[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 เมษายน 2567 21:32:20 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวนาภิรัตธรรม - อุปาทาน  (อ่าน 2483 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1003


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 84.0.4147.135 Chrome 84.0.4147.135


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 สิงหาคม 2563 13:57:27 »



ภาวนาภิรัตธรรม
อุปาทาน
(เทศน์ที่บ้านเขตประชาพัฒน์ วันที่ ๑๘ ธ.ค. ๕๕)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม

         ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขความสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่ศรัทธาสาธุชน ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ต่อไปก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้เอามือลง แล้วก็นั่งสมาธิฟัง การนั่งสมาธิฟังทำให้จิตของเรามันสงบ ทำให้กายวาจาของเรามันสงบ ทำให้เราได้เข้าใจในอรรถ ในสาระ ในธรรมได้ง่าย

          เพราะว่าถ้าจิตใจของเราปรุงแต่ง จิตใจของเราฟุ้งซ่าน กายของเรากระสับกระส่าย วาจาของเราพูดคุย เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในอรรถในธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นความสงบกาย ความสงบวาจา ความสงบใจ จึงเป็นการเตรียมกาย วาจา ใจ เพื่อที่จะเป็นภาชนะทองรองรับเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          การประพฤติปฏิบัติธรรมที่ญาติโยมได้ประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่ ๘ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ได้ล่วงเลยมาพอสมควร เรียกว่าใกล้ๆ จะสิ้นสุดการประพฤติปฏิบัติธรรมประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ปรากฏขึ้นแก่ญาติโยมสาธุชนผู้ตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติได้รับผลของการประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่เหตุและปัจจัย

          ขอให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายนั้นได้เข้าใจว่าทำไมเราจึงมารวมกันประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำไมเราจึงไม่นอนอยู่บ้าน ทำไมเราจึงไม่นอนอยู่ในที่มีแอร์ มีพัดลม มีมุ้งลวด มีที่หลับที่นอนอ่อนนุ่มสบายๆ ทำไมเราจึงต้องมารวมกันนอนอยู่ใต้ร่มไม้ อยู่ในกลด อยู่ในเต็นท์ มาถูกยุงกัด มาทนต่อหนาวต่อร้อน มารับประทานอาหารตามมีตามได้ ทำไมเราจึงต้องทนอยู่อย่างนี้ ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเป็นทุกข์ สังขารมันเป็นทุกข์ รูปนามมันเป็นทุกข์ เราทั้งหลายทั้งปวงมาบำเพ็ญบารมี ก็เพื่อที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

          เพราะว่าบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นวัยกลางคน เป็นคนเฒ่าคนแก่ก็ล้วนแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีกว่า นอกจากมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายจะเป็นเป็ดเป็นไก่เป็นวัวเป็นควายก็ล้วนตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ เราคิดดูวัวควาย เวลาเหลือบยุงมันกัด ก็ต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่มีมือเหมือนกันกับเราพอที่จะได้ไล่ ก็เอาหางสะบัดโบกไปมาบ้างเอาขาบ้าง อันนี้เรียกว่าความทุกข์ของสัตว์เดรัจฉาน เวลาหนาวก็ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีเรือนนอนเหมือนกันกับเราก็ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคอก โดยเปลือยกายในลักษณะอย่างนี้ก็มีความทุกข์เหมือนกัน

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสลึกลงไปกว่านั้นอีกว่า แม้ภพภูมิของเปรตก็มีความทุกข์เหมือนกัน เปรตบางจำพวกอดอาหารเป็นกัปเป็นกัลป์ อดอาหารจนสิ้นพุทธันดรหนึ่งบ้าง สองพุทธันดรบ้าง สามพุทธันดรบ้าง สี่พุทธันดรบ้างก็มี เหมือนกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้อดอาหารจนสิ้นพระพุทธเจ้าตั้ง ๔ พระองค์ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันโธ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมโน กัสสโป จนถึงพุทธเจ้าพระนามว่า โคตโม คือพระโคดม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา จึงได้อาหาร เพราะอะไร เพราะเปรตวิสัยนั้นก็มีความทุกข์เหมือนกัน

          เปรตบางจำพวกต้องกินเลือดกินหนอง แทนอาหารต้องกินซากศพ ต้องกินน้ำเสลดบ้าง บางจำพวกก็ปากเท่ารูเข็ม ท้องเท่ากับภูเขา กินทั้งวันทั้งคืนก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่พอกับความกระหายที่ตนเองนั้นได้รับความทุกข์ทรมาน เปรตบางจำพวกท่านกล่าวว่าอดน้ำทั้งภพทั้งชาติทั้งกัปทั้งกัลป์ บาปที่ทำให้เปรตเหล่านั้นอดน้ำก็เพราะว่าเปรตเหล่านั้นมีบ่อน้ำล้อมรั้ว เอาหนามไปล้อมไม่ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้ลงกินในสระน้ำนั้นบ้าง ไม่ให้คนทั้งหลายทั้งปวงเอาน้ำนั้นมาดื่มได้บ้าง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยตายไปแล้วก็เป็นเปรตต้องได้รับความทุกข์ทรมาน อันนี้ภพภูมิของเปรตก็เป็นทุกข์ ภพภูมิของสัตว์เดรัจฉานก็เป็นทุกข์ ภพภูมิของมนุษย์ก็เป็นทุกข์

