[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 13:05:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง  (อ่าน 1965 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 มกราคม 2563 16:10:47 »



ไอศกรีม
รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง

ไอศกรีม เป็นของหวานแช่แข็งชนิดหนึ่ง ทำด้วยครีม นม หรือกะทิสด และน้ำตาล เป็นต้น ผสมกัน แล้วปั่นให้ข้นในอุณหภูมิต่ำที่เย็นจัดโดยอาศัยเครื่องปั่นไอศกรีม  อาจเติมรส สี และกลิ่นต่างๆ ได้ตามชอบ ไอศกรีมตักโดยทั่วไปจะต้องผ่านขั้นตอนการแช่เยือกแข็งอีกครั้งก่อนนำมาขายหรือรับประทาน

ไอศกรีมมีรสชาติและรูปแบบให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานกันมากมาย เช่น ไอศกรีมช็อกโกแลต ไอศกรีมวานิลลา ไอศกรีมสตรอเบอร์รี่ ไอศกรีมราสป์เบอร์รี ไอศกรีมมะนาว ไอศกรีมกะทิสด ฯลฯ ถ้าใส่อย่างอื่นๆ ผสม ก็อาจเรียกตามชื่อเครื่องผสมนั้นๆ เช่น ไอศกรีมกะทิสดมะพร้าวอ่อน ไอศกรีมทุเรียน ไอศกรีมเผือก

หลายคนคงนึกอยากรับประทานไอศกรีมขึ้นมาบ้าง แต่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกขานของหวานชนิดนี้กันว่า ไอติม สำหรับผู้ที่ทราบว่าคำนี้มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษในคำว่า ice- cream ก็อาจมีผู้ที่เรียกทับศัพท์กันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คนก็ยังนิยมเรียกว่า ไอติม กันอยู่ดี ซึ่งจะเรียกอย่างไรก็คงไม่ผิด แต่เขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง

พวกเรารู้จักและชื่นชอบของหวานเย็นรสอร่อยนี้กันมาช้านาน แต่ก็มักจะสะกดชื่อของหวานชนิดนี้กันหลากหลาย เช่น ไอศกรีม ไอศครีม ไอสกรีม ไอสครีม ไอซครีม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒  นิยามไอศกรีม ว่า เป็นคำนาม หมายถึง ของกินที่ทำด้วยน้ำหวาน กะทิ หรือนม เป็นต้น ทำให้ข้นด้วยความเย็น

ไอศกรีม เป็นคำทับศัพท์ก็จริง แต่มิได้เขียนตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน ทั้งนี้ก็เพราะคำไอศกรีมเขียนแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งที่คนไทยเพิ่งจะรู้จักของกินชนิดนี้ใหม่ๆ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยาม หลังเสด็จประพาสอินเดีย, ชวา และสิงคโปร์  จึงถือได้ว่า “ไอศกรีม” เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศจนเป็นคำไทยไปแล้วนั่นเอง

ภาษาพูดนั้นจะพูดเพี้ยนกันไปบ้างเป็น ไอติม แต่ภาษาเขียนนั้น ควรจะเขียนให้ถูกต้อง ตรงกันตามพจนานุกรมฯ



ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ไอศกรีม ยังเป็นของหวานที่เด็กๆ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่นชอบ
ภาพถ่ายจาก ร้านไอศกรีม เมือง LUGANO สวิตเซอร์แลนด์




รถขายไอศกรีมกะทิในหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว






ไม่ว่าฤดูไหนเมืองไทยก็ร้อน ไอศกรีมกะทิสดในถังปั่น จึงครองใจคนไทยมานาน จนถึงวันนี้
ภาพจาก เกาะสิมิลัน จ.พังงา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มกราคม 2563 10:16:50 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 23 มกราคม 2563 10:13:16 »


พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระอรหันตสาวก
ที่ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่ ณ พื้นที่ต่างๆ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
ที่ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยมิได้นัดหมาย ในวันมาฆบูชา
เพ็๋ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ


ความต่างระหว่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”
รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง

การใช้คำว่า “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่” มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่  คำทั้งสองนี้ดูเหมือนจะคล้ายหรือเหมือนกัน และสามารถใช้แทนกันได้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

เผยแผ่ ก. ทำให้ขยายออกไป ขยายออกไป เช่น เผยแผ่พระศาสนา.

เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.

คำอธิบายต่อไปนี้เป็นความต่างระหว่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่” ที่คาดว่าทำให้ท่านผู้อ่านกระจ่างแจ้งขึ้น สามารถแยกความต่างได้

เผยแผ่ เป็นการทำให้ขยายออกไปโดยไม่ทิ้งหลักเดิม ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เช่นแผ่เสื่อ แผ่สาด ท่านผู้อ่านที่เคยแผ่เสื่อ ลองนึกภาพดู เมื่อแผ่เสื่อออกไป เสื่อผืนนั้นก็ขยายกว้างออกไป และที่ขยายออกไปก็เป็นเสื่อผืนนั้นนั่นเอง

เผยแพร่ เป็นการทำให้ขยายออกไปเหมือนกัน แต่ต้องทิ้งของเดิมไป ตัดขาดจากของเดิมไป เช่น การแพร่ของเชื้อโรค เชื้อโรคที่แพร่จากสถานที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นเชื้อโรคคนละตัวกัน ไม่ใช่เชื้อโรคตัวเดียวกัน

