[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 00:26:46 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ถอนสมอเรือ : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต  (อ่าน 1099 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 21 สิงหาคม 2562 17:06:43 »



ถอนสมอเรือ

มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นมาได้เพราะมีเหตุ เหตุก็คือการปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติมรรคผลนิพพานก็ไม่เกิด ดังนั้นอย่าไปโทษอะไรทั้งนั้น โทษที่เหตุคือการปฏิบัติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มรรคผลนิพพานก็ไม่เกิด ถ้าต้องการมรรคผลนิพพานก็ต้องเจริญเหตุ คือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนจะปฏิบัติก็ต้องปริยัติคือศึกษา ศึกษาธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ หนังสือที่ให้ไปนี้เป็นหนังสือธรรมะ เป็นแผนที่ บอกขั้นตอนของการปฏิบัติ ทั้งเหตุทั้งผล ถ้าอ่านแล้วจะเกิดศรัทธา เกิดฉันทะวิริยะ เกิดความยินดีที่จะพากเพียรปฏิบัติเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา ขั้นต้นของการปฏิบัติก็คือทาน ถ้าอยากจะได้ผลเต็มร้อยก็ต้องทำทานเต็มร้อย พระพุทธเจ้าและพระสาวกได้มรรคผลนิพพานเต็มร้อย เพราะได้ทำทานเต็มร้อย ได้สละทรัพย์สมบัติเต็มร้อย ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานทั้งหลาย ล้วนได้ทำทานเต็มร้อยกันทั้งนั้น เวลาออกปฏิบัติไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองติดตัวเลย ท่านสละหมด เพราะข้าวของเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นเหมือนสมอเรือ เรือจะแล่นไปไหนมาไหนไม่ได้ถ้าไม่ได้ถอนสมอเรือก่อน ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย บริษัทบริวาร ญาติสนิทมิตรสหาย คู่รักคู่ครอง เป็นเหมือนสมอเรือ ถ้ายังเสียดายยังหวง ยังไม่สละ ก็ยังไม่ได้ถอนสมอ ถ้าไม่ได้ถอนสมอ เรือจะไม่สามารถแล่นได้ ผู้ปรารถนามรรคผลนิพพานจึงต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ต้องปฏิบัติเต็มร้อย ถึงจะได้ผลเต็มร้อย ถ้าไม่ปฏิบัติเต็มร้อย ผลก็จะไม่เต็มร้อย ผู้ครองเรือนก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เช่นบรรลุขั้นพระโสดาบัน แต่จะไม่สามารถบรรลุขั้นสูงกว่านั้น เพราะพระโสดาบันยังมีความผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง กับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าอยากจะได้ผลที่สูงกว่านั้น ก็ต้องสร้างเหตุให้มากขึ้น คือต้องสละสมบัติ สละเพศของฆราวาส แล้วก็ออกบวช เพื่อจะได้รักษาศีลอย่างเต็มที่ จะได้มีเวลาปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่มีภารกิจอื่นมากีดกั้นการบำเพ็ญ การดำเนินเพื่อให้เกิดธรรมที่สูงกว่าขั้นพระโสดาบัน คือขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ ต้องสร้างเหตุให้เต็มร้อย ทานก็สละไปให้หมด ศีลก็รักษาให้บริสุทธิ์ตลอดเวลา ศีลของผู้ปฏิบัติก็ศีล ๘ ขึ้นไป ศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุ ศีล ๓๑๐ สำหรับภิกษุณี

ส่วนการปฏิบัติเต็มร้อยทางภาวนา ก็คือการเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ประคับประคองควบคุมจิตใจไม่ให้ลอยไปลอยมา ไม่ให้คิดเรื่องราวต่างๆ ดึงจิตให้อยู่กับเรื่องเดียว ให้มีอารมณ์เดียว เช่นให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นอกจากเรื่องที่จำเป็น ให้มีสติรู้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ต้องดึงกลับมา ใช้พุทโธดึงกลับเข้ามา อย่างที่ได้ทรงสอนพระภิกษุว่า ทำอะไรก็ให้มีสติ ถ้าปัดกวาดก็ให้มีสติอยู่กับการปัดกวาด ถ้าบิณฑบาตก็ให้มีสติกับการบิณฑบาต ให้จดจ่ออยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ ไม่ส่งใจไปที่อื่น เช่นไม่คุยกันเวลาที่ทำกิจต่างๆ เพราะเป็นการทำกิจ ๒ อย่าง ใจจะลอยไปลอยมา ลอยมาที่กิจที่กำลังทำอยู่ แล้วก็ลอยไปที่เรื่องที่กำลังพูดคุยกันอยู่ นักภาวนานักปฏิบัติจึงไม่คุยกันเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน จะมีสติจดจ่ออยู่กับงานของตนเพียงอย่างเดียว ควบคุมความคิดไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ทำใจให้ว่าง ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังอาบน้ำ กำลังรับประทานอาหาร กำลังทำกิจต่างๆ ก็ให้จดจ่ออยู่กับกิจนั้นๆ ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ เพื่อดึงใจไม่ให้ไปคิด ไม่ให้คิดถึงอดีตที่ผ่านมา ไม่ให้คิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้อยู่ในปัจจุบันเป็นหลัก

