[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:14:35 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์  (อ่าน 2990 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 15:33:13 »



บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์

คำนำกรมศิลปากร

              เรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ที่ตีพิมพ์อยู่ในเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เป็นอันมากแก่นักศึกษาวรรณคดีสังสกฤต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวรรณคดีของเรา ที่นักศึกษาวรรณคดีได้รับความรู้ต่างๆ ออกไปกว้างขวาง ก็ด้วยอำนาจพระบรมราชาธิบายเรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ จึงนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ซึ่งผู้ใฝ่ใจในเรื่องหนังสือชั้นวรรณคดี จะลืมระลึกเสียมิได้เลย พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ มาถึงบัดนี้จึงเป็นหนังสือหาฉะบับได้ยาก ด้วยเป็นเวลาล่วงมาร่วม ๒๘ ปีแล้ว ได้มีนักศึกษาวรรณคดีมาปรารภอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมกรมศิลปากร จึงไม่ขอพระบรมราชานุญาตเพื่อจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นใหม่ให้แพร่หลาย สำหรับนักศึกษาจะได้ใช้เป็นคู่มือ แต่กรมศิลปากรยังหาโอกาสจัดพิมพ์ไม่ได้ บัดนี้พระยาราชอักษรมาแจ้งความประสงค์ยังกรมศิลปากรว่าในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) จะใคร่ได้หนังสือสักเล่มหนึ่งสำหรับตีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึก กรมศิลปากรจึงแนะนำให้จัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ เพราะด้วยเหตุผลดั่งแจ้งมาข้างต้น ทั้งพระยาราชอักษรก็เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระมหาธีรราชเจ้ามาช้านาน ถ้าได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่องพระราชนิพนธ์ขึ้น ก็จะเป็นเชิดชูพระเกียรติคุณ เหมาะด้วยประการทั้งปวง พระยาราชอักษรมีความยินดีเห็นพ้องด้วย กรมศิลปากรจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตให้พระยาราชอักษรจัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น หวังว่าบรรดานักศึกษาวรรณคดีคงมีความยินดีอนุโมทนาทั่วกัน

               บรรดาเรื่องวรรณคดีของเรา รามเกียรติ์เป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งรู้จักกันแพร่หลาย บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์มาจากคัมภีร์รามายณะภาษาสังสกฤต มีเรื่องเป็นมาอย่างไรแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว คัมภีร์รามายณะถ้าว่าในหมู่ประชาชนชาวฮินดู ก็เป็นหนังสือสำคัญในลัทธิศาสนา และเป็นเรื่องจับใจของเขา เหตุที่พวกชาวฮินดูนิยมนับถือคัมภีร์รามายณะ มีหลายประการ เป็นต้นว่า

               (๑) – “คัมภีร์รามายณะมีคุณวิเศษต่างๆ ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้ และปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา จะเจริญอายุ วรรณ สุข พล และเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะได้ไปสู่พรหมโลก มีกำหนดว่า รามายณะนี้ ให้ใช้พิธีสวดศราทธพรต เพื่อล้างบาปผู้ตาย ผู้ใดอ่านแม้แต่โศลกเดียว ถ้าไม่มีลูกก็จะได้ลูก ถ้าไม่มีทรัพย์ก็จะได้ทรัพย์ และพ้นบาปกรรมบรรดาที่ได้ทำมาแล้วทุกๆ วัน ผู้ได้อ่านนั้นจะมีอายุยืนเป็นที่นับถือในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงลูกหลาน ผู้ใดอ่านในเวลาเช้าก็ดีเย็นก็ดี จะหาความเหน็ดเหนื่อยมิได้” (พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)

               (๒) – ประชาชนพวกฮินดู นับถือพระรามซึ่งเป็นนายกหรือนายโรงของเรื่องเพียงว่าเป็นวีรบุรุษและเป็นมหากษัตริย์ครองอโยธยา เท่านั้นหามิได้ ยังยกย่องว่าคือองค์พระวิษณุนารายณ์เป็นเจ้า อวตารลงมาปราบอธรรม ได้แก่พวกรากษส มีท้าวราพณาสูร เป็นหัวหน้า เพื่อถนอมโลกไว้ให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นศานติสุขแก่ทวยเทพและมนุษยนิกร พระรามจึงเป็นผู้มีอุปการคุณใหญ่หลวง และเป็นสหายของผู้ได้ทุกข์ แม้ผู้ตายไปแล้ว ตามประเพณีลัทธิแห่งพวกฮินดู มักนำศพไปเผาเสียที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถ้าเป็นฝั่งแม่คงคายิ่งประสิทธิ์นัก ผู้ตามศพต้องพร่ำบ่นว่า “ราม ราม สัตยราม” หรือ “นาม ราม สัตย์ ไห!” (พระนามแห่งพระรามเท่านั้นที่แท้จริง) ตลอดทางที่นำศพไป เพื่อผู้ตายจะได้รับส่วนบุญไปสู่สุคติ (เทียบคติที่พระภิกษุพร่ำบ่นพระอภิธรรมนำศพ) ทั้งนี้ เพราะเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า พระรามเมื่อทรงพระชนม์อยู่ สามารถช่วยผู้ตายไปแล้ว ให้พ้นทุคคติได้ ทั้งมีเมตตากรุณา ปกปักรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้ได้รับความร่มเย็นตลอดไปด้วย ชาวบ้านร้านตลาด จะนับสิ่งของขายให้แก่ผู้ซื้อ เวลานับ ก็จะนับว่า หนึ่งราม สองราม สามราม ฯลฯ เรื่อยไป เพียงกล่าวรามได้สี่ครั้ง ก็พอจะทำให้เกิดความซาบซึ้งขึ้นในใจผู้ออกขานพระนามให้สบายใจ ถือว่าพ้นบาป ผู้หญิงเมื่อได้ยินฟ้าผ่าฟ้าร้อง ตกใจก็จะร้องอุทานว่า “สีตาราม” (เทียบ “คุณพระช่วย” ของเรา) ในที่สุดยังกล่าวยืนยันว่า พระรามได้พาชาวอโยธยาทั้งหมดไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมโลกทั้งเป็น

               (๓) – พรรณนาถึงจริยาวัตรแห่งพระราม เป็นแบบฉะบับความดี ความงามเลิศทุกประการ อันสาธุชนควรถือเป็นเยี่ยงอย่างเพราะมีความประพฤติในฐานะที่อวตารมาเป็นมนุษย์ หาตำหนิด่างพร้อยมิได้เลย เป็นโอรสที่ซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีในพระราชบิดา มีเมตตาปราณีในญาติพี่น้องชอบด้วยทำนองคลองธรรม เป็นสามีที่ซื่อตรงปลงความรักใคร่ภริยาจริงๆ ทั้งสมเป็นกษัตริย์ชาตินักรบที่แกล้วกล้าสามารถแท้

               ส่วนสีดานั้นเล่า เป็นตัวอย่างกุลสตรีที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี ซื่อตรงมั่นคงฉะเพาะพระสามี กิริยาวาจาแช่มช้อย อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ส่วนผู้อื่นที่ไม่เลื่องชื่อในเรื่องราว เช่น พระลักษมณ์ พระภรต พระศัตรุฆน์ ก็เป็นภาดาที่เคารพรักภักดีในพระรามตามกุลจรรยา พิภีษณ์ (พิเภก) ยั่งยืนอยู่ในธรรมาธิปไตย สู้สละญาติวงศ์เสียได้ เพื่อเห็นแก่ธรรมเป็นที่ตั้ง

               เพราะฉะนั้น ถ้าพูดตามความคิดเห็นแห่งพวกฮินดูทั่วไป รามายณะเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์แรง เป็นที่นิยมนับถือแห่งประชาชนอินเดียมาตราบเท่าทุกวันนี้ จนมีการแสดงเรื่องพระรามเป็นงานเทศกาลประจำปีในภาคเหนือของอินเดีย จับแต่ทศกัณฐ์ลักสีดาจนทศกัณฐ์ล้ม เรียกว่า รามลีลา ตกในเดือนตุลาคม ซึ่งกำหนดเป็นอภิลักขิตสมัยที่ทศกัณฐ์ล้ม พิธีนี้มีการสร้างรูปทศกัณฐ์แล้วนำไปเผา ในอินเดียภาคใต้ก็มีการแสดงเรื่องพระรามเหมือนกัน เรียกว่า กถักกะฬิ และวันพระรามประสูติ ซึ่งตกอยู่ในราวเดือนเมษายน ก็มีพิธีสมโภชด้วยเรียกว่า รามนวมี

               เมื่อคัมภีร์รามายณะเป็นเรื่องที่นิยมชมชื่นของชาวอินเดียดั่งนี้ จึ่งได้มีหนังสือวรรณคดีพากย์สังสกฤตที่เนื่องจากเรื่องรามายณะขึ้นมากมาย เช่น

               ราโมปาขยาน เป็นเรื่องเกล็ดว่าด้วยเรื่องพระราม มีอยู่ในวันบรรพแห่งคัมภีร์มหาภารต

               เรื่องพระรามในคัมภีร์ปุราณ เช่น วิษณุปุราณ อัคนีปุราณ ปัทมปุราณ สกันทปุราณ พรหมาณฑปุราณ ครุฑปุราณ พรหมไววรรตปุราณ อัธยาตมรามายณะ โยควาสิษฐรามายณะ และอัทภุตรามายณะ เป็นต้น

               หนังสือเหล่านี้ ลางเรื่องมีข้อความแตกต่างกัน แต่ความสำคัญอยู่ที่นำเอาหลักลัทธิศาสนาและข้ออรรถธรรมอย่างสูงมารวมกล่าวไว้มาก นี้คงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นที่นิยมกัน

               ยังมีรามายณะอีกพวกหนึ่ง ซึ่งกวีชักเอาไปประพันธ์เป็นกาพย์สำหรับเล่นละครเล่นหนัง เพื่อเจริญศรัทธาของผู้ฟังผู้ดูในลัทธิศาสนาของเขา เช่น

               เรื่องมหาวีรจริต และอุตตรรามจริต ของกวีภวภูต หนุมานนาฏกะ หรือมหานาฏกะ ของกวีทาโมทรมิศร อนรรฆราฆวะหรือมุรารินาฏกะ ของกวีมุทราริมิศร พาลรามยณะ ขอกวีราชเศขร ประสันนราฆวะ ของกวีชัยเทพ ชานกิปริณัย ของกวีรามภัทรพีกษิต ทูตางคทหรือเรื่ององคทสื่อสาร (ใช้สำหรับเล่นหนัง) อภิเศกนาฏกะ ประติมานาฏกะ และอนุมัตตราฆวะ ของภาสกวี อัทภุตทรรปณ ของกวีมหาเทพรามวิชัย และรามจริต ของยุวราช อภิรามมณี ของกวีสุนทรมิศร หงสสันเทศ ของกวีเวทานตเทศิก กุนทมาลาของกวีทิญนาค ชานกิหรณ ของกวีกุมารทาส

               ที่แต่งเป็นร้อยแก้วปนกาพย์ เป็นอย่างร่ายยาวปนฉันท์ เรียกว่า กาพย์จัมปูก็มี เช่น รามายณจัมปู ของท้าววิทรรภราช รามจันทรจัมปู ของกวีจันทร และรามายณจัมปูของภาสกี

               เรื่องเหล่านี้ ล้วนแต่งในภาษาสังสกฤต ส่วนที่แต่งเป็นภาษาถิ่นในอินเดียก็มีอยู่มาก ที่ขึ้นชื่อลือนามคือรามายณะภาษาฮินดีฉะบับของกวีตุลสิทาส ได้มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์นั้นแล้ว นอกนี้ยังมีเรื่องทศรถชาดกในภาษาบาลี เรื่องรามายณะในภาษาอรรธมาคธี ของพวกนับถือลัทธิศาสนาชินะ ในแคว้นองคราษฎร์ (เบงคอล) ก็มีรามายณะภาษาเบงคาลีอยู่มากฉะบับ เช่นฉะบับของกวีเกียรติวาส จันทราวดีกวีหญิง กวีจันทร กวีระฆุนันทน์โคสวามิ กวีศัษฐฐีวร กวีคงคาทาส เป็นต้น รามายณะภาษากาศมิรีแห่งแคว้นกัศมีรมีอยู่ฉะบับหนึ่งชื่อรามาวตารจริตของกวีทิวาณประกาศภัฎฎ มีเรื่องคล้ายกับรามเกียรติ์อยู่หลายตอน ทางภาคใต้ของอินเดียซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชาติฑราวิท ก็มีคัมภีร์รามายณะในภาษาต่างๆ ของภาคนั้นอยู่มากฉะบับ

               โดยเหตุที่ชาวอินเดียได้พากันมาเผยแผ่อารยธรรม มีลัทธิศาสนาเป็นต้น ยังแผ่นดินที่อยู่ถัดอินเดียออกมาทางตะวันออก มีประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีนและประเทศอินโดเนเซีย มี ชะวา มะลายู เป็นต้น เรื่องรามายณะและเรื่องที่เนื่องมาจากรามายณะดั่งกล่าวมาข้างต้น ก็มาปรากฏอยู่แพร่หลายในดินแดนแถบนี้ ลางประเทศในชะวามะลายูก็มีเรื่องรามายณะอยู่หลายฉะบับ ล้วนมีข้อความแตกต่างกันทั้งนั้น ในประเทศพะม่าและประเทศกัมพูชาก็มี ที่กลายเป็นชาดกไปก็มี เช่น พระรามชาดก แม้ประเทศญวนก็มีเรื่องรามายณะเหมือนกัน แต่รูปร่างหน้าตาเรื่องรามายณะของญวนกลายจากฉะบับเดิมไปไกล

               เรื่องต่างๆ ที่เนื่องมาจากคัมภีร์รามายณะของประเทศที่อยู่ถัดอินเดียมาทางตะวันออก มีพลความของเรื่องตรงกับรามายณะฉะบับเดิมน้อยเต็มที และทั้งในระหว่างกันเอง ก็เป็นต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นหนังสือเหล่านี้ และรวมทั้งรามเกียรติ์ของเราด้วยจึงมีคุณค่าในทางศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ให้เห็นการติดต่อและแนวทางเดินของอารยธรรมหรือวัฒนธรรมของอินเดียครั้งโบราณได้ผ่านเข้ามาอย่างไร ได้อีกทางหนึ่ง

               กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานที่พระยาราชอักษร ได้บำเพ็ญอุทิศให้แก่คุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) สำเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัย ด้วยการตีพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ให้แพร่หลายเป็นสาธารณกุศล ขอจงสำเร็จเป็นศุภผลดลบันดาลแก่คุณหญิงราชอักษร (เจือ อัศวรักษ์) ตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ เทอญ.


กรมศิลปากร
๓ มกราคม ๒๔๘๔



คำนำ


              ในงานทำบุญพระตำหนักจิตรลดาระโหฐาน ณวันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ข้าพเจ้าได้จัดการให้พิมพ์หนังสือรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ และมีความปรารภอย่างไร มีข้อความแจ้งอยู่ในคำนำที่น่าหนังสือนั้นแล้ว

               ข้าพเจ้ามาคำนึงดูถึงเรื่องรามเกียรติ์ อันเปนเรื่องราวสำคัญที่ชาวไทยเรารู้จักกันดีอย่างซึมซาบก็จริงอยู่ แต่มีน้อยตัวนักที่จะทราบว่ามีมูลมาจากไหน ข้าพเจ้าเองก็ได้เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้วแต่ก่อน ๆ จึ่งได้ตั้งใจเที่ยวค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนี้ ตั้งความพยายามมาแล้วหลายปีกว่าจะหาหนังสือได้เท่าที่พอใจ และต่อมาก็ค่อยๆ อ่านไปดูไปตามแต่จะมีเวลาว่าง มาจนบัดนี้รู้สึกว่าได้ความรู้พอที่จะขยายให้พวกนักเลงหนังสือด้วยกันฟังบ้างแล้ว ข้าพเจ้าจึ่งได้แต่งข้อความเหล่านี้รวบรวมพิมพ์เปนหนังสือนี้ขึ้น เรียกว่า “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” สำหรับแจกไปพร้อมกับหนังสือพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้ให้จัดการพิมพ์ขึ้นใหม่ หวังใจว่าผู้ที่ได้รับไปจะได้ใช้เปนประโยชน์ในทางเปรียบเทียบและสอบทานกับข้อความที่มีอยู่ ไม่เฉภาะแต่ในรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ทั้งจะใช้อ่านเทียบกับฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีพิมพ์แพร่หลายอยู่แล้วนั้นด้วย

               จริงอยู่หนังสือ “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” นี้ คงจะเปนของสนุกสำหรับนักเลงหนังสือและโบราณคดีนั้นแลเปนอาทิ แต่ข้าพเจ้าหวังใจว่าถึงแม้ผู้อ่านทั่วๆ ไปก็จะอ่านสนุกได้บ้าง และหวังใจว่าจะเปนทางบำรุงความรู้ขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าเปนไปได้ดังนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะยินดีหาน้อยไม่



อ่างศิลา วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๕๖

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2563 15:35:06 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 15:49:40 »



บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์

ประวัติพระราม
              พระรามเปนโอรสที่ ๑ แห่งท้าวทศรถ กษัตร์สุริวงศ์ผู้ครองนครศรีอโยธยา แคว้นโกศล พราหมณ์มักนิยมว่าพระรามเปนพระนารายน์อวตารปางที่ ๗ และได้กำเหนิดในไตรดายุค คือยุคที่ ๒ แห่งโลกนี้ พระมารดาพระรามมีนามว่านางเกาศัลยา (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “เกาสุริยา”) มีอนุชา ๓ องค์ คือ พระภรต โอรสนางไกเกยี (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ไกยเกษี”) พระลักษมณ์และพระศัตรุฆน์โอรสนางสุมิตรา (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “สมุทร”) พระรามได้มเหษีคือนางสีดา เปนบุตรีท้าวศีระธวัช ซึ่งมักเรียกว่าท้าวชนก ผู้เปนกษัตร์สุริยวงศ์ ครองนครมิถิลา แคว้นวิเทห พระรามมีโอรส ๒ องค์ คือพระกุศกับพระลพ พระรามได้ไปปราบท้าวราพณาสูรผู้ครองนครลงกาแล้วกลับมาทรงราชย์ในพระนครศรีอโยธยา ครั้นเมื่อพระรามจะสิ้นพระชนม์ ได้แบ่งแคว้นโกศลเปน ๒ ภาค ให้พระกุศโอรสใหญ่ครองโกศล ตั้งนครหลวงชื่อกุศะสถลีหรือกุศาวดี พระลพครองอุตตรโกศล ตั้งนครหลวงชื่อศราวัสตี (สาวัตถี) หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าลพปุระ

               ส่วนเรื่องราวของพระราม ที่ไทยเราได้มารวบรวมประพนธ์ขึ้นเปนบทกลอนนั้น มีมูลที่มาจากมัธยมประเทศ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้



รามายณฉบับสังสกฤต
              หนังสือที่นับว่าเปนคัมภีร์สำคัญอันแสดงด้วยกิจการของพระรามนั้นมีนามปรากฎว่า “รามายณ” ซึ่งปราชญ์นิยมกันว่าเปนหนังสือกาพย์ที่เก่าที่สุดในภาษาสังสกฤต ผู้รจนาเปนพรหมฤษีผู้มีนามว่า วาลมีกิ (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกเพี้ยนไปว่า “วัชมฤคี”)

               ในหนังสือรามายณเองนั้น ไม่มีข้อความอันใดที่จะแสดงให้ปรากฎว่าแต่งขึ้นเมื่อใดแน่ แต่พวกปราชญ์ยุโรปผู้เอาใจใส่สอบสวนพิจารณาในโบราณคดีและวรรณคดีสันนิษฐานว่าเรื่องราวจะได้ผูกขึ้นประมาณ ๒๔๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว หรือราวต้นพุทธกาลของเรานั้นเอง แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อจับรวบรวมขึ้นเปนรูปนั้น ได้เปนเรื่องโบราณอยู่แล้วและได้แสดงกันเปนตำนานต่อๆ กันมาแล้วหลายชั่วคนก่อนพุทธกาล ถึงแม้เมื่อได้รจนาเปนกาพย์ขึ้นแล้วก็ยังคงท่องจำขึ้นใจและสวดกันต่อๆ มา จนอีก ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ปีจึงได้ลงเปนลายลักษณอักษร และใช้เปนคัมภีร์สำคัญในลัทธิไสยศาสตร์สืบมา หนังสือนั้นมีเปนหลายนิกาย แต่ที่นับว่าสำคัญมีอยู่ ๒ นิกาย คืออุตตรนิกาย ๑ องคนิกาย (คือฉบับเบ็งคอล) ๑ อุตตรนิกายเปนหนังสือเก่ากว่า และมีข้อความที่เจือปนน้อยกว่าองคนิกาย

               หนังสือรามายณนั้น นักปราชญ์กล่าวว่าไม่ใช่ฝีปากเดียว คือมีผู้แต่งไว้แต่เรื่องพระรามแท้ๆ ก่อน แล้วจึงมีผู้อื่นแต่งข้อความอื่นๆ แซกลงไปเปนแห่งๆ

               ตามรูปหนังสือที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้ แบ่งเปน ๖ กัณฑ์ กับมีเปนกัณฑ์แถมอยู่ข้างท้ายอีกกัณฑ์ ๑ ข้อความในหนังสือนั้นกล่าวโดยสังเขปตามฉบับอุตตรนิกาย ดังต่อไปนี้



พาลกัณฑ์
              ที่ ๑ - พาลกัณฑ์ - แปลว่า “กัณฑ์เด็ก” (“พาล” คือเด็กผู้มีอายุระหว่าง ๑ กับ ๑๖ ปี) เริ่มต้นมีเปนเทือกอารัมภกะถา ว่าพระวาลมีกิมุนีอาราธนาพระนารทมหาฤษีให้แสดงเรื่องรามายณให้ฟัง ซึ่งมีสรุปความตามที่จะได้เล่าต่อไปโดยพิศดาร คล้ายๆ พระราชพงษาวดารย่อของเรา เมื่อพระนารทเล่าเรื่องรามายณแล้วและกลับไปสวรรค์แล้ว จึงกล่าวต่อไปถึงการที่พระวาลมีกิแต่งรามายณ อธิบายว่าที่ใช้ฉันท์โศ๎ลกนั้นเพราะลงไปที่ฝั่งน้ำตมสาใกล้แม่พระคงคา พะเอินพบนกกาเรียนคู่ ๑ ซึ่งมีพรานได้ยิงตัวผู้ตายลงแล้ว นางนกร้องโอดครวญ พระวาลมีกิมีความสังเวชจึงแสดงความสังเวชนั้นออกมาเปนวาจา แล้วจึ่งนึกว่าถ้อยคำที่ได้กล่าวออกมานั้นดูก็เปนคณฉันท์ใหม่แปลกกว่าฉันท์อื่นๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับขับร้องได้ และโดยเหตุที่ฉันท์นี้ได้บังเกิดขึ้นเพื่อความเศร้าใจ (โศก) จึงให้นามว่า “โศ๎ลก” พระภรัทวาชผู้เปนศิษย์พระวาลมีกินั้นก็เห็นชอบด้วย พอพระวาลมีกิกลับขึ้นมาถึงอาศรม พระพรหมาผู้เปนปรพราหมณ์และอาทิกะวี (คือกะวีที่ ๑) จึงลงมาตรัสสั่งให้พระวาลมีกิรจนาเรื่องรามายณขึ้น โดยใช้ฉันท์โศ๎ลกนั้น แล้วพระวาลมีกิก็เข้าฌานสมาธิเล็งเห็นเรื่องพระรามายณแต่ต้นจนปลาย (เล่าเรื่องย่อซ้ำอีกในที่นี้) ครั้นเมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระวาลมีกิจึ่งได้รจนาพระรามายณแต่ต้นจนจบ รวมเปนฉันท์ ๒๔๐๐๐ โศ๎ลก [คณโศ๎ลกนี้ เหมือนฉันท์อนุษฏุภ มี ๔ บาท บาทละ ๘ พยางค์ หรือเขียนเปน ๒ บาท บาทละ ๑๖ พยางค์ก็ได้ ส่วนครุลหุเปนอย่างนี้  ๐๐๐๐๐๐๐๐ ๐๐๐๐๐-๐๐ พยางค์ที่ ๖ ที่ ๗ มักเปนครุ แต่ถ้าจะใช้เปนลหุก็ได้ และถ้าจะเปลี่ยนเปนลหุต้องเปนไปด้วยกัน] ฉันท์เหล่านั้น จัดเข้าเปนวรรคได้ ๕๐๐ วรรค รวมเปนกัณฑ์ได้ ๖ กัณฑ์ กับมีกัณฑ์แถมอีกกัณฑ์ ๑ เมื่อพระวาลมีกิรจนาสำเร็จแล้ว นึกอยู่ว่าจะได้ใครเปนผู้สวดแสดงให้ปรากฎแก่โลก ขณะนั้นพะเอินพระกุมารทั้ง ๒ อันมีนามว่าพระกุศและพระลพ แต่งองค์เปนลูกพราหมณ์มาหา พระวาลมีกิจึ่งสอนให้กุมารทั้ง ๒ นั้นท่องพระรามายณจนจำได้ และสวดเข้าทำนองได้โดยถูกต้อง เข้าเสียงกับดนตรีได้ดีแล้ว จึ่งให้กุมารทั้งสองไปเที่ยวสวดในที่ชุมนุมพราหมณ์ทุกๆ แห่งไป จนเข้าไปถึงกรุงศรีอโยธยา จึ่งได้ไปสวดถวายพระรามทรงฟังเปนที่สุด

               [ตั้งแต่ต้นมาจนถึงตอนนี้ ผู้ชำนาญในวรรณคดีเห็นว่า จะเปนของใหม่ ซึ่งแต่งเพิ่มเติมขึ้น ส่วนฉบับเดิมน่าจะเริ่มเมื่อจับเรื่องราวกล่าวด้วยพระรามทีเดียว คือตั้งแต่วรรคที่ ๑ ถึงที่ ๔ เปนของเติมใหม่ ของเก่าคงเริ่มที่วรรคซึ่งเปนที่ ๕ บัดนี้]

               จับเรื่องพระรามายณ เริ่มว่า ยังมีพระมหานครอัน ๑ ซึ่งเรียกว่าอโยธยา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุ ในแคว้นโกศล [ในที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวไว้หน่อยว่า ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเราใช้เรียกนามนครศรีอโยธยานี้ว่า “ทวาราวดี” ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเปนเมืองเดียวกัน แท้จริงทวาราวดีเปนนครหลวงของท้าวบรมจักรกฤษณ์ และอยู่ในแคว้นคุชชระราษฎร์เปนคนละเมืองกับอโยธยา] พระนครนี้บริบูรณด้วยทรัพย์สมบัติแสนสฤงคาร พระมนูไววัสวัต ผู้เปนโอรสพระสุริยาทิพย์ ได้สร้างขึ้นไว้เปนที่สถิตย์แห่งกษัตร์สุริยวงศ์ มีท้าวอิกษวากุ ผู้เปนปฐมราชาในสุริยวงศ์ เปนอาทิ พระนครนี้กว้าง ๑๐ โยชน์ ยาว ๑๒ โยชน์ เปนที่สถิตย์แห่งท้าวทศรถและกษัตร์มหารถนับด้วยพัน (มหารถคือนักรบที่สามารถต่อสู้ศัตรูได้หมื่นคน) ท้าวทศรถเองเปนกษัตร์อติรถ (สู้มหารถได้หมื่น ๑) มีอำมาตย์มนตรีผู้ปรีชาฉลาดรอบรู้ในสรรพกิจน้อยใหญ่ ทั้งมีมหาฤษีและชนทั้ง ๔ ตระกูล [ในรามเกียรติเราว่า “ชนสี่ทวีป” ซึ่งเปนความเข้าใจผิดโดยแท้]

               แต่มีข้อบกพร่องสำคัญอัน ๑ คือท้าวทศรถหามีโอรสเพื่อสืบสันตติวงศ์ไม่ ท้าวทศรถคิดจะใคร่ทำพิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า) เพื่อขอลูก จึ่งตรัสให้เชิญพระวสิษฐ์มุนี (ผู้เปนปุโรหิต) พระวามเทพมุนี (ผู้ช่วยปุโรหิต) กับพระสุยัญมุนี พระชวาลีมุนี พระกาศยปมุนี และฤษีชีพราหมณ์อื่นๆ มาทรงหาฤๅเห็นชอบพร้อมกันแล้ว จึ่งให้เตรียมการพิธีอัศวเมธที่ริมฝั่งเหนือแห่งแม่น้ำสรยุ

               [ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่า เรื่องรามายณมิได้เริ่มด้วยหิรัณย์ม้วนแผ่นดิน และมิได้แสดงสุริยพงษ์ อสูรพงษ์ และวานรพงษ์ในต้นเรื่องนี้เลย ขึ้นก็จับเรื่องตั้งพิธีขอลูก ซึ่งเราเรียกว่ากวนเข้าทิพย์นั้นทีเดียว ส่วนเรื่องหิรัณย์ม้วนแผ่นดินนั้น เปนปาง ๑ ต่างหากของพระนารายน์ ไม่เกี่ยวแก่พระราม ส่วนข้อความแสดงกำเหนิดต่างๆ นั้น โดยมากอยู่ในอุตตรกัณฑ์ซึ่งเปนกัณฑ์แถม และที่ซอกแซกอยู่ในกัณฑ์ที่ ๑ นี้เองก็มี ของเดิมมักเปนเรื่องที่ฤษีเล่าให้ใครๆฟัง แต่รามเกียรติ์ของเราจับมาแต่งเปนบทลคร จึ่งต้องเอามาลำดับไว้ในบั้นต้น เพื่อให้ลำดับตรงตามสมัยแห่งเรื่องราวที่ได้เปนไป ข้าพเจ้าต้องแซกคำชี้แจงไว้ยืดยาวเช่นนี้ เพื่อจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ตัวไว้ว่า ถ้าแม้พบข้อความอัน ๑ อันใดซึ่งอยู่ไม่ตรงที่กับในหนังสือรามเกียรติ์ฉบับไทยเราแล้ว อย่าฉงนและอย่าได้นึกปลาดใจเลย เพราะหนังสือรามายณสังสกฤตนั้น เขามิได้แต่งไว้สำหรับเล่นลครเลย เขาแต่งไว้ให้สวด คล้ายมหาชาติของเรา เมื่อไทยเราเอามาแต่ง ตั้งใจแต่งเปนบทลคร จึ่งต้องจัดลำดับความเสียใหม่ให้เหมาะแก่การเล่นลคร คือในการเล่นลครจะให้ใครมานั่งเล่าเรื่องอะไรอยู่นานๆ คนดูก็จะเบื่อ เมื่อมีเรื่องราวอะไรก็รำให้ดูไปดีกว่า เมื่อจะต้องรำเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องจัดลำดับเอาเข้าให้ถูกสมัยอยู่เอง เช่นต่างว่าจะเล่นเรื่องพระรามยกศร เมื่อถึงตอนจะยกศร จึ่งค่อยย้อนกลับไปเล่นเรื่องกำเหนิดของศรนั้นฉนี้ก็คงจะทำให้คนดูฉงนป่นปี้ เพราะฉนั้น ถ้าหากว่าจะเล่นเรื่องกำเหนิดของศร ก็ต้องเล่นเสียก่อน แล้วจึ่งจับบทถึงพระรามไปยกศรนั้นต่อไป ดังนี้คนดูจึ่งจะไม่ฉงน]

               ฝ่ายสุมันตระเสนีนายสารถี (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเขียนว่า “สุมันตัน”) ได้ทราบข่าวทรงพระปรารภจะทำพิธีอัศวเมธ จึ่งทูลท้าวทศรถถึงเรื่องพระฤษยะสฤงค์ (หรือเรียกตามภาษามคธว่า “อิสีสิงค์”) บุตรพระพิภาณฑกมุนี หลานพระกัศยปมุนี พระฤษยะสฤงค์นี้กำเหนิดในป่า และเติบใหญ่ขึ้นในป่า ไม่เคยพบมนุษเลย พระมุนีองค์นั้นเข้าฌานบำเพ็ญตะบะเปนนิตย์ จนในแคว้นองคราษฎร์นั้นแห้งแล้ง ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ (ซึ่งของเราเรียกว่า “ท้าวโรมพัต” เหลวจริงๆ) จึ่งเสด็จออกไปยังป่าที่อาไศรยแห่งพระฤษยะสฤงค์ให้จัดแต่งพลับพลาอันวิจิตร เปนที่สถิตย์แห่งนางศานตาผู้เปนราชธิดา (ซึ่งของเราเรียกว่านางอรุณวดี) แล้วจัดให้นางนครโสเภณีไปล่อพระฤษีมายังพลับพลา ท้าวโลมบาทก็ต้อนรับโดยเคารพ และยกนางศานตาให้เปนชายา แล้วเชิญเข้าไปในวัง ฝนที่แล้งก็ตกมาก สมความปราถนาแห่งท้าวโลมบาท [เรื่องนี้ในรามเกียรติ์ของเราก็มี แต่เราเรียกฤษีหน้าเนื้อนั้นว่า “กะลัยโกฏิ” ส่วนพระอิสีสิงค์เราเกณฑ์ให้เปนพ่อ ที่แท้ฤษยะสฤงค์ หรืออิสีสิงค์นั้นเองคือท่านมุนีหน้าเนื้อเอง] ครั้นเมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว สุมันตระจึ่งทูลต่อไปถึงคำทำนายของพระสนัตกุมารพรหมบุตรซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อใดท้าวทศรถปราถนาจะทำพิธีอัศวเมธเพื่อขอลูก จะเชิญพระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีก็จะสมปราถนา ท้าวทศรถได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระไทย จึ่งเสด็จไปหาท้าวโลมบาท ขออนุญาตให้พระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีขอลูก ท้าวโลมบาทก็ยินดีอนุญาตตามพระสหายปราถนา ท้าวทศรถจึ่งเชิญพระฤษยะสฤงค์กับนางศานตาไปยังกรุงศรีอโยธยา

               ต่อนี้ไปจึ่งกล่าวถึงการพิธีอัศวเมธของท้าวทศรถ ซึ่งมีกษัตร์นครใกล้เคียงมาช่วยเปนอันมาก มีอาทิคือท้าวชนกสุริยวงศ์ผู้ครองนครมิถิลา แคว้นวิเทห ๑ พระเจ้านครพาราณสี แคว้นกาสี ๑ ท้าวอัศวบดี ผู้ครองเกกัยชนบท ๑ ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ ๑ พระเจ้ามคธราษฎร์ ๑ ทั้งพญาผู้ครองชนบทในบุรพเทศ สินธุเทศ โสวิรเทศ สุราษฎร์ และทักษิณเทศ พระวสิษฐ์และพระฤษยะสฤงค์ช่วยกันดูแลการพิธี ปล่อยม้าอุปการไปในที่ต่างๆ จนบรรจบครบรอบปี ๑ ม้ากลับมาแล้วจึ่งฆ่าบูชายัญ และมีพลีกรรมใหญ่ ในที่สุดพระฤษยะสฤงค์จึ่งตั้งพิธีพลีกรรมอัญเชิญบรรดาเทวดา คนธรรพ สิทธาวิชาธรมายังที่สโมสรประชุม และพระฤษยะสฤงค์ประกาศขอลูกให้ท้าวทศรถ บรรดาเทวดาและสิทธาวิชาธรจึ่งพร้อมกันทูลพระพรหมว่า ถึงสมัยกาลอันควรแล้วที่จะทรงสังหารทศกรรฐ ผู้มีความกำเริบเที่ยวรบกวนฤษีชีพราหมณ์มากนัก พระพรหมตรัสตอบว่า พระองค์ได้ประทานพรแก่ทศกรรฐว่า ไม่ให้ตายด้วยมือคนธรรพ หรือยักษ์ หรือรากษส แต่ทศกรรฐดูถูกมนุษจึ่งมิได้ขอไว้ให้รอดจากมือมนุษ ขณนั้นพะเอินพระนารายน์เสด็จมายังที่ชุมนุม พระพรหมาจึ่งอัญเชิญให้อวตารเปนมนุษเพื่อสังหารทศกรรฐ ขอให้ทรงกำเหนิดเปนโอรสท้าวทศรถ พระนารายน์ก็ทรงยอมรับคำเชิญ จึ่งมีอมุษตน ๑ มีสีกายดำรูปร่างล่ำสัน แต่งสีแดงหน้าแดง ตัวเต็มไปด้วยขนคล้ายราชสีห์ มีเคราและผมอันงามแต่งเครื่องทิพยอาภรณ์พร้อม ถือโถทองฝาเงินบรรจุทิพยปายาส ผุดขึ้นมาจากกองไฟกลางมณฑลพิธี แสดงตนว่าเปนทูตพระประชาบดี นำปายาสสำคัญนี้มาเพื่อให้พระมเหษีเสวย คงจะได้โอรสสมปราถนา ท้าวทศรถรับโถปายาสขึ้นจบเหนือพระเศียร เทวทูตก็อันตรธานไป ท้าวทศรถจึ่งเสด็จเข้าสู่วังใน แบ่งปายาสเปน ๔ ส่วน ประทานให้นางเกาศัลยา กับนายไกเกยีองค์ละส่วน แต่นางสุมิตราได้ ๒ ส่วน ต่างก็ทรงครรภสมปราถนา

               [ในตอนนี้ในรามเกียรติ์ของเรามีเรื่องเล่าว่า นางกากนาสูรมาโฉบเอาปายาสไปได้กึ่งก้อน ไปให้นางมณโฑกิน จึ่งเกิดนางสีดา แต่ในฉบับสังสกฤตไม่มีเลย การที่มีเรื่องเพิ่มขึ้นเช่นนี้ จะได้มาจากแห่งใดข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาค้นสอบสวนดู แต่บางทีจะได้จากพวกหนังสือปูราณะฉบับใดฉบับ ๑ ก็เปนได้]

               ฝ่ายทวยเทพทราบว่าพระนารายน์จะเสด็จอวตารลงไปมนุษโลกก็ยินดีทั่วกัน นัดกันแบ่งภาคของตน ๆ ไปให้กำเหนิดเปนบริวาร พระพรหมาตรัสว่าพระองค์เองได้สร้างชมพูพานผู้เปนราชาแห่งหมีแล้ว คือได้หาว ชมพูพานก็ออกมาจากพระโอษฐ [ตามเรื่องรามเกียรติ์ของเราว่า พระอิศวรสร้างชมพูพานจากพระเมโท แต่แท้จริงผู้ที่กำเหนิดเช่นนี้คือท้าวฤกษราช ซึ่งเปนพ่อเลี้ยงพาลีและสุครีพ ดังมีข้อความปรากฎอยู่ในอุตตรกัณฑ์ พระเปนเจ้าผู้สร้างทั้งชมพูพานและท้าวฤกษราชคือพระพรหมา ซึ่งข้างเราน่าจะมาเข้าใจผิดไปว่าพระอิศวร เพราะพระพรหมานั้นมีนามเรียกว่า “ปรเมษฏ์” อันมีสำเนียงคล้าย “ปรเมศวร์” ซึ่งเปนนามเรียกพระอิศวร] พระพรหมาตรัสให้เทวดาอื่นๆ แบ่งภาคสร้างวานรเปนบริวารพระรามาวตารบ้าง เทวดาก็ทำตามพระบัญชา คือพระอินทรสร้างพาลี พระอาทิตย์สร้างสุครีพ พระพายสร้างหนุมาน (สามตัวนี้ตรงกัน) พระวิศวกรรมสร้างนล (ซึ่งเราเรียก “นิลพัทธ์” และว่าเปนลูกพระกาฬ) พระเพลิงสร้างนิล (ซึ่งเราเรียก “นิลนนท์”) นอกนั้นก็มีกล่าวแต่ว่าพระพฤหัสบดีสร้างตาระ (ของเราว่าสร้าง “มาลุนทเกสร”) ท้าวกุเวร (หรือพระไพศพณ์) สร้างคันธมาทน์ (ซึ่งข้าพเจ้ายังจับไม่ได้ว่าเราเรียกอะไร) พระพิรุณสร้างสุเษน (ซึ่งตามสำเนียงน่าจะเปน “สุรเสน” แต่ของเราว่าสุรเสนพระพุธสร้าง) พระปรรชัญสร้างสรรพะ พระอัศวินเทวดาแฝดสร้างเมนทะกับทวิวิท (สามตัวหลังนี้ ยังเทียบไม่ถูก)

               “ครั้นถึงวัน ฯ ๑๒ ปุนรวสุนักษัตร์ พระอาทิตย์สถิตย์ราษีเมษ พระจันทร์อยู่มังกร พระเสาร์อยู่ดุล พระพฤหัสบดีอยู่กรกฎ พระศุกรอยู่มิน และเมื่อพระพฤหัสบดีขึ้นสู่ราษีกรกฎพร้อมด้วยพระจันทร” นางเกาศัลยาประสูตรพระราม นางไกเกยีประสูตรพระภรตในยามบุษยานักษัตร์ พระอาทิตย์อยู่ราษีมิน นางสุมิตราประสูตรพระลักษมณ์กับพระศัตรุฆน์ เมื่อพระอาทิตย์อยู่ราษีกรกฎ อัสเลษานักษัตร์

               [นามพระกุมารทั้ง ๔ นี้ ของเราเขียนถูกแต่พระรามองค์เดียว นอกนั้นคลาดเคลื่อนหมด คือพระภรตเขียนว่า “พรต” พระลักษมณ์” เขียนว่า “ลักษณ์” พระศัตรุฆน์เขียนว่า “สัตรุด” ที่เขียนคลาดเคลื่อนไปเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะขอเดาว่า พระภรตนั้นคงได้ยินพราหมณ์เขาเรียกว่า “ภะรต” ก็เขียนว่า “ภรต” ดังนี้ถูกแล้ว แต่ภายหลังคงมาอ่านกันผิดเปน “ภ๎รต” อย่าง “คะรุฑ” อ่านเปน “ค๎รุฑ” ไปฉนั้น ครั้นเมื่ออ่านผิดเปน “ภ๎รต” ไปแล้วเช่นนั้น นักเลงหนังสือชั้นหลังเห็นว่า “ภรต” แปลไม่ออก จึ่งแก้เปน “พรต” ให้แปลออก พระลักษมณ์นั้นคลาดเคลื่อนไปนิดเดียวแต่ตกตัว “ม” ไม่สู้จะน่าติเตียนปานใด ส่วนพระศัตรุฆน์ที่กลายเปน สัตรุดไปนั้น ในชั้นแรกคงผิดเพียงเขียน “ฆ” เปน “ค” ไป ภายหลัง “น” การันต์เสียแล้วไม่อ่านก็ตกหายไป คงเหลือแต่ “สัตรุค” ต่อมาผู้คัดสพร่าวเขียน “ค” เปน “ด” ไปอีกชั้น ๑ จึ่งเลอะเทอะมาก ชื่อในรามเกียรติ์เขียนคลาดเคลื่อนไปเพราะไทยเราอ่านตัวอักษรสำเนียงใกล้ๆ กันฉนี้มาก แล้วเหลวที่ผู้คัดอีกชั้น ๑ ซึ่งไม่เข้าใจคำแปลเสียแล้ว เขียนพุ่งไปตามใจหรือตามที่ตัวได้ยินผิด ข้าพเจ้าอธิบายไว้ยืดยาวในที่นี้พอให้แลเห็นตัวอย่าง และไหนๆ ได้อธิบายแล้วขออนุญาตอธิบายเลยไปอีกถึงนามพญายักษ์ตน ๑ ซึ่งเปนตัวสำคัญคือที่เราเรียกว่า “พิเภก” แท้จริงของเขาชื่อ “พิเภษณ” แต่เรามาการันต์ “ณ์” เสียแล้ว คงออกสำเนียงแต่ว่า “พิเภด” ดังนี้ก่อน ส่วนที่เลยกลายเปน “พิเภก” ไปนั้น ก็ลงเค้าที่เรียกช้างเผือกว่า “พระสะเหวก” นั้นเอง]

               อยู่มาเมื่อพระรามมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระวิศวามิตรมุนี (ซึ่งเรียกในรามเกียรติ์ของเราว่า “สวามิตร์”) ได้เข้าไปเฝ้าท้าวทศรถ ร้องทุกข์ว่าไม่เปนอันบำเพ็ญพรต เพราะมีพวกรากษสมารังแก มีมารีจ (ซึ่งเราเรียกว่า “ม้ารีด”) และสุพาหุ (ซึ่งเราเขียนว่า “สวาห”) เปนผู้นำมา ขอพระรามไปช่วยปราบอสูรด้วย ท้าวทศรถไม่เต็มใจให้พระรามไป แต่เสียอ้อนวอนมิได้ จึ่งต้องยอมให้พระรามกับพระลักษมณ์ไปกับพระวิศวามิตร์

               พอออกไปถึงป่า พระวิศวามิตร์ชี้ให้พระรามดูเมืองร้าง ๒ แห่ง อธิบายว่าเดิมก็เปนที่มั่งคั่ง แต่นางยักษินีชื่อตารกา (คือนางกากนาสูรของเรา) ได้กินชาวเมืองเสียหมด แล้วจึ่งเล่าเรื่องที่นางตารกาประพฤติชั่วต่างๆ ให้พระรามฟัง ใจความว่านางเปนลูกยักษ์ชื่อ สุเกตุ เปนมเหษีพญายักษ์ชื่อ สุนทาสูร มีลูกชื่อมารีจ กับ สุพาหุ เมื่อท้าวสุนทาสูรตายแล้ว นางตารกากับมารีจไปรบกวนพระอคัสตยมุนี พระมุนีสาบนางให้เปนกาเพราะชอบกินเนื้อคน และสาบมารีจให้เปนรากษส (ซึ่งเปนอสูรชั้นเลวกว่ายักษ์) ในที่สุดพระวิศวามิตร์จึ่งยุพระรามให้สังหารนางตารกา พระรามก็ไปสังหารตายในกลางป่า พระวิศวามิตร์มีความยินดีจึ่งให้อาวุธสำคัญต่างๆ เปนบำเหน็จ และสอนมนตร์ต่างๆ สำหรับใช้ในงานสงคราม

               ครั้นใกล้จะถึงอาศรม พระรามจึ่งถามว่า ที่นั้นเดิมใครอยู่ พระวิศวามิตร์ว่า เดิมเปนที่สถิตย์แห่งพระนารายน์วามนาวตารผู้ชำนะท้าวพลีได้ด้วยย่างสามขุม จึ่งเปนที่ควรสถิตย์พระนารายน์รามาวตาร

               เมื่อไปอยู่ได้ไม่ช้า มารีจกับสุพาหุก็ยกทัพไปเพื่อแก้แค้นแทนมารดา พระรามแผลงศรมานะวาสตร์ไปต้องมารีจกระเด็นไปร้อยโยชน์ ตกกลางมหาสมุทสลบไป แล้วแผลงศรอาคเณยาสตร์ (อัคนิวาต?) ไปฆ่าสุพาหุ และแผลงศรพายะพาสตร์ (ประลัยวาต?) ไปสังหารไพร่พลรากษส

               ต่อมามีข่าวว่า ท้าวชนกผู้ครองนครมิถิลาจะมีงานใหญ่ พระวิศวามิตร์จึ่งชวนให้พระรามและพระลักษมณ์ไปเพื่อดูรัตนธนู ซึ่งทวยเทพได้ให้แด้ท้าวเทวราต (ผู้ครองมิถิลาในอดีตกาลก่อนท้าวชนก) ธนูนี้ไม่มีใครก่งได้ พระรามเต็มใจจะไปด้วยแล้ว พระวิศวามิตร์ก็พาพระรามและพระลักษมณ์ออกเดินจากอาศรมไป

               ในระหว่างที่เดินทางไปนี้ เมื่อถึงตำบลสำคัญ พระรามก็ถามพระวิศวามิตร์ และพระมุนีก็เล่าเรื่องให้ฟัง เรื่องที่แสดงโดยมากเปนเรื่องเนื่องด้วยสกุลวงศ์ของคนสำคัญต่างๆ ซึ่งแท้จริงไม่เกี่ยวแก่การดำเนินเรื่องรามายณ เพราะฉนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงหัวข้อก็เปนการเพียงพอแล้ว



กุศิกวงศ์
              [ก] กุศิกวงศ์ (เล่าเมื่อถึงฝั่งน้ำโสณ)

               ๑. กำเหนิดพระกุศพรหมบุตร

               ๒. พระกุศมีมเหษีชื่อนางไวทรรภี มีโอรสชื่อกุศามพะ ๑ กุศนาภ ๑ อสุรตรัช ๑ วสุ ๑

               ๓. พระกุศามพะสร้างนครโกศัมพี พระกุศนาภสร้างนครหลวงแคว้นมโหทัย (ซึ่งภายหลังได้นามว่า “กานยกูพช์”) พระอสุรตรัชสร้างนครธรรมารัณย์ พระวสุสร้างนครคีริพรช หรืออีกนัย ๑ เรียกว่า วสุมดี (ในมคธราษฎร์)