          แล้วพระองค์ทรงตรัสให้ลึกซึ้งไปกว่านั้นว่าแม้แต่เทวดาก็ยังเป็นทุกข์ ทำไมต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าเทวดานั้นก็ต้องเคลื่อน ต้องจุติจากสวรรค์แล้วก็ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ แม้แต่พรหม ท้าวมหาพรหม หรือว่าพรหมโลก ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ก็ยังต้องเคลื่อนต้องเป็นทุกข์ ต้องเปลี่ยนแปรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ถือว่าเป็นทุกข์ เราทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมานี้ก็ถือว่ามีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่มีความทุกข์ คนใดคนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ประกาศป่าวร้องว่าเราไม่มีความทุกข์แม้แต่อย่างหนึ่งนั้น เราจะหาคนคนใดคนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วพูดอย่างนั้นไม่มี เพราะอะไร เพราะความทุกข์นั้นเป็นของประจำตัวสัตว์ บุคคล ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนเฒ่า คนแก่ ก็ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยซึ่งปราศจากความทุกข์

          ความทุกข์นั้นเป็นสมบัติของสัตว์ที่เกิดมาแล้วนอกจากทรัพย์สินเงินทอง ความทุกข์นี้แหละเป็นสมบัติของเรา จะเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความแก่ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความเจ็บ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความตาย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากการเสื่อมยศ การถูกนินทา การถูกว่าร้าย การถูกรังแกต่างๆ อันนี้ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาแก่พวกเราทั้งหลายทั้งปวงด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกเร้นได้ จะหลบไปอยู่กลางถ้ำ จะหลบไปอยู่กลางน้ำ เข้าไปอยู่ในซอกเขา จะเหาะไปในอากาศ ความทุกข์เหล่านั้นก็ติดตามเราไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ความทุกข์นั้นมันอยู่ในใจของเรา มันฝังอยู่ในใจของเรา เราจะหยิบออกก็หยิบออกไม่ได้ เราจะใช้เวทมนต์กลคาถามาเอาความทุกข์ออกไม่ได้ เราจะใช้อาจารย์ผู้มีความรู้เป็นนักธรรมตรี โท เอก เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นด็อกเตอร์ จบมหาวิทยาลัยนานาชาติมาก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะเอาความทุกข์เหล่านั้นออกไปได้ แม้แต่ตัวอาจารย์ก็ยังมีความทุกข์

          เพราะฉะนั้นความทุกข์เหล่านี้จึงถือว่าเป็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาทุกตัวทุกตน ความทุกข์ที่มีอยู่ครอบคลุมอยู่ในชีวิตของพวกเราทั้งหลายนี้ เราจึงมาประพฤติปฏิบัติธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทุกขะ คือ ทุกขังนี้ท่านแปลว่าน่าเกลียด คือเป็นของที่น่าเกลียด บุคคลทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้วไม่ชอบความทุกข์ รังเกียจความทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์จึงแปลว่าน่าเกลียด ไม่มีคนใดคนหนึ่งที่อยากจะได้ความทุกข์ มีแต่อยากจะพ้นทุกข์ เห็นทุกข์นั้นเป็นของน่าเกลียดน่ากลัว น่าชัง ไม่ชอบใจ ทุกข์จึงแปลว่าน่าเกลียด

          ทุกข์เป็นสภาพที่ทนอยู่ได้ยาก คือเมื่อบุคคลใดเจอความทุกข์แล้วทนอยู่ได้ยาก ต้องกระสับกระส่าย ต้องกระวนกระวาย ต้องเดือดร้อน ต้องลุอำนาจต่างๆ อย่างเช่น ความทุกข์เพราะความไม่มีข้าวกิน ก็ต้องกระสับกระส่าย กระเสือกกระสน ดิ้นรน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ นอนกลางดิน กินกลางทราย บ่าแบก หลังหนุน ต้องอดต้องทนในการทำงาน เพราะอะไร เพราะว่าตนเองไม่มีอาหารที่จะกิน เรียกว่าความทุกข์เพราะไม่มีจะกิน

          หรือว่าความทุกข์เพราะความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จิตใจของเราก็ฟุ้งซ่านรำคาญบ่นเพ้อพิไรรำพันถึงสิ่งที่เราต้องการ ถึงสิ่งที่เราปรารถนานี้ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกข์ท่านจึงแปลว่าสภาพที่ทนได้ยาก นอกจากทุกข์จะแปลว่าน่าเกลียด ทุกข์ยังแปลว่า สภาพที่ทนได้ยาก

          แล้วก็ความทุกข์ที่พวกเราทั้งหลายมีอยู่นี้แหละ ทำอย่างไรเราจึงจะระงับความทุกข์ ทำอย่างไรเราจึงจะทำความทุกข์นั้นให้เบาลงให้ลดลงให้น้อยลง แล้วก็ให้สงบระงับ แล้วก็หมดไปจากจิตจากใจของเราได้ หลวงพ่อชา เพชรน้ำเอกของจังหวัดอุบลราชธานี ของภาคอิสานแห่งวัดหนองป่าพงท่านได้กล่าวไว้ว่า ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย.

