[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 เมษายน 2567 21:29:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โรคจิต โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี  (อ่าน 1494 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1009


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.132 Chrome 76.0.3809.132


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 29 สิงหาคม 2562 16:53:43 »

.



โรคจิต  
 
พวกเราเป็นเหมือนคนไข้โรคจิต มาหาจิตแพทย์ให้แนะนำวิธีรักษาจิตใจ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้เครียด ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้กังวล ไม่มีจิตแพทย์ไหนจะดีเท่ากับพระพุทธศาสนา ในเมืองไทยอาชีพจิตแพทย์จะไม่ค่อยเฟื่องฟู เพราะเวลาไม่สบายใจคนจะไปหาพระมากกว่าไปหาจิตแพทย์ ไปเข้าวัด ไปภาวนา ไปทำกิจกรรมทางศาสนา แต่ประเทศที่ไม่ศรัทธาในศาสนา อาชีพจิตแพทย์จะขายดิบขายดี เพราะไม่มีศาสนาเป็นที่พึ่ง ก็เลยต้องพึ่งจิตแพทย์แทน ก็ต้องเสียเงินเสียทองมาก ชั่วโมงหนึ่งหลายพันบาท เพื่อจะได้นอนแล้วระบาย ความทุกข์ภายในใจให้จิตแพทย์ฟัง จิตแพทย์ฟังแล้วก็แนะนำให้ทำใจให้สบาย ถ้านอนไม่หลับก็เอายานอนหลับไปกิน จิตแพทย์สอนในแนวเดียวกันกับพระพุทธศาสนา แต่ไม่ลึกเท่า เขารู้ว่าความเครียดเกิดจากความอยาก แต่บางทีบางสิ่งบางอย่างเราทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องทำใจ ทำใจได้ก็จะสบาย ทำใจยอมรับกับความจริงของชีวิตที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นๆ ลงๆ บางวันก็สุข บางวันก็ทุกข์ บางวันก็สบาย บางวันก็เหนื่อย บางวันก็มีอุปสรรคมาก บางวันก็ราบรื่น บางวันมีคนครหานินทา บางวันมีคนสรรเสริญเยินยอ บางวันรายได้มาก บางวันรายได้น้อย เรื่องเหล่านี้เป็นโลกธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทัน จะได้ไม่หลงยึดติด
 
โลกธรรม ๘ มีอยู่ ๔ คู่ คือ ๑. การเจริญลาภเสื่อมลาภ ๒. การเจริญยศเสื่อมยศ ๓. การสรรเสริญนินทา ๔. ความสุขความทุกข์ เป็นของคู่กัน มาตลอด เป็นเหมือนเหรียญที่มี ๒ ด้าน ถ้าอยากจะได้ด้านหนึ่งก็ต้องได้อีกด้านหนึ่งแถมมาด้วย ถ้าอยากจะเจริญลาภก็ต้องมีการเสื่อมลาภตามมา ถ้าอยากจะเจริญยศก็มีการเสื่อมยศตามมา ถ้าต้องการสรรเสริญก็จะต้องมีนินทาตามมา ถ้าต้องการสุขก็จะมีทุกข์ตามมา ถ้าไม่มีสุข ก็จะไม่มีทุกข์ตามมา ถ้าไม่มีลาภยศสรรเสริญ ก็จะไม่มีการเสื่อมลาภเสื่อมยศ ไม่มีนินทาตามมา คำว่าไม่มีหมายความว่าไม่ยินดี ถ้าไม่ยินดีกับความเจริญ ก็จะไม่เดือดร้อนกับความเสื่อม ถ้ายินดีก็จะเดือดร้อน เพราะอยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่อยากจะให้เสื่อม แต่ความจริงของโลกแห่งอนิจจังทุกขังอนัตตานี้ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆ ที่จะเจริญและเสื่อมไป เป็นอนัตตา คือเราไม่สามารถสั่งให้เจริญอย่างเดียวได้ ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เสื่อมได้ ไม่สามารถยับยั้งการครหานินทาของผู้อื่นได้
 
พวกเราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องรู้ทัน พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู แปลว่าผู้รู้ทันโลกธรรม ๘ ไม่หลงยึดติดกับโลกธรรม ๘ เพียงแต่สัมผัสรับรู้ แต่ไม่ซึมซับเข้าไปในใจ เหมือนหยดน้ำบนใบบัว ที่ไม่ซึมเข้าไปในใบบัว เพราะใบบัวไม่ดูดซับน้ำ ฉันใดจิตของผู้ที่รู้ทันโลกธรรม ๘ ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ซึมซับ ไม่ดีอกดีใจเวลาเกิดความเจริญ ไม่เสียใจเวลาเกิดการเสื่อมไปเปลี่ยนไป นี่คือการรักษาจิตใจ ไม่ให้เครียด ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้วิตก ไม่ให้กังวล ไม่ให้หวาดกลัว กับความจริงต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ จึงต้องภาวนาเพื่อสอนจิตให้รู้ทัน ให้ปล่อยวาง ให้รู้เฉยๆ บางท่านฟังแล้วอาจจะปล่อยวางได้เลย แสดงว่าจิตมีกำลัง ปล่อยวางได้ คือมีอุเบกขา มีสมาธิ พอรู้ความจริงว่าโลกธรรม ๘ เป็นทุกข์ ก็จะปล่อยวางได้ทันที แต่สำหรับผู้ที่ฟังแล้วยังปล่อยวางไม่ได้ ยังวิตกกังวลหวาดกลัวกับความเสื่อม ของลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะต้องภาวนา
 
การภาวนาก็คือการดึงใจ ให้ออกจากลาภยศสรรเสริญ ออกจากความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เอง ผู้ที่จะอยู่เหนือโลกธรรม ๘ ได้ ต้องไม่ติดกับลาภยศสรรเสริญสุข การจะไม่ติดก็ต้องอยู่ห่างไกลจาก ลาภยศสรรเสริญสุข ต้องไปปลีกวิเวกอยู่ตามสถานที่สงบสงัด ห่างไกลจากแสงสีเสียงต่างๆ ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ แล้วก็พยายามสู้กับความอยาก ที่ยังมีอยู่ภายในใจ คือกามฉันทะ ความอยากกลับไปหาลาภยศสรรเสริญ กลับไปหาแสงสีเสียง หารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ เป้าหมายของภาวนาก็คือ การปล่อยวางลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าปล่อยได้แล้ว เวลาลาภยศสรรเสริญสุขเสื่อมหรือเปลี่ยนไป จะไม่เป็นปัญหา ถ้ายังปล่อยไม่ได้ เวลาเกิดความเสื่อมขึ้นมา ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจทุกข์ทรมานใจ นี่คือวิธีสอนใจให้ฉลาด ให้รู้ทันโลกธรรม ๘ แล้วก็ปล่อยวาง
 
ปล่อยวางด้วยการปฏิบัติ ถ้าได้ปฏิบัติแล้ว พอได้ยินได้ฟังธรรม ก็จะบรรลุธรรมได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ในครั้งแรก หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ก็มีดวงตาเห็นธรรม เห็นความจริงว่า สิ่งใดมีการเกิดมีการเจริญ สิ่งนั้นย่อมมีการดับมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านก็ปล่อยวางได้ทันที เพราะจิตใจของท่านมีอุเบกขาอยู่แล้ว แต่ขาดปัญญาที่จะสอนจิต ให้รู้ว่าอะไรเป็นความทุกข์ ต้องปล่อยวาง พอได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ก็ปล่อยวางได้ทันที ซึ่งอาจจะเป็นที่สงสัยสำหรับผู้ที่ยังไม่มีสมาธิ ว่าทำไมฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมได้เลย ส่วนตัวเราทำไมฟังแล้วไม่บรรลุ ก็เพราะว่าจิตใจของตนยังไม่มีอุเบกขาธรรม ยังไม่มีความสงบ จึงต้องเจริญสมถภาวนา คือความสงบก่อน ถ้าสงบแล้วก็จะสามารถใช้ปัญญาสอนใจได้ นี่คือความสำคัญของสมถภาวนา
 
