[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 16:12:28 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "ประเพณีสลากภัต" วัดพุทธมงคลนิมิต อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์  (อ่าน 860 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 พฤษภาคม 2562 18:19:39 »





ประเพณีถวายสลากภัต
วัดพุทธมงคลนิมิต อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ (สังกัด ธรรมยุติกนิกาย)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
.

สลากภัตเป็นประเพณีของคนในสังคมพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญบุญกิริยาอันบริสุทธิ์
ด้วยการบริจาคภัตตาหารและบริขารอันควรแก่ความจำเป็น เพื่อทำนุบำรุงพระภิกษุให้สามารถดำรงชีพ
และสืบพระพุทธศาสนาต่อไป โดยอาศัยสลากเป็นเครื่องจำแนกโอกาสผู้ที่จะถวายกับผู้รับสลากภัตมิให้
เกิดการเลือกที่รักผลักที่ชัง  เป็นการไม่เจาะจงถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  กับจะยังให้พุทธศาสนิกชน
เบาความรู้สึกยึดติดในรูปนามแห่งพระภิกษุแต่ละรูปที่ได้นิมนต์มารับสลากภัต ซึ่งบางรูปเป็นที่รู้จักคุ้ยเคย
กันอยู่แต่ก่อน บางรูปไม่สู้รู้จักคุ้นเคยสนิท ให้เบาบางลงไปได้ตามสมควร.

ความสำคัญของประเพณีสลากภัตนั้น เป็นประเพณีในพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดมาช้านาน เป็นมหากุศลสำหรับบุคคลที่มีกำลังศรัทธา ปีหนึ่ง วัดหนึ่งจะมีเพียงแค่ครั้งเดียว คนทั่วไปนิยมใช้โอกาสนี้ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้อง บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเทวดา ทวยเทพ เจ้ากรรมนายเวร ฯลฯ อีกด้วย

สลากภัต
สลากภัต เป็นชื่อประเพณีทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์โดยไม่มีความประสงค์จำเพาะเจาะจงถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  พระภิกษุรูปใดจะพึงได้รับภัตตาหารก็ด้วยการจับสลากที่ตรงกันกับสลากซึ่งทายกหรือทายิกาปักไว้ที่เครื่องภัตตาหารที่ได้เตรียมไว้ถวายเท่านั้น

ประเพณีและธรรมเนียมถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุที่เรียกว่า สลากภัตนี้ มาจากความเชื่อว่าจะช่วยให้ได้บุญมากกว่าการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำเพาะเจาะจง

สลากภัตเป็น ๑ ในบุญ ๗ อย่าง ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับ ได้แก่
๑. อุกเทศภัต
๒. นิมนตภัต
๓. สลากภัต
๔. ปักขิตภัต  ถวายเฉพาะวันหนึ่งในปักษ์ข้างขึ้น
๕. ปักขิตภัต  ถวายเฉพาะวันหนึ่งในปักษ์ข้างแรม
๖. ปาฏิปทิกภัต  ถวายเฉพาะวันขึ้นค่ำหนึ่ง
๗. ปาฏิปทิกภัต  ถวายเฉพาะวันแรมค่ำหนึ่ง

ประเพณีและธรรมเนียมถวายสลากภัตในเมืองไทยเรานี้ น่าจะได้ถือประพฤติปฏิบัติมาช้านานแล้ว ทั้งนี้นับเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา  หลักฐานที่จะพึงแสดงให้ทราบความเป็นมาของประเพณีและธรรมเนียมถวายสลากภัตว่าเป็นมานานเท่าใด ที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่ปรากฏ แต่ได้เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติกันสืบมาในหมู่พุทธศาสนิกชนคนไทยแทบทุกภาคของประเทศโดยมิได้ขาดช่วง ซึ่งบางภาคอาจมีชื่อเรียกประเพณีและธรรมเนียมถวายสลากภัตนี้ต่างกันออกไปบ้าง หรือได้กระทำในกาลที่ต่างกันบ้าง แต่วัตถุประสงค์เดิมยังคงอยู่ให้ทราบได้ เช่น ทางภาคเหนือเรียกว่า “ทานก๋วยสลาก” มักทำกันราวเดือน ๑๒ เหนือ คือเดือน ๑๐ ฝ่ายใต้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกประเพณีและธรรมเนียมถวายสลากภัตว่า “บุญข้าวสาก” หรือ “บุญห่อข้าวน้อยห่อข้าวใหญ่” นิยมทำกันในเดือน ๑๐  

