[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 05:24:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กฎหมายตราสามดวง  (อ่าน 1355 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 23 สิงหาคม 2561 14:22:46 »



กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายไทยแต่เดิมเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่กำหนดความประพฤติของคนในสังคม ต่อมาเมื่อมีอักษรไทยใช้ในสมัยสุโขทัย จึงมีการตราข้อบังคับขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร  สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ธรรมเนียมการออกกฎหมาย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแล้ว เป็นหน้าที่ของอาลักษณ์ในการเรียบเรียงเขียนลงในสมุดไทย แล้วกรมพระสุรัสวดีซึ่งทำหน้าที่คุมบัญชีคนทั้งประเทศจะคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่างๆ เพื่อทราบ และกรมต่างๆ ก็ตีฆ้องร้องป่าวให้ราษฎรมารวมกันเพื่อฟังประกาศกฎหมายนั้นๆ ส่วนตัวกฎหมายซึ่งอยู่ในต้นฉบับทั้งหมดอาลักษณ์จะนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอหลวง ๑ ฉบับ ศาลหลวง ๑ ฉบับ และข้างที่ ๑ ฉบับ

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  ตัวบทกฎหมายซึ่งเขียนลงในสมุดไทยถูกทำลายสูญหายไปจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ประมาณ ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น และตัวบทกฎหมายที่เหลืออยู่ก็มักจะขัดแย้งกัน รวมทั้งไม่ยุติธรรมต่อการตัดสินคดีความ  

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทรงรวบรวมไพร่พลและตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตัวบทกฎหมายที่ยังคงเหลืออยู่จากเมืองต่างๆ รวมแล้วได้ ๕๕ เล่ม นำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายของบ้านเมืองต่อไป โดยที่คงจะไม่ได้มีการชำระหรือแก้ไขแต่อย่างใด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ปราบดาภิเษกสถาปนาปกครองกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว มีคดีหย่าร้างเรื่องนายบุญศรีกับอำแดงป้อม และศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมาย ที่มีความว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้” ซึ่งการพิพากษาไม่เป็นธรรม เพราะฝ่ายภรรยามีชู้ก่อนฟ้องหย่า แต่ศาลกลับพิพากษาให้หย่าได้  เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ขัดหลักความยุติธรรม   