               ๔. เล่าเรื่องธิดาทั้งร้อยแห่งพระกุศนาภ ซึ่งพระพายพบแล้วเปนที่พอใจจะชักชวนเสพเมถุน นางไม่ยอม พระพายสาบให้กลายเปนนางค่อม (“กันยากุพชา”) นครหลวงของพระกุศนาภจึ่งเลยได้นามว่า “กานยกุพช์” (อังกฤษเรียกว่า “Kanauj”) นางทั้งร้อยนั้นในที่สุดพระบิดายกให้ท้าวพรหมทัตราชาผู้ครองนครกามปิลย์ ท้าวพรหมทัตเปนมานัสบุตร (เกิดแต่มโน) แห่งพระจุลีพรหมฤษี จึ่งเปนผู้มีคุณธรรมมาก พอรับนางทั้งร้อยไปแล้ว แตะต้องตัวนางนั้นๆ ก็กลับมีรูปโฉมดีดังเก่า

               ๕. กำเหนิดพระคาถิ ลูกพระกุศนาภราชฤษี

               ๖. กำเหนิดพระวิศวามิตร์ ลูกพระคาถิ และนางสัตยวดี ธิดาพระคาถิ ซึ่งได้พระฤจิกเปนภัศดา เมื่อภัศดาถึงมรณภาพนางตามไปสวรรค์กลายเปนแม่น้ำ



เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา
              [ข.] เรื่องพระคงคามหานทีและพระอุมา (เล่าเมื่อถึงฝั่งพระคงคา)

               ๑. กำเหนิดแม่พระคงคา คือเปนธิดาพระหิมพานกับนางเมนาและพระอุมาก็เปนธิดาพระหิมพานและนางเมนานี้เหมือนกัน

               ๒. ทวยเทพขอพระคงคา เพื่อบำรุงโลก ฝ่ายพระอุมานั้น พระหิมพานยกให้เปนมเหษีพระอิศวร

               ๓. กำเหนิดพระขันทกุมาร อีกนัย ๑ เรียกว่า พระกรรดิเกยะ (เพราะนางกฤติกาทั้ง ๖ เปนแม่นม) ซึ่งเปนเทพเสนาบดีปราบท้าวตรีปุระ (ที่เราเรียก “ตรีบุรัม”)



เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร
[ค] เรื่องท้าวสัครราชและกำเหนิดพระสาคร (เล่าต่อจากเรื่องก่อนหน้านี้)

               ๑. ท้าวสัครราชเปนกษัตร์สุริยวงศ์ ครองนครศรีอโยธยา (ก่อนพระรามขึ้นไปหลายชั่วคน) มีมเหษีชื่อเกศินี นางชาววิทรรภนาง ๑ อีกนาง ๑ ชื่อนางสุมดี ลูกพระอริษฏเนมี และภคินีพญาครุฑ แต่ไม่มีโอรส ท้าวสัครจึ่งไปบำเพ็ญตะบะอยู่ในสำนักพระภฤคุมุนีประชาบดี พระภฤคุมีความเมตตาจึ่งให้พรว่า ให้มเหษีองค์ ๑ มีโอรสองค์เดียว แต่กุมารนั้นให้เปนผู้ดำรงวงศกูล ส่วนอีกองค์ ๑ นั้นจะให้มีโอรสหกหมื่น แล้วแต่นางใดจะเลือกอย่างใด นางเกศินีเลือกมีโอรสองค์เดียว แต่ให้เปนผู้ได้ดำรงวงศกูล นางสุมดีขอมีโอรสหกหมื่นองค์

               ๒. กำเหนิดโอรสแลนัดดาท้าวสัคร คือนางเกศินีมีโอรสองค์ ๑ ชื่ออสะมัญชะ นางสุมดีทรงครรภจนครบกำหนดแล้วประสูตรเปนน้ำเต้า ซึ่งเก็บไว้หน่อยหนึ่งจึ่งแตกออก และมีกุมารออกจากนั้นหกหมื่น ซึ่งต้องใส่ผอบแช่น้ำมันเนยไว้จนโต ฝ่ายพระอสะมัญชะนั้น ประพฤติเกะกะ พระบิดาต้องเนรเทศจากพระนคร แต่ก่อนที่จะถูกเนรเทศนั้น พระอสะมัญชะได้มีโอรสองค์ ๑ แล้ว ชื่อพระอังศุมาน ซึ่งตั้งอยู่ในศีลในธรรม พระไอยกาจึ่งตั้งเปนเยาวราช

               ๓. พิธีอัศวเมธของท้าวสัคร - ท้าวสัครตั้งพิธีอัศวเมธที่หว่างเขาหิมพานและเขาวินธัย พระอินทรจำแลงเปนรากษสมาลักม้าสำคัญไป ท้าวสัครจึ่งใช้ให้โอรสหกหมื่นไปเที่ยวค้นหาม้าคืนมาให้จงได้ กุมารหกหมื่นก็เที่ยวหาม้า ขุดพื้นแผ่นดินไปกว่าหกหมื่นโยชน์ และลึกลงไปทุกที เทวดาและสัตว์ทั้งหลายพากันกลัว ไปทูลฟ้องพระพรหมา พระพรหมาตรัสให้ไปเฝ้าพระนารายน์ทูลวอนให้ช่วย ฝ่ายกุมารหกหมื่นค้นหาม้าไม่พบ กลับไปทูลพระบิดาๆ ก็สั่งให้ไปหาให้จงได้ กุมารหกหมื่นก็ขุดดินไปอีก ในที่สุดจึ่งไปพบพระนารายน์ซึ่งอวตารเปนพระกบิล กับแลเห็นมาอยู่ใกล้ๆ กุมารหกหมื่นก็ถือเครื่องมือตรงเข้าไปจะประหาร แต่พระกบิลแผลงอิทธิฤทธิ์เปนไฟไหม้กุมารตายหมดทั้งหกหมื่น ท้าวสัครเห็นโอรสหายไปนาน จึ่งใช้ให้พระอังศุมานไปตามอา จนพบอังคารของอากองอยู่ จะหาน้ำรดก็ไม่มี จึ่งเที่ยวไป จนพบพญาครุฑ พญาครุฑปลอบพระอังศุมานและอธิบายว่าอาทั้งหกหมื่นนั้น ได้ตายด้วยฤทธิ์พระกบิล จะรดด้วยน้ำสามัญไม่ควร ควรใช้น้ำพระคงคา จึ่งจะล้างบาปหมดได้ไปสู่สวรรค์ พระอังศุมานจึ่งนำม้ากลับไปถวายท้าวสัครและทูลความตามที่พญาสุบรรณได้กล่าวมา แต่ท้าวสัครไม่แลเห็นทางที่จะให้น้ำพระคงคามาถึงอังคารแห่งโอรสทั้งหกหมื่นนั้นได้ (ในเวลานั้นพระคงคามีอยู่แต่ในสวรรค์ยังมิได้ลงมาสู่โลกมนุษ)

               ๕. การเชิญพระคงคาลงมาจากสวรรค์ - เมื่อท้าวสัครล่วงลับไปแล้ว ท้าวอังศุมานขึ้นทรงราชย์ จนพระทิลีปผู้เปนโอรสเจริญวัยพอควรแล้ว ท้าวอังศุมานจึ่งเวนราชสมบัติให้ท้าวทิลีปครองต่อไป ท้าวอังศุมานออกทรงผนวชบำเพ็ญตะบะเพื่อเชิญพระคงคาลงมาจากสวรรค์ แต่ก็ไม่สำเร็จจนสิ้นพระชนม์ ท้าวทิลีปจึ่งเวนราชสมบัติให้ท้าวภคีรถผู้เปนโอรสอีกต่อ ๑ แล้วไปทรงผนวชบำเพ็ญเชิญต่อไปจนสิ้นพระชนม์ ท้าวภคีรถไม่มีโอรส จึ่งมอบพระนครให้อำมาตย์มนตรีรักษาไว้ แล้วไปบำเพ็ญเชิญพระคงคาต่อไป จนพระพรหมาทรงพระเมตตาจึ่งเสด็จลงมาตรัสว่า จะขอพรอย่างไรจะประทานให้ทุกอย่าง ท้าวภคีรถราชฤษีจึ่งทูลขอให้พระคงคาลงมาล้างอังคารพระสาครกุมารทั้งหกหมื่น และขอโอรสด้วย พระพรหมาก็โปรดประทานพรตามปราถนา แต่ตรัสเตือนว่า ต้องทูลวานพระอิศวรช่วยรับพระคงคาไว้เมื่อจะลงมาจากสวรรค์ เพราะถ้ามิฉนั้นโลกจะพินาศล่มจมหมด

               ๖. พระคงคาลงมายังมนุษโลก - เมื่อพระพรหมาตรัสเช่นนั้นแล้วท้าวภคีรถก็บำเพ็ญตะบะต่อไปอีก จนพระอิศวรโปรด จึ่งรับว่าจะช่วยรับพระคงคาไว้ ครั้นถึงเวลาที่แม่พระคงคาลงจากสวรรค์ พระอิศวรก็รับไว้ด้วยพระเกศา (จึ่งทรงนามว่า “คงคาธร”) พระคงคาเข้าไปไหลวนอยู่ในระหว่างพระเกศา จนท้าวภคีรถไปทูลขอให้ปล่อย พระอิศวรจึ่งปล่อยพระคงคาให้ไหลไปทางสระวินทุ พระคงคาแยกออกเปน ๗ สาขา ไหลไปทางบุรพทิศ ๓ สาขา กับแม่น้ำสุจักษุ ๑ แม่น้ำสีดา ๑ กับพระสินธุ ๑ รวม ๓ ไหลไปทางปรัศจิมทิศ ส่วนสายกลาง (คือที่เรียกว่าลำพระคงคามหานทีนั้น) ไหลตามรอยรถที่นั่งท้าวภคีรถไป เมื่อผ่านไปแห่งใดฤษีชีพราหมณ์และประชาชนก็พากันยินดี ได้อาบน้ำพระคงคาแล้ว ก็ชำระบาปได้สิ้น ทั้งเทวดาซึ่งได้มีบาปต้องจุติลงมาอยู่ในมนุษโลกนี้ เมื่อได้อาบน้ำพระคงคาแล้วก็ได้กลับคืนสู่สวรรค์ ท้าวภคีรถก็นำพระคงคาไหลไปจนผ่านที่มณฑลพิธีของพระชน๎หุดาบส ท่วมมณฑลพิธีนั้น พระดาบสขัดใจจึ่งอ้าปากกลืนพระคงคาเข้าไปไว้ จนเทวดาต้องช่วยกันอ้อนวอน พระดาบสจึ่งยอมให้ไหลออกมาทางหู แต่นั้นมาพระคงคาจึ่งได้นามว่าชาน๎หวี คือสมมตว่าเปนบุตรีพระชนหุ แล้วพระคงคาก็ไหลตามรถท้าวภคีรถต่อไป จนไปถึงที่ซึ่งอังคารพระสาครกุมารกองอยู่ พอน้ำพระคงคาถึงอังคารนั้นแล้ว บรรดาพระสาครกุมารทั้งหกหมื่นก็ได้ไปสู่สวรรค์ ต่อนั้นมาพระคงคาจึ่งได้นามว่าภาคิรถี (“เกิดแต่ภคีรถ”) เพราะท้าวภคีรถเปนผู้เชิญลงมา และหลุมใหญ่ซึ่งโอรสท้าวสัครขุดนั้น เมื่อน้ำพระคงคาได้ไหลลงไปเต็มแล้ว ก็ได้นามว่าสาคร (“เกิดแต่สัคร”) แต่นั้นมา

               [เรื่องท้าวสัครและกำเหนิดแห่งสาครนี้ ที่ข้าพเจ้าเล่ายึดยาวหน่อย เพราะเห็นเปนเรื่องที่เนื่องด้วยอิกษวากุวงศ์ คือวงศ์พระรามและเมื่อถึงตอนจองถนนพิเภษณ์ก็กล่าวว่า พระสาครควรจะช่วยให้พระรามเสด็จถึงลงกาได้โดยสดวก เพราะบรรพบุรุษของพระรามได้มีบุญคุณแก่พระสาคร เหมือนเปนผู้ใหกำเหนิดฉนั้น ส่วนในรามเกียรติ์ฉบับไทยไม่มีเรื่องนี้เลย น่าจะเปนเพราะไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องของพระรามโดยตรง ทั้งไม่มีท่าทางจะเล่นลครได้ด้วย จึ่งงดเสียไม่ลงไว้]


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2563 19:31:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 16:20:20 »



เรื่องกวนน้ำอมฤต
              [ฆ] เรื่องกวนน้ำอมฤต (เล่าเมื่อไปถึงเมืองวิศาลา)

               ๑. เทวดาและอสูรอยากจะใคร่อยู่คง พ้นจากความตาย จึ่งชวนกันกวนเกษียรสมุททำน้ำอมฤต เอาเขามนทรคีรีเปนไม้กวน เอาพญาวาสุกรีเปนเชือก พญาวาสุกรีพ่นพิษเปนไฟพากันได้ความเดือดร้อน พระนารายน์เชิญให้พระอิศวรเสวยพิษเพื่อดับความเดือดร้อน พระอิศวรก็เสวยพิษเข้าไป (พระศอจึ่งเปนสีนิลเพราะพิษไหม้)

               ๒. เทวดาและอสูรชักเขามนทรคีรีหมุนกวนไปอีก จนเขาทลุลงไปใต้โลก พระนารายน์จึ่งอวตารเปนเต่าไปรองรับเขามนทรคีรีไว้มิให้ทลุเลยไปได้อีก การกวนจึ่งกระทำต่อไปได้สดวก (นารายน์ปางนี้ คือปางที่ ๒ ใน ๑๐ ปาง เรียกตามสังสกฤตว่า “กูรมาวตาร” แต่ข้างไทยเราเรียก “กัจฉปาวตาร”

               ๓. มีสิ่งซึ่งได้มาจากเกษียรสมุทนั้น ดังต่อไปนี้

               (๑) ธันวันตะรี ประถมแพทย์ ผู้ชำนาญในอายุรเวท (วิชารักษาโรค)

               (๒) อับศรหกสิบโกฏิ ซึ่งเทวดาและอสูรไม่รับทั้งสองฝ่าย จึ่งกลายเปนของกลาง เปนนางที่ไม่มีสามี แต่เปนผู้บำเรอทั่วไป

               (๓) นางวารุณี หรืออีกนัย ๑ เรียกว่านางสุรา (คือเหล้า)

               (๔) อุจไฉศะรพ ม้าแก้ว ซึ่งเปนพาหนพระอินทร

               (๕) แก้วเกาษฎุก

               (๖) อมฤต

               ๔. เทวดากับอสูรทำสงครามกัน ชิงน้ำอมฤต (นี้เปนเทวาสุรสงครามครั้งแรก) พระนารายน์ฉวยน้ำอมฤตไปเสียพ้นจากฝั่งเกษียรสมุทแล้ว พวกอสุรมิได้มีโอกาศกินน้ำอมฤต ก็ตายในที่รบเปนอันมาก เทวดาจึ่งได้เปนใหญ่ในสวรรค์



กำเหนิดพระมารุต
              [ง] กำเหนิดพระมารุต (เล่าต่อเรื่องกวนอมฤต)

               นางทิติผู้เปนมารดาพวกแทตย์ คืออสูรที่แพ้เทวดา วิงวอนพระกัศยปเทพบิดรขอลูกชายใหม่ เพื่อให้แก้แค้นแทนพวกแทตย์ พระเทพบิดรว่านางต้องบำเพ็ญตะบะพันปีจึ่งจะให้ลูกดังปราถนา นางทิติก็เข้าไปสู่ตำบลกุศปลพ ตั้งความพยายามในทางตะบะอย่างเคร่ง พระอินทรไปอยู่ปฏิบัตินางอย่างดีที่สุดจนนางตายใจ รักเหมือนลูกตัวเอง (ที่จริงพระอินทรนั้นเปนลูกนางอทิติ ผู้เปนภคินีของนางทิติ และเปนมเหษีขวาของพระกัศยปเทพบิดร นางทิติเปนมเหษีซ้าย) นางทิติจึ่งกล่าวแก่พระอินทรว่า ลูกที่ตั้งใจไว้จะให้เปนศัตรูของพระอินทรนั้นเมื่อคลอดมาแล้วจะให้เปนมิตรอย่างสนิท แต่พระอินทรก็ยังไม่ไว้ใจ จึ่งมองหาโอกาศอยู่ จนเห็นนางนอนหันหัวผิดทิศ (คือเอาหัวนอนเปนปลายตีน) พระอินทรจึ่งเข้าครรภนางทิติเอาวัชระตัดลูกในท้องเปน ๗ ภาค นางทิติตื่นขึ้นรู้สึกว่าตนผิดไปแล้วจึ่งเลยมอบลูกทั้ง ๗ นั้นให้เปนบริวารพระอินทร ขอให้ได้เปนผู้รักษามรุต (ลม) ทั้ง ๗ ลูกนางทิติทั้ง ๗ นั้นจึ่งมีนามปรากฎว่ามารุตแต่นั้นมา แบ่งน่าที่กันคือ ให้ไปพักในพรหมโลก ๑ ในเทวโลก ๑ ให้เปนทิพยวายุ (คืออากาศ) ๑ อีก ๔ องค์ให้เปนลมตวันออก ตวันตก เหนือ และใต้



ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น
              [จ] ตำนานนครวิศาลา (อุชชยินี) และพงษาวดารกษัตร์นครนั้น

               ที่ซึ่งนางทิติมาบำเพ็ญตะบะอยู่นั้น คือที่ตั้งนครวิศาลา ผู้สร้างนครนี้ คือท้าววิศาล เปนโอรสท้าวอิกษวากุประถมกษัตร์สุริยวงศ์ (บรรพบุรุษของพระรามเอง) กับนางอลัมพุษากษัตร์สืบสกุลลงมาจากท้าววิศาลนั้น มีนามปรากฎเปนลำดับ (เริ่มแต่ตัวท้าววิศาลเอง) ดังต่อไปนี้: - ๑. วิศาล ๒. เหมจันทร ๓. สุจันทร ๔. ธูมราศว ๕. สญชัย ๖. สหเทพ ๗. กุศาศว ๘.​ โสมทัต ๙. สุมดี

               เมื่อเล่าตำนานจบแล้ว พระวิศวามิตรก็พาสองกุมารเข้าไปในนครวิศาลา (อยู่ในเขตร์อุชชยินีใหม่เดี๋ยวนี้) ท้าวสุมดีต้อนรับโดยดี พักอยู่ในนครนี้คืน ๑ แล้วจึ่งออกเดินต่อไปสู่นครมิถิลา

               ก่อนที่จะถึงนครมิถิลานั้น ได้ไปพบอาศรมเปลี่ยวอย่างกลางป่า ซึ่งพระวิศวามิตรจึ่งเล่าว่า เดิมเปนที่สถิตย์พระโคดมพรหมฤษี พระโคดมสถิตย์ณที่นี้กับนางอหลยาผู้เปนชายา เปนที่ผาศุก จนอยู่มาวัน ๑ พระอินทรแปลงเปนพระโคดมเข้าไปทำชู้ด้วยนาง พระโคดมโกรธ จึ่งสาบพระอินทรให้ลึงค์หลุด และสาบนางอหลยาว่า ให้อยู่ในอาศรมนี้ กินแต่ลม และบำเพ็ญตะบะล้างบาปไป จนกว่าจะได้พบพระราม ได้ต้อนรับพระรามแล้ว จึ่งจะหมดบาป ฝ่ายพระอินทรไปหาพระเพลิงและทวยเทพ เล่าให้ฟังว่า ตามที่ทวยเทพได้ใช้ให้ไปทำลายพิธีพระโคดมนั้น ได้ไปทำลายแล้ว แต่ถูกสาบจึงลึงค์หลุดหายไปฉนี้ พระอัคนีจึ่งไปหาพระบิดรทั้งหลาย (คือพ่อของมนุษหรือเรียกว่า “ปุพ์พเปต”) ขอให้ช่วยถอนลึงค์แกะผู้ (ซึ่งชนมักถวายเปนปฺพพเปตพลีนั้น) มาติดให้พระอินทรแทนของเดิม พระบิดรทั้งหลายก็ทำตามพระเพลิงขอ แต่นั้นมาจึ่งบัญญัติว่าถ้าจะทำปฺพพเปตพลีให้ใช้แกะตอน ฝ่ายพระรามเมื่อได้ทราบเรื่องฉนั้น ก็เข้าไปหานางอหลยาในอาศรม นางก็ต้อนรับด้วยยินดี ล้างพระบาทพระรามแล้ว ก็ได้พ้นคำสาบ พระโคดมก็มาให้พรแก่พระราม แล้วรับนางอหลยาไปเปนชายาตามเดิม

               [เรื่องนี้ในรามเกียรติ์ของเราก็มี แต่นามแห่งนางอหลยานั้น เรียกว่า “กาลอัจนา” เพราะอไรก็ไม่ปรากฎ และข้อความในเรื่องก็คลาดเคลื่อน คือเล่าว่านางนั้นมีลูกกับพระอินทรคือพาลี และมีลูกกับพระอาทิตย์ คือสุครีพ แท้จริงพาลีและสุครีพมิใช่ลูกนางคนนี้ เปนลูกท้าวฤกษราชในขณเมื่อกลายเปนสัตรี ดังมีอยู่ในอุตตรกัณฑ์ภาคที่แสดงด้วยวานรพงษ์ซึ่งข้าพเจ้าได้เก็บความมาลงไว้ในที่นี้ด้วยแล้ว เมื่ออ่านต่อไปคงพบ ส่วนเรื่องกินลมนั้น ของเราไปจับยัดให้นางสวาห ซึ่งเปนลูกนางกาลอัจนาอีกชั้น ๑ ว่ามารดาสาบให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม แต่ในรามายณไม่ได้กล่าวเช่นนั้นเลย กำเหนิดหนุมานมีเรื่องราวพิศดารอยู่ในอุตตรกัณฑ์ ภาควานรพงษ์ ซึ่งถ้าผู้อ่านๆ ต่อไปก็คงพบ]

               พระวิศวามิตรพาพระรามและพระลักษมณ์ตรงไปยังที่ซึ่งตั้งมณฑลพิธีของท้าวชนก ท้าวชนกต้อนรับพระพรหมฤษีและสองกุมารด้วยความยินดี ถามข่าวคราว พระวิศวามิตรก็เล่าเหตุการณให้ท้าวชนกฟัง จนถึงเรื่องที่พระรามได้ไปช่วยนางอหลยาให้พ้นสาบนั้นเปนที่สุด



แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤๅษี
              ฝ่ายพระสตานนทมุนี ผู้เปนปุโรหิตของท้าวชนก (และซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกเขวไปว่า “พระสุธามันตัน”) เปนลูกพระโคดมพรหมฤษีกับนางอหลยา เมื่อได้ทราบข่าวว่ามารดาได้พ้นจากสาบแล้วเช่นนั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก สรรเสริญพระราม และสรรเสริญพระวิศวามิตรผู้ที่ได้พาพระรามไปให้ได้โปรดมารดาพ้นสาบไปได้ แล้วจึ่งเลยเล่าถึงเรื่องพระวิศวามิตรให้พระรามฟังต่อไป เปนเรื่องพิศดารยืดยาว กล่าวด้วยการที่พระวิศวามิตรซึ่งเดิมมีกำเหนิดเปนกษัตร์นั้น ได้บำเพ็ญบารมีอย่างไร จนในที่สุดจึ่งได้เปนพรหมฤษีอันเปนพราหมณ์ชั้นสูงสุด เรื่องนี้ในรามเกียรติ์ของเราไม่มีเลย เพราะคงจะเห็นว่าไม่เกี่ยวแก่เรื่องของพระราม ซึ่งแท้จริงก็เปนเช่นนั้น ที่จริงก็เปนเรื่องที่เอามาแซกลงไป เหมือนเอามาฝากรักษาไว้เพื่อมิให้สูญเท่านั้น เพราะฉนั้นในที่นี้ก็ไม่จำจะต้องกล่าวถึงต่อไปให้ยึดยาว จะเปนแต่ยกหัวข้อมาลงไว้ เพื่อประโยชน์แห่งนักเลงหนังสือผู้ที่จะต้องการค้นหาเรื่องโบราณบ้าง ดังต่อไปนี้

               ๑. แสดงวงศ์พระวิศวามิตร (เหมือนที่พระวิศวามิตรเล่ามาเองแล้ว)

               ๒. แสดงสาเหตุที่ท้าววิศวามิตรวิวาทกับพระวสิษฐพรหมฤษี ยังมีโคสำคัญชื่อสวลา เปนโคสรรพัดนึก ท้าววิศวามิตรขอโคนั้น พระวสิษฐไม่ให้ จะให้ทรัพย์สินแลกเท่าใด พระวสิษฐก็ไม่ยอมรับ พระราชาก็เข้าแย่งเอาโคสวลาไป โคนั้นร้องให้พระวสิษฐช่วย พระวสิษฐว่าท้าววิศวามิตรเปนมหาราชมีรี้พลมากจะสู้อย่างไรได้ โคตอบว่าฤทธิ์พราหมณ์มากกว่าฤทธิ์กษัตร์ให้ลองกันดู พระวสิษฐก็นึกเอาไพร่พลจากโค จึ่งได้ต่อสู้กับพลของพระราชา เมื่อร่อยหรอลงเมื่อใด โคก็จัดให้มีเติมมาอีกเสมอ จนในที่สุดพวกกษัตร์แพ้



ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ
              ๓. ท้าววิศวามิตรจะเอาชนะพระวสิษฐ- มอบราชสมบัติให้โอรสองค์ ๑ รักษาไว้ แล้วออกไปบำเพ็ญตะบะบูชาพระอิศวรจนได้เทพสาตราวุธแล้ว ก็ไปยังอาศรมพระวสิษฐ แผลงศรเปนไฟไปเผา พวกพราหมณ์สานุศิษย์พากันแตกตื่นหนีไปหมด พระวสิษฐโกรธจึ่งเข้าต่อสู้กับท้าววิศวามิตรด้วยไม้เท้าพรหมทัณฑ์ บรรดาเทพสาตราวุธของท้าววิศวามิตรจะสู้พรหมทัณฑ์นั้นหาได้ไม่ ท้าววิศวามิตรสิ้นสาตราวุธแล้วก็จำต้องหนีไป


ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์
              ๔. ท้าววิศวามิตรตั้งความพยายามจะเปนพราหมณ์บ้าง - ออกไปสู่ป่าพร้อมด้วยพระมเหษี ผนวชเปนโยคีและโยคินี บำเพ็ญพรตต่อไป จนพระพรหมาลงมายกให้เปนราชฤษี แต่พระวิศวามิตรยังหาพอใจไม่ เพราะอยากจะเปนพรหมฤษี จึ่งบำเพ็ญบารมีต่อไป


เรื่องท้าวตรีศังกุ
              ๕. เรื่องท้าวตรีศังกุ - ท้าวตรีศังกุสุริยวงศ์ ครองนครอโยธยา มีความปราถนาจะใคร่ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเปน วานพระวสิษฐทำพิธีให้ พระวสิษฐไม่ยอม ท้าวตรีศังกุจึ่งไปหาลูกพระวสิษฐร้อยตนซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า ขอให้พราหมณ์วาสิษฐีทั้งร้อยนั้นช่วยทำพิธี พราหมณ์ก็ไม่ยอมอีก ท้าวตรีศังกุโกรธใช้วาจาหยาบ พราหมณ์จึ่งสาบท้าวตรีศังกุให้เปนจัณฑาล บรรดาทำมาตย์มนตรีก็พากันหนีหมด ท้าวตรีศังกุจึ่งไปหาท้าววิศวามิตรราชฤษี พระวิศวามิตรก็ไปทำพิธีให้ สั่งบริษัทบริวารให้ประกาศเชิญพราหมณ์ทั้งหมดมา ถ้าใครกล่าววาจาเปนถ้อยคำติฉินท์อย่างใดให้นำความมาบอก พราหมณ์พากันกลัวพระวิศวามิตรราชฤษี จึ่งรีบมายังพิธี เว้นแต่พราหมณ์ชื่อมโหทัยและวาสิษฐีพราหมณ์ทั้งร้อย ซึ่งกล่าวว่าจะไปในงานของราชาผู้เปนจัณฑาล และมีกษัตร์เปนผู้ทำพิธีอย่างไรได้ พระวิศวามิตรจึ่งสาบว่า ให้ลูกพระวสิษฐทั้งร้อยนั้น ตายไปโดยฉับพลัน แล้วให้เกิดเปนชนชาติมุษฏิกอันลามกนุ่งผ้าบังสุกุลกินเนื้อหมา และให้เปนเช่นนั้นต่อไปอีก ๗๐๐ ชาติ ส่วนพราหมณ์มโหทัยนั้นสาบให้เปนนิษาท (เงาะป่า) มีใจดุร้าย กินเนื้อมนุษเปนภักษาหารต่อไปอีกช้านาน ฝ่ายมหาฤษีและพราหมณ์อื่นๆ เมื่อได้ฟังคำแช่งก็พากันเกรงกลัวอำนาจพระวิศวามิตร จึ่งจำใจยอมเข้าพิธีด้วย แต่ถึงแม้จะบำเพ็ญทำพลีกรรมไปเท่าใด เทวดาก็ไม่ยอมมาสู่มณฑลพิธี พระวิศวามิตรจะเอาชนะ จึ่งร่ายมนต์ยกตัวท้าวตรีศังกุขึ้นไปสู่สวรรค์ทั้งเปน แต่พระอินทรและเทวดาทั้งปวง เมื่อเห็นท้าวตรีศังกุลอยขึ้นมา จึ่งร้องว่า “ดูกรตรีศังกุ ท่านจงกลับไป ท่านหาควรจะขึ้นสวรรค์ไม่ ท่านได้ถูกปุโรหิตาจารย์ของท่านเองแช่งแล้ว เพราะฉนั้นจงตกลงไปยังพื้นดินเถิด” ท้าวตรีศังกุก็ตกลงมาจากฟากฟ้า ร้องให้พระวิศวามิตรช่วย พระวิศวามิตรก็ร้องสั่งว่า “จงอย่าตกลงมาอีกเลย” ท้าวตรีศังกุก็ลอยค้างอยู่กลางหาว แล้วพระวิศวามิตรจึ่งสร้างดาวสัปตฤกษ์ (คือดาว ๗ ดวง ซึ่งเราเรียกกันว่าดาวจรเข้) ที่ทิศทักษิณและสร้างดาวอื่นๆ ขึ้นอีกเปนอันมาก และมิหนำซ้ำประกาศว่าจะสร้างพระอินทรขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ พอเริ่มสร้างเทวดาใหม่ขึ้นบ้าง บรรดาเทวดาสิทธา และอสูร จึ่งพากันร้องวิงวอนพระวิศวามิตรอย่าให้สร้างต่อไป แต่พระวิศวามิตรจะเอาสัญญาให้เทวดายอมรับท้าวตรีศังกุขึ้นสวรรค์และขอให้ดาวที่สร้างใหม่ทั้งหมดคงอยู่ต่อไป เทวดาก็ยอมตามคำพระวิศวามิตรในส่วนดาว แต่ส่วนท้าวตรีศังกุนั้นยอมให้คงอยู่กลางหาวในท่ามกลางดาวที่สร้างใหม่เท่านั้น เพราะเปนจัณฑาลจะรับขึ้นสวรรค์มิได้


พระวิศวามิตรไปบุษกร
              ๖. พระวิศวามิตรไปบุษกร - เมื่อเสร็จกิจเรื่องท้าวตรีศังกุแล้ว พระวิศวามิตรกับสานุศิษย์ย้ายไปอยู่ณตำบลบุษกร บำเพ็ญบารมีต่อไป


เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป
              ๗. เรื่องท้าวอัมพรีษและพราหมณ์ศุนหเศป - ระหว่างเวลาที่พระวิศวามิตรอยู่ที่บุษกรนั้น มีเหตุการณสำคัญขึ้นอัน ๑ คือท้าวอัมพรีษสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีอโยธยา ทำพิธีพลีกรรมใหญ่ พระอินทรได้แอบลักเอาสัตว์บูชายัญไปเสีย ปุโรหิตจึ่งทูลท้าวอัมพรีษว่า ต้องหามนุษมาบูชายัญแทนเพื่อล้างบาป ท้าวอัมพรีษก็รีบไปป่าพบพราหมณ์ ชื่อ ฤจิก กับบุตรภรรษาอดอาหารอยู่ ท้าวอัมพรีษจึ่งขอซื้อบุตรพราหมณ์ฤจิกคน ๑ ฤจิกนั้นมีบุตรอยู่ ๓ คน แต่ฤจิกไม่ยอมให้ลูกหัวปี นางพราหมณีไม่ยอมให้ลูกสุดท้อง ศุนหเศปผู้เปนคนกลางจึ่งยอมไปกับท้าวอัมพรีษเพื่อสนองคุณบิดามารดา ครั้นเดินทางผ่านไปทางบุษกร ศุนหเศปก็เข้าไปหาพระวิศวามิตรผู้เปนมาตุลของตน (คือเปนพี่ของมารดา) ขอให้พระวิศวามิตรช่วยให้ท้าวอัมพรีษได้สมประสงค์ด้วย แต่ส่วนศุนหเศปเองก็ขอให้ได้มีอายุยืนยาว ขอเอาบารมีราชฤษีเปนที่พึ่ง พระวิศวามิตรก็สอนว่า ให้ยอมไปให้เขาผูกเข้าหลักยูปะบูชายัญโดยดี และเมื่อผูกแล้วให้สวดสรรเสริญเทวดาขอเอาเปนที่พึ่งเถิด ศุนหเศปก็ทำตามพระวิศวามิตรแนะนำ จึ่งได้สมปราถนาทุกประการ ทั้งพลีกรรมของท้าวอัมพรีษก็เปนอันสำเร็จไปโดยเรียบร้อย [เรื่องศุนหเศปนี้ มีมาในหนังสือไอตเรยะพราหมณะซึ่งเปนอรรถกะถาสำหรับกับพระคัมภีร์ฤคเวท แต่เรื่องเล่าไว้ผิดกันกับในนี้ คือเล่าว่าท้าวหริศจันทรมหาราช ผู้ครองนครอโยธยาไม่มีโอรส จึ่งไปขอลูกจากพระวรุณ พระวรุณก็ให้ลูก แต่ว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องให้นำไปบูชายัญถวาย ท้าวหริศจันทรรับรองแล้ว ก็มีโอรสชื่อโรหิตกุมาร หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าโรหิตาศว ท้าวหริศจันทรก็ผัดเพี้ยนไปไม่นำโอรสไปบูชายัญ จนในที่สุดหมดทางที่จะผัดแล้ว จึ่งบอกให้พระโรหิตกุมารรู้ตัว พระโรหิตก็หนีเข้าไปสู่ป่า พระวรุณเทวราชก็บรรดาลให้ท้าวหริศจันทรประชวรเปนมาน พระโรหิตกุมารท่องเที่ยวไปในป่าหลายปี แล้วไปพบพราหมณ์ชื่ออชีครรฏเสายวัส มีลูก ๓ คน ซื้อลูกคนกลางชื่อศุนหเศปได้แล้ว พระโรหิตก็พาพราหมณ์ไปให้บูชายัญแทนพระองค์ เมื่อจะเอาเข้าหลักไม่มีใครยอมมัด อชีครรฏเปนผู้โลภจึ่งรับอาสามัดบุตรตนเอง และมิหนำซ้ำรับจะฆ่าบุตรตนเองอีก แต่ศุนหเศปสรรเสริญพระวรุณและเทวดาอื่นๆ จนพระวรุณโปรดแก้มัดให้ พระวิศวามิตรซึ่งเปนเจ้าน่าที่ผู้ ๑ ในพิธีนั้น ก็เลยรับเอาศุนหเศปเปนลูก และให้นามว่าเทวราต เพราะเทวดาได้ยกให้]


พระวิศวามิตรได้เปนมุนี
              ๘. พระวิศวามิตร ได้เปนมุนี - พระวิศวามิตรบำเพ็ญตะบะอยู่ช้านาน พระพรหมาโปรดยกให้เปนมุนี แต่พระวิศวามิตรก็ยังไม่ละความพยายาม


เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา
              ๙. เรื่องพระวิศวามิตรกับนางเมนะกา - เทวดามีความร้อนจึ่งใช้นางเทพอับศรชื่อเมนะกาลงมาทำลายพิธี พระมุนีอยู่กับนางเมนะกาช้านาน จึ่งรู้สึกความบกพร่องในความพยายามของตน จึ่งลานางเมนะกาโดยดี แล้วออกจากตำบลบุษกรไปยังเขาหิมพาน เพื่อหาความสงบต่อไป [ในรามายณหมดเรื่องเพียงเท่านี้ แต่ในมหาภารตมีเล่าต่อว่า นางเมนะกาคลอดบุตรีทิ้งไว้ในป่า พระฤษีชื่อกัณวะมาเก็บกุมารีไปเลี้ยงไว้ ให้นามว่า ศกุนตลา ส่วนเรื่องราวของนางศกุนตลา ข้าพเจ้าได้แปลและผูกเปนบทลครไทยขึ้นไว้ต่างหากแล้ว]


เรื่องพระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี
              ๑๐. พระวิศวามิตรได้เปนมหาฤษี - เมื่อจากนางเมนะกาไปแล้ว พระวิศวามิตรตั้งประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่ง เพื่อข่มกามคุณารมณ์ บำเพ็ญอยู่นานแล้ว พระพรหมาจึ่งตรัสยกขึ้นให้เปนมหาฤษี แต่พระวิศวามิตรยังคงพยายามต่อไปอีก เพราะมุ่งจะเปนพรหมฤษี


เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา
              ๑๑. เรื่องพระวิศวามิตรกับนางรัมภา - ในการที่จะเปนพรหมฤษีได้นั้นจำเปนต้องข่มจิตรให้สงบจริง ปราศจากยินดียินร้าย พระอินทรและเทวดาอยากจะทำลายพิธี จึ่งใช้ให้นางรัมภาลงไปล่อพระมุนีให้เกิดความกำหนัดอีก ในชั้นต้นพระวิศวามิตรก็ออกจะพอใจในตัวนาง แต่นึกขึ้นได้ถึงครั้งนางเมนะกาก็เคือง จึ่งสาบนางรัมภาให้เปนสิลาอยู่หมื่นปี [เรื่องนี้เองกระมังที่ข้างเราเอาไปปนกับเรื่องพระโคดมสาบชายาที่มีชู้กับพระอินทร เพราะในรามเกียรติ์ของเรากล่าวว่า พระโคดมสาบนางกาลอัจนาผู้เปนชายานั้นให้เปนสิลา และนางกาลอัจนาสาบสวาหบุตรีให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมอีกต่อ ๑]


พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา
              ๑๒. พระวิศวามิตรได้เปนพรหมฤษีสมปราถนา - เมื่อสาบนางรัมภาแล้ว พระวิศวามิตรแปรสถานจากอุตตรเทศไปสู่บุรพเทศ ตั้งความเพียรบำเพ็ญตะบะต่อไปอีก จนในที่สุดทวยเทพเร่าร้อนเหลือทน จึ่งพากันไปทูลพระพรหมา พระพรหมาก็เสด็จลงมายกพระมหาฤษีวิศวามิตรขึ้นเปนพรหมฤษี และตรัสไกล่เกลี่ยให้พระพรหมฤษีวสิษฐผู้เปนบุตรของพระองค์เองนั้นรับรองพระวิศวามิตร พระวสิษฐก็รับรองด้วยยินดี ยอมออกนามพระวิศวามิตรมุนีว่า “พรหมฤษีวิศวามิตร” ฝ่ายพระพรหมฤษีวิศวามิตรเมื่อได้สมปราถนาแล้วเช่นนั้น ก็กระทำการเคารพแด่พระพรหมฤษีวสิษฐผู้มีอายุมากกว่า จึ่งปรองดองกันแต่นั้นมา

               ครั้นเมื่อพระสตานนทมุนีแสดงตำนานพระวิศวามิตรจบลง บรรดากษัตร์ก็พากันโสมนัศ นมัสการพระพรหมฤษีวิศวามิตรโดยเคารพอย่างสูงสุด

               ครั้นรุ่งขึ้นพระวิศวามิตรจึ่งทูลท้าวชนกว่า ขอให้พระรามและพระลักษมณ์ได้เห็นรัตนธนู ท้าวชนกจึ่งเล่าเรื่องรัตนธนูและเรื่องกำเหนิดนางสีดา ดังต่อไปนี้



ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา
              ๑. ธนูนั้นเปนของพระอิศวร เทวดาได้นำมาให้ไว้แด่ท้าวเทวราชสุริยวงศ์ ผู้เปนมหาราชครองนครมิถิลา

               ๒. ครั้ง ๑ เมื่อพระทักษมุนีทำพลีกรรม เว้นเสียไม่เชิญพระอิศวรไปในงานนั้น พระอิศวรไปทำลายพิธี ยิงพระทักษะและกำหราบเทวดาด้วยธนูนี้ แล้วต่อมาพระอิศวรจึ่งได้ประทานธนูแก่ทวยเทพๆ นำมาฝากไว้แก่บรรพบุรุษของท้าวชนก

               ๓. ท้าวชนกไถนา ได้นางจากทางไถ จึ่งให้นามว่าสีดา และท้าวชนกก็รับนางมาเลี้ยงไว้อย่างบุตรี และโดยเหตุที่นางมีกำเหนิดผิดกับนางสามัญ ท้าวชนกจึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะได้นางไปเปนมเหษีจะต้องก่งรัตนธนูได้ก่อน

               ๔. พญาร้อยเอ็ดพระนครต่างมาขอนางสีดา แต่ไม่มีใครก่งศรได้ แม้นแต่จะยกธนูนั้นขึ้นก็ไม่ไหวเสียแล้ว ท้าวชนกจึ่งไม่ยอมยกนางสีดาให้ กษัตร์ทั้งหลายก็ชวนกันล้อมนครมิถิลาไว้ได้ปี ๑ จนท้าวชนกสิ้นกำลังรี้พล จึ่งขอพลใหม่จากเทวดาๆ ก็จัดมาให้ถ้วนจัตุรงคเสนา ท้าวชนกจึ่งรบกษัตร์ที่ล้อมนครพ่ายแพ้ไปได้

               เมื่อเล่าเรื่องเสร็จแล้ว ท้าวชนกจึ่งให้ไปเชิญรัตนธนูออกมา พระรามก็ยกธนูนั้นขึ้นได้โดยง่าย และครั้นเมื่อก่งธนูจะขึ้นสาย ธนูนั้นก็หักสบั้นที่ตรงกลาง ท้าวชนกก็ยินดี แสดงความเต็มพระไทยจะยกนางสีดาให้เปนมเหษีพระราม แล้วจึ่งส่งทูตไปเชิญท้าวทศรถมาจากนครศรีอโยธยา เพื่อมาพร้อมกันในงานอภิเษกพระรามกับนางสีดา

               ท้าวทศรถได้ทรงทราบข่าวก็ยินดี เสด็จจากนครอโยธยาไปยังมิถิลา พร้อมด้วยพระวสิษฐ พระวามเทพ พระชาวาลี พระกาศยป พระมรรกัณไฑย และพระกาตยายน ท้าวชนกจัดการต้อนรับสมพระเกียรติยศ แล้วท้าวชนกจึ่งสั่งให้ไปเชิญท้าวกุศธวัช ผู้ครองนครสังกาศยาและท้าวอิกษวากุ ผู้เปนปฐมกษัตร์สุริยวงศ์ทรงราชย์ในนครศรีอโยธยา ทั้งเปนบรรพบุรุษของท้าวชนกเองด้วย แต่ซึ่งได้ละราชสมบัติออกไปผนวชเปนราชฤษีอยู่นั้น ให้เสด็จมาเปนพยานในการอาวาหมงคลครั้งนั้นด้วย

               เมื่อพร้อมพระญาติวงศ์แล้ว พระพรหมฤษีวสิษฐจึ่งแสดงพงษาวดารของพระราม ลำดับสกุลดังต่อไปนี้

               ก. พระปรพรหม

               ข. พระพรหมา (คือท้าวธาดา)

               ค. พระมริจิมุนี (พรหมานัสบุตรและประชาบดี)

               ฆ. พระกัศยปมุนี (เปนเทพบิดรและประชาบดี)

               ง. พระวิวัสวัต (คือพระสุริยเทวราช)

               จ. พระมนูไววัสวัต อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า พระประชาบดี (เหล่านี้เปนพรหมหรือเปนเทวดา เว้นแต่พระมนูเปนมนุษคนที่ ๑ และเปนราชฤษี ต่อนี้ลงไปเปนกษัตร์สุริยวงศ์ ดำรงนครศรีอโยธยา)


              ๑. อิกษวากุ๑๙. ทิลีป
              ๒. กุกษิ๒๐. ภคีรถ
              ๓. วิทุกษิ๒๑. กกุฏสถะ
              ๔. วาน๒๒. รฆุ
              ๕. อนรัณย์๒๓. ประพฤธ
              ๖. ป๎ฤถุ๒๔. ศังขนะ
              ๗. ตรีศังกุ๒๕. สุทรรศน์
              ๘. ธุนทุมาร๒๖. อัคนิวรรณ
              ๙. ยุวนาศว๒๗. สิฆรค
              ๑๐. มนธาตุ๒๘. มรุ
              ๑๑. สุสนธิ๒๙. ประศุจรุก
              ๑๒. ธ๎รุวสนธิ) ๓๐. อัมพรึษ
              ๑๓. ประเสนชิต (น้องธ๎รุวสนธิ)   เนตรแสร้ว
              ๑๔. ภรต (ลูกธ๎รุวสนธิ) ๓๒. ยยาตี
              ๑๕. อสีต๓๓. นาภาค
              ๑๖. สัคร๓๔. อัช (อัชบาล)
              ๑๗. อสมัญชะ๓๕. ทศรถ
              ๑๘. อังศุมาน๓๖. รามจันทร


              เมื่อพระวสิษฐแสดงพงษาวดารของพระรามแล้ว ท้าวชนกจึ่งแสดงพงษาวดารลำดับสกุลของพระองค์เองบ้าง ดังต่อไปนี้
              ๑. นิมิ (ลูกท้าวอิกษวากุ)        ๑๒. มรุ
              ๒. มิถิ หรือ ชนก ๑๓. ประตินธก (หรือ ประติพันธก)
              ๓. อุทาวสุ๑๔. กฤตรถ
              ๔. นันทิวรรธน์๑๕. เทวมีรหะ (หรือกฤต)
              ๕. สุเกตุ๑๖. วิพุธ
              ๖. เทวราต๑๗. มหิธ๎รก (หรือมหาธฤติ)
              ๗. พฤหัทรถ๑๘. กฤติราต
              ๘. มหาวีร๑๙. มหาโรม
              ๙. สุธฤติ๒๐. สุวรรณโรม
              ๑๐. ธฤษฏเกตุ๒๑. ห๎รัศวโรม
              ๑๑. หริยาศว๒๒. ศีรธวัช

              ท้าวศีรธวัชนั้น คือพระบิดานางสีดา ซึ่งเรียกอยู่โดยมากว่า “ท้าวชนก” บ้าง “วิเทหราช” บ้าง “มิถิลราช” บ้าง (นางสีดาจึ่งได้นามว่า “ชานะกี,” “ไวเทหิ,” และ “ไมถิลี”) ส่วน “ชนก” นั้นเปนนามราชาครองมิถิลามาตั้งแต่ท้าวชนกลูกท้าวนิมิ (อย่างเราเรียกกษัตร์ศุโขไทยว่า “พระร่วง” ทุกองค์ฉนั้น) และท้าวศีรธวัชอธิบายด้วยว่า ท้าวกุศธวัชผู้ครองนครสังกาศยานั้น คืออนุชาของพระองค์เอง ร่วมพระบิดากัน ที่ไปเปนราชาครองนครสังกาศยานั้น เพราะท้าวสุธันวะเจ้านครสังกาศยาได้ยกทัพมาติดนครมิถิลา เพื่อจะชิงเอารัตนธนู แต่ท้าวสุธันวะตายในสนามรบ ท้าวชนกจึ่งอภิเษกพระกุศธวัชผู้เปนอนุชาให้เปนราชาครองนครสังกาศยาสืบมา.

