[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 เมษายน 2567 01:36:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 11082 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 16:01:19 »


เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์

๏ เรื่องสงกรานต์นี้ ในหนังสือนพมาศได้กล่าวไว้แต่ว่าเมื่อถึงกําหนดพระสุริยเทพบุตรเสด็จโคจรจากราศีมีน ประเวศขึ้นสู่ราศีเมษ สมมติว่าเป็นวันสงกรานต์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วก็พระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปี ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ไม่เห็นพูดถึงการพระราชกุศลอันใด ชะรอยจะเป็นเวลาที่แรกเกิดสงกรานต์ขึ้นใหม่ๆ ยังเป็นการกร่อยอยู่ ด้วยราษฎรผู้ซึ่งจะรู้กําหนดสงกรานต์นั้นจะน้อย จึงยังไม่เป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่โตอะไรได้ จึงยกเอาการถือน้ำแจกเบี้ยหวัด เป็นส่วนของราชการมาใช้ในกําหนดวันเปลี่ยนปีใหม่นั้น ส่วนในกฎมนเทียรบาลก็ไม่ได้พูดถึง คงจะไม่เป็นการทําใหญ่โตอันใด ตลอดมาจนถึงแรกตั้งกรุงทวาราวดี มามีปรากฏต่อชั้นหลังในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า สรงสนานแล้วสรงน้ำพระชัยและพระไสยศาสตร์ จึงนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะสรงน้ำพุ ฉันถวายไทยธรรมสามวัน ก่อพระวาลุกาเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญองค์หนึ่ง พระทรายเตียงยกองค์หนึ่ง วัดกุฎีดาวองค์หนึ่ง พระทรายน้ำไหลเพนียดองค์หนึ่ง พระสงฆ์ฉันถวายไทยธรรม ตั้งศาลาฉทาน ๖ ตําบลๆ ละสามวัน ตลาดยอดแห่งหนึ่ง วัดสุมงคลบพิตรแห่งหนึ่ง ตะแลงแกงแห่งหนึ่ง สะพานช้างแห่งหนึ่ง ศาลาดินแห่งหนึ่ง สะพานสกูลแห่งหนึ่ง เลี้ยงพระสงฆ์คฤหัสถ์ มีข้าวและกับข้าวของกินหมากพลู มีทั้งน้ำอาบน้ำกิน แป้งน้ำมันหวีกระจก มีช่างตัดผม หมอนวด หมอยา ทั้ง ๖ ตําบล ว่ากลมๆ ไปอย่างนี้ แปลกกับที่กรุงเทพฯ ก็ที่พระเจดีย์ทรายก่อแต่เฉพาะสี่องค์ ในสี่องค์นั้นพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญ พระทรายเตียงยก พระทรายน้ำไหล คงเป็นของเก่า แต่พระทรายวัดกุฎีดาวเป็นของเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การก่อพระทรายกรุงเก่ากับที่กรุงเทพฯ นี้ ความประสงค์ เห็นจะไม่ต้องกัน เรื่องต้นเหตุที่เกิดก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์นี้ ได้สืบสวนไต่ถามกันหนัก ก็ยังไม่ได้ความว่าเกิดขึ้นแต่เมื่อไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ได้ยินแว่วๆ คำเล่าว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงเรือขนาน ชนทั้งปวงพากันก่อพระทรายที่ข้างลำน้ำ และก่อในแพลอยเป็นเครื่องบูชา เมื่อให้ไปค้นเอาจริงเข้าก็ไม่มีข้อความเรื่องพระทราย กลายเป็นนิทานซึมซาบไปเสีย ได้ให้เผดียงถามพระราชาคณะเปรียญทั้งปวงดู เมื่อได้ความประการใดจึงจะลงในรายเล่ม รวมพระราชพิธีซึ่งคิดจะออกต่อไป แต่พระทรายสี่อย่าง ซึ่งมีปรากฏมาในจดหมายขุนหลวงหาวัด พระทราย ๒ อย่าง คือพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญอย่าง ๑ พระทรายวัดกุฎีดาวอย่าง ๑ จะเป็นอยู่ในเรื่องพระทรายบรรดาศักดิ์ พระทรายบรรดาศักดิ์นั้น ตามที่เข้าใจในกรุงเทพฯ นี้ ว่าเป็นการประสงค์ที่จะให้ได้ทรายไปประสมปูนในการก่อสร้าง ไม่ให้ต้องซื้อนั้นอย่างหนึ่ง ประสงค์จะให้มีทรายถมพื้นลานวัด กับพื้นที่เป็นโคลนตม และมิให้หญ้างอกนั้นอย่างหนึ่ง ความประสงค์อันนี้เห็นจะเป็นของเก่าที่ได้เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะใช้เป็นครั้งเป็นคราวในเวลาเมื่อทําวัด เมื่อสิ้นคราวทําวัดแล้วก็เป็นอันเลิกไป คงเป็นแต่ก่อพระทรายสังเขปของหลวง ที่วัดพระศรีสรรเพชญแห่งหนึ่ง เป็นวัดในพระราชวัง เมื่อมีการก่อสร้างอันใดก็คงจะโปรดให้ก่อพระทรายทุกคราว มีตัวอย่างซึ่งเห็นได้ในครั้งหลังนี้ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็โปรดให้เจ้านายและเจ้าจอมข้างในออกไปก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์ก็คงก่ออยู่ตามเดิมไม่ได้ยกมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว ชะรอยจะยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปวัดกุฎีดาว วัดพระศรีสรรเพชญที่เคยก่ออยู่แต่ก่อน จึงให้คงมีอยู่แต่พระทรายหลวง ครั้นเมื่อการวัดกุฎีดาวแล้วเสร็จ ก็จะเลิกพระทรายบรรดาศักดิ์เสียทีเดียว คงก่ออยู่แต่ของหลวงพอเป็นสังเขป ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจึงไม่ได้กล่าวถึงพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงเทพฯ ทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ๆ จึงโปรดให้มีพระทรายบรรดาศักดิ์ขึ้นติดต่อกันไปไม่มีระหว่างยกเว้น ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีกว่าก่อพระทรายโคมๆ อย่างอื่น ด้วยที่แผ่นดินกรุงเทพฯ เป็นโคลนเลนลุ่มมาก แต่ถ้าถมเสียให้สูงถึงที่น้ำไม่ท่วม ก็เป็นแผ่นดินที่ดอนเรียบร้อยตลอดไปได้ในครั้งเดียว ไม่เหมือนอย่างที่กรุงเก่า ที่กรุงเก่านั้นถึงว่าที่แผ่นดินไม่สู้เป็นเลนตมเหมือนอย่างที่กรุงเทพฯ แต่ที่จะถมให้พ้นน้ำท่วมนั้นเป็นอันยาก เพราะฉะนั้นการก่อพระทรายจึงไม่เป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์มากเหมือนที่กรุงเทพฯ จึงได้มีเวลาเลิก หันลงเล่นพระทรายสังเขปเสีย ส่วนพระทรายเตียงยกอีกองค์หนึ่งนั้น เมื่อดูตามลัทธิที่คนใช้อยู่เดี๋ยวนี้ เห็นเขามักทำเสาปักขึ้นที่ริมรั้วบ้าน แล้วมีกระดานข้างบน ก่อพระทรายขึ้นไว้บนนั้นทิ้งอยู่ตาปีตาชาติ ดูเป็นของคู่กันกับศาลพระภูมิ จะแปลว่ากระไรก็ไม่ทราบ จะเป็นพระทรายพวกนั้น แต่ของหลวงนี้เป็นก่อขึ้นสำหรับยกไปวัดหรือประการใดก็ไม่ทราบ ได้ตรวจดูในหมายรับสั่งของเก่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งว่าด้วยเรื่องพระทรายเตียงยกนี้ แปลกกันกับที่ขุนหลวงหาวัดว่าที่กรุงเก่ามีองค์เดียว แต่ที่นี้ใช้ถึงสิบองค์ คือ เป็นพนักงานตำรวจในซ้ายขวา ก่อ ๒ องค์ ทหารในซ้ายขวาก่อ ๒ องค์ ฝีพายก่อ ๖ องค์ ที่รองพระทรายนั้นเป็นม้าสี่เหลี่ยมสี่ขา กว้างประมาณศอกหนึ่ง ก่อพระทรายในกลางม้า มีราชวัติฉัตรธงกระดาษล้อมรอบ สังเกตดูในหมายรับสั่งของเก่า เหมือนหนึ่งจะก่อหน้าที่นั่ง คือมีกำหนดให้มาคอยก่ออยู่ที่ข้างพระที่นั่งอัมรินทร์ ทีแต่เดิมจะไปทรงแตะๆ เขี่ยๆ อะไรบ้าง แต่ครั้นเมื่อมีพระราชธุระมากและจืดๆ ลงก็คอยเปล่าไปไม่ใคร่จะเสด็จออก ตกลงเป็นเจ้าพนักงานก่อกันเสียเอง เมื่อไม่ได้รับสั่งให้เลิกหมาย จึงยังคงขึงอยู่ตามเดิม แต่เห็นว่าพระทรายเตียงยกนี้ จะเกิดขึ้นด้วยขี้เกียจไปก่อที่วัดและไปทำบุญฉลองถึงวัด จึงเอาม้าลาอะไรมาตั้งก่อขึ้นฉล่ำฉลองกันเสียให้เสร็จแล้ว จึงให้เขายกไปถมวัดเป็นการย่อๆ ลงอีกชั้นหนึ่ง พระทรายที่ก่ออยู่ตามรั้วบ้าน ถ้าไม่มีเรื่องราวแบบอย่างอื่นใด ที่ว่าก่อไว้เป็นเครื่องบูชาสำหรับบ้าน ให้เป็นสวัสดิมงคลหรือคุ้มกันอันตรายอย่างใดเช่นศาลพระภูมิแล้ว ก็กลัวจะเป็นขี้เกียจเอาไปวัด จึงตั้งไว้ที่รั้วบ้านย่อลงไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้ามิฉะนั้นก็จะเกิดขึ้นด้วยเสียดายเครื่องตุ๊กตุ่นตุ๊กตา คือราชวัติฉัตรธงพัดโบกจามรที่ทำเป็นเครื่องประดับ เพราะระลึกได้ว่าเมื่อเล็กๆ เขาเกณฑ์ให้ก่อพระทรายน้ำไหล ในเวลาที่ก่อนั้นสนุกหาที่เปรียบมิได้ ขลุกขลุ่ยไปวันยังค่ำ เมื่อเวลาที่ก่อเสร็จจะยกยอดก็ต้องร้องอูแอประโคมกันกึกก้องแล้ว ประเดี๋ยวรูปร่างไม่ดีไป ต้องรื้อก่อกันใหม่ ยกยอดร้องอูแออีกหลายๆ เที่ยว เมื่อเสร็จแล้วจะบรรจุใบโพนั้นต้องถึงจับสายสิญจน์โยงสวดมนต์เย็นฉันเช้า เวลาบรรจุก็ต้องประโคมและชยันโตแล้วแต่งเครื่องประดับต่างๆ สวดมนต์ฉันเช้าฉลองต่อไป เขาจะเอาไปลอยก็ไม่ใคร่จะยอมให้ไป เอาทิ้งไว้นานๆ จนเขาว่าหยวกจะเน่า เขาลักไปลอยเสียจึงได้เลิกเล่น เครื่องประดับพระทรายรั้วบ้านเช่นนี้ บางทีก็ทําวิจิตรพิสดารต่างๆ บางทีจะเสียดายอย่างนั้นได้บ้างดอกกระมัง จึงได้ตั้งทิ้งไว้ ที่ว่าพระทรายน้ำไหลที่เพนียดอีกองค์หนึ่งนั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องพระทรายน้ำไหลที่เขาก่อกันอยู่ทุกวันนี้ ตามลัทธิซึมซาบเล่ากันว่า เป็นการล้างบาปลอยบาปอยู่ด้วย คือต่อแพหยวกแล้วเอาทรายมาก่อขึ้นบนแพหยวก ทรายนั้นต่างว่าบาปที่ได้ทําไว้ตลอดปี เอาไปปั้นเป็นพระให้เป็นการบุญเสีย แล้วปักราชวัติฉัตรธงบูชาด้วยข้าวบิณฑ์ แล้วจึงเอาพระทรายนั้นไปลอยน้ำ กําหนดให้ลอยในเวลาน้ำขึ้นอายุยืน ถ้าลอยในเวลาน้ำลงอายุสั้น พระทรายนั้นจะเป็นกองบาปหรือเป็นตัวของตัว หรือเป็นพระอะไรเลือนๆ ตามปรกติของคนที่ไม่ได้นึกทีเดียวตลอดเรื่อง อะไรมันหลุดขึ้นมาก็ปล่อยอะลุ้มอล่วยไป พระทรายน้ำไหลที่เพนียด จะไปก่อบนบกที่น้ำท่วม หรือก่อบนแพลอยเหมือนอย่างพระทรายน้ำไหลทุกวันนี้ก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้าก่อบนบกให้สายน้ำปัดทลายแล้ว เรียกว่าพระทรายน้ำเซาะเห็นจะถูกดีกว่าพระทรายน้ำไหล ถ้าใช้ก่อบนแพเหมือนพระทรายน้ำไหลตามธรรมดา ทําไมจึงต้องไปก่อถึงเพนียดก็ไม่ได้ความ เป็นการรวมๆ อยู่เช่นนี้ แต่การก่อพระทรายนี้ยังเป็นที่นิยมยินดีว่าเป็นการบุญใหญ่ทั่วไปของคนทั้งปวง ค่อนจะอยู่ข้างถ่ายบาปได้นิดๆ หนึ่ง เช่นกับสร้างพระทรายแปดหมื่นสี่พัน แต่ลัทธิก่อพระทรายนี้ต้องนับว่าเป็นการมีประโยชน์ดีกว่าเรื่องตีข้าวบิณฑ์มาก

ข้าวบิณฑ์นั้นออกจากการที่อยากตักบาตรพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงมีวิธีถวายข้าวพระต่างๆ ซึ่งประพฤติอยู่ด้วยกันโดยมาก ถ้าอย่าฝันไปว่าเซ่นและนึกว่าพระพุทธเจ้าจะได้รับประโยชน์นั้นจริงๆ เหมือนเซ่นเจ้าผีหรือเซ่นศพแล้ว ก็นับว่าเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่ง แต่ที่ย่อลงจนถึงเตี้ยๆ เท่าข้าวบิณฑ์เช่นนี้ ก็เป็นไปด้วยเหตุที่รู้ว่าสิ่งของที่ไปตั้งนั้นไม่เป็นของบริโภคจริงอย่างหนึ่ง เพื่อจะให้งดงามและยกรื้อได้ง่ายๆ นั้นอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างกับบายศรีสมโภช การสมโภชกันนี้ก็แปลว่าเลี้ยงกันตรงๆ คำที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “สมโภชเลี้ยงลูกขุน” นี้ใช้เต็มทั้งอรรถทั้งแปล เมื่อพิเคราะห์ดูเครื่องที่มาตั้งในการสมโภชทั้งปวง ก็ล้วนแต่เป็นของบริโภคทั้งสิ้น บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ก็เป็นภาชนะเครื่องรองอาหารเหมือนโต๊ะหรือพาน บายศรีตองก็เป็นกระทงที่สำหรับบรรจุอาหาร แต่เป็นการออกหน้าประชุมคนพร้อมๆ กัน ก็คิดตกแต่งให้งดงามมากมาย ชะรอยบายศรีแต่เดิมจะใช้โต๊ะกับข้าวโต๊ะหนึ่ง จานเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปสูงๆ เหมือนแขกเขาเลี้ยงที่เมืองกลันตัน ภายหลังเห็นว่าไม่เป็นของแน่นหนา และยังไม่สู้ใหญ่โตสมปรารถนาจึงเอาพานซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้น แล้วเอาของตั้งรายตามปากพาน ที่เป็นคนวาสนาน้อยไม่มีโต๊ะมีพาน ก็เย็บเป็นกระทงตั้งซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้นเจ็ดชั้น แต่ถ้าจะใช้กระทงเกลี้ยงๆ ดูไม่งาม ก็เจิมปากให้เป็นกระทงเจิมให้เป็นการงดงาม ผู้ใดซึ่งเป็นผู้จะรับมงคล คือถูกทำขวัญนั้นก็มานั่งบริโภคอาหารนั้นในที่ประชุม เป็นการกลับกันกับที่ประพฤติอยู่ทุกวันนี้ ผู้ที่มาช่วยเหลือต้องมาช่วยกันปรนนิบัติเลี้ยงดูผู้เจ้าของงาน ทุกวันนี้ผู้เจ้าของงานต้องเลี้ยงผู้อื่น ภายหลังเห็นว่าการที่ไปนั่งบริโภคอาหารในที่ประชุมเช่นนั้นเป็นความลำบากหลายอย่าง คือกับข้าวที่จะตกแต่งบายศรีนั้นก็ต้องหาอย่างดี เพราะเป็นการออกหน้าเปลืองเงินมาก ผู้ที่จะไปบริโภคคือเด็กที่โกนจุกเป็นต้น ก็ถูกแต่งตัวออกเพียบ มือและหน้าก็ผัดทาฝุ่นแป้งเข้าไว้ออกขาวนวล และเมื่อเวลาต้องไปบริโภคในที่ประชุมเช่นนั้น กิริยาของเด็กที่จะเปิบอาหารก็ไม่ใคร่เรียบร้อย มักจะมูมๆ มามๆ จนหน้าตามือไม้เลอะเทอะสิ้นสวยสิ้นงาม ถ้าถูกเด็กที่ตะกรามก็จะนั่งกินไม่รู้แล้ว จนคนที่มาทำขวัญนั้นเบื่อ ถ้าเด็กนั้นเป็นคนขี้กระดากกระเดื่องไม่กินก็เสียดายของตกแต่งไว้เป็นหนักเป็นหนา จึงตกลงเป็นเลิก เล่นย่อๆ กันเถอะ แต่งข้าวของไปแต่เล็กน้อย กินแต่เพียงน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นสังเขปก็ได้ เพราะฉะนั้นพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ปรนนิบัติใหญ่ จึงได้เอาช้อนไปเที่ยวตักโคมๆ ตามบายศรีเอามาเทลงในมะพร้าว ต่างว่าของเหล่านั้นรวมอยู่ในมะพร้าวหมดแล้ว จึงเอาน้ำมะพร้าวนั้นมาป้อนให้กิน สมมติว่าเป็นได้กินของในภาชนะนั้นทั่วทุกสิ่ง ธรรมเนียมซึ่งกินของทําขวัญมีไข่ขวัญเป็นต้นเช่นนี้ ก็ยังมีปรากฏเป็นพยานอยู่ในเวลาทำขวัญไปรเวตในครอบครัว ซึ่งตกแต่งลงในขันทองขันเงิน มีผู้ใหญ่มาว่าให้พรยกขึ้นโห่ฮิ้ว เมื่อจุณเจิมผูกด้ายเสร็จแล้วก็ให้เด็กบริโภคของที่ทําขวัญนั้น เพราะเป็นเวลาไม่ได้แต่งตัวและไม่มีผู้อื่น ถึงจะกินมูมมามหรือช้าเร็วประการใด ก็ไม่เป็นที่อับอายขายหน้าอันใด แต่วิสัยคนเราไม่เข้าใจต้นเหตุความประสงค์เดิมว่าเขาคิดอย่างไรแล้วก็ไม่พอใจถาม หรือถามแล้วก็ไม่พอใจบอกกัน ก็เป็นแต่ทำตามกันมามืดๆ เช่นนั้น การถือลัทธิมงคลอัปมงคลไม่มีรูปก็เข้าครอบงำ จนกลายเป็นมีสิ่งหนึ่งเรียกว่า “ขวัญ” ขวัญนั้นหลบหนีได้และเที่ยวตกอยู่ตามหนทางก็ได้ เรียกก็มา เข้าใจภาษา แต่เป็นวิสัยของขวัญแล้วชอบสุนทรกถาเป็นพื้น ไม่ชอบขู่ตวาด สุนทรกถานั้นจะเท็จหรือจะจริงก็ไม่เป็นไร เชื่อได้ทั้งนั้น เป็นต้นว่าอาหารนั้นจะขยี้ขยําเน่าบูดอย่างไร บอกว่าประกอบด้วยนมเนยมีโอชารสวิเศษเหมือนของทิพย์ เหย้าเรือนเคหาถึงจะเป็นรังกา บอกว่าสนุกสบายวิเศษเหมือนกับวิมานพระอินทร์ ขวัญนั้นก็เชื่อกลับมาให้ด้วย กินก็อร่อยด้วย ตัวขวัญนั้นดูเหมือนมีแต่โสตินทรีย์ โสตะสัมผัสอย่างเดียว อินทรีย์และสัมผัสอื่นๆ อ่อนหมดทุกอย่างหรือไม่มีเลย เมื่อเข้าใจกันว่ามีตัวขวัญอยู่เช่นนี้ การทําขวัญก็กลายเป็นจะล่อลวงและจะยอตัวขวัญให้มาอยู่กับตัวเด็กอย่างเดียว การที่พราหมณ์ไปตักโคมๆ ก็กลายเป็นไปตักตัวขวัญมาแช่น้ำมะพร้าวไว้ให้เด็กกิน ของที่จัดมาในบายศรีนั้นน้อยลงๆ จนลืมไปไม่หมายว่าเป็นของกิน นึกตึงตังขึ้นมาว่าขวัญจะไม่มีอะไรกิน ต้องมีเครื่องกระยาบวชมาตั้งอีกสำรับหนึ่ง หัวหมูมาตั้งอีกหัวหนึ่งก็มี

วิธีที่ทําอะไรแล้วลืมๆ ไหลๆ ต่อๆ กันมาเป็นตัวอย่างเช่นนี้ฉันใด ข้าวบิณฑ์นี้ก็เรื่องเดียวกันกับบายศรีนั้นเอง เห็นว่าเป็นเวลาตรุษสุดปีและสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ อยากจะถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าให้เป็นของประณีตวิเศษก็จัดไปตั้งบูชา ก็แต่พระพุทธรูปท่านไม่ฉันบกพร่องอันใดลงไป จัดไปมากก็เปลืองเปล่า และยกรื้อเร่อร่าไม่งดงาม ก็ค่อยผ่อนลงๆ จนถึงรูปข้าวบิณฑ์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่เรื่องข้าวบิณฑ์นี้ดูประหนึ่งจะสูญ เพราะค่อนจะอยู่ข้างโคมมาก ฟังตามที่ท่านผู้ใหญ่เล่ามาแต่ก่อน ตรุษคราวหนึ่งสงกรานต์คราวหนึ่งคนทั้งปวงแต่งตัวทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ให้งดงามดี แล้วมีข้าวบิณฑ์ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถวัดต่างๆ จะว่าแต่เฉพาะในพระราชวังที่เจือเป็นราชการ บรรดาเจ้านายซึ่งเป็นลูกเธอ เมื่อถึงเวลาสงกรานต์สามวันก็แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวทรงนวม เสด็จไปตีข้าวบิณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนบ้าง วัดบวรสถานบ้าง ที่มีกำลังข้าไทมากก็เสด็จไปหลายๆ วัด ไม่ต้องทูลล่ำทูลลา เมื่อเสด็จไปเช่นนั้นแล้วก็มีข้าวบิณฑ์รองพานแก้วสองชั้นบ้าง พานทองสองชั้นบ้าง ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถ มีธูปเล่มหนึ่งเทียนเล่มหนึ่งไปว่า อิมํ ปิณฺฑปาตํ พุทฺธสฺส เทม แล้วตั้งไว้ครู่หนึ่ง ก็ยกกลับมาเช่นนี้ทุกปีมิได้ขาด ครั้นมาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ รับสั่งถามถึงเรื่องตีข้าวบิณฑ์ไม่มีผู้ใดได้ทำ ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอแต่งพระองค์ไปตีข้าวบิณฑ์อย่างเก่าที่วัดพระเชตุพนคราวหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าโตเสียแล้วหาได้ถูกเกณฑ์ไม่ จะได้มีอยู่กี่ปีก็ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้การตีข้าวบิณฑ์ก็เป็นอันเลิกสูญไป ยังคงอยู่แต่ข้าวบิณฑ์ของหลวงๆ นั้นเป็นสองอย่างอยู่ ถ้าอย่างพานสองชั้น พานชั้นบนใช้พุ่มดอกไม้ แต่ใช้ฉัตรปรุปิดทองสามชั้นแทนยอดพุ่ม พานชั้นล่างตั้งจานเล็กๆ เช่นรายปากบายศรีสำรับเล็กมีขนมพิมพ์รูปต่างๆ เป็นหงส์บ้างกินนรบ้างสีต่างๆ กัน อย่างอันอีเตเบอล วางจานละแผ่นรายรอบ แล้วมีเชิงเทียนเชิงหนึ่ง เชิงธูปเชิงหนึ่ง ใช้เครื่องทองคําทั้งสิ้น ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับตั้งเครื่องนมัสการในวันตรุษสามวัน สงกรานต์สามวัน อีกอย่างหนึ่งนั้นใช้พานทองเหลืองชั้นเดียว มีกรวยใบตองบรรจุข้าวสุกในนั้น ยอดปักฉัตรปรุปิดทองสามชั้น มีจานขนมพิมพ์รายรอบกรวย บางทีก็เห็นมีซองพลูหมากสงลูกหนึ่งเหน็บอยู่ที่ปากซองวางไปด้วย เทียนติดปากพานเล่มหนึ่งไม่มีธูป บางทีก็มีธงเศษผ้าเล็กๆ เสียบตามกรวยรอบด้วย ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับใช้บูชาพระทรายในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง สำหรับบูชาเทวดาที่รักษาพระชนมพรรษาและแทรกพระชนมพรรษาประจำทุกวันตลอดปีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นข้าวบิณฑ์สำหรับบูชาเทวดาเช่นนี้ ใช้สีและจํานวนธงตามกําลังวันของเทวดานั้น การเรื่องข้าวบิณฑ์นี้ก็เห็นจะเป็นเรื่องสมโภชพระพุทธรูปและพระทรายเหมือนอย่างบายศรีนั้นเอง เป็นแต่ผู้ที่ทําไม่รู้ว่าที่มาเป็นอันเดียวกัน และวิธีที่ย่อลงยักเยื้องกันไป เพราะเป็นความคิดของคนที่คิดคนละคราวคนละพวก ก็ทำให้เข้าใจว่าเป็นคนละอย่างไปทีเดียว

การพระราชกุศลที่ยังคงอยู่ในเวลาสงกรานต์ปัจจุบันนี้ มีเป็นสองอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวข้างต้นไม่ คือสงกรานต์สามวันอย่างหนึ่ง สงกรานต์สี่วันอย่างหนึ่ง ในเรื่องสงกรานต์สามวันสงกรานต์สี่วันนี้

คือว่าถ้าปีใดพระอาทิตย์ยกจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษเวลา ๒ ยามเที่ยงคืนแล้วไป โหรเขานับว่าเป็นวันใหม่ แต่ส่วนคนปรกติไปนับวันใหม่ต่อเวลารุ่ง จึงยังต้องเข้าใจว่าพระอาทิตย์ยกก่อนวันใหม่ ๖ ชั่วโมงจนถึงชั่วโมงหนึ่งเป็นที่สุด การที่ถือเถียงกันอยู่ดังนี้ จึงอะลุ้มอล่วยลงเป็นกลางให้ได้ทั้งสองฝ่าย เติมนักขัตฤกษ์สงกรานต์ขึ้นเสียอีกวันหนึ่งเหมือนอย่างในปีฉลูเอกศกนี้ พระอาทิตย์ยกเฉพาะเวลา ๒ ยามตรงจึงต้องขยายสงกรานต์ออกเป็นสี่วัน การซึ่งแบ่งชื่อวันสงกรานต์ออกเป็นสามอย่าง คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก อันที่จริงก็จะเป็นสามอย่างไทยๆ พอใจกำหนดการทั้งปวง เช่นตรุษสามวัน สารทสามวันเป็นต้น แต่นี่มีแยบคายขึ้นอีกนิดหนึ่ง ที่รอเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ไปไว้วันที่สาม ด้วยวันที่หนึ่ง วันที่สอง คือวันสงกรานต์และวันเนา ว่าพระอาทิตย์พึ่งจะเยี่ยมขึ้นสู่ราศียังไม่ถึงที่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้เปรียบไว้ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า “เหมือนบุคคลจะขึ้นเรือนวันสงกรานต์นั้นเหมือนขึ้นไปเพียงบันได วันเนาเหมือนขึ้นไปถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันเหมือนเข้าถึงในเรือน” คําอุปมาของท่านนี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจซึมซาบง่ายๆ ก็ดูเหมือนจะพออยู่แล้ว แต่อุปมานี้ว่าด้วยสงกรานต์สามวัน คือพระอาทิตย์ยกก่อนเวลาเที่ยงคืน นับว่าวันต้นเป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่สองเป็นวันเนา วันที่สามเป็นวันเถลิงศก ถ้าจะอุปมาสงกรานต์สี่วัน เห็นจะต้องว่า วันแรกมาถึงเชิงบันไดหรือก้าวขึ้นไปได้คั่นหนึ่งสองคั่น วันเนาที่ ๑ ถึงยอดบันได วันเนาที่ ๒ ถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันถึงในเรือน

การพระราชกุศลนั้น เริ่มแต่วันจ่าย คือวันก่อนหน้าสงกรานต์วันหนึ่งตั้งสวดมนต์พระปริตรในการที่จะสรงมุรธาภิเษก วันเถลิงศกบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีเครื่องตั้งคือตั้งโต๊ะหมู่สูงชนกันสองตัว ตั้งพระพุทธรูปห้ามสมุทรฉันเวรและพระชัยเนาวโลหะ โต๊ะหมู่อย่างต่ำสองตัวตั้งพระครอบมุรธาภิเษกรองพานแว่นฟ้า มีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวรสำรับหนึ่ง พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้นพระครูปริตไทย ๔ รามัญ ๔ ไม่มีพระราชาคณะนำ เพราะไม่เป็นการเสด็จออกเลย สวดสามวัน คือวันจ่ายวันหนึ่ง วันสงกรานต์วันหนึ่ง วันเนาวันหนึ่ง ถ้าปีใดสงกรานต์ ๔ วันก็เลื่อนไปตั้งสวดต่อวันมหาสงกรานต์ รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเป็นวันสรง พระสงฆ์ที่สวดมนต์ทั้ง ๘ รูปนั้นเข้ามาสมทบฉันในท้องพระโรง ถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษกด้วย มีของไทยธรรมจีวร ร่ม รองเท้า พัดขนนกเล่มหนึ่ง

และในวันจ่ายสงกรานต์นั้น เป็นวันสวดมนต์ฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์ด้วย พระทรายบรรดาศักดิ์นี้มีมาแต่ปฐมรัชกาลในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เริ่มต้นแต่สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาวัดใดที่แรกทรงสถาปนาหรือทรงปฏิสังขรณ์การยังไม่แล้วเสร็จ ก็เกณฑ์ยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปก่อที่วัดนั้น ไม่เป็นกำหนดวัดแน่นอน เช่นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เดิมก่อที่วัดราชบพิธ แล้วย้ายไปที่วัดเทพศิรินทร์จนถึงในปีนี้ ที่เรียกว่าพระทรายบรรดาศักดิ์นั้นเพราะมีพระทรายหลวงเรียกว่าพระมหาธาตุองค์หนึ่ง หน้าที่แปดตำรวจก่อสูง ๘ ศอก พระทรายบริวารสูง ๒ ศอก หน้าที่ตํารวจสนมก่อ ๕๒ องค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการบรรดาที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมีกําหนดขนาดให้ก่อ คือเจ้าต่างกรม เจ้าพระยาสูง ๕ ศอก พระองค์เจ้าและพระยาสูง ๔ ศอก พระสูง ๓ ศอก หลวงสูง ๒ ศอกคืบ ขุน ๒ ศอก ขุนหมื่นเลวสูงศอก ๑ เพราะเกณฑ์ก่อตามบรรดาศักดิ์เช่นนี้ จึงเรียกพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์นี้ เป็นเรื่องที่ยับเยินกันมาต่างๆ แต่ไหนแต่ไร บางทีเจ้านายและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ใหญ่ๆ ไม่ได้คิดจะบิดพลิ้วอย่างไร แต่ไม่ใส่ใจหลงลืมละเลยเสียไม่ไปก่อก็มี ที่มอบให้แก่เจ้ากรมบ่าวไพร่ ไปก่อนุ่งกันยับเยินไปอีกชั้นหนึ่งก็มี ที่ตระหนี่เหนียวแน่นเป็นแต่สักว่าไปก่อลดหย่อนไมได้ขนาดก็มี ที่เกียจคร้านไม่ก่อเป็นแต่ขนทรายไปกองไว้ก็มี ที่เจ้าพนักงานรับจ้างก่อเอาเงินเสียไม่ก่อก็มี ที่รับแต่เงินเปล่าๆ ไม่ต้องทําอะไรเลยก็มี แต่เงินนั้นก็ไม่ได้เป็นของพระ การเช่นนี้มีอยู่เสมอมิได้ขาด จึงต้องมีผู้ตรวจ คือมหาดไทย กลาโหมเป็นผู้เกณฑ์ก็อยู่ในหน้าที่ตรวจด้วย ราชบัณฑิตก็เป็นผู้รู้บุญรู้บาปจึงให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง มหาดเล็กก็เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสำหรับดูรายงานต่างๆ ก็ให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง แต่ถึงทั้งมีผู้ตรวจก็ดี ได้แต่แรกๆ นานไปก็รวมๆ ลงไปจนต้องมีเวลาเกาะกุมกันเสียครั้งหนึ่ง ก็ค่อยดีไปได้แล้วก็กลับเป็นไปใหม่ อาการเป็นอย่างเดียวกันกับสำรับอย่างสูง ถ้าเสด็จพระราชดําเนินที่พระทรายนั้น ราชบัณฑิตผู้ตรวจก็ต้องเข้ามาตะโกนอย่างปลาปล่อยที่หน้าพระก่อนยะถา ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินก็รอไว้ตะโกนต่อวันเนา จํานวนที่ตรวจนั้นจริงเท็จอยู่กับผู้กล่าว เขาว่าตรวจได้ในปีนี้พระมหาธาตุองค์ ๑ บริวาร ๕๒ องค์ ของเจ้านายข้าราชการที่มาก่อ ในพระบรมมหาราชวัง ๔๕๗๕ องค์ ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑๓๘๒ องค์ รวม ๕๙๕๗ องค์ ประมูลทราย คือกองทรายที่ผู้ถูกเกณฑ์ไม่ได้ก่อ ขนทรายกองไว้ในพระบรมมหาราชวัง ๒๘ เกวียน พระราชวังบวรฯ ๖ เกวียน รวม ๓๔ เกวียน คิดเฉลี่ยเป็นองค์ ๓๒๖๘ องค์ รวมทั้งที่ก่อไว้เป็น ๙๒๒๕ องค์

การฉลองพระทราย ก็สวดมนต์ในวันจ่ายนี้มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๓๐ รูป ใช้พระราชาคณะวัดที่ใกล้เคียงบ้าง ในวัดนั้นเองบ้าง นอกนั้นพระครูเจ้าวัดพระครูมีนิตยภัตทั้งสิ้น พระพุทธรูปที่ใช้ตั้งในการทําบุญนั้นใช้พระในวัดนั้นเอง มีแต่เครื่องนมัสการทองทิศไปตั้งที่พระมหาธาตุของหลวงมีเครื่องนมัสการตระบะมุก เวลาเย็นสวดมนต์ไม่เคยเสด็จพระราชดําเนินเลย ต่อเวลาเช้าเลี้ยงพระในวันสงกรานต์จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน เริ่มมีข้าวบิณฑ์ของหลวงตั้งแต่วันนั้นไป ในการพระทรายบรรดาศักดิ์ส่วนพระมหาธาตุเวลาเช้ามีข้าวบิณฑ์อย่างพานสองชั้นตั้งสำรับหนึ่งสำหรับพระทราย บริวารข้าวบิณฑ์อย่างพานทองเหลืองชั้นเดียวอีก ๕๒ พาน เมื่อเสด็จทรงจุดเครื่องนมัสการแล้ว เคยพระราชทานเทียนชวนให้พระเจ้าลูกเธอไปจุดตระบะมุกและข้าวบิณฑ์เหล่านี้ก่อน ต่อเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินทรงประน้ำหอมในที่พระเจดีย์ทรายทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่พระทรายหลวง ดูเป็นการเสด็จไปทรงอนุโมทนาในการกุศลของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอยู่ด้วยกลายๆ ของไทยธรรมพระสงฆ์มีผ้าชุบอาบผืนหนึ่ง กับธูปมัดเทียนมัดและหมากพลู การที่เสด็จพระราชดําเนินในวันเลี้ยงพระฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์นี้ ถ้าเป็นวัดที่ใกล้ๆ เช่น วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เคยเสด็จพระราชดําเนินทุกปีมิได้ขาด แต่ถ้าเป็นวัดไกล ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นวัดพระนามบัญญัติ[] วัดมหาพฤฒารามไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ วัดเทพศิรินทราวาสพระราชดําเนินบ้างไม่ได้เสด็จบ้าง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระทรายวัดอรุณเสด็จพระราชดําเนินไม่ขาด

ในวันมหาสงกรานต์ เวลาค่ำสวดมนต์สรงน้ำพระ ในพระบรมมหาราชวัง แต่ก่อนๆ มาในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ จำนวนพระสงฆ์ไม่เป็นแน่แล้วแต่ที่ทรงนับถือ ถึงว่าไม่ได้เป็นราชาคณะ แต่เป็นอาจารย์วิปัสสนาก็ได้เข้ามาสรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงหล่อพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาแล้ว ใช้จํานวนพระสงฆ์เท่าพระพุทธรูปเรียกว่าฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา พระราชทานไตรแพรทั้งสิ้น พระที่สรงน้ำนั้นก็เป็นอันเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเพิ่มขึ้นปีละองค์ ในรัชกาลที่ ๔ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๓ มิได้ยักเยื้อง พระสงฆ์ที่จะสรงน้ำนั้นเลือกที่มีอายุมาก ถ้าได้แก่กว่าพระชนมพรรษาเท่าใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น ถ้ายังไม่ครบจํานวนพระชนมพรรษา ก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากกว่าทั้งปวงเติมเข้า ยกเสียแต่พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ถึงพระชนมพรรษาน้อยก็ได้สรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติพระชนมพรรษาเพียงสิบหก ถ้าจะสรงน้ำพระแต่สิบหกรูป พระสงฆ์ซึ่งเคยได้รับพระราชทานสรงน้ำสงกรานต์แต่ก่อนก็จะขาดประโยชน์ดูไม่สู้ควร จึงโปรดให้พระสงฆ์ซึ่งเคยได้สรงน้ำมาแต่ก่อนนั้นคงได้สรงน้ำอยู่ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อถึงมรณภาพล่วงไปก็โปรดให้ตั้งอัตราลงไว้ว่า ๖๐ รูป เมื่อขาด ๖๐ รูปไปก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากเติมขึ้นอีกให้ครบ ๖๐ การสรงน้ำพระจึงได้คงเป็นจำนวนหกสิบมาจนถึงปีนี้ ถ้าสงกรานต์เป็นสี่วัน ก็แบ่งสวดมนต์แบ่งฉันในวันเนาทั้งสองวันๆ ละ ๓๐ รูป ดูจะไม่โหรงน้อยเกินไป ถ้าจะแบ่งวันละ ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป ตามจํานวนพระชนมพรรษาอย่างเช่นแต่ก่อนก็ดูจะน้อยโหรงนัก ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เพราะเป็นการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการสวดมนต์เลี้ยงพระ จึงได้เชิญพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาออกตั้ง เริ่มแต่รัชกาลที่ ๓ สืบมาจนบัดนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 16:03:22 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 16:05:25 »


เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์ (ต่อ)

เมื่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษาออกตั้งเช่นนี้ ก็มีเครื่องนมัสการวิเศษเพิ่มขึ้น คือมีเทียนธูปเล่มเล็กๆ เท่าพระชนมพรรษาองค์ละคู่ ดอกไม้องค์ละดอก เมื่อทรงจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการนี้แล้ว พระราชทานดอกไม้ให้ภูษามาลานำขึ้นไปวางรายตรงหน้าพระพุทธรูปองค์ละดอก พระแท่นเครื่องนมัสการก็ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ไม่ใช้เครื่องทองใหญ่ตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นในวันซึ่งเป็นวันเนา พระสงฆ์ฉันเช้าสำหรับตามธรรมเนียมเวลาหนึ่ง แล้วทรงถวายไตรแพรพัด แต่ก่อนใช้พัดด้ามจิ้ว แต่ครั้นภายหลังมาเกิดความกริ้วเปรียญองค์หนึ่งซึ่งยังอยู่จนทุกวันนี้ เรื่องไว้เล็บยาวและถือพัดด้ามจิ้วกรีดกรายทํากิริยาที่พัดนั้น ไม่งามเป็นที่ทรงรังเกียจ จึงได้โปรดให้เลิกพัดด้ามจิ้วเสีย ใช้พัดขนนกแทน แต่ก่อนมาพระสงฆ์ที่จะไปแห่งใด ตลอดจนเข้าในพระราชวัง มักจะมีพัดด้ามจิ้วมาในย่ามด้วยทุกองค์ พระธรรมยุติกามักจะใช้พัดอย่างเลวๆ ที่เป็นสีเปลือกโปลง หรือสีม่วงไม่มีลวดลาย ในเวลานั้นมีชุมมาก เป็นแฟชันเนเบอลสำหรับถวายพระธรรมยุติกา ซึ่งเป็นต้นตำราถือพัดด้ามจิ้ว แต่พระมหานิกายที่เป็นผู้ใหญ่ๆ ก็ดูไม่ใคร่มีใครใช้ นอกจากได้วันสรงน้ำ พวกหนุ่มๆ เอาอย่างธรรมยุติกาไปถือหนามาก แต่มักจะใช้พัดที่งามๆ มีลวดลาย ตั้งแต่เปรียญองค์นั้นถูกกริ้วแล้ว การถือพัดด้ามจิ้วก็ซาไปจนไม่ใคร่จะเห็นมีผู้ใดถือเข้าวัง แต่ข้างนอกอย่างไรไม่ทราบเลย ข้าพเจ้าเป็นคนหูอยู่นาตาอยู่ไร่ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร ว่าไม่ถูก แต่ที่จริงตามใจข้าพเจ้าเองไม่ได้นึกรังเกียจอันใดที่พระสงฆ์จะถือพัดด้ามจิ้ว ถึงการที่กริ้วครั้งนั้นก็ดูเป็นการเลยไปจากเล็บยาวดอก โดยจะถือกันขึ้นอีกก็จะไม่ว่าอันใด ด้วยการที่ห่มผ้าสองชั้นซ้อนเช่นธรรมยุติกาในฤดูร้อนเป็นความลําบากร้อนรนมาก แต่ถ้าใช้พัดเกลี้ยงๆ สีดําหรือสีม่วงอย่างเช่นเคยถือมาแต่ก่อนนั้นจะดีกว่าที่จะใช้เป็นสีแปลบปลาบหรือมีลวดลายทองหยอง เว้นไว้แต่ถ้าผู้ใดไปเอาพัดแพรที่ผู้หญิงฝรั่งถือมาใช้แล้ว เห็นจะต้องตั้งวิวาทบ้าง แต่ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เป็นเฉพาะองค์พระสงฆ์ที่ทรงนับถืออยู่ ถึงว่าจะชราอาพาธมาไม่ได้ก็ไม่ได้ยกเว้น ต้องให้ฐานานุกรมมาแทน ถ้าเป็นฐานานุกรมมาแทนเช่นนั้นเพิ่มขวดน้ำหอมขึ้นอีกขวดหนึ่ง เพื่อจะได้ไปถวายแก่ผู้ที่ได้รดน้ำนั้น เมื่อได้รับไตรแล้วจึงออกไปสรงน้ำ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาแทนไม่ได้สรงน้ำด้วย ที่สรงน้ำแต่ก่อนว่าใช้อ่างหรือขันเชิง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วอย่างไทยๆ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นหรือจําไม่ได้ มาจําได้เห็นแต่ที่สรงหน้าพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์คือที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเดี๋ยวนี้ และที่หน้าโรงกระษาปณ์เก่า ภายหลังที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทบ้าง เขาไกรลาสในสวนขวาบ้าง ที่สรงนั้นดาดปะรำผ้าขาวแขวนพวงดอกไม้สด ถ้าเป็นที่มีแดดส่องเข้าไปถึงที่สรงก็ใช้บังตะวันอันหนึ่งบ้างสองอันบ้าง มีคนมาถือบ้าง ใช้บัวอย่างฝรั่งที่เปลี่ยนสายน้ำต่างๆ เพราะใช้น้ำท่อซึ่งสูบมาแต่แม่น้ำ ในเวลาที่สรงนั้นประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ มีสุหร่ายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการมาในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เดี๋ยวนี้จะหาซื้อไม่ได้ ด้วยเขาเลิกแบบนั้นเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างหยอดมาแต่เล็กจนเดี๋ยวนี้ดูน่าเล่นนัก สุหร่ายนั้นไม่ได้กรอกน้ำตามธรรมเนียม ใช้ขันควงติดกับกระบอกฉีด กระบอกฉีดนั้นวางลงในขันแล้วสูบเข้าไปข้างก้นสุหร่าย อัดเข้าไปทั้งน้ำทั้งลมพร้อมกัน เมื่อเต็มที่แล้วหันสุหร่ายออกจากกระบอกฉีดมาตั้งไว้เท่าใดเท่าใดก็ได้ เวลาที่สรงน้ำพระจึงเปิดก๊อก น้ำก็ฉีดออกจากสุหร่ายเอง ไม่ต้องฟาดต้องเขย่าหรือบีบอย่างหนึ่งอย่างใดเลย น้ำเป็นสายเล็กพุ่งไปได้ถึงสิบศอกสามวา รดถึงองค์พระได้ทุกองค์ เว้นแต่ท่านขุนศรีสยุมพรแกมักขลุกขลักเกิดความบ่อยๆ คือน้ำอบที่แกสูบเข้าไปนั้นมีผงเสียมากๆ บางทีสายน้ำก็เบี้ยวเฉโก๋ไป บางทีก็ไหลปรีดๆ อยู่เสมอปากช่องสุหร่าย บางทีก็ถึงต้องแหย่ต้องเป่ากันประดักประเดิด และอะไรมันจะหลวมๆ เพราะเก่าอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าสูบเต็มๆ มาตั้งไว้มักเป็นน้ำซึมซาบอาบเอิบอยู่ทั่วๆ สุหร่าย แต่ถ้าแก้ไขให้ดีคงดีได้ สุหร่ายเช่นนี้มีสองอันพอสูบผลัดเปลี่ยนกันทันไม่ขาดพระหัตถ์ ดูความคิดเก่าในเรื่องนี้เขาดีกว่าเครื่องบีบน้ำอบฝรั่งที่มีมาใหม่ๆ แต่ชมเพ้อเจ้อจะห้องเส็งหรืออย่างไรไม่ทราบเลย สุหร่ายสองอันนี้ดูเป็นใช้น้ำอบอย่างเทือกแป้งสด แต่น้ำอบดีๆ อย่างพระสุคนธ์ใช้สุหร่ายลงยาอันหนึ่ง สุหร่ายเงินอันหนึ่ง สุหร่ายลงยานั้นทรงประเวลาที่พระจะขึ้นจากสรงน้ำ สุหร่ายเงินพระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปประเวลาเมื่อพระเดินไปจากที่สรงน้ำ แต่สุหร่ายสองอันนี้ต้องใช้ฟาดอย่างเมื่อยแขน และมักเปียกเสื้อทั้งสองสุหร่าย แล้วยังมีน้ำอบกรอกขวดอัดอย่างเก่าไปเทซ่าๆ ลงในมือพระอีกแห่งหนึ่งด้วย พระสงฆ์ที่ลงสรงน้ำทีละสองบ้างสามบ้างสี่บ้าง ตามบรรดาศักดิ์และตามที่มากที่น้อย ใช้นุ่งสบงห่มอังสะของเดิม สรงน้ำแล้วจึงไปห่มไตรแพรซึ่งได้พระราชทานใหม่ แล้วกลับไปฉันข้าวแช่ในท้องพระโรง ไม่มีของไทยธรรมอันใดนอกนี้อีก วันนี้พระสงฆ์อนุโมทนามีสัพพพุทธาด้วย

ในเวลาบ่ายของวันเนานั้น เป็นเรื่องฉลองพระทรายเตียงยกคือพระทรายที่ก่อบนม้า ๑๐ องค์ ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ตั้งไว้ที่เฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เวลาค่ำพระราชาคณะสวดมนต์ ๓๐ รูป

รุ่งขึ้นวันเถลิงศก เวลาเช้าพระพุทธรูปก็เปลี่ยน เชิญพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตรกลับ พระที่นั่งเศวตฉัตรไว้เป็นที่ตั้งพระบรมอัฐิ พระพุทธรูปที่ใช้ในเช้าวันนี้ตั้งที่โต๊ะหมู่หรือบนธรรมาสน์ เชิญพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิซึ่งได้กล่าวมาแล้วในการทําบุญกาลานุกาลแต่ก่อนออกตั้งและเติมพระสงฆ์ฉันขึ้นตามจำนวนพระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง พระสงฆ์สำรับนี้ก็ฉันเช้าเพลเหมือนกัน แต่ไม่มีสรงน้ำ คือตั้งแต่เวลาเช้าเสด็จทรงบาตร เป็นการทรงบาตรนักขัตฤกษ์เหมือนอย่างเข้าพรรษาและตรุษ แล้วเสด็จขึ้นหอพระ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุในระย้ากินนรออกมาตั้งไว้บนพานแก้ว แบ่งเป็นห้าส่วนตามโกศพระบรมธาตุ และมีเครื่องพระสุคนธ์ตั้งอยู่ข้างนั้น ทรงฉลองพระหัตถ์ลงยาสรงพระบรมธาตุแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมพระพุทธรูปในหอพระนั้นทั่วทุกแห่งแล้วจึงเสด็จหอพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิลงมาตั้งไว้ที่ม้ายาวเรียงตามลําดับ เปิดพระโกศไว้ทุกองค์ ทรงน้ำหอมสรงพระบรมอัฐิและพระอัฐิซึ่งอยู่ในหอพระแล้ว จึงสรงพระอัฐิซึ่งไม่ได้อยู่ในหอพระที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งไว้ที่พระแท่นสีหบัญชร แล้วจึงได้เสด็จออกทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า ถ้าพระฤกษ์สรงมุรธาภิเษกเช้า ก็สรงมุรธาภิเษกก่อนแล้วจึงได้สดับปกรณ์และเลี้ยงพระเพล ถ้าพระฤกษ์สายบางทีก็สดับปกรณ์ก่อนฉันเพล แล้วจึงสรงมุรธาภิเษก ไม่เป็นกําหนดแน่ ผ่อนไปผ่อนมาตามฤกษ์ การตกแต่งตั้งพระบรมอัฐิก็เหมือนกันกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระบรมอัฐิเชิญออกช้ากว่าการอื่นๆ ด้วยในเวลาเสด็จขึ้นหอพระนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในนำผ้าคู่ขึ้นมาถวายสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ มีน้ำอบขึ้นมาสรงพระบรมอัฐิพระอัฐิด้วย เมื่อเสด็จออกข้างหน้าแล้วจึงได้สรง ต่อสรงแล้วเจ้าพนักงานจึงได้เชิญพระบรมอัฐิออก

บัดนี้จะว่าด้วยเรื่องสรงมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินสรงในวันเถลิงศกสืบมามิได้ขาด ไม่มีคราวยกเว้น มีบ้างไม่มีบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนอย่างการเฉลิมพระชนมพรรษารับเปลี่ยนทักษา จันทรุปราคา สุริยุปราคา หรือสนานพระราชพิธีต่างๆ เช่นมีมาในกฎมนเทียรบาล การสรงมุรธาภิเษกสงกรานต์นี้ ดูเป็นตําแหน่งของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะต้องสรงสำหรับบ้านเมือง มิใช่สรงอย่างพระหรืออย่างคนแก่ได้รดน้ำ ก็เป็นการแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ที่ธรรมเนียมสงกรานต์แล้วลูกหลานพี่น้องต้องไปรดน้ำผู้ใหญ่ในตระกูลที่เป็นที่นับถือ แต่พระเจ้าแผ่นดินถึงจะทรงพระชราเท่าใด พระบรมวงศานุวงศ์ไม่มีผู้ใดได้ถวายน้ำเหมือนอย่างพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระชราอื่นๆ เลย มีแต่สรงมุรธาภิเษกนี้อย่างเดียว

พระแท่นสรงมุรธาภิเษก แต่ก่อนก็ใช้แต่พระแท่นแว่นฟ้า มีบัวกลุ่มทาขาวปิดทองตามขอบ ตั้งบนฐานเฉลียงมีพนัก ปักฉัตร เครื่องมุรธาภิเษก ไม่ได้ใช้ทุ้งสหัสธารา ทรงตักในขันสรงเหมือนอย่างทรงเครื่องใหญ่ตามธรรมเนียม ด้วยเพดานพระแท่นนั้นมีแต่ระบายรอบ ไม่ได้ปักเศวตฉัตรสหัสธารา คงใช้แต่เวลาบรมราชาภิเษก ด้วยมณฑปพระกระยาสนานเป็นซุ้มยอดเป็นที่ซ่อนถังน้ำได้ เพราะเหตุที่ไม่ใคร่จะได้เคยใช้สหัสธาราเช่นนั้น เมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพนักงานจัดการไม่ชํานาญ เมื่อเวลากระตุกเชือกแป้นขัดเสีย กระตุกแรงเชือกขาดน้ำไม่เดินต้องถึงปีนขึ้นไปเปิด แต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดําริพระแท่นสรงขึ้นใหม่ ให้ใช้สหัสธาราได้ทุกครั้ง คือให้มีเศวตฉัตรตั้งอยู่บนหลังเพดานพระแท่น เป็นที่บังถังน้ำ พระแท่นเช่นนี้เมื่อจะว่าไป ดูงามยิ่งกว่ามณฑปพระกระยาสนานเสียอีก เมื่อจะตั้งจะประกอบควบคุมก็ง่าย ด้วยเป็นของเบาๆ ทั้งสิ้น เป็นพระราชดําริอันดียิ่งนัก และสหัสธารานี้ยกไว้เป็นพระเกียรติยศใหญ่ ใช้ได้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวแต่โบราณมา ถึงว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช หรือพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งพระราชทานพระเกียรติยศให้สรงพระเต้าเบญจคัพย์ ทรงพระที่นั่งพุดตาล ได้บวรเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ก็ไม่ได้เคยพระราชทานให้สรงสหัสธาราแต่สักครั้งหนึ่งเลย สหัสธารา เป็นของคู่กันกับนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อพระแท่นมียอดเป็นนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้วมีสหัสธาราภายใต้นั้น ดูก็ยิ่งสมควรถูกเรื่องมาก น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกัน น้ำสี่สระนี้[]เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัย มีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไร มักให้เปื่อยพังและมีอันตรายต่างๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณ ผู้ที่มีความเคารพยําเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้งๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว ครั้นจะพรรณนายืดยาวไปก็ดูเป็นจะเชื่อถือกระไรมิรู้อยู่ ขอสงบไว้ทีหนึ่งตัวสหัสธารานั้นทำด้วยเงินมีช่องปรุเป็นฝักบัว แล้วมีดอกจำปาทองคำห้อยรายรอบ เมื่อเสด็จขึ้นสู่ที่สรงทรงเครื่องพระกระยาสนานเสร็จแล้ว จางวางและเจ้ากรมภูษามาลาจึงได้กระตุกสายเชือกให้แป้นที่ขัดเคลื่อนเปิดน้ำลงตามทุ้งสหัสธารา แต่พระแท่นนั้นเพราะเป็นการสรงประจําปีอยู่เสมอ จึงได้โปรดให้ก่ออิฐหุ้มศิลาขึ้นไว้ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อเวลาจะสรงมุรธาภิเษกก็มีแต่เสาโครงเพดานและอ่างสรงมาตั้ง ถ้าไม่ใช่เวลาสรงก็เป็นพระแท่นโถงสำหรับประทับประพาสชมปลาเงินปลาทอง ต่อเวลาสรงมุรธาภิเษกในที่อื่น จึงได้ตั้งพระแท่นไม้อย่างแต่ก่อน ถาดซึ่งเป็นเครื่องรองที่สรงนั้น ในการบรมราชาภิเษกมีตําราให้ใช้ถาดทองแดง ถาดนั้นเป็นรูปกลม แต่การสรงมุรธาภิเษกตามธรรมเนียมเช่นนี้ใช้อ่างไม้รูปรี เป็นไม้หน้าใหญ่ทั้งแท่ง ที่ขอบอ่างนั้นปิดทองคำเปลว พื้นอ่างคงไว้เป็นไม้ ม้าที่สำหรับประทับสรงเรียกว่าตั่ง ทำด้วยไม้มะเดื่อรูปกลมมีขาสี่หุ้มผ้าขาว ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวี และพระสังฆราช กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เคยโปรดให้มีในเวลาลงสรง และโสกันต์ รับพระสุพรรณบัฏ ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับอภิเษก เมื่อวันที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเป็นวันใด ก็จัดที่สรงผันพระพักตร์ต่อทิศศรีของวันนั้น ผันพระขนองตรงทิศกาลกิณี ในพื้นอ่างซึ่งเป็นที่ห้อยพระบาทริมตั่งนั้น ทอดใบไม้นามกาลกิณี เป็นที่ทรงเหยียบในเวลาสรง ที่ตรงพระพักตร์ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบเครื่องพระมุรธาภิเษก เมื่อเพลาทรงเครื่องมุรธาภิเษกไขน้ำสหัสธาราแล้ว ภูษามาลาจึงได้ถวายพระเต้าต่างๆ อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่องจัดพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยกเสียแต่พระเต้าปทุมนิมิต ๔ องค์ เป็นแต่สรงตามธรรมเนียมเช่นนี้ไม่ได้ใช้ เมื่อสิ้นพระเต้าภูษามาลาแล้ว ชาวที่ใหญ่จึงได้ถวายพระเต้าห้ากษัตริย์และพระเต้าทองขาว โหรถวายพระเต้านพเคราะห์ พระมหาราชครูพิธีถวายพระเต้าเบญจคัพย์ พระเต้าเบญจคัพย์นี้ ซึ่งไปเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ถวายนั้น เพราะไม่ได้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ เป็นน้ำพราหมณ์ เรื่องเดียวกันกับการพระราชพิธีต่างๆ ที่จะทําแล้วต้องสรงน้ำเทวรูปด้วยน้ำเบญจคัพย์ เช่นได้กล่าวมาในพระราชพิธีตรียัมพวายเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ได้รับยศและการปฏิบัติบูชาของพราหมณ์ เหมือนอย่างพระเป็นเจ้า คือพระอิศวรนารายณ์องค์หนึ่ง จําเดิมแต่บรมราชาภิเษกมา พราหมณ์ก็ถวายพระเต้าเบญจคัพย์ให้สรงและเชิญเสด็จขึ้นภัทรบิฐซึ่งวางคาโรยแป้งอย่างเช่นเชิญพระเป็นเจ้าขึ้น และอ่านเวทสรรเสริญไกรลาส เบญจคัพย์นั้นมีคนหูป่าตาเถื่อนแต่ช่างเดาเขาเดาเล่าต่างๆ แต่ที่แท้พระเต้าเบญจคัพย์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนี้ผู้ใดเดาไม่ถูก ผู้เล่าเรื่องที่ไม่รู้จักได้ออกชื่อเมื่อตะกี้นี้นั้น แต่จะแปลชื่อเบญจคัพย์ก็ไม่ออก แต่ถึงว่าจะไปหาผู้รู้แปลชื่อออก จะเป็นพระราชาคณะผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ใดก็แปลออกแต่ชื่อ ที่จะบอกลักษณะอาการของพระเต้านั้นไม่ถูกเลย เว้นไว้แต่ได้เห็น ด้วยพระเต้านั้นไม่ต้องกันกับชื่อ ถ้าคิดตามชื่อ คงจะต้องเข้าใจว่าห้าห้องหรือห้าลอน ที่แท้พระเต้านั้นเป็นเต้าตามธรรมเนียม มีแผ่นทองคําลงยันต์กลมๆ ห้าแผ่นแช่อยู่ในน้ำก้นพระเต้า การที่ชื่อพระเต้าไม่ถูกกันกับพระเต้านี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดําริหลายอย่าง ทรงเห็นว่าของเดิมเขาจะเป็นห้าห้องดอกกระมัง ก็ได้โปรดให้ลองทำขึ้นองค์หนึ่ง มีดอกนพเก้าอยู่กลาง ภายใต้ดอกนพเก้ามีขายื่นลงไปห้าขา ใช้โลหะขาละอย่าง เป็นห้ากษัตริย์ ลงยันต์เบญจคัพย์ตามขาทั้งห้าขา เป็นแต่ทรงทําลองขึ้น ไม่อาจที่จะเปลี่ยนพระเต้าเบญจคัพย์เก่า คงใช้เป็นแต่สำหรับภูษามาลาถวายเหมือนพระเต้าอื่นๆ พระเต้าเบญจคัพย์องค์เก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดูก็เป็นอัศจรรย์อยู่ ที่บ้านเมืองเวลานั้นไม่ปรกติเรียบร้อย เหตุใดสิ่งของซึ่งมีราคามากงดงามถึงเพียงนั้นจึงได้เข้ามาขายถึงกรุงเทพฯ พระเต้านั้นทำด้วยโมราสีเหลืองทั้งแท่งมีหูในตัว ทรวดทรงสัณฐานนั้นก็เป็นอย่างแขกหรืออย่างฝรั่ง ที่ขอบฝาและตัวพระเต้ามีเฟื่องประดับด้วยเพชรเป็นเรือน ทับทิมเป็นดอก พระเต้านี้มีมาแต่ประเทศอินเดีย พ่อค้าแขกผู้หนึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตไปจัดซื้อมาพร้อมกับเครื่องราชูปโภคอื่นๆ หลายอย่าง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ทำไม่ใช่เป็นฝีมือแขก เห็นจะมาแต่ประเทศยุโรป จะเป็นมหารายาในประเทศอินเดียองค์ใดองค์หนึ่งสั่งให้ทํา แต่ภายหลังจะมีเหตุขัดสนอย่างไรจึงได้ซื้อขายเป็นการเลหลังมา ราคาจึงไม่สู้แพง เมื่อว่าตามฝีมือที่ทํา ทั้งเพชรและพลอยทับทิมซึ่งเป็นพลอยมีราคามากในเวลานี้ ถ้าจะสั่งให้ทําใหม่ราคาคงจะไม่ต่ำกว่าร้อยห้าสิบชั่ง พระเต้าองค์นี้ได้ใช้เป็นพระเต้าสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ปฐมรัชกาล และในเวลาเมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศ ราชบัณฑิตถวายภูมิสถานพระราชอาณาเขตด้วยน้ำ ก็ทรงรับด้วยพระเต้าเบญจคัพย์องค์นี้ทั้งแปดทิศ แต่พระเต้าองค์นี้ไม่ได้ใช้สรงแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว มีตําราว่าบรรดาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ซึ่งพระมารดาเป็นลูกหลวงหลานหลวงในพระบรมราชวงศ์ มิใช่เช่นเจ้าฟ้ากุณฑล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระราชทานให้สรงก็สรงได้ ไม่มีเสนียดจัญไร แต่ต้องพระราชทานเองด้วยพระหัตถ์ ไม่ได้ใช้พราหมณ์ถวาย ได้เคยพระราชทานมาแต่เดิมหลายพระองค์ แต่ถ้าเจ้านายซึ่งพระมารดาไม่ได้เป็นลูกหลวงหลานหลวง ถึงจะได้รับบรรดาศักดิ์ใหญ่ เช่นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ได้รับอุปราชาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อมีเศวตฉัตรเจ็ดชั้น และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตได้ทรงรับสมณุตมาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อ ก็ไม่ได้พระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์ ด้วยถือว่ากลับเป็นเสนียดจัญไร การที่ถือเช่นนี้มาตามทางลัทธิพราหมณ์ ซึ่งถือชาติอย่างเช่นเป็นอยู่ในประเทศอินเดีย ต่อเป็นขัตติยสองฝ่ายจึงนับเป็นขัตติยแท้ พราหมณ์สองฝ่ายจึงนับเป็นพราหมณ์แท้เป็นต้น ธรรมเนียมพระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์นี้ยังคงยั่งยืนมาจนปัจจุบันนี้ แต่พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ ใช้ต่อเมื่อเวลาสรงมุรธาภิเษกเป็นการใหญ่ การประจําปีใช้แต่วันเถลิงศกและเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าสรงมุรธาภิเษก สุริยุปราคา จันทรุปราคา ใช้พระเต้าเบญจคัพย์น้อย ศิลาหยกเขียวจุกเป็นดอกนพรัตน์ไม่มีเครื่องประดับอื่นๆ แต่มียันต์ห้ารองเหมือนพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เมื่อพระมหาราชครูถวายพระเต้าเบญจคัพย์แล้ว จึงถวายน้ำพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์แล้ว ถวายข้างพระขนอง  เจ้ากรมปลัดกรมพราหมณ์ทั้งปวงนอกนั้นถวายพระมหาสังข์ห้าซึ่งยังเหลืออยู่สี่องค์ คือพระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์นาค พระมหาสังข์งาจำเริญและสังข์สำริด เครื่องมุรธาภิเษก หน้าที่พราหมณ์พฤฒิบาศถวาย เมื่อพราหมณ์ถวายน้ำสังข์เสร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้นเปลื้องพระภูษาถอด คือพระภูษาขาวและทรงสะพักขาว พระราชทานแก่พระมหาราชครูพราหมณ์ ในขณะเมื่อสรงนั้นประโคมสังข์ทักษิณาวัฏ สังข์อุตราวัฏ บัณเฑาะว์ฆ้องชัยแตรสังข์พิณพาทย์ มีมโหรีกรมภูษามาลา ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม สูญไปเสียในรัชกาลที่ ๔ มาจัดขึ้นใหม่ปัจจุบันนี้อีกสำรับหนึ่ง ถ้าวันใดเป็นวันที่สรงมุรธาภิเษกก็ทรงพระภูษาตามสีวัน แต่ลัทธิสีวันของกรมภูษามาลาไม่เหมือนกันกับที่ใช้สีตามกําลังวันอยู่สองสี คือวันพฤหัสบดี ตามที่โหรว่าเป็นสีเหลือง ภูษามาลาว่าสีน้ำเงิน วันศุกร์ซึ่งว่าเป็นสีเลื่อมประภัสสรหรือใช้สีน้ำเงินกันอยู่นั้น ภูษามาลาว่าสีเหลือง เรื่องสีที่เถียงกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงพระยาอุทัยธรรม (เพชร) ปู่พระราชโกษาเดี๋ยวนี้[] หลายครั้งหลายคราว แกไม่ยอมเลยเป็นอันขาด ว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เกิดถุ้งเถียงกันแล้วตกลงตามอย่างภูษามาลาเช่นนี้ ว่าเคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะตระกูลนี้เขาเป็นภูษามาลามาแต่แผ่นดินพระมหาบุรุษเพทราชา สืบเนื่องตระกูลกันมาไม่ได้ขาด บิดาพระยาอุทัยธรรม (เพชร) เป็นผู้อยู่งานเครื่องสูงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เมื่อเสด็จกลับจากเมืองนครเสียมราฐ เมื่อจะปราบดาภิเษก เสด็จประทับพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพน เวลานั้นเป็นแต่มหาดเล็กเลว รับสั่งเรียกให้มาอยู่งานเครื่องสูง ยกย่องว่าเป็นตระกูลเก่า พระยาอุทัยธรรม (เพชร) ก็ได้รับราชการทรงเครื่องใหญ่ มาแต่รัชกาลที่ ๑ จึงเป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือว่าเป็นผู้รู้มาก การที่ยืนยันเรื่องสีวันนี้ก็ทรงยอม ถ้าสรงมุรธาภิเษกแล้วก็ทรงพระภูษาสีวันแบบภูษามาลา เว้นไว้แต่ถ้ารับเปลี่ยนทักษาต้องตกลงยอมตามสีโหร การเรื่องเถียงกันในภูษามาลาเช่นนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือพระชฎากลีบ และพระชฎาเดินหน ก็เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งอยู่เสมอ แต่ทรงถือเสียว่าเป็นลัทธิภูษามาลา ลัทธิอื่นไม่เห็นทรงตัดสินเด็ดขาด ถ้าจะเป็นการผิดในภูษามาลา ก็คงจะเลือนเหมือนเรื่องเครื่องแต่งตัวนางมหาสงกรานต์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อทรงเครื่องเสร็จแล้ว ใบไม้อันใดต้องกับสีวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงทัดดอกไม้นั้น ใบไม้อันใดต้องกับเดชวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงถือใบไม้นั้น แล้วจึงเสด็จออกทรงสดับปกรณ์ หรือถ้าสดับปกรณ์แล้วก็ออกพระสงฆ์ยถาสัพพี วันนี้มีอทาสิเม พระทรายเตียงยกนั้น เมื่อเวลาพระสงฆ์ไปแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และในเวลาเมื่อพระสงฆ์ฉันมีข้าวบิณฑ์ตั้งที่พระทรายทุกองค์ด้วย เวลาเสด็จขึ้นแล้วตั้งบายศรีเวียนเทียนพระทรายเสร็จแล้ว จึงได้มีกระบวนแห่พระทรายออกไปส่งวัดมหาธาตุ จํานวนกระบวนแห่ธงมังกรหน้า ๓๐ หลัง ๒๐ คู่ แห่หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ พระทรายนั้นไปเทไว้ตามลานวัดเฉยๆ ไม่มีพิธีรีตองอันใด

เครื่องไทยทานซึ่งสำหรับใช้สดับปกรณ์ในการสงกรานต์นี้ ใช้ผ้าคู่คือผ้าขาวเนื้อหนาขนาดผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าขาวเนื้อบางขนาดผ้าห่มผืน ๑ อย่างพระภูษาถอดที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเอง เป็นผ้าสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มไม่เป็นของสำหรับพระสงฆ์เลย แต่ซึ่งเกิดใช้ผ้าคู่เช่นนี้ทำบุญขึ้นนั้น เห็นว่าจะมาจากผ้านุ่งห่มรดน้ำสงกรานต์ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานรดน้ำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ที่สูงอายุ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะพระราชทานรดน้ำผู้ใดบ้างสืบไม่ได้ความ ได้ความแต่เพียงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่าได้ทรงเป็นผู้รับผ้าหลวงน้ำหลวงไปสรงเจ้าครอกวัดโพ คือกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอในเวลานั้น เมื่อเวลาเสด็จไปถึงแล้ว ท่านเคยรับสั่งเรียกกรมหมื่นนรินทร ซึ่งเป็นพระสามีให้มาเฝ้า สอนให้กราบเสีย ว่าเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนาย กรมหมื่นนรินทรก็มาหมอบอยู่ที่เฉลียงต่ำๆ รับสั่งเล่าเป็นการสนุกในเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่พอได้เค้าว่ากรมหลวงนรินทรเทวีเป็นผู้ได้รดน้ำองค์หนึ่ง แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ความว่า พระราชทานรดน้ำแต่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่น้อยพระองค์ นอกนั้นมีเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยห้าหกคน ท่านพวกนั้นได้พระราชทานเงินคนละ ๒ ชั่งด้วย ส่วนที่สรงน้ำกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั้น มีผ้าลายผ้าแพรขาวสองสำรับ ผ้าลายกุลีหนึ่งต่างหาก แพรขาว ๒ ม้วน ตาดอีกม้วนหนึ่ง เงินตรา ๒๐ ชั่ง ในรัชกาลที่ ๔ บรรดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าพี่นางเธอ เสนาบดี ซึ่งมีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา ถ้าอายุครบ ๖๐ ปีถ้วน ก็ได้พระราชทานรดน้ำทุกพระองค์ทุกท่าน ในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็เหมือนอย่างแบบรัชกาลที่ ๔ เว้นแต่กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย นอกนั้นฝ่ายหน้าได้พระราชทานผ้าลายสำรับหนึ่ง ผ้าพื้นสำรับหนึ่ง ฝ่ายในผ้าลายทั้งสองสำรับ ยังมีท่านเรืองซึ่งเป็นขรัวยายทวดรับเบี้ยหวัดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นขรัวยายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้พระราชทานรดน้ำผ้าลายแพรขาว ๒ สำรับ และเงิน ๓ ชั่งเสมอมา ที่กล่าวยืดยาวด้วยเรื่องรดน้ำนี้ เพื่อจะแสดงราชประเพณี ซึ่งพระราชทานรดน้ำในเวลาสงกรานต์นี้ด้วย และเพื่อจะยกเป็นเหตุพิจารณาในเรื่องผ้าคู่สดับปกรณ์ด้วย จึงได้กล่าวไว้ในที่นี้ เพราะการพระราชกุศลในสงกรานต์นี้อยู่ข้างสับสนหลายเรื่องหลายอย่างนัก บัดนี้จะได้กล่าวด้วยเรื่องผ้าคู่ต่อไป ผ้าคู่ที่ใช้ทำบุญอยู่เป็นอย่างคฤหัสถ์นั้น คงจะออกจากผู้ที่ได้เคยรับพระราชทานผ้ารดน้ำแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าจะใช้ผ้าลาย ผ้าแพรอย่างเดิม ก็จะยิ่งไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่พระสงฆ์หนักขึ้น จึงได้เปลี่ยนใช้เสียเป็นผ้าขาว คำที่เรียกว่าผ้าคู่นั้นดูเสียงอยู่ข้างจะเพราะ เข้าเค้าบาล่ำบาลีดี มีผู้ให้คู่ผ้าแก่ใครๆ เป็นรางวัล มีผู้ถวายคู่ผ้าแด่พระพุทธเจ้าเช่นโกมารภัจเป็นต้น คําว่าคู่ผ้าที่ใช้มาในบาลีเช่นนี้ คงจะเป็นผ้าสองผืน แต่ผืนโตๆ สำหรับใช้นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เพราะปรกติคนในประเทศอินเดีย เวลานั้นจนตลอดเวลานี้ก็ดี ยังใช้ผ้านุ่งผืนโตๆ ผ้าห่มผืนโตๆ สองผืน คนที่เป็นคฤหัสถ์กับพระสงฆ์แต่งตัวจะไม่ใคร่ผิดกันนัก จะแปลกแต่สีเป็นย้อมฝาดพวกหนึ่ง ใช้ผ้าขาวล้วนหรือสีต่างๆ พวกหนึ่ง คู่ผ้าของคฤหัสถ์เมื่อถวายพระสงฆ์ๆ ก็ใช้นุ่งห่มได้พอ แต่ผ้าคู่ของเรานี้ไม่ได้การ อยู่ข้างจะไม่เป็นประโยชน์แก่พระเลย เกือบๆ จะเหมือนได้พัดหางปลาเป็นของไม่มีราคาอันใด เพราะจะบริโภคใช้สอยไม่ได้ สำหรับแต่จะให้ปันแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ชื่อยังเพราะดีอยู่ และไม่เปลืองอันใดด้วยจึงยังได้ใช้สืบมา ผ้าคู่ของหลวงที่สำหรับสดับปกรณ์นั้นแต่เดิมมาก็มีแต่เฉพาะพระบรมอัฐิ พระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง (คือหมายเอาพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่วังหลวงด้วย) นอกนั้นก็ไม่มีผ้าคู่ของหลวง ใช้ผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในนํามาถวายสำหรับสดับปกรณ์ เฉลี่ยไปพระราชวังบวรฯ บ้าง หอพระนาคบ้าง ไม่ได้เฉพาะพระองค์พระอัฐิเจ้านายๆ ที่อยู่ในหอพระนาคก็มี ที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็มี ถ้าพระอัฐิใดที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็เป็นแล้วกันไป ด้วยการพระราชกุศลแต่ก่อนอยู่ข้างเขม็ดแขม่ไม่มีการใหญ่โตอันใด การพระราชพิธีสำหรับแผ่นดินแล้วก็ผ้าอาบผืนเดียวทั้งสิ้นตลอดจนบรมราชาภิเษก การพระราชกุศลวิเศษเป็นการจรมีไทยทานมากๆ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ แต่การสดับปกรณ์สงกรานต์นี้ยังเป็นธรรมเนียมเก่าตลอดมาจนรัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้มีผ้าคู่ของหลวงสำหรับพระราชวังบวรฯ และหอพระนาคขึ้น แต่ผ้าคู่สำหรับหอพระนาคนั้นก็ไม่ทั่วพระองค์เจ้านาย ทรงเลือกแต่ที่ทรงรู้จักคุ้นเคย บางองค์ทรงรู้จักแต่ไม่ต้องพระอัธยาศัยก็ไม่พระราชทาน แล้วให้มีฉลากพระนามเขียนในผ้าเช็ดหน้าด้วยทุกพระองค์ ถึงที่ไม่ได้พระราชทานผ้าหลวงใช้ผ้าเจ้านายก็มีฉลากด้วย แปลกกันแต่ที่ผ้าหลวงพระราชทานจัดพระสงฆ์ตามวัดซึ่งพระอัฐินั้นได้ปฏิสังขรณ์บ้าง เป็นนายด้านทําการบ้าง ถ้าไม่มีเช่นนั้นก็ใช้วัดที่เป็นวัดหลวงในแผ่นดินนั้น หรือวัดของพี่น้องที่สนิท หรือพระนั้นเป็นญาติกับพระอัฐิ เช่นพระราชพงศ์ปฎิพัทธกับพระองค์ใยเป็นต้น ส่วนผ้าคู่ซึ่งมิใช่ของหลวงนั้นแล้วแต่จะได้พระองค์ใด อยู่ในพวกที่ได้ผ้าคู่ของหลวงสดับปกรณ์ซ้ำอีกเที่ยวหนึ่งสองเที่ยวเป็นพื้น แต่ธรรมเนียมผ้าคู่ของหลวงนี้ตั้งลงแล้วก็ดูเป็นการไม่สู้แน่ เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลงภายหลัง ถึงไม่เป็นที่ต้องพระอัธยาศัยแต่ทรงเกรงใจก็พระราชทานเรื่อยๆ เลอะๆ ไป เช่นกรมหมื่นอุดมก็ได้ผ้าคู่ของหลวง เกือบจะตกลงเป็นใครตายลงใหม่ได้ผ้าคู่ของหลวง ที่จัดแบ่งปันนั้นเป็นแต่ครั้งแรกครั้งเดียว ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ เจ้านายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักคุ้นเคยได้ผ้าคู่ของหลวงอยู่แล้ว ไม่ทรงรู้จักเสียเป็นอันมาก ถ้าจะจัดการตามแบบที่วางลงแต่แรกก็ควรจะต้องเลิกเสีย คงไว้แต่ที่ทรงรู้จัก แต่ครั้นจะเลิกเสียก็ดูกระไรๆ มิรู้อยู่ ก็ต้องคงให้มีไปตามเติม ส่วนเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ลงใหม่ก็ไม่มียกเว้น เลยเป็นผ้าคู่ของหลวงทั้งสิ้น ธรรมเนียมที่จัดผ้าคู่ของหลวงและไม่ใช่ของหลวงนี้ ก็เป็นแต่การที่จัดพอให้เรียกพระยุ่งๆ ขึ้นเท่านั้น ยังเรื่องแถมเล็กแถมน้อยก็มีอีกอย่างหนึ่งเป็นชั้นๆ คือที่หนึ่งนั้นมีผ้าคู่ ธูปเทียน ผ้าเช็ดปาก
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 16:09:49 »


เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์ (ต่อ)

พัดด้ามจิ้ว ขวดน้ำอบ ชั้นที่สองยกขวดน้ำอบเสีย ชั้นที่สามยกธูปเทียนขวดน้ำอบเสีย ยังอีกนัยหนึ่ง พระราชเทวีและพระเจ้าลูกเธอที่เป็นผู้น้อยไม่พระราชทานผ้าคู่ เปลี่ยนเป็นจีวรสบง เพราะเป็นผู้ซึ่งไม่ควรจะได้พระราชทานรดน้ำสงกรานต์ แต่ส่วนพระเจ้าราชวรวงศ์เธอที่นับว่าเป็นพระราชภาคิไนยและอ่อนพระชนมพรรษากว่า ก็ได้ผ้าคู่เหมือนเจ้านายทั้งปวง ที่แท้นั้นก็เป็นการทรงพระราชดำริคนละคราว ผ้าสบงผืนหนึ่งก็ยังมีราคาดีกว่าผ้าคู่ เพราะทรงพระกรุณาจะพระราชทานก็พระราชทาน ที่เนือยๆ อยู่ก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม การเรื่องนี้อยู่ข้างจะจุกจิกรุงรัง แต่เห็นไม่เป็นสลักสำคัญอันใดก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข

อนึ่ง อัฐิเจ้าคุณอัยยิกาทั้งปวง ซึ่งอยู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่บ้างองค์น้อยบ้าง จะได้พระราชทานบังสุกุลมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านพวกนี้เมื่อมีชีวิตอยู่ได้พระราชทานรดน้ำมาแต่เดิม เพราะได้ยินคําพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่า เมื่อถึงหน้าสงกรานต์แล้ว ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันทั้งหมด เจ้านายที่เป็นหลานๆ พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำ แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายเหมือนๆ กันเป็นการประหลาด จึงได้รับสั่งถามว่าทําไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายเหมือนกันหมดเช่นนี้ คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน[[]แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย รับสั่งเล่าถึงเรื่องแผ่นดินตากต่อไปเป็นอันมาก เพราะเหตุที่ได้อยู่พระราชทานรดน้ำมาแต่ยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ จึงได้พระราชทานบังสุกุลแต่ในเฉพาะเวลาสงกรานต์คราวเดียวสืบมา ครั้นพระราชทานชั้นเจ้าคุณอัยยิกาลงไว้แล้ว เมื่อตกลงมาถึงชั้นเจ้าคุณวังหลวง ซึ่งโปรดให้เรียกว่าเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ์ ด้วยความที่ทรงนับถือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยเป็นต้น ก็โปรดพระราชทานต่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง และในตระกูลนี้ได้รับราชการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่มาก เมื่อลงมาอีกชั้นหนึ่งก็เลยได้พระราชทานลงไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ทั่วกัน[]เมื่อจะว่าโดยทางเชื้อสายราชินิกุล ตั้งแต่ชั้นพระสัมพันธวงศ์ลงมาที่เป็นชั้นเดียวกันไม่ได้พระราชทานรดน้ำมีโดยมาก ถ้าจะเทียบกับเจ้านายวังหน้า คือพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ พระเจ้าบวรวงศ์เธอทั้งสิ้นนั้นยังสนิทกว่าพวกราชินิกุลเหล่านี้มาก แต่ก็ไม่มีพระองค์ใดได้รับพระราชทานสดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์แต่สักพระองค์เดียว เพราะฉะนั้นการที่พระราชทานบังสุกุลในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยนั้น ต้องนับว่าพระราชทานโดยการที่ทรงนับถือพิเศษ หรือเป็นรางวัลความชอบ ไม่ใช่ได้โดยเนื่องในพระวงศ์แท้ จํานวนพระสงฆ์รายวัดสำหรับพระบรมอัฐิพระอัฐิ และรายไทยทานที่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระอัฐิชั้นใดอย่างใด จะว่ามาในหนังสือนี้ก็จะยืดยาวเหลือเกินนักจึงของดไว้ ถ้ามีโอกาสและเป็นการสมควรที่จะลงในหนังสือพระราชพิธีที่จะรวมเล่มจึงจะลงต่อไป ของสดับปกรณ์รายร้อยในนักขัตฤกษ์สงกรานต์นี้ มีในท้องพระโรง ๕๐๐ พระราชวังบวรฯ ๓๐๐ หอพระนาค ๒๐๐ บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย ๒๐๐ แต่ที่ในท้องพระโรงนั้นมีของสดับปกรณ์มากขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง คือผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในถวาย เมื่อแบ่งไปหอพระนาค ๑๐๐ แล้วเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด เอามารวมเป็นกองๆ เท่าจำนวนพระสงฆ์ที่มาฉัน เมื่อพระสงฆ์ถวายพระพรลาแล้วไปนั่งสดับปกรณ์ผ้าคู่ของเจ้านายต่อไป แต่ก่อนๆ มาได้องค์ละกี่คู่ต้องสดับปกรณ์เท่านั้นเที่ยว แต่ทุกวันนี้ใช้เที่ยวเดียวรวบทั้งกอง แล้วจึงได้สดับปกรณ์ราย ๕๐๐ ของหลวงต่อไป

