[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 03:40:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เอกปัณณชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์  (อ่าน 869 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2563 16:14:11 »


ขอขอบคุณเว็บไซต์ (เจ้าของภาพ) : rerngsaeng0008.blogspot.com

อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕
เอกปัณณชาดก

เอกปณฺโณ อยํ รุกฺโขติ อิทํ สตฺถา เวสาลึ อุปนิสฺสาย มหา วเน
กูฎาคารสาลายํ วิหรนฺโต เวสาลิกํ กุฎฐลิจฺฉวิกุมารํ อารพฺภ กเถสิ ฯ

พระศาสดาเมื่อเสด็จอาศัยพระนครเวสาลี ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงพระปรารภลิจฉวีกุมารผู้ดุร้ายชาวเวสาลี ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอกปณฺโณ อยํ รุกฺโข ดังนี้ ฯ

เรื่องพิสดารว่า ในกาลครั้งนั้น พระนครเวสาลีมีกำแพงล้อมถึง ๓ ชั้น ตลอดบริเวณคาวุตหนึ่ง ประกอบไปด้วยกระท่อมพลและป้อมในที่ทั้งสาม ถึงความเป็นเมืองงดงามอย่างยอดเยี่ยม จำนวนราชาเสวยราชสมบัติอยู่เป็นนิตยกาลในพระนครนั้นเล่า มีถึงเจ็ดพันเจ็ดร้อยเจ็ดองค์ จำนวนอุปราชก็เท่ากันเท่านั้น  เสนาบดีและขุนคลังก็มีจำนวนฝ่ายละเท่านั้น
ในกลุ่มแห่งโอรสของราชาเหล่านั้น มีราชกุมารผู้หนึ่งพระนามว่า ทุฏฐลิจฉวี เป็นผู้มักโกรธ ดุ หยาบ เป็นเสมือนอสรพิษที่ถูกตีด้วยไม้ คอยเป็นฟืนเป็นไฟอยู่เป็นเนืองนิตย์ ผู้ที่จะชื่อว่าสามารถกล่าวถ้อยคำสองสามคำต่อหน้าเธอด้วยอำนาจความโกรธไม่มีเลย  พระบิดา พระมารดา พระญาติ และพระสหายต่างไม่สามารถที่จะอบรมเธอได้เลย

ครั้งนั้น พระบิดามารดาของเธอได้ทรงวิตกว่า กุมารนี้หยาบคายยิ่งนัก โหดเหี้ยม เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้อื่นที่จะชื่อว่าสามารถอบรมเธอได้ไม่มีเลย เธอควรจะเป็นพุทธเวไนย แล้วทรงพาพระกุมารไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารนี้ดุร้าย หยาบคาย เป็นฟืนเป็นไฟด้วยความโกรธอยู่ โปรดประทานพระโอวาทแก่กุมารนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า
 
พระศาสดาสอนพระกุมารว่า ดูกรกุมาร เธอไม่น่าจะเป็นคนดุร้าย หยาบคายร้ายแรง ชอบข่มเหง ในหมู่สัตว์เหล่านี้เลยนะ ขึ้นชื่อว่าคนมีวาจาหยาบ ย่อมไม่เป็นที่รักที่ชอบแม้ของมารดาบังเกิดเกล้า แม้ของบิดา แม้ของบุตรภรรยา แม้ของพี่น้องชายหญิง แม้ของมิตรและพงษ์พันธุ์ เป็นที่ตั้งแห่งความหวาดหวั่น เหมือนงูที่กำลังเลื้อยมากัด เหมือนโจรที่ส้องสุมกันอยู่ในดง เหมือนยักษ์ที่กำลังมากินเลือดเนื้อ  ในวาระจิตที่ ๒ ย่อมบังเกิดในนรกเป็นต้นได้  ในปัจจุบันนั้นเล่า คนมักโกรธถึงจะประดับประดางดงาม ก็คงยังมีผิวพรรณเศร้าหมองอยู่นั่นเอง หน้าของเขาแม้จะมีสิริเพียงดวงจันทน์เต็มดวง ก็จะเป็นเหมือนดอกบัวที่เขาลนไฟ เหมือนวงแว่นทองคำที่ฝ้าจับ ย่อมผิดรูปยากที่จะสดใส ก็แลฝูงสัตว์อาศัยความโกรธ ต่างถือศาตราฟาดฟันตนเองตาย กินยาพิษตาย ผูกคอตาย โดดเขาตาย ครั้นตายด้วยอำนาจความโกรธอย่างนี้ ก็ย่อมบังเกิดในนรกเป็นต้น ถึงคนที่ชอบข่มเหงเขาเล่า ก็ต้องถูกติเตียนในปัจจุบัน  เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ก็บังเกิดในนรกเป็นต้น แม้จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ย่อมเป็นคนมีโรคมากตั้งแต่เกิดมาทีเดียว บรรดาโรคทั้งหลาย มีโรคตา โรคหู เป็นต้น จะรุมกันทับถมคนพวกเหล่านั้น พวกเหล่านั้นจะไม่พ้นไปจากโรค เป็นคนมีทุกข์เนืองนิตย์ทีเดียว