               ครั้นแสดงลำดับสกุลเสร็จแล้ว ท้าวชนกจึ่งตรัสประกาศยกนางสีดาให้แก่พระราม และยกนางอุรมิลาผู้เปนธิดาอีกองค์ ๑ ให้แก่พระลักษมณ์ แล้วพระวสิษฐและวิศวามิตรก็เลยขอธิดา ๒ องค์ของท้าวกุศธวัชให้แก่พระภรตและพระศัตรุฆน์ คือนางมานทวีให้แก่พระภรต และนางศรุตเกียรติ (หรือ “เกียรติสุดา”) ให้พระศัตรุฆน์ ท้าวศีรธวัชผู้เปนกุลเชษฐาอนุญาต และสั่งเตรียมงานอภิเษก ๘ กษัตร์

               พะเอินสมัยนั้นพระยุธาชิต ผู้เปนโอรสท้าวอัศวบดีเกกัยราชและเปนน้องนางไกเกยี มาเยี่ยมท้าวทศรถและพระภรตที่อโยธยา ท้าวทศรถจึ่งเลยชวนพระยุธาชิดไปมิถิลาด้วย จึ่งเปนอันพรั่งพร้อมคณาญาติทั่วกันในเวลาทำงานอภิเษก

               ครั้นได้ฤกษ์ดี ก็มีงานอภิเษกพระรามกับนางสีดา พระลักษมณ์กับนางอุรมิลา พระภรตกับนางมานทวี และพระศัตรุฆน์กับนางศรุตเกียรติ รวมทั้งสี่คู่นี้พร้อมกัน [ในรามเกียรติ์ของเรามีแต่แต่งพระรามกับนางสีดาคู่เดียวเท่านั้น]

               เมื่อเสร็จงานแล้ว พระวิศวามิตรมุนีกลับไปยังอาศรมที่สำนัก ณ อุตตรเทศ ฝ่ายท้าวทศรถ เมื่อถึงเวลาอันควร ก็ลาท้าวชนกยกจากมิถิลา พร้อมด้วยโอรสทั้ง ๔ และชายา กลับคืนสู่นครอโยธยา

               ครั้นมากลางทาง จึ่งพบพราหมณ์ผู้ดุร้ายและมีกำลังฤทธิ์มาก อันมีนามปรากฎว่าปรศุราม หรือรามปรศุ [แปลนามว่า “รามขวาน” เพราะมักถือขวานเปนอาวุธ เรามาเรียกคลาดเคลื่อนไปว่า “รามสูร” เพราะหลงไปว่าเปนยักษ์ ซึ่งมีเหตุควรหลงอยู่บ้าง ดังจะได้อธิบายต่อไป] รามปรศุผู้นี้เปนพราหมณ์สกุลภฤคุ ลูกพระชมัทอัคนี (จึ่งมักเรียกว่า “ชามัทอัคนี”) มีศรและขวานเปนอาวุธ พระวสิษฐและเห็นรามปรศุก็มีความหวาดหวั่น จึ่งปรับทุกข์กันในพวกพราหมณ์ว่า รามปรศุจะยังไม่หายโกรธเรื่องที่พระบิดาถูกฆ่าตายอีกฤๅ แต่รามปรศุก็ได้ฆ่ากษัตร์จนหมดโลกเพื่อแก้แค้นแทนพระบิดาครั้ง ๑ แล้ว คงจะไม่ใช่โกรธเรื่องเดิมอีกกระมัง
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2563 19:48:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 20:02:56 »



ตำนานรัตนธนูและกำเหนิดนางสีดา (ต่อ)
              [ในที่นี้ข้าพเจ้าขออธิบายนอกเรื่องหน่อย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องปรศุรามดีขึ้นอีกเล็กน้อย ปรศุรามนั้นในหนังสือพวกปุราณะยกย่องเปนพระนารายน์อวตาร นับเปนปางที่ ๖ ใน ๑๐ ปาง คือก่อนพระรามาวตารปาง ๑ ความประสงค์พระนารายน์ที่อวตารเปนปรศุรามนั้น เพื่อจะปราบพวกชาติกษัตร์ ซึ่งพากันรังแกพราหมณ์มาก มีเรื่องพิศดารยืดยาวมาก รวมใจความว่าพระนารายน์ได้อวตารลงมาเปนโอรสพระชมัทอัคนี กับนางเรณุกา แต่เยาว์มาก็เปนผู้ที่ดุร้าย ครั้ง ๑ เมื่อพระบิดามีความโกรธนางเรณุกา หาว่านางได้มีความรู้สึกนึกยินดีในรูปแห่งชายอื่น จึ่งสั่งให้โอรสคน ๑ ฆ่านางเสีย โอรสอื่นๆ ไม่มีใครยอม แต่ปรศุรามยอมตัดศีรษะมารดา พระชมัทอัคนีชอบใจจึ่งบอกให้ขอพรตามปราถนา ปรศุรามก็ขอพร ๓ ประการคือ ที่ ๑ ขอให้แม่กลับฟื้นมาโดยปราศจากมลทินทั้งปวง ที่ ๒ ขอให้ตนมีไชยในเมื่อจะต่อสู้กับผู้ใดตัวต่อตัว ที่ ๓ ขอให้ตนมีอายุยืนยาว บิดาก็ประสาทพรให้ ส่วนสาเหตุที่จะเปนอริกับชาติกษัตร์นั้น คือ ท้าวอรชุนกรรตวีรยะเปนมหาราชครองนครมหิษมดี ไหหัยชนบท ผู้มีแขนถึงพัน ๑ และมีเดชานุภาพมาก อาจชำนะได้แม้นทศกรรฐ (ดังมีเรื่องปรากฎอยู่ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณ) วัน ๑ ท้าวอรชุนได้ไปยังอาศรมพระชมัทอัคนี พระมุนีไม่อยู่ แต่นางเรณุกาก็ต้อนรับอย่างแขงแรง แต่เมื่อท้าวอรชุนไปจากอาศรมนั้น ได้จูงเอาลูกโคสำคัญของพระชมัทอัคนีไปเสียด้วย ปรศุรามทราบความก็โกรธ จึ่งตามไปรบกับท้าวอรชุน ฆ่าท้าวอรชุนตาย (ในรามเกียรติ์ของเราก็มีเรื่อง “รามสูร” กับพระอรชุนรบกัน แต่สาเหตุดูไม่มีอะไรนอกจากวิวาทกันอย่างนักเลงโตเท่านั้น) ฝ่ายโอรสท้าวอรชุนเมื่อมีโอกาศก็ไปฆ่าพระชมัทอัคนีบ้างเพื่อแก้แค้น ปรศุรามก็โกรธ เลยสาบาลตัวเปนศัตรูแห่งชาติกษัตร์ทั่วไป ได้สังหารกษัตร์หมดโลกถึง ๒๑ ครั้ง จึ่งหายแค้น เอาโลกไปยกให้เปนทักษิณาแด่พระกัศยปมุนี แล้วก็ไปอยู่ในเขามเหนทรบรรพต เรื่องนี้มิได้มีอยู่ในรามยณ ข้าพเจ้าจึ่งต้องแซกลงที่นี้เช่นนี้ อนึ่งการที่ข้างเราพากันเข้าใจผิดไปว่าปรศุรามเปนยักษ์นั้น เปนเพราะปรศุรามมีฉายาเรียกว่า “น๎ยักษ” เปนภาษาสังสกฤตแปลว่า “ต่ำ” หรือ “ต้อย” เพราะความปฏิบัติไม่เสมอภูมิธรรมอันควรแก่พราหมณ์ มีโทโสร้ายเหลืออดกลั้น และใจคอเหี้ยมโหดเปนต้น ฉายา “น๎ยักษ” นี้เอง ฟังไม่สู้ถนัดก็อาจเข้าใจผิดเปน “ยักษ” ไปได้ ทั้งความประพฤติและนิไสยของรามปรศุนั้นหรือก็ชวนให้เห็นเปนยักษ์ไปจริงๆ ด้วย]

               ฝ่ายปรศุราม พอเข้ามาใกล้ขบวนท้าวทศรถ ก็ร้องตะโกนเรียกพระราม บอกว่าได้ยินกิติศัพท์เล่าถึงความเก่งต่างๆของพระรามและเรื่องก่งธนูจนหักนั้นด้วย จึ่งนำธนูมาอีกคัน ๑ ซึ่งท้าให้พระรามก่งและขึ้นศร ธนูนั้นเปนของพระชมัทอัคนี (คือบิดาของปรศุราม) เมื่อพระรามก่งศรนั้นได้แล้ว ก็จะได้ลองฝีมือกันตัวต่อตัวต่อไป ท้าวทศรถจึ่งต่อว่าปรศุรามว่า ปรศุรามมีกำเหนิดในชาติพราหมณ์ และได้สาบาลต่อหน้าพระอินทรแล้วว่าจะงดการใช้สาตราวุธ และจะตั้งหน้าบำเพ็ญพรตต่อไปตามวิไสยพราหมณ์ เหตุไฉนจึ่งมากล่าววาจาท้าทายเช่นนี้ ปรศุรามไม่ตอบท้าวทศรถ หันไปพูดกับพระรามว่ามีศรสำคัญอยู่ ๒ เล่มอันเปนฝีมือพระวิศวกรรม เล่ม ๑ ทวยเทพได้ถวายพระอิศวรเพื่อปราบท้าวตรีปุระ (คือที่เราเรียกว่า “ท้าวตรีบุรัม”) เล่มนั้นคือที่พระรามทำหักแล้ว อีกเล่ม ๑ ทวยเทพได้ถวายพระนารายน์ เปนธนูอันมีฤทธิ์เท่ากับรุทรธนูที่หักแล้ว และเล่าต่อไปว่า ครั้ง ๑ ทวยเทพปราถนาจะใคร่รู้ว่าพระอิศวรกับพระนารายน์องค์ใดจะมีกำลังฤทธิ์มากกว่ากัน จึ่งไปทูลถามพระพรหมา พระพรหมาก็แสร้งยุยงให้พระเปนเจ้าทั้ง ๒ นั้นวิวาทกันจนเกิดต่อสู้กันเปนภารใหญ่ พระนารายน์ร้องตวาดไปทีเดียวธนูของพระอิศวรก็อ่อนป้อแป้ไป ทวยเทพจึ่งพร้อมกันวินิจฉัยว่าพระนารายน์เก่งกว่าพระอิศวรและทูลไกล่เกลี่ยให้พระเปนเจ้าทั้ง ๒ ดีกัน พระอิศวรมีความน้อยพระไทยว่าแพ้ฤทธิ์พระนารายน์ จึ่งประทานธนูของพระองค์นั้นแด่ราชฤษีเทวราตแห่งวิเทหนคร ส่วนพระนารายน์นั้นประทานธนูของพระองค์แด่พรหมฤษีฤจิกลูกพระภฤคุมุนี พระฤจิกมุนีได้ให้ธนูนั้นแก่พระชมัทอัคนิมุนี แต่พระชมัทอัคนีนั้นพอใจในทางบำเพ็ญพรตมากกว่า จึ่งมิได้ใช้ธนูเลย จนเมื่อพระมุนีนั้นถึงมรณภาพด้วยมือท้าวอรชุนแล้ว ธนูจึ่งตกเปนของปรศุราม [ในรามเกียรติ์ของเรา “รามสูร” ให้การว่า “ศรนี้พระสยมภูวญาณ ประทานองค์ตรีเมฆยักษี ผู้เปนไอยกาธิบดี ข้านี้จึ่งได้สืบมา” ดังนี้ ผิดกันกับในฉบับสังสกฤต] แล้วจึ่งกล่าวต่อไปว่า ตนได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่เขามเหนทร จนได้ยินข่าวว่าพระรามได้ก่งธนูของพระอิศวรจนหักไปแล้ว จึ่งรีบมาเพื่อจะท้าให้ก่งธนูของพระนารายน์บ้าง

               ฝ่ายพระรามมิได้มีความหวาดหวั่นเลย รับธนูสำคัญจากปรศุรามมาได้แล้วก็ก่งและขึ้นศรได้โดยง่าย แล้วจึ่งตรัสแก่ปรศุรามว่า ปรศุรามเปนพราหมณ์ ควรได้รับความเคารพ ครั้นว่าจะยิงเสียก็ไม่ควร เพราะฉนั้นให้ปรศุรามเลือกเอาอย่าง ๑ คือจะให้ยิงทำลายทางสวรรค์ของปรศุราม หรือจะให้ทำลายภูมิทั้งปวงบรรดาที่ปรศุรามได้บรรลุถึงแล้ว ฝ่ายปรศุรามรู้สึกตนว่าแพ้ฤทธิ์พระราม แม้แต่จะกระดิกตัวก็ไม่ไหวแล้ว จึ่งทูลตอบพระรามว่า เมื่อตนได้ยกโลกให้เปนทักษิณาแด่พระกัศยปนั้น พระกัศยปได้เอาสัญญาว่าปรศุรามจะไม่อยู่ในโลกต่อไป แต่นั้นมาก็ยังมิได้เคยนอนในโลกนี้แม้แต่คืนเดียว เพราะฉนั้นขออย่าให้พระรามทำลายทางสวรรค์เลย ขอให้ทรงทำลายภูมิที่ตนได้บรรลุถึงแล้วทั้งหมดนั้นเถิด และปรศุรามมาแลเห็นชัดแล้วว่า พระรามมิใช่ผู้อื่นไกล คือองค์พระตรีภูวนารถเอง ซึ่งเปนผู้ชำนะทั่วไป หาผู้ใดจะต้านทานเดชานุภาพมิได้เลย เพราะฉนั้นในการที่ตนได้พ่ายแพ้มิได้มีความโทมนัศเลย พระรามได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงแผลงศรไปทำลายบรรดาภูมิฌานที่ปรศุรามได้บรรลุถึงแล้ว ปรศุรามก็ทูลลากลับไปยังมเหนทรคีรี ส่วนธนูสำคัญนั้น พระนารายน์จึ่งฝากพระวรุณ (คือพระ “พิรุณ”) ให้รักษาไว้ แล้วก็ทูลให้พระบิดาเสด็จดำเนินขบวนต่อไปสู่พระนคร

               [ในที่นี้ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่า เรื่องปรศุรามกับพระรามวิวาทกันนี้ ในรามเกียรติ์ของเราก็มี แต่รูปผิดกับในฉบับสังสกฤต เพราะเข้าใจผิดเสียในชั้นต้นแล้วว่า “รามสูร” เปนยักษ์ จึ่งแต่งให้มาเกะกะและรบพุ่งอย่างยักษ์ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อแพ้พระรามแล้ว ก็กล่าวว่ารามสูรทูลขอชีวิตรไว้ และพระรามยกประทานให้ ไม่มีกล่าวถึงทำลายภูมิของรามสูรเลย ในข้อนี้ขออธิบายว่าที่พระรามให้เลือกนั้นคือจะให้ทำลายโลกุตตรมรรค หรือจะให้ทำลายผลเท่าที่ปรศุรามได้บรรลุถึงมาแล้ว ปรศุรามเลือกเอาให้ทำลายผล เพราะว่าถึงทำลายแล้วก็มีหนทางที่จะหาได้ต่อไปโดยความพยายามภายน่า แต่ถ้าทำลายมรรคเสียแล้ว ก็จะเปนอันตัดทางที่ปรศุรามจะได้ถึงโลกุดรและพรหมภูมิ คือนฤพานนั้นต่อไปได้ ผู้แต่งรามเกียรติ์ของเรามิได้เข้าใจหัวข้อสำคัญอันนี้ เพราะหลงไปว่า “รามสูร” เปนยักษ์ จึ่งแต่งให้พระรามลงโทษในทางโลกีย์ แท้จริงปรศุรามเปนพราหมณ์ ไม่มีความอาไลยในทางโลกีย์ พะวงในทางโลกุดรมากกว่า จึ่งต้องลงโทษให้กระทบทางโลกุดร]

               ครั้นเมื่อเข้าถึงพระนครศรีอโยธยา ชาวเมืองก็ต้อนรับกษัตร์ทั้ง ๑๐ องค์ (คือท้าวทศรถ พระยุธาชิต และโอรสท้าวทศรถทั้ง ๔ กับชายาแห่งโอรสทั้ง ๔ นั้น) ด้วยความชื่นชมยินดี และพระมเหษีแห่งท้าวทศรถทั้ง ๓ องค์ (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราว่าไปมิถิลาด้วยแต่ในฉบับสังสกฤตว่าไม่ได้ไป) ก็รับรองชายาแห่งโอรสทั้ง ๔ อย่างดียิ่ง เมื่อสิ้นงานสมโภชแล้ว ท้าวทศรถจึ่งอนุญาตให้พระภรตไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่เกกัย และให้พระศัตรุฆน์ไปด้วย

               [พาลกัณฑ์ข้าพเจ้ากล่าวมายืดยาวฉนี้ เพราะเปนกัณฑ์ที่รวบรวมข้อความเบ็ดเตล็ดไว้มาก ถ้าจะลัดข้ามๆ ไปก็เกรงจะเสียความรู้ไป แต่ในกัณฑ์ต่อๆ ไปนี้จะย่อความได้สั้นลงมาก เพราะเปนเรื่องของพระรามคนเดียวติดต่อกันไป]



อโยธยากัณฑ์
              ที่ ๒ - อโยธยากัณฑ์ จับแต่ท้าวทศรถปรารภจะให้อภิเษกพระรามเปนยุพราช ฝ่ายนางค่อมชื่อมนถรา [ซึ่งของเราเรียกว่า “กุจจี” แต่แท้จริง “กุจจี” มาจากคำ “กุพชี” ซึ่งแปลว่า “นางค่อม” เท่านั้น ไม่มีชื่อ] ได้ทราบจึ่งไปบอกนางไกเกยีและกล่าวยุยงต่างๆ นางไกเกยีจึ่งขอให้พระภรตได้เปนยุพราช และให้เนรเทศพระรามไปอยู่ป่ามีกำหนด ๑๔ ปี ท้าวทศรถได้ลั่นวาจาแล้วก็ต้องยอมตาม พระรามจึ่งออกจากนครพร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์ สุมันตรไปส่งถึงฝั่งพระคงคา คุหะผู้เปนอธิบดีในหมู่นิษาท (ซึ่งเราเรียกว่าขุขัน) เปนผู้จัดเรือให้ข้ามลำคงคา พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ไปอาไศรยอยู่ในสำนักพระภรัทวาชมุนีในตำบลประยาค ที่ตรงลำน้ำพระคงคากับยมุนาบรรจบกัน อยู่ที่นี้คืน ๑ แล้วไปต่อไปจนถึงเจาจิตรกูฎ จึ่งไปอาไศรยอยู่ในสำนักแห่งพระมหาฤษีวาลมีกิ ฝ่ายท้าวทศรถเสียพระไทยอาไลยพระรามจนสิ้นพระชนม์ ฝ่ายพระภรตซึ่งท้าวอัศวบดีผู้เปนตาได้ขอไปอยู่ที่เมืองเกกัยนั้น เมื่อทราบข่าวว่าพระรามจะได้อภิเษกเปนยุพราชก็มีความยินดี จึ่งทูลลาท้าวอัศวบดีกลับมากรุงศรีอโยธยาพร้อมด้วยพระศัตรุฆน์ซึ่งได้ไปเมืองเกกัยด้วยนั้น ครั้นมาถึงกรุงศรีอโยธยา ทราบว่าพระราชบิดาสิ้นพระชนม์และพระเชษฐาถูกเนรเทศแล้ว ก็มีความโทมนัศเศร้าโศก และมีความแค้นนางไกเกยียิ่งนักถึงแก่จะฆ่าเสีย แต่พระศัตรุฆน์ห้ามไว้ พระภรตพร้อมด้วยพระวสิษฐมุนีผู้เปนปุโรหิตและพระวามเทพมุนี จึ่งจัดการถวายพระเพลิงพระศพท้าวทศรถตามประเพณี [ในรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มีข้อความกล่าวไว้ว่า ทั้งนางไกยเกยีและพระภรตถูกห้ามมิให้ถวายพระเพลิง แต่การห้ามเช่นนี้ในฉบับเดิมไม่มี ตรงกันข้าม กล่าวชัดว่าพระภรตเปนผู้จัดการถวายพระเพลิง เพราะฉนั้นต้องเข้าใจว่าการห้ามถวายพระเพลิงเปนของที่มาเติมขึ้นเองในฉบับไทย] เมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว บรรดาราชตระกูลได้เข้าหอพราหมณ์ ๑๐ วัน วันที่ ๑๒ ภายหลังวันถวายพระเพลิงแล้ว พระภรตจึ่งจัดทำพิธีศราทธพรตตามประเพณี (อย่างทำบุญ ๗ วันของเรา) ต่อนั้นไปอีก ๒ วัน พระภรตออกประทับกลางสภาอำมาตย์มนตรี จึ่งพร้อมกันอัญเชิญเสด็จพระภรตขึ้นครองราชย์ พระภรตไม่ยอมรับราชสมบัติ ตรัสว่าจะออกไปเชิญเสด็จพระรามเข้ามาทรงราชย์ เสนาพฤฒามาตย์ก็เห็นชอบด้วย จึ่งสั่งทำถนนจากกรุงศรีอโยธยาเตรียมไว้เปนทางเสด็จ ครั้นถึงวันดีพระภรตก็ยกกระบวนพยุหยาตราออกจากพระนคร พร้อมด้วยพระศัตรุฆน์ และนางเกาศัลยา นางสุมิตรา และนางไกเกยี ยกกระบวนไปจนจวนถึงเขาจิตรกูฎ พระภรตสั่งให้หยุดกระบวน แล้วเที่ยวหาพระรามจนพบ ก็เข้าไปเฝ้าเล่าความให้ทราบทุกประการ พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ ก็มีความเศร้าโศกยิ่งนัก แต่ครั้นพระภรตอัญเชิญพระรามให้กลับเข้าไปทรงราชย์ พระรามหายอมไม่ แม้พระมารดาทั้งสามช่วยกันวิงวอนก็ไม่ยอม เพราะมีความปราถนาจะรักษาสัตยวาทีแห่งพระราชบิดาไว้ พระภรตจึ่งขอประทานรองพระบาทไปแทนพระองค์ เชิญรองพระบาทขึ้นทูลเหนือพระเศียร แล้วยกพยุหยาตรากลับไปกรุงอโยธยา เชิญพระมารดาทั้งสามเข้าไปในวัง แล้วจึ่งออกไปตั้งอยู่ตำบลนนทิคาม ชายแดนโกศล ยกรองพระบาทขึ้นประดิษฐานบนภัทรบิฐภายใต้เสวตรฉัตร พระภรตเองเปนอุปราชสำเร็จราชการแทนรองพระบาทนั้น และพระภรตพระศัตรุฆน์ทั้งสององค์ก็ต่างถือเพศเปนโยคี ฝ่ายพระรามทราบว่าพญาขรน้องท้าวราพณาสูรมาตั้งนครอยู่ริมชนสถานและตั้งหน้ารบกวนฤษีชีพราหมณ์ในเขตรชนสถานนั้น จึ่งคิดจะไปตั้งอยู่เพื่อป้องกันพวกฤษีต่อไป ลาพระวาลมีกิออกจากจิตรกูฎเดินทางต่อไปในป่า แวะนมัสการพระอัตริมุนีและนางอนะสูยาผู้เปนชายา แล้วพระรามนางสีดา กับพระลักษมณ์ก็เข้าไปสู่ป่าทัณฑก คือชนสถานนั้นแล


อรัณยกัณฑ์
              ที่ ๓ - อรัณยกัณฑ์ จับแต่สามกษัตร์เข้าสูป่าทัณฑกพบอสูรดุร้ายตน ๑ ชื่อวิราธ (ในรามเกียรติ์ของเรากลายเปน “พิราพ” ไป) รบกันเปนสามารถ แต่วิราธนั้นได้รับพรพระพรหมาว่าไม่ให้ตายด้วยคมอาวุธ พระรามรบกับวิราธจนเหยียบไว้ได้แล้วจึ่งให้พระลักษมณ์ขุดหลุมเพื่อฝังทั้งเปน ฝ่ายวิราธเมื่อจะตายรู้ว่าพระรามคือพระนารายน์อวตาร จึ่งเล่าเรื่องที่ตนถูกสาบ คือเดิมเปนคนธรรพซึ่งได้ประพฤติผิดในกาม ไปลอบลักสมัคสังวาศด้วยนางรัมภาผู้เปนบริจาของท้าวเวศรวัณ​ ท้าวเวศรวัณ​สาบให้เปนรากษสอยู่จนกว่าพระนารายน์จะอวตารมากำเหนิดเปนลูกท้าวทศรถ มาฆ่าตายแล้วจึ่งให้วิราธพ้นคำสาบ วิราธจึ่งยินดีที่จะพ้นทุกข์ได้ไปสวรรค์ ชี้ทางให้พระรามดำเนินต่อไป แล้วพระรามกับพระลักษมณ์จึ่งฝังวิราธ วิราธก็ได้ตายด้วยมือพระรามสมความปราถนา เปนอันได้กลับไปสวรรค์ สามกษัตร์จึ่งเดินต่อไป จนถึงสำนักพระมหาฤษีสรภังค์ พบพระอินทรกำลังมาอัญเชิญพระสรภังค์ไปสู่สวรรค์ สามกษัตร์เข้าไปนมัสการพระสรภังค์ พระมุนีก็มีความยินดี ชี้ทางให้เดินต่อไปแล้วพระมหามุนีเองจึ่งเข้ากองไฟเผาตัวและวิญญาณไปสู่พรหมโลก พวกสานุศิษย์พระสรภังค์ขอให้พระรามช่วยคุ้มเกรงรักษา พระรามรับคำแล้วก็ดำเนินต่อไป พร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์กับพวกพราหมณ์ จนถึงที่สำนักพระมหาฤษีสุติกษณ์ (ในรามเกียรติ์เรียกว่าสุทัศน์) พักอยู่ที่นี้คืน ๑ แล้วเข้าป่าต่อไป ท่องเที่ยวอยู่ในป่าทัณฑกนั้นถึงสิบปี ไปอาไศรยอยู่ในสำนักมหาฤษีและเทพฤษีต่างๆ ในที่สุดจึ่งกลับมายังสำนักพระสุติกษณ์​ ถามถึงที่สำนักแห่งพระมหาฤษีอคัสตย์ (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “อังคต”) พระสุติกษณ์ก็ชี้ทางให้ สามกษัตร์จึ่งพากันไปหาพระอคัสตย์ พระมหามุนีก็ต้อนรับโดยยินดี แล้วจึ่งให้พระแสงสำคัญแด่พระราม คือธนูของพระนารายน์ ๑ ศรชื่อพรหมทัต หรือพรหมาสตร์ ๑ แร่งศรซึ่งไม่มีเวลาพร่อง เปนของพระอินทรให้ไว้ ๑ พระขรรค์ด้ามทองฝักกุดั่น ๑ พระรามรับของเหล่านี้ไว้แล้ว ก็ขอให้พระมุนีชี้ที่ซึ่งจะพอสร้างอาศรมพักอยู่ได้ พระอคัสตย์ก็บอกให้ว่า ในระยะห่างจากอาศรมไปอีก ๒ โยชน์ มีที่ดีแห่ง ๑ เรียกว่าปัญจาวดี อยู่ริมฝั่งโคทาวารี สามกษัตร์ก็พากันไปตั้งอาศรมอยู่ที่ปัญจาวดีนั้น เปนที่ผาศุกสำราญ จนวัน ๑ พะเอินนางรากษสีมีนามว่าศูรปนขา (ซึ่งในรามเกียรติ์ภาษาไทยเรียกว่า “สำมะนักขา”) ผู้เปนขนิษฐภคินีของทศกรรฐ ได้ไปพบสามกษัตร์ลงสรงอยู่ในโคทาวารี นางรากษสีมีความรักใคร่ในพระราม สู้ตามไปจนถึงอาศรม จำแลงตัวให้งามแล้วเข้าไปเกี้ยวพระราม พระรามไม่ยินยอมรักใคร่ นางศูรปนขาขัดใจก็เข้าตบนางสีดาสลบไป พระรามจึ่งใช้ให้พระลักษมณ์ลงโทษนางยักษ์ พระลักษมณ์เอาพระขรรค์ตัดจมูกและหูขาดแล้วขับไป นางศูรปนขาก็ร้องไห้ไปฟ้องพญาขรพี่ชาย ผู้ครองนครในชนสถาน พญาขรก็ยกทัพไปจับพระราม พร้อมด้วยพญาทูษณ์ และตรีเศียรเสนาบดี (ตรีเศียรไม่ใช่น้องพญาขร เปนแต่ขุนพลเท่านั้น) พญาขร พญาทูษณ์ และตรีเศียรต้องศรตาย นางศูรปนขาจึ่งข้ามไปยังลงกา ไปฟ้องทศกรรฐ และแกล้งพูดจายกย่องนางสีดาต่างๆ จนทศกรรฐอยากได้นาง จึ่งออกไปหาพญามารีจลูกนางตารกา ซึ่งไปบวชเปนโยคีอยู่ในป่า ขอให้ช่วยคิดอุบายลักนางสีดา มารีจก็กล่าวทัดทานไว้ เพราะตัวเองเคยรู้ฤทธิพระรามแต่เมื่อยกไปตีที่สำนักพระวิศวามิตรนั้นแล้ว แต่ทศกรรฐไม่ฟัง มารีจจึ่งจำใจไปกับทศกรรฐ ถึงปัญจาวดีแล้วจึ่งแปลงตัวเปนกวางไปลวงเอาพระรามไปพ้น และเมื่อถูกศรก็ทำเสียงลวงจนนางสีดาบังคับให้พระลักษมณ์ตามไปอีก ทศกรรฐได้ทีจึ่งแปลงตัวเปนฤษีเข้าไปเกี้ยวนางสีดา ครั้นนางไม่ยินยอมก็อุ้มเอาไปด้วยกำลัง ขึ้นรถเหาะไป นางสีดาก็ร่ำพิไรถึงพระรามจนเมื่อผ่านไปที่น่าถ้ำที่อยู่ของพญาชดายุ (ในฉบับไทยเรียก “สดายุ”) ปักษิราช ชดายุก็ออกมาขวางทางไว้ รบกับทศกรรฐ ชดายุปักษิราชแพ้ ตกลงยังพื้นดิน ทศกรรฐก็อุ้มนางสีดาต่อไป เมื่อผ่านไปในป่า ริมสระปัมปา นางสีดาเห็นวานรอยู่ ๕ ตน นางจึ่งเปลื้องสะไบแลอาภรณ์ทิ้งลงไปฝากวานรให้นำถวายพระรามด้วย ทศกรรฐก็พานางไปจนถึงกรุงลงกา พาเข้าไปในวัง ชวนให้ดูปราสาทราชฐาน นางก็ไม่ยอมดูทั้งสิ้น ทศกรรฐจึ่งสั่งนางรากษสีให้พาตัวนางสีดาไปไว้ยังสวนอโศก [คือสวนต้นไม้ที่เรามาเรียกกันว่าต้น “โศก” แต่ที่แท้ชื่ออโศกจึ่งจะถูก] และให้ต่างตนต่างใช้อุบายทำให้นางสีดายินยอมพร้อมใจเปนชายาทศกรรฐให้จงได้ ฝ่ายพระรามเมื่อฆ่ามารีจแล้ว เดินกลับจะไปอาศรม พบพระลักษมณ์กลางทางก็ตกพระไทย ทั้งสองกษัตร์รีบกลับไปอาศรม สีดาก็หายไปเสียแล้ว เที่ยวค้นหาเท่าใดก็ไม่พบ จึ่งออกเดินจากอาศรมไปจนพบชดายุปักษิราช ชดายุบอกข่าวนางสีดาแล้วก็ตาย พระรามเผาศพชดายุแล้วเดินต่อไป พบนางรากษสีตน ๑ ชื่ออโยมุขี (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ยักขมูขี”) นางอโยมุขีตรงเข้ากอดพระลักษมณ์ไว้ พระลักษมณ์ฟันด้วยพระขรรค์ ตัดจมูก หู และถันขาดไปแล้ว นางรากษสีก็หนีไป สองกษัตร์ดำเนินต่อไปอีก พบอสูรตน ๑ มีแต่ครึ่งตัว หน้าอยู่ที่ท้องและมีแขนยาว ชื่อกพนธ์ (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “กุมพล”) กพนธ์เล่าว่าตนเปนทานพ ซึ่งได้รับพรพระพรหมาให้มีอายุยืน จึ่งมีความกำเริบไปรบพระอินทร พระอินทรเอาวัชรตีขาหักทั้ง ๒ ข้าง และตีศีรษะย่นลงไปในตัว แต่ด้วยอำนาจพรพระพรหมาจึ่งไม่ตาย พระอินทรสาบว่าให้มีแขนยาวเพื่อกวาดสัตว์เข้าปากกินไป จนกว่าจะได้พบพระรามจึ่งจะพ้นทุกข์ พระรามและอนุชาก็จัดการเผากพนธ์ กพนธ์ก็ได้คืนรูปงดงามดังเก่า จึ่งชี้ทางให้สองกษัตร์ไปหาพญาสุครีพ ซึ่งได้ถูกพญาพาลีเนรเทศออกมาอยู่เขามลัยทเลสาบปัมปา และแนะนำว่าให้วานพญาสุครีพช่วยค้นหานางสีดาต่อไป สองกษัตร์ก็ดำเนินไปตามทางที่กพนธ์ได้ชี้ให้ กลางทางพบนางโยคินีชื่อนางสวรี นางโยคินีชี้ทางให้ต่อไป สองกษัตร์ก็ดำเนินเลียบฝั่งแม่น้ำปัมปามุ่งตรงไปยังเขาฤษยมุก [อยู่ในทักษิณเทศ คือแคว้นที่อังกฤษเรียกว่า “The Deccan”]


กีษกินธากัณฑ์
              ที่ ๔ - กีษกินธากัณฑ์ เรียกตามนามนครกีษกินธ์ (ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ขีดขินธ์”) จับแต่สองกษัตร์ไปถึงเขาฤษยมุกใกล้เขามลัยที่อยู่พญาสุครีพ ฝ่ายสุครีพเห็นสองกษัตร์สำคัญว่าพญาพาลีใช้ไปฆ่าตน จึ่งเรียกหนุมานและพวกบริวารเตรียมอยู่พร้อมกันเพื่อต่อสู้ แล้วสุครีพจึ่งใช้ให้หนุมานไปเฝ้าพระรามถามเหตุการณดูก่อน หนุมานเปนทูตไปแสดงไมตรีต่อพระราม ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง แล้วหนุมานก็ทูลลาไปรับสุครีพที่เขามลัย สุครีพไปเฝ้าที่เขาฤษยมุก พระรามกับสุครีพก็กระทำสัตย์สัญญาต่อหน้าไฟ เปนสัมพันธมิตรต่อกันจะช่วยกันและกันให้สมปราถนา คือพระรามรับจะสังหารพญาพาลี และสุครีพรับจะค้นหานางสีดาและช่วยสังหารทศกรรฐ เมื่อทำสัญญากันเสร็จแล้วสุครีพจึ่งเล่าเรื่องที่ตนถูกเนรเทศ ใจความว่าคืนหนึ่ง อสูรชื่อมายาวี ลูกทุนทุพี (ซึ่งเราเรียก “ทรพี”) ได้มาร้องท้าทายพญาพาลี พญาพาลีนอนหลับอยู่ก็ตื่นขึ้น ลุกออกไปรบ สุครีพตามออกไป มายาวีเห็นมาด้วยกันสองตน มีความกลัว จึ่งหนีไปอยู่ในถ้ำ พาลีสั่งสุครีพให้คอยอยู่ที่ปากถ้ำ แล้วก็ตามมายาวีเข้าไป สุครีพคอยอยู่ถึงปี ๑ จนเห็นเลือดไหลออกมาจากปากถ้ำ และได้ยินแต่เสียงอสูร ไม่ได้ยินเสียงพาลี ก็สำคัญว่าพาลีตายแล้ว จึ่งเอาสิลาปิดปากถ้ำเสียแล้วกลับไปเมืองกีษกินธ์ พวกเสนาพฤฒามาตย์ก็อัญเชิญสุครีพขึ้นทรงราชย์แทนพาลีต่อไป แต่ไม่ช้าพาลีก็กลับไปยังกีษกินธ์ หาว่าสุครีพกับอำมาตย์คบคิดกันเปนขบถ จึ่งฆ่าพวกอำมาตย์เสีย ส่วนสุครีพนั้นพาลีให้ริบราชบาทว์และเนรเทศจากกีษกินธ์ นางรูมาผู้เปนมเหษีสุครีพพาลีก็เอาไปเปนมเหษีเสียเอง พระรามได้ฟังเรื่องก็พลอยแค้น จึ่งรับว่าจะฆ่าพาลี เพื่อลงโทษในการที่บังอาจผิดเมีย สุครีพทูลว่าพาลีนั้นมีฤทธิ์มาก แล้วจึ่งเล่าเรื่องอสูรทุนทุพี (“ทรพี”) ซึ่งมีรูปเปนควาย อิ่มเอิบกำเริบฤทธิ์เพราะมีกำลังมาก จึ่งไปท้าพระสมุทให้รบกัน พระสมุทบอกให้ไปท้าพระหิมพานคิริราช พระหิมพานบอกให้ไปท้าพญาพาลี ทุนทุพีก็ไปท้าพญาพาลี พญาพาลีก็ออกไปสู้กับทุนทุพี หักคอทุนทุพีได้แล้ว  จึ่งยกทรากศพขึ้นขว้างไป พะเอินตกลงในป่าอันเปนที่จงกรมของพระมตังคมุนี พระมหามุนีจึ่งแช่งให้ว่าถ้าแม้พาลีหรือผู้ใดที่รับใช้พาลีเข้ามาในเขตรป่านั้นขอให้กลายเปนหินไปทันที [เรื่องพาลีปราบมายาวีกับปราบทุนทุพีนี้ ของเราจับรวมกันเข้าเปนเรื่องเดียวกัน เห็นจะเปนเพราะเรื่องราวคล้ายๆ กัน มีไปท้าทายน่าปราสาทเหมือนกัน จึ่งเก็บไปปนกันเสีย] สุครีพเล่าเรื่องทุนทุพีแล้ว จึ่งขอให้พระรามลองกำลังให้ปรากฎ พระรามก็จับโครงกระดูกทุนทุพีซึ่งยังกองอยู่ในป่ามตังควัน (คือริมเขาฤษยมุกนั้นเอง) ขึ้นโยนไปสิบโยชน์ สุครีพก็ชมเชย แต่ยังขอให้แสดงอีก คือมีต้นรังอยู่ ๗ ต้น ซึ่งพาลีเคยแผลงศรทลุได้ ขอให้พระรามลองดูบ้าง พระรามแผลงศรทลุต้นรังนั้นได้ ๗ ต้น แล้วยังทลุเขาฤษยมุกไปอีกต่อ ๑ สุครีพก็ยินดีชมเชยยิ่งนัก จึ่งเชิญไปสังหารพาลีในวันนั้น พระรามรับคำแล้วก็ไปสังหารพาลี [ข้อความตรงกับในฉบับไทยทุกประการ ตลอดจนคำสอนน้องและทูลขอโทษพระราม มีผิดกันอยู่แต่ข้อที่นางดารานั้นไม่ใช่มเหษีสุครีพซึ่งพาลีแย่งไป นางดาราเปนลูกวานรชื่อสุเษนและเปนแม่องคทจริงๆ ด้วย] เมื่อพาลีตายแล้ว พระรามจึ่งให้จัดการราชาภิเษกสุครีพเปนราชาครองเมืองกีษกินธ์ และสุครีพก็ตั้งให้องคทเปนยุพราชสืบไป ฝ่ายพระรามและพระลักษมณ์จึ่งไปพักอยู่ในถ้ำที่เขาปรัศรวัน ซึ่งเปนยอด ๑ ในเทือกเขามลัยหรือมาลยวัน และเวลานั้นพะเอินถึงฤดูฝน ไม่เปนเวลาควรจะยกทัพ พระรามจึ่งมิได้เตือนสุครีพในข้อที่จะให้เที่ยวตามนางสีดาหรือรบทศกรรฐ จนสิ้นฤดูฝนแล้ว สุครีพมัวเมาหลงไหลในกามคุณารมณ์และความสมบูรณ หนุมานจึ่งเข้าไปเตือน สุครีพก็สั่งให้หนุมานจัดสั่งเกณฑ์พล ฝ่ายพระรามคอยๆ เห็นสุครีพเงียบหายไปจึ่งใช้พระลักษมณ์เข้าไปเตือน พระลักษมณ์เข้าไปพูดจาว่ากล่าวอย่างแรงๆ จนนางดารา ซึ่งบัดนี้ได้เปนมเหษีสุครีพด้วยแล้วนั้น ต้องช่วยแก้ไขไกล่เกลี่ย พระลักษมณ์กับสุครีพก็พากันออกไปเฝ้าพระราม แล้วสุครีพก็เรียกบรรดาวานรมาชุมนุมพร้อมกัน รวมพลได้หลายโกฏิ สุครีพจึ่งจัดแบ่งปันน่าที่ให้แยกย้ายกันไป ให้วานรชื่อวินัตคุมพลไปค้นทางทิศบุรพา ใช้ให้องคทคุมพลไปค้นทางทิศทักษิณ ในกองทัพทักษิณนี้จัดพญาวานรและหัวน่าไปคือ หนุมาน ชมพูพาน นีละ (คือที่เราเรียก “นิลนนท์”) สุโหตร สะรารี สะระคุลมะคัย คะวากษยะ คะวัย สุเษน พฤษภ เมนทะ ทวีวิท คันธมาทน์ อุลกามุข และอนังคะ [ใน ๑๓ ตนนี้ ที่พอเดาเทียบได้อย่างใกล้แต่ “สุเษน” คือ “สุรเสน” นอกนั้นถ้าจะเทียบจะต้องตรวจดูกำเหนิด ซึ่งในเวลานี้ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาจะทำได้ ชื่อวานรในรามเกียรติ์ของเรากับในฉบับสังสกฤตช่างผิดกันไกลจริงๆ จนเหลือที่จะเดาไปได้] ใช้ให้สุเษนผู้เปนพ่อนางดาราคุมพลไปค้นทางทิศประจิม [ในกองทัพขององคทก็มีชื่อสุเษนอยู่ว่าไปด้วย บางทีผู้แต่งจะเผลอไปก็เปนได้ หรือมิฉนั้นก็จะเปนคนละตัวแต่ชื่อพ้องกัน] ใช้ให้สัตพล (ของเราเรียก “สัตพลี”) คุมพลไปค้นทางทิศอุดร แล้วจับกล่าวต่อไปถึงกองทัพทักษิณ ซึ่งองคทคุมไปกับหนุมานและตาระ [ตาระนี้พึ่งจะมากล่าวถึง เดิมก็ไม่มี ทีจะรู้สึกว่าเอาชื่อสุเษนไปใส่ไว้ผิด จึ่งเปลี่ยนเปนตาระ] เที่ยวค้นตามเทือกเขาวินธัย พบอสูรตน ๑ (คือปักหลั่นของเรา) ซึ่งองคทชกเอารากเลือดตาย แล้วเดินต่อไปเข้าป่าสัปตบรรณ เข้าถ้ำทุกถ้ำ จนไปถึงตำบลชื่อพฤกษวิลเปนสวนของทานพอยู่ในหว่างเขา เปนที่เข้าถึงยาก มีสวนอันงดงาม มีปราสาทราชฐาน พบนางคน ๑ จึ่งถาม ได้ความว่าอสูรชื่อมัย (ของเราเรียก “มายัน”) ได้นฤมิตรขึ้นไว้เปนสถานที่อยู่ ภายหลังมัยได้บังอาจรักกับนางเทพอับศรชื่อเหมา (ของเราเรียก “บุษมาลี”) พระอินทรกริ้วสังหารมยาสูรเสีย พระพรหมาจึ่งประทานรมณียสถานนี้แก่นางเหมา ตัวนางผู้เล่าเรื่องนั้นเองชื่อสยัมประภา [ซึ่งรามเกียรติ์ของเราไม่มีตัว และเรื่องราว “บุษมาลี” เล่าให้หนุมานเอง] นางนั้นเปนผู้เฝ้าสถานที่นั้น ถามถึงกิจการของหนุมาน หนุมานก็เล่าความให้นางฟัง นางตอบว่าผู้ใดที่ได้เข้าไปถึงในเมืองมายานี้แล้ว ยากที่จะกลับออกไปได้ (อย่างเมืองลับแลที่เล่ากัน) แต่นางเต็มใจช่วยนำพวกวานรออกจากที่นั้นได้ ไปถึงฝั่งมหาสมุท แต่ก็มิรู้ที่จะไปแห่งใดต่อไป เวลาที่กำหนดก็จวนครบอยู่แล้ว พะเอินพญานกสัมปาตี (ที่เราเรียกว่า “สัมพาที”) พี่ชายพญาชดายุได้โผล่ออกมาจากถ้ำ บอกข่าวนางสีดาและชี้ทางลงกาให้ องคทจึ่งถามพวกวานรว่าใครจะรับอาสาไปลงกา ต่างตนก็ต่างรับอาสาและอวดอิทธิฤทธิ์ของตน ในที่สุดจึ่งตกลงเปนหนุมานไป หนุมานก็ขึ้นไปสู่ยอดเขามเหนทรคีรีสำแดงอิทธิฤทธิ์ถีบทยานจากยอดเขา เหาะข้ามมหาสมุทไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2563 20:05:07 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 20:17:15 »




สุนทรกัณฑ์
              ที่ ๕ - สุนทรกัณฑ์ จับแต่หนุมานเหาะข้ามมหาสมุท พระสมุทมีความปราถนาจะช่วยหนุมาน จึ่งบอกให้ภูเขาไมนากะ ซึ่งอยู่กลางทเลนั้น ผุดขึ้นมาเพื่อให้เปนที่หนุมานหยุดพักร้อน แต่หนุมานบอกว่าจะรั้งรอมิได้ต้องตรงไป ฝ่ายเทวดาพร้อมด้วยคนธรรพ สิทธาและพิทยาธร ปราถนาจะลองฤทธิ์หนุมาน จึ่งสั่งให้นางสุรสาผู้เปนมารดาแห่งนาคทั้งหลาย จำแลงตัวเปนนางยักขินีตัวใหญ่กายสูงถึงฟ้าขวางทางหนุมานไว้ พอหนุมานมาถึง นางก็ร้องห้ามมิให้ไป และร้องท้าให้หนุมานเข้าปาก หนุมานผัดว่าให้เสร็จกิจเสียก่อนจึ่งจะกลับมาให้กิน นางก็ไม่ฟัง อ้าปากกว้างจะกลืนหนุมาน นางอ้าปากกว้างเท่าใดหนุมานก็ทำตัวให้โตขึ้นจนคับทุกครั้ง จนปากนางนั้นอ้ากว้างถึง ๑๐๐ โยชน์เปนที่สุด คราวนี้หนุมานทำตัวเปนเมฆก้อนเล็กเท่านิ้วหัวแม่มือลอยเข้าไปในปากนางสุรสาและกลับออกมาอีกโดยนางไม่รู้สึกตัว แล้วก็กล่าวแก่นางสุรสาว่า ได้เข้าปากตามปราถนาแล้ว ขอทางไปเถิด นางสุรสาก็กล่าวชมเชยความฉลาดของหนุมาน แล้วอนุญาตทางให้ไป [เรื่องพบกับนางสุรสานี้ของเราไม่มี] ต่อจากนี้ไปจึ่งไปพบนางผีเสื้อสมุทชื่อสิงหิกา ผู้มีฤทธิ์ยึดเงาใครได้แล้วก็ยึดตัวได้ นางยึดเงาหนุมานไว้ได้ หนุมานจึ่งเข้าปากนางแล้วเข้าไปแหวะท้องออกมาได้ จึ่งเหาะต่อไปจนถึงเกาะลงกา รวมเปนระยะข้ามมหาสมุทนั้น ๑๐๐ โยชน์ แล้วจึ่งไปลงที่ใกล้นครลงกา [เรื่องเหาะข้ามลงกาและไปลองฤทธิ์กับพระนารทนั้นไม่มีในฉบับสังสกฤต แต่ที่จะเข้าใจว่านึกขึ้นเองนั้น ก็เห็นจะไม่ได้ คงจะต้องไปได้มาจากแหล่งอื่น ดังจะได้อธิบายต่อไปในตอนข้างท้ายนี้] ครั้นเวลาค่ำหนุมานจึ่งนฤมิตรตัวให้เล็กเท่าแมวและลอดเข้าไปในลงกา พบนางลงกา (คือเสื้อเมืองซึ่งเราเรียกว่า “อากาศตไลย”) รบกันจนนางลงกาแพ้แล้ว หนุมานก็เที่ยวค้นนางสีดาทั่วไปในลงกา เข้าไปจนในวังและปราสาทราชฐานที่อยู่ของทศกรรฐและขุนยักษ์ต่างๆ ค้นทั่วไปทุกแห่งหน จนในที่สุดได้ไปถึงสวนอโศกจึ่งเห็นนางสีดา แต่งตัวนุ่งห่มคากรอง ไม่มีอาภรณอย่างใดประดับประดา มีนางรากษสีเปนผู้คุมอยู่ ขณที่หนุมานซ่อนอยู่ในกิ่งอโศก ทศกรรฐลงไปหานางสีดาพูดจาเกี้ยวพาล นางก็ไม่ยินยอม ทศกรรฐจำใจต้องกลับไปวัง พวกนางยักษ์ผู้คุมก็พากันด่าว่านางสีดาด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ นางสีดาทนไม่ได้คิดจะผูกคอตาย หนุมานเห็นถึงเวลาอันควรจึงกล่าวพระนามพระรามขึ้นและพรรณาข้อความทุกประการ นางสีดาได้ยินก็ดีใจ หนุมานลงจากต้นไม้มาถวายบังคม เล่าความโดยละเอียดแล้วถวายแหวนของพระราม นางสีดาก็ยินดีรับแหวนไว้ แต่ครั้นเมื่อหนุมานจะขอรับไปส่งพระราม นางสีดาไม่ยอม โดยแสดงว่าไม่เปนการสมควรที่จะให้ผู้ชายแตะต้องตัวอีก นางสั่งข้อความให้หนุมานนำกลับไปทูลพระราม และฝากศิราภรณอัน ๑ ไปถวายเพื่อเปนพยานด้วย หนุมานทูลลานางสีดาแล้ว ก็นึกแค้นเคืองทศกรรฐจึ่งแกล้งหักสวนเสียป่นปี้ ชาวสวนนำความไปแจ้งแก่ประหัสต์ผู้เปนเสนาบดี ประหัสต์ใช้ชมพูมาลีลูกชายไปจับหนุมาน ก็กลับไปถูกฆ่าตาย ประหัสต์จึ่งสั่งเสนาห้าตนไปล้อมหนุมานไว้ แล้วนำความไปทูลทศกรรฐ ทศกรรฐใช้ให้โอรสชื่ออักษกุมารไปจับ [ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “สหัสกุมาร” แล้วเลยกลายเปนมีจำนวนพันตนไปด้วยซ้ำ] อักษกุมารก็ไปตายอีก ทศกรรฐจึ่งให้อินทรชิตออกไปจับ อินทรชิตแผลงศรนาคบาศไปมัดหนุมานได้ นำตัวไปถวายทศกรรฐ ทศกรรฐซักถามหนุมาน ๆ ก็พูดว่ากล่าวให้ส่งนางสีดาคืนไปยังพระราม ทศกรรฐโกรธจึ่งสั่งให้เอาหนุมานไปฆ่าเสีย แต่พิเภษณ์ ซึ่งเปนผู้รู้จักประเพณีอันดียิ่ง ได้กล่าวทัดทานไว้ โดยชี้แจงว่าหนุมานเปนทูตมา ถ้าฆ่าจะเสียราชประเพณี ทศกรรฐจึ่งตกลงให้เอาไฟจุดเผาหางหนุมาน [ส่วนการลงโทษอย่างอื่นๆ เช่นให้ช้างแทง หรือใส่ครกตำ ไม่มี บางทีพราหมณ์ผู้นำเรื่องมาเล่าในเมืองเราจะเอาข้อความจากหนังสืออื่นๆ มาเพิ่มเติม เพื่อให้หนุมานเก่งยิ่งขึ้น ดังจะได้อธิบายต่อไปโดยละเอียดข้างน่า] หนุมานเมื่อไฟติดหางแล้วก็เผาเมืองลงกาเสียสิ้น แล้วจึ่งไปดับไฟที่หางนั้นในมหาสมุท (ไม่ใช่ในปากอย่างเรื่องของเรา) และเหาะกลับไปหาองคทและวานรซึ่งคอยอยู่เชิงเขามเหนทร เล่าความให้ฟังแล้วพากันกลับไปเฝ้าพระรามที่เขาปรัศรวัน หนุมานนำศิราภรณถวายพระราม และเล่าความละเอียดทุกประการ


