[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 01:26:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา  (อ่าน 1247 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2325


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 85.0.4183.121 Chrome 85.0.4183.121


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 05 ตุลาคม 2563 15:04:10 »




…ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์
และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ
ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสององค์ด้วย…

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยที่ไทยเริ่มเปิดประเทศมีสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกอย่างเต็มใจ

ทรงเริ่มจากการศึกษาภาษาเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อจากนั้นก็ทรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงบ้านเมืองด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการที่จะคบหาสมาคมในฐานะประเทศที่เสมอกัน เช่นด้านสาธารณูปโภค โปรดให้สร้างถนนหนทาง สร้างอาคารแบบใหม่ ดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของราษฎร

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี โปรดอนุโลมให้เป็นไปตามแบบที่นิยมกันในอารยประเทศ แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมซึ่งเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติไทย โดยเฉพาะพระราชสำนักฝ่ายในนั้น ในสมัยนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นับแต่เรื่องการอภิบาลพระราชโอรสธิดา ซึ่งเดิมเคยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระมารดาและพี่เลี้ยงนางนม มิใคร่ทรงมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระบรมราชชนก แต่ในรัชสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ พระราชทานความรักและพระราชวโรกาสให้พระเจ้าลูกเธอทั้งปวงได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระองค์ โดยไม่มีขนบประเพณีมาเป็นเครื่องกีดขวาง เรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง พระประวัติตรัสเล่า ความตอนหนึ่งว่า

“…พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาแก่พระราชโอรสและพระราชธิดายิ่งนัก เสมอด้วยบิดากับบุตรแห่งชนสามัญทั้งปวง ทรงอุ้มชูชมเชยมิได้ทรงรังเกียจ และมิได้ทรงถือเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใดเลย…”

พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ทรงมีโอกาสตามเสด็จพระราชบิดา ประพาสนอกวังทั้งใกล้และไกลอยู่เนืองๆ ทรงมีโอกาสได้พบเห็นและรับรู้เรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนภายนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า

“…เวลามีเมล์จากต่างประเทศ พระเจ้าลูกเธอก็ทรงยินดี เพราะมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ บางทีมีของเล่นแปลกๆ ก็ได้รับพระราชทานเนืองๆ บางทีเสด็จประพาส เวลาบ่ายทรงแวะห้างฝรั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของเสวยมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอเสมอ…” และทรงเล่าเรื่องตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองว่า  “…ในตอนปลายรัชกาลที่ 4 มีการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองหลายครั้ง หัวเมืองที่โปรดนั้นมีกรุงเก่า เพชรบุรี นครปฐม และประจวบเป็นที่สุด การเสด็จแต่ละครั้งเป็นกระบวนใหญ่ ฝ่ายในที่เป็นชั้นเอกได้ตามเสด็จมาก….”

นอกจากนี้ พระราชนารีในพระราชสำนักฝ่ายในยังทรงมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางกว่าพระราชนารีในรัชสมัยที่ผ่านมา เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จ้างแหม่มแอนนา เลียว โนเวนส์ สุภาพสตรีชาวอังกฤษเข้ามาสอนภาษาอังกฤษและความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ อีกทั้งยังทรงมีโอกาสได้พบปะสมาคมกับชาวต่างประเทศอย่างค่อนข้างอิสระ โดยเฉพาะพระราชนารีรุ่นใหญ่ 3 พระองค์ ซึ่งทรงเจริญพระชันษาไล่เลี่ยกัน คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี และพระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์นี้ทรงมีโอกาสใกล้ชิดกับพระบรมราชชนกมากกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น ในการเสด็จประพาสหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนปลายรัชสมัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอิสรเสรีที่พระราชนารีเหล่านี้ทรงได้รับ ดังที่เซอร์ แฮรี ออด เล่าไว้ในบันทึกการเดินทางครั้งนั้นว่า  “…ส่วนพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง 3 พระองค์ที่มีพระชนมายุสูงกว่าก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์…”

บันทึกถึงพระจริยวัตรในการเสด็จประพาสครั้งนี้ว่า “…พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม…” และ “…ขณะเมื่อท่านเจ้าเมืองเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์เจ้าหญิงและพระองค์เจ้าชายได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินคงจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์…”

ท่ามกลางการเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอตามแบบสมัยใหม่นี้ ทรงมีความห่วงใยถึงชีวิตในภายภาคหน้าของพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ปรากฏความห่วงใยนี้ชัดเจนในหนังสือเทศนาพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า “…แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่น แลอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก…”

เมื่อจะเสด็จสวรรคตก็ตรัสฝากฝังพระเจ้าลูกเธอกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีผู้ใหญ่ ไว้ว่า
“…ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนคุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้วขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตราย เป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ…”

แม้จะทรงมีความห่วงใยมากมายเพียงใดก็ตาม แต่วิถีชีวิตของแต่ละคนก็ย่อมต้องเป็นไปตามกรรมลิขิตไม่เว้นฟ้าเว้นดินดังวิถีชีวิตของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ทรงเป็นพระราชธิดาประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ ธิดาพระสำราญหฤทัย (อ้าว ธรรมสโรช) ข้าหลวงเดิมซึ่งทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยมากคนหนึ่ง นับเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกซึ่งประสูติเมื่อทรงพระบรมราชาภิเษกแล้ว เล่ากันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญวิชาการด้านโหราศาสตร์จึงน่าจะทรงรู้ถึงพระชาตาของพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระราชกระแสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ความว่า  “…ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสององค์ด้วย…”