          นี้ท่านกล่าวเป็นคำง่ายๆ เพื่อที่จะเตือนพุทธศาสนิกชนผู้มองเห็นความทุกข์ว่าเป็นภัยในวัฏฏสงสาร ว่าทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ทุกข์มีเพราะยึด คือเรายึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นอุปาทาน

          อุปาทานนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์แยกออกเป็น ๔ ประการ คือ กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกามคุณ ๕ คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่าเบญจกามคุณ ความใคร่ ๕ ประการ คือ ใคร่ในรูป ใคร่ในเสียง ใคร่ในกลิ่น ใคร่ในรส ใคร่ในสัมผัส ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้ จะเป็นคนไทยก็ดี คนฝรั่งมังค่าก็ดี อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา คนลาว คนพม่า คนญี่ปุ่นก็ตาม ก็หลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ใคร่อยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ทั้งนั้น

          หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน ใคร่อยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสเหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาดีๆ บางครั้งเราเดินจงกรม เดินกลับไป เดินกลับมาขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินไปเดินมาแล้วก็ปัญญามันเกิดว่า คนทั้งกลายทั้งปวงที่แท้จริงก็ติดที่แค่รูป แค่เสียง แค่กลิ่น แค่รส แค่สัมผัสเท่านั้นเอง ไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วจะไม่หลงในรูป จะไม่หลงในเสียง ในรส ในกลิ่น ในสัมผัส ในกามารมณ์ บางครั้งมันเกิดธรรมขึ้นมาในขณะที่เดินจงกรม ไม่ว่าคนรวยคนจนมีปัญญามากมีปัญญาน้อย มียศมากยศน้อย แม้แต่คนขอทานก็ยังหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สมณชีพราหมณ์ ก็หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส คนที่ตายไปแล้วทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้นก็หลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส คนที่จะเกิดมาใหม่ก็ดี คนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดี ก็หลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส นี้มันเกิดปัญญาขึ้นมา บางครั้งก็เกิดความสลดสังเวช เกิดปีติธรรมขึ้นมา ทำให้ขนลุกขนพองสยองเกล้าก็มี อันนี้เรียกว่าเข้าใจในอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เรียกว่า กามุปาทาน

          แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสอุปาทานข้อที่ ๒ ว่า ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน เรียกว่า ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนว่าตายไปแล้วจะไม่ได้เกิดอีก ภพหน้าไม่มี คนทำบาปก็ไม่มีผลของบาป ทำบุญก็ไม่มีผลของบุญ ตายแล้วก็ดับ ตายแล้วก็สูญ มีความเห็นไปอย่างนั้น เชื่อความเห็นของตน บางคนก็คิดว่าบุคคลเกิดมาเป็นชาย ตายไปแล้วภพหน้าก็ต้องเป็นชาย บุคคลเป็นหญิงตายไปแล้วก็ต้องเป็นหญิง บางคนก็คิดว่าบุคคลเป็นคนรวยตายไปแล้วชาติหน้าก็ต้องเป็นคนรวยเหมือนกัน บางคนคิดว่าเป็นคนจนตายไปแล้วชาติหน้าก็ต้องเป็นคนจน เป็นคนใช้เขาตายไปแล้วภพหน้าชาติหน้าก็ต้องเป็นคนใช้เขาอีก บางคนบางท่านมีความเห็นในลักษณะอย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นในความเห็นของตน ไม่รู้ว่าความเห็นมันถูก หรือมันผิดในลักษณะอย่างนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นทิฏฐุปาทาน มีความยึดมั่นในความคิดของตนเอง ไม่ยอมเชื่อเหตุเชื่อผลของบุคคลอื่น แม้สัพพัญญู แม้พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็ไม่ยอมเชื่อ เพราะอะไร เพราะเป็นอุปาทานชนิดร้ายแรง เป็นมิจฉาทิฏฐิ