ยุทธกัณฑ์
              ที่ ๖ - ยุทธกัณฑ์ เปนกัณฑ์ยาวกว่ากัณฑ์อื่นๆ จับแต่พระรามชมเชยหนุมาน [ไม่มีประทานผ้าชุบสรงอย่างในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยเรา เรื่องประทานผ้าชุบสรงก็เห็นจะเก็บมาจากแห่งอื่นอีก] แล้วพระรามก็สั่งให้ยกทัพลงไปฝั่งทเล เคราะห์สถิตย์ที่อุตตรผาลคุณี รุ่งขึ้นพระจันทร์เล็งกับหัสตา ให้คลาขบวนทัพ ให้นีละลูกพระเพลิง (คือ “นิลนนท์”) เปนทัพนำ ให้คชะ ๑ คะวัย ๑ คะวากษ์ ๑ เปนทัพน่า ฤษภเปนปีกขวา คันธะ ๑ คันธมาทน์ ๑ เปนปีกซ้าย องค์พระรามทรงหนุมานเปนพาหนคุมทัพหลวง ให้พระลักษมณ์ทรงองคทตามเสด็จไปในทัพหลวงกับตัวพญาสุครีพ และให้ชมพูพานผู้เปนฤกษราช (คือจอมหมี) ๑ สุเษน ๑ เวคทรรศี ๑ เปนทัพหลัง พอใกล้ฤกษ์ออกเดินทัพ นีละ พฤษภ และกุมุทก็ออกเดินล่วงน่าถางทางให้ทัพหลวงดำเนินจนถึงฝั่งมหาสมุท จึ่งให้หยุดตั้งค่ายพักแรมอยู่ณเชิงเขามเหนทรคีรี (ที่ของเราเรียกว่า “เหมติรัน”)

               กล่าวถึงทศกรรฐ เมื่อหนุมานเผาเมืองแล้ว ก็ปฤกษาบรรดาเสนามาตย์ว่าจะควรคิดการอย่างไรกันต่อไป พวกท้าวพระยาอสูรก็ต่างตนต่างอวดดีกันต่าง ๆ นา ๆ มีแต่พิเภษณ์อุปราชผู้เดียว ที่ยืนยันอยู่ว่าทศกรรฐควรส่งนางสีดาคืนให้พระรามจึ่งจะถูกทำนองคลองธรรม ในวันแรกนั้นทศกรรฐมิได้ตอบว่ากระไร เปนแต่ลุกกลับเข้าไปข้างใน ครั้นรุ่งขึ้นพิเภษณ์ขอเข้าไปเฝ้าข้างใน ทูลทศกรรฐว่าได้เห็นลางร้ายต่างๆ มากนัก มีทางที่จะแก้ไขได้แต่ส่งสีดาคืนเท่านั้น ทศกรรฐก็ออกไปท้องพระโรงเรียกชุมนุมอสุรสภาอีก สั่งประหัสต์เสนาบดีให้จัดพลขึ้นประจำน่าที่พร้อมแล้ว ก็ถามความเห็นผู้ที่มาอยู่ในสภานั้นอีก กุมภกรรณ [“หูหม้อ” คือหูโตเท่าหม้อ ไม่ใช่ “คอหม้อ”] อินทรชิต และท้าวพญาก็ต่างรับอาสาจะรบทุกคน พิเภษณ์ผู้เดียวขัดขืนยืนยันให้ส่งสีดาคืน ทศกรรฐกริ้ว ลุกขึ้นเตะพิเภษณ์ตกเตียง พิเภษณ์ลุกขึ้นได้เงื้อตะบอง แต่นึกขึ้นได้ว่าทศกรรฐเปนราชาและพี่ของตน จึ่งลดตะบองแล้วชี้หน้าว่าไปตรงๆ ว่าถ้าขืนดื้อไปเช่นนี้จะถึงที่ตาย ทศกรรฐก็ขับพิเภษณ์จากน่าที่นั่ง [ในเรื่องของเขาพิเภษณ์ไม่ได้ขี้ขลาดอย่างของเราเลย เพราะเปนชาติพรหมพงษ์เหมือนกัน เปนกษัตร์เหมือนกัน] พิเภษณ์ออกได้จากท้องพระโรง ก็เหาะตรงข้ามมหาสมุทไป พร้อมด้วยเสนา ๔ ตน ชื่ออนิล ๑ อนล ๑ สัมปาติ ๑ ประมติ ๑ [ตอนขับพิเภษณ์นี้ ในฉบับสังสกฤตผิดกับของเราอีกที่มีเสนาไปด้วย ไม่ได้ไปคนเดียว อีกประการ ๑ ในเรื่องไม่มีกล่าวถึงไปลาลูกเมีย แต่ในบทลครก็ต้องเติมเข้าไปอยู่เองเพื่อให้น่าสงสาร ส่วนชื่อนางเมียและบุตรีของพิเภษณ์นั้น ของเราไม่ตรงกับของเขาเลย คือนางมเหษีเราเรียกว่า “ตรีชดา” ที่ถูกควรเปน “สรมา” นางธิดานั้นค้นพบในพจนานุกรมโมเนียร์วิลเลียมส์ว่าชื่อ “นันทา” ข้างเราจะไปได้ “เบญกาย” มาอย่างไรก็หาทราบไม่] ฝ่ายสุครีพเห็นพิเภษณ์มาก็ซักไซ้ถามจนได้ความแล้ว จึ่งไปทูลพระราม พระรามตรัสหาฤๅเหล่าวานร ต่างตนก็ไม่เห็นด้วยในการที่จะรับพิเภษณ์ไว้ แต่หนุมานเห็นควรให้รับไว้ พระรามทรงเห็นชอบด้วย จึ่งเสด็จลงไปรับพิเภษณ์ถึงที่ริมฝั่งมหาสมุท ตรัสปราไสยด้วยไมตรี แล้วสมมตพิเภษณ์เปนราชาอสุราธิบดี แล้วสุครีพกับหนุมานจึ่งถามพิเภษณ์ว่า ทำอย่างไรจึ่งจะยกทัพข้ามมหาสมุทไปถึงลงกาได้ พิเภษณ์ว่าถ้าพระรามตรัสขอทางดำเนินแก่พระสมุท พระสมุทคงจะยอมตามพระประสงค์ เพราะเหตุว่าพระเจ้าสัครราชผู้เปนชนกองค์ ๑ แห่งพระรามได้บันดาลให้ทเลมีขึ้น [ทเลจึ่งได้นามว่า “สาคร” เพราะมีกำเหนิดแต่ท้าวสัคร ดังได้เล่าไว้ในพาลกัณฑ์ข้างต้นแล้ว] สุครีพกับหนุมานนำความไปทูล พระรามก็เห็นชอบด้วย จึ่งเสด็จไปยังฝั่งสาคร เพื่อตั้งพิธีพลีกรรมขอทางดำเนินข้ามไปลงกา

               ฝ่ายสรรทูลผู้คอยเหตุ เห็นพลวานรยกมาถึงฝั่งทเล ก็รีบนำความไปแจ้งแก่ทศกรรฐ ทศกรรฐจึ่งใช้เสนาชื่อศุกะไปหาสุครีพเพื่อสื่อสารว่ากล่าวโดยดีให้สุครีพยกทัพกลับไปเสียยังกีษกินธ์ ศุกะก็จำแลงกายเปนนกเหยี่ยวบินไปหาสุครีพและสื่อสารตามคำสั่ง สุครีพไม่ยอมฟัง และพวกวานรก็พากันโกรธ จับศุกะได้ทุบตีและถอนขนปีกหาง ศุกะมีความเจ็บก็ร้องให้พระรามช่วย พระรามตรัสห้ามพวกวานรมิให้ทำร้ายอีกต่อไป แต่ให้คุมตัวไว้จนกว่าจะได้ข้ามไปถึงแดนลงกา

               แล้วพระรามก็เข้าพิธีต่อไปอีกสามเวลา ไม่เห็นพระสมุทขึ้นมาหรือตอบประการใด พระรามก็กริ้ว จึ่งจับศรพรหมาสตร์ขึ้นพาดสายจะแผลงไปเพื่อผลาญทเลให้แห้ง พระสมุทมีความกลัวก็ขึ้นมาเฝ้า พร้อมด้วยแม่พระคงคา พระสินธุ และบริวารอื่นๆ พระสมุททูลขอโทษ พระรามก็โปรดประทานโทษให้ พระสมุทจึ่งทูลว่า ที่จะแหวกทางเปนถนนให้พลเดินไปนั้นไม่ได้ เพราะผิดธรรมดาโลก แต่ถ้าพระรามจะโปรดให้ทหารจองถนนข้ามทเลไป พระสมุทจะรับช่วยห้ามปรามคลื่นและห้ามสัตว์น้ำมิให้รบกวนทหารในขณที่จองถนน ส่วนผู้ที่จะเปนนายช่างอำนวยการจองถนนได้นั้น พระสมุทว่ามีอยู่ในกองทัพหลวงแล้ว คือพญาวานรชื่อนล ลูกพระวิศวกรรมเทพศิลปี (วานรตัวนี้ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเรียกว่า “นิลพัทธ์” และกล่าวว่าเปนลูกพระกาฬ) พระสมุททูลความอันนี้แล้ว ก็ทูลลากลับลงไปยังที่อยู่ พระรามจึ่งตรัสสั่งใช้ให้พญานลเปนผู้อำนวยการจองถนน พญานลก็เปนนายงานจัดการจองถนนข้ามทเล กว้าง ๑๐ โยชน์ ยาว ๑๐๐ โยชน์ แล้วเสร็จใน ๕ วัน พระรามจึ่งตรัสสั่งให้กรีธาทัพข้ามไป พญาพิเภษณ์กับเสนายักษ์ทั้ง ๔ เปนผู้นำทัพ พระรามทรงหนุมาน พระลักษมณ์ทรงองคท ครั้นถึงฟากลงกาแล้ว ก็พักพลอยู่ณที่อันบริบูรณด้วยมูลผลาหารและน้ำใสจืดสนิท

               [ผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นได้ว่า ในตอนจองถนนนี้ ขาดเรื่องราวสำคัญ อันมีในรามเกียรติ์ของเรา และเปนตอนที่โขนชอบเล่นนั้น ถึง ๓ เรื่อง กล่าวคือ ๑. เรื่องเบญกายจำแลงเปนสีดาลอยมา ซึ่งเรียกตามภาษาโขนว่า “ชุดนางลอย” ๒. เรื่องหนุมานกับนิลพัทธ์วิวาทกัน ๓. เรื่องหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา เรื่องทั้ง ๓ นี้ไม่มีมาในรามายณฉบับสังสกฤต แต่เหตุใดจึ่งมามีอยู่ในหนังสือรามเกียรติ์ฉบับไทยนั้น ข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า ในที่นี้จะขอดำเนินเรื่องตามที่มีมาในรามายณฉบับสังสกฤตต่อไป]

               ครั้นเมื่อข้ามมหาสมุทไปได้เรียบร้อยแล้ว พระรามก็ตรัสสั่งสุครีพให้เตรียมการยกไปประชิดกรุงลงกา ฝ่ายศุกะที่จับไว้ได้แต่ก่อนจองถนนนั้นตรัสสั่งให้ปล่อยตัวกลับไปลงกา ศุกะก็เข้าไปเฝ้าทศกรรฐ เล่าความให้ฟังทุกประการ และแสดงความนิยมนับถือยำเกรงอิทธิฤทธิ์พระราม พระลักษมณ์ และวานรยิ่งนัก ทศกรรฐจึ่งใช้ให้ศุกะแลสารณไปดูเหตุการณมาอีก ศุกะและสารณก็จำแลงกายเปนวานรเข้าไปปลอมอยู่ในกองทัพวานรเพื่อสืบข่าว พิเภษณ์เห็นเข้า รู้ว่าเปนยักษ์ปลอมพลจึ่งจับตัวไปถวายพระราม ศุกะและสารณมีความเกรงกลัวยิ่งนัก ก็ถวายบังคมพระรามของประทานโทษ พระรามทรงพระสรวลและตรัสว่า ถ้าเมื่อได้ดูทั่วแล้วก็ให้รีบกลับไป แต่ถ้ายังดูไม่ทั่วก็ให้พิเภษณ์พาดูให้ทั่ว แล้วก็ตรัสสั่งให้ปล่อยตัวกลับไปลงกา ศุกะและสารณทั้ง ๒ ก็ยิ่งมีความนิยมยินดีในพระบารมีของพระรามมากขึ้น นำความไปเล่าให้เจ้านครลงกาฟังทุกประการ

               [ศุกะและสารณ ๒ ตนนี้ ของเรารวมเปนตัวเดียว เรียกว่า “สุกะสาร” และที่มาเปน ๒ ครั้ง ก็จับเอามารวมเปนครั้งเดียวคือ “สุกะสาร” นั้นจำแลงเปนเหยี่ยวบินมาก่อน จนถึงที่แล้วจึ่งจำแลงเปนลิงเข้าไปปลอมพล]

               ฝ่ายศุกะและสารณเข้าไปถึงลงกา เล่าความตามที่ได้เห็นตลอดแล้ว และกล่าวสรรเสริญพระรามกับพวกวานรเปนอันมาก ทศกรรฐก็ขึ้นไปบนป้อมดูพลวานร ให้สองเสนาชี้ให้ดูทั่วแล้ว ทศกรรฐยังไม่พอใจ สั่งมโหทรให้จัดส่งคนสอดแนมออกไปสืบข่าวอีก พวกสืบข่าว มีเสนาชื่อสรรทูลเปนหัวน่า ก็รีบไปยังที่พักพลวานรที่เชิงเขาสุเวล (ซึ่งอยู่ตรงน่าเมืองลงกา และสูงเทียมเขาตรีกูฎอันเปนที่ตั้งเมืองลงกาเอง) สรรทูลและพวกสืบข่าวนี้ก็ถูกพิเภษณ์จับได้อีก พวกวานรพากันทุบตีปางตาย แต่พระรามตรัสสั่งให้ปล่อยกลับไปอีก สรรทูลก็ไปเล่าเหมือนศุกะและสารณอีก ทศกรรฐจึ่งคิดอุบาย สั่งเสนาผู้ ๑ ชื่อวิทยุชชิวหา ผู้ฉลาดในเชิงมายาให้นฤมิตรหัวพระรามขึ้นหัว ๑ ซึ่งทศกรรฐนำไปให้นางสีดาเพื่อจะลวงว่าพระรามตายแล้ว ในชั้นต้นนางสีดาก็เชื่อ แต่นางรากษสีตน ๑ ชื่อตรีชดา เปนผู้ที่ใจดี มีความสงสารนางสีดา จึ่งเล่าความจริงให้นางฟัง นางสีดาจึ่งค่อยคลายความเศร้าโศก

               ฝ่ายทศกรรฐกลับเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งในท่ามกลางที่ชุมนุม จึ่งถามความเห็นท้าวพระยา ท้าวมาลียวันผู้เปนตาของทศกรรฐจึ่งกล่าวตักเตือนทศกรรฐ กล่าวด้วยราชประเพณีและราชธรรมจริยาแล้วจึ่งแสดงว่าได้แลเห็นลางต่างๆ หลายอย่างมาปรากฎในลงกา เห็นว่าเปนลางร้าย ชี้ให้เห็นว่าทศกรรฐได้ประพฤติผิดทางธรรมเพราะผิดเมีย ท้าวมาลียวันเห็นควรให้รีบส่งนางสีดากลับคืนไปให้พระราม การที่จะคิดมานะทำสงครามไปนั้นหาประโยชน์มิได้ เพราะพระรามคือพระนารายน์อวตาร แต่ทศกรรฐกำลังตกอยู่ในความหลง จึ่งอวดดีทนงตนต่างๆ กลับหาว่าท้าวมาลียวันอิจฉาความเก่งของหลานจึ่งได้พูดจาคัดค้านเช่นนั้น ท้าวมาลียวันมิได้ตอบประการใด ลุกออกจากสภากลับไปที่อยู่ของตน [ตอนนี้กระมังที่ในรามเกียรติ์ของเราเอามาขยายยืดยาวออก เรียกว่า “ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ” แต่ท้าวมาลีวราชนั้น ในรามเกียรติ์ของเรามาว่าความต่อเมื่อรบกันมากแล้ว นี่ว่าแต่ก่อนน่าจะรบ ผิดกันอยู่] ฝ่ายทศกรรฐเมื่อท้าวมาลียวันไปแล้ว จึ่งจัดแบ่งปันน่าที่รักษานคร ให้ประหัสต์รักษาด้านบุรพา มหาปรรศว (“ข้างใหญ่” ของเราเรียก “เปาวนาสูร”) กับมโหทรรักษาด้านทักษิณ อินทรชิตรักษาด้านประจิม ทศกรรฐเอง กับศุกะและสารณรักษาด้านอุดร วิรูปักษ์คุมพลกลางเมือง [วิรูปักษ์ในรามเกียรติ์ของเราว่าเปนพญาอสูรต่างเมืองมาช่วยรบต่อเมื่อให้ไปเชิญ เห็นจะเปนการเข้าใจผิด]

               พิเภษณ์ใช้ให้สี่เสนาลอบเข้าไปสอดแนมในลงกา ได้ความแล้วว่าตั้งแบ่งทัพรับอย่างไร พระรามจึ่งจัดแบ่งทัพเข้าล้อมและตีนครลงกา ให้นีละตีด้านบูรพา องคทตีด้านทักษิณ หนุมานตีด้านประจิม ทัพหลวงจะตีด้านอุดร ให้พระลักษมณ์ตามเสด็จในทัพหลวง ส่วนทัพหนุนให้อยู่ในบังคับบัญชาพญาสุครีพ พญาชมพูพานและพญาพิเภษณ์ และตรัสสั่งไว้ด้วยว่า เพื่อจะให้จำกันได้ง่าย ให้บรรดาวานรคงรูปเปนวานรอยู่ อย่าให้จำแลงกายเหมือนมนุษหรือยักษ์

               รุ่งขึ้นพระรามอยากจะใคร่ทอดพระเนตรเมืองลงกา จึ่งเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสุเวล ทอดพระเนตรข้ามไปที่นครลงกาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาตรีกูฎ จึ่งเห็นทศกรรฐนั่งอยู่บนป้อม มีฉัตรกั้นและจามรีโบกปัด สุครีพแลเห็นก็มีความโกรธ จึ่งโลดขึ้นจากยอดเขาสุเวล เหาะไปยังลงกา ร้องว่าทศกรรฐๆ ก็ว่าตอบ สุครีพจึ่งเข้าหักฉัตรและฉวยมงกุฎจากหัวทศกรรฐ แล้วรบกันเปนสามารถตัวต่อตัว ในที่สุดทศกรรฐจะร่ายมนต์ผูกสุครีพ ๆ ก็เหาะขึ้นไปเสียบนอากาศ ทศกรรฐเหนื่อยตามไปไม่ได้ สุครีพก็เหาะกลับไปยังเขาสุเวล พระรามต่อว่าสุครีพว่า เปนเจ้าบ้านผ่านเมืองไม่ควรจะผลุนผลันไปโดยลำพังเช่นนั้น แล้วก็เสด็จลงจากยอดเขา สั่งให้ยกพลเข้าประชิดลงกา ตามที่ได้กำหนดไว้

               แต่พระรามทรงรำลึกได้ถึงราชประเพณี ว่าแต่ก่อนที่จะเข้าโจมตีควรส่งทูตไปสื่อสารเจรจาว่ากล่าวโดยดีก่อน จึ่งตรัสใช้ให้องคทไปสื่อสาร องคทก็ไปสื่อสาร แต่ทศกรรฐไม่ฟัง สั่งให้เสนาสี่ตนจับองคทไปฆ่าเสีย องคทก็ยอมให้สี่เสนาจับจนมั่นแล้ว จึ่งเหาะขึ้นไปบนยอดปราสาท ทิ้งสี่เสนาให้ตกลงมา แล้วหักยอดปราสาทตีพวกยักษ์ แล้วก็เหาะกลับไปเฝ้าพระราม

               ตอนหักฉัตรกับสื่อสารนี้ ในรามเกียรติ์ของเรากลับกัน คือ สื่อสารก่อนแล้วจึ่งหักฉัตร ชรอยจะเปนความหลงลืมของผู้เล่าเรื่อง

               [อนึ่งในที่นี้ควรสังเกตว่า ในรามเกียรติ์ของไทยเรามีกล่าวเรื่องไมราพณ์ลักพระราม และหนุมานไปตามกลับมาได้ ในรามายณฉบับสังสกฤตไม่มีเรื่องไมราพณ์เลย เราไปได้เรื่องมาจากที่อื่น ดังจะได้แสดงต่อไปข้างน่า]

               ต่อนี้ไปก็กล่าวด้วยการยุทธ์ ซึ่งได้กระทำต่อกันเปนหลายคราว จะกล่าวให้พิศดารก็ยืดยาวนัก จึ่งจะกล่าวแต่พอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้

               (๑) ทัพวานรเข้าประชิตลงกา ทัพยักษ์ออกสู้ ยักษ์แพ้ถอยเข้าเมือง

               (๒) ศึกอินทรชิตครั้งที่ ๑ แผลงศรนาคบาศ มัดพระรามและพระลักษมณ์กับวานรบ้าง พิเภษณ์ให้วานรตัวนายรักษาพระรามไว้ ตัวเองไปเที่ยวต้อนพลวานรที่กระจัดกระจายกลับมา [ไม่ขี้ขลาดและไม่ถูกอินทรชิตเฆี่ยนอย่างในรามเกียรติ์ของเรา] ทศกรรฐให้นางตรีชดาพานางสีดาไปดูพระรามพระลักษมณ์ นางสีดาสำคัญว่าพระรามตายจริง แต่นางตรีชดาปลอบนางสีดาโดยชี้แจงว่า ถ้าหญิงที่ผัวตายแล้วขึ้นบุษบก ๆ ไม่ลอย นี่บุษบกยังลอยจึ่งไม่เปนไร ฝ่ายพิเภษณ์ต้อนพลวานรกลับมาแล้ว ก็ปฤกษากันว่าจะควรคิดอย่างไร พญาสุเษนผู้เปนผู้ใหญ่ในหมู่วานรจึ่งบอกขึ้นถึงโอสถที่จะแก้ได้ คือวิศัลยาซึ่งอยู่ที่เกษียรสมุท ณเขาชื่อจันทรคีรีและโทณคีรี ให้ใช้หนุมานไปเอาโอสถนั้น [ผู้ที่มีความรู้ และแนะนำเช่นนี้ของเรายกให้เปนน่าที่พญาวานรชื่อชามพูวราช แต่ชามพูวราชนั้นก็เปนนามของชมพูพานนั้นเอง เพราะฉนั้นเห็นได้ว่าผิดตัว] ขณนั้นพญาครุฑบินมาที่สนามรบ นาคที่มัดสองกษัตร์อยู่ก็หนีไป ยาก็ไม่ต้องไปเอา

               (๓) เสนายักษ์ชื่อธูมรากษะ (หรือธูมรเกตุ) ยกออกไปรบ หนุมานฆ่าตาย

               (๔) เสนายักษ์ชื่อวัชรทนต์ยกออกไป องคทฆ่าตาย

               (๕) เสนายักษ์ชื่ออกัมปัน (ซึ่งเราเรียก “อสุรกัมปั่น”) ยกออกไปรบ หนุมานฆ่าตาย

               (๖) พญาประหัสต์ ยักษ์เสนาบดี ยกออกไปรบ เปนศึกใหญ่อัน ๑ แต่ในที่สุดนีละฆ่าพญาประหัสต์ตาย

               (๗) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๑ ทศกรรฐรบกับพญาวานรก่อนแล้วรบกับพระลักษมณ์ ทศกรรฐพุ่งหอกกบิลพัศดุ์ถูกพระลักษมณ์แล้วเข้าอุ้มพระลักษมณ์ แต่อุ้มไม่ไหว หนุมานเข้าชกน่าอกสลบไป และหนุมานก็อุ้มพระลักษมณ์ไปเฝ้าพระราม ๆ ก็ถอนหอกนั้นออกได้แล้วพระรามก็ขึ้นทรงหนุมานเข้ารบกับทศกรรฐ แผลงศรถูกกรทศกรรฐแหลกไป แล้วแผลงถูกมงกุฎละเอียดไปกับหัว ทศกรรฐหนีกลับเข้าลงกา

               (๘) ศึกกุมภกรรณ ซึ่งในเวลานั้นนอนหลับอยู่ ต้องไปปลุกกันเปนการใหญ่ แล้วจึ่งยกไป เปนศึกใหญ่อีก รบกับพญาวานรทีละตัว จนถึงรบกับสุครีพ รบกันไปจนสุครีพถูกทุ่มด้วยยอดเขาล้มลงสลบไป กุมภกรรณจึ่งจับเอาตัวสุครีพหนีบรักแร้ไปลงกา ฝ่ายหนุมานเห็นว่าถ้าจะไปช่วยสุครีพๆ ก็จะหาว่าดูถูก จึ่งเปนแต่ควบคุมพลที่กระจัดกระจายเข้าไว้ ฝ่ายสุครีพฟื้นขึ้นรู้สึกตัวว่าถูกจับไปแล้ว ก็แกล้งทำนิ่งเสีย จนกุมภกรรณเผลอจึ่งกัดจมูกและหูกุมภกรรณขาด และฉีกสีข้างด้วยเล็บตีน กุมภกรรณเจ็บก็โยนสุครีพลงกับดินหมายจะเหยียบให้ตาย แต่สุครีพหลุดไปได้ เหาะกลับไปยังกองทัพ กุมภกรรณโกรธแล่นออกไปรบอีก หน้ามืดจับกินเสียทั้งลิงและยักษ์ พระลักษมณ์ออกมารับ รบกับเปนสามารถแต่กุมภกรรณว่าไม่อยากรบกับเด็ก จะรบแต่กับพระราม พระรามแผลงศรตัดแขนกุมภกรรณ แล้วตัดขาแล้วแผลงศรอุดปากไม่ให้ด่าได้อีก ในที่สุดจึ่งแผลงศรไปตัดหัวขาดกระเด็นไปตกในมหาสมุท

               [เรื่องกุมภกรรณทดน้ำ และตั้งพิธีโมกขศักดิไม่มีในฉบับสังสกฤตทั้ง ๒ อย่าง ไทยเราน่าจะไปได้มาจากแห่งอื่น ดังจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]

               (๙) ทัพสี่รถ คือตรีเศียร ๑ เทวานตก ๑ นรานตก ๑ อติกาย ๑ เปนลูกทศกรรฐทั้ง ๔ ตน [ตรีเศียรนี้คนละคนกับที่ไปกับพญาขร และอติกายนี้ คือที่ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “อิทธิกาย” หรือ “มหากาย”] มโหทรและมหาปรรศวะไปด้วย เจ้าสี่รถล้มในสนามรบหมด มโหทรและมหาปรรศวะหนีกลับเข้าเมือง

               (๑๐) ศึกอินทรชิตครั้งที่ ๒ ตั้งพิธีชุบศรพรหมาสตร์แล้วจึ่งยกไปรบ พลต่อพลรบกันเปนสามารถ แล้วอินทรชิตจึ่งแผลงศรพรหมาสตร์ไปถูกทั้งพระรามพระลักษมณ์ [ผิดกับของเราถึง ๒ ประการ คือประการที่ ๑ อินทรชิตไม่ได้แปลงเปนพระอินทร์และพลไม่ได้แปลงเปนเทวดา ประการที่ ๒ พระรามถูกศรด้วย เรื่องแปลงเปนพระอินทร์เข้าใจว่าจะเติมสำหรับยกย่องความเก่งของหนุมานที่หักคอช้างเอราวัณ คงจะเปนข้อความมาจากแห่งอื่น ดังจะได้อธิบายต่อไป] ชมพูพานแนะนำให้หนุมานไปเอาโอสถที่เขาสรรพยากล่าวคือ มฤตสัญชีวนี ๑ วิศัลยกรณี (ซึ่งเราเรียกว่า “สังกรณี”) ๑ สวรรณกรณี ๑ สนธยาณี ๑ หนุมานไปถึงเขาสรรพยาแล้ว หาต้นยาเหล่านั้นไม่พบ เพราะต้นยาซ่อนเสีย หนุมานก็ชลอเอาเขาสรรพยามาทั้งลูก มาถือไว้เหนือลม กลิ่นยามาถึงพวกที่ต้องศร ก็พากันฟื้นขึ้นหมด แล้วหนุมานจึ่งนำเขากลับไปไว้ยังที่เดิม

               (๑๑) พวกวานรเผาเมืองลงกา เพื่อแก้แค้น ทศกรรฐดับไฟ

               (๑๒) ทัพกุมภะ และนิกุมภะ ลูกกุมภกรรณ กับมีเสนาผู้ใหญ่ไปด้วย ๔ ตน ชื่อยูปากษ์ ๑ โสนิตากษ์ ๑ ประชงฆ์ ๑ อกัมปัน ๑ (คนละตัวกับที่ออกรบแล้ว) เปนศึกใหญ่ คล้ายครั้งทัพสี่รถ สี่เสนาตายก่อน แล้วสุครีพฆ่ากุมภะ และหนุมานฆ่านิกุมภะ

               (๑๓) ทัพมังกรกรรณ ลูกพญาขร [ในฉบับสังสกฤตเขาเรียกว่า “มังกรากษะ” แปลว่า “ตามังกร” แต่ชรอยข้างไทยเราจะเห็นชื่อเสียงไม่เพราะ จึ่งเปลี่ยนเรียกเสียว่า “มังกรกรรณ” คือหูมังกร] เปนศึกใหญ่ พระรามออกรบเอง แผลงศรถูกพญามังกรกรรณตาย

               [ส่วนทัพแสงอาทิตย์ไม่มี ไม่ทราบว่าข้างไทยเราจะไปได้มาจากไหน]

               (๑๔) ศึกอินทรชิต ครั้งที่ ๓ อินทรชิตตั้งพิธีอัคนิโหตร ได้รถสวรรค์และอาวุธพระพรหม ทั้งทำให้หายตัวได้ด้วย อินทรชิตก็ขึ้นรถขับลอยออกไปจากลงกา แฝงเมฆอยู่แล้วยิงศรอาคเณยาสตร์ (คือศรที่ได้ในพิธีอัคนิโหตรนั้น) ต้องวานรล้มไปเปนอันมาก พระรามพระลักษมณ์ก็ต้องศรนั้น แต่ไม่เจ็บมากพระลักษมณ์จะแผลงพรหมาสตร์ไปล้างยักษ์ให้หมดโลก แต่พระรามห้ามไว้ และตรัสว่าพระรามเองจะแผลงศรไปผลาญเฉภาะตัวอินทรชิต ฝ่ายอินทรชิตได้ฟังดังนั้นก็กลับเข้าลงกา

               (๑๕) ศึกอินทรชิต ครั้งที่ ๔ อินทรชิตนฤมิตรรูปมายาเหมือนนางสีดาแล้วนำออกไปฆ่าให้วานรเห็น วานรโกรธเข้ารบ อินทรชิตต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพวกวานรอิดหนาระอาใจ ด้วยสำคัญว่านางสีดาตายแล้ว จึ่งพากันถอยไป

               (๑๖) อินทรชิตถอยจากสนามรบ ไปตั้งพิธีนิกุมภิลา (ซึ่งเราเรียกกันว่า “กุมภนิยา”) บูชายัญด้วยเลือด เพื่อจะทำตนให้เปนกายสิทธิ์

               (๑๗) วานรนำความไปทูลพระรามว่าเห็นอินทรชิตฆ่านางสีดา แต่พิเภษณ์ทูลว่าเปนกลอุบายของอินทรชิตเท่านั้น อินทรชิตได้ไปยังทุ่งกุมภิลาแล้ว เพื่อทำพิธีชุบตัวให้อยู่คงและให้หายตัวได้โดยสนิท จนแม้เทวดาก็ไม่อาจแลเห็นได้ แต่ถ้าศัตรูทำลายพิธีเสียได้ก่อนที่สำเร็จ อินทรชิตจะตาย เพราะมีพรหมลิขิตชัดอยู่ฉนั้น พระรามจึ่งตรัสใช้พระลักษมณ์ไปทำลายพิธีนิกุมภิลา ให้พิเภษณ์ไปด้วยเพื่อเปนที่ปฤกษา

               (๑๘) พระลักษมณ์กับพิเภษณ์ยกไปช่วยกันทำลายพิธีนิกุมภิลาของอินทรชิต พิเภษณ์เปนผู้ไปกั้นทางไว้มิให้อินทรชิตเข้าถึงต้นนิโครธ ซึ่งเปนสูนย์กลางแห่งมหานิกุมภิลาเวที (ซึ่งถ้าอินทรชิตถึงได้แล้ว นับว่าพิธีสำเร็จ) อากับหลานรบกันก่อน แต่พระลักษมณ์ห้ามพิเภษณ์มิให้รบต่อไป เพราะการที่อาจะฆ่าหลานไม่เปนการสมควร พระลักษมณ์จึ่งเข้าต่อสู้เอง พลวานรกับพลยักษ์ก็ต่อสู้กันเปนสามารถ จนอากาศมืดไปด้วยลูกศรแลสาตราวุธที่สาดซัด อินทรชิตรบจนรถหัก จึ่งเลี่ยงเข้าไปในนครลงกา หารถเปลี่ยนใหม่ได้อีกคัน ๑ จึ่งกลับออกมารบอีก อินทรชิตกับพระลักษมณ์ต่างแผลงศรแข่งฤทธิ์กัน คืออินทรชิตแผลงยามะศร (คือศรพระยม) พระลักษมณ์ก็แผลงโกเวรศร (ศรของท้าวกุเวร) ไปสู้กระทบกันเปนไฟลุกลามทั่วไป พระลักษมณ์จึ่งแผลงวารุณศรเปนน้ำไปดับไฟและไหลไปท่วมยักษ์ อินทรชิตแผลงโรทรศรเปนลมพัดน้ำไปหมด แล้วอินทรชิตจึ่งแผลงอาคเณยาสตร์ ซึ่งพระลักษมณ์สู้ด้วยศรสุริยาสตร์ อินทรชิตแผลงอสุรศรเปนสาตราวุธต่างๆ พระลักษมณ์ก็สู้ด้วยศรมเหศวราสตร์ ในที่สุดนี้พระลักษมณ์จึ่งแผลงศรเอนทราสตร์ไปตัดหัวอินทรชิตล้มลงตาย ทศกรรฐได้ทราบข่าวว่าลูกตายก็คลั่ง จะไปฆ่านางสีดา เพราะหาว่าเปนสาเหตุ แต่มหาปรรศวะห้ามไว้ จึ่งได้สติมิได้ทำร้ายนางสีดา

               [เมื่อถึงตอนนี้ ตามรามเกียรติ์ของเรากล่าวว่าให้ไปเชิญมูลผลัม และท้าวสหัสเดชะมาด้วย แต่ในฉบับสังสกฤตไม่ได้กล่าวถึงท้าวสหัสเดชะเลย จึ่งเข้าใจว่า คงจะเปนเรื่องที่ได้มาจากแห่งอื่นอีก]

               (๑๙) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๒ ยกออกไปพร้อมด้วยมโหทร มหาปรรศวะและวิรูปักษ์ วิรูปักษ์ถูกสุครีพฆ่าตายก่อน แล้วสุครีพฆ่ามโหทรอีกตน ๑ และมหาปรรศวะถูกองคทฆ่าตาย แล้วพระรามกับพระลักษมณ์จึ่งรบกับทศกรรฐ ต่างแผลงศรต่อสู้กัน คล้ายๆ อินทรชิตกับพระลักษมณ์ ทศกรรฐจับหอกหมายพุ่งไปฆ่าพิเภษณ์ แต่พระลักษมณ์เข้ากันไว้จึ่งถูกหอกแทน แล้วฝ่ายทศกรรฐก็หนีเข้าลงกา พระรามถอนเสียได้ แต่พระลักษมณ์สลบไปไม่ฟื้น พญาสุเษนจึ่งทูลพระรามให้ใช้หนุมานไปยังเขามโหทัย ไปเก็บยาสำคัญชื่อวิศัลยกรณี ๑ สวรรณกรณี ๑ สัญชีวกรณี ๑ สันธยาณี ๑ หนุมานก็ไปชลอมาทั้งเขาเช่นครั้งก่อนอีก พระลักษมณ์และบรรดาไพร่พลที่ต้องสาตราวุธ เมื่อได้กลิ่นยาก็ฟื้นขึ้นหมด

               (๒๐) ศึกทศกรรฐ ครั้งที่ ๓ ทศกรรฐยกออกมาอีก แผลงศรแข่งกับพระรามคล้ายๆ คราวก่อนอีก พระอินทรเห็นว่าพระรามต้องรบอยู่กับพื้นดิน แต่ทศกรรฐขี่รถ ดูเปนการไม่สมควร จึ่งใช้ให้พระมาตุลีนำรถลงมาถวายให้พระรามใช้ในการสงคราม [ในรามเกียรติ์ของเรา พระอินทรถวายรถแต่เมื่อจองถนนเสร็จแล้ว] ทศกรรฐถูกศรและอาวุธต่างๆ มากจนสลบไป นายสารถีเห็นดังนั้นก็ขับรถไปเสียจากสนามรบ แต่ทศกรรฐพอฟื้นขึ้นก็ให้นายสารถีขับรถกลับไปสู่สนามรบอีก

               (๒๑) กล่าวถึงพระอคัสตยมุนี มีความปราถนาจะให้พระรามสังหารทศกรรฐได้ จึ่งเหาะมาเฝ้าพระราม มาบอกมนตร์อาทิตยหฤทัยให้เพื่อเล่าบ่นในเมื่อจะสังหารทศกรรฐ [ที่ว่าพระรามได้ดวงใจทศกรรฐนั้น คือได้มนตร์อาทิตยหฤทัยนี้เองกระมัง คงไม่ใช่ได้ดวงใจจริงที่ถอดใส่กล่องฝากฤษี เรื่องหนุมานไปหลอกเอาดวงใจจากพระโคบุตรนั้น ก็น่าจะเปนเรื่องซึ่งตอนมาจากหนังสืออื่นอีกเรื่อง ๑ ซึ่งเปนเรื่องของหนุมาน ดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]

               (๒๒) ทศกรรฐยกกลับเข้ามารบอีก แผลงศรสู้กันอีก พระรามแผลงศรไปตัดหัวทศกรรฐขาด แต่พอหัวนั้นตกถึงดิน ก็มีหัวเกิดขึ้นมาใหม่แทน เปนดังนี้ทุกครั้ง พระรามก็เปลี่ยนไปยิงที่อื่น แต่ทศกรรฐก็ไม่ตาย รบกันอยู่เช่นนี้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ในที่สุดพระมาตุลีทูลเตือนให้พระรามแผลงศรพรหมาสตร์ ศรถูกอกทศกรรฐแตกแยะเปนสองภาค ขาดใจตาย

               ต่อนี้ไปก็กล่าวถึงนางมณโฑทรีและนางสนมอื่นๆ ออกมาครวญแล้วพิเภษณ์กับท้าวมาลียวันจึ่งจัดการฌาปนกิจปลงศพทศกรรฐตามประเพณี แล้วพระรามจึ่งตรัสสั่งให้จัดการราชาภิเษกพิเภษณ์ให้เปนราชาครองนครลงกา ให้พระลักษมณ์เข้าไปรดน้ำอภิเษก (เพราะพระรามเองไม่เสด็จเข้าไปในเมือง) ราชาพิเภษณ์รับอภิเษกแล้วออกไปเฝ้าถวายบังคมและถวายเครื่องสักการะแด่พระราม

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 20 สิงหาคม 2563 20:20:57 »




ยุทธกัณฑ์ (ต่อ)
               พระรามจึ่งตรัสใช้หนุมานให้เข้าไปเฝ้านางสีดาเพื่อแถลงเหตุการณงานสงคราม แล้วจึ่งตรัสให้พิเภษณ์ไปเชิญนางสีดาออกมายังพลับพลา แต่พระรามไม่ยอมรับนางสีดา จึ่งต้องจัดการลุยไฟเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ บรรดาเทวดาก็มาเปนพยานพร้อมกัน ครั้นนางสีดาเข้ากองไฟ พระเพลิงก็ชูนางไว้มิให้เปนอันตราย และพระอิศวร พระพรหม และท้าวทศรถซึ่งเปนเทวดาแล้วนั้น จึ่งอำนวยพร แลพระรามขอพรพระอินทรให้บรรดาวานรที่ตายในสนามรบกลับฟื้นขึ้น พระอินทรก็ประสาทให้

               ครั้นถึงเวลาอันควร พระรามจะเสด็จกลับกรุงศรีอโยธยา พิเภษณ์จึ่งนำบุษบกมาถวายให้ทรง พระรามก็ขึ้นทรงบุษบกพร้อมด้วยนางสีดา และพิเภษณ์ สุครีพ กับบริวารก็ตามเสด็จในบุษบกนั้นด้วย พอได้ฤกษ์บุษบกอันเทียมหงส์ก็ลอยไปในอากาศ แวะที่เมืองกีษกินธ์รับมเหษีสุครีพและชายาพญาวานรอื่นๆ แล้วลอยต่อไป จนถึงวันคำรบ ๕ ก็ถึงอาศรมพระภรัทวาชมุนี หยุดพักที่นี้ แล้วพระรามจึ่งตรัสให้หนุมานล่วงน่าไปนครศรีอโยธยา ให้แวะบอกข่าวแก่พญาคุหะ ผู้เปนอธิบดีแห่งพวกนิษาท ณเมืองศฤงคเวร แล้วจึ่งให้ไปยังนนทิคามที่สถิตย์พระภรต หนุมานก็ไปเฝ้าพระภรตทูลข่าว พระภรตและพระศัตรุฆน์ก็มีความโสมนัศ ตรัสสั่งให้เตรียมถนนหนทาง และเตรียมขบวนแห่ นางเกาศัลยา นางสุมิตรา และนางไกเกยีก็ออกมาต้อนรับพระรามถึงนนทิคาม แล้วพระรามก็เสด็จเข้าสู่กรุงศรีอโยธยา สั่งให้จัดการราชาภิเษกตามราชประเพณี พระวสิษฐมุนีผู้เปนปุโรหิตสรวมมงกุฎถวาย และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แล้วพระรามก็ประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้มีความชอบตามสมควร

               เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ราชาสุครีพกับพญาวานรทั้งปวงทูลลากลับไปยังนครกีษกินธ์ และราชาพิเภษณ์ทูลลากลับไปนครลงกา ฝ่ายพระลักษมณ์นั้น พระรามจะโปรดให้เปนมหาอุปราช แต่พระลักษมณ์ไม่ยอมรับ จึ่งโปรดตั้งให้พระภรตเปนมหาอุปราช

               ต่อนี้ไปพระรามก็ทรงกระทำพิธีสำคัญต่างๆ สำหรับมหากษัตร์ มีอาทิคือ พิธีโปณฑริกา พิธีอัศวเมธและพิธีพาชีเมธ พระรามทรงราชย์อยู่ตั้งหมื่นปี ได้ทำพิธีอัศวเมธถึง ๑๐ ครั้ง [การทำพิธีอัศวเมธเปนของสำคัญจึ่งต้องอวด ใครยิ่งได้ทำมากครั้งก็ยิ่งดี เช่นท้าวศักระทำพิธีอัศวเมธถึง ๑๐๐ ครั้ง จึ่งได้เปนใหญ่ในหมู่เทวดา เปนจอมสวรรค์]

               ในขณที่พระรามทรงราชย์อยู่นั้น บ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุขทั่วไป ราชตระกูลก็รุ่งเรือง พระรามเองก็บริบูรณด้วยโภคสมบัติ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บไม่มี โจรผู้ร้ายมิได้เบียดเบียฬไพร่บ้านพลเมือง อาณาประชาชนตั้งอยู่ในศีลในธรรม พระรามพระชัณษายืน มีโอรสตั้งพัน

               ในที่สุดแห่งยุทธกัณฑ์นี้ จึ่งมีคำแสดงคุณแห่งคัมภีร์รามายณว่า มีคุณวิเศษต่างๆ ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้ และปราถนาสิ่งใดก็จะได้สมปราถนา จะเจริญในอายุ วรรณ ศุข พล และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็จะได้ไปสู่พรหมโลก



อุตตรกัณฑ์
               อุตตรกัณฑ์ (คือ “กัณฑ์แถม”) - ตามข้อความในท้ายยุทธกัณฑ์นั้นก็แลเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่องรามายณเดิมก็ให้จบเพียงยุทธกัณฑ์เท่านั้นเอง แต่เรื่องราวเล่าต่อๆ กันมาก็คงจะเกิดมีคนอยากรู้ซอกซอนต่างๆ เช่นถามว่า กำเหนิดทศกรรฐนั้นเปนอย่างไร [เพราะในตัวรามายณเดิม คือตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ นั้น มิได้มีข้อความละเอียดกล่าวด้วยกำเหนิดทศกรรฐ] พราหมณ์ที่เปนคณาจารย์คงจะต้องเล่า จึ่งเกิดมีอรรถกะถาเรื่องกำเหนิดทศกรรฐขึ้น ดังนี้เปนต้น ต่อๆ มาอรรถกะถาเหล่านี้มีมากขึ้นทุกที จนในที่สุดจึ่งมีผู้เก็บรวบรวมเข้าไว้แห่งเดียวกัน และให้ชื่อว่าอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณ เพราะฉนั้นเรื่องราวของกัณฑ์นี้จึ่งไม่ติดต่อกัน เห็นได้ว่าจับเอาเรื่องหลายๆ เรื่องมาร้อยกันเข้า หัวต่อเชื่อมไม่สนิทและดูมิได้พยายามที่จะให้สนิทด้วยซ้ำ เรื่องราวในอุตตรกัณฑ์นี้ เมื่อไทยเราจะแต่งรามเกียรติ์ได้เก็บเอาเรื่องราวที่กล่าวด้วยกำเหนิดของผู้มีชื่อต่างๆ ไปลงไว้ในต้นเรื่อง คงเอาแต่เรื่องเนรเทศนางสีดาและกำเหนิดพระกุศ (“พระมงกุฎ”) และพระลพ กับเรื่องศึกพระภรตและพระศัตรุฆน์ไว้ในตอนท้าย เมื่อพิจารณาดูเห็นอยู่ว่า อุตตรกัณฑ์นี้มีข้อความอันนับว่าเปนมูลรากแห่งรามเกียรติ์ของเราอยู่มาก จึ่งควรสังเกตหัวข้อไว้บ้าง ข้าพเจ้าได้เก็บหัวข้อเหล่านั้นมา จัดแบ่งเอาเองเปนภาคๆ ตามเนื้อความของเรื่อง ดังต่อไปนี้

-------------------------------------------

               ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์
               ภาคที่ ๒ - ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ
               ภาคที่ ๓ - การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ
               ภาคที่ ๔ - แสดงวานรพงษ์
               ภาคที่ ๕ - แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา
               ภาคที่ ๖ - ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง
               ภาคที่ ๗ - เนรเทศนางสีดา
               ภาคที่ ๘ - ตำนานเบ็ดเตล็ด
               ภาคที่ ๙ - แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม
               ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)
               ภาคที่ ๑๑ - พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ)
               ภาคที่ ๑๒ - พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร
               ภาคที่ ๑๓ - ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง
               ภาคที่ ๑๔ - เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์
               ภาคที่ ๑๕ - พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2563 18:43:13 »



.ภาคที่ ๑ แสดงด้วยอสุรพงษ์ .