ในบางพื้นที่ เช่นที่จังหวัดเพชรบุรี เรียกประเพณีนี้ว่า “สลากหาบ” ตามลักษณะสิ่งของที่จัดรวมไว้ในภาชนะต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง น้ำมัน ข้าวสาร หรือเป็นของกินที่มีหลายอย่างจัดรวมไว้ในเข่งในหาบก็จะมีชื่อเรียกเป็น สลากน้ำผึ้ง สลากน้ำมัน สลากข้าวสาร หรือสลากหาบ เป็นต้น

ประเพณีถวายสลากภัตในภาคกลางกระทำกันในเดือน ๖ ในโอกาสวันวิสาขบูชา และต่อมากระทำในเดือนเจ็ด เพราะมีผลไม้ต่างๆ รวมทั้งทุเรียนอุดมสมบูรณ์  

ความในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ดังนี้ “ถึงที่ในกรุงรัตนโกสินทร์เกิดสลากภัตขึ้นก็ทำในวิสาขบูชาเหมือนกัน และสลากภัตใหญ่วัดพระเชตุพน เมื่อปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสลากภัตวิเศษนอกวิสาขคราวแรกก็ทำในเดือนหกเหมือนกัน ที่ย้ายลงมาเดือดเจ็ดนั้นเห็นจะย้ายลงมาหาตาว่างอย่างเดียวเท่านั้น การซึ่งกำหนดสลากภัตในเดือนเจ็ด ก็ด้วยอาศัยผลไม้บริบูรณ์ ผลไม้อื่นก็ทำเนา ดูเป็นข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ ทุเรียน ถ้าฤดูสลากภัตก็ต้องคราวทุเรียนชุกชุมแล้วก็เห็นจะเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น”

ประเพณีและธรรมเนียมถวายสลากภัตมีอยู่ทั้งที่เป็นของหลวงกับส่วนราษฎร  การถวายสลากภัตของราชการหรือของหลวงนั้น มีพระบรมราชาธิบายในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ความต่อไปนี้

“สลากภัตที่ลงเป็นการประจำปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการมีในเดือน ๗ แต่จะเป็นขึ้น ๘ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ จำไม่ถนัดคงอยู่ในวันพระ เป็นแต่สลากภัตของหลวงกับเจ้านายข้าราชการฝ่ายใน แห่ออกทางประตูราชสำราญ ผ่านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ไปเข้าประตูหน้าพระอุโบสถ ทอดพระเนตรที่ศาลาบอกหนังสือ สลากภัตเช่นนี้มีกระบวนแห่เป็นผู้หญิงถือธงชาย ๑๐ ธงตะขาบ ๑๐ มีพิณพาทย์ ผู้หญิงตีสามหามไปสี่ในระหว่างสำรับหนึ่ง ต่อไปละครขี่ม้า บางทีก็อย่างละสองคู่ บางทีก็อย่างละคู่ คือยืนเครื่องพราหมณ์ ลิง ยักษ์ ในระหว่างละครขี่ม้านี้ มีพิณพาทย์อีกสำรับหนึ่ง ต่อไปนั้นเป็นละครเด็กๆ ถือดอกไม้คู่หนึ่ง ธูปคู่หนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง แต่งตัวนั้นยักเยื้องกันไปเป็นคราวๆ บางคราวก็แต่งศีรษะจุกทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเป็นพราหมณ์ทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเรียกว่า เจ้าหนุ่ม คือแต่งเป็นอย่างละครแต่โพกผ้าสีทับทิมติดขลิบ ต่อนั้นลงมาเป็นหาบหลวงทองหาบหนึ่ง เงินหาบหนึ่ง กระเช้าที่หาบนั้นใช้ไม้เป็นแป้นหกเหลี่ยมปิดทองปิดเงิน ร้อยสายโซ่โยงขึ้นไปเป็นสาแหรก ในสาแหรกนั้นตั้งพานทอง พานเงิน ข้างหนึ่งเป็นกระทงข้าวเหนียว ข้างหนึ่งเป็นกระทงสังขยา คนที่หาบแต่งตัวนุ่งยกบ้าง สังเวียนบ้าง ห่มซับในแพร ห่มตาดชั้นนอก ต่อไปถึงงานกลางเชิญเครื่องโต๊ะเงินผูกถุง ทั้งคาวหวานและเคียง พวกงานกลาง นุ่งผ้าลาย นุ่งหยี่ ห่มซับในแพร ชั้นนอกอัตลัดดอกลาย ต่อไปนั้นไปจึงถึงหาบเจ้านาย ข้าราชการฝ่ายในเดินเป็นคู่ๆ กระเช้าที่หาบทำเป็นกระทงเจิม เป็นเครื่องขี้รักปิดทองบ้าง เครื่องอังกฤษบ้าง ปลายคานที่หาบเป็นศีรษะนาคหางนาค มีกระทงในกระเช้าทั้งสองข้าง มีซองพลู หมาก ธูปมัดเทียนมัดอยู่ในกระเช้า แล้วมีธงกระดาษปัก สลากหมายที่ ๑ ที่ ๒ บอกชื่อเจ้าของ สบงพาดศีรษะคานผืนหนึ่ง คนที่หาบแต่งตัวนุ่งสังเวียนบ้าง ยกบ้างที่เลวๆ ลงไป ยกไหมก็มี ห่มตาดเยียรบับ เข้มขาบ อัตลัด ตามแต่ผู้ใดจะมีและหาได้ จำนวนหาบมากและน้อยตามจำนวนพระสงฆ์ที่มาฉัน ปรกติเห็นจะอยู่ใน ๓๐ รูป แต่ก่อนๆ มาใช้ทุเรียนทั้งผลกระเช้าหนึ่ง กระทงข้าวเหนียวกระเช้าหนึ่ง พึ่งจะมาเกิดกริ้วกันขึ้นเมื่องานสมโภชช้าง เห็นจะเป็นครั้งพระเศวตสุวภาพรรณ ไปเหม็นตลบอบอวลขึ้นอย่างไร รับสั่งให้ไปเททิ้งเสียทั้งสิ้น ภายหลังจึงได้กลายเป็นสังขยาบ้าง ผลไม้ต่างๆ บ้าง กระเช้าหนึ่งบางทีก็ทั้งสังขยาและผลไม้ด้วย หาบหลวงและเครื่องโต๊ะเงินนั้นเป็นข้าวพระทั้งสองสำรับ นอกนั้นก็ถวายพระสงฆ์ตามที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลำดับกัน เวลาทรงประเคนสำรับ ทรงประเคนกระเช้าสลากภัตด้วยที่เดียว”