อนึ่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วโปรดให้เชิญพระบรมทนต์สามพระองค์ และพระทนต์กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ออกตั้งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ข้าราชการที่เป็นข้าหลวงเดิมเป็นต้น ได้สดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์ ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าราชการบางคนที่ไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมพลอยไปสดับปกรณ์บ้าง ท้าววรคณานันต์ (มาลัย) เป็นผู้เที่ยวบอกกล่าวชักชวน ไม่เป็นการกะเกณฑ์อันใด ก็มีการสดับปกรณ์ทุกปี พระสงฆ์อยู่ในห้าหกวัด วัดละเที่ยวหนึ่งบ้าง สองเที่ยวบ้าง สามเที่ยวบ้าง แล้วทำบัญชีผู้ที่ออกเรี่ยไรขึ้นถวายพระราชกุศล คิดดูไทยทานที่ไปทำบุญกันปีหนึ่งก็อยู่ในไม่เกินห้าชั่งขึ้นไป ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้จึงเพิ่มพระบรมทนต์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง และข้าหลวงเดิมในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ขอให้เชิญพระทนต์กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ออกอีกองค์หนึ่ง ผู้สดับปกรณ์ก็มากขึ้น รวมไทยทานก็มากขึ้นถึงเจ็ดชั่งแปดชั่ง ครั้นเมื่อท้าววรคณานันต์ (มาลัย) บอกชราไปแล้ว ท้าวศรีสัจจาเป็นธุระอยู่ตลอดมาจนกระทั่งถึงท้าววรจันทร์[]คนนี้ไม่รู้ว่าไปเกณฑ์กันหรือไปเที่ยวเรี่ยไรกว้างขวางออกไป หรือจะเป็นด้วยผู้ซึ่งทำบุญมือเติบขึ้นตามส่วนอย่างไร เงินวางขึ้นไปถึงเกือบยี่สิบชั่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเงินสดับปกรณ์มากเหลือเกินนัก เวลาที่จะทำก็ไม่ใคร่พอ พระสงฆ์ได้ไปองค์ละเฟื้ององค์ละสลึง ก็ไม่สู้เป็นประโยชน์อันใดนัก เห็นว่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เป็นสถานที่ทรงสร้างทรงปฏิสังขรณ์มาด้วยกันทุกพระองค์ พระทัยของพระบรมอัฐิพระอัฐินั้นก็ย่อมทรงเลื่อมใสพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอันมาก จึงได้ขอแบ่งเงินสดับปกรณ์ที่ได้ขึ้นใหม่นี้ ไว้เป็นเงินสำหรับรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คงให้สดับปกรณ์แต่พอไล่เลี่ยกันกับที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน เหลือนั้นได้มอบให้กอมมิตตี[]ซึ่งจัดการรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามใช้ในการวัด ในปีนี้ได้เงินถึงสิบสี่ชั่งเศษ

ในการสงกรานต์นี้ แต่ก่อนมาพระเจ้าแผ่นดินต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์แต่เฉพาะที่กล่าวมาแล้ว ครั้นมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเสด็จออกสรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อสมโภชเวียนเทียนแล้วเสร็จ จึงเสด็จพระราชดําเนินทรงสดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านายที่หอพระนาคเป็นการพิเศษขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เสด็จพระราชดำเนินเอง สดับปกรณ์นั้นมีมาแต่เดิมแล้ว ถึงการเวียนเทียนนั้นก็มีทั้งตรุษสามวันสงกรานต์สามวันแต่เดิมมาแล้ว ดอกไม้เพลิงซึ่งจุดบูชาในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่รัชกาลที่ ๔ มา ในเวลาสงกรานต์นี้ก็มีด้วยทุกคืนทั้งสามวันหรือสี่วันตามเวลาที่กำหนดสงกรานต์ เป็นสามวันหรือสี่วัน

อนึ่ง วัดพระเชตุพนนั้น ก็เป็นธรรมเนียมเก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสงกรานต์สามวันเปิดให้ข้างในออกสรงน้ำพระ ตีข้าวบิณฑ์โปรยทานและเที่ยวเล่นแต่เช้าจนเย็น กั้นฉนวนเหมือนอย่างพระเมรุท้องสนามหลวง เป็นที่ชาววังไปเที่ยวรื่นเริงสนุกสนานมากตลอดมา ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระเชตุพนเสด็จออกทางฉนวนข้างใน โปรดให้เจ้าจอมเถ้าแก่และท่านเถ้าแก่แต่งตัวเป็นตํารวจ นุ่งสองปักลาย สวมเสื้อเข้มขาบเยียรบับซับใน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผ้าโพกศีรษะสะพายกระบี่แห่เสด็จ เหมือนอย่างตํารวจแห่เสด็จพยุหยาตราอยู่ในเวลานั้น เมื่อถึงพระอุโบสถก็มีพนักงานชำระพระบาท สนมพลเรือนถวายเทียนชนวน ล้วนแต่เถ้าแก่พนักงานแต่งตัวเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจําได้แต่ว่าเป็นการสนุกสนานกันมาก แต่จะเล่าให้ละเอียดทีเดียวก็ฟั่นเฟือนไปด้วยเวลานั้นยังเด็กอยู่ เข้าใจว่าเสด็จพระราชดําเนินครั้งเดียวเท่านั้น แต่จะมีเวลาอื่นที่จําไม่ได้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธบุษยรัตนซึ่งแต่เดิมอยู่ที่หอพระเจ้าเชิญย้ายไปอยู่ที่พุทธรัตนสถาน และมีพระสถูปก้าไหลทองขึ้นบนพุทธมนเทียร ก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำเพิ่มขึ้นอีก จึงรวมเป็นการที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินในวันเถลิงศกนั้นหลายแห่ง คือเบื้องต้นตั้งแต่สรงน้ำพระบนหอพระจนตลอดสดับปกรณ์พระบรมอัฐิแล้วเสร็จ เสด็จขึ้นแล้วเลี้ยงโต๊ะข้าวแช่พระบรมวงศานุวงศ์ในเวลากลางวัน แล้วทรงโปรยทานอัฐทองแดงใหม่ๆ ไปจนเวลาเย็นพลบ สรงน้ำพระพุทธบุษยรัตนน้อยและพระสัมพุทธพรรโณภาษซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทชั้นสูง แล้วเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธมนเทียรสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[]ซึ่งอยู่มุขใต้ และพระสถูปซึ่งอยู่กลางพระที่นั่ง แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธรัตนสถานสรงน้ำพระพุทธบุษยรัตน และเมื่อเวลาพระที่นั่งยังไม่สู้ชำรุดมากนักเสด็จพระราชดําเนินขึ้นพระที่นั่งบรมพิมาน สรงน้ำพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือทางประตูแถลงราชกิจ สรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระคันธารราษฎร์[]นมัสการเสร็จแล้วพราหมณ์จึงจุดแว่นเวียนเทียน บายศรีซึ่งสมโภชพระพุทธรูปเช่นนี้ไม่ใช้ของบริโภคต่างๆ อย่างเช่นกล่าวมาแต่ก่อน จานซึ่งจัดปากบายศรีใช้ดอกไม้สดสีต่างๆ ประดับทั้งนั้น ครั้นเมื่อเวียนเทียนเสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินทางหลังพระอุโบสถสู่หอราชกรมานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูป ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แล้วเสด็จหอราชพงศานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูปซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนมาเมื่อทรงนมัสการทั้งสองหอนี้แล้ว เสด็จพระราชดําเนินทางพระระเบียงด้านตะวันตกไปหอพระนาคทีเดียว ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศกปีที่ ๑๐๑ คือบรรจบครบ ๑๐๐ ปีตั้งแต่สร้างกรุง ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วทรงพระราชดําริว่า ที่พระมณฑปและพระศรีรัตนเจดีย์ถ้าไม่เสด็จพระราชดําเนินอยู่เสมอ ก็จะชํารุดทรุดโทรมไป จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นนมัสการพระไตรปิฎกบนพระมณฑปก่อน แล้วจึงเสด็จนมัสการพระสถูปในพระศรีรัตนเจดีย์ แล้วเสด็จลงทางซุ้มประตูด้านเหนือสู่หอพระนาค นมัสการต้นนิโครธและพระวิหารยอด ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่นั้นด้วย แล้วจึงได้สดับปกรณ์ ที่หอพระนาคนั้น แต่เดิมเป็นที่ไว้พระพุทธรูปต่างๆ หลายสิบองค์ หุ้มทองบ้างหุ้มเงินบ้างหุ้มนาคบ้าง ทั้งรูปพระเชษฐบิดร คือรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑[๑๐]ซึ่งสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ที่แปลงเป็นพระพุทธรูปเสียแล้วนั้น ก็ประดิษฐานอยู่ด้วยพระอัฐิเจ้านายซึ่งไปอยู่ในหอพระนาคนั้น เก็บอยู่ในตู้ผนังข้างหลังพระวิหาร เป็นแต่เวลาสงกรานต์ก็เชิญมาตั้งบนม้าสดับปกรณ์ดูสับสนรุงรังมาก ในครั้งเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ โปรดให้เชิญพระพุทธรูปทั้งปวงนั้น ขึ้นไปไว้เสียบนพระวิหารยอด จัดหอพระนาคไว้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านายอย่างเดียว พระอัฐิที่ไม่มีพระโกศเป็นแต่ห่อผ้ากองๆ ไว้แต่ก่อนนั้น ก็ให้มีพระโกศปิดทองบรรจุไว้ทั้งสิ้นเป็นการเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การสดับปกรณ์นั้นก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วด้วยเรื่องของสดับปกรณ์แต่ก่อนนั้น เมื่อสดับปกรณ์เสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินกลับทางพระระเบียงด้านตะวันตก

การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระเชตุพนนั้น บางปีก็มีบ้าง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ก็มักจะเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันเนา ซึ่งไม่มีพระราชธุระมาก เสด็จทางใน แต่ไม่มีกระบวนแห่เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ ถ้าเปิดวัดพระเชตุพนแล้วก็โปรดให้มีพนักงานคอยเก็บเงิน ถ้าเป็นไพร่ๆ ก็เสียเล็กน้อยตามแต่จะมีใจศรัทธา ถ้าเป็นผู้ดีก็ตั้งแต่เฟื้องหนึ่งจนถึงกึ่งตําลึง สงกรานต์สามวันปีหนึ่งได้อยู่ในสามชั่งเศษสี่ชั่ง ถวายพระพิมลธรรม[๑๑]สำหรับปฏิสังขรณ์ปัดกวาดถางหญ้าถอนต้นไม้ในวัด ตั้งแต่พระวิหารทรุดโทรมลงมาก คนที่ออกวัดพระเชตุพนก็น้อยไปกว่าแต่ก่อน ในปีหนึ่งสองปีนี้ไม่ได้เปิด

อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชูปัธยาจารย์ เสด็จสถิตอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ สถิตอยู่วัดราชประดิษฐ์[[๑๒]เมื่อพ้นจากวันสงกรานต์ไปวันหนึ่งบ้างสองวันบ้าง เสด็จพระราชดําเนินไปถวายไตรจีวรผ้าเนื้อดีสรงน้ำเป็นการพิเศษอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดําเนินถึงพระอารามเช่นนั้น ก็ทรงนมัสการสรงน้ำพระพุทธชินศรี พระมหาเจดีย์ พระศรีศาสดา พระพุทธไสยาสน์ พระศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก๋งก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินที่พระตําหนัก ส่วนที่วัดราชประดิษฐ์ก็ทรงนมัสการและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[๑๓]และพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา จําลองทั้งสามองค์ ทั้งพระมหาปาสาณเจดีย์ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

อนึ่ง ในการสงกรานต์สามวันหรือสี่วันนี้ เจ้าพนักงานก็จัดหม้อน้ำเงิน ขวดแป้งสด ผ้าทรงพระ ถวายจบพระหัตถ์แล้วไปเที่ยวสรงพระพุทธรูป คือที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ วัดพระเชตุพนสรงพระพุทธเทวปฏิมากรแห่ง ๑ วัดมหาธาตุสรงพระมหาธาตุแห่ง ๑ วัดอรุณราชวรารามสรงพระประธานแห่ง ๑ วัดสุทัศนเทพวรารามสรงพระศรีศากยมุนีและพระศรีมหาโพธิ์รวม ๒ แห่ง วัดบรมนิวาสสรงพระประธานแห่งหนึ่ง วัดบวรนิเวศสรงพระพุทธชินศรี พระพุทธไสยาสน์ รวม ๒ แห่ง วัดสระเกศสรงพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร พระศรีมหาโพธิ์ รวม ๒ แห่ง วัดปทุมวันสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑  วัดราชาธิวาสสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ และมีผ้าห่มพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ์สิบสามผืนกํากับขวดน้ำไปด้วยทุกแห่ง และตั้งศาลาฉทานเหมือนอย่างเทศกาลตรุษที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ก่อนนั้น

อนึ่ง การตรุษก็ดี สงกรานต์ก็ดี เป็นเวลาที่คนทั้งปวงถือกันว่าเป็นฤดูหรือเป็นเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย เป็นธรรมเนียมเข้าใจซึมซาบ และเคยประพฤติมาช้านาน ไม่มีผู้ใดจะอับอายหรือสะดุ้งสะเทือนในการเล่นเบี้ยที่กําลังเล่นอยู่หรือเล่นแล้ว ไปที่แห่งใดก็เล่าโจษกันถึงการเล่นเบี้ยได้ไม่เป็นการปิดบัง บางทีก็ขยับจะอวดตัวเป็นนักเลง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดว่องไว อาจจะเอาชัยชนะพวกพ้องได้ ราวกับว่าไปทัพมีชัยชนะอย่างเตี้ยๆ อะไรมา การที่ถือว่าเล่นเบี้ยไม่เป็นการเสียหายอันใด ในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ ก็เพราะเป็นการที่ได้อนุญาตเป็นพยานว่าเจ้าแผ่นดินไม่ขัดขวางห้ามปรามหรือพลอยเห็นสนุกด้วย จึงได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานให้นักขัตฤกษ์ละ ๓ วัน

การที่พระเจ้าแผ่นดินอนุญาตหรือทรงเห็นดีด้วยในเรื่องเล่นเบี้ยนี้ก็คงจะเป็นความจริง แต่คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินบางองค์เช่นขุนหลวงตากเจ้ากรุงธนบุรี ไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้พระราชทานเงินให้ฝีพายเล่นกําถั่วหน้าพระที่นั่ง ถึงเอาขันตักเงินแจก ความประสงค์ที่ขุนหลวงตากทําเช่นนั้น เพราะตัวท่านเองอยู่ข้างจะเล่นเบี้ยจัดอยู่แล้วนั้นประการหนึ่ง ท่านก็เห็นใจกันกับพวกทหารทั้งปวงว่าการสนุกอะไรไม่เสมอเล่นเบี้ย ประสงค์จะให้ทหารเป็นที่รื่นเริงลืมความลําบากที่ต้องทนยากจึงได้ปล่อยให้เล่นเบี้ยเป็นการเอาใจ แต่เพราะการเล่นเบี้ยเป็นการไม่ดีได้สนุกสนานเสียแล้วก็ชวนให้ติด เมื่อเข้ามาถึงในกรุงแล้วก็ยังเล่นต่อไปบ่อยๆ การที่เล่นเบี้ยนั้นย่อมมุ่งหมายจะต่อสู้เอาทรัพย์กันและกัน ผู้ซึ่งมีอํานาจวาสนาเสมอๆ กันเล่นด้วยกัน เมื่อความปรารถนาอยากได้นั้นกล้าขึ้นก็ชักให้ฉ้อฉลบิดพลิ้วคดโกงกันไปต่างๆ ส่วนผู้ซึ่งมีวาสนามากเล่นกับผู้มีวาสนาน้อย เช่นเจ้านายเด็กๆ หรือเจ้านายผู้ใหญ่บางองค์ซึ่งเขาเล่ากันมา เล่นไพ่กับข้าหลวงและมหาดเล็กก็ต้องถวายแปดถวายเก้า ไม่ถวายก็ขัดเคืองไป ก็อย่างเช่นขุนหลวงตากซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจมากเห็นปานนั้น เมื่อมีความปรารถนาขึ้นมา และอาศัยความมัวเมาในเรื่องอื่นซึ่งทําให้สติเลื่อนลอยด้วย จนลืมถึงการบ้านเมือง คิดแต่จะหาทรัพย์สมบัติโดยทางเล่นเบี้ย ก็รีดเร่งทรัพย์สมบัติคนทั้งปวง เป็นหนี้หลวงไปทั้งบ้านทั้งเมือง จนภายหลังลงไม่ต้องเล่นเบี้ยก็เร่งเอาได้เปล่าๆ น้ำใจชั่วของขุนหลวงตากนี้ เกิดขึ้นด้วยการเล่นเบี้ยเป็นต้น ถึงโดยว่าแรกคิดจะเป็นอุบายที่ดีตามเวลาต้องการ ผลที่ออกภายหลังก็ไม่เป็นผลอันดีแก่ตนและผู้อื่น พากันได้ทุกข์ยากลำบากไปทั่วหน้าตลอดจนถึงตัวเอง เพราะเหตุฉะนั้นถึงแม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินภายหลังจะมิได้เลิกธรรมเนียมยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาตรุษเวลาสงกรานต์เสียก็ดี แต่ก็ไม่ได้โปรดให้เล่นเบี้ยในพระราชวังหรือทรงสรรเสริญการเล่นเบี้ยว่าเป็นการสนุกสนานอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

เพราะเหตุที่พระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ พระเจ้าแผ่นดินดำรงอยู่ในคุณความประพฤติดี ๓ ประการ คือไม่ทรงประพฤติและทรงสรรเสริญในการที่เป็นนักเลงเล่นเบี้ยการพนันอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติในการดื่มสุราเมรัยและกีดกันมิให้ผู้อื่นประพฤติอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติล่วงในสตรีที่เป็นอัคคมนิยฐานนี้อย่าง ๑ เป็นความประพฤติซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์นี้ได้ทรงงดเว้นเป็นขาดสืบๆ กันมา พระบรมราชวงศ์นี้จึงได้ตั้งปกครองแผ่นดินอยู่ยืนยาวกว่าบรมราชวงศ์อื่นๆ ซึ่งได้ปกครองแผ่นดินมาแต่กาลก่อนแล้ว บ้านเมืองก็เจริญสมบูรณ์ปราศจากเหตุการณ์ภายในซึ่งจะให้เป็นที่สะดุ้งสะเทือนหวาดหวั่นแก่ชนทั้งปวง ไม่มีตัวอย่างในพระราชพงศาวดารระยะใดตอนใดจะเทียบเทียมถึง เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการที่ยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงก็จะเป็นอันไม่ได้กล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ ในพระราชกุศลสำหรับเดือนห้าจึงต้องกล่าว แต่ขอเตือนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่จะได้อ่านหนังสือให้มีสติระลึกไว้ ถึงแม้ว่าได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานดังนี้ ก็มิได้ยกพระราชทานโดยพระราชประสงค์จะให้เล่นเบี้ยกันให้สบาย เป็นแต่พระราชทานไปตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน โดยทรงพระมหากรุณาแก่ชนทั้งปวงว่าได้เคยรับประโยชน์อันใดแล้วก็ไม่มีพระราชหฤทัยที่จะให้ยกถอนเสีย แต่การเล่นเบี้ยนั้น เป็นที่ไม่ต้องพระอัธยาศัยมาทุกๆ พระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ซึ่งมีความนับถือเคารพต่อพระบารมีและพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินสืบๆ กันมา ควรจะตริตรองให้เห็นโทษเห็นคุณตามที่จริง และงดเว้นการสนุก และการหาประโยชนในเรื่องเล่นเบี้ยนี้เสีย จะได้ช่วยกันรับราชการฉลองพระเดชพระคุณทะนุบำรุงแผ่นดิน เพิกถอนความชั่วในเรื่องเล่นเบี้ยซึ่งอบรมอยู่ในสันดานชนทั้งปวงอันอยู่ในพระราชอาณาเขต เป็นเหตุจะเหนี่ยวรั้งความเจริญของบ้านเมืองให้เสื่อมสูญไป ด้วยกําลังที่ช่วยกันมากๆ และเป็นแบบอย่างความประพฤติให้คนทั้งปวงเอาอย่าง ตามคํานักปราชญ์ย่อมกล่าวไว้ ว่าการที่ทําให้เห็นเป็นแบบอย่างง่ายกว่าที่จะสั่งสอนด้วยปาก ถ้าเจ้านายขุนนางประพฤติการเล่นเบี้ยอยู่ตราบใด คนทั้งปวงก็ยังเห็นว่าไม่สู้เป็นการเสียหายมาก ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงยังประพฤติอยู่ ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์ละเว้นเสีย ให้เห็นว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นของคนที่ต่ำช้าประพฤติแล้ว ถึงแม้ว่าจะเลิกขาดสูญไปไม่ได้ก็คงจะเบาบางลงได้เป็นแท้

การพระราชกุศลในนักขัตฤกษ์สงกรานต์ หมดเพียงเท่านี้ ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือวัดมกุฎกษัตริย์ พระราชทานนามนั้นในรัชกาลที่ ๔ แต่แรกคนไม่เรียก ด้วยเกรงว่าพ้องกับพระบรมราชนามาภิไธย จึงโปรดให้เรียกว่าวัดพระนามบัญญัติพลาง ให้เปลี่ยนเป็นอย่างเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๕
[] สี่สระอยู่ในเขตสุพรรณบุรี
[] คือพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) เวลานั้นยังเป็นพระราชโกษา เป็น บุตรพระยาราชโกษา (จันทร์)
[] เมื่อในคราวขุนหลวงตากเสียพระสติ เมื่อจะสิ้นแผ่นดิน
[] ได้พระราชทานผ้าคู่ แต่ที่เป็นบุตรธิดาภรรยาหลวงของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย นอกนั้นมีแต่อัฐิเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
[] ท้าวศรีสัจจา (กลิ่น ณ นคร) ท้าววรจันทร์เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔
[] กอมมิตตี (Committee) คือกรรมการ
[] พระพุทธบุษยรัตนน้อย ได้มาในรัชกาลที่ ๕ พระสัมพุทธพรรโณภาษทรงหล่อในรัชกาลที่ ๕ พระพุทธสิหิงค์น้อยทรงหล่อในรัชกาลที่ ๔
[] พระคันธารราษฎร์ ทรงหล่อสําหรับพิธีขอฝนในรัชกาลที่ ๑
[๑๐] รูปพระเชษฐบิดรนี้ ว่าเดิมอยู่ที่ซุ้มพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์กรุงเก่า ราษฎรเชื่อถือกันว่าดุร้ายนัก จึงโปรดให้กรมหลวงเทพพลภักดีเชิญลงมาแล้วแปลงเป็นพระพุทธรูป ที่ซุ้มพระปรางค์ก็ปั้นพระพุทธรูปไว้แทน ยังปรากฏอยู่
[๑๑] พระพิมลธรรม อ้น
[๑๒] ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
[๑๓] คือพระประธานในพระวิหารหลวง ทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์


เดือนห้า
คําตักเตือนวันมหาสงกรานต์

ถ้าเสด็จพระราชดําเนินเลี้ยงพระสงฆ์ ฉลองพระเจดีย์ทราย มหาดเล็กต้องเตรียมเทียนพานซึ่งสำหรับนมัสการพระพุทธรูปในวัดนั้น และต้องคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดเทียนข้าวบิณฑ์ และรับพระสุหร่ายเงินไปคอยถวายสำหรับสรงพระทรายด้วย เวลาค่ำสวดมนต์ฉลองพระชนมพรรษา ภูษามาลาคอยรับดอกไม้ซึ่งทรงจบพระหัตถ์ แล้วขึ้นไปรายหน้าพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา และรับพระสุหร่ายลงยาราชาวดีคอยถวายสรงพระพุทธรูปด้วย ในวันเนาเวลาเช้าสรงน้ำพระ ภูษามาลาต้องรับพระสุหร่ายลงยาราชาวดี มหาดเล็กรับพระสุหร่ายเงินถวายสรงน้ำพระสงฆ์ และภูษามาลารายดอกไม้หน้าพระเหมือนกันทั้งเช้าทั้งเย็น วันเถลิงศกมหาดเล็กต้องคอยถวายเทียนชนวน ทรงจุดเครื่องทองน้อยที่พระบรมอัฐิ อาลักษณ์ฉลากพระนาม เวลาค่ำคงจะเสด็จพระราชดําเนินวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ใคร่ขาด พานเทียนสำหรับในพระอุโบสถ สำหรับหอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร สำหรับพระมณฑป สำหรับพระเจดีย์ สำหรับต้นนิโครธ สำหรับวิหารยอด สำหรับหอพระนาคเอง ดูต้องตะโกนโวยวายอยู่เนืองนิตย์ ถ้าจะให้ดีแล้วตัวนายหุ้มแพรนายรองถือเองตามเสด็จให้ติดๆ ไป ดูก็จะไม่สู้เสียเกียรติยศและหนักหนาอันใดนัก ดีกว่าต้องวิ่งเถลือกถลาเรียกมหาดเล็กเวร ทางเสด็จพระราชดําเนินตํารวจก็มักจะไม่มีใครจําได้ว่าอย่างไร มักนําไปเก้อแล้วเก้อเล่าแทบทุกปี คือแรกเสด็จพระราชดําเนินเข้าทางประตูพระระเบียงด้านตะวันออก เลี้ยวไปหน้าศาลารายข้างเหนือเข้าช่องกําแพงแก้วด้านเหนือ ขึ้นพระอุโบสถด้านพระทวารข้างใต้ ทรงจุดเครื่องนมัสการทองใหญ่แล้วสรงน้ำพระพุทธรูป และทรงจุดเครื่องนมัสการตามหน้าพระ ในขณะนั้นพราหมณ์จุดเทียนเบิกแว่นทีเดียว ไม่ต้องรอให้นมัสการแล้ว ตํารวจซึ่งขึ้นไปเวียนเทียนอยู่ในพระอุโบสถนั้น พอเทียนเข้าแว่นต้องลงมาคอยรับเสด็จพระราชดําเนินอยู่หลังพระอุโบสถ จะเสด็จพระราชดําเนินลงทางพระทวารหลังพระอุโบสถข้างใต้ ขึ้นหอราชกรมานุสรก่อน แล้วจึงหอราชพงศานุสร เมื่อเสด็จจากหอราชพงศานุสรออกทางช่องกําแพงแก้วหลังพระอุโบสถด้านเหนือ ขึ้นซุ้มประตูตรงพระเจดีย์ด้านใต้ แล้วไปขึ้นพระมณฑปทางพระทวารด้านตะวันตก เสด็จกลับทางเดิมนั้น ขึ้นช่องคูหาพระศรีรัตนเจดีย์ด้านตะวันออก แล้วเสด็จออกทางช่องคูหาด้านเหนือ ตรงไปลงซุ้มประตูด้านเหนือ ทรงบูชาต้นนิโครธและวิหารยอด แล้วเสด็จเข้าหอพระนาค เวลากลับเสด็จตามพระระเบียงด้านตะวันตกออกประตูด้านตะวันตก

เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ พานเทียนมหาดเล็กเกิดความอย่างยิ่งทุกปี พนักงานนมัสการก็ยังไม่รู้สึก เทียนที่จัดไปยังไม่พอ ถ้ามหาดเล็กผู้ใดจะรับเทียนตรวจเสียด้วยได้จะดี ที่นมัสการที่วัดบวรนิเวศนั้น คือเทียนพระพุทธชินศรีคู่ ๑ พระนิรันตรายคู่ ๑ จุดที่โต๊ะข้างซ้ายทั้ง ๒ คู่ ในพระเจดีย์ ๒ คู่ พระที่เก๋งเล็กบนทักษิณพระเจดีย์คู่ ๑ พระศรีศาสดาคู่ ๑ พระพุทธไสยาสน์คู่ ๑ พระศรีมหาโพธิ์คู่ ๑ พระพุทธวชิรญาณคู่ ๑ พระพุทธปัญญาอัคคะคู่ ๑ วัดราชประดิษฐ์ พระพุทธสิหิงค์คู่ ๑ พระพุทธชินราชคู่ ๑ พระพุทธชินศรีคู่ ๑ พระศรีศาสดาคู่ ๑ พระนิรันตรายคู่ ๑ ทั้งนี้ในพระวิหารหลวงทั้งสิ้น พระปาสาณเจดีย์คู่ ๑ พระบรมรูปคู่ ๑ และให้มหาดเล็กคอยรับผ้าไตรจีวรและน้ำสรงธูปมัดเทียนมัด อย่าให้ต้องโวยวายทั้งสองวัดด้วย ๚
   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 16:11:26 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #23 เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2561 15:51:31 »




พระราชพิธีเดือนหก
• พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล
• การวิสาขบูชา
-----------------------------------

พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล


๏ การพระราชพิธีกล่าวเป็นสองชื่อ แต่เนื่องกันเป็นพิธีเดียวนี้ คือปันในวันสวดมนต์เป็นวันพระราชพิธีพืชมงคล ทําขวัญพืชพรรณต่างๆ มีข้าวเปลือกเป็นต้น จรดพระนังคัลเป็นพิธีเวลาเช้าคือลงมือไถ ถ้าจะแบ่งเป็นคนละพิธีก็ได้ ด้วยพิธีพืชมงคลไม่ได้ทําแต่ในเวลาค่ำวันสวดมนต์ รุ่งขึ้นเช้าก็ยังมีการเลี้ยงพระต่อไปอีก การจรดพระนังคัลนั้นเล่า ก็ไม่ได้ทำแต่วันซึ่งลงมือแรกนา เริ่มพระราชพิธีเสียแต่เวลาค่ำวันสวดมนต์พิธีพืชมงคลนั้นแล้ว พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ทําที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองนั้นก็นับว่าทําพร้อมกันในคืนเดียววันเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อติดกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล

ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือกำหนดสี่อย่าง ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตําราเกร็ด เขาสำหรับใช้เริ่มที่จะลงมือแรกนา หว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ที่เขาใช้กันนั้นไม่ต้องหาฤกษ์อย่างอื่น ให้แต่ได้สี่อย่างนี้แล้ว ถึงจะถูกวันอุบาทว์โลกาวินาศก็ใช้ได้ แต่ฤกษ์จรดพระนังคัลอาศัยประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีกชั้นหนึ่ง ตามแต่จะได้ลงวันใดในเดือนหก ดิถีซึ่งนับว่าผีเพลียนั้น ข้างขึ้นคือ ๑, ๕, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๕ ข้างแรม ๑, ๕, ๖, ๗, ๘, ๑๐, ๑๓, ๑๔ เป็นใช้ไม่ได้ ศุภดิถีนั้นก็คือดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั้นเอง บุรณฤกษ์นั้น คือ ๒, ๔, ๕, ๖, ๘, ๑๑, ๑๔, ๑๗, ๒๒, ๒๔, ๒๖, ๒๗ วันสมภเคราะห์นั้น คือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกําหนดธาตุอีกอย่างหนึ่ง ตามวันที่โหรแบ่งเป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ จะพรรณนาที่จะหาฤกษ์นี้ก็จะยืดยาวไป เพราะไม่มีผู้ใดที่จะต้องใช้อันใด

การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทําเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทํานา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือน้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกําลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด

ก็ธรรมเนียมการแรกนา ซึ่งมีมาในสยามแต่โบราณตามที่ค้นได้ในหนังสือต่างๆ คือในหนังสือนพมาศเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยนั้น มีข้อความว่า “ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาข จรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรตเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้างเขา กําหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกํานัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย  ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลัง ประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิงบังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประตักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเองแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ ถือไถเงินเทียมด้วยพระโคเศวต พระพรเดินไถเป็นที่สอง พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างคหบดี ถือไถหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม้ประตัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน  ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบําโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลอดบ่วงรําแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทํานายตามตํารับไตรเพท ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง” เป็นเสร็จการพระราชพิธีซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ

ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “เดือนไพศาขจรดพระนังคัล เจ้าพระยาจันทกุมารถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค์ พระพลเทพถวายบังคมสั่งอาญาสิทธิ์ ทรงพระกรุณาลดพระบรมเดชมิได้ไขน่าลออง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสด็จออก ส่วนเจ้าพระยาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาสขัดแห่ขึ้นช้าง แต่นั้นให้สมโภชสามวัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา นาร้อยนาหมื่นกรมการในกรมนาเฝ้า และขุนหมื่นชาวศาลทั้งปวงเฝ้าตามกระบวน” ได้ความในกฎมนเทียรบาลแต่เท่านี้ เป็นข้อความรวมๆ ลงไปกว่าหนังสือนพมาศหลายเท่า การที่ไปแรกนาไปทำอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวถึง วิธีที่จัดการพระราชพิธีนี้เห็นจะไม่เหมือนกันกับที่สุโขทัยเลย ดูเป็นต่างครูกันทีเดียว ข้างสุโขทัยดูการพระราชพิธีนี้เป็นการคล้ายออกสนามใหญ่ เจ้าแผ่นดินยังถืออำนาจเต็ม ออกญาพลเทพเป็นแต่ผู้แทนที่จะลงมือไถนา ส่วนข้างกรุงเก่ายกเอาเจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตําแหน่งเสนาบดีผู้ออกหมายตามกระทรวงเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นเหมือนหนึ่งออกจากอํานาจจําศีลเงียบเสียสามวัน การที่ทําเช่นนี้ก็เห็นจะประสงค์ว่าเป็นผู้ได้รับสมมติสามวัน เหมือนอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแรกนาเองดูขลังมากขึ้น ไม่เป็นแต่การแทนกันเล่นๆ ต่างว่า แต่วิธีอันนี้เห็นจะได้ใช้มาจนตลอดปลายๆ กรุงเก่า ด้วยได้เห็นในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด ความนั้นก็ลงรอยเดียวกันกับกฎมนเทียรบาล เป็นแต่ตัดความไปว่าถึงเวลาไปทำพิธีชัดเจนขึ้น คือว่าพระอินทกุมารฉลองพระองค์ ส่วนพระมเหสีนั้นนางเทพีฉลองพระองค์ ขี่เรือคฤหสองตอนไปถึงทุ่งแก้วขึ้นจากเรือ พระอินทกุมารสวมมงกุฎอย่างเลิศขี่เสลี่ยงเงิน นางเทพีสวมมงกุฎอย่างเลิศไม่มียอดขี่เสลี่ยงเงินแห่มีสัปทนบังสูรย์เครื่องยศตาม บรรดาคนตามนั้นเรียกว่ามหาดเล็ก มีขุนนางเคียงถือหวายห้ามสูงต่ำ ครั้นเมื่อถึงโรงพิธีแล้ว พระอินทกุมารจับคันไถเทียมโคอุสุภราชโคกระวิน พระยาพลเทพถือเชือกจูงโค นางเทพีหาบกระเช้าข้าวหว่าน ครั้นไถได้สามรอบแล้วจึงปลดโคออกกินข้าวสามอย่าง ถั่วสามอย่าง หญ้าสามอย่าง ถ้ากินสิ่งใดก็มีคําทํานายต่างๆ ซึ่งชื่อผู้แรกนาแปลกกันไปกับในกฎมนเทียรบาล ข้างหนึ่งเป็นจันทกุมาร ข้างหนึ่งเป็นอินทกุมาร ข้างหนึ่งเรียกเจ้าพระยา ข้างหนึ่งเรียกพระ การที่ชื่อแปลกกันนั้นได้พบในจดหมายขุนหลวงหาวัดนี้เอง เมื่อว่าถึงพระราชพิธีเผาข้าวว่าพระจันทกุมารเป็นผู้ได้รับสมมติไปทำพิธี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า มีทั้งพระอินทกุมารพระจันทกุมาร ๒ คน ที่ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล ข้างหนึ่งว่าพระอินทกุมาร ข้างหนึ่งว่าพระจันทกุมาร ก็เห็นจะเป็นไขว้ชื่อกันไปเท่านั้น หรือบางทีก็จะผลัดเปลี่ยนเป็นคนนั้นแรกนาบ้าง คนนี้แรกนาบ้าง แต่ยศที่เรียกว่าเจ้าพระยาหรือพระอย่างใดจะเป็นแน่นั้น ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระราชดําริเห็นว่าจะเป็นเจ้าราชินิกุล คำที่เรียกว่าพระๆ นี้ดูใช้ทั่วไปในชื่อเจ้านาย อย่างเช่นนั้นแรกๆ พระเทียรราชา พระราเมศวร พระมหินทราธิราช อีกชั้นหนึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเช่นพระศรีเสาวราช พระเหล่านี้เป็นลูกหลวงเอกทั้งนั้น ในชั้นหลังๆ มีเจ้าเติมหน้า ก็ดูเป็นเหมือนกับจะเรียกนำติดปากไป พอให้รู้ว่าเป็นพระราชตระกูล มิใช่พระขุนนาง เช่น เจ้าพระพิชัยสุรินทร การซึ่งเห็นว่าพระอินทกุมารหรือจันทกุมารจะเป็นราชินีกุลนั้น ด้วยได้รับยศใหญ่กว่าเจ้าพระยาพลเทพ แต่เมื่อค้นดูในตําแหน่งนาพลเรือน ที่มีชื่อเจ้าราชินีกุลหลายคน ก็ไม่มีชื่อสองชื่อนี้ มีแต่ชื่อพระอินทรมนตรี มีสร้อยว่าศรีจันทกุมารอยู่คนหนึ่ง ถ้าจะคิดว่าตําแหน่งพระอินทกุมาร พระจันทกุมารนี้ จะเป็นตําแหน่งพระอินทรมนตรี ศรีจันทกุมารคน ๑ พระมงคลรัตนราชมนตรี ถ้าจะเติมศรีอินทรกุมารเข้าอีกคน ๑ ก็จะเข้าคู่กันได้ชอบกลอยู่ เพราะกรมสรรพากรนี้ได้บังคับบัญชาการตลอดทั้งปวง ดูแต่ก่อนเป็นตําแหน่งใหญ่ การแรกนานี้เกี่ยวข้องอยู่กับกรมสรรพากรบ้าง เช่นหมายรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้ว่า อนึ่ง ให้คลังมหาสมบัติสรรพากรใน หมายบอกกำนันตลาดบกตลาดเรือกรุงเทพฯ เป็นต้น ที่อ้างถึงนี้ใช่จะว่าความตามรูปหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะรูปหมายทุกวันนี้เป็นแต่ให้เป็นผู้ประกาศให้ลูกค้ารู้ ที่จะว่าเดี๋ยวนี้ประสงค์จะให้รู้ว่าการเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรบ้าง และกรมสรรพากรแต่ก่อนเป็นกรมใหญ่ บางทีตำแหน่งจันทกุมารอินทกุมารนี้ถึงเป็นราชินิกุล จะได้บังคับบัญชากรมสรรพากรบ้างดอกกระมัง หลวงอินทรมนตรีจึงมีสร้อยศรีจันทกุมารติดท้ายอยู่ แต่ตําแหน่งมงคลรัตน์นั้นไม่มีอินทกุมารหายไป ธรรมเนียมสร้อยชื่อของเก่ากรมใดมักจะใช้สร้อยชื่อเรื่องเดียวกันไปทั้งชุด เช่น กรมช้างใช้สร้อยชื่อสุริยชาติ เป็นต้น ตลอดทั้งจางวางและเจ้ากรม ถ้าสร้อยชื่อจันทกุมารอินทกุมารเป็นของกรมสรรพากร ก็คงจะเป็นกรมสรรพากรแรกนา แต่เมื่อคิดอีกอย่างหนึ่งหรือจะเป็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งควรจะแรกนาแล้ว โปรดให้ไปแรกนาเหมือนอย่างชั้นหลังๆ ไม่ว่าตําแหน่งใด ถ้าผู้ใดไปแรกนา ก็เรียกผู้นั้นเป็นพระอินทกุมารหรือพระจันทกุมารจะได้ดอกกระมัง แต่ในชั้นหลังครั้งขุนหลวงหาวัดนี้ เรื่องให้อํานาจจนถึงยื่นพระขรรค์เห็นจะเลิกเสียแล้วจึงไม่ได้กล่าวถึง ดูก็จะได้รับยศคล้ายๆ ขุนนางแรกนาอยู่ทุกวันนี้

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นคําพูดกับมาชุมๆ คู่กันกับพระยาพลเทพยืนชิงช้าตีนตกต้องริบตะเภาเข้ามาวันนั้นต้องเป็นของพระยาพลเทพ ในการแรกนานี้ตะเภาเข้ามาก็เป็นของผู้แรกนาเหมือนกัน แต่มีวิเศษออกไปที่เรื่องว่าได้กำตากด้วย เรื่องกำตากนี้มีคำพูดกันจนถึงเป็นคำพูดเล่น ถ้าผู้ใดจะแย่งเอาสิ่งของผู้ใดเป็นการหยอกๆ กัน ก็เรียกว่ากําตากละ เรื่องกําตากนี้ได้ค้นพบในจดหมายขุนหลวงหาวัด ว่าระหว่างพิธีสามวันนั้น ถ้าเป็นพ่อค้าเรือและเกวียนและพ่อค้าสำเภาจักมาแต่ทิศใดๆ ทั้ง ๘ ทิศ ถ้าถึงในระหว่างพิธีนั้น พระอินทกุมารได้เป็นสิทธิ อนึ่ง ทนายบ่าวไพร่ของพระอินทกุมาร ในสามวันนั้นจะไปเก็บขนอนตลาดและเรือจ้างในทิศใดๆ ก็ได้เป็นสิทธิ เรียกว่าทนายกําตาก มีข้อความของเก่าจดไว้ดังนี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่า ข้อที่ว่าเกวียนและเรือสำเภามาถึงในวันนั้นเป็นสิทธิ ดูเหมือนหนึ่งบรรดาสินค้าซึ่งมาในเกวียนและสำเภานั้น จะต้องริบเป็นของพระอินทกุมารทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้นมุ่งหมายจะว่าด้วยค่าปากเรือและค่าเกวียนซึ่งเป็นภาษีขาเข้าอย่างเก่า การที่อนุญาตให้นั้นอนุญาตค่าปากเรือและค่าเกวียนในส่วนที่มาถึงวันนั้นให้เป็นรางวัล แต่ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์ที่ได้เสมอทุกปี เพราะการค้าขายแต่ก่อนมีน้อย ที่จะหาสำเภาลําใดและเกวียนหมู่ใดให้มาถึงเฉพาะในวันพระราชพิธีนั้นได้เสมอทุกปีคงหาไม่ได้ คงจะมีผู้ได้จริงๆ สักครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เพียงห้าชั่งหกชั่งก็จะนับว่าเป็นเศรษฐีปลื้มกันเต็มที จึงได้นิยมโจษกันไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนประโยชน์ที่ได้จริงๆ เป็นของเสมออยู่นั้น คงจะเป็นค่าตลาดค่าเรือจ้างส่วนวันนั้น เป็นยกพระราชทานให้ผู้แรกนาเก็บ ค่าตลาดที่กล่าวนี้คือที่เก็บอยู่อย่างเก่า พึ่งมาเลิกเสียในรัชกาลที่ ๔ นายอากรตลาดนั้น มักจะเป็นผู้หญิงที่เป็นคนค้าขายทํามาหากิน รับผูกจากพระคลังไปเก็บ เช่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีท้าวเทพากรคนหนึ่งเป็นผู้ไปเก็บ ท้าวเทพากรนั้นก็นับว่าเป็นเศรษฐี เป็นที่นับถือชื่อเสียงเลื่องลือเหมือนอย่างเจ้าสัวคนหนึ่ง ถ้าใครอยากจะสำแดงตัวว่าเป็นผู้มีเชื้อแถวและทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ เมื่อไต่ถามว่าเป็นลูกใครหลานใคร ถ้าเกี่ยวข้องเป็นญาติลูกหลานของท้าวเทพากร ถึงห่างเท่าใดก็ต้องอ้างว่าเป็นลูกหลานของท้าวเทพากร ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาดังนี้ แล้วผู้ที่ฟังฉันก็เข้าใจซึมซาบว่า เป็นคนมั่งคั่งบริบูรณ์ พิกัดเก็บอากรตลาดนั้น เก็บตามแผงลอยร้านหนึ่งเก็บวันละเฟื้อง แต่ผู้ซึ่งเก็บอากรนั้นไม่ใคร่จะเก็บตามพิกัด ด้วยเวลานั้นใช้ซื้อขายกันด้วยเบี้ย มักจะตักตวงเอาเหลือเกินกว่าพิกัด ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปตลาดท้ายสนม ดำรัสถามพวกชาวร้านด้วยเรื่องเสียอากรตลาด ทรงเห็นว่าราษฎรที่มีของสดเล็กน้อยมาขายต้องเสียอากร นายตลาดเก็บแรงเหลือเกิน จึงได้โปรดให้เลิกอากรตลาดเสีย เปลี่ยนเป็นภาษีเรือโรงร้านตึกแพ อากรตลาดซึ่งเก็บอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นอากรในแบบซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า การซึ่งว่าทนายของผู้แรกนาไปเที่ยวเก็บอากรขนอนตลาดได้เป็นสิทธิทุกแห่งนั้น ก็คือยกอากรที่เก็บร้านละเฟื้องในส่วนวันนั้นพระราชทานให้แก่ผู้แรกนาไปเก็บเอาเอง จึงได้มีหมายให้คลังมหาสมบัติสรรพากรหมายบอกกํานันตลาดบกตลาดเรือ ให้ประกาศป่าวร้องให้ลูกค้ารู้จงทั่วกัน คือให้รู้ว่ากําหนดวันนั้นให้เสียอากรแก่ผู้แรกนา ถ้าเรือสำเภาเข้ามาก็ให้เสียค่าปากเรือค่าจังกอบแก่ผู้แรกนา เมื่อได้พระราชทานอนุญาตเช่นนี้ ผู้แรกนาก็แต่งทนายออกไปเที่ยวเก็บอากร ผู้แรกนาเองก็เป็นเวลานานๆ จะได้ครั้งหนึ่ง มุ่งหมายอยากจะได้ให้มาก ทนายซึ่งไปนั้นเล่าก็อยากจะหาผลประโยชน์ของตัวเป็นลําไพ่บ้าง เก็บอากรจึงได้รุนแรงล้นเหลือเกินพิกัดไปมาก นุ่งยิ่งกว่าที่นายตลาดนุ่งอยู่แต่ก่อน จนลูกค้าชาวตลาดทั้งปวงพากันกลัวเกรง เมื่อจะเอาให้มากผู้ที่จะให้ก็ไม่ใคร่จะยอมให้ ข้างผู้ที่จะเอาก็ถืออํานาจที่ได้อนุญาตไป โฉบฉวยเอาตามแต่ที่จะได้ จนกลับเป็นวิ่งราวกลายๆ คำที่ว่ากำตากจึงได้เป็นที่กลัวกัน จนถึงเอามาพูดเป็นยูดี ในเวลาที่จะแย่งของอันใดจากกันว่า กําตาก แต่ส่วนคำกำตากเองนั้นดูก็เป็นภาษาไทยแท้ แต่แปลไม่ออกว่าอะไร มีท่านผู้หนึ่งได้แปลโดยการเดา ลองคิดดูเห็นว่าคำ กำ นั้น แปลว่า ถือ ตาก แปลว่าของที่ตั้งเปิดเผยไว้ ดังคําที่เรียกว่าเอาของผึ่งตากเป็นต้น คือจะถือเอาใจความว่า ร้านตลาดที่เวลาออกอยู่เปิดอยู่เอาพัสดุสินค้าออกตั้งวางเพื่อจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โบราณาจารย์จะเรียกว่าตากดอกกระมัง คำว่ากำนั้น ก็คือทนายของพระยาไปเที่ยวฉกฉวยสิ่งของตามร้านตลาด ก็ต้องเอามือกํามาจึงได้ของ ก็คําสองคํานี้เข้าเป็นสมาส จึงเป็นกำตาก ความเห็นได้กล่าวดังนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย ได้คิดเดาแปลลองดูเองบ้าง สงสัยว่าคําตากนั้นจะเรียกลากยาวไป บางทีจะเป็นตักดอกกระมัง ด้วยแต่ก่อนมาการซื้อขายกันในตลาดใช้เบี้ยหอย ตลาดแผงลอยเช่นนี้ มักจะมีกระจาดหรือกระบุงไว้คอยรับเบี้ยจากผู้ที่มาซื้อ และทอนเงินทอนเบี้ยกัน ในที่ๆ ไว้เบี้ยเช่นนั้น มักมีถ้วยน้ำพริกปากไปล่ หรือจอกทองเหลืองคว่ำครอบอยู่ที่กลางกองเบี้ย สำหรับใช้ตักตวง เมื่อเวลาพระยาผู้แรกนาได้รับอนุญาตให้เก็บเงินค่าอากรตลาดในวันแรกนา ก็ไปเก็บอากรนั้นด้วยเบี้ยจากกระบุงหรือกระจาดที่ไว้เบี้ยนั้น แต่การที่พระราชทานอนุญาตเช่นนั้น เมื่อแรกอนุญาตก็คงจะยกเงินอากรให้แก่นายตลาด ชาวตลาดต้องเสียแก่พระยาผู้แรกนาฝ่ายเดียว แต่ครั้นภายหลังมานายอากรตลาดก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เจ้าพนักงานก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เมื่อการจืดๆ ลงมาภายหลัง เงินอากรก็จะไม่ได้ยกให้นายตลาดหรือนายตลาดจะยอมเสียว่าเล็กน้อย ไม่ต้องลดเงินหลวงลงเพราะมีกำไรอยู่มากแล้ว เจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเป็นธุระอันใดต่อไป ในเรื่องที่จะยกเงินอากรให้ในวันนั้น จนเลยลืมไม่มีใครรู้ว่าเคยลด ข้างส่วนนายอากรที่จะมาเก็บอากรตลาดใหม่ต่อไป ก็ไม่รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันจะต้องยกเว้นอันใด หรือรู้สึกแต่ถือว่าเงินหลวงต้องเสียเต็มไม่ได้ยกเว้นให้ ก็คงเก็บตลาดอยู่ในเวลาที่แรกนานั้นมิได้ยกเว้น แต่ส่วนทนายของพระยาผู้ซึ่งแรกนา ที่เคยได้ประโยชน์หรือรู้ว่าเป็นธรรมเนียมได้ประโยชน์มาก็ออกเที่ยวเก็บตลาด ฝ่ายชาวตลาดจะเถียงว่าได้เสียอากรแล้วไม่ยอมให้ พวกทนายนั้นก็คงไม่ฟัง ล้วงมือลงไปกำหรือเอาถ้วยเอาจอกตักเบี้ยในกระบุงเอาไปพอแก่ที่จะฉกล้วงเอาได้ ข้างฝ่ายชาวตลาดจะไปร้องฟ้องว่ากล่าวอันใดก็ป่วยการ ได้ไม่เท่าเสียเพราะเบี้ยที่ทนายพระยามาเอาไปนั้นก็เพียงกำหนึ่งตักหนึ่ง จะเสียค่าธรรมเนียมยิ่งกว่านั้นหลายเท่า จึงตกลงใจว่าเบี้ยกําหนึ่งตักหนึ่งช่างเถิด ครั้นต่อมาภายหลังผู้ที่ไม่ทราบต้นเหตุ เห็นถึงวันแรกนาแล้ว พวกทนายของพระยามาเที่ยวกําเที่ยวตักเบี้ยตามร้าน ก็เรียกว่าพวกกําพวกตักมา ต้องเสียเบี้ยกําเบี้ยตัก ลงเป็นธรรมเนียมว่า วันนั้นแล้วเป็นต้องเสียอากรอีกชั้นหนึ่ง ร้านละกําละตักหนึ่ง ครั้นคำที่เรียกว่าพวกทนายกําทนายตัก เรียกชินๆ ปากเข้าก็ขี้เกียจซ้ำทนายอีกครั้งหนึ่ง คงเรียกแต่ทนายกําตัก ก็เมื่อนานมาคําพูดอยู่ชินๆ ปากของผู้ที่เข้าใจแล้ว หมายว่าไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ไม่ได้แปลให้กันฟังต่อๆ ไปไม่มีผู้รู้มีนนิง[] คือความหมายเดิมว่ากระไร ผู้ที่พูดตามๆ มาก็พูดไปอย่างนั้นไม่เข้าใจคำแปลว่ากระไรเลย เข้าใจว่าทนายกําตักนั้นเป็นภาษาสำหรับพูดแปลว่าแย่งเบี้ยในร้าน ก็อย่างเดียวกันกับคำที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ว่าโคมลอยก็ดี ว่านุ่งก็ดี ก็มีมีนนิงอาจที่จะชี้แจงชักเรื่องได้ยืดยาว ถ้าไม่ได้จดหมายชี้แจงไว้นานไปภายหน้าพูดกันอยู่ยังไม่จืด ก็คงจะต้องเข้าใจว่าโคมลอยนั้นแปลว่าเหลว นุ่งแปลว่าโกงหรือฉ้อ คําพูดเช่นนี้เป็นคําล้อหน่อยๆ หนึ่ง ไม่ได้แปลที่มาแห่งคำเรียกนั้นไว้ก็เลยไม่มีผู้ใดทราบได้ อนึ่งคําสั้นกับคํายาวมักจะเรียกกลายๆ กันไปได้ เช่นคําว่าไก่ ท้าวสุภัติการ (นาก) ที่ตายในเร็วๆ นี้ เรียกว่าก่ายเสมอ คําอื่นๆ ที่ผู้อื่นๆ เรียกเช่นนี้มีมากหลายคำหลายคน ก็คำที่เรียกว่ากำตักนี้ จะเรียกยาวออกไปว่ากำตากได้บ้างดอกกระมัง เมื่อผู้ที่พูดคำลากยาวเช่นนี้ ได้เขียนหนังสืออันใดลงไว้ ว่ากำตากกำตาก ถึงแม้ว่าผู้ที่ยังเรียกกำตักอยู่ตามเดิมบ้าง เรียกกำตากตามหนังสือบ้าง จะเกิดถุ้งเถียงกันขึ้น ก็คงจะต้องอ้างเอาหนังสือเป็นหลักฐานว่าเป็นถูก เมื่อไม่มีผู้ใดรู้ความมุ่งหมายของคํานั้น จะชี้แจงตัดสินว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด ก็คงต้องตกลงตามหนังสือจึงได้ปรากฏมาว่าทนายกําตาก หรือเก็บกําตาก เสียค่ากําตาก ได้กําตาก ความที่ว่ามาทั้งนี้ เป็นเรื่องเดาทั้งสิ้น ผิดถูกอย่างไรขอโทษที แต่เรื่องกําตากนี้ จะได้มียกอากรหลวงพระราชทานมาเพียงใดก็ไม่ปรากฏ เป็นแต่ความนิยมของคนที่พูดกันอยู่ จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ นี้ ถึงแต่ก่อนมาก็ไม่ปรากฏว่าได้ยกอากรพระราชทาน ค่าปากเรือค่าจังกอบก็ไม่ได้ยินว่าพระราชทาน ได้ยินแต่เล่ากันว่า พวกทนายของพระยาเที่ยวเก็บเที่ยวชิงเบี้ยตามตลาด เมื่อไม่ได้เบี้ย สิ่งของอันใดก็ใช้ได้ เรียกว่าไปเก็บกำตาก เรือสำเภาลำใดมาถึงก็ลงไปเที่ยวเก็บฉกๆ ฉวยๆ เช่นนี้ เป็นเก็บกำตากเหมือนกัน อาการที่ทนายของพระยาไปทํานั้น ตามที่เข้าใจกันว่าในวันนั้น พระยาได้เป็นเจ้าแผ่นดินแทนวันหนึ่ง ถึงบ่าวไพร่จะไปเที่ยววิ่งราวแย่งชิงกลางตลาดยี่สานก็ไม่มีความผิด เป็นโอกาสที่จะนุ่งได้วันหนึ่งก็นุ่งให้เต็มมือ ฝ่ายผู้ที่ถูกแย่งชิงนั้นก็เข้าใจเสียว่าฟ้องร้องไม่ได้ ด้วยเป็นเหมือนวันปล่อยผู้ร้ายวันหนึ่ง ไม่มีใครมาฟ้องร้องว่ากล่าว เป็นแต่บ่นกับพึมๆ พำๆ ไปต่างๆ จนเป็นเรื่องที่สำหรับเอามาพูดเล่น ใครจะแย่งของจากผู้ใดก็เรียกว่ากําตากละ แต่ที่แท้ธรรมเนียมกําตากนี้ ก็ได้เลิกเสียช้านานหลายสิบปีมาแล้ว แต่การที่คนมากๆ ด้วยกันไม่ชอบความประพฤติเช่นนั้นก็ยังเล่ากันต่อมา จนถึงชั้นเราได้รู้เรื่องดังนี้ ส่วนผู้ที่แรกนาในทุกวันนี้ แต่เดิมมาได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยง ๑๐ ตำลึง ครั้นเมื่อเกิดภาษีโรงร้านตึกแพขึ้น โปรดให้หักเงินภาษีเป็นค่าเลี้ยงเกาเหลาในการแรกนาอีกชั่งหนึ่ง ครั้นถึงพระยาอภัยรณฤทธิ[] แรกนาออดแอดไปว่ากำลังวังชาไม่มีต่างๆ จึงได้ตกลงเป็นให้เงินเสียคราวละ ๕ ชั่งสืบมา

การแรกนาที่ในกรุงเทพฯ นี้ มีเสมอมาแต่ปฐมรัชกาลไม่ได้ยกเว้น แต่ถือว่าเป็นตําแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียวไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วย ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) แรกนา เผอิญถูกคราวฝนแล้งราษฎรไม่เป็นที่ชอบใจติเตียนหยาบคายต่างๆ ไป[]จึงโปรดให้เจ้าพระยาภูธราภัยแรกนา ถูกคราวดีก็เป็นการติดตัวเจ้าพระยาภูธราภัย ไดัแรกนามาจนตลอดสิ้นชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่าเป็นผู้แรกนาดี และรับสั่งว่าต่อไปภายหน้า ถึงเจ้าพระยาภูธราภัยจะป่วยไข้แรกนาไม่ได้ ก็จะโปรดให้วงศ์ญาติพวกนั้นเป็นผู้แรกนา เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยถึงอสัญกรรมแล้ว จึงได้ให้พระยาอภัยรณฤทธิเป็นผู้แรกนา ตามพระกระแสเดิมมาจนถึงปีนี้ พระยาอภัยรณฤทธิป่วยแรกนาไม่ได้ จึงได้ให้พระยาภาสกรวงศ์ที่เกษตราธิบดี ผู้เจ้าของตำแหน่งเป็นผู้แรกนา

การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศกศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไมได้เผาศพฝังศพในที่นั้น ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ที่กระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระบวนแห่นี้เกิดขึ้นก็ด้วยเรื่องแห่เทวรูปออกไปที่โรงพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย เป็นธรรมเนียมมีมาเสียแต่เดิมแล้ว พระพุทธรูปจะไม่มีกระบวนแห่ ก็ดูจะเลวไปกว่าเทวรูป จึงได้มีกระบวนแห่ กําหนดธงมังกร ๑๐๐ ธงตะขาบ ๑๐๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๘ สังข์ ๒ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง คู่แห่ ๑๐๐ พิณพาทย์ ๒ สำหรับกลองแขก ๒ สำหรับ ราชยานกง ๑ เสลี่ยงโถง ๑ คนหามพร้อม มีราชบัณฑิตประคองและภูษามาลาเชิญพระกลด พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการพิธีแห่ออกไปจากพระราชวัง คือพระคันธารราษฎร์นั่งก้าไหล่ทององค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ที่หอในวัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์ ๑ พระคันธารราษฎร์ยืนก้าไหล่ทององค์ ๑ พระคันธารราษฎร์อย่างพระชนมพรรษาเงินองค์ ๑ เกิดขึ้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระทรมานเข้าอยู่ในครอบแก้วสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ องค์ ๑ พระชัยประจําแผ่นดินปัจจุบันองค์ ๑ พระชัยเนาวโลหะน้อยองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญไปจากหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวัง เทวรูป ๖ องค์นั่งแท่นเดียวกัน ๑ รูปพระโค ๑ แล้วเชิญพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์จีนก้าไหล่ทอง ซึ่งไว้ที่หอพระท้องสนามหลวงลงมาอีกองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะทองใหญ่ ในพระแท่นมณฑลองค์น้อย มีเชิงเทียนราย ๔ เชิง พานทองคําดอกไม้ ๒ พาน กระถางธูปหยกกระถาง ๑ ตามรอบม้าทองที่ตั้งพระ บนพระแท่นมณฑลและใต้ม้าทอง ไว้พรรณเครื่องเพาะปลูกต่างๆ คือข้าวเหนียวข้าวเจ้าต่างๆ ตามแต่จะหาได้ เมล็ดน้ำเต้า แมงลัก แตงต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา ของทั้งนี้กําหนดสิ่งละ ๒ ทะนาน เผือก มันต่างๆ สิ่งละ ๑๐ เหง้า ที่ควรกรอกลงขวดอัดก็กรอกลงขวดตั้งเรียงรายไว้รอบ มีเครื่องนมัสการทองทิศสำรับ ๑ ที่พลับพลาโถงมุมกําแพงแก้ว ซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรนา[] ตั้งโต๊ะจีนมีเทวรูป ๖ องค์ และรูปพระโคเหมือนที่ตั้งในพระแท่นมณฑล แต่เป็นขนาดใหญ่ขึ้น รอบโรงพระราชพิธีปักราชวัติฉัตรกระดาษวงสายสิญจน์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กรกฎาคม 2561 16:03:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #24 เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2561 15:58:16 »


เดือนหก
พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล (ต่อ)

เวลาค่ำเสด็จออกทรงถวายผ้าสบงจีวรกราบพระ พระสงฆ์ที่สวดมนต์ ๑๑ รูป พระที่สวดมนต์นั้นใช้เจ้าพระราชาคณะ คือพระราชประสงค์เดิมนั้น จะใช้หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์[] ซึ่งถือตาลิปัตรงาเป็นราชาคณะฝ่ายสมถะ ต่อมาจึงได้ติดเป็นตําแหน่งเจ้าพระ พระที่สวดมนต์อีก ๑๐ รูป ใช้พระเปรียญ ๓ ประโยคเป็นพื้น พระสงฆ์รับผ้าไปครองเสร็จแล้วกลับขึ้นมานั่งที่ จึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในการพระราชพิธีแล้วทรงศีล พระยาผู้ที่แรกนานั่งที่ท้ายพระสงฆ์ มีพานธูปเทียนดอกไม้ขึ้นไปจุดบูชาพระรับศีลและฟังสวด เวลาที่สวดมนต์นั้นหางสายสิญจน์พาดที่ตัวพระยาผู้แรกนาด้วย นางเทพี ๔ คน ก็นั่งฟังสวดในม่านหลังพระแท่นมณฑล เมื่อทรงศีลแล้วทรงจุดเทียนพานเครื่องนมัสการที่พระแท่นมณฑล และที่หอพระที่พลับพลา ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และเจิมพระพุทธรูปเทวรูปทุกองค์ ในขณะนั้นอาลักษณ์นุ่งขาวห่มขาวรับหางสายสิญจน์พาดบ่า อ่านคําประกาศสำหรับพระราชพิธี คําประกาศสำหรับพระราชพิธีนี้เก็บรวบรวมความบรรดาที่เกี่ยวข้องในเรื่องการนา ที่มีมาในพระพุทธศาสนามาว่าโดยย่อๆ เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล

คำประกาศนั้นมีข้อใจความดังต่อไปนี้ เริ่มต้นว่าคาถาเป็นทํานองสรภัญญะ สำหรับสวดอธิษฐานในการพระราชพิธี ตั้งแต่ นโมตัสส๎สะ ภควโต สุนิพพุตัสส๎สะ ตาทิโน จนถึง สัม๎ปัชชันเตวสัพ๎เพโสติ เป็นที่สุด พระคาถานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นใหม่ เก็บข้อความย่อเป็นคำอธิษฐาน ดังจะได้กล่าวคำแปลสืบไปภายหน้า และพระคาถานี้มีพระนามพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ต้องใช้ผลัดเปลี่ยนตามพระนาม คือ อัม๎หากัญ์จ มหาราชา เมื่อรัชกาลที่ ๔ ใช้ ปรเมน์โท มหิป์ปติ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ใช้ ปรมิน์โท มหิป์ปติ นอกนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เมื่ออ่านพระคาถาเป็นคําสรภัญญะจบลงแล้ว จึงได้เดินเนื้อความเป็นสยามพากย์คำร้อยแก้ว เริ่มตั้งแต่ขยมบาทบวร อาทรถวายอภิวาทเป็นต้น ข้อความที่ยกมาอธิษฐานเป็นเนื้อความ ๔ ข้อๆ หนึ่งสรรเสริญพระพุทธคุณที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเครื่องระงับความเศร้าโศก เพราะสละกิเลสทั้งปวงได้สิ้น ชนทั้งปวงซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยตัณหา ไม่ควรเป็นที่งอกแห่งผล ได้สดับธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ให้อุบัติงอกงามขึ้นได้ในสันดาน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นเนื้อนาอันวิเศษ เหตุหว่านพืชเจริญผล อนึ่งพืชคือกุศลอาจจะให้ผลในปัจจุบันและภายหน้า ขอจงให้ผลตามความปรารถนา คือในเดือนนี้กําหนดจรดพระนังคัลจะหว่านพืชในภูมินา ขอให้งอกงามด้วยดี อย่ามีพิบัติอันตราย เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๑ ต่อไปยกพระคาถาภาษิตซึ่งมีมาในภารทวาชสูตร มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐาน ความในพระสูตรนั้นว่าพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อกสิภารัทวาชะ ไปทํานาอยู่ในที่นาของตน พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยว่าจะได้มรรคผล เวลาบิณฑบาตพระองค์เสด็จไปยังที่พราหมณ์ไถนาอยู่ แล้วตรัสปราศรัย พราหมณ์จึงติเตียนว่าสมณะนี้ขี้เกียจ เที่ยวแต่ขอทานเขากิน ไม่รู้จักทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิตเหมือนเช่นเรา พระองค์จึงตอบว่า การทํานาเราก็เข้าใจ เราได้ทํานาเสร็จแล้ว แก่การนาของเราไม่เหมือนอย่างของท่าน เครื่องที่เป็นอุปการะในการนาของเรามีครบทุกสิ่ง คือศรัทธาความเชื่อเป็นพืชข้าวปลูก ตบะธรรมซึ่งเผากิเลสให้เร่าร้อน และอินทรียสังวร ความระวังรักษาอินทรีย์ กับทั้งโภชนะมัตตัญญู รู้ประมาณในโภชนาหารเป็นน้ำฝน ปัญญาเป็นคู่แอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติเป็นประตักสำหรับเตือน ความสัตย์ เป็นท่อสำหรับไขน้ำ ความเพียรที่กล้าหาญสำหรับชักแอกไถ ความสำรวมใจเป็นของสำหรับปลดแอกไถ นำไปบรรลุที่อันเกษมจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ ย่อมไปยังสถานที่ไม่รู้กลับ เป็นสถานที่ไม่เศร้าไม่โศก มีแต่ความสุขสำราญ การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะไม่รู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์นั้นทุกประการ ใจความในพระสูตรนั้นดังนี้ ที่ยกมาอธิษฐานในคําประกาศพระราชพิธีว่าเฉพาะแต่พระคาถา ยกว่าเป็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ขออํานาจความสัตย์นั้น ให้ข้าวที่หว่านงอกงามทั่วชนบท และให้ฝนอุดมดี คําอธิษฐานนี้นับเป็นข้อที่ ๒ ต่อนั้นไปยกคาถาซึ่งมีมาในเตมียชาดก มีเรื่องราวว่า พระเจ้าพาราณสีมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งชื่อเตมียกุมาร เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่พระบิดาอุ้มประทับในพระเพลาในเวลาเสด็จออกว่าราชการ สั่งให้ลงราชทัณฑ์แก่ผู้มีความผิดต่างๆ พระเตมียกุมารได้ฟังก็มีพระราชหฤทัยท้อถอยไม่อยากจะรับราชสมบัติต่อไป จึงแกล้งทําเป็นใบ้เป็นง่อยเปลี้ยพิกลจริตจนทรงพระเจริญใหญ่ขึ้น พระบิดาสั่งให้นายสุนันทสารถีเอาไปฝังเสียในป่า พระเตมียกุมารจึงกล่าวคาถาแสดงผลที่บุคคลไม่ประทุษร้ายต่อมิตรสิบคาถา แต่ที่ยกมาใช้เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธีนี้แต่สองคาถา เริ่มตั้งแต่ ภาสิตา จยิมา คาถา มีเนื้อความว่า ศาสดาผู้เป็นใบ้และเป็นง่อยได้ภาษิตไว้ว่า ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร โคที่จะเป็นกําลังไถหว่านของผู้นั้น จะมีแต่เจริญไม่รู้เป็นอันตราย พืชพรรณใดๆ ที่ผู้นั้นได้หว่านลงในไร่นาแล้ว ย่อมงอกงามดีมีผลให้สำเร็จประโยชน์ ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชพรรณนั้นสมประสงค์ ไม่มีพิบัติอันตราย อีกพระคาถาหนึ่งนั้นว่า ข้อหนึ่งผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร ผู้นั้นจะไม่รู้เป็นอันตรายด้วยข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตร จะคิดทำร้ายก็ไม่อาจจะครอบงําย่ำยีได้ เปรียบประหนึ่งต้นนิโครธใหญ่ มีสาขากิ่งก้านรากย่านหยั่งลงกับพื้นแผ่นดินมั่นคงแน่นหนา แม้ถึงลมพายุใหญ่จะพัดต้องประการใด ก็ไม่อาจเพิกถอนต้นนิโครธให้กระจัดกระจายไปได้ฉะนั้น ข้อความในเรื่องเตมียชาดกมีดังนี้ ยกคาถานี้มาอธิษฐาน ด้วยอำนาจไมตรีจิต ขอให้ข้าวที่หว่านลงในภูมินาทั่วพระราชอาณาเขตงอกงามบริบูรณ์ เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๓ ต่อนั้นไปอ้างพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอํานาจความสัตย์นั้น ขอให้ข้าวงอกงามบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๔ คำอธิษฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ ที่เป็นสยามพากย์แปลเนื้อความลงกันกับพระคาถาที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปดําเนินคําประกาศเทพยดาแสดงพระราชดําริซึ่งทรงพระปรารภเรื่องพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่าคันธารราษฎร์ ยกนิทานในวาริชชาดกมากล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันในเมืองสาวัตถี ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาแห้งทั่วทั้งเมือง น้ำในลำธารห้วยคลองหนองบึงทุกแห่งก็แห้ง จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคน้ำก็แห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายก็ได้ความลำบากด้วยฝูงกามาจิกกินเป็นอาหาร ต้องมุดซ่อนอยู่ในตม ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงบิณฑบาตเห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระหฤทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทําภัตกิจแล้วจึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอุทกสาฎกมาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคําอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ชายส่วนหนึ่งนั้นทรง ส่วนหนึ่งนั้นตระหวัดขึ้นบนพระอังสประเทศ เสด็จยืนที่ฝั่งสระแสดงพระอาการ พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองน้ำฝน ขณะนั้นฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็มีความชื่นชมยินดีกล่าวคําสรรเสริญต่างๆ เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงตรัสว่า แต่กาลปางก่อน นฬะปะมัจฉะชาติ คือปลาช่อน ก็อาจตั้งสัตยาธิษฐานให้ฝนตกลงได้ แต่ในคำประกาศนี้หาได้ยกคาถา นฬะปะมัจฉะชาติ มากล่าวไว้ไม่ ด้วยท้องเรื่องของคาถานั้นเป็นเรื่องขอฝน ในคําประกาศนี้ประสงค์แต่จะกล่าวถึงเรื่องพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ซึ่งยกเรื่องนิทานมากล่าวก็เพราะเรื่องเนื่องติดกันเท่านั้น เพราะฉะนี้จึงจะของดเสียไม่นำคาถาพระยาปลาช่อนอธิษฐาน มากล่าวอธิบายในที่นี้ เหมือนอย่างเรื่องเตมียชาดก ด้วยคาถานั้นบางทีจะต้องกล่าวในพิธีพรุณศาสตร์ จึงจะขอว่าความตามคําประกาศนั้นต่อไป ว่าเมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วได้สองร้อยปีเศษ มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งได้ครอบครองเป็นใหญ่ในคันธารราษฎร์ มีความเลื่อมใสในพระมัชฌันติกะเถระ จึงได้รับพระพุทธศาสนาไปถือสืบต่อกันมาหลายชั่วแผ่นดิน ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราษฎร์องค์หนึ่งได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกนั้น ก็ทรงเลื่อมใส ให้สร้างพระพุทธปฏิมากรมีอาการอย่างจะสรงน้ำทําปริศนาเรียกฝนเช่นนั้น ครั้นเมื่อปีใดฝนแล้งก็ให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนั้นออกตั้งบูชาขอฝน ฝนก็ตกลงได้ดังประสงค์ ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสร้างพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น ต่อๆ มาก็เรียกสมญาว่าพระพุทธคันธารราษฎร์ เพราะเหตุที่ได้สร้างขึ้นในเมืองคันธารราษฎร์เป็นตัวอย่างต้นเดิมมา ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น จึงได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่ ก้าไหล่ทองคําไว้สำหรับตั้งในการพระราชพิธี เป็นจบเรื่องพระคันธารราษฎร์ ต่อนั้นไปว่าด้วยการพระราชกุศลที่ทรงบําเพ็ญในการพระราชพิธีนี้ ทรงพระราชอุทิศแก่เทพยดา เป็นต้น แล้วเป็นความอธิษฐานตามพระราชพิธีลงปลายตามธรรมเนียม

ครั้นเมื่ออ่านประกาศจบแล้ว พระสงฆ์จึงได้สวดมนต์มหาราชปริตรสิบสองตำนาน เมื่อถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถา นโม ตัส๎ส ภควโต สุนิพ๎พุตัส๎ส ตาทิโน เหมือนอย่างเช่นอาลักษณ์อ่านเป็นทํานองสรภัญญะซึ่งกล่าวมาแล้ว เมื่อสวดมนต์จบแล้วพระราชทานน้ำสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมหน้าเจิมมือพระยาผู้แรกนาและนางเทพีทั้งสี่ แต่พระยาผู้แรกนานั้นได้พระราชทานพระธํามรงค์มณฑปนพเก้าให้ไปสวมในเวลาแรกนาด้วยสองวง แล้วพระครูพราหมณ์พฤฒิบาศมารดน้ำสังข์ให้ใบมะตูมต่อไป ขณะเมื่อพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์สวดชยันโต ประโคมพิณพาทย์ เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระสงฆ์แล้วแห่พระพุทธรูปกลับ เป็นหมดพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่มีธงมีคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป เป็นแต่ลดหย่อนลงไปบ้าง ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทําการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง ไม่มีการแปลกประหลาดอันใด

รุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งแต่กระบวนแห่ๆ พระยาผู้แรกนา กําหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวนนั้นไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า คือธงตราตําแหน่งของผู้แรกนาทํา แล้วบโทนนุ่งตาโถงสวมเสื้อแดง สะพายดาบฝักแดงฝักเขียวสองแถว กระบวนสวมเสื้อเสนากุฎกางเกงริ้วสองแถวๆ ละ ๑๕ ถัดมาบโทนขุนหมื่นสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดสะพายดาบฝักเงินแถวละ ๑๕ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ กรรชิงหน้าคู่ ๑ เสลี่ยงพระยาผู้แรกนา สัปทนบังสูรย์ มีหลวงในมหาดไทยคู่ ๑ กลาโหมคู่ ๑ กรมท่าคู่ ๑ กรมนาคู่ ๑ กรมวังคู่ ๑ กรมเมืองคู่ ๑ เป็นคู่เคียง ๑๒ คน นุ่งผ้าไหมสวมเสื้อเยียรบับ กรรชิงหลังคู่ ๑ บ่าวถือเครื่องยศและถืออาวุธตามหลังเสลี่ยง คู่แห่หลังถือดาบเชลยแถวละ ๑๕ ถือหอกคู่แถวละ ๑๕ ถือกระบองแถวละ ๑๕ พระยาผู้แรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาเทวรูป แล้วตั้งสัตยาธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายหกคืบผืน ๑ ห้าคืบผืน ๑ สี่คืบผืน ๑ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคําทํานายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่ง เป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียืนประตักด้ามหุ้มแดง[] ไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว แล้วไถกลบอีกสามรอบ จึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคําทํานาย แต่คําทํานายนั้นมักจะว่ากันว่า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ แต่ก็ดูว่ากันไปหลวมๆ เช่นนั้น ไปนึกไม่ออกเสียที่กินเหล้าอะไรจะบริบูรณ์ เพราะจะสังเกตคำทำนายที่ถวายทุกๆ ปีก็สังเกตไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าได้เห็นคำทำนายมา ๒๑ ครั้งแล้วก็มีแต่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าโหรพราหมณ์รับพระราชทานพยากรณ์ว่าในปีอะไรๆ ศกนี้ ธัญญาหารผลาหารจะบริบูรณ์ เหมือนกันเป็นตีพิมพ์ทั้ง ๒๑ ครั้ง การเท่านี้เป็นเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่พระยากลับ แล้วแห่เทวรูปกลับ ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก

หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง[] อนึ่ง พลับพลาที่ท้องสนาม รื้อย้ายไปที่ริมศาลหลักเมือง การแรกนาจึงได้ย้ายไปทําที่พลับพลาใหม่ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

คำตักเตือนในการพระราชพิธีพืชมงคล มหาดเล็กต้องรับพานเทียนคอยถวายเมื่อเวลาทรงศีลแล้ว และคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบนหอพระและที่พลับพลาโถง ภูษามาลาต้องเตรียมพระสุหร่ายและแป้งเจิม รับพระธํามรงค์นพเก้าจากข้างใน และสังข์และแป้งเจิมที่สำหรับจะรดน้ำพระยาและนางเทพี คอยถวายเมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบ นอกนั้นไม่มีขาดเหลืออันใด
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] มีนนิง (Meaning) คือความหมาย
[] พระยาอภัยรณฤทธิ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) ภายหลังเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร ได้แรกนาต่อเจ้าพระยาภูธราภัยผู้บิดา ด้วยเป็นตระกูลพราหมณ์มาแต่กรุงเก่าฯ
[] ในระหว่างปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ จนปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ฝนแล้งติดต่อกัน ๓ ปี
[] พลับพลาและหอพระในท้องสนามหลวงรื้อเมื่อทำท้องสนาม ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ แต่เดิมมาถึงเรียกว่าสนามหลวง ก็เป็นอย่างท้องนา หน้าแล้ง
     แผ่นดินแห้งจึงใช้ปลูกพระเมรุ หน้าฝนปิดน้ำขังไว้ทํานาในท้องสนามหลวง จึงมีพลับพลาสำหรับเสด็จประทับทอดพระเนตรนา การที่ทำนาในท้องสนามหลวง เล่ากัน
     มาว่าด้วยประสงค์จะให้แขกเมือง คือทูตญวนเป็นต้น แลเห็นว่าเมืองไทยข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ แม้จนชานพระราชวังก็เป็นที่ไร่นาเพาะปลูก

[] หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าพระเล็กในกรมหมื่นนราเทเวศร์ อยู่วัดอมรินทร สิ้นชีพตักษัยในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด)
     วัดพระเชตุพน ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ แต่ยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์อยู่วัดระฆัง แล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระสังวรวรประสาธน์ พยอม อยู่วัดอมรินทร หม่อมเจ้าพระ
     สังวรวรประสาธน์ ชัชวาลย์ วัดบวรนิเวศในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เเล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระพิมลธรรม (เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) อยู่วัดระฆัง

[] ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ค้นได้พระเเสงประตักด้ามหวายเทศองค์ ๑ เดี๋ยวนี้พระราชทานพระเเสงนั้น พร้อมกับพระธำมรงค์ในวันสวดมนต์
[] เเรกนาหัวเมืองทีหลังเลิกหมด ด้วยฤดูทํานาหัวเมืองทําก่อนกรุงเทพฯ โดยมากราษฎรไม่ลงมือไถนาก่อนฤกษ์เเรกนา บางปีฝนมีก่อนฤกษ์ การที่รอเสียประโยชน์การทํานา จึงโปรดให้เลิกแรกนาหัวเมืองเสีย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 16:07:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #25 เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2561 16:07:32 »


เดือนหก
การวิสาขบูชา

๏ พระอรรถกถาจารย์เจ้ากําหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติและตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยฤกษ์วิศาขะ วันกําหนดนี้จึงเป็นนักขัตฤกษ์ ซึ่งชนทั้งปวงผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทําการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทําเฉลิมพระชนมพรรษาหรือแซยิดปีละครั้งแต่โบราณมา การกําหนดที่พระจันทร์ในวันเพ็ญเสวยวิสาขนักขัตฤกษ์นี้แต่โบราณมาถือว่าตรงในเพ็ญเดือน ๖ เสมออยู่ไม่ยักเยื้อง ตลอดมาจนถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางวิธีแบบปักขคณนาคิดวันพระจันทร์เพ็ญให้ใกล้กับที่จริงเข้ากว่าแต่ก่อน วันวิสาขนักขัตฤกษ์จึงได้เคลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดบ้างในบางปี แต่ยืนอยู่ในเดือนหกโดยมาก ก็การที่ถือว่าพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์วิศาขะเป็นนักขัตฤกษ์ที่ควรประกอบการบูชาใหญ่ในพระรัตนตรัยซึ่งถือกันอยู่ในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น จะให้ได้ความชัดว่าตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในแผ่นดินสยามแล้ว คนทั้งปวงได้ทําการบูชานั้นมาแต่เดิมหรือไม่ได้ทํา ก็ไม่มีปรากฏชัดในที่แห่งใด จนถึงกรุงสุโขทัยจึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้นว่า “ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างในจวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวงเศรษฐี ชีพราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้าน พ่วงแพ ชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยย้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จําแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก คนกําพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จตุบททวิบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบําเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก เวลาตะวันฉายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางใน ออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ พระสัฏฐารส โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน” แล้วมีคําสรรเสริญว่า “อันพระนครสุโขทัยราชธานี ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดากไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อชั้น” กล่าวไว้เป็นการสนุกสนานยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างในหนังสือโบราณก่อนๆ ขึ้นไป ที่ได้กล่าวถึงวันวิสาขบูชาดังนี้

แต่ส่วนที่ในกรุงเก่า มิได้ปรากฏมีในจดหมายแห่งหนึ่งแห่งใด ดูเป็นการลืมเสียทีเดียว ตลอดลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทรซึ่งเป็นลูกศิษย์กรุงเก่า ก็ไม่ได้มีการพระราชกุศลวิสาขบูชา ตลอดมาจนปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ.๒๓๖๐) รัตนโกสินทรศก เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี ซึ่งมาแต่วัดราษฎร์บุรณถวายพระพรให้ทรงทำวิสาขบูชาเป็นครั้งแรก การที่ทำนั้นถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง แต่การที่จัดนั้นดูเหมือนหนึ่งจะต้องถามกันว่าจะให้ทําอย่างไรจะควร ท่านพระสังฆราชนั้นจะต้องถวายพระพร อธิบายว่าที่ทํากันมาแต่ก่อนนั้น คือจุดโคมตามประทีปบูชาทั้งในพระอารามและตามบ้านเรือนทั้งปวง จึงโปรดให้ทําโคมปิดกระดาษเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ เหมือนกับโคมบริวารการพระราชพิธีจองเปรียง แปลกแต่เสาทาปูนขาวเสีย เหมือนโคมชัย โคมประเทียบ ให้ไปปักตามพระอารามหลวง พระอารามละสี่เสาเป็นส่วนตามประทีปในวัด ส่วนที่ตามประทีปตามบ้านเรือนนั้น ก็ให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรจุดโคม เป็นการคร่าวๆ แรกๆ ก็เห็นจะมีบ้างแห่งละใบสองใบมีโคมข้าวแขกเป็นต้น เป็นส่วนที่จุดประทีปตามบ้านเรือนต้องด้วยอย่างเก่า อีกประการหนึ่งนั้นมีพวงดอกไม้แขวนบูชาตลอดทั้งสามวัน ก็ให้เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันละร้อยพวงเศษ อีกประการหนึ่งนั้น มีดอกไม้เพลิงเป็นเครื่องสักการบูชา ก็ให้มีพุ่มดอกไม้เพลิงมาปักจุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่งมีพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล ก็ให้มีเทศนาของหลวงตามวัดฝั่งตะวันออกสิบพระอาราม ฝั่งตะวันตกสิบพระอาราม และให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรรักษาศีล อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และให้ชักชวนกันไปฟังพระธรรมเทศนา อีกประการหนึ่ง ว่ายกธงขึ้นบูชา ก็ให้ทําธงจระเข้ไปปักตามวัดหลวงวัดละคัน อีกประการหนึ่ง ว่าเคยเลี้ยงพระสงฆ์และถวายสลากภัต ก็โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิด้วยข้าวสลากภัต และประกาศให้ราษฎรชักชวนกันทำสลากภัตถวายพระสงฆ์ การที่จัดไปทั้งปวงนี้เห็นชัดว่าเป็นจัดตามแบบโบราณที่เคยทำมา เมื่อจะดูเทียบกันกับจดหมายนางนพมาศ ก็เกือบจะมีการบูชาทุกอย่างเต็มตามที่จดหมายไว้ เป็นแต่อาการที่ทํานั้นคนละอย่าง ในจดหมายนางนพมาศดูเป็นการครึกครื้นพร้อมเพรียงกัน ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและราษฎร เป็นนักขัตฤกษ์ที่รู้ทั่วกัน เป็นที่รื่นเริงทั่วกัน ในการที่จัดขึ้นชั้นหลังตามแบบเก่า ดูเป็นแต่การสังเขปย่อๆ พออย่าให้เสียโบราณ หรือคิดจะจัดให้เป็นการครึกครื้นจริง แต่หากคนทั้งปวงไม่ได้ประพฤติมาแต่ก่อนพากันเนือยๆ เฉยๆ ไปเสีย ก็เลยจืดจางไป แต่เมื่อพิเคราะห์ดูจริงๆ แล้ว เห็นว่าถึงส่วนในราชการก็อยู่ข้างจะเลือนๆ เป็นแต่การเสียไม่ได้อยู่ เพราะไม่ได้เคยทำเคยนึกถึงมาเสียช้านานแล้ว จนชั้นหลังในปัจจุบันนี้ การวิสาขบูชามีผู้ทํามากขึ้น ก็ยังเป็นการของชาววัดแท้ พวกชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบ้างก็แต่พวกที่จําศีลภาวนา แต่คนทั้งปวงที่เฉยอยู่ไม่รู้สึกนั้นโดยมาก ไม่เหมือนนักขัตฤกษ์ตรุษสงกรานต์ ชั้นต่ำก็สารทยังดีกว่ามาก เมื่อจะคิดไปดูก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ซึ่งได้ดํารงราชสมบัติมาในชั้นต้น จะว่าไม่ทรงทราบชัดเจนในพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้ทรงทําก็ตามเถิด แต่พระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นพระพิมลธรรมอยู่ก่อน ว่าแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงพระธุระในการพระพุทธศาสนามาก จนถึงเสด็จออกไปนั่งเป็นอาจารย์บอกหนังสือพระสงฆ์วันละร้อยรูป และทรงพระวิตกเป็นห่วงบ่วงใยกลัวชาดกต่างๆ จะสูญตามคําทํานายของพระอรรถกถาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในปัญจอันตรธาน จึงทรงพระอุตสาหะแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นไว้ให้สืบอายุพระพุทธศาสนา และทรงเสาะแสวงหาเจดียฐานอันเป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง ให้ก่อเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ใหญ่โตยืดยาวอย่างเช่นพระพุทธบาท การซึ่งทรงเป็นพระธุระในพระพุทธศาสนาทั้งสามอย่างนี้ ก็เพื่อจะสำแดงให้เห็นความรู้ซึ่งได้ทรงคึกษาในพระพุทธศาสนาทั่วถึงโดยมาก แต่การวิสาขบูชานี้ก็น่าที่จะทรงสำแดงความรู้อีกสักอย่างหนึ่ง แต่เหตุใดจึงทรงลืมเสียก็ไม่ทราบเลย หรือจะเป็นด้วยพระธุระในการบอกหนังสือ และในการแต่งพระมหาชาติมากเสียจนไม่มีเวลาจะทรงค้นคว้าได้ เพราะย่อมจะทรงเห็นว่าการซึ่งแต่งพระมหาชาตินั้นเป็นการบำรุงพระศาสนาสำคัญกว่าการวิสาขบูชาที่เป็นแต่การบูชาภายนอก จึงไม่เป็นพระราชธุระ