              (๑) กำเหนิดพระวิศะรพพรหมมุนี หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าพระเปาลัสตยะ [ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ท้าวลัสเตียน” ข้าพเจ้าเดาว่าพราหมณ์เล่าเรื่องคงเรียกว่า “เปาลัสตยัม” ผู้จดคงจดเอามาแต่ “ลัสตยัม” แล้วคัดผิดกลายเปน “ลัสตยัน” ไปอีกที ๑ เมื่อลงมาถึงนี่แล้วก็ไม่อัศจรรย์อันใดในการที่จะเปน “ลัสเตียน” ต่อไป เพราะคำว่า “พยัญชนะ” ไทยเราก็อ่าน “เพียนชนะ” อยู่แล้ว] ต้นเหตุคือในกฤดายุคพระปุลัสตย์ซึ่งมักเรียกว่า ประชาปัตย (ลูกพระประชาบดี) และเปนประชาบดีเองด้วยนั้น ได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในอารามแห่งพระราชฤษีตรีนวินทุที่เชิงเขาพระสุเมรุ มีพวกบุตรีแห่งฤษีผู้เปนบริวารพระตรีนวินทุบ้าง นางอับศรบ้าง มักพอใจไปเที่ยวอยู่ในที่นั้น พระประชาปัตยได้รับความรำคาญเนืองๆ จึ่งประกาศแช่งว่า ต่อไปถ้าหญิงใดมาใกล้พระมุนีจนเห็นตัวขอให้มีครรภ์ขึ้นมาเองๆ นางทั้งหลายก็พากันกลัว ไม่ไปเล่นในที่ริมอาศรมนั้นอีก แต่นางอิฑาวิทาผู้เปนธิดาพระตรีนวินทุไม่รู้คำแช่งอันนี้ จึ่งไปในที่ห้ามนั้นก็เกิดมีครรภ พระตรีนวินทุจึ่งเลยนำตัวไปยกให้เปนชายาพระปุลัสตย์ ต่อมาจึ่งมีบุตรซึ่งได้นามว่าวิศะรพ หรือเรียกตามชาติว่า “เปาลัสตยะ” (คือ “เกิดแต่ปุลัสตยะ”) แลพระเปาลัสตยะนั้น ก็เปนฤษีและมุนีเหมือนบิดา

               (๒) กำเหนิดท้าวกุเวร หรือเวศรวัณ ซึ่งเปนโอรสพระมหาฤษีวิศรพเปาลัสตยะ มารดาชื่อนางเทพวรรณี บุตรีพระภรัทวาชมุนี ท้าวกุเวรก็บำเพ็ญฌานและตะบะอย่างบิดา จนพระพรหมาโปรดปรานอนุญาตให้ขอพรตามปราถนา ท้าวกุเวรขอให้ได้เปนผู้อภิบาลมนุษและสัตว์ พระพรหมจึ่งให้เปนโลกบาลทิศอุดร และให้เปนธเนศวร (คือเปนใหญ่ในทรัพย์) กับประทานบุษบก แล้วท้าวเวศรวัณจึ่งขอที่อยู่แก่บิดา พระเปาลัสตยะก็บอกให้ไปอยู่เมืองลงกา อันเปนเมืองงดงาม พระวิศวกรรมนฤมิตรไว้แล้ว ณ ยอดเขาตรีกูฎ เปนที่อยู่เดิมแห่งพวกรากษส แต่รากษสได้ทิ้งเมืองนั้นไปเพราะกลัวพระนารายน์ ท้าวกุเวรจึ่งไปครองนครลงกา เปนที่พึ่งเปนอธิบดีแห่งพวกอสูรสืบไป และท้าวกุเวรก็ขึ้นบุษบกมาเยี่ยมบิดามารดามิได้ขาด

               [ท้าวกุเวรนี้ ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเรียกว่า “ท้าวกุเปรัน” ที่ผิดเช่นนี้คงจะเปนเพราะจดนามลงไปตามเสียงพราหมณ์ คือพราหมณ์แกคงเรียกว่า “กุเพรัม” ตัว “พ” ออกสำเนียงคล้าย “บ” ของเรา คนจดคงจดว่า “กุเบรัม” ภายหลังหางตัว “บ” ยาวไปก็กลายเปน “ป” และตัว “ม” ที่สกดก็เลือนเปน “น” ไป]

               (๓) กำเหนิดรากษสและยักษ์ และกำเหนิดท้าวเหติผู้เปนรากษสราชกับพระประเหติมุนี เกิดจากน้ำซึ่งพระพรหมประชาบดีสร้างขึ้นแรก พระประเหติออกผนวชถือพรหมจรรย์ ท้าวเหติได้นาภยาน้องพระกาลเปนชายา

               (๔) กำเหนิดท้าววิทยุทเกศ โอรสท้าวเหติ ท้าววิทยุทเกศได้มเหษี คือนางศาละกัณฏกะตา ธิดาพระสุริยาทิตย์กับนางสนธยา

               (๕) กำเหนิดท้าวสุเกศ โอรสท้าววิทยุทเกศ นางศาละกัณฏกะตา เมื่อครรภแก่ไปคลอดบุตรทิ้งไว้ที่เชิงเขามนทรคีรี (ริมเขาพระสุเมรุ) พระอิศวรพบเข้ามีความสงสารจึ่งให้กุมารนั้นเติบใหญ่ขึ้นทันที สุเกศก็เที่ยวไปในไตรภพ ได้นางเทพวดีลูกท้าวคามนีคนธรรพราชเปนมเหษี

               (๖) กำเหนิดท้าวมาลียวัน (“ท้าวมาลีวราช”) ท้าวสุมาลี (“ท้าวสหมลิวัน”) และท้าวมาลี ลูกท้าวสุเกศกับนางเทพวดี พญาอสูรทั้งสามนี้บำเพ็ญตะบะจนพระพรหมโปรด ประทานพรให้มีไชยชำนะ ให้อยู่คง ให้มีบุญ และให้สามัคคีรักใคร่กัน พอได้พรแล้วเที่ยวกวนโลก

               (๗) แถลงเรื่องสฐาปนานครลงกา ซึ่งท้าวมาลียวัน ท้าวสุมาลี และท้าวมาลีบังคับให้พระวิศวกรรมสร้างให้ พญาอสูรทั้งสามก็ไปอยู่ลงกา

               (๘) กำเหนิดพญาอสูรต่างๆ ซึ่งในชั้นหลังมามีชื่อเสียงได้เปนเสนาบดีและแม่ทัพของทศกรรฐในศึกลงกา แสดงให้ปรากฎว่าบรรดายักษ์เหล่านั้นไม่ใช่สามัญชน เปนเชื้อราชันยะกูล (ตระกูลเจ้า) แห่งพวกรากษสทั้งนั้น พวกพญายักษ์เหล่านี้กำเหนิดเปนสามสกุล คือ

               [ก] สกุลท้าวมาลียวัน เกิดแต่นางสุนทรี ธิดานางนมรทาคันธรรพี คือ ๑. วัชรมุสถี ๒. วิรูปักษ์ ๓. ทุรมุข ๔. สุปตัฆนะ ๕. ยัญญะโกป ๖. มัตตะ หรือมโหทร ๗. อุมมัดดะ หรือมหาปรรศวะ (ที่เราเรียก “เปาวนาสูร”) กับมีธิดาชื่อ อนลา

               [ข] สกุลท้าวสุมาลี เกิดแต่นางเกตุมดี ธิดานางนรมทาคันธรรพี คือ ๑. ประหัสต์ ๒. อกัมปัน ๓. วิกัต ๔. กาฬิกามุข ๕. ธุมรากษะ หรือธุมรเกตุ ๖. ทัณฑะ ๗. สุปรรศวะ ๘. สัณหราที ๙. ประฆัส ๑๐. ภาสกรณ ๑๑. รากะ ๑๒. ปัษโปตกตา กับมีธิดาชื่อไกกะสี (คือแม่ทศกรรฐ ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “รัชฎา”)

               [ค] สกุลท้าวมาลี เกิดแต่ธิดานางนรมทาอีกนาง ๑ (นามไม่ปรากฏ) คือ ๑. อนล ๒. อนิล ๓. สัมปาติ (ทั้ง ๓ ตนนี้ กับประมติอีกตน ๑ เปนเสนาของพิเภษณ์)

               (๙) แถลงเรื่องพระนารายน์ปราบอสูรเมืองลงกา คือท้าวมาลียวัน ท้าวสุมาลี และท้าวมาลี กับญาติวงษ์และบริวาร ท้าวมาลีถูกศรพระนารายน์ตายในที่รบ ท้าวมาลียวันกับท้าวสุมาลีหนีเข้าลงกาแต่ก็ยังไม่พ้นภัย จึ่งต้องหนีต่อไปอีก ไปอาไศรยอยู่ในบาดาล

               (๑๐) กำเหนิดทศกรรฐ กุมภกรรณ นางศูรปนขาและพิเภษณ์ เรื่องราวมีว่า ท้าวสุมาลีขึ้นมาจากบาดาล เห็นท้าวกุเวรขี่บุษบกไปหาพระเปาลัสตยะผู้เปนบิดา รู้สึกคิดอยากจะใคร่ได้มีความเปนใหญ่เช่นนั้นบ้าง และอยากให้พวกญาติและบริวารได้เปนฝั่งเปนฝาอย่างเดิม จึ่งยุนางไกกะสีผู้เปนธิดาให้ไปเปนชายาพระวิศะรพ นางก็ทำตามบิดาสั่ง จึ่งเกิดทศกรรฐและน้องอีกสามตน นางไกกะสีตั้งยุยงลูกให้อิจฉาท้าวกุเวร

               (๑๑) ทศกรรฐ กุมภกรรณ และพิเภษณ์ ตั้งความเพียรบำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี พระพรหมาโปรดปรานจึ่งเสด็จลงมาตรัสให้ขอพรจะประสาทให้ ทศกรรฐขอพรให้เปนอมฤตย์ (ไม่ตาย) แต่พระพรหมาไม่โปรดประทานให้ ทศกรรฐจึ่งขอพรว่าอย่าให้ตายด้วยอำนาจนกหรือนาค หรือยักษ์ แทตย์ ทานพ และเทวดา ส่วนมนุษไม่กลัวเลย อีกประการ ๑ พระพรหมาประทานพรว่าให้ทศกรรฐจำแลงกายได้ตามใจทุกอย่าง ฝ่ายพิเภษณ์ขอพรว่าขอให้มีจิตรเที่ยงอยู่ในทางธรรม แม้ในเวลาที่ตกอยู่ในที่อันมีภัยแก่ตนก็ให้มั่นคงอยู่และขอให้รอบรู้ในพระเวทโดยไม่ต้องศึกษา พระพรหมได้ทรงฟังก็ชอบพระไทย จึ่งประทานพรให้พิเภษณ์เปนอมฤตย์ด้วย ครั้นเมื่อถึงเวลากุมภกรรณจะขอพรบ้าง พวกทวยเทพพากันมีความวิตกเพราะกุมภกรรณเปนผู้ที่มีกำลังและฤทธิ์มาก ทั้งใจพาลสันดานหยาบเปนที่สุด เปนผู้ที่กินจุ พากันเกรงว่าถ้าได้พรไปแล้วจะกำเริบเที่ยวกินใครๆ หมดทั้งไตรภพ ทวยเทพจึ่งทูลทัดทานพระพรหมาขออย่าให้ประทานพร พระพรหมาก็นิ่งอยู่ ครั้นจะไม่ประทานก็จะกระไรๆ อยู่ ตกลงพระสุรัสวดี ผู้เปนมเหษีพระพรหมา (ไม่ใช่มเหษีพระอิศวรอย่างที่มักเข้าใจกันผิดอยู่) และเปนเทวีอธิบดีแห่งวาจาจึ่งเข้าสิงกุมภกรรณ พูดขอพรแทนกุมภกรรณว่า ขอให้นอนหลับได้พักละหลายๆ ปี

               [ในที่นี้มีข้อควรสังเกตเปนข้อสำคัญอยู่คือ พญายักษ์ทั้ง ๓ นั้นได้พรจากพระพรหม ไม่ใช่พระอิศวรอย่างที่ข้างเราเข้าใจกัน]

               (๑๒) ท้าวสุมาลีผู้เปนตา ยุยงทศกรรฐให้ชิงเมืองลงกาและสมบัติของท้าวกุเวร ทศกรรฐแต่งทูตไปพูดจาจะเอาเมือง ท้าวกุเวรไปฟ้องพระบิดา ๆ ก็บอกว่าได้ว่ากล่าวแล้ว ทศกรรฐก็ไม่เชื่อฟัง ถ้ากุเวรไม่ยอมก็จะต้องรบกับน้อง ดูไม่เปนการสมควร พระบิดาจึ่งแนะนำให้ทิ้งลงกาไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ที่เชิงเขาไกลาศ ริมฝั่งน้ำมณฑากินี ท้าวกุเวรมีความเคารพต่อพระบิดา จึ่งอพยพจากนครลงกา ไปสร้างนครอยู่ใหม่ชื่ออลกา ฝ่ายทศกรรฐก็เข้าไปอยู่ณลงกา

               (๑๓) ทศกรรฐยกนางศูรปนขาให้พญาทานพชื่อวิทยุชชิวหา ผู้เปนราชาครองกาลกะชนบท ทศกรรฐเองก็ได้มเหษี คือนางมณโฑทรี [นามแห่งนางนี้มาถึงเรากลายเปน “มณโฑเทวี” เพราะหลงแปลศัพท์ “มณโฑ” ว่ามาจาก “มัณฑุกะ” คือกบ แท้จริง “มณโฑทรี” มาจาก “มัณฑะ” ว่า “ประดับ” และ “อุทรี” ว่า “ผู้มีท้อง” รวมความว่า “มีท้องอันประดับแล้ว”] เปนธิดาพญาแทตย์ชื่อมัยกับนางอับศรชื่อเหมาวดี ทศกรรฐกับนางมณโฑทรีมีโอรสชื่อเมฆนาท ซึ่งภายหลังได้นามว่าอินทรชิต ส่วนอนุชาทั้ง ๒ ทศกรรฐก็จดให้ตกแต่ง คือกุมภกรรณกับนางวัชรชวาลา หลานท้าววิโรจนาสูร (ซึ่งเปนพ่อท้าวหิรัณยกศิปุ ที่พระนรสิงหาวตารได้สังหาร) และพิเภษณ์กับนางสรมา ธิดาท้าวไสลูษคนธรรพราช

               (๑๔) แถลงเรื่องทศกรรฐได้บุษบกของท้าวกุเวร - เมื่อกุมภกรรณได้ไปอยู่ลงกาได้สักหน่อยก็รู้สึกหาวนอน ทศกรรฐจึ่งให้นายช่างสร้างวังและปราสาทให้กุมภกรรณเสร็จแล้ว กุมภกรรณก็เข้าไปนอนหลับอยู่หลายพันปี ทศกรรฐเองก็เที่ยวรบกวนเทพฤษียักษ์และคนธรรพ หักสวนนันทน์อุทยานป่นปี้ และเที่ยวเกะกะต่างๆ ท้าวกุเวรรำคาญจึ่งใช้ทูตไปว่ากล่าวโดยฐานเปนพี่น้องกัน แต่ทศกรรฐกลับให้ประหารชีวิตรทูตของท้าวกุเวรเสีย แล้วให้ตั้งพิธีสวัสตยายน แล้วจึ่งยกทัพรากษสไปยังเมืองท้าวกุเวร รากษส (บริวารทศกรรฐ) กับยักษ์ (บริวารท้าวกุเวร) รบกันเปนสามารถ ท้าวกุเวรถูกน้องตีล้มลง บริวารก็พากันอุ้มหนีไปสู่นันทน์อุทยาน ทศกรรฐก็แย่งเอาบุษบกได้

               (๑๕) แถลงเหตุที่ทศกรรฐได้นามว่าราพณ์ คือเมื่อได้บุษบกแล้ว ทศกรรฐขี่ไปเที่ยวที่เขาไกลาศ อยู่ดีๆ บุษบกก็หยุด แล้วพระนนทีศวร ซึ่งกล่าวว่าคือภาค ๑ แห่งพระอิศวรเอง จึ่งร้องบอกทศกรรฐว่า เวลานี้พระสังกรมหาเทพทรงพระสำราญอยู่บนยอดเขา อย่าคิดไปต่อไปเลย ทศกรรฐก็โกรธ โดดลงจากบุษบกจะรบกับพระนนทีศวร ครั้นเดินเข้าไปใกล้ก็เห็นพระนนทีศวร มีรูปร่างหน้าตาคล้ายวานร ทศกรรฐก็หัวเราะเยาะ พระนนทีศวรจึ่งทำนายว่าในเบื้องน่าวานรจะเปนผู้นำความพินาศฉิบหายมาสู่ทศกรรฐและญาติวงษ์บริษัทบริวาร ทศกรรฐกำลังมัวเมาในอำนาจ จึ่งตรงเข้าถอนเขาไกลาศเพื่อจะให้พระอิศวรกลัว แต่พระอิศวรกดเขาไว้ด้วยนิ้วพระบาทนิ้วเดียว มือและแขนทศกรรฐก็ถูกทับแน่นอยู่ใต้เขากระดิกอีกไม่ได้ ทั้งมีความเจ็บปวดยิ่งนัก พวกมนตรีก็พากันทูลทศกรรฐให้ทูลขอโทษพระอิศวร ทศกรรฐจึ่งสวดมนตร์และกล่อมสรรเสริญพระอิศวรอยู่หลายพันปี ในที่สุดพระอิศวรจึ่งทรงพระเมตตาปล่อยให้หลุดจากเขาได้ และโดยเหตุที่เมื่อถูกเขาทับ ทศกรรฐได้ร้องด้วยเสียงอันดัง ทำให้เปนที่น่าสยดสยอง จึ่งให้นามว่าราพณ์ (สังสกฤต “ราวณ” แปลว่า “ร้อง”)



.ภาคที่ ๒ ทศกรรฐเยี่ยมพิภพ.

              แสดงเรื่องเกะกะของทศกรรฐ พบนางงามที่ไหนก็มักข่มขืนสังวาศ ไม่ว่าเปนลูกใครเมียใคร และไปถึงไหนก็เที่ยวท้าเขารบที่นั่น จนบอกยอมแพ้หรือป่นปี้ไปแล้ว จึ่งจะไปต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าจะปลอดโปร่งไปทั้งนั้น ที่ถูกแช่งให้อย่างร้ายๆ ก็มี ที่จวนๆ แพ้หรือแพ้ทีเดียวก็มี จะเก็บมากล่าวแต่หัวข้อดังต่อไปนี้

               (๑) จะข่มขืนนางเวทวดี บุตรีพระกุศะธวัชมุนี ซึ่งถวายตัวแก่พระนารายน์แล้ว พอทศกรรฐแตะต้องตัวนางก็โกรธ จึ่งทำนายไว้ว่าชาติน่านางจะไปเกิดเพื่อผลาญทศกรรฐ แล้วนางก็เข้ากองไฟตาย นางนี้ภายหลังมากำเหนิดเปนนางสีดา

               (๒) ไปทำลายพิธีท้าวมรุตตะราชาครองอุศิรวิค ท้าวมรุตตะยอมแพ้

               (๓) รบกับท้าวอนะรัณย์สุริยวงศ์ ผู้ครองนครอโยธยา ท้าวอนะรัณย์แพ้ แต่ทำนายไว้ว่า พระรามจะมาเกิดในสกุลอิกษวากุ (คือสกุลของท้าวอนะรัณย์นั้นเอง) ซึ่งจะเปนผู้สังหารทศกรรฐ

               (๔) พระนารทยุยงให้ไปรบพระยมในบาดาล พระยมกำลังจะพุ่งหอกมหากาล แต่พระพรหมาลงมาขอไว้ พระยมจึ่งไม่พุ่งหอก และอันตรธานหายไปเสียจากที่สนามรบ ทศกรรฐก็สำคัญว่าพระยมยอมแพ้ จึ่งกลับจากบาดาล [เรื่องนี้ในรามเกียรติ์ของเราเล่าไปโดยเข้าใจผิด ว่าไปรบกับพวกยักษ์ที่อยู่บาดาล และพระยมก็เรียกว่า “ท้าวมหายมยักษ์” ด้วยซ้ำ]

               (๕) ไปตีเมืองโภควดีในนาคโลก ชำนะพญาวาสุกรีนาคราช

               (๖) ไปรบกับพวกอสูรชื่อนิวัตกะวัจ เทวดามาไกล่เกลี่ยให้เปนไมตรีกัน

               (๗) ไปตีนครอัศมะแห่งกาลกัยชนบท ฆ่าท้าววิทยุชชิวหา ผัวนางศูรปนขาตาย [ในรามเกียรติ์ของเราเล่าว่า ท้าวชิวหารับใช้เฝ้าเมืองลงกาอยู่ ได้แลบลิ้นบังลงกาไว้ ทศกรรฐเอาจักรขว้างลิ้นขาดจึ่งตาย ไม่ตรงกับฉบับสังสกฤตนี้]

               (๘) ทศกรรฐเข้านิเวศน์พระวรุณ รบกับบริวารพระวรุณและท้าพระวรุณรบ แต่พระวรุณได้ไปเฝ้าพระพรหมาเสียก่อนนั้นยังไม่กลับ ทศกรรฐจึ่งยกทัพต่อไป

               (๙) ไปถึงไพฑูรย์ปราสาท พบมหาบุรุษตัวแดง เปนที่น่ากลัวยิ่งนัก เลยเข้าไปภายในจึ่งพบท้าวพลี คือพญาทานพซึ่งขอพรพระพรหมาได้เปนใหญ่ในไตรภพ แล้วพระนารายน์อวตารเปนวามน คือคนค่อม ไปชำนะด้วยย่างสามขุม ท้าวพลีจึ่งต้องมาอยู่ในภูมิต่ำที่สุดนี้ เรื่องนี้ท้าวพลีเล่าให้ทศกรรฐฟัง และห้ามทศกรรฐอย่าให้เหิมหาญคิดสู้พระมหาบุรุษ ทศกรรฐกำเริบไม่ฟัง ออกมาจะสู้กับพระมหาบุรุษ​ แต่พระมหาบุรุษว่ายังไม่ถึงกาลจึ่งอันตรธานหายไป

               (๑๐) รบกับท้าวมนธาตุราช ผู้ครองนครศรีอโยธยา ไม่แพ้ชนะกัน ทำไมตรี

               (๑๑) ทศกรรฐขึ้นไปถึงโลกพระจันทร์ จะยิงพระจันทร์​พระพรหมาห้ามไว้ และบอกมนตร์สหัสนาม ซึ่งถ้าแม้ว่ามีมรณภัยมาใกล้จวนถึงแล้ว รำฦกมนตร์นี้ได้ก็จะรอดตายไปได้ครั้ง ๑ [นี่เองน่าจะเปนมูลแห่งข้อความที่กล่าวว่า ทศกรรฐถอดดวงใจใส่กล่องไว้ คือจดมนตร์สหัสนามบรรจุกล่องไว้นั้นเอง และถ้าผู้ใดลอบลักเอากล่องนั้นไปได้แล้ว ทศกรรฐก็คงจำมนตร์ไม่ได้ เปนอันต้องตาย แต่นี่เปนความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง ไม่ใช่มีข้อความปรากฎในหนังสือรามายณเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่มีเวลาตรวจค้นหนังสืออื่น ถ้าได้ค้นยังนึกว่าน่าจะพบคำอธิบายเช่นนี้ ซึ่งดูค่อยน่าเชื่อมากกว่าที่จะถอดดวงใจจริงๆ ไปใส่กล่องฝากฤษีไว้ แต่ถ้าจะเอากล่องใส่มนตร์ไปฝากฤษีดูก็ควรอยู่]

               (๑๒) ทศกรรฐไปพบพระมหาชมพูนุท (ภาค ๑ แห่งพระนารายน์) นั่งอยู่กลางเกาะในปรัศจิมสมุท ทศกรรฐไปท้ารบ พระมหาชมพูนุทหัวเราะเยาะแล้วเอามือผลักทศกรรฐเบาๆ ทศกรรฐล้มลงสลบไป พระมหาชมพูนุทจึ่งลงไปในปล่องใต้พื้นดิน ทศกรรฐพอฟื้นขึ้นก็ตามลงไปในถ้ำนั้นผู้เดียว เพราะยักษ์อื่นๆ ไม่มีใครกล้าไป ทศกรรฐไปพบบุรุษรูปร่างเหมือนพระมหาชมพูนุทนั้นอีกหลายโกฏิ ล้วนร้องรำทำเพลงบำเรอพระมหาชมพูนุท ซึ่งบรรทมอยู่บนแท่น พระลักษมีอยู่งานพัดอยู่ ทศกรรฐก็มีความกำหนัดยื่นมือจะไปจับพระลักษมี ทันใดนั้นพระชมพูนุทมหาปุรุโษดมก็ทรงพระสรวลขึ้น ทศกรรฐตกใจล้มลงสลบไป พระมหาบุรุษตรัสให้ฟื้นขึ้น แล้วตรัสว่าวันนี้ยังไม่ถึงที่ตายให้ไปเสียก่อน ทศกรรฐก็นมัสการแล้วทูลลาออกจากถ้ำ (พระมหาชมพูนุทนี้ตัวเดียวกับพระกะบิลที่ผลาญสาครกุมารหกหมื่นนั้นเอง)

               (๑๓) ทศกรรฐกลับลงกา พานางที่ไปเที่ยวแย่งมาได้จากที่ต่างๆ ไปด้วย นางทั้งหมดพากันแช่งว่า ผลกรรมที่ได้ทำการผิดเมียเขามามากแล้ว ขอให้พินาศฉิบหายเพราะเหตุนั้นเอง

               (๑๔) นางศูรปนขาต่อว่าทศกรรฐในการที่ฆ่าผัว ทศกรรฐจึ่งไกล่เกลี่ยให้นางไปอาไศรยอยู่กับพญาขรผู้เปนพี่ (ซึ่งเปนน้องทศกรรฐ แต่คนละแม่) แล้วทศกรรฐก็ตั้งให้พญาขรเปนเจ้าผู้ครองรากษสหมื่นสี่พัน ให้ไปตั้งรักษาชนสถาน ให้พญาทูษณ์ไปเปนอุปราชและเสนาบดี



.ภาคที่ ๓ การสงครามและความประพฤติพาลของทศกรรฐ.

              (๑) ทศกรรฐไปพบเมฆนาทอยู่ที่ตำบลกุมภิลา ใกล้นครลงกา พระศุกรผู้เปนอาจารย์เมฆนาทชี้แจงว่า เมฆนาทได้รับผลแห่งการทำพิธีหลายชนิดแล้ว คือ พิธีอัคนิษโฎม (บูชาเพลิงและพลีด้วยน้ำโสม มีกำหนดงาน ๕ วัน มักทำในฤดูวสันต์) พิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า) พิธีพาหุสุพรรณกะ (บูชายัญด้วยทอง) พิธีราชสูยะ (ซึ่งพญาร้อยเอ็ดต้องมาช่วย) พิธีโคเมธ (บูชายัญด้วยโค) และพิธีไพษณพ (บูชาพระพิษณุเปนเจ้า) ในขณที่ทศกรรฐไปพบนั้น เมฆนาทกำลังทำพิธีมาเหศวร (บูชาพระอิศวร) เพื่อขอพรพระอิศวร ผลแห่งพิธีต่างๆ นั้นคือเมฆนาทได้มีฤทธิ์ทางมายาเช่น หายตัวล่องหน และทำให้มืดได้ตามปราถนา ทั้งได้แร่งศรซึ่งไม่รู้จักหมด และธนูสำคัญอัน ๑ ทศกรรฐกล่าวติลูกว่าไม่ควรจะบูชาพระอินทรและเทวดาอื่นซึ่งเปนศัตรูกับพ่อ แล้วก็พากลับเข้าเมือง

               (๒) พิเภษณ์บอกข่าวว่า ในระหว่างเวลาที่ทศกรรฐมัวไปเที่ยวเยี่ยมพิภพเพลิดเพลิน เมฆนาทมัวพะวงในพิธีต่างๆ และพิเภษณ์เองจำศีลอยู่นั้น พญามธุจอมอสูรได้มาลักเอานางกุมภีนษีไป นางนี้เปนลูกนางอนลาผู้เปนธิดาท้าวมาลียวัน ทศกรรฐโกรธจึ่งยกทัพจะไปรบท้าวมธุ ให้เมฆนาทเปนทัพน่า ทศกรรฐเปนทัพหลวง กุมภกรรณเปนทัพหลัง ฝ่ายพิเภษณ์อยู่รักษานคร ครั้นไปถึงนครมธุวัน นางกุมภีนษีออกมาห้ามทัพ ทศกรรฐกับมธุราชจึ่งตกลงทำไมตรีกัน แล้วทศกรรฐยกทัพจากมธุวัน เลยไปเที่ยวที่เขาไกลาศ

               (๓) ขณที่ไปพักอยู่ณที่ใกล้สวนของท้าวกุเวร ทศกรรฐพบนางอับศรชื่อรัมภา ผู้เปนบริจาของพระนลกุวรลูกท้าวกุเวร ทศกรรฐมีความกำหนัดก็ขืนสมพาศด้วยนาง นางไปฟ้องพระนลกุวร ซึ่งในขณนั้นบำเพ็ญพรตอยู่ พระนลกุวรก็กรวดน้ำแช่งทศกรรฐว่า ต่อไปอย่าให้ทศกรรฐขืนใจสัตรีที่ไม่สมัคสังวาศได้เปนอันขาด ถ้าจะขืนใจสัตรีเมื่อใดขอให้สมองแยะเปนเจ็ดภาค ทศกรรฐได้ฟังคำแช่งก็มีความสยดสยองยิ่งนัก ไม่กล้าขืนใจสัตรีอีกต่อไป [การที่ทศกรรฐไม่กล้าขืนใจนางสีดาก็เพราะกลัวคำแช่งอันนี้เอง]

               (๔) อินทราสุรสงคราม - ทศกรรฐรบกับพระอินทร ท้าวสุมาลีผู้เปนตาของทศกรรฐตายในสนามรบ เมฆนาทคิดแก้แค้น จึ่งเข้ารบกับพระไชยันต์โอรสของพระอินทร แต่เห็นว่าสู้กันตรงๆ ไม่แพ้ เมฆนาทจึ่งร่ายมนตร์ให้มืด ทัพเทวดาก็ระส่ำระสาย ฝ่ายท้าวปุโลมาสูรผู้เปนตาของพระไชยันต์เห็นโอกาศดี จึ่งเข้าอุ้มพระไชยันต์ไปซ่อนไว้ใต้มหาสมุท พระอินทรสำคัญว่าพระไชยันต์ตายในที่รบ จึ่งยกออกไปรบเอง เมฆนาทเห็นบิดาจะสู้ไม่ได้ จึ่งร่ายมนตร์ให้มืดอีก แล้วเข้าอุ้มพระอินทรไปลงกา เทวดาก็แพ้พากันหนีไปเฝ้าเล่าความให้พระพรหมา พระพรหมาจึ่งลงไปลงกา ประทานนามเมฆนาทว่าอินทรชิต แล้วขอให้ปล่อยพระอินทร อินทรชิตขอประทานพรถ่ายตัวพระอินทร แต่พระพรหมาไม่โปรดประทานให้ อินทรชิตจึ่งขอใหม่ว่า เมื่อใดบูชาเพลิงขอให้มีรถผุดขึ้นมา และถ้าตัวอินทรชิตยังคงอยู่บนรถนั้นตราบใด ขออย่าให้ใครฆ่าตายได้และอีกประการ ๑ ถ้าต้องต่อสู้ศัตรูก่อนที่ทำพิธีบูชาเพลิงสำเร็จ จึ่งให้ศัตรูฆ่าตาย พระพรหมาก็โปรดประทานให้ [เพราะเหตุฉนี้ เมื่อพระลักษมณ์จะสังหารอินทรชิต พิเภษณ์จึ่งแนะนำว่าต้องรีบไปทำลายพิธีนิกุมภิลาเสียก่อนที่สำเร็จ และต้องยิงรถให้หักก่อนจึ่งค่อยยิงตัวอินทรชิต]

               (๕) มีเรื่องแซก กล่าวย้อนหลังถึงเรื่องพระอินทรได้ประพฤติผิดในกาม ทำชู้กับนามอหลยา ซึ่งพระพรหมาสร้างขึ้นให้เปนชายาพระมหาฤษีโคดม พระโคดมแช่งพระอินทรว่าให้พ่ายแพ้แก่ศัตรู (จึ่งแพ้ทศกรรฐ) และต่อไปถ้าผู้ใดประพฤติผิดทางกามมิจฉาจารอีกในโลแ ให้พระอินทรต้องรับบาปกึ่งหนึ่งทุกคราวไป ทั้งผู้ใดได้เปนใหญ่ในหมู่เทวดาก็อย่าให้เปนอยู่ยั่งยืนได้ ส่วนนางอหลยานั้นพระมหาฤษีก็สาบว่า ต่อไปบรรดามนุษในโลกให้ได้รับส่วนแบ่งความงามแห่งนาง (ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีอยู่ในตัวนางผู้เดียว) และกล่าวไว้ว่า เมื่อใดได้พบพระนารายน์รามาวตารแล้ว จึ่งให้พ้นโทษ พระมุนีจะรับมาบำรุงเลี้ยงเปนชายาตามเดิม นางก็เข้าป่าไปบำเพ็ญตะบะล้างบาปจนได้พบพระราม (เรื่องนี้ในพาลกัณฑ์ก็มีเล่าไว้แล้ว)

               (๖) ทศกรรฐวิวาทกับท้าวอรชุนราชา ผู้ครองนครมหิษมดีไหหัยชนบท [นี้คืออรชุนที่รบกับปรศุราม เมื่อทศกรรฐไปถึงเมืองมหิษมดีนั้น ท้าวอรชุนไปประพาศป่าริมลำน้ำเนรพุท ทศกรรฐตามไปแขวะถึงที่นั้น รบกันเปนสามารถ แต่ท้าวอรชุนมีฤทธิ์มากกว่า มีแขนถึงพันแขน (จึ่งได้นามว่า “สหัสพาหุ”) ทศกรรฐแพ้ ท้าวอรชุนจับได้ มัดเอาไปเมืองมหิษมดี พระปุลัสตยะมุนีทราบข่าวจากเทวดา จึ่งลงไปเมืองมหิษมดี ขอให้ท้าวอรชุนปล่อยทศกรรฐ ท้าวอรชุนจึ่งยอมปล่อย และทำสัญญาเปนไมตรีกัน

               (๗) ทศกรรฐวิวาทกับพาลี - ทศกรรฐไปกีษกินธ์ เพื่อท้าพาลีรบ แต่ทราบว่าพาลีไปทำพิธีสนธยาอยู่ที่ทักษิณสมุท ทศกรรฐตามไปแขวะ พาลีแกล้งทำนิ่งเสีย จนทศกรรฐเข้าไปใกล้จึ่งคว้าตัวได้ เอาหนีบรักแร้เหาะไปเที่ยวประจารรอบโลก แล้วจึ่งพาไปกีษกินธ์ ทศกรรฐยอมแพ้โดยดีแล้วก็ทำไมตรีต่อหน้าไฟ [ไม่ใช่แปลงเปนปูไปยุ่มย่ามในงานลงสรงองคทอย่างในเรื่องรามเกียรติ์ของเรา เรื่องทศกรรฐแปลงเปนปูก็ดี หรือเรื่องนางมณโฑเคยเปนเมียพาลีและเปนแม่องคทก็ดี น่าจะได้มาจากหนังสืออื่น ไม่ใช่จากรามายณ บางทีจะได้จากหนังสือ “ปุราณะ” เรื่องใดเรื่อง ๑ ก็เปนได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้ามีเวลาคงจะค้นพบเรื่องนี้ และเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา แต่ที่ไม่มีอยู่ในรามายณฉบับสังสกฤต เรื่องราวของตัวสำคัญๆ ในเรื่องรามเกียรติ์มักไปมีเปนท่อนเล็กท่อนน้อยแซกๆ อยู่ในเรื่องอื่นๆ นอกจากรามายณ เพราะฉนั้นยากที่จะเก็บให้หมดได้]



.ภาคที่ ๔ แสดงวานรพงษ์ .

              (๑) กำเหนิดแลประวัติหนุมาน - เปนบุตรนางอัญชนา มเหษีท้าวเกศรีกปิราช ผู้ครอบครองสำนักอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมร แต่พ่อจริงของหนุมานคือพระพาย นางอัญชนาครรภแก่แล้ว ไปคลอดบุตรทิ้งไว้ที่ในป่า ทารกนั้นหิว เห็นพระอาทิตย์คิดว่าผลไม้ ก็เหาะขึ้นไปจะหยิบกิน พระพายก็ช่วยส่งและช่วยพัดระบายไว้มิให้ร้อน พะเอินวันนั้นพระราหูก็กำลังพยายามจะจับพระอาทิตย์​ พอหนุมานเหาะขึ้นไปถึงรถพระอาทิตย์ พระราหูก็ปล่อยพระอาทิตย์แล้วไปฟ้องพระอินทร พระอินทรก็ทรงช้างเอราวัณออกไปดูเหตุการณ พระราหูนำหน้าไป ฝ่ายหนุมานเห็นพระราหูก็ผละจากพระอาทิตย์โดดไปจะจับพระราหู พระราหูกลัวจึ่งหนีไปแอบหลังพระอินทร หนุมานเห็นช้างเอราวัณสำคัญว่าเปนผลไม้ลูกใหญ่จึ่งตรงเข้าไปจะจับกิน พระอินทรจึ่งตีหนุมานด้วยวัชระตกลงยังพื้นดินคางหัก จึ่งได้นามว่า หนุมาน [เรื่องหนุมานหักคอช้างเอราวัณในชุดพรหมาสตร์บางทีจะมาจากนี่เองก็ได้แห่ง ๑] ฝ่ายพระพายมีความเคือง จึ่งอุ้มหนุมานเข้าไปในถ้ำ และพระพายเองก็อยู่เสียในนั้น ไม่พัดไปมา บรรดาเทวดา มนุษและสัตว์ทั้งปวงก็พากันเดือดร้อนทั่วไป จนพระพรหมาต้องไปวิงวอน พระพายจึ่งยอมออกจากถ้ำ

               (๒) กำเหนิดท้าวฤกษราช - พระพรหมาทรงบำเพ็ญโยคปฏิบัติน้ำพระเนตรไหล พระพรหมาเช็ดน้ำพระเนตรสลัดลงที่พื้นดินก็เกิดเปนวานรขึ้นตน ๑ ชื่อฤกษราช [คำว่า “ฤกษ” ภาษาสังสกฤตแปลว่า “หมี” และหมีกับลิงในเรื่องรามายณนั้นดูปนๆ กันอยู่ เช่นชมพูพานเปนต้น เรียกว่าฤกษราช คือ “จอมหมี” บ้าง วานรราช คือ “จอมลิง” บ้าง]

               (๓) กำเหนิดพาลีและสุครีพ - ท้าวฤกษราชเที่ยวไปในป่าหิมพานพบสระๆ ๑ จะลงไปกินน้ำ แลเห็นเงาตนเอง สำคัญว่าวานรอีกตัว ๑ จึ่งโดดลงไปจะจับ พอขึ้นจากน้ำก็กลายเปนสัตรีมีรูปร่างงดงาม พระอินทรกับพระอาทิตย์ผ่านไปเห็นนางนั้นก็มีความรัก จึ่งลงมาสมพาศด้วยนาง นางก็มีบุตรด้วยพระอินทรตน ๑ ชื่อพาลี เพราะเกิดแต่ผม (สังสกฤต “วลี” = ผม) และมีบุตรด้วยพระอาทิตย์ตน ๑ ชื่อสุครีพ เพราะเกิดแต่คอ (สังสกฤต “ค๎รีว” = คอ) พระอินทรให้สังวาลแด่พาลี พระอาทิตย์ไปนำหนุมานมาให้เปนข้าสุครีพ ฝ่ายฤกษราชนั้นรุ่งขึ้นก็กลับเพศเปนชายอย่างเดิม แล้วก็พาบุตรทั้ง ๒ ไปเฝ้าพระพรหมา (กำเหนิดเช่นนี้จึ่งเรียกว่าพาลีและสุครีพเปนลูกท้าวฤกษราช ซึ่งนับว่าเปนทั้งพ่อทั้งแม่)

               (๔) สฐาปนานครกีษกินธ์ - พระพรหมาให้พระวิศวกรรมไปสร้างนครกีษกินธ์ อันเปนนครมั่งคั่งบริบูรณทุกประการ พรั่งพร้อมด้วยชนทั้ง ๔ พรรณ แล้วพระพรหมาจึ่งอภิเษกท้าวฤกษราชให้เปนราชาครองวานรทั้งปง สถิตย์นครกีษกินธ์นั้น พาลีและสุครีพก็ไปอยู่กับบิดา

               ข้อความที่แสดงด้วยวานรพงษ์นี้ ผิดกันกับที่มีในหนังสือรามเกียรติ์ของเรา ทั้งในส่วนกำเหนิดแห่งหนุมาน และพาลีกับสุครีพ ส่วนเรื่องกำเหนิดหนุมานนั้น ของเรามีพิศดารมากจริง และชื่อนางผู้เปนมารดาก็ผิดกัน แต่ส่วนใจความของเรื่องไม่ผิดกันปานใด เรื่องราวของหนุมานมีอยู่มากมายในที่อื่นๆ นอกจากในรามายณ ดังข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปข้างน่า ส่วนเรื่องกำเหนิดพาลีกับสุครีพนั้นข้าพเจ้าสงไสยว่าจะเอาเรื่องพระอินทรทำชู้กับนางอหลยาผู้เปนชายะพระโคดม (ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นนี้) มาปนเข้าด้วยชั้น ๑ ส่วนที่กุมารลงน้ำแล้วเลยกลายเปนลิงไปนั้น ดูคล้ายเรื่องท้าวฤกษราชลงสระกลายเปนนางนั้นเอง ส่วนเรื่องสร้างนครกีษกินธ์ ของเราว่าพระอินทรสร้างให้พาลีนั้น เห็นจะเล่าหลงไปเปนแน่

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 สิงหาคม 2563 18:45:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2563 19:08:48 »



.ภาคที่ ๕ แสดงสาเหตุที่บรรดาลให้ทศกรรฐลักสีดา.

              ภาคนี้ออกจะกะพร่องกะแพร่งเต็มที แลเห็นได้ว่าเก็บเอาข้อความเบ็ดเตล็ดสรรเสริญพระนารายน์มาร้อยๆ กันเข้าไว้กระนั้นเอง ไม่เปนเรื่องเปนราวที่สนุกสนานอะไร พูดยอซ้ำๆ ซากๆ ไปเท่านั้น ใจความคงมีอยู่นิดเดียวแต่เพียงว่า ใครๆ ก็นับถือพระนารายน์ทั้งนั้น ทศกรรฐผู้เดียวอวดดีไม่นับถือ จึ่งบังอาจลักนางสีดาไป เพราะจะต้องตายด้วยมือพระรามเท่านั้น


.ภาคที่ ๖ ว่าด้วยการส่งกษัตร์ที่มาช่วยงานกลับเมือง .

              ภาคนี้ก็ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากกล่าวถึงการส่งกษัตร์ที่ได้มาช่วยงานราชาภิเษกพระรามนั้น กลับไปบ้านเมือง ข้อความก็กล่าวแต่ถึงตัวกษัตร์และบริวารนั้นแลเปนพื้น กษัตร์ที่ส่งเปนลำดับคือ

               ๑ ท้าวชนก ราชาครองนครมิถิลา (ผู้เปนพระบิดานางสีดา)

               ๒ ท้าวยุธาชิต ราชาครองเกกัย (น้องนางไกเกยี)

               ๓ ท้าวประตรรทน ราชาครองนครพาราณสี แคว้นกาศี (เปนมิตร) ทั้งสามนี้เปนสำคัญในหมู่ราชามนุษ

               ๔ สุครีพ และพวกวานร

               ๕ พิเภษณ์ และพวกอสูร

               อนึ่งบุษบกซึ่งได้ทรงมาจากลงกานั้น เมื่อมาถึงอโยธยาแล้ว บุษบกก็ลอยกลับไปหาท้าวกุเวรผู้เปนเจ้าของเดิม ท้าวกุเวรให้กลับมาเปนราชยานของพระรามอย่างเดิม แต่พระรามโปรดอนุญาตว่าเมื่อใดจะทรงจึ่งให้มารับเสด็จ



.ภาคที่ ๗ เนรเทศนางสีดา .

