[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 23:54:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สุข ทุกข์ และนิพพาน  (อ่าน 1690 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2554 02:48:40 »




SOMETIME HOME

 รัก รัก



จุดหมายปลายทางของการปฏิบัติจิตภาวนาตามพุทธวิธี หรือที่เรียกว่าพุทธภาวนานั้น คือ พระนิพพาน นิพพานเป็นการหลีกจากความยุ่งยากในกามภพ น้อมไปสู่ความสงบเย็น นิพพานเป็นจุดหมายที่สามารถทำให้รู้แจ้งได้ในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อนจึงจะรู้ว่านิพพานมีจริง

อายตนะ (แดนต่อแห่งความรู้) และกามภพ (โลกของผู้ที่ยังเสวยกามคุณ) เป็นแดนหรืออาณาจักรแห่งการเกิดและการตาย เช่น ตาเห็นรูป ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับเวลากลางวันหรือกลางคืน ขึ้นอยู่กับตาดีหรือไม่ดีเป็นต้น แล้วเรายังไปติดใจสีสัน รูปโฉม และทรวดทรงสันฐานตามที่เราได้เห็นอีกด้วย หูได้ยินเสียง เราพอใจเมื่อได้ยินคำสรรเสริญ เกลียดเสียงรำคาญหู เราชอบกลิ่นหอม ไม่ชอบกลิ่นเหม็น ลิ้นรู้รส เราก็ติดความอร่อย ส่วนโผฎฐัพพะหรือสัมผัสทางกายนั้น คิดดูซิว่าเราหมดเปลืองเวลาในชีวิตของเราไปเท่าใด เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดทรมาน เราเสาะหาแต่สิ่งที่ทำให้เราสุขสบายกาย ข้อสุดท้ายคือธรรมารมณ์หรือความนึกคิด มีชอบและชัง ทำให้เราทั้งสุขและทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นแดนต่อให้เกิดความรู้ภายนอกภายใน เป็นกามภพ เป็นโลกแห่งการเกิดและการตาย ธรรมชาติของมันคือทุกข์ ไม่สมบูรณ์ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ท่านจะหาความสุขอย่างแท้จริงหรือความสงบสุขไม่ได้เลยกับโลกเช่นที่ว่านี้ จะต้องพบกับความเสื่อมสลายและความคับแค้นใจเสมอไป เราเป็นทุกข์ก็เพราะเราหวังมากเกินไป เช่นหวังความมั่นคงถาวร ความเกษมสำราญ ความรักชนิดที่ไม่มีวันผันแปร และความปลอดภัย หวังว่าชีวิตของเราจะมีแต่ความสนุกเพลิดเพลิน ไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่แก่ชรา

อาตมาจำได้ว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน คนในสหรัฐเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิทยาศาสตร์แผนใหม่จะช่วยให้เขาปราศจากโรค เขาว่าโรคจิตโรคประสาทเกิดจากความไม่สมดุลทางเคมี ฉะนั้นถ้าคิดได้ยาวิเศษแล้วฉีดเข้าไป โรคจิตก็จะหาย อาการปวดหัวปวดเอวจะไม่มีอีกต่อไป ใช้พลาสติกเปลี่ยนแทนอวัยวะภายในของเราก็ได้ อาตมาเคยอ่านวารสารการแพทย์ออสเตรเลีย เขาว่าเราเอาชนะความแก่ได้คือ เพิ่มประชากรโลก โดยให้เด็กเกิดมากขึ้น จึงจะมีแต่เด็กและคนหนุ่มสาว เป็นการพิชิตความแก่ให้โลกนี้ไปในตัว คิดดูซิว่ามันจะยุ่งเหยิงสักแค่ไหน

กามภพนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจ มันเป็นเช่นนั้นเอง (ตถาตา) ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นอยู่กับมัน เราจะอกแตก เพราะการยึดมั่นถือมั่น หมายถึงเราต้องการให้เป็นที่น่าพอใจ ให้มีความเกษมสำราญตลอดไป แต่ดูธรรมชาติของความสุขอย่างนั้นซิ เราจะสุขได้นานสักแค่ไหน

ความสุขนั้นคืออะไร ท่านอาจคิดว่ามันคือความรู้สึกเมื่อได้สิ่งที่ปรารถนา บางคนได้ยินคำสรรเสริญก็เป็นสุข ใครมาทำให้ชอบใจท่านก็สุข เป็นสุขเมื่อมีแสงแดด เป็นสุขเพราะได้ลิ้มรสอร่อย แต่จะสุขอย่างนั้นได้นานสักเท่าใด ท่านจะมีแสงแดดอันอบอุ่นได้ตลอดไปหรือ ในอังกฤษอากาศแปรปรวนอยู่เสมอ ความสุขจากแสงแดดอันอบอุ่นจึงเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ไม่แน่นอน

ความไม่มีสุขคือไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ อยากได้อากาศอบอุ่น ฝนก็ตกพรำๆ เฉอะแฉะหนาวเหน็บ มีคนมาทำสิ่งที่เราไม่ชอบ อาหารไม่อร่อย ต่างๆ นาๆ ชีวิตน่าเบื่อน่ารำคาญเมื่อไม่เป็นสุข