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระสะสางกฎหมายครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๗  โดยโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ชำระกฎหมายจำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วยอาลักษณ์ (ผู้ทำหน้าที่ทางหนังสือในราชสำนัก) ๔ คน ลูกขุน (ปัจจุบันคือ ผู้พิพากษา) ๓ คน และราชบัณฑิต ๔ คน รวมเป็น ๑๑ คน ร่วมกันชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการต่างๆ ในหอหลวง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มาตรวจสอบเนื้อความจัดเป็นหมวดหมู่ ชำระดัดแปลงเนื้อความที่วิปริตให้ถูกต้องยุติธรรม เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีความให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อชำระเสร็จแล้ว ในปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกและใช้อาลักษณ์ ๓ คน สอบทานแล้วปิดตราพระราชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหนายก) พระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) และตราบัวแก้ว (สำหรับตำแหน่งโกษาธิบดี หมายถึงพระคลัง ซึ่งดูแลรวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ) ไว้ทุกเล่มสมุด เก็บไว้ที่ห้องเครื่อง (คงเป็นห้องแต่งตัวหรือห้องเก็บพระแสงศัสตราวุธที่ใช้ในพระราชพิธี ๑ ชุด  หอหลวง ๑ ชุด  และศาลหลวง ๑ ชุด เรียกกันว่า กฎหมายตราสามดวงฉบับหลวง  สันนิษฐานว่า ชุดหนึ่งคงมี ๔๑ เล่มสมุดไทย ๓ ชุด รวม ๑๒๓ เล่ม และนอกจากฉบับหลวงแล้ว ในปี พ.ศ.๒๓๕๐ อาลักษณ์ยังได้เขียนกฎหมายไว้อีก ๑ ชุด ไม่มีตราสามดวงประทับใช้อาลักษณ์สอบทาน ๒ คน เรียกว่า ฉบับรองทรง  ปัจจุบันกฎหมายตราสามดวงฉบับหลวงเหลืออยู่เพียง ๗๙ เล่ม เก็บอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ๓๗ เล่ม และหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ๔๒ เล่ม  ส่วนฉบับรองทรงนั้นเหลืออยู่เพียง ๑๗ เล่ม เก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากสาปนกิจโกศล เมื่อครั้งเป็นนายโหมด อมาตยกุล มหาดเล็กรายงาน ได้ว่าจ้างคัดลอกกฎหมายจากห้องอาลักษณ์ในราคา ๑๐๐ บาท ในปี พ.ศ.๒๓๙๐ จึงจ้างโรงพิมพ์หมอบลัดเล ตีพิมพ์หนังสือกฎหมาย จำนวน ๑๐๐ เล่ม ราคา ๕๐๐ บาท นับเป็นการตีพิมพ์หนังสือกฎหมายตราสามดวงเป็นครั้งแรก พิมพ์เล่ม ๑ เสร็จในปี พ.ศ.๒๓๙๓  ส่วนเล่ม ๒ ยังคงค้างอยู่ไม่ได้ตีพิมพ์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้วว่า เอากฎหมายของหลวงมาพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ โดยไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต  โปรดเกล้าฯ ให้ริบหนังสือนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ภูเขาทอง แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นประโยชน์ในการเผยแพร่กฎหมาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คืนหนังสือกฎหมายเพื่อจำหน่ายเผยแพร่ต่อไป และพระยากสาปนกิจโกศล ได้นำไปจำหน่ายในราคาเล่มละ ๑๐ บาท เมื่อการพิมพ์หนังสือกฎหมายไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามอีกต่อไป ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ หมอบรัดเล จึงตีพิมพ์หนังสือเรื่องกฎหมายไทย เล่ม ๑-๒ เพื่อจำหน่าย เรียกกันทั่วไปว่า กฎหมาย ๒ เล่ม หรือกฎหมายหมอบรัดเล และมีการตีพิมพ์อีกหลายครั้งต่อมา

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปฏิรูปการศาลและกฎหมายเพื่อให้ทันสมัยและก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ มีการตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น สังกัดในกระทรวงยุติธรรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปฏิรูปกฎหมายที่สำคัญ เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนกฎหมายด้วยพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงรวบรวมจัดระเบียบและตีพิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นเผยแพร่ใช้เป็นคู่มือสำหรับนักเรียนกฎหมาย ผู้พิพากษา และทนายความ ทรงได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งนักกฎหมาย”