จะขอพูดนอกเรื่องสักหน่อยหนึ่ง ในเรื่องปัญจอันตรธานนี้มีคำทำนายที่พระอรรถกถาจารย์ได้กะไว้ว่าจะเสื่อมลงมาตามลำดับ คือธรรมที่ดีๆ ตั้งแต่พระปรมัตถ์ลงมาจนถึงชาดก ในกระบวนชาดกด้วยกันมหาเวสสันดรชาดกจะเสื่อมก่อน เพราะเป็นชาดกดีกว่าชาดกทั้งปวง ความคิดซึ่งคิดเห็นเช่นนี้ โดยเชื่อมั่นว่าต่อไปภายหน้าคนจะเรียวลงไปทุกชั้น สติปัญญาความรู้ก็จะน้อยลงทุกชั้น ถ้อยคําสั่งสอนอันใดที่เป็นคําลึกก็จะไม่มีผู้ใดอยากฟังและฟังก็จะไม่เข้าใจ เมื่อชั้นปลายๆ ลงก็จะเหลือแต่นิทานสุวรรณเศียรหรือเจ้าเงาะกับรจนา เป็นธรรมอันอุดมที่ชนภายหลังจะได้สดับ เพราะความคิดเห็นเช่นนี้มั่นอยู่ในสันดาน เมื่อจะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งตามชอบใจ เพิ่มเติมข้อความลงไว้ให้มากๆ ล่อให้สนุกและพิศวงงงงวย สำหรับแก่ปัญญาผู้ที่เลวทรามในชั้นหลังจะได้เชื่อถือ เมื่อเชื่อถือเพลิดเพลินค้นไปค้นไปจะได้ล่อให้ไปถึงธรรมที่ลึก ความเห็นของผู้ที่แต่งหนังสือมากๆ เกินเหตุ คิดเห็นว่าไม่เป็นมุสาด้วยเป็นประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ไม่ว่านิทานอะไรๆ ก็เก็บเอามาเรียบเรียง ที่สุดจนฝอยของนิทานอาหรับราตรีก็มีถูกกับชาดกหลายเรื่อง ความคิดที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะได้สังเกตดูเด็กที่มันเกิดมาเมื่อเวลาตนมีอายุมากแล้วนั้นดูโง่กว่าตัวมาก กว่าเด็กนั้นจะมีอายุมากเท่าตัวผู้สังเกต ผู้สังเกตก็ตายไปเสียก่อนแล้ว ไม่ได้ชั่งได้เทียบกันว่ามันจะดีเท่าตัวได้หรือไม่ แต่ที่แท้นั้นโลกตั้งมานานเท่าใด มนุษย์ก็ขุดคุ้ยวิชาความรู้เปิดเผยขึ้นทุกวันทุกคืนตามลำดับ ชนซึ่งเกิดภายหลังย่อมจะรู้การอะไรได้ดีได้เร็วกว่าเราซึ่งเป็นผู้กำลังขุดคุ้ยอยู่ เปรียบเหมือนหนึ่งมีผู้รู้ว่าดูเหมือนจะมีแร่เงินแร่ทองอยู่ในแผ่นดินตรงนั้นๆ ผู้ที่รู้นั้นยังต้องเคลือบแคลงว่าจะเป็นการจริงหรือเท็จไม่แน่อยู่ ครั้นเมื่อขุดลงไปในเวลาที่ขุดนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ ต่อเมื่อขุดลงไปได้แร่ขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมออกเป็นเนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่าเป็นแร่เงินแร่ทองมีอยู่ในที่นั้น เมื่อมีผู้เดินมาภายหลังได้เห็นเนื้อทองเนื้อเงิน หรือเห็นบ่อที่ขุดแร่นั้นก็ดี มีผู้บอกว่าเงินทองนี้ขุดขึ้นมาได้จากบ่อแห่งนั้น หรือบ่อแห่งนั้นมีแร่เงินแร่ทอง ผู้นั้นก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่บ่อนั้นมีแร่เงินแร่ทองจริง เร็วกว่าระยะที่ผู้รู้ข่าวว่ามีแร่เงินแร่ทองแล้วและไปเสาะแสวงหาสายแร่ จนขุดขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมได้เนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่ามีจริงนั้นมาก อุปมาที่กล่าวนี้ฉันใดก็เปรียบเหมือนกับคนที่เกิดภายหลัง ได้อาศัยกําลังคนแต่ก่อนขุดคุ้ยวิชาความรู้ขึ้นไว้แล้ว เมื่อมีครูอาจารย์บอกเล่าก็เรียนรู้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งเกิดภายหลังถ้าได้ร่ำเรียนแล้ว ก็รู้วิชาทันผู้ที่เกิดก่อนได้โดยเร็วกว่าผู้ที่เกิดก่อนจะเสาะหาวิชาเอง เพราะฉะนั้นความคิดที่คิดเห็นว่าต่อไปภายหน้ามีแต่จะเลวทรามลงนั้นจึงเป็นการผิด ด้วยคําอันใดที่เขียนไว้เกินจริง ด้วยประสงค์จะอนุเคราะห์ก็ดี จะให้พิศวงงงงวยก็ดี จึงไม่เป็นการมีคุณได้สมประสงค์ กลับเป็นเรื่องรุงรังรกเรี้ยวปิดบังของที่ดีที่วิเศษแท้จริงนั้นเสีย เพราะถ้อยคำที่แต่งไว้นั้นไม่ควรแก่ปัญญาชนภายหลังจะคิดเห็นตามได้ ก็ชักให้เคลือบแคลงสงสัยจนเห็นว่าไม่มีแก่นสารอันใดที่จะสืบเสาะหาของดีในกองฝุ่นฝอยนั้นได้ ก็ถ้าเป็นผู้ซึ่งมีความเพียรประสงค์จะเสาะสางหาของที่ดีจริงๆ ก็ต้องกวาดคุ้ยขยะฝุ่นฝอยนั้นทิ้งเสีย เลือกถือเอาแต่ของที่ดี การอันตรธานที่จะเป็นไปได้จริงๆ ก็คงต้องอันตรธานไปในของที่ไม่เป็นแก่นสารก่อน ถ้าจะให้ข้าพเจ้าทํานายแล้วข้าพเจ้าทํานายว่าชาดกอันตรธานก่อน เพราะเป็นของรกเรี้ยวต่างๆ มีมาก ธรรมะที่ดีถึงว่าจะไม่มีผู้ใดถือโดยตรงๆ ก็คงยังต้องประพฤติตามธรรมะที่ดีอยู่นั้นเอง ถึงว่าผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา แต่หากเป็นคนดีอยู่ก็คงต้องประพฤติต้องตามพระพุทโธวาทโดยมาก จะตรวจค้นดูในปัจจุบันนี้มีถมไป เว้นไว้แต่จะเชื่อถือเสียว่าต่อไปภายหน้าจะไม่เป็นอย่างเช่นปัจจุบันนี้ได้โดยไม่มีพยานอันใดที่จะเชื่อถือ นอกจากว่ากันมาว่าอย่างนั้นแล้ว ก็ยังคิดเห็นไปได้อยู่เอง

ข้าพเจ้าอยากจะพาโลความเห็น และความเชื่อถือที่ว่าไปภายหน้าจะเรียวลงไปนี้ เป็นความคิดอันให้โทษยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ถือเพราะทําให้อ่อนใจวางมือวางตีนไปเสียหมดไม่มีอุตสาหะที่จะสั่งสอนกัน เพราะถือว่ามันจะเรียวลงไป ถึงสอนก็เปล่าๆ ไม่มีความอุตสาหะที่จะคิดจะทําอันใดขึ้น เพราะถือว่าคิดไปทําไปก็เปล่าๆ เพราะเรามันเรียวลงมาเสียแล้ว จะให้เหมือนท่านแต่ก่อนไม่ได้ เป็นความคิดที่ชวนให้ท้อถอย ตั้งหน้าลงสู่ความเสื่อมอย่างเดียว เพราะฉะนั้นชาติใดที่เชื่อถือการเรียวอย่างนี้จึงมีความขวนขวายปรารถนาน้อย บ้านเมืองจึงไม่เจริญได้เร็วเหมือนอย่างพวกที่เขาไม่ถือการเรียว เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายจะชวนกันลืมๆ เรื่องเรียวนี้เสียสักหน่อย ตั้งหน้าขวนขวายหาความรู้และประกอบการทั้งในศาสนาและในการบ้านเมือง คงจะยังได้รับความดีมีผลเหมือนท่านแต่ก่อน หรือยิ่งขึ้นไปกว่าได้เป็นแท้

การที่กล่าวมานี้นอกเรื่องจริงๆ ขอโทษเถิด เป็นเพราะอดไม่ได้แท้ทีเดียว เมื่อจะวนลงอะลุ้มอล่วยไม่เข้าเรื่องกันสักหน่อยหนึ่ง ก็จะต้องกล่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมที่ท่านทรงเชื่อถือการเรียวยิ่งใหญ่นั้น ท่านเรียวลงมากว่าสุโขทัยมาก จึงไม่ได้ทําวิสาขบูชา แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กลับป่องขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เพราะได้ทำวิสาขบูชา ควรจะเห็นเป็นตัวอย่างได้ ว่าไม่ใช่จะเรียวลีบลงไปทีเดียวดอก ถ้าอุตส่าห์อยู่แล้วคงยังจะโตได้เป็นแน่ แต่ขอให้เข้าใจเสียว่าที่ได้กล่าวถึงพระเจ้าทรงธรรมแต่งมหาชาติคําหลวงนี้ ว่าถึงแต่ข้อพระราชปรารภแรกที่จะทรง แต่ตัวหนังสือมหาชาติคำหลวงที่ท่านทรงขึ้นไว้นั้น ข้าพเจ้าไม่ติเตียนเลย เพราะเป็นหนังสือดีฉบับหนึ่งในเมืองไทย

บัดนี้จะว่าด้วยการวิสาขบูชาต่อไป การวิสาขบูชาที่ทำมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ตลอดจนรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นการคงยืนที่อยู่ คือมีการพระราชกุศลเช่นได้พรรณนามาแล้วข้างต้น แต่ในท้ายรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม โปรดให้ทำเกยขึ้นสำหรับตั้งพระสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถ และวิสาขบูชาก็ให้เชิญพระพุทธรูปออกตั้งแล้วมีเทศนาปฐมสมโพธิ ในสัปปุรุษทายกไปฟังและเที่ยวนมัสการพระพุทธรูป ที่วัดพระเชตุพนก็ให้มีตะเกียงรายรอบกําแพงแก้วเพิ่มเติมขึ้น แต่การอื่นๆ ก็คงอยู่ตามเดิม ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำการวิสาขบูชา เป็นแบบมาแต่ยังทรงผนวชอยู่ จึงได้โปรดให้จัดการเพิ่มเติมขึ้นตามแบบ เช่นพระสงฆ์คณะธรรมยุติกาทําอยู่ เป็นการเพิ่มเติมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ธรรมเนียมเดิมก็คงเป็นไปตามธรรมเนียมเดิม เว้นไว้แต่การเลี้ยงพระสงฆ์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำนั้นต้องกับงานฉัตรมงคลจึงได้ยกเลิกเสีย คงมีอยู่แต่วันแรมค่ำหนึ่ง วันนั้นเป็นวันเลี้ยงพระที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงได้ยกกาลานุกาลขึ้นไปทําบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เชิญพระบรมอัฐิตั้งบนบุษบก เมื่อทรงเลี้ยงพระในพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วจึงได้เสด็จขึ้นไปสดับปกรณ์บนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นสองงานประดังกันอยู่ ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนฉัตรมงคลไปเดือนสิบสองแล้ว จึงได้มีการเลี้ยงพระในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และการวิสาขบูชาในรัชกาลที่ ๔ นั้น ในตอนกลางๆ โปรดให้เกณฑ์เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาตามรอบเฉลียงพระอุโบสถ เป็นการครึกครื้นสนุกสนานมาก จนเกิดเล่นเครื่องโต๊ะลายครามกันขึ้น ในเวลานั้นเที่ยวเก็บหาสิ่งของที่มีอยู่แล้วในกรุงนี้ มาประสมกันให้ได้ชุดได้ลายตั้งขึ้นเป็นโต๊ะใหญ่บ้างโต๊ะเล็กบ้าง บรรดาใครเป็นเจ้าของก็มาคอยเฝ้าประชุมพร้อมๆ กัน ถ้าของผู้ใดไม่ดีก็รับสั่งให้ยกสิ่งของนั้นไปตั้งที่ตรงหน้า ถ้าผู้ใดถูกตั้งของที่หน้าเช่นนั้นก็เป็นที่อับอายกัน ต้องเที่ยวขวนขวายหาของที่ดีๆ มาตั้ง จนการที่จัดหาเครื่องโต๊ะนั้นเป็นการจําเป็นที่ต้องหาทั่วๆ หน้ากัน สิ่งของก็มีราคาแพงขึ้น ต่างคนต่างเที่ยวหากันวุ่น เหมือนอย่างเล่นถ้วยป้านอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นที่สนุกครึกครื้น ถ้าถึงวันวิสาขบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เต็มไปทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ผู้หญิงผู้ชายหาที่ว่างไม่ได้ ครั้นภายหลังพระยาโชฎึกราชเศรษฐีพุก เห็นว่าเครื่องโต๊ะมีราคาหาไม่ใคร่ได้ จึงได้สั่งเครื่องโต๊ะที่ครบชุดลายต่างๆ เข้ามา ๖๐ สำรับ ออกจําหน่ายขายผู้ที่ถูกเกณฑ์ตั้งโต๊ะราคาสำรับละ ๑๐ ชั่ง แต่นั้นมาการเล่นเครื่องโต๊ะก็จืดจางลง ด้วยของเก่าที่จะหาให้ครบสิ่งบริบูรณ์ได้เหมือนของใหม่ก็ไม่ใคร่มี เมื่อไม่มีของครบสิ่งก็ไม่อาจจะมาตั้งเพราะกลัวจะสู้ของใหม่ไม่ได้ ส่วนของใหม่ถึงเครื่องครบบริบูรณ์ก็จริง แต่นักเลงที่จะเล่นไม่ใคร่มีใครนับถือ เพราะเป็นของหาง่าย ไม่ต้องพยายามมากเหมือนหาของเก่า ลวดลายและสีครามก็สู้ของเก่าไม่ได้ ครั้นเมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะจืดจางลงก็เป็นแต่ตั้งเป็นราชการ คนก็ไม่ใคร่มีใครๆ มาดู การที่ทรงตรวจตราเลือกเฟ้นนั้นซ้ำหลายปีเข้าก็เงียบๆ ไป ภายหลังจึงได้โปรดให้เปลี่ยนใหม่ เกณฑ์ให้ข้าราชการทําโคมตราตําแหน่งมาตั้งมาแขวน ส่วนของหลวงก็ใช้ตราหลวงแขวนที่ประตูพระอุโบสถทั้งหกประตู ในปีแรกที่เกิดโคมตราขึ้นนั้นก็เป็นการกึกก้องกาหลยิ่งใหญ่ คนที่มาดูกลับมากขึ้นไปกว่าเมื่อตั้งเครื่องโต๊ะ ด้วยโคมนั้นตั้งแขวนตามศาลารายและพระระเบียงโดยรอบเป็นทําเลกว้าง คนจะเดินไปมาดูแลได้สะดวก ตั้งแต่เวลาพลบไปจนดึกแปดทุ่มสามยามยังไม่ขาดคน เป็นการสนุกครึกครื้นมาได้หลายปี จึงค่อยๆ กร่อยลงตามธรรมดา

มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อโคมกร่อยนักแล้ว กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล กรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พร้อมกันทําต้นไม้ทํานองต้นไม้หลังธรรมาสน์มหาชาติในท้องพระโรงแต่ก่อน มีรูปภาพเรื่องต่างๆ ประดับที่กระถางตั้งหน้ามุขพระอุโบสถสามต้น เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่งด้วยกลายๆ ก็เป็นที่ครึกครื้นมีผู้คนมาดูบ้าง แต่ไม่แน่นหนามากเหมือนอย่างเมื่อครั้งตั้งโต๊ะหรือแรกมีโคมตรา ครั้นเมื่อภายหลังจืดๆ เข้าก็เลิกไป การพระราชกุศลอันใดในการวิสาขบูชาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนก็คงยืนที่อยู่จนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ มีเพิ่มเติมขึ้นแต่ที่พระพุทธรัตนสถานเมื่อเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานในที่นั้นแล้ว จึงโปรดให้มีการบูชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่เป็นอุบาสิกาเดินเทียนและสวดมนต์ คล้ายกันกับที่ทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีดอกไม้เพลิงสำรับเล็กบูชาด้วย เป็นการเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้

การซึ่งจะว่าต่อไปนี้ จะรวบรวมการพระราชกุศลในวิสาขบูชาบรรดาซึ่งมีอยู่บัดนี้มาว่าในที่แห่งเดียวกันเป็นการปัจจุบันต่อไป

คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พระสงฆ์ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันละ ๒๐ รูป ไม่มีสวดมนต์ แต่วันแรมค่ำหนึ่งนั้นเป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล จึงได้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเท่าจํานวนพระบรมอัฐิ พระอัฐิตามที่เคยสดับปกรณ์ และต้องสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำด้วย การที่สวดมนต์นี้เป็นสวดมนต์แทนพระสงฆ์ฉันเวร ที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันสวดประจําทุกวันพระตามธรรมเนียม จึงได้ขึ้นไปสวดบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ การสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ไม่ได้จัดเป็นที่สำหรับทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จนจบ ธรรมเนียมที่เสด็จทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จอยู่แต่ก่อนทุกวันพระนั้นดังนี้ คือตั้งที่รองพระฉันเวรอย่างเก่า มีพระห้ามสมุทรฉันเวรองค์หนึ่งตั้งข้างใต้ หันพระพักตร์พระพุทธรูปไปเหนือ พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั่งข้างเหนือหันหน้ามาใต้ตรงพระพุทธรูป ปูอาสนพระสงฆ์นั่งเต็มทั้งพระที่นั่งไม่ได้จัดเป็นแถว ที่หน้าพระพุทธรูปมีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวร ราชอาสน์ทอดในระหว่างพระสงฆ์กับพระพุทธรูป เป็นที่ทรงกราบ ที่ประทับทอดค่อนมาข้างตะวันออก ไม่ได้ตั้งเครื่องไม่ได้ทอดพระแสง เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว ไม่ได้ทรงศีล ทรงถวายหมากพลูใบชาธูปเทียนแล้ว รับสั่งถวายวัตถุปัจจัยมูลองค์ละสลึงหรือเฟื้อง ซึ่งชาวคลังมาคอยถวายอยู่ที่อัฒจันทร์ ทรงรับเงินนั้นพระราชทานให้สังฆการี สังฆการีว่าวิปัตติปฏิพาหายะก็เสด็จขึ้น ที่เป็นธรรมเนียมวันพระตามธรรมเนียม พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีบอกวัตรเหมือนอย่างสวดมนต์ที่วัด แต่การสวดมนต์วิสาขนี้เสด็จขึ้นไปจุดเทียนอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีของถวายพระ พระสงฆ์ไม่ได้สวดมนต์เข้าลำดับสวดมนต์เวร สวดเจ็ดตํานานเป็นการจร เมื่อจบไม่มีบอกวัตร การที่เกิดสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นี้ พึ่งเปลี่ยนไปในรัชกาลที่ ๔ สวดมนต์เวรแต่ก่อนก็สวดในท้องพระโรง และการวิสาขบูชานี้ แต่ก่อนเมื่อไม่ได้เสด็จออกวัด ก็เห็นจะสวดมนต์ในท้องพระโรงทั้งสามวัน ครั้นเมื่อเลิกสวดมนต์เลี้ยงพระส่วนวิศาขะในรัชกาลที่ ๔ ขาดตอนมาคราวหนึ่ง มากลับมีขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อมีการพระราชกุศลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลาค่ำอยู่แล้ว จึงได้เลิกสวดมนต์เสีย เพราะจะซับซ้อนกันหลายอย่าง ยังคงแต่สวดมนต์วันสิบห้าค่ำไว้ เพราะเป็นการแทนสวดมนต์เวรซึ่งเคยสวดอยู่ทุกวันพระ คงเป็นเลิกอยู่แต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำกับวันแรมค่ำหนึ่ง การสวดมนต์เลี้ยงพระวิศาขะนี้เกือบจะเหมือนกับตามธรรมเนียมไม่เป็นงานการอันใด จํานวนพระสงฆ์ก็เท่ากับฉันเวรวันพระ แปลกแต่เป็นพระราชาคณะทั้ง ๒๐ รูป การสดับปกรณ์กาลานุกาลก็เหมือนกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระสงฆ์รายร้อยสี่ร้อยรูปเป็นสดับปกรณ์ข้าวกระทง เรียกว่าสลากภัต ส่วนเครื่องที่พระราชทานตามพระอาราม คือเทียนประจํากัณฑ์และธงจระเข้ ในวันแรกมีเจ้าพนักงานนำเข้ามาทูลถวาย จบพระหัตถ์หน้าพระสงฆ์ตามแบบแล้วจึงได้จ่ายไปตามวัด คือโคมวัดละสี่ใบ ธงจระเข้วัดละคัน

จํานวนวัดที่ได้จ่ายของเครื่องบูชา คือวัดราษฎร์บุรณะ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสังเวชวิศยาราม วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา วัดราชคฤห์ วัดคูหาสวรรค์ วัดปากน้ำ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชกุฏิยาราม วัดยานนาวาราม วัดราชาธิวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอมรินทราราม วัดดาวดึงส์ วัดจุฬามณี วัดพระยาทํา วัดนาคกลาง วัดราชสิทธาราม วัดเศวตฉัตร วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสังข์กระจาย วัดภคินีนาฏ วัดบวรมงคล วัดคหบดี วัดรังษีสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดเครือวัลย์ วัดปทุมคงคา วัดเกาะแก้ว (คือวัดสัมพันธวงศ์) วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบพิตรภิมุข วัดโสมนัสวิหาร วัดทองนพคุณ วัดราชโอรส วัดประยูรวงศ์ศาวาส วัดอัปสรสวรรค์ วัดนวลนรดิศ วัดโชตนาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดบุปผาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดมหรรณพาราม วัดบรมนิวาส วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดดุสิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดทองธรรมชาติ วัดกัลยาณมิตร วัดอนงคาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดสุวรรณาราม วัดปทุมวนาราม วัดชิโนรสาราม แต่วัดที่ออกชื่อมาแล้ว ๖๖ นี้เป็นวัดเก่าบ้างใหม่บ้าง จะเข้าใจว่ามากวัดเท่านี้มาแต่รัชกาลที่ ๒ ไม่ได้อยู่เอง คงจะมีเพิ่มเติมขึ้นตามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างเทียนพรรษา แต่วัดจุฬามณีวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อมาข้างบนไม่รู้จักว่าวัดใด ได้สืบถามทั้งพระทั้งคฤหัสถ์หลายแห่งก็ไม่ได้ความ ไล่ไปมาก็ไปเวียนวนลงวัดจุฬามณีที่กรุงเก่าเสียบ้าง ได้เค้าแล้วไปเกลื่อนหายไปเสียบ้าง ภายหลังเมื่อทําหนังสือนี้แล้ว กรมหมื่นประจักษ์ให้ปลัดวังขวาไปสืบตามเค้าที่สังเกตดูในบัญชีว่า เหมือนหนึ่งจะเป็นฝั่งตะวันตก ไปได้ความมาจากนายเกดตำรวจวังหน้าอายุ ๗๘ ปี อำแดงปาน ภรรยาอายุ ๗๗ ปี ซึ่งอยู่ในคลองบางมดแจ้งความว่า คือวัดที่ราษฎรเรียกชื่ออยู่ว่าวัดยายร่มในคลองบางมดนั้นเอง เป็นวัดจุฬามณี ว่าเดิมยายร่มเป็นผู้สร้าง มีโบสถ์ฝากระดานหลังหนึ่ง การเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีหลังหนึ่ง มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ พระศิริสมบัติปู่ท้าววรจันทร์เดี๋ยวนี้ไปปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นฝาตึกสามห้อง มีกุฎีฝากระดานหลังหนึ่ง ฝาจากสี่หลัง ศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง แล้วถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช ได้เสด็จไปผูกพัทธสีมา จึงพระราชทานชื่อว่าวัดจุฬามณี แล้วได้เสด็จไปอยู่กรรมในที่นั้น ๗ วัน เวลาที่อยู่กรรมเสด็จไปประทับอยู่ที่ห้างสวนหลังวัด ถ้าเสด็จกลับเข้ามาในวัดก็ประทับที่การเปรียญ การที่อ้างว่า พระศิริสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช และเสด็จไปอยู่กรรมในที่วัดนั้น เห็นจะเป็นการแน่นอนได้ แต่ที่ว่าพระราชทานชื่อนั้นดูน่าสงสัยอยู่บ้าง ด้วยดูอย่างเก่านัก ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชทานชื่อ มักจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะเป็นชื่อเขาตั้งกันเอง เป็นแต่ได้เสด็จไปผูกโบสถ์และไปอยู่กรรมดอกกระมัง อีกประการหนึ่ง บรรดาวัดที่ได้ของสักการะในวันวิสาขบูชานี้ ล้วนแต่เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น มามีวัดราษฎรอยู่แต่วัดจุฬามณีวัดเดียว ถ้าจะว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพราะเป็นวัดที่ถวายและเสด็จไปประทับอยู่กรรม เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นวัดหลวง และวัดเช่นได้เสด็จไปอยู่กรรมเช่นวัดชัยสิมพลี จนได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินก็ครั้งหนึ่ง เป็นกฐินข้างในอยู่ก็หลายปี ทั้งอยู่ในจำนวนที่ทรงกะจะพระราชทานพระนิรันตรายด้วย เหตุใดจึงไม่พระราชทานเครื่องสักการะเหมือนกันเล่า การที่ถวายวัดเป็นหลวงมีมากชุกชุมมาก็แต่ในรัชกาลก่อนๆ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างมาก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับเป็นวัดหลวงน้อยและทรงตัดเสียก็มี หรือวัดจุฬามณีนี้จะได้ถวายไว้แต่ในรัชกาลก่อนๆ เป็นวัดหลวง ทรงตัดเสียในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทราบ แต่ร่างหมายจะเอาเป็นประมาณแน่นักไม่ได้ การอะไรที่เลิกแล้วไม่ใคร่ลบถอน มีการใหม่มาก็เติมลงไป การเก่าที่ไม่ได้ลบถอนเสียก็โคมๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีใครทําตาม วัดจุฬามณีนี้คงจะไม่ได้เครื่องสักการะนี้มาช้านานแล้ว ถึงวัดอื่นก็น่าสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเป็นธุระเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นวัดซึ่งสร้างใหม่ๆ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงไม่มีชื่อในหมายรับสั่งนี้ด้วย แต่ส่วนที่มีเทศนาตามวัดนั้นไม่ใช่เป็นแต่วัดหลวงแล้วมีทั่วไป เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้มีธรรมทานให้สะดวกแก่คนทั้งปวงที่จะไปฟัง จึงได้แบ่งออกเป็นฟากละ ๑๐ พระอาราม เป็นเทศนาวันละยี่สิบกัณฑ์ มีเทียนดูหนังสือเล่มหนึ่ง เทียนธูปบูชากัณฑ์อย่างละสิบเล่ม ผ้าผืนหนึ่ง กระจาดเครื่องบริโภคกระจาดหนึ่ง วัดที่มีเทศนาฝั่งตะวันออกสิบวัด คือ วัดราษฎร์บุรณ วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส ฝั่งตะวันตกสิบวัด คือ วัดอรุณราชวราราม วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณาราม วัดราชสิทธาราม วัดราชโอรส วัดหนัง ของเครื่องกัณฑ์นั้นเกณฑ์ให้เจ้ากรมปลัดกรมจางวางเจ้านายมารับไปถวายทุกวัดทั้งสามวัน รวมเป็นเทศนา ๖๐ กัณฑ์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กรกฎาคม 2561 16:10:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #26 เมื่อ: 02 กรกฎาคม 2561 16:12:00 »


เดือนหก
การวิสาขบูชา (ต่อ)

จํานวนวัดที่ได้จ่ายของเครื่องบูชา คือวัดราษฎร์บุรณะ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสังเวชวิศยาราม วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา วัดราชคฤห์ วัดคูหาสวรรค์ วัดปากน้ำ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชกุฏิยาราม วัดยานนาวาราม วัดราชาธิวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอมรินทราราม วัดดาวดึงส์ วัดจุฬามณี วัดพระยาทํา วัดนาคกลาง วัดราชสิทธาราม วัดเศวตฉัตร วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสังข์กระจาย วัดภคินีนาฏ วัดบวรมงคล วัดคหบดี วัดรังษีสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดเครือวัลย์ วัดปทุมคงคา วัดเกาะแก้ว (คือวัดสัมพันธวงศ์) วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบพิตรภิมุข วัดโสมนัสวิหาร วัดทองนพคุณ วัดราชโอรส วัดประยูรวงศ์ศาวาส วัดอัปสรสวรรค์ วัดนวลนรดิศ วัดโชตนาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดบุปผาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดมหรรณพาราม วัดบรมนิวาส วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดดุสิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดทองธรรมชาติ วัดกัลยาณมิตร วัดอนงคาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดสุวรรณาราม วัดปทุมวนาราม วัดชิโนรสาราม แต่วัดที่ออกชื่อมาแล้ว ๖๖ นี้เป็นวัดเก่าบ้างใหม่บ้าง จะเข้าใจว่ามากวัดเท่านี้มาแต่รัชกาลที่ ๒ ไม่ได้อยู่เอง คงจะมีเพิ่มเติมขึ้นตามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างเทียนพรรษา แต่วัดจุฬามณีวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อมาข้างบนไม่รู้จักว่าวัดใด ได้สืบถามทั้งพระทั้งคฤหัสถ์หลายแห่งก็ไม่ได้ความ ไล่ไปมาก็ไปเวียนวนลงวัดจุฬามณีที่กรุงเก่าเสียบ้าง ได้เค้าแล้วไปเกลื่อนหายไปเสียบ้าง ภายหลังเมื่อทําหนังสือนี้แล้ว กรมหมื่นประจักษ์ให้ปลัดวังขวาไปสืบตามเค้าที่สังเกตดูในบัญชีว่า เหมือนหนึ่งจะเป็นฝั่งตะวันตก ไปได้ความมาจากนายเกดตำรวจวังหน้าอายุ ๗๘ ปี อำแดงปาน ภรรยาอายุ ๗๗ ปี ซึ่งอยู่ในคลองบางมดแจ้งความว่า คือวัดที่ราษฎรเรียกชื่ออยู่ว่าวัดยายร่มในคลองบางมดนั้นเอง เป็นวัดจุฬามณี ว่าเดิมยายร่มเป็นผู้สร้าง มีโบสถ์ฝากระดานหลังหนึ่ง การเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีหลังหนึ่ง มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ พระศิริสมบัติปู่ท้าววรจันทร์เดี๋ยวนี้ไปปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นฝาตึกสามห้อง มีกุฎีฝากระดานหลังหนึ่ง ฝาจากสี่หลัง ศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง แล้วถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช ได้เสด็จไปผูกพัทธสีมา จึงพระราชทานชื่อว่าวัดจุฬามณี แล้วได้เสด็จไปอยู่กรรมในที่นั้น ๗ วัน เวลาที่อยู่กรรมเสด็จไปประทับอยู่ที่ห้างสวนหลังวัด ถ้าเสด็จกลับเข้ามาในวัดก็ประทับที่การเปรียญ การที่อ้างว่า พระศิริสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช และเสด็จไปอยู่กรรมในที่วัดนั้น เห็นจะเป็นการแน่นอนได้ แต่ที่ว่าพระราชทานชื่อนั้นดูน่าสงสัยอยู่บ้าง ด้วยดูอย่างเก่านัก ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชทานชื่อ มักจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะเป็นชื่อเขาตั้งกันเอง เป็นแต่ได้เสด็จไปผูกโบสถ์และไปอยู่กรรมดอกกระมัง อีกประการหนึ่ง บรรดาวัดที่ได้ของสักการะในวันวิสาขบูชานี้ ล้วนแต่เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น มามีวัดราษฎรอยู่แต่วัดจุฬามณีวัดเดียว ถ้าจะว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพราะเป็นวัดที่ถวายและเสด็จไปประทับอยู่กรรม เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นวัดหลวง และวัดเช่นได้เสด็จไปอยู่กรรมเช่นวัดชัยสิมพลี จนได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินก็ครั้งหนึ่ง เป็นกฐินข้างในอยู่ก็หลายปี ทั้งอยู่ในจำนวนที่ทรงกะจะพระราชทานพระนิรันตรายด้วย เหตุใดจึงไม่พระราชทานเครื่องสักการะเหมือนกันเล่า การที่ถวายวัดเป็นหลวงมีมากชุกชุมมาก็แต่ในรัชกาลก่อนๆ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างมาก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับเป็นวัดหลวงน้อยและทรงตัดเสียก็มี หรือวัดจุฬามณีนี้จะได้ถวายไว้แต่ในรัชกาลก่อนๆ เป็นวัดหลวง ทรงตัดเสียในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทราบ แต่ร่างหมายจะเอาเป็นประมาณแน่นักไม่ได้ การอะไรที่เลิกแล้วไม่ใคร่ลบถอน มีการใหม่มาก็เติมลงไป การเก่าที่ไม่ได้ลบถอนเสียก็โคมๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีใครทําตาม วัดจุฬามณีนี้คงจะไม่ได้เครื่องสักการะนี้มาช้านานแล้ว ถึงวัดอื่นก็น่าสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเป็นธุระเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นวัดซึ่งสร้างใหม่ๆ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงไม่มีชื่อในหมายรับสั่งนี้ด้วย แต่ส่วนที่มีเทศนาตามวัดนั้นไม่ใช่เป็นแต่วัดหลวงแล้วมีทั่วไป เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้มีธรรมทานให้สะดวกแก่คนทั้งปวงที่จะไปฟัง จึงได้แบ่งออกเป็นฟากละ ๑๐ พระอาราม เป็นเทศนาวันละยี่สิบกัณฑ์ มีเทียนดูหนังสือเล่มหนึ่ง เทียนธูปบูชากัณฑ์อย่างละสิบเล่ม ผ้าผืนหนึ่ง กระจาดเครื่องบริโภคกระจาดหนึ่ง วัดที่มีเทศนาฝั่งตะวันออกสิบวัด คือ วัดราษฎร์บุรณ วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส ฝั่งตะวันตกสิบวัด คือ วัดอรุณราชวราราม วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณาราม วัดราชสิทธาราม วัดราชโอรส วัดหนัง ของเครื่องกัณฑ์นั้นเกณฑ์ให้เจ้ากรมปลัดกรมจางวางเจ้านายมารับไปถวายทุกวัดทั้งสามวัน รวมเป็นเทศนา ๖๐ กัณฑ์

กาลเวลาค่ำซึ่งเป็นของเกิดขึ้นใหม่นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระพุทธบุษยรัตน์ ยังอยู่ที่หอพระเจ้าในหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีเทียนรุ่งของหลวงคืนละสองเล่ม แต่ได้จุดต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง มีพานแก้วเจียระไนจัดของคาวหวานผลไม้ต่างๆ ทํานองเป็นอย่างถวายข้าวพระ ตั้งแต่เวลาเช้าแล้วเลยอยู่จนค่ำหลายพาน ราวสักเก้าพานสิบพานได้ ตั้งม้ามีขวดน้ำเพ็ญวันพุธ ซึ่งทรงตักขึ้นไว้แต่ในเดือนสิบสอง มีไข่นกออสตริชซึ่งเรียกว่าโอทเรศบ้างตั้งหลายใบ วงสายสิญจน์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการถวายข้าวพระแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตรเวลาหนึ่ง เวลาค่ำตั้งแต่พลบไปจนยามหนึ่ง สี่ทุ่มบ้างอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในหอพระนานนั้น ทรงสวดมนต์และเสกน้ำมนต์ลงยันต์ต่างๆ หลายสิบอย่างทุกๆ วัน แล้วจึงได้จุดดอกไม้ ดอกไม้นั้นมีแต่พุ่มดอกไม้เทียนสิบพุ่ม เหมือนอย่างลอยพระประทีป เมื่อภายหลังลงมาว่าเสด็จไปนมัสการที่พระพุทธสิหิงค์บนพระพุทธมนเทียร ไม่ได้เสด็จมาที่หอพระ และบางทีแต่ก่อนย้ายไปนมัสการที่หอพระบนหลังคาตัดพระที่นั่งภาณุมาศจํารูญก็มี ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเคยถูกเกณฑ์ขึ้นไปจัดเครื่องนมัสการบนนั้น และยกของที่ตั้งข้าวพระลงมาเปลี่ยน เพราะห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไป เวลาค่ำที่เสด็จขึ้นไปนมัสการบนนั้นก็ต้องขึ้นไปรับใช้ แต่จะจําให้ชัดเจนว่าทําอะไรบ้างก็ไม่ถนัด เพราะเวลานั้นปอดเสียเป็นกําลัง ด้วยเรื่องกลัวผีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขึ้นบันไดทีหนึ่ง ลงบันไดทีหนึ่งหน้าแข้งแตกทุกครั้ง จนเป็นจําได้ดี ว่าถึงเวลาวิสาขะแเล้วหน้าแข้งคงเป็นแผล ด้วยทางที่ขึ้นลงนั้นเป็นซอกแซก เมื่อก้าวขึ้นไปเสียงฝีเท้าตัวเองดังตึงๆ ก็นึกว่าผีวิ่งตาม ถ้าพอลุกออกไปถึงบันไดไม้ ที่พาดบนหลังคาพระที่นั่งนงคราญเป็นกลางแจ้ง แลดูเข้ามาข้างในมืด ยิ่งกลัวก็รีบก้าวหนักขึ้นไป บันไดนั้นคมเพราะเป็นไม้บางจึงได้กัดหน้าแข้ง แต่ขึ้นไปทําอยู่บนนั้นจะสักกี่ปีก็จําไม่ได้ ดูหลายปีอยู่ จะเลิกเสียเพราะเหตุใด หรือเพราะเกิดไฟไหม้ขึ้นในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็จําไม่ได้อีก เพราะอายุข้าพเจ้าในระหว่างนั้นอยู่ในเก้าขวบสิบขวบ การพิธีอย่างนี้ไม่ได้สนใจจะจํา ถามใครก็เห็นจะไม่ใคร่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ขึ้นไป ต้องขอตกลงเป็นว่ารวมๆ ไว้เพียงเท่านี้ทีหนึ่ง แต่สังเกตได้ว่าไม่มีเทียนรุ่งบนนั้น เทียนรุ่งคงมีแต่ที่พระพุทธบุษยรัตน์ ภายหลังมาเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกคู่หนึ่ง ครั้นเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายพระพุทธบุษยรัตน์ไปที่พุทธรัตนสถานแล้ว วันสิบสี่ค่ำไม่ได้จุดเทียนรุ่งและไม่ได้เดินเทียน ต่อวันสิบห้าค่ำแรมค่ำหนึ่ง จึงได้จุดเทียนรุ่งและเดินเทียน เสด็จลงทรงจุดเทียนรุ่งที่พระพุทธสิหิงค์ เทียนเจ้าเซ็นที่พระเจดีย์ แล้วจึงจุดเทียนรุ่ง และเครื่องนมัสการที่พระพุทธรัตนสถาน ทรงนมัสการแล้วจ่ายเทียนพวกอุบาสิกาสวดนมัสการ แล้วออกเดินเทียน พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ กับอุบาสิกาและละครเด็กๆ โขลน ข้าเจ้านาย ออกเดินเทียนไปรอบอ่างแก้วข้างใต้ เลี้ยวขึ้นชาลาหลังพระพุทธรัตนสถานไปลงอ่างแก้วข้างเหนือ เลี้ยวมาบรรจบรอบหน้าพระพุทธรัตนสถาน[] ในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในทรงจุดเทียนรายตามพนักทั้งสองชั้น และจุดเทียนซึ่งปักฉัตรเช่นเรือพระที่นั่งลอยพระประทีป ที่ตั้งรายอยู่ตามชาลาชั้นล่าง ประโคมมโหระทึกพิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน การที่ตกแต่งนั้นมีโคมตราเจ้านายฝ่ายในแขวนรายรอบเฉลียงพระพุทธรัตนสถาน และตั้งโต๊ะหมู่ที่มุขเด็จเป็นส่วนของเจ้าต๋ง[] โต๊ะหนึ่ง ตั้งที่มุมกําแพงแก้วข้างละโต๊ะ ตั้งที่ศาลาใกล้ประตูอมเรศสัญจรสองโต๊ะ เป็นส่วนของเจ้านายฝ่ายใน ตามกําแพงและพนักทั้งปวงนั้นรายโคมสว่างทั่วไป พระเจ้าลูกเธอและเจ้าจอมข้างในมีเทียนรุ่งมาจุดคืนละหลายๆ สิบเล่ม เมื่อเดินเทียนแล้วอุบาสิกาทําวัตรสวดมนต์ พระราชทานเงินแจกคนละสลึงทุกวัน แล้วจึงเสด็จไปทรงจุดดอกไม้ที่หน้าหอเทวราชรูป มีเครื่องดอกไม้เพลิงเล็กๆ คือ พุ่มสิบพุ่ม กระถางสิบกระถาง ระทาสิบระทา พะเนียงไข่ห้าสิบ เวลาทรงจุดดอกไม้มีประโคมพิณพาทย์ แล้วเสด็จออกทางประตูแถลงราชกิจ

ทรงจุดดอกไม้ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พุ่มสิบพุ่ม มีซุ้มระย้าโคม ๔ ซุ้ม ซุ้มดอกไม้รุ่ง ๔ ซุ้ม ปักบูชาที่หน้าวัด ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามรายโคมตามพนักกําแพงแก้ว พระพุทธปรางคปราสาท พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และรอบพระอุโบสถ โคมตราข้าราชการแขวนบ้างตั้งบ้าง ตามชาลาและศาลารายพระระเบียงทั่วไป เสด็จขึ้นในพระอุโบสถทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและเทียนรุ่งแล้วทรงนมัสการต่อไป แต่เทียนรุ่งเจ้านายและข้าราชการนั้น พระราชทานเพลิงไฟฟ้าออกมาให้จุดแต่หัวค่ำก่อนเสด็จพระราชดําเนินออก เทียนรุ่งเจ้านายข้าราชการตั้งที่ริมธรรมาสน์บ้าง ที่ข้างฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งสองข้างเป็นอันมาก ภายหลังนี้มีเชิงเทียนเถาเจ็ดเชิง ตั้งที่ตรงพระพุทธยอดฟ้าเถาหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าเถาหนึ่ง เมื่อทรงนมัสการแล้ว ทรงสุหร่ายบูชา ประพรมเทียน และโปรยปรายดอกไม้ที่หลังธรรมาสน์และบนธรรมาสน์ สนมจึงรับเทียนนั้นไปแจกข้าราชการผู้จะเดินเทียน และติดรายตามราวรอบพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนชนวนลงไป พระราชทานให้ข้าราชการจุดต่อจากพระหัตถ์ อาลักษณ์และราชบัณฑิตเป็นเจ้าของหน้าที่นุ่งขาวห่มขาว นอกนั้นข้าราชการที่เป็นขุนนางกรมต่างๆ บ้าง ตำรวจบ้าง เป็นผู้เดินเทียน เมื่อจุดเทียนแล้วนั่งลงกราบพระว่าคำนมัสการ แล้วจึงลุกขึ้นยืน ผู้ที่ชักนำว่าคํานมัสการว่ารับพร้อมๆ กัน แล้วจึงเดินประทักษิณรอบพระอุโบสถภายในกําแพงแก้ว เจ้านายซึ่งยังทรงพระเยาว์เสด็จก่อน แล้วจึงถึงพวกที่นุ่งขาว ข้าราชการอื่นๆ เดินไปต่อภายหลัง กระบวนข้างในท้าวนางเป็นหัวหน้า แล้วจึงถึงโขลนและข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ คอยบรรจบเข้ารอบที่หลังพระอุโบสถ ในขณะเมื่อเดินเทียนนั้น ทรงจุดเทียนรายตามราวเทียนรอบพระอุโบสถ และพระราชทานเทียนชนวนให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงจุดเทียนรายตามพนักกําแพงแก้วและราวเทียน เมื่อครบสามรอบแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนต่อไป ที่เขาต่อไม้และที่ราวเทียนรอบฐานชุกชี แล้วทรงธรรมเทศนาในการวิสาขบูชานี้ ทั้งภาษามคธและภาษาไทย วันแรกตั้งแต่ประสูติจนถึงพรรณนาด้วยมหาปุริสลักขณะ วันที่สองตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ วันที่สามตั้งแต่เทศนาธรรมจักร จนถึงปรินิพพาน เครื่องกัณฑ์มีจีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียน เงินสามตำลึง และขนมต่างๆ จัดลงโต๊ะเงินย่อมๆ อย่างละโต๊ะ เมื่อเทศนาจบแล้วก็เป็นเสร็จการในส่วนวันนั้น เทียนที่ใช้ในการวิศาขะ เทียนรายเล่มละหกสลึง ที่พุทธรัตนสถาน ๖๐๐ เล่ม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓,๐๐๐ เล่ม พระราชทานวัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เทียนรุ่งวัดละสองคู่ เทียนรายวัดละห้าร้อยเล่ม[]

ครั้นเมื่อวันแรมแปดค่ำ ซึ่งนับว่าเป็นวันถวายพระเพลิงก็มีการบูชาและเดินเทียนอีกวันหนึ่งเหมือนกัน ยกเสียแต่โคมตราข้าราชการไม่ได้มีมาตั้งมาแขวน ถวายเทศนาเริ่มต้นตั้งแต่การบูชาพระพุทธสรีระ จนถึงเจดีย์สิบ แต่เทียนรุ่งและเทียนรายที่พระราชทานไปวัดนั้น เปลี่ยนไปเป็นวัดบรมนิวาส ใช้เทียนรายหนักเล่มละบาท

อนึ่ง ตั้งแต่ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ขึ้นที่เกาะบางปะอินก็พระราชทานเทียนรุ่ง ๓ คู่ เทียนรายเล่มละหกสลึง ๑,๓๐๐ เล่ม เล่มละบาท ๑,๐๐๐ เล่ม ถ้าประทับอยู่ที่บางปะอิน ก็เสด็จพระราชดําเนินทรงทําวิสาขบูชาที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เหมือนเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดารามมิได้ขาด พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดําเนิน และอุบาสกอุบาสิกาในวัดนั้นเดินเทียน แล้วทรงธรรมเป็นการวิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง ด้วยที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็คงอยู่ตามเดิมมิได้ลดหย่อนการวิสาขบูชา วันแรมแปดค่ำในชั้นหลังมักจะเสด็จพระราชดําเนินวัดนิเวศน์ธรรมประวัติมากกว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

คําตักเตือนในการวิสาขบูชานี้ เรื่องโคมตราที่ต้องเกณฑ์นั้นมักจะมีผู้ที่เกียจคร้านไม่อยากจะทําบิดเบือนเสียก็มี ที่ขึ้นชื่อว่าต้องเกณฑ์อะไรแล้ว แก้ไขหลีกเลี่ยงได้ด้วยโวหารไม่ให้ต้องเป็นผิด ถือว่าเป็นการฉลาดดีกว่าคนทั้งปวงที่เซอะซะยอมให้เขาเกณฑ์ก็มี ที่เฉยๆ เสียไม่ได้คิดจะบิดพลิ้วอย่างไร แต่เฉยๆ อยู่ไม่ได้เป็นธุระ เพราะหลงลืมก็มี การที่ต้องลงทุนทําโคมนั้นก็ไม่มากมายอันใดนัก ทําครั้งเดียวก็ใช้ไปได้ตลอดอายุ เป็นแต่ต้องซ่อมแซมเยียวยาบ้าง ตะเกียงที่มาจุดนั้นก็เพียงดวงเดียว ไม่สิ้นไร้ไม้ตอกอันใดนักเลย ไม่ควรที่จะบิดเบือนเชือนแชเสีย ถึงโดยจะบิดได้ก็ดูไม่ฉลาด และไม่เป็นเกียรติยศอันใดนัก มหาดเล็กต้องเตรียมพานเทียน และคอยรับเทียนทรงธรรมตามเคย ดูก็คล่องแคล่วอยู่แล้ว ไม่สู้ต้องโวยวายนัก เดี๋ยวนี้จะมากาหลอยู่เรื่องเดียวก็แต่โคมไฟฟ้า ซึ่งเป็นคู่กันกับพระเต้าษิโณทก มหาดเล็กก็ไม่พอใจเรียก ที่แท้ข้างในก็ไม่พอใจส่งด้วย ขึ้นชื่อว่าวิศาขะในสามวันแล้วคงจะต้องเกิดเรียกไฟไม่ได้วันหนึ่ง ทุกปีไม่ใคร่ขาด ยังแป้งเจิมภูษามาลาอีกอย่างหนึ่งก็มีกาหลบ้าง แต่ห่างๆ การนอกนั้นก็ดูไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือนัก เพราะการเสมอๆ และไม่สู้ออกหน้าออกตามาก ๚
   
-------------------------------------------------------------------------------------
[] สถานที่ที่ทรงพรรณนาตรงนี้รื้อหมดแล้ว ยังคงแต่พระพุทธรัตนสถาน
[] คือหม่อมเจ้าประวิชในกรมขุนราชสีหวิกรม เรียกกันเป็นสามัญว่า หม่อมเจ้าต๋ง
[] พิธีวิสาขบูาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาแก้ไขเมื่อในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทําแต่วัน ๔ ค่ำ เสด็จออกทรงเดินเทียนพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงทั้งหมด แล้วจึงทรงสดับพระธรรมเทศนา พิธีวันแรม ๘ ค่ำ นั้นก็เลิก
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #27 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2561 14:52:58 »




พระราชพิธีเดือนเจ็ด
• พระราชพิธีเคณฑะ   • พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท
• การพระราชกุศล สลากภัต• สลากภัต
• พระราชพิธีเคณฑะ   • การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา
• การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม
-----------------------------------

๏ พระราชพิธีเดือน ๗ นี้ ตามตำราของพราหมณ์ก็ว่าเคณฑะคือทิ้งข่าง ต้องกันกับจดหมายนางนพมาศซึ่งกล่าวไว้ด้วยเรื่องทิ้งข่างเป็นเนื้อความพิสดาร แต่ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาท วิธีที่ทำก็ดูต่างกันไกลนักไม่ลงรอยกันเลย เห็นจะเป็นต่างครูกันแท้ทีเดียว พิธีเคณฑะดีร้ายจะไม่ได้ทำที่กรุงเก่าเลย แต่เรื่องทูลน้ำล้างพระบาทมีพยานที่อ้างอีกแห่งหนึ่งในคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ก็เป็นคำพยานที่ให้การผิดประเด็น ต้องฟังกลับความเอาจึงจะพอได้ เค้าในคำให้การขุนหลวงหาวัด พิธีเดือนเจ็ดว่าตุลาภาร พิธีเดือนเก้าว่านารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ในกฎมนเทียรบาลพิธีตุลาภารไปอยู่ในเดือนเก้า เดือนเจ็ดเป็นทูลน้ำล้างพระบาท พิธีทูลน้ำล้างพระบาทกับนารายณ์บรรทมสินธุ์ ข้อความคล้ายคลึงกัน คืออยู่ในเจ้าแผ่นดินเสด็จสู่ที่สรง ลางทีขุนหลวงหาวัดให้การนั้นเป็นแต่จำไว้ด้วยใจเปล่าๆ ไม่มีตำรับตำราค้นนับไขว้เดือนกันไปก็จะเป็นได้ หรืออีกอย่างหนึ่ง กฎมนเทียรบาลเป็นแบบเก่าแรกสร้างกรุง ตกลงมาชั้นหลังจะเปลี่ยนแปลงไปเสีย ด้วยความประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่นพิธีตรียัมพวายก็จะเป็นได้ ถ้าจะลองค้นหาเหตุดูว่า เหตุที่จะเปลี่ยนนั้นอย่างใดได้บ้าง ก็เห็นมีอยู่อย่างเดียว แต่ถ้าทำพิธีตุลาภารในเดือนเก้าเป็นเวลาฝนชุก การพิธีตุลาภารมีแห่แหนอยู่ จะย้ายไปไว้เสียเดือนเจ็ดซึ่งฝนยังไม่สู้ชุกนัก เปลี่ยนพิธีทูลน้ำล้างพระบาท หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือนเก้าจะได้บ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเรียบเรียงต่อไปนี้ จะต้องเอากฎมนเทียรบาลเป็นหลัก ยืนทูลน้ำล้างพระบาทไว้เดือนเจ็ด ยกนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือนเจ็ดด้วย เพราะเห็นว่าเป็นพิธีเดียวกัน จะขอกล่าวด้วยพิธีเคณฑะทิ้งข่าง ซึ่งมีมาในหนังสือนางนพมาศ นับว่าเป็นการเก่าขึ้นไปกว่ากรุงเก่านั้นก่อน  


เดือนเจ็ด
พระราชพิธีเคณฑะ คือทิ้งข่าง  

๏ในเรื่องพระราชพิธีทิ้งข่างนี้ ของเก่าเขาเรียบเรียงไว้สว่างไสวดีมาก ถ้าจะว่าใหม่ก็ดูเหมือนจะไม่แจ่มแจ้งเหมือนของเก่าเขาจึงจะขอคัดของเก่ามาว่า เป็นแต่แทรกข้อความเป็นตอนๆ ตามสมควร ในจดหมายเก่านั้นว่า

“ครั้นถึงเดือน ๗ นักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคณฑะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูวนาถ อันเป็นเทวสถานหลวงให้สะอาดสะอ้าน ชาวพระนครก็มาสันนิบาตประชุมกัน คอยดูพราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึงพระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิ พระเป็นเจ้าเป่าสังข์ถวายเสียงแล้วสังเวยบวงสรวงข่าง อันกระทําด้วยเนาวโลหะใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิด สมมติว่าพระสยม สามกําลังบุรุษจึงจะชักสายทิ้งข่างให้หมุนได้ อันข่างนั้นเป็นที่เสี่ยงทายตามตํารับไตรเพท ถ้าข่างดังเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกา มีแต่ยิ่งมิได้หย่อนก็กล่าวว่าเป็นมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณะชีพราหมณ์คฤหบดีเศรษฐี และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สิ้นทั้งพระนครขอบขัณฑสีมาอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เป็นสุขปราศจากภยันตรายต่างๆ หนึ่งโสดแม้นว่าข่างหมุนมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ พราหมณาจารย์ก็ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิสบายในขวบปีนั้น”

ในตอนนี้เป็นกล่าวด้วยตำราเสี่ยงทายก็อยู่ในเรื่องพิธีกะติเกยาซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ว่าเป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายที่จะห้ามการประทุษร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทาย เห็นว่าพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่ ถึงผู้ใดจะคิดปองร้ายก็ให้เห็นว่าดินฟ้าอากาศยังไม่เล่นด้วย จะได้เป็นที่ย่อหย่อนความมุ่งร้ายไม่ให้เกิดขึ้นได้ ต่อนั้นไปจึงได้กล่าวถึงการที่ทําในครั้งที่นางนพมาศได้ดูนั้นว่า “ครั้นได้เวลา พระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายพนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ (แล้ว) หมู่พราหมณ์ทั้งปวงก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังหน้าพระลานชัย อันแวดวงด้วยรั้วราชวัติเป็นที่ทิ้งข่าง จึงเอาสายไหมเบญจพรรณยาวสิบศอก พันคันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดาน อันวางเหนือหลังภูมิภาคปถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ ก็อ่านอิศรมนต์กําเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนายชำนาญข่างก็ประจําข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องชัย นาลิวันก็ทิ้งข่างวางสาย เสียงข่างดังกังวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สะบัดได้บาทนาฬิกาเศษ ข่างสำแดงความเจริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ฯลฯ ต่อนั้นไปจึงแสดงผลปัจจุบันของการที่ทิ้งข่างในวันนั้นว่า “ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎรซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างเห็นดังนั้นแล้ว ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นรำบอกเล่ากันต่อๆ ไปว่า ในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข พราหมณ์ก็เชิญข่างคืนเข้าสู่เทวสถาน”

ความต่อไปนี้ ว่าด้วยการที่นางนพมาศ ได้ไปดูพระราชพิธีนี้ การพระราชพิธีนี้ไม่ได้ทําหน้าที่นั่ง ข้างในก็ไม่ได้เคยไปดูมาแต่ก่อนเลย แต่เพราะนางนพมาศเป็นคนเข้าใจอยู่ในการพิธี และเป็นผู้รักจดจำการต่างๆ อยู่ จึงได้โปรดให้ไปดู พร้อมด้วยพระสนมผู้อื่น ซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์อีกหลายคน ที่ซึ่งไปนั่งดูนั้น ว่านั่งที่โรงมานพ ซึ่งข้าพเจ้าได้เดาไว้ในพระราชพิธีตรียัมพวายว่ามาฬก แต่ในที่นี้เขาว่าเป็นที่พราหมณ์แสดงมนต์ ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นโรงที่ทำอย่างแน่นหนา คล้ายศาลาอยู่หน้าเทวสถาน มิได้ปลูกขึ้นใหม่

แต่การพระราชพิธีนี้ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในกรุงเก่านั้น จะเป็นด้วยเป็นพิธีของพราหมณ์ทำ ไม่เกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชดำเนิน จึงไม่ว่าไว้ หรือเป็นการจืดไม่อัศจรรย์เลิกเสียอย่างหนึ่ง ถ้าจะว่าเป็นเหตุอย่างเช่นกล่าวก่อน พระราชพิธีกะติเกยา ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับพระเจ้าแผ่นดินก็มีกล่าวไว้ จะว่าตําราสูญ พราหมณ์เดี๋ยวนี้เขาก็ยังรู้อยู่ เห็นว่าจะเป็นด้วยจืดมากกว่าอย่างอื่น
 


เดือนเจ็ด
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท

การพระราชพิธีนี้ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล เป็นความรวมๆ อย่างยิ่ง เหมือนอย่างพิธีอื่น คือว่าในรัตนสิงหาสน์เบญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ฉัตรเบญจรงค์ เสด็จบนเบญจาเก้าชั้นและชั้นเจ็ด ฝ่ายซ้ายขุนราชแพทย์ ฝ่ายขวาสมุหประธานนาหมื่น หัวเมืองทั้งสี่ขึ้นก่อน จึงนาหมื่นจตุสดมภ์ ลงมาถึงนาพันหกร้อยและนาห้าพันหลังเอง กว่านั้นสมุหประธานรับหลัง นาหมื่นกะละออมทอง นาห้าพัน นาสามพัน กะละออมนาก นาพันหกร้อย กะละออมเงิน นอกราชวัตินอกฉัตร ขัดแห่หัวหมื่นองค์รักษ์นารายณ์ ผูกพระปราบพระชายานุภาพยืนที่ อ่างทองรองพระบาท ครั้นเสด็จทูลน้ำล้างพระบาทเสด็จออกเลี้ยงเอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ ผ้าพอกโอบกะละออมน้ำ ตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ มีข้อความในกฎมนเทียรบาลเพียงเท่านี้

ข้อความในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า “เดือนเก้า (ซึ่งข้าพเจ้าเปลี่ยนมาเป็นเดือนเจ็ดตามเหตุที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) ชื่อพิธีนารายณ์บรรทมสินธุ์ เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตจึงถวายพระมุรธาภิเษก แล้วจึงถอดฉลองพระองค์ แล้วเปลื้องพระภูษาให้แก่พราหมณ์” มีความเพียงเท่านี้

ข้อซึ่งว่าด้วยที่สรงหรือที่ทำพิธีแปลกกัน คือแห่งหนึ่งว่าในรัตนสิงหาสน์ คําว่า “ในรัตนสิงหาสน์” นี้มักใช้เป็นตรงหน้าพระบัญชรหรือหน้ามุขเด็จซึ่งเป็นที่เสด็จออก มณฑปพระกระยาสนานนั้นคงจะตั้งอยู่หน้าปราสาทซึ่งเป็นที่ชาลากว้างๆ แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งว่ามณฑปในกลางสระนั้น จะเป็นยักย้ายไปใหม่อย่างไรอยู่ ตามที่ว่าก่อนดูเหมือนต้องทํามณฑปพระกระยาสนาน เช่นใช้ในการราชาภิเษกขึ้นใหม่ปีละครั้ง หรือตัวไม้เก่านั้นแลแต่รื้อลงเสียต้องกลับคุมขึ้นใหม่ปีละครั้ง ทั้งเบญจาเก้าชั้นคือยกพื้นขึ้นไปเป็นชั้นๆ ถึงเก้าชั้นต้องทําทุกปี กว่าจะแล้วก็คงหลายๆ วัน ต้องทําต้องรื้ออยู่เสมอ ที่ว่าเป็นมณฑปกลางสระนั้น มณฑปก็ลงกันกับมณฑปพระกระยาสนาน หรือจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินภายหลังทรงเห็นว่าต้องทําๆ รื้อๆ เป็นการลำบาก จึงได้คิดทำขึ้นเสียเป็นเครื่องไม้จริง อยู่คงที่ไม่ต้องรื้อ เมื่อถึงเวลาการพระราชพิธี จึงตกแต่งผูกม่านปักฉัตรประดับประดาเครื่องสดขึ้นคราวหนึ่ง เมื่อเวลาอยู่ปรกติจะทิ้งไว้แต่มณฑปโทงเทงเช่นนั้น ก็จะไม่สู้งามและไม่สู้มีประโยชน์อะไร จึงได้คิดขุดสระประกอบแวดล้อม ให้เป็นที่ประพาสชมผักชมปลาอะไรชนิดเดียวกันกับพระแท่นมุรธาภิเษก ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยก็เป็นได้ สถานที่ที่ทำพิธีจึงได้แปลกกันไป แต่อาการซึ่งประพฤติพระราชพิธีนั้น ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นชำระพระบาท ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสรงมุรธาภิเษก ไกลกันเป็นพระเศียรข้างหนึ่ง พระบาทข้างหนึ่งทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าซึ่งจะไปนั่งชําระพระบาทแล้วไม่สรงด้วยนั้นดูกระไรๆ อยู่ หรือคำที่เรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาทนั้น จะเป็นแต่คำยกย่องให้สมควรแก่พระเจ้าแผ่นดิน เช่นคําว่าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท คำว่าทูลน้ำล้างพระบาทจะเป็นถวายน้ำสรงเสียดอกกระมัง มีเค้ามูลอยู่อีกอย่างหนึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งใดๆ มา เจ้านายข้าราชการไม่มีได้เคยถวายน้ำเลย มีแต่สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะและพระอาจารย์วิปัสสนา กับเจ้าพนักงานภูษามาลาชาวที่ และพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเป็นผู้ได้ถวายน้ำ พระสงฆ์นั้นถวายน้ำรดพระขนองอย่างผู้ใหญ่รดผู้น้อย ภูษามาลาชาวที่เป็นแต่ส่งหม้อถวายอย่างข้าส่งน้ำถวายเจ้า แต่พราหมณ์นั้นพระมหาราชครูพิธีคนเดียวได้ถวายพระขนอง นอกนั้นถวายที่พระหัตถ์ แต่ครั้นมาเมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเมื่อยังไม่ได้บวรราชาภิเษกเป็นต้น ข้าราชการมีสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังเป็นต้น ถวายน้ำหลายองค์หลายคนด้วยกัน ทรงจัดพระเต้าเป็นลำดับยศให้ถวาย แต่ที่ถวายนั้นก็เป็นแต่เข้าไปยืนถวายเหมือนอย่างเจ้าพนักงานภูษามาลาและชาวที่ แล้วทรงรับมาสรงเอง ถึงการบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้ใช้ตามแบบนั้นต่อมา แต่ไม่ได้ยินพระกระแสรับสั่ง หรือได้ยินผู้ใดแปลว่าธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุใด ก็ธรรมเนียมที่ถือกันอยู่ในปรกติ เชิญรดน้ำตั้งกรมเป็นต้น ก็ย่อมเลือกเชิญผู้มีอายุสูงกว่า หรือที่มียศบรรดาศักดิ์ใหญ่กว่าให้เป็นผู้รดน้ำ ไม่เชิญผู้ที่มีอายุต่ำกว่าหรือมียศต่ำกว่าให้รดน้ำ ก็ในการบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะมียศยิ่งขึ้นไปกว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นก็ไม่มีแล้ว จะว่าที่เจริญพระชนมพรรษากว่ามีอยู่ก็ตามเถิด ก็พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อ่อนพระชนมพรรษากว่า เหตุใดจึงโปรดให้ถวายน้ำด้วยเล่า เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในทางกฎหมายละเอียดลออมาก และในการพระราชพิธีนี้ก็เป็นของโปรดมาก ทรงเสาะแสวงหาแบบเก่ามาทําโดยตรงๆ บ้าง โดยเอาแทรกปนเจือกับการอื่นๆ บ้าง การเรื่องถวายน้ำนี้ คงได้ทรงพระราชดําริโดยรอบคอบแล้ว ทรงเห็นว่าไม่เป็นการที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศลง กลับเป็นการเพิ่มพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ถวายน้ำ เหตุซึ่งทรงพระราชดําริยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เห็นจะเรื่องทูลน้ำล้างพระบาทนี้เอง แต่จะเอาเค้าเงื่อนให้แน่นอนเป็นพิธีต่างหากไม่ถนัด ด้วยเลือนเหลือที่จะเลือนเช่นคัดมาข้างต้นนั้น จึงได้ทรงยกไปใช้เสียในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เหตุทูลน้ำล้างพระบาทอย่างเก่า ถ้าคิดดูตามที่กําหนดศักดินาไว้ ว่าเป็นผู้ซึ่งควรถวายน้ำนั้น ดูจะหลายสิบคนเต็มที เพราะกําหนดตั้งแต่นาหมื่นลงมาจนถึงนาพันหกร้อย หรือจะแบ่งจําเพาะแต่ที่เป็นจตุสดมภ์มนตรีและหมอๆ ครูๆ พวกนายทหารเช่นเจ้ากรมพระตํารวจ กรมช้างกรมม้าจะไม่ใช้ดอกกระมัง ด้วยพวกเหล่านั้นมีหน้าที่ประจําการ ต้องแห่เสด็จต้องแวดล้อมตามราชวัติ ข้อซึ่งขุนหลวงหาวัดว่า สรงแล้วเปลื้องเครื่องพระราชทานพราหมณ์นั้น ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร สรงมุรธาภิเษกก็คงต้องเปลื้องพระภูษาพระราชทานพราหมณ์ทุกครั้ง การพระราชพิธีนี้ดูจะจัดคล้ายการบรมราชาภิเษก หรือการออกแขกเมือง คือมีช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ยืนประจําเกย ซึ่งได้ออกชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักรไว้ และจะมีการสมโภชเลี้ยงลูกขุน คือเลี้ยงแบงเควสใหญ่เหมือนอย่างการพระราชพิธีออกสนามใหญ่นั้นด้วย

ข้าพเจ้าไปจนเสียแต่เรื่องลงปลาย ที่เอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ แล้วตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ ที่ว่านั้นว่าในเวลาเลี้ยงเมื่อเสร็จการสรงแล้วด้วย เป็นจนความคิดไม่รู้ว่าจะแปลว่ากระไร ถ้าจะเล่นเอากะละออมตั้งหัวขุนนางทุกคนดูก็จะเหลือทน จะไปถูกลื่นๆ เข้าบ้างหรืออย่างไรตั้งไม่อยู่ จึงต้องเอาผ้าพอกโอบเป็นเสวียนขึ้นรับไว้ การที่จะยื่นหมากลงไปนั้นดูจะยากทั้งผู้รับผู้ยื่น ถ้ามีผมอยู่ก็พอจะแทรกเสียดอยู่ในผมได้ ถ้าถูกเกลี้ยงๆ จะทรงวางก็จะเลื่อนตกบ่อยๆ โดยว่าทรงวางได้แล้ว ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะถอยหลังกลับออกมา ก็จะต้องย่องอย่างเอก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เห็นจะได้ฮากันลั่นๆ ไป การซึ่งว่าไว้เช่นนี้ จะเป็นด้วยแต่งสั้นเกินไป หรือจะเป็นด้วยมีผู้ใดแป้นอย่างเอกขึ้นสักคนหนึ่ง เวลาที่จะขึ้นไปถวายน้ำยกขึ้นทูลศีรษะมือประคองขึ้นไป เวลาที่พระราชทานหมากก็เอาศีรษะยื่นเข้าไปรับแทนผ้ากราบ แล้วจึงเอามือหยิบเหมือนผู้หญิงถวายของพระอย่างนั้นบ้างดอกกระมัง แต่การพระราชพิธีทั้งสองคือทูลน้ำล้างพระบาทหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ก็ไม่มีปรากฏว่ามีพิธีพราหมณ์อย่างใด ดูพราหมณ์ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร และพิธีทั้งสามอย่าง คือ เคณฑะ ทูลน้ำล้างพระบาท และนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ไม่ได้มีทําที่กรุงรัตนโกสินทรนี้เลย นับว่าเป็นพิธีเลิกสูญแล้วทั้งสิ้น ๚
 


เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล สลากภัต

๏ การพระราชพิธีสำหรับเดือนเจ็ด เลิกเสียไม่ได้ทําทั้งสิ้นแล้ว การพระราชกุศลอันใดในเดือนเจ็ดก็ไม่มี ตลอดจนการสดับปกรณ์พระบรมอัฐิซึ่งมีแทบจะทุกเดือน ในเดือนเจ็ดก็จำเพาะถูกคราวเว้นการจรที่เป็นการมงคลก็ไม่ทำในเดือนเจ็ด การเผาศพใหญ่ๆ ก็ไม่ใคร่ทําในเดือนเจ็ด ด้วยเป็นฤดูฝน เพราะฉะนั้นในเดือน จึงได้เว้นว่างอยู่ทั้งเดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดให้มีสลากภัตเป็นการพระราชกุศลเพิ่มขึ้นในเดือนเจ็ด

การสลากภัตนี้ เมื่อจะว่าโดยเหตุเดิม ตามที่คนโบราณได้ทํามาก็ไม่เป็นกำหนดฤดู ที่มีมาในวินัยบาลี คัมภีร์จุลวรรคว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ ณ เวฬุวันเมืองราชคฤห์ ครั้งนั้นข้าวแพง ชนทั้งหลายที่เคยถวายสังฆภัตทั่วๆ ไปไม่มีกําลังจะถวายได้ จึงได้พากันคิดจะถวายอุเทศภัตเพียงรูปหนึ่ง สองรูป สามรูปอย่างหนึ่ง นิมันตภัต คือเฉพาะแต่ที่นิมนต์ไปถวายอย่างหนึ่ง สลากภัตคือให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้นั้นอย่างหนึ่ง ปักขิกภัต ถวายเฉพาะวันหนึ่ง ในปักษ์ข้างขึ้นปักษ์ข้างแรมนั้นอย่างหนึ่ง ปาฏิปทิกภัต ถวายเฉพาะในวันขึ้นค่ำหนึ่ง และแรมค่ำหนึ่งนั้นอย่างหนึ่ง ยักย้ายไปตามชอบใจของตนๆ ภิกษุทั้งหลายนำความขึ้นกราบทูลพระผู้ทรงพระภาค พระองค์จึงอนุญาตให้พระสงฆ์รับภัตทั้ง ๗ นี้ สลากภัตนับเป็นภัตอันหนึ่งใน ๗ อย่าง ก็ไม่เป็นกำหนดฤดูหรือกำหนดเหตุอันใด ที่เป็นกาลควรทำใช่กาลที่ควรทํา ในกรุงสยามแต่ก่อน ที่ได้กล่าวถึงถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์ ในส่วนราชการและส่วนราษฎร ก็มีมาอย่างเช่นในหนังสือนพมาศเป็นต้น ก็ว่าถวายกันในเดือนหก ประจวบนักขัตฤกษ์วิสาขบูชา ถึงที่ในกรุงรัตนโกสินทร์เกิดสลากภัตขึ้น ก็ทําในการวิสาขบูชาเหมือนกัน และสลากภัตใหญ่วัดพระเชตุพน เมื่อปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสลากภัตวิเศษนอกจากวิศาขะคราวแรก ก็ทําในเดือนหกเหมือนกัน ที่ย้ายลงมาเดือนเจ็ดนั้น เห็นจะย้ายลงมาหาตาว่างอย่างเดียวเท่านั้น การซึ่งกำหนดสลากภัตในเดือนเจ็ด ก็ด้วยอาศัยผลไม้บริบูรณ์ ผลไม้อื่นก็ทำเนา ดูเป็นข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ทุเรียน ถ้าฤดูสลากภัตต้องคราวทุเรียนชุกชุมแล้ว ก็เห็นจะเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น

การเรื่องถวายภัตต่างๆ หรือจีวรต่างๆ ตามที่มีมาในพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้นั้น ดูเป็นการทำเล่นต่างว่าไปหมดทุกอย่าง ด้วยเหตุว่าภูมิประเทศบ้านเมืองไม่เหมือนกัน ทั้งผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่เหมือนกัน ในประเทศอินเดียมีทุพภิกขภัยฝนแล้งข้าวแพง จนถึงมนุษย์และสัตว์ต้องตายด้วยอดอาหาร ในประเทศสยามนี้การเช่นนั้นไม่เคยพบเห็น เพราะแผ่นดินอุดมดีกว่าในประเทศอินเดียบางแห่ง การที่จะเสาะแสวงหาอาหารของภิกษุไม่เป็นที่อัตคัดขัดสน คนในพื้นเมืองประเทศอินเดียเป็นหลายสิบพวกหลายสิบเหล่าประกอบด้วยทิฐิมานะกระด้าง ถือชาติถือโคตรถือลัทธิบูชาเซ่นสรวงต่างๆ กัน ลัทธิที่ถือเหล่านั้นล้วนแต่หึงหวงพวกอื่นๆ สอนให้หมิ่นประมาทพวกอื่น ให้ถือพวกอื่นเป็นศัตรูอบรมกันมาช้านาน ถึงโดยว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจะแพร่หลายไปได้มากเพียงเท่าใด ก็ไม่พอที่จะลบล้างทิฐิเดิมให้สิ้นเชื้อสิ้นซากได้ และไม่พอที่จะสั่งสอนคนให้ทิ้งละทิฐิเดิม กลับมาถือพระพุทธศาสนาทั่วกันไปได้ ส่วนในแผ่นดินสยามนี้ แต่เดิมมาก็คงจะเป็นแต่ถือเจ้าถือผีเช่นเมืองลาว เจ้าและผีเหล่านั้นไม่มีกฎหมายข้อบังคับที่ได้สั่งสอนคนให้ประพฤติตัวอย่างหนึ่งอย่างใด เหมือนอย่างคัมภีร์เวท หรือคัมภีร์ไบเบิลที่มีผู้มาชี้บอกเล่าสั่งสอน เป็นแต่นับถือก็เซ่นสรวงบูชาไปลองดู เมื่อได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจเอาเป็นว่าการที่ตัวทำนั้นถูก ถ้าไม่ได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจว่าการที่ตัวทำนั้นเป็นการผิดไม่ชอบใจเจ้า คิดยักย้ายทำอย่างอื่นไป ที่สุดจนการหยาบๆ คายๆ ที่คนกล้าๆ บ้าๆ ไปทำ เมื่อคนที่ทำไม่มีอันตรายอันใด ก็ถือว่าเป็นถูกใจเจ้าเช่นกับนิทานเขาเล่าว่าขโมยบนถวายควายเขาเกะแค่หู เมื่อได้ควายมาแล้วมาผูกไว้ที่เสาศาล ควายนั้นออกวิ่งไป กระชากเชือกที่ผูกเสาศาลจนศาลทลาย เมื่อผู้ที่ทําเช่นนั้นไม่มีอันตรายอันใด ก็ตกลงใจว่าเจ้าชอบการที่เป็นตลกขันๆ เป็นต้น การที่ถือลัทธิไม่มีข้อบังคับเป็นแต่การทดลองเช่นนี้ จึงไม่เป็นเหตุให้เชื่อถือมั่น จนถึงเป็นทิฐิมานะกระด้างแข็งแรง ครั้นเมื่อพราหมณ์นำศาสนาอิศวรนารายณ์เข้ามา ถึงว่าศาสนานั้นมีกฎหมายบังคับความประพฤติของคน แต่วิธีลักษณะอาการก็ไม่สู้ผิดกันไปกับเจ้าผีซึ่งเคยถือมาแต่ก่อนนัก เมื่อรับมาถือก็เข้าใจว่าเป็นผีอย่างเก่านั้นเอง แต่เป็นผีผู้ดีขึ้นไปกว่านั้นอีกหน่อยหนึ่ง หรือเป็นเจ้าแผ่นดินของผี ถึงว่าจะนับถือดีขึ้นไปกว่าผีที่เคยนับถือมาแต่ก่อน ก็ไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายแบบอย่าง เป็นแต่นับถือบูชาหลวมๆ อยู่อย่างเช่นผีอย่างเก่านั้นเอง ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา เป็นลัทธิแปลกไปใหม่ ไม่เหมือนอย่างที่เคยถืออยู่แต่ก่อนเลย เป็นการลึกซึ้งเข้าใจยากต้องร่ำเรียน ครั้นเมื่อร่ำเรียนรู้แล้ว ก็ยิ่งเห็นความอัศจรรย์ในคำสั่งสอนนั้นมากขึ้น ได้รับผลแห่งความปฏิบัติแน่นอนดีกว่าที่ได้จากผีไพร่หรือผีผู้ดีที่เคยถือมาแต่ก่อน ก็ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเจริญกล้าขึ้น เมื่อมีผู้ร่ำเรียนรู้มากขึ้น คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยิ่งแพร่หลายออกไป หยั่งลงตั้งมั่นในประเทศสยามแน่นหนามั่นคง ยิ่งกว่าศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นคำสอนที่มีแก่นสารให้ผลปรากฏในปัจจุบันไม่มีสับปลับพลิกแพลงเลย ถึงว่าศาสนาเก่าที่เคยถือมาทั้งสองอย่าง จะไม่ละทิ้งเสียได้ด้วยใจอ่อน ก็ยังเหลือแต่ความเกรงใจมากกว่าที่นับถือจริง ประเทศสยามเป็นภูมิภาคที่สมควรจะทรงพระพุทธศาสนามากกว่าประเทศอินเดีย ด้วยที่นับถือเดิมนั้นอ่อน จึงได้แพร่หลายมั่นคงมีผู้นับถือปฏิบัติบูชาแก่พระสงฆ์ทั้งปวงทั่วหน้า ถึงตาพระสงฆ์ทั้งปวงไม่มียามขัดสนกันดารเหมือนอย่างประเทศอินเดีย ด้วยอาศัยภูมิประเทศเป็นที่บริบูรณ์อย่างหนึ่ง ด้วยความนับถือของชนทั้งปวงทั่วถึงและมั่นคงประการหนึ่งดังกล่าวมานี้

การซึ่งมีแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย ในเรื่องภัตทานก็ดี จีวรทานก็ดี เป็นเรื่องสำหรับประเทศที่หาอาหารยากและหาผ้ายากทั้งสิ้น ไม่ต้องกันกับในประเทศนี้เลย แต่หากผู้ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยากจะหาช่องหาอุบายบําเพ็ญทานต่างๆ ให้เจริญความยินดีปรีดาในสันดาน ก็ยักย้ายทําไปตามลัทธิที่กล่าวมาแต่ก่อนอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่มักจะเป็นการไม่แท้โดยมาก อย่างเช่นว่าให้ผ้าปังสุกุลจีวรได้อานิสงส์มาก ก็มาทําย่อๆ เอาผ้าพาดโยงจากศพ แล้วเอาจีวรไปพาดบนผ้านั้น นิมนต์พระสงฆ์ตามที่ตัวนับถือชอบใจ มาชักผ้านั้นเป็นปังสุกุลจีวร ที่จริงผู้ทําก็รู้ว่าผ้านั้นพระสงฆ์จะเอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรไม่ขึ้น พระสงฆ์ก็ไม่ได้เอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรเลย แต่ก็ยังถวายผ้าปังสุกุลอย่างนั้นอยู่ได้เสมอ เป็นการสังเขปต่างว่าย่อๆ เพราะความจริงพระสงฆ์ในประเทศสยามนี้ ไม่ต้องการที่จะใช้ปังสุกุลจีวรเลย ด้วยผ้าที่ทายกถวายมากมายเหลือใช้ยิ่งนัก ถึงการสลากภัตนี้ก็เหมือนกัน สักแต่ชื่อว่าสลากภัต เมื่อทำไปถวายที่วัดใดก็ได้ทั่วๆ กันทั้งวัดเป็นสังฆภัต แต่ยักเรียกเสียว่าเป็นสลากภัต ที่สลากภัตหลวงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นนิมันตภัต ยักเรียกว่าสลากภัต บรรดาสสากภัตของหลวงทั้งสิ้นไม่เป็นสลากภัตแท้ เป็นแต่สมมติว่าเป็นสลากภัต เหมือนอย่างที่ทําบุญการศพ สมมติว่าเป็นได้ทอดผ้าปังสุกุลฉะนั้น ๚
 