เพราะฉะนั้น สุขทุกข์ จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราได้หรือไม่ได้ตามต้องการ แต่ความสุขเป็นยอดปรารถนาของมวลมนุษย์มิใช่หรือ รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุถึง ‘สิทธิที่จะแสวงหาความสุข’ คือได้สิ่งที่เราต้องการ นั่นแหละคือเป้าหมายในชีวิต แต่ความสุขเช่นนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะสุขไปได้นานสักเพียงใด การจะไปจัดการควบคุมสภาวะต่างๆ ให้ได้ดังใจเสมอไปนั้นย่อมทำไม่ได้ ความสุขชนิดนี้จึงไม่น่าปรารถนา มันซ่อนแฝงอยู่ด้วยความทุกข์ ไม่ควรพึ่งพาถือเอาเป็นเป้าหมายของชีวิต มันอาจไม่สมหวัง เพราะอยู่ได้ไม่นานแล้วตามมาด้วยความทุกข์ เพราะต้องพึ่งปัจจัยหลายอย่าง เรารู้สึกสุขสบายเมื่อมีพลานามัยดี แต่สุขภาพของเราจะเสื่อมไปเมื่อไรก็ได้ เราเป็นทุกข์เมื่อเจ็บป่วยหมดเรี่ยวแรง ไม่ว่องไวกระฉับกระเฉง ฉะนั้น เป้าหมายของพุทธบริษัทจึงไม่ใช่ความสุขชนิดนี้ เป้าหมายของเราอยู่ไกลจากกามภพ ไม่ใช่ว่าเราจะสละโลก แต่เราเข้าใจโลกดีจนไม่แสวงหาโลกเพื่อเสพสุขทางโลก แต่เราจะใช้โลกเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถสำเร็จประโยชน์ได้อย่างแยบคาย ตามกาลเทศะ เราไม่ยึดมั่นอยู่กับมัน ไม่ยินดียินร้าย นิพพานไม่ใช่ภาวะที่ไม่มีอะไรเลย หรือภาวะซึ่งถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น แต่เป็นเสมือนความว่าง เป็นการเข้าไปในความว่างแห่งจิต ที่ซึ่งท่านไม่ยึดมั่นเหนี่ยวรั้ง ไม่หลงไปกับปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งปวง ไม่เรียกร้องอะไรจากโลก ท่านเพียงแต่รู้จักมันเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

เกิดเป็นคนก็ต้องพบกับความแก่ ความเจ็บ และความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้งหนึ่งมีหญิงคนหนึ่งอุ้มลูกน้อยมาหาเราที่วัดในประเทศอังกฤษ เด็กป่วยหนักมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว มีอาการไอถี่ แม่โศรกเศร้าและเป็นทุกข์มาก ระหว่างที่เธอนั่งรออยู่ที่ห้องรับแขก เด็กร้องจนหน้าแดงและไออย่างน่ากลัว เธอร้องทุกข์ว่า “อาจารย์สุเมโธ ทำไมลูกของฉันจึงต้องทรมานอย่างนี้ เขาไม่เคยให้ร้ายใคร ไม่เคยทำบาป ชาติก่อนเขาทำอะไรจึงต้องรับทุกข์อย่างนี้” เด็กได้รับทุกข์ก็เพราะเขาเกิดมา ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีทุกข์ เมื่อเราเกิดมาก็ต้องพบสิ่งเหล่านี้ คือต้องพบความเจ็บ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา นี้เป็นเรื่องน่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

เราอาจเดาว่าเด็กคนนี้ในชาติก่อนคงชอบบีบคอแมว หรืออะไรทำนองนั้น แล้วต้องมาใช้หนี้ในชาตินี้ แต่นั่นเป็นการเดา อาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ แต่ที่เราพอจะรู้ได้นั้นก็คือมันเป็นผลของกรรมของการเกิด พวกเราทุกคนจะต้องประสบกับความเจ็บป่วย ความหิวกระหาย ความแก่ และความตาย มันเป็นกฎแห่งกรรม อะไรที่เริ่มต้นก็ต้องมีจบ เกิดมาก็ต้องตาย ที่มาด้วยกันก็ต้องจากกันไป เราไม่ได้มองในแง่ร้าย แต่เราจะคอยสังเกตอยู่ ไม่ได้คิดหวังว่าชีวิตจะเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ว่านี้ เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว เราจึงจะยืนหยัดอยู่บนเวทีชีวิตได้ คือลำบากก็ทนได้ และปีติเมื่อมีความสบาย ถ้าเราเข้าใจเราจะมีชีวิตที่น่าพอใจ ชีวิตคนเราจะทุกข์แสนสาหัสสักเพียงไหน ถ้าไปตั้งความหวังไว้ว่า ชีวิตของเราจะป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากที่ว่านี้ ท่านไฝ่ฝันจะประสบพบผู้ที่เหมาะสม รักกัน แต่งงานกัน และอยู่กินกันอย่างราบรื่น ไม่ทะเลาะกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ความตายล่ะ ท่านก็คิดว่าถ้าจะตายก็ตายพร้อมกัน นั่นเป็นความหวังใช่ไหม แต่ท่านจะเสียใจเมื่อคนที่ท่านรักตายไปก่อนหรือหนีตามชู้ไป

