[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
03 ธันวาคม 2567 18:18:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิบากแห่งกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 8300 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2561 15:55:30 »




ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับหลักกรรม

หลักกรรมเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา แต่น่าประหลาด ชาวพุทธไทยเข้าใจไม่ตรงกับที่ทรงสั่งสอน จะว่าผิดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ แต่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์

ความเข้าใจไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมว่ามีอิทธิพลมาจากวรรณคดีไทยส่วนหนึ่ง มาจากการสอนของผู้รู้ (ที่ไม่รู้จริง) อีกส่วนหนึ่ง

เข้าใจผิดกันอย่างไรหรือครับ ผมขอว่าเป็นข้อๆ ดังนี้
๑. คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า กรรม คือผลของความชั่วร้ายที่เราได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน
๒. เชื่อกันว่า กรรมเป็นกฎสำเร็จรูป ตายตัว ที่เราไม่มีโอกาสแก้ไข หรือทำอะไรไม่ได้ มีทางเดียวคือจำต้องยอมรับ
๓. เชื่อว่าทำอย่างใด ต้องได้อย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ยกมาแค่ ๓ ข้อก็พอ ขอแถลงเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
๑. เรามักเข้าใจผิดว่า “กรรม” คือผลของความชั่วร้าย ที่ทำไว้แต่ชาติก่อน บันดาลให้เราได้มาเกิด มาเป็น อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องร้ายๆ และเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น (เช่น ถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดนฟ้องร้องติดคุก ไฟไหม้บ้าน…) จึงเรียกว่ากรรม เรื่องเล็กน้อย (เช่น เดินพลาดตกท่อเทศบาลขาแพลง…) ไม่เรียกว่ากรรม

ส่วนผลของความดีที่ทำไว้แต่ชาติก่อนมาบันดาลให้เป็นไป (เช่น อยู่ๆ ก็มีคนมาเชิญให้เป็นนายกฯ…) ไม่เรียกว่ากรรม กลับเรียก “บุญ” จึงมักมีคำพูดว่า “บุญทำ กรรมแต่ง” หรือ “แล้วแต่บุญแต่กรรม” นี่คือความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่

ผิดอย่างไร? ผิดตรงที่คำว่า “กรรม” มิใช่ผล แต่เป็นเหตุ มิใช่เรื่องที่ล่วงไปแล้ว แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว เรื่องดีๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย และมิใช่เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างเดียว เรื่องเล็กๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย
กรรมคือ การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เราตั้งใจทำ พูด คิดเรื่องใด สิ่งใด ทั้งในแง่ดีและไม่ดี เรียกว่า “กรรม” เช่น

– ผมกำลังพิมพ์ต้นฉบับอยู่ ยุงตัวหนึ่งมากัดผม ผมรำคาญจึงตบให้มันตาย เรียกว่าผมทำกรรมทางกาย เป็นกรรมที่ไม่ดีเรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”
– กำลังทำงานง่วนอยู่ ก็มีคนมากดกริ่งอ้างว่ามาจากมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่ง มาขอบริจาค ผมโมโหด่าไปเจ็บๆ แสบๆ ไม่ให้แม้แต่บาทเดียว เพราะคนคนนี้เคยมาขอแล้วขออีก เคยสืบได้ว่าไม่มีมูลนิธิดังกล่าวจริง เรียกว่าผมได้ทำกรรมทางวาจา เป็นกรรมไม่ดีเรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

– อ่านข่าวพบคนที่เป็นศัตรูได้รับตำแหน่งใหญ่โต ผมทนไม่ได้คิดสาปแช่งให้มันพินาศฉิบหายในเร็ววัน อย่างนี้ผมกำลังทำกรรมทางใจ เป็นกรรมไม่ดีเรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

ตกลงวันๆ ผมอาจทำกรรมไม่ดีหลายอย่าง หรืออาจทำกรรมดีอีกหลายอย่างก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดี ก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือ “บุญ” กรรมไม่ดี ก็เรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”  เพราะฉะนั้น “บุญ” ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง “บาป” ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เป็นเหตุมิใช่ผล เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องที่ล่วงแล้ว

๒. ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะเข้าใจว่า กรรมเป็นกฎตายตัว ที่เราแก้ไขไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้คือให้ยอมรับสภาพ “ปลงเสียเถอะ” หรือ “เป็นกรรมของสัตว์” เช่น เกิดมายากจนก็ยอมรับสภาพว่า เราทำกรรมไม่ดีไว้ มาชาตินี้จึงจน แล้วก็ยอมรับสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่คิดแก้ไข พัฒนาให้มันดีขึ้น มีแต่ทอดอาลัย หรืองอมืองอเท้า  ความเชื่ออย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง พุทธศาสนาสอนว่ากรรมเก่ามีจริง จริงอยู่เราเกิดมาจน อาจเป็นเพราะผลของกรรมเก่าที่เราทำไว้ ทำให้มีผลเกิดมายากจน แต่มิได้หมายความว่า กรรมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เราเกิดมาจนเพราะกรรมเก่าส่งผล แต่เราก็สามารถสร้างกรรมใหม่ นั่นคือ พยายามขยันหมั่นเพียรทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างสุดกำลังสามารถ ในที่สุดเราก็อาจเปลี่ยนฐานะจากคนยากจน กลายเป็นผู้มีอันจะกิน หรือร่ำรวยได้

พระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับความจริง แต่ไม่ให้ยอมรับสภาพ ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมถูกต้อง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ๆ ย่อมจะไม่ยอมรับสภาพ หรือ “ชะงักงัน” อยู่กับที่ หากแต่พยายามแก้ไขปรับปรุง หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เช่น เกิดมาจน ก็รู้ว่าตนเกิดมาจน อาจเพราะทำกรรมบางอย่างมา ทำให้เราเกิดมาจน แต่ไม่งอมืองอเท้า หรือจำยอมต่อสภาพนั้น พยายามขวนขวายทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ในที่สุดก็อาจตั้งเนื้อตั้งตัวได้ อย่างนี้จึงจะเป็นความเชื่อเรื่องกรรมที่ถูกต้อง

๓. ประการสุดท้าย คนมักเข้าใจว่า ทำกรรมอย่างใด ย่อมต้องได้รับผลเช่นนั้น ทำกรรมดีต้องได้รับผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำกรรมชั่วต้องได้รับผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง นี่ก็เข้าใจไม่ถูกต้องเช่นกัน
ไม่ถูกต้องอย่างไร

ขอเรียนว่า การพูดอะไรตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนาดังในกรณีเรื่องตายแล้วเกิด ถ้าพูดในแง่เดียวว่า ตายแล้วต้องเกิด หรือตายแล้วต้องดับสูญ อย่างนี้ก็ไม่ถูกเช่นกัน เพราะตายแล้วเกิดก็มี คือปุถุชนคนมีกิเลส ตายแล้วย่อมเกิดอีก เพราะยังมี “เชื้อคือกิเลส” ทำให้เกิดอยู่ ตายแล้วไม่เกิดก็มี คือพระอรหันต์ เพราะหมด “เชื้อ” ดังกล่าวแล้ว จะพูดโดยแง่เดียวว่า ตายแล้วต้องเกิดหมดทุกคน หรือตายแล้วไม่เกิดทั้งหมดเลย อย่างนี้ไม่ได้ดอกครับ

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว นี่จริงแน่นอน แต่มิได้หมายความ “ทำอย่างใดต้องได้อย่างนั้น”

นาย ก. ยิงเขาตาย ตายไปเกิดชาติหน้า นาย ก. ไม่จำเป็นจะต้องถูกเขายิงตาย

นาง ข. เอาไข่เค็มใส่บาตรทุกวัน นาง ข. ตายไปเกิดใหม่ ก็ไม่จำเป็นจะต้องกินไข่เค็มทุกมื้อ เช่นเดียวกัน (ขืนเป็นอย่างนี้ก็เค็มตายสิครับ)

แน่นอน นาย ก. ทำความชั่ว นาย ก. ย่อมได้รับผลสนองในทางชั่ว แต่ไม่จำต้องถูกยิงตาย อาจเป็นผลคล้ายๆ กันนั้น ผลที่หนักพอๆ กับกรรมนั้น

นาง ข. ทำความดี นาง ข. ย่อมได้รับผลสนองในทางดี แต่ไม่จำต้องกินไข่เค็มทุกวัน อาจได้ผลดีอย่างอื่น ที่มีน้ำหนักพอๆ กันกับกรรมนั้น

อย่างนี้พระท่านว่า “ได้รับผลสนองที่คล้ายกับกรรมที่ทำ” (กัมมะสะริกขัง วิปากัง = ผลกรรมที่คล้ายกับกรรมที่ทำ)
ผลกรรมคล้ายกับกรรมที่ทำอย่างไร? ผมขอยกเรื่องจริงมาให้ดูสักสองเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง นางโรหิณีน้องสาวท่านอนุรุทธเถระ เป็นโรคผิวหนังอย่างแรง รักษาเท่าใดก็ไม่หาย  ต่อมาพระอนุรุทธเถระผู้พี่ชาย แนะนำให้ทำบุญด้วยการกวาดลานวัด ปัดกวาดเช็ดกุฏิ แล้วโรคก็หาย มีพระกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า นางทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน  พระองค์ตรัสว่า ชาติก่อนเป็นมเหสีกษัตริย์องค์หนึ่ง หึงสาวนักฟ้อนที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดปรานมาก โดยเอาผงหมามุ่ยไปโรยใส่เครื่องแต่งตัวหญิงนักฟ้อน จนนางถูกผงหมามุ่ยกัดคันทรมานมาก

มเหสีจอมขี้หึงก็หัวเราะด้วยความสะใจ “สามีข้าใครอย่าแตะนะเว้ย” มาชาตินี้นางจึงเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง  กรรมที่นางทำคือ เอาผงหมามุ่ยไปโรยหญิงนักฟ้อน ผลกรรมที่นางได้รับ มิใช่ต้องถูกคนอื่นเอาผงหมามุ่ยมาโรยตอบ แต่เป็นผลกรรมที่คล้ายกันคือ เกิดมามีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำ และคัน ดุจถูกผงหมามุ่ย

เรื่องที่สอง เรื่องนี้เขาเล่ามา เลยเอามาเล่าต่อ นายคนหนึ่งมีสวนกล้วยอยู่ชายป่า พอกล้วยสุกคาต้น ฝูงลิงก็มากินเกือบหมดทุกครั้ง เจ็บใจมาก วันหนึ่งจึงดักจับได้ลิงตัวหนึ่ง เอาลวดมามัดมือมันแล้วปล่อยไป ลิงพยายามดึงมือเพื่อให้หลุด ยิ่งดึงลวดยิ่งบาดลึกลงไปทุกที เลือดไหลแดงฉานร้องโหยหวน วิ่งเข้าป่าหายไป นายคนนี้สะใจที่ได้แก้แค้น กาลเวลาผ่านไปเขาได้ลูกชายมาคนหนึ่ง มือสองข้างแป นิ้วติดกันยังกับตีนเป็ด ลูกคนที่สองที่สามเกิดมาพิการ เช่นเดียวกันยังกับแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน กรรมที่เขาทำคือ เอาลวดมัดมือลิง ผลกรรมที่เขาได้รับ มิใช่ว่าเขาถูกคนมัดมือ แต่ผลกรรมที่คล้ายกันคือ เขาได้ลูกมาแต่ละคนมือพิการนิ้วติดกัน ดุจดังทำความพิการแก่มือลิง

สรุปก็คือ เราทำอย่างใด ไม่จำเป็นต้องได้อย่างนั้น แต่เราอาจได้ผล “คล้าย” อย่างนั้นครับ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทำดีไม่จำต้องได้ผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำชั่วไม่จำต้องได้ผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำดีได้ผลดีหรือทำชั่วได้ผลชั่วแน่ แต่ไม่ใช่ “ต้องได้เต็มที่” เป็นแต่เพียงแนวโน้มที่จะได้รับผลนั้นมากที่สุดเท่านั้น ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอย่างอื่นที่จะมาเบี่ยงเบน หรือผ่อนปรนด้วย

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย สมมติว่า ผมออกจากบ้านมุ่งหน้าจะไปนครปฐม ทันที่ที่ผมขับรถออกจากบ้าน แนวโน้มที่ผมจะถึงนครปฐม ย่อมมีมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ครบร้อยดอกครับ อาจมีเงื่อนไขอย่างอื่นที่ผมไปไม่ถึงนครปฐมก็ได้ เช่น รถตายกลางทาง หรือผมเกิดขี้เกียจเลี้ยวรถกลับเอาดื้อๆ ก็ได้

กรรมที่ทำก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ แนวโน้มที่จะให้ผลมีมาก แต่ไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดใช้คำว่า “ต้อง” มันขึ้นกับเงื่อนไขอย่างอื่นด้วย

คัมภีร์ท่านเปรียบกรรมเหมือนหมาไล่เนื้อ คนทำกรรมเหมือนเนื้อ หมาไล่เนื้อทันเมื่อใดมันก็กัดทันที โอกาสที่หมาจะไล่ทันเนื้อมีมากอยู่ แต่ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์

บางครั้งบางที เนื้อก็อาจหลุดรอดไปได้ก็มี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นที่มาแทรกด้วย


ที่มา : ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับหลักกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๙ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑





ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่ ?

คนส่วนมากมักจะคิดว่า “กฎแห่งกรรม” เป็นกฎตายตัว เป็นอย่างใดก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง
เห็นจะต้องขออนุญาต “จับเข่าคุย” เสียตรงนี้ (จะให้จับไหมเนี่ย) ว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นหนึ่งในบรรดา 5 กฎคือ
๑. พืชนิยาม กฎแห่งการสืบพันธุ์ หรือพันธุกรรม เช่น เมล็ดมะม่วงก็ย่อมงอกงามออกมาเป็นต้นมะม่วง จะเป็นต้นทุเรียนไปไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง
๒. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล เช่น เย็น ร้อน หนาว ฟ้าร้องฟ้าฝ่า เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
๓. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น การที่จิตรับรู้เรื่องราวต่างๆ แวบไปโน่นไปนี่ได้รวดเร็วเหลือเชื่ออย่างไร จิตมันทำงานอย่างไร เป็นต้น นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
๔. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำ และการให้ผลของการกระทำ เช่น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมดาของสรรพสิ่ง เช่น สิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้นแล้วย่อมแปรเปลี่ยนดับสลายไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่าทุกสิ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงและดับสลายไปตามเหตุปัจจัย

กฎที่ ๕ นี้ครอบคลุมทุกกฎที่กล่าวมาข้างต้น กฎแห่งกรรมก็เป็นหนึ่งใน ๕ กฎนั้น เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมจึงเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่กฎตายตัว

เมื่อกฎแห่งกรรมมันเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะมาผันแปร หรือสนับสนุนให้มันเป็นไปในทางใด คนที่ทำความไม่ดีมาก่อน ความไม่ดีนั้น จริงอยู่แนวโน้มจะให้ผลไม่ดีแก่ผู้กระทำมีอยู่ เพียงรอโอกาสที่เหมาะจะให้ผล

บังเอิญว่าคนคนนั้นมากระทำความดีมากมายเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ความดีนั้นอาจจะมี “พลัง” ละลายความชั่วให้หายไป หรือหมดโอกาสจะให้ผลเลยได้

ในทำนองเดียวกัน คนที่เคยทำความดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากขึ้นกว่าเดิม ความดีที่เคยมี ก็อาจจะ “จางลง” ไปได้

เรื่องนี้ไม่ยกตัวอย่างคงจะกระจ่างยาก

ผมขอยกตัวอย่างที่รับรู้กันได้ง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง สมมติว่า เรามีบ่อน้ำที่มีน้ำสกปรกมากอยู่บ่อหนึ่ง การที่เราจะทำน้ำให้สะอาดอาจมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ ไขน้ำที่สะอาดเข้าไปให้มากๆ

น้ำใหม่ที่สะอาดนั้นก็จะเข้าไปละลายน้ำเก่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน สักพักน้ำในบ่อนั้นก็จะใสสะอาดจนกระทั่งดื่มกินได้

คำถามก็คือ น้ำที่สกปรกมันหายไปไหน ตอบว่า มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันเจือจางไปกลายเป็นน้ำที่สะอาดขึ้นมาแล้ว

ในเรื่องความดีความชั่วก็เช่นเดียวกัน เราเคยทำดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากกว่า ความดีก็ละลายหายไปโดยอัตโนมัติ หรือเคยทำชั่วมา แต่ภายหลังทำความดีมากขึ้นๆ ความดีนั้นก็จะทำให้ความชั่วหมดไปได้

อย่างนี้เราจะเรียกว่า ทำชั่วลบล้างความดี ทำดีลบล้างความชั่วได้ไหม

จะว่ามัน “ล้าง” กันตรงๆ เหมือนเอาผงซักฟอกล้างคราบสกปรกก็ไม่ใช่ดอกครับ

เพียงแต่ว่า ความดี (บุญ) ถ้ามันมีมากขึ้นๆ มันก็ทำให้ความชั่ว (บาป) ที่มีอยู่เดิมละลายหายไปได้ คือไม่สามารถให้ผล หรือความชั่ว (บาป) เมื่อมีมากขึ้นๆ มันก็สามารถทำให้ความดี (บุญ) อันตรธานไปเช่นเดียวกัน

มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า (ขอยกมาอ้างเพื่อความขลัง)
ยัสสะ ปาปัง กะตัง กัมมัง กุสะเลนะ ปะหิยะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา


ใครทำความชั่วไว้ ภายหลังละได้ด้วยการทำความดี เขาผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ส่องสว่างกลางหาวฉะนั้น

แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ใครก็ตามเคยทำชั่วไว้ ต่อมากลับทำความดีไว้มากๆ ความชั่วก็หายไป คนเช่นนี้เรียกว่า พบแสงสว่างแห่งชีวิตในโลกนี้ เหมือนพระจันทร์ไม่ถูกเมฆหมอกบดบัง

คงจะจำพระองคุลิมาลกันได้ ในอดีตท่านได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ฆ่าคนมาเป็นร้อยๆ ตามหลักของกรรม ความชั่วที่ท่านทำจะต้องตามสนองไม่เร็วก็ช้า แต่บังเอิญว่าท่านพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เลิกละวางทางแห่งความชั่วร้าย ออกบวชบำเพ็ญพรต จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เงื่อนไขใหม่ที่ท่านทำนี้มีมาก และมีพลังทำให้เงื่อนไขเก่าเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำความดีจนถึงที่สุดแล้ว ความชั่วที่เคยมีมาก็หมดโอกาสให้ผลเอง จะเรียกว่ามันหายไปหมดไปเลยก็ได้ เหมือนน้ำสกปรกในบ่อ เมื่อมีน้ำสะอาดไหลเข้ามากๆ มันก็ละลายหายไปเองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

หลักกฎแห่งกรรมตรงนี้ทำให้เราได้คิดว่า เราสามารถ “ลิขิต” ชีวิตตัวเองได้

ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเคยไม่ดีมาก่อน (ไม่อยากใช้คำว่า “ทำชั่ว”) ใช่ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นชั่วอมตะนิรันดร์กาลก็หาไม่ เราสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ด้วยการพยายามปรับปรุงตัวเอง ทำความดีให้มากๆ ขึ้น เช่น ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนละคน

เพราะฉะนั้น อยากได้อะไร อยากเป็นอะไรในอนาคต ก็ทำเอาเองเถิด สร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางนั้น ไม่ต้องไปฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับการเซ่นสรวงบูชา อ้อนวอนภูตผีเทวดาโดยไม่จำเป็น

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก แปลให้ฟังชัดๆ ว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะการกระทำของเราเอง ภูตผีเทวดาไม่เกี่ยว

ครับ ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป


ที่มา : ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่? โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๐ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑





กรรมมิใช่สูตรสำเร็จ

เคยไปเป็นวิทยากรในรายการโทรทัศน์ชื่อ “กฎแห่งกรรม” ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๕ สนามเป้า หลายปีมาแล้ว เป็นรายการสด จัดโดยบริษัทภาษร ของคุณกรรณิกา ธรรมเกษร หรือที่ผู้สนิทคุ้นเคยเรียกว่า “คุณแอ้”

ความจริงจะเรียกว่า เป็นวิทยากรก็ไม่เชิง เพราะมิได้ทำหน้าที่ตอบปัญหา หรือบรรยายอะไรมากนัก เขาบอกว่าให้ไปนั่งดูละครชีวิตที่สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ของ ท. เลียงพิบูลย์ เรื่อง “กฎแห่งกรรม”

ดูจบแล้วก็ให้อธิบายประกอบในแง่ธรรมะ ว่าที่เขาหรือเธอ (ในละคร) นั้นๆ ประสบเคราะห์กรรม หรือได้รับโชคอย่างนั้นๆ เป็นเพราะทำกรรมอะไรมา

หรือว่าเขาหรือเธอคนนั้นทำชั่วอย่างนั้นๆ แล้วทำไมจึงไม่ได้รับผลชั่ว

หรือเขาหรือเธอคนนั้นทำดีเหลือเกิน แล้วทำไมผลดีไม่ตอบสนองเขาเลย หรือว่ามันจะสนองอยู่แต่ยังไม่ถึงเวลา ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ผมก็จ้องดูละครชีวิตบนจอทีวีอย่างใจจดใจจ่อ ก่อนไปก็ “ทำการบ้าน” คือค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเรื่องกรรม พยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้ไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือวินิจฉัยได้โดยไม่ผิดหลักพระพุทธศาสนา

นั่งดูพร้อมกับท่านเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศ หรือมหาระแบบ ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังเป็นที่รู้จักทั่วไป

ละครจบลง แทนที่จะได้แสดงความคิดเป็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องราวบนจอทีวี ดูเหมือนไม่มีโอกาสเลย เพราะช่วงถัดจากนั้นไป เป็นการตอบคำถามของผู้ชมทางบ้านที่หมุนโทรศัพท์เข้ามาถามปัญหาสดๆ กันเลย

ผู้ถามก็มีปัญหาคับข้องใจ “ส่วนตัว” ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องราวในละคร เขาก็ถามเฉพาะข้อข้องใจของเขา

มีหลายรายคงไม่ต้องการคำตอบ เพียงแต่ต้องการคนฟังเขาระบายความทุกข์เท่านั้น

ข้อที่สังเกตได้จากรายการนี้ (นัยว่าเป็นรายการปฐมฤกษ์) ก็คือผู้ชมหลายท่านมักจะมองเรื่องกรรมเป็น “สูตรสำเร็จ”

ผู้ชมท่านหนึ่งถามว่า คนที่แย่งสามีคนอื่นไป จะต้องได้รับกรรมคือถูกแย่งสามีหรือไม่

การมองแบบนี้เรียกว่า “แบบสูตรสำเร็จ” คือทำอย่างใด ก็ต้องได้อย่างนั้นจริงๆ ไม่ผิดเพี้ยน ฆ่าเขา และฆ่าโดยวิธีใด ก็จะถูกฆ่าด้วยวิธีนั้นเช่นเดียวกัน แย่งสามีเขาไป ก็ต้องถูกคนอื่นแย่งสามีเช่นเดียวกัน

ความจริงผลกรรมที่ทำ มันอาจเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่มิใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นทุกกรณี

เขาคนที่ทำชั่วนั้นๆ อาจได้รับผลอย่างอื่น ไม่ตรงเผงอย่างนั้น

แต่เป็นผลคล้ายๆ กัน

ยกตัวอย่างเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง นายคนหนึ่งเป็นคนมีอำนาจและมีอิทธิพลมาก ได้ทำกรรมชั่วช้ามากมาย ทำให้ผู้คนเขาเดือดร้อนมามาก จนผู้คนเขาสาปแช่งว่า เมื่อใดมันจะวิบัติฉิบหายเสียที แต่เขาก็เจริญร่ำรวย อยู่อย่างอู้ฟู้ อ้าฟ่า ในสายตาของประชาชน

วันดีคืนดี ลูกชายสุดที่รักของเขาก็ถูกรถบรรทุกบี้ตาย ขณะกลับจากท่องราตรียามดึกคืนหนึ่ง เขามีบุตรชายโทน หวังจะให้รับมรดกหมื่นล้านแสนล้าน ที่เขากอบโกยเอาไว้ แต่ก็มาเสียลูกรักไป

เขาได้รับความทุกข์แสนสาหัส ความทุกข์เพราะเสียลูกชายสุดที่รักคนเดียวไป ได้ทรมานจิตใจเขาสิ้นระยะเวลายาวนาน

อย่างนี้แหละครับที่ว่า เขาทำอย่างใด ไม่จำเป็นต้องได้รับผลอย่างนั้น แต่จะได้รับผล “คล้ายๆ กัน”

นายคนนี้ข่มเหงรังแกคนมากมาย ทุจริตคอร์รัปชั่นมามาก เขาไม่จำเป็นจะต้องถูกคนอื่นข่มเหงตอบ และไม่จำเป็นต้องถูกคนอื่นโกงตอบ แต่เขาก็ได้รับผลกรรมที่หนักหนาสาหัส ไม่แพ้กรรมที่ทำคือ ต้องเสียบุตรชายคนเดียวไป

คนแย่งสามีคนอื่นไป ก็ไม่จำต้องถูกผู้หญิงอีกคนมาแย่งเอาสามีไป แต่อาจได้รับผลกรรมอย่างอื่นที่ร้ายแรงพอๆ กัน เช่น ทั้งๆ ที่อยู่กินด้วยกันกับสามี (ที่แย่งเขามา) แต่ก็ไม่มีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้เลย มีแต่ความเจ็บช้ำใจ เพราะสามีตัวดีทำให้ อะไรทำนองนี้

นอกจากจะไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แล้ว กรรมที่ทำไว้ อาจไม่ให้ผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใหม่ที่เราทำเพิ่มภายหลังด้วยที่พูดนี้เป็นฉันใด  คืออย่างนี้ครับ ตามหลักกฎแห่งกรรมมีว่า “หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว”

ท่านเปรียบการทำกรรมและการรับผลของกรรมเหมือน การหว่านพืชและการได้ผลแห่งพืชนั้น

เช่น สมมติว่า เราหว่านหรือเพาะถั่วงา เราก็ย่อมได้ต้นถั่วต้นงา และได้ผลถั่ว ผลงา เราจะได้ต้นพริกไทยเป็นต้นหาได้ไม่ พืชชนิดไหน ก็จะงอกออกมาเป็นต้นไม้ชนิดนั้น และให้ผลชนิดนั้น