พอมีเวลาว่างจากภารกิจการงาน ไม่ต้องทำอะไร ก็หาที่สงบนั่งขัดสมาธิหลับตา ตั้งสติอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าจะบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าจะดูลมหายใจเข้าออกก็ดูไป ควรทำอย่างเดียวจะดีกว่า ถ้าทำ ๒ อย่างจะขัดกัน ถ้าต้องการบริกรรมให้เร็วขึ้นก็จะทำไม่ได้ เพราะลมหายใจไม่เร็ว ถ้าจะบริกรรมพุทโธเร็วๆก็อย่าไปสนใจลม เอาแต่พุทโธอย่างเดียว ถ้าจะบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธไปอย่างเดียว ถ้าจะดูลมก็ดูลมไปอย่างเดียว ดูลมเข้าออกที่ปลายจมูก ไม่ต้องตามลมเข้า ไม่ต้องตามลมออก ให้จดจ่อเฝ้าดูลมเข้าออกที่ปลายจมูก อย่าตามเข้าอย่าตามออก เพราะจะทำให้ใจแกว่งไปแกว่งมา ต้องทำใจให้นิ่ง ให้เป็นอารมณ์เดียว ไม่ต้องบังคับลม ลมจะหยาบจะละเอียด จะหายใจสั้นหายใจยาว ก็เป็นเรื่องของลม ใช้ลมเป็นเหมือนสมอเรือ เป็นที่ยึดใจ ถ้าใจไม่มีอะไรยึด ก็จะเป็นเหมือนเรือที่ไม่ได้ทอดสมอ เรือก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ ถ้าทอดสมอเรือก็จะไม่ลอยไป ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่ทอดสมอด้วยการบริกรรมพุทโธ หรือดูลมหายใจเข้าออก ใจก็จะไหลลอยไปตามกระแสความคิดต่างๆ เพราะใจยังไม่สงบ ยังมีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา

ถ้าไม่มีอะไรเกาะไว้ ใจจะลอยไปกับเรื่องต่างๆ ต้องหาอะไรเกาะ หาอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่นบริกรรมพุทโธๆก็ได้ ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ไม่ต้องกังวลว่าหายใจสั้นหรือหายใจยาว หายใจหยาบหรือหายใจละเอียด ให้รู้ตามความเป็นจริง ถ้าหยาบก็รู้ว่าหยาบ ถ้าละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ถ้าสั้นก็รู้ว่าสั้น ถ้ายาวก็รู้ว่ายาว ให้รู้อยู่กับลมอย่างเดียว อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่น ถ้ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้มาปรากฏ ก็อย่าไปตามรู้ อย่าไปสนใจ หรือมีอาการคันตรงนั้นคันตรงนี้ เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจ ให้เกาะติดอยู่กับลม หรือเกาะติดอยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่อง ใจจะเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว ที่เข้าไม่ได้เพราะใจส่ายไปส่ายมา ไม่อยู่กับอารมณ์เดียว อยู่กับลมแป๊บเดียวแล้วก็เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปสนใจกับสิ่งที่มาให้สัมผัสรับรู้ บางทีก็เป็นเสียง บางทีก็เป็นกลิ่น บางทีก็เป็นความรู้สึกทางร่างกาย คันตรงนั้นบ้างคันตรงนี้บ้าง แน่นหน้าอกบ้าง อะไรต่างๆเหล่านี้อย่าไปสนใจ อะไรจะเกิดก็ปล่อยเขาไป เป็นเรื่องของเขา ตอนนี้เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือภาวนา คือดูลมหายใจเข้าออก หรือบริกรรมพุทโธๆไป ถ้าใจไม่ยอมอยู่กับลมหายใจเพราะคิดมาก ก็ต้องใช้อุบายของการสวดมนต์ไปก่อน สวดมนต์ไป ดูสิว่าจะอยู่กับการสวดมนต์ได้หรือไม่ ถ้าอยู่ได้ก็สวดไปจนกว่าใจจะนิ่ง จะหยุดคิด แล้วค่อยดูลมต่อ

นี่เป็นการทำสมาธิด้วยการเจริญอานาปานสติ คือมีสติดูลมหายใจเข้าออก หรือด้วยการเจริญพุทธานุสติ คือการบริกรรมพุทโธๆ ขึ้นอยู่กับจริตหรือขึ้นอยู่กับภาวะของจิต ถ้าจิตฟุ้งการบริกรรมอาจจะดีกว่า หรือการสวดมนต์จะดีกว่า ถ้าจิตไม่ฟุ้งดูลมได้ ก็ดูลมจะดีกว่า ต้องสังเกตดู ว่าจะใช้กรรมฐานอันไหนจะดีกว่า ถ้าใช้อันไหนแล้วก็ให้ใช้อันนั้นไป ถ้าไม่สงบก็อย่าไปโทษจริต ไม่ใช่เรื่องของจริต เป็นเรื่องของการไม่มีสติเสียมากกว่า ใจไม่นิ่ง ไม่อยู่กับอารมณ์ที่ให้จดจ่อเฝ้าดูอยู่ แสดงว่าเจริญสติมาไม่มากพอ หรือสติไม่มีกำลังมากพอ ก็ต้องเจริญสติให้มากในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทุกวัน ทุกเวลา เจริญสติอยู่เรื่อยๆ ดึงจิตให้อยู่กับร่างกาย ผูกจิตไว้กับร่างกาย หรือผูกจิตไว้กับพุทโธ เป้าหมายก็คือต้องการหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้ามีอะไรให้จิตเฝ้าดู ให้จิตทำ ก็จะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ชีวิตของฆราวาสนี้ เป็นชีวิตที่ยากต่อการเจริญสติ เพราะต้องใช้ความคิดมาก ต้องทำมาหากิน ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีเรื่องให้คิดมากมาย เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ บุคคลต่างๆมาก จึงไม่ค่อยมีฆราวาสบรรลุธรรมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวช

เพราะนักบวชไม่มีเรื่องมาก เพราะได้ตัดไปหมดแล้ว ด้วยการให้ทาน สละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย การเจริญสติจึงทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ได้อยู่ใกล้ใครนั้นเอง ผู้เจริญจิตตภาวนาจึงต้องปลีกวิเวก ต้องอยู่คนเดียว อยู่ห่างไกลจากแสงสีเสียง ห่างไกลจากบุคคลต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนิวรณ์ เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถทำใจให้สงบได้เวลานั่งสมาธิ ต้องปลีกวิเวกแล้วก็ไม่คลุกคลีกัน เวลามาทำกิจร่วมกันก็จะไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำกิจของตนไป ทำเสร็จแล้วก็แยกกันไป ถ้าอยู่คนเดียวก็จะไม่มีอะไรมารบกวนใจ มาดึงใจให้ไปคิด ถึงแม้จะไม่มีอะไรภายนอกมาดึงใจไป ก็ยังมีกระแสความคิดในใจ ต้องใช้พุทโธหยุดกระแสความคิดให้ได้ การบริกรรมพุทโธก็เท่ากับระงับกระแสของความคิดต่างๆ หรือการจดจ่อดูการเคลื่อนไหวของร่างกายก็เช่นกัน เวลาเดินจงกรมก็ให้ดูที่เท้าที่กำลังก้าว ซ้ายขวาซ้ายขวา เดินตามธรรมดา ไม่ช้าไม่เร็ว เดินตามปกติ ไม่ได้หัดเดิน กำลังภาวนา บางสำนักจะสอนให้ก้าวหนอ ย่างหนอ วางหนอ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ ให้เรารู้ว่ากำลังก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาก็ใช้ได้แล้ว เพื่อไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้อยู่กับการก้าวเท้า หรือไม่เช่นนั้นก็บริกรรมพุทโธๆไป ถ้าชอบการเจริญกายคตาสติ คืออาการ ๓๒ ก็ท่องชื่อของอาการต่างๆไปก่อนก็ได้ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ท่องไปให้ครบทั้ง ๓๒ อาการ ทั้งอนุโลมและปฏิโลม ท่องไปเรื่อยๆเพื่อเป็นอุบายดึงใจไม่ให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดสติ ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้เพื่อให้เกิดปัญญา ใช้เพื่อเจริญสติ ใช้เพื่อให้ใจนิ่ง เพื่อจะได้ทำให้ใจเข้าสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่

ขั้นนี้คือการเจริญสติ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ พอมีเวลาว่างก็นั่งหลับตาแล้วก็เจริญสติต่อ ถ้าสติมีกำลังดึงจิตให้อยู่กับอารมณ์ของการภาวนาได้ ก็จะเข้าสู่ความสงบได้ พอจิตสงบเต็มที่ก็จะว่าง จะเย็นจะสบาย ไม่มีความคิดปรุงแต่ง เป็นอุเบกขา มีอารมณ์เดียวที่เรียกว่าสักแต่ว่ารู้ รู้เฉยๆ แต่ไม่มีอะไรให้รู้ รู้ว่ามีแต่ความว่าง ปล่อยให้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิ เป็นสมาธิที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่จะสนับสนุนการเจริญปัญญาต่อไป แต่ตอนที่สงบนิ่งนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเจริญปัญญา เป็นการเจริญสมาธิ ปล่อยให้สงบให้นานที่สุด ถ้าจิตสงบได้นาน ก็จะมีกำลังที่จะต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้มาก ความคิดปรุงแต่งต่างๆได้มาก เพราะสมาธิเป็นเหมือนเบรกรถยนต์ ถ้ารถยนต์มีเบรกก็จะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของรถยนต์ได้ ถ้าไม่มีเบรกก็จะไม่สามารถหยุดได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของกิเลสตัณหา คือความโลภความอยากความโกรธความหลงได้ เวลาอยู่ในสมาธิ จิตสงบแล้ว ตอนนั้นกิเลสตัณหาก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องหยุดไป ถ้าหยุดไปนานๆ กำลังของกิเลสตัณหาก็จะอ่อนลงไปด้วย เวลาออกจากสมาธิแบบนี้มา กิเลสตัณหาจะไม่ค่อยมีกำลังเหมือนตอนก่อนที่จะเข้าสมาธิ ก็จะเหมาะต่อการเจริญปัญญา สามารถคิดไปในทางปัญญาได้ คิดไปในทางความจริงได้ คิดไปในทางอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ คิดไปในทางอสุภะได้ ถ้าไม่มีสมาธิกิเลสจะมีกำลังมากกว่า กิเลสจะดึงให้ไปคิดในทางตรงกันข้ามกัน ให้คิดในทางสุภะ ความสวยงาม ให้คิดไปในทางนิจจังสุขังอัตตา ให้คิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ความสุขกับเรา สิ่งนั้นสิ่งนี้จะอยู่กับเราไปนานๆ นี่เป็นความคิดในทางกิเลสตัณหา ในทางความหลง จะไม่มีกำลังพิจารณาอสุภะ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา

ถ้ามีสมาธิแล้วไม่พิจารณา ปัญญาก็จะไม่เกิด ต้องบังคับให้พิจารณา พอออกจากสมาธิแล้วก็พิจารณาอสุภะ พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ ดูความจริงของร่างกายว่าเป็นอย่างไร ร่างกายสวยจริงหรือไม่ หรือสวยบางส่วน บางส่วนก็ไม่สวย ร่างกายจะอยู่อย่างนี้ไปตลอดหรือจะต้องเปลี่ยนไป เวลาร่างกายหมดลมหายใจแล้วเป็นอย่างไร ให้ดูสภาพต่างๆของร่างกาย เพื่อจะได้เห็นความจริง ไม่เช่นนั้นจะมองว่าร่างกายจะหายใจไปเรื่อยๆ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาดูร่างกายตั้งแต่เกิดจนตาย ก็จะเห็นว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พิจารณาเพื่อให้คลายความหลง คลายความยึดติดในร่างกาย พิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ในรูปแบบของอาหารชนิดต่างๆ อาหารก็มาจากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ ถ้าไม่มีดินน้ำลมไฟ อาหารจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ เช่นต้นข้าว ถ้าไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีอากาศ ไม่มีแสงแดด ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เช่นเดียวกับผักต่างๆ สัตว์ที่กินข้าวกินผัก ก็เอามาแปลงเป็นร่างกายของสัตว์ แล้วเราก็เอาเนื้อสัตว์มารับประทานอีกที ล้วนมาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น พอเข้ามาสู่ร่างกายก็แปลงเป็นอาการ ๓๒ เป็นอวัยวะต่างๆ เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก ฯลฯ พอร่างกายหยุดทำงาน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะแยกออกจากกันไป ธาตุน้ำก็จะไหลออกไป ธาตุไฟก็จะหายไป ธาตุลมก็จะระเหยออกไป เหลือแต่ธาตุดิน ให้พิจารณาอย่างนี้

ถ้ามีสมาธิแล้วจะพิจารณาได้อย่างเพลิดเพลิน ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่มีกำลังพิจารณา พิจารณาได้แวบเดียว ก็จะคิดถึงขนมนมเนย คิดถึงแสงสีเสียง คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ปั๊บ ก็จะลืมพิจารณา นี่คือความสำคัญของสมาธิ เพราะสมาธิจะตัดกำลังของความหลง ของความอยาก ของความโลภ ทำให้ใจมีกำลังพิจารณาธรรม คิดไปในทางปัญญาได้ ถ้ามีสมาธิแล้วไม่พิจารณาก็จะไม่เกิดปัญญา บางท่านคิดว่าถ้ามีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดขึ้นเอง ปัญญาไม่เกิดขึ้นเอง ปัญญาต้องเกิดจากการพิจารณาความจริงของขันธ์ ๕ ความจริงของสิ่งต่างๆที่ใจมาเกี่ยวข้องด้วย ของภายนอกก็คือข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ แต่พวกเราไม่มองว่าเป็นอย่างนั้น พวกเราจะมองตามสมมุติ ว่าเป็นนาย ก. นาย ข. เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสูงเป็นต่ำ มีค่าอย่างนั้นมีค่าอย่างนี้ ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นธาตุดินบ้าง เป็นธาตุน้ำบ้าง เป็นธาตุไฟบ้าง เป็นธาตุลมบ้าง ไม่ได้วิเศษอย่างไร ไม่สามารถทำให้จิตใจของพวกเราวิเศษขึ้นมาได้ ถ้ายังยึดติดธาตุ ๔ อยู่ จะไม่สามารถพัฒนาจิตใจสู่ความสูงสุดคือมรรคผลนิพพานได้

ปัญญาเป็นโลกุตตรธรรม เป็นธรรมที่จะยกจิตให้อยู่เหนือโลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิด สมาธิยังเป็นโลกิยะ ศีลก็โลกิยะ ทานก็โลกิยะ ถ้าทำทานรักษาศีลนั่งสมาธิได้ ได้ฌานได้สมาบัติ ก็ยังจะไม่สามารถยกจิตให้อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิดได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ คือต้องเห็นความจริงของสิ่งต่างๆที่จิตยังหลงยึดติดอยู่ เช่นขันธ์ ๕ เช่นลาภยศสรรเสริญ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สิ่งเหล่านี้เป็นโลกิยะ ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่เป็นความสุข ไม่สวยงาม ไม่น่าชื่นชมยินดี ถ้าเห็นตามความจริงแล้ว ก็จะคลายความชื่นชมยินดี คลายความอยากได้ในสิ่งต่างๆ ถ้าคลายได้แล้ว ปล่อยวางได้แล้ว ก็จะหลุดได้ ตอนนี้ไม่หลุดเพราะยังยึดติด ยังชอบยังรักลาภยศสรรเสริญสุข ยังรักขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ถ้าต้องการหลุดพ้น ก็ต้องเข้าสู่ขั้นปัญญาให้ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นปัญญาได้ ก็ต้องมีสมาธิก่อน ก่อนที่จะมีสมาธิได้ ก็ต้องมีสติก่อน ก่อนที่จะเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องสละเพศของฆราวาสไปก่อน 