เราเรียนรู้ได้ไม่น้อยจากเด็กเล็กๆ เพราะเด็กไม่มีมารยา รู้สึกอย่างไรก็แสดงออกอย่างนั้น มีทุกข์ก็ร้องไห้ เป็นสุขก็หัวเราะ นานมาแล้วชายผู้หนึ่งพาอาตมาไปที่บ้านของเขา พอไปถึงลูกสาวของเขาวิ่งมาหาพ่อด้วยความดีใจ

พ่อบอกว่า “ประเดี๋ยวพ่อจะต้องพาอาจารย์สุเมโธไปพูดที่มหาวิทยาลัยซัสเซกส์”

พอเราเดินออกไปที่ประตู เด็กคนนั้นก็ร้องไห้โฮเหมือนได้รับความเจ็บปวด แม้พ่อจะปลอบ เด็กก็ไม่อาจจะหักห้ามได้ เพราะการจากไปในทันทีของคนที่เขารัก ยังความปวดร้าวให้แก่เด็กในทันใดนั้น ลองนึกดูซิว่าในช่วงชีวิตของเรานั้น มีกี่ครั้งที่เราเศร้าใจเพราะต้องจากคนที่เรารัก หรือจากที่อยู่ซึ่งเราเคยสุข ถ้าท่านมีสติจริงๆแล้ว ท่านจะรู้ว่าความไม่อยากจะจากไปนั่นเองคือความโทมนัส เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเราก็พอจะทำใจได้บ้าง ถ้ารู้ว่าจะได้กลับไปอีก แต่ความเศร้าก็ยังคงอยู่

จากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ อาตมาเดินทางรอบโลก ที่ท่าอากาศยานทุกแห่งจะมีคนมาคอยต้อนรับ แล้วทักทายปราศัยกัน แต่อีกสองสามวันก็จะกล่าวคำอำลาจากกัน มีความรู้สึกว่าเขาอยากจะให้กลับไปเยี่ยมเยียนอีก จึงนึกในใจที่จะหาโอกาสกลับไป เราคงไม่กล่าวคำว่า “ลาละนะ จะไม่กลับมาอีกแล้ว” กับคนที่เราชอบพอกันใช่ไหม เราคงจะบอกว่า “แล้วค่อยเจอกันอีก” หรือว่า “แล้วผมจะโทรไป” หรือ “ผมจะเขียนจดหมายติดต่อไป” เราใช้ถ้อยคำหรือวลีอย่างนี้เพื่อปกปิดความเศร้าที่ต้องจากกัน

ในการทำจิตภาวนานั้น เราทำความรู้อยู่ คือเฝ้าสังเกตว่า ความโศกเศร้านั้นคืออะไรแน่ เราไม่พูดว่าเราจะไม่เศร้าเมื่อจากคนรัก ความรู้สึกเช่นนั้นเป็นของธรรมดามิใช่หรือ ณ บัดนี้ในฐานะนักปฏิบัติ เราเริ่มรู้จักความโทมนัส และแทนที่จะไปกดมัน หรือเสแสร้งทำเฉยเสีย เราจะเข้าใจมัน คนอังกฤษมักจะกดความโศกเศร้าเอาไว้เมื่อมีคนตาย เขาจะไม่ร้องไห้ตีโพยตีพายแต่จะเม้มปาก แต่แล้วเมื่อเขามาหัดภาวนา เขาจะร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วเมื่อสิบห้าปีก่อน ไม่ร้องไห้ตอนนั้นแต่มาร้องเอาเมื่อสิบห้าปีผ่านไป เมื่อมีคนตายเขาจะไม่ยอมรับความเศร้าใจ ไม่อยากแสดงออก เพราะคิดว่าถ้าเขาร้องไห้ คนอื่นก็จะหาว่าอ่อนแอจึงกดเอาไว้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่เข้าใจสภาพของมนุษย์และไม่พยายามเรียนรู้ ในการทำจิตภาวนานั้น เราจะเปิดใจให้กว้าง ให้สิ่งที่เคยถูกกดเอาไว้นั้นปรากฏขึ้นในความรู้สึก เพราะเมื่อรู้ทันอารมณ์แล้ว ก็จะระงับมันไปได้โดยไม่ต้องไปกดไว้อีกต่อไป เรายอมให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปตามทางของมันจนระงับไปเอง คือยอมให้มันไปแทนที่จะไปผลักดัน