สลากภัตอย่างที่ราษฎรได้ทำกันมาแต่เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่มีหลักฐานปรากฏในเรื่องพิธีการและแบบอย่าง แต่จากเนื้อความในนิราศเดือน ของหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) ก็ทำให้เห็นภาพธรรมเนียมและรูปแบบพิธีถวายสลากภัตในสมัยก่อนได้ ดังความต่อไปนี้


กระทั่งถึงเดือนเจ็ดไม่เสร็จโศก           บังเกิดโรคแรงหนักด้วยรักสมร
สลากภัตจัดแจงแต่งหาบคอน         อย่างแต่ก่อนหาบกระทายมีลายทอง
ใส่คานรูปนาคาวายุพักตร์     ครั้นเดินหนักดูเต้นเผ่นผยอง
สาแหรกร้อยห้อยพวงมาลัยกรอง         ใส่เข้าของหาบหามตามกันมา
ทุกวันนี้มีแต่จะทำแปลก         ใส่โต๊ะแบกเดินด่วนมาถ้วนหน้า
สารพันเอมโอชโภชนา     ตามศรัทธาสัปปุรุษนุชอนงค์
ทั้งผู้ดีเข็ญใจก็ไปมาก         จับฉลากหนังสือชื่อพระสงฆ์
รู้จักนามตามพบประสบองค์         ต่างจำนงน้อมถวายรายกันไป

การถวายสลากภัตอย่างที่ราษฎรทำกันอยู่โดยทั่วไปนั้นมีแบบแผนและระเบียบของพิธีการคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก จะมีแตกต่างกันก็ตรงส่วนประกอบปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจจัดเพิ่มเติมขึ้นในส่วนที่เป็นไทยทานบ้าง ภาชนะที่ใส่บ้าง เครื่องภัตตาหารบ้าง ให้ดูวิจิตรพิสดารต่างๆ หรือจัดให้มีแห่และเครื่องเล่นต่างๆ เพื่อให้สนุกครึกครื้นตามแต่เห็นสมควร

ในชั้นต้นของการถวายสลากภัตนี้ ผู้ที่เป็นทายกทายิกา ร่วมกำหนดวันและเวลาที่จะถวายสลากภัตขึ้น แล้วจัดทำใบฎีกากำหนดงาน แจ้งวันเวลาทำการนั้นๆ พอถึงวันก่อนวันถวายสลากภัตวันหนึ่ง บรรดาทายกทายิกา อุบาสกอุบาสิกา จะจัดเตรียมทำอาหารคาวและของหวานตามที่เห็นสมควร สำหรับถวายพระภิกษุองค์หนึ่ง กับจัดหาส้มสูกลูกไม้ที่มีตามฤดูกาลและภาชนะ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาดขนาดย่อม สำหรับจัดผลไม้ที่จะนำไปถวายสลากภัตในวันรุ่งขึ้น