              เรื่องเนรเทศนางสีดา ตามที่เล่าไว้ในฉบับสังสกฤต ดูเปนเรื่องที่น่าสงสารมาก ตามเรื่องในรามเกียรติ์ข้างไทยเราว่านางอดูลย์ปีศาจเข้าสิง จึ่งทำให้พระรามคลั่งหึงวุ่นไป แต่ของเขาแสดงว่า วัน ๑ พระรามตรัสให้หาพวกอำมาตย์มนตรีเข้าไปเฝ้า ตรัสราชการต่างๆ แล้วจึ่งตรัสถามว่า ชาวนครได้โจทย์กันถึงพระองค์อย่างไรบ้าง เผื่อมีข้อใดที่เขาพากันติเตียนก็จะได้แก้ไขต่อไป อำมาตย์ผู้ ๑ ชื่อวัทรจึ่งทูลว่า ชาวนครชวนกันสรรเสริญพระบารมีพระรามในการที่ได้ทรงจองถนนข้ามทเลไปได้ และปราบอสูรได้ ฆ่าทศกรรฐผู้ผิดแล้ว แต่ส่วนนางสีดานั้น ทำไมพระองค์ไม่ทรงรังเกียจบ้าง กลับพามากรุงด้วย ทศกรรฐได้นางสีดาไปไว้เปนนาน แต่พระรามก็ไม่ทรงรังเกียจ เพราะฉนั้นต่อไปถึงแม้เมียใครจะประพฤติชั่วอย่างไรก็ไม่ต้องรังเกียจกัน เพราะพระราชาทรงทำเปนตัวอย่างอยู่เช่นนั้นแล้ว พระรามได้ทรงฟังคำอำมาตย์ทูลเช่นนั้นก็เสียพระไทย จึ่งตรัสให้หาพระลักษมณ์ พระภรต และพระศัตรุฆน์ เมื่อมาพร้อมกันแล้วก็ตรัสเล่าข้อความให้ฟัง และตรัสอธิบายว่าเพื่อรักษาพระเกียรติยศถึงแม้พระชนมชีพก็ยอมสละได้ แล้วจึ่งตรัสสั่งพระลักษมณ์ว่า พะเอินนางสีดาก็ได้ทูลไว้แล้วว่าอยากจะไปเที่ยวนมัสการตามสำนักพระมุนีต่างๆ ให้พระลักษมณ์พานางสีดาไปเสียนอกเขตรโกศล ให้นำไปฝากไว้ในสำนักพระวาลมีกิมุนี อันสถิตย์ณริมฝั่งน้ำตมสา [ในรามเกียรติ์ของเราสั่งให้เอาไปฆ่า] พระลักษมณ์ก็จำใจทำตามพระโองการ เชิญนางสีดาขึ้นทรงรถ ให้สุมันตร์ขับออกจากพระนครไปจนถึงฝั่งพระคงคา เชิญลงเรือข้ามลำพระคงคาไปแล้ว พระลักษมณ์จึ่งเล่าความจริงให้นางสีดาฟังทุกประการ แล้วก็ลงเรือข้ามกลับมา ปล่อยนางสีดาไว้ นางก็เดินไปจนพบสานุศิษย์พระวาลมีกิ จึ่งพากันนำตัวนางไปถวายพระมหาฤษี เธอก็ต้อนรับโดยดี เพราะรู้ได้โดยญาณว่านางหามลทินมิได้ พระมุนีมอบให้นางโยคินีทั้งหลายเปนผู้ปฏิบัติทนุถนอมต่อไป

               คราวนี้ท่านผู้แต่งคงจะนึกขึ้นว่า บางทีจะมีผู้ติเตียนพระรามได้ในการที่เนรเทศนางสีดาเช่นนี้ จึ่งต้องมีเรื่องแถมไว้สำหรับแก้แทน คือกล่าวว่าพระลักษมณ์บ่นกับสุมันตร์ว่าไม่เห็นควรเลยที่จะเนรเทศนางสีดา สุมันตร์จึ่งอธิบายว่า ที่เนรเทศนั้น เพราะมีคำแช่งไว้และเล่าเรื่องต่อไปว่า ครั้ง ๑ ท้าวทศรถเสด็จไปเยี่ยมพระวสิษฐที่อาศรม พบพระทุรวาสอยู่ที่นั้น จึ่งถามพระทุรวาสว่า พระราชวงศ์ของพระองค์จะดำรงอยู่ได้นานเพียงใด พระรามและโอรสอื่นๆ ของพระองค์จะมีชนมายุยืนนานเพียงใด สกุลของพระรามจะยืนยงไปเพียงใด และพระราชวงศ์จะถึงที่สุดลงอย่างไร พระทุรวาสจึ่งทูลเล่าว่า เมื่อครั้งเทวาสุรสงคราม พวกอสูรพ่ายแพ้หนีไปพึ่งชายาพระมหาฤษีภฤคุ พระนารายน์ทรงพระพิโรธจึ่งตัดเศียรนางนั้นเสียด้วยจักร พระภฤคุจึ่งกล่าวคำสาบว่า พระนารายน์จะต้องไปกำเหนิดในมนุษโลก และในกำเหนิดนั้นจะต้องพรากจากมเหษี และพระทุรวาสได้ทูลทำนายเหตุการณต่างๆ ไว้อีก ซึ่งได้เปนไปแล้วดังคำทำนายทุกประการ ฝ่ายพระลักษมณ์ได้ฟังคำสุมันตร์เล่าความหลังเช่นนี้แล้ว ก็มีความพอพระไทย



.ภาคที่ ๘ ตำนานเบ็ดเตล็ด.

              ตำนานเหล่านี้ เห็นได้ว่าเก็บเอามาลงไว้ในอุตตรกัณฑ์นี้เพื่อฝากไว้แท้ๆ ไม่เกี่ยวแก่เรื่องราวหรือประวัติของพระรามเลย และเพื่อจะให้กล่าวได้ว่าเนื่องด้วยพระราม จึ่งต้องเกณฑ์ให้พระรามเล่าเพื่อสอนพระลักษมณ์ อดีตนิทานเหล่านี้เปนเรื่องสำหรับแสดงธรรมทาหรณก็มี สำหรับเล่ากำเหนิดของผู้มีชื่อเสียงสำคัญก็มี แต่ในที่นี้ไม่จำจะต้องเก็บมาเล่าแม้โดยย่อ จะขอจดไว้เปนแต่สารบานเรื่องดังต่อไปนี้

               ๑. เรื่องท้าวนฤคถูกสาปเปนเหี้ย เพราะพราหมณ์ไปเฝ้าปล่อยให้คอย

               ๒. เรื่องท้าวนิมิกับพระวสิษฐวิวาทกัน ต่างคนต่างสาบกันให้ตัวหายเหลือแต่มโน

               ๓. เรื่องกำเหนิดใหม่แห่งพระวสิษฐ และเรื่องนางอุรวศีกับท้าวปุรุรพลูกพระพุธ ซึ่งเปนปฐมกษัตร์จันทรวงศ์ครองประดิษฐานนคร

               ๔. เรื่องกำเหนิดท้าวมิถิ ซึ่งเปนต้นวงศ์กษัตร์ชนกแห่งวิเทห ท้าวชนกที่ ๑ นี้ เกิดมาจากพระกายแห่งท้าวนิมิ ซึ่งฤษีกวนในพิธีจนเกิดเปนทารก เพราะฉนั้นไม่มีแม่

               ๕. เรื่องท้าวยยาติจันทรวงศ์ ลูกท้าวนหุษจันทรวงศ์ ซึ่งถูกสาบให้แก่โดยทันที

               ๖. เรื่องท้าวปุรุรับความแก่ของพระบิดาแทน จึ่งได้เปนรัชทายาท เปนปฐมกษัตร์ต้นสกุลโปรพจันทรวงศ์ ดำรงนครประดิษฐาน และเรื่องพระยทุซึ่งท้าวยยาติผู้เปนบิดาสาบว่าให้มีลูกเลวทราม (พระยทุนี้คือต้นสกุลยาทพ คือสกุลพระกฤษณะ)



.ภาคที่ ๙ แสดงพระคุณธรรมแห่งพระราม .

             คือแสดงให้ปรากฎว่า พระรามเอาพระไทยใส่ในความทุกข์ศุขแห่งข้าแผ่นดินทั่วไปปานใด จนแม้สัตวที่อาไศรยโพธิสมภารอยู่ก็ให้ได้รับความยุติธรรม จึ่งยกอุทาหรณ ๒ เรื่อง คือ (๑) เรื่องสุนักข์ถูกพราหมณ์รังแก (๒) เรื่องแร้งแย่งรักนกเค้าแมว พระรามกับมนตรีวินิจฉัยโดยเปนธรรมทั้ง ๒ เรื่อง


.ภาคที่ ๑๐ ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ).

             อยู่มาวัน ๑ มีพระฤษี ๒ ตน ชื่อภรรควะและจยาวัน ซึ่งครองสำนักอยู่ริมฝั่งยมนา ได้เข้ามาเฝ้าพระรามทูลร้องทุกข์ว่า มีอสูรตน ๑ ชื่อลพณ์ เปนราชาครองนครมธุวัน แคว้นศุรเสน [ในรามเกียรติ์ของเราว่าพญายักษ์ที่พระศัตรุฆน์ไปปราบนั้น ชื่อท้าว “จักรวรรดิ” ซึ่งผิด เพราะ “จักรวรรดิ” ไม่ใช่นามบุคคล เปนตำแหน่งต่างหาก ส่วนชื่อนครนั้น เรียกเขวไปว่า “มลิวัน”] อสูรนั้นใจพาล เที่ยวรบกวนฤษีชีพราหมณ์ได้ความเดือดร้อนทั่วไป ฤษีขอพระบารมีเปนที่พึ่ง พระรามตรัสถามถึงเรื่องราวของลพณาสูรนั้นต่อไป คือมีฤทธิ์อย่างไร มีสาตราวุธสำคัญอย่างไรบ้าง ฤษีจึ่งเล่าว่าเดิมทีในกฤดายุค ยังมีแทตย์ตน ๑ ชื่อมธุ เปนลูกโลตาสูร เปนผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม จึ่งเปนที่โปรดปรานแห่งพระอิศวร ได้ประทานหอกสำคัญ (อีกใน ๑ ว่าตรี) และถ้าแม้ไม่รบกวนเทวดาและฤษีชีพราหมณ์ตราบใด ตราบนั้นหอกสำคัญจึ่งจะเปนของท้าวมธุ ถ้าไม่ปฏิบัติดีเมื่อใด เมื่อนั้นหอกจะสูญ ในเวลาสงครามถ้าพุ่งหอกนั้นไปถูกใคร ก็จะกลายเปนไฟไหม้คนนั้น ท้าวมธุจึ่งทูลขอพรต่อไปว่า ขอให้หอกนี้ได้เปนสมบัติของลูกหลานสืบไป แต่พระอิศวรตอบว่า ข้อนั้นจะเปนไปไม่ได้ แต่จะโปรดให้แต่เพียงว่า จะยกหอกนั้นให้บุตรคนใดคน ๑ ก็ได้ และผู้ที่ถือหอกนั้นอยู่ในมือจะอยู่คง ใครฆ่าไม่ตายได้ ท้าวมธุทูลลาพระอิศวรแล้ว ก็ไปสร้างนคร (คือเมืองมธุวัน) เปนที่อยู่ ได้มเหษีคือนางกุมภินษี บุตรีวิศวะวสุกับนางอนลา (นางอนลาเปนบุตรีท้าวมาลียวัน เรื่องที่ท้าวมธุไปลักพานางกุมภินษีจากลงกา และทศกรรฐตามมาจะรบ แต่นางกุมภินษีห้ามทัพนั้น ได้เล่ามาก่อนแล้ว) ท้าวมธุกับนางกุมภินษีนั้น มีโอรสชื่อลพณ์ เปนผู้ที่ดุร้ายใจเหี้ยมโหดมาแต่เล็ก ท้าวมธุเสียใจที่ว่ากล่าวไม่ฟัง จึ่งเวนราชสมบัติให้แก่ลพณาสูร และให้หอกสำคัญไว้ด้วย แล้วตัวเองก็ลงไปอยู่ในณวารุณโลก ฝ่ายท้าวลพณ์รู้ว่าตนมีอาวุธสำคัญอยู่กับมือ จึ่งเที่ยวเกะกะรบกวนโลกทั่วไป

              พระรามได้ทรงทราบเช่นนั้น จึ่งตรัสถามพระอนุชาทั้ง ๓ ว่า จะควรใช้ใครไปสังหารลพณาสูร พระศัตรุฆน์ทูลว่า พระภรตก็ได้รักษาพระนครในระหว่างที่พระรามเสด็จไม่อยู่ มีความเหน็จเหนื่อยมากแล้ว เพราะฉนั้นพระศัตรุฆน์ขอรับอาสาไปปราบอสูรเอง พระรามก็โปรดอนุญาต และโปรดอภิเษกล่วงน่าให้เปนราชาครองนครมธุเมื่อเสร็จปราบลพณาสูร

              ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี พระศัตรุฆน์ก็ทูลลาออกจากนครอโยธยาไปจนถึงที่อาศรมพระพรหมฤษีวาลมีกิ จึ่งเข้าไปอาไศรยอยู่คืน ๑

              ในที่นี้มีแซกเรื่องท้าวโสทาส ซึ่งภายหลังได้นามว่าท้าวกัลมาษบาท (“พญาตีนด่าง”) เรื่องนี้พระวาลมีกิเล่าให้พระศัตรุฆน์ฟัง ใจความว่า ท้าวโสทาสสุริยวงศ์ได้ออกไปทรงยิงสัตว์เล่นในป่า พบรากษส ๒ ตน ซึ่งได้กินสัตว์ในป่าเสียหมดแล้ว ท้าวโสทาสกริ้วจึ่งยิงรากษสตายตน ๑ อีกตน ๑ ร้องว่าจะแก้แค้นแทนสหาย แล้วก็หนีไป ต่อมาวัน ๑ ท้าวโสทาสได้มีพิธีโหตรกรรมใหญ่ พระวสิษฐมุนีผู้เปนปุโรหิตมีกิจไปนอกมณฑลพิธีครู่ ๑ รากษสเห็นได้ทีจึ่งจำแลงตนเหมือนพระวสิษฐเข้าไปกล่าวแก่ท้าวโสทาสให้จัดหามังษาหารมาให้ฉัน ท้าวโสทาสก็สั่งพ่อครัวให้จัดแต่งมังษาหารอันควรฉันมาถวายพระมุนี แต่รากษสร้ายนั้น ไปจำแลงเปนพ่อครัวอีก แล้วแต่งเนื้อมนุษมาให้พระวสิษฐฉัน พระมุนีรู้สึกตัวก็โกรธ จึ่งแช่งท้าวโสทาสขอให้อยากกินแต่เนื้อมนุษอย่างเดียว ท้าวโสทาสก็เคืองจึ่งวักน้ำขึ้นจะกรวดแช่งพระมุนีบ้าง แต่พระมเหษีห้ามไว้ ท้าวโสทาสก็หลั่งน้ำอันเต็มไปด้วยความแช่งนั้น ลงไปที่พระบาทพระองค์เอง น้ำนั้นก็ทำให้พระบาทไหม้ด่างไป จึ่งได้ฉายาว่า “กัลมาษบาท” แต่นั้นมา ฝ่ายพระวสิษฐครั้นทราบว่าท้าวกัลมาษบาทไม่ได้แกล้งจัดเนื้อมนุษให้ฉัน จึ่งกำหนดเขตรคำแช่งนั้นเพียง ๑๒ ปี พอครบกำหนดแล้วท้าวกัลมาษบาทก็กลับคืนดีอย่างเดิม เปนอันจบเรื่องเพียงนี้

              จับเรื่องพระศัตรุฆน์ต่อไปว่า ในคืนวันที่อาไศรยอยู่ในอาศรมพระวาลมีกินั้น พะเอินเปนวันฤกษ์งามยามดี นางสีดาคลอดโอรสแฝด พระมุนีให้ชื่อว่าพระกุศ ๑ พระลพ ๑ [พระกุศนั้น ที่เราเรียกว่า “พระมงกุฎ ทีจะเห็น “กุศ” เปล่าลุ่นไปหรืออย่างไรจึ่งเติม “มง” และแก้ตัว “ศ” เปนตัว “ฎ” สกด ที่แท้ “กุศ” นั้นเปนมงคลนามอยู่แล้ว เพราะแปลว่ายอดหญ้าคาที่ใช้ในพิธีพลีกรรมทั้งปวง ที่แก้ “กุศ” เปน “มงกุฎ” ไปนั้นจะเปนด้วยไม่รู้คำแปลเดิมกระมัง ส่วนคนธรรมดาเมื่อกล่าวถึงลูกพระรามมักเรียกว่า “บุตร์ลพ” ที่พระกุศเปน”บุตร์” ไปอย่างไรนั้น น่าจะเดาเปน ๒ สถาน สถาน ๑ จะเปนเพราะหูเชื่อม ไปได้ยินพราหมณ์เรียกๆ อยู่ว่า “กุศลพ” ฟังไม่ถนัดจึ่งได้ยินเปน “บุศลพ” ไป หรืออีกสถาน ๑ จะเปนเพราะนักรู้มากในทางหนังสือแปล “กุศ” ไม่ออก จึ่งแก้เปน “บุศย์” หรือ “บุษป์” ให้แปลได้ว่าดอกไม้ แล้วต่อลงไปถึงชั้นคนคัด เลยแก้เปน “บุตร์” ไปอีกต่อ ๑ และคงนึกแปลในใจของตัวว่า “เปนลูกพระรามนี่เล่าก็ชื่อพระบุตร์นั่นสิ ถูกแล้ว” ตกลงพระกุศเคราะห์ร้ายถูกแก้ชื่อเสียป่นปี้ ส่วนพระลพเคราะห์ดี เพราะชื่อเรียกง่าย จึ่งไม่ถูกแก้ไข]

              รุ่งขึ้นพระศัตรุฆน์จึ่งดำเนินต่อไปทางประจิมทิศ จนถึงสำนักพระภรรควะจยาวันมุนี พระศัตรุฆน์ถามพระจยาวันว่า มีผู้ใดได้เคยตายเพราะหอกสำคัญของลพณาสูรนั้นแล้วบ้าง พระมุนีจึ่งเล่าเรื่องท้าวมนธาตุราชสุริยวงศ์ มีใจความว่า ท้าวมนธาตุลูกท้าวยุวนาศวเปนกษัตร์สกุลอิกษวากุ ครองนครศรีอโยธยา ท้าวมนธาตุราชนี้ทรงเดชานุภาพมาก ปราบได้ทั่วพิภพ จึ่งคิดกำเริบจะใคร่เปนใหญ่ในเทวโลก แต่พระอินทรเยาะเย้ยว่า นับประสาแต่คนเก่งในมนุษโลกก็ยังปราบไม่หมด จะมาคิดเปนใหญ่ในเทวโลกอย่างไร ท้าวมันธาตุถามหาผู้ที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์​ ก็ได้ความว่าคือท้าวลพณาสูร ท้าวมันธาตุราชจึ่งสั่งให้ทูตไปท้าลพณาสูร ๆ ก็จับทูตกินเสีย ท้าวมนธาตุจึ่งยกทัพไปรบ ลพณาสูรพุ่งหอกมาเปนไฟไหม้ท้าวมนธาตุราชและไพร่พลตายหมด เมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว พระจยาวันมุนีจึ่งแนะนำว่า ควรพระศัตรุฆน์จะรีบไปสังหารลพณาสูรโดยใช้อุบายอย่าให้จับหอกสำคัญได้

              พอรุ่งเช้าท้าวลพณาสูรออกจากเมืองไปหาอาหารกิน พระศัตรุฆน์ก็ถือศรไปยืนคอยอยู่ที่ประตูเมืองมธุวัน ครั้นเวลาเที่ยงลพณาสูรแบกสัตว์หลายพันกลับมา พบพระศัตรุฆน์ยืนอยู่ก็ด่าว่าให้ต่างๆ พระศัตรุฆน์ก็ท้าลพณาสูรให้สู้ตัวต่อตัว ท้าวลพณ์ขอผัดว่าจะไปหยิบอาวุธ พระศัตรุฆน์ไม่ยอม ตกลงรบกัน ในที่สุดพระศัตรุฆน์แผลงศรไปสังหารท้าวลพณาสูรตาย พระเพลิงและพระอินทรกับทวยเทพก็ยินดีสรรเสริญพระศัตรุฆน์ และพระอินทรบอกว่าจะให้พรพระศัตรุฆน์ พระศัตรุฆน์จึ่งขอให้สร้างนครหลวงขึ้นใหม่ให้เปนที่ควรแก่มนุษจะอยู่เทวดาก็สร้างให้ตามปราถนา ให้นามเปลี่ยนว่ามถุรา พระศัตรุฆน์จึ่งยกทัพเข้าไปอยู่ในนครมถุรา แล้วจัดการปกครองอาณาเขตรต่อไป

              ครั้นอยู่ไปได้ถึง ๑๒ ปี พระศัตรุฆน์มีความรำฦกถึงพระเชษฐาธิราช จึ่งไปเฝ้าณพระนครศรีอโยธยา อยู่ที่นั้น ๗ ราตรี แล้วพระรามก็ตรัสให้พระสัตรุฆน์กลับคืนไปครองนครมถุราอย่างเดิม

              [เรื่องศึกพระศัตรุฆน์นี้ ในรามเกียรติ์ของเรามีวิจิตรพิศดารพิลึกมาก วิธีแต่งตั้งรูปขึ้นเหมือนศึกพระราม เอาพระภรตเปนพระราม พระศัตรุฆน์เปนพระลักษมณ์ และเอานิลพัทธ์เปนหนุมาน และสาเหตุก็ว่าเกิดรบกันยุ่งขึ้นในลงกา เพราะไพนาสูรเปนขบถต่อพิเภษณ์ จึ่งไปเชิญท้าวจักรวรรดิให้ไปจับพิเภษณ์ใส่ตรุ เรื่องขบถในลงกานี้ในฉบับสังสกฤตไม่มีเลย ฝ่ายเราจะไปได้เรื่องมาจากไหนก็ยังสาวไปไม่ถึง]



.ภาคที่ ๑๑ พระรามลงโทษศุทร์ผู้กำเริบทำเทียมพราหมณ์ (และเรื่องอื่นๆ).

             แสดงว่าพระรามเอาพระไทยใส่ในความศุขและความเจริญของชาติพราหมณ์อย่างไร มีเรื่องราวดังต่อไปนี้

              วัน ๑ มีพราหมณ์ผู้ ๑ มาปริเทวะอยู่ที่น่าประตูวัง ได้ความว่าพราหมณ์นั้นมีความเศร้าโศกเพราะลูกชายซึ่งอายุยังมิทันถึง ๑๔ ปีได้ตายเสียแล้ว และซัดว่าเปนเพราะพระรามทำบาป หรือมีผู้ทำบาปในอาณาเขตรและพระรามไม่กำหราบ พระรามได้ทรงฟังดังนั้น จึ่งให้นิมนต์พระฤษีสำคัญมา คือพระวสิษฐ ๑ พระวามเทพ ๑ พระมรรกัณไฑย ๑ พระโมคคัลลานะ ๑ พระกาศยป ๑ พระกาตยายน ๑ พระชวาลี ๑ พระโคดม ๑ พระนารท ๑ พระรามตรัสปฤกษาว่าจะควรทำอย่างไร พระนารทจึ่งแสดงสาเหตุที่กุมารนั้นได้ตายไปก่อนสมัยกาลอันควร ใจความก็คือว่า มีศูทร์ผู้ ๑ ได้มีความกำเริบจะทำเทียมพราหมณ์ คือตั้งบำเพ็ญตะบะบ้าง ลูกพราหมณ์จึ่งตาย เพราะฉนั้นให้พระรามค้นหาตัวศูทร์นั้น และแก้ไขความชั่วร้ายที่ได้บังเกิดขึ้น

              พระรามได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสสั่งให้เอาศพกุมารลูกพราหมณ์แช่น้ำมันหอมไว้แล้วก็รำฦกถึงบุษบก พอบุษบกมาแล้ว พระรามก็ขึ้นทรงลอยไปเที่ยวหาตัวศูทร์ผู้ทำเทียมพราหมณ์ ไปพบอยู่ที่เขาไศพลคีรี กำลังบำเพ็ญตะบะอยู่ พระรามตรัสถาม ก็สารภาพว่าตนเปนชาติศูทร์จริง ชื่อสัมพุก พระรามก็ชักพระขรรค์ออกตัดศีรษะตายอยู่ณที่นั้น ทวยเทพพากันสรรเสริญ พระรามก็ขอพรพระอินทรว่าขอให้ลูกพราหมณ์ฟื้นขึ้น พระอินทรก็ประสาทพรให้ตามปราถนา

              [เรื่องนี้อันที่จริงไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณเลย เห็นได้ว่าพราหมณ์คนใดคน ๑ ได้แต่งเติมแซกเข้าไป เพราะแค้นว่ามีคนที่ไม่ใช่พราหมณ์แย่งทำพิธี ข้อความที่แต่งใส่ปากพระนารทนั้น เต็มไปด้วยความอิจฉา ข้าพเจ้ามิได้เก็บมาลงในที่นี้ เพราะไม่สนุกอะไรและในรามเกียรติ์ของเราก็ไม่มี]

              ต่อนี้ไปกล่าวถึงพระรามไปนมัสการพระอคัสตยะมุนี พระมุนีแสดงความพอใจในการที่พระรามได้ฆ่าศูทร์ผู้ทำเทียมพราหมณ์ แล้วพระอคัสตยะจึ่งให้อาภรณอัน ๑ แก่พระรามเปนรางวัล พระรามไม่รับโดยกล่าวว่า พราหมณ์เท่านั้นเปนผู้ควรได้ทักษิณา กษัตร์ไม่ควรรับ แต่พระฤษีอธิบายเหตุผลพอแล้ว ก็เปนอันยอมรับ

              คราวนี้ผู้แต่งยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ดอยู่อีก ซึ่งไม่รู้จะไปลงไว้แห่งใด จึ่งเอาแซกลงไปที่ตรงนี้ และเชื่อมหัวต่อเข้าพอสมควร เรื่องมีอยู่ ๒ เรื่องคือ.-

              (๑) เรื่องท้าวเศ๎วตกินเนื้อตัวเอง - พระรามถามว่าอาภรณที่พระมุนีให้นั้น ได้มาแต่ไหน พระมุนีเล่าว่า ในไตรดายุคพระมุนีได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าใหญ่แห่ง ๑ ยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์ แต่หามนุษและสัตว์มิได้เลย วัน ๑ พระฤษีไปถึงสระใหญ่ในกลางป่า มีกุฏิอยู่ริมสระ พระอคัสตย์เข้าไปอาไศรยอยู่ในอาศรมนั้นคืน ๑ รุ่งขึ้นจะไปสรงในสระ พบศพลอยอยู่และอีกครู่ ๑ เห็นเทพบุตรขี่รถลงมายังขอบสระ ลากศพนั้นมากินเนื้อจนอิ่มแล้ว ก็ลงอาบน้ำชำระกาย พระมุนีจึ่งถามเทพบุตรว่าเหตุใดจึ่งประพฤติเช่นนั้น เทพบุตรตอบว่าตนชื่อเศ๎วต เปนลูกท้าวสุเทพ ราชาครองนครวิทรรภ เมื่อท้าวสุเทพสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวเศ๎วตขึ้นทรงราชย์ มีโหรทำนายว่าพระชัณษาถึงฆาฏ จึ่งมอบราชสมบัติให้แด่พระอนุชา แล้วออกไปผนวชในป่า อยู่กุฎีที่ริมสระนั้นเอง จนสิ้นพระชนม์ไปสู่เทวโลก แต่แม้ไปเทวโลกแล้วก็ยังไม่พ้นความหิว จึ่งไปทูลถามพระพรหมา ๆ ตรัสว่าทั้งนี้เปนเพราะท้าวเศ๎วตมัวแต่บำเพ็ญทางทรมานร่างกาย ลืมบำเพ็ญทานบารมีจึ่งไม่อิ่มทิพย์เหมือนเทพบุตรอื่นๆ แล้วพระพรหมาตรัสว่า พระเศ๎วตเทพบุตรจะต้องกินเนื้อตนเองต่อไป จนกว่าจะได้พบพระพรหมฤษีอคัสตย์จึ่งจะพ้นทุกข์ พอเล่าเรื่องของตนแล้ว พระเศ๎วตเทพบุตรก็เปลื้องอาภรณให้เปนทักษิณาแด่พระอคัสตย์​ พอพระมุนีรับทักษิณานั้น พระเศ๎วตเทพบุตรก็สิ้นกรรมได้ไปเทวโลกโดยผาศุก ณบัดนี้พระอคัสตย์เองจึ่งขอให้พระรามรับทักษิณาจากมือตนบ้าง เพื่อตัวพระมุนีเองจะได้ไม่ต้องทนทุกข์อย่างท้าวเศ๎วต [เรื่องนี้สำหรับแสดงโทษแห่งการไม่ให้ทาน]

              (๒) ตำนานท้าวทัณฑราชและป่าทัณฑก - พระรามถามว่าป่าใหญ่ที่พระมุนีได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องท้าวเศ๎วตนั้น เหตุใดจึ่งหามนุษและสัตว์อยู่ในนั้นมิได้ พระมุนีจึ่งเล่าเรื่องว่า ในกฤดายุค พระมนูประชาบดี มีโอรสทรงนามว่าอิกษวากุ พระมนูมอบให้ท้าวอิกษวากุเปนนฤบดี แล้วก็ขึ้นไปยังพรหมโลก ท้าวอิกษวากุมีความเพียรมาก ทำพิธีพลีกรรมต่างๆ จนได้โอรสร้อยองค์​ องค์สุดท้องมีสติปัญญาอ่อน และไม่เคารพนับถือพี่ พระมนูจึ่งต้องลงโทษ และให้นามว่า ทัณฑกุมาร ครั้นถึงเวลาจะแบ่งเขตรแดนให้โอรส ท้าวอิกษวากุจึ่งยกพื้นแผ่นดินระหว่างเขาวินธัยกับเขาไศพลให้พระทัณฑกุมารครอง ท้าวทัณฑราชก็สร้างนครเปนที่สำนักชื่อนครมธุมนต์ และตั้งพระศุกรเทพมุนีเปนปุโรหิตเปนที่สำราญสืบมา จนอยู่มาวัน ๑ ในฤดูวสันต์เดือนเจตรมาศ ท้าวทัณฑราชไปยังอาศรมพระศุกร ได้พบนางอรชาผู้เปนธิดามีความรักใคร่ เข้าเกี้ยวพาลเท่าใดนางก็ไม่ปลงใจ ท้าวทัณฑราชก็ขืนใจนางจนสมปราถนา พระศุกรมีความโกรธยิ่งนัก จึ่งบันดาลให้เปนฝุ่นตกลงมาจากฟากฟ้าถมบรรดามนุษและสัตว์ในอาณาเขตรของท้าวทัณฑราชนั้นหมดภายใน ๗ วัน แต่นั้นมาก็กลายเปนป่า ได้นามปรากฎว่าป่าทัณฑก (จากนามท้าวทัณฑะ) และอีกนัย ๑ เรียกว่าชนะสถาน เพราะเปนที่โยคีได้เคยไปบำเพ็ญพรตอยู่ และป่านี้เองคือป่าที่พระรามได้เดินผ่านไปเมื่อถูกเนรเทศ [เรื่องนี้คล้ายเรื่องราวที่มีอยู่ในหนังสือใบเบ็ล ซึ่งกล่าวว่าพระเปนเจ้ากริ้วชาวเมืองโสดมและเมืองโคโมราห์ ว่าประพฤติลามกต่างๆ ในทางกาม จึ่งบรรดาลให้ฝนตกเปนไฟและกัมถัน ทำลายเมืองทั้ง ๒ นั้นทั้งชาวเมืองหมด คิดๆ ไปก็น่าจะสันนิษฐานว่า เรื่องทั้ง ๒ นี้จะมาจากมูลอันเดียวกัน]

              พระรามได้ฟังเทศนาของพระอคัสตย์แล้ว รุ่งขึ้นก็ลาพระมุนีขึ้นบุษบกลอยกลับสู่พระนครศรีอโยธยา



.ภาคที่ ๑๒ พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร.

             ครั้นเมื่อพระรามกลับจากสำนักพระอคัสตย์มุนีแล้ว จึ่งมีความปราถนาจะใคร่ทำพิธีราชสูยะ (คือพลีกรรมซึ่งพระราชากระทำเพื่อประกาศความเปนใหญ่ของพระองค์ เพราะพญาร้อยเอ็ดต้องมาช่วย) จึ่งปฤกษาพระภรตและพระลักษมณ์ แต่พระภรตไม่เห็นด้วย อธิบายว่าเวลานั้นใครๆ ก็อ่อนน้อมอยู่แล้ว ไม่ควรจะหาเหตุให้เกิดขัดใจกัน พระรามก็ทรงเห็นชอบด้วย พระลักษมณ์จึ่งทูลให้ทำพิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า ซึ่งข้างเราเรียกกันว่า “พิธีปล่อยม้าอุปการ”) อันเปนพิธีสำคัญสำหรับล้างบาป แม้พระอินทรซึ่งได้กระทำร้ายพราหมณ์อันเปนบาปอย่างใหญ่ ก็ล้างบาปได้ด้วยพิธีอัศวเมธ และเพื่อแสดงคุณแห่งพิธีอัศวเมธ พระลักษมณ์กับพระรามต่างเล่านิทานองค์ละเรื่องดังต่อไปนี้

              (๑) เรื่องพระอินทรกับพฤตาสูร (พระลักษมณ์เปนผู้เล่า):-

              ยังมีพญายักษ์ตน ๑ นามว่าพฤตาสูร เปนผู้ได้บำเพ็ญตะบะช้านาน จนได้เปนใหญ่ครองพิภพทั่วไป บรรดาชนและสัตว์ในโลกได้รับความร่มเย็น แต่ท้าวพฤตาสูรนั้นยังไม่พอใจ อยากจะใคร่บำเพ็ญบารมีต่อไปอีก จึ่งมอบราชสมบัติให้โอรสครองต่อไป แล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พระอินทรมีความวิตกว่าท้าวพฤตาสูรจะได้เปนใหญ่เหนือเทวดาต่อไป จึ่งไปเฝ้าพระนารายน์ ขอให้ทรงสังหารพฤตาสูร แต่พระนารายน์ตรัสว่า พฤตาสูรเปนผู้ที่ได้บูชาพระองค์แล้วจะทรงสังหารมิได้ แต่ยอมแบ่งกำลังของพระองค์ให้พระอินทรไป พระอินทรก็ไปฆ่าท้าวพฤตาสูรตายด้วยวัชระ แล้วพระอินทรจึ่งรู้ตัวว่า การที่ฆ่าพฤตาสูรตายนั้น เปนบาปใหญ่เหมือนฆ่าพราหมณ์ เพราะพฤตาสูรได้ผนวชเปนโยคีอยู่ พระอินทรจึ่งออกไปนอกเขาจักรวาฬ และเมื่อพระอินทรทิ้งโลกไปฉนั้น ทั่วพิภพก็เดือดร้อน  เพราะฝนก็ไม่ตก น้ำก็ไม่ไหล ทวยเทพจึ่งพากันไปทูลร้องทุกข์ต่อพระนารายน์ ๆ ตรัสว่าให้พระอินทรทำพิธีอัศวเมธพลีพระองค์ก็จะล้างบาปได้ เทวดาก็พากันไปยังที่พระอินทรอยู่ณนอกเขาจักรวาฬจัดตั้งพิธีอัศวเมธขึ้น ครั้นเสร็จพิธีบาปก็ออกมาจากพระอินทรและนางปาปา (คือตัวบาป) จึ่งถามมุนีและทวยเทพที่ชุมนุมอยู่นั้นว่าจะให้ไปไหนต่อไป ทวยเทพตอบว่าให้แบ่งภาคเปน ​๔ นางปาปาจึ่งตอบว่าจะทำตามเทวดาปราถนา ภาคที่ ๑ จะสิงอยู่ในลำน้ำเมื่อฤดูฝนและทำให้น้ำท่วม ภาคที่ ๒ จะสิงอยู่ในแผ่นดินเปนที่ดินเค็ม ภาคที่ ๓ “จะเข้าสิงในหญิงสาวมีกำหนด ๓ คืนทุกๆ เดือน เพื่อบุรุษจะได้นอนกับนางไม่ได้” (แปลความว่ามีฤดู) และภาคที่ ๔ จะเข้าสิงบุคคลที่ฆ่าพราหมณ์อันหาผิดมิได้ ว่าแล้วนางปาปาก็หายไป พระอินทรก็ได้กลับไปเปนใหญ่ในดาวดึงษ์อย่างเดิม

              (๒) เรื่องท้าวอิลราชและนางอิลา (พระรามเปนผู้เล่า):-

              ในนครพลหิกา (แคว้นพลหิ) มีพญามหากษัตร์องค์ ๑ ทรงนามว่าท้าวอิลราช เปนโอรสพระกรรทมประชาบดีพรหมบุตร เปนผู้ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ครอบครองประชาชนด้วยเมตตาประหนึ่งเปนบุตรของพระองค์ ทรงเดชานุภาพปราบได้ทั่วไป อยู่มาวัน ๑ ในฤดูวสันต์ ท้าวอิลราชได้เสด็จไปไล่เนื้อเล่นในป่า จนไปถึงตำบลซึ่งเปนที่กำเหนิดแห่งพระขันทกุมาร ในเวลานั้นพระอิศวรกำลังทรงสำราญอยู่ที่ในที่ระโหฐานณเชิงเขาไกรลาศ และได้ทรงจำแลงเปนสัตรีเพื่อล้อพระอุมาเล่น และบรรดาสัตว์และต้นไม้ก็กลายเปนเพศหญิงไปหมด ท้าวอิลราชกับบริวารเดินล่วงที่ระโหฐานนั้นเข้าไป ก็กลายเปนสัตรีไปหมด ท้าวอิลราชตกพระไทยจึ่งไปเฝ้าพระอิศวรทูลขออภัย ขอให้ได้กลับเปนชายอย่างเดิม พระอิศวรก็ไม่โปรดประทานพร แต่พระอุมาตรัสว่าจะยอมประทานพรกึ่ง ๑ ท้าวอิลราชจึ่งทูลขอว่า ในเดือน ๑ ขอให้เปนสัตรีอันมีรูปงามหานางใดเสมอเหมือนมิได้ แล้วให้เปนบุรุษอีกเดือน ๑ สลับกันไป พระอุมาก็โปรดประทานพรตามปราถนา และตรัสด้วยว่าเมื่อใดกลับเพศเปนชายให้ลืมเหตุการณทั้งปวงที่ได้เปนไปในเวลาเปนสัตรี และเมื่อกลายเปนสัตรีก็ให้ลืมเวลาที่เปนบุรุษ แต่นั้นมาราชานั้นก็เปนบุรุษชื่อท้าวอิลราชเดือน ๑ และกลายเปนนางอิลาเดือน ๑ สลับกันอยู่ฉนั้น

              ในเดือนต้น ระหว่างที่เปนสัตรีอยู่นั้น นางอิลากับบริวารซึ่งเปนบุรุษกลายเปนสัตรีไปหมดนั้น พากันเที่ยวเล่นในป่าตามวิไสยสัตรี วัน ๑ นางอิลาพบพระพุธ ซึ่งกำลังบำเพ็ญพรตสมาธิอยู่ในสระอัน ๑ นางอิลากับบริวารพากันวักน้ำจ๋อมแจ๋ม พระพุธลืมเนตรขึ้นเห็นนางอิลาก็มีความรัก จึ่งขึ้นมาจากสระชวนนางไปยังอาศรม ไล่เลียงดูว่าเปนลูกเต้าเหล่าใคร แต่ตัวนางอิลาก็บอกไม่ถูก เพราะตามพรพระอุมา นางลืมเรื่องราวของตนในส่วนที่เปนบุรุษนั้นหมด และนางบริวารก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน พระพุธจึ่งเล็งดูด้วยญาณทราบเหตุทุกประการแล้ว จึ่งตรัสแก่นางบริวารว่า “เจ้าทั้งหลายจงเปนกินนรีและอาไศรยอยู่ในเขานี้เถิด กูจะหามูลผลาหารให้กินมิให้อดอยาก และกูจะหากิมบุรุษให้เปนสามีเจ้าทั้งหลาย” [“กิมบุรุษ” หรือ “กินนร” มาจากมูลเดียวกัน คือ “กึ” แปลว่า “อะไร” เพราะฉนั้นคำว่า “กิมบุรุษ” ก็แปลว่า “ชายอะไร” และ “กินนร” แปลว่า “คนอะไร” ถ้าเปนอิถีลึงค์ก็เรียกว่า “กินนรี”]

              ครั้นเมื่อพระพุธได้เห็นพวกกินนรีไปพ้นแล้ว จึ่งตรัสชวนนางอิลาให้อยู่ด้วยกับพระองค์ เปนชายาสืบไป จนครบกำหนดเดือน ๑ นางอิลาก็กลายรูปเปนท้าวอิลราชไป ท้าวอิลราชถามพระพุธว่า บริวารหายไปไหนหมด พระพุธก็ตอบว่าได้บังเกิดเหตุร้าย มีสิลาทลายลงมาทับพวกบริวารของท้าวอิลราชตายเสียหมดแล้ว แต่ส่วนตัวท้าวอิลราชรอดตายเพราะได้เข้าอาไศรยอยู่ในอาศรมของพระพุธ [ตามพรของพระอุมา ท้าวอิลราชเมื่อกลายรูปเปนบุรุษอย่างเดิมแล้ว ก็ลืมบรรดาเหตุการณที่ได้เปนไปในขณเมื่อเปนสัตรี เพราะฉนั้นก็จำไม่ได้ว่าทั้งตัวเองและบริวารได้กลายเปนสัตรีไป ส่วนท้าวอิลราชเองนั้นมีเวลากลับคืนรูปเปนบุรุษได้ แต่บริวารมิได้รับพรเช่นนั้น จึ่งยังคงเปนสัตรีอยู่ตลอดเวลา พระพุธไม่อยากให้ท้าวอิลราชมีความโทมนัศ จึ่งต้องกล่าวหลอกว่าบริวารตายเสียหมดแล้ว] ฝ่ายท้าวอิลราชครั้นได้ยินว่าบริวารตายหมดแล้ว ก็มีความเศร้าโศก และทูลพระพุธว่า จะยกราชสมบัติให้โอรสครองต่อไป แล้วและเข้าสู่ป่าเปนโยคี พระพุธก็ชวนไว้ให้อยู่ด้วยกัน ท้าวอิลราชจึ่งตกลงอยู่ที่อาศรมพระพุธ บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ตลอดเดือน ๑ แล้วก็กลับเพศเปนสัตรี และปฏิบัติพระพุธผู้เปนสามีไปอีกเดือน ๑ กลับไปกลับมาเช่นนี้ต่อไป จนถ้วนนพมาศ นางอิลาก็ประสูตร์กุมารองค์ ๑ ซึ่งพระพุธให้นามว่าพระปุรูรพ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2563 19:11:32 »


.ภาคที่ ๑๒ พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร (ต่อ).

              ครั้นเมื่อท้าวอิลราชได้คืนรูปเปนบุรุษอีกแล้ว พระพุธจึ่งคำนึงถึงประโยชน์แห่งท้าวอิลราช เชิญพระมหาฤษีผู้มีชื่อมาหลายตน เพื่อปฤกษากันคิดหาทางที่จะแก้ไขให้ท้าวอิลราชได้คงเปนบุรุษอยู่ตลอดเวลา ขณที่ชุมนุมกันอยู่นั้น พระมหามุนีกรรทมพรหมบุตร ผู้เปนพระบิดาแห่งท้าวอิลราช ได้มายังอาศรมพระพุธพร้อมด้วยพระมุนีอื่นๆ อีก พระกรรทมทราบเรื่องราวแล้วก็กล่าวว่า มีทางแก้ได้แต่โดยอาไศรยอานุภาพพระอิศวรเท่านั้น ควรให้ทำพิธีอัศวเมธบูชาพระอิศวร จึ่งตกลงกันตั้งพิธีอัศวเมธ พระอิศวรพอพระไทยก็เสด็จลงมาประสาทพรให้ท้าวอิลราชได้เปนบุรุษอยู่ต่อไปไม่ต้องกลับเปนสัตรีอีก

              ฝ่ายท้าวอิลราชกลับเข้าสู่นครพลหิกา อภิเษกพระสสพินทุให้ทรงราชย์ในนครนั้น แล้วก็ไปสร้างนครใหม่ เรียกว่าประดิษฐานให้เปนที่สถิตย์พระปุรูรพโอรสพระพุธนั้นสืบไป [ท้าวปุรุรพนี้ เปนปฐมชนกแห่งกษัตร์จันทรวงศ์ ซึ่งครองนครประดิษฐานและหัสดินสืบมา และมีเรื่องราวกล่าวถึงในมหาภารต กับเปนตัว “พระเอก”ในเรื่องลครสังสกฤตของกาลิทาสรัตนกะวี ชื่อเรื่อง “วิก๎รโมร๎วสี”]

              ครั้นเมื่อพระลักษมณ์และพระรามเล่าเรื่องแสดงคุณแห่งพิธีอัศวเมธจบแล้ว พระรามก็ตรัสให้เตรียมการพิธีอัศวเมธ ให้นิมนต์พระวสิษฐ ๑ พระวามเทพ ๑ พระชวาลี ๑ พระกาศยป ๑ มาเปนผู้ทำพิธี กับให้ส่งทูตไปเชิญราชาสุครีพกับราชาพิเภษณ์มาช่วยงานด้วย กับให้บอกกล่าวไปยังกษัตร์ครองนครใกล้เคียงให้ทราบ และให้ประกาศเชิญฤษีชีพ่อพราหมณ์ที่อยู่ในชนบทใกล้เคียง ทั้งให้ประกาศหานักรำและนักร้องมาด้วย ส่วนมณฑลพิธีนั้นให้ตั้งริมฝั่งน้ำโคมะดีในป่าไนมิษวัน กับทั้งให้สั่งตั้งพิธีศานติกร (ขอความสงบราบคาบ) ทั่วราชอาณาจักรพร้อมกันด้วย เหล่านี้เปนน่าที่พระลักษมณ์ ส่วนพระภรตนั้นตรัสมอบให้เปนน่าที่จัดหาของเครื่องใช้ในพลีกรรม มีพืชน์พรรณต่างๆ เกลือ น้ำมัน เนย และทองเงินสำหรับใช้เปนทักษิณา ให้จัดหาพ่อค้าตั้งตลาดร้านรวงตามทางที่จะไปยังที่ทำพิธีกับให้พระภรตเปนผู้นำบรรดาผู้ที่จะไปในงานนั้นไปยังที่ตั้งพิธีก่อน กับให้เปนผู้เชิญรูปนางสีดาซึ่งหล่อด้วยทองไปเตรียมไว้สำหรับเข้าพิธีกับพระรามด้วย [ตามลัทธิไสยศาสตร์ผู้ที่เปน “ยัชมาน” คือเจ้าของพิธีหรือผู้เปนตัวการทำยัญกรรม ต้องมี “ปัตนี” คือ “แม่เรือน” ไปเข้าพิธีด้วย แต่พระรามได้เนรเทศนางสีดาไปเสียแล้ว จึ่งต้องใช้รูปนางสีดาเปน “ปัตนี” แทนตัวนาง] ฝ่ายสุครีพและพิเภษณ์เมื่อมาถึงแล้วก็ได้รับแบ่งน่าที่ คือสุครีพกับพวกวานรเปนผู้ปฏิบัติพราหมณ์ (คฤหัสถ์) พิเภษณ์กับพวกยักษ์เปนผู้ปฏิบัติฤษี (บรรพชิต)

              ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี พระรามก็ปล่อยม้าสำคัญอันมีสีดำและมีขวัญเปนมงคล (คือ “ม้าอุปการ”) ให้พระลักษมณ์คุมโยธาทัพกำกับไป แล้วองค์พระรามก็เสด็จไปยังที่ทำพิธี

              [ในที่นี้ขอแซกคำอธิบายว่า ม้าที่จะบูชายัญในพิธีอัศวเมธนั้น มักปล่อยให้ไปในประเทศต่างๆ และมักมีกษัตร์ที่เปนพระญาติสนิทของพระราชาผู้ปล่อยม้านั้น ยกพลกำกับม้าไปด้วย เมื่อม้าไปถึงแคว้นใด ถ้าผู้ปกครองแคว้นนั้นปราถนาจะแสดงความไมตรีหรืออ่อนน้อม ก็จัดการต้อนรับม้านั้นอย่างดี และจัดกระบวนแห่ไปส่งจนพ้นเขตรแด่น แต่ถ้าผู้ปกครองแคว้นใดไม่ต้อนรับม้าตามสมควร ผู้กำกับม้าไปนั้นก็ต้องรบ เมื่อประเพณีมีอยู่เช่นนี้ จึ่งเห็นได้ว่ากษัตร์ผู้ที่จะทำพิธีอัศวเมธได้ ก็ต้องเปนผู้ที่มีเดชานุภาพเปนที่ยำเกรงแห่งกษัตร์ในประเทศใกล้เคียง เพราะการที่ปล่อยม้าไปก็เท่ากับไปทดลองความไมตรีแห่งนานาประเทศ แต่พิธีอัศวเมธยังค่อยทุเลากว่าพิธีราชสูยะ เพราะการทำพิธีราชสูยะนั้น เพื่อแสดงตนเปนราชาธิราช และกษัตร์เมืองใกล้เคียงต้องมาช่วยงานเพื่อแสดงความอ่อนน้อม ถ้าใครไม่มาก็หาว่าแขงเมือง ต้องยกทัพไปทำสงครามปราบปรามเปนการใหญ่ เพราะฉนั้นเมื่อพระรามคิดจะทำพิธีราชสยะ พระภรตจึ่งทูลขอให้งดไว้ และพระรามก็ตกลงทำแต่พิธีอัศวเมธซึ่งนับว่าค่อยยังชั่ว เพราะไม่ต้องบังคับให้เพื่อนบ้านมาอ่อนน้อม เปนแต่เพียงให้แสดงไมตรีจิตร โดยต้อนรับม้าอุปการโดยดีเท่านัน ม้านั้นมักปล่อยไปมีกำหนด ๑ ปี ในระหว่างนั้นมีพิธีพลีกรรมประจำวันทุกวัน และฤษีชีพราหมณ์ใครมาก็ได้รับภัตตาหารและทักษิณาตามควรแก่คุณานุรูปทั่วกัน จนเมื่อครบขวบปีแล้ว ผู้กำกับม้านำม้ากลับคืนมา จึ่งฆ่าม้านั้นบูชายัญ เปนเสร็จกิจพิธีอัศวเมธ]

              ฝ่ายพระวาลมีกิมุนีได้ทราบข่าวพิธีอัศวเมธของพระราม ก็มาสู่ที่ตั้งพิธีพร้อมด้วยสานุศิษย์ และพระกุศกับพระลพก็มาด้วย พระมุนีสั่งพระกุศและพระลพให้ไปสวดรามายณให้พวกที่มาในงานนั้นฟัง แต่ห้ามมิให้รับทรัพย์สินอันใดเปนรางวัล พระกุมารทั้ง ๒ ก็เข้าไปยังที่ชุมนุม และสวดรามายณ จนพระรามได้ยินจึ่งตรัสให้หาไปร้องน่าที่นั่ง พระรามได้ทรงฟังแล้วก็เข้าพระไทยว่าพระกุมารทั้ง ๒ นั้น มิใช่ผู้อื่น คือพระโอรสของพระองค์เองซึ่งเกิดแต่นางสีดา จึ่งตรัสให้ราชบุรุษไปหาพระวาลมีกิมุนีและบอกว่า ถ้าแม้นางสีดาหาบาปมิได้และเปนผู้บริสุทธิ์จริง ก็ขอให้นางมาแสดงความบริสุทธิ์ให้ประจักษ์ในท่ามกลางชุมนุมกษัตร์และพราหมณ์ที่มาในงานพิธี พระวาลมีกิก็รับว่าจะพานางสีดามาตามที่พระรามทรงพระประสงค์

              รุ่งขึ้นพระวาลมีกิก็พานางสีดาเข้าไปยังที่ชุมนุมตามที่นัดกันไว้ และพระมุนีนั้นแสดงความเชื่อถือแน่นอนในความบริสุทธิ์ของนางสีดา แต่พระรามก็ยังยืนยันขอให้นางแสดงความบริสุทธิ์เพื่อให้ปรากฎชัดแก่ผู้ที่มาชุมนุมอยู่ นางสีดาจึ่งกล่าวคำปฏิญาณว่า นางยังมิได้เคยเลยที่จะนึกถึงผู้ใดนอกจากพระราม ด้วยอำนาจความสัตย์อันนั้น ขอให้แม่พระวสุนธรารับนางไปเถิด ทันใดนั้นก็มีบัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้แผ่นดิน นางเทวีวสุนธรากํบรับนางสีดาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ และบัลลังก์นั้นก็จมลงไปในแผ่นดิน แลเห็นเปนมหัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างคนก็ต่างพากันสรรเสริญนางสีดา ฝ่ายพระรามนั้นทรงเศร้าโศกถึงนางสีดายิ่งนัก แต่นั้นมาก็มิได้มีมเหษีอีกเลย ตั้งพระไทยมุ่งอยู่แต่ในทางปกครอง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเปนศุขทั่วกัน

              [เรื่องพระรามพบกับพระกุศพระลพนั้น ตามฉบับอุตตรนิการมีอยู่อย่างที่ได้เล่ามาข้างบนนี้ แต่ฉบับองคนิกายมีข้อความเหมือนในท้ายรามเกียรติ์ของเรา คือเมื่อปล่อยม้าอุปการไป พระศัตรุฆน์เปนผู้กำกับม้าไป พระกุศพระลพจับม้านั้นขี่ พระศัตรุฆน์จะจับตัว พระกุศก็กลับต่อสู้และทำร้ายพระศัตรุฆน์เจ็บไป พระลักษมณ์ออกไปก็ไปแพ้หลานอีก พระภรตกับหนุมานออกไปก็แพ้อีก ในที่สุดพระรามเสด็จออกไปเอง แต่ศิลป์ศรไม่กินกัน จึ่งรู้ว่าเปนพ่อลูกกัน ต่อนี้ไปก็กล่าวว่าพระวาลมีกิจัดการไกล่เกลี่ยให้พระรามกับนางสีดาดีกัน พากันกลับเข้าไปอยู่ในกรุงอโยธยาโดยผาศุก ซึ่งเพี้ยนไปอีก ไม่มีกล่าวถึงนางสีดาแซกแผ่นดินเลย ส่วนเรื่องพระรามเข้าโกษฐไม่พบแห่งใดเลย]



.ภาคที่ ๑๓ ศึกพระภรต และจัดตั้งเมืองให้หลานหลวง.