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจึงมักใช้คำว่า เผยแผ่ กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาอย่างไร ผู้ที่นำไปเผยแผ่ก็นำคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นไปเผยแผ่ให้ขยายออกไป โดยไม่ทิ้งงหลักตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ ไม่นำความคิดหรือความเห็นของตนเองสอดแทรกเข้าไปด้วย

ต่อไปนี้ ท่านผู้อ่านคงแยกความต่างของคำทั้งสองได้ และใช้ได้ถูกต้อง


ข้อมูลอ้างอิงจากบทความเรื่อง ความต่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่”   คลังความรู้จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มกราคม 2563 10:17:12 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 กุมภาพันธ์ 2563 12:39:06 »


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย

รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง

สาบ-สาป

คำที่ออกเสียงว่า [สาบ]  มีทั้งที่ใช้ บ ใบไม้ สะกด และ ป ปลา สะกด  มีความหมายต่างกัน

คำว่า สาบ  บ ใบไม้ สะกด มีความหมายหลายอย่าง เป็นต้นว่า กลิ่นเหม็น เช่น เหม็นสาบ.  ชื่อแมลงชนิดหนึ่ง คือ แมลงสาบ. หมายความว่า จืด เช่น ทะเลสาบ คือ ทะเลน้ำจืด.   หมายความว่า หมดไป สูญไป เช่น สาบสูญ.   นอกจากนี้ ยังใช้ในความหมายว่า ผ้าทาบที่อกเสื้อสำหรับติดกระดุมหรือเจาะรังดุม เรียกว่า สาบเสื้อ.

คำว่า สาบ ที่กล่าวมานี้ เขียน บ ใบไม้ สะกด.

ส่วนคำว่า สาป ที่ใช้ ป ปลา สะกด มีความหมายว่า กล่าวให้ร้ายให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ เช่น สาปแช่ง. สาปส่ง. ถูกสาปให้เป็นหิน.



มาส-มาศ

มาส ที่สะกดด้วย ส เสือ  กับ มาศ ที่สะกดด้วย ศ ศาลา มีความหมายต่างกัน

มาส ที่สะกดด้วย ส เสือ แปลว่า พระจันทร์ เช่น แม้นมาส แปลว่า เหมือนพระจันทร์ คำว่า มาส นี้ อาจจะแปลว่า เดือน เช่น อัฒมาส (อ่านว่า อัด-ทะ-มาด) แปลว่า ครึ่งเดือน. ทศมาส (อ่านว่า ทด-สะ-มาด) แปลว่า สิบเดือน.

ส่วนคำว่า มาศ ที่สะกดด้วย ศ ศาลา แปลว่า ทอง เช่น เมรุมาศ (อ่านว่า เม-รุ-มาด) แปลว่า เมรุทอง (อ่านว่า เมน-ทอง). นพมาศ แปลว่า ทองเนื้อเก้า.

มาส ที่แปลว่า พระจันทร์และเดือน ต้องสะกดด้วย ส เสือ  ส่วน มาศ ที่แปลว่า ทอง ต้องสะกดด้วย ศ ศาลา



สแลง-แสลง

คำว่า สแลง (อ่านว่า สะ-แลง) กับ แสลง (อ่านว่า สะ-แหฺลง) เป็นคำคนละคำที่แตกต่างกันทั้งรูป การออกเสียง และความหมาย

สแลง (อ่านว่า สะ-แลง) เขียน ส เสือ  สระแอ  ล ลิง  ง งู  หมายถึง ถ้อยคำหรือสำนวนที่เข้าใจกันเฉพาะในคนบางกลุ่มหรือในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ใช้ในภาษาพูดที่ไม่เป็นทางการ และไม่ใช้ในภาษาเขียน เช่นคำว่า โบ๊ะ.  วีน.  เม้ง. เป็นคำสแลง

คำว่า สแลง เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษหมายถึง ภาษาที่มีความหมายเป็นพิเศษเฉพาะของคนบางกลุ่ม ซึ่งต้องการพูดโดยไม่ให้คนที่อยู่นอกกลุ่มของตนเข้าใจ

ในภาษาไทยมีคำที่มีเสียงและความหมายคล้ายๆ กับคำว่า สแลง คือคำว่า แสลง (อ่านว่า สะ-แหฺลง) เขียน สระแอ  ส เสือ  ล ลิง  ง งู  หมายความว่า ไม่ถูกกับโรค เช่น ถ้ากินของแสลงโรคจะกำเริบ. หน่อไม้และแตงกวาแสลงโรคเกาต์ (อ่านว่า เก๊า). แสลง อาจจะหมายความว่า ขัด ก็ได้ เช่น แสลงหู หมายถึง ขัดหู. แสลงตา หมายถึง ขัดตา.