เหตุนั้น เธอพึงเป็นคนมีจิตเมตตา มีจิตอ่อนโยนในสรรพสัตว์ เพราะบุคคลเช่นนี้ย่อมรอดพ้นจากภัยมีนรกเป็นต้นได้  
กุมารนั้นสดับพระโอวาทของพระศาสดาแล้ว ทิ้งมานะเสียได้ด้วยพระโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น เป็นผู้ฝึกตนได้ ไร้พยศ เป็นคนมีเมตตา จิตอ่อนโยนทีเดียว แม้คนอื่นจะด่าจะตี ก็มิได้เหลียวหลังมองดูเลย เหมือนงูที่ถูกถอนเขี้ยว เหมือนปูที่ถูกหักก้าม และเหมือนโคเถลิงที่ถูกตัดเขา ฉะนั้น

พวกภิกษุต่างทราบประวัติของเธอ จึงยกเป็นเรื่องสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระบิดามารดา พระประยูรญาติ และพระสหายเป็นต้น มิอาจที่จะฝึกลิจฉวีกุมารผู้ดุร้าย แม้ตลอดเวลาอันช้านาน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรมานเธอ ด้วยพระโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น ก็ได้ทรงกระทำเหตุ คือการอยู่ในขอบเขตที่เชิดชูกันได้ เหมือนนายควาญช้างทรมานพญาช้างซับมันให้หมดพยศร้าย  ฉะนั้น ตรงกันกับพระพุทธภาษิตที่ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึกได้ ม้าที่ควรฝึกได้ โคที่ควรฝึกได้ อันผู้ฝึกได้ฝึกหัดแล้ว ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเท่านั้น คือทิศตะวันออกหรือตะวันตก เหนือหรือใต้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึกได้อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าฝึกหัดแล้ว ย่อมแล่นไปได้ทั้งแปดทิศ ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้ ผู้ที่ทรงฝึกแล้วนี้เล่าก็เป็นเช่นนั้น  ตถาคตนั้น บัณฑิตย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกเลิศกว่าอาจารย์ในการฝึกทั้งหลาย  ผู้มีอายุทั้งหลาย กระบวนผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกละก็ ที่จะเสมอเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีแท้จริง  พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร  เมื่อพวกภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในครั้งนี้เท่านั้น ที่เราฝึกกุมารนี้ได้ด้วยโอวาทครั้งเดียว แม้ในครั้งก่อน เราก็ได้ฝึกเธอด้วยโอวาทครั้งเดียวเหมือนกัน  ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้

อตีเต พาราณสิยํ  พฺรหฺมทตฺเต  รชฺชํ  กาเรนฺเต ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว เล่าเรียนไตรเพทและศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกสิลา อยู่เป็นฆราวาสสิ้นกาลเล็กน้อย ครั้นบิดามารดาล่วงลับไป ก็บวชเป็นฤๅษี ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว พำนักอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นอยู่ในป่านั้นนานๆ ก็ไปสู่ชนบทเพื่อบริโภคเปรี้ยวๆ เค็มๆ บรรลุถึงพระนครพาราณสี อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน รุ่งเช้านุ่งห่มเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยมรรยาทแห่งดาบส เข้าสู่พระนครเพื่อภิกขา เดินไปถึงพระลานหลวง   พระราชากำลังทอดพระเนตรทางช่องพระแกล ทรงเห็นท่านแล้ว ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ ทรงดำริว่า พระดาบสนี้อินทรีย์งดงาม ใจสงบ มองไปชั่วแอก ประหนึ่งวางถุงทรัพย์ ๑๐๐๐ เหรียญไว้ทุกๆ ย่างก้าว เดินมาด้วยองอาจอย่างราชสีห์ หากจะมีสภาวะที่ชื่อว่า สันตธรรมอยู่อย่างหนึ่งละก็ สันตธรรมนั้นต้องมีภายในของดาบสนี้  ตรัสเรียกอำมาตย์ผู้หนึ่งมา อำมาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์ต้องทำอะไร พระเจ้าข้า  รับสั่งว่า เจ้าจงไปนิมนต์พระดาบสนั่นมา เขารับพระดำรัสว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้ว รับภาชนะใส่ภิกษา  เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวว่า อะไรเล่า ท่านมหาบุญ ก็กราบเรียนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระราชารับสั่งนิมนต์พระคุณเจ้า เจ้าข้า พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เราชื่อว่าเป็นชาวหิมพานต์ จะเป็นผู้ใกล้ชิดราชสกุลไม่ได้ อำมาตย์ไปกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระราชา

พระราชาตรัสว่า ดาบสอื่นที่เป็นผู้ใกล้ชิดของเราไม่มีดอก จงนิมนต์ท่านมาเถิด อำมาตย์ก็ไปไหว้วอนพระโพธิสัตว์ เชิญเข้าพระราชวัง พระราชาถวายบังคมพระโพธิสัตว์ ทรงเชิญให้นั่งเหนือบัลลังก์ทองภายใต้เศวตฉัตร ทรงเชิญให้ฉันโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ที่เขาจัดไว้เพื่อพระองค์ แล้วรับสั่งถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าอยู่ที่ไหนเจ้าข้า  พระโพธิสัตว์ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อาตมภาพอยู่ป่าหิมพานต์ รับสั่งถามว่า บัดนี้พระคุณเจ้าจะไปที่ไหน   ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพกำลังสอดส่องเสนาสนะที่เหมาะแก่ฤดูฝน   รับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น นิมนต์อยู่ในอุทยานของพวกโยมเถิดขอรับ ทรงถือปฏิญญาแล้ว  พระองค์เองก็เสวยพระกระยาหารเสร็จ ทรงพาพระโพธิสัตว์เสด็จไปสู่อุทยาน รับสั่งให้สร้างบรรณศาลา ให้กระทำที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ทรงถวายบริขารของนักบวช ทรงมอบหมายให้คนเฝ้าคอยดูแล แล้วเสด็จเข้าพระนคร

ตั้งแต่นั้น พระโพธิสัตว์ก็อยู่ในอุทยาน  พระราชาเล่าก็เสด็จไปหาท่านวันละสองสามครั้งทุกๆ วัน ก็แลพระราชานั้นทรงมีพระโอรสดุร้าย หยาบคาย จนขึ้นชื่อว่าเป็น ทุฏฐกุมาร   พระกุมารผู้ชั่วร้าย  พระราชาและพระญาติที่เหลือมิอาจที่จะทรงทรมานเธอได้ พวกอำมาตย์ก็ดี พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็ดี แม้จะร่วมมือกันกล่าวอย่างโกรธว่า ข้าแต่เจ้านาย ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย ท่านไม่น่าจะทำอย่างนี้ ก็มิสามารถจะให้เธอเชื่อถือถ้อยคำได้  พระราชาทรงพระดำริว่า ยกเว้นพระดาบสผู้ทรงศีลผู้เป็นเจ้าของเราเสียแล้ว คงไม่มีผู้อื่นละที่จะชื่อว่าสามารถทรมานกุมารนี้ พระคุณเจ้าเท่านั้นจักทรมานเขาได้   ท้าวเธอทรงพาพระกุมารไปหาพระดาบส รับสั่งว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ กุมารนี้ดุร้ายหยาบคาย พวกข้าพเจ้าสุดฝีมือที่จะทรมานเธอ พระคุณเจ้าโปรดหาอุบายอบรมเธอให้ด้วยเถิด   ทรงมอบพระกุมารแด่พระโพธิสัตว์แล้วเสด็จหลีกไป  
พระโพธิสัตว์จึงชวนพระกุมารเที่ยวไปในอุทยาน เห็นหน่อต้นสะเดาต้นหนึ่งเพิ่งมีใบสองใบ คือแตกข้างละหนึ่งใบ จึงกล่าวกะพระกุมารว่า กุมาร จงเคี้ยวกินใบของหน่อสะเดานี้ แล้วทราบรสไว้เถิด  เธอทรงเคี้ยวใบสะเดาใบหนึ่งของมัน รู้รสแล้ว ตรัสว่า ฉิๆ ถ่มทิ้งที่แผ่นดินพร้อมทั้งเขฬะ  เมื่อท่านกล่าวว่า เป็นอย่างไรเล่า กุมาร ก็กราบเรียนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ต้นไม้นี้เปรียบเสมือนยาพิษร้ายแรงในบัดนี้ทีเดียว ถ้า แม้นว่าเติบโตคงฆ่ามนุษย์เสียเป็นอันมาก พลางทรงถอนหน่อสะเดานั้น ขยี้จนแหลกด้วยพระหัตถ์ ตรัสคาถานี้ว่า


