[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 15:12:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เล่าเรื่องเครื่องสังเวย  (อ่าน 2033 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 มิถุนายน 2561 15:44:03 »



ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : jackpotded.com

เล่าเรื่องเครื่องสังเวย
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ตีพิมพ์ใน หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ หน้า ๘๕ ฉบับที่ ๑๙๗๑ ประจำวันที่ ๒๕-๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑
----------------------------------

การบูชานั้นต่างกับการบวงสรวงสังเวย ตรงที่การบวงสรวงสังเวยต้องมีอาหารหรือเครื่องสังเวยเป็นหลัก

ในสมัยโบราณมนุษย์รู้จักการเซ่นสรวงด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารกันมานานแล้ว และสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ คือใช้ทั้งชีวิตอันเน้นไปยังกระบวนการฆ่าสัตว์นั้น และตัวซากที่เหลือซึ่งก็คืออาหารจากสัตว์นั่นเอง

ยุคเกษตรกรรมเป็นการสังเวย “ผลผลิตแรก” แด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่แปลกที่ในหลายวัฒนธรรมที่เคยสังเวยด้วยมนุษย์ใช้ “ลูกคนหัวปี” เป็นเครื่องสังเวยหลัก

ต่อมาสัตว์จะเข้ามาเป็นตัวบูชายัญแทนคน ผมเคยไปเที่ยววัดกาลีกัฏ ของเจ้าแม่กาลีที่โกลกาต้า พราหมณ์ที่นั่นชี้ชวนดูกลางลานวัดพลางว่า ยูเห็นหลักผูกอยู่สามหลักนั่นไหม อันเล็กสุดนั่นเขาเอาแพะตัวผู้เข้ามาสังเวย เห็นไหมๆ เขากำลังเอาเข้ามาแล้ว

สักพัก ชายหนุ่มมาพร้อมดาบเล่มโต ผมหลับตาได้ยินแต่เสียงดังฉับ! ลืมตามาเห็นเลือดแดงฉานอยู่เต็มลาน พราหมณ์บอกว่า เดี๋ยวเขาก็เอาเนื้อไปแจกคนยากคนจน (ซึ่งไม่ทราบว่าจริงไหม) คนมาสังเวยแพะวันละตัวเป็นอย่างน้อย

ส่วนเสาหลักอันกลางท่านว่า เป็นเสาสำหรับ “ควาย” ซึ่งจะกระทำสังเวยปีละครั้ง เจ้าแม่ท่านก็อิ่มพอใจ

ผมชี้ไปเสาอีกอัน ท่านว่า อ๋อ สมัยก่อนเอาไว้สังเวยชีวิตคน แต่อังกฤษห้ามมิให้ทำ เลยเป็นเสาเก่าๆ อยู่แบบนั้น

แสดงว่า เจ้าแม่ท่านอิ่มไม่เท่ากันระหว่างคน ควายและแพะ ฟังคล้ายตำนานปู่แสะ ย่าแสะ แต่เดิมกินคนดุร้ายนักหนา ต่อมาพุทธะเสด็จมาปราบ ผีปู่ผีย่าขอเลือดคนหนึ่งแมลงวันอิ่ม พุทธะท่านก็ไม่ยอม แต่อนุญาตให้กินควายแทนคน

การสังเวยคนจึงค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับระบบศีลธรรมแบบใหม่ รวมทั้งการใช้สิ่งอื่นหรือสัญลักษณ์อื่นแทนการสังเวยคน
 

ฉะนั้น โดยหลักแล้ว เครื่องสังเวยในวัฒนธรรมไหนๆ จึงมักต้องมีเนื้อสัตว์ หรือสัตว์เป็นตัวเสมอ นับเป็นของสังเวยเอกอุขาดไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นว่ามีสัตว์อะไร ไก่ ปลา เป็น หมู วัว หมา ฯลฯ

ตอนผมไปดูงานศพญาติๆ จำได้ว่า วันออกศพหรือวันเผา เจ้าภาพจะต้องเอาเหล้าโรง ดอกไม้ธูปเทียน และ “ปลามีหัวหางครบ” ๑ ตัวไปเซ่น “ตากาลายายกาลี” (บางที่ว่า ตากาลียายกะลาก็มี) ที่เมรุเผาศพก่อน

เขาว่าผีตากาลายายกาลีเป็นผีเฝ้าป่าช้า แต่ผู้รู้ท่านบอกว่า ตากาลายายกาลีในวัฒนธรรมภาคใต้ ที่จริงคือพระศิวะ (พระกาล) ผู้กลืนกินสรรพสิ่ง และเจ้าแม่ “กาลี” เทวีแห่งความตายที่เคียงคู่กัน

ปลาของไหว้จึงเป็นเครื่องสังเวยที่หาง่ายของชาวน้ำชาวทะเล ในขณะเดียวกันนักปราชญ์ท่านก็ว่าเป็นสะท้อนการเผาศพริมน้ำอย่างที่อินเดียทำ คือใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์