ประสบ หรือ ประสพ

คำ “ประสบ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ นิยามว่า เป็นกริยา หมายถึง “พบ พบปะ พบเห็น” คำที่มี “ประสบ” ประกอบอยู่ด้วย พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ประสบการณ์” และ“ประสบการณ์นิยม”

ส่วนคำ “ประสพ” พจนานุกรมฯ นิยามว่า “การเกิดผล” และบอกที่มาของคำว่ามาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปฺรสว” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “ปสว”

ในภาษาบาลี มีคำหนึ่ง คือ “ปสวติ” ซึ่งเป็นคำกิริยา เช่น ประโยคว่า สทฺโธ กุลปุตฺโต พหุ ปุฺปสวติ แปลเป็นไทยว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธาจึงประสบบุญเป็นอันมาก ตัวอย่างที่ยกมานี้เพื่อแสดงว่า “ประสพ” มีหลักฐานการใช้คำนี้อยู่ แต่ยังหาตัวอย่างในภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดพบตัวอย่างการใช้คำนี้ ขอได้โปรดแจ้งให้ราชบัณฑิตยสถานทราบ เพื่อจะให้เก็บเป็นตัวอย่างของการใช้คำต่อไป

ส่วนที่มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า จะใช้ “ประสบความสำเร็จ” หรือ “ประสพความสำเร็จ” นั้น ตอบแบบฟันธงได้ทันทีว่า ใช้ว่า “ประสบความสำเร็จ”

ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถานคณะหนึ่ง คณะกรรมการจะบัญญัติภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า “บังคั่น” ได้มีกรรมการท่านหนึ่งถามว่า ในภาษาไทย คำว่า “คั่น” กับ “ขั้น” ใช้ต่างกันอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง “คั่น” และ “ขั้น” ก็น่าสนใจ ควรนำมาแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างของการใช้คำดังกล่าวด้วย

คั่น” พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นกริยา หมายถึง “แทรกหรือกั้นอยู่ในระหว่าง” ส่วน “ขั้น” พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นนาม หมายถึง “ชั้นที่ทำลดหลั่นกันเป็นลำดับ เช่น ขั้นบันได; ลำดับ ตอน เช่น ในขั้นนี้” คำว่า “คั่น” กับ “ขั้น” ถึงแม้จะพ้องเสียงกัน แต่ใช้ต่างกันนะครับ



พงษ์-พงศ์

คำว่า พงษ์ วงษ์ ที่อยู่ในชื่อสกุลของหลายๆ คน เมื่อค้นคำเพื่อหาความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อาจไม่พบคำที่เขียนสะกดในรูปดังกล่าว หลายคนอาจสงสัยว่า ชื่อสกุลของตนนั้นเขียนสะกดการันต์ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ตลอดจนเขียนไม่ถูกอักขรวิธีหรืออย่างไร ข้อสงสัยนี้ หากได้เปิดอ่านพจนานุกรมฯ เล่มเดียวกันนั้น หน้า ญ-ฒ เรื่อง คำนำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓  จะพบว่า คณะกรรมการผู้จัดทำพจนานุกรมฯ ได้ชี้แจงไว้แล้วว่า ผู้จัดทำพจนานุกรมฯ ไม่สามารถที่จะรวบรวมคำที่เขียนเป็นรูปต่างๆ อันมีใช้อยู่ในหนังสือที่เป็นหลักฐานมาได้ทั้งหมดเพราะ “วิธีเขียนหนังสือไทยได้วิวัฒนาการผันแปรมาโดยลำดับ รูปของคำที่เขียนย่อมมีต่างๆ กันแต่ละยุคแต่ละสมัย การที่จะให้เก็บหมดทุกรูปเท่าที่เขียนกันย่อมเหลือวิสัยที่จะทำได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง วัตถุประสงค์ของการทำพจนานุกรมเล่มนี้ ทางราชการต้องการให้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยที่จะใช้ในทางราชการ”

คำ วงษ์ นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า เป็นรูปที่เขียนตามกฎเกณฑ์โบราณ แต่ในปัจจุบันนิยมเขียนเป็นรูป วงศ์  ซึ่งพจนานุกรมฯ ได้แยกเก็บไว้ทั้ง ๒ คำ คือ รูปที่เขียนตามกฎเกณฑ์โบราณและรูปที่เขียนในปัจจุบัน  ส่วนนิยามนั้น ให้ไปดูที่คำ วงศ์

อนึ่ง ทั้งคำ พงศ์ และ วงศ์ นั้น ในท้ายบทนิยามได้บอกรูปเดิมของคำว่า มาจากคำภาษาสันสกฤตคำเดียวกันคือ วํศ   ซึ่งหมายถึง เชื้อสาย เทือกเถา เหล่ากอ สกุล   ดังนั้น คำ พงศ์ จึงมีความหมายเหมือนกับ วงศ์ เป็นเหตุให้คำ พงษ์ มีความหมายเหมือนกับ วงษ์ ด้วย  คำ พงษ์ เป็นรูปที่เขียนตามกฎเกณฑ์โบราณ มิได้เขียนผิดอักขรวิธีแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ใช่ภาษาราชการ  และแม้ว่าพจนานุกรมฯ จะไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ แต่ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับคำ วงษ์


ที่มา : คลังความรู้จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กุมภาพันธ์ 2563 12:58:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 13 กุมภาพันธ์ 2563 16:03:44 »


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย

รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง

วาสนา อิจฉา

วาสนา อิจฉา

คำที่ยืมมาจากภาษาอื่นนั้น บางครั้งก็ไม่ได้นำความหมายเดิมของภาษานั้นๆ มาด้วย นำแต่รูปคำมาใช้ แต่ความหมายของคำเพี้ยนออกไป บทความนี้ขอเสนอคำที่ดั้งเดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง คนไทยรับมาใช้เพี้ยนความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง จำนวน ๒ คำ คือ วาสนา กับ อิจฉา