ก่อนจะวิปัสสนาภาวนาได้ คือรู้แจ้งเห็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เช่นโลกธรรม ๘ นี้ ถ้าไม่ได้สมถภาวนาก่อน ไม่ได้สมาธิก่อน จะไม่ได้ผล รู้แต่ปล่อยวางไม่ได้ ยังต้องมีลาภยศสรรเสริญ แล้วก็อาจจะเกิดความหลง คิดว่าตนเองรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ทั้งที่ยังติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญสุข การภาวนาการปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ จึงต้องสมถภาวนาก่อน ก่อนที่จะวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่มีสมถะแล้วไปเจริญวิปัสสนาก็จะเป็นวิปัสสนูไป รู้แล้วก็ปล่อยไม่ได้ ปลงไม่ได้ วางไม่ได้ แล้วก็หลงคิดว่ารู้แล้ว บรรลุแล้ว เข้าใจแล้ว แต่เข้าใจในทางจินตนาการ ไม่ได้เข้าใจที่เกิดจากการอยู่ในเหตุการณ์ แล้วก็ปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งส่วนที่เจริญและส่วนที่เสื่อม
 
สมัยนี้มักจะมีคนสอนให้ข้ามสมาธิกัน ไม่ต้องปฏิบัติสมาธิ เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะทำไม่ได้ ยากมาก นั่งภาวนาไม่ได้ พอเริ่มนั่งก็เกิดอาการอึดอัดขึ้นมา เป็นเหมือนกับคนที่ต้องกลั้นหายใจเวลาดำน้ำ เวลาภาวนานี้ก็เหมือนไปดำน้ำ ไม่มีอากาศหายใจ อากาศของใจก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และความคิดปรุงแต่ง พอต้องยุติการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ หยุดคิดปรุงแต่ง ก็เกิดอาการตึงเครียดขึ้นมา ไม่สามารถนั่งภาวนาได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ ที่จะทำให้ใจไม่เครียดกับการนั่งสมาธิ เครื่องมือที่จะทำให้ใจไม่เครียดก็คือสตินี้เอง ถ้าเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ควบคุมความคิดความอยากอยู่เรื่อยๆ ความอยากคิด ความอยากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะอ่อนกำลังลงไป ทำให้ความเครียดเบาลงไป เวลานั่งสมาธิก็จะไม่เครียดมาก
 
ก่อนที่จะนั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ ต้องเจริญสติให้ได้ก่อน ลดความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ลดความอยากคิดปรุงแต่ง ให้น้อยลงไป เช่นการบริกรรมพุทโธๆ ถ้าบริกรรมพุทโธได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอไม่มีความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่มีความอยากคิดปรุงแต่ง ก็จะรู้สึกเย็นสบาย ใจจะว่าง ถึงแม้จะไม่นิ่ง เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้อย่างง่ายดาย จะไม่รู้สึกอึดอัด จะไม่รู้สึกเครียด บางคนพอเริ่มนั่งปั๊บนี่ ก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ขึ้นมาทันที แต่เวลานั่งดูภาพยนตร์นี้นั่งดูได้ทั้งคืน นั่งเครื่องบินไปต่างประเทศหลายชั่วโมงก็นั่งได้ แต่พอนั่งสมาธิเพียง ๕ นาทีก็นั่งไม่ได้ เพราะใจถูกควบคุมบังคับไม่ให้คิดนั่นเอง พอไม่ได้คิด ก็เหมือนกับคนดำน้ำ ไม่มีอากาศหายใจ ดำได้เพียงไม่กี่นาที ก็ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจ แสดงว่าสติไม่มีกำลัง สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคจิต เป็นยาขนานแรกที่จะต้องรับประทาน หมอทุกคนต้องให้คนไข้รับประทานยานี้ก่อน ก่อนที่จะรับประทานยาอื่น สติเป็นยาที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีสติแล้วก็ไม่สามารถใช้ยาชนิดที่ ๒ และที่ ๓ รักษาโรคได้ เหมือนกับเวลาจะผ่าตัดคนไข้ ต้องดมยาสลบก่อน เวลาผ่าตัดถ้าคนไข้ยังรู้สึกตัว คนไข้จะต้องดิ้น ก็จะไม่สามารถผ่าตัดได้ ฉันใดใจก็เหมือนกัน เวลาจะทำใจให้สงบให้ฉลาดต้องมีสติก่อน ต้องควบคุมกิเลสตัณหา ที่สร้างความฟุ้งซ่าน ความอึดอัดใจในขณะที่นั่งสมาธิก่อน
 
จึงควรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ เจริญทั้งวัน เวลานั่งถ้ายังอึดอัดอยู่ ก็ให้ท่องพุทโธๆหรือสวดมนต์ไปก่อน เพื่อผ่อนคลายความอึดอัด ถ้ายังไม่สามารถดูลมหายใจเข้าออก หรือท่องพุทโธได้ ก็สวดมนต์ไปสักระยะหนึ่งก่อน สวดในท่านั่งสมาธิ สวดในใจ นั่งขัดสมาธิหลับตา เหมือนกับนั่งสมาธิ แทนที่จะใช้พุทโธ ก็ใช้บทสวดมนต์ เป็นอารมณ์ไปก่อน สวดไปจนจิตรู้สึกเย็นสบาย อยากจะหยุดสวด ก็ค่อยมาดูลมหายใจเข้าออกต่อ หรือจะใช้พุทโธก็ได้ แต่ควรจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งจะดีกว่า เอาลมอย่างเดียว หรือเอาพุทโธอย่างเดียว ถ้าใช้พุทโธควบคู่ไปกับลม ถ้ามีความคิดแทรกเข้ามา จะหยุดความคิดที่แทรกเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่บริกรรมให้เร็วขึ้น ถ้าบริกรรมให้เร็วขึ้น ลมหายใจจะเร็วตามการบริกรรมไม่ได้ ก็ต้องทิ้งลมไปก่อน เอาคำบริกรรมอย่างเดียว บริกรรมให้ถี่ขึ้น เพื่อกันไม่ให้ความคิดปรุงแต่งแทรกเข้ามา พอไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็ดูลมหายใจเข้าออกไป จนกว่าลมจะหายไป แล้วจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบตามลำดับต่อไป ขณะที่รู้ว่าลมหายไปก็ไม่ต้องคว้าหาลม ให้รู้ว่าไม่มีลม ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ แล้วเดี๋ยวจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ ถ้าใจสงบแล้วจะมีความสุขมาก มากกว่าความสุขที่ได้จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มากกว่าความสุขที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ พอมีความสุขที่ดีกว่าที่เหนือกว่า ก็จะละความอยากได้ ละความสุขจากลาภยศสรรเสริญ ความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้ ละความอยากในกามคือกามตัณหาได้ ละภวตัณหาได้ ละวิภวตัณหาได้ พอละตัณหาทั้ง ๓ ได้ ใจก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป มีแต่ความสงบสุขตลอดเวลา เป็นอกาลิโก เป็นปรมังสุขัง นี่คือผลที่จะได้จากการเจริญสติ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
 
วิปัสสนาก็คือการสอนใจให้รู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าความสุขที่ได้จากความสงบ ให้รู้ว่าความอยากได้ความสุขอย่างอื่นจะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะเป็นกามตัณหา เป็นภวตัณหา เป็นวิภวตัณหา ถ้ามีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาขึ้นมาเมื่อไหร่ ใจก็จะทุกข์ขึ้นมาเมื่อนั้น แต่ถ้าใจมีวิปัสสนา สอนให้รู้ว่าสิ่งต่างๆที่ใจอยากได้นั้น เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข เพราะไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อม เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มีเจริญมีเสื่อม เวลาเจริญก็สุขแต่เวลาเสื่อมก็จะทุกข์ ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็อย่าไปอยากมี อย่าไปอยากได้ลาภยศสรรเสริญรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะเป็นอนัตตา ไม่สามารถไปสั่งให้เจริญอย่างเดียว ไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา ถ้าเราเห็นด้วยปัญญา ก็จะหยุดกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาได้ นี้คือหน้าที่ของวิปัสสนา ของปัญญา ให้คอยเตือนใจสอนใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
 
เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์ คือทุกขเวทนา ไม่เป็นปัญหาสำหรับใจ ปัญหาสำหรับใจคือทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา ทุกขเวทนาเกิดที่ร่างกาย มีร่างกายเป็นที่ตั้ง เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ทุกขเวทนาเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปอยากให้หายไป เป็นสภาวธรรม ถ้ามีวิปัสสนาญาณ มีปัญญา จะไม่เดือดร้อน เพราะจะปล่อยวาง คือจะรู้เฉยๆ จะไม่มีความอยากคือวิภวตัณหา อยากให้ความเจ็บหายไป ทุกขังในอนิจจังทุกขังอนัตตานี้ หมายถึงทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก ๓ ประการ คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา ทุกข์นี้เราดับได้ พระพุทธเจ้าทรงดับมาแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายดับมาแล้ว เพราะละกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาได้แล้ว แต่ทุกขเวทนานี้ท่านดับไม่ได้ เวลาร่างกายของท่านเจ็บไข้ได้ป่วย จิตของท่านก็ต้องสัมผัสรับรู้กับทุกขเวทนา เหมือนกับพวกเรานี่แหละ ไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่ใจของท่านไม่ทรมานไม่ทุกข์ เพราะไม่มีวิภวตัณหา ไม่มีความอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ใจรู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง รับรู้แล้วปล่อยวาง นี่คือแนวของการปฏิบัติ เพื่อทำให้จิตใจไม่หวั่นไหว กับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นกับเราหรือเกิดขึ้นกับสิ่งอื่นหรือผู้อื่น จะไม่เป็นปัญหากับผู้ที่มีสมถะและวิปัสสนาภาวนา
 
จะมีสมถะและวิปัสสนาภาวนาได้ ก็ต้องมีสติก่อน จะเจริญสติได้ก็ต้องปลีกวิเวก สงบกายและวาจา คือมีศีล จะมีศีลได้ก็ต้องสละทรัพย์ต่างๆที่มีอยู่ได้ เพราะถ้ายังยึดติดยังอาศัยทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องมือให้ความสุข ก็จะไม่มีเวลาไปปลีกวิเวก ไปเจริญสติ ไปรักษาศีล จึงต้องเริ่มต้นที่การให้ทาน สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองที่มีอยู่ไปก่อน ถ้าจะเก็บไว้ก็เพื่อดูแลร่างกาย ต้องมีปัจจัย ๔ ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส นักปฏิบัตินี้มีทั้งนักบวชและฆราวาส ถ้าเป็นฆราวาสก็จะต้องมีทรัพย์บ้าง มีเพื่อซื้อปัจจัย ๔ ไว้ดูแลรักษาร่างกาย ถ้าเป็นนักบวชก็ไม่ต้องมีทรัพย์เลย เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาพร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องปัจจัย ๔  การให้ทานมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้ไปหาทรัพย์ เพื่อเอามาซื้อความสุข ถ้ายังต้องใช้ทรัพย์ซื้อความสุข ก็จะต้องเสียเวลากับการหาทรัพย์ เสียเวลากับการใช้ทรัพย์เพื่อซื้อความสุข ก็จะไม่มีเวลาไปปลีกวิเวก ไปรักษาศีลไปเจริญสติ เจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนาตามลำดับต่อไป เป้าหมายที่แท้จริงของการให้ทาน ก็เพื่อหยุดการใช้เงินซื้อความสุข ทุกครั้งที่จะเอาเงินไปซื้อความสุข ก็เอาไปให้ทานแทน จะได้มีเวลาภาวนา จะได้ไม่อยากไปหาเงิน เพราะถ้าได้เงินมาแล้วเอาไปให้คนอื่น ก็ไม่รู้จะไปหาเงินมาทำไม แต่ถ้าเอาเงินไปซื้อความสุข ก็จะติดกับความสุขที่ได้จากการใช้เงิน เวลาเงินหมดก็ต้องไปหาเงินใหม่ เพื่อมาซื้อความสุขใหม่ ถ้ามีเงินมากกว่าที่จะต้องใช้กับการรักษาร่างกาย ก็ควรเอาไปให้คนอื่น จะตัดความอยากได้เงินทอง จะได้ไม่เสียเวลากับการหาเงินหาทอง กับการใช้เงินใช้ทอง จะมีเวลาปลีกวิเวกภาวนา  
 
ความสำคัญของการปฏิบัตินี้ไม่ได้อยู่ที่เพศอยู่ที่วัย เป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นฆราวาสหรือเป็นนักบวช อยู่ที่การเจริญสติสมาธิและปัญญา ผลคือมรรคผลนิพพานนี้ จะเกิดจากการเจริญสติสมาธิปัญญา เกิดจากการเจริญสติ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาก็คือสมาธิ วิปัสสนาภาวนาก็คือปัญญา นี่คือธรรมที่จะต้องเจริญกัน ถ้าอยากที่จะดับความทุกข์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจให้หมดไป ต้องดับด้วยตนเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ พระพุทธเจ้าดับให้เราไม่ได้ พระสาวกดับให้เราไม่ได้ ญาติสนิทมิตรสหายดับให้เราไม่ได้ งานนี้เป็นงานเฉพาะตน เป็นงานที่จะต้องปฏิบัติตามลำพัง ถ้าปฏิบัติจริงๆจะไม่ปฏิบัติกับใคร ไม่อยู่กับใคร จะอยู่คนเดียว ถึงจะได้ผล ถ้าต่างคนต่างมาเกาะกัน มาช่วยเหลือกัน ก็จะไม่ได้ช่วยตัวเอง จะไม่ได้เข้าสู่ข้างใน
 
ปฏิบัติเพื่อดึงจิตให้เข้าข้างใน ไม่ให้อยู่ข้างนอก ด้วยการเจริญสติ ให้เข้าสู่ความสงบ เพราะความสงบเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่สหธรรมิก ถ้าจะเป็นที่พึ่งก็เป็นที่พึ่งชั่วคราว เป็นที่พึ่งที่ไม่สำคัญ ไม่มีก็ได้ ที่พึ่งที่สำคัญก็คือความสงบ ถ้ามีความสงบแล้วจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆ เวลาจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว จะไม่รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะไม่รับรู้ร่างกาย ถ้ารับรู้ก็จะไม่มีอารมณ์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่มีอารมณ์กับร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็รับได้ จะเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็รับได้ ต้องเข้าข้างในถึงจะมีสรณะมีที่พึ่ง มีพลังที่จะต่อสู้กับภัยต่างๆ ก็คือกิเลสตัณหานี้เอง ภัยที่แท้จริงของใจไม่ใช่พายุ ไม่ใช่วันสิ้นโลก ไม่ใช่สึนามิ ไม่ใช่แผ่นดินไหว ภัยที่แท้จริงของใจ ก็คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา สิ่งอื่นไม่สามารถทำลายใจได้ ไม่สามารถทำให้ใจทุกข์ได้ วันสิ้นโลกไม่สามารถทำให้ใจทุกข์ได้ พายุไต้ฝุ่น สึนามิ แผ่นดินไหว ไม่สามารถทำลายใจได้ ไม่ทำให้ใจหวั่นไหวได้ แต่สิ่งที่ทำให้ใจหวั่นไหว ทำให้ทุกข์ได้ก็คือ กามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหานี้เอง ภัยแบบนี้ไม่มีใครป้องกันให้เราได้ ต้องป้องกันด้วยตัวเราเอง เพราะภัยเหล่านี้เราเป็นผู้ผลิตขึ้นมาเอง ด้วยความอยากคือกามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหานี้เอง ไม่มีใครดับภัยของเราได้ นอกจากตัวเราเอง เราต้องดับกามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหาให้ได้
 