เดือนเจ็ด
สลากภัต

๏ บัดนี้จะว่าด้วยการสลากภัตซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ข้าพเจ้าได้เคยจําได้ว่าได้ดูแห่สลากภัตไปวัดพระเชตุพน ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ครั้งหนึ่ง มีกระบวนเป็นอันมาก แต่กระบวนทั้งปวงนั้นจําไม่ได้หมดว่ามีอะไรบ้าง ไปจําได้อยู่สองอย่างแต่ว่ามีสหัสเดชะขี่เกวียนตัวหนึ่ง หัวโตสักเท่าตุ่มขนาดย่อมๆ มีมือหลายมือ ถืออะไรต่ออะไรหลายอย่าง จําก็ไม่ได้ว่าถืออะไรบ้าง เห็นแต่เวลาเกวียนเดินแล้วสั่นหรกๆ มาแต่ไกล ได้ตั้งตาดูแต่เหนือพลับพลา แล้วแลตามตลอดจนท้ายพลับพลา อยู่ข้างจะชอบใจมากกว่าสิ่งอื่น อีกกระบวนหนึ่งนั้นพิเภกคนๆ เราแต่งเป็นโขน มีลิงตามเป็นกองโต ถือผลไม้ต่างๆ เขามีพิณพาทย์ตี พิเภกและลิงนั้น เต้นตามเพลงพิณพาทย์ออกสนุกอีกอย่างหนึ่ง ได้ดูจําไว้ได้แต่สองอย่างเท่านี้ จะได้มีปีใดก็ไม่ทราบแน่ และไม่ไว้ใจตัวว่า การที่จําไว้นั้นจะถูกต้องหรือไม่ เที่ยวสอบถามใครๆ เขาดู เขาก็ว่ามีสลากภัตวัดพระเชตุพนจริง แต่จะมีกระบวนเช่นข้าพเจ้าจําได้หรือไม่นั้น เขาไม่ทราบหรือจําไม่ได้ ก็ยิ่งออกหนักใจขึ้นกลัวว่าจะไปเฟือนเอาเล่นโขนชักรอกเมื่อพิธีน้ำทิพย์มาฝันเห็นไปดอกกระมัง แต่ยังจําได้แน่นอนนัก จึงได้ค้นดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้ความว่า สลากภัตนั้นได้มีเมื่อปีมะโรงอัฐศก อายุข้าพเจ้าได้สามขวบเต็ม แต่ไม่มีสหัสเดชะดังเช่นที่ฝันเห็นไปนั้น เป็นแต่พรรณนาความกว้างๆ ว่า “ของหลวงไปหน้า แต่งละครข้างในหาบสลากภัตเป็นคู่ๆ ถึงท่านที่ต้องเกณฑ์ก็คิดทําประกวดกัน จัดหญิงศีรษะจุกและหญิงรุ่นสาวมาตกแต่งให้นุ่งผ้ายกบ้าง นุ่งสังเวียนบ้าง ห่มเข้มขาบบ้าง หาบสลากภัตเป็นสี่แถว แล้วก็มีคนถือสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานเป็นขนมผลไม้ต่างๆ ที่จะถวายพระสงฆ์ในสลากภัตนั้น ตามไปเบื้องหลังเป็นอันมาก ลางแห่งก็แต่งเป็นละครยืนเครื่องและนางเป็นคู่ๆ กันหาบสลากภัต ลางแห่งก็แต่งเป็นยักษ์บ้างลิงบ้าง ลางแห่งก็แต่งเป็นเสี้ยวกางแทงพิสัยไปข้างหน้า ลางแห่งก็แต่งเป็นงิ้วรบกัน ลางแห่งก็แต่งเป็นนางต่างภาษา ทูนกระบุงสิ่งของเป็นอันมาก ลางแห่งก็จัดเป็นรถและเกวียนบรรทุกสิ่งของเป็นคู่ๆ ลางแห่งก็จัดเอาเด็กที่รุ่นมาแต่งตัวถือผลไม้ต่างๆ ไปเป็นอันมาก ตามแต่ปัญญาผู้ใดจะเห็นดีก็ทําไป มีพิณพาทย์จีนพิณพาทย์ไทยไปบนเกวียนบ้างทุกๆ กระบวน ตั้งกระบวนที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร เดินกระบวนไปวัดพระเชตุพน คิดกระบวนหนึ่งคนที่อย่างน้อยทั้งหญิงทั้งชายเพียงร้อยเศษ ที่อย่างมากก็ถึงสองร้อยเศษ แต่ล้วนถือสิ่งของทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทอดพระเนตรอยู่บนพระหนึ่งสุทไธสวรรย์” ได้ความจากจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าดังนี้ ได้ความจากผู้อื่น คือท้าวเจ้าจอมมารดาอิ่มว่าตัวเองได้แต่งเป็นคนแก่ คนหาบสลากภัตนั้น ดวงคําเจ้าจอมมารดาหาบทอง จีบหาบถม แว้งหาบเงิน ละครแต่งเป็นพราหมณ์ เป็นศีรษะจุกสวมเกี้ยว ถือดอกไม้ธูปเทียน นอกนั้นมีละครสวมชฎา เป็นมนุษย์บ้าง ยักษ์บ้าง ขี่ม้าเป็นคู่ๆ และมีแต่งเป็นจีนเดินแห่ด้วย นี่เป็นกระบวนหลวง ได้ความจากผู้อื่นอีก ว่ากระบวนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีแคนใหญ่อันหนึ่งวางบนล้อเลื่อนไป มีลาวขับแคนเดินแวดล้อมไปด้วย แล้วจึงมีปราสาทผึ้งใหญ่หลังหนึ่งวางบนล้อเลื่อนลากไปเหมือนกัน ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มีช้างบรรทุกทุเรียน ของผู้อื่นก็มีเป็นละครบ้างงิ้วบ้าง อีกกระบวนหนึ่งไม่ทราบว่าของใคร มีทุเรียนประดับ เป็นทุเรียนผลใหญ่ขึ้นล้อเลื่อน ได้ความเฉียดๆ ไปอย่างนี้ แต่เรื่องสหัสเดชะของข้าพเจ้ายังไม่ได้ยินใครเอ่ยถึง เป็นแต่มีสลากภัตครั้งหนึ่งนั้น นับว่าเป็นถูกแน่มิใช่ฝัน แต่กระบวนนั้น บางทีคนอื่นเขาจะชอบใจอย่างอื่น แต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กโคมจะไปชอบใจโคมที่เขาไม่ชอบกัน จึงไม่มีใครจำไว้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สังเกตได้ว่า ถ้าเด็กเช่นนั้นไม่ชอบใจอย่างยิ่งแล้วไม่จําได้ ถ้าจำได้แล้วไม่ลืมเลย สลากภัตวัดบวรนิเวศ ซึ่งว่ากันว่ามีครั้งหนึ่งก่อนหรือภายหลังวัดพระเชตุพน ข้าพเจ้าไม่ได้นึกวี่แววได้เลยสักนิดเดียว ถามใครก็ดูรวมๆ ไปหมดทั้งสิ้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:00:58 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #28 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2561 15:02:57 »


เดือนเจ็ด
สลากภัต (ต่อ)

การสลากภัตทั้งสองคราว คือวัดพระเชตุพน และวัดบวรนิเวศต้องนับว่าเป็นการจร ส่วนสลากภัตที่ลงเป็นการประจำปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการมีในเดือน ๗ แต่จะเป็นขึ้นแปดค่ำหรือขึ้นสิบห้าค่ำจําไม่ถนัด คงอยู่ในวันพระ เป็นแต่สลากภัตของหลวงกับเจ้านายข้าราชการฝ่ายใน แห่ออกทางประตูราชสำราญ ผ่านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมไป เข้าประตูหน้าพระอุโบสถ ทอดพระเนตรที่ศาลาบอกหนังสือ สลากภัตเช่นนี้ มีกระบวนแห่เป็นผู้หญิงถือธงชาย ๑๐ ธงตะขาบ ๑๐ มีพิณพาทย์ ผู้หญิงตีสาม หามสี่ไปในระหว่างสำรับหนึ่ง ต่อไปละครขี่ม้า บางทีก็อย่างละสองคู่ บางทีก็อย่างละคู่ คือยืนเครื่อง พราหมณ์ ลิง ยักษ์ ในระหว่างละครขี่ม้านี้ มีพิณพาทย์อีกสำรับหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นละครเด็กๆ ถือดอกไม้คู่หนึ่ง ธูปคู่หนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง แต่แต่งตัวนั้นยักเยื้องกันไปเป็นคราวๆ บางคราวก็แต่งศีรษะจุกทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเป็นพราหมณ์ทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเรียกว่าอย่างเจ้าหนุ่ม คือแต่งเป็นละครแต่โพกผ้าสีทับทิมติดขลิบ ต่อนั้นลงมาเป็นหาบหลวง ทองหาบหนึ่ง เงินหาบหนึ่ง กระเช้าที่หาบนั้น ใช้ไม้เป็นแป้นหกเหลี่ยมปิดทองปิดเงิน ร้อยสายโซ่โยงขึ้นไปเป็นสาแหรก ในสาแหรกนั้น ตั้งพานทองพานเงินข้างหนึ่งเป็นกระทงข้าวเหนียว ข้างหนึ่งเป็นกระทงสังขยา คนที่หาบแต่งตัวนุ่งยกบ้าง สังเวียนบ้าง ห่มซับในแพร ห่มตาดชั้นนอก ต่อไปจึงถึงงานกลางเชิญเครื่องโต๊ะเงินผูกถุง ทั้งคาวหวานและเคียง พวกงานกลางนุ่งผ้าลาย นุ่งหยี่ ห่มซับในแพร ขึ้นนอกอัตลัดดอกราย ต่อนั้นไปจึงถึงหาบเจ้านายข้าราชการฝ่ายในเดินเป็นคู่ๆ กระเช้าที่หาบทําเป็นกระทงเจิม เป็นเครื่องขี้รักปิดทองบ้าง เครื่องอังกฤษบ้าง ปลายคานที่หาบเป็นศีรษะนาคหางนาค มีกระทงในกระเช้าทั้งสองข้าง มีซองพลูหมากธูปมัดเทียนมัดอยู่ในกระเช้า แล้วมีธงกระดาษปักฉลากหมายที่ ๑ ที่ ๒ บอกชื่อเจ้าของ สบงพาดศีรษะคานผืนหนึ่ง คนที่หาบนั้นแต่งตัวนุ่งสังเวียนบ้างยกบ้าง ที่เลวๆ ลงไปยกไหมก็มี ห่มตาดเยียรบับเข้มขาบอัตลัด ตามแต่ผู้ใดจะมีและจะหาได้ จํานวนหาบมากและน้อยตามจํานวนพระสงฆ์ที่มาฉัน ปรกติเห็นจะอยู่ใน ๓๐ รูป แต่ก่อนๆ มาใช้ทุเรียนทั้งผลกระเช้าหนึ่ง กระทงข้าวเหนียวกระเช้าหนึ่ง พึ่งจะมาเกิดกริ้วกันขึ้นเมื่องานสมโภชช้าง เห็นจะเป็นครั้งพระเศวตรสุวภาพรรณ ไปเหม็นตลบอบอวลขึ้นอย่างไรรับสั่งให้ไปทิ้งเสียทั้งสิ้น ภายหลังจึงได้กลายเป็นสังขยาบ้าง ผลไม้ต่างๆ บ้าง กระเช้าหนึ่งบางทีก็มีทั้งสังขยาและผลไม้ด้วย หาบหลวงและเครื่องโต๊ะเงินนั้นเป็นข้าวพระทั้งสองสำรับ นอกนั้นก็ถวายพระสงฆ์ตามที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลำดับกัน เวลาทรงประเคนสำรับ ทรงประเคนกระเช้าสลากภัตด้วยทีเดียว การเลี้ยงพระก็ไม่แปลกประหลาดอันใด จืดๆ เหมือนเลี้ยงขนมเบื้อง ถ้ามีการสมโภชบ้าง ก็เลิกสสากภัตตามธรรมเนียมเสีย ไปมีสลากภัตในการสมโภชช้างสามวัน พระสงฆ์มากออกไปเป็นร้อยแปดรูป ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเกณฑ์เจ้านาย เจ้าคุณ ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาใหม่ เจ้าจอมมารดาเก่า จนกว่าจะพอ บางปีก็ยกไปวัดราชประดิษฐ์ก็มี วัดราชบพิธก็มี บางทีก็เลยลืมๆ ไปเสียไม่ได้ทําก็มี แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ สลากภัตตามธรรมเนียมวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้มี มีแต่การสมโภชช้างและไปวัดราชบพิธเท่านั้น จะว่าเป็นพระราชกุศลที่เลิกแล้วทีเดียวก็ว่าไม่ได้  จะว่ายังคงอยู่ก็ว่าไม่ได้ ขยับจะกลายไปเป็นการจร ๚  

เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา

๏ ส่วนการที่ยังคงประจำอยู่ไม่ขาดนั้น คือการหล่อเทียนพรรษา เทียนพรรษา แต่ก่อนใช้หล่อด้วยสีผึ้งทั้งสิ้น บรรดาวัดที่เป็นวัดหลวงมีนิตยภัตสองสลึงแล้ว มีเทียนพรรษาวัดละเล่มบ้าง กว่านั้นบ้างทุกๆ วัด เทียนนั้นมากน้อยตามกำหนดวัดซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ รัชกาล จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ เทียนเกือบถึงร้อยเล่ม กำหนดเทียนเล่มหนึ่งหนักสีผึ้ง ๑๖ ชั่ง สิ้นสีผึ้งเป็นอันมาก เวลาที่จะหล่อนั้นก็บอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เจ้าภาษีนายอากร เอาสีผึ้งมาช่วยหล่อ แล้วก็เป็นการประชุมใหญ่ในวันเดือน ๗ ขึ้นแปดค่ำ ทุกปีมิได้ขาด ถ้าปีใดมีอธิกมาส รอการหล่อเทียนไว้ต่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ บุรพาสาฒ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงทราบลัทธิของพวกข้าพระที่ได้ผลประโยชน์อยู่ในเทียนพรรษาทั่วทุกพระอาราม คือว่าจำเดิมตั้งแต่จุดเทียนพรรษาแล้วก็ตัดทอนเทียนนั้นเสีย เหลือไว้ยาวสักคืบหนึ่ง เวลาเสด็จพระราชดำเนินกฐิน ยังซ้ำรวงลงไปพอให้ขังน้ำมันได้ จุดตะเกียงพอรับเสด็จชั่วเวลากฐินสักชั่วโมงทั้งเผื่อทั้งคอย แล้วก็ดับเอาก้นที่ตัดไว้คืบหนึ่งนั้นไปอีก ตกลงเป็นเทียนพรรษาเล่มหนึ่งได้จุดบูชาพระสีผึ้งหนักไม่ถึงบาท นอกนั้นเป็นประโยชน์ของข้าพระทั้งสิ้น เป็นอยู่เช่นนี้โดยมาก จึงได้โปรดให้เลิกเทียนหล่อเสีย ให้ทำด้วยไม้ ปั้นลายรักปิดทอง คงไว้แต่กาบข้างปลายเป็นลายสีผึ้ง แล้วให้ทำกระบอกตะกั่วเป็นรูปถ้วย ถวายทรงหยอดสีผึ้งพอเต็มถ้วย ตั้งลงในช่องปลายเทียนไม้ จุดในวันแรก ต่อนั้นไปจ่ายน้ำมันให้เติม จุดเป็นตะเกียง แต่น้ำมันที่จ่ายนั้น ก็เป็นการเตกเกเบอร์เหมือนกัน จะเป็นหมดท่าแก้หรือแกล้งทรงนิ่งๆ เสียไม่ทราบเลย น้ำมันนั้นก็ยังคงจ่ายอยู่ ส่วนเทียนสีผึ้งอย่างเก่านั้น ให้คงไว้แต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเล่มหนึ่ง พุทไธสวรรย์เล่มหนึ่ง หอพระเจ้าสองเล่ม เป็นเทียนหลวงเล่มหนึ่ง เทียนเรี่ยไรเล่มหนึ่ง พระพุทธบาทเล่มหนึ่ง วัดพระเชตุพนเล่มหนึ่ง วัดอรุณเล่มหนึ่ง วัดราชโอรสเล่มหนึ่ง วัดบวรนิเวศเล่มหนึ่ง วัดบรมนิวาสเล่มหนึ่ง พระศรีสากยมุนี วัดสุทัศน์เล่มหนึ่ง ภายหลังเกิดพระปฐมเจดีย์ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง พระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกอีกเล่มหนึ่ง ครั้นเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ โปรดให้หล่อเทียนเล่มย่อมๆ เป็นสองเล่ม ภายหลังเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกสองเล่ม หอเสถียรธรรมปริตเล่มหนึ่ง หอพระคันธารราษฎร์ที่ท้องสนามเล่มหนึ่ง ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้มีขึ้นที่วัดราชบพิธอีกสองเล่ม พระพุทธรัตนสถานสองเล่ม เล่มใหญ่มีขึ้นที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติเล่มหนึ่ง พระศรีรัตนเจดีย์เล่มหนึ่ง ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีวังหน้าแล้วแทนเทียนวังหน้าอีกเล่มหนึ่งให้เป็นคู่กัน ภายหลังนี้เกิดเทียนอย่างเล็กลงไปกว่าเช่นที่วัดราชประดิษฐ์ขึ้นอีกสองเล่ม สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย รวมเป็นเทียนอย่างใหญ่ ๑๖ เล่ม อย่างกลาง ๑๐ เล่ม อย่างเล็ก ๒ เล่ม เทียนวัดพระเชตุพน วัดอรุณ วัดราชโอรส ให้มีเป็นวัดสำหรับรัชกาลละวัด ในเวลานั้นทำนองจะยกวัดบรมนิวาสเป็นวัดสำหรับรัชกาลที่ ๔ แต่ครั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นวัดราชประดิษฐ์แล้ว เทียนวัดบรมนิวาสก็มีเลยไป เทียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เกิดขึ้นตามเลยของวัดบรมนิวาส แต่ส่วนเทียนวัดบวรนิเวศเป็นเทียนสำหรับองค์พระเหมือนอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพุทไธสวรรย์ พระบาทและพระปฐมเจดีย์ การหล่อเทียนแบ่งเป็นข้างหน้าข้างใน เทียนหอพระและเทียนพุทธมนเทียรแบ่งเข้ามาหล่อข้างใน เจ้านายข้างในทรงหล่อ นอกนั้นหล่อข้างหน้าทั้งสิ้น

รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงใช้อย่างหนึ่ง วังหน้าใช้อย่างหนึ่ง วังหลวงใช้อย่างบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้อย่างบัวปลายเสาวังหน้า ซึ่งแบ่งเป็นอย่างกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า ต้นเหตุนั้นเห็นจะเกิดประชันกันขึ้น ครั้งขุนหลวงท้ายสระสร้างวัดมเหยงค์ ขุนหลวงบรมโกศสร้างวัดกุฎีดาว ก็เลยถือติดต่อลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ด้วย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระบรมมหาราชวังแล้วไม่ใช้บัวกลมเลย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระราชวังบวรแล้วไม่ใช้บัวเหลี่ยมเลย เป็นธรรมเนียมติดต่อกันมา จนกระทั่งถึงเทียนพรรษาก็พลอยเป็นเช่นนั้นด้วย ๚
 


เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม

๏ การพระราชกุศลในเดือน ๗ มีแต่หล่อเทียนพรรษา ก็เป็นการหง่อยๆ เช่นกล่าวมาแล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ คือ การทำบุญวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แต่เคยทำกำหนดสุริยคติกาล คือวันที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคมแต่เดิมมา บางปีก็ไม่ตกในเดือน ๗ แต่มักจะอยู่ในเดือน ๗ โดยมาก จึงได้ยกมาวางไว้ในเดือน ๗ ครั้นภายหลังสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์สิ้นพระชนม์ตรงวันที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคมนั้นอีก จึงได้เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง การที่ทำนั้นก็อย่างเดียวกับทำบุญวันประสูติและสวรรคต ซึ่งล่วงเลยมาเสียยังมิได้กล่าวในหนังสือพิมพ์วชิรญาณนี้เลย คือมีพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ ๕ รูป วัดราชบพิธ ๕ รูปสดับปกรณ์ผ้าไตร แล้วรับพระราชทานฉัน สมเด็จพระนางเจ้า พระนางเจ้า ทรงถวายเครื่องไทยทานต่างๆ แล้วสดับปกรณ์รายร้อย ของหลวงร้อยรูป ของสมเด็จพระนางเจ้าและพระนางเจ้าร้อยรูป เวลาค่ำพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์อนัตตลักขณสูตรและมาติกา สวดมนต์จบแล้วเทศนาของหลวงกัณฑ์หนึ่ง ของสมเด็จพระนางเจ้ากัณฑ์หนึ่ง เป็นเสร็จการพระราชกุศลในวันเดียวนั้น การที่ทำมาแต่ก่อนเคยทำที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร พระพุทธรูปประจำวันสำหรับพระอัฐิและพระอัฐิตั้งโต๊ะหมู่คนละหมู่ แต่ในปีนี้โปรดให้ย้ายไปทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งบุษบกไม่มีเครื่องสูง โปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระอัฐิพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ออกตั้งด้วย เพิ่มพระสงฆ์ขึ้นเป็น ๒๐ รูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร มีของไทยทานถวายพระสงฆ์ด้วย การนอกนั้นก็คงตามเดิม

การทำบุญพระอัฐิหมู่ใหญ่ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้ ไม่เป็นการพระราชกุศลซึ่งควรจะตั้งอยู่ประจำแผ่นดิน เป็นแต่ตามกาลสมัย เหมือนหนึ่งเป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อต่อไปภายหน้าการพระราชกุศลเฝือนัก ก็ควรจะเลิกเสียไม่ต้องทำ ซึ่งยกมาว่าไว้ในที่นี้ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการในปัจจุบันที่เป็นอยู่บัดนี้ มีพระราชกุศลเรื่องนี้เป็นการประจำเดือน ๗ อยู่อีกอย่างหนึ่ง

คำตักเตือนในเดือน ๗ นี้ เกือบจะไม่มีอะไรสำหรับเตือน เพราะไม่เป็นการสลักสำคัญอันใดสักอย่างหนึ่ง ในการหล่อเทียนมีอย่างเดียวแต่มหาดเล็กจะคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอทรงหล่อเทียน ซึ่งไม่มีใครมาหลายปีแล้ว นอกนั้นก็เป็นการตามธรรมเนียมทั้งสิ้น ๚
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:04:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #29 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2561 15:08:59 »




พระราชพิธีเดือนแปด
• การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา      
• การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม
-----------------------------------

๏ ในเดือนแปดนี้ การพระราชพิธีที่มีมาในกฎมนเทียรบาลในรายย่อจดหมายไว้ว่า “เดือนแปดเข้าพระวัสสา” แต่ในรายพิสดารจำหน่ายว่าขาด ไม่ได้ถ้อยความอันใดเลย ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็กล่าวแต่การพระราชกุศล ไม่ได้พูดถึงการพิธีอันใด ค้นดูตำราพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี้มีแต่บานแพนกชื่อพิธีว่า เดือนแปดพระราชพิธีวสันตปฐมวสา เข้าพระวสาตั้งเบญจธาตุฝ่ายเดียว และให้อาจารย์ประกอบสตุติสามร้อยนั้น แล้วจดลงไว้ข้างท้ายว่ายก มีข้อความรวมอย่างยิ่ง ที่พระมหาราชครูพิธีเองก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่ากระไร แต่ในหนังสือนางนพมาศถึงได้กล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา ก็เว้นกล่าวถึงพราหมณ์ซึ่งเป็นตระกูลของตัวไม่ได้ แต่การที่พราหมณ์ทำนั้นดูเป็นอนุโลมตามพระพุทธศาสนา หาเป็นพิธียั่งยืนแปลกเปลี่ยนอย่างไรกันไปไม่ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีเดือนแปดนี้ จึงน่าที่จะเรียกการพระราชกุศลมากกว่าจะเรียกการพระราชพิธี ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แต่ก่อนแล้วว่าการพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดนี้ ชะรอยแต่เดิมมาจะเป็นพิธีที่เป็นการไม่สุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อถือพระพุทธศาสนาแล้วจึงได้ยกเลิกเสียช้านานมา จนไม่มีผู้ใดจะจำได้ว่าเคยทำอย่างไร พิธีพราหมณ์ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ก็จะเป็นพิธีตั้งขึ้นใหม่พออย่าให้อยู่เปล่า แทนของเก่าที่เลิกเสียนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะขอกล่าวด้วยเหตุผลซึ่งพระสงฆ์ต้องจำพรรษา ตามนิยมซึ่งมีมาในพระวินัยคัมภีร์มหาวรรคให้ทราบเค้ามูลก่อน

ประเพณีในมัชฌิมประเทศคืออินเดีย ชนที่เที่ยวไปมาอยู่เสมอจากเมืองโน้นไปเมืองนี้ คือคนที่เที่ยวค้าขายก็ดี ที่ไว้ตัวเป็นสมณะไม่มีห่วงบ่วงใย เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นพวกซึ่งเรียกว่าเดียรถีย์และปริพาชกถือลัทธิต่างๆ ก็ดี เมื่อถึงฤดูฝนก็หยุดแรมอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง สิ้นสามเดือนแล้วจึงได้ออกเดินต่อไป ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จเที่ยวไปมาอยู่ในเมืองทั้งปวงตลอดมัชฌิมประเทศ มิได้เสด็จอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูฝนพระองค์ก็ย่อมเสด็จหยุดฤดูฝนในเมืองใดเมืองหนึ่ง เหมือนเช่นคนทั้งปวงประพฤติอยู่ พระสงฆ์ทั้งปวงเมื่อยังมีน้อยอยู่ และดำรงในโลกุตรคุณ ก็หยุดอยู่จำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เหมือนเช่นพระพุทธเจ้าทรงประพฤติอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา การก็สงบมาจนครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า ฉัพพัคคีย์ เที่ยวไปมาตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ไม่ได้หยุดแรมฤดูเลย เมื่อคราวฝนตกแผ่นดินชุ่มด้วยน้ำฝนเที่ยวเหยียบข้าวกล้าอ่อนๆ และหญ้าระบัดเขียว และสัตว์เล็กๆ ตายด้วยกำลังเหยียบย่ำ ชนทั้งปวงก็พากันติเตียน ว่าแต่พวกเดียรถีย์ปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกยังรู้ทำรังยอดไม้หลบหลีกฝน แต่พระสมณะศากยบุตรทำไมจึงมาเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่มีอินทรีย์เป็นของเป็นอยู่ ทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมากฉะนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนนั้น จึงนำขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษา แต่ยังมิได้นิยมเวลาชัดเจน พระสงฆ์มีความสงสัยว่า ฝนย่อมตกทั้งฤดูฝนและใกล้ฤดูฝน จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด พระองค์จึงตรัสอนุญาตให้อยู่แห่งเดียวในวัสสานะ คือกาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ภิกษุยังมีความสงสัยอีก จึงได้ทูลถามกำหนดว่าจะอนุญาตให้เป็นคราวเดียวหรือหลายคราวเช่นอุโบสถ พระองค์จึงตรัสว่าเป็นสองคราว เข้าพรรษาครั้งแรกตั้งแต่บุรณมีอาสาฬหะ คือเพ็ญเดือนแปดไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาต้น บุรณมีอาสาฬหะไปได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่เพ็ญเดือนแปดแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาหลัง ภายหลังมาท่านพวกฉัพพัคคีย์สำรับเก่านั้นเอง เข้าพรรษาแล้วเที่ยวไปในกลางพรรษา เขาติเตียนอีกเหมือนครั้งก่อน จึงได้ทรงห้ามว่า เมื่อเข้าพรรษาแล้วห้ามไม่ให้เที่ยวไป ถ้าภิกษุใดเที่ยวไปในกลางพรรษาต้องอาบัติทุกฏ เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จะแกล้งออกจากอาวาสไปเสียไม่จำพรรษา หรืออธิษฐานจำพรรษาแล้วอยู่ไม่ครบสามเดือนไม่ได้ เว้นไว้แต่มีอันตรายใหญ่เกิดขึ้นที่จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีอันตรายไม่จำพรรษาอยู่ครบสามเดือนต้องอาบัติทุกฏ เพราะเหตุฉะนี้พระสงฆ์จึงต้องอยู่จำพรรษา คืออยู่ในวัดแห่งเดียว ไปข้างไหนไม่ได้สามเดือน จึงเป็นธรรมเนียมนิยมว่าเมื่อถึงกำหนดพรรษา ภิกษุจะจำพรรษา ไม่มีเสนาสนะก็ไม่ควร เมื่อจะเข้าพรรษาให้เปล่งวาจาในที่พร้อมกันว่า “อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุปมิ” สามหน แปลเนื้อความว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงกาลฝนคือจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือนอันนี้ คำอธิษฐานพร้อมกันเช่นนี้เป็นอธิษฐานกำหนดเขตวัด เมื่อกลับไปถึงที่อยู่ปัดกวาดเสนาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว ให้อธิษฐานที่อยู่อีกชั้นหนึ่งว่า “อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ วุเปมิ” วิธีซึ่งอธิษฐานนี้ เป็นความคิดของพระอรรถกถาจารย์ ที่จะทำให้เป็นการมั่นไม่เป็นแต่ตั้งใจเปล่า ให้ออกวาจาเสียด้วย เหมือนอย่างอธิษฐานอะไรๆ ทั้งปวง เช่นผ้าผ่อน เป็นต้น การที่อธิษฐานนั้นก็แปลว่าตั้งใจผูกใจจะทำสิ่งนั้น ถ้าจะไม่ออกปากอธิษฐาน เป็นแต่ผูกอาลัยไว้ในใจก็ใช้ได้

เหตุซึ่งถือว่าเป็นการใหญ่ในเรื่องพระสงฆ์จำพรรษา เป็นช่องที่จะได้บำเพ็ญการกุศลซึ่งเป็นที่นิยมของผู้นับถือพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น ด้วยเหตุว่าภิกษุในมัชฌิมประเทศประพฤติอาการผิดกันกับภิกษุในกรุงสยาม ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ตลอดมา ท่านไม่อยู่ในวัดใดวัดหนึ่งแห่งเดียวเป็นกำหนด และไม่ใคร่จะอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านในเมือง นอกจากเวลาฤดูฝนสามเดือน ย่อมเที่ยวไปอยู่ในป่าในเขา อาศัยแต่หมู่บ้านเป็นระยะพอเที่ยวภิกขาจารเวลาหนึ่งเวลาหนึ่ง ความประพฤติเช่นนี้ก็เป็นที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ข้อบัญญัติอันซึ่งได้บัญญัติสำหรับให้ภิกษุประพฤติ ก็ลงรอยความประพฤติเช่นนี้โดยมาก คือให้มีบริขารแต่แปดสิ่ง ไม่ให้สะสมสิ่งของไว้มาก เพื่อที่จะได้เที่ยวไปข้างไหนได้โดยง่าย ไม่มีห่วงใยเป็นต้น เมื่อพระสงฆ์ประพฤติตัวมีห่วงใยน้อยและเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นนี้ ก็ไม่มีกุฎีในวัดซึ่งเป็นที่หวงแหน ว่าเป็นกุฎีขององค์นั้นองค์นี้ เมื่อไปจากที่นั้นแล้วกุฎีก็ไม่มีข้าวของอันใดเก็บไว้ ไม่ต้องลั่นประแจ ต่อจวนถึงฤดูฝนจึงได้คิดตั้งใจมุ่งหมายว่าจะอยู่จำพรรษาในวัดใด แล้วแสวงหาที่อยู่ในวัดนั้น จนต้องมีพระเรียกว่าเสนาสนะคาหาปกะ คือเป็นผู้ชี้ที่แบ่งปันให้อยู่จะได้ไม่เกิดวิวาทกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นคฤหัสถ์ทายกที่มีใจเลื่อมใส ก็มีช่องที่จะได้ช่วยซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะที่พอจะอยู่ได้สามเดือน ข้อซึ่งพระอรรถกถาจารย์ว่าไว้ให้ปัดกวาดกุฎีเสนาสนะ ตักน้ำใช้น้ำฉันให้พร้อมบริบูรณ์ แล้วจึงให้อธิษฐานที่อยู่นั้น ก็เพราะเสนาสนะนั้นรกร้างและไม่มีของที่จะใช้สอยอยู่บริบูรณ์ จึงต้องปัดกวาดตกแต่งจัดหาไว้ให้พร้อมบริบูรณ์ พอที่จะอยู่เป็นสุขได้ตลอดสามเดือน ก็และในระหว่างที่พระสงฆ์มาอยู่ในที่แห่งเดียวสามเดือนนั้น จะไปเที่ยวภิกขาจารในที่ไกลๆ เปลี่ยนตำบลไปไม่ได้ จำจะต้องภิกขาจารอยู่ในเขตจังหวัดใกล้อาวาสนั้นๆ เพราะฉะนั้นทายกผู้มีใจเลื่อมใส จึงได้มีความอุตสาหะที่จะถวายทานแก่สงฆ์ มีถวายบิณฑบาตเป็นต้น ยิ่งขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ และในเวลาเมื่อพระสงฆ์อยู่ในที่แห่งเดียวทั้งสามเดือนเช่นนั้น ก็เป็นโอกาสของสัปปุรุษทายกทั้งปวง ที่จะได้เข้าไปสู่หาฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล การจำศีลภาวนา ฟังธรรมเทศนาจึงได้มากในฤดูฝนสามเดือน ด้วยเหตุว่าในฤดูอื่นๆ พระสงฆ์ท่านไม่ใคร่อยู่ประจำที่ ตลอดลงมาจนถึงเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นต้นว่าเทียนพรรษา พุ่ม ต้นไม้ เทียนร้อย ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ ไม้สีฟัน ที่จัดถวายพระสงฆ์ในเวลาเข้าพรรษานั้นก็ให้เป็นของพอที่จะทนอยู่ได้ และจะต้องใช้ในกำหนดสามเดือนเวลาที่พระสงฆ์อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงสามเดือนแล้วท่านก็ต่างองค์ต่างไป ความประพฤติของพระสงฆ์ในประเทศอินเดียเป็นดังนี้ การที่ทำสิ่งใดในเรื่องเข้าพรรษาทั้งหลาย จึงได้เป็นสามเดือนสามเดือนอยู่หมดทุกอย่าง

แต่ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาตั้งในกรุงสยาม ความประพฤติของภิกษุทั้งปวงไม่เหมือนอย่างเช่นภิกษุในประเทศอินเดีย มาประพฤติอยู่ในที่แห่งเดียวไม่ได้เที่ยวไปเที่ยวมา ตามชาติชาวสยามเคยประพฤติ กุฎีเสนาสนะก็เป็นกุฎีมีเจ้าของ ขึ้นชื่อว่าขององค์นั้นองค์นั้น ถึงว่าจะมีเสนาสนะคาหาปกะ ก็สมมติกันไปโคมๆ เหมือนอย่างกับเล่นตั้งพิธี ที่แท้พระสงฆ์ก็อยู่ในที่เดิมนั่นแล้วทั้งสิ้น การที่จะซ่อมแซมปัดกวาดเสนาสนะอันใดก็ไม่ต้องทำ เคยอยู่มาอย่างไรก็อยู่ไปอย่างนั้น การที่จะต้องเสาะแสวงหาเครื่องใช้สอยอันใดตลอดมาจนตักน้ำใช้น้ำฉันก็ไม่ต้องแสวงหา ด้วยมีพร้อมบริบูรณ์เป็นปรกติอยู่แล้ว การที่ทายกจะต้องปฏิบัติถวายอาหารบิณฑบาตเป็นต้น ก็ถวายเสมออยู่แล้ว การที่จะหาโอกาสรักษาอุโบสถศีลและฟังธรรมเทศนาในเวลามิใช่ฤดูฝนเมื่อใดก็ได้เสมออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าพรรษาในกรุงสยามนี้ก็เหมือนอย่างกับทำพิธีไปตามแบบโบราณเท่านั้น เมื่อถึงกำหนดอธิษฐานเข้าพรรษาพระสงฆ์ก็อธิษฐานไป แต่ในใจก็รู้สึกอยู่ว่าถึงออกพรรษาแล้วเราก็จะอยู่ในที่นี้ต่อไป ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใดขึ้นในใจพระสงฆ์เลย การที่ทำบุญถวายทานแก่พระสงฆ์มากขึ้นในฤดูฝน ก็เป็นแต่ประโยชน์วิเศษของพระสงฆ์ที่จะได้มากขึ้นเท่านั้น การที่รักษาอุโบสถและฟังธรรมเทศนา เช่นมีเทศน์ เข้าวัสสาสามเดือนนั้น ก็เป็นแต่โอกาสที่พระสงฆ์เข้าพรรษานั้นมาตักเตือนใจให้คนรักษาศีลฟังธรรมมากขึ้น แต่ที่แท้ถึงจะมีเทศน์เช่นนั้นไปตลอดทั้งปี ก็ไม่ขัดธรรมกถึกที่จะแสดงธรรมเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อรวบความลงข้างปลายแล้วพอที่จะกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์เข้าพรรษานี้เป็นพระราชพิธีสงฆ์แท้ เหมือนอย่างกับพราหมณ์ทำพิธีเหมือนกัน การพิธีอันใดที่ทำๆ อยู่ก็คงมีต้นเหตุเช่นนี้ทุกอย่าง เว้นแต่เลือนๆ ลงมาจนไม่รู้รากเหง้าของเดิมว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด เพราะฉะนั้นในเดือนแปดนี้ จะว่าขาดพระราชพิธีไม่ได้ ต้องเรียกว่าพระราชพิธีเข้าพรรษาเป็นพิธีสงฆ์

บัดนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธีเข้าพรรษา อันประพฤติมาในกรุงสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ทั้งการหลวงการราษฎร์ จะได้เก็บแต่ข้อความที่ว่าด้วยการหลวงมากล่าว เพื่อผู้ที่แต่งการราษฎร์จะได้มีข้อความว่าบ้าง ข้อความในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๘ นักขัตฤกษ์บูชาใหญ่ การพระราชพิธีอาษาฒมาส พระวรบุตรพุทธชิโนรสในพระศาสนาจะจำพรรษาเป็นมหาสันนิบาตทุกพระอาราม ฝ่ายพราหมณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีล บริโภคกระยาบวชบูชาคุณ (หรือกุณฑ์) พิธีกึ่งเดือน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งนายนักการ ให้จัดแจงตกแต่งเสนาสนะทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะ เป็นต้นว่าเตียงตั่งที่นั่งนอนเสื่อสาดลาดปูเป็นสังฆทาน และผ้าวัสสาวาสิกพัตร์ สลากภัต คิลานภัต ทั้งประทีปเทียนจำนำพรรษา บูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมากร พระปริยัติธรรม สิ้นไตรมาส ถวายธูปเทียนชวาลาน้ำมันตามไส้ประทีปแด่พระภิกษุสงฆ์ บรรดาจำพรรษาในพระอารามหลวง ทั้งในกรุงนอกกรุงทั่วถึงกันตามลำดับ ประการหนึ่งทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาสังเวยพลีกรรมพระเทวรูปในเทวสถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ซึ่งจำพรต อ่านอิศวรเวทเพทางคศาสตร์ บูชาพระเป็นเจ้าด้วยเศวตรพัสตราภรณ์และเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียนวิเลปนให้บูชาคุณ (หรือกุณฑ์) โดยทรงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาไสยศาสตร์เจือกัน”

ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยราษฎรเป็นข้อความยืดยาว เมื่อพิเคราะห์ดูตามที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าพิธีอาษาฒของพราหมณ์นี้เห็นเป็นทำเอาอย่างไปจากพระพุทธศาสนา การที่จำพรตนั้นดูก็ไม่แปลกอันใดกันกับที่นางนพมาศได้กล่าวถึงราษฎรพากันจำศีล มีกำหนดต่างๆ อย่างยิ่งจนถึงตลอดสามเดือนสี่เดือนก็มี แปลกอยู่แต่ที่พราหมณ์กินเครื่องกระยาบวช ก็เหมือนกับสัปปุรุษข้างญวนข้างจีนเขาถือศีลแล้วกินเจด้วย การพิธีนั้นดูก็ไม่มีแปลกประหลาดอันใด นอกจากบูชาบูชาอยู่อย่างนั้น แต่การหล่อเทียนพรรษาดูอยู่ข้างจะกาหลใหญ่โตไปกว่าชั้นหลังนี้มาก ถึงกับมีกระบวนแห่ๆ เทียนไปวัด แต่ดูก็น่าที่จะกล่าวซ้ำถึงเรื่องแห่สระสนานอีก ว่าการซึ่งแห่เทียนพรรษาในครั้งนั้นเห็นจะไม่เป็นการลำบากอันใดมากกว่าที่ถ้าจะทำขึ้นในชั้นหลังๆ เมื่อเลิกทหารประจำการสำหรับพระนครเสียแล้ว ด้วยในจดหมายนั้นกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมทหารที่จะแห่เทียนไปวัด เมื่อไพร่พลทหารมีพรักพร้อมอยู่ก็เห็นจะไม่สู้เป็นการลำบากนัก ในข้อความที่กล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงวันจาตุททสีศุกลปักษ์เป็นธรรมเนียมฤกษ์ นายนักการทหารบกทหารเรือก็ตั้งกระบวนแห่เชิญเทียนประทีปจำนำพรรษาขึ้นตั้งบนคานหาม และลงเรือเอกชัยใส่บุษบกบัลลังก์ทอง ประโคมกลองอินทเภรี แตรสังข์ธงทิวไสว แห่ไปตามท้องสถลมารคและชลมารค ประชาราษฎร์ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาพระราชกุศล ครั้นประทับถึงพระราชอารามหลวงตำบลใด ชาวพนักงานก็เชิญเทียนประทีปเข้าในพระวิหาร หอสธรรมมนเทียร โรงอุโบสถจุดตามไว้ในที่นั้นๆ ทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือน” ต่อนั้นไปว่าด้วยการแห่เทียนของราษฎร แล้วจึงไปกล่าวถึงการที่เสด็จพระราชดำเนินพระอารามหลวงว่า “ครั้นวันกาฬปักษ์เอกดิถีเวลาตะวันชายแสง พระพุทธชิโนรสสันนิบาตประชุมกัน เข้าพระวสา ณ พระอุโบสถทั่วทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยพระอัครชายาและพระบรมวงศาพระสนมกำนัล” ต่อนี้ไปว่าความรวบกับราษฎรทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล แสดงการซึ่งจะให้ทราบว่าเสด็จไปวัดนั้นไปทรงการอันใด แต่ข้อซึ่งไม่กล่าวชัดเฉพาะพระองค์เจ้าแผ่นดินในที่นี้ ชะรอยท่านจะไม่ใคร่จะได้ทรงอันใดนัก จะเป็นแต่ไปนมัสการตามธรรมเนียม จึงได้เกลื่อนความรวมเข้าเสียว่า “บรรดาชนทั้งปวงในตระกูลต่างๆ มีขัตติยตระกูลและพราหมณ์ และตระกูลคหบดีเป็นต้น ต่างชักประเทียบบริวาร ทั้งบุตรหลานญาติและมิตร ออกไปสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ณ พระอารามใหญ่น้อยทั่วทุกแห่งทุกตำบลอุทิศอุทกสาฎก และปัจจัยการถวายแก่ภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วถึงกัน แล้วมหาชนชายหญิงต่างตั้งเบญจางคประดิษฐ์ สมาทานอุโบสถศีลอันมีองค์แปด ในสำนักพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย บ้างก็ออกวจีเภทว่าข้าพเจ้าจะรักษาอุโบสถเป็นปาฏิหาริยปักษ์อุโบสถสิ้นวัสสันตฤดูสี่เดือน บ้างก็สมาทานเป็นเตมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลในพรรษาสิ้นไตรมาสสามเดือน บ้างก็สมาทานเป็นเอกมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลตั้งแต่เพ็ญเดือนสิบเอ็ดไปจนถึงเพ็ญเดือนสิบสองเสมอทุกวัน บ้างก็สมาทานเป็นอัฒมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลเสมอทุกวันในศุกลปักษ์กาฬปักษ์กึ่งเดือน บ้างก็รักษาแต่ปรกติอุโบสถเดือนละแปดครั้ง บ้างก็สมาทานเป็นปฏิชาครอุโบสถ มีวันรับวันส่งเดือนหนึ่ง รักษาศีลสิบเก้าวัน และสดับฟังพระธรรมกถึกสำแดงพระธรรมเทศนา และพระภิกษุสงฆ์สาธยายพระปริตรในที่นั้นๆ เสมอเป็นนิตย์ทุกวันมิได้ขาด ตราบเท่าสิ้นไตรมาสสามเดือนโดยนิยมดังนี้ ต่อนี้ไปแสดงต้นเหตุซึ่งเกิดเครื่องบูชาของแห้งในการเข้าพรรษา มีพุ่มเป็นต้น ซึ่งนางนพมาศเคลมว่าตัวเป็นต้นคิด เหมือนอย่างพานพระขันหมาก ดอกบัวลอยประทีปเป็นต้น ว่า “อันว่าพิธีอาษาฒมาสบูชาใหญ่ ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมปทุมทองอันวิจิตรด้วยวาดเขียนนำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงบูชาพระรัตนตรัยบ้าง พระเทวรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงพอพระอัชฌาสัย จึงดำรัสชมว่าข้าน้อยเป็นคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการรางวัลเป็นอันมาก แต่นั้นมามหาชนชายหญิงทั่วทั้งพระนคร ก็ถือเอาเป็นอย่างต่างพนมดอกไม้และกอปทุมชาติ มีพรรณต่างๆ บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาสมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานรางวัลตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเป็นอันมาก จึงพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดินมีพระราชบริหารสาปสรรว่าเบื้องหน้าแต่นี้ไป ชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตประเทศสยามภาษา บรรดาเป็นสัมมาทิฐิให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาส ให้เรียกนามพนมดอกไม้ พนมพรรษา จงอย่ารู้สาบสูญตราบเท่ากัลปาวสาน ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาดปรากฏนามอยู่ในแผ่นดิน ได้อีกอย่างหนึ่ง” เรื่องกอบัวเข้าพรรษานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก รับสั่งว่าต้องตำราของเก่า ถ้าปีใดไม่มีผู้ถวายกอบัวก็รับสั่งบ่นไปจนผู้ที่เคยถวายต้องทำมาถวาย จะเป็นพวกเจ้านายในพระราชวังหลัง หรือกรมขุนอิศรานุรักษ์พวกใดพวกหนึ่งเคยถวายอยู่ แต่เดี๋ยวนี้หายไปไม่เห็นมี เพราะวิธีที่ใช้กันเดี๋ยวนี้มักจะให้มีของเครื่องรองเป็นสิ่งที่ใช้ได้ อย่างต่ำที่สุดจนถึงกลักไม้ขีดไฟ กระถางบัวหมากพนมซึ่งเป็นของโปรดในรัชกาลที่ ๔ นั้น เห็นเป็นอันยูสิเบอลกันเสียไม่มีใครทำ รูปร่างกระถางบัวนั้นใครๆ ก็คงเคยเห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก แต่บางทีจะนึกไม่ออก คือมีกระถางดินปิดกระดาษทอง มีลายดอกไม้เขียนด้วยน้ำยา ในกระถางมีไม้ดูกอันหนึ่งเสียบดอกบัวกระดาษแดงซ้อนกันสามชั้น ยอดและเกสรเป็นทองอังกฤษ ขอบปากกระถางมีดอกและใบเล็กๆ รายรอบ กระถางบัวอย่างนี้รับสั่งว่า เป็นอย่างโบราณแท้ ที่เป็นของเก่ารองลงมาอีกนั้นหมากพนม คือเป็นพานแว่นฟ้าปั้นด้วยดินสองชั้น ทาสีเขียนน้ำกาว ที่ปากพานมีกระดาษเจิมเหมือนใบตอง แล้วมีกรวยกระดาษทาสีขาวๆ ตั้งที่ตรงกลาง รอบล่างมีดินปั้นก้อนกลมๆ รูปร่างเหมือนประทัดลมต่างว่าหมาก ทาสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ แล้วมีน้ำยาสีอื่นขีดเป็นสาแหรกห้าสาแหรก เห็นจะต่างว่ารอยผ่าเป็นคำคำ มีทองอังกฤษติดที่ใจสาแหรก ต่อนั้นขึ้นไปมีรูปภาพสีผึ้ง เป็นหงส์ เป็นเทพนม หรือเป็นใบไม้ติดไม้เสียบกับกรวยเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มเป็นทองอังกฤษ ตัวสีผึ้งที่ติดนั้นห่างๆ โปร่งแลเห็นกรวยที่เป็นแกนข้างใน ถ้ายกขี้หกล้มอย่างเอก เพราะเชิงพานชั้นบนเล็ก นี่ก็เป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นของมีมาช้านาน

เป็นที่น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งเมืองสุโขทัย เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวง จะต้องบวชเมื่ออายุครบปีบวชหรือไม่ ดูไม่มีปรากฏกล่าวถึงในหนังสือนางนพมาศเลย ถ้าหากว่าจะมีบวชรับพรรษาเช่นธรรมเนียมทุกวันนี้ ก็น่าที่นางนพมาศจะได้กล่าวไว้ในหนังสือนี้บ้าง เพราะดูก็เป็นการพระราชกุศลสำคัญอยู่ บางทีเขาจะไม่บวชกันเฉพาะรับพรรษาเหมือนกับชั้นหลังๆ การที่จะบวชเรียนจะเป็นการจรไปเสียจึงไม่ได้กล่าว

ส่วนในหนังสือขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพิธีอาษาฒ ว่าบวชนาคหลวงเท่าพระชนมายุ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงทรงผนวชเจ้านาย การที่บวชนาคเท่าพระชนมายุนี้เห็นจะเป็นในแผ่นดินพระบรมโกศ ทรงพระราชศรัทธาตั้งธรรมเนียมขึ้นใหม่ เทือกช่วยคนบวช แต่การบวชนาคเท่าพระชนมายุนี้ เห็นจะไม่ใช่คนช่วยไถ่ค่าตัว ถ้าช่วยไถ่ค่าตัวถึงหกสิบเจ็ดสิบคนก็จะหลายสิบชั่ง ทั้งค่าผ้าไตรบาตรบริขาร ทุกปีทุกปีคงลมจับไม่อาจทำ ชะรอยจะใช้นาคมหาดเล็กและตำรวจข้าราชการไม่ว่าหมู่ใดกรมใด พระราชทานแต่ผ้าไตรบริขารอย่างบวชนาคมหาดเล็กที่เป็นนาคหลวงในชั้นหลังๆ หรือจะนับทั้งพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าด้วยประการใดก็ไม่ทราบ ดูว่าก็จะเป็นอันได้บริจาคพระราชทรัพย์มากพอควรอยู่แล้ว ต่อนั้นไปว่า “ครั้นวันเพ็ญเดือนแปด จึงทรงเทียนพระวสาวัดหลวงทั้งในกรุงและนอกกรุง (ที่เรียกว่าในกรุงเห็นจะหมายในกำแพงที่น้ำล้อมรอบ นอกกรุงเป็นนอกกำแพง จึงว่าต่อไปว่า) และหัวเมืองเอกเมืองโทเป็นเทียนเป็นอันมาก” มีความในจดหมายขุนหลวงหาวัดเพียงเท่านี้ การแห่แหนอันใด เห็นจะไม่มีมาแล้วทั้งสิ้น

ส่วนที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ การพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดไม่มีอันใด ไม่ได้พระราชทานเครื่องสักการบูชาเทวรูปอย่างใด เป็นไม่รู้ไม่เห็นกันเลย เริ่มการก็มีแต่ทรงผนวชเจ้านาย การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้านายภายหลัง ที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้าไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชที่อื่น นอกจากวัดพระศรีรัตน-ศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจึงได้ถือกันว่าถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียคนแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือจนชั้นบวชเณร ด้วยมีเหตุขึ้นคือหม่อมเจ้าสถิตเสถียรครบปีที่จะบวชเณร ในปีที่พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร จึงโปรดให้ออกไปทรงผนวชเณรที่พระเมรุอย่างบวชหน้าศพ ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าสถิตเสถียรเสียจริตไป ก็รับสั่งพาโลว่าเพราะไม่ได้บวชที่วัดพระแก้ว

การทรงผนวชรับหน้าพรรษานี้ ไม่ว่าเป็นการใหญ่การปรกติอย่างใด คงจะอยู่ในระหว่างขึ้นห้าค่ำไปหาขึ้นสิบเอ็ดค่ำสิบสองค่ำเป็นเขต แต่การทรงผนวชนั้นมีแบบอย่างต่างกัน จะพรรณนาไปให้ครบอย่างก็จะยืดยาว ขอว่าแต่การปรกติประจำปีก่อน วันที่จะสมโภช พระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าซึ่งจะเป็นนาคนั้น นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ามากราบถวายบังคมลาในท้องพระโรง เมื่อวันสมโภชทรงเครื่องที่ทิมคดพระมหาปราสาท ภูษามาลาจำเริญพระเกศาและพระมัสสุ แล้วสรงน้ำที่พระแท่น มีขันสาครตั้ง แต่งพระองค์ทรงผ้าเยียรบับ ผ้ายก ฉลองพระองค์ครุยสวมพระกรซ้ายพระกรขวาบงเฉียง คาดรัดพระองค์ทับผ้าทรง ทรงพระธำมรงค์แปดนิ้วพระหัตถ์ แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มาจากพระมหาปราสาทเข้าท้องพระโรง ในท้องพระโรงตั้งบายศรีแก้วทองเงินอยู่ตรงกลาง สองข้างตั้งเทียนและกรวยดอกไม้ทั้งเครื่องบริขารต่างๆ ซึ่งจะเป็นของพระราชทานภายหลังทรงผนวช แต่ผ้าไตรที่จะทรงผนวชรองพานทองคำสองชั้น บาตรรองพานถม ตั้งที่ตรงหน้าบายศรีตรงพระพักตร์ เจ้าที่จะทรงผนวช เมื่อยังไม่ได้เปลี่ยนธรรมเนียมยืน ราชอาสน์เลื่อนลงทอดหน้าพระแท่น มีพระยี่ภู่พับเป็นที่ประทับ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระแท่น ครั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นธรรมเนียมยืน เจ้าที่ทรงผนวชนั่งเก้าอี้ ก็ใช้พระที่นั่งโธรน แต่เลื่อนลงตั้งที่พื้นท้องพระโรงเหมือนกัน ในเวลาเมื่อเข้ามานั่งคอยยังไม่เสด็จออก ผันพระพักตร์เข้ามาสู่ที่เฝ้า ต่อเมื่อเสด็จออกแล้ว รับสั่งให้ผันพระพักตร์ไปข้างบายศรี จึงได้กลับผันพระพักตร์ไปข้างบายศรีของผ้าไตร พราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียน แต่ก่อนๆ มาเมื่อเวียนเทียนแล้วก็เป็นแล้วกัน แต่ครั้นเมื่อถึงในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูมและทรงเจิม ธรรมเนียมนั้นก็ติดมาจนปัจจุบันนี้ เมื่อสมโภชแล้วธรรมเนียมแต่ก่อนบังคับให้บรรทมอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ภายหลังมานี้ไม่มีผู้ใดกวดขันบังคับบัญชา ต่างองค์ต่างกลับไปวังกันทั้งสิ้น

แต่ก่อนมาพระสงฆ์ซึ่งนั่งหัตถบาสในการทรงผนวชนี้ ก็ใช้พระราชาคณะสำรับเดียวสามสิบรูป สมเด็จพระสังฆราชเป็นอุปัชฌาย์ ถ้าเจ้านายที่จะทรงผนวชมากก็แบ่งเป็นสองวัน ถ้าน้อยก็วันเดียว ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ถ้าหม่อมเจ้าที่จะทรงผนวชในคณะธรรมยุติกาและมหานิกายก้ำกึ่งกัน ก็มักจะแบ่งออกเป็นสองวัน เป็นธรรมยุติกาล้วนเสียวันหนึ่ง เป็นมหานิกายปนวันหนึ่ง ในชั้นหลังๆ ลงมานี้เกือบจะไม่มีเจ้านายทรงผนวชในคณะมหานิกาย ก็มีแต่คณะธรรมยุติกา แต่ถ้าปีใดทรงผนวชมหานิกายสักองค์หนึ่งสององค์ มหานิกายก็ได้เข้าในหัตถบาสวันหนึ่ง พระสงฆ์ซึ่งมานั่งหัตถบาสนั้นฉันเพลในพระอุโบสถ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินออกวัดก่อนเพลนานๆ ก็แบ่งทรงผนวชเจ้าไปพลาง เมื่อเวลาเพลก็หยุดฉันเพล เจ้าที่ทรงผนวชแล้วเสวยบนพระอุโบสถนั่งตรงผนังระหว่างพระทวารข้างเหนือและพระทวารกลาง ที่ยังไม่ได้ทรงผนวชเสวยที่มุขหน้าพระอุโบสถ ถ้าเสด็จออกสายไปก็เลี้ยงพระเสียก่อน

เจ้าที่จะทรงผนวช แต่งพระองค์ที่ทิมคดพระมหาปราสาทเหมือนอย่างเมื่อสมโภช แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มีมหาดเล็กตามเป็นกระบวนๆ ตามลำดับยศ ออกไปที่เกยปลูกขึ้นใหม่ตรงพลับพลาเปลื้องเครื่อง รายมาตามหน้าหอมิวเซียมครบองค์ เจ้าที่ทรงผนวช เมื่อถึงพร้อมกันแล้วก็เสด็จขึ้นเกย ภูษามาลาขึ้นไปกั้นพระกลดถวายอยู่ที่บันไดเกยด้วยคนหนึ่ง กำกับอีกคนหนึ่ง เสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พลับพลาเปลื้องเครื่อง เจ้าพนักงานคลังนำเงินขึ้นถวายจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้ขุนหมื่นนำขึ้นไปถวายเจ้าทรงโปรยทุกเกย ถ้าหม่อมเจ้าองค์ละห้าตำลึง พระองค์เจ้าองค์ละสิบตำลึง ท่านพวกพนักงานที่ขึ้นไปอยู่บนเกยทั้งสามคนนั้นย่อมถือเอาโอกาสที่ตัวได้ไปกำกับอยู่ พัดเจ้านายให้แจกตัวก่อน ที่จะรอจนทิ้งทานแล้วไม่ได้เลยเป็นอันขาด จึงดำรัสสั่งให้ทิ้งทานแล้ว ก็มักจะต้องรอหงุบๆ หงับๆ กันอยู่ ไม่ได้ทิ้งทานได้ทันทีเนืองๆ เห็นจะเป็นเรื่องต่อตามกันอย่างไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยถูกพัด และมีการอีกอย่างหนึ่งที่ต้องช้าเพราะต้องถอดแหวน ท่านภูษามาลาผู้กำกับนั้นเป็นผู้รับแหวน การที่ทิ้งทานนั้นก็มีน่าที่จะเกิดอันตรายอยู่บ้าง แต่อันตรายนั้นหากจะเกิดขึ้นก็ด้วยเจ้านั้นพระทัยอยู่ข้างจะโลเลเอง เจ้าพวกข้าไทที่ตามไปมักจะเข้าไปล้อมอยู่รอบๆ เกย เพื่อจะให้เจ้าโปรยลงมาให้ตรงๆ ได้ง่ายๆ ข้างเจ้านั้นก็อยากจะโปรยลงไปให้มหาดเล็กของตัว อ้ายคนอื่นมันเห็นเงินปลิวลงไปขาวๆ มันก็อดไม่ได้ ดันเบียดเสียดกันเข้าไป เกยก็ปลูกไม่สู้แน่นนัก รวนกันกระทบเสาโงนเงนน่ากลัวจะล้ม ถ้าเจ้านายที่ดีๆ เขาก็ไม่โปรยลงไปใกล้เกย แต่อย่างนั้นก็ไม่ใคร่ฟัง ยังโดนเสาเกยเยือกไปเยือกมาครั้งหนึ่งสองครั้งแทบทุกคราว แต่ยังไม่ปรากฏว่าเกยล้มเลยสักครั้งหนึ่ง ถ้าล้มลงไปแล้วจะงามถึงไม่ได้บวชแน่

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:10:50 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #30 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2561 15:13:50 »

พระราชพิธีเดือนแปด (ต่อ)

เมื่อโปรยทานเสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ รอพิณพาทย์ไว้ไม่ประโคม จนเจ้าที่จะทรงผนวชไปถึงกำแพงแก้วจึงได้ประโคมแล้วขึ้นพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ตรงเข้าไปจุดเทียนทองเล่มหนึ่ง ที่ปักอยู่ที่ราวเหล็กรอบฐานชุกชี แล้วจึงกลับออกมานั่งรายริมผนังด้านหุ้มกลองในระหว่างพระทวารกลางและพระทวารข้างเหนือ มีผ้าไตรและบาตรตั้งอยู่ตรงหน้า ภูษามาลาจึงได้หยิบผ้าไตรส่งถวายเจ้า เข้าไปขอบรรพชาตามลำดับ การที่ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ขานนาคอย่างเก่า คือลุกขึ้นยืนว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต สืบๆ กันมา ทั้งที่ทรงผนวชฝ่ายคณะธรรมยุติกาและมหานิกาย จนตลอดถึงเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร รับสั่งว่าเป็นการออกหน้าออกตาประชุมใหญ่ คนเก่าๆ เขาจะขวางหูก็ให้ว่าขานนาคตามธรรมเนียมเก่า แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าลูกเธอทรงผนวชภายหลังมา ใช้ว่า เอสาหํ ภันเต อย่างธรรมยุติกา แต่หม่อมเจ้ายังคงใช้ยืนว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต อยู่ตามเดิม ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าซึ่งทรงผนวชอย่างธรรมยุติกา จึงได้พลอยว่า เอสาหํ ภันเต บ้าง การซึ่งบอกอนุศาสน์นั้น ก็คงใช้ยืนบอกนอกหัตถบาสสงฆ์เสมอมา นั่งบอกอนุศาสน์เป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร เพราะครั้งนั้นโปรดให้ขอนิสัยด้วย เป็นครั้งแรกที่สามเณรได้ขอนิสัย แต่รับสั่งว่าเป็นอย่างใหม่ ไม่ให้ต้องว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต เหมือนอย่างเช่นที่ทรงผนวชพระกันมาแต่ก่อน ด้วยเป็นการเกิดขึ้นใหม่อย่างธรรมยุติกา และรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ตั้งตาลิปัตรบอกอนุศาสน์ในท่ามกลางพระสงฆ์อย่างเช่นบอกกันอยู่ในธรรมยุติกา การซึ่งให้ขอนิสัยและบอกอนุศาสน์ครั้งนั้น เป็นการทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ในทันใดนั้น กว่าจะตกลงกันต้องรออยู่ช้าหน่อยหนึ่ง เพราะไม่เคยทำ แต่ทรงอธิบายชี้แจงการตลอด ก็เป็นการตกลงกันไปได้ ธรรมเนียมขอนิสัยและบอกอนุศาสน์สามเณรจึงได้มีแต่นั้นมาเป็นคราวแรก การทรงผนวชเจ้าที่หลายๆ องค์พร้อมกัน ที่เป็นภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้วนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์ ในเวลาทรงผนวชองค์อื่นต่อไปจนแล้วเสร็จ จึงได้ถวายผ้าพระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาส ธรรมเนียมแต่เดิมมาไม่ว่าเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า พระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาสได้ผ้าอาบผืนเดียว แต่ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ เจ้าฟ้าใช้ผ้าไตรสลับแพร พระองค์เจ้าใช้ผ้าไตร แต่ที่ทรงผนวชตามธรรมเนียมจึงเป็นผ้าอาบผืนหนึ่ง คงได้กระจาดเครื่องบริโภคองค์ละกระจาดเหมือนการพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อเจ้าที่ทรงผนวชถวายผ้าแล้วจึงได้มารับของพระราชทาน รับของหลวงแล้วถึงว่าจะมีวังหน้าเสด็จมาอยู่ในที่นั้น ก็ต้องเข้าไปรับของข้างในที่ปากฉากก่อนแล้วจึงออกมารับของวังหน้าและเจ้านายผู้ชายต่อไป ว่าเป็นธรรมเนียมดังนี้แต่เดิมมา เมื่อรับผ้าเสร็จแล้วที่เป็นเจ้าพระก็ไปนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์ ที่เป็นเจ้าเณรนั่งอยู่ที่เดิม คือริมผนังด้านหุ้มกลอง ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เจ้าที่ทรงผนวชก็กรวดน้ำด้วยทุกองค์ เป็นเสร็จการทรงผนวช ถ้าอย่างมากแบ่งสามวันก็มี แต่สองวันและวันเดียวเป็นพื้น ๚
  

เดือนแปด
การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา

๏ เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนลงรอนมากอย่างแต่ก่อน ก็เป็นที่น่าจะชื่นชมยินดีในส่วนพระราชกุศล และเป็นที่น่าจะอวดให้พระสงฆ์ได้อนุโมทนา เพราะฉะนั้นยกเสียแต่เทียนพรรษาหัวเมือง เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งภายนอกเสร็จแล้ว มาถวายตัวทรงจบพระหัตถ์ ส่งขึ้นไปก่อนจะได้จุดทันกลางเดือน ที่เหลือนอกนั้นเป็นส่วนกรุงเทพฯ ให้ยกเข้ามาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจน์วงรอบแล้วให้มีการสวดมนต์ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ แต่พระพุทธรูปใช้พระห้ามสมุทร ฉันเวรตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นวัน ๑๔ ค่ำเลี้ยงพระ ก็คล้ายกันกับฉันเวรนั้นเอง แต่มีศุภรัตน์เข้ามาตะโกนทูลจำนวนเทียนที่หน้าพระสงฆ์ เพื่อจะให้ได้ทรงอนุโมทนา พระสงฆ์กลับไปแล้ว ทรงพระสุหร่ายประพรมและเจิมเทียนพรรษานั้นทุกเล่ม เจ้าพนักงานจึงนำไปตั้งในพระอุโบสถต่างๆ ตามที่มีกำหนด ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเวลากลางคืนนั้นว่าง ต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเวลาเช้า จึงเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป ทรงจุดเทียนพรรษาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เทียนพรรษาที่จะจุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เรื่องที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งส่องด้วยแก้วหนาเช่นนี้ ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ เป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียประพฤติมาแต่โบราณ ได้พบหนังสือหลายแห่งที่กล่าวถึงเรื่องไฟส่องด้วยแว่นเช่นนี้ ใช้ทั่วไปในการทั้งปวง ตั้งแต่ส่องไฟที่จุดขึ้นบูชาอาหุดีเป็นต้น และบางทีตัวแว่นนั้นเอง หรือศิลาและเหล็กซึ่งใช้ตีให้เกิดเพลิงขึ้น ก็เป็นเครื่องบูชาของคนบางจำพวกด้วย แต่ไฟนี้ จะเรียกว่าเป็นสำหรับการมงคลอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องถือว่าต้นตำราที่คิดเห็นชอบใจใช้ไฟอย่างนี้นั้น ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ที่มาจากดวงพระอาทิตย์ ใช้ทั่วไปทั้งการมงคลและการอวมงคล ไฟฟ้าเช่นนี้ที่ใช้อยู่ในราชการที่ถือว่าเป็นการมงคลนั้น คือจุดเทียนชัยในการพระราชพิธีต่างๆ ติดเชื้อกวนข้าวทิพย์ ที่เป็นส่วนการอวมงคล คือพระราชทานเพลิงเจ้านายใช้ส่องด้วยแว่น พระราชทานเพลิงข้าราชการใช้ตีเหล็กไฟ อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบูชาที่บริสุทธิ์ คือจุดเทียนพรรษา จุดเทียนรุ่งในการวิสาขบูชา จุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ในการเฉลิมพระชนมพรรษา นับว่าเป็นบูชาด้วยเพลิงบริสุทธิ์ แต่ในการที่ต้องใช้เพลิงส่องแว่น ถ้าไม่มีโอกาสที่จะส่องจากดวงอาทิตย์ได้ ก็ต้องใช้ศิลาและเหล็กไฟ แต่แบ่งเป็นส่วนที่สำหรับใช้ในการมงคลและอวมงคล ขีดไฟเป็นของเกิดขึ้นใหม่ จะใช้ได้หรือไม่ได้ยังไม่เคยมีผู้ใดตัดสิน ถ้าจะเป็นอันใช้ไม่ได้ ก็คงจะเป็นเพราะเป็นของที่คนทำแท้มากไปกว่าเหล็กที่เอามาสูบถลุงและตีให้แบนๆ เป็นรูปเหล็กสำหรับตีเหล็กไฟ และศิลาที่ไปต่อยมาจากภูเขา ยังพอชัดว่าเป็นของเป็นเองได้ ขีดไฟนั้นดูจะเป็นพิธีน้อยไปสักหน่อยหนึ่ง แต่ในการเผาศพถ้าลั่นหน้าเพลิงไม่ติด ข้าพเจ้าก็เคยใช้บ่อยๆ แต่ถ้าถูกที่สลักสำคัญส่องแว่นไม่ได้ ก็ต้องยอมตีเหล็กไฟโกกกากให้ลดลงมาแต่ชั้นเดียวอย่าให้ถึงสองชั้น

แต่การที่จุดเทียนพรรษาเล่มแรกนั้น เคยจุดในหอพระเจ้าเป็นที่หนึ่ง ด้วยว่าเวลาเช้าเสด็จลงทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์พรรษา การบิณฑบาตพรรษาตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำมา เป็นเวลาที่พระสงฆ์สามเณรบวชใหม่ ได้เข้ารับบาตรในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งพระทั้งเณร ได้เข้ารับบาตรทั่วกัน แต่พระมหาดเล็ก กรมธรรมการต้องทำบัญชีขึ้นถวาย ต่อโปรดให้ผู้ใดเข้ามาจึงจะมาได้ การทรงบาตรพระใหม่นี้ มีของไทยทานวิเศษเพิ่มเติม คือเป็นผ้าเช็ดปาก ผ้าเช็ดหน้า ใบชา และของเล็กๆ น้อยๆ เปลี่ยนกันไปทุกวัน เฉพาะได้แต่พระที่บวชใหม่ ส่วนของเพิ่มเติมตามเทศกาล มีธูปเทียน ไม้สีฟัน หมากพลูนั้น ได้ทั่วไปแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต

เมื่อทรงบาตรเสร็จแล้ว เสด็จขึ้นจุดเทียนพรรษาในหอพระแล้วจึงเสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ครั้นเมื่อตกลงมาในรัชกาลที่ ๔ ชั้นหลัง เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เทียนพรรษาที่หอพระก็เป็นอันจุดภายหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไป เมื่อมีเทียนพรรษาขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์ ทรงจุดเทียนพรรษาที่พระพุทธสิหิงค์ก่อน แล้วจึงเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การตั้งเทียนพรรษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็จะไม่นึกถึง ตำราจะตั้งอันใดถ้าสิ่งใดเป็นใหญ่แล้ว ต้องตั้งไว้ข้างฝ่ายเหนือหรือฝ่ายตะวันออก สิ่งใดเป็นน้อยหรือต่ำกว่าแล้วต้องตั้งไว้ฝ่ายใต้หรือฝ่ายตะวันตก แต่เทียนพรรษานี้ เทียนวังหลวงตั้งข้างใต้ เทียนวังหน้าตั้งข้างเหนือ ถือเอาที่ประทับของเจ้าของเทียนเป็นประมาณ ถึงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรฯ ก็ตั้งเช่นนั้นเหมือนกัน ทรงจุดเทียนพรรษาแล้ว ถวายต้นไม้เงินทองพระมหามณีรัตนปฏิมากรคู่หนึ่ง และเครื่องสักการะ พุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ เทียนแพ ธูปแพ และดอกไม้รองพานทองสองชั้นสองสำรับ สำหรับพระสัมพุทธพรรณี ย่อมลงมาสำรับหนึ่ง แล้วถวายต้นไม้เงินทองและพุ่มต้นไม้ขนาดกลาง พานทองสองชั้นรองธูปเทียนดอกไม้ที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกสองแห่ง แล้วจึงได้ถวายพุ่มพระราชาคณะต่อไป พุ่มนั้นจัดลงในตะแกรงเรียกว่าตะแกรงตากรวย กำหนดให้กว้างศอกหนึ่ง สูงสี่นิ้ว เกณฑ์กรมต่างๆ ให้สาน กำหนด ๙๐๐ ใบ ในหมายบังคับว่า ให้ตรวจตราอย่าให้เม็ดพริกไทยลอดได้ แต่ที่แลเห็นอยู่นั้น บางใบเม็ดกันภัยก็ลอดได้ บางใบลูกพุทราทั้งลูกก็เห็นจะลอดได้ หมายขึงกันไปตามบุญตามกรรมเช่นนั้น แล้วส่งให้ทหารในปิดกระดาษเขียนลายป้ายๆ ตามบุญตามกรรม เป็นเครื่องสำหรับบรรจุของถวายพระ คือ พุ่มสีผึ้งพุ่มหนึ่ง กระถางต้นไม้กระถางหนึ่ง กระทงเมี่ยงเป็นกระทงเจิม ปากกว้างกว่าแปดนิ้วหรือสิบนิ้ว ในนั้นมีเมี่ยงเท่าหมากตำคำหนึ่ง เทียนมัดหนึ่งร้อยเล่ม ไม้สีฟัน ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ อย่างละมัด หมากพลูซองหนึ่ง บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะ พระครูเจ้าคณะ ทั้งในกรุงและหัวเมืองที่ใกล้ คือ เมืองนนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ นครชัยศรี และเจ้าพระ เจ้าเณร พระมหาดเล็ก บางองค์เข้ามารับต่อพระหัตถ์ในพระอุโบสถ พระครู เปรียญ ฐานานุกรม พระพิธีธรรมพระปริตทั้งปวงนั่งรายอยู่ตามพระระเบียง ก่อนเวลาที่เสด็จโปรดให้เจ้านายไปถวายแล้วทรงแจกเทียนชนวนที่สำหรับจุดเทียนพรรษา แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ไปจุดเทียนพรรษาตามพระอารามต่างๆ การจุดเทียนพรรษานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเคยได้พระราชทานไปทรงจุดเทียนที่วัดพระเชตุพนทุกปีเสมอมาจนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพน ในเวลาบ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำนั้นเสมอทุกปี จนอายุข้าพเจ้าได้สิบขวบ จึงโปรดให้ข้าพเจ้าไปจุดต่อมา จนตลอดแผ่นดินปัจจุบันนี้ พึ่งจะมาเปลี่ยนให้ลูกชายใหญ่[] ไปจุดได้สองปี กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นผู้ซึ่งทรงเป็นพระธุระในเรื่องจุดเทียนพรรษามาก โดยจะไม่ได้เสด็จเข้ามาในวังช้านานเท่าใด ถ้าวันจุดเทียนพรรษาแล้วเป็นเสด็จเข้ามาไม่ได้ขาดเลย เว้นไว้แต่ประชวรจนเสด็จลุกขึ้นไม่ได้ เมื่อหายประชวรแล้วยังต้องจูงอยู่ก็ให้จูงมา ท่านประพฤติเช่นนี้จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ความจากท่านรับสั่งเล่าว่า เจ้านายเดี๋ยวนี้สบาย ต้องไปจุดเทียนพรรษาแต่คนละวัดสองวัด เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีผู้ซึ่งจุดเทียนพรรษาอยู่สามสี่องค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าองค์หนึ่ง ท่านองค์หนึ่ง กับใครอีกองค์หนึ่งสององค์ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระปิ่นเกล้าเสด็จไปน้อยวัด ท่านต้องไปกว่ายี่สิบวัด แต่เช้าจนค่ำจึงได้กลับ ท่านรู้สึกพระองค์ว่าการจุดเทียนพรรษานี้เป็นหน้าที่ของท่าน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้ทรงปักหน้าที่ไว้ จึงได้ทรงพระอุตสาหะตามเคยเสมอมาตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ก็ว่าพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปจุดโดยมาก แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระเจ้าลูกเธอไปจุดก็หลายวัด แต่เฉพาะวัดเดียวๆ คือแต่เดิมข้าพเจ้าไปจุดวัดราษฎร์บุรณ ด้วยอาศัยเหตุที่วังพระองค์เจ้ามงคลเลิศที่เป็นลุงข้าพเจ้า อยู่ที่วังกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์เดี๋ยวนี้ ที่บ้านพระยาพิชัยสงครามอ่ำนั้นลงมือทำการครั้งแรก จะเป็นบ้านข้าพเจ้าในที่นั้น[] เมื่อไปจุดเทียนวัดราษฎร์บุรณ จะได้แวะไปที่บ้านลุงและบ้านใหม่นั้นด้วย พระองค์เจ้าโสมาวดีซึ่งโปรดให้เป็นลูกเลี้ยงสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว คือเป็นผู้ได้มรดกนั้น โปรดให้ไปจุดเทียนพรรษาวัดโสมนัสวิหาร กรมหลวงพิชิต สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตาๆ หลานๆ กันอยู่ จึงโปรดให้ไปจุดเทียนวัดประยูรวงศ์ เพื่อจะได้แวะบ้านนั้น ส่วนกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์โปรดให้ไปจุดเทียนวัดเครือวัลย์ จะได้ไปแวะบ้านเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตาจริงๆ ที่พระราชทานพระเจ้าลูกเธอ เป็นแต่ที่มีต้องการอย่างอื่นอยู่เช่นนี้ เพราะพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมาก พระเจ้าน้องยาเธอที่ได้ทรงจุดเทียนพรรษา ก็เห็นมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เก่าแก่ นอกนั้นก็พระเจ้าราชวรวงศ์เธอบ้าง หม่อมเจ้าบ้าง รายกันไปมากพระองค์ ที่วัดบวรนิเวศ วัดรังษี วัดมหรรณพาราม วัดบุญศิริ วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา ในห้าหกวัดนี้มักจะตกอยู่ในพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า ที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานเทียนชนวนในเวลาที่มารับพุ่ม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ และหม่อมเจ้าจุดคล้ายในรัชกาลที่ ๔ เมื่อผู้ใดได้รับเทียนชนวนแล้ว ก็รับโคมไฟฟ้าไปด้วยโคมหนึ่ง แล้วให้มหาดเล็กรับพุ่มเครื่องนมัสการสำหรับในพระอุโบสถไปด้วย วัดใดเทียนพรรษากี่เล่มก็มีพุ่มเครื่องสักการะนั้นเท่ากันโดยมาก เว้นไว้แต่วัดสำคัญ เช่น วัดพระเชตุพน วัดบวรนิเวศเป็นต้น จึงได้มีพุ่มมาก ถ้าถูกวัดพระเชตุพนแล้ว ต้องมีบ่าวมากจึงจะรับของไปหมด แต่เทียนที่พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง หอเสถียรธรรมปริต ที่เหล่านี้พระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ไปจุด จำนวนเทียนพรรษาวัดใดมีเท่าใดต่อไปดังนี้

ที่หอพระในพระบรมมหาราชวัง เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระเสถียรธรรมปริตร เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์สนามหลวง เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรฯ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทธมนเทียร เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม พระพุทธบุษยรัตน์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วิหารยอด เทียนสลัก ๑ เล่ม พระศรีรัตนเจดีย์ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม หอพระมนเทียรธรรม เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดราชประดิษฐ์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดราชบพิธ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม ในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่มที่พระเจดีย์ วัดมหาธาตุ เทียนสลัก ๑ เล่มในพระวิหาร[] เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม วิหาร ๔ ทิศ เทียนสลัก ๔ เล่ม พระพุทธไสยาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดสุทัศน์เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม ในพระวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่ม ในพระเจดีย์ เทียนสลัก ๑ เล่ม ในวิหารพระศาสดา วัดบรมนิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม ในพระวิหาร เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดอรุณ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ เทียนสลัก หอไตร ๑ เล่ม การเปรียญ ๑ เล่ม พระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๔ เล่ม วัดราชโอรส เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลักที่พระพุทธไสยาสน์ ๑ เล่ม วัดราชาธิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม  วัดราษฎร์บุรณะ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชาธิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราษฎร์บุรณะ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๒ เล่ม  วัดสุวรรณาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดสระเกศ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดชัยพฤกษมาลา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดประยูรวงศาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนวลนรดิศ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปากน้ำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโมฬีโลก เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดหงส์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหนัง เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนางนอง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรัชฎาธิษฐาน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกาญจนสิงหาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชนะสงคราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอัปสรสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบพิตรพิมุข เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสัมพันธวงศ์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองธรรมชาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชคฤห์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมคงคา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดยานนาวา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพธิดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชนัดดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพิชัยญาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอนงคาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโชตนาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองนพคุณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพศิรินทราวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเศวตฉัตร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเขมาภิรตาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหิรัญรูจี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดศรีสุดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกัลยาณมิตร เทียนสลักในพระอุโบสถ ๑ เล่ม ในพระวิหาร ๑ เล่ม วัดอินทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจันทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอภัยทามริการาม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคูหาสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังข์กระจาย เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชสิทธาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเครือวัลย์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดนาคกลาง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระยาทำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดระฆัง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอมรินทร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดุสิดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดาวดึงส์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคฤหบดี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชิโนรสาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดภคินีนาฏ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทวราชกุญชร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจักรวรรดิราชาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสามพระยา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังเวชวิศยาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรังษีสุทธาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดไพชยนต์พลเสพ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบุปผาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหรรณพาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโสมนัสวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระนามบัญญัติ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม รวม ๒ เล่ม วัดส้มเกลี้ยง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเวฬุราชิณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมวัน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหาพฤฒาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบวรมงคล เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดวงศมูลวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
[] ที่นี้อยู่ในกำแพงเมืองริมปากคลองตลาดฝั่งใต้ ต่อเชิงสะพานไปทางถนนจักรเพชร
[] ภายหลังเป็นเทียนหล่อ


เดือนแปด
การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม

๏ เมื่อพระราชทานแจกเทียน ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปจุดตามวัดเสร็จแล้วเสด็จขึ้น เป็นสิ้นการในเวลาเช้า เวลาบ่าย เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จวัดพระเชตุพนก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อจะทรงจุดเทียนสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ คือพระสำหรับซึ่งจะฉันในการสดับปกรณ์กาลานุกาลในวันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ต้องมีพระราชกิจเพิ่มเติมขึ้นอีก คือต้องเสด็จพระราชดำเนินพระพุทธมนเทียร และพระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งบรมพิมานก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นพระอุโบสถก่อน ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะเสร็จแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินถวายเครื่องสักการะที่พระโลกนาถ แล้วทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะในพระวิหารทั้งสี่ทิศ พระเจดีย์ทั้งสี่องค์ และพระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูข้างการเปรียญ ข้ามถนนไปตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ถวายเครื่องสักการะพระอัฐิ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกุฎีพระพิมลธรรม ถวายพุ่มแต่เฉพาะองค์เดียว ถึงว่าเมื่อพระธรรมเจดีย์ยังอยู่ก็ไม่ได้พระราชทาน เพราะเหตุว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้รักษาพระอัฐิ[] การเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนนี้ กว่าจะนมัสการเสร็จทุกแห่งอยู่ในชั่วโมงครึ่งทุกปี

วันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินออกสดับปกรณ์กาลานุกาลเหมือนอย่างเดือนอื่นๆ ทุกคราว แปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ในรัชกาลที่ ๔ มีเสด็จพระบวรราชวัง ตามคำเล่าว่าในวัน ๑๕ ค่ำนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยังทรงสบายปรกติอยู่ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมาเฝ้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนพรรษาเหมือนกัน แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่ได้จำได้ว่าเสด็จลงมาเลย เคยเห็นแต่เสด็จลงมาในการอื่นๆ คือถือน้ำสองคราวเป็นต้น ปีหนึ่งไม่เคยสังเกตว่ามากกว่าสามครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เสด็จพระราชดำเนินพระบวรราชวังปีละครั้งหนึ่งไม่ขาดเลย ถ้าจะเป็นสองครั้งก็มีโสกันต์ การที่เสด็จพระราชดำเนินนั้น อยู่ในเวลาเที่ยงหรือบ่ายโมงหนึ่ง ประทับที่พระที่นั่งศิวโมกข์นมัสการพระเสริม[]แล้ว จึงเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ จุดเทียนพรรษา แล้วสดับปกรณ์พระอัฐิกรมพระราชวังสามพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เสด็จออกมาเฝ้าที่ปากฉากข้างใต้ตรงที่ประทับ เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินเช่นนั้น มีพระยาณรงค์วิชัย เดี๋ยวนี้ ยังเป็นจมื่นมหาสนิท[]อยู่ ตั้งเครื่องพระสุธารสมีเครื่องแกล้มทุกคราว ประทับอยู่จนบ่ายสองโมงบ้างสามโมงบ้าง จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ

แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบวรฯ เลย เป็นแต่เสด็จออกสดับปกรณ์ และเปลื้องเครื่องพระแก้วแล้วเสด็จขึ้น บางทีก็ย้ายเสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนมาไว้วันแรมค่ำหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นเวลาเช้ามักจะไม่ใคร่เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระแก้ว ด้วยเป็นเวลาแดดร้อนจัดนัก
ในวันแรมสองค่ำ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ แต่มักจะเสด็จพระราชดำเนินเวลาค่ำโดยมาก ทรงนมัสการพระชินศรี พระเจดีย์ พระศรีศาสดา[] แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระตำหนักกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในวัดบวรนิเวศนั้น รับเสด็จอยู่บนตำหนักพร้อมกัน ทรงถวายพุ่มทั่วทุกรูป แต่พระอันดับไม่ได้พระราชทานด้วย แล้วประทับรับสั่งอยู่จนห้าทุ่มบ้างสองยามบ้าง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระปั้นหยา[]เป็นการเยี่ยมเยียนด้วยทุกปี การถวายพุ่มทั่วทั้งวัด มาเกิดมีขึ้นที่วัดราชประดิษฐ์ในชั้นหลัง ตั้งแต่ปีแรกพระสงฆ์มาอยู่ เมื่อไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินในวันแรมค่ำหนึ่งซึ่งเป็นวันพระสงฆ์เข้าพรรษา ทรงถวายพุ่มทั้งวัด ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศในวันแรมสองค่ำเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระสงฆ์อันดับในวัดบวรนิเวศ ที่ทรงคุ้นมาแต่เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรยังมีอยู่โดยมาก ที่ไม่ทรงรู้จักนั้นมีน้อย จึงได้ทรงถวายพุ่มทั้งวัด เมื่อพระสงฆ์ถึง ๕๐ เศษ ๖๐ รูปเช่นนั้น จึงได้ย้ายลงมารับพุ่มพร้อมกันในพระอุโบสถ เว้นไว้แต่พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงผนวชภิกษุและสามเณร ยังคงเสด็จพระราชดำเนินไปถึงที่ตำหนัก แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถวายพุ่มที่วัดราชบพิธและวัดราชประดิษฐ์ทั่วทั้งวัด เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็น อยู่ในยามหนึ่งจึงได้กลับพระบรมมหาราชวัง