เนื้อหาของกฎหมายตราสามดวง จัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะตามฉบับของหมอบลัดเล รวม ๓๐ ลักษณะ แต่ฉบับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งถือเป็นแม่แบบของการพิมพ์อีกหลายครั้งต่อมา รวบรวมไว้ ๒๙ ลักษณะ (ไม่มีลักษณะโจรห้าเส้น) และเรียงลำดับลักษณะต่างไปจากกฎหมาย ๒ เล่มของหมอบลัดเล โดยรวมรวมเป็นหมวดหมู่ตามลำดับดังนี้
๑.พระธรรมศาสตร์ ประกาศพระราชปรารภ (คือบานแผนก) และพระธรรมสารท  พระธรรมสาตรประกอบด้วย ๒ ภาค คือ ภาคแรกเป็นนิทานเกี่ยวกับพระสมมติราช และต้นกำเนิดของพระธรรมสาตร  ภาคที่ ๒ มีอคติสี่ประการของตระลาการ เหตุยี่สิบสี่ประการของตระลาการ  รายการมูลคดี และสาขาคดี
๒.หลักอินทภาษ (ดำรัสของพระอินทร์) เป็นชื่อหนังสือซึ่งนับเป็นหนึ่งในมูลคดี ๑๐ อย่าง สำหรับตระลาการ
๓.กฎมณเฑียรบาล เล่ม ๑ และ ๒ ว่าด้วยเรื่องการปกครองหัวเมือง การตั้งพระมหาอุปราช พระจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์ พระราชพิธีต่างๆ ในรอบปี การลงโทษผู้กระทำผิดในราชสำนัก การปฏิบัติต่อองค์พระมหากษัตริย์ การปูนบำเหน็จความชอบแก่ขุนนางเมื่อออกศึกสงคราม เป็นต้น
๔.พระธรรมนูญ (ธรรมนูญการศาล) เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าคดีความใดควรขึ้นศาลใด คือ ศาลนครบาล เป็นคดีจำพวกปล้น ฆ่าเจ้าทรัพย์ ศาลขุนพรมสุภา สำหรับกรณีที่เจ้าทรัพย์ถูกทำร้ายแต่ไม่ถึงตาย และศาลกระทรวงแพ่งกลาง เป็นคดีสบประมาท พยายามข่มขืน การแบ่งสินสมรส เป็นต้น
๕.พระไอยการพรมศักดิ เป็นกฎหมายกำหนดค่าตัวของคนตั้งแต่แรกเกิดจนชรา เช่น อายุ ๑-๓ เดือน มีค่า ๖ บาท และจะสูงสุดเมื่อมีอายุระหว่าง ๓๓-๔๐ ปี ซึ่งถือเป็นวัยฉกรรจ์ จากนั้นค่าตัวจะลดลงเรื่อยๆ จนอายุ ๙๑-๑๐๐ ปี จะมีค่าตัวเหลือเพียง ๔ บาท เมื่อมีการทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บหรือถึงตายต้องชดใช้ค่าตัวตามบทกำหนด นอกจากนี้ยังกำหนดค่าไถ่โทษไว้ด้วย
๖.พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เป็นกฎหมายกำหนดศักดินาของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางฝ่ายพลเรือน และราษฎร ศักดินาสูงสุดคือ พระมหาอุปราช ศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ราษฎรทั่วไปคือ ไพร่ มีศักดินา ๒๕ ส่วนทาส มีศักดินา ๕
๗.พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง เป็นกฎหมายกำหนดศักดินาของขุนนางฝ่ายทหารผู้ดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหม มีศักดินาสูงสุดคือ ๑๐,๐๐๐ นอกจากนี้ยังกำหนดศักดินาของเจ้าเมืองต่างๆ ไว้ด้วย เช่น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ มีฐานะเป็นเมืองเอก เจ้าเมืองนครราชสีมา มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ มีฐานะเป็นเมืองโท เป็นต้น
๘.พระไอยการบานแผนก เป็นกฎหมายที่กำหนดการแบ่งปันคนในสังกัดมูลนาย โดยให้มูลนายทำบัญชีหางว่าวแจ้งแก่สัสดี และกำหนดโทษแก่ขุนนางที่เอาไพร่หลวงไปใช้ส่วนตัว นอกจากนี้ยังกำหนดจำนวนบุตรที่จะต้องสังกัดตามพ่อแม่ในกรณีที่พ่อแม่อยู่คนละสังกัด
๙.พระไอยการลักษณะรับฟ้อง เป็นกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดที่ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เช่น คนบ้า ยาจก และกำหนดกฎเกณฑ์การฟ้อง เช่น ห้ามบุตรฟ้องบิดามารดา ห้ามฟ้อง ๒ ศาลในเวลาเดียวกัน
๑๐.พระไอยการลักษณะพยาน เป็นกฎหมายกำหนดประเภทของคนที่เป็นพยานและกำหนดบุคคลที่ไม่ให้เป็นพยาน เช่น ญาติของคู่ความ คนหูหนวกตาบอด เป็นต้น
๑๑.การพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง เป็นกฎหมายที่ใช้พิสูจน์คดีที่ใช้พยานไม่ได้ เช่น คดีที่เกี่ยวกับความเชื่อ ผีสาง
๑๒.พระไอยการลักษณะตระลาการ เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ในการพิจารณาคดี โจทก์หรือจำเลยที่เป็นมูลนายมีศักดินาเกิน ๔๐๐ สามารถตั้งทนายไปแทนตัวได้
๑๓.พระไอยการลักษณะอุธร เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการอุทธรณ์ในกรณีที่เห็นว่าการพิพากษานั้นไม่ยุติธรรม