ชนิดของพืชนั้นไม่กลายพันธุ์แน่นอน แต่ผลที่ได้อาจเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือได้น้อยลง หรืออาจไม่ได้ผลเลยก็ย่อมเป็นได้ เพราะเงื่อนไขอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าดูแลดี เอาใจใส่ รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ฯลฯ ก็ย่อมจะได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าปลูกแล้วไม่สนใจดูแล ปล่อยตามมีตามเกิด ก็อาจได้ผลบ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควร หรือปล่อยทิ้งไว้ สัตว์มาเหยียบย่ำ หรือคนมารื้อทิ้งเสีย ก็อาจไม่ได้ผลเลยก็ได้

เรื่องของกรรมที่ทำก็เหมือนกัน ทันทีที่ทำ แนวโน้มที่มันจะให้ผลย่อมมี ถ้าไม่มีอะไรมาขัดขวาง มันก็จะให้ผลตามลักษณะของกรรมที่ทำ เพราะเหตุนี้แหละพระท่านจึงว่า “ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว” (ให้สังเกตคำว่า “ย่อมได้” ท่านมิได้พูดว่า “ต้องได้”

ท่านจึงเปรียบการให้ผลของกรรมที่ทำเหมือนสุนัขไล่เนื้อ

กรรมเหมือนสุนัข คนที่ทำกรรมเหมือนเนื้อ ลองวาดภาพดูเนื้อที่สุนัขไล่ล่าเอาชีวิต แนวโน้มที่สุนัขมันจะทันนั้นย่อมมีมาก มันทันเมื่อใด มันก็กัดเนื้อเมื่อนั้น กรรมก็เหมือนกัน มันไล่ตามสนองคนทำกรรมทุกระยะ เมื่อมัน “ทัน” เมื่อใดมันก็สนองผลเมื่อนั้น

แต่โอกาสที่สุนัขมันไล่ไม่ทันเนื้อก็ย่อมมี สุนัขมันอาจเป็นสุนัขแก่ เรี่ยวแรงถดถอยไล่ไปหอบแฮ่กๆ ไป ไม่ทันเนื้อหนุ่มที่หนีสุดชีวิตก็เป็นได้ หรือสุนัขมันไล่ไปๆ เกิดขี้เกียจหยุดไล่เอาดื้อๆ หรือกำลังจะทันอยู่พอดี เนื้อมันวิ่งหายเข้าไปในหลืบเขาหรือป่าทึบ สุนัขมองไม่เห็น วิ่งไล่ไปผิดทิศทางก็ได้

อย่างนี้แหละเรียกว่า “โอกาส” หรือ “เงื่อนไข” ใหม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

กรรมที่ทำไว้ (ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วนะครับ คนส่วนมากพอพูดถึงกรรม ก็นึกแต่กรรมชั่วอย่างเดียว) มีแนวโน้มที่จะสนองผล แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ย่อมมี “โอกาส” หรือ “เงื่อนไข” ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

โอกาส หรือเงื่อนไข ที่ว่านี้ก็คือ กรรมใหม่ที่เราทำนั้นเอง สมมติว่าเราทำกรรมชั่วบางอย่างไว้ เรามีโอกาสทำกรรมดีในเวลาต่อมา และทำบ่อยๆ ทำมากๆ ด้วย กรรมชั่วที่ทำไว้ก่อนนั้น มันก็รอจังหวะจะสนองผล ดุจสุนัขกำลังไล่ล่าเนื้อ แต่กรรมดีใหม่ๆ ที่เราทำไว้ก็มีมาก มันอาจทำให้กรรมเก่านั้นเบาบาง หรือจางหายไปจนไม่สามารถให้ผลเลยก็ได้

หลักวิชาเรื่องกรรมมีว่า
– กรรมบางอย่างทำแล้วให้ผลทันตาเห็น หรือให้ผลไม่ช้าไม่นานหลังจากทำ เช่น อาจเป็นเดือนนั้น ปีนั้น
– กรรมบางอย่างไม่ให้ผลทันที แต่จะให้ผลในกาลข้างหน้า เช่น เดือนหน้า ปีหน้า หรือชาติหน้า
– กรรมบางอย่างให้ผลในโอกาสต่อๆ ไป เช่น เดือนต่อๆ ไป หรือปีต่อๆ ไป หรือชาติต่อๆ ไป
– กรรมบางอย่างไม่มีโอกาสให้ผลเลย กลายเป็นอโหสิกรรมไป

ดูอย่างองคุลิมาลโจรสิครับ ฆ่าคนมากมายหลายชีวิต แต่ในบั้นปลายแห่งชีวิต ได้พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ กรรมชั่วที่ทำไว้ จ้องจะ “ตะครุบ” อยู่พอดี แต่ “เงื่อนไขใหม่” ที่แรงกว่า (คือการบรรลุพระอรหันตผล) มาขัดจังหวะพอดิบพอดี

กรรมที่ทำไว้ก็เลยกลายเป็น “อโหสิกรรม”

เจ๊าไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเสียล่วย!

ทุกอย่างเป็นอนิจจัง กฎแห่งกรรมก็ตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงได้ และคนที่จะเปลี่ยนก็คือตัวเราเอง

ใครเผลอทำอะไรไม่ดีไว้ ก็ไม่ต้องตกใจรีบสร้างความดีด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และอื่นๆ อีก (มีอะไรบ้างจะนำมาเล่าทีหลัง)

ทำให้บ่อยๆ ทำให้มากๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วย “สลายพลังกรรมชั่ว” ทีละนิดๆ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด


ที่มา : กรรมมิใช่สูตรสำเร็จ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๑ ประจำวันที่ ๒๕-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2561 16:12:36 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2561 16:07:49 »




ประเภทของกรรม (๑)

เขียนเรื่องกรรมมาหลายตอนแล้ว คิดว่าคงได้แนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างแล้ว ก่อนจะไปเขียนเรื่องอื่น ขอพูดถึงการแบ่งประเภทของกรรมเสียหน่อย ไม่อย่างนั้นจะไม่ครบ “สูตร”

เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะ “กรรม” (คือการทำด้วยพระองค์เอง บำเพ็ญบารมีด้วยพระองค์เอง) เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรง “ทำกรรม” จนปรินิพพาน (คือเสด็จออกไปสั่งสอนสัตว์โลกให้ได้รับรสพระธรรมที่ตรัสรู้)

พระพุทธองค์จึงทรงสรุปหลักคำสอนของพระองค์ว่าเป็น “กัมมวาทะ” (สอนเรื่องกรรม) และทรงเรียกพระองค์เองว่า “กัมมวาที” (ผู้สอนเรื่องกรรม) และตรัสว่า ถึงพระองค์จะเป็นศาสดา ก็เป็นเพียง “ผู้ชี้บอกทาง” ให้เท่านั้น เหล่าสาวกทั้งหลาย อยากได้ อยากเป็นอะไร ก็ต้อง “กระทำ” เอาเอง

อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
โก หิ นาโถ ปะโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
พุทธภาษิตสองบทนี้เป็นคำสรุปหลักกรรมนั้นเอง

กรรม มีหลายประเภท แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้

ก.กรรมตามนัยพระไตรปิฎก
อันนี้หมายความว่า ในคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า แบ่งกรรมไว้ ๒ ประเภทบ้าง ๓ ประเภทบ้าง ๔ ประเภทบ้างดังนี้

๑. กรรม ๒ ประเภท ได้แก่
๑) กรรมดี เรียกว่า “กุศลกรรม” (หรือบุญ) เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (ที่ใช้คำว่า “เช่น” ก็เพราะยังมีอีกมาก ไม่ใช่แค่ ๓ อย่างนี้เท่านั้น)
๒) กรรมชั่ว เรียกว่า “อกุศลกรรม” (หรือบาป) เช่น ฆ่าสัตว์ (หมายถึงคนด้วยนะครับ เพราะคำว่า “สัตว์” หรือ “สัตว์โลก” มิได้หมายเอาเฉพาะสัตว์เดียรัจฉาน) ลักทรัพย์ หรือทั้งฆ่าทั้งลัก ดังกรณี “อุ้มสองแม่ลูก” ไปฆ่านั่นไง อกุศลกรรม หรือบาปล่ะ

๒. กรรม ๓ ประเภท ได้แก่
๑) กายกรรม อันนี้มิใช่การเล่นกายกรรมเปียงยางอะไรอย่างนั้นนะครับ หมายถึงการกระทำทางกาย เช่น ฆ่า เบียดเบียน รังแกคนอื่น เช่น เอาถุงอึปาหน้าเขา เป็นต้น
๒) วจีกรรม หมายถึงกรรมทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน พูดให้ร้ายป้ายสีเขา เช่น อยู่ดีๆ ไม่ชอบ ปล่อยข่าวว่า “นายไต้ ตามทาง ตายแล้ว ตายอย่างอนาถด้วย ถูกรถทับตาย” จนกระทั่งพระเถระผู้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่ง โทรศัพท์มาถาม พอรู้ว่าไม่ตาย ท่านก็ร้องว่าทำไมคนมันชั่วอย่างนี้” นี่แหละครับ กรรมทางวาจา
๓) มโนกรรม กรรมทางใจ เช่น คิดอาฆาตพยาบาท หรือในแง่ดี เช่น คิดทำบุญทำกุศล เป็นต้น

๓. กรรม ๔ ประเภท ได้แก่
๑) กรรมดำ ตรงนี้ท่านใช้ศัพท์เปรียบเทียบ “กรรมดำ” ก็คือกรรมชั่วนั่นเอง อันได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม เป็นต้น นั่นแหละครับ
๒) กรรมขาว หมายถึงกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาดังกล่าวข้างต้นนั่นแหละ
๓) กรรมทั้งดำทั้งขาวผสมกัน คือกรรมชั่วกับกรรมดีผสมกัน อันนี้ดูได้จากการกระทำของคน บางคนทำบุญด้วยทำบาปด้วยในขณะเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น (เอาอย่างเบาๆ ก่อนนะ) คุณหญิงคุณนายแปดสาแหรกเอาผ้าห่มหรือยาไปแจกเด็กยากจน ป่าวประกาศให้ทีวีบ้าง หนังสือพิมพ์บ้าง ตามไปทำข่าว ขณะยืนแจกของเด็กก็แอ๊กท่าสวยให้เขาถ่ายรูป เพื่อโชว์ว่าฉันเป็นคนใจบุญนะยะ

อย่างนี้คุณเธอทำทั้งบุญ คือให้ทาน และทำทั้งบาปคือ เป็นการทำบุญเอาหน้า ทำเพื่ออวดคนอื่น กิเลสตัวที่ชื่อว่า โลภ (ความอยากได้หน้า) อติมานะ (สำคัญตัวว่าสำคัญ คนอื่นสู้ฉันไม่ได้) มีแต่วันจะเจริญเติบโต ไม่มีทางลด

ทำทั้งบุญทั้งบาป อย่างชัดแจ้งก็เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารถวายพระ หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เงินมาแล้วมาสร้างศาลาสร้างโบสถ์ อะไรทำนองนั้นแหละครับ

๔) กรรมไม่ดำไม่ขาว อันนี้หมายถึง การที่คนเราได้บรรลุนิพพาน (การดับกิเลสได้โดยประการทั้งปวง) เห็นพระอรหันต์ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ไม่ต้องทำกรรมดี กรรมชั่วอีกต่อไปแล้ว เรียกว่าอยู่เหนือกรรม

หลวงพ่อพุทธทาสใช้คำว่า “กรรมเหนือกรรม”

ข.กรรมตามนัยอรรถกถา
อันนี้หมายถึงตำรารุ่นหลังจากพระไตรปิฎก ที่พระเถระผู้เป็นพหูสูต แต่งขึ้นในภายหลัง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้ที่แต่งตำราอธิบายพระไตรปิฎกมากที่สุดรูปหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ตำราที่ขึ้นชื่อมากของท่านเล่มหนึ่งชื่อ “วิสุทธิมรรค” (ทางแห่งความบริสุทธิ์) ท่านแบ่งกรรมไว้ถึง ๑๒ ประเภท ทำให้ได้ภาพของกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ขอนำมาลงไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาดังนี้

๑. กรรมแบ่งตามความหนักเบามี ๔ ประเภท คือ
๑) กรรมหนัก เรียกว่า “ครุกรรม” คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต (อย่างกรณีพระเทวทัต กลิ้งก้อนหินทับพระบาทพระพุทธเจ้า) และทำสังฆเภท (คือทำสงฆ์ให้แตกกัน) กรรมหนักนี้ให้ผลรุนแรง ตกนรกอเวจีนานจนลืมทีเดียว ที่ว่าหนักเพราะให้ผลทันที หลังจากทำแล้วอาจได้รับผลสนองในชาตินี้ทันตาเห็น ตายแล้วดิ่งลงอเวจีถ่ายเดียว ไม่มีทางเป็นอื่น

๒) กรรมทำจนชิน เรียกว่า “อาจิณกรรม” (หรือบางครั้งเรียก พหุลกรรม) กรรมชนิดนี้เป็นกรรมเบาๆ กรรมจิ๊บจ๊อย แต่ทำบ่อย ทำจนติดเป็นนิสัย ท่านก็ถือว่าเป็นกรรมหนักรองลงมาจากครุกรรม เพราะสั่งสมเป็นอุปนิสัยใจคอของเรา ผลที่สุดมันจะบันดาลให้เราเป็นไปตามนั้น จะเลิกก็เลิกไม่ได้  ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ (ถึงจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงก็ตาม) เช่น คนสูบบุหรี่ ถึงจะสูบวันละไม่กี่มวน แต่สูบทุกวัน นานๆ เข้าก็กลายเป็น “คนขี้ยา” จะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะมันติดเป็นนิสัยเสียแล้ว  หรือคุณเธอบางคน เห็นใครเขาทำอะไรผิดปกตินิดๆ หน่อยๆ ก็ยกเอามานินทา ดูซิ ยายคนนั้นแต่งตัวเชยจัง ยายคนโน้นแก่จะตายชัก ยังดัดจริตแต่งตัวเปรี้ยว…นินทาบ่อยเข้า เลยกลายเป็นคนชอบจับผิดคนอื่น ปากอยู่ไม่สุข จนเพื่อนระอา อย่างนี้เป็นต้น
๓) กรรมทำใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” บางครั้งเวลานอนรอความตายอยู่ คนเราก็ได้คิดว่าไม่เคยทำบุญทำกุศลอะไรเลย พอคิดอยากทำก็สายไปแล้ว เห็นพระมาเยี่ยมก็ยกมือไหว้พระด้วยจิตอันเลื่อมใส ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ความเลื่อมใสในพระสงฆ์แค่นี้ก็เป็นกรรมดี คือมโนกรรม (กรรมทางใจ) ที่เป็นกุศล  อย่างนี้แหละครับ เรียกว่ากรรมทำตอนใกล้ตาย  ท่านว่ากรรมอย่างนี้เมื่อตายไปแล้วจะให้ผลทันที คือ “ลัดคิว” ให้ผลเลย กรรมอื่นถึงจะหนักหนาอย่างไร (ยกเว้นครุกรรม) ต้องรอก่อน   ท่านอุปมาเหมือนโคอยู่ในคอก เมื่อเขาเปิดประตู โคตัวแรกที่อยู่ใกล้ประตูย่อมจะออกมาก่อน แม้ว่ามันจะเป็นลูกโค มีกำลังน้อยก็ตาม พ่อโคแม่โคถึงจะตัวโตกว่า มีกำลังกว่า แต่ว่าอยู่ข้างในโน้น ก็ต้องออกทีหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น
๔) กรรมทำด้วยเจตนาเบา เรียกว่า “กตัตตากรรม” เรียกว่าสักแต่ว่าทำ มิได้ตั้งใจจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จับลูกไก่มาถือแล้วโยนเล่น (เล่นอะไรไม่เล่น) โยนไปโยนมา หลุดมือ ลูกไก่ตกพื้นคอหักตาย อย่างนี้มิได้เจตนาให้มันตาย เพียงแต่เล่นสนุกเท่านั้น

๒. กรรมแบ่งตามหน้าที่ที่ให้ผล มี ๔ประเภท คือ
๑) กรรมนำไปเกิด เรียกว่า “ชนกกรรม” กรรมบางอย่างทำหน้าที่นำไปเกิดในภพใหม่ เมื่อพาไปเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ เช่นเดียวกับพ่อขับรถพาลูกไปโรงเรียนนั่นแหละ พอไปถึงประตูโรงเรียน ก็หมดหน้าที่ของพ่อ ต่อไปเป็นหน้าที่ของครู พ่อไม่เกี่ยว ส่งลูกแล้ว พ่อจะไปเดินเกะกะๆ เที่ยวบัญชานั่นบัญชานี่ เหมือนอยู่ในบ้านของตัวไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
๒) กรรมหนุนส่งหรือกรรมอุปถัมภ์ เรียกว่า “อุปัตถมภกกรรม” มีกรรมบางอย่างมีหน้าที่คอยหนุน (ทั้งหนุนให้ดีและหนุนให้ชั่วเพิ่มขึ้น) เช่น บางคนเกิดในตระกูลสูง เพราะทำกรรมดีบางอย่างมา ก็มีกรรมอีกอย่างหนุนส่งให้เป็นคนเฉลียวฉลาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น
๓) กรรมตัดรอน เรียกว่า “อุปฆาตกรรม” มีกรรมบางอย่างคอยตัดรอน หรือทำลาย เช่น บางคนกำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มีหน้ามีตาในสังคม อยู่ๆ ก็ตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีกรรมตัดรอน
๔) กรรมเบียดเบียน เรียกว่า “อุปปีฬกกรรม” มีกรรมบางอย่างไม่ถึงกับตัดรอน แต่มาเบี่ยงเบนทิศทาง หรือทำให้เพลาลง เช่น (ในเรื่องชั่ว) ทำกรรมบางอย่างไว้หนัก ควรจะได้รับโทษหนัก แต่มีกรรมอีกบางอย่างมาช่วยผ่อนให้เบาลง เลยได้รับผลกรรมชั่วเบาลง

๓. กรรมแบ่งตามเวลาที่ให้ผล มี ๔ ประเภท คือ
๑) กรรมให้ผลทันตาเห็น เรียก “ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม” คือกรรมที่ทำลงไปแล้วเห็นผลในชาตินี้เลย ยกตัวอย่าง (เรื่องจริงที่เห็นมา) เด็กคนหนึ่งซุกซน ชอบแกล้งเพื่อนโดยวิธีเอานิ้วจี้ที่ทวารหนักอย่างแรง เพื่อนตาย โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุว่าทำไมถึงตาย พอเด็กคนนี้โตมา วันหนึ่งไปขึ้นต้นไม้เพื่อจะเอาน้ำผึ้ง พลัดหล่นลงมา ถูกตอทิ่มทวารตาย เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก เพราะแกนั่งตายด้วยท่าที่เก๋มาก
๒) กรรมให้ผลในภพหน้า เรียกว่า “อุปัชชเวทนียกรรม” คือกรรมบางอย่างไม่สามารถให้ผลทันตาเห็น ก็ต้องรอคิวต่อไปว่ากันในชาติหน้าโน้น
๓) กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป เรียกว่า “อปราปรเวทนียกรรม” ได้แก่ กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลในภพหน้า ก็ต้องรอคิวยาวต่อไปอีก เพราะคิวมันยาว ก็ต้องรอด้วยใจเย็นๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ
๔) กรรมที่หมดโอกาสให้ผล เรียกว่า “อโหสิกรรม” กรรมบางอย่างรอเท่าไรๆ ก็ไม่มีโอกาสเสียที เพราะเจ้าของคนทำกรรมก็สร้างกรรมใหม่ที่มีผลแรงกว่าอยู่เรื่อยๆ จึงหมดโอกาสให้ผล ก็เลย “เจ๊า” ไปโดยอัตโนมัติ
อย่างกรณีพระองคุลีมาล ทำกรรมชั่วมามากมาย แต่พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม บรรลุธรรมเสียก่อน กรรมชั่วเลยเป็นเสมือน “เงื้อดาบค้าง” ฟันไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

ท่านอุปมาคนทำกรรมเหมือนเนื้อสมัน กรรมเหมือนหมาไล่เนื้อ หมามันก็จะวิ่งไล่เต็มกำลังของมัน เนื้อสมันก็ยิ่งต้องสปีดฝีเท้าเต็มที่เพื่อหนีเอาตัวรอด ทันเมื่อใดหมาก็ขม้ำเมื่อนั้น แต่ก็มีบางครั้งที่หมาไม่ทัน เลยไม่มีโอกาสได้ขม้ำเนื้อ เนื้อมันก็ปลอดภัยไป

นี่แหละเขาเรียกอโหสิกรรม

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ขอเตือนสติกันไว้ว่า สิ่งที่เราทำมาแล้ว มันเป็นเรื่องแก้ไม่ได้ คือแก้ไม่ให้เป็นการไม่กระทำไม่ได้
แต่เรามีสิทธิ์ทำในขณะนี้ จะทำอย่างไรก็ได้

เพราะฉะนั้น เราก็ควรทำแต่ “เงื่อนไข” ที่ดีๆ ให้มากๆ เข้าไว้ เมื่อความดีเราทำขณะนี้เดี๋ยวนี้มีมาก ความไม่ดีที่เคยทำมามันก็หมดโอกาสให้ผลแก่เรา ดุจหมาขาหักไล่ไม่ทันเนื้อสมันฉันใดก็ฉันนั้นแหละ โยมเอ๋ย

อย่าได้เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีว่า คนนั้นมันตาย คนโน้นมันฉิบหายแล้วเลย เดี๋ยว “หมา” มันจะไล่งับเอาไม่รู้ด้วยนะ


ที่มา : ประเภทของกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๒ ประจำวันที่ ๑-๗ มิถุนายน ๒๕๖๑




ว่าด้วยผลกรรม ๓ ระดับ

จับเข่าคุยเกี่ยวกับเรื่องกรรมมาหลายคราแล้ว (จนเข่าด้านแล้วมั้ง) ยังไม่จบ ยังมีเรื่องที่จะต้องย้ำเป็นพิเศษคือ กรรมเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

ไม่ใช่เรื่องตายตัวที่ถูกกำหนดมาโดยอำนาจสูงสุดใดๆ

เราทำกรรมเอง ดีหรือชั่ว เราเป็นผู้ทำขึ้นมา แล้วเราก็แก้ไขเองได้ เรื่องของกรรมเป็น “อัตโนลิขิต” (ตัวเองเป็นผู้ลิขิตผู้สร้าง) ไม่ใช่ “เทวลิขิต” (เทพสร้าง) หรือ “พรหมลิขิต” (พรหมสร้าง)

พูดให้เห็นง่ายๆ เราอยากเป็นด๊อกเตอร์ (ด๊อกเตอร์ปริญญาเอก มิใช่ด๊อกเตอร์นวด) ใครทำให้ เราทำเองทั้งนั้น เราต้องขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือ ไต่เต้าขึ้นไปจากประถม มัธยม มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี โท แล้วก็ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ใครทำให้ เราทำเอง คร่ำเคร่งเรียนแทบเป็นแทบตาย กว่าจะได้ปริญญามา

ทั้งหมดนี้คือกฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ ที่เราสร้างเอง คนอื่นมีส่วนเพียงช่วยอุดหนุนภายนอกเท่านั้น

อีกสักตัวอย่างหนึ่ง มหาโจรชื่อดัง ถูกประกาศจับตาย หนีหัวซุกหัวซุน ในที่สุดถูกจับได้ ศาลพิพากษาประหารชีวิต เพราะไปก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมายหลายคดี

ก่อนตายโอดครวญว่า สังคมโหดร้ายต่อเขา บังคับให้เขาเป็นโจร

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวอย่างละเอียดว่า มหาโจรคนนี้เดิมเป็นเด็กยากจน ไปหลงรักลูกสาวคหบดี เมื่อถูกกีดกันก็ฉุดลูกสาวเขา ถูกตำรวจจับฐานพรากผู้เยาว์

ตอนหลังคนรักที่ว่ารักกันแทบจะกลืนก็เปลี่ยนใจบอกว่าถูกข่มขู่ข่มขืน ออกจากคุกแค้นมาก เอาระเบิดไปถล่มคนรักตายเรียบพร้อมครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นไอ้มหาโจรปล้นฆ่า ข่มขืนไม่รู้ว่ากี่ศพต่อกี่ศพ ผลที่สุดถูกจับถูกพิพากษาประหารชีวิตดังกล่าว เขาว่าเขาถูกบังคับให้เป็นโจร

ความจริงเขากลายเป็นโจรก็เพราะการกระทำของเขาเอง สังคมมิได้บังคับให้เขาเป็น คนที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกับเขา และถูกเอารัดเอาเปรียบพอๆ กัน หรือมากกว่าเขาก็มีไม่น้อย ทำไมเขาไม่เป็นโจรล่ะ

นี่แหละครับที่พระท่านว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะ “กรรม” (การกระทำ) ของตนเอง อย่างนี้ไม่เรียกว่า “อัตโนลิขิต” แล้วจะให้เรียกว่าอะไร

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะสัก ๙๙.๙ เปอร์เซ็นต์อะไรทำนองนั้น ส่วนที่เหลือก็เผื่อไว้ให้ “เงื่อนไข” อื่นเข้ามาแทรกบ้าง

อย่างไรก็ตาม ผลดีผลชั่วของกรรมนั้น ควรพิจารณาถึง ๓ ระดับ จึงจะเข้าใจชัดคือ
๑. ผลดีผลชั่วระดับสังคม สังคมเราถือสิ่งใดว่าดีหรือไม่ดี สิ่งนั้นแหละเรียกว่าดีชั่วระดับสังคม เช่น ในสังคมวัตถุนิยมอย่างปัจจุบัน เราถือว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความร่ำรวย เป็นสิ่งที่ดี ตรงข้ามจากนี้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่ชั่ว พอใครพูดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็นึกแล่นไปถึงสิ่งเหล่านี้ “อ้อ ทำดีต้องได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขและความรวย ทำชั่วต้องได้ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์และความจน”  ครั้นเห็นใครทำดีไม่ได้เลื่อนยศสักที หรือยิ่งทำดีก็ยิ่งจนลงๆ ก็ชักจะไขว้เขวแล้วว่า “เอ ทำดีทำไมไม่ได้ดี” หรือเห็นคนทำชั่ว (โกง เห็นชัดๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ) แต่กลับได้เลื่อนยศ และรวยเห็นทันตา ก็งงว่า “เอ ไอ้หมอนี่ทำชั่วเห็นชัดๆ ทำไมได้ดี”

จึงขอเรียน (ความจริงไม่ต้องเรียน เพราะค่าเทอมแพง ขอพูดเลย) ว่าความจน ความรวย ลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทา สุขทุกข์ มิใช่ผลโดยตรงของกรรมดีกรรมชั่วดอกครับ ถ้ามันจะเป็นผลก็ขอให้ถือว่าเป็นเพียง “ผลพลอยได้” ทำดีก็รวยได้ ทำชั่วก็รวยได้เช่นกัน ทำดีก็จนได้ ทำชั่วก็จนได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ควรถือเอามาเป็นผลโดยตรงของกรรมดีกรรมชั่ว