สถานที่มีเครื่องสักการะถวายในการเข้าพรรษา ในพระบรมมหาราชวังที่หอพระเจ้าแห่งหนึ่ง สำหรับพระพุทธรูปฉลองพระองค์และสำหรับพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา ใช้พุ่มย่อมๆ เท่าจำนวนพระ หอพระบรมอัฐิสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาสามรัชกาล หอพระน้อยสำหรับสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์[] พระที่นั่งบรมพิมานสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ พระที่นั่งไพศาลทักษิณสำหรับพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย พระสัมพุทธพรรโณภาศ พระพุทธรัตนสถาน สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระพุทธมนเทียรสำหรับพระเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ หอศัสตราคม หอเสถียรธรรมปริต พระภูมิหอแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร พระคันธารราษฎร์ พระวิหารยอด พระศรีมหาโพธิ หอพระนาค เลยมาตามของเก่า เดี๋ยวนี้ไม่มีพระพุทธรูปแล้ว ก็เห็นจะไปรวมกันอยู่วิหารยอด หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวงในพระราชวังบวรฯ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งวังจันทร์คืออิศเรศราชานุสร วัดพระเชตุพน พระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธไสยาสน์ พระโลกนาถ พระวิหารทิศทั้ง ๔ พระเจดีย์ ๔ พระศรีมหาโพธิหนึ่ง พระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตหนึ่ง วัดบวรนิเวศ พระพุทธชินศรี มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระศรีศาสดา พระนิรันตราย พระมุขตะวันออก พระมุขตะวันตก หอไตร พระไพรีพินาศ พระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ วัดราชประดิษฐ์ พระพุทธสิหิงค์ พระชินราช พระชินศรี พระศาสดา พระนิรันตราย พระศรีมหาโพธิ หอไตร วัดราชบพิธ พระประธาน พระนิรันตราย พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ วัดนอกนั้น บรรดาที่มีเทียนพรรษา ก็มีเครื่องสักการะสำรับหนึ่งทุกๆ วัด อนึ่ง วัดบรมนิวาส วัดปทุมวนาราม สองวัดนี้พระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานเทียน ๑๐ เล่ม ธูป ๑๐ ดอก พุ่มเล็กพุ่ม ๑ มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็คงได้อยู่ตามเดิม เติมวัดเทพศิรินทร์ขึ้นอีกวัดหนึ่งได้เหมือนกัน อนึ่ง ต้นนิโครธที่สวนสราญรมย์ ก็มีเครื่องสักการะด้วยสำรับหนึ่ง

ส่วนพระราชาคณะฐานานุกรมหัวเมือง คือกรุงเก่า เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี ก็ได้พระราชทานกระจาดเครื่องสักการะเทียนร้อยเหมือนกัน แต่ให้เจ้าพนักงานส่งออกไป ลางทีก็ได้ถึงพระบ้าง ตกเรี่ยเสียหายโดยมาก ครั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้พระสงฆ์หัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ในการฉลองไตร พากันมาทวงที่เจ้าพนักงานในกรุงว่าไม่ได้เทียนเนืองๆ ภายหลังตกลงยินยอมกันเองกับเจ้าพนักงาน ให้เก็บรอไว้จนเวลาฉลองไตรจึงได้มารับโดยมาก การถวายเครื่องสักการะเข้าพรรษานั้นก็ยิ่งเป็นการเล่นมากขึ้น พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับต้องการก็แต่เทียนร้อยมัดเดียว พุ่มและต้นไม้ก็กระนั้นแล แต่กระจาดกับกระทงเมี่ยงแล้วกลับเป็นการอันหนัก เมื่อจะสังเกตดูก็ได้ วันถวายพุ่มที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะแลเห็นกระทงเมี่ยงทิ้งเกลื่อนไปตามพระระเบียงมากกว่าอย่างอื่น รองลงไปก็กระจาดมีทิ้งอยู่บ้าง พุ่มกับต้นไม้หักๆ โค่นๆ เกลื่อนกลาดอยู่ก็มี การซึ่งผัดกันไปจนออกพรรษาแล้วจึงมารับนั้น ก็แปลว่ารับเทียนร้อยนั่นเอง แต่ครั้นภายหลังมานี้ เวลาเข้าพรรษาแล้วเคยเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบางปะอิน ทรงถวายพุ่มพระพุทธรูปและพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จึงโปรดให้เป็นกำหนดเสียว่า วันแรมแปดค่ำให้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในกรุงเก่าและหัวเมืองที่ใกล้เคียงมารับพระราชทานฉันในพระอุโบสถบ้าง การเปรียญบ้าง ศาลาบ้าง แล้วทรงถวายพุ่มเหมือนอย่างในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นอันได้ไปจริงๆ ทั่วกัน คงมารับในเวลาฉลองไตรแต่หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันออก

เครื่องสักการะสำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ คือ พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ ๑ พระสาวก ๘ พระนิรันตราย ๑ พระลอยถาด ๑ พระจงกรม ๑ พระศรีมหาโพธิ ๑ พระคันธารราษฎร์ ๑ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ที่การเปรียญ ๑ พระนาคปรกศิลา ๑ หอไตร ๑ พระสงฆ์อันดับและสามเณรวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้เทียนแพหนักเล่มละกึ่งตำลึง พุ่มขนาดกลาง วัดเสนาสนาราม วัดชุมพลนิกายาราม วัดกระวิศราราม วัดมณีชลขันธ์ ได้เทียนกำพุ่มเล็กเหมือนวัดบรมนิวาส
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #31 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2561 15:17:12 »

เดือนแปด
การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม (ต่อ)

อนึ่ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มา โปรดให้ข้างในออกถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และบางปีที่ข้าพเจ้าจำได้นั้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์สามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหารครั้งหนึ่ง และวัดราชประดิษฐ์หลายครั้ง ในรัชกาลปัจจุบันนี้การถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศคงอยู่ เพิ่มพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสขึ้นอีกองค์หนึ่ง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเกาะบางปะอิน โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติทุกปี ๚

อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษาสามวันนี้ มีการสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแต่โบราณ เรื่องพระมหาชาติคำหลวงนี้เป็นของพระไตรโลกนาถทรงธรรม ได้ทรงเรียบเรียงขึ้นไว้ด้วยทรงพระปรารภอย่างใด มีข้อความปรากฏในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษปีนี้ แผ่นที่ ๓๖ หน้า ๔๒๗ แล้ว ข้าพเจ้าไม่กล่าวซ้ำถึงพระราชปรารภเดิมนั้นอีก จะขอกล่าวถึงแต่ตัวหนังสือพระมหาชาติคำหลวงนั้นเป็นเครื่องส่องให้เห็นความรู้ของพระเจ้าทรงธรรม ว่าพระองค์ทรงทราบอักขรวิธี ทั้งภาษามคธภาษาไทยและพากย์ภาษาอื่นต่างๆ ลึกซึ้ง และประกอบด้วยพระสติปัญญา ฉลาดในการที่จะประพันธ์ผูกลิลิต ร่ายกาพย์ โคลงฉันท์ ให้ไพเราะได้เป็นอย่างยิ่ง การที่ทรงแปลภาษาคาถามคธลงเป็นภาษาไทยให้เป็นลิลิตโคลงฉันท์กาพย์ต่างๆ สลับกันไป อาศัยข้อความที่จะต้องการกล่าวช้ากล่าวเร็วให้สมควรแก่เนื้อความ ความคิดที่ทรงแต่งหนังสือเช่นนั้นเป็นอย่างแปลกประหลาดเกิดขึ้นใหม่ มิได้มีประสงค์ที่จะเลียนแบบจากแห่งใด เหมือนอย่างนักปราชญ์ทุกวันนี้พอใจแต่เลียนหนังสือเก่านั้นเลย ถ้อยคำซึ่งกล่าวไว้ในพระมหาชาติคำหลวงเป็นคำที่ลึกซึ้งเกินกว่าคำพูดที่เราพูดจากันอยู่ทุกวันนี้ ที่แปลไม่ออกว่าจะหมายความอย่างไรมีมากคำ เป็นหนทางที่ผู้มีความรู้และมีสติปัญญาจะพิจารณาตริตรอง สืบสวนหาศัพท์โบราณ เสาะหาทางมาแห่งศัพท์ซึ่งใช้กันอยู่ในภาษาไทย ที่แปลไม่ออกไม่ทราบต้นเหตุที่มาได้กว้างขวางมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายอยู่ ด้วยหนังสือมหาชาติคำหลวงนั้นขาดหายเสียในครั้งบ้านแตกเมืองเสียหลายฉบับหาไม่ได้ ที่ยังคงอยู่เดี๋ยวนี้ คือ ทศพร หิมพานต์ วันประเวศ ชูชก มหาพน กุมาร มหาราช นครกัณฑ์ ส่วนฉบับที่ขาดนั้น มีผู้ทำเพิ่มเติมขึ้น แต่โวหารและความรู้ห่างไกลกันไม่ถึงพระราชนิพนธ์ของเก่า แต่ซึ่งเรายังได้พบอ่านเท่าที่มีอยู่นี้ก็นับว่าเป็นการดีนักหนาอยู่แล้ว ควรจะสรรเสริญท่านที่ได้ทรงแต่งหนังสือนี้ไว้ ให้เราได้รู้ถ้อยคำของคนโบราณซึ่งเป็นที่น่าจะรู้อย่างยิ่ง

แต่เมื่อจะพิเคราะห์ความรู้ของพระเจ้าทรงธรรม โดยละเอียดแล้ว ก็เห็นว่าพระองค์จะทรงทราบพระไตรปิฎกมากจริง และทรงทราบอักขรวิธีในภาษาไทยเป็นที่หนึ่งไม่มีผู้ใดเสมอในกาลครั้งนั้น แต่ถึงว่าทรงทราบมากเช่นนั้น ก็เห็นจะหาเป็นพระราชธุระในการที่จะสอดส่องเสาะหาธรรมที่ลึกที่วิเศษโดยละเอียดนักไม่ จะเป็นแต่ทรงสนุกในการหนังสือมากกว่าที่ประพฤติพระองค์ทดลองเลือกฟั้นให้ได้จริงในทางธรรม เหตุใดจึงได้กล่าวดังนี้ เหตุว่าการที่พระองค์ทรงประพฤติทั้งปวง มีบอกหนังสือพระสงฆ์เป็นต้นนั้น ก็เป็นแต่การที่จะชี้แจงอักขรวิธีในภาษามคธ เมื่อจะทรงเรียบเรียงเป็นพระราชนิพนธ์ ก็เรียบเรียงเพียงชั้นมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องออกสนุกชวนอ่าน เพื่อจะเล่นทางอักขรวิธีทั้งภาษาไทยภาษามคธอย่างเดียว ส่วนในการพระพุทธศาสนา ไม่มีปรากฏว่าพระองค์ได้คิดชำระมลทินปลดเปลื้องการซึ่งเศร้าหมองอย่างใดให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเลย เมื่อว่ารวบยอดแล้ว การซึ่งพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นนั้น ก็อาจส่อให้เห็นได้ว่าพระองค์ทรงสนัดและโปรดทางเล่าเรียนมากกว่าการปฏิบัติ จึงไม่สู้สนพระหฤทัยที่จะบำรุงในทางปฏิบัติมากนัก

อนึ่ง มหาชาติคำหลวงนี้ มีทำนองที่สวดประกอบด้วยเม็ดพรายสูงต่ำลึกซึ้ง จนไม่สามารถที่จะจำไว้ได้ หรือจะนึกทำให้ถูกขึ้นใหม่ ต้องมีเครื่องหมายที่ขึ้นที่ลงที่สูงที่ต่ำระดะเต็มไปทุกๆ วรรค ทำนองนั้นก็ไม่คล้ายคลึงเทียบเทียมกับทำนองอย่างอื่นเลย เป็นทำนองอันเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระเจ้าทรงธรรมนั้นเอง ส่อให้เห็นว่าท่านคงเป็นผู้ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ทุกอย่าง มีพระสุรเสียงอันไพเราะคล่องแคล่ว อาจจะบัญญัติทำนองขึ้นใหม่ให้แปลกเปลี่ยนกับที่เคยมีมาแต่ก่อนได้ แล้วทรงพระอุตสาหะฝึกหัดด้วยพระองค์เอง ให้ราชบุรุษผู้เจ้าพนักงานรับเครื่องราชบรรณาการ เป็นกรมนักสวดด้วย ชะรอยว่าคนพวกนี้จะเป็นคนที่รับราชการอยู่ในพระราชมนเทียรสนิทสนม ด้วยเป็นภิกษุสามเณรหรือคฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์ทรงใช้สอยสั่งสอนมาแต่เดิม สึกมาหมายเป็นข้าหลวงเดิม ด้วยได้เคยทรงใช้สอยสนิทสนมมาแต่ก่อน จึงได้ใช้สำหรับต้อนรับแขกและเฝ้าใกล้เคียง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานมาก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ คงต้องทรงซื้อสร้อยนาฬิกาที่สายโตๆ พระราชทานให้แขวนโตงเตงไปตามกัน เพราะคนพวกนี้เป็นคนสนิทชิดชมได้ทรงซักซ้อมให้สวดได้เนืองๆ ดีกว่าที่จะเอาผู้อื่นมาฝึกหัด พระสงฆ์ผู้ที่ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ย่อมจะเป็นฝ่ายสมถวิปัสสนาธุระโดยมาก สืบมาจนเราได้พบได้เห็น และวิชาซึ่งพระสงฆ์ศึกษาในเวลานั้นเล่า ก็นับว่าฝ่ายวิปัสสนาธุระอย่างนั่งพระธรรมเป็นใหญ่ ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงเห็นว่าคุณวิเศษของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั้งปวงจนถึงเป็นเจ้าแผ่นดินได้นั้น จะเกิดขึ้นทางวิปัสสนาธุระนั่งพระธรรมมากกว่าทางคันถธุระ เมื่อจะสังเกตดูในพระราชพงศาวดารก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เหนือแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมขึ้นไป การที่จะสรรเสริญเวทมนตร์คาถาอันใด น้อยกว่าตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมลงมา ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมลงมาแล้ว มักจะกล่าวถึงอยู่คงกระพันชาตรีล่องหนหายตัว ทำเสน่ห์เล่ห์ลมเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นแต่พระราชาคณะองค์หนึ่งเท่านั้น สามารถที่จะชิงสมบัติจากพระเจ้าแผ่นดินอันสืบพระวงศ์เนื่องในประพันธ์กันมาถึงยี่สิบชั่วกษัตริย์ จึงเป็นเหตุให้คนเชื่อถือในทางวิชาเหล่านั้นแก่กล้าขึ้น ซึ่งแผ่นดินกรุงสยามในระยะนั้นชุ่มโชกไปด้วยน้ำมนต์และน้ำมันนั้น คงจะเป็นเหตุเพราะพระราโชบายของพระเจ้าทรงธรรมที่จะรักษาสิริราชสมบัติของพระองค์ให้มั่นมิให้มีผู้ประทุษร้ายได้ แต่เพราะเหตุที่คนที่เชื่อถือเท่านั้น ย่อมเชื่อถือฤทธิ์เดชต่างๆ อันพระอรรถกถาจารย์เจ้าพรรณนาไว้ ก็ต้องเชื่อปัญจอันตรธานอนาคตวงศ์ด้วย เมื่อถือเช่นนั้นแล้วก็ต้องถือว่าผู้ซึ่งเกิดมาภายหลัง ย่อมจะเสื่อมลงไปเสื่อมลงไปจากผู้ที่เกิดก่อน อีกประการหนึ่งถ้าเจ้าแผ่นดินองค์ใดไม่ว่าในพงศาวดารไทยหรือพงศาวดารต่างประเทศแห่งใด ยกย่องพระองค์ว่าดีกว่าพระราชโอรสซึ่งจะสืบสันตติวงศ์ หรือดีจริงๆ พระราชโอรสตามไม่ทันไล่เลี่ยกัน ราชวงศ์อันนั้นก็มักจะเสื่อมสูญลงไปในเร็วๆ นั้น เหมือนอย่างพระเจ้าทรงธรรมนี้ พระราชโอรสก็เรียวลงไปเป็นปางฉะนางทีเดียว ผู้ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาตามทาง ถึงแม้นว่าเป็นพระราโชบาย แต่ยังเป็นที่นิยมของคนอยู่ ก็อาจประทุษร้ายชิงเอาแผ่นดินได้โดยง่าย ตามทางซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทำอุบายไว้นั้นเอง เชื้อสายก็เพาะปลูกกันต่อๆ มา จนแผ่นดินไม่มีความสุขได้เลยตลอดจนเสียกรุง ยังมิหนำซ้ำมาเบียดเบียนเอากรุงธนบุรีไปด้วย ซึ่งอธิบายมานี้อยู่ข้างจะเลื้อยเกินเหตุ เป็นแต่อยากจะพูดออกความเห็นเท่านั้น ขอรวบเนื้อความลงว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้นทรงถนัดในทางอักขรวิธีอย่างหนึ่ง การปฏิบัติของพระองค์ในเวลาทรงผนวชนั้นเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตามลัทธิอาจารย์เคยถือมา มิใช่สอดส่องหาธรรมที่ดีมาปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ อย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงสันทัดในทางที่จะทำทำนองสวดเรียนต่างๆ ตามลัทธิของพวกอาจารย์วิปัสสนาชอบเล่นอยู่เป็นปรกติ จึงได้ทรงคิดทำนองมหาชาติคำหลวงได้ร่ำเรียนสวดกันมาทุกกาลวันนี้ ถึงว่ามีผู้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงเพิ่มเติมที่ขาดลงได้ ก็ไม่สามารถที่จะกะแบบทำนองสวดลงในหนังสือนั้นได้ มหาชาติคำหลวงที่สวดอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกวันนี้ก็สวดอยู่เท่าที่ขาดนั้นเอง

การสวดมหาชาติคำหลวง เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม นัยหนึ่งเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย คำที่ว่าโอ้เอ้พิหารรายนี้ได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ดูว่า จะหมายเอาสวดพระมหาชาติคำหลวงหรือจะหมายเอาที่นักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดเป็นทำนองตามศาลาราย ก็ได้ความว่าที่นักเรียนโรงทานสวดตามศาลารายนี้ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คำว่าโอ้เอ้พิหารรายมีเรียกมาก่อนนั้นแล้ว ตามความเข้าใจของผู้ที่บอกนั้น ว่าคำโอ้เอ้พิหารรายนั้น คือสวดพระมหาชาติคำหลวงนั้นเอง ดูคำแจ้งความนี้ไม่ยุติกันกับชื่อที่เรียก คำที่เรียกว่า “โอ้เอ้” ดูไม่เป็นคำสรรเสริญแท้นัก เป็นคำค่อนจะอยู่ข้างเยาะๆ ว่าสวดไม่ดี และคำ “พิหารราย” นั้นเล่า ก็บ่งตรงว่าไม่ได้สวดในพระวิหารหรือพระอุโบสถใหญ่ สวดตามวิหารน้อยๆ ที่รายอยู่โดยรอบ และคำ “ราย” นั้นดูเป็นพหูวจนะในภาษาไทยเหมือนว่าหลายๆ แห่ง มิใช่แห่งเดียว ก็ถ้าจะสวดพระมหาชาติคำหลวงอยู่ในพระอุโบสถหรือพระวิหารใหญ่แต่แห่งเดียวแล้ว จะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย ความไม่ลงกันเลย จึงพิเคราะห์เห็นว่าการที่สวดพระมหาชาติคำหลวงก็ดี หรือจะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารรายก็ดี คงได้ความชัดว่าสวดในวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวัง เมื่อตรวจดูแผนที่วัดพระศรีสรรเพชญ ก็เห็นได้ว่ามีปราสาทสามองค์ คือไพฑูรย์มหาปราสาท เวชยันตปราสาท ไอศวรรย์ปราสาท เรียงกันไปสามองค์ มีระยะว่างห่างๆ กันเป็นปราสาทย่อมๆ ที่ได้สร้างขึ้นเป็นพระราชวังครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุง ครั้นแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ มิใช่ทรงธรรม ยกวังทำเป็นวัด ลงมาสร้างพระราชวังใหม่ฝ่ายริมน้ำ ปราสาททั้งสามองค์นั้นก็เป็นวัดไป จึงสร้างพระเจดีย์แทรกลงในหว่างปราสาทนั้นอีกสามองค์ ชักทักษิณเดินถึงกันได้รอบ ปลายแถวของพระเจดีย์และปราสาทข้างตะวันออก เป็นพระวิหารใหญ่ที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ ปลายแถวข้างใต้ก็มีพระวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง แต่ย่อมลงไปกว่าวิหารพระศรีสรรเพชญมาก พระวิหารและพระเจดีย์กับปราสาทนี้ เป็นแถวกลางพื้นเดียวติดกันตลอด คล้ายพระพุทธปรางค์ปราสาทพระมณฑปศรีรัตนเจดีย์ ที่ลานวัดนั้นมีพระวิหารอย่างย่อมๆ รายเป็นระยะไป เหมือนศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ใหญ่กว่าและมีผนัง เห็นจะไม่เท่ากันทุกหลังด้วยตั้งอยู่เป็นระยะรายไปโดยรอบ คำที่เรียกว่า “พิหารราย” นี้ ชะรอยว่าการซึ่งฝึกซ้อมสวดพระมหาชาติคำหลวงนี้ จะไม่ได้ซ้อมสวดแต่สี่คนพอครบสำรับหนึ่ง จะซ้อมด้วยกันมากๆ แล้วเลือกคัดแต่ที่สวดได้ดีเต็มทำนองสมพระราชประสงค์ เข้าไปสวดถวายในพระวิหารใหญ่เป็นที่ทรงฟัง ส่วนพวกที่ฝึกซ้อมไว้มากด้วยกันนั้น ให้ไปสวดตามวิหารราย สำหรับสัปบุรุษทายกทั้งปวงไปฟัง พวกเหล่านั้นก็จะสวดดีบ้างไม่ดีบ้าง ที่สวดไม่ดีก็จะต้องถูกคนทั้งปวงติเตียน จึงเรียกเป็นคำขึ้นชื่อเสียว่าโอ้เอ้พิหารราย แปลว่าสวดที่วิหารรายนั้นแล้ว ไม่ดีเหมือนในวิหารใหญ่ แต่ครั้นเมื่อตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ฝึกซ้อมขึ้นแต่สำรับเดียว สำหรับสวดในพระอุโบสถ คนทั้งปวงชินใจชินปาก ในการที่เคยไปฟังโอ้เอ้พิหารราย จึงได้เรียกติดไปว่าโอ้เอ้พิหารรายเป็นคำตลาด ส่วนในราชการก็คงใช้ว่าสวดมหาชาติคำหลวง เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชดำริเห็นชื่อไม่สมกับความจริงเช่นนี้ แต่ครั้นจะให้ฝึกหัดสวดมหาชาติคำหลวงขึ้นให้มาก คนในกรมนั้นก็มีน้อย และดูไม่เป็นประโยชน์อันใด ด้วยทุกวันนี้ก็ไม่มีผู้ใดชอบใจฟัง ด้วยฟังก็ไม่ใคร่จะเข้าใจ จึงได้โปรดให้จัดนักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดตามที่ตัวเล่าเรียน เป็นทำนองยานี ฉบัง สุรางคณางค์ ตามแต่ผู้ใดจะถนัดสวดเรื่องใดทำนองใดทุกศาลาราย ศาลาละสองคน พระราชทานเงินคนหนึ่งวันละสลึงเป็นรางวัล ถ้าผู้ใดสวดดีอาจารย์ก็กันมาไว้ศาลาที่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าสำรับใดสวดดี บางปีก็ได้พระราชทานรางวัลเพิ่มเติมบ้าง เป็นการล่อให้นักเรียนมีใจฝึกซ้อมในการอ่านหนังสือ แต่ส่วนที่สวดพระมหาชาติคำหลวงสำรับใหญ่นั้น คงสวดอยู่ในพระอุโบสถตามอย่างแต่ก่อน เริ่มตั้งแต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำไป จนต่อวันแรมค่ำหนึ่งเป็นกำหนดสามวัน ที่ซึ่งสวดนั้นตั้งเตียงโถงไม่มีเพดาน มีตู้มาลัยสำหรับรองหนังสือ แต่ไม่ได้ปักตาลิปัตร มีเครื่องนมัสการตระบะมุกสำรับหนึ่ง มีพานหมาก กระโถน ขันน้ำ ยาเสียง ตั้งคล้ายๆ เตียงพระสวด ผู้ที่สวดคือขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนันเป็นต้น นุ่งขาวห่มขาวสี่คน สวดคาถาสองคน ว่าคำแปลสองคน ถึงเวลาที่พระสงฆ์มานั่งอยู่กับพื้นพระอุโบสถ พวกที่สำแดงธรรมสี่คนนั้นก็นั่งอยู่บนเตียง ต่อทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลจึงได้หยุดลงจากเตียง เมื่อพระสงฆ์ฉันไปแล้วก็ขึ้นสวดบนเตียงต่อไปใหม่ ผู้ที่สวดนี้ได้เงินคนหนึ่งวันละ ๑ บาท

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จับโปรดขึ้นมาครั้งหนึ่ง รับสั่งให้เข้ามาสวดที่พระที่นั่งทรงธรรมในพระบรมมหาราชวังให้ข้างในฟัง คนแก่ๆ เฒ่าๆ ก็มีธูปเทียนดอกไม้ มานั่งจุดบูชาฟังเหมือนอย่างฟังเทศน์ วันแรกดูแน่นหนา ที่เป็นสาวแส้ก็มีมาฟัง รุ่งขึ้นวันที่สองก็หายไปหมด เหลือแต่ท่านพวกที่หลับตาหลับตา เหมือนอย่างเช่นยายหงเป็นต้น และที่ไหลๆ เหมือนอย่างเช่นยายหุ่นสวรรค์เป็นต้น นั่งฟังอยู่ห้าหกคน ก็ตกลงเป็นได้มีปีเดียว รุ่งปีขึ้นก็เลิกไป พวกเด็กที่สวดตามศาลาราย ก็นุ่งขาวห่มขาว มีธูปเทียนเครื่องบูชาเล็กน้อยทุกๆ ศาลาเหมือนกัน ดูก็ครึกครื้นดีอยู่ ถ้าเข้าพรรษาไม่มีสวดตามศาลารายและสวดในพระอุโบสถหน้าตากลิ่นอายจะไม่ใคร่เป็นเข้าพรรษา เมื่อมีสวดอยู่เช่นนี้ พอเข้าพระระเบียงไป ความรู้สึกที่เคยชินมาแต่เล็กๆ นั้น ก็รู้สึกชัดเจนว่าเข้าพรรษา ถ้าจะมีสวดเช่นนี้ในเดือนหกเดือนเจ็ด แล้วทำลืมเดือนหกเดือนเจ็ดเสียให้หายขาด เข้าไปในวัด หน้าตากลิ่นอายคงเป็นเข้าพรรษาเหมือนกัน ว่ามาด้วยเรื่องมหาชาติคำหลวง สิ้นความเท่านี้

อนึ่ง การเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งมีกำหนดในเวลาเปลี่ยนฤดู ปีละสามครั้งล่วงมายังหาได้กล่าวถึงไม่ บัดนี้กล่าวถึงกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่บรรจบฤดูเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรครั้งหนึ่ง จึงจะขอกล่าวรวบรวมไว้ในที่แห่งเดียวนี้ พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นทรงเครื่องเป็นสามฤดู คือตั้งแต่เดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง เข้าวัสสานฤดู ไปจนเดือนสิบสองขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเครื่องอย่างห่มดอง คือผ้าทรงนั้นทำด้วยทองคำเป็นกาบๆ จำหลักลายประดับพลอยทับทิม ลายทรงข้าวบิณฑ์ เมื่อประกอบแล้วก็เหมือนหนึ่งผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสีน้ำเงินแก่ ที่ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรต ประดับด้วยนิลเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยาราชาวดีสีต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำเป็นเหมันตฤดู เครื่องทรงเปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ผ้าที่คลุมนั้นทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดเหมือนตาข่าย คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกใช้คงเดิมไม่ได้เปลี่ยน ตั้งแต่เดือนสี่แรมค่ำหนึ่งไป จนถึงเดือนแปดขึ้นสิบห้าค่ำเป็นคิมหฤดู ทรงเครื่องต้น เป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชรพลอยต่างๆ พระมงกุฎที่ทรงเป็นมงกุฎมีท้ายเทริดยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่ การที่เปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรงทั้งสามฤดูนี้ เมื่อถึงกำหนดตำรวจก็ผูกเกยขึ้นไปเสมอบุษบก มีบันไดไม้จริงขึ้นข้างด้านหลัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสรงน้ำพระแก้วบนเกยนั้น มีโถแก้วพระสุคนธ์สองโถ พานแก้วรองผ้าซับพระองค์สองผืน เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงบนเกยนั้นแล้ว ทรงหยิบพระสังข์ทักษิณาวรรต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายบูชาไว้ ในมังสีมีด้ามเหมือนทวยปักอยู่ที่บุษบกตรงพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร มารินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์นั้นสรงพอทั่วพระองค์ครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานเชิญสังข์ทักษิณาวรรตอีกองค์หนึ่งมาถวาย ก็ทรงสรงพระอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงทรงผ้าซับพระองค์ผืนหนึ่ง ชำระล้างละอองสิ้นทั้งพระองค์ แล้วจึงทรงผ้าแห้งอีกผืนหนึ่ง ซับพระสุคนธ์ให้แห้งแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้ถวายพระศกหรือพระมงกุฎตามฤดู ทรงถวายพระมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยพระหัตถ์ แล้วก็เสด็จกลับลงมา พระสุคนธ์ซึ่งเหลือในพระสังข์นั้นทรงรินลงในโถแก้ว พระสุคนธ์ที่ติดผ้าซับพระองค์ผืนแรกชุ่มนั้น ก็บีบลงในโถแก้ว ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาถึงพื้นพระอุโบสถแล้ว ประทับที่ม้าตั้งพระสุคนธ์มุมฐานชุกชีด้านเหนือ ทรงรินพระสุคนธ์ในโถลงในพระสังข์ทักษิณาวรรตแล้วทรงรดพระเศียรก่อน แล้วจึงรินลงในผ้าซึ่งซับพระองค์ทั้งสองผืนให้ชุ่ม ผ้าสองผืนนี้เป็นผ้าซับพระพักตร์ บางทีก็พระราชทานแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาจะพระราชทาน ที่ได้เฝ้าอยู่ในเพลานั้น ตัวข้าพเจ้าได้รับพระราชทานผืนหนึ่งเกือบจะเสมอทุกคราว แล้วจึงทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์นั้น ลงในหม้อแก้วหม้อทองหม้อถม เจือน้ำอบที่อยู่ในหม้อนั้นเต็มแล้วสำหรับแจกจ่ายประพรมทั่วไป แล้วจึงรินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์ รดพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วทุกองค์ ส่วนข้าราชการที่มาเฝ้าในเวลานั้นก็ทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์ลงในพระสุหร่ายประพระราชทานทั่วไปแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณี พระรัศมีนั้นมีสี่ คือก้าไหล่ทองหนึ่ง นากหนึ่ง แก้วขาวหนึ่ง แก้วน้ำเงินหนึ่ง ฤดูฝนใช้แก้วน้ำเงิน ฤดูหนาวใช้แก้วขาวบ้างนากบ้าง ฤดูร้อนใช้ก้าไหล่ทอง มีควงบิดเปลี่ยนลงที่กันได้ทั้งสี่ แล้วทรงสุหร่ายประพรมพระสัมพุทธพรรณีและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนนมัสการต่อไป ในขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากเกยนั้นแล้ว เจ้าพนักงานคลังทองขึ้นประดับเครื่องแต่งพระองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรเบื้องล่าง เมื่อเสร็จแล้วพราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียนสมโภช ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหระทึก เป็นเสร็จการเปลื้องเครื่องคราวหนึ่ง อย่างนี้เสมอทุกปีมิได้ขาด

คำตักเตือนในการทรงผนวช วันสมโภช ภูษามาลาต้องเชิญพระมหาสังข์มาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระที่นั่ง และต้องเก็บใบมะตูมให้พอแก่เจ้าที่ทรงผนวช เพราะภูษามาลาก็รู้จำนวนอยู่เองแล้ว ไม่ควรจะให้ใบมะตูมขาดไม่พอกัน เจ้าที่ทรงผนวชต้องนั่งหันหน้าเข้ามาทางพระที่นั่ง จนได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลับหน้าไปข้างบายศรีจึงกลับได้ เมื่อพราหมณ์ป้อนน้ำมะพร้าวแล้ว ก็ต้องกลับหน้ามาทางที่เฝ้าในทันทีเหมือนกัน เวลาทรงผนวช มีสำคัญเรื่องพระเต้าษิโณทกเคยเกิดความเสมอ ด้วยเวลายาวมหาดเล็กไม่ใคร่สังเกต ควรจะสังเกตว่าถ้าเจ้าที่ทรงผนวชออกมารับผ้าเจ้านายข้างหน้าเสร็จแล้ว คงจะทรงพระเต้าษิโณทก การสวดมนต์ฉลองเทียนเดี๋ยวนี้ตกเป็นพิธีมืดๆ ไม่ใคร่จะเสด็จพระราชดำเนินออก ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษามีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น จำจะต้องมีโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ การเสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ วัดราชบพิธ วัดราชประดิษฐ์ จำจะต้องเตรียมพานเทียน เหมือนอย่างที่ตักเตือนไว้แล้วในเดือนห้า การเปลื้องเครื่องพระแก้ว เวลาที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเกย มหาดเล็กต้องเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนั่งอยู่ที่บันไดเกย เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินกลับลงมา ต้องล่วงหน้าลงมาก่อน คอยอยู่ที่ปลายบันได พานเทียนนั้นต่อทรงเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณีแล้วจึงถวาย การนอกนั้นไม่มีอันใด ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] ครั้งนั้นพระธรรมเจดีย์ อุ่น เป็นเจ้าอาวาส ทรงตั้งพระพรหมมุนี ยิ้ม วัดสุทัศน์ เป็นพระพิมลธรรมมาอยู่วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะพระอัฐิ
     แต่ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต สมบุญ รวมอยู่ในองค์เดียว

[] พระเสริมนี้ เดิมอยู่เมืองเวียงจันท์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพให้เชิญมาไว้ที่เมืองหนองคายเมื่อปราบขบถเวียงจันท์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
     โปรดให้เชิญมากรุงเทพฯ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญไปไว้เป็นพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวัน

[] พระยาณรงค์วิชัยนี้ชื่อ ทัด รัตนทัศนีย์
[] พระชินศรีเดิมอยู่วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเชิญลงไปวัดบวรนิเวศเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ พระศรีศาสดานั้น
     เดิมก็อยู่วัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกแห่งเดียวกับพระชินศรี เข้าใจว่าเพราะวิหารพัง อธิการวัดบางอ้อช้าง แขวงเมืองนนทบุรรี เชิญลงมาไว้วัดนั้น
     เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยปฏิสังขรณ์วัดประดู่ เชิญไปไว้เป็นพระประธานวัดนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรด
     ให้เชิญลงมาไว้วัดสุทัศน์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ตั้งไว้ที่มุขโถงหน้าพระอุโบสถ จนปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ จึงเชิญไปไว้ในวิหารวัดบวรนิเวศ

[] พระปั้นหย่านี้ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเมื่อทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทาน.
[] สมเด็จพระสังฆราช ศุข (ณาณสังวร) ที่เรียกกันว่าพระสังฆราชไก่เถื่อน เป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอุปัชฌาย์
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขุน วัดโมฬีโลก
     เป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 16:11:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #32 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 15:23:28 »




พระราชพิธีเดือน ๙
• พระราชพิธีพรุณศาสตร์  
• การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต

-----------------------------------

๏ ได้กล่าวมาแต่เมื่อเดือนเจ็ดว่า เป็นพิธีไขว้กันอยู่ในกฎมนเทียรบาล และจดหมายขุนหลวงหาวัด ได้ตัดสินไว้แต่ก่อนว่าจะยกพิธีตุลาภารมาว่าในเดือนเก้าตามกฎมนเทียรบาล เพราะฉะนั้น บัดนี้จึงจะได้กล่าวถึงพิธีตุลาภาร

การพระราชพิธีนี้ เป็นสะเดาะพระเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง แต่ในจดหมายนางนพมาศไม่ได้พูดถึง ทั้งเดือนเจ็ดเดือนเก้า ชะรอยจะไม่มีพิธีตุลาภารในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะเป็นต่างอาจารย์กัน ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็มีความย่อ เพียงว่า “เดือนเจ็ดนั้นชื่อพิธีตุลาภาร คือเอาเงินนั้นชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วจึงสะเดาะพระเคราะห์แล้วให้แก่พราหมณ์” มีข้อความเพียงเท่านี้ จะสันนิษฐานว่าพระราชพิธีนี้เป็นการเคยทำอยู่เป็นนิตย์ จนไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดจึงไม่กล่าวพิสดาร หรือจะเข้าใจว่าเป็นพิธีไม่ได้ทำ กล่าวเพียงแต่ให้ครบเดือนตามตำราที่มีอยู่ก็พอใช้ได้ แต่เมื่อดูตามทางที่ว่า ดูเหมือนเป็นอย่างกลางๆ นอกจากสองอย่างนี้ คือจะเป็นแต่ทำการสะเดาะพระเคราะห์ แล้วพระราชทานเงินแก่พราหมณ์ ไม่ได้แห่ออกไป “ถีบดุล” ตามอย่างที่ว่ามาในกฎมนเทียรบาล และพระมเหสีไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีนี้ด้วย ถ้าเทียบอย่างกลางเช่นนี้ก็น่าจะเป็นจริงได้ ด้วยในเวลาซึ่งขุนหลวงหาวัดได้เห็นนั้น เป็นกรุงเก่าชั้นหลัง จะลดทอนการแห่แหนใหญ่โตลงมาเสียแล้ว แต่ที่มาในกฎมนเทียรบาลนั้นเป็นการใหญ่ พระราชพิธีตั้งที่พระที่นั่งมังคลาภิเษก มีตราชูใหญ่ตั้งอยู่กลางพระโรงกั้นม่านวงรอบ เสด็จโดยกระบวนใหญ่ ทรงพระราเชนทรยาน พระครูพราหมณ์ลูกขุนและจตุสดมภ์เป็นคู่เคียง พระอัครมเหสีก็ทรงเทวียาน เมียพระโหราพระราชครูและเมียจตุสดมภ์นำและเป็นคู่เคียง เดินกระบวนทักษิณพระมหาปราสาทเก้ารอบ แล้วจึงเสด็จขึ้นพระมหาปราสาทประทับในม่านกั้น มีเจ้าพนักงานประจำหน้าที่คือชาววังนั่งนอกม่าน พระครูทั้งสี่และสมุหประธาน คือจตุสดมภ์ทั้งสี่นั่งในม่าน พระศรีอัครราชคือพระคลังถือพระขรรค์ พลเทพถือพิณ วังถือดอกหมาก พระยมราชถือแพนชัย ขุนศรีสังขกรเป่าสังข์ พระอินทโรตีอินทเภรี พระนนทเกศตีฆ้องชัย ขุนดนตรีตีมโหระทึก เสด็จขึ้นถีบดุล คือประทับในตาชั่งข้างขวา ข้างซ้าย ‘ใส่สรรพทรัพย์’ พระเจ้าแผ่นดินทรง ‘ถีบ’ (คือชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีเจ้า ‘ถีบ’ พระราชทานทรัพย์นั้นแก่พราหมณ์ แห่กลับแล้วมีการสมโภชการเลี้ยง ในนั้นว่า ‘ซ้ายเงินขวาทอง’ แต่จะเป็นสิ่งใดก็ไม่ทราบ เห็นจะเป็นบายศรี เป็นเสร็จการพระราชพิธีมีเนื้อความที่เก็บได้เพียงเท่านี้

พิเคราะห์ดู การที่จัดวางตำแหน่งในการพระราชพิธีนี้ชอบกลอยู่ ดูเหมือนหนึ่งจะมีเรื่องอะไรเป็นตัวอย่าง เช่นกับพิธีตรียัมพวาย ว่าพระเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก มีเทวดาหรือท้าวโลกบาลมาถีบชิงช้ารำเสนงถวาย สมุหประธานซึ่งถือเครื่องต่างๆ คงจะมีที่หมายเป็นตัวแทนเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งทั้งสี่ การที่ไม่มีสมุหนายก สมุหพระกลาโหมในที่นี้ ควรจะเข้าใจได้ว่าตำแหน่งทั้งสองนั้นยังไม่ได้ตั้งขึ้น จนถึงแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งย้ายวังลงมาตั้งริมน้ำ กฎมนเทียรบาลนี้เป็นแบบครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรที่ ๑ ก่อนเวลาที่ตั้งตำแหน่งทั้งสอง จึงได้ยกจตุสดมภ์ทั้งสี่เป็นสมุหประธาน ตามแบบเสนาทั้งสี่ แต่จะสืบหาต้นเหตุเรื่องเทียบของพระราชพิธีนี้ จากพราหมณ์ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้ความ แต่ถ้ามีผู้ที่อุตสาหะสืบเสาะค้นในเรื่องศาสนาพราหมณ์ต่างๆ ที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษออกใหม่ๆ คงจะหาเหตุผลประกอบให้รู้ต้นเหตุของพระราชพิธีนี้ได้

อนึ่ง การที่มีแห่พระอัครมเหสี ถ้าชั้นคนเราทุกวันนี้ฟัง และจะให้คิดกระบวนแห่ก็ดูจะเป็นการยาก เพราะผู้หญิงของเราเลิกเครื่องแต่งตัวที่เป็นเครื่องยศเสียช้านานแล้ว แต่เครื่องแต่งตัวผู้หญิงมีปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล ลดกันเป็นชั้น คือว่าพระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชปโภค มีมงกุฎ เกือกทอง อภิรมสามชั้น พระราชยานมีจำลอง พระราชเทวี พระอัครชายาทรงราโชปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่สักหลาด มีอภิรมสองชั้น เทวียานมีมกรชู ลูกเธอเอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง หลานเธอเอกโท ใส่ศิรเพฐน์มวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ (คือท้าวนาง) ใส่สนองเกล้า เสื้อแพรพรรณ ชะแม่ (คือเจ้าจอม) หนูนยิกใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแซม นางกำนัล (คือพนักงาน) นางระบำนายเรือน หนูนยิกเกี้ยวแซม โขลนเกล้ารักแครง เมียนาหมื่นหัวเมืองทั้งสี่ เมื่องานใส่ศิรเพฐน์นุ่งแพรเคารพ จตุสดมภ์เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซมนุ่งแพรจมรวด เมียนาห้าพันนาสามพัน หนูนยิกเกี้ยวแซม ห่มตีนทองบ่า ขุนหมื่นพระกำนัลก็ดี ราชยานก็ดี อภิรมก็ดี โพกหูกระต่ายเสื้อขาว นุ่งผ้าเชิงวัลย์ ชื่อเครื่องประดับผมและผ้านุ่งห่มเหล่านี้ดูแปลกหูไปทั้งสิ้น จะคะเนรูปและสีสันลวดลายไม่ใคร่ถูก เพราะกาลล่วงมาถึงห้าร้อยปีเศษแล้ว ไทยเราไม่สนัดในการที่จะเขียนรูป และถือกันว่าเป็นการต่ำสูงบ้าง เป็นที่รังเกียจว่าจะเอาไปทำให้เป็นอันตรายต่างๆ บ้าง จึงไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเขียนรูปผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่เพียงราษฎรด้วยกันเอง ถ้าจะเขียนรูปกันให้เหมือน ก็เป็นที่สงสัยหรือเป็นการดูถูกกันเสียแล้ว การที่จะเขียนรูปให้เหมือนนี้ จึงไม่เป็นวิชาของคนไทยที่ได้เล่าเรียนมาหลายร้อยปี จนถึงถ่ายรูปกันในชั้นหลัง คนแก่ๆ ก็ยังมีความรังเกียจมาก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้เห็นรูปเจ้าแผ่นดินหรือผู้มีบรรดาศักดิ์เก่าๆ ซึ่งถึงว่าจะเขียนรูปไม่เหมือน แต่เครื่องแต่งตัวคงยังปรากฏอยู่เช่นรูปเขียนเก่าๆ ของฝรั่ง แต่เป็นเคราะห์ดีอย่างหนึ่ง ที่ยังพอได้เห็นแววๆ ได้บ้าง เมื่อปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกรุงเก่า เป็นเวลากำลังสร้างวัดราชประดิษฐ์ที่กรุงเทพฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวัดราชประดิษฐานที่กรุงเก่า ได้ทอดพระเนตรเห็นลายเขียนที่ผนังโบสถ์ มีรูปผู้หญิงสวมเครื่องประดับศีรษะต่างๆ ไม่เหมือนรัดเกล้าละคร ดำรัสว่าเป็นแต่งตัวอย่างที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ด้วยวัดราชประดิษฐานนั้นคงจะต้องสร้างก่อนแผ่นดินพระไชยราชา จึงเป็นที่พระมหาจักรพรรดิเมื่อยังเป็นพระเทียรราชาออกไปทรงผนวชอยู่ในวัดนั้น เป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้าง ในขณะนั้นลายเขียนยังอยู่เกือบจะเต็มผนังทั้งแถบ ได้โปรดให้กรมขุนราชสีห์ลอกถ่ายลงมา ครั้นภายหลังข้าพเจ้าไปอีกครั้งหนึ่ง หลังคาชำรุดลงมามาก ลายเขียนก็ยังอยู่เกือบครึ่งผนัง แต่ครั้นไปเมื่อปีก่อนนี้ หลังคาชำรุดพังหมด ยังเหลือลายเขียนอยู่บ้าง พอเห็นเค้าได้ถนัด แต่รูปทั้งปวงนั้น เป็นเวลาที่ผู้หญิงยังไว้ผมมวยทั้งสิ้น เกล้าอย่างที่เรียกว่าโซงโขดงหรือโองโขดง คือรวบขึ้นไปเกล้าบนขม่อมเป็นห่วงยาวๆ มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมโดยมาก การที่ผู้หญิงเลิกเครื่องแต่งตัวเหล่านี้เสีย ก็จะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในชั้นหลังๆ ไม่มีพระอัครมเหสี หรือมีแต่เนือยๆ ไป เช่นพระนารายณ์มหาราช ก็จืดจางไปนั้นอย่างหนึ่ง เพราะตัดผมสั้นเป็นผมปีกแกมประบ่า เล่นกระบวนตกแต่งผมด้วยสีผึ้งน้ำมัน ไม่มีที่สอดสวมเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัวผู้หญิงจึงได้ค่อยสูญไปๆ ใครจะตกแต่งเข้าก็เป็นเร่อร่า โดยการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาซึ่งเป็นอยู่ทั่วทุกประเทศ เหมือนตัดผมปีกและไว้ผมยาวในปัจจุบันนี้ เครื่องประดับศีรษะผู้หญิง ก็เป็นอันสาบสูญจนไม่มีเค้าเงื่อน การที่มีแห่เสด็จในพระราชพิธีตุลาภาร ก็คงจะเป็นอันเลิกไปในหมู่ที่เลิกเครื่องประดับศีรษะนั้นเอง แต่พระราชพิธีนอกจากมีแห่เสด็จจะได้เลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ได้ความชัด แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ได้เคยมีพระราชพิธีนี้เลย เป็นพิธีสูญแล้ว ๚



เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์

๏ พิธีนี้เหตุใดจึงไม่มีในกฎมนเทียรบาล และในจดหมายขุนหลวงหาวัดทั้งสองแห่งก็ไม่ทราบเลย จะว่าไม่เคยทำที่กรุงเก่าก็ว่าไม่ได้ ด้วยในตำราของพราหมณ์ก็มีอยู่ว่าเดือน ๙ พระราชพิธีพรุณศาสตร์มหาเมฆบูชา มีวิธีซึ่งจะทำชัดเจน อนึ่งการพิธีขอฝนนี้ก็ดูเป็นพิธีสำคัญ มีเครื่องเตือนที่จะให้เลิกไม่ได้อยู่ คือถึงว่าเจ้าแผ่นดินจะดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมมิได้ปรวนแปร ซึ่งคนบางพวกมักพาโลว่า ดินฟ้าอากาศมักจะเป็นไปตามอาการของเจ้าแผ่นดินประพฤติ การฝนแล้งข้าวแพงนี้ ดูก็ไม่ใคร่จะเลือกเวลา มีเรื่องราวโบราณและเรื่องใหม่ๆ หลายเรื่อง ที่ได้กล่าวถึงว่าเวลาฝนแล้งข้าวแพง เจ้าแผ่นดินนั้นตั้งอยู่ในยุติธรรม ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ที่ต้องอดอยาก ทรมานพระองค์ต่างๆ เพื่อจะให้ฝนตก เช่นมีมาในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา พระเจ้าแผ่นดินลงบรรทมอยู่ในลานพระเจดีย์ด้วยตั้งอธิษฐานว่า ถ้าฝนไม่ตกลงมาขังลานพระเจดีย์จนพระองค์ลอยขึ้นก็จะไม่เสด็จลุกขึ้นเป็นต้น ก็เป็นความดีส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลาข้าวแพงนั้น ฝนก็แล้งข้าวก็แพงได้ อนึ่งในประเทศที่ใกล้เคียงกรุงสยาม เช่นอินเดียและจีน ฝนแล้งข้าวแพงถึงคนตายนับด้วยพันด้วยหมื่น ก็มีตัวอย่างเป็นอยู่เนืองๆ จะพาโลผู้ปกครองแผ่นดินว่าทำให้ฝนแล้งข้าวแพงนั้นเป็นการไม่ควรเลย แต่กระนั้นคนก็ยังคิดเห็นกันอยู่โดยมากว่าเป็นได้ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าก็มีปีข้าวแพงหลายครั้ง จะทิ้งพระราชพิธีนี้เสียเห็นจะไม่ได้ แต่บางทีจะคิดเห็นว่าเป็นพระราชพิธีจร เพราะปีใดฝนบริบูรณ์ ก็ยกเว้นเสียไม่ทำ ต่อปีที่ฝนแล้งจึงได้ตั้งพระราชพิธีตามที่มีเป็นแบบอย่างสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อครั้งกรุงสุโขทัย คงจะเป็นพระราชพิธีประจำปี นางนพมาศได้กล่าวถึงโดยเนื้อความละเอียด แต่พิธีที่ทำนั้นดูต่างอย่างไปกว่าตำราพราหมณ์ของเรา เห็นจะเป็นเรื่องต่างครูกันอีก พิธีตามตำราพราหมณ์ทำเป็นอย่างจะขอฝนให้ตกเดี๋ยวนั้น ด้วยอาศัยเสกเวทมนตร์เรียกบ้าง ด้วยอาศัยล้อพระพิรุณบ้าง แต่พิธีสุโขทัยนั้นเป็นตั้งท่าขอให้บริบูรณ์ทั่วไปแต่ต้นมือ

ข้อความที่นางนพมาศกล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๙ พราหมณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตั้งเกยสี่เกยที่หน้าลานเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงอันกระทำด้วยหญ้าคาหญ้าตีนนก อ่างทองสัตตโลหะสี่อ่างๆ หนึ่งเต็มไปด้วยเปือก ปลูกชาติสาลีมีพรรณสอง คือ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว สามอ่างนั้นใส่มูลดินอันเจือด้วยโคมัย ปลูกถั่วงาอ่างหนึ่ง ปลูกม่วงพร้าวอ่างหนึ่ง ปลูกหญ้าแพรกหญ้าละมานอ่างหนึ่ง ตั้งไว้บนนางกระดานแป้นปักตรงหน้าเกย ครั้นถึงวันกำหนดฤกษ์ หมู่พราหมณ์ทั้งหลายมีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์เป็นประธาน ต่างน้อมเบญจางค์บวงสรวงสังเวยพระเป็นเจ้า ตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนให้ตกชุกชุม ทั่วทุกนิคมคามเขตขอบขัณฑสีมากรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรัฐ ให้ชุ่มแช่ชาติสาลีอันมีพรรณต่างๆ ซึ่งเป็นของเลี้ยงชีพประชาชายหญิงสมณพราหมณาจารย์ทั่วทั้งแผ่นดิน จงบริบูรณ์ด้วยเม็ดรวง ปราศจากด้วงแสน ด้วยอำนาจวัสสวลาหกและพรพระสยม อนึ่งโสดอันว่าลดาชาติทั้งหลายมีถั่วงาเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยพืชผลให้ล้นเหลือ จะได้เป็นเครื่องกระยาบวชบำบวงสรวง อนึ่งเล่าพรรณรุกขชาติต่างๆ มีม่วงพร้าวเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยดอกดวงพวงผล จะได้เป็นอาหารแห่งหมู่มนุษย์นิกรทั้งผอง ประการหนึ่งติณชาติต่างพรรณอันเขียวขจิตงามด้วยยอดและใบ มีหญ้าแพรกหญ้าละมานเป็นต้น สำหรับเป็นภักษาหารช้างม้าโคกระบือ ขอจงงอกงามตามชายหนองคลองน้ำไหล ด้วยอำนาจวัสสวลาหกให้บริบูรณ์ ครั้นกล่าวคำอธิษฐานแล้วจึงพราหมณาจารย์ทั้งสี่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเวทเพทางคศาสตร์ แต่งกายสยายมวยผมนุ่งอุทกสาฎก ถือเอาธงประดากสีมอดุจเมฆมืดฝนอันรายยันต์พรุณศาสตร์ตามขอบข้างละสี่คู่ ซึ่งปักบูชาไว้คนละคันโดยสักกัจจเคารพ พระครูพรหมพรตพิธีเป่าสังข์ดำเนินหน้า หมู่พราหมณ์ทั้งหลายก็แห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังเกย ขึ้นสถิตยืนอยู่บนเกยๆ ละคน ต่างอ่านโองการประกาศแก่วัสสวลาหก โบกธงธวัชกวัดแกว่งบริกรรมอิศรเวท ขอฝนตามตำรับไตรเพทสิ้นวารสามคาบ แล้วก็ลงจากเกยคืนเข้าสู่พระเทวสถาน พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พระมนต์พรุณศาสตร์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนเกย โบกธงร่ายเวทขอฝนวันละสองเวลา คือเช้าและเย็นถ้วนคำรบสามทิวาในวันนักขัตฤกษ์” ลงท้ายนางนพมาศแสดงเวลาที่ตัวได้ไปเห็นพระราชพิธีนี้ ว่าได้ตามบิดาไปเมื่ออายุ ๗ ขวบจึงได้จำไว้ได้

การพิธีที่สุโขทัยมีแต่พิธีพราหมณ์ การซึ่งเกิดพิธีสงฆ์ขึ้นจะพึ่งมีในภายหลัง แต่พิธีพราหมณ์ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นคนละอย่างกันกับที่นางนพมาศกล่าว ทำพร้อมกันกับพิธีสงฆ์ แต่แยกออกไปทำอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย เพราะอยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย การตกแต่งโรงพระราชพิธีและเทวรูป ก็คล้ายกันกับพระราชพิธีอื่นๆ คือปลูกโรงพิธีขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๑๐ ศอก สองห้อง เฉลียงรอบ แต่ในประธานไม่มุงหลังคา มุงไว้แต่ที่เฉลียงรอบ สำหรับที่จะให้พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตั้งในโรงพิธีนั้น ต้องอยู่กลางแดดกั้นม่านรอบ มีไตรทวาร ไม้อุณาเทวา พรหมโองการทั้งแปดทิศตามธรรมเนียม หน้าโรงพิธีในหมายว่าทิศพายัพ (พระมหาราชครูว่าทิศบูรพา) ห่างออกไปสามศอก ปลูกเกยสูง ๔ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๕ นิ้ว มีพนักสามด้าน บันไดขึ้นลง ตรงหน้าเกยออกไปขุดสระกว้าง ๓ ศอก ยาว ๓ ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลาเหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต ตรงหน้าสระออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว การที่จะปั้นนั้น ต้องตั้งกำนล ปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย ๓๓๐๓ เบี้ย ข้าวสารสี่สัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น เทวรูปที่ตั้งในการพระราชพิธี คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมธาดา พระมหาพิฆเนศวร วันแรกตั้งพระราชพิธี มีกระบวนแห่ๆ พระเป็นเจ้าออกไปส่งโรงพิธี กระบวนแห่ก็เหมือนกันกับการพระราชพิธีจรดพระนังคัล แต่เทวรูปนั้นตั้งกึ่งกลางโรงพิธี การบูชาเวลาค่ำทำเหมือนพระราชพิธีอื่นๆ แต่ไม่ได้ตั้งนพเคราะห์ การที่เป็นวิเศษสำหรับพิธีฝนนั้น คือเวลาเช้าพระมหาราชครูพิธี ขึ้นบนเกยอ่านเวทโบกธงผ้าขาวซึ่งรายยันต์พรุณศาสตร์ ยาว ๕ ศอก กว้างเท่าผืนผ้า ติดปลายไม้ลำมะลอก ยาว ๓ วา โบกไปมาสามครั้งเป่าสังข์แล้ว เจ้ากรม ปลัดกรม ขุนหมื่น พราหมณ์โหรดาจารย์แปดคน นั่งล้อมเทวรูปในโรงพระราชพิธีซึ่งเป็นกลางแจ้ง เพราะมิได้มุงหลังคานั้น ชักประคำ คาถาซึ่งสำหรับชักประคำนั้นเปลี่ยนตามวันทั้ง ๗ วัน ครั้นเวลา ๕ โมงเช้าหยุดพักตอนหนึ่ง ตอนบ่ายชักประคำไปอีกจนเวลาแดดลบ พระมหาราชครูขึ้นโบกธงเหมือนอย่างเวลาเช้าอีกครั้งหนึ่งแล้วเป็นเลิก ไปจนเวลาดึกจึงได้บูชาพิธีตามธรรมเนียม ทำเช่นนี้ทุกวันกว่าจะเลิกการพระราชพิธี การพิธีพราหมณ์นี้เป็นอันรอฟังพระราชพิธีสงฆ์ ที่ทำอยู่ท้องสนามหลวง เมื่อพิธีข้างในเลิกเมื่อใดก็พลอยเลิกด้วย มีกระบวนแห่พระเป็นเจ้ากลับ ในร่างรับสั่งเก่าว่า แห่มาเวียนทักษิณพระราชวัง ถวายชัยเจ้าแผ่นดินแล้วจึงได้กลับเทวสถาน แต่ได้ถามพระมหาราชครูว่า ภายหลังนี้ไม่ได้มา ด้วยไม่มีผู้ใดสั่งใคร ตกลงเป็นรวมเลิกไปเหมือนอย่างแห่พระประน้ำในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ประโยชน์ที่พราหมณ์ได้ คือผู้ซึ่งชักประคำได้ผ้าขาวนุ่งห่มคนละสำรับ ได้เงินทักขิณบูชา ๖ บาท หม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง ผ้าขาว หม้อ มะพร้าว ข้าว ตามอย่างพิธีอื่นๆ การพิธีพราหมณ์ต่อพิธีพราหมณ์เทียบกัน ครั้งกรุงสุโขทัยและในปัจจุบัน ไม่เหมือนกันเช่นนี้

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ เห็นความได้ชัดว่าคงเกิดภายหลังพิธีพราหมณ์ และเอาอย่างพราหมณ์นั้นเอง ด้วยในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดพระพุทธศาสนานั้น เป็นประเทศที่มีฝนลักลั่นไม่ทั่วถึง และเกิดวิกลวิการต่างๆ จนถึงคนต้องอดอาหารตายบ่อยๆ จนถึงในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่เนืองๆ พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้น จึงได้คิดวิธีที่จะบูชาเซ่นไหว้ขอร้องต่อพระเป็นเจ้าซึ่งเขานับถือว่าเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้โทษให้คุณแก่มนุษย์ทั้งปวง แต่วิธีที่ทำนั้นก็คงจะไม่เหมือนกันทั่วไป ตามอัธยาศัยของผู้ซึ่งแรกคิดขึ้น ด้วยเหตุว่าไม่สามารถที่จะถามพระเป็นเจ้าว่าจะชอบอย่างไรได้ จึงต้องคิดทำตามใจที่ตัวเห็นว่าดีทดลองดู เมื่อสบช่องที่ดีได้ฝนดังปรารถนา ตำรานั้นก็ตั้งเป็นแบบอย่างต่อมา ก็ถ้าผู้ที่ตั้งพิธีฝนพร้อมกันสามแห่งสี่แห่งในที่ใกล้ๆ กัน แต่ความคิดเห็นที่จะทำพิธีนั้นต่างกันไปทั้งสามแห่งสี่แห่ง เมื่อฝนตกลงมาก็ตกทั้งสามแห่งสี่แห่ง พิธีนั้นก็ขลังทั้งสามแห่งสี่แห่ง ลัทธิที่ทำจึงได้แยกเป็นสามอย่างสี่อย่าง แต่ถึงพิธีนั้นจะขลังศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี ไม่ศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี เมื่อผู้ใดตั้งขึ้นที่ใด ก็คงเป็นที่ชอบใจของผู้ซึ่งมีความนับถืออย่างเดียวกัน ด้วยจะได้จริงมิได้จริงก็เป็นความประสงค์อันดี เหมือนอย่างคนสองคน คนหนึ่งมาพบเราเข้าให้พร เราก็รู้อยู่ว่าคำที่คนๆ นั้นให้พรไม่เป็นการแน่นอนที่จะได้จริงเช่นนั้น แต่เรายังชอบใจถ้อยคำของคนๆ นั้น เพราะมีความปรารถนาดีต่อเรา ฝ่ายคนอีกคนหนึ่งมาถึงมาแช่งให้เรา เราก็รู้ว่าคำแช่งของคนผู้นั้นจะไม่เป็นจริงตามปาก แต่เป็นการแสดงน้ำใจร้ายต่อเรา เราก็ไม่ชอบใจจะฟังถ้อยคำผู้นั้น เพราะเหตุฉะนี้ พิธีฝนทำเหมือนหนึ่งให้พรให้ฝนตกบริบูรณ์ จะได้จริงหรือมิได้จริงก็ไม่มีผู้ใดโกรธแค้น ซ้ำเป็นการเกาถูกที่คัน คือความปรารถนาที่จะอยากได้น้ำฝนนั้นแรงกล้าอยู่ด้วยกันทั่วหน้าแล้ว จึงเป็นที่ชอบใจเกิดมีพิธีขอฝนต่างๆ ขึ้น และยังไม่รู้สาบสูญจนถึงบัดนี้

ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เมื่อว่าโดยอย่างอุกฤษฏ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็หาได้เกี่ยวข้องในการดินฟ้าอากาศอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ แต่ยังมีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้เกี่ยวข้องในการธุระเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งเลือกฟั้นอย่างอุกฤษฏ์แล้ว ก็จะต้องกล่าวคัดค้านข้อความที่กล่าวถึงนี้เสีย ว่ามากเกินไป ความนั้นก็อยู่ข้างจะเป็นจริง แต่ถ้าจะกล่าวอะลุ้มอล่วยให้พอไม่เคร่งครัดนัก ก็จะต้องว่าพระพุทธเจ้า ก็ถึงได้ละกิเลสกับทั้งวาสนาขาดจากพระสันดานแล้ว แต่พระองค์ยังประกอบไปด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ เมื่อได้เห็นมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงต้องมีทุกข์อันใหญ่หลวงด้วยทุพภิกขภัยเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเหตุให้เกิดพระมหากรุณาขึ้นในพระหฤทัยเป็นแท้ แต่การที่พระองค์ได้ทรงกระทำตามที่กล่าวมาในเรื่องพระคันธารราษฎร์ จะได้ตั้งพระหฤทัยทำจริงหรือมิได้ตั้งพระหฤทัยทำจริง แต่ไปประจวบกาลที่ฝนจะตกลงมาก็ดี ชนทั้งปวงในเวลานั้นย่อมได้ยินหรือเชื่อถือการขอฝนได้อยู่ทั่วกัน เมื่อได้เห็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็คงต้องเข้าใจว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพ ก็ถ้าเรื่องนิทานอันนี้จะเป็นของมีผู้คิดอ่านตกแต่งขึ้นภายหลังแท้ทีเดียว ไม่มีเค้าเงื่อนเหตุผลอันใดซึ่งเนื่องมาจากองค์พระพุทธเจ้าเลย ก็คงเป็นความคิดอันดีของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างผู้ที่มาถึงแล้วให้พร เพราะฉะนั้นการบูชาพิธีขอฝนของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา จึงยังมียั่งยืนสืบมาจนถึงบัดนี้

เรื่องราวซึ่งกล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ครั้งหนึ่งอย่างไร ได้กล่าวมาแล้วในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เพราะฉะนั้นจึงยกเสียไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก แต่เพราะเหตุที่มีนิทานกล่าวถึงเช่นนั้น จึงได้เกิดพระพุทธรูปแสดงอาการพระหัตถ์ขวากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงาย ซึ่งได้สมญาว่าพระคันธารราษฎร์ เป็นพระสำคัญซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างหนึ่ง และในท้ายเรื่องราวของพระคันธารราษฎร์นั้น มีเรื่องราวกล่าวถึงวาริชชาดกที่ข้าพเจ้าได้ผัดไว้ไม่เล่าถึงเมื่อพิธีพืชมงคลนั้น ในนิทานวาริชชาดก ว่าพระยาปลาช่อน อาศัยอยู่ในบึงตำบลหนึ่ง คราวนั้นเป็นเวลาแล้งน้ำในบึงแห้งขอดเป็นตม ฝูงกาลงกินปลาในบึงนั้นอยู่เกลื่อนกลุ้ม พระยานฬปะจึงผุดขึ้นในตมแหงนดูอากาศเสี่ยงบารมี ตั้งสัจจาธิษฐานแล้วกล่าวคาถา ว่า อภิตุถนยปชุณฺณ เป็นต้น ว่าข้าแต่ปชุณณะเทพยดา เป็นผู้มีอำนาจอาจจะให้ฝนตกได้ ขอท่านจงบันดาลให้เมฆฝนตั้งขึ้น แล้วจงให้ห่าฝนตกลงเป็นท่อธารใหญ่ ท่วมบึงบ่อทั้งปวงเถิด จงทำนิธิขุมทรัพย์ของฝูงกาทั้งหลายให้พินาศไป ทำฝูงกาให้โศกเศร้าเพราะอดอาหาร และขอท่านจงกรุณาเปลื้องปลดข้าพเจ้ากับหมู่ญาติทั้งหลายให้พ้นภัยพิบัติโศกเศร้า พ้นอำนาจหมู่กาซึ่งจะมาเบียดเบียนเป็นภัยอันใหญ่หลวงนี้เถิด ด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานของพระยาปลาช่อน ห่าฝนใหญ่เป็นท่อธาร ก็บันดาลตกลงมาไหลลบล้นท่วมบึงบ่อทั่วทุกสถาน หมู่วาริชชาติก็ได้พ้นภัยพิบัติทั่วกัน เพราะฉะนั้นจึงได้ขุดสระมีรูปปลาช่อนในการพระราชพิธีนี้ด้วย

ยังมีเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ทั้งมีรูปและเป็นเนื้อความในคาถาซึ่งสวดขอฝนมาในคัมภีร์พระอรรถกถาแห่งหนึ่ง มาในเรื่องตำราขอฝน ซึ่งเขาแต่งเป็นภาษามคธแห่งหนึ่ง ความมุ่งหมายก็เห็นจะกล่าวถึงพระเถระองค์เดียวกันนั้น แต่ชื่อเสียงและเนื้อความแปลกเพี้ยนกันไปบ้าง จะเล่าตามที่มาในคัมภีร์พระอรรถกถาก่อน ในคัมภีร์นั้นออกชื่อว่าพระสุภูตเถร เริ่มเรื่องว่าพระเถรเจ้าองค์นี้ ได้ปรารถนาฐานันดรอันหนึ่ง ณ บาทมูลพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบำเพ็ญกุศลให้เป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเป็นลำดับมา จนถึงมาเกิดในตระกูลสุมนเศรษฐีมีนามว่าสุภูต ครั้นในพุทธกาลนี้ ได้บรรพชาอุปสมบทในวันเมื่ออนาถปิณฑิกคหบดีฉลองพระเชตวัน เจริญสมณธรรมบรรลุพระอรหัต พระผู้ทรงพระภาคย์ได้ยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุบริสัช บรรดาซึ่งเป็นอรณวิหารี ครั้นเมื่อได้บรรลุพระอรหัตแล้วเที่ยวมาโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็เสด็จมายังสำนักพระมหาเถร ตรัสปฏิญาณว่าจะทำที่อยู่ถวาย แต่เพราะราชการมากก็หาได้ทำถวายตามคำปฏิญาณไม่ พระเถรเจ้าไม่มีเสนาสนะ ก็อยู่แรมในที่แจ้ง ในเวลานั้นเป็นฤดูฝนที่ควรจะตก ก็บันดาลไม่ตก มนุษย์ทั้งหลายคิดหวาดหวั่นที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงพร้อมกันเข้าไปกราบทูลพระมหากษัตริย์ พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำริหาต้นเหตุ ว่าซึ่งฝนไม่ตกนั้นจะเป็นด้วยเหตุใด จึงทรงอนุมานว่าเห็นจะเป็นเหตุด้วยพระเถรเจ้าพักอยู่กลางแจ้ง จึงรับสั่งให้ทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ถวาย ครั้นเมื่อพระเถรเจ้าเข้าไปในกุฎีแล้วนั่งในที่ลาดด้วยหญ้า ฝนก็ตกเล็กน้อยยังหาเต็มตามที่ไม่ พระเถรเจ้าคิดจะกำจัดภัย คือฝนไม่ดีไม่งามนั้น จึงได้กล่าวคาถาแสดงว่าตนได้พ้นอันตรายแล้วให้เทพยดาทราบ ว่าขอวัสสวลาหกทั้งหลายจงยังฝนให้ตกในที่ทั้งปวงเถิด อันตรายภายนอกไม่มีแก่เราแล้ว เพราะกุฎีของเรามุงดีแล้ว ควรเป็นฐานที่ตั้งแห่งความสุขสำราญ และมีบานประตูหน้าต่างอันชิดสนิทดีไม่มีช่องลม ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกตามปรารถนาเถิด อนึ่ง อันตรายภายในก็ไม่มีแก่เรา เพราะจิตของเรามั่นด้วยสมาธิพ้นพิเศษจากกิเลสแล้ว ในบัดนี้เราปรารภเริ่มความเพียร เพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่ ณ ขณะอิริยาบถ ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกทั่วที่ทั้งปวงเถิด ครั้นกล่าวพระคาถานี้จบลงแล้ว ในทันใดนั้นมหาเมฆตั้งขึ้น ฝนตกทั่วทิศด้วยอานุภาพพระสุภูต ควรเป็นอัศจรรย์ ใจความในพระอรรถกถาได้กล่าวเรื่องราวมาดังนี้

ก็ถ้าจะคิดดูตามเรื่องราวที่กล่าวนี้ กับการที่ทำในพระราชพิธีดูไม่ต้องกัน คือปั้นรูปพระสุภูตเถรนั่งแหงนหน้าดูอากาศตั้งไว้ที่ปากสระ ก็ถ้าฝนไม่ตกเพราะพระมหาเถรอยู่กลางแจ้ง ไปปั้นรูปพระมหาเถรไว้กลางแจ้ง ก็น่าที่จะเป็นเหตุให้ฝนไม่ตก ดูเหมือนว่าจะต้องทำโรงร่มคลุมรูปพระมหาเถรนั้นให้มิดชิด แล้วจึงสวดคาถาซึ่งพระมหาเถรกล่าวแก่เทพยดา อาการที่ทำและถ้อยคำที่กล่าวจึงจะตรงกัน

การที่ปั้นรูปพระมหาเถรนั่งกลางแจ้งนั้น เห็นจะมาตามเค้านิทานซึ่งแต่งเป็นภาษามคธ แต่มีท่านนักปราชญ์ผู้รู้มากได้กล่าวว่าเป็นหนังสือแต่งขึ้นภายหลังแท้ เนื้อความในนิทานนี้ ซึ่งเรียกว่าสุภูติสูตร ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารประมาณ ๕๐๐ เสด็จจารึกไปในมคธชนบท ถึงอังคุตตรนิคม ประทับอยู่ในที่นั้น ในขณะนั้นเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระองค์จึงตรัสแก่พระสุภูติเถร ว่าสุภูติไปสิ ท่านจงอาศัยความกรุณาแก่โลก นั่ง ณ ที่แจ้งเข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้วให้ฝนตกลงมา ให้ประโยชน์ความสุขสำเร็จแก่เทพยดาและมนุษย์ พระสุภูติเถรรับพุทธพจน์แล้วออกไปนั่ง ณ กลางแจ้ง เข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้ว และขึ้นไปบนอากาศเปล่งอุทานวาจาอธิษฐานขอฝน เมื่อเทวดาได้ฟังคำอธิษฐานก็ชอบใจ อนุโมทนาในถ้อยคำพระมหาเถร แต่ตัวคาถาที่พระมหาเถรกล่าวนี้ยืดยาว จะว่าเป็นคำอุทานตลอดไปก็ไม่ได้ จะว่าจบลงเพียงใดก็ไม่ได้ รวบรวมใจความนั้นขอให้เทวดาช่วยบ้าง อ้างคุณพระรัตนตรัยบ้าง ขอให้ฝนตก แต่ท่านผู้ที่รู้ๆ ท่านกริ้วกราดกันเสียว่าเลอะเทอะนัก จึงไม่ยอมให้ลงในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ลงคำแปลคาถานั้นมาโดยละเอียด ซึ่งกล่าวถึงนี้เพื่อจะให้ได้ความสันนิษฐานว่าการซึ่งปั้นรูปพระสุภูตินั่งแหงนหน้าอยู่กลางแจ้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ มาตามทางนิทานที่เรียกว่าสุภูติสูตร เป็นลัทธิเกิดขึ้นแต่ผู้ที่เชื่อถือหนังสือสุภูติสูตร จึงได้มีติดอยู่ในการพระราชพิธี แต่ส่วนคาถาซึ่งสวดสำหรับพระราชพิธีนั้น ไม่ได้สวดตามเรื่องสุภูติสูตร ไปสวดตามเรื่องที่มาในพระอรรถกถา คำที่สวดกับรูปที่ปั้นไว้นั้นไม่ตรงกัน ถือเสียว่าเป็นคนละลัทธิ ถึงลัทธิสุภูติสูตรจะเหลวแหลกประการใด ก็นับเอาเป็นเหมือนคนมาให้พรให้ได้เงินหม้อทองหม้อ ก็ไม่ควรที่จะไปขู่ผู้ให้พรนั้นว่าข้าไม่เอา หรือเหลวไหลประการใด ตกลงเป็นเรื่องที่มีความปรารถนาดีแล้ว เป็นใช้ได้เช่นกล่าวมาข้างต้นนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 15:48:54 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #33 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 15:30:00 »


เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ (ต่อ)

ยังมีพระพุทธรูปอีกอย่างหนึ่ง เป็นของมาแต่เมืองมอญ พระมอญพอใจเอามาถวาย ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้มีมากหลายองค์ เป็นรูปพระเถระนั่งก้มๆ หน้า มีใบบัวคลุมอยู่บนศีรษะ และมีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ตามเข่าหลายแห่ง ฐานรองนั้นเป็นดอกบัวคว่ำดอกหนึ่ง หงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูนๆ ขึ้นมา เป็นพระทำด้วยแก่นพระศรีมหาโพธิลงรักปิดทองเบาๆ ว่าเป็นพระสำหรับขอฝน มีเรื่องราวนิทานได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าอยู่ แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ในท้องเรื่องนั้นก็คล้ายๆ พระสุภูตะ หรือสุภูติเถระนี้เอง ได้สอบถามพระสุเมธาจารย์[]แจ้งว่าเป็นรูปพระสุภูติที่ขอฝนนั้นเอง เข็มตุ้มที่ปักอยู่ตามพระองค์ ซึ่งท่านเรียกว่าหมุดว่าเป็นช่องที่บรรจุพระบรมธาตุ ฟังดูที่กล่าวนั้น ก็เคล้าหาเรื่องสุภูติอย่างไทยๆ ไม่แปลกอะไร

แต่ได้สอบถามพระคุณวงศ์[] แจ้งความไปคนละเรื่อง อ้างผู้บอกเล่ามีเรื่องราวยืดยาวว่า เมื่อท่านออกไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองรางกูนกลับมาถึงวัดกะนอมซอน พักอยู่สองคืน ภิกษุพม่ารูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวัดนั้น นำพระเช่นนี้มาให้องค์หนึ่ง พระนันทยะสัทธิงวิหาริกของท่านได้ถามว่า พระเช่นนี้เรียกพระอะไร พระพม่านั้นบอกว่า เรียกพระทักขิณสาขา ได้มาจากเมืองอังวะ ผู้ถามจึงถามว่า เหตุใดจึงมีหมวกสวมอยู่บนศีรษะ พระพม่าอธิบายว่า พระอุปคุตตะเถระองค์นี้ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปในกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้นไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่งบนน้ำ ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำกล่าวกันว่าชาวเมืองรางกูนผู้หนึ่ง ได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองรางกูนทั้งปวงจึงพากันหุงข้าวแต่ยังไม่สว่าง คอยตักบาตรพระอุปคุตจนทุกวันนี้ก็ยังมีความนับถือพระอุปคุตเช่นนี้แพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้โอกาสตักบาตรพระอุปคุต จึงได้กล่าวว่า ถึงว่าไม่ตักบาตรแต่เพียงได้ทำสักการบูชา ก็จะมีผลานิสงส์เหมือนกัน จึงได้พากันสร้างรูปพระอุปคุตขึ้นทำสักการบูชา ซึ่งทำเป็นใบบัวคลุมอยู่บนพระเศียรนั้น สมมติว่าเป็นเงาที่กันน้ำฝนและแดดรูปเหมือนใบบัว พวกเมืองอังวะทราบเรื่องจึงเลียนไปทำแพร่หลายมากขึ้น

นัยหนึ่งว่าพระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง ประสงค์จะใคร่สร้างพระพุทธรูปด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ แต่มีความสงสัยอยู่ว่าจะควรหรือไม่ จึงให้ประชุมพระเถรานุเถระปรึกษา พระเถระทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าเป็นการควร จึงได้แต่งบรรณาการให้อำมาตย์ ๘ คนกับไพร่ ๓๖๐ ให้ไปเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิที่ว่านี้ ดูทีเหมือนจะไปอินเดีย ก็พากันไปตายสูญเสียเป็นอันมาก เหลือมา ๑๖ คน ไม่ได้พระศรีมหาโพธิมา จึงให้ไปเชิญกิ่งเบื้องขวาพระศรีมหาโพธิที่เมืองลังกา ได้มาแล้ว ให้สร้างเป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้างศอกหนึ่ง เศษเหลือนั้นให้สร้างพระสาวก พระพุทธรูปที่มีปลา ปู ดอกบัว อยู่ใต้ฐานนั้น สำหรับสังเกตว่าเป็นรูปพระอุปคุต พระพุทธรูปเดิมนั้นสร้างด้วยทักขิณสาขาของพระศรีมหาโพธิจริง แต่ภายหลังมามีผู้สร้างมากขึ้นก็ใช้กิ่งไม้อื่นบ้าง ข้อความที่กล่าวมานี้ท่านทราบจากพระพม่ารูปนั้นบ้าง ที่ผู้ใหญ่เล่ามาแต่เดิมบ้างดังนี้

ฟังดูเรื่องที่เล่าก็เป็นเฉียดๆ ไปกับเรื่องเดิม อย่างไรจะถูกก็ตัดสินไม่ได้แน่ แต่พระเช่นนี้ใช้ตั้งในการพระราชพิธีฝนหลายองค์ ยังรูปพระมหาเถรอีกองค์หนึ่ง ที่แขนเป็นลายรียาวเรียกว่าพระมหาเถรแขนลาย ก็เป็นพระตั้งขอฝนอีก มีเรื่องราวเล่าเป็นเกร็ดๆ อย่างเดียวกันกับพระที่คลุมใบบัว ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เสียอีก จะถามผู้ใดก็ยังนึกหน้าไม่ออกว่าผู้ใดจะจำเรื่องราวได้ แต่พระองค์นี้อยู่ที่หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง เป็นพระหล่อด้วยทองสำริดรมดำไม่ได้ปิดทอง

การซึ่งมีพระพุทธรูป หรือรูปพระเถระสำหรับขอฝนต่างๆ นี้ ก็คงจะเกิดขึ้นด้วยมีเหตุสบช่องเหมาะครั้งหนึ่ง เช่นเล่าว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงน้ำในสระโบกขรณี เป็นเวลาฝนแล้งน้ำแห้งขอด เผอิญฝนตกลงมามากในเวลานั้น ก็นับว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพฉันใด พระเถระทั้งหลายเหล่านี้ บางทีจะไปมีการอันใดประกอบเหตุให้ฝนตก ก็เลยนับถือว่าพระมหาเถรองค์นั้นมีอานุภาพอาจจะบันดาลให้ฝนตก เหมือนกันกับพวกที่ถือศาสนาโรมันคาทอลิกนับถือแปตรอนเซนต์ ที่พวกหมอๆ มิสชันนารีแปลกันว่านักบุญ คือที่เป็นลูกศิษย์พระเยซูนั้นเป็นต้น ท่านพวกเหล่านั้นก็เป็นเจ้าของต่างๆ กัน การที่พวกโรมันคาทอลิกถือเช่นนี้ ก็เป็นการไหลมาตามลัทธิกรีก ที่ถือว่ามีเทวดาสำหรับการสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราที่เป็นผู้ถือพุทธศาสนาเล่าก็เคยถือลัทธิพราหมณ์ว่ามีเทวดาสำหรับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถึงการที่นับถือเทวดายังไม่ขาดก็อ่อนลงไปเสียมากแล้ว นับถือพระพุทธศาสนามากกว่า แต่พระพุทธศาสนาไม่แก้ความอยากความทะยานสดๆ ได้ดังใจ ก็ต้องแส่หาพระพุทธเจ้าบ้างพระเถระบ้างมาบูชาเซ่นสรวงแทน หรือให้ช่วยแรงเทวดา ด้วยถือว่ามีอานุภาพมากกว่าเทวดา เรื่องพระเถระขอฝนทั้งปวงนั้นคงเป็นมาด้วยเหตุอันนี้อย่างหนึ่ง ยังมีอีกอย่างหนึ่งก็เป็นแต่ความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งคิดขึ้น เช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระทรมานมิจฉาทิฐิ เป็นพระนั่งอยู่ในครอบแก้ว มีทะเลอยู่ตรงหน้า เรือกำปั่นมาแตกจมอยู่ตรงนั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเรือเซอร์เยมสบรุกเข้ามา เรือติดที่สันดอน ประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเหมือนอย่างเป็นการสมโภชพระพุทธศาสนา ที่พวกมิจฉาทิฐิไม่มาย่ำยีได้ก็สร้างขึ้น ยังมีที่เป็นคู่กัน คือทรมานข้าว พระพุทธเจ้านั่งอยู่บนฐานในครอบแก้ว ตรงหน้าออกมาเป็นท้องนามีข้าวกำลังเป็นรวง ตามครอบแก้วก็เขียนเป็นรูปห้างคนขับนกและฝูงนกที่บิน พระพุทธรูปครอบแก้วที่เรียกว่าทรมานข้าวนี้ ก็ใช้ตั้งในการพระราชพิธีแรกนา

เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปก็ดี รูปพระเถระก็ดี ที่ใช้ในการขอฝนนี้ บางทีก็จะเป็นนึกขึ้นใหม่โดยไม่มีเหตุมีมูล เป็นแต่ประสงค์จะขออานุภาพให้มาระงับความอยากกระวนกระวายเช่นนี้ก็จะเป็นไปได้

พระพุทธรูปอย่างพระคันธารราษฎร์ ที่ใช้ตั้งในการพระราชพิธีนี้ก็มีอาการและสัณฐานต่างกัน คือพระพุทธคันธารราษฎร์พระองค์ใหญ่ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้น ตามในประกาศที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ว่าสำเร็จ ณ ปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ เดิมลงรักปิดทอง แต่ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก้าไหล่ทองขึ้นใหม่ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลม พระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นพระนั่งผ้าทรงเป็นอย่างที่พาดสังฆาฏิตามธรรมเนียม ดวงพระพักตร์และทรวดทรงสัณฐานเป็นอย่างพระโบราณ พระรัศมีกลมเป็นรูปดอกบัวตูมเกลี้ยงๆ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทอดพระเนตรเห็นพระโบราณ จึงให้ช่างถ่ายอย่างหล่อให้เหมือนพระพุทธรูปตัวอย่าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริตามเรื่องพระคันธารราษฎร์ ในท้องเรื่องนั้น เวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงในสระโบกขรณีนั้น ว่าเสด็จยืนอยู่ที่ปากสระ จึงโปรดให้หล่อองค์ย่อมอีกองค์หนึ่ง ทรงผ้าอุทกสาฎก ตวัดชายคลุมพระพาหาข้างหนึ่ง เสด็จยืนอยู่บนบัวกลุ่ม ที่ฐานมีคั่นอัฒจันทร์ลงไปสามคั่น ให้เป็นที่หมายว่าเป็นคั่นอัฒจันทร์ลงในสระ พระพุทธรูปคันธารราษฎร์จึงมีอาการเป็นสองอย่าง แต่ก็ใช้ในการพระราชพิธีทั้งสององค์ ยังพระคันธารราษฎร์จีน ก็ยกพระหัตถ์คล้ายกันกับพระคันธารราษฎร์สององค์ แต่ดวงพระพักตร์เป็นอย่างจีน มีแต่พระเมาฬีไม่มีพระรัศมี ผ้าที่ทรงจะว่าเป็นจีวรก็ใช่ เป็นผ้าอุทกสาฎกก็ใช่ ใช้คลุมสองพระพาหา แหวกที่พระอุระกว้างทำนองเป็นเสื้อหลวงญวน อย่างเช่นพระจีนทั้งปวง พระหัตถ์ที่ยกนั้นน่าสงสัยว่าบางทีจะเป็นใช้บทอย่างทำกงเต๊ก แต่ไม่ถึงกรีดนิ้วออกท่า เป็นกวักตรงๆ แต่รูปร่างหมดจดงดงามดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับถือโปรดปรานมาก โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย ช้อนสำหรับตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดในหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา มีจงกลติดเทียนทองอยู่ที่ฐานตรงพระพักตร์ แล้วโปรดให้ก้าไหล่ทองทั้งพระองค์และเครื่องประดับสำหรับตั้งพระราชพิธีพืชมงคลและพรุณศาสตร์ เป็นพระคันธารราษฎร์อีกอย่างหนึ่ง ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระที่เหลือจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีอยู่สองปาง คือพระลองหนาวและพระคันธารราษฎร์ จึงได้เลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา ตามที่ได้กล่าวไว้ในพิธีเดือนห้าแล้วนั้น