วาสนา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ความหมายเดิมของคำนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ดังนี้ “อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น”

ส่วนความหมายที่ไทยรับมาใช้นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายไว้ดังนี้  “บุญบารมี กุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก”

ส่วน อิจฉา ก็เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ความหมายเดิมของคำนี้ หมายถึง “ความอยาก ความต้องการ ความปรารถนา” แต่ไทยรับมาใช้ในความหมายว่า “เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง” ซึ่งในความหมายนี้นั้นตรงกับภาษาบาลีคือ อิสฺสา ตรงกับภาษาสันสกฤตคือ อีรฺษฺยา หรือรูปที่ไทยรับมาใช้ คือ ริษยา และคำ ริษยา นี้ พจนานุกรมฯ อธิบายว่า หมายถึง “อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้” นอกจากนั้น พจนานุกรมฯ ยังได้ระบุอีกว่า อิจฉานี้มีความหมายเบากว่าริษยา

ผู้อ่านคงได้ทราบถึงความหมายดั้งเดิมของคำและความหมายที่คนไทยใช้กันอยู่ เป็นแบบที่เรียกกันว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” นั่นเอง



ราง กับ ลาง

ราง กับ ลาง

ถึงแม้ว่าเป็นคนไทย แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจและใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องโดยไม่มีข้อผิดพลาด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง บทความนี้ขอเสนอความหมายของคำว่า “ราง” กับ “ลาง” ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒

ราง เป็นนาม หมายถึง ร่องที่ขุดเป็นทางสำหรับให้น้ำไหล; สิ่งสำหรับรองน้ำฝนที่ชายคาเป็นต้น มักทำด้วยสังกะสียาวเป็นแนวไปตามชายคา; ไม้ที่ขุดหรือต่อให้เป็นร่องยาวๆ หรือปล้องไม้ไผ่ผ่าซีก มีด้านสกัดหัวท้าย สำหรับใส่อาหารหมูหรือย้อมผ้าเป็นต้น; โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น รางระนาด; เหล็กที่ใช้เป็นทางเดินของล้อเลื่อน เช่น รางรถไฟ; ไม้เจาะเป็นร่องยาวสำหรับใส่เหรียญบาทเรียงกันได้ ๘๐ เหรียญ หรือ ๑ ชั่ง ปัจจุบันเป็นแผ่นไม้เจาะเป็นร่องสำหรับใส่เหรียญบาทเรียงกันเป็นแถวๆ แผ่นหนึ่งมี ๑๐ แถว แถวหนึ่งใส่เหรียญบาทได้ ๑๐ เหรียญ รวมเป็น ๑๐๐ บาท; ลักษณนามเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นราง เช่น ลูกคิดรางหนึ่ง ระนาด ๒ ราง รางรถไฟ ๓ ราง เป็นกริยา หมายถึง คั่วข้าวเม่าให้กรอบ เรียกข้าวเม่าที่เอามาคั่วให้กรอบว่า ข้าวเม่าราง  เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน เช่น เห็นรางๆ ภาพรางๆ

ส่วนคำว่า ลาง เป็นนาม หมายถึง ๑.สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย เช่น ผึ้งทำรังทางทิศตะวันออกของอาคารเชื่อกันว่าเป็นลางดี แมงมุมตีอกเชื่อกันว่าเป็นลางร้าย  ๒.หมาก ขนุน เรียกว่า หมากลาง (ไทยใหญ่) ๓.นกกะลาง  เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ต่าง แต่ละ บาง เช่น ลางคน ลางสิ่งลางอย่าง

มีปัญหาเพื่อทดสอบภาษาไทยของท่านผู้อ่านว่า ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล เรียกว่า เครื่องราง หรือ เครื่องลาง  คำตอบหาได้จากพจนานุกรมครับ



ยาเสพติด หรือ ยาเสพย์ติด

ยาเสพติด หรือ ยาเสพย์ติด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๑-๔ เก็บคำ เสพ เสพย์ ไว้คู่กันและระบุชนิดคำว่าเป็นคำกริยา ดังนี้  “เสพ เสพย์ ก. คบ เช่น ซ่องเสพ; กิน บริโภค เช่น เสพสุรา; ใช้ เช่น ยาเสพย์ติด; ร่วมประเวณี เช่น เสพเมถุน. (ป. ส.).” และเก็บคำ “ยาเสพย์ติด” เป็นลูกคำของคำตั้ง “ยา” โดยมีข้อความท้ายบทนิยามว่า “ใช้ว่า ยาเสพติด ก็มี” ด้วยเหตุผล ๒ ประการ  ประการแรก คำ “เสพย์” ในภาษาเดิมคือบาลีและสันสกฤต ไทยยืมคำนี้มาใช้เป็นคำวิเศษณ์ ซึ่งทำหน้าที่ขยายความคำอื่นที่ไปประกอบ คือ ขยาย “ยา” จึงควรเป็น “ยาเสพย์ติด”  ประการที่ ๒ เนื่องจากมีตัวอย่างจากชื่อพระราชบัญญัติ ๖ ฉบับที่ใช้ทั้ง “เสพย์” และ “เสพ” คือ พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พุทธศักราช ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นฉบับแรก และพระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งเป็นฉบับที่ ๔ ส่วนอีก ๔ ฉบับ คือฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๔๗๙ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๐๒  ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๑๘ และฉบับที่ ๖ พ.ศ.๒๕๒๒  ใช้ว่า “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ” โดยหลักที่ยึดถือ คำที่ปรากฏในกฎหมายซึ่งเขียนในรูปของอักขรวิธีอย่างใดก็ควรจะใช้ตามที่กฎหมายใช้ โดยไม่แก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อความว่า “ใช้ว่า ยาเสพติด ก็มี” ต่อท้ายบทนิยามของคำ “ยาเสพย์ติด” เพื่อมิให้ขัดกับที่กฎหมายใช้  