ตามปกติเรามักจะผลักดันบางสิ่งบางอย่างออกไปจากตัวเรา ไม่ยอมรับหรือไม่รับรู้ เมื่อใดเรารู้สึกเบื่อ รำคาญ หรือไม่สบายใจ เรามักจะหันไปดูดอกไม้สวยๆ แหงนดูท้องฟ้า หาหนังสือมาอ่าน ดูทีวี หรือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราไม่เคยยอมรับความเบื่อหน่ายอย่างมีสติเต็มที่ เราไม่ยอมรับรู้ความคับแค้นใจหรือความไม่สมหวัง เพราะเราวิ่งไปหาสิ่งอื่นได้เสมอ เช่น ไปเปิดตู้เย็นกินขนม ฟังสเตอริโอ ไม่ยากดอกที่จะผละความรำคาญใจแล้วมาดื่มด่ำอยู่กับเสียงเพลง แต่ในจิตภาวนานั้น เรายอมรับว่ามีความเบื่อหน่าย ความรู้สึกอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรังเกียจ อิจฉา พยาบาท ที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น หรือที่เราเคยกดมันไว้ก็ตาม เรายอมรับเข้ามาในความรู้แจ้งแห่งอารมณ์ ไม่ใช่ยอมรับในฐานะที่เป็นปัญหา (เฉพาะของเรา) แต่ยอมรับด้วยเมตตา และด้วยปัญหานี้ เราจะยอมให้มันดำเนินไปตามทางของมัน จนระงับไปเอง ไม่กักเก็บเอาไว้ให้มันวนเวียนอยู่ตามนิสัยเดิมของเราอีกต่อไป

อาตมาจำประสบการณ์ครั้งหนึ่งได้ ในช่วงปีแรกของการฝึกสมาธิในประเทศไทย ปีนั้นอาตมาอยู่คนเดียวในกุฏิหลังเล็กๆ ในสองสามเดือนแรกนั้นแย่จริงๆ ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างผุดขึ้นมาในดวงจิตของอาตมา ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลง ความกลัว หรือโทสะ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นคนเที่ยวเกลียดคนอื่น แต่ในเวลานั้นดูเหมือนอาตมาเที่ยวเกลียดคนไปหมด ไม่คิดดีกับใครเลย ไม่นึกว่าจะเกลียดชังอะไรมากมายเช่นนั้น มันประดังเข้ามาในอารมณ์

แต่แล้วในบ่ายวันหนึ่ง อาตมามีนิมิตแปลกประหลาด คือเห็นคนเดินออกมาจากหัวสมองของอาตมา เห็นแม่เดินออกมาแล้วหายไปในความว่าง เห็นพ่อและน้องสาวเดิมตามออกมา คิดในใจว่าเราท่าจะเป็นบ้าไปแล้ว แต่มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่เลวร้ายอะไรนักหนา รุ่งเช้าพอตื่นนอนมองไปทั่วๆ อะไรๆ ดูมันพราวเพริศไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ไม่งามเลยแม้แต่น้อยก็ดูสวยสดงดงาม อาตมาตกอยู่ในสภาพขนลุกขนพอง กระท่อมน้อยที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ไม่น่าดูเลย แต่อาตมาเห็นมันเป็นประดุจปราสาทราชวัง ป่าเตี้ยซึ่งมีแต่ต้นไม้แคระๆ นอกกระท่อม กลายเป็นป่าใหญ่ที่สวยงามที่สุด แสงแดดทอลอดเข้ามาทางหน้าต่างกระทบกับจานพลาสติกเก่าๆ ใบหนึ่ง จานใบนั้นช่างงามแวววับจับตายิ่งนัก ความรู้สึกเช่นนี้อยู่กับอาตมาถึงหนึ่งสัปดาห์ และเมื่อมาใคร่ครวญดูก็รู้ได้ทันทีว่า มันเป็นของมันอย่างนั้นได้เหมือนกันเมื่อจิตใจเริ่มใสสว่างขึ้นบ้าง อาตมาเคยแต่มองผ่านกระจกหน้าต่างที่เป็นฝ้าสกปรก เคยชินกับความสกปรกของกระจกหน้าต่างอยู่อย่างนั้น จนไม่รู้ว่ามันสกปรก คิดว่าธรรมดามันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง

ถ้าเราเคยชินกับการมองผ่านกระจกหน้าต่างที่สกปรก ทุกสิ่งที่เห็นก็จะดูหมองมัวน่าเกลียดไปด้วย การปฏิบัติจิตภาวนา เป็นการเช็ดกระจกให้หมดจดผ่องใส เป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ยอมให้ทุกสิ่งเข้ามาในความรับรู้อารมณ์ แล้วยอมให้มันผ่านออกไป และด้วยปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจะเฝ้าสังเกตความเป็นไปของสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่ติดที่ความงาม ไม่ติดที่ความบริสุทธิ์แห่งจิต เพียงแต่กำหนดรู้ไว้เท่านั้น การพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติด้วยปัญญาเช่นนี้ จะทำให้เราไม่หลงอีกต่อไป

เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย แต่นั่นมันเกี่ยวกับกายของท่าน ไม่ใช่ท่าน ร่างกายจริงๆ แล้วไม่ใช่ของท่าน ไม่ว่าจะมีรูปร่างอย่างไร จะแข็งแรงหรือขี้โรค สวยหรือไม่สวย ดำหรือขาว หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ ‘ตัวเรา’ ไม่ใช่ ‘ของเรา’ นี้แหละที่หมายถึงอนัตตา คือร่างกายคนเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เกิดขึ้นมา เติบโต แก่ แล้วก็ตายไป บัดนี้ เราเข้าใจอย่างนั้นตามเหตุผล แต่ตามความรู้สึกหรือตามอารมณ์แล้ว เรายังยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นอยู่กับร่างกาย ในจิตภาวนาเราเริ่มมองเห็นอุปาทานหรือความสำคัญมั่นหมายนี้ เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าเพียงทำจิตให้บริสุทธิ์แล้วไปติดที่ความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าจะพยายามกลั่นกรองซักฟอกความรับรู้อารมณ์ให้ประณีตจนสามารถจะสร้างสมาธิชั้นสูงขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะแม้ความรับรู้อารมณ์จะละเอียดบริสุทธิ์สักปานใด มันก็ยังทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง พระนิพพานไม่ต้องอาศัยสภาวะใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่ดีหรือเลว งามหรือไม่งาม หยาบหรือละเอียด มันเกิดขึ้นก็ดับไป ไม่ยุ่งเกี่ยวกับนิพพาน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความสงบระงับแห่งจิต

เราไม่หลีกเลี่ยงโลกียสุขด้วยความชิงชัง เพราะถ้าเราจงใจประหัตประหารความรู้สึกเช่นนั้น ก็เท่ากับเรากลับคืนสู่นิสัยเดิมที่พยายามจะกำจัดสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ออกไป นี่แหละจึงว่าเราต้องอดทนเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตของคนเรานี้เป็นชีวิตของการทำความสงบ มองให้เห็นว่าเป็นช่วงของการทำความสงบอันยาวนาน มิใช่เพียงแค่สิบวันอย่างนี้ ท่านอาจคิดว่า “ฉันมาปฏิบัติกรรมฐานแค่สิบวันก็เห็นแจ้งแล้ว แต่พอกลับถึงบ้านมันหายไปหมด จะต้องกลับไปทำใหม่ ทำให้นานอีกหน่อย เพื่อจะได้เห็นแจ้งกว่าคราวที่แล้ว ต้องดีแน่ๆ ถ้าได้ทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไปอีก”

ว่าที่จริงแล้ว ยิ่งท่านทำให้ละเอียดสักเท่าใด เมื่อท่านกลับไปสู่โลกียสุขของชีวิตในกรุง ก็จะเห็นว่าความเป็นไปในชีวิตประจำวันของท่านกลับยิ่งเลวกว่าเดิม ในเมื่อท่านขึ้นเบื้องสูง ท่านจะมองว่าชีวิตอันเป็นธรรมดาสามัญนี้ไม่น่าปรารถนา วิถีไปสู่วิปัสสนาปัญญานั้นไม่ใช่ไปเลือกเอาแต่สิ่งละเอียด ไม่เอาสิ่งหยาบ แต่ให้รู้ไว้ว่าความรับรู้อารมณ์ทั้งที่หยาบและละเอียดนั้นเป็นสังขารที่ไม่เที่ยง ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น เป็นอนัตตา ไม่ใช่ ‘ตัวกู’ ไม่ใช่ ‘ของกู’

คำสอนของพระบรมศาสดาเป็นคำสอนง่ายๆ ก็อะไรล่ะที่ดูง่ายๆ เป็นธรรมดา ยิ่งไปกว่าคำสอนที่ว่า ‘เมื่อมีเกิดก็มีดับ’ นี้ไม่ใช่การค้นพบปรัชญาอันยิ่งใหญ่ คนไม่เรียนหนังสือก็รู้ และไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยหรอก เพื่อจะศึกษาเรียนรู้คำสอนนี้

เมื่อเรายังหนุ่มยังสาวอยู่เราก็คิดว่า ยังมีเวลาเป็นหนุ่มเป็นสาวและเที่ยวหาความสุขสำราญได้อีกนาน ถ้าเราเป็นคนสวยคนงาม เราก็อยากจะสวยงามไปชั่วชีวิต ก็มันน่าจะเป็นอย่างนั้นมิใช่หรือ ถ้าเราอายุยี่สิบปี กำลังสนุกเพลิดเพลิน แล้วเกิดมีคนมาบอกว่า “วันหนึ่งคุณต้องตาย” เราคงคิดว่า “คนอะไรใจดำ ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยเลย” เราไม่อยากคิดถึงความตาย เราอยากคิดถึงแต่ชีวิตที่สดชื่นรื่นรมย์ คิดถึงว่าเราจะกอบโกยหาความสุขได้อย่างไร ในฐานะนักปฏิบัติ เราจะพิจารณาความแก่และความตาย ทั้งนี้มิใช่ว่าเราเป็นคนจิตใจผิดปกติ แต่จะพิจารณาวงจรชีวิตครบทั้งวงจร และเมื่อเราเข้าใจดี เราก็จะดำเนินชีวิตของเรา ด้วยความไม่ประมาท คนเราทำสิ่งเลวร้ายก็เพราะเขาไม่ได้พิจารณาความตายของเขาอย่างชาญฉลาด เขาตามตัณหาและอารมณ์ชั่วครู่ พยายามไขว่คว้าหาแต่ความสำราญ เมื่อไม่ได้สมใจก็โกรธ