แต่พระอาการของพระพุทธรูปนั้น ยังเป็นข้อวินิจฉัยอยู่ ด้วยมีคำเล่ามาว่า เมื่อจะจารึกพระพุทธรูปปางต่างๆ ทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้น ทรงกะพระปางนั้นจะจารึกถวายองค์นั้น ได้มีพระกระแสประภาษว่าชั้นหลังๆ ลงมาให้ยืนให้เดินบ้างก็ได้ เอาพระพุทธรูปที่นั่งๆ ไปถวายชั้นแรก เพราะชั้นแรกท่านยังนั่งแน่นอยู่ ทำนองที่ว่านั้นดูเหมือนหนึ่งว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนยืดยาว หรือเป็นต้นพระวงศ์จะใช้พระนั่ง องค์ใดที่อยู่ในราชสมบัติน้อยหรือมีเหตุอันตราย ซึ่งเป็นการหมดแผ่นดินไปโดยไม่ปรกติ ให้ใช้พระยืน แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ดูตามรายพระนามก็ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมา จนถึงพระมหินทราธิราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๑๖ พระองค์ ใช้พระพุทธรูปนั่งทั้ง ๑๖ ก็พระเจ้าแผ่นดินใน ๑๖ พระองค์นี้ เจ้าทองจันทร์ได้สมบัติก็เพียง ๗ วัน พระราเมศวรฆ่าเสีย พระเจ้ารามอยู่ในสมบัติ ๑๕ ปี ต้องนิรเทศ พระรัษฎาธิราชอยู่ในสมบัติ ๕ เดือน พระไชยราชาฆ่าเสีย พระยอดฟ้าอยู่ในสมบัติปีเศษขบถภายในฆ่าเสีย พระมหินทราธิราชอยู่ในสมบัติปีเศษเสียกรุงแก่รามัญ ก็ถ้าจะใช้พระยืนเป็นที่หมายอันตรายจริงเช่นนั้น ท่านเหล่านี้ก็ควรจะใช้พระยืน เหตุใดจึงใช้พระนั่ง ส่วนพระมหาธรรมราชา พระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ เป็นพระยืนทั้งสี่องค์ ถ้าจะว่าตามเค้าที่ว่า ก็ควรยืนแต่พระศรีเสาวภาคย์องค์เดียว ครั้นต่อมาในวงศ์พระเจ้าทรงธรรมสามองค์ ก็ดีอยู่แต่พระเจ้าทรงธรรมองค์เดียว ต่อมาอีกสององค์ไม่เป็นการ ทำไมจึงพลอยนั่งไปด้วยกันทั้งสามองค์ มาสมความที่ว่าอยู่แต่ชั้นวงศ์พระเจ้าปราสาททอง มีนั่งแต่พระเจ้าปราสาททององค์เดียว นอกนั้นยืนทั้งสิ้น จึงเห็นความว่าชะรอยผู้ที่ฟังพระกระแสนั้นจะไม่เข้าใจชัดเจน ที่มีพระกระแสนั้นจะทรงหมายความว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓๔ ปางนี้ จะตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็คงจะต้องเรียงเป็นแถวๆ พระเจ้าแผ่นดินแรกๆ คงต้องอยู่แถวหน้า พระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ ก็ต้องอยู่แถวหลัง ถ้าจะใช้พระนั่งไว้แถวหลังพระยืนอยู่แถวหน้า ก็คงบังแถวหลัง จึงรับสั่งว่าชั้นแรกๆ ให้เป็นพระนั่ง ชั้นหลังๆ ให้เป็นพระยืน เมื่อตั้งในหมู่เดียวกันจะได้แลเห็นตลอดไม่บังกัน พระราชดำริคงเป็นแต่หมายความเพียงชั้นเท่านี้ แต่ผู้ฟังคิดมากไป แล้วไม่ได้ตริตรองเทียบเคียงดู จึงได้กล่าวไปตามความเข้าใจของตัว ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็มีข้อสงสัยอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผู้กล่าวคัดค้านได้ ว่าเหตุใดพระเจ้าแผ่นดินในวงศ์พระมหาธรรมราชาจึงได้เป็นพระยืน จะเป็นด้วยทรงหมายว่าเป็นปลายวงศ์เชียงราย ตามเช่นพงศาวดารนับว่าเป็น ๒๐ พระองค์ วงศ์พระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นวงศ์ตั้งขึ้นใหม่ จึงได้เป็นพระนั่งดอกกระมัง ถ้าจะว่าเข้าทางอ้อมเชื่อเอาว่า พระมเหสีของพระเจ้าปราสาททองแปดพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าทรงธรรมร่วมพระมารดาเดียวกัน ได้เป็นพระมารดาเจ้าฟ้าไชยองค์หนึ่ง พระมารดาพระนารายณ์องค์หนึ่งตามคำขุนหลวงหาวัดว่า จึงรวมวงศ์พระเจ้าปราสาททองเข้าเป็นวงศ์เดียวกับพระเจ้าทรงธรรมเช่นนั้นแล้วก็เป็นพอจะว่าได้ แต่ถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่งตามเรื่องเกร็ดที่เล่าว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จะมิต้องนับว่าวงศ์พระเจ้าปราสาททอง เป็นวงศ์เชียงรายคืนมาได้ราชสมบัติหรือ ข้อความที่กล่าวทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่มีในพระราชพงศาวดารซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงเรียบเรียง ท่านแยกวงศ์พระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททองออกเป็นคนละวงศ์ แต่มีข้อสงสัยจริงอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่ตกลงตลอด ว่าเหตุที่ทรงเลือกพระถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้นจะทรงหมายความอันใดบ้างหรือไม่ ถ้ามีที่หมาย บางแห่งก็เห็นได้ บางแห่งก็มืดไม่แลเห็นได้เลย ที่เห็นได้ง่ายชัดเจนนั้น คือพระยอดฟ้าเป็นพระพุทธรูปนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ พระที่นั่งสุริยามรินทร์เป็นพระลีลา ที่ไม่เห็นเสียโดยมาก ถ้าเช่นนั้น พระพุทธรูปสำหรับพระนเรศวรใช้พระห้ามสมุทร จะเป็นที่หมายว่าพระเดชานุภาพมาก พระถวายเนตรเป็นของพระเอกาทศรถ จะแปลว่าเป็นผู้ชื่นชมยินดีในสมบัติและอำนาจที่มีชัยชำนะแล้วได้บ้างดอกกระมัง เพราะฉะนั้นพระยืนจึงได้ไปแทรกอยู่ในวงศ์พระมหาธรรมราชา แต่ครั้นเมื่อมาถึงพระเจ้าทรงธรรม น่าจะเหยียบรอยพระพุทธบาทเต็มที่ ทำไมกลายเป็นนั่งเรือขนานไปก็ไม่ทราบ พระปาลิไลยก์ พระฉันมธุปายาส ของท่านโอรสอีกสององค์นั้น ก็ดูไม่มีเค้ามูลอะไรเลย จะว่าพระเชษฐาเป็นเด็กจึงให้ชอบช้างชอบลิง ท่านก็ไม่เด็ก จะว่าพระอาทิตยวงศ์ต้องถูกถอด เพราะพี่เลี้ยงแม่นมต้องตามเอาพระอาหารไปเที่ยวป้อน ให้ฉันมธุปายาส แปลว่าตะกลามก็ดูทักเหลือเกินนัก แต่เรื่องนี้ยังชอบกลมากน่าคิด แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนามากๆ แต่ไม่ทราบเค้าพระกระแสที่เคยทรงพระราชดำริการทั้งปวงอย่างไร ก็คงจะพาเข้าวัดเข้าวาไปไม่ถูก ถ้าจะเป็นแต่ผู้รู้แต่พระกระแส ไม่สันทัดในเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ก็จะไปลงรอยพระฉันมธุปายาส เพราะตะกลามเช่นข้าพเจ้าว่านี้แหละ จึงยังตัดสินเรื่องนี้ไม่ตลอดได้ แต่ข้อซึ่งว่าด้วยเรื่องพระยืนพระนั่งนี้ ข้าพเจ้ายังลงเนื้อเห็นข้างทรงมุ่งหมายในเรื่องที่ตั้งมากกว่าหมายความลึกซึ้งไปเท่าที่กล่าว แต่มีคำที่กล่าวขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะละเว้นไม่ให้เป็นที่สงสัย เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาจะสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ข้อที่ปรึกษากันเลือกพระคันธารราษฎร์ เพราะเป็นพระปางเหลืออยู่นั้นอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านผู้ใหญ่ๆ ท่านก็เห็นว่า เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ครั้นถึงปีฉลูต้นปีฝนก็แล้งนัก จนข้าวก็ขึ้นราคา ข้าวในนาก็เสียมาก เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ พระองค์เจ้าอินทนิลจึงได้ประทานข้าวเปลือกเป็นของขวัญตลอดมา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็พอพระทัยรับสั่งประภาษถึงเรื่องนี้เนืองๆ รับสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นหน้าที่สำหรับทำพิธีฝนแต่เล็กมา ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา แต่ไปเกิดข้อรังเกียจกันด้วยเรื่องจะนั่งหรือจะยืน ตามเหตุว่ามาแล้ว คำตัดสินนั้นตกลงว่าถึงที่ยืนเป็นถูกต้องตามที่กล่าวมาก็จริง แต่เป็นพระพุทธรูปพึ่งเกิดขึ้นใหม่มีองค์เดียว พระเก่าๆ ที่มีมาก็เป็นพระคันธารราษฎร์นั่งทั้งสิ้น จึงได้ตกลงให้สร้างพระคันธารราษฎร์นั่ง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ท่านโปรดพระชนมพรรษานี้มาก จึงได้ขอหล่อขึ้นอีกองค์หนึ่งต่างหาก ไม่ก้าไหล่ทอง ท่านได้ไปตั้งพิธีฝนหลายครั้งก็ว่าขลังดีวิเศษ จึงได้ขอให้พระองค์นั้นเข้ามาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ด้วย เป็นอันมีพระคันธารราษฎร์แปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง มีดวงพระพักตร์เป็นพระอย่างใหม่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พาดสังฆาฏิกว้าง ไม่มียอดพระเมาฬี มีพระรัศมีแหลมเหมือนอย่างใหม่ๆ พระคันธารราษฎร์ที่ตั้งในการพระราชพิธีมีเป็นสี่อย่างด้วยกันดังนี้

การพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นแต่ถ้าปีใดฝนบริบูรณ์อยู่แล้วก็งดเว้นเสียไม่ทำ เพราะดูเหมือนหนึ่งว่าจะขอซ้ำให้มากเกินไป การที่จะได้ทำพระราชพิธีหรือไม่ได้ทำ มีเขตกำหนดอยู่เพียงเดือน ๙ ถ้าฝนภายในเดือน ๙ เข้ามาบริบูรณ์ดี ถึงจะไปแล้งในปลายมือประการใดก็ไม่เคยทำพระราชพิธี ถ้าฝนต้นปีภายในเดือน ๙ แล้ง จึงได้ทำพิธี แต่การที่จะทำพระราชพิธีนั้น มีวิธีแก้ไขอย่างอื่น และตั้งพิธีอย่างน้อยไปหลายๆ วันก่อน เมื่อเห็นฝนยังไม่ตกบริบูรณ์จึงได้ตั้งพิธีใหญ่ต่อไป อาศัยการที่ทำพิธีล่วงหน้าเช่นนี้ พอผ่อนผันให้การพระราชพิธีใหญ่ได้ช่องตามที่เคยสังเกตว่าเป็นเวลาฝนมักจะตกนั้นด้วย

การล่วงหน้าพระราชพิธี ซึ่งเป็นแบบอย่างโบราณมา ก็คือให้โขลนร้องนางแมวอย่างหนึ่ง ตัดต้นคนทีสออย่างหนึ่ง ช้างบำรูงาอย่างหนึ่ง วิธีร้องนางแมวนั้นก็ไม่ประหลาดอันใด เด็กๆร้องเป็นอยู่ด้วยกันทั่วหน้า ไม่ต้องการจะกล่าวถึง ตัดต้นคนทีสอนั้นเล่าก็ตัดเราดื้อๆ อย่างนั้นเองไม่ต้องกล่าวถึง จะขอว่าด้วยช้างบำรูงาซึ่งเป็นการเลิกเสียไม่ได้เล่นมาช้านาน วิธีที่จะให้ประงากันนั้น ช้างมีน้ำมันสองช้าง ปักแท่นตะลุงเบญจพาส ห่างกันยี่สิบวา ท้ายแท่นออกไปมีเสาปองสองแถวๆ ละห้าต้น เป็นสิบเสา ระยะเสาปองห่างกันศอกหนึ่ง เสาปองนั้นทำด้วยไม้จริงโตสองกำ สูงพ้นดินศอกหนึ่ง มีแผงตั้งบนล้อบังในระหว่างกลางแท่นช้างทั้งสองข้างมิให้เห็นกัน เมื่อนำช้างซึ่งแต่งเครื่องมั่นมีหมอถือขอเกราะขี่คอ ควาญท้ายถือขอเรียกว่าขอช้างพลาย ปลายด้ามขอนั้น มีปืนด้ามยาว ๔ ศอกบ้าง ๕ ศอกบ้าง มายืนแท่นผูกตะลุงอย่างช้างยืนโรงเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะให้บำรูงาเมื่อใดจึงติดเชือกบาศที่เท้าหลังข้างละสองเส้นทั้งสองช้าง ปลายเชือกบาศพันเสาปอง เป็นลำดับกันไปทั้งห้าเสา แล้วจึงถอดปลอกปลดเชือกมัดขา นำช้างลงจากแท่น ชักแผงบังตาเสีย ช้างทั้งสองช้างยังห่างกันอยู่ ก็คัดเชือกออกจากเสาปองทีละคู่ๆ โรยให้ใกล้กันเข้าไป พองาประกัน ช้างทั้งสองที่กำลังคลั่งมันก็ย่อตัวโถมปะทะงาประกัน เสียงดังกึกก้องแต่ไม่มีอันตรายถึงตัวช้าง ด้วยมิได้หย่อนให้มากจนถึงแทงกันได้ นัยหนึ่งกล่าวว่าไม่มีแพ้ชนะกัน แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่ามีแพ้ชนะกัน การที่แพ้ชนะกันนั้น คือช้างใดได้ล่างงัดงาช้างหนึ่งแหงนหงายขึ้นไป เหวี่ยงสะบัดไม่กลับลงได้ ช้างที่ต้องงัดนั้นแพ้มักจะร้องให้เสียง เมื่อแพ้ชนะกัน หรือประงากันพอสมควรแล้ว หมอก็กดให้ถอยหลังออกมา ในเวลาที่จะให้ถอยนั้นเป็นการยากลำบากของหมอ ด้วยช้างกำลังโทสะกล้าทั้งสองข้าง บางทีก็หันหน้ากลับเอางาเสยเชือกบาศที่หย่อนอยู่ข้างหลังนั้น ยกขึ้นตวัดไปบนหลัง หมอต้องคอยก้มหลบหลีกเชือกให้ว่องไว ถ้าหลบไม่พ้นเชือก กำลังช้างหันมาโดยเร็วเชือกพานตัวมีอันตรายต่างๆ บางคราวก็ถึงชีวิต เมื่อนำช้างพรากกันออกมาได้แล้ว รักษาไว้ให้สงบหายคลั่งทั้งสองฝ่าย หมอควาญจึงได้รำเยาะเย้ยกัน หมอควาญช้างตัวที่ชนะรำก่อน ลักษณะที่รำนั้นมีท่าและมีชื่อเรียกต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะชำนาญท่าใด ท่าที่หมอรำนั้น เรียกว่าปัดเกล้าบ้าง แป้งผัดหน้าบ้าง นางกรายบ้าง ท่าที่ควาญรำเรียกว่าลำลำจะพุ่งบ้าง ชมพูพาดบ่าบ้าง จูงนางลีลาบ้าง แต่เมื่อจะจบเพลงร้องโผะ เป็นการโห่เยาะเย้ยผู้ที่แพ้ แล้วผู้ที่แพ้รำแก้หน้าบ้าง ร้องโผะเยาะเย้ยเหมือนกัน แล้วนำเข้าประงากันใหม่ และรำขอเยาะเย้ยกันครบสามครั้ง เป็นเสร็จการบำรูงา

การช้างบำรูงานี้ ไม่เป็นแต่สำหรับพิธีฝนอย่างเดียว ถือว่าเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนครด้วย การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานใช้แทนผัดช้างก็มีบ้าง การอื่นที่เป็นการสำคัญก็มีบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิมงคลนั้น ก็คงจะเป็นเหตุมาจากที่ฝึกหัดช้างทหาร ให้กล้างาเป็นกำลังในการศึกสงครามเป็นต้นเหตุ แล้วภายหลังจึงกลายลงมาเป็นอาการที่ช้างเอางาต่องาประกันนั้นเป็นมงคลไป และในเวลาซึ่งช้างประงากันเช่นนั้นจะถูกฝนตกหลายคราว จึงกลายเป็นเครื่องทำให้ฝนตกได้ เป็นการสำหรับขอฝนไปอีกชั้นหนึ่ง ในเรื่องช้างบำรูงานี้ ชะรอยแต่ก่อนท่านจะเล่นกันอยู่เสมอๆ จนไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ไม่มีผู้ใดใคร่จะกล่าวถึง ไปกล่าวถึงแต่เมื่อมีเหตุที่เป็นอัปมงคล คือแผ่นดินพระยอดฟ้า จุลศักราช ๘๙๐ ปีชวด สัมฤทธิศก มีช้างบำรูงา ช้างหนึ่งชื่อพระฉัททันต์ กับช้างชื่อพระยาไฟ ครั้นเมื่อช้างประงากัน งาช้างพระยาไฟหักเป็นสามท่อนก็ถือกันว่าเป็นนิมิตอัปมงคล จึงเกิดเหตุการจลาจลในแผ่นดินภายหลังไม่ช้านัก การช้างบำรูงาที่ไม่มีเหตุผลอันใดก็ไม่ได้กล่าวถึง จนชั้นเช่นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีช้างบำรูงาครั้งหนึ่ง ผู้ซึ่งควรจะได้เห็นนั้นมีมาก ก็ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึง ตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็ยังไม่ได้มีช้างบำรูงาอีกเลย

วิธีขอฝนล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือแห่พระวิมลรัตนกิรินี พระวิมลรัตนกิรินีนี้ ลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปีฉลู เบญจศก สมัยเดียวกับปีข้าพเจ้าเกิดนั้น ในวันที่แห่เข้ามายืนโรงสมโภชในพระบรมมหาราชวัง ฝนก็ตกมากอีกครั้งหนึ่ง จึงต้องเป็นพนักงานขอฝนด้วยอีก การที่ให้ไปขอฝนนั้น คือแต่งเครื่องทองแทบกลม มีกระบวนแห่อย่างช้างเผือกลงน้ำในเวลาสมโภช แห่ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปยืนแท่นผูกตะลุงที่เกยหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เวลาบ่ายๆ ทุกวัน มีโปรดให้ข้าพเจ้าไปรดน้ำบนเกยครั้งหนึ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดพระราชประสงค์อย่างใดไม่ทราบเลย เพราะเวลานั้นยังเด็กอยู่

อนึ่งการที่พิธีล่วงหน้าเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ รับสั่งให้สังฆการีไปเผดียงพระสงฆ์ทุกๆ พระอารามหลวงให้สวดขอฝน แต่ครั้งเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพิธีหลวงอย่างน้อยขึ้น พิธีหลวงอย่างน้อยนี้เริ่มลงมือพร้อมกันกับพระสงฆ์สวดตามวัด ทำบนหอพระที่ท้องสนามหลวง ตั้งพระพุทธรูปที่เกยต่อออกมากับเฉลียงหอ มีโต๊ะทองใหญ่โต๊ะหนึ่ง ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระขอฝนของรามัญหลายองค์ มีราวเทียน ไม่ได้ตั้งเครื่องนมัสการ เทียนที่ทรงจุดนมัสการนั้นใช้อย่างเล่มละสองสลึง ตามกำลังวันในวันที่ทำพิธีนั้น ธูปเท่ากัน ดอกไม้ตามสีวันเท่ากัน พระสงฆ์ที่สวดมนต์ก็เท่ากันกับกำลังวัน ใช้พระราชาคณะนำองค์หนึ่ง นอกนั้นพระพิธีธรรมทั้งสิ้น ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประพรมน้ำหอมทรงเจิม แล้วจึงทรงตั้งสัตยาธิษฐาน พระสงฆ์สวดเจ็ดตำนานถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถาขอฝน เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ไปจนจบ สวดเท่ากำลังวัน พระสงฆ์นั้นนั่งตามเฉลียงหอพระ หันหน้าเข้าข้างใน การพิธีน้อยเช่นนี้ เสด็จพระราชดำเนินออกโดยมาก ถ้าไม่เสด็จพระราชดำเนิน ก็โปรดให้ข้าพเจ้าไปทำทุกครั้ง ไม่มีผู้อื่นผลัดเปลี่ยนเลย แต่ไม่ได้ประทับอยู่จนสวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนแล้วประทับอยู่ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ไม่ทันพระสงฆ์สวดจบก็เสด็จกลับ ถ้าวันใดฝนตกก็พระราชทานรางวัลพระสงฆ์สำรับนั้น มากบ้างน้อยบ้าง ที่เพียงองค์ละเฟื้องก็มี ข้าวสารองค์ละถังก็มี เงินองค์ละบาทเป็นอย่างมาก การพระราชพิธีอย่างน้อยเช่นนี้ ตั้งติดๆ กันไปเก้าวันสิบวันจนถึงสิบห้าวันก็มีบ้าง ไม่เป็นกำหนด สุดแต่ฝนตกมากแล้วก็เป็นหยุดเลิก ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ตั้งพระราชพิธีใหญ่ต่อไป ถ้าตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดไปจนบรรจบวันตั้งพระราชพิธี แต่สวดขอฝนตามวัด ในเวลาตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดอยู่ด้วย

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่เคยทำมาทุกรัชกาล แต่เห็นจะห่างๆ กว่าในรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลปัจจุบันนี้ ด้วยได้ไต่ถามดูว่าในรัชกาลที่ ๓ เคยทำอย่างไรทำที่ไหน ก็ได้ความจากผู้ที่แจ้งความนั้น ว่าจำได้ว่าทำสองครั้ง ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฟังดูก็ยุติด้วยเหตุผล คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงสร้างพระคันธารราษฎร์ใหญ่ขึ้น ก็ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในรัชกาลที่ ๔ ถึงว่ายกออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง ก็ยังโยงสายสิญจน์เข้ามาที่พระมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสามรัชกาลนั้นคงจะทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกครั้ง ต่อรัชกาลที่ ๔ จึงได้ย้ายออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง พระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีจัดเหมือนพืชมงคล เพิ่มแต่พระแท่นสวดตั้งท้ายพลับพลาข้างเหนือ มีกระโจมเทียนชัย น้ำหนักขี้ผึ้งและไส้เทียนชัยเหมือนพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระพุทธรูปที่ตั้งบนพระแท่น ตั้งพระบรมธาตุระย้ากินนรครอบพระเจดีย์ถม พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระห้ามสมุทร พระชัยเนาวโลหะน้อย พระทรมานข้าว พระธรรม มีกระบวนแห่พระเหมือนอย่างพิธีพืชมงคล โยงสายสิญจน์พระแท่นต่อพระแท่นถึงกันเหมือนอย่างพระราชพิธีที่มีท้องภาณทั้งปวง ที่หน้าพลับพลากลางแจ้งขุดสระ กว้างสี่ศอก ยาวสี่ศอกสี่เหลี่ยม ลึกศอกหนึ่ง พูนดินเป็นคันรอบสูงศอกหนึ่ง ปั้นรูปพระสุภูตนั่งริมฝั่งสระหันหน้าไปข้างเหนือรูปหนึ่ง ตัวทาสีคราม หน้าทาเสน ผ้าห่มสีเหลือง นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าดูฟ้า มุมสระมีนาคมุมละตัว โลกบาลมุมละรูป ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ พระยาปลาช่อนและบริวารสิบรูป มีกบ เต่า ปู ปลา บ้างตามสมควร มีราชวัติฉัตรกระดาษกั้นสี่มุม ตั้งศาลลดโหรบูชาห้าศาล ที่พลับพลาโถงตั้งเทวรูป รอบกำแพงแก้ว พลับพลาท้องสนามหลวงมีราชวัติฉัตรกระดาษ ปลูกต้นกล้วยอ้อยวงสายสิญจน์รอบไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 15:50:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #34 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 15:42:13 »


เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์(ต่อ)

การพระราชพิธีมีท้องภาณอย่างน้อยเช่นนี้ มีกำหนดพระสงฆ์เพียง ๒๕ รูป คือเป็นแม่การเสียรูปหนึ่ง นั่งปรก ๔ สวด ๔ สำรับๆ ละ ๕ รูป แต่เช้าจนเที่ยง แต่เที่ยงจนค่ำ แต่ค่ำจนสองยาม แต่สองยามจนรุ่ง เวลาเย็นสวดมนต์พร้อมกัน เช้าฉันพร้อมกัน เวลาเพลฉัน ๑๒ รูป แม่การในพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จแต่เวลาจุดเทียนชัย สวดมนต์วันเดียว ต่อนั้นไปสวดมนต์และฉันเป็นวันละ ๒๔ รูปเท่านั้น ไม่มีตั้งน้ำวงด้าย เริ่มจุดเทียนชัยเวลาบ่าย พราหมณ์โหรดาจารย์ติดพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย จึงเกณฑ์พราหมณ์พฤฒิบาศมาเป่าสังข์ เวลาจุดเทียนชัยมีขับไม้บัณเฑาะว์ด้วย ทรงถวายสบงจีวรกราบพระและย่ามสีน้ำเงิน พระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงจุดเทียนชัย คาถาที่พระสงฆ์สวดในเวลาจุดเทียนชัย ก็ใช้ พุทโธ สัพพัญญุตญาโณ เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เปลี่ยนแต่บทท้ายที่ต่อ เอตัสส อนุภาเวน เป็น เทโว วัสสตุ กาลโต วัสสันตรายา มาเหสุํ ปลายลงอย่างเดิมว่า สัพพโสตถี ภวันตุ เต แล้วราชบัณฑิตอ่านคำประกาศ ต้นเป็นภาษามคธสรรเสริญพระพุทธคุณแล้วว่าสัคเคประกาศเทวดา แล้วจึงกล่าวคาถาภาษิตซึ่งมาในเทวตาสังยุตที่มีข้อความเกี่ยวข้องด้วยเรื่องฝนจบแล้ว จึงได้กล่าวคำนมัสการเป็นสยามพากย์แปลจากภาษามคธนั้นเอง ในคำสรรเสริญพระพุทธคุณ แต่มิได้แปลสัคเคประกาศเทวดา ต่อท้ายสรรเสริญพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ได้ดำรัสภาษิตพระคาถาสองพระคาถานี้ไว้ ว่าแต่บรรดาสระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ทั้งหลายผู้อาศัย ณ แผ่นดินย่อมเลี้ยงชีวิตพึ่งน้ำฝน ดังนี้ แล้วจึงลงคำอธิษฐานว่าพระพุทธภาษิตทั้งสองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายคิดตามก็เห็นเป็นความจริง ด้วยอำนาจคำจริงนี้ วลาหกเทพยดาทั้งหลาย จงให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้สรรพธัญญาหารงอกงามบริบูรณ์ด้วยรวงผล เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนทุกประการ แล้วจึงไขความพิสดารในสองพระคาถานั้นต่อไป ว่าเทพยดาองค์หนึ่งทูลว่าของรักซึ่งจะเสมอด้วยบุตรไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอม ซึ่งจะยิ่งกว่าโคไม่มี แสงสว่างซึ่งจะยิ่งกว่าพระอาทิตย์ไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลายมีสมุทรสาครเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสตอบแปลงเสียใหม่ว่า ของรักซึ่งจะเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอมซึ่งจะเสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี แสงสว่างซึ่งจะเสมอด้วยปัญญาไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานเช่นว่ามาแล้วอีกครั้งหนึ่ง ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยคาถาเทพยดาทูลถาม ว่าสิ่งอะไรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งอะไรเลี้ยงชีวิต ทรงวิสัชนาว่า บุตรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย ภริยาเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งน้ำฝนเลี้ยงชีวิต แล้วก็ลงคำอธิษฐานเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เพิ่มแต่ที่ปลายว่า ตามพระบรมราชประสงค์ ทุกประการเทอญ ก็เป็นจบกันเท่านั้น แล้วพระสงฆ์ก็สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถา ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ นับจบตามกำลังวันเหมือนอย่างพระราชพิธีอย่างน้อย ถ้าถูกวันที่มีกำลังมากเช่นวันศุกร์เป็นต้น อยู่ในสองชั่วโมงเศษสามชั่วโมงจึงได้จบ

ข้อความในคาถาที่สำหรับสวดนี้ เก็บเรื่องต่างๆ มารวบรวมกันผูกเป็นคาถา แต่เดิมมาที่พระสงฆ์สวดขอฝนก็ใช้คาถาสุภูติสูตร ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องการพระราชพิธี ให้มีราชบัณฑิตอ่านประกาศขึ้นด้วยเป็นต้น จึงทรงผูกคาถานี้ให้ติดเนื่องเป็นประพันธ์อันเดียวกันสำหรับการพระราชพิธี เริ่มเนื้อความในคาถา เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ฌายินํ วโร ยกความว่าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐกว่าผู้เพ่งอารมณ์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้อุดมพิเศษสูงสุดกว่าผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย พระหฤทัยเยือกเย็นไปด้วยความเอ็นดูในหมู่สัตว์ เป็นคำสรรเสริญเบื้องต้น ต่อนั้นไปจึงกล่าวถึงเรื่องนิทานพระคันธารราษฎร์ ดำเนินความตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่จำพรรษา ณ เชตวันอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีเมืองสาวัตถี ในกาลนั้นแว่นแคว้นโกศลชนบทเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระผู้ทรงพระภาคย์เสด็จไปบิณฑบาต ประชุมชนอาราธนาเพื่อจะให้ฝนตก พระองค์อาศัยความกรุณาในประชุมชน เสด็จกลับประทับที่ฝั่งสระโบกขรณีที่น้ำแห้งจะสนานพระกาย ทรงผลัดผ้าอันตรวาสก ทรงอุทกสาฎก ชายข้างหนึ่งคลุมพระองค์ ในขณะนั้นมหาเมฆตั้งขึ้นมาข้างปัจฉิมทิศ ยังฝนให้ตกเพียงพอประโยชน์ความประสงค์ของมหาชน ต่อนั้นไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งยังปรากฏอยู่ตลอดมาถึงกาลปัจจุบันนี้ ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยกาลอันควร ให้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยธัญผลเสมอไป นี่เป็นตอนหนึ่ง ต่อไปอีกตอนหนึ่งเป็นคาถาคำอธิษฐาน เริ่มตั้งต้นแต่ มหาการุณิโก นาโถ พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาแลเป็นที่พึ่งของสัตว์ เปลี่ยนความเที่ยวแรกว่า อัตถาย สัพพปาณินํ ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อความต้องการแก่สรรพสัตว์ จบที่ ๒ ว่า หิตาย สัพพปาณินํ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ จบ ๓ ว่า สุขาย สัพพปาณินํ เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์ แล้วไปรวมความว่าได้บรรลุถึงพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว ด้วยวาจาภาษิตอ้างพระกรุณาคุณขันธ์เป็นสัตยาธิษฐานนี้ ในจบต้นว่า เทโว วัสสตุ ธัมมโต ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยธรรม จบ ๒ ว่า กาลโต โดยกาล จบ ๓ ว่า ฐานโส โดยฐานะ สวดคำอธิษฐานนี้เป็นสามจบ แล้วจึงว่าด้วยเรื่องพระสุภูต เริ่มตั้งแต่ สุภูโต จ มหาเถโร มหากาโย มโหทโร เป็นต้น จนตลอดคำอธิษฐานของพระเถรเจ้าตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อนั้นไปยกคำอธิษฐานของพระยาปลาช่อนมาว่าตั้งแต่ อนุสสริต๎วา สตํ ธัมมํ ปรมัตถํ วิจินตยํ เนื้อความเบื้องต้นซึ่งยังไม่ได้กล่าวมา ใจความว่าข้าพเจ้าตามระลึกถึงธรรมของท่านผู้ระงับทั้งหลาย คิดค้นหาปรมัตถ์อยู่ ได้ทำสัจกิริยาซึ่งเป็นของเที่ยงยั่งยืนในโลก คือจำเดิมแต่ข้าพเจ้าระลึกจำตนได้ ย่อมไม่รู้ไม่เห็นว่าได้เคยแกล้งเบียดเบียนสัตวอื่นแม้แต่ตัวหนึ่ง ด้วยสัจวาจาภาษิตนี้ ขอปชุณณเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกเถิด ต่อนั้นไปลงร่วมความกับคาถา อภิตถนยํ ปชุณณ นิธึ กากสสนาเสย ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไปลงความข้างปลายว่า เอวรูปํ สัจจกิริยํ กัต๎วา วิริยมุตตมํ ข้าพเจ้าทำสัจกิริยาซึ่งเป็นความเพียรอันอุดม อาศัยกำลังอำนาจความสัจให้ฝนตกได้ตามปรารถนา ธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเสมอด้วยความสัจไม่มี การที่ทำสัจกิริยาปลดเปลื้องตนแลบริษัทให้พ้นมรณภัยได้นี้เป็นสัจบารมีของข้าพเจ้า คาถาที่สวดมีเนื้อความเพียงเท่านี้ เมื่อสวดมนต์จบแล้วจึงสวดภาณวารต่อไป ภาณวารนั้นสวดสุภูติสูตร มีราชบัณฑิตนุ่งขาวห่มขาวชักประคำอยู่ที่ปากสระคนหนึ่ง ผลัดเปลี่ยนกันทั้งกลางวันกลางคืนกว่าจะเสร็จการพระราชพิธี ที่บนเกยข้างหอพระคันธารราษฎร์ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระบัวเข็มรามัญ มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการตามวันอย่างพิธีน้อย ยกแต่พระสงฆ์สวดมนต์

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไม่มีกำหนดกี่วันเลิก สุดแต่เทียนชัยยังยาวอยู่ ถ้าฝนยังตกน้อยก็ตั้งต่อไป บางคราวถึงห้าวันหกวันจึงได้เลิกก็มี เมื่อเลิก พระราชาคณะที่นั่งปรกซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าทุกองค์เป็นผู้ดับเทียนชัย พระสงฆ์สวดคาถาดับเทียนชัยตามธรรมเนียม แต่ในเวลาเลี้ยงพระเช้าตลอดจนวันดับเทียนชัย ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินตลอดพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็นจนพระสงฆ์สวดมนต์จบ ถ้าฝนตกมากก็พระราชทานรางวัล ตั้งแต่องค์ละบาทจนถึงองค์ละ ๔ บาท ตามฝนมากฝนน้อย อนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ไม่มีกำหนดที่ บางปีก็ยกขึ้นไปตั้งกรุงเก่า ในรัชกาลปัจจุบันนี้ยกขึ้นไปตั้งที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติครั้งหนึ่ง

อนึ่ง การห้ามปรามอยู่ข้างจะกวดขัน ในสิ่งซึ่งถือว่าไม่บริสุทธิ์ คือตั้งต้นแต่พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะเสด็จออกไปทรงตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนนั้น ต้องสรงน้ำชำระพระกายด้วยดินสอพองให้หมดจด และห้ามมิให้ทรงถูกต้องกายสตรี ในจังหวัดพลับพลาซึ่งวงสายสิญจน์ก็ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไป ถ้าการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ครั้งใด ก็เป็นการเดือดร้อนของพระเจ้าลูกเธอที่เป็นพระราชบุตรีอันต้องห้ามไม่ให้ตามเสด็จ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทุกครั้ง ถึงพระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ในการพระราชพิธี ก็มีหมายให้ตั้งที่สรงน้ำ แต่จะรวมเสียหรือประการใดไม่ทราบ บรรดาผู้ที่จะเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีตลอดจนช่างปั้น ก็บังคับให้ชำระกายให้หมดจดทั่วไป ถ้าฝนแล้งในปีใด ราษฎรทั้งปวงก็บ่นหาว่าเมื่อไรจะตั้งการพระราชพิธี เจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่แต่ก่อนๆ ก็พอใจเป็นธุระกราบทูลตักเตือนให้ตั้งการพระราชพิธีมีอยู่เนืองๆ แต่ปรกตินั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังรายงานน้ำฝนต้นข้าวอยู่เสมอ เมื่อทรงเห็นว่าฝนไม่ปรกติตามฤดูกาล สมควรจะตั้งพระราชพิธีก็โปรดให้ตั้งพระราชพิธี ไม่ทันมีผู้กราบทูลตักเตือนหรือร้องหานั้นโดยมาก การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้เป็นที่ชอบใจของราษฎรชาวนา มักจะคอยสังเกตว่า ถ้าตั้งพระราชพิธีฝนมีบริบูรณ์ก็เป็นที่อุ่นใจโจษกันไปไม่ใคร่จบ ถ้าฝนขัดข้องก็มักจะบ่นหนักอกหนักใจไม่ใคร่สบายไป พระราชพิธีพรุณศาสตร์จึงเป็นเครื่องประคองใจของราษฎรให้เป็นที่ชื่นชมยินดี มีความนิยมอยู่โดยมาก จึงเป็นพระราชพิธียั่งยืนมาด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ข้าพเจ้าลืมกล่าวถึงการบูชาขอฝนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ลงพิมพ์ไปเสียแล้ว จะแทรกไม่ทัน การบูชาเช่นนี้จะมีมาแต่ครั้งใดก็ไม่ปรากฏ แต่ดูเหมือนจะมีมาช้านาน เป็นของโบราณ จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ได้มีกล่าวถึงว่า “ถ้าฝนไม่ตก ให้เอาคำโองการออกอ่านฝนก็ตก” ดังนี้ คำโองการนี้เห็นจะไม่ใช่เรื่องอื่นเสียแล้ว คงเป็นตำราที่จะว่าต่อไปนี้เอง บางทีจะเกิดขึ้นในแผ่นดินบรมโกศนั้นเองก็จะได้ ด้วยตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมา เรื่องเสกๆ เป่าๆ เชื่ออะไรต่ออะไรยับเยินมีมาก ยิ่งชั้นหลังลงมาดูยิ่งหนักแก่มือขึ้นไป จนเหลวเกือบไม่เป็นชิ้นได้ เหมือนโยคีคนหนึ่งที่จดหมายชื่อไว้ว่าอาตมารามสัญญาศรี เล่าว่าตัวบวชเป็นโยคีแล้วออกเดินป่ามา ได้พบเมืองถึงสองร้อยเศษ เห็นหงส์ กินนร นาค  เมืองหนึ่งไถนาด้วยหนูและจามรี เห็นลิงใหญ่ตาแดงเหมือนแสงไฟ มีบริวารประมาณสักห้าพันเศษ ได้เห็นศาลรามสูรมีขวาน และได้ไปที่สังขเมษาธารมีดอกบัวที่ตูมโตเท่าบาตร ที่บานโตเท่าดุมเกวียน ได้พบฤๅษีกอดต้นไม้บริกรรมอยู่จนเล็บยาวกึ่งตัว บางองค์นกกระจอกก็อาศัยทำรังอยู่ในหนวด ลางองค์นั่งอยู่กับพื้นแผ่นดิน ใบไม้หล่นลงมาจนมิดกาย แล้วยังบอกต่อไปว่ามีอีกมากจะพรรณนาไปก็จะยาว ถ้อยคำที่โยคีแจ้งความนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรที่จะสงสัยเลย เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้พระราชวังเมืองไปซักไซ้ไต่ถาม แกล้งตลบทบทวนหลายอย่าง ก็แจ้งความยั่งยืนไม่ฟั่นเฟือนแฝงแคลง อายุโยคีนั้นกว่าร้อยปี ผมยาวกว่าสี่วา กินแต่ผลไม้เป็นอาหาร กำลังกายสิทธิ์และฌานนั้นแก่กล้านัก โยคีนั้นอยู่ที่วัดนางแมนนอกกรุง คือนอกกำแพงเมือง นี่แลถ้อยคำของขุนหลวงหาวัดคือเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ ที่เป็นกรมพระราชวังแล้วเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงเชื่อถือมั่นคงเช่นนี้ พอจะเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่าในเวลานั้นผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ก็ดี ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยก็ดี ที่อายุมากก็ดี อายุน้อยเช่นขุนหลวงหาวัดนี้ก็ดี จะเชื่อถือและมีความรู้หลักเป็นประการใด ข้าพเจ้าจึงสามารถที่จะประมาณเอาว่า ถ้าตำราขอฝน เช่นจะว่าต่อไปนี้ จะเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบรมโกศเองก็เห็นจะได้ ตำรานั้นเลื้อยเจื้อยเปรอะอย่างยิ่ง ได้ทำการบูชาแทรกในพระราชพิธีอยู่แต่ก่อนนั้น คือในเวลาพระราชพิธีพรุณศาสตร์ บ่าย ๓ โมงพราหมณ์เชิญฤๅษีกไลยโกฏินั่ง ๑ ยืน ๒ มาตั้งที่แท่นกลางแจ้งหน้าหอพระราชพิธีเก่าในพระราชวัง มีเครื่องบูชาธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้จัดลงตระบะเครื่องบูชาเหมือนอย่างบริขารกฐิน แล้วขุนหมื่นพราหมณ์อ่านเทพชุมนุมจบ ๑ เป่าสังข์สองคน อ่านวันละสามจบทุกวัน แล้วตั้งรูปพระฤๅษีนั้นผึ่งแดดตรำฝนไว้ตลอดพระราชพิธี

การที่จะอ่านเทพชุมนุมนี้ มีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อจะสังวัธยายพระมหาเทพชุมนุมนี้ ให้นมัสการเป็นเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งนโมสามจบ แล้วว่าพระไตรสรณคมน์ แล้วจึงว่าคำนมัสการพระศิวลึงค์อีกสามจบ แล้วตั้งอธิษฐานปรารถนาก่อนแล้วจึงอ่าน ในเรื่องเทพชุมนุมนั้น ขึ้นต้นขอนมัสการพระรัตนตรัย และนมัสการคุณพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูป พระสถูป พระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าอีก ๒๘ พระองค์และพระพุทธเจ้าสามพระองค์ และพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พระแก้ว พระบาง พระแก่นจันทน์ พระพุทธสิหิงค์ แล้วต่อไปออกชื่อพระอรหันต์ปนกันเลอะไปกับชื่อพระพุทธเจ้าแต่ก่อนๆ แล้วไปลงนวโลกุตรธรรม ปีติ ๕ กรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ แล้วไหว้พระพุทธบาทอันมีในสถานที่ต่างๆ ทั้งพระจุฬามณี พระเชตวัน พระรัตนบัลลังก์ ภายใต้พระศรีมหาโพธิ พระสารีริกธาตุ พระปัจเจกโพธิ แล้วไหลไปพระสิริสุทโธทน พระสิริมหามายา แล้วไปออกชื่อกษัตริย์โสฬสบางองค์ ซึ่งได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดลงมาจนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แล้วออกชื่อเทวดา พราหมณ์ๆ ทั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมาเป็นต้นอีกมากหลายองค์ จนถึงเทวดานพเคราะห์ และเทวดาที่รู้จักง่ายๆ เช่น นางมณีเมขลาเป็นต้น และภูมิเทวดา และชั้นกามาพจร ๖ พรหมโลกอีก ๑๖ ออกชื่อตลอด เชิญพระอินทร์และมเหสีทั้งครัว ท้าวโลกบาล พระยายมราช นายนิรยบาล โขมดฟ้าผ่า ยักขินี และปู่เจ้าต่างๆ มีสมิงพรายเป็นต้น เทวดาและยักษ์ที่เป็นอารักขเทวดาและเทวดาตีนพระเมรุ เลยไปจนถึงปลาตะเพียนทอง ช้างน้ำ ต้นไม้ประจำทวีป แล้วจึงนมัสการพระฤๅษีที่อยู่ในป่าพระหิมพานต์แปดหมื่นสี่พัน ที่ออกชื่อก็หลายองค์ มีฤๅษีกไลยโกฏิเป็นต้น แล้วเลยไปถึงเพทยาธรกินนรอะไรๆ อย่างยีโอกราฟีของไตรภูมิแล้ว ไปหาสัตว์ซึ่งมีฤทธิ์ คือช้างเอราวัณ ช้างฉัททันต์ อุโบสถ อัฐทิศ ราชสีห์ แล้วไปจับเรื่องจักรพรรดิ และเจ้าแผ่นดินในเรื่องนิทานรามเกียรติ์ อุณรุท เช่นท้าวทศรถ บรมจักรกฤษณ เป็นต้น จนถึงท้าวพระยาวานรและยักษ์ เช่นสัทธาสูร มูลพะลำ นกสำพาที มีชื่อตามแต่จะนึกได้ หมดชื่อเหล่านี้แล้วจึงต่อว่าเทวดา ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพาน ได้ฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เทวดาประจำทวีปทั้งสี่ มีพระอินทร์เป็นต้น ได้รับปฏิญาณว่าจะช่วยค้ำชูพระศาสนาพระสัพพัญญูถ้วนห้าพันพระวัสสา บัดนี้มีเข็ญร้อนทุกเส้นหญ้าทั่วทุกสรรพสัตว์ ขัดฟ้าฝนไม่ตกลงมาตามฤดูบุราณราชประเพณี มีวิบัติต่างๆ ผิดอย่างบุราณราช ผิดพระพุทธโอวาทให้เคืองใต้ฝ่าพระบาทพระบรเมศวรบรมนาถ บัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงใช้ให้ข้าพเจ้ามาทำพิธี ร่ายพระมนต์มหาจินดา ต่อนั้นไปบ่นพึมพำ ถึงพระมหาบุรุษลักษณ พระไตรสรณคมน์ เมตตาพรหมวิหาร ไตรลักษณญาณ และอะไรต่างๆ ขอให้กำจัดวิบัติราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย จัญไรทั้งปวง แล้วเชิญพระกรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ ลงอยู่ในศีรษะ ท้าวมหาพรหมอยู่หน้าผาก พระอินทร์อยู่แขนซ้าย พระนารายณ์อยู่แขนขวา แม่น้ำพระคงคามารองดวงใจ แล้วซ้ำเอาพระเสาร์มาไว้ข้างซ้าย เอาพระนารายณ์มาไว้ข้างขวา แล้วเอาพระอังคารไปไว้ข้างซ้าย เอาพระอาทิตย์มาไว้เป็นตัว เอาพระอิศวรมาไว้ในดวงใจ ทำการสิ่งใดให้สำเร็จดังปรารถนา แล้วขอคุณพระมหากษัตริย์และเทวดาให้มาประสิทธิ์ ลงท้ายกลายเป็นคาถาไม่เป็นภาษาคนสองสามคำแล้ว ก็จบผุบลงไปเฉยๆ อยู่ข้างจะเร่อร่าเป็นของคนเถนๆ อะไรแต่งขึ้นเรื่องเดียวกับสรรเสริญจระเข้ หรือปัดพิษติดแสลง แต่เล่าย่อๆ มานี้ก็ดูบ้าพอใช้อยู่แล้วขอยุติเสียที แต่การบูชาเช่นนี้เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมาเสียนานแล้ว นับว่าเป็นตำราสูญ

คำตักเตือน
การพิธีฝนอย่างน้อย มหาดเล็กต้องคอยรับเทียนนมัสการประจำวัน และเทียนพานตามเคยไปถวายที่เกยบนหอพระ ภูษามาลาคอยถวายพระสุหร่ายและแป้งทรงเจิม สนมคอยถวายเทียนชนวนตระบะมุกในหอพระ มหาดเล็กต้องถวายเทียนพานด้วยอีกครั้งหนึ่ง

พระราชพิธีใหญ่ ภูษามาลาจงอย่าได้ลืมเทียนทองสำหรับจุดเทียนชัย แต่ก่อนเคยขาดมามีตัวอย่าง มหาดเล็กอย่าลืมโคมไฟฟ้า แล้วให้คอยถวายเทียนพาน ภูษามาลาถวายพระสุหร่ายและทรงเจิม เสด็จขึ้นหอพระ หน้าที่มหาดเล็กภูษามาลาสนม เหมือนพระราชพิธีน้อย แล้วให้มหาดเล็กคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอ และถือพานเทียนตามไปจุดเครื่องนมัสการเทวรูปที่พลับพลาน้อยด้วยทุกวัน

อนึ่ง ในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินพลับพลาท้องสนามหลวงทุกวัน มีพานเทียนสำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมหาดเล็กเคยถวายด้วย ๚

-------------------------------------------------------------------------------------
[] พระสุเมธาจารย์ ศรี วัดชนะสงคราม
[] พระคุณวงศ์ สน วัดปรมัยยิกาวาส


เดือนเก้า
การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต

๏ การพระราชกุศลอย่างนี้ มีกำหนดตามวัน ซึ่งตรงกับวันประสูติและสวรรคต ของพระบรมอัฐิแลพระอัฐินั้นๆ รายไปตามเดือนวันต่างๆ กัน แต่ข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวตามรายเดือนที่ได้บำเพ็ญพระราชกุศลนั้นไม่ ครั้นเมื่อนึกขึ้นได้แล้ว ก็คิดเห็นว่าการพระราชกุศลนั้นเป็นแบบเดียวกันทุกครั้ง เป็นแต่ต่างวันกันไปเท่านั้น ควรจะรวมว่าในที่แห่งเดียว เหมือนอย่างเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรได้ จึงได้รอไว้จนเดือนเก้า ซึ่งเป็นเดือนสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับว่าเป็นที่หนึ่งและเป็นเดือนที่มีการน้อยพอจะแทรกแซงได้

การพระราชกุศลเรื่องนี้ พึ่งเกิดมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การที่ทำนั้นเป็นการข้างใน คือเชิญพระบรมอัฐิไม่ต้องมีประโคมกลองชนะ ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นแต่การเงียบๆ จึงได้ทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตรงหอพระอัฐิลงมา เหมือนทำในหอพระอัฐิเอง การที่จัดนั้น พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำมีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับ ๑ ถ้ามีพระอัฐิ ใช้พานทองสองชั้นใหญ่รอง ตั้งบนโต๊ะจีน ม้านมัสการทองน้อยอีกสำรับ ๑ โยงพระภูษาเส้นหยาบ ให้เนื่องกันกับพระบรมอัฐิ พระภูษาโยงใหญ่รองพานมหากฐินมีแต่เฉพาะที่พระบรมอัฐิ ตั้งโต๊ะหมู่ที่ผนังด้านหุ้มกลองตรงรูปพระเทวกรรม์ ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ แลพระอัฐิ พระสงฆ์ซึ่งใช้ในการพระราชกุศลนี้มีกำหนดพระบรมอัฐิ ๑๐ รูป พระอัฐิ ๕ รูป แต่ถ้าพระอัฐิแยกออกต่างหาก ใช้ ๑๐ รูป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามสมัยรัชกาลอยู่ดังนี้

คือเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำวันประสูติคราว ๑ วันสวรรคตคราว ๑ พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรๆ ๑ ผ้าขาว ๙ พับ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มารวมพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระสงฆ์คราวละ ๕ รูป ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำทั้งวันประสูติและวันสวรรคต พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเลี้ยงพระสวดมนต์มีเทศนาแต่วันประสูติ วันสวรรคตสดับปกรณ์พร้อมด้วยกาลานุกาล พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีแต่คราวที่พร้อมกับวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ ๕ รูป ผ้าไตร ๆ ๑ ผ้าขาว ๔ พับ

กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทำตามวันประสูติและวันสวรรคตของท่าน ไม่ได้รวมในการพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ใช้พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร แปลกแต่ที่ตั้งพระอัฐิใช้โต๊ะจีน พระอัฐิรองพานสองชั้นใหญ่ มีเครื่องอุปโภคบริโภคตั้งสองข้าง พระภูษาโยงใหญ่ใช้พานมหากฐิน เครื่องนมัสการใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น มีเครื่องทองน้อยสำรับ ๑

แต่ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ยกไปทำพร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ พระอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์

เพิ่มการพระราชกุศลวันประสูติ และวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ขึ้นใหม่ แต่วันประสูติและวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ้องกับการพระราชกุศลออกพรรษา การออกพรรษาแต่ก่อนเคยเลี้ยงพระสงฆ์อยู่วันละ ๒๐ รูป ทั้ง ๒ วันแล้ว พระสงฆ์ที่ทำบุญในการพระบรมอัฐิจะลดลงเป็น ๑๐ รูป ตามแบบเดิมก็ไม่ควร จึงได้คงเป็นวันละ ๒๐ รูป ผ้าไตรเป็นวันละ ๒๐ ไตร เชิญพระบรมอัฐิออกตั้งสดับปกรณ์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นที่เลี้ยงพระในการออกพรรษาอยู่เดิมนั้น จึงต้องกลายเป็นมีประโคมแตรสังข์มโหระทึกกลองชนะ เป็นการนอกพระราชวังแปลกไปงานหนึ่ง แต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ คงใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น

ในการทำบุญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิทั้งปวงนี้ มีสดับปกรณ์ ๒๐๐ รูป ในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว เวลาค่ำสวดมนต์จบมีเทศนากัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์ ผ้าจีวรเนื้อดีผืน ๑ ธูป ๑๐๐ เทียน ๑๐๐ หมากพลู และสิ่งของเครื่องบริโภคต่างๆ เงินติดเทียน ๓ ตำลึงเหมือนกันทุกครั้ง เว้นไว้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ เคยมีเทศนาวิเศษ เครื่องกัณฑ์ไตรแพรบริขารกฐิน เงินติดเทียน ๑๐ ตำลึงอยู่แล้ว จึงได้คงไว้ตามเดิม

การที่ทำนั้นเวลาเช้าเลี้ยงพระสงฆ์ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ไม่โปรดในการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงถวายสำรับเป็นสังฆทาน พระสงฆ์รับสาธุและอปโลกน์แล้ว จึงทรงประเคน ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาทุกรัชกาลแต่ก่อนๆ ด้วยทรงเห็นว่าของที่พระสงฆ์ฉันไม่หมด เหลือไปให้ลูกศิษย์กินเป็นกินของสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่รับและผู้ที่ให้นั้นต้องอาบัติจึงได้ทรงเลิกเสีย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบลงก็ทรงประเคนทีเดียว เป็นส่วนบุคลิก แต่ในการทำบุญพระอัฐิเช่นนี้ เคยทรงเป็นการพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีคนโทกรอกน้ำถ้วยครอบทรงถือลงมาด้วย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าไตรผ้าขาวพับ พระสงฆ์กลับไปนั่งที่เรียบร้อยแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ต้นแถว ทรงรินน้ำลงในถ้วยแก้ว แล้วรับสั่งด้วยภาษามคธ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่ากระไรแลไม่สนใจจะฟังด้วย เห็นแต่เมื่อจบลงแล้วทรงประเคนถ้วยน้ำนั้น พระสงฆ์รับไปลูบหน้าบ้าง รินลงในขันน้ำบ้าง ส่งต่อๆ กันไปจนตลอดแถวแล้วจึงได้ทรงประเคน แต่มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย เป็นแต่ประเคนสำรับตามธรรมเนียม เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วในชั้นหลังๆ ทรงชักเงินที่สำหรับแจกเจ้านายและเจ้าพนักงาน ออกพระราชทานให้สังฆการีถวายพระสงฆ์องค์ที่มาฉันองค์ละสลึง ก็เลยเป็นตำราชาวคลังจัดมาพอครบองค์ละสลึงต่างหาก พระที่ฉันกลับไปแล้วจึงได้สดับปกรณ์รายร้อย มีสวดมาติกาถวายยถาอีกครั้งหนึ่ง พระราชทานเงินสดับปกรณ์รายร้อยสำหรับพระสงฆ์รูปละเฟื้องให้สังฆการี แล้วพระราชทานแจกพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เนื่องในพระวงศ์เสมอองค์ละสลึง เหลือนั้นพระราชทานให้เจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้บังคับเจ้าพนักงานบางกรม มีกรมหมื่นอุดมรัตนราศี ซึ่งบังคับกรมสังฆการีเป็นต้น ให้แจกเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำบุญนั้นทั่วทุกกรม เป็นเสร็จการในเวลาเช้า ครั้นเวลาค่ำพระสงฆ์ที่ฉันเวลาเช้านั้น มาสวดมนต์อีกเวลาหนึ่ง ไม่ได้ทรงศีล สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้วมาติกา ต่อภายหลังมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อหนังสือสวดมนต์ปีมะโรงโทศกออกแล้ว วันประสูติจึงได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร วันสวรรคตสวดอนัตตลักขณสูตร เมื่อสวดมนต์จบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าเช็ดปาก ธูปเทียน และทรงประเคนหมากพลู ใบชา แล้วพระสงฆ์ที่เทศนาเข้ามานั่งเข้าแถวพระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น เวลาที่พระเทศน์เข้ามา รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอไปเชิญเสด็จเจ้านายข้างในขึ้นไปทรงธรรมที่ชานพัก มีโต๊ะดอกไม้ธูปเทียนเครื่องนมัสการด้วยทุกองค์ เวลาเทศน์จบสดับปกรณ์ผ้าจีวรของหลวงแล้ว เจ้านายฝ่ายในถวายผ้าสบง หมากพลู ธูปเทียนองค์ละสำรับ การที่ถวายของพระในปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ แต่เครื่องนมัสการนั้น เจ้านายชั้นหลังท่านจะทรงเห็นเร่อร่ารุงรังอย่างไร ดูเลิกหายไปเงียบๆ ไม่มีเหตุการณ์อันใด พระสงฆ์ที่สวดมนต์รับสัพพีอติเรกถวายพระพรลากลับพร้อมกันกับพระเทศน์ เสร็จการในเวลาค่ำ

แต่การทำบุญพระอัฐิในชั้นหลัง ตั้งแต่พระพุทธมนเทียรแล้วเสร็จ ย้ายไปทำที่พระพุทธมนเทียรมุขเหนือ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเรื่องที่ทรงพระราชดำริจะให้พระพุทธมนเทียรไม่เป็นที่ร้างเปล่า และจะให้เป็นที่เก็บแว่นฟ้าและบุษบกทองคำ ไม่ต้องให้ยกไปยกมาซึ่งเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมมากนั้น การพระราชกุศลทั้งปวงก็คงอยู่ตามเดิม เป็นแต่เปลี่ยนที่เท่านั้น

กำหนดวันทำบุญพระบรมอัฐิ และรายวัดพระสงฆ์ซึ่งใช้ประจำอยู่ในการพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก วันประสูติเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพน วันสวรรคตเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนบ้าง วัดสระเกศบ้าง กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระสงฆ์วัดรัชฎาธิษฐาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันประสูติเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ วันสวรรคตเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ถ้าเป็นอธิกมาศใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ พระสงฆ์วัดอรุณราชวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระสงฆ์วัดเขมาภิรตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ พระสงฆ์วัดราชโอรส สวรรคตเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ พระสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสงฆ์วัดหนัง กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ประสูติเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ถ้าเป็นปีอธิกมาศก็ใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ สวรรคตเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาสทั้งสองคราว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น วันประสูติและวันสวรรคตติดกันอยู่ คือประสูติเดือน ๑๑ขึ้น ๑๔ ค่ำ สวรรคตเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จำนวนพระสงฆ์ก็มากถึง ๔๐ รูป และพระสงฆ์ที่เคยฉันในการออกพรรษาแต่ก่อนก็เคยใช้พระราชาคณะวัดต่างๆ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ จึงได้ทรงเปิดวันประสูติให้เป็นพระสงฆ์วัดต่างๆ แต่เลือกวัดที่ได้ทรงสถาปนาบ้าง ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง คือวัดโมฬีโลก วัดมหาพฤฒาราม วัดชัยพฤกษ์มาลา เป็นต้น ต่อวันสวรรคตจึงได้ใช้วัดราชประดิษฐ์ทั้งวัด พระสงฆ์ที่ถวายเทศน์ ก็อยู่ข้างจะเกือบประจำตัว เป็นพระสงฆ์ในวัดที่ทรงสร้างบ้าง เป็นหลานเธอในรัชกาลนั้นบ้าง

คำตักเตือนในการพระราชกุศลเรื่องนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะต้องเตือนเรื่องตั้งเครื่องนมัสการ แต่ในปัจจุบันนี้ตั้งเครื่องนมัสการเสียเสร็จแล้วก็ไม่ต้องมีอะไรเตือน ยังมีอยู่อย่างเดียวแต่ถ้าพระอัฐิออกพร้อมกับพระบรมอัฐิ เครื่องทองน้อยที่ตั้งอยู่บนโต๊ะจีนหน้าพระอัฐิ แปลว่าสำหรับเจ้าแผ่นดินนมัสการพระอัฐิ มิใช่สำหรับพระอัฐิทรงธรรม ซึ่งควรจะจุดในเวลาทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงธรรม เครื่องทองน้อยหน้าพระอัฐิเช่นนี้ ต้องทรงจุดก่อนหน้าพระสงฆ์ฉันหรือเวลาสวดมนต์ มหาดเล็กต้องคอยถวายเทียนชนวน มีเรื่องที่จะเตือนอยู่อย่างเดียวเท่านี้ ๚
   

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 15:54:00 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #35 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 15:56:40 »



พระราชพิธีเดือน ๑๐
• การพระราชกุศลกาลานุกาล  
• การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง
• การเฉลิมพระชนมพรรษา
-----------------------------------

๏ ในกฎมนเทียรบาล รายบัญชีย่อ บอกแต่ว่าภัทรบทพิธีสารท แต่ในรายละเอียด มีความชัดออกไปว่าเดือน ๑๐ การพิธีภัทรบท ทอดเชือกดามเชือก ถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ถือน้ำพระพิพัฒน์ เมื่อดูในคำให้การขุนหลวงหาวัด บอกชื่อชัดออกไปอีกนิดหนึ่งว่า “เดือน ๑๐ ชื่อพิธีภัทรบท” แล้วก็เลยต่อความว่า “ฉลองนาคหลวง” แล้วจึงรำขอและรำทอดเชือกดามเชือก สนานช้างต้นม้าต้น เมื่อได้ทราบความเท่าที่จดหมายไว้ในหนังสือสองแห่งนี้ ต้องเข้าใจว่า พิธีชื่อภัทรบทสำหรับทำในเดือน ๑๐ ก็คือพิธีสารทนั้นเอง เมื่อถามพราหมณ์ทุกวันนี้ก็ได้ความตามจดหมายย่อ ว่าเดือน ๑๐ พระราชพิธีมัทเยนักษัตเตรสาตตรำ แปลไว้ว่าสารทกลางปี สงฆ์พราหมณ์ร่วมกัน เมื่อไล่เลียงดูว่า การพิธีที่ทำนั้น คือพิธีสารทหรือมีอย่างอื่นอีก ก็ได้ความว่าพิธีสารทนั้นเอง จึงเกือบจะตกลงใจแน่ว่า พิธีภัทรบท เป็นพิธีสารท พิธีการหลวง เช่นทำอยู่ทุกวันนี้เอง

แต่ที่แท้ไม่ใช่เช่นนั้นเลย เป็นคนละพิธีทีเดียว พราหมณ์เดี๋ยวนี้ตื้นแน่ ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือนพมาศ ได้ความชัดว่า พิธีภัทรบทเป็นพิธีของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสน์ แต่เป็นเครื่องนำหน้าพิธีสารท พิธีเดือน ๑๐ คงเป็นอันที่พราหมณ์ทำส่วนของพราหมณ์เอง ในกลางเดือนพิธีหนึ่ง เพื่อจะเป็นการชำระบาปของตัว ให้บริสุทธิ์ไว้ทำการพระราชพิธีสารทซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก คือพิธีกลางเดือนนั้นเรียกว่าพิธีภัทรบท พิธีหลังคือพิธีปลายเดือนนั้น เรียกว่าพิธีสารท

การพิธีกลางเดือน พิเคราะห์ดูคล้ายกันกับพิธีศิวาราตรี ที่เป็นพิธีของพราหมณ์ทำเอง ทำนองเดียวกันกับมหาปวารณา ไม่มีเงินทักขิณบูชา และเครื่องสักการะต่างๆ ของหลวงจ่ายเหมือนอย่างการพระราชพิธีซึ่งทำเป็นของหลวงทั้งปวง เมื่อพราหมณ์ประพฤติศาสนาของตัวเสื่อมคลายลง จนไปตรงกับคำนุ่งคำกู การพิธีซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีใครบังคับให้ทำจึงได้ละเลยเสีย ไม่ทำทั้งพิธีศิวาราตรีและพิธีภัทรบท พิธีศิวาราตรีก็พึ่งมากลับมีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นตัวอย่าง

จะป่วยกล่าวไปไยในพิธีพราหมณ์ ซึ่งหลวมโพรกมาแต่เดิมแล้ว แต่การทำอุโบสถเดือนละสองครั้ง มหาปวารณาปีละครั้งของพระสงฆ์ แต่ก่อนก็ไม่ได้ทำมากกว่าทำ พึ่งจะมาเข้มงวดกันขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นพระราชธุระตรวจตรา จนมีชื่อวัดว่าเป็นวัดปวารณาเดิม ปวารณาตาม เป็นพยานอยู่จนเดี๋ยวนี้ ก็เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการที่ทำอุโบสถและปวารณาไม่มีผลประโยชน์อันใด และไม่มีผู้ใดตรวจตราบังคับบัญชาให้ทำการสวดปาติโมกข์ทำอุโบสถ จึงต้องมีเครื่องล่อคือกระจาดและผ้าไตร ก็มีสวดปาติโมกข์มากขึ้น แต่ปวารณายังไม่มีอะไร ก็เงียบอยู่จนถึงเลิกกระจาดปาติโมกข์วันมหาปวารณามาเฉลี่ยแจก และตรวจตรากันเข้มงวดขึ้น จึงได้มีพระปวารณา

ชักตัวอย่างมาว่านี้ เพื่อจะให้เห็นว่า การพิธีที่เป็นส่วนของผู้ถือศาสนาทำเอง เมื่อความศรัทธาเสื่อมคลายลง ก็ทำให้ย่อๆ ลงไปจนเลยหายไปได้ เช่นพิธีศิวาราตรี พิธีภัทรบท แต่พิธีศิวาราตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเกณฑ์ให้ทำขึ้นใหม่ได้ พิธีภัทรบทอย่างไรจึงไม่ทรงให้ทำก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าเดือนที่ทำพิธีศิวาราตรีเป็นเดือนว่างพิธีอื่น แต่ในเดือน ๑๐ นี้มีพิธีสารทอยู่แล้ว ปล่อยให้รวมกันเสียทีหนึ่งอย่างไรไม่ทราบ แต่ถ้าจะเถียงว่า ถ้าพิธีภัทรบทมีจริงดังว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามิโปรดให้ทำเสียเหมือนพิธีศิวาราตรีแล้วหรือ การที่ว่ามีพิธีต่างหาก จะเป็นข้าพเจ้าเดามากเกินแล้ว ข้าพเจ้าจะขออ้างพยาน ยกหนังสือซึ่งนางนพมาศได้แต่งไว้ มากล่าวให้พิจารณาดูในที่นี้ ในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นเดือน ๑๐ ถึงการพระราชพิธีภัทรบท เป็นนักขัตฤกษ์มหาชนทำมธุปายาสทานและจะเด็ดดวงข้าวสาลี เป็นปฐมเก็บเกี่ยว ชีพ่อพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไพสพ ตั้งปัญจสาครเต็มด้วยน้ำในพระเทวสถาน อบรมน้ำด้วยเครื่องสุคันธชาติและบุปผชาติให้มีกลิ่นหอมเป็นอันดีแล้ว จึงเชิญพระเทวรูป ๑๖ ปาง ลงโสรจสรง อ่านพระเวทเผยศิวาลัย เพื่อจะให้บำบัดอุปัทวจัญไรภัยพยาธิทุกข์โทษต่างๆ อันว่าหมู่พราหมณ์บรรดาซึ่งได้เล่าเรียนไตรเพท ย่อมถือลัทธิว่าเดือน ๑๐ เป็นปฐมคัพภสาลี มหาชนเก็บเกี่ยวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา อันเมล็ดรวงข้าวนี้เป็นปางพระไพสพ แม้นชาติพราหมณ์ผู้ใดยังมิได้ลอยบาปจะพึงบริโภคมธุปายาสและยาคู อันบุคคลกระทำด้วยปฐมคัพภชาติสาลี ก็บังเกิดทุกข์โทษอุปัทวจัญไรแก่ตน ทั้งปราศจากความสวัสดิมงคลแก่นรชาติทั้งหลาย เหตุดังนั้นพราหมณาจารย์ผู้รู้เพทางคศาสตร์ จึงกระทำพิธีภัทรบททลอยบาป” ความว่าด้วยพิธีภัทรบทยกมูลเหตุชัดเจน ว่าเป็นพิธีลอยบาป เพื่อจะรับมธุปายาสและยาคูคัพภสาลีชัดเจนดังนี้ แต่ถึงว่านางนพมาศไม่กล่าวถึงพิธีภัทรบทชัดกว่าตำราอื่นๆ เพราะไปว่าถึงพิธีสารทปนเข้าเสียในระหว่างกลางๆ คือไปกล่าวถึงการกุศลซึ่งคนทั้งปวงทำมธุปายาสและยาคูถวายพระสงฆ์ ด้วยอ้างว่าเป็นการพุทธศาสน์และไสยศาสตร์เจือกัน ข้อซึ่งนางนพมาศมิได้แยกออกเป็นสองพิธีให้ชัดเจน ก็ควรจะเห็นได้ว่าหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะแยกออกเป็นพิธีๆ ว่าเดือนหนึ่งมีกี่พิธี ดังเช่นข้าพเจ้าแต่งนี้ประสงค์เอาแต่รายเดือนเป็นที่ตั้ง เกือบจะเลือกว่าเดือนหนึ่งจะว่าถึงพิธีหนึ่ง จนครบสิบสองเดือน คงเป็นอย่างเช่นตั้งใจจะทำเช่นเรียกว่าทวาทศมาสแท้ ความซึ่งข้าพเจ้าจะคัดมาชี้ให้เห็นเดี๋ยวนี้ ประสงค์แต่จะให้เข้าใจชัด ว่าพิธีภัทรบทกับพิธีสารทต่างกันเป็นสองพิธี จึงจะขอข้ามความที่นางนพมาศกล่าว ต่อที่ได้ยกมาว่าแล้ว ไปเก็บความแต่ที่จะต้องการขึ้นว่าให้เห็นชัดเจนได้ ดังความที่จะว่าต่อไปนี้ “ครั้นถึงวันขึ้น ๑๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ หมู่พราหมณาจารย์ผู้ซึ่งจะลอยบาป คือพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้เป็นต้น ต่างถือสังข์บ้างกลดสำริดบ้าง มายังพระเทวสถาน บูชาพระเป็นเจ้าแล้ว จึงเชิญปัญจมหานทีในขันสาคร ซึ่งสมมติว่าเป็นน้ำล้างบาปใส่สังข์ใส่กลดแล้ว ก็นำลงไปยังท่าน้ำพร้อมด้วยบริวารยศ แหงนหน้าดูดวงพระอาทิตย์อันส่องแสง แม้นเห็นบริสุทธิ์ปราศจากเมฆหมอก จึงเอาเป็นฤกษ์ต้องที่จะล้างลอยบาป บางคนก็กระทำในเวลาราตรี เอาบริสุทธิ์แห่งดวงพระจันทร์เป็นฤกษ์ พราหมณ์ทั้งหลายนั่งห้อยเท้าเหยียบสายน้ำไหล อ่านอิศวรอาคมสิ้นวาระสามคาบ จึงรินวารีในสังข์ในกลดลงในลำคงคา แล้วจุ่มกายสยายมวยผม อาบน้ำดำเกล้าชำระขัดสีกรัชกายให้ปราศจากเหงื่อไคลบริสุทธิ์สบายกายสบายจิตเป็นอันดีแล้ว จึงขึ้นนั่งยังฝั่งน้ำผลัดอุทกสาฎกทั้งนุ่งทั้งห่มออกจากกาย วางเหนือแพหยวกบ้าง วางเหนือเฟือยสวะบ้าง ขอนไม้บ้าง ให้ลอยตามกระแสน้ำไหล ซ้ำร่ายพระเวทลอยบาปบอกบริสุทธิ์ต่อพระคงคา แล้วกลับคืนยังเคหะฐานแห่งตนและตน” ต่อนี้ไป เริ่มความว่าพิธีลอยบาปนี้ลอยได้แต่สามวัน วันต้นพราหมณ์ที่เป็นมหาศาลตระกูลลอยไปหมดฉบับอยู่เสียเพียงเท่านี้ ไม่ทราบว่าจะมีความอย่างไรต่อไป แต่ในความที่ค้างอยู่นี้ คงจะกล่าวว่าวันที่ ๒ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย ที่ ๓ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย แต่ถึงความขาดเช่นนี้ แต่พอได้ความสันนิษฐานในเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวว่าพิธีภัทรบทต่างกันกับพิธีสารทอยู่แล้ว

แต่ข้อซึ่งข้าพเจ้าได้ยกพิธีศิวาราตรี และพิธีภัทรบทขึ้นเป็นคู่กัน กล่าวโทษพราหมณ์ว่าละเลยการในศาสนาของตัว เพราะไม่มีผลประโยชน์นั้นตัดสินเอาเป็นเด็ดขาดทีเดียวเช่นว่า ก็อยู่ข้างจะแรงเกินไปหน่อย ด้วยทำนองการพิธีของพราหมณ์ครั้งกรุงสุโขทัย และพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าอยู่ข้างจะต่างแตกกันหลายอย่าง หรือบางทีพวกสุโขทัยเขาจะทำในเดือน ๑๐ พวกกรุงเก่าจะทำเดือน ๓ เพราะเป็นคนอาจารย์ อย่างไรไม่ทราบเลย แต่สังเกตดูลักษณะที่ทำเป็นคนละอย่าง ข้างพิธีศิวาราตรี ใช้น้ำสรงพระศิวลึงค์ชำระบาป ข้างพิธีภัทรบทใช้น้ำสรงเทวรูป ๑๖ ปางเป็นน้ำล้างบาป บางทีก็จะทั้งสองอย่างได้ เช่นได้กล่าวโทษจริงบ้างดอกกระมัง แต่มีข้อเถียงอยู่อีกอย่างหนึ่ง ว่าถ้าพราหมณ์จำจะต้องลอยบาปสองครั้งเช่นนั้น พราหมณ์สุโขทัยไม่ได้ทำพิธีศิวาราตรี จะมิเป็นอันละการลอยบาปเสียครั้งหนึ่งหรือ ถ้าจะแก้แทนพราหมณ์สุโขทัย จะต้องกล่าวว่าให้พิเคราะห์ดูหนังสือนางนพมาศแต่ง ไม่ได้ตั้งใจจะนับรายชื่อพิธี เช่นได้กล่าวมาเมื่อตะกี้นี้ ในเดือนสามนั้นมีพิธีธานยเทาะห์ ที่ได้กล่าวไว้สนุกสนานแล้ว พิธีศิวาราตรีเป็นแต่พิธีของพราหมณ์เล็กน้อย อีกประการหนึ่ง นางนพมาศเป็นผู้หญิงมีมรรยาทอันเรียบร้อยระวังถ้อยคำที่จะกล่าว ข้อความอันใดที่ไม่เป็นการสมควรที่ผู้หญิงจะกล่าวถึง ก็ไม่กล่าวถึง ละทิ้งเสียเหมือนอย่างพิธีพรุณศาสตร์ ก็คงมีปั้นเมฆเหมือนกัน แต่หลีกเสียไม่กล่าวถึงปั้นเมฆเลย ถึงว่าพระศิวลึงค์จะเป็นของนับถือของพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ไม่เป็นที่รังเกียจว่าหยาบคายอันใด แต่นางนพมาศเป็นพราหมณ์เมืองไทย ซึ่งพื้นบ้านพื้นเมืองถือกันว่าเป็นการหยาบ จึงละเสียไม่กล่าวถึงพิธีศิวาราตรี ทางแก้มีอยู่เช่นนี้ การถุ้งเถียงกันนี้ต้องยกไว้ จะกล่าวแต่ความมุ่งหมายของหนังสือที่จะแต่งไปบัดนี้ว่า ในเดือน ๑๐ นี้ มีพิธีอย่างหนึ่งแต่เห็นจะเป็นพิธีเปล่า มิใช่พระราชพิธี ที่เรียกว่าภัทรบททำในกลางเดือน ซึ่งมีชื่ออยู่ในตำราจดหมายเรื่องพิธีต่างๆ ชื่อต้องกันเป็นอย่างเดียวทุกฉบับได้ทำในกลางเดือน แต่เป็นพิธีสูญซึ่งมิได้ทำอยู่ในบัดนี้อย่างหนึ่ง

การที่จะต้องกล่าวในเดือน ๑๐ มีการพระราชกุศลซึ่งเกิดขึ้นใหม่ คือตักบาตรน้ำผึ้งและการเฉลิมพระชนมพรรษา การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นของเกิดขึ้นใหม่และกร่อยๆ อยู่ การเฉลิมพระชนมพรรษาก็เลื่อนไปเลื่อนมา ถ้าจะกล่าวตามลำดับการพระราชกุศลสองอย่างนี้ ก็คงจะถึงกำหนดก่อนพระราชพิธีสารทโดยมากแต่เป็นส่วนที่เป็นพระราชกุศล มิใช่เป็นการพระราชพิธีประจำพระนคร เรื่องที่กล่าวถึงเดี๋ยวนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี เพราะฉะนั้นดูเหมือนจำเป็นที่จะต้องกล่าวการพระราชพิธี ซึ่งเป็นการประจำพระนครมีมาแต่โบราณก่อน บัดนี้จึงจะได้กล่าวด้วยการพระราชพิธีสารท ซึ่งอยู่ข้างจะนับว่าเป็นการเนื่องกับพิธีภัทรบท ซึ่งได้กล่าวแล้วนั้นต่อไปเป็นลำดับ

สารทซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไป ว่าเป็นสมัยที่จะได้ทำบุญ เมื่อ ปี เดือน วัน คืน ล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่าเราถือเอากำหนดพระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับขึ้นมาเหนือถึงกึ่งกลางเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้มาถึงกึ่งกลางก็เป็นอันพอบรรจบกึ่งปี ซึ่งไม่ทำการพระราชกุศลในกลางเดือนเหมือนการอื่นๆ เช่นลอยประทีปเป็นต้น ก็เพราะกำหนดที่จะถึงหกเดือนไปอยู่ในปลายเดือน ๑๐ ต้นเดือน ๑๑ เหมือนกับปีใหม่ก็อยู่ในปลายเดือน ๔ ต้นเดือน ๕ ฉะนั้น

อนึ่ง เมื่อถึงกึ่งกลางปีแล้ว ก็เป็นกำหนดที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกครั้ง ๑ ควรจะถือในวันเดือน ๑๐ สิ้นเดือน หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ แต่เพราะเหตุที่เปลี่ยนแปลงกำหนดไปดังได้กล่าวแล้วในการถือน้ำเดือน ๕ การถือน้ำเดือน ๑๐ คือถือน้ำสารทจึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ก่อนพระราชพิธีสารท เพราะฉะนี้คเชนทรัศวสนานกลางปีนี้ จึงต้องแยกห่างกันไปกับพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ไม่ติดต่อกันเหมือนเดือน ๕ ทั้งที่ขึ้นชื่อนับว่าเป็นพิธีเนื่องกันอยู่ฉะนั้น การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานทอดเชือกดามเชือกได้เริ่มในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์ทอดเชือก วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ดามเชือกและเดินสนาน การพระราชพิธีถือน้ำเดือน ๑๐ และคเชนทรัศวสนาน ทอดเชือกดามเชือก เดือน ๑๑ นี้ ได้กล่าวรวมไว้แล้วในถือน้ำ และคเชนทรัศวสนานเดือน ๕ จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในเดือน ๑๐ นี้ การที่แปลกกันในพิธีต่อพิธีถือน้ำแปลกแต่ไม่ได้ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา และไม่มีพยุหยาตราเลย ตั้งสวดในวันแรม ๑๒ ค่ำ คเชนทรัศวสนานช้างพระที่นั่งผูกเครื่องแถบกลมสำหรับฝน แต่โบราณมาในการเดินสนานเดือน ๑๐ นี้ ถ้าเดือน ๕ มีสนานใหญ่ เดือน ๑๐ ก็เป็นอันเลิกไม่มี จะมีก็แต่ครั้งกรุงสุโขทัย และคเชนทรัศวสนานอย่างน้อยตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาเท่านั้น

บัดนี้จะกล่าวด้วยพระราชพิธีสารท การพิธีสารทนี้เป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ การที่กวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์ก็ดี ทำยาคูด้วยข้าวใหม่ซึ่งออกรวงเป็นน้ำนมก็ดี ก็เป็นลัทธิของพราหมณ์หรือของประเทศซึ่งนับถือพราหมณ์ทำเลี้ยงพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้นมาก่อนมีพระพุทธศาสนาช้านาน คำถือคนจำพวกที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งในหนังสือต่างๆ เรียกควงคู่กันอยู่กับสมณะเช่นกล่าวว่า “เป็นที่ร้อนอกสมณะพราหมณาจารย์” เป็นต้นเช่นนี้ ต้องเข้าใจว่าพราหมณ์กันพระนั้นเสมอกัน แต่เมื่อมาพิเคราะห์ดูพราหมณ์ทุกวันนี้ และสังเกตความนับถือของไทยเราทุกวันนี้ พราหมณ์เลวกว่าพระมากหลายเท่า ไม่น่าจะควงติดเป็นคู่กันเลย จนมีผู้แก้คำที่ใช้ว่าสมณะพราหมณาจารย์ เป็นสมณาจารย์เสียเปล่าๆ เช่นนี้ก็มี การซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะเราเห็นว่าพราหมณ์นั้นไม่ผิดกับคนๆ ธรรมดาเลย เวลาจะไปไหนหรืออยู่บ้านเรือน ไม่ได้เข้าวังหรือไปในการมงคล ก็นุ่งผ้าสีต่างๆ อย่างคนเราธรรมดา แปลกแต่ไว้ผมยาวเกล้ามวยที่ท้ายทอย การที่เป็นเช่นนี้เพราะความเรียวของพราหมณ์ ซึ่งมาอยู่ในประเทศอื่นไม่มีตระกูลพราหมณ์มาก ก็เสื่อมทรามลงไป ตระกูลก็เจือปนกับคนในพื้นเมือง ความประพฤติก็หันเหียนไปตามคนในพื้นเมือง ก็อย่างเดียวกันกับพวกแขกเจ้าเซ็น หรือพวกฝรั่งโปรตุเกสที่เรียกกันว่าฝรั่งเข้ารีต ที่แท้เดิมก็เป็นแขกเป็นฝรั่งจริงๆ แต่ครั้นเมื่อมามีเกี่ยวดองพัวพันกันเข้ากับคนในพื้นเมือง นานมาก็คลายลงเป็นไทย ยังคงถืออยู่แต่ศาสนาเดิมเท่านั้นเอง

พราหมณ์ซึ่งเขานับถือกันเป็นคู่กับสมณะนั้น คือมีคนตระกูลหนึ่งซึ่งต้นเดิมจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใดไม่มีผู้ใดจะรู้ได้ เพราะกาลล่วงมาหลายพันปี ต้องรู้ได้แต่ตามที่พราหมณ์เขาเล่าเอง ว่าเป็นผู้เกิดจากพรหม ความนับถือของคนพวกนี้ เป็นที่นิยมทั่วไปในพวกชนชาติฮินดูทั้งปวง ที่มีหลายตระกูลแตกกันออกไปอีก พราหมณ์นั้นมีประเพณีที่จะพึงประพฤติมากมายหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าเกิดมาในตระกูลพราหมณ์จะไปแต่งงานมีสามีภรรยากับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ จะกินข้าวกินน้ำร่วมกับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ อย่าว่ากินร่วมเลย ถ้าพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บจวนจะตายกระหายน้ำอย่างยิ่งเพียงเท่าใด เมื่อไม่มีพราหมณ์อยู่ในที่นั้น ไม่สามารถจะไปตักน้ำกินเองได้ ผู้ใดจะตักน้ำมายื่นให้ก็รับไม่ได้กินไม่ได้ ห้ามนั้นห้ามแต่ของบริโภค แต่ถ้าเป็นเงินทองข้าวของผู้ใดจะให้รับได้ พราหมณ์พวกนี้ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีการวิวาหะอาวาหะแต่ภายในอายุ ๑๒ ปีลงมา ถ้าอายุเกิน ๑๒ ปีขึ้นไป จะทำการวิวาหะอาวาหะกับผู้ใดไม่ได้ ต้องนับว่าเป็นคนที่เสียคนแล้ว ต้องเป็นนางพราหมณีสำหรับบูชาเทวรูปในเทวสถานไปจนตลอดสิ้นชีวิต เพราะฉะนั้นจึงมักต้องทำการวิวาหะอาวาหะเสียแต่ยังเด็กๆ หรือแต่แรกเกิดมาทีเดียว ถ้าเด็กหญิงผู้ใดเคราะห์ร้าย เด็กชายซึ่งได้ทำการอาวาหะวิวาหะไว้แต่ยังเล็กอยู่ ตายไปเสียต้องนับว่าเป็นม่ายทั้งไม่ได้อยู่กินด้วยกันเช่นนั้น บางทีเด็กอายุขวบหนึ่งสองขวบเป็นแม่ม่าย เด็กม่ายเช่นนั้น เมื่อโตขึ้นอายุครบ ๑๒ ปี ต้องโกนศีรษะแต่งตัวด้วยผ้าหยาบ จะสวมเครื่องประดับอันใดก็ไม่ได้ เกณฑ์ให้ชักประคำสวดมนต์ภาวนาไปจนตลอดสิ้นชีวิต ทรัพย์มรดกของบิดามารดา จะรับจะรักษาก็ไม่ได้ ต้องตกไปแก่ญาติผู้อื่นที่เป็นผู้ชาย ถ้าญาติผู้นั้นมีใจเมตตากรุณาอยู่ก็เลี้ยงดู ถ้าไม่มีใจเมตตากรุณาละเลยเสีย จะไปฟ้องร้องแห่งใดก็ไม่ได้ ต้องขอทานเขากิน แต่มีข้อบังคับสกัดข้างฝ่ายชายไว้เหมือนกันว่า ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรที่จะสืบตระกูล บิดาและปู่ของผู้นั้น จะต้องตกนรกขุมหนึ่งซึ่งเรียกชื่อว่าปุต ถ้าลูกของตัวมีภริยามีบุตรชาย ก็เป็นอันพ้นทุกข์ ถ้ามีหลานเหลนสืบลงไปอีก ทวดปู่และบิดาก็ได้รับผลอันพิเศษเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ

มีนิทานตัวอย่างปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ว่ามีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อชรัตกะรุ ประพฤติพรตตั้งความเพียร ได้ฌานสมาบัติเที่ยวไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ครั้นเวลาค่ำก็เข้าฌาณสมาบัติ อาศัยแต่ลมเป็นอาหาร ไม่นอนเลย เมื่อเที่ยวไปวันหนึ่งพบบรรพบุรุษของตัวห้อยศีรษะลงตรงปากหลุมอันใหญ่ เท้าชี้ขึ้นสู่ฟ้า ชรัตกะรุจึงได้ถามว่าท่านทั้งหลายนี้เป็นผู้ใด จึงมาต้องผูกห้อยศีรษะอยู่ด้วยเชือกของเถาวีรนะ ตรงปากหลุมใหญ่มีหนูทั้งหลายกัดแทะเนื้ออยู่โดยรอบในที่นี้ บรรพบุรุษนั้นจึงได้ตอบว่า เราทั้งหลายเป็นฤๅษีซึ่งเรียกตามคณะว่า ยะยะวะระ ซึ่งต้องมาได้ความลำบากเช่นนี้ เพราะไม่ได้มีพืชพรรณ เราทั้งหลายมีลูกอยู่ชื่อว่าชรัตกะรุ แต่เป็นความทุกข์ของเรา เพราะลูกเราผู้นั้นประพฤติตัวละเว้นเสียมิให้มีพืชพรรณ ด้วยไม่มีภริยา เราจึงมาต้องทนทุกข์ลำบากเห็นปานนี้ เมื่อชรัตกะรุได้ทราบเช่นนั้น จึงแสดงตัวว่าตัวเป็นชรัตกะรุ และรับปฏิญาณว่าจะมาหาภริยาให้ได้มีบุตรสืบตระกูล แต่เพราะความไม่ชอบใจในการที่จะมีภริยาของชรัตกะรุ จึงได้ตั้งปฏิญาณว่า ต่อเมื่อพบหญิงผู้ใดมีชื่อว่าชรัตกะรุเหมือนตัวและมีผู้มายกให้เป็นทาน จึงจะรับเป็นภริยาเพื่อจะสงเคราะห์แก่บรรพบุรุษนั้นอย่างเดียว ครั้นเมื่อชรัตกะรุเที่ยวไป จึงมีพระยานาคชื่อวาสุกี ที่มีความร้อนรนด้วยต้องคำแช่งแห่งมารดา นำน้องสาวผู้ชื่อว่าชรัตกะรุมายกให้เป็นภริยา ได้อยู่กินด้วยกันจนมีบุตร ชื่ออัษฎิกะ ภายหลังบวชเป็นฤๅษีมีคุณานุภาพมาก เมื่อชรัตกะรุมีบุตรเช่นนั้น บรรพบุรุษของชรัตกะรุก็ได้พ้นจากทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะฉะนั้นคำซึ่งเรียกว่าบุตระ เขาจึงยกมูลเหตุว่ามาจากคำปุต คือขุมนรกที่บรรพบุรุษต้องไปทนทุกข์ เพราะไม่มีลูกหลานที่จะสืบตระกูล ครั้นเมื่อมีลูกออกมาลูกนั้นเรียกว่า บุตระ เพราะเป็นผู้ทำให้บรรพบุรุษของตนพ้นจากขุมนรกที่เรียกชื่อว่าปุตนั้น

นี่แหละถึงว่าฝ่ายผู้ชายไม่มีข้อบังคับที่พราหมณ์ผู้ใหญ่จะลงโทษแก่ตนในปัจจุบัน เพราะข้อที่ไม่มีภริยา เหมือนอย่างผู้หญิงที่ไม่มีสามีนั้นก็ดี แต่ยังมีข้อซึ่งปรากฏมาในคัมภีร์ที่พราหมณ์เชื่อถือว่าเป็นการลงโทษแก่บรรพบุรุษได้เช่นนี้ จึงเป็นเครื่องบังคับให้พราหมณ์ผู้ชายต้องแสวงหาภริยา ไม่ละเลยเสียจนผู้หญิงต้องตกไปเป็นม่ายได้มากเกินไป และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นคนหาเลี้ยงชีวิตด้วยขอทานเกือบจะทั่วไป ถึงพราหมณ์ที่มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์อยู่ ก็ไม่ละเว้นการขอทานหรือบิณฑบาต ซึ่งคนทั้งปวงเต็มใจจะให้ ด้วยถือว่าเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ เพราะพราหมณ์พวกนี้คนทั้งปวงนับถือว่าเป็นตัวพรหมนั้นเอง แต่หากมีกรรมการที่ได้ทำผิดไว้ จึงต้องมาใช้กรรมในโลกมนุษย์ เป็นผู้มีสุคติเบื้องหน้าแน่นอนแล้วว่า ถ้าสิ้นกรรมเมื่อใดก็จะไปสู่พรหมโลก ผู้ใดทำอันตรายพราหมณ์เป็นบาปกรรมอันยิ่งใหญ่ พราหมณ์ย่อมเป็นที่เคารพของชาติอื่นๆ มีขัตติยชาติเป็นต้น

หน้าที่ของพราหมณ์ที่จะต้องทำนั้นก็คือ ต้องตื่นแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันอุทัย อายน้ำชำระกายแล้วนุ่งผ้าที่ชุ่มด้วยน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการบริสุทธิ์ เข้าไปทำสักการบูชาพระเป็นเจ้า แล้วจึงหาอาหารกินต่อไป การเล่าเรียนก็เรียนคัมภีร์เวทซึ่งเป็นตำราสะสมมาแต่โบราณ ที่พราหมณ์ทั้งปวงถือว่าพระฤๅษีผู้มีนามว่า กฤษณะ ไทวปายะนะ ผู้มีความรู้มากได้เรียบเรียงไว้ ตามที่วิยสะผู้เป็นเชื้อพรหม ได้แต่งขึ้นเป็นคำกลอนแล้วไปสาธยายถวายพระพรหม พระพรหมเห็นชอบสมควรด้วย จึงยกขึ้นเป็นข้อบังคับศาสนาสำหรับโลก ได้ประพฤติตามต่อกันมาแต่แรกสร้างโลก และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นผู้รู้คัมภีร์โหราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาอย่างหนึ่งนับในเวทางค์ ๖ อย่าง รู้คติทางดำเนินของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ พระเคราะห์ต่างๆ เป็นผู้ทำประดิทินสำหรับที่จะให้คนทั้งปวงใช้ วัน คืน เดือน ปีถูกต้องกัน เป็นผู้ทายสุริยุปราคา จันทรุปราคา เป็นผู้สำหรับเซ่นไหว้เสกกล่อม ในเวลาที่ชนทั้งปวงไปบูชาพระเป็นเจ้า เป็นผู้บำบัดเสนียดจัญไรของคนทั้งปวงและการอื่นๆ ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งคนทั้งปวงถือว่าพราหมณ์เป็นผู้มีคุณแก่โลก เพราะเป็นนายหน้าที่จะนำให้พูดถึงพระเป็นเจ้าเป็นต้น ธรรมดาคนซึ่งจะประพฤติตัวเป็นเช่นนี้ ก็คงดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดาด้วยมากด้วยกัน เพราะฉะนั้นพราหมณ์บางพวกจึงได้บัญญัติลัทธิต่างๆ แยกย้ายกันออกไปบ้าง ความนับถือก็มีแตกเป็นพวกเป็นเหล่ากันออกไป

จะชี้ตัวอย่างพราหมณ์นับถือพราหมณ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปพบเองในเวลาไปอินเดีย เมื่ออยู่ที่เมืองบอมเบย์ มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นมหาศาลตระกูลใหญ่ ได้มาหาข้าพเจ้า ว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาพบ ท่านพราหมณ์ผู้นี้มีบริวารบ่าวไพร่มาก เที่ยวจาริกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อจะโปรดสัตว์ การที่โปรดสัตว์นั้นอย่างไรหรือ คือผู้ใดมีบุตรสาวซึ่งยังมิได้มีสามี ก็เชิญท่านพราหมณ์ผู้นี้ไปอยู่ด้วยวันหนึ่ง แล้วท่านพราหมณ์ก็ละไปที่อื่น ลูกสาวซึ่งเสียตัวกับพราหมณ์นั้น ถือว่าเป็นได้รับสวัสดิมงคลอย่างยิ่ง แล้วทำการอาวะหะวิวาหะกับผู้อื่นต่อไป ผู้ซึ่งได้รับหญิงที่ท่านพราหมณ์ได้เยี่ยมเยียนแล้วนั้น เป็นผู้มีหน้ามีตาได้เมียดี กลับเป็นเช่นนี้ไปได้ พราหมณ์ย่อมทำมาหากินมีเรือกสวนไร่นา เป็นทหารฝึกซ้อมศัสตราวุธได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อห้ามปราม และมีการบูชายัญเผาตัวทั้งเป็น เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์บ่อยๆ และถ้าเป็นแม่ม่ายสมัครจะเผาตัว ก็ทำรูปสามีที่ตายด้วยไม้ วางเคียงตัวเผาไปด้วยในกองเพลิง ก็เป็นอันได้ไปอยู่ด้วยกันในโลกหน้า การที่ภรรยาตายตามสามีเช่นนี้ตามเรื่องราวโบราณของพราหมณ์ ดูเหมือนจะเป็นประเพณีที่จำจะต้องตายตามกันเกือบทุกคู่ จนมีคำกล่าวปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ในเรื่องนางศกุนตลาตัดพ้อพระสามีกล่าวว่า “ที่สุดจนเมื่อสามีจะไปจากโลกนี้ สู่ยมโลก ภริยาผู้ซื่อตรงก็ย่อมติดตามไปด้วยในที่นั้น ถ้าภริยาต้องไปในที่นั้น (คือยมโลก) ก่อนก็ต้องไปคอยสามี แต่หากว่าสามีไปก่อน ภริยาซึ่งผูกพันรักใคร่ย่อมตามติดไปในเบื้องหลัง” เพราะฉะนี้ จึงได้ความสันนิษฐานว่าภริยาตายตามสามีเช่นนี้ เห็นจะมีโดยมาก และการทำลายชีวิตบูชาพระเป็นเจ้าต่างๆ ก็มีอีกมากเป็นอเนกประการ ยังเป็นไปเสมออยู่ จนอังกฤษได้เป็นใหญ่ในประเทศอินเดียแล้วช้านานจึงได้ห้ามเสีย แต่การอื่นๆ ซึ่งไม่สำคัญถึงชีวิต เช่นพราหมณ์เที่ยวจาริกไปโปรดลูกสาวคนทั้งปวง อังกฤษไม่ได้ห้ามปราม ยังคงมีอยู่จนปีที่ข้าพเจ้าไปอินเดีย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:01:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #36 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:04:36 »


พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

คนพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์หรือตัวพราหมณ์เองมักจะเป็นผู้ที่มีใจดุร้าย การที่จะบังคับกดขี่กระทบกระเทือนเรื่องศาสนาแล้ว ชวนจะเป็นขบถลุกขึ้นง่ายๆ ดูความเจ็บแค้นด้วยกันนั้นแรงกล้า มิใช่เจ็บร้อนในพวกพราหมณ์ด้วยกัน ตลอดไปถึงชาติฮินดูทั้งปวง การที่ประเทศอินเดียต้องถูกแขกถือศาสนามะหะหมัดเข้าแทรกแซงเป็นเจ้าเป็นนายมาเสียช้านาน ก็เพราะเหตุที่ต่างคนต่างถือชาติ ไม่สมัครสมานปรองดองกัน แต่กระนั้นแขกก็ต้องยับเยิน เพราะไปเกี่ยวข้องด้วยศาสนาบ่อยๆ ครั้นเมื่อฝรั่งได้แผ่นดินจากแขกบ้างจากฮินดูบ้าง รู้ลัทธิหลีกเลี่ยงเสียไม่ใคร่เกี่ยวด้วยการศาสนาก็ค่อยเรียบร้อย แต่กระนั้นอังกฤษก็ยังเกิดเหตุใหญ่ได้ยับเยินมากเหมือนกัน ภายหลังนี้ต้องระวังเรื่องศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รักษามาได้ พราหมณ์ทั้งปวงก็ยังมีแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย ยังนับถือยั่งยืนกันอยู่ไม่ลดถอย การที่พุทธศาสนาตั้งไม่ติดได้ในประเทศอินเดีย ก็เพราะทนพราหมณ์พวกนี้ไม่ไหว ด้วยพระพุทธเจ้าบัญญัติลัทธิตรงกันข้ามเสียกับพราหมณ์มากหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าพราหมณ์มีเมียได้ และถือว่าถ้าไม่มีลูกสืบตระกูลต้องไปตกนรก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเพราะเหตุที่มีเมียมีลูก เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านเป็นเครื่องก่อเกิดโลภะโทสะโมหะมาก ตัดเสียไม่ให้พระสงฆ์มีเมีย พราหมณ์ถือลัทธิลอยบาปด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นพิธีภัทรบท พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เอาผ้านุ่งผ้าห่มนั้นและกลับมานุ่งห่ม พราหมณ์ถือว่าถ้าต้องโกนผมเป็นผู้ซึ่งไม่มีใครควรคบหาได้ เป็นขาดชาติ เช่นลงโทษแม่ม่าย พระพุทธเจ้ากลับให้พระสงฆ์โกนหัว พราหมณ์ถือว่าจะรับของที่ผู้อื่นทำมากินไม่ได้เป็นขาดชาติ ต้องหุงกินเอง พระพุทธเจ้ากลับห้ามไม่ให้หุงกินเอง กลับขอเขากิน จะพรรณนาถึงการที่ตรงกันข้ามเช่นนี้ไปเท่าใดก็ไม่รู้หมด ซึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กลับตรงกันข้ามกับพราหมณ์เกือบทุกเรื่องไปเช่นนี้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่พระองค์เห็นว่า เป็นถือลัทธิไปทางข้างทิฐิมานะ ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นแต่ชักพาให้คนหลงถือไปตามทางที่ผิดๆ ก็นั่นแหละคิดดูเถิด เมื่อพระพุทธเจ้าเวลายังไม่ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็นับว่าเป็นผู้ถือศาสนาเหมือนคนทั้งปวงเช่นนั้นแล้วและละทิ้งเสียไปตั้งลัทธิขึ้นใหม่ ถึงว่ามีผู้ได้ถือตามมาก (แต่เห็นจะไม่มากเหมือนอย่างเช่นที่พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาในหนังสือต่างๆ ถ้ามากเช่นนั้น คนเห็นจะถือพุทธศาสนาแล้วทั้งโลก) ศาสนาเดิมคนถือมาทั่วทั้งแผ่นดินมานานหลายพันปี พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ก็ไม่สักกี่สิบปี ถึงว่ามีคนนับถือพระพุทธศาสนามาก ก็ทนพวกเก่าที่มากกว่าไม่ไหว นี่หากว่าธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ปราศจากเวร ปราศจากเบียดเบียนผู้อื่น จึงไม่เกิดเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้น เช่นพระเยซูสั่งสอนลัทธิใหม่ จนถึงตัวต้องตรึงไม้กางเขน เพราะทนพวกที่ถือศาสนาเก่าไม่ไหว มาเป็นเหตุต่อเมื่อพระศาสดาดับขันธปรินิพพานแล้วช้านาน ก็เป็นแต่เพียงพระพุทธศาสนาต้องกระจัดกระจายแผ่ออกไปในประเทศที่มิได้ถือศาสนาพราหมณ์เคร่งครัดมาแต่เดิม มีทวีปลังกาเป็นต้น พุทธศาสนาที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอินเดีย ก็ต้องอะลุ้มอล่วยเข้าหาศาสนาพราหมณ์เดิม ข้าพเจ้าได้ไปเห็นเองหลายวัด แต่วัดหนึ่งที่เมืองเบนาริส คือเมืองพาราณสีนั้น ได้เข้าไปจนถึงในโบสถ์ มีพระพุทธรูปศิลาขาวอย่างพระศิลาพม่า เป็นพระพุทธรูปเราดีๆ ไม่แปลกประหลาดอันใดเลย การบูชาก็ต่างลัทธิกันกับฮินดู แต่เรียกชื่อศาสนาเฉไปเสียว่า เยนะ คือ ชินะ ได้พบผู้ซึ่งถือศาสนานั้นเป็นขุนนางอยู่ในบังคับอังกฤษผู้หนึ่ง ชื่อศิวประสาท เป็นผู้รู้มาก เป็นอาจารย์สอนหนังสือสันสกฤต มีศิษย์เรียนอยู่ประมาณสัก ๓๐ คน ได้เล่าว่าศาสนาเยนะนี้ คือศาสนาพระโคดมแท้ แต่หากผู้ที่ถือนั้นมีความกลัวพวกฮินดูที่ได้เคยไม่มีความกรุณาต่อผู้ที่นับถือพุทธศาสนาจะเบียดเบียน จึงได้อ้างว่าถือศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ขึ้นไป ไม่นับถือพระโคดม แต่ครั้นเมื่อถามลัทธิที่ถือว่ายักเยื้องกันไปอย่างใดบ้างหรือ ก็บอกว่าเป็นแต่ชั่วเลิกพระสงฆ์ มีไม่ได้ มีแต่อาจารย์สำหรับสั่งสอน ถามถึงนับถืออย่างไร ก็สวด อิติปิโส ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ เช่นเราสวดนี้เอง เป็นแต่การบูชาอยู่ข้างจะเจือไปข้างฮินดู มีเรื่องสรงน้ำพระ เรื่องอาบน้ำอะไรเปรอะเปื้อนอยู่ตามลานวัด การที่ใจถืออย่างหนึ่งประพฤติภายนอกอย่างหนึ่งเช่นนี้ ก็มีเป็นลำดับต่อๆ มา จนถึงตัวศิวประสาทที่ข้าพเจ้าพบเอง เมื่อเวลาที่ได้พบในที่ประชุมการรับรอง แต่งตัวเป็นแขก แต่ครั้นเมื่อไปพบที่วัดและที่โรงเรียน ก็แต่งตัวนุ่งผ้าขาวปล่อยชายโจงชายอย่างเช่นฮินดู ตัวเขาได้เล่าเอง ว่าที่ต้องแต่งเป็นแขกเช่นนี้ก็เพราะเจ้าแผ่นดินแขกแต่ก่อนๆ ไม่ชอบแต่งตัวอย่างฮินดู จึงต้องแต่งหันเหียนตามพอเอาตัวรอด ลงมาจนฝรั่งไปเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ได้บังคับกดขี่ในการแต่งตัว แต่ธรรมเนียมคนที่ทำราชการแต่งเป็นแขกติดมาแต่เมื่อเจ้าเป็นแขกก็ยังคงอยู่ การซึ่งถือศาสนาและประพฤติลัทธิหลบหลีกไปเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมเคยมีมาในอินเดียตามลำดับ

เมื่อพราหมณ์มีสืบเนื่องกันมาช้านานหลายพันปีเช่นนี้ จึงเป็นที่นับถือของคนทั้งปวง ในหนังสือต่างๆ ซึ่งชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ง ที่สุดจนธรรมจักกัปปวัตนสูตรเป็นต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธภาษิตแท้ ก็ยังเรียกสมณะกับพราหมณ์เป็นคู่กัน พราหมณ์เป็นที่นับถือไม่มีผู้ใดอาจหมิ่นประมาท ถ้าพราหมณ์เหมือนอย่างเช่นบ้านเราอย่างนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ยกขึ้นเป็นคู่กับสมณะ พราหมณ์เป็นที่นับถืออย่างเอกอย่างนับถือพระสงฆ์เช่นนี้ จึงได้เป็นที่สำหรับผู้ซึ่งปรารถนาความเจริญคืออยากจะให้ข้าวในนาบริบูรณ์ จึงเอาข้าวที่กำลังท้องมาทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ และกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อว่าเช่นนี้ก็จะมีที่สงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าสิกล่าวไว้ว่า พราหมณ์จะรับของบริโภคจากผู้อื่นไม่ได้ เหตุใดคนทั้งปวงจึงจะทำยาคูข้าวปายาสไปให้พราหมณ์บริโภคได้เล่า อธิบายว่า ถ้ากุ๊กคือคนทำครัวเป็นพราหมณ์แล้วพราหมณ์ทั้งปวงบริโภคได้ การที่ต้องหานางพรหมจารีกวนข้าวทิพย์นี้ แต่เดิมจะเป็นนางพราหมณีซ้ำไปดอกกระมัง

เพราะการที่เป็นประเพณีในประเทศอินเดียซึ่งยังไม่มีพระในพุทธศาสนา หรือมีแล้วกระจัดกระจายไปอยู่เสียที่อื่น ทำบุญสารทคือฤดูข้าวรวงเป็นน้ำนมนี้แก่พราหมณ์ เมื่อการพระราชพิธีของพราหมณ์ตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม ก็พลอยประพฤติตามลัทธิพราหมณ์ด้วย สมคำซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ ว่าเป็นฤดูที่ชนทั้งปวงกวนข้าวปายาส และทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อสมณะและพราหมณ์เป็นคู่กันอยู่เช่นนั้น ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นแรกที่เข้ารีตใหม่ เคยถือศาสนาพราหมณ์เดิมได้ทำบุญตามฤดูกาลแก่พราหมณ์มาอย่างไร ครั้นเมื่อมาเข้ารีตถือพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงกำหนดที่ตัวเคยทำบุญ ผู้ใดเลยจะนิ่งเสียไม่ทำ เมื่อเชื่ออยู่ว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าพราหมณ์ ก็ต้องมาทำถวายพระสงฆ์ เหมือนเช่นเคยทำอยู่แก่พราหมณ์ ถ้าผู้ใดจะละทิ้งศาสนาพราหมณ์เดิมของตัวให้ขาดไม่ได้ เพราะความเกรงใจก็ลงเป็นทำทั้งสองฝ่าย ถวายทานแก่สมณะด้วยพราหมณ์ด้วย พิธีพราหมณ์จึงได้มาระคนปนเจือในพุทธศาสนา จนนางนพมาศซึ่งเป็นผู้ถือสองฝ่ายได้กล่าวว่า “ฝ่ายข้างพระพุทธศาสนาพระราชพิธีภัทรบทนี้ เป็นสมัยหมู่มหาชนทำมธุปายาสยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงสมณะพราหมณ์ ทั้งบูชาพระรัตนตรัยด้วยพรรณผ้ากระทำเป็นธงแล้วอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ญาติอันไปสู่ปรโลก อันเป็นปรทัตตูปชีวีเปรตและนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบทนี้ พุทธศาสน์ไสยศาสตร์เจือกันโดยโบราณราช” ตอนปลายที่กล่าวถึงทำธงและอุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรตนี้ ความมุ่งหมายนางนพมาศจะกล่าวด้วยเรื่องข้าวกรู แต่ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวถึงเรื่องนั้นในที่นี้ ประสงค์แต่เฉพาะความซึ่งนางนพมาศได้อ้างว่าเป็นพิธีพราหมณ์และสงฆ์เจือกัน แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธว่าไม่เป็นพิธีสงฆ์ เป็นพิธีพราหมณ์ มีผู้มาทำให้แก่สงฆ์จึงเลยติดมาเป็นพิธีสงฆ์ด้วย แต่การซึ่งทำทานเช่นนี้ เป็นการไม่มีโทษ จึงได้เป็นความประพฤติของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

เมื่อตรวจดูในคำประกาศ สำหรับการพระราชพิธีสารท ซึ่งเกิดกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ขึ้น จะมีมูลเหตุมาแต่อันใดก็ไม่ปรากฏชัดเหมือนอย่างยาคู ท่านก็คงค้นกันหนักแล้ว ที่จะหามูลเหตุให้เข้ารอยทางพระพุทธศาสนา ไปมีเงาอยู่ที่เรื่องนางสุชาดาถวายข้าวปายาสก่อนอภิสัมโพธิกาล แต่เขาก็ถวายในเดือนหก และเป็นการจร มิใช่การประจำปี จะไปยกเอามาเป็นมูลเหตุก็ขัดอยู่ จึงได้ไม่มีมูลเหตุในคำประกาศ เป็นแต่ว่าเคยทำมาแต่โบราณ ซึ่งที่แท้เป็นพระราชพิธีพราหมณ์นี้เอง แต่เรื่องยาคูนั้นค้นหลุดออกมาได้ พอยกเป็นมูลเหตุขึ้นประกาศเรื่องที่ค้นเอามาได้นั้น คือมาในคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่ง มาในคัมภีร์มโนรถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง เป็นเรื่องเดียวกัน ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงบุรพชาติของพระอัญญาโกณฑัญญที่ได้บำเพ็ญกุศล และปรารถนาที่จะตรัสรู้พระอรหัตผลวิมุติก่อนชนทั้งปวง ให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง ว่าเมื่อพระพุทธวิปัสสีได้อุบัติในโลก กุฎุมพิกะสองพี่น้อง คนหนึ่งชื่อมหากาฬ คนหนึ่งชื่อจุลกาฬ หว่านข้าวสาลีลงในนาใหญ่แห่งเดียวกัน ภายหลังจุลกาฬน้องชายไปที่นาข้าวสาลีซึ่งกำลังท้อง ผ่าเมล็ดข้าวออกเคี้ยวกินเห็นว่ามีรสอร่อยหวาน จึงมีความปรารถนาที่จะทำทานข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นแก่พระสงฆ์ จึงไปบอกแก่พี่ชายตามความประสงค์ พี่ชายจึงว่าแต่ก่อนก็ไม่เห็นใครเคยทำมา ต่อไปภายหน้าก็คงจะไม่มีผู้ใดทำ อย่าทำเลยข้าวจะเสียเปล่า จุลกาฬก็ไม่ฟังอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ พี่ชายจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ปันนาออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของเรา ส่วนหนึ่งเป็นของเจ้า ส่วนของเจ้านั้นตามแต่จะทำเถิด จุลกาฬก็ยอมแบ่งที่นาเป็นสองส่วน แล้วจึงหาคนมาช่วยกันเก็บข้าวในนาส่วนของตัวผ่าเมล็ดข้าวซึ่งกำลังท้อง ให้ต้มด้วยน้ำนมสดล้วนไม่เจือน้ำท่า แล้วเจือเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้นเสร็จการภัตกิจ จึงทูลความปรารถนาแด่พระพุทธเจ้าว่า คัพภสาลีทานนี้จงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าบรรลุธรรมวิเศษก่อนชนทั้งปวง ครั้นเมื่อจุลกาฬถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์แล้วไปคูนา ก็เห็นดาดาษไปด้วยรวงข้าวสาลี เหมือนคนผูกไว้เป็นช่อๆ ก็ให้เจริญความปีติยิ่งขึ้น ครั้นเมื่อเมล็ดข้าวควรจะเป็นข้าวเม่า ก็ให้ข้าวเม่าเป็นทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกี่ยวข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำเขน็ด คือตะบิดฟางเป็นเชือกสำหรับมัดฟ่อนข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำฟ่อนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนข้าวไว้ในลานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนวดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรวมเมล็ดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนขึ้นฉางอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นอันได้ทำทานในฤดูข้าวกล้าอันหนึ่งถึงเก้าครั้ง ข้าวในนาจุลกาฬก็ได้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นมิได้บกพร่องไป จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระโกณฑัญญะได้ทำทานเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่งถึงเจ็ดวัน เมื่อพระประทุมุตรได้อุบัติในโลกนี้ ก็มีความปรารถนาอย่างเดียวกับที่ได้ปรารถนาไว้แต่ก่อน เพราะฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจงได้ตรัสรู้เป็นองค์พระอรหันต์ก่อนพุทธสาวกทั้งปวง มีเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงถวายข้าวอ่อนเป็นทานแก่พระสงฆ์ ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียมีมาในพระอรรถกถาดังนี้ จึงเป็นเหตุที่ยกมาประกอบเรื่องที่จะให้การพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอันนี้ เป็นอันทำตามที่มาในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอันนับได้ว่าเป็นการกุศลซึ่งทำตามตัวอย่างชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ปางก่อนได้ทำมา จะถือว่าเป็นการจำเป็นที่ผู้ถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำ เพราะมีข้อบังคับไว้ให้ทำ ซึ่งจะนับว่าเป็นพระราชพิธีในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้ แต่เมื่อว่าที่จริงแท้แล้ว ก็เป็นการเอาอย่างพราหมณ์ การพิธีเดิมนั้นเป็นของพราหมณ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องตัวยาคูและข้าวปายาสที่กล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ที่เป็นของทำในประเทศอินเดีย เราจะนึกหมายว่าข้าวปายาสเหมือนข้าวทิพย์ ยาคูเหมือนข้าวยาคูของเรานั้นเห็นจะไม่ได้

ข้าพเจ้าได้ให้ค้นตามหนังสือต่างๆ ที่กล่าวถึงอาหารสองอย่างนี้ จะให้ได้ความว่าทำอย่างไร เพราะเห็นว่าพระอรรถกถามักจะเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ละเอียด ลางทีจะมีตำรากวนข้าวปายาส ตำราทำยาคู เหมือนอย่างตำราทำกับข้าวแขก ซึ่งมิสเตอร์เลนได้อธิบายในหนังสืออาหรับราตรีของเขาบ้าง ก็ได้ความรัวๆ ไปไม่ชัดเจน เห็นจะเป็นเพราะอาหารสองอย่างนี้เป็นของทำกันอยู่เสมอ กินกันอยู่บ่อยๆ จนไม่ต้องกล่าวถึง เหมือนกับจะหาตำราหุงข้าวปิ้งปลาในเมืองไทย ก็จะหาไม่ได้ นอกจากหนังสือประดิทินบัตรที่ว่าด้วยปากะวิชาซึ่งออกใหม่ในเร็วๆ นี้[] เพราะจืดรู้อยู่ทั่วกันแล้วไม่ต้องอธิบาย ได้ความแต่พอเป็นเค้าเหมือนอย่างเช่นข้าวยาคู ที่ได้กล่าวมาในเรื่องจุลกาฬ ก็ดูต้องผ่าต้องต้ม ไม่ได้ บีบคั้นเหมือนยาคูของเรา ผิดกันเสียตั้งแต่ตัวเมล็ดข้าวมาแล้ว เครื่องที่จะประกอบก็ใช้นมใช้เนยซึ่งเป็นอาหารทิพย์ของคนในประเทศนั้น เจือจานไปด้วยน้ำตาลเป็นยาคูหวาน ส่วนยาคูที่มีมาในพระวินัยที่พระสงฆ์ตื่นขึ้นเช้า ดื่มยาคูก่อน เป็นอาหารเช้าอย่างเหลวๆ เช่นฝรั่งจะเรียกว่าไลต์ฟูด จะว่าเป็นข้าวต้มก็ไม่ใช่ ดูเหลวกว่าเพราะดื่มได้ แต่ในหนังสือบุพสิกขาวัณนาที่พระอมราภิรักขิต (เกิด) แต่ง และหนังสือพระวินัยคำแปลตีพิมพ์ ที่สมเด็จพระวันรัต[]แต่ง ท่านแปลคำข้าวยาคูนี้ว่าข้าวต้มทุกแห่ง ที่แปลว่าข้าวต้มนั้นเห็นจะเป็นความประสงค์ที่จะให้คนไทยเข้าใจซึบซาบโดยง่าย เพราะถ้าจะแปลว่ายาคู ก็จะต้องเข้าใจว่าเป็นของหวานที่เจือใบข้าวสีเขียวๆ เช่นเลี้ยงพระพิธีสารท ที่ไม่มีเวลาที่พระสงฆ์จะฉันนอกจากการพระราชพิธีหรือการจรเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าใช้ว่าข้าวต้มแล้วก็เป็นถูกกับที่พระสงฆ์จะพอใจฉันอยู่เนืองๆ ท่านกล่าวในหนังสือนั้นประสงค์ความประพฤติของพระสงฆ์ มิได้ประสงค์จะกล่าวถึงประเภทแห่งยาคูว่าเป็นอย่างไรๆ ยาคูหรือข้าวต้มที่มีมาในพระวินัยนี้ ยังมีแปลกออกไปอีกกว่าของเราทั้งสองอย่าง คือเจือขิงเจือใบกะเพราและเกลือ จะทำให้รสเค็มๆ ฉุนๆ ไปข้างเทือกสะกดลมสะกดแล้งอะไร เช่นคนแก่ๆ พอใจกินข้าวต้มกับเกลือและพริกไทยหรืออย่างไร ยาคูเช่นนี้พระสงฆ์ฉันในเวลาเช้าก่อนเวลาฉันอาหาร จึงเป็นอันฉันอาหารสวยอยู่แต่วันละหนเดียว ไม่ได้ฉันข้าวสวยเช้าเพลเหมือนพระสงฆ์ทุกวันนี้ บิณฑบาตจึงได้เป็นครั้งเดียวก็พอ คงได้ความว่ายาคูมีสองอย่าง คือยาคูเค็มที่เป็นข้าวต้มอย่างหนึ่ง ยาคูหวานที่เป็นข้าวอ่อนต้มเจือน้ำตาลอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะเทียบกับข้าวยาคูของเรา ก็จะใกล้ข้างยาคูหวาน แต่รสชาติสีสันและกิริยาที่ทำต่างกันแท้ไม่เหมือนเลย

ข้าวปายาสนั้นยิ่งมืดหนักไปในที่กล่าวถึง เมื่อนางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้า ก็ได้ความแต่ว่าหุงด้วยนมโคสด ในมงคลทีปนีว่าด้วยนิทานเศรษฐีขี้ตระหนี่ หุงข้าวปายาสกิน ก็ว่าใช้ข้าวสารน้ำตาลน้ำนมดูไม่เหมือนกับข้าวทิพย์ที่เรากวน ไกลมากไปยิ่งกว่ากระยาสารท กระยาสารทดูยังใกล้ข้าวปายาสนั้นมาก แต่ไปมีกรอบๆ กรุบๆ เสียด้วย จึงได้ชักให้ผิดเรื่องไป จนทำให้เห็นว่าข้าวเหนียวแก้วหรือข้าวเหนียวแดงจะใกล้กว่า แต่ขึ้นชื่อว่าอาหารของไทยจะไปเปรียบกับของพวกประเทศอินเดียแล้ว เป็นต้องไม่เหมือนกันอยู่ยังค่ำ ถึงโดยจะไปได้ตำรามาชัดเจนหุงขึ้นเป็นไม่มีใครกินได้เป็นแน่ เพราะขึ้นชื่อว่าเนยแล้ว เป็นของพึงเกลียดของคนไทยอย่างยิ่ง แต่เป็นอาหารที่มีรสอร่อยของชาวอินเดียอย่างยิ่ง เหมือนกับกะปิเป็นของพึงเกลียดของคนชาติอื่น แต่เป็นของอร่อยอย่างยิ่งของคนไทยโดยมาก บรรดากับข้าวอันใดถ้าเจือนมเนยก็เป็นกับข้าววิเศษ น้ำมันเนยนั้นใช้แทนกะทิด้วย ใช้แทนน้ำมันด้วย ถ้าจะเทียบข้าวปายาสที่ทำสองพันสี่ร้อยปีเศษล่วงมาให้ได้จริง เทียบกับอาหารของพวกฮินดู หรือพวกแขกจะใกล้กว่าเทียบอาหารไทยมาก เมื่อข้าพเจ้าไปที่เมืองพาราณสี พระเจ้าพาราณสีจัดของมาเลี้ยง ตั้งโต๊ะอย่างฝรั่งแต่มีซ่อมช้อนเฉพาะตัว คล้ายกันกับเลี้ยงโต๊ะอย่างไทยโบราณ บนโต๊ะนั้นตั้งอาหารเต็มไปทั้งโต๊ะ มีเป็ดไก่ปิ้งย่างอย่างไรแล้วปิดทองคำเปลวทั้งตัว มีขนมต่างๆ ที่ปิดทองคำเปลวหลายอย่างตั้งรอบใน แล้วมีชามข้าวตั้งอยู่ริมจานที่วางซ่อมช้อนมีมากหลายที่รายไปรอบโต๊ะ ข้าวเช่นนั้นแลเห็นเป็นเม็ดข้าวเหมือนข้าวเหนียวแก้ว แต่สีเหลืองๆ เป็นมันย่อง ที่มีเม็ดจิสมิดโรยก็มี มีอะไรเป็นชิ้นๆ คล้ายฟักฉาบเครื่องจันอับเจ๊กอยู่ในนั้นก็มี ชิมดูมีรสหวานจัด มีรสน้ำมันเนยและกลิ่นกล้าจนกินไม่ได้ ไม่มีข้าวอย่างขาวๆ เลี้ยงเลย ต้องหันไปกินเป็ดกินไก่ทั้งนั้น ข้าวปายาสคงจะเป็นข้าวคล้ายๆ เช่นนี้ เห็นจะไม่ละเอียดเหมือนข้าวทิพย์ และไม่กรอบเหมือนกระยาสารท ตกลงเป็นข้าวทิพย์และกระยาสารทของเรานี้ก็เป็นอย่างไทย ทำสำหรับคนไทยกินอร่อย เป็นแต่ยืมชื่อของเก่ามาใช้เท่านั้น

ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ ในการพระราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่วงานมเนยและผลไม้ต่างๆ ให้พร้อมทุกอย่าง เป็นอันรวบรวมรสต่างๆ มาลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวจนเรียกกันในคำประกาศว่าอเนกรสปายาส สิ่งของที่ใช้ในเครื่องกวนนั้น เมื่อตรวจดูตามบัญชีจ่ายของ มีจำนวนคือ ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วแม่ตาย ถั่วราชมาษ อย่างละ ๓ ถัง ถั่วเหลือง ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน ถั่วทอง ถั่วเขียวอย่างละ ๔ ถัง ถั่วลิสง ๖ ถัง เมล็ดงา ๕ ถัง ผลเดือย ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน สาคูวิลาด ๒ ถัง สาคูลาน ๑ ถัง เมล็ดแตงอุลิด ๓ ถัง ข้าวโพด ๓๐๐๐ ดอก ข้าวฟ่าง ๒๐๐๐ รวง ข้าวเม่า ๕ ถัง เผือก มันเทศ อย่างละ ๓๐๐ ศีรษะ กระจับสด แห้วไทย อย่างละ ๓ ถัง ข้าวสารหอม ๒ ถัง ผลไม้แดง ๑๐ ทะนาน ผลบัว ผลมะกล่ำใหญ่อย่างละ ๓ ถัง น้ำนมโค ๑๐ ทะนาน เนย ๔ ทะนาน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยอย่างละ ๑๐ ทะนาน มะพร้าวแก่ ๕๕๐ ผล มะพร้าวอ่อน ๕๐๐ ผล ชะเอมเทศหนัก ๔ ชั่ง น้ำตาลกรวดหนัก ๒๕ ชั่ง น้ำตาลทรายหนัก ๕๐ ชั่ง น้ำตาลหม้อ ๓๐๐ หม้อ ข้าวตอกขนมปังจืดไม่มีกำหนด ผลไม้สดที่หาได้ คือทับทิม น้อยหน่า เงาะ ลางสาด ละมุด พลับสด สาลี่ แห้วจีน กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วย ส้มต่างๆ คือ ส้มเขียวหวาน ส้มมะแป้น ส้มซ่า ส้มเกลี้ยง ส้มตรังกานู ผลไม้แห้ง คือ ลิ้นจี่ ลำไย พุทราริ้ว พลับแห้ง อินทผลัม ผลไม้แช่อิ่ม คือ ผลชิด ผลสะท้อน ผลไม้กวน คือ ทุเรียนกวน สับปะรดกวน และข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม ชะเอมสด อ้อยแดง ของเหล่านี้ไม่มีกำหนดว่าเท่าไร แต่ครั้นเมื่อสอบถามตามที่ได้กวนจริงๆ ประสมส่วนอย่างไร ไปได้ความว่า ได้ใช้ถั่วต่างๆ อย่างละ ๒ ถัง คงเหลืออย่างละถังหนึ่งบ้างสองถังบ้าง งาใช้สามถัง คงเหลือสองถัง ผลไม้แดงใช้ ๕ ทะนาน เกลือ ๕ ทะนาน มะกล่ำใหญ่ได้ใช้แต่ ๕ ทะนานเท่านั้น เหลือถึง ๕๕ ทะนาน ผลเดือยกับผลบัวใช้อย่างละถัง เหลืออย่างละ ๒ ถัง ข้าวฟ่างข้าวโพดนี้ใช้อย่างละ ๒๐๐ ฝัก เหลือถึงพันเศษสองพันเศษ เมล็ดแตงอุลิตใช้ถังเดียว เหลือสองถัง นมนั้นไม่ได้ความว่าใช้อย่างไร แต่เนยแล้วโถน้ำวุ้นเดียวเป็นแน่ ซึ่งว่า ๔ ทะนานนั้นจะชั่งอย่างไรไม่ทราบ สาคูลานใช้หมด สาคูวิลาดเหลือถังหนึ่ง ชะเอมเทศจ่ายหนัก ๔ ชั่ง แต่ได้ใช้เล็กน้อย เผือก มันเทศจ่ายอย่างละ ๓๐๐ ใช้อย่างละยี่สิบสามสิบศีรษะเท่านั้น น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย น้ำตาลหม้อ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่เหล่านี้ ไม่ได้ความว่าใช้สิ้นสักเท่าใด แต่เห็นจำนวนจ่ายมากมายนัก ถ้าประมาณดูกับส่วนที่ลด ก็คงจะเหลือกว่าครึ่งตัว เพราะฉะนั้นการที่จะเอาส่วนแน่ของข้าวทิพย์นั้นไม่ได้ เจ้าพนักงานผู้กวนแก้ไขออดแอดไปว่าของเหลือก็ใช้ในการพระราชกุศลอื่นๆ ต่อไป แต่ที่จริงก็เห็นจะเป็นสีเหลืองไปเสียนั้นและโดยมาก วิธีที่จะระคนสิ่งของทั้งปวงนี้ให้เป็นผงสำหรับกวนนั้น คือของที่ควรจะหั่นฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ก็หั่นฝาน ที่ควรจะโขลกตำก็โขลกตำ ที่ควรจะเปียกจะหุง เช่น สาคูวิลาด สาคูลาน ผลเดือย ข้าวสารหอม ก็เปียกก็หุงเคล้าด้วยของทั้งปวง น้ำตาลสำหรับกวนมีชื่อต่างๆ คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อยสด น้ำอ้อยแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายนั้นก็ดูเป็นแต่สังเขป ที่ใช้จริงๆ เป็นพื้นนั้นก็น้ำตาลหม้ออย่างเดียว กะทิที่ใช้, ใช้คั้นด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน เป็นอันได้เจืออยู่ทั้งมะพร้าวอ่อนมะพร้าวแก่ ชะเอมเทศ ชะเอมสด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนมใช้ลงครกโขลกเจือน้ำคั้น น้ำที่ใช้นั้นใช้น้ำมนต์ ผลไม้ที่ควรจะคั้นน้ำเช่นทับทิมและส้มต่างๆ นั้นก็คั้นน้ำสำหรับใช้เจือเมื่อเวลากวน พร้อมกับเนยด้วย ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวนนั้นใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่าง เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นซึ่งเรียกว่าไฟฟ้า เมื่อตรวจดูเครื่องที่ใช้ในข้าวทิพย์ของเรา ซึ่งเห็นว่าเป็นเนื้อหนังอยู่นั้นก็คือเรื่องข้าวๆ และกะทิกับน้ำตาลเป็นขนมอย่างไทยๆ ที่เอาผลไม้ต่างๆ มาเจือนั้น ไม่ได้นึกหวังจะให้รสผลไม้นั้นรู้สึกเลย เป็นแต่สักว่ามีอยู่ในนั้น เรื่องนมเนยมีพอให้สมกับที่เป็นพิธี ที่แท้ก็ได้เจือกระทะละช้อนซุบ ๑ หรือสองช้อนเท่านั้น ไม่ได้เกินกว่านั้นเลย แต่กระนั้นอุปาทานของคนไทยๆ เรา ที่รู้ว่าเจือเนยด้วย ไม่เข้าใจชัดว่า เจือสำหรับออกชื่อให้ดังครึ บางคนกินไม่ได้เลยร้องว่าเหม็นเนย ลางคนก็ทักว่าปีนี้เหม็นเนยไป มีบ่นกันแทบทุกปี แต่ที่แท้นั้นเหม็นชื่อเนยจริงๆ ไม่มีตัวเนยที่สำหรับพอจะให้เหม็นได้เลย นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นความเกลียดเนยของไทยได้ ถ้ากวนอย่างแบบอินเดียจริงๆ แล้ว เป็นต้องเหลือทั้งแปดกระทะ ถึงจะปั้นลูกกลอนกลืนตามแบบคนที่เกลียดเนยที่มีเป็นอันมาก ก็คงถึงกระท้อนกลับเป็นแน่

การกวนข้าวทิพย์ ถึงว่าไม่ได้ออกชื่อในหนังสือเก่าๆ ชัดเจน ก็คงจะได้กวนมาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ในรัชกาลที่ ๑ นั้นตลอดมา ใช้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น

ตามที่ถือกันว่า ผู้ซึ่งสำหรับกวนข้าวทิพย์นั้นต้องเป็นสาวพรหมจารี คือที่ยังไม่มีสามีนั้นประการหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือหญิงซึ่งยังไม่มีระดูกล่าวว่าเป็นพรหมจารีแท้ แต่การที่ถืออย่างหลังนี้ อยู่ข้างจะมาจากซึมซาบ ก็ถ้าจะคิดตามคำที่ว่าพรหมจารี ซึ่งตามสำนวนในพุทธศาสนา คือผู้ที่ประพฤติอย่างพรหม ไม่บริโภคกามคุณ ผู้ซึ่งยังไม่มีระดูปราศจากเดียงสา จะถือว่าประพฤติอย่างพรหมอย่างไรได้ เพราะไม่ได้คิดจะละเว้น เป็นแต่ยังไม่ถึงกำหนด ถ้าจะใช้พรหมจารีให้แท้แล้วดูเหมือนจะต้องใช้ผู้ที่บริโภคกามคุณได้ แต่หากมาละเว้นเสียเพื่อจะประพฤติให้เหมือนพรหม แต่คำว่าพรหมจารีที่มีมาในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่ามหาภารตะนั้น ดูต่างกันกับพรหมจารีที่มีมาในพระพุทธศาสนา เขากล่าวปริยายไว้ในเรื่องจำแนกพวกผู้ประพฤติตน ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งเรียกว่าคฤหัสถ์ จำพวกหนึ่งเรียกว่าภิกษุ จำพวกหนึ่งเรียกว่าพรหมจารี จำพวกหนึ่งเรียกว่าวันปรัษฏ์ ในจำพวกที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น จำจะต้องประพฤติ คือเวลาที่อยู่ด้วยอาจารย์ต้องรับคำสั่งสอน และทำตามซึ่งอาจารย์จะบังคับให้ทำ และจำจะต้องรับการงานของอาจารย์ ไม่ต้องรอคำสั่งอาจารย์ก่อน จำจะต้องตื่นก่อนนอนภายหลังอาจารย์ จำจะต้องเป็นผู้อ่อนน้อมและต้องอดกลั้นความปรารถนาทั้งปวงให้อยู่ในบังคับตัว และต้องอดกลั้นคือตั้งอยู่ในขันตี เป็นผู้มีพยายามกล้า และมีความเพียรที่จะเล่าเรียน ต่อเป็นผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ จึงเป็นผู้ควรที่จะคิดว่าจะสำเร็จได้สมหมาย ความประพฤติของพรหมจารีที่กล่าวมานั้น ดังนี้ แต่ความมุ่งหมายของพรหมจารีที่มุ่งจะได้นั้นคือได้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนเวท ซึ่งเป็นตัวคัมภีร์เดิมที่พระพรหมหยิบออกจากกองเพลิงเป็นต้น และเวทางค์ซึ่งเป็นวิชาประกอบกันกับเวท ๖ ประการ มีวิชาโหรเป็นต้น และศาสตระคือกฎหมายแบบอย่างความประพฤติสำหรับตัดสินผิดและชอบ มีมนูสารศาสตร์เป็นต้น และมนตร์ คือถ้อยคำที่สวดเสกอ้อนวอนต่อพระเป็นเจ้าหรือคำอธิษฐาน วิชาทั้งปวงนี้เป็นพื้นที่สำหรับพวกพรหมจารีจะเล่าเรียน ถ้าอาจารย์นั้นมีวิชาวิเศษยิ่งขึ้นไป คือวิชาสัญชีวะชุบชีวิตที่ตายให้กลับเป็นขึ้นได้เป็นต้น เมื่ออยู่ไปกับอาจารย์ อาจารย์ชอบใจในการปฏิบัติที่ตัวได้ทำเมื่อใด ก็ประสิทธิ์วิชานั้นให้ นับว่าเป็นจบพรหมจารีที่ตนได้ตั้งความเพียร ในเวลาเมื่อตั้งอยู่ในพรหมจารีนั้น ก็ย่อมตั้งความเพียรในการที่จะทรมานกายเพ่งต่อฌานสมาบัติไปด้วย ผู้ที่ประพฤติพรหมจารีเช่นนั้น ย่อมมีเวลาจะละความเพียรมามีภรรยา หรือมีภรรยาไปด้วย ในเวลาตั้งความเพียรไปเช่นนี้ ดูคำที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น ไม่ประสงค์จะแปลความว่าละการบริโภคกามเหมือนอย่างพรหมจารีในพระพุทธศาสนา ประสงค์เอาความเพียรที่จะให้ได้วิชา และจะให้บรรลุฌานสมาบัติซึ่งจะทำให้เป็นพรหมเป็นที่ตั้งพรหมจารีมีเป็นสองอย่างอยู่เช่นนี้ พรหมจารีที่ใช้กวนข้าวทิพย์นี้ จะหมายเอาพรหมจารีพวกใดก็ไม่ทราบ แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า จะคิดลึกเกินไปหรือประการใดสงสัยอยู่ เห็นว่าคำที่เรียกผู้กวนข้าวทิพย์ว่าสาวพรหมจารีนี้ เดิมจะเป็นพราหมณีดอกกระมัง ข้อที่ถือตามซึมซาบกันอยู่ต่อไปอีกว่านางพรหมจารีนั้นต้องเป็นคนที่ยังไม่มีระดู จึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้นเล่า ถ้าจะคิดไปตามทางที่ว่าพรหมจารีเป็นพรหมณีแล้ว ก็จะเคยใช้นางพราหมณีที่ยังไม่มีสามี ธรรมดาพราหมณีที่มีระดูแล้ว ก็มีสามีทั้งสิ้น หรือถ้าไม่มีสามีก็คงเป็นคนเสียคนแล้ว จะมาใช้ในการมงคลไม่ควร จึงต้องเป็นการเลือกฟั้นเอานางพราหมณีซึ่งยังไม่มีระดูที่เป็นคนบริสุทธิ์มากวน การที่เราพลอยถือไปว่า ต่อเด็กที่ยังไม่มีระดูจึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้น จะเป็นด้วยฟังแว่วๆ ในเรื่องเขาเลือกนางพราหมณี แต่ไม่รู้มูลเหตุและลัทธิศาสนาพราหมณ์จึงได้เข้าใจกันเป็นการซึบซาบรวมๆ สืบมา ก็ถ้าหากเมื่อว่าการกวนข้าวทิพย์ เป็นการจำเป็นจะต้องใช้นางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีเช่นว่ามาแล้วนี้ พราหมณ์ในเมืองไทยเรานี้มีน้อย จะหาธิดาพราหมณ์ซึ่งยังไม่มีกำหนดอาวาหะวิวาหะมงคลได้ยาก จะมีเวลาขัดข้องในการที่จะทำพระราชพิธีขึ้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งจึงได้ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีธิดาพราหมณ์จะกวนข้าวทิพย์แล้ว เอาลูกเจ้านายที่นับว่าเป็นขัตติยชาติสูงกว่าตระกูลพราหมณ์มากวนจะไม่ได้หรือ ท่านพราหมณ์ผู้จะทำพิธีนั้น ก็ค่อนจะอยู่ข้างเรียวลงด้วย จะหาธิดาพราหมณ์ก็ไม่ได้ด้วย จึงได้ตกลงเป็นว่ายอมใช้ได้ตามกระแสพระราชดำริ การกวนข้าวทิพย์จึงได้ยกเป็นหน้าที่ของลูกเจ้านายกวน แต่เลือกเอาลูกเจ้านายเป็นพรหมจารี คือที่ไม่มีสามีเป็นพรหมจารีตามอย่างพระพุทธศาสนา ที่ทรงพระเยาว์ให้ได้ขนาดกับนางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีที่เคยกวนมาแต่ก่อนนั้นด้วย จึงได้เรียกว่าสาวพรหมจารี และวิธีที่เลือกเด็กอายุอ่อนที่กลายเป็นซึมซาบไป จึงได้ยังเหลือซึมซาบอยู่จนบัดนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:06:18 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #37 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:07:51 »


พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ การกวนข้าวทิพย์ละเว้นไป คงมีแต่ยาคูเสมอมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กวนข้าวทิพย์พึ่งมาเกิดขึ้นใหม่อีกในรัชกาลที่ ๔ การที่เปลี่ยนแปลงในวิธีที่ทำก็คงจะมีหลายอย่าง ที่จับได้ชัดเช่นขนมปังดังนี้ แต่ก่อนคงไม่มี แต่ในครั้งนั้นใช้หม่อมเจ้า ลูกเจ้านายต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม ไม่เฉพาะแต่ที่ยังทรงพระเยาว์ กวนเรื่อยไปจนเป็นสาวใหญ่ๆ เช่น หม่อมเจ้าทับทรวงในพระองค์เจ้าเกยูรเป็นต้นก็มี ทรงพระปรารภจะให้พระเจ้าลูกเธอกวนอยู่ไม่ขาด แต่ยังทรงพระเจริญไม่พอ ก็พอเสด็จสวรรคตเสีย ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๔ แต่ได้มีพระเจ้าน้องนางเธอและพระเจ้าลูกเธอกวนสองคราว การที่ตกแต่งกันอยู่ข้างใหญ่โต และที่ที่กวนก็ไม่เป็นปฏิรูปเทศจึงไม่ได้เป็นการติดต่อกันไปทุกปี กลับลงเป็นอย่างเก่า ครั้นนานมาหม่อมเจ้าที่ทรงพระเยาว์มีน้อย หม่อมเจ้าที่ขึ้นบัญชีใหม่ชั้นหลังยังไม่ทรงพระเจริญ ด้วยต้องหาในระหว่างเกศากันต์แล้วแต่ยังไม่ทันเป็นสาวใหญ่ ก็หายากขึ้นทุกปี ลงต้องมีหม่อมราชวงศ์เจือปน นานเข้าก็เรื่อยลงไปจนหม่อมหลวง เมื่อชั้นหลังๆ ลงมานี้ ถึงคนสามัญเข้าปลอมใช้บ้างก็มี แต่ต่อไปภายหน้า ถ้าเจ้านายชั้นหลังทรงพระเจริญแล้ว ก็คงจะไม่ต้องมีคนอื่นเจือปน การแต่งตัวฟังสวดของพวกสาวพรหมจารีนี้ แต่ก่อนมาก็เห็นจะนุ่งขาวทั้งสามวัน แต่ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งเครื่องสีสองวัน ในวันที่แต่งเครื่องสีนั้นนุ่งจีบ แต่วันกวนข้าวทิพย์นุ่งขาว เดิมก็ใช้นุ่งจีบ แต่เจ้านายที่ต้องกวนข้าวทิพย์มักเป็นเด็กๆ ไม่รักษากิริยาให้เรียบร้อย ผ้านั้นบางและแข็งเดินปลิวกระจุยกระจายไป จึงโปรดให้นุ่งโจงกระเบนเสีย ว่าที่จริงดูก็ควรจะนุ่งขาวทั้งสามวัน ตามธรรมเนียมที่ฟังสวดทั้งปวงใช้นุ่งขาวเป็นพื้น ยกเสียแต่งานบ่าวสาว เพราะเห็นว่าแต่งตัวนุ่งขาวไม่มีสีสัน ทำให้ผู้ที่แต่งนั้นเสียสวยไป การที่ฟังสวดพิธีสารทนุ่งห่มสีนี้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องจะให้สวยนั้นเอง ใช้สวมสังวาลสายสร้อยผูกของข้อพระหัตถ์พระบาท เว้นแต่ที่สาวโตแล้วก็ใช้แต่สังวาลและสายสร้อย แต่พระองค์เจ้ากวนในชั้นหลังนี้ ทรงผ้าเยียรบับ ทรงสะพักตาดปัก ที่ยังทรงพระเยาว์ก็ใช้เครื่องประดับเต็มที่ แต่ที่ทรงพระเจริญแล้วไม่ได้ใช้พระสังวาล แต่งอย่างไปกฐิน ปีที่พระองค์เจ้ากวนนั้นคราวใด ก็เป็นการครึกครื้นใหญ่คนดูหลายร้อยคน แต่บางปีที่มีแต่การพระราชพิธีไม่มีกวนข้าวทิพย์ก็มีบ้าง เหมือนอย่างเวลาพระบรมศพอยู่บนพระมหาปราสาทเป็นต้น

ส่วนในการพระราชพิธีที่พราหมณ์ตั้งนั้น ตั้งตามแบบ เหมือนพิธีอื่นๆ ที่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีแปลกประหลาดอันใดเลย การพิธีสงฆ์พระแท่นมณฑลจัดคล้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ยกพระบรมธาตุและพระพุทธรูปต่างๆ เสียทั้งสิ้น คงอยู่แต่พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๕ ไม่มีเทียนชัย เพราะไม่ได้สวดภาณวาร ที่พระแท่นสำหรับพระสงฆ์สวดเป็นที่ตั้งสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะใช้ในการกวนข้าวทิพย์ พระสงฆ์ที่สวดมนต์เปลี่ยนกันทั้งสามวัน คือใช้พระราชาคณะ พระครูเจ้าวัด พระครูนิตยภัตร พระมหาดเล็กบางองค์ ซึ่งได้รับพุ่มในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ได้บิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง ปันกันเป็นสามพวก วันแรกคณะใต้ วันกลางคณะเหนือ วันหลังคณะกลาง และคณะธรรมยุติกา พระสงฆ์มากบ้างน้อยบ้างขึ้นๆ ลงๆ ตามที่มีตัว ไม่กำหนดแน่ได้ แต่คงไม่ต่ำวันละ ๓๐ ไม่เกินวัน ๔๐ รูป ตั้งสวดเริ่มพระราชพิธีในเวลาบ่ายวันแรมสิบสามค่ำ สาวพรหมจารีที่มานั่งฟังสวดนั่งในฉาก มีสายสิญจน์โยงมงคลเหมือนอย่างเจ้านายโสกันต์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว อาลักษณ์อ่านคำประกาศ คำประกาศเดิมเป็นคำร้อยแก้วคล้องจองกันไม่มีกำหนด แต่ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหาร[[] แต่งขึ้นเป็นคำร่าย ได้ใช้อยู่ทุกวันนี้ เริ่มคำประกาศนั้น รับพระบรมราชโองการประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ และเทพยดาซึ่งรักษาพระนครและในสถานที่ต่างๆ ในประกาศนี้ออกพระนามย่ออย่างกลาง ทรงพระราชดำริว่า การกวนข้าวทิพย์เป็นพระราชพิธีเคยทำมาแต่โบราณ ทั้งเป็นเวลาที่ได้ถวายทานยาคูในเวลาที่ข้าวเป็นน้ำนม ซึ่งเกิดมีขึ้นแต่ปฐมรัชกาล การกวนข้าวปายาสนั้น เป็นพิธีเพื่อจะให้เกิดสวัสดิมงคลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบรรดาที่อยู่ในกรุงเทพฯ รับพระราชทานระงับโรคภัยอันตรายต่างๆ ส่วนยาคูนั้น นับว่าเป็นเหตุที่จะป้องกันข้าวในนามิให้มีอันตราย ด้วยมีนิทานกล่าวมาว่าพระโกณฑัญญะเมื่อเป็นกุฎุมพีจุลกาฬ ได้ถวายยาคูแก่พระสงฆ์สาวกพระพุทธวิปัสสี ข้าวในนาก็งามบริบูรณ์ขึ้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะทำ จึงให้นำข้าวรวงซึ่งเป็นน้ำนมมาจ่ายแจกไปให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และข้าราชการ ทำยาคูและโถฟักเหลืองเป็นภาชนะที่รอง ประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ เป็นประณีตทานถวายพระสงฆ์ เสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระสงฆ์สามวัน จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ขอให้มีจิตมั่นด้วยเมตตา และยึดเอาคุณพระรัตนตรัยทั้งสามเป็นที่พึ่ง และด้วยอำนาจพระรัตนตรัยอันเป็นนิรัติศัยบุญเขต ขอให้เกิดสวัสดิมงคลและระงับโรคภัยแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานข้าวปายาสนี้ และขอให้เทพยดาจงนำสุรามฤตย์มาเจือโปรยปรายในอเนกรสปายาส ให้คุ้มกันสรรพอันตรายทุกประการ ต่อไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอำนาจพระมหากรุณาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีแก่ประชาชนทั้งปวง และอำนาจพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญในเวลานี้ จงให้มีพระชนม์ยืนนานปราศจากพระโรค ให้ศัตรูเป็นที่เกรงขาม และขอให้ฝนตกเติมเพียงพองามในเวลาที่ข้าวเป็นรวง และผลไม้ต่างๆ เมื่อถึงฤดูก็ให้ออกบริบูรณ์ทั่วทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยอำนาจบุญฤทธิ์พระเจ้าแผ่นดิน ผู้บำรุงข้าราชการและประชาราษฎร คำสัตย์ซึ่งได้กล่าวนี้ ขอให้สำเร็จเป็นสวัสดีเทอญ

เมื่ออ่านประกาศแล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ วันแรกสวดจุลราชปริต วันกลางสวดมหาราชปริต วันหลังสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและมหาสมัยสูตร รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ วันแรกเป็นโถยาคูข้าราชการ วันที่ ๒ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า วันที่ ๓ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

วิธีที่ทำโถยาคูกัน แต่ก่อนๆ มาทราบว่าใช้ฟักเหลืองกลึงเป็นรูปต่างๆ ประดับด้วยดอกไม้ฟักทองมะละกอย้อมสีเครื่องสด มีกระบะหรือถาดรองใบหนึ่ง ที่ใช้เป็นโต๊ะไม้รองบ้างก็มีแต่อย่างย่อมๆ ชมกันในขบวนฝีมือช่างแกะฟักทองมะละกอเลียนดอกไม้สด แต่ที่ทำนั้นไม่ต้องเหมือนดอกไม้จริง จะให้งามขึ้นไปกว่ากี่ร้อยเท่าก็ได้ ถ้ายิ่งงามขึ้นไปเท่าใดยิ่งดี แบบเดียวกันกับช่างเขียนไม่ต้องเขียนให้เหมือนจริง การที่ทำนั้นต้องทำในเวลากลางคืน อยู่ข้างจะเป็นการเอะอะประกวดประขันกันมาก แต่เจ้านายฝ่ายในท่านไม่โปรดดอกไม้ฟักทองมะละกอ ด้วยเห็นไม่เหมือนจริง และไม่มีกลิ่นหอม ทั้งไม่ได้มีฝีพระหัตถ์จัดทำอะไรด้วยในโถยาคูนั้นเลย จึงเป็นธรรมเนียม ถ้าพระองค์ใดถูกโถต้องยกเข้ามาถวายแต่เช้า ถอนดอกไม้ฟักทองมะละกอออกเสียหมด เอาดอกไม้สดเสียบไม้กลัดปักประดับ แบบที่สำหรับประดับนั้นดูไม่ใคร่จะแปลกกันนัก ข้าพเจ้าเคยเล่นดอกไม้ฟักทองมะละกอที่ถอนออก และได้เคยช่วยประดับดอกไม้สดเสมอทุกปี อยู่ข้างจะชำนาญมาก ยอดโถนั้นดูเป็นจำเป็นจะต้องใช้ดอกมณฑามัดเป็นช่อสี่ดอก เป็นยอดดอกหนึ่ง รองลงมาสามดอก โดยมากกว่าดอกอื่นๆ ถ้าผิดจากดอกมณฑาก็เป็นดอกขจรซ้อนบ้าง ดอกกุหลาบบ้าง มัดเป็นช่อใหญ่เหมือนกัน รองลงมาก็เป็นดอกจำปาดอกจำปีงอกลีบปักเรียงเป็นวงรอบ แล้วจึงถึงดอกกุหลาบ เป็นท้องไม้อีกรอบหนึ่ง แล้วดอกจำปาดอกจำปีเป็นขอบนอกอีกสองรอบ เป็นหมดส่วนฝา ในส่วนตัวโถนั้นก็ประดับเป็นรอบๆ เช่นนี้เหมือนกัน ตามแต่พระองค์ใดจะโปรดสลับสีดอกไม้อย่างไร แปลกกันไปต่างๆ แต่คงอยู่ในใช้กุหลาบ จำปี จำปา มณฑา สี่อย่างนี้เป็นพื้นทั่วๆ ไป ถ้าวันโถข้างในแล้วก็เป็นดอกไม้สดครึดไปทั้งสิ้น ถ้าวันโถข้างหน้าแล้วหาดอกไม้สดสักดอกหนึ่งก็ไม่มี เป็นดอกไม้ฟักทองมะละกอทั้งสิ้น ข้างฝ่ายผู้ชายก็ค่อนว่าโถเจ้านายผู้หญิงว่าไม่รู้จักงาม เอาแต่ดอกไม้เข้าพอก ข้างผู้หญิงก็ค่อนว่าผู้ชายว่าไม่เห็นเป็นดอกไม้ดอกไหล้อันใด เป็นแต่ฟักทองมะละกอ เหม็นเขียวเหม็นบูดไปทั้งโถ เถียงกันเช่นนี้ดูมีอยู่เสมอไม่ขาด ที่จริงประดับดอกไม้ของเจ้านายข้างในก็งามไปอย่างหนึ่ง เสียแต่เป็นแบบเดียวไม่ใคร่จะยักย้ายและเป็นวงๆ แน่นทึบกันไป ไม่มีฝีมือช่างในนั้นเลย ถ้าจะประดับเหมือนอย่างเช่นเจ้านายเดี๋ยวนี้ จัดจานดอกไม้อย่างใหม่ๆ สอดสีสอดสันให้มากก็จะงามพอใช้ ส่วนของผู้ชายนั้นเล่า ที่จริงก็เป็นฝีมือช่างที่ต้องใช้มีดเล็กมีดน้อยแกะซอกแซกต่างๆ ดอกไม้แต่ละดอกก็ต้องแกะกันช้านาน เป็นที่เทียบฝีมือดีฝีมือชั่วกันได้ เสียแต่ไม่ตั้งใจจะทำให้เหมือนดอกไม้จริงๆ เลย มักจะไปเข้าเรื่องดอกไม้จีนเสียโดยมาก ถ้าผู้ที่ดูไม่ใช่คนที่เรียกว่า “เป็น” คือที่เคยทำได้หรือที่เคยเห็นมากๆ แลดูก็ไม่น่าพิศวงงงงวยอันใด ให้เนือยๆ ไป ต่อฟังที่ท่านเป็นๆ ติชมกันจึงได้เห็นและเข้าใจว่าดีอย่างไรชั่วอย่างไร การแต่งโถมาแผลงขึ้นใหม่ในโถของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใช้ดอกไม้ฝรั่ง ที่เป็นคราวกำลังท่านเล่นอยู่หมู่หนึ่ง คือดอกรักเร่ ดอกเหนียงนกกระทุง และดอกเบญจมาศ กุหลาบฝรั่งต่างๆ ทั้งอย่างดอกเล็กๆ ประดับทั้งดอกทั้งใบ สลับกันไปไม่ไว้จังหวะ เป็นดอกไม้ใบไม้ทึบทั้งโถแปลกมาใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดชมเชยมาก ได้พระราชทานรางวัลด้วย แต่ไม่มีผู้ใดอาจทำตามอย่างนั้น คงมีอยู่แต่โถเดียว โถนอกนั้นเล่นเพิ่มเติมทางเครื่องตั้ง เป็นชั้วเป็นชั้น มีของหวานจัดลงจานตั้งบ้าง เครื่องไทยทานต่างๆ ประดับประดาบ้าง บางทีก็มีงามๆ แต่ยังไม่โตถึงโถทุกวันนี้ พอยกเข้าประเคนข้างสำรับได้ เป็นบางโถทีเดียวจึงจะต้องยกเข้าไปแต่เฉพาะโถ แต่ในปัจจุบันนี้ มีความคิดยักย้ายเปลี่ยนแปลงออกไปทั้งตัวโถและเครื่องตกแต่ง สนุกสนานงดงามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จนถึงใช้เครื่องกลเครื่องไกบ้างก็มี เปลี่ยนรูปทุกปีไม่ได้ซ้ำ เป็นกระจาดใหญ่อย่างเล็กๆ ดูสนุกสนานน่าดูมาก แต่โตๆ ขึ้นไป จนการที่จะยกเข้าไปประเคนพร้อมกับสำรับนั้นเป็นไม่ต้องคิดถึง ได้แต่ตั้งเรียงเป็นแถวอยู่ตรงหน้าพระเท่านั้น ของเจ้านายข้างในก็ไม่ใช้ดอกไม้เหมือนอย่างแต่ก่อน ไปเล่นท่วงทีประดับประดาแข่งกันกับข้างหน้าดูก็คล้ายๆ กันทั้งสามวัน ถ้าผู้ใดถือแบบเก่าใช้แต่โถรองถาดหรือรองกระบะ ด้วยถือว่าเป็นแบบอย่าง มีทิฐิมานะไม่ยอมเปลี่ยนใหม่ และเสียดายเงิน ถึงจะประดับประดาตกแต่งงดงามเท่าใด ก็คงลงไปเข้าพวกพระยาพระกะร่องกะแร่งที่เกณฑ์เหลือเผื่อขาด ไม่ใคร่จะได้ประเคนพระที่มาฉัน

การที่จะจำหน่ายโถยาคูนั้น เจ้าพนักงานจัดโถของผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ ที่ไม่ดีขึ้นเป็นข้าวพระ ตั้งไว้ที่หนึ่ง ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นเกียรติยศใหญ่ ที่ได้เป็นส่วนของพระพุทธเจ้า แต่ที่แท้แปลว่าเลวแต่เกรงใจ จึงเอาไปตั้งข้าวพระแล้วจะได้ยกเอาไปให้พระที่เลวๆ หรือที่มานั้นแล้วและที่จะมาฉันต่อไปเป็นได้ซ้ำอีกโถหนึ่ง ส่วนโถที่เหลืออยู่นั้น สังฆการีมีธงฉลากชื่อพระไว้คอยถวาย เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โถทรงปักฉลากชื่อพระสงฆ์ ตามแต่จะโปรดพระราชทานองค์ใด โถยาคูที่เกณฑ์มานั้นคงจะเหลือพระสงฆ์อยู่ในวันละ ๓ โถ ๔ โถ โดยมาก จึงทรงเลือกพระราชทานพระองค์เจ้าพระ พระองค์เจ้าเณรที่ไม่ได้มาฉัน บางทีก็ซ้ำในพระราชาคณะผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่วันที่มาฉันบ้าง ตามแต่จะมีโถเหลือมากเหลือน้อย สิ่งซึ่งต้องห้ามในโถยาคูนี้ คือห้ามมิให้ใช้โถแก้วแทนโถฟักเหลือง ซึ่งเคยไม่โปรดมาทุกคราว ที่มีเครื่องตกแต่งตามแต่จะตกแต่งอย่างไร สุดแต่ให้มีโถฟักเหลืองเป็นเครื่องบรรจุยาคูอยู่แล้วเป็นใช้ได้ บางทีใช้ฟักทั้งผลซึ่งมิได้ปอกเปลือกและมิได้ตกแต่งอันใดด้วยฝีมือช่าง ที่ความประสงค์ของผู้ที่ทำนั้น ก็ประสงค์จะอวดที่หาฟักโถนั้นได้ใหญ่ดี มีตัวอย่างเล่ามาว่า เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีหนึ่งมีฟักเหลืองเข้ามาแต่เมืองจีน ผลใหญ่หลายๆ กำ ข้าราชการที่เป็นคนค้าสำเภาซื้อมาทำโถยาคูหลายคนด้วยกัน ไม่ได้ตกแต่งอันใดมากนัก และไม่ได้ปอกเปลือก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดปรานเชยชม ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ มีผู้หาฟักเหลืองผลใหญ่ได้ ทำเข้ามาเช่นนั้นบ้างก็ไม่โปรด รับสั่งว่าเป็นการมักง่าย การเรื่องที่จะเลี้ยงยาคูพระสงฆ์ทำไมจึงต้องบรรจุโถฟักเหลืองนี้คงจะไม่มีมูลเหตุอย่างอื่นนอกจากที่จะให้เป็นของประณีตของงาม

สวดมนต์วันที่สาม ไม่ได้ประโคมพระขึ้น รอเวลากวนข้าวทิพย์ มีอ่านคำประกาศและพระสงฆ์สวดมนต์เหมือนอย่างสองคืนมาแล้ว สวดมนต์จบแล้วพระสงฆ์ก็อติเรกถวายพระพรลากลับไป ไม่ได้มีประโคมเหมือนกัน แล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมสาวพรหมจารีทั้งปวง แต่ที่ไม่ได้เป็นหม่อมเจ้าพระราชทานน้ำด้วยพระเต้า แล้วท้าวนางก็นำออกไปที่โรงพิธี โรงซึ่งทำขึ้นสำหรับกวนข้าวทิพย์แท้นั้นคือ หอนิเพทพิทยาทุกวันนี้ พระราชทานชื่อว่าหอราชพิธีกรรม แต่ภายหลังเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ และเป็นที่ใกล้หอธรรมสังเวช ซึ่งเป็นที่ไว้พระศพ จึงได้ปลูกโรงขึ้นใหม่ตรงหน้าพระมหาปราสาทลงไป ครั้นเมื่อที่นั้นทำเป็นโรงราชยาน ก็ใช้โรงราชยานนั้นเป็นโรงพิธี เมื่อย้ายพระราชพิธีไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมคราวหนึ่งนั้น เลิกกวนข้าวทิพย์ แต่ในครั้งนี้ทำพระราชพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ปลูกโรงกวนข้าวทิพย์ตรงท้องพระโรงหลังขวางออกไป การที่ตกแต่งโรงในพระราชพิธีนั้น คือก่อเตากระทะสิบเตา เรียงตามยาวเป็นแถวกัน ๘ เตา เป็นที่กวนข้าวทิพย์ อยู่ด้านสกัดสองเตาเป็นที่กวนกระยาสารทเครื่องต้น หน้าเตาทั้งแปดนั้นตั้งม้าวางโต๊ะตะลุ่มถุงเครื่องที่จะกวน ข้างหลังเตาเข้าไปยกพื้นพอต่ำกว่าปากกระทะหน่อยหนึ่ง เป็นที่สำหรับสาวพรหมจารีนั่งกวนกระทะละคู่ ตามเสาแขวนหิ้งตั้งเทวรูป มีธูปเทียนดอกไม้บูชาตามทิศ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องออกไปจุดเทียนบูชาเทวดานี้ ที่ต้นแถวตั้งเครื่องบูชาพานถมถ้วยแก้วอย่างเครื่องทองน้อย เป็นของวิเศษ บูชาใครไม่ทราบ เห็นจะเป็นครูปัธยาย มีขวดน้ำส้มนมเนยตั้งอยู่ที่นั้นด้วย เป็นหน้าที่ท้าวอินทร์สุริยาและท้าววิเศษปลัดเทียบระดมมาช่วยกันทุกโรง ผู้ซึ่งทำการกวนข้าวทิพย์ทั้งปวงสวมมงคลทั่วกัน ครั้นเมื่อสาวพรหมจารีขึ้นนั่งประจำที่แล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงรินน้ำในพระมหาสังข์ลงในกระทะ แล้วทรงเจิมพายที่พาดอยู่ปากกระทะ กระทะละสองพายด้วยยันต์มหาอุณาโลมและเครื่องหมายสามทุกเล่มพาย แล้วทรงรินน้ำในพระเต้าศิลาจารึกอักษรและพระเต้าเทวบิฐต่อไปทั่วทุกกระทะ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอทรงรินน้ำส้ม และเติมเนยตามไปจนตลอดทั้งแปดกระทะเสร็จแล้ว พวกท้าวปลัดเทียบวิเศษซึ่งประจำกระทะจึงได้เทถุงเครื่องที่จะกวนลงในกระทะ ซึ่งมีกะทิและน้ำตาลเคี่ยวได้ที่แล้ว สาวพรหมจารีจับพายลงมือกวน ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหรี พระมหาราชครูพิธีรดน้ำสังข์ทุกกระทะแล้วก็เสด็จขึ้น พอเสด็จขึ้น สาวพรหมจารีก็เป็นอันเลิกกวนกลับเข้าในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นให้ฝีพายมากวน ประโคมพิณพาทย์จนสุกเสร็จ กระยาสารทอีกสองกระทะก็กวนพร้อมกัน

บรรดาผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานข้าวทิพย์ก่อนนั้น คือฝีพายผู้กวนมีอำนาจที่จะควักไปได้คนหนึ่งเต็มใบพายที่จะคอนไปได้ และเวลาสุกแล้วจัดมาตั้งเครื่องในเวลาค่ำก่อน และบรรจุเตียบสำริดขนาดใหญ่ไปตั้งบนเตียงพระมณฑล ๔ เตียบ สำหรับเป็นเครื่องต้นและจัดลงอ่างหยกสำหรับตั้งหน้าพระสยามเทวาธิราชอ่างหนึ่ง เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระ โปรดยกเตียบบนพระแท่นมณฑลลงมาจัดข้าวทิพย์ประเคนพระสงฆ์ฉัน แล้วจึงได้แจกข้าวทิพย์นั้น พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในและพระสงฆ์ มากน้อยตามบรรดาศักดิ์ ข้าวทิพย์ที่แจกนั้นมีห่อเป็นสามขนาด ขนาดใหญ่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ขนาดรองลงมาสำหรับข้าราชการ ขนาดเล็กสำหรับข้าราชการชั้นต่ำๆ ลงไป ที่ออฟฟิศต่างๆ จ่ายรวมไปมากๆ ก็มี พระสงฆ์ที่เคยได้รับพระราชทานข้าวทิพย์อยู่แต่ก่อนนั้น คือเจ้าพระ ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ตลอดจนพระพิธีกรรม พระปริตร พระอนุจร ได้มาเดิมแต่วัดพระเชตุพนทั่วทั้งวัด ครั้นภายหลังในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานวัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ์อีกสองวัด ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เกิดวัดราชบพิธ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดเทพศิรินทราวาส วัดปรมัยยิกาวาสขึ้นอีก และมีห่อทรงบาตรทรงประเคนบ้าง

อนึ่งในวันเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล แต่พระสงฆ์ซึ่งฉันในพระราชพิธีสารทมาก จึงได้แบ่งพระสงฆ์ซึ่งจะมาสดับปกรณ์กาลานุกาลนั้น ให้ได้รับข้าวกระทงจัดตั้งบนโต๊ะลาว มีผ้าเช็ดปากแดง ผ้าเช็ดหน้าขาว ทำเป็นธงปักยอดฝาชี ให้เข้าเรื่องข้าวกรูซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ของที่สดับปกรณ์นั้นก็ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่งตามเคย มีกาน้ำซึ่งกรอกน้ำด้วยเสร็จใบหนึ่ง ร่ม รองเท้า ในการที่เริ่มทำขึ้นนั้นคือพระสงฆ์ฉันโถยาคูนั้นเป็นเวลาฉันเช้า เมื่อพระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีกลับแล้ว จึงได้สดับปกรณ์ทรงประเคนข้าวกระทงกล่องข้าวปัดและกาน้ำ ร่ม รองเท้า เพื่อจะให้รับไปฉันเพลที่วัดหรือในพระบรมมหาราชวังแห่งใดแห่งหนึ่งตามอัธยาศัย แต่ครั้นเวลาล่าลงมาเป็นเลี้ยงพระสาย ก็กลายเป็นต้องส่งข้าวกระทงนั้นไปถวายพระฉันเสียก่อน แต่กาน้ำซึ่งกรอกน้ำแล้วนั้นไม่ได้ถวายด้วย พระต้องไปหาน้ำฉันเอาเอง กาน้ำยกมาไว้ประเคนพร้อมกับร่ม รองเท้า อยู่ข้างจะโคม ถ้าถูกพระสงฆ์ที่ไม่เคยมาและชาๆ อยู่ด้วย รับกาน้ำไปแล้วถือเอียงคว่ำหกเปื้อนผ้าผ่อนบ่อยๆ แต่พระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีทั้งสามวันนั้น ได้ผ้าชุบอาบองค์ละผืนอย่างพระราชพิธีใหญ่ทั้งปวง

ในการพระราชพิธีสารทนี้ เป็นกำหนดทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์อีกครั้งหนึ่งทั้งสามวัน ของทรงบาตรมีวิเศษขึ้น คือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์นั้นได้ทรงวันเดียวแต่วันหลังกระยาสารทเป็นขนมตามฤดู ทำนองก็จะมาจากข้าวปายาส แต่จะให้อร่อยถูกปากไทยเท่านั้น

เมื่อทรงบาตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระ ในหอพระนั้นมีกระทงข้าวกรูตั้งบนโต๊ะเงินกระทงหนึ่ง กระทงข้าวเปรตตั้งบนโต๊ะเงินอีกโต๊ะหนึ่ง ข้าวกรูและข้าวเปรตนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดอย่างยิ่ง ถ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อใดก็รับสั่งเป็นการล้อเล่นต่างๆ แต่ยังทรงจุดเทียนและรินน้ำหอม เป็นการเล่นเสมอทุกปี และทรงแปลคาถาที่สำหรับบูชา ซึ่งรับสั่งว่าพูดไม่เป็นภาษาคน เที่ยวล้อเถ้าแก่ท้าวนางต่างๆ เกือบจะทุกปี กระทงข้าวกรูนั้นใช้กระบุงมีกระบอกสักหวายติดอยู่กลางกระบุง แล้วหุ้มใบตอง จัดของกินคาวหวานลงในกระบุงหรือกระทงนั้น แล้วมีต้นไม้ปักที่กระบอกกลางกระบุง บนต้นไม้นั้นมีธงจระเข้ตัดด้วยเศษผ้านุ่งผ้าห่มเล็กน้อยแขวนรุงรังไป มีดอกไม้จีนประดับช่วยให้งามด้วย ที่ลำต้นของต้นไม้นั้นผูกดอกตะแบกช่อหนึ่งหรือสองช่อ มีเทียนธูปเสียบไม้กลัดอย่างดอกเหน็บที่ปากกระบุงสำหรับทรงจุด เมื่อทรงบูชาพระพุทธรูปแล้ว กระทงข้าวกรูนี้ยกไปถวายพระสงฆ์ฉัน ข้าวเปรตอีกโต๊ะหนึ่ง มีกระทงเล็กๆ มีข้าววางอยู่นั้นหน่อยหนึ่ง (เห็นจะไม่ถึงซ้องหัตถ์ตามอารามิกโวหาร) มีของกินคาวหวานกองปนๆ กันโรยอยู่หน้า มีธงเล็กๆ ปักอันหนึ่ง ดอกตะแบกดอกหนึ่งหรือสองดอกโรยปนอยู่กับอาหาร มีหมากคำหนึ่งพลูจีบหนึ่ง มีธูปเล็กๆ ดอกหนึ่ง เทียนเล็กๆ ดอกหนึ่ง เสียบลงไปกับข้าวดื้อๆ เช่นนั้น กระทงเช่นนี้มี ๘ กระทง มีกระทงน้ำอีกกระทงหนึ่ง ขวดคอปล้องกรอกน้ำดอกไม้สดขวดหนึ่ง สำหรับรินลงในกระทงเวลาเมื่อบูชาหรืออุทิศ ข้าพเจ้าไม่สู้เข้าใจวิธีถวายกันอย่างไรชัดเจน เป็นแต่จุดเทียนเล่นอยู่เสมอ