ถ้าไม่มีกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ใจอีกต่อไป นี่แหละคือธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็คือพระอริยสัจ ๔ ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ไม่รู้ว่าวิธีปฏิบัติกับอริยสัจ ๔ นี้ต้องปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระองค์เดียวที่รู้ ทรงตรัสว่าทุกข์ที่ทรงต้องศึกษา ต้องรู้ว่าอยู่ที่ไหน พระองค์ได้ศึกษาแล้วได้รู้แล้วว่าอยู่ที่ใจ สมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ ที่ทำให้เกิดความทุกข์นี้ ก็รู้แล้วว่าต้องละ และละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์ ที่จะต้องทำให้แจ้งก็ทรงทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการดับทุกข์ คือสติสมาธิปัญญา ก็ทรงได้เจริญอย่างเต็มที่แล้ว พอได้เจริญมรรคอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะมีพลังที่จะละตัณหาที่เป็นสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ใจได้ นี่แหละคือกิจของพุทธศาสนิกชน คือกิจในอริยสัจ ๔ นี้เอง ต้องรู้ว่าความทุกข์อยู่ในใจเรา ความทุกข์ความไม่สบายใจนี้อยู่ในใจ เกิดจากความอยาก การจะทำให้ทุกข์ในใจดับไปได้ ก็ต้องละความอยากด้วยสติสมาธิและปัญญา ไม่ใช่ดับด้วยการไปหาลาภยศสรรเสริญ ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายมา ดังที่คนในโลกนี้ทำกัน เวลาไม่สบายใจก็ออกไปใช้เงินกัน ไปเที่ยวกัน ความทุกข์ใจก็หายไปชั่วคราว พอกลับมาบ้าน ความทุกข์ใจก็หวนกลับคืนมาใหม่ ถ้ายังมีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้อยู่
 
วิธีดับความทุกข์ที่แท้จริง ต้องดับด้วยธรรม ด้วยมรรค มรรคที่มีองค์ ๘ องค์ที่สำคัญก็คือสติสมาธิและปัญญา สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ส่วนสัมมาปัญญาก็คือ สัมมาทิฐิกับสัมมาสังกัปโปนี่เอง เป็นองค์ประกอบของปัญญา สัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปก็คือความคิดชอบ คิดให้ตรงกับความจริง เห็นให้ตรงกับความจริง เห็นว่าทุกข์อยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย เห็นว่าทุกข์จะดับได้ต้องดับด้วยมรรค นี่คือสัมมาทิฐิ สังขารความคิดปรุงแต่งก็จะต้องหยุดคิดในเรื่องของความอยาก ไม่คิดไปในทางความอยาก ต้องคิดไปในทางไม่อยาก ไม่อยากมีรูปเสียงกลิ่นรส ไม่อยากมีอยากเป็น ไม่อยากไม่มีไม่เป็น ถ้ามีปัญญาก็จะคิดอย่างนั้น ทุกข์ก็จะดับเพราะละสมุทัยได้ นี่แหละคือกิจของพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง การภาวนาหรือการปฏิบัติก็เพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔ นี้ ไม่ได้ให้เห็นนางฟ้าเทวดา เห็นนรกสวรรค์ เห็นภพชาติที่ผ่านมา เห็นอดีตเห็นอนาคต เพราะเห็นแล้วไม่ดับความทุกข์ภายในใจ ไม่ทำให้เกิดปัญญา ความฉลาด ที่จะรู้ทันความทุกข์ รู้ทันโลก ต้องรู้ที่อริยสัจ ๔ นี้
 
เวลาภาวนาแล้วเห็นอะไรอย่าไปตื่นเต้นดีใจ อย่าไปหลง อย่าไปอยากรู้อยากเห็นแบบนั้น สิ่งที่เราต้องการเวลาทำสมถภาวนา ก็คือความสงบความว่าง ถ้ามีอะไรมาปรากฏให้เห็น อย่าตามรู้ ให้กลับมาที่การภาวนาต่อ ถ้าใช้พุทโธก็พุทโธต่อ ถ้าดูลมก็ดูลมต่อ อย่าตาม ถ้ารู้ก็ให้รู้แล้วปล่อยวาง ให้พิจารณาด้วยปัญญา ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เป็นทางสู่การดับทุกข์ ถ้าปล่อยวางแล้วจิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ ถ้าไม่ได้ศึกษามาก่อน พอได้ยินได้ฟังว่าเห็นนั่นเห็นนี่ ก็อยากจะเห็นเหมือนเขา พอไม่เห็นก็คิดว่าภาวนาไม่เป็น ความจริงการภาวนานี้ บางคนก็เห็นบางคนก็ไม่เห็น ส่วนใหญ่จะไม่เห็นกัน พวกที่เห็นก็จะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ถ้าไม่เห็นถือว่าดีแล้ว ถ้าเห็นก็ต้องระมัดระวัง ถ้าเห็นสิ่งที่น่ากลัวก็จะไม่กล้าภาวนา สิ่งที่เห็นนี้มีทั้งที่น่ารักและน่ากลัว ไปสั่งให้แสดงสิ่งที่น่ารักอย่างเดียวไม่ได้ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นก็อย่าตามไป ต้องกลับมาภาวนาต่อ แล้วสิ่งที่เห็นก็จะหายไปเอง
 
สิ่งที่ต้องการให้เห็นก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นว่าตอนนี้เรายังมีทุกข์อยู่หรือเปล่า มีสมุทัยอยู่หรือเปล่า มีนิโรธหรือเปล่า มีมรรคมากน้อยเพียงไร ให้ดูตรงนี้ ถ้ามรรคยังมีน้อย ก็ยังมีทุกข์อยู่ ก็ต้องเจริญมรรคต่อไป เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาต่อไป จนกว่าจะไม่มีทุกข์หลงเหลืออยู่ในใจ ไม่มีสมุทัยความอยากหลงเหลืออยู่ในใจ มีแต่นิโรธตลอดเวลา ตอนนั้นก็จะรู้ว่า กิจของเราได้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องไปถามใคร แม้แต่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้า ก็ไม่ต้องไปถามว่ากิจของข้าพเจ้าเสร็จหรือยัง อันนี้เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ต้องถามใครทั้งนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วไม่สงสัย แต่ถ้าเห็นอย่างอื่น ต้องสงสัยแน่นอน เพราะไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะตัดสินความจริง สิ่งที่จะตัดสินว่าจริงหรือไม่จริง ก็อยู่ที่พระอริยสัจ ๔ นี่เอง อยู่ที่ว่าทุกข์หรือนิโรธ ถ้ายังทุกข์อยู่นิโรธก็ยังไม่เต็มที่ ถ้านิโรธเต็มที่แล้วจะไม่มีทุกข์หลงเหลืออยู่เลย จะไม่มีตัณหาความอยากหลงเหลืออยู่เลย
 
ขอให้พวกเราจงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เวลาภาวนาจะได้ไม่หลงทาง ถ้าเข้าถึงหลักอริยสัจ ๔ แล้ว จะปฏิบัติเองได้ ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ก็ได้ แต่ถ้ามีก็ดีเพราะจะไปได้เร็วกว่า ถ้าไม่มีก็สามารถไปเองได้ ผู้ที่เห็นอริยสัจ ๔ ก็คือพระโสดาบันขึ้นไปนี่เอง เห็นจากการปฏิบัติ ไม่ใช่เห็นจากการอ่านหนังสือ ไม่ได้เห็นจากการจินตนาการ แต่เห็นจากความจริง เห็นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และดับลงไปด้วยกำลังของสติปัญญา ต้องเห็นแบบนั้นถึงจะเห็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่อ่านหนังสือไปแล้วก็จินตนาการไป ว่าทุกข์เกิดจากความอยาก พอหยุดความอยากความทุกข์ก็หายไป ตอนนี้ไม่มีความทุกข์แล้ว อย่างนี้ยังไม่ได้เจอของจริง ต้องเจอตอนที่จะตายแล้วยังอยากที่จะอยู่ต่อ ตอนนั้นจะทุกข์มาก เวลาที่จะตายแล้วยังมีความอยากจะอยู่ต่อ แต่พอปลงได้ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ร่างกายเกิดมาแล้วต้องตาย ตายก็ตาย ยอมตาย พอยอมตายปั๊บความอยากไม่ตายก็หายไป พอความอยากไม่ตายหายไป ความทุกข์ในใจก็หายไป ใจก็เย็นสงบ ตายอย่างสุขอย่างสบายไม่เดือดร้อน จะต้องเห็นอย่างนี้ เห็นจากการปฏิบัติ ไม่ได้เห็นจากการจินตนาการ ขอให้พวกเราทุ่มเทเวลา ที่มีเหลือน้อยลงไปทุกวันนี้ ให้กับการภาวนา ได้เที่ยวมามากแล้ว ทำบุญให้ทานมามากแล้ว ควรทำแบบใหญ่ๆหนเดียวเลย ไม่ต้องแบ่งไว้ทำทีละนิดทีละหน่อย กฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง ทำทีเดียวให้หมดไปเลย จะได้ไปภาวนาได้
 