๑๔.พระไอยการลักษณะผัวเมีย เล่ม ๑ และ ๒ เป็นกฎหมายที่กำหนดชนิดของภรรยาหรือฐานะของภรรยาแต่ละประเภท สิทธิอันพึงมีพึงได้ของภรรยาแต่ละประเภท กำหนดโทษของการมีชู้ การแบ่งทรัพย์สินเมื่อหย่าร้าง
๑๕.พระไอยการลักษณะทาส เป็นกฎหมายกำหนดสิทธิบางประการของทาส กำหนดประเภทของทาส
๑๖.พระไอยการลักษณะลักพาลูกเมียผู้คนท่าน เป็นกฎหมายกำหนดโทษคนที่ลักพาคน
๑๗.พระไอยการลักษณะมรดก เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งมรดก
๑๘.พระไอยการลักษณะกู้หนี้ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่สามารถฟ้องได้และที่ฟ้องไม่ได้ และการชดใช้หนี้สิน
๑๙.พระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ เป็นกฎหมายหลายลักษณะเพื่อช่วยการตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการวิวาท เช่น การปล่อยวัวควายไปทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น กำหนดค่าปรับสำหรับความผิดที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น การขโมยดินในที่นาของคนอื่นมาใส่ที่นาของตนหรือถอนข้าวในนาคนอื่น เป็นต้น การคดโกงหนี้สินและเรื่องเกี่ยวกับสัญญาต่างๆ เช่น สัญญาจ้าง สัญญายืม สัญญาฝาก สัญญาเช่า และการจำนำ เป็นต้น
๒๐.พระไอยการลักษณะวิวาท ตีด่ากัน เป็นกฎหมายกำหนดโทษคนที่ทะเลาะวิวาทตีด่ากัน แม้คนที่ไม่ห้ามปราม เมื่อเห็นการวิวาทก็มีบทลงโทษด้วยเช่นกัน
๒๑.พระไอยการลักษณะโจร เป็นกฎหมายกำหนดโทษของโจร ขโมยจะถูกลงโทษทั้งทางร่างกายและถูกปรับตามหลักการแล้วค่าปรับการลักขโมยจะเป็นสองเท่าของมูลค่าสิ่งของที่ถูกขโมยไป ในกรณีที่ทรัพย์ซึ่งถูกขโมยไปเป็นของรัฐบาลหรือของวัด จำนวนค่าปรับจะเป็นสี่เท่าและการประเมินค่าของสิ่งของที่ถูกขโมยนั้นเป็นไปตามราคาตลาดของสิ่งของเหล่านั้น
๒๒.พระไอยการอาญาหลวง เล่ม ๑ และเล่ม ๒ เป็นกฎหมายกำหนดโทษขุนนางและราษฎรที่ทำการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ขุนนางทั้งปวงนำไพร่หลวงมาใช้สอยในบ้านของตน ห้ามเก็บภาษีจากไพร่ที่เอาของไปขายในตลาด กำหนดโทษเจ้าขุนมูลนายที่ไม่เกณฑ์ไพร่ใต้บังคับบัญชาของตนเข้าประจำกองทัพในยามสงคราม เป็นต้น
๒๓.พระไอยการอาญาราษฎร์ เป็นกฎหมายกำหนดโทษราษฎรที่ทำผิดต่อราษฎรด้วยกัน การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นให้เสียหาย
๒๔.พระไอยการกบฏศึก เป็นกฎหมายกำหนดโทษผู้คิดทรยศต่อบ้านเมืองและองค์พระมหากษัตริย์ เช่น การแย่งชิงราชสมบัติ การปล้นสะดมบ้านเมือง การไปฝักใฝ่ศัตรูหรือการเป็นกบฏ
๒๕.กฏพระสงฆ์ เป็นกฎที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงออกควบคุมพระสงฆ์ทั้งฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ เช่น ห้ามพระสงฆ์เทศนาเป็นบทกลอน และใช้ถ้อยคำตลกคะนอง ห้ามมิให้ฆราวาสถวายเงิน ทอง นาก แก้วแหวน และของมีค่าแก่พระสงฆ์ ห้ามไม่ให้นิมนต์พระสงฆ์มาดูลัคนาดูเคราะห์ให้ เป็นต้น
๒๖.กฎ ๓๖ ข้อ เป็นพระราชกำหนดเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับการฟ้องร้องการพิจารณาว่าความในศาลและพิจารณาบทลงโทษ เช่น การฟ้องร้องของบ่าวไพร่ต้องให้ไปตามสังกัดของตน ถ้าโจรลักโค กระบือ สิ่งของ ถูกจับได้ให้สักรูปสัตว์หรือสิ่งของที่ลักขโมยไว้ที่อก แล้วให้ปรับไหม ถ้าเคยทำความผิดเช่นนี้มาแล้วให้สักอกและเฆี่ยนด้วยลวดหนัง ๒๕ ที แล้วปรับไหม เป็นต้น
๒๗. พระราชบัญญัติ ๒๒ ฉบับ เช่น เมื่อเกิดศึกสงคราม ให้ระงับความในโรงศาลไว้ก่อน จนเมื่อสงครามสงบแล้วจึงพิจารณาความได้ตามเดิม กำหนดลักษณะการแต่งกายของขุนนาง เช่น ห้ามขุนนางชั้นผู้น้อยใส่เสื้อครุย กรองคอ สังเวียน สำริด คาดรัตคดหนามขนุน นุ่งสมปักท้องนาก สายเข็มขัดอย่าให้มีดอกประจำยาม เป็นต้น
๒๘.พระราชกำหนดเก่า เป็นกฎหมายที่เข้าใจว่าออกใช้ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี แต่รวบรวมไว้เพราะสำคัญ และยังไม่ได้ปรับย่อทำเป็นมาตราอยู่ใต้หัวข้อใหญ่ต่างๆ
๒๙.พระราชกำหนดใหม่ เป็นกฎหมายที่ออกใช้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เช่น เพิ่มโทษข้าราชการเสพสุรา เล่นเบี้ย โทษเลกหลบหนีราชการ ชายทำชู้กับภริยาของข้าราชการที่บวชให้มีโทษ เป็นต้น