แต่การถวายข้าวกรูนี้พอสืบหามูลเหตุได้ชัดเจน ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือว่ามีมาในเปตะวัตถุสังเขปความว่า มีพรานเนื้อคนหนึ่ง เมื่อไปไล่เนื้อกลับมาถึงบ้าน ก็แจกเนื้อให้แก่เด็กๆ ทั้งปวง วันหนึ่งพรานไปไม่ได้เนื้อ จึงเก็บดอกตะแบกหรือดอกราชพฤกษ์ก็ว่า ประดับกายและหาบมาเป็นอันมาก ครั้นเมื่อมาถึงประตูบ้าน เด็กๆ ทั้งปวงก็มาขอเนื้อตามเคย พรานจึงแจกดอกตะแบกให้คนละช่อ ครั้นพรานนั้นตายไปเกิดในเปตะนิกาย มีดอกตะแบกเป็นเทริดประดับศีรษะเดินไปในน้ำ หวังจะไปหาอาหารที่บ้าน ในเวลานั้นโกฬิยะอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารออกไปชำระความผู้ร้ายตามหัวเมือง ล่องเรือมาเห็นเปรตนั้น ไต่ถามได้ความแล้วก็มีความกรุณา จึงว่าข้าวสัตตูของเรามีทำไฉนท่านจึงจะได้ เปรตนั้นตอบว่า ถ้าในเรือนี้มีอุบาสกตั้งอยู่ในสรณะ ท่านจงให้ข้าวสัตตูนั้นแก่อุบาสก แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่เรา อำมาตย์นั้นก็ทำตาม เปรตได้อนุโมทนาตั้งอยู่ในความสุขแล้ว จึงสั่งว่าให้ท่านทั้งหลายกรุณาแก่เปตะนิกาย เมื่อทำกุศลสิ่งใดๆ แล้วให้อุทิศส่วนบุญให้ ครั้นเมื่ออำมาตย์กลับมาถึงบ้าน นิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์บริสัชมาถวายทาน แล้วกราบทูลเรื่องเปรตนั้นให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงอธิษฐานให้มหาชนประชุมพร้อมกัน แล้วแสดงเปตะนิกายให้ปรากฏ มีเรื่องราวกล่าวมาดังนี้

เรื่องเปรตนี้ เป็นสัตว์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกในศาสนาพราหมณ์โบราณ ตามสำนวนสันสกฤตว่าปิตรี หมายเอาว่าเป็นผีจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นปู่ย่าตายายญาติพี่น้องของชนทั้งปวงตายไปเป็นปิตรี มีออกชื่อและเล่าเรื่องราวที่มาทำวุ่นวายต่างๆ ถี่ๆ เปรตคือออกจากปิตรีนี้เอง ที่มามีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จะเป็นอนุโลมมาจากศาสนาเดิม ซึ่งคนในประเทศอินเดียถือกันอยู่ว่ามีมาแต่โบราณแล้วนั้น จะตัดสินคัดค้านเสียว่าไม่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาแต่เดิมเลยก็ยากอยู่ แต่การที่ทำการกุศลเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว โดยจะอุทิศให้แก่สัตว์หมู่ใดพวกใด ก็ไม่เป็นการทำให้กุศลสิ่งที่ดีนั้นเสื่อมทรามไป จึงต้องถือว่าเป็นอันไม่มีข้อที่จะคัดค้านอันใด แต่การที่เปรตเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำทานอุทิศให้ เหมือนนิทานตัวอย่างซึ่งโกฬิยะอำมาตย์ได้ทำ แต่เรื่องข้าวเปรตที่ไม่ได้ทำบุญสุนทันอันใด เป็นแต่เอาไปกองไปทิ้งให้อย่างเซ่นผี เป็นที่น่าสงสัยนัก ก็ถ้าหากว่าการที่จัดอาหารลงกระทงเล็กๆ ไปทิ้งเช่นนั้น เปรตจะได้รับจริงแล้ว พรานที่ตายไปเป็นเปรตควรจะบอกแก่โกฬิยะอำมาตย์ ว่าให้เอาข้าวสัตตูสักซ้องหัตถ์หนึ่งใส่ในกระทงลอยน้ำมาเถิด ข้าพเจ้าจะได้กินเป็นอาหารทิพย์ หรือขอเศษผ้าอะไรทิ้งลงมาให้อีกสักหน่อยหนึ่งจะได้เอามาเป็นผ้าทิพย์ นี่เปรตก็ไม่ว่าเช่นนั้น บอกแต่ขอให้ทำทานอุทิศให้

การที่เกิดเซ่นเปรตขึ้นนี้เห็นจะมาจากทางอื่นคือ ลัทธิฮินดูเป็นต้นเค้า ด้วยเขาถือการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คล้ายกันกับจีนที่เซ่นศพเซ่นป้าย ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรชายสืบตระกูล ไม่ได้ขนมเซ่นศพ แล้วก็เป็นผู้มีความทุกข์ในภายหน้า ถ้าจะเอาผู้อื่นมาเซ่นแทนก็ว่าไม่ได้ เฉพาะต้องบุตรขนมนั้นจึงจะได้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีลัทธิที่จะหาบุตร นับแจกออกไปได้ ๑๒ จำพวก คือบุตรที่เกิดด้วยภรรยาตนที่แต่งงาน ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาของตนกับผู้ที่รู้จบไตรเพท อันมุ่งต่อความกรุณา ๑ บุตรที่เกิดจากภรรยาของตนโดยผู้อื่นซึ่งเห็นแก่ทรัพย์สินจ้างเป็นเครื่องสักการะ ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาภายหลังสามีตายแล้ว ๑ บุตรที่เกิดแต่นางสาว[] หรือหลานที่เกิดแต่บุตรีที่บิดารับเป็นลูก (คืออธิบายว่าบิดามีแต่บุตรหญิง ให้บุตรหญิงนั้นไปมีสามี ครั้นบุตรหญิงนั้นมีบุตรออกมาเป็นชาย บิดาทำพิธีตามแบบรับมาเป็นลูก) ๑ บุตรซึ่งเกิดแต่ภรรยาที่ไม่บริสุทธิ์ (หมายความว่ามากชู้หลายผัว) ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่ซื้อมาโดยความเสน่หา ๑ บุตรที่ใจตัวเด็กสมัครเอง ๑ บุตรที่ได้มาด้วยแต่งงานกับเจ้าสาวซึ่งมีครรภ์มาแล้ว ๑ บุตรของพี่ชายน้องชาย ๑ บุตรซึ่งเกิดด้วยภรรยาที่มีชาติต่ำกว่าตน ๑ บุตรเหล่านี้เซ่นศพได้ ๖ จำพวก เซ่นศพไม่ได้ ๖ จำพวก ในบุตร ๖ จำพวกข้างต้นนั้นนับว่าเป็นผู้รับมรดกสืบตระกูลได้ ด้วยเป็นเชื้อวงศ์ของตนด้วย เป็นบุตรที่เซ่นศพได้ บุตร ๖ จำพวกหลังเป็นผู้รับมรดกและสืบตระกูลไม่ได้ เป็นแต่นับว่าเป็นเชื้อวงศ์ เป็นบุตรที่เซ่นศพไม่ได้ บุตรที่เกิดด้วยฤๅษีหรือพราหมณ์มาเพาะกับภรรยานั้น นับในพวกที่เซ่นศพได้ ลัทธิที่ถือการจำเป็นจะต้องมีบุตรเป็นสำคัญเช่นนี้ ยังถือกันแข็งแรงอยู่ในประเทศอินเดียทุกวันนี้ การเซ่นศพก็ยังมีอยู่เสมอ ถึงอังกฤษมาเป็นผู้ปกครองทะนุบำรุงเจ้านายพวกฮินดูก็ต้องยอมรับว่า บุตรที่บิดาเขารับตามศาสนาเช่นนี้ เป็นบุตรสืบตระกูลได้ด้วยเหมือนกัน ไปห้ามเสียแต่ที่เมื่อเวลาผัวตายแล้ว รานีผู้เป็นภรรยาจะรับลูกเลี้ยงในเวลาผัวตายไม่ได้ ด้วยได้เคยเกิดเหตุมาหลายครั้ง ด้วยรานีนั้นประสงค์จะมีอำนาจ เป็นผู้รั้งราชการแทนผัวต่อไป จึงได้คิดหาเด็กมารับเป็นลูกเลี้ยงตัวว่าการแทน เมื่อเด็กลูกเลี้ยงที่เป็นรายาคนใหม่โตขึ้น ยอมมอบสมบัติและอำนาจให้โดยปรกติก็มี ที่ไม่ยอมให้เกิดวิวาทกันขึ้นก็มี เพราะเป็นการนุ่งในส่วนรานีเช่นนี้ อังกฤษจึงได้ไม่ยอมรับลูกเลี้ยงซึ่งเลือกเมื่อเวลาผัวตาย ก็ยังมีเหตุเคลือบแคลงด้วยอ้างเอาว่า รายาผู้ตายได้รับเป็นบุตรเลี้ยงเมื่อจวนจะตาย เช่นนานาสหิบซึ่งอังกฤษไม่ยอมรับ ภายหลังเป็นขบถ ด้วยถือโอกาสเอาในเวลาที่พวกทหารแขกของอังกฤษเป็นขบถ ก่อเหตุใหญ่โตในประเทศอินเดียได้

การที่เราทำข้าวกรูคงจะมาตามในหนังสือที่มีเจือมาในพุทธศาสนา แต่ข้าวเปรตนี้ เห็นจะติดมาแต่ผู้ที่เคยเซ่นผีปู่ย่าตายายอย่างฮินดู ถ้ามิฉะนั้นดีร้ายก็จะมาจากลาวอยู่ในเรื่องเซ่นผี ธรรมดาการที่เซ่นๆ ทั้งปวงไม่ต้องใช้ของมาก ครั้นเข้าใจว่าของน้อยจะเป็นของมาก เหมือนอย่างบัตรบูชาเทวดาใส่ขนมเล็กขนมน้อย แต่เต่าจะกินก็ไม่พออิ่ม แต่คำที่โหรว่านั้นสารพัดจะดีวิเศษเกินกว่าจริงได้ร้อยเท่าพันเท่าแล้วก็ไม่เป็นปด เพราะของเหล่านั้นจะกลับไปเป็นมาก ไม่เลี้ยงแต่เฉพาะเทวดาที่เป็นนายองค์เดียว เลี้ยงทั้งเทวดาบริวารตลอดไปด้วย บริวารนั้นนับด้วยโกฏิทั้งนั้น การที่ใช้ของน้อยๆ เซ่นไหว้เช่นนี้ ผู้ต้นคิดเห็นจะคิดเพื่อจะให้เป็นแต่แสดงความเคารพ ด้วยเห็นอยู่แก่ตาว่าถึงจะหาของไปให้มากมายเท่าใด ก็ไม่บกพร่องลงไป ไม่เหมือนเลี้ยงพระที่ฉันได้ต้องเติมของซึ่งเป็นที่ชื่นชมยินดีของทายก ตลอดไปจนถึงข้าวพระซึ่งรู้อยู่แล้วว่าการที่ถวายข้าวพระนั้น ใช่จะไปได้แก่พระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใด คือจะได้รับสิ่งของนั้นโดยทางเซ่นหรือทางอุทิศส่วนบุญก็ไม่มี คงเป็นแต่อามิสบูชาอย่างเดียวกันกับธูปเทียนดอกไม้ ไม่ต้องใช้มาก สิ่งละหยิบเล็กหยิบน้อยก็พอ แต่ซึ่งเชื่อถือกันว่าของน้อยจะไปกลายเป็นมากในโลกหน้านั้น เห็นจะเกิดขึ้นจากเรื่องทำบุญเฟื้องหนึ่งได้ร้อยเฟื้องพันเฟื้อง เป็นไปตามอัธยาศัยคนเช่นที่เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ร้าน เห็นเป็นท่าที่จะได้อย่างไรก็เอาทุกอย่าง การที่ทำข้าวกรูกระทงใหญ่สำหรับถวายพระเมื่อภายหลังนั้น เห็นจะมาตามทางนิทานเรื่องเปรตซึ่งเป็นพรานที่กล่าวมา แต่เรื่องข้าวเปรตเห็นจะมาจากเครื่องเซ่น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:09:23 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #38 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:12:42 »


พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

ในหนังสือนพมาศกล่าวว่า ข้าวกรูที่ทำกันในครั้งนั้น ประสงค์อุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรต ก็ดูต้องกันกับคำที่เล่าๆ อยู่ในชั้นหลังนี้ การที่จำแนกชื่อเปรตต่างๆ ดูเป็นตามคัมภีร์ซึมซาบมากกว่าที่มาในพระบาลีหรืออรรถกถาชั้นสูงๆ เช่นในคัมภีร์โลกสัณฐานและมิลินทปัญหา ที่มาในคัมภีร์ชั้นสูง คือมาในจตุตถปาราชิกคัมภีร์อาทิกรรม แต่จำแนกประเภทเปรตก็ต่างกัน กล่าวไว้ในโลกสัณฐานและคัมภีร์อาทิกรรมคัมภีร์ละสิบสองพวก ในสิบสองพวกทั้งสองคัมภีร์นั้นก็ไม่ตรงกัน ว่าไปคนละอย่าง ฟังดูก็เป็นการง่ายที่จะคิดพรรณนา เป็นแต่ว่าให้แปลกๆ กันไป จะเอาสักสองร้อยพวกก็เห็นจะได้ แต่ในมิลินทปัญหานั้น มีย่นกล่าวโดยสังเขปอีกชั้นหนึ่ง คือว่าถ้าจะย่นเข้าก็คงเป็นสี่จำพวก ที่เขาจะปันอาการตามที่คล้ายๆ กันเป็นพวกหนึ่งๆ คือ อุตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยมลทินแห่งครรภและหนองเลือดทั้งปวงพวกหนึ่ง ขุปปิปาสิกะ อยากข้าวอยากน้ำอยู่เป็นนิตย์พวกหนึ่ง นิชฌามะตัณหิกะ เพลิงเผาอยู่ภายในเป็นนิตย์พวกหนึ่ง ปรทัตตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยผลแห่งทานที่ผู้อื่นให้ จิตระวังแต่ที่จะรับส่วนกุศลอย่างเดียวพวกหนึ่ง เปรตพวกหลังนี้ คือเปรตที่ทำข้าวกรูอุทิศให้ คำที่เรียกว่าข้าวกรูนั้นชะรอยจะมาจากภาษามคธว่ากุระ แปลว่าข้าวอย่างหนึ่ง ตามดิกชันนารีชิลเดอร์แปลว่าข้าวต้มให้สุกแล้ว แต่เรียกซึบซาบกันไปก็กลายเป็นกรู ครั้นเมื่อกรูแปลไม่ออกแล้วจึงมีผู้เดาเป็นตรูต่อไปอีก เพื่อจะให้ได้ความ แต่เหตุใดจึงมาทำข้าวกรูกันในฤดูสารทไม่ได้ความ หรือจะทำให้เป็นคู่กันกับข้าวผอกกระบอกน้ำ ซึ่งได้ทำในเวลาตรุษสุดปีบ้างดอกกระมัง

อนึ่ง ในการพระราชพิธีสารทนี้ ก็มีข้าวบิณฑ์เช่นได้พรรณนาแล้วเมื่อสงกรานต์นั้นเหมือนกัน เพราะเป็นพิธีกึ่งกลางปี ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] หนังสือประดิทินบัตรนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ขาย
[] สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร
[] พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในรัชกาลที่ ๕
[] ศัพท์ “นางสาว” ตรงนี้เป็นพระราชนิพนธ์เดิม เฉพาะตรงกับที่บัญญัติใช้ทีหลัง


เดือนสิบ
การพระราชกุศลกาลานุกาล

๏ ในกำหนดพระราชพิธีสารท ได้กล่าวถึงข้าวกระทงและของสดับปกรณ์มาเสร็จแล้ว ในที่นี้จึงไม่ต้องกล่าวพิสดาร ขอบอกแต่ว่าในเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิเท่าจำนวนที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน ออกไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเศวตฉัตรและโต๊ะจีน ทั้งในพระราชวังบวรฯ และหอพระนาค ก็มีการพระราชกุศลตามเคยเหมือนกาลานุกาลอื่นๆ พระสงฆ์ที่สดับปกรณ์ก็เกือบจะเป็นสำรับเดียวกันนั้นเอง  

คำตักเตือนในพระราชพิธีสารท
 
การสวดมนต์ในเวลาค่ำ ก็เป็นตามธรรมเนียมเรียบร้อยดีอยู่ มีแต่ในวันกวนข้าวทิพย์ ภูษามาลาต้องเก็บใบมะตูม ให้พอแก่ที่จะพระราชทานเจ้ากวนข้าวทิพย์ คืออย่าให้ต่ำกว่าสิบหกใบลงไป ถ้าต่ำลงไปแล้วเคยเคอะมาหลายครั้ง ถ้ามากจนถึงสามสิบสองใบยิ่งดี อนึ่งใบมะตูมที่เก็บมานั้นเป็นอย่างใช้ไม่ได้แท้ๆ มักจะต้องห้อยหูมากกว่าทัด คือเหี่ยวอ่อนเหลือเกิน ด้วยเก็บมาไว้ช้า หรือไปรวบกระชากมาแต่ที่ใบอ่อนๆ จนสีแดง การที่ได้เตือนในหนังสือวชิรญาณแต่ก่อนก็มี แต่ภูษามาลาไม่มีผู้ใดได้รับหนังสือวชิรญาณ ท่านอธิบดีผู้ซึ่งบังคับภูษามาลาทุกวันนี้ก็ทรงหนังสือไม่ออก ฉัตรมงคลครอบพระกริ่งยังขาดได้ ถึงนินทาไว้ดังนี้คงไม่รู้ ช่างเป็นไร ยังมีเรื่องที่เคยกาหลในพิธีสารทอีกอย่างหนึ่ง คือข้าวกระทงที่สำหรับสดับปกรณ์พระบรมอัฐินั้น เคยมาตั้งอยู่ที่หลังฉากมุขใต้ แต่ก่อนมาถ้าเวลาจวนเพลแล้วเถ้าแก่เคยขนส่งมหาดเล็ก ทางพระทวารฉากข้างตะวันตก มหาดเล็กส่งกรมวังและทนายเลือกนำลงไปถวายพระสงฆ์ที่มาคอยสดับปกรณ์ แต่บางปีมหาดเล็กเฉยๆ อยู่ กรมวังก็เคยไปเรียกเอาเองก็มี ถ้าถูกเฉยเข้าด้วยกันหมดแล้วเป็นเกิดความทุกคราว การอื่นๆ ก็ดูไม่ใคร่มีขัดข้องขาดเหลืออันใดนัก ๚  


เดือนสิบ
การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง

๏ การตักบาตรน้ำผึ้งนี้ ไม่ได้เป็นพระราชกุศลซึ่งมีมาในเรื่องราวเก่าๆ ปรากฏในหนังสือแห่งใด เป็นการพึ่งเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เหมือนอย่างวิสาขบูชาและมาฆบูชา ทำอนุโลมตามผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก่อนได้เคยทำมา แต่การที่ทำนั้นก็ไม่สู้จะเป็นราชการสำหรับแผ่นดินแท้นัก ทำเป็นส่วนธรรมยุติกา หรือเฉพาะแต่วัดบวรนิเวศด้วยอีก เป็นการของวัดมากกว่าของบ้าน คือเมื่อเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ได้เคยมีการวิสาขบูชา มาฆบูชา ตักบาตรน้ำผึ้ง เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้ทรงยกเข้ามาทำในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกส่วนหนึ่ง พระสงฆ์ที่ฉันในการตักบาตรน้ำผึ้งเดิมก็ใช้ราชาคณะฐานานุกรมวัดบวรนิเวศวัดเดียวทั้งสิบรูป ต่อภายหลังเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ จึงได้มีพระราชาคณะฐานานุกรม วัดราชประดิษฐ์ เข้าในจำนวนสิบรูปนั้นด้วย ครั้นภายหลังเมื่อปีข้าพเจ้าบวชเณรย้ายเข้ามาเลี้ยงพระที่พระที่นั่งพุทธมนเทียรใต้ มีเจ้าพระเจ้าเณรที่บวชใหม่ เติมนอกจากจำนวนสิบรูปขึ้นไปอีก ต่อมาภายหลังก็เลยเป็นแบบ เจ้าพระเจ้าเณรทรงผนวชใหม่เข้ามาฉัน และได้น้ำผึ้งที่ทรงบาตรนั้นด้วย เป็นฉลองเจ้าพระเจ้าเณรด้วยกลายๆ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานที่พระพุทธรัตนสถานแล้ว จึงย้ายเลี้ยงพระไปที่พระพุทธรัตนสถาน แต่ที่แคบไม่พอพระสงฆ์ จึงต้องแยกไปฉันที่พระตำหนักทรงผนวชบ้าง แต่ก่อนทรงบาตรที่มุขหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังจึงย้ายมาที่พระที่นั่งทรงธรรม ครั้นเมื่อไปเลี้ยงพระที่พระพุทธรัตนสถาน การทรงบาตรก็ย้ายไปที่ชาลาใต้ต้นจันทน์หน้าประตูกมลาสน์ประเวศมาจนทุกวันนี้ บาตรที่ทรงนั้นมีบาตรพระพุทธรูปในที่ต่างๆ และบาตรพระสงฆ์ มีแต่ตัวบาตรไม่ได้หุ้มถลกตั้งเรียงบนม้า ทรงด้วยขันเงินทรงบาตร บาตรละขัน มีผลสมอทิ้งลงไปในบาตรนั้น บาตรละเก้าผลสิบผลตามแต่จะมีมากมีน้อย ต่อนั้นไปเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นมาทรงบาตรน้ำผึ้ง ตามแต่พระองค์ใดจะทรงศรัทธามากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนด แต่น้ำผึ้งคงได้เต็มทุกๆ บาตร เพราะบกพร่องบาตรใดก็คงเติมจนเต็มจำนวนบาตรที่ทรงบาตรน้ำผึ้งดังนี้ ในการทรงบาตรน้ำผึ้งนั้น เสด็จลงทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีล พระสงฆ์ถวายพรพระทรงประเคนแล้ว เสด็จทรงบาตรน้ำผึ้ง เมื่อเสด็จกลับก็พอใกล้กับเวลาที่พระสงฆ์ฉันแล้ว ทรงถวายไทยทาน หมากพลูธูปเทียน และน้ำผึ้งขวดอัดขนาดเล็กขวดหนึ่ง พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาด้วยกาเล และยัสสะทาเนนะแล้วก็เสด็จขึ้น มีการเทศนาเรื่องตักบาตรน้ำผึ้งต่อไป การเทศนาเป็นกัณฑ์หลวงแต่ไม่ได้เทศน์หน้าที่นั่ง เทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฟัง เรื่องที่เทศน์นั้นว่าด้วยนิทานเรื่องตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีมาในเภสัชขันธ์ เป็นการแสดงมูลเหตุอนุโมทนาในมธุทานที่ได้ทำในวันนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะนำมูลเหตุตามทางที่เทศนานั้นมากล่าวในที่นี้ พอจะได้รู้เรื่องตลอดว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เกิดตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น และน้ำผึ้งซึ่งดูก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก สู้ข้าวสารไม่ได้ ทำไมจึงได้ต้องถึงตักบาตรตักพกดูก็น่าจะถามอยู่ แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่านั้น จะไม่เดินเนื้อความแต่ตามที่เทศนาอย่างเดียว จะขอแสดงความเห็น และตามที่ตัวทราบเพิ่มเติมปนลงบ้างตามสมควรแก่ข้อความ

ใจความในเภสัชขันธ์นั้นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในเมืองสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม อารามแห่งอนาถปิณฑิกคหบดี ครั้งนั้นพระภิกษุทั้งหลายอาพาธเรียกว่าสรทิกาพาธ แปลกันว่าไข้เกิดในสรทกาล อาการที่เป็นนั้น คือ “ฉันยาคูและภัตไม่ตั้งอยู่ตามปรกติได้ ยาคูที่ดื่มแล้วก็พิบัติขึ้นเสีย ออกเสียจากมุขทวาร ไม่อยู่ได้นานในอุทรประเทศ” คำที่ว่านี้เป็นโวหารแปลจากภาษามคธ ถ้าพูดกันอย่างไทยๆ ก็ว่าในฤดูนั้นพระสงฆ์ฉันยาคูก็ดี อาหารอื่นก็ดี ให้เกิดโรคอาเจียนออกมาเสียอาหารไม่ตั้งอยู่ได้ เป็นเหมือนกันมากๆ ก็พากันหิวโหยอ่อนเปลี้ยไป ร่างกายก็ผ่ายผอมเศร้าหมอง ผิวเหลืองขึ้นเหลืองขึ้น เมื่อผอมไปเช่นนั้น เส้นก็สะพรั่งขึ้นตามกายเพราะโรคที่เป็นนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ก็กราบทูลตามเหตุที่เป็นนั้น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าอยู่ ณ ที่สงัด จึงทรงพระปริวิตกถึงทุกข์พิบัติซึ่งเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์นั้น จึงได้ทรงพระดำริจะหาสิ่งใดอนุญาตให้แก่พระสงฆ์ให้เป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย แต่จะไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เมื่อทรงพระดำริเช่นนั้น จึงทรงคิดเห็นยาห้าอย่าง คือ เนยใสอย่างหนึ่ง เนยข้นอย่างหนึ่ง น้ำมันอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งอย่างหนึ่ง น้ำอ้อยอย่างหนึ่ง ถือกันว่าเป็นยาด้วย เป็นอาหารด้วย แต่ไม่เป็นอาหารหยาบ เนยใสเนยข้นที่กล่าวในที่นี้ จะเข้าใจว่าเป็นบัตเตอและชีสตามอย่างเช่นของฝรั่งมีขายเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ตัวนวนิตเนยข้นนั้นเหลวกว่าบัตเตอ ที่เราเรียกว่าเนยเหลวของฝรั่ง สัปปินั้นกลับเหลวคว้างยิ่งขึ้นไปเป็นน้ำมัน แต่เป็นของเกิดด้วยน้ำนมทั้งสองอย่าง ต้องเข้าใจว่าเป็นเนยอย่างซ้องหัตถ์ชนิดหนึ่งเช่นนี้ ส่วนน้ำมันนั้นเล่าก็หมายเอาน้ำมันงาเป็นที่ตั้ง แต่ท่านรวบรวมน้ำมันบรรดาที่ออกจากผลไม้และเปลวสัตว์เข้าไว้ในหมวดน้ำมันนี้ด้วย น้ำผึ้งนั้นเป็นอันมีอย่างเดียวไม่ต้องคิดถึง น้ำอ้อยนั้นรวบน้ำตาลต่างๆ เข้าในหมวดนั้นด้วย เภสัช ๕ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าควรจะอนุญาตให้พระสงฆ์ทั้งหลายฉันในเวลาเช้าชั่วเที่ยง จึงได้ทรงอนุญาตแก่พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นครั้งแรก คำซึ่งเรียกว่าอนุญาตในที่นี้ ถ้าจะว่าตามความเห็นเราไทยๆ ในเวลาเช้าชั่วเที่ยงอาหารเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่ห้ามปรามไม่ให้พระสงฆ์ฉันมาแต่ก่อน เมื่ออนุญาตก็ไม่ได้อนุญาตให้ฉันนอกกาล คือนอกเวลาที่พระสงฆ์ฉันอาหารได้ตามปรกติ ถ้าเป็นคนเราทุกวันนี้ก็น่าจะเรียกว่าชวนหรือสั่งให้ฉัน ด้วยความมุ่งหมายคิดเห็นว่า จะให้แก้โรคด้วยแก้หิวด้วย ไปมีฝืนกันอยู่คำหนึ่งที่ว่าทำไมจึงต้องหาที่ไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เพราะในเวลาเช้าเช่นนั้น อาหารหยาบพระสงฆ์ยังฉันได้อยู่ เห็นว่าที่หาไม่ให้เป็นอาหารหยาบนั้น คือจะทรงเห็นว่า อาหารหยาบไม่ย่อยซึมซาบไปได้โดยง่าย ต้องไปตั้งอยู่ช้านานจึงได้กระท้อนอาเจียนออกมาเสีย ถ้าเป็นอาหารละเอียดเช่นนี้ถึงว่าอาหารหยาบจะอาเจียนออกมาเสีย อาหารละเอียดคงจะเหลืออยู่ได้เป็นกำลังแก้หิวโหย และของห้าอย่างนี้ ในประเทศนั้นถือกันว่าเป็นยา บางทีจะเป็นเครื่องบำบัดโรคที่เป็นนั้นได้ด้วย ครั้นเมื่อพระสงฆ์ได้รับอนุญาตเช่นนั้น ก็พากันบริโภคเภสัช ๕ อย่าง แต่ไปกลับเกิดขลึกขลักมากไป ตามสำนวนเทศน์ท่านว่า “โภชนที่เศร้าหมอง ของบริโภคตามปรกติทั้งหลาย ยังไม่ชอบใจแต่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว จะไปกล่าวถึงโภชนที่ระคนให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นนั้นเล่า ครั้นมาระคนเข้าให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นแล้ว ก็ยิ่งไม่เป็นที่ชอบใจฉันไม่ได้โดยพิเศษกว่าโภชนะที่เศร้าหมองตามปรกติอีกเล่า อาศัยสรทิกาพาธนั้นด้วย บริโภคฉันภัตตาหารไม่ได้ด้วย ทั้งสองโทษนี้ภิกษุทั้งหลายนั้นก็ผ่ายผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน” ข้อความที่ว่ามานี้ คือแปลว่าอาหารเดิมที่เป็น อันอีเตเบอล ไม่น่ากินหรือกินไม่ได้อยู่แล้วนั้น มาคลุกเคล้าเข้าด้วยเนยเหลวเนยข้นเป็นต้น ก็ยิ่งอันอีเตเบอลกินไม่ได้หนักไป เมื่ออาหารตามปรกติก็อาเจียนอยู่แล้ว ยิ่งคลุกเคล้าเข้าด้วยซ้องหัตถ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้อาเจียนมากขึ้นด้วย และกินเข้าไปไม่ได้ด้วย เพราะอาหารยิ่งน้อยลงไปเช่นนี้พระสงฆ์จึงผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน ครั้นพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามพระอานนท์อีก เมื่อพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายอนุญาตให้รับเภสัช ๕ ประการ บริโภคฉันได้ในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนรุ่งสว่างอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะให้ได้เลี่ยงเวลากันกับฉันอาหารและอยู่ข้างจะสำหรับแก้หิวด้วย ดูก็เป็นการตกลงเรียบร้อยกันไป แต่ไม่ได้มีกำหนดว่ารับไว้บริโภคได้เพียงใด เป็นทางที่ผู้เลื่อมใสจะถวายคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์รับแล้วก็เก็บไว้ฉันต่อๆ ไป ไม่มีกำหนด จนไปเกิดเหตุขึ้น คือมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระปิลินทวัจฉะ ชำนาญในอิทธิวิธญาณ วันหนึ่งพระเถรเจ้าปรารถนาจะทำที่อยู่ที่เงื้อมเขาในเมืองราชคฤห์ ให้ชำระปัดกวาด พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเห็น จึงดำรัสถามว่าพระผู้เป็นเจ้าจะต้องการอารามิกบุรุษ คนรักษาอารามหรือ พระผู้เป็นเจ้าถวายพระพรว่า พระพุทธเจ้ายังมิได้อนุญาต พระเจ้าพิมพิสารจึงว่าขอให้พระผู้เป็นเจ้ากราบทูลแล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบด้วย แล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงให้นำข้อความนั้นไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จออกไปครั้งที่สอง ถามพระมหาเถรได้ความว่าพระพุทธเจ้าทรงพระอนุญาตแล้ว จึงตรัสว่าจะถวายคนรักษาอารามคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้าไป มีราชการมากทรงลืมเสีย ล่วงมาช้านานจึงทรงระลึกได้ รับสั่งถามสัพพัตถกะอำมาตย์ ว่าเราจะถวายคนรักษาอารามแก่พระปิลินทวัจฉะนั้น ได้ถวายแล้วหรือยัง อำมาตย์ทูลว่ายังไม่ได้ถวาย ดำรัสถามว่าล่วงมาได้กี่มากน้อยแล้ว อำมาตย์ทูลว่าตั้งแต่ทรงรับมาวันนั้นจนถึงวันนี้ได้ห้าร้อยราตรี พระเจ้าพิมพิสารจึงสั่งให้ถวายอารามิกมนุษย์ห้าร้อยคน ทวีขึ้นราตรีละคน หมู่บ้านเลขวัดนั้น คนทั้งปวงจึงเรียกว่าอารามิกคามบ้าง ปิลินทคามบ้าง พระปิลินทวัจฉะ ก็เป็นกุลูปกะเข้าออกอยู่ในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งมีการเล่นมหรสพเป็นการเอิกเกริก เด็กๆ ในบ้านนั้นแต่งตัวด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ต่างๆ เล่นการมหรสพ พระปิลินทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาต เมื่อไปถึงเรือนแห่งหนึ่ง ลูกหญิงของเจ้าของเรือนนั้นเห็นเด็กๆ ทั้งปวงแต่งตัว ก็เข้าไปขอเครื่องแต่งตัวและดอกไม้กับบิดามารดา พระปิลินทวัจฉะทราบว่าเด็กนั้นอยากจะได้เครื่องแต่งตัวบ้าง จึงถือเอาเสวียนหญ้าอันหนึ่งส่งให้แก่มารดาให้สวมศีรษะเด็กหญิงนั้น เสวียนหญ้าก็กลายเป็นดอกไม้ทองงามควรชม ถึงนางในพระราชวังก็ไม่มีดอกไม้ทองงามเปรียบเหมือนได้ เมื่อคนทั้งปวงเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าจะได้มาด้วยโจรกรรม จึงกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็สั่งให้จับข้าพระตระกูลนั้นไปจำไว้ ครั้นคราวที่สอง พระปิลินทวัจฉะไปที่เรือนนั้นอีกไม่พบเจ้าของเรือน จึงได้ถามผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้ความว่า เพราะดอกไม้ทองพวงนั้นเป็นเหตุให้ต้องจำ จึงได้เข้าไปในพระราชวัง แล้วทูลถามพระเจ้าพิมพิสารว่า เอาข้าพระตระกูลนั้นมาจำไว้ด้วยเหตุอันใด พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ดอกไม้ทองเช่นนั้นแต่คนที่อยู่ใกล้เคียงข้าพเจ้ายังไม่มี คนจนเช่นนั้นจะไปได้มาแต่ไหน คงจะต้องไปขโมยเขามาไม่ต้องสงสัย เมื่อพระปิลินทวัจฉะได้ยินเช่นนั้นก็อธิษฐานให้ปราสาทพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ แล้วถวายพระพรถามว่า ปราสาททองคำนี้พระองค์ได้มาแต่ไหน พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ข้าพเจ้าทราบแล้วว่าเป็นด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ถึงดอกไม้ทองนั้นก็จะเป็นเช่นนี้ จึงรับสั่งให้ปล่อยข้าพระตระกูลนั้นจากเวรจำ เมื่อคนทั้งปวงได้ทราบก็มีความเลื่อมใสมาก พากันนำเภสัชทั้ง ๕ นี้มาถวายมากจนล้นเหลือ พระผู้เป็นเจ้าไม่สะสมเภสัชที่ได้นั้นไว้ แจกจ่ายให้แก่ภิกษุที่เป็นบริวาร ภิกษุที่เป็นบริษัทมักมากก็เก็บเภสัชที่ได้แจกนั้นไว้ในภาชนะต่างๆ จนถึงห่อผ้ากรองน้ำบ้าง ถุงบ้าง ห้อยเกี่ยวไว้ตามบานหน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็ไหลซึมซาบอาบเอิบเปรอะเปื้อนเสนาสนะ หนูทั้งปวงก็เข้าประทุษร้ายเสนาสนะทั้งของเป็นอันมาก คนทั้งปวงเห็นก็พากันติเตียนว่า สมณะศากยปุตติย์เหล่านี้ มีคลังเหมือนพระเจ้าพิมพิสารมคธราช เมื่อภิกษุที่มักน้อยสันโดษมีความละอายและมักสงสัยก็พากันยกโทษติเตียน และกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้ประชุมพระสงฆ์ไต่ถาม ภิกษุพวกนั้นรับเป็นสัตย์ ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วจึงตั้งบัญญัติสิกขาบทว่า เภสัชทั้ง ๕ นี้ ภิกษุรับแล้วสะสมไว้บริโภคตลอดเจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง ถ้ารับแล้วเก็บไว้พ้นเจ็ดวันไป ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุเจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมีบัญญัติเช่นนี้ ของทั้งปวงนั้นจึงเรียกว่าสัตตาหกาลิก คือมีกำหนดเจ็ดวัน ตั้งแต่วันรับไป เป็นกาละ ถ้าไม่สละเสียในเจ็ดวัน หรือไม่ได้ตั้งใจเสียในเจ็ดวันว่าจะไม่กินเลย เมื่อล่วงเจ็ดวันไปถึงอรุณวันที่แปด ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ นับตามของมากของน้อย ต้องเสียสละของนั้นก่อน จึงจะแสดงอาบัตินั้นได้ เมื่อเทศนาเล่าเรื่องมาถึงเพียงนี้จะจบลงจึงได้ว่าเพราะพระพุทธานุญาตสมัยมีมาฉะนี้ บัณฑิตชาติผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงได้บูชาพระพุทธานุญาตนั้นบริจาคน้ำผึ้ง อันนับภายในยา ๕ ประการ ในพุทธบริษัทในสมัยถึงสรทะ หรือจวนใกล้สรทกาลเป็นธรรมเนียมมีมาด้วยประการฉะนี้

เรื่องยา ๕ สิ่งนี้ ถ้าจะคิดตามประเทศของเรานอกจากน้ำผึ้งแล้วก็เป็นของแสลง ที่หมอจะพึงห้ามไม่ให้คนไข้กินทั้งนั้น จะเป็นเพราะเหตุนั้นหรืออย่างไร การถวายเภสัชทั้ง ๕ ในสรทกาลนี้ จึงคงถวายอยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว ถวายด้วยความมุ่งหมายว่าจะให้ใช้เป็นยาตามเรื่องเก่า ไม่ได้ถวายอย่างหมากพลู น้ำตาลทราย ใบชาเช่นในเวลาอื่นๆ แต่ในประเทศอินเดียตลอดลงมาจนถึงลังกา เภสัช ๕ อย่างนี้ดูอยู่ข้างหยอดกันมาก จนถึงนิทานในมหาวงศ์[] มีเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องน้ำผึ้ง ว่าด้วยชาติก่อนของพระเจ้าศรีธรรมาโศก และพระเจ้าเทวานัมปิยดิศ เจ้านิโครธ สามเณร ทั้งสาม ชาติก่อนเป็นกฎุมพีพี่น้องกัน เป็นพ่อค้าน้ำผึ้งทั้งสามคน พี่ใหญ่พี่กลางไปซื้อน้ำผึ้งมาให้น้องสุดท้ายขาย พระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งอยู่ที่เขาคันธมาทน์เป็นวัณโรคอันควรจะเยียวยาด้วยน้ำผึ้ง ได้ความเวทนารุ่มร้อนด้วยโรคอันนั้น พระปัจเจกโพธิอีกองค์หนึ่ง ทราบว่าโรคนั้นจะหายด้วยน้ำผึ้ง จึงเหาะมายังเมืองพาราณสี เพื่อจะหาน้ำผึ้ง พบผู้หญิงชาวบ้านที่รับจ้างเขาลงไปตักน้ำ จึงถามว่าร้านขายน้ำผึ้งอยู่แห่งใด นางนั้นก็ชี้บอกร้านให้ เมื่อไปถึงที่ร้านก็ไปหยุดยืนอยู่ พ่อค้าน้ำผึ้งคนเล็กมีความเลื่อมใส จึงรับบาตรไปรินน้ำผึ้งลงเต็มบาตรแล้วส่งถวายพระปัจเจกโพธิ น้ำผึ้งก็ล้นไหลลงยังพื้นแผ่นดิน พ่อค้านั้นจึงได้ตั้งความปรารถนา ขอให้ได้เอกราชสมบัติใหญ่ในสกลชมพูทวีป และให้มีอาณาจักรแผ่ไปเบื้องบนโยชน์หนึ่ง ภายใต้แผ่นดินโยชน์หนึ่ง เพราะเหตุนั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงได้มีเดชานุภาพมาก น้ำผึ้งแก้โรคได้จนถึงเป็นฝีเช่นนี้ ก็แปลกกับยาบ้านเรามาก แต่ดูยังไม่สู้วิเศษเสมอน้ำมันเนย ซึ่งเพราะไม่ได้น้ำมันเนยเท่านั้นถึงแก่ตายได้ มีเรื่องราวในมหาวงศ์เหมือนกัน ว่ามีพระเถระสององค์ พี่ชื่อดิศ น้องชื่อสุมิทธิ์ เป็นพระอรหันต์ พระดิศเถรถูกพิษแมลงบุ้งได้ความทุกขเวทนา พระสุมิทธิ์น้องชายจึงถามว่าทุกขเวทนาครั้งนี้เห็นจะหายด้วยอันใด ท่านพี่ชายบอกว่า ถ้าได้เปรียงมาสักซ้องหัตถ์หนึ่งก็หาย แต่ท่านดิศองค์นั้นจะถือธุดงค์บิณฑบาตอยู่อย่างไร จึงได้สั่งว่าอย่าให้ไปขอแก่ท้าวพระยาผู้ใดเป็นคิลานภัต ให้แต่ไปเที่ยวบิณฑบาตในเวลาเช้า พ้นเพลแล้วได้มาก็ไม่เอา ท่านน้องชายไปเที่ยวบิณฑบาต ตั้งแต่เช้าจนเพลก็ไม่ได้ ความเวทนานั้นกล้าขึ้นพ้นกำหนด โดยจะได้เปรียงมาบริโภคสักร้อยหม้อก็ไม่หาย พระดิศเถรตาย พระเจ้าศรีธรรมาโศกทราบเข้า จึงได้สั่งให้ขุดสระใหญ่ไว้ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้ก่ออิฐถือปูนผิวข้างในให้มั่นคง แล้วยังสระใหญ่ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้เต็มไปด้วยน้ำมันสระหนึ่ง เต็มไปด้วยสัปปิคือเนยใสสระหนึ่ง น้ำผึ้งสระหนึ่ง ขัณฑสกร คือน้ำตาลกรวดสระหนึ่ง อุทิศถวายแก่พระสงฆ์อันมาแต่จาตุทิศ เพื่อจะมิให้ลำบากต้องเที่ยวบิณฑบาตเภสัช ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกบ้าง แต่ยกมาสองเรื่องนี้พอเป็นตัวอย่างให้เห็น ว่าตามความคิดของเรา จะคิดเห็นคุณประโยชน์ของยานี้อย่างไรคิดไม่ถึงได้เลย ถ้าตามความเห็นเราแล้วต้องเห็นว่า โรคที่พระมหาเถรเจ็บ ชั่วแต่ถูกบุ้งเท่านี้ถึงแก่ความตายได้ ก็โคมเต็มที ยาที่เสาะแสวงหาจะแก้หรือก็หาน้ำมันเนย กินแก้ถูกพิษบุ้งก็โคมอีกเหมือนกัน ถ้าเป็นใจเราถูกบุ้งเข้าเช่นนั้น คงจะคิดหาขี้ผึ้งหรือแป้งอันใดมาคลึงให้ขนมันออกเสียก็แล้วกัน และไม่ตายเป็นแน่ด้วย นี่ท่านหาเนยกันซ้องหัตถ์เดียวเท่านี้ ถึงแก่ความตายได้ แต่บุ้งกัดเท่านี้จะหายารักษา ยังต้องนึกถึงเนยแล้ว การที่พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงเนยในเวลาที่พระสงฆ์ป่วยสรทิกาพาธ ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ยังเข้าเค้าเข้าเรื่องมากกว่าถูกบุ้ง เรื่องเนยเป็นอาหารทิพย์หรือเป็นยาทิพย์ของประเทศนั้น ก็ยังเป็นไปอยู่จนถึงเวลาปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปที่อินเดียไปตามถนนที่เป็นแขกล้วน มีร้านขายขนมสองข้างทาง เช่นถนนที่ตรงเข้ามาเยียมัมมัสจิต[] ที่เมืองเดลีเป็นต้น เป็นร้านขายขนมทั้งสองข้าง เมื่อแลเห็นไปแต่ไกล มีขนมใส่ภาชนะต่างๆ ตั้งเรียงราย มีไหทำนองไหกระเทียมหรือหม้อเล่าอ๋วยกรอกน้ำมันเนยตั้งอยู่หลายๆ ไหทุกร้าน เยี่ยมเข้าไปถึงปากตรอกถนน เหม็นเหลือกำลังที่จะทน จนจะอาเจียน เข้าไปไม่ได้ต้องกลับมา และเมื่อกลับจากเมืองพาราณสี (เบนนาริส) พระเจ้าอิศวรีประสาทเจ้าเมืองพาราณสี ให้นำขนมมาส่งให้ในรถไฟที่พ่วงมาข้างท้าย มีขนมยี่สิบตะแกรงใหญ่ น้ำมันเนยใสห้าไห เป็นเวลาชุลมุนไม่ทันรู้ เขาก็เอาบรรทุกรถข้างท้ายมา ครั้นเมื่อถึงสเตชั่นลงมาเดินได้กลิ่นน้ำมันเนยฟุ้งซ่าน ถามจึงได้ความว่าเป็นของพระเจ้าพาราณสีให้ รถกระเทือนไหน้ำมันเนยแตกไหหนึ่งจึงได้ส่งกลิ่นกล้านัก สั่งให้ยกของทั้งนั้นมาให้พวกแขกอยู่ที่สเตชั่นนั้นกิน ดูแย่งกันหยุบๆ หยับๆ อร่อยเหลือทน ขนมนั้นท่วงทีคล้ายๆ ทองพลุ จิ้มน้ำมันเนยแทนน้ำตาลเชื่อม ผู้ที่เขาเคยไปอยู่ที่อินเดียนานเขาเล่าว่า ความที่นับถือเนยกันนั้น ถ้าเป็นผู้มีอันจะกินจึงจะมีน้ำมันเนยกิน เมื่อกินแล้วยังต้องอวดมั่งมีต่อ คือเอาน้ำมันเนยนั้นทาริมฝีปากให้เป็นมันย่อง แสดงว่ากินข้าวมาแล้วกับเนย เป็นคนมั่งมี กรมหมื่นสมมตได้เคยซื้อมาให้แขกฮินดูคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กิน เอาคลุกกับข้าวสุกเอาน้ำตาลทรายเจือหน่อยหนึ่ง กินเอร็ดอร่อยมาก น้ำมันเนยที่เหลืออยู่ก็ลูบทาไปตามเนื้อตามตัวดูสบายเต็มที น้ำมันเนยนี้เป็นเครื่องสักการบูชาอย่างวิเศษ ด้วยใช้สำหรับประพรมในไฟบูชายัญมากว่าสามพันปีแล้ว เรื่องที่ทาจุดเทียนโคมจองเปรียงนี้จะไม่ใช่อื่นไกลเลย คือเรื่องบูชายัญนั้นเอง คงจะเห็นเป็นกลิ่นหอมกันเป็นแน่ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นอาหารและเป็นยาเป็นที่นับถือ ทั้งเป็นเครื่องบูชาสืบมาช้านาน พระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้เป็นยาสำหรับพระสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้นก็คงพอใจสบายดีทีเดียว และจะใช้กันอยู่เสมอ พระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงต้องถึงขุดสระใหญ่ไว้สำหรับให้ใครๆ ไปตักได้ทุกเวลา แต่สระนั้นน่ากลัวจริงหนอ ให้เห็นเป็นว่าแมลงวันจะลอยเหมือนกับแหนในหนองน้ำ ถึงจะกันแมลงวันได้ก็เรื่องมดยังหนักใจมาก แต่ตกลงเอาเป็นใช้ได้ด้วยพอความปรารถนากันในชั้นนั้นแล้ว แต่ส่วนพระสงฆ์ในประเทศเราที่ไม่สมัครฉันยาห้าอย่างนี้ ดูได้ความลำบากน่าสงสาร เมื่อเวลาป่วยไข้ที่จะฉันในเวลาเช้าไม่ได้ เวลาบ่ายก็ฉันไม่ได้ ครั้นจะหายาและอาหารที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันได้ในเวลาวิกาล หมอก็ห้ามว่าแสลงและแสลงจริงด้วย ขืนกินเข้าไปก็ตายจริงด้วย คงใช้ได้บ้างแต่น้ำผึ้ง แต่น้ำผึ้งที่ได้ไปถึงบาตรใหญ่ๆ หรือสองบาตร ก็มีพระสงฆ์สักองค์เดียวที่ข้าพเจ้าเคยเห็นฉันได้หมดบาตร หรือจะมีผู้อื่นจะฉันได้อีกบ้างก็คงจะมีอีกเพียงองค์หนึ่งหรือสององค์เป็นแน่ นอกนั้นก็ไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใด มีอีกอย่างหนึ่งก็กวนยางมะตูมหรือเคี่ยวตังเม เหลือนั้นก็ทิ้งหายหกตกหล่นหรือใครๆ กินเท่านั้น ดูไม่รู้สึกว่าเป็นหยูกยาอันใดเลย ถ้าสิ่งซึ่งจะให้เป็นอาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ในประเทศเราเช่นนั้น อะไรจะมาดียิ่งกว่าน้ำข้าวต้มไปเป็นไม่มี ข้าพเจ้านึกแน่ใจว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ถ้าทรงทราบประเพณีบ้านเมืองข้างเราแล้ว คงจะอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันน้ำข้าวต้มได้เป็นแน่ ความคิดซึ่งเห็นว่าควรอนุญาตเช่นนี้ข้าพเจ้าจะชี้แจงได้ยืดยาว แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดซึ่งจะกล่าว เพราะจะแก้ไขอันใดไม่ได้ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นการที่ถวายเภสัชซึ่งเป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย จึงยังคงมีที่พอจะทำได้อยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว การพระราชกุศลถวายเภสัชจึงมีแต่บาตรน้ำผึ้ง เภสัชอีกสี่อย่างนั้นต้องเป็นอันยกเว้นเสีย เพราะแสลงโรคและไม่เป็นอาหารที่จะฉันได้

ในการตักบาตรน้ำผึ้งแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเสียหลายปี เป็นแต่การพระราชกุศลนั้นยังคงอยู่ตามเคยอย่างหริบหรี่ๆ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] หนังสือมหาวงศ์เป็นพงศาวดารของลังกาทวีป
[] เยียมัมมัสจิต เป็นสุเหร่าแขกสำคัญอยู่ที่เมืองเดลี


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:24:25 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #39 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:26:17 »


เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา

๏ เฉลิมพระชนมพรรษานี้ นับว่าเป็นการพระราชกุศลแท้ ไม่มีพระราชพิธีพราหมณ์เจือปนเลย เมื่อจะกล่าวโดยทางค้นคว้าหาเหตุผลตัวอย่างชั้นต้นของที่เกิดแห่งพระราชพิธีพราหมณ์ทั้งปวงในหนังสือโบราณๆ เช่นหนังสือมหาภารตะ ที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านอยู่บัดนี้ยังไม่ถึงครึ่ง ก็ไม่ได้พบเห็นแบบอย่างที่เจ้าแผ่นดินองค์ใดทำบุญวันเกิดเลย ได้พบแต่ในพงศาวดารอินเดียในชั้นหลัง เมื่อแขกเข้าไปครอบครองเป็นใหญ่ แต่เจ้าแผ่นดินแขกทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อมาเป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ในประเทศอินเดีย ก็ย่อมละทิ้งศาสนามะหะหมัด ถือเลือนๆ ปนกันไปกับศาสนาพราหมณ์แทบทุกองค์ ที่เลยจะทิ้งศาสนามะหะหมัด จนไหลไปไม่รู้ว่าถือศาสนาอะไรทีเดียวก็มี ที่คงถือศาสนามะหะหมัดเคร่งครัดมีน้อยตัว หนึ่งหรือสองทีเดียว ท่านพวกเจ้าแผ่นดินที่ถือศาสนาเลือนๆ เหล่านี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วมีการประชุมใหญ่ เสด็จขึ้นบนตาชั่ง ชั่งพระองค์ด้วยเงินทองสิ่งของเท่าน้ำหนักพระองค์ แล้วพระราชทานเงินทองเหล่านั้นแก่พราหมณ์และพระแขก เป็นพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษา เห็นว่าการพิธีอันนี้ ตรงกับพิธีตุลาภารแท้ทีเดียว ชะรอยพิธีตุลาภาร คือชั่งพระองค์เจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน จะเป็นพระราชพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาของเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนเสียดอกกระมัง การซึ่งกำหนดพิธีตุลาภารไว้ในเดือน ๙ นั้น ชะรอยเจ้าแผ่นดินเก่าที่เป็นต้นตำรานั้น จะประสูติในเดือน ๙ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทองเองจะประสูติในเดือน ๙ จึงวางพิธีตุลาภารลงไว้ในเดือน ๙ ก็จะเป็นได้ วิสัยคนแต่ก่อนย่อมปิดบังวันเดือนปีที่เกิด ด้วยเชื่อว่าผู้ใดรู้วันเดือนปีแล้ว อาจจะไปประกอบเวทมนตร์ ทำอันตรายได้ต่างๆ จึงมิได้ปรากฏว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา ครั้นผู้ตั้งตำราเดิมนั้นล่วงไปแล้ว ผู้ที่บัญชาการชั้นหลังไม่รู้ถึงมูลเหตุ จึงไม่ได้ย้ายพระราชพิธีมาให้ตรงกับวันประสูติของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังซึ่งดำรงราชสมบัติอยู่ ถ้าการที่คาดคะเนนี้ถูก ก็ควรจะว่าพระราชพิธีตุลาภารนั้น เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างโบราณ แต่ข้าพเจ้าไม่ยืนยันเป็นแน่ว่าถูกตามนี้ เพราะวิชาที่เรียนยังตื้นนัก พึ่งจะรู้แต่เรื่องเจ้าแผ่นดินที่เก่าแก่ชั้นบูชายัญ พระราชพิธีที่มีปรากฏในหนังสือที่ได้พบเห็น ก็มีแต่เรื่องบูชายัญอัศวเมธราชสิยาเป็นต้น ยังไม่ได้กล่าวถึงพิธีชั้นหลังนี้เลย เรื่องนี้จะต้องขอผัดไว้สอบสวนค้นคว้าต่อไปอีกก่อน

แต่เรื่องทำบุญวันเกิดในประเทศสยามนี้ไม่เป็นแบบอย่างเหมือนเช่นเมืองจีนหรือประเทศยุโรป ดูไม่ใคร่มีผู้ใดถือว่าจำจะต้องทำอย่างไรในวันเกิดของตัว มักจะนิ่งเลยๆ ไปหรือไม่รู้สึกโดยมาก เมื่อเวลาเด็กๆ ที่เป็นเจ้านายบางทีก็มีสมโภช แต่สมโภชนั้น ก็ตามวันจันทรคติซึ่งนับบรรจบรอบ แต่ดูก็ทำแต่เมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็ไม่ใคร่ได้ทำ ถ้าเป็นคนไพร่ๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่รู้สึกเกือบทั้งนั้น เพราะเหตุว่าการที่นับอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งนั้น ไปนับเสียแต่เมื่อเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง หรือเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ ว่าเป็นอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งแล้วเป็นพื้นธุระกันอยู่แต่เรื่องรับเทวดาเสวยอายุ เมื่อปีใดเป็นเวลาจะเปลี่ยนทักษา เป็นเจ้านายก็มีตำราสะเดาะพระเคราะห์โหรบูชา เสด็จขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นการบุญเจือในพระพุทธศาสนาด้วย ถ้าเป็นชั้นผู้ดีที่มีความรู้หรือมีใจศรัทธาทำบุญ หรือเชื่อหมอดูกลัวเทวดาที่จะเสวยอายุงกงันไป ก็ถวายสังฆทานบ้าง ตักบาตรบ้าง มีลัทธิที่จะเรียกร้องเช่นรับพระเสาร์ พระราหู เลือกพระดำๆ เป็นต้น แต่การที่ทำทั้งปวงนี้ ก็ดูเฉพาะปีใดจะต้องรับเทวดาโดยมาก ในปีปรกติก็มักจะเฉยๆ ไป นัยหนึ่งที่ถือกันว่าผู้ใดเคยรับแล้วต้องรับทุกคราว เว้นเข้าก็ไม่สบายป่วยไข้หรือมีอันตราย ไม่รับเสียเลยดีกว่า ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ไม่ทำอะไรเลยจนตลอดอายุทีเดียวก็มี บางคนก็ถือแต่ชื่อวันที่เกิด เมื่อถึงวันนั้นก็รักษาอุโบสถศีล เหมือนวันพระอีกวันหนึ่งตลอดไป การเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินเล่า แต่เดิมมาก็ไม่มีแบบอย่างที่กล่าวถึงอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากรับเทวดาคราวหนึ่ง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมาเกิดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เป็นบำเพ็ญพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่ก็ไม่ตรงตามกำหนดวันที่บรรจบรอบ ตามสุริยคติกาลหรือจันทรคติกาลอย่างหนึ่งอย่างใด ลงลัทธิล่วงเข้าถึงปีใหม่ นับว่าพระชนมพรรษาเจริญขึ้นอีกปีหนึ่ง ก็สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง

การทำบุญวันเกิดทุกๆ ปี ในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันทุกวันนี้เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวชใช่ว่าจะตามอย่างจีนหรืออย่างฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการซึ่งมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปีไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ควรยินดี เมื่อผู้มารู้สึกยินดีเช่นนั้น ก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดี และควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ควรที่จะบำเพ็ญการกุศล และประพฤติหันหาสุจริตธรรม วันเกิดปีหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปใกล้ต่อความมรณะอีกก้าวอีกคั่นหนึ่ง เมื่อรู้สึกมีเครื่องเตือนเช่นนี้ ก็จะได้บรรเทาความเมาในชีวิต ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นตัวอกุศลธรรมนั้นเสีย การที่ทรงพระราชดำริ มาโดยทางความคิดของบัณฑิตชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาแท้ดังนี้ จึงได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิตย์มาช้านาน แต่การที่บำเพ็ญพระราชกุศลในเวลาทรงผนวชแต่ก่อน จะทรงทำประการใดบ้าง ได้สืบดูได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์[] ว่า เคยมีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระปั้นหยา ๑๐ รูป เป็นการอย่างน้อยๆ เงียบๆ เสมอมา แต่การพระราชกุศลที่จะมีคราวพิเศษแปลกประหลาดอย่างใด ก็ไม่ใคร่จะจำได้ เพราะไม่ใคร่จะมีใครทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ชัดเจน ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันใด มักจะทรงค้นหาเค้ามูลของเก่า หรือเหตุการณ์ที่เกิดใหม่ เป็นต้นว่าปีใดกาลกิณีมาเล็งมาทับร่วมธาตุหรืออะไรๆ ต่างๆ ตามวิธีโหรที่ถือว่าร้ายกาจอย่างใด การพระราชกุศลก็ทรงยักย้ายไปตามกาลสมัยเช่นนั้นด้วย และไม่ใคร่จะดำรัสชี้แจงให้ผู้ใดฟังนัก เมื่อทรงพระราชดำริเห็นควรจะทำอย่างไร ก็มีรับสั่งให้จัดการเช่นนั้นๆ ผู้ที่ได้รับกระแสพระราชดำริในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก ก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์องค์หนึ่ง นอกนั้นจะมีอีกบ้างก็พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอได้รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเองว่า มีพระราชดำริในเรื่องการพระราชกุศลเหล่านี้ ท่านเป็นผู้รับพระบรมราชโองการมาสั่งหมาย บางทีก็เข้าพระทัยตลอด บางทีก็ไม่เข้าพระทัยตลอด พระราชดำรินั้นมักจะลึกซึ้งกว้างขวางจนคะเนหรือเดาไม่ถูกโดยมาก เพราะฉะนั้นการพระราชกุศลที่ทรงมาแต่ยังทรงผนวชก็ดี การเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทำเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ดี จะว่าลงเป็นแบบอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่ได้เพราะไม่เหมือนกันทุกปี ซ้ำแบบอย่างที่จะพอชักมาให้เห็นชั่วปีหนึ่งหรือสองปี คือร่างหมายรับสั่งปีใดปีหนึ่ง ก็สาบสูญค้นไม่ได้เลยจนสักฉบับเดียว จะไต่ถามผู้ใดเอาให้แน่นอนในเวลานี้ ก็ไม่มีตัวผู้ที่จะชี้แจงได้ จำเป็นที่จะต้องเล่าแต่ตามที่สังเกตจำได้ และที่สืบสวนได้พอเป็นเค้าๆ คือได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งว่า ท่านทรงจำได้ว่าแต่ก่อนทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตามจันทรคติกาล มีพระสงฆ์ ๑๐ รูปเหมือนอย่างเมื่อทรงผนวช ภายหลังมาหลายปีจึงได้ทำตามสุริยคติขึ้น แต่เลี้ยงพระสงฆ์ ๕ รูป ที่พระที่นั่งราชฤดี ไม่มีสวดมนต์ ใช้โต๊ะฝรั่งนั่งเก้าอี้ ว่ามีเช่นนั้นอยู่หลายปี การที่พระที่นั่งไพศาลนั้นคงอยู่ตามเดิม ท่านได้เสด็จมาฉันสองครั้ง ภายหลังการที่พระที่นั่งราชฤดีนั้น มีพระมากขึ้น แต่จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ทรงจำไม่ได้ สวดมนต์บนพระที่นั่งราชฤดี แล้วลงมาฉันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นเมื่อเสด็จไปอยู่พระที่นั่งใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระที่นั่งภาณุมาศ ๑๐ รูป แต่ท่านรับสั่งว่าเป็นทางจันทรคติ การซึ่งฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษากองใหญ่ ท่านรับสั่งว่าไม่ทรงทราบ บางทีท่านจะไม่ถูกสวดมนต์ เพราะเป็นพระมหานิกายปน การที่สวดมนต์ ๑๐ รูปบนพระที่นั่งภาณุมาศนั้นเห็นจะเป็นสุริยคติ ใช้พระสงฆ์ธรรมยุติกาทั้งสิ้น เพราะท่านไปทรงระลึกได้ถึงเรื่องเทศนา ๔ กัณฑ์ ทรงออกพระองค์อยู่ว่าลืมเสียโดยมาก จนเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่เมื่อปีชวด ฉศก[] ก็ทรงจำไม่ได้เลย แต่ไปได้ความดีอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียนึกไม่ออกเลย คือการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เคยทำบนพระที่นั่งภูวดลทัศไนย มีครั้งหนึ่งหรือสองครั้งจริง นึกได้

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ก็ได้ความเป็นท่อนๆ คือ ตอนเมื่อทรงผนวช และประทับพระที่นั่งเก่านั้นต้องกันกับที่สมเด็จกรมพระปวเรศรับสั่ง ตอนเมื่อเสด็จไปอยู่ที่พระที่นั่งใหม่ ทำที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งภาณุมาศต้องกัน แต่ไปได้แปลกออกไปว่า ทำพระที่นั่งบรมพิมานก็มี ข้าพเจ้าจำไม่ได้เลยว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาหรืออะไร แต่จำได้ว่าพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์ชั้นบน แล้วลงมาฉันโต๊ะยาวที่ชั้นล่าง นั่งล้อมรอบอย่างเลี้ยงโต๊ะฝรั่งมากด้วยกัน เคยเห็นจะกี่เที่ยวกี่คราวไม่ทราบจนจำได้ ยังอีกเรื่องหนึ่งไปลงเป็นคำเดียวกัน ทั้งสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซ้ำพระเทพกวี[]ด้วยอีกองค์หนึ่ง ว่าในการเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นนี้ ครั้งหนึ่งดำรัสว่าพระสงฆ์ฉันอาหารต่างๆ มามาก ให้กรมขุนวรจักรทำอาหารเก้าอย่างเรียกว่าปณีตโภชนตามบาลี คือ สัปปิ เนยใส นวนิต เนยข้น เตลัง น้ำมัน มธุ น้ำผึ้ง ผาณิต น้ำอ้อย มัจฉะ ปลา มังสะ เนื้อ ขีระ นมสด ทธิ นมส้ม อาหารทั้งนี้ จัดลงในกระทงย่อมๆ แล้วลงกระทงใหญ่อีกกระทงหนึ่ง ทรงประเคน ตามคำพระเทพกวีว่าฉันไม่ได้เลย ต้องกันไว้เสียต่างหาก ลงฉันอาหารไทยๆ ทั้งนั้น การเลี้ยงเช่นนี้ว่ามีคราวเดียว นอกนั้นจะสืบหาเอาความอันใดอีกก็จำไม่ได้ แต่ตามที่ข้าพเจ้าจำได้เองนั้น คือการในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๕ รูป มีเทียนเท่าพระองค์ และเทียนพระมหามงคล มีจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์สำหรับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เอง ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแบบเก่าที่เคยทำมาทุกปี แต่ดูไม่มีผู้ใดทราบว่าเรื่องอะไร ข้าพเจ้าตามเสด็จทุกปี แต่ไม่ได้ยินใครเล่าอย่างไรเลย เสด็จออกทั้งสามวัน การสวดมนต์นั้นมีอย่างหนึ่ง สวดมนต์ในพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ซึ่งเป็นที่พระบรรทม แต่ก่อนบนดาดฟ้ามีเรือนไม้หลังคาตัด คล้ายกันกับเก๋งเรือไฟ ตั้งโต๊ะหมู่ มีพระพุทธรูปและพระเต้าตั้งเต็มไป มีเทียนเท่าพระองค์ เทียนพระมหามงคล และเทียนวัฒน เทียนหายนะอยู่ในนั้นด้วย แต่แรกพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์บนนั้น มีเจ้านายข้าราชการแต่เฉพาะที่เลือกฟั้นน้อยองค์ เวลาสวดมนต์จบแล้วทรงเสกน้ำมนต์และลงยันต์ต่างๆ ต่อไปจนดึก มีเวลาเว้นว่างแต่เสด็จลงมาเสวย แล้วก็เสด็จกลับขึ้นไปใหม่จนเวลาจวนสว่าง ไม่มีผู้ใดเฝ้าอยู่ในเวลานั้น ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปรับใช้ก็รับสั่งไล่ให้ลงมานอน ต่อเวลารุ่งเช้าจึงได้ขึ้นไปแต่งดอกไม้ในที่นมัสการทุกๆ วัน เพราะพนักงานไม่ได้ขึ้นไป ในเก๋งนั้นถ้าเวลาเสด็จลงมาข้างล่างปิดพระทวาร ร้อนอ้าว เข้าไปเหงื่อแตกโซมทีเดียว จนคราวหนึ่งเทียนเท่าพระองค์ร้อนละลายพับลงมาไหม้ตู้ และไหม้โต๊ะหมู่ดูน่ากลัวเต็มที แต่เผอิญเป็นเดชะพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทอดพระเนตรเห็น ยังไม่ทันลุกลามถึงติดตัวเก๋งขึ้น ทรงดับด้วยน้ำพระพุทธมนต์ที่ตั้งอยู่ เมื่อไฟดับแล้วจึงทอดพระเนตรเห็นสายสิญจน์ด้ายพรหมจารีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะหมู่ที่ไฟไหม้นั้น ยังเป็นกลุ่มดีปรกติ เป็นแต่ข้างนอกดำไป ด้วยอยู่ในกลางเพลิงนาน ด้ายสายสิญจน์กลุ่มนั้นรับสั่งว่าขลังสำหรับได้ผูกพระกรเจ้านายต่อมา ตั้งแต่เกิดเพลิงไหม้นั้นขึ้นแล้ว ก็เป็นอันเลิกไม่ได้ไปทำที่เก๋งนั้น ลงมาทำที่ห้องฉากซึ่งจัดไว้เป็นหอพระ ตรงที่พระบรรทมข้างตะวันออก แต่ถึงเวลาที่สวดมนต์อยู่บนดาดฟ้าก็ดี ลงมาสวดมนต์ข้างล่างแล้วก็ดี การเลี้ยงพระสงฆ์ก็เลี้ยงอยู่ที่ห้องนมัสการ พระสงฆ์นั่งเลี้ยวมาตามผนังฉากห้องพระบรรทม และมีโถยาคูเจ้าจอมมารดาชั้นใหญ่ๆ ถูกเกณฑ์คนละโถ และโถยาคูนั้นดูบางปีก็มี บางปีก็ไม่มี ข้าพเจ้าอยู่ข้างจะเลือนมาก เพราะไม่ได้ทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ที่จะทรงทำอย่างหนึ่งอย่างใด และก็ไม่สู้เอาใจใส่นัก มาจำได้ชัดเจนมาเป็นรูปก็เมื่อปีชวด ฉศก พระชนมพรรษาครบ ๖๐ ปี ในครั้งนั้นมีเจ้านายขุนนางทำบุญวันเกิดกันชุกชุมขึ้นแล้ว เรียกว่าซายิดบ้าง แซยิดบ้าง เป็นทำอย่างจีน ชะรอยก็จะเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาอายุห้าสิบเอ็ดคือห้าสิบถ้วน พวกจีนที่ประจบฝากตัวอยู่ทั่วกัน จะแนะนำขอร้องให้ทำอย่างไร จึงได้ทำกันขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังการทำบุญเช่นนั้นก็ดูทำทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ใหญ่ มีผู้ไปมาหาสู่ประจบประแจงอยู่ ดูการที่ทำบุญสุนทันอย่างไรก็เล็กน้อย เป็นแต่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำ ค่ำแล้วมีละคร และผู้ใดที่นับถือก็มีของไปช่วยไปให้กันอย่างของกำนัล การโรงครัวก็ไม่ต้องออกเงินออกทองอันใด เมื่อผู้ใดได้บังคับการกรมใดมีเจ้าภาษีสำหรับกรม ก็เกณฑ์เจ้าภาษีนั้นมาเลี้ยง แล้วขอแรงตั้งโต๊ะอวดป้านกันบ้าง เป็นการสนุกสนานครึกครื้นมาก ไม่เงียบๆ กร่อยๆ เหมือนการหลวง จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็พลอยพระราชทานของขวัญ ตามทางคำนวณวันเดือนปี ที่โปรดทรงคำนวณอยู่ คือพระราชทานทองทศเท่าปี เงินบาทเท่าจำนวนเดือน อัฐตะกั่วเท่าจำนวนวัน สำหรับให้ไปแจกจ่ายทำบุญ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย แต่ทองเงินอัฐเหล่านั้น ก็ไม่เห็นใช้ในการบุญอันใด เป็นประโยชน์เกิดขึ้นอีกประตูหนึ่ง เมื่อถึงงานแซยิดใครๆ ก็เป็นการเล่าลือกันไปหมู่ใหญ่ ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงเจ้านายลูกเธอต้องออกไปนอนค้างอ้างแรมกันก็มี เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีผู้ใดขาดได้ ถ้าไม่ช่วยงานแซยิดกันแล้วดูเหมือนเกือบไม่ดูผีกันทีเดียว เมื่องานข้างนอกๆ เป็นการใหญ่โตอยู่เช่นนี้ แต่การเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบรมมหาราชวังกร่อยอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่แต่จะมาเฝ้าก็ไม่มี เพราะการที่ทรงนั้นเป็นคนละอย่างกันกับที่เขาทำๆ กันอยู่

เมื่อมาถึงปีชวด ฉศก กำลังการทำบุญแซยิดสนุกสนานถึงอย่างเอกอยู่นั้น จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการครึกครื้นบ้าง อาศัยที่พระชนมายุครบ ๖๐ ปี ต้องแบบข้างจีนเรียกว่าบั้นสิ้วใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็เห็นด้วย จึงได้คิดจัดการเป็นการใหญ่ มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่ท้องพระโรงหกสิบรูปเท่าพระชนมายุ แล้วป่าวร้องให้เจ้านายข้าราชการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน แล้วให้จุดประทีปตามวังเจ้าบ้านขุนนางราษฎรทั่วไป เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น จัดของถวายต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะคิดทำคิดสร้างขึ้น แต่ไม่สู้ทั่วกันนัก เจ้านายถวายมากกว่าขุนนาง พวกจีนก็ถวายเทียนดอกไม้และแพร มีเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมคล้ายออกแขกเมือง เจ้านายและขุนนางอ่านคำถวายชัยมงคลทีละคราว แล้วพระราชทานเหรียญทองคำตรามงกุฎหนักตำลึงทองแจกจ่ายทั่วไปเป็นอันมาก เหรียญนั้นที่พระราชทานพวกจีน มีหูร้อยสายไหมสำหรับสวมคอ ข้างล่างมีห่วงสำหรับห้อยพู่ ครั้นเมื่อพระราชทานพวกจีนไปแล้ว ก็พากันห้อยคอเฝ้าในเวลาแต่งเต็มยศ แต่ไทยๆ ที่ได้รับพระราชทานก็ไปเก็บเงียบๆ อยู่ จึงรับสั่งให้ให้ทำห่วงติดเสื้อเสียบ้างก็ได้ เจ้านายขุนนางบางคนก็ทำติดเสื้อ เป็นห่วงขึ้นมาติดกับเข็มกลัดข้างล่างห้อยพู่ก็มี ไม่ได้ห้อยพู่ก็มี ที่ทำเป็นดอกจันทน์ด้วยแพรสีต่างๆ รองแล้วเย็บติดกับเสื้อก็มีต่างๆ ตามแต่ใครจะทำ ที่ติดก็มีไม่ติดก็มี บางคนก็เอาไปทำหลังตลับยาแดงสูบกล้องบ้าง ตลับยาใส่หีบหมากบ้าง งานเฉลิมพระชนมพรรษานั้นทำอยู่สามวัน มีเทศนา ๕ กัณฑ์ มีสรงมุรธาภิเษก การทั้งปวงนั้นก็เป็นรูปเดียวกันกับเฉลิมพระชนมพรรษาทุกวันนี้ทุกอย่าง เป็นแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยที่บ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น และคนทั้งปวงเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ในครั้งนั้นก็เป็นการเอิกเกริกสนุกสนานมาก โปรดให้มีหมายประกาศห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษานั้นด้วย แต่การต่อมาในปีฉลู ปีขาล ปีเถาะก็กร่อยๆ ไปเกือบจะลงรูปเดิม คงอยู่แต่พระราชกุศล แต่การข้างนอกยิ่งครึกครื้นใหญ่โตมากขึ้น ถึงมีจุดฟืนจุดไฟเลียนอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาออกไปอีกด้วย จนถึงเมื่อจะพระราชทานสุพรรณบัฏเจ้าพระยายมราชเป็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก สมเด็จเจ้าพระยาได้รับสุพรรณบัฏไว้แต่เดิม เป็นแต่ว่าที่สมุหพระกลาโหม ด้วยในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ยังอยู่ ครั้นภายหลังจะพระราชทานสุพรรณบัฏให้เป็นที่สมุหพระกลาโหม ท่านไม่ยอมรับ เกะกะกันอยู่หลายปี ภายหลังต้องมาตกลงกันเป็นให้เสด็จพระราชดำเนินงานแซยิด แล้วพระราชทานสุพรรณบัฏด้วย แต่ไม่ยอมรดน้ำ พระราชทานแต่น้ำสังข์ เป็นอันได้เสด็จพระราชดำเนินในการแซยิดสมเด็จเจ้าพระยาครั้งหนึ่งแต่ปีชวดนั้นมา ก็เริ่มทรงพระราชดำริเตรียมการที่จะให้มีแซยิดใหญ่เป็นการตอบแทน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งจะถึงร่วมกันเข้าในปีมะโรงสัมฤทธิศก ปีเดียวกันทั้งสามราย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า สวรรคตเสียก่อน กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ยังไม่ถึงวันเกิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคตเสีย ได้มาทำในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทำเป็นการใหญ่ทั้งสองราย แต่ที่กรมหลวงวงศานั้น ดูเหมือนจะน้อยไปกว่าที่กะคาดจะทำแต่เดิมมาก แต่ที่สมเด็จเจ้าพระยานั้น ยิ่งมโหฬารดิเรกมากขึ้น งานแต่ก่อนๆ เคยทำมาทั้งตัวงานและบริวารเพียงเจ็ดวันแปดวัน ในปีมะโรง สัมฤทธิศกนั้น มีละครมีงิ้วเลี้ยงดูเรื่อยเจื้อยไปกว่าสิบห้าวัน บรรดาเจ้าภาษีนายอากรที่มีงิ้ว หรือมีพวกพ้องมีงิ้วก็หางิ้วไปเล่นและเลี้ยงดูด้วย คนละสองวันสามวันจนทั่วกัน การทำบุญวันเกิด หรือที่เรียกว่าแซยิดนั้น ผู้ใดทำได้ผู้นั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ หรือมีประโยชน์ขึ้นอีกมุขหนึ่งดังนี้

แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น เมื่อครั้งไปบวชเณร กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งแนะนำชักชวนตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชดำริทำการพระราชกุศลในวันประสูติตั้งแต่ยังทรงผนวช เช่นได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ข้าพเจ้าเกิดความเลื่อมใสเห็นจริงด้วย จึงได้เริ่มทำบุญวันเกิดนั้นมาตั้งแต่ปีขาล อัฐศก ๑๒๒๘ ทำอย่างอาราม คือมีสวดมนต์เลี้ยงพระและแจกฉลากสิ่งของต่างๆ ตามที่มีเหลือใช้สอย แก่พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศบ้าง วัดอื่นบ้าง ครั้นเมื่อสึกมาอยู่ที่สวนกุหลาบในปีเถาะ นพศก ๑๒๒๙ นั้น ก็ได้ทำอีกครั้งหนึ่งอย่างอารามๆ เช่นทำที่วัด ไม่ได้บอกเล่าให้ใครรู้ ครั้นในปีมะโรง สัมฤทธิศก ๑๒๓๐ เมื่อถึงวันเกิดนั้น ข้าพเจ้าเจ็บหนักจนไม่รู้สึกสมประดีตัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวรด้วย จึงได้เว้นไปปีหนึ่งไม่ได้ทำ ครั้นมาถึงปีมะเส็ง เอกศก ๑๒๓๑ เป็นเวลาพระบรมศพยังอยู่ และจะคิดทำอะไรก็ยังไม่คล่องแคล่วไปได้ เลยค้างไปอีกปีหนึ่ง

ครั้นเมื่อปีมะเมีย โทศก จึงได้ปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เรื่องที่จะหล่อพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยหล่อมาแต่ก่อน เพราะในเวลานั้นไม่มีผู้ใดนึกฝันอันใดให้เลย การถือน้ำเดือนห้าในปีมะเส็งเอกศก ก็ตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาแต่สี่รัชกาล กรมสมเด็จท่านก็ทรงเห็นสมควรที่จะหล่อตามแบบอย่างแต่ก่อน จึงได้คิดเริ่มจะหล่อพระชนมพรรษาในต้นปีมะเมีย โทศก ๑๒๓๒ แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่เห็นด้วย ท่านว่าจะมานั่งใส่คะแนนอายุด้วยพระพุทธรูปเปลืองเงินเปลืองทองเปล่าๆ แต่ก่อนท่านทรงพระชราท่านจึงทำต่อพระชนมพรรษา นี่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่จะต้องทำทำไม เมื่ออธิบายกันไปในเรื่องที่จะต้องตั้งถือน้ำเป็นต้น จึงได้ตกลงเป็นอันได้หล่อ ครั้นเมื่อหล่อพระแล้วก็จะต้องฉลอง และข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะฉลองพระพุทธรูปนั้น ในเมื่อถึงกำหนดวันเกิดที่เคยทำบุญมาแต่ก่อน จึงได้คิดกำหนดการที่จะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย ทำบุญวันเกิดด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการใหญ่ ทีแรกซึ่งข้าพเจ้าจะได้ลงมือทำบุญ ในครั้งนั้นเป็นเวลาที่เลียนธรรมเนียมฝรั่งใหม่ๆ ได้ไปเห็นเขาตกแต่งฟืนไฟกันในการรับรองที่สิงคโปร์บ้าง ที่ปัตเตเวียบ้าง พวกที่ไปด้วยกัน และพวกที่มีความจงรักภักดี อยากจะช่วยตกแต่งในการทำบุญนั้นให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนานเหมือนอย่างที่เคยไปเห็นมา และจะให้เป็นที่ชอบใจข้าพเจ้าด้วย จึงได้มีผู้มารับเป็นเจ้าหน้าที่ จะตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวังให้เป็นการสนุกสนาน แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านตกใจไปว่าจะทำการแซยิดอย่างจีนหรืออย่างไทยแกมจีน ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติยศใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ คือสูงวัยและสูงบรรดาศักดิ์ในเวลานั้น จึงเข้ามาห้ามไม่ให้ทำ โดยยกแบบอย่างจีนว่า ถ้าอายุยังไม่ถึงห้าสิบเอ็ดปีเขาห้ามไม่ให้ทำ ถ้าผู้ใดทำแล้วจะมีอายุสั้น ก็ได้อธิบายกันมาก ว่าที่จะทำนี้เป็นการฉลองพระและทำบุญกันอย่างไทยๆ แท้ไม่เกี่ยวกับจีนเลย ก็ยังไม่ตกลง ถึงเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มาค้นตัวอย่างในเรื่องจีนต่างๆ อธิบาย ดูเป็นการใหญ่โตกันมาก ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมรับว่าเป็นอย่างจีนอยู่ถ่ายเดียว ภายหลังตกลงเป็นอันได้ทำ แต่การที่จุดฟืนไฟนั้นประกาศห้ามปรามกันแข็งแรง ล่วงมาอยู่หลายเดือน คนหนุ่มๆ ที่ได้รับทำก็ไม่ฟังขืนทำการที่ตระเตรียมทำนั้นก็เฉพาะที่ในวังแห่งเดียว แต่เป็นด้วยการถุ้งเถียงกันนั้นโด่งดังมากอย่างไรนั้นอย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่รับทำที่ในวังแล้วดื้อไม่ยอมเลิก เลยไปคิดทำที่บ้านตัวต่อไปอีกบ้างหรืออย่างไรก็ไม่ทราบเลย ไม่ได้มีประกาศบอกเล่าอันใดเหมือนอย่างปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ แต่ครั้นเมื่อถึงงานเข้าจริงมีผู้จุดไฟในลำแม่น้ำและตามถนนมากถึงห้าวันหกวันด้วยการครั้งนั้นหลายวันติดกัน ครั้นเมื่อจุดไฟหลายวันพวกฝรั่งก็พลอยจุดด้วยบ้าง และมีผู้ให้พรในวันเกิดนั้นขึ้นด้วย จึงได้มีเหรียญรางวัลบรรดาผู้ซึ่งแต่งซุ้มไฟในวังเป็นรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ การแต่งซุ้มไฟครั้งแรกนั้นเป็นการเอิกเกริกสนุกสนานอย่างยิ่ง ที่ราษฎรไม่เคยเห็นงดงามเช่นนั้น ความนิยมเต็มใจในการแต่งไฟก็มีขึ้นในวันหลังๆ มากขึ้นทุกวัน การที่เห็นเป็นข้อขัดข้องเสียหายอย่างใด ก็ดูเป็นไม่มีผู้ใดพูดถึง เมื่อมีผู้ไปพูดต่อว่าฝรั่งหรือชี้แจงเหตุผลตามแบบอย่างข้างจีนให้ฝรั่งฟังก็ไม่ถูกอารมณ์ฝรั่งเข้าได้ ด้วยเขาถือวันเกิดเจ้าแผ่นดินเป็นแนชันนัลฮอลเดย์ก็กลับเห็นดีไปด้วย การที่ยกข้อขัดข้องอย่างจีนนั้นก็เป็นอันสงบ เป็นแต่ผู้ซึ่งเชื่อถือตำราจีน หรือไม่เชื่อถือแต่ชอบใจตำราก็บ่นอุบๆ อับๆ ไปด้วยความหวังใจว่าจะตายเร็วบ้าง เป็นห่วงด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่นจะสิ้นไร้ไม้ตอกไปบ้าง ในปีนั้นเองมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอ่านคำถวายพรอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ ขึ้นเป็นคราวแรก คำตอบจึงได้มีคำขอบใจที่จุดไฟติดท้ายอยู่ ซึ่งดูไม่น่าจะกล่าว แต่ที่กล่าวในเวลานั้นเพราะเป็นที่หมายแห่งความจงรักภักดี การจุดไฟในการเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นอันพร้อมมูลทั่วถึงขึ้นโดยลำดับโดยไม่ต้องกะเกณฑ์ขอร้องอันใด ในปีที่สองคือปีมะแม ตรีศก ๑๒๓๓ เว้นไว้แต่บางแห่ง พึ่งมาเป็นอันจุดทั่วถึงกันในปีระกา เบญจศก ๑๒๓๕ เป็นล่าอย่างยิ่งอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการจุดไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เกิดขึ้นโดยความเต็มใจของคนทั้งปวงแท้ ไม่ได้มีขอร้องอย่างหนึ่งอย่างใดเลย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นนักขัตฤกษ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั้งปวงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำเหมือนอย่างตรุษสงกรานต์ ก็เป็นอันต้องกับแบบอย่างประเทศอื่นๆ ยกเสียแต่เมืองจีน หรืออย่างไรที่ยกมาว่ากันอยู่นั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:30:39 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 0 6198 กระทู้ล่าสุด 04 กุมภาพันธ์ 2557 14:28:49
โดย Kimleng
ความเป็นชาติโดยแท้จริง-พระราชนิพนธ์ ความเรียง ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3756 กระทู้ล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2557 16:10:02
โดย Kimleng
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1945 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
สาวิตรี พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 1 1828 กระทู้ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2563 14:57:40
โดย Kimleng
ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 8 5487 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2563 18:56:52
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.221 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 05:00:24