐานที่วัดใต้ท้ายตลาด โดยรื้อวิหารเก่าออกแล้วสร้างพระวิหารใหม่แทน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากวัดใต้ท้ายตลาดเป็นวัดป่าโมก พร้อมทั้งรวมเอาวัดชีปะขาวซึ่งอยู่ใกล้กันเข้าเป็นวัดเดียวกัน

พื้นที่และอาณาเขตวัด ที่ดินที่ตั้งวัดป่าโมกวรวิหารเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ตั้งวัดจำนวน ๗๖ ไร่ ๖๐ ตารางวา มีอาณาเขตดังนี้
          ทิศเหนือ ติดที่ดินราษฎรหมู่บ้านเอกหลาด ยาว ๔๑๐ เมตร
          ทิศใต้ ติดถนนไปหมู่บ้านหัวกระบือและที่ดินราษฎร ยาว ๔๐๐ เมตร
          ทิศตะวันออก ติดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ยาว ๔๐๐ เมตร
          ทิศตะวันตก ติดคลองส่งน้ำชลประทานป่าโมก-ผักไห่ ยาว ๔๓๖ เมตร

วัดป่าโมกวรวิหารเป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ในพงศาวดารเหนือ กล่าวไว้ว่าสร้างในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กล่าวว่า “ลุศักราชได้ ๑๐๘๗ ปีมะเส็ง สัปตศก เจ้าอธิการวัดป่าโมกเข้ามาหาพระยาราชสงคราม แจ้งความว่า พระพุทธไสยาสน์วัดป่านั้นน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง เข้ามาถึงพระวิหารแล้ว ยังอีกประมาณสักปีหนึ่ง พระพุทธไสยาสน์เห็นจะพังลงน้ำเสียแล้ว พระยาราชสงครามได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปกราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุแห่งพระพุทธไสยาสน์นั้นทุกประการ พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนั้น จึงปรึกษาด้วยข้าราชการทั้งปวง มีเสนาบดีเป็นอาทิ ว่า จะรื้อพระพุทธไสยาสน์ไปก่อเอาใหม่จะดีหรือๆ จะชะลอลากได้ จึงกลับมากราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าขออาสาชะลอลากพระพุทธไสยาสน์ให้ถึงที่อันควรให้จงได้

สมเด็จพระมหาอุปราชเฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ได้ทรงฟังดังนั้นไม่เห็นด้วยจึงตรัสว่าพระพุทธไสยาสน์นั้นพระองค์โตใหญ่นัก เห็นควรชะลอ ลากไม่ได้กลัวจะแตก จะพังเป็นการใหญ่ มิใช่ของหล่อ ถ้าไม่มีอันตรายก็จะดีอยู่ ถ้ามีอันตรายแตกหักพังทลาย จะอายอัปยศแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ อำมาตย์เสนาข้าราชการ เสียพระเกียรติยศ จะลือชาปรากฏในอนาคตเป็นอันมาก ถ้าเราไปรื้อก่อใหม่ให้ดีงามกว่าเก่าเห็นจะง่ายดีอีก พระยาราชสงครามจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าขออาสาชะลอลากพระพุทธไสยาสน์มิให้แตกพังไปเป็นปกติถึงที่ใหม่ อันสมควรให้จงได้ ถ้าและเป็นอันตรายขอถวายชีวิต  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ยังไม่วางพระทัย จึงดำรัสตรัสให้นิมนต์พระราชาคณะมาประชุมแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง เราจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ก่อใหม่ไว้ในที่อันควรจะควรหรือมิควร พระบาลีจะมีประการใดบ้าง พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่า พระองค์ไม่แตกหักพังวิปริตเป็นปกติดีอยู่นั้นจะรื้อไปก่อใหม่ไม่ควร