          แล้วท่านกล่าวอุปาทานข้อที่ ๓ ว่า สีลัพพตุปาทาน คือ ยึดมั่นในศีลพรต ในที่นี้หมายความว่าบุคคลนั้นยึดมั่นในศีลของตนเอง ถือศีลผิด อย่างเช่น ยืนขาเดียวก็ดี ประพฤติเหมือนกับสัตว์ เหมือนกับกุกกุรวัตร เหมือนกับนักบวชนอกพระศาสนาคนหนึ่ง ซึ่งประพฤติเหมือนกับโค ประพฤติเหมือนกับ กุกกุรวัตร ประพฤติเหมือนกับหมา อันนี้ก็เหมือนกัน คิดว่าตนเองนั้นจะบรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากกิเลสได้เพราะการประพฤติเหมือนวัว วัวกินหญ้าก็กินหญ้าเหมือนวัว วัวมันเดิน ๔ ขาก็คลานเหมือนกับวัว ประพฤติกุกกุรวัตร ก็กินอุจจาระแทนอาหารใช้ปากขม้ำกินเหมือนกับสุนัข คิดว่าเป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส หรือว่า ยืนขาเดียวก็ดี ยืนตากแดดก็ดี มือชี้ขึ้นฟ้าจนแขนของบุคคลนั้นลีบไม่มีเนื้อมีหนังอย่างนี้ก็มี กำมือจนเล็บทะลุออกหลังมือ เราได้เห็นในภารตชน คือในประเทศอินเดียที่เป็นแดนแห่งการเกิดของศาสนาทั้งหลายทั้งปวง อันนี้เรียกว่าสีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในศีลพรตของตนเองว่าถ้าผู้ใดไม่ประพฤติอย่างนี้ จะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          อุปาทานข้อที่ ๔ ท่านกล่าวว่า อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นวาทะของตนว่า วาทะของตนนั้นดี วาทะของตนนั้นเลิศ วาทะของบุคคลอื่นทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่สู้วาทะของตน เหมือนสัญชัย ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของโกลิตะ เชื่อมั่นในวาทะของตน แม้แต่อุปติสสมาณพจะกล่าวว่า ท่านอาจารย์วาทะของท่านนั้นไม่ใช่วาทะของบุคคลผู้หมดกิเลส ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ก็ยังไม่ไปเฝ้า ก็ถามอุปติสสมาณพว่าในโลกนี้คนฉลาดกับคนโง่อะไรมากกว่ากัน อุปติสสมาณพนั้นก็บอกว่า คนฉลาดนั้นมีน้อยแต่คนโง่มีมาก ก็กล่าวว่าคนฉลาดจงไปหาพระสมณะโคดมเถิด คนโง่ทั้งหลายทั้งปวงจงมาหาเรา ไม่ยอมละวาทะของตนก็สอนอย่างนั้นแหละ ไม่ยอมฟังคำของคนอื่น อันนี้ก็เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในวาทะของตนเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก

          ความอยากนั้นคือความอยาก ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความอยากความใคร่ในกามคุณ ๕ ตามที่กล่าวมา ภวตัณหา ความอยากในความมีความเป็นความอยากในภพ คืออยากได้รูป อยากได้เสียง อยากไปเกิดเป็นเทวดา อยากไปเกิดเป็นพรหม อยากมีหน้าตาสดสวยงดงาม ต้องไปดึงหน้า ต้องไปซื้อเสื้อผ้านาฬิกาตกแต่งร่างกายนี้ คือความอยากมีอยากเป็นด้วยกันทั้งนั้น อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากเป็นกำนัน อยากเป็น อบต. อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่างๆ อยากเป็นคนดี อยากเป็นคนรวย ก็เป็นภวตัณหาคือความอยากมีอยากเป็น ประการที่ ๓ ก็คือ วิภวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คือตนเองเป็นคนจนก็ไม่อยากตกอยู่ในสภาพของคนจน อยากพ้นไปจากความเป็นคนจน ตนเองเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ก็ไม่อยากจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ ต้องพยายามขวนขวาย พยายามดิ้นรนก็เป็นทุกข์ บางครั้งตนเองตกอยู่ในสภาพเป็นรอง ถูกคนอื่นเขาทอดทิ้ง ตกอยู่ในอารมณ์ต้องพลัดพรากต้องสูญเสียของรัก ก็ไม่อยากอยู่ในสภาพอย่างนั้น อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้น บางครั้งก็ต้องไปฆ่าตัวตาย กระโดดน้ำตาย ไปกินยาตาย แล้วก็ไปยิงตัวเองตาย หรือว่าจ้างมือปืนไปยิงคนอื่นตาย ลักษณะนี้เรียกว่า วิภวตัณหา ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ไม่อยากตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น