ถาม  การพิจารณาว่าเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญานี้ ถ้าเป็นปัญญาจริงจะชัดเจนเลยใช่ไหม จะไม่มีข้อสงสัย ใช่ไหมครับ
 
ตอบ  ใช่ เช่นการเลิกสูบบุหรี่ ถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้จริง จะไม่หงุดหงิด ถ้ายังหงุดหงิดยังอยากสูบบุหรี่อยู่ ก็แสดงว่ายังละกามตัณหาไม่ได้
 
ถาม  มันชัดเจนของมัน
 
ตอบ  ชัดเจน กินเหล้าก็เหมือนกัน ถ้าเลิกได้จริงๆ ใครจะเอาเหล้ามาตั้งราคาขวดละแสนก็จะไม่แตะ จะเลิกได้ก็ต้องเห็นว่าการอยากจะดื่มเหล้าเป็นทุกข์ เป็นกามตัณหา
 
ถาม  เวลาเจอเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันทันด่วน เช่นเดินไปเตะอะไรเปรี้ยงเดียว ขาเจ็บปั๊บ ข้อธรรมก็จะขึ้นมาว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
 
ตอบ  ใจก็จะไม่เจ็บ เจ็บแต่ร่างกาย
 
ถาม  ปัญญาจะเกิดขึ้นมาทันทีเลย ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
 
ตอบ  ถ้าพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอริยสัจ ๔ ก็จะเห็นว่าทุกข์ใจเกิดจากความอยากไม่เจ็บ ความอยากให้หายเจ็บทันที เจ็บแล้วจะไปทุกข์ทำไม เจ็บแล้วก็รับรู้ แล้วก็อยู่กับเจ็บไป เดี๋ยวก็หายเอง เราสั่งไม่ได้ ความเจ็บของร่างกายเป็นอนัตตา
 
ถาม  บางทีข่มเอาไว้ เพื่อวางเฉย
 
ตอบ  การใช้พุทโธๆข่มไว้ เป็นการใช้สติ ถ้าเข้าสมาธิเข้าฌานไป เพื่อไม่รับรู้ความเจ็บของร่างกาย ก็เป็นสมาธิ ถ้าใช้ปัญญาก็ไม่ต้องข่ม ไม่ต้องเข้าไปในสมาธิ
 
ถาม  ปัญญาขึ้นมาอัตโนมัติเลย
 
ตอบ  ถ้าสอนให้จิตคิดไปในทางนี้ ก็จะคิดไปในทางนี้ ก็จะปล่อยวาง จะรู้ว่าจัดการทุกขเวทนาไม่ได้ จะเกิดจะดับเป็นเรื่องของทุกขเวทนา แต่เราดับทุกข์ใจได้ทันที ถ้าไม่ไปอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ถ้าทุกขเวทนายังอยู่ก็อยู่กับมันไป เช่นเป็นไข้หวัดจะไม่หายทันที ต้อง ๔ – ๕ วันถึงจะหาย ใจไม่ต้องไปทุกข์กับไข้หวัด ใจเป็นปกติเหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้เป็นไข้หวัด ไม่ต้องกินยาก็ได้ เดี๋ยวก็หายเอง ความปวดส่วนใหญ่จะปวดที่ใจ เพราะอยากจะให้ความเจ็บความปวดของร่างกายหายไป ยิ่งทำให้รู้สึกว่าปวดมากขึ้น ถ้าใจเฉยๆ ก็จะไม่ปวดมาก ปวดเพียงเสี้ยวเดียว ความปวดทางร่างกายเป็นเสี้ยวเดียว ความปวดของทางใจเป็น ๙ เสี้ยว ถ้าไม่ปวดทางใจไม่ต้องกินยาก็ได้ เพราะมีธรรมโอสถ การภาวนาเป็นการใช้ธรรมโอสถดับความทุกข์ใจ เวลาพระอาพาธไม่ต้องหาหมอ ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรคที่หายเอง พอร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ โรคก็จะหาย แต่ต้องใช้เวลาหน่อย ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้ ช่วงนั้นก็จะเจ็บทางร่างกายไป แต่ก็จะเจ็บเพียงเสี้ยวเดียว อีก ๙ เสี้ยวไม่เจ็บ ถ้าไม่มีธรรมโอสถก็จะเจ็บทั้ง ๑๐ เสี้ยว ถ้ากินยาก็ลดความเจ็บทางร่างกายไปเสี้ยวหนึ่ง แต่ความเจ็บทางใจก็ยังอยู่อีก ๙ เสี้ยว คนที่กินยาก็จะเจ็บมากกว่าคนที่มีธรรมโอสถ ธรรมโอสถเป็นยาที่วิเศษที่สุด ธรรมโอสถก็คือสมถะและวิปัสสนาภาวนานี่เอง ถ้าภาวนาเป็นแล้ว เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่เป็นปัญหา
 
ถาม  ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆไป ไม่ปล่อยปละละเลย
 
ตอบ  โรคไหนรักษาได้ก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่หายก็อย่าดันทุรังรักษา อย่างหลวงปู่ชาที่นอนป่วยอยู่ไม่รู้กี่ปี อย่าไปดันทุรังรักษา ต้องให้หลวงตาเป็นคนไปสั่งให้ถอดสายต่างๆออก ไม่มีใครกล้าถอด กลัวบาปกัน ท่านบอกว่าร่างกายตอนนี้เหมือนกองไฟ อาหารและยาที่เติมเข้าไปในร่างกายเป็นเหมือนเชื้อไฟ ถ้าเติมอาหารเติมยาเข้าไป ไฟก็จะลุกอยู่เรื่อยๆ ทุกขเวทนาในร่างกายจะไม่ดับ ถ้าไม่เติมเชื้อไฟ พอเชื้อเก่าหมดแล้วทุกขเวทนาก็จะดับ เพราะร่างกายหยุดทำงาน
 
ถาม  กรณีของหลวงพ่อชานี้ ชัดเจนอยู่แล้ว การไปถอดออกก็คงไม่มีปัญหาอะไรกับองค์ท่าน แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นคนธรรมดาไม่มีธรรมะ แล้วญาติพี่น้องจะไปถอดสายออกนี้ เป็นบาปกรรมไหมครับ
 
ตอบ  ไม่เป็น เราไม่ได้เอามีดไปแทงเขา ไม่ได้ไปบีบคอเขาไม่ให้เขาหายใจ เราเพียงแต่ปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้นเอง
 
ถาม  เหมือนการถอดสายออกนี้ ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติไป
 
ตอบ  ให้อยู่ตามธรรมชาติ อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป
 
ถาม  ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะกลัวว่า การเอาออกนี้เป็นการฆ่าผู้นั้น
 
ตอบ  เป็นการยุติการส่งความช่วยเหลือ ก็ทำให้เขาตายได้ แต่ไม่ได้ไปฆ่าเขา เพียงแต่ยุติการช่วยเหลือ เพราะช่วยไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นโทษกับเขาเสียเปล่าๆ แทนที่เขาจะได้ไป ไม่ต้องอยู่แบกธาตุขันธ์ที่เป็นเหมือนกองไฟ ก็ปล่อยให้กองไฟนั้นดับไป
 