ส่วนวัฒนธรรมภาคกลาง ปลาน้ำจืดที่ผมเห็นนิยมทำเครื่องสังเวย คือ “ปลาช่อน” ในตำราไหว้ครูของท่านครูมนตรี ตราโมท และตำราเก่าๆ ท่านให้เอาปลาช่อนต้มทั้งตัวเป็นเครื่องสังเวยอย่างหนึ่ง เรียกว่า “แป๊ะซะ” ซึ่งดูเป็นคำจีน (แต่มิได้หมายถึงปลาต้มส้มต้มแป๊ะซะอย่างที่เรากินกันในร้านอาหาร) เป็นแต่เรียกปลาช่อนต้มเท่านั้น ซึ่งผมยังหาไม่พบว่าทำไมคนโบราณจึงเรียกเช่นนั้น

ใครทราบวานบอกด้วย จักเป็นพระคุณอย่างสูง

หมูกับไก่ดูจะเป็นสัตว์บกยอดฮิตในเครื่องสังเวย ไก่นั้นเป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน มีไม่ยากหาได้ทั่วไป จึงเป็นเครื่องสังเวยแทบจะทุกเผ่าทุกเทศกาล

ป้าผมท่านเล่าว่าสมัยยังไม่มีเงินทอง ครั้นถึงเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ จะหาไก่ทั้งตัวมาไหว้ก็ไม่มีสตางค์ซื้อ เงินมีพอแค่ซื้อไข่ต้มเท่านั้น ท่านว่าคนโบราณยามขัดสนก็สอนให้เอาไข่ไก่ต้มไหว้แทนไก่แล้วก็บอกผีบรรพชนว่า ขอเอา “ไก่เนื้ออ่อน” ไหว้ไปก่อน มีเงินทองก็ค่อยเอาไก่ทั้งตัวมาไหว้ภายหลัง

อันนี้ผีท่านคงเห็นใจ รับ “ไก่เนื้ออ่อน” ไปกินด้วยความยินดี
 

ส่วนหมู ครูบาอาจารย์บอกว่า ที่เราใช้ “หัวหมู” สำหรับไหว้นั้น ที่จริงตามตำรับโบราณ ไม่ได้มีแค่หัว แต่เป็นหมูทั้งตัวย่อๆ กล่าวคือ นอกจากหัวแล้วยังต้องมีตีนทั้งสี่ตีน มีลิ้น มีหาง และบางแห่งก็ใส่เครื่องในไว้นิดๆ หน่อยๆ ด้วย คือสมมุติว่าเป็นการเชือดหมูทั้งตัวไหว้นั่นเอง แต่ก็ย่อเอา

สมัยโบราณคงเชือดหมูแล้วใช้ทั้งตัวไหว้ แต่ต่อมาการจะใช้หมูทั้งตัวไหว้เป็นเรื่องยากลำบาก จึงย่อลง

ผมยังเคยเห็นในประเพณีจีน การสังเวยใหญ่ๆ ที่สำคัญมากๆ ยังต้องใช้สัตว์ทั้งตัว เช่น หมู วัว แพะอยู่
 
แต่ย่อไปยิ่งกว่านั้นก็มีครับ คือใช้หมูสามชั้นทั้งชิ้นต้มสุกแล้วเอาวางบนใบตอง โบราณเรียกว่า “หมูนอนตอง” จะใช้ในกรณีสังเวยอย่างย่อๆ หรือไม่สามารถใช้ชุดหมูได้

การ “นอนตอง” (ซึ่งรักษาไว้ในพิธีไหว้ครูปี่พาทย์ โขนละคร) เป็นขนบที่สะท้อน การสังเวยยุคดึกดำบรรพ์จริงๆ คือ เฉือนเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้วปรุงง่ายๆ วางบนใบไม้ใบตองเซ่นผี โดยไม่มีภาชนะ

ในตำรับตำราพิธีไหว้ครู นอกจากหมูและไก่ ท่านยังให้มีบรรดา “มัจฉะมังสาหาร” อื่นๆ คือเป็ด ปลาช่อนแป๊ะซะ กุ้งต้ม ปูต้ม รวมเป็นหกอย่าง เป็นส่วนของเครื่องสังเวยที่เป็นเนื้อสัตว์

มัจฉะมังสาหาร หรือ “เนื้อและปลา” บางคนเข้าใจว่า ท่านต้องเอา “หมูเห็ดเป็ดไก่ กุ้งหอยปูปลา” ให้ครบตามสำนวน จึงเอาทั้ง “เห็ด” ทั้ง “หอย” มาเพิ่มในเครื่องสังเวยด้วย ซึ่งที่จริงไม่มีกำหนดไว้และเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไปเชื่อตามสำนวนนั่นเอง