ต้องอยู่แบบนักบวช ถ้าไม่ได้บวชก็ต้องอยู่แบบนักบวช อยู่คนเดียว ไม่เกี่ยวข้องไม่ยุ่งกับใคร ไม่ยุ่งกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง มีทรัพย์สมบัติไว้เพื่อการดำรงชีพเท่านั้น ไม่เอามาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของใจ ให้ความสุขกับใจ เช่นเอาเงินไปซื้อข้าวของต่างๆ ไปซื้อไปเที่ยวไปกินไปดื่ม ไปหาความสุขจากการใช้เงินทอง มีเงินทองไว้เพื่อรักษาอัตภาพร่างกาย คือมีปัจจัย ๔ พอเพียงต่อการดำรงชีพ ต่อการปฏิบัติธรรม นี่คือในกรณีที่ไม่ได้ออกบวช ถ้าออกบวชได้ก็ไม่ต้องมีเงินทอง เพราะมีผู้อื่นคอยสนับสนุนในเรื่องปัจจัย ๔ อยู่แล้ว จะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ รักษาศีลได้อย่างง่ายดาย จะไม่มีปัญหากับเรื่องทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่ต้องฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาทรัพย์สมบัติเงินทอง ไม่ต้องหาทรัพย์สมบัติเงินทองมาเพิ่ม ไม่ต้องฉ้อโกง ไม่ต้องลักทรัพย์ ไม่ต้องประพฤติผิดประเวณี ไม่ต้องโกหกหลอกลวง ไม่ต้องเสพสุรายาเมาและอบายมุขต่างๆ เพราะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ในใจ คือความสงบ ความสุขที่ได้รับจากความสงบนี้ เป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งปวง ไม่มีความสุขใดในโลกนี้ที่จะดีเท่า หรือดีกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง 

ถ้าได้สัมผัสกับความสุขภายในใจ คือความสงบอย่างแท้จริงแล้ว จะเบื่อหน่ายกับความสุขต่างๆที่ได้สัมผัสมา จะอยากสัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบนี้เท่านั้น จะอยากอยู่แบบนักบวช อยากออกบวช เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติทำใจให้สงบได้อย่างเต็มที่ ขั้นต้นก็ทำความสงบในระดับสมาธิก่อน คือสงบได้ชั่วคราว เวลาเข้าไปในสมาธิ ใจก็จะสงบเย็นสบาย พอออกมาใหม่ๆก็ยังเย็นอยู่ แต่พอนานเข้าไปแล้วความสงบก็จะค่อยๆจางหายไป เหมือนน้ำเย็นที่แช่ในตู้เย็น เวลาเอาออกมาจากตู้เย็นใหม่ๆน้ำก็เย็นเฉียบ พอปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้ว ความเย็นก็จะค่อยๆจางหายไป ก็ต้องเอากลับเข้าไปแช่ในตู้เย็นใหม่ ถ้าอยากจะดื่มน้ำเย็นๆอีก ฉันใด ถ้าต้องการให้จิตสงบให้มีความสุข ก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิอีก ถ้ายังอยู่ในระดับสมาธิ ถ้าอยากจะให้สงบแบบไม่ต้องเข้าสมาธิ คือรักษาความสงบที่ได้จากสมาธิไว้ ตั้งแต่ออกจากสมาธิ ก็ต้องเจริญปัญญา ต้องพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อสกัดกั้นความอยากต่างๆ ที่เป็นเหมือนไฟ ที่จะทำให้ใจร้อนขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญาคอยสกัดกั้นความอยาก เช่นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้ ความร้อนของใจก็จะไม่เกิด ใจก็จะเย็นต่อไป

การเจริญปัญญาก็มี ๒ ลักษณะคือ ๑. พิจารณาเวลาเกิดเหตุการณ์ ๒. พิจารณาเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซ้อมไว้ก่อน ทำการบ้านไปก่อน เพราะเหตุการณ์จริงยังไม่เกิด เช่นการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จากบุคคลต่างๆ จากร่างกาย สักวันหนึ่งร่างกายก็ต้องแก่เจ็บตาย ร่างกายของคนที่เรารักที่เรารู้จักก็เช่นเดียวกัน ต้องแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ทรัพย์สมบัติก็ต้องพลัดพรากจากเราไป ให้ซ้อมไว้ก่อน คอยสอนใจให้ใจยอมรับความจริง พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา จะได้รู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ ถ้าเตรียมตัวอย่างเต็มที่ พอเกิดเหตุการณ์จริง ถ้าใจไม่ต่อต้านความจริง ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น ใจก็จะไม่ทุกข์ ใจจะสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเจริญปัญญาไปแล้ว เกิดอาการฟุ้งขึ้นมา ก็แสดงว่าสมาธิหมดกำลัง ก็ต้องหยุดพิจารณา แล้วก็ย้อนกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ ทำใจให้สงบ ทำอย่างนี้สลับกันไป ระหว่างสมาธิและปัญญา จนกว่าจะสอบผ่าน พอสอบผ่านแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ปัญญาไม่ต้องใช้สมาธิอีกต่อไป เพราะดับความอยากได้แล้ว จะไม่ทุกข์อีกต่อไป จะเย็นสบาย จะสงบไปตามลำดับของปัญญา