ถาม  คนที่ตัดสินใจอย่างนี้ได้ ต้องเข้าใจหลักธรรมพอสมควร ถึงจะทำได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่กล้าทำ
 
ตอบ  ก็อย่าเข้าโรงพยาบาลก็แล้วกัน สั่งไว้ก่อน เดี๋ยวนี้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ได้แล้วไม่ใช่หรือ สั่งว่าไม่ต้องรักษาหรือรักษาตามสภาพไป เพื่อป้องกันหมอ ถ้าไม่สั่งไว้ก่อน พอหมอไม่รักษาก็จะโดนข้อหาไร้ความเมตตา
 
ถาม  ส่วนใหญ่ญาติพี่น้องจะทนไม่ได้ ที่จะไม่รักษา
 
ตอบ  รักษาจนถึงขีดที่รักษาไม่ได้ เข้าใจไหม ถ้ารักษาไม่ได้แล้ว หมอทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็หยุดรักษา
 
ถาม  มีกรณีเยอะแยะที่เป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทรา แล้วญาติพี่น้องก็ยังให้ความช่วยเหลืออยู่
 
ตอบ  อย่างนี้ไม่เหมือนกับอีกกรณีหนึ่ง ที่เจ้าตัวอยากจะตาย แล้วบอกให้ฉีดสารพิษ อย่างนี้บาป แต่ถ้าเจ้าตัวบอกให้หยุดรักษา อย่างนี้ไม่บาป แต่ถ้าอยากจะตายแล้วบอกให้หมอช่วยฉีดสารพิษให้ อย่างนี้บาป เป็นการฆ่าตัวตาย
 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 สิงหาคม 2562 16:55:25 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1009


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.132 Chrome 76.0.3809.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 สิงหาคม 2562 16:58:03 »



โรคจิต (ต่อ)

ถาม  สมมุติว่าคนป่วยอยากจะตาย บอกให้หมอฉีดให้ เขาผิดใช่ไหมคะ ในกรณีนี้หมอมีส่วนรับกรรมหรือเปล่าคะ
 
ตอบ  มีส่วน เพราะเป็นผู้ทำให้เขาตาย เป็นผู้รับคำสั่ง
 
ถาม  แต่เข้าใจว่าทางจรรยาบรรณแพทย์คงทำไม่ได้
 
ตอบ  ทางศีลธรรมถือว่า ทำเองก็ดี สั่งให้คนอื่นทำก็ดี ก็ผิดทั้งนั้น คนทำก็ผิด คนสั่งก็ผิด
 
ถาม  ตอนนี้กลัวเรื่องจรรยาบรรณแพทย์ ก็เลยมีเครื่องให้คนไข้ทำเอง คนที่ทำเครื่องก็มีส่วนผิด
 
ตอบ  ถ้าทำให้ตายไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ผิดทั้งนั้น แต่ถ้าปล่อยให้ตายเอง อย่างนี้ไม่ผิด ทำให้ตายกับปล่อยให้ตายนี้ไม่เหมือนกัน ถ้าปล่อยไม่บาป ถ้าทำให้เขาตายก็บาป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราเองหรือของคนอื่น ก็บาปเหมือนกัน
 
ถาม  เมื่อเช้ามีคนบอกว่ามีปัญหาอยากจะถาม
 
ตอบ  เราก็บอกเขาไปว่า คำตอบอยู่ที่ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะไม่มีคำถาม คำตอบของทุกคำถามอยู่ที่อนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นคำตอบที่แท้จริง เวลาไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะสงสัยว่า ทำไมเป็นอย่างนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ ถ้าเห็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของมัน เราไปห้ามมันไม่ได้ ไปเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ ก็จะได้คำตอบ ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะไม่มีคำถาม ไม่รู้จะถามอะไร ถ้าถามทำไมก็แสดงว่าโง่ ทำไมต้องทำไม เพราะมันเป็นอย่างนี้ เวลาคนตายทำไมต้องถามว่า ทำไมต้องตายด้วย ทำไมต้องเกิดกับเขา ทำไมไม่เกิดกับคนนั้นคนนี้ ทำไมต้องทำไมด้วย ก็มันเป็นอย่างนี้ นี่แหละคือธรรมะ ต้องเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้
 
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ที่มีทั้งทางด้านบวกและลบ คือกรรมและบุญ ที่จะช่วยเสริมให้เจริญหรือเสื่อม อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา ที่เราทำอะไรไม่ได้ บุญหรือกรรมเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วในอดีต การเจริญหรือเสื่อมของธรรมชาติก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำใจให้เป็นอุเบกขาปล่อยวาง จะปล่อยวางได้ก็ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากจะเจอก็อย่ามาเกิด อย่าอยากได้สิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เวลาอยากได้ไม่คิดกันเลยว่าได้แล้วต้องเสียไป พอเสียแล้วก็ถามว่าทำไมต้องเสีย ทุกอย่างที่เราได้มาเราต้องเสียไปหมด ได้ร่างกายนี้มาเดี๋ยวก็ต้องเสียมันไป ได้ลาภยศสรรเสริญสุขมา เราก็ต้องเสียมันไปหมด สิ่งที่เราไม่เสียเรากลับไม่เอากัน คือความสงบ
 
ความสงบสุขเป็นของเรา อยู่กับเราไปตลอด อกาลิโก ความสงบที่เกิดจากการภาวนาทำใจให้สงบ ที่เกิดจากการปล่อยวางด้วยปัญญา เป็นสมบัติของเรา ที่จะไม่มีวันจากเราไป อยู่กับเราไปตลอด ไม่มีร่างกาย เราก็ไม่เดือดร้อน เราก็ยังมีความสุขนี้อยู่ ความสุขที่พระพุทธเจ้า พระสาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายมีกันอยู่ ถึงแม้เวลาจะผ่านมาแล้วตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปี ความสุขในพระทัยของพระพุทธเจ้า ที่เป็นปรมังสุขังนี้ก็ยังอยู่ ความสุขของครูบาอาจารย์ที่ท่านจากพวกเราไปแล้ว ก็ยังอยู่ในใจของท่าน ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหาย ไม่มีวันหมดไป เพราะไม่ได้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ความสุขนี้แหละเป็นสมบัติที่แท้จริง ที่เราสามารถครอบครองได้ ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือทำทาน รักษาศีล เจริญสติสมาธิและปัญญา เป็นวิธีที่จะทำให้ได้สมบัติอันวิเศษนี้
 
อยู่แค่เอื้อมมือนี้เองนะ อยู่ที่วิริยะคือความเพียร หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยความเพียร ต้องมีความเพียรถึงจะเกิดสติ ถึงจะเกิดสมาธิและเกิดปัญญา ต้องเพียรเจริญสติ ครูบาอาจารย์ภาวนาในตอนต้น ท่านก็พุทโธทั้งวัน จนพุทโธกับใจแนบติดกันเลย ตอนนั้นก็จะเกิดสัมปชัญญะขึ้นมา มีความรู้สึกตัวตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอ ไม่ลอยไปที่นั่นที่นี่ อยู่ในปัจจุบัน พออยู่ในปัจจุบันแล้ว เวลานั่งสมาธิก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ จะพบกับปรมังสุขังชั่วคราว พอออกจากสมาธิมา ถ้าต้องการรักษาปรมังสุขังนี้ ก็ต้องใช้ปัญญาหยุดตัณหาความอยาก ที่ไม่ตายจากความสงบของสมาธิ จะตายได้ก็ต้องตายด้วยการเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ความสงบนี้แหละเป็นสมบัติของเรา ไม่มีใครจะแย่งจากเราไปได้ ไม่ว่าเป็นหรือตาย จะอยู่กับเราไปตลอด
 