          ทุกข์ยืดเพราะอยาก คือ ทุกข์จะยืดยาวนั้นเพราะเราอยาก ตราบใดที่เรายังอยากอยู่ ความทุกข์นั้นมันก็จะไม่สิ้นสุด ถ้าเราอยากจะเป็นเทวดา เราอยากจะเป็นเศรษฐีเราก็ทำบุญทำทาน เราอยากจะเป็นคนรวยก็ทำบุญทำทาน เราอยากสวยอยากงามก็รักษาศีล เราก็อยากไปเรื่อย บุญกุศลนั้นก็ส่งผลให้เราไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่รู้จักสิ้นสุด เหมือนกับมดแดงที่มันไต่ขอบกระด้ง ไต่แล้วก็วนไปวนมาไม่รู้จักสิ้นสุด อันนี้เรียกว่าการไปเกิดด้วยอำนาจของตัณหาทั้ง ๓ ประการ ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ยืดไปเรื่อย ตัณหาของบุคคลใดมากมันก็ยืดไปมากเท่านั้นแหละไม่รู้จักสิ้นสุด นับภพนับชาตินับกัปนับกัลป์ไม่ได้เป็นร้อยๆ เป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ ล้านโกฏิกัป อันนี้ก็เพราะตัณหานั้นเป็นตัวยืดพาไป ทุกข์ยืดเพราะอยาก

          ทุกข์มากเพราะพลอย พลอยในที่นี้คือ พลอยยินดี พลอยยินดีกับลูก พลอยยินดีกับสามี พลอยยินดีกับทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้ พลอยยินดีในรูปร่างหน้าตาของตน พลอยยินดีในสติปัญญาของตน เรียกว่า รติ ความยินดีในสิ่งที่ตนเองได้ ในสิ่งที่ตนเองมี ในสิ่งที่ตนเองประสบ ในสิ่งที่ตนเองพบ เช่นว่า ตนเองมีเงินก็ยินดีในเงินในทอง คิดว่าเรามีเงินมีทอง แล้วไม่คิดว่าเงินทองนั้นมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่คิดว่าเงินทองนั้นมันเสื่อมไปเป็น ไม่คิดว่าเงินทองนั้นเป็นสมบัติกลางของโลก ไม่คิดว่าเงินทองนั้นไม่สามารถจะติดตามตัวเราไปในสัมปรายภพข้างหน้าได้ เราตายไปแล้วก็ไปแต่ตัวเปล่า มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นความยินดีนั้นแหละ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัย

          ความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นมาก็เพราะเราพลอยยินดี พลอยยินดีในรูป พลอยยินดีในเสียง พลอยยินดีในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พลอยยินดีในลูก ในเมีย ในชื่อเสียง ในเงินทอง ในยศถาบันดาศักดิ์ต่างๆ อะไรเกิดขึ้นมาเรายินดี อันนั้นเรียกว่าทุกข์มากเพราะพลอย ถ้าเรายินดีมากทุกข์นั้นก็มาก เพราะอะไร เพราะถ้าสิ่งใดเรายินดีมาก เวลาเราพลัดพรากจากสิ่งนั้นเราจะเสียใจมาก มีรักมากก็ทุกข์มาก มีรักน้อยก็ทุกข์น้อย มีทรัพย์สมบัติมากก็ยินดีมาก เวลาทรัพย์สมบัตินั้นสิ้นไปสูญไปสิ้นเนื้อประดาตัวก็เกิดความทุกข์มาก เรียกว่าทุกข์มากเพราะพลอย

          ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์น้อยเพราะหยุดในที่นี้หมายความว่า เราหยุดกาย หยุดวาจา หยุดใจ เราหยุดกายด้วยอะไร เราหยุดกายด้วยการรักษาศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ศีล ๑๐ บ้าง การรักษาศีลก็เป็นการหยุดกาย หยุดวาจา หยุดจากการทำความชั่ว หยุดจากการฆ่าสัตว์เบียดเบียนบุคคลอื่น หยุดจากการลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมีย กระทำกาเมสุมิจฉาจาร หยุดจากการพูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ส่อเสียด ต้มตุ๋น หลอกลวงบุคคลอื่น เราหยุดจากการดื่มสุราเมรัย ความทุกข์มันก็จะน้อยลง

          ถ้าผู้ใดมีศีลความทุกข์มันจะน้อยลง ความสุขมันจะเพิ่มขึ้นแต่เรามารักษาศีลอยู่ด้วยกันเป็นร้อย ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้ง มีอะไรก็กินด้วยกัน มีอะไรก็ทานด้วยกัน มีอะไรก็ฉันด้วยกัน พูดกันปานประหนึ่งว่าเป็นบุตรผู้ออกมาจากท้องมารดาเดียวกัน เหมือนกับว่าคลานตามกันออกมา พูดกันด้วยความไพเราะ พูดด้วยความเมตตา พูดด้วยความสงสาร พูดด้วยความเคารพกัน เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น เพราะเรารักษาศีล ต่างคนก็มีศีล คนโน้นก็มีศีล คนนี้ก็มีศีล ก็คุยกันเหมือนกับคนผู้มีศีล