๒. ผลดีผลชั่วระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย กรรมที่ทำลงไป ทำให้เกิดผลในการสร้างเสริมลักษณะนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออกต่างๆ ด้านดี เช่น ความมีเมตตาอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่อิจฉาริษยา ไม่อาฆาตพยาบาท ด้านชั่ว เช่น ใจแคบ มุ่งร้าย วู่วาม ก้าวร้าว  สิ่งเหล่านี้ มิใช่อยู่ๆ เป็นขึ้นมาเอง หากเป็นผลของการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหล่อหลอมเป็นอุปนิสัยใจคอของคนคนนั้น

๓. ผลดีผลชั่วระดับพื้นของจิต กรรมที่ทำลงไปแต่ละครั้งเป็นการสั่งสมคุณภาพของจิต พูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการ “ประทับลงไปในจิต” จนกลายเป็น “พื้น” ของจิต จิตนั้นเหมือนผ้าขาว การกระทำแต่ละครั้งดุจเอาสีแต้มลงไปที่ผืนผ้า ทำดีทีก็ดุจเอาสีขาวแต้มลงที ทำชั่วทีก็ดุจเอาสีดำแต้มลงที อะไรทำนองนั้น  ทุกครั้งที่เราด่าหรือนินทาคนอื่นเราได้สร้างเชื้อแห่งความไม่ดี ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า “กิเลส” หรือ “อาสวะ” ขึ้นในใจ ทำให้สภาพจิตตกต่ำ มัวหมอง หากทำเช่นนี้บ่อยๆ จิตจะหยาบกระด้างขึ้น มีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ  ตรงกันข้าม ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดีงาม เช่น คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ทำบุญทำทานอยู่เสมอ พลังฝ่ายดีจะสะสมในจิตใจเป็นพื้นของจิต สร้างคุณภาพและสมรรถภาพที่ดีแก่จิต

สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ การทำดีหรือทำชั่วแต่ละครั้งนั้น มีส่วนช่วยให้พื้นของจิตละเอียดหรือหยาบขึ้นได้ ความละเอียดประณีตและความหยาบกระด้างของจิตมิใช่อยู่ๆ จะเป็นขึ้นมาเอง ย่อมมีการสะสมการกระทำ (กรรม) ต่อเนื่องมาเป็นลำดับจนกลายเป็นการกระทำที่ปกติ

อาแปะคนหนึ่งเชือดคอเป็ดทุกเช้า เพราะแกมีอาชีพทำก๋วยเตี๋ยวเป็ดขาย แกกระทำเช่นนี้ทุกเช้าจนชิน ไม่รู้สึกขวยเขิน เหนียมอายแต่อย่างใด

สภาพจิตของอาแปะแกหยาบกระด้าง ไม่มีหิริโอตตัปปะแม้แต่น้อย

เมื่อครั้งเชือดคอเป็ดตัวแรกในชีวิต แกมือไม้สั่น จิตใจกล้าๆ กลัวๆ แต่พอเชือดตัวที่สองที่สามที่สี่… ความรู้สึกเช่นนั้นค่อยๆ หายไป จนกระทั่งไม่เป็นเรื่องผิดแต่ประการใด นี้แสดงว่าผลของการกระทำนั้นทำให้จิตใจหยาบกระด้างขึ้น  

อาตี๋อีกคนมีอาชีพขายลูกน้ำ เดิมทีก็ไม่คิดอะไร ต่อมาได้อ่านหนังสือธรรมะและได้คุยกับผู้รู้ และผู้รู้นั้นก็มาเยี่ยมที่ร้านบ่อยๆ ทำให้เกิดความละอายว่าตนมีอาชีพเบียดเบียนสัตว์ จึงเลิกขายลูกน้ำ ดัดแปลงร้านให้เป็นร้านขายหนังสือธรรมะในเวลาต่อมา

ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า สภาพจิตของอาตี๋คนนี้ เริ่มละเอียดประณีตขึ้น เพราะเป็นผลของการกระทำดี (สนทนาธรรม, พิมพ์หนังสือธรรมะเผยแพร่…)

สรุปว่า ผลดีผลชั่วระดับสังคม ไม่ควรถือเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว ผลดีผลชั่วระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย กับผลดีผลชั่วระดับพื้นของจิตเท่านั้น ที่จัดว่าเป็นผลของกรรมดีกรรมชั่ว ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมายเอาดีชั่วสองระดับนี้ ทำดีแล้วอุปนิสัยและบุคลิกดีขึ้น พื้นจิตใจสะอาดประณีตขึ้น ทำชั่วแล้วอุปนิสัยและบุคลิกเลวลง พื้นจิตใจสกปรกหยาบกระด้างขึ้น

ผลของกรรมเห็นจะจะอย่างนี้แหละสีกาเอ๋ย


ที่มา : ว่าด้วยผลกรรม ๓ ระดับ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๖ ประจำวันที่ ๙-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑




ดี-ชั่ว สองชั้น

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาหรือชาวพุทธทั้งปวงคุ้นเคยกับคำสามคำนี้ดี
คำหนึ่งคือ กรรม   คำที่สองคือ นรก   คำที่สามคือ สวรรค์ (แถมยังมีอีกคำคือ สังสารวัฏ เอ้า อีกคำก็ได้คือ ชาติก่อน ชาติหน้า)

เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา

แต่ก็เกือบทั้งหมดมักมีความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ความสงสัยนั้นมีเหตุผลอยู่ คือพูดง่ายๆ ว่า ก็สมควรแล้วที่จะสงสัย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าหรือจับต้องได้ หากเป็นสิ่ง “เหนือสามัญวิสัย” ที่ปุถุชนคนธรรมดาจะสัมผัสได้

เริ่มต้นจากความสงสัยว่า จริงหรือที่ว่า ทำดีแล้วได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะที่เห็นๆ อยู่ เห็นแต่คนทำชั่วได้ดี คนทำดีกลับได้ชั่ว  บางคนไม่เพียงแค่สงสัย แต่แน่ใจเสียด้วยว่าไม่จริงแน่นอน ถึงกับร้องออกมาเป็นคำคล้องจองว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”!  ที่เขาสงสัย (หรือบางคนปักใจเชื่อ) เช่นนั้นก็เพราะเขาไปตีค่าของ “ดี” และ “ชั่ว” เป็นวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้  หรือถ้ามิใช่วัตถุสิ่งของ ก็เป็นสิ่งที่รู้เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส

“ได้ดี” ของคนทั่วไปก็คือ ได้เงินได้ทอง ได้ลาภยศสรรเสริญ ได้สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เช่น ได้บ้านหลังโตๆ ได้รถยนต์คันโก้ใหญ่ ได้เลื่อนตำแหน่งสูงๆ “ได้ชั่ว” ของคนทั่วไปก็คือ ได้สิ่งตรงข้ามจากนั้น ยกตัวอย่างเช่น บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขาดไม่ลา นอกจากป่วยไข้เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ประจบคน แต่ “ประจบงาน” กับอีกคนหนึ่ง ทำงานในตำแหน่งหน้าที่คล้ายคลึงกัน นายคนนี้ชอบประจบประแจงเจ้านาย งานการไม่ค่อยทำ จะทำทีก็ต้องให้นายเห็น เป็นการทำงานแบบ “เอาหน้า” ขาดงานหรือลาบ่อยๆ

เจ้านายก็รักใคร่ชอบพอคนที่สองมากกว่า ถึงเวลาขึ้นเงินเดือน คนที่สองนี้จะได้ขึ้นเงินเดือนสองขั้นแทบจะปีเว้นปี

ส่วนคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความซื่อสัตย์นั้น นานๆ จะได้เลื่อนสองขั้นทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจนเกินไป

กาลเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ทั้งสองคนนี้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างกันลิบลับ

คนที่ทราบเรื่องของคนทั้งสองนี้อาจคิดว่า คนทำดีไม่ได้ดี แต่คนทำไม่ดีกลับได้ดี ถ้าถามทั้งสองคนนี้ คนแรกก็อาจคิดเช่นนี้ ส่วนคนที่สองเขาอาจคิดว่า ที่พระพูดไว้นั้นดีถูกแล้ว เขาเองทำดี และก็ได้ดีเห็นๆ อยู่

“ดี” หรือ “ไม่ดี” ในที่นี้ก็หมายเอาเพียงเลื่อนขั้น ตำแหน่งหน้าที่การงาน อันเป็นสิ่งสัมผัสจับต้องได้ พูดง่ายๆ ว่า ดีในทางวัตถุเท่านั้นเอง

ดีอย่างนี้ ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นผลของการทำดี หรือทำไม่ดีแท้ๆ ดอกครับ มันเป็นเพียง “ผลพลอยได้” เท่านั้น อย่าเอามานับเป็นผลของการทำดี ทำชั่ว เดี๋ยวจะไขว้เขวไปใหญ่

ทำดีแล้วไม่จำเป็นต้องได้ “ของดี” ทำชั่วแล้วก็ไม่จำเป็นต้องได้ “ของชั่ว” ทำดีได้ “ของชั่ว” หรือทำชั่วได้ “ของดี” ก็มีถมไป

คนโกงคนอื่นน่ะรวยได้ และรวยเร็วด้วย

ในขณะเดียวกับคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียรก็รวยได้เช่นกัน

เห็นหรือยังว่า ทำดีก็รวยได้ ทำชั่วก็รวยได้ ไม่ควรเอา “ความร่ำรวย” หรือ “ความจน” มาเป็นผลของการทำดีและทำชั่ว เดี๋ยวจะสับสนเปล่าๆ

ที่พระท่านว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น ท่านหมายเอาสองชั้นคือ

๑. ชั้นที่หนึ่ง ดี-ชั่ว ที่เป็นตัวเนื้อแท้จริงๆ คือตัวความดีและตัวความชั่วนั้นเอง ทำเดี๋ยวนั้นก็ได้เดี๋ยวนั้น พูดให้ชัดเจนว่า  “ทำความดี ได้ความดี ทำความชั่ว ได้ความชั่ว”  ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นข้าราชการที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขาดไม่ลาโดยไม่จำเป็น นาย ก. ทำดีทุกๆ วัน นาย ก. ก็ได้ดีในขณะที่ทำนั้นๆ แหละ คือได้ความเป็นข้าราชการที่ดี ที่ซื่อสัตย์สุจริต

นาย ข. เห็นผู้หญิงตัวเล็กๆ สะพายกระเป๋าจะขึ้นรถเมล์ ก็กระชากกระเป๋าเธอวิ่งหนีไปต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมาก ทันทีที่เขากระชากกระเป๋าสุภาพสตรี เขาได้กลายเป็นขโมยทันที ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นเขาเป็นคนดีอยู่หยกๆ นี่แหละทำความชั่ว ได้ความชั่วทันทีที่กระทำ

ถ้าไม่เชื่อคุณจะลองบ้างก็ได้ ทันทีที่คุณกระตุกสร้อยจากคอของใครสักคน เขาก็จะร้องว่า “ขโมย ขโมย!” ทันที เมื่อกี้นี้ยังเป็นสุภาพชนอยู่ กลายเป็น “ขโมย” ชั่วพริบตา

การกระทำชั่วอย่างอื่นก็เช่นกัน แม้ว่าไม่มีใครเห็น พอกระทำเสร็จ คนกระทำก็จะได้ความไม่ดีนั้นๆ ทันที

๒.ชั้นที่สอง ดี-ชั่ว ที่จิตใจของคนกระทำ หลังจากทำดีหรือชั่วเสร็จ จิตใจของคนกระทำจะแตกต่างกัน ยิ่งทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ผลที่จิตใจยิ่งเห็นชัด คนทำชั่ว ย่อมเร่าร้อนกระวนกระวาย กังวล หงุดหงิด ระแวง ไม่มีความมั่นคงทางใจ ที่แน่ๆ ก็คือหาความสุขใจมิได้ กินก็กินไม่ได้เต็มที่ นอนก็นอนไม่ค่อยหลับสนิท

เจ้าพ่อที่ปล้นฆ่าคนมามาก เบียดเบียนข่มเหงคนมามาก ถึงเขาจะมั่งมีเงินทอง เป็นที่อิจฉาของคนทั่วไป แต่ลึกๆ ในใจเขา เขาก็เสมือนตกนรกทั้งเป็น ไปไหนมาไหนต้องมีมือปืนล้อมหน้าล้อมหลังคอยคุ้มกัน แขวนพระเครื่องเต็มคอ หวังจักให้พระท่านคุ้มครอง ถ้าเราสามารถไปนั่งในหัวใจเขาได้ เราก็จะรู้ว่า เจ้าพ่อคนนั้นไม่มีความสงบสุขเลย นี้แหละเป็นผลของการทำชั่วที่รู้เห็นได้ในระดับจิตใจ

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องคนชั่วไปอยู่ไหนก็ไม่มีความสุขใจ เปรียบกับสุนัขขี้เรื้อนไว้ในพระสูตรหนึ่ง ฟังแล้วเห็นภาพดีจังเลย

พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสุนัขขี้เรื้อนแก่ตัวหนึ่งเมื่อคืนนี้ไหม สุนัขขี้เรื้อนแก่ตัวนั้น ผิวหนังมันเป็นโรคขี้เรื้อน ขนร่วงหมด ทั่วทั้งร่างเป็นแผล มีอาการคันยิบๆ ทั่วกาย มันคิดว่าจะไปนอนใต้ต้นไม้ให้สบาย พอเข้าไปนอนใต้ต้นไม้ที่หนึ่งมันก็คันจึงเอาเท้าเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน มันคิดว่าอยู่ใต้ต้นไม้นี้ไม่สบาย จึงหนีไปอาศัยใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ก็ยังคันเหมือนเดิม มันจึงวิ่งออกจากต้นไม้นั้นไปยังต้นไม้นี้อยู่อย่างนี้ตลอดวัน”

คนทำชั่วไม่ต่างกับสุนัขขี้เรื้อนตัวนั้นดอกครับ ต่อให้อยู่ในคฤหาสน์อันหรูหราเพียงใด ก็ยากจะหาความสงบสุขทางใจได้ เพราะ “ไฟนรก” มันแลบออกมาเผาอยู่ตลอดเวลา ส่วนคนทำแต่กรรมดีก็ย่อมมีแต่ความสงบสุข เยือกเย็น ถึงไม่ร่ำรวยอะไร ก็สุขใจเสียนี่กระไร

ก็ขอบอกว่า อย่าอิจฉามารศรีเขาเลย ถ้าอยากมีความสุขใจอย่างนั้นบ้าง จงหมั่นทำแต่กรรมดีเข้าเถิดครับ


ที่มา : ดี-ชั่ว สองชั้น โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๔ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กันยายน 2561 10:43:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2561 16:10:12 »




มองผลกรรมดีกรรมชั่วใกล้ตัวกันเถิด

วันนี้มีความในใจจะบอกกันสักเล็กน้อย ก่อนจะบอกก็ขอเล่าอะไรให้ฟังก่อน ตามสไตล์การเขียนหนังสือของผม (ผม นี้คือ “ข้าพเจ้า” มิใช่เส้นผมนะฮะ)

สมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านผู้นี้เนื่องมาจากเคยศึกษาพระเวท เรียนแต่เรื่อง “อภิปรัชญา” การเก็งความจริงใกล้ตัว คุ้นเคยกับการอนุมานคาดเดาเอาตามความคิดเห็น และความรู้สึก วันหนึ่งเธอก็มานั่งตั้งคำถามแก่ตัวเอง ตั้งแล้วก็ตอบไม่ได้

คำถามเช่น โลกนี้มีที่สิ้นสุดหรือไม่ ชีวะ (จิต หรือวิญญาณ) กับสรีระ (ร่างกาย) เป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างกัน แยกกันอยู่ได้โดยอิสระจากกันหรือไม่ พระผู้สำเร็จ (พระอรหันต์) ตายไปแล้วยังคงอยู่หรือไม่ เป็นต้น

เมื่อตอบไม่ได้ ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามขอคำตอบจากพระองค์ ให้หายสงสัย พระพุทธองค์แทนที่จะตอบ กลับประทับนิ่งเฉย

เมื่อไม่ได้คำตอบ ท่านผู้นี้ก็รุกว่า ถ้าพระองค์ไม่ตอบ ข้าพระองค์จะสึกไปนับถือศาสนาอื่นนะ พระพุทธองค์ตรัสว่า “มาลุงกยะ (ชื่อท่านผู้นี้) เราสองคนเคยทำสัญญากันไว้ก่อนหรือเปล่าว่า เมื่อเธอมาบวชกับเราแล้ว เราจะตอบปัญหาเหล่านี้ของเธอ ถ้าเราไม่ตอบ เธอจะต้องสึกไปนับถือศาสนาอื่น”

“ไม่เคยทำสัญญาดังว่านี้ พระเจ้าข้า” พระหนุ่มยอมรับ

“ก็เมื่อเราไม่เคยทำสัญญากัน เธอจะไปไหนก็ไป แต่จะมาคาดคั้นเอาคำตอบจากเรา เราไม่ตอบ” พระองค์ตรัสตอบ แล้วทรงยกตัวอย่างมาว่า

สมมติว่านายคนหนึ่งถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ จะตายมิตายแหล่ ญาติพี่น้องหามไปหาหมอ หมอจะถอนลูกศรออกรักษาให้เขา เขายังมีสติอยู่ห้ามว่า อย่าถอนลูกศรออก ข้าอยากรู้ว่าใครมันยิงข้า ชื่ออะไร โคตรอะไร ผิวสีอะไร เกิดในวรรณะไหน มันโกรธข้าด้วยเรื่องอะไร … จนกว่าข้าจะรู้รายละเอียดทั้งหมด ข้าจึงจะให้ถอนลูกศรออก “เธอคิดว่านายคนนี้โง่หรือฉลาด” ประโยคสุดท้ายทรงหันไปถามภิกษุหนุ่ม

“โง่ พระเจ้าข้า เขาควรจะรีบให้หมอรักษาเขาให้หายเสียก่อน ค่อยสืบเอาภายหลังก็ได้ว่าใครยิง หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสรู้เลย เพราะจะตายเสียก่อน”

“เช่นเดียวกันนั้นแหละ มาลุงกยะ หลายต่อหลายเรื่องในโลกนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปรู้ไปสนใจ ถึงจะรู้หรือไม่รู้เรื่องเหล่านั้น คนเราก็ยังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ ในสังสารวัฏคือ เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่

หลายต่อหลายเรื่อง มิใช่เรื่องรีบด่วนที่จะต้องรู้ ควรหันมาสนใจเรื่องรีบด่วนที่จำเป็นจะต้องรู้มากกว่า

ปัญหาที่เธอถามนั้นมัน “ไกลตัว” เกินไป ถึงจะรู้หรือไม่รู้ ก็ไม่ทำให้พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้ ตถาคตจึงไม่ตอบ

ส่วนเรื่องที่จำเป็น “ใกล้ตัว” ที่สุดที่ควรจะใส่ใจรู้ ก็คือ ทุกข์ กับการดับทุกข์ อะไรคือปัญหาของชีวิต มีวิธีการอย่างใดจะพึงแก้ปัญหานั้นได้”

สรุปตรงนี้ก็คือ เมื่อถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ อย่าไปมัวสนใจว่าใครยิง ยิงทำไม ควรรีบหาหมอมารักษาด่วน

เมื่อเกิดมาแล้ว อย่าไปมัวสนใจอยากรู้ว่า เราเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ควรสนใจว่า เราจะทำชีวิตของเราให้ดีขึ้นอย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อมีคนถามท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ หลังจากปาฐกถาจบวันหนึ่งว่า “หลวงพ่อครับ โลกหน้ามีจริงหรือเปล่า”

หลวงพ่อปัญญานันทะ ตอบว่า “โลกหน้า ภาษาบาลีเขาว่า ปรโลก ปรโลกแปลว่าโลกอื่น โลกพระจันทร์ พระอังคาร ก็เป็นโลกอื่นนะ” ว่าแล้วท่านก็สอนเรื่องให้ตั้งใจละชั่วทำดี โดยเฉพาะปุถุชนให้ห่างอบายมุขมากๆ เทศน์สอนเรื่องใกล้ๆ ตัว มองเห็นๆ กันนี่แหละ เล่นเอาผู้อยากรู้ว่า “โลกหน้ามีจริงหรือเปล่า” นั่งเซ่ออยู่คนเดียว

จะหาว่าหลวงพ่อท่านไม่รู้คำตอบ ก็ไม่ได้ เรื่องอย่างนี้ทำไมท่านจะไม่รู้ ท่านเห็นว่าตอบไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น จึงไม่ตอบ

หลวงพ่อพุทธทาส เมื่อเห็นคนสนใจแต่เรื่องห่างไกลตัวเกินไป ท่านก็ดึงคนให้มาสนใจปัจจุบันนี้มากขึ้น เช่น เรื่องนรกสวรรค์ ที่จะพึงได้พึงถึงในภายหน้าหลังตายแล้ว ท่านก็มาเน้นว่า สวรรค์ นรก มีอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ขณะใดมีกิเลสตัณหาทำให้ใจเร่าร้อน ขณะนั้นแหละเรียกว่าตกนรก ขณะใดจิตใจปลอดจากตัณหาอุปาทาน มีความยืดมั่นน้อยลง ขณะนั้นแหละเรียกว่าขึ้นสวรรค์

นิพพานก็เช่นกัน มิใช่ว่าสิ่งที่จะพึงได้พึงถึงต่อเมื่อตายแล้ว นิพพานเราสามารถเข้าถึงได้เดี๋ยวนี้ขณะนี้ในชาตินี้ นิพพานอย่างต่ำ หรืออย่างอนุโลม ก็คือ การที่ใจสงบเย็น ดับความร้อนด้วยอำนาจโลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว ก็เท่ากับว่าได้เข้าถึงนิพพานชั่วขณะแล้ว ถ้าดับได้หมดไม่มีเหลือเลย ก็เรียกว่านิพพานที่แท้จริง

ที่ท่านเน้นอย่างนี้ มิใช่ว่าท่านปฏิเสธนรกสวรรค์ ในชาติหน้าแต่อย่างใด ท่านยอมรับตามพุทธวจนะ แต่จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปเน้นมากเกินไป เน้นมากไปคนแทนที่จะหันมาสนใจพัฒนาตนในปัจจุบัน กลับจะฝันหรือรอคอยจะเอาแต่ในชาติหน้าโน้น ผลที่สุดก็จะตายเปล่า

นี่แหละครับคือความในใจผม ผมเห็นว่าคนเราทุกวันนี้มักสนใจแต่เรื่องไกลตัว เรื่องใกล้ตัว หรือ “ในตัว” กลับไม่สนใจ

มีสาวสวยคนหนึ่ง รุ่นน้อง อายุจะสี่สิบแล้วยังสวยอยู่ ยังไม่แต่งงานอะไรๆ เธอก็ดีหมด เสียอยู่อย่างที่ไม่เคยดูตัวเองเลย ดูเหมือนกัน ดูแล้วหลงตัวเอง เพื่อนๆ ที่ทำงาน คนที่รู้จัก กระทั่งครูอาจารย์ ไม่มีใครดีสักคน คนนั้นก็แย่ คนนี้ก็ไม่ดี

มีคนมาจีบมากมาย แต่พักเดียวเขาเหล่านั้นก็หนี เพราะไม่มีใครทนเธอได้สักราย ก็เลย “ขึ้นคาน” มาจนบัดนี้ มาถึงวันนี้แล้วก็มานั่งปรับทุกข์ว่าทำไมแต่ละคนมาแล้วก็ไป เมื่อไหร่จะมีแฟนที่เข้าใจกันสักที ด้วยความเกรงอกเกรงใจ เราก็ไม่กล้าว่าอะไรให้สะเทือนใจ เพียงแต่บอกว่า ลองสำรวจตัวเองดูสิว่า มีอะไรบกพร่อง หยุดสำรวจคนอื่นสักพักหนึ่งก่อน

เธอว่า สำรวจดูแล้ว ไม่เห็นมีอะไรบกพร่อง คนอื่นไม่ดีเอง ถึงคบเราไม่ยืด เป็นงั้นไป

ถ้าอย่างนั้นก็เชิญดีไปคนเดียวเถอะครับ

เรื่องผลของการทำดีทำชั่ว ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พูดกันมาก หลายคนตัดพ้อว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” ที่เข้าใจกันผิดเลยเถิดอย่างนี้ เพราะเล็งผลเลิศเกินไป

“เล็งผลเลิศเกินไป” คือหวังผลมาก มากเกินกว่าการกระทำ ทั้งๆ ที่ผลของการกระทำดีนั้นได้รับแล้ว แต่ทำเป็นไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่พอใจผลแค่นั้น อยากได้มากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เรียนจบมาได้งานทำ มีเงินเดือนกิน เก็บเงินได้ ผ่อนบ้านหลังย่อมๆ ได้หลังหนึ่ง หลายปีต่อมาก็มีเงินพอจะผ่อนรถได้สักคัน ไม่ถึงกับมีเงินเก็บ แต่ก็มิได้เดือดร้อนอะไรมากนัก

พอเห็นคนอื่นมีฐานะดีกว่า มีบ้านมีรถใหญ่ และโก้หรูกว่าตน ก็นึกน้อยใจว่า เราก็อุตส่าห์ขยันทำมาหากิน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ไม่คดไม่โกง ทำไมจึงไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนคนอื่น

ความจริง ถ้าจะดูกันอย่างพินิจพิจารณาจะเห็นว่า นายคนที่ว่านี้ได้ “ก้าวหน้า” หรือ “ได้ดี” เหมาะสมกับเหตุที่เขาทำมาแล้ว ความเป็นอยู่ขนาดนี้ ไม่ถึงกับเดือดร้อน ลำบากอะไรมากนัก ก็น่าจะพอใจแล้วว่า เราทำมาแค่นี้ก็ได้ผลแค่นี้

เมื่อนำไปเปรียบกับคนอื่นที่ร่ำรวยกว่า มีชีวิตที่สบายกว่า ก็นึกน้อยใจ คนที่ร่ำรวยกว่า ฐานะมั่นคง สุขสบายกว่าเรา เขาอาจมีพื้นฐานอย่างอื่นส่งเสริม เช่น พ่อแม่รวยอยู่แล้วก็ได้ เขามิได้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนเรา เราเริ่มจากไม่มีอะไร มาได้ถึงขนาดนี้ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว นี่แหละผลแห่งความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร

ผลได้อีกประการหนึ่งที่มักไม่มองกันก็คือ

ผลทางจิตใจและการรับรู้ของสังคม

เราสุจริต ขยันหมั่นเพียร ประกอบสัมมาอาชีพ เราได้ความภาคภูมิใจ ความสุขใจ นึกถึงการกระทำของเราทีไร เราไม่หวาดวิตกกังวลหรือกลัว

เพราะ “สันหลังเราไม่หวะ”