              อยู่มาวัน ๑ ท้าวยุธาชิต (ลูกท้าวอัศวบดี) ผู้ครองนครเกกัย ให้พระครรคยะมุนี ผู้เปนลูกพระอังคีรสมุนีปุโรหิตแห่งท้าวยุธาชิต มาเฝ้าพระรามเพื่อทูลว่า ในปัญจนัทยเทศมีคนธรรพร้ายกาจอยู่พวก ๑ ซึ่งมีจำนวนตั้งสามโกฏิ ได้มารบกวนแคว้นเกกัยอยู่เนืองๆ จึ่งขอให้พระบารมีพระรามเปนที่พึ่ง ช่วยทรงปราบคนธรรพเหล่านั้น พระรามจึ่งตรัสใช้ให้พระภรตยกทัพไป พร้อมด้วยพระตักษ์และพระบุษกรผู้เปนโอรสพระภรต และตรัสสั่งว่า เมื่อรบชนะแล้ว ให้แบ่งเมืองให้พระตักษ์กับพระบุษกรครององค์ละกึ่ง

              พระภรตกับโอรสทั้ง ๒ ก็ยกไป สมทบกับทัพท้าวยุธาชิตแล้วไปปราบคนธรรพสำเร็จ พระภรตจึ่งจัดแบ่งปัญจนัทยเทศ (คือที่อังกฤษเรียกว่า “The Punjaub”) เปน ๒ ภาค สร้างนครหลวงชื่อตักษะศีลา (ตักกะสิลา) เปนที่สถิตย์พระตักษ์ และสร้างนครหลวงชื่อบุษกรวดีเปนที่สถิตย์พระบุษกร พระภรตอยู่ดูแลวางการปกครองอยู่ ๕ ปี แล้วจึ่งกลับไปกรุงศรีอโยธยา

              พระรามจึ่งทรงปรารภถึงพระองคทและพระจันทรเกตุ ผู้เปนโอรสพระลักษมณ์ อยากจะใคร่จัดหานครให้ครองบ้าง พระภรตทูลว่าประเทศกะรุบทเปนทำเลดี ควรสร้างนครให้พระองคทที่นั้น และส่วนพระจันทรเกตุนั้น เห็นควรให้ไปสร้างนครอยู่ในมลัยเทศ​ [คือที่อังกฤษเรียกว่า “Malabar”] พระรามทรงเห็นชอบด้วยแล้ว พระภรตก็ไปปราบคนป่าในประเทศกะรุบทจนราบคาบแล้ว ก็สร้างนครอางคทีให้เปนที่สถิตย์พระองคท และสร้างนครจันทรกานตีให้เปนที่สถิตย์พระจันทรเกตุ พระรามจึ่งอภิเษกพระหลานทั้ง ๒ องค์ ​แล้วให้พระลักษมณ์พาพระองคทไปยังนครอางคที ที่อยู่ริมเขาหิมพาน และพระภรตพาพระจันทรเกตุไปยังนครจันทรกานตีในมลัยเทศ พระภรตและพระลักษมณ์อยู่ช่วยดูแลการปกครอง ๑ ปี แล้วก็กลับคืนไปยังพระนครศรีอโยธยา

              [เรื่องรบคนธรรพในรามเกียรติ์ของเรามี แต่อุปาทานยึดอยู่มั่นว่า บรรดามนุษเปนต้องรบยักษ์ เพราะฉนั้นจึ่งเรียกพญาคนธรรพว่า “ท้าวคนธรรพยักษา” และมีคลาดเคลื่อนอีก คือกล่าวว่าใช้ให้พระมงกุฎกับพระลพยกทัพไปรบ และพระภรตพระศัตรุฆน์กำกับไป ที่ผิดเช่นนี้แปลว่าไม่รู้จักลูกพระภรตทั้ง ๒ องค์ รู้แต่ว่าใช้กุมารไปรบก็เกณฑ์ให้เปนพระกุศและพระลพทั้งศึกนั้น เมื่อเสร็จแล้วพระมงกุฎรับท้าว “ไกยเกษ” เข้าเมืองแล้วก็เสร็จ ไม่มีเรื่องสร้างเมืองใหม่เลย ส่วนเรื่องที่สร้างเมืองให้ลูกพระลักษมณ์ไม่มี]



.ภาคที่ ๑๔ เนรเทศพระลักษมณ์ และพระลักษมณ์ไปสวรรค์.

              ครั้นอยู่มาอีกนาน พระกาลแปลงเปนฤษีมาเฝ้าพระราม ทูลพระรามว่าถึงเวลาอันควรแล้วที่พระองค์จะละโลกไปสู่สวรรค์​ขอเชิญให้เสด็จกลับขึ้นไปเปนใหญ่เหนือเทวดาตามเดิม พระรามก็ทรงรับเชิญ

              อนึ่งเมื่อพระกาลมานั้น ได้ทูลพระรามว่าขอเฝ้าในที่ระโหฐาน พระรามจึ่งได้ตรัสสั่งพระลักษมณ์ไว้ให้เฝ้าประตู และห้ามเปนอันขาดมิให้ผู้ใดเข้าไปเฝ้าในขณเมื่อกำลังตรัสกับพระกาลยังไม่เสร็จ แต่พะเอินในระหว่างเวลาที่ตรัสอยู่กับพระกาลนั้น พระฤษีทุรวาสได้มาถึงที่ปราสาท  จะขอเฝ้าพระรามให้จงได้ ถ้าไม่ให้เฝ้าจะแช่งทั้งพระรามและพระญาติวงษ์ ตลอดทั้งอำมาตย์มนตรีและประชาชน พระลักษมณ์เห็นว่ายอมตายแต่ผู้เดียวดีกว่า จึ่งเข้าไปเฝ้าทูลว่าพระมุนีมา พระรามก็เสด็จออกมาต้อนรับ และจัดภัตตาหารให้ฉันเปนที่อิ่มหนำสำราญ ครั้นเมื่อพระฤษีทุรวาสไปแล้ว พระลักษมณ์เห็นพระรามไม่ทรงสบาย ก็เข้าใจว่าจะเปนเพราะทรงรำฦกถึงพระดำรัสของพระองค์ ซึ่งจะเอาโทษผู้ที่บังอาจเข้าไปเฝ้าในขณที่พระกาลยังเฝ้าอยู่ และคงจะไม่ทรงสบายเพราะพระลักษมณ์ได้เปนผู้ละเมิดพระราชอาญาเช่นนั้น พระลักษมณ์จึ่งทูลว่า ขอให้พระรามทรงประหารชีวิตรเสียตามที่ตรัสไว้เถิด เพราะควรจะทรงดำรงสัตยวาทีไว้ดีกว่า แต่พระรามมีความอึดอัดพระไทย เพราะความเสนหาในพระอนุชา จึ่งตรัสให้ไปนิมนต์พระวสิษฐและฤษีอื่นๆ มาปฤกษา พระวสิษฐก็ทูลว่า ได้ลั่นพระวาจาแล้วจะคืนคำมิได้ พระรามจึ่งตรัสว่า พี่ตัดน้องและเนรเทศไปก็เท่ากับฆ่า เพราะฉนั้นให้พระลักษมณ์ไปเสียเถิด

              พระลักษมณ์ถูกเนรเทศแล้ว ก็ตรงออกไปยังฝั่งน้ำสรยุบำเพ็ญอนาปานุสติ กลั้นลมหายใจ จนร้อนถึงพระอินทร จึ่งลงมารับพระลักษมณ์ขึ้นไปสู่สวรรค์

[เรื่องนี้ไม่มีในรามเกียรติ์ของเรา]


.ภาคที่ ๑๕ พระรามและบริวารขึ้นสวรรค์.

              เมื่อเนรเทศพระลักษมณ์ไปแล้ว พระรามก็ปรารภว่า จะอภิเษกพระภรตให้ทรงราชย์ในกรุงศรีอโยธยา แล้วก็จะเสด็จสวรรคต แต่พระภรตไม่ยอมทรงราชย์ จะขอตามเสด็จไป และทูลว่าให้ทรงแบ่งพระนครเปน ๒ ภาค ให้พระกุศครองโกศล ให้พระลพครองอุตตรโกศล และขอให้ตรัสใช้ทูตไปบอกพระศัตรุฆน์ให้ทราบข่าวด้วย ฝ่ายมุขมนตรีและประชาชนชาวพระนคร ได้ทราบข่าวว่าพระรามเตรียมพระองค์จะเสด็จสวรรคต ก็พากันมากราบทูลวิงวอนขอตามเสด็จไป พระรามก็ทรงอนุญาต

              จึ่งทรงจัดตั้งพิธีอภิเษกพระกุศให้ครองแคว้นโกศล สร้างนครหลวงใหม่ให้นามว่ากุศาวดีที่ริมเขาวินธัย (ส่วนกรุงศรีอโยธยานั้นทิ้งร้าง) อภิเษกพระลพให้ครองแคว้นอุตตรโกศล สร้างนครหลวงใหม่ให้นามว่า (ศราวัสตีคือสาวัตถี) จัดแบ่งรี้พลและทวยราษฎร์ไปอยู่ตามสมควร แล้วก็ตรัสใช้ทูตให้ไปเฝ้าพระศัตรุฆน์ที่นครมถุรา

              ฝ่ายพระศัตรุฆน์เมื่อได้แจ้งเหตุ จึ่งจัดอภิเษกพระสุวาหุราชกุมารองค์ใหญ่ของพระองค์ให้ดำรงนครมถุรา และอภิเษกพระศัตรุฆาฏิราชกุมารองค์น้อยให้ครองนครวิทิษ แล้วพระศัตรุฆน์ก็เสด็จไปเฝ้าพระรามที่กรุงศรีอโยธยา

              ฝ่ายราชาสุครีพได้ทราบข่าว ก็อภิเษกองคทให้ดำรงนครกีษกินธ์ แล้วไปเฝ้าพระรามพร้อมด้วยท้าวพญาวานร พร้อมกันขอตามเสด็จ พระรามก็โปรดอนุญาต ราชาพิเภษณ์ได้ทราบข่าวก็ไปเฝ้าเหมือนกัน แต่พระรามตรัสว่าให้อยู่ครองทวีปลงกาสืบไป และประทานพรว่า ถ้าตราบใดยังไม่สิ้นสูรย์จันทร์และปัถพี และเรื่องรามายณยังคงอยู่ ก็ให้ลงกาคงอยู่ตราบนั้น ฝ่ายหนุมานพระรามตรัสว่า ให้มีชีวิตรอยู่ชั่วกัลปาวสาน และถ้าตราบใดยังมีผู้เล่าเรื่องรามายณอยู่ ก็ขอให้หนุมานมีความศุขตราบนั้น ส่วนพญาชมพูพานกับไมนทะ ทวิวิท และพญาวานรอีก ๕ ตน พระรามตรัสสั่งให้มีชีวิตรไปจนกว่าจะสิ้นกลียุค

              เสร็จสั่งการแล้ว พระรามก็ให้ตั้งขบวนพยุหยาตราดำเนินออกไปยังฝั่งน้ำสรยุ ตั้งการพลีกรรมลาโลก แล้วพระรามก็เตรียมการที่จะลาโลก พระภรต พระศัตรุฆน์และบรรดามนุษ วานร และยักษ์ ก็เตรียมตามเสด็จไป พระพรหมามหาบิดรก็เสด็จลงมารับพระราม พระรามจึ่งเสด็จลงสู่น้ำสรยุพร้อมด้วยพระภรตและพระศัตรุฆน์ทั้งสามองค์ก็เข้ารวมเปนพระวิษณุเปนเจ้าองค์เดียว ฝ่ายวานรก็กลับรูปเข้ารวมในเทวดาที่ได้ให้กำเหนิดนั้นทั่วกัน

              [ตอนท้ายนี้ ผิดกับที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา ซึ่งในตอนจบว่าพระรามกับนางสีดาได้อยู่เย็นเปนศุขในนครศรีอโยธยาสืบไป ที่มีข้อความอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่ตกแต่งขึ้นเองตามใจ ที่จริงมีมูลที่มา ดังจะได้อธิบายต่อไปข้างน่า]

              วรรคที่สุดแห่งอุตตรกัณฑ์ มีแสดงคุณวิเศษแห่งหนังสือรามายณ คล้ายวรรคที่สุดแห่งยุทธกัณฑ์ มีกำหนดว่ารามายณนี้ให้ใช้สวดในพิธีศราทธพรต เพื่อล้างบาปของผู้ตาย ส่วนคุณที่มีแก่มนุษนั้น บรรยายไว้อย่างพิศดาร คือ “อ่านแม้แต่โศลกเดียว ผู้ที่ไม่มีลูกก็จะได้ลูก ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ก็จะได้ทรัพย์ และพ้นบาปกรรมบรรดาที่ได้ทำมาแล้วทุกๆ วัน” มีกำหนดว่า ผู้ที่สวดรามายณนี้ ควรได้รับเสื้อผ้า โค และทองเปนทักษิณา กับมีแสดงผลที่ผู้อ่านรามายณจะได้รับ คือประการ ๑ “จะบันดาลให้มีอายุยืน เปนที่นับถือในโลกนี้และโลกน่า ตลอดถึงลูกหลาน” อีกประการ ๑ ว่า “ผู้ใดอ่านในเวลาเช้าก็ดี กลางวันก็ดี เย็นก็ดี จะหาความเหน็จเหนื่อยมิได้”

              ในที่สุดจึ่งไปมีข้อความแถมไว้ว่า กรุงศรีอโยธยานั้น เปนเมืองร้างอยู่ช้านาน จนเมื่อรัชสมัยแห่งท้าวฤษภ จึ่งได้มีคนไปอยู่ใหม่

              อุตตรกัณฑ์นี้ ที่จริงไม่ใช่กัณฑ์ยาว แต่มีข้อความเปนเรื่องราวเบ็ดเตล็ดอยู่มาก จึ่งย่อให้สั้นลงไม่ใคร่ได้


ต่อไป  รามายณฉบับฮินดี...โปรดติดตาม

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 27 สิงหาคม 2563 12:59:04 »



บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์

รามายณฉบับฮินดี

นอกจากรามายณฉบับสังสกฤตนั้น ยังมีฉบับฮินดี คือแต่งเปนภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในเบ็งคอลทุกวันนี้ ผู้แต่งเปนมุนีชื่อตุลสีทาส ซึ่งเรียกว่า “พระวาลมีกิแห่งกลียุค” เพราะเปนผู้ที่ได้แต่งรามายณของพระวาลมีกินั้นขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาสังสกฤตได้มีโอกาศรับผลส่วนกุศลอันพึงมีแด่ผู้ที่อ่านหรือฟังเรื่องรามยณนั้นบ้าง หนังสือรามยณฉบับฮินดีนี้ มีผู้อ่านแพร่หลายมากในอินเดีย และข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อความบางแห่งซึ่งคล้ายๆ กับที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรา แต่ซึ่งไม่พบในฉบับสังสกฤต มีอยู่หลายแห่ง จึ่งเห็นว่าควรพิจารณาดูว่า เราจะได้เรื่องมาจากหนังสือฉบับฮินดีนี้เพียงใด

แต่ก่อนที่จะแสดงวิจารณในเรื่องหนังสือนั้น ควรแสดงประวัติแห่งตุลสิทาสมุนี ผู้ที่รจนาหนังสือนั้น ดังต่อไปนี้

ตุลสิทาสเปนพราหมณ์เมืองกานยกุพช์ แต่ปีเกิดไม่ปรากฎ ได้ความแต่ว่าได้ลงมือแต่งหนังสือรามายณที่นครอโยธยา เมื่อมาลวะสํวัตได้ ๑๖๓๑ ปี (พุทธศักราช ๒๑๑๘) เปนโยคี โดยมากได้อยู่ที่พาราณสี แต่ได้เคยไปอยู่ที่นครอโยธยาบ้าง ที่เขาจิตรกูฎ (สำนักเดิมของพระวาลมีกิ) บ้าง ที่อัลลาหบาด (คือตำบลประยาค ที่น้ำคงคากับยมนาต่อกัน) บ้าง และที่ตำบลพฤนทาพนบ้าง และตายเมื่อสํวัต ๑๖๘๐ (พุทธศักราช ๒๑๖๗) เรื่องราวที่เล่าถึงพราหมณ์ผู้นี้ มีวิจิตรพิศดารมาก แต่ที่นับว่าเปนเรื่องราวอันดีที่สุดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “ภักตะมาลา” เปนหนังสือฉันท์ภาษาฮินดี กล่าวด้วยมุนีผู้เปนหัวน่าไพษณพนิกาย แต่งเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วประมาณ ๒๐๐๐ ปีเศษ เรื่องราวที่กล่าวมาในภักตะมาลานั้น มีใจความว่า ตุลสิทาสนั้น ภรรยาได้ตักเตือนให้รำฦกถึงพระรามให้มากขึ้นกว่าที่รำฦกอยู่แล้ว ตุลสิทาสจึ่งเอาเพศเปนโยคีเที่ยวจาฤกไป ไปพักอยู่ที่พาราณสีก่อน แล้วจึ่งไปยังเขาจิตรกูฎได้พบกับหนุมาน ฟังเรื่องรามายณและได้วิชาทางปาฏิหารต่างๆ จากหนุมาน กิติศัพท์ฦาไปถึงพระเจ้าชาห์ยะฮาน (วงศ์โมคุล) ซึ่งทรงราชย์อยู่ณนครฑิลลี (“Delhi”) จึ่งตรัสให้หาตุลสิทาสไปและตรัสว่า ถ้าพระรามาวตารนั้นดีจริง ก็ให้ตุลสิทาสเชิญมาให้ทอดพระเนตร (พระเจ้าชาห์ยะฮานเปนอิสลาม จึ่งไม่เปนที่พอพระไทยในการที่ตุลสิทาสตั้งตนเปนคณาจารย์สั่งสอนไสยศาสตร์) ครั้นตุลสิทาสไม่ยอมเชิญพระรามมาให้ทอดพระเนตร พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ตรัสให้เอาตัวไปจำคุกไว้ แต่ประชาราษฎรใกล้เคียงพากันถวายฎีกาขอให้ปล่อยตุลสิทาส เพราะมีลิงหลายหมื่นหลายพันได้เข้ามาจากป่าทำลายบ้านเรือนเรือกสวนป่นปี้ (นัยว่าๆ หนุมานใช้ลิงเหล่านั้นมา) พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ต้องตรัสให้ปล่อยตุลสิทาสจากคุก และตรัสว่าขอให้ช่วยแนะนำด้วยว่าจะควรทรงประพฤติอย่างไรต่อไปเพื่อบรรเทาความเสียหาย ตุลสิทาสทูลว่า นครฑิลลีเก่านั้นเปนที่สถิตย์เดิมของพระรามาวตาร ไม่ควรจะประทับอยู่ที่นั้นต่อไป พระเจ้าชาห์ยะฮานก็ทรงเชื่อ จึ่งไปสร้างนครขึ้นใหม่เรียกว่าชาห์ยะฮานะบาด ส่วนตุลสิทาสเองนั้น ไปอยู่ณเมืองพฤนทาพน (แคว้นกาศี) เมืองนี้เปนที่สำนักพราหมณ์ไพษณพผู้นับถือพระกฤษณาวตาร แต่ตุลสิทาสคงยืนยันเลื่อมใสในพระรามาวตารมากกว่าอยู่จนตราบเท่าวันตาย

ส่วนหนังสือรามายณของตุลสิทาสนั้น เนื้อเรื่องก็เปนอย่างเดียวกันกับในฉบับสังสกฤตนั้นเอง แต่ข้อความมีผิดๆ กันอยู่หลายแห่ง ทั้งเรื่องราวเกล็ดต่างๆ ที่แซกอยู่นั้นก็ผิดกันอยู่มากหลายเรื่อง และถึงแม้ในส่วนเรื่องราวที่กล่าวถึงพระรามเอง ก็มีผิดกันอยู่ไม่น้อย ตอนใดที่ในฉบับสังสกฤตกล่าวไว้แต่สั้นๆ ตุลสิทาสขยายออกให้ยาว ตอนที่ยาวๆ ย่อลงให้สั้น และเรื่องราวกลับหน้าเปนหลังบ้างก็มี กับเท่าที่ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วรู้สึกว่า หนังสือของตุลสิทาสดูฝักใฝ่ไปในทางสอนลัทธิไสยศาสตร์และแสดงอิทธิปาฏิหารของพระรามและเทวดาอื่นๆ มากกว่าเล่าเรื่อง เพราะฉนั้นบางตอนเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ดีๆ พอถึงที่เหมาะก็แซกคำสั่งสอนหรืออธิบายลัทธิเสียยืดยาวจนเรื่องชงักอยู่ได้นานๆ หนังสือของตุลสิทาสนี้ แบ่งเปน ๗ กัณฑ์ เรียกชื่อกัณฑ์เหมือนในฉบับสังสกฤต และในส่วนแบ่งตอนแห่งเรื่องก็คล้ายๆ กัน แต่ในฉบับฮินดีนี้ พาลกัณฑ์เปนกัณฑ์ยาวที่สุด กินน่ากระดาษเกือบ ๑ ใน ๓ แห่งหนังสือทั้งหมด และในอุตตรกัณฑ์ของตุลสิทาสมีเรื่องตำนานกากะกุสุนทิ และแสดงลัทธิไสยศาสตร์ยืดยาว ที่จริงข้อที่ทำให้รู้สึกรำคาญในเมื่ออ่านรามายณฉบับฮินดีนี้มีอยู่มาก คือรู้สึกว่าผู้แต่งเปนนักบวชมากกว่าจินตกะวี และบางตอนเรื่องราวเล่าห้วนเหลือประมาณ จนถ้าไม่ได้รู้เรื่องรามายณอยู่ก่อนแล้ว ก็แทบจะเข้าใจเรื่องไม่ได้เลย

ส่วนวิธีแต่งนั้น เริ่มทุกกัณฑ์ด้วยคำขอพรเปนภาษาสังสกฤต แล้วจึ่งดำเนินความเปนภาษาฮินดีสืบไป แต่งเปนกาพย์บ้างฉันท์บ้าง

ถ้าจะเทียบฉบับของตุลสิทาสนี้กับฉบับสังสกฤตให้ละเอียดละออก็เปลืองเวลามากไปเปล่าๆ เพราะอย่างไรๆ ฉบับสังสกฤตก็เปนครูอยู่นั่นเอง เพราะฉนั้นณที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงแต่เฉภาะข้อความหรือนิทานเกล็ด ซึ่งข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะได้ตกเข้ามาถึงไทยเรา และมีอยู่ในรามเกียรติ์หรือในแห่งอื่นบ้าง กับเปรียบเทียบข้อความในฉบับฮินดีกับของไทยเราบ้าง


ในพาลกัณฑ์
๑. กล่าวเรื่องกำเหนิดทศกรรฐและพี่น้อง ซึ่งในฉบับสังสกฤตอยู่ในอุตตรกัณฑ์ เพราะฉนั้นในข้อนี้นับว่าคล้ายรามเกียรติ์ของเราประการ ๑ แต่นอกนั้นก็แปลกกันไปอีก คือในที่นี้กล่าวว่าทศกรรฐกับกุมภกรรณเท่านั้นเปนพี่น้องท้องเดียวกัน พิเภษณ์อีกท้อง ๑ ขรกับศูรปนขาอีกท้อง ๑ ข้อนี้ของเรากล่าวตรงกับฉบับสังสกฤต คือของเราว่าทศกรรฐ กุมภกรรณ พิเภษณ์ และศูรปนขาท้องเดียวกัน แต่ขรเปนลูกเมียน้อย

๒. มีเรื่องทศกรรฐเยี่ยมพิภพ แต่กล่าวย่อๆ เพราะฉนั้นของเราคงได้จากฉบับสังสกฤต หรือหนังสืออื่น

๓. เรื่องยกศรตามที่มีอยู่ในนี้ เหมือนในรามเกียรติ์ของเรา คือพญาร้อยเอ็ดไปชุมนุมพร้อมกัน และพยายามยกศร แต่เมื่อยกไม่ไหวแล้ว พระรามจึ่งยก ผิดกับในฉบับสังสกฤต ซึ่งกล่าวว่าพญาร้อยเอ็ดต่างคนต่างไปลองยกศรคนละคราว ไม่ใช่ไปพร้อมกัน

๔. เรื่องปรศุรามลองกำลังกับพระราม ผิดกันกับในฉบับสังสกฤต ในฉบับนี้ว่าปรศุรามมาที่นครมิถิลาทีเดียว ไม่ใช่ไปพบกับพระรามกลางทางเมื่อขากลับ เพราะฉนั้นเห็นได้ว่ารามเกียรติ์ของเราตามฉบับสังสกฤต

๕. การอภิเษกพระรามกับนางสีดา กล่าวว่ากระทำภายหลังการวิวาทกับปรศุราม ต่อเมื่อปรศุรามพ่ายแพ้ไปแล้ว ท้าวชนกจึ่งได้แต่งทูตไปเชิญท้าวทศรถ ซึ่งผิดกับฉบับสังสกฤตและของไทยเราอีก


ในอโยธยากัณฑ์
มีเรื่องแปลกแซกอยู่เรื่อง ๑ คือมีกล่าวว่า ท้าวชนกทราบข่าวเรื่องท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ และพระรามถูกเนรเทศแล้ว ได้ออกไปหาพระรามในป่า และช่วยพระภรตว่ากล่าววิงวอนพระรามให้กลับเข้าสู่นคร แต่พระรามไม่ยอม

นอกจากเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีทั้งในฉบับสังสกฤตและไทย ก็ไม่มีข้อความอันใดอีกที่นับว่าแปลก หรือผิดเพี้ยนไปมากจากฉบับสังสกฤต


ในอารัณยะกัณฑ์ และกีษกินธากัณฑ์
ไม่มีข้อความอันใดที่แปลกไปจากในฉบับสังสกฤต หรือฉบับไทย เปนแต่ข้อความบางแห่งย่อลงเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นปรากฎว่า ข้อความในรามเกียรติ์ของเราตอนนี้ มิได้หยิบมาจากฉบับฮินดี


ในสุนทรกัณฑ์
มีข้อความแปลกอยู่ซึ่งควรสังเกตคือ
๑. หนุมานเข้าไปในลงกา เที่ยวดูในปราสาทและสำนักท้าวพญายักษ์ต่างๆ พบศาลพระนารายน์อัน ๑ พบพิเภษณ์บูชาอยู่ในที่นั้น และเมื่อนมัสการออกนามพระราม หนุมานจึ่งแสดงตนให้ปรากฎแล้วถามพิเภษณ์ว่านางสีดาอยู่ที่ไหน พิเภษณ์จึ่งบอกให้ว่านางสีดาอยู่ที่สวนอโศก ข้อความอันนี้ผิดกับในฉบับสังสกฤตและฉบับไทยทั้ง
๒ ฉบับ เพราะฉบับสังสกฤตว่าหนุมานเที่ยวค้นไปจนพบเอง รามเกียรติ์ของเราว่าหนุมานออกไปถามพระนารท

๒. หนุมานหักสวนและเผาลงกาแล้ว จึ่งกลับไปเฝ้านางสีดาอีก และรับศิราภรณไปสำหรับถวายพระราม แต่ทั้งในฉบับสังสกฤตและฉบับไทยกล่าวตรงกันว่า หนุมานเฝ้านางสีดาถวายแหวนแล้ว และหักสวนแล้ว ก็เลยกลับจากลงกาทีเดียว ไม่ได้ไปเฝ้านางสีดาอีก ส่วนของที่นางสีดาฝากไปถวายพระรามนั้น ในฉบับสังสกฤตกับฉบับฮินดีกล่าวตรงกันว่าเปนศิราภรณ แต่ของเราว่าเปนสะไบ ซึ่งคลาดเคลื่อนไป เห็นจะเปนการเข้าใจผิดแน่ ส่วนบำเหน็จที่หนุมานได้รับจากพระรามนั้น ก็ไม่ใช่ผ้าชุบสรงอย่างในรามเกียรติ์ของเรา เปนแต่ได้ประทานพรเท่านั้น

๓. ในฉบับสังสกฤต สุนทรกัณฑ์จบเพียงหนุมานกลับมาเฝ้าพระราม แต่ในฉบับฮินดีมีเรื่องพิเภษณ์ถูกขับ และเรื่องศุกะมาดูพลอยู่ด้วย กับมีข้อความเล่าต่อไปอีกจนถึงพระรามจะแผลงศรผลาญพระสมุทๆ ขึ้นมาเฝ้าทูลเรื่องจองถนนแล้ว จึ่งจบสุนทรกัณฑ์ แต่นอกจากนี้ข้อความเหมือนในฉบับสังสกฤต

ในยุทธกัณฑ์ (ซึ่งในฉบับฮินดีนี้เรียกว่า “ลงกากัณฑ์”) มีข้อควรสังเกตุอยู่บ้างดังต่อไปนี้

๑. เริ่มกัณฑ์นี้ด้วยจองถนน และผู้อำนวยการคือนล (นิลพัทธ์) กับนิล (นิลนนท์) ผิดกับในฉบับสังสกฤต ซึ่งกล่าวว่านลผู้เดียวเปนผู้อำนวยการ ส่วนในรามเกียรติ์ของเรากลับคลาดเคลื่อนไปใหญ่ เพราะนิลพัทธ์มิได้เปนผู้อำนวยการเลย กับเรื่องนางลอยและนางมัจฉาในฉบับฮินดีก็ไม่มี

๒. เรื่องหักฉัตรในฉบับฮินดีนี้แปลกมาก เพราะสุครีพมิได้ไปหักฉัตรเลย กลายเปนพระรามแผลงศรไปทำลายฉัตรเอง

๓. เรื่ององคทสื่อสาร มีเนื้อเรื่องเปนอย่างเดียวกับในฉบับสังสกฤต แต่ในฉบับฮินดีขยายความยาวออกไป มีพูดจาโต้ตอบกันมากหน่อย และเรื่องทศกรรฐบำเพ็ญตะบะจนได้พรพระพรหมา ซึ่งในฉบับสังสกฤตเล่าไว้ในอุตตรกัณฑ์ ในฉบับนี้เอาใส่ปากทศกรรฐให้พูดอวดองคท

๔. การรบกล่าวถึงย่อๆ โดยมาก นอกจากเมื่อทศกรรฐออกรบเองจึ่งจะกล่าวข้อความพิศดารขึ้นหน่อย และมีข้อความที่คล้ายๆ กับในรามเกียรติ์ของเราอยู่ ๒ เรื่อง คือ (ก) เรื่องทศกรรฐเข้าพิธีปลุกตัวให้อยู่คง ซึ่งข้างเราเรียกว่าพิธีอุมงค์ แต่ในฉบับฮินดีว่าตั้งพิธีในวัง เพราะฉนั้นเรื่องหนุมานเอาน้ำล้างตีนเบ็ญกายไปรดเปิดปากอุมงค์ก็ไม่มี แต่ส่วนการทำลายพิธีสำเร็จได้ด้วยการฉุดเมียทศกรรฐไปหยอกให้ดูต่อหน้าจนอดโทโสไม่ได้เหมือนในรามเกียรติ์ของเรา (ข) ทศกรรฐนฤมิตรรูปยักษ์ขึ้นด้วยมายาเปนอันมาก และใช้ให้ไปรบเหมือนเรื่องพรมน้ำทิพย์ของเรา แต่ไม่มีกล่าวถึงนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ เปนแต่ทศกรรฐนฤมิตรขึ้นเอง

๕. ยุทธกัณฑ์ในฉบับสังสกฤตไปจบต่อเมื่อพระรามได้กลับเข้าถึงกรุงศรีอโยธยาและราชาภิเษกแล้ว แต่ในฉบับฮินดีจบเพียงเดินทางกลับไปจนพบพญาคุหะเท่านั้น


อุตตรกัณฑ์
แปลกกับฉบับสังสกฤตมาก เพราะเริ่มแต่พระรามกลับเข้าถึงกรุงและมีการสมโภชแล้ว บำเหน็จรางวัลท้าวพญาวานรและอนุญาตให้กลับไปบ้านเมือง แล้วก็เปนอันจบเรื่องพระรามเท่านี้ ไม่มีเรื่องขับสีดาหรืออัศวเมธเลย ตั้งแต่นี้ไปจนจบกัณฑ์เปนแสดงลัทธิไสยศาสตร์ตามความนิยมของตุลสิทาสเองทั้งสิ้น

เมื่อได้พิจารณาดูหนังสือรามายณฉบับฮินดีนี้ตลอดแล้ว ข้าพเจ้าลงความเห็นได้ว่า รามเกียรติ์ของเราเห็นจะใช้ฉบับสังสกฤตเปนหลักส่วนฉบับฮินดีนี้ถ้าหากจะได้ใช้บ้างก็เห็นจะเปนแต่สำหรับเทียบเคียงบางตอนเท่านั้น ซึ่งอาจจะเปนได้อยู่ ถ้าจะว่าไปอันที่จริงเรื่องราวอะไรๆ ที่ตุลสิทาสนำมาแซกลงไว้ในหนังสือของตน โดยมากก็เก็บมาจากหนังสือปุราณะต่างๆ (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างน่านี้) แต่ข้าพเจ้ามีข้อที่หวั่นๆ อยู่หน่อย ๑ คือพราหมณ์ที่นำเรื่องรามายณมาเล่าให้ไทยเราฟังนั้น แกจะรู้ภาษาสังสกฤตเพียงใดก็ทราบไม่ได้ ถ้าแกรู้ดีอยู่แกก็คงจะไม่ใช้ฉบับฮินดี เพราะผู้ที่รู้ภาษาสังสกฤตแล้วเรื่องอะไรจะใช้ฉบับฮินดี ซึ่งแม้ผู้แต่งเองก็มิได้ทนงว่าดีกว่าฉบับสังสกฤต แต่ถ้าภาษาสังสกฤตของแกไม่สู้จะดี แกก็คงพยายามเล่าเรื่องไปตามที่จำได้ และตอนใดแกจำไม่ได้ถนัดแกก็คงพลิกฉบับฮินดี จะเปนด้วยข้อนี้ได้หรือไม่จึ่งมีข้อความในฉบับไทยเหมือนฉบับฮินดีอยู่บ้าง



ปุราณะ
ยังมีหนังสืออยู่อีกจำพวก ๑ ซึ่งอาจจะได้เปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวบางตอนในรามเกียรติ์ของเรา กล่าวคือหนังสือจำพวกที่เรียกว่า “ปุราณะ” นัยว่าๆ เปนหนังสือเก่า และมักจะอ้างว่าเปนคัมภีร์รวบรวมข้อความซึ่งพระเปนเจ้าองค์ใดองค์ ๑ ได้ตรัสแสดงแด่มหาฤษีตนใดตน ๑ แล้วและได้แสดงกันลงมาเปนต่อๆ นามว่า “ปุราณะ” นั้น ทำให้คนมักเข้าใจไปว่าเปนหนังสือเก่าจริงๆ จังๆ ที่แท้นั้นโดยมากเปนหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง จำพวกหนังสือที่เรียกว่า “อิติหาส” (ตำนาน) อย่างเช่นรามายณหรือมหาภารตเปนต้น หนังสือพวกอิติหาสนั้น มักแสดงตำนานแห่งวีรบุรุษ คือกษัตร์นักรบสำคัญอย่างที่ได้เปนไปจริงๆ แต่ต่อมายิ่งเล่ากันไปเรื่องก็ยิ่งวิจิตรพิศดารขึ้นทุกที จนวีรบุรุษนั้นมีผู้ที่นิยมนับถือกันมากๆ ขึ้น ก็เลยกลายเปนเผ่าพงษ์เทวดาไป และบางคนก็เลยกลายเปนพระเปนเจ้าอวตาร อย่างเช่นพระรามาวตาร หรือยกยอเลยกันขึ้นไปอีกชั้น ๑ จนถึงว่าเปนตัวพระเปนเจ้าเอง อย่างเช่นพระกฤษณ ดังนี้เปนที่สุด เมื่อถึงที่สุดยอดฉนี้แล้วจึ่งบังเกิดมีหนังสือจำพวกปุราณะขึ้น สำหรับแสดงเรื่องวีรบุรุษผู้ที่ยกย่องเชิดชูขึ้นจนเปนตัวพระเปนเจ้าเองนั้นต่อไป ในหนังสือปุราณะนั้น นอกจากแสดงพงษาวดารแห่งวีรบุรุษดังกล่าวมาแล้ว มักเปนที่รวบรวมลัทธิคำสั่งสอนแห่งไสยศาสตร์และมีข้อที่ควรเชื่อถือได้ว่าพราหมณาจารย์ได้แต่งขึ้นสำหรับแข่งกับคัมภีร์ข้างฝ่ายพระพุทธศาสนา ที่ต้องแต่งตำหรับขึ้นใหม่เช่นนั้น เพราะคัมภีร์พระเวทนั้นแต่งเปนภาษาสังสกฤตโบราณ ซึ่งแม้ในหมู่พราหมณ์เองก็อ่านได้น้อยลงทุกที จึ่งมีผู้ที่ศึกษาได้น้อยลงทุกที จนเมื่อบังเกิดมีพระพุทธศาสนาขึ้นนั้น ความรู้ในหมู่พราหมณ์ทรามเต็มทีอยู่แล้ว ส่วนข้างพระพุทธศาสนามีผู้เลื่อมใสมากขึ้น พระคณาจารย์ได้รจนาหนังสือแสดงพระบรมพุทโธวาทเปนภาษาสังสกฤตอย่างง่ายๆ บ้าง เปนภาษามคธบ้าง ซึ่งเปนภาษาที่คนในสมัยนั้นเข้าใจกันอยู่มากๆ ชนก็พากันศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที จนพวกพราหมณาจารย์รู้สึกตัวว่าถ้าไม่คิดอ่านเดินตามสมัยบ้าง ไสยศาสตร์จะเสื่อมสูญแพ้พระพุทธศาสนา จึ่งได้พยายามแต่งหนังสือขึ้นบ้างเปนภาษาสังสกฤตใหม่ หรือเปนภาษาใดภาษา ๑ ซึ่งใช้กันอยู่โดยมากแพร่หลาย หนังสือปุราณะก็ได้เกิดมีขึ้นในยุคนี้เอง

โดยมากพราหมณ์ชั้นหลังๆ ที่อ้างถึงพระไตรเพท หรือพระจัตุรเพทก็ตาม พูดไปกระนั้นเอง แท้จริงมีน้อยคนที่ได้อ่านพระเวทตลอด ถ้าหากจะได้รู้บ้างก็เปนแต่บางตอน เช่นมนตร์ต่างๆ ซึ่งใช้ในการพิธีบางอย่างเท่านั้น ส่วนลัทธิแห่งไสยศาสตร์ที่สอนๆ กันต่อมาในชั้นหลังๆ นี้ ใช้พวกหนังสือปุราณะเปนหลักทั้งนั้น หนังสือปุราณะนี้เองเปนตัวตำหรับสำคัญของพราหมณ์ที่ได้นำไสยศาสตร์เข้ามายังกรุงสยาม กับข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะได้เปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวในรามเกียรติ์ของเราบ้าง และเปนบ่อเกิดแห่งเรื่องราวอื่นอีกบ้าง มีเรื่องพระอนิรุทธ์ (ซึ่งเราเรียกว่า “อุณรุทธ์” นั้น) เปนต้น ข้าพเจ้าจึ่งขอกล่าวด้วยหนังสือเหล่านี้อีกต่อไปบ้างพอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้

อมรสิงหรัตนกะวี ซึ่งเปนคน ๑ ในนวรัตนกะวีที่อยู่ในราชสำนักพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราช นครอุชชยินี ได้กล่าวไว้ในหนังสืออมรโกษว่า หนังสือปุราณะที่จะนับว่าดี ควรจะบริบูรณด้วยเบญจลักษณ คือ

(๑) แสดงด้วยการสร้างโลก

(๒) แสดงด้วยการล้างโลก และสฐาปนาขึ้นใหม่

(๓) แสดงเทพวงศ์และประชาบดีวงศ์

(๔) แสดงตำนานพระมนู และมันวันตะระ (มนูยุค) ทั้งในอดีตและอนาคต

(๕) แสดงพงษาวดารกษัตร์สุริยวงศ์และจันทรวงศ์

หนังสือปุราณะที่มีอยู่บัดนี้ ไม่มีเลยที่ต้องด้วยปัญจลักษณะบริบูรณ บางคัมภีร์ก็มีลักษณใกล้เคียง แต่บางคัมภีร์ก็ห่างมาก หนังสือวิษณุปุราณะเปนอย่างที่ใกล้ที่สุด ส่วนข้อความที่แสดงไว้ในปุราณะต่างๆ นั้น โดยมากก็ปลูกความเคารพในเทวดาหลายๆ องค์ แต่ก็มักจะมีเอียงไปข้างองค์ใดองค์ ๑ ซึ่งยกย่องว่าเปนใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย แล้วแต่ผู้แต่งจะอยู่ในนิกายใด เช่นพราหมณ์ไพษณพนิกายก็ยกย่องพระวิษณุเปนเจ้า ว่าเปนใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง พราหมณ์ไศพยนิกายก็ยกย่องพระอิศวรเปนเจ้าเลิศลอยเช่นนั้น แต่ที่มีตั้งใจจะไกล่เกลี่ยว่าพระอิศวรกับพระนารายน์เสมอกันหรือเปนองค์เดียวกันก็มี ส่วนพระพรหมานั้นไม่มีผู้ใดนับถือโดยเฉภาะพระองค์อย่างพระอิศวรหรือพระนารายน์ เพราะฉนั้นโดยมากมักได้รับบูชาพร้อมๆ กับพระอิศวรหรือพระนารายน์ ในปัตยุบันนี้ทั้งประเทศอินเดียมีเทวสถานสำหรับพระพรหมโดยเฉภาะเพียงเดียวแต่ที่ตำบลบุษกร ในแคว้นกัศมีระ (อังกฤษ “Kashmir” หรือ “Cashmere”) ทั้งเทวรูปพระพรหมก็ไม่ใคร่พบเลย ในอินเดียเองถ้ามีงานอะไรที่จะต้องไหว้พระเปนเจ้าทั้งสามพร้อมกัน ก็มักปั้นรูปพระพรหมขึ้นด้วยดินพอใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเหตุฉนี้ ในหนังสือปุราณะแม้ที่นับว่ากล่าวด้วยพระพรหม ก็กล่าวถึงแต่ในส่วนที่เปนผู้สร้างโลกเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับสรรเสริญยกย่องให้เลิศลอยอย่างพระอิศวรหรือพระนารายน์ และความที่จะกดพระพรหมนั้นถึงแก่เกณฑ์ให้พระพรหมเล่าเองว่าพระองค์เกิดในดอกบัว ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายน์ และเกณฑ์ให้พระพรหมเปนผู้แสดงข้อความอันเปนปาฏิหารของพระนารายน์นั้นก็มาก

หนังสือปุราณะทั้งหมดแต่งเปนกาพย์ และมักตั้งรูปเปนปุจฉาวิสัชนา คัมภีร์ปุราณะมี ๑๘ กับมีอุปะปุราณะอีก ๑๘ ปุราณะจัดลงเปน ๓ นิกายๆ ละ ๖ ดังต่อไปนี้

ราชัสยนิกาย - แสดงด้วยสมัยกาลเมื่อโลกยังมืด (“รัชส” หรือ “รัชนิ” แปลว่า “มืด”) สมมตว่าเปนเรื่องราวกล่าวด้วยพระพรหม แต่แท้จริงเมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นได้ว่า พระพรหมได้มีนามในหนังสือเหล่านี้ก็แต่โดยเปนผู้เล่าเรื่องอย่าง ๑ กับในตอนสร้างโลก ซึ่งเปนตอนเริ่มแห่งหนังสือชนิดนี้ มีกล่าวถึงพระพรหมผู้สร้างพอเปนสังเขปเท่านั้น หนังสือในราชัสยนิกายนี้ มี ๖ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. พรหมปุราณะ หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าอาทิปุราณะ (เพราะเปนคัมภีร์ที่ ๑) “พระพรหมาแสดงให้พระมะรีจิมุนี” และมีชื่อเรียกอีกด้วยว่าเสารยะปุราณะ เพราะมีข้อแสดงด้วยการบูชาพระสุริยาทิตย์ มีเรื่องการสร้างโลก และกล่าวด้วยมันวันตะระกับมีพงษาวดารสุริยวงศ์และจันทรวงศ์โดยย่อลงมาจนถึงพระกฤษณ ต่อนั้นจึ่งมีแสดงไตรภูมิวินิจฉัยโดยย่อ แล้วจึ่งกล่าวแสดงคุณวิเศษแห่งโอฑระปุระ (ซึ่งเรียกตามภาษาฮินดีว่า “โอริสสะ” และอังกฤษเขียนว่า “Orissa”) ซึ่งมีเทวสถานและอาราม เปนที่บูชาพระสุริยาทิตย์ พระอิศวร และพระชคันนาถ (คือพระกฤษณนารายน์ ซึ่งอังกฤษเรียก “Juggernaut”) เปนอันแสดงให้ปรากฎว่าความปราถนาแห่งพรหมปุราณะภาคนี้ ก็คือจะเพาะความนิยมนับถือในพระชคันนาถนั้นเอง ต่อภาคนี้ลงไปมีตำนานพระกฤษณ ซึ่งมีข้อความเหมือนที่มีอยู่ในวิษณุปุราณะทุกประการ ในภาคสุดท้ายมีอธิบายวิธีโยคปฏิบัติ โดยเอาพระพิษณุเปนกรรมัษฐาน ผู้ชำนาญในวรรณคดีว่า หนังสือนี้จะได้แต่งขึ้นเมื่อราวศัตวรรษ (คือขวบ ๑๐๐ ปี) ที่ ๑๙ หรือที่ ๒๐ แห่งพุทธกาล