          วัฒนธรรมของคนผู้มีศีลก็อีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมของคนไม่มีศีลก็อีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมของขี้เหล้าก็อีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมของนักพนันก็อีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมของนักธุรกิจก็อีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมของฝรั่งมังค่าของคนไทยคนลาวก็ต่างกัน วัฒนธรรมของบุคคลผู้มีศีลก็พูดกันไพเราะเสนาะโสต พูดด้วยความนุ่มนวล พูดด้วยเมตตา พูดด้วยกรุณา พูดด้วยมุทิตา พูดด้วยอุเบกขา บางครั้งเราไม่สามารถที่จะช่วยได้ อย่างคนเจ็บคนป่วยเราไปดูแล้วเราก็สงสาร ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเมตตา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีกรุณา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีมุทิตา เราก็สงสารอยากให้บุคคลนั้นพ้นไปจากความทุกข์ อยากหยิบเอาโรคตับ โรคปอด โรคมะเร็งออกไปจากคนนั้น แต่เราก็ทำไม่ได้ เมื่อเราทำไม่ได้เราก็ต้องรู้จักวางเฉย

          เราต้องมองทุกข์ด้วยปัญญา เมื่อเรามองทุกข์ด้วยปัญญาว่าเราสามารถช่วยได้ไหม เราช่วยไม่ได้เราก็วางอุเบกขาว่า สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมเป็นไปตามกรรม กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้นก็ขอให้ท่านผู้ป่วยได้กำหนด “พุทโธๆ” หรือว่า “เจ็บหนอๆ” หรือระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะช่วยในลักษณะอย่างนี้ เราก็วางอุเบกขา ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด คือถ้าเรารักษาศีลก็หยุดความทุกข์ทางกาย หยุดความทุกข์ทางวาจาได้ประมาณหนึ่ง

          แต่ถ้าเราหยุดใจของเราด้วยอำนาจของสมถกรรมฐาน หยุดใจของเราด้วยอำนาจของสมาธิ ทำจิตทำใจของเราให้หยุดจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ทำไมเราจึงต้องทำใจของเราให้หยุดจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพราะว่าอารมณ์ทั้งปลายทั้งปวงนั้นเป็นบ่อแห่งความทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เป็นสมุฏฐาน เป็นที่เกิดของความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเพราะอารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์

          เราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะอารมณ์ ความโกรธเป็นอารมณ์ไหม เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ ราคะเป็นอารมณ์ไหม เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นความทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นอารมณ์ไหม เป็นอารมณ์ เวลาเกิดขึ้นมาแล้วมันเป็นทุกข์ ความสูญเสีย ความสิ้นเนื้อประดาตัวมันเป็นความทุกข์ไหม เป็นความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นมาจากอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นสมุฎฐาน เป็นเหตุเกิดของกิเลส เป็นความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดจากอารมณ์นี้แหละ

          เพราะฉะนั้นเราเจริญสมถกรรมฐาน เจริญสมาธิ ก็ถือว่าเราระงับความทุกข์ ไม่ให้ความทุกข์นั้นมาครอบคลุมจิตใจของเรา ทุกข์น้อยเพราะหยุด ถ้าเราสามารถหยุดจิตของเราไม่ให้เกิดความคิดได้ ความทุกข์มันก็หยุดอยู่ สงบอยู่อย่างนั้นแหละ ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับหินทับหญ้า เอาก้อนหินใหญ่ๆ มาทับหญ้าไว้ หญ้ามันยังไม่ตาย กิเลสมันยังไม่ตายก็จริงอยู่ แต่หญ้านั้นไม่สามารถที่จะงอกเงยออกมาได้ เพราะมีหินก้อนเท่าภูเขามหึมานั้นทับไว้อยู่ บุคคลผู้เข้าปฐมฌานก็ดี ทุติยฌานก็ดี ตติยฌานก็ดี จตุตถฌานก็ดีก็เหมือนกับเอาก้อนหินก้อนใหญ่ๆ เหมือนกับภูเขานี้ไปทับหญ้าไว้ กิเลสคือความโกรธ ความโลภ ความหลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาในจิตในใจได้ ไม่สามารถเจริญเติบโตในจิตในใจได้ กิเลสทั้งหลายทั้งปวงสงบระงับไป ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ ความทุกข์มันก็หยุดอยู่อย่างนั้นแหละ

          เหมือนกับตะกอนที่นอนอยู่ใต้ตุ่ม ตราบใดที่คนไม่เอามือไปกวน ไม่เอามือไปแกว่งไปกวนตะกอนนั้น ตะกอนนั้นก็ไม่ฟุ้งขึ้นมา กิเลสที่ยังนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา ในเมื่ออารมณ์ยังไม่เข้าไปกระทบ กิเลสนั้นก็ยังไม่ฟุ้งขึ้นมา ความทุกข์ก็ยังไม่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสมาธิจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระงับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ เมื่อเราระงับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว จิตใจไม่กระสับกระส่าย จิตใจไม่กระวนกระวาย จิตใจไม่ฟุ้ง จิตใจไม่ปรุง จิตใจไม่ซ่าน จิตใจไม่ถูกอำนาจของกิเลสครอบงำ อะไรมันจะเกิด ปัญญามันก็เกิดขึ้นมา

          เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาก็มองเห็นตามความเป็นจริง ยถาภูตญาณทัสสนะก็ปรากฏขึ้นมา การรู้การเห็นตามความเป็นจริงก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อ ยถาภูตญาณทัสสนะ การรู้เห็นตามความเป็นจริงปรากฏขึ้นมา ก็ทราบชัดว่าร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ร่างกายของเราเป็นทุกขัง ร่างกายของเราเป็นอนัตตา ร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตายังไม่พอ ร่างกายของเมียของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ร่างกายของเรา ร่างกายของเมียของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่พอ ร่างกายของลูก ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ร่างกายของหลานของเหลนก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นอนัตตา บ้านเรือนของเราก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รถที่เราขี่ทุกวันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทรัพย์สินเงินทองที่เรามีอยู่ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้นไม้ ลำธาร กำแพง ประตูรั้วอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดปัญญาขึ้นมาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะเหลืออะไรอีก เหลืออะไรที่ให้เรายึดมั่นถือมั่น เหลืออะไรให้เราผูกพัน เหลืออะไรให้เราเกี่ยวข้อง เหลืออะไรให้เรายินดี

          ถ้าจิตใจของเราเกิดปัญญา เกิดยถาภูตญาณทัสสนะขึ้นมาในลักษณะอย่างนั้น คนทั้งหลายทั้งปวงย่อมผ่อนคลายความยึดมั่น ผ่อนคลายความผูกพัน ผ่อนคลายความเกี่ยวข้อง จิตใจก็เกิดปัญญาขึ้นมา อันนี้เป็นอานิสงส์ของการหยุดด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้วปัญญาก็จะส่องให้เห็นความเป็นจริงดังที่กล่าวมา

          ประการสุดท้ายก็คือ ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ปล่อยในที่นี้หมายถึง ปล่อยด้วยอำนาจของศีลก็ไม่หลุด ปล่อยด้วยอำนาจของสมาธิก็ไม่หลุด ต้องปล่อยด้วยอำนาจของวิปัสสนา ปล่อยด้วยอำนาจของมรรค ปล่อยด้วยอำนาจของผล ปล่อยด้วยอำนาจของพระนิพพาน เราจะข้ามพ้นไปจากความทุกข์ ปล่อยความทุกข์พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องอาศัยมรรค อาศัยผล อาศัยพระนิพพาน เหมือนกับที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า วิมุติทั้ง ๕ ประการ คือความพ้นทั้ง ๕ ประการ จะเป็น ตทังควิมุตติ คือพ้นด้วยอาการชั่วครู่ชั่วคราว วิกขัมภนวิมุตติ คือ พ้นด้วยอำนาจของสมาธิ คือ ข่มไว้ หรือว่า สมุจเฉทปหาน คือ สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยการตัดกิเลสตาย คายกิเลสหลุดด้วยอำนาจของมรรคของผลของพระนิพพาน ก็สามารถที่จะพ้นได้โดยเด็ดขาด หรือ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ พ้นด้วยความสงบ คือสงบด้วยอำนาจของมรรคของผล ประการสุดท้ายท่านกล่าวว่า นิสสรณวิมุตติ คือ พ้นด้วยอำนาจการแล่นออกไป พ้นด้วยการสลัดออกไป พ้นด้วยการปล่อยให้หลุดไป คือ หลุดออกไปจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง หลุดออกไปจากวงแห่งสังสารจักร สังสารวัฏ พ้นไปด้วยอำนาจแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          เพราะฉะนั้นเราจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านั้น เราจะปล่อยความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ให้หลุดลอยไปนั้นต้องปล่อยด้วยอำนาจของมรรคของผลของพระนิพพาน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ปล่อยในที่นี้ก็คือพวกเราทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรายืนเราก็พยายามปล่อย เราเดินจงกรมเราก็พยายามปล่อย เรานั่งภาวนาเราก็พยายามปล่อย เรากิน เราดื่ม เราพูด เราคิด เราทำกิจอะไร เราก็พยายามปล่อยอยู่ตลอดเวลา ปล่อยด้วยการกำหนดทันปัจจุบันธรรม

          ขณะที่เราเดินจงกรมมันโกรธขึ้นมาเราก็ “โกรธหนอๆ” เรียกว่าเราปล่อยความโกรธ เวลาความโลภมันเกิดขึ้นมา เราก็พยายามกำหนดที่ใจของเรา กำหนดลงไปที่ใต้ราวนมข้างซ้าย กำหนดว่า “โลภหนอๆ” นี้เราพยายามปล่อย เราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงยเราก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ไม่ให้ยินดีในอาการที่คู้ ในอาการที่เหยียด ในอาการที่สัมผัสต่างๆ เวลาเรารับประทานอาหาร เราก็กำหนด “รสหนอๆ” ทำไมเราจึงกำหนดรสหนอๆ ก็เพราะเราปล่อยความยินดีในรสนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะยินดีในรสที่เค็ม รสที่เปรี้ยว รสที่หวาน หรือว่ารสที่เอร็ดอร่อย