               เอกปณฺโณ อยํ รุกฺโข         น ภูมิยา ตตุรงฺคุโล
               ผเลน วิสกปฺเปน         มหายํ กึ ภวิสฺสติ

แปลว่า ต้นไม้นี้ มีใบข้างละหนึ่งใบ จากแผ่นดินยังไม่ถึงสี่องคุลี มีรสเสมอกับยาพิษ ต้นไม้นี้เติบโตขึ้น จักเป็นอย่างไรเล่า

มีอรรถาธิบายว่า ต้นไม้นี้มีใบที่ข้างทั้งสอง ข้างละใบ ยังไม่ออกจากแผ่นดินถึงขนาดสี่องคุลีเลย แม้จะต้นเล็กอย่างนี้ ก็มีผลเสมอกับยาพิษ คือประกอบด้วยรสขมถึงปานนี้ แม้นว่าต้นไม้นี้จักเติบโตขึ้นเป็นต้นใหญ่เมื่อใด เมื่อนั้นจักเป็นอย่างไร แน่ละ มันต้องฆ่ามนุษย์ได้ ต้องถอนมันขยี้ทิ้งเสีย ฯ

ทีนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคำนี้กะเธอว่า กุมารเอย เธอกล่าวถึงหน่อสะเดานี้ว่า เดี๋ยวนี้เองมันยังขมถึงเพียงนี้ เมื่อมันโตจักเป็นอย่างไร ที่ไหนจะอาศัยมันมีความเจริญได้ แล้วถอนขยี้ทิ้งไป เธอปฏิบัติในหน่อสะเดาฉันใดเล่า แม้ชาวแคว้นของเธอก็คงฉันนั้น จักพากันกล่าวว่า พระกุมารนี้ยังเป็นเด็กอยู่ทีเดียว ยังดุร้ายหยาบคายอย่างนี้ เมื่อเติบโตครองราชสมบัติ จักทำอย่างไรกันเล่า ที่ไหนพวกเราจักอาศัยเธอพากันจำเริญได้ แล้วพากันไม่ถวายราชสมบัติ อันเป็นของแห่งตระกูลของเธอ จักถอดถอนเธอเสียเหมือนหน่อสะเดา แล้วกระทำปัพพาชนียกรรมไปจากแว่นแคว้น    เหตุนั้นเธอพึงละเว้นภาวะที่เป็นผู้เทียบกันได้กับหน่อสะเดาเสีย จงถึงพร้อมด้วยความอดทน ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ ตั้งแต่บัดนี้เถิด
ตั้งแต่นั้น พระกุมารก็หมดมานะ หมดพยศ สมบูรณ์ด้วยความอดทน ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ ดำรงในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ครั้นพระชนกล่วงลับไปแล้วก็ได้ครองราชสมบัติ ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้น แล้วเสด็จไปตามยถากรรม ฯ
 
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราทรมานลิจฉวีกุมารผู้ชั่วร้ายได้ แม้ในครั้งก่อน เราก็เคยทรมานเธอแล้วเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า กุมารร้ายในครั้งนั้น ได้มาเป็น ลิจฉวีกุมารนี้  พระราชาได้มาเป็นอานนท์  ส่วนดาบสผู้ให้โอวาทได้มาเป็นเราแล ฯ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
สิคาลชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์ปฏิสนธิ์ในกำเนิดหมาจิ้งจอก
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 979 กระทู้ล่าสุด 18 เมษายน 2563 13:42:10
โดย Kimleng
วิโจนชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์ปฏิสนธิ์ในกำเนิดไกรษรสีหราช
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 1208 กระทู้ล่าสุด 30 เมษายน 2563 16:28:52
โดย Kimleng
นังคุฏฐชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 1065 กระทู้ล่าสุด 04 พฤษภาคม 2563 19:20:46
โดย Kimleng
ราธชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์ในกำเนิดนกแขกเต้า
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 1090 กระทู้ล่าสุด 17 พฤษภาคม 2563 16:54:17
โดย Kimleng
ปุปผรัตตชาดก • อรรถกถากัณฏกวรรค ที่ ๑๕ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอากาสัฏฐเทวดา
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 905 กระทู้ล่าสุด 18 กรกฎาคม 2563 18:21:45
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.37 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 11 เมษายน 2567 16:49:51