นี้คือผลของความดีที่เราทำ เราได้เห็นๆ อยู่แล้ว แต่ไม่รู้เอง หรือรู้แต่ไม่นึกว่ามันสำคัญเอง

ลองนึกถึงคนที่ทุจริตฉ้อโกงได้เงินมามากมาย แต่เขาไม่มีความสุข จะนั่ง จะนอนก็ไม่เป็นสุข ไปไหนก็ต้องมีมือปืนคอยคุ้มกันเป็นขบวน นึกดูแล้วจะเห็นว่า ตัวเราไม่ต้องกระวนกระวาย เดือดเนื้อร้อนใจอย่างนั้น ช่างเป็นสุขเสียจริงๆ

ผลได้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อใครรู้เห็นว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เขาก็สรรเสริญ ถึงไม่ชมออกมาตรงๆ ก็นึกชมอยู่ในใจ

การรับรู้ของสังคม ว่าเราเป็นคนดีนี้ มีคุณค่ามหาศาล ถึงเขาจะไม่ได้มอบโล่รางวัล หรือประกาศให้เป็นคนดีตัวอย่างก็ตาม สังคม โดยเฉพาะสังคมของวิญญูชน (ผู้รู้) รับรู้และชื่นชม เป็นรางวัลอันมีค่ายิ่งกว่ารางวัลใดๆ เสียอีก

ประการสุดท้าย ผลดีที่ได้แน่ๆ ก็คือ ตัวเราเองรู้ด้วยตัวเราเองว่า ตัวเราได้ทำดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดไม่โกงใคร เราทำดีมากดีน้อยแค่ไหน เรารู้แก่ใจเรา นี้เป็นผลได้เหมาะๆ เจ๋งๆ อยู่ในตัวแล้ว

ทางพระท่านว่า ผลแห่งการทำดีข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือ ตัวเราติเตียนตัวเราไม่ได้ นึกถึงการกระทำของตนมาเมื่อใด มีแต่ความภาคภูมิใจ ไม่มีอะไรตำหนิติเตียนตนได้เลย

เรียกว่ายกมือไหว้ตัวเองได้สนิทใจ ว่าอย่างนั้นเถิด

นึกให้ลึก และนึกเข้ามาใกล้ตัวอย่างนี้สิครับ จะเห็นได้ว่า เราทำดี เราทำได้แน่นอน ได้หลายชั้นด้วย


ที่มา : มองผลกรรมดีกรรมชั่วใกล้ตัวกันเถิด โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๕ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๑




ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (๑)

วันนี้ขอ “จับเข่าคุย” กันถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์บ้าง เณรคัมภีร์บ้าง เอ๊ย ที่ได้รับบอกเล่ากันมาบ้าง สักสองสามเรื่องนะครับ

เรื่องที่หนึ่ง สาวๆ ควรจะรับฟังเป็นอย่างยิ่ง

พระนางโรหิณี พระกนิษฐภคินี (น้องสาวคนเล็ก) ของพระอนุรุทธะเถระ เป็น “หยิน” ที่มีพระสิริโฉมงดงามเป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่งเกิดโรคผิวหนังขึ้นแก่พระนาง แรกๆ ก็คัน

ตามผิวหนังธรรมดาๆ แต่พอเกาๆ ไป ผิวหนังก็แตกเป็นแผลพุพองไปเรื่อยๆ เกือบทั่วร่างกาย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย
ในที่สุดพระนางก็มิได้ออกสังคม คงเก็บตัวอยู่แต่ในห้องด้วยความเศร้าพระทัยว่าทำไมนางจึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้

ในช่วงที่เกิดเรื่องนี้ พระอนุรุทธะเชษฐาของนางได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ติดตามพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่พระศาสนายังเมืองต่างๆ หลายปี มิได้กลับมายังเมืองมาตุภูมิเลย ท่านจึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้องสาวคนสวยของท่าน

วันหนึ่งท่านอนุรุทธะเดินทางกลับมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บรรดาพระญาติทั้งหลายได้นิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่ตำหนักเก่าของท่าน ไม่เห็นกนิษฐภคินีมาคุยด้วย จึงถามหา

พระญาติทั้งหลายเรียนท่านว่า “นางโรหิณี ขลุกอยู่ในห้อง ไม่กล้ามาหาท่าน”

“ทำไมล่ะ” พระเถระถาม

“นางเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง คงจะอายกระมัง” พระญาติทั้งหลายบอก

พระเถระจึงให้คนไปตามนางมาหา บอกแก่นางว่า “โรคนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่นางได้กระทำไว้ ขอให้นางจงทำบุญกุศลเพื่อ “ลบล้าง” กรรมเก่าตั้งแต่บัดนี้เถิด”

เมื่อถามว่าจะให้ทำบุญอะไรบ้าง พระเถระบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรมากมาย ให้สร้าง “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉัน) แล้วให้ปัดกวาดเช็ดถู ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้สำหรับพระสงฆ์ ตลอดจนล้างถ้วยล้างชาม กวาดลานวัดให้สะอาดเสมอ

นางก็ได้ปฏิบัติตามที่พระเถระ เป็นเชษฐาแนะนำ เวลาล่วงไปหลายเดือน โรคผิวหนังที่เป็นมาหลายปีก็หายยังกับปลิดทิ้ง เป็นที่น่าอัศจรรย์  

เมื่อพระอนุรุทธะกลับมายังมาตุภูมิอีกครั้ง นางโรหิณีได้มานมัสการพระเชษฐา เล่าเรื่องราวให้ทราบด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสที่ได้กลับมาเป็น “หยิน” ที่สดสวยน่ารักเหมือนเดิม พร้อมเรียนถามพระพี่ชายว่า ชาติก่อนตนทำกรรมอะไรไว้ จึงเสวยผลเช่นนี้  พระเถระเล่าว่า ในอดีตกาลนานแล้ว นางโรหิณีเป็นพระมเหสีของพระราชาพระองค์หนึ่ง ไม่พอใจที่พระสวามีไป “ติด” นางรำคนหนึ่ง จนกระทั่งไม่สนพระทัยพระนางซึ่งเป็นพระมเหสี

หึง ว่าอย่างนั้นเถอะ เมียมีทั้งคนไม่สน ไปหลงอีนางรำต่ำต้อย มันน่านัก (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงนึกถึงเป็ดขึ้นมาตงิดๆ ว่าเป็ดมันคงหิว น่าจะหาอาหารให้มันกินสักหน่อย ว่าอย่างนั้นเถอะ บรื๊อ!)

นางทำทีว่าเมตตารักใคร่นางรำคนโปรดของพระสวามี เรียกมาสนทนาพูดคุยอย่างสนิทสนมทุกวัน ข้างฝ่าย “พระเอก” ก็ดีพระทัยว่าบ้านใหญ่กับบ้านเล็กเข้ากันได้ดี โนพลอมแพล็มดีแท้ มันจะสุขใจอะไรปานนั้น

หารู้ไม่ว่ามารยาหญิงนั้น หลายร้อยรถบรรทุกก็บรรทุกไม่หมด พระมเหสีสั่งซื้อชุดแต่งตัวอย่างสวยงามให้นางรำใหม่ชุดหนึ่ง สำหรับให้นางใส่ออกงานสำคัญต่อหน้าพระที่นั่ง เป็นปลื้มทั้งแก่พระสวามีและนางรำคนโปรดเป็นอย่างยิ่ง

วันเฉลิมฉลองใหญ่ก็มาถึง นางรำคนสวยร่ายรำอยู่ในชุดที่หรูหรางดงามยิ่ง ท่ามกลางมหาสันนิบาตที่มีพระราชาและพระมเหสีประทับเป็นประธาน และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

นางรำเกิดอาการคันที่ร่างกาย ทีแรกก็คันเพียงเล็กน้อย แต่ยิ่งนานไปก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน นกระทั่งทนร่ายรำไปไม่ไหว เพราะมันปวดแสบปวดร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย เปลี่ยนจากท่าร่ายรำมาเป็นท่าลิงเกาหิดไปโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สายตาอำมหิตคู่หนึ่งจ้องมองด้วยความสะใจ

พระมเหสีของพระราชานั่นเอง

พระนางได้เอาผง “หมามุ่ย” โรยไว้ทั่วชุดแต่งตัว ทำให้ผู้สวมใส่เกิดอาการคะเยอไปทั่วสรรพางค์ ยังผลให้นางรำเกิดเป็นโรคผิวหนังรักษาอยู่ตั้งนานกว่าจะหาย หายแล้วก็ยังเป็นรอยกะดำกะด่างผิวไม่สวยงามเหมือนเดิมอีกต่างหาก

“พระมเหสีนางนั้น มาเกิดเป็นน้องหญิงโรหิณีในบัดนี้ เพราะกรรมที่ทำไว้ครั้งนั้นด้วยจิตอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น มาบัดนี้จึงเกิดเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังรักษาไม่หาย” พระอนุรุทธะเถระเจ้าสรุป

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ความอิจฉาริษยาทำให้ผิวพรรณไม่สวย มองได้ทั้งผลในปัจจุบันและผลที่ข้ามภพข้ามชาติ ผลในปัจจุบันเห็นได้ครับ ถ้าเราอิจฉาตาร้อนใคร จิตใจเราจะไม่มีความสุขสงบภายใน มีแต่ความร้อนรุ่ม นั่งก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่เป็นสุข วันๆ คิดแต่จะสาปแช่งให้ (ไอ้ อี) คนที่เราไม่ชอบขี้หน้ามันฉิบหายวายป่วง

คนที่เราอิจฉาตาร้อน สาปแช่งทุกวันนั้น เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย เขายังสุขสบายดีตามประสาของเขา แต่เราสิครับ ยิ่งเห็น ยิ่งได้ยินว่าเขายังสบายดี ไม่เป็นอะไรอย่างที่เราต้องการให้เขาเป็น เราก็ยิ่งเร่าร้อนภายในยิ่งขึ้น

คนที่ใจไม่สงบสุข ร้อยทั้งร้อยใบหน้าก็ไม่ผุดผ่องสดใส หน้านิ่วคิ้วขมวดยังกับเหม็นขี้ตลอดทั้งวัน ไม่เป็นที่สบายใจของผู้พบเห็น

ใบหน้าไม่ผุดผ่องสดใส นึกว่าผิวพรรณจะผุดผ่องสดใส ผิวหน้าฉันใด ผิวกายก็ฉันนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น ใครอยากสดสวยตลอดเวลา ก็อย่าริเป็นคนอิจฉาริษยาโกรธเคือง หรืออาฆาตพยาบาทคนอื่น ขอให้มีจิตเมตตากรุณา รักและปรารถนาดีต่อทุกคนด้วยใจบริสุทธิ์


ที่มา : ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๖ ประจำวันที่ ๒๙ มิถุนายน – ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑

500 pic.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 10 กันยายน 2561 17:12:15 »



ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (จบ)

ในแง่การให้ผลข้ามภพข้ามชาตินั้น ปุถุชนอย่างเราท่านรู้ไม่ได้ เมื่อไม่รู้ ก็ฟังท่านผู้รู้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รู้ที่ว่ามิใช่คนธรรมดา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก

พระองค์ตรัสไว้ว่า มีเรื่องอยู่ ๔ เรื่องที่ปุถุชนไม่ควรคิด ขืนคิดมากมีแต่ทางจะเป็นบ้า เรื่อง ๔ เรื่องคือ
๑. พุทธวิสัย เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ก็ไม่พึงคิดหาเหตุผลเอาเองว่า ทำไมพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วจึงพูดได้เดินได้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงมีสัพพัญญุตญาณ เหนือบุคคลอื่น ทรงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือคนอื่น
๒. ฌานวิสัย เรื่องราวเกี่ยวกับฌานสมาบัติ ผู้ได้ฌานแล้วสามารถบันดาลฤทธิ์ต่างๆ เป็นที่อัศจรรย์ได้
๓. กัมมวิปาก เรื่องราวเกี่ยวกับกรรมและ ผลของกรรม ว่าทำกรรมอะไรไว้ มันจะได้ผลอย่างไร เมื่อใด
๔. โลกจินตา การคิดเกี่ยวกับโลก เช่น โลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด มันจะแตกสลายไปอย่างไร เมื่อไร

เรื่องเหล่านี้ปุถุชนคนมีกิเลส ไม่มีใครรู้จริงดอกครับ ถึงจะมีบางกลุ่มบัญญัติว่าโลกมีคนนั้นคนนี้สร้าง โลกมันจะดับเมื่อนั้นเมื่อนี้ ก็ “คิดเอาเอง” ทั้งนั้น ไม่ได้บัญญัติด้วยความรู้เห็นแต่อย่างใด ถ้าใครมามัวคิดหาคำตอบในสิ่งที่ “เหลือวิสัย” อย่างนี้

พระผู้ตรัสรู้เท่านั้นที่จะรู้ว่า มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร เรื่องกรรมและผลของกรรมนี้เป็น “พุทธวิสัย” โดยเฉพาะ พระผู้ตรัสรู้เท่านั้นจึงรู้ เมื่อพระองค์ทรงรู้แล้วก็ทรงสั่งสอนให้เหล่าสาวกฟัง สาวกที่ยังไม่ “ตรัสรู้ตาม” ก็รับฟังและปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน

เมื่อพระผู้ตรัสรู้ตรัสสอนว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เราก็พึงเชื่อท่าน แต่การเชื่อนี้มิใช่เชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือเชื่อแบบมืดบอด เราเชื่ออย่างมีปัญญากำกับด้วย นั่นก็คือพิจารณาเห็นความจริงบางอย่างที่สอดคล้องกับคำสอนนั้นด้วย

ที่ว่าทำดีได้ดี เราอาจใช้ปัญญาพิจารณาว่า “ได้ดี” สองระดับคือ
– ได้ดีในปัจจุบัน
– ได้ดีข้ามภพข้ามชาติ

ได้ดีระดับข้ามภพข้ามชาติ เกินวิสัยที่ปุถุชนคนไม่ตรัสรู้อย่างเราจะรู้ได้ แต่ที่เราสามารถรู้ได้แน่ๆ คือ “ได้ดีในปัจจุบัน” เราลองพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า

๑) เวลาเรามีจิตศรัทธา ทำบุญตักบาตร หรือถวายทานแก่พระสงฆ์จิตใจเรามีความผ่องใส สดชื่น ในขณะที่ทำและหลังจากทำแล้ว นึกขึ้นมาทีไรก็มีแต่ความปลื้มใจ สุขใจ นี้คือเรา “ได้ดี” ในปัจจุบัน ดีอะไรเล่าครับที่จะเท่าความสุขใจใช่ไหม

๒) เวลาเราเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากหรือประสบทุกข์ภัยบางอย่าง เรามีความกรุณาสงสารเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ยาก เราช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเห็นเขามีความสุข เพราะความช่วยเหลือของเรา เราก็มีความสุขด้วย และมีความภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น นี้ก็คือการ “ได้ดี” ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน

๓) เห็นคนอื่นเขากำลังจะถลำลงสู่ความตกต่ำบางอย่าง ช่วยฉุดเขาขึ้นมาได้ ผู้ช่วยเหลือเขาก็มีความสุข ยิ่งเห็นคนที่ตนช่วยเหลือนั้นเจริญก้าวหน้าในชีวิต ก็ยิ่งมีความสุขใจเพิ่มทวีคูณ
นี้ก็คือการ “ได้ดี” ในปัจจุบันเหมือนกัน

มีเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง เด็กวัดสุทัศน์ อาศัยพระและวัดอยู่ และเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยด้วย เปิดเทอมจะต้องเสียค่าเทอมจำนวนหลายร้อย ดูเหมือนจะสองหรือสามร้อยสมัยก่อน ไม่มีเงินจะเสียค่าเทอม

เพื่อนเด็กวัดด้วยกันออกความคิดว่า ให้จับนกพิราบที่เกาะอยู่หลังคาโบสถ์ไปขาย จับได้สักห้าสิบตัวก็จะขายได้เงินจำนวนหนึ่ง รวมกับที่มีอยู่บ้างก็คงจะพอเสียค่าเทอม โดยเพื่อนรับอาสาคอยดูทางให้  เด็กโค่งคนนี้ก็ขึ้นไปจับนกพิราบใส่กระสอบได้ครบตามต้องการ ผูกปากกระสอบแล้ววางไว้หน้าห้อง กะว่าพรุ่งนี้เช้าจะรีบตื่นแต่ตีห้านำไปขายให้ร้านอาแปะข้างวัด  เช้าขึ้นมา ปรากฏว่ากระสอบปากถุงเปิดอ้าอยู่ นกพิราบหายไปหมดเกลี้ยง แทบลมจับ แต่พอเอามือล้วงเข้าไปในกระสอบ ปรากฏว่ามีเงินวางอยู่ ๕๐๐ บาท ไม่ทันคิดว่าเงินได้มาอย่างไร ด้วยความดีใจ จึงรีบไปเสียค่าเทอม เรียนหนังสือจนสอบจบเป็นบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ รับราชการเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และรองผู้ว่าฯ

ซึ่งอนาคตจะต้องเป็นถึงผู้ว่าฯ แน่นอน

วันหนึ่งเขาคิดถึงหลวงพ่อที่วัดขึ้นมา จึงเดินทางไปนมัสการท่าน เล่าเรื่องนกพิราบให้ท่านฟัง พลางรำพึงว่า “ไม่ทราบว่าใครเอาเงินไปวางไว้ให้”

หลวงพ่อเขกกบาลศิษย์พลางพูดว่า “ข้าเอง เห็นเอ็งจะทำบาป ข้าก็เลยช่วยฉุดเอ็งจากขุมนรก” แล้วท่านก็บอกต่อไปว่า “เมื่อเห็นเอ็งไปดี ทำงานเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ ข้าก็มีแต่ความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเอ็งครั้งนั้น”
นี่แหละครับ การ “ได้ดี” เพราะทำดีไว้ เห็นได้ในปัจจุบันนี้ เมื่อทำดีได้ดีในปัจจุบัน ชาติหน้าก็ย่อมจะได้ดี (ตามที่พระท่านบอก) แน่นอน

ว่าจะเล่าสักสองสามเรื่อง เล่าได้เรื่องเดียวก็หมดหน้ากระดาษแล้ว เอาไว้ต่อฉบับหน้าก็แล้วกัน

คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร

อยากชวนให้แฟนหนังสือ “หยิน” อ่านหนังสือสักเล่ม ไม่เชิงหนังสือธรรมะ แต่อ่านแล้วได้ “ธรรมะ” แน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” สัมภาษณ์รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร.สุนทร พลามินทร์ และ ชุติมา ธนะปุระ มูลนิธิพุทธธรรมจัดพิมพ์จำหน่าย

พระธรรมปิฎกเป็นใคร พระเถระและคฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนหลายท่าน แสดงทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับตัวท่านทำไม คำถามนี้หลายท่านคงทราบคำตอบแล้ว แต่คงมีอีกหลายคนยังไม่ทราบ ขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลย

เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้รางวัลแก่ พระธรรมปิฎก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ นับว่าเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ผู้ที่แสดงทัศนะ ผ่านการสัมภาษณ์บ้าง เขียนเองบ้าง ประกอบด้วยพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะภิกขุ) พระเมธีธรรมาภรณ์ พระมหาสิงห์ทน นราสโภ พระชยสาโร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ รศ.ดร.สมศีล ฌานวังสะ อ.ชัชวาล ปุญปัน และเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ท่านทำอะไรหรือ จึงปรากฏต่อสายตาและจิตใจขององค์การยูเนสโก จนถึงกับมอบถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คงไม่มีใครทราบ และไม่คาดคิดมาก่อน ว่าฝรั่งมังค่าจะสนใจงานของท่าน เพราะเท่าที่เราทราบ ท่านเจ้าคุณก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศน์สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพอะไร จนถึงกับต้องให้รางวัล

พูดง่าย ๆ ก็ว่า ท่านเจ้าคุณท่านสอนพระพุทธศาสนา มิได้มีบทบาทเด่นในเรื่องสันติภาพ

แต่ลองฟังคำประกาศสดุดี ของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลดูสิครับ เขากลับมองเห็นว่า การเทศน์สอนพระพุทธศาสนานี้แหละ เป็นการทำหน้าที่ให้การศึกษาเรื่องสันติภาพแท้จริง

“คณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการถวายรางวัล และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก ก็ได้รับรองข้อเสนอของคณะกรรมการ พวกเราทุกคนเปี่ยมด้วยความชื่นชม สรรเสริญอย่างสูงสุดต่อแนวความคิดของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

แนวความคิดดังกล่าว เน้นความสำคัญยิ่งยวดของสันติภาพภายใจ และเน้นความร่วมมือของมนุษย์ทุกคนที่จะรับผิดชอบร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรมอย่างสันติ

ท่านเน้นความคิดที่ว่า สันติภาพเป็นค่านิยมที่ลึกซึ้งอยู่ภายใจ เป็นค่านิยมของความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากพลังภายในของมนุษย์ และทอแสงออกมาให้ประจักษ์เมื่อได้สัมผัสกับผู้อื่น และในที่สุดก็จะสะท้อนออกมามีผลต่อความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ระหว่างประชาชนและระหว่างรัฐ

เจ้าคุณประยุทธ์ เสนอแนวปรัชญาใหม่ในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อท่านผู้ได้รับรางวัล และข้าพเจ้าขอถวายพรให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี…”

ฟังแล้วก็ได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะทำหน้าที่เทศน์สอนพระพุทธศาสนา สอนตามแนวของพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ “สาระ” แห่งคำสอนของท่านเน้นเรื่อง “สันติภาพ” อย่างยิ่ง และการเน้นสันติภาพ ก็เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันติภาพ

และสันติภาพที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นก็คือ สันติภาพภายใน หรือสันติภาพทางจิตนั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้ย้ำสอนให้มนุษย์ทุกคนพยายามสร้างสันติภายในให้มากๆ เมื่อจิตใจมีสันติ หรือมีความสงบแล้ว ความสงบนั้นก็จะฉายออกภายนอกผ่านกาย วาจา

คนที่มีการแสดงออกอันสงบทางกาย วาจา ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ตนอยู่ และแผ่ขยายวงกว้างไปถึงระดับนานาชาติ

ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติตามแนวทางนี้ โลกก็จะมีสันติภาพอย่างแท้จริง ท่านผู้กล่าวสดุดีจึงเน้นตอนท้ายว่า “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต เสนอแนวปรัชญาในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง”

สรุปแล้ว เขามองเห็นว่า ท่านเจ้าคุณสอนพระพุทธศาสนาก็จริง แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นการสร้างสันติภาพภายใน หรือความสงบภายใน สอนแต่ละบุคคลให้สร้างสันติภาพภายในก็จริง แต่เมื่อแต่ละคนมีความสันติแล้ว การอยู่ร่วมกันก็พลอยสันติสุขไปด้วย สันติภาพสากลย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

แนวการคิดอย่างนี้ เป็นแนวที่คนตะวันตกส่วนมากคิดไม่ถึง เพราะส่วนมากมักจะคิดสร้างความสงบจากภายนอก บังคับให้คนอื่นสงบ บังคับให้สังคมสงบ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีความสงบแม้แต่นิดเดียว สันติภาพแบบนี้มักจะมิใช่สันติภาพแท้จริง

แนวคิดที่ว่าอยากให้โลกทั้งโลกมีสันติภาพ ภายในใจของแต่ละคนต้องมีสันติภาพเสียก่อนนั้น เป็นแนวทางพระพุทธศาสนา ที่ท่านเจ้าคุณนำเสนอ ท่านผู้กล่าวคำสดุดีถึงกับยกย่องว่าเป็น “นวัตกรรมอันแท้จริง” คือเป็นแนวคิด (ที่ฝรั่งเข้าใจว่า) “สร้างขึ้นใหม่” หรือ “แนวคิดใหม่” ซึ่งความจริงมิได้ใหม่อะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีผู้ย้ำเน้นกัน ท่านเจ้าคุณได้นำมาย้ำเน้นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พระเถระ และคฤหัสถ์ที่เอ่ยนามมาข้างต้น ใครแสดงทัศนะชื่นชมในพระธรรมปิฎกว่าอย่างไร คงไม่มีหน้ากระดาษพอจะนำมาถ่ายทอดให้อ่านกัน แฟนๆ ที่ใคร่รู้รายละเอียด ขอให้ไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเอาก็แล้วกัน

ส่วนที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กรรมและวิบากแห่งกรรม ของท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณได้ทำกรรมอันเป็นกุศล หรือกรรมดีไว้มากมาย จึงได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรมดี ที่ทำไว้นั้น คือได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ยากจะหาใครเหมือนในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ว่านี้ มิใช่อยู่ๆ มันมีมาเอง แต่เป็นผลของการสร้างสรรค์เป็นผลของการศึกษาอบรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ลองย้อนหลังดูจะเห็นความจริงข้อนี้

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ก่อนบวชได้เรียนจบมัธยมปีที่ ๓ บวชมาแล้วมีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง เรียนนักธรรมและบาลี จนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค

ขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีอยู่นั้น สามเณรประยุทธ์ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย เรียนควบคู่กันไประหว่างปริยัติธรรม (ธรรมะและบาลี) กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะต้องให้ความพากเพียรอย่างหนัก พระเณรบางรูปไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะ “หนักเกินไป”

แต่สามเณรประยุทธ์สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง มีโรคประจำหลายอย่าง หลังจากจบเปรียญ ๙ ประโยคไม่กี่ปี ก็จบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑)

จบแล้ว ท่านเจ้าคุณไม่ยอม “จบ” อยู่แค่นั้น ได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมากขึ้น จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะในแวดวงพระพุทธศาสนา ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น และเห็นว่าจะเป็น “สื่อ” สำหรับถ่ายทอดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ท่านก็อ่านและศึกษาอยู่เสมอ

ตั้งแต่จบพุทธศาสตรบัณฑิตมา ท่านเจ้าคุณไม่เคยไปศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกต่อ เหมือนพระเณรอื่นๆ ไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ แต่น่าทึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณ เป็นภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญ ตัวท่านเรียกได้ว่าเป็น “นาย” ของภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แม้สำเนียงจะไม่เป็นฝรั่งเปี๊ยบ แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝรั่งเองยังยกย่อง

ความสามารถอันน่าอัศจรรย์นี้ ท่านได้มาจากที่ไหน

ท่านฝึกฝนอบรมตัวเองตลอดเวลา ผสมกับมันสมองอันเป็นเลิศอยู่แล้ว ท่านจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้รับนิมนต์ไปสอนยังมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น

ถ้าท่านย้อนดูความหลังแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจดอกครับ ทำไมอดีตสามเณรน้อยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงด้วยซ้ำ จึงกลายเป็นนักปราชญ์ มีผลงานเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป

ความพากเพียรพยายามฝึกฝนตนเอง ด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้เอง ที่ได้สร้างสรรค์นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในวงการพระศาสนา สมดังพระบาลีพุทธวจนะว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง

เห็นหรือยังครับว่าคนเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่กรรมทำมาอย่างไร ท่านเจ้าคุณทำมาทางนี้จึงได้รับผลในทางนี้


ที่มา : ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (จบ) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๗ ประจำวันที่ ๖-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑





คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร

อยากชวนให้แฟนหนังสืออ่านหนังสือสักเล่ม ไม่เชิงหนังสือธรรมะ แต่อ่านแล้วได้ “ธรรมะ” แน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ )

สัมภาษณ์รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร.สุนทร พลามินทร์ และชุติมา ธนะปุระ มูลนิธิพุทธธรรมจัดพิมพ์จำหน่าย

พระธรรมปิฎกเป็นใคร พระเถระและคฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนหลายท่านแสดงทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับตัวท่านทำไม คำถามนี้หลายท่านคงทราบคำตอบแล้ว

แต่คงมีอีกหลายคนยังไม่ทราบ ขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลย

เมื่อปลายปีที่แล้วองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้รางวัลแก่พระธรรมปิฎก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ นับว่าเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ผู้ที่แสดงทัศนะ ผ่านการสัมภาษณ์บ้าง เขียนเองบ้างประกอบด้วย พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พระเมธีธรรมาภรณ์ พระมหาสิงห์ทน นราสโภ พระชยสาโร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ รศ.ดร.สมศีล ฌานวังสะ อ.ชัชวาล ปุญปัน และเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก  (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ท่านทำอะไรหรือ จึงปรากฏต่อสายตาและจิตใจขององค์การยูเนสโก จนถึงกับมอบถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คงไม่มีใครทราบ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าฝรั่งมังค่าจะสนใจงานของท่าน

เพราะเท่าที่เราทราบ ท่านเจ้าคุณก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศน์สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพอะไรจนถึงกับต้องให้รางวัล

พูดง่ายๆ ก็ว่า ท่านเจ้าคุณท่านสอนพระพุทธศาสนา มิได้มีบทบาทเด่นในเรื่องสันติภาพ

แต่ลองฟังคำประกาศสดุดีของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลดูสิครับ เขากลับมองเห็นว่าการเทศน์สอนพระพุทธศาสนานี้แหละ เป็นการทำหน้าที่ให้การศึกษาเรื่องสันติภาพแท้จริง

“คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการถวายรางวัล และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโกก็ได้รับรองข้อเสนอของคณะกรรมการ พวกเราทุกคนเปี่ยมด้วยความชื่นชม สรรเสริญอย่างสูงสุดต่อแนวความคิดของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

แนวความคิดดังกล่าว เน้นความสำคัญยิ่งยวดของสันติภาพภายใน และเน้นความร่วมมือของมนุษย์ทุกคนที่จะรับผิดชอบร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรมอย่างสันติ

ท่านเน้นความคิดที่ว่า สันติภาพเป็นค่านิยมที่ลึกซึ้งอยู่ภายใน เป็นค่านิยมของความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากพลังภายในของมนุษย์ และทอแสงออกมาให้ประจักษ์เมื่อได้สัมผัสกับผู้อื่น และในที่สุดก็จะสะท้อนออกมา มีผลต่อความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ระหว่างประชาชนและระหว่างรัฐ

เจ้าคุณประยุทธ์เสนอแนวปรัชญาใหม่ในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อท่านผู้ได้รับรางวัล และข้าพเจ้าขอถวายพรให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี…”

ฟังแล้วก็ได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะทำหน้าที่เทศน์สอนพระพุทธศาสนา สอนตามแนวของพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ “สาระ” แห่งคำสอนของท่านเน้นเรื่อง “สันติภาพ” อย่างยิ่ง

และการเน้นสันติภาพก็เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันติภาพ

และสันติภาพที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นก็คือ สันติภาพภายใน หรือสันติภาพทางจิตนั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้ย้ำสอนให้มนุษย์ทุกคนพยายามสร้างสันติภายในให้มากๆ เมื่อจิตใจมีสันติหรือมีความสงบแล้ว ความสงบนั้นก็จะฉายออกภายนอกผ่านกาย วาจา

คนที่มีการแสดงออกอันสงบทางกาย วาจา ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ตนอยู่ และแผ่ขยายวงกว้างไปถึงระดับนานาชาติ

ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติตามแนวทางนี้ โลกก็จะมีสันติภาพอย่างแท้จริง ท่านผู้กล่าวสดุดีจึงเน้นตอนท้ายว่า “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต เสนอแนวปรัชญาในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง”

สรุปแล้วเขามองเห็นว่า ท่านเจ้าคุณสอนพระพุทธศาสนาก็จริง แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเน้นการสร้างสันติภาพภายใน หรือความสงบภายใน สอนแต่ละบุคคลให้สร้างสันติภาพภายในก็จริง แต่เมื่อแต่ละคนมีความสันติแล้ว การอยู่ร่วมกันก็พลอยสันติสุขไปด้วย สันติภาพสากลย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

แนวการคิดอย่างนี้ เป็นแนวที่คนตะวันตกส่วนมากคิดไม่ถึง เพราะส่วนมากมักจะคิดสร้างความสงบจากภายนอก บังคับให้คนอื่นสงบ บังคับให้สังคมสงบ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีความสงบแม้แต่นิดเดียว สันติภาพแบบนี้มักจะมิใช่สันติภาพแท้จริง

แนวคิดที่ว่าอยากให้โลกทั้งโลกมีสันติภาพ ภายในใจของแต่ละคนต้องมีสันติภาพเสียก่อนนั้น เป็นแนวทางพระพุทธศาสนาที่ท่านเจ้าคุณนำเสนอ ท่านผู้กล่าวคำสดุดีถึงกับยกย่องว่าเป็น “นวัตกรรมอันแท้จริง” คือเป็นแนวคิด (ที่ฝรั่งเข้าใจว่า) “สร้างขึ้นใหม่” หรือ “แนวคิดใหม่” ซึ่งความจริงมิได้ใหม่อะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีผู้ย้ำเน้นกัน ท่านเจ้าคุณได้นำมาย้ำเน้นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พระเถระและคฤหัสถ์ที่เอ่ยนามมาข้างต้น ใครแสดงทัศนะชื่นชมในพระธรรมปิฎกว่าอย่างไร คงไม่มีหน้ากระดาษพอจะนำมาถ่ายทอดให้อ่านกัน แฟนๆ ที่ใคร่รู้รายละเอียด ขอให้ไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเอาก็แล้วกัน

ส่วนที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กรรมและวิบากแห่งกรรมของท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณได้ทำกรรมอันเป็นกุศลหรือกรรมดีไว้มากมาย จึงได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรมดีที่ทำไว้นั้น คือได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ยากจะหาใครเหมือนในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ว่านี้ มิใช่อยู่ๆ มันมีมาเอง แต่เป็นผลของการสร้างสรรค์ เป็นผลของการศึกษาอบรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ลองย้อนหลังดูจะเห็นความจริงข้อนี้

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ก่อนบวชได้เรียนจบมัธยมปีที่ ๓ บวชมาแล้วมีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง เรียนนักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค

ขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีอยู่นั้น สามเณรประยุทธ์ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย เรียนควบคู่กันไประหว่างปริยัติธรรม (ธรรมะและบาลี) กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะต้องให้ความพากเพียรอย่างหนัก พระ-เณรบางรูปไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะ “หนักเกินไป”

แต่สามเณรประยุทธ์สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง มีโรคประจำตัวหลายอย่าง หลังจากจบเปรียญ ๙ ประโยคไม่กี่ปี ก็จบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑)

จบแล้ว ท่านเจ้าคุณไม่ยอม “จบ” อยู่แค่นั้น ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมากขึ้น จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะในแวดวงพระพุทธศาสนา ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น และเห็นว่าจะเป็น “สื่อ” สำหรับถ่ายทอดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ท่านก็อ่านและศึกษาอยู่เสมอ

ตั้งแต่จบพุทธศาสตรบัณฑิตมา ท่านเจ้าคุณไม่เคยไปศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกต่อเหมือนพระ-เณรอื่นๆ ไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณ เป็นภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญ ตัวท่านเรียกได้ว่าเป็น “นาย” ของภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แม้สำเนียงจะไม่เป็นฝรั่งเปี๊ยบ แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝรั่งเองยังยกย่อง

ความสามารถอันน่าอัศจรรย์นี้ ท่านได้มาจากที่ไหน

ท่านฝึกฝนอบรมตัวเองตลอดเวลา ผสมกับมันสมองอันเป็นเลิศอยู่แล้ว ท่านจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้รับนิมนต์ไปสอนยังมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น

ถ้าท่านย้อนดูความหลังแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจดอกครับ ทำไมอดีตสามเณรน้อยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงด้วยซ้ำจึงกลายเป็นนักปราชญ์ มีผลงานเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป

ความพากเพียรพยายามฝึกฝนตนเองด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้เอง ที่ได้สร้างสรรค์นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในวงการพระศาสนา สมดังพระบาลีพุทธวจนะว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง

เห็นหรือยังครับว่าคนเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่กรรมทำมาอย่างไร ท่านเจ้าคุณทำมาทางนี้จึงได้รับผลในทางนี้


ที่มา : คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร  โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๘ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กันยายน 2561 17:15:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 10 กันยายน 2561 17:20:47 »


กรรมของสัตว์

เหตุการณ์มัวหมองแก่พระศาสนา ซึ่งก่อโดยอลัชชีผู้ไร้ยางอาย สร้างความกระทบกระเทือนแก่บรรดาชาวพุทธไทยทั่วทั้งประเทศ รวมถึงชาวพุทธในต่างประเทศด้วย คงยังจำกันได้ว่า มีภิกษุรูปหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปาราชิก และอาบัติรองลงมาหลายกระทงคือ

๑. ละเมิดปาราชิก ข้อที่หนึ่ง “เสพเมถุน” หรือมีเพศสัมพันธ์กับสตรี จนมีบุตรและกับสตรีทั้งไทยและชาวต่างประเทศอีกหลายคน
๒. ละเมิดปาราชิก ข้อที่สอง “ลักทรัพย์” คือขโมยบทกวีของ ดร.ระวี ภาวิไล มาเป็นของตน
๓. ละเมิดปาราชิก ข้อที่สี่ “อวดอุตริมนุสสธรรม” คืออวดอ้างว่าตนบรรลุคุณวิเศษ หรือแสดงอาการให้เข้าใจว่า ตนเป็นพระอริยะ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
๔. ใช้เครดิตการ์ดในสถานที่เริงรมย์ หรือซ่องโสเภณี หลายครั้ง ซึ่งมีความผิดสองสถานคือ ไม่เป็นปาราชิก ก็สังฆาทิเสส สถานใดสถานหนึ่ง
๕. เช่ารถไปท่องเที่ยวสองต่อสองกับสตรี พักค้างคืนที่โมเต็ลเดียวกัน และห้องเดียวกันกับสตรี เป็นเวลา ๘ วัน มีความผิดสองสถานคือ ไม่ปาราชิก ก็สังฆาทิเสส
๖. เช่าบ้านอยู่กันโดยลำพังกับสตรีที่มีบุตรด้วยกันกับตน ที่ประเทศยูโกสลาเวีย เป็นเวลา ๘ เดือน มีความผิดสองสถานคือ ไม่เป็นปาราชิก ก็สังฆาทิเสส
๗. ทำความผิด หรือประพฤติไม่เหมาะสมแก่สมณะอีกเป็นอันมาก เช่น แต่งตัวเป็นเจงกิสข่าน ขี่ช้าง ขี่วัว เล่นลูกข่าง เล่นสกี พายเรือเล่น ฯลฯ มีความผิดสถานเบาคือ ปาจิตตีย์ หรือทุกกฎ

ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ภิกษุรูปนี้ก่อขึ้นมาด้วยตนเอง และได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานปี จนกระทั่งเป็นที่รับรู้ของชาวพุทธจำนวนหนึ่ง และรู้กันแพร่หลายเมื่อมีการร้องเรียน กล่าวหาจากกลุ่มสีกาจำนวนหนึ่ง เมื่อต้นปี ๒๕๓๗

และแพร่ขยายฉาวโฉ่ยิ่งขึ้น เมื่อสื่อมวลชนทุกแขนงได้ประโคมข่าวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเรื่องราวถูกเปิดเผยขึ้น ถึงขั้นคณะสงฆ์สั่งให้สอบสวน จนกระทั่งในที่สุด มหาเถรสมาคม รอกระบวนการสอบสวนอันล่าช้า และส่อว่า “ซูเอี๋ยกัน” ระหว่างคณะกรรมการและจำเลยไม่ไหว จึงใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งให้พระรูปนี้สละสมณเพศ

คือ ให้สึกเสีย เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๘ ที่ผ่านมา

อดีตพระดังรูปนี้ ได้กล่าวตลอดเวลาว่า ตนเองบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดดังที่กล่าวหา ที่เขาต้องรับชะตากรรมถึงต้องสึกนี้ เพราะถูกกลั่นแกล้ง ถูกให้ร้ายป้ายสีผู้ที่ทำลายเขา (ความเข้าใจของเขา) คือ

๑. ขบวนการนารีพิฆาต คือ องค์กรต่างศาสนา (เน้นไปที่ศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก) จ้างผู้หญิงมาทำลายพระดังเช่นเขา และรูปอื่นๆ อีกด้วยเงินจำนวนมาก ว่ากันว่าเป็นพันล้านบาท

๒. พระภิกษุบางรูปที่อยากดัง และไม่ดังเท่ากับเขา เกิดความอิจฉาในความดังของเขา พยายามให้ร้าย และหาทางกำจัดเขา ภิกษุดังกล่าวคือ พระพยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว

๓. กลุ่มสตรีผู้เสียผลประโยชน์ บางคนอยากเป็นผู้ใกล้ชิด แล้วถูกศิษย์คนอื่นกีดกันก็โกรธ จึงหาทางแก้แค้น ด้วยการป้ายสีให้เขามัวหมอง

๔. กลุ่มนักวิชาการ ได้รับจ้างมาเพื่อทำลายเขา ไม่ระบุว่าได้มาจากไหน จำนวนเป็นพันล้านเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นหัวหอกคนสำคัญที่ไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และพระผู้ใหญ่อื่นๆ ตลอดจนจ้างคนให้มาก่อม็อบต่อต้านตน โดยจ่ายให้คนละ ๕๐๐ บาทต่อวัน

๕. สื่อมวลชนทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ (โดยเฉพาะข่าวสด มติชน) วิทยุ โทรทัศน์ (โดยเฉพาะ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.เสรี วงษ์มณฑา และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้จัดทำรายการ ตามรอยยันตระในต่างแดน และสลิปรักทะเลใต้) มีความอิจฉาริษยาเป็นส่วนตัว บิดเบือนความจริง ให้ร้ายป้ายสี ด้วยการสร้างหลักฐานขึ้นมาใหม่

๖. คนใกล้ชิดในอดีตผู้ผิดหวังในตัวเขา เพราะเขาไม่สนองความต้องการบางอย่าง เช่น คุณรัตนา มาลีนนท์ คุณอิทธิชาติ มานะเลิศ หรือโยมอ่อง สร้างหลักฐานปลอมขึ้นมากล่าวร้ายเขา เช่น สลิปบัตรเครดิต เป็นต้น

สรุปแล้ว วินัย หรือยันตระ อมโร หรือละอองสุวรรณ คนนี้ มองไม่เห็นแม้แต่นิดว่า ผลที่เขาได้รับอยู่นี้เป็น “กรรม” หรือการกระทำของเขาเอง ได้แต่โทษคนอื่นถ่ายเดียว เข้าทำนองสุภาษิตว่า

โทษคนอื่น แลเห็น เป็นภูเขา  โทษของเรา แลไม่เห็น เท่าเส้นผม  ตดคนอื่น เหม็นเบื่อ เหลืออดทน   ตดของตน ถึงเหม็น ไม่เป็นไร

ถ้าจะดูตั้งแต่ต้น จะเห็นว่า วินัย อมโร ได้สะสมกรรมที่เป็นอกุศล หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ดีงามมาตลอด เช่น

๑. บวชมาใหม่ๆ มิได้ถือพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เท่าที่พระภิกษุทั่วไปจะพึงทำ คือไม่ได้อยู่ภายใต้การอบรมของอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๕ ปี ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ บวชไม่นานก็ออกจาก “อ้อมอก” ของอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาอยู่เดียวดายในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

การกระทำ (หรือกรรม) ครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดี เพราะไม่เอื้อเฟื้อพระวินัย การกระทำไม่ดีครั้งแรกนี้ ส่งผลในเวลาต่อมา นั่นก็คือ

๒. ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะมัวแต่ไปเที่ยวสัญจรในที่ต่างๆ เมื่อไม่ได้เรียนก็ไม่มีความรู้ในพระธรรมวินัย ไม่รู้ว่าทำอย่างไรถูก ทำอย่างไรผิด การปฏิบัติจึงคลาดเคลื่อน หรือวิปริตจากหลักพระธรรมวินัย เช่น ให้ศิษย์ดื่มปัสสาวะของตน ด้วยเข้าใจว่าเป็นการ “ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” ดังที่ระบุไว้ใน “นวโกวาท”

ในพระวินัย อนุญาตให้ใช้ปัสสาวะของตนเอง (เน้นของตนเอง) ดองสมอหรือมะขามป้อม ทำเป็นยารักษาโรค แต่นายวินัยเข้าใจว่า ให้เอาปัสสาวะของเขาแจกจ่ายให้ศิษย์อื่น แสดงถึงความเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน

๓. เมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้นๆ นายวินัย อมโร เห็นช่องทางสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง โดยค้นพบว่า ตนเองมีรูปร่างหน้าตาหล่อ มีเสียงนุ่มนวล (จากเสียงชมของคนข้างๆ)

เจตนาอันไม่บริสุทธิ์ก็เริ่มก่อตัว

เมื่อมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ก็เริ่มกระทำการต่างๆ อันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง ลาภสักการะ

เช่น วางรูปแบบของการยืน เดิน นั่ง นอน กริยาท่าทางคล้ายพระพุทธเจ้า

แสร้งทำสำรวมให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจ

ใช้วิชาไสยศาสตร์ที่ตนเรียนมาบ้าง สร้างปาฏิหาริย์ให้คนอัศจรรย์ บางครั้งก็ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อให้เห็นแสงหรือรัศมีฉายออกจากร่าง สร้างบารมีโดยการเหยียบผ้าขาว ให้คนนำไปบูชา

และสร้างมวลชนด้วยการจัดฉากบิณฑบาตด้วยถั่วงา บิณฑบาตครั้งละเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อแสดงให้เห็นศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของมหาชนที่มีต่อตน ฯลฯ

กรรม หรือการกระทำทั้งหมดนี้ เป็นอกุศลกรรม หรือกรรมชั่ว เพราะกระทำด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์

๔. เขาพอใจที่มีคนแห่แหนแวดล้อมจำนวนมากๆ พอใจที่จะให้มีคนติดตามเป็นร้อยเป็นพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีทั้งหลาย พากันติดตามห้อมล้อม เรียกว่า “คลั่งไคล้” เลยก็ว่าได้ ในฐานะที่เขาเป็นภิกษุ เขาเห็นผู้คน “ติด” ในตัวเขาด้วยความศรัทธาที่มืดบอด เขาน่าจะตักเตือนสั่งสอนให้เขาหูตาสว่างขึ้น แต่เขากลับพอใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อพวกเขาคลั่งไคล้ใหลหลงในตัวเขามากๆ เขาก็ได้เงินบริจาคมาก กลายสภาพจากพระจนๆ เป็นพระ “อาเสี่ย” มีเงินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน

๕. เมื่อมีเงิน ผู้หญิงก็ตามมา เขามิได้ฝึกฝนอบรมจิต ไม่มีภูมิคุ้มกันพอที่จะรักษาตนให้รอดพ้นปากเหยี่ยว ปากกาได้ แถมยังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เสียอีก จึงตกเป็นเหยื่อแห่งกามราคะ ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรีมากหน้าหลายตา

เขาได้ทำกรรมหนักขั้นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืน เปรียบเสมือนศพที่รอวันเน่าเปื่อย

เมื่อทำชั่วได้ครั้งหนึ่ง ครั้งที่สอง สาม สี่ก็ตามมา ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปก็ไม่มีอีกต่อไป เมื่อมีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศต่างประเทศ เห็นช่องทางที่จะทำชั่วโดยไม่มีใครเห็นจึงวางแผนไปต่างประเทศบ่อยครั้ง อ้างว่าไปเผยแผ่ธรรมให้แก่ชาวต่างประเทศ แท้ที่จริงก็คือหาเวลาหลบไปเสพสุขทางกามารมณ์

๖. กรรมชั่วที่ทำไว้ ต่างกรรม ต่างวาระ ก็สุกงอม สีกากลุ่มหนึ่ง บางคนตกเป็นเหยื่อกามของเขา ได้เข้าร้องเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช และภายหลังร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ

๗. หลังจากนั้นมา กรรมชั่วที่ทำไว้ และปกปิดมานานปีก็ค่อยๆ เปิดเผยทีละนิดละหน่อย เขาเองก็พยายามจะ “หยุด” วิบากกรรมของตน

โดยสร้างกรรมชั่วใหม่เพิ่มเข้ามานั่นก็คือ ใช้อำนาจเงิน เพื่อให้ปกป้องช่วยเหลือตนเอง

เมื่อทางคณะสงฆ์ประกาศใช้กฎนิคหกรรม คือให้กรรมการสอบสวนความผิด

คณะกรรมการผู้พิจารณาก็พยายามช่วยเหลือเพื่อให้เขาบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา โดยวิธีการต่างๆ เช่น

๑. พยายามให้ผู้กล่าวหา “วางมือ” เช่น แสดงให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ นั้นไม่มีน้ำหนัก ความผิดที่กล่าวหานั้นหาพยานไม่ได้ ถ้าจะเอาผิดก็ผิดน้อยเท่านั้น ไม่คุ้มกับที่เหน็ดเหนื่อยตรากตรำมาฟ้องร้อง ให้ถอนคดีเสีย แล้วเลิกราต่อกัน

๒. เมื่อฝ่ายร้องเรียนยืนกรานจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ก็หาทางให้ผู้ร้องเรียนถูก “ข่มขู่” ดังได้ถูกประชาชนซ้อมจนสลบไสล ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว และก็ได้ผล ผู้ร้องเรียนได้ประกาศวางมือตั้งแต่นั้นมา

๓. แต่วิบากกรรมรอจะให้ผลมีอีกมาก จึงไม่ยอมให้เรื่องยุติเพียงแค่นั้น ทั้งๆ ที่กรรมการพิจารณากำลังจะ “จำหน่ายคดี” อยู่แล้ว การที่สตรีผู้ร้องเรียนถูกซ้อมจนสลบ ก่อความสะเทือนใจแก่ประชาชนมาก จึงไม่ยอมให้เรื่องหายไป

โดยเฉพาะสื่อมวลชนได้เสนอข่าวอย่างครึกโครม และเรียกร้องผู้รับผิดชอบให้เร่งดำเนินการให้ถึงที่สุด

๔. เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีบุตรกับสตรีนางหนึ่ง จึงมีผู้เสนอให้ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อ แม่ ลูก โดยได้ตั้งคณะนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในวิศวพันธุกรรมศาสตร์ ดำเนินการเรื่องนี้

แต่อาจเป็นเพราะกรรมยังบังตาหรืออย่างไร นายวินัยก็ไม่ยอมให้เจาะเลือด อ้างว่าไม่มีในพระธรรมวินัย

ครั้นนักปราชญ์ทางพระศาสนาบอกว่า การเจาะเลือดเพื่อหาความจริง ไม่ผิดพระธรรมวินัย ก็อ้างต่อไปว่า ตนพร้อมจะยินยอมให้เจาะเลือด ถ้าหากคณะสงฆ์ผู้ปกครองสูงสุด คือมหาเถรสมาคมสั่ง ครั้นต่อมาเมื่อมหาเถรสมาคมสั่งว่า วินัย “ควรจะพิจารณา” หมายถึงควรเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ความจริง เรื่องจะได้จบ ก็อ้างว่า มหาเถระให้พิจารณาเขาก็พิจารณาแล้ว แต่พิจารณาว่า ไม่ยอมเจาะ

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เขาจะไม่ยอมให้เจาะเลือด จนกว่าประชาชนจะรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด

๕. กรรมก็เลยบันดาลให้ข้อเท็จจริงที่ยังปกปิดอยู่เปิดเผยขึ้น โดยหลักฐานเรื่องการเช่ารถไปเที่ยว และค้างคืนที่โมเต็ลในต่างแดนกับสตรี หลักฐานการเที่ยวซ่องโสเภณี ผ่านสลิปบัตรเครดิต ก็ถูกตีแผ่ทางสื่อมวลชน

เขาก็อ้างว่า เป็นหลักฐานปลอม สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายเขา กรรมจึงบันดาลให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานทำการพิสูจน์ และรับรองว่าเป็นหลักฐานจริง

กรรมได้บันดาลให้ผู้จัดทำสารคดี บริษัทแปซิฟิค (ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล และคณะ) ต้องไปแกะรอย สืบหาความจริง ตามหลักฐานที่ระบุ จนกระทั่งได้ความจริงออกมาว่า นายวินัย อมโร ได้ไปเที่ยวซ่องจริง ได้ให้สาวขับรถพาไปเสพสุขกันตามโมเต็ลต่างๆ จริง ความจริงก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้นจนไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไป

กรรมอีกนั่นแหละ ที่บันดาลให้มีการนำหลักฐานสลิปบัตรเครดิต และหลักฐานการไปเช่าบ้านพักอยู่ต่างแดนกับเมียและลูก หลักฐานเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าบริการทางเพศ เข้าสู่มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมบางท่าน ซึ่งก่อนนั้นไม่เชื่อว่าวินัย อมโร ทำผิด เมื่อเห็นข้อมูล และได้รับการอธิบายเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

กรรมจึงบันดาลให้กรรมการมหาเถรสมาคมลงมติในการประชุมครั้งต่อมาด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ สั่งให้วินัย อมโร สละสมณเพศ คือสึกภายในสามวัน นับตั้งแต่วันออกคำสั่ง และในที่สุด วินัย อมโร จึงต้องสึกไป

๖.กรรมยังไม่หมด แทนที่จะสึกจริง กลับเปลี่ยนเพียงสีผ้าห่มเท่านั้น วินัย อมโร ยังทำตนดุจพระอยู่ ให้พระลูกศิษย์กราบไหว้อยู่ ออกบิณฑบาตดุจพระภิกษุทั่วไป อันเป็นการกระทำผิดอาญา ทางการบ้านเมืองจะต้องจับฐานไม่ใช่พระ แต่แต่งกายเลียนแบบพระ