เมื่อจัดพิมพ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ และ ๖ ได้ปรับเปลี่ยนการเก็บคำ เสพ และ เสพย์ใหม่ โดยตัดคำ “เสพย์” ที่เคยตั้งคู่กันออก แล้วเก็บคำตั้งว่า “เสพย์ติด” ให้เป็นคำวิเศษณ์ ทั้งเพิ่มลูกคำ “ยาเสพย์ติดให้โทษ” ระบุว่าเป็นคำกฎหมายไว้ด้วย  เมื่อมีการแยกเอา “เสพย์” ออกจาก “เสพ” โดยตั้งคำ “เสพย์ติด” แทน และระบุชนิดคำว่าวิเศษณ์ ทำให้เกิดความสับสน  คณะกรรมการชำระพจนานุกรม จึงได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า ในภาษาไทย คำที่นำมาขยายคำที่ไปประกอบนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคำคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์เสมอไป อาจใช้คำนามหรือกริยามาขยายก็ได้ เช่น ยาเส้น ยาน้ำ ยาทา ยากิน ยาสีฟัน ทั้งคำที่ไทยยืมมาก็มักไม่คำนึงถึงชนิดคำเดิมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดรูปคำตามชนิดคำในภาษาเดิม จึงมีมติให้เขียนคำนี้ว่า ยาเสพติด เพียงรูปเดียว โดย เสพ ซึ่งเป็นกริยาก็สามารถจะขยายความคำ “ยา” ได้ และมีความหมายที่สื่อความอย่างตรงไปตรงมา คือ “ยาที่เสพแล้วติด” นั่นเอง



ควั่น กับ ฟั่น

ควั่น กับ ฟั่น

ในเมื่อเป็นคนไทย ผู้เขียนก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต้องเข้าใจและต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องศึกษาค้นคว้าภาษาไทยให้ถ่องแท้ และเรื่องที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ต้องกำหนดให้ดี คือ เรื่องของคำที่พ้องเสียงกัน หากไม่กำหนดให้ดี อาจทำให้ใช้ผิดหลักภาษาได้ (เป็นความประสงค์ของผู้เขียนที่ใช้คำว่า “ต้อง” ไม่ใช้คำว่า “ควร”) บทความนี้ ขอเสนอคำพ้องเสียง คือ “ควั่น” “ฟั่น” และแถมท้ายด้วย “ขวั้น”

คำว่า “ควั่น” อ่านว่า คฺวั่น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายไว้ว่า เป็นนาม หมายถึง ที่ต่อขั้วผลไม้หรือดอกที่เป็นรอยรอบเช่นที่ก้านผลขนุนหรือทุเรียนเป็นต้น เป็นกริยา หมายถึง ทำให้เป็นรอยด้วยคมมีดโดยรอบ เป็นวิเศษณ์ เรียกอ้อยที่ควั่นให้ขาดออกเป็นข้อๆ ว่า อ้อยควั่น

คำว่า “ฟั่น” เป็นกริยา มีความหมาย ๒ ประการ  

ประการแรก หมายถึง คลึงสิ่งเป็นเส้นหลายเส้นให้เข้าเกลียวกัน เช่น ฟั่นด้าย นำป่านหรือปอเป็นต้นมาตีเกลียวให้เป็นเชือก เรียกว่า ฟั่นเชือก คลึงขี้ผึ้งที่มีไส้อยู่ภายในให้เป็นเล่มเทียน เรียกว่า ฟั่นเทียน

ประการที่ ๒ หมายถึง มืดมัว ยุ่งเหยิง ปะปน

คำว่า “ขวั้น” อ่านว่า ขฺวั้น พจนานุกรมฯ อธิบายว่า เป็นภาษาถิ่นอีสานและปักษ์ใต้ เป็นนาม หมายถึง หัวขั้ว เช่น และผูกเป็นขวั้นแขวนวง

ต่อไปนี้ ผู้เขียนคาดหวังว่า คงไม่มีใครฟั่นเฝือ คือ ไม่มีใครใช้ปะปนกันระหว่าง “ควั่น” กับ “ฟั่น” จนไม่เกิดอาการฟั่นเฟือนเป็นแน่



ภรรยา กับ ภริยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ภรรยา กับ ภริยา          

ราชบัณฑิตยสถานเป็นสถาบันที่ให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาไทย  ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละวันจึงมีผู้โทรศัพท์มาสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยยังราชบัณฑิตยสถานเป็นจำนวนมาก  และหนึ่งในคำถามที่นักวรรณศิลป์ (กองศิลปกรรม) จะต้องเจอกันเป็นประจำ คือ คำถามว่า ภรรยา กับ ภริยา ใช้เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากมักพบการใช้คำว่า ภรรยา กับหญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป และมักพบการใช้คำว่า ภริยา กับหญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญ

ดังนั้น ในคอลัมน์องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถานฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขออธิบายให้ได้ทราบถึงความเหมือนและความแตกต่างของสองคำดังกล่าวนี้

ความเหมือนของคำว่า ภรรยา กับ ภริยา คือ เป็นคำนามเหมือนกัน และมีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เหมือนกัน คือ เมีย หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย คู่กับสามี

ส่วนความแตกต่างของคำว่า ภรรยา กับ ภริยา คือ มีที่มาของคำต่างกัน โดยคำว่า ภรรยา เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ภารฺยา  แต่คำว่า ภริยา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า ภริยา

ดังนั้น การที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ภรรยา หมายถึง หญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป และคำว่า ภริยา หมายถึง หญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่ว่าจะ ภรรยา หรือ ภริยา ก็ล้วนแล้วแต่หมายถึง เมียหรือหญิงที่เป็นคู่ครองของชายทั้งสิ้น ไม่มีการแยกแยะว่าคำนี้เป็นเมียของบุคคลทั่วไป หรือคำนี้เป็นเมียของบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญ.


ที่มา : คลังความรู้จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กุมภาพันธ์ 2563 16:05:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 29 กุมภาพันธ์ 2563 19:55:27 »


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย

รู้รักภาษาไทย เขียนหรือใช้ภาษาอย่างไรให้ถูกต้อง

ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย

มีผู้โทรศัพท์มาสอบถามผู้เขียนถึงความหมายของคำ ภัยพิบัติ ผู้เขียนจึงได้เปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ไม่พบคำ “ภัยพิบัติ” และเมื่อค้นหาคำ พิบัติภัย ก็ไม่พบเช่นกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคำทั้ง ๒ คำนี้ หมายความว่าอย่างไร และเมื่อใดจะใช้ “ภัยพิบัติ” เมื่อใดจะใช้ “พิบัติภัย” บทความนี้มีคำตอบ

ในรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ของราชบัณฑิตยสถานซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า ภัยพิบัติ (อ่านว่า ไพ-พิ-บัด) ประกอบด้วยคำว่า ภัย หมายถึง สิ่งที่ทำให้กลัว หรืออันตราย กับ คำว่า พิบัติ หมายถึง ความฉิบหาย หรือหายนะ ภัยพิบัติ หมายถึง อันตรายที่นำไปสู่หายนะ หรือหายนะที่เป็นอันตราย มีทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุไซโคลน ภูเขาไฟระเบิด เป็นภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เครื่องบินตก เรือล่ม รถไฟตกราง สงคราม เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คำว่า ภัยพิบัติ อาจใช้ว่า พิบัติภัย (อ่านว่า พิ-บัด-ไพ) ก็ได้ เช่น ทุกประเทศควรมีระบบป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูผลอันเนื่องมาจากพิบัติภัย

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติม ดังนี้ คำว่า ภัยพิบัติ เป็นการแปลจากคำหน้าไปหลัง คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า ภัยที่ทำให้พิบัติ อันตรายที่นำไปสู่หายนะ ส่วน พิบัติภัย นั้น เป็นการแปลตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต คือ แปลจากคำหลังไปหน้า คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า พิบัติที่มีมาจากภัย ความหายนะที่มาจากอันตราย ดังนั้น ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย นั้น มีความหมายทำนองเดียวกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการใช้คำไหนเท่านั้นเอง



ปรกติที่ไม่ปกติ

กรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถานหลายท่านต่างพากันสงสัยว่า ทำไมหน่วยงานอื่นใช้ “ปกติ” แต่เอกสารที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำขึ้นมักใช้ “ปรกติ” มีเหตุผลอะไรหรือไม่อย่างไร

คำ “ปกติ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้คำอ่านว่า “ปะกะติ ปกกะติ” เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ธรรมดา เป็นไปตามเคย ไม่แปลกไปจากธรรมดา ปรกติ ก็ว่า และระบุว่าภาษาบาลีเป็น ปกติ ส่วนภาษาสันสกฤตเป็น ปฺรกฺฤติ

ส่วน “ปรกติ” พจนานุกรมฯ ให้คำอ่านว่า ปฺรกกะติ เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ธรรมดา เช่น ตามปรกติ เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปรกติ ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปรกติ ปกติ ก็ว่า และระบุว่าภาษาสันสกฤตเป็น “ปฺรกฺฤติ”

คำ “ปกติ” นั้นมาจากภาษาบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยก็ใช้ “ปกติ” ตรงตัว แต่คำ “ปรกติ” นั้น พจนานุกรมฯ ระบุว่าภาษาสันสกฤตคือ “ปฺรกฺฤติ” จะเห็นได้ว่า เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย จะไม่ใช้ตรงตามภาษาสันสกฤต ตัวอย่างการใช้คำในลักษณะเช่นนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ คำว่า “สถูป”

ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้อธิบายว่า “คำว่า ‘สถูป’ ในภาษาไทยนั้น ถ้าเป็นภาษาบาลีเขียนว่า ‘ถูป’ ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตเขียนว่า ‘สตูป’ แต่ทั้ง ๒ คำ ถ้าออกเสียงแบบไทยเป็น ‘ถูบ’ หรือ ‘สะตูบ’ ไม่เพราะทั้ง ๒ แบบ บรรพบุรุษของเราก็เอาตัว ‘ส’ มาจากคำว่า ‘สตูป’ ในภาษาสันสกฤตมาไว้หน้า ‘ถูป’ ซึ่งเป็นคำบาลี จึงกลายเป็น ‘สถูป’ (สะ-ถูบ) ในภาษาไทย ซึ่งมีเสียงเพราะกว่า ‘ถูป’ (ถูบ) และ ‘สตูป’ (สะ-ตูบ) อย่างมากมาย”

ส่วนเหตุผลที่ราชบัณฑิตยสถานใช้ “ปรกติ” นั้น มีอยู่ว่า อาจารย์อาวุโสด้านภาษาไทยท่านหนึ่งแนะนำว่า ถ้าราชบัณฑิตยสถานไม่ใช้ แล้วต่อไปใครจะใช้คำนี้ เพราะทุกคนหันไปใช้ “ปกติ” กันหมด ดังนั้น การใช้คำ “ปรกติ” จึงอยู่ในคู่มือการบรรณาธิกรงานของราชบัณฑิตยสถานซึ่งนักวรรณศิลป์ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมา  



ต่าง ๆ นานา

ทำไม “ต่าง ๆ นานา” จึงไม่สะกดเป็น “ต่าง ๆ นา ๆ” คำถามนี้ตอบได้ว่า คำ “นานา” เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” ดังนั้น คำว่า “นานา” จึงไม่ใช้เป็น “นา ๆ”

เมื่อกล่าวถึงไม้ยมก หรือยมก ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไว้ดังนี้

ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่าง
(๑) เด็กเล็ก ๆ  อ่านว่า เด็ก-เล็ก-เล็ก
(๒) ในวันหนึ่ง ๆ  อ่านว่า ใน-วัน-หฺนึ่ง-วัน-หฺนึ่ง
(๓) แต่ละวัน ๆ อ่านว่า แต่-ละ-วัน-แต่-ละ-วัน

นอกจากได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไว้แล้ว ยังได้ให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้
๑.คำที่เป็นคำซ้ำ ต้องใช้ไม้ยมกเสมอ เช่น สีดำ ๆ อ่านว่า สี-ดำ-ดำ เด็กตัวเล็ก ๆ อ่านว่า เด็ก-ตัว-เล็ก-เล็ก
๒. ไม่ควรใช้ไม้ยมก ในกรณีดังต่อไปนี้
     ๒.๑ เมื่อเป็นคำคนละบทคนละความ เช่น ให้เขียนว่า “ฉันจะไปปทุมวันวันนี้” ไม่ใช่เขียนว่า “ฉันจะไปปทุมวัน ๆ นี้”
     ๒.๒ เมื่อรูปคำเดิมเป็น ๒ พยางค์ ที่มีเสียงซ้ำกัน ตัวอย่างคำว่า “จะจะ” เช่น เขียนจะจะ ดำนาจะจะ
     ๒.๓ เมื่อเป็นคำคนละชนิดกัน เช่น คนคนนี้มีวินัย (คนคำแรกเป็นสามานยนาม คนคำหลังเป็นลักษณนาม)
๒.๔ เมื่อเป็นคำประพันธ์ (ยกเว้นกลบทที่มีกำหนดให้ใช้ไม้ยมกได้)

ชัดเจนแล้วใช่ไหมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้ไม้ยมก หรือยมก



อเนก หรือ เอนก กันแน่

อเนกประสงค์ กับ เอนกประสงค์ เขียนอย่างไรกันแน่  

ขอตอบก่อนเลยว่า อเนกประสงค์ เป็นคำที่ถูกต้อง และมีคำอธิบายดังนี้ค่ะ

อเนก มาจาก อน+เอก โดยที่ อน [อะนะ-] มีความหมายเดียวกับ อ [อะ-] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า “เป็นอักษรใช้นําหน้าคําที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตบอกความปฏิเสธหรือตรงกันข้าม แปลว่า ไม่ หรือ ไม่ใช่ เช่น อศุภ (ไม่งาม) อธรรม (ไม่ใช่ธรรม)” อน- ใช้แทน อ ในกรณีที่ประกอบหน้าศัพท์บาลีและสันสกฤตที่ขึ้นต้นด้วยสระ เช่น อนาทร (อน+อาทร) อนาจาร (อน+อาจาร )

อเนก อเนก- [อะเหฺนก อะเหฺนกกะ] แปลว่า มาก หลาย อเนกประสงค์ [อะเหฺนกปฺระสง] ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างแล้วแต่ความต้องการ อเนกวิธ [อะเหฺนกกะวิด] หลายอย่าง ต่าง ๆ อเนกอนันต์  [อะเหฺนกอะนัน] มากมาย มากหลาย อเนกรรถประโยค [อะเนกัดถะปฺระโหฺยก] ประโยคใหญ่ที่มีใจความสำคัญอย่างน้อย ๒ ใจความมารวมกัน และใจความนั้น ๆ จะต้องมีลักษณะเป็นประโยคโดยมีสันธานเป็นบทเชื่อมหรือละสันธานไว้ในฐานที่เข้าใจ  ในทางตรงกันข้าม เอกรรถประโยค [เอกัดถะ-] ก็คือ ประโยคที่มีเนื้อความเดียว มีบทกริยาสําคัญเพียงบทเดียว