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

คำทำนายปรากฏเป็นความจริงเมื่อพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา หรือที่ชาววังออกพระนามว่า “เสด็จพระองค์ใหญ่” หรือ “เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง” ซึ่งอยู่ในฐานะพระเชษฐภคินี พระชนมายุได้กว่า 30 พรรษา “ได้กระทําความผิดเป็นมหันตโทษ” ดังความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1248 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า “เกิดความเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชายที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธ์ฯ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงดำรง ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาการที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้น เอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

เวลา 10 ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทววงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา

ส่วนการภายใน กรมหมื่นอดิศรได้สืบสาวชำระได้ตัวอีเผือก บ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโต ผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมาตั้งแต่ยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุงแล้วลอบปืนเข้าไปในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ 4 คราว คราวละคืนบ้าง 2 คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิสดาร”

ครั้นทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ต่อมาอีก 2-3 วัน ได้เสด็จออกทรงสั่งเรื่องความผิดในวังคราวนี้ว่าทั้งคู่ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษตามกฎมณเฑียรบาลว่า 1. ควรริบราชบาตรเป็นหลวง 2. ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ 3. ลงพระราชอาญา 90 ที (เมี่ยน) แล้วประหารชีวิต (นี่คือโทษตามระบิลกฎมณเฑียรบาลเดิมที่มีอยู่)

แต่โดยที่ทางฝ่ายสตรีเป็นเชื้อพระวงศ์ยังทรงมีพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ เพียงให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์เข้าเป็นของหลวงสำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามและสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ทั้งพระราชทานอภัยโทษเฆี่ยน 90 ที (3 ยก) กับโทษประหารชีวิตนั้นให้ยกเสียด้วย เพียงให้ถอดจากยศบรรดาศักดิ์เจ้าลงเป็นหม่อม และเรียกชื่ออย่างคนธรรมดาสามัญ เอาตัวจำไว้ ณ คุกข้างใน (สนม) นอกจากนั้นให้ทำตามคำของลูกขุนผู้พิจารณาปรับโทษ ซึ่งหมายถึงฝ่ายชายผู้ล่วงพระราชอาญาต้องรับโทษตามกฎมณเฑียรบาลทุกประการ

ความผิดมหันตโทษครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงทำตามพระราชกระแสขอร้องของสมเด็จพระบรมราชชนกแล้วทุกประการ และยังทรงมีพระราชดำริป้องกันเหตุการณ์มิให้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีก ดังปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า “ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ (หมายถึงบวชมายังไม่ถึงยี่สิบปี) มิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงไรก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า 40 ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 3 แรม 11 ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช 1248 อันเป็นวันที่ 6644 ในรัชกาลปัจจุบัน (ที่ 5)

แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้น แต่ความหม่นหมองในพระราชหฤทัยยังคงอยู่เห็นได้ชัดในพระราชหัตถเลขาที่ทรงกราบทูลกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ระบายความทุกข์เรื่องของบ้านเมืองเกี่ยวกับข้อบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า มีข้อความที่ทรงกล่าวถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ว่า “…เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซมมากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่านั้นก็ไม่ทราบ…”

ข้อความในพระราชหัตถเลขาบ่งบอกถึงความไม่สบายพระทัยของพระองค์และสภาพของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าคงจะทรงทุกข์ร้อนและตรอมพระทัยในเหตุการณ์ครั้งนั้น จน สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2429 รวมพระชนมายุเพียง 35 พรรษา

ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระชนมายุอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะหากไม่เป็นเพราะความรู้สึกรักและเกรงพระทัยอันเป็นธรรมดาของลูกที่มีต่อพ่อแล้ว ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจบอกเหตุว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ก็คือพระราชดำริที่ก้าวไกลและทันสมัย เข้าพระทัยความเป็นไปของโลกและความเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์เป็นอย่างดี ดังปรากฏในหลักฐานเอกสารหลายแห่ง เช่น ในประกาศพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการฝ่ายในทูลลาออกนอกราชการได้ มีความตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้าคิดจะเปลื้องความลำบากที่ผู้หญิงเป็นอันมาก มาต้องยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่เปลืองอายุไป…” และ “…ผู้หญิงที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อนลาออกไปมีผัวอยู่ข้างนอกกันหลายคน ตัวของหญิงเหล่านั้นกับข้าพเจ้าก็ดีกันหมดไม่ได้ขัดเคืองกระดากกระเดื่องกับใคร…”

และในพระบรมราโชวาทที่โปรดพระราชทานแก่พระราชธิดาก็มีข้อความว่า “…อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด…”

จากหลักฐานพระราชดำรินี้จึงทําให้น่าที่จะคิดได้ว่า หากทรงมีพระชนมายุยืนยาว ความเปลี่ยนแปลงในพระราชสำนักฝ่ายในเกี่ยวกับการที่พระราชธิดาจะทรงอภิเษกสมรสตามพระทัยโดยความเห็นชอบของพระบรมราชชนก อาจเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ก็เป็นได้


เรื่อง - silpa-mag.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2563 15:06:06 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.403 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 02 ตุลาคม 2566 06:20:01