          ก็สิ่งเหล่านั้นเป็นของยังอัตภาพร่างกายของเราให้เป็นไป อร่อยมันก็ต้องตกไปในท้อง เค็มมันก็ต้องตกไปในท้อง หวานมันก็ต้องตกไปในท้อง จืดอะไรต่างๆ มันก็ต้องตกไปในท้อง เมื่อตกลงไปในท้องแล้วเราจะมาอาลัยอาวรณ์กับความอร่อยที่อยู่เพียงชั่วครู่ทำไม เราควรนึกถึงคุณประโยชน์ของอาหารที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง พอยังอัตภาพให้เป็นไปในการประพฤติปฏิบัติธรรม นี้พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงมองประโยชน์ ไม่ใช่ให้ติดใจในรสต่างๆ มองเห็นคุณค่าของอาหาร ไม่ใช่มองที่รสของอาหาร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 สิงหาคม 2563 13:59:54 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1003


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 84.0.4147.135 Chrome 84.0.4147.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 28 สิงหาคม 2563 13:59:24 »



ภาวนาภิรัตธรรม
อุปาทาน
(เทศน์ที่บ้านเขตประชาพัฒน์ วันที่ ๑๘ ธ.ค. ๕๕)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม

          เพราะฉะนั้น เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คิดว่าเรามาปล่อยอารมณ์ ปล่อยกิเลส ปล่อยราคะ ปล่อยโทสะ ปล่อยโมหะ ปล่อยมานะ ปล่อยทิฏฐิ ปล่อยตัณหา ปล่อยอุปาทาน ปล่อยอวิชชาทั้งหลายทั้งปวงให้หลุดเลื่อนลอยไป แล้วใจของเราก็จะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

          ถ้าผู้ใดปล่อยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ อยากจะพ้นไปจากความทุกข์ก็ไม่พ้น ปากจะว่าตนเองพ้นๆๆ แต่ถ้าใจยังไม่ปล่อยก็ไม่พ้น แต่ถ้าผู้ใดพ้นแล้วปากไม่พูดว่าพ้นก็พ้นโดยพฤตินัย โดยสัจธรรม เมื่อมรรคผลนิพพานเกิดแก่ผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นก็ชื่อว่าพ้นไปตามลำดับ พระโสดาบันก็พ้นระดับหนึ่ง พระสกทาคามีก็พ้นระดับหนึ่ง พระอนาคามีก็พ้นอีกระดับหนึ่ง พระอรหันต์ก็พ้นโดยสมุจเฉท เรียกว่าโดยถาวร โดยเที่ยงแท้แน่นอน ไม่กลับมาเกิดอีก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่า ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย นี้ถ้าเราปล่อยด้วยอำนาจของวิปัสสนากรรมฐานจะเป็นไปในลักษณะอย่างนี้

          อันนี้เรียกว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราไม่รู้วิธีผ่อนคลาย ไม่รู้วิธีสงบ ไม่รู้วิธีหยุด หรือว่าไม่รู้จักวิธีปล่อยความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เราจะเกิดกี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ เราก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ แต่ถ้าเรารู้จักวิธีปล่อย บางครั้งชาตินี้อาจจะเป็นชาติสุดท้ายของเราก็ได้ หรือไม่เป็นชาติสุดท้ายเราอาจจะได้เกิดอีก เราอาจจะไปเกิดบนพรหมโลกไปเกิดในสุทธาวาสพรหมก็ได้ ในชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิษฐพรหมก็ได้ หรือเราไม่เกิดในชั้นสุทธาวาส เราก็เกิดอีกครั้งเดียวก็คือสกทาคามี ผู้กลับมาสู่เรือนอีกครั้งหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถโดยประการใดประการหนึ่ง ที่จะเกิดอีกภพหนึ่ง เราก็เกิดอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ คือเราจะต้องพยายามบรรลุให้เป็นพระโสดาบันให้ได้ อันนี้เป็นปณิธานของชาวพุทธทั้งหลายที่ตั้งไว้

          ถ้าผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วท่านกล่าวว่า สมฺโพธิปรายโน เป็นผู้มีคติที่เที่ยงแท้ ที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าโดยแน่นอน เรียกว่าคติของบุคคลนั้นจะเที่ยง บุคคลนั้นจะไม่ไปเกิดในเปรต ในอสุรกาย ในสัตว์เดรัจฉาน อย่างต่ำก็มาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างสูงก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม แต่ว่าเกิดอย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้

          อันนี้เป็นธรรมะที่นำมากล่าวแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.766 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 12:58:38