พระเจ้าแผ่นดินได้ทราบดังนั้น จึงตรัสสั่งให้พระยาราชสงครามคิดกระทำการชะลอลากพระพุทธไสยาสน์นั้น ลุศักราช ๑๐๘๘ ปีมะเมีย อัฐศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปวัดป่าโมก ให้รื้อพระวิหารแล้วให้ตั้งตำหนักพลับพลาชัยใกล้วัดชีปะขาว ยับยั้งรั้งแรม ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง กับด้วยพระอนุชาธิราชกลับไปกลับมาให้กระทำการอยู่ ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง แล้วกลับมาพระนคร พระยาราชสงครามเกณฑ์ให้ข้าราชการไปตัดไม้ยางยาว ๑๔ วา ๑๕ วา หน้าใหญ่ศอกคืบบ้าง ให้ได้มากทำตะเฆ่สะดึงให้เลื่อยเป็นตัวไม้หน้าใหญ่ศอกหนึ่งหน้าน้อยคืบหนึ่งเป็นอันมาก  ให้เอาเสาไม้ยาง ๓ กำ ๓ วา กลึงเป็นกงเลื่อกระดานหน้า ๒ นิ้ว จะปูพื้นทางจะลากตะเฆ่ไปนั้นให้ปราบให้เสมอทุบตีด้วยตะลุมพุกให้ราบเสมอ ให้ฟั่นเชือกน้อยใหญ่เป็นอันมาก แล้วให้เจาะฐานแท่นพระจ้านั้นช่องกว้างศอกหนึ่ง เว้นไว้ศอกหนึ่ง ช่องสูงคืบหนึ่ง เว้นไว้เป็นฟันปลาเอาตะเฆ่แอบเข้าสองข้าง ร้อยไม้ขวางทางที่แม่สะดึง แล้วสอดกระดานหน้าคืบหนึ่งนั้นบนหลังตะเฆ่ ตลอดช่องแล้วจะขุดรื้ออิฐหว่างช่องกระดานที่เว้นไว้เป็นฟันปลานั้นออกเสีย เอากระดานหน้านั้นสอดให้เต็มทุกช่อง และการผูกรัดร้อยรึงกระดึงทั้งปวงให้มั่นคงบริบูรณ์ ๕ เดือนสำเร็จแล้วทุกประการ

ครั้นได้ศุภวารดิถีเพลาพิชัยมงคลฤกษ์ดีแล้ว ให้ชะลอลากตะเฆ่ที่ทรงพระพุทธไสยาสน์เข้าที่ อันจะกระทำพระวิหารนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชสงครามเลื่อนที่เป็นสมุหนายก สมเด็จพระมหากษัตริย์ให้ทำพระวิหารการเปรียญ โรงพระอุโบสถ พระเจดีย์ กุฎี ศาลา กำแพงและหอไตรฉนวน ๔๐ ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง และส้วมฐานสะพาน บันได ๕ ปีเศษจึงแล้ว ยังไม่ได้ฉลอง  สมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรสวรรคต

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ครองราชสมบัติ จึงโปรดให้ฉลองวัดป่าโมก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบังพระราชหัตถเลขาว่า “ลุศักราช ๑๐๙๖ ปีขาล ฉศก พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า วัดปากโมกนั้นการทั้งปวงเสร็จบริบูรณ์แล้ว ให้จัดการฉลองและเครื่องสักการบูชาไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้นถึงวิสาขมาสศุกลปักษ์ดฤถีพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลังการด้วยเครื่องอภิรุมรัตนฉัตรชุมสาย บังแทรกสลอนสลับประดับด้วยเรือศีรษะสัตว์ตั้งสรรพอเนกนาวา

ท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินแห่แหนตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังเป็นแน่นขนัด เดียรดาษแดนอรรณพนธาร บรรลุพลับพลาชัย ณ วัดชีปะขาว เสด็จขึ้นแท่นประทับในที่นั้นแล้ว เสด็จทรงพระราชยานดำเนินโดยสถลมารคถึงวัดปากโมก ให้มีงานฉลอง พระสงฆ์สามร้อยรูปสวดพระพุทธมนต์ และรับพระราชทานฉัน ๓ วันแล้วทรงถวายไทยทาน ให้เล่นการมหรสพต่างๆ ถวายพุทธสมโภชครบตติวาร ณ ทุ่งนางฟ้าริมพระอาราม ในวันเป็นที่สุดนั้นให้มีช้าบำรูกัน เพลาเย็นเกิดพายุใหญ่พัดโรงร้านและโรงทานหักล้มทำลายเป็นมหัศจรรย์ ครั้นเสร็จการสมโภชแล้ว ก็เสด็จโดยนาวา พยุหคืนเข้าพระมหานคร”


ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินแก่พระปลัดอิน เจ้าอาวาสวัดป่าโมก นำไปปฏิสังขรณ์วัดป่าโมก เสร็จแล้วพระราชทานสมณศักด์พระปลัดอิน เป็นพระครูป่าโมกข์มุนี เสด็จฯ มาถวายพระกฐิน โดยเรือพระที่นั่งกลไฟ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดป่าโมกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร พ.ศ.๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ได้เสด็จวัดไชโย อำเภอไชโย วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และวัดป่าโมก อำเภอป่าโมก  ทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ พ.ศ.๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดป่าโมกวรวิหาร และทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ พ.ศ.๒๔๔๔ วันที่ ๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดป่าโมกวรวิหาร และทรงเห็นเบื้องหลังขององค์พระพุทธไสยาสน์มีรอยกรอบ เข้าใจว่าคงจะเป็นแผ่นศิลาจารึกประวัติพระพุทธรูปนี้ไว้ แต่แผ่นศิลาจารึกได้หายไป น่าเสียดาย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้เอาใจใส่สืบประวัติองค์พระพุทธไสยาสน์มาให้ได้