ในที่สุด วินัย อมโร หรือละอองสุวรรณ ก็คงจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกเพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ส่งผล

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลของการกระทำของเขาเองทั้งสิ้น เขาผิดเขาชั่วก็เพราะเขาทำเอง เขาได้รับผลอันเป็นความเสื่อมเสีย ก็เพราะเขาทำมาเอง มองให้ดี มองให้ชัดเถิดวินัยเอ๋ย ทำอย่างใดก็ย่อมได้อย่างนั้น อย่ามัวแต่ซัดทอดคนอื่นเลย


ที่มา : กรรมของสัตว์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๗๙ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑



ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ในพระพุทธศาสนา

จุดเด่นของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งคือคำสอนที่ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นดับไป ตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย

คำสอนที่ว่านี้เรียกหลายอย่าง บางทีก็เรียกว่า ไตรลักษณ์ (ลักษณะ ๓ ประการ หรือลักษณะที่ปรากฏในสรรพสิ่งเหมือนๆ กัน) มี ๓ ประการ คือ

๑. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ถาวร แปรเปลี่ยนไปตามกาล และดับไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล มีแต่ในคำพูดเล่นสำนวนเท่านั้น

๒. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนคงอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้แม้วินาทีเดียว ที่เราเห็นว่ามันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนั้น เพราะ “ความถี่” แห่งการเปลี่ยนแปลงมันสูง มันเร็วมาก จนมองไม่เห็นว่ามันเปลี่ยน ดุจมองเปลวไฟที่เกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา เป็นเปลวเดียวไม่เกิด ไม่ดับเลยฉะนั้น

๓. สรรพสิ่งเป็นเพียง “ก้อนธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆ เท่านั้น ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านั้นยังคงทำงานร่วมกันอยู่

สิ่งนั้นก็ดำรงอยู่ได้ แท้ที่จริงหามี “ตัวตน” ที่แท้ไม่

ยกตัวอย่างคนเรานี่แหละ ไม่ต้องยกอื่นไกล ที่เรียกว่า “คน” ที่เรียกว่านายดำ นายแดงนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบขององค์ประกอบขององค์ประกอบ ๕ ส่วน อันเรียกว่า “ขันธ์ ๕” คือ

ส่วนที่เป็นรูปธรรม คือร่างกาย อันประกอบขึ้นจากดิน น้ำ ลม ไฟ

ส่วนที่เป็นนามธรรม คือการรับรู้ ความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกต่างๆ และความคิดปรุงแต่งต่างๆ

พูดสั้นๆ ว่ารูปกับนาม หรือรูปธรรมกับนามธรรม

ส่วนประกอบเหล่านี้มันเองก็ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถึงเวลาอันสมควรมันก็ดับสลายไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครบังคับมันได้ เช่น ถึงคราวมันเสื่อมไปตามกาล ฟันที่แข็งแรงดี มันก็โยกคลอน ผมที่ดำสลวยมันก็หงอก ผิวหนังที่เต่งตึงมันก็เหี่ยวย่น หย่อนยาน ใครห้ามมันได้ล่ะ

ขนาดวิ่งไปหาหมอศัลยกรรม ดึงนั่น ปะนี่ ก็เพียงชะลอไว้ชั่วครู่ชั่วกาลเท่านั้น บางคนทำแล้วแทนที่จะสวยจะดีกว่าเดิม กลับน่าเกลียดไปกว่าเดิมก็มี (ฉีดซิลิโคนให้หน้าอกเต่งตึง ไม่ทันไร มันละลายห้อยโตงเตงเป็นฟักแฟงเสียอีกแน่ะ น่ากลุ้มแทนชะมัด)

เมื่อส่วนประกอบแต่ละอย่างมันไม่เที่ยงแท้ถาวร เป็นไปตามกฎธรรมดา จะหา “ตัวตน” ที่แท้จริงได้แต่ที่ไหน นายนั่น นางนี่ ก็เพียงคำสมมุติเรียกกันเท่านั้นเอง เอาเข้าจริงนายนั่น นางนี่ก็ไม่มี

บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกหลักคำสอนที่ว่านี้ว่า “ปัจจยาการ” (อาการที่เป็นปัจจัย อาการที่มันอาศัยกันเป็นไป)

ท่านสอนหลักกว้างๆ ว่า  “เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นก็มี เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นก็เกิด  เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านั้นก็ดับ”

นี้เป็น “สูตร” กว้างๆ คำอธิบายก็คือ ทุกอย่างเป็น “ปัจจัย” (อิงอาศัยกัน) ไม่มีอะไรอยู่ได้ลอยๆ ต่างหาก โดยไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น

และเพราะมันอิงอาศัยกันอย่างนี้ จึงไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร หรืออยู่ได้โดดๆ

สมัยเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นก็ไม่รู้ดอกว่านิทานมันสอนอะไร มารู้เอาเมื่อโตแล้ว

นิทานมีอยู่ว่า อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายต่างก็ทำหน้าที่ของตัวไม่ก้าวก่ายกัน เมื่อมันทำหน้าที่ของตัวโดยสมบูรณ์ ร่างกายก็เป็นไปได้ตามปกติ ไม่ติดขัดหรือขัดข้องอะไร อยู่มาวันหนึ่ง อวัยวะต่างๆ เหล่านี้เกิดถกเถียงกันขึ้น

มือ คุยโม้กับเพื่อนว่า ในบรรดาอวัยวะเหล่านี้ ข้า (มือ) สำคัญที่สุด ที่คนไม่ตายก็เพราะกินอาหาร ถ้าข้าไม่หยิบอาหารเข้าปาก คนก็ตายแหงแก๋แล้ว

เท้า เถียงว่า ไม่จริงดอก ข้าต่างหากสำคัญกว่า ถ้าข้าไม่เดินไปหาอาหาร เอ็งก็ไม่มีปัญญาหยิบอาหารใส่ปาก

ตา บอกว่า ข้าต่างหากมีความสำคัญ ถ้าตามองไม่เห็น ถึงจะมีตีน มีมือ มันก็หยิบไม่ถูกหรอกเว้ย

ปาก เถียงว่า พวกท่านล้วนหาความสำคัญไม่ ข้า (ปาก) ต่างหาก ถ้าข้าไม่อ้าปากรับอาหาร จ้างก็ไม่มีทางอิ่ม อดตายแหงๆ

ฟัน ก็บอกว่า ถึงเอ็งจะอ้ารับอาหาร ถ้าข้าไม่เคี้ยว ก็ไม่มีทางกินอาหารได้ ตายอยู่ดีแหละ

กระเพาะ เถียงว่า ถึงเอ็งเคี้ยวกลืนอาหารเข้าไป ถ้าข้าไม่ทำหน้าที่ย่อย ก็ท้องอืดตายแน่นอน เพราะฉะนั้น ข้า (กระเพาะ) สำคัญกว่าใครเว้ย

ตูด เถียงว่า อะไรๆ ก็สู้ข้าไม่ได้ดอก ถึงกระเพาะจะย่อยอาหาร เหลือแต่กาก แต่ขี้ ถ้าข้าไม่ระบายออกรูก้นแล้ว รับรองเน่าตาย เหม็นยิ่งกว่าหมาเน่าลอยน้ำอีก อย่ามัวแต่เถียงกันเลย เชื่อเถอะ ข้า (ตูด) สำคัญที่สุด

เมื่ออวัยวะทั้งหมดถกเถียงกันอย่างนี้ ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดก็ประท้วง ไม่ทำหน้าที่ของตัว วันเวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ “คน” (อันเป็นองค์รวมของอวัยวะทั้งหมด) ก็ล้มป่วยลง และสิ้นชีวิตเพราะขาดอาหารในที่สุด

“สาระ” ที่นิทานเรื่องนี้สื่อให้รู้ก็คือ อวัยวะทุกส่วนต่างต้องอาศัยกัน อยู่โดยลำพังไม่ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน “คน” ก็อยู่ได้ ไม่ตาย แต่ถ้าแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน “คน” (ที่เป็นองค์รวม) ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

นี้แหละครับคือหลัก “ปัจจยาการ” (อาการที่ทุกสิ่งอาศัยกันเป็นไป) หลักคำสอนนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

สังคมจะอยู่อย่างสันติสุข มีความเจริญก้าวหน้า ก็เพราะแต่ละคนมีส่วนสำคัญ และสำคัญทัดเทียมกัน ในการสร้างสรรค์จรรโลง คนละไม้คนละมือ

ไม่มีใครสำคัญที่สุดเพียงคนเดียว ไม่มีใครไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

ทุกคนมีความสำคัญและมีส่วนร่วมเสมอๆ กัน

พูดภาษาพระก็ว่า ทุกคนต่างเป็น “ปัจจัย หรือทุกคนต่างอิงอาศัยกัน ในอันที่จะสร้างสรรค์ จรรโลงสังคมให้เจริญก้าวหน้า และประสบสันติสุข”

คำสอนเรื่องปัจจยาการ ทำให้เรามองกว้าง มองลึก เข้าใจความจริงครบถ้วนสมบูรณ์

ในบางโอกาส พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “หลักแห่งเหตุผล” โดยแสดงครบชุดในหลักอริยสัจ ๔ คือ

ทุกข์และนิโรธ เป็นผล  สมุทัยและมรรค เป็นเหตุ

ทรงชี้ว่า ความทุกข์ (ปัญหาของชีวิตทุกรูปแบบ) ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุเป็นแดนเกิด และเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นก็คือตัณหา (ความทะยานอยาก) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น, ไม่ว่าจะอยากให้สิ่งที่น่าปรารถนาที่ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว คงอยู่ตลอดไป, หรือไม่ว่าอยากสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป สรุปว่าความอยากของคนนี้แหละเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์

ทรงชี้ต่อไปว่า การหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น มีได้ และมิใช่ว่าอยู่ๆ ทุกข์จะหมดไป ต้องมีสาเหตุที่ทำให้หมด สาเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นก็คือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ (คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ)

หลักเหตุผลนี้ พระอัสสชิเถระได้สรุปลงด้วยโศลกสั้นๆ ว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห)  เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ
สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้


พระอัสสชิเป็นน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ถูกส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาร่วมกับพระอรหันต์ ๖๐ รูป หลังจากได้ไปทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ และประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน จึงเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

เช้าวันหนึ่งพระอัสสชิออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เด็กหนุ่มชื่ออุปติสสะ ศิษย์ของเจ้าลัทธิชื่อสัญชัย เวลัฏฐบุตร พบเข้า รู้สึกประทับใจในบุคลิกอันงามสง่าและสำรวมของท่าน จึงเข้าไปสนทนาด้วย

อุปติสสะขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิออกตัวว่า ตัวท่านเพิ่งจะบวชไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดาร จึงกล่าวโศลกสั้นๆ ดังข้างต้น

ไม่ว่าจะเป็นหลักปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท) ไม่ว่าจะเป็นหลักไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยสัจ ๔ ล้วนเน้นประเด็นตรงกัน

๑. สรรพสิ่งมิได้เกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิด

๒. ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้มาจาก “เหตุ” เพียงเหตุเดียว หากมาจาก “ปัจจัย” หลายๆ อย่างรวมกันเข้า

๓. เมื่อรู้ว่าสรรพสิ่งจะเกิดหรือดับ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เมื่อต้องการความเจริญก้าวหน้าในทางใด จึงควรสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ก่อเกิดผลในทางนั้น

๔. ไม่ควรนั่งรอ นอนรอโชคชะตา หรือการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้ลงมือสร้างสรรค์ด้วยความพากเพียรพยายามของตน

ชาวพุทธที่เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อในกฎแห่งการกระทำ (กรรม) มากกว่าจะนอนรอโชคชะตาหรือความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะเชื่อว่าคนเราจะเจริญหรือเสื่อม ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาเอง ดังนิทานชาดกเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

พระราชาของสองแว่นแคว้นทำสงครามแย่งชิงอาณาจักรกัน การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลานาน ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ จนต้องพักรบ แล้วก็เริ่มรบกันใหม่ เป็นระยะๆ ฤๅษีตนหนึ่งได้ฌานเหาะเหินเดินอากาศได้ วันหนึ่งเหาะไปพบท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงถามพระอินทร์ว่า พระราชาทั้งสององค์ที่กำลังสู้รบกันอยู่นั้น ใครจะชนะ

พระอินทร์บอกว่า พระราชา ก. จะชนะ

ฤๅษีจึงนำความมาเล่าให้ศิษย์คนหนึ่งฟัง ต่อมาคำทำนายนั้นได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสอง

พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ประมาท นึกว่าตนจะชนะอยู่แล้ว จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงกองทัพให้เตรียมพร้อม

ส่วนพระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนกองทัพของตนให้เชี่ยวชาญในกระบวนการสู้รบ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท กองทัพของตนจึงพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทุกเมื่อ

เมื่อถึงวันสู้รบกันอีกครั้ง พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ประสบความพ่ายแพ้ยับเยิน

ฤๅษีเองก็เสียหน้า ที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคำทำนาย จึงไปต่อว่าพระอินทร์ที่บอกตนเช่นนั้น

พระอินทร์บอกฤๅษีว่า คำทำนายไม่ผิดดอก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ พระราชาองค์ที่ตนทายว่าจะชนะต้องชนะแน่นอน แต่บังเอิญพระราชาอีกองค์ไม่ได้ประมาท เพียรพยายามฝึกฝนตนเองและกองทัพ เตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อรบเข้าจริงๆ จึงกลับตาลปัตรเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ พระอินทร์ได้กล่าวสรุปว่า

“คนที่พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด แม้เทวดาก็กีดกันเขาไม่ได้”

ครับ หลักกรรม (หลักการกระทำ) สามารถบันดาลให้คนเป็นอย่างใดก็ได้ จึงไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการนอนคอยโชคชะตา  


ที่มา : ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๐ ประจำวันที่ ๒๗ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กันยายน 2561 17:23:03 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 10 กันยายน 2561 17:28:22 »



หลักอริยสัจ ๔ กับกรรม

พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กรรมวาท” (กล่าวหรือสอนเรื่องกรรม) ทรงเรียกพระองค์เองในบางครั้งว่า “กรรมวาที” (ผู้สั่งสอนเรื่องกรรม)

นั่นก็หมายความว่า คำสอนของพระพุทธองค์ไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไร ทรงเน้นไปที่ “กรรม” ทั้งนั้น

กรรมคือ การกระทำด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ ดังที่เคยบอกให้ทราบแล้วนั่นแหละครับ

พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า เราอยากจะได้อะไร อยากจะเป็นอะไร ต้องทำเอาเอง วิถีชีวิตของเราจะไปดี หรือไม่ดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับ “กรรม” (การกระทำ) ของเราเอง ถ้าเราทำเหตุปัจจัยไว้ไม่ดี ผลก็ออกมาไม่ดี ถ้าเราทำเหตุปัจจัยไว้ดี ผลก็ออกมาดี ดังพุทธวจนะว่า

หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น

ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

ในพระสูตรหลายแห่ง ได้พูดถึงคนจำนวนมากชอบแต่จะอ้อนวอน บวงสรวงโดยไม่คิดที่จะกระทำ อย่างเช่นพวกคนอินเดียสมัยโบราณที่เชื่อว่าพระเจ้าของพวกเขาจะช่วยดลบันดาลให้ดังปรารถนา จึงพากันสวดอ้อนวอนบ้าง ทำพิธีเซ่นสรวงอย่างใหญ่โตบ้าง

พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า การกระทำเช่นนั้น ไม่ช่วยให้คนพวกนั้นได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ เพราะพวกเขามิได้ “ทำ” เหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลที่ต้องการ

พระองค์ทรงยกอุปมาอุปไมยมาเปรียบเทียบให้ฟังว่า  กระทาชายคนหนึ่งปรารถนาจะข้ามฟาก แทนที่จะเสาะแสวงหาเรือหรือแพที่จะพาเขาข้ามฝั่งได้ก็ไม่ทำ กลับนอนคลุมโปงอยู่บนฝั่งนี้เสีย กระทาชายนายนี้ก็ไม่มีวันจะข้ามฝั่งได้  กระทาชายอีกนายหนึ่ง ปรารถนาจะข้ามฝั่งเช่นกัน ลงนั่งประนมมือ สวดอ้อนวอนขอร้องให้ฝั่งโน้นมาหาเขา มารับเขาข้ามน้ำ ต่อให้สวดจนคอแหบคอแห้ง กระทาชายนายนี้ก็ไม่สามารถข้ามฝั่งได้เช่นเดียวกัน

ทุกอย่างเราต้อง “ทำ” เอาเอง ด้วยความพากเพียรของเรา ต้องสร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางที่ต้องการ มิใช่หวังแต่จะได้ผลโดยไม่สร้างเหตุปัจจัยที่สอดคล้อง หวังอย่างนี้แหละครับที่โบราณไทยเราเรียกว่า “หวังลมๆ แล้งๆ”

เราหวังจะกินมะม่วงอกร่องที่เอร็ดอร่อย วิธีจะให้สมหวังอย่างง่ายๆ ก็ไปหาซื้อมันมาจากตลาด เลือกเอาที่ดีที่สุด หวานที่สุดตามต้องการ อย่างนี้รับรองได้กินแน่นอน

อีกวิธีหนึ่ง (ยากหน่อย ใช้เวลานานหน่อย) คือไปหาเมล็ดมะม่วงพันธุ์อกร่องมาเพาะปลูกไว้ที่หน้าบ้านหรือหลังบ้าน หมั่นดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอย่างดี เมื่อต้นมะม่วงมันโตแล้ว ไม่กี่ปีก็จะผลิดอกออกผลให้เราเก็บกินได้ตามต้องการ

อย่างนี้แหละครับ ที่พระพุทธศาสนาท่านว่า สร้าง “เหตุปัจจัย” ที่สอดคล้องกับผลที่เราต้องการ เราจึงได้รับผลตามปรารถนา

แต่ถ้าเราไม่ “ทำ” อย่างนั้นล่ะ สมมุติว่าเราอยากกินมะม่วง แต่เราสวดมนต์อ้อนวอนทุกวันๆ “เจ้าประคู้ณ ขอมะม่วงอกร่องรสหวานอร่อยมาให้เรากินเถิด”

มะม่วงมันไม่มีขา มันจะมาให้เรากินได้อย่างไร!

คนทำอย่างนี้ ใครรู้เข้า เขาก็จะหาว่าไม่บ้าก็เมาเท่านั้นเอง

หลักกรรมของพระพุทธเจ้า ความจริงเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เพียงแต่เราทำในใจอยู่เสมอว่า กรรมคือการลงมือทำด้วยตัวเอง กรรมมิใช่ “กฎ” ลึกลับมหัศจรรย์พันลึกอะไร อย่างที่เข้าใจผิดกันเป็นส่วนมาก

ไม่ว่าพระพุทธองค์จะทรงสอนเรื่องอะไร ก็จะทรงเน้น “กรรม” ไว้ด้วยเสมอ ไม่พูดตรงๆ ก็ “แฝงไว้” ให้รู้กันเอง ยกตัวอย่างหลักคำสอนที่เราเรียกกันว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา”

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

การยังกุศล (ความดี) ให้ถึงพร้อม

การทำจิตของตนให้ผ่องใส

นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


เน้นตรงไหนครับ เน้นที่ “การกระทำ” ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำกุศลให้พร้อม และทำจิตให้ผ่องใส หลักกรรมก็ “แฝง” อยู่ในพระโอวาทนี้ ถ้าเราไม่พินิจพิจารณาก็อาจไม่ทราบได้

ทีนี้ลองมาดูหลักอริยสัจ ๔ ว่าเกี่ยวกับกรรมอย่างไร

ตามที่เราทราบดีแล้ว อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาสอนชาวโลกคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ ก็คือปัญหาของชีวิต ทรงสอนว่าโลกนี้มีปัญหาสารพัด นับตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ไปจนกระทั่งปัญหาใหญ่ที่สุด เรียกว่าปัญหาตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ว่าอย่างนั้นเถอะ

สมุทัย ก็คือสาเหตุของปัญหา ปัญหามิได้มีขึ้นมาลอยๆ มันต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด

นิโรธ คือการหมดปัญหา ภาวะไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิง ปัญหามีได้ก็ย่อมหมดไปได้

มรรค คือวิธีการแก้ปัญหา การจะให้ปัญหาหมดไปก็ต้องมีวิธีการแก้ไข ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มันจะหมดไปเอง

หลักอริยสัจ ๔ นี้เน้นอะไรครับ เน้นว่า “เราต้องใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา” หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า อริยสัจ ๔ คือหลักว่าด้วยการรู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญา

คุณธรรมที่เด่นในหลักธรรมนี้ก็คือ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ

ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจ แก้ปัญหาได้ไหม?

ไม่ได้ดอกครับ ขืนแก้ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ มีแต่ทางผูกปมปัญหาให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ไม่ต่างอะไรกับลิงติดตัง เห็นเขาเอาตัง (ยางเหนียวสำหรับดักสัตว์) มาวางไว้ เอามือซ้ายจับ มือซ้ายติด มือขวาจับ มือขวาก็ติด เอาเท้าซ้ายถีบ เท้าซ้ายก็ติด เอาเท้าขวาถีบ เท้าขวาก็ติด เอาปากกัด ปากก็ติด ผลที่สุดก็ “ติดตัง” ดิ้นอย่างน่าสงสาร ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

ในนิทานชาดกเรื่องมโหสถชาดก ได้เล่าถึงเด็กน้อยโพธิสัตว์ชื่อมโหสถ เป็นคนฉลาดมาก จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบกิตติศัพท์ ให้ปุโรหิตมาดูพฤติการณ์ของเด็กน้อย พอพิสูจน์ได้ว่าเด็กน้อยฉลาดเหนือคนธรรมดาจริงๆ จึงเชิญไปอยู่ในวัง เมื่อโตมามโหสถก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น

เด็กน้อยมโหสถได้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาของชาวบ้านหลายครั้งเป็นที่อัศจรรย์ ครั้งหนึ่งมีเหยี่ยวมาโฉบเอาเนื้อที่ชาวบ้านเขาตากแดดไว้ พวกเด็กๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างก็ร้องบอกต่อๆ กัน พากันวิ่งไล่เหยี่ยว สะดุดตอไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง หกล้มได้รับบาดเจ็บคนละเล็กละน้อย แถมยังไม่ได้เนื้อคืนอีกต่างหาก

เด็กน้อยมโหสถไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าวิธีการไล่เหยี่ยวของชาวบ้านไม่ถูกต้อง วันหนึ่งเหยี่ยวตัวเดิมมาเอาเนื้อชาวบ้านไปอีก มโหสถจึงวิ่งไล่เช่นเดียวกับชาวบ้าน แต่มโหสถมิได้วิ่งไปแหงนหน้าดูเหยี่ยวไปเหมือนคนอื่น

เธอก้มมองดูเงาเหยี่ยวที่พื้นดิน วิ่งไล่ตามเงาเหยี่ยวไปจนทัน พอทันเงาแล้วก็เงยหน้าขึ้น ปรบมือ ตะโกนร้องเสียงดัง จนกระทั่งเหยี่ยวมันตกใจ ปล่อยก้อนเนื้อที่คาบอยู่ลงมา

เป็นอันว่าเจ้าของเนื้อได้เนื้อคืน

เพราะเด็กน้อยมโหสถได้ใช้ปัญญาแก้ปัญหา

อีกคราวหนึ่ง มีผู้หญิงสองคนแย่งลูกกัน นัยว่าคนหนึ่งเป็นนางยักษิณีแปลงกายมา ชาวบ้านมามุงดูกลุ่มใหญ่ หญิงสาวสองคนต่างก็เถียงว่าตนเป็นแม่ เด็กน้อยเป็นลูกชายของตน ไม่มีผู้ใดตัดสินได้ เพราะไม่รู้ว่าใครแม่แท้ ใครแม่เทียม

มโหสถมาพบเข้าพอดี อาสาตัดสินความให้ วิธีของมโหสถก็คือ ให้หญิงสาวทั้งสองจับเด็กคนละข้าง คนหนึ่งจับเท้า คนหนึ่งจับหัว แล้วดึง ใครดึงได้ คนนั้นแหละเป็นแม่

หญิงทั้งสองต่างก็ดึงเด็ก เด็กเจ็บก็ร้องไห้ลั่น ผู้เป็นแม่สงสารลูก จึงปล่อยมือยืนร้องไห้สะอึกสะอื้น อีกคนได้เด็กแล้วก็ยิ้มอย่างดีใจ พร้อมร้องว่า “เห็นไหม ฉันบอกว่าฉันเป็นแม่ก็ไม่เชื่อ”

มโหสถกล่าวว่า ท่านมิใช่แม่ของเด็ก คนที่ยืนร้องไห้นั่นต่างหากเป็นแม่ เพราะแม่ที่แท้จริงย่อมสงสารลูก เห็นลูกเจ็บปวดทนไม่ได้ จึงวางมือ

นางยักษิณีหลงกลมโหสถ ก็สำแดงตัวแล้วก็หนีไป

หญิงสาวก็ได้ลูกของตนคืน เพราะมโหสถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาให้

สรุปตรงนี้ก็คือ หลักอริยสัจ ๔ ก็คือหลักแห่งการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต

เขียนมาจนจะจบแล้ว ท่านอาจถามขึ้นว่า แล้วมันเกี่ยวกับหลักกรรมอย่างไร

ก็ขอตอบว่า หลักกรรมก็ “แฝง” อยู่ในนี้แหละครับ พิจารณาให้ดีก็จะเห็นการแก้ปัญหานั้น ถ้ามีแต่ปัญญาความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวแก้สำเร็จไหมครับ ขอถามหน่อยเถอะ สมมุติว่าคุณติดบุหรี่อย่างงอมแงม ตอนหลังคุณคิดได้ว่าบุหรี่นี้มีโทษมากมาย ทำให้เป็นมะเร็งในปอด ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่ง…อะไรสารพัด

คุณรู้ว่ามันมีโทษมากมาย แต่ไม่ “ลงมืออด” บุหรี่ด้วยตัวคุณเอง คุณจะอดบุหรี่ได้ไหมครับ

ผมตอบแทนก็ได้ อดไม่ได้แน่นอน ทั้งๆ ที่คุณรู้นั่นแหละ แต่รับรองอดไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้ลงมืออดจริงๆ

นี่แหละครับ ปัญญาอย่างเดียวแก้ไม่ได้ ต้องลงมือทำจริงๆ

การกระทำนั่นไง คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมล่ะ

กรรม (การกระทำ) จึงเกี่ยวข้องกับหลักอริยสัจ ๔ด้วยประการฉะนี้แล “โยมหยิน” (รวมถึง “โยมหยาง” ด้วย)