กฎหมายตราสามดวง รวม ๒๙ ลักษณะดังกล่าวมานั้น ในทัศนะของนักกฎหมาย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  ได้แบ่งตามหลักนิติศาสตร์ไว้ว่า มีทั้งกฎหมายสารบัญญัติที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เช่น พระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ ลักษณะทาส ลักษณะวิวาท ตีด่ากัน และลักษณะมรดก กฎหมายวิธีสบัญญัติ ว่าด้วยการพิจารณา การตัดสินคดีความ เช่น พระธรรมนูญ พระไอยการลักษณะรับฟ้อง ลักษณะพยาน ลักษณะตระลาการ พิสูจน์น้ำลุยเพลิง และลักษณะอุทธรณ์ และกฎหมายปกครอง เช่น กฎมณเฑียรบาล พระไอยการลักษณะอาญาหลวง ลักษณะอาญาราษฎร์ และกบฏศึก  อย่างไรก็ตาม กฎหมายตราสามดวงทุกลักษณะพระไอยการ ล้วนกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมสังคมไทย นับแต่องค์พระมหากษัตริย์ ขุนนางข้าราชการ ตลอดจนถึงไพร่ทาส ความเชื่อด้านศาสนา วิธีพิจารณาคดีความในศาลต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

คุณค่าของหนังสือกฎหมายตราสามดวง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายโดยตรงแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ และนักวรรณคดีอีกด้วย เพราะกฎหมายเก่าบางตอน ถือเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญ อักขรวิธีและโวหารในตัวบทกฎหมายสมัยโบราณมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และในส่วนของจารีตประเพณี โบราณราชประเพณี พระราชปรารภและตัวบทกฎหมาย ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ไทยในช่วงสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.



อ้างอิง
- ตราสามดวง : อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๘
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๑ กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒
- สาเหตุของการชำระกฎหมายตราสามดวง : http://kanchanapisek.or.th
- กฎหมายตราสามดวง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี`


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 สิงหาคม 2561 14:26:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.484 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้