ปัญญาก็มีอยู่ ๔ ระดับคือ ๑. ระดับของพระโสดาบัน ๒. ระดับของพระสกิทาคามี ๓. ระดับของพระอนาคามี ๔. ระดับของพระอรหันต์ จิตจะสงบเย็นไปตามลำดับของปัญญา เริ่มที่ระดับของโสดาบัน ไปสู่สกิทาคามี ไปสู่อนาคามี พอเข้าขั้นพระอรหันต์ก็จะเย็นอย่างเต็มที่ เย็นอยู่ตลอดเวลา สุขอยู่ตลอดเวลา ไม่ฟุ้งไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น ใจเป็นอุเบกขาตลอดเวลา เกิดจากอำนาจของปัญญา สมาธิไม่สามารถทำให้เป็นได้ ถ้าได้เพียงขั้นสมาธิก็ยังต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก เพราะกำลังของสมาธิไม่ถาวร พอสงบแล้วก็จะค่อยๆหมดไป ถ้าได้ฌานได้สมาธิ เวลาตายไปใจก็จะเป็นพรหม แล้วก็จะค่อยๆเสื่อมลง เหมือนกับน้ำเย็นที่จะค่อยๆหมดความเย็นไป เพราะในใจยังมีกิเลสตัณหา เหตุที่ทำให้ใจร้อนขึ้นมา ทำให้ใจอยากขึ้นมา พอกิเลสตัณหาเริ่มมีกำลังก็จะเกิดความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะเสื่อมจากชั้นพรหมลงมาสู่ชั้นเทพ เพื่อมาเสพรูปเสียงกลิ่นรสทิพย์ จากนั้นก็จะเกิดความอยากมากขึ้น ก็ต้องเสพรูปเสียงกลิ่นรสที่หยาบ ก็ต้องมีร่างกายของมนุษย์ ต้องกลับมาเกิดแก่เจ็บตายใหม่ นี่เป็นผลที่ได้จากการเจริญสมาธิ ได้สวรรค์ชั้นพรหม ถ้าให้ทานกับรักษาศีลก็จะได้สวรรค์ชั้นเทพ ถ้าไม่รักษาศีลไม่ทำทานทำบุญเลย ก็จะได้เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นนรก

นี่คือสถานภาพของจิตใจของสัตว์โลก ขึ้นอยู่ที่บุญกรรมที่ทำเอาไว้ จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็ต้องมีโลกุตตรธรรม ต้องมีปัญญา ต้องมีพระพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ มาสอนความจริง คืออนิจจังทุกขังอนัตตา สอนอริยสัจ ๔ ทุกขังก็คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ นี่เอง ไม่ใช่ทุกขเวทนาความเจ็บของร่างกาย ความเจ็บของร่างกายไม่ใช่อริยสัจ ๔ เป็นทุกขเวทนา เป็นทุกข์ในขันธ์ แต่ทุกขังในอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากตัณหาความอยาก กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้ามีความอยากเหล่านี้ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถึงแม้ร่างกายจะอิ่มจะสบายจะสุขจะอยู่ในห้องปรับอากาศ พอมีความอยากเกิดขึ้นมาปั๊บ ใจจะทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ความทุกข์นี้ไม่ใช่ความทุกข์ทางร่างกายที่เรียกว่าทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเกิดจากเวลาร่างกายไปเหยียบหนามเข้า แล้วเกิดอาการเจ็บขึ้นมา ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดทางใจ ไม่ได้เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ คนละเรื่องกัน 

ทุกข์ในอริยสัจ ๔ นี้ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะมีปัญญาบารมีเห็นได้ด้วยพระองค์เอง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอน พวกเราก็จะเห็นแต่ทุกข์ทางร่างกาย ไม่เห็นทุกข์ทางใจ เช่นเวลาหิวข้าวจะไม่รู้ว่ามีความหิวอยู่ ๒ ส่วน หิวกายและหิวใจ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่มีปัญญาแยกทุกข์ ๒ ส่วนนี้ออกจากกัน รู้ว่ามีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ วิธีปฏิบัติต่อทุกข์กายและทุกข์ใจก็ไม่เหมือนกัน วิธีปฏิบัติกับทุกข์กายก็คือ ถ้าแก้ได้ก็แก้ไป เช่นถ้าหิวข้าว มีข้าวกินก็กินไป ถ้าไม่มีกินก็ปล่อยให้หิวไป ถ้าอยากให้ความหิวหายไป ก็จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ใจก็ต้องปล่อยวางความหิวของร่างกาย หาอะไรมารับประทานไม่ได้ก็ต้องอยู่กับความหิวไป ถ้าอยู่กับความหิวได้ ไม่เดือดร้อนกับความหิว ก็จะไม่ทุกข์ใจ ถ้าอยู่กับความหิวไม่ได้ ก็จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมาอีกทุกข์หนึ่ง ที่รุนแรงกว่าความหิวทางร่างกาย

วิธีที่ดับความทุกข์ใจ ก็คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เวลาใจเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่มีปัญญาหยุดความทุกข์ทางใจได้ ก็ใช้สมถภาวนาหยุดไปก่อนชั่วคราว นั่งสมาธิทำใจให้สงบไปก่อน บริกรรมพุทโธๆไป อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจ เช่นอยากจะรับประทานอาหาร พอคิดถึงอาหารน้ำลายก็จะไหล จะเกิดความหิวขึ้นมาทันที พอหยุดคิดถึงอาหารได้ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากอาหารก็จะหายไป เหลือแต่ความหิวของร่างกาย ซึ่งไม่รุนแรงเหมือนกับความทุกข์ทางใจ ที่เกิดจากความอยากจะรับประทานอาหาร ความทุกข์ทางใจนี้รุนแรงกว่าความทุกข์ทางร่างกายเป็น ๑๐ ต่อ ๑ ถ้าหยุดความทุกข์ทางใจได้ ความทุกข์ทางร่างกายจะไม่เป็นปัญหา ความทุกข์ทางร่างกายนี้บางทีเราหยุดเขาไม่ได้ เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มียาไม่มีหมอ ก็ต้องอยู่กับมันไป พระที่อยู่ในป่า เวลาเจอไข้ป่าไม่มียารักษา ก็ต้องใช้การภาวนา แยกใจออกจากร่างกาย ปล่อยให้ร่างกายเจ็บไป แต่ไม่ให้ใจทุกข์กับร่างกาย อย่าให้ใจอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ถ้าใจเป็นอุเบกขา เป็นสมาธิ ใจจะไม่เดือดร้อน นี่เป็นการใช้อุบายของสมาธิ ทำใจให้สงบ ไม่ให้คิดถึงความเจ็บของร่างกาย ปล่อยวางความเจ็บของร่างกายไว้ชั่วคราว พอออกจากสมาธิมาสัมผัสกับความเจ็บของร่างกาย ถ้าเกิดความอยากให้หาย ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก

ถ้าอยากจะให้ความทุกข์ใจหายอย่างถาวร ก็ต้องเข้าใจกฎของอริยสัจ ๔ ต้องเข้าใจว่าความทุกข์ทางใจ เกิดจากความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าไม่อยากเจ็บทางใจก็ต้องปล่อยวางความอยาก ร่างกายจะหายเจ็บหรือไม่หาย ก็ปล่อยเขาไป อยู่กับความเจ็บให้ได้ อย่าไปปฏิเสธเขา อย่าไปอยากให้เขาหายไป ถ้าไม่มีความอยากอย่างนี้ ใจก็จะเฉยๆ จะไม่ทุกข์กับความเจ็บของร่างกาย ความเจ็บของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ เพราะใจสงบด้วยการละความอยาก นี่คือวิปัสสนาปัญญา ถ้ามีปัญญาแบบนี้แล้ว เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะตายนี้จะไม่เป็นปัญหา จะมีหมอมียารักษาหรือไม่มีก็ไม่เป็นปัญหา เพราะอยู่กับความเจ็บของร่างกายได้ อยู่กับความตายได้ อย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้ามีปัญญาแล้วจะปล่อยวางได้ รับความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายได้ ว่ามีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ไม่สามารถไปควบคุมบังคับเขาได้เสมอไป บางครั้งบางเวลาก็พอจัดการได้ พอถึงระดับหนึ่งก็จะจัดการไม่ได้ เช่นเวลาใกล้ตาย ไม่มีใครจะยับยั้งได้ ต้องปล่อยวางอย่างเดียว ให้มันตายไป ให้รู้เฉยๆ แล้วใจจะไม่ทุกข์ ต่อไปจะไม่ไปหาร่างกายใหม่อีก เพราะเข็ดแล้ว เพราะเห็นแล้วว่าร่างกายเป็นทุกข์

นี่คือเรื่องของปัญญา ที่มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่จะมีความสามารถรู้เห็นได้ด้วยพระองค์เอง คือเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าทุกข์ทางใจเกิดจากความอยาก ๓ ประการ คือกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เห็นวิธีดับความทุกข์ทางใจ ก็คือต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้ฉลาด ให้ยอมรับความจริง เพื่อจะได้ละความอยากได้ เช่นรู้ว่าหยุดความตายไม่ได้ เหมือนตอนนี้ฟ้าร้อง ถ้าอยากจะให้ฟ้าหยุดร้อง ก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ เพราะฟ้าจะไม่หยุดร้องตามความอยากของเรา ถ้าไม่อยากไปทุกข์กับเสียงฟ้าร้อง ก็ปล่อยให้ฟ้าร้องไป ใจก็จะนิ่งจะสงบ จะไม่ทุกข์กับเสียงฟ้าร้อง นี่คือความรู้ที่จะปลดเปลื้องสัตว์โลก ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะว่าสิ่งต่างๆที่สัตว์โลกไปยึดติดนี่ ก็มีความทุกข์นี้แหละที่ทำให้ปล่อยไม่ได้ เพราะเวลาทุกข์แล้ว แทนที่จะละความอยาก กลับทำตามความอยาก ก็ยิ่งทุกข์ไปใหญ่ ต้องหยุดความอยาก เช่นเวลาจะสูญเสียสิ่งที่เรารักไป ก็อย่าไปอยากให้เป็นอย่างอื่น เขาจะไปก็ปล่อยเขาไป แล้วจะไม่ทุกข์ ถ้าอยากให้เขาอยู่กับเรา ก็จะยิ่งทุกข์ใหญ่ ทุกข์ในขณะที่เขากำลังจะจากเราไป และทุกข์หลังจากที่เขาจากเราไปแล้ว 