จงพิจารณาชีวิตและความตายตลอดเวลา ถึงวงจรแห่งธรรมชาติ เฝ้าดูว่าอะไรที่ทำให้เกิดปีติ อะไรทำให้เกิดความเศร้าหมอง ดูซิว่าเรายินดียินร้ายอย่างไรหรือไม่ สังเกตว่าเมื่อเรายึดมั่นอยู่กับความสวยงาม ความสบาย หรือความประทับใจแล้วเป็นอย่างไร มันดีมิใช่หรือที่เราจะมีความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจ เช่นบอกว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันมีความสุขยิ่งเมื่อได้พบพระพุทธเจ้า เป็นการค้นพบที่มหัศจรรย์จริงๆ”

เมื่อเราลังเลใจหรือหดหู่ เราก็ไปหาหนังสือที่สนุกโลดโผนมาอ่านเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ แต่จงจำไว้ว่าความตื่นเต้นเร้าใจเป็นสิ่งไม่เที่ยง ความสุขก็เหมือนกัน เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องประคองรักษามันไว้ และถ้าทำอย่างนั้นซ้ำๆ ซากๆ ก็จะถึงจุดที่เราไม่สุขกันอีกต่อไป ขนมหวานนั้นท่านจะรับประทานเข้าไปมากๆ เรื่อยๆ ท่านจะปวดท้องไม่สบาย ดังนั้น จะอาศัยความซาบซึ้งประทับใจในศาสนาเท่านั้นยังไม่พอ เพราะถ้าไปยึดมั่นอยู่กับความซาบซึ้งเช่นนั้น พอท่านอิ่มแปล้หรือเบื่อขึ้นมา ท่านก็จะผละไปหาของใหม่ๆ ที่ตรึงใจท่านต่อไป

ยึดมั่นในความรักก็เช่นกัน พอความสัมพันธ์จืดจาง ท่านก็มองหาคนอื่นเพื่อจะปลูกต้นรักอีกต่อไปอีก หลายปีมาแล้วตอนอยู่ในสหรัฐ อาตมารู้จักกับสตรีผู้หนึ่ง เธอผ่านการแต่งงานมาถึงหกครั้ง อายุของเธออยู่ในวัย ๓๔ ปี

อาตมาถามเธอว่า “คุณน่าจะรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร หลังการแต่งงานครั้งที่สามหรือครั้งที่สี่ แต่แล้วทำไมจึงมีสามีใหม่ต่อไปอีก”

เธอตอบว่า “มันเป็นเรื่องของความรัก ฉันไม่ค่อยจะสนใจฝ่ายตรงข้ามเท่าไรดอก แต่ฉันชอบความรัก”

อย่างน้อยเธอก็ปากตรงกับใจ แต่ฟังแล้วมันแปลกดี ความหลงรักเป็นสภาวะนำไปสู่ความหมดรัก กามฉันทะ ความซาบซึ้งตรึงใจ ความตื่นเต้น ตลอดจนการผจญภัย เหล่านี้เมื่อขึ้นถึงจุดสุดยอดแล้วจะเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งตรงข้าม เช่นเดียวกับการหายใจเข้าเป็นปัจจัยให้เกิดมีการหายใจออก ลองนึกถึงการหายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการมีความรักครั้งแล้วครั้งเล่ามิใช่หรือ เราจะหายใจเข้าแต่อย่างเดียวไปได้นานสักเท่าใด เพราะหายใจเข้าเป็นปัจจัย หายใจออกจึงมี เพราะการเกิดเป็นปัจจัย การตายจึงมี ความหวังเป็นปัจจัยให้เกิดความผิดหวัง ดังนั้นถ้าเรายึดมั่นอยู่กับความหวังเราจะพบความสิ้นหวัง ถ้าเรายึดอยู่กับความตื่นเต้นเราจะเบื่อหน่าย ถ้าเรายึดอยู่กับความรักใคร่มันจะนำไปสู่การหย่าร้าง เรายึดอยู่กับชีวิตมันจะนำไปสู่ความตาย จึงให้เข้าใจไว้ว่าอุปาทานนี้แหละเป็นเหตุแห่งทุกข์

ชีวิตส่วนใหญ่ของคนเราคล้ายกับการรอคอย โดยหวังว่าจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเกิดขึ้น หวังว่าจะพบความสำเร็จและได้รับความสุข หวังว่าวันหนึ่งคงจะได้พบกับคนที่ท่านหลงรัก แต่การยึดมั่นในความหวังเช่นนั้นจะทำให้ท่านคับแค้นใจในที่สุด