ที่มา : หลักอริยสัจ ๔ กับกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๑ ประจำวันที่ ๓ – ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑





เราใหญ่กว่ากรรม

พระท่านพูดเป็นหลักว่า กรรมที่ทำลงไปเปรียบเสมือนสุนัขไล่เนื้อ ไล่ทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า คนเราเกิดมาต่างก็ “วิ่งหนี” กรรมกันทุกคน พ้นบ้าง ไม่พ้นบ้าง

โอกาสไม่พ้นมีมากกว่า แต่โอกาสพ้นก็มีไม่น้อย

จะพ้นได้อย่างไร นี่สิครับเป็นข้อที่ควรคิด

แสดงว่า ในช่วงที่ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป จนถึงกรรมให้ผลนั้นมันมี “ช่องว่าง” ให้เราสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เงื่อนไขใหม่ๆ นี้แหละจะมีส่วนช่วยผ่อนคลาย หรือขวางมิให้กรรมที่ทำนั้นให้ผลเต็มที่ หรือไม่ให้ผลเลย

ท่านพูดเป็นหลักไว้ดังนี้

๑.กรรมบางอย่าง ทำลงไปแล้วให้ผลทันตาเห็น คือชั่วชีวิตนี้ได้รับผลตอบสนองเห็นกันจะจะเลยทีเดียว
๒. กรรมบางอย่าง ทำลงไปแล้ว ไม่ให้ผลในชาตินี้ ไปให้ผลในชาติหน้า
๓. กรรมบางอย่าง ทำลงไปแล้ว ไม่ให้ผลในชาติหน้า ไปให้ผลในชาติต่อๆ ไป

๔. กรรมบางอย่าง ทำลงไปแล้ว ไม่มีโอกาสให้ผล กลายเป็น “อโหสิกรรม” ไปเลยก็มี เหมือนเนื้อที่วิ่งหนีสุนัขสุดฤทธิ์ โชคดีหนีรอดชีวิตไปได้

การพูดว่า กรรมที่ทำลงไปมีโอกาสกลายเป็นอโหสิกรรมได้นี้เอง แสดงให้เห็นว่า คนเรามีโอกาสที่จะจัดการกับชีวิตเราได้ ต้องการให้มันเป็นไปอย่างใด เราสามารถทำให้มันเป็นไปตามนั้นได้

หลายคนมักจะเสียอกเสียใจหรือวิตกกังวลแต่กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว เช่น เคยผิดพลาดทำความไม่ดีอะไรบางอย่างมา แล้วก็มานั่งวิตกกังวลหรือเสียใจกับการกระทำของตนจนไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

แทนที่จะคิดว่า สิ่งที่ทำไปแล้วทำคืนไม่ได้ คือจะแก้ให้ไม่เป็นอันทำนั้นไม่ได้ แต่เราสามารถตั้งใจไม่ทำอย่างนั้นอีกได้ และสามารถทำความดีอื่นแทนได้

ผมเคยได้รับเชิญเมื่อนานมาแล้วไปเป็นวิทยากรในรายการ “กฎแห่งกรรม” ที่บริษัทภาษรโปรดักชั่น จำกัด เขาจัดทางทีวีสีช่อง ๕ ทุกเช้าวันเสาร์ รูปแบบของรายการ มีละครเรื่อง “กฎแห่งกรรม” จากบทประพันธ์ของ ท. เลียงพิบูลย์ จบแล้ววิทยากรตอบปัญหาจากผู้ชมสดๆ เลย

ผู้ชมท่านหนึ่งเล่าว่า เคยได้เสียกับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่กลับได้มาแต่งงานกับน้องสาวของผู้หญิงคนนั้น และตอนนี้ (คือขณะที่เล่าเรื่องราวนี้) มีบุตรสาวมาคนหนึ่ง บุตรสาวก็โตขึ้นทุกวันๆ ผู้เป็นพ่อ (คือท่านผู้ชมคนดังกล่าว) วิตกกังวลไม่มีความสุขเลย กลัวว่าบาปที่ตนทำไว้จะตกแก่ลูก ครั้นถามว่า จะตกแก่ลูกในลักษณะใด

ท่านผู้นั้นบอกว่า กลัวลูกสาวจะถูกชายอื่นหลอกได้เสียฟรีโดยไม่ได้แต่งงาน

ปัญหานี้ไม่น่าเป็นปัญหา มีคนไม่น้อยที่รักกันแล้วไม่ได้แต่งงานกัน กลับไปแต่งงานกับคนอื่น ไม่น่าจะถือเป็นบาปเป็นกรรมอะไร

นอกเสียแต่ว่า ขณะที่เป็นแฟนกับคนที่หมั้นหมายกันแล้วว่าจะแต่งงานกัน แล้วลอบได้เสียกับน้องสาวคนรัก ถ้าอย่างนี้พูดได้ว่า ทำผิดศีลข้อสาม ถึงกระนั้น ถ้าจะได้รับผลของการกระทำนี้ ก็ไม่จำเป็นที่ผลกรรมจะต้องไปตกที่ลูกสาว อาจจะได้รับผลในรูปแบบอื่นก็ได้

จึงไม่ควรด่วนวิตกทุกข์ร้อนถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง การที่ทุกข์ร้อนกินไม่ได้นอนไม่หลับนั้น อาจเป็นผลของกรรมดังกล่าวนั้นก็ได้ ลองนึกดูว่าตัวเองไม่เป็นสุขเพราะเรื่องนี้มากี่ปีกี่เดือนแล้ว ถ้าเป็นมาตลอดหลังจากได้ทำสิ่งนี้ขึ้น ก็เท่ากับว่าได้รับผลกรรมนั้นแล้ว

จึงไม่ควรคิดกลุ้มอีกต่อไป ฝึกทำใจเสียใหม่ ตั้งใจแน่วแน่ว่าตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะทำบุญทำทานให้มาก ทำบุญทุกชนิดเท่าที่โอกาสจะอำนวย

สิ่งที่ทำใหม่นี้ จะเป็นเงื่อนไขใหม่ ช่วย “ล้าง” กรรมชั่วที่ทำมาแล้วให้ละลายหายไป หรือผ่อนคลายลง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีอยู่ ๔ เรื่องที่ปุถุชนคนมีกิเลสไม่ควรนำมาคิดให้ปวดสมอง เพราะคิดยังไงก็ไม่เข้าใจ ขืนคิดมากจะเป็นบ้าเปล่าๆ ๔ เรื่องนั้นคือ

๑. เรื่องของโลก เช่น โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแตกดับเมื่อใด (ถึงจะมีคนพูดว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้สร้าง ไปๆ ก็กลายเป็นว่า “คิดเอาเอง” ทั้งนั้น)
๒. เรื่องของฌานสมาบัติ คนที่ได้ฌานสมาบัติมีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ บางคนได้ฌานขั้นสูง เขาจับฝังดินเป็นเวลา ๗-๘ วัน งัดขึ้นมายังไม่ตาย มันเป็นไปได้อย่างไร สุดที่คนธรรมดาสามัญจะหยั่งรู้ได้
๓. เรื่องการให้ผลของกรรม กรรมมันมีกฎเกณฑ์อะไรของมัน มันให้ผล ไม่ให้ผล ให้ผลเร็ว ให้ผลช้า เพราะอะไร ไม่มีใครคาดเดาได้
๔. เรื่องของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไร ทรงเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป แต่มีอะไรพิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไป เพราะอะไร เรื่องอย่างนี้ปุถุชนคนธรรมดาไม่สามารถคิดรู้ได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่วิสัยของปุถุชนจะคิดจะรู้ได้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะทรงรู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการให้ผลของกรรม กรรมใดจะให้ผลเมื่อใดอย่างไร พระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงรู้ เพราะทรงรู้ พระองค์จึงทรงช่วยเหลือมิให้คนบางคนถลำทำกรรมหนัก หรือบางครั้ง คนคนหนึ่งจะต้องถึงแก่ความตายก็เสด็จไปช่วยเหลือให้รอดพ้นจากความตาย

พูดอีกนัยหนึ่ง เสด็จไปประทานโอกาสสุดท้ายให้เขาได้สร้างเงื่อนไขที่ดี เพื่อผ่อนคลายกรรมเก่า หรือตัดกรรมเก่าด้วยตัวเขาเอง

จะขอยกตัวอย่างสักสองเรื่อง ดังนี้
๑) เรื่องที่หนึ่ง คงรู้กันทั่วไปคือ เรื่ององคุลิมาลโจร เดิมทีมหาโจรคนนี้ก็เป็นคนดี แต่เพราะได้อาจารย์ไม่ดี ยุยงให้ไปฆ่าคน หลอกว่าจะถ่ายทอดวิชาพิเศษ ซึ่งตนไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร ด้วยความอยากได้วิทยาการพิเศษนั้น หนุ่มน้อยคนนี้จึงไปฆ่าคนจนกระทั่งกลายเป็นมหาโจรลือชื่อ ลือชื่อขนาดพระเจ้าแผ่นดินส่งกองทัพย่อยๆ ออกไปปราบ มารดารู้ว่าลูกชายจะถูกฆ่า จึงรีบเดินทางล่วงหน้าไปหาลูกชายเพื่อบอกให้รู้ตัว แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้ว่า ถึงตอนนี้แล้วองคุลิมาลฟั่นเฟือนแล้ว พบหน้าใครก็จะฆ่าถ่ายเดียว ถ้าปล่อยให้สองแม่ลูกพบกัน องคุลิมาลจะต้องถลำทำบาปหนักขั้น “อนันตริยกรรม” คือฆ่าแม่บังเกิดเกล้าของตน จึงเสด็จไปดักหน้าก่อน

องคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้าก็วิ่งไล่ เพื่อฆ่าเอานิ้วมือ แต่พระพุทธองค์ทรงกลับใจเธอให้สำนึกผิดชอบชั่วดี จนทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ กลายเป็นพระอรหันต์ดังที่ทราบกันดีแล้ว

ถ้าไม่ได้พบพระพุทธเจ้า องคุลิมาลก็จะฆ่ามารดาทำกรรมหนัก ตัดมรรคผลนิพพาน แต่เพราะได้พบพระพุทธเจ้า องคุลิมาลจึงมี “โอกาส” สร้างเงื่อนไขใหม่ที่ดี และมีพลังจนกระทั่งผลักดันให้กรรมเก่า (ฆ่าคนมาเป็นร้อย) กลายเป็นอโหสิกรรมไปเลย

เรื่องอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ และทรง “แก้ไข” ได้

๒) อีกเรื่องหนึ่ง ทรงรู้ว่าชาวนาคนหนึ่งจะถูกจับและถูกยัดข้อหาขโมยทรัพย์ของคนอื่น เช้าตรู่วันนั้น ขณะที่ชาวนาคนดังกล่าวไถนาอยู่ พระองค์พร้อมกับพระอานนท์พุทธอนุชาได้ไปยังที่นั้น พระองค์ตรัสถามพระอานนท์ดังๆ ว่า “อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม” พระอานนท์กราบทูลว่า “เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษตัวใหญ่เสียด้วย”

พอพระพุทธองค์และพระอานนท์ผ่านไปสักครู่ ชาวนาคนนั้นจึงถือไม้ตรงไปยังที่นั้น ด้วยหมายใจจะฆ่าอสรพิษตัวนั้นเสีย แต่กลับเห็นถุงเงินวางอยู่ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงเอาถุงเงินนั้นไปซุกไว้อีกที่หนึ่ง ชาวบ้านพากันตามรอยโจรมาพบถุงเงินเข้า จึงจับชาวนาคนนั้นไปขึ้นศาล

ขณะถูกจับไป ชาวนาคนนั้นพร่ำรำพันแต่คำพูดโต้ตอบกันของพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม” “เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษตัวใหญ่เสียด้วย” จนพระเจ้าแผ่นดินทรงเอะพระทัย ไปกราบทูลถามพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงเล่าให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง พร้อมตรัสว่า ชาวนาคนนั้นมิใช่โจร

แกจึงรอดตายอย่างหวุดหวิด

ยกทั้งสองเรื่องมาให้ฟัง เพื่อให้แง่คิดว่า กลไกของกรรมและการให้ผลของกรรม ไม่มีใครสามารถรู้ได้ นอกจากพระพุทธเจ้านี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง กรรมที่ทำลงไปแล้ว เรามีโอกาสที่จะผ่อนคลาย หรือแก้ไขให้มันให้ผลช้าลง เบาลง หรือแม้กระทั่งไม่ให้มันมีโอกาสให้ผลเลย (ในกรณีกรรมชั่ว) หรือเรามีโอกาสเสริมให้มันให้ผลดีมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ (ในกรณีกรรมดี)

เพราะเรามีเวลาสร้าง “เงื่อนไข” ใหม่ขึ้นมาในระหว่างได้ เช่น เคยทำชั่วบางอย่างไว้ เราก็งดทำเช่นนั้นอีก ทำแต่บุญกุศลเพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ ดังนี้เป็นต้น

อนาคตแห่งชีวิตจึงอยู่ในกำมือของเรา เราจะบันดาลให้มันเป็นไปอย่างไรก็ย่อมได้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเราใหญ่กว่ากรรม จะให้เรียกว่าอะไรเล่าครับ  


ที่มา : เราใหญ่กว่ากรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๒ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑




โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก

เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๒) โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก

โสเภณีมีคำเต็มว่า “นครโสเภณี” แปลว่าหญิงผู้ยังพระนครให้งาม แปลเป็นไทยแท้ๆ ว่า “หญิงงามเมือง”

สมัยก่อนโน้น โสเภณี เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติระดับที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกเอาสตรีเลอโฉมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างดี ว่าอย่างนั้นเถอะ

สวยอย่างเดียวไม่มีกึ๋น ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นโสเภณี

ต่อมาในยุคหลังๆ นี้เท่านั้น ที่โสเภณีตกต่ำลง ถึงขั้นเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั่วไป

นางโสเภณีดังๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศานาหลายคน

คนหนึ่งชื่อ อัมพปาลี อยู่ที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

การถวายสวนมะม่วงนี้ หลักฐานบางแห่งก็ว่าเพิ่งมาถวายในช่วงท้ายพุทธกาลก่อนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไม่นาน บางแห่งพูดทำนองว่าถวายไว้นานแล้ว ก็ว่ากันไป เราเกิดไม่ทันก็ฟังๆ ไว้แล้วกัน

นางอัมพปาลีนับเป็นโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

นางเป็นคนมั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพาน เสด็จถึงโกฏิคามใกล้เมืองไพศาลี นางได้เข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

ขณะนั่งรถกลับ ก็สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี บรรดาชายหนุ่มเจ้าสำราญ เห็นนางผู้ซึ่งคุ้นเคยกันเพราะเป็น “แขก” คนสำคัญของเธอทั้งนั้น เรียกให้ทันสมัยก็คือ “ขาประจำ” จึงแกล้งขับรถเข้าไปกระแทกกับรถนางเป็นที่สนุกสนาน

“นางผู้เลอโฉม ไปไหนมา”

“เพิ่งกลับจากเฝ้าพระพุทธองค์มา แล้วพวกท่านจะไปไหน” นางถาม

“พวกเราก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน”

“ไปด้วยวัตถุประสงค์ใด”

“ไปทูลอาราธนาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกเรา”

นางจึงบอกว่า ถ้าไปด้วยเหตุนั้น ก็จงกลับเถอะเพราะพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว

พวกกษัตริย์ลิจฉวี จึงอ้อนวอนนางขอแลกกับรถม้าและเครื่องประดับล้ำค่าทั้งหมด นางก็ปฏิเสธ

แม้เสนอจะให้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดนางก็ยืนกรานปฏิเสธ

นางบอกว่าที่มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้น มีค่ามากกว่าสิ่งใด

ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

นางอัมพปาลี มีบุตรชายชื่อ วิมล โกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระวิมลได้แสดงธรรมให้แก่โยมมารดาฟัง นางรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ ก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของสังขารร่างกายของตนยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระเถรีได้กล่าว “คาถา” (โศกล) อันแสดงถึงสัจจะแห่งชีวิต เป็นคติสอนใจสตรี (บุรุษด้วยแหละ) ทั้งหลายได้อย่างดีทีเดียว จึงขออนุญาตคัดข้อความบางตอนมาลงไว้ดังนี้

“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ” คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยมะลิ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณีรุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย

เมื่อก่อนจมูกของเรางดงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในกะโหลกศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงดงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้หัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ช่างเป็นจริงทุกประการ”

นางได้พรรณนาความงดงามของสรรพางค์กายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า ล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อยามชรา) อวัยวะที่ว่างดงามนั้น ทรุดโทรมเพราะชราไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความอนิจจัง

ยืนยันพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความไม่เที่ยงแท้ “ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว”

ฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนนางอัมพปาลีบ้าง


ที่มา : โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (https://www.matichonweekly.com)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กันยายน 2561 17:30:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 10 กันยายน 2561 17:32:27 »



สิ่งไหนสำคัญกว่า

ผมขอเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง

จบแล้วลองมาช่วยวิเคราะห์ก็แล้วกันนะครับ

เรื่องของนักมวยเอกคนหนึ่ง สมัยอยู่บ้านนอก ในจังหวัดห่างไกลปืนเที่ยง เด็กน้อยตัวดำปิ๊ดคนหนึ่ง รูปร่างอ้อนแอ้น อ่อนแอ โดนเพื่อนรังแกเรื่อย

ด้วยความเจ็บใจ จึงพยายามออกกำลัง “บำรุงกล้าม” ด้วยคิดว่าจะให้ร่างกายใหญ่โต แล้วจะได้ไม่มีใครรังแก  แต่ก็ไม่ได้โตดังที่คิด ยังคงถูกเพื่อนรังแกอยู่ต่อไป

เป็นที่รู้กันในวงการเพื่อนฝูงว่า “ไอ้ปื๊ด” คนนี้เป็นเด็กไม่สู้คน

แต่เมื่อถูกรังแก ถูกเอาเปรียบเรื่อย ไอ้ปื๊ดก็ฮึดสู้บ้าง

วันหนึ่งจะด้วยแรงโกรธหรืออย่างไรไม่ทราบ ไอ้ปื๊ดต่อยหน้าไอ้เหม เด็กรุ่นพี่ซึ่งรูปร่างสูงใหญ่กว่าล้มคว่ำไปโดนตอไม้ใหญ่ข้างทาง ไอ้เหมสลบเหมือด

ที่สลบนี่ก็ใช่ว่าเพราะแรงกำปั้นไอ้ปื๊ดอย่างเดียวก็หาไม่ ร่างไอ้เหมมันโตใหญ่ มันเซไปสะดุดก้อนหินแล้วมันก็ล้มต่อ ศีรษะไปโดนตอไม้เข้า มันจึงสลบ

ตั้งแต่นั้นต่อมา ใครๆ ก็กลัวไอ้ปื๊ดหมัดสั่ง ไม่กล้ามาตอแยกับมัน ไอ้ปื๊ดก็เลย “สู้คน” มาแต่บัดนั้น หัดชกมวยไทยและศิลปะการต่อสู้

ต่อมาได้รู้จักกับครูมวย ฝากตัวเป็นศิษย์ครูมวย ชกมวยตามเวทีต่างจังหวัดจนกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นดาวรุ่งที่ก้าวขึ้นทาบรัศมีนักมวยดังๆ และดับรัศมีดาวค้างฟ้าไปหลายคน

ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งเป็นนักมวยมีวินัย ขยันฝึกซ้อม เชื่อฟังครู ใครๆ ก็คาดว่ามันคงโลดแล่นอยู่บนสังเวียนผ้าใบไปอีกนาน ในที่สุดไอ้ปื๊ดหมัดสั่งก็เข้ามาในกรุงเทพฯ สังกัดค่ายมวยดังแห่งหนึ่ง หันมาชกมวยสากล ชกชนะมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เป็นแชมป์โลกคนหนึ่ง หัวหน้าค่ายมวยค่ายใหม่ที่ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งสังกัดอยู่เป็นคนเชื่อในโชคลาง ไสยศาสตร์ จะขึ้นชกแต่ละที ต้องให้ไอ้ปื๊ดทำพิธีบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อเจ้าแม่สารพัด และทุกครั้งก็ปรากฏว่าไอ้ปื๊ดหมัดสั่งชกชนะเป็นส่วนมาก นัดไหนแพ้ หัวหน้าค่ายมวยแกจะไม่โทษเจ้า แต่กลับโทษตัวเองว่าบวงสรวงไม่ถูกต้อง หรือไม่ก็คงมีอะไรผิดพลาดในการทำพิธีสักอย่าง หาไม่เจ้าก็คงจะบันดาลให้ชนะแล้ว  ไอ้ปื๊ดเอง ตอนแรกๆ ก็ไม่สนใจเท่าใดนัก เขาให้ทำก็ทำ แต่นานๆ เข้าก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า ที่ตนชกชนะเป็นส่วนมาก ก็เพราะอำนาจการดลบันดาลของเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หลังจากชกชนะทุกนัด เมื่อนักข่าวสัมภาษณ์ว่า คิดว่าอะไรทำให้คุณปื๊ดชนะอย่างขาวสะอาดเช่นนี้ (ส่วนมากคู่ต่อสู้จะถูกไอ้ปื๊ดน็อกดิ้นคาเวทีไม่ทันครบยก) ไอ้ปื๊ดจะบอกด้วยความภูมิใจว่า

“เพราะบารมีของเจ้าพ่อองค์นั้นองค์นี้ ซึ่งผมได้บนไว้”

ผู้อ่านไม่ต้องสนใจว่าไอ้ปื๊ดหมัดสั่งคือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ แต่พฤติกรรมอย่างนี้มีให้เห็นโดยทั่วไป ปัญหาที่เราจะมาหาคำตอบร่วมกันก็คือ

๑) อะไรทำให้ไอ้ปื๊ดหมัดสั่งก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยอันตรายอันดับหนึ่งของประเทศ จนเป็นที่เกรงขามของคู่ต่อสู้ทั่วไป?

๒) การชกชนะแต่ละครั้ง ไอ้ปื๊ดบอกว่า เพราะอำนาจดลบันดาลของเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แกบนบานจริงหรือไม่?

การตอบอาจจะตอบแบบ “เหตุ-ผล” หรือตอบแบบ “ปัจจัย” (เงื่อนไข) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเรื่องนี้ในแง่มุมใด

๑) ถ้ามองแบบ “เหตุ-ผล” ก็อาจมองว่า การที่ไอ้ปื๊ดกลายเป็นนักมวยดัง เป็นผลมาจากการได้ครูฝึกซ้อมที่เก่ง หรือการที่ไอ้ปื๊ดชนะคู่ต่อสู้แทบทุกครั้งที่ขึ้นชก เป็นผลของการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
– ครูฝึกเป็นเหตุ ทำให้เกิดผลคือ ไอ้ปื๊ดเก่ง
– สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเหตุ ทำให้เกิดผลคือชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้

การมองแบบนี้เรียกว่ามองแบบ “เหตุ-ผล” หรือแบบ “เหตุผลิตผล” เมื่อมีอย่างนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมมีอย่างนี้เป็นผล

๒) แต่ถ้ามองแบบ “ปัจจัย” หรือแบบ “เงื่อนไข” ก็จะมองว่า การที่จะเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น มิได้มาจาก “เหตุ” เพียงอย่างเดียว แต่มาจากหลายๆ “เงื่อนไข” มารวมกัน และเงื่อนไขแต่ละอย่างล้วนมีความสำคัญเท่าๆ กัน ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

การที่ไอ้ปื๊ดเป็นนักมวยเก่ง มิใช่เพราะครูฝึกแกเก่งอย่างเดียว หากมาจากเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหลายๆ อย่างประกอบด้วย เช่น
– ความตั้งใจจริง
– ความขยันฝึกซ้อม
– ความเป็นคนมีระเบียบวินัย เชื่อฟังครูฝึก
– การพักผ่อนนอนหลับเพียงพอ
– กำลังใจจากคนรอบข้าง
– ได้รับการบำรุงด้วยอาหารการกินที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย และ ฯลฯ

การที่ไอ้ปื๊ดชกชนะคู่ต่อสู้อย่างง่ายดาย มิใช่มาจากสาเหตุคือการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ถ้ามีจริง) เท่านั้น หากมาจากเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่างเช่นที่กล่าวแล้วข้างต้น และที่สำคัญก็คือ “กำปั้น”

ไม่มีรูของไอ้ปื๊ดเอง  เพราะกำปั้นข้างนี้แหละที่ทิ่มครึ่งปากครึ่งจมูกของคู่ต่อสู้จนมันล้มคว่ำไม่ครบยก

เพราะฉะนั้น ชัยชนะแต่ละครั้ง เงื่อนไขทุกอย่างมีส่วนด้วยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขยันฝึกซ้อม ความมีระเบียบวินัย ความเก่งกาจของครูฝึก การพักผ่อนเพียงพอ อาหารสมบูรณ์ กำลังใจจากคนรอบข้าง ความอุ่นใจที่เชื่อว่าเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง

แม้กระทั่งนักมวยฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเงื่อนไขให้เกิดชัยชนะครั้งนี้ด้วย

อ้าว! หรือไม่จริง ถ้าไม่มีคู่ต่อสู้คนนี้ ไอ้ปื๊ดมันจะต่อยกะใคร และถ้าไม่มีคู่ต่อสู้กระดูกเปราะคนนี้ ไอ้ปื๊ดมันจะชนะหรือ หรือไม่จริง

เห็นหรือยังครับ ถ้ามองแบบ “ปัจจัย” (เงื่อนไข) จะเห็นว่าเป็นการมองอย่างกว้าง และครบวงจร โอกาสจะผิดพลาดมีน้อย

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มองอย่างแบบปัจจัย คือให้มองว่าปรากฏการณ์อะไรจะเกิด มิได้เกิดขึ้นเพราะ “เหตุ” เพียงเหตุเดียว แต่เกิดเพราะ “ปัจจัย” (เงื่อนไข) หลายๆ อย่างมารวมกัน

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเห็นความสำคัญของแต่ละเงื่อนไขเท่าๆ กัน ไม่ให้ความสำคัญแก่เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งโดยเฉพาะ

คนที่ฝึกคิดฝึกมองแบบนี้ จะเป็นคนเข้าใจคนอื่น ยอมรับในความสามารถของคนอื่นทัดเทียมกับตน เคารพในความคิดเห็นของคนอื่นเท่าๆ กับความคิดเห็นของตน

ถ้าคนคนนี้เป็นนักบริหาร ก็จะเป็นนักบริหารงานที่เห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน เมื่องานประสบความสำเร็จ ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะทุกคนร่วมมือกันทำ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

หรือถ้างานล้มเหลว ก็รับผิดชอบร่วมกัน มิใช่โยนให้เป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ หนังสือสำเร็จเป็นรูปเล่มสวยงาม น่าจับ น่าซื้อไป (นอนกอด) ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า (สาธุ สมพรปาก) มาจากเงื่อนไขหลายอย่างรวมกัน เช่น
– นายทุนก็มีส่วน หาไม่หนังสือก็เกิดไม่ได้
– บ.ก. ก็สำคัญ บ.ก.บห. และกองบรรณาธิการทุกคนก็มีส่วน
– เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ ก็มีส่วน หาไม่หนังสือคงออกมาน่าเกลียดพิลึก
– ฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดจำหน่ายก็มีส่วน ไม่อย่างนั้นพิมพ์แล้วคงโยนทิ้ง ไม่มีใครรู้
– คนเรียงคอมพ์ คนตรวจปรู๊ฟ ก็มีส่วน โดยเฉพาะคนหลัง ถ้าแกไม่ชอบหน้าใครสักคน แกล้งตรวจปรู๊ฟผิด ก็เสียคนไปทั้งสำนักพิมพ์
– คอลัมนิสต์ก็มีส่วน เขาไม่เขียนให้แล้วจะเอาเรื่องที่ไหนลง และ ฯลฯ

กว่าจะสำเร็จเป็นหนังสืองามๆ สักเล่ม ต้องอาศัย “ปัจจัย” (เงื่อนไข) ต่างๆ มารวมกัน

ที่พูดมายาวยืดนั้น ต้องการจะบอกท่านผู้อ่านว่า นี่แหละครับคือหลักคำสอนเรื่อง “อิทัปปัจจยตา” (ความเป็นปัจจัยอาศัยกันและกัน) หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” (การเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลายโดยเป็นปัจจัยอาศัยกัน) ที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นเสมอ

ถ้าเราเข้าใจ “แนวคิดหลัก” (concept) แล้ว เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยประการฉะนี้แล โยมเอ๋ย


ที่มา : สิ่งไหนสำคัญกว่า โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๓ ประจำวันที่ ๑๗ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑




“วาสนา” มีจริงหรือไม่ ? แล้วคืออะไรในทาง “พุทธ” ?

