ประวัติ ขนม(ปัง)ขิง

ประวัติ ขนม(ปัง)ขิง
"จินเจอร์เบรด แมน-Gingerbread Man" หรือมนุษย์ขนมปังขิง พบเห็นเขาบ่อยๆ ในถาดขนมอบสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส จินเจอร์เบรด แมนคือขนมปังขิงทำเป็นรูปเหมือนคน มีประวัติความเป็นมายาวนานมากสืบย้อนไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเทพนิยายหลายเรื่องก็มีเขาเป็นตัวละคร
ถามถึงมนุษย์ขนมปังขิงก็ต้องมารู้จักขนมปังขิง ซึ่งจริงๆ แล้วมีชื่อเรียกว่า ขนมขิง ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากขนมปังที่รู้จักกันทั่วไปโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเพราะแปลตรงตัวมาจากคำภาษาอังกฤษ ginger bread (ginger คือ ขิง และ bread คือ ขนมปัง) แปลเป็นภาษาไทยจึงว่า ขนมปังขิง ด้วยประการฉะนี้
ขนมขิง หรือบ้างเรียก ขนมขิงพริกไทย ขนมขิงเครื่องเทศ หรือ ขนมขิงน้ำผึ้ง เป็นขนมอบที่มีรูปแบบหลากหลาย มีชื่อเรียกและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมายตามแต่ละภูมิภาค นอกจากจะใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานและมีเครื่องเทศจากโลกตะวันออกเป็นส่วนผสมแล้ว (โดยมากคือ อบเชย กานพลู โป๊ยกั๊ก หรือน้อยครั้งที่ใช้กระวาน ผักชี ขิง ลูกจันทน์เทศ) ขนมขิงยังแตกต่างจากขนมปังอื่นๆ ตรงที่ไม่มียีสต์เป็นส่วนผสมเลย การอบขนมขิงจะใช้เกลือจากเขากวางแดง (Hirschhornsalz) หรือสารโพแทสเซียม (หรืออาจใช้ทั้งสองอย่าง) แทนผงฟู ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้แป้งดิบที่ยังไม่ได้อบนั้นมีรสขมเล็กน้อย (สูตรขนมขิงส่วนใหญ่มีปริมาณแป้งน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 ถึง 50 ของส่วนผสมเท่านั้น) และบ่อยครั้งที่ตกแต่งขนมขิงด้วยอัลมอนด์ ถั่ว ผงเปลือกส้ม ผงเปลือกมะนาว หรือช็อกโกแลต
ขนมขิงก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่นๆ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างออกไป ที่คุ้นๆ กันทั่วไป ก็มี เลบคูเคน (Lebkuchen) ที่สันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาละติน ลิบุม (libum) ซึ่งหมายถึงขนมอบรูปร่างแบน หรือขนมเซ่นไหว้ นอกจากนี้ก็มี เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย มีที่มาจากยุคกลาง ยุคที่เรียกเครื่องเทศจากต่างประเทศรวมๆ กันว่าพริกไทย ขณะที่คำเรียกขนมขิงในภาษาอังกฤษที่ว่า จินเจอร์เบรด หรือในภาษาฝรั่งเศสว่า แปง เด ปีส (pain d"pices) รวมถึงคำว่า อิงแกวร์โบรต (Ingwerbrot) หรือ เกเวิร์ซโบรต (Gewuirzbrot) ในภาษาเยอรมัน ล้วนสื่อความหมายที่บ่งถึงเครื่องเทศแห่งโลกตะวันออกอย่างชัดเจน ส่วนคำว่า โฮนิกโบรต (Honigbrot-ขนมปังน้ำผึ้ง)
ในภาษาเยอรมัน ก็สื่อถึงส่วนผสมหลักอีกอย่างของขนมขิง คือน้ำผึ้ง หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกๆ ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับขนมน้ำผึ้งที่ผสมเครื่องเทศนั้นมีอายุราวๆ 350 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณมีขนมอบที่ใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน และเป็นขนมที่ต้องใช้ในพิธีศพ ส่วนชาวโรมันมีขนมที่เรียกว่า พานุส เมลลิทุส ซึ่งก็คือขนมที่ทาหน้าด้วยน้ำผึ้งแล้วนำไปอบ สำหรับขนมขิงในรูปแบบที่รู้จักกันในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจากเมือง ดิแนนต์ เบลเยียม จากนั้นชาวเมือง อาคเคนรับมาดัดแปลง และท้ายที่สุดนักบวชในฝรั่งเศสก็รับขนมชนิดนี้มาและดัดแปลงอีกเล็กน้อย โดยคณะแม่ชีจะอบขนมขิงเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านในช่วงเวลาอดอยากแร้นแค้น เพราะขนมขิงไม่เสียง่าย เก็บไว้รับประทานได้นาน เนื่องจากการอบขนมขิงจำเป็นต้องใช้เครื่องเทศหายากจากแดนไกล เมืองต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญจึงมีประเพณีการทำขนมขิงที่มีประวัติอันยาวนาน อย่างที่เมืองมิวนิก มีรายชื่ออาชีพ "เลบเซลเทอร์-Lebzelter" ในทะเบียนภาษีมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1370 ซึ่งก็คือคนทำขนมขิงนั่นเอง
รูปแบบหนึ่งของขนมขิงที่คุ้นตามหาชน คือ จินเจอร์เบรด แมน จากประเทศแถบที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนแบบปั้นง่ายๆ โดยไม่มีรายละเอียดของมือและเท้า
โดย...น้าชาติ ประชาชื่น