เมื่อพิเคราะห์ด้วยปัญญา เราจะเข้าใจสิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เราจะมองเห็นว่า แท้จริงแล้วเราเองนั่นแหละเป็นผู้สร้างทุกข์ ด้วยอวิชชาหรือความโง่เขลา ไม่เข้าใจโลกอย่างแท้จริง เราจึงติดอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น สิ่งที่นำไปสู่ความสิ้นหวังและความตาย โลกนี้เป็นโลกแห่งความเศร้า มันมืดมนก็เพราะเรามีอุปาทาน เพราะเราไปยึดอยู่กับสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อใดเราหยุดทำเช่นนั้น เมื่อใดเราปล่อยวาง ความเห็นแจ้งก็จะปรากฏ เราเห็นแจ้งโดยไม่ยึดมั่นหมายมั่น ไม่หลงไปกับโลก เราเข้าใจโลกและรู้ว่าจะอยู่กับมันได้อย่างไร ไม่เรียกร้องอะไร เพราะถ้าเรียกร้องให้มันปรนเปรอตัณหาของเราเมื่อใด เมื่อนั้นแหละมันจะนำไปสู่ความคับแค้นใจ

ในเมื่อเราไม่เข้าไปยึดถือครอบครองกามภพในฐานะที่เป็น ‘ตัวกู’ หรือ ‘ของกู’ และมองเห็นเป็นอนัตตา เราก็อยู่กับความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างสบาย สภาวะทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นของมันอย่างนั้น เราไม่หวังให้เป็นอย่างอื่น เมื่อมันเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ราบรื่น เราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความสงบและขันติ เราจะทนต่อความเจ็บปวด เราจะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางดีหรือร้าย ถ้ายังยึดอยู่จะปรับตัวไม่ได้ดี จะคอยแต่ดิ้นรนต่อสู้ พยายามเข้าไปควบคุมยักย้ายถ่ายเท แล้วจะผิดหวัง เกิดความกลัวและท้อแท้ในที่สุด

ถ้าท่านไม่เคยเพ่งพิจารณาโลกอย่างจริงจัง ไม่เคยพากเพียรที่จะเรียนรู้ โลกนี้จะกลายเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวสำหรับท่าน เป็นเหมือนป่าทึบ ไม่รู้ว่ามีอะไรแอบอยู่หลังต้นไม้ จะเป็นเสือร้ายหรืองูพิษ พระนิพพานหมายถึงออกจากป่าทึบ เมื่อเราโน้มนำไปสู่นิพพาน เราก็เคลื่อนเข้าสู่ความสงบเย็นแห่งจิต แม้สภาวะของจิตจะไม่สงบ แต่ตัวจิตเองนั้นเป็นที่สงบ เราต้องแยกออกให้ชัดเจนระหว่างจิตกับสภาวะแห่งจิต สภาวะแห่งจิตนั้นมี สุข ทุกข์ ร่าเริง หดหู่ มีรัก มีชัง หวาดกลัว สงสัย หรือเบื่อหน่าย ท้อแท้ มันมาแล้วก็ผ่านออกไปจากจิตนี้ แต่จิตเองนั้นเหมือนกับความว่างในห้องนี้ ดำรงอยู่อย่างนั้น จะเพ่งที่ความว่างในห้องนี้ได้ เราก็ต้องถอนความสนใจจากสิ่งของเครื่องประดับที่มีอยู่ในห้อง ถ้าเราไปเพ่งที่สิ่งของเครื่องประดับ เราจะเกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ เป็นสุข เป็นทุกข์ เรามองคนในห้องนี้แล้วจะสร้างความนึกคิดไปอย่างไรก็ได้

การถอนความสนใจไม่ได้หมายความว่าจะต้องไล่คนออกไปให้หมด ถ้าเราไม่เพ่งหรือดื่มด่ำอยู่กับสิ่งใด เราจะเห็นภาพรวมได้ชัดเจน จิตนี้คล้ายห้วงอวกาศหรือที่ว่างในท้องฟ้า ไม่สำคัญว่าจะมีอะไรอยู่หรือไม่ เพราะว่าเมื่อใดที่เราประจักษ์ถึงความว่างในจิต เราก็เห็นภาพรวมชัดเจน คือ ‘สุญญตา’ หรือความว่างนั่นเอง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป โดยเราไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่ดิ้นรนต่อต้าน ไม่แตะต้องบงการแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อเราอยู่กับความว่างแห่งจิต หรือจิตว่าง เราก็ไม่ติดอยู่กับสภาวะทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และไม่สร้างขึ้นมาใหม่ นี่คือฝึกปฏิบัติการปล่อยวาง มองให้เห็นว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน นี้แหละที่หมายถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แท้จริงเป็นการมองดู รู้เห็น สำเหนียก และเฝ้าสังเกตว่า อะไรก็ตามที่เกิดแล้วจะต้องดับไป ไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด ดีหรือชั่ว มาแล้วก็ไป ไม่เป็นเรา เราไม่ดี ไม่เลว ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่งาม ไม่น่าเกลียด สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช่ ‘ตัวกู’ นี้เป็นวิถีไปสู่ความเห็นแจ้งตามพุทธวิธี เป็นการน้อมไปสู่พระนิพพาน

ทีนี้ ท่านอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เอ้า ก็เมื่อฉันไม่ใช่สภาวะแห่งจิต ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วฉันเป็นอะไรเล่า”