ภาษาไทยของเรานั้น ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาบาลี-สันสกฤตมากกว่าภาษาอื่น

สังเกตได้จากคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวัน จะมีภาษาบาลี หรือสันสกฤตมากเป็นพิเศษ

บางคำเรานำมาใช้นานจนชินหูชินตา จนลืมว่าเป็นภาษาต่างชาติไปเลยก็มี

ชื่อและนามสกุลของคนไทย ส่วนมากมีรากมาจากภาษาสองภาษาดังกล่าวข้างต้นทั้งนั้น ขอประทานโทษ ขอยกคนดังมาเป็นตัวอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ไม่มีคำไทยสักคำเลย บรรหาร เป็นคำสันสกฤต ศิลป ก็สันสกฤต อาชา เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต ทักษิณ ชินวัตร ชิน เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต นอกนั้นเป็นคำสันสกฤต

จัตวา กลิ่นสุนทร ก็เช่นกัน มีคำว่า “กลิ่น” คำเดียวเท่านั้นที่เป็นไทยแท้ นอกนั้นเป็นสันสกฤตหมด ถ้าเป็น “จัตวา คันธสุนทร” ละก็ หาคำไทยไม่ได้เลยครับ

ถามว่าทำไมคำบาลีและสันสกฤตจึงมามีอยู่ในภาษาไทยมากมายปานนั้น

คำตอบก็คือ เพราะทั้งสองภาษานี้ติดมากับพระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่มาสู่ภูมิภาคแถบนี้

เมื่อคนไทยรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติ ภาษาทั้งสองนี้ก็เลยมาปะปนกับภาษาไทยด้วย

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะทราบว่า เดิมทีพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน (เถรวาท) ซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาศาสนาแพร่เข้ามาก่อน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ในยุคนั้นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้

ต่อมาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานตามเข้ามา มหายานถือภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศาสนา คนไทยก็เลยได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตอีก กอปรกับศาสนาพราหมณ์ฮินดูซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตก็แพร่เข้ามาสมทบอีกด้วย ภาษาสันสกฤตจึงหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น

แม้ว่าจากสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาที่ประชาชนคนไทยนับถือจะเป็นฝ่ายหินยาน (เถรวาท) และภาษาบาลีเองพระภิกษุสามเณรก็เล่าเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็ตาม ยังมีอิทธิพลต่อภาษาไทยน้อยกว่าภาษาสันสกฤตอยู่ดี

พูดง่ายๆ ก็ว่า ภาษาสันสกฤตครองความเป็นแชมป์ว่าอย่างนั้นเถอะ

การนำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาของตนของคนไทยมิได้เอามาทั้งดุ้น หากเปลี่ยนแปลงรูปและเสียง พร้อมทั้งเปลี่ยนความหมายด้วยในบางครั้ง

ยกตัวอย่างเช่นข้างต้น

วาสนา เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต อ่าน “วา-สะ-นา” ไทยเราอ่านเพื่อให้เข้ากับหูไทยๆ ว่า “วาด-สะ-หนา” ความหมายเดิมเขาหมายถึง “สิ่ง” ที่สั่งสมอยู่ในจิตสันดานยาวนานมาก นอนเนื่องอยู่ภายในจิตเราแน่นแฟ้นและลึกมาก จนแกะไม่ออก เทียบกับคำไทยว่าสันดาน นั่นแหละครับ

ในทางพระพุทธศาสนา วาสนา มิใช่เรื่องดีนัก ว่ากันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละวาสนาได้ พร้อมกับกิเลสทั้งปวง พระอรหันต์นั้นละได้เฉพาะกิเลสเท่านั้น ไม่สามารถละวาสนาได้ ว่ากันอย่างนั้น

แต่ “วาสนา” ในความหมายไทยๆ กลับเป็นเรื่องดี คือ หมายถึงบุญญาบารมี บางทีก็พูดควบคู่กันว่า “บุญวาสนา” ใครที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต คนเขากล่าวขวัญถึงว่า “เขา (หรือเธอ) มีบุญวาสนา” หรือ “เป็นวาสนาของเขา (หรือเธอ) นะ”

อะไรทำนองนี้

มีเรื่องเล่าในแวดวงผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่ ๒ เรื่อง แสดงถึงอิทธิพลของวาสนา ทั้งสองเรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าเขียนเมื่อใด เขียนที่ไหน (ผมมันคนเขียนหนังสือมากซะจนจำไม่ได้)

วันนี้ขอนำมา “ฉายซ้ำ” อีกก็คงไม่ว่ากัน ข้อมูลเก่า แต่นำเสนอใหม่ (อย่างน้อยก็ใหม่หนึ่งอย่างละน่า)

เรื่องแรกคือ เรื่องพระปิลินทวัจฉะ ท่านผู้นี้มีคำพูดติดปากว่า “วสลิ” (แปลว่า ไอ้ถ่อย) พบใครก็จะถามว่า “ไปไหนมา ไอ้ถ่อย” “สบายดีหรือ ไอ้ถ่อย” อย่างนี้เสมอ

คำพูดดูจะเป็นคำหยาบ ไม่สุภาพ แต่จิตใจท่านมิได้หยาบไปด้วย ท่านพูดด้วยจิตเมตตา เป็นคำพูด “ติดปาก” ท่าน แก้ไม่หาย ชาวบ้านที่รู้ว่าอะไรก็ไม่ถือสาท่าน ยกให้ท่าน นอกจากคนต่างถิ่นเท่านั้น ที่ได้ยินเข้าอาจฉุนว่าพระอะไร (วะ) พูดคำหยาบ แต่เมื่อทราบความจริงแล้วก็มิได้ถือสา

คงเหมือนกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ เมืองโคราชกระมังครับ ท่านก็ติดคำ “กู” “มึง” เวลาสนทนา หลวงพ่อคูณนั้นเป็นที่รู้กันว่าท่านเป็นพระมีเมตตามาก คนเขาเอาเงินเอาทองมาถวายเท่าไร ท่านก็นำไปสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาลและสาธารณสถานหมด ไม่เก็บไว้ร่ำรวยจนเป็น “พระเสี่ย” เหมือนดังเกจิดังอื่นๆ

ท่านพูดกูมึงกับใคร ก็ไม่มีใครถือว่าเป็นคำหยาบ กลับฟังแล้วน่ารักเสียอีก

ตรงกันข้าม ถ้าหลวงพ่อคูณท่านเปลี่ยนมาพูดคำไพเราะกับใครเข้า ใครคนนั้นคงตกใจ นึกว่าหลวงพ่อด่าแน่นอน ฮิฮิง

ย้อนกลับมาพูดถึงหลวงพ่อปิลินทวัจฉะต่อ วันหนึ่งท่านเห็นชายคนหนึ่งขับเกวียน บรรทุกดีปลีผ่านมา จึงร้องถามว่า “บรรทุกอะไร ไอ้ถ่อย” ชายคนนั้นพอได้ยินดังนั้นก็ฉุนกึกทันที พระอะไรวะ พูดจาไม่เข้ารูหูคน จึงตะโกนตอบด้วยเสียงขุ่นๆ ว่า “บรรทุกขี้หนูเว้ย”

เขาขับเกวียนไปเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดีปลีของตน พอไปถึงตลาดนัดกลางเมืองก็จอดเกวียน เตรียมขนดีปลีลงมาวางขาย

ปรากฏว่าดีปลีได้กลายเป็นขี้หนูหมดเลย ประชาชนมามุงดูกันด้วยความประหลาดใจว่า คนพิเรน (ไม่มี ทร การันต์นะครับ) อะไรวะ เอาขี้หนูมาขาย ชายหนุ่มเจ้าของดีปลีก็ทำอะไรไม่ถูก ยืนเซ่ออยู่พักใหญ่ ได้เล่าเรื่องราวให้คนที่มามุงดูฟัง ชายคนหนึ่งบอกเขาว่า คงเป็นเพราะเขา (ชายหนุ่ม) ล่วงเกินพระอรหันต์เข้า จึงได้เกิดเรื่องเช่นนี้ ทางที่ดีควรไปกราบขมาท่านเสีย

ไม่รอช้า ชายหนุ่มกลับไปกราบขอขมาท่าน ท่านยิ้ม กล่าวว่า

“ไม่เป็นไร ไอ้ถ่อย อาตมายกโทษให้”

เมื่อเขากลับมา ก็ปรากฏว่าขี้หนูได้กลายเป็นดีปลีตามเดิม

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระสารีบุตรอัครสาวก ว่ากันว่าท่านมีอารมณ์ศิลปิน หรือถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็ว่ามีอารมณ์โรแมนติกมิใช่น้อย คือเวลาท่านพบสถานที่ที่สวยงดงาม ท่านคล้ายจะ “ลืมตัว”ไป พักหนึ่ง

วันหนึ่งท่านเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่ง พร้อมภิกษุจำนวนมาก ท่านเห็นลำธารใสไหลเย็น ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันร่มรื่น ท่านก็กระโดดหย็องแหย็งๆ ด้วยความดีใจ

พระสงฆ์ที่ติดตามเห็นเช่นนั้นก็ไม่สบายใจ แต่ไม่กล้าพูดอะไร เพียงแต่นึกตำหนิในใจว่า พระอัครสาวกผู้ใหญ่ ทำไมทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย

เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา พระพุทธจ้าทรงทราบว่าพระสงฆ์เหล่านั้นคิดอะไรอยู่ จึงตรัสกับพวกเธอว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราทราบว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับสารีบุตร สารีบุตรทำอย่างนั้น มิใช่เพราะ “ติด” ในความสุนทรีย์ของบรรยากาศแห่งภูมิประเทศที่เธอพบเห็นดอก

หากแต่เป็น “วาสนา” ของเธอ”

แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาลอันนานไกลโพ้น พระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงติดต่อกันหลายร้อยหลายพันชาติ มาชาตินี้จึงติด “วาสนา” ของลิงมา คือชอบเต้นหย็องแหย็งๆ เมื่อมีความดีใจ ว่ากันอย่างนั้น

เรื่องอย่างนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ทางพระศาสนา ถึงจะเป็นคัมภีร์รุ่นหลังจากพระไตรปิฎก ฟังๆ ไว้ก็ไม่เสียหลาย ปุถุชนคนสามัญอย่างเราท่าน ภูมิปัญญาหรือความสามารถยังห่างไกลเกินกว่าจะไปชี้ว่าเรื่องนี้จริงไม่จริง เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ จริงไหมครับ

ว่ากันไปแล้ว เรื่องนี้เป็นวิบากหรือผลของการกระทำที่ทำสืบเนื่องกันยาวนานจน “ติด” ตัวไปไม่รู้กี่อสงไขยกัปว่าอย่างนั้นเถอะ ติดจนแกะไม่ออก แม้ว่ากิเลสตัณหาจะละได้ แต่ “สิ่ง” ที่ว่านี้กลับละไม่ได้ ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้น บางคนจึงมี “วาสนา” แปลกๆ แก้ไม่หาย ดังพระปิลินทวัจฉะและพระสารีบุตร เป็นต้น หรือที่เห็นชัดๆ ก็หลวงพ่อคูณนั่นแหละ วาสนาของท่านชอบพูดคำสมัยพ่อขุน และมีท่านั่งพิเศษคือนั่งยองๆ ไม่ชอบนั่งพับเพียบเหมือนพระภิกษุทั่วไป

เมื่อมีคนถามว่า ทำไมหลวงพ่อชอบนั่งยองๆ หลวงพ่อตอบว่า กูไม่ชอบดอก ไอ้หลานเอ๊ย มันนั่งของมันอย่างนี้เอง

เมื่อถามอีกว่า นั่นสิครับหลวงพ่อ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อตอบด้วยสำเนียงชาวโคราชว่า “กูว่า มันเป็นท่าเตรียมพร้อม คือ กูจะลุกยืนก็ลุกได้ทันที กูจะนั่งพับเพียบก็นั่งได้ทันที นั่งยองๆ นี่ก็มันดีแท่ๆ เด๊”


ที่มา : “วาสนา” มีจริงหรือไม่ ? แล้วคืออะไรในทาง “พุทธ” ? โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๔ ประจำวันที่ ๒๔ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 10 กันยายน 2561 17:35:09 »



การประยุกต์พุทธธรรมในการดำเนินชีวิต

ครั้งหนึ่ง ขณะกำลังจะเข้าสอนพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนิสิตมหาจุฬาฯ ระดับปริญญาโท

คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยบอกว่า จะมีฝรั่งมาถวายความรู้แก่พระนิสิตปริญญาตรี

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น จะให้ฝรั่งแกคุยอะไรกับพระนิสิตปริญญาโทก่อนไหม เผื่อจะได้แง่คิดอะไรดีๆ บ้าง

ผมเห็นว่าเป็นการ “ทุ่นแรง” ผมอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็จะได้ฟังคนนอกเขาพูดเรื่องพระพุทธศาสนาด้วย จึงยินดีอนุญาต

ในการสนทนาครั้งนี้ คุณประชา หุตานุวัตร (อดีตพระประชา ปสันนธัมโม) ทำหน้าที่ “ล่าม” ตลอดทั้งอธิบายเสริมความแก่พระนิสิตด้วย เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น

คนพูดชื่อนายจอห์น แม็กแคนนอล หรืออะไรนี่แหละ ถ้าจะจำผิดก็ขออภัย แกเป็นพวก “เควกเกอร์”

เควกเกอร์คือพวกไหน เห็นไม่ต้องอธิบาย เข้าใจว่าทุกท่านคงรู้จักแล้ว

เริ่มต้นแกก็บอกว่า เควกเกอร์ก็คล้ายพุทธองค์ หรือสาวกของพระพุทธองค์ เพราะใช้ “ความเงียบ” เป็นวิถีนำชีวิต ว่าอย่างนั้น

แล้วแกก็พูดถึงหลักอริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ตามความเข้าใจของแก เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาของชีวิต

แกออกตัวก่อนว่า ที่แกพูดนี้อาจมิใช่หลักวิชา หรือไม่ถูกต้องตามที่พระคุณเจ้าและชาวพุทธสั่งสอนกัน

แกเพียงแต่เสนอแนวคิดส่วนตัว ตามที่ศึกษามาและเข้าใจเอาเอง และว่าแกนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมได้ผลดีมาแล้วด้วย

ตอนต้นนายจอห์นแกยกเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจ ๔ (ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ว่า พระองค์ตรัสว่า มีแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดอยู่ ๒ ทางคือ ทางหนึ่งหย่อนเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค = การหมกมุ่นในกาม) กับอีกทางหนึ่งตึงเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค = การทรมานตน)

แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้คือ “ทางสายกลาง” การไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยู่กึ่งกลาง อยู่ที่ความพอดี พอเหมาะพอสมนั้นเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้

นายจอห์นแกสรุปในช่วงนี้ว่า เวลาคนสองฝ่ายทะเลาะกันหรือมีความขัดแย้งกันนั้น ถ้าเราในฐานะคนกลางไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รับรองว่าไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะเราจะมีอคติ เมื่อมีใจอคติแล้ว ย่อมจะมองไม่เห็นปัญหาหรือต้นตอของปัญหาจริงๆนึกดูง่ายๆ เพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่า แนวทางสายกลางนี้ทันสมัยมาก เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากทีเดียว

ความจริง ทางสายกลางของพระพุทธเจ้ามิใช่ “ตื้นๆ” แค่นี้ ในแง่หลักวิชาแล้ว ทางสายกลางมี ๒ ความหมายคือ

๑) ในด้านทฤษฎีหรือหลักวิชา หมายถึง “กลาง” ระหว่างรูปธรรม-นามธรรม วัตถุ-จิต ความมี-ความไม่มี หลักคำสอนคือปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท ที่สอนความจริงอันเป็นกลาง มองปัจจัยสัมพันธ์ทั่วถึง รอบคอบ รอบด้าน ไม่เอียงสุดเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในยุคสมัยที่คนปักใจเชื่อลงไปแน่วแน่ในด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับวัตถุ กับจิตใจ ฝ่ายหนึ่งก็แน่วแน่ว่าวัตถุเท่านั้นสำคัญที่สุด วัตถุเป็นตัวกำหนดจิต

แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็แน่วแน่เหมือนกัน คือปักใจเชื่อแน่วแน่ว่าจิตเท่านั้นสำคัญที่สุด จิตเป็นตัวกำหนดวัตถุ ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างก็ยึดคนละขั้ว

พระพุทธศาสนากลับสอนว่า มันสำคัญทั้งสองนั่นแหละ

วัตถุกับจิตต่างก็อาศัยกันและกัน เป็น “ปัจจัย” ของกันและกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กายกับใจเรานี้ใครว่าอย่างไหนมันสำคัญกว่าอย่างไหน มันย่อมไม่ถูกดอก กายอยู่ได้ก็เพราะมีใจครอง ใจจะรับรู้อะไรได้ก็เพราะอาศัยกาย กายเหมือนคนตาบอดขาดี ใจเหมือนคนตาดีแต่ไร้ขา ถ้าทั้ง “คนตาบอดขาดี” และ “คนตาดีไร้ขา” มาอาศัยกัน ย่อมจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ คือเดินไปไหนก็ได้ มองอะไรก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

๒) ในด้านปฏิบัติ “สายกลาง” หมายถึงการปฏิบัติที่ไม่เอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใน ๒ ฝ่ายนี้คือ การหมกมุ่นในกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) อันเป็นการปฏิบัติที่ “หย่อน” เกินไป และการทรมานตน (อัตตกิลมถานุโยค) อันเป็นข้อปฏิบัติที่ “ตึง” เกินไป

สายกลาง ต้องระหว่างแนวปฏิบัติ ๒ ทางดังกล่าวนี้

การจับเอาคำว่า “ทางสายกลาง” คือต้องทำตัวเป็น “กลาง” ไม่อคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในหมู่คนที่กำลังมีความขัดแย้ง แม้ในหลักวิชาจะไม่ “ตรง” หรือไม่ถูกนักก็ตาม แต่ต้องชมฝรั่งหนุ่มคนนี้ว่าแกฉลาดจับเอามาใช้ประโยชน์ และเมื่อนำไปใช้ก็ได้ผลเสียด้วย

แนวคิดจากอริยสัจที่นายจอห์นแกได้และนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ หลักที่สอนว่า ทุกข์ (หรือปัญหา) ทั้งหลายนั้นมีสาเหตุให้เกิด วิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหานั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า ต้องหันหน้ามาสู้กับปัญหา มาวิเคราะห์ทำความเข้าใจตัวปัญหา

ไม่ใช่หนีปัญหา ยิ่งหนีก็ยิ่งไม่พ้นปัญหา มีแต่ผูกปมให้ยุ่งเหยิงขึ้น

ผมคิดเอาว่านายจอห์นแกคงไม่ได้อ่านพระสูตรฉบับบาลี คงไม่รู้ด้วยว่า ในพระบาลีนั้น พระพุทธเจ้าตรัสบอกหน้าที่ที่พึงกระทำเกี่ยวกับอริยสัจแต่ละข้อดังนี้

ทุกข์ หรือปัญหานั้น เป็นสิ่งที่พึงกำหนดรู้ คือต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

สมุทัย หรือเหตุทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่พึงละเว้นเสีย

นั่นหมายความว่า ในกระบวนการแก้ปัญหานั้น บุคคลจะต้องพิจารณาทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เข้าใจชัดแจ้งจนกระทั่งรู้ว่า นี่คือทุกข์ นี่คือปัญหา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ มิใช่ปิดหูปิดตา แสร้งไม่รับรู้ หลอกตัวเองเสมอว่า ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีปัญหา

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ต้องเข้าใจปัญหาและยอมรับปัญหา

เมื่อรู้และยอมรับว่ามีปัญหาแล้วก็จะไม่กระวนกระวาย จิตก็สงบ ปัญญาก็เกิด และปัญญานั้นเองจะใคร่ครวญหาสาเหตุว่าทุกข์หรือปัญหานี้เกิดจากอะไรบ้าง แล้วก็ใช้ปัญญานี้เองแก้ไขปัญหา ตรงที่สาเหตุ มิใช่แก้ที่ปลายเหตุ

นายจอห์นแกไม่ได้อ่านคัมภีร์บาลี แต่แกสามารถจับประเด็นหลักของอริยสัจ ๔ ได้และนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาได้ดี ต้องชมว่ามีความเฉียบแหลมไม่น้อย

ยิ่งตอนอธิบายปฏิจจสมุปบาท โดยยกเอาประสบการณ์ของตนเป็นตัวอย่างอย่างสมเหตุสมผลด้วยแล้ว ยิ่งเห็นว่าเป็นคน “ช่างคิด” จริงๆ

ตอนหนึ่งผู้ฟังถามถึงวิธีแก้ปัญหาของปราชญ์คนอื่นๆ ว่าควรจะนำมาใช้ไหม

นายจอห์นตอบว่า ในเมื่อวิธีแก้ปัญหาดีๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว มีอยู่มากมาย ทำไมเราไม่คิดนำมาใช้เล่า ไปเห่อตามคนอื่นทำไม

ซึ่งบางทีก็มิได้วิเศษไปกว่าพุทธวิธีที่ทรงแสดงไว้เมื่อสองพันกว่าปีแล้ว

ประเด็นที่น่าคิดยิ่ง สมัยหนึ่งมีผู้แนะนำวิธีแก้ปัญหาในหน่วยงานที่เชื่อกันว่าทันสมัยมากเข้ามาให้คนไทยได้รับทราบ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชมกันทั่วไป มีการฝึกอบรมวิธีการดังกล่าวกันกว้างขวาง เรียกว่า “คิวซี” (quality control)

วิธีแก้ปัญหาตามระบบของ “คิวซี” ถ้าผมคิดไม่ผิด มันก็คือหลักการแก้ปัญหาตามนัยอริยสัจ ๔ นั้นเอง หาใช่อะไรอื่นไม่

เพียงแต่เขาเอา “วัตถุดิบ” คือหลักพุทธธรรมไป “ปรุง” ใหม่ให้ดูเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบที่ทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง

เหมือนกับฝรั่งชื่อชูมักเกอร์ ได้เขียนตำราเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ออกมาเล่มหนึ่ง ฮือฮากันมากเหมือนกัน นักวิชาการต่างเอ่ยถึงกันมาก ใครไม่รู้จักชูมักเกอร์ถือว่าเชย ใครไม่รู้จักหนังสือ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ถือว่าไม่ทันสมัย ออกจะเซ่อเซอะเอาด้วยซ้ำ

อ่านไปอ่านมา เนื้อหาที่ว่าใหม่ทันสมัยนั้น กลายเป็นการนำแนวคิดเรื่องอริยมรรค 8 ของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้เท่านั้นเอง

เท่านั้นจริงๆ

แต่ชูมักเกอร์แกเก่งที่รู้จักตีประเด็นแตกและปรุงแต่งใหม่ให้เป็นระบบ อธิบายสมเหตุสมผล อ่านไปก็ร้องแบบหนังกำลังภายในไปว่า “เลื่อมใสๆ”

ความจริงเรื่องอย่างนี้ฝรั่งเขาเก่งอยู่แล้ว ขนาดตีความธรรมะผิด เขายังอธิบายได้สมเหตุสมผล อ่านแล้วก็ชม “เลื่อมใสๆ” ไปไม่ขาดปาก ยิ่งถ้าแกตีความถูก จับประเด็นได้ถูกต้อง จะยิ่งเขียนได้น่าเลื่อมใสสักปานใด

การตีความธรรมะ หรือการประยุกต์ธรรมะมาใช้ในการดำรงชีวิตนั้น ความจริงก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้รู้พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งเข้าขั้นปราชญ์

ตราบใดที่ตีออกมาแล้ว ไม่ขัดกับ “หลักการใหญ่” ของพระศาสนา ขอเพียงแต่ให้สมเหตุสมผลและปฏิบัติได้ก็น่าจะใช้ได้แล้ว

อย่างเช่นอ่านเรื่องกตัญญูกตเวที แล้วซาบซึ้งในคุณธรรมสองข้อนี้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยขยายความว่า การรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมว่ามีคุณแก่มนุษย์ แล้วพยายามช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ไม่ทำลาย เป็นกตัญญูกตเวที

อย่างนี้ ถึงจะไม่สอนในคัมภีร์ไหนก็ใช้ได้ เพราะไม่ขัดกับหลักการของพระศาสนาที่สอนให้คนรู้จักคุณคน

เมื่อขยายมาให้รู้จักคุณสิ่งของ (สัตว์, ธรรมชาติแวดล้อม) ด้วยก็ยิ่งดียิ่งขึ้น


ที่มา : ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๘๕ ประจำวันที่ ๓๑ สิงหาคม – ๖ กันยายน ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.948 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 23 พฤศจิกายน 2567 15:55:33