๒. พรหมาณฑปุราณะ คือเรื่อง “ไข่แห่งพระพรหมา” แสดงด้วยกัลปต่างๆ ในปัตยุบันนี้หาฉบับที่บริบูรณไม่ได้เสียแล้ว มีอยู่แต่เปนตอนๆ มีอยู่ตอน ๑ เรียกว่า “อาธยาตมะรามายณ” (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างน่า)

๓. พรหมไววรรตปุราณะ “ซึ่งพระมนูสาวรรณีแสดงแด่พระนารทเทพฤษี” เปนหนังสือแสดงเรื่องพระกฤษณและนางราธาเปนอาทิ สันนิษฐานกันว่าเปนหนังสือชั้นหลังๆ

๔. มารกัณเฑยะปุราณะ “เริ่มด้วยเรื่องนกซึ่งรู้จักผิดและชอบ พระมารกัณเฑยะมุนีได้แสดงไว้โดยพิศดาร ตามคำวิสัชนาแห่งพระมหาฤษีเจ้าทั้งหลาย ซึ่งตอบปุจฉาแห่งพระมุนี” เริ่มต้นพระมารกัณไฑยเปนผู้แสดงนิทาน แล้วจึ่งมีเปนเรื่องนิทานต่างๆ ซึ่งสมมตว่านกผู้รอบรู้ในพระเวทได้วิสัชนาตอบปุจฉาแห่งพระฤษีไชมินี นักรู้ในวรรณคดีสันนิษฐานว่า แต่งเมื่อราวในศัตวรรษที่ ๑๖ หรือที่ ๑๗ แห่งพุทธกาล [ปุราณะนี้คือต้นฉบับแห่ง “ปักษีปรกรณัม” ภาษาไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์แล้วแต่ครั้งพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณทรงพิมพ์หนังสือหลวง]

๕. ภวิษยะปุราณะ นัยว่าๆ เปนตำหรับโหราศาสตร์ แสดงด้วยการบูชาเทวดาต่างๆ มีพระอิศวรเปนอาทิ

๖. วามนปุราณะ “ซึ่งเปนคำอนุศาสน์แห่งท้าวจัตุรภักตรพรหมาทรงแสดงด้วยกรรมทั้งสาม อันเปนไปโดยเดชะพระบารมีแห่งพระตรีวิกรม (นารายน์)” คือเล่าเรื่องพระนารายน์ปางวามนาวตาร (เปนคนค่อม) ชำนะอสูรชื่อพลีด้วยย่างสามขุม หนังสือนี้อยู่ในจำพวกที่บำเพ็ญจะเปนกลางไม่สู้ลำเอียงนัก แสดงความเคารพในพระนารายน์และพระอิศวรปานๆ กัน เปนหนังสือซึ่งมีอายุไม่เกินกว่า ๔๐๐ ปีขึ้นไป พระวามนาวตารนี้เอง ที่เรียกในหนังสือนารายน์สิบปางของเราว่า “พระทวิชาวตาร” และท้าวพลีนั้น ของเราเรียกว่า “ท้าวตาวันตาสูร” เรื่องราวของเราทรามกว่าของเขาเปนอันมาก เพราะของเขาว่าท้าวพลีนั้นบำเพ็ญตะบะจนพระพรหมาโปรด จึ่งได้ประทานไตรภูมิเปนแดน ท้าวพลีก็ตั้งใจครอบครองโดยธรรม แต่เทวดาพากันเดือดร้อนในการที่ต้องเปนข้าอสูร จึ่งไปทูลวอนให้พระนารายน์ช่วย พระนารายน์จึ่งอวตารมากำเหนิดเปนลูกพระกัศยปมุนีกับนางอทิติ มีรูปร่างเปนคนเตี้ยค่อม จึ่งเรียกว่า “วามน” ครั้ง ๑ ท้าวพลีตั้งกิจพิธีบวงสรวงใหญ่ ให้ทักษิณาแด่พราหมณ์ทั่วไป พระวามนาวตารก็ไปยังสถานพิธี ขอทักษิณาบ้าง ท้าวพลีตรัสอนุญาตว่า ขออะไรจะให้ทั้งสิ้น พระวามนขอแผ่นดินสามย่าง ท้าวพลีก็ยินดียกให้ พระวามนย่างขุมที่ ๑ ที่เทวโลก ย่างที่ ๒ บนมนุษโลก  ย่างที่ ๓ เตรียมจะทรงวางลงที่บาดาล แต่ทรงรำฦกว่าถ้าทำเช่นนั้นท้าวพลีก็จะไม่มีที่อาไศรยอีกต่อไป และทรงพระเมตตาอยู่ว่าเปนผู้ที่ตั้งอยู่ในสัตยธรรม จึ่งทรงวางพระบาทลงบนหัวท้าวพลีนับเอาเปนย่างที่ ๓ ท้าวพลีก็ถวายตัวเปนข้าชั่วกัลปาวสาน (เพราะตามวาจาของตนได้กล่าวไว้ว่า ย่างลงตรงใดจะยกถวายตรงนั้น เมื่อย่างลงบนหัวก็ต้องถวายหัว) พระนารายน์จึ่งโปรดอนุญาตให้ท้าวพลีไปอยู่บาดาลสืบไป เรื่องราวของเขามีใจความดังนี้ ซึ่งเทียบกับของเราเข้าแล้วก็จะเห็นได้ว่า ของเราทรามเต็มที ได้มาแต่เค้าเรื่อง ก็มาผูกขึ้นเองโดยใช้ภูมิปัญญาอันต่ำกว่าเขามาก จึ่งได้มากล่าวว่าพญาอสูรนั้นขอแต่ป่าไว้สำหรับเปนที่จับสัตว์กินเท่านั้น และที่เสียทีพระนารายน์อวตารก็เพราะหลงรักรูปร่างว่าสรวยงามเท่านั้น ทั้งพระนารายน์เองที่ย่างสามขุมก็เพียงแต่ให้หมดเขตรป่า ๆ เดียวเท่านั้น จึ่งเห็นได้ว่าผู้แต่งเรื่องของเรานับว่าเปนคนที่ต่ำรอบตัว ต่ำทั้งในภูมิปัญญา ต่ำทั้งในภูมิธรรม (เพราะถ้าไม่ต่ำก็คงจะไม่นึกให้ยักษ์หลงรับรูปโฉมแห่งพระ “ทวิชาวตาร” ซึ่งเปนผู้ชายแท้ๆ ไม่ใช่ผู้หญิงริงเรืออะไรเลย) และต่ำทั้งในภูมิความคิด ซึ่งแคบอย่างน่าอายที่สุด

สาตวิกนิกาย - แสดงด้วยสมัยเมื่อโลกมีความสัตย์เปนแสงสว่าง เปนเรื่องราวอันกล่าวด้วยพระวิษณุเปนเจ้าโดยมาก มีอยู่ ๖ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. วิษณุปุราณะ “ซึ่งพระปะราศรมุนีเปนผู้แสดง จำเดิมแต่เหตุการณอันได้เปนไปแล้วในวราหกัลป” หนังสือนี้นับว่าเปนเอกในพวกปุราณะได้ เพราะพร้อมด้วยเบญจลักษณะซึ่งได้กล่าวมาแล้ว มีเปนตำนานแซกอยู่ในนั้นเปนอันมาก นับว่าเปนตำหรับสำคัญอัน ๑ และเรื่องราวที่เราได้ๆ มาน่าจะได้จากเล่มนี้เองมากกว่าเล่มอื่น ถ้าจะกล่าวถึงข้อความที่มีอยู่ในคัมภีร์นี้แม้แต่โดยย่อ ก็จะกินน่ากระดาษมากอยู่ ทั้งจะเปนเรื่องที่พบอยู่แห่งอื่นแล้วด้วย เช่นในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณเปนต้น เพราะฉนั้นต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงให้พิศดารไปอีก แต่ควรกล่าวไว้นิดหนึ่งว่า นอกจากเรื่องพระรามและทศกรรฐ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกเปนอันมาก เรื่องพระกฤษณาวตารโดยมากที่เล่าๆ กันอยู่นั้น ได้มาจากหนังสือวิษณุปุราณะ และเรื่องพระอนิรุทธ (อุณรุทธ) ก็ออกจากที่นี้เองเหมือนกัน เพราะฉนั้นข้าพเจ้ายังนึกเสียดายอยู่ว่า ไม่มีน่ากระดาษพอที่จะกล่าวถึงหนังสือนี้อีกให้พิศดารยิ่งกว่านี้ ทั้งข้าพเจ้าก็ยังมิได้มีเวลาอ่านหนังสือวิษณุปุราณะนั้นเองด้วยซ้ำ แต่เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในที่นี้แล้วว่าวิษณุปุราณะเปนบ่อเกิดแห่งเรื่องลคร และนิทานที่เล่าๆ กันอยู่ในเมืองเรา ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะมีนักเลงหนังสือหาเวลาตรวจหนังสือนี้ต่อไป น่าจะได้ความรู้เปนอันมาก

๒. นารทียะปุราณะ ซึ่งสมมตว่าพระนารทมุนีเปนผู้แสดงเปนหนังสือซึ่งสอนลัทธิภักดีต่อพระนารายน์เปนพื้น นักปราชญ์ที่ได้พิจารณาดูตลอดแล้ว เห็นว่าจะไม่ใช่หนังสือเก่าปานใด คือจะมีอายุราวศัตวรรษที่ ๒๒ หรือที่ ๒๓ แห่งพุทธกาล (คือราว ๓๐๐ หรือ ๒๐๐ ปีล่วงแล้วเท่านั้น) เพราะฉบับ ๑ มีกล่าวถึง “พวกฆ่าโค” และ “ดูถูกพระเปนเจ้า” ซึ่งแปลว่าพวกอิสลาม เพราะฉนั้นจึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่ออินเดียตกอยู่ในความปกครองของพวกโมคุลแล้ว

๓. ภาควัตปุราณะ เปนตำหรับที่พวกพราหมณ์ไพษณพนิกายนับถือกันมาก เพราะเต็มไปด้วยตำนานที่แสดงเรื่องแห่งพระนารายน์และยอพระเกียรติพระเปนเจ้าองค์นั้น กัณฑ์ที่ ๑๐ แห่งหนังสือนี้เปนกัณฑ์ที่มีคนอ่านมาก เพราะมีตำนานพระกฤษณอยู่อย่างพิศดาร และได้มีคำแปลจากภาษาสังสกฤตเปนภาษาสำหรับพื้นเมืองต่างๆ ในมัธยมประเทศนั้นทุกเมือง ปราชญ์อังกฤษชื่อโคล์บรุกยอมรับรองตามความเห็นแห่งพวกนักปราชญ์อินเดียเองว่า ผู้แต่งปุราณะนี้คืออาจารย์ชื่อโวปเทพ ซึ่งอยู่ ณราชสำนักท้าวเหมาทรี ราชาครองนครเทวคีรี ราว ๖๐๐ หรือ ๗๐๐ ปีล่วงมานี้

๔. ครุฑปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์ได้ทรงแสดง เปนตำนานกำเหนิดแห่งพระยาครุฑ ผู้เปนลูกนางเวนะตา (จึ่งมีนามเรียกว่า “ไวนัต๎ย” ซึ่งไทยเรามาเขียนกันว่า “เวนไตรย”) หนังสือนี้ไม่พบต้นฉบับเสียแล้ว

๕. ปัทมะปุราณะ “ซึ่งแสดงด้วยเหตุการณในสมัยเมื่อโลกนี้เปนดอกบัว” (คือ “ปัทมะ” ซึ่งไทยเรามาเขียนว่า “ประทุม”) หนังสือนี้แบ่งเปน ๕ กัณฑ์ คือ (๑) ส๎ฤษ๎ฏิขัณ์ฑ กล่าวด้วยการสร้างโลก (๒) ภูมิขัณ์ฑ กล่าวด้วยเมืองมนุษ (๓) ส๎วร๎คขัณ์ฑ กล่าวด้วยสวรรค์ (๔) ปาตาลขัณ์ฑ กล่าวด้วยบาดาล (๕) อุต์ตรขัณ์ฑ เปนกัณฑ์แถม กับยังมีกัณฑ์ที่ ๖ อีกกัณฑ์ ๑ เรียกว่า “ก๎ริยาโยคสาร” แสดงวิธีโยคปฏิบัติ ส่วนอายุแห่งหนังสือนี้ นักปราชญ์สันนิษฐานว่าจะได้แต่งในศัตวรรษที่ ๑๘ แห่งพุทธกาลเปนอย่างสูง ส่วนความในหนังสือนี้ คือแสดงด้วยไตรภูมิวินิจฉัยกับเพาะความศรัทธาในพระนารายน์เปนอาทิ

๖. วราหะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์ได้ทรงแสดง และว่าเปนตำนานเรื่องพระวราหาวตาร (นารายน์ปางที่ ๑) แต่หนังสือที่มีนามเช่นนี้ในปัตยุบันนี้ มิได้ต้องลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้นเลย จึ่งเข้าใจกันว่า ฉบับเดิมเห็นจะสูญเสียแล้ว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2563 13:00:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 27 สิงหาคม 2563 13:05:29 »

.

ปุราณะ (ต่อ)
ตามัสยนิกาย - แสดงด้วยสมัยกาลเมื่อโลกยังขุ่น [คือเปน “ตม” นั้นเอง คำว่า “ตม” นี้ ข้าพเจ้าเองก็มิได้เคยนึกว่าเปนภาษาอื่นนอกจากไทยแท้ จนได้มาจับพิจารณาเรื่องปุราณะดู พบคำ “ตามัส๎ย” แปลว่า “เนื่องด้วยความขุ่น” ฉนี้ จึ่งพลิกไปดูในพจนานุกรมของโมเนียร์วิลเลียมส์ ได้ความว่า “ตม” แปลว่า “ขุ่น” จึ่งรู้สึกว่า “ตม” เปนภาษาสังสกฤต] หนังสือในนิกายนี้ ว่าเปนเรื่องราวแสดงด้วยพระอิศวรเปนพื้น มีอยู่ ๖ คัมภีร์ ดังต่อไปนี้

๑. มัตสยะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์มัตสยาวตารได้แสดงให้แก่พระมนูสัตยพรต มีเรื่องสร้างโลกและไตรภูมิ กับมีตำนานต่างๆ มาก บางตอนก็เห็นได้ว่าเก็บเรื่องมาจากวิษณุและปัทมะปุราณะและมหาภารต จัดเข้าในจำพวกไศพยะนิกาย (นับถือพระอิศวร) แต่ไม่สู้จะลำเอียงนัก

เรื่องพระมัตสยาวตารนี้ เดิมมีมาในหนังสือศัตบถพราหมณะ ซึ่งเปนตำหรับของพราหมณ์พิธี เปนพราหมณะสำหรับกับพระยัชุรเวท และเปนอวตารของพระพรหม ซึ่งในที่นั้นเรียกว่า “นารายน” แต่ต่อมาถึงชั้นหนังสือปุราณะ พระวิษณุมากลายเปนผู้ครอบครองนามว่า “นารายน” นั้นเสียแล้ว มัตสยาวตารก็เลยกลายเปนของพระวิษณุไปด้วย และโดยเหตุที่นับว่าเปนเรื่องสำคัญอัน ๑ ซึ่งเนื่องด้วยเรื่องล้างโลกและสฐาปนาขึ้นใหม่กับตำนานพระมนู เรื่องมัตสยาวตารนี้จึ่งมีอยู่ในปุราณะแทบทุกคัมภีร์ ถึงแม้ว่าจะผิดแผกแปลกกันบ้าง ในส่วนสำนวนและโวหารก็ดี แต่ใจความคงลงกันหมด คือ เมื่อสิ้นมนูยุคที่ ๖ แล้ว และเริ่มมันวันตะระที่ ๗ คือยุคของพระมนูไววัสวัต พระมนูได้ช้อนปลาเล็กได้ตัว ๑ ซึ่งนำไปเลี้ยงไว้ แต่หาภาชนะอะไรใส่พอไม่ได้เลย ยิ่งหาภาชนะโตขึ้น ปลาก็โตขึ้นตาม จนปล่อยสระก็คับสระ ปล่อยแม่น้ำก็คับแม่น้ำ ปล่อยมหาสมุทก็เต็มมหาสมุท พระมนูรู้ว่าเปนพระเปนเจ้าก็นมัสการตามสมควร พระมัตสยาวตารจึ่งสอนให้พระมนูต่อเรือลำใหญ่ ต้อนสัตว์ลงไปอย่างละคู่ และเก็บพืชพรรณต่างๆ อย่างละเล็กน้อยไปในเรือนั้น ครั้นอยู่มาไม่ช้าก็มีฝนแสนห่าตกท่วมโลก พระมนูลงเรืออยู่แล้ว จึ่งไม่เปนอันตราย และพระมนูได้โยงเรือนั้นกับเขาพระมหามัตสยะ พระมหามัตสยะก็ลากเรือแล่นไป และกล่าวอนุศาสน์พระมนูในกิจการต่างๆ จนเมื่อฝนหายและน้ำลดแล้ว พระมนูจึ่งขึ้นจากเรือ และพระมนูนี้เรียกว่าประชาบดี เพราะเปนมหาชนกแห่งชนทั้งปวงบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้ และโดยเหตุที่ชนได้กำเหนิดมาแต่พระมนูจึ่งได้นามว่ามนุษ

[เรื่องนี้สังเกตุดูไม่ผิดกันเลยกับเรื่องโนอาห์ในคัมภีร์ใบเบ็ล คือในเรื่องนั้นพระเปนเจ้าก็ตรัสสั่งโนอาห์ให้ต่อเรือใหญ่ขึ้นลำ ๑ และได้ต้อนสัตว์ลงไปในเรือนั้นอย่างละคู่ ครั้นอยู่มาไม่ช้าก็มีฝนแสนห่าตกท่วมโลก มีผู้รอดพ้นจากน้ำท่วมได้แต่โนอาห์กับครอบครัวและสัตว์ที่อยู่ในเรือนั้นเท่านั้น ครั้นเมื่อน้ำลดแล้วโนอาห์ก็ได้เปนผู้ให้กำเหนิดแก่มนุษสืบไป บรรดามนุษที่มีอยู่ในโลกณบัดนี้ ก็กล่าวว่าเปนเชื้อสายแห่งโนอาห์ทั้งนั้น เรื่องราวเหมือนกันไม่มีผิดฉนี้ และมิหนำซ้ำนาม “โนอาห์” กับ “มนู” นั้นก็ใกล้กันมากอยู่ จึ่งน่าสันนิษฐานว่าจะเปนเรื่องเดียวกันดอกกระมัง]

ส่วนเรื่องพระมัตสยาวตาร ที่มีอยู่ในหนังสือนารายน์สิบปางฉบับไทยนั้น ได้ความว่าได้มาจากภาควัตปุราณะ คือมีเรื่องยักษ์ลักพระเวทลงไปไว้เสียใต้ทเล และพระนารายน์อวตารเปนปลาลงไปฆ่ายักษ์และเอาพระเวทคืน แต่ของเราขาดของสำคัญในตัวเรื่องไปอย่าง ๑ คือไม่ได้กล่าวถึงพระมนูเลยแม้แต่แห่งเดียวในเรื่องนั้น ซึ่งถ้าจะเปรียบให้สาใจต้องเปรียบว่า เหมือนแต่งเรื่องกากีเว้นท้าวพรหมทัตหรือพญาครุฑเสียไม่กล่าวถึง เรื่องกากีนั้นจะเปนอย่างไรบ้าง

๒. กูรมะปุราณะ สมมตว่าพระนารายน์กูรมาวตาร (เปนเต่า) ได้แสดงแก่พระอินทรยุมน์และเทพฤษี หนังสือนี้ถ้าจะดูแต่ชื่อก็จะเห็นควรจัดไว้ในสาตตวิกนิกาย และเปนเรื่องพระนารายน์ แต่แท้จริงเมื่อพิจารณาดูแล้วจึ่งจะเห็นได้ว่าเปนการถูกต้องแล้วที่จัดไว้ในตามัสยะนิกายนี้ เพราะข้อความมีอธิบายด้วยลัทธิบูชาพระอิศวรและพระทุรคา (อุมาในปางดุ) มากกว่าอย่างอื่น

๓. ลิงคะปุราณะ “ซึ่งพระมหาเทพ (อิศวร) อันสิงอยู่ในอัคนิลึงค์ได้แสดงด้วยกุศล ทรัพย์ ศุข และนฤพาน” เปนตำหรับพิธีบูชาพระอิศวรเปนพื้น แต่มีตำนานพระศีวะลึงค์อยู่ด้วย

๔. ศีวะปุราณะ เปนหนังสือกล่าวด้วยพระอิศวรและการบูชาพระศีวะลึงค์ ในปุราณะนี้ มีข้อความกล่าวไว้แห่ง ๑ ว่าพระอิศวรได้ตรัสว่า “กูนี้ย่อมอยู่ทั่วไป แต่โดยมากกูมีรูป ๑๒ อย่าง และอยู่ ๑๒ แห่ง” นี้คือกล่าวถึงพระศีวะลึงค์สำคัญทั้ง ๑๒ มีนามดังต่อไปนี้

(๑) โสมนาถ อยู่ที่เมืองโสมนาถปัตตนะ แคว้นคุชชระราษฎร์ (อังกฤษเรียก “Guzerat”) สุลต่านมหมุดแห่งฆัชนีได้ทำลายเสียแล้ว

(๒) มัล์ลิการ๎ชุน ฤๅ ศ๎รีไศล อยู่บนเขาศรีไศลริมฝั่งน้ำกฤษณา

(๓) มหากาล ฤๅ มหากาเลศ๎วร อยู่ที่นครอุชชยินี เมื่อพระเจ้าอัลตัมชาห์ตีเมืองนี้ได้ พุทธศักราช ๑๗๗๔ พระราชาองค์นั้น (ซึ่งเปนอิสลาม) ได้ให้ชลอพระมหากาเลศวรลึงค์นี้ไปยังนครฑิลลี และสั่งให้ทุบเสียละเอียดหมด

(๔) โองการ เห็นจะอยู่ที่ตำบลโองการมานธาต ริมฝั่งน้ำนรมทา

(๕) อมเรศ๎วร ว่าอยู่ที่นครอุชชยินี

(๖) ไวท๎ยนาถ (แพทยะนาถ) อยู่ที่ตำบล เทวะคฤห (อังกฤษเรียกว่า “Deogarh”) ในมณฑลองคราษฎร์ (เบ็งคอล)

(๗) ราเมศ ฤๅ ราเมศ๎วร อยู่ณเกาะราเมศวร (อังกฤษเรียกว่า “Ramisseram”) ซึ่งอยู่ในทเลระหว่างอินเดียกับเกาะลังกา สมมตว่าพระรามได้สร้างไว้เมื่อครั้งจองถนน พระศีวะลึงค์นี้จึ่งได้นามว่า “ราเมศวร” คือ “เปนใหญ่เหนือราม” [ขอเชิญท่านผู้อ่านสังเกตุหน่อยว่า “ราเมศวร” นั้น ไม่ใช่นามพระรามหรือพระนารายน์อย่างเช่นที่ชาวเราเข้าใจกันมา แต่เปนนามแห่งพระศีวะลึงค์ และพระศีวะลึงค์นั้นก็เปนเครื่องหมายแทนพระองค์พระอิศวร เพราะฉนั้นแปลว่า “ราเมศวร” เปนนามพระอิศวร อย่างเดียวกันกับ “อมเรศวร” หรือ “มหากาล” หรือ “โองการ” นั้นเอง]

(๘) ภีมศังกร ว่าอยู่ในฑากินีชนบท แต่แท้จริงน่าจะเปนอันที่เรียกว่า ภีเมศ๎วร ในแคว้นราชมเหนทรี (อังกฤษเรียก “Rajamundry”)

(๙) วิศ๎เวศวร อยู่ที่นครพาราณสี อีกนัย ๑ เรียกว่า โช๎ยติรลิงค

(๑๐) ต๎รยัม์พก ฤๅ ต๎รยาก์ษ อยู่ริมฝั่งน้ำโคมะดี

(๑๑) เคาตเมศ๎วร คือเปนที่เคารพของพระฤษีโคดม

(๑๒) เกทาเรศ ฤๅ เกทารนาถ อยู่ที่เขาหิมาลัย เปนก้อนศิลาไม่ได้ตกแต่งอย่าง ๑ อย่างใด
นอกนี้ยังมีออกชื่ออยู่อีก ๒ อัน คือ นาคนาถ ซึ่งเข้าใจกันว่าอันเดียวกับไวทยนาถ และวาเมศวร ซึ่งเข้าใจกันว่าอันเดียวกับเคาตเมศวร

๕. สกันทะปุราณะ สมมตว่าพระขันทกุมาร (สังสกฤต ~ “ส๎กัน์ท”) เปนผู้แสดง แต่หนังสือนี้หามีอยู่บริบูรณไม่ คงมีอยู่แต่เปนท่อนๆ เช่นหนังสือฉบับ ๑ ซึ่งมีชื่อเสียงแพร่หลายมากในอินเดียคือหนังสือกาศีขัณฑ์ (ซึ่งกล่าวว่าเปนกัณฑ์หนึ่งแห่งสกันทปุราณะ) กล่าวถึงเทวสถานสำหรับพระอิศวรภายใน ฤๅที่อยู่ใกล้เคียงนครพาราณสีกับมีคำอธิบายด้วยลัทธิบูชาพระมเหศวร และมีนิทานอุทาหรณแสดงผลานิสงส์แห่งการบูชาพระเปนเจ้าองค์นั้นกับแสดงตำนานนครพาราณสีบางเรื่องก็เปนนิทานดี บางเรื่องก็เหลวไหล

๖. อัคนิปุราณะ สมมตว่าพระอัคนีได้แสดงแด่พระวสิษฐพรหมมุนี มีข้อความเบ็ดเตล็ด ซึ่งไปเที่ยวเก็บๆ มาจากหนังสือเก่าอื่นๆ

ยังมีอยู่อีกคัมภีร์ ๑ ชื่อวายุปุราณะ ซึ่งสมมตว่าพระพายเปนผู้แสดง แต่ปุราณะนี้ ว่าข้อความตรงกันกับที่มีอยู่ในศีวะปุราณะ เพราะฉนั้นในบาญชีปุราณะแห่งตามัสยะนิกายนี้ ถ้ามีศีวะปุราณะอยู่แล้วก็ไม่กล่าวถึงวายุปุราณะ และถ้ามีวายุปุราณะอยู่แล้วก็ไม่กล่าวถึงศีวะปุราณะ

ส่วนหนังสือจำพวกที่เรียกว่า “อุปะปุราณะ” นั้น มี ๑๘ คัมภีร์ แต่โดยมากหาต้นฉบับไม่ใคร่ได้ เพราะไม่ใคร่มีผู้ใดอ่าน โดยเหตุที่ข้อความมักจะซ้ำๆ กับที่มีอยู่แล้วในปุราณะนั้นเอง

หนังสือปุราณะเหล่านี้ ถ้าได้มีเวลาตรวจดูบางเล่มให้ละเอียดหน่อย ก็น่าจะได้ความรู้ในส่วนทางที่มาแห่งเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีในหนังสือของไทยเราเปนอันมาก แต่ข้าพเจ้ายังมิได้มีเวลาจะอ่านเลย จึ่งอธิบายด้วยเรื่องหนังสือจำพวกนี้ได้แต่เพียงเท่านี้



หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีหนังสือเบ็ดเตล็ด อันกล่าวด้วยเรื่องพระรามอีกหลายฉบับ แต่ที่ควรยกมากล่าวถึงในที่นี้ มีอยู่ ๔ ฉบับ ดังต่อไปนี้

๑. “ราโมปาข๎ยาณํ” คือ “เรื่องพระราม” เปนส่วน ๑ ในวันบรรพแห่งหนังสือมหาภารต มีเรื่องพระรามโดยย่อ

๒. “อาธ๎ยาต๎มรามายณ” สมมตว่าพระว๎ยาสมุนี (ผู้นิพนธ์หนังสือมหาภารต) เปนผู้นิพนธ์ แต่นักเลงวรรณคดีมักกล่าวกันว่าเปนส่วน ๑ แห่งพรหมาณฑะปุราณะ ซึ่งแปลว่าเปนชิ้นใหม่กว่ามหาภารตเปนอันมาก หนังสือนี้เล่าเรื่องพระรามอย่างที่มีข้อความอยู่ในรามายณนั้นเอง แต่สรรเสริญพระรามเปนพระเปนเจ้า “ผู้ถนอม” (“หริ”) มากกว่าเปนมนุษ หนังสือนี้ก็แบ่งเปน ๗ กัณฑ์ อันมีนามเหมือนในรามายณ แต่สั้น ๆ กว่าเปนอันมาก อาธยาตมรามายณนี้ไม่เปนหนังสือสลักสำคญพอที่จะต้องพิจารณาให้ยืดยาวต่อไป

๓. “มหาวีรจารีต” ผู้แต่งชื่อภวภูติ เปนผู้มีชื่อเสียงในทางแต่งลครสังสกฤต ที่เรียกว่า “นาฏก” กวีผู้นี้มีฉายาว่าศรีกันฐ เปนพราหมณ์ซึ่งเกิดที่ใดไม่ปรากฎชัด แต่สำนักที่อยู่นั้นคือนครอุชชยินี และสมัยคือราวในศัตวรรษที่ ๑๔ แห่งพุทธกาล

หนังสือมหาวีรจารีตนี้ เปนหนังสือบทลครชนิดนาฏกะแท้ คือมีแบ่งเปนชุดๆ และตั้งรูปคล้ายๆ ลครพูด แต่เปนฉันท์ทั้งหมด นอกจากในตอนที่ตลกเล่นเปนชุดแซกจึ่งเปนร้อยแก้ว เรื่องลครนี้ ข้าพเจ้าได้เคยอ่านฉบับที่อาจารย์ยอน ปิคก์ฟอด (John Pickford) แปลเปนภาษาอังกฤษ รู้สึกว่าถ้าจะเล่นลครอย่างที่แต่งไว้นั้น เห็นจะสนุกน้อยเต็มที เพราะตามแบบลครสังสกฤตกิจการใดๆ ที่นับว่ารุนแรงต้องไม่มาทำให้คนดูเห็น เพราะฉนั้นการรบกันคนดูเปนไม่ได้เห็นเปนอันขาด เช่นในตอนพระรามรบกับทศกรรฐ ก็มีแต่ออกมาพูดโต้ตอบกันไปมา จนถึงเวลาจะรบก็พากันเข้าโรงไป แล้วมีฤษีหรือเทวดาออกมาพูดเปนทำนองโจทย์กัน ว่าเขารบกันอย่างนั้นๆ “พระรามจับศรแผลงทศกรรฐแล้ว นั่นแน่ดูสิ อ้ายยักษ์ใจร้ายมันไม่ยำเกรงพระนารายน์อวตาร มันบังอาจจับศรของมันจะต่อสู้กับพระองค์บ้าง” และนานๆ ก็มีเสียงเอะอะในโรงบ้าง ดังนี้ ดูไม่น่าสนุกเลย

เรื่องลครนั้น จับแต่พาลกัณฑ์ตลอดไปจนจบยุทธกัณฑ์ แต่สั้นกว่ารามายณมาก เลือกเอาแต่เปนตอนๆ เท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าข้างไทยเราจะไม่ได้หยิบอะไรมาจากละครเรื่องนี้เลย

๔. “อุต์ตรรามจารีต” เปนเรื่องลครสังสกฤตอย่างเดียวกับมหาวีรจารีต และภวภูติเปนผู้นิพนธ์เหมือนกัน เรื่องลครนี้ได้เอาอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณเปนหลัก เรื่องลครนี้กล่าวด้วยเรื่องพระรามหึงและคลั่ง เนรเทศนางสีดา และนางสีดาประสูตรพระกุศกับพระลพ ต่อนี้ไปพระรามรู้สึกพระองค์ว่าได้ประพฤติไม่เปนยุติธรรมต่อนางสีดา จึ่งออกไปตาม พบกันที่อาศรมพระวาลมีกิ ดีกันแล้วพากันกลับเข้าคืนกรุงศรีอโยธยา อยู่ด้วยกันโดยผาศุก


เรื่องราวของหนุมาน
นอกจากหนังสือต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีหนังสืออีกฉบับ ๑ ซึ่งอาจจะได้เปนบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ของเราบางตอนได้ หนังสือนี้ชื่อ “หนุมานนาฏก” แปลว่า “ลครเรื่องหนุมาน” เปนลครสังสกฤตชนิดที่เรียกว่า “นาฏกะ”

ตามตำนานแห่งเรื่องนี้ มีข้อความว่า หนุมานเองได้เปนผู้แต่งเรื่องของตน และได้จาฤกไว้ที่น่าผา พระวาลมีกิมุนีผู้นิพนธ์รามายณได้เห็นหนังสือนี้แล้ว มีความวิตกว่าจะเปนหนังสือที่แข่งกับรามายณของตน จึ่งไปต่อว่าหนุมานๆ ก็บอกพระฤษีว่าให้เอาแผ่นสิลาที่จาฤกเรื่องนั้นโยนทเลเสีย พระวาลมีกิก็ได้เอาสิลาไปโยนทเลจริง และสิลานั้นได้จมอยู่ในทเลหลายร้อยปี จนอยู่มาครั้ง ๑ มีผู้ได้ไปพบแผ่นสิลาเหล่านั้น ได้นำไปถวายท้ายโภชเทพ ผู้ครองนครธารา ซึ่งเปนผู้อุปถัมภ์บัณฑิตย์ มีจินตกะวีอยู่ในราชสำนักหลายคน และซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราชราว ๑๖๒๕ แผ่นสิลาจาฤกเรื่องหนุมานที่มีผู้นำไปถวายนั้น ไม่ได้ครบ เรื่องราวขาดอยู่เปนตอนๆ ท้าวโภชเทพจึ่งตรัสใช้ให้จินตกะวีชื่อทาโมทรมิศระ เปนผู้จัดการตกแต่งเรื่องขึ้นใหม่ และให้เพิ่มเติมข้อความขึ้นแทนที่สูญหายไป ทาโมทรมิศระจึ่งแต่งขึ้นใหม่เปนรูปลครชนิดนาฏกะ อย่างที่เปนอยู่ณกาลบัดนี้

อาจารย์วิลสันนักปราชญ์อังกฤษได้กล่าวไว้ว่า “ข้อที่น่าจะเปนได้คือ น่าจะได้มีเรื่องลครโบราณเปนท่อนเล็กท่อนน้อย ซึ่งเขาได้จับร้อยกรองเชื่อมกันเข้าโดยอาการที่กล่าวมาแล้วนั้น ความคิดบางอันก็เปนทางลักษณะกะวี และโวหารก็แสดงเปนทางตรงและกล้า สำนวนโดยมากสนิทสนมดี แต่ส่วนหนังสือเองนั้น ถ้าจะว่าไปก็ต้องว่าเปนเรื่องไม่สู้จะติดต่อกันนัก และไม่เปนอย่างดีที่สุด ทั้งหัวต่อระหว่างท่อน ๑ ๆ ก็เชื่อมกันไม่สนิท จนแลเห็นได้ถนัด” ตามความสันนิษฐานของท่านอาจารย์ผู้นี้ว่า เปนหนังสือแต่งขึ้นราวในศัตวรรษที่ ๑๖ หรือที่ ๑๗ แห่งพุทธกาล

หนังสือนี้ ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ยังมิได้อ่าน ทราบว่าได้เคยมีผู้พิมพ์ขึ้นแล้วในอินเดีย ที่ข้าพเจ้าว่าเสียใจนั้น เพราะมีเรื่องราวในรามเกียรติ์บางตอนที่เกี่ยวด้วยกิจการของหนุมาน ซึ่งดูเปนตอนสำคัญๆ อยู่ แต่ซึ่งข้าพเจ้ามิได้พบเลยในรามายณ เรื่องราวเหล่านี้เปนตอนใหญ่ๆ ในรามเกียรติ์ฉบับไทย และพะเอินมักเปนตอนที่โขนลครชอบเล่นด้วย จึ่งเปนตอนที่ต้องนับว่าสำคัญอยู่บ้าง เพราะฉนั้นขอให้ผู้อ่านสังเกตุเรื่องและข้อความตอนที่ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบ ดังข้าพเจ้าจัดมาไว้ข้างล่างนี้ และเรียกตามชื่อชุดที่โขนเล่นและที่รู้จักกันอยู่ซึมซาบแล้วนั้น ดังต่อไปนี้

(๑) ชุดถวายแหวน ขาดตอนที่หนุมานไปลองฤทธิ์กับพระนารท

(๒) ชุดนางลอย หายไปทั้งชุด

(๓) ชุดจองถนน ขาดตอนหนุมานรบกับนิลพัทธ์ และเรื่องหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา

(๔) ชุดโมกขศักดิ์ คือที่เล่าเรื่องหนุมานกับองคทจำแลงเปนกากับหมาเน่าไปทำลายพิธีของกุมภกรรณนั้น หายไปทั้งชุด

(๕) ชุดพรหมาสตร์ ตอนที่กล่าวถึงอินทรชิตแปลงเปนพระอินทร และหนุมานหักคอช้างเอราวัณนั้น ขาดไป

(๖) ชุดสามทัพ คือศึกสหัสเดชะกับมูลผลัม หายไปทั้งชุด

(๗) ชุดหุงน้ำทิพย์ หายไปทั้งชุด

(๘) ชุดถวายลิง คือตั้งแต่หนุมานกับองคทไปหลอกพระฤษีโคบุตร และพระฤษีพาหนุมานไปถวายตัวแก่ทศกรรฐ จนหนุมานได้กล่องดวงใจกลับมานั้น หายไปทั้งชุด

ในชุดทั้ง ๘ นี้ หนุมานเปนตัวกี้ตัวการอยู่ เพราะฉนั้นบางทีจะอยู่ในหนังสือหนุมานนาฏกะนั้นก็เปนได้ ข้าพเจ้าจึ่งว่าเสียใจที่ยังมิได้อ่านหนังสือนั้น



เรื่องไมราพณ์
ยังมีตอนสำคัญอยู่อีกตอน ๑ ซึ่งไม่พบในรามายณ คือเรื่องไมราพณ์ (ซึ่งเราเขียนผิดว่า “ไมยราพ” หรือ “ไวยราพ”) ข้าพเจ้าได้พบในพจนานุกรมโมเนียร์วิลเลียมส์กล่าวว่า มีหนังสืออยู่ฉบับ ๑ ชื่อ “ไมราวณจารีต” เรื่องไมราพณ์ที่มีมาในรามเกียรติ์ก็คงได้มาจากนี่เอง แต่หนังสือนั้นหน้าตาจะเปนอย่างไรก็เหลือรู้


สรูปความเห็นในเรื่องบ่อเกิด
ข้าพเจ้าได้เก็บนามบรรดาหนังสือซึ่งมีข้อความเนื่องด้วยพระรามและตัวสำคัญอื่นๆ มารวมไว้ในที่นี้ ให้เปนเหมือนอย่างสารบานสำหรับที่นักเลงหนังสือจะได้ใช้ในการที่จะตรวจค้นและพิจารณาต่อไป เพื่อให้รู้ได้โดยแน่ชัดและละเอียดละออ ว่าเรื่องราวที่มีอยู่ในรามเกียรติ์ของเรานั้นมาจากแห่งใดบ้าง

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองสันนิษฐานว่า บ่อเกิดสำคัญแห่งเรื่องรามเกียรติ์ของเราน่าจะมีอยู่ ๓ บ่อ กล่าวคือ:-

(๑) รามายณฉบับสังสกฤต และน่าจะได้ใช้ฉบับองคนิกาย เพราะข้าพเจ้าเข้าใจว่าพราหมณ์ที่มาเมืองเราจะได้มาจากแคว้นองคราษฎร์ (เบ็งคอล) ทั้งมีข้อความที่พอจะอ้างเปนพยานในข้อนี้ได้อย่าง ๑ คือเรื่องพระกุศกับพระลพจับม้าอุปการขี่ และพระรามออกไปจับกุมารทั้ง ๒ นี้ มีอยู่ในฉบับองคนิกาย แต่ในฉบับอุตตรนิกาย (ซึ่งเปนฉบับที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น) ไม่มีเรื่องนี้

(๒) วิษณุปุราณะ น่าจะเปนบ่อเกิดแห่งข้อความเบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในรามเกียรติ์ของเราเปนอันมาก แต่โดยมากคงจะเปนข้อความในตอนต้นๆ คือตอนกำเหนิดต่างๆ และตอนทศกรรฐเยี่ยมพิภพเปนต้น ข้อความเบ็ดเตล็ดอย่างเช่นข้อที่ว่าครั้ง ๑ ทศกรรฐได้บังคับให้เทวดามารับใช้ตนเปนต้น ได้ความว่ามาจากวิษณุปุราณะ

(๓) หนุมานนาฏกะ น่าจะได้เปนบ่อเกิดแห่งบรรดาข้อความที่กล่าวด้วยความเก่งต่างๆ ของหนุมาน หนังสือหนุมานนาฏกะเปนหนังสือที่ชาวอินเดียชอบกันมาก เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าพราหมณ์จะมิได้นำเข้ามาถึงเมืองไทยเราด้วย ก็น่าจะได้จำเอาเนื้อเรื่องมา และบางทีจะจำมาได้เปนท่อนใหญ่ๆ ก็เปนได้

เรื่องพระรามาวตารนั้น ต้องเข้าใจว่าพราหมณ์เขาเห็นเปนเรื่องสำคัญ ไม่ผิดอะไรกับความรู้สึกของชาวเราในส่วนพระเวสสันดร เพราะฉนั้นพราหมณ์ทุกคนที่เข้ามายังเมืองเราคงจะจำเรื่องพระรามมาได้อย่างแม่นยำฝังอยู่ในใจ และคงจะเล่าได้โดยพิศดารและละเอียดละออเท่ากับเราๆ เล่าเรื่องพระเวสสันดรฉนั้น ส่วนหนังสือที่เปนต้นตำหรับนั้น บางทีก็อาจจะมีมาแต่รามายณฉบับสังสกฤตกับวิษณุปุราณะเท่านั้นก็ได้ แต่เมื่อเล่าเรื่องพระรามาวตารให้ไทยเราฟังนั้น พราหมณ์คงเล่าไปตามที่จำได้ขึ้นใจ และถ้าจะถามว่าตอนใดออกจากหนังสือเล่มใดก็น่าจะให้การไม่ถูกด้วยซ้ำ



รามเกียรติ์ฉบับไทย
ส่วนหนังสือรามเกียรติ์ฉบับไทย คือที่มาแต่งเปนบทกลอนภาษาไทยได้ค้นกันมาแล้ว คงพบอยู่ ๓ ฉบับเท่านั้น กล่าวคือ

๑. ฉบับพระนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งมีกล่าวถึงในพระราชวิจารณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เรื่องความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนั้นแล้ว ตามที่รู้กันอยู่นั้นว่า เจ้ากรุงธนบุรีทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ให้ลครหลวงเล่นประชันกับลครของเจ้านครและเข้าใจกันว่าเปนของแปลกอยู่บ้างในสมัยนั้น

๒. ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนฉบับที่คนเรารู้จักกันดียิ่งกว่าฉบับอื่น เพราะได้พิมพ์แพร่หลายยิ่งกว่าฉบับอื่น พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ นี้ สังเกตุได้ว่าพระราชประสงค์คือจะรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ไว้ให้ได้หมด มากกว่าที่จะให้ใช้สำหรับเล่นละคร

๓. ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ที่พิมพ์ใหม่ต่อไปนี้ เมื่อใครๆ ได้อ่านแล้ว ก็จะสังเกตุเห็นได้ว่า พระราชประสงค์ทรงแต่งขึ้นสำหรับให้ลครหลวงเล่นโดยแท้ จึ่งทรงเลือกเปนตอนๆ ตามที่จะใช้เปนบทลครได้

ส่วนหนังสือรามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่าไม่พบเลยสักฉบับเดียว เพราะฉนั้นต้องสันนิษฐานว่า รามเกียรติ์ที่แต่งเปนบทกลอนพึ่งจะมามีพระนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรีนั้นเปนฉบับแรก



ลครดึกดำบรรพ์
คนไทยชั้นใหม่ๆ เมื่อกล่าวถึง “ลครดึกดำบรรพ์” มักเข้าใจกันไปว่ากล่าวถึงลครของเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ ซึ่งได้เรียกนามตามลครเก่า เพราะฉนั้นขออธิบายว่า “ลครดึกดำบรรพ์” ที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ คือที่เรียกกันว่า “โขน”

ลครดึกดำบรรพ์นั้น มีกล่าวถึงเปนครั้งแรกในพระราชพงษาวดารในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งมีกล่าวว่า “พระองค์ท่านกระทำเบญจาเพศ ให้เล่นดึกดำบรรพ์” ลครดึกดำบรรพ์ครั้งนั้น จะเล่นอย่างไรก็รู้แน่ไม่ได้ แต่สันนิษฐานดูจากข้อที่ไม่มีบทกลอนอยู่เลยนั้น ก็ต้องเดาว่าคงจะเล่นอย่างโขนโรงนอก ในงานมหรศพหลวงอย่างที่เคยมีในงานพระเมรุหรืองานฉลองวัดเปนต้น คือที่เรียกตามปากตลาดว่าโขนนั่งราว ไม่มีร้องมีแต่พากย์กับเจรจา ถ้าแม้เปนเช่นนี้แล้วก็จะพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดจึ่งไม่มีบทรามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่าเลย เพราะถ้าเล่นอย่างโขนโรงนอกแล้ว บทก็ไม่เปนกลอนอยู่เอง และถ้าหากจะมีต้องเขียนต้องจดไว้บ้างก็จะมีแต่คำพากย์เท่านั้น ส่วนคำเจรจาคงไม่มีจดไว้ และไม่มีความจำเปนอันใดที่จะจด เพราะคนเจรจาทุกคนคงจะต้องเปนผู้ที่รู้เรื่องรามเกียรติ์ซึมซาบอยู่ในใจแล้ว และเมื่อถึงตอนที่จะเจรจาให้ตัวใดก็ว่าไปตามใจของตนเอง สุดแต่ไม่ให้ผิดเพี้ยนจากเรื่องไปก็แล้วกัน ข้าพเจ้ายังมีความเห็นต่อออกไปอีกว่า แต่เดิมตัวโขนน่าจะเจรจาเองด้วยซ้ำ คนเจรจาน่าจะมีแต่น่าที่พากย์เท่านั้น ไม่ใช่พูดแทนตัวโขนอย่างที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ ที่ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นนี้ เพราะคิดเปรียบกับลครอื่นๆ เช่นงิ้วเปนต้น โขนของเราก็น่าจะเปนอย่างงิ้วนั้นเอง คือในชั้นต้นคงไม่ได้ใส่หน้าหรือหัวโขน คงใช้ผัดและเขียนหน้า หรือบางทีตัวยักษ์และลิงจะได้ใส่หน้ากากคล้ายๆ หน้าพรานโนราซึ่งยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังเมื่อวิชาทำหน้าโขนเจริญขึ้น จนคิดทำเปนหน้าสรวมหัวอย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ขึ้นแล้ว ตัวโขนรู้สึกความลำบากในการที่จะเจรจาเอง จึ่งต้องจัดให้มีคนเจรจาขึ้นต่างหากสำหรับพูดแทนทีเดียว ส่วนเรื่องรามเกียรติ์ที่จะได้เล่นเปนอย่างลครร้องเปนครั้งแรก ก็คงจะเปนในรัชสมัยแห่งเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเล่นประชันกับละครผู้หญิงของเจ้านครนั้นเอง

ข้อความตามที่ข้าพเจ้าแสดงมาแล้วในเรื่องมลแห่งรามเกียรติ์นี้เปนข้อความที่ยืดยาว แต่ข้าพเจ้ามีเวลาสำหรับตรวจสอบหนังสืออยู่น้อยสักหน่อย เพราะฉนั้นถ้ามีข้อความพลาดพลั้งไปอย่างใดบ้าง ก็ขออภัยเสียเถิด ความตั้งใจของข้าพเจ้าก็มีอยู่แต่ว่าจะแนะหัวข้อหรือตั้งโครงไว้สำหรับผู้ที่พอใจในทางหนังสือจะได้พิจารณาต่อไปอีกเท่านั้น และถ้าแม้ข้อความที่ข้าพเจ้าได้เขียนมาแล้วนี้ เปนเครื่องช่วยบำรุงความรู้ในทางหนังสือไทยขึ้นบ้างแม้แต่เล็กน้อยปานใด ข้าพเจ้าก็จะรู้สึกพอใจ และจะรู้สึกว่าการที่ข้าพเจ้าได้พยายามมาแล้วไม่เปนอันเปลืองเวลาโดยเปล่าประโยชน์



อ่างศิลา วันที่ ๒๓ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2563 13:09:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.967 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้