ผมเคยเห็นมากับตา

ร้านอาหาร ฮกกี่
 
แต่ทั้งนี้ผมขอเรียนว่า รูปแบบเครื่องสังเวยที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นไปตามประเพณีไทยโดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยานะครับ และเฉพาะเท่าที่ผมจดจำมาจากครูบาอาจารย์ แบบจีนหรือภูมิภาคอื่นๆ คงต่างออกไปอีกมาก

เครื่องสังเวยเหล่านี้จะต้องสังเวยโดยมีเครื่องจิ้มหรือ “น้ำจิ้ม” ต่างๆ ด้วย (ตำราไหว้ครูก็กำหนดเอาไว้) เช่น น้ำพริกเผาสำหรับชุดหมู หรือน้ำจิ้มอื่นๆ

คงเพราะวิธีการกินอาหารแบบเนื้อสัตว์ต้มของคนโบราณ ต้องกินกับเครื่องจิ้มรสจัดเพื่อแก้เลี่ยนแก้คาว (ทำนองเดียวกับการกินลาบ กินก้อย) เมื่อจะสังเวยจึงต้องมีเครื่องจิ้มเพราะคู่กันในทางวัฒนธรรมการกิน

ที่สำคัญ ในการประกอบพิธีสังเวยนั้น (ผมอ้างอิงจากพิธีไหว้ครู) จะต้องมีการ “เฉือน” หรือ “เชือด” คือเอามีดไปเฉือนเนื้อสัตว์เหล่านั้น (รวมทั้งผลไม้ต่างๆ ด้วย) แล้วเอาน้ำจิ้มทา เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมถวายเครื่องสังเวย

บางครั้งระหว่างเฉือน ครูท่านจะเรียกปี่พาทย์ให้ทำเพลง “รำดาบ” (หรือรำดาบเชือดหัวหมู) ประกอบกิริยาอาการไปด้วย

ผมเข้าใจว่า การเชือดหรือเฉือนนี้ คงสะท้อนการ “ฆ่าสังเวย” และการแบ่งปันอาหารนั้น แด่เทพ-ผี ตามกรรมวิธีของคนโบราณ เพื่อให้เทพ-ผี รับเครื่องสังเวย

เมื่อมีเนื้อสัตว์ ก็ต้องมีเหล้ายา ซึ่งจะขาดไปไม่ได้เชียว เพราะเป็นน้ำแห่งความสุขสำราญและการเชื่อมสัมพันธ์

มีผู้บอกผมว่า นอกจากพวกเครื่องสังเวยที่เป็นเนื้อสัตว์เหล่านี้แล้ว เวลาทำสมัยก่อนทำ “บัตรพลี” (คำบาลี-สันสกฤต แปลว่า ใบไม้) คือหยวกกล้วยทำเป็นรูปต่างๆ แล้วบรรจุกระทงที่ใส่อาหาร ท่านก็ใช้ “กุ้งพล่า ปลายำ” สำหรับเป็นอาหารคาวเท่านั้น ไม่ได้ใส่กับข้าวอย่างอื่น

เครื่องสังเวยประเภทเนื้อสัตว์เหล่านี้ ใช้เซ่นทั้งผีทั่วๆ ไปและเทพเทวดา โดยเฉพาะเทวดา (ผี) ท้องถิ่น ต่อมาคติแบบฮินดูอินเดียเริ่มมีอิทธิพลมาก จนหลายครั้งพราหมณ์ท่านก็ให้ใช้ หัวหมู เป็ดไก่ ที่ปั้นด้วยแป้งแทน สำหรับไหว้เทวดาชั้นสูงในคติพราหมณ์ฮินดู เช่น พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์

นัยว่าเพื่อรักษาประเพณีแต่ก็ไม่อยากให้เสียคติพราหมณ์ฮินดู

ในอินเดียที่ชาวฮินดูเป็นมังสวิรัติกันโดยทั่วไปแล้วนั้น ปัจจุบันก็ยังมีการเซ่นสังเวยด้วยเนื้อสัตว์ ซึ่งเกือบทั้งหมด เป็นเจ้าแม่และเจ้าพ่อพื้นเมืองที่ “แรงๆ” อย่างเจ้าแม่กาลีหรือไภรวะ และมักทำโดยชาวบ้าน แต่เทพใหญ่ๆ ท่านละเลิกมังสะกันไปหมดแล้ว

สังเวยกันเสร็จ โดยธรรมเนียมก็ต้องแบ่งอาหารเหล่านั้นให้ “บริวาร” ของผี/เทพที่เชิญมารับ แล้วก็แบ่งกันกินในคนทั้งหลายมาช่วยงาน

บางคนถือไสยศาสตร์ก็ไม่กินของเซ่นผี (โดยเฉพาะเซ่นคนตาย) แต่ส่วนมากถือกันว่า ของสังเวยเหล่านี้เป็นของดีมีมงคล กินแล้วมีโชคชัย

นี่ว่าเฉพาะเรื่องเครื่องสังเวยประเภทเนื้อสัตว์ ยังมีประเภทอื่นๆ อีก


โปรดติดตาม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.431 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 18 มีนาคม 2567 21:15:24