ท่านอยากให้อาตมาบอกไหมว่า ท่านเป็นใคร และถ้าอาตมาบอกแล้วท่านจะเชื่อไหม ท่านคิดอย่างไรถ้าอาตมาโลดแล่นออกไปข้างนอกแล้วร้องตะโกนถามว่า “ตัวอาตมานี้เป็นใคร” มันเหมือนกับท่านพยายามมองดูนัยน์ตาของท่านเอง ท่านไม่รู้จักตัวท่านก็เพราะท่านเป็นตัวท่านเอง ท่านจะรู้จักได้ก็เฉพาะสิ่งที่ไม่ใช่ตัวท่าน และนี่คือการตอบปัญหาใช่ไหม คือถ้าท่านรู้ว่าอะไรไม่ใช่ตัวท่านแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าท่านเป็นอะไร ถ้าอาตมาร้องขึ้นมาว่า “เอ ตัวฉันเป็นใคร ต้องหาให้จงได้” แล้วมุดเข้าไปดูที่ใต้โต๊ะหมู่บูชาบ้าง เลิกพรมแหวกม่านมองหาบ้าง ท่านคงคิดว่าท่านสุเมโธนี่ชอบกล คงเป็นบ้าไปแล้ว เที่ยวมองหาตนเอง คำถามที่ว่า “ตัวฉันอยู่ที่ไหน” คงเป็นคำถามที่น่าหัวเราะที่สุดในโลก

แท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเป็นใคร แต่อยู่ที่ความเชื่อและถือเอาว่าเราเป็นพวกเดียวกัน หรือเหมือนกันกับสิ่งที่ไม่ใช่เรา ตรงนั้นแหละที่มีทุกข์ ตรงนั้นแหละที่เราได้รับความโทมนัส ความห่อเหี่ยวและความแห้งใจ เมื่อท่านเข้าไปเป็นพวกเดียวกับสิ่งที่ไม่น่าจะพอใจ ท่านก็ไม่ชอบใจ มันเห็นชัดไหม ดังนั้น ทางของพุทธบริษัทคือ การปล่อยวางไม่เสาะหาสิ่งใด ตัวปัญหานั้นคือการเกาะเกี่ยวอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่กับกามภพ ท่านไม่จำเป็นต้องสลัดโลกทิ้งแต่เรียนรู้จากมัน เฝ้าดู และไม่หลงไปกับมัน ใช้ปัญญาของพระพุทธเจ้าเจาะทะลวงเข้าไปโดยเฝ้าสำเหนียก เฝ้าสังเกต ตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ แล้วความโชติช่วงแห่งปัญญาก็จะปรากฏ ใช้ปัญญานี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับกายของท่าน ความนึกคิดของท่าน ตลอดจนความรู้สึก ความทรงจำ และอารมณ์ต่างๆ ท่านจะประจักษ์แจ้ง จะยอมให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผ่านพ้นไป และ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ท่านจะไม่ทำอะไรเลยทั้งสิ้นนอกจากมีปัญญาพร้อมอยู่ จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง


<table class="maeva" cellpadding="0" cellspacing="0" border="0" style="width: 800px" id="sae1"> <tr><td style="width: 800px; height: 576px" colspan="2" id="saeva1"><script type="text/javascript"><!-- // --><![CDATA[ var oldLoad = window.onload; window.onload = function() { if (typeof(oldLoad) == "function") oldLoad(); if (typeof(aevacopy) == "function") aevacopy(); } // ]]></script><embed type="application/x-mplayer2" src="http://www.se-ed.com/ads/pr/sile/song/09.%20Track%209.wma" width="800px" height="576px" wmode="transparent" quality="high" allowFullScreen="true" allowScriptAccess="never" ShowControls="True" autostart="false" autoplay="false" /></td></tr> <tr><td class="aeva_t"><a href="http://www.se-ed.com/ads/pr/sile/song/09.%20Track%209.wma" target="_blank" class="aeva_link bbc_link new_win">http://www.se-ed.com/ads/pr/sile/song/09.%20Track%209.wma</a></td><td class="aeva_q" id="aqc1"></td></tr></table>

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มิถุนายน 2554 03:01:18 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

คำค้น: สุเมโธ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ทุกข์ หนัก พัก นั่ง ลง ตรง นี่
สุขใจ อนามัย
ไอย 1 2104 กระทู้ล่าสุด 30 ธันวาคม 2552 00:57:53
โดย ไอย
รวมเกร็ดคำครู : ทุกข์
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
เงาฝัน 10 8354 กระทู้ล่าสุด 22 พฤษภาคม 2553 14:26:48
โดย หมีงงในพงหญ้า
ทุกข์
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 6 4208 กระทู้ล่าสุด 30 กันยายน 2553 14:26:12
โดย 時々๛कभी कभी๛
พระพุทธดำรัส “ทุกข์ - สุข” สุขและทุกข์เป็นของไม่เที่ยง เมื่อเห็นดังนั้นแล้วผู้มีสติย่อมเบ
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
หมีงงในพงหญ้า 2 3158 กระทู้ล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2564 23:51:19
โดย หมีงงในพงหญ้า
สุข ทุกข์ ของชีวิต โดย ท่านจันทร์
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1374 กระทู้ล่าสุด 29 มิถุนายน 2559 03:34:50
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.691 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 20:53:23