มีวิธีจำง่าย ๆ คือ อเนก ไม่ใช่ เอ-นก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ พบว่ามีเพียงคำเดียวที่สระเอนำหน้า อ แล้วอ่านว่า อะ- คือ เอร็ดอร่อย [อะเหฺร็ดอะหฺร่อย] เอนก ไม่มีความหมายในภาษาไทย แต่ที่ชื่อบางคนเขียน เอนก แล้วอ่านว่า อะเหฺนก คงต้องยกเว้นให้ว่าเป็นคำเฉพาะ  และหวังว่าเด็กที่เกิดใหม่คงไม่มีใครชื่อ เอนก อีกต่อไป เพื่อรู้รักษ์ภาษาไทยกันนะคะ



ภาวะ สภาวะ สภาพ สถานะ

คำบางคำนั้น เหมือนว่าจะเข้าใจความหมายได้ดี แต่ถ้าให้อธิบายให้ชัดเจนลงไป กลับอธิบายไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำคำ “ภาวะ สภาวะ สภาพ สถานะ” มาอธิบาย

คำว่า “ภาวะ” มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า “ภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความมี ความเป็น ความปรากฏ เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ”

คำว่า “สภาวะ” มาจากคำบาลีว่า “สภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “สภาพ เช่น สภาวะดินฟ้าอากาศ”

คำว่า “สภาพ” มาจากคำบาลีว่า “สภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความเป็นเองตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพดินฟ้าอากาศ ลักษณะในตัวเอง; ภาวะ ธรรมชาติ”

คำ “สถานะ” มาจากคำสันสกฤตว่า “สฺถาน” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความเป็นไป ความเป็นอยู่ เช่น เขาอยู่ในสถานะยากไร้ เศรษฐกิจของประเทศไทยมีสถานะมั่นคง น้ำมีสถานะปรกติเป็นของเหลว”

เมื่อทราบถึงที่มาของแต่ละศัพท์แล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปได้ดังนี้

คำว่า “สภาวะ” กับ “สภาพ” มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกันจึงใช้แทนกันได้ ความหมายหลักคือ ลักษณะความเป็นอยู่โดยธรรมชาติ

คำว่า “ภาวะ” หมายถึง ความมีหรือความเป็นโดยทั่ว ๆ ไปของบุคคลนั้นหรือของสิ่งนั้น โดยเกิดจากผลที่มีผู้ได้กระทำขึ้นหรือก่อขึ้น

ส่วนคำว่า “สถานะ” หมายถึง ลักษณะความเป็นอยู่

ต่อไปนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านคงแยกความแตกต่างของคำดังกล่าวได้ถูกต้อง



จำนง กับ อารมณ์

คำบางคำในภาษาไทยนั้นสะกดอย่างไรกันแน่ พจนานุกรมเป็นเครื่องมือหาคำตอบที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จำนง ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ระบุว่า จำนง เป็นคำกริยา หมายถึง “ประสงค์ มุ่งหวัง ตั้งใจ (แผลงมาจาก จง)” มีอยู่บ่อยครั้งที่หลายคนสะกดผิดเป็น จำนงค์

เจตจำนง เป็นคำนาม หมายถึง “ความตั้งใจมุ่งหมาย ความจงใจ” ในทางปรัชญา เจตจำนง เป็นคำที่บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า will มีความหมายว่า “๑. ความจงใจ ๒. แรงปรารถนาซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่าง ๆ” บางครั้งสะกดผิดเป็น “เจตจำนงค์” หรือ “เจตน์จำนง” ก็มี

มีเกร็ดเกี่ยวกับคำว่า “จำนงค์” ซึ่งเป็นวิสามานยนามของราชบัณฑิตท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ท่านเล่าให้ฟังว่า ชื่อท่านนั้นแยกเป็น จำนะ + องค์ โดยที่คำว่า “จำนะ” นั้นแผลงมาจาก “ชำนะ” และ “ชำนะ” ก็แผลงมาจาก “ชนะ” รวมกับคำว่า “องค์” ซึ่งแปลว่า “ส่วนของร่างกาย” รวมกันแล้วแปลว่า “ผู้ชนะ”

อีกคำหนึ่ง คือ อารมณ์ เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย; ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย; อัธยาศัย ปรกตินิสัย เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน; ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์ ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์ เป็นวิเศษ หมายถึง มีอัธยาศัย มีปรกตินิสัย เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน

อารมณ์ ในความหมายดังกล่าวมา บางครั้งสะกดผิดเป็น อารมย์ ก็มี เช่น สะกดว่า เจตนารมย์ เพราะอาจคุ้นชินกับคำว่า รื่นรมย์ ซึ่งคำ รื่นรมย์ นี้ พจนานุกรมฯ ระบุว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง สบายใจ บันเทิง เช่น สวนสาธารณะปลูกต้นไม้ไว้สวยงามน่ารื่นรมย์ ส่วนคำ “อารมย์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ “อารมย์” เป็นคำมาจากบาลีสันสกฤต มาจาก อา (อุปสรรค) + รมย์ รวมแล้วมีความหมายเท่ากับคำว่า “รื่นรมย์” นั่นเอง


คลังความรู้ จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.346 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 17:25:05