พวกเราควรเปลี่ยนทิศทางของการหาทรัพย์ได้แล้ว อย่าไปหาทรัพย์ภายนอก ควรหันเข้ามาหาทรัพย์ภายใน ด้วยการสละทรัพย์ภายนอก อย่าใช้ทรัพย์ภายนอกเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ให้ใช้ทรัพย์ภายในเป็นที่พึ่ง เพราะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็คือปรมังสุขังนี้ บรมสุขที่ เกิดจากการภาวนา จากการสละทรัพย์ทั้งหมดไป สละทรัพย์ภายนอกเพื่อจะได้เข้าหาทรัพย์ภายใน รักพี่เสียดายน้องไม่ได้ จะเอาทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในไม่ได้ เหมือนจะเอาน้ำร้อนกับน้ำเย็นไม่ได้ ถ้าเอามาปนกัน ก็จะไม่ร้อนไม่เย็น ถ้าต้องการความสุขเย็นก็ต้องเข้าข้างใน ถ้าต้องการความสุขร้อนก็ต้องอยู่ข้างนอก ความสุขร้อนก็คือความสุขที่มีความทุกข์ ความสุขเย็นก็คือความสุขที่ไม่มีความทุกข์ ต้องเข้าข้างใน ต้องสละทรัพย์ภายนอก ให้เข้ามาบวช มารักษาศีล มาภาวนา มาปฏิบัติธรรม แล้วความสงบภายในก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ ตามกำลังของความเพียร ตามกำลังของสติของสมาธิของปัญญา 
 
ขั้นสมาธิก็เข้าสู่ขั้นอัปปนา สงบได้นาน จิตจะมีกำลังมาก ที่จะสนับสนุนในการเจริญปัญญา พอออกทางปัญญาก็มีอยู่ ๔ ขั้นคือ ๑. ขั้นโสดาบัน ๒. ขั้นสกิทาคามี ๓. ขั้นอนาคามี ๔. ขั้นอรหันต์ ก็ต้องใช้อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นเครื่องมือ พิจารณาขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นอนัตตาเป็นอนิจจังเป็นทุกขัง ถ้าเห็นก็จะละสักกายทิฐิได้ ละความหลงที่เห็นว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารเป็นตัวเราของเรา จะให้ความสุขกับเรา จะอยู่กับเรา จะเป็นตามที่เราต้องการ มันเป็นไปไม่ได้ มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีเกิดมีดับ มีสุขมีทุกข์ เช่นทุกขเวทนาสุขเวทนา จะให้สุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับได้ทั้งสุขทั้งทุกข์ ถึงจะเรียกว่าปล่อยวาง ถ้าอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่ายังปล่อยวางไม่ได้ พอร้อนหน่อยก็เปิดแอร์ อย่างนี้แสดงว่าปล่อยวางทุกขเวทนาไม่ได้ ร้อนก็อยู่กับมันไป หนาวก็อยู่กับมันไป ถ้ามีผ้าห่มก็ห่มไป ที่ต้องห่มก็เพื่อรักษาร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าห่มเพื่อให้มีความสุข ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลที่ต้องรักษาร่างกายก็เพื่อเอาร่างกายมาปฏิบัติธรรม พอสำเร็จแล้วจะห่มหรือไม่ห่มก็ได้ ถ้ายังไม่เสร็จงานก็ต้องดูแลรักษาร่างกายไปก่อน แต่ไม่ได้ทำเพื่อความสุขทางร่างกาย ทำเพื่อความสุขทางจิตใจ
 
ขอให้พวกเราปลุกระดมความเพียรขึ้นมา นี่คืองานของเรา งานอื่นไม่ใช่งานของเรา อย่าไปเสียเวลา เวลาของเรามีน้อยลงไปทุกวัน ควรรีบเอาเวลาที่มีค่านี้ มาตักตวงประโยชน์สุขที่แท้จริง คือความสุขภายในให้ได้เถิด ถ้าได้แล้วก็จะสบาย ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ถ้าทำงานภายนอกนี้ทำไปจนวันตายก็ไม่มีวันสิ้นสุด จะมีงานใหม่ให้ทำอยู่เรื่อยๆ จะไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวไป เวลาตายจากโลกนี้ไป ผลงานข้างนอกนี้เอาไปไม่ได้เลย แต่ผลงานข้างในนี้เอาไปได้หมด ทั้งผลและเหตุ เหตุก็คือมรรค คือทานศีลสติสมาธิปัญญา เอาติดตัวไปใช้งานต่อได้เลย ไปเกิดข้างหน้าเราก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือทำงานต่อได้เลย ผลก็คือความสงบความร่มเย็นเป็นสุข ก็ติดไปกับเรา ได้มากได้น้อยก็ไปกับเรา ลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสนี้ ไม่ได้ไปกับเราเลย จะหลงหาสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเราไปทำไม หาสิ่งที่เป็นของเราสิ สิ่งที่เราเอาไปกับเราได้ ที่เราพึ่งได้อย่างแท้จริง ก็คือมรรคที่มีองค์ ๘ นี้เอง เจริญมรรคให้มาก แล้วมรรคผลนิพพานก็จะเป็นผลที่ตามมาต่อไป
 
ถาม  โยมทำสมาธิสลับกับการเดินจงกรม เดินจงกรมก็ดูเท้ากระทบพื้น ขณะที่เดินแล้วหยุดจะก้าวเดินต่อไป ก็เกิดว่าขาข้างหนึ่งเบาเหมือนสำลีเลย แล้วขยับจะเดินอีกข้าง แต่มันยกไม่ได้ มันหนักแบบหลายสิบกิโล ขาสองขาหนักไม่เท่ากัน ยกไม่ได้โยมก็เอ๊ะ พอเอ๊ะมันก็หาย แล้วก็เดินได้ต่อไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น อันนี้มันเป็นการสอนให้เห็นธาตุหรือเปล่าคะ
 
ตอบ  เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้แล้วก็ดับไป
 
ถาม  พระอาจารย์ว่าจะต้องเห็นกายเป็นธาตุด้วย โยมก็ไม่แน่ใจว่ามันแสดงให้ดูหรือเปล่า เพราะว่าโยมไม่ได้ใช้คำพูดพิจารณาร่างกายว่าเป็นอะไร ไม่ได้พูดนะคะ
 
ตอบ  เราเห็นว่าเป็นธาตุหรือเปล่าล่ะ ก็อยู่ที่เรา ไปถามคนอื่นได้อย่างไร ร่างกายมันเป็นธาตุอยู่แล้ว เราจะเห็นว่ามันเป็นหรือเปล่าล่ะ
 
ถาม  บางคนเขาบอกว่า มันเป็นลูกเล่นของการทำความสงบ 
 
ตอบ  มันก็อาจจะมีอะไรปรากฏขึ้นมาให้เห็นได้ แต่สิ่งที่เราต้องเห็นก็คือ เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา อนัตตาก็เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เห็นอนิจจังก็เห็นว่ามันต้องตาย
 
ถาม  แล้วการที่เรารู้ว่า กำลังจะคิด แล้วก็มีลมดันขึ้นมา พอสติรู้ทันมันก็ดับลงไป ถ้าไม่ทันมันก็จะผ่านสมอง แล้วจะปรุงเป็นรูปภาพเป็นสีอะไรอย่างนี้ แต่ไม่ได้ตลอดนะเจ้าคะ อย่างนี้เป็นการเรียนรู้ตามความเป็นจริงหรือเปล่าเจ้าคะ
 
ตอบ  ความจริงแบบนี้ รู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้รู้ว่ามันเกิดมันดับไป จะเป็นประโยชน์กว่า ให้รู้ว่าไปจัดการกับมันไม่ได้ ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง ให้รู้ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าไปยึดติดไปอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
 
ถาม  มันดิ้นรนเจ้าค่ะ อยากหาคำตอบ
 
ตอบ  คำตอบก็คืออนิจจังทุกขังอนัตตา รู้แล้วก็ปล่อยวาง
 
ถาม  มันกลัวผิดนะคะ
 
ตอบ  ปัญหาของเรา คือเราไม่รู้เฉยๆ รู้แล้วก็อยากจะไปรู้ว่าเขาเป็นอะไร มาจากไหน ชื่ออะไร ไปรู้ทำไม เขาจะชื่ออะไร พ่อแม่ของเขาเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราก็คือเราทุกข์กับเขาหรือเปล่า ปัญหาของเราอยู่ตรงนั้น เราปล่อยวางเขาได้หรือเปล่า
 