ขอให้พวกเราศึกษาอริยสัจ ๔ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ควบคู่ไปกับไตรลักษณ์ เพราะอริยสัจ ๔ กับไตรลักษณ์นี้เกี่ยวเนื่องกัน เพราะในไตรลักษณ์ก็มีทุกขังอริยสัจ ในอริยสัจ ๔ ก็มีมรรค คือเห็นไตรลักษณ์ด้วยสัมมาทิฐิ ด้วยปัญญา เห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง ไม่เป็นของเรา การบรรลุธรรมในแต่ละขั้น จะต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ ของแต่ละขั้น จึงควรเจริญเหตุให้มาก เหตุก็คือการปฏิบัติ ก่อนปฏิบัติก็ต้องศึกษาก่อน ถ้าไม่ศึกษาก็จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จะปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆ ผลที่ต้องการก็จะไม่เกิด ต้องศึกษาก่อน แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างเข้มข้นอย่างเต็มที่ อย่าหวงสมบัติข้าวของเงินทอง เพราะไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ ไม่เป็นปัจจัยทำให้จิตใจหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ นอกจากงานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พวกเราปฏิบัติเท่านั้น คือทานศีลภาวนา ขอให้พวกเราทุ่มเทชีวิตจิตใจไปกับงานนี้เถิด แล้วจะไม่ผิดหวัง จะได้เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของตนเอง ไม่ต้องไปขอให้ผู้อื่นเป็นที่พึ่ง ขอฝากเรื่องของการเจริญเหตุ คือการปฏิบัติทานศีลภาวนา ให้ท่านได้ไปพินิจพิจารณา เพื่อประโยชน์คือมรรคผลนิพพานที่จะตามมาต่อไป



"ถอนสมอเรือ" กัณฑ์ที่ ๔๔๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
๓๐ กันยายน ๒๕๕๕

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2562 17:09:40 »




ดูการกระทำของร่างกายดีกว่า

ถาม: หนูตื่นมานั่งสมาธิทุกเช้าค่ะ ช่วงเช้าตรู่แต่ว่าจะใช้วิธีของการขยับมือตามสายหลวงพ่อเทียนค่ะ แล้วก็สลับกับการนั่งสมาธิ แล้วก็เหมือนกับว่าดูอานาปานสติ แต่ว่าใจก็ไม่สงบแต่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ฟุ้งซ่านมากค่ะ ไม่ทราบว่าอย่างนี้ใช้ได้ไหมคะ ส่วนกลางวันก็จะใช้อานาปานสติ ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมากค่ะ แต่ว่าก็ยังไม่เคยจิตรวม

พระอาจารย์: คือการใช้ดูมือนี้มันเป็นการกระทำที่ค่อนข้างจะไม่เป็นธรรมชาติ เพราะว่าเราต้องมีเวลามานั่งทำมือ ฉะนั้นควรจะเปลี่ยนการดูมือมาดูการกระทำของร่างกายดีกว่า เพราะเป็นธรรมชาติกว่า เพราะเราต้องมีการเคลื่อนไหวมีการกระทำอะไรต่างๆของร่างกายตั้งแต่ตื่นมาเลย พอตื่นมาเราก็ต้องลุกขึ้นยืนจากเตียงเข้าไปห้องน้ำอาบน้ำอาบท่า ก็มีสติดูร่างกายทั้งร่างเลย ไม่ต้องไปดูแต่มืออย่างเดียว ก็เป็นการเจริญสติเหมือนกัน แล้วจะได้ทำได้ตลอดเวลา ถ้าจะดูมือก็ต้องหาเวลาว่างมานั่งแล้วก็นั่งดูมือ

ถาม: ก็จะกำหนดเหมือนตี ๕ อะไรอย่างนี้หรือคะ

พระอาจารย์: ถ้าตี ๕ นั่งสมาธิไปเลยจะดีกว่า มานั่งดูมือทำไม นั่งหลับตาดูลมหายใจหรือพุทโธๆ ไปเลยจะได้ประโยชน์มากกว่า

ถาม: คือเมื่อก่อนนั่งหลับตานี่คือใจไปเลยค่ะ หลับตาปุ๊บใจลอยออกไปนู่นเลยค่ะ

พระอาจารย์: งั้นก็นั่งสวดมนต์ก่อน

ถาม: ก็จะสวดมนต์ก่อนประมาณ ๓ รอบแล้วก็เริ่มทำสลับกันค่ะ

พระอาจารย์: ได้ อย่าดูมือเลย มันเป็นวิธีที่ไม่เป็นธรรมชาติ มันไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่ได้เป็นทางนะ อาจจะเป็นทางเฉพาะบุคคล

ถาม: คือหนูรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนเช็คพอยต์ (check point) ค่ะ เหมือนกับว่าพอเราขยับปุ๊บ เราหยุดคิด ขยับปุ๊บ หยุดคิด แต่พอเดินไปตลอดนี้คือใจหนูลอยไปเลย

พระอาจารย์: ถ้ามันช่วยดึงใจให้กลับมาในปัจจุบันได้ก็ใช้ได้

ถาม: ค่ะ แต่จิตไม่เคยรวมเลยค่ะ ยังทำไม่พอใช่ไหมคะ

พระอาจารย์: สติยังน้อยไป ต้องฝึกสติให้มากๆ ขึ้น ต้องปฏิบัติทั้งวันนั่นแหละถึงจะรวมได้



พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ธรรมะบนเขา โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Kimleng 10 11418 กระทู้ล่าสุด 17 มีนาคม 2563 20:14:54
โดย เรือใบ
'อานิสงส์จากการทำบุญกับพระอริยเจ้า' : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เกร็ดศาสนา
Maintenence 0 737 กระทู้ล่าสุด 12 สิงหาคม 2562 11:52:10
โดย Maintenence
โลกธาตุ โลกทิพย์ : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 1 1477 กระทู้ล่าสุด 13 สิงหาคม 2562 17:19:40
โดย Maintenence
สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เสื่อมหมดแม้แต่ร่างกายของเรา : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 956 กระทู้ล่าสุด 14 สิงหาคม 2562 09:03:07
โดย Maintenence
ต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 759 กระทู้ล่าสุด 17 สิงหาคม 2562 14:43:42
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.862 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 เมษายน 2567 20:35:48