เมื่อถึงวันที่กำหนดนัดถวายสลากภัตมาถึง อุบาสกอุบาสิกา ก็จัดอาหารคาวหวานลงสำรับ ซึ่งจะใช้ถาด โตก อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะหาได้ใส่อาหารนั้น เอาสำรับอาหารจัดลงในสาแหรกข้างหนึ่ง ส่วนผลไม้ต่างๆ จัดลงในกระบุง ตะกร้า กระจาด อย่างใดอย่างหนึ่ง ภาชนะใส่ผลไม้นี้จัดลงในสาแหรกอีกข้างหนึ่ง ธูปและเทียนมัดเป็นกำใส่ลงไว้ในภาชนะที่ใส่ผลไม้ ผ้าสบงผืนหนึ่ง สำหรับถวายพระ  นำมาวางพาดไว้ที่หัวไม้คาน จัดหาเด็กหญิงรุ่นสาวหน้าตาหมดจด แต่งกายงดงามมาทำหน้าที่หาบเครื่องภัตตาหาร พวกผู้ใหญ่ก็เข้าห้อมล้อมคุ้มกันเป็นกระบวน พากันเดินจากบ้านไปยังวัดที่นัดหมาย เมื่อมาถึงวัดแล้วก็เอาเครื่องภัตตาหารขึ้นไปตั้งไว้บนศาลาการเปรียญตามลำดับของใครมาก่อนมาหลัง ให้หมายอยู่ในธงแต่ละธงลำดับกันไป ทำเป็นสลากมาแจกแก่ทายกทายิกาผู้ที่เป็นเจ้าของหาบเครื่องภัตตาหาร แต่ละหาบจะปักธงสลากที่ได้รับแจกปักไว้ที่หาบภัตตาหารของตน ธงสลากนี้ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นแถวยาวประมาณ ๑ คืบ ปลายข้างหนึ่งพันติดกับคันธงทำด้วยก้านใบมะพร้าว ในพื้นธงนอกจากจะเขียนเลขสลากกำกับธงแล้ว ยังมีที่เหลือไว้พอให้เขียนชื่อผู้เป็นเจ้าของหาบภัตตาหารอีกด้วย ธงสลากนี้กรรมการวัดจะจัดทำขึ้นเป็นสองชุด ชุดหนึ่งๆ จำนวนเท่ากับพระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มารับสลากภัต ธงสลากชุดแรกสมมติให้เป็นต้นสลากสำหรับแจกให้แก่บรรดาทายกทายิกาปักประจำไว้ที่หาบภัตตาหารดังกล่าวข้างต้น ส่วนธงสลากชุดหลังสมมติเป็นปลายสลากจะนำไปปักรวมกันลงไว้ในกระบอก ซึ่งจัดตั้งไว้ที่หัวบันไดทางที่พระสงฆ์จะขึ้นมาบนศาลาการเปรียญเพื่อถวายพระภิกษุแต่ละรูปได้จับธงสลากต่อไป

ครั้นได้เวลาถวายสลากภัต พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ก็จะขึ้นมาบนศาลาการเปรียญ กรรมวัดคนหนึ่งจะนำกระบอกที่ปักธงสลากถวายพระภิกษุแต่ละรูปจับสลาก พระภิกษุรูปหนึ่งจับธงสลากได้เพียงคันเดียว แล้วขึ้นไปนั่งบนอาสน์ตามลำดับจนครบทุกรูป จากนั้นหัวหน้าทายกทายิกาในที่นั้นจะทำหน้าที่นำอาราธนาศีล พระภิกษุผู้ที่เป็นประธานในหมู่สงฆ์จะให้ศีลตามธรรมเนียม พอผู้ที่ประชุมอยู่ด้วยกันรับศีลเสร็จแล้ว กรรมวัดคนหนึ่งก็จะไปรับธงสลากจากพระภิกษุแต่ละรูป แล้วขานเลขที่กำกับในพื้นธงส่วนปลายสลากให้ดังพอได้ยินทั่วศาลาการเปรียญ เมื่อขานเลขสลากไปต้องตรงกับหมายเลขในต้นสลากของผู้ใด ผู้เป็นเจ้าของสลากนั้นก็นำเอาภัตตาหารที่เตรียมมาเข้าไปถวายแด่พระภิกษุซึ่งจับสลากได้ตรงกับสลากของตน ครั้นกรรมการขานสลากไปจนหมดแล้ว บรรดาทายกทายิกาก็กรวดน้ำและรับพร จากนี้พระสงฆ์ก็จะเริ่มฉันภัตตาหารไปจนเสร็จภัตกิจ ยถาสัพพีต่อท้ายแล้วเป็นอันเสร็จพิธีการถวายสลากภัต







ผู้โพสท์จับได้ฉลากเบอร์ ๑๐ ได้ถวายผลไม้ตามฤดูกาล ๑ กระจาด อาหาร ๑ ปิ่นโต น้ำดื่ม ๑ ขวด และปัจจัยตามสมควร






















Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 พฤษภาคม 2562 18:22:58 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.498 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 01 กุมภาพันธ์ 2567 04:12:27