โยม มันก็ปล่อยได้บางครั้ง อยู่ที่กำลังของสมาธิ
 
ตอบ  ต้องรู้แล้วปล่อยวาง รู้แล้วเฉย มันเป็นอดีตไปแล้ว พอรู้ปั๊บมันก็เป็นอดีตไปแล้ว นี่เรายังแบกมันมาถึงวันนี้ ถ้ามีปัญญามันก็จะหายไปจากใจแล้ว นี่ยังคิดถึงมันอยู่ ยังแบกมันอยู่ ความจริงมันเป็นอดีตแล้ว มันผ่านไปแล้ว ท่านสอนให้ลืมอดีต อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ให้อยู่ในปัจจุบัน แสดงว่าไม่มีสติ ใจถึงไปอดีตไปอนาคต ไม่อยู่ในปัจจุบัน การเจริญสติก็เพื่อให้ใจอยู่ในปัจจุบัน ถ้าอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าทุกอย่างเกิดดับ เกิดดับ ผ่านไปแล้ว เช่นคำพูดนี้ พูดปั๊บก็ผ่านไปแล้ว ถ้าไม่มีสติ ไม่อยู่ในปัจจุบัน ก็จะไปดึงเอาคำพูดที่เป็นอดีตแล้ว กลับมาให้อยู่ในปัจจุบันต่อ อย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน ไม่ปล่อยวาง ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป ความจริงทุกอย่างไหลเหมือนกระแสน้ำ เวลาเรานั่งอยู่ท่าน้ำนี้ เราจะเห็นเรือไหลลอยไป แต่ถ้ามีอุปาทาน เวลาเห็นเรือที่เราชอบ ก็จะดึงกลับมา ทั้งๆที่ความจริงมันไม่กลับมาแล้ว มันไปแล้ว ถ้าอยู่ในปัจจุบันได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดจะดับ จะไม่เป็นปัญหา พวกเราชอบดึงอดีตกลับมาเรื่อย อดีตอันแสนหวานผ่านไปแล้ว ก็ดึงกลับมา คิดถึงมันอยู่เรื่อยๆ พวกเราถึงทุกข์กัน เพราะมีอุปาทานมีความอยาก ไม่ปล่อยวางเหตุการณ์ที่ไม่นิ่ง ที่ไหลเหมือนภาพยนตร์ ควรดูเหตุการณ์เหมือนดูภาพยนตร์ 
 
ถาม  ยังทำไม่ได้
 
ตอบ  จิตยังไม่นิ่ง ดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้ ยังวิ่งไปหาอนาคตไปหาอดีตอยู่ ความคิดปรุงแต่งเป็นตัวที่พาไปหาอดีตไปหาอนาคต ต้องใช้พุทโธดึงเอาไว้ ถ้าสติมีกำลัง ไม่ต้องใช้พุทโธก็ได้ ถ้าให้รู้เฉยๆได้ รู้ว่าทุกอย่างกำลังเกิดกำลังดับ เสียงที่เราพูดตอนนี้มันเกิดแล้วมันก็ดับไป ใครพูดอะไรก็ผ่านไปแล้ว ใครชมก็ผ่านไปแล้ว ใครด่าก็ผ่านไปแล้ว แต่เราชอบเอากลับมาฟังใหม่ เขาด่าตั้งแต่เมื่อเช้านี้ ตอนนี้ก็ยังคิดถึงคำด่าอยู่ มันผ่านไปแล้ว มันหมดไปแล้ว ใจเราต้องปล่อยวาง ไม่ไปหาอดีต ไม่ไปหาอนาคต
 
ถาม  พูดถึงการวางนี้ เคยหลับแล้วมีสติไปเห็นความคิดในขณะหลับ แล้วอยู่ๆมีความรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในอากาศ ไม่ได้เป็นตัว เป็นความรู้สึก แล้วก็มีความสุขมาก ตื่นขึ้นมาก็นั่งยิ้ม ยึดอีกแล้วเจ้าค่ะ
 
ตอบ  มันผ่านไปแล้ว
 
ถาม  มันชอบยึด อะไรนิดๆหน่อยๆ ก็มีความสุข
 
ตอบ  จิตเราสามารถผลิตความสุขได้ ผลิตความทุกข์ได้ บางทีก็เกิดจากตัวเรา ไปกระตุ้นให้ผลิตขึ้นมา คือความอยาก ก็จะผลิตความทุกข์ขึ้นมา ถ้าปล่อยวางก็จะผลิตความสบายใจขึ้นมา ส่วนใหญ่จะผลิตความทุกข์กัน เพราะอยากกัน ถ้าปล่อยวางก็จะผลิตความสุข
 
ถาม  พระปัจเจกพุทธเจ้านี้สามารถเกิดได้ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไหมครับ
 
ตอบ  พระปัจเจกพุทธเจ้าจะปรากฏในช่วงที่ไม่มีพระพุทธศาสนา เพราะต้องตรัสรู้เอง พบพระอริยสัจ ๔ เอง ถ้ามีพระพุทธศาสนาก็ไม่ต้องค้นหาเอง เช่นพระอรหันตสาวก ไม่ได้ค้นพบพระอริยสัจ ๔ เอง
 
ถาม  เช่นในปัจจุบันก็จะไม่มี
 
ตอบ  ถ้าอยู่ในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนเลย แล้วค้นพบพระอริยสัจ ๔ เอง ก็จะเป็นพระพุทธเจ้าได้
 
ถาม  คืออาจเกิดได้
 
ตอบ  ได้ แต่โอกาสที่จะมีพระพุทธเจ้า ๒ องค์ มาปรากฏในเวลาใกล้กัน นี้ จะยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการปรากฏของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็ยากสุดๆแล้ว
 
ถาม  ถ้าอยากเปิดตู้เย็นกินขนมอย่างนี้ ถ้าเราสามารถเบรกตัวเองได้ ไปเรื่อยๆ อย่างนี้จะเป็นการ
 
ตอบ  ตัดกำลังของกิเลสลงไป จะตัดได้อย่างถาวร ก็ต้องเห็นว่าเป็นความทุกข์ เวลาเปิดตู้เย็นนี้ ไม่ใช่สุข แต่เป็นทุกข์ เพราะเหมือนไปเอายาเสพติดมาเสพ ที่เราไม่เสพยาเสพติดเพราะอะไร เพราะรู้ว่ามันทุกข์มากกว่าสุข ต้องเห็นว่ารูปเสียงกลิ่นรสนี้ เป็นยาเสพติด
 
ถาม  เราก็ตัดใจ ไม่เปิดตู้เย็น
 
ตอบ  ให้ภรรยาจัดอาหารให้กินก็แล้วกัน กินตามเวลาเหมือนกินยา ระหว่างมื้อก็ไม่กินอะไร ไม่ดื่มอะไรนอกจากน้ำเปล่า ถึงจะตัดกามตัณหาได้


ธรรมะบนเขา ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
"โรคจิต" กัณฑ์ที่ ๔๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
บรมสุข : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 843 กระทู้ล่าสุด 23 สิงหาคม 2562 15:35:24
โดย Maintenence
สัพเพธัมมาอนัตตา โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 1183 กระทู้ล่าสุด 29 สิงหาคม 2562 17:08:16
โดย Maintenence
"ความสุขจากความสงบ" พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 888 กระทู้ล่าสุด 30 สิงหาคม 2562 16:17:46
โดย Maintenence
"ไม่มีอะไรเป็นของเรา" พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 719 กระทู้ล่าสุด 31 สิงหาคม 2562 12:18:01
โดย Maintenence
เสบียงใจ - พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 764 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2562 11:06:39
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.9 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 เมษายน 2567 12:06:39