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ครองราชย์สมบัติ จึงโปรดให้ฉลองวัดป่าโมก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “ลุศักราช ๑๐๙๖ ปีขาล ฉศก พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า วัดปากโมกนั้นการทั้งปวงเสร็จบริบูรณ์แล้ว ให้จัดการฉลองและเครื่องสักการบูชาไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้นถึงวิสาขมาสศุกลปักษ์ดฤถีพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลังการด้วยเครื่องอภิรุมรัตนฉัตรชุมสาย บังแทรกสลอนสลับประดับด้วยเรือศีรษะสัตว์ตั้งสรรพอเนกนาวา ท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินแห่แหนตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังเป็นแน่นขนัด เดียรดาษแดนอรรณพนธาร บรรลุพลับพลาชัย ณ วัดชีปะขาว เสด็จขึ้นแท่นประทับในที่นั้นแล้ว เสด็จทรงพระราชยานดำเนินโดยสถลมารคถึงวัดปากโมก ให้มีงานฉลอง พระสงฆ์สามร้อยรูปสวดพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉัน ๓ วันแล้วทรงถวายไทยทาน ให้เล่นการมหรสพต่างๆ ถวายพุทธสมโภชครบตติวาร ณ ทุ่งนางฟ้าริมพระอาราม ในวันเป็นที่สุดนั้นให้มีช้าบำรูกัน เพลาเย็นเกิดพายุใหญ่พัดโรงร้านและโรงทานหักล้มทำลายเป็นมหัศจรรย์ ครั้นเสร็จการสมโภชแล้ว ก็เสด็จโดยนาวา พยุหคืนเข้าพระมหานคร”


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงนมัสการสมเด็จพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร โดยทางเรือ พ.ศ.๒๕๑๙ วันที่ ๒๒ เมษายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร พ.ศ.๒๕๑๙ วันที่ ๒๘ เมษายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร โดยรถยนต์พระที่นั่ง ได้พระราชทานยาสามัญประจำบ้านและปัจจัยจำนวน ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) แก่พระราชสังวรวิสุทธิ์ (แช่ม กิมพโล) เจ้าอาวาส เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ในพระอาราม  พระราชสังวรวิสุทธิ์ได้ถวายพระพิมพ์สมเด็จรุ่นสร้างเขื่อนหน้าวัดป่าโมกวรวิหาร จำนวน ๑๐๐ องค์ และพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ๑ องค์ ฝากถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร





พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร หนึ่งในสองพระนอนที่สำคัญของเมืองไทย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะงดงามมากที่สุดในประเทศไทย มีความยาวตลอดองค์ ๒๔ เมตร สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ด้วยการก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองทั้งองค์ พระพักตร์ยาวรีรูปไข่ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระเศียรไปทางทิศใต้ พระบาทชี้ไปทางทิศเหนือ พระเศียรหนุนพระเขนยทรงกระบอก ๓ ใบ  ลดหลั่นจากขนาดใหญ่ขึ้นไปหาขนาดเล็ก ที่เขียนลายรดน้ำเป็นลายกนกก้านขด คลุมด้วยผ้าทิพย์ ลวดลายวิจิตร พระบาทมีความยาว ๓.๑๐ เมตร พระมหาเถรไลลาย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาให้พระมหาพุทธสาครเชื้อกษัตริย์บรรจุที่พระอุระ ๓๖ องค์ ด้านหลังขององค์พระพุทธไสยาสน์มีซุ้มลายปูนปั้น จารึกเรื่องชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นโครงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อครั้งยังเป็นกรมพระราชวังบวร ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะทรงยกทัพไปกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชในปี พ.ศ.๒๑๓๕ ได้เสด็จชุมนุมพลและถวายสักการะพระพุทธไสยาสน์ด้วย



ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมกวรวิหาร
เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูป่าโมกขมุนี วัดอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน  สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่างๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน  พระโตก็หายเป็นปกติ จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม ๓๐ คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอน แล้วแอบมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น

วันต่อมา สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม ๓๐ คน พากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา ๒ นาที!!  พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้น พระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ

ต่อมาในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อเวลา ๔ ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด ๓๕ คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใดๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า พระครูปาโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่า จะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระและวิหารขึ้นใหม่  ก็บังเกิดเสียงตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูปาโมกขมุนีจะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระนอนและวิหาร พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) แต่พระองค์มิได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงยังมิได้ถวายจดหมาย

สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมีวิหารเขียน ซึ่งเล่ากันว่าผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูง เข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมีกษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มณฑปพระพุทธบาท๔ รอย หอไตร เป็นต้น

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปวัดป่าโมกวรวิหาร กิโลเมตรที่ ๔๐ แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๙ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๑ จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก งานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกซึ่งจัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ช่วงหนึ่ง และอีกช่วงหนึ่งระหว่างขึ้น ๑๒-๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี




รูปการชะลอองค์พระพุทธไสยาสน์ จากวัดป่าโมกเดิมมาประดิษฐาน ณ วัดป่าโมกวรวิหารปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๐
สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีพระยาราชสงครามเป็นนายกองชะลอ เพราะพระวิหารประสบอุทกภัย 



พระศรีสรรเพชญ์ ที่ ๙ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
(สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี)

“ลุศักราชได้ ๑๐๘๗ ปีมะเส็ง สัปตศก” (พ.ศ.๒๒๖๙) น้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กัดเซาะตลิ่ง หน้าวัดป่าโมก (เดิม) พัง ใกล้วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ประมาณสัก ๑ ปี วิหารและพระพุทธไสยาสน์เห็นจะพังลงน้ำเสียแล้ว พระมหาสุวรรณโชติ เจ้าอธิการวัดป่าโมก ได้เข้าพบพระยาราชสงคราม (ปาน) ครั้งดำรงฐานันดรศักดิ์ พระราชสงคราม แจ้งความเรื่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา กัดเซาะตลิ่งพังฯ พระยาราชสงครามได้ฟังดังนั้น จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ ที่ ๙ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงทราบเหตุแห่งพระพุทธไสยาสน์ นั้นทุกประการ ต่อมาได้ทรงกรุณาโปรดฯ ให้พระยาราชสงคราม เป็นแม่กองชักชะลอพระพุทธไสยาสน์ให้พ้นจากอุทกอันตราย เมื่อปีศักราช ๑๐๘๘ (พ.ศ.๒๒๗๐) มาสถิต ณ วัดใต้ หรือวัดตลาด คือ วัดป่าโมกวรวิหาร ปัจจุบันนี้ ห่างจากวัดป่าโมก (เดิม) ๑๐ เส้นเศษ ใช้เวลาในการชักชะลอ ๕ เดือน แล้วทรงกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวิหาร การเปรียญ โรงอุโบสถ พระเจดีย์ กุฏิ ศาลา กำแพง หอไตร ฉนวน ๕๔ ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง ส้วม ถาน สะพาน และบันได ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ ยังมิได้ฉลอง สมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวร และสวรรคต

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันสูงยิ่ง คณะสงฆ์วัดป่าโมกวรวิหาร และประชาชน ได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมรูปของพระศรีสรรเพชญ์ ที่ ๙ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ไว้เป็นที่สักการบูชา เมื่อวันพุธ ที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ สถานที่เททองหล่อ หลังพระอุโบสถวัดป่าโมกวรวิหาร  สมัยพระราชสุธรรมาภรณ์ (วิวัฒน์ ฐิตเปโม) เป็นเจ้าอาวาส




พระยาราชสงคราม (ปาน)

ผู้ขันอาสาเป็นแม่กองชะลอพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) จากวัดป่าโมกเดิม มาสถิต ณ วัดใต้ หรือวัดตลาด คือ วัดป่าโมก วรวิหาร ปัจจุบัน  เมื่อ ปี พ.ศ.๒๒๗๐-๒๒๗๑ เพื่อให้พ้นจากอุทกอันตราย เป็นระยะทาง ๑๐ เส้นเศษ ใช้เวลาในการชะลอ ๕ เดือน  ในระหว่างการชะลอลาก ถ้าพระพุทธไสยาสน์เกิดความเสียหาย ขอถวายชีวิต 

ทางวัดป่าโมก วรวิหาร โดยมีพระราชสุธรรมาภรณ์ (วิวัฒน์ ฐิตเปโม) เจ้าอาวาส   สำนึกในความเสียสละเวลาและชีวิตเสี่ยงในการนี้ จึงได้พร้อมใจกันสร้างรูปหล่อนี้ไว้เป็นที่ระลึกสักการะ เมื่อวันพุทธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด เวลา ๐๙ นาฬิกา ๐๙ นาที และได้เชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๙ นาที  โดยพระภิกษุ-สามเณร ศิษย์วัดป่าโมก วรวิหาร ร่วมพลังกัน







Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.57 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 6 ชั